Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๕-๑๐ หน้า ๕๘๙ - ๖๕๓

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕-๑๐ สุตตันตปิฎกที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย สุตตนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๔. ธัมมิกสูตร
ของชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ไม่มีใครที่เล็งเห็นประโยชน์ได้สุขุมลุ่มลึกเท่ากับพระองค์
บัณฑิตทั้งหลายพากันขนานนามพระองค์ว่า
เป็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
[๓๘๑] พระองค์ผู้ทรงรู้แจ้งเญยยธรรม ทรงอนุเคราะห์เหล่าสัตว์
ได้ทรงประกาศพระญาณและธรรมทั้งปวง
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
พระองค์ไม่มีกิเลสดุจเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว
ทรงปราศจากมลทิน รุ่งเรืองอยู่ในโลกทั้งปวง
[๓๘๒] พญาช้างเอราวัณ๑ทราบว่าพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้ทรงชนะบาปธรรมได้แล้ว
จึงเข้าไปเฝ้าพระองค์ถึงที่ประทับ
พญาช้างแม้นั้นได้ปรึกษาทูลถามปัญหากับพระองค์
ฟังคำพยากรณ์แล้ว ได้บรรลุธรรม
มีความยินดีเปล่งสาธุการแล้วจากไป
[๓๘๓] ถึงแม้ท้าวเวสวัณ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า ท้าวกุเวร
ก็ยังเสด็จเข้ามาเฝ้ากราบทูลถามปัญหาธรรม
พระองค์แม้ถูกท้าวเวสวัณนั้นทูลถาม
ก็ยังตรัสตอบจนท้าวเธอสดับแล้วมีความชื่นชมยินดีจากไป
[๓๘๔] ชนต่างๆเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นพวกเดียรถีย์อาชีวกหรือนิครนถ์
ผู้ชอบกล่าวยกตนข่มผู้อื่นทั้งหมด
ย่อมไม่เกินเหนือพระองค์ด้วยปัญญา
เหมือนคนที่หยุดอยู่ ไม่ทันคนที่เดินเร็วและไม่หยุด ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ช้างเอราวัณ หมายถึงเทพบุตรชื่อเอราวัณเนรมิตกายเป็นพญาช้าง (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๗๘/๑๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๔. ธัมมิกสูตร
[๓๘๕] พวกพราหมณ์ผู้เฒ่า
ที่มีปกติกล่าววาทะเหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ดี
และพราหมณ์เหล่าอื่นที่สำคัญอยู่ว่า
เราทั้งหลายผู้มีปกติทำวาทะก็ดี
ชนเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนแต่ได้รับประโยชน์จากพระองค์
[๓๘๖] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ธรรมนี้๑ที่พระองค์ทรงแสดงอย่างดีละเอียด
และก่อให้เกิดสุขอย่างแท้จริง
ข้าพระองค์ทั้งหมดตั้งใจฟังธรรมนั้น
ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหา
ที่พวกข้าพระองค์ทูลถามแล้วด้วยเถิด
[๓๘๗] ภิกษุพร้อมทั้งอุบาสกนี้ทั้งหมด
ผู้นั่งประชุมกัน ณ ที่นี้ เพื่อต้องการจะฟัง
จะตั้งใจฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงปราศจากมลทินตรัสรู้แล้ว
เหมือนทวยเทพต่างตั้งใจฟังสุภาษิตของท้าววาสวะ ฉะนั้น
[๓๘๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟังเรา
เราจะให้เธอได้สดับธรรมคือข้อปฏิบัติกำจัดกิเลส
และขอพวกเธอทั้งหมดจงประพฤติธรรมนั้น
ภิกษุผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นประโยชน์
ควรปฏิบัติตนอยู่ทุกอิริยาบถที่สมควรแก่บรรพชิต

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๘๖/๑๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๔. ธัมมิกสูตร
[๓๘๙] ภิกษุไม่ควรออกเที่ยวไปในเวลาวิกาล
แต่ควรเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้านตามเวลา
เพราะว่าภิกษุผู้ออกเที่ยวในเวลาวิกาล
กิเลสเครื่องข้อง๑จะครอบงำ
เพราะฉะนั้น บุคคลผู้รู้ทั้งหลายจึงไม่ออกเที่ยวในเวลาวิกาล
[๓๙๐] ภิกษุควรกำจัดความพอใจในกามคุณ ๕ เหล่านี้ คือ
รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสที่ทำให้เหล่าสัตว์หลงมัวเมา
เข้าไปยังโอกาสที่จะพึงบริโภคอาหารในเวลาเช้า ตามกาล
[๓๙๑] อนึ่ง ภิกษุได้อาหารบิณฑบาตมาฉันภายในเวลาแล้ว
ควรกลับไปนั่งในที่สงัดตามลำพัง
ควบคุมอัตภาพคือจิตได้อย่างมั่นคงแล้ว
กำหนดจิตพิจารณาอารมณ์ภายใน
ไม่ปล่อยจิตไปในอารมณ์ภายนอก
[๓๙๒] ถ้าแม้ภิกษุนั้นจำเป็นจะต้องสนทนากับสาวกอื่น ๆ
หรือภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ก็ควรสนทนาธรรมที่ประณีต๒นั้น
ไม่ควรกล่าวคำสอนส่อเสียดกระทบว่าร้ายผู้อื่น
[๓๙๓] มีคนพวกหนึ่งชอบกล่าววาทะโต้เถียงกัน
เราไม่สรรเสริญคนพวกนั้นผู้มีปัญญาน้อย
เพราะกิเลสเครื่องข้องที่เกิดจากการกล่าววาจาโตัเถียงกันนั้น
จะครอบงำคนพวกนั้น เพราะพวกเขา (เมื่อโต้เถียงกัน)
ย่อมทำจิตให้ไกลจากการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๔๙ ในเล่มนี้
๒ ธรรมที่ประณีต หมายถึงกถาวัตถุ ๑๐ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๙๒/๑๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๔. ธัมมิกสูตร
[๓๙๔] สาวกผู้มีปัญญาดี ฟังธรรมที่พระสุคตพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
พิจารณาอาหารบิณฑบาต ที่อยู่อาศัย ที่นอนที่นั่ง น้ำใช้น้ำฉัน
และการซักผ้าสังฆาฏิที่สกปรกให้สะอาดแล้วจึงใช้สอยปัจจัย
[๓๙๕] เพราะฉะนั้น ภิกษุจึงไม่ควรเป็นผู้ยึดติดในสิ่งเหล่านี้
คือ อาหารบิณฑบาต ที่นอนที่นั่ง น้ำใช้น้ำฉัน
และการซักผ้าสังฆาฏิที่สกปรกให้สะอาดนี้
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว ฉะนั้น
[๓๙๖] ต่อไปนี้ เราจะบอกข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์แก่พวกเธอ
คือสาวกที่เป็นคฤหัสถ์ประพฤติอย่างไร
จึงยังประโยชน์ให้สำเร็จได้
จริงอยู่ สาวกที่ยังมีความหวงแหนในไร่นาเป็นต้น
ไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมของภิกษุล้วน ๆ ได้
[๓๙๗] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง และที่มั่นคงในโลกแล้ว
ไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นฆ่า และไม่พึงอนุญาตให้ใคร ๆ ฆ่า
[๓๙๘] จากนั้น สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ รู้อยู่
ควรงดเว้นการถือเอาสิ่งของต่าง ๆ ในทุกหนทุกแห่ง ที่เจ้าของมิได้ให้
คือ ไม่พึงลักเอง ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นลัก และไม่พึงอนุญาตให้ใคร ๆ ลัก
พึงงดเว้นการถือเอาสิ่งของทั้งปวงที่เจ้าของมิได้ให้โดยเด็ดขาด
[๓๙๙] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ ผู้เข้าใจชัดแจ้ง
ควรงดเว้นพฤติกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์
เหมือนคนเดินหลีกหลุมถ่านเพลิงที่มีไฟลุกโชน ฉะนั้น
แต่เมื่อไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ได้
ก็ไม่ควรล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น
[๔๐๐] สาวกผู้อยู่ในที่ประชุม หรือในที่สาธารณชน
และอยู่กับคนคนเดียว ไม่ควรพูดเท็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๔. ธัมมิกสูตร
ไม่ควรใช้ให้ผู้อื่นพูดเท็จ และไม่ควรอนุญาตให้ใคร ๆ พูดเท็จ
ควรงดเว้นคำพูดที่ไม่เป็นจริงทั้งหมด
[๔๐๑] สาวกผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่ควรประพฤติการดื่มน้ำเมา
ควรยินดีชอบใจธรรมคือการงดเว้นการดื่มน้ำเมานี้
ไม่ควรชักชวนผู้อื่นให้ดื่ม และไม่ควรอนุญาตให้ใคร ๆ ดื่ม
เพราะรู้ชัดถึงโทษของการดื่มน้ำเมานั้นว่า มีความเป็นบ้าในที่สุด
[๔๐๒] เพราะความเมานั่นเอง คนพาลทั้งหลายจึงทำบาปต่างๆ ได้
ทั้งยังชักชวนคนอื่น ๆ ผู้ประมาทให้ทำอีกด้วย
สาวกที่เป็นคฤหัสถ์จึงควรงดเว้นการดื่มน้ำเมา
ที่ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งความดี มีแต่ทำให้เป็นบ้า หลงลืม
ที่พวกคนปัญญาทรามชอบดื่มกันนี้
[๔๐๓] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควรลักทรัพย์
ไม่ควรพูดเท็จ ไม่ควรดื่มน้ำเมา
ควรงดเว้นจากเมถุนที่เป็นความประพฤติไม่ประเสริฐ
ไม่ควรบริโภคอาหารในเวลาวิกาลในเวลากลางคืน
[๔๐๔] ไม่ควรทัดทรงดอกไม้ ไม่ควรลูบไล้กายด้วยของหอม
ควรนอนบนเตียง บนพื้น หรือบนที่ที่ปูลาดไว้
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า อุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล
พระพุทธเจ้าผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ทรงประกาศไว้๑
[๔๐๕] และต่อไป สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ผู้มีใจเลื่อมใส
ควรเข้าจำอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ให้บริบูรณ์ดี
ทุกวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำแห่งปักษ์
และตลอดปาฏิหาริกปักษ์๒

เชิงอรรถ :
๑ ข้อ ๔๐๓-๔ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๗๑/๒๘๙-๒๙๐, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๔๓/๓๐๘
๒ ปาฏิหาริกปักษ์ หมายถึงกำหนดเวลา ๕ เดือน คือ เดือน ๘ ต้นแห่งวันเข้าพรรษา, ๓ เดือนภายในพรรษา,
เดือน ๑๒ (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๐๕/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
[๔๐๖] อันดับต่อไป สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ผู้เข้าจำอุโบสถแต่เช้า
มีจิตเลื่อมใส เบิกบานใจอยู่เนือง ๆ มีปัญญาเข้าใจแจ้งชัด
ควรแจกจ่ายถวายข้าวน้ำแด่ภิกษุสงฆ์ตามสมควร
[๔๐๗] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์นั้น
ควรบำรุงเลี้ยงมารดาบิดาโดยชอบธรรม
ควรประกอบการค้าขายที่ชอบธรรม๑
เป็นผู้ไม่ประมาทประพฤติวัตรแห่งคฤหัสถ์นี้อยู่
ย่อมไปเกิดในหมู่เทพที่ชื่อว่าสยัมปภา๒
ธัมมิกสูตรที่ ๑๔ จบ
จูฬวรรคที่ ๒ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. รตนสูตร ๒. อามคันธสูตร
๓. หิริสูตร ๔. มงคลสูตร
๕. สูจิโลมสูตร ๖. ธัมมจริยสูตร
๗. พราหมณธัมมิกสูตร ๘. นาวาสูตร
๙. กิงสีลสูตร ๑๐. อุฏฐานสูตร
๑๑. ราหุลสูตร ๑๒. วังคีสสูตร
๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร ๑๔. ธัมมิกสูตร


เชิงอรรถ :
๑ การค้าขายที่ชอบธรรม หมายถึงการค้าขายที่เว้นจากการค้าที่ไม่ชอบธรรม ๕ อย่าง คือ (๑) สัตถวณิชชา
(ค้าขายอาวุธ) (๒) สัตตวณิชชา (ค้าขายมนุษย์) (๓) มังสวณิชชา (ค้าขายเนื้อสัตว์) (๔) มัชชวณิชชา
(ค้าขายน้ำเมา) (๕) วิสวณิชชา (ค้าขายยาพิษ) (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๐๗/๒๐๐)
๒ สยัมปภา หมายถึงหมู่เทวดาที่มีแสงสว่างในตัว มีอยู่ในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๐๗/๒๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑. ปัพพัชชาสูตร
๓. มหาวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องใหญ่
๑. ปัพพัชชาสูตร
ว่าด้วยการสรรเสริญการบรรพชา
(ท่านพระอานนท์เถระกล่าวสรรเสริญการบรรพชา ณ พระเชตวันดังนี้)
[๔๐๘] ข้าพเจ้าจักสรรเสริญการบรรพชา
อย่างที่พระผู้มีพระภาค
ผู้มีพระจักษุทรงบรรพชา
และอย่างที่พระองค์ทรงพิจารณารอบคอบ
จึงพอพระทัยการบรรพชา
[๔๐๙] พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าการอยู่ครองเรือนนี้
คับแคบ๑ เป็นบ่อเกิดธุลีคือกิเลส
และทรงเห็นว่า การบรรพชาปลอดโปร่ง
จึงเสด็จออกบรรพชา
[๔๑๐] พระพุทธองค์ครั้นบรรพชาแล้ว
ทรงเว้นบาปกรรมทางกายและละวจีทุจริตได้
ทรงชำระอาชีวะให้หมดจด
[๔๑๑] พระพุทธองค์ผู้มีพระลักษณะอันประเสริฐทั่วพระวรกาย
เสด็จไปถึงกรุงราชคฤห์ คิริพพชนคร๒ แคว้นมคธ
ได้เสด็จเที่ยวไปเพื่อทรงบิณฑบาต

