Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๑๕-๔ หน้า ๑๙๙ - ๒๖๔

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕-๔ สุตตันตปิฎกที่ ๐๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค



พระสุตตันตปิฎก
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๒. ทุติยวรรค ๑๐. รัชชสูตร

๑๐. รัชชสูตร
ว่าด้วยมารอัญเชิญพระผู้มีพระภาคให้เสวยราชสมบัติ
[๑๕๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กระท่อมกลางป่า
ในหิมวันตประเทศ แคว้นโกศล ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด
เกิดความรำพึงอย่างนี้ว่า “เราจะสามารถเสวยราชสมบัติโดยธรรม โดยที่ไม่
เบียดเบียนเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ไม่ทำให้เขาเสื่อมเอง ไม่ใช้ผู้อื่นทำเขา
ให้เสื่อม ไม่ทำเขาให้เศร้าโศกเอง ไม่ใช้ผู้อื่นทำเขาให้เศร้าโศก หรือไม่หนอ”
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปทราบความรำพึงของพระผู้มีพระภาคด้วยใจแล้ว เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มี
พระภาคจงเสวยราชสมบัติเถิด พระพุทธเจ้าข้า ขอพระสุคตจงเสวยราชสมบัติ
โดยธรรม โดยที่ไม่เบียดเบียนเอง ไม่ใช้ผู้อื่นให้เบียดเบียน ไม่ทำเขาให้เสื่อมเอง
ไม่ใช้ผู้อื่นทำเขาให้เสื่อม ไม่ทำเขาให้เศร้าโศกเอง ไม่ใช้ผู้อื่นทำเขาให้เศร้าโศก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มารผู้มีบาป ท่านเห็นอะไรของเรา ทำไมจึงพูดกับเรา
อย่างนี้ว่า ‘ขอพระผู้มีพระภาคจงเสวยราชสมบัติเถิด พระพุทธเจ้าข้า ขอพระสุคต
จงเสวยราชสมบัติโดยธรรม โดยไม่เบียดเบียนเอง ไม่ใช้ผู้อื่นให้เบียดเบียน ไม่ทำ
เขาให้เสื่อมเอง ไม่ใช้ผู้อื่นทำเขาให้เสื่อม ไม่ทำเขาให้เศร้าโศกเอง ไม่ใช้ผู้อื่น
ทำเขาให้เศร้าโศก”
มารกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อิทธิบาท ๔ ประการ พระองค์
ทรงเจริญ ทำให้มาก ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ตั้งไว้เนือง ๆ สั่งสมแล้ว
ปรารภเสมอดีแล้ว ก็เมื่อพระองค์ทรงพระประสงค์พึงอธิษฐานภูเขาหลวงชื่อว่าหิมพานต์
ให้เป็นทองคำล้วน ภูเขานั้นก็เป็นทองคำล้วนได้จริง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต]
๒. ทุติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พระผู้มีพระภาคตรัสกับมารด้วยพระคาถาว่า
ภูเขาทองคำล้วนทั้งลูก ถึงสองเท่า
ก็ยังไม่จุใจสำหรับบุคคลคนหนึ่ง
บุคคลทราบดังนี้แล้ว พึงประพฤติสงบ
ผู้ใดเห็นทุกข์มีกามเป็นต้นเหตุแล้ว
ผู้นั้นจะพึงน้อมไปในกามได้อย่างไร
บุคคลทราบอุปธิ๑ว่าเป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว
พึงศึกษาเพื่อกำจัดอุปธินั้น
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต
ทรงรู้จักเรา” จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง
รัชชสูตรที่ ๑๐ จบ
วรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปาสาณสูตร ๒. สีหสูตร
๓. สกลิกสูตร ๔. ปฏิรูปสูตร
๕. มานสสูตร ๖. ปัตตสูตร
๗. อายตนสูตร ๘. ปิณฑสูตร
๙. กัสสกสูตร ๑๐. รัชชสูตร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๓. ตติยวรรค ๑. สัมพหุลสูตร

๓. ตติยวรรค
หมวดที่ ๓
๑. สัมพหุลสูตร
ว่าด้วยภิกษุหลายรูป
[๑๕๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นครศิลาวดี แคว้นสักกะ สมัยนั้น
ภิกษุหลายรูปเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ใกล้พระผู้มี
พระภาค
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปแปลงกายเป็นพราหมณ์ สวมชฎาใหญ่ นุ่งหนังเสือ
เป็นคนแก่ หลังโกง หายใจเสียงดังครืดคราด ถือไม้เท้าทำด้วยไม้มะเดื่อ เข้าไปหา
ภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่แล้วจึงกล่าวกับภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า “บรรพชิตผู้เจริญทั้งหลาย
พวกท่านเป็นนักบวชที่ยังหนุ่มแน่น มีผมดำสนิท อยู่ในวัยแรกรุ่นอันเจริญ แต่ไม่
เพลิดเพลินในกามคุณทั้งหลาย ขอพวกท่านจงบริโภคกามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์
พวกท่านอย่าละกามที่เห็นเฉพาะหน้าวิ่งไปหากามทิพย์อันมีอยู่ตามกาลเลย”
ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า “พราหมณ์ พวกข้าพเจ้ามิได้ละกามที่เห็นเฉพาะหน้า
แล้ววิ่งไปหากามทิพย์อันมีอยู่ตามกาลเลย แต่พวกข้าพเจ้าละกามทิพย์อันมีอยู่ตาม
กาลแล้ววิ่งไปหาธรรมที่เห็นเฉพาะหน้า พราหมณ์ เพราะว่ากามทั้งหลายอันมีอยู่
ตามกาล พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษ
ยิ่งนัก ส่วนธรรมนี้เป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล
ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน” เมื่อภิกษุ
เหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว มารผู้มีบาปจึงสั่นศีรษะ แลบลิ้น ทำหน้าผากให้ย่น
เป็น ๓ รอย ยันไม้เท้าจากไป
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๓. ตติยวรรค ๑. สัมพหุลสูตร
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
อยู่ในที่ใกล้พระองค์ ณ ที่นี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีพราหมณ์คนหนึ่งสวมชฎาใหญ่
นุ่งหนังเสือ เป็นคนแก่ หลังโกง หายใจเสียงดังครืดคราด ถือไม้เท้าทำด้วยไม้มะเดื่อ
เข้ามาหาพวกข้าพระองค์ถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับพวกข้าพระองค์ดังนี้ว่า ‘บรรพชิต
ผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านเป็นนักบวชที่ยังหนุ่มแน่น มีผมดำสนิท อยู่ในวัยแรกรุ่น
อันเจริญ แต่ไม่เพลิดเพลินในกามทั้งหลาย ขอพวกท่านจงบริโภคกามทั้งหลาย
อันเป็นของมนุษย์ พวกท่านอย่าละกามที่เห็นเฉพาะหน้าแล้ววิ่งไปหากามทิพย์อันมี
อยู่ตามกาลเลย’
เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พวกข้าพระองค์ได้กล่าวกับพราหมณ์นั้นว่า
‘พราหมณ์ พวกข้าพเจ้ามิได้ละกามที่เห็นเฉพาะหน้าแล้ววิ่งไปหากามทิพย์อันมีอยู่
ตามกาลเลย แต่พวกข้าพเจ้าละกามทิพย์อันมีอยู่ตามกาลแล้ววิ่งไปหาธรรมที่เห็น
เฉพาะหน้า เพราะว่ากามทั้งหลายอันมีอยู่ตามกาล พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามี
ทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษยิ่งนัก ส่วนธรรมนี้เป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติ
จะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน
อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน’ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์นั้นสั่นศีรษะ
แลบลิ้น ทำหน้าผากให้ย่นเป็น ๓ รอย ยันไม้เท้าจากไป”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย นั่นมิใช่พราหมณ์ นั่นคือมารผู้มีบาป
มาเพื่อลวงพวกเธอให้หลงเข้าใจผิด”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงตรัสพระคาถานี้
ในเวลานั้นว่า
ผู้ใดเห็นทุกข์มีกามเป็นต้นเหตุแล้ว
ผู้นั้นจะพึงน้อมไปในกามได้อย่างไร
บุคคลทราบอุปธิว่าเป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว
พึงศึกษาเพื่อกำจัดอุปธินั้น๑
สัมพหุลสูตรที่ ๑ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๓. ตติยวรรค ๒. สมิทธิสูตร

๒. สมิทธิสูตร
ว่าด้วยพระสมิทธิ
[๑๕๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นครศิลาวดี แคว้นสักกะ สมัยนั้น
ท่านพระสมิทธิเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ในที่ใกล้พระผู้มี
พระภาค
ครั้งนั้น ท่านพระสมิทธิหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า
“เป็นลาภของเราหนอที่เราได้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระศาสดาของเรา
เป็นลาภของเราหนอที่เราได้บวชในพระธรรมวินัย อันพระศาสดาตรัสไว้ดีแล้วอย่างนี้
เป็นลาภของเราหนอที่เราได้เพื่อนพรหมจารี ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม” ครั้งนั้น
มารผู้มีบาปทราบความคิดคำนึงของท่านพระสมิทธิด้วยใจแล้ว เข้าไปหาท่านพระ
สมิทธิถึงที่อยู่แล้วทำเสียงดังน่าสะพรึงกลัว น่าหวาดเสียว ประดุจแผ่นดินจะถล่ม
ณ ที่ใกล้ท่านพระสมิทธิ
ลำดับนั้น ท่านพระสมิทธิเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นผู้
ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ในที่ใกล้พระองค์ ณ ที่นี้ ข้าพระองค์
หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดเกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า ‘เป็นลาภของเราหนอที่เราได้พระ-
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระศาสดาของเรา เป็นลาภของเราหนอที่เราได้บวช
ในพระธรรมวินัย อันพระศาสดาตรัสไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นลาภของเราหนอที่เราได้
เพื่อนพรหมจารี ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม’ เสียงดังน่าสะพรึงกลัว น่าหวาดเสียว
ประดุจแผ่นดินจะถล่ม ได้มีแล้วในที่ใกล้ข้าพระองค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สมิทธิ นั่นมิใช่แผ่นดินจะถล่ม นั่นคือมารผู้มีบาป
มาเพื่อลวงให้เธอหลงเข้าใจผิด เธอจงไปเถิดสมิทธิ จงเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจอยู่ในที่นั้นเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๓. ตติยวรรค ๒. สมิทธิสูตร
ท่านพระสมิทธิรับพระดำรัสแล้วลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
กระทำประทักษิณแล้วจากไป
แม้ในครั้งที่ ๒ ท่านพระสมิทธิเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกาย
และใจอยู่ในที่นั้นนั่นเอง
แม้ในครั้งที่ ๒ ท่านพระสมิทธิหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึง
อย่างนี้ว่า ฯลฯ
แม้ในครั้งที่ ๒ มารผู้มีบาปทราบความคิดคำนึงของท่านพระสมิทธิด้วยใจ
จึงทำเสียงดังน่าสะพรึงกลัว น่าหวาดเสียว ประดุจแผ่นดินจะถล่ม ณ ที่ใกล้ท่าน
พระสมิทธิ
ลำดับนั้น ท่านพระสมิทธิทราบว่า “นี้คือมารผู้มีบาป” จึงกล่าวกับมาร
ผู้มีบาปด้วยคาถาว่า
เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา
เรารู้สติและปัญญาแล้ว อนึ่ง จิตก็ตั้งมั่นดีแล้ว
ท่านบันดาลรูปร่างให้น่ากลัวแค่ไหน
ก็ทำให้เราหวั่นไหวไม่ได้
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “ภิกษุสมิทธิรู้จักเรา” จึงหายตัวไป
ณ ที่นั้นเอง
สมิทธิสูตรที่ ๒ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๓. ตติยวรรค ๓. โคธิกสูตร

๓. โคธิกสูตร
ว่าด้วยพระโคธิกะ
[๑๕๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระโคธิกะอยู่ที่วิหารกาฬศิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ
ครั้งนั้น ท่านพระโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่
ได้บรรลุเจโตวิมุตติชั่วคราว๑ ภายหลังท่านพระโคธิกะเสื่อมจากเจโตวิมุตติชั่วคราวนั้น
แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่
ได้บรรลุเจโตวิมุตติชั่วคราว แม้ครั้งที่ ๒ ท่านก็เสื่อมจากเจโตวิมุตติชั่วคราวนั้น
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่
ได้บรรลุเจโตวิมุตติชั่วคราว แม้ในครั้งที่ ๓ ท่านก็เสื่อมจากเจโตวิมุตติชั่วคราวนั้น
แม้ครั้งที่ ๔ ท่านพระโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ได้บรรลุเจโตวิมุตติชั่วคราว
แม้ในครั้งที่ ๔ ท่านก็เสื่อมจากเจโตวิมุตติชั่วคราวนั้น
แม้ครั้งที่ ๕ ท่านพระโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ได้บรรลุเจโตวิมุตติชั่วคราว
แม้ในครั้งที่ ๕ ท่านก็เสื่อมจากเจโตวิมุตติชั่วคราวนั้น
แม้ครั้งที่ ๖ ท่านพระโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่
ได้บรรลุเจโตวิมุตติชั่วคราว แม้ในครั้งที่ ๖ ท่านก็เสื่อมจากเจโตวิมุตติชั่วคราวนั้น
แม้ครั้งที่ ๗ ท่านพระโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่
ก็ได้บรรลุเจโตวิมุตติชั่วคราวนั้นอีก
ครั้งนั้น ท่านพระโคธิกะได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราได้เสื่อมจากเจโตวิมุตติชั่วคราว
๖ ครั้งแล้ว ทางที่ดีเราพึงนำศัสตรามา๒”

