Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๖-๑๐ หน้า ๔๘๑ - ๕๓๓

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖-๑๐ สุตตันตปิฎกที่ ๑๘ ขุททกนิกาย
วิมาน เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย เถรคาถา
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๗. ภัททิยกาฬิโคธาปุตตเถรคาถา
[๘๔๗] ฯลฯ ถือการเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร
มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๔๘] ฯลฯ ถือการฉันหนเดียวเป็นวัตร มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๔๙] ฯลฯ ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๕๐] ฯลฯ ถือการห้ามอาหารที่เขานำมาถวายภายหลังฉันเป็นวัตร
มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๕๑] ฯลฯ ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๕๒] ฯลฯ ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๕๓] ฯลฯ ถือการอยู่กลางแจ้งเป็นวัตร มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๕๔] ฯลฯ ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๕๕] ฯลฯ ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่ท่านจัดให้เป็นวัตร
มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๕๖] ฯลฯ ถือการนั่งเป็นวัตร มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๕๗] ฯลฯ มีความปรารถนาน้อย มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๕๘] ฯลฯ มีความสันโดษ มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๕๙] ฯลฯ ชอบสงัด มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๖๐] ฯลฯ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๖๑] ข้าพระองค์มีนามว่าภัททิยะ เป็นโอรสของพระนางกาฬิโคธา
ปรารภความเพียร มีความเพียรต่อเนื่อง
ยินดีในอาหารที่บิณฑบาตได้มา
ไม่มีความยึดมั่น เพ่งพินิจอยู่
[๘๖๒] ข้าพระองค์ได้ละทิ้งจานทองคำลวดลายวิจิตร
หนักร้อยปละมาใช้แทนบาตรดิน
นี้เป็นการอภิเษกครั้งที่สอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๘๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๘. อังคุลิมาลเถรคาถา
[๘๖๓] เมื่อก่อน ข้าพระองค์มีหมู่ทหาร
ถือดาบคอยคุ้มครองรักษาอยู่ในพระนคร
ซึ่งมีป้อมและซุ้มประตูอย่างแข็งแรง
ซึ่งแวดล้อมด้วยกำแพงเป็นวงกลม สูงลิ่ว อยู่อย่างหวาดระแวง
[๘๖๔] บัดนี้ ข้าพระองค์มีนามว่าภัททิยะ เป็นโอรสของพระนางกาฬิโคธา
เป็นผู้เจริญ ไม่หวาดระแวง ละความหวาดกลัวภัยเสียได้
มาสู่ป่า เพ่งพินิจอยู่
[๘๖๕] ดำรงมั่นอยู่ในกองศีล เจริญสติและปัญญาอยู่
ได้บรรลุความสิ้นสังโยชน์ทั้งหมดแล้ว โดยลำดับ
๘. อังคุลิมาลเถรคาถา
ภาษิตของพระองคุลิมาลเถระ
(พระองคุลิมาลเถระ ครั้งยังเป็นคฤหัสถ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยภาษิตว่า)
[๘๖๖] ท่านสมณะ ท่านยังเดินอยู่ แต่กลับกล่าวว่า เราหยุดแล้ว
และกล่าวหาเราซึ่งหยุดแล้วว่า ไม่หยุด
ท่านสมณะ เราขอถามท่านถึงความข้อนี้ที่ว่า
ท่านหยุดแล้ว แต่เราซิ ไม่หยุด อย่างไรกัน
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบองคุลิมาลโจรนั้นด้วยพระคาถาว่า)
[๘๖๗] องคุลิมาล เราได้ละทิ้งโทษทัณฑ์ในสัตว์ทั้งมวลอยู่ทุกเมื่อ
ส่วนท่านซิไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่าหยุดแล้ว
ส่วนท่านชื่อว่ายังไม่หยุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๘๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๘. อังคุลิมาลเถรคาถา
(องคุลิมาลโจร กราบทูลว่า)
[๘๖๘] เป็นเวลานานหนอที่พระองค์ซึ่งเป็นสมณะ
ที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกบูชา ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ได้เสด็จพระราชดำเนินมาสู่ป่าใหญ่เพื่ออนุเคราะห์ข้าพระองค์
ข้าพระองค์นั้น ได้สดับพระพุทธภาษิต
ซึ่งประกอบด้วยธรรมของพระองค์จะเลิกละบาปตั้งพัน
(พระสังคีติกาจารย์ ได้รจนา ๒ ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๘๖๙] ครั้นองคุลิมาลโจรกราบทูลแล้ว
ก็ได้โยนดาบและอาวุธทิ้งเหวซึ่งทั้งกว้างและลึก
ได้ถวายบังคมพระยุคลบาทพระสุคต
ได้ทูลขอบวชกับพระพุทธเจ้า ณ ที่นั้นนั่นเอง
[๘๗๐] ทันใดนั้นเอง พระพุทธเจ้า ทรงมีพระกรุณา
ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นศาสดาของชาวโลก
พร้อมทั้งเทวโลก ได้ตรัสกับองคุลิมาลโจรนั้นว่า
จงเป็นภิกษุมาเถิด เพียงเท่านี้
องคุลิมาลโจรนั้น ก็ได้เป็นภิกษุ
(พระองคุลิมาลเถระเกิดปีติโสมนัส จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๘๗๑] ผู้ใด ประมาทแล้วในกาลก่อน
ภายหลัง ไม่ประมาท
ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว
ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ
[๘๗๒] บาปกรรมที่ทำไว้ ผู้ใดปิดกั้นเสียได้ ด้วยกุศล
ผู้นั้น ย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว
ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๘๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๘. อังคุลิมาลเถรคาถา
[๘๗๓] ภิกษุใดแลยังหนุ่มแน่น
ย่อมประกอบขวนขวายในพระพุทธศาสนา
ภิกษุนั้น ย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว
ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ
[๘๗๔] พวกคนที่เป็นข้าศึกกับเรา
ขอเชิญสดับธรรมกถา
ขอเชิญปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
ขอเชิญคบค้าสมาคมกับคนที่เป็นสัตบุรุษ
ซึ่งยึดมั่นแต่ธรรมเท่านั้น
[๘๗๕] ขอเชิญสดับธรรมของท่านที่กล่าวสรรเสริญความอดทน
ชอบสรรเสริญความไม่โกรธได้ตามกาล
และขอเชิญปฏิบัติตามธรรมที่ได้สดับแล้วนั้น
[๘๗๖] ผู้เป็นข้าศึกกับเรานั้นแล
อย่าพึงเบียดเบียนเรา หรือสัตว์ไร ๆ อื่นเลย
พึงถึงความสงบอย่างเยี่ยม
และพึงรักษาคุ้มครองสัตว์ทั้งมวลเหมือนอาจารย์คุ้มครองศิษย์
[๘๗๗] พวกคนไขน้ำก็ทำหน้าที่ไขน้ำ
พวกช่างทำศรก็ดัดลูกศร
พวกช่างไม้ก็ถากไม้
พวกบัณฑิตก็ฝึกตน
[๘๗๘] คนฝึกช้างและคนฝึกม้าบางพวก
มีท่อนไม้ ขอและแส้จึงจะฝึกได้
เราพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้คงที่
ซึ่งไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ทรงฝึกได้เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๘๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๘. อังคุลิมาลเถรคาถา
[๘๗๙] แต่ก่อนเรามีชื่อว่า อหิงสกะ แต่ยังเบียดเบียนอยู่
วันนี้ เรามีชื่อที่เป็นจริง ไม่เบียดเบียนใคร ๆ เลย
[๘๘๐] แต่ก่อน เราได้เป็นโจรลือชื่อทั่วไปว่า องคุลิมาล
ถูกห้วงน้ำใหญ่พัดพาไป
จนได้มาถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง
[๘๘๑] ครั้งก่อน เรามีมือเปื้อนเลือดลือชื่อทั่วไปว่า องคุลิมาล
ดูเอาเถิด สรณคมน์๑
เราถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้แล้ว
[๘๘๒] เราได้ทำกรรมอันเป็นเหตุให้ไปทุคติเช่นนั้นไว้มาก
จึงต้องรับผลกรรม
บัดนี้ย่อมฉันโภชนะอย่างไม่เป็นหนี้
[๘๘๓] เหล่าชนพาลที่มีปัญญาทราม
ย่อมประกอบความประมาทอยู่เนือง ๆ
ส่วนผู้ที่มีปัญญาย่อมรักษาความไม่ประมาทไว้
ดุจบุคคลรักษาทรัพย์อันประเสริฐที่สุดไว้
[๘๘๔] บุคคล อย่าพึงขวนขวายความประมาท
อย่าขวนขวายหาความสนิทสนมด้วยความยินดีในกาม
เพราะผู้ที่ไม่ประมาทเพ่งพินิจอยู่
ย่อมประสบความสุขอย่างยิ่ง
[๘๘๕] การที่เรามาสำนักพระศาสดาเป็นการดีแล้ว มิใช่ไม่ดี
การที่เราคิดจะบวชในสำนักพระศาสดานี้ก็มิใช่เป็นการคิดไม่ดี
นั่นเป็นการเข้าถึงธรรมอย่างประเสริฐ
ในพระธรรมที่พระศาสดาทรงจำแนกไว้ดีแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ การถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง (ขุ.เถร.อ. ๒/๘๘๑/๓๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๘๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๙. อนุรุทธเถรคาถา
[๘๘๖] การที่เรามายังสำนักพระผู้มีพระภาค
เป็นการมาดีแล้ว่ไม่ไร้ประโยชน์
การที่เราคิดจะบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคนี้
เป็นความคิดไม่เลวเลย
เราได้บรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๘๘๗] แต่ก่อน เราอยู่ตามป่า ตามโคนไม้ ตามภูเขา ตามถ้ำ
ทุกหนแห่ง อย่างมีใจหวาดระแวง
[๘๘๘] พอพระศาสดาทรงอนุเคราะห์แล้ว
ไม่ต้องตกอยู่ในบ่วงมือมาร จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นสุข
[๘๘๙] เมื่อก่อน เรามีเชื้อชาติเป็นพราหมณ์
มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย
วันนี้ เรานั้นเป็นโอรสของพระสุคตศาสดาผู้เป็นพระธรรมราชา
[๘๙๐] ปราศจากตัณหา ไม่ยึดมั่น คุ้มครองทวาร สำรวมดีแล้ว
ตัดรากเหง้าแห่งทุกข์ได้แล้ว ความสิ้นอาสวะเราบรรลุแล้ว
[๘๙๑] เราปรนนิบัติพระศาสดา
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ปลงภาระที่หนักเสียได้ ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
๙. อนุรุทธเถรคาถา
ภาษิตของพระอนุรุทธเถระ
(พระอนุรุทธเถระ เสวยวิมุติสุขอยู่ พิจารณาข้อปฏิบัติของตน เกิดปีติโสมนัส
จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๘๙๒] อนุรุทธะนี้แหละ ละพระชนกชนนี
พระประยูรญาติและกามคุณ ๕ ได้แล้ว เข้าฌานอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๘๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๙. อนุรุทธเถรคาถา
[๘๙๓] บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยการฟ้อนรำขับร้อง
มีเสียงดนตรีที่บรรเลงปลุกให้รื่นเริงใจอยู่ทุกค่ำเช้า
ย่อมไม่บรรลุถึงความบริสุทธิ์ด้วยการบริโภคกามนั้น
ยังยินดีในกามคุณซึ่งเป็นวิสัยของมาร
[๘๙๔] ส่วนอนุรุทธะนี่แหละ ล่วงกามคุณ ๕ นี้ได้แล้ว
ยินดีในคำสอนของพระพุทธเจ้า
ล่วงโอฆะทั้งปวงได้แล้ว เข้าฌานอยู่
[๘๙๕] และล่วงกามคุณ ๕ เหล่านี้ คือ
รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
ที่น่ารื่นรมย์ใจ เข้าฌานอยู่
[๘๙๖] อนุรุทธะ เป็นปราชญ์ ไม่มีอาสวะ
กลับจากบิณฑบาตแล้ว
เที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลแต่ผู้เดียวไม่มีเพื่อน
[๘๙๗] อนุรุทธะ ผู้เป็นปราชญ์ มีปัญญา ไม่มีอาสวะ
เที่ยวเลือกหาแต่ผ้าบังสุกุล
ครั้นได้แล้ว ซัก ย้อมเอง แล้วนุ่งห่ม
[๘๙๘] บาปธรรมที่เศร้าหมองเหล่านี้ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้มักมาก
ไม่สันโดษ ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ และมีจิตฟุ้งซ่าน
[๘๙๙] ส่วนภิกษุผู้มีสติ มักน้อย สันโดษ
ไม่มีความขัดเคือง ยินดีในวิเวก
ชอบสงัด ปรารภความเพียรเป็นประจำ
[๙๐๐] ย่อมมีแต่กุศลธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายให้ตรัสรู้เหล่านี้
ทั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ก็ตรัสว่า
ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่มีอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๘๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๙. อนุรุทธเถรคาถา
[๙๐๑] พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก
ทรงทราบความดำริของเราแล้ว
เสด็จมาหาเราด้วยพระวรกายที่สำเร็จโดยมโนมยิทธิ๑
[๙๐๒] เมื่อใด เรามีความดำริ
เมื่อนั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบแล้วก็เสด็จมาหาเราด้วยฤทธิ์
ได้ทรงแสดงธรรมอันยิ่งแก่เรา
พระพุทธเจ้าผู้ทรงยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า
ได้ทรงแสดงธรรมที่ไม่เนิ่นช้าแก่เราไว้แล้ว
[๙๐๓] เราได้รู้ทั่วถึงธรรมของพระองค์
ยินดีอยู่ในคำสอนของพระองค์
บรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๙๐๔] ตั้งแต่เวลาที่เราถือการไม่นอนเป็นวัตรตลอด ๕๕ ปี
กำจัดความง่วงเหงาหาวนอนได้ มาเป็นเวลา ๒๕ ปี
พระอนุรุทธเถระ(เมื่อภิกษุทั้งหลายถามในเวลาที่พระศาสดาเสด็จดับขันธปริ-
นิพพานว่า พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้วหรือยัง ได้ประกาศว่า พระผู้มีพระภาค
ปรินิพพานแล้ว ด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๙๐๕] พระผู้มีพระภาคผู้มีพระหฤทัยตั้งมั่น คงที่
ไม่ได้มีลมหายใจเข้าหายใจออก
พระองค์ไม่ทรงหวั่นไหว ปรารภความสงบ
มีพระจักษุ เสด็จปรินิพพานแล้ว
[๙๐๖] ทรงมีพระหฤทัยไม่หดหู่ อดกลั้นเวทนาได้
มีพระหฤทัยหลุดพ้นไป
เหมือนดวงประทีปที่ลุกโชนแล้วก็ดับไป

เชิงอรรถ :
๑ ฤทธิ์ทางใจ ฤทธิ์ที่นิรมิตด้วยใจ (ขุ.เถร.อ. ๒/๙๐๑/๓๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๘๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๙. อนุรุทธเถรคาถา
[๙๐๗] บัดนี้ ธรรมเหล่านี้ซึ่งมีสัมผัสเป็นที่ ๕
ของพระมหามุนีได้สิ้นสุดลง
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว
จิตและเจตสิกธรรมเหล่าอื่นจักไม่มีอีกต่อไป
[๙๐๘] เทวดา บัดนี้ เราไม่มีการอยู่คือการอุบัติในหมู่เทพอีกต่อไป
การเวียนว่ายตายเกิดสิ้นไปแล้ว บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก
[๙๐๙] ภิกษุใดรู้แจ้งมนุษยโลกเทวโลก พร้อมทั้งพรหมโลก
ซึ่งมีประเภทตั้งพันได้ในกาลครู่เดียว
ทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญในคุณคือฤทธิ์
ในจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
ภิกษุนั้น ย่อมเห็นเทพเจ้าทั้งหลายได้ในขณะที่เกิด
[๙๑๐] ชาติก่อน เรามีชื่ออันนภาระ
เป็นคนยากจน เที่ยวรับจ้างเลี้ยงชีพ
ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้า
ผู้สงบ ผู้มียศ
[๙๑๑] เรานั้นเกิดในศากยสกุล
พระประยูรญาติทรงขนานนามให้เราว่า อนุรุทธะ
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง
มีเสียงดนตรีที่บรรเลงปลุกให้รื่นเริงใจอยู่ทุกค่ำเช้า
[๙๑๒] ครั้นต่อมา เราได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้หาภัยแต่ที่ไหนมิได้
ทำจิตให้เลื่อมใสในพระองค์แล้วบวชเป็นบรรพชิต
[๙๑๓] เรารู้จักขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยมาก่อน
เกิดเป็นท้าวสักกะในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๘๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๙.อนุรุทธเถรคาถา
[๙๑๔] ปราบไพรีให้พ่ายแพ้
ได้ครองราชเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
จอมมนุษย์ในชมพูทวีป ซึ่งมีสมุทรสาครทั้ง ๔
เป็นขอบเขต ๗ ครั้ง
ได้ปกครองปวงประชากรโดยธรรม
ไม่ต้องใช้อาชญา
ไม่ต้องใช้ศัสตรา
[๙๑๕] ได้ระลึกชาติก่อนในคราวที่อยู่ในเทวโลกได้ ๑๔ ชาติ
คือ ครั้งที่เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ชาติ
ครั้งที่เป็นท้าวสักกะ ๗ ชาติ
[๙๑๖] เมื่อสมาธิประกอบด้วยองค์๑ ๕ มีอารมณ์เป็นหนึ่ง
ได้ความสงบระงับแล้ว
ทิพยจักษุของเราจึงหมดจด
[๙๑๗] เราดำรงมั่นอยู่ในฌานที่ประกอบด้วยองค์๒ ๕
จึงรู้จุติและอุบัติ
การมา การไปของสัตว์ทั้งหลายว่า
เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น
[๙๑๘] เราปรนนิบัติพระศาสดา ฯลฯ
ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
[๙๑๙] จะปรินิพพานอย่างไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นชีวิต
ภายใต้พุ่มไม้ไผ่ใกล้เวฬุวคาม แคว้นวัชชี

เชิงอรรถ :
๑ องค์ ๕ คือ (๑) การแผ่ปีติ (๒) การแผ่สุข (๓) การแผ่จิต (๔) การแผ่แสงสว่าง และ (๕) การพิจารณา
นิมิต (ขุ.เถร.อ. ๒/๙๑๖/๓๘๓)
๒ ฌานที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ในที่นี้คือสมาธิประกอบด้วยองค์ ๕ นั่นเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๑๐. ปาราปริยเถรคาถา
๑๐. ปาราปริยเถรคาถา
ภาษิตของพระปาราปริยเถระ
(พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายรจนาคาถานี้ว่า)
[๙๒๐] พระปาราปริยเถระผู้เป็นสมณะ
มีจิตแน่วแน่เป็นอารมณ์เดียว
ชอบสงัด นั่งเจริญฌานอยู่ในป่าใหญ่
ในฤดูดอกไม้ผลิ ได้มีความคิดว่า
[๙๒๑] เมื่อพระโลกนาถซึ่งเป็นบุรุษผู้สูงสุด ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่
ความประพฤติของภิกษุทั้งหลายได้เป็นอย่างหนึ่ง
บัดนี้ เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว
ย่อมปรากฏเป็นอีกอย่างหนึ่ง
[๙๒๒] ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้
ได้นุ่งห่มผ้าเป็นปริมณฑลเพียงเพื่อจะป้องกันความหนาวความ
ร้อนและลม ปกปิดอวัยวะที่จะให้เกิดความละอายเท่านั้น
[๙๒๓] ได้ขบฉันอาหารประณีตก็ตาม เศร้าหมองก็ตาม
น้อยก็ตาม มากก็ตาม เพียงเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ไม่ติด
ไม่พัวพัน
[๙๒๔] ไม่ได้ขวนขวายจนเกินไปในยาแก้ไข้
ซึ่งเป็นบริขารเครื่องรักษาชีวิต เหมือนขวนขวายในความสิ้นอาสวะ
[๙๒๕] พอกพูนวิเวก มุ่งแต่วิเวก
อยู่ในป่า โคนต้นไม้ ซอกเขา และถ้ำ
[๙๒๖] อ่อนน้อม มีศรัทธาตั้งมั่น เลี้ยงง่าย อ่อนโยน
มีใจไม่กระด้าง ไม่ปราศจากสติ ไม่ปากร้าย
ไฝ่คิดแต่ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นเป็นสำคัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๑๐. ปาราปริยเถรคาถา
[๙๒๗] เพราะเหตุนั้น ภิกษุแต่ปางก่อนเหล่านั้น
มีความประพฤติทางกายและทางวาจา
การบริโภคปัจจัยการส้องเสพโคจร
และมีอิริยาบถละมุนละไม น่าเลื่อมใส
เหมือนสายน้ำมันที่ไหลออกจากภาชนะไม่ขาดสาย
[๙๒๘] บัดนี้ ท่านเหล่านั้น สิ้นอาสวะหมดแล้ว
มักเจริญฌานเป็นอันมาก
ประกอบด้วยประโยชน์มาก
เป็นพระเถระ นิพพานแล้ว
เดี๋ยวนี้ท่านเช่นนั้นยังเหลืออยู่จำนวนน้อย
[๙๒๙] เพราะกุศลธรรมและปัญญาสิ้นไป
คำสอนของพระชินเจ้าซึ่งประกอบด้วยสภาวะอันประเสริฐ
ทุกอย่างก็เลือนหายไป
[๙๓๐] เวลาที่บาปธรรมและกิเลสกำลังเฟื่องฟู
ส่วนเหล่าภิกษุที่มุ่งมั่นเพื่อความสงบสงัด
ชื่อว่าเป็นผู้มีพระสัทธรรมที่เหลือเป็นข้อปฏิบัติ
[๙๓๑] กิเลสเหล่านั้นเฟื่องฟูอยู่
ก็ย่อมครอบงำชนผู้โง่เขลาเป็นจำนวนมาก
เหมือนจะเยาะเย้ยเล่นกับเหล่าชนผู้โง่เขลา
ดุจปีศาจเข้าสิงผู้คนทำให้บ้า
แล้วเล่นกับพวกเขาที่บ้าแล้ว
[๙๓๒] คนที่ยังโง่เขลาเหล่านั้น ถูกกิเลสครอบงำ
จึงพล่านไปในวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส
ตามส่วนแห่งอารมณ์นั้น ๆ
เหมือนพล่านไปหาสิ่งที่ตนใคร่ ที่เขาเชิญชวนไว้ ฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๑๐. ปาราปริยเถรคาถา
[๙๓๓] ละพระสัทธรรมแล้ว ทะเลาะกันเอง
ยึดถือเอาความเห็นของตน สำคัญว่า นี้เท่านั้น ประเสริฐ
[๙๓๔] นรชนทั้งหลาย ละทิ้งทรัพย์สมบัติ
และบุตรภรรยาออกบวชแล้ว
ย่อมพากันทำกรรมที่บรรพชิตไม่ควรทำ
แม้เพราะเหตุแห่งภิกษาทัพพีเดียว
[๙๓๕] พวกเธอฉันภัตตาหารเต็มอิ่มแล้ว
เมื่อนอนก็นอนหงาย
ตื่นแล้ว กล่าวแต่ถ้อยคำที่พระศาสดาทรงตำหนิติเตียน
[๙๓๖] ภายในไม่สงบ สนใจศึกษาแต่ศิลปะ
ที่ชาวบ้านทั่วไปศึกษากัน
ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ
ย่อมล่วงเลยพวกเธอไปเสีย
[๙๓๗] ภิกษุทั้งหลายที่มุ่งหวังจะได้มาก ๆ
จึงน้อมสิ่งของเข้าไปให้พวกคฤหัสถ์ คือ
ดินเหนียวบ้าง น้ำมันบ้าง จุณเจิมบ้าง
น้ำบ้าง ที่นั่งที่นอนบ้าง อาหารบ้าง
[๙๓๘] ไม้สีฟันบ้าง ผลมะขวิดบ้าง
ดอกไม้บ้าง ของควรเคี้ยวบ้าง บิณฑบาตที่สมบูรณ์ด้วยกับบ้าง
ผลมะม่วงบ้าง ผลมะขามป้อมบ้าง
[๙๓๙] ย่อมปฏิบัติตนในการประกอบยา
เพื่อพวกคฤหัสถ์เหมือนหมอ
ทำกิจน้อยใหญ่เหมือนคฤหัสถ์
ตกแต่งร่างกายเหมือนหญิงแพศยา
วางตัวเป็นใหญ่เหมือนกษัตริย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๑๐. ปาราปริยเถรคาถา
[๙๔๐] ใช้อุบายมากอย่าง คือ ทำให้คนหลงเชื่อ
หลอกลวง เป็นพยานเท็จ
ใช้เล่ห์เหลี่ยมต่าง ๆ บริโภคอามิส
[๙๔๑] มุ่งแต่จะเป็นอยู่ จึงแล่นไปตาม(บาปธรรม)
ในการพูดเลียบเคียง อ้อมค้อมใช้โวหารเล็กน้อย
ใช้อุบาย รวบรวมทรัพย์ให้ได้มาก ๆ
[๙๔๒] ย่อมให้ผู้คนบำรุงบำเรอตน เพราะงานตนเป็นเหตุ
แต่มิใช่เพราะธรรมเป็นเหตุ
แสดงธรรมตามที่ต่าง ๆ เพราะเห็นแก่ลาภเป็นเหตุ
แต่มิใช่เพราะเห็นแก่ประโยชน์(สูงสุด)เป็นเหตุ
[๙๔๓] ทะเลาะวิวาทกันเพราะเหตุแห่งลาภที่เกิดในสงฆ์
เหินห่างจากพระอริยสงฆ์
เลี้ยงชีพด้วยอาศัยลาภของผู้อื่น ไม่มีหิริ ไม่ละอายเลย
[๙๔๔] จริงอย่างนั้น ภิกษุบางพวก ซึ่งไม่ประพฤติตามสมณธรรม
เป็นเพียงคนหัวโล้น คลุมร่างไว้ด้วยผ้ากาสาวพัสตร์
ปรารถนาแต่การยกย่องสรรเสริญฝ่ายเดียว ยังติดลาภสักการะ
[๙๔๕] เมื่อธรรมที่เป็นเครื่องทำลายมีประการต่าง ๆ
เป็นไปอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวนี้
การบรรลุฌานและวิปัสสนาที่ยังไม่ได้บรรลุ
หรือการคอยตามรักษาฌานและวิปัสสนาที่บรรลุแล้ว
มิใช่ทำได้ง่าย ๆ เหมือนอย่างเมื่อพระศาสดา
ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[๙๔๖] มุนี พึงตั้งสติให้มั่น เที่ยวไปในหมู่บ้าน
เหมือนคนไม่สวมรองเท้า เที่ยวไปในที่มีหนาม
[๙๔๗] พระโยคีเมื่อระลึกถึงวิปัสสนาที่ปรารภในกาลก่อนแล้ว
ระลึกถึงข้อสำหรับภาวนาวิธีเหล่านั้นอยู่
แม้จะถึงเวลาสุดท้ายแห่งชีวิต
ก็พึงบรรลุอมตบทให้ได้
(พระสังคีติกาจารย์ หวังจะประกาศการปรินิพพานของพระเถระ จึงได้กล่าว
ภาษิตสุดท้ายนี้ว่า)
[๙๔๘] พระปาราปริยเถระ ผู้เป็นสมณะ
อบรมอินทรีย์แล้ว เป็นพราหมณ์
แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ สิ้นภพใหