Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๕-๔ หน้า ๑๙๗ - ๒๖๑

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕-๔ สุตตันตปิฎกที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อุทาน
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๖. คัพภินีสูตร
ครั้งนั้น ปริพาชกนั้นได้ไปยังท้องพระคลังของพระเจ้าปเสนทิโกศล ดื่มน้ำมัน
จนพอแล้วกลับมาเรือน ไม่สามารถนำออกข้างบน (ทางปาก) ได้ ไม่สามารถนำออก
ข้างล่าง(ถ่ายออก)ได้ เขาได้รับทุกขเวทนากล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน จึงกระสับ-
กระส่าย นอนกลิ้งไปมา
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปเพื่อบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ได้ทอดพระเนตรเห็นปริพาชกนั้นได้รับ
ทุกขเวทนากล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน กระสับกระส่าย นอนกลิ้งไปมา
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
คนทั้งหลายผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ย่อมเป็นผู้มีความสุขแท้จริง
ก็คนทั้งหลาย ที่เป็นผู้จบเวท๑
ชื่อว่าผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ท่านจงดูคนที่มีกิเลสเครื่องกังวลกำลังเดือดร้อนอยู่
เพราะคนที่มีความผูกพันกับคนอื่นย่อมเดือดร้อน
คัพภินีสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ จบเวท ในที่นี้หมายถึงบรรลุอริยมัคคญาณ หรือบรรลุนิพพาน (ขุ.อุ.อ. ๑๖/๑๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๗. เอกปุตตกสูตร
๗. เอกปุตตกสูตร
ว่าด้วยอุบาสกมีบุตรน้อยคนเดียว
[๑๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น บุตรน้อยคนเดียวของอุบาสกคนหนึ่ง
ผู้น่ารัก น่าพอใจ ได้ตายจากไป
ครั้งนั้น อุบาสกจำนวนมากมีผ้าเปียก ผมเปียก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับในเวลาเที่ยงวัน ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับอุบาสกเหล่านั้นดังนี้ว่า “อุบาสกทั้งหลาย มีเรื่อง
อะไรหรือ ท่านทั้งหลายมีผ้าเปียก ผมเปียก เข้ามาที่นี่ในเวลาเที่ยงวัน”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ อุบาสกนั้นจึงกราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระผู้มี
พระภาค บุตรน้อยคนเดียวของข้าพระองค์ ผู้น่ารัก น่าพอใจ ได้ตายจากไป
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายจึงมีผ้าเปียก ผมเปียก เข้ามาที่นี่ในเวลาเที่ยงวัน
พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
เทวดาและมนุษย์จำนวนมาก
พากันเพลิดเพลินยึดติดในรูปที่น่ารัก
จึงระทมทุกข์ เสื่อมหมดสิ้น๑
ตกอยู่ในอำนาจของมัจจุราช

เชิงอรรถ :
๑ เสื่อมหมดสิ้น หมายถึงเสื่อมจากสมบัติ (ขุ.อุ.อ.๑๗/๑๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๘. สุปปาวาสาสูตร
แต่คนเหล่าใด ไม่ประมาท
ทั้งกลางวันและกลางคืน ละรูปที่น่ารักได้
คนเหล่านั้นย่อมขุดขึ้นได้ซึ่งมูลเหตุแห่งทุกข์๑
ที่เป็นเหยื่อของมัจจุราช และที่ล่วงพ้นได้ยาก
เอกปุตตกสูตรที่ ๗ จบ
๘. สุปปวาสาสูตร
ว่าด้วยพระนางสุปปวาสา
[๑๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่ากุณฑิฏฐานวัน ใกล้หมู่บ้าน
กุณฑิยา สมัยนั้น พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี มีพระครรภ์
หลง๒อยู่ถึง ๗ วัน พระนางได้รับทุกขเวทนากล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน แต่ทรง
อดกลั้นไว้ด้วยความตรึก ๓ ประการ คือ (๑) พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ทรงแสดงธรรมเพื่อละทุกข์เห็นปานนี้ (๒) พระสงฆ์
สาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติเพื่อละทุกข์เห็นปานนี้
(๓) พระนิพพานซึ่งไม่มีทุกข์เห็นปานนี้ เป็นสุขดีอย่างแท้จริง
ครั้นต่อมา พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ได้ทูลเชิญพระราชสวามีมาตรัสว่า
“ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระองค์เสด็จมานี่เถิด พระองค์จงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า

เชิงอรรถ :
๑ มูลเหตุแห่งทุกข์ ในที่นี้หมายถึงตัณหาพร้อมทั้งอวิชชา (ขุ.อุ.อ. ๑๗/๑๒๖)
๒ ครรภ์หลง หมายถึงอาการที่ทารกขวางช่องคลอด ทำให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นในครรภ์ เพราะลมกรรมชวาต
พัดหมุนทำให้ทารกพลิกหมุนกลับไปกลับมา ไม่สามารถคลอดได้ตามปกติ (ขุ.อุ.อ. ๑๘/๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๘. สุปปวาสาสูตร
แล้วจงทูลถามถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้ประเปร่า มีพระพลานามัย
สมบูรณ์ อยู่สำราญตามคำของหม่อมฉันว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปป-
วาสา โกลิยธิดา ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า
พร้อมกับทูลถามถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้ประเปร่า มีพระพลานามัย
สมบูรณ์ อยู่สำราญ’ อนึ่ง ขอพระองค์จงกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี มีครรภ์หลงอยู่ถึง ๗ วัน
พระนางได้รับทุกขเวทนากล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน แต่ทรงอดกลั้นไว้ได้ด้วย
ความตรึก ๓ ประการ คือ (๑) พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
โดยชอบ ทรงแสดงธรรมเพื่อละทุกข์เห็นปานนี้ (๒) พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติเพื่อละทุกข์เห็นปานนี้ (๓) พระนิพพานซึ่งไม่มีทุกข์
เห็นปานนี้ เป็นสุขดีอย่างแท้จริง”
พระราชบุตรพระเจ้าโกลิยะนั้นทรงรับคำของพระนาง จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ขอถวาย
อภิวาทพระยุคลบาทพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า พร้อมกับทูลถามถึงสุขภาพ
ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้ประเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ
อนึ่ง พระนางยังรับสั่งอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา
ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี มีพระครรภ์หลงอยู่ถึง ๗ วัน พระนางได้รับทุกขเวทนากล้าแข็ง
เจ็บปวด เผ็ดร้อน แต่ทรงอดกลั้นไว้ได้ด้วยความตรึก ๓ ประการ คือ (๑) พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ทรงแสดงธรรมเพื่อละทุกข์เห็น
ปานนี้ (๒) พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติเพื่อละ
ทุกข์เห็นปานนี้ (๓) พระนิพพานซึ่งไม่มีทุกข์เห็นปานนี้ เป็นสุขดีอย่างแท้จริง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๘. สุปปวาสาสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ขอพระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา จงมีสุข อย่ามี
โรคเลย ขอจงประสูติโอรสผู้ไม่มีโรคด้วยเถิด” ด้วยพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค
นั่นแล พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาก็ทรงพระเกษมสำราญ หายจากพระโรค
ประสูติพระโอรสผู้ไม่มีโรค
พระราชบุตรพระเจ้าโกลิยะนั้นทูลรับว่า “ขอจงเป็นอย่างนั้นเถิด พระพุทธ-
เจ้าข้า” แล้วทรงยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับพระราชนิเวศน์ของ
พระองค์ ได้ทรงเห็นพระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาทรงพระเกษมสำราญ หายจาก
พระโรค ประสูติพระโอรสผู้ไม่มีโรค ครั้นทรงเห็นแล้ว ได้เกิดความอัศจรรย์พระทัย
ขึ้นมาว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ
มากจริง พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดานี้คงจักทรงพระเกษมสำราญ หายจาก
พระโรค ประสูติพระโอรสผู้ไม่มีโรค ด้วยพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคนั่นแล
เป็นแน่แท้” จึงทรงดีพระทัย เบิกบาน ทรงเกิดปีติโสมนัสอย่างยิ่ง
ครั้นต่อมา พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ได้ทูลเชิญพระราชสวามีมาตรัสว่า
“ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระองค์เสด็จมาที่นี่เถิด พระองค์จงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า
กราบทูลตามคำของหม่อมฉันว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสา
โกลิยธิดาขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า’ อนึ่ง
ขอพระองค์จงกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสา
โกลิยธิดา ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี มีครรภ์หลงอยู่ถึง ๗ วัน บัดนี้ พระนางทรงพระ
เกษมสำราญ หายจากพระโรค ประสูติพระโอรสผู้ไม่มีโรค พระนางจึงขอนิมนต์
ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานฉันภัตตาหารเป็นเวลา ๗ วัน ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของพระนาง
สุปปวาสา โกลิยธิดาตลอด ๗ วันเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๘. สุปปวาสาสูตร
พระราชบุตรพระเจ้าโกลิยะนั้นทรงรับคำของพระนาง แล้วเสด็จเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาขอถวาย
อภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า อนึ่ง พระนางยังรับสั่ง
อย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี
มีพระครรภ์หลงอยู่ถึง ๗ วัน บัดนี้ พระนางทรงพระเกษมสำราญ หายจากพระโรค
ประสูติพระโอรสผู้ไม่มีโรค พระนางจึงขอนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
ฉันภัตตาหารเป็นเวลา ๗ วัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของพระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาตลอด ๗ วันเถิด”
อนึ่ง เวลานั้น อุบาสกคนหนึ่งได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
ฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้นไว้(ก่อน)แล้ว และอุบาสกนั้นเป็นโยมอุปัฏฐากของท่านพระ
มหาโมคคัลลานะ ทีนั้น พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งเรียกท่านพระมหาโมคคัลลานะมา
ตรัสว่า “มาเถิด โมคคัลลานะ เธอจงเข้าไปหาอุบาสกนั้นถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจงพูดกับ
เขาอย่างนี้ว่า ‘พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี มีพระครรภ์หลง
อยู่ถึง ๗ วัน บัดนี้ พระนางทรงพระเกษมสำราญ หายจากพระโรค ประสูติพระโอรส
ผู้ไม่มีโรค พระนางจึงนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานฉันภัตตาหารเป็น
เวลา ๗ วัน ขอให้พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา จัดอาหารถวายตลอด ๗ วันเถิด
หลังจากนั้น อุบาสกผู้เป็นโยมอุปัฏฐากของเธอ จึงจัดอาหารถวาย”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว จึงเข้าไปหาอุบาสกนั้น
ถึงที่อยู่ ได้กล่าวดังนี้ว่า “พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี
มีพระครรภ์หลงอยู่ถึง ๗ วัน บัดนี้ พระนางทรงพระเกษมสำราญ หายจากพระโรค
ประสูติพระโอรสผู้ไม่มีโรค พระนางจึงทรงนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
ฉันภัตตาหารเป็นเวลา ๗ วัน ขอให้พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาจัดอาหารถวาย
ตลอด ๗ วันเถิด หลังจากนั้น ท่านจึงจัดอาหารถวาย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๘. สุปปวาสาสูตร
อุบาสกนั้นกราบเรียนว่า “ท่านขอรับ ถ้าพระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะจะเป็นผู้
ค้ำประกันธรรม ๓ ประการ คือ โภคสมบัติ ชีวิต และศรัทธาของกระผมได้ ก็ขอ
พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาทรงจัดอาหารถวายตลอด ๗ วันเถิด หลังจากนั้น
ผมจึงจัดอาหารถวาย” ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงพูดว่า “อาตมภาพ ขอค้ำ
ประกันธรรม ๒ ประการ คือ โภคสมบัติและชีวิตของท่าน ส่วนศรัทธา ท่านต้อง
ค้ำประกันเอง”
อุบาสกนั้นกราบเรียนว่า “ท่านขอรับ ถ้าพระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะจะเป็น
ผู้ค้ำประกันธรรม ๒ ประการ คือ โภคสมบัติและชีวิตของกระผมได้ พระนาง
สุปปวาสา โกลิยธิดาทรงจัดอาหารถวายตลอด ๗ วันเถิด หลังจากนั้น ผมจึง
จัดอาหารถวาย”
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะให้อุบาสกนั้นยินยอมแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ให้
อุบาสกนั้นยินยอมแล้ว ขอพระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาจัดอาหารถวายตลอด
๗ วันเถิด หลังจากนั้น อุบาสกนั้นจึงจัดอาหารถวาย”
ครั้นแล้ว พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ทรงนำของขบฉันอันประณีต ประเคน
ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานให้อิ่มหนำด้วยตนเองตลอด ๗ วัน และทรงให้
พระโอรสน้อยนั้นถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคและไหว้ภิกษุสงฆ์ทุกรูป
ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรกล่าวกับพระโอรสน้อยนั้นดังนี้ว่า “พระโอรสน้อย
พระองค์ทรงพระเกษมสำราญดีหรือ ทรงพอดำรงอยู่ได้หรือ ไม่มีทุกข์อะไรหรือ”
พระโอรสน้อยนั้นตรัสตอบว่า “ท่านพระสารีบุตรขอรับ กระผมอยู่ในครรภ์เปื้อน
โลหิตถึง ๗ ปี จะสบายแต่ที่ไหน”
ต่อจากนั้น พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาทรงดีพระทัยชื่นชม เกิดปีติโสมนัสว่า
“บุตรของเรารู้จักสนทนากับท่านพระธรรมเสนาบดี” ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๙. วิสาขาสูตร
พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาทรงดีพระทัยชื่นชม เกิดปีติโสมนัส จึงได้ตรัสกับ
พระนางดังนี้ว่า “สุปปวาสา เธอยังปรารถนาจะมีพระโอรสเช่นนี้อีกหรือไม่”
พระนางกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังปรารถนาจะมี
พระโอรสเช่นนี้อีก ๗ พระองค์ พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน๑
สิ่งที่ไม่น่ายินดี ย่อมครอบงำคนผู้ประมาทด้วยอาการที่น่ายินดี
สิ่งที่ไม่น่ารัก ย่อมครอบงำคนผู้ประมาทด้วยอาการที่น่ารัก
สิ่งที่เป็นทุกข์ย่อมครอบงำคนผู้ประมาทด้วยอาการที่เป็นสุข๒
สุปปวาสาสูตรที่ ๘ จบ
๙. วิสาขาสูตร
ว่าด้วยนางวิสาขา
[๑๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา
มิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น นางวิสาขา มิคารมาตามีประโยชน์บางอย่าง
เกี่ยวข้องในพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงยังประโยชน์นั้นให้
สำเร็จตามความประสงค์

