Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๕-๒ หน้า ๖๖ - ๑๓๐

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ธรรมบท
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๘. สหัสสวรรค ๑๔. พหุปุตติกาเถรีวัตถุ
๑๓. กิสาโคตมีวัตถุ
เรื่องนางกิสาโคตมี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางกิสาโคตมี ดังนี้)
[๑๑๔] ผู้เห็นทางอมตะ๑ แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
ประเสริฐกว่าผู้ไม่เห็นทางอมตะ
ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี
๑๔. พหุปุตติกาเถรีวัตถุ
เรื่องพระพหุปุตติกาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระพหุปุตติกาเถรี ดังนี้)
[๑๑๕] ผู้เห็นธรรมอันสูงสุด๒ แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
ประเสริฐกว่าผู้ไม่เห็นธรรมอันสูงสุด
ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี
สหัสสวรรคที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ทางอมตะ หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๔/๑๓๒)
๒ ธรรมอันสูงสุด ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ ประการ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ (ขุ.ธ.อ. ๔/๑๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค ๒. เสยยสกเถรวัตถุ
๙. ปาปวรรค
หมวดว่าด้วยบาป
๑. จูเฬกสาฏกวัตถุ
เรื่องพราหมณ์จูเฬกสาฎก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๑๖] บุคคลควรรีบเร่งทำบุญ๑ ควรห้ามจิตจากบาป๒
เพราะเมื่อทำบุญช้าไป ใจจะยินดีในบาป
๒. เสยยสกเถรวัตถุ
เรื่องพระเสยยสกเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเสยยสกเถระ ดังนี้)
[๑๑๗] หากบุคคลทำบาปไป ก็ไม่ควรทำบาปนั้นซ้ำอีก
ไม่ควรทำความพอใจในบาปนั้น
เพราะการสั่งสมบาปนำทุกข์มาให้

เชิงอรรถ :
๑ บุญ หมายถึงการให้ทาน การบำเพ็ญวัตร มีอุปัชฌายวัตรเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๕/๔)
๒ บาป หมายถึงกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หรือการเกิดขึ้นแห่งอกุศลจิต (ขุ.ธ.อ. ๕/๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค ๔. อนาถปิณฑิกเสฏฐิวัตถุ
๓. ลาชเทวธีตาวัตถุ
เรื่องลาชเทพธิดา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ลาชเทพธิดา ดังนี้)
[๑๑๘] หากบุคคลทำบุญ ก็ควรทำบุญนั้นบ่อย ๆ
ควรทำความพอใจในบุญนั้น
เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้
๔. อนาถปิณฑิกเสฏฐิวัตถุ
เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีและเทวดาผู้สิงสถิต
อยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของเศรษฐี ดังนี้)
[๑๑๙] ตราบใดที่บาปยังไม่ให้ผล
ตราบนั้น คนชั่วจะเห็นบาปว่าดี
แต่เมื่อใด บาปให้ผล
เมื่อนั้น คนชั่วจะเห็นบาปว่าชั่วแท้
[๑๒๐] ตราบใดที่กรรมดียังไม่ให้ผล
ตราบนั้น คนดีจะเห็นกรรมดีว่าชั่ว
แต่เมื่อใด กรรมดีให้ผล
เมื่อนั้นคนดีจะเห็นกรรมดีว่าดีแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค ๗. มหาธนวาณิชวัตถุ
๕. อสัญญตปริกขารภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ไม่เก็บรักษาบริขาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[๑๒๑] บุคคลอย่าสำคัญว่าบาปเล็กน้อยคงจักไม่มาถึง๑
แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยน้ำที่ตกลงมาทีละหยาด ๆ ได้ ฉันใด
คนพาล เมื่อสั่งสมบาปทีละเล็กทีละน้อย
ก็เต็มด้วยบาปได้ ฉันนั้น
๖. พิฬารปทกเสฏฐิวัตถุ
เรื่องพิฬารปทกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เศรษฐีผู้อยู่เมืองสาวัตถี ดังนี้)
[๑๒๒] บุคคลอย่าสำคัญว่าบุญเล็กน้อยคงจักไม่มาถึง
แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยน้ำที่ตกลงมาทีละหยาด ๆ ได้ ฉันใด
คนมีปัญญา เมื่อสั่งสมบุญแม้ทีละเล็กทีละน้อย
ก็เต็มด้วยบุญได้ ฉันนั้น
๗. มหาธนวาณิชวัตถุ
เรื่องพ่อค้าผู้มีทรัพย์มาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๒๓] บุคคลควรละเว้นบาปทั้งหลาย
ดุจพ่อค้าที่มีทรัพย์มาก แต่มีพวกน้อย หลีกเลี่ยงทางที่มีภัย
และดุจคนรักชีวิตหลีกเลี่ยงยาพิษ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงอย่าสำคัญว่าตนทำบาปไว้เพียงนิดหน่อย คงจักไม่ให้ผล (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค ๑๐. มณิการกุลุปกติสสเถรวัตถุ
๘. กุกกุฏมิตตเนสาทวัตถุ
เรื่องนายพรานเนื้อชื่อกุกกุฏมิต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๒๔] หากที่ฝ่ามือไม่มีแผล บุคคลก็ใช้ฝ่ามือนำยาพิษไปได้
เพราะยาพิษจะไม่ซึมเข้าไปยังฝ่ามือที่ไม่มีแผล
เหมือนบาปไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาป ฉะนั้น
๙. โกกสุนขลุททกวัตถุ
เรื่องนายพรานสุนัขชื่อโกกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[๑๒๕] บุคคลใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย
เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
บาปย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้นซึ่งเป็นคนพาลอย่างแน่แท้
ดุจผงธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลม ฉะนั้น๑
๑๐. มณิการกุลุปกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้เข้าถึงตระกูลช่างแก้ว
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๒๖] สัตว์พวกหนึ่ง ย่อมเกิดในครรภ์๒
พวกที่ทำบาปกรรมย่อมไปนรก
พวกที่ทำความดีย่อมไปสวรรค์
ส่วนผู้ที่ไม่มีอาสวะย่อมนิพพาน

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๒๒/๒๖, ๑๙๐/๒๖๙, ขุ.เปต. (แปล) ๒๖/๒๖๕/๒๑๐, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๙๔/๒๑๖
และดูสุตตนิบาตข้อ ๖๖๘ หน้า ๖๖๐ ในเล่มนี้
๒ ครรภ์ ในที่นี้หมายถึงครรภ์มนุษย์ (ขุ.ธ.อ. ๕/๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค ๑๒. สุปปพุทธสักกวัตถุ
๑๑. ตโยชนวัตถุ
เรื่องคน ๓ จำพวก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๒๗] คนทำบาป ถึงจะเหาะขึ้นไปในอากาศ ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม
ถึงจะดำลงไปกลางทะเล ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม
ถึงจะเข้าไปหลบตัวในซอกเขา ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม
เพราะไม่มีแผ่นดินสักส่วนหนึ่งที่คนทำบาปยืนอยู่แล้ว
จะพ้นจากบาปกรรมได้
๑๒. สุปปพุทธสักกวัตถุ
เรื่องเจ้าศากยะสุปปพุทธะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๒๘] บุคคล ถึงจะเหาะขึ้นไปในอากาศ ก็ไม่พ้นจากความตาย
ถึงจะดำลงไปกลางทะเล ก็ไม่พ้นจากความตาย
ถึงจะเข้าไปหลบตัวในซอกเขา ก็ไม่พ้นจากความตาย
เพราะไม่มีแผ่นดินสักส่วนหนึ่งที่บุคคลยืนอยู่แล้ว
จะไม่ถูกความตายครอบงำได้
ปาปวรรคที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๐. ทัณธวรรค ๒. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ
๑๐. ทัณฑวรรค
หมวดว่าด้วยการลงทัณฑ์๑
๑. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๒๙] สัตว์ทุกประเภท ย่อมสะดุ้งกลัวโทษทัณฑ์
สัตว์ทุกประเภท ย่อมหวาดกลัวความตาย
บุคคลนำตนเข้าไปเปรียบเทียบแล้ว
ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้คนอื่นฆ่า
๒. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๓๐] สัตว์ทุกประเภท ย่อมสะดุ้งกลัวโทษทัณฑ์
สัตว์ทุกประเภท ย่อมรักชีวิต๒
บุคคลนำตนเข้าไปเปรียบเทียบแล้ว
ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้คนอื่นฆ่า

เชิงอรรถ :
๑ ลงทัณฑ์ ตามความหมายในวรรคนี้คือ การใช้กำลังทำร้าย เข่นฆ่า หรือเบียดเบียนบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่น
ให้ได้รับความเดือดร้อน โดยการใช้ท่อนไม้ ก้อนดิน และวาจาที่หยาบคายให้ร้ายป้ายสี ตลอดถึงการใช้
บทบัญญัติ บทลงโทษที่เอื้อประโยชน์ตนเป็นเครื่องมือ (ขุ.ธ.อ. ๕/๔๐-๕๘)
๒ ยกเว้นพระขีณาสพ เพราะท่านเป็นผู้วางเฉยได้ในชีวิตหรือความตาย (ขุ.ธ.อ. ๕/๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๐. ทัณธวรรค ๔. โกณฑธานเถรวัตถุ
๓. สัมพหุลกุมารวัตถุ
เรื่องเด็กชายหลายคน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เด็กชายชาวเมืองสาวัตถีประมาณ ๕๐๐ คน
ที่กำลังตีงูในระหว่างทาง ดังนี้)
[๑๓๑] ผู้ใดใฝ่หาความสุขเพื่อตน
แต่กลับใช้ท่อนไม้ทำร้ายสัตว์ทั้งหลายผู้รักสุข
ผู้นั้นตายไปแล้วย่อมไม่ได้รับความสุขเลย
[๑๓๒] ส่วนผู้ใดใฝ่หาความสุขเพื่อตน
ไม่ใช้ท่อนไม้ทำร้ายสัตว์ทั้งหลายผู้รักสุข
ผู้นั้นตายไปแล้วย่อมได้รับความสุข๑
๔. โกณฑธานเถรวัตถุ
เรื่องพระโกณฑธานเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระโกณฑธานเถระ ดังนี้)
[๑๓๓] เธออย่าได้กล่าวคำหยาบต่อใคร ๆ
คนที่ถูกเธอว่ากล่าวจะกล่าวโต้ตอบเธอ
เพราะว่าถ้อยคำที่โต้เถียงกัน ก่อให้เกิดทุกข์
และการทำร้ายโต้ตอบกันจะมาถึงเธอ
[๑๓๔] ถ้าเธอทำตนให้นิ่งเงียบได้
เหมือนกังสดาล๒ที่ตัดขอบปากออกแล้ว
เธอก็จะบรรลุนิพพานได้
การโต้เถียงกันก็จะไม่มีแก่เธอ

เชิงอรรถ :
๑ ดูอุทานข้อ ๑๓ หน้า ๑๙๓ ในเล่มนี้
๒ กังสดาล หมายถึงระฆังวงเดือน (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๐. ทัณธวรรค ๗. มหาโมคคัลลานเถรวัตถุ
๕. อุโปสถิกอิตถีวัตถุ
เรื่องหญิงผู้รักษาอุโบสถศีล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางวิสาขาและหญิงผู้รักษาอุโบสถศีล
ประมาณ ๕๐๐ คน ดังนี้)
[๑๓๕] คนเลี้ยงโคใช้ท่อนไม้ไล่ต้อนฝูงโคไปยังที่หากิน ฉันใด
ความแก่และความตาย ก็ไล่ต้อนอายุของสัตว์ทั้งหลายไป ฉันนั้น
๖. อชครเปตวัตถุ
เรื่องเปรตงูเหลือม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๓๖] คนพาลมีปัญญาทราม เมื่อทำบาปกรรมย่อมไม่รู้สึกตัว
จึงมักเดือดร้อนเพราะกรรมของตน
เหมือนคนถูกไฟไหม้ ฉะนั้น
๗. มหาโมคคัลลานเถรวัตถุ
เรื่องพระมหาโมคคัลลานเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๓๗] ผู้ใดประทุษร้ายคนที่ไม่มีความผิด๑
(และ) คนที่ไม่ประทุษร้าย๒ (ตอบ)ด้วยโทษทัณฑ์
ผู้นั้นย่อมได้รับผลอย่าง ๑ ใน ๑๐ อย่าง คือ
[๑๓๘] (๑) ทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า (๒) เสื่อมทรัพย์
(๓) ถูกทำร้ายร่างกาย (๔) เจ็บป่วยอย่างหนัก
(๕) กลายเป็นคนวิกลจริต

