Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๕-๓ หน้า ๑๓๑ - ๑๙๖

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕-๓ สุตตันตปิฎกที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ธรรมบท
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๒. นิรยวรรค ๗. อาคันตุกภิกขุวัตถุ
๖. อิสสาปกติอิตถีวัตถุ
เรื่องหญิงขี้หึง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่หญิงขี้หึงและแก่บริษัท ๔ ดังนี้)
[๓๑๔] ความชั่ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า
เพราะระลึกถึงความชั่ว บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลัง
ส่วนความดี ทำไว้เถิดดีกว่า
เพราะทำแล้วระลึกถึงภายหลังบุคคลย่อมไม่เดือดร้อน
๗. อาคันตุกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุอาคันตุกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุอาคันตุกะผู้อยู่ในเมืองชายแดน ดังนี้)
[๓๑๕] เมืองชายแดนได้รับการคุ้มครองทั้งภายในและภายนอก ฉันใด
เธอทั้งหลายจงคุ้มครองตนให้ได้ ฉันนั้น
ขณะ๑อย่าได้ล่วงเลยเธอทั้งหลายไปเสีย
เพราะเหล่าชนที่ปล่อยให้ขณะล่วงเลยไป
ย่อมเศร้าโศก แออัดอยู่ในนรก๒

เชิงอรรถ :
๑ ขณะ หมายถึงเวลา หรือสมัย มี ๔ คือ (๑) ขณะแห่งการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า (๒) ขณะแห่งการเกิด
ในมัชฌิมประเทศ (๓) ขณะแห่งการได้สัมมาทิฏฐิ (๔) ขณะแห่งอายตนะทั้ง ๖ ไม่วิกลวิกาล (ขุ.ธ.อ. ๗/๒๓๐)
๒ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๖๕๓/๔๕๒, ๑๐๐๔/๕๐๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๒. นิรยวรรค ๙. ติตถิยสาวกวัตถุ
๘. นิคัณฐวัตถุ
เรื่องนิครนถ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๑๖] สัตว์ทั้งหลายผู้ละอายในสิ่งที่ไม่ควรละอาย
และไม่ละอายในสิ่งที่ควรละอาย
ชื่อว่าถือมั่นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไปสู่ทุคติ
[๓๑๗] สัตว์ทั้งหลายผู้เห็นสิ่งที่ไม่ควรกลัวว่าควรกลัว
และเห็นสิ่งที่ควรกลัวว่าไม่ควรกลัว
ชื่อว่าถือมั่นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไปสู่ทุคติ
๙. ติตถิยสาวกวัตถุ
เรื่องสาวกเดียรถีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่สาวกของเดียรถีย์ ดังนี้)
[๓๑๘] สัตว์ทั้งหลายผู้เห็นสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ๑
และเห็นสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ
ชื่อว่าถือมั่นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไปสู่ทุคติ
[๓๑๙] สัตว์ทั้งหลายผู้รู้สิ่งที่มีโทษว่ามีโทษ
และรู้สิ่งที่ไม่มีโทษว่าไม่มีโทษ
ชื่อว่าถือมั่นสัมมาทิฏฐิ ย่อมไปสู่สุคติ
นิรยวรรคที่ ๒๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เห็นสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ หมายถึงเห็นสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ ประการ และ
เห็นธรรมที่ส่งเสริมสัมมาทิฏฐิว่าเป็นธรรมที่ส่งเสริมมิจฉาทิฏฐิ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๓. นาควรรค ๑. อัตตทันตวัตถุ
๒๓. นาควรรค
หมวดว่าด้วยช้าง
๑. อัตตทันตวัตถุ
เรื่องการฝึกตน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนท์ ดังนี้)
[๓๒๐] เราจักอดกลั้นถ้อยคำล่วงเกิน
เหมือนพญาช้างในสงคราม
อดทนลูกศรที่ตกจากแล่ง
เพราะคนจำนวนมากเป็นผู้ทุศีล
[๓๒๑] คนทั้งหลายนำสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม
พระราชาย่อมทรงราชพาหนะที่ฝึกแล้ว
ในหมู่มนุษย์ คนที่อดกลั้นถ้อยคำล่วงเกินได้
ชื่อว่าเป็นผู้ฝึกตนได้แล้ว๑ เป็นผู้ประเสริฐที่สุด
[๓๒๒] ม้าอัสดร ม้าอาชาไนย ม้าสินธพ ช้างใหญ่
ที่ได้รับการฝึกหัดแล้ว เป็นสัตว์ประเสริฐ
แต่คนที่ฝึกตนได้แล้ว ประเสริฐกว่าสัตว์พาหนะเหล่านั้น๒

เชิงอรรถ :
๑ ฝึกตนได้แล้ว หมายถึงฝึกตนได้ด้วยอริยมรรค ๔ (โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค
และอรหัตตมรรค) (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๒๕)
๒ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๐/๒๘๒, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๘/๑๑๗-๑๑๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๓. นาควรรค ๔. ปเสนทิโกสลราชวัตถุ
๒. หัตถาจริยปุพพกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เคยเป็นนายควาญช้าง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เคยเป็นนายควาญช้าง ดังนี้)
[๓๒๓] แท้จริง บุคคลไม่สามารถไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไป๑ด้วยยานเหล่านี้
แต่บุคคลผู้ฝึกตนได้แล้ว สามารถไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป
ด้วยตนที่ฝึกแล้ว ที่ฝึกดีแล้ว๒
๓. ปริชิณณพราหมณปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรของพราหมณ์ชรา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บุตร ๔ คนของพราหมณ์ชรา ดังนี้)
[๓๒๔] ช้างกุญชรชื่อธนปาลกะ ตกมันจัด ห้ามได้ยาก ถูกขังไว้
ไม่ยอมกินฟ่อนหญ้า เพราะระลึกถึงแต่นาควัน๓
๔. ปเสนทิโกสลราชวัตถุ
เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้เสวยพระกระยาหารมาก
ดังนี้)
[๓๒๕] เมื่อใด บุคคลผู้ถูกความง่วงเหงาครอบงำ บริโภคมาก
ชอบแต่นอนกลิ้งเกลือกไปมา
เมื่อนั้น เขาย่อมมีปัญญาเฉื่อยชา ชอบเข้าห้องเป็นอาจิณ
เหมือนสุกรอ้วนที่เขาขุนด้วยเศษอาหาร ฉะนั้น๔

เชิงอรรถ :
๑ ทิศที่ยังไม่เคยไป หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๒๖)
๒ ที่ชื่อว่า ฝึกแล้ว เพราะฝึกอินทรีย์ได้ในเบื้องต้น ที่ชื่อว่า ฝึกดีแล้ว เพราะอบรมตนได้ด้วยอริยมรรค
(ขุ.ธ.อ. ๗/๑๒๖)
๓ นาควัน หมายถึงป่าช้าง เป็นที่อยู่ของช้างพังแม่ของช้างธนปาลกะ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๒๖)
๔ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๗/๓๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๓. นาควรรค ๗. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
๕. สานุสามเณรวัตถุ
เรื่องสานุสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่สานุสามเณร ดังนี้)
[๓๒๖] แต่ก่อนจิตนี้ได้ท่องเที่ยวไปในอารมณ์ต่าง ๆ
ตามความปรารถนา ตามความต้องการ ตามความสบาย
วันนี้ เราจะข่มจิตนั้นโดยอุบายอันแยบคาย
เหมือนควาญช้างปราบพยศช้างตกมัน ฉะนั้น๑
๖. ปาเวรกหัตถิวัตถุ
เรื่องช้างปาเวรกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๒๗] เธอทั้งหลายจงยินดีในความไม่ประมาท
จงตามรักษาจิตของตน
จงถอนตนขึ้นจากหล่ม๒
เหมือนช้างกุญชรที่จมลงในเปือกตม ถอนตนขึ้นได้ ฉะนั้น
๗. สัมพหุลภิกขุวัตถุ๓
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๒๘] ถ้าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกัน เป็นสาธุวิหารี๔ เป็นนักปราชญ์

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๗๗/๓๓๑,๑๑๓๓/๕๒๔
๒ หล่ม ในที่นี้หมายถึงกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๔๐)
๓ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๔๖๔/๓๕๕, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๗-๑๙/๓๐๓, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๑-๑๓๒/๔๓๓-๔๓๔
๔ สาธุวิหารี หมายถึงผู้เพียบพร้อมด้วยพรหมวิหารธรรม ๔ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิต-
นิโรธ ๑ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๑/๔๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๓. นาควรรค ๘. มารวัตถุ
ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว
พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด
[๓๒๙] ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเถิด
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว
ทรงประพฤติอยู่ผู้เดียว
และเหมือนช้างมาตังคะละทิ้งโขลงอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น
[๓๓๐] การเที่ยวไปของบุคคลผู้เดียวเป็นความประเสริฐ
เพราะคุณเครื่องความเป็นสหาย๑ไม่มีในคนพาล
อนึ่ง บุคคลควรมีความขวนขวายน้อย
เที่ยวไปผู้เดียว ไม่พึงทำความชั่ว
เหมือนช้างมาตังคะเที่ยวไปตัวเดียวในป่า ฉะนั้น
๘. มารวัตถุ
เรื่องมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่มารผู้มีบาป ดังนี้)
[๓๓๑] เมื่อมีกิจเกิดขึ้น สหายทั้งหลายนำสุขมาให้
ความยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ นำสุขมาให้
ในเวลาสิ้นชีวิต บุญนำสุขมาให้
การละทุกข์ได้ทั้งหมด นำสุขมาให้

เชิงอรรถ :
๑ คุณเครื่องความเป็นสหาย หมายถึงคุณธรรมเหล่านี้ คือ จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล กถาวัตถุ ๑๐
ธุดงคคุณ ๑๓ วิปัสสนาญาณ มรรค ๔ ผล ๔ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ อมตมหานิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๗/๑๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๑. กปิลมัจฉวัตถุ
[๓๓๒] ในโลก การเกื้อกูลมารดา นำสุขมาให้
การเกื้อกูลบิดา นำสุขมาให้
การเกื้อกูลสมณะ นำสุขมาให้
การเกื้อกูลท่านผู้ประเสริฐ๑ก็นำสุขมาให้
[๓๓๓] ศีลนำสุขมาให้ตราบเท่าชรา๒
ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้ว นำสุขมาให้
การได้ปัญญา นำสุขมาให้
การไม่ทำบาปทั้งหลาย ก็นำสุขมาให้
นาควรรคที่ ๒๓ จบ
๒๔. ตัณหาวรรค
หมวดว่าด้วยตัณหา
๑. กปิลมัจฉวัตถุ
เรื่องปลากปิละ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บริษัท ๔ ดังนี้)
[๓๓๔] ตัณหาย่อมเจริญแก่มนุษย์ผู้ประพฤติประมาท๓
เหมือนเถาย่านทรายเจริญอยู่ในป่า
เขาย่อมเร่ร่อนไปมา
เหมือนวานรที่ต้องการผลไม้ เที่ยวเร่ร่อนไปมาในป่า ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ท่านผู้ประเสริฐ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกผู้ลอยบาปได้แล้ว
(ขุ.ธ.อ. ๗/๑๔๗)
๒ ศีลนำสุขมาให้ตราบเท่าชรา หมายถึงศีล ๕ ศีล ๑๐ เป็นต้น ย่อมเป็นเครื่องประดับทำให้เกิดความงาม
และความสุขแก่คนทุกเพศทุกวัย ไม่มีล้าสมัยไร้ตำหนิ ต่างจากเครื่องประดับภายนอกที่ทำให้งามเฉพาะ
เพศหรือวัย ใครที่ใช้เครื่องประดับหรือเครื่องแต่งกายไม่เหมาะกับเพศหรือวัย ก็จะถูกตำหนิ และถูกสงสัยว่า
เป็นบ้าเสียสติ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๔๗)
๓ ผู้ประพฤติประมาท หมายถึงผู้มีความเป็นอยู่ด้วยความประมาท ปราศจากสติ ไม่เจริญฌาน วิปัสสนา
มรรค และผล (ขุ.ธ.อ. ๘/๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๒. สูกรโปติกาวัตถุ
[๓๓๕] ตัณหาที่เลวทรามซ่านไปในโลกนี้
ครอบงำบุคคลใดไว้ได้
ความโศกย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น
เหมือนหญ้าคมบางที่ถูกฝนตกรดแล้วเจริญงอกงามขึ้น ฉะนั้น
[๓๓๖] ส่วนบุคคลใดครอบงำตัณหาที่เลวทรามนั้น
ซึ่งล่วงได้ยากในโลกไว้ได้
ความโศกย่อมตกไปจากบุคคลนั้น
เหมือนหยาดน้ำกลิ้งตกไปจากใบบัว ฉะนั้น
[๓๓๗] เพราะเหตุนั้น เราขอเตือนท่านทั้งหลาย
ขอท่านทั้งหลายที่ประชุมกันในที่นี้ จงมีความเจริญ
ขอท่านทั้งหลายจงขุดรากเหง้าแห่งตัณหา๑
เหมือนคนต้องการหญ้าแฝกขุดหญ้าแฝก
มารอย่าได้ระรานท่านทั้งหลายอยู่ร่ำไป
เหมือนกระแสน้ำระรานไม้อ้อ ฉะนั้น๒
๒. สูกรโปติกาวัตถุ
เรื่องลูกสุกรตัวเมีย
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๓๘] ต้นไม้ เมื่อรากยังแข็งแรง ยังไม่ถูกทำลาย
แม้ลำต้นถูกตัดแล้ว ก็งอกขึ้นได้ใหม่ ฉันใด
ความทุกข์นี้ เมื่อบุคคลขจัดตัณหานุสัยไม่ได้ขาด
ก็ย่อมเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุดรากเหง้า หมายถึงขุดรากเหง้าแห่งตัณหาอันเป็นไปในทวาร ๖ นี้ ด้วยญาณอันสัมปยุตด้วยอรหัตต-
มรรค (ขุ.ธ.อ. ๘/๗)
๒ ธรรมบทข้อ ๓๓๔-๓๓๗ นี้ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๓๙๙-๔๐๒/๔๐๘-๔๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๒. สูกรโปติกาวัตถุ
[๓๓๙] บุคคลใดยังมีกระแสตัณหาอันแรงกล้า ๓๖ สาย๑
ที่มักไหลไปยังอารมณ์อันน่าพอใจ
ความดำริเป็นอันมากที่อาศัยราคะ
ย่อมนำบุคคลนั้นซึ่งมีความเห็นผิดไป
[๓๔๐] กระแสตัณหาทั้งหลายไหลไปในอารมณ์ทั้งหมด
ตัณหาดุจเถาวัลย์ ก็งอกงามขึ้น
พวกเธอ ครั้นเห็นตัณหาดุจเถาวัลย์ที่งอกงามนั้น
จงตัดรากด้วยปัญญา๒
[๓๔๑] สัตว์โลกผู้มีแต่โสมนัสซาบซ่าน
ฉ่ำชื้นด้วยเสน่หา๓
มัวแต่จะแสวงหาความสุขสำราญกันอยู่
จึงต้องเข้าถึงชาติและชราร่ำไป
[๓๔๒] หมู่สัตว์ถูกล้อมไว้ด้วยตัณหาที่ทำให้สะดุ้ง
จึงดิ้นรนเหมือนกระต่ายติดบ่วง
หมู่สัตว์ผู้ถูกสังโยชน์และกิเลสเครื่องข้อง๔ผูกไว้แน่น
ย่อมได้รับความทุกข์ร่ำไปชั่วกาลนาน