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงว่าความรักที่ประกอบด้วยตัณหาสามารถทำความฉิบหายใหญ่หลวงแก่
บุคคลผู้ประมาทได้ (ขุ.อุ.อ. ๑๘/๑๖๔)
๒ ดูเทียบ ขุ.เปต. (แปล) ๒๖/๗๙๙/๒๙๘, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๐๐/๔๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๙. วิสาขาสูตร
ครั้งนั้น ในเวลาเที่ยงวัน นางวิสาขา มิคารมาตาจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
กับนางวิสาขาดังนี้ว่า “วิสาขา เธอมาจากไหน แต่เที่ยงวัน” นางกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์มีประโยชน์บางอย่างที่
เกี่ยวข้องในพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงยังประโยชน์นั้นให้
สำเร็จตามความประสงค์เลย พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
ประโยชน์ทั้งปวงอยู่ในอำนาจผู้อื่น ก่อให้เกิดทุกข์
ความเป็นอิสระ๑ทั้งปวง ก่อให้เกิดสุข
สัตว์ทั้งหลายเมื่อยังมีประโยชน์ทั่วไปอยู่ ย่อมเดือดร้อน
เพราะโยคะทั้งหลาย๒เป็นสิ่งที่ก้าวล่วงได้ยาก
วิสาขาสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ความเป็นอิสระ มี ๒ อย่าง คือ (๑) ความอิสระอันเป็นโลกิยะ ได้แก่ ความเป็นพระราชา เป็นต้น และ
ความมีจิตอิสระที่เกิดจากฌานและอภิญญา (๒) ความอิสระอันเป็นโลกุตตระ ได้แก่ ความอิสระที่เกิดจาก
นิโรธซึ่งมีเหตุมาจากการบรรลุมรรคและผล ในที่นี้หมายถึงความอิสระที่เกิดจากนิโรธ เป็นความอิสระที่ก่อ
ให้เกิดสุขอย่างแท้จริง เพราะไม่ต้องหวั่นไหวต่อโลกธรรม และเพราะมีสภาวะที่ไม่ต้องกลับเป็นทุกข์ได้อีก
(ขุ.อุ.อ. ๑๙/๑๖๗)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๖ หน้า ๓๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๑๐. ภัททิยสูตร
๑๐. ภัททิยสูตร
ว่าด้วยพระภัททิยเถระ
[๒๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อนุปิยอัมพวัน สมัยนั้น ท่าน
พระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตร๑เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี
ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’
ภิกษุจำนวนมากได้ฟังท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตรเมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่
ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’
ภิกษุเหล่านั้น ครั้นได้ฟังแล้ว จึงมีความคิดอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตร ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์แน่ ๆ เพราะเคยได้รับ
ความสุขในราชสมบัติเมื่อครั้งเป็นฆราวาสแล้ว ท่านคงหวนระลึกถึงความสุขนั้น
เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า
‘สุขหนอ สุขหนอ”
ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระภัททิยะ
กาฬิโคธาบุตรเมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทาน
เนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระภัททิยะไม่ยินดี
ประพฤติพรหมจรรย์แน่ ๆ เพราะเคยได้รับความสุขในราชสมบัติ เมื่อครั้งเป็น
ฆราวาสแล้ว ท่านคงหวนระลึกถึงความสุขนั้น เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี
หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า “ภิกษุ เธอจง
ไปเรียกภิกษุชื่อภัททิยะมาหาเราว่า ท่านภัททิยะ พระศาสดามีรับสั่งหาท่าน” ภิกษุ

เชิงอรรถ :
๑ พระภัททิยะ เป็นพระโอรสของพระนางกาฬิโคธาซึ่งเป็นเจ้าหญิงสากิยาราชเทวี ท่านบวชได้ไม่นานก็
บำเพ็ญวิปัสสนาจนได้บรรลุอภิญญา ๖ สมาทานธุดงค์ ๑๓ ประการ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะด้านเกิด
ในตระกูลสูง (ขุ.อุ.อ.๒๐/๑๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๑๐. ภัททิยสูตร
นั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตรถึงที่อยู่
ได้กล่าวกับท่านพระภัททิยะดังนี้ว่า “ท่านภัททิยะ พระศาสดามีรับสั่งหาท่าน”
ท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตรรับคำของภิกษุนั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านดังนี้ว่า
“ภัททิยะ ทราบว่า เธอเมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี
ก็เปล่งอุทานว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’ จริงหรือ”
ท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตรทูลตอบว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภัททิยะ ก็เธอมองเห็นประโยชน์อะไร เมื่ออยู่
ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี จึงเปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ
สุขหนอ”
ท่านพระภัททิยะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยเมื่อข้าพระองค์เป็น
ฆราวาส เสวยความสุขในราชสมบัติ ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายในวัง
ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายนอกวัง ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดี
ทั้งภายในเมือง ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายนอกเมือง ได้รับการ
อารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งในชนบท ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งนอกชนบท
ข้าพระองค์นั้นถึงจะได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีเช่นนี้ ก็ยังกลัว ยังหวาดหวั่น
ระแวง สะดุ้งอยู่ แต่เวลานี้ ข้าพระองค์เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่
ในเรือนว่างก็ดี เพียงผู้เดียวก็ไม่กลัว ไม่หวาดหวั่น ไม่ระแวง ไม่สะดุ้ง มีความ
ปรารถนาน้อย ไม่ขนลุกขนพอง ดำรงชีวิตด้วยปัจจัยที่ผู้อื่นให้ มีจิตอิสระดุจมฤค๑
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นประโยชน์อย่างนี้ เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่
ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี จึงเปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’
พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ มีจิตอิสระดุจมฤค หมายถึงมีความโล่งใจ เหมือนเนื้อทรายที่อยู่ในป่าห่างไกลจากมนุษย์ จะยืน เดิน นั่ง
นอน ก็โล่งใจ (ขุ.อุ.อ. ๒๐/๑๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พุทธอุทาน๑
ผู้ใดไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้กำเริบ๒ภายในจิต
และล่วงพ้นความเป็นภพและอภพ๓ต่าง ๆ ได้แล้ว
ทวยเทพไม่สามารถจะมองเห็นผู้นั้น
ผู้ปราศจากภัย มีความสุข ไม่เศร้าโศก๔
ภัททิยสูตรที่ ๑๐ จบ
มุจจลินทวรรคที่ ๒ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มุจจลินทสูตร ๒. ราชสูตร
๓. ทัณฑสูตร ๔. สักการสูตร
๕. อุปาสกสูตร ๖. คัพภินีสูตร
๗. เอกปุตตกสูตร ๘. สุปปวาสาสูตร
๙. วิสาขาสูตร ๑๐. ภัททิยสูตร


เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงอานุภาพวิเวกสุขที่ล่วงวิสัยของปุถุชน ว่าเป็นสุขที่ปราศจากภัยและความ
โศกเศร้า (ขุ.อุ.อ. ๒๐/๑๗๑)
๒ กิเลสเป็นเหตุให้กำเริบ หมายถึงราคะ โทสะ โมหะ (ขุ.อุ.อ. ๒๐/๑๗๒)
๓ ภพ หมายถึงสมบัติ(ความถึงพร้อม) วุฑฒิ(ความเจริญ) สัสสตะ(ความเที่ยงแท้) ปุญญะ(บุญ) สุคติ(ภูมิที่
ไปดี) ขุททกะ(สิ่งเล็กน้อย) อภพหมายถึงวิปัตติ(ความวิบัติ) หานิ(ความเสื่อม) อุจเฉทะ(ความขาดสูญ) บาป(ความชั่ว)
มหันตะ(สิ่งใหญ่ ๆ) (ขุ.อุ.อ. ๒๐/๑๗๒)
๔ ดูเทียบ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๓๒/๑๗๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๑. กัมมวิปากชสูตร
๓. นันทวรรค
หมวดว่าด้วยพระนันทเถระ
๑. กัมมวิปากชสูตร
ว่าด้วยการอดกลั้นทุกขเวทนาที่เกิดจากผลกรรม
[๒๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
อดกลั้นทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ที่เกิดจากผลแห่งกรรมเก่า มีสติ
มีสัมปชัญญะ ไม่ร้อนรุ่มใจ อยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุรูปนั้นผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
อดกลั้นทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ที่เกิดจากผลกรรมเก่า มีสติ
มีสัมปชัญญะ ไม่ร้อนรุ่มใจอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
ภิกษุผู้ละกรรมทั้งหมด๑ได้
กำจัดกรรมที่เป็นดุจธุลี๒ที่ตนเคยทำไว้ได้
ไม่มีความยึดถือว่าของเรา ดำรงมั่น๓ คงที่
ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะบอกให้คนช่วยเยียวยา
กัมมวิปากชสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ละกรรมทั้งหมด หมายถึงละกุศลกรรมและอกุศลกรรมทั้งหมด (ขุ.อุ.อ. ๒๑/๑๗๔)
๒ กรรมที่เป็นดุจธุลี หมายถึงทุกขเวทนียกรรม(กรรมที่พึงเสวยทุกข์) อันเจือด้วยราคะเป็นต้น (ขุ.อุ.อ. ๒๑/๑๗๕)
๓ ดำรงมั่น หมายถึงข้ามโอฆะ ๔ ประการได้แล้ว ดำรงมั่นอยู่บนบกคือนิพพาน (ขุ.อุ.อ. ๒๑/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๒. นันทสูตร
๒. นันทสูตร
ว่าด้วยพระนันทเถระ
[๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค
พระโอรสของพระมาตุจฉา ได้บอกแก่ภิกษุหลายรูปอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
กระผมไม่ยินดีจะประพฤติพรหมจรรย์๑ ไม่สามารถจะทรงพรหมจรรย์ไว้ได้ กระผม
จักบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์”
ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค พระโอรสของพระมาตุจฉาได้บอก
แก่ภิกษุหลายรูปอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย กระผมไม่ยินดีประพฤติ
พรหมจรรย์ ไม่สามารถจะทรงพรหมจรรย์ไว้ได้ กระผมจักบอกคืนสิกขากลับมาเป็น
คฤหัสถ์”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า “ภิกษุ เธอจงไป
เรียกนันทะมาหาเราว่า ท่านนันทะ พระศาสดารับสั่งหาท่าน” ภิกษุนั้นทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้วเข้าไปหาท่านพระนันทะถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับท่านพระนันทะว่า “ท่านนันทะ
พระศาสดารับสั่งหาท่าน”
ท่านพระนันทะรับคำของภิกษุรูปนั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามท่านพระนันทะ
ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๒. นันทสูตร
“นันทะ ทราบว่า เธอได้บอกแก่ภิกษุหลายรูปอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
กระผมไม่ยินดีจะประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถจะทรงพรหมจรรย์ไว้ได้ กระผม
จักบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์จริงหรือ”
ท่านพระนันทะทูลตอบว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “นันทะ ก็เพราะเหตุอะไร เธอจึงไม่ยินดี
จะประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถจะทรงพรหมจรรย์ไว้ได้ จักบอกคืนสิกขากลับมา
เป็นคฤหัสถ์”
ท่านพระนันทะทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขณะที่ข้าพระองค์กำลัง
ออกจากพระตำหนัก นางชนบทกัลยาณีสากิยานี มีเกสาที่เกล้าไว้เพียงครึ่งเดียว
เหลียวมากล่าวกับข้าพระองค์ว่า ‘ข้าแต่ทูลกระหม่อม ขอพระองค์รีบเสด็จกลับมา’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นั้น เมื่อนึกถึงคำของพระนางทีไร ก็ไม่ยินดี
จะประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถจะทรงพรหมจรรย์ไว้ได้ จึงจักบอกคืนสิกขา
กลับมาเป็นคฤหัสถ์”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงจับแขนท่านพระนันทะ เสด็จหายไปจากพระเชตวัน
ไปปรากฏในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ขณะนั้น นางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือนสีเท้านกพิราบประมาณ ๕๐๐ นาง กำลัง
มาสู่ที่เฝ้ารับใช้ท้าวสักกะจอมเทพ ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเรียกท่านพระนันทะ
มาตรัสถามว่า “นันทะ เธอเห็นนางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือนสีเท้านกพิราบ ๕๐๐ นาง
เหล่านี้หรือไม่”
ท่านพระนันทะทูลตอบว่า “เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “นันทะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร (คือ)
ระหว่างนางชนบทกัลยาณีสากิยานี กับนางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือนสีเท้านกพิราบ
๕๐๐ นางเหล่านี้ ใครสวยกว่ากัน น่าดูกว่ากัน หรือน่าชมกว่ากัน”
ท่านพระนันทะทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางชนบทกัลยาณีสากิยานี
เมื่อเปรียบเทียบกับนางอัปสร ๕๐๐ นางเหล่านี้ ก็เหมือนนางลิงรุ่นถูกไฟไหม้อวัยวะ
หูวิ่นจมูกแหว่ง คือ สวยไม่ถึงหนึ่งเสี้ยว สวยไม่ถึงส่วนหนึ่งของเสี้ยว เปรียบเทียบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๒. นันทสูตร
กันไม่ได้เลย โดยที่แท้ นางอัปสร ๕๐๐ นางเหล่านี้แลสวยกว่า น่าดูกว่า และ
น่าชมกว่า พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอจงยินดี เธอจงยินดีเถิด นันทะ เราขอรับรอง
เธอเพื่อได้นางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือนสีเท้านกพิราบ ๕๐๐ นางแน่ ๆ”
ท่านพระนันทะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคจะทรง
รับรองข้าพระองค์เพื่อได้นางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือนสีเท้านกพิราบ ๕๐๐ นางแน่แท้
ข้าพระองค์จักยินดีประพฤติพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าข้า”
ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคทรงจับแขนท่านพระนันทะแล้ว เสด็จหายไปจากหมู่
เทวดาชั้นดาวดึงส์ ไปปรากฏ ณ พระเชตวัน เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออก
หรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ภิกษุทั้งหลายได้ฟังข่าวว่า “ทราบว่า ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มี
พระภาค พระโอรสของพระมาตุจฉา ประพฤติพรหมจรรย์เพราะนางอัปสรเป็นเหตุ
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคก็ทรงรับรองพระนันทะเพื่อให้ได้นางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือน
สีเท้านกพิราบ ๕๐๐ นาง”
ตั้งแต่นั้นมา ภิกษุทั้งหลายที่เป็นสหายของท่านพระนันทะ ก็ร้องเรียก
ท่านพระนันทะด้วยวาทะว่าลูกจ้างบ้าง ด้วยวาทะว่าผู้ถูกไถ่มาบ้างว่า “ทราบว่า
ท่านพระนันทะเป็นลูกจ้าง ทราบว่า ท่านพระนันทะเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงไถ่มา
ประพฤติพรหมจรรย์เพราะนางอัปสรเป็นเหตุ ทราบว่า พระผู้มีพระภาคก็ทรงรับรอง
พระนันทะเพื่อให้ได้นางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือนสีเท้านกพิราบ ๕๐๐ นาง”
ท่านพระนันทะอึดอัด ระอา รังเกียจวาทะว่าลูกจ้าง และวาทะว่าผู้ถูกไถ่มา
ของภิกษุผู้เป็นสหายเหล่านั้น จึงจากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม๑ อันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ที่กุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญา

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์ยอดเยี่ยม ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผลอันเป็นที่สุดแห่งมัคคพรหมจรรย์ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๕/๗, ม.ม.อ.
๒/๘๒/๘๐, ขุ.อุ.อ. ๒๒/๑๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๒. นันทสูตร
อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ได้รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจ
ที่ควรทำ๑เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ จึงเป็นอันว่า ท่าน
พระนันทะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมี
ให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ท่านพระนันทะพระภาดาของผู้มีพระภาค พระโอรสของพระมาตุจฉา ทำให้
แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”
แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงเกิดพระญาณรู้ว่า “นันทะทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา-
วิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”
ครั้นคืนนั้นผ่านไป ท่านพระนันทะจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงรับรองข้าพระองค์ เพื่อได้นางอัปสรผู้มีสีเท้า
เหมือนสีเท้านกพิราบ ๕๐๐ นาง ข้าพระองค์ขอปลดเปลื้องพระผู้มีพระภาคจากการ
รับรองนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “นันทะ แม้เราเองก็กำหนดรู้ใจเธอด้วยใจว่า ‘นันทะ
ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญา
อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ แม้เทวดาก็ได้บอกเนื้อความนี้แก่เราว่า ‘ข้าแต่พระองค์

เชิงอรรถ :
๑ กิจที่ควรทำ ในที่นี้หมายถึงกิจ ๔ อย่าง คือ ปริญญากิจ หน้าที่กำหนดรู้ทุกข์ ปหานกิจ หน้าที่ละเหตุ
เกิดทุกข์ สัจฉิกิริยากิจ หน้าที่ทำให้แจ้งความดับทุกข์ ภาวนากิจ หน้าที่อบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้เจริญ
เป็นกิจในอริยสัจ ๔ (ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓, องฺ.นวก.อ. ๓/๓/๒๘๗, ขุ.อุ.อ. ๒๒/๑๘๔, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา
๓/๔๙/๑๔๑)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๓. ยโสชสูตร
ผู้เจริญ ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค พระโอรสของพระมาตุจฉาทำให้
แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ นันทะ เราพ้นจากการรับรองนี้ตั้งแต่จิตของเธอหลุดพ้นจากอาสวะ
ทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นนั้นแล้ว”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
ภิกษุใดข้ามเปือกตมคือกามได้๑
ย่ำยีหนามคือกามได้
ภิกษุนั้นบรรลุความสิ้นโมหะ๒
ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะสุขและทุกข์
นันทสูตรที่ ๒ จบ
๓. ยโสชสูตร
ว่าด้วยพระยโสชเถระ
[๒๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปมีพระยโสชะเป็น
หัวหน้าเดินทางมาถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุอาคันตุกะ
เหล่านั้นแลกำลังทักทายกับภิกษุเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรอยู่ จึงได้
ส่งเสียงอื้ออึง

เชิงอรรถ :
๑ ดูชื่อของกามใน องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๒๓/๔๕๓, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๕๖/๓๔๙
๒ ความสิ้นโมหะ หมายถึงอรหัตตผลและนิพพาน (ขุ.อุ.อ. ๒๒/๑๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๓. ยโสชสูตร
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเรียกพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ ภิกษุ
พวกไหนส่งเสียงอื้ออึงเหมือนพวกชาวประมงแย่งปลากัน”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป
เหล่านั้น มีพระยโสชะเป็นหัวหน้าเดินทางมาถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับเพื่อจะเฝ้า
พระผู้มีพระภาค ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นแลกำลังทักทายกับภิกษุเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ
เก็บบาตรและจีวรอยู่ จึงได้ส่งเสียงอื้ออึง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงเรียกภิกษุเหล่านั้นมาหา
เราว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้กล่าว
กับภิกษุเหล่านั้นว่า “พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นรับคำของ
ท่านพระอานนท์แล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุอะไร เธอทั้งหลายจึงส่งเสียงอื้ออึงเหมือนพวก
ชาวประมงแย่งปลากัน” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้ ท่านพระยโสชะจึง
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป
เหล่านี้เดินทางมาถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุอาคันตุกะ
เหล่านั้นทักทายกับภิกษุเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรอยู่ จึงได้ส่งเสียง
อื้ออึง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไปเสียเถิด เราขับไล่
เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่ควรอยู่ในสำนักของเรา”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้วพากันลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาท
แล้วทำประทักษิณ เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรเที่ยวจาริกไปทางแคว้นวัชชี
เที่ยวจาริกไปโดยลำดับจนถึงแคว้นวัชชีแล้วไปที่แม่น้ำวัคคุมุทา สร้างกุฎีมุงด้วยใบไม้
เข้าอยู่จำพรรษาใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
ครั้งนั้น ท่านพระยโสชะผู้เข้าจำพรรษาอยู่ด้วย ได้เรียกภิกษุทั้งหลายมา
กล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงมุ่งหวังประโยชน์ แสวงหา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๓. ยโสชสูตร
ประโยชน์ ทรงอนุเคราะห์ อาศัยความอนุเคราะห์ จึงทรงขับไล่พวกเรา เอาเถิด
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ขอพวกเราจงอยู่อย่างที่พระผู้มีพระภาคทรงมุ่งหวังประโยชน์
แก่พวกเราเถิด”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระยโสชะ แล้วก็ปลีกตัวไป ไม่ประมาท มีความ
เพียร อุทิศกายและใจอยู่ ภายในพรรษานั้นนั่นแล ทุกรูปก็ได้ทำให้แจ้งวิชชา
๓ ประการ๑
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคครั้นประทับอยู่ในกรุงสาวัตถีตามพระอัธยาศัยแล้ว
จึงเสด็จจาริกไปทางกรุงเวสาลี เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงเวสาลี ประทับอยู่
ณ กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลีนั้น
ขณะประทับอยู่ที่นั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการกำหนดจิตของภิกษุที่อยู่
ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาด้วยพระทัย แล้วรับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า
“อานนท์ ทิศที่ภิกษุผู้อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาอยู่จำพรรษานี้ เป็นเหมือนเกิด
แสงสว่าง เป็นเหมือนเกิดรัศมี ปรากฏแก่เรา เธอคงไม่รังเกียจที่จะไปเพื่อความ
สนใจของเรา อานนท์ เธอพึงส่งภิกษุผู้เป็นทูตไปสำนักภิกษุผู้อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
พร้อมกับสั่งว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดามีพระประสงค์จะพบ
ท่านทั้งหลาย”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่งถึงที่อยู่ ได้กล่าว
กับท่านว่า “ผู้มีอายุ ท่านจงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาถึงที่อยู่
แล้วพูดอย่างนี้ว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดามีพระประสงค์จะพบ
ท่านทั้งหลาย”