เชิงอรรถ :
๑ คนที่ไม่มีความผิด หมายถึงพระขีณาสพผู้ปราศจากความผิดทางกาย เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๕/๕๘)
๒ คนที่ไม่ประทุษร้าย หมายถึงคนที่ไม่มีความผิดต่อผู้อื่น หรือต่อตนเอง (ขุ.ธ.อ. ๕/๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๐. ทัณธวรรค ๙. สันตติมหามัตตวัตถุ
[๑๓๙] (๖) ต้องราชภัย๑ (๗) ถูกกล่าวหาอย่างร้ายแรง
(๘) เสื่อมญาติ (๙) ทรัพย์สมบัติพินาศย่อยยับ
[๑๔๐] (๑๐) บ้านเรือนถูกไฟไหม้
เขาผู้มีปัญญาทราม เมื่อตายไปย่อมตกนรก
๘. พหุภัณฑิกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้มีเครื่องใช้สอยมาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้มีเครื่องใช้สอยมาก ดังนี้)
[๑๔๑] การเป็นคนเปลือย การเกล้าชฎา การเอาโคลนทาตัว
การอดอาหาร การนอนบนพื้นดิน
การมีกายหมักหมมด้วยธุลี
หรือการทำความเพียรด้วยการนั่งกระโหย่ง
วัตรทั้งหมดเหล่านี้หาชำระคนผู้ยังไม่ล่วงพ้นความสงสัยให้หมดจดได้ไม่
๙. สันตติมหามัตตวัตถุ
เรื่องสันตติมหาอำมาตย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๔๒] แม้บุคคลจะแต่งตัวแบบใดก็ตาม
ถ้าเขาเป็นผู้สงบ ฝึกตนได้ เป็นผู้แน่นอน๒ประพฤติพรหมจรรย์
ละเว้นการเบียดเบียนสรรพสัตว์ ประพฤติสม่ำเสมอ
ควรเรียกบุคคลเช่นนั้นว่า พราหมณ์ สมณะ หรือภิกษุ๓ ก็ได้

เชิงอรรถ :
๑ ต้องราชภัย หมายถึงการถูกถอดยศ ปลดจากตำแหน่ง เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๕/๕๘)
๒ สงบ หมายถึงสงบจากกิเลสมีราคะเป็นต้น
ฝึกตนได้ หมายถึงควบคุมอินทรีย์ทั้ง ๖ ได้
เป็นผู้แน่นอน หมายถึงเป็นผู้แน่นอนในโลกุตตรมรรคทั้ง ๔ (ขุ.ธ.อ. ๕/๖๘)
๓ คำว่า “พราหมณ์ สมณะ ภิกษุ” ตามหลักการพุทธศาสนามีความหมายดังนี้ พราหมณ์ หมายถึง
ผู้ลอยบาปได้ สมณะ หมายถึงผู้สงบระงับบาปได้ ภิกษุ หมายถึงผู้ทำลายกิเลสได้ (ขุ.ธ.อ. ๕/๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๐. ทัณฑวรรค ๑๑. สุขสามเณรวัตถุ
๑๐. ปิโลติกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระปิโลติกติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๔๓] บุคคลผู้กีดกันอกุศลวิตกได้ด้วยหิริ มีอยู่น้อยคนในโลก
ภิกษุใดหลบหลีกนินทาได้ ตื่นตัวอยู่ เหมือนม้าชั้นดีหลบแส้ได้
ภิกษุเช่นนั้นมีอยู่น้อยรูป๑
[๑๔๔] เธอทั้งหลายจงมีความเพียรและมีสังเวคธรรม๒
เหมือนม้าดีที่ถูกลงแส้ เธอทั้งหลายมีศรัทธา ศีล วิริยะ
สมาธิ และธัมมวินิจฉัย๓
สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ มีสติมั่นคง
จักละทุกข์๔มีประมาณไม่น้อยนี้ได้
๑๑. สุขสามเณรวัตถุ
เรื่องสุขสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๔๕] คนไขน้ำ ย่อมไขน้ำ
ช่างศร ย่อมดัดลูกศร
ช่างไม้ ย่อมถากไม้
ผู้มีวัตรดี๕ ย่อมฝึกตน๖
ทัณฑวรรคที่ ๑๐ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๘/๑๖
๒ มีสังเวคธรรม แปลจากคำว่า “สํเวคิโน” หมายถึงมีสโหตตัปปญาณ คือ ญาณที่มีโอตตัปปะ ได้แก่ ญาณ
ที่มีความกลัวต่อภัยคือชาติ ชรา มรณะ เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๓๗/๑๓๑)
๓ ธัมมวินิจฉัย หมายถึงความรู้เหตุที่ควรและไม่ควร (ขุ.ธ.อ. ๕/๗๑)
๔ ทุกข์ ในที่นี้หมายถึงวัฏฏทุกข์ (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐/๗๘)
๕ ผู้มีวัตรดี ในที่นี้หมายถึงคนที่ว่าง่าย สอนง่าย (ขุ.ธ.อ. ๕/๘๒)
๖ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๙/๓๑๐ และดูเทียบธรรมบทข้อ ๘๐ หน้า ๕๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๑. ชราวรรค ๒. สิริมาวัตถุ
๑๑. ชราวรรค
หมวดว่าด้วยความชรา
๑. วิสาขาสหายิกาวัตถุ
เรื่องหญิงสหายของนางวิสาขา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่หญิงประมาณ ๕๐๐ คน ดังนี้)
[๑๔๖] เมื่อโลกลุกเป็นไฟ๑อยู่เป็นนิตย์
ทำไมจึงมัวหัวเราะร่าเริงกันอยู่เล่า
เธอทั้งหลายถูกความมืด๒ปกคลุม
ไฉนไม่แสวงหาดวงประทีป๓กันเล่า
๒. สิริมาวัตถุ
เรื่องนางสิริมา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บริษัท ๔ ที่มุงดูศพนางสิริมา ดังนี้)
[๑๔๗] จงดูอัตภาพที่ตกแต่งอย่างสวยงาม
แต่มีกายเป็นแผล๔ มีกระดูกเป็นโครงร่าง๕
อันกระสับกระส่าย ที่มหาชนดำริหวังกันมาก๖
ซึ่งไม่มีความยั่งยืนตั้งมั่น

เชิงอรรถ :
๑ โลกลุกเป็นไฟ หมายถึงโลกสันนิวาส (โลกคือหมู่สัตว์) ถูกไฟ ๑๑ กอง คือ ราคะ โทสะ โมหะ ชาติ ชรา
มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส แผดเผาอยู่เป็นนิตย์ (ขุ.ธ.อ. ๕/๘๕) และดู วิ.ม. (แปล)
๔/๕๔/๖๓, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๘/๒๗ ประกอบ
๒ ความมืด หมายถึงอวิชชา (ขุ.ธ.อ. ๕/๘๕)
๓ ดวงประทีป หมายถึงแสงสว่างคือญาณ (ขุ.ธ.อ. ๕/๘๕)
๔ มีกายเป็นแผล หมายถึงมีทวาร ๙ (ขุ.ธ.อ.๕/๙๐)
๕ มีกระดูกเป็นโครงร่าง หมายถึงมีกระดูก ๓๐๐ ท่อนเป็นโครงร่าง (ขุ.ธ.อ.๕/๙๐)
๖ ดูเทียบ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๐๒/๓๕๙, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๗๖๙/๔๖๘, ๑๑๖๐/๕๓๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๑. ชราวรรค ๕. ชนปทกัลยาณีรูปนันทาเถรีวัตถุ
๓. อุตตราเถรีวัตถุ
เรื่องพระอุตตราเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอุตตราเถรีผู้มีอายุ ๑๒๐ ปี ดังนี้)
[๑๔๘] ร่างกายนี้แก่หง่อมแล้ว
เป็นรังของโรค มีแต่จะทรุดโทรมลงไป
ร่างกายที่เน่าเปื่อยนี้ก็จะแตกดับไป
เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด
๔. อธิมานิกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เข้าใจว่าตนสำเร็จ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายที่กำลังดูซากศพในป่าช้า ดังนี้)
[๑๔๙] กระดูกเหล่านี้มีสีเหมือนสีนกพิราบ
ถูกเขาทิ้งไว้เกลื่อนกลาด
เหมือนน้ำเต้าที่ร่วงเกลื่อนกลาดในสารทกาล๑
ความยินดีอะไรเล่าจะเกิด เพราะเห็นกระดูกเหล่านั้น
๕. ชนปทกัลยาณีรูปนันทาเถรีวัตถุ
เรื่องพระรูปนันทาเถรีผู้งามในรัฐ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระรูปนันทาเถรีผู้สำคัญตนว่างาม ดังนี้)
[๑๕๐] ร่างกายนี้ถูกสร้างให้เป็นนครแห่งกระดูก
ฉาบด้วยเนื้อและเลือด เป็นที่สถิตแห่งความแก่
ความตาย ความถือตัว และความลบหลู่กัน

เชิงอรรถ :
๑ สารทกาล หมายถึงฤดูใบไม้ร่วง ฤดูสารท เทศกาลทำบุญสิ้นเดือน ๑๐ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ.๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๑. ชราวรรค ๘. ปฐมโพธิวัตถุ
๖. มัลลิกาเทวีวัตถุ
เรื่องพระนางมัลลิกาเทวี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้เสียพระทัยเพราะ
การจากไปของพระนางมัลลิกาเทวี ดังนี้)
[๑๕๑] ราชรถอันวิจิตรงดงาม ยังชำรุดได้
แม้แต่ร่างกายนี้ ก็ยังเข้าถึงชราได้
แต่ธรรมของสัตบุรุษ๑หาเข้าถึงชราไม่
สัตบุรุษกับสัตบุรุษรู้กันได้อย่างนี้๒
๗. โลลุทายิเถรวัตถุ
เรื่องพระโลลุทายีเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๕๒] คนที่มีการศึกษาน้อยนี้
ย่อมแก่ไปเปล่าเหมือนโคพลิพัท
เขาเจริญแต่เนื้อหนัง ส่วนปัญญาหาเจริญไม่๓
๘. ปฐมโพธิวัตถุ
เรื่องเหตุการณ์คราวแรกตรัสรู้
(พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทาน ดังนี้)
[๑๕๓] เราตามหานายช่าง๔ผู้สร้างเรือน๕ เมื่อไม่พบ๖
จึงท่องเที่ยวไปในสงสารเป็นอเนกชาติ
เพราะการเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมของสัตบุรุษ หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ (มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑) (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๑)
๒ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๑๔/๑๓๑, ขุ.ชา. (แปล) ๒๘/๔๑๓/๑๖๖
๓ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๐๒๘/๕๐๘
๔ นายช่าง ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๕)
๕ เรือน ในที่นี้หมายถึงอัตภาพ (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๕)
๖ เมื่อไม่พบ ในที่นี้หมายถึงไม่พบโพธิญาณ (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๑. ชราวรรค ๙. มหาธนเสฏฐิปุตตวัตถุ
[๑๕๔] นายช่างเอ๋ย เราพบท่านแล้ว๑
ท่านจะสร้างเรือนไม่ได้อีก
ซี่โครง๒ทุกซี่ของท่าน เราหักแล้ว
ยอดเรือน๓เราก็รื้อแล้ว
จิตของเราถึงธรรมปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว
เราได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว๔
๙. มหาธนเสฏฐิปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภบุตรเศรษฐีผู้ใช้สอยทรัพย์สมบัติจนหมด จึงตรัส
พระคาถานี้แก่พระอานนท์ ดังนี้)
[๑๕๕] พวกคนโง่เขลาไม่ประพฤติตนให้เป็นคนดี
ในวัยหนุ่มสาวก็ไม่ได้หาทรัพย์ไว้ ย่อมซบเซา
เหมือนนกกระเรียนแก่ซบเซาอยู่ที่เปือกตมไร้ปลา ฉะนั้น
[๑๕๖] พวกคนโง่เขลาไม่ประพฤติตนให้เป็นคนดี
ในวัยหนุ่มสาวก็ไม่ได้หาทรัพย์ไว้
ย่อมนอนรำพึงถึงความหลัง
ดุจลูกธนูที่พ้นจากแล่ง ฉะนั้น
ชราวรรคที่ ๑๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงพบตัณหานั้นได้ด้วยความรู้แจ้งพระสัพพัญญุตญาณ (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๖)
๒ ซี่โครง ในที่นี้หมายถึงกิเลสเหล่าอื่นทั้งหมด (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๖)
๓ ยอดเรือน ในที่นี้หมายถึงอวิชชา ( ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๖)
๔ พระคาถานี้จัดเป็นปฐมพุทธพจน์ (วิ.อ. ๑/๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๒. อัตตวรรค ๒. อุปนันทสักยปุตตเถรวัตถุ
๑๒. อัตตวรรค
หมวดว่าด้วยตน
๑. โพธิราชกุมารวัตถุ
เรื่องโพธิราชกุมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่โพธิราชกุมาร ดังนี้)
[๑๕๗] ถ้าบุคคลรู้ว่าตนเป็นที่รัก ก็ควรรักษาตนนั้นไว้ให้ดี
บัณฑิตพึงประคับประคองตนไว้ให้ได้๑
อย่างน้อยยามใดยามหนึ่งใน ๓ ยาม๒
๒. อุปนันทสักยปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุหนุ่ม ๒ รูป ดังนี้)
[๑๕๘] บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณธรรมที่เหมาะสมก่อน
แล้วสอนคนอื่นในภายหลัง๓ จึงจะไม่มัวหมอง๔