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๓. ตติยวรรค ๓. โคธิกสูตร
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปทราบความคิดคำนึงของท่านพระโคธิกะด้วยใจแล้ว
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ข้าแต่พระมหาวีระผู้มีปัญญามาก
ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์และยศ
ผู้ก้าวล่วงเวรและภัยทั้งปวง ผู้มีพระจักษุ
ข้าพระองค์ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาท
ข้าแต่พระมหาวีระผู้ทรงไว้ซึ่งความรุ่งเรือง
สาวกของพระองค์ถูกมรณะครอบงำแล้ว
มุ่งหวังความตายอยู่
ขอพระองค์จงทรงห้ามสาวกของพระองค์นั้นเถิด
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ปรากฏในหมู่ชน
สาวกของพระองค์ยินดีในพระศาสนา
มีใจยังไม่ได้บรรลุ๑ ยังเป็นพระเสขะอยู่
จะพึงมรณะได้อย่างไร
ขณะนั้น ท่านพระโคธิกะได้นำศัสตรามา ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า
“นี้คือมารผู้มีบาป” จึงได้ตรัสกับมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
นักปราชญ์ทั้งหลายทำอย่างนี้แล
ย่อมไม่ห่วงใยชีวิต
พระโคธิกะถอนตัณหาพร้อมทั้งราก
ปรินิพพานแล้ว
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “มาเถิด ภิกษุ
ทั้งหลาย เราจักไปยังวิหารกาฬศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ ซึ่งเป็นสถานที่ที่โคธิกกุลบุตร
นำศัสตรามา” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ต่อมา พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังวิหารกาฬศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ พร้อม
ด้วยภิกษุจำนวนมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระโคธิกะนอนคอบิดอยู่บนเตียง

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๓. ตติยวรรค ๓. โคธิกสูตร
แต่ไกลเทียว ก็สมัยนั้น กลุ่มควันกลุ่มหมอกลอยไปทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตก
ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง และทิศเฉียง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายเห็นกลุ่มควันกลุ่มหมอกลอยไปทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ
ทิศใต้ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง และทิศเฉียงหรือไม่” เมื่อภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย นั่นแลคือมารผู้มีบาป ค้นหาวิญญาณ๑
ของโคธิกกุลบุตรด้วยคิดว่า ‘วิญญาณของโคธิกกุลบุตรสถิตอยู่ ณ ที่ไหน’ ภิกษุ
ทั้งหลาย โคธิกกุลบุตรไม่มีวิญญาณสถิตอยู่ ปรินิพพานแล้ว”
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปถือพิณสีเหลืองเหมือนผลมะตูมสุก เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ข้าพระองค์ค้นหาทั้งทิศเบื้องบน
ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องขวาง
คือทั้งทิศใหญ่และทิศเฉียง ก็ไม่พบ
ท่านพระโคธิกะนั้นไป ณ ที่ไหนเล่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
นักปราชญ์ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยปัญญา
มีปกติเพ่งพินิจ ยินดีในฌานทุกเมื่อ
พากเพียรอยู่ตลอดวันและคืน ไม่เสียดายชีวิต
ชนะกองทัพมัจจุแล้ว ไม่กลับมาสู่ภพใหม่
นักปราชญ์นั้น คือโคธิกกุลบุตร
ได้ถอนตัณหาพร้อมทั้งราก ปรินิพพานแล้ว
พิณได้พลัดตกจากรักแร้
ของมารผู้มีความเศร้าโศก
ในลำดับนั้น มารผู้เป็นยักษ์นั้นเสียใจ
จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง
โคธิกสูตรที่ ๓ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต]
๓. ตติยวรรค ๔. สัตตวัสสานุพันธสูตร

๔. สัตตวัสสานุพันธสูตร
ว่าด้วยมารหาโอกาสทำลายพระพุทธเจ้าตลอด ๗ ปี
[๑๖๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น มารผู้มีบาปติดตามพระผู้มีพระภาค คอยหาโอกาส
ตลอด ๗ ปี ก็ยังไม่ได้โอกาส ภายหลังมารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ท่านถูกความเศร้าโศกทับถมหรือ
จึงมาซบเซาอยู่ในป่าอย่างนี้
ท่านเสื่อมจากทรัพย์สมบัติหรือ
หรือว่ากำลังปรารถนาอะไรอยู่
ท่านได้ทำความเสียหายร้ายแรงอะไรไว้ในหมู่บ้านหรือ
เพราะเหตุไรท่านจึงไม่เป็นมิตรกับชนทั้งปวงเล่า
หรือว่าท่านเป็นมิตรกับใคร ๆ ไม่ได้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ท่านผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของบุคคลผู้ประมาท
เราขุดรากของความเศร้าโศกได้หมดแล้ว
ไม่มีความเสียหาย ไม่เศร้าโศก เพ่งพินิจอยู่
เราตัดความติดแน่นคือความโลภในภพทั้งปวง
ไม่มีอาสวะ เพ่งพินิจอยู่
มารกราบทูลว่า
ชนเหล่าใดกล่าวถึงสิ่งใดว่า ‘นี้ของเรา’
ทั้งยังกล่าวว่า ‘ของเรา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต]
๓. ตติยวรรค ๔. สัตตวัสสานุพันธสูตร
ถ้าใจของท่านยังฝังอยู่ในสิ่งนั้น
สมณะ ท่านก็จะไม่พ้นจากเราไปได้๑
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชนเหล่าใดกล่าวถึงสิ่งใด สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา
ชนเหล่าใดกล่าว ชนเหล่านั้นไม่ใช่เรา
มารผู้มีบาป ท่านจงรู้อย่างนี้
ท่านย่อมไม่เห็นแม้ทางของเรา๒
มารกราบทูลว่า
ถ้าท่านรู้จักทางอันปลอดภัย
เป็นที่ให้ถึงอมตะ ก็จงจากไปคนเดียวเถิด
จะต้องพร่ำสอนคนอื่นทำไมเล่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชนเหล่าใดเป็นผู้มุ่งไปสู่ฝั่ง
ชนเหล่านั้นย่อมถามถึงนิพพานอันมิใช่ที่อยู่ของมาร
เราถูกชนเหล่านั้นถามก็จักบอกเขาว่า
สิ่งใดเป็นความจริง สิ่งนั้นไม่มีอุปธิ
มารกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีสระโบกขรณีในที่ไม่ไกลบ้านหรือ
นิคม ในสระนั้นมีปูอยู่ ครั้งนั้น เด็กชายหรือเด็กหญิงจำนวนมากออกจากบ้านหรือ
นิคมนั้นแล้ว เข้าไปยังสระโบกขรณีนั้น จับปูนั้นขึ้นจากน้ำวางไว้บนบก ปูนั้นก็ชูก้าม
ทั้งสองออก เด็กชายหรือเด็กหญิงเหล่านั้นพึงริด พึงหัก พึงทำลายก้ามนั้นทุก ๆ
ก้ามด้วยไม้หรือก้อนหิน ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น ปูนั้นถูกริดก้าม ถูกหักก้าม ถูกทำลาย

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๓. ตติยวรรค ๕. มารธีตุสูตร
ก้ามหมดแล้ว ย่อมไม่อาจไต่ลงไปสู่สระโบกขรณีนั้นเหมือนแต่ก่อน ฉันใด อารมณ์
แม้ทุกชนิดอันเป็นวิสัยของมาร ที่ทำให้สัตว์เสพติด ทำให้สัตว์ดิ้นรน อารมณ์นั้น
ทั้งหมดอันพระผู้มีพระภาคตัดรอน หักราน ย่ำยีหมดแล้ว บัดนี้ ข้าพระองค์ผู้
คอยหาโอกาส ย่อมไม่อาจเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคได้อีก ฉันนั้น”
ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปได้ภาษิตคาถาอันเป็นที่ตั้งแห่งความเบื่อหน่ายเหล่านี้
ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
กาเห็นก้อนหินมีสีเหมือนมันข้น
จึงบินโฉบลงด้วยคิดว่า
‘เราพึงได้อาหารโอชะในที่นี้เป็นแน่’
ความยินดีพึงเกิดขึ้นโดยแท้
กาไม่ได้ความยินดีในที่นั้น
จึงโผบินไปจากที่นั้น ข้าแต่พระโคดม
ข้าพระองค์ ก็เหมือนกามาพบก้อนหิน ฉะนั้น
ขอจากไปก่อน
สัตตวัสสานุพันธสูตรที่ ๔ จบ

๕. มารธีตุสูตร
ว่าด้วยธิดามาร
[๑๖๑] ครั้งนั้น มารผู้มีบาปครั้นกล่าวคาถาอันเป็นที่ตั้งแห่งความเบื่อหน่าย
เหล่านี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงหลีกจากที่นั้นไปนั่งขัดสมาธิที่พื้นดิน
ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค เป็นผู้นิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ
ใช้ไม้เขี่ยพื้นดินอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๓. ตติยวรรค ๕. มารธีตุสูตร
ครั้งนั้น ธิดามาร คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา เข้าไปหามาร
ผู้มีบาปถึงที่อยู่แล้ว กล่าวกับมารผู้มีบาปด้วยคาถาว่า
ท่านพ่อ ท่านเสียใจด้วยเหตุไร
หรือเศร้าโศกถึงบุรุษคนไหน
พวกดิฉันจักใช้บ่วงคือราคะนำมาถวาย
เหมือนบุคคลคล้องช้างป่านำมา ฉะนั้น
บุรุษนั้นจักตกอยู่ในอำนาจของท่านพ่อ
มารกล่าวว่า
บุรุษนั้นเป็นพระอรหันต์
เป็นพระสุคตในโลก ก้าวล่วงบ่วงแห่งมารได้แล้ว
ใคร ๆ พึงนำมาด้วยราคะไม่ได้ง่าย ๆ
เพราะฉะนั้น เราจึงเศร้าโศกมาก
ครั้งนั้น ธิดามาร คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระสมณะ พวก
หม่อมฉันจะขอปรนนิบัติพระยุคลบาทของพระองค์”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคไม่ทรงใส่พระทัยถึงคำของธิดามารนั้น เนื่องจาก
พระองค์ทรงหลุดพ้น เพราะธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิอันยอดเยี่ยมแล้ว
ต่อมา ธิดามาร คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา พากันจากไป ณ
ที่สมควรแล้วปรึกษากันอย่างนี้ว่า “พวกบุรุษมีความประสงค์ต่าง ๆ กัน ทางที่ดี
พวกเราควรเนรมิตเพศเป็นสาววัยรุ่น คนละหนึ่งร้อย”
ลำดับนั้น ธิดามาร คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา จึงเนรมิตเพศเป็น
สาววัยรุ่นคนละหนึ่งร้อย เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วกราบทูลดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจะขอปรนนิบัติพระยุคลบาทของพระองค์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๓. ตติยวรรค ๕. มารธีตุสูตร
พระผู้มีพระภาคไม่ทรงใส่พระทัยถึงคำของธิดามารนั้น เนื่องจากพระองค์ทรง
หลุดพ้น เพราะธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิอันยอดเยี่ยมแล้ว
ต่อมา ธิดามาร คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา พากันจากไป ณ
ที่สมควรแล้วปรึกษากันอย่างนี้ว่า “พวกบุรุษมีความประสงค์ต่าง ๆ กัน ทางที่ดี
พวกเราควรเนรมิตเพศเป็นผู้หญิงที่ยังไม่เคยคลอดบุตรคนละหนึ่งร้อย”
ลำดับนั้น ธิดามาร คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา เนรมิตเพศ
เป็นหญิงที่ยังไม่เคยคลอดบุตรคนละหนึ่งร้อย เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า “ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจะขอปรนนิบัติพระยุคลบาท
ของพระองค์”
แม้ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึงเลย เนื่องจากพระองค์
ทรงหลุดพ้น เพราะธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิอันยอดเยี่ยมแล้ว
ฝ่ายนางตัณหา นางอรดี และนางราคา พากันจากไป ณ ที่สมควรแล้ว
ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “พวกบุรุษมีความประสงค์ต่าง ๆ กัน ทางที่ดีพวกเราควร
เนรมิตเพศเป็นหญิงคลอดบุตรแล้วคราวเดียวคนละหนึ่งร้อย”
ลำดับนั้น นางตัณหา ฯลฯ จึงเนรมิตเพศเป็นหญิงคลอดบุตรแล้วคราวเดียว
คนละหนึ่งร้อย เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ เนื่องจากพระองค์ทรง
หลุดพ้น เพราะธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิอันยอดเยี่ยมแล้ว
ต่อมา นางตัณหา ฯลฯ จึงเนรมิตเพศเป็นหญิงที่คลอดบุตรแล้ว ๒ คราว
คนละหนึ่งร้อย เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ เนื่องจากพระองค์ทรง
หลุดพ้น เพราะธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิอันยอดเยี่ยมแล้ว
ลำดับนั้น นางตัณหา ฯลฯ จึงเนรมิตเพศเป็นหญิงกลางคนคนละหนึ่งร้อย
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ เนื่องจากพระองค์ทรงหลุดพ้น เพราะ
ธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิอันยอดเยี่ยมแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๓. ตติยวรรค ๕. มารธีตุสูตร
ลำดับนั้น นางตัณหา ฯลฯ จึงเนรมิตเพศเป็นหญิงแก่คนละหนึ่งร้อย เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ เนื่องจากพระองค์ทรงหลุดพ้น เพราะธรรม
เป็นที่สิ้นอุปธิอันยอดเยี่ยมแล้ว
ลำดับนั้น ธิดามาร คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา พากันจากไป ณ
ที่สมควรแล้วพูดกันว่า “เรื่องนี้จริงดังบิดาของเราได้พูดไว้ว่า
บุรุษนั้นเป็นพระอรหันต์
เป็นพระสุคตในโลก ก้าวล่วงบ่วงแห่งมารได้แล้ว
ใคร ๆ พึงนำมาด้วยราคะไม่ได้ง่าย ๆ
เพราะฉะนั้น เราจึงเศร้าโศกมาก
อนึ่ง ถ้าพวกเราพึงเล้าโลมสมณะหรือพราหมณ์ใดที่ยังไม่หมดราคะ ด้วยความ
พยายามอย่างนี้ หทัยของสมณะหรือพราหมณ์นั้นพึงแตก โลหิตอุ่น ๆ พึงพุ่งออก
จากปาก หรือเขาพึงบ้า หรือว่ามีจิตฟุ้งซ่าน เหมือนอย่างต้นอ้อสดถูกลมพัดขาด
เหี่ยวเฉาแห้งไป แม้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์นั้นพึงหงอยเหงา ซูบซีดเหี่ยวแห้งไป
ฉันนั้นเหมือนกัน”
ครั้นแล้ว ธิดามาร คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา พากันเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร นางตัณหาธิดามารยืนอยู่ ณ
ที่สมควรแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ท่านถูกความเศร้าโศกทับถมหรือ
จึงมาซบเซาอยู่ในป่าอย่างนี้
ท่านเสื่อมจากทรัพย์สมบัติหรือ
หรือว่ากำลังปรารถนาอะไรอยู่
ท่านได้ทำความเสียหายร้ายแรงอะไรไว้ในหมู่บ้านหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๓. ตติยวรรค ๕. มารธีตุสูตร
เพราะเหตุไรท่านจึงไม่เป็นมิตรกับชนทั้งปวงเล่า
หรือว่าท่านเป็นมิตรกับใคร ๆ ไม่ได้๑
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เราชนะเสนามารคือรูปที่น่ารัก
และรูปที่น่าพอใจแล้ว เพ่งพินิจอยู่ผู้เดียว ได้รู้ความสุข
เพราะเหตุนั้นเราจึงไม่เป็นมิตรกับชนทั้งปวง
เพราะความเป็นมิตรกับใคร ๆ ไม่สำเร็จประโยชน์แก่เรา
ลำดับนั้น นางอรดีธิดามาร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ภิกษุในศาสนานี้มากไปด้วยวิหารธรรมอย่างไหน
จึงข้ามโอฆะทั้ง ๕๒ ได้
บัดนี้ ท่านข้ามโอฆะที่ ๖๓ ได้แล้วหรือ
บุคคลเพ่งฌานอย่างไหนมาก
กามสัญญาทั้งหลายจับยึดเขาไม่ได้ จึงห่างเหินไป
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลมีกายอันสงบ มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว
เป็นผู้ไม่มีอะไร ๆ เป็นเครื่องปรุงแต่ง
มีสติ ไม่มีความอาลัย รู้ทั่วธรรม
มีปกติเพ่งพินิจอยู่ด้วยฌานที่ ๔ อันหาวิตกมิได้
ย่อมไม่กำเริบ ไม่ซ่านไป ไม่เป็นผู้ย่อท้อ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๓. ตติยวรรค ๕. มารธีตุสูตร
ภิกษุในศาสนานี้มากไปด้วยวิหารธรรมอย่างนี้
จึงข้ามโอฆะทั้ง ๕ ได้
บัดนี้ เธอข้ามโอฆะที่ ๖ ได้แล้ว
ภิกษุผู้เพ่งฌานอย่างนี้มาก
กามสัญญาทั้งหลายจับยึดเธอไม่ได้ จึงห่างเหินไป
ลำดับนั้น นางราคาธิดามาร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
พระศาสดาผู้นำหมู่สงฆ์
ได้ตัดตัณหาขาดแล้ว และชนผู้มีศรัทธาเป็นอันมาก
จักประพฤติตามได้แน่
พระศาสดาพระองค์นี้เป็นผู้ไม่มีความอาลัย
ตัดขาดจากมือมัจจุราชได้แล้ว
จักนำหมู่ชนเป็นอันมากไปสู่ฝั่งได้แน่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
พระตถาคตทั้งหลายผู้เป็นมหาวีระ
ย่อมนำสัตว์ไปด้วยพระสัทธรรม
เมื่อพระตถาคตนำไปอยู่โดยธรรม
ความริษยาจะมีแก่ท่านผู้รู้ได้อย่างไร
ลำดับนั้น ธิดามาร คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา พากันเข้าไปหา
มารผู้มีบาปถึงที่อยู่ มารผู้มีบาปเห็นธิดามาร คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา
มาแต่ไกล จึงได้กล่าวคาถาทั้งหลายว่า
พวกเธอช่างโง่เขลา พากันทำลายภูเขาด้วยก้านบัว
ขุดภูเขาด้วยเล็บ เคี้ยวเหล็กด้วยฟัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต]
๓. ตติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พวกเธออาศัยพระโคดมหาที่พึ่ง
จะเป็นดุจคนวางหินไว้บนศีรษะแล้วเจาะหาที่พึ่งในบาดาล ฉะนั้น
พวกเธอเหมือนเอาหนามมายอกอก(พ่อ) จงหลีกไปเสียเถิด
(พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า)
พระศาสดาได้ขับไล่นางตัณหา นางอรดี และนางราคา
ผู้มีรูปน่าทัศนายิ่ง ซึ่งได้มาในที่นั้นให้หนีไป
ดุจลมพัดปุยนุ่น ฉะนั้น
มารธีตุสูตรที่ ๕ จบ
วรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สัมพหุลสูตร ๒. สมิทธิสูตร
๓. โคธิกสูตร ๔. สัตตวัสสานุพันธสูตร
๕. มารธีตุสูตร