เชิงอรรถ :
๑ คับแคบ หมายถึงหมดโอกาสบำเพ็ญกุศล เพราะถูกรบกวนด้วยบุตรภรรยา และถูกรบกวนด้วยกิเลส (ขุ.สุ.อ.
๒/๔๐๙/๒๐๑)
๒ คำว่า “คิริพพชนคร” คือ ชื่อของกรุงราชคฤห์นั่นเอง ที่มีชื่อว่า คิริพพชนคร เพราะตั้งอยู่ท่ามกลางระหว่างภูเขา
๕ ลูก คือ (๑) ภูเขาปัณฑวะ (๒) ภูเขาคิชฌกูฏ (๓) ภูเขาเวภาระ (๔) ภูเขาอิสิคิลิ (๕) ภูเขาเวปุลละ ภูเขา
ทั้ง ๕ ลูกนี้เป็นเสมือนรั้วหรือกำแพงล้อมรอบ (คิริ = ภูเขา + วช = รั้ว + นคร) (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๑๑/๒๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑. ปัพพัชชาสูตร
[๔๑๒] พระเจ้าพิมพิสารประทับยืนอยู่บนปราสาท
ได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ครั้นได้ทรงเห็นพระพุทธองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะ
จึงได้ตรัสดังนี้ว่า
[๔๑๓] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านจงพิจารณาดูภิกษุรูปนี้เถิด
ภิกษุรูปนี้มีรูปร่างงาม สมส่วน สะอาด
เยื้องย่างโดยสำรวม และทอดสายตาเพียงชั่วแอก
[๔๑๔] มีจักษุทอดลง มีสติ ภิกษุรูปนี้
หาเหมือนกับผู้ออกบวชจากตระกูลต่ำไม่
ราชทูตทั้งหลายจงรีบไปสืบดูให้รู้ว่า
ภิกษุรูปนี้จะจาริกไปไหน
[๔๑๕] ราชทูตที่พระเจ้าพิมพิสารทรงส่งไปนั้น
ได้เดินตามหลังไปเพื่อสืบดูว่า
ภิกษุรูปนั้นจะจาริกไปไหน และพักอยู่ที่ไหน
[๔๑๖] พระพุทธองค์เสด็จไปตามลำดับบ้าน ทรงคุ้มครองอินทรีย์
ทรงสำรวมดีแล้ว มีสติสัมปชัญญะมั่นคง
ทรงรับบิณฑบาตแต่พอประมาณ
[๔๑๗] พระมุนีเสด็จเที่ยวบิณฑบาต
แล้วเสด็จออกจากพระนคร
เสด็จขึ้นไปยังปัณฑวบรรพตด้วยทรงดำริว่า
จะประทับอยู่ ณ ที่นั้น
[๔๑๘] ราชทูตทั้ง ๓ เห็นพระพุทธองค์เสด็จเข้าไปสู่ที่พัก
จึงพากันเข้าไปเฝ้า ส่วนราชทูตคนหนึ่ง
กลับมากราบทูลพระเจ้าพิมพิสารว่า
[๔๑๙] ขอเดชะ มหาราชเจ้า
ภิกษุรูปนั้นพักอยู่ที่ถ้ำด้านหน้าภูเขาปัณฑวะ
เหมือนเสือโคร่ง โคอุสภราช และราชสีห์ที่ซอกเขา ฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑. ปัพพัชชาสูตร
[๔๒๐] พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับคำของราชทูตแล้ว
ทรงรีบเสด็จไปยังภูเขาปัณฑวะ
โดยพระราชพาหนะชั้นเยี่ยม
[๔๒๑] ท้าวเธอได้เสด็จไปจนสุดทางที่พระราชพาหนะจะสามารถไปได้
จึงเสด็จลงจากพระราชพาหนะ
เสด็จพระราชดำเนินต่อไปด้วยพระบาท
เข้าไปถึงปัณฑวบรรพตนั้นแล้วประทับนั่ง
[๔๒๒] ท้าวเธอครั้นประทับนั่งแล้ว
ได้ทรงสนทนาปราศรัยเป็นธรรมเนียมระลึกถึงกัน
ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยแล้วได้ตรัสดังนี้ว่า
[๔๒๓] พระคุณเจ้ายังหนุ่มแน่น เพิ่งผ่านปฐมวัยเมื่อไม่นานนี้
ถึงพร้อมด้วยความผุดผ่องแห่งวรรณะ
เหมือนกษัตริย์สุขุมาลชาติ
[๔๒๔] ข้าพเจ้าจะมอบโภคสมบัติให้
ขอท่านจงเป็นจอมทัพยังหมู่พลกายให้งดงาม
บริโภคสมบัติอยู่เถิด
พระคุณเจ้าจงบอกชาติกำเนิดด้วยเถิด
[๔๒๕] (พระพุทธองค์ตรัสดังนี้)
มหาบพิตร มีชนบทแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในแคว้นโกศล
ตรงด้านข้างหิมวันตประเทศ
เป็นเมืองที่มั่งคั่ง ประชาชนขยันขันแข็ง
[๔๒๖] อาตมภาพมีนามตามโคตรว่าอาทิตย์
มีนามตามชาติกำเนิดว่าศากยะ
ไม่ปรารถนากามสุข
จึงออกจากตระกูลนั้นมาบวชเป็นบรรพชิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๒. ปธานสูตร
[๔๒๗] อาตมภาพเห็นโทษในกามทั้งหลาย
เห็นการออกบวชว่าเป็นทางเกษม
จะจาริกไปเพื่อบำเพ็ญเพียร
ใจของอาตมภาพ ยินดีในการบำเพ็ญเพียรนั้น
ปัพพัชชาสูตรที่ ๑ จบ
๒. ปธานสูตร
ว่าด้วยความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[๔๒๘] เราตั้งจิตบำเพ็ญเพียร ขะมักเขม้น เพ่งพินิจอยู่
เพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานั้น
[๔๒๙] มารได้เข้ามาหาพร้อมกับกล่าวถ้อยคำแสดงความเอ็นดูว่า
ท่านมีร่างกายผ่ายผอม มีผิวพรรณซูบซีด ใกล้จะตายอยู่แล้ว
[๔๓๐] ท่านมีโอกาสตายถึง ๑,๐๐๐ ส่วน
โอกาสรอดชีวิตมีเพียงส่วนเดียวเท่านั้น
ท่านเอ๋ย การที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้นดีแล้ว
เพราะเมื่อมีชีวิตอยู่ ท่านก็จักบำเพ็ญบุญทั้งหลายได้
[๔๓๑] ท่านประพฤติพรหมจรรย์๑และบูชาไฟอยู่
ก็ชื่อว่าสั่งสมบุญไว้มาก ท่านจักบำเพ็ญเพียรไปทำไม
[๔๓๒] ทางเพื่อความเพียรดำเนินไปถึงยาก ทำได้ยาก
ยากยิ่งนักที่จะก่อผลสำเร็จ
มารได้ยืนกล่าวคาถาเหล่านี้อยู่ใกล้ ๆ เราผู้จะเป็นพุทธะ

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงเมถุนวิรัติ (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๓๑/๒๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๒. ปธานสูตร
[๔๓๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบมารผู้กล่าวอย่างนั้นว่า
มารผู้มีบาป ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของคนประมาท
ท่านมาที่นี้มีความประสงค์ใด
[๔๓๔] เราไม่มีความต้องการบุญแม้แต่น้อย
ความจริง ท่านผู้เป็นมาร
ควรไปบอกแก่คนผู้ต้องการบุญ
[๔๓๕] เพราะเหตุไร ท่านจึงเฝ้าเพียรถามเรา
ผู้มีทั้งศรัทธา ตบะ วิริยะ และปัญญา
ผู้มีจิตมุ่งมั่น มีความเป็นอยู่อย่างนี้
[๔๓๖] กระแสแม่น้ำทุกสาย ลมนี้สามารถพัดให้เหือดแห้งได้
แต่ว่าเลือดของเราผู้มีจิตมุ่งมั่นไม่เหือดแห้งไปแม้สักหยดเลย
[๔๓๗] เมื่อเลือดกำลังเหือดแห้งไป ดี เสลดก็กำลังเหือดแห้งไปด้วย
และเมื่อเนื้อกำลังจะหมดสิ้นไป แต่จิตของเราก็ยิ่งผ่องใส
สติ และปัญญาก็ผ่องใส สมาธิของเราก็ยิ่งตั้งมั่นขึ้นไปอีก
[๔๓๘] เรานั้นถึงจะได้รับทุกขเวทนาอันแรงกล้าอยู่อย่างนี้
จิตก็หาได้หวนคนึงถึงกามทั้งหลายไม่
ท่านจงคอยดูภาวะที่เราเป็นสัตว์บริสุทธิ์
[๔๓๙] กิเลสกามทั้งหลาย เราเรียกว่าเสนากองที่ ๑ ของท่าน
ความไม่ยินดี เราเรียกว่าเสนากองที่ ๒ ของท่าน
ความหิวกระหาย เราเรียกว่าเสนากองที่ ๓ ของท่าน
ตัณหา(ความทะยานอยาก) เราเรียกว่าเสนากองที่ ๔ ของท่าน
[๔๔๐] ถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม)
เราเรียกว่าเสนากองที่ ๕ ของท่าน
ความกลัว เราเรียกว่าเสนากองที่ ๖ ของท่าน
วิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) เราเรียกว่าเสนากองที่ ๗ ของท่าน
มักขะ(ความลบหลู่คุณท่าน) และถัมภะ(ความหัวดื้อ)
เราเรียกว่าเสนากองที่ ๘ ของท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๒. ปธานสูตร
[๔๔๑] ลาภ ความสรรเสริญ สักการะ และยศที่ได้มาที่ผิดๆ
เราเรียกว่าเสนากองที่ ๙ ของท่าน
การยกตนและข่มผู้อื่น เราเรียกว่าเสนากองที่ ๑๐ ของท่าน
[๔๔๒] มารเอ๋ย เสนาของท่านผู้มีธรรมดำนี้
มีปกติประหารสมณพราหมณ์
คนขลาดเอาชนะเสนานั้นไม่ได้
แต่คนกล้า เอาชนะเสนามารได้แล้วย่อมได้รับสุข๑
[๔๔๓] แม้เรานี้ก็รักษาหญ้ามุงกระต่ายไว้
น่าติเตียน(ถ้า)ชีวิตของเรา(จะพ่ายแพ้)
เราตายเสียในสงครามประเสริฐกว่า
แพ้แล้วเป็นอยู่จะประเสริฐอะไร
[๔๔๔] สมณพราหมณ์บางพวกตกอยู่ในอำนาจเสนาของท่านแล้ว
ย่อมไม่ปรากฏเกียรติคุณ
และย่อมไม่รู้ทางที่เหล่าท่านผู้มีวัตรดีดำเนินไปอยู่
[๔๔๕] เราได้เห็นมารขี่ช้างเป็นพาหนะ
นำเสนาออกมาโดยรอบทิศ
จึงเตรียมเผชิญหน้าเพื่อจะต่อสู้
โดยมั่นใจว่า มารอย่าหวังที่จะให้เราลุกจากที่
[๔๔๖] ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ไม่สามารถเอาชนะเสนาของท่านนั้นได้
แต่เราจะใช้ปัญญาเป็นอาวุธ
ทำลายเสนาท่านนั้นให้พินาศ
เหมือนคนใช้ก้อนหินทุบภาชนะดิน
ทั้งที่ยังไม่ได้เผาและที่เผาแล้วให้แตกไป ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๘/๑๑๖, ๑๔๖/๒๗๗, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๗/๑๙๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๒. ปธานสูตร
[๔๔๗] เราจักเจริญสัมมาสังกัปปะให้เชี่ยวชาญ
และตั้งสติไว้อย่างมั่นคงแล้ว
เที่ยวจาริกแนะนำพร่ำสอนสาวกจำนวนมากไปทุกแว่นแคว้น
[๔๔๘] สาวกผู้ไม่ประมาทเหล่านั้น มีจิตมุ่งมั่น
ปฏิบัติตามคำสอนของเรา เป็นผู้หมดความปรารถนา
ก็จะเข้าถึงสถานที่ซึ่งเหล่าชนผู้ไปแล้ว ไม่เศร้าโศก
[๔๔๙] (มารกล่าวดังนี้)
ข้าพเจ้าได้สะกดรอยตามพระผู้มีพระภาคนานถึง ๗ ปี
ก็ยังหาโอกาสที่จะทำลายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพระสิริไม่ได้เลย
[๔๕๐] กาตัวหนึ่งบินอยู่รอบ ๆ แท่นศิลา
ที่มีสีคล้ายมันข้น ด้วยคิดว่า
‘เรากำลังจะได้ของอ่อนนุ่มในสิ่งนี้
ความยินดีพอใจก็จะมีแก่เรา’
(แต่เมื่อไม่ได้ความพอใจ รู้ว่า ‘นี้คือแท่นศิลา’ จึงหลีกไป)๑
[๔๕๑] ข้าพเจ้าก็เช่นเดียวกัน ตั้งใจว่า
จะมารบกวนก่อความรำคาญพระทัย
ให้พระสมณโคดมเบื่อเสด็จลุกหนีไป
แต่ข้าพเจ้ากลับไม่ได้รับความยินยอมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เกิดความท้อแท้จึงหลีกไป
[๔๕๒] เมื่อมารนั้นกำลังเศร้าโศกมาก
พิณที่หนีบอยู่นั้นจึงตกลงจากรักแร้
ลำดับนั้น มารนั้นผู้เสียใจ
ได้อันตรธานหายไปในที่นั้นเอง
ปธานสูตรที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความนี้แปลเติมตามนัยอรรถกถา (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๔๙-๔๕๑/๒๑๔-๒๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๓. สุภาสิตตสูตร
๓. สุภาสิตสูตร๑
ว่าด้วยวาจาสุภาษิต ๔ ประการ
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
จึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ เป็นสุภาษิต ไม่เป็น
ทุพภาษิต ไม่มีโทษ และวิญญูชนทั้งหลายไม่ติเตียน
วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. กล่าววาจาสุภาษิตอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาทุพภาษิต
๒. กล่าววาจาที่เป็นธรรมอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาที่ไม่เป็นธรรม
๓. กล่าววาจาเป็นที่รักอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาไม่เป็นที่รัก
๔. กล่าววาจาสัตย์จริงอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาเหลาะแหละ
ภิกษุทั้งหลาย วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการนี้แล เป็นสุภาษิต ไม่เป็น
ทุพภาษิต ไม่มีโทษ และวิญญูชนทั้งหลายไม่ติเตียน”
พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๔๕๓] สัตบุรุษกล่าวว่าวาจาสุภาษิตเป็นวาจาสูงสุด (นั้นเป็นองค์ที่ ๑)
บุคคลพึงกล่าววาจาที่เป็นธรรม
ไม่พึงกล่าววาจาที่ไม่เป็นธรรม นั้นเป็นองค์ที่ ๒
บุคคลพึงกล่าววาจาเป็นที่รัก

