Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๒-๙ หน้า ๔๓๑ - ๔๘๓

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒-๙ สุตตันตปิฎกที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก ฉักกนิบาต



พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. สารณียวรรค ๓. นิสสารณียสูตร
ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว แต่วิญญาณของ
ข้าพเจ้าก็ยังแส่หานิมิตอยู่’ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวตักเตือนเธอว่า
‘อย่าได้กล่าวอย่างนี้เลย ผู้มีอายุ ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่าได้
กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค เพราะการกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย
พระผู้มีพระภาคไม่ตรัสอย่างนี้เลย ผู้มีอายุ เป็นไปไม่ได้เลยที่
ภิกษุได้เจริญอนิมิตตาเจโตวิมุตติแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจ
ยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว
แต่วิญญาณของภิกษุนั้นก็ยังแส่หานิมิตอยู่’ ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้เลย
เพราะอนิมิตตาเจโตวิมุตตินี้เป็นธาตุที่สลัดนิมิตทั้งปวง
๖. ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าปราศจากอัสมิ-
มานะ๑ และไม่พิจารณาเห็นว่า ‘เราเป็นนี้‘๒ แต่ลูกศรคือความ
เคลือบแคลงสงสัยก็ยังครอบงำจิตของข้าพเจ้าอยู่’ ภิกษุทั้งหลาย
พึงกล่าวตักเตือนเธอว่า ‘อย่าได้กล่าวอย่างนี้เลย ผู้มีอายุ ท่าน
อย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค เพราะการ
กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย พระผู้มีพระภาคไม่ตรัสอย่างนี้เลย
ผู้มีอายุ เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุปราศจากอัสมิมานะแล้ว และไม่
พิจารณาเห็นว่า ‘เราเป็นนี้’ แต่ลูกศรคือความเคลือบแคลงสงสัย
ก็ยังครอบงำจิตของภิกษุนั้นอยู่’ ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะสภาวะ
ที่ถอนอัสมิมานะ๓นี้เป็นธาตุที่สลัดลูกศรคือความเคลือบแคลงสงสัย’
ภิกษุทั้งหลาย ธาตุที่สลัด ๖ ประการนี้แล
นิสสารณียสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ปัญจกนิบาต ข้อ ๗๑ หน้า ๑๒๑ ในเล่มนี้
๒ ไม่พิจารณาเห็นว่า ‘เราเป็นนี้‘ เป็นคำกล่าวพยากรณ์อรหัตตผลว่า ‘ไม่เห็นว่าเป็นเรา ในเบญจขันธ์’
กล่าวคือไม่พิจารณาเห็นว่าเราเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๓/
๑๐๕) ดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๘๘๓/๕๕๙
๓ สภาวะที่ถอนอัสมิมานะ หมายถึงอรหัตตมรรค ที่เรียกว่า สภาวะที่ถอนอัสมิมานะ เพราะเมื่อเห็นนิพพาน
ด้วยอำนาจผลที่เกิดจากอรหัตตมรรค อัสมีมานะย่อมไม่มี (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๓/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. สารณียวรรค ๔. ภัททกสูตร
๔. ภัททกสูตร
ว่าด้วยการอยู่อย่างมีความตายที่เจริญ
[๑๔] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุสำเร็จการอยู่อย่างมีความตายที่ไม่เจริญ๑ มีกาลกิริยา
ที่ไม่เจริญ
ภิกษุสำเร็จการอยู่อย่างมีความตายที่ไม่เจริญ มีกาลกิริยาที่ไม่เจริญ เป็น
อย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ชอบการงาน๒ ยินดีในการงาน หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบ
การงาน
๒. เป็นผู้ชอบการพูดคุย๓ ยินดีในการพูดคุย หมั่นประกอบความเป็น
ผู้ชอบการพูดคุย
๓. เป็นผู้ชอบการนอนหลับ ยินดีในการนอนหลับ หมั่นประกอบความ
เป็นผู้ชอบการนอนหลับ
๔. เป็นผู้ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่ หมั่น
ประกอบความเป็นผู้ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่
๕. เป็นผู้ชอบคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ยินดีในการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ หมั่น
ประกอบความเป็นผู้ชอบการคลุกคลีกับคฤหัสถ์
๖. เป็นผู้ชอบธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ยินดีในธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า

เชิงอรรถ :
๑ ความตายที่ไม่เจริญ หมายถึงความตายของผู้มีความหวาดกลัว
กาลกิริยาที่ไม่เจริญ หมายถึงการถือปฏิสนธิในอบายภูมิ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๔/๑๐๕)
๒ การงาน ในที่นี้หมายถึงงานนวกรรม คือการก่อสร้างต่าง ๆ เช่น การก่อสร้างวิหารเป็นต้น ความเป็นผู้ยินดี
แต่การก่อสร้างที่ถือว่าเป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัย เพราะทำให้ละเลยต่อการบำเพ็ญคันถธุระและ
วิปัสสนาธุระ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๔/๑๐๕,องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๑๔-๑๕/๑๑๘)
๓ พูดคุย ในที่นี้หมายถึงการพูดเกี่ยวกับเรื่องผิวพรรณของสตรีและผิวพรรณของบุรุษเป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา
๓/๑๔-๑๕/๑๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. สารณียวรรค ๔. ภัททกสูตร
ภิกษุสำเร็จการอยู่อย่างมีความตายที่ไม่เจริญ มีกาลกิริยาที่ไม่เจริญ เป็นอย่าง
นี้แล
ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้ยินดียิ่งในสักกายะ๑ ไม่ละสักกายะเพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุสำเร็จการอยู่อย่างมีความตายที่เจริญ มีกาลกิริยาที่เจริญ
ภิกษุสำเร็จการอยู่อย่างมีความตายที่เจริญ มีกาลกิริยาที่เจริญ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ไม่ชอบการงาน ไม่ยินดีในการงาน ไม่หมั่นประกอบความ
เป็นผู้ชอบการงาน
๒. เป็นผู้ไม่ชอบการพูดคุย ไม่ยินดีในการพูดคุย ไม่หมั่นประกอบ
ความเป็นผู้ชอบการพูดคุย
๓. เป็นผู้ไม่ชอบการนอนหลับ ไม่ยินดีในการนอนหลับ ไม่หมั่นประกอบ
ความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
๔. เป็นผู้ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่
หมั่นประกอบความเป็นผู้คลุกคลีด้วยหมู่
๕. เป็นผู้ไม่ชอบการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ไม่ยินดีในการคลุกคลีกับ
คฤหัสถ์ ไม่หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบการคลุกคลีกับคฤหัสถ์
๖. เป็นผู้ไม่ชอบธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ไม่ยินดีธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ไม่หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ภิกษุสำเร็จการอยู่อย่างมีความตายที่เจริญ มีกาลกิริยาที่เจริญ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้ยินดีในนิพพาน ละสักกายะเพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้กล่าวคาถาประพันธ์
ต่อไปอีกว่า

เชิงอรรถ :
๑ สักกายะ ในที่นี้หมายถึงวัฏฏะที่เกี่ยวข้องอยู่ในภูมิ ๓ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ (ดู อภิ.สงฺ. (แปล)
๓๔/๑๒๙๓/๓๒๖ ประกอบ) คำว่าวัฏฏะมี ๓ ประการ คือ (๑) กิเลสวัฏฏะ วงจรกิเลส ประกอบด้วยอวิชชา
ตัณหา อุปาทาน (๒) กัมมวัฏฏะ วงจรกรรมประกอบด้วยสังขาร และกรรมภพ (๓) วิปากวัฏฏะ วงจรวิบาก
ประกอบด้วยวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ซึ่งแสดงออกในรูปอุปปัติภพ ชาติ ชรา มรณะ
เป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๔/๑๐๕,๖๑/๑๔๗, องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕ สารตฺถ.ฏีกา ๓/๕๔/๒๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. สารณียวรรค ๕. อนุตัปปิยสูตร
ผู้ใดหมั่นประกอบธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ยินดีธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้เป็นเช่นกับเนื้อ
ผู้นั้นไม่ได้ชมนิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม
ส่วนผู้ใดละธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้าได้แล้ว
ยินดีในบทคือธรรมที่ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ผู้นั้นได้ชมนิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม
ภัททกสูตรที่ ๔ จบ
๕. อนุตัปปิยสูตร
ว่าด้วยการอยู่อย่างมีกาลกิริยาที่เดือดร้อน
[๑๕] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ภิกษุสำเร็จการอยู่อย่างมีกาลกิริยาที่เดือดร้อน
ภิกษุสำเร็จการอยู่อย่างมีกาลกิริยาที่เดือดร้อน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ชอบการงาน ยินดีในการงาน หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบ
การงาน
๒. เป็นผู้ชอบการพูดคุย ...
๓. เป็นผู้ชอบการนอนหลับ ...
๔. เป็นผู้ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ ...
๕. เป็นผู้ชอบการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ...
๖. เป็นผู้ชอบธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ยินดีธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ภิกษุสำเร็จการอยู่อย่างมีกาลกิริยาที่เดือดร้อน เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้ยินดีในสักกายะ ไม่ละสักกายะเพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุสำเร็จการอยู่อย่างมีกาลกิริยาที่ไม่เดือดร้อน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. สารณียวรรค ๕. อนุตัปปิยสูตร
ภิกษุสำเร็จการอยู่อย่างมีกาลกิริยาที่ไม่เดือดร้อน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ไม่ชอบการงาน ไม่ยินดีในการงาน ไม่หมั่นประกอบความ
เป็นผู้ชอบการงาน
๒. เป็นผู้ไม่ชอบการพูดคุย ...
๓. เป็นผู้ไม่ชอบการนอนหลับ ...
๔. เป็นผู้ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ ...
๕. เป็นผู้ไม่ชอบการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ...
๖. เป็นผู้ไม่ชอบธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ไม่ยินดีธรรมที่เป็นเหตุให้
เนิ่นช้า ไม่หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ภิกษุสำเร็จการอยู่อย่างมีกาลกิริยาที่ไม่เดือดร้อน เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้ยินดีในนิพพาน ละสักกายะเพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้กล่าวคาถาประพันธ์
ต่อไปอีกว่า
ผู้ใดหมั่นประกอบธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ยินดีธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้เป็นเช่นกับเนื้อ
ผู้นั้นไม่ได้ชมนิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม
ส่วนผู้ใดละธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้าได้แล้ว
ยินดีในบทคือธรรมที่ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ผู้นั้นได้ชมนิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม
อนุตัปปิยสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. สารณียวรรค ๖. นกุลปิตุสูตร
๖. นกุลปิตุสูตร
ว่าด้วยนกุลปิตาคหบดี
[๑๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าเภสกฬามิคทายวัน
นครสุงสุมารคีระ แคว้นภัคคะ สมัยนั้น นกุลปิตาคหบดีมีความเจ็บไข้ ได้รับทุกข์
เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น นกุลมาตาคหปตานีได้กล่าวเตือนนกุลปิตาคหบดีว่า
คหบดี ท่านอย่าได้ตายทั้งที่ยังมีความห่วงใย๑เลย เพราะการตายของผู้ที่ยังมี
ความห่วงใย เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงติเตียน
๑. ท่านมีความห่วงใยอย่างนี้หรือว่า ‘เมื่อเราตายไปแล้ว นกุลมาตา-
คหปตานีจักไม่สามารถเลี้ยงทารก และครองเรือนอยู่ได้’ ท่านไม่
ควรคิดเห็นอย่างนี้ เพราะดิฉันเป็นคนฉลาดปั่นฝ้าย ทำขนสัตว์
เมื่อท่านตายไปแล้ว ดิฉันสามารถเลี้ยงดูทารก และครองเรือนอยู่ได้
เพราะฉะนั้นแล ท่านอย่าได้ตายทั้งที่ยังมีความห่วงใยเลย เพราะ
การตายของผู้ที่ยังมีความห่วงใย เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคก็
ทรงติเตียน
๒. ท่านมีความห่วงใยอย่างนี้หรือว่า ‘เมื่อเราตายไปแล้ว นกุลมาตา-
คหปตานีจักได้ชายอื่นเป็นสามี’ ท่านไม่ควรคิดเห็นอย่างนี้ ทั้งท่าน
และดิฉันย่อมรู้ว่าได้อยู่ร่วมกันประพฤติเคร่งครัดต่อระเบียบประเพณี
ของผู้ครองเรือนตลอด ๑๖ ปี เพราะฉะนั้นแล ท่านอย่าได้ตายทั้ง
ที่ยังมีความห่วงใยเลย เพราะการตายของผู้ที่ยังมีความห่วงใย
เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงติเตียน
๓. ท่านมีความห่วงใยอย่างนี้หรือว่า ‘เมื่อเราตายไปแล้ว นกุลมาตา-
คหปตานีจักไม่ต้องการเห็นพระผู้มีพระภาค ไม่ต้องการเห็นภิกษุสงฆ์’
ท่านไม่ควรคิดเห็นอย่างนี้ เพราะดิฉันต้องการเห็นพระผู้มีพระภาค
อย่างยิ่ง ต้องการเห็นภิกษุสงฆ์อย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นแล ท่านอย่า