เชิงอรรถ :
๑ วิชชา ๓ ประการ คือ (๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (๒) ทิพพจักขุญาณ (๓) อาสวักขยญาณ (ขุ.อุ.อ.
๒๓/๑๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๓. ยโสชสูตร
ภิกษุรูปนั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้วก็หายไปจากกูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน
ไปปรากฏเบื้องหน้าภิกษุเหล่านั้น ณ ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา เหมือนคนมีกำลัง
เหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น แล้วได้กล่าวกับภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ใกล้ฝั่ง
แม่น้ำวัคคุมุทาว่า “พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดามีพระประสงค์จะพบ
ท่านทั้งหลาย”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำของภิกษุนั้นแล้วเก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรพร้อมกับ
หายไปจากฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ไปปรากฏเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ณ กูฏาคาร-
ศาลาในป่ามหาวัน เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งเข้าอาเนญชสมาธิ๑ ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น
ได้มีควมคิดอย่างนี้ว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ด้วยวิหารธรรมไหนหนอ”
ครั้นแล้ว ภิกษุเหล่านั้นก็ได้รู้ว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ด้วยอาเนญช-
วิหารธรรม” ทุกรูปจึงพากันนั่งเข้าอาเนญชสมาธิ
ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์ก็ลุก
จากที่นั่ง ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว
ปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุอาคันตุกะนั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรง
ทักทายกับภิกษุอาคันตุกะด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูล
อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคก็ยังประทับนิ่งอยู่
แม้ครั้งที่ ๒ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์ก็
ลุกจากที่นั่ง ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ อาเนญชสมาธิ หมายถึงสมาธิอันสัมปยุตด้วยอรหัตตผลมีฌานที่ ๔ เป็นพื้นฐาน อาจารย์บางพวกกล่าวว่า
มีอรูปฌานเป็นพื้นฐาน เหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงเข้าอาเนญชสมาธิ เพราะทรงประสงค์จะแสดงว่าภิกษุ
เหล่านั้นมีสัมโภคะเสมอกับพระองค์ และทรงประสงค์จะแสดงให้ปรากฏว่าภิกษุเหล่านั้นบรรลุพระอรหัตตผล
โดยไม่ต้องทรงเปล่งพระวาจา (ขุ.อุ.อ. ๒๓/๑๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๓. ยโสชสูตร
มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุอาคันตุกะนั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงทักทายกับ
ภิกษุอาคันตุกะด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคก็ยังประทับนิ่งอยู่เช่นเดิม
แม้ครั้งที่ ๓ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว เข้ารุ่งอรุณ เริ่มสว่าง
ท่านพระอานนท์ก็ลุกจากที่นั่ง ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางพระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรี
ผ่านไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว เข้ารุ่งอรุณ เริ่มสว่าง ภิกษุอาคันตุกะนั่งอยู่นานแล้ว
ขอพระผู้มีพระภาคทรงทักทายกับภิกษุอาคันตุกะด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคก็เสด็จออกจากสมาธินั้น รับสั่งเรียกท่านพระ
อานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ ถ้าเธอพึงรู้ไซร้ ความแจ่มแจ้งแม้นี้ก็ยังไม่ปรากฏชัด
แก่เธอ อานนท์ เรากับภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ทั้งหมดได้นั่งเข้าอาเนญชสมาธิ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน๑
ภิกษุใดละหนามคือกามได้๒
ชนะการด่าได้๓ ชนะการทำร้ายได้๔ และชนะการจองจำได้
ภิกษุนั้นดำรงมั่น ไม่หวั่นไหวดุจภูเขา
ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะสุขและทุกข์
ยโสชสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงการละกิเลสมีราคะเป็นต้นได้อย่างสิ้นเชิง แสดงความสำเร็จ และความเป็นผู้
คงที่ของภิกษุเหล่านั้น (ขุ.อุ.อ. ๒๓/๑๙๗)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๒๑๔ ในเล่มนี้
๓ ชนะการด่า หมายถึงไม่มีวจีทุจริต (ขุ.อุ.อ. ๒๓/๑๙๗)
๔ ชนะการทำร้าย หมายถึงไม่มีกายทุจริต (ขุ.อุ.อ. ๒๓/๑๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๕. มหาโมคคัลลานสูตร
๔. สารีปุตตสูตร
ว่าด้วยพระสารีบุตรเถระ
[๒๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติ
ไว้เฉพาะหน้าอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสารีบุตรผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกาย
ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
ภูเขาศิลาล้วนตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้น เพราะสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวดุจภูเขา๑
สารีปุตตสูตรที่ ๔ จบ
๕. มหาโมคคัลลานสูตร
ว่าด้วยพระมหาโมคคัลลานเถระ
[๒๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
มีกายคตาสติ๒ที่ตั้งมั่นภายในตนอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๙๙/๕๐๓
๒ กายคตาสติ มีความหมายหลายนัย คือ นัยที่ ๑ หมายถึงสติที่ตั้งมั่นในกายด้วยอุปจารสมาธิ และ
อัปปนาสมาธิ โดยวิธีมนสิการความปฏิกูลในอาการ ๓๒ มีผม ขน เล็บ เป็นต้น นัยที่ ๒ หมายถึงสติที่ตั้ง
มั่นในกายด้วยอุปจารสมาธิและให้มนสิการเป็นไปด้วยสติสัมปชัญญะที่กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก กำหนด
รู้อิริยาบถทั้ง ๔ และการพิจารณาอสุภะ นัยที่ ๓ หมายถึงสติที่สัมปยุตด้วยวิปัสสนาตั้งขึ้นด้วยพิจารณา
เห็นกฎไตรลักษณ์ในธาตุ ๔ แต่ในที่นี้ทรงประสงค์เอานัยที่ ๓ (ขุ.อุ.อ. ๒๕/๒๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๖. ปิลินทวัจฉสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง มีกายคตาสติที่ตั้งมั่นภายในตนอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
ภิกษุที่เจริญกายคตาสติแน่วแน่
สำรวมในผัสสายตนะทั้ง ๖ มีจิตตั้งมั่นเสมอ
ก็จะพึงรู้การดับกิเลสของตนได้
มหาโมคคัลลานสูตรที่ ๕ จบ
๖. ปิลินทวัจฉสูตร
ว่าด้วยพระปิลินทวัจฉเถระ
[๒๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน๑
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่า
คนถ่อย ครั้งนั้น ภิกษุจำนวนมากพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระปิลินทวัจฉะร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อย
พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า “ภิกษุ เธอจงไป
เรียกพระปิลินทวัจฉะมาหาเราว่า ท่านปิลินทวัจฉะ พระศาสดารับสั่งหาท่าน” ภิกษุ
รูปนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าว
กับท่านพระปิลินทวัจฉะว่า “ท่านปิลินทวัจฉะ พระศาสดารับสั่งหาท่าน”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๑๗๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๖. ปิลินทวัจฉสูตร
ท่านพระปิลินทวัจฉะรับคำของภิกษุรูปนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามท่าน
ดังนี้ว่า “ปิลินทวัจฉะ ทราบว่า เธอร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อย จริง
หรือ”
ท่านพระปิลินทวัจฉะทูลตอบว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงระลึกถึงอดีตชาติของท่านพระปิลินทวัจฉะแล้ว
รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าถือโทษวัจฉะเลย
วัจฉะหาได้มุ่งร้ายร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อยไม่ วัจฉะเกิดในตระกูล
พราหมณ์ติดต่อกันไม่มีช่วงคั่นถึง ๕๐๐ ชาติ การใช้วาทะว่าคนถ่อยนั้น เธอก็
ประพฤติมานานแล้ว เพราะฉะนั้น วัจฉะนี้จึงร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
ผู้ใดไม่มีมายา ไม่มีมานะ สิ้นโลภะแล้ว
ไม่มีการยึดถือว่าของเรา ไม่มีความหวัง๑
ละความโกรธได้ มีจิตสงบเย็นยิ่งนัก
ผู้นั้นชื่อว่า พราหมณ์ สมณะ ภิกษุ๒
ปิลินทวัจฉสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีความหวัง หมายถึงไม่มีความหวังที่จะเกิดในภพต่อ ๆ ไป (ขุ.อุ.อ. ๒๖/๒๐๕)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๓ หน้า ๗๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๗. สักกุทานสูตร
๗. สักกุทานสูตร
ว่าด้วยการเปล่งอุทานของท้าวสักกะ
[๒๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะนั่งเข้าสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่งโดย
บัลลังก์เดียวอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ณ ถ้ำปิปผลิคูหา ครั้นล่วงไป ๗ วัน ท่านพระ
มหากัสสปะก็ออกจากสมาธินั้น เมื่อท่านพระมหากัสสปะออกจากสมาธินั้นได้มี
ความคิดดังนี้ว่า “ทางที่ดี เราควรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์”
สมัยนั้น เทวดาประมาณ ๕๐๐ องค์ขวนขวายเพื่อให้ท่านพระมหากัสสปะ
ได้รับบิณฑบาต ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะจึงห้ามเทวดาประมาณ ๕๐๐ องค์
เหล่านั้น ในเวลาเช้า ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุง
ราชคฤห์
ขณะนั้น ท้าวสักกะจอมเทพมีพระประสงค์จะถวายบิณฑบาตแก่ท่าน
พระมหากัสสปะ จึงทรงแปลงพระวรกายเป็นนายช่างหูกทอผ้าอยู่ นางสุชาดา
อสุรกัญญากำลังกรอด้ายหลอด ฝ่ายท่านพระมหากัสสปะเที่ยวบิณฑบาตตาม
ลำดับตรอกถึงนิเวศน์ของท้าวสักกะจอมเทพ ท้าวเธอได้ทอดพระเนตรเห็นท่าน
พระมหากัสสปะกำลังเดินมาแต่ไกล จึงเสด็จออกจากเรือนทรงต้อนรับ ทรงรับ
บาตรจากมือเสด็จเข้าเรือน ทรงคดข้าวสุกจากหม้อใส่เต็มบาตรถวายท่านพระ
มหากัสสปะ บิณฑบาตนั้นได้มีแกงและกับข้าวหลายอย่าง ท่านพระมหากัสสปะได้มี
ความคิดอย่างนี้ว่า “ท่านผู้นี้เป็นใครหนอ จึงมีฤทธานุภาพถึงปานนี้” ลำดับนั้น
ท่านพระมหากัสสปะได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “คงเป็นท้าวสักกะจอมเทพแน่” จึงได้
กล่าวกับท้าวเธอดังนี้ว่า “ท้าวโกสีย์ ทำไมพระองค์จึงทรงทำอย่างนี้ ต่อไปอย่าได้ทำ
เช่นนี้อีก” ท้าวสักกะจอมเทพตรัสตอบว่า “ขอรับ ท่านกัสสปะ พวกเราทั้งหลายก็
ต้องการบุญ จึงควรทำบุญเหมือนกัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๗. สักกุทานสูตร
ต่อจากนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงอภิวาทท่านพระมหากัสสปะ ทรงทำ
ประทักษิณแล้วเสด็จเหาะขึ้นไปในอากาศ ทรงเปล่งอุทานกลางอากาศ ๓ ครั้งว่า
“โอ เราได้ถวายทานอย่างยอดเยี่ยมในท่านพระมหากัสสปะแล้ว
โอ เราได้ถวายทานอย่างยอดเยี่ยมในท่านพระมหากัสสปะแล้ว
โอ เราได้ถวายทานอย่างยอดเยี่ยมในท่านพระมหากัสสปะแล้ว”
พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับอุทานที่ท้าวสักกะจอมเทพเสด็จเหาะขึ้นไปในอากาศ
ทรงเปล่งกลางอากาศ ๓ ครั้งว่า “โอ เราได้ถวายทานอย่างยอดเยี่ยมในท่าน
พระมหากัสสปะแล้ว โอ เราได้ถวายทานอย่างยอดเยี่ยมในท่านพระมหากัสสปะแล้ว
โอ เราได้ถวายทานอย่างยอดเยี่ยมในท่านพระมหากัสสปะแล้ว” ด้วยหูทิพย์อัน
บริสุทธิ์ เหนือมนุษย์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
เทวดาทั้งหลายย่อมเคารพรักภิกษุ
ผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงตน ไม่เลี้ยงคนอื่น
ผู้คงที่ ผู้สงบ มีสติอยู่ทุกเมื่อ
สักกุทานสูตรที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๘. ปิณฑปาติกสูตร
๘. ปิณฑปาติกสูตร
ว่าด้วยการสนทนาเรื่องบิณฑบาต
[๒๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากกลับจากบิณฑบาต
หลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว มานั่งประชุมพร้อมกันในกเรริมณฑป๑ ได้สนทนา
อันตรากถาขึ้นว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เมื่อกำลัง
บิณฑบาต ย่อมได้เห็นรูปที่น่าพอใจทางตาตามกาลอันควร ย่อมได้ฟังเสียง
ที่น่าพอใจทางหูตามกาลอันควร ย่อมได้ดมกลิ่นที่น่าพอใจทางจมูกตามกาลอันควร
ย่อมได้ลิ้มรสที่น่าพอใจทางลิ้นตามกาลอันควร ย่อมได้ถูกต้องผัสสะที่น่าพอใจ
ทางกายตามกาลอันควร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้บิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้ที่
มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมขณะเที่ยวไปบิณฑบาต ท่านผู้มี
อายุทั้งหลาย ขอพวกเราจงเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรเถิด แม้พวกเราก็จักได้เห็น
รูปที่น่าพอใจทางตาตามกาลอันควร จักได้ฟังเสียงที่น่าพอใจทางหูตามกาลอันควร
จักได้ดมกลิ่นน่าพอใจทางจมูกตามกาลอันควร จักได้ลิ้มรสที่น่าพอใจทางลิ้นตาม
กาลอันควร จักได้ถูกต้องผัสสะที่น่าพอใจทางกายตามกาลอันควร พวกเราจักเป็น
ผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมขณะเที่ยวไปบิณฑบาต
อันตรากถาของภิกษุเหล่านั้นได้ค้างไว้เพียงเท่านี้
ครั้งนั้น ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จเข้าไป
ยังกเรริมณฑป ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ พระผู้มีพระภาคครั้นประทับ
นั่งแล้ว รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้ เธอทั้งหลาย
นั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร และพูดเรื่องอะไรค้างไว้”

เชิงอรรถ :
๑ กเรริมณฑป หมายถึงศาลาที่นั่งวงกลมซึ่งสร้างติดกับต้นกเรริ(ต้นกุ่ม) บางอาจารย์กล่าวว่า หมายถึง
ศาลาโรงกลมที่มุงด้วยหญ้าและใบไม้ ฝนตกรั่วรดไม่ได้ (ขุ.อุ.อ. ๒๘/๒๑๔, อภิธา.ฏีกา ๕๕๓/๓๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๘. ปิณฑปาติกสูตร
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส
ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว มานั่งประชุม
พร้อมกันในกเรริมณฑป ได้สนทนาอันตรากถาขึ้นว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุ
ผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เมื่อกำลังบิณฑบาต ย่อมได้เห็นรูปที่น่าพอใจทางตาตาม
กาลอันควร ย่อมได้ฟังเสียงที่น่าพอใจทางหูตามกาลอันควร ย่อมได้ดมกลิ่นที่น่า
พอใจทางจมูกตามกาลอันควร ย่อมได้ลิ้มรสที่น่าพอใจทางลิ้นตามกาลอันควร ย่อมได้
ถูกต้องผัสสะที่น่าพอใจทางกายตามกาลอันควร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้บิณฑบาต
เป็นวัตร เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมขณะเที่ยวไปบิณฑบาต
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ขอพวกเราจงเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรเถิด แม้พวกเราก็จัก
ได้เห็นรูปที่น่าพอใจทางตาตามกาลอันควร จักได้ฟังเสียงที่น่าพอใจทางหูตามกาล
อันควร จักได้ดมกลิ่นที่น่าพอใจทางจมูกตามกาลอันควร จักได้ลิ้มรสที่น่าพอใจทาง
ลิ้นตามกาลอันควร จักได้ถูกต้องผัสสะที่น่าพอใจทางกายตามกาลอันควร พวกเรา
เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมขณะเที่ยวไปบิณฑบาต
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันตรากถานี้แลที่ข้าพระองค์ทั้งหลายพูดค้างไว้ พอดีพระผู้มี
พระภาคเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายเป็นกุลบุตรมีศรัทธา
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้วพากันสนทนาเรื่องอย่างนี้นั้น ไม่สมควรเลย
เธอทั้งหลายนั่งประชุมกันแล้วควรทำกิจเพียง ๒ อย่าง คือ การกล่าวธรรม หรือ
ความเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๙. สิปปสูตร
พุทธอุทาน
เทวดาทั้งหลายย่อมเคารพรักภิกษุ
ผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงตน ไม่เลี้ยงคนอื่น
ผู้คงที่ หากภิกษุไม่อาศัยเสียงสรรเสริญ๑
ปิณฑปาติกสูตรที่ ๘ จบ
๙. สิปปสูตร
ว่าด้วยการสนทนาเรื่องศิลปะ
[๒๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากกลับจากบิณฑบาตหลังจากฉัน
อาหารเสร็จแล้ว มานั่งประชุมพร้อมกันในมณฑป ได้สนทนาอันตรากถาขึ้นว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ใครรู้จักศิลปะบ้าง ใครศึกษาศิลปะอะไรมาบ้าง ศิลปะชนิด
ไหนเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย”
บรรดาภิกษุเหล่านั้น บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยช้างเลิศกว่าศิลปะ
ทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยม้าเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย” บางพวก
กล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยรถเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะ
ว่าด้วยธนูเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยอาวุธ๒เลิศกว่า
ศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยการคำนวณด้วยวิธีนับนิ้วเลิศกว่า

เชิงอรรถ :
๑ ไม่อาศัยเสียงสรรเสริญ หมายถึงไม่ต้องการเสียงสรรเสริญ หรือการยกย่องจากคนอื่นว่า พระคุณเจ้ารูปนี้
มีความมักน้อย สันโดษ มีความประพฤติขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง (ขุ.อุ.อ. ๒๘/๒๑๕)
๒ แปลจากคำว่า “ถรุสิปฺปํ” หมายถึงอาวุธอื่น ๆ จากธนู (ขุ.อุ.อ. ๒๙/๒๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๙. สิปปสูตร
ศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยการคำนวณด้วยวิธีคิดในใจเลิศกว่า
ศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยการคำนวณด้วยวิธีอนุมานด้วย
สายตาเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยการวาดเขียน
เลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยฉันทลักษณ์เลิศกว่า
ศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยโลกายตศาสตร์๑เลิศกว่าศิลปะ
ทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยวิชากฎหมายเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย”
ภิกษุเหล่านั้นได้สนทนาอันตรากถากันค้างไว้เพียงเท่านี้
ครั้งนั้น ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จเข้าไป
ยังมณฑป ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ พระผู้มีพระภาคครั้นประทับนั่งแล้ว
รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้ เธอทั้งหลายสนทนากัน
ด้วยเรื่องอะไร และพูดเรื่องอะไรค้างไว้”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส
ข้าพระองค์ทั้งหลาย กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว มานั่งประชุม
พร้อมกันในมณฑป ได้สนทนาอันตรากถาขึ้นว่า ‘ท่านทั้งหลาย ใครรู้จักศิลปะบ้าง
ใครศึกษาศิลปะอะไรมาบ้าง ศิลปะชนิดไหนเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บรรดาพวก
ข้าพระองค์นั้น บางพวกกล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยช้างเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวก
กล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยม้าเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวกกล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วย
รถเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวกกล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยธนูเลิศกว่าศิลปะ
ทั้งหลาย’ บางพวกกล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยอาวุธเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวก
กล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยการคำนวณด้วยวิธีนับนิ้วเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวก
กล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยการคำนวณด้วยวิธีคิดในใจเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวก
กล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยการคำนวณด้วยวิธีอนุมานด้วยสายตาเลิศกว่าศิลปะ
ทั้งหลาย’ บางพวกกล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยการวาดเขียนเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’