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๒๑๓/๓๐๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๓. สุภาสิตตสูตร
ไม่พึงกล่าววาจาไม่เป็นที่รัก นั้นเป็นองค์ที่ ๓
บุคคลพึงกล่าววาจาสัตย์
ไม่พึงกล่าววาจาเหลาะแหละ นั้นเป็นองค์ที่ ๔
ลำดับนั้น ท่านพระวังคีสะลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ยืนประนมมือไป
ทางพระผู้มีพระภาคประทับ แล้วได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ข้าพระองค์เข้าใจพระภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์เข้าใจ
พระภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “วังคีสะ เธอจงเข้าใจภาษิตของเราอย่างแจ่มแจ้งเถิด”
ลำดับนั้น ท่านพระวังคีสะได้กล่าวชมเชยพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาอย่างเหมาะสม
เฉพาะพระพักตร์ว่า
[๔๕๔] บุคคลพึงกล่าววาจาที่ไม่เป็นเหตุทำตนให้เดือดร้อน
และไม่เบียดเบียนผู้อื่น วาจานั้นเป็นวาจาสุภาษิตแท้
[๔๕๕] บุคคลพึงกล่าวเฉพาะวาจาเป็นที่รัก เป็นที่ถูกใจผู้ฟัง
พึงเว้นคำลามกทั้งหลายเสีย กล่าวแต่วาจาเป็นที่รักแก่คนอื่น
[๔๕๖] วาจาสัตย์เป็นวาจาไม่ตาย นี้เป็นของเก่า
สัตบุรุษล้วนดำรงมั่นอยู่ในสัจจะทั้งที่เป็นอรรถและเป็นธรรม
[๔๕๗] พระพุทธเจ้าตรัสพระวาจาใด อันเป็นวาจาเกษม
เพื่อการบรรลุนิพพาน เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์
วาจานั้นแลเป็นวาจายอดเยี่ยมกว่าวาจาทั้งหลาย
สุภาสิตสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
ว่าด้วยสุนทริกภารทวาชพราหมณ์
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำสุนทริกา แคว้นโกศล
สมัยนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์กำลังประกอบพิธีบูชาไฟ บำเรอการบูชาไฟ
อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำสุนทริกา ครั้นเสร็จสิ้นพิธีแล้วก็ลุกจากที่นั่ง เหลียวดูทิศทั้ง ๔
โดยรอบด้วยคิดว่า “ใครกันควรบริโภคเครื่องเซ่นที่เหลือนี้” พลันเหลือบไปเห็น
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งห่มคลุมพระวรกายจนถึงพระเศียรอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง
จึงใช้มือซ้ายถือเครื่องเซ่นที่เหลือ มือขวาถือคนโทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปิดผ้าคลุมพระเศียรออก เพราะได้สดับเสียง
ฝีเท้าของสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ขณะนั้นสุนทริกภารทวาชพราหมณ์กล่าวขึ้นว่า
“นี้คนหัวโล้น นี้คนหัวโล้น” ตั้งใจจะหันหลังกลับจากที่นั้น แต่แล้วได้ฉุกคิดว่า
“อันที่จริง พราหมณ์บางพวกในโลกนี้ก็หัวโล้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราควร
เข้าไปถามชาติตระกูล” ครั้นคิดเช่นนั้นแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้กล่าวว่า “ท่านมีชาติกำเนิดอะไร”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสตอบสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระคาถา
ดังนี้ว่า
[๔๕๘] เราไม่ใช่พราหมณ์ ไม่ใช่ราชโอรส ไม่ใช่แพศย์
หรือคนวรรณะใดวรรณะหนึ่ง
เรากำหนดรู้โคตรของปุถุชนทั้งหลายแล้ว
ไม่มีความกังวล ประพฤติตนอยู่ในโลกด้วยปัญญา
[๔๕๙] เรานุ่งห่มไตรจีวร ไม่มีเรือน ปลงผมแล้ว
ควบคุมตน สงบระงับได้
ไม่คลุกคลีกับหมู่คน เที่ยวจาริกไปในโลก
การที่ท่านถามเราถึงโคตรวงศ์นั้นไม่สมควรเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
[๔๖๐] (พราหมณ์ทูลถามดังนี้)
พราหมณ์ พราหมณ์ทั้งหลายด้วยกันเท่านั้น
ที่จะถามว่า ท่านเป็นพราหมณ์หรือไม่
[๔๖๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ถ้าท่านเรียกตัวเองว่าพราหมณ์
แต่มาสนทนากับเราผู้มิใช่พราหมณ์
เพราะฉะนั้น เราจะถามท่านถึงเรื่องสาวิตรีฉันท์๑
ที่มี ๓ บาท ๒๔ พยางค์
[๔๖๒] (พราหมณ์ทูลถามดังนี้)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์เป็นจำนวนมากในโลกนี้
อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
[๔๖๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เราขอชี้แจงว่า บุคคลผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ จบเวท
พึงได้รับเครื่องบูชาในกาลแห่งยัญพิธีของผู้ใด
การประกอบพิธีบูชายัญของผู้นั้น จึงจะสำเร็จผลมาก
[๔๖๔] (พราหมณ์กราบทูลดังนี้)
การบูชายัญของข้าพเจ้านั้น ชื่อว่าสำเร็จผลแน่แท้
เพราะได้พบเห็นบุคคล ผู้จบเวทเช่นพระองค์
ก็เพราะยังไม่พบบุคคลผู้ทรงคุณเช่นกับพระองค์
คนอื่น ๆ จึงได้กินเครื่องเซ่น

เชิงอรรถ :
๑ สาวิตรีฉันท์ โดยทั่วไปหมายถึงบทสวดในคัมภีร์พระเวท แต่ในที่นี้พระพุทธองค์ทรงหมายเอาอริยสาวิตรี
คือ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, สังฆัง สรณัง คัจฉามิ (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๖๑/๒๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
[๔๖๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
พราหมณ์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีความต้องการด้วยประโยชน์นี้
จงเข้ามาถามเถิด ท่านก็จะได้พบบุคคลผู้สงบ
กำจัดความโกรธได้ ไม่มีความทุกข์
ไม่มีความหวัง มีปัญญาดี ในโลกนี้แน่นอน
[๔๖๖] (พราหมณ์ทูลถามดังนี้)
ข้าพเจ้ายินดีในการบูชายัญ ปรารถนาที่จะบูชายัญ
แต่ข้าพเจ้ายังไม่รู้ ขอพระองค์โปรดตรัสสอนข้าพเจ้า
โปรดตรัสบอกสถานที่ที่การบูชายัญจะสำเร็จผล
ให้ข้าพเจ้าทราบด้วยเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงตั้งใจฟังเถิด เราจะ
แสดงธรรมแก่ท่าน”
[๔๖๗] ท่านอย่าถามถึงชาติตระกูลเลย
จงถามเฉพาะธรรมที่ประพฤติเถิด
ไฟย่อมเกิดจากไม้
แม้ผู้ที่เกิดในสกุลต่ำก็สามารถเป็นมุนี
มีปัญญา กีดกันอกุศลวิตกได้ด้วยหิริ
เป็นบุรุษอาชาไนยได้
[๔๖๘] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่พระทักขิไณยบุคคลผู้ฝึกตนจนบรรลุสัจจะ
สมบูรณ์ด้วยการฝึกอินทรีย์
ผู้จบเวท อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[๔๖๙] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละกามทั้งหลายได้แล้ว ไม่ยึดมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
สำรวมตนเคร่งครัด เที่ยวไปอยู่
เหมือนกระสวยที่ไปตรง
[๔๗๐] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ปราศจากราคะ มีอินทรีย์มั่นคงดีแล้ว
หลุดพ้นจากกิเลส เหมือนดวงจันทร์พ้นจากราหูจับ ฉะนั้น
[๔๗๑] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกิเลส มีสติอยู่ทุกเมื่อ
ละนามรูปที่ยึดถือว่าเป็นของเราได้แล้ว เที่ยวไปอยู่ในโลก
[๔๗๒] ตถาคตละกามทั้งหลายได้
มีปกติครอบงำกามทั้งหลาย เที่ยวไป
รู้ที่สุดแห่งชาติและมรณะ
ดับกิเลสเครื่องเร่าร้อนได้เด็ดขาดแล้ว
เป็นผู้เยือกเย็นเหมือนห้วงน้ำ ควรแก่เครื่องบูชา
[๔๗๓] ตถาคตผู้เสมอพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
อยู่ห่างไกลจากบุคคลผู้ไม่เสมอทั้งหลาย มีปัญญาหาที่สุดมิได้
เป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่แปดเปื้อน ไม่ว่าในโลกนี้หรือโลกไหน ๆ
ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๗๔] ตถาคต ไม่มีมายา ไม่มีมานะ ปราศจากโลภะ
ไม่ยึดถือสิ่งว่าเป็นของเรา
ไม่มีความหวัง กำจัดความโกรธ
ดับกิเลสเครื่องเร่าร้อนได้เด็ดขาด
เป็นพราหมณ์ผู้ลอยบาปได้แท้จริง
ละมลทินคือความโศกได้แล้ว ย่อมควรแก่เครื่องบูชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
[๔๗๕] ตถาคตละตัณหาและทิฏฐิ
อันเป็นกิเลสนอนเนื่องประจำใจได้แล้ว
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิเครื่องยึดถือใด ๆ
ชื่อว่าหมดความยึดมั่นในโลกนี้หรือโลกอื่น
ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๗๖] ตถาคตมีจิตเป็นสมาธิ ข้ามพ้นโอฆะได้เด็ดขาด
และรู้ธรรมด้วยปัญญาอันยอดเยี่ยม
หมดสิ้นอาสวะ ทรงไว้ซึ่งร่างกายเป็นร่างกายสุดท้าย
ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๗๗] ภวาสวะ๑และวาจาหยาบคาย
ตถาคตกำจัดให้สิ้นได้ ไม่มีอยู่
เป็นผู้จบเวท หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง๒
ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๗๘] ตถาคตผู้ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้อง ไม่มีธรรมเครื่องข้อง
เมื่อคนทั่วไปติดข้องเพราะมานะ ตถาคตขจัดมานะได้
กำหนดรู้ทุกข์พร้อมทั้งเขตและที่ตั้ง ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๗๙] ตถาคตไม่อิงอาศัยความหวัง มีปกติเห็นความสงัด
ล่วงพ้นทิฏฐิที่ผู้อื่นรู้กัน
ไม่มีกิเลสเครื่องยึดเหนี่ยวใด ๆ ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๘๐] ตถาคตรู้แจ้งธรรมทั้งที่ดีและเลว
กำจัดให้สูญสิ้นได้เด็ดขาดแล้ว เป็นผู้สงบ
น้อมจิตไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปาทาน ย่อมควรแก่เครื่องบูชา

เชิงอรรถ :
๑ ภวาสวะ หมายถึงราคะที่ประกอบด้วย (๑) ภวตัณหา (ความทะยานอยากในภพ) (๒) ฌานนิกันติ (ความ
ยึดติดในฌาน (๓) สัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๗๗/๒๓๒)
๒ ธรรมทั้งปวง หมายถึงขันธ์และอายตนะเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๗๗/๒๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
[๔๘๑] ตถาคตมีปกติเห็นภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
ขจัดสังโยชน์อันเป็นทางแห่งราคะได้หมดสิ้น
เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีโทษ ปราศจากมลทิน
หมดกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๘๒] ตถาคตไม่พิจารณาเห็นตนโดยความเป็นตน๑
มีจิตตั้งมั่น ปฏิบัติตรง ดำรงตนมั่นคง ไม่หวั่นไหว
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ หมดความสงสัย ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๘๓] ตถาคตไม่มีเหตุเกิดโมหะใด ๆ
มีปกติเห็นด้วยญาณในธรรมทั้งปวง
ทรงไว้ซึ่งร่างกายเป็นร่างกายสุดท้าย
และบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณที่ยอดเยี่ยมอันเกษม
ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ตถาคตนับว่ามีความบริสุทธิ์ที่น่าบูชา
จึงควรแก่เครื่องบูชา
[๔๘๔] (พราหมณ์กราบทูลดังนี้)
การบูชาของข้าพระองค์
จะเป็นการบูชาที่ถูกต้องอย่างแน่แท้
เพราะได้พบบุคคล ผู้จบเวทเช่นพระองค์
ขอพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นพรหมโดยประจักษ์
โปรดทรงรับ ทรงบริโภคเครื่องบูชาของข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๔๘๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
พราหมณ์ เราไม่บริโภคโภชนะ
ที่ได้มาเพราะการขับกล่อม
ธรรมนั้นมิใช่ธรรมของผู้พิจารณา