พระสูตรว่าด้วยมาร ๕ สูตรนี้ พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงแสดงไว้แล้ว

มารสังยุต จบบริบูรณ์

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๕. ภิกขุนีสังยุต] ๑. อาฬวิกาสูตร

๕. ภิกขุนีสังยุต
๑. อาฬวิกาสูตร
ว่าด้วยอาฬวิกาภิกษุณี
[๑๖๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเวลาเช้า อาฬวิกาภิกษุณีครองอันตรวาสก
ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาต ภายหลังจากฉัน
ภัตตาหารเสร็จแล้ว ต้องการวิเวก(ความสงัด) จึงเข้าไปในป่าอันธวัน ลำดับนั้น
มารผู้มีบาปประสงค์จะให้อาฬวิกาภิกษุณีเกิดความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพอง
สยองเกล้า และประสงค์จะให้เคลื่อนจากวิเวก จึงเข้าไปหาอาฬวิกาภิกษุณีถึงที่อยู่
ได้กล่าวกับอาฬวิกาภิกษุณีด้วยคาถาว่า
ในโลกไม่มีเครื่องสลัดออก(จากทุกข์)
ท่านจักทำอะไรด้วยวิเวกเล่า
ท่านจงเสพความยินดีในกามเถิด
อย่าได้มีความเสียใจในภายหลังเลย
ลำดับนั้น อาฬวิกาภิกษุณีได้มีความคิดดังนี้ว่า “นี่ใครหนอมากล่าวคาถา
จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์กันแน่” อาฬวิกาภิกษุณีได้มีความคิดดังนี้อีกว่า “นี่คือมาร
ผู้มีบาป ประสงค์จะให้เราเกิดความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้า
และประสงค์จะให้เคลื่อนจากวิเวก จึงกล่าวคาถา” อาฬวิกาภิกษุณีทราบว่า “นี่คือ
มารผู้มีบาป” จึงได้กล่าวกับมารผู้มีบาปด้วยคาถาว่า
ในโลกนี้มีเครื่องสลัดออก(จากทุกข์)
เราสัมผัสดีแล้วด้วยปัญญา
มารผู้มีบาป ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของผู้ประมาท
ท่านไม่รู้จักทางนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๕. ภิกขุนีสังยุต] ๒. โสมาสูตร
กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว
กองกามทั้งหลายนั้นประหนึ่งผีร้าย
ท่านกล่าวความยินดีในกามใด
ความไม่ยินดีนั้นได้มีแล้วแก่เรา
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “อาฬวิกาภิกษุณีรู้จักเรา” จึงหายตัว
ไป ณ ที่นั้นเอง
อาฬวิกาสูตรที่ ๑ จบ

๒. โสมาสูตร
ว่าด้วยโสมาภิกษุณี
[๑๖๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้นเวลาเช้า โสมาภิกษุณีครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาต ภายหลังจากฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว
เข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักกลางวัน ถึงป่าอันธวันแล้วจึงนั่งพักกลางวันที่โคนต้นไม้
แห่งหนึ่ง
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปประสงค์จะให้โสมาภิกษุณีเกิดความกลัว ความหวาด
สะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้า และประสงค์จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหา
โสมาภิกษุณีถึงที่นั่งพักแล้ว ได้กล่าวกับโสมาภิกษุณีด้วยคาถาว่า
ฐานะใดอันประเสริฐอย่างยิ่ง
คือพระอรหัตซึ่งฤาษีทั้งหลายพึงบรรลุ
อันบุคคลเหล่าอื่นให้สำเร็จได้ยาก
ท่านเป็นหญิงมีปัญญาแค่ ๒ นิ้ว๑
ไม่สามารถจะบรรลุฐานะนั้นได้๒
ลำดับนั้น โสมาภิกษุณีได้มีความคิดดังนี้ว่า “นี่ใครหนอมากล่าวคาถา จะเป็น
มนุษย์หรืออมนุษย์กันแน่” ทันใดนั้น โสมาภิกษุณีได้มีความคิดดังนี้อีกว่า “นี่คือ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๕. ภิกขุนีสังยุต] ๓. กีสาโคตมีสูตร
มารผู้มีบาป ประสงค์จะให้เราเกิดความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพอง
สยองเกล้า และประสงค์จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงกล่าวคาถา”
ครั้งนั้นแล โสมาภิกษุณีทราบว่า “นี่คือมารผู้มีบาป” จึงได้กล่าวกับมารผู้มีบาป
ด้วยคาถาว่า
เมื่อจิตตั้งมั่นดี เมื่อญาณเป็นไปอยู่
เมื่อเห็นแจ้งธรรมโดยชอบ
ความเป็นหญิงจะทำอะไรเราได้
ผู้ใดมีความคิดเห็นแน่นอนอย่างนี้ว่า
เราเป็นสตรีหรือว่าเราเป็นบุรุษ
ผู้ที่ยังมีความเกาะเกี่ยวว่าเรา มีอยู่
มารควรจะกล่าวกับผู้นั้นเถิด๑
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “โสมาภิกษุณีรู้จักเรา” จึงหายตัวไป
ณ ที่นั้นเอง
โสมาสูตรที่ ๒ จบ

๓. กีสาโคตมีสูตร
ว่าด้วยกีสาโคตมีภิกษุณี
[๑๖๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้นเวลาเช้า กีสาโคตมีภิกษุณีครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาต ภายหลังจากฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว
เข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักกลางวัน ถึงป่าอันธวันแล้วจึงนั่งพักกลางวันที่โคนต้นไม้
แห่งหนึ่ง ลำดับนั้น มารผู้มีบาปประสงค์จะให้กีสาโคตมีภิกษุณีเกิดความกลัว ความ
หวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้า และประสงค์จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไป
หากีสาโคตมีภิกษุณีถึงที่นั่งพักแล้ว ได้กล่าวกับกีสาโคตมีภิกษุณีด้วยคาถาว่า

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๕. ภิกขุนีสังยุต] ๔. วิชยาสูตร
บุตรท่านตายแล้ว มาอยู่กลางป่าคนเดียว
เหมือนคนที่ร้องไห้อยู่โดดเดี่ยว
กำลังแสวงหาบุรุษหรืออย่างไร
ลำดับนั้น กีสาโคตมีภิกษุณีได้มีความคิดดังนี้ว่า “นี่ใครหนอมากล่าวคาถา
จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์กันแน่” ทันใดนั้น กีสาโคตมีภิกษุณีได้มีความคิดดังนี้อีกว่า
“นี่คือมารผู้มีบาป ประสงค์จะให้เราเกิดความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพอง
สยองเกล้า และประสงค์จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงกล่าวคาถา”
ครั้งนั้นแล กีสาโคตมีภิกษุณีทราบว่า “นี่คือมารผู้มีบาป” จึงได้กล่าวกับมาร
ผู้มีบาปด้วยคาถาว่า
บุตรเราตายมานานแล้ว
บุรุษทั้งหลายก็มีความตายนี้เป็นที่สุดเหมือนกัน
เราไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้ ไม่กลัวความตายนั้นหรอก
ท่านผู้มีอายุ เรากำจัดความเพลิดเพลินในสิ่งทั้งปวง
ทำลายความมืด ชนะกองทัพมัจจุแล้ว อยู่อย่างไม่มีอาสวะ
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “กีสาโคตมีภิกษุณีรู้จักเรา” จึงหายตัว
ไป ณ ที่นั้นเอง
กีสาโคตมีสูตรที่ ๓ จบ

๔. วิชยาสูตร
ว่าด้วยวิชยาภิกษุณี
[๑๖๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้นเวลาเช้า วิชยาภิกษุณีครองอันตรวาสก ฯลฯ จึงนั่งพักกลางวันที่โคนต้น
ไม้แห่งหนึ่ง ลำดับนั้น มารผู้มีบาปประสงค์จะให้วิชยาภิกษุณีเกิดความกลัว ความ
หวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้า และประสงค์จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไป
หาวิชยาภิกษุณีถึงที่นั่งพักแล้ว ได้กล่าวกับวิชยาภิกษุณีด้วยคาถาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๕. ภิกขุนีสังยุต] ๔. วิชยาสูตร
เธอยังสาวมีรูปงาม และฉันเองก็ยังหนุ่มแน่น
มาเถิดน้องนาง เรามาร่วมบรรเลงดนตรีเครื่องห้า๑
ให้สำเริงสำราญกันเถิด
ลำดับนั้น วิชยาภิกษุณีได้มีความคิดดังนี้ว่า “นี่ใครหนอมากล่าวคาถา จะเป็น
มนุษย์หรืออมนุษย์กันแน่” ทันใดนั้น วิชยาภิกษุณีได้มีความคิดดังนี้อีกว่า “นี่คือมาร
ผู้มีบาป ประสงค์จะให้เราเกิดความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้า
และประสงค์จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงกล่าวคาถา”
ครั้งนั้นแล วิชยาภิกษุณีทราบว่า “นี่คือมารผู้มีบาป” จึงได้กล่าวกับมาร
ผู้มีบาปด้วยคาถาว่า
มาร รูป เสียง กลิ่น รส
และโผฏฐัพพะซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจ
เราขอมอบให้ท่านผู้เดียว เราไม่ต้องการสิ่งนั้น
เราอึดอัดระอาด้วยกายเน่านี้
ที่มีแต่จะแตกทำลายเปื่อยพังไป
กามตัณหาเราถอนได้แล้ว
ความมืดในสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในรูปภพ
ที่ดำรงอยู่ในอรูปภพและในสมาบัติอันสงบทั้งปวง
เราก็กำจัดได้หมดแล้ว
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “วิชยาภิกษุณีรู้จักเรา” จึงหายตัวไป
ณ ที่นั้นเอง
วิชยาสูตรที่ ๔ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๕. ภิกขุนีสังยุต] ๕. อุปปลวัณณาสูตร