เชิงอรรถ :
๑ โลกายตศาสตร์ ในที่นี้หมายถึงวิตัณฑวาทศาสตร์ คือศิลปะแห่งการเอาชนะผู้อื่นในเชิงวาทศิลป์ โดยการ
อ้างทฤษฎีและประเพณีทางสังคมมาหักล้างสัจธรรม มุ่งแสดงให้เห็นว่าตนฉลาดกว่า มิได้มุ่งสัจธรรมแต่
อย่างใด (ที.สี.อ. ๑/๒๕๖/๒๒๒,ขุ.อุ.อ. ๒๙/๒๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๙. สิปปสูตร
บางพวกกล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยฉันทลักษณ์เลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวก
กล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยโลกายตศาสตร์เลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวกกล่าวว่า
‘ศิลปะว่าด้วยวิชากฎหมายเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันตรากถา
นี้แล ที่ข้าพระองค์ทั้งหลายพูดค้างไว้ พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายเป็นกุลบุตรมี
ศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้วพากันสนทนาเรื่องอย่างนี้ ไม่สมควรเลย
เธอทั้งหลายนั่งประชุมกันแล้วควรทำกิจเพียง ๒ อย่าง คือ การกล่าวธรรม หรือ
ความเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
ผู้ใดไม่อาศัยศิลปะเลี้ยงชีพ เป็นอยู่เรียบง่าย
มุ่งบำเพ็ญประโยชน์ สำรวมอินทรีย์
หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง๑
ไม่ต้องแล่นไปในโอกะ๒ ไม่มีการยึดถือว่าของเรา
ไม่มีความหวัง กำจัดมารได้แล้ว เที่ยวไปผู้เดียว
ผู้นั้นชื่อว่า ภิกษุ
สิปปสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง หมายถึงหลุดพ้นจากภพเป็นต้น เพราะละสังโยชน์ทั้งหลายได้ด้วยอริยมรรค
๔ ประการ (ขุ.อุ.อ. ๒๙/๒๑๗)
๒ ไม่ต้องแล่นไปในโอกะ หมายถึงไม่ต้องแล่นไปในอำนาจของอายตนะทั้ง ๖ ที่เรียกว่า “โอกะ” เพราะไม่
มีธรรมเครื่องแล่นไปคือตัณหา (ขุ.อุ.อ. ๒๙/๒๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๑๐. โลกสูตร
๑๐. โลกสูตร
ว่าด้วยสัตว์โลก
[๓๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน
ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากสมาธินั้นแล้ว ทรงตรวจดู
สัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทอดพระเนตรเห็นหมู่สัตว์กำลังเดือดร้อนด้วยความทุกข์
มากมาย และถูกความเร่าร้อนหลากหลายที่เกิดจากราคะบ้าง เกิดจากโทสะบ้าง
เกิดจากโมหะบ้างรุมแผดเผาอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
สัตว์โลกนี้เกิดความเร่าร้อน ถูกทุกขเวทนากระทบแล้ว
กล่าวทุกขเวทนาว่าเป็นของตน
เพราะสัตว์โลกนี้สำคัญสิ่งใดว่าเที่ยง สิ่งนั้นกลับเป็นอย่างอื่น
สัตว์โลกมีภาวะไม่มั่นคง ติดอยู่ในภพ
หมกมุ่นอยู่ในภพ เพลิดเพลินอยู่ในภพ
ภพที่สัตว์โลกเพลิดเพลินจัดเป็นภัย
ภัยที่สัตว์โลกกลัว จัดเป็นทุกข์
บุคคลต้องบำเพ็ญพรหมจรรย์๑นี้เท่านั้น เพื่อละภพให้ได้
สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งกล่าวถึงความหลุดพ้นจากภพด้วย
ภพ๒เราถือว่าสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดหาได้หลุดพ้นจากภพทั้งปวงไม่

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงมัคคพรหมจรรย์ (ขุ.อุ.อ. ๓๐/๒๒๒,๔๒/๒๙๘)
๒ หมายถึงสมณะหรือพราหมณ์บางพวกถือว่า ความหลุดพ้นจากภพคือความบริสุทธิ์จากสังสารวัฏ จะมีได้ก็
ด้วยกามภพหรือรูปภพ (ขุ.อุ.อ. ๓๐/๒๒๓-๒๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
อนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวถึงการออกจากภพด้วยวิภพ๑
เราถือว่าสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดหาได้ออกจากภพไม่
เพราะอาศัยอุปธิ๒ทั้งปวง ทุกข์นี้จึงเกิดมีขึ้น เพราะอุปาทานทั้งหมดสิ้นไป
ทุกข์จึงไม่เกิด ท่านจงดูสัตว์โลกนี้ สัตว์เป็นจำนวนมากถูกอวิชชาครอบงำ หรือ
มัวหลงติดใจในสัตว์ด้วยกัน จึงหลุดพ้นไปจากภพไม่ได้ ความจริง ภพอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทุกชั้นล้วนแต่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา
บุคคลเมื่อรู้เห็นเบญจขันธ์คือภพนี้
ตามความเป็นจริงอย่างถ่องแท้ ด้วยปัญญาอันชอบ
ย่อมละภวตัณหาได้ ทั้งไม่ยินดีวิภวตัณหา
เพราะตัณหาทั้งหลายสิ้นไปโดยประการทั้งปวง
ความดับกิเลสไม่เหลือด้วยวิราคะ คือนิพพานจึงมี
เพราะไม่มีความยึดมั่น ภิกษุผู้นิพพานแล้ว จึงไม่มีภพใหม่
ภิกษุนั้นได้ชื่อว่าครอบงำมารได้ ชนะสงครามได้
ก้าวล่วงภพทั้งปวงได้ เป็นผู้คงที่ ฉะนี้
โลกสูตรที่ ๑๐ จบ
นันทวรรคที่ ๓ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กัมมวิปากชสูตร ๒. นันทสูตร
๓. ยโสชสูตร ๔. สารีปุตตสูตร
๕. มหาโมคคัลลานสูตร ๖. ปิลินทวัจฉสูตร
๗. สักกุทานสูตร ๘. ปิณฑปาติกสูตร
๙. สิปปสูตร ๑๐. โลกสูตร


เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงสมณะหรือพราหมณ์บางพวกถือว่าความหลุดพ้นจากภพจะมีได้ก็ด้วยอุจเฉททิฏฐิ (ขุ.อุ.อ. ๓๐/๒๒๔)
๒ อุปธิ หมายถึงขันธ์ กิเลส และอภิสังขาร (ขุ.อุ.อ. ๓๐/๒๒๕-๒๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑. เมฆิยสูตร
๔. เมฆิยวรรค
หมวดว่าด้วยพระเมฆิยเถระ
๑. เมฆิยสูตร๑
ว่าด้วยพระเมฆิยเถระ๒
[๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ จาลิกบรรพต เขตเมืองจาลิกา
สมัยนั้น ท่านพระเมฆิยะเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้นแล ท่านพระ
เมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาจะ
เข้าไปยังชันตุคามเพื่อบิณฑบาต”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เมฆิยะ จงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ท่านพระเมฆิยะครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไป
ยังชันตุคามเพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เดินไป
ตามฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ขณะที่เที่ยวเดินพักผ่อนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬานั้น ได้เห็น
ป่ามะม่วงที่งดงาม น่ารื่นรมย์ จึงมีความคิดดังนี้ว่า “ป่ามะม่วงนี้ช่างงดงาม
น่ารื่นรมย์จริง เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรสำหรับกุลบุตรผู้ต้องการบำเพ็ญเพียร
โดยแท้ ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตเรา เราจะกลับมาบำเพ็ญเพียรในป่า
มะม่วงนี้”
ต่อมา ท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอประทานวโรกาส เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๓/๔๓๐-๔๓๔
๒ พระเมฆิยเถระ เป็นพระอุปัฏฐากรูปหนึ่งของพระผู้มีพระภาค ในต้นพุทธกาล(๒๐ พรรษาแรก) พระผู้มี
พระภาคไม่มีพระอุปัฏฐากประจำ บางคราวได้พระนาคสมาละ บางคราวได้พระนาคิตะ บางคราวได้พระ-
อุปวาหนะ บางคราวได้พระสุนักขัตตะ บางคราวได้พระสาคตะ บางคราวได้สามเณรจุนทะ (ขุ.อุ.อ. ๓๑/๒๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑. เมฆิยสูตร
เข้าไปยังชันตุคามเพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว
เดินไปตามฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ขณะที่เที่ยวเดินพักผ่อนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬานั้น
ได้เห็นป่ามะม่วงที่งดงาม น่ารื่นรมย์ จึงมีความคิดดังนี้ว่า ‘ป่ามะม่วงนี้ช่างงดงาม
น่ารื่นรมย์จริง เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรสำหรับกุลบุตรผู้ต้องการบำเพ็ญเพียร
โดยแท้ ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตเรา เราจะกลับมาบำเพ็ญเพียรในป่ามะม่วงนี้’
ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะกลับไปบำเพ็ญเพียรในป่า
มะม่วงนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อท่านพระเมฆิยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านดังนี้ว่า
“เมฆิยะ เราอยู่คนเดียว เธอจงรอจนกว่าภิกษุรูปอื่นจะมา๑”
แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระเมฆิยะกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก๒ ทั้งไม่มีการสั่งสม
กิจที่ทำแล้ว๓ ส่วนข้าพระองค์ยังมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งยังต้องสั่งสมกิจที่
ทำแล้ว ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะกลับไปบำเพ็ญ
เพียรในป่ามะม่วงนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เมฆิยะ เราอยู่คนเดียว เธอจงรอจนกว่าภิกษุรูปอื่นจะมา”
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระเมฆิยะก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งไม่มีการสั่งสมกิจ
ที่ทำแล้ว ส่วนข้าพระองค์ยังมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งยังต้องสั่งสมกิจ