เชิงอรรถ :
๑ ตัณหา ๓๖ สาย ได้แก่ ตัณหา ๓ (กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา) อาศัยอายตนะภายใน ๖
(๓ x ๖ = ๑๘) อาศัยอายตนะภายนอก ๖ (๓ x ๖ = ๑๘) ได้กระแส ๓๖ สายที่ไหลไปในอารมณ์มีรูป
เป็นต้นที่น่าชอบใจ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐)
๒ ปัญญา หมายถึงปัญญาอันสัมปยุตด้วยมรรค (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐)
๓ ฉ่ำชื้นด้วยเสน่หา หมายถึงเปียกชุ่มด้วยยางเหนียว คือตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐)
๔ หมายถึงสังโยชน์ ๑๐ ประการ และกิเลสเครื่องข้อง ๗ ประการ มีราคะเป็นต้นผูกไว้หรือเกี่ยวไว้ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๔. พันธนาคารวัตถุ
[๓๔๓] หมู่สัตว์ถูกล้อมไว้ด้วยตัณหาที่ทำให้สะดุ้ง
จึงดิ้นรนเหมือนกระต่ายติดบ่วง
เพราะเหตุนั้น ภิกษุเมื่อหวังให้ตนสิ้นราคะ
ควรบรรเทาตัณหาที่ทำให้สะดุ้งเสีย
๓. วิพภันตกวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้กระสันจะสึก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บริษัท ๔ ดังนี้)
[๓๔๔] บุคคลใดออกจากอาลัยแล้ว๑ มีใจน้อมไปในป่า๒
พ้นจากป่าแล้ว๓ยังแล่นเข้าไปสู่ป่านั้นอีก
ท่านทั้งหลายจงดูบุคคลนั้น
เขาพ้นจากเครื่องผูก ยังแล่นไปสู่เครื่องผูกตามเดิม
๔. พันธนาคารวัตถุ
เรื่องเรือนจำ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เหล่าภิกษุผู้เห็นโจรถูกจองจำในเรือนจำ ดังนี้)
[๓๔๕] นักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวถึงเครื่องจองจำ
ที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้ และทำด้วยหญ้าปล้อง
ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง แต่กล่าวถึง
ความกำหนัดยินดีในต่างหูแก้วมณี และความใยดีในบุตรภรรยา
ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง

เชิงอรรถ :
๑ อาลัย ในที่นี้หมายถึงความเป็นอยู่อย่างคฤหัสถ์ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๔)
๒ ป่า ในที่นี้หมายถึงตบะ (ตโปวนะ) (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๔)
๓ ป่า ในที่นี้หมายถึงตัณหาคือเครื่องผูกให้อยู่ครองเรือน (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๖. อุคคเสนเสฏฐิปุตตวัตถุ
[๓๔๖] นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวถึงความกำหนัด เครื่องจองจำที่มั่นคงนั้น
ว่ามีปกติเหนี่ยวลง หย่อนยาน แต่แก้ให้หลุดยาก
นักปราชญ์เหล่านั้นตัดเครื่องจองจำนั้นได้แล้ว
ไม่ใยดี ละกามสุข ออกบวช๑
๕. เขมาเถรีวัตถุ
เรื่องพระเขมาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเขมาเถรี ดังนี้)
[๓๔๗] สัตว์ทั้งหลายผู้กำหนัดยินดีด้วยราคะ๒
ย่อมตกไปสู่กระแสตัณหา
เหมือนแมงมุมติดใยที่ตนถักไว้เอง
นักปราชญ์ทั้งหลายตัดกระแสตัณหานั้นได้แล้ว
หมดความใยดี ย่อมละทุกข์ทั้งปวงไปได้
๖. อุคคเสนเสฏฐิปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรเศรษฐีชื่ออุคคเสน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นายอุคคเสน ดังนี้)
[๓๔๘] เธอจงเป็นผู้ปล่อยวางทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน๓
จงเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ
เธอผู้มีใจหลุดพ้นในธรรมทั้งปวงแล้ว
จักไม่เข้าถึงชาติ และชราอีกต่อไป

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๒๑/๑๔๐, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๐๑-๑๐๒/๕๕
๒ หมายรวมถึงขุ่นเคืองเพราะโทสะ ลุ่มหลงเพราะโมหะด้วย (ขุ.ธ.อ. ๘/๒๐)
๓ หมายถึงปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ความทะยานอยากในขันธ์ทั้งหลายที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน
(ขุ.ธ.อ.๘/๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๘. มารวัตถุ
๗. จูฬธนุคคหปัณฑิตวัตถุ
เรื่องจูฬธนุคคหบัณฑิต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งผู้กระสันจะสึก ดังนี้)
[๓๔๙] บุคคลผู้ถูกวิตก๑ย่ำยี มีราคะจัด เห็นอารมณ์ว่างามเสมอ
ย่อมมีตัณหาพอกพูนมากขึ้น ๆ
บุคคลเช่นนั้นแลชื่อว่าสร้างเครื่องผูกมัดที่แน่นหนา
[๓๕๐] ส่วนผู้ใดยินดีในฌานเป็นที่ระงับวิตก๒
มีสติทุกเมื่อ เจริญอสุภฌานอยู่
ผู้นั้นแล จักทำตัณหาให้สิ้นไปได้
จักตัดเครื่องผูกแห่งมาร๓ได้
๘. มารวัตถุ
เรื่องมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่มารผู้มีบาป ดังนี้)
[๓๕๑] ผู้บรรลุความสำเร็จแล้ว๔ ไม่มีความสะดุ้งกลัว
ปราศจากตัณหา ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ตัดลูกศรที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
ร่างกายนี้จึงเป็นร่างกายสุดท้าย

เชิงอรรถ :
๑ วิตก หมายถึงความตรึกมี ๓ อย่าง คือ กามวิตก ความตรึกในทางกาม พยาบาทวิตก ความตรึกในทาง
พยาบาท วิหิงสาวิตก ความตรึกในทางเบียดเบียน (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๐)
๒ ฌานเป็นที่ระงับวิตก หมายถึงปฐมฌานที่มีอสุภะ ๑๐ ประการเป็นอารมณ์ สามารถเข้าไปสงบระงับ
มิจฉาวิตกได้ (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๐)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๓ หน้า ๓๕ ในเล่มนี้
๔ ความสำเร็จ หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๙. อุปกาชีวกวัตถุ
[๓๕๒] ผู้ปราศจากตัณหา หมดความยึดมั่น
ฉลาดในนิรุตติบท๑
รู้หมวดหมู่และเบื้องต้นเบื้องปลายของอักษรทั้งหลาย
ผู้นั้นแลเรียกว่า ผู้มีร่างกายเป็นร่างกายสุดท้าย
ผู้มีปัญญามาก เป็นมหาบุรุษ
๙. อุปกาชีวกวัตถุ
เรื่องอาชีวกชื่ออุปกะ
(พระผู้มีพระภาคเมื่อแรกตรัสรู้ประทับนั่งที่ควงไม้โพธิ์ อาชีวกชื่ออุปกะเข้ามา
ถามพระองค์ว่า บวชเพื่อใคร ใครเป็นศาสดา พระองค์จึงตรัสพระคาถา ดังนี้)
[๓๕๓] เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง๒ รู้ธรรมทั้งปวง๓
มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง๔ ละธรรมทั้งปวงได้๕
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา
ตรัสรู้ยิ่งเองแล้วจะพึงกล่าวอ้างใครเล่า๖

เชิงอรรถ :
๑ นิรุตติบท หมายถึงนิรุตติปฏิสัมภิทา รวมทั้งปฏิสัมภิทาที่เหลืออีก ๓ อย่าง (อัตถปฏิสัมภิทา ธัมมปฏิสัมภิทา
และปฏิภาณปฏิสัมภิทา) (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๒)
๒ ธรรม หมายถึงธรรม ๓ ระดับ (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ) (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๔)
๓ ธรรม หมายถึงธรรม ๔ ระดับ (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ โลกุตตรภูมิ) (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๔)
๔ มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง หมายถึงไม่เปื้อนด้วยตัณหาและทิฏฐิในธรรม ๓ ระดับนั้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๔)
๕ ละธรรมทั้งปวงได้ หมายถึงละธรรม ๓ ระดับ กล่าวคือละธรรมชั้นกามาวจร ชั้นรูปาวจร และชั้น
อรูปาวจรได้ (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๔)
๖ หมายถึงเมื่อรู้เองได้อย่างนี้แล้ว จะต้องอ้างใครเป็นอุปัชฌาย์ หรืออาจารย์อีกเล่า (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๔) และดู
วิ.ม. (แปล) ๔/๑๑/๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๑๑. อปุตตกเสฏฐิปุตตวัตถุ
๑๐. สักกเทวราชวัตถุ
เรื่องท้าวสักกะจอมเทพ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ท้าวสักกะจอมเทพและเหล่าเทวดา ดังนี้)
[๓๕๔] การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง
รสแห่งธรรม ชนะรสทั้งปวง
ความยินดีในธรรม ชนะความยินดีทั้งปวง
ความสิ้นตัณหา ชนะทุกข์ทั้งปวง๑
๑๑. อปุตตกเสฏฐิปุตตวัตถุ
เรื่องอปุตตกเศรษฐีบุตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ดังนี้)
[๓๕๕] โภคทรัพย์ทั้งหลาย ย่อมทำลายคนมีปัญญาทราม
แต่จะไม่ทำลายคนที่แสวงหาฝั่ง๒
เพราะความทะยานอยากในโภคทรัพย์
คนมีปัญญาทรามจึงทำลายตนเองดุจทำลายคนอื่น