เชิงอรรถ :
๑ ความห่วงใย ในที่นี้หมายถึงตัณหา (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๖/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. สารณียวรรค ๖. นกุลปิตุสูตร
ได้ตายทั้งที่ยังมีความห่วงใยเลย เพราะการตายของผู้ที่ยังมีความ
ห่วงใย เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงติเตียน
๔. ท่านมีความห่วงใยอย่างนี้หรือว่า ‘เมื่อเราตายไปแล้ว นกุลมาตา-
คหปตานีจักไม่ทำศีลให้บริบูรณ์’ ท่านไม่ควรคิดเห็นอย่างนี้ เพราะ
สาวิกาทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ที่ยังเป็นคฤหัสถ์
นุ่งห่มผ้าขาว บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ มีจำนวนเท่าใด ดิฉันก็เป็น
คนหนึ่งในจำนวนสาวิกาเหล่านั้น ก็ผู้ใดพึงมีความสงสัยหรือ
เคลือบแคลง ผู้นั้นจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าผู้กำลังประทับอยู่ ณ ป่าเภสกฬามิคทายวัน นคร
สุงสุมารคีระ แคว้นภัคคะแล้วทูลถามเถิด เพราะฉะนั้นแล ท่านอย่า
ได้ตายทั้งที่ยังมีความห่วงใยเลย เพราะการตายของผู้ที่ยังมีความ
ห่วงใย เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงติเตียน
๕. ท่านมีความห่วงใยอย่างนี้หรือว่า ‘นกุลมาตาคหปตานีจักไม่ได้
ความสงบใจในภายใน’ ท่านไม่ควรคิดเห็นอย่างนี้ เพราะสาวิกา
ทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ที่ยังเป็นคฤหัสถ์นุ่งห่ม
ผ้าขาว ได้ความสงบใจในภายใน มีจำนวนเท่าใด ดิฉันก็เป็นคน
หนึ่งในจำนวนสาวิกาเหล่านั้น ก็ผู้ใดมีความสงสัยหรือเคลือบแคลง
ผู้นั้นจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้กำลัง
ประทับอยู่ ณ ป่าเภสกฬามิคทายวัน นครสุงสุมารคีระ แคว้น
ภัคคะ แล้วทูลถามเถิด เพราะฉะนั้นแล ท่านอย่าได้ตายทั้งที่ยังมี
ความห่วงใยเลย เพราะการตายของผู้ที่ยังมีความห่วงใย เป็นทุกข์
และพระผู้มีพระภาคก็ทรงติเตียน
๖. ท่านมีความห่วงใยอย่างนี้หรือว่า ‘นกุลมาตาคหปตานียังไม่ถึงการ
หยั่งลง ยังไม่ถึงที่พึ่ง ยังไม่ถึงความเบาใจ ยังไม่ข้ามพ้นความ
สงสัย ยังไม่ปราศจากความเคลือบแคลง ยังไม่ถึงความแกล้วกล้า
ยังไม่ปราศจากความมีผู้อื่นเป็นปัจจัย๑ ในพระธรรมวินัยนี้ อยู่ใน
ศาสนาของพระศาสดา’ ท่านไม่ควรคิดเห็นอย่างนี้ เพราะสาวิกา

เชิงอรรถ :
๑ ความมีผู้อื่นเป็นปัจจัย ในที่นี้หมายถึงอาศัยผู้อื่นสนับสนุน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๖/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. สารณียวรรค ๖. นกุลปิตุสูตร
ทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ที่ยังเป็นคฤหัสถ์นุ่งห่ม
ผ้าขาว ถึงการหยั่งลง ถึงที่พึ่ง ถึงความเบาใจ ข้ามพ้นความสงสัย
ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ปราศจากความมี
ผู้อื่นเป็นปัจจัย ในพระธรรมวินัยนี้ อยู่ในศาสนาของพระศาสดามี
จำนวนเท่าใด ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนสาวิกาเหล่านั้น ก็ผู้ใด
พึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลง ผู้นั้นจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระ
ภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้กำลังประทับอยู่ ณ ป่าเภสกฬา-
มิคทายวัน นครสุงสุมารคีระ แคว้นภัคคะแล้วทูลถามเถิด เพราะ
ฉะนั้นแล ท่านอย่าได้ตายทั้งที่ยังมีความห่วงใยเลย เพราะการตาย
ของผู้ที่ยังมีความห่วงใย เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงติเตียน
ครั้งนั้น เมื่อนกุลมาตาคหปตานีกล่าวเตือนนกุลปิตาคหบดีด้วยคำเตือนนี้
ความเจ็บไข้นั้นได้สงบระงับโดยพลัน ท่านนกุลปิตาคหบดีได้หายจากความเจ็บไข้นั้น
และนกุลปิตาคหบดีละความเจ็บไข้นั้น ละได้โดยอาการอย่างนั้น
ครั้งนั้นแล นกุลปิตาคหบดี พอหายจากความเจ็บไข้เท่านั้น ยังฟื้นจากไข้
ไม่นาน ก็ถือไม้เท้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ
ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับนกุลปิตาคหบดี ดังนี้ว่า
“คหบดี เป็นลาภของท่านหนอ ท่านได้ดีแล้วหนอ ที่นกุลมาตาคหปตานี
เป็นผู้อนุเคราะห์ หวังประโยชน์กล่าวตักเตือนพร่ำสอนท่าน คหบดี สาวิกาทั้งหลาย
ของเราที่ยังเป็นคฤหัสถ์นุ่งห่มผ้าขาว ทำศีลให้บริบูรณ์ มีจำนวนเท่าใด นกุลมาตา-
คหปตานีก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนสาวิกาเหล่านั้น คหบดี สาวิกาทั้งหลายของเราที่ยัง
เป็นคฤหัสถ์นุ่งห่มผ้าขาว ได้ความสงบใจในภายใน มีจำนวนเท่าใด นกุลมาตา-
คหปตานี ก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนสาวิกาเหล่านั้น คหบดี สาวิกาทั้งหลายของเราที่ยัง
เป็นคฤหัสถ์นุ่งห่มผ้าขาว ถึงการหยั่งลง ถึงที่พึ่ง ถึงความเบาใจ ข้ามพ้นความสงสัย
ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ปราศจากความมีผู้อื่นเป็นปัจจัยใน
ธรรมวินัยนี้ อยู่ในศาสนาของศาสดา มีจำนวนเท่าใด นกุลมาตาคหปตานีก็เป็นคน
หนึ่งในจำนวนสาวิกาเหล่านั้น คหบดี เป็นลาภของท่านหนอ ท่านได้ดีแล้วหนอ
ที่นกุลมาตาคหปตานีเป็นผู้อนุเคราะห์ หวังประโยชน์ กล่าวตักเตือนพร่ำสอนท่าน”
นกุลปิตุสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. สารณียวรรค ๗. โสปปสูตร
๗. โสปปสูตร
ว่าด้วยการนอนหลับ
[๑๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น๑ใน
เวลาเย็น เสด็จเข้าไปยังหอฉัน ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ แม้ท่านพระ
สารีบุตรก็ออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็นแล้วเข้าไปยังหอฉัน ถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร แม้ท่านพระโมคคัลลานะ แม้ท่านพระมหากัสสปะ
แม้ท่านพระมหากัจจานะ แม้ท่านพระมหาโกฏฐิกะ แม้ท่านพระมหาจุนทะ แม้ท่าน
พระมหากัปปินะ แม้ท่านพระอนุรุทธะ แม้ท่านพระเรวตะ แม้ท่านพระอานนท์ก็
ออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น แล้วเข้าไปยังหอฉัน ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงให้ราตรีผ่านไปนานด้วยการ
ประทับนั่ง แล้วเสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่วิหาร เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จ
หลีกไปไม่นาน แม้พระเถระเหล่านั้น ต่างก็ลุกจากอาสนะเข้าไปยังที่อยู่ของตน
ส่วนพวกภิกษุใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ต่างก็เข้าไปสู่ที่อยู่ของตน
นอนหลับกรนอยู่จนพระอาทิตย์ขึ้น พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุ
เหล่านั้นผู้นอนหลับกรนอยู่ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ แล้วเสด็จเข้าไป
ยังหอฉัน ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ได้เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรไปไหน โมคคัลลานะไปไหน มหากัสสปะไปไหน
มหากัจจายนะไปไหน มหาโกฏฐิกะไปไหน มหาจุนทะไปไหน มหากัปปินะไปไหน
อนุรุทธะไปไหน เรวตะไปไหน อานนท์ไปไหน สาวกชั้นเถระเหล่านั้นไปไหน”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จ
หลีกไปไม่นาน พระเถระเหล่านั้นต่างก็ลุกจากอาสนะเข้าไปยังที่อยู่ของตน”

เชิงอรรถ :
๑ ที่หลีกเร้น หมายถึงการอยู่ผู้เดียว การอยู่โดยเพ่งพินิจธรรม หรือการอยู่ด้วยผลสมาบัติ (สํ.สฬา.อ.
๓/๘๗/๒๐, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๗/๑๐๖-๑๐๗) อีกนัยหนึ่ง หมายถึงการทำนิพพานที่สงบให้เป็นอารมณ์ เข้า
ผลสมาบัติในเวลาเช้า (ตามนัย วิ.อ. ๑/๒๒/๒๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. สารณียวรรค ๗. โสปปสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเป็นเถระหรือหนอ
เธอทั้งหลายเป็นภิกษุใหม่นอนหลับกรนอยู่จนพระอาทิตย์ขึ้น เธอทั้งหลายเข้าใจ
เรื่องนั้นอย่างไร เธอทั้งหลายเคยได้เห็นหรือเคยได้ยินบ้างไหมว่า ‘กษัตราธิราชได้รับ
มูรธาภิเษกแล้ว ทรงประกอบความสุขในการบรรทม๑ ความสุขในการเอกเขนก๒
ความสุขในการหลับอยู่ตามพระประสงค์ ครองราชย์จนตลอดพระชนมชีพ ย่อมเป็น
ที่รัก เป็นที่พอใจของชาวชนบท”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นแม้เราก็ไม่เคยได้เห็น
ไม่เคยได้ยินมาเลยว่า ‘กษัตราธิราชได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงประกอบความสุขใน
การบรรทม ความสุขในการเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่ตามพระประสงค์
ครองราชย์จนตลอดพระชนมชีพ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของชาวชนบท
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เธอทั้งหลายเคยได้เห็นหรือ
เคยได้ยินมาบ้างไหมว่า “ท่านผู้ครองรัฐ ฯลฯ ท่านผู้เป็นทายาทของตระกูล ฯลฯ
ท่านผู้เป็นเสนาบดี ฯลฯ ท่านผู้ครองหมู่บ้าน ฯลฯ ท่านผู้เป็นหัวหน้าคณะ
ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่ตาม
ความประสงค์ ปกครองหมู่คณะจนตลอดชีวิต ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของหมู่คณะ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นแม้เราก็ไม่เคยได้เห็น
ไม่เคยได้ยินมาเลยว่า ‘ท่านผู้เป็นหัวหน้าคณะประกอบความสุขในการนอน ความสุข
ในการเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่ตามความประสงค์ ปกครองหมู่คณะจน
ตลอดชีวิต ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของหมู่คณะ’

