Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๕-๑ หน้า ๑ - ๖๕

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕-๑ สุตตันตปิฎกที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน



พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๑. สรณคมน์

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. สรณคมน์
ว่าด้วยการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ๑

ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ
ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒
ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒
ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒
ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓
ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓
ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓

สรณคมน์ จบ
เชิงอรรถ :
๑ สรณะ หมายถึงสิ่งที่ทำลาย ขจัดปัดเป่า บรรเทาทุกข์ ภัย และกิเลส การยึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
ก็เพื่อเป็นเครื่องช่วย ทำลาย ขจัดปัดเป่าทุกข์ ภัยและกิเลสต่าง ๆ ในจิตใจให้หมดสิ้น (ขุ.ขุ.อ. ๑/๖-๗)
อนึ่ง การเปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัย ถือเป็นการบรรพชาและอุปสมบทในสมัยต้นพุทธกาล เรียกว่า
ติสรณคมนูปสัมปทา (การอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์) (วิ.อ. ๓/๓๔/๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๒. ทสสิกขาบท
๒. ทสสิกขาบท
ว่าด้วยสิกขาบท๑ ๑๐ ประการ

๑. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่
เจ้าของมิได้ให้
๓. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากพฤติกรรมอันมิใช่
พรหมจรรย์๒
๔. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ
๕. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท๓ คือเจตนางดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุรา
และเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท


เชิงอรรถ :
๑ สิกขาบท แยกศัพท์อธิบายดังนี้ สิกขา + บท คำว่า สิกขา หมายถึงสิ่งที่จะต้องศึกษา ได้แก่ ศีล สมาธิ
และปัญญา คำว่า บท หมายถึงอุบายเครื่องบรรลุ (ปชฺชเต อเนนาติ ปทํ) หมายถึงพื้นฐาน(มูละ) หมายถึง
ที่อาศัย(นิสสยะ) และหมายถึงที่ตั้ง(ปติฏฐะ) ดุจในคำว่า “สีลํ นิสฺสาย สีเล ปติฏฺฐาย สตฺต โพชฺฌงฺเค
ภาเวนฺโต พหุลีกโรนฺโต” เป็นต้น (สํ.ม. ๑๙/๑๘๒/๕๘) ดังนั้น สิกขาบท จึงหมายถึงอุบายเครื่องบรรลุสิ่งที่
จะต้องศึกษา และหมายถึงพื้นฐาน ที่อาศัย หรือที่ตั้งแห่งสิ่งที่จะต้องศึกษา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา
คำว่า “สิกขาบท” มีความหมายเท่ากับคำว่า “เวรมณี” ดังบทวิเคราะห์ว่า “เวรมณี เอว สิกฺขาปทํ”
จึงมีพระบาลีว่า “เวรมณีสิกฺขาปทํ” แปลว่า สิกขาบทคือเจตนางดเว้น คำว่า “เจตนางดเว้น” หมายถึงการงด
(วิรัติ) การไม่ทำ(อกิริยา) การไม่ต้องอาบัติ(อนัชฌาบัติ) การไม่ล่วงละเมิดขอบเขต(เวลาอนติกกมะ)
รวมถึงการกำจัดกิเลสด้วยอริยมรรคที่เรียกว่า เสตุ (เสตุฆาตะ) (ดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๗๐๔/๔๔๗)
ในที่นี้หมายถึงศีล ๑๐ สำหรับสามเณร เป็นต้น (ขุ.ขุ.อ. ๒/๑๕-๑๗) และดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๑๐๕-๑๐๖/
๑๖๘-๑๖๙
๒ พฤติกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์ หมายถึงเจตนาที่จะเสพเมถุนธรรม(พฤติกรรมของคนคู่กัน) หรือเจตนาที่
แสดงออกทางกายโดยมุ่งหมายจะเสพเมถุนธรรม (ขุ.ขุ.อ. ๒/๑๗)
๓ อรรถกถาอธิบายว่า สุราและเมรัยเป็นของมึนเมา และมีสิ่งอื่นอีกที่เป็นของมึนเมา (ตทุภยเมว (สุราเมรยํ)
มทนียฏฺเฐน มชฺชํ, ยํ วา ปน�ฺ�มฺปิ กิ�ฺจิ มทนียํ) จึงอาจแปลตามนัยนี้ว่า ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท
คือ เจตนางดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย และของมึนเมาอันเป็นเหตุแห่งความประมาท (ขุ.ขุ.อ. ๒/๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๒. ทสสิกขาบท

๖. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการบริโภคอาหาร
ในเวลาวิกาล๑
๗. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง
บรรเลงดนตรี และดูการละเล่นอันเป็น
ข้าศึกต่อกุศล๒
๘. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการทัดทรงประดับ
ตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอมและ
เครื่องลูบไล้๓
๙. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการนอนบนที่นอน
สูงและที่นอนใหญ่
๑๐. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการรับทองและเงิน

ทสสิกขาบท จบ

เชิงอรรถ :
๑ เวลาวิกาล ในที่นี้หมายถึงเวลาที่เลยเที่ยงวันไป (ขุ.ขุ.อ. ๒/๒๗)
๒ คำว่า “นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสนา” ในสิกขาบทนี้ แปลได้ ๒ นัย คือ นัยที่ ๑ แปลว่า “การดูการละเล่นอัน
เป็นข้าศึกต่อกุศลคือการฟ้อนรำ ขับร้อง และบรรเลงดนตรี” (ดู ที.สี. (แปล) ๙/๑๓/๖ ประกอบ) นัยที่ ๒
แปลว่า “การฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี และการดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศล” ในที่นี้แปล
ตามนัยที่ ๒ คำว่า “ทัสสนา” มิได้จำกัดความหมายเพียงการดู การเห็นเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง
การฟัง การได้ยินด้วย คำว่า “ข้าศึกต่อกุศล” แปลจากคำว่า “วิสูกะ” หมายถึงเป็นเหตุทำลายกุศลธรรม
ให้อกุศลธรรมเกิดขึ้น และหมายถึงเป็นข้อประพฤติที่ไม่เหมาะสมต่อพระพุทธศาสนา
ในสิกขาบทนี้พึงทราบนัยเพิ่มเติมอีก ๒ นัย คือ (๑) จะจัดเป็นการล่วงละเมิดสิกขาบทได้ต่อเมื่อ
เข้าไปดูเพราะประสงค์จะเห็นเท่านั้น แต่ถ้าบังเอิญการละเล่นนั้นผ่านมาให้เห็นเองทางที่ตนยืน นั่ง หรือ
นอนอยู่ ไม่จัดเป็นการล่วงละเมิด จัดเป็นเพียงความเศร้าหมอง (๒) เพลงขับร้อง(คีตะ)ที่ประกอบด้วย
ธรรม ถือเป็นความเหมาะสม ไม่ห้าม แต่ธรรมที่ประกอบเป็นเพลงขับร้อง ถือเป็นความไม่เหมาะสม
(ขุ.ขุ.อ. ๒/๒๗-๒๘)
๓ ดู สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๐๖/๓๐๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๓. ทวัตติงสาการ
๓. ทวัตติงสาการ
ว่าด้วยอาการ ๓๒
ในร่างกายนี้มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต๑
หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม๒ ปอด
ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า
ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา
เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร๓ และมันสมอง
ทวัตติงสาการ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไต แปลจากคำว่า “วกฺก” (โบราณแปลว่า ม้าม) ได้แก่ ก้อนเนื้อ ๒ ก้อนมีขั้วเดียวกัน รูปร่างคล้ายลูก
สะบ้าของเด็กๆ หรือคล้ายผลมะม่วง ๒ ผลที่ติดอยู่ในขั้วเดียวกัน มีเอ็นใหญ่รึงรัดจากลำคอลงไปถึงหัวใจ
แล้วแยกออกห้อยอยู่ทั้ง ๒ ข้าง (ขุ.ขุ.อ. ๓/๔๓), พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕
ให้บท นิยามคำว่า “ไต” ว่า “อวัยวะคู่หนึ่งของคนและสัตว์ อยู่ในช่องท้องใกล้กระดูกสันหลัง ทำหน้าที่
ขับของเสียออกมากับน้ำปัสสาวะ”, Buddhadatta Mahathera, A. Concise Pali-English Dictionary,
1985, (224), และ Rhys Davids, T.W. Pali-English Dictionary, 1921-1925, (591) ให้ความหมาย
ของคำว่า “วกฺก” ตรงกันกับคำว่า “ไต” (Kidney)
๒ ม้าม แปลจากคำว่า “ปิหก” ตาม (ขุ.ขุ.อ. ๓/๔๕) (โบราณแปลว่า ไต), พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้บทนิยามไว้ว่า “อวัยวะภายในร่างกาย ริมกระเพาะอาหารข้างซ้ายมีหน้าที่ทำลายเม็ด
เลือดแดง สร้างเม็ดน้ำเหลืองและสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย”
๓ มูตร หมายถึงน้ำปัสสาวะที่อยู่ในกระเพาะปัสสาวะ (ขุ.ขุ.อ. ๓/๕๗, วิสุทฺธิ. ๑/๒๑๓/๒๘๘) และดู องฺ.ฉกฺก.
(แปล) ๒๒/๒๙/๔๖๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๔. สามเณรปัญหา
๔. สามเณรปัญหา
ว่าด้วยการถามปัญหากับโสปากสามเณร
๑. อะไรชื่อว่า หนึ่ง
ที่ชื่อว่า หนึ่ง ได้แก่ สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร๑
๒. อะไรชื่อว่า สอง
ที่ชื่อว่า สอง ได้แก่ นามและรูป
๓. อะไรชื่อว่า สาม
ที่ชื่อว่า สาม ได้แก่ เวทนา ๓๒
๔. อะไรชื่อว่า สี่
ที่ชื่อว่า สี่ ได้แก่ อริยสัจ ๔
๕. อะไรชื่อว่า ห้า
ที่ชื่อว่า ห้า ได้แก่ อุปาทานขันธ์ ๕๓
๖. อะไรชื่อว่า หก
ที่ชื่อว่า หก ได้แก่ อายตนะภายใน ๖๔
๗. อะไรชื่อว่า เจ็ด
ที่ชื่อว่า เจ็ด ได้แก่ โพชฌงค์ ๗

เชิงอรรถ :
๑ อาหาร หมายถึงปัจจัยที่เป็นเหตุให้สัตว์ดำรงชีพอยู่ได้ ได้แก่ อาหาร ๔ คือ (๑) กวฬิงการาหาร
(อาหารคือคำข้าว) (๒) ผัสสาหาร(อาหารคือผัสสะ) (๓) มโนสัญเจตนาหาร(อาหารคือมโนสัญเจตนา)
(๔) วิญญาณาหาร(อาหารคือวิญญาณ) ยกเว้นอสัญญีสัตตพรหม ซึ่งมีฌานเป็นอาหาร (ขุ.ขุ.อ. ๔/๖๕,
องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๗/๓๓๖) และดู ที.ปา. ๑๑/๓๐๓/๑๙๑,๓๑๑/๒๐๓, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๗/๖๒, ขุ.ป. (แปล)
๓๑/๒๐๘/๓๔๕, ม.มู. (แปล) ๑๒/๙๐/๘๔
๒ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๔, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๗๐/๓๐๓
๓ ดู สํ.ข. (แปล) ๑๗/๔๘/๖๖-๖๗, อภิ.วิ (แปล) ๓๕/๑/๑-๒
๔ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๒๓/๒๑๕, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๕๔-๑๖๗/๑๑๒-๑๑๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๕. มงคลสูตร
๘. อะไรชื่อว่า แปด
ที่ชื่อว่า แปด ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘
๙. อะไรชื่อว่า เก้า
ที่ชื่อว่า เก้า ได้แก่ สัตตาวาส ๙๑
๑๐. อะไรชื่อว่า สิบ
ที่ชื่อว่า สิบ ได้แก่ บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์คุณ ๑๐๒ เรียกว่า พระอรหันต์
สามเณรปัญหา จบ
๕. มงคลสูตร
ว่าด้วยมงคล
[๑] ข้าพเจ้า๓ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป๔ เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะ
งดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร๕ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๔๑/๒๓๒, ๓๕๙/๒๗๒
๒ องค์คุณ ๑๐ ได้แก่ (๑) สัมมาทิฏฐิ (๒) สัมมาสังกัปปะ (๓) สัมมาวาจา (๔) สัมมากัมมันตะ (๕) สัมมาอาชีวะ
(๖) สัมมาวายามะ (๗) สัมมาสติ (๘) สัมมาสมาธิ (๙) สัมมาญาณะ (๑๐) สัมมาวิมุตติ (ขุ.ขุ.อ. ๔/๗๗)
๓ ข้าพเจ้า ในตอนเริ่มต้นของพระสูตรนี้และพระสูตรอื่น ๆ ในเล่มนี้หมายถึง พระอานนท์
๔ ราตรีผ่านไป ในที่นี้หมายถึงปฐมยาม(ยามแรก) กำหนดเวลา ๔ ชั่วโมงตั้งแต่เวลา ๑๘ นาฬิกาถึง ๒๒
นาฬิกาแห่งราตรีที่ผ่านไป กำลังอยู่ในช่วงมัชฌิยาม(ยามกลาง) คือกำลังอยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่ ๒๒ นาฬิกา
ถึง ๒ นาฬิกาของวันใหม่ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๑-๒๒/๑๐๘, ขุ.ขุ.อ. ๕/๙๙)
๕ ที่สมควร (เอกมนฺตํ) ในที่นี้หมายถึงที่เหมาะสมเว้นโทษ ๖ ประการ คือ (๑) ไกลเกินไป (๒) ใกล้เกินไป
(๓) อยู่เหนือลม (๔) สูงเกินไป (๕) อยู่ตรงหน้าเกินไป (๖) อยู่ข้างหลังเกินไป (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๖/๓๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๕. มงคลสูตร
[๒] เทวดาและมนุษย์จำนวนมาก
ต่างมุ่งหวังความสวัสดี ร่วมกันคิดถึงเรื่องมงคล
ขอพระองค์ตรัสบอกมงคลอันสูงสุดด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบดังนี้)
[๓] (๑) การไม่คบคนพาล (๒) การคบแต่บัณฑิต
(๓) การบูชาคนที่ควรบูชา
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๔] (๔) การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
(๕) การได้สร้างบุญไว้ในปางก่อน (๖) การตั้งตนไว้ชอบ
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๕] (๗) ความเป็นพหูสูต (๘) ความเป็นผู้มีศิลปะ
(๙) วินัยที่ศึกษามาดี (๑๐) วาจาสุภาษิต
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๖] (๑๑) การบำรุงมารดาบิดา (๑๒) การสงเคราะห์บุตร
(๑๓) การสงเคราะห์ภรรยา (๑๔) การงานที่ไม่อากูล๑
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๗] (๑๕) การให้ทาน (๑๖) การประพฤติธรรม
(๑๗) การสงเคราะห์ญาติ (๑๘) การงานที่ไม่มีโทษ
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๘] (๑๙) การงดเว้นจากบาป (๒๐) การเว้นจากการดื่มน้ำเมา
(๒๑) ความไม่ประมาทในธรรม
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด

เชิงอรรถ :
๑ อากูล หมายถึงการงานที่ทำคั่งค้างไว้ ที่ทำไม่เหมาะสม และที่ทำย่อหย่อนไม่สมบูรณ์แบบ (ขุ.ขุ.อ. ๕/๑๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๕. มงคลสูตร
[๙] (๒๒) ความเคารพ (๒๓) ความถ่อมตน (๒๔) ความสันโดษ
(๒๕) ความกตัญญู (๒๖) การฟังธรรมตามกาล
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๑๐] (๒๗) ความอดทน๑ (๒๘) ความเป็นคนว่าง่าย
(๒๙) การพบเห็นสมณะ (๓๐) การสนทนาธรรมตามกาล
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๑๑] (๓๑) การเผาผลาญบาป (๓๒) การประพฤติพรหมจรรย์๒
(๓๓) การเห็นอริยสัจ (๓๔) การทำนิพพานให้แจ้ง
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๑๒] (๓๕) จิตของผู้ที่ถูกโลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว
(๓๖) จิตไม่เศร้าโศก (๓๗) จิตปราศจากธุลี (๓๘) จิตเกษม
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๑๓] เทวดาและมนุษย์ทำมงคลดังกล่าวมานี้แล้ว
ไม่พ่ายแพ้ข้าศึกทั้งปวง ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน
ทั้ง ๓๘ ประการนั้น เป็นมงคลอันสูงสุด
ของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น
มงคลสูตร จบ

เชิงอรรถ :
๑ ความอดทน ในที่นี้หมายถึงอธิวาสนขันติ (ขันติคือความอดกลั้น) ได้แก่ ความอดกลั้นต่อคำด่าต่าง ๆ
อดกลั้นต่อการถูกเบียดเบียน ตลอดถึงอดกลั้นต่อทุกขเวทนา เช่น ความหนาว ความร้อน เป็นต้น ยกตน
อยู่เหนือทุกข์ต่าง ๆ ดำรงตนอยู่ได้อย่างไม่หวั่นไหว (ขุ.ขุ.อ. ๕/๑๒๙)
๒ พรหมจรรย์ เป็นชื่อของ (๑) เมถุนวิรัติ (ดู ที.สี. (แปล) ๙/๘/๓, ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๙๒/๓๒๓)
(๒)สมณธรรม (ดู ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๕๗/๒๑๗) (๓)ศาสนา (ดู ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๖๘/๑๑๓) (๔)มรรค
(ดู สํ.ม. (แปล) ๑๙/๖/๙) (ขุ.ขุ.อ. ๕/๑๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๖. รตนสูตร
๖. รตนสูตร ๑
ว่าด้วยรตนะอันประณีต
(พระผู้มีพระภาคตรัสรตนสูตรดังนี้)
[๑] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น๒
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ๓ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ขอให้ภูตทั้งปวงจงเป็นผู้มีใจดี และจงฟังภาษิตโดยเคารพเถิด
[๒] เพราะฉะนั้นแล ภูตทั้งปวง ท่านจงใคร่ครวญ
จงแผ่เมตตาต่อหมู่มนุษย์ด้วยเถิด
มนุษย์เหล่าใดนำเครื่องเซ่นสรวงมาให้
ทั้งกลางวันและกลางคืน
เพราะเหตุนั้น ขอท่านทั้งหลายอย่าประมาท
จงรักษามนุษย์เหล่านั้น
[๓] ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ หรือรัตนชาติที่ประณีต๔ใด ๆ
ที่มีในโลกนี้ ในโลกอื่น หรือในสวรรค์
ทรัพย์หรือรัตนชาตินั้น ๆ ที่เสมอด้วยตถาคต ไม่มี
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี

เชิงอรรถ :
๑ ดู สุตตนิบาตข้อ ๒๒๔-๒๔๑ หน้า ๕๒๙ ในเล่มนี้
๒ คำว่า ภูต มีความหมายหลายนัย คือ นัยที่ ๑ มีความหมายเชิงกริยาว่า “มีแล้ว” (หรือ “เกิดแล้ว” ดู วิ.มหา.
(แปล) ๒/๑๕๓/๓๒๗) นัยที่ ๒ หมายถึงขันธ์ ๕ (ดู ม.มู. (แปล) ๑๒/๔๐๑/๔๓๒) นัยที่ ๓ หมายถึงธาตุ ๔
มีปฐวีธาตุ เป็นต้น (ดู ม.อุ. ๑๔/๘๖/๖๘) นัยที่ ๔ หมายถึงพระขีณาสพ (ดู ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๙๐/๑๑๖)
นัยที่ ๕ หมายถึง สรรพสัตว์ (ดู ที.ม. (แปล) ๑๐/๒๒๐/๑๖๗) นัยที่ ๖ หมายถึงรุกขชาติต่าง ๆ (ดู วิ.มหา.
(แปล) ๒/๙๐/๑๑๖) นัยที่ ๗ หมายถึงหมู่สัตว์นับแต่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ลงมา (ดู ม.มู. (แปล) ๑๒/๓/๕)
ในที่นี้หมายถึงอมนุษย์ที่มีศักดิ์น้อย หรืออมนุษย์ที่มีศักดิ์มาก และคำว่า ผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น หมายถึง
ภุมมเทวดาคือเทวดาที่บังเกิดบนพื้นดิน ต้นไม้ และภูเขา เป็นต้น (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๔๕)
๓ ผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ หมายถึงเทวดาที่บังเกิดในวิมานในอากาศตั้งแต่สวรรค์ชั้นยามาจนถึงพรหมโลก
ชั้นอกนิษฐา (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๔๕)
๔ ประณีต ในที่นี้หมายถึงสูงสุด ประเสริฐสุด (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๖. รตนสูตร
[๔] พระศากยมุนีผู้มีพระทัยตั้งมั่น
ทรงบรรลุธรรมใดอันเป็นที่สิ้นกิเลส
ปราศจากราคะ เป็นอมตธรรมอันประณีต
ไม่มีธรรมใด ๆ ที่เสมอด้วยธรรมนั้น
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๕] พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
ตรัสสรรเสริญสมาธิ๑ใดว่าเป็นธรรมสะอาด
ตรัสถึงสมาธิใดว่าให้ผลโดยลำดับ
สมาธิอื่น๒ที่เสมอด้วยสมาธินั้น ไม่มี
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๖] บุคคล ๑๐๘ จำพวก๓ที่สัตบุรุษสรรเสริญ
ซึ่งจัดเป็นบุคคล ๔ คู่ เป็นสาวกของพระสุคต

เชิงอรรถ :
๑ สมาธิ ในที่นี้หมายถึงอริยสัมมาสมาธิ (ม.อุ. ๑๔/๑๓๖/๑๒๑) ที่เรียกว่า อานันตริกสมาธิ (สมาธิที่ให้ผล
โดยลำดับ) เพราะเป็นสมาธิที่ให้ผลแน่นนอนตามลำดับ สามารถถอนกิเลสได้สิ้นเชิง (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๕๘)
๒ สมาธิอื่น หมายถึงรูปาวจรสมาธิและอรูปาวจรสมาธิ (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๕๙)
๓ บุคคล ๑๐๘ จำพวก ได้แก่ พระโสดาบัน ๓ จำพวก คือ (๑) เอกพีชี (๒) โกลังโกละ (๓) สัตตักขัตตุปรมะ
พระสกทาคามี ๓ จำพวก คือ (๑) ผู้บรรลุผลในกามภพ (๒) ผู้บรรลุผลในรูปภพ (๓) ผู้บรรลุผลในอรูปภพ
รวมพระโสดาบัน ๓ จำพวก และพระสกทาคามี ๓ จำพวก นับโดยปฏิปทา ๔ ประการ จึงได้บุคคล ๒๔
จำพวก (๖ x ๔ = ๒๔) รวมกับพระอนาคามี ๔ ชั้น คือ ชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา ชั้นสุทัสสา ชั้นสุทัสสี
อีกชั้นละ ๕ จำพวก (๔ x ๕ = ๒๐) และพระอนาคามีชั้นอกนิษฐคามีอีก ๔ จำพวก (๒๐ + ๔ = ๒๔) เป็น
บุคคล ๔๘ จำพวก (๒๔ + ๒๔ = ๔๘) รวมกับพระอรหันต์ ๒ จำพวก คือ (๑) สุขวิปัสสก (๒) สมถยานิก
เป็นบุคคล ๕๐ จำพวก (๔๘ + ๒ = ๕๐) รวมกับพระอริยบุคคลผู้ดำรงอยู่ในมรรคอีก ๔ จำพวก เป็น
บุคคล ๕๔ จำพวก (๕๐ + ๔ = ๕๔)
บุคคลเหล่านี้มี ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายสัทธาธุระ ๕๔ จำพวก และฝ่ายปัญญาธุระ ๕๔ จำพวก จึงเป็น
พระอริยบุคคล ๑๐๘ จำพวก (๕๔ + ๕๔ = ๑๐๘) (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๕๙-๑๖๐) นี้คือนัยโดยพิสดาร
ส่วนนัยโดยย่อ ได้แก่ บุคคล ๘ จำพวก คือ (๑) พระโสดาบัน (๒) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง
โสดาปัตติผล (๓) พระสกทาคามี (๔) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล (๕) พระอนาคามี
(๖) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล (๗) พระอรหันต์ (๘) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล
(ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๖. รตนสูตร
เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา
ทานที่เขาถวายในบุคคลเหล่านั้น มีผลมาก
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๗] บุคคลเหล่าใดในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า
เป็นผู้ประกอบตนไว้ดี มีใจมั่นคง หมดความห่วงใย
บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าบรรลุอรหัตตผล
หยั่งถึงอมตนิพพาน รับรสความดับสนิทแบบได้เปล่า๑
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๘] สัตบุรุษใดพิจารณาเห็นแจ้งอริยสัจ
เราเรียกสัตบุรุษนั้นว่า มีอุปมาเหมือนเสาเขื่อนที่ฝังลงดิน
อันไม่หวั่นไหวเพราะลมที่พัดมาจากทิศทั้งสี่
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๙] พระโสดาบันเหล่าใดรู้แจ้งอริยสัจ
ที่พระศาสดาผู้มีปัญญาลึกซึ้งแสดงแล้ว
ถึงแม้ว่าพระโสดาบันเหล่านั้นจะประมาทไปบ้าง

เชิงอรรถ :
๑ แบบได้เปล่า หมายถึงได้โดยไม่ต้องจ่ายแม้แต่กากณึกเดียว (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๑) กากณึก เป็นมาตราเงิน
อย่างต่ำที่สุด (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๖. รตนสูตร
ท่านเหล่านั้นก็จะไม่ถือกำเนิดในภพที่ ๘๑
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๑๐] พระโสดาบันนั้นละธรรม ๓ ประการ คือ
สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส
พร้อมกับการบรรลุโสดาปัตติมรรคได้แล้ว
แม้จะมีกิเลสบางอย่างเหลืออยู่๒
[๑๑] พระโสดาบันนั้นพ้นแล้วจากอบายทั้งสี่๓
และจะไม่ทำอภิฐาน ๖๔
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๑๒] ถึงแม้ว่า พระโสดาบันนั้นจะทำบาปกรรม๕
ทางกาย ทางวาจา หรือทางใจไปบ้าง
ท่านก็ไม่ปกปิดบาปกรรมนั้นไว้
เรากล่าวว่าผู้เห็นบท๖แล้ว ไม่อาจทำอย่างนั้นได้
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ถือกำเนิดในภพที่ ๘ หมายถึงไม่เกิดในภพที่ ๘ เพราะท่านเหล่านั้นละสังโยชน์ ๓ ประการ (สักกายทิฏฐิ
วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส) ได้แล้ว และจะเวียนเกิดเวียนตายในเทวโลกและมนุษยโลกอย่างมากไม่เกิน
๗ ครั้ง แล้วบรรลุอรหัตตผล เพราะนามรูปดับไปในภพที่ ๗ นั่นเอง (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๓-๑๖๔)
๒ อภิ.ก. ๓๗/๒๗๘/๑๐๓
๓ อบายทั้งสี่ หมายถึงภูมิที่ปราศจากความเจริญ มี ๔ คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรต และอสุรกาย
(ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๕)
๔ อภิฐาน ๖ หมายถึงฐานะอันหนัก ๖ ประการ ได้แก่ (๑) ฆ่ามารดา (๒) ฆ่าบิดา (๓) ฆ่าพระอรหันต์
(๔) ทำโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ (๕) ทำให้สงฆ์แตกกัน (๖) เข้ารีตศาสดาอื่น (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๖)
๕ บาปกรรม ในที่นี้หมายถึงการต้องอาบัติเบา เช่น ต้องอาบัติเพราะนอนร่วมกับสามเณรเป็นต้น มิได้
หมายถึงอาบัติหนัก (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๗) และดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๕๐/๒๓๘ ประกอบ
๖ บท ในที่นี้หมายถึงทางแห่งนิพพาน (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๖. รตนสูตร
[๑๓] พุ่มไม้งามในป่า ซึ่งมียอดออกดอกบานสะพรั่ง
ในต้นเดือนห้าแห่งคิมหันตฤดู งามอย่างยิ่ง ฉันใด
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ
ที่ให้ถึงนิพพาน เพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง ฉันนั้น
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๑๔] พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ทรงรู้ธรรมอันประเสริฐ
ทรงประทานธรรมอันประเสริฐ ทรงนำทางอันประเสริฐมาให้
ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าใคร ๆ ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐไว้
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๑๕] พระขีณาสพเหล่าใดสิ้นภพเก่าแล้ว ไม่มีการเกิดใหม่
ทั้งมีจิตเบื่อหน่ายในภพที่จะเกิดต่อไป
ท่านเหล่านั้นชื่อว่า มีพืช๑สิ้นแล้ว ไม่มีฉันทะงอกขึ้น เป็นปราชญ์
ย่อมดับสนิทเหมือนประทีปดวงนี้ดับไป
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
(ท้าวสักกะจอมเทพกราบทูลเป็นคาถา ดังนี้ )
[๑๖] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้

เชิงอรรถ :
๑ พืช ในที่นี้หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณ (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๗๑) และดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๗๗/๓๐๐ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๖. รตนสูตร
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระตถาคต๑พุทธเจ้า
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
[๑๗] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระธรรมของพระตถาคต
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
[๑๘] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระสงฆ์ของพระตถาคต
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
ถ้าเห็นว่าจะได้สุขอันยิ่งใหญ่
ด้วยการเสียสละสุขอันเล็กน้อย
นักปราชญ์พึงเสียสละสุขอันเล็กน้อย
เพื่อเห็นแก่สุขอันยิ่งใหญ่๒
รตนสูตร จบ