เชิงอรรถ :
๑ เห็นตนโดยความเป็นตน หมายถึงเห็นขันธ์ ๕ ด้วยจิตอันสัมปยุตด้วยญาณ (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๘๒/๒๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่รับโภชนะ
ที่ได้มาเพราะการขับกล่อม
เมื่อธรรมยังมีอยู่
การเลี้ยงชีพแบบนี้ก็ยังมีอยู่
[๔๘๖] อนึ่ง ท่านจงบำรุงพระขีณาสพ
ผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
มีความคะนองสงบแล้ว ด้วยข้าวและน้ำ
เพราะว่าการบำรุงนั้น
เป็นนาบุญของผู้แสวงบุญ
[๔๘๗] (พราหมณ์กราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระผู้พระภาค ขอประทานวโรกาส
ข้าพระองค์เข้าถึงคำสอนของพระองค์
จนรู้ชัดตามที่พระองค์ตรัสบอกแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสแสดงบุคคล
ผู้ควรจะบริโภคทักษิณาทานของข้าพระองค์
ซึ่งเป็นผู้ที่ข้าพระองค์กำลังแสวงหาในเวลาบูชายัญ
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๔๘๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
บุคคลใดปราศจากการแก่งแย่งชิงดีกัน
มีจิตไม่ขุ่นมัว หลุดพ้นแล้วจากกามทั้งหลาย
กำจัดถีนมิทธะได้แล้ว
[๔๘๙] กำจัดกิเลสส่วนสุดออกได้
รู้เท่าทันชาติและมรณะ
เป็นมุนีผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา
ถ้าบุคคลเช่นนั้นมาถึงสถานที่บูชายัญของท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
[๔๙๐] ท่านอย่าทำหน้านิ่วคิ้วขมวด จงประคองอัญชลีนอบน้อม
บูชาด้วยข้าวและน้ำเถิด
ทักษิณาของท่านจึงจะสำเร็จได้ด้วยอาการอย่างนี้
[๔๙๑] (พราหมณ์กราบทูลดังนี้)
พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าผู้ควรบูชาในโลกทั้งปวง
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม ย่อมควรรับเครื่องบูชา
ทานที่ถวายแก่พระองค์ย่อมมีผลมาก
ลำดับนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระ-
โคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศ
ธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’
ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ
ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของท่านพระโคดมเถิด”
สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชา ได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค ฯลฯ
จึงเป็นอันว่า ท่านพระสุนทริกภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดา
พระอรหันต์ทั้งหลาย
สุนทริกภารทวาชสูตรที่ ๔ จบ
๕. มาฆสูตร
ว่าด้วยมาฆมาณพทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์
ครั้งนั้น มาฆมาณพเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็น
ที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้พระภาค
ดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ความจริง ข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดี รู้ความ
ประสงค์ของผู้ขอ ควรแก่การขอ ย่อมแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ครั้นแสวงหา
ได้แล้วก็นำโภคทรัพย์ที่ตนได้มาโดยชอบธรรมแบ่งให้แก่ปฏิคาหกผู้รับทาน ๑ คนบ้าง
๒ คนบ้าง ๓ คนบ้าง ๔ คนบ้าง ๕ คนบ้าง ๖ คนบ้าง ๗ คนบ้าง ๘ คนบ้าง
๙ คนบ้าง ๑๐ คนบ้าง ๒๐ คนบ้าง ๓๐ คนบ้าง ๔๐ คนบ้าง ๕๐ คนบ้าง
๑๐๐ คนบ้าง มากกว่า ๑๐๐ คนบ้าง ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์
ให้ทานอย่างนี้ บูชาอย่างนี้ จะได้รับบุญมากไหม พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มาณพ แน่นอนทีเดียว เมื่อท่านให้ทานอย่างนี้ บูชา
อย่างนี้ ย่อมได้รับบุญมาก มาณพ บุคคลผู้เป็นทายก เป็นทานบดี รู้ความประสงค์
ของผู้ขอ ควรแก่การขอ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ครั้นแสวงหาได้แล้ว
ก็นำโภคทรัพย์ที่ตนได้มาโดยชอบธรรมแบ่งให้แก่ปฏิคาหกผู้รับทาน ๑ คนบ้าง ฯลฯ
๑๐๐ คนบ้าง มากกว่า ๑๐๐ คนบ้าง ย่อมได้รับบุญมาก”
ลำดับนั้น มาฆมาณพได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาดังนี้
[๔๙๒] ข้าพระองค์ขอทูลถามท่านพระโคดม
ผู้ทรงเปรื่องปราชญ์ในถ้อยคำ ผู้ทรงผ้ากาสาวพัสตร์
ไม่ทรงยึดมั่น เสด็จเที่ยวไปอยู่ว่า
ในโลกนี้ คฤหัสถ์ผู้ใดเป็นทานบดี ควรแก่การขอ
เป็นผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ
ให้ข้าว และน้ำ บูชาชนเหล่าอื่น
การบูชาของคฤหัสถ์ผู้นั้นที่ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ จะบริสุทธิ์ได้อย่างไร
[๔๙๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
มาฆะ ในโลกนี้ คฤหัสถ์ผู้ใดเป็นทานบดี ควรแก่การขอ
เป็นผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ
ให้ข้าว และน้ำ บูชาชนเหล่าอื่น
คฤหัสถ์ผู้เช่นนั้น พึงยังการบูชาให้สำเร็จได้
ด้วยพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
[๔๙๔] (มาฆมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย
แก่ข้าพระองค์ ผู้เป็นคฤหัสถ์ เป็นทานบดี
ควรแก่การขอ ผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ
ให้ข้าว และน้ำ บูชาชนเหล่าอื่นในโลกนี้ด้วยเถิด
[๔๙๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ไม่ข้องด้วยกิเลส
ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ผู้บริสุทธิ์ครบถ้วน
ผู้ควบคุมตนได้ เที่ยวไปในโลก
[๔๙๖] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ตัดเครื่องผูกคือสังโยชน์ได้ทั้งหมด
ฝึกตนแล้ว มีจิตหลุดพ้น ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
[๔๙๗] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้หลุดพ้นจากสังโยชน์ทั้งปวง
ฝึกตนแล้ว มีจิตหลุดพ้น ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
[๔๙๘] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว
สิ้นอาสวะ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[๔๙๙] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
แก่เหล่าชนผู้ไม่มีมายา ไม่มีมานะ
สิ้นอาสวะ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[๕๐๐] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ปราศจากโลภะ
ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา ไม่มีความหวัง
สิ้นอาสวะ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[๕๐๑] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้มีจิตไม่น้อมไปในตัณหาทั้งหลาย
ข้ามโอฆะได้ ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา เที่ยวไป
[๕๐๒] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ไม่มีตัณหา๑เป็นเหตุให้เกิดภพใหม่
ในโลกไหน ๆ คือในโลกนี้หรือโลกอื่น
[๕๐๓] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละกามทั้งหลายได้แล้ว
ไม่มีความยึดถือ สำรวมตนดีแล้ว เที่ยวไป
เหมือนกระสวยที่ไปตรง ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ตัณหา แปลว่า ความทะยานอยาก ในที่นี้หมายถึง ตัณหา ๖ อย่างคือ (๑) รูปตัณหา (ความทะยานอยาก
ในรูป) (๒) สัททตัณหา (ความทะยานอยากในเสียง) (๓) คันธตัณหา (ความทะยานอยากในกลิ่น)
(๔) รสตัณหา (ความทะยานอยากในรส) (๕) โผฏฐัพพตัณหา (ความทะยานอยากในสิ่งที่ถูกต้องกาย)
(๖) ธัมมตัณหา (ความทะยานอยากในอารมณ์ที่เกิดกับใจ) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓/๑๐, ขุ.สุ.อ. ๒/๕๐๒/๒๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
[๕๐๔] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ปราศจากราคะ มีอินทรีย์มั่นคงดีแล้ว
หลุดพ้นจากกิเลส เหมือนดวงจันทร์พ้นจากราหูจับ ฉะนั้น
[๕๐๕] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้สงบ ผู้ปราศจากราคะ ไม่มีความโกรธ
ผู้ไม่มีคติ เพราะละขันธ์ ๕ ในโลกนี้ได้แล้ว
[๕๐๖] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละชาติและมรณะได้หมดสิ้นแล้ว
ล่วงพ้นความสงสัยทุกอย่าง
[๕๐๗] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง เที่ยวไปในโลก
[๕๐๘] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้รู้แจ้งในขันธ์และอายตนะเป็นต้น
ตามสภาวะที่เป็นจริงว่า
นี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่มีภพใหม่อีกต่อไป
[๕๐๙] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่ท่านผู้จบเวท ยินดีในฌาน
มีสติ บรรลุสัมโพธิญาณ
เป็นสรณะของเทวดาและมนุษย์จำนวนมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
[๕๑๐] (มาฆมาณพกราบทูลดังนี้)
คำถามของข้าพระองค์ไม่เปล่าประโยชน์แน่แท้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสบอก
พระทักขิไณยบุคคลทั้งหลายแก่ข้าพระองค์แล้ว
ความจริง พระองค์ทรงทราบเญยยธรรมทั้งหมด
ในโลกนี้อย่างถ่องแท้
ธรรมนี้พระองค์ทรงรู้แจ้งแล้ว
[๕๑๑] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกยัญญสัมปทา๑
แก่ข้าพระองค์ผู้เป็นคฤหัสถ์ เป็นทานบดี ควรแก่การขอ
ผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ ให้ข้าว และน้ำ
บูชาชนเหล่าอื่นในโลกนี้ด้วยเถิด
[๕๑๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
มาฆะ ท่านเมื่อจะบูชาก็จงบูชาเถิด
และจงทำจิตให้ผ่องใสในกาลทั้งปวง
ยัญย่อมเป็นอารมณ์หน่วงจิตของผู้กำลังบูชาบุคคล
ผู้มีจิตตั้งมั่นในยัญนี้แล้ว ย่อมละโทษ๒ได้
[๕๑๓] อนึ่ง บุคคลนั้นปราศจากราคะแล้ว ควรกำจัดโทสะ
เจริญเมตตาจิตทั่วไปแก่สัตว์ทุกจำพวก
ไม่ประมาททั้งกลางวันและกลางคืนเป็นนิตย์
ชื่อว่าย่อมแผ่อัปปมัญญา๓ไปทั่วทิศ

เชิงอรรถ :
๑ ยัญญสัมปทา หมายถึงความสมบูรณ์ของการบูชาครบ ๓ กาล คือ (๑) ก่อนให้ ก็มีใจดี (๒) ขณะให้
ก็ทำจิตให้ผ่องใส (๓) ครั้นให้แล้ว ก็ชื่นใจ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๑๒/๒๔๑)
๒ โทษ มี ๓ อย่าง คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๑๒/๒๔๑)
๓ อัปปมัญญา ในที่นี้หมายถึงเมตตาฌาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๑๓/๒๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
[๕๑๔] (มาฆมาณพทูลถามดังนี้)
ใคร ชื่อว่าบริสุทธิ์ หลุดพ้น และชื่อว่ายังติดอยู่
บุคคลจะไปให้ถึงพรหมโลกด้วยตนได้อย่างไร
ข้าแต่พระมุนี ข้าพระองค์ไม่รู้ จึงทูลถาม
ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ก็พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระพรหม
ข้าพระองค์เห็นโดยประจักษ์ในวันนี้
เพราะพระองค์เป็นผู้เสมอด้วยพรหมของข้าพระองค์จริง ๆ
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความรุ่งเรือง
บุคคลจะเข้าถึงพรหมโลกได้อย่างไร
[๕๑๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
มาฆะ บุคคลผู้บูชายัญญสัมปทาครบทั้ง ๓ กาลเช่นนั้น
พึงยังการบูชาให้บริสุทธิ์ด้วยพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย
เราเรียกบุคคลผู้ควรแก่การขอ
บูชาถวายไทยธรรมอย่างนั้นว่า
เข้าถึงพรหมโลกได้แน่นอน
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว มาฆมาณพได้กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่าน
พระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอพระองค์จงทรงจำ
ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
มาฆสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
๖. สภิยสูตร
ว่าด้วยสภิยปริพาชกทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น เทวดาผู้เคยเป็นสาโลหิต๑ของสภิยปริพาชกได้ตั้งปัญหา
พร้อมกล่าวว่า “สภิยะ สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใด ถูกท่านถามปัญหาเหล่านี้แล้ว
พยากรณ์ได้ ท่านควรประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสมณะหรือพราหมณ์ผู้นั้นเถิด”
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกเรียนปัญหาเหล่านั้นในสำนักของเทวดานั้น แล้วเข้า
ไปหาสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง
มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่คนส่วนมากยกย่องว่าดีเลิศ คือ ปูรณะ กัสสปะ
มักขลิ โคสาล อชิตะ เกสกัมพล ปกุธะ กัจจานะ สัญชัย เวลัฏฐบุตร นิครนถ์
นาฏบุตร แล้วถามปัญหาเหล่านั้น
ท่านเหล่านั้นถูกถามแล้วไม่สามารถตอบได้ เมื่อตอบไม่ได้ก็แสดงความโกรธ
ความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏออกมา ทั้งยังกลับย้อนถามสภิยปริพาชก
เสียอีก
ต่อมา สภิยปริพาชกมีความคิดดังนี้ว่า “ท่านสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นเจ้า
หมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่
คนส่วนมากยกย่องว่าดีเลิศ คือ ท่านปูรณะ กัสสปะ ฯลฯ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร
ถูกเราถามปัญหาแล้วไม่สามารถตอบได้ เมื่อตอบไม่ได้ก็แสดงความโกรธ ความ
ขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏออกมา ทั้งยังกลับย้อนถามเราในข้อนั้นเสียอีก
ถ้าเป็นอย่างนี้ละก็ เราเปลี่ยนเพศเป็นคฤหัสถ์ไปเสพกามเสียดีกว่า”