เชิงอรรถ :
๑ ความสุขในการบรรทม หมายถึงความสุขที่เกิดจากการนอนบนพระแท่นบรรทม หรือการแปรพระราช
ฐานพักผ่อนตามฤดู (องฺ.ปญฺจ.อ. ๓/๒๐๖/๘๖)
๒ ความสุขในการเอกเขนก หมายถึงความสุขในการบรรทมพลิกกลับไปมา (องฺ.ปญฺจ.อ. ๓/๒๐๖/๘๖)
๓ โพธิปักขิยธรรม หมายถึงธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ มี ๓๗ ประการ คือ (๑) สติปัฏฐาน ๔
(๒) สัมมัปปธาน ๔ (๓) อิทธิบาท ๔ (๔) อินทรีย์ ๕ (๕) พละ ๕ (๖) โพชฌงค์ ๗ (๗) มรรคมีองค์ ๘
ดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๐/๑๗๔, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๕๒๒/๓๙๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. สารณียวรรค ๗. โสปปสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอทั้งหลายเคยได้เห็นหรือ
เคยได้ยินมาบ้างไหมว่า สมณะหรือพราหมณ์ประกอบความสุขในการนอน ความสุข
ในการเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่ตามความประสงค์ ไม่คุ้มครองทวาร
ในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่หมั่นประกอบความเพียรเป็น
เครื่องตื่นอยู่ ไม่เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่หมั่นประกอบความเพียรในการ
เจริญโพธิปักขิยธรรม ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่งราตรีแล้วทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นแม้เราก็ไม่เคยได้เห็น
ไม่เคยได้ยินมาเลยว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์ประกอบความสุขในการนอน ความสุข
ในการเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่ตามความประสงค์ ไม่คุ้มครองทวารใน
อินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่หมั่นประกอบความเพียรเครื่อง
ตื่นอยู่ ไม่เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่หมั่นประกอบความเพียรในการเจริญ
โพธิปักขิยธรรม ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่งราตรี ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา-
วิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักคุ้มครอง
ทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย จักเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค จักเป็นผู้หมั่น
ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ จักเป็นผู้เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย จักเป็นผู้
หมั่นประกอบความเพียรในการเจริญโพธิปักขิยธรรม ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่ง
ราตรีอยู่’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล”
โสปปสูตรที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. สารณียวรรค ๘. มัจฉพันธสูตร
๘. มัจฉพันธสูตร
ว่าด้วยชาวประมงจับปลา
[๑๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุ
สงฆ์หมู่ใหญ่ พระผู้มีพระภาคทรงดำเนินทางไกล ได้ทอดพระเนตรเห็นชาวประมง
จับปลา ฆ่าแล้วขายอยู่ ในท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ได้เสด็จแวะริมทาง ประทับนั่งบน
พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง แล้วได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นชาวประมงโน้นผู้จับปลา ฆ่าแล้วขายอยู่หรือไม่”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร
เธอทั้งหลายเคยได้เห็นหรือเคยได้ยินมาบ้างไหมว่า ‘ชาวประมงจับปลาฆ่าแล้ว
ขายอยู่ ได้เป็นผู้ขี่ช้าง ขี่ม้า ขี่รถ ขี่ยาน เป็นเจ้าของโภคทรัพย์ หรือครอบครอง
กองโภคทรัพย์เป็นอันมาก เพราะกรรมนั้น เพราะอาชีพนั้น”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นแม้เราก็ไม่เคยได้เห็น
ไม่เคยได้ยินมาเลยว่า ‘ชาวประมงจับปลาฆ่าแล้วขายอยู่ ได้เป็นผู้ขี่ช้าง ขี่ม้า ขี่รถ
ขี่ยาน เป็นเจ้าของโภคทรัพย์ หรือครอบครองกองโภคทรัพย์เป็นอันมาก เพราะ
กรรมนั้น เพราะอาชีพนั้น’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาเพ่งดูปลาเหล่านั้นที่เขา
พึงฆ่า ที่พึงนำมาเพื่อฆ่าด้วยใจที่เป็นบาป ฉะนั้น เขาจึงไม่ได้ขี่ช้าง ไม่ได้ขี่ม้า
ไม่ได้ขี่รถ ไม่ได้ขี่ยาน ไม่ได้เป็นเจ้าของโภคทรัพย์ ไม่ได้ครอบครองกองโภคทรัพย์
เป็นอันมาก
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เธอทั้งหลายเคยได้เห็น
หรือเคยได้ยินมาบ้างไหมว่า ‘คนฆ่าโคฆ่าโคแล้วขายอยู่ ได้เป็นผู้ขี่ช้าง ขี่ม้า ขี่รถ
ขี่ยาน เป็นเจ้าของโภคทรัพย์ หรือครอบครองกองโภคทรัพย์เป็นอันมาก เพราะ
กรรมนั้น เพราะอาชีพนั้น”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. สารณียวรรค ๘. มัจฉพันธสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นแม้เราก็ไม่เคยได้เห็น
ไม่เคยได้ยินมาเลยว่า ‘คนฆ่าโคฆ่าโคแล้วขายอยู่ ได้เป็นผู้ขี่ช้าง ขี่ม้า ขี่รถ ขี่ยาน
เป็นเจ้าของโภคทรัพย์ หรือครอบครองกองโภคทรัพย์เป็นอันมากเพราะกรรมนั้น
เพราะอาชีพนั้น’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาเพ่งดูโคเหล่านั้น ที่เขาพึงฆ่า ที่พึงนำ
มาเพื่อฆ่าด้วยใจที่เป็นบาป ฉะนั้น เขาจึงไม่ได้ขี่ช้าง ไม่ได้ขี่ม้า ไม่ได้ขี่รถ ไม่ได้ขี่ยาน
ไม่ได้เป็นเจ้าของโภคทรัพย์ ไม่ได้ครอบครองกองโภคทรัพย์เป็นอันมาก
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เธอทั้งหลายเคยได้เห็นหรือ
เคยได้ยินมาบ้างไหมว่า ‘คนฆ่าแกะ ฯลฯ คนฆ่าสุกร ฯลฯ พรานนก ฯลฯ พรานเนื้อ
ฆ่าเนื้อแล้วขายอยู่ ได้เป็นผู้ขี่ช้าง ขี่ม้า ขี่รถ ขี่ยาน เป็นเจ้าของโภคทรัพย์ หรือครอบ
ครองกองโภคทรัพย์เป็นอันมาก เพราะกรรมนั้น เพราะอาชีพนั้น”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นแม้เราก็ไม่เคยได้เห็น
ไม่เคยได้ยินมาเลยว่า ‘พรานเนื้อ ฆ่าเนื้อแล้วขายอยู่ ได้เป็นผู้ขี่ช้าง ขี่ม้า ขี่รถ
ขี่ยาน เป็นเจ้าของโภคทรัพย์ หรือครอบครองกองโภคทรัพย์เป็นอันมาก เพราะ
กรรมนั้น เพราะอาชีพนั้น’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาเพ่งดูเนื้อที่เขาพึงฆ่า ที่นำ
มาเพื่อฆ่าด้วยใจที่เป็นบาป ฉะนั้น เขาจึงไม่ได้ขี่ช้าง ไม่ได้ขี่ม้า ไม่ได้ขี่รถ ไม่ได้ขี่ยาน
ไม่ได้เป็นเจ้าของโภคทรัพย์ ไม่ได้ครอบครองกองโภคทรัพย์เป็นอันมาก
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเพ่งดูสัตว์ดิรัจฉานเหล่านั้นที่เขาพึงฆ่า ที่พึงนำมาเพื่อฆ่า
ด้วยใจที่เป็นบาป ฉะนั้น เขาจึงไม่ได้ขี่ช้าง ไม่ได้ขี่ม้า ไม่ได้ขี่รถ ไม่ได้ขี่ยาน ไม่ได้เป็น
เจ้าของโภคทรัพย์ ไม่ได้ครอบครองกองโภคทรัพย์เป็นอันมาก ไม่จำเป็นต้องพูดถึงผู้
เพ่งดูมนุษย์ที่เขาพึงฆ่า ที่พึงนำมาเพื่อฆ่าด้วยใจที่เป็นบาป เพราะผลของกรรมนั้น
ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เขาตลอดกาลนาน หลังจากตายแล้ว เขาจะไป
เกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก”
มัจฉพันธสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. สารณียวรรค ๙. ปฐมมรณัสสติสูตร
๙. ปฐมมรณัสสติสูตร
ว่าด้วยการเจริญมรณัสสติ สูตรที่ ๑
[๑๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ คิญชกาวสถาราม๑ ใน
นาทิกคาม ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย มรณัสสติที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ๒ มีอมตะเป็นที่สุด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
ยังเจริญมรณัสสติอยู่หรือไม่”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร”
ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่ง เราพึงมนสิการ
ถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์เจริญมรณัสสติอย่างนี้”
ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้า
พระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร”
ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ
เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดวันหนึ่ง เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึง
ทำกิจให้มากหนอ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณัสสติอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ คิญชกาวสถาราม หมายถึงปราสาทที่สร้างด้วยอิฐ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓//๑๙/๑๐๗)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ปัญจกนิบาต ข้อ ๖๑ หน้า ๑๑๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. สารณียวรรค ๙. ปฐมมรณัสสติสูตร
ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้า
พระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร”
ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะฉันบิณฑบาตมื้อหนึ่ง เราพึง
มนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ’ ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณัสสติอย่างนี้”
ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้า
พระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร”
ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะเคี้ยวกินคำข้าว ๔-๕ คำ เราพึงมนสิการ
ถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์เจริญมรณัสสติอย่างนี้”
ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้า
พระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร”
ภิกษุกราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะเคี้ยวกินคำข้าว ๑ คำ เราพึง
มนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ’ ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณัสสติอย่างนี้”
ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้า
พระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. สารณียวรรค ๙. ปฐมมรณัสสติสูตร
ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะลมหายใจเข้าหายใจออก หรือหาย
ใจออกหายใจเข้า เราพึงมนสิการคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้
มากหนอ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณัสสติอย่างนี้”
เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปใดเจริญมรณัสสติว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอด
คืนหนึ่งและวันหนึ่ง เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้
มากหนอ’
ภิกษุรูปใดเจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดวันหนึ่ง
เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ’
ภิกษุรูปใดเจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะฉัน
บิณฑบาตมื้อหนึ่ง เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้
มากหนอ’
ภิกษุรูปใดเจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะ
เคี้ยวกินคำข้าว ๔-๕ คำ เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึง
ทำกิจให้มากหนอ’
เรากล่าวว่า ภิกษุเหล่านี้ยังเป็นผู้ประมาทอยู่ ยังเจริญมรณัสสติอย่างเพลาเพื่อ
ความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ส่วนภิกษุรูปใดเจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่ว
ขณะเคี้ยวกินคำข้าว ๑ คำ เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึง
ทำกิจให้มากหนอ’
และภิกษุรูปใดเจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะ
ลมหายใจเข้าหายใจออก หรือหายใจออกหายใจเข้า เราพึงมนสิการถึงคำสอนของ
พระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. สารณียวรรค ๑๐. ทุติยมรณัสสติสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า ภิกษุเหล่านี้เป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ เจริญมรณัสสติ
อย่างแรงกล้าเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่
ประมาทอยู่ จักเจริญมรณัสสติอย่างแรงกล้าเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล”
ปฐมมรณัสสติสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. ทุติยมรณัสสติสูตร
ว่าด้วยการเจริญมรณัสสติ สูตรที่ ๒
[๒๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ คิญชกาวสถาราม ใน
นาทิกคาม ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย มรณัสสติที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
มรณัสสติที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลง
สู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันผ่านไป กลางคืนย่างเข้ามา พิจารณา
เห็นดังนี้ว่า ‘ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากแท้ คือ งูพึงกัดเราก็ได้ แมงป่อง
พึงต่อยเราก็ได้ หรือตะขาบพึงกัดเราก็ได้ เพราะเหตุนั้น เราพึงตาย เราพึงมี
อันตราย๑นั้น เราพึงพลาดหกล้มก็ได้ ภัตตาหารที่เราฉันแล้วไม่พึงย่อยก็ได้ ดีของ
เราพึงกำเริบก็ได้ เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้ หรือลมมีพิษดังศัสตราของเราพึง
กำเริบก็ได้ เพราะเหตุนั้น เราพึงตาย เราพึงมีอันตรายนั้น’ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้น
พึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘บาปอกุศลธรรมที่เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึงเป็นอันตรายแก่
เราผู้จะตายในเวลากลางคืนมีอยู่หรือไม่’

เชิงอรรถ :
๑ อันตราย ในที่นี้หมายถึงอันตราย ๓ อย่าง คือ (๑) อันตรายต่อชีวิต (๒) อันตรายต่อสมณธรรม (๓) อันตราย
ต่อสวรรค์และอันตรายต่อมรรคสำหรับผู้ที่ตายอย่างปุถุชน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๐/๑๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. สารณียวรรค ๑๐. ทุติยมรณัสสติสูตร
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘บาปอกุศลธรรมที่เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึง
เป็นอันตรายแก่เราผู้จะตายในเวลากลางคืนยังมีอยู่’ ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ
ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและ
สัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้น
ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละบาปอกุศลธรรม
เหล่านั้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าที่ถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะถูกไฟไหม้ ควรทำ
ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย
สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับไฟที่ไหม้ผ้าหรือไฟที่ไหม้ศีรษะนั้น
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘บาปอกุศลธรรมที่เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึง
เป็นอันตรายแก่เราผู้จะตายในเวลากลางคืนไม่มี’ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์
นั้นแล ตามสำเหนียกในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่เถิด
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางคืนผ่านไป กลางวันย่างเข้ามา พิจารณาเห็น
ดังนี้ว่า ‘ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากแท้ คือ งูพึงกัดเราก็ได้ แมงป่องพึงต่อย
เราก็ได้ หรือตะขาบพึงกัดเราก็ได้ เพราะเหตุนั้น เราพึงตาย เราพึงมีอันตรายนั้น
เราพึงพลาดหกล้มก็ได้ ภัตตาหารที่เราฉันแล้วไม่พึงย่อยก็ได้ ดีของเราพึงกำเริบก็ได้
เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้ หรือลมมีพิษดังศัสตราของเราพึงกำเริบ เพราะเหตุนั้น
เราพึงตาย เราพึงมีอันตรายนั้น’ ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘บาปอกุศลธรรมที่
เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้จะตายในเวลากลางวันมีอยู่หรือไม่’
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘บาปอกุศลธรรมที่เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึง
เป็นอันตรายแก่เราผู้จะตายในเวลากลางวันยังมีอยู่’ ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความ
พยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ
ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้น
ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละบาปอกุศลธรรม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. สารณียวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
เหล่านั้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าที่ถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะถูกไฟไหม้ พึงทำความ
พอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและ
สัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับไฟที่ไหม้ผ้าหรือไฟที่ไหม้ศีรษะนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘บาปอกุศลธรรมที่เรายังละไม่ได้
ซึ่งจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้จะตายในเวลากลางวันไม่มี ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้มีปีติและ
ปราโมทย์นั้นแล ตามสำเหนียกในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งกลางวันกลางคืนอยู่เถิด
ภิกษุทั้งหลาย มรณัสสติที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เป็นอย่างนี้แล”
ทุติยมรณัสสติสูตรที่ ๑๐ จบ
สารณียวรรคที่ ๒ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมสารณียสูตร ๒. ทุติยสารณียสูตร
๓. นิสสารณียสูตร ๔. ภัททกสูตร
๕. อนุตัปปิยสูตร ๖. นกุลปิตุสูตร
๗. โสปปสูตร ๘. มัจฉพันธสูตร
๙. ปฐมมรณัสสติสูตร ๑๐. ทุติยมรณัสสติสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๑. สามกสูตร
๓. อนุตตริยวรรค
หมวดว่าด้วยอนุตตริยะ๑
๑. สามกสูตร
ว่าด้วยหมู่บ้านสามะ
[๒๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่วิหารชื่อโปกขรณีย์ ใกล้หมู่บ้าน
สามะ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป๒ เทวดาตนหนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วโปกขรณีย์วิหาร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๓ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุ
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้ชอบการงาน๓
๒. ความเป็นผู้ชอบการพูดคุย๔
๓. ความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ๕
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๓ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุ”
เมื่อเทวดานั้นได้กราบทูลดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ครั้นเทวดานั้น
รู้ว่า ‘พระศาสดาทรงพอพระทัยเรา’ จึงถวายอภิวาททำประทักษิณแล้วหายไป ณ
ที่นั้นแล