เชิงอรรถ :
๑ การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง หมายถึงบุคคลจะให้หรือเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุข
ส่วนรวมได้ก็ต่อเมื่อได้ฟังธรรม จนรู้ว่าคุณประโยชน์ของการให้หรือการเสียสละว่าดีอย่างไรเสียก่อน จึงจะ
ให้หรือเสียสละได้ หากไม่ได้ฟังธรรม การให้สิ่งอื่นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
รสแห่งธรรม ชนะรสทั้งปวง หมายถึงรสอื่น ๆ เช่น รสสุธาโภชน์ของเทวดา ยังเป็นปัจจัยให้สัตว์ต้อง
เสวยทุกข์ในสังสารวัฏ แต่รสแห่งพระธรรม คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และโลกุตตรธรรม ๙ ประการ
เป็นรสแห่งความสุขที่ประเสริฐสุด
ความยินดีในธรรม ชนะความยินดีทั้งปวง หมายถึงความยินดีอื่น ๆ เช่น ความยินดีบุตร ธิดา ทรัพย์สิน
สตรี หรือการขับร้อง ประโคมดนตรี ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยให้เสวยทุกข์ในสังสารวัฏ แต่การแสดงธรรม
การได้ฟังธรรม หรือการแนะนำธรรม ย่อมก่อให้เกิดปีติสุข และเป็นปัจจัยให้บรรลุอรหัตตผล สิ้นทุกข์ใน
สังสารวัฏได้
ความสิ้นตัณหา ชนะทุกข์ทั้งปวง หมายถึงอรหัตตผลที่เกิดขึ้นในที่สุดแห่งความสิ้นตัณหานั้นเป็นสภาวะ
ที่ครอบงำตัดขาดทุกข์ในสังสารวัฏได้อย่างสิ้นเชิง (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๖-๓๘)
๒ ฝั่ง หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๘/๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๑๒. อังกุรวัตถุ
๑๒. อังกุรวัตถุ
เรื่องอังกุรเทพบุตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อังกุรเทพบุตร และอินทกเทพบุตร ดังนี้)
[๓๕๖] นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีราคะเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากราคะ จึงมีผลมาก
[๓๕๗] นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีโทสะเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากโทสะ จึงมีผลมาก
[๓๕๘] นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีโมหะเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากโมหะ จึงมีผลมาก
[๓๕๙] นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีความอยากเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากความอยาก จึงมีผลมาก
(นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีตัณหาเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากตัณหา จึงมีผลมาก)
ตัณหาวรรคที่ ๒๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๒. หังสฆาตกภิกขุวัตถุ
๒๕. ภิกขุวรรค
หมวดว่าด้วยภิกษุ
๑. ปัญจภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕ รูป ผู้สำรวมทวาร(ช่องตามร่าง
กาย)รูปละทวาร ดังนี้)
[๓๖๐] การสำรวมตา เป็นการดี
การสำรวมหู เป็นการดี
การสำรวมจมูก เป็นการดี
การสำรวมลิ้น เป็นการดี
[๓๖๑] การสำรวมกาย เป็นการดี
การสำรวมวาจา เป็นการดี
การสำรวมใจ เป็นการดี
การสำรวมทวารทั้งปวง เป็นการดี
ภิกษุผู้สำรวมทวารทั้งปวง ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้๑
๒. หังสฆาตกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุฆ่าหงส์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ฆ่าหงส์ ดังนี้)
[๓๖๒] บุคคลผู้สำรวมมือ๒ สำรวมเท้า สำรวมวาจา สำรวมตน
ยินดีธรรมภายใน๓ มีจิตตั้งมั่น อยู่ผู้เดียว สันโดษ
บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า ภิกษุ

เชิงอรรถ :
๑ ทุกข์ หมายถึงทุกข์ในวัฏฏะ (ขุ.ธ.อ. ๘/๔๗)
๒ สำรวมมือ หมายถึงไม่คะนองมือ หรือไม่ทำร้ายสัตว์ด้วยมือ แม้เท้า วาจา ก็มีนัยเดียวกันนี้ (ขุ.ธ.อ. ๘/๕๐)
๓ ยินดีธรรมภายใน หมายถึงยินดีในการเจริญกัมมัฏฐาน คือ สมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน
(ขุ.ธ.อ. ๘/๕๐, ขุ.เถร.อ. ๑๐๓๕/๔๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๕. อัญญตรวิปักขเสวกภิกขุวัตถุ
๓. โกกาลิกวัตถุ
เรื่องพระโกกาลิกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๖๓] ภิกษุรูปใดสำรวมปาก พูดโดยใช้มันตา๑เสมอ
ไม่ฟุ้งซ่าน แสดงแต่อรรถ๒และธรรม๓ เท่านั้น
ภาษิตของภิกษุนั้นไพเราะ
๔. ธัมมารามเถรวัตถุ
เรื่องพระเถระผู้ยินดีในธรรม
[๓๖๔] ภิกษุมีธรรมเป็นที่มายินดี๔ ยินดีแล้วในธรรม
พิจารณาใคร่ครวญถึงธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่
ย่อมไม่เสื่อมจากสัทธรรม๕
๕. อัญญตรวิปักขเสวกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้คบฝ่ายผิดรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุที่เป็นฝักฝ่ายของพระเทวทัต ดังนี้)
[๓๖๕] ภิกษุไม่ควรดูหมิ่นลาภของตน
ไม่ควรเที่ยวปรารถนาลาภของคนอื่น
เมื่อภิกษุปรารถนาลาภของคนอื่น
ย่อมไม่บรรลุสมาธิ๖

เชิงอรรถ :
๑ มันตา หมายถึงปัญญา (ขุ.ธ.อ. ๘/๕๓)
๒ อรรถ หมายถึงเนื้อความแห่งภาษิต (ขุ.ธ.อ. ๘/๓/๕๓)
๓ ธรรม หมายถึงธรรมเทศนา (ขุ.ธ.อ. ๘/๓/๕๓)
๔ ธรรมเป็นที่มายินดี ในที่นี้หมายถึงสมถะและวิปัสสนา (ขุ.ธ.อ. ๘/๕๔)
๕ สัทธรรม หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และโลกุตตรธรรม ๙ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๘/๕๔-๕๕)
และดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๐๓๕/๕๐๙
๖ สมาธิ หมายถึงอัปปนาสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ (ขุ.ธ.อ. ๘/๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๗. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
[๓๖๖] ถ้าภิกษุแม้จะมีลาภน้อย แต่ไม่ดูหมิ่นลาภของตน
เทวดาทั้งหลายย่อมสรรเสริญภิกษุนั้นแล
ว่าเป็นผู้มีอาชีพหมดจด ไม่เกียจคร้าน
๖. ปัญจัคคทายกพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ถวายทานอันเลิศ ๕ อย่าง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ และนางพราหมณีผู้ถวายทาน
อันเลิศ ๕ อย่าง ดังนี้)
[๓๖๗] ผู้ใดไม่มีความยึดถือในนามรูป
ว่าเป็นของเรา โดยประการทั้งปวง
และไม่เศร้าโศก เพราะนามรูปแปรผันไป
ผู้นั้นแล เราเรียกว่า ภิกษุ๑
๗. สัมพหุลภิกขุวัตุถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๖๘] ภิกษุผู้อยู่ด้วยเมตตา เลื่อมใสในพุทธศาสนา
ก็จะพึงบรรลุสันตบท๒ อันเป็นที่ระงับสังขารเป็นสุข
[๓๖๙] ภิกษุ เธอจงวิดเรือ๓นี้
เรือที่เธอวิดแล้วจักถึงเร็ว
เธอตัดราคะ โทสะได้แล้ว
ต่อจากนั้น ก็จักบรรลุนิพพาน

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบสุตตนิบาต ข้อ ๙๕๗ หน้า ๗๒๙ ในเล่มนี้ (บาทคาถาที่ ๔ ต่างกัน)
๒ สันตบท หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๘/๖๖)
๓ เรือ ในที่นี้หมายถึงอัตภาพ (ขุ.ธ.อ. ๘/๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๗. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
[๓๗๐] ภิกษุพึงตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ พึงละสังโยชน์เบื้องสูง ๕
และพึงเจริญอินทรีย์ ๕ ให้ยิ่งขึ้นไป
ภิกษุผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง ๕๑ ได้แล้ว
เราเรียกว่า ผู้ข้ามโอฆะได้๒
[๓๗๑] ภิกษุ เธอจงเพ่งพินิจ และอย่าประมาท
จงอย่าปล่อยจิตของเธอ ให้วนเวียนอยู่ในกามคุณ
อย่าเผลอกลืนก้อนเหล็กแดง(ในนรก)
อย่าเร่าร้อนคร่ำครวญอยู่ว่า นี่ทุกข์จริง
[๓๗๒] ฌาน ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา
ปัญญาก็ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน
ผู้มีทั้งฌานและปัญญานั่นแล
จึงนับว่าอยู่ใกล้นิพพาน
[๓๗๓] ภิกษุผู้เข้าไปยังเรือนว่าง๓
มีจิตสงบ เห็นแจ้งธรรมโดยชอบ
ย่อมเกิดความยินดีที่ไม่ใช่เป็นของคนทั่วไป
[๓๗๔] ขณะใด ภิกษุพิจารณาเห็นความเกิด
และความเสื่อมของขันธ์ทั้งหลาย
ขณะนั้น เธอย่อมได้รับปีติปราโมทย์
ซึ่งเป็นอมตธรรมสำหรับผู้รู้ทั้งหลาย
[๓๗๕] ในอมตธรรมนั้น ธรรมนี้คือ
ความสำรวมอินทรีย์ ความสันโดษ
และความสำรวมในปาติโมกข์
เป็นเบื้องต้นของภิกษุผู้มีปัญญาในศาสนานี้

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสเครื่องข้อง ๕ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฏฐิ (สํ.ส.อ. ๑/๕/๒๔, ขุ.ธ.อ.๘/๖๗)
๒ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๕/๖, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๕/๓๐๘, ๖๓๓/๔๔๙
๓ เรือนว่าง ในที่นี้หมายถึงการนั่งเจริญกัมมัฏฐานในที่สงัดแห่งใดแห่งหนึ่ง (ขุ.ธ.อ. ๘/๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๙. สันตกายเถรวัตถุ
[๓๗๖] เธอจงคบภิกษุที่เป็นกัลยาณมิตร
มีอาชีพหมดจด ไม่เกียจคร้าน
ควรทำการปฏิสันถาร และฉลาดในเรื่องมารยาท
เพราะปฏิบัติตามคุณธรรมดังกล่าวนั้น
เธอก็จักมากด้วยความปราโมทย์
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
๘. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๗๗] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงสลัดราคะและโทสะทิ้งเสีย
เหมือนต้นมะลิสลัดดอกที่เหี่ยวแห้ง ฉะนั้น
๙. สันตกายเถรวัตถุ
เรื่องพระสันตกายเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๗๘] ภิกษุผู้มีกายสงบ๑ มีวาจาสงบ๒
มีใจสงบ๓ มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว
และเป็นผู้ละโลกามิสได้
เราเรียกว่าผู้สงบระงับ

เชิงอรรถ :
๑ มีกายสงบ หมายถึงไม่มีความประพฤติชั่วทางกายมีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๒)
๒ มีวาจาสงบ หมายถึงไม่มีความประพฤติชั่วทางวาจามีการพูดเท็จ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๒)
๓ มีใจสงบ หมายถึงไม่มีความประพฤติชั่วทางใจมีการเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๑๑. วักกลิเถรวัตถุ
๑๐. นังคลกูฏเถรวัตถุ
เรื่องพระนังคลกูฏเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๗๙] ภิกษุ เธอจงเตือนตนด้วยตนเอง
จงพิจารณาดูตนด้วยตนเอง
ถ้าเธอคุ้มครองตนเองได้แล้ว มีสติ
เธอก็จักอยู่เป็นสุข
[๓๘๐] ตนแล เป็นที่พึ่งของตน
ตนแล เป็นคติ๑ของตน
เพราะฉะนั้น เธอจงสงวนตน๒ให้ดี
เหมือนพ่อค้าม้าสงวนม้าพันธุ์ดี ฉะนั้น
๑๑. วักกลิเถรวัตถุ
เรื่องพระวักกลิเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระวักกลิเถระ ดังนี้)
[๓๘๑] ภิกษุผู้มากด้วยความปราโมทย์
เลื่อมใสในพุทธศาสนา พึงบรรลุสันตบท๓
อันเป็นธรรมเข้าไปสงบระงับสังขาร เป็นสุข๔

เชิงอรรถ :
๑ เป็นคติ หมายถึงเป็นที่พำนัก หรือเป็นสรณะ (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๔)
๒ สงวนตน หมายถึงป้องกันการเกิดอกุศลกรรมที่ยังไม่เกิดในตน (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๔)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๑๔๘ ในเล่มนี้
๔ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๑/๓๐๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๑. ปสาทพหุลพราหมณวัตถุ
๑๒. สุมนสามเณรวัตถุ
เรื่องสุมนสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๘๒] ภิกษุใดแลยังหนุ่มแน่น
ย่อมประกอบขวนขวายในพุทธศาสนา
ภิกษุนั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว๑
เหมือนดวงจันทร์พ้นจากเมฆ ฉะนั้น๒
ภิกขุวรรคที่ ๒๕ จบ
๒๖. พราหมณวรรค
หมวดว่าด้วยพราหมณ์
๑. ปสาทพหุลพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ผู้เลื่อมใสมาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๘๓] พราหมณ์๓ เธอจงพยายามตัดกระแส๔ให้ขาด
จงบรรเทากามทั้งหลายให้ได้
เธอรู้ความสิ้นไปแห่งสังขารทั้งหลายแล้ว
ก็จะรู้แจ้งสภาวะที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้๕

