Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๕-๙ หน้า ๕๒๓ - ๕๘๘

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕-๙ สุตตันตปิฎกที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย สุตตนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๖. ปราภวสูตร
เพราะเห็นว่า บุคคลจะทำสมณะผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
ให้เสมอกับสมณะผู้ทุศีล
และสมณะผู้บริสุทธิ์ให้เสมอกับสมณะผู้ไม่บริสุทธิ์
ได้อย่างไรเล่า
จุนทสูตรที่ ๕ จบ
๖. ปราภวสูตร
ว่าด้วยทางแห่งความเสื่อม
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป๑ เทวดาองค์หนึ่ง
มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วย
คาถาว่า
[๙๑] ข้าพระองค์มาทูลถามถึงคนผู้มีแต่ความเสื่อม
กับพระผู้มีพระภาคผู้โคดมว่า
อะไรเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๙๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ผู้เจริญก็รู้ได้ง่าย๒ ผู้เสื่อมก็รู้ได้ง่าย
ผู้เจริญใคร่ธรรม๓ ผู้เสื่อมชังธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๔ ข้อ ๑ หน้า ๖ ในเล่มนี้
๒ ผู้เจริญก็รู้ได้ง่าย ในที่นี้หมายถึงผู้พัฒนาแล้ว ใคร ๆ ก็รู้ได้ง่ายเพราะได้เห็นหรือได้ยินเกี่ยวกับการ
ประพฤติปฏิบัติของเขา (ขุ.สุ.อ. ๑/๙๒/๑๗๑)
๓ ใคร่ธรรม หมายถึงปรารถนาที่จะฟังและปฏิบัติตามกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๑/๙๒/๑๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๖. ปราภวสูตร
[๙๓] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๒ ว่าเป็นอย่างไร
[๙๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนที่มีอสัตบุรุษเป็นที่รัก ไม่ทำสัตบุรุษให้เป็นที่รัก
ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษ
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๙๕] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๒
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๓ ว่าเป็นอย่างไร
[๙๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้ชอบหลับอยู่เสมอ ชอบสมาคม๑
ไม่ขยันหมั่นเพียร เกียจคร้าน โกรธง่าย
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๙๗] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๓
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๔ ว่าเป็นอย่างไร

เชิงอรรถ :
๑ ชอบสมาคม หมายถึงชอบคลุกคลีและพูดคุยในเรื่องไร้สาระ (ขุ.สุ.อ. ๑/๙๖/๑๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๖. ปราภวสูตร
[๙๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้มีความสามารถเลี้ยงตนและผู้อื่นได้
แต่ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่ชรา ผู้ผ่านวัยหนุ่มวัยสาวแล้ว
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๙๙] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๔
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๕ ว่าเป็นอย่างไร
[๑๐๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้กล่าวมุสาวาท หลอกลวงสมณะหรือพราหมณ์
หรือแม้กระทั่งวณิพกยาจกอื่น ๆ
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๐๑] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๕
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๖ ว่าเป็นอย่างไร
[๑๐๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้มีทรัพย์มาก มีเงินทองของกินเหลือเฟือ
กินของอร่อยเพียงคนเดียว๑
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

เชิงอรรถ :
๑ กินของอร่อยเพียงคนเดียว ในที่นี้หมายถึงเป็นผู้ตระหนี่ลาภกินโดยไม่แบ่งให้แม้กระทั่งบุตรและภรรยา (ขุ.สุ.อ.
๑/๑๐๒/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๖. ปราภวสูตร
[๑๐๓] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๖
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๗ ว่าเป็นอย่างไร
[๑๐๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนกระด้างเพราะชาติ กระด้างเพราะทรัพย์
และกระด้างเพราะโคตร
ชอบดูหมิ่นญาติของตน
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๐๕] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๗
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๘ ว่าเป็นอย่างไร
[๑๐๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้เป็นนักเลงหญิง นักเลงสุรา และนักเลงการพนัน
ชอบล้างผลาญทรัพย์สมบัติที่ตนหามาได้
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๐๗] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๘
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๙ ว่าเป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๖. ปราภวสูตร
[๑๐๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้ไม่ยินดีภรรยาของตน ชอบเที่ยวหญิงแพศยา
ชอบคบชู้สู่สาวภรรยาคนอื่น
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๐๙] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๙
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑๐ ว่าเป็นอย่างไร
[๑๑๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ชายแก่ได้หญิงสาววัยรุ่น มีถันเท่าผลมะพลับมาเป็นภรรยา
มักจะนอนไม่ค่อยหลับ เพราะความหึงหญิงสาวรุ่นนั้น
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๑๑] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑๐
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑๑ ว่าเป็นอย่างไร
[๑๑๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนแต่งตั้งหญิงหรือชายผู้เป็นนักเลง
ใช้จ่ายเงินทองฟุ่มเฟือย ไว้ในความเป็นใหญ่
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๑๓] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑๑
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑๒ ว่าเป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๗. วสลสูตร
[๑๑๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้เกิดในขัตติยตระกูล มีโภคะน้อย
แต่มีความมักใหญ่ใฝ่สูง ปรารถนาจะครองราชย์
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๑๕] บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะอันประเสริฐ
พิจารณาเห็นทางแห่งความเสื่อมในโลก ดังกล่าวมานี้แล้ว
ท่านย่อมคบโลกที่เจริญแน่นอน
ปราภวสูตรที่ ๖ จบ
๗. วสลสูตร
ว่าด้วยลักษณะคนเลว
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครอง
อันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ที่บ้าน
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ มีการจุดไฟเตรียมทำพิธีบูชาไฟ พระผู้มีพระภาคเสด็จ
เที่ยวบิณฑบาตมาตามลำดับตรอก ในกรุงสาวัตถี จนเสด็จเข้าไปถึงนิเวศน์ของ
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกลทีเดียว จึงได้กล่าว
ดังนี้ว่า “หยุดอยู่แค่นั้นแหละ คนหัวโล้น หยุดอยู่แค่นั้นแหละ สมณะ หยุดอยู่แค่นั้นแหละ
คนเลว”๑
เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ ท่านรู้จัก
คนเลว หรือธรรมที่ทำให้เป็นคนเลวหรือไม่”

เชิงอรรถ :
๑ เหตุที่อัคคิกภารทวาชพราหมณ์พูดคำหยาบเช่นนี้ เพราะมีความเชื่อว่าการเห็นสมณะในเวลาที่มีงานมงคล
ถือว่าเป็นอวมงคล และมีความเชื่อว่า คนที่มีศีรษะโล้น เป็นคนไม่บริสุทธิ์ (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๑๖/๑๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๗. วสลสูตร
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ตอบว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าไม่รู้จักคนเลวหรือ
ธรรมที่ทำให้เป็นคนเลว ดีละ ถ้าท่านพระโคดมรู้ ก็จงแสดงธรรมให้ข้าพเจ้ารู้จัก
คนเลวหรือธรรมที่ทำให้เป็นคนเลวบ้าง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจะกล่าว”
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[๑๑๖] คนมักโกรธ ชอบผูกอาฆาต ชอบลบหลู่ดูหมิ่น
เห็นผิดเป็นชอบ มีมายา
พึงทราบว่าเป็นคนเลว๑
[๑๑๗] คนผู้ชอบเบียดเบียนสัตว์ทุกจำพวกในโลกนี้
ไม่มีความเอ็นดูในเพื่อนมนุษย์และสัตว์อื่น
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๑๘] คนผู้ชอบทำลายชีวิตผู้อื่น เที่ยวปล้นสะดม
ถูกประณามว่าเป็นโจรปล้นฆ่าชาวบ้านร้านตลาด
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๑๙] คนเที่ยวลักขโมยทรัพย์สินเงินทอง
ที่เจ้าของหวงแหนไม่ได้ให้ ในบ้านหรือในป่าก็ตาม
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๐] คนกู้หนี้ยืมสินเขามาแล้ว
ถูกทวงกลับกล่าวว่า ไม่ได้ยืม หลบหนีไปเสีย
พึงทราบว่าเป็นคนเลว

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๑๕๐/๒๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๗. วสลสูตร
[๑๒๑] คนดักฆ่าหรือทำร้ายคนเดินทาง ชิงเอาทรัพย์สมบัติ
เพราะความอยากได้ทรัพย์สมบัติเพียงเล็กน้อยของเขา
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๒] คนถูกเขาอ้างเป็นพยาน แล้วกล่าวคำเท็จ
เพราะตนเป็นเหตุ เพราะผู้อื่นเป็นเหตุ หรือเพราะทรัพย์เป็นเหตุ
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๓] คนที่ประพฤติล่วงเกินภรรยาของญาติ หรือของเพื่อน
จะด้วยการข่มขืนหรือด้วยความยินยอมกันก็ตาม
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๔] คนผู้สามารถเลี้ยงตนเองและผู้อื่นได้
แต่ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดาของตน ผู้แก่ชรา
ผ่านวัยหนุ่มวัยสาวแล้ว พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๕] คนผู้ทุบตี ดุด่ามารดาบิดา พี่น้อง
พ่อตา แม่ยาย หรือพ่อผัว แม่ผัว
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๖] คนที่ถูกถามถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์
กลับบอกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
หรือพูดกลบเกลื่อนบอกไม่ชัดเจน
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๗] คนทำบาปกรรมไว้แล้ว ปรารถนาว่า
คนอื่นอย่าพึงรู้ว่าเราทำ
ปกปิดการกระทำไว้
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๘] คนไปบ้านผู้อื่น ถูกต้อนรับด้วยโภชนาหารอย่างดี
แต่พอเขามาบ้านตนบ้าง กลับไม่ต้อนรับเขาเช่นนั้น
พึงทราบว่าเป็นคนเลว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๗. วสลสูตร
[๑๒๙] คนผู้กล่าวมุสาวาท หลอกลวงสมณะหรือพราหมณ์
หรือแม้กระทั่งวณิพกยาจกอื่น ๆ
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๓๐] คนที่เมื่อสมณะหรือพราหมณ์มาบิณฑบาตแต่เช้า
ไม่ถวายอาหารบิณฑบาต กลับด่าว่าขับไล่
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๓๑] ในโลกนี้คนถูกโมหะครอบงำ
อยากได้สิ่งของเล็กน้อยของผู้อื่น
ก็พูดจาหลอกลวงเขาเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๓๒] คนผู้ชอบยกตน และดูหมิ่นคนอื่น
ประพฤติเลวทราม เพราะความถือตัวจัดของตน
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๓๓] คนโหดร้าย มีจิตใจคับแคบ ปรารถนาชั่ว
มีความตระหนี่ โอ้อวด ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๓๔] คนกล่าวร้ายพระพุทธเจ้าหรือพระสาวก
ของพระพุทธเจ้าที่เป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๓๕] คนไม่เป็นพระอรหันต์ แต่ปฏิญญาว่าเป็นพระอรหันต์
ชื่อว่าเป็นดุจโจรในมนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลก
พึงทราบว่าเป็นคนเลวทรามต่ำช้าที่สุด
[๑๓๖] คนที่เรากล่าวมาทั้งหมดนี้ เราเรียกว่าเป็นคนเลว
คนจะชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะชาติกำเนิดก็หามิได้
จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หามิได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๗. วสลสูตร
แต่ชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะกรรม
ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม
[๑๓๗] ท่านจงรู้ข้อนั้นตามที่เราแสดงนี้ คือ
บุตรคนจัณฑาลผู้ปรากฏชื่อว่ามาตังคะ
ผู้ปิ้งสุนัขรับประทาน
[๑๓๘] ต่อมา นายมาตังคะได้รับยศศักดิ์ใหญ่ซึ่งได้แสนยาก
ทั้งกษัตริย์และพราหมณ์จำนวนมาก ต่างมาสู่ที่บำรุงของเขา
[๑๓๙] เขาขึ้นยานอันประเสริฐ๑ไปตามทางใหญ่๒ที่ไม่มีฝุ่นละออง๓
ละกามราคะได้แล้ว ไปเกิดในพรหมโลก
ชาติกำเนิดห้ามเขาไม่ให้ไปเกิดในพรหมโลกไม่ได้
[๑๔๐] พวกพราหมณ์ที่เกิดในตระกูลสาธยายมนตร์ มีหน้าที่ร่ายมนตร์
แต่ปรากฏว่าพวกเขาทำบาปกรรมอยู่เป็นประจำ
[๑๔๑] พราหมณ์พวกนั้นถูกตำหนิในชาติปัจจุบันตายแล้วก็ต้องไปทุคติ
ชาติกำเนิดห้ามพวกเขาจากทุคติหรือจากการติเตียนไม่ได้
[๑๔๒] คนจะชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะชาติกำเนิดก็หามิได้
จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หามิได้
แต่ชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะกรรม
ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อัคคิกภารทวาชพรามหณ์ได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่าน

เชิงอรรถ :
๑ ยานอันประเสริฐ ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ ๘ (ขุ.สุ.อ.๑/๑๓๙/๑๙๒)
๒ ไปตามทางใหญ่ หมายถึงเป็นผู้ปฏิบัติตามทางที่พระพุทธเจ้าเป็นต้นดำเนินไปแล้ว (ขุ.สุ.อ.๑/๑๓๙/๑๙๒)
๓ ฝุ่นละออง หมายถึงกิเลส (ขุ.สุ.อ.๑/๑๓๙/๑๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๘. เมตตสูตร
พระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศ
ธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’
ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดมพร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่าน
พระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
วสลสูตรที่ ๗ จบ
๘. เมตตสูตร๑
ว่าด้วยการแผ่เมตตา
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่าดังนี้)
[๑๔๓] ผู้ฉลาดในประโยชน์ มุ่งหวังบรรลุสันตบท
ควรบำเพ็ญกรณียกิจ ควรเป็นผู้อาจหาญ ซื่อตรง
เคร่งครัด ว่าง่าย อ่อนโยน และไม่เย่อหยิ่ง
[๑๔๔] ควรเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย
มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์สงบ มีปัญญารักษาตน
ไม่คะนอง ไม่ยึดติดในตระกูลทั้งหลาย
[๑๔๕] อนึ่ง ไม่ควรประพฤติความเสียหายใด ๆ
ที่จะเป็นเหตุให้วิญญูชนเหล่าอื่นตำหนิเอาได้
(ควรแผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์อย่างนี้ว่า)
ขอสัตว์ทั้งปวงจงมีความสุข
มีความเกษม มีตนเป็นสุขเถิด
[๑๔๖] คือเหล่าสัตว์ที่ยังเป็นผู้หวาดสะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด

เชิงอรรถ :
๑ ข้อ ๑๔๓-๑๕๒ ดู ขุททกปาฐะ (เมตตสูตร ข้อ ๑-๑๐ หน้า ๒๐-๒๒ ในเล่มนี้)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๘. เมตตสูตร
เหล่าสัตว์ที่มีขนาดกายยาว ขนาดกายใหญ่ ขนาดกายปานกลาง
ขนาดกายเตี้ย ขนาดกายผอม หรือขนาดกายอ้วน
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[๑๔๗] เหล่าสัตว์ที่เคยเห็นก็ดี เหล่าสัตว์ที่ไม่เคยเห็นก็ดี
เหล่าสัตว์ที่อยู่ใกล้และอยู่ไกลก็ดี ภูตหรือสัมภเวสีก็ดี
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[๑๔๘] ไม่ควรข่มเหง ไม่ควรดูหมิ่นกันและกันในทุกโอกาส
ไม่ควรปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน
เพราะความโกรธและเพราะความแค้น
[๑๔๙] ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณไปยังสรรพสัตว์
ดุจมารดาเฝ้าถนอมบุตรคนเดียวด้วยชีวิต ฉะนั้น
[๑๕๐] อนึ่ง ควรแผ่เมตตาจิตชนิดไม่มีประมาณ
กว้างขวาง ไม่มีเวร ไม่มีศัตรูไปยังสัตว์โลกทั่วทั้งหมด
ทั้งชั้นบน ชั้นล่าง และชั้นกลาง
[๑๕๑] ผู้แผ่เมตตาจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน
ควรตั้งสตินี้ไว้ตลอดเวลาที่ยังไม่ง่วง
นักปราชญ์เรียกการอยู่ด้วยเมตตานี้ว่า พรหมวิหาร
[๑๕๒] อนึ่ง ผู้แผ่เมตตาที่ไม่ยึดถือทิฏฐิ
มีศีล ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ
กำจัดความยินดีในกามคุณได้แล้ว
ก็จะไม่เกิดในครรภ์อีกต่อไป
เมตตสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
๙. เหมวตสูตร
ว่าด้วยเหมวตยักษ์ทูลถามปัญหา
[๑๕๓] (สาตาคิรยักษ์กล่าวดังนี้)
วันนี้เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ
ราตรีที่เป็นทิพย์ปรากฏแล้ว
เราทั้งสองไปเฝ้าพระโคดมผู้เป็นศาสดา
ทรงพระนามสูงส่งกันดีกว่า
[๑๕๔] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมเป็นผู้คงที่๑ มีพระทัยสม่ำเสมอ
ในสัตว์โลกทุกจำพวกจริงหรือ
ทรงทำความดำริในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
ให้อยู่ในอำนาจได้จริงหรือ
[๑๕๕] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมเป็นผู้คงที่ มีพระทัยสม่ำเสมอ
ในสัตว์โลกทุกจำพวกจริง
และทรงทำความดำริในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
ให้อยู่ในอำนาจได้จริง
[๑๕๖] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมไม่ทรงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้จริงหรือ
ทรงสำรวมในสัตว์ทั้งหลายจริงหรือ
ทรงประพฤติห่างไกลจากกามคุณจริงหรือ
พระองค์ไม่ทรงละทิ้งฌานจริงหรือ

เชิงอรรถ :
๑ พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มีพระทัยคงที่โดยอาการ ๕ อย่าง คือ (๑) เป็นผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
(๒) เป็นผู้คงที่เพราะสละแล้ว (๓) เป็นผู้คงที่เพราะพ้นแล้ว (๔) เป็นผู้คงที่เพราะข้ามได้แล้ว (๕) เป็นผู้คง
ที่เพราะแสดงออกซึ่งธรรมนั้น ๆ ได้ (ขุ.สุ.อ.๑/๑๕๕/๒๓) และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓๘/๑๓๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
[๑๕๗] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมไม่ทรงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้จริง
ทรงสำรวมในสัตว์ทั้งหลายจริง
ทรงประพฤติห่างไกลจากกามคุณจริง
พระองค์ตรัสรู้แล้ว ไม่ทรงละทิ้งฌานจริง
[๑๕๘] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมไม่ตรัสคำเท็จจริงหรือ
มีพระวาจาไม่หยาบคายจริงหรือ
ไม่ตรัสคำส่อเสียดจริงหรือ ไม่ตรัสคำเพ้อเจ้อจริงหรือ
[๑๕๙] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมไม่ตรัสคำเท็จจริง
มีพระวาจาไม่หยาบคายจริง
ไม่ตรัสคำส่อเสียดจริง ไม่ตรัสคำเพ้อเจ้อจริง
ตรัสคำที่เป็นประโยชน์อย่างเดียว
เพราะทรงกำหนดด้วยพระปัญญา
[๑๖๐] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมไม่ทรงยินดีในกามทั้งหลายจริงหรือ
พระทัยของพระองค์ไม่ขุ่นมัวจริงหรือ
พระองค์ทรงล่วงพ้นโมหะได้จริงหรือ
พระองค์ทรงมีปัญญาจักษุในธรรมทั้งหลายจริงหรือ
[๑๖๑] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมไม่ทรงยินดีในกามทั้งหลายจริง
พระทัยของพระองค์ไม่ขุ่นมัวจริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
พระองค์ทรงล่วงพ้นโมหะทั้งปวงได้จริง
พระองค์ตรัสรู้แล้ว ทรงมีปัญญาจักษุในธรรมทั้งหลายจริง
[๑๖๒] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาจริงหรือ
พระองค์ทรงมีจรณะบริสุทธิ์จริงหรือ
พระองค์ทรงสิ้นอาสวะทั้งหลายจริงหรือ
พระองค์ไม่ทรงเกิดอีกจริงหรือ
[๑๖๓] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาจริง
พระองค์ทรงมีจรณะบริสุทธิ์จริง
พระองค์ทรงสิ้นอาสวะทั้งหลายจริง
พระองค์ไม่ทรงเกิดอีกจริง
[๑๖๔] (เหมวตยักษ์กล่าวชื่นชมสาตาคิรยักษ์ดังนี้)
ท่านได้สรรเสริญพระทัยของพระมุนีโคดม
ที่ถึงพร้อมด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
และสรรเสริญพระมุนีโคดมนั้น
ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ โดยธรรม
[๑๖๕] (สาตาคิรยักษ์กล่าวชื่นชมเหมวตยักษ์ดังนี้)
ท่านก็ชื่นชมพระทัยของพระมุนีโคดม
ที่ถึงพร้อมด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
และชื่นชมพระมุนีโคดมนั้น
ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ โดยธรรม
[๑๖๖] พระทัยของพระมุนีโคดม
ถึงพร้อมด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
เราไปเฝ้าพระโคดมผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะกันเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
[๑๖๗] (เหมวตยักษ์กล่าวดังนี้)
มาเถิด เราทั้งสองจะไปเฝ้าพระโคดม
ผู้มีพระชงฆ์ดังปลีแข้งเนื้อทราย
มีพระวรกายงามระหง มีลักษณะองอาจ
เสวยพระกระยาหารแต่พอประมาณ
ทรงปราศจากความติดพระทัยในรสพระกระยาหาร
ทรงเป็นมุนีผู้เพ่งพินิจอยู่ในป่า
[๑๖๘] เราทั้งสองไปเฝ้าพระโคดม ผู้สง่าดุจราชสีห์
เสด็จจาริกโดดเด่นพระองค์เดียว๑
ทรงเป็นพระนาคะ๒
ไม่ทรงยินดีในกามทั้งหลาย
จะทูลถามถึงธรรมเครื่องพ้นจากบ่วงมัจจุราช๓
[๑๖๙] เราทั้งสองจงทูลถามพระโคดมผู้ทรงแนะนำพร่ำสอน
ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง๔
ทรงเป็นผู้ตรัสรู้ ล่วงพ้นเวรภัยได้ทุกอย่าง

เชิงอรรถ :
๑ เสด็จจาริกโดดเด่นพระองค์เดียว หมายถึงไม่มีตัณหา อีกนัยหนึ่ง หมายถึงในโลกธาตุเดียวกันนี้ มีเพียง
พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๖๘/๒๓๗)
๒ ทรงเป็นพระนาคะ หมายถึงเป็นผู้ไม่เกิดอีกบ้าง เป็นผู้ไม่ทำความชั่วบ้าง หรือหมายถึงทรงมีพลธรรม
บ้าง (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๖๘/๒๓๗)
๓ ธรรมเครื่องพ้นจากบ่วงมัจจุราช ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ.๑/๑๖๘/๒๓๘)
๔ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ (ขุ.สุ.อ.๑/๑๖๙/๒๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
[๑๗๐] (เหมวตยักษ์ทูลถามดังนี้)
เมื่ออะไรเกิด สัตว์โลกจึงเกิด
สัตว์โลกยินดีในอะไร
สัตว์โลกยึดถืออะไร
เพราะอะไรสัตว์โลกจึงเดือดร้อน
[๑๗๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เมื่ออายตนะ ๖๑ เกิด สัตว์โลกจึงเกิด
สัตว์โลกย่อมยินดีในอายตนะ ๖
สัตว์โลกยึดถืออายตนะ ๖ นั่นแล
เพราะอายตนะ ๖ สัตว์โลกจึงเดือดร้อน
[๑๗๒] (เหมวตยักษ์ทูลถามดังนี้)
ความยึดถือที่ทำให้สัตว์โลกเดือดร้อนนั้นคืออะไร
ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องนำออกจากโลก
สัตว์โลกจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร
[๑๗๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
กามคุณ ๕ อันมีใจเป็นที่ ๖ ซึ่งมีอยู่ในโลก
เราประกาศไว้ชัดเจนแล้ว
สัตว์โลกคลายความพอใจในกามคุณ ๕ นี้ได้
ย่อมพ้นจากทุกข์ได้ ด้วยวิธีดังกล่าวนี้๒

เชิงอรรถ :
๑ อายตนะ ๖ หมายถึงอายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ (ขุ.สุ.อ.๑/๑๗๑/๒๔๐)
๒ ดูเทียบ อภิ.ก. ๓๗/๕๑๐/๓๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
[๑๗๔] นี้คือธรรมเครื่องนำออกจากโลก
เราบอกแก่พวกท่านตามความเป็นจริง
เราก็บอกพวกท่านเช่นนี้แล
เพราะว่าสัตว์โลกย่อมพ้นจากทุกข์ได้ก็ด้วยวิธีดังนี้
[๑๗๕] (เหมวตยักษ์ทูลถามดังนี้)
ในโลกนี้ใครเล่าข้ามโอฆะ๑ได้
ใครเล่าข้ามห้วงมหรรณพได้๒
ใครเล่าไม่จมลงในห้วงมหรรณพที่ลุ่มลึก
ปราศจากเกาะแก่ง และเครื่องยึดเหนี่ยว
[๑๗๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีปัญญา มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว
เพ่งพินิจธรรมภายใน มีสติทุกเมื่อ
ย่อมข้ามพ้นโอฆะที่ข้ามได้ยาก
[๑๗๗] ผู้นั้นเว้นขาดจากกามสัญญา๓ได้แล้ว
เป็นผู้ละสังโยชน์ได้ทุกอย่าง
หมดสิ้นความเพลิดเพลินและภพแล้ว
ย่อมไม่จมลงในห้วงมหรรณพที่ลุ่มลึก