เชิงอรรถ :
๑ ตถาคต แปลว่า ไปอย่างนั้นหรือมาอย่างนั้น มีความหมายหลายนัย เช่น ไปหรือมาอย่างบุคคลผู้
ขวนขวายเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก ไปหรือมาด้วยการเพิกถอนกิเสสได้ด้วยกำลังแห่งสมถะและวิปัสสนา
ไปหรือมาด้วยการกำจัดทุกข์ทั้งปวงได้ ไปหรือมาด้วยการปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน ในที่นี้ใช้เป็น
คำแสดงคุณลักษณะของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าไปอย่างนั้นหรือมาอย่างนั้น (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๗๒)
๒ สุขอันยิ่งใหญ่ ในที่นี้หมายถึงความสุขอันโอฬารคือพระนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๘๗) ดู ขุ.ธ. แปลในเล่มนี้
ข้อ ๒๙๐ หน้า ๑๒๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๗. ติโรกุฑฑสูตร
๗. ติโรกุฑฑสูตร๑
ว่าด้วยเรื่องเปรตที่อยู่ภายนอกฝาเรือน๒
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้ เพื่ออนุโมทนาพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
ดังนี้)
[๑] พวกเปรตพากันมาสู่เรือนของตน๓
บ้างยืนอยู่ที่ฝาเรือนด้านนอก
บ้างยืนอยู่ที่ทางสี่แพร่ง สามแพร่ง
บ้างยืนพิงอยู่ที่บานประตู
[๒] เมื่อมีข้าวและน้ำดื่มมากมาย
เมื่อของเคี้ยวของกินถูกจัดเตรียมไว้แล้ว
ญาติสักคนก็ไม่นึกถึงเปรตเหล่านั้น
เพราะกรรมของสัตว์เหล่านั้นเป็นปัจจัย
[๓] เหล่าชนผู้อนุเคราะห์ ย่อมถวายอาหารและน้ำดื่ม
ที่สะอาดประณีต เหมาะแก่พระสงฆ์ตามกาล
อุทิศให้ญาติทั้งหลาย(ที่เกิดเป็นเปรต)อย่างนี้ว่า
ขอทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของเรา
ขอญาติทั้งหลาย จงเป็นสุขเถิด
[๔] ส่วนญาติที่เกิดเป็นเปรตเหล่านั้น
พากันมาประชุมพร้อมกัน ณ ที่ให้ทานนั้น
ย่อมอนุโมทนาในอาหารและน้ำดื่มเป็นอันมากโดยเคารพว่า
[๕] เพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใด พวกเราจึงได้สุขสมบัติเช่นนี้
ขอญาติเหล่านั้นของพวกเราจงมีอายุยืน
อนึ่ง การบูชา ญาติผู้เป็นทายกก็ได้ทำแก่พวกเราแล้ว
และทายกก็ไม่ไร้ผล

เชิงอรรถ :
๑ พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พระเจ้าพิมพิสาร ณ กรุงราชคฤห์ (ขุ.ขุ.อ. ๗/๑๗๗)
๒ ดูเทียบ ขุ.เปต. (แปล) ๒๖/๑๔-๒๕/๑๗๐-๑๗๒, อภิ.ก. ๓๗/๔๙๐/๒๙๕
๓ เรือนของตน หมายถึงเรือนญาติของตน หรือเรือนที่เคยอยู่ในปางก่อน (ขุ.ขุ.อ. ๗/๑๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๗. ติโรกุฑฑสูตร
[๖] ในเปตวิสัย๑นั้น ไม่มีกสิกรรม (การทำไร่ไถนา)
ไม่มีโครักขกรรม (การเลี้ยงวัวไว้ขาย)
ไม่มีพาณิชกรรม (การค้าขาย) เช่นนั้น
การแลกเปลี่ยนซื้อขายด้วยเงิน ก็ไม่มี
ผู้ที่ตายไปเกิดเป็นเปรตในเปตวิสัยนั้น
ดำรงชีพด้วยผลทานที่พวกญาติอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
[๗] น้ำฝนที่ตกลงมาในที่ดอนย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใด
ทานที่ทายกอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
ย่อมสำเร็จผลแน่นอนแก่พวกเปรต ฉันนั้นเหมือนกัน
[๘] ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้เต็มเปี่ยม ฉันใด
ทานที่ทายกอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
ย่อมสำเร็จแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน
[๙] กุลบุตรเมื่อระลึกถึงอุปการะ
ที่ญาติผู้ละไปแล้ว(เปรต)เคยทำไว้ในกาลก่อนว่า
‘ผู้นั้นได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ได้ทำสิ่งนี้แก่เรา
ได้เป็นญาติ มิตร และสหายของเรา’
ก็ควรถวายทักษิณาทานอุทิศให้แก่ญาติผู้ละไปแล้ว
[๑๐] การร้องไห้ ความเศร้าโศก
หรือความร่ำไห้คร่ำครวญอย่างอื่นใด
ใคร ๆ ไม่ควรทำเลย เพราะการร้องไห้ เป็นต้นนั้น
ไม่เป็นประโยชน์แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
ญาติทั้งหลายก็ยังคงสภาพอยู่อย่างนั้น

เชิงอรรถ :
๑ เปตวิสัย หมายถึงภูมิหรือกำเนิดแห่งเปรต (ขุ.ขุ.อ. ๗/๑๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๘. นิธิกัณฑสูตร
[๑๑] ส่วนทักษิณาทานนี้แล ที่ตั้งไว้ดีแล้วในพระสงฆ์
ย่อมสำเร็จประโยชน์เกื้อกูลสิ้นกาลนาน
แก่หมู่ญาติที่เกิดเป็นเปรตนั้น โดยพลันทีเดียว
[๑๒] ญาติธรรม๑นี้นั้น ท่านแสดงออกแล้ว
การบูชาญาติที่ตายไปเป็นเปรต ท่านทำอย่างยิ่งใหญ่แล้ว
ทั้งกำลังกายของภิกษุ ท่านก็เพิ่มให้แล้ว
เป็นอันว่าท่านสั่งสมบุญไว้มิใช่น้อยเลย
ติโรกุฑฑสูตร จบ
๘. นิธิกัณฑสูตร
ว่าด้วยการฝังขุมทรัพย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่กุฎุมพีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ดังนี้)
[๑] คนเราฝังขุมทรัพย์๒ไว้ในที่ลึกจดถึงน้ำก็ด้วยคิดว่า
เมื่อเกิดกิจที่จำเป็นขึ้น ขุมทรัพย์นี้จะเป็นประโยชน์แก่เรา
[๒] คนเราฝังขุมทรัพย์ไว้ในโลก ก็เพื่อจุดประสงค์นี้ คือ
เพื่อให้พ้นจากราชภัยที่คอยคุกคาม
เพื่อให้พ้นจากโจรภัยที่คอยเบียดเบียน
เพื่อเก็บไว้ใช้หนี้ก็มี เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามเกิดทุพภิกขภัย๓
หรือเพื่อใช้ในเวลามีภัยอันตรายต่าง ๆ

เชิงอรรถ :
๑ ญาติธรรม หมายถึงกิจคือการสงเคราะห์ต่อกันที่ญาติจะพึงกระทำต่อกัน (ขุ.ขุ.อ. ๗/๑๙๐)
๒ ขุมทรัพย์ มี ๔ ชนิด คือ (๑) ถาวระ คือขุมทรัพย์ถาวร เช่น ที่ดิน ที่นา ที่สวน เงินและทอง (๒) ชังคมะ
คือขุมทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ เช่น ทาสชาย ทาสหญิง ช้าง ม้า โค กระบือ แกะ ไก่ สุกร เป็นต้น (๓) อังคสมะ
คือขุมทรัพย์ติดตัว เช่น วิชาความรู้ ศิลปวิทยา เป็นต้น (๔) อนุคามิกะ คือขุมทรัพย์ตามตัวทางคุณธรรม
ได้แก่ บุญกุศล ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา เป็นต้น ในที่นี้หมายถึงขุมทรัพย์ถาวร (ขุ.ขุ.อ. ๘/๑๙๓)
๓ ทุพภิกขภัย หมายถึงภัยที่เกิดจากข้าวยากหมากแพง หรือการขาดแคลนอาหารในบ้านเมือง (ขุ.ขุ.อ.
๘/๑๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๘. นิธิกัณฑสูตร
[๓] ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้อย่างดีในที่ลึกจดน้ำถึงเพียงนั้น
จะสำเร็จประโยชน์แก่เขาไปทั้งหมด ตลอดเวลาก็หาไม่
[๔] เพราะบางทีขุมทรัพย์ก็เคลื่อนที่ไปก็มี
บางทีเขาลืมที่ฝังไว้ก็มี
บางทีพวกนาคเคลื่อนย้ายก็มี
บางทีพวกยักษ์นำขุมทรัพย์นั้นไปก็มี
[๕] หรือบางทีเมื่อเขาไม่เห็นทายาทผู้ไม่เป็นที่รักขโมยขุดเอาไปก็มี
เมื่อเขาสิ้นบุญ ขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ทั้งหมดนั้นก็พินาศหายไป
[๖] ขุมทรัพย์๑ที่ผู้ใดจะเป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม
ฝังไว้ดีแล้ว ด้วยทาน ศีล สัญญมะ และทมะ๒
[๗] ในพระเจดีย์ พระสงฆ์ บุคคล แขกที่มาหา
ในมารดา บิดา หรือพี่ชาย
[๘] ขุมทรัพย์นี้ชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว คนอื่นขนเอาไปไม่ได้
จะติดตามคนฝังตลอดไป
บรรดาทรัพย์สมบัติที่เขาจำต้องละไป
เขาพาไปได้เฉพาะขุมทรัพย์นี้เท่านั้น
[๙] ขุมทรัพย์นี้ไม่ทั่วไปแก่คนเหล่าอื่น ทั้งโจรก็ลักเอาไปไม่ได้
ผู้มีปัญญาควรทำแต่บุญที่จะเป็นขุมทรัพย์ติดตามตนตลอดไป
[๑๐] ขุมทรัพย์นี้ให้ผลอันน่าปรารถนาทุกประการ
แก่เทวดา และมนุษย์ คือเทวดาและมนุษย์ปรารถนาผลใด ๆ
ผลนั้น ๆ ทุกอย่าง จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้

เชิงอรรถ :
๑ ขุมทรัพย์ ในที่นี้หมายถึงขุมทรัพย์ชนิดอนุคามิกะ (ดูเชิงอรรถหน้า ๑๗ ประกอบ) (ขุ.ขุ.อ. ๘/๑๙๖)
๒ สัญญมะ หมายถึงการห้ามจิตมิให้ตกไปในอารมณ์ต่าง ๆ คำนี้เป็นชื่อของสมาธิและอินทรียสังวร ทมะ
หมายถึงการฝึกตน ได้แก่ การเข้าไประงับกิเลส คำนี้เป็นชื่อของปัญญา (ขุ.ขุ.อ. ๘/๑๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๘. นิธิกัณฑสูตร
[๑๑] ความมีผิวพรรณงดงาม ความมีเสียงไพเราะ
ความมีทรวดทรงสมส่วน ความมีรูปสวย
ความเป็นใหญ่ ความมีบริวาร ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๒] ความเป็นพระราชาในประเทศ ความเป็นอิสระ๑
ความสุขของความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอันน่าพอใจ
และแม้ความเป็นเทวราชของเทวดาในหมู่เทพ
ทั้งหมดก็จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๓] สมบัติของมนุษย์ก็ดี ความยินดีในเทวโลกก็ดี
สมบัติคือนิพพานก็ดี ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๔] บุคคลอาศัยมิตตสัมปทา๒
ประกอบความเพียรโดยแยบคาย
ก็จะเป็นผู้ชำนาญในวิชชาและวิมุตติ
ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๕] ปฏิสัมภิทา๓ วิโมกข์๔ สาวกบารมี๕
ปัจเจกโพธิ๖ และพุทธภูมิ๗
ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้

เชิงอรรถ :
๑ ความเป็นอิสระ หมายถึงความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๓)
๒ มิตตสัมปทา หมายถึงความเพรียบพร้อมด้วยมิตรที่มีคุณความดี เช่น พระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารี
ผู้ดำรงตนน่าเคารพ (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๕)
๓ ปฏิสัมภิทา หมายถึงปัญญาแตกฉานมี ๔ ประการ คือ (๑) อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ
(๒) ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม (๓) นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติคือภาษา
(๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
๔ วิโมกข์ หมายถึงวิโมกข์ ๘ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
๕ สาวกบารมี หมายถึงบารมีที่ให้สำเร็จเป็นพระสาวก (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
๖ ปัจเจกโพธิ หมายถึงบารมีที่ให้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ได้เอง (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
๗ พุทธภูมิ หมายถึงบารมีที่ให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๙. เมตตสูตร
[๑๖] บุญสัมปทา๑นี้มีประโยชน์มากอย่างนี้
เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้เป็นปราชญ์
จึงสรรเสริญภาวะแห่งบุญที่ทำไว้แล้ว
นิธิกัณฑสูตร จบ
๙. เมตตสูตร
ว่าด้วยการแผ่เมตตา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า ดังนี้)
[๑] ผู้ฉลาดในประโยชน์มุ่งหวังบรรลุสันตบท๒
ควรบำเพ็ญกรณียกิจ๓ควรเป็นผู้อาจหาญ ซื่อตรง
เคร่งครัด ว่าง่าย อ่อนโยน และไม่เย่อหยิ่ง
[๒] ควรเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย๔
มีความประพฤติเบา๕ มีอินทรีย์สงบ มีปัญญารักษาตน
ไม่คะนอง๖ ไม่ยึดติดในตระกูลทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ บุญสัมปทา หมายถึงความถึงพร้อมแห่งบุญ (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
๒ สันตบท หมายถึงนิพพาน (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๒)
๓ กรณียกิจ หมายถึงการศึกษาในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ตรงกันข้ามกับ อกรณียกิจ คือ สีลวิบัติ
ทิฏฐิวิบัติ อาจารวิบัติ อาชีววิบัติ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๒)
๔ มีกิจน้อย ในที่นี้หมายถึงไม่ขวนขวายการงานต่าง ๆ ที่จะทำให้จิตฟุ้งซ่าน ไม่พูดคุยเพ้อเจ้อ ไม่คลุกคลี
หมู่คณะ ปล่อยวางหน้าที่รับผิดชอบงานก่อสร้าง งานบริหารคณะสงฆ์ เป็นต้น มุ่งบำเพ็ญสมณธรรมเป็น
หลัก (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๖)
๕ มีความประพฤติเบา ในที่นี้หมายถึงมีเพียงบริขาร ๘ เช่น บาตร จีวร เป็นต้น ไม่สะสมสิ่งของมากให้เป็น
ภาระ เหมือนนกมีเพียงปีกบินไปฉะนั้น (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๖)
๖ ไม่คะนอง หมายถึงไม่คะนองกาย วาจา และใจ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๙. เมตตสูตร
[๓] อนึ่ง ไม่ควรประพฤติความเสียหายใด ๆ
ที่จะเป็นเหตุให้วิญญูชนเหล่าอื่นตำหนิเอาได้
(ควรแผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์อย่างนี้ว่า)
ขอสัตว์ทั้งปวงจงมีความสุข
มีความเกษม มีตนเป็นสุขเถิด
[๔] คือ เหล่าสัตว์ที่ยังเป็นผู้หวาดสะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง๑
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
เหล่าสัตว์ที่มีขนาดกายยาว ขนาดกายใหญ่ ขนาดกายปานกลาง
ขนาดกายเตี้ย ขนาดกายผอม หรือขนาดกายอ้วน
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[๕] เหล่าสัตว์ที่เคยเห็นก็ดี เหล่าสัตว์ที่ไม่เคยเห็นก็ดี
เหล่าสัตว์ที่อยู่ใกล้และอยู่ไกลก็ดี ภูตหรือสัมภเวสี๒ก็ดี
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[๖] ไม่ควรข่มเหง ไม่ควรดูหมิ่นกันและกันในทุกโอกาส
ไม่ควรปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน
เพราะความโกรธและความแค้น