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “สาโลหิต” ในที่นี้มิใช่เป็นมารดา มิใช่เป็นบิดา แต่เป็นเหมือนมารดา เหมือนบิดา เพราะมี
อัธยาศัยเกื้อกูลต่อกัน (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
ต่อมา สภิยปริพาชกกลับคิดขึ้นได้ว่า “พระสมณโคดมนี้ก็เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ
เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่คนส่วนมากยกย่องว่าดี
เลิศเช่นกัน อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหาเหล่านี้”
แต่แล้ว สภิยปริพาชกกลับคิดเช่นนี้ว่า “ท่านสมณพราหมณ์ทั้งหลายล้วนเป็น
ผู้เจริญทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ เป็นพระเถระ
เป็นรัตตัญญูบุคคล บวชมานาน เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง
มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่คนส่วนมากยกย่องว่าดีเลิศ คือ ท่านปูรณะ กัสสปะ
ฯลฯ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร ท่านเหล่านั้นถูกเราถามปัญหาแล้วก็ยังไม่สามารถ
ตอบได้ เมื่อไม่สามารถตอบได้ ก็ยังแสดงความโกรธ ความขัดเคือง และความ
ไม่พอใจให้ปรากฏออกมา ทั้งยังกลับย้อนถามเราในข้อนั้นเสียอีก พระสมณโคดม
ถูกเราถามปัญหาเหล่านี้แล้ว จักพยากรณ์ตอบได้อย่างไร เพราะพระสมณโคดม
ยังหนุ่มนัก และออกบวชก็ยังไม่นาน”
หลังจากนั้น สภิยปริพาชกกลับคิดขึ้นได้ว่า “เราไม่ควรดูหมิ่น ไม่ควร
ดูแคลนพระสมณโคดมว่า ยังหนุ่มนัก ความจริง แม้พระสมณโคดมจะยังหนุ่ม
แต่ก็เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปหาพระสมณ-
โคดมแล้วถามปัญหาเหล่านี้ดีกว่า”
ต่อจากนั้น สภิยปริพาชกได้ออกเดินทางมุ่งหน้าไปทางกรุงราชคฤห์ เที่ยวจาริก
ไปโดยลำดับ จนกระทั่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาป-
สถาน เขตกรุงราชคฤห์ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลด้วยคาถาว่า
[๕๑๖] ข้าพระองค์มีความเคลือบแคลงสงสัย
มุ่งหวังจะทูลถามปัญหา
พระองค์โปรดตรัสตอบปัญหาที่ข้าพระองค์ทูลถามให้สิ้นสงสัย
โปรดพยากรณ์ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมไปตามลำดับ
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
[๕๑๗] สภิยะ ท่านเดินทางมาไกล มุ่งหวังเพื่อจะถามปัญหา
เราจะกล่าวเฉลยปัญหาที่ท่านถามให้สิ้นสงสัย
เราจะพยากรณ์ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมไปตามลำดับแก่ท่าน
[๕๑๘] สภิยะ ท่านปรารถนาจะถามปัญหาข้อใดข้อหนึ่งอยู่ในใจ
ก็จงถามมาเถิด
เราจะตอบปัญหานั้น ๆ ให้หมดแก่ท่าน
ทันใดนั้น สภิยปริพาชกคิดว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ เราไม่เคยได้
โอกาสสักหน่อยในสมณพราหมณ์เหล่าอื่นเลย แต่พระสมณโคดมได้ทรงให้โอกาสนี้
แก่เราแล้ว” เขาจึงดีใจ เบิกบาน แช่มชื่น เกิดปีติโสมนัส ได้ทูลถามปัญหากับพระ
ผู้มีพระภาคว่า
[๕๑๙] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ภิกษุ
บุคคลปฏิบัติอย่างไรบัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้สงบเสงี่ยม
บุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้ฝึกตนแล้ว
บุคคลรู้อย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า พุทธะ
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ด้วยพระคาถาดังนี้)
[๕๒๐] สภิยะ บุคคลใดควรแก่คำชมเชยว่า
เป็นผู้ถึงนิพพานด้วยทางที่ตนทำแล้ว
ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ละความเสื่อมและความเจริญแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์ สิ้นภพใหม่แล้ว
บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ภิกษุ๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๘/๘๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
[๕๒๑] บุคคลผู้วางเฉยในอารมณ์ทั้งปวง มีสติ
ไม่เบียดเบียนสัตว์ไร ๆ ในโลกทั้งหมด
เป็นผู้ข้ามโอฆะได้ เป็นผู้สงบ
มีจิตไม่ขุ่นมัว ไม่มีกิเลสฟุ้งซ่าน
บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ผู้สงบเสงี่ยม
[๕๒๒] บุคคลใดอบรมอินทรีย์ทั้งหลายได้แล้วในโลกทั้งปวง
ทั้งภายในและภายนอก รู้ชัดทั้งโลกนี้และโลกหน้า
รอคอยอยู่แต่เวลาเท่านั้น
บุคคลนั้นผู้อบรมตนแล้วเช่นนี้
บัณฑิตเรียกว่า ผู้ฝึกตนแล้ว๑
[๕๒๓] บุคคลผู้พิจารณากิเลสเครื่องกำหนดจิตทั้งสิ้น
รู้ชัดสังสารวัฏทั้ง ๒ ส่วน คือจุติและอุบัติ
ปราศจากธุลี ไม่มีกิเลสพอกพูน
เป็นผู้หมดจด บรรลุภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
บัณฑิตเรียกว่า พุทธะ
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ดีใจ
เบิกบาน แช่มชื่น เกิดปีติโสมนัส ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคต่อไปว่า
[๕๒๔] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า พราหมณ์
บุคคลประพฤติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า สมณะ
บุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้ล้างบาปได้
บุคคลประพฤติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า นาคะ๒
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๐/๒๘๒, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๘/๑๑๘
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๘๕ ในเล่มนี้ และดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘๐/๒๓๘, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๗/๑๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
[๕๒๕] สภิยะ บุคคลผู้ลอยบาปทั้งปวงได้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากมลทิน เป็นผู้ประเสริฐ
มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิ ดำรงตนมั่นคง
ข้ามพ้นสังสารวัฏ เป็นผู้บริสุทธิ์ครบถ้วน
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้คงที่
บุคคลนั้นบัณฑิตเรียกว่า พราหมณ์๑
[๕๒๖] บุคคลผู้สงบ ละบุญและบาปได้
เป็นผู้ปราศจากธุลี รู้โลกนี้และโลกหน้า
ล่วงพ้นชาติและมรณะได้แล้ว
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า สมณะ
[๕๒๗] บุคคลผู้ชำระล้างบาปได้ทั้งหมด
ทั้งภายในและภายนอก ในโลกทั้งปวง๒
ไม่กลับมาสู่กัป ในเทวดาและมนุษย์ผู้ยังท่องเที่ยวอยู่ในกัป๓
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า ผู้ล้างบาปได้
[๕๒๘] บุคคลผู้ไม่ทำบาปแม้เล็กน้อยในโลก
สลัดสังโยชน์และเครื่องผูกพันได้ทั้งหมด
ไม่ติดข้องอยู่ในกิเลสเครื่องข้องทั้งปวง เป็นผู้หลุดพ้น
เป็นผู้คงที่ ผู้ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า นาคะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๕/๑๐๕, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๘/๑๔๗
๒ โลกทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงอายตนะทั้งหมด (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๒๗/๒๕๓)
๓ กัป ในที่นี้หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๒๗/๒๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคเป็นข้อ
ต่อไปว่า
[๕๒๙] พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกบุคคลเช่นไรว่า ผู้ชนะเขต
ตรัสเรียกบุคคลว่า ผู้ฉลาด ด้วยอาการอย่างไร
อย่างไร จึงตรัสเรียกว่า บัณฑิต
และอย่างไร ตรัสเรียกว่า มุนี
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๕๓๐] สภิยะ บุคคลพิจารณาเขต๑ทั้งสิ้น
คือ เขตเทวดา เขตมนุษย์ และเขตพรหมแล้ว
ผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกที่เป็นมูลเหตุแห่งเขต๒ทั้งมวล
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า ผู้ชนะเขต
[๕๓๑] บุคคลพิจารณากระเปาะฟอง๓ทั้งสิ้น
คือ กระเปาะฟองเทวดา กระเปาะฟองมนุษย์
และกระเปาะฟองพรหมแล้ว
ผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกที่เป็นมูลเหตุแห่งกระเปาะฟองทั้งมวล
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า ผู้ฉลาด
[๕๓๒] บุคคลพิจารณาอายตนะทั้ง ๒ ประการ
คือ อายตนะทั้งภายในและภายนอกแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ เขต ในที่นี้หมายถึงอายตนะ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๐/๒๕๓)
๒ เครื่องผูกที่เป็นมูลเหตุแห่งเขต หมายถึงอวิชชา ตัณหา และภพ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๐/๒๕๔)
๓ กระเปาะฟอง หมายถึงกรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๑/๒๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
มีปัญญาบริสุทธิ์ ก้าวพ้นธรรมดำและธรรมขาว๑ได้แล้ว
เป็นผู้คงที่ ผู้ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า บัณฑิต
[๕๓๓] บุคคลรู้ธรรมทั้งของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ
ทั้งภายในและภายนอกในโลกทั้งปวง
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจข่ายได้แล้ว
ควรได้รับความเคารพบูชาจากเทวดาและมนุษย์
บุคคลนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า มุนี๒
ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคเป็นข้อ
ต่อไปว่า
[๕๓๔] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้จบเวท
บุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้รู้ตาม
บุคคลประพฤติตนอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้มีความเพียร
และบุคคลตัดอะไรได้ บัณฑิตจึงเรียกว่า บุรุษอาชาไนย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๕๓๕] สภิยะ บุคคลเลือกเฟ้นเวท๓ทั้งสิ้น
ของสมณพราหมณ์ทั้งหลายที่มีอยู่
ปราศจากราคะในเวทนาทั้งปวง
ก้าวล่วงเวททั้งปวงได้แล้ว
บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ผู้จบเวท๔

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมดำและธรรมขาว หมายถึงบาปและบุญ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๒/๒๕๕)
๒ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๑/๑๒๙
๓ เวท ในที่นี้หมายถึงศาสตร์ความรู้ของสมณพราหมณ์ทั้งหมด (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๕/๒๕๕)
๔ เวท ในที่นี้หมายถึงมัคคญาณ ๔ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๕/๒๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
[๕๓๖] บุคคลพิจารณารู้เท่าทันกิเลสเครื่องเนิ่นช้า
และนามรูปภายในตน
และกิเลสอันเป็นมูลเหตุแห่งโรคในภายนอก
เป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกอันเป็นมูลเหตุแห่งโรคทั้งปวง
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า ผู้รู้ตาม
[๕๓๗] ในโลกนี้ บุคคลผู้งดเว้นบาปทั้งหมด
ล่วงพ้นทุกข์ในนรก มีความเพียร
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า ผู้มีความเพียร
มีความมุ่งมั่น เป็นนักปราชญ์
[๕๓๘] บุคคลตัดเครื่องผูก๑อันเป็นมูลเหตุแห่งกิเลสเครื่องข้อง
ทั้งภายในและภายนอกได้แล้ว
เป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูก
อันเป็นมูลเหตุแห่งกิเลสเครื่องข้องทั้งปวง
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า บุรุษอาชาไนย
ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคเป็นข้อ
ต่อไปว่า
[๕๓๙] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้มีสุตะ
บัณฑิตเรียกบุคคลว่า อริยะ ด้วยอาการอย่างไร
บุคคลประพฤติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้มีจรณะ
และบุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ปริพาชก
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด

เชิงอรรถ :
๑ เครื่องผูก ในที่นี้หมายถึงกิเลสทั้งหลาย มีราคะเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๘/๒๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๕๔๐] สภิยะ บุคคลผู้สดับแล้ว รู้ยิ่งธรรมทั้งปวง
ครอบงำธรรมทั้งที่มีโทษและไม่มีโทษต่าง ๆ มีอยู่ในโลกได้
หมดความสงสัย มีจิตหลุดพ้น
ไม่มีความทุกข์ในธรรมทั้งปวง๑
บัณฑิตเรียกว่า ผู้มีสุตะ
[๕๔๑] บุคคลผู้มีปัญญา ตัดอาลัยและอาสวะได้แล้ว
ไม่ถือกำเนิดเกิดในครรภ์อีก
ละสัญญา ๓ อย่าง และละเปือกตมคือกามได้
ไม่กลับมาสู่กัป๒อีก
บัณฑิตเรียกว่า อริยะ
[๕๔๒] ในศาสนานี้ บุคคลผู้บรรลุธรรมที่ควรบรรลุเพราะจรณะ๓
เป็นผู้ฉลาด รู้ธรรมได้ในกาลทุกเมื่อ
ไม่ข้องอยู่ในธรรมทั้งปวง
มีจิตหลุดพ้นแล้ว ไม่มีปฏิฆะ
บัณฑิตเรียกว่า ผู้มีจรณะ
[๕๔๓] บุคคลผู้กำจัดธรรมที่มีทุกข์เป็นวิบากซึ่งมีอยู่
ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้แล้ว
ประพฤติตนอยู่ด้วยปัญญาพิจารณา

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงขันธ์ และอายตนะ เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๔๐/๒๕๘)
๒ กัป ในที่นี้หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๔๑/๒๕๘)
๓ จรณะ หมายถึงความประพฤติ,ปฏิปทา ในที่นี้หมายถึงจรณะ ๑๕ คือ (๑) สีลสัมปทา (ความถึงพร้อม
ด้วยศีล) (๒) อินทรียสังวร (การสำรวมอินทรีย์) (๓) โภชเนมัตตัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการ
บริโภค (๔) ชาคริยานุโยค (การหมั่นประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่น) (๕) ศรัทธา (๖) หิริ
(๗) โอตตัปปะ (๘) ความเป็นพหูสูต (๙) วิริยารัมภะ (ปรารภความเพียร) (๑๐) ความมีสติมั่นคง
(๑๑) ปัญญา (๑๒) ปฐมฌาน (๑๓) ทุติยฌาน (๑๔) ตติยฌาน (๑๕) จตุตถฌาน (ม.ม. (แปล) ๑๓/๒๓-๒๖/
๒๖-๓๐, ขุ.สุ.อ. ๒/๕๔๒/๒๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
และละมายา มานะ โลภะ และโกธะได้หมดสิ้น
ทำนามรูปให้สิ้นสุดลงได้
บัณฑิตเรียกว่า ปริพาชก
ผู้บรรลุธรรมที่ควรบรรลุ
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ดีใจ
เบิกบาน แช่มชื่น เกิดปีติโสมนัส ลุกจากที่นั่ง ทำผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประคอง
อัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วได้สดุดีพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาที่เหมาะสม
เฉพาะพระพักตร์ว่า
[๕๔๔] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน
พระองค์ทรงกำจัดมิจฉาทิฏฐิ ๓ และมิจฉาทิฏฐิ ๖๐
ที่อาศัยคัมภีร์เป็นหลักการของพวกสมณะลัทธิอื่น
ซึ่งอาศัยอักษรสื่อความหมาย และสัญญาที่วิปริต
ทรงก้าวพ้นความมืดคือโอฆะได้แล้ว
[๕๔๕] พระองค์ทรงเป็นผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เป็นผู้ถึงฝั่ง
ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ข้าพระองค์ตระหนักในพระองค์ว่า มีอาสวะสิ้นแล้ว
พระองค์ทรงมีความรุ่งเรือง มีความรู้ มีปัญญามาก
ได้ทรงแนะนำข้าพระองค์ผู้ทำที่สุดทุกข์ให้ข้ามได้แล้ว
[๕๔๖] เพราะพระองค์ได้ทรงทราบปัญหาที่ข้าพระองค์สงสัย
ทรงช่วยให้ข้าพระองค์ข้ามพ้นความลังเลใจ
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพระมุนี
ผู้ทรงบรรลุธรรมที่ควรบรรลุในแนวทางของมุนี
ไม่มีกิเลสฝังแน่นพระทัย
ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์ผู้ทรงสงบเสงี่ยมอย่างยิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
[๕๔๗] พระองค์ผู้มีพระจักษุ ได้ทรงพยากรณ์ปัญหาข้อสงสัย
ที่เคยมีมาก่อนของข้าพระองค์จนหมดสิ้นแล้ว
พระองค์ไม่มีนิวรณ์ จึงนับว่าเป็นพระมุนี
ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองแน่แท้
[๕๔๘] อนึ่ง ความคับแค้นใจทั้งหมด
พระองค์ทรงกำจัดตัดถอนได้แล้ว
พระองค์จึงมีพระทัยเยือกเย็น
มีการอบรมตนถึงที่สุดแล้ว มีพระปัญญาทรงจำมั่นคง
มีความบากบั่นในสัจจะเป็นนิตย์
[๕๔๙] เทวดาทั้ง ๒ พวกที่อาศัยอยู่ ณ นารทบรรพตทั้งหมด
พากันชื่นชมอนุโมทนาพระองค์ผู้ประเสริฐ
ยิ่งใหญ่ในหมู่คนผู้ประเสริฐ ผู้ทรงมีความเพียรยิ่งใหญ่
ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่
[๕๕๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษสูงสุด
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ไม่มีผู้ใดเลยที่จะทรงคุณเสมอด้วยพระองค์
ในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก
[๕๕๑] พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า
เป็นพระศาสดา เป็นพระมุนีครอบงำมารได้
ทรงตัดอนุสัยกิเลสได้ ทรงข้ามห้วงน้ำใหญ่คือสงสารได้แล้ว
ยังทรงช่วยหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามตามไปได้ด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
[๕๕๒] พระองค์ทรงล่วงพ้นอุปธิกิเลสได้
ทำลายอาสวะได้แล้ว ไม่มีอุปาทาน (ความถือมั่น)
ละความหวาดกลัวภัยได้ เหมือนพญาราชสีห์ไม่กลัวต่อหมู่เนื้อ๑
[๕๕๓] พระองค์ไม่ทรงติดอยู่ในบุญและบาปทั้งสอง
เหมือนดอกบัวขาวที่สวยงามไม่ติดอยู่ในน้ำ
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร
ขอพระองค์โปรดเหยียดพระบาทออกมาเถิด
สภิยะจะขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระศาสดา
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกหมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วย
เศียรเกล้าแล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมอย่างแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือน
บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีป
ในที่มืด โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค
พร้อมทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้
บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สภิยะ ผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์มาก่อน หวังจะบรรพชา
อุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาสเป็นเวลา ๔ เดือน เมื่อครบ ๔ เดือนแล้ว
ภิกษุทั้งหลายพอใจจึงจะบรรพชาอุปสมบทให้เป็นภิกษุ แต่ในเรื่องการอยู่ปริวาสนี้
เราก็ทราบความแตกต่างของแต่ละบุคคล”
สภิยปริพาชกกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์มา
ก่อน หวังจะบรรพชาอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาสเป็นเวลา ๔ เดือน
เมื่อครบ ๔ เดือนแล้ว ภิกษุทั้งหลายพอใจจึงจะบรรพชาอุปสมบทให้เป็นภิกษุ
ข้าพระองค์ก็จะขออยู่ปริวาสเป็นเวลา ๔ ปี เมื่อครบ ๔ ปี หากภิกษุทั้งหลายพอใจก็
ขอโปรดบรรพชาอุปสมบทให้ข้าพระองค์เป็นภิกษุด้วยเถิด”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๘๓๙-๘๔๐/๔๗๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกก็ได้รับการบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค
เมื่อท่านพระสภิยะอุปสมบทได้ไม่นาน ก็จากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความ
เพียร อุทิศกายและใจ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญา
อันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่
ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป
จึงเป็นอันว่า ท่านพระสภิยะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์
ทั้งหลาย
สภิยสูตรที่ ๖ จบ
๗. เสลสูตร๑
ว่าด้วยเสลพราหมณ์
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป
เสด็จเที่ยวจาริกไปในอังคุตตราปชนบท เสด็จถึงอาปณนิคมของชาวอังคุตตราป-
ชนบท
เกณิยชฎิลได้สดับข่าวว่า “ได้ยินว่า พระสมณโคดมศากยบุตร เสด็จออก
ผนวชจากศากยตระกูลกำลังเสด็จจาริกอยู่ในอังคุตตราปชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เสด็จไปตามลำดับจนถึงอาปณนิคมแล้ว ท่านพระ-
โคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชา
และจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น ทรงรู้แจ้งโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์