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ฉักกนิบาต ข้อ ๘ หน้า ๔๑๙ ในเล่มนี้
๒ เมื่อราตรีผ่านไป หมายถึงเมื่อปฐมยามผ่านไป มัชฌิมยามย่างเข้ามา (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๑-๒๒/๑๐๘)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ปัญจกนิบาต ข้อ ๘๙ (ปฐมเสขสูตร) หน้า ๑๕๙ ในเล่มนี้
๔ ชอบการพูดคุย ในที่นี้หมายถึงชอบสนทนาเกี่ยวกับบุรุษและสตรีเป็นต้น ให้วันและคืนผ่านไปโดยเปล่า
ประโยชน์ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๔/๑๗๗)
๕ ชอบการนอนหลับ ในที่นี้หมายถึงภิกษุแม้จะยืนก็ตาม เดินก็ตาม นั่งก็ตาม ก็ถูกถีนมิทธะ (ความหดหู่และ
เซื่องซึม) ครอบงำ เอาแต่หลับถ่ายเดียว (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๔/๑๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๑. สามกสูตร
ครั้นคืนนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป เทวดาตนหนึ่งมีวรรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่ง
รัศมีให้สว่างทั่วโปกขรณีย์วิหาร เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ไหว้แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๓ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุ
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้ชอบการงาน
๒. ความเป็นผู้ชอบการพูดคุย
๓. ความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๓ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุ’
เทวดานั้นครั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว จึงไหว้เราทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นแล
ภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่ลาภของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายได้ชั่วแล้วหนอ ที่เธอทั้งหลาย
เสื่อมจากกุศลธรรม แม้พวกเทวดาก็รู้
ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงปริหานิยธรรม (ธรรมที่เป็นเหตุแห่งความเสื่อม)
๓ ประการข้ออื่นอีก เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย ปริหานิยธรรม ๓ ประการ
ปริหานิยธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่๑
๒. ความเป็นผู้ว่ายาก
๓. ความเป็นผู้มีปาปมิตร(มิตรชั่ว)
ภิกษุทั้งหลาย ปริหานิยธรรม ๓ ประการนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ ในที่นี้หมายถึงชอบอยู่คลุกคลีกับเพื่อน ๑ คนบ้าง ๒ คนบ้าง ๓ คนบ้าง เมื่ออยู่
คนเดียวก็หาความสบายใจไม่ได้ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๔/๑๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๒. อปริหานิยสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ชนทั้งหลายบางพวกในอดีตเสื่อมแล้วจากกุศลธรรมทั้งหลาย
ชนเหล่านั้นทั้งหมดก็เสื่อมเพราะธรรม ๖ ประการนี้แล
ชนทั้งหลายบางพวกในอนาคตจักเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย ชนเหล่านั้น
ทั้งหมดก็จักเสื่อมเพราะธรรม ๖ ประการนี้แล
ชนทั้งหลายบางพวกในปัจจุบันกำลังเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย ชนเหล่านั้น
ทั้งหมดก็เสื่อมเพราะธรรม ๖ ประการนี้แล
สามกสูตรที่ ๑ จบ
๒. อปริหานิยสูตร
ว่าด้วยอปริหานิยธรรม
[๒๒] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม(ธรรมที่ไม่เป็นเหตุแห่ง
ความเสื่อม) ๖ ประการนี้ เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ
อปริหานิยธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้ไม่ชอบการงาน๑
๒. ความเป็นผู้ไม่ชอบการพูดคุย๒
๓. ความเป็นผู้ไม่ชอบการนอนหลับ๓

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ชอบการงาน ในที่นี้หมายถึงเมื่อพวกภิกษุทำกิจมีการทำจีวร ประคตเอว ผ้ากรองน้ำ ไม้กวาด และ
ผ้าเช็ดเท้าเป็นต้น ภิกษุปฏิเสธกิจเหล่านั้นเสียด้วยศรัทธา อนึ่ง หมายถึงทำกิจเหล่านั้นร่วมกับภิกษุทั้งหลาย
แล้วเรียนอุทเทสในเวลาเรียนอุทเทส สาธยายในเวลาสาธยาย กวาดลานพระเจดีย์ในเวลากวาดลานพระเจดีย์
มนสิการในเวลามนสิการ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๔/๑๗๖-๑๗๗)
๒ ไม่ชอบการพูดคุย ในที่นี้หมายถึงไม่สนทนาเรื่องเกี่ยวกับบุรุษและสตรีเป็นต้น แต่สนทนาเฉพาะเรื่อง
เกี่ยวกับธรรมในเวลากลางวันกลางคืนให้เป็นประโยชน์ ตอบปัญหาธรรมตลอดวันและคืน พูดน้อย พูดมีที่
จบ เพราะพุทธพจน์ว่า “ภิกษุผู้นั่งประชุมกันมีหน้าที่ ๒ อย่าง คือ สนทนาธรรม และเป็นผู้นิ่งอย่างพระ
อริยะ” (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๔/๑๗๗) และดู ม.มู. ๑๒/๒๗๓/๒๓๕ (ปาสราสิสูตร)
๓ ไม่ชอบการนอนหลับ ในที่นี้หมายถึงจะยืนก็ตาม จะเดินก็ตาม จะนั่งก็ตาม มีจิตตกภวังค์ เพราะกรช-
กายมีความเจ็บป่วยก็ตาม ก็ไม่ถูกถีนมิทธะครอบงำ เพราะฉะนั้นจึงมีพุทธพจน์ว่า “เรากลับจากบิณฑบาต
หลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว ปูลาดสังฆาฏิ ๔ ชั้น มีสติสัมปชัญญะ หยั่งลงสู่การนอนหลับโดยพระปรัศว์
เบื้องขวารู้ชัดอยู่” (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๔/๑๗๗) และดู ม.มู. ๑๒/๓๘๗/๓๔๕ (มหาสัจจกสูตร)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๓. ภยสูตร
๔. ความเป็นผู้ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่
๕. ความเป็นผู้ว่าง่าย
๖. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร (มิตรดี)
ภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ๖ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ชนทั้งหลายบางพวกในอดีตไม่เสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย
ชนเหล่านั้นทั้งหมดก็ไม่เสื่อมเพราะธรรม ๖ ประการนี้แล
ชนทั้งหลายบางพวกในอนาคตจักไม่เสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย ชนเหล่านั้น
ทั้งหมดก็จักไม่เสื่อมเพราะธรรม ๖ ประการนี้แล
ชนทั้งหลายบางพวกในปัจจุบันไม่เสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย ชนเหล่านั้น
ทั้งหมดก็ไม่เสื่อมเพราะธรรม ๖ ประการนี้แล
อปริหานิยสูตรที่ ๒ จบ
๓. ภยสูตร
ว่าด้วยภัยเป็นชื่อของกาม
[๒๓] ภิกษุทั้งหลาย
๑. คำว่า ‘ภัย’ นี้เป็นชื่อของกาม
๒. คำว่า ‘ทุกข์’ นี้เป็นชื่อของกาม
๓. คำว่า ‘โรค’ นี้เป็นชื่อของกาม
๔. คำว่า ‘ฝี’ นี้เป็นชื่อของกาม
๕. คำว่า ‘เครื่องข้อง’ นี้เป็นชื่อของกาม
๖. คำว่า ‘เปือกตม’ นี้เป็นชื่อของกาม
คำว่า ‘ภัย’ นี้เป็นชื่อของกาม เพราะเหตุไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๓. ภยสูตร
เพราะสัตว์โลกผู้ยินดีด้วยกามราคะ ถูกฉันทราคะ๑เกี่ยวพันไว้ ย่อมไม่พ้นจาก
ภัยทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า ฉะนั้น คำว่า ‘ภัย’ นี้จึงเป็นชื่อของกาม
คำว่า ‘ทุกข์’ ฯลฯ คำว่า ‘โรค’ ฯลฯ คำว่า ‘ฝี’ ฯลฯ คำว่า ‘เครื่องข้อง’ ฯลฯ
คำว่า ‘เปือกตม’ นี้เป็นชื่อของกาม เพราะเหตุไร
เพราะสัตว์โลกผู้ยินดีด้วยกามราคะ ถูกฉันทราคะเกี่ยวพันไว้ ย่อมไม่พ้นจาก
เปือกตมทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า ฉะนั้น คำว่า ‘เปือกตม’ นี้จึงเป็นชื่อ
ของกาม
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ภัย ทุกข์ โรค (ฝี) เครื่องข้องและเปือกตม
เหล่านี้เราเรียกว่ากามที่ข้องของปุถุชน
ชนทั้งหลายเห็นภัยในอุปาทาน๒
อันเป็นแดนเกิดแห่งชาติและมรณะ

เชิงอรรถ :
๑ ฉันทราคะ หมายถึงความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจกล่าวคือตัณหา (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๑๓/๒๖๐)
ทั้ง กามราคะ และ ฉันทราคะ เป็นชื่อเรียกกิเลสกามในจำนวนชื่อเรียก ๑๘ ชื่อ คือ (๑) ฉันทะ (ความพอใจ)
(๒) ราคะ (ความกำหนัด) (๓) ฉันทราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ) (๔) สังกัปปะ (ความดำริ)
(๕) ราคะ (ความกำหนัด) (๖) สังกัปปราคะ (ความกำหนัดอำนาจความดำริ) (๗) กามฉันทะ (ความพอใจ
ด้วยอำนาจความใคร่) (๘) กามราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจความใคร่) (๙) กามนันทะ (ความเพลิด
เพลินด้วยอำนาจความใคร่) (๑๐) กามตัณหา (ความทะยานอยากด้วยอำนาจความใคร่) (๑๑) กามเสนหะ
(ความเยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่) (๑๒) กามปริฬาหะ (ความเร่าร้อนด้วยอำนาจความใคร่) (๑๓) กามมุจฉา
(ความสยบด้วยอำนาจความใคร่) (๑๔) กามัชโฌสานะ (ความติดใจด้วยอำนาจความใคร่) (๑๕) กาโมฆะ
(ห้วงน้ำคือความใคร่) (๑๖) กามโยคะ (กิเลสเครื่องประกอบคือความใคร่) (๑๗) กามุปาทานะ (กิเลส
เครื่องยึดมั่นคือความใคร่) (๑๘) กามัจฉันทนีวรณะ (กิเลสเครื่องกั้นจิตคือความพอใจด้วยอำนาจความใคร่)
(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑/๒)
๒ อุปาทาน (ความยึดมั่น) ๔ คือ (๑) กามุปาทาน ความยึดมั่นในกาม (๒) ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นในทิฏฐิ
(๓) สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลและวัตร (๔) อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นในวาทะว่าตัวตน (ที.ปา.
๑๑/๓๑๒/๒๐๕, ม.มู. ๑๒/๑๔๓/๑๐๑, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๓๘/๕๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๔. หิมวันตสูตร
ย่อมหลุดพ้นในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งชาติและมรณะ๑
เพราะไม่ถือมั่น
ชนเหล่านั้นถึงธรรมเป็นแดนเกษม
มีความสุข ดับสนิทในปัจจุบัน
ล่วงทุกข์ทั้งหมดไปได้ พ้นเวรทั้งปวง
ภยสูตรที่ ๓ จบ
๔. หิมวันตสูตร
ว่าด้วยขุนเขาหิมพานต์
[๒๔] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ พึงทำลายขุนเขา
หิมพานต์ได้ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงอวิชชาอันเลวทรามเลย
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิ๒
๒. เป็นผู้ฉลาดในการให้สมาธิตั้งอยู่ได้๓
๓. เป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาธิ๔

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งชาติ และมรณะ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๔/๑๐๙)
๒ ฉลาดในการเข้าสมาธิ หมายถึงฉลาดเลือกอาหารและฤดูที่เหมาะแก่การเจริญสมาธิ (องฺ.ฉกฺก.อ.
๓/๒๔/๑๐๙)
๓ ฉลาดในการให้สมาธิตั้งอยู่ได้ หมายถึงสามารถรักษาสมาธิให้ดำรงอยู่ได้นาน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๔/๑๐๙)
๔ ฉลาดในการออกจากสมาธิ ในที่นี้หมายถึงกำหนดเวลาที่จะออกจากสมาธิได้ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๔/๑๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๕. อนุสสติฏฐานสูตร
๔. เป็นผู้ฉลาดในความพร้อมแห่งสมาธิ๑
๕. เป็นผู้ฉลาดในอารมณ์แห่งสมาธิ๒
๖. เป็นผู้ฉลาดในอภินิหารแห่งสมาธิ๓
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล พึงทำลายขุนเขา
หิมพานต์ได้ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงอวิชชาที่เลวทรามเลย
หิมวันตสูตรที่ ๔ จบ
๕. อนุสสติฏฐานสูตร
ว่าด้วยอนุสสติฏฐาน๔
[๒๕] ภิกษุทั้งหลาย อนุสสติฏฐาน ๖ ประการนี้
อนุสสติฏฐาน ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ระลึกถึงตถาคตว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ สมัยใด อริยสาวก
ระลึกถึงตถาคตแล้ว สมัยนั้น จิตของเธอย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม
ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว
เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความกำหนัด คำว่า ‘กำหนัด’
นี้เป็นชื่อของกามคุณ ๕