เชิงอรรถ :
๑ หวาดสะดุ้ง หมายถึงมีตัณหาและความกลัวภัย มั่นคง หมายถึงบรรลุอรหัตตผล เพราะละตัณหาและ
ความกลัวภัยได้ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๐)
๒ ในที่นี้ ภูต หมายถึงพระอรหันตขีณาสพ สัมภเวสี หมายถึงพระเสขะและปุถุชนผู้ยังต้องแสวงหาที่เกิด
ต่อไป เพราะยังละภวสังโยชน์ไม่ได้
อีกนัยหนึ่ง ในกำเนิด ๔ สัตว์ที่เกิดในไข่และเกิดในครรภ์ ถ้ายังไม่เจาะเปลือกไข่หรือคลอดจากครรภ์
ออกมา ยังเรียกว่า สัมภเวสี ต่อเมื่อเจาะเปลือกไข่หรือคลอดออกมา เรียกว่า ภูต, พวกสังเสทชะ (เกิดที่
ชื้นแฉะ) และพวกโอปปาติกะ (เกิดผุดขึ้น) ในขณะจิตแรก ก็เรียกว่า สัมภเวสี ตั้งแต่ขณะจิตที่ ๒ เป็นต้นไป
เรียกว่า ภูต (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๙. เมตตสูตร
[๗] ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณไปยังสรรพสัตว์
ดุจมารดาเฝ้าถนอมบุตรคนเดียวด้วยชีวิต ฉะนั้น
[๘] อนึ่ง ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณ
กว้างขวาง ไม่มีเวร ไม่มีศัตรูไปยังสัตว์โลกทั่วทั้งหมด
ทั้งชั้นบน๑ ชั้นล่าง๒ และชั้นกลาง๓
[๙] ผู้แผ่เมตตาจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน
ควรตั้งสติ๔นี้ไว้ตลอดเวลาที่ยังไม่ง่วง
นักปราชญ์เรียกการอยู่ด้วยเมตตานี้ว่า พรหมวิหาร
[๑๐] อนึ่ง ผู้แผ่เมตตาที่ไม่ยึดถือทิฏฐิ๕
มีศีล ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ๖
กำจัดความยินดีในกามคุณได้แล้ว
ก็จะไม่เกิดในครรภ์อีกต่อไป
เมตตสูตร จบ
ขุททกปาฐะ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ชั้นบน หมายถึงอรูปภพ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๓)
๒ ชั้นล่าง หมายถึงกามภพ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๓)
๓ ชั้นกลาง หมายถึงรูปภพ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๓)
๔ สติ หมายถึงเมตตาฌานัสสติ คือสติที่ประกอบด้วยเมตตาฌาน (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๔)
๕ ทิฏฐิ หมายถึงทิฏฐิที่ว่า “กองแห่งสังขารล้วน ๆ จัดเป็นสัตว์ไม่ได้” (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๕) และดู สํ.ส. (แปล)
๑๕/๑๗๑/๒๒๘
๖ ทัสสนะ หมายถึงโสดาปัตติมัคคสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นพื้นฐานแห่งการบรรลุสกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค
อันเป็นเหตุให้ไปเกิดในชั้นสุทธาวาส แล้วบรรลุอรหัตตผลในที่นั้น ไม่กลับมาเกิดในครรภ์อีกต่อไป (ขุ.ขุ.อ.
๙/๒๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๑. ยมกวรรค ๑. จักขุปาลเถรวัตถุ
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ธรรมบท
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. ยมกวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่กัน
๑. จักขุปาลเถรวัตถุ
เรื่องพระจักขุบาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑] ธรรมทั้งหลาย๑ มีใจ๒เป็นหัวหน้า๓
มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ
ถ้าคนมีใจชั่ว ก็จะพูดชั่วหรือทำชั่วตามไปด้วย
เพราะความชั่วนั้น ทุกข์ย่อมติดตามเขาไป
เหมือนล้อหมุนตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนไป ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งหลาย มีความหมาย ๔ ประการ คือ (๑) คุณธรรม (๒) เทศนาธรรม (๓) ปริยัติธรรม
(๔) นิสสัตตธรรม (สภาวะที่มิใช่สัตว์) หรือนิชชีวธรรม (สภาวะที่มิใช่ชีวะ) ในที่นี้หมายถึงนิสสัตตธรรม
ได้แก่ อรูปขันธ์ ๓ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ (ขุ.ธ.อ. ๑/๒๐-๒๑) และดู ขุ.ชา. (แปล)
๒๗/๓๘๖/๕๓๗ ประกอบ
๒ ใจ หมายถึงจิต ๔ ระดับ คือ จิตระดับกามาวจรภูมิ จิตระดับรูปาวจรภูมิ จิตระดับอรูปาวจรภูมิ และ
จิตระดับโลกุตตรภูมิ แต่ในที่นี้หมายเอาจิตที่มีโทมนัสประกอบด้วยปฏิฆะ เดิมทีเดียว จิตนั้นเป็นภวังคจิต
คือเป็นจิตที่ผ่องใส(ปภัสสรจิต) แต่เมื่อถูกเจตสิกธรรมฝ่ายชั่วกล่าวคืออุปกิเสสธรรมจรมากระทบเข้า ก็กลาย
เป็นจิตเศร้าหมองที่เรียกว่า ใจชั่ว ซึ่งพร้อมที่จะแสดงพฤติกรรมออกมาทางกายและวาจา (ขุ.ธ.อ. ๑/๒๐)
๓ เป็นหัวหน้า หมายถึงเป็นหัวหน้าของเจตสิกธรรม กล่าวคือเป็นเหตุปัจจัยให้เจตสิกธรรมเกิดขึ้น (ขุ.ธ.อ. ๑/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๑. ยมกวรรค ๓. ติสสเถรวัตถุ
๒. มัฏฐกุณฑลีวัตถุ
เรื่องนายมัฏฐกุณฑลี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อทินนปุพพกพราหมณ์บิดาของนาย
มัฏฐกุณฑลี ดังนี้)
[๒] ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า
มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ
ถ้าคนมีใจดี ก็จะพูดดีหรือทำดีตามไปด้วย
เพราะความดีนั้น สุขย่อมติดตามเขาไป
เหมือนเงาติดตามตัวเขาไป ฉะนั้น๑
๓. ติสสเถรวัตถุ๒
เรื่องพระติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓] ชนเหล่าใด เข้าไปผูกเวรว่า
“คนนี้ได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา
ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป”
เวรของชนเหล่านั้น ย่อมไม่สงบระงับ

เชิงอรรถ :
๑ ความหมายของธรรมบทข้อที่ ๒ นี้มีนัยตรงกันข้ามกับธรรมบทข้อที่ ๑ ดูเทียบเชิงอรรถหน้า ๒๓ และดู
ขุ.ธ.อ. ๑/๓๒-๓๔ ประกอบ
๒ ธรรมบทข้อ ๓-๖ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๔๖๔/๓๕๔, ม.อุ. ๑๔/๒๓๗/๒๐๓-๒๐๔, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๑๓-
๑๑๕/๒๒๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๑. ยมกวรรค ๕. โกสัมพิกวัตถุ
[๔] ส่วนชนเหล่าใด ไม่เข้าไปผูกเวรว่า
“คนนี้ได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา
ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป”
เวรของชนหล่านั้น ย่อมสงบระงับ
๔. กาลียักขินีวัตถุ
เรื่องนางยักษ์ชื่อกาลี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางยักษ์ชื่อกาลีและหญิงคนหนึ่ง ดังนี้)
[๕] เพราะว่าในกาลไหน ๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้
ย่อมไม่สงบระงับด้วยเวร๑
แต่เวรทั้งหลายย่อมสงบระงับด้วยการไม่จองเวร๒
นี้เป็นธรรมเก่า๓
๕. โกสัมพิกวัตถุ
เรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีผู้ทะเลาะกัน ดังนี้)
[๖] ชนเหล่าอื่น๔ไม่รู้ชัดว่า “พวกเรากำลังย่อยยับอยู่ ณ ที่นี้”
ส่วนชนเหล่าใด๕ในหมู่นั้น รู้ชัด
ความมุ่งร้ายกันย่อมระงับ
เพราะการปฏิบัติของชนเหล่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ เวรนั้นนอกจากจะไม่สงบระงับแล้วยังกลับเพิ่มพูนเวรต่อกันให้มากขึ้น เปรียบเหมือนการใช้น้ำสกปรก
ชำระล้างสิ่งสกปรกก็ยิ่งเพิ่มพูนความสกปรกมากขึ้นฉะนั้น (ขุ.ธ.อ. ๑/๔๕)
๒ การไม่จองเวร หมายถึงธรรมคือขันติ(ความอดทน) เมตตา(ความรัก) โยนิโสมนิการ(การพิจารณาโดย
แยบคาย) และปัจจเวกขณะ(การพิจารณา) (ขุ.ธ.อ. ๑/๔๕)
๓ เป็นธรรมเก่า หมายถึงเป็นทางปฏิบัติเพื่อสงบระงับเวรที่ประพฤติสืบ ๆ กันมาของพระพุทธเจ้า พระ
ปัจเจกพุทธเจ้า และพระขีณาสพ (ขุ.ธ.อ. ๑/๔๕)
๔ ชนเหล่าอื่น หมายถึงคนที่สร้างความแตกแยกในหมู่ (ขุ.ธ.อ. ๑/๕๘)
๕ ชนเหล่าใด หมายถึงบัณฑิต (ขุ.ธ.อ. ๑/๕๘/)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๑. ยมกวรรค ๗. เทวทัตตวัตถุ
๖. มหากาลเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗] มาร๑ย่อมครอบงำบุคคลผู้พิจารณาเห็นความงาม๒
ไม่สำรวมอินทรีย์ ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน
เหมือนพายุพัดต้นไม้ที่ไม่มั่นคงให้หักโค่นลงได้ ฉะนั้น
[๘] มารย่อมไม่ครอบงำบุคคลผู้ไม่พิจารณาเห็นความงาม
สำรวมอินทรีย์ดีแล้ว รู้จักประมาณในการบริโภค
มีศรัทธา และปรารภความเพียร
เหมือนพายุพัดโค่นภูเขาศิลาไม่ได้ ฉะนั้น
๗. เทวทัตตวัตถุ
เรื่องพระเทวทัต
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระเทวทัตที่ได้ผ้ากาสาวะมีราคามากจากแคว้น
คันธาระ จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุชาวเมืองราชคฤห์ ดังนี้)
[๙] ผู้ใดยังมีกิเลสดุจน้ำฝาด๓
ปราศจากทมะและสัจจะ๔

เชิงอรรถ :
๑ มาร ในที่นี้หมายถึงกิเลสมาร (ขุ.ธ.อ. ๑/๖๖)
๒ พิจารณาเห็นความงาม ในที่นี้หมายถึงอยู่อย่างปล่อยใจไปในอิฏฐารมณ์ เช่น ยึดถือว่าเล็บงาม นิ้วงาม
เท้างาม เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๑/๖๕)
๓ กิเลสดุจน้ำฝาด หมายถึงกิเลสดุจน้ำย้อม ได้แก่ ราคะ (ความกำหนัด) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) โมหะ
(ความหลง) มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน) ปลาสะ (ความตีเสมอ) อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ความ
ตระหนี่) มายา (มารยา) สาเถยยะ (ความโอ้อวด) ถัมภะ (หัวดื้อ) สารัมภะ (แข่งดี) มานะ (ความถือตัว)
อติมานะ (ความดูหมิ่น) มทะ (ความัวเมา) ปมาทะ (ความประมาท) อกุศลทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง กรรมนำ
สัตว์ไปเกิดในภพทั้งปวง และกิเลสพันห้า (ขุ.ธ.อ. ๑/๗๑, ขุ.ชา.อ. ๓/๑๔๑/๑๙๙)
๔ ในที่นี้ ทมะ หมายถึงการฝึกอินทรีย์ สัจจะ หมายถึงวจีสัจจะ (ขุ.ธ.อ. ๑/๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๑. ยมกวรรค ๘. สัญชยวัตถุ
จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ
ผู้นั้นไม่ควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะเลย
[๑๐] ส่วนผู้ใดคายกิเลสดุจน้ำฝาด
ตั้งมั่นดีแล้วในศีล๑ ประกอบด้วยทมะและสัจจะ
ผู้นั้นแลควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะได้๒
๘. สัญชยวัตถุ
เรื่องสัญชัยปริพาชก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๑] ชนเหล่าใดเห็นสิ่งที่ไม่มีสาระ๓ว่ามีสาระ
และเห็นสิ่งที่มีสาระ๔ว่าไม่มีสาระ
ชนเหล่านั้น ชื่อว่ามีความดำริผิดเป็นทางปฏิบัติ
ย่อมไม่ประสบสิ่งที่มีสาระ๕
[๑๒] ส่วนชนเหล่าใดที่รู้สิ่งที่มีสาระว่ามีสาระ
และรู้สิ่งที่ไม่มีสาระว่าไม่มีสาระ
ชนเหล่านั้น ชื่อว่ามีความดำริชอบเป็นทางปฏิบัติ
ย่อมประสบสิ่งที่มีสาระ

เชิงอรรถ :
๑ ศีล ในที่นี้หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๑/๗๒)
๒ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๖๙-๙๗๐/๔๙๘, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๔๑-๑๔๒/๑๐๒, ๑๒๒-๑๒๓/๕๕๘
๓ สิ่งที่ไม่มีสาระ หมายถึงปัจจัย ๔ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ และธรรมเทศนาที่ส่งเสริมมิจฉาทิฏฐินั้น (ขุ.ธ.อ.
๑/๑๐๑)
๔ สิ่งที่มีสาระ หมายถึงสัมมาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ และธรรมเทศนาที่ส่งเสริมสัมมาทิฏฐินั้น (ขุ.ธ.อ. ๑/๑๐๑)
๕ สาระ ในที่นี้หมายถึงสีลสาระ สมาธิสาระ ปัญญาสาระ วิมุตติสาระ วิมุตติญาณทัสสนสาระ ปรมัตถสาระ
และนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๑/๑๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑. ยมกวรรค ๑๐. จูนทสูกริกวัตถุ
๙. นันทเถรวัตถุ
เรื่องพระนันทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๓] ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดีได้ ฉันใด
ราคะย่อมรั่วรดจิตที่ไม่ได้อบรม๑ได้ ฉันนั้น
[๑๔] ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ ฉันใด
ราคะย่อมรั่วรดจิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ ฉันนั้น๒
๑๐. จุนทสูกริกวัตถุ
เรื่องนายจุนทะฆ่าสุกร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๕] ผู้ทำบาปเป็นปกติ ย่อมเศร้าโศกในโลกนี้
ตายไปแล้วก็ยังเศร้าโศกในโลกหน้า
ชื่อว่าเศร้าโศกในโลกทั้งสอง
เขาย่อมเศร้าโศกเดือดร้อน เพราะเห็นกรรมที่เศร้าหมองของตน