เชิงอรรถ :
๑ โอฆะ หมายถึงกิเลส ๔ ประการ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๗๕/๒๔๓)
๒ ห้วงมหรรณพ ในที่นี้หมายถึงสังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิด (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๗๕/๒๔๓)
๓ กามสัญญา หมายถึงสัญญาที่เกิดขึ้นปรารภกาม หรือสัญญาที่สหรคตด้วยโลภจิต ๘ ดวง (องฺ.ติก.อ.
๒/๓๓/๑๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
[๑๗๘] (เหมวตยักษ์กล่าวดังนี้)
ท่านทั้งหลายโปรดมาดูพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
มีพระปัญญาลึกซึ้ง ทรงแสดงเนื้อความอย่างละเอียด
ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ทรงข้องในกามภพ
ทรงหลุดพ้นได้เด็ดขาดในอารมณ์ทั้งปวง
แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เสด็จดำเนินอยู่ในปฏิปทาอันเป็นทิพย์
[๑๗๙] ท่านทั้งหลายโปรดมาดูพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
มีพระนามเลื่องลือไกล ทรงแสดงเนื้อความอย่างละเอียด
ทรงประทานแสงสว่างคือปัญญา ไม่ทรงติดข้องอาลัย๑ในกาม
ทรงเป็นพระสัพพัญญูรู้ธรรมทั้งปวง
มีพระปัญญาบารมี แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เสด็จดำเนินอยู่ในปฏิปทาของพระอริยะ
[๑๘๐] วันนี้เราทั้งหลายเห็นดีแล้ว
สว่างไสวแล้ว ตั้งมั่นดีแล้ว
เพราะเราทั้งหลายได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ข้ามพ้นโอฆะ ผู้ปราศจากอาสวะ
[๑๘๑] ยักษ์ ๑,๐๐๐ ตนที่อยู่ ณ ที่นั้นทั้งหมด มีฤทธิ์ มียศ
ย่อมถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นสรณะ
โดยเปล่งวาจาว่าพระองค์ทรงเป็นพระศาสดาผู้ยอดเยี่ยม
ไม่มีใครยิ่งกว่าของข้าพระองค์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ อาลัย หมายถึงตัณหา และทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ.๑/๑๗๙/๒๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค] ๑๐. อาฬวกสูตร
[๑๘๒] ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
และพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้ว
เที่ยวประกาศธรรมไปทุกหนทุกแห่ง
ตามหมู่บ้านหรือตามขุนเขาลำเนาไพร
เหมวตสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. อาฬวกสูตร
ว่าด้วยอาฬวกยักษ์ทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ เขตเมืองอาฬวี
ครั้งนั้น อาฬวกยักษ์ได้เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับกล่าวดังนี้ว่า “จงออกไป
สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำว่า “ได้ท่าน” แล้วเสด็จออกไป อาฬวกยักษ์
กล่าวอีกว่า “จงเข้ามา สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำอีกว่า “ได้ท่าน”
แล้วเสด็จเข้าไป
แม้ครั้งที่ ๒ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “จงออกไป
สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำว่า “ได้ท่าน” แล้วเสด็จออกไป อาฬวกยักษ์
กล่าวอีกว่า “จงเข้ามา สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำอีกว่า “ได้ท่าน”
แล้วเสด็จเข้าไป
แม้ครั้งที่ ๓ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “จงออกไป
สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำว่า “ได้ท่าน” แล้วเสด็จออกไป อาฬวกยักษ์
กล่าวอีกว่า “จงเข้ามา สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำอีกว่า “ได้ท่าน”
แล้วเสด็จเข้าไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค] ๑๐. อาฬวกสูตร
แม้ครั้งที่ ๔ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “จงออกไป
สมณะ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เราจะไม่ออกไปอีกแล้ว ท่านจะทำอะไรก็เชิญเถิด”
อาฬวกยักษ์กล่าวว่า “สมณะ ข้าพเจ้าจะขอตั้งปัญหาถามท่าน ถ้าท่านตอบ
ข้าพเจ้าไม่ได้ ข้าพเจ้าจะควักดวงจิตของท่านออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจท่านให้แหลก
สลาย หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของท่านเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ยักษ์เอ๋ย เรายังไม่เห็นใครสักคนเลยในโลก พร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ
มนุษย์ ผู้จะสามารถควักดวงจิตของเราออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจเราให้แหลกสลาย
หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของเราเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้นได้ เอาเถอะ
เชิญท่านถามปัญหาตามที่ท่านสงสัยเถิด”
ลำดับนั้น อาฬวกยักษ์ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[๑๘๓] อะไรเล่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐสุดของคนในโลกนี้
อะไรเล่าที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
อะไรเล่าเป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย
บุคคลมีความเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ
[๑๘๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐสุดของคนในโลกนี้
ธรรม๑ที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
สัจจะเท่านั้น เป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย
บุคคลมีความเป็นอยู่ด้วยปัญญา๒
นักปราชญ์จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ๓

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (สํ.ส.อ. ๑/๗๓/๙๔, ขุ.สุ.อ. ๑/๑๘๔/๒๖๒)
๒ มีความเป็นอยู่ด้วยปัญญา หมายถึงที่เป็นคฤหัสถ์ ก็ยินดีข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์ คือ ขยันทำการงาน
นับถือพระรัตนตรัย ให้ทาน รักษาศีล ๕ และศีล ๘ และที่เป็นบรรพชิตก็ยินดีข้อปฏิบัติสำหรับบรรพชิต
คือ รักษาศีลไม่ให้ขาด และเจริญภาวนา (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๘๔/๒๖๔)
๓ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๗๓/๘๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค] ๑๐. อาฬวกสูตร
[๑๘๕] (อาฬวกยักษ์ถามดังนี้)
คนจะข้ามโอฆะได้อย่างไร
จะข้ามห้วงมหรรณพได้อย่างไร
จะล่วงพ้นทุกข์ได้อย่างไร
และจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร
[๑๘๖] (พระผู้พระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนจะข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา
จะข้ามห้วงมหรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท
จะล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร
และจะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา
[๑๘๗] (อาฬวกยักษ์ถามดังนี้)
คนทำอย่างไรจึงจะได้ปัญญา
ทำอย่างไรจึงจะได้ทรัพย์
ทำอย่างไรจึงจะได้เกียรติ
ทำอย่างไรจึงจะผูกใจหมู่มิตรไว้ได้
และทำอย่างไรเมื่อตายแล้วจะไม่เศร้าโศก
[๑๘๘] (พระผู้พระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนต้องการบรรลุนิพพาน
เชื่อฟังคำสั่งสอนของพระอรหันต์
ไม่ประมาท รู้จักพินิจพิจารณา
ตั้งใจฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา
[๑๘๙] คนปฏิบัติตนตรงต่อเวลา เอาธุระ
มีความขยันย่อมหาทรัพย์ได้
ย่อมได้เกียรติด้วยความสัตย์จริง
ผู้ให้ย่อมผูกใจหมู่มิตรไว้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค] ๑๐. อาฬวกสูตร
[๑๙๐] คนผู้อยู่ครองเรือน มีศรัทธา
ประพฤติธรรม ๔ ประการนี้คือ
สัจจะ ธรรมะ ธิติ และจาคะ
ตายแล้วย่อมไม่เศร้าโศก
[๑๙๑] เชิญท่านถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นดูเถิดว่า
ในโลกนี้ เหตุให้ได้เกียรติที่ยิ่งไปกว่าสัจจะก็ดี
เหตุให้มีปัญญาที่ยิ่งไปกว่าทมะ๑ก็ดี
เหตุให้ผูกมิตรสหายไว้ได้ที่ยิ่งไปกว่าจาคะก็ดี
เหตุให้หาทรัพย์ได้ที่ยิ่งไปกว่าขันติ๒ก็ดี มีอยู่หรือไม่
[๑๙๒] (อาฬวกยักษ์กราบทูลดังนี้)
วันนี้ ข้าพระองค์ได้ทราบชัดถึงประโยชน์ที่จะพึงได้ในโลกหน้าแล้ว
ยังต้องถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นอีกทำไม
[๑๙๓] พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับที่เมืองอาฬวี
เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระองค์โดยแท้
ในวันนี้ข้าพระองค์ได้ทราบชัดถึงบุคคล
ที่ใคร ๆ ถวายทานแล้วมีผลมาก
[๑๙๔] ข้าพระองค์นั้นขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
และพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้ว
เที่ยวประกาศธรรมไปทุกหนทุกแห่ง
ตามหมู่บ้านหรือตามหัวเมืองน้อยใหญ่
อาฬวกสูตรที่ ๑๐ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ธรรม” ในข้อ ๑๙๐ กับคำว่า “ทมะ” ในข้อ ๑๙๑ มีความหมายเดียวกัน คือ หมายถึงปัญญา
ที่ได้จากการฟัง และปัญญานี้เองเป็นเหตุให้ได้ปัญญาที่เป็นทั้งโลกิยะและโลกุตตระ (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๙๐-๑๙๑/
๒๖๗-๒๖๘)
๒ คำว่า “ธิติ” ในข้อ ๑๙๐ กับคำว่า “ขันติ” ในข้อ ๑๙๑ มีความหมายเดียวกัน คือ หมายถึงวิริยะ
(ความเพียร) (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๙๑/๒๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค] ๑๑. วิชยสูตร
๑๑. วิชยสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาเอาชนะความสวยงามของร่างกาย
(พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
[๑๙๕] การที่คนเรายืน เดิน นั่ง หรือนอน
คู้เข้าหรือเหยียดออก
นี้จัดเป็นความเคลื่อนไหวของร่างกาย
[๑๙๖] ร่างกายนี้ประกอบด้วยกระดูกและเส้นเอ็น๑
มีหนังและเนื้อฉาบทา ห่อหุ้มด้วยผิวหนัง
ปุถุชนย่อมไม่พิจารณาเห็นตามความเป็นจริง
[๑๙๗] ร่างกายนี้เต็มไปด้วยลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก
อาหารใหม่ อาหารเก่า
ตับ มูตร หัวใจ ปอด ไต ม้าม
[๑๙๘] น้ำมูก น้ำลาย เหงื่อ มันข้น เลือด ไขข้อ ดี เปลวมัน
[๑๙๙] อนึ่ง ร่างกายนี้มีของไม่สะอาด
ไหลออกทางทวารทั้ง ๙ เสมอ คือ
มีขี้ตาไหลออกทางเบ้าตา มีขี้หูไหลออกทางรูหู
[๒๐๐] มีน้ำมูกไหลออกจากทางช่องจมูก
บางคราวก็อาเจียน สำรอกน้ำดี ขากเสลดออกทางปาก
มีหยาดเหงื่อออกตามขุมขน มีหนองฝีไหลออกตรงที่เป็นแผล

เชิงอรรถ :
๑ ร่างกายนี้ประกอบด้วยกระดูก ๓๐๐ ท่อน และเอ็น ๙๐๐ เส้น (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๙๖/๒๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค] ๑๑. วิชยสูตร
[๒๐๑] อนึ่ง ร่างกายนี้มีศีรษะเป็นโพรง เต็มด้วยมันสมอง
ซึ่งคนพาลถูกอวิชชาครอบงำ หลงเข้าใจว่าเป็นของสวยงาม
[๒๐๒] และเมื่อร่างกายนั้นตาย ขึ้นอืด มีสีเขียวคล้ำ
ถูกทิ้งให้นอนอยู่ในป่าช้า หมู่ญาติต่างหมดความอาลัยไยดี
[๒๐๓] ร่างกายที่เปื่อยเน่านั้น สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่า
หมู่หนอน ฝูงกา ฝูงแร้งและสัตว์ที่กินซากศพอื่น ๆ
ย่อมรุมยื้อแย่งกันกิน
[๒๐๔] ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ฟังพุทธพจน์แล้วเกิดปัญญา
ย่อมกำหนดรู้และพิจารณาเห็นร่างกายนั้น
ตามความเป็นจริงทีเดียว
[๒๐๕] ร่างกายที่ตายแล้วนั้นได้เคยเป็นเหมือนร่างกายที่มีชีวิตนี้
และร่างกายที่มีชีวิตนี้ก็จะเป็นเหมือนร่างกายที่ตายแล้วนั้น
ภิกษุจึงควรคลายความยินดีพอใจในร่างกาย
ทั้งภายในและภายนอก
[๒๐๖] ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีปัญญา ไม่ยินดีด้วยฉันทราคะ
ได้บรรลุนิพพานที่เป็นอมตะอันสงบ ดับ และไม่จุติ
[๒๐๗] ร่างกายนี้ มี ๒ เท้า ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น
เต็มไปด้วยซากศพต่าง ๆ ขับถ่ายของไม่สะอาด
มีน้ำลายน้ำมูกเป็นต้นออกทางทวารทั้ง ๙
ขับเหงื่อไคลให้ไหลออกทางรูขุมขนนั้น ๆ
ต้องบำรุงรักษาอยู่เสมอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๑๒. มุนิสูตร
[๒๐๘] ด้วยร่างกายที่มีสภาพเช่นนี้
การที่บุคคลหลงเข้าใจผิดคิดเข้าข้างตนเอง
และดูหมิ่นผู้อื่นนั้น จะมีประโยชน์อะไร
นอกจากการไม่เห็นอริยสัจ
วิชยสูตรที่ ๑๑ จบ
๑๒. มุนิสูตร
ว่าด้วยลักษณะของมุนี
(พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
[๒๐๙] ภัยเกิดจากความเชยชิด๑
ธุลีคือราคะ โทสะ และโมหะ
เกิดจากอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส
ความไม่มีกิเลส ไม่มีความเชยชิด
นั้นแล เป็นลักษณะของมุนี
[๒๑๐] บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้ที่ตัดกิเลสที่เกิดขึ้นได้
ไม่ปลูกกิเลสให้เกิดขึ้นอีก
เมื่อกิเลสเกิดขึ้นก็ไม่พึงให้ไหลเข้าอีก
ว่า เป็นมุนีผู้เที่ยวไปอยู่
พระมุนีนั้นผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ได้ทรงเห็นสันติบทแจ้งชัดแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ความเชยชิด หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๐๙/๒๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๑๒. มุนิสูตร
[๒๑๑] ผู้กำหนดรู้ที่ตั้งแห่งกิเลส๑ กำจัดพืช๒ได้เด็ดขาด
ไม่ให้ยางพืชไหลเข้าไปได้อีก
ชื่อว่า เป็นมุนีผู้มีปกติเห็นภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
ละอกุศลวิตกได้ จึงไม่ถึงการนับอีกต่อไป
[๒๑๒] ผู้รู้แจ้งภพเป็นที่อาศัยอยู่ทั้งหมด
ไม่ปรารถนาภพเหล่านั้นแม้สักภพเดียว
ชื่อว่า เป็นมุนีผู้ปราศจากความยึดติด๓ ไม่มีความยึดมั่น
ย่อมไม่ก่อกรรมใด ๆ อีก เพราะเป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว
[๒๑๓] ผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้ธรรมทั้งปวง มีปัญญา
มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง ละธรรมทั้งปวงได้
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๑๔] ผู้มีกำลังคือปัญญา ถึงพร้อมด้วยศีลและวัตร๔
มีจิตตั้งมั่น ยินดีในฌาน มีสติ
หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องข้องแล้ว
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ ปราศจากอาสวะ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี

เชิงอรรถ :
๑ ที่ตั้งแห่งกิเลส ในที่นี้หมายถึงขันธ์ อายตนะ และธาตุ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑๑/๒๘๙)
๒ พืช ในที่นี้หมายถึงอภิสังขารวิญญาณ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑๑/๒๘๙)
๓ ความยึดติด หมายถึงตัณหา (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑๒/๒๙๐)
๔ ในที่นี้ ศีล หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ ประการ วัตร หมายถึงธุดงควัตร ๑๓ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑๔/๒๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๑๒. มุนิสูตร
[๒๑๕] ผู้เที่ยวไปผู้เดียว มีปัญญา ไม่ประมาท
ไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและสรรเสริญ
ไม่สะดุ้งเพราะเสียง เหมือนราชสีห์
ไม่ติดข่าย๑ เหมือนลม
ไม่เปียกน้ำ เหมือนบัว
เป็นผู้แนะนำผู้อื่น ไม่ใช่ผู้อื่นแนะนำ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๑๖] ผู้ไม่ยินดียินร้ายคำสรรเสริญหรือนินทาของคนอื่น
ดุจเสาที่เขาฝังปักไว้ที่ท่าน้ำ
ปราศจากราคะ มีอินทรีย์ตั้งมั่นดีแล้ว
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๑๗] ผู้ตั้งตนไว้ชอบ ซื่อตรงดุจกระสวย๒
รังเกียจบาปกรรมทั้งหลาย
พิจารณาเห็นกรรมที่เสมอและไม่เสมอ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๑๘] ผู้ยังอยู่ในวัยหนุ่ม วัยสาว หรือวัยกลางคน
สำรวมตนแล้ว ไม่ทำบาป
เป็นมุนี มีจิตห่างจากบาป
ไม่โกรธง่าย ไม่ว่าร้ายใคร ๆ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี

เชิงอรรถ :
๑ ข่าย ในที่นี้หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑๕/๒๙๕)
๒ กระสวย หมายถึงเครื่องบรรจุด้ายสำหรับทอผ้าหรือเย็บผ้า (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๑๒. มุนิสูตร
[๒๑๙] ผู้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ผู้อื่นให้
ได้อาหารดีเลิศ ก็ไม่กล่าวประจบยกย่องผู้ให้
ได้อาหารปานกลางหรือเลวก็ไม่ติเตียนเขาให้เสียน้ำใจ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๒๐] ผู้มีปัญญา เที่ยวไปอยู่ผู้เดียว
มีจิตเว้นขาดจากเมถุนธรรมคือ
ไม่ผูกจิตรักใคร่ในหญิงสาวเลยแม้สักคนเดียว
เว้นขาดจากความมัวเมา ประมาท เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๒๑] ผู้รู้แจ้งโลก๑ เห็นปรมัตถธรรม๒
ข้ามโอฆะ และสมุทร๓ได้
เป็นผู้คงที่ ตัดกิเลสเครื่องร้อยรัดได้เด็ดขาด
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย ปราศจากอาสวะ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๒๒] คฤหัสถ์และบรรพชิต ๒ จำพวกนี้
มีที่อยู่และการดำรงชีวิตห่างไกลกัน คือ
คฤหัสถ์ทำงานเลี้ยงบุตรภรรยา
ส่วนบรรพชิตไม่ยึดถือสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นของตน มีวัตรงาม
คฤหัสถ์ไม่สำรวม เพราะเบียดเบียนสัตว์อื่น

เชิงอรรถ :
๑ โลก ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๒๑/๓๐๗)
๒ เห็นปรมัตถธรรม หมายถึงทำให้แจ้งนิโรธสัจ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๒๑/๓๐๗)
๓ สมุทร ในที่นี้หมายถึงอายตนะ ๑๒ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๒๑/๓๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ส่วนบรรพชิตที่ชื่อว่าเป็นมุนี สำรวมเป็นนิตย์
รักษาสัตว์มีชีวิตไว้
[๒๒๓] ภิกษุเป็นมุนี เป็นผู้สงบ เพ่งพินิจอยู่ในป่า
คฤหัสถ์จะทำตามอย่างท่านไม่ได้
เหมือนนกยูงมีสร้อยคอสีเขียว ถึงจะบินไปในอากาศได้
ก็ยังสู้ความเร็วของหงส์ไม่ได้ตลอดกาล ฉะนั้น
มุนิสูตรที่ ๑๒ จบ
อุรควรรคที่ ๑ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อุรคสูตร ๒. ธนิยสูตร
๓. ขัคควิสาณสูตร ๔. กสิภารทวาชสูตร
๕. จุนทสูตร ๖. ปราภวสูตร
๗. วสลสูตร ๘. เมตตสูตร
๙. เหมวตสูตร ๑๐. อาฬวกสูตร
๑๑. วิชยสูตร ๑๒. มุนิสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑. รตนสูตร
๒. จูฬวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องเล็กน้อย
๑. รตนสูตร๑
ว่าด้วยรัตนะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสรตนสูตรดังนี้)
[๒๒๔] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ขอให้ภูตทั้งปวงจงเป็นผู้มีใจดี และจงฟังภาษิตโดยเคารพเถิด
[๒๒๕] เพราะฉะนั้นแล ภูตทั้งปวง ท่านจงใคร่ครวญ
จงแผ่เมตตาต่อหมู่มนุษย์ด้วยเถิด
มนุษย์เหล่าใดนำเครื่องเซ่นสรวงมาให้
ทั้งกลางวันและกลางคืน
เพราะเหตุนั้น ขอท่านทั้งหลายอย่าประมาท
จงรักษามนุษย์เหล่านั้น
[๒๒๖] ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ หรือรัตนชาติที่ประณีตใด ๆ
ที่มีในโลกนี้ ในโลกอื่น หรือในสวรรค์
ทรัพย์หรือรัตนชาตินั้น ๆ ที่เสมอด้วยตถาคต ไม่มี
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี

เชิงอรรถ :
๑ ดู ขุททกปาฐะ (รตนสูตร ข้อ ๑-๑๘ หน้า ๙-๑๔ ในเล่มนี้)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑. รตนสูตร
[๒๒๗] พระศากยมุนีผู้มีพระทัยตั้งมั่น
ทรงบรรลุธรรมใดอันเป็นที่สิ้นกิเลส
ปราศจากราคะ เป็นอมตธรรมอันประณีต
ไม่มีธรรมใด ๆ ที่เสมอด้วยธรรมนั้น
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๒๘] พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
ตรัสสรรเสริญสมาธิใดว่าเป็นธรรมสะอาด
ตรัสถึงสมาธิใดว่าให้ผลโดยลำดับ
สมาธิอื่นที่เสมอด้วยสมาธินั้น ไม่มี
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๒๙] บุคคล ๑๐๘ จำพวกที่สัตบุรุษสรรเสริญ
ซึ่งจัดเป็นบุคคล ๔ คู่ เป็นสาวกของพระสุคต
เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา
ทานที่เขาถวายในบุคคลเหล่านั้น มีผลมาก
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๐] บุคคลเหล่าใดในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า
เป็นผู้ประกอบตนไว้ดี มีใจมั่นคง หมดความห่วงใย
บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าบรรลุอรหัตตผล
หยั่งถึงอมตนิพพาน รับรสความดับสนิทแบบได้เปล่า
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑. รตนสูตร
[๒๓๑] สัตบุรุษใดพิจารณาเห็นแจ้งอริยสัจ
เราเรียกสัตบุรุษนั้นว่ามีอุปมาเหมือนเสาเขื่อนที่ฝังลงดิน
อันไม่หวั่นไหวเพราะลมที่พัดมาจากทิศทั้งสี่
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๒] พระโสดาบันเหล่าใดรู้แจ้งอริยสัจ
ที่พระศาสดาผู้มีปัญญาลึกซึ้งแสดงแล้ว
ถึงแม้ว่าพระโสดาบันเหล่านั้นจะประมาทไปบ้าง
ท่านเหล่านั้นก็จะไม่ถือกำเนิดในภพที่ ๘
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๓] พระโสดาบันนั้นละธรรม ๓ ประการ คือ
สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสได้อย่างสิ้นเชิง
พร้อมกับการบรรลุโสดาปัตติมรรค
[๒๓๔] พระโสดาบันนั้นพ้นจากอบายทั้งสี่
และจะไม่ทำอภิฐาน ๖๑
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๕] ถึงแม้ว่า พระโสดาบันนั้นจะทำบาปกรรม
ทางกาย ทางวาจา หรือทางใจไปบ้าง
ท่านก็ไม่ปกปิดบาปกรรมนั้นไว้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๔ ขุททกปาฐะ (รตนสูตร ข้อ ๑๑ หน้า ๑๒ ในเล่มนี้)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑. รตนสูตร
เรากล่าวว่าผู้เห็นบทแล้ว ไม่อาจทำอย่างนั้นได้
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๖] พุ่มไม้งามในป่าซึ่งมียอดออกดอกบานสะพรั่ง
ในต้นเดือนห้าแห่งคิมหันตฤดู งามอย่างยิ่ง ฉันใด
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ
ที่ให้ถึงนิพพาน เพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง ฉันนั้น
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๗] พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ทรงรู้ธรรมอันประเสริฐ
ทรงประทานธรรมอันประเสริฐ ทรงนำทางอันประเสริฐมาให้
ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าใคร ๆ ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐไว้
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๘] พระขีณาสพเหล่าใดสิ้นภพเก่าแล้ว ไม่มีการเกิดใหม่
ทั้งมีจิตเบื่อหน่ายในภพที่จะเกิดต่อไป
ท่านเหล่านั้นชื่อว่า มีพืชสิ้นแล้ว ไม่มีฉันทะงอกขึ้น เป็นนักปราชญ์
ย่อมดับสนิทเหมือนประทีปดวงนี้ดับไป
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
(ท้าวสักกะจอมเทพกราบทูลดังนี้)
[๒๓๙] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระตถาคตพุทธเจ้า
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๒. อามคันธสูตร
[๒๔๐] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระธรรมของพระตถาคต
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
[๒๔๑] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระสงฆ์ของพระตถาคต
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
รตนสูตรที่ ๑ จบ
๒. อามคันธสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีกลิ่นดิบ
[๒๔๒] (ติสสดาบสทูลถามพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าดังนี้)
สัตบุรุษทั้งหลายบริโภคข้าวฟ่าง ลูกเดือย ถั่วเขียว
ใบไม้ เผือกมัน และผลไม้ที่ได้มาโดยชอบธรรม
ถึงใคร่ในกาม ก็ไม่กล่าวคำเหลาะแหละ
[๒๔๓] ข้าแต่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์เมื่อเสวยเนื้อชนิดใด
ที่ผู้อื่นปรุงเป็นพิเศษเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ตบแต่งอย่างประณีตถวาย
เมื่อเสวยข้าวสาลีที่เขาหุงสุกแล้วก็ชื่อว่า เสวยกลิ่นดิบ๑
[๒๔๔] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระพรหม
พระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า ‘กลิ่นดิบไม่สมควรแก่เรา’
แต่ยังเสวยข้าวสาลีที่เขาหุงสุกแล้วกับเนื้อนกที่เขาปรุงเป็นพิเศษ

เชิงอรรถ :
๑ กลิ่นดิบ ในที่นี้หมายถึงอาหารจำพวกปลาและเนื้อสัตว์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๔๓/๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๒. อามคันธสูตร
ข้าแต่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
ข้าพระองค์ขอทูลถามความข้อนี้กับพระองค์
กลิ่นดิบของพระองค์ มีความหมายอย่างไร
[๒๔๕] (พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบดังนี้)
การฆ่าสัตว์ การทุบตี การตัด การจองจำ
การลักขโมย การพูดเท็จ การเห็นแก่ได้ การหลอกลวง
การศึกษาตำราที่ไร้ประโยชน์ และการเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[๒๔๖] ในโลกนี้ คนผู้ไม่ควบคุมตนในกามทั้งหลาย
ติดอยู่ในรสต่าง ๆ เจือปนด้วยของไม่สะอาด
มีความเห็นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล
มีการงานไม่เสมอ ว่ายากสอนยาก
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[๒๔๗] พวกคนผู้เศร้าหมอง มีใจหยาบช้า หน้าไหว้หลังหลอก
ประทุษร้ายมิตร ไร้ความกรุณาผู้อื่น ถือตัวจัด
ไม่ชอบให้ทาน และไม่เคยให้อะไรแก่ใคร ๆ
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[๒๔๘] ความโกรธ ความมัวเมา ความดื้อรั้น การตั้งตนไว้ผิด
ความมีมายา ความริษยา การยกตนข่มผู้อื่น
การถือตัวเหยียดหยามผู้อื่น และการสมาคมกับอสัตบุรุษ
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[๒๔๙] ในโลกนี้ คนผู้ประพฤติชั่วเป็นปกติ
กู้หนี้แล้วไม่ชดใช้ ชอบพูดเสียดสี
เป็นพยานให้การเท็จ ปลอมเป็นนักบวชในศาสนานี้
เป็นคนต่ำทราม ทำความชั่วร้ายแรงไว้
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๒. อามคันธสูตร
[๒๕๐] ในโลกนี้ คนผู้ฆ่าสัตว์ทั้งหลาย
ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่น เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น
ประพฤติชั่ว ร้ายกาจ พูดคำหยาบ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[๒๕๑] คนผู้รักใคร่ เกลียดชัง ลุ่มหลง
ประกอบอกุศลกรรมอยู่เสมอ
ตายแล้วต้องตกไปสู่ที่มืด หรือไม่ก็ดิ่งหัวจมลงไปสู่นรก
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[๒๕๒] มิใช่การบริโภคปลาและเนื้อ มิใช่การเป็นคนเปลือย
มิใช่ความเป็นคนโล้น มิใช่การเกล้าชฎา
และการเป็นคนหมักหมมด้วยธุลี
มิใช่การครองหนังเสือที่ยังมีเล็บ มิใช่การบำเรอไฟ
หรือความเศร้าหมองในกาย
ที่เป็นไปด้วยความปรารถนาความเป็นเทพ
ความเป็นผู้ไม่ตาย การทำตนให้ลำบากหลากหลายวิธี
เวทมนตร์ทั้งหลาย การบูชาไฟ การบูชายัญ
และการทรมานตนตามฤดูกาล
ที่ทำคนผู้ยังไม่ล่วงพ้นความสงสัยให้หมดจดได้
[๒๕๓] ผู้ใดคุ้มครองอินทรีย์ทั้ง ๖ นั้นได้
เข้าใจชัดอินทรีย์ ๖ อยู่เสมอ ดำรงตนอยู่ในธรรม
ยินดีในความซื่อตรงและความอ่อนโยน
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้องได้ ละทุกข์ทั้งหมดได้เด็ดขาด
ผู้นั้นชื่อว่า เป็นปราชญ์ ไม่ยึดติดในอารมณ์ที่ได้เห็น ได้ฟัง และได้รับรู้
[๒๕๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกความที่กล่าวมานี้เนือง ๆ
จนติสสดาบสผู้เรียนจบมนตร์เข้าใจข้อความนั้นได้แล้ว
พระผู้มีพระภาคผู้เป็นมุนี ได้ทรงประกาศด้วยพระคาถาอันไพเราะว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๓. หิริสูตร
บุคคลผู้ไม่มีกิเลสคือกลิ่นดิบ
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย
ใคร ๆ ก็แนะนำได้ยาก
[๒๕๕] ติสสดาบสฟังบทสุภาษิตว่าด้วยเรื่องสิ่งที่ไม่มีกลิ่นดิบ
ที่เป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวง
ของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
มีใจอ่อนน้อม ถวายอภิวาทพระตถาคต
และกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท ณ ที่นั้นนั่นเอง
อามคันธสูตรที่ ๒ จบ
๓. หิริสูตร
ว่าด้วยความละอาย
[๒๕๖] (พระผู้มีพระภาคทรงตอบปัญหาของดาบสดังนี้)
คนผู้ไม่มีหิริ รังเกียจคนมีหิริ
ชอบพูดว่า ‘เราเป็นเพื่อนท่าน’
แต่ไม่เคยช่วยเหลือการงานของเพื่อนเลย
พึงรู้เถิดว่า ‘คนนั้นไม่ใช่เพื่อนเรา’
[๒๕๗] คนพูดวาจาไพเราะอ่อนหวาน
แต่ไม่ทำประโยชน์แก่มิตร
บัณฑิตเรียกว่า ผู้ดีแต่พูด
[๒๕๘] มิตรใดไม่พลั้งเผลอ มุ่งหวังความแตกแยกกัน
คอยหาแต่ความผิดเท่านั้นทุกเวลา
มิตรนั้นไม่ควรคบ
ส่วนมิตรที่วางใจได้ เหมือนบุตรในไส้
ถึงผู้อื่นกล่าวเหตุตั้งร้อยอย่างพันอย่าง
ก็ไม่แตกแยกจากกัน
มิตรเช่นนั้นควรคบอย่างยิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๔. มงคลสูตร
[๒๕๙] ความเพียรที่เป็นเหตุให้เกิดปราโมทย์
ย่อมนำทั้งความสรรเสริญและความสุขมาให้
ผู้หวังผล นำธุระอันสมควรแก่บุรุษ
ย่อมทำความเพียรนั้นให้เจริญได้
[๒๖๐] บุคคลดื่มปวิเวกรส
ลิ้มรสแห่งความสงบ
และได้ลิ้มรสแห่งปีติในธรรมแล้ว
เป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีบาป๑
หิริสูตรที่ ๓ จบ
๔. มงคลสูตร
ว่าด้วยมงคล๒
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป๓ เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะ
งดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วย
คาถาว่า
[๒๖๑] เทวดาและมนุษย์จำนวนมาก
ต่างมุ่งหวังความสวัสดี ร่วมกันคิดถึงเรื่องมงคล
ขอพระองค์ตรัสบอกมงคลอันสูงสุดด้วยเถิด