๕. อุปปลวัณณาสูตร
ว่าด้วยอุบลวรรณาภิกษุณี
[๑๖๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้นเวลาเช้า อุบลวรรณาภิกษุณีครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร ฯลฯ
ได้ยืนอยู่ที่โคนต้นสาละซึ่งมีดอกบานสะพรั่งต้นหนึ่ง ลำดับนั้น มารผู้มีบาปประสงค์
จะให้อุบลวรรณาภิกษุณีเกิดความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้า
และประสงค์จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหาอุบลวรรณาภิกษุณีถึงที่ยืนอยู่
ได้กล่าวกับอุบลวรรณาภิกษุณีด้วยคาถาว่า
ภิกษุณี ท่านเข้าไปใกล้ต้นสาละ
ซึ่งมีดอกบานสะพรั่งถึงยอดแล้ว
ยืนอยู่แต่ผู้เดียวที่โคนต้นสาละนั้น
อนึ่ง ผิวพรรณของท่านไม่เป็นสองรองใคร
ท่านไม่กลัวความสามหาวของพวกนักเลงเจ้าชู้หรือ๑
ลำดับนั้น อุบลวรรณาภิกษุณีได้มีความคิดดังนี้ว่า “นี่ใครหนอมากล่าวคาถา
จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์กันแน่” ทันใดนั้น อุบลวรรณาภิกษุณีได้มีความคิดดังนี้
อีกว่า “นี่คือมารผู้มีบาป ประสงค์จะให้เราเกิดความกลัว ฯลฯ จึงกล่าวคาถา”
ครั้งนั้นแล อุบลวรรณาภิกษุณีทราบว่า “นี่คือมารผู้มีบาป” จึงได้กล่าวกับมาร
ผู้มีบาปด้วยคาถาว่า
แม้นักเลงตั้งแสนมาในที่นี้ เราก็ไม่สะดุ้ง
แม้เพียงขนของเราก็ไม่หวั่นไหว ไม่สั่นสะเทือน
มาร เราแม้ผู้เดียวก็ไม่กลัวท่าน
เรานี้จะหายตัวไปหรือเข้าท้องท่าน
แม้จะยืนอยู่ ณ ระหว่างดวงตา ท่านก็ไม่เห็นเรา

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๕. ภิกขุนีสังยุต] ๖. จาลาสูตร
เราเป็นผู้ชำนาญในจิต เจริญอิทธิบาทดีแล้ว
พ้นจากเครื่องผูกทุกชนิด
เราไม่กลัวท่านหรอก ท่านผู้มีอายุ
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “อุบลวรรณาภิกษุณีรู้จักเรา” จึงหาย
ตัวไป ณ ที่นั้นเอง
อุปปลวัณณาสูตรที่ ๕ จบ

๖. จาลาสูตร
ว่าด้วยจาลาภิกษุณี
[๑๖๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้นเวลาเช้า จาลาภิกษุณีครองอันตรวาสก ฯลฯ จึงนั่งพักกลางวันที่โคน
ต้นไม้แห่งหนึ่ง ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปหาจาลาภิกษุณีถึงที่อยู่ได้ถามจาลา-
ภิกษุณีดังนี้ว่า “ภิกษุณี ท่านไม่ชอบใจอะไร”
จาลาภิกษุณีตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ เราไม่ชอบความเกิดเลย”
มารผู้มีบาปกล่าวด้วยคาถาว่า
เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ชอบความเกิด
ผู้เกิดมาแล้วย่อมเสพกาม ใครให้ท่านยึดถือเรื่องนี้
อย่าเลยภิกษุณี ท่านจงชอบความเกิดเถิด
จาลาภิกษุณีกล่าวด้วยคาถาว่า
ความตายย่อมมีแก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว
ผู้ที่เกิดมาแล้วย่อมประสบทุกข์
คือ การจองจำ การฆ่า ความเศร้าหมอง
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ชอบความเกิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๕. ภิกขุนีสังยุต] ๗. อุปจาลาสูตร
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเหตุก้าวล่วงความเกิด
ทรงให้เราตั้งอยู่ในสัจจะเพื่อละทุกข์ทั้งปวง
สัตว์เหล่าใดเข้าถึงรูปภพและดำรงอยู่ในอรูปภพ
สัตว์เหล่านั้นเมื่อยังไม่รู้ความดับจึงต้องมาสู่ภพอีก
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “จาลาภิกษุณีรู้จักเรา” จึงหายตัวไป
ณ ที่นั้นเอง
จาลาสูตรที่ ๖ จบ

๗. อุปจาลาสูตร
ว่าด้วยอุปจาลาภิกษุณี
[๑๖๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้นเวลาเช้า อุปจาลาภิกษุณีครองอันตรวาสก ฯลฯ จึงนั่งพักกลางวันที่โคน
ต้นไม้แห่งหนึ่ง ลำดับนั้น มารผู้มีบาป ฯลฯ ได้ถามอุปจาลาภิกษุณีดังนี้ว่า “ภิกษุณี
ทำไมท่านจึงอยากจะเกิด”
อุปจาลาภิกษุณีตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ เราไม่อยากเกิดในที่ไหน ๆ”
มารผู้มีบาป กล่าวด้วยคาถาว่า
ท่านจงตั้งจิตไว้ในพวกเทพชั้นดาวดึงส์
ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี
และชั้นปรนิมมิตวสวัตดีเถิด
ท่านจักได้เสวยความยินดี
อุปจาลาภิกษุณี กล่าวด้วยคาถาว่า
พวกเทพชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา
ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
ยังผูกพันด้วยเครื่องผูกคือกาม
จำต้องกลับมาสู่อำนาจมารอีก
โลกทั้งหมดเร่าร้อน โลกทั้งหมดคุกรุ่น
โลกทั้งหมดลุกโพลง โลกทั้งหมดสั่นสะเทือน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๕. ภิกขุนีสังยุต] ๘. สีสุปจาลาสูตร
ใจของเรายินดีแน่วแน่ในนิพพาน ซึ่งไม่สั่นสะเทือน
ไม่หวั่นไหว ที่ปุถุชนเสพไม่ได้ มิใช่คติของมาร
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “อุปจาลาภิกษุณีรู้จักเรา” จึงหายตัว
ไป ณ ที่นั้นเอง
อุปจาลาสูตรที่ ๗ จบ

๘. สีสุปจาลาสูตร
ว่าด้วยสีสุปจาลาภิกษุณี
[๑๖๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น สีสุปจาลาภิกษุณีครองอันตรวาสก ฯลฯ จึงนั่งพักกลางวันที่โคนต้นไม้
แห่งหนึ่ง ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปหาสีสุปจาลาภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ได้ถามสีสุป-
จาลาภิกษุณีดังนี้ว่า “ภิกษุณี ท่านชอบใจลัทธิของใคร”
สีสุปจาลาภิกษุณีตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ เราไม่ชอบใจลัทธิของใครเลย”
มารผู้มีบาปกล่าวด้วยคาถาว่า
ท่านเป็นคนโล้น เจาะจงใคร
จึงปรากฏตัวเหมือนสมณะ
แต่ทำไมท่านจึงไม่ชอบใจลัทธิ
ท่านประพฤติเรื่องนี้ เพราะความงมงายหรือไร
สีสุปจาลาภิกษุณีกล่าวด้วยคาถาว่า
เจ้าลัทธิภายนอกพระศาสนานี้
ย่อมจมอยู่ในทิฏฐิทั้งหลาย
เราไม่ชอบใจธรรมของพวกเขา
พวกเขาเป็นคนไม่ฉลาดในธรรม
พระพุทธเจ้าผู้เสด็จอุบัติในศากยตระกูล
ไม่มีบุคคลอื่นเปรียบ ทรงครอบงำสิ่งทั้งปวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๕. ภิกขุนีสังยุต] ๙. เสลาสูตร
บรรเทาเสียซึ่งมาร ไม่ปราชัยในที่ทุกสถาน
พ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย
มีพระจักษุ ทรงเห็นธรรมทั้งปวง
บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นกรรมทุกอย่าง
หลุดพ้นเพราะธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิแล้ว
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นศาสดาของเรา
เราชอบใจคำสอนของพระองค์
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “สีสุปจาลาภิกษุณีรู้จักเรา” จึงหาย
ตัวไป ณ ที่นั้นเอง
สีสุปจาลาสูตรที่ ๘ จบ

๙. เสลาสูตร
ว่าด้วยเสลาภิกษุณี
[๑๗๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้นเวลาเช้า เสลาภิกษุณีครองอันตรวาสก ฯลฯ จึงนั่งพักกลางวันที่โคน
ต้นไม้แห่งหนึ่ง ลำดับนั้น มารผู้มีบาปประสงค์จะให้เสลาภิกษุณีเกิดความกลัว
ความหวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้า ฯลฯ ได้กล่าวกับเสลาภิกษุณีด้วย
คาถาว่า
ใครสร้างร่างกายนี้ ผู้สร้างร่างกายอยู่ที่ไหน
ร่างกายเกิดขึ้นที่ไหน ร่างกายดับที่ไหน
ลำดับนั้น เสลาภิกษุณีได้มีความคิดดังนี้ว่า “นี่ใครหนอมากล่าวคาถา จะเป็น
มนุษย์หรืออมนุษย์กันแน่” ทันใดนั้น เสลาภิกษุณีได้มีความคิดดังนี้อีกว่า “นี่คือ
มารผู้มีบาป ประสงค์จะให้เราเกิดความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้า
และประสงค์จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงกล่าวคาถา”
ครั้งนั้นแล เสลาภิกษุณีทราบว่า “นี่คือมารผู้มีบาป” จึงได้กล่าวกับมารผู้มี
บาปด้วยคาถาว่า
ร่างกายนี้ตนเองก็ไม่ได้สร้าง ผู้อื่นก็ไม่ได้สร้าง
อาศัยเหตุจึงเกิด เพราะเหตุดับจึงดับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๕. ภิกขุนีสังยุต] ๑๐. วชิราสูตร
พืชชนิดใดชนิดหนึ่งที่บุคคลหว่านลงในนา
อาศัยเหตุ ๒ ประการ คือรสดินและยางพืช
จึงงอกขึ้น ฉันใด
ขันธ์ ธาตุ และอายตนะ ๖ เหล่านี้
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อาศัยเหตุจึงเกิด เพราะเหตุดับจึงดับ
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “เสลาภิกษุณีรู้จักเรา” จึงหายตัวไป
ณ ที่นั้นเอง
เสลาสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. วชิราสูตร
ว่าด้วยวชิราภิกษุณี
[๑๗๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเวลาเช้า วชิราภิกษุณีครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาต ภายหลังจากฉัน
ภัตตาหารเสร็จแล้ว เข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักกลางวัน ถึงป่าอันธวันแล้ว จึงนั่งพัก
กลางวันที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปประสงค์จะให้วชิราภิกษุณีเกิดความกลัว ความหวาด
สะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้า และประสงค์จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหา
วชิราภิกษุณีถึงที่นั่งพักแล้วได้กล่าวกับวชิราภิกษุณีด้วยคาถาว่า
ใครสร้างสัตว์นี้ ผู้สร้างสัตว์อยู่ที่ไหน
สัตว์เกิดขึ้นที่ไหน สัตว์ดับที่ไหน
ลำดับนั้น วชิราภิกษุณีได้มีความคิดดังนี้ว่า “นี่ใครหนอมากล่าวคาถา จะเป็น
มนุษย์หรืออมนุษย์กันแน่” ทันใดนั้น วชิราภิกษุณีได้มีความคิดดังนี้อีกว่า “นี่คือมาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๕. ภิกขุนีสังยุต] รวมพระสูตรที่มีในสังยุต
ผู้มีบาป ประสงค์จะให้เราเกิดความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้า
และประสงค์จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงกล่าวคาถา”
ครั้งนั้นแล วชิราภิกษุณีทราบว่า “นี่คือมารผู้มีบาป” จึงได้กล่าวกับมาร
ผู้มีบาปด้วยคาถาว่า
มารเอ๋ย ทิฏฐิของเจ้าเชื่อว่าอะไรเป็นสัตว์
กองแห่งสังขารล้วน ๆ นี้
บัณฑิตจะเรียกว่าสัตว์ไม่ได้เลย
เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ การสมมติว่าสัตว์ก็มีได้
เหมือนคำว่ารถมีได้เพราะประกอบส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
อนึ่ง ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น
ทุกข์เท่านั้นดำรงอยู่และแปรผันไป
นอกจากทุกข์ ไม่มีสิ่งอื่นเกิดขึ้น
นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรอื่นดับไป๑
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “วชิราภิกษุณีรู้จักเรา” จึงหายตัวไป
ณ ที่นั้นเอง
วชิราสูตรที่ ๑๐ จบ
ภิกขุนีสังยุต จบบริบูรณ์

รวมพระสูตรที่มีในสังยุตนี้ คือ

๑. อาฬวิกาสูตร ๒. โสมาสูตร
๓. กีสาโคตมีสูตร ๔. วิชยาสูตร
๕. อุปปลวัณณาสูตร ๖. จาลาสูตร
๗. อุปจาลาสูตร ๘. สีสุปจาลาสูตร
๙. เสลาสูตร ๑๐. วชิราสูตร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๑. พรหมายาจนสูตร

๖. พรหมสังยุต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. พรหมายาจนสูตร
ว่าด้วยท้าวมหาพรหมอาราธนาพระพุทธเจ้าแสดงธรรม
[๑๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ประทับอยู่ที่โคนต้นอชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่ง
แม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด
เกิดความรำพึงอย่างนี้ว่า “ธรรม๑ที่เราได้บรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยากรู้ตามได้ยาก
สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ สำหรับหมู่ประชาผู้
รื่นรมย์ด้วยอาลัย๒ ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย ฐานะนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก
กล่าวคือหลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสมุปบาท ถึงแม้ฐานะนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากนัก
กล่าวคือความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ
นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะ
พึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา
อนึ่งเล่า อนัจฉริยคาถาเหล่านี้ที่ไม่เคยทรงสดับมาก่อน ได้ปรากฏแจ่มแจ้ง
แก่พระผู้มีพระภาคว่า
บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรม
ที่เราได้บรรลุด้วยความลำบาก