เชิงอรรถ :
๑ ประคับประคองตน ในที่นี้หมายถึงถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็ควรทำบุญ มีทานและศีล เป็นต้น ถ้าเป็นบรรพชิต
ก็ควรขวยขวายทำวัตรปฏิบัติศึกษาพระปริยัติและเจริญกัมมัฏฐาน (ขุ.ธ.อ.๖/๕)
๒ ยาม ในที่นี้หมายถึงวัย ได้แก่ ระยะของอายุ มี ๓ คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย (ขุ.ธ.อ.๖/๔-๕)
๓ หมายถึงเมื่อบัณฑิตประสงค์จะสอนผู้อื่นด้วยคุณธรรมมีความมักน้อย เป็นต้น หรือด้วยปฏิปทาของอริยวงศ์
ตนเองจะต้องดำรงอยู่ในคุณธรรมนั้นก่อน (ขุ.ธ.อ. ๖/๘)
๔ไม่มัวหมอง หมายถึงไม่ถูกนินทา (ขุ.ธ.อ. ๖/๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๑. ชราวรรค ๕. มหากาลอุปาสกวัตถุ
๓. ปธานิกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระปธานิกติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๑๕๙] บุคคลสอนผู้อื่นอย่างไร ก็พึงทำตนอย่างนั้น
ผู้ที่ฝึกตนดีแล้ว จึงควรฝึก(ผู้อื่น)
เพราะตนนั่นแลฝึกได้ยากยิ่ง
๔. กุมารกัสสปมาตาวัตถุ
เรื่องมารดาของพระกุมารกัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๖๐] ตนแลเป็นที่พึ่งของตน๑ บุคคลอื่นใครเล่า จะเป็นที่พึ่งได้
เพราะบุคคลที่ฝึกตนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งอันได้โดยยาก
๕. มหากาลอุปาสกวัตถุ
เรื่องมหากาลอุบาสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๖๑] บาปที่ตนเองทำ เกิดในตน มีตนเป็นแดนเกิด
ย่อมทำลายคนมีปัญญาทราม
เหมือนเพชรที่เกิดจากหินทำลายแก้วมณี ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน หมายถึงตนเองเท่านั้นที่จะสามารถทำกุศลแล้วเข้าถึงสวรรค์ หรือบรรลุมรรคผล
ได้ที่พึ่งที่ได้ยากคืออรหัตตผล ไม่มีใครอื่นจะทำให้ได้ (ขุ.ธ.อ.๖/๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๒. อัตตวรรค ๘. กาลเถรวัตถุ
๖. เทวทัตตวัตถุ
เรื่องพระเทวทัต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๖๒] ความทุศีลโดยสิ้นเชิง๑
ย่อมรึงรัดอัตภาพของบุคคลผู้ทุศีลไว้
ดุจเถาวัลย์ที่รึงรัดต้นสาละไว้
เขาย่อมทำตนให้วิบัติดุจโจรปรารถนาให้เขาวิบัติ ฉะนั้น
๗. สังฆเภทปริสักกนวัตถุ
เรื่องความพยายามเพื่อทำลายสงฆ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนท์ปรารภถึงพระเทวทัต ดังนี้)
[๑๖๓] กรรมที่ไม่ดี และไม่มีประโยชน์แก่ตน ทำได้ง่าย
ส่วนกรรมที่ดี และมีประโยชน์ ทำได้ยากอย่างยิ่ง
๘. กาลเถรวัตถุ
เรื่องพระกาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระกาลเถระและชนทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๖๔] ผู้มีปัญญาทราม อาศัยทิฏฐิชั่ว
คัดค้านคำสอนของพระอริยะ
ผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้ดำรงอยู่โดยธรรม
การคัดค้านและทิฏฐิชั่วนั้น
เกิดขึ้นมาเพื่อทำลายตนเอง
เหมือนขุยไผ่ทำลายต้นไผ่ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ความทุศีลโดยสิ้นเชิง ในที่นี้หมายถึงตัณหาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยทวารทั้ง ๖ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๒. อัตตวรรค ๑๐. อัตตทัตถเถรวัตถุ
๙. จูฬกาลอุปาสกวัตถุ
เรื่องจูฬกาลอุบาสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่จูฬกาลอุบาสก ดังนี้)
[๑๖๕] ตนทำบาปกรรมเอง ก็เศร้าหมองเอง๑
ตนไม่ทำบาปกรรมเอง ก็บริสุทธิ์เอง
ความบริสุทธิ์ และไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตน
คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้๒
๑๐. อัตตทัตถเถรวัตถุ
เรื่องพระอัตตทัตถเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอัตตทัตถเถระ ดังนี้)
[๑๖๖] บุคคลไม่ควรให้ประโยชน์ตน๓เสียไป
เพราะประโยชน์คนอื่นแม้มาก
เมื่อรู้ประโยชน์ตนแล้ว
ก็ควรขวนขวายในประโยชน์ตน
อัตตวรรคที่ ๑๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เศร้าหมองเอง หมายถึงเสวยทุกข์ในอบาย คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย (ขุ.ธ.อ. ๖/๒๓)
๒ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘/๔๑, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓๓/๑๖๖, อภิ.ก. ๓๗/๗๔๓/๔๓๕-๔๓๖
๓ ประโยชน์ตน หมายถึงอริยผล ในที่นี้ ตรัสมุ่งกัมมัฏฐานเป็นหลัก (ขุ.ธ.อ. ๖/๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๓. โลกวรรค ๒. สุทโธทนวัตถุ
๑๓. โลกวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องโลก
๑. ทหรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหนุ่ม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง ดังนี้)
[๑๖๗] บุคคลไม่พึงเสพสิ่งต่ำทราม๑
ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท
ไม่พึงยึดถือความเห็นผิด
ไม่พึงเป็นคนรกโลก
๒. สุทโธทนวัตถุ
เรื่องพระเจ้าสุทโธทนะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าสุทโธทนะพระบิดาของพระองค์ ดังนี้)
[๑๖๘] ภิกษุไม่พึงประมาทบิณฑบาตที่ตนยืนรับ๒
พึงประพฤติสุจริตธรรม๓
ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[๑๖๙] พึงประพฤติสุจริตธรรม
ไม่พึงประพฤติทุจริตธรรม
ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

เชิงอรรถ :
๑ สิ่งต่ำทราม ในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๖/๒๗)
๒ ไม่พึงประมาทบิณฑบาตที่ตนยืนรับ หมายถึงไม่พึงดูหมิ่นอาหารที่ต้องลุกขึ้นไปยืนรับตามลำดับตรอก
ไม่เลือกรับเฉพาะบ้าน (ขุ.ธ.อ. ๖/๒๙)
๓ สุจริตธรรม หมายถึงภิกขาจริยธรรม คือ การเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก ซึ่งตรงกันข้ามกับทุจริต-
ธรรม คือ การเที่ยวบิณฑบาตในสถานที่อโคจร เช่น สถานที่ที่มีหญิงแพศยา เป็นต้น (ขุ.ธ.อ.๖/๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๓. โลกวรรค ๕. สัมมัชชนเถรวัตถุ
๓. ปัญจสตวิปัสสกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เจริญวิปัสสนา ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เจริญวิปัสสนา ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๑๗๐] มัจจุราชย่อมไม่เห็นบุคคลผู้พิจารณาเห็นโลก๑
เหมือนเห็นฟองน้ำ เหมือนเห็นพยับแดด
๔. อภยราชกุมารวัตถุ
เรื่องอภัยราชกุมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อภัยราชกุมาร ดังนี้)
[๑๗๑] ท่านทั้งหลายจงมาดูโลกนี้๒ ที่วิจิตรดุจราชรถ
ที่พวกคนเขลาหมกมุ่นอยู่ แต่พวกผู้รู้หาข้องอยู่ไม่๓
๕. สัมมัชชนเถรวัตถุ
เรื่องพระสัมมัชชนเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๗๒] ผู้ใดประมาทแล้วในกาลก่อน
ภายหลังไม่ประมาท
ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว๔
ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ ฉะนั้น๕

เชิงอรรถ :
๑ โลก หมายถึงโลกคือขันธ์ ๕ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๓๑)
๒ ดูความหมายในเชิงอรรถที่ ๑
๓ ข้องอยู่ หมายถึงติดอยู่ด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๓๒)
๔ ทำโลกนี้ให้สว่างไสว หมายถึงทำโลกคือขันธ์ ๕ เป็นต้น ให้สว่างด้วยมรรคญาณ (ขุ.ธ.อ. ๖/๓๔)
๕ ดูเทียบ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๕๒/๔๓๐, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๘๗๑/๔๘๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๓. โลกวรรค ๘. ติงสภิกขุวัตถุ
๖. อังคุลิมาลเถรวัตถุ
เรื่องพระองคุลิมาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๗๓] บาปกรรมที่ทำไว้ ผู้ใดละเสียได้ด้วยกุศล๑
ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว
ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ ฉะนั้น
๗. เปสการธีตาวัตถุ
เรื่องธิดานายช่างหูก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ธิดาของนายช่างหูก ดังนี้)
[๑๗๔] โลกนี้มืดมน๒ คนในโลกนี้น้อยคนนักจักเห็นแจ้ง
น้อยคนนักจักไปสวรรค์๓
เหมือนนกติดข่าย น้อยตัวนักที่จะพ้นจากข่าย ฉะนั้น
๘. ติงสภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๓๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๑๗๕] ฝูงหงส์บินไปทางดวงอาทิตย์๔ได้
ท่านที่เจริญอิทธิบาทดีแล้ว ไปทางอากาศด้วยฤทธิ์ได้
ส่วนนักปราชญ์ทั้งหลายชนะมารพร้อมทั้งพาหนะได้แล้ว
ย่อมออกไปจากโลกได้๕

เชิงอรรถ :
๑ กุศล ในที่นี้หมายถึงอรหัตตมรรค (ขุ.ธ.อ. ๖/๓๕) และดูเทียบ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๕๒/๔๓๐, ขุ.เถร. (แปล)
๒๖/๘๗๒/๔๘๓
๒ โลกนี้มืดมน หมายถึงโลกิยมหาชนในโลกนี้ เป็นผู้มืดบอด เพราะไม่มีปัญญาจักษุ (ขุ.ธ.อ. ๖/๓๙)
๓ หมายถึงมีน้อยคนที่จะเห็นแจ้งไตรลักษณ์ ที่จะไปสุคติภูมิ หรือที่จะบรรลุนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๖/๗/๓๙)
๔ ทางดวงอาทิตย์ หมายถึงทางอากาศ (ขุ.ธ.อ. ๖/๔๑)
๕ ออกไปจากโลก ในที่นี้หมายถึงออกไปจากวัฏฏะ กล่าวคือบรรลุนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๖/๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๓. โลกวรรค ๑๑. อนาถปิณฑิกปุตตกาลวัตถุ
๙. จิญจมาณวิกาวัตถุ
เรื่องนางจิญจมาณวิกา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๗๖] บุคคลผู้ล่วงละเมิดธรรมอย่างหนึ่ง๑
ผู้มักกล่าวเท็จ ปฏิเสธปรโลก
จะไม่ทำบาปไม่มี
๑๐. อสทิสทานวัตถุ
เรื่องอสทิสทาน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศลและเหล่าอำมาตย์ ดังนี้)
[๑๗๗] พวกคนตระหนี่ไปเทวโลกไม่ได้เลย
พวกคนพาลไม่สรรเสริญการให้ทาน
ส่วนนักปราชญ์อนุโมทนาการให้ทาน
เพราะเหตุนั้นแล เขาจึงได้รับสุขในปรโลก
๑๑. อนาถปิณฑิกปุตตกาลวัตถุ
เรื่องนายกาละบุตรของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี ดังนี้)
[๑๗๘] โสดาปัตติผลประเสริฐกว่าความเป็นเอกราชในแผ่นดิน
กว่าการไปสู่สวรรค์ หรือกว่าความเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง๒
โลกวรรคที่ ๑๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมอย่างหนึ่ง ในที่นี้หมายถึงสัจจะ (ขุ.ธ.อ.๖/๙/๔๖)
๒ ความเป็นเอกราชในแผ่นดิน การไปสู่สวรรค์ และความเป็นใหญ่ในโลก ยังไม่พ้นจากอบายภูมิมีนรกเป็นต้น
แต่โสดาปัตติผลเป็นธรรมปิดกั้นประตูอบายภูมิได้ (ขุ.ธ.อ. ๖/๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๔. พุทธวรรค ๒. ยมกปาฏิหาริยวัตถุ
๑๔. พุทธวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้า
๑. มารธีตาวัตถุ
เรื่องธิดามาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ธิดามาร ๓ นาง คือ นางตัณหา นางอรดี
และนางราคา ดังนี้)
[๑๗๙] กิเลสที่พระพุทธเจ้าพระองค์ใดทรงชนะแล้ว
พระองค์จะไม่ทรงกลับแพ้อีก
กิเลสสักน้อยหนึ่งในโลกไม่ติดตามพระองค์ผู้ชนะได้แล้ว
พวกท่านจักนำพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้มีพระญาณหาที่สุดมิได้ ผู้ไม่มีร่องรอย๑ไปด้วยร่องรอยอะไรเล่า
[๑๘๐] ตัณหาดุจตาข่าย ชื่อว่า วิสัตติกา๒
ไม่มีแก่พระพุทธเจ้าพระองค์ใด เพื่อนำไปในภพไหน ๆ
พวกท่านจักนำพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้มีพระญาณหาที่สุดมิได้ ผู้ไม่มีร่องรอย ไปด้วยร่องรอยอะไรเล่า
๒. ยมกปาฏิหาริยวัตถุ
เรื่องยมกปาฏิหาริย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เทวดาและมนุษย์ที่ประตูสังกัสสนคร ดังนี้)
[๑๘๑] ท่านผู้เป็นปราชญ์เหล่าใดใฝ่ใจในฌาน ยินดีในเนกขัมมะ๓
แม้ทวยเทพก็ชื่นชมท่านผู้เป็นปราชญ์เหล่านั้น
ผู้มีสติ ตรัสรู้เองโดยชอบ