เชิงอรรถ :
๑ นัยว่า พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ ก็ด้วยพระประสงค์ที่จะประวิงเวลารอให้จิตของท่านพระเมฆิยะอ่อนโยน
เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร (องฺ.นวก.อ. ๓/๓/๒๘๗)
๒ ไม่มีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก ในที่นี้หมายถึงไม่มีกิจ ๔ อย่างในอริยสัจ ๔ ประการ ดูเชิงอรรถที่ ๑
หน้า ๒๑๓ ประกอบ
๓ ไม่มีการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ในที่นี้หมายถึงไม่ต้องเพิ่มพูนกุศลธรรมและอกุศลธรรมที่เคยทำมาก่อน หรือ
อีกนัยหนึ่ง หมายถึงไม่ต้องเจริญมรรคที่เจริญได้แล้ว และไม่ต้องละกิเลสที่ละได้แล้วอีก (ขุ.เถร.อ. ๖๔๔/
๒๖๒, องฺ.นวก.อ. ๓/๓/๒๘๗) และดู องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๕๕/๕๒๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑. เมฆิยสูตร
ที่ทำแล้ว ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะกลับไปบำเพ็ญ
เพียรในป่ามะม่วงนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “เมฆิยะ เมื่อเธอพูดว่า ‘จะไปบำเพ็ญเพียร’ เราจะ
พึงว่าอะไร เธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ลำดับนั้น ท่านพระเมฆิยะลุกจากที่นั่งถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ
แล้วเข้าไปยังป่ามะม่วงนั้น อาศัยป่ามะม่วงนั้นนั่งพักกลางวันอยู่ ณ โคนไม้มะม่วง
ต้นหนึ่ง เมื่อท่านพักอยู่ในป่ามะม่วงนั้น บาปอกุศลวิตก ๓ ประการ คือ กามวิตก
(ความตรึกในทางกาม) พยาบาทวิตก(ความตรึกในทางพยาบาท) วิหิงสาวิตก
(ความตรึกในทางเบียดเบียน) เกิดขึ้นโดยมาก
ครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะได้มีความคิดดังนี้ว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาแท้ ๆ แต่กระนั้นก็ยังถูกบาป
อกุศลวิตก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกรุมเร้าจิตได้”
ครั้งนั้น ในเวลาเย็น ท่านพระเมฆิยะก็ออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เมื่อข้าพระองค์
พักอยู่ในป่ามะม่วงนั้น บาปอกุศลวิตก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก
วิหิงสาวิตก เกิดขึ้นโดยมาก ข้าพระองค์จึงมีความคิดดังนี้ว่า ‘น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาแท้ ๆ แต่กระนั้น ก็ยังถูก
บาปอกุศลวิตก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกรุมเร้าจิตได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เมฆิยะ ธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความ
แก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นธรรม
ประการที่ ๑ ที่เป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑. เมฆิยสูตร
๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์
เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นธรรมประการที่ ๒
ที่เป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า
๓. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ได้กถาเป็นเครื่องขัดเกลาอย่างยิ่ง๑ ที่เป็น
สัปปายะแห่งความเป็นไปของจิต เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายอย่างเดียว
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพี่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อ
นิพพาน คือ อัปปิจฉกถา(เรื่องความมักน้อย) สันตุฏฐิกถา(เรื่อง
ความสันโดษ) ปวิเวกกถา(เรื่องความสงัด) อสังสัคคกถา(เรื่อง
ความไม่คลุกคลี) วิริยารัมภกถา(เรื่องการปรารภความเพียร)
สีลกถา(เรื่องศีล) สมาธิกถา(เรื่องสมาธิ) ปัญญากถา(เรื่องปัญญา)
วิมุตติกถา(เรื่องวิมุตติ) วิมุตติญาณทัสสนกถา(เรื่องความรู้ความ
เห็นในวิมุตติ) ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ ที่เป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่
ยังไม่แก่กล้า
๔. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อ
ให้กุศลธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระ
ในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ที่เป็นไปเพื่อความ
แก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า
๕. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็น
เครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรก
กิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นธรรมประการที่ ๕ ที่เป็นไป
เพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๙๐/๑๖๐-๑๖๑, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๖๙/๑๕๒, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘๕/๒๕๗-๒๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑. เมฆิยสูตร
เมฆิยะ ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติ
ที่ยังไม่แก่กล้า
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้มีศีล สำรวม
ด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษ
แม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้ได้กถา
เป็นเครื่องขัดเกลาอย่างยิ่งที่เป็นสัปปายะแห่งความเป็นไปของจิต เป็นไปเพื่อความ
เบื่อหน่ายอย่างเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้
เพื่อนิพพาน คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา
สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา ตามความ
ปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้ปรารภความ
เพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง
ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้มีปัญญา
คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ
ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
เมฆิยะ ภิกษุนั้นดำรงอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้ว พึงเจริญธรรม ๔ ประการ
ให้ยิ่งขึ้นไปอีก คือ
๑. พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ
๒. พึงเจริญเมตตาเพื่อละพยาบาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑. เมฆิยสูตร
๓. พึงเจริญอานาปานสติเพื่อตัดวิตก
๔. พึงเจริญอนิจจสัญญาเพื่อถอนอัสมิมานะ๑
เมฆิยะ อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา ภิกษุผู้ได้อนัตตสัญญา
ย่อมบรรลุนิพพานที่ถอนอัสมิมานะได้ในปัจจุบัน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน๒
วิตกที่หยาบ๓และวิตกที่ละเอียด๔
เป็นไปแล้ว ทำใจให้ฟุ้งซ่าน
บุคคลผู้มีจิตสับสน ไม่รู้วิตกแห่งใจเหล่านี้
ย่อมแล่นไปสู่ภพน้อยภพใหญ่
ส่วนผู้ที่เพียรระวัง มีสติอยู่เสมอ
รู้เท่าทันวิตกที่เกิดแก่จิตเหล่านี้ ย่อมสำรวมระวัง
บุคคลผู้ตรัสรู้แล้วเท่านั้น
ย่อมละวิตกที่เป็นไปแล้วทำใจให้ฟุ้งซ่านได้โดยไม่เหลือ
เมฆิยสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อัสมิมานะ หมายถึงมานะ ๙ ประการ (องฺ.นวก.อ. ๓/๑/๒๘๖) และดู องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๑/๔๒๘, ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๑๗๘/๕๐๘, อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๑๒๓๙/๓๑๔, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๘๓๒/๕๓๖ ประกอบ
๒ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงโทษแห่งการไม่บรรเทา และอานิสงส์แห่งการบรรเทากามวิตก เป็นต้น (ขุ.อุ.อ.
๓๑/๒๕๒)
๓ วิตกที่หยาบ หมายถึงอกุศลวิตก มี ๓ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก (ขุ.อุ.อ. ๓๑/๒๕๒)
๔ วิตกที่ละเอียด หมายถึงญาติวิตก(ความตรึกถึงญาติ) ชนปทวิตก(ความตรึกถึงชนบท) อมราวิตก(ความ
ตรึกถึงเทพเจ้า) เป็นต้น (ขุ.อุ.อ. ๓๑/๒๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๒. อุทธตสูตร
๒. อุทธตสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน
[๓๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าสาลวัน ซึ่งเป็นทางเข้ากรุง
กุสินาราของพวกเจ้ามัลละ สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล
ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง
ไม่สำรวมอินทรีย์อยู่ ณ กระท่อมในป่า ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล
ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง
ไม่สำรวมอินทรีย์อยู่ ณ กระท่อมในป่า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน๑
ภิกษุผู้ไม่รักษากาย๒ มีความเห็นผิด
ถูกถีนมิทธะ๓ครอบงำ ย่อมไปสู่อำนาจมาร๔
เพราะฉะนั้น ภิกษุควรรักษาจิต๕
มีความดำริชอบเป็นอารมณ์
มุ่งความเห็นถูกต้องเป็นสำคัญ
รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของเบญจขันธ์
ครอบงำถีนมิทธะได้ ก็สามารถละทุคติได้ทั้งหมด
อุทธตสูตรที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงโทษในการอยู่ด้วยความประมาท และอานิสงส์ในการอยู่ด้วยความไม่
ประมาทตามลำดับ (ขุ.อุ.อ. ๓๒/๒๕๔)
๒ ผู้ไม่รักษากาย หมายถึงผู้ไม่ใช้สติคุ้มครองป้องกันกายวิญญาณ ๖ (ขุ.อุ.อ. ๓๒/๒๕๔)
๓ ถีนมิทธะ หมายถึงความที่จิตหดหู่และเซื่องซึม (ขุ.อุ.อ. ๓๒/๒๕๔)
๔ มาร หมายถึงกิเลสมาร เป็นต้น (ขุ.อุ.อ. ๓๒/๒๕๕)
๕ รักษาจิต หมายถึงปิดกั้นอินทรีย์มีมนินทรีย์เป็นที่ ๖ ด้วยสติสังวร (ขุ.อุ.อ. ๓๒/๒๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๓. โคปาลกสูตร
๓. โคปาลกสูตร
ว่าด้วยนายโคบาล
[๓๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จแวะลงข้างทาง เข้าไป ณ ควงไม้ต้นหนึ่ง
แล้วประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ลำดับนั้น นายโคบาลคนหนึ่ง ได้เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรง
ชี้แจงให้นายโคบาลนั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
นายโคบาลนั้น ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยาก
รับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระ
ผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี นายโคบาลนั้น
ทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากที่นั่งถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป
ครั้นคืนนั้นผ่านไป นายโคบาลนั้นสั่งให้คนจัดข้าวปายาสมีน้ำน้อยและเนยใสใหม่
อย่างเพียงพอไว้ในนิเวศน์ของตนแล้วส่งคนไปกราบทูลภัตกาลว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า” ขณะนั้น ในเวลาเช้า
พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังบ้านของ
นายโคบาลนั้นพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ นายโคบาล
ได้นำข้าวปายาสมีน้ำน้อยและเนยใสใหม่ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
ให้อิ่มหนำสำราญด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงวางพระหัตถ์แล้ว
นายโคบาลจึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจง
ให้เขาเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบ
ชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จจากไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๔. ยักขปหารสูตร
หลังจากพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ชายคนหนึ่งได้ทำร้ายนายโคบาล
นั้นจนเสียชีวิต ในระหว่างเขตบ้าน
ต่อมา ภิกษุจำนวนมากพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ทราบว่า นายโคบาลผู้นำข้าวปายาสและเนยใสใหม่ ประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประธานให้อิ่มหนำสำราญด้วยตนเอง ในวันนี้นั้น ได้ถูกชายคนหนึ่ง
ทำร้ายจนเสียชีวิตในระหว่างเขตบ้าน พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
จิตที่ตั้งไว้ผิดพึงทำให้ได้รับความเสียหาย
ยิ่งกว่าความเสียหายที่โจรเห็นโจร
หรือผู้จองเวรเห็นผู้จองเวร จะพึงทำให้แก่กัน๑
โคปาลกสูตรที่ ๓ จบ
๔. ยักขปหารสูตร
ว่าด้วยยักษ์ตีศีรษะพระสารีบุตรเถระ
[๓๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะอยู่ที่
กโปตกันทราวิหาร๒ ในคืนเดือนเพ็ญ ท่านพระสารีบุตรปลงผมใหม่ ๆ นั่งเข้าสมาธิ
อยู่ในที่แจ้ง

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๔๒ หน้า ๓๙ ในเล่มนี้
๒ กโปตกันทราวิหาร หมายถึงวิหารสร้างใกล้ซอกเขาซึ่งเป็นที่อาศัยอยู่ของนกพิราบ (ขุ.อุ.อ. ๓๔/๒๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๔. ยักขปหารสูตร
ขณะนั้นมียักษ์ ๒ ตนเป็นสหายกัน เดินทางจากทิศเหนือไปทางทิศใต้เพื่อ
ทำกิจที่จะต้องทำบางอย่าง ยักษ์ทั้งสองนั้นได้เห็นท่านพระสารีบุตรปลงผมใหม่ ๆ
นั่งเข้าสมาธิอยู่ในที่แจ้ง ยักษ์ตนหนึ่งได้กล่าวกับยักษ์อีกตนหนึ่งว่า “สหาย เราคิด
อยากตีศีรษะสมณะรูปนี้” เมื่อยักษ์ตนนั้นกล่าวอย่างนี้ ยักษ์ตนหนึ่งจึงกล่าวดังนี้ว่า
“อย่าเลยสหาย ท่านอย่าทำร้ายสมณะเลย สมณะรูปนั้นมีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมาก”
แม้ครั้งที่ ๒ ยักษ์ตนนั้นได้กล่าวกับยักษ์ตนหนึ่งดังนี้ว่า “สหาย เราคิดอยากตี
ศีรษะสมณะรูปนี้”
ยักษ์ตนหนึ่งได้กล่าวกับยักษ์ตนนั้นดังนี้ว่า “อย่าเลยสหาย ท่านอย่าทำร้าย
สมณะเลย สมณะรูปนั้นมีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก”
แม้ครั้งที่ ๓ ยักษ์ตนนั้นได้กล่าวกับยักษ์ตนหนึ่งดังนี้ว่า “สหาย เราคิดอยากตี
ศีรษะสมณะรูปนี้”
ยักษ์ตนหนึ่งก็ได้กล่าวกับยักษ์ตนนั้นดังนี้ว่า “อย่าเลยสหาย ท่านอย่าทำร้าย
สมณะเลย สมณะรูปนั้นมีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก”
ครั้งนั้น ยักษ์นั้นไม่เชื่อยักษ์ผู้เป็นสหาย จึงได้ตีศีรษะท่านพระสารีบุตรเถระ
เป็นการตีอย่างรุนแรง การตีเช่นนั้น สามารถทำให้ช้างสูง ๗-๘ ศอกจมดินได้
หรือสามารถทำลายยอดภูเขามหึมาให้ทลายลงได้ และทันใดนั้นเอง ยักษ์ตนนั้นได้
ร้องว่า “โอย ร้อนเหลือเกิน” แล้วล้มตกไปสู่มหานรก ณ ที่นั้นเอง
ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เห็นยักษ์ตนนั้นตีศีรษะท่านพระสารีบุตร ด้วย
ตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ จึงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรแล้วได้กล่าวกับท่าน
พระสารีบุตรดังนี้ว่า “ท่านสารีบุตร ท่านยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ไม่มี
ทุกข์อะไรหรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านโมคคัลลานะ ผมสบายดี พอเป็นอยู่ได้
เพียงแต่เจ็บที่ศีรษะนิดหน่อย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๔. ยักขปหารสูตร
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ท่าน
สารีบุตร ท่านมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง ยักษ์ตนหนึ่งได้ตีศีรษะท่านในที่นี้
เป็นการตีอย่างรุนแรง การตีเช่นนี้สามารถทำให้ช้างสูง ๗-๘ ศอกจมดินได้ หรือ
สามารถทำลายยอดภูเขามหึมาให้ทลายลงได้ แต่กระนั้น ท่านก็ยังกล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านโมคคัลลานะ ผมสบายดี พอเป็นอยู่ได้ เพียงแต่เจ็บที่ศีรษะนิดหน่อย”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ท่านโมคคัลลานะ
ท่านมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง เห็นแม้กระทั่งยักษ์ ส่วนผมขณะนี้ แม้แต่ปีศาจ
คลุกฝุ่นสักตนก็ยังไม่เห็น”
พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับเสียงสนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ของพระอัครสาวก
ทั้ง ๒ รูปนั้นด้วยพระโสตทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
จิตของใครตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ดุจภูเขา
ไม่กำหนัดในอารมณ์อันชวนให้กำหนัด
ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันชวนให้ขัดเคือง
ผู้ใด อบรมจิตได้อย่างนี้
ทุกข์จะมาถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน๑
ยักขปหารสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๙๑/๓๖๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๕. นาคสูตร
๕. นาคสูตร
ว่าด้วยพญาช้างปรนนิบัติพระพุทธเจ้า
[๓๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี สมัยนั้น
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา
มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงดำริอย่างนี้ว่า “เวลานี้
เราอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์
ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ เราอยู่คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก ทางที่ดี
เราควรปลีกตัวจากหมู่อยู่ผู้เดียว”
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงโกสัมพี เสด็จกลับจากบิณฑบาต หลังจากเสวยพระ
กระยาหารเสร็จแล้วทรงเก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เอง ไม่ตรัส
บอกพระอุปัฏฐาก ไม่ตรัสบอกภิกษุสงฆ์ พระองค์เดียว ไม่มีเพื่อน เสด็จจาริกไป
ทางป่าปาลิไลยกะเสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงป่าปาลิไลยกะ ทราบว่า พระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ที่ควงไม้รัง ในราวป่ารักขิตวัน เขตป่าปาลิไลยกะนั้น
สมัยนั้น พญาช้างตัวหนึ่งอยู่คลุกคลีกับพวกช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่
ลูกช้างเล็ก กินหญ้ายอดด้วน ถูกช้างเหล่านั้นกินกิ่งไม้ที่ตนหักลงมากองไว้ ได้ดื่ม
แต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อพญาช้างนั้นเดินลงหรือขึ้นจากท่าน้ำ ช้างพังก็เดินเสียดสีกายไป
พญาช้างอยู่คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก พญาช้างนั้นจึงมีความคิดดังนี้ว่า “เวลานี้
เราอยู่คลุกคลีกับพวกช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก กินหญ้ายอดด้วน
ถูกช้างเหล่านั้นกินกิ่งไม้ที่เราหักลงมากองไว้ ได้ดื่มแต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อเราเดินลงหรือ
ขึ้นจากท่าน้ำ ช่างพังก็เดินเสียดสีกายไป เราอยู่คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก ทางที่ดี
เราควรหลีกออกจากโขลงไปอยู่ผู้เดียว”
ครั้นแล้ว พญาช้างนั้นก็ได้หลีกออกจากโขลง เดินไปทางเขตป่าปาลิไลยกะ
ราวป่ารักขิตวัน ณ ควงไม้รัง เข้าไปหาพระผู้มีพระภาค ทราบว่า พญาช้างนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๕. นาคสูตร
ปรับพื้นที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ให้ปราศจากของเขียวสด และใช้งวงตักน้ำดื่ม
น้ำใช้เข้าไปตั้งไว้เพื่อพระผู้มีพระภาค ณ ที่นั้น
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงดำริอย่างนี้ว่า
“เมื่อก่อน เราอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา
มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ เราอยู่คลุกคลี ลำบาก
ไม่ผาสุก เวลานี้ เรานั้นไม่คลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ เราไม่คลุกคลี
จึงอยู่ผาสุกดี”
พญาช้างนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อน เราอยู่คลุกคลีกับพวกช้างพลาย
ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก กินหญ้ายอดด้วน ส่วนกิ่งไม้ที่เราหักลงมากองไว้
ช้างเหล่านั้นก็กินหมด ได้ดื่มแต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อเราเดินลงหรือขึ้นจากท่าน้ำ ช้างพัง
ก็เดินเสียดสีกายไป เราอยู่คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก เวลานี้ เรานั้นไม่คลุกคลีอยู่
กับพวกช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก ไม่กินหญ้ายอดด้วน ไม่ถูกช้าง
กินกิ่งไม้ที่เราหักลงมา ไม่ดื่มแต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อเราเดินลงหรือขึ้นจากท่าน้ำ ช้างพัง
ไม่เดินเสียดสีกายไป เราไม่คลุกคลี จึงอยู่ผาสุกดี”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความสงัดพระวรกายของพระองค์ และ
ทรงทราบความคิดของพญาช้างนั้นด้วยพระทัยแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
จิตของพญาช้างผู้มีงางามดุจงอนรถนั้น
ย่อมเสมอกับจิตของพระพุทธเจ้า
เพราะอยู่ผู้เดียวยินดีในป่าเหมือนกัน๑
นาคสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๔๖๗/๓๖๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๖. ปิณโฑลสูตร
๖. ปิณโฑลสูตร
ว่าด้วยพระปิณโฑลภารทวาชเถระ
[๓๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะผู้ถือการ
อยู่ป่าเป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
ถือการนุ่งห่มไตรจีวรเป็นวัตร มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลี
ด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร เป็นผู้กำจัดกิเลส และกล่าวถึงแต่เรื่องกำจัดกิเลส
หมั่นประกอบอธิจิต นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระปิณโฑลภารทวาชะผู้ถือการอยู่ป่า
เป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือการ
นุ่งห่มผ้าไตรจีวรเป็นวัตร มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วย
หมู่คณะ ปรารภความเพียร เป็นผู้กำจัดกิเลส และกล่าวถึงแต่เรื่องกำจัดกิเลส
หมั่นประกอบอธิจิต นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ความสำรวมในปาติโมกข์
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร
การอยู่ในเสนาสนะที่สงัด
การประกอบความเพียรในอธิจิต
นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย๑
ปิณโฑลสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๑๘๕ หน้า ๙๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๗. สารีปุตตสูตร
๗. สารีปุตตสูตร
ว่าด้วยพระสารีบุตรเถระ
[๓๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรผู้มีความปรารถนาน้อย สันโดษ
ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร หมั่นประกอบอธิจิต นั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง อยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสารีบุตรผู้มีความปรารถนาน้อย
สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร หมั่นประกอบอธิจิต
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
ผู้มีจิตมั่นคง๑ ไม่ประมาท เป็นมุนี๒
ศึกษาทางแห่งความเป็นมุนี๓
ผู้คงที่ สงบ มีสติทุกขณะ
ย่อมเป็นผู้ไม่เศร้าโศก๔
สารีปุตตสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ มีจิตมั่นคง ในที่นี้หมายถึงประกอบด้วยอรหัตตผลจิตที่ยอดเยี่ยมกว่าจิตทั้งปวง (ขุ.อุ.อ. ๓๗/๒๗๒)
๒ มุนี ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพที่ประกอบด้วยอรหัตตผลญาณที่เรียกว่า โมนะ (ขุ.อุ.อ. ๓๗/๒๗๒)
๓ ทางแห่งความเป็นมุนี หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (ขุ.อุ.อ. ๓๗/๒๗๒)
๔ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๖๘/๓๒๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๘. สุนทรีสูตร
๘. สุนทรีสูตร
ว่าด้วยนางสุนทรีปริพาชิกา
[๓๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ที่มหาชนสักการะ
เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย-
เภสัชบริขาร แม้ภิกษุสงฆ์ก็เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม
ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ส่วนพวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชกเป็นผู้ที่มหาชนไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่นอบน้อม
ไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
ครั้งนั้น พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกทนเห็นสักการะเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค
และภิกษุสงฆ์ไม่ได้ จึงพากันไปหานางสุนทรีปริพาชิกาถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับนางสุนทรี
ปริพาชิกาดังนี้ว่า “น้องหญิง เธอสามารถจะทำประโยชน์แก่พวกญาติได้ไหม”
นางถามว่า “ท่านเจ้าข้า จะให้ดิฉันทำอะไร ดิฉันสามารถทำได้ เพื่อประโยชน์แก่
พวกญาติ แม้ชีวิตดิฉันก็สละให้ได้”
พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกจึงกล่าวว่า “ดีละ น้องหญิง ถ้าอย่างนั้น เธอจง
ไปพระเชตวันเนือง ๆ” นางสุนทรีปริพาชิการับคำของอัญเดียรถีย์ปริพาชกแล้วไป
พระเชตวันเนือง ๆ
เมื่อพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นรู้ว่า คนจำนวนมากเห็นนางสุนทรี
ปริพาชิกาไปพระเชตวันเนือง ๆ จึงได้จ้างนักเลงให้ฆ่านาง แล้วหมกไว้ในคูรอบ
พระเชตวันนั่นเอง จากนั้นได้พากันเข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลถึงที่ประทับ
ได้กราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลดังนี้ว่า “ขอเดชะ มหาบพิตร อาตมภาพทั้งหลาย
ไม่เห็นนางสุนทรีปริพาชิกาเลย”
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลายสงสัยที่ไหนเล่า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๘. สุนทรีสูตร
พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกทูลตอบว่า “ที่พระเชตวัน มหาบพิตร”
พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งว่า “ถ้าอย่างนั้น พระคุณเจ้าทั้งหลายจงค้นพระเชตวัน
ดูเถิด”
ลำดับนั้น อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นจึงค้นพระเชตวันแล้วขุดศพนาง
สุนทรีปริพาชิกาตามที่ตนสั่งให้หมกไว้ขึ้นจากคู ยกขึ้นเตียงแล้วให้หามเข้าไปยัง
กรุงสาวัตถี เดินจากถนนนี้ไปถนนโน้น จากตรอกนี้ไปตรอกโน้น พร้อมกับให้
คนทั้งหลายโพนทนาว่า
“ท่านทั้งหลาย เชิญดูการกระทำของพวกพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเถิด
พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ไม่มียางอาย ทุศีล มีธรรมเลวทราม กล่าวเท็จ
ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ความจริง พระเหล่านี้ถึงจะปฏิญญาว่า เป็นผู้ประพฤติธรรม
ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวคำจริง มีศีล มีกัลยาณธรรม แต่พระ
เหล่านี้ไม่มีความเป็นสมณะ ไม่มีความเป็นพรหม๑ ความเป็นสมณะของพระเหล่านี้
เสื่อมสิ้นไปแล้ว ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้เสื่อมสิ้นไปแล้ว ความเป็นสมณะ
ของพระเหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน พระ
เหล่านี้ปราศจากความเป็นสมณะ พระเหล่านี้ปราศจากความเป็นพรหมแล้ว ทำไม
เป็นชายจึงข่มขืนผู้หญิงแล้วฆ่าเสียเล่า”
สมัยนั้น คนทั้งหลายในกรุงสาวัตถีเห็นภิกษุทั้งหลายแล้วด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด
เบียดเบียนด้วยวาจาหยาบคายที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร
เหล่านี้ ไม่มียางอาย ทุศีล มีธรรมเลวทราม กล่าวเท็จ ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
ความจริง พระเหล่านี้ถึงจะปฏิญญาว่า เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติ
พรหมจรรย์ กล่าวคำจริง มีศีล มีกัลยาณธรรม แต่พระเหล่านี้ก็ไม่มีความเป็น
สมณะ ไม่มีความเป็นพรหม ความเป็นสมณะของพระเหล่านี้เสื่อมสิ้นไปแล้ว
ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้เสื่อมสิ้นไปแล้ว ความเป็นสมณะของพระเหล่านี้