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๑. พรหมายาจนสูตร
เพราะธรรมนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกราคะ
และโทสะครอบงำ จะรู้ได้ง่าย
แต่เป็นสิ่งพาทวนกระแส๑ ละเอียด
ลึกซึ้ง รู้เห็นได้ยาก ประณีต ผู้กำหนัดด้วยราคะ
ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาเห็นดังนี้ พระทัยก็น้อมไปเพื่อการขวนขวายน้อย
มิได้น้อมไปเพื่อแสดงธรรม
ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบความรำพึงของพระผู้มีพระภาคด้วยใจแล้ว
ได้มีความคิดดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โลกจะฉิบหายหนอ โลกจะพินาศหนอ
เพราะพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อการขวนขวายน้อย
มิได้น้อมพระทัยไปเพื่อแสดงธรรม” จึงหายตัวจากพรหมโลก มาปรากฏอยู่ ณ
เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า
ฉะนั้น แล้วห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง คุกเข่าเบื้องขวาลงบนแผ่นดิน ประนมมือ
ไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดแสดงธรรม ขอพระสุคตได้โปรดแสดงธรรม เพราะสัตว์
ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจธุลีในตาน้อยมีอยู่ สัตว์เหล่านั้นย่อมเสื่อมเพราะไม่ได้สดับธรรม
เพราะจักมีผู้รู้ธรรม”
ท้าวสหัมบดีพรหมกราบทูลดังนี้แล้ว ได้กล่าวคาถาอื่นอีกว่า
ในกาลก่อนธรรมที่ไม่บริสุทธิ์
อันคนผู้มีมลทินคิดค้นไว้ ปรากฏในแค้วมคธ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๑. พรหมายาจนสูตร
พระองค์โปรดทรงเปิดประตูอมตะนั้นเถิด
ขอเหล่าสัตว์จงฟังธรรมที่พระสัมพุทธเจ้าผู้ปราศจากมลทิน
ได้ตรัสรู้แล้วตามลำดับ
ข้าแต่พระองค์ผู้มีปัญญาดี มีพระสมันตจักษุ
บุรุษผู้ยืนอยู่บนยอดเขาศิลาล้วน
พึงเห็นหมู่ชนได้โดยรอบ ฉันใด
พระองค์ผู้หมดความเศร้าโศกแล้ว ก็ฉันนั้น
เสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรมแล้ว
จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศก
และถูกชาติ ชราครอบงำได้ชัดเจน
ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า ผู้ชนะสงคราม
ผู้นำหมู่ ผู้ไม่มีหนี้ ขอพระองค์โปรดลุกขึ้นเสด็จจาริกไปในโลก
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดจงทรงแสดงธรรม
เพราะจักมีผู้รู้ธรรม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบคำทูลอาราธนาของพรหม และเพราะ
ความมีพระมหากรุณาในหมู่สัตว์ ทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ๑ เมื่อพระผู้มี
พระภาคทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจธุลีในตา
น้อย มีกิเลสดุจธุลีในตามาก มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการ
ทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวกมักเห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัวก็มี
บางพวกมักไม่เห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัวก็มี

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๑. พรหมายาจนสูตร
มีอุปมาเหมือนในกออุบล ในกอปทุม ในกอปุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม
ดอกปุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ มีน้ำเลี้ยงอยู่
ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกปุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่เสมอน้ำ
ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกปุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ขึ้นพ้นน้ำ
ไม่แตะน้ำ ฉันใด
พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจ
ธุลีในตาน้อย มีกิเลสดุจธุลีในตามาก มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี
มีอาการทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวกมักเห็นปรโลกและโทษว่า
เป็นสิ่งที่น่ากลัวก็มี บางพวกมักไม่เห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวก็มี ฉันนั้น
ครั้นทรงเห็นแล้ว ได้ตรัสตอบท้าวสหัมบดีพรหมด้วยพระคาถาว่า
สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดจะฟัง จงปล่อยศรัทธาเถิด
เราได้เปิดประตูอมตะแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว
ท่านพรหม เพราะเราสำคัญว่าจะลำบาก
จึงมิได้แสดงธรรมที่ประณีตคล่องแคล่ว ในหมู่มนุษย์
ลำดับนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมคิดว่า “พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอกาส
แก่เรา เพื่อจะทรงแสดงธรรมแล้ว” จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำ
ประทักษิณแล้วหายตัวไป ณ ที่นั้นแล๑
พรหมายาจนสูตรที่ ๑ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๒. คารวสูตร

๒. คารวสูตร
ว่าด้วยพระพุทธเจ้าทรงสักการะเคารพธรรม
[๑๗๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ประทับอยู่ที่ใต้ต้นอชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่ง
แม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด
เกิดความรำพึงอย่างนี้ว่า “บุคคลผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรง ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เราพึง
สักการะ เคารพ อาศัยสมณะหรือพราหมณ์คนไหนหนอแลอยู่”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริดังนี้ว่า “เราพึงสักการะ เคารพ
อาศัยสมณะหรือพราหมณ์อื่นอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งสีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์
แต่เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ที่มีศีลสมบูรณ์กว่าเรา ที่เรา
จะพึงสักการะ เคารพ อาศัยอยู่
เราพึงสักการะ เคารพ อาศัยสมณะหรือพราหมณ์อื่นอยู่ เพื่อความบริบูรณ์
แห่งสมาธิขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นในโลก พร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์
ที่มีสมาธิสมบูรณ์กว่าเรา ที่เราพึงสักการะ เคารพ อาศัยอยู่
เราพึงสักการะ เคารพ อาศัยสมณะหรือพราหมณ์อื่นอยู่ เพื่อความบริบูรณ์
แห่งปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นในโลก พร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์
ที่มีปัญญาสมบูรณ์กว่าเรา ที่เราพึงสักการะ เคารพ อาศัยอยู่
เราพึงสักการะ เคารพ อาศัยสมณะหรือพราหมณ์อื่นอยู่ เพื่อความบริบูรณ์
แห่งวิมุตติขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นในโลก พร้อมทั้ง
เทวโลก ฯลฯ ที่มีวิมุตติสมบูรณ์กว่าเรา ที่เราพึงสักการะ เคารพ อาศัยอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๒. คารวสูตร
เราพึงสักการะ เคารพ อาศัยสมณะหรือพราหมณ์อื่นอยู่ เพื่อความบริบูรณ์
แห่งวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่น
ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์ที่มีวิมุตติญาณทัสสนะสมบูรณ์กว่าเรา ที่เราพึงสักการะ เคารพ
อาศัยอยู่ ทางที่ดีเราพึงสักการะ เคารพธรรมที่เราตรัสรู้แล้วนั่นแลอยู่
ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบความรำพึงของพระผู้มีพระภาคด้วยใจแล้ว
หายตัวจากพรหมโลกมาปรากฏ ณ เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนบุรุษ
ผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหมห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางที่
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระผู้มี
พระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต ทรงสักการะ เคารพ อาศัยธรรมอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตทรงสักการะ เคารพ
อาศัยธรรมอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในปัจจุบัน ก็ขอจงสักการะ เคารพ อาศัยธรรมอยู่เถิด”
ท้าวสหัมบดีพรหมกราบทูลดังนี้แล้ว จึงได้กล่าวคาถาอื่นต่อไปอีกว่า
พระสัมพุทธเจ้าในอดีต
พระสัมพุทธเจ้าในอนาคต
และพระสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดในปัจจุบัน
ผู้ขจัดความเศร้าโศกของสัตว์เป็นจำนวนมากให้พินาศไป
ทุกพระองค์นั้น ล้วนเคารพพระสัทธรรมอยู่
นี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้นแล กุลบุตรผู้ใฝ่ประโยชน์
มุ่งหวังความเป็นใหญ่ ระลึกถึงคำสอน
ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงเคารพพระสัทธรรม๑
คารวสูตรที่ ๒ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๓. พรหมเทวสูตร

๓. พรหมเทวสูตร
ว่าด้วยพระพรหมเทพ
[๑๗๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น บุตรของนางพราหมณีคนหนึ่ง ชื่อพรหมเทพ
ออกบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาค
ครั้งนั้น ท่านพระพรหมเทพหลีกออกไปอยู่คนเดียว ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์๑ ที่เหล่ากุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๒
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” ก็แลท่าน
พระพรหมเทพเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ครั้นเวลาเช้า ท่านพระพรหมเทพครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีตามลำดับตรอกแล้วเข้าไป
ยังที่อยู่แห่งมารดาของตน สมัยนั้น นางพราหมณีมารดาของท่านพระพรหมเทพ
ถือการบูชาด้วยก้อนข้าวแก่พรหมเป็นนิตย์ ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมดำริว่า
“นางพราหมณีผู้มารดาของท่านพระพรหมเทพนี้ ถือการบูชาด้วยก้อนข้าวแก่พรหม
เป็นนิตย์ ทางที่ดีเราพึงเข้าไปหานางแล้วทำให้สลดใจ” ลำดับนั้น ท้าวสหัมบดี
พรหมยืนอยู่ในอากาศ ได้กล่าวกับนางพราหมณีมารดาของท่านพระพรหมเทพ
ด้วยคาถาทั้งหลายว่า
นางพราหมณี ท่านถือการบูชา
ด้วยก้อนข้าว แก่พรหมใดเป็นนิตย์

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๓. พรหมเทวสูตร
พรหมโลกของพรหมนั้นอยู่ไกลจากที่นี้
นางพราหมณี อาหารของพรหมไม่ใช่เช่นนี้
ท่านไม่รู้จักทางของพรหม ทำไมจึงบ่นถึงพรหม
นางพราหมณี ก็ท่านพระพรหมเทพของท่านนั้น
เป็นผู้ไร้อุปธิ๑ ถึงความเป็นอติเทพ
ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล เห็นภัยเนือง ๆ ไม่เลี้ยงดูผู้อื่น
ท่านพระพรหมเทพผู้เข้าสู่เรือนของท่านเพื่อบิณฑบาต
เป็นผู้สมควรแก่ก้อนข้าวที่บุคคลพึงนำมาบูชา
ผู้ถึงฝั่งแห่งเวท อบรมตนแล้ว
ควรแก่ทักษิณาของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย
ลอยบาปแล้ว ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิฉาบทา
เป็นคนเยือกเย็น กำลังเที่ยวแสวงหาอาหารอยู่
อดีตและอนาคตไม่มีแก่ท่านพระพรหมเทพนั้น
ท่านพระพรหมเทพเป็นผู้สงบระงับ ปราศจากควัน
ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง วางอาชญาแล้ว
ในปุถุชนผู้ยังมีความหวาดหวั่นและในพระขีณาสพผู้มั่นคง
ขอท่านพระพรหมเทพนั้นจงบริโภคบิณฑบาตอันเลิศ
สำหรับบูชาพรหมของท่าน
ท่านพระพรหมเทพซึ่งเป็นผู้ปราศจากเสนามาร
มีจิตสงบระงับ ฝึกตนแล้ว
เที่ยวไปเหมือนช้างประเสริฐ ไม่หวั่นไหว
เป็นภิกษุมีศีลดี มีจิตพ้นวิเศษแล้ว
ขอท่านพระพรหมเทพนั้น จงบริโภคบิณฑบาตอันเลิศ
สำหรับบูชาพรหมของท่าน

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๔. พกสูตร
ท่านจงเป็นผู้เลื่อมใสในท่านพระพรหมเทพนั้น
เป็นผู้ไม่หวั่นไหว ตั้งทักษิณาไว้ในท่านผู้เป็นทักขิไณยบุคคล๑
นางพราหมณี ท่านเห็นมุนีผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว
จงทำบุญอันจะนำความสุขมาให้สืบ ๆ ไป
ท่านจงเป็นผู้เลื่อมใสในท่านพระพรหมเทพนั้น
เป็นผู้ไม่หวั่นไหว ตั้งทักษิณาไว้ในท่านผู้เป็นทักขิไณยบุคคล
นางพราหมณี ท่านเห็นมุนีผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว
จงทำบุญอันจะนำความสุขมาให้สืบ ๆ ไป
พรหมเทวสูตรที่ ๓ จบ

๔. พกสูตร
ว่าด้วยพกพรหม
[๑๗๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พกพรหมได้เกิดทิฏฐิชั่วเช่นนี้ว่า “ฐานะ
แห่งพรหมนี้เที่ยง ยั่งยืน ติดต่อกัน คงที่ มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา ไม่เกิด ไม่แก่
ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ อนึ่ง เครื่องสลัดออก(จากทุกข์)อันยิ่งอย่างอื่นนอกจากฐานะ
แห่งพรหมนี้ไม่มี”