เชิงอรรถ :
๑ ร่องรอย ในที่นี้หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๖๐)
๒ วิสัตติกา หมายถึงตัณหาที่ซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ (ขุ.ธ.อ. ๖/๖๐)
๓ เนกขัมมะ ในที่นี้หมายถึงนิพพานเป็นที่สงบระงับกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๖/๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๔. พุทธวรรค ๔. อานันทเถรปัญหวัตถุ
๓. เอรกปัตตนาคราชวัตถุ
เรื่องพญานาคชื่อเอรกปัตต์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พญานาคชื่อเอรกปัตต์ ดังนี้)
[๑๘๒] การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็นับว่ายาก
การดำรงชีวิตอยู่ของเหล่าสัตว์ก็นับว่ายาก
การที่จะได้ฟังสัทธรรมก็นับว่ายาก
การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเสด็จอุบัติขึ้นก็ยิ่งยาก๑
๔. อานันทเถรปัญหวัตถุ
เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๑๘๓] การไม่ทำบาปทั้งปวง
การทำกุศลให้ถึงพร้อม
การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว๒
นี้คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
[๑๘๔] ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นบรมธรรม
ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่า เป็นบรรพชิต
ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่า เป็นสมณะ

เชิงอรรถ :
๑ การเกิดเป็นมนุษย์ นับว่ายาก เพราะจะต้องได้มาด้วยความพยายามมากและด้วยกุศลมาก การดำรง
ชีวิตอยู่ นับว่ายาก เพราะต้องทำการงานเลี้ยงชีวิต และเพราะต้องดำรงชีวิตอยู่เพียงชั่วระยะนิดหน่อย
การได้ฟังสัทธรรม นับว่ายาก เพราะหาผู้แสดงได้ยาก การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้น
นับว่ายาก เพราะจะต้องบำเพ็ญบารมีด้วยความพยายามอันยิ่งใหญ่จึงจะสำเร็จได้ และจะต้องใช้เวลา
หลายพันโกฏิกัปจึงจะเสด็จอุบัติขึ้นได้ (ขุ.ธ.อ. ๖/๙๓)
๒ การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว หมายถึงการทำจิตของตนให้ผ่องใสปราศจากนิวรณ์ ๕ ประการ (ขุ.ธ.อ.
๖/๔/๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๔. พุทธวรรค ๕. อนภิรติภิกขุวัตถุ
[๑๘๕] การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ความสำรวมในปาติโมกข์
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร
การอยู่ในเสนาสนะที่สงัด
การประกอบความเพียรในอธิจิต๑
นี้คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย๒
๕. อนภิรติภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ไม่ยินดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ดังนี้)
[๑๘๖] ความอิ่มในกามทั้งหลาย
มีไม่ได้ด้วยกหาปณะที่หลั่งมาดังห่าฝน
กามทั้งหลายมีสุขน้อย มีทุกข์มาก
[๑๘๗] บัณฑิตรู้อย่างนี้แล้ว
ย่อมไม่ยินดีในกามทั้งหลายแม้ที่เป็นทิพย์
สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นผู้ยินดีในความสิ้นตัณหา

เชิงอรรถ :
๑ อธิจิต ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ ๘ รวมถึงไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญาด้วย (ขุ.ธ.อ. ๖/๙๕)
๒ ดูอุทานข้อ ๓๖ หน้า ๒๔๔ ในเล่มนี้ และดู ที.ม. (แปล) ๑๐/๙๐/๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๔. พุทธวรรค ๗. อานันทเถรวัตถุ
๖. อัคคิทัตตปุโรหิตวัตถุ
เรื่องอัคคิทัตตปุโรหิต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อัคคิทัตตะผู้ออกบวชเป็นฤๅษีและบริวาร ดังนี้)
[๑๘๘] มนุษย์จำนวนมาก ผู้ถูกภัยคุกคาม
ต่างถึงภูเขา ป่าไม้ อาราม และรุกขเจดีย์เป็นสรณะ
[๑๘๙] นั่นมิใช่สรณะอันเกษม นั่นมิใช่สรณะอันสูงสุด
เพราะผู้อาศัยสรณะเช่นนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง
[๑๙๐] ส่วนผู้ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ
ย่อมใช้ปัญญาชอบพิจารณาเห็นอริยสัจ ๔ ประการ คือ
[๑๙๑] ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์
และอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความสงบระงับทุกข์
[๑๙๒] นั่นเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะอันสูงสุด
เพราะผู้อาศัยสรณะเช่นนั้น
ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้๑
๗. อานันทเถรวัตถุ
เรื่องพระอานนทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๑๙๓] บุรุษอาชาไนยหาได้ยาก เพราะว่าท่านไม่เกิดในที่ทั่วไป
ท่านเป็นนักปราชญ์ ไปเกิดในตระกูลใด
ตระกูลนั้นย่อมมีแต่ความสุข

เชิงอรรถ :
๑ ทุกข์ทั้งปวง หมายถึงวัฏฏทุกข์ทั้งสิ้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๔. พุทธวรรค ๙. กัสสปทสพลสุวัณณเจติยวัตถุ
๘. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๑๙๔] การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นเหตุนำสุขมาให้
การแสดงสัทธรรม เป็นเหตุนำสุขมาให้
ความสามัคคีของหมู่ เป็นเหตุนำสุขมาให้
ความเพียรของคนที่สามัคคีกัน เป็นเหตุนำสุขมาให้
๙. กัสสปทสพลสุวัณณเจติยวัตถุ
เรื่องพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทศพล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๙๕] บุญของบุคคลผู้บูชาท่านผู้ควรบูชา
คือพระพุทธเจ้า หรือพระสาวก
ผู้ก้าวพ้นธรรมเครื่องเนิ่นช้า๑
ผู้ข้ามความโศกและความร่ำไรได้แล้ว
[๑๙๖] ผู้คงที่ ผู้ดับกิเลสได้แล้ว
ผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหน
ใคร ๆ ไม่อาจนับได้ว่า
บุญนี้มีประมาณเท่านี้
พุทธวรรคที่ ๑๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเครื่องเนิ่นช้า หมายถึงตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๕. สุขวรรค ๒. มารวัตถุ
๑๕. สุขวรรค
หมวดว่าด้วยความสุข
๑. ญาติกลหวูปสมนวัตถุ
เรื่องการระงับความทะเลาะของหมู่พระญาติ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระญาติฝ่ายศากยะและโกลิยะ ที่ทะเลาะ
กันเพราะแย่งน้ำทำนา ดังนี้)
[๑๙๗] ในหมู่มนุษย์ผู้มีเวร
เราเป็นผู้ไม่มีเวร อยู่เป็นสุขจริงหนอ
ในหมู่มนุษย์ผู้มีเวร เราอยู่อย่างไม่มีเวร
[๑๙๘] ในหมู่มนุษย์ผู้เดือดร้อน๑
เราเป็นผู้ไม่เดือดร้อน อยู่เป็นสุขจริงหนอ
ในหมู่มนุษย์ผู้เดือดร้อน เราอยู่อย่างไม่เดือดร้อน
[๑๙๙] ในหมู่มนุษย์ผู้ขวนขวาย๒
เราเป็นผู้ไม่ขวนขวาย อยู่เป็นสุขจริงหนอ
ในหมู่มนุษย์ผู้ขวนขวาย เราอยู่อย่างไม่ขวนขวาย
๒. มารวัตถุ
เรื่องมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่มารผู้มีบาป ดังนี้)
[๒๐๐] เราไม่มีกิเลสเครื่องกังวล๓ อยู่เป็นสุขจริงหนอ
เรามีปีติเป็นภักษา
ดุจทวยเทพชั้นอาภัสระ ฉะนั้น๔

เชิงอรรถ :
๑ ผู้เดือดร้อน หมายถึงผู้เดือดร้อนเพราะกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๓)
๒ ผู้ขวนขวาย หมายถึงผู้มุ่งหากามคุณ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๓)
๓ กิเลสเครื่องกังวล (กิญจนะ) หมายถึงราคะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๕)
๔ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๕๔/๑๙๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๕. สุขวรรค ๕. อัญญตรอุปาสกวัตถุ
๓. โกสลรัญโญปราชยวัตถุ
เรื่องความพ่ายแพ้ของพระเจ้าโกศล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๐๑] ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้พ่ายแพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์
ผู้ละทั้งความชนะและความพ่ายแพ้ได้แล้ว
มีใจสงบ ย่อมนอนเป็นสุข๑
๔. อัญญตรกุลทาริกาวัตถุ
เรื่องสาวน้อยในตระกูลหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่สามีของสาวน้อยในตระกูลหนึ่ง ดังนี้)
[๒๐๒] ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี
โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี
ทุกข์เสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี
สุข(อื่น)ยิ่งกว่าความสงบ๒ไม่มี
๕. อัญญตรอุปาสกวัตถุ
เรื่องอุบาสกคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๐๓] ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง๓
สังขารทั้งหลาย๔เป็นทุกข์อย่างยิ่ง
บัณฑิตรู้เรื่องนี้ตามความเป็นจริงแล้ว
ย่อมทำนิพพานให้แจ้ง
เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๒๕/๑๔๘
๒ ความสงบ (สันติ) ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๗)
๓ ความหิว ที่เรียกว่าเป็นโรคอย่างยิ่ง เพราะจะต้องเยียวยารักษาอยู่ตลอดเวลา (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๖)
๔ สังขารทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๕. สุขวรรค ๘. สักกวัตถุ
๖. ปเสนทิโกสลวัตถุ
เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ดังนี้)
[๒๐๔] ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง
ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง
นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
๗. ติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระ ดังนี้)
[๒๐๕] บุคคลดื่มปวิเวกรส๑
ลิ้มรสแห่งความสงบ๒
และได้ลิ้มรสแห่งปีติในธรรมแล้ว
เป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีบาป๓
๘. สักกวัตถุ
เรื่องท้าวสักกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๐๖] การพบเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นการดี
การอยู่ร่วมกับพระอริยะ ก่อให้เกิดสุขทุกเมื่อ
เพราะการไม่พบเห็นคนพาล บุคคลพึงอยู่เป็นสุขเนืองนิตย์

เชิงอรรถ :
๑ ปวิเวกรส หมายถึงเอกีภาวสุข(สุขที่เกิดจากความเป็นผู้อยู่ผู้เดียว) (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๒๔)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๙๕ ในเล่มนี้
๓ ในคาถานี้ ตรัสหมายเอาคุณสมบัติของพระขีณาสพผู้ดื่มรสแห่งปีติที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจโลกุตตรธรรม ๙ ประการ
(ขุ.ธ.อ. ๖/๑๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๖. ปิยวรรค ๑. ตโยชนปัพพชิตวัตถุ
[๒๐๗] เพราะผู้คบค้าสมาคมกับคนพาล
ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน
การอยู่ร่วมกับคนพาล เป็นทุกข์ตลอดเวลา
เหมือนอยู่ร่วมกับศัตรู
การอยู่ร่วมกับนักปราชญ์มีแต่ความสุข
เหมือนอยู่ในหมู่ญาติ
[๒๐๘] เพราะฉะนั้นแล บุคคลควรคบผู้เป็นปราชญ์
มีปัญญา เป็นพหูสูต
มีปกติเอาธุระ มีวัตร๑ เป็นพระอริยะ
เป็นสัตบุรุษ มีปัญญาดี เช่นนั้น
เหมือนดวงจันทร์โคจรไปตามทางของดาวนักษัตร ฉะนั้น
สุขวรรคที่ ๑๕ จบ
๑๖. ปิยวรรค
หมวดว่าด้วยสิ่งเป็นที่รัก
๑. ตโยชนปัพพชิตวัตถุ
เรื่องบรรพชิต ๓ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บรรพชิต ๓ รูป ดังนี้)
[๒๐๙] บุคคลทำตัวให้หมกมุ่นในกิจที่ไม่ควรหมกมุ่น๒
และไม่หมกมุ่นในกิจที่ควรหมกมุ่น
ละเลยสิ่งที่เป็นประโยชน์๓ ติดอยู่ในปิยารมณ์๔
ทะเยอทะยานตามบุคคลผู้ปฏิบัติตนดี

เชิงอรรถ :
๑ มีวัตร หมายถึงมีศีลวัตร และธุดงควัตร ๑๓ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๒๗)
๒ กิจที่ไม่ควรหมกมุ่น หมายถึงการเสพอโคจร ๖ อย่าง มีหญิงแพศยาเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๓๐)
๓ สิ่งที่เป็นประโยชน์ หมายถึงไตรสิกขา คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๓๐)
๔ ปิยารมณ์(อารมณ์ที่น่ารัก) หมายถึงกามคุณ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๖. ปิยวรรค ๓. วิสาขาวัตถุ
[๒๑๐] ไม่ว่าเวลาใด บุคคลไม่ควรติดพันกับสิ่งเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก
เพราะการไม่เห็นสิ่งเป็นที่รักเป็นทุกข์
การพบเห็นสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์
[๒๑๑] เพราะฉะนั้น บุคคลไม่ควรทำสิ่งไร ๆ ให้เป็นที่รัก
เพราะการพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก เป็นทุกข์ระทม
ผู้ที่ไม่มีสิ่งเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก
ย่อมไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด
๒. อัญญตรกุฏุมพิกวัตถุ
เรื่องกุฎุมพีคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่กุฎุมพี ดังนี้)
[๒๑๒] ความโศกเกิดจากสิ่งเป็นที่รัก ภัยก็เกิดจากสิ่งเป็นที่รัก
ผู้พ้นจากสิ่งเป็นที่รักได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย
๓. วิสาขาวัตถุ
เรื่องนางวิสาขา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางวิสาขามิคารมาตาผู้เศร้าโศกเพราะหลานสาว
ชื่อสุทัตตีเสียชีวิต ดังนี้)
[๒๑๓] ความโศกเกิดจากความรัก ภัยก็เกิดจากความรัก
ผู้พ้นจากความรักได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๖. ปิยวรรค ๖. อัญญตรพราหมณวัตถุ
๔. ลิจฉวีวัตถุ
เรื่องเจ้าลิจฉวี
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพวกเจ้าลิจฉวีที่แย่งหญิงผู้งดงามในเมืองจนถึงขั้น
ชกต่อยกัน จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๑๔] ความโศกเกิดจากความยินดี๑ ภัยก็เกิดจากความยินดี
ผู้พ้นจากความยินดีได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย
๕. อนิตถิคันธกุมารวัตถุ
เรื่องอนิตถิคันธกุมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อนิตถิคันธกุมาร ดังนี้)
[๒๑๕] ความโศกเกิดจากกาม๒ ภัยก็เกิดจากกาม
ผู้พ้นจากกามได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย
๖. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ ดังนี้)
[๒๑๖] ความโศกเกิดจากตัณหา ภัยก็เกิดจากตัณหา
ผู้พ้นจากตัณหาได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย

เชิงอรรถ :
๑ ความยินดี หมายถึงความยินดีในกามคุณ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๓๕)
๒ กาม ในที่นี้หมายถึงวัตถุกามและกิเลสกาม (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๖. ปิยวรรค ๘. อนาคามิเถรวัตถุ
๗. ปัญจสตทารกวัตถุ
เรื่องเด็กน้อย ๕๐๐ คน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เด็กน้อย ๕๐๐ คน ดังนี้)
[๒๑๗] บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล๑และทัสสนะ๒
ดำรงอยู่ในธรรม๓ กล่าวคำสัตย์๔
ทำหน้าที่ของตน๕
ย่อมเป็นที่รักของประชาชน
๘. อนาคามิเถรวัตถุ
เรื่องพระอนาคามีเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ของพระผู้บรรลุ
อนาคามิผล ดังนี้)
[๒๑๘] ภิกษุผู้เกิดฉันทะในธรรม๖ ที่ใคร ๆ บอกไม่ได้
มีใจได้สัมผัสแล้ว๗และมีจิตไม่เกาะเกี่ยวในกามทั้งหลาย๘
เราเรียกว่า ผู้มีกระแสในเบื้องบน๙

เชิงอรรถ :
๑ ศีล หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๒)
๒ ทัสสนะ หมายถึงสัมมาทัสสนะ (เห็นชอบ) ที่ประกอบด้วยมรรคและผล (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๒
๓ ดำรงอยู่ในธรรม หมายถึงบรรลุโลกุตตรธรรม ๙ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๒)
๔ กล่าวคำสัตย์ หมายถึงแสดงอริยสัจ ๔ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๒)
๕ ทำหน้าที่ของตน หมายถึงบำเพ็ญสิกขา ๓ ให้บริบูรณ์ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๒)
๖ ธรรม หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ.๖/๑๔๔)
๗ มีใจได้สัมผัสแล้ว หมายถึงมีใจได้สัมผัสมรรคผลเบื้องต่ำ คือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค
สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๔)
๘ ด้วยอำนาจอนาคามิมรรค จึงมีจิตไม่เกาะเกี่ยวในกามทั้งหลาย (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๔)
๙ ผู้มีกระแสในเบื้องบน หมายถึงจะบังเกิดในสุทธาวาสชั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ คือบังเกิดในชั้นอวิหาจนถึง
ชั้นอกนิฏฐา (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๗. โกธวรรค ๑. โรหิณีขัตติยกัญญาวัตถุ
๙. นันทิยวัตถุ
เรื่องนายนันทิยะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระมหาโมคคัลลานะผู้เห็นทิพยสมบัติของ
นายนันทิยะในเทวโลก ดังนี้)
[๒๑๙] ญาติ มิตร และผู้มีใจดีทั้งหลาย
เห็นคนที่จากบ้านไปนาน
กลับจากที่ไกลมาถึงโดยสวัสดิภาพ
ย่อมยินดีว่ามาแล้ว
[๒๒๐] เช่นเดียวกันนั้น บุญทั้งหลาย
ย่อมต้อนรับคนที่ทำบุญไว้
ซึ่งจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้า
เหมือนญาติต้อนรับญาติผู้เป็นที่รักที่กลับมาบ้าน ฉะนั้น
ปิยวรรคที่ ๑๖ จบ
๑๗. โกธวรรค
หมวดว่าด้วยความโกรธ
๑. โรหิณีขัตติยกัญญาวัตถุ
เรื่องเจ้าหญิงโรหิณี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เจ้าหญิงโรหิณี ดังนี้)
[๒๒๑] บุคคลควรละความโกรธ สละมานะ
ก้าวล่วงสังโยชน์ได้หมดทุกอย่าง
ความทุกข์ย่อมไม่รุมเร้าคนนั้นผู้ไม่ติดอยู่ในนามรูป
ผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๓๔/๔๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๗. โกธวรรค ๔. มหาโมคคัลลานเถรปัญหวัตถุ
๒. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เทวดา ดังนี้)
[๒๒๒] ผู้ใดอดกลั้นความโกรธที่เกิดขึ้นไว้ได้
เหมือนนายสารถีหยุดรถที่กำลังแล่นอยู่ได้
เราเรียกผู้นั้นว่า นายสารถี
คนนอกจากนี้ เป็นเพียงผู้ถือเชือกเท่านั้น
๓. อุตตราอุปาสิกาวัตถุ
เรื่องนางอุตตราอุบาสิกา
(พระผู้มีพระภาคทรงชมเชยนางอุตตราที่อดกลั้นความโกรธต่อนางสิริมา จึงตรัส
พระคาถานี้แก่นางอุตตรา ดังนี้)
[๒๒๓] บุคคลพึงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ
พึงชนะคนไม่ดีด้วยความดี
พึงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้
พึงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำสัตย์๑
๔. มหาโมคคัลลานเถรปัญหวัตถุ
เรื่องปัญหาของพระมหาโมคคัลลานเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระมหาโมคคัลลานเถระ ดังนี้)
[๒๒๔] บุคคลควรพูดคำจริง ไม่ควรโกรธ
แม้เขาขอเพียงเล็กน้อยก็ควรให้๒
ด้วยเหตุ ๓ อย่างนี้ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) บุคคลพึงไปเทวโลกได้

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๒/๖๒
๒ ให้ ในที่นี้หมายถึงให้ไทยธรรมแก่ท่านผู้ทรงศีล (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๗. โกธวรรค ๗. อตุลอุปาสกวัตถุ
๕. ภิกขูหิปุฏฐปัญหวัตถุ
เรื่องปัญหาที่ภิกษุทูลถาม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๒๕] มุนี๑ผู้ไม่เบียดเบียน สำรวมกายอยู่เป็นนิตย์๒
ย่อมไปสู่ที่ที่ไม่จุติที่ไปแล้วไม่เศร้าโศก
๖. ปุณณทาสีวัตถุ
เรื่องนางปุณณทาสี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางทาสของเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ชื่อปุณณา
ดังนี้)
[๒๒๖] สำหรับบุคคลผู้ตื่นอยู่ตลอดเวลา
หมั่นศึกษาไตรสิกขาทั้งกลางวันและกลางคืน
น้อมจิตเข้าหานิพพาน
อาสวะทั้งหลาย๓ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้
๗. อตุลอุปาสกวัตถุ
เรื่องอตุลอุบาสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อตุลอุบาสกพร้อมบริวาร ๕๐๐ คน ดังนี้)
[๒๒๗] อตุละเอ๋ย การนินทาและสรรเสริญนี้มีมานานแล้ว
มิใช่เพิ่งมีในวันนี้เท่านั้น
คนนั่งอยู่เฉย ๆ เขาก็นินทา

เชิงอรรถ :
๑ มุนี ในที่นี้หมายถึงพระอเสขะมุนีผู้บรรลุมรรคและผลด้วยโมเนยยปฏิปทา (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๖๘)
๒ สำรวมกาย หมายถึงสำรวมกาย วาจา ใจ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๖๘)
๓ อาสวะ มี ๔ ประการ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๗๑, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๓๗/๕๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๗. โกธวรรค ๘. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ
คนพูดมาก เขาก็นินทา
แม้คนพูดน้อย เขาก็นินทา
ไม่มีใครเลยในโลกนี้ไม่ถูกนินทา
[๒๒๘] ทั้งในอดีต ในอนาคต และในปัจจุบัน
ก็ไม่มีใครเลยที่จะถูกนินทาอย่างเดียว
หรือได้รับการสรรเสริญอย่างเดียว
[๒๒๙] แต่วิญญูชนพิจารณาทุกวัน ๆ
ย่อมสรรเสริญบุคคลผู้ดำเนินชีวิตหาข้อตำหนิมิได้
ผู้เป็นนักปราชญ์ ผู้มีปัญญาและศีลมั่นคง๑
[๒๓๐] ใครเล่าจะควรตำหนิผู้นั้น
ผู้เปรียบเหมือนแท่งทองชมพูนุท
ผู้เช่นนั้น แม้เทวดาและมนุษย์ก็ชื่นชม
ถึงพรหมก็สรรเสริญ
๘. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระฉัพพัคคีย์ ดังนี้)
[๒๓๑] บุคคลพึงรักษาความกำเริบทางกาย
พึงสำรวมกาย ละกายทุจริตแล้ว
พึงประพฤติกายสุจริต

เชิงอรรถ :
๑ ความหมายของคาถานี้ คือ การนินทาหรือสรรเสริญของคนพาล ไม่ถือเป็นประมาณ แต่บัณฑิตผู้ใคร่ครวญแล้ว
รู้เหตุที่ควรติเตียนหรือเหตุที่ควรสรรเสริญ ย่อมเลือกสรรเสริญนักปราชญ์ผู้มีปัญญา และศีลมั่นคง ดำรง
ชีวิตอย่างหาข้อตำหนิมิได้ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๑. โคฆาตกปุตตวัตถุ
[๒๓๒] บุคคลพึงรักษาความกำเริบทางวาจา
พึงสำรวมวาจา ละวจีทุจริตแล้ว
พึงประพฤติวจีสุจริต
[๒๓๓] บุคคลพึงรักษาความกำเริบทางใจ
พึงสำรวมใจ ละมโนทุจริตแล้ว
พึงประพฤติมโนสุจริต
[๒๓๔] นักปราชญ์ผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ
ชื่อว่าเป็นผู้สำรวมดีแท้
โกธวรรคที่ ๑๗ จบ
๑๘. มลวรรค
หมวดว่าด้วยมลทินทางใจ
๑. โคฆาตกปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรของคนฆ่าโค
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บุตรของคนฆ่าโคผู้แก่เฒ่า ดังนี้)
[๒๓๕] บัดนี้ ท่านเปรียบเหมือนใบไม้เหลือง
ทั้งยมทูต๑มาปรากฏแก่ท่านแล้ว
ท่านอยู่ใกล้ปากแห่งความเสื่อม
และแม้แต่เสบียงเดินทาง๒ของท่านก็ยังไม่มีเลย

เชิงอรรถ :
๑ ยมทูต ในที่นี้หมายถึงความตาย (ขุ.ธ.อ. ๗/๕)
๒ เสบียงเดินทาง หมายถึงกุศล (ขุ.ธ.อ. ๗/๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๒. อัญญตรพราหมณวัตถุ
[๒๓๖] ท่านนั้นจงทำที่พึ่ง๑แก่ตนเอง
จงรีบพยายาม จงเป็นบัณฑิต
ท่านขจัดมลทินได้แล้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
จะเข้าถึงอริยภูมิอันเป็นทิพย์๒
[๒๓๗] บัดนี้ ท่านเป็นผู้มีวัยถูกนำเข้าไปแล้ว๓
เตรียมจะไปสำนักพระยายม
ที่พักระหว่างทางของท่านยังไม่มี
และแม้แต่เสบียงเดินทางของท่านก็ยังไม่มีเลย
[๒๓๘] ท่านนั้นจงทำที่พึ่งแก่ตนเอง
จงรีบพยายาม จงเป็นบัณฑิต
ท่านขจัดมลทินได้แล้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ก็จะไม่ต้องเข้าถึงชาติ และชราอีกต่อไป
๒. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ผู้ทำกุศลอยู่บ่อย ๆ ดังนี้)
[๒๓๙] ผู้มีปัญญา พึงกำจัดมลทิน๔ของตน
ทีละน้อย ทุกขณะ โดยลำดับ
เหมือนช่างทองกำจัดสนิมทอง ฉะนั้น๕

เชิงอรรถ :
๑ ที่พึ่ง หมายถึงกุศลกรรม (ขุ.ธ.อ. ๗/๕)
๒ อริยภูมิอันเป็นทิพย์ ในที่นี้หมายถึงสุทธาวาสภูมิ ที่อยู่ของพระอนาคามี มี ๕ คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา
สุทัสสีและอกนิฏฐา (ขุ.ธ.อ. ๗/๕, ที.ปา. ๑๑/๓๑๘/๒๑๑)
๓ มีวัยถูกนำเข้าไปแล้ว หมายถึงล่วงวัยทั้ง ๓ ใกล้จะถึงอายุขัยแล้ว (ขุ.ธ.อ. ๗/๕)
๔ มลทิน หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๗)
๕ ดูเทียบ อภิ.ก. ๓๗/๑๗๘/๑๐๒,๓๔๖/๑๘๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๔. โลลุทายีวัตถุ
๓. ติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๔๐] สนิมเกิดขึ้นจากเหล็ก
ครั้นเกิดขึ้นแล้ว ย่อมกัดเหล็กนั่นเอง ฉันใด
กรรมทั้งหลายของตน ย่อมนำคนผู้ประพฤติล่วงโธนา๑
ไปสู่ทุคติ ฉันนั้น
๔. โลลุทายีวัตถุ
เรื่องพระโลลุทายี
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระโลลุทายีผู้เล่าเรียนธรรมเพียงเล็กน้อยและไม่
ท่องบ่น จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๔๑] มนตร์๒มีการไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน
เรือนมีความไม่ขยันหมั่นเพียร๓เป็นมลทิน
ผิวพรรณมีความเกียจคร้าน๔ เป็นมลทิน
ผู้รักษามีความประมาท๕ เป็นมลทิน