เชิงอรรถ :
๑ ความเป็นพรหม ในที่นี้หมายถึงความเป็นผู้ประเสริฐ ความเป็นผู้มีบาปอันลอยแล้ว (ขุ.อุ.อ.๓๘/๒๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๘. สุนทรีสูตร
จะมีแต่ที่ไหน ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน พระเหล่านี้ปราศจาก
ความเป็นสมณะ พระเหล่านี้ปราศจากความเป็นพรหมแล้ว ทำไม เป็นชายจึงข่มขืน
ผู้หญิงแล้วฆ่าเสียเล่า”
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขณะนี้ คนทั้งหลายในกรุงสาวัตถี
เห็นภิกษุทั้งหลายแล้วด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนด้วยวาจาหยาบคาย
ที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษว่า ‘พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ไม่มียางอาย ทุศีล
มีธรรมเลวทราม กล่าวเท็จ ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ความจริง พระเหล่านี้ถึงจะ
ปฏิญญาว่า เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวคำจริง
มีศีล มีกัลยาณธรรม แต่พระเหล่านี้ก็ไม่มีความเป็นสมณะ ไม่มีความเป็นพรหม
ความเป็นสมณะของพระเหล่านี้เสื่อมสิ้นไปแล้ว ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้เสื่อม
สิ้นไปแล้ว ความเป็นสมณะของพระเหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน ความเป็นพรหมของพระ
เหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน พระเหล่านี้ปราศจากความเป็นสมณะ พระเหล่านี้ปราศจาก
ความเป็นพรหมแล้ว ทำไม เป็นชายจึงข่มขืนผู้หญิงแล้วฆ่าเสียเล่า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เสียง(โจษ)นั้นจักมีไม่นาน จักมี
เพียง ๗ วันเท่านั้น ครั้นพ้น ๗ วันก็จักหายไป ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
จงกล่าวตอบกับคนทั้งหลายที่เห็นภิกษุแล้วด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียน
ด้วยวาจาหยาบคายที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษ ด้วยคาถานี้ว่า
คนที่ชอบกล่าวคำไม่จริง
หรือคนที่ทำความชั่วแล้วกล่าวว่า
“ฉันไม่ได้ทำ” ต่างก็ตกนรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๘. สุนทรีสูตร
คน ๒ จำพวกนั้น ต่างก็มีกรรมชั่ว
ตายไปแล้ว มีคติเท่าเทียมกันในโลกหน้า๑
ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายเรียนคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคแล้วกล่าวตอบ
คนทั้งหลายที่เห็นภิกษุแล้วด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนด้วยวาจาหยาบคาย
ที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษ ด้วยคาถานี้ว่า
คนที่ชอบกล่าวคำไม่จริง
หรือคนที่ทำความชั่วแล้วกล่าวว่า
‘ฉันไม่ได้ทำ’ ต่างก็ตกนรก
คน ๒ จำพวกนั้น ต่างก็มีกรรมชั่ว
ตายไปแล้วมีคติเท่าเทียมกันในโลกหน้า
คนทั้งหลายได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ คงไม่
ได้ทำความผิด พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้คงไม่ได้ทำบาป พระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรจึงกล่าวสบถเช่นนั้น” เสียง(โจษ)นั้นได้มีอยู่ไม่นาน เสียง(โจษ)ได้มีอยู่
เพียง ๗ วันเท่านั้น ครั้นพ้น ๗ วันก็หายไป
ต่อมา ภิกษุจำนวนมากพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัส
พระดำรัสนี้ไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เสียง(โจษ)นั้นจักมีไม่นาน จักมีเพียง ๗ วันเท่านั้น
ครั้นพ้น ๗ วันก็จักหายไป เสียง(โจษ)นั้นก็หายไป พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบท ข้อ ๓๐๖ หน้า ๑๒๘, อิติวุตตกะ ข้อ ๔๘ หน้า ๓๙๙, สุตตนิบาต ข้อ ๖๖๗ หน้า ๖๕๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๙. อุปเสนสูตร
พุทธอุทาน
คนทั้งหลายผู้ไม่สำรวม ชอบกล่าวทิ่มแทงผู้อื่นด้วยวาจา
เหมือนทหารข้าศึกทิ่มแทงช้างที่ออกศึกด้วยลูกศร ฉะนั้น
ภิกษุผู้มีจิตไม่คิดประทุษร้าย ฟังคำหยาบคาย
ที่คนพาลกล่าวแล้ว พึงอดกลั้นไว้ได้
สุนทรีสูตรที่ ๘ จบ
๙. อุปเสนสูตร
ว่าด้วยพระอุปเสนวังคันตบุตร
[๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตร หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด
เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า “เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่เรามีพระผู้มี
พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เรามีเพื่อนพรหมจารีล้วนแต่มีศีล
มีกัลยาณธรรม เราบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์แล้ว เรามีจิตตั้งมั่นดีแล้ว มีอารมณ์
เป็นหนึ่ง เป็นพระอรหันตขีณาสพ เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ชีวิตของเรา
ชื่อว่ามีความเจริญ ความตายของเราก็ชื่อว่าเป็นความตายดี”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงทราบความคิดคำนึงของท่านพระอุปเสน-
วังคันตบุตรด้วยพระทัยแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑๐. สารีปุตตอุปสมสูตร
พุทธอุทาน
บุคคลผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่โดยไม่เดือดร้อน
ในเวลาจวนจะตายก็ไม่เศร้าโศก
ชื่อว่าพบนิพพานแล้ว เป็นปราชญ์
แม้จะอยู่ท่ามกลางคนที่เศร้าโศก ก็ไม่เศร้าโศก
ภิกษุผู้ตัดภวตัณหา๑ได้เด็ดขาด
มีจิตสงบ มีชาติสงสาร๒สิ้นแล้ว
เธอย่อมไม่มีภพใหม่
อุปเสนสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. สารีปุตตอุปสมสูตร
ว่าด้วยการระงับกิเลสของพระสารีบุตรเถระ
[๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
พิจารณาถึงการระงับกิเลสลงได้หมดสิ้นของตน อยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสารีบุตรผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง พิจารณาถึงการระงับกิเลสได้หมดสิ้นของตนอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ ภวตัณหา หมายถึงความกำหนัดแห่งจิตที่สหรคตด้วยภวทิฏฐิ (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๑๖/๕๗๓)
๒ ชาติสงสาร ในที่นี้หมายถึงความเกิด (ขุ.อุ.อ. ๓๙/๒๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พุทธอุทาน
ภิกษุผู้มีจิตสงบและระงับกิเลสได้
ตัดตัณหาที่นำไปสู่ภพได้
มีชาติสงสารสิ้นแล้ว
ชื่อว่าเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูกแห่งมาร
สารีปุตตอุปสมสูตรที่ ๑๐ จบ
เมฆิยวรรคที่ ๔ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. เมฆิยสูตร ๒. อุทธตสูตร
๓. โคปาลกสูตร ๔. ยักขปหารสูตร
๕. นาคสูตร ๖. ปิณโฑลสูตร
๗. สารีปุตตสูตร ๘. สุนทรีสูตร
๙. อุปเสนสูตร ๑๐. สารีปุตตอุปสมสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๑. ปิยตรสูตร
๕. โสณเถรวรรค
หมวดว่าด้วยพระโสณเถระ
๑. ปิยตรสูตร๑
ว่าด้วยการไม่มีผู้อื่นเป็นที่รักยิ่งกว่าตน
[๔๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลกับพระนางมัลลิกาเทวี
ประทับอยู่ที่ปราสาทอันประเสริฐชั้นบน ขณะนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสกับพระนาง
มัลลิกาเทวีดังนี้ว่า “มัลลิกา ใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของเธอมีบ้างไหม”
พระนางมัลลิกาเทวีได้ทูลสนองว่า “ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ใครอื่น
ซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของหม่อนฉันไม่มีเลย และใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของ
พระองค์มีอยู่หรือ”
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า “มัลลิกา ใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของเรา
ไม่มีเลย”
ต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จลงจากปราสาท เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ ข้าพระองค์กับพระนางมัลลิกาเทวีอยู่ที่ปราสาท
อันประเสริฐชั้นบน ได้พูดกับพระนางมัลลิกาเทวีดังนี้ว่า ‘มัลลิกา ใครอื่นซึ่งเป็น
ที่รักยิ่งกว่าตนของเธอมีบ้างไหม’ เมื่อข้าพระองค์ถามแล้วอย่างนี้ พระนางมัลลิกา-
เทวีได้ตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ใครอื่นซึ่งเป็นที่รัก

เชิงอรรถ :
๑ สํ.สํ. (แปล) ๑๕/๑๑๙/๑๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๒. อัปปายุกสูตร
ยิ่งกว่าตนของหม่อนฉันไม่มี และใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของพระองค์มีอยู่หรือ’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระนางมัลลิกาเทวีกล่าวอย่างนี้ข้าพระองค์ได้พูดกับ
พระนางมัลลิกาเทวี ดังนี้ว่า ‘มัลลิกา ใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของเราไม่มีเลย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
บุคคลตั้งใจค้นหาทั่วทุกทิศ
ก็ไม่พบใครซึ่งเป็นที่รักยิ่งว่าตนในที่ไหน ๆ เลย
สัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่นก็รักตนมากเช่นนั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น
ปิยตรสูตรที่ ๑ จบ
๒. อัปปายุกสูตร
ว่าด้วยพระมารดาพระโพธิสัตว์มีอายุน้อย
[๔๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เป็นเวลาเย็น ท่านพระอานนท์ออกจากที่
หลีกเร้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ พระมารดาของพระผู้มีพระภาคมีพระชนมายุน้อย เมื่อพระผู้มีพระภาค
ประสูติได้ ๗ วัน พระมารดาของพระผู้มีพระภาคก็เสด็จสวรรคตไปเกิดยังหมู่เทพ
ชั้นดุสิต”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๓. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จริงอย่างนั้น อานนท์ จริงอย่างนั้น อานนท์ มารดา
พระโพธิสัตว์มีอายุน้อย เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๗ วัน มารดาก็สวรรคตไปเกิด
ยังหมู่เทพชั้นดุสิต”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เกิดแล้ว
จะเกิดต่อไป หรือกำลังเกิดก็ตาม
สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจักต้องละทิ้งร่างกายไป
คนฉลาดรู้ความเสื่อมไปของสัตว์ทั้งหมดนั้นแล้ว
ควรเป็นผู้ประกอบความเพียร๑ ประพฤติพรหมจรรย์๒
อัปปายุกสูตรที่ ๒ จบ
๓. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
ว่าด้วยชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ
[๔๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ชายคนหนึ่งชื่อสุปปพุทธะ เป็นโรคเรื้อน ยากจน กำพร้า
ยากไร้ วันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคมีบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมประทับนั่งแสดงธรรมอยู่
ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้เห็นหมู่มหาชนนั้นนั่งประชุมกันแต่ที่ไกล ได้มีความคิด
ดังนี้ว่า “ชนทั้งหลายกำลังแจกของเคี้ยวหรือของบริโภค ในที่นี้เป็นแน่ ทางที่ดีเรา
ควรเข้าไปยังหมู่มหาชนนั้น พึงได้ของเคี้ยวหรือของบริโภคในที่นี้บ้าง”

เชิงอรรถ :
๑ ประกอบความเพียร หมายถึงบำเพ็ญวิปัสสนา (ขุ.อุ.อ. ๔๒/๒๙๘)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๒๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๓. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
ลำดับนั้น ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้เข้าไปยังหมู่มหาชนนั้น ได้เห็นพระผู้มี
พระภาคมีบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ จึงมีความคิดดังนี้ว่า
“ชนทั้งหลายคงไม่แจกของเคี้ยวหรือของบริโภคในที่นี้ พระสมณโคดมนี้แสดงธรรม
ในบริษัท ทางที่ดีเราควรฟังธรรมบ้าง” จึงนั่งลง ณ ที่สมควรในที่นั้น ด้วยตั้งใจว่า
“เราจักฟังธรรม”
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการกำหนดจิตของบริษัททุกหมู่เหล่าด้วย
พระทัยว่า ในบริษัทนี้ ใครหนอแลควรรู้แจ้งธรรม พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตร
เห็นชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะนั่งอยู่ในบริษัทนั้น จึงทรงพระดำริดังนี้ว่า “ในบริษัทนี้
ชายคนนี้แลควรรู้แจ้งธรรม” พระองค์ทรงปรารภชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ จึงตรัส
อนุปุพพีกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา (เรื่องทาน)
๒. สีลกถา (เรื่องศีล)
๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)๑
๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม)
เมื่อทรงทราบว่าชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะมีจิตควรบรรลุธรรม สงบ อ่อน
ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกเทศนา๒ของพระ-
พุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันไร้ธุลี ปราศจากมลทิน
ได้เกิดแก่ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ ณ ที่นั่งนั้นนั่นเองว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความ
เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา’ เปรียบเหมือนผ้า
ขาวสะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

เชิงอรรถ :
๑ แปลจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สงฺกิเลสํ (ขุ.อุ. ๒๕/๔๓/๑๖๐)
๒ สามุกกังสิกเทศนา หมายถึงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงยกขึ้นแสดงเอง โดยไม่มีผู้ทูลอาราธนา
หรือทูลถาม พระธรรมเทศนานั้น คือ อริยสัจ ๔ ประการ (ขุ.อุ.อ. ๔๓/๓๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๓. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
ครั้งนั้นแล ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้เห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม
หยั่งลงสู่ธรรม ข้ามพ้นความสงสัย๑ ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความ
แกล้วกล้า ปราศจากความมีผู้อื่นเป็นปัจจัย๒ ในศาสนาของพระศาสดา ลุกจาก
ที่นั่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรม
แจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดี จักเห็น
รูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
จนตลอดชีวิต”
เมื่อชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้ฟังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วก็ชื่นชมยินดีพระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว
จึงลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทแล้วลุกขึ้นทำประทักษิณจากไป ทันใดนั้นเอง
โคแม่ลูกอ่อนได้ขวิดชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะผู้จากไปไม่นานจนล้มลงเสียชีวิต
ลำดับนั้น ภิกษุจำนวนมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะผู้ได้ฟังพระดำรัสที่พระองค์ทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจ

เชิงอรรถ :
๑ ความสงสัย หมายถึงวิจิกิจฉา ๘ ประการ เป็นองค์ธรรมในสังโยชน์ ๑๐ ประการ ดูรายละเอียดใน อภิ.สงฺ.
(แปล) ๓๔/๑๐๐๘/๒๖๑, และวิจิกิจฉา ๑๖ ประการ ดูรายละเอียดใน ม.มู. (แปล) ๑๒/๑๘/๑๙, สํ.นิ.
๑๖/๒๐/๒๗
๒ ปราศจากความมีผู้อื่นเป็นปัจจัย ในที่นี้หมายถึงไม่ต้องเชื่อผู้อื่นหรือไม่ต้องอาศัยผู้อื่นสนับสนุนให้เชื่อ
เพราะเห็นประจักษ์ชัดด้วยตนเอง (ที.สี.อ. ๑/๒๙๙/๒๕๐, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๖/๑๐๖, ขุ.อุ.อ. ๔๓/๓๐๖,
องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๑๖/๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๓. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
ให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา เขาเสียชีวิตแล้ว คติของเขาเป็นอย่างไร สัมปรายภพของเขาเป็น
อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะเป็น
บัณฑิต ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และไม่เบียดเบียนเราให้ลำบาก เพราะธรรม
เป็นเหตุ ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ เป็นโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป
ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๑ในวันข้างหน้า”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ชายชื่อ
สุปปพุทธะ เป็นโรคเรื้อน ยากจน กำพร้า ยากไร้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ชาติก่อน ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ
เป็นบุตรเศรษฐีในกรุงราชคฤห์นี้เอง เขาออกไปยังสวนสาธารณะ ได้เห็นพระปัจเจก-
พุทธะนามว่าตครสิขี กำลังเดินบิณฑบาตในพระนคร เขาครั้นเห็นแล้ว จึงได้มีความ
คิดอย่างนี้ว่า ‘ใครนี้ เป็นโรคเรื้อนห่มผ้าสกปรกเที่ยวไป’ แล้วถ่มน้ำลายเดินแซงไป
ทางด้านซ้าย เพราะผลแห่งกรรมนั้น เขาไหม้อยู่ในนรกหลาย ๑๐๐ หลาย ๑,๐๐๐
หลาย ๑๐๐,๐๐๐ ปี เพราะเศษแห่งวิบากกรรมนั้นยังเหลืออยู่ เขาจึงเกิดเป็นชาย
โรคเรื้อน ยากจน กำพร้า ยากไร้ในกรุงราชคฤห์นี้เอง เขาอาศัยธรรมวินัยที่ตถาคต
ประกาศไว้แล้ว ยึดมั่น ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เขาครั้นได้อาศัยธรรมวินัยที่
ตถาคตประกาศไว้แล้วยึดมั่นศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา หลังจากตายแล้ว
เขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ และ
รุ่งโรจน์เหนือกว่าเทวดาเหล่าอื่น ในชั้นดาวดึงส์นั้น ด้วยวรรณะและยศ๒”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรค ๓ เบื้องสูง คือ สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค (ที.สี.อ.
๑/๓๗๓/๒๘๑, องฺ.ติก.อ. ๒/๘๗/๒๔๒, ขุ.อุ.อ. ๔๓/๓๑๐, องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๘๗/๒๓๕)
๒ ในที่นี้ วรรณะ หมายถึงรูปสมบัติ ยศ หมายถึงบริวาร (ขุ.อุ.อ.๔๓/๓๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๔. กุมารกสูตร
พุทธอุทาน
บัณฑิตในโลกนี้ เมื่อยังมีความบากบั่นอยู่
ควรละเว้นบาปทุกอย่าง
เหมือนคนตาดีละเว้นทางขรุขระ ฉะนั้น
สุปปพุทธกุฏฐิสูตรที่ ๓ จบ
๔. กุมารกสูตร
ว่าด้วยเด็กจับปลา
[๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น เด็กจำนวนมากจับปลาอยู่ในระหว่าง
กรุงสาวัตถีกับพระเชตวัน
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กจำนวนมากจับปลาอยู่
ในระหว่างกรุงสาวัตถีกับพระเชตวันนั้น จึงเสด็จเข้าไปหาเด็กเหล่านั้นแล้วได้ตรัส
ถามดังนี้ว่า “พ่อหนูทั้งหลาย เธอทั้งหลายกลัวความทุกข์ ความทุกข์ไม่เป็นที่รัก
ของเธอทั้งหลายมิใช่หรือ”
เด็กทั้งหลายทูลตอบว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายกลัว
ความทุกข์ ความทุกข์ไม่เป็นที่รักของข้าพระองค์ทั้งหลาย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๕. อุโปสถสูตร
พุทธอุทาน
ถ้าเธอทั้งหลายกลัวความทุกข์
ถ้าความทุกข์ไม่เป็นที่รักของเธอทั้งหลาย
ก็อย่าได้ทำบาปกรรมในที่แจ้ง๑หรือบาปกรรมในที่ลับ๒
เพราะถ้าเธอทั้งหลายจักทำ หรือกำลังทำบาปกรรมอยู่
ถึงจะเหาะหนีไป เธอย่อมไม่พ้นจากความทุกข์ไปได้
กุมารกสูตรที่ ๔ จบ
๕. อุโปสถสูตร๓
ว่าด้วยอุโบสถกรรม
[๔๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา-
มิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อมประทับ
นั่งในวันอุโบสถวันหนึ่ง
ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว๔ ปฐมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์ลุกจาก
อาสนะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูล
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุสงฆ์
นั่งรออยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุ
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ บาปกรรมในที่แจ้ง หมายถึงกรรมชั่วทางกาย และทางวาจา (ขุ.อุ.อ. ๔๔/๓๑๕)
๒ บาปกรรมในที่ลับ หมายถึงกรรมชั่วทางใจ (ขุ.อุ.อ. ๔๔/๓๑๕)
๓ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๘๓-๓๘๕/๒๘๓-๒๘๕, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๒๐/๒๕๒-๒๖๕, อภิ.ก. ๓๗/๓๔๖/๑๘๘
๔ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๕. อุโปสถสูตร
เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงนิ่ง๑
แม้ครั้งที่ ๒ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์
ลุกจากอาสนะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูล
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุสงฆ์
นั่งรออยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุ
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็ทรงนิ่ง
แม้ครั้ง ๓ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ยามรุ่งอรุณเริ่ม
สว่าง ท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทาง
พระผู้มีพระภาคได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว
ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ยามรุ่งอรุณเริ่มสว่าง ภิกษุสงฆ์นั่งรออยู่นานแล้ว ขอพระผู้มี
พระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ บริษัทไม่บริสุทธิ์”
ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาค
ตรัสอย่างนี้ว่า ‘บริษัทไม่บริสุทธิ์’ ทรงหมายถึงใครกัน” จึงกำหนดจิตของภิกษุสงฆ์
ด้วยจิต(ของตน) ได้เห็นบุคคลผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติ
ที่น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี
แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ
นั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์นั้น ครั้นเห็นแล้วจึงลุกจากอาสนะเข้าไปหาบุคคลนั้นแล้ว
กล่าวว่า “ท่านจงลุกขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีสังวาส๒กับ
ภิกษุทั้งหลาย”

เชิงอรรถ :
๑ เหตุที่ทรงนิ่ง ก็ด้วยพระประสงค์จะอนุเคราะห์ภิกษุผู้ทุศีลที่มีอยู่ในบริษัท เพราะหากพระองค์ทรงยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดง ศีรษะของภิกษุผู้ทุศีลนั้นก็จะแตก ๗ เสี่ยง พระองค์จึงทรงนิ่งเสีย (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๒๐/๒๔๕)
๒ สังวาส ในที่นี้หมายถึงกรรมที่ทำร่วมกัน อุทเทสที่สวดรวมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน (วิ.มหา.(แปล)
๑/๕๕/๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๑ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น