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงให้โลกคือขันธ์ ๕ สว่างไสวด้วยอรหัตตมรรคญาณ (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๐)
๒ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๘๗๓/๔๘๔
๓ พราหมณ์ ตามหลักพุทธศาสนาในวรรคนี้หมายถึงพระขีณาสพทั้งหลาย แต่มีบ้างที่ตรัสหมายเอา
พราหมณ์โดยชาติกำเนิด เช่น ในธรรมบทข้อ ๓๙๒ หน้า ๑๕๖ (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๒)
๔ กระแส หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๒)
๕ สภาวะที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้ หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๓. มารวัตถุ
๒. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๓๐ รูป ดังนี้)
[๓๘๔] เมื่อใด พราหมณ์เป็นผู้ถึงฝั่งในธรรมทั้งสอง๑
เมื่อนั้น สังโยคะ๒ทั้งหมดของเขาผู้รู้อยู่
ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้
๓. มารวัตถุ
เรื่องมาร
(พระผู้มีพระภาคเมื่อตรัสพระคาถานี้แก่มารผู้ถามเรื่องฝั่ง ดังนี้)
[๓๘๕] ผู้ใดไม่มีฝั่งนี้๓ ไม่มีฝั่งโน้น๔ หรือไม่มีทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น
เราเรียกผู้นั้นซึ่งปราศจากความกระวนกระวาย
ปลอดจากกิเลสแล้วว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งสอง หมายถึงสมถะ และวิปัสสนา (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๓)
๒ สังโยคะ หมายถึงโยคะ(สภาวะอันประกอบสัตว์ไว้ในภพ) มี ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.ธ.อ.
๘/๙๓) และดูความหมายของคำว่า “โยคะ” ใน ขุ.ธ.อ. ๒/๖๒, ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๙ ประกอบ
๓ ไม่มีฝั่งนี้ หมายถึงไม่มีความยึดถืออายตนะภายใน ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ว่า “เรา” หรือ
“ของเรา” (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๖)
๔ ไม่มีฝั่งโน้น หมายถึงไม่มีความยึดถืออายตนะภายนอก ๖ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ
ธรรมารมณ์) ว่า “เรา” หรือ “ของเรา” (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๕. อานันทเถรวัตถุ
๔. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคเมื่อตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ผู้ถามเรื่องพราหมณ์ ดังนี้)
[๓๘๖] ผู้เพ่งพินิจ ปราศจากธุลี
อยู่ตามลำพัง ทำกิจเสร็จแล้ว หมดอาสวะ
บรรลุประโยชน์สูงสุด๑
เราเรียกว่า พราหมณ์
๕. อานันทเถรวัตถุ
เรื่องพระอานนทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๓๘๗] ดวงอาทิตย์ส่องสว่างเฉพาะกลางวัน
ดวงจันทร์ส่องสว่างเฉพาะกลางคืน
กษัตริย์ทรงเครื่องรบแล้ว จึงสง่างาม
พราหมณ์เพ่งพินิจ จึงสง่างาม
แต่พระพุทธเจ้าทรงสง่างามด้วยพระเดช๒
ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์สูงสุด หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๓)
๒ พระเดช ในที่นี้หมายถึงเดช ๕ อย่าง คือ เดชแห่งศีล เดชแห่งคุณ เดชแห่งปัญญา เดชแห่งบุญ และ
เดชแห่งธรรม (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๗. สารีปุตตเถรวัตถุ
๖. อัญญตรปัพพชิตวัตถุ
เรื่องบรรพชิตรูปใดรูปหนึ่ง
(นักบวชนอกพระพุทธศาสนา ท่านหนึ่ง ถามพระผู้มีพระมีพระภาค เรื่องบรรพชิต
พระองค์จึงตรัสพระคาถา ดังนี้)
[๓๘๘] ผู้ที่ลอยบาปได้ เราเรียกว่า พราหมณ์
เพราะประพฤติสงบ๑ เราเรียกว่า สมณะ
ฉะนั้น ผู้ที่กำจัดมลทิน๒ของตนให้หมดไปได้
เราจึงเรียกว่า บรรพชิต
๗. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระสารีบุตรซึ่งถูกพราหมณ์ทำร้าย จึงตรัสพระคาถา
นี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๘๙] พราหมณ์ไม่พึงทำร้ายพราหมณ์
ไม่พึงจองเวรพราหมณ์ผู้ทำร้ายนั้น
น่าตำหนิพราหมณ์ผู้ทำร้ายพราหมณ์
พราหมณ์ที่จองเวรตอบนั้น น่าตำหนิยิ่งกว่า
[๓๙๐] ข้อที่พราหมณ์ห้ามใจจากอารมณ์อันเป็นที่รัก๓ทั้งหลายได้
เป็นความประเสริฐไม่น้อยเลย
ใจที่มีความเบียดเบียน กลับจากวัตถุใด ๆ
ความทุกข์ก็ย่อมสงบระงับจากวัตถุนั้น ๆ

เชิงอรรถ :
๑ ประพฤติสงบ หมายถึงประพฤติปฏิบัติให้อกุศลธรรมทั้งหมดสงบ (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๗)
๒ มลทิน หมายถึงกิเลสมีราคะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๗)
๓ อารมณ์อันเป็นที่รัก หมายถึงการเกิดขึ้นแห่งความโกรธของผู้มักโกรธ (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๑๐. ชฏิลพราหมณวัตถุ
๘. มหาปชาปตีโคตมีวัตถุ
เรื่องพระนางมหาปชาบดีโคตมี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุณีทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๙๑] ผู้ไม่มีกรรมชั่ว๑ทางกาย วาจา และใจ
สำรวมระวังได้ครบทั้ง ๓ ทวาร
เราเรียกว่า พราหมณ์
๙. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระสารีบุตร นอบน้อมทิศที่พระอัสสชิเถระอยู่ จึงตรัส
พระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๙๒] บุคคลรู้แจ้งธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
จากอาจารย์ใด
ควรนอบน้อมอาจารย์นั้นโดยเคารพ
เหมือนพราหมณ์๒นอบน้อมไฟที่บูชา ฉะนั้น
๑๐. ชฏิลพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ชฎิล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ชฎิลผู้ถามเรื่องพราหมณ์ ดังนี้)
[๓๙๓] คนเป็นพราหมณ์ ไม่ใช่เพราะเกล้าชฎา
ไม่ใช่เพราะโคตร ไม่ใช่เพราะชาติกำเนิด
แต่สัจจะ๓และธรรม๔มีอยู่ในผู้ใด
ผู้นั้น เป็นผู้สะอาด และผู้นั้น เป็นพราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ กรรมชั่ว หมายถึงกรรมที่มีโทษ มีทุกข์เป็นกำไร นำสัตว์ให้ตกไปในอบาย (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๐)
๒ พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงพราหมณ์โดยชาติกำเนิด (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๒)
๓ สัจจะ หมายถึงสัจญาณอันหยั่งรู้สัจจะ ๔ โดยอาการ ๑๖ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๓)
๔ ธรรม หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๑๒. กิสาโคตมีวัตถุ
๑๑. กุหกพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์โกหก
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพราหมณ์โกหกมีวัตรดังค้างคาว ตรัสพระคาถานี้
แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๙๔] เจ้าคนมีปัญญาทราม การเกล้าชฎา การครองหนังเสือ
จะมีประโยชน์อะไรสำหรับเจ้า
ภายนอกของเจ้าเปล่งปลั่งเกลี้ยงเกลา
แต่ภายในของเจ้ารกรุงรัง๑
๑๒. กิสาโคตมีวัตถุ
เรื่องนางกิสาโคตมี
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภนางกิสาโคตมีจึงตรัสพระคาถานี้แก่ท้าวสักกะจอมเทพ
ดังนี้)
[๓๙๕] ผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุล
ซูบผอม มีเส้นเอ็นปรากฏทั่วร่าง
เพ่งพินิจอยู่ในป่าผู้เดียว
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ รกรุงรัง หมายถึงรกรุงรังด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๑๔. อุคคเสนวัตถุ
๑๓. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์คนหนึ่ง ดังนี้)
[๓๙๖] เราไม่เรียกบุคคลผู้ถือกำเนิด
เกิดในครรภ์มารดาว่า พราหมณ์
ถ้าเขายังมีกิเลสเครื่องกังวลอยู่
เขาเป็นเพียงผู้ชื่อว่า โภวาที๑เท่านั้น
เราเรียกผู้หมดกิเลสเครื่องกังวล
หมดความยึดมั่นถือมั่นเท่านั้นว่า พราหมณ์๒
๑๔. อุคคเสนวัตถุ
เรื่องนายอุคคเสน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๙๗] ผู้ตัดสังโยชน์ได้หมดสิ้น ไม่สะดุ้ง๓
ผู้ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้อง๔ได้
ผู้ปราศจากโยคะ๕
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ โภวาที หมายถึงบุคคลผู้มีปกติเที่ยวร้องเรียกตนเองว่า “เป็นผู้เจริญ” (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๘)
๒ ม.ม. (แปล) ๑๓/๔๕๗/๕๗๗
๓ ไม่สะดุ้ง หมายถึงไม่สะดุ้งหวาดกลัวเพราะตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๙)
๔ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๔๙ ในเล่มนี้
๕ ดูเชิงอรรถที่ ๖ หน้า ๓๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๑๗. สารีปุตตเถรวัตถุ
๑๕. เทวพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ ๒ คน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๓๙๘] ผู้ตัดชะเนาะ เชือกหนัง และเงื่อน๑
พร้อมทั้งสายรัดได้ ถอดลิ่มสลัก๒เป็นผู้ตรัสรู้แล้ว
เราเรียกว่า พราหมณ์
๑๖. อักโกสกภารทวาชวัตถุ
เรื่องอักโกสกภารทวาชพราหมณ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๙๙] ผู้ไม่ประทุษร้าย อดกลั้นคำด่า
การฆ่า และการจองจำได้
มีขันติเป็นพลัง มีขันติเป็นกำลังพล
เราเรียกว่า พราหมณ์
๑๗. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๐] ผู้ไม่มักโกรธ มีศีล มีวัตร
ไม่มีตัณหาเครื่องฟูขึ้น ฝึกตนได้แล้ว
มีสรีระเป็นร่างกายสุดท้าย
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ชะเนาะ หมายถึงความโกรธ เชือกหนัง หมายถึงตัณหา เงื่อน หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑๐)
๒ สายรัด หมายถึงอนุสัยกิเลส ลิ่มสลัก หมายถึงอวิชชา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๒๐. เขมาภิกขุนีวัตถุ
๑๘. อุปปลวัณณาเถรีวัตถุ
เรื่องพระอุบลวัณณาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๑] ผู้ใดไม่ติดในกามทั้งหลาย
เหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว
เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดอยู่บนปลายเหล็กแหลม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
๑๙. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์คนหนึ่ง ดังนี้)
[๔๐๒] ผู้ใดในศาสนานี้ รู้ชัดความสิ้นทุกข์ของตน
ปลงภาระได้แล้ว ปราศจากโยคะ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
๒๐. เขมาภิกขุนีวัตถุ
เรื่องพระเขมาภิกษุณี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ท้าวสักกะจอมเทพและเทวดาทั้งหลาย
ดังนี้)
[๔๐๓] ผู้มีปัญญาลึกซึ้ง เป็นปราชญ์
ฉลาดในทางและมิใช่ทาง๑ บรรลุประโยชน์สูงสุด
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ฉลาดในทางและมิใช่ทาง หมายถึงรู้ว่าธรรมนี้เป็นทางไปทุคติ ธรรมนี้เป็นทางไปสุคติ ธรรมนี้เป็นทาง
ไปนิพพาน และรู้ว่าธรรมนี้มิใช่ทาง (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๒๓. สามเณรวัตถุ
๒๑. ปัพภารวาสีติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้อยู่ที่เงื้อมเขา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๔] ผู้ไม่คลุกคลี๑กับคน ๒ จำพวก
คือ คฤหัสถ์ และบรรพชิต
ไม่มีความอาลัยเที่ยวไป มีความปรารถนาน้อย
เราเรียกว่า พราหมณ์
๒๒. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๕] ผู้ใดละวางโทษทัณฑ์ในสัตว์ทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง๒และสัตว์ที่มั่นคง๓
ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้คนอื่นฆ่า
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
๒๓. สามเณรวัตถุ
เรื่องสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๖] ผู้ไม่มุ่งร้ายในหมู่คนผู้มุ่งร้าย
ผู้สงบในหมู่คนผู้ชอบหาเรื่องใส่ตน
ผู้ไม่ถือมั่นในหมู่คนผู้ถือมั่น
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ คลุกคลี ในที่นี้หมายถึงการคลุกคลีทางกายคือการเห็น การฟัง การเจรจาปราศรัย การร่วมกิน ร่วมดื่ม
(ขุ.ธ.อ. ๘/๑๒๐)
๒ สัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง หมายถึงสัตว์ที่ยังมีตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๒๑)
๓ สัตว์ที่มั่นคง หมายถึงสัตว์ที่หมดตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๒๖. อัญญตรภิกขุวัตถุ
๒๔. มหาปันถกเถรวัตถุ
เรื่องพระมหาปันถกเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๗] ผู้ใดทำราคะ โทสะ โมหะ มานะ และมักขะให้ตกไป๑
เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดตกไปจากปลายเหล็กแหลม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
๒๕. ปิลินทวัจฉเถรวัตถุ
เรื่องพระปิลินทวัจฉเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๘] ผู้กล่าวคำที่ไม่หยาบคาย สื่อความหมายได้
เป็นคำจริง ไม่เป็นเหตุให้ใครๆ ขัดเคือง
เราเรียกว่า พราหมณ์
๒๖. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๙] ผู้ใดในโลกนี้ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้
ไม่ว่ายาวหรือสั้น เล็กหรือใหญ่ งามหรือไม่งาม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ตกไป หมายถึงไม่ให้ตั้งอยู่ในใจ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๒๙. เรวตเถรวัตถุ
๒๗. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๐] ผู้ใดไม่มีความหวัง๑ในโลกนี้และโลกหน้า
ปราศจากความหวัง ปราศจากโยคะ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
๒๘. มหาโมคคัลลานวัตถุ
เรื่องพระมหาโมคคัลลานะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๑] ผู้ใดไม่มีความอาลัย๒ หมดความสงสัยเพราะรู้ชัด
หยั่งลงสู่อมตะ๓ บรรลุแล้ว
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
๒๙. เรวตเถรวัตถุ
เรื่องพระเรวตเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๒] ผู้ใดในโลกนี้ ละบุญและบาปทั้งสองได้
พ้นจากกิเลสเครื่องข้องได้ ไม่เศร้าโศก
ปราศจากกิเลสดุจธุลี เป็นผู้บริสุทธิ์
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ความหวัง (อาสา) หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๐)
๒ อาลัย ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๐)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๓๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๓๑. สีวลิเถรวัตถุ
๓๐. จันทาภเถรวัตถุ
เรื่องพระจันทาภเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๓] ผู้บริสุทธิ์ดุจจันทร์แจ่ม
มีจิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัว๑ เป็นผู้สิ้นความเพลิดเพลินในภพ๒
เราเรียกว่า พราหมณ์
๓๑. สีวลิเถรวัตถุ
เรื่องพระสีวลีเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๔] ผู้ใดก้าวพ้นทางอ้อม๓ ทางหล่ม๔
สงสาร๕และโมหะได้แล้ว
ข้ามไปถึงฝั่งแล้ว เจริญฌาน
ไม่หวั่นไหว หมดความสงสัย
ดับเย็น เพราะไม่ถือมั่น
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ขุ่นมัว หมายถึงปราศจากมลทินคือกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๕)
๒ ความเพลิดเพลินในภพ หมายถึงตัณหาในภพทั้ง ๓ (กามภพ รูปภพ อรูปภพ) (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๕)
๓ ทางอ้อม หมายถึงราคะ
๔ ทางหล่ม หมายถึงกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๕)
๕ สงสาร หมายถึงสังสารวัฏ (การเวียนว่ายตายเกิด) (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๓๔. โชติกเถรวัตถุ
๓๒. สุนทรสมุททเถรวัตถุ
เรื่องพระสุนทรสมุทรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๕] ผู้ใดในโลกนี้ ละกามได้แล้ว
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นกามและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
๓๓. ชฏิลวัตถุ
เรื่องพระชฎิลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๖] ผู้ใดในโลกนี้ ละตัณหาได้ขาด
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นตัณหาและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
๓๔. โชติกเถรวัตถุ
เรื่องพระโชติกเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๖] ผู้ใดในโลกนี้ ละตัณหาได้ขาด
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นตัณหาและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๓๖. ทุติยนฏปุพพกเถรวัตถุ
๓๕. ปฐมนฏปุพพกเถรวัตถุ
เรื่องพระเถระผู้เคยเป็นนักฟ้อนรูปที่ ๑
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๗] ผู้ละกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นของมนุษย์ได้๑
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นทิพย์ได้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากโยคะ๒ทั้งปวง
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
๓๖. ทุติยนฏปุพพกเถรวัตถุ
เรื่องพระเถระผู้เคยเป็นนักฟ้อนรูปที่ ๒
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๘] ผู้ละทั้งความยินดี๓และความไม่ยินดี๔
เป็นผู้เยือกเย็น หมดอุปธิกิเลส
ครอบงำโลกทั้งหมด๕ เป็นผู้แกล้วกล้า
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสเครื่องประกอบอันเป็นของมนุษย์ หมายถึงอายุและกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ)
อันเป็นของมนุษย์ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๖๔)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๖ หน้า ๓๑ ในเล่มนี้
๓ ความยินดี หมายถึงความยินดีในกามคุณ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๖๕)
๔ ความไม่ยินดี หมายถึงความระอาในการอยู่ป่า (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๖๕)
๕ ครอบงำโลกทั้งหมด หมายถึงครอบงำโลกคือขันธ์ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๓๘. ธัมมทินนาเถรีวัตถุ
๓๗. วังคีสเถรวัตถุ
เรื่องพระวังคีสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๙] ผู้ใดรู้การจุติและการอุบัติ
ของสัตว์ทั้งหลายโดยประการทั้งปวง
เราเรียกผู้นั้น ซึ่งเป็นผู้ไม่ติดข้อง
ไปดีแล้ว และตรัสรู้แล้วว่า พราหมณ์
[๔๒๐] ผู้ใดมีคติที่เทวดา คนธรรพ์ และมนุษย์ ก็รู้ไม่ได้
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นอรหันตขีณาสพว่า พราหมณ์
๓๘. ธัมมทินนาเถรีวัตถุ
เรื่องพระธัมมทินนาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่วิสาขอุบาสก อดีตสามีของพระธัมมทินนาเถรี
ดังนี้)
[๔๒๑] ผู้ใดไม่มีกิเลสเครื่องกังวล๑
ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
หมดความยึดมั่นถือมั่นว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสเครื่องกังวล หมายถึงความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๔๐. เทวหิตพราหมณวัตถุ
๓๙. อังคุลิมาลเถรวัตถุ
เรื่องพระองคุลิมาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๒๒] ผู้องอาจ ผู้ประเสริฐ ผู้แกล้วกล้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ชำนะแล้ว
ผู้ไม่หวั่นไหว ผู้ชำระแล้ว และตรัสรู้แล้ว
เราเรียกว่า พราหมณ์
๔๐. เทวหิตพราหมณวัตถุ
เรื่องเทวหิตพราหมณ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เทวหิตพราหมณ์ ดังนี้)
[๔๒๓] ผู้ใดระลึกอดีตชาติได้๑ เห็นสวรรค์และอบาย
บรรลุภาวะที่สิ้นสุดการเกิด๒
หมดภารกิจ๓เพราะรู้ยิ่ง เป็นมุนี
เป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
พราหมณวรรคที่ ๒๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ระลึกอดีตชาติได้ หมายถึงมีทิพยจักษุญาณเห็นสวรรค์ ๒๖ ชั้น และอบายภูมิ ๔ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๙๑)
๒ ภาวะที่สิ้นสุดการเกิด หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๙๑)
๓ หมดภารกิจ หมายถึงหมดหน้าที่กำหนดรู้(ปริญญากิจ) หมดหน้าที่ละ(ปหานกิจ) และหมดหน้าที่ทำ
ให้แจ้ง(สัจฉิกิริยากิจ) (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท รวมวรรคในธรรมบท
รวมวรรคในธรรมบท