เชิงอรรถ :
๑ โธนา หมายถึงปัญญาที่พิจารณาปัจจัย ๔ แล้วจึงบริโภค ดังนั้น “ผู้ประพฤติล่วงโธนา” จึงหมายถึงผู้
ปราศจากปัญญาพิจารณาปัจจัย ๔ แล้วจึงบริโภค (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๑)
๒ มนตร์ หมายถึงปริยัติและศิลปะ เมื่อไม่ท่องบ่น และไม่เอาใจใส่ ก็เสื่อมสูญ หรือหายไปได้ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๓)
๓ ไม่ขยันหมั่นเพียร หมายถึงไม่เอาใจใส่ดูแล หรือไม่บูรณะซ่อมแซมบ้านเรือน (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๓)
๔ ความเกียจคร้าน หมายถึงการไม่หมั่นชำระร่างกายและอวัยวะส่วนอื่น ๆ ให้สะอาดทำให้มีผิวพรรณมัวหมอง
(ขุ.ธ.อ. ๗/๑๓)
๕ ความประมาท สำหรับคฤหัสถ์ หมายถึงประมาทในทรัพย์สมบัติ เช่น สัตว์เลี้ยง สำหรับบรรพชิต
หมายถึงไม่คุ้มครองอินทรีย์ทวารทั้ง ๖ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๖. จูฬสาริภิกขุวัตถุ
๕. อัญญตรกุลปุตตวัตถุ
เรื่องกุลบุตรคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่กุลบุตรคนหนึ่งซึ่งมีภรรยามักนอกใจ ดังนี้)
[๒๔๒] สตรีมีความประพฤติชั่ว๑เป็นมลทิน
ผู้ให้มีความตระหนี่เป็นมลทิน
บาปธรรม๒เป็นมลทินทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[๒๔๓] มลทินที่ยิ่งกว่ามลทินนั้นคืออวิชชา๓
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละมลทินนั้นให้ได้
แล้วเป็นอยู่อย่างผู้ปราศจากมลทินเถิด
๖. จูฬสาริภิกขุวัตถุ
เรื่องจูฬสารีภิกษุ
(พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิพระจูฬสารีผู้เป็นหมอปรุงยาให้ชาวบ้านเพื่อแลกกับ
โภชนะ จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๔๔] ผู้ไม่มีความละอาย กล้าเหมือนกา
ชอบทำลายคนอื่น ชอบเอาหน้า
มีความคะนอง มีพฤติกรรมสกปรก เป็นอยู่สบาย
[๒๔๕] ส่วนผู้มีความละอาย
แสวงหาความบริสุทธิ์เป็นนิตย์
ไม่เกียจคร้าน ไม่มีความคะนอง
มีอาชีพบริสุทธิ์ และมีปัญญา เป็นอยู่ลำบาก

เชิงอรรถ :
๑ ประพฤติชั่ว หมายถึงการประพฤตินอกใจสามี (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๔, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา ๓/๑๕-๑๘/๒๗๙)
๒ บาปธรรม ในที่นี้หมายถึงอกุศลธรรมทั้งหมด (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๕)
๓ ดู องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๑๕/๒๔๑-๒๔๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๘. ติสสทหรวัตถุ
๗. ปัญจอุปาสกวัตถุ
เรื่องอุบาสก ๕ คน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อุบาสก ๕ คน ดังนี้)
[๒๔๖] นรชนใดในโลก ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์
คบชู้กับภรรยาของผู้อื่น พูดเท็จ
[๒๔๗] และหมกมุ่นในการดื่มสุราและเมรัย๑
นรชนนั้นชื่อว่า ขุดทรัพย์อันเป็นต้นทุน๒ของตนในโลกนี้
[๒๔๘] ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้มีบาปธรรมทั้งหลาย มักไม่สำรวม
ขอโลภะและอธรรม๓ อย่าย่ำยีท่านให้เป็นทุกข์ตลอดกาลนานเลย
๘. ติสสทหรวัตถุ
เรื่องภิกษุหนุ่มชื่อติสสะ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระติสสะเที่ยวติเตียนทานของคนอื่น จึงตรัสพระ
คาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๔๙] บุคคลย่อมให้ทานตามความเชื่อตามความเลื่อมใส
ภิกษุไม่พอใจในข้าวและน้ำที่เป็นทานของคนอื่นนั้น
ย่อมไม่บรรลุสมาธิ๔ในเวลากลางวันหรือกลางคืน
[๒๕๐] ส่วนภิกษุผู้ตัดอกุศลจิตนี้ได้
ถอนขึ้นทำให้รากขาดแล้ว
ย่อมบรรลุสมาธิในเวลากลางวันหรือกลางคืน

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๑๗๔/๒๙๑
๒ ขุดทรัพย์อันเป็นต้นทุน หมายถึงนำที่นาและสวนไปจำนอง หรือขายขาด เพื่อนำทรัพย์ไปซื้อสุรามาดื่ม
(ขุ.ธ.อ. ๗/๑๙)
๓ อธรรม หมายถึงโทสะ (ขุ.ธ.อ. ๗/๒๐)
๔ สมาธิ ในที่นี้หมายถึงอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ หรือมัคคสมาธิ และผลสมาธิ (ขุ.ธ.อ. ๗/๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๑๐. เมณฑกเสฏฐิวัตถุ
๙. ปัญจอุปาสกวัตถุ
เรื่องอุบาสก ๕ คน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อุบาสกคนหนึ่ง ในจำนวน ๕ คน ดังนี้)
[๒๕๑] ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี
ผู้จับเสมอด้วยโทสะไม่มี
ข่ายเสมอด้วยโมหะไม่มี
แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี๑
๑๐. เมณฑกเสฏฐิวัตถุ
เรื่องเมณฑกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เมณฑกเศรษฐี ดังนี้)
[๒๕๒] โทษ๒ของคนอื่นเห็นได้ง่าย
ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก
เพราะคนนั้นชอบโปรยโทษของผู้อื่น
เหมือนคนโปรยแกลบ
แต่กลับปกปิดโทษของตนไว้
เหมือนพรานนกปกปิดร่างพรางกายตนไว้ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ความหมายในคาถานี้ คือ ไฟยังแสดงควันให้รู้ว่ายังมีไฟคนจึงสามารถดับได้ แต่ราคะเผาสัตว์ภายในไม่
แสดงอาการให้รู้, ผู้จับ เช่น ยักษ์ เป็นต้น สามารถจับสัตว์ได้ในชาติเดียวเท่านั้น แต่โทสะจับสัตว์ไม่มีที่
สิ้นสุด, ตาข่ายที่รัดรึงสัตว์ยังสามารถแก้หรือคลายได้ แต่โมหะที่รัดรึงสัตว์ยากที่จะแก้หรือคลายได้, แม่น้ำ
ยังมีวันพร่องหรือเต็มปรากฏให้เห็นได้ แต่ตัณหาไม่มีวันเต็ม ไม่มีวันเหือดแห้ง ทั้งยังปรากฏความพร่อง
อยู่เป็นนิตย์ เติมให้เต็มได้ยาก (ขุ.ธ.อ. ๗/๒๕)
๒ โทษ หมายถึงความพลั้งพลาด (ขุ.ธ.อ. ๗/๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๑๒. สุภัททปริพาชกวัตถุ
๑๑. อุชฌานสัญญิเถรวัตถุ
เรื่องพระอุชฌานสัญญีเถระ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระอุชฌานสัญญีผู้เที่ยวจับผิดภิกษุ จึงตรัสพระ
คาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๕๓] ผู้ที่คอยแต่สอดส่ายหาโทษคนอื่น
คอยเพ่งโทษอยู่เนืองนิตย์
จะมีอาสวะพอกพูนยิ่งขึ้น
และห่างไกลจากความสิ้นอาสวะโดยแท้
๑๒. สุภัททปริพาชกวัตถุ
เรื่องสุภัททปริพาชก
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาของสุภัททปริพาชก ดังนี้)
[๒๕๔] ไม่มีรอยเท้าในอากาศ ไม่มีสมณะภายนอก๑
หมู่สัตว์เป็นผู้ยินดีในปปัญจธรรม๒
แต่พระตถาคตทั้งหลาย ไม่มีปปัญจธรรม
[๒๕๕] ไม่มีรอยเท้าในอากาศ ไม่มีสมณะภายนอก
ไม่มีสังขาร๓ที่เที่ยงแท้
พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีความหวั่นไหว
มลวรรคที่ ๑๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีสมณะภายนอก หมายถึงไม่มีสมณะผู้ดำรงอยู่ในอริยมรรคและอริยผลภายนอกพระพุทธศาสนา
(ขุ.ธ.อ. ๗/๓๗)
๒ปปัญจธรรม หมายถึงกิเลสธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า คือตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ขุ.ธ.อ. ๗/๓๗)
๓สังขาร ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (ขุ.ธ.อ.๗/๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๒. ฉัพพัคคิยวัตถุ
๑๙. ธัมมัฏฐวรรค
หมวดว่าด้วยผู้ตั้งอยู่ในธรรม
๑. วินิจฉยมหามัตตวัตถุ
เรื่องมหาอำมาตย์ผู้พิพากษา
(ภิกษุทั้งหลายเห็นมหาอำมาตย์ผู้พิพากษารับสินบนแล้วตัดสินคดี จึงกราบทูล
ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระองค์ตรัสพระคาถา ดังนี้)
[๒๕๖] ผู้ที่ตัดสินคดีโดยผลีผลาม๑
ไม่ชื่อว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม
ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิต วินิจฉัยคดี
เหตุแห่งคดีทั้งที่เป็นจริงและไม่เป็นจริงทั้งสอง
[๒๕๗] พิพากษาผู้อื่นโดยไม่ผลีผลาม
โดยเที่ยงธรรม โดยสม่ำเสมอ
ผู้มีปัญญา มีธรรมคุ้มครองนั้น
เราเรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม
๒. ฉัพพัคคิยวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๕๘] บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตเพียงเพราะพูดมาก
แต่ผู้มีความเกษม ไม่มีเวร ไม่มีภัย จึงจะชื่อว่า เป็นบัณฑิต.

เชิงอรรถ :
๑ ตัดสินคดีโดยผลีผลาม หมายถึงดำรงอยู่ในอคติ ๔ มีฉันทาคติเป็นต้นแล้วตัดสินคดีโดยมุสาวาท เช่น ทำผู้
ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ให้เป็นเจ้าของทรัพย์ หรือทำผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ไม่ให้เป็นเจ้าของทรัพย์ (ขุ.ธ.อ. ๗/๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๔. ลกุณฑกภัททิยเถรวัตถุ
๓. เอกุทานขีณาสววัตถุ
เรื่องพระเอกุทานขีณาสพ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎก ๒ รูป ดังนี้)
[๒๕๙] บุคคลไม่ชื่อว่าผู้ทรงธรรมเพียงเพราะพูดมาก
ส่วนผู้ใดได้สดับตรับฟังธรรมน้อย
แต่พิจารณาเห็นธรรมด้วยนามกาย
ทั้งไม่ประมาทธรรมนั้น
ผู้นั้นชื่อว่า ผู้ทรงธรรม
๔. ลกุณฏกภัททิยเถรวัตถุ
เรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้อยู่ป่า ๓๐ รูป ที่เห็นพระลกุณฑก-
ภัททิยเถระรูปร่างเล็กเหมือนสามเณร ดังนี้)
[๒๖๐] บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นเถระ๑เพียงเพราะมีผมหงอก
ผู้ที่แก่แต่วัยเท่านั้น เรียกว่า คนแก่เปล่า
[๒๖๑] ส่วนผู้มีสัจจะ มีธรรม๒
มีอหิงสา สัญญมะ และทมะ๓
คายมลทินได้แล้ว เป็นปราชญ์ ชื่อว่า เถระ