เชิงอรรถ :
๑ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๙๖-๓๙๙/๔๙๐-๕๐๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงประกาศให้ผู้อื่น
รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง”
เกณิยชฎิลนิมนต์เสวยภัตตาหาร
หลังจากนั้น เกณิยชฎิลได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนา
ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วจึงนั่ง ณ
ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เกณิยชฎิลเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ครั้งนั้น
เกณิยชฎิลผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหาร
ของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อเกณิยชฎิลกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเขาดังนี้ว่า
“เกณิยะ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป แม้ท่านก็ยังเลื่อมใสในพวกพราหมณ์ยิ่งนัก”
แม้ครั้งที่ ๒ เกณิยชฎิลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระโคดม
ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป ทั้งข้าพระองค์เป็นผู้เลื่อมใสในพวกพราหมณ์
ก็จริง ถึงอย่างนั้น ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของ
ข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเขาว่า “เกณิยะ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป
แม้ท่านก็ยังเลื่อมใสในพวกพราหมณ์ยิ่งนัก”
แม้ครั้งที่ ๓ เกณิยชฎิลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระโคดม
ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป ทั้งข้าพระองค์เป็นผู้เลื่อมใสในพวกพราหมณ์
ก็จริง ถึงอย่างนั้น ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์
ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี เมื่อเกณิยชฎิลทราบอาการ
ที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากที่นั่งเข้าไปสู่อาศรมของตนแล้วเรียก
พวกมิตร คนสนิท และญาติสาโลหิตมาบอกว่า “ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอแจ้ง
ให้ทราบว่า ข้าพเจ้าได้นิมนต์พระสมณโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหาร
เช้าวันพรุ่งนี้ จึงขอให้ท่านทั้งหลายสละแรงกายช่วยเหลือข้าพเจ้าด้วยเถิด” ชนเหล่านั้น
รับคำแล้ว บางพวกขุดที่ทำเตา บางพวกฝ่าฟืน บางพวกล้างถ้วยโถโอชาม บางพวก
จัดหาน้ำใช้น้ำฉัน บางพวกปูอาสนะ ส่วนเกณิยชฎิลลงมือตบแต่งโรงประรำพิธีเอง
ทีเดียว
เสลพราหมณ์ได้ฟังคำว่าพุทธะ
สมัยนั้น เสลพราหมณ์อาศัยอยู่ที่ป่าอาปณนิคม เป็นผู้มีความรู้จบไตรเพท
พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ รู้ตัวบท
และไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์ และการทำนายลักษณะมหาบุรุษ ทั้งยัง
เป็นอาจารย์สอนมนตร์แก่มาณพจำนวน ๓๐๐ คนอีกด้วย
สมัยนั้น เกณิยชฎิลก็เป็นผู้หนึ่งที่มีความเลื่อมใสในเสลพราหมณ์มาก ขณะนั้น
เสลพราหมณ์กำลังเดินพักผ่อนพร้อมกับมาณพ ๓๐๐ คนติดตามไปห่าง ๆ ผ่านไป
ทางอาศรมของเกณิยชฎิล ได้เห็นคนบางพวกกำลังขุดที่ทำเตา ฯลฯ บางพวกปู
อาสนะ ส่วนเกณิยชฎิลกำลังลงมือตบแต่งโรงประรำพิธีเองทีเดียว ครั้นเห็นดังนั้น
จึงกล่าวกับเกณิยชฎิลดังนี้ว่า “ท่านเกณิยะ จะมีพิธีอาวาหมงคล วิวาหมงคลหรือ
พิธีบูชามหายัญจะปรากฏแก่ท่าน หรือท่านได้ทูลเชิญพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
ให้เสด็จมาเสวยพระกระยาหารพร้อมกับข้าราชบริพารในเช้าวันพรุ่งนี้หรือ”
เกณิยชฎิลบอกว่า “ข้าแต่ท่านเสละ อาวาหมงคล วิวาหมงคลไม่มีแก่ข้าพเจ้า
ทั้งพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ข้าพเจ้าก็มิได้ทูลเชิญเสด็จมาเสวยพระกระยาหาร
พร้อมทั้งข้าราชบริพารในเช้าวันพรุ่งนี้เลย แต่พิธีมหายัญได้ปรากฏแก่ข้าพเจ้า
เนื่องจากพระสมณโคดมศากยบุตรผู้เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล กำลังเสด็จจาริก
ไปในอังคุตตราปชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เสด็จมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
ตามลำดับจนถึงอาปณนิคมแล้ว ท่านพระโคดมพระองค์นั้นมีพระกิตติศัพท์อันงาม
ขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ข้าพเจ้าได้นิมนต์พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหารในเช้าวันพรุ่งนี้”
เสลพราหมณ์ถามว่า “ท่านเกณิยะ ท่านกล่าวคำว่า พุทธะ หรือ”
เกณิยชฎิลตอบว่า “ท่านเสละ ใช่ ข้าพเจ้ากล่าวคำว่า พุทธะ”
เสลพราหมณ์ถามย้ำอีกว่า “ท่านเกณิยะ ท่านกล่าวคำว่า พุทธะ หรือ”
เกณิยชฎิลก็ตอบย้ำว่า “ท่านเสละ ใช่ ข้าพเจ้ากล่าวคำว่า พุทธะ”
ลำดับนั้น เสลพราหมณ์ได้คิดว่า “ว่าตามลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ
ในคัมภีร์มนตร์ของพวกเราระบุว่า ‘แม้แต่เสียงประกาศ คือคำว่า พุทธะ นี้ก็หา
ได้ยากในโลก’ ซึ่งมหาบุรุษผู้ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ย่อมมี
คติ ๒ ประการเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ
ถ้าอยู่ครองเรือนก็จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ปกครองแผ่นดินโดยธรรม
พระราชอำนาจแผ่ไปทั่วปฐพีมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะข้าศึกทั้ง
ภายในและภายนอก มีพระราชอาณาจักรมั่นคง ทรงสมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นารีแก้ว คหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว
พระองค์มีพระราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ พระองค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีพระรูป
สง่างามสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถจะทำลายกองทัพข้าศึก พระองค์ทรงพิชิตชัยโดย
คุณธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ทรงครอบครองแผ่นดินนี้ ซึ่งมี
สมุทรสาครเป็นขอบเขต
ถ้าเสด็จออกจากเรือนผนวชเป็นบรรพชิต จะสำเร็จเป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก”
เสลพราหมณ์ถามว่า “ท่านเกณิยะ ขณะนี้ท่านพระโคดมผู้เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
เสลพราหมณ์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
เมื่อเสลพราหมณ์ถามอย่างนี้แล้ว เกณิยชฎิลได้ยกแขนขวาขึ้นได้กล่าวกับ
เสลพราหมณ์ดังนี้ว่า “ท่านเสละ ท่านจงเดินไปทางบริเวณทิวไม้สีเขียวนั้นเถิด”
เมื่อได้ฟังดังนั้น เสลพราหมณ์พร้อมทั้งมาณพ ๓๐๐ คน จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ พลางเรียกมาณพเหล่านั้นมาเตือนว่า “ท่านทั้งหลาย จงอย่า
ส่งเสียงดัง ค่อย ๆ เดินตามกันไปให้เป็นระเบียบ เพราะท่านผู้เจริญเหล่านั้นชอบอยู่
ตามลำพังดุจพญาราชสีห์ให้ยินดีได้ยาก อนึ่ง ขณะที่เรากำลังสนทนากับพระสมณ-
โคดม ขอพวกท่านอย่าพูดสอดแทรกขึ้น รอให้เราสนทนาจบเสียก่อน”
เมื่อตักเตือนศิษย์อย่างนี้แล้ว เสลพราหมณ์พาศิษย์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกัน แล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร พลางตรวจดูลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ
ในพระวรกายพระผู้มีพระภาค ก็ได้เห็นลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการในพระวรกาย
ของพระผู้มีพระภาคเป็นส่วนมาก เว้นอยู่เพียง ๒ ประการ จึงยังเคลือบแคลง สงสัย
ไม่มั่นใจ ไม่ยอมรับ ในลักษณะมหาบุรุษอีก ๒ ประการ คือ (๑) พระคุยหฐานที่
เร้นอยู่ในฝัก (๒) พระชิวหาที่ยาวยิ่ง
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า “เสลพราหมณ์นี้เห็นลักษณะมหาบุรุษ
๓๒ ประการของเราเป็นส่วนมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ จึงยังเคลือบแคลง สงสัย
ไม่มั่นใจ ไม่ยอมรับในลักษณะมหาบุรุษอีก ๒ ประการ คือ (๑) พระคุยหฐานที่เร้นอยู่
ในฝัก (๒) พระชิวหาที่ยาวยิ่ง”
ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธาภิสังขารให้เสลพราหมณ์ได้เห็น
พระคุยหฐานที่เร้นอยู่ในฝัก และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณทั้ง ๒
สลับกันไปมา แล้วทรงย้ายกลับมาสอดเข้าช่องพระนาสิกทั้งสองสลับกัน แล้วจึง
ทรงแผ่พระชิวหาปิดบริเวณพระนลาฏทั้งหมด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
เสลพราหมณ์กับศิษย์กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท
เสลพราหมณ์คิดว่า “พระสมณโคดมทรงประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒
ประการบริบูรณ์ ไม่บกพร่อง แต่เรายังไม่ทราบว่าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าจริง
หรือไม่ เราเคยฟังคำของพราหมณ์ทั้งหลายผู้สูงวัย เป็นผู้ใหญ่ เป็นอาจารย์ต่อ ๆ
กันมา กล่าวสอนไว้ว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมแสดง
พระองค์ให้ปรากฏในเมื่อบุคคลกล่าวถึงคุณของพระองค์ อย่ากระนั้นเลย เราควร
ชมเชยพระสมณโคดมเฉพาะพระพักตร์เป็นคาถาที่เหมาะสม”
เมื่อคิดได้ดังนั้น เสลพราหมณ์จึงสดุดีพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาที่เหมาะสม
เฉพาะพระพักตร์ว่า
[๕๕๔] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์เสด็จอุบัติมาดีแล้ว
มีพระวิริยภาพ มีพระวรกายสมบูรณ์
มีพระรัศมีเรืองงาม เป็นผู้น่าทัศนายิ่งนัก
มีพระฉวีวรรณเปล่งปลั่งดั่งทอง
มีพระเขี้ยวแก้วขาวสะอาด
[๕๕๕] เพราะพระลักษณะมหาบุรุษ
ที่มีปรากฏแก่มหาบุรุษนั้น
ย่อมมีปรากฏในพระวรกายของพระองค์อย่างครบถ้วน
[๕๕๖] พระองค์มีพระเนตรแจ่มใส มีพระพักตร์ผุดผ่อง
มีพระวรกายสูงใหญ่ตรง
มีพระเดช ทรงรุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางหมู่สมณะ
เหมือนดวงอาทิตย์รุ่งเรืองอยู่ ฉะนั้น
[๕๕๗] พระองค์เป็นภิกษุ มีคุณสมบัติงดงามน่าชม
มีพระฉวีวรรณผุดผ่องดั่งทอง
พระองค์มีพระวรรณะสูงส่งถึงเพียงนี้
จะเป็นสมณะไปทำไม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
[๕๕๘] พระองค์ควรเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
ที่องอาจในหมู่พลรถ ทรงปราบปรามชนะไพรี
ทรงเป็นใหญ่ในภาคพื้นชมพูทวีป
ซึ่งมีสมุทรสาครทั้งสี่เป็นขอบเขต
[๕๕๙] ข้าแต่พระโคดม ขอเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิจอมมนุษย์ตามพระราชประเพณี
ที่กษัตราธิราชโดยพระชาติได้เสวยราชย์
มีหมู่เสวกามาตย์เสด็จตามพระองค์เถิด
[๕๖๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
เสลพราหมณ์ เราเป็นพระราชาอยู่แล้ว
คือเป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม
ยังธรรมจักรที่ไม่มีใคร ๆ หมุนไปได้ ให้หมุนไปได้
[๕๖๑] (เสลพราหมณ์กราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระโคดม พระองค์ทรงปฏิญญาว่า
เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม
ทั้งยังตรัสยืนยันว่ายังธรรมจักรให้หมุนไปได้
[๕๖๒] ใครหนอเป็นเสนาบดีของพระองค์ผู้เจริญ
เป็นสาวกผู้ประพฤติตามเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์ผู้เป็นศาสดา
ใครจะช่วยประกาศธรรมจักรที่พระองค์ทรงให้หมุนไปแล้วนี้ได้
[๕๖๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
เสลพราหมณ์ สารีบุตรผู้เกิดตามตถาคต
จะช่วยประกาศธรรมจักรที่ยอดเยี่ยม
ซึ่งเราให้หมุนไปแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
[๕๖๔] พราหมณ์ เราได้รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง
ได้เจริญธรรมที่ควรให้เจริญ
ได้ละธรรมที่ควรละได้แล้ว
เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพระพุทธเจ้า
[๕๖๕] พราหมณ์ ท่านจงขจัดความสงสัยในตัวเราเสีย
จงน้อมใจเชื่อเราเสียเถิด
การได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนือง ๆ
เป็นโอกาสที่หาได้ยาก
[๕๖๖] ผู้จะปรากฏเนือง ๆ ในโลก
ย่อมเป็นการหาได้ยาก
พราหมณ์ เรานั้น เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นหมอผ่าตัดลูกศรคือกิเลสชั้นเยี่ยม
[๕๖๗] เราเป็นผู้ประเสริฐสุด ไม่มีผู้เปรียบเทียบ
ย่ำยีมารและเสนามารได้
ควบคุมอมิตร๑ทั้งปวงไว้ในอำนาจ
ไม่มีภัยจากที่ไหน เบิกบานอยู่
[๕๖๘] (เสลพราหมณ์กล่าวดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระองค์
จงทรงใคร่ครวญคำของข้าพระองค์นี้
เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ
เป็นหมอผ่าตัดลูกศรคือกิเลส
เป็นมหาวีระได้ตรัสไว้
เหมือนพญาราชสีห์บรรลือสีหนาทอยู่ในป่า