๑. ยมกวรรค ๒. อัปปมาทวรรค
๓. จิตตวรรค ๔. ปุปผวรรค
๕. พาลวรรค ๖. ปัณฑิตวรรค
๗. อรหันตวรรค ๘. สหัสสวรรค
๙. ปาปวรรค ๑๐. ทัณฑวรรค
๑๑. ชราวรรค ๑๒. อัตตวรรค
๑๓. โลกวรรค ๑๔. พุทธวรรค
๑๕. สุขวรรค ๑๖. ปิยวรรค
๑๗. โกธวรรค ๑๘. มลวรรค
๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๒๐. มัคควรรค
๒๑. ปกิณณกวรรค ๒๒. นิรยวรรค
๒๓. นาควรรค ๒๔. ตัณหาวรรค
๒๕. ภิกขุวรรค ๒๖. พราหมณวรรค

รวมเป็น ๒๖ วรรค อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดง
ไว้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท รวมพระคาถาในธรรมบท
รวมพระคาถาในธรรมบท

ยมกวรรค มี ๒๐ คาถา อัปปมาทวรรค มี ๑๒ คาถา
จิตตวรรค มี ๑๑ คาถา ปุปผวรรค มี ๑๖ คาถา
พาลวรรค มี ๑๖ คาถา ปัณฑิตวรรค มี ๑๔ คาถา
อรหันตวรรค มี ๑๐ คาถา สหัสสวรรค มี ๑๖ คาถา
ปาปวรรค มี ๑๓ คาถา ทัณฑวรรค มี ๑๗ คาถา
ชราวรรค มี ๑๑ คาถา อัตตวรรค มี ๑๐ คาถา
โลกวรรค มี ๑๒ คาถา พุทธวรรค มี ๑๘ คาถา
สุขวรรค มี ๑๒ คาถา ปิยวรรค มี ๑๒ คาถา
โกธวรรค มี ๑๔ คาถา มลวรรค มี ๒๑ คาถา
ธัมมัฏฐวรรค มี ๑๗ คาถา มัคควรรค มี ๑๗ คาถา
ปกิณณกวรรค มี ๑๖ คาถา นิรยวรรค มี ๑๔ คาถา
นาควรรค มี ๑๔ คาถา ตัณหาวรรค มี ๒๖ คาถา
ภิกขุวรรค มี ๒๓ คาถา พราหมณวรรค มี ๔๑ คาถา

รวมพระคาถาทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงไว้
ในนิบาต ในธรรมบทนี้ ๔๒๓ พระคาถา
ธรรมบท จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑. ปฐมโพธิสูตร
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. โพธิวรรค
ว่าด้วยการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ๑
๑. ปฐมโพธิสูตร๑
ว่าด้วยเหตุการณ์แรกตรัสรู้ สูตรที่ ๑
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่ง
โดยบัลลังก์เดียว๒ เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มี
พระภาคทรงออกจากสมาธินั้นแล้ว ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท(ธรรมที่อาศัยกัน
เกิดขึ้น) โดยอนุโลมอย่างละเอียด ตลอดปฐมยามแห่งราตรีว่า
ปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม
เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี


เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๑-๔/๑-๗
๒ นั่งโดยบัลลังก์เดียว หมายถึงนั่งขัดสมาธิโดยไม่ลุกขึ้นเลยตลอด ๗ วัน (วิ.อ. ๓/๑/๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑. ปฐมโพธิสูตร

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงมี

กองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีการเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย๒ ปรากฏแก่พราหมณ์๓
ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะได้รู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ๔
ปฐมโพธิสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงการเกิดขึ้นแห่งญาณที่ประกอบด้วยโสมนัส แสดงอานุภาพแห่งการรู้เหตุและธรรม
ที่เกิดขึ้นจากเหตุด้วยอำนาจพิจารณาปัจจยาการ หรือปฏิจจสมุปบาท (วิ.อ. ๓/๓/๖, ขุ.อุ.อ. ๓/๔๕-๕๒)
๒ ธรรมทั้งหลาย หมายถึงโพธิปักขิยธรรมที่ให้สำเร็จการตรัสรู้ปัจจยาการ หรือปฏิจจสมุปบาท โดยอนุโลม
(ขุ.อุ.อ. ๑/๔๖)
๓ พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพผู้ลอยบาปได้แล้ว (ขุ.อุ.อ. ๑/๔๖)
๔ รู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ หมายถึงรู้กองทุกข์ และรู้เหตุแห่งทุกข์ (ขุ.อุ.อ. ๑/๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๒. ทุติยโพธิสูตร
๒. ทุติยโพธิสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์แรกตรัสรู้ สูตรที่ ๒
[๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่ง
โดยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มี
พระภาคทรงออกจากสมาธินั้นแล้ว ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท โดยปฏิโลม
อย่างละเอียด ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรีว่า
ปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม
เพราะเมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ

เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ

กองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีการดับด้วยอาการอย่างนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๓. ตติยโพธิสูตร
พุทธอุทาน๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย
ทุติยโพธิสูตรที่ ๒ จบ
๓. ตติยโพธิสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์แรกตรัสรู้ สูตรที่ ๓
[๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาค
ทรงออกจากสมาธินั้นแล้ว ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลมและปฏิโลมอย่าง
ละเอียด ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรีว่า
ปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม
เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เพราะเมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี


เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งด้วยอำนาจพิจารณาพระนิพพาน (ขุ.อุ.อ. ๓/๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๓. ตติยโพธิสูตร

เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงมี

กองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีการเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้
ปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ

เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ

กองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีการดับด้วยอาการอย่างนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๔. นิหุหุงกสูตร
พุทธอุทาน๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
เมื่อนั้น พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนาเสียได้
ดุจดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นสาดส่องท้องฟ้าให้สว่างไสว ฉะนั้น
ตติยโพธิสูตรที่ ๓ จบ
๔. นิหุหุงกสูตร
ว่าด้วยผู้ไม่ตวาดว่า หึ หึ
[๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นอชปาลนิโครธ๒
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาค
ก็ทรงออกจากสมาธินั้น
ครั้งนั้น พราหมณ์หุหุกชาติ๓ผู้หนึ่ง ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว
ยืนอยู่ ณ ที่สมควร พราหมณ์นั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระโคดม
ผู้เจริญ บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ด้วยเหตุเพียงไรหนอ และธรรมเหล่าไหนที่ทำ
บุคคลให้เป็นพราหมณ์”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งด้วยอำนาจพิจารณามรรค พุทธอุทานที่ ๑-๓ นี้ ทรงเปล่งในราตรีที่ ๗ นับแต่วัน
ตรัสรู้ (ขุ.อุ.อ. ๓/๕๒)
๒ นิโครธ แปลว่า ต้นไทร ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Banyan” หรือ “Indian Fig-tree” ไม้จำพวกไทร หรือ
กร่างของอินเดีย พวกคนเลี้ยงแพะชอบมานั่งที่ร่มเงาของต้นนิโครธนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อชปาลนิโครธ
(ขุ.อุ.อ. ๔/๕๓, Pali-English Dictionary, P.355, Edited by T.W. RHYS DAVIDS and WILLIAM STEDE)
๓ พราหมณ์หุหุกชาติ เป็นพราหมณ์โดยชาติกำเนิด พราหมณ์นี้มีทิฏฐิว่า “สิ่งที่เห็นแล้วเป็นมงคล” ชอบ
เที่ยวตวาดว่า หึหึ เพราะความถือตัวและเพราะความโกรธ (ขุ.อุ.อ. ๔/๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๕. พราหมณสูตร
พุทธอุทาน
พราหมณ์ใดลอยบาปธรรมได้แล้ว ไม่ตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ
ไม่มีกิเลสดุจน้ำฝาด สำรวมตน
เรียนจบเวท๑ อยู่จบพรหมจรรย์
พราหมณ์นั้นไม่มีกิเลสเครื่องฟู๒ขึ้นในอารมณ์ไหน ๆ ในโลก
ควรกล่าวพรหมวาทะ๓ ได้โดยธรรม๔
นิหุหุงกสูตรที่ ๔ จบ
๕. พราหมณสูตร
ว่าด้วยความเป็นพราหมณ์
[๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลานะ
ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระมหากัจจานะ ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ท่านพระ
มหากัปปินะ ท่านพระมหาจุนทะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระเรวตะ และท่านพระ
นันทะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านเหล่านั้นกำลังเดินมาแต่ไกล
ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้วจึงรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
พราหมณ์เหล่านั้นกำลังมา ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์เหล่านั้นกำลังมา” เมื่อพระ

เชิงอรรถ :
๑ เรียนจบเวท หมายถึงบรรลุนิพพานด้วยเวทกล่าวคือมัคคญาณทั้ง ๔ (โสดาปัตติมัคคญาณ สกทาคามิมัคค-
ญาณ สกทาคามิมัคคญาณ อนาคามิมัคคญาณ อรหัตตมัคคญาณ) (ขุ.อุ.อ. ๔/๕๗)
๒ กิเลสเครื่องฟูขึ้น หมายถึงราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฏฐิ (ขุ.อุ.อ. ๔/๕๗)
๓ พรหมวาทะ ในที่นี้หมายถึงวาทะว่า “เราเป็นพราหมณ์” (ขุ.อุ.อ. ๔/๕๗)
๔ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๔/๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๖. มหากัสสปสูตร
ผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเป็นพราหมณ์โดยกำเนิดรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ด้วยเหตุ
เพียงไรหนอ และธรรมเหล่าไหนที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน๑
บุคคลเหล่าใดลอยบาปธรรมได้แล้ว
เป็นผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ มีสังโยชน์สิ้นแล้ว เป็นผู้ตรัสรู้
บุคคลเหล่านั้นแล ชื่อว่า ‘พราหมณ์’ ในโลก
พราหมณสูตรที่ ๕ จบ
๖. มหากัสสปสูตร
ว่าด้วยพระมหากัสสปะ
[๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน๒
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะอยู่ที่ถ้ำปิปผลิคูหา อาพาธ ได้รับทุกข์
เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะหายจากอาพาธนั้นแล้วมีความคิดดังนี้ว่า
“เอาละ เราควรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์”
สมัยนั้นแล เทวดาประมาณ ๕๐๐ องค์ ถึงความขวนขวายเพื่อให้ท่านพระ
มหากัสสปะได้บิณฑบาต ท่านพระมหากัสสปะห้ามเทวดาประมาณ ๕๐๐ องค์นั้นแล้ว
ในเวลาเช้าครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ ตามทาง
ที่อยู่ของคนจน ที่อยู่ของคนกำพร้า และที่อยู่ของช่างหูก

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทางเปล่งมุ่งประกาศความเป็นพราหมณ์โดยปรมัตถ์ (ขุ.อุ.อ. ๕/๖๐)
๒ หมายถึงสถานที่สำหรับพระราชทานเหยื่อแก่กระแต (ม.มู.อ. ๒/๒๕๒/๔๑-๔๒, ขุ.อุ.อ. ๖/๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๗. อชกลาปกสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหากัสสปะ กำลังเที่ยวบิณฑบาต
ตามทางที่อยู่ของคนจน ที่อยู่ของคนกำพร้า และที่อยู่ของช่างหูก
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน๑
ผู้ไม่เลี้ยงคนอื่น ผู้รู้จักตนดี
ผู้ฝึกฝนตนได้แล้ว ดำรงมั่นอยู่ในสารธรรม๒
ผู้สิ้นอาสวะแล้ว ผู้คายโทษได้แล้ว๓
เราเรียกว่า พราหมณ์
มหากัสสปสูตรที่ ๖ จบ
๗. อชกลาปกสูตร
ว่าด้วยอชกลาปกยักษ์
[๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อชกลาปกเจดีย์อันเป็นที่อยู่ของยักษ์
ชื่อว่า อชกลาปกะ เขตกรุงปาวา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง ณ ที่แจ้ง
ในความมืดมิดแห่งราตรี และฝนก็โปรยละอองอยู่ ครั้งนั้น อชกลาปกยักษ์ประสงค์
จะให้พระผู้มีพระภาคเกิดความกลัว หวาดหวั่น ขนพองสยองเกล้า จึงเข้าไปหา

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงความเป็นผู้มั่นคงของพระขีณาสพ โดยทรงมุ่งแสดงความเป็นผู้มักน้อยอย่างยิ่ง
เป็นหลัก (ขุ.อุ.อ. ๖/๖๔)
๒ สารธรรม หมายถึงวิมุตติสาระ (ขุ.อุ.อ. ๖/๖๖)
๓ คายโทษ หมายถึงคายโทษมีราคะเป็นต้น (ขุ.อุ.อ. ๖/๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๘. สังคมชิสูตร
ถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ส่งเสียงร้องโหยหวนขึ้น ๓ ครั้ง ณ ที่ใกล้พระผู้มีพระภาคว่า
“อักกุโล ปักกุโล” แล้วพูดว่า “สมณะ นั่นปีศาจ๑ปรากฏแก่ท่าน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน๒
เมื่อใด บุคคลถึงฝั่งในธรรมของตน ชื่อว่าเป็นพราหมณ์
เมื่อนั้น บุคคลนั้นย่อมไม่กลัวปีศาจ และเสียงร้องโหยหวนอย่างนี้
อชกลาปกสูตรที่ ๗ จบ
๘. สังคามชิสูตร
ว่าด้วยพระสังคามชิเถระ
[๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสังคามชิเดินทางมาถึงกรุงสาวัตถี
โดยลำดับเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค อดีตภรรยาของท่านพระสังคามชิได้ฟังข่าวว่า
“ทราบว่าพระคุณเจ้าสังคามชิถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับแล้ว” นางจึงอุ้มลูกน้อยไปยัง
พระเชตวัน
สมัยนั้น ท่านพระสังคามชินั่งพักกลางวันอยู่ใต้ต้นไม้แห่งหนึ่ง ครั้งนั้น อดีต
ภรรยาของท่านพระสังคามชิเข้าไปหาถึงที่พัก ได้กล่าวกับท่านพระสังคามชิ ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ปีศาจ ในที่นี้หมายถึงยักษ์เนรมิตรูปร่างใหญ่โตน่ากลัว ยืนเบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค (ขุ.อุ.อ.
๗/๗๑)
๒ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงธรรมานุภาพที่เป็นเหตุให้ไม่ทรงคำนึงถึงการกระทำน่ากลัวใด ๆ (ขุ.อุ.อ. ๗/๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๘. สังคมชิสูตร
“ข้าแต่สมณะ ขอท่านจงเลี้ยงดูดิฉันผู้มีลูกน้อยเถิด” เมื่อนางกล่าวอย่างนี้แล้ว
ท่านพระสังคามชิได้นิ่งอยู่
แม้ครั้งที่ ๒ นางก็ได้กล่าวกับท่านพระสังคามชิดังนี้ว่า “ข้าแต่สมณะ ขอท่าน
จงเลี้ยงดูดิฉันผู้มีลูกน้อยเถิด”
ท่านพระสังคามชิก็ได้นิ่งอยู่
แม้ครั้งที่ ๓ นางก็ได้กล่าวกับท่านพระสังคามชิดังนี้ว่า “ข้าแต่สมณะ ขอท่าน
จงเลี้ยงดูดิฉันผู้มีลูกน้อยเถิด”
ท่านพระสังคามชิก็ได้นิ่งอยู่
ครั้งนั้น อดีตภรรยาของท่านพระสังคามชิจึงอุ้มลูกน้อยนั้นไปวางไว้ข้างหน้า
ท่านพระสังคามชิแล้วเดินหนีไปโดยพูดว่า “สมณะ นั่นลูกของท่าน จงเลี้ยงดูลูกนั้น
ด้วยเถิด”
ครั้งนั้น ท่านพระสังคามชิทั้งไม่แลดูและไม่พูดกับเด็กน้อยนั้นเลย ขณะนั้น
อดีตภรรยาของท่านพระสังคามชิไปแอบดูอยู่ในที่ไม่ไกลนัก ได้เห็นท่านทั้งไม่แลดู
และไม่พูดกับเด็กน้อยนั้น จึงคิดว่า “สมณะนี้ คงไม่ต้องการลูกน้อย” จึงกลับออก
จากที่นั้นแล้วอุ้มลูกน้อยเดินไป
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นอดีตภรรยาของท่านพระสังคามชิแสดง
อาการแปลกอย่างนั้นด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๙. ชฏิลสูตร
พุทธอุทาน๑
ผู้ไม่ใยดีอดีตภรรยาผู้มาหา
ไม่เศร้าโศกถึงอดีตภรรยาผู้จากไป
เราเรียกผู้ชนะสงคราม ผู้พ้นจากกิเลสเครื่องข้องแล้ว๒ ว่าพราหมณ์
สังคามชิสูตรที่ ๘ จบ
๙. ชฏิลสูตร
ว่าด้วยพวกชฎิล
[๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ คยาสีสบรรพต ใกล้หมู่บ้านคยา
สมัยนั้น เป็นฤดูหนาว มีหิมะตก ๘ วัน ในช่วงกลางคืนอากาศหนาวเหน็บ
ชฎิลจำนวนมาก ผุดขึ้นบ้าง ดำลงบ้าง ทั้งผุดขึ้นและดำลงบ้าง รดน้ำบ้าง บูชาไฟบ้าง
ที่แม่น้ำคยาด้วยคิดว่า “ด้วยวิธีนี้จะบริสุทธิ์”
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นชฎิลจำนวนมากผุดขึ้นบ้าง ดำลงบ้าง
ทั้งผุดขึ้นและดำลงบ้าง รดน้ำบ้าง บูชาไฟบ้างที่แม่น้ำคยาด้วยคิดว่า “ด้วยวิธีนี้จะ
บริสุทธิ์”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงความเป็นผู้มั่นคงในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ (ขุ.อุ.อ. ๘/๗๗)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๔๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑๐. พาหิยสูตร
พุทธอุทาน๑
บุคคลจะเป็นผู้สะอาดเพราะน้ำ
ที่คนจำนวนมากพากันไปอาบก็หาไม่
ผู้ใดมีสัจจะ๒และธรรม๓
ผู้นั้นชื่อว่า เป็นผู้สะอาด และผู้นั้นชื่อว่า เป็นพราหมณ์
ชฏิลสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. พาหิยสูตร
ว่าด้วยพระพาหิยเถระ
[๑๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น บุรุษชื่อพาหิยะ ทารุจีริยะ๔อาศัยอยู่ ณ
ท่าสุปปารกะ ใกล้ฝั่งทะเล มีคนจำนวนมากพากันสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นอบน้อม จึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ครั้งนั้น
เมื่อพาหิยะ ทารุจีริยะอยู่ในที่ลับหลีกเร้นอยู่๕ เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า “เราเป็น
คนหนึ่งในบรรดาคนในโลกที่เป็นพระอรหันต์ หรือว่าเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรค”