เชิงอรรถ :
๑ เถระ ในที่นี้หมายถึงผู้มีคุณธรรมที่ทำให้เป็นผู้มั่นคง คือ รู้แจ้งอริยสัจ ๔ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๔๔)
๒ มีสัจจะ หมายถึงรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการ มีธรรม หมายถึงบรรลุโลกุตตรธรรม ๙ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๗/๔๓)
๓ อหิงสา หมายถึงความไม่เบียดเบียน สัญญมะ หมายถึงศีล ทมะ หมายถึงการสำรวมอินทรีย์ (ขุ.ธ.อ.
๗/๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๖. หัตถกวัตถุ
๕. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายที่พูดจาคล่องแคล่ว ดังนี้)
[๒๖๒] เพราะเหตุเพียงการพูดจาคล่องแคล่ว
หรือเพราะมีผิวพรรณงดงาม
แต่ยังมีความริษยา ตระหนี่ และโอ้อวด
บุคคลก็หาชื่อว่าคนดีได้ไม่
[๒๖๓] ส่วนผู้ตัดความริษยาเป็นต้นนี้ได้
ถอนขึ้นทำให้รากขาดแล้ว
คายโทษได้แล้ว เป็นผู้มีปัญญา
จึงจะชื่อว่า คนดี
๖. หัตถกวัตถุ
เรื่องหัตถกภิกษุ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระหัตถกะผู้พูดจาเหลาะแหละ ดังนี้)
[๒๖๔] ผู้ไม่มีวัตร๑ พูดจาเหลาะแหละ
แม้มีศีรษะโล้น ก็ไม่ชื่อว่าสมณะ
ผู้เต็มไปด้วยความปรารถนา และความอยากได้
จะเป็นสมณะได้อย่างไร
[๒๖๕] ส่วนผู้ใดระงับบาปน้อยใหญ่ลงได้โดยสิ้นเชิง
และเพราะเหตุที่ระงับบาปทั้งหลายได้นี้เอง
เขาจึงเรียกผู้นั้นว่า สมณะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๙๗ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๘. ติตถิยวัตถุ
๗. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พราหมณ์คนหนึ่งเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนาเที่ยวบิณฑบาตอย่างภิกษุ
วันหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคประสงค์จะให้พระองค์ตรัสเรียกว่าภิกษุ พระองค์
จึงตรัสพระคาถา ดังนี้)
[๒๖๖] บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุ๑ เพียงเพราะขอจากผู้อื่นเท่านั้น
ทั้งไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุ เพราะยังสมาทานธรรมที่เป็นพิษอยู่๒
[๒๖๗] ในศาสนานี้ ผู้ที่ลอยบุญและบาปได้แล้ว
ประพฤติพรหมจรรย์ อยู่ในโลกด้วยปัญญา
จึงจะชื่อว่า ภิกษุ
๘. ติตถิยวัตถุ
เรื่องเดียรถีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๖๘] บุคคลโง่เขลาไม่รู้อะไร เพียงแต่นั่งนิ่ง ๆ หาชื่อว่าเป็นมุนีไม่
ส่วนบุคคลผู้ฉลาด เลือกชั่งเอาแต่สิ่งที่ดี ละทิ้งสิ่งที่ชั่ว
[๒๖๙] เหมือนบุคคลชั่งสิ่งของ จึงจะชื่อว่า มุนีแท้
ผู้ที่รู้โลกทั้งสอง ก็เรียกว่า มุนี(เช่นกัน)๓

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุ ในที่นี้หมายถึงผู้ทำลายกิเลสทั้งหลายได้ด้วยญาณ (ขุ.ธ.อ. ๗/๔๗)
๒ สมาทานธรรมที่เป็นพิษ หมายถึงมีความประพฤติชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ (ขุ.ธ.อ.๗/๔๗)
๓ คาถาธรรมบท ๒ ข้อนี้ มีข้อความสัมพันธ์กัน ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๔/๗๑, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๑/๑๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๑๐. สัมพหุลสีลาทิสัมปันนภิกขุวัตถุ
๙. อริยพาฬิสิกวัตถุ
เรื่องพรานเบ็ดชื่ออริยะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสถามชื่อนายพรานเบ็ด นายพรานเบ็ดทูลตอบว่าชื่ออริยะ
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสพระคาถานี้แก่เขา ดังนี้)
[๒๗๐] บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นอริยะ เพราะยังเบียดเบียนสัตว์อยู่
แต่ชื่อว่า อริยะ เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง
๑๐. สัมพหุลสีลาทิสัมปันนภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีลเป็นต้นหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๗๑] ภิกษุ ด้วยเหตุเพียงมีศีล๑และวัตร๒
แม้ด้วยความเป็นพหูสูต๓ ด้วยการได้สมาธิ๔
หรือด้วยการนอนในที่สงัด
[๒๗๒] หรือด้วยการรู้ประจักษ์ว่าเราได้สัมผัสเนกขัมมสุข๕
ที่ปุถุชนไม่เคยได้สัมผัส
แต่ถ้าเธอยังไม่บรรลุความสิ้นอาสวะ
ก็อย่าไว้วางใจ
ธัมมัฏฐวรรคที่ ๑๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ศีล หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ (ปาติโมกขสังวรศีล อินทรียสังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล ปัจจัยสันนิสิตศีล)
(ขุ.ธ.อ. ๗/๕๒)
๒ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๙๗ ในเล่มนี้
๓ความเป็นพหูสูต หมายถึงเรียนปิฎก ๓ (พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก) (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๒)
๔สมาธิ หมายถึงสมาบัติ ๘ (รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔) (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๒)
๕เนกขัมมสุข หมายถึงสุขของพระอนาคามี (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๑. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
๒๐. มัคควรรค
หมวดว่าด้วยมรรค
๑. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๒๗๓] บรรดามรรค มรรคมีองค์ ๘ ประเสริฐที่สุด
บรรดาสัจจะ อริยสัจ ๔ ประเสริฐที่สุด
บรรดาธรรม วิราคธรรม๑ประเสริฐที่สุด
บรรดาสัตว์สองเท้า๒ตถาคตผู้มีจักษุ๓ ประเสริฐที่สุด๔
[๒๗๔] ทางเพื่อความหมดจดแห่งทัสสนะ
คือทางนี้เท่านั้น มิใช่ทางอื่น
เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงดำเนินไปตามทางนี้แล
เพราะทางนี้เป็นทางลวงมารให้หลง
[๒๗๕] ด้วยว่า เธอทั้งหลายดำเนินไปตามทางนี้แล้ว
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
เรารู้วิธีถอนลูกศรคือกิเลสแล้ว
จึงชี้บอกทางนี้แก่เธอทั้งหลาย
[๒๗๖] เธอทั้งหลายควรทำความเพียรเองเถิด
ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้บอกเท่านั้น
ผู้บำเพ็ญภาวนา ดำเนินตามทางนี้แล้ว เพ่งพินิจอยู่
จักพ้นจากเครื่องผูกแห่งมารได้๕

เชิงอรรถ :
๑ วิราคธรรม หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๔)
๒ สัตว์สองเท้า ในที่นี้หมายถึงมนุษย์ (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๔)
๓ จักษุ ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (วิ.อ. ๓/๑๓/๑๗)
๔ อภิ.ก. ๓๗/๘๗๒/๔๙๖
๕ เครื่องผูกแห่งมาร หมายถึงวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ) (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๔. อนัตตลักขณวัตถุ
๒. อนิจจลักขณวัตถุ
เรื่องอนิจจลักษณะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๗๗] เมื่อใด อริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญา๑ว่า
สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์
นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์
๓. ทุกขลักขณวัตถุ
เรื่องทุกขลักษณะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๗๘] เมื่อใด อริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์
เมื่อนั้นย่อมหน่ายในทุกข์
นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์
๔. อนัตตลักขณวัตถุ
เรื่องอนัตตลักษณะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๗๙] เมื่อใด อริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์
นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์๒

เชิงอรรถ :
๑ เห็นด้วยปัญญา หมายถึงเห็นด้วยวิปัสสนาปัญญา (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๖)
๒ ข้อ ๒๗๗-๒๗๙ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๖๗๖-๖๗๘/๔๕๕, อภิ.ก.๓๗/๗๕๓/๔๔๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๖. สูกรเปตวัตถุ
๕. ปธานกัมมิกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระปธานกัมมิกติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๘๐] คนที่ไม่ขยันในเวลาที่ควรขยัน
ทั้งที่ยังหนุ่มยังสาว มีกำลัง
แต่กลับเกียจคร้าน มีความคิดใฝ่ต่ำ๑ ปราศจากความเพียร
เกียจคร้านมาก ย่อมไม่ประสบทาง๒ด้วยปัญญา
๖. สูกรเปตวัตถุ
เรื่องสูกรเปรต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๘๑] บุคคลพึงรักษาวาจา๓ พึงสำรวมใจ๔
และไม่พึงทำความชั่วทางกาย๕
พึงชำระกรรมบถทั้ง ๓ ประการนี้ให้หมดจด
จะพึงพบทางที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้

เชิงอรรถ :
๑ มีความคิดใฝ่ต่ำ หมายถึงหมกมุ่นในมิจฉาวิตก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก
(ขุ.ธ.อ. ๗/๕๙)
๒ ทาง หมายถึงอริยมรรค (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๙)
๓ รักษาวาจา หมายถึงระมัดระวังวาจา โดยเว้นจากวจีทุจริต ๔ อย่าง (เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจาก
การพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ) (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๔)
๔ สำรวมใจ หมายถึงควบคุมใจ โดยไม่ให้มโนทุจริตเกิดขึ้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๔)
๕ ความชั่วทางกาย หมายถึงกายทุริต ๓ อย่าง (ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม) (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๘. สัมพหุลมหัลลกภิกขุวัตถุ
๗. โปฐิลเถรวัตถุ
เรื่องพระโปฐิลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่โปฐิลเถระ ดังนี้)
[๒๘๒] ปัญญา๑เกิดเพราะการประกอบ๒
และเสื่อมไปเพราะการไม่ประกอบ
เมื่อรู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งปัญญาทั้ง ๒ ทางนี้แล้ว
บุคคลพึงตั้งตนโดยวิธีที่ปัญญาจะเจริญยิ่งขึ้น
๘. สัมพหุลมหัลลกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุแก่หลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๘๓] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตัดป่า๓ แต่อย่าตัดต้นไม้
เพราะภัย๔ย่อมเกิดจากป่า
เธอทั้งหลายครั้นตัดป่า และหมู่ไม้ในป่าแล้ว๕
จงเป็นผู้ไม่มีป่าอยู่เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ปัญญา แปลจากคำว่า “ภูริ” ซึ่งเป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งของปัญญา (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๖, อภิธา.ฏีกา ๑๕๒-
๑๕๔/๑๒๑)
๒ การประกอบ หมายถึงมนสิการโดยแยบคายในอารมณ์ธรรม ๓๘ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๖)
๓ ป่า ในที่นี้หมายถึงกิเลสมีราคะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๘)
๔ ภัย ในที่นี้หมายถึงภัยคือชาติ (การเกิด) เป็นต้น ที่เกิดจากป่าคือกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๘)
๕ หมู่ไม้ในป่า หมายถึงกิเลสอื่น ๆ ที่ให้วิบาก หรือที่ให้เกิดในภพต่อ ๆ ไป (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๑๐. มหาธนวาณิชวัตถุ
[๒๘๔] ตราบใด บุรุษยังไม่ตัดหมู่ไม้ในป่า
แม้เพียงเล็กน้อยในสตรีทั้งหลาย
ตราบนั้น เขาย่อมมีใจผูกพัน
เหมือนลูกโคที่ยังดื่มนมมีใจผูกพันในแม่โค ฉะนั้น
๙. สารีปุตตเถรสัทธิวิหาริกวัตถุ
เรื่องสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เป็นศิษย์ของพระสารีบุตร ดังนี้)
[๒๘๕] เธอจงตัดความรักของตน
เหมือนตัดดอกบัวที่เกิดในสารทกาล
จงเพิ่มพูนทางแห่งสันติ๑เท่านั้น
เพราะพระสุคตเจ้าแสดงนิพพานไว้แล้ว
๑๐. มหาธนวาณิชวัตถุ
เรื่องพ่อค้ามีทรัพย์มาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พ่อค้าผ้าที่พักอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ดังนี้)
[๒๘๖] คนพาลมักคิดเช่นนี้ว่า “เราจักอยู่ที่นี่ตลอดฤดูฝน
เราจักอยู่ที่นี่ตลอดฤดูหนาวและฤดูร้อน”
ชื่อว่าย่อมไม่รู้อันตราย๒ที่จะมาถึงตน

เชิงอรรถ :
๑ ทางแห่งสันติ หมายถึงมรรคมีองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๗๒)
๒ อันตราย หมายถึงความตาย (ขุ.ธ.อ. ๗/๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๑๒. ปฏาจาราวัตถุ
๑๑. กิสาโคตมีวัตถุ
เรื่องนางกิสาโคตมี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางกิสาโคตมี ดังนี้)
[๒๘๗] นรชนผู้มัวเมาในบุตรและปศุสัตว์
มีใจเกี่ยวข้องในอารมณ์ต่าง ๆ๑
ย่อมถูกมฤตยูคร่าไป
เหมือนชาวบ้านผู้หลับไหลถูกห้วงน้ำพัดพาไป ฉะนั้น
๑๒. ปฏาจาราวัตถุ
เรื่องนางปฏาจารา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางปฏาจารา ดังนี้)
[๒๘๘] บุคคลเมื่อถึงคราวจะตาย
บุตรทั้งหลายก็ต้านทานไว้ไม่ได้
บิดาก็ต้านทานไว้ไม่ได้
พวกพ้องก็ต้านทานไว้ไม่ได้
แม้ญาติพี่น้องก็ต้านทานไว้ไม่ได้
[๒๘๙] บัณฑิตผู้สำรวมในศีล รู้ความจริงนี้แล้ว
พึงรีบเร่งชำระทางอันจะนำไปสู่นิพพาน
มัคควรรคที่ ๒๐ จบ