เชิงอรรถ :
๑ จิตที่ไม่ได้อบรม หมายถึงจิตที่ไม่ได้อบรมด้วยสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ในคาถานี้หาใช่หมายเอา
เฉพาะราคะเท่านั้นไม่ที่รั่วรดจิต แต่ยังหมายเอากิเลสทั้งปวง มีโทสะ และโมหะ เป็นต้นด้วย (ขุ.ธ.อ.
๑/๑๐๙)
๒ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๓๓-๑๓๔/๓๕๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑. ยมกวรรค ๑๓. สุมนาเทวีวัตถุ
๑๑. ธัมมิกอุปาสกวัตถุ
เรื่องอุบาสกผู้ประพฤติธรรม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๖] ผู้ทำบุญไว้ ย่อมบันเทิงใจในโลกนี้
ตายไปแล้วก็ยังบันเทิงใจในโลกหน้า
ชื่อว่าบันเทิงใจในโลกทั้งสอง
เขาย่อมบันเทิงรื่นเริงใจเพราะเห็นกรรมที่บริสุทธิ์ของตน
๑๒. เทวทัตตวัตถุ
เรื่องพระเทวทัต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๗] ผู้ทำบาปเป็นปกติ ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้
ตายไปแล้วก็ยังเดือดร้อนในโลกหน้า
ชื่อว่าเดือดร้อนในโลกทั้งสอง
เขาย่อมเดือดร้อนใจว่า “เราได้ทำบาปไว้แล้ว”
ครั้นไปสู่ทุคติ เขายิ่งเดือดร้อนมากขึ้น
๑๓. สุมนาเทวีวัตถุ
เรื่องนางสุมนาเทวี
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภนางสุมนาเทวีธิดาคนเล็กของเศรษฐีซึ่งเสียชีวิตจึง
ตรัสพระคาถานี้แก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี ดังนี้)
[๑๘] ผู้ทำบุญไว้ ย่อมเพลิดเพลินใจในโลกนี้
ตายไปแล้วก็ยังเพลิดเพลินใจในโลกหน้า
ชื่อว่าเพลิดเพลินใจในโลกทั้งสอง
เขาย่อมเพลิดเพลินใจว่า “เราได้ทำบุญไว้แล้ว”
ครั้นไปสู่สุคติ เขายิ่งเพลิดเพลินใจมากขึ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑. ยมกววค ๑๔. เทวสหายกภิกขุวัตถุ
๑๔. เทวสหายกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุสองสหาย
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๙] คนที่กล่าวพุทธพจน์๑แม้มาก
แต่มัวประมาท ไม่ทำตามพุทธพจน์นั้น
ย่อมไม่ได้รับผลแห่งความเป็นสมณะ๒
เหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโคได้แต่นับโคให้คนอื่น ฉะนั้น
[๒๐] คนที่กล่าวพุทธพจน์แม้น้อย
แต่ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นปกติ๓
ละราคะ โทสะ และโมหะได้แล้ว
รู้ชอบ มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว
ไม่ยึดติดในโลกนี้และโลกหน้า๔
เขาย่อมได้รับผลแห่งความเป็นสมณะ
ยมกวรรคที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ พุทธพจน์ ในที่นี้หมายถึงพระไตรปิฎก (ขุ.ธ.อ. ๑/๑๔๐)
๒ ผลแห่งความเป็นสมณะ หมายถึงมรรค ๔ ผล ๔ (ขุ.ธ.อ. ๑/๑๔๐)
๓ ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ในที่นี้หมายถึงประพฤติธรรม คือ ปาริสุทธิศีล ๔ ประการ ธุดงค์ ๑๓ ประการ
และอสุภกัมมัฏฐาน เป็นต้น ซึ่งเป็นธรรมที่ควรแก่การบรรลุโลกุตตรธรรม ๙ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๑/๑๔๑)
๔ ไม่ยึดติดในโลกนี้และโลกหน้า ในที่นี้หมายถึงไม่ถือมั่นขันธ์ ธาตุ และอายตนะทั้งภายในภายนอก ในโลก
นี้และโลกหน้าด้วยอุปาทาน ๔ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๑/๑๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒. อัปปมาทวรรค ๑. สามาวตีวัตถุ
๒. อัปปมาทวรรค
หมวดว่าด้วยความไม่ประมาท
๑. สามาวตีวัตถุ
เรื่องพระนางสามาวดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๑] ความไม่ประมาท๑ เป็นทางแห่งอมตะ๒
ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย
คนผู้ไม่ประมาทชื่อว่าย่อมไม่ตาย
คนผู้ประมาทจึงเหมือนคนตายแล้ว๓
[๒๒] บัณฑิตทราบความต่างกัน
ระหว่างความไม่ประมาทกับความประมาทนั้น
แล้วตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
ย่อมบันเทิงใจในความไม่ประมาท
ยินดีในทางปฏิบัติของพระอริยะทั้งหลาย๔
[๒๓] บัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์เหล่านั้น เพ่งพินิจ๕
มีความเพียรต่อเนื่อง มีความบากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์
ย่อมบรรลุนิพพานอันเป็นสภาวะยอดเยี่ยม ปลอดจากโยคะ๖

เชิงอรรถ :
๑ ความไม่ประมาท นี้เป็นชื่อของสติ (ขุ.ธ.อ. ๒/๖๐)
๒ ทางแห่งอมตะ หมายถึงอุบายบรรลุอมตะ คำว่า อมตะ (ไม่ตาย) หมายถึงนิพพาน นิพพานนั้นแล ที่ชื่อว่า
ไม่แก่ ไม่ตาย เพราะไม่เกิด (ขุ.ธ.อ. ๒/๖๐)
๓ ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๓๓๒/๕๘๘
๔ ทางปฏิบัติของพระอริยะ หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น และโลกุตตร-
ธรรม ๙ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๒/๖๑)
๕ เพ่งพินิจ หมายถึงการเพ่งพินิจด้วยจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่มี ๒ อย่าง คือ อารัมมณูปนิชฌาน (การเพ่ง
อารมณ์ ได้แก่สมาบัติ ๘) และลักขณูปนิชฌาน (การเพ่งลักษณะ ได้แก่ วิปัสสนา มรรค และผล) (ขุ.ธ.อ.
๒/๖๑-๖๕)
๖ โยคะ หมายถึงสภาวะอันประกอบสัตว์ไว้ในภพมี ๔ ประการ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.ธ.อ.
๒/๖๒, ขุ.ธ.อ. ๘/๙๓,๑๐๙, ขุ.อุ.อ. ๑๙/๑๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒. อัปปมาทวรรค ๔. พาลนักขัตตวัตถุ
๒. กุมภโฆสกวัตถุ
เรื่องนายกุมภโฆสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าพิมพิสารและนายกุมภโฆสก ดังนี้)
[๒๔] ยศ๑ ย่อมเจริญแก่บุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียร
มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญก่อนทำ
สำรวม ดำรงชีวิตโดยธรรม และไม่ประมาท
๓. จูฬปันถกวัตถุ
เรื่องพระจูฬปันถก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๕] คนมีปัญญาพึงทำที่พึ่งดุจเกาะที่น้ำท่วมไม่ถึง๒
ด้วยความขยัน ด้วยความไม่ประมาท
ด้วยการสำรวม และด้วยการฝึกฝน
๔. พาลนักขัตตวัตถุ
เรื่องนักษัตรของคนพาล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๖] คนพาลมีปัญญาทราม ประกอบความประมาทอยู่เสมอ
ส่วนบัณฑิตผู้มีปัญญา รักษาความไม่ประมาทไว้
เหมือนคนรักษาทรัพย์อันประเสริฐ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ยศ หมายถึงความเป็นใหญ่ ความมีโภคสมบัติ ความนับถือ ความมีเกียรติ และการสรรเสริญ (ขุ.ธ.อ. ๒/๖๙)
๒ ที่พึ่งดุจเกาะที่น้ำท่วมไม่ถึง หมายถึงอรหัตตผล ที่น้ำ คือ โอฆะ ๔ (กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา) ท่วมไม่ถึง
(ขุ.ธ.อ. ๒/๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒. อัปปมาทวรรค ๖. เทวสหายกภิกขุวัตถุ
[๒๗] ท่านทั้งหลาย อย่าประกอบความประมาท
อย่าประกอบความเชยชมยินดีในกามเลย
เพราะผู้ไม่ประมาทแล้ว เพ่งพินิจอยู่
ย่อมได้รับความสุขอันไพบูลย์๑
๕. มหากัสสปเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถา ดังนี้)
[๒๘] เมื่อใด บัณฑิตบรรเทาความประมาท ด้วยความไม่ประมาท
ขึ้นสู่ปัญญาดุจปราสาท๒ ไม่เศร้าโศก
พิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้มีความเศร้าโศก
เมื่อนั้น บัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ ย่อมเห็นคนพาลได้
เหมือนคนที่ยืนอยู่บนภูเขาเห็นคนที่ภาคพื้นได้ ฉะนั้น
๖. เทวสหายกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุสองสหาย
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๒ รูป ดังนี้)
[๒๙] ผู้มีปัญญาดี๓ เป็นผู้ไม่ประมาท ในเมื่อผู้อื่นประมาท
เป็นผู้ตื่นอยู่โดยมาก๔ ในเมื่อผู้อื่นหลับ
ย่อมละทิ้งคนมีปัญญาทรามไปไกล
เหมือนม้าฝีเท้าจัดวิ่งละทิ้งม้าที่หมดแรงไว้ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ความสุขอันไพบูลย์ หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๒/๘๕) และดู ๒ คาถานี้เทียบใน สํ.ส. (แปล) ๑๕/๓๖/๔๘
๒ ปัญญาดุจปราสาท ในที่นี้หมายถึงทิพพจักขุญาณอันบริสุทธิ์ (ขุ.ธ.อ. ๒/๘๗)
๓ ผู้มีปัญญาดี ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพผู้มีสติไพบูลย์ (ขุ.ธ.อ. ๒/๘๙)
๔ ตื่นอยู่โดยมาก หมายถึงมีสติเต็มที่ (ขุ.ธ.อ. ๒/๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒. อัปปมาทวรรค ๙. นิคมวาสีติสสเถรวัตถุ
๗. มฆวัตถุ
เรื่องท้าวมัฆวาน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เจ้าลิจฉวีนามว่า มหาลิ ดังนี้)
[๓๐] ท้าวมัฆวานประเสริฐสุดในหมู่เทวดาเพราะความไม่ประมาท
บัณฑิตทั้งหลาย สรรเสริญความไม่ประมาท
และติเตียนความประมาททุกเมื่อ
๘. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[๓๑] ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท
หรือเห็นภัยในความประมาท
เผาสังโยชน์๑น้อยใหญ่ได้หมด
เหมือนไฟเผาเชื้อน้อยใหญ่ให้หมดไป ฉะนั้น
๙. นิคมวาสีติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้อยู่ในนิคม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระผู้อยู่ในนิคม ดังนี้)
[๓๒] ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท
หรือมีปกติเห็นภัยในความประมาท
เป็นผู้ไม่เสื่อม๒ ชื่อว่าอยู่ใกล้นิพพานแน่แท้
อัปปมาทวรรคที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สังโยชน์ หมายถึงกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์มี ๑๐ อย่าง คือ (๑) สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นอัตตาของตน
(๒) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย (๓) สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต (๔) กามราคะ ความกำหนัดในกาม
(๕) ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ (๖) รูปราคะ ความกำหนัดในรูป (๗) อรูปราคะ ความกำหนัดในอรูป
(๘) มานะ ความถือตัว (๙) อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน (๑๐) อวิชชา ความไม่รู้ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๐๖, ขุ.อิติ.อ. ๓๔/๑๒๑)
๒ ไม่เสื่อม หมายถึงไม่เสื่อมจากสมถและวิปัสสนา มรรคและผลที่ได้บรรลุแล้ว และทั้งยังจะได้บรรลุมรรค
ผลที่ยังไม่ได้บรรลุ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๐๙ องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๓๗/๓๖๗) และดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๓๗/๖๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๓. จิตตวรรค ๑. เมฆิยเถรวัตถุ
๓. จิตตวรรค
หมวดว่าด้วยการฝึกจิต
๑. เมฆิยเถรวัตถุ
เรื่องพระเมฆิยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเมฆิยเถระ ดังนี้)
[๓๓] จิตที่ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก๑
ผู้มีปัญญาสามารถควบคุมให้ตรงได้
เหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรง ฉะนั้น
[๓๔] จิตนี้ย่อมดิ้นรนไปมา๒
เหมือนปลาที่ถูกยกขึ้นจากน้ำโยนไปบนบก ฉะนั้น
ดังนั้น ผู้มีปัญญาจึงควรละบ่วงแห่งมาร๓

เชิงอรรถ :
๑ ดิ้นรน หมายถึงดิ้นรนไปในอารมณ์ทั้ง ๖ มี รูปารมณ์ เป็นต้น
กวัดแกว่ง หมายถึงหวั่นไหว ไม่อาจจะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวได้นาน ดุจทารกไม่อาจทรงตัวอยู่ใน
อิริยาบถเดียวได้นาน ฉะนั้น
รักษายาก หมายถึงให้ดำรงอยู่ในอารมณ์ธรรมที่เป็นสัปปายะได้ยาก
ห้ามยาก หมายถึงห้ามหรือกันมิให้ซ่านไปในวิสภาคารมณ์ได้ยาก (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๑๒)
๒ ดิ้นรนไปมา หมายถึงยินดีในกามคุณ ๕ เมื่อถูกพรากจากกามคุณ ๕ ให้หยุดนิ่งอยู่ในวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ก็จะดิ้นรนไปมา ไม่อาจจะตั้งมั่นอยู่ได้ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๑๒)
๓ บ่วงแห่งมาร ในที่นี้หมายถึงกิเลสวัฏ(วงจรกิเลส) ประกอบด้วยอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน (ขุ.ธ.อ.
๒/๑๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๓. จิตตวรรค ๓. อุกกัณฐิตภิกขุวัตถุ
๒. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[๓๕] การฝึก๑จิตที่ควบคุมได้ยาก เปลี่ยนแปลงง่าย๒
ชอบใฝ่หาแต่อารมณ์ที่ปรารถนา จัดว่าเป็นความดี
เพราะจิตที่ฝึกแล้วย่อมนำสุขมาให้๓
๓. อุกกัณฐิตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้กระสันจะสึก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่งผู้กระสันจะสึก ดังนี้)
[๓๖] ผู้มีปัญญาควรรักษาจิต
ที่เห็นได้ยากยิ่ง ละเอียดยิ่ง
ชอบใฝ่หาแต่อารมณ์ที่ปรารถนา
เพราะจิตที่คุ้มครองแล้วย่อมนำสุขมาให้

เชิงอรรถ :
๑ การฝึก ในที่นี้หมายถึงการฝึกด้วยอริยมรรค ๔ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค
และอรหัตตมรรค (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๑๘)
๒ เปลี่ยนแปลงง่าย หมายถึงเกิดดับเร็ว (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๑๘)
๓ สุข ในที่นี้หมายถึงสุขที่เกิดจากอริยมรรค อริยผล และสุขที่เกิดจากการบรรลุนิพพานอันเป็นประโยชน์
สูงสุด (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๓. จิตตวรรค ๕. จิตตหัตถเถรวัตถุ
๔. สังฆรักขิตเถรวัตถุ
เรื่องพระสังฆรักขิตเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระสังฆรักขิตเถระ ดังนี้)
[๓๗] คนเหล่าใดสำรวมจิต
ที่เที่ยวไปไกล๑ เที่ยวไปดวงเดียว๒
ไม่มีรูปร่าง๓ อาศัยอยู่ในถ้ำ๔
คนเหล่านั้นจักพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร๕
๕. จิตตหัตถเถรวัตถุ
เรื่องพระจิตตหัตถเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๘] ผู้มีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้แจ้งสัทธรรม
มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย
ย่อมไม่มีปัญญาสมบูรณ์
[๓๙] ผู้มีจิตไม่ชุ่มด้วยราคะ ไม่ขุ่นมัวด้วยโทสะ
ละบุญและบาปได้แล้ว มีสติตื่นอยู่
ย่อมไม่มีภัย๖