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงว่าความสะอาดเพราะน้ำมิใช่ทางแห่งความบริสุทธิ์ของสัตว์ และแสดงว่า
ธรรมทั้งหลายมีสัจจะเป็นต้นเท่านั้นที่เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ที่แท้จริงของสัตว์ (ขุ.อุ.อ. ๙/๗๙)
๒ สัจจะ หมายถึงวจีสัจจะ และวิรัติสัจจะ (ขุ.อุ.อ. ๙/๘๐)
๓ ธรรม หมายถึงอริยมรรคและอริยผล (ขุ.อุ.อ. ๙/๘๐)
๔ ที่ชื่อว่า พาหิยะ เพราะเกิดในแคว้นพาหิยะ ที่ชื่อว่า ทารุจีริยะ เพราะเป็นผู้นุ่งผ้าเปลือกไม้ พาหิยะ
ทารุจีริยะนี้เคยตั้งความปรารถนาว่าขอให้ตรัสรู้เร็วพลัน ในศาสนาของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า (ขุ.อุ.อ.
๑๐/๘๑-๘๒)
๕ หลีกเร้นอยู่ หมายถึงการอยู่ผู้เดียว การอยู่โดยเพ่งพินิจธรรม หรืออยู่ด้วยผลสมาบัติ อีกนัยหนึ่ง
หมายถึงการทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ เข้าผลสมาบัติในเวลาเช้า (วิ.อ. ๑/๒๒/๒๐๔, สํ.สฬา.อ. ๓/๘๗/๒๐,
องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๗/๑๐๖-๑๐๗) แต่ในที่นี้เป็นเพียงกิริยาเลียนแบบด้วยประสงค์จะให้เขายกย่องว่าเป็นพระ
อรหันต์ (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑๐. พาหิยสูตร
คราวนั้น เทวดาที่เป็นญาติสาโลหิต๑ในปางก่อนของเขา มีปกติอนุเคราะห์
ปรารถนาจะให้เกิดประโยชน์ ได้ทราบความคิดคำนึงของเขา จึงเข้าไปหาเขาถึงที่อยู่
ได้พูดดังนี้ว่า “พาหิยะ ท่านไม่เป็นพระอรหันต์ หรือไม่เป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรคเลย
แม้ปฏิปทาที่จะเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรคของท่านก็ไม่มี”
พาหิยะ ทารุจีริยะจึงถามว่า “เมื่อเป็นอย่างนั้น บัดนี้ ใครเล่าเป็นพระอรหันต์
หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรค ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก”
เทวดานั้นตอบว่า “พาหิยะ ในชนบททางเหนือ มีเมืองชื่อว่าสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ ณ ที่นั้น พาหิยะ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงเป็นพระอรหันต์ ทั้งทรงแสดงธรรมเพื่อความเป็น
พระอรหันต์ด้วย”
ลำดับนั้น พาหิยะ ทารุจีริยะถูกเทวดานั้นทำให้สังเวชแล้ว จึงหลีกไปจาก
ท่าสุปปารกะในทันใดนั้นเองไปยังเมืองสาวัตถีทันที โดยพักแรมสิ้นราตรีเดียวในที่
ทั้งปวง ได้เข้าไปยังพระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี
ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมาก กำลังจงกรมอยู่ในที่แจ้ง พาหิยะ ทารุจีริยะ
ได้เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่จงกรม ได้พูดดังนี้ว่า “ท่านขอรับ บัดนี้ พระผู้มี
พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหน กระผมต้องการจะเฝ้าพระผู้มี
พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น” ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า “พาหิยะ
พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังละแวกบ้าน”
ลำดับนั้น พาหิยะ ทารุจีริยะรีบด่วนออกจากพระเชตวัน เข้าไปยังกรุงสาวัตถี
ได้เห็นพระผู้มีพระภาคผู้กำลังเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ผู้น่าเลื่อมใส ทรงเป็น
ที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส มีอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ ทรงบรรลุทมถะและสมถะ

เชิงอรรถ :
๑ ญาติ หมายถึงบิดามารดาและเครือญาติฝ่ายบิดามารดาของสามี หรือบิดามารดาและเครือญาติฝ่ายบิดา
มารดาของภรรยา สาโลหิต หมายถึงผู้ร่วมสายเลือดเดียวกัน ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่สาวน้องสาว
พี่ชายน้องชาย เป็นต้น (องฺ.ติก.อ. ๒/๗๖/๒๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑๐. พาหิยสูตร
ที่สูงสุด ทรงฝึกฝนแล้ว ทรงคุ้มครองแล้ว ทรงสำรวมอินทรีย์ ทรงเป็นพระนาคะ๑
ครั้นเห็นแล้วจึงเข้าไปเฝ้า หมอบลงแทบพระยุคลบาทพระผู้มีพระภาคได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรม
แก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความ
สุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อพาหิยะ ทารุจีริยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับพาหิยะ
ทารุจีริยะดังนี้ว่า “พาหิยะ เวลานี้ยังไม่สมควร เพราะเรากำลังเที่ยวบิณฑบาต
ตามละแวกบ้านอยู่”
แม้ครั้งที่ ๒ พาหิยะ ทารุจีริยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของพระผู้มีพระภาคก็ดี ความเป็น
ไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระ-
ผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมที่จะเป็นไป
เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับพาหิยะ ทารุจีริยะดังนี้ว่า “พาหิยะ เวลานี้ยังไม่สมควร
เพราะเรากำลังเที่ยวบิณฑบาตตามละแวกบ้านอยู่”
แม้ครั้งที่ ๓ พาหิยะ ทารุจีริยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของพระผู้มีพระภาคก็ดี ความ
เป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรม
ที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด
พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ที่ทรงพระนามว่า “นาคะ” เพราะเหตุ ๔ ประการ คือ (๑) เพราะไม่ถึงอคติ ๔ มีฉันทาคติ เป็นต้น
(๒) เพราะไม่ทรงกลับไปหากิเลสที่ทรงละได้แล้ว (๓) เพราะไม่ทำความชั่วอะไร ๆ (๔) เพราะไม่ไปเกิดใน
ภพใหม่ (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑๐. พาหิยสูตร
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “พาหิยะ เพราะเหตุนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
เมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อฟังเสียงก็สักแต่ว่าฟัง เมื่อรับรู้อารมณ์ที่ได้รับรู้๑ก็
สักแต่ว่ารับรู้ เมื่อรู้แจ้งธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งก็สักแต่ว่ารู้แจ้ง พาหิยะ เธอพึงรักษา
อย่างนี้แล
เมื่อใด เธอเมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อฟังเสียงก็สักแต่ว่าฟัง เมื่อรับรู้อารมณ์
ที่ได้รับรู้ก็สักแต่ว่ารับรู้ เมื่อรู้แจ้งธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งก็สักแต่ว่ารู้แจ้ง เมื่อนั้น เธอ
ก็จะไม่มี เมื่อใด เธอไม่มี เมื่อนั้น เธอก็จะไม่ยึดติดในสิ่งนั้น๒ เมื่อใด เธอไม่
ยึดติดในสิ่งนั้น เมื่อนั้น เธอจักไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกอื่น ไม่มีในระหว่างโลก
ทั้งสอง นี้เป็นที่สุดแห่งทุกข์”
ลำดับนั้น ด้วยพระธรรมเทศนาย่อนี้ของพระผู้มีพระภาค จิตของพาหิยะ
ทารุจีริยะจึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น
ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสสอนพาหิยะ ทารุจีริยะด้วยพระโอวาทโดยย่อนี้แล้วก็
เสด็จจากไป
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน โคแม่ลูกอ่อนได้ขวิดพาหิยะ ทารุจีริยะ
จนล้มลงเสียชีวิต
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เสด็จกลับจาก
บิณฑบาตหลังจากเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว เสด็จออกจากพระนครพร้อมกับ

เชิงอรรถ :
๑ อารมณ์ที่ได้รับรู้ แปลจากคำว่า มุตะ หมายถึงอารมณ์ ๓ คือ คันธารมณ์(กลิ่น) รสารมณ์(รส)
โผฏฐัพพารมณ์(การสัมผัส) (อภิ.สงฺ.อ. ๙๖๖/๓๙๖)
๒ คำว่า “เมื่อใดเธอเมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น ฯลฯ เมื่อนั้น เธอก็จะไม่ยึดติดในสิ่งนั้น” นี้ พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงภูมิแห่งพระขีณาสพ มีความหมายดังนี้ คือ เมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น ฯลฯ เมื่อรู้แจ้งธรรมารมณ์
ก็สักแต่ว่ารู้แจ้งแล้ว ก็จักไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เมื่อไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ก็จักไม่มีความยึดติดด้วย
อำนาจตัณหาว่า “นั่นของเรา” ไม่มีความยึดติดด้วยอำนาจมานะว่า ‘เราเป็นนั่น’ และไม่มีความยึดติดด้วย
อำนาจทิฏฐิว่า “นั่นเป็นอัตตาของเรา”
อีกนัยหนึ่ง คำว่า “เธอก็จะไม่มี” เป็นคำแสดงมรรค คำว่า “เธอก็จะไม่ยึดติดในสิ่งนั้น” เป็นคำแสดงผล
คำว่า “เธอก็จะไม่มีในโลกนี้ เป็นต้น” เป็นคำแสดงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๘๗-๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑๐. พาหิยสูตร
ภิกษุจำนวนมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นพาหิยะ ทารุจีริยะเสียชีวิตแล้ว จึงรับสั่ง
เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงช่วยกันยกร่างพาหิยะ
ทารุจีริยะขึ้นวางบนเตียงแล้วนำไปเผา และจงทำสถูปไว้ เพื่อนพรหมจารีของเธอ
ทั้งหลายเสียชีวิตแล้ว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ช่วยกันยกร่างพาหิยะ ทารุจีริยะขึ้นวาง
บนเตียงแล้วนำไปเผา ทำสถูปไว้แล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายเผาร่างพาหิยะ ทารุจีริยะและ
ทำสถูปไว้แล้ว พระพุทธเจ้าข้า เขามีคติเป็นอย่างไร มีภพเบื้องหน้าเป็นอย่างไร
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พาหิยะ ทารุจีริยะเป็นผู้ดำเนินชีวิต
ด้วยปัญญา ดำเนินตามธรรมที่สมควรแก่ธรรม ทั้งไม่ทำให้เราลำบาก เพราะเหตุ
แห่งการแสดงธรรม ภิกษุทั้งหลาย พาหิยะ ทารุจีริยะปรินิพพานแล้ว”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน๑
ในนิพพาน ไม่มีดิน น้ำ ไฟ ลม
ไม่มีดวงดาวส่องแสง
ไม่มีดวงอาทิตย์ส่องแสง
ไม่มีดวงจันทร์ส่องแสง และไม่มีความมืด

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ พระผู้มีพระภาค ครั้นทรงทราบว่า พระพาหิยะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ และ
ทรงทราบว่าคติของพระขีณาสพอันปุถุชนรู้ได้ยาก จึงทรงเปล่งแสดงอานุภาพแห่งการปรินิพพาน (ขุ.อุ.อ.
๑๐/๑๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
เมื่อใด พราหมณ์ชื่อว่าเป็นมุนี
เพราะมีโมนธรรม๑รู้แจ้งด้วยตนเอง
เมื่อนั้น เขาย่อมหลุดพ้นจากรูปภพ๒ อรูปภพ๓ และจากสุขและทุกข์๔
พาหิยสูตรที่ ๑๐ จบ
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอุทานแม้นี้ ตามที่ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้)
โพธิวรรคที่ ๑ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมโพธิสูตร ๒. ทุติยโพธิสูตร
๓. ตติยโพธิสูตร ๔. นิหุหุงกสูตร
๕. พราหมณสูตร ๖. มหากัสสปสูตร
๗. อชกลาปกสูตร ๘. สังคามชิสูตร
๙. ชฏิลสูตร ๑๐. พาหิยสูตร


เชิงอรรถ :
๑ โมนธรรม หมายถึงอริยสัจ ๔ (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๑๐๒)
๒ รูปภพ หมายถึงปัญจโวการภพ (ภพที่มีขันธ์ ๕) และเอกโวการภพ (ภพที่มีขันธ์ ๑) (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๑๐๓)
๓ อรูปภพ หมายถึงจตุโวการภพ (ภพที่มีขันธ์ ๔) (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๑๐๓)
๔ ขุ.อป. (แปล) ๓๓/๒๑๘-๒๒๐/๒๖๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๑. มุจจลินทสูตร
๒. มุจจลินทวรรค
หมวดว่าด้วยพญานาคมุจลินท์
๑. มุจจลินทสูตร
ว่าด้วยพญานาคมุจลินท์
[๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นมุจลินท์๑
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน
สมัยนั้น ได้บังเกิดเมฆใหญ่ขึ้นในสมัยมิใช่ฤดูกาล เป็นฝนเจือลมหนาวตกพรำ
ตลอด ๗ วัน ลำดับนั้น พญานาคมุจลินท์ได้ออกจากที่อยู่ของตน ไปโอบรอบ
พระวรกายของพระผู้มีพระภาคด้วยขนด ๗ รอบ แผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเหนือ
พระเศียรด้วยหวังว่า “ความหนาว อย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค ความร้อน
อย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลาน
อย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค”
ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น พญานาคมุจลินท์
รู้ว่าฝนหาย ปลอดเมฆแล้ว จึงคลายขนดออกจากพระวรกายของพระผู้มีพระภาค
จำแลงร่างของตนเป็นมาณพ ยืนประนมมือถวายอภิวาทอยู่ ณ เบื้องพระพักตร์ของ
พระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ มุจลินท์ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า นิจุละ คือ ต้นจิกนา(นีปะ) ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “The Tree Barringtonai
Acutangula” ต้นมุจลินท์นี้เป็นเจ้าแห่งไม้ในป่า (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๒. ราชสูตร
พุทธอุทาน๑
วิเวก๒เป็นความสุขของผู้สันโดษ๓
ผู้มีธรรมปรากฏแล้ว ผู้เห็นอยู่
ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก
ความเป็นผู้ปราศจากราคะคือความล่วงกามทั้งหลายได้๔ เป็นสุขในโลก
ความกำจัดอัสมิมานะได้๕ เป็นสุขอย่างยิ่ง๖
มุจจลินทสูตรที่ ๑ จบ
๒. ราชสูตร
ว่าด้วยอานุภาพของพระราชา
[๑๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากกลับจากบิณฑบาตหลังจาก
ฉันอาหารเสร็จแล้ว มานั่งประชุมพร้อมกันในอุปัฏฐานศาลา๗ได้สนทนาอันตรากถา๘
ขึ้นว่า “ท่านทั้งหลาย บรรดาพระราชา ๒ พระองค์นี้ คือ พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพ

เชิงอรรถ :-
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงอานุภาพแห่งวิเวกสุข (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๕)
๒ วิเวก ในที่นี้หมายถึงนิพพานที่สงัดจากอุปธิกิเลส (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๔)
๓ ผู้สันโดษ ในที่นี้หมายถึงผู้สันโดษในมัคคญาณ ๔ (โสดาปัตติมัคคญาณ สกทาคามิมัคคญาณ อนาคามิ-
มัคคญาณ อรหัตตมัคคญาณ) (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๕)
๔ ความล่วงกามทั้งหลายได้ หมายถึงอนาคามิมรรค (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๖)
๕ ความกำจัดอัสมิมานะ หมายถึงอรหัตต์ (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๖)
๖ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๕/๘-๙, อภิ.ก.๓๗/๓๓๘/๑๘๓
๗ อุปัฏฐานศาลา แปลว่าศาลาเป็นที่บำรุงหรือหอฉัน ในที่นี้หมายถึง มณฑปแสดงธรรม คือ เมื่อพระผู้มี
พระภาคเสด็จมาทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่มณฑปนี้ ภิกษุทั้งหลายจึงได้ถวายอุปัฏฐากพระองค์ ด้วยเหตุนี้
จึงเรียกว่า อุปัฏฐานศาลา ใช้เป็นที่ประชุมสนทนาธรรม วินิจฉัยวินัย และแสดงธรรมของภิกษุทั้งหลาย
(ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๐๖)
๘ อันตรากถา หมายถึงการพูดคุยนอกเรื่องการเจริญกัมมัฏฐานเป็นต้น หรือพูดคุยระหว่างรอการฟังธรรม
(ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๒. ราชสูตร
มคธรัฐ กับพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์ไหน มีราชทรัพย์มากกว่า โภคสมบัติ
มากกว่า ท้องพระคลังมากกว่า แว่นแคว้นมากกว่า ราชพาหนะมากกว่า พระกำลัง
มากกว่า พระฤทธิ์มากกว่า หรือทรงอานุภาพมากกว่า” อันตรากถาของภิกษุ
เหล่านั้นได้ค้างไว้เพียงเท่านี้
ครั้งนั้น ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จเข้าไปยัง
อุปัฏฐานศาลา ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมา
ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้ เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร และพูด
เรื่องอะไรค้างไว้”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เมื่อ
ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาต หลังจากฉันอาหารเสร็จแล้วมานั่งประชุม
พร้อมกันในอุปัฏฐานศาลา ได้สนทนาอันตรากถาขึ้นมาดังนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย
บรรดาพระราชา ๒ พระองค์นี้ คือ พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ กับพระเจ้า
ปเสนทิโกศล พระองค์ไหน มีราชทรัพย์มากกว่า โภคสมบัติมากกว่า ท้องพระคลัง
มากกว่า แว่นแคว้นมากกว่า ราชพาหนะมากกว่า พระกำลังมากกว่า พระฤทธิ์
มากกว่า หรือทรงอานุภาพมากกว่า’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันตรากถานี้แลที่ข้าพระองค์
ทั้งหลายพูดค้างไว้ ก็พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลบุตรมีศรัทธา
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แล้วมัวสนทนาเรื่องอย่างนี้นั้น ไม่สมควรเลย ภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายนั่งประชุมกันแล้วควรทำกิจเพียง ๒ อย่าง คือ การกล่าวธรรม
หรือความเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๓. ทัณฑสูตร
พุทธอุทาน๑
กามสุข๒ในโลก๓และทิพยสุข๔ ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖
แห่งความสุขคือความสิ้นตัณหา๕
ราชสูตรที่ ๒ จบ
๓. ทัณฑสูตร
ว่าด้วยการทำร้ายสัตว์ด้วยท่อนไม้
[๑๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น เด็กชายจำนวนมากใช้ท่อนไม้ตีงูในระหว่าง
กรุงสาวัตถีกับพระเชตวัน ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก
ถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กชาย
เหล่านั้นกำลังใช้ท่อนไม้ตีงูในระหว่างกรุงสาวัตถีกับพระเชตวัน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงอานุภาพอริยวิหารสุข (ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๑๑)
๒ กามสุข หมายถึงความสุขที่เกิดจากกิเลสกาม (ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๑๑-๑๑๒)
๓ โลก หมายถึงสัตวโลกและโอกาสโลก (ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๑๑)
๔ ทิพยสุข หมายถึงสุขอันเป็นทิพย์และสุขอันเกิดจากรูปสมาบัติของพรหมและมนุษย์ (ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๑๒)
๕ ความสุขคือความสิ้นตัณหา หมายถึงสุขอันเกิดจากผลสมาบัติ (ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๔. สักการสูตร
พุทธอุทาน
ผู้ใดใฝ่หาความสุขเพื่อตน
แต่กลับใช้ท่อนไม้ทำร้ายสัตว์ทั้งหลายผู้รักสุข
ผู้นั้นตายไปแล้วย่อมไม่ได้รับความสุขเลย
ส่วนผู้ใดใฝ่หาความสุขเพื่อตน
ไม่ใช้ท่อนไม้ทำร้ายสัตว์ทั้งหลายผู้รักสุข
ผู้นั้นตายไปแล้ว ย่อมได้รับความสุข๑
ทัณฑสูตรที่ ๓ จบ
๔. สักการสูตร
ว่าด้วยเครื่องสักการะ
[๑๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ที่มหาชนสักการะ
เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร แม้ภิกษุสงฆ์ก็เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม
ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ส่วนพวกอัญเดียรถีย์๒
ปริพาชก เป็นผู้ที่มหาชนไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่นอบน้อม ไม่ได้
จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ครั้งนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชกทนดูสักการะที่เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไม่ได้ เห็นภิกษุ
ทั้งหลายในบ้านและในป่า ย่อมด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนด้วยวาจา
หยาบคายที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษ

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๑๓๑-๑๓๒ หน้า ๗๓ ในเล่มนี้
๒ อัญเดียรถีย์ หมายถึงนักบวชผู้ชายภายนอกพระพุทธศาสนา (วิ.อ. ๓/๑๓๒/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๔. สักการสูตร
ครั้งนั้นแล ภิกษุจำนวนมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ
บูชา นอบน้อม ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
แม้ภิกษุสงฆ์ก็เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ได้จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ส่วนพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก
เป็นผู้ที่มหาชนไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่นอบน้อม ไม่ได้จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ครั้งนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชก ทนดูสักการะที่เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไม่ได้ เห็นภิกษุ
ทั้งหลายในบ้านและในป่า ย่อมด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนด้วยวาจา
หยาบคายที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษ พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
เธอทั้งหลายได้รับสุขและทุกข์ ในบ้าน(หรือ)ในป่า
ไม่ควรใส่ใจสุขและทุกข์นั้นว่ามีสาเหตุมาจากตน หรือคนอื่น
ผัสสะทั้งหลาย๑ จะสัมผัสได้ก็เพราะอาศัยอุปธิ๒
เมื่อไม่มีอุปธิ ผัสสะทั้งหลายจะสัมผัสได้อย่างไร
สักการสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ผัสสะทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงสุขเวทนา และทุกขเวทนา (ขุ.อุ.อ. ๑๔/๑๑๘)
๒ อุปธิ ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (ขุ.อุ.อ. ๑๔/๑๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๕. อุปาสกสูตร
๕. อุปาสกสูตร
ว่าด้วยอุบาสก
[๑๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น อุบาสกชาวบ้านอิจฉานังคละคนหนึ่ง
ถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ ด้วยกิจที่จะต้องทำบางอย่าง ครั้งนั้น อุบาสกนั้นครั้นทำ
กิจที่จะต้องทำในกรุงสาววัตถีเสร็จแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับ
อุบาสกนั้นดังนี้ว่า “นานเหลือเกิน อุบาสก ท่านจึงมีเหตุมา ณ ที่นี้ได้”
อุบาสกนั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคนานแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แต่ว่าข้าพระองค์มัวขวนขวายกับกิจที่จะ
ต้องทำบางอย่าง จึงไม่สามารถเข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
ความสุขย่อมมีแก่บุคคลผู้ไม่มีอะไร๑
ผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว๒เป็นพหูสูต๓
ท่านจงดูคนที่มีกิเลสเครื่องกังวลกำลังเดือดร้อนอยู่
เพราะคนที่มีความผูกพันกับคนอื่นย่อมเดือดร้อน
อุปาสกสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีอะไร หมายถึงไม่มีอารมณ์อะไรในอารมณ์ทั้ง ๕ ที่จะต้องยึดถือด้วยตัณหาว่า “สิ่งนั้นเป็นของเรา”
อีกนัยหนึ่งหมายถึงไม่มีกิเลสเครื่องกังวลมีราคะเป็นต้น (ขุ.อุ.อ. ๑๕/๑๒๐)
๒ ผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว หมายถึงผู้ทำกิจแสร็จแล้ว ได้แก่ บรรลุมรรค ๔ ผล ๔ ในที่นี้หมายถึงพระอรหันต์
(ขุ.อุ.อ. ๑๕/๑๒๐-๑๒๑)
๓ พหูสูต ในที่นี้หมายถึงเป็นพหูสูตด้วยปฏิเวธพาหุสัจจะ(ความเป็นพหูสูตด้วยการรู้แจ้งธรรม) (ขุ.อุ.อ. ๑๕/๑๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๖. คัพภินีสูตร
๖. คัพภินีสูตร
ว่าด้วยหญิงมีครรภ์
[๑๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภรรยาของปริพาชกคนหนึ่ง เป็นมาณวิกา
วัยสาวมีครรภ์แก่ใกล้คลอด ครั้งนั้น นางปริพาชิกานั้นได้กล่าวกับปริพาชกนั้น
ดังนี้ว่า “พราหมณ์ ท่านจงไปนำน้ำมันมาเตรียมไว้เพื่อดิฉันในเวลาคลอด”
เมื่อนางปริพาชิกากล่าวอย่างนี้ ปริพาชกนั้นจึงกล่าวกับนางปริพาชิกาดังนี้ว่า
“แม่นาง ฉันจะนำน้ำมันมาจากที่ไหนเล่า”
แม้ครั้งที่ ๒ นางปริพาชิกาก็ได้กล่าวกับปริพาชกดังนี้ว่า “พราหมณ์ ท่านจง
ไปนำน้ำมันมาเตรียมไว้เพื่อดิฉันในเวลาคลอด”
ปริพาชกได้กล่าวกับนางปริพาชิกาดังนี้ว่า “แม่นาง ฉันจะนำน้ำมันมาจาก
ที่ไหนเล่า”
แม้ครั้งที่ ๓ นางปริพาชิกาก็ได้กล่าวกับปริพาชกดังนี้ว่า “พราหมณ์ ท่านจง
ไปนำน้ำมันมาเตรียมไว้เพื่อดิฉันในเวลาคลอด”
สมัยนั้น เจ้าหน้าที่พระคลังได้ถวายเนยใสบ้าง น้ำมันบ้าง ในท้องพระคลัง
ของพระเจ้าปเทนทิโกศล แก่สมณะบ้าง แก่พราหมณ์บ้าง ให้ดื่มจนพอ ไม่ให้เพื่อนำ
ออกไป
ครั้งนั้น ปริพาชกนั้นมีความคิดดังนี้ว่า “เจ้าหน้าที่พระคลังได้ถวายเนยใสบ้าง
น้ำมันบ้าง ในท้องพระคลังของพระเจ้าปเสนทิโกศล แก่สมณะบ้าง แก่พราหมณ์บ้าง
ให้ดื่มจนพอ ไม่ให้เพื่อนำออกไป ทางที่ดี เราควรไปท้องพระคลังของพระเจ้า
ปเสนทิโกศล ดื่มน้ำมันจนพอแล้วกลับมาเรือน สำรอกน้ำมันออกมาเตรียมไว้เพื่อ
นางปริพาชิกาในเวลาคลอด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๖ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น