เชิงอรรถ :
๑ มีใจเกี่ยวข้องในอารมณ์ต่าง ๆ หมายถึงปรารถนาอยากได้ทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ (ขุ.ธ.อ. ๗/๗๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๑. ปกิณณกวรรค ๒. กุกกุฏณฑขาทิกาวัตถุ
๒๑. ปกิณณกวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ด
๑. อัตตโนปุพพกัมมวัตถุ
เรื่องบุพกรรมของพระองค์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๙๐] ถ้าเห็นว่าจะได้สุขอันยิ่งใหญ่๑
ด้วยการเสียสละสุขอันเล็กน้อย
นักปราชญ์พึงเสียสละสุขอันเล็กน้อย
เพื่อเห็นแก่สุขอันยิ่งใหญ่๒
๒. กุกกุฏัณฑขาทิกาวัตถุ
เรื่องกุมาริกากินไข่ไก่
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางยักษิณีและนางกุลธิดา ดังนี้)
[๒๙๑] ผู้ใดปรารถนาสุขเพื่อตน ด้วยการก่อทุกข์ให้คนอื่น
ผู้นั้นต้องเกี่ยวพันกับเวร ไม่พ้นจากเวรไปได้

เชิงอรรถ :
๑ สุขอันยิ่งใหญ่ ในที่นี้หมายถึงความสุขในนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๘๗)
๒ ดู ขุ.ขุ. แปลในเล่มนี้ ข้อ ๑๘ หน้า ๑๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๑. ปกิณณกวรรค ๔. ลกุณฏกภัททิยวัตถุ
๓. ภัททิยภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุชาวเมืองภัททิยะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุชาวเมืองภัททิยะผู้ขวนขวายในการ
ประดับเขียงเท้า ดังนี้)
[๒๙๒] ภิกษุเหล่าใดละทิ้งกิจที่ควรทำ๑
แต่กลับทำกิจที่ไม่ควรทำ๒
อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่ภิกษุเหล่านั้น
ผู้ถือตัวจัด มัวแต่ประมาท
[๒๙๓] ส่วนภิกษุเหล่าใดมีสติตั้งมั่นในกาย๓เป็นนิตย์
ภิกษุเหล่านั้นหมั่นทำความเพียรในกิจที่ควรทำ
ไม่ทำกิจที่ไม่ควรทำ
อาสวะทั้งหลายของเธอผู้มีสติสัมปชัญญะ
ย่อมถึงการสูญสิ้นไป
๔. ลกุณฏกภัททิยวัตถุ
เรื่องพระลกุณฏกภัททิยะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๙๔] บุคคลฆ่ามารดา๔ ฆ่าบิดา๕
ฆ่ากษัตราธิราชทั้ง ๒ พระองค์ได้๖

เชิงอรรถ :
๑ กิจที่ควรทำ หมายถึงการรักษาศีล การอยู่ป่า การถือธุดงควัตร และการเจริญภาวนา (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๐)
๒ กิจที่ไม่ควรทำ หมายถึงการประดับร่ม รองเท้า เขียงเท้า บาตร ถลกบาตร ประคตเอว และอังสะ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๐)
๓ มีสติตั้งมั่นในกาย หมายถึงเจริญกายคตาสติกัมมัฏฐาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๐)
๔ มารดา หมายถึงตัณหาที่เป็นเหตุให้สัตว์เกิดในภพทั้งสาม (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๒)
๕ บิดา หมายถึงอัสมิมานะ (การถือตัวว่าเป็นเรา) (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๒)
๖ กษัตราธิราชทั้ง ๒ พระองค์ หมายถึงสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) และอุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่า
ขาดสูญ) (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๑. ปกิณณกวรรค ๕. ทารุสากฏิกวัตถุ
ฆ่าชาวแว่นแคว้น๑พร้อมเจ้าพนักงาน๒แล้ว
ดำเนินชีวิตเป็นพราหมณ์๓อยู่อย่างไร้ทุกข์
[๒๙๕] บุคคลฆ่ามารดา ฆ่าบิดา
ฆ่ากษัตราธิราชทั้ง ๒ พระองค์ได้
ทำลายทางเสือผ่านที่ ๕๔ ได้
ดำเนินชีวิตเป็นพราหมณ์อยู่อย่างไร้ทุกข์
๕. ทารุสากฏิกวัตถุ
เรื่องนายทารุสากฏิกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระราชา และนายทารุสากฏิกะ พร้อม
ครอบครัว ดังนี้)
[๒๙๖] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีสติตั้งมั่นในพระพุทธเจ้าเป็นนิตย์
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ
[๒๙๗] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีสติตั้งมั่นในพระธรรมเป็นนิตย์
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ

เชิงอรรถ :
๑ แว่นแคว้น หมายถึงอายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๒)
๒ เจ้าพนักงาน หมายถึงนันทิราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดี) (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๒)
๓ พราหมณ์ หมายถึงพระขีณาสพ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๒)
๔ ทางเสือผ่านที่ ๕ หมายถึงวิจิกิจฉานิวรณ์ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๑. ปกิณณกวรรค ๖. วัชชีปุตตกภิกขุวัตถุ
[๒๙๘] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีสติตั้งมั่นในพระสงฆ์เป็นนิตย์
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ
[๒๙๙] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีสติตั้งมั่นในกายเป็นนิตย์
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ
[๓๐๐] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีใจยินดีในความไม่เบียดเบียน
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ
[๓๐๑] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีใจยินดีในการเจริญภาวนา
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ
๖. วัชชีปุตตกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เป็นโอรสของเจ้าวัชชี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เป็นโอรสของเจ้าวัชชี ดังนี้)
[๓๐๒] การบวชเป็นของยาก๑
ความยินดีในการบำเพ็ญธรรมก็เป็นของยาก

เชิงอรรถ :
๑ การบวช ที่ชื่อว่า เป็นของยาก เพราะจะต้องสละโภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติแล้วมอบกายถวายชีวิต
ในพระศาสนานี้จึงจะบวชได้ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๑. ปกิณณกวรรค ๘. จูฬสุภัททาวัตถุ
เรือนที่ครอบครองไม่ดี ก่อให้เกิดทุกข์๑
การอยู่ร่วมกับคนเสมอกันเป็นทุกข์
การเดินทางไกล๒ก็เป็นทุกข์
เพราะฉะนั้น บุคคลจึงไม่ควรเป็นผู้เดินทางไกล
และไม่ควรให้ทุกข์ติดตามได้
๗. จิตตคหปติวัตถุ
เรื่องจิตตคหบดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๓๐๓] คนมีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล๓
เพียบพร้อมด้วยยศ๔และโภคทรัพย์
จะไปสู่ถิ่นใด ๆ ย่อมได้รับการบูชาในถิ่นนั้น ๆ
๘. จูฬสุภัททาวัตถุ
เรื่องนางจูฬสุภัททา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บริษัท ๔ ดังนี้)
[๓๐๔] สัตบุรุษย่อมปรากฏในที่ไกล
เหมือนภูเขาหิมพานต์ ฉะนั้น
อสัตบุรุษทั้งหลาย ณ ที่นี้ย่อมไม่ปรากฏ
เหมือนลูกศรที่ยิงไปในเวลากลางคืน ฉะนั้น๕

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงผู้ครองเรือนจะต้องปฏิบัติราชกิจของพระราชา หรือกิจของอิสรชน จะต้องสงเคราะห์ชนข้างเคียง
และให้ทานแก่สมณพราหมณ์ เพราะฉะนั้น การครองเรือนจะให้สมบูรณ์เต็มที่เป็นไปได้ยาก ถ้าครองเรือน
ไม่ดี ก็ก่อให้เกิดทุกข์ได้ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๘)
๒ การเดินทางไกล หมายถึงการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๙)
๓ ศีล ในที่นี้หมายถึงศีลสำหรับผู้ครองเรือน (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๐๐)
๔ ยศ ในที่นี้หมายถึงความมีบริวาร (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๐๐)
๕ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๑/๕๔๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๒. นิรยวรรค ๑. สุนทรีปริพาชิกาวัตถุ
๙. เอกวิหาริเถรวัตถุ
เรื่องพระเถระผู้อยู่รูปเดียว
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๐๕] ภิกษุพึงยินดีการนั่งผู้เดียว การนอนผู้เดียว๑
ไม่เกียจคร้าน เที่ยวไปตามลำพัง
ฝึกฝนอยู่ผู้เดียว และยินดีการอยู่ป่า
ปกิณณกวรรคที่ ๒๑ จบ
๒๒. นิรยวรรค
หมวดว่าด้วยคนทำกรรมชั่วตกนรก
๑. สุนทรีปริพาชิกาวัตถุ
เรื่องปริพาชิกาชื่อสุนทรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๐๖] คนที่ชอบกล่าวคำไม่จริง
หรือคนที่ทำความชั่วแล้วกล่าวว่า
‘ฉันไม่ได้ทำ’ ต่างก็ตกนรก
คน ๒ จำพวกนั้น ต่างก็มีกรรมชั่ว
ตายไปแล้ว มีคติเท่าเทียมกันในโลกหน้า๒

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว” มิใช่หมายถึงการอยู่ตามลำพัง แต่หมายถึงการอยู่อย่างไม่ละการมนสิการ
กัมมัฏฐาน เมื่อทำได้อย่างนี้ แม้จะอยู่ท่ามกลางหมู่ภิกษุพันรูป ก็ชื่อว่า นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว (ขุ.ธ.อ.
๗/๑๐๖)
๒ ดู อุทาน ข้อ ๓๘ หน้า ๒๔๘, อิติวุตตกะ ข้อ ๔๘ หน้า ๓๙๙, สุตตนิบาต ข้อ ๖๖๗ หน้า ๖๕๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๒. นิรยวรรค ๔. เขมเสฏฐิปุตตวัตถุ
๒. ทุกขปีฬิตสัตตวัตถุ
เรื่องสัตว์ถูกทุกข์เบียดเบียน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๐๗] ภิกษุชั่วจำนวนมากมีผ้ากาสาวะพันที่คอ
มีธรรมเลวทราม ไม่สำรวม
ย่อมตกนรกเพราะบาปกรรมทั้งหลาย
๓. วัคคุมุทาตีริยภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุอยู่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภภิกษุผู้อยู่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา พูดอวดอุตริมนุสสธรรม
ที่ไม่มีในตนของกันและกันแก่คฤหัสถ์เพื่อปากท้อง จึงตรัสพระคาถาแก่ภิกษุเหล่านั้น
ดังนี้)
[๓๐๘] การกลืนกินก้อนเหล็กแดงที่ร้อนดุจเปลวเพลิง
ยังดีกว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีล ไม่สำรวม
บริโภคอาหารที่ชาวบ้านเขาถวาย๑
๔. เขมเสฏฐิปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรเศรษฐีชื่อเขมกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นายเขมกะผู้ชอบเป็นชู้กับภรรยาของคนอื่น
ดังนี้)
[๓๐๙] นรชนที่ประมาท ชอบเป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น
ย่อมถึงฐานะ๒ ๔ ประการ คือ

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความคาถานี้หมายถึงการที่บุคคลกลืนกินก้อนเหล็กแดงที่ร้อนดุจเปลวเพลิงนั้นส่งผลให้ได้รับทุกขเวทนา
ถึงตาย เพียงชาตินี้เท่านั้น แต่การที่ภิกษุผู้ทุศีลบริโภคข้าวที่ชาวบ้านถวายด้วยศรัทธานั้น ทำให้ตกนรก
หลายร้อยชาติ ดังนั้น การกลืนกินก้อนเหล็กแดงที่ร้อนนั้นจึงดีกว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีลบริโภคข้าวชาวบ้าน (ขุ.ธ.อ.
๗/๑๑๒)
๒ ฐานะ ในที่นี้หมายถึงเหตุแห่งทุกข์ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๒. นิรยวรรค ๕. ทุพพจภิกขุวัตถุ
(๑) ได้บาป (๒) นอนไม่เป็นสุข
(๓) ถูกนินทา (๔) ตกนรก
[๓๑๐] เพราะการได้บาป ๑ การได้คติที่เลว ๑
หญิงชายที่ต่างสะดุ้งกลัวมีความสนุกนิดหน่อย ๑
ถูกพระราชาลงพระอาชญาอย่างหนัก ๑
นรชนจึงไม่ควรเป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น
๕. ทุพพจภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ว่ายาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ว่ายาก ดังนี้)
[๓๑๑] หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือได้ ฉันใด
ความเป็นสมณะที่บุคคลปฏิบัติไม่ดี๑
ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น
[๓๑๒] กรรมที่ย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรที่เศร้าหมอง
และพรหมจรรย์ที่พึงระลึกถึงด้วยความระแวงสงสัย
ทั้ง ๓ นั้น ไม่มีผลมาก๒
[๓๑๓] หากภิกษุพึงทำกรรมใด ก็ควรทำกรรมนั้นให้จริงจัง
ควรบากบั่นทำกรรมนั้นให้มั่นคง
เพราะธรรมเครื่องละเว้น๓ที่ประพฤติอย่างย่อหย่อน
รังแต่จะเกลี่ยธุลี๔ลงใส่ตัว

เชิงอรรถ :
๑ ความเป็นสมณะที่บุคคลปฏิบัติไม่ดี หมายถึงภาวะแห่งความเป็นสมณะ กล่าวคือสมณธรรมที่ภิกษุ
ปฏิบัติไม่ดีเพราะเป็นผู้ทุศีล เป็นต้น ย่อมส่งผลให้สัตว์ไปเกิดในนรก (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๑๕)
๒ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๘๙/๙๔, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๒๗๗/๓๘๔
๓ ธรรมเครื่องละเว้น ในที่นี้หมายถึงสมณธรรม (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๑๖)
๔ ธุลี หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๐ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น