เชิงอรรถ :
๑ ฉลาดในความพร้อมแห่งสมาธิ หมายถึงสามารถทำสมาธิจิตให้มีความร่าเริงได้(องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๔/๑๐๙)
๒ ฉลาดในอารมณ์แห่งสมาธิ หมายถึงฉลาดในการเว้นธรรมที่ไม่เป็นอุปการะแก่สมาธิแล้วเลือกเจริญแต่
ธรรมที่เป็นสัปปายะและเป็นอุปการะโดยรู้ว่า “นี้คืออารมณ์ที่เป็นนิมิต (เครื่องหมาย) สำหรับให้จิตกำหนด
นี้คืออารมณ์ที่เป็นไตรลักษณ์” (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๔/๑๐๙)
๓ ฉลาดในอภินิหารแห่งสมาธิ หมายถึงฉลาดในการเจริญสมาธิในชั้นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และ
จตุตถฌาน ตามลำดับจนเกิดความชำนาญแล้วเข้าสมาธิชั้นสูงขึ้นไป (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๔/๑๑๐)
๔ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๙ (อนุสสติฏฐานสูตร) หน้า ๔๒๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๕. อนุสสติฏฐานสูตร
ภิกษุทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำพุทธานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อม
บริสุทธิ์๑ได้อย่างนี้แล
๒. อริยสาวกระลึกถึงธรรมว่า ‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสไว้ดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน’ สมัยใด อริยสาวก
ระลึกถึงธรรม สมัยนั้น จิตของเธอย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูก
โทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็น
จิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความกำหนัด คำว่า ‘กำหนัด’ นี้เป็น
ชื่อของกามคุณ ๕
ภิกษุทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำธัมมานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อม
บริสุทธิ์ได้อย่างนี้แล
๓. อริยสาวกระลึกถึงสงฆ์ว่า ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้
ปฏิบัติดี ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก’ สมัยใด อริยสาวก
ระลึกถึงสงฆ์ สมัยนั้น จิตของเธอย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูก
โทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็น
จิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความกำหนัด คำว่า ‘กำหนัด’ นี้เป็น
ชื่อของกามคุณ ๕
ภิกษุทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำสังฆานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อม
บริสุทธิ์ได้อย่างนี้แล
๔. อริยสาวกระลึกถึงศีลของตนที่ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ สมัยใด
อริยสาวกระลึกถึงศีล สมัยนั้น จิตของเธอย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม
ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว
เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความกำหนัด คำว่า ‘กำหนัด’
นี้เป็นชื่อของกามคุณ ๕
ภิกษุทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำสีลานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมบริสุทธิ์
ได้อย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ บริสุทธิ์ ในที่นี้หมายถึงบรรลุนิพพานที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๕/๑๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๕. อนุสสติฏฐานสูตร
๕. อริยสาวกระลึกถึงจาคะของตนว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดี
แล้วหนอ ฯลฯ ควรแก่การขอ ยินดีในการแจกทานอยู่ครองเรือน’
สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงจาคะ สมัยนั้น จิตของเธอย่อมไม่ถูก
ราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนิน
ไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความกำหนัด
คำว่า ‘กำหนัด’ นี้เป็นชื่อของกามคุณ ๕
ภิกษุทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำจาคานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อม
บริสุทธิ์ได้อย่างนี้แล
๖. อริยสาวกระลึกถึงเทวดาทั้งหลายว่า ‘มีเทวดาชั้นจาตุมหาราช
เทวดาชั้นดาวดึงส์ เทวดาชั้นยามา เทวดาชั้นดุสิต เทวดาชั้น
นิมมานรดี เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เทวดาชั้นพรหมกาย เทวดา
ชั้นสูงขึ้นไปกว่านั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติ
จากโลกนี้แล้วไปเกิดในเทวโลกนั้น แม้เราเองก็มีศรัทธาเช่นนั้น
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลเช่นใด ... สุตะ ... จาคะ ... ปัญญา
เช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปเกิดในเทวโลกนั้น แม้เราเองก็มีปัญญา
เช่นนั้น’ สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และ
ปัญญาของตน และของเทวดาเหล่านั้น สมัยนั้น จิตของเธอย่อม
ไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นจิต
ดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความกำหนัด
คำว่า ‘กำหนัด’ นี้เป็นชื่อของกามคุณ ๕
ภิกษุทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำอนุสสติทั้ง ๖ นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อม
บริสุทธิ์ได้อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย อนุสสติฏฐาน ๖ ประการนี้แล
อนุสสติฏฐานสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๖. มหากัจจานสูตร
๖. มหากัจจานสูตร
ว่าด้วยพระมหากัจจานะ๑
[๒๖] ณ ที่นั้นแล ท่านพระมหากัจจานะ เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระมหากัจจานะจึงได้กล่าวดังนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ได้ตรัสรู้วิธี
บรรลุช่องว่างในที่คับแคบ๒คืออนุสสติฏฐาน ๖ ประการ เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์
ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะ(ความเศร้าโศก)และปริเทวะ(ความร่ำไร) เพื่อดับทุกข์
(ความทุกข์กาย)และโทมนัส(ความทุกข์ใจ) เพื่อบรรลุญายธรรม๓ เพื่อทำให้แจ้ง
นิพพาน
อนุสสติฏฐาน ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ระลึกถึงพระตถาคตว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ สมัยใด อริยสาวก
ระลึกถึงพระตถาคต สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะ
กลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไป
ตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความกำหนัด คำว่า
‘กำหนัด’ นี้ เป็นชื่อของกามคุณ ๕ อริยสาวกนั้นแล มีจิตเสมอ
อากาศ อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียน๔อยู่โดยประการทั้งปวง

เชิงอรรถ :
๑ คัมภีร์บางแห่งใช้ว่า มหากัจจายนะ
๒ ช่องว่างในที่คับแคบ หมายถึงทางหลุดพ้นจากกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) ทางหลุดพ้น
นั้นคืออนุสสติฏฐาน ๖ ประการ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๖/๑๑๐)
๓ ญายธรรม หมายถึงอริยมัคคธรรม (สํ.ม. ๑๙/๒๔/๑๕, สํ.ม.อ. ๓/๒๑-๓๐/๑๙๕)
๔ จิตเสมออากาศ หมายถึงจิตที่ไม่ต้องเกี่ยวข้อง ไม่ต้องผูกพัน
ไพบูลย์ หมายถึงจิตไม่ใช่นิดหน่อย
มหัคคตะ หมายถึงจิตที่ยิ่งใหญ่ หรือเป็นจิตที่พระอริยสาวกจำนวนมากปฏิบัติมา
ไม่มีขอบเขต หมายถึงประมาณไม่ได้
ไม่มีเวร หมายถึงปราศจากอกุศลเวรและบุคคลผู้เป็นเวรกัน
ไม่มีความเบียดเบียน หมายถึงปราศจากความโกรธและความทุกข์ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๖/๑๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๖. มหากัจจานสูตร
ผู้มีอายุทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำพุทธานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อม
เป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดาอย่างนี้แล
๒. อริยสาวกระลึกถึงพระธรรมว่า ‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระ
ภาคตรัสไว้ดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน’ สมัยใด อริยสาวก
ระลึกถึงพระธรรม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะ
กลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมเป็นจิตดำเนิน
ไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความกำหนัด คำว่า
‘กำหนัด’ นี้เป็นชื่อของกามคุณ ๕ อริยสาวกนั้นแล มีจิตเสมอ
อากาศ อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่ โดยประการทั้งปวง
ผู้มีอายุทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำธัมมานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อม
เป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดาอย่างนี้แล
๓. อริยสาวกระลึกถึงพระสงฆ์ว่า ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้ปฏิบัติดี ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก’ สมัยใด
อริยสาวกระลึกถึงพระสงฆ์ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่
ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมเป็น
จิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความ
กำหนัด คำว่า ‘กำหนัด’ นี้เป็นชื่อของกามคุณ ๕ อริยสาวกนั้นแล
มีจิตเสมออากาศ อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร
ไม่มีความเบียดเบียนอยู่โดยประการทั้งปวง
ผู้มีอายุทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำสังฆานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อม
เป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดาอย่างนี้แล
๔. อริยสาวกระลึกถึงศีลของตน ที่ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ
สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงศีลของตน สมัยนั้น จิตของอริยสาวก
นั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจาก
ความกำหนัด คำว่า ‘กำหนัด’ นี้เป็นชื่อของกามคุณ ๕ อริยสาวก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๖. มหากัจจานสูตร
นั้นแล มีจิตเสมออากาศ อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ โดยประการทั้งปวง
ผู้มีอายุทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำสีลานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อม
เป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดาอย่างนี้แล
๕. อริยสาวกระลึกถึงจาคะของตนว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดี
แล้วหนอ ฯลฯ ควรแก่การขอ ยินดีในการแจกทานอยู่ครองเรือน’
สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงจาคะของตน สมัยนั้น จิตของอริยสาวก
นั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจาก
ความกำหนัด คำว่า ‘กำหนัด’ นี้ เป็นชื่อของกามคุณ ๕ อริยสาวก
นั้นแลมีจิตเสมออากาศ อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ โดยประการทั้งปวง
ผู้มีอายุทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำจาคานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อม
เป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดาอย่างนี้แล
๖. อริยสาวกระลึกถึงเทวดาว่า ‘มีเทวดาชั้นจาตุมหาราช ฯลฯ เทวดา
ชั้นสูงขึ้นไปกว่านั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติ
จากโลกนี้แล้วไปเกิดในเทวโลกนั้น แม้เราเองก็มีศรัทธาเช่นนั้น
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลเช่นใด... สุตะ... จาคะ... ปัญญาเช่นใด
แม้เราเองก็มีปัญญาเช่นนั้น สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงศรัทธา
ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของตน และของเทวดาเหล่านั้น
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะ
กลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิต
ออกไป พ้นไป หลุดไปจากความกำหนัด คำว่า ‘กำหนัด’ นี้เป็นชื่อ
ของกามคุณ ๕ อริยสาวกนั้นแลมีจิตเสมอด้วยอากาศ อันไพบูลย์
เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่โดย
ประการทั้งปวง
ผู้มีอายุทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำเทวตานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อม
เป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดาอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๗. ปฐมสมยสูตร
ผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ได้ตรัสรู้วิธีบรรลุ
ช่องว่างในที่คับแคบ คือ อนุสสติฏฐาน ๖ ประการนี้ เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์
ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะ และปริเทวะ เพื่อดับทุกข์ และโทมนัส เพื่อบรรลุ
ญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
มหากัจจานสูตรที่ ๖ จบ
๗. ปฐมสมยสูตร
ว่าด้วยสมัยที่ควรพบผู้เจริญภาวนา สูตรที่ ๑
[๒๗] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยที่ควรเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ มีเท่าไร
หนอแล”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ สมัยที่ควรเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ
๖ ประการนี้
สมัยที่ควรเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สมัยใด ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตถูกกามราคะ๑กลุ้มรุม ถูกกามราคะ
ครอบงำอยู่ และเธอไม่ทราบชัดซึ่งอุบายเครื่องสลัดกามราคะที่เกิด
ขึ้นตามความเป็นจริง สมัยนั้น ภิกษุนั้นพึงเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญ
ภาวนาทางใจแล้วถามอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ ผมมีจิตถูกกามราคะ
กลุ้มรุม ถูกกามราคะครอบงำอยู่ และผมก็ไม่ทราบชัดซึ่งอุบาย
เครื่องสลัดกามราคะที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ขอผู้มีอายุโปรด
แสดงธรรมเพื่อละกามราคะแก่ผมเถิด’ ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ
ย่อมแสดงธรรม๒เพื่อละกามราคะแก่เธอ นี้เป็นสมัยที่ ๑ ที่ควร
เข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ฉักกนิบาต ข้อ ๒๓ หน้า ๔๕๔ ในเล่มนี้
๒ หมายถึงแสดงอสุภกัมมัฏฐาน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๗/๑๑๑) สาระในสูตรนี้ ดู องฺ.เอกก. (แปล) ๒๐/๑๑-๒๐/
๒-๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๗. ปฐมสมยสูตร
๒. สมัยใด ภิกษุมีจิตถูกพยาบาท(ความคิดร้าย)กลุ้มรุม ถูกพยาบาท
ครอบงำอยู่ และเธอไม่ทราบชัดซึ่งอุบายเครื่องสลัดพยาบาทที่เกิด
ขึ้นตามความเป็นจริง สมัยนั้น ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุผู้เจริญ
ภาวนาทางใจแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ ผมมีจิตถูกพยาบาท
กลุ้มรุม ถูกพยาบาทครอบงำอยู่ และผมก็ไม่ทราบชัดซึ่งอุบาย
เครื่องสลัดพยาบาทที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ขอผู้มีอายุโปรด
แสดงธรรมเพื่อละพยาบาทแก่ผมเถิด’ ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ
ย่อมแสดงธรรม๑เพื่อละพยาบาทแก่เธอ นี้เป็นสมัยที่ ๒ ที่ควร
เข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ
๓. สมัยใด ภิกษุมีจิตถูกถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม)กลุ้มรุม
ถูกถีนมิทธะครอบงำอยู่ และเธอไม่ทราบชัดซึ่งอุบายเครื่องสลัด
ถีนมิทธะที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง สมัยนั้น ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหา
ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ ผมมีจิตถูก
ถีนมิทธะกลุ้มรุม ถูกถีนมิทธะครอบงำอยู่ และผมก็ไม่ทราบชัดซึ่ง
อุบายเครื่องสลัดถีนมิทธะที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ขอผู้มีอายุได้
โปรดแสดงธรรมเพื่อละถีนมิทธะแก่ผมเถิด’ ภิกษุผู้เจริญภาวนา
ทางใจ ย่อมแสดงธรรม๒เพื่อละถีนมิทธะแก่เธอ นี้เป็นสมัยที่ ๓ ที่
ควรเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ
๔. สมัยใด ภิกษุมีจิตถูกอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)
กลุ้มรุม ถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำอยู่ และเธอไม่ทราบชัดซึ่งอุบาย
เครื่องสลัดอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้วออกไปตามความเป็นจริง
สมัยนั้น ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจแล้วกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ ผมมีจิตถูกอุทธัจจกุกกุจจะกลุ้มรุม ถูก
อุทธัจจกุกกุจจะครอบงำอยู่ และผมก็ไม่ทราบชัดซึ่งอุบายเครื่องสลัด
อุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ขอผู้มีอายุโปรดแสดง