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๔. พกสูตร
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดคำนึงของพกพรหมด้วยพระทัยแล้ว
ทรงหายพระองค์จากพระเชตวันแล้วไปปรากฏในพรหมโลกนั้น เปรียบเหมือนบุรุษ
ผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น พกพรหมได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลัง
เสด็จมาแต่ไกล ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ขอพระองค์จงเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จ นาน ๆ พระองค์จะมีเวลาเสด็จมา ณ ที่นี้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็ฐานะแห่งพรหมนี้เที่ยง ยั่งยืน ติดต่อกัน คงที่ มีความไม่
เคลื่อนเป็นธรรมดา ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ อนึ่ง เครื่องสลัดออก(จาก
ทุกข์)อันยิ่ง อย่างอื่นนอกจากฐานะแห่งพรหมนี้ไม่มี”
เมื่อพกพรหมกล่าวเช่นนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพกพรหมดังนี้ว่า
“ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พกพรหมถึงความโง่เขลาแล้วหนอ พกพรหมถึงความโง่เขลา
แล้วหนอ พกพรหมกล่าวฐานะแห่งพรหมที่เป็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง กล่าวฐานะ
แห่งพรหมที่ไม่ยั่งยืนว่ายั่งยืน กล่าวฐานะแห่งพรหมที่ไม่ติดต่อกันว่าติดต่อกัน
กล่าวฐานะแห่งพรหมที่ไม่คงที่ว่าคงที่ กล่าวฐานะแห่งพรหมที่มีความเคลื่อนเป็น
ธรรมดาว่ามีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา และกล่าวฐานะแห่งพรหมอันเป็นที่เกิด
แก่ ตาย จุติและอุบัติแห่งตนว่า ฐานะแห่งพรหมนี้ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ
ไม่อุบัติ อนึ่ง ย่อมกล่าวเครื่องสลัดออก(จากทุกข์)อันยิ่งอย่างอื่นซึ่งมีอยู่ว่าไม่มี
พกพรหมกราบทูลว่า
ข้าแต่พระโคดม พวกข้าพระองค์ ๗๒ องค์
บังเกิดในพรหมโลกนี้ เพราะบุญกรรม
มีอำนาจให้เป็นไป ล่วงชาติและชราได้แล้ว
การอุบัติในพรหมโลก ซึ่งถึงฝั่งแห่งเวทนี้เป็นที่สุดแล้ว
ชนมิใช่น้อยย่อมปรารถนาเป็นดังพวกข้าพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๔. พกสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
พกพรหม ท่านสำคัญอายุใดว่ายาว
ก็อายุนั้นสั้น ไม่ยาวเลย
พรหม เรารู้อายุ ๑๐๐,๐๐๐ นิรัพพุท๑ของท่านได้ดี
พกพรหมกราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสว่า
เราเป็นผู้มีปกติเห็นไม่มีที่สิ้นสุด
ล่วงชาติชราและความเศร้าโศกได้แล้ว
อะไรเป็นศีลวัตรเก่าแก่ของข้าพระองค์หนอ
ขอพระองค์จงตรัสบอกศีลวัตร
ซึ่งข้าพระองค์ควรรู้แจ้งด้วยเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
๑. ข้อที่ท่านให้มนุษย์เป็นอันมาก
ผู้กระหายน้ำซึ่งถูกแดดแผดเผาในฤดูร้อนได้ดื่มน้ำ
นั้นเป็นศีลวัตรเก่าแก่ของท่าน
เรายังระลึกได้อยู่ ประดุจหลับแล้วตื่นขึ้น ฉะนั้น
๒. ข้อที่ท่านช่วยปลดเปลื้องประชุมชน
ซึ่งถูกโจรจับที่ตระกูลเอณิ๒

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๔. พกสูตร
นั้นเป็นศีลวัตรเก่าแก่ของท่าน
เรายังระลึกได้อยู่ ประดุจหลับแล้วตื่นขึ้น ฉะนั้น
๓. ข้อที่ท่านข่มขี่ด้วยกำลังแล้วช่วยปลดเปลื้องเรือ
ซึ่งถูกนาคผู้ร้ายจับไว้ในกระแสของแม่น้ำคงคา
เพราะความเอ็นดูในหมู่มนุษย์
นั้นเป็นศีลวัตรเก่าแก่ของท่าน
เรายังระลึกได้อยู่ ประดุจหลับแล้วตื่นขึ้น ฉะนั้น
๔. เราได้เป็นอันเตวาสิกของท่าน
นามว่ากัปปมาณพ เราได้เข้าใจท่านแล้วว่า
มีความรู้ดี มีวัตร ข้อนั้นเป็นศีลวัตรเก่าแก่ของท่าน
เรายังระลึกได้อยู่ ประดุจหลับแล้วตื่นขึ้น ฉะนั้น
พกพรหมกราบทูลว่า
พระองค์ทรงทราบอายุนี้ของข้าพระองค์แน่แท้
แม้สิ่งอื่นพระองค์ก็ทรงทราบได้
เพราะพระองค์เป็นพระพุทธเจ้า
ฉะนั้น อานุภาพอันรุ่งโรจน์ของพระองค์นี้
จึงยังพรหมโลกให้สว่างไสว ตั้งอยู่
พกสูตรที่ ๔ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๕. อปราทิฏฐิสูตร

๕. อปราทิฏฐิสูตร
ว่าด้วยทิฏฐิอีกอย่างหนึ่ง
[๑๗๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พรหมองค์หนึ่งได้เกิดทิฏฐิชั่วเช่นนี้ว่า
“สมณะหรือพราหมณ์ที่จะพึงมาในพรหมโลกนี้ได้ไม่มีเลย” ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค
ทรงทราบความคิดคำนึงของพรหมนั้นด้วยพระทัยแล้ว ทรงหายพระองค์จาก
พระเชตวันแล้วไปปรากฏในพรหมโลกนั้น เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออก
หรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งขัดสมาธิในอากาศเบื้องบน
พรหมนั้น เข้าเตโชธาตุกสิณแล้ว
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้มีความคิดดังนี้ว่า “บัดนี้ พระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ” ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เห็นพระผู้มี
พระภาคประทับนั่งขัดสมาธิในอากาศเบื้องบนพรหมนั้น ทรงเข้าเตโชธาตุกสิณอยู่
ด้วยทิพยจักขุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์ ได้หายตัวจากพระเชตวันไปปรากฏใน
พรหมโลกนั้น เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น ลำดับนั้น
ท่านพระมหาโมคคัลลานะอาศัยทิศตะวันออก นั่งขัดสมาธิในอากาศเบื้องบนของ
พรหมนั้น(แต่) ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาค เข้าเตโชธาตุกสิณแล้ว
ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะได้มีความคิดดังนี้ว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาค
ประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ” ท่านพระมหากัสสปะได้เห็นพระผู้มีพระภาคด้วยทิพพ-
จักขุ ฯลฯ ได้หายตัวจากพระเชตวันไปปรากฏในพรหมโลกนั้นเปรียบเหมือนบุรุษ
ผู้มีกำลัง ฯลฯ ฉะนั้น ลำดับนั้น ท่านพระมหากัสสปะอาศัยทิศใต้นั่งขัดสมาธิใน
อากาศเบื้องบนของพรหมนั้น (แต่)ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาค เข้าเตโชธาตุกสิณแล้ว
ต่อมา ท่านพระมหากัปปินะได้มีความคิดดังนี้ว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาค
ประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ” ลำดับนั้น ท่านพระมหากัปปินะได้เห็นพระผู้มีพระภาค
ด้วยทิพพจักขุ ฯลฯ ได้หายตัวจากพระเชตวันไปปรากฏในพรหมโลกนั้น เปรียบเหมือน
บุรุษผู้มีกำลัง ฯลฯ ฉะนั้น ลำดับนั้น ท่านพระมหากัปปินะอาศัยทิศตะวันตก นั่งขัด
สมาธิในอากาศเบื้องบนพรหมนั้น (แต่)ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาค เข้าเตโชธาตุกสิณแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๕. อปราทิฏฐิสูตร
ลำดับนั้น ท่านพระอนุรุทธะได้มีความคิดดังนี้ว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาค
ประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ” ท่านพระอนุรุทธะได้เห็นพระผู้มีพระภาคด้วยทิพพจักขุ
ฯลฯ ได้หายตัวจากพระเชตวันไปปรากฏในพรหมโลกนั้น เปรียบเหมือนบุรุษผู้มี
กำลัง ฯลฯ ฉะนั้น ลำดับนั้น ท่านพระอนุรุทธะอาศัยทิศเหนือนั่งขัดสมาธิใน
อากาศเบื้องบนของพรหมนั้น (แต่)ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาค เข้าเตโชธาตุกสิณแล้ว
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกับพรหมนั้นด้วยคาถาว่า
ผู้มีอายุ แม้ในวันนี้ท่านก็ยังมีทิฏฐิเหมือนครั้งก่อนหรือ
ท่านยังเห็นพระรัศมีอันปภัสสร(ของพระผู้มีพระภาค)
ก้าวล่วงรัศมีอื่นในพรหมโลกหรือ
พรหมนั้นตอบว่า
ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์
ข้าพเจ้ามิได้มีทิฏฐิเหมือนครั้งก่อน
ข้าพเจ้าเห็นพระรัศมีอันปภัสสร(ของพระผู้มีพระภาค)
ก้าวล่วงรัศมีอื่นในพรหมโลกอยู่
ในวันนี้ข้าพเจ้าจะพึงกล่าวว่า
‘เราเป็นผู้เที่ยง เป็นผู้คงที่’ ได้อย่างไร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคให้พรหมนั้นสลดใจแล้ว ทรงหายพระองค์จาก
พรหมโลกนั้นไปปรากฏในพระเชตวัน เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออก
หรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น ลำดับนั้น พรหมได้เรียกพรหมปาริสัชชะองค์หนึ่งมากล่าวว่า
“มาเถิดท่านผู้นิรทุกข์ ท่านจงเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะจนถึงที่อยู่ จงกล่าว
กับท่านพระมหาโมคคัลลานะอย่างนี้ว่า ‘ท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ มีอยู่
หรือหนอที่สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น แม้เหล่าอื่นซึ่งมีฤทธิ์มาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๕. อปราทิฏฐิสูตร
อย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เหมือนอย่างท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระ
กัสสปะ ท่านพระกัปปินะ และท่านพระอนุรุทธะ”
พรหมปาริสัชชะนั้นรับคำของพรหมนั้นว่า “อย่างนั้น ท่านผู้นิรทุกข์” ได้หาย
ตัวจากพรหมโลกนั้นไปปรากฏข้างหน้าท่านพระมหาโมคคัลลานะ เปรียบเหมือน
บุรุษผู้มีกำลัง ฯลฯ ฉะนั้น ครั้งนั้น พรหมปาริสัชชะนั้นอภิวาทท่านพระมหา-
โมคคัลลานะแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระมหาโมคคัลลานะดังนี้ว่า
“ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ มีอยู่หรือหนอ ฯลฯ และท่านพระอนุรุทธะ”
ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกับพรหมปาริสัชชะด้วยคาถาว่า
สาวกทั้งหลายของพระพุทธเจ้า
ผู้ได้วิชชา ๓๑ บรรลุอิทธิวิธิญาณ
ฉลาดในเจโตปริยญาณ
สิ้นอาสวะแล้ว เป็นพระอรหันต์ มีอยู่มาก
ลำดับนั้น พรหมปาริสัชชะนั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระมหาโมคคัลลานะแล้ว
เข้าไปหาพรหมนั้นถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับพรหมนั้นว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านพระมหา-
โมคคัลลานะกล่าวอย่างนี้ว่า
สาวกทั้งหลายของพระพุทธเจ้า
ผู้ได้วิชชา ๓ บรรลุอิทธิวิธิญาณ
ฉลาดในเจโตปริยญาณ
สิ้นอาสวะแล้ว เป็นพระอรหันต์ มีอยู่มาก”
พรหมปาริสัชชะได้กล่าวคำนี้แล้ว พรหมมีใจยินดีชื่นชมภาษิตของพรหม-
ปาริสัชชะนั้น
อปราทิฏฐิสูตรที่ ๕ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๖. ปมาทสูตร

๖. ปมาทสูตร
ว่าด้วยผู้ประมาท
[๑๗๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นประทับพักผ่อนอยู่ในที่พักกลางวัน
ครั้งนั้น สุพรหมปัจเจกพรหม และสุทธาวาสปัจเจกพรหมเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ได้ยืนพิงบานประตูคนละข้าง ลำดับนั้น สุพรหมปัจเจกพรหมได้กล่าว
กับสุทธาวาสปัจเจกพรหมดังนี้ว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ ไม่ใช่เวลาอันควรที่จะเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคก่อน พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นประทับพักผ่อนอยู่ในที่พักกลางวัน
ก็พรหมโลกโน้นบริบูรณ์และเบิกบานแล้ว แต่พรหมในพรหมโลกนั้นย่อมอยู่ด้วยความ
ประมาท มาเถิด พวกเราจักเข้าไปพรหมโลก พึงให้พรหมนั้นสลดใจ” สุทธาวาส-
ปัจเจกพรหมได้รับคำของสุพรหมปัจเจกพรหมว่า “อย่างนั้น ท่านผู้นิรทุกข์”
ครั้งนั้น สุพรหมปัจเจกพรหมและสุทธาวาสปัจเจกพรหม ได้หายตัวจาก
เบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคไปปรากฏในพรหมโลกนั้น เปรียบเหมือนบุรุษ
ผู้มีกำลัง ฯลฯ ฉะนั้น พรหมนั้นได้เห็นพรหมเหล่านั้นกำลังมาแต่ไกลเทียว ได้กล่าว
กับพรหมเหล่านั้นว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ เชิญเถิด พวกท่านมาจากไหนกันหรือ”
พรหมเหล่านั้นกล่าวว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ พวกเรามาจากสำนักของพระผู้มี
พระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น อนึ่ง ท่านจะไปสู่ที่บำรุง
ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้างไหมล่ะ”
เมื่อพรหมทั้ง ๒ นั้นกล่าวแล้วเช่นนี้ พรหมนั้นอดกลั้นคำนั้นไม่ได้ จึงเนรมิต
ตนเป็น ๑,๐๐๐ แล้วได้กล่าวคำนี้กับสุพรหมปัจเจกพรหมว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเห็น
อิทธานุภาพเห็นปานนี้ของเราหรือไม่”
สุพรหมปัจเจกพรหมกล่าวว่า “เราเห็นอิทธานุภาพเห็นปานนี้ของท่านแล้ว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๖. ปมาทสูตร
พรหมนั้นกล่าวว่า “เรานั้นเป็นผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้
จักไปสู่ที่บำรุงของสมณะหรือพราหมณ์อื่นทำไม”
ลำดับนั้น สุพรหมปัจเจกพรหมเนรมิตตนเป็น ๒,๐๐๐ องค์ แล้วได้กล่าวคำนี้
กับพรหมว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเห็นอิทธานุภาพเห็นปานนี้ของเราหรือไม่”
พรหมนั้นกล่าวว่า “เราเห็นอิทธานุภาพเห็นปานนี้ของท่านแล้ว”
สุพรหมปัจเจกพรหมกล่าวว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเท่านั้น มีฤทธิ์
มากกว่า และมีอานุภาพยิ่งใหญ่กว่าท่านและเราด้วย ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านพึงไปสู่
ที่บำรุงของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด”
ครั้งนั้น พรหมนั้นได้กล่าวกับสุพรหมปัจเจกพรหมด้วยคาถาว่า
ข้าแต่พรหม วิมานของเราผู้มีฌานนี้นั้นมีรูปครุฑ ๓๐๐ รูป
มีรูปหงส์ ๔๐๐ รูป มีรูปมฤคที่เหมือนเสือโคร่ง ๕๐๐ รูป
ย่อมรุ่งโรจน์ส่องสว่างอยู่ในทิศเหนือ
สุพรหมปัจเจกพรหมและสุทธาวาสปัจเจกพรหมกล่าวว่า
วิมานของท่านนั้นถึงจะรุ่งโรจน์
ส่องสว่างอยู่ในทิศเหนือก็จริง
เพราะเห็นโทษในรูป(และ)เพราะเห็นรูปอันหวั่นไหวอยู่ทุกเมื่อ
พระศาสดาผู้มีพระปัญญาดี จึงไม่ทรงยินดีในรูป
ครั้งนั้น สุพรหมปัจเจกพรหมและสุทธาวาสปัจเจกพรหม ให้พรหมนั้นสลดใจ
แล้วหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง อนึ่ง พรหมนั้นสมัยต่อมาได้ไปสู่ที่บำรุงของพระผู้มี
พระภาคผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ปมาทสูตรที่ ๖ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๘. กตโมรกติสสกสูตร

๗. โกกาลิกสูตร
ว่าด้วยโกกาลิกภิกษุ
[๑๗๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นประทับพักผ่อนอยู่ในที่พักกลางวัน
ครั้งนั้น สุพรหมปัจเจกพรหมและสุทธาวาสปัจเจกพรหมเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ได้ยืนพิงบานประตูคนละข้าง ลำดับนั้น สุพรหมปัจเจกพรหมปรารภ
โกกาลิกภิกษุ ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ใครผู้มีปัญญาในโลกนี้
จะพึงประเมินพระขีณาสพผู้มีคุณอันประมาณมิได้
เราเห็นว่าผู้นั้นมีปัญญาทึบยังเป็นปุถุชนอยู่
บังอาจประเมินพระขีณาสพผู้มีคุณอันประมาณมิได้
โกกาลิกสูตรที่ ๗ จบ

๘. กตโมรกติสสกสูตร
ว่าด้วยกตโมรกติสสกภิกษุ
[๑๗๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นประทับพักผ่อนอยู่ในที่พักกลางวัน
ครั้งนั้น สุพรหมปัจเจกพรหมและสุทธาวาสปัจเจกพรหมเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ได้ยืนพิงบานประตูคนละข้าง ลำดับนั้น สุทธาวาสปัจเจกพรหมปรารภ
กตโมรกติสสกภิกษุ ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ใครผู้มีปัญญาในโลกนี้
จะพึงประเมินพระขีณาสพผู้มีคุณอันประมาณมิได้
เราเห็นว่าผู้นั้นมีปัญญาทึบยังเป็นปุถุชนอยู่
บังอาจประเมินพระขีณาสพผู้มีคุณอันประมาณมิได้
กตโมรกติสสกสูตรที่ ๘ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๙. ตุทุพรหมสูตร

๙. ตุทุพรหมสูตร
ว่าด้วยตุทุปัจเจกพรหม
[๑๘๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น โกกาลิกภิกษุอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป
ตุทุปัจเจกพรหมมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปหา
โกกาลิกภิกษุจนถึงที่อยู่ ยืนอยู่กลางอากาศได้กล่าวกับโกกาลิกภิกษุดังนี้ว่า “ท่าน
โกกาลิกะ ท่านจงทำจิตให้เลื่อมใสในท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเถิด
เพราะท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะ เป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก”
โกกาลิกภิกษุถามว่า “ผู้มีอายุ ท่านเป็นใคร”
ตุทุปัจเจกพรหมตอบว่า “เราเป็นตุทุปัจเจกพรหม”
โกกาลิกภิกษุกล่าวว่า “ผู้มีอายุ ท่านได้รับพยากรณ์จากพระผู้มีพระภาคว่า
เป็นอนาคามีแล้วมิใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมท่านจึงมาที่นี้อีก ท่านจงเห็นว่า
ความผิดนี้ของท่านมีอยู่เถิด”
ตุทุปัจเจกพรหมได้กล่าวว่า
ผรุสวาจา (คำหยาบ) เป็นเหมือนผึ่ง
เครื่องตัดตนของคนพาลผู้กล่าวคำชั่ว
ย่อมเกิดที่ปากของบุรุษ
ผู้ใดสรรเสริญคนที่ควรติเตียน
หรือติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ
ผู้นั้นชื่อว่าสั่งสมความผิดไว้ด้วยปาก
ย่อมไม่ประสบความสุข เพราะความผิดนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๑๐. โกกาลิกสูตร
การปราชัยด้วยทรัพย์
ในการเล่นการพนันจนหมดตัวนี้
เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย
แต่การที่บุคคลมีใจประทุษร้าย
ในบุคคลผู้ดำเนินไปดีแล้วนี้เท่านั้น
เป็นความผิดมากกว่า
บุคคลผู้ตั้งวาจาและใจอันชั่ว ติเตียนพระอริยะ
ย่อมเข้าถึงนรกสิ้น ๑๓๖,๐๐๐ นิรัพพุทกัป๑
กับอีก ๕ อัพพุทกัป๒
ตุทุพรหมสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. โกกาลิกสูตร
ว่าด้วยโกกาลิกภิกษุ
[๑๘๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น โกกาลิกภิกษุเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีความปรารถนาชั่ว ตกอยู่ในอำนาจ
ความปรารถนาชั่ว”
เมื่อโกกาลิกภิกษุกล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับโกกาลิกภิกษุดังนี้ว่า
“โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธอจงทำจิต
ให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด เพราะสารีบุตรและโมคคัลลานะ เป็นผู้มี
ศีลเป็นที่รัก”
แม้ครั้งที่ ๒ โกกาลิกภิกษุกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
แม้พระผู้มีพระภาคทรงเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของข้าพระองค์ ทรงมีพระพุทธพจน์ที่

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๑๐. โกกาลิกสูตร
ข้าพระองค์เชื่อถือได้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะ
ก็ยังเป็นผู้ปรารถนาชั่ว ตกอยู่ในอำนาจความปรารถนาชั่ว”
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับโกกาลิกภิกษุดังนี้ว่า “โกกาลิกะ
เธออย่ากล่าวอย่างนั้น โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธอจงทำจิตให้เลื่อมใสใน
สารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด เพราะสารีบุตรและโมคคัลลานะ เป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก”
แม้ครั้งที่ ๓ โกกาลิกภิกษุก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ ฯลฯ ตกอยู่ใน
อำนาจความปรารถนาชั่ว”
แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับโกกาลิกภิกษุว่า “ ฯลฯ เพราะสารีบุตร
และโมคคัลลานะ เป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก”
ครั้งนั้น โกกาลิกภิกษุลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคกระทำ
ประทักษิณแล้วจากไป
เมื่อโกกาลิกภิกษุจากไปไม่นาน ร่างกายก็มีตุ่มขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด
เกิดขึ้นทั่วร่าง ตุ่มเหล่านั้นโตเท่าเมล็ดพันธ์ผักกาด แล้วก็โตขึ้นเท่าเมล็ดถั่วเขียว
โตเท่าเมล็ดถั่วดำ โตเท่าเมล็ดพุทรา โตเท่าเมล็ดกระเบา โตเท่าผลมะขามป้อม
โตเท่าผลมะตูมอ่อน โตเท่าผลมะตูมแก่ แล้วก็แตกเยิ้ม หนองและเลือดหลั่งออกมา
ครั้งนั้น โกกาลิกภิกษุได้มรณภาพเพราะอาพาธนั้นเอง แล้วไปเกิดในปทุมนรก
เพราะมีจิตผูกอาฆาตในท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะ
ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป ท้าวสหัมบดีพรหมมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้
สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โกกาลิก-
ภิกษุมรณภาพแล้ว ไปเกิดในปทุมนรกเพราะมีจิตผูกอาฆาตในท่านพระสารีบุตรและ
ท่านพระโมคคัลลานะ” ครั้นท้าวสหัมบดีพรหมกราบทูลดังนี้แล้ว ถวายอภิวาทพระ
ผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย คืนนี้เมื่อราตรีผ่านไป ท้าวสหัมบดีพรหมมีวรรณะงดงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้ามาหาเราถึงที่อยู่อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๑๐. โกกาลิกสูตร
ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โกกาลิกภิกษุมรณภาพแล้ว ไปเกิดใน
ปทุมนรก เพราะมีจิตผูกอาฆาตในท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะ”
ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสหัมบดีพรหมกล่าวคำนี้แล้วอภิวาทเรา กระทำประทักษิณ
แล้วหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ประมาณอายุในปทุมนรกนานเท่าไรหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ ประมาณอายุในปทุมนรกนานนัก
ประมาณอายุในปทุมนรกนั้น ยากที่จะน้บได้ว่า ‘ประมาณปีเท่านี้ ประมาณ ๑๐๐ ปี
เท่านี้ ประมาณ ๑,๐๐๐ ปีเท่านี้ ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปีเท่านี้”
ภิกษุทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์พอจะยกอุปมาได้หรือไม่
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ได้ภิกษุ” แล้วตรัสว่า “ภิกษุ หนึ่งเกวียนเมล็ดงา
ของชาวโกศลมีอัตรา ๒๐ ขารี๑ ล่วงไปแล้ว ๑๐๐,๐๐๐ ปี บุรุษจึงนำเมล็ดงาออก
จากเกวียนนั้นหนึ่งเมล็ด เมล็ดงาหนึ่งเกวียนของชาวโกศลซึ่งมีอัตรา ๒๐ ขารีนั้น
จะพึงหมดไปโดยทำนองนี้เร็วกว่า แต่ว่า ๑ อัพพุทนรก๒หาหมดไปไม่

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๑๐. โกกาลิกสูตร
๒๐ อัพพุทนรก เป็น ๑ นิรัพพุทนรก
๒๐ นิรัพพุทนรก เป็น ๑ อพัพพนรก
๒๐ อพัพพนรก เป็น ๑ อุหหนรก
๒๐ อุหหนรก เป็น ๑ อัฏฏนรก
๒๐ อัฏฏนรก เป็น ๑ กุมุทนรก
๒๐ กุมุทนรก เป็น ๑ โสคันธิกนรก
๒๐ โสคันธิกนรก เป็น ๑ อุปปลนรก
๒๐ อุปปลนรก เป็น ๑ ปุณฑริกนรก
๒๐ ปุณฑริกนรก เป็น ๑ ปทุมนรก

โกกาลิกภิกษุไปเกิดในปทุมนรกแล้ว เพราะมีจิตผูกอาฆาตในสารีบุตรและ
โมคคัลลานะ”
พระผู้มีภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์
ต่อไปอีกว่า
ผรุสวาจา (คำหยาบ) เป็นเหมือนผึ่ง
เครื่องตัดตนของคนพาลผู้กล่าวคำชั่ว
ย่อมเกิดที่ปากของบุรุษ
ผู้ใดสรรเสริญคนที่ควรติเตียน
หรือติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ
ผู้นั้นชื่อว่าสั่งสมความผิดไว้ด้วยปาก
ย่อมไม่ประสบความสุข เพราะความผิดนั้น
การปราชัยด้วยทรัพย์
ในการเล่นการพนันจนหมดตัวนี้
เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๑. ปฐมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
แต่การที่บุคคลมีใจประทุษร้าย
ในบุคคลผู้ดำเนินไปดีแล้วนี้เท่านั้น
เป็นความผิดมากกว่า
บุคคลผู้ตั้งวาจาและใจอันชั่ว ติเตียนพระอริยะ
ย่อมเข้าถึงนรกสิ้น ๑๓๖,๐๐๐ นิรัพพุทกัป
กับอีก ๕ อัพพุทกัป๑
โกกาลิกสูตรที่ ๑๐ จบ
วรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พรหมายาจนสูตร ๒. คารวสูตร
๓. พรหมเทวสูตร ๔. พกสูตร
๕. อปราทิฏฐิสูตร ๖. ปมาทสูตร
๗. โกกาลิกสูตร ๘. กตโมรกติสสกสูตร
๙. ตุทุพรหมสูตร ๑๐. โกกาลิกสูตร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๑. สนังกุมารสูตร

๒. ทุติยวรรค
หมวดที่ ๒
๑. สนังกุมารสูตร
ว่าด้วยสนังกุมารพรหม
[๑๘๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำสัปปินี เขตกรุงราชคฤห์
ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป สนังกุมารพรหมมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่ว
ฝั่งแม่น้ำสัปปินี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่
ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถานี้ในที่ประทับของพระผู้มีพระภาคว่า
ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่
กษัตริย์จัดว่าประเสริฐที่สุด
ส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ๑
จัดว่าประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์๒
สนังกุมารพรหมครั้นกราบทูลคำนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ครั้งนั้น
สนังกุมารพรหมทราบว่า “พระศาสดาของเราทรงพอพระทัยแล้ว” จึงถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง
สนังกุมารสูตรที่ ๑ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๓. อันธกวินทสูตร

๒. เทวทัตตสูตร
ว่าด้วยพระเทวทัต
[๑๘๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์
เมื่อพระเทวทัตจากไปไม่นาน ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป ท้าวสหัมบดีพรหมมีวรรณะ
งดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วภูเขาคิชฌกูฏ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ปรารภพระเทวทัต ได้กล่าวคาถานี้
ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
สักการะย่อมฆ่าบุรุษชั่ว
เหมือนผลกล้วยฆ่าต้นกล้วย
ขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ ดอกอ้อฆ่าต้นอ้อ
ลูกม้าอัสดรฆ่าแม่ม้า ฉะนั้น๑
เทวทัตตสูตรที่ ๒ จบ

๓. อันธกวินทสูตร
ว่าด้วยเรื่องอันธกวินทคาม
[๑๘๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อันธกวินทคาม แคว้นมคธ
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่ในที่แจ้ง ในราตรีอันมืดมิดและฝนกำลังตก
ประปรายอยู่ ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป ท้าวสหัมบดีพรหมมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมี
ให้สว่างทั่วอันธกวินทคาม เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ภิกษุพึงอาศัยที่นอนและที่นั่งอันสงัด
พึงประพฤติเพื่อความหลุดพ้นจากสังโยชน์

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๓. อันธกวินทสูตร
ถ้าภิกษุไม่ประสบความยินดีในที่นั้น
พึงมีสติ มีปัญญาเครื่องบริหาร อยู่ในท่ามกลางสงฆ์
ภิกษุเมื่อเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตระกูล
พึงมีปัญญาเครื่องบริหาร คุ้มครองอินทรีย์
พึงอาศัยที่นอนที่นั่งอันสงัด
พ้นจากภัย๑ น้อมไปในอภัย๒
ภิกษุถึงนั่งอยู่ในที่ที่มีสัตว์เลื้อยคลานอันน่ากลัว
สายฟ้าแลบแปลบปลาบ ฉวัดเฉวียน
ฝนตกในราตรีอันมืดมิด
ก็ปราศจากความขนพองสยองเกล้า
ข้าพระองค์กลัวมุสาวาท จึงไม่อาจคำนวณด้วยใจ
ของข้าพระองค์ได้ว่า ‘เรื่องนี้ข้าพระองค์ได้เห็นแล้วแน่’
ข้าพระองค์ไม่กล่าวว่า ‘ในเรื่องนี้เป็นอย่างนี้ ในเรื่องนี้เป็นอย่างนี้’
ในพรหมจรรย์หนึ่ง๓มีพระขีณาสพผู้ละความตายได้ ๑,๐๐๐ รูป
พระเสขะมากกว่า ๕๐๐ รูปไป
๑๐ รูปบ้าง ๑๐๐ รูปบ้าง
และผู้ถึงกระแสนิพพานทั้งหมดไม่ไปสู่ดิรัจฉานภูมิ
ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้ล้วนเป็นผู้มีส่วนได้รับผลบุญ
อันธกวินทสูตรที่ ๓ จบ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๔. อรุณวตีสูตร

๔. อรุณวตีสูตร
ว่าด้วยเรื่องเมืองอรุณวดี
[๑๘๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ฯลฯ เขตกรุงสาวัตถี ณ
ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุ
เหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพระราชาพระนามว่าอรุณ ราชธานีของพระเจ้าอรุณ ชื่อว่า
อรุณวดี พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ทรงเข้าไปอาศัย
อรุณวดีราชธานีประทับอยู่ อนึ่ง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนาม
ว่าสิขี ได้มีคู่พระสาวกนามว่าอภิภูและสัมภวะ เป็นคู่พระสาวกชั้นดีเลิศ
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า
สิขี รับสั่งเรียกอภิภูภิกษุมาตรัสว่า ‘พราหมณ์ มาเถิด เราจักเข้าไปพรหมโลก
ชั้นใดชั้นหนึ่งชั่วเวลาหนึ่ง จนกว่าจะถึงเวลาฉันภัตตาหาร’ ภิกษุทั้งหลาย อภิภูภิกษุ
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี และ
อภิภูภิกษุได้หายตัวจากอรุณวดีราชธานีไปปรากฏในพรหมโลกนั้น เปรียบเหมือน
บุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี รับสั่ง
เรียกอภิภูภิกษุมาตรัสว่า ‘พราหมณ์ ธรรมีกถาจงปรากฏชัดแก่พรหม พรหมบริษัท
และพรหมปาริสัชชะทั้งหลายเถิด’
อภิภูภิกษุทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ได้ชี้แจงให้พรหม พรหมบริษัท และ
พรหมปาริสัชชะทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๔. อรุณวตีสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่าในกาลนั้น พรหม พรหมบริษัท และพรหมปาริสัชชะ
ทั้งหลาย ยกโทษติเตียนโพนทะนาว่า ‘ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ
ก็เมื่อพระศาสดาประทับอยู่เฉพาะหน้า เพราะเหตุไร พระสาวกจึงแสดงธรรม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ตรัสกับ
อภิภูภิกษุว่า ‘ดูก่อนพราหมณ์ พรหม พรหมบริษัท และพรหมปาริสัชชะเหล่านั้น
พากันติเตียนว่า ‘ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ก็เมื่อพระศาสดา
ประทับอยู่เฉพาะหน้า เพราะเหตุไร พระสาวกจึงแสดงธรรม’ พราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น
เธอจงให้พรหม พรหมบริษัท และพรหมปาริสัชชะทั้งหลายสลดใจให้ยิ่งขึ้นไปกว่า’
อภิภูภิกษุทูลรับสนองพระดำรัสแล้วปรากฏกายแสดงธรรมบ้าง ไม่ปรากฏกาย
แสดงธรรมบ้าง ปรากฏกายท่อนล่าง ไม่ปรากฏกายท่อนบนแสดงธรรมบ้าง
ปรากฏกายท่อนบน ไม่ปรากฏกายท่อนล่างแสดงธรรมบ้าง
ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่าในกาลนั้น พรหม พรหมบริษัท และพรหมปาริสัชชะ
ทั้งหลายได้มีจิตอัศจรรย์เกิดขึ้นว่า ‘น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ท่านผู้เจริญ
ทั้งหลาย ความที่สมณะเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก’
ครั้งนั้น อภิภูภิกษุได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระนามว่าสิขี ดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมทราบ ข้าพระองค์เป็น
ผู้กล่าววาจาเห็นปานนี้ ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เราอยู่ที่
พรหมโลกสามารถยังหมื่นโลกธาตุให้รู้แจ้งด้วยเสียงได้’
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ตรัสว่า ‘พราหมณ์
เป็นกาลของเธอ พราหมณ์ เป็นกาลของเธอ ที่เธอยืนอยู่ที่พรหมโลกพึงยังหมื่น
โลกธาตุให้รู้แจ้งด้วยเสียงได้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๔. อรุณวตีสูตร
อภิภูภิกษุทูลรับสนองพระดำรัสแล้วยืนอยู่ในพรหมโลกได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
ท่านทั้งหลายจงปรารภความเพียร
จงทำความเพียรอย่าหยุดยั้ง
จงประกอบความเพียรในพระพุทธศาสนา
จงกำจัดกองทัพแห่งมัจจุ
เหมือนช้างกำจัดเรือนต้นอ้อ ฉะนั้น
ผู้ที่ไม่ประมาทอยู่ในพระธรรมวินัยนี้
ละการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า
สิขีและอภิภูภิกษุ ยังพรหม พรหมบริษัท และพรหมปาริสัชชะทั้งหลายให้สลดใจแล้ว
ได้หายตัวจากพรหมโลกนั้นไปปรากฏในอรุณวดีราชธานี ฯลฯ ครั้งนั้น พระผู้มี
พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออภิภูภิกษุยืนอยู่ในพรหมโลก กล่าวคาถาทั้งหลายอยู่ เธอทั้งหลาย
ได้ยินหรือไม่’
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ‘เมื่ออภิภูภิกษุอยู่ในพรหมโลก กล่าวคาถาทั้งหลายอยู่
ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ยินแล้ว พระพุทธเจ้าข้า’
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ตรัสถามว่า ‘ภิกษุ
ทั้งหลาย ก็เมื่ออภิภูภิกษุยืนอยู่ในพรหมโลก กล่าวคาถาทั้งหลายอยู่ เธอทั้งหลาย
ได้ยินว่าอย่างไร’
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่ออภิภูภิกษุยืนอยู่ใน
พรหมโลก กล่าวคาถาทั้งหลายอยู่ ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ยินอย่างนี้ว่า
ท่านทั้งหลาย จงปรารภความเพียร
จงทำความเพียรอย่าหยุดยั้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๕. ปรินิพพานสูตร
จงประกอบความเพียรในพระพุทธศาสนา
จงกำจัดกองทัพแห่งมัจจุ
เหมือนช้างกำจัดเรือนต้นอ้อ ฉะนั้น
ผู้ที่ไม่ประมาทอยู่ในพระธรรมวินัยนี้
ละการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
เมื่ออภิภูภิกษุยืนกล่าวคาถาทั้งหลายอยู่ในพรหมโลก ข้าพระองค์ทั้งหลายได้
ยินแล้วอย่างนี้’
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ตรัสว่า “ดีละ ดีละ
ภิกษุทั้งหลาย ดีนัก ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออภิภูภิกษุยืนกล่าวคาถาทั้งหลายอยู่ใน
พรหมโลก เธอทั้งหลายได้ยินแล้ว”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
อรุณวตีสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปรินิพพานสูตร
ว่าด้วยการปรินิพพาน
[๑๘๖] สมัยหนึ่ง ในเวลาใกล้ปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ระหว่าง
ต้นไม้สาละทั้งคู่ ป่าสาลวัน สถานที่แวะพักของมัลลกษัตริย์ทั้งหลาย เขตกรุง
กุสินารา ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
พวกเธอจงทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด” นี้เป็นพระวาจาครั้งสุดท้าย
ของพระตถาคต ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๕. ปรินิพพานสูตร
ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌาน
ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌาน
ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌาน
ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌาน
ทรงเข้าอากาสานัญจายตนสมาบัติ ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติ
ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ออกจากวิญญาณัญจายตนสมาบัติ
ทรงเข้าอากิญจัญญายตนสมาบัติ ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติ
ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ
ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
ทรงเข้าอากิญจัญญายตนสมาบัติ ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติ
ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ออกจากวิญญาณัญจายตนสมาบัติ
ทรงเข้าอากาสานัญจายตนสมาบัติ ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติ
ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌาน
ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌาน
ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌาน
ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌาน
ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌาน
ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌาน
ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้วได้ปรินิพพานในลำดับ๑

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพาน ท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวคาถา พร้อมกับ
การเสด็จปรินิพพานว่า
สรรพสัตว์จะต้องทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก
พระศาสดาผู้หาใครเปรียบเทียบไม่ได้ในโลก

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๕. ปรินิพพานสูตร
ผู้เข้าถึงสภาวะตามเป็นจริง ผู้บรรลุพลธรรม๑
ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบเช่นนี้ ก็ยังเสด็จปรินิพพานได้
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพาน ท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสคาถา พร้อมกับ
การเสด็จปรินิพพานว่า
สังขารทั้งหลายล้วนไม่เที่ยง
มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
ความสงบระงับสังขารเหล่านั้นเป็นความสุข
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพาน ท่านพระอานนท์ได้กล่าวคาถา พร้อม
กับการเสด็จปรินิพพานว่า
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มีพระอาการอันล้ำเลิศทุกอย่าง๒เสด็จปรินิพพานแล้ว
ในกาลนั้น ได้เกิดเหตุน่าอัศจรรย์ ขนพองสยองเกล้า
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพาน ท่านพระอนุรุทธะได้กล่าวคาถา พร้อมกับ
การเสด็จปรินิพพานว่า
ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
ของพระผู้มีพระภาคผู้มีพระทัยมั่นคง ผู้คงที่ ไม่มีแล้ว

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]
๒. ทุติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในสังยุต
พระมุนีผู้ไม่หวั่นไหว มุ่งใฝ่สันติ๑
มีพระจักษุ เสด็จปรินิพพานแล้ว
พระองค์ผู้มีพระทัย ไม่หดหู่
ทรงอดกลั้นเวทนาไว้ได้ มีพระทัยหลุดพ้นแล้ว
ดุจดวงประทีปที่โชติช่วงดับไป ฉะนั้น๒
ปรินิพพานสูตรที่ ๕ จบ
วรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สนังกุมารสูตร ๒. เทวทัตตสูตร
๓. อันธกวินทสูตร ๔. อรุณวตีสูตร
๕. ปรินิพพานสูตร

พรหมสังยุต จบบริบูรณ์

รวมพระสูตรที่มีในสังยุตนี้ คือ

๑. พรหมายาจนสูตร ๒. คารวสูตร
๓. พรหมเทวสูตร ๔. พกสูตร
๕. อปราทิฏฐิสูตร ๖. ปมาทสูตร
๗. โกกาลิกสูต ๘. กตโมรกติสสกสูตร
๙. ตุทุพรหมสูตร ๑๐. โกกาลิกสูตร
๑๑. สนังกุมารสูตร ๑๒. เทวทัตตสูตร
๑๓. อันธกวินทสูตร ๑๔. อรุณวตีสูตร
๑๕. ปรินิพพานสูตร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๗. พราหมณสังยุต]
๑. อรหันตวรรค ๑. ธนัญชานีสูตร

๗. พราหมณสังยุต
๑. อรหันตวรรค
หมวดว่าด้วยพระอรหันต์
๑. ธนัญชานีสูตร
ว่าด้วยธนัญชานีพราหมณี
[๑๘๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น นางพราหมณีชื่อธนัญชานี ของพราหมณ์ภารทวาชโคตร
คนหนึ่ง เป็นผู้เลื่อมใสอย่างยิ่งในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ครั้งนั้น
นางธนัญชานีพราหมณี กำลังนำภัตรเข้าไปเพื่อพราหมณ์ภารทวาชโคตร ก้าวเท้า
พลาดจึงเปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อนางธนัญชานีพราหมณีกล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ภารทวาชโคตรได้กล่าว
กับนางธนัญชานีพราหมณีดังนี้ว่า “ก็หญิงถ่อยคนนี้กล่าวคุณของสมณะโล้นนั้น
อย่างนี้ อย่างนี้ ไม่ว่าในที่ไหน ๆ หญิงถ่อย บัดนี้ เราจักยกวาทะของพระศาสดานั้น
ของเจ้าบ้างละ”
นางธนัญชานีพราหมณีกล่าวว่า “พราหมณ์ ฉันยังไม่เห็นบุคคลผู้จะพึงยก
วาทะของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นในโลก พร้อมทั้งเทวโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๗. พราหมณสังยุต]
๑. อรหันตวรรค ๑. ธนัญชานีสูตร
มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ท่านจงไป
เถิด ไปแล้วก็จักรู้เอง”
ครั้งนั้น พราหมณ์ภารทวาชโคตรโกรธ ไม่พอใจ จึงเข้าไปหาพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ
ที่สมควร ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
บุคคลกำจัดอะไรได้จึงอยู่เป็นสุข
กำจัดอะไรได้จึงไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม
พระองค์ทรงพอพระทัยการกำจัดธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลกำจัดความโกรธได้จึงอยู่เป็นสุข
กำจัดความโกรธได้จึงไม่เศร้าโศก พราหมณ์
พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญการกำจัดความโกรธ
ซึ่งมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน
เพราะบุคคลกำจัดความโกรธนั้นได้แล้ว จึงไม่เศร้าโศก
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ภารทวาชโคตรได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคล
หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด
ด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ
พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบท
ในสำนักของพระโคดมผู้เจริญเถิด”
พราหมณ์ภารทวาชโคตรได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว
อนึ่ง ท่านพระภารทวาชะอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกไปอยู่คนเดียว ไม่ประมาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๖๔ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น