เชิงอรรถ :
๑ อมิตร ในที่นี้หมายถึงมาร ๕ คือ (๑) กิเลสมาร(มารคือกิเลส) (๒) ขันธมาร(มารคือเบญจขันธ์)
(๓) อภิสังขารมาร(มารคืออภิสังขาร) (๔) เทวปุตตมาร(มารคือเทพบุตร) (๕) มัจจุมาร(มารคือความตาย)
(ขุ.สุ.อ. ๒/๕๖๗/๒๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
[๕๖๙] ใครเห็นพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐสุด
ไม่มีผู้เปรียบเทียบ
ย่ำยีมารและเสนามารได้ จะไม่พึงเลื่อมใสเล่า
ถึงคนผู้เกิดในตระกูลต่ำก็ยังเลื่อมใส
[๕๗๐] ผู้ปรารถนาจะตามฉัน ก็เชิญมา
หรือผู้ที่ไม่ปรารถนา ก็เชิญกลับไป
ฉันจะบวชในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาประเสริฐนี้
[๕๗๑] (มาณพเหล่านั้นกล่าวดังนี้)
หากท่านอาจารย์ประทับใจคำสอน
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นนี้
แม้เราทั้งหลายก็จะบวช
ในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาประเสริฐ
[๕๗๒] พราหมณ์ ๓๐๐ คนนี้พากันประนมมือ ทูลขอบรรพชาว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลาย
จะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระองค์
[๕๗๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
เสละ พรหมจรรย์ เรากล่าวไว้ดีแล้ว
ผู้บรรลุจะเห็นได้เอง ให้ผลไม่จำกัดกาล
ในศาสนาที่มีการบรรพชาไม่ไร้ผล๑
เมื่อคนที่ไม่ประมาท หมั่นศึกษาอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ข้อ ๕๕๔-๕๗๓ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๘๑๘-๘๓๗/๔๗๖-๔๗๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
เสลพราหมณ์พร้อมทั้งบริวารได้รับการบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี
พระภาคแล้ว
ฝ่ายเกณิยชฎิล ครั้นคืนนั้นผ่านไป สั่งให้จัดของขบฉันอย่างประณีตไว้ในอาศรม
ของตนแล้วส่งคนไปกราบทูลภัตตกาลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ขณะนั้น เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวร เสด็จไปยังอาศรมของเกณิยชฎิลแล้วประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาปูไว้
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
จากนั้น เกณิยชฎิลได้นำของขบฉันอันประณีต ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระ-
พุทธเจ้าเป็นประธานให้อิ่มหนำสำราญ ด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ
แล้วทรงวางพระหัตถ์ เกณิยชฎิลเลือกเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่งแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร
พระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิล
พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิลด้วยพระคาถาดังนี้
[๕๗๔] การบูชาไฟเป็นการบูชายัญอันประเสริฐ
ว่าด้วยเรื่องฉันท์ สาวิตรีฉันท์เป็นฉันท์อันดับแรก
พระราชาเป็นประมุขของมนุษย์ทั้งหลาย
สมุทรสาครเป็นศูนย์รวมแห่งแม่น้ำทั้งหลาย
[๕๗๕] ดาวนักษัตรทั้งหลาย มีดวงจันทร์เด่นสกาว
มวลความร้อนมีดวงอาทิตย์เป็นเจ้า
หมู่ชนผู้มุ่งแสวงบุญอยู่มีพระสงฆ์เท่านั้น
เป็นทางเจริญแห่งบุญแท้จริงของผู้บูชา
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิลด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้วก็เสด็จ
ลุกจากอาสนะจากไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
ต่อมา ท่านพระเสละพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวารจากไปอยู่เพียงลำพัง ไม่ประมาท
มีความเพียร อุทิศกายและใจ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็น
ที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ
ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป
จึงเป็นอันว่า ท่านพระเสละพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวารได้เป็นพระอรหันต์
จำนวนหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ครั้งนั้น ท่านพระเสละพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวารได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ได้กราบทูลด้วยคาถาว่า
[๕๗๖] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ
ข้าพระองค์ทั้งหลายถึงพระองค์เป็นสรณะครบ ๘ วันนับจากวันนี้
จึงเป็นอันว่าข้าพระองค์ทั้งหลายฝึกฝนตนสำเร็จ
ในศาสนาของพระองค์ใช้เวลา ๗ วันเท่านั้น
[๕๗๗] พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า
เป็นพระศาสดา เป็นพระมุนีครอบงำมารได้
ทรงตัดอนุสัยกิเลสได้ ทรงข้ามห้วงน้ำใหญ่คือสงสารได้แล้ว
ยังทรงช่วยหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามตามไปได้ด้วย
[๕๗๘] พระองค์ทรงล่วงพ้นอุปธิกิเลสได้
ทำลายอาสวะได้แล้ว ไม่มีอุปาทาน
ละความหวาดกลัวภัยได้ เหมือนพญาราชสีห์ไม่กลัวต่อหมู่เนื้อ๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูข้อ ๕๕๑-๕๕๒ หน้า ๖๒๘-๖๒๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๘. สัลลสูตร
[๕๗๙] ภิกษุ ๓๐๐ รูปนี้ ยืนประนมมือกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแกล้วกล้า
ขอพระองค์โปรดเหยียดพระยุคลบาทออกมาเถิด
ขอเชิญท่านผู้ประเสริฐทั้งหลาย
ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระศาสดาเถิด
เสลสูตรที่ ๗ จบ
๘. สัลลสูตร
ว่าด้วยลูกศรคือกิเลส
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แก่อุบาสกคนหนึ่งผู้โศกเศร้าเพราะบุตรตาย
ด้วยพระคาถาดังนี้)
[๕๘๐] ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้
ไม่มีนิมิต๑ ใคร ๆ รู้ไม่ได้ ทั้งลำบาก
สั้นนิดเดียว และประกอบด้วยทุกข์
[๕๘๑] วิธีที่สัตว์ผู้เกิดมาแล้วจะไม่ตายย่อมไม่มี
แม้จะอยู่ไปจนถึงชรา ก็จะต้องถึงแก่ความตาย
เพราะสัตว์ทั้งหลายมีความตายอย่างนี้เป็นธรรมดา
[๕๘๒] สัตว์ที่เกิดมาแล้ว มีภัยจากความตายเป็นนิตย์
เหมือนผลไม้สุกแล้วมีภัยจากการหล่นไปในเวลาเช้า ฉะนั้น
[๕๘๓] ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำไว้ทั้งหมด
มีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีนิมิต หมายถึงไม่มีกิริยาอาการบ่งบอกว่าจะตาย (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๘๐/๒๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๘. สัลลสูตร
[๕๘๔] มนุษย์ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โง่ และฉลาด ทั้งหมด
ย่อมไปสู่อำนาจความตาย มีความตายรออยู่ข้างหน้า
[๕๘๕] เมื่อมนุษย์เหล่านั้นถูกความตายครอบงำอยู่
กำลังจะจากโลกนี้ไปสู่ปรโลก
บิดาก็ต้านทานบุตรไว้ไม่ได้
หรือหมู่ญาติก็ต้านทานญาติไว้ไม่ได้
[๕๘๖] เมื่อพวกญาติ กำลังเพ่งมองดูอยู่
รำพันกันเป็นอันมากอยู่นั่นแหละว่า จงดูสัตว์แต่ละตน ๆ
ถูกความตายนำไป เหมือนโคถูกนำไปฆ่า ฉะนั้น
[๕๘๗] สัตว์โลกถูกความแก่และความตายครอบงำอยู่อย่างนี้๑
เพราะฉะนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายทราบชัด
ความเป็นจริงของสัตว์โลกแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก
[๕๘๘] ท่านไม่รู้ทางของผู้มาหรือผู้ไป
เมื่อไม่เห็นที่สุดทั้ง ๒ นี้ ถึงจะคร่ำครวญไปก็ไร้ประโยชน์
[๕๘๙] หากผู้ที่หลงคร่ำครวญ เบียดเบียนตนอยู่
จะพึงนำประโยชน์อะไรมาได้บ้าง
บัณฑิตผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ก็จะพึงกระทำเช่นนั้นบ้าง๒
[๕๙๐] บุคคลจะได้รับความสงบใจ เพราะการร้องไห้
เพราะความเศร้าโศกก็หาไม่
ทุกข์ย่อมเกิดแก่ผู้นั้นยิ่งขึ้น
และร่างกายของเขามีแต่จะซีดเซียวลง