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงแสดงเมตตากัมมัฏฐาน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๗/๑๑๑)
๒ หมายถึงแสดงอาโลกสัญญา หรือเหตุปรารภความเพียรบางอย่าง (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๗/๑๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๗. ปฐมสมยสูตร
ธรรมเพื่อละอุทธัจจกุกกุจจะแก่ผมเถิด’ ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ
ย่อมแสดงธรรม๑เพื่อละอุทธัจจกุกกุจจะแก่เธอ นี้เป็นสมัยที่ ๔ ที่
ควรเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ
๕. สมัยใด ภิกษุมีจิตถูกวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย)กลุ้มรุม ถูกวิจิกิจฉา
ครอบงำอยู่ และเธอไม่ทราบชัดซึ่งอุบายเครื่องสลัดวิจิกิจฉาที่เกิด
ขึ้นตามความเป็นจริง สมัยนั้น ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุผู้เจริญ
ภาวนาทางใจแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ ผมมีจิตถูกวิจิกิจฉา
กลุ้มรุม ถูกวิจิกิจฉาครอบงำอยู่ และผมก็ไม่ทราบชัดซึ่งอุบายเครื่อง
สลัดวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ขอผู้มีอายุโปรดแสดง
ธรรมเพื่อละวิจิกิจฉาแก่ผมเถิด’ ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจย่อมแสดง
ธรรม๒เพื่อละวิจิกิจฉาแก่เธอ นี้เป็นสมัยที่ ๕ ที่ควรเข้าไปพบภิกษุ
ผู้เจริญภาวนาทางใจ
๖. สมัยใด ภิกษุไม่รู้ไม่เห็นนิมิตซึ่งเป็นที่สิ้นอาสวะโดยลำดับสำหรับผู้
อาศัยมนสิการอยู่ สมัยนั้น ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุผู้เจริญภาวนา
ทางใจแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ ผมไม่รู้ไม่เห็นนิมิตซึ่งเป็นที่สิ้น
อาสวะโดยลำดับสำหรับผู้อาศัยมนสิการอยู่ ขอผู้มีอายุโปรดแสดง
ธรรมเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายแก่ผมเถิด’ ภิกษุผู้เจริญ
ภาวนาทางใจย่อมแสดงธรรมเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะแก่เธอ นี้
เป็นสมัยที่ ๖ ที่ควรเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ
ภิกษุ สมัยที่ควรเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ๖ ประการนี้แล”
ปฐมสมยสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงแสดงสมถกัมมัฏฐาน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๗/๑๑๑)
๒ หมายถึงแสดงคุณพระรัตนตรัย (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๗/๑๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๘. ทุติยสมยสูตร
๘. ทุติยสมยสูตร
ว่าด้วยสมัยที่ควรพบผู้เจริญภาวนา สูตรที่ ๒
[๒๘] สมัยหนึ่ง ภิกษุเถระจำนวนมาก อยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
เขตกรุงพาราณสี ครั้งนั้น เมื่อภิกษุเถระเหล่านั้นกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉัน
อาหารเสร็จแล้ว นั่งประชุมกันในโรงฉัน๑ ได้เกิดการสนทนากันขึ้นในระหว่างว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยไหนเป็นสมัยที่ควรเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ”
เมื่อกล่าวถามกันอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุเถระดังนี้ว่า “ผู้มี
อายุ สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจกลับจากบิณฑบาตภายหลังฉันอาหารเสร็จ
ล้างเท้าแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า๒ สมัยนั้น เป็นสมัยที่ควร
เข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ”
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุนั้นดังนี้ว่า
“ผู้มีอายุ สมัยนั้น ไม่ใช่สมัยที่ควรเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ เพราะ
สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ กลับจากบิณฑบาตภายหลังฉันอาหารเสร็จ
ล้างเท้าแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า สมัยนั้น ความ
เหน็ดเหนื่อยเพราะการเที่ยวบิณฑบาตของภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจนั้นยังไม่สงบระงับ
และความเหน็ดเหนื่อยเพราะการฉันอาหารของภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจนั้นก็ยังไม่
สงบระงับ ฉะนั้น สมัยนั้นจึงไม่ใช่สมัยที่ควรเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจนั้น
แต่สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น นั่งคู้
บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าที่ร่มเงาวิหาร สมัยนั้น ควรเข้าไปพบภิกษุ
ผู้เจริญภาวนาทางใจ”
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุนั้นดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ โรงฉัน แปลจากภาษาบาลีว่า ‘มณฺฑลมาเฬ’ หมายถึง(โภชนสาลา)โรงฉันที่สร้างเป็นปะรำมีลักษณะกลม
(องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๘/๑๑๑, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๒๘/๑๒๖)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๕ ปัญจกนิบาต ข้อ ๗๕ หน้า ๑๒๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๘. ทุติยสมยสูตร
“ผู้มีอายุ สมัยนั้น ไม่ใช่สมัยที่ควรเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ เพราะ
สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น นั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าที่ร่มเงาวิหาร สมัยนั้น สมาธินิมิตที่ท่านมนสิการ
ในเวลากลางวัน ก็ยังฟุ้งซ่านอยู่ ฉะนั้น สมัยนั้นจึงไม่ใช่สมัยที่ควรเข้าไปพบภิกษุ
ผู้เจริญภาวนาทางใจ แต่สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ นั่งคู้
บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า สมัยนั้น เป็นสมัยที่ควรเข้าไปพบภิกษุผู้
เจริญภาวนาทางใจ”
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่ง จึงกล่าวกับภิกษุนั้นดังนี้ว่า
“ผู้มีอายุ สมัยนั้น ก็ไม่ใช่สมัยที่ควรเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ
แต่สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรง
สติไว้เฉพาะหน้า สมัยนั้น กายของท่านตั้งอยู่ในโอชารส ความสบายย่อมมีแก่ท่าน
เพื่อมนสิการถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ฉะนั้น สมัยนั้น จึงเป็นสมัยที่ควรเข้าไปพบ
ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ”
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหากัจจานะจึงได้กล่าวกับภิกษุเถระ
ทั้งหลายดังนี้ว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนั้นผมได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มี
พระภาคว่า ‘ภิกษุ สมัยที่ควรเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ๖ ประการนี้
สมัยที่ควรเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สมัยใด ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตถูกกามราคะกลุ้มรุม ถูกกามราคะ
ครอบงำอยู่ และเธอก็ไม่ทราบชัดซึ่งอุบายเครื่องสลัดกามราคะที่
เกิดขึ้นตามความเป็นจริง สมัยนั้น ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุผู้
เจริญภาวนาทางใจแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ ผมมีจิตถูก
กามราคะกลุ้มรุม ถูกกามราคะครอบงำอยู่ และผมก็ไม่ทราบชัดซึ่ง
อุบายเครื่องสลัดกามราคะที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ขอผู้มีอายุ
โปรดแสดงธรรมเพื่อละกามราคะแก่ผมเถิด’ ภิกษุผู้เจริญภาวนา
ทางใจย่อมแสดงธรรมเพื่อละกามราคะแก่เธอ นี้เป็นสมัยที่ ๑ ที่
ควรไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๙. อุทายีสูตร
๒. สมัยใด ภิกษุมีจิตถูกพยาบาทกลุ้มรุม ฯลฯ๑
๓. สมัยใด ภิกษุมีจิตถูกถีนมิทธะกลุ้มรุม ฯลฯ
๔. สมัยใด ภิกษุมีจิตถูกอุทธัจจกุกกุจจะกลุ้มรุม ฯลฯ
๕. สมัยใด ภิกษุมีจิตถูกวิจิกิจฉากลุ้มรุม ฯลฯ
๖. สมัยใด ภิกษุไม่รู้ไม่เห็นนิมิตซึ่งเป็นที่สิ้นอาสวะโดยลำดับสำหรับผู้
อาศัยมนสิการอยู่ สมัยนั้น ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุผู้เจริญภาวนา
ทางใจแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ ผมไม่รู้ไม่เห็นนิมิตซึ่งเป็นที่สิ้น
อาสวะโดยลำดับสำหรับผู้อาศัยมนสิการอยู่ ขอผู้มีอายุโปรดแสดง
ธรรมเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายแก่ผมเถิด’ ภิกษุผู้เจริญ
ภาวนาทางใจย่อมแสดงธรรมเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
แก่เธอ นี้เป็นสมัยที่ ๖ ที่ควรเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ
ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนั้นผมได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า
‘ภิกษุ สมัยที่ควรเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ๖ ประการนี้แล”
ทุติยสมยสูตรที่ ๘ จบ
๙. อุทายีสูตร
ว่าด้วยท่านพระอุทายี
[๒๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอุทายีมาตรัสถามว่า
“อุทายี อนุสสติฏฐาน๒ มีเท่าไรหนอ” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้ ท่านพระ
อุทายีได้นิ่งอยู่
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็รับสั่งเรียกท่านพระอุทายีมาตรัสถามว่า “อุทายี
อนุสสติฏฐาน มีเท่าไรหนอ” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามแล้วอย่างนี้ แม้ครั้งที่ ๒
ท่านพระอุทายีก็นิ่งอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในปฐมสมยสูตร
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๙ (อนุสสติฏฐานสูตร) หน้า ๔๒๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๙. อุทายีสูตร
แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็รับสั่งเรียกท่านพระอุทายีมาตรัสถามว่า “อุทายี
อนุสสติฏฐาน มีเท่าไรหนอ” แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอุทายีก็นิ่งอยู่
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกับท่านพระอุทายีว่า “ท่านอุทายี พระศาสดา
ตรัสถามท่าน”
ท่านพระอุทายีตอบว่า “ท่านอานนท์ ผมได้ยินพระดำรัสของพระผู้มี
พระภาคอยู่” และได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคต่อไปอีกว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ
ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นอนุสสติฏฐาน”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
เรารู้แล้ว อุทายีนี้เป็นโมฆบุรุษ ไม่ประกอบอธิจิต๑อยู่” แล้วตรัสถามท่านพระ
อานนท์ต่อไปว่า “อานนท์ อนุสสติฏฐาน มีเท่าไร”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนุสสติฏฐาน มี ๕
ประการ
อนุสสติฏฐาน ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมแล้วบรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตกวิจาร ปีติและสุขเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับ
ไปภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่ง
ผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะ
ปีติจางคลายไปภิกษุมีอุเบกขามีสติมีสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนาม
กายบรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา
มีสติอยู่เป็นสุข’ อยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นอนุสสติฏฐาน
ที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขใน
ปัจจุบัน

เชิงอรรถ :
๑ อธิจิต หมายถึงสมาธิจิตและวิปัสสนาจิต (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๙/๑๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๙. อุทายีสูตร
๒. ภิกษุมนสิการอาโลกสัญญา ตั้งสัญญาไว้ว่าเป็นกลางวันอยู่ มนสิการ
อาโลกสัญญาว่ากลางวันอย่างไร กลางคืนก็อย่างนั้น กลางคืน
อย่างไร กลางวันก็อย่างนั้น ภิกษุนั้นมีจิตปลอดโปร่งไม่ถูกนิวรณ์
พัวพัน ย่อมเจริญจิตที่มีความสว่าง๑ด้วยประการอย่างนี้ นี้เป็น
อนุสสติฏฐาน ที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อได้
ญาณทัสสนะ๒
๓. ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้เท่านั้น ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ตั้งแต่ปลายผม
ลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดประการต่าง ๆ
ว่า ‘ในกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อใน
กระดูก ไต๓ หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม๔ ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่
อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน
น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร๕’ นี้เป็นอนุสสติฏฐาน ที่ภิกษุเจริญทำให้
มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อละกามราคะ
๔. ภิกษุเห็นสรีระที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ตายแล้ววันหนึ่ง สองวัน หรือ
สามวัน พองขึ้น มีสีเขียวคล้ำ มีหนองไหลออกอย่างไร ก็น้อม

เชิงอรรถ :
๑ เจริญจิตที่มีความสว่าง หมายถึงเจริญพอกพูนจิตที่มีโอภาสเพื่อบรรลุทิพพจักขุญาณซึ่งต่างจากการ
มนสิการอาโลกสัญญาที่มุ่งบรรเทาถีนมิทธะ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๙/๑๑๒)
๒ ญาณทัสสนะ ในที่นี้หมายถึงทิพพจักขุญาณ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๙/๑๑๒)
๓ ไต แปลจากคำว่า ‘วกฺก’ (โบราณแปลว่า ม้าม) ได้แก่ ก้อนเนื้อ ๒ ก้อนมีขั้วเดียวกัน รูปร่างคล้ายลูก
สะบ้าของเด็ก ๆ หรือคล้ายผลมะม่วง ๒ ผลที่ติดอยู่ในขั้วเดียวกัน มีเอ็นใหญ่รึงรัดจากลำคอลงไปถึงหัว
ใจแล้วแยกออกห้อยอยู่ทั้ง ๒ ข้าง (ขุ.ขุ.อ. ๓/๔๓); พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้บท
นิยามของคำว่า “ไต” ว่า อวัยวะคู่หนึ่งของคนและสัตว์ อยู่ในช่องท้องใกล้กระดูกสันหลัง ทำหน้าที่ขับของ
เสียออกมากับน้ำปัสสาวะ; Buddhadatta Mahathera, A. Concise Pali-English Dictionary, 1985,
(224) และ Rhys Davids, T.W. Pali-English Dictionary, 1921-1925,(591) ให้ความหมายของคำว่า
“วกฺก” ตรงกับคำว่า “ไต” (Kidney)
๔ ม้าม แปลจากคำว่า ‘ปิหก’ ตาม (ขุ.ขุ.อ. ๓/๔๕) (โบราณแปลว่าไต); พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้บทนิยามไว้ว่า “อวัยวะภายในร่างกาย ริมกระเพาะอาหารข้างซ้าย มีหน้าที่ทำลายเม็ด
เลือดแดง สร้างเม็ดเลือดเหลืองและสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย”
๕ มูตร หมายถึงน้ำปัสสาวะ ซึ่งมีที่อยู่คือกระเพาะปัสสาวะนั่นเอง (วิสุทฺธิ. ๑/๒๑๓/๒๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๙. อุทายีสูตร
กายนี้แล เข้าไปเปรียบอย่างนั้นว่า ‘แม้กายนี้ก็เป็นธรรมดาอย่างนี้
มีภาวะอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นอย่างนี้ไปได้‘๑
ภิกษุนั้นเห็นสรีระที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ถูกฝูงกา นกเหยี่ยว นกแร้ง สุนัข สุนัข
จิ้งจอกหรือสัตว์มีชีวิตชนิดต่าง ๆ กำลังกัดกินอย่างไร ก็น้อมกายนี้แลเข้าไปเปรียบ
อย่างนั้นว่า ‘แม้กายนี้ก็เป็นธรรมดาอย่างนี้ มีภาวะอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นอย่างนี้ไปได้’
ภิกษุนั้นเห็นสรีระที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า มีโครงกระดูก มีเนื้อและเลือด มีเอ็น
รึงรัดไว้ ฯลฯ มีแต่โครงกระดูก ไม่มีเนื้อและเลือด มีเอ็นรึงรัดไว้ ฯลฯ มีแต่โครง
กระดูก ปราศจากเนื้อและเลือด ยังมีเอ็นรึงรัดไว้ ฯลฯ มีแต่ท่อนกระดูกปราศจาก
เครื่องผูก กระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง คือ กระดูกมือไปทางหนึ่ง กระดูกเท้า
ไปทางหนึ่ง กระดูกแข้งไปทางหนึ่ง กระดูกขาไปทางหนึ่ง กระดูกสะเอวไปทางหนึ่ง
กระดูกสันหลังไปทางหนึ่ง กระโหลกศีรษะไปทางหนึ่งอย่างไร ก็น้อมกายนี้แลเข้าไป
เปรียบอย่างนั้นว่า ‘แม้กายนี้ ก็เป็นธรรมดาอย่างนี้ มีภาวะอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้น
อย่างนี้ไปได้’
หรือภิกษุนั้นเห็นสรีระที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นกระดูกมีสีขาวเหมือนสีสังข์ เป็น
กระดูกที่สัตว์ทำให้เป็นกอง ๆ เกินหนึ่งปี เป็นกระดูกผุแตกเป็นชิ้นเล็กๆ อย่างไร
ก็น้อมกายนี้แลเข้าไปเปรียบอย่างนั้นว่า ‘แม้กายนี้ ก็เป็นธรรมดาอย่างนี้ มีภาวะ
อย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นอย่างนี้ไปได้’ นี้เป็นอนุสสติฏฐานที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้วอย่างนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อถอนอัสมิมานะ๒ได้
๕. ภิกษุ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน
จึงบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา

เชิงอรรถ :
๑ เป็นธรรมดาอย่างนี้ หมายถึงสิ่ง ๓ สิ่ง คือ อายุ ไออุ่น และวิญญาณ เป็นปัจจัยที่ทำให้กายนี้อดทนต่อ
อิริยาบถมีการยืนและการเดินเป็นต้นได้ แต่เมื่อสิ่ง ๓ สิ่งนี้ขาดไป กายนี้จึงมีความเน่าเปื่อยเป็นธรรมดา
มีภาวะอย่างนี้ หมายถึงจักมีการพองขึ้นเป็นต้นอย่างนี้ทีเดียว
ไม่ล่วงพ้นอย่างนี้ไปได้ หมายถึงไม่ล่วงพ้นจากการพองขึ้นเป็นต้นไปได้ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๙/๑๑๓)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ปัญจกนิบาต ข้อ ๗๑ หน้า ๑๒๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๑๐. อนุตตริยสูตร
อยู่ นี้เป็นอนุสสติฏฐานที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็น
ไปเพื่อการรู้แจ้งธาตุหลายชนิด๑
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญอนุสสติฏฐาน ๕ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ อานนท์ ถ้าอย่างนั้น เธอจงทรงจำ
อนุสสติฏฐาน ข้อที่ ๖ นี้ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีสติก้าวไป มีสติถอยกลับ๒ มีสติ
ยืนอยู่ มีสตินั่งอยู่ มีสตินอนอยู่ มีสติประกอบการงานอยู่
อานนท์ นี้เป็นอนุสสติฏฐาน ที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไป
เพื่อสติสัมปชัญญะ”
อุทายีสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. อนุตตริยสูตร
ว่าด้วยอนุตตริยะ๓
[๓๐] ภิกษุทั้งหลาย อนุตตริยะ (ภาวะอันยอดเยี่ยม) ๖ ประการนี้
อนุตตริยะ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทัสสนานุตตริยะ (การเห็นอันยอดเยี่ยม)
๒. สวนานุตตริยะ (การฟังอันยอดเยี่ยม)
๓. ลาภานุตตริยะ (การได้อันยอดเยี่ยม)
๔. สิกขานุตตริยะ (การศึกษาอันยอดเยี่ยม)
๕. ปาริจริยานุตตริยะ (การบำรุงอันยอดเยี่ยม)
๖. อนุสสตานุตตริยะ (การระลึกอันยอดเยี่ยม)

เชิงอรรถ :
๑ ธาตุหลายชนิด หมายถึง ธาตุ ๑๘ มีจักขุธาตุเป็นต้น (องฺ.เอกก.อ. ๑/๕๗๗/๔๗๓) และดู อภิ.วิ. (แปล)
๓๕/๑๘๓/๑๔๒)
๒ มีสติก้าวไป หมายถึงเมื่อเดินก็เดินไปอย่างมีสติและปัญญา (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๙/๑๑๓)
มีสติถอยกลับ หมายถึงแม้เมื่อจะกลับ ก็กลับอย่างมีสติและปัญญา (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๙/๑๑๓)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ฉักกนิบาต ข้อ ๘ หน้า ๔๑๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๑๐. อนุตตริยสูตร
ทัสสนานุตตริยะ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไปเพื่อเห็นช้างแก้วบ้าง ไปเพื่อเห็นม้าแก้วบ้าง
ไปเพื่อเห็นแก้วมณีบ้าง ไปเพื่อเห็นของสูงของต่ำบ้าง หรือไปเพื่อเห็นสมณะหรือ
พราหมณ์ผู้เห็นผิดปฏิบัติผิดบ้าง ภิกษุทั้งหลาย การเห็นนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า
ไม่มี แต่ว่าการเห็นนี้ยังเป็นการเห็นที่เลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่
อริยะ๑ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์๒ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อ
คลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไป
เพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
ส่วนบุคคลใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด๓ มีความเลื่อมใส
อย่างยิ่ง ไปเพื่อเห็นตถาคตหรือสาวกของตถาคต ภิกษุทั้งหลาย การเห็นนี้ของ
บุคคลนั้น เป็นการเห็นที่ยอดเยี่ยมกว่าการเห็นทั้งหลาย เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์
ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุ
ญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
การที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั่งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใส
อย่างยิ่ง ไปเพื่อเห็นตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต นี้เรียกว่า ทัสสนานุตตริยะ
ทัสสนานุตตริยะ เป็นอย่างนี้
สวนานุตตริยะ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไปเพื่อฟังเสียงกลองบ้าง ไปเพื่อฟังเสียงพิณบ้าง
ไปเพื่อฟังเสียงเพลงขับบ้าง ไปเพื่อฟังเสียงสูงเสียงต่ำบ้าง หรือไปเพื่อฟังธรรมของ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ใช่อริยะ ในที่นี้หมายถึง ไม่ประเสริฐ ไม่สูงสุด ไม่บริสุทธิ์ อันพระอริยะทั้งหลายไม่เสพ (องฺ.ฉกฺก.อ.
๓/๓๐/๑๑๔, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา. ๓/๓๐/๑๒๘)
๒ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ หมายถึงไม่ประกอบด้วยประโยชน์ที่ไพบูลย์ต่าง ๆ เช่นทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์
(ประโยชน์ภพนี้) และสัมปรายิกัตถประโยชน์ (ประโยชน์ในภพหน้า) (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๓๐/๑๑๔,องฺ.ฉกฺก.ฏีกา.
๓/๓๐/๑๒๘)
๓ บรรลุที่สุด ในที่นี้หมายถึงถึงความไม่หวั่นไหว (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๓๐/๑๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๑๐. อนุตตริยสูตร
สมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดปฏิบัติผิดบ้าง ภิกษุทั้งหลาย การฟังนี้มีอยู่ เราไม่
กล่าวว่า ไม่มี แต่ว่าการฟังนี้ ยังเป็นการฟังที่เลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน
ไม่ใช่อริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อ
คลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไป
เพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
ส่วนบุคคลใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใส
อย่างยิ่ง ไปเพื่อฟังธรรมของตถาคตหรือสาวกของตถาคต ภิกษุทั้งหลาย การฟังนี้
ของบุคคลนั้น เป็นการฟังที่ยอดเยี่ยมกว่าการฟังทั้งหลาย เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์
ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุ
ญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
การที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใส
อย่างยิ่ง ไปเพื่อฟังธรรมของตถาคต หรือสาวกของพระตถาคต นี้เรียกว่า
สวนานุตตริยะ
ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ เป็นอย่างนี้
ลาภานุตตริยะ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ได้บุตรบ้าง ได้ภรรยาบ้าง ได้ทรัพย์บ้าง ได้ของสูง
ของต่ำบ้างหรือได้ศรัทธาในสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดปฏิบัติผิดบ้าง ภิกษุ
ทั้งหลาย การได้นั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี แต่ว่าการได้นี้ยังเป็นการได้ที่เลว
เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่อริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อ
ความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ
ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
ส่วนบุคคลใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใส
อย่างยิ่ง ได้ศรัทธาในตถาคต หรือสาวกของตถาคต ภิกษุทั้งหลาย การได้นี้ของ
บุคคลนั้นเป็นการได้ที่ยอดเยี่ยมกว่าการได้ทั้งหลาย เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์
ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม
เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๑๐. อนุตตริยสูตร
การที่บุคคลมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใส
อย่างยิ่ง ได้ศรัทธาในตถาคต หรือสาวกของตถาคต นี้เรียกว่า ลาภานุตตริยะ
ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ เป็นอย่างนี้
สิกขานุตตริยะ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ศึกษาศิลปะเกี่ยวกับช้างบ้าง ศึกษาศิลปะเกี่ยวกับ
ม้าบ้าง ศึกษาศิลปะเกี่ยวกับรถบ้าง ศึกษาศิลปะเกี่ยวกับธนูบ้าง ศึกษาศิลปะ
เกี่ยวกับดาบบ้าง ศึกษาศิลปะชั้นสูงชั้นต่ำบ้าง หรือศึกษาศิลปะจากสมณะหรือ
พราหมณ์ผู้เห็นผิดปฏิบัติผิดบ้าง ภิกษุทั้งหลาย การศึกษานั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า
ไม่มี แต่ว่าการศึกษานี้ยังเป็นการศึกษาที่เลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน
ไม่ใช่อริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อ
คลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไป
เพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
ส่วนบุคคลใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใส
อย่างยิ่ง ศึกษาอธิศีลบ้าง ศึกษาอธิจิตบ้าง ศึกษาอธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่
ตถาคตประกาศไว้ การศึกษานี้ของบุคคลนั้นเป็นการศึกษาที่ยอดเยี่ยมกว่าการศึกษา
ทั้งหลาย เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ
เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
การที่บุคคลมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใส
อย่างยิ่ง ศึกษาอธิศีลบ้าง ศึกษาอธิจิตบ้าง ศึกษาอธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่
ตถาคตประกาศไว้ นี้เรียกว่า สิกขานุตตริยะ
ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริยะ เป็นอย่างนี้
ปาริจริยานุตตริยะ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้บำรุงกษัตริย์บ้าง บำรุงพราหมณ์บ้าง บำรุงคหบดีบ้าง
บำรุงคนชั้นสูงชั้นต่ำบ้าง หรือบำรุงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดปฏิบัติผิดบ้าง ภิกษุ
ทั้งหลาย การบำรุงนั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี แต่ว่าการบำรุงนี้ยังเป็นการบำรุง
ที่เลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่อริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค ๑๐. อนุตตริยสูตร
ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็น
ไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
ส่วนบุคคลใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใส
อย่างยิ่ง บำรุงตถาคตหรือสาวกของตถาคต การบำรุงนี้ของบุคคลนั้นเป็นการบำรุงที่
ยอดเยี่ยมกว่าการบำรุงทั้งหลาย เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าว
ล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้ง
นิพพาน
การที่บุคคลมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใส
อย่างยิ่ง บำรุงตถาคตหรือสาวกของตถาคต นี้เรียกว่า ปาริจริยานุตตริยะ
ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริยะ ปาริจริยา-
นุตตริยะ เป็นอย่างนี้
อนุสสตานุตตริยะ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ระลึกถึงการได้บุตรบ้าง ระลึกถึงการได้ภรรยาบ้าง
ระลึกถึงการได้ทรัพย์บ้าง ระลึกถึงการได้ของสูงของต่ำบ้าง หรือระลึกถึงสมณะ
หรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดปฏิบัติผิดบ้าง ภิกษุทั้งหลาย การระลึกนั้นมีอยู่ เราไม่
กล่าวว่า ไม่มี แต่ว่าการระลึกนี้ยังเป็นการระลึกที่เลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของ
ปุถุชน ไม่ใช่อริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไป
เพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง
ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
ส่วนบุคคลใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใส
อย่างยิ่ง ระลึกถึงตถาคตหรือสาวกของตถาคต ภิกษุทั้งหลาย การระลึกถึงนี้ของ
บุคคลนั้น เป็นการระลึกถึงที่ยอดเยี่ยมกว่าการระลึกถึงทั้งหลาย เป็นไปเพื่อความ
บริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส
เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
การที่บุคคลมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใส
อย่างยิ่ง นี้เรียกว่า อนุสสตานุตตริยะ
ภิกษุทั้งหลาย อนุตตริยะ ๖ ประการนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. อนุตตริยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ภิกษุเหล่าใดได้ทัสสนานุตตริยะ
สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ
ยินดีในสิกขานุตตริยะ ตั้งมั่นปาริจริยานุตตริยะ
เจริญอนุสสตานุตตริยะอันประกอบด้วยวิเวก๑
อันเกษม ให้ถึงอมตธรรม
เป็นผู้ยินดีในความไม่ประมาท
มีปัญญาเครื่องรักษาตน สำรวมในศีล
ภิกษุเหล่านั้นแล ย่อมรู้ที่เป็นที่ดับแห่งทุกข์ตามกาลอันควร
อนุตตริยสูตรที่ ๑๐ จบ
อนุตตริยวรรคที่ ๓ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สามกสูตร ๒. อปริหานิยสูตร
๓. ภยสูตร ๔. หิมวันตสูตร
๕. อนุสสติฏฐานสูตร ๖. มหากัจจานสูตร
๗. ปฐมสมยสูตร ๘. ทุติยสมยสูตร
๙. อุทายีสูตร ๑๐. อนุตตริยสูตร