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๒๐๕ หน้า ๙๖ ในเล่มนี้
๒ ดูขุททกปาฐะ (มงคลสูตร ข้อ ๑-๑๓ หน้า ๖-๘ ในเล่มนี้)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๔. มงคลสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๒๖๒] (๑) การไม่คบคนพาล (๒) การคบแต่บัณฑิต
(๓) การบูชาคนที่ควรบูชา
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๓] (๔) การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
(๕) การได้สร้างบุญไว้ในปางก่อน (๖) การตั้งตนไว้ชอบ
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๔] (๗) ความเป็นพหูสูต (๘) ความเป็นผู้มีศิลปะ
(๙) วินัยที่ศึกษามาดี (๑๐) วาจาสุภาษิต
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๕] (๑๑) การบำรุงมารดาบิดา (๑๒) การสงเคราะห์บุตร
(๑๓) การสงเคราะห์ภรรยา (๑๔) การทำงานไม่อากูล
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๖] (๑๕) การให้ทาน (๑๖) การประพฤติธรรม
(๑๗) การสงเคราะห์ญาติ (๑๘) การงานที่ไม่มีโทษ
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๗] (๑๙) การงดเว้นจากบาป (๒๐) การงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา
(๒๑) ความไม่ประมาทในธรรม
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๘] (๒๒) ความเคารพ (๒๓) ความถ่อมตน (๒๔) ความสันโดษ
(๒๕) ความกตัญญู (๒๖) การฟังธรรมตามกาล
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๙] (๒๗) ความอดทน (๒๘) ความเป็นคนว่าง่าย
(๒๙) การพบเห็นสมณะ (๓๐) การสนทนาธรรมตามกาล
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๕. สูจิโลมสูตร
[๒๗๐] (๓๑) การเผาผลาญบาป (๓๒) การประพฤติพรหมจรรย์
(๓๓) การเห็นอริยสัจ (๓๔) การทำนิพพานให้แจ้ง
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๗๑] (๓๕) จิตของผู้ที่ถูกโลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว
(๓๖) จิตไม่เศร้าโศก (๓๗) จิตปราศจากธุลี (๓๘) จิตเกษม
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๗๒] เทวดาและมนุษย์ทำมงคลดังกล่าวมานี้แล้ว
ไม่พ่ายแพ้ในข้าศึกทั้งปวง ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน
ทั้ง ๓๘ ประการนั้น เป็นมงคลอันสูงสุด
ของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น
มงคลสูตรที่ ๔ จบ
๕. สูจิโลมสูตร๑
ว่าด้วยสูจิโลมยักษ์ทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่บนแท่นหิน ในที่อาศัยของสูจิโลมยักษ์
ใกล้หมู่บ้านคยา สมัยนั้น ขรยักษ์และสูจิโลมยักษ์เดินผ่านเข้ามาใกล้ ๆ พระผู้มี
พระภาค ทันใดนั้น ขรยักษ์ได้กล่าวกับสูจิโลมยักษ์ว่า “นั่น สมณะ” สูจิโลมยักษ์
กลับกล่าวว่า “นั่น ไม่ใช่สมณะจริง แต่เป็นสมณะปลอม เดี๋ยวก็รู้ว่าสมณะจริงหรือ
สมณะปลอมกันแน่”
ต่อจากนั้น สูจิโลมยักษ์เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ น้อมกายเข้าไป
จนชิดพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงขยับพระวรกายออกไป สูจิโลมยักษ์
จึงกล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “สมณะ ท่านกลัวข้าพเจ้าหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ยักษ์เอ๋ย เราไม่เคยกลัวท่านเลย แต่สัมผัสของท่าน
หยาบกร้านเหลือเกิน”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๒๓๗/๓๓๙, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕/๑๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๕. สูจิโลมสูตร
สูจิโลมยักษ์กล่าวว่า “สมณะ ข้าพเจ้าจะขอตั้งปัญหาถามท่าน ถ้าท่านตอบ
ข้าพเจ้าไม่ได้ ข้าพเจ้าจะควักดวงจิตของท่านออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจท่านให้
แหลกสลาย หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของท่านเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ยักษ์เอ๋ย เรายังไม่เห็นใครสักคนเลยในโลก พร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ
มนุษย์ ผู้จะสามารถควักดวงจิตของเราออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจเราให้แหลกสลาย
หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของเราเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้นได้ เอาเถอะ
เชิญท่านถามปัญหาตามที่ท่านสงสัยเถิด”
ลำดับนั้น สูจิโลมยักษ์ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[๒๗๓] ราคะและโทสะ มีอะไรเป็นเหตุ
ความไม่ยินดี ความยินดี
และความขนพองสยองเกล้าเกิดจากอะไร
ความตรึกในใจเกิดจากอะไร ย่อมผูกจิตไว้ได้
เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น
[๒๗๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาดังนี้)
ราคะและโทสะมีอัตภาพนี้เป็นเหตุ
ความไม่ยินดี ความยินดี
และความขนพองสยองเกล้าเกิดจากอัตภาพนี้
ความตรึกในใจเกิดจากอัตภาพนี้ ย่อมผูกจิตไว้ได้
เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น
[๒๗๕] อกุศลวิตกเป็นอันมากเกิดจากความเยื่อใย๑
เกิดขึ้นในตนแล้วแผ่ซ่านไปในวัตถุกามทั้งหลาย
เหมือนย่านไทรเกิดจากลำต้นไทรแล้วแผ่ขยายไปในป่า ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ความเยื่อใย ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๗๕/๑๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๖. ธัมมจริยสูตร
[๒๗๖] สัตว์เหล่าใดรู้ชัดหมู่กิเลสนั้นว่า มีกิเลสใดเป็นเหตุ
สัตว์เหล่านั้นย่อมบรรเทาหมู่กิเลสนั้นเสียได้
ท่านจงฟังเถิดยักษ์ สัตว์เหล่าใดบรรเทาหมู่กิเลสได้
สัตว์เหล่านั้นย่อมข้ามพ้นโอฆะที่ข้ามได้ยาก
อันตนไม่เคยข้าม เพื่อความไม่มีภพใหม่ต่อไป
สูจิโลมสูตรที่ ๕ จบ
๖. ธัมมจริยสูตร
ว่าด้วยการประพฤติธรรม
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายดังนี้)
[๒๗๗] พระอริยะทั้งหลายกล่าวการประพฤติธรรม๑
และการประพฤติพรหมจรรย์๒ทั้ง ๒ นี้ว่า เป็นรัตนะอันสูงสุด
ถ้าบุคคลออกจากเรือนมาบวชเป็นบรรพชิต
[๒๗๘] หากผู้ที่บวชแล้วนั้นเป็นคนปากร้าย
ชอบเบียดเบียนผู้อื่นดุจสัตว์ป่า
ชีวิตของเขาชื่อว่าต่ำทรามที่สุด
เพราะมีแต่จะทำให้ธุลีคือกิเลสพอกพูนในใจของตน
[๒๗๙] ภิกษุผู้ชอบทะเลาะ ถูกโมหะปิดบัง
แม้เพื่อนพรหมจารีผู้มีศีลตักเตือนแล้ว
ก็ไม่ยอมรับรู้ธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
[๒๘๐] ภิกษุผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้ว
ชอบเบียดเบียนพระอริยะผู้อบรมตนแล้ว
ไม่รู้ว่าเป็นความเศร้าหมองและเป็นหนทางให้ตกนรก

เชิงอรรถ :
๑ การประพฤติธรรม หมายถึงการประพฤติสุจริต มีกายสุจริต เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๗๗/๑๒๑)
๒ พรหมจรรย์ หมายถึงมัคคพรหมจรรย์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๗๗/๑๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๖. ธัมมจริยสูตร
[๒๘๑] ภิกษุเมื่อไม่รู้เช่นนั้น ก็ต้องเกิดในอบาย
ออกจากครรภ์สู่ครรภ์ ออกจากที่มืดสู่ที่มืด
ภิกษุผู้เช่นนั้นเมื่อตายไปย่อมได้รับทุกข์
[๒๘๒] บุคคลใดมีความประพฤติเสียหายเช่นนี้ตลอดกาลนาน
พึงเป็นผู้เต็มด้วยบาป เหมือนหลุมคูถที่เต็มอยู่นานปี
บุคคลนั้นเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนิน ชำระให้หมดจดได้ยาก
[๒๘๓] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงรู้จักบุคคลผู้อาศัยเรือน๑
มีความปรารถนาชั่ว มีความดำริชั่ว
มีอาจาระและโคจรชั่ว เช่นนี้
[๒๘๔] เธอทั้งหลายพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน เลิกคบบุคคลนั้น
จงกำจัดผู้ที่ไม่มีคุณธรรมในใจเหมือนแกลบออกเสีย
จงคร่าผู้ทุศีลออกจากหมู่
เหมือนคนกำจัดหยากเยื่อออกจากบ้าน ฉะนั้น
[๒๘๕] ต่อจากนั้น เธอทั้งหลายจงขับไล่ผู้ที่มิใช่สมณะ
แต่แต่งกายเลียนแบบสมณะออกไปจากสงฆ์
เหมือนคนคัดข้าวลีบทิ้ง ฉะนั้น
ครั้นกำจัดพวกปรารถนาชั่ว
มีอาจาระและโคจรชั่วออกได้แล้ว
[๒๘๖] เธอทั้งหลายผู้มีศีลบริสุทธิ์
จงเคารพยำเกรงกันอยู่ร่วมกับท่านผู้บริสุทธิ์
หลังจากนั้น เธอทั้งหลายจงเป็นผู้สามัคคีกัน
มีปัญญารักษาตน จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ธัมมจริยสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อาศัยเรือน ในที่นี้หมายถึงอาศัยกามคุณ ๕ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๘๓/๑๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๗. พราหมณธัมมิกสูตร
๗. พราหมณธัมมิกสูตร
ว่าด้วยธรรมของพราหมณ์ที่แท้จริง
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พรามหณ์มหาศาลชาวโกศลจำนวนมาก ซึ่งล้วนแต่
เป็นผู้แก่เฒ่า สูงอายุ เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับแล้วทั้งนั้น พากัน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค
พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ปัจจุบันนี้ พราหมณ์๑ทั้งหลายยังนิยมปฏิบัติ
ธรรมเนียมของพราหมณ์สมัยโบราณอยู่หรือไม่”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ท่านพราหมณ์ทั้งหลาย ปัจจุบันนี้ พราหมณ์
ทั้งหลายไม่นิยมปฏิบัติธรรมเนียมของพราหมณ์สมัยโบราณเลย”
พราหมณ์ทั้งหลายทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ขอประทานวโรกาส หากไม่
ทรงหนักพระทัย ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเนียมของพราหมณ์สมัยโบราณแก่
ข้าพระองค์ทั้งหลายด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ท่านพราหมณ์ทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี เราจะกล่าว”
พราหมณมหาศาลเหล่านั้นทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
จึงได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[๒๘๗] ฤๅษีทั้งหลายสมัยก่อน มีความสำรวมตน
มีตบะ๒ ละกามคุณ ๕ ได้แล้ว
บำเพ็ญประโยชน์ตนให้สำเร็จ

เชิงอรรถ :
๑ พราหมณ์ มี ๕ จำพวก คือ (๑) พรหมสมพราหมณ์ (พราหมณ์ที่มีความประพฤติเสมอพรหม)
(๒) เทวสมพราหมณ์ (พราหมณ์ที่มีความประพฤติเสมอเทวดา) (๓) มริยาทพราหมณ์ (พราหมณ์ที่มีความ
ประพฤติดี) (๔) สัมภินนมริยาทพราหมณ์ (พราหมณ์ที่มีความประพฤติทั้งดีและชั่วปนกัน) (๕) พราหมณ-
จัณฑาลพราหมณ์ (พราหมณ์ที่เป็นพราหมณ์จันฑาล) (องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๑๙๒/๓๒๓)
๒ มีตบะ ในที่นี้หมายถึงสำรวมอินทรีย์ ๖ ประการ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๘๗/๑๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๗. พราหมณธัมมิกสูตร
[๒๘๘] พราหมณ์สมัยก่อน ไม่มีสัตว์เลี้ยง
ไม่สะสมเงินทอง ไม่มีสิ่งของต่าง ๆ
พวกเขามีทรัพย์และธัญชาติคือการสาธยายมนตร์
รักษาขุมทรัพย์ที่ประเสริฐ๑ไว้
[๒๘๙] ทายกต่างเต็มใจถวายภัตตาหาร
ที่ตนจัดเตรียมไว้ที่ประตูเรือน
แก่พราหมณ์ที่แสวงหาภัตตาหาร
ที่บุคคลให้ด้วยศรัทธาเป็นนิตย์
[๒๙๐] ทั้งชาวชนบทและชาวเมืองต่างแต่งกาย
ด้วยเสื้อผ้าแพรพรรณหลากสี
มีที่อยู่หลับนอนอาศัยเป็นหลักแหล่งมั่นคง
ได้พากันเคารพนับถือพราหมณ์เหล่านั้น
[๒๙๑] พราหมณ์ทั้งหลาย ชื่อว่ามีธรรมรักษา
จึงไม่มีใคร ๆ คิดฆ่า คิดเอาชนะ
และทุกครัวเรือนไม่มีใคร ๆ ปฏิเสธพราหมณ์เหล่านั้นเลย
[๒๙๒] สมัยก่อน พราหมณ์ได้ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่เด็ก
เที่ยวเสาะแสวงหาวิชชาและจรณะ นับเป็นเวลานานถึง ๔๘ ปี
[๒๙๓] พราหมณ์เหล่านั้นไม่สมสู่กับหญิงวรรณะอื่น
ทั้งไม่ยอมใช้เงินซื้อหญิงมาเป็นภรรยา
แต่จะอภิรมย์อยู่กินกับหญิงที่ผู้ปกครองยกให้
ด้วยความสมัครใจเท่านั้น
[๒๙๔] พราหมณ์ผู้เป็นสามีย่อมไม่ร่วมกับภรรยาผู้เว้นจากระดู๒
นอกจากสมัยที่ควรจะร่วม
พราหมณ์ย่อมไม่ร่วมเมถุนธรรมในระหว่างโดยแท้

เชิงอรรถ :
๑ ขุมทรัพย์ที่ประเสริฐ ในที่นี้หมายถึงวิหารธรรม มีเมตตา เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๘๘/๑๒๖-๑๒๗)
๒ ภรรยาผู้เว้นจากระดู หมายถึงภรรยาที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๙๔/๑๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๗. พราหมณธัมมิกสูตร
[๒๙๕] พราหมณ์สมัยนั้นพากันสรรเสริญการประพฤติพรหมจรรย์๑
ศีล ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ตบะ
ความสงบเสงี่ยม การไม่เบียดเบียนกัน และขันติ
[๒๙๖] พราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหม ผู้มีความบากบั่นมั่นคง
เป็นผู้สูงสุดกว่าพราหมณ์เหล่านั้น
และพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่เสพเมถุนธรรม
แม้แต่จะฝันถึงก็ไม่มี
[๒๙๗] พราหมณ์บางพวกผู้เป็นบัณฑิตในโลกนี้
ศึกษาตามวัตรปฏิบัติของพราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหมนั้นอยู่
จึงสรรเสริญการประพฤติพรหมจรรย์ ศีล และขันติ
[๒๙๘] พราหมณ์ทั้งหลายผู้ขอข้าวสาร ที่นอน ผ้า เนยใส และน้ำมัน
มาเก็บรวบรวมไว้โดยธรรมแล้วบูชายัญด้วยของเหล่านั้น
[๒๙๙] ในยัญที่บูชานั้น พราหมณ์จะไม่ยอมฆ่าแม่โคเลย
เหมือนมารดาบิดา พี่น้อง หรือแม้ญาติอื่น ๆ
ไม่ยอมฆ่าแม่โค เพราะคิดว่าแม่โคเป็นสัตว์มีอุปการะยิ่งใหญ่
ซึ่งผลิตปัญจโครส๒อันเป็นยา
[๓๐๐] อนึ่ง แม่โคนั้นให้ข้าว ให้กำลัง ให้ผิวพรรณ และความสุข
พราหมณ์ทราบถึงประโยชน์ยิ่งใหญ่เช่นนี้จึงไม่ยอมฆ่าแม่โค
[๓๐๑] พราหมณ์เหล่านั้นมีผิวเนื้อละเอียดอ่อน
มีรูปร่างใหญ่ มีผิวพรรณผุดผ่อง มีเกียรติยศ
ปฏิบัติหน้าที่ใหญ่น้อยตามธรรมเนียมของตนอย่างเคร่งครัด

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงเมถุนวิรัติ (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๙๔/๑๓๐)
๒ ปัญจโครส หมายถึงผลผลิตเกิดจากโค มี ๕ อย่าง คือ นมสด นมเปรี้ยว เปรียง เนยใส และเนยข้น (วิ.ม.
(แปล) ๕/๒๙๙/๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๗. พราหมณธัมมิกสูตร
ได้บำเพ็ญจริยาวัตรต่าง ๆ ในโลก
มุ่งให้ประชาชนประสพสุขสวัสดี
[๓๐๒] ต่อมา พราหมณ์เหล่านั้นเกิดความสำคัญผิด
เพราะเห็นความสุขเพียงเล็กน้อยที่เกิดจากกามคุณที่ต่ำทราม
สมบัติอันวิเศษของพระเจ้าแผ่นดิน และสตรีที่แต่งกายงดงาม
[๓๐๓] รถเทียมม้าอาชาไนยที่ตกแต่งไว้ดี
สลักลวดลายอย่างวิจิตร
เรือนใหญ่เรือนน้อยที่แบ่งสัดส่วนไว้เป็นอย่างดี
[๓๐๔] พราหมณ์ผู้สำคัญผิดนั้น
ปรารถนาอยากเป็นเจ้าของโภคทรัพย์
ซึ่งเป็นของมนุษย์อันโอฬาร เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงโค
ประกอบไปด้วยหมู่นารีผู้ประเสริฐ
[๓๐๕] พราหมณ์เหล่านั้นจึงผูกมนตร์มุ่งหวังโภคสมบัตินั้น ๆ
แล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระเจ้าโอกกากะ กราบทูลว่า
‘พระองค์ทรงมีทรัพย์และธัญชาติเป็นจำนวนมาก
ขอพระองค์ทรงบูชายัญเถิด
พระองค์จะทรงมีแก้ว แหวน เงิน ทอง
พืชพันธุ์ธัญญาหารเพิ่มมากขึ้น’
[๓๐๖] และเมื่อพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงองอาจยิ่งใหญ่
ทรงยินยอมตามคำของพราหมณ์นั้นแล้ว
จึงทรงบูชายัญ คือ อัสสเมธะ ปุริสเมธะ
สัมมาปาสะ วาชเปยยะ และนิรัคคฬะ๑
ครั้นเสร็จแล้วก็พระราชทานทรัพย์แก่พราหมณ์เหล่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๓๗๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๗. พราหมณธัมมิกสูตร
[๓๐๗] อีกทั้งโค ที่นอน ผ้า สตรีที่แต่งกายงดงาม
รถเทียมม้าอาชาไนยที่ตกแต่งไว้ดี
สลักลวดลายอย่างวิจิตร
[๓๐๘] ทั้งรับสั่งให้นำเอาธัญชาติต่างๆ
ไปบรรจุไว้ให้เต็มเรือนที่น่ารื่นรมย์ ซึ่งแบ่งสัดส่วนไว้เป็นอย่างดี
แล้วพระราชทานทรัพย์แก่พราหมณ์เหล่านั้น
[๓๐๙] พราหมณ์เหล่านั้นได้ทรัพย์ที่พระราชทานนั้น ๆ แล้ว
ชอบเก็บสะสมไว้ จึงถูกความอยากครอบงำ
เพิ่มพูนความอยากได้มากยิ่งขึ้นไปอีก
พวกเขาจึงผูกมนตร์มุ่งหวังโภคทรัพย์นั้น ๆ ขึ้น
พากันเข้าไปเฝ้าพระเจ้าโอกกากะอีก
[๓๑๐] กราบทูลว่า โคทั้งหลายเกิดขึ้นเพื่อให้ใช้ทำประโยชน์
ในกิจการต่าง ๆ ของมนุษย์
เหมือนแม่น้ำ แผ่นดิน เงินทอง ทรัพย์สินและพืชพันธุ์ธัญญาหาร
เกิดขึ้นเพื่อให้มนุษย์ใช้ประโยชน์
ขอพระองค์ทรงทำพิธีบูชายัญเถิด
พระองค์จะทรงมีแก้ว แหวน เงิน ทอง
พืชพันธุ์ธัญญาหารเพิ่มมากขึ้น
[๓๑๑] และเมื่อพระเจ้าแผ่นดิน ผู้องอาจยิ่งใหญ่
ทรงยินยอมตามคำของพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว
จึงทรงทำพิธีบูชายัญ ในพิธีบูชายัญนั้น
รับสั่งให้ฆ่าแม่โคมากมายหลายแสนตัว
[๓๑๒] แม่โคนมทั้งหลายสงบเสงี่ยมเหมือนแม่แพะ
ถึงจะถูกคนเลี้ยงรีดนมใส่หม้อ
ก็ไม่ใช้เท้าหรือเขาอย่างใดอย่างหนึ่งทำอันตรายเลย
กระนั้น พระราชาก็รับสั่งให้จับที่เขาแล้วฆ่าด้วยศัสตรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๗. พราหมณธัมมิกสูตร
[๓๑๓] เพราะการฆ่าโคบูชายัญนั้น เทวดา พระพรหม
พระอินทร์ อสูร และผีเสื้อสมุทร
ต่างเปล่งวาจาประณามมนุษย์ว่า
ไม่มีคุณธรรม เพราะมีดที่แทงแม่โค
[๓๑๔] แต่ก่อนนั้นมีโรคร้ายอยู่เพียง ๓ ชนิด คือ
โรคความอยาก โรคความหิว และโรคชรา
แต่เพราะการทำร้ายเบียดเบียนปศุสัตว์
จึงทำให้แพร่โรคร้ายเพิ่มขึ้นถึง ๙๘ ชนิด
[๓๑๕] การทำร้ายเบียดเบียนปศุสัตว์นี้
นับเป็นการลงทัณฑ์ชนิดหนึ่งที่ไร้คุณธรรม มีมาแต่เดิมแล้ว
แม่โคนมทั้งหลายที่ไม่ทำร้ายเบียดเบียนใคร ๆ ต่างก็ถูกฆ่า
พวกบูชายัญก็เสื่อมจากธรรม
[๓๑๖] ดังกล่าวมานี้ การฆ่าสัตว์บูชายัญนี้
เป็นธรรมเนียมที่ต่ำทราม
มีมาแต่โบราณ ถูกวิญญูชนติเตียน
คือวิญญูชนจะติเตียนคนที่ทำพิธีบูชายัญ
โดยวิธีนี้ในที่ทุกแห่งที่ตนเห็น
[๓๑๗] เมื่อธรรมเนียมเก่าของพราหมณ์เสื่อมสูญไปอย่างนี้แล้ว
คนวรรณะศูทรและแพศย์ก็แตกแยกกัน
วรรณะกษัตริย์จำนวนมากก็แตกแยกกัน
ภรรยาก็ยังดูหมิ่นสามี
[๓๑๘] กษัตริย์ พราหมณ์ พร้อมทั้งแพศย์และศูทร
ที่เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพรหม
ที่ได้รับความคุ้มครองจากวงศ์ตระกูลของตน
ต่างไม่คำนึงถึงชาติชั้นวรรณะต่อไป
ล้วนตกอยู่ในอำนาจกามคุณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๘. นาวาสูตร
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณมหาศาลเหล่านั้นได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคล
หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด
โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ พวกข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้ง
พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำพวกข้าพระองค์ว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
พราหมณธัมมิกสูตรที่ ๗ จบ
๘. นาวาสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้เป็นดุจเรือข้ามฟาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[๓๑๙] บุรุษควรบูชาสักการะบุคคลที่ตนเรียนรู้ธรรมจนเข้าใจ
เหมือนเทวดาบูชาพระอินทร์ ฉะนั้น
บุคคลผู้เป็นพหูสูต ได้รับการบูชาจากศิษย์แล้ว
มีใจเอื้ออาทรในศิษย์นั้น
ย่อมอธิบายธรรมให้เข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง
[๓๒๐] บุรุษผู้มีปัญญา ไม่ประมาท
คบบุคคลผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้น
ทำธรรมนั้นให้มีประโยชน์ ใคร่ครวญแล้ว
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมเป็นผู้รู้แจ้ง
แสดงธรรมแก่ผู้อื่นและเป็นผู้ละเอียด
[๓๒๑] ผู้ที่คบบุคคลผู้มีคุณธรรมน้อย เป็นคนพาล
ยังไม่บรรลุประโยชน์ตน ทั้งยังมีใจริษยา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๘.นาวาสูตร
ไม่เข้าใจธรรมในศาสนานี้ได้อย่างแจ่มแจ้ง
ยังไม่ทันหมดความสงสัยก็สิ้นชีวิตไปก่อน
[๓๒๒] เปรียบเหมือนคนข้ามแม่น้ำที่มีน้ำมาก
กำลังหลากมา มีกระแสเชี่ยว
ถูกพัดลอยไปตามกระแสน้ำเสียเอง
จะสามารถช่วยพาผู้อื่นให้ข้ามไปได้อย่างไร ฉันใด
[๓๒๓] บุคคลผู้ยังไม่เข้าใจธรรมอย่างแจ่มแจ้ง ก็ฉันนั้น
ไม่พิจารณาความหมายแห่งธรรมให้ถ่องแท้
ในสำนักอาจารย์ผู้เป็นพหูสูต
ตนเองยังไม่รู้แจ้งจริง ทั้งยังไม่หมดความสงสัย
จะสามารถสอนผู้อื่นให้เพ่งพินิจธรรมได้อย่างไร
[๓๒๔] คนลงเรือที่มั่นคงแข็งแรง มีพายและถ่ออยู่พร้อม
เป็นผู้เฉลียวฉลาด รอบรู้ ชำนาญการเดินเรือนั้น
ย่อมสามารถพาผู้โดยสารจำนวนมากในเรือนั้น
ให้ข้ามไปถึงฝั่งได้โดยปลอดภัย แม้ฉันใด
[๓๒๕] ผู้บรรลุถึงความรู้แจ้ง อบรมตนแล้ว
เป็นพหูสูต มีสภาพจิตไม่หวั่นไหว ก็ฉันนั้น
สามารถสั่งสอนผู้อื่นที่ตั้งใจฟังและสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัยให้เพ่งพินิจได้
[๓๒๖] เพราะฉะนั้น บุคคลจึงควรคบสัตบุรุษ
ผู้มีปัญญา เป็นพหูสูต
บุคคลผู้คบหาสัตบุรุษนั้น รู้แจ้งชัดเนื้อความนั้นแล้วปฏิบัติอยู่
เป็นผู้เข้าใจธรรมได้อย่างแจ่มแจ้ง พึงได้รับความสุข
นาวาสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๙. กิงสีลสูตร
๙. กิงสีลสูตร
ว่าด้วยการจะบรรลุประโยชน์สูงสุดต้องประพฤติเช่นไร
[๓๒๗] (ท่านพระสารีบุตรทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้)
นรชนมีปกติอย่างไร มีความประพฤติอย่างไร
เพิ่มพูนการทำอะไรบ้าง
จึงชื่อว่า พึงดำรงตนอยู่อย่างถูกต้อง และบรรลุประโยชน์สูงสุดได้
[๓๒๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
นรชนควรเป็นผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่๑ ไม่ริษยา
และควรรู้จักกาลที่จะเข้าไปหาครูทั้งหลาย
รู้จักขณะที่จะฟังธรรมีกถาที่ท่านกล่าว
และตั้งใจฟังสุภาษิตอื่น ๆ จากท่านโดยเคารพ
[๓๒๙] ควรลดมานะ นบนอบอ่อนน้อม
เข้าไปยังสำนักของครูตามเวลาเหมาะสม
ตั้งใจระลึกถึงอรรถ ธรรม สังยมะ๒ พรหมจรรย์
พร้อมทั้งยึดถือปฏิบัติตามนั้น
[๓๓๐] ควรเป็นผู้พอใจธรรม ยินดีในธรรม
ดำรงอยู่ในธรรม รู้จักพิจารณาธรรม
ไม่ควรกล่าววาจาที่ประทุษร้ายธรรม
ควรให้เวลาสิ้นไปกับสุภาษิตที่แท้๓

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ใหญ่ มี ๔ คือ (๑) ปัญญาวุฒ ผู้ใหญ่โดยปัญญา (๒) คุณวุฒ ผู้ใหญ่โดยคุณความดี (๓) ชาติวุฒ ผู้ใหญ่
โดยชาติ (เกิดในชาติกำเนิดฐานะอันสูง) (๔) วัยวุฒ ผู้ใหญ่โดยวัยคือเกิดก่อน ในที่นี้หมายถึงปัญญาวุฒ
(ขุ.สุ.อ. ๒/๓๒๘/๑๔๗)
๒ สังยมะ หมายถึงศีล (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๒๙/๑๔๘)
๓ สุภาษิตที่แท้ หมายถึงสุภาษิตที่ประกอบด้วยสมถะและวิปัสสนา (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๐/๑๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๙. กิงสีลสูตร
[๓๓๑] การละความสนุกรื่นเริง การพูดกระซิบ
ความร่ำไรรำพัน ความโกรธง่าย
การหลอกลวงเสแสร้งทำความดี
ความยินดีในปัจจัย ความถือตัว
การชิงดีชิงเด่น ความหยาบคาย
และความหมกมุ่นอยู่ในกิเลสดุจน้ำฝาดย้อมใจ
ควรเป็นผู้ปราศจากความมัวเมา ดำรงสติมั่นคงอยู่
[๓๓๒] นรชนใดเป็นผู้ประพฤติรีบด่วน๑ เป็นผู้ประมาท
เพียงแต่รู้สุภาษิตอันเป็นสาระ
และได้สดับสมาธิอันเป็นสาระในธรรมที่รู้เท่านั้น
ปัญญาและสุตะย่อมไม่เจริญแก่นรชนนั้นเลย๒
[๓๓๓] ส่วนนรชนผู้ยินดีในธรรม๓ที่พระอริยะประกาศแล้ว
เป็นผู้ประเสริฐกว่าคนนอกนี้
ด้วยกาย วาจา และใจ
ดำรงมั่นอยู่ในสันติ โสรัจจะ และสมาธิ๔
จึงได้บรรลุถึงธรรมอันเป็นสาระแห่งสุตะและปัญญา
กิงสีลสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ประพฤติรีบด่วน ในที่นี้หมายถึงไม่พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ ตกไปในอำนาจกิเลสมีราคะเป็นต้น
(ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๒/๑๕๐)
๒ ความหมายในคาถานี้ คือ นรชนผู้ถูกราคะเป็นต้นครอบงำ ไม่พิจารณาไตร่ตรอง ประมาท ไม่บำเพ็ญ
เพียรอย่างต่อเนื่อง แม้จะได้รับโอวาท ฟังสุภาษิตมากมายก็ตาม แต่ปัญญาของเขาก็ไม่เจริญ เพราะไม่รู้
ความหมาย และสุตะก็ไม่เจริญเพราะไม่มีการปฏิบัติตาม (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๒/๑๕๐)
๓ ธรรม ในที่นี้หมายถึงสมถวิปัสสนา (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๓/๑๕๑)
๔ สันติ หมายถึงนิพพาน โสรัจจะ หมายถึงมัคคปัญญาอันมีนิพพานเป็นอารมณ์ สมาธิ หมายถึงมัคคสมาธิ
(ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๓/๑๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๐. อุฏฐานสูตร
๑๐. อุฏฐานสูตร
ว่าด้วยการลุกขึ้นนั่งสมาธิ
(พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[๓๓๔] เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด๑ จงนั่งเถิด๒
ความหลับจะมีประโยชน์อะไรแก่เธอทั้งหลาย
ผู้เร่าร้อนด้วยโรคคือกิเลสมีประการต่าง ๆ
ถูกลูกศรคือราคะเป็นต้นทิ่มแทงจนย่อยยับอยู่
[๓๓๕] เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด จงนั่งเถิด
จงบากบั่นขยันศึกษาปฏิบัติเพื่อบรรลุสันติธรรม๓กันเถิด
อย่าให้มัจจุราชรู้ว่า เธอทั้งหลายมัวแต่ประมาทลุ่มหลง
แล้วบังคับให้หลงใหลอยู่ในอำนาจเลย
[๓๓๖] เธอทั้งหลายจงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา
ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดาและมนุษย์
ผู้ยังมีความต้องการยึดติดอยู่
ขณะอย่าได้ล่วงเลยเธอทั้งหลายไปเสีย๔
เพราะเหล่าชนที่ปล่อยให้ขณะล่วงเลยไป
ย่อมแออัดกันในนรก เศร้าโศกอยู่

เชิงอรรถ :
๑ จงลุกขึ้น หมายถึงลุกจากอาสนะ จงเพียรพยายามอย่าเกียจคร้าน (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๔/๑๕๓)
๒ จงนั่ง หมายถึงนั่งคู้บัลลังก์ เพื่อปฏิบัติกัมมัฏฐาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๔/๑๕๓)
๓ สันติธรรม มี ๓ ประการ คือ (๑) อัจจันตสันติ(ความสงบอย่างสิ้นเชิง) (๒) ตทังคสันติ(ความสงบ
ด้วยองค์นั้น ๆ) (๓) สัมมุติสันติ(ความสงบโดยสมมติ) แต่ในที่นี้หมายถึงอัจจันตสันติ กล่าวคือนิพพาน
(ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๕/๑๕๔)
๔ ขณะอย่าได้ล่วงเลยเธอทั้งหลายไปเสีย ในที่นี้หมายถึงอย่าปล่อยให้โอกาสหรือเวลาแห่งการบำเพ็ญ
สมณธรรมผ่านไป (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๖/๑๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๑. ราหุลสูตร
[๓๓๗] ความประมาทเป็นดุจธุลี
ความประมาทที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็จัดเป็นดุจธุลี
กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิตควรถอนลูกศรคือกิเลสของตน
ด้วยความไม่ประมาทและด้วยวิชชา
อุฏฐานสูตรที่ ๑๐ จบ
๑๑. ราหุลสูตร
ว่าด้วยพระพุทโธวาทที่ตรัสโปรดพระราหุล
[๓๓๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระราหุลดังนี้)
เพราะความสนิทสนมกันเกินไป
เธอนึกดูหมิ่นบัณฑิต๑บ้างหรือไม่
การชูคบเพลิงแก่มวลมนุษย์๒
เธอยังใส่ใจนอบน้อมอยู่หรือไม่
[๓๓๙] (ท่านพระราหุลทูลตอบดังนี้)
ถึงจะมีความสนิทสนมกันมากสักเพียงใด
ข้าพระองค์ก็ไม่เคยนึกดูหมิ่นบัณฑิตเลย
การชูคบเพลิงแก่มวลมนุษย์
ข้าพระองค์ก็ยังใส่ใจนอบน้อมอยู่เสมอ
[๓๔๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสโอวาทดังนี้)
เธอละกามคุณ ๕ ซึ่งน่ารัก น่ารื่นรมย์ใจแล้ว
ออกจากเรือนบวชด้วยศรัทธา
จงทำที่สุดแห่งทุกข์เถิด๓

เชิงอรรถ :
๑ บัณฑิต ในที่นี้พระผู้มีพระภาคตรัสหมายเอาพระสารีบุตร (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๘/๑๕๗)
๒ การชูคบเพลิง ในที่นี้หมายถึงการแสดงธรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๘/๑๕๗)
๓ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๙๕/๓๖๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๑. ราหุลสูตร
[๓๔๑] เธอจงคบกัลยาณมิตร ยินดีเสนาสนะอันสงัด
ปราศจากเสียงอึกทึกครึกโครม
จงเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค
[๓๔๒] เธอจงอย่าทำความอยากในปัจจัย ๔ เหล่านี้ คือ
จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชที่เกิดขึ้น
เธออย่ากลับมายังโลกนี้อีกเลย
[๓๔๓] เธอจงเป็นผู้สำรวมในปาติโมกข์ และอินทรีย์ ๕
จงเจริญกายคตาสติกัมมัฏฐาน
จงเป็นผู้เบื่อหน่ายในสังสารวัฏให้มาก
[๓๔๔] จงเว้นสุภนิมิตอันเป็นเหตุให้เกิดราคะเสีย
จงเจริญสมาธิจิตด้วยอสุภภาวนา
จนจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง และตั้งมั่นด้วยดี๑
[๓๔๕] จงเจริญกัมมัฏฐานที่ไม่มีนิมิต จงละมานานุสัยกิเลส
เพราะละมานะได้นั่นเอง เธอก็จะเป็นผู้สงบระงับ
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคตรัสสอนท่านพระราหุลด้วยคาถาเหล่านี้อยู่เนือง ๆ
ด้วยประการฉะนี้
ราหุลสูตรที่ ๑๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ มีอารมณ์เป็นหนึ่ง หมายถึงแน่วแน่ด้วยอุปจารสมาธิ ตั้งมั่นด้วยดี หมายถึงตั้งมั่นแนบแน่นด้วยอัปปนาสมาธิ
(ขุ.สุ.อ. ๒/๓๔๔/๑๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๒. วังคีสสูตร
๑๒. วังคีสสูตร๑
ว่าด้วยพุทธพจน์ตรัสแก้ความสงสัยของพระวังคีสะ
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ เขตเมืองอาฬวี
สมัยนั้น พระนิโครธกัปปเถระซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านพระวังคีสะเพิ่งจะปรินิพพาน
ที่อัคคาฬวเจดีย์ไม่นาน ครั้งนั้น ท่านพระวังคีสะหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ๒ได้เกิดความ
คิดคำนึงอย่างนี้ว่า “พระอุปัชฌาย์ของเราปรินิพพานแล้วหรือว่ายังไม่ปรินิพพาน”
ครั้นถึงเวลาเย็น ท่านพระวังคีสะจึงออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่ลับได้เกิดความคิดคำนึง
อย่างนี้ว่า ‘พระอุปัชฌาย์ของเราปรินิพพานแล้วหรือว่ายังไม่ปรินิพพาน”
ครั้งนั้น ท่านพระวังคีสะก็ลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไป
ทางพระผู้มีพระภาคแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[๓๔๖] ข้าพระองค์ขอทูลถามพระบรมศาสดา
ผู้มีพระปัญญามากว่า
ภิกษุใดมีชื่อเสียง เรืองยศ๓
ตัดความสงสัย ดับกิเลสเสียได้ในปัจจุบันชาตินี้
ได้ปรินิพพานที่อัคคาฬวเจดีย์วิหาร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๒๗๒-๑๒๘๗/๕๔๖-๕๔๙
๒ หลีกเร้นอยู่ในที่ลับ หมายถึงหลีกออกจากหมู่คณะอยู่สงบกาย และอยู่สงบจิตจากอารมณ์นั้น ๆ (ขุ.สุ.อ.
๒/๓๔๖/๑๖๔)
๓ เรืองยศ ในที่นี้หมายถึงเพียบพร้อมด้วยลาภและบริวาร (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๔๖/๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๒. วังคีสสูตร
[๓๔๗] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเห็นธรรมอันมั่นคง
ภิกษุนั้นเป็นพราหมณ์มาแต่กำเนิด
มีนามที่พระองค์ทรงประทานให้ว่า ‘นิโครธกัปปะ’
ท่านเที่ยวนอบน้อม มุ่งหวังความหลุดพ้น ปรารภความเพียร
[๓๔๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าศากยะ ผู้มีสมันตจักขุ
ข้าพระองค์ทุกรูปปรารถนาจะทราบถึงพระสาวกรูปนั้น
ข้าพระองค์ทั้งหลายพร้อมที่จะเงี่ยโสตฟัง
พระองค์เป็นศาสดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย พระองค์เป็นผู้ยอดเยี่ยม
[๓๔๙] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์
ขอพระองค์โปรดขจัดความเคลือบแคลงสงสัยของข้าพระองค์ทั้งหลาย
โปรดตรัสบอกพระนิโครธกัปปเถระ
ผู้ปรินิพพานแล้วนั้น ให้ข้าพระองค์ทราบด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกท่ามกลางแห่งข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด
เหมือนท้าวสักกะผู้มีพระเนตรตั้งพันตรัสบอกแก่เหล่าเทวดา
[๓๕๐] กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้
เป็นทางก่อให้เกิดความลุ่มหลง เป็นฝ่ายแห่งความไม่รู้
เป็นมูลฐานแห่งความเคลือบแคลงสงสัย
กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่านั้นพอมาถึงพระตถาคตผู้มีพระจักษุ
มีพระคุณยิ่งกว่านรชนทั้งหลายนี้แล ย่อมหมดไป
[๓๕๑] ถ้าพระผู้มีพระภาคจะเป็นเพียงบุรุษธรรมดา
ก็จะไม่ทรงทำลายกิเลสได้
เหมือนลมพัดทำลายก้อนเมฆที่หนาทึบไม่ได้ ฉะนั้น
โลกทั้งมวลที่มืดอยู่แล้วก็ยิ่งจะมืดหนักลง
นรชนทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้น
ที่รุ่งเรืองอยู่บ้าง ก็จะไม่รุ่งเรืองนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๒. วังคีสสูตร
[๓๕๒] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยความเพียร
นักปราชญ์ทั้งหลายเป็นผู้ทำแสงสว่าง๑ให้เกิด
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายเข้าใจพระองค์ว่า
ทรงทำแสงสว่างให้เกิดเป็นแม่นมั่น
ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ว่า พระองค์ทรงเห็นธรรมทั้งปวง
ได้อย่างแจ่มแจ้ง จึงได้พากันมาเฝ้า
ขอพระองค์โปรดประกาศพระนิโครธกัปปเถระ
แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายในที่ประชุมนี้ด้วยเถิด
[๓๕๓] พระองค์ทรงเปล่งพระวาจาอย่างไพเราะจับใจ
ทั้งทรงเปล่งด้วยพระสุรเสียงกังวาลที่เกิดแต่พระนาสิก
ที่บุญญาธิการตกแต่งมาดีแล้ว ได้อย่างคล่องแคล่วแผ่วเบา
เหมือนพญาหงส์ทองโก่งคอขันเบา ๆ อย่างไพเราะ
ข้าพระองค์ทุกรูปตั้งใจแน่วแน่
ขอฟังพระดำรัสที่ไพเราะของพระองค์
[๓๕๔] ข้าพระองค์จะเปิดเผยความเกิดและความตาย
ที่ละได้อย่างสิ้นเชิง
จะแสดงบอกบาปธรรมซึ่งเป็นตัวกำจัด
เพราะบรรดาปุถุชนทั้งหลาย
บุคคลผู้ที่ทำได้ตามความพอใจตนไม่มี
แต่คนที่ไตร่ตรองพิจารณาตามพระตถาคตเท่านั้น
สามารถที่จะรู้หรือกล่าวธรรมอย่างที่ตนต้องการได้
[๓๕๕] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระปัญญามาก
พระองค์ผู้ทรงมีพระปัญญารุ่งเรือง
ได้ตรัสไวยากรณ์ที่สมบูรณ์ไว้อย่างถูกต้องแล้ว
ข้าพระองค์ขอถวายอัญชลีกรรมอย่างนอบน้อม

เชิงอรรถ :
๑ แสงสว่าง ในที่นี้หมายถึงปัญญา (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๕๒/๑๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๒. วังคีสสูตร
พระองค์ทรงทราบคติของพระนิโครธกัปปเถระ
โปรดอย่าให้ข้าพระองค์หลงอยู่เลย
[๓๕๖] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
พระองค์ทรงรู้แจ้งอริยธรรม๑ทั้งที่เป็นโลกุตตระและโลกิยะ
ทรงทราบเญยยธรรมทั้งหมด
โปรดอย่าให้ข้าพระองค์หลงอยู่เลย
ข้าพระองค์หวังพระดำรัสของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง
เหมือนคนถูกความร้อนแผดเผาในฤดูร้อนต้องการน้ำเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้น
ขอพระองค์โปรดเปล่งสัททายตนะคือสุตะเถิด
[๓๕๗] พระนิโครธกัปปเถระประพฤติพรหมจรรย์เพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นของท่าน ไม่สูญเปล่าหรือ
ท่านนิพพานด้วยสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
หรือนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ข้าพระองค์ทั้งหลายขอฟังเรื่องนั้น
[๓๕๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
นิโครธกัปปเถระนั้นได้ตัดขาดตัณหาในนามรูปนี้
ทั้งตัดกระแสแห่งธรรมฝ่ายดำ
ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในสันดานมาช้านาน
ข้ามพ้นชาติและมรณะได้อย่างสิ้นเชิง
พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐด้วยพลธรรม ๕ ประการ๒
ได้ตรัสไว้ดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ อริยธรรม หมายถึงอริยสัจ ๔ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๕๖/๑๖๘)
๒ พลธรรม ๕ ประการ คือ (๑) สัทธา(ความเชื่อ) (๒) วิริยะ(ความเพียร) (๓) สติ(ความระลึกได้) (๔) สมาธิ
(ความตั้งจิตมั่น) (๕) ปัญญา(ความรู้ทั่ว) อนึ่ง คำว่า “พระผู้มีพระภาค” ในคาถานี้เป็นคำกล่าวของพระ
สังคีติกาจารย์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๕๘/๑๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร
[๓๕๙] (ท่านพระวังคีสเถระกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นพุทธะ
ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระองค์แล้ว ย่อมเลื่อมใส
ทราบว่า เรื่องที่ข้าพระองค์ทูลถามแล้วไม่ไร้ประโยชน์
พระองค์ทรงเป็นพุทธเจ้า ไม่ทรงลวงข้าพระองค์แน่นอน
[๓๖๐] สาวกของพระพุทธองค์พูดอย่างใด ก็ทำอย่างนั้น
ได้ตัดข่ายคือตัณหาที่แผ่กว้าง ทั้งมั่นคง
ของมารเจ้าเล่ห์ได้เด็ดขาด
[๓๖๑] พระผู้มีพระภาคสมควรที่จะตรัสว่า
ท่านพระนิโครธกัปปเถระได้เห็นมูลเหตุแห่งอุปาทาน
ล่วงพ้นบ่วงมัจจุราชที่ข้ามได้แสนยากแล้ว
วังคีสสูตรที่ ๑๒ จบ
๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร
ว่าด้วยภิกษุควรละเว้นอยู่ในโลกโดยชอบ
[๓๖๒] (พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระมุนีผู้มีปัญญามาก
ทรงข้ามโอฆะได้แล้วปรินิพพาน มีพระทัยมั่นคง
ภิกษุนั้นบรรเทากามทั้งหลาย ออกจากเรือน (มาบวช) แล้ว
พึงละเว้นอยู่ในโลกโดยชอบได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร
[๓๖๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ภิกษุผู้ตัดขาดการเชื่อสิ่งที่เห็นเป็นต้นว่า เป็นมงคล
การยึดถืออุกกาบาตตก ความฝัน และการทำนายลักษณะ
ละสิ่งที่ทำให้เกิดผลเสียต่อมงคลได้เด็ดขาด
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๖๔] ภิกษุพึงกำจัดความกำหนัดในกามทั้งหลาย
ทั้งที่เป็นของมนุษย์ และที่เป็นทิพย์
ภิกษุนั้นตรัสรู้ธรรมแล้ว ก้าวพ้นภพได้แล้ว
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๖๕] ภิกษุกำจัดความส่อเสียดแล้ว
พึงละความโกรธ ความตระหนี่
ภิกษุนั้นละความยินดีและความยินร้ายได้แล้ว
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๖๖] ภิกษุละสิ่งอันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักแล้ว
ไม่ถือมั่น ผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัยในภพไหน ๆ
หลุดพ้นแล้วจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๖๗] ภิกษุกำจัดฉันทราคะในสิ่งที่พึงยึดถือทั้งหลาย
ไม่เห็นความเป็นสาระในอุปธิทั้งหลาย๑
ภิกษุนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย
ใคร ๆ พึงชักนำไปไม่ได้
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ

เชิงอรรถ :
๑ อุปธิ ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๖๗/๑๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร
[๓๖๘] ภิกษุผู้ไม่ผิดพลาดทางกาย วาจา และใจ
รู้แจ้งซึ่งธรรมโดยชอบ ปรารถนาบทคือนิพพานอยู่
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๖๙] ภิกษุรู้จักเคารพนบไหว้ ไม่ถือตัว ถึงถูกด่าว่าก็ไม่โกรธ
ได้ภัตตาหารที่ผู้อื่นถวายประจำแล้วก็ไม่ประมาทมัวเมา
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๐] ภิกษุละความโลภและกามภพเป็นต้นได้แล้ว
เว้นขาดจากการฆ่าฟัน และการจองจำผู้อื่น
ตัดความสงสัยได้แล้ว ปราศจากกิเลสดุจลูกศร
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๑] ภิกษุผู้รู้ข้อปฏิบัติที่สมควรแก่ตน
รู้แจ้งสัจธรรมตามความเป็นจริง
ไม่เบียดเบียนสัตว์โลกทุกชนิด
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๒] ภิกษุไม่มีอนุสัยกิเลสใด ๆ ถอนรากอกุศลธรรมได้หมดสิ้น
ไม่มีความหวัง ปราศจากตัณหาโดยสิ้นเชิง
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๓] ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว ละมานะได้เด็ดขาด
ล่วงพ้นทางแห่งราคะ๑ทั้งหมด
ฝึกตนได้ ดับกิเลสลงได้อย่างสิ้นเชิง ดำรงตนมั่นคง
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ

เชิงอรรถ :
๑ ทางแห่งราคะ หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ) (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๗๓/๑๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร
[๓๗๔] ภิกษุมีศรัทธามั่นคง เป็นผู้ได้สดับอย่างดี
เห็นทางปฏิบัติอันถูกต้อง เป็นนักปราชญ์
ผู้ไม่คล้อยตามไปในฝักฝ่ายมิจฉาทิฏฐิ
ขจัดโลภะ โทสะคือความขุ่นเคืองใจได้
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๕] ภิกษุเอาชนะกิเลสได้ด้วยอรหัตตมรรคที่หมดจดดี
ไม่มีกิเลสเครื่องปิดบัง เชี่ยวชาญในธรรมทั้งหลาย๑
เป็นผู้ถึงฝั่ง หมดตัณหาอันทำให้หวั่นไหว
มีความฉลาดในญาณเป็นที่ดับสังขาร
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๖] ภิกษุล่วงพ้นความกำหนดที่ถือว่าเป็นของเรา
ในเบญจขันธ์ทั้งที่เป็นอดีตและอนาคต
มีปัญญาบริสุทธิ์ เป็นผู้หลุดพ้นจากอายตนะทั้งปวงได้เด็ดขาด
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๗] ภิกษุรู้แจ้งสภาวะที่ควรเข้าถึง จนได้บรรลุธรรม
เห็นการละอาสวะทั้งหลายเป็นวิวฏะ๒
ไม่ติดข้องอยู่ในภพไหน ๆ
เพราะอุปธิทั้งปวงหมดสิ้นไปแล้ว
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงอริยสัจ ๔ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๗๕/๑๘๕)
๒ วิวฏะ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๗๗/๑๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๔. ธัมมิกสูตร
[๓๗๘] (พระพุทธเนรมิตทูลสรุปดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ที่พระองค์ตรัสมาทั้งหมดนั้นถูกต้องทีเดียว
ภิกษุใดมีความประพฤติเช่นนี้อยู่ประจำ
ฝึกฝนตนแล้ว เป็นผู้ข้ามสังโยชน์และโยคะทั้งปวงได้
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
สัมมาปริพพาชนียสูตรที่ ๑๓ จบ
๑๔. ธัมมิกสูตร
ว่าด้วยพระพุทธพจน์ตรัสโปรดธัมมิกอุบาสก
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ธัมมิกอุบาสกพร้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐ คน เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
ด้วยคาถาว่า
[๓๗๙] ข้าแต่พระโคดมผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ว่า
บรรดาสาวกที่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
กับสาวกที่เป็นอุบาสกอยู่ครองเรือนนั้น
สาวกที่ปฏิบัติตนอย่างไร จึงชื่อว่า เป็นสาวกที่ดี
[๓๘๐] พระองค์เท่านั้นทรงทราบชัดคติ๑
และความข้ามพ้นไปจากคติ

เชิงอรรถ :
๑ คติ หมายถึงการไปหรือภพที่สัตว์ไปเกิด มี ๕ คือ (๑) นรก (๒) กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน (๓) แดนเปรต
(๔) มนุษย์ (๕) เทพ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๘๐/๑๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๘ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น