เชิงอรรถ :
๑ ข้อ ๕๘๒-๕๘๗ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓๙/๑๔๒-๑๔๗, ขุ.ชา (แปล) ๒๘/๑๑๙/๒๐๑
๒ ดู ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๙๐/๓๖๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๘. สัลลสูตร
[๕๙๑] ผู้ที่เบียดเบียนตนเอง ย่อมจะซูบผอม ไม่ผ่องใส
สัตว์ทั้งหลายผู้ละไปสู่ปรโลก
หาคุ้มครองตนอยู่ด้วยการคร่ำครวญนั้นได้ไม่
ฉะนั้น การคร่ำครวญจึงเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์๑
[๕๙๒] ผู้ทอดถอนใจถึงคนที่ตายไปแล้วอยู่เสมอ
บรรเทาความเศร้าโศกไม่ได้
ตกอยู่ในอำนาจแห่งความเศร้าโศก
ย่อมได้รับทุกข์มากขึ้น
[๕๙๓] ท่านจงดูแม้คนเหล่าอื่นผู้ใกล้จะตายไปตามกรรม
และสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ผู้ตกอยู่ในอำนาจมัจจุราช
ต่างพากันดิ้นรนอยู่ทั้งนั้น
[๕๙๔] อาการใด ๆ ที่สัตว์ทั้งหลายสำคัญหมาย
อาการนั้น ๆ ย่อมแปรผันเป็นอื่นไป๒
การพลัดพรากจากกันและกันเช่นนี้ มีอยู่เป็นประจำ
ท่านจงพิจารณาดูความเป็นจริงของสัตว์โลกเถิด
[๕๙๕] บุคคลแม้จะดำรงชีวิตอยู่ถึง ๑๐๐ ปี
หรือเกินไปบ้างก็ตาม ก็ต้องพลัดพรากจากหมู่ญาติ
และต้องละทิ้งชีวิตไว้ในโลกนี้แน่นอน
[๕๙๖] เพราะฉะนั้น บุคคลฟังธรรมเทศนาของพระอรหันต์แล้ว
เห็นคนล่วงลับดับชีวิตไป กำหนดรู้ว่าผู้ล่วงลับดับชีวิตไปนั้น
ไม่สามารถฟื้นคืนชีวิตอยู่ร่วมกับเราได้อีก
ควรกำจัดความคร่ำครวญ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๙๑/๓๖๙
๒ หมายถึงที่หวังไว้ว่า ‘ขอให้มีอายุยืน’ ก็กลับกลายเป็นสิ่งตรงข้ามคือตายไป และที่หวังไว้ว่า ‘ขอให้ไม่มีโรค’
ก็กลับกลายมีโรค เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๙๔/๒๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๕๙๗] ธีรชนผู้มีปัญญา ฉลาดปราชญ์เปรื่อง
ควรขจัดความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
เหมือนลมพัดนุ่นปลิวไป
เหมือนคนใช้น้ำดับไฟที่กำลังไหม้ลุกลาม ฉะนั้น
[๕๙๘] บุคคลผู้แสวงหาความสุขแก่ตน
ควรกำจัดความคร่ำครวญ ความทะยานอยาก
และโทมนัสของตน
ควรถอนลูกศรคือกิเลสของตน
[๕๙๙] บุคคลผู้ถอนลูกศรคือกิเลสได้แล้ว
เป็นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย
ถึงความสงบใจ ล่วงพ้นความเศร้าโศกได้ทั้งหมด
ไม่มีความเศร้าโศก ชื่อว่าดับกิเลสได้แล้ว
สัลลสูตรที่ ๘ จบ
๙. วาเสฏฐสูตร
ว่าด้วยวาเสฏฐมาณพทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนื้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคละ ใกล้หมู่บ้าน
อิจฉานังคละ สมัยนั้น พราหมณ์มหาศาลมีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก คือ จังกีพราหมณ์
ตารุกขพราหมณ์ โปกขรสาติพราหมณ์ ชาณุสโสณิพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์
และพราหมณมหาศาลมีชื่อเสียงอื่น ๆ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านอิจฉานังคละ
ครั้งนั้น วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพกำลังเดินเล่นพักผ่อน ระหว่างนั้น
ได้สนทนาถึงข้อความนี้ว่า “เพื่อนเอ๋ย บุคคลชื่อว่าพราหมณ์ โดยวิธีอย่างไร”
ภารทวาชมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า “เพื่อนเอ๋ย บุคคลที่เกิดมาดีทั้ง ๒ ฝ่าย คือ
ทั้งฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุรษ ไม่มีใคร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
จะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล เพื่อนเอ๋ย เพราะเหตุดังกล่าวมานี้
บุคคลนั้นจึงชื่อว่า พราหมณ์”
วาเสฏฐมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า “เพื่อนเอ๋ย บุคคลเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร
เพราะเหตุดังกล่าวมานี้จึงชื่อว่า พราหมณ์”
ภารทวาชมาณพไม่สามารถให้วาเสฏฐมาณพยอมรับเหตุผลของตนได้ ฝ่าย
วาเสฏฐมาณพก็ไม่สามารถให้ภารทวาชมาณพยอมรับเหตุผลของตนได้เช่นกัน
ลำดับนั้น วาเสฏฐมาณพได้กล่าวเชิงปรึกษากับภารทวาชมาณพว่า “ภารทวาชะ
เพื่อนรัก พระสมณโคดมศากยบุตรพระองค์นี้เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล ประทับ
อยู่ที่ราวป่าอิจฉานังคละ ใกล้หมู่บ้านอิจฉานังคละ ก็ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์
อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็น
พระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ภารทวาชะเพื่อนรัก เราทั้งสองเข้าไปเฝ้าพระ
สมณโคดม ณ ที่ประทับกันเถิด แล้วเราจะทูลถามถึงเรื่องนี้กับพระองค์ จะได้จดจำ
ข้อความที่พระองค์ทรงพยากรณ์แก่เรา”
ภารทวาชมาณพรับคำวาเสฏฐมาณพว่า “อย่างนั้นก็ได้เพื่อน”
ต่อจากนั้น วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร วาเสฏฐมาณพได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคด้วยคาถาว่า
[๖๐๐] ข้าพระองค์ทั้งสองเป็นผู้ได้รับยกย่อง
และรับรองจากอาจารย์ว่า เป็นผู้ได้ศึกษาจบไตรเพท
ข้าพระองค์เป็นหัวหน้าศิษย์ของโปกขรสาติพราหมณ์
ส่วนภารทวาชมาณพนี้เป็นหัวหน้าศิษย์ของตารุกขพราหมณ์
[๖๐๑] ข้าพระองค์ทั้งสอง ศึกษาจบไตรเพท
ตามที่อาจารย์ผู้แตกฉานอบรมสั่งสอน
เป็นผู้เข้าใจตัวบท ชำนาญไวยากรณ์
ในพระเวทเทียบเท่าอาจารย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๐๒] ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทั้งสองนั้นเกิดโต้เถียงกัน
ในเรื่องเหตุที่ทำให้บุคคลเป็นพราหมณ์
ภารทวาชมาณพกล่าวว่า
บุคคลเป็นพราหมณ์ เพราะชาติกำเนิด
ส่วนข้าพระองค์กล่าวว่า
บุคคลเป็นพราหมณ์ เพราะกรรม
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด
[๖๐๓] ข้าพระองค์ทั้งสองนั้นไม่สามารถตกลงกันได้
จึงพากันมาทูลถามพระองค์ผู้ทรงปรากฏพระนามว่า
เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๖๐๔] ข้าพระองค์ทั้งสองประนมมือถวายนมัสการพระองค์
ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลก
เหมือนชนทั้งหลายประนมมือ
น้อมไหว้พระจันทร์วันเพ็ญโดยทั่วถึงกัน
[๖๐๕] ข้าพระองค์ทั้งสองขอทูลถามพระโคดมผู้มีพระจักษุ
ผู้เสด็จอุบัติดีแล้วในโลกว่า
บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิด
หรือเพราะกรรมหนอ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกข้าพระองค์ทั้งสอง
ผู้ไม่รู้ให้รู้จักพราหมณ์ที่แท้จริงด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๖๐๖] วาเสฏฐะ เราจะพยากรณ์ถึงความพิสดาร
แห่งชาติกำเนิดของสัตว์ทั้งหลาย
ตามลำดับความเหมาะสมแก่เธอ
เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายมีชาติกำเนิดแตกต่างกันหลายเผ่าพันธุ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๐๗] เธอทั้งหลายย่อมรู้จักหญ้าและต้นไม้
แต่หญ้าและต้นไม้ก็ไม่ยอมรับว่าเป็นหญ้าเป็นต้นไม้
หญ้าและต้นไม้นั้นมีสัณฐานสำเร็จมาแต่กำเนิด
เพราะธรรมชาติของมันต่างกัน
[๖๐๘] ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักแมลง ตั๊กแตน
ตลอดจนถึงมดดำ มดแดง
สัตว์เหล่านั้นต่างมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน
[๖๐๙] เธอทั้งหลายจงรู้จักสัตว์สี่เท้า ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่
สัตว์เหล่านั้นมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน
[๖๑๐] เธอทั้งหลายจงรู้จักสัตว์เลื้อยคลาน
ที่ใช้ท้องแทนเท้า มีสันหลังยาว
สัตว์เหล่านั้นมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน
[๖๑๑] ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักปลา
และสัตว์น้ำประเภทอื่นที่เกิดเที่ยวหากินอยู่ในน้ำ
สัตว์เหล่านั้นมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน
[๖๑๒] ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักสัตว์ปีกที่บินไปในอากาศ
สัตว์เหล่านั้นมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน
[๖๑๓] ในหมู่มนุษย์ ไม่มีรูปร่างสัณฐานแตกต่างกันไป
ตามกำเนิดมากมาย เหมือนกำเนิดของสัตว์เหล่านี้เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๑๔] คือ ไม่มีการกำหนดว่า เป็นพราหมณ์ เป็นกษัตริย์เป็นต้น
ด้วยผม ศีรษะ ใบหู นัยน์ตา ใบหน้า จมูก ริมฝีปาก คิ้ว
[๖๑๕] คอ บ่า ท้อง หลัง สะโพก อก
ซอกอวัยวะ อวัยวะสืบพันธุ์
[๖๑๖] มือ เท้า นิ้วมือ เล็บ แข้ง ขาอ่อน
ผิวพรรณ หรือเสียง
ในหมู่มนุษย์จึงไม่มีรูปร่างสัณฐาน
แตกต่างกันตามกำเนิดมากมาย
เหมือนในกำเนิดอื่น ๆ เลย
[๖๑๗] ในหมู่มนุษย์ไม่มีลักษณะเฉพาะตัวในสรีระของแต่ละคน
และในหมู่มนุษย์ การเรียกชื่อต่างกันว่า พราหมณ์ กษัตริย์ เป็นต้น
ท่านบัญญัติเรียกเพียงโวหาร
[๖๑๘] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า ชาวนา ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๑๙] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามเลี้ยงชีพ
ด้วยการช่างฝีมืออันเป็นศิลปะต่าง ๆ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า ช่างศิลป์ ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๐] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยการค้าขายเลี้ยงชีพ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า พ่อค้า ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๑] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามเลี้ยงชีพด้วยการรับใช้ผู้อื่น
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า คนรับใช้ ไม่เรียกว่า พราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๒๒] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยการลักทรัพย์ผู้อื่นเลี้ยงชีพ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า โจร ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๓] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยลูกศรและศัสตราเลี้ยงชีพ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า ทหารอาชีพ ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๔] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามเลี้ยงชีพด้วยการเป็นปุโรหิต
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า ผู้เป็นที่เคารพบูชา ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๕] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามปกครองท้องถิ่นและแว่นแคว้น
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า พระราชา ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๖] ผู้ถือกำเนิดจากมารดา (ที่เป็นพราหมณ์)
เราไม่เรียกว่า พราหมณ์
เขาเป็นเพียงผู้ชื่อว่า โภวาที เท่านั้น
เขายังมีกิเลสเครื่องกังวล
แต่เราเรียกผู้ที่ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ไม่ถือมั่นเท่านั้นว่า พราหมณ์๑
[๖๒๗] ผู้ตัดสังโยชน์ได้หมดสิ้น ไม่สะดุ้ง
ผู้ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้องได้ ผู้ปราศจากโยคะ
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๘] ผู้ตัดชะเนาะ เชือกหนัง และเงื่อน
พร้อมทั้งสายรัดได้ ถอดลิ่มสลัก เป็นผู้ตรัสรู้แล้ว
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๓๙๖-๔๒๓ หน้า ๑๕๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๒๙] ผู้ไม่ประทุษร้าย อดกลั้นคำด่า
การฆ่า และการจองจำได้
มีขันติเป็นพลัง มีขันติเป็นกำลังพล
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๐] ผู้ไม่มักโกรธ มีศีล มีวัตร
ไม่มีตัณหาเครื่องฟูขึ้น ฝึกตนได้แล้ว
มีสรีระเป็นร่างกายสุดท้าย
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๑] ผู้ใดไม่ติดในกามทั้งหลาย
เหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว
เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดอยู่บนปลายเหล็กแหลม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๓๒] ผู้ใดในธรรมวินัยนี้ รู้ชัดความสิ้นทุกข์ของตน
ปลงภาระได้แล้ว ปราศจากโยคะ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๓๓] ผู้มีปัญญาลึกซึ้ง เป็นนักปราชญ์
ฉลาดในทางและมิใช่ทาง
บรรลุประโยชน์สูงสุด
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๔] ผู้ไม่คลุกคลีกับคน ๒ จำพวก
คือ คฤหัสถ์ และบรรพชิต
ไม่มีความอาลัยเที่ยวไป มีความปรารถนาน้อย
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๕] ผู้ใดละวางโทษทัณฑ์ในสัตว์ทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง และสัตว์ที่มั่นคง
ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้คนอื่นฆ่า
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๓๖] ผู้ไม่มุ่งร้ายในหมู่คนผู้มุ่งร้าย
ผู้สงบในหมู่คนผู้ชอบหาเรื่องใส่ตน
ผู้ไม่ถือมั่นในหมู่คนผู้ถือมั่น
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๗] ผู้ใดทำราคะ โทสะ โมหะ มานะ และมักขะให้ตกไป
เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดตกไปจากปลายเหล็กแหลม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๓๘] ผู้กล่าวคำที่ไม่หยาบคาย สื่อความหมายได้
เป็นคำจริง ไม่เป็นเหตุให้ใคร ๆ ขัดเคือง
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๙] ผู้ใดในโลกนี้ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
ไม่ว่ายาวหรือสั้น เล็กหรือใหญ่ งามหรือไม่งาม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๐] ผู้ใดไม่มีความหวังในโลกนี้และโลกหน้า
ปราศจากความหวัง ปราศจากโยคะ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๑] ผู้ใดไม่มีความอาลัย หมดความสงสัยเพราะรู้ชัด
หยั่งลงสู่อมตะ บรรลุแล้ว
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๒] ผู้ใดในโลกนี้ละบุญและบาปทั้งสองได้
พ้นจากกิเลสเครื่องข้องได้ ไม่เศร้าหมอง
ปราศจากกิเลสดุจธุลี เป็นผู้บริสุทธิ์
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๓] ผู้บริสุทธิ์ดุจจันทร์แจ่ม
มีจิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัว
เป็นผู้สิ้นความยินดีในภพ
เราเรียกว่า พราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๔๔] ผู้ใดก้าวพ้นทางอ้อม๑ทางหล่ม๒
สงสาร และโมหะได้แล้ว
ข้ามไปถึงฝั่งแล้ว เจริญฌาน
ไม่หวั่นไหว หมดความสงสัย
ดับเย็น เพราะไม่ถือมั่น
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๕] ผู้ใดในโลกนี้ละกามได้แล้ว
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นกามและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๖] ผู้ใดในโลกนี้ละตัณหาได้เด็ดขาด
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นตัณหาและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๗] ผู้ละกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นของมนุษย์ได้๓
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นทิพย์ได้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากโยคะทั้งปวง
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๘] ผู้ละทั้งความยินดี๔ และความไม่ยินดี๕
เป็นผู้เยือกเย็น หมดอุปธิกิเลส

เชิงอรรถ :
๑ ทางอ้อม ในที่นี้หมายถึงราคะ (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๔๔/๒๙๙)
๒ ทางหล่ม ในที่นี้หมายถึงกิเลส (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๔๔/๒๙๙)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๖๖ ในเล่มนี้
๔ ดูเชิงอรรถที่ ๓ หน้า ๑๖๖ ในเล่มนี้
๕ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๑๖๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
ครอบงำโลกทั้งหมด เป็นผู้แกล้วกล้า
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๙] ผู้ใดรู้การจุติและการอุบัติ
ของสัตว์ทั้งหลายโดยประการทั้งปวง
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นผู้ไม่ติดข้อง ไปดีแล้ว
และตรัสรู้แล้วว่า พราหมณ์
[๖๕๐] ผู้ใดมีคติที่เทวดา คนธรรพ์ และมนุษย์ก็รู้ไม่ได้
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นอรหันตขีณาสพว่า พราหมณ์
[๖๕๑] ผู้ใดไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
หมดความยึดมั่นถือมั่นว่า พราหมณ์
[๖๕๒] ผู้องอาจ ผู้ประเสริฐ ผู้แกล้วกล้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ชำนะแล้ว
ผู้ไม่หวั่นไหว ผู้ชำระแล้ว และผู้ตรัสรู้แล้ว
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๕๓] ผู้ใดระลึกอดีตชาติได้ เห็นสวรรค์และอบาย
บรรลุภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๕๔] อันที่จริง ชื่อและโคตรที่เขากำหนดให้กันนั้น
เป็นเพียงสมมติบัญญัติในโลก
ชื่อและโคตรปรากฏอยู่ได้เพราะรู้ตามกันมา
ญาติสาโลหิตกำหนดไว้ในการเกิดนั้น ๆ
[๖๕๕] ชื่อและโคตรที่กำหนดเรียกกันนี้
เป็นความเห็นที่ฝังแน่นอยู่ในใจมานานของคนผู้ไม่รู้ความจริง
เมื่อไม่รู้จึงกล่าวว่า บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๓ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น