เชิงอรรถ :
๑ ทั้ง ๓ คำ คือ วิเวก อมตธรรม และ ที่เป็นที่ดับแห่งทุกข์ ในคาถานี้หมายถึงนิพพาน (องฺ.ฉกฺก.อ.
๓/๓๐/๑๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค ๑. เสขสูตร
๔. เทวตาวรรค
หมวดว่าด้วยเทวดา
๑. เสขสูตร
ว่าด้วยธรรมของพระเสขะ๑
[๓๑] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่
ภิกษุผู้เป็นเสขะ
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้ชอบการงาน
๒. ความเป็นผู้ชอบการพูดคุย
๓. ความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
๔. ความเป็นผู้ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่
๕. ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย๒
๖. ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็นเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็นเสขะ
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้ไม่ชอบการงาน
๒. ความเป็นผู้ไม่ชอบการพูดคุย
๓. ความเป็นผู้ไม่ชอบการนอนหลับ
๔. ความเป็นผู้ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่
๕. ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
๖. ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็นเสขะ
เสขสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑ หน้า ๑ ในเล่มนี้
๒ คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึง สำรวมระวังอายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
และใจ (ที.ปา. ๑๑/๓๒๓/๒๑๕, ม.อุ. ๑๔/๓๐๕/๒๗๙, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๒๙/๒๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค ๒. ปฐมอปริหานสูตร
๒. ปฐมอปริหานสูตร
ว่าด้วยอปริหานิยธรรม สูตรที่ ๑
[๓๒] ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป๑ เทวดาตนหนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่ง
รัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา
๒. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระธรรม
๓. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระสงฆ์
๔. ความเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา
๕. ความเป็นผู้มีความเคารพในความไม่ประมาท
๖. ความเป็นผู้มีความเคารพในปฏิสันถาร๒
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่
ภิกษุ
เมื่อเทวดานั้นได้กราบทูลดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ครั้นเทวดานั้น
รู้ว่า ‘พระศาสดาทรงพอพระทัยเรา’ จึงถวายอภิวาท ทำประทักษิณ๓แล้วหายไป
ณ ที่นั้นแล

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๒๑ ฉักกนิบาต (สามกสูตร) หน้า ๔๕๐ ในเล่มนี้
๒ ปฏิสันถาร ในทีนี้หมายถึงการต้อนรับมี ๒ อย่าง คือ (๑) อามิสปฏิสันถาร (การต้อนรับด้วยอามิส)
(๒) ธัมมปฏิสันถาร (การต้อนรับด้วยธรรม) ดู องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๑๕๓/๑๒๓
๓ ทำประทักษิณ หมายถึงเดินเวียนขวาโดยการประนมมือเวียนไปทางขวาตามเข็มนาฬิกา ๓ รอบ มีผู้ที่ตน
เคารพอยู่ทางขวา เสร็จแล้วหันหน้าไปทางผู้ที่ตนเคารพ เดินถอยหลังจนสุดสายตา จนมองไม่เห็นผู้ที่
ตนเคารพแล้วคุกเข่าลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ (การกราบด้วยตั้งอวัยวะทั้ง ๕ อย่างลงกับพื้นคือ
กราบเอาเข่าทั้งสอง มือทั้งสอง และศรีษะ (หน้าผาก) จรดลงกับพื้น)แล้วลุกขึ้นเดินจากไป (วิ.อ. ๑/๑๕/
๑๗๖-๑๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค ๒. ปฐมอปริหานสูตร
ครั้นคืนนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป เทวดาตนหนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่ง
รัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ไหว้แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้
กล่าวกับเราดังนี้ว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่
ภิกษุ
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา
๒. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระธรรม
๓. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระสงฆ์
๔. ความเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา
๕. ความเป็นผู้มีความเคารพในความไม่ประมาท
๖. ความเป็นผู้มีความเคารพในปฏิสันถาร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ’
ภิกษุทั้งหลาย เทวดานั้นครั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว จึงไหว้เราทำประทักษิณแล้ว
หายไป ณ ที่นั้นแล
ภิกษุมีความเคารพในศาสดา
มีความเคารพในธรรม
มีความเคารพอย่างแรงกล้าในสงฆ์
มีความเคารพในความไม่ประมาท
มีความเคารพในปฏิสันถาร
เป็นผู้ไม่ควรเสื่อม ดำรงอยู่ใกล้นิพพานทีเดียว๑”
ปฐมอปริหานสูตรที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.สตฺตก. ๒๓/๓๒/๒๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค ๓. ทุติยอปริหานสูตร
๓. ทุติยอปริหานสูตร
ว่าด้วยอปริหานิยธรรม สูตรที่ ๒
[๓๓] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป เทวดาตนหนึ่งมีวรรณะ
งดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ไหว้แล้วยืนอยู่
ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา
๒. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระธรรม
๓. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระสงฆ์
๔. ความเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา
๕. ความเป็นผู้มีความเคารพในหิริ (ความอายบาป)
๖. ความเป็นผู้มีความเคารพในโอตตัปปะ (ความกลัวบาป)
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ
ภิกษุทั้งหลาย เทวดานั้นครั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว จึงไหว้เราทำประทักษิณแล้ว
หายไป ณ ที่นั้นแล
ภิกษุมีความเคารพในศาสดา
มีความเคารพในธรรม
มีความเคารพอย่างแรงกล้าในสงฆ์
ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะ
มีความยำเกรง มีความเคารพ
เป็นผู้ไม่ควรเสื่อม ดำรงอยู่ใกล้นิพพานทีเดียว
ทุติยอปริหานสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค ๔. มหาโมคคัลลานสูตร
๔. มหาโมคคัลลานสูตร
ว่าด้วยพระมหาโมคคัลลานะ
[๓๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระโมคคัลลานะหลีกเร้นอยู่ใน
ที่สงัด เกิดความคิดคำนึงขึ้นในจิตว่า “เทวดาเหล่าไหนมีญาณอย่างนี้ว่า ‘เราเป็น
โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๑ในวันข้างหน้า”
สมัยนั้นแล ภิกษุชื่อว่าติสสะมรณภาพไม่นาน ได้บังเกิดในพรหมโลกชั้นหนึ่ง
ณ พรหมโลกชั้นนั้น เทวดาทั้งหลายก็รู้จักพรหมนั้นว่า “ติสสพรหมมีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมาก”
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้หายไปจากพระเชตวันมาปรากฏใน
พรหมโลกนั้น เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ติสสพรหมได้เห็น
ท่านพระมหาโมคคัลลานะมาแต่ไกลทีเดียว จึงได้กล่าวกับท่านพระโมคคัลลานะว่า
“ท่านพระโมคคัลลานะผู้ไม่มีทุกข์ ขอท่านจงมาเถิด ท่านมาดีแล้ว ท่านจัดลำดับใน
การมาในที่นี้นานจริงหนอ ขอนิมนต์นั่งเถิด นี้อาสนะที่ปูลาดไว้”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้แล้ว ฝ่ายติสสพรหม
ไหว้ท่านพระมหาโมคคัลลานะแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้
ถามติสสพรหมดังนี้ว่า
“ติสสพรหม เทวดาชั้นไหนหนอ มีญาณอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นโสดาบัน ไม่มีทาง
ตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
ติสสพรหมตอบว่า “ท่านพระโมคคัลลานะผู้ไม่มีทุกข์ เทวดาชั้นจาตุมหาราชมี
ญาณอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ
ในวันข้างหน้า”
ท่านพระโมคคัลลานะถามว่า “ติสสพรหม เทวดาชั้นจาตุมหาราชทั้งหมดเลย
หรือ ที่มีญาณอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จ
สัมโพธิในวันข้างหน้า”


เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ปัญจกนิบาต ข้อ ๑๗๙ หน้า ๓๐๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค ๔. มหาโมคคัลลานสูตร
ติสสพรหมตอบว่า “ท่านพระโมคคัลลานะผู้ไม่มีทุกข์ ไม่ใช่เทวดาชั้น
จาตุมหาราชทั้งหมดที่มีญาณอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่
นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’ ท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้ไม่มีทุกข์ เทวดา
ชั้นจาตุมหาราชเหล่าใด ไม่มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ไม่มีความ
เลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ไม่มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ไม่มี
ศีลที่พระอริยะใคร่ เทวดาชั้นจาตุมหาราชเหล่านั้นก็ไม่มีญาณอย่างนี้ว่า ‘เราเป็น
โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’ ท่านพระ
มหาโมคคัลลานะผู้ไม่มีทุกข์ ส่วนเทวดาชั้นจาตุมหาราชเหล่าใด มีความ เลื่อมใส
อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม มีความ
เลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ มีศีลที่พระอริยะใคร่ เทวดาชั้นจาตุมหาราช
เหล่านั้นจึงมีญาณอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอน
ที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
ท่านพระโมคคัลลานะถามว่า “ติสสพรหม เทวดาชั้นจาตุมหาราชเท่านั้นหรือ
ที่มีญาณอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จ
สัมโพธิในวันข้างหน้า’ หรือว่าแม้เทวดาชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ แม้เทวดาชั้นยามา ฯลฯ
แม้เทวดาชั้นดุสิต ฯลฯ แม้เทวดาชั้นนิมมานรดี ฯลฯ แม้เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
ก็มีญาณอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จ
สัมโพธิในวันข้างหน้า”
ติสสพรหมตอบว่า “ท่านพระโมคคัลลานะผู้ไม่มีทุกข์ เทวดาชั้นปรนิมมิตว-
สวัตดีมีญาณอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จ
สัมโพธิในวันข้างหน้า”
ท่านพระโมคคัลลานะถามว่า “ติสสพรหม เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีทั้งหมด
เลยหรือที่มีญาณอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะ
สำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
ติสสพรหมตอบว่า “ท่านพระโมคคัลลานะผู้ไม่มีทุกข์ ไม่ใช่เทวดาชั้น
ปรนิมมิตวสวัตดีทั้งหมดที่มีญาณอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ
มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’ ท่านพระโมคคัลลานะผู้ไม่มีทุกข์
เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีเหล่าใด ไม่มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค ๕. วิชชาภาคิยสูตร
ไม่มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ไม่มีความเลื่อมใสในอันไม่หวั่นไหวใน
พระสงฆ์ ไม่มีศีลที่พระอริยะใคร่เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีเหล่านั้นไม่มีญาณอย่าง
นี้ว่า ‘เราเป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวัน
ข้างหน้า’ ท่านพระโมคคัลลานะผู้ไม่มีทุกข์ ส่วนเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีเหล่าใด
มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม
มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ มีศีลที่พระอริยะใคร่ เทวดาชั้นปรนิม-
มิตวสวัตดีเหล่านั้นจึงมีญาณอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่
นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
ลำดับนั้น ท่านพระโมคคัลลานะชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของติสสพรหมแล้ว
หายไปจากพรหมโลกมาปรากฏ ณ พระเชตวัน เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออก
หรือคู้แขนเข้า
มหาโมคคัลลานสูตรที่ ๔ จบ
๕. วิชชาภาคิยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นส่วนแห่งวิชชา
[๓๕] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้ เป็นส่วนแห่งวิชชา
ธรรม๑ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อนิจจสัญญา
๒. อนิจเจ ทุกขสัญญา
๓. ทุกเข อนัตตสัญญา

เชิงอรรถ :
๑ อนิจจสัญญา หมายถึงสัญญาที่เกิดขึ้นในญาณที่พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
อนิจเจ ทุกขสัญญา หมายถึงสัญญาที่เกิดขึ้นในญาณที่พิจารณาเห็นความเป็นทุกข์ในความไม่เที่ยง
ทุกเข อนัตตสัญญา หมายถึงสัญญาที่เกิดขึ้นในญาณที่พิจารณาเห็นความเป็นอนัตตาในความเป็นทุกข์
ปหานสัญญา หมายถึงสัญญาที่เกิดขึ้นในญาณที่พิจารณาเห็นการละกิเลส
วิราคสัญญา หมายถึงสัญญาที่เกิดขึ้นในญาณที่พิจารณาเห็นวิราคะ (ความคลายกำหนัด)
นิโรธสัญญา หมายถึงสัญญาที่เกิดขึ้นในญาณที่พิจารณาเห็นนิโรธ (ความดับแห่งกิเลส) (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๓๕/
๑๑๖) และดู องฺ.สตฺตก. ๒๓/๔๘-๔๙/๔๐-๔๖, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๕๖/๑๒๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๘๓ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น