เชิงอรรถ :
๑ เที่ยวไปไกล หมายถึงรับอารมณ์ที่อยู่ไกลได้ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๒๖)
๒ เที่ยวไปดวงเดียว หมายถึงเกิดขึ้นทีละดวง ๆ ดวงหนึ่งดับ ดวงหนึ่งจึงเกิดขึ้น จะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน
(ขุ.ธ.อ. ๒/๑๒๖)
๓ ไม่มีรูปร่าง หมายถึงไม่มีสัณฐาน ไม่มีสี เป็นต้น (ขุ.ธ.อ.๒/๑๒๖)
๔ อาศัยอยู่ในถ้ำ หมายถึงอาศัยอยู่ในมหาภูตรูป ๔ และหทัยรูป (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๒๖)
๕ เครื่องผูกแห่งมาร หมายถึงวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ) (ขุ.ธ.อ.
๒/๑๒๖)
๖ไม่มีภัย ในที่นี้หมายถึงไม่มีภัยคือกิเลส คาถานี้ ตรัสถึงคุณสมบัติของพระขีณาสพ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๓. จิตตวรรค ๗. ปูติคัตตติสสเถรวัตถุ
๖. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๔๐] ภิกษุรู้ว่า ร่างกายนี้เปรียบเหมือนหม้อดิน
ควรป้องกันจิตนี้ เหมือนป้องกันพระนคร
แล้วใช้อาวุธคือปัญญารบกับมาร๑
และควรรักษาชัยชนะไว้ แต่ไม่ควรยินดียึดติด๒
๗. ปูติคัตตติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้มีร่างกายเน่าเปื่อย
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระผู้มีร่างกายเน่าเปื่อย ดังนี้)
[๔๑] อีกไม่นานนัก ร่างกายนี้ก็จักปราศจากวิญญาณ
ถูกทอดทิ้งทับถมแผ่นดิน
เหมือนท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ มาร ในที่นี้หมายถึงกิเลสมาร (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๓๗)
๒ ควรรักษาชัยชนะไว้ แต่ไม่ควรยินดียึดติด หมายถึงเมื่อภิกษุบรรลุสมาบัติได้วิปัสสนาอ่อน ๆ ชนะ
กิเลสได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ควรยึดติดอยู่เพียงสมาบัตินั้น ควรพิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยจิตที่ผ่องใสแล้ว
รักษาระดับจิตนั้นไว้ได้ ในที่สุด จะสามารถบรรลุมรรคผลอันสูงสุด ชนะกิเลสมารได้อย่างสิ้นเชิง (ขุ.ธ.อ.
๒/๑๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๓. จิตตวรรค ๙. โสเรยยวัตถุ
๘. นันทโคปาลกวัตถุ
เรื่องนายนันทะผู้เลี้ยงโค
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๒] จิตที่ตั้งไว้ผิด๑พึงทำให้ได้รับความเสียหาย
ยิ่งกว่าความเสียหายที่โจรเห็นโจร๒
หรือผู้จองเวรเห็นผู้จองเวร จะพึงทำให้แก่กัน
๙. โสเรยยวัตถุ
เรื่องพระโสเรยยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๓] จิตที่ตั้งไว้ชอบ๓ ย่อมอำนวยให้ได้ผลที่ประเสริฐยิ่ง
ที่มารดาบิดาก็ทำให้ไม่ได้
หรือแม้ญาติเหล่าอื่นก็ให้ไม่ได้
จิตตวรรคที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ จิตที่ตั้งไว้ผิด หมายถึงจิตที่ตั้งไว้ผิดในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ทำให้ถึงความพินาศฉิบหายในโลกนี้
และตกไปในอบายภูมิ ๔ ถึง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๔๓)
๒ โจรเห็นโจร หมายถึงโจรเห็นโจรที่เป็นคู่อาฆาตกันแล้วจะต้องฆ่ากัน หรือเบียดเบียนให้ได้รับความเสียหาย
(ขุ.ธ.อ. ๒/๑๔๓)
๓ จิตที่ตั้งไว้ชอบ หมายถึงจิตที่มุ่งมั่นประพฤติตามกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๔. ปุปผวรรค ๑. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
๔. ปุปผวรรค
หมวดว่าด้วยดอกไม้
๑. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๔๔] ใครจักรู้แจ้งแผ่นดินนี้๑ ยมโลก๒
และมนุษยโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก
ใครจักเลือกบทธรรม๓ที่ตถาคตแสดงไว้ดีแล้ว
เหมือนช่างดอกไม้ผู้ชาญฉลาดเลือกเก็บดอกไม้ ฉะนั้น
[๔๕] พระเสขะ๔จักรู้แจ้งแผ่นดินนี้ ยมโลก
และมนุษยโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก
พระเสขะจักเลือกบทธรรมที่ตถาคตแสดงไว้ดีแล้ว
เหมือนช่างดอกไม้ผู้ชาญฉลาดเลือกเก็บดอกไม้ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ แผ่นดิน ในที่นี้หมายถึงอัตภาพ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑/๒)
๒ ยมโลก หมายถึงอบายภูมิ ๔ (ขุ.ธ.อ. ๓/๒)
๓ บทธรรม หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๓/๒)
๔ พระเสขะ หมายถึงพระอริยบุคคล ๗ จำพวก มีพระโสดาบัน เป็นต้น ผู้ศึกษาตามไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ
และปัญญา (ขุ.ธ.อ. ๓/๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๔. ปุปผวรรค ๓. วิฑูฑภวัตถุ
๒. มรีจิกัมมัฏฐานิกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เจริญมรีจิกัมมัฏฐาน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เจริญกัมมัฏฐานมีพยับแดดเป็นอารมณ์
ดังนี้)
[๔๖] ภิกษุผู้รู้แจ้งว่า ร่างกายนี้เปรียบเหมือนฟองน้ำ
รู้ชัดว่า ร่างกายนี้มีลักษณะดุจพยับแดด๑
ตัดพวงดอกไม้ของมาร๒ได้แล้ว
ก็จะไปถึงสถานที่ที่มัจจุราชหาไม่พบ๓
๓. วิฑูฑภวัตถุ
เรื่องเจ้าชายวิฑูฑภะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๗] มฤตยู๔ ย่อมฉุดคร่านรชนผู้มีใจติดข้องอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ
ผู้มัวแต่เลือกเก็บดอกไม้๕อยู่
เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดพาเอาชาวบ้านที่หลับไหลไป ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ชื่อว่า เหมือนฟองน้ำ เพราะจะดำรงอยู่ได้ไม่นาน
ชื่อว่า ดุจพยับแดด เพราะปรากฏในที่ไกลเหมือนเป็นรูปที่จะยึดถือจับต้องได้ แต่พอเข้าใกล้กลับว่างเปล่า
ยึดถือจับต้องไม่ได้เลย ดำรงอยู่ได้ชั่วกาลนิดหน่อย (ขุ.ธ.อ. ๓/๔)
๒ ตัดพวงดอกไม้ของมาร หมายถึงตัดวัฏฏะในภูมิ ๓ (กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ) ได้ด้วยอริยมรรค (ขุ.ธ.อ. ๓/๔)
๓ สถานที่มัจจุราชหาไม่พบ หมายถึงอมตนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๓/๔)
๔ มฤตยู หมายถึงความตาย (ขุ.ธ.อ. ๓/๒๕)
๕ ดอกไม้ ในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๓/๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๔. ปุปผวรรค ๖. ปาฏิกาชีวกวัตถุ
๔. ปติปูชิกาวัตถุ
เรื่องนางปติปูชิกา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๘] มฤตยูย่อมทำคนที่มีใจติดข้องอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ
ผู้มัวแต่เลือกเก็บดอกไม้อยู่
ผู้ไม่อิ่มในกามทั้งหลาย๑ ให้ตกอยู่ในอำนาจ
๕. มัจฉริโกสิยเสฏฐิวัตถุ
เรื่องโกสิยเศรษฐีผู้ตระหนี่
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๙] ภมรไม่ทำลายดอก สี และกลิ่น
ดูดแต่น้ำหวานไป ฉันใด
มุนีพึงเที่ยวไปในหมู่บ้าน ฉันนั้น๒
๖. ปาฏิกาชีวกวัตถุ
เรื่องอาชีวกชื่อปาฏิกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อุบาสิกาผู้รับใช้อาชีวกชื่อปาฏิกะ ดังนี้)
[๕๐] บุคคลไม่พึงใส่ใจถ้อยคำแสลงหูของคนอื่น
ไม่พึงเพ่งเล็งกิจที่คนอื่นทำแล้วหรือยังไม่ได้ทำ
แต่พึงตรวจดูกิจที่ตนทำแล้วและยังไม่ได้ทำเท่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ไม่อิ่มในกามทั้งหลาย หมายถึงผู้ไม่อิ่มในกิเลสกามและวัตถุกาม มุ่งแต่จะแสวงหา มุ่งแต่จะให้ได้มา
มุ่งแต่จะใช้สอย และมุ่งแต่จะสะสม (ขุ.ธ.อ. ๓/๒๘)
๒ ความหมายในคาถานี้คือ มุนีผู้เป็นทั้งพระเสขะและพระอเสขะเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้านตามลำดับเรือน
รับเอาภิกษาหารโดยไม่ทำลายศรัทธาและทรัพย์ของชาวบ้าน ดุจหมู่ผึ้งที่บินเข้าไปในหมู่ไม้ดูดเอาแต่น้ำหวาน
ไม่ทำลายดอก สี และกลิ่นของต้นไม้ ในคาถานี้ ตรัสถึงคุณสมบัติของพระขีณาสพ (ขุ.ธ.อ. ๓/๓๔-๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๔. ปุปผวรรค ๙. อานันทเถรวัตถุ
๗. ฉัตตปาณิอุปาสกวัตถุ
เรื่องฉัตตปาณิอุบาสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๕๑] วาจาสุภาษิต๑ ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ทำตาม๒
เหมือนดอกไม้งาม มีสีสวย (แต่) ไม่มีกลิ่น
[๕๒] วาจาสุภาษิต ย่อมมีผลแก่ผู้ทำตามด้วยดี
เหมือนดอกไม้งาม มีทั้งสีและมีกลิ่น ฉะนั้น๓
๘. วิสาขาวัตถุ
เรื่องนางวิสาขา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๕๓] สัตว์ผู้มีอันจะต้องตาย เมื่อเกิดมาแล้ว ควรสร้างกุศลไว้ให้มาก
เหมือนช่างดอกไม้ร้อยพวงมาลัยไว้เป็นจำนวนมากจากกองดอกไม้ ฉะนั้น
๙. อานันทเถรวัตถุ
เรื่องพระอานนทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๕๔] กลิ่นดอกไม้ลอยไปทวนลมไม่ได้
กลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณา

เชิงอรรถ :
๑ วาจาสุภาษิต ในที่นี้หมายถึงพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎก (ขุ.ธ.อ. ๒/๔๒)
๒ ผู้ไม่ทำตาม หมายถึงบุคคลผู้ไม่ตั้งใจประพฤติตามพระพุทธพจน์โดยเอื้อเฟื้อ กล่าวคือไม่ตั้งใจฟัง ทรงจำ
และนำมาปฏิบัติ ผลจึงไม่เกิดแก่ผู้นั้น (ขุ.ธ.อ. ๓/๔๒)
๓ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๓๒๓-๓๒๔/๓๙๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๔. ปุปผวรรค ๑๑. โคธิกเถรวัตถุ
หรือกลิ่นกระลำพักก็ลอยไปทวนลมไม่ได้
ส่วนกลิ่นของสัตบุรุษ ลอยไปทวนลมได้
เพราะสัตบุรุษขจรไปทั่วทุกทิศ๑
[๕๕] กลิ่นศีลยอดเยี่ยมกว่ากลิ่นหอมเหล่านี้ คือ
กลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณา กลิ่นดอกอุบล และกลิ่นดอกมะลิ
๑๐. มหากัสสปเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๕๖] กลิ่นกฤษณา หรือกลิ่นจันทน์นี้ หอมเพียงเล็กน้อย
แต่กลิ่นของท่านผู้มีศีล หอมมากที่สุด
หอมฟุ้งไปทั่วทั้งเทวโลกและมนุษยโลก
๑๑. โคธิกเถรวัตถุ
เรื่องพระโคธิกเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๕๗] มารย่อมไม่พบทางของท่านผู้มีศีลสมบูรณ์
ผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทเป็นปกติ
ผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ

เชิงอรรถ :
๑ สัตบุรุษย่อมมีกลิ่นเกียรติคุณคือศีลแผ่ขจรไปทั่วทุกทิศ (ขุ.ธ.อ. ๓/๗๖) และดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/
๘๐/๓๐๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๑. อัญญตรปุริสวัตถุ
๑๒. ครหทินนวัตถุ
เรื่องนายครหทินน์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นายครหทินน์ และนายสิริคุตต์ ดังนี้)
[๕๘] ในกองขยะที่เขาทิ้งไว้ข้างทางใหญ่
ยังมีดอกบัวมีกลิ่นหอมรื่นรมย์ใจเกิดขึ้นมาได้ ฉันใด
[๕๙] ในหมู่ปุถุชนผู้มืดมนซึ่งเปรียบได้กับกองขยะ
ก็ยังมีสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเจริญรุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา ฉันนั้น
ปุปผวรรคที่ ๔ จบ
๕. พาลวรรค
หมวดว่าด้วยคนพาล๑
๑. อัญญตรปุริสวัตถุ
เรื่องชายคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล และชายคนหนึ่ง ดังนี้)
[๖๐] ราตรีหนึ่ง ยาวนานสำหรับคนผู้ตื่นอยู่
ระยะทางโยชน์หนึ่ง ยาวไกลสำหรับคนผู้เมื่อยล้า
สังสารวัฏ๒ยาวนานสำหรับคนพาลผู้ไม่รู้แจ้งสัทธรรม

เชิงอรรถ :
๑ คนพาล ในที่นี้หมายถึงคนโง่ ไม่มีปัญญา ไม่รู้จักประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า ไม่รู้จักพระ
สัทธรรมมีโพธิปักขิยธรรม และอริยสัจ ๔ เป็นต้น จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๐๖,
ขุ.ธ.ฏีกา ๘๑)
๒ สังสารวัฏ หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิด (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๔. คัณฐิเภทกโจรวัตถุ
๒. มหากัสสปสัทธิวิหาริกวัตถุ
เรื่องสัทธิวิหาริกของพระมหากัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้อยู่ในกรุงราชคฤห์ ดังนี้)
[๖๑] หากบุคคลเที่ยวหาคนดีกว่าตน หรือเสมอกับตนไม่ได้
ก็ควรถือการเที่ยวไปคนเดียวให้มั่นคง
เพราะจะหาความเป็นเพื่อน๑ในคนพาลไม่ได้เลย
๓. อานันทเสฏฐิวัตถุ
เรื่องอานันทเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เศรษฐีชื่อมูลสิริบุตรของอานันทเศรษฐี ดังนี้)
[๖๒] คนพาลย่อมเดือดร้อนว่า “เรามีบุตร เรามีทรัพย์”
แท้จริง ตัวตนก็ไม่มี บุตรและทรัพย์จักมีแต่ที่ไหน
๔. คัณฐิเภทกโจรวัตถุ
เรื่องโจรผู้ทำลายปม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่โจรผู้ทำลายปมและชนทั้งหลาย ดังนี้)
[๖๓] คนพาลที่รู้ตัวว่าเป็นคนพาล
ยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง
แต่คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต
นั่นแหละ เรียกว่า คนพาลแท้

เชิงอรรถ :
๑ ความเป็นเพื่อน ในที่นี้หมายถึงคุณธรรมที่ได้จากความเป็นเพื่อนคือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล กถาวัตถุ ๑๐
ธุดงคคุณ ๑๓ วิปัสสนา มรรค ๔ ผล ๔ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๗. สุปปพุทธกุฏฐิวัตถุ
๕. อุทายิเถรวัตถุ
เรื่องพระอุทายีเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๖๔] คนพาล แม้จะอยู่ใกล้บัณฑิตชั่วชีวิต
ก็ไม่รู้แจ้งธรรม เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกง ฉะนั้น
๖. ปาเฐยยกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุชาวเมืองปาฐา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๖๕] วิญญูชน แม้จะอยู่ใกล้บัณฑิตเพียงชั่วครู่
ก็รู้แจ้งธรรมได้ฉับพลัน เหมือนลิ้นรู้รสแกง ฉะนั้น
๗. สุปปพุทธกุฏฐิวัตถุ
เรื่องนายสุปปพุทธะผู้เป็นโรคเรื้อน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๖๖] คนพาลผู้มีปัญญาทราม ทำตนให้เป็นดุจข้าศึก
เที่ยวทำบาปกรรมที่ให้ผลเผ็ดร้อน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๑๐. อุปปลวัณณาเถรีวัตถุ
๘. กัสสกวัตถุ
เรื่องชาวนา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ชาวนาคนหนึ่ง ดังนี้)
[๖๗] บุคคลทำกรรมใดแล้ว
ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลัง
ร้องไห้น้ำตานองหน้า เสวยผลกรรมอยู่
กรรมนั้นชื่อว่า เป็นกรรมไม่ดี
๙. สุมนมาลาการวัตถุ
เรื่องช่างดอกไม้ชื่อสุมนะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๖๘] บุคคลทำกรรมใดแล้ว
ย่อมไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง
อิ่มเอิบ ดีใจ เสวยผลกรรมอยู่
กรรมนั้นชื่อว่า เป็นกรรมดี
๑๐. อุปปลวัณณาเถรีวัตถุ
เรื่องพระอุบลวัณณาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๖๙] ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ให้ผล
คนพาลย่อมสำคัญบาปดุจน้ำผึ้ง๑
แต่เมื่อใดบาปให้ผล เมื่อนั้นคนพาลย่อมประสบทุกข์

เชิงอรรถ :
๑ สำคัญบาปดุจน้ำผึ้ง หมายถึงสำคัญว่าบาปอกุศลที่ตนทำอยู่ ปรากฏน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ
เหมือนน้ำผึ้ง (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๑๓. สัฏฐิกูฏเปตวัตถุ
๑๑. ชัมพุกาชีวกวัตถุ
เรื่องอาชีวกชื่อชัมพุกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่มหาชนชาวแคว้นอังคะและมคธ ดังนี้)
[๗๐] คนพาลถึงใช้ปลายหญ้าคาจิ้มอาหารกินทุกๆ เดือน
เขาก็ไม่ได้รับผลแห่งการปฏิบัติเช่นนั้น
เท่าเสี้ยวที่ ๑๖ ของผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว๑
๑๒. อหิเปตวัตถุ
เรื่องเปรตผู้มีรูปร่างเหมือนงู
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๑] บาปกรรมที่บุคคลทำแล้วยังไม่ให้ผลทันที
เหมือนน้ำนมที่รีดในวันนี้
บาปกรรมนั้นจะค่อย ๆ เผาผลาญคนพาล
เหมือนไฟที่ถูกเถ้ากลบไว้ ฉะนั้น
๑๓. สัฏฐิกูฏเปตวัตถุ
เรื่องเปรตถูกฆ้อนต่อยศีรษะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๒] ความรู้๒เกิดแก่คนพาลเพียงเพื่อทำลายถ่ายเดียว
ความรู้ของคนพาลนั้น กำจัดคุณงามความดี
ทำปัญญาของเขาให้ตกต่ำ

เชิงอรรถ :
๑ ผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว หมายถึงผู้มีธรรมอันรู้แล้ว ผู้มีธรรมอันชั่งได้แล้ว ในที่นี้หมายถึง พระโสดาบัน
จนถึงพระอรหันต์ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๔๗)
๒ ความรู้ ในที่นี้หมายรวมถึงศิลปะ ยศ ชื่อเสียง (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๑๔. สุธัมมเถรวัตถุ
๑๔. สุธัมมเถรวัตถุ
เรื่องพระสุธัมมเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระสุธัมมเถระ ดังนี้)
[๗๓] ภิกษุพาลปรารถนาการยกย่องที่ตนไม่มี๑
ปรารถนาให้ภิกษุทั้งหลายตามแวดล้อมตน
ปรารถนาความเป็นใหญ่ในอาวาส
และปรารถนาเครื่องบูชาจากชาวบ้านทั้งหลาย
[๗๔] ภิกษุพาลเกิดความดำริว่า
“ขอให้คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้ง ๒ ฝ่าย จงเข้าใจว่า
เราผู้เดียวทำกิจนี้ เราผู้เดียวพึงมีอำนาจในการงาน
ไม่ว่ากิจการใหญ่หรือเล็ก”
ความริษยา๒และความถือตัว๓จึงเกิดพอกพูนขึ้น

เชิงอรรถ :
๑ ปรารถนาการยกย่องที่ตนไม่มี หมายถึงไม่มีศรัทธา ต้องการให้คนชมว่ามีศรัทธา ทุศีลต้องการให้คนชม
ว่ามีศีล เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๕๙)
๒ ความริษยา ในที่นี้หมายถึงตัณหาที่เกิดในทวาร ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๖๐)
๓ ความถือตัว ในที่นี้หมายถึงมานะ ๙ อย่าง (๑) เป็นผู้เลิศกว่าเขา ถือตัวว่าเลิศกว่าเขา (๒) เป็นผู้เลิศกว่าเขา
ถือตัวว่าเสมอเขา (๓) เป็นผู้เลิศกว่าเขา ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา (๔) เป็นผู้เสมอเขา ถือตัวว่าเลิศกว่าเขา
(๕) เป็นผู้เสมอเขา ถือตัวว่าเสมอเขา (๖) เป็นผู้เสมอเขา ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา (๗) เป็นผู้ด้อยกว่าเขา
ถือตัวว่าเลิศกว่าเขา (๘) เป็นผู้ด้อยกว่าเขา ถือตัวว่าเสมอเขา (๙) เป็นผู้ด้อยกว่าเขา ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา
(ขุ.ธ.อ. ๓/๑๖๐) และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๑/๙๖-๙๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๖. ปัณฑิตวรรค ๑. ราธเถรวัตถุ
๑๕ วนวาสีติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระวนวาสีติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๕] ข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้ได้ลาภเป็นอย่างหนึ่ง
ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงนิพพานเป็นอีกอย่างหนึ่ง
ภิกษุผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
รู้ชัดข้อปฏิบัติทั้งสองนี้แล้ว ไม่พึงยินดีสักการะ๑
แต่พึงเพิ่มพูนวิเวก๒(ให้ต่อเนื่อง)
พาลวรรคที่ ๕ จบ
๖. ปัณฑิตวรรค
หมวดว่าด้วยบัณฑิต
๑. ราธเถรวัตถุ
เรื่องพระราธเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๖] บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญามักชี้โทษ
มักพูดปรามไว้ เหมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์
(และ) พึงคบผู้ที่เป็นบัณฑิตเช่นนั้น
เพราะเมื่อคบคนเช่นนั้น ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมเลย๓

เชิงอรรถ :
๑ สักการะ ในที่นี้หมายถึงปัจจัย ๔ (จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร) (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๘๑)
๒ วิเวก หมายถึงความสงัด มี ๓ คือ (๑) กายวิเวก ความสงัดกาย (๒) จิตตวิเวก ความสงัดใจ (๓) อุปธิวิเวก
ความสงัดอุปธิ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๘๑)
๓ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๙๓/๕๐๒, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๐๘/๖๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๖. ปัณฑิตวรรค ๔. มหากัปปินเถรวัตถุ
๒. อัสสชิปุนัพพสุกวัตถุ
เรื่องพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๗] ผู้ใดพึงกล่าวสอน พร่ำสอน
และห้ามจากความชั่ว
ผู้นั้นย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย
แต่ไม่เป็นที่รักของอสัตบุรุษทั้งหลาย๑
๓. ฉันนเถรวัตถุ
เรื่องพระฉันนเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๘] บุคคลไม่พึงคบมิตรชั่ว๒ ไม่พึงคบคนต่ำช้า๓
พึงคบแต่กัลยาณมิตร พึงคบแต่สัตบุรุษ
๔. มหากัปปินเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากัปปินเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๙] บุคคลผู้อิ่มเอิบในธรรม๔ มีใจผ่องใส ย่อมอยู่เป็นสุข
บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมที่พระอริยะประกาศแล้วทุกเมื่อ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๙๕/๕๐๒, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๐๘/๖๑๐
๒ มิตรชั่ว หมายถึงผู้ยินดีในอกุศลกรรม มีกายทุจริต เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๗)
๓ คนต่ำช้า หมายถึงคนที่ชักนำในสิ่งที่ไม่สมควร มีการตัดช่องย่องเบา เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๗)
๔ ผู้อิ่มเอิบในธรรม หมายถึงบุคคลผู้บรรลุโลกุตตรธรรม ๙ ประการ (มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑) (ขุ.ธ.อ.
๔/๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๖. ปัณฑิตวรรค ๗. กาณมาตาวัตถุ
๕. ปัณฑิตสามเณรวัตถุ
เรื่องบัณฑิตสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๘๐] คนไขน้ำ ย่อมไขน้ำ
ช่างศร ย่อมดัดลูกศร
ช่างไม้ ย่อมถากไม้
บัณฑิต ย่อมฝึกตน๑
๖. ลกุณฑกภัททิยเถรวัตถุ
เรื่องพระลกุณฑกภัททิยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๘๑] ภูเขาศิลาล้วน เป็นแท่งทึบ ย่อมไม่สะเทือนเพราะลม ฉันใด
บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะนินทาหรือสรรเสริญ๒ ฉันนั้น
๗. กาณมาตาวัตถุ
เรื่องมารดาของนางกาณา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๘๒] บัณฑิตทั้งหลายฟังธรรมแล้ว ย่อมผ่องใส๓
ดุจห้วงน้ำที่ลึก ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ฝึกตน หมายถึงฝึกฝนตนเองเพื่อบรรลุอรหัตตผล (ขุ.ธ.อ. ๔/๓๕) และดู ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๕๒/๔๓๑, ขุ.เถร.
(แปล) ๒๖/๘๗๗/๔๘๔
๒ ในคาถานี้ แม้จะตรัสโลกธรรมไว้เพียง ๒ ประการ คือ นินทาและสรรเสริญก็จริง แต่พึงทราบว่า ทรงแสดง
โลกธรรมไว้ทั้ง ๘ ประการ ความหมายโดยสรุป คือ ไม่หวั่นไหวทั้งในอิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่น่าปรารถนา)
และอนิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) (ขุ.ธ.อ. ๔/๓๖)
๓ ผ่องใส ในที่นี้หมายถึงบรรลุสภาวะที่จิตปราศจากอุปธิกิเลสด้วยอำนาจโสดาปัตติมรรค เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๖. ปัณฑิตวรรค ๙. ธัมมิกเถรวัตถุ
๘. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๘๓] สัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมเว้นในธรรมทั้งปวง๑
สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่พร่ำเพ้อเพราะกามคุณเป็นเหตุ
บัณฑิตทั้งหลายจะประสบสุขหรือทุกข์
ย่อมไม่แสดงอาการขึ้นลง๒
๙. ธัมมิกเถรวัตถุ
เรื่องพระธัมมิกเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๘๔] บัณฑิตย่อมไม่ทำบาปเพราะตนเป็นเหตุ
หรือเพราะผู้อื่นเป็นเหตุ
บุคคลไม่พึงปรารถนาบุตร ทรัพย์ แว่นแคว้น
หรือความสำเร็จเพื่อตน โดยไม่ชอบธรรม
พึงเป็นผู้มีศีล มีปัญญา และยึดมั่นอยู่ในธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ย่อมเว้นในธรรมทั้งปวง หมายถึงมีอรหัตตมัคคญาณเป็นเครื่องเว้นหรือละฉันทราคะ(ความกำหนัดด้วย
อำนาจความพอใจ)ในขันธ์ ๕ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๒)
๒ ไม่แสดงอาการขึ้นลง หมายถึงไม่แสดงอาการยินดีหรือยินร้ายเมื่อถูกโลกธรรมกระทบ (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๖. ปัณฑิตวรรค ๑๑. ปัญจสตอาคันตุกภิกขุวัตถุ
๑๐. ธัมมัสสวนวัตถุ๑
เรื่องการฟังธรรม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๘๕] ในหมู่มนุษย์ เหล่าชนผู้ไปถึงฝั่งโน้น๒ มีจำนวนน้อย
ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้เลาะไปตามฝั่งนี้๓ทั้งนั้น
[๘๖] ส่วนชนเหล่าใดประพฤติตามธรรม
ในธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยชอบ๔
ชนเหล่านั้นจักข้ามพ้นวัฏฏะ
อันเป็นบ่วงมารที่ข้ามได้แสนยาก ไปถึงฝั่งโน้นได้
๑๑. ปัญจสตอาคันตุกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุอาคันตุกะ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุอาคันตุกะผู้อยู่ในแคว้นโกศล ดังนี้)
[๘๗] บัณฑิตละธรรมดำ๕ แล้วพึงเจริญธรรมขาว๖
ออกจากวัฏฏะมาสู่วิวัฏฏะ๗

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๔/๓๓, ๑๙๘/๗๔, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๑๗/๒๖๙-๒๗๐
๒ ฝั่งโน้น หมายถึงนิพพาน (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕, ขุ.ธ.อ. ๔/๔๕, สํ.ม.อ. ๓/๓๑-๔๐/๑๙๖)
๓ ฝั่งนี้ หมายถึงสักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นอัตตาของตน) (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๕) หรือหมายถึงวัฏฏะ (สํ.ม.อ.
๓/๓๑-๔๐/๑๙๖)
๔ ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยชอบ หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ ประการ คือ มรรค ๔ ผล ๔
นิพพาน ๑ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕)
๕ ธรรมดำ หมายถึงอกุศลธรรม มีกายทุจริต เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๗)
๖ ธรรมขาว หมายถึงกุศลธรรม มีกายสุจริต เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๗)
๗ ออกจากวัฏฏะมาสู่วิวัฏฏะ หมายถึงออกจากวัฏฏะที่เรียกว่า โอกะ (ที่มีน้ำ) มาสู่วิวัฏฏะที่เรียกว่า อโนกะ
(ที่ไม่มีน้ำ) ได้แก่ นิพพาน (สํ.ม.อ. ๓/๓๑-๔๐/๑๙๖, องฺ.ทสก.อ.๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕, ขุ.ธ.อ.๔/๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๗. อรหันตวรรค ๑. ชีวกวัตถุ
[๘๘] ละกามทั้งหลายแล้ว เป็นผู้หมดความกังวล
พึงปรารถนายินดียิ่งในวิเวกที่ยินดีได้ยากยิ่ง
พึงชำระตนให้ผ่องแผ้วจากเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตทั้งหลาย
[๘๙] บัณฑิตเหล่าใดอบรมจิตโดยชอบ
ในองค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ทั้งหลาย
ไม่ถือมั่น ยินดีในนิพพานเป็นที่สละความถือมั่น
บัณฑิตเหล่านั้นสิ้นอาสวะแล้ว
มีความรุ่งเรือง ดับสนิทแล้วในโลก๑
ปัณฑิตวรรคที่ ๖ จบ
๗. อรหันตวรรค
หมวดว่าด้วยพระอรหันต์
๑. ชีวกวัตถุ
เรื่องหมอชีวก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่หมอชีวก ดังนี้)
[๙๐] ผู้บรรลุจุดหมายปลายทางแล้ว๒
ไร้ความโศก หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง๓
ละกิเลสเครื่องร้อยรัด๔ได้หมด ย่อมไม่มีความเร่าร้อน

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๔/๓๓-๓๔, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๖๙/๒๖๙-๒๗๐
๒ ผู้บรรลุจุดหมายปลายทาง หมายถึงพระขีณาสพผู้ถึงที่สุดแห่งสังสารวัฏ (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๙)
๓ ธรรมทั้งปวง หมายถึงธรรมทั้งหลายมีขันธ์ ๕ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๙)
๔ กิเลสเครื่องร้อยรัด หมายถึงกิเลส ๔ อย่าง คือ (๑) อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้ของคนอื่น
(๒) พยาบาท ความคิดร้ายผู้อื่น (๓) สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลและวัตร (๔) อิทังสัจจาภินิเวส
ความถือมั่นว่านี้เท่านั้นจริง (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๙) และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๙/๑๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๗. อรหันตวรรค ๓. เพฬัฏฐสีสเถรวัตถุ
๒. มหากัสสปเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๙๑] ผู้มีสติ หมั่นประกอบความเพียร๑
ไม่ติดในที่อยู่ ละความห่วงอาลัยไป
เหมือนหงส์ละเปือกตมไป ฉะนั้น
๓. เพฬัฏฐสีสเถรวัตถุ
เรื่องพระเพฬัฏฐสีสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๙๒] ผู้ไม่มีการสั่งสม๒
กำหนดรู้อาหารก่อนแล้วจึงบริโภค
มีสุญญตวิโมกข์๓ และอนิมิตตวิโมกข์ เป็นอารมณ์
ไม่ทิ้งทางไว้ให้เป็นที่รู้ได้
เหมือนนกไม่ทิ้งทางไว้ในอากาศ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ผู้มีสติ หมั่นประกอบความเพียร ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพผู้มีสติไพบูลย์ หมั่นประกอบในคุณธรรมมี
ฌานและวิปัสสนา เป็นต้น ที่ตนได้บรรลุแล้วโดยการนึก การเข้า การออก การอธิษฐาน และการพิจารณา
(ขุ.ธ.อ.๔/๕๒)
๒ การสั่งสม มี ๒ อย่าง คือ (๑) กัมมสันนิจยะ การสั่งสมกรรมคือกุศลและอกุศล (๒) ปัจจยสันนิจยะ
การสั่งสมปัจจัย ๔ (ขุ.ธ.อ.๔/๕๓-๕๔)
๓ สุญญตวิโมกข์ หมายถึงสภาวะที่หลุดพ้น เพราะว่างจาก ราคะ โทสะ โมหะ
อนิมิตตวิโมกข์ หมายถึงสภาวะที่หลุดพ้น เพราะไม่มีนิมิต คือ ราคะ เป็นต้น
ในคาถาที่ ๙๒-๙๓ นี้ หมายรวมถึงอัปปณิหิตวิโมกข์ ได้แก่ สภาวะที่หลุดพ้น เพราะไม่มีที่ตั้งคือกิเลส
มีราคะเป็นต้นด้วย วิโมกข์ทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นชื่อของนิพพาน (ขุ.ธ.อ.๔/๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๗. อรหันตวรรค ๕. มหากัจจายนเถรวัตถุ
๔. อนุรุทธเถรวัตถุ
เรื่องพระอนุรุทธเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๙๓] ท่านผู้สิ้นอาสวะแล้ว ไม่ติดในอาหาร
มีสุญญตวิโมกข์ และอนิมิตตวิโมกข์ เป็นอารมณ์
ไม่ทิ้งร่องรอยไว้ให้เป็นที่รู้ได้
เหมือนนกไม่ทิ้งร่องรอยไว้ในอากาศ ฉะนั้น๑
๕. มหากัจจายนเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากัจจายนเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๙๔] ผู้ใดฝึกอินทรีย์๒ให้สงบได้
เหมือนม้าที่นายสารถีฝึกดีแล้ว
ผู้นั้นย่อมละมานะได้ ไม่มีอาสวะ คงที่
แม้ทวยเทพทั้งหลายก็รักใคร่

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๒/๓๓๗
๒ อินทรีย์ หมายถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (ขุ.ธ.อ. ๔/๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๗. อรหันตวรรค ๘. สารีปุตตเถรวัตถุ
๖. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๙๕] ภิกษุผู้คงที่ มีวัตรงาม
ไม่ยินดียินร้าย เสมอด้วยแผ่นดิน
เปรียบด้วยเสาเขื่อน
(มีใจผ่องใส) เหมือนห้วงน้ำไร้เปือกตม
สังสารวัฏย่อมไม่มีแก่ผู้เช่นนั้น
๗. โกสัมพีวาสีติสสเถรสามเณรวัตถุ
เรื่องสามเณรของพระติสสเถระชาวเมืองโกสัมพี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระชาวเมืองโกสัมพี ดังนี้)
[๙๖] ผู้หลุดพ้นเพราะรู้ชอบ ผู้สงบ ผู้คงที่
ย่อมมีมโนกรรมที่สงบ วจีกรรมที่สงบ กายกรรมที่สงบ
๘. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้อยู่ในป่า ๓๐ รูป ดังนี้)
[๙๗] นรชนใด ผู้ไม่ต้องเชื่อใคร๑
รู้จักนิพพานที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ต้องเชื่อใคร ในที่นี้หมายถึงรู้แจ้งธรรมอย่างประจักษ์ชัดด้วยตนเอง ไม่ต้องรอสดับธรรมจากผู้อื่น (ขุ.ม.อ.
๘๘/๓๓๙-๓๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๗. อรหันตรรค ๑๐. อัญญตริตถีวัตถุ
ตัดรอยต่อ๑แห่งการเกิดใหม่
ทำลายโอกาส๒ แห่งการท่องเที่ยวไปในสงสาร
คายความหวังแล้ว นรชนนั้นแล เป็นบุรุษสูงสุด๓
๙. ขทิรวนิยเรวตเถรวัตถุ
เรื่องพระเรวตเถระผู้อยู่ในป่าไม้ตะเคียน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางวิสาขามิคารมาตา ดังนี้)
[๙๘] พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่สถานที่ใด
คือ จะเป็นบ้านก็ตาม ป่าก็ตาม ที่ลุ่มก็ตาม ที่ดอนก็ตาม
สถานที่นั้น เป็นรมณียสถาน๔
๑๐. อัญญตริตถีวัตถุ
เรื่องหญิงคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[๙๙] ท่านผู้ปราศจากราคะทั้งหลาย
จะยินดีป่าทั้งหลาย อันน่ารื่นรมย์
ที่ชนผู้แสวงหากามไม่ยินดี
เพราะท่านเหล่านั้นไม่แสวงหากาม๕
อรหันตวรรคที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ รอยต่อ หมายถึงวัฏฏสนธิ (รอยต่อคือวัฏฏะ) สังสารสนธิ (รอยต่อคือสงสาร) (ขุ.ธ.อ. ๔/๘/๖๖)
๒ ทำลายโอกาส หมายถึงทำลายโอกาสที่จะเกิดอีกได้ เพราะสิ้นเชื้อพันธุ์คือกุศลกรรมและอกุศลกรรม
(ขุ.ธ.อ. ๔/๖๖)
๓ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘๘/๒๗๕
๔ ในคาถานี้มีนัยว่า แม้ในหมู่บ้านจะหาความสงบกายไม่ได้ก็จริง แต่พระอรหันต์ทั้งหลายก็ได้ความสงบใจ
เพราะอารมณ์ทั้งหลายหาทำจิตของท่านให้หวั่นไหวได้ไม่ ดังนั้น ที่ไหนก็ตามย่อมเป็นที่พระอรหันต์อยู่ได้
และที่นั้นย่อมเป็นสถานที่รื่นรมย์ (ขุ.ธ.อ. ๔/๗๒) และดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๙๑/๕๐๒
๕ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๙๒/๕๐๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๘. สหัสสวรรค ๒. พาหิยทารุจีริยเถรวัตถุ
๘. สหัสสวรรค
หมวดว่าด้วยหนึ่งในร้อยในพัน
๑. ตัมพทาฐิกโจรฆาตกวัตถุ
เรื่องเพชฌฆาตโจรเคราแดง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๐๐] คำพูดที่มีประโยชน์คำเดียว๑
ที่คนฟังแล้วสงบระงับได้๒
ย่อมดีกว่าคำพูดที่ไร้ประโยชน์ตั้ง ๑,๐๐๐ คำ
๒. พาหิยทารุจีริยเถรวัตถุ
เรื่องพระพาหิยทารุจีริยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๐๑] คาถาที่มีประโยชน์คาถาเดียว
ที่คนฟังแล้วสงบระงับได้
ย่อมดีกว่าคาถาที่ไร้ประโยชน์ตั้ง ๑,๐๐๐ คาถา

เชิงอรรถ :
๑ มีประโยชน์ ในที่นี้หมายถึงเป็นคำที่แสดงเรื่องนิพพาน หรือเรื่องขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ พละ
โพชฌงค์ และสติปัฏฐาน (ขุ.ธ.อ. ๔/๘๒)
๒ สงบระงับ หมายถึงสงบระงับกิเลสมีราคะเป็นต้นได้ (ขุ.ธ.อ. ๔/๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๘. สหัสสวรรค ๔. อนัตถปุจฉกพราหมณวัตถุ
๓. กุณฑลเกสีเถรีวัตถุ
เรื่องพระกุณฑลเกสีเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๐๒] ธรรมะบทหนึ่ง๑ ที่คนฟังแล้วสงบระงับได้
ย่อมดีกว่าคาถาที่ไร้ประโยชน์ตั้ง ๑๐๐ คาถา
[๑๐๓] ผู้ชนะข้าศึกจำนวนพันคูณด้วยพันในสงคราม
หาชื่อว่าผู้ชนะที่ยอดเยี่ยมไม่
แต่ผู้ชนะตน๒ได้ จึงชื่อว่า ผู้ชนะที่ยอดเยี่ยม
๔. อนัตถปุจฉกพราหมณวัตถุ
เรื่องอนัตถปุจฉกพราหมณ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ ดังนี้)
[๑๐๔] การชนะตนของบุคคลผู้ฝึกตนดีแล้ว๓
ประพฤติสำรวมเป็นนิตย์นั่นแล
ประเสริฐกว่าการชนะผู้อื่น
[๑๐๕] เทวดา คนธรรพ์ มาร หรือพรหม
ไม่อาจทำชัยชนะของบุคคลเช่นนั้นให้กลับแพ้ได้เลย

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมะบทหนึ่ง หมายถึงข้อธรรมหนึ่งในหมวดธรรมที่มีหลายข้อ เช่น หมวดธรรม ๔ คือ (๑) อนภิชฌา
(๒) อพยาบาท (๓) สัมมาสติ (๔) สัมมาสมาธิ แต่ละข้อเป็นธรรมะบทหนึ่ง (ขุ.ธ.อ. ๔/๙๕)
๒ ชนะตน หมายถึงชนะกิเลสมีโลภะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๙๕)
๓ ผู้ฝึกตนดี ในที่นี้หมายถึงผู้ไม่มีกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๔/๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๘. สหัสสวรรค ๖. สารีปุตตเถรภาคิเนยยวัตถุ
๕. สารีปุตตเถรมาตุลพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถระ ดังนี้)
[๑๐๖] การบูชาของบุคคลผู้บูชาท่านที่อบรมตนดี๑แล้ว
คนเดียว แม้เพียงครู่เดียว
ประเสริฐกว่าการบูชาของบุคคลผู้บูชายัญ๒
ด้วยทรัพย์จำนวน ๑,๐๐๐ กหาปณะทุก ๆ เดือน ตลอด ๑๐๐ ปี
๖. สารีปุตตเถรภาคิเนยยวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ผู้เป็นหลานของพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ผู้เป็นหลานของพระสารีบุตรเถระ
ดังนี้)
[๑๐๗] การบูชาของบุคคลผู้บูชาท่านที่อบรมตนดีแล้ว
คนเดียว แม้เพียงครู่เดียว
ประเสริฐกว่าการบูชาของบุคคลผู้บูชาไฟในป่าเป็นเวลา ๑๐๐ ปี

เชิงอรรถ :
๑ ท่านที่อบรมตนดี ในที่นี้หมายถึงพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันตขีณาสพ (ขุ.ธ.อ. ๔/๙๙)
๒ บูชายัญ หมายถึงให้ทานแก่มหาชน (ขุ.ธ.อ.๔/๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๘. สหัสสวรรค ๙. สังกิจจสามเณรวัตถุ
๗. สารีปุตตเถรสหายกพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ผู้เป็นเพื่อนของพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ผู้เป็นเพื่อนของพระสารีบุตรเถระ
ดังนี้)
[๑๐๘] การไหว้ท่านผู้ปฏิบัติตรง
ประเสริฐกว่าการบูชายัญและการบวงสรวงใด ๆ ในโลก
ที่ผู้หวังบุญทำอยู่ตลอดปี
เพราะการบูชายัญและการบวงสรวงทั้งหมดนั้น
มีค่าไม่ถึงหนึ่งในสี่๑
๘. อายุวัฑฒนกุมารวัตถุ
เรื่องอายุวัฒนกุมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อายุวัฒนกุมารและอุบาสก ๕๐๐ คน ดังนี้)
[๑๐๙] ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ
ย่อมเจริญแก่ผู้กราบไหว้ ผู้อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ เป็นนิตย์
๙. สังกิจจสามเณรวัตถุ
เรื่องสังกิจจสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๑๑๐] ผู้มีศีล เพ่งพินิจ แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
ประเสริฐกว่าคนทุศีล ไม่มีจิตตั้งมั่น
ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี

เชิงอรรถ :
๑ มีค่าไม่ถึงหนึ่งในสี่ หมายถึงอานิสงส์ไม่ถึง ๑ ส่วนใน ๔ ส่วนแห่งผลที่เกิดจากการมีกุศลเจตนาคือจิต
เลื่อมใสแล้วน้อมกายไหว้พระอริยบุคคลผู้ปฏิบัติตรง (ขุ.ธ.อ. ๔/๑๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๘. สหัสสวรรค ๑๒. ปฏาจาราเถรีวัตถุ
๑๐. ขาณุโกณฑัญญเถรวัตถุ
เรื่องพระขาณุโกณฑัญญเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ผู้เป็นศิษย์พระขาณุ-
โกณฑัญญเถระ ดังนี้)
[๑๑๑] ผู้มีปัญญา เพ่งพินิจ แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
ประเสริฐกว่าผู้มีปัญญาทราม ไม่มีจิตตั้งมั่น
ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี๑
๑๑. สัปปทาสเถรวัตถุ
เรื่องพระสัปปทาสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๑๒] ผู้มีความเพียรมั่นคง๒ แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
ประเสริฐกว่าผู้เกียจคร้าน ไม่มีความเพียร
ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี
๑๒. ปฏาจาราเถรีวัตถุ
เรื่องพระปฏาจาราเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระปฏาจาราเถรี ดังนี้)
[๑๑๓] ผู้เห็นความเกิดและความดับ๓ แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
ประเสริฐกว่าผู้ไม่เห็นความเกิดและความดับ
ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี๔

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.อป. (แปล) ๓๓/๒๓๙/๔๘๖
๒ มีความเพียรมั่นคง หมายถึงบำเพ็ญเพียรอย่างหนักแน่น สามารถจะให้เกิดฌาน ๒ ประการ คือ
(๑) อารัมมณูปนิชฌาน(การเพ่งอารมณ์ ได้แก่ สมาบัติ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔) (๒) ลักขณูปนิชฌาน
(การเพ่งลักษณะ ได้แก่ วิปัสสนา มรรค และผล)
๓ เห็นความเกิดและความดับ หมายถึงเห็นความเกิดและความดับของขันธ์ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๔/๑๒๘)
๔ ขุ.อป. (แปล) ๓๓/๘๑/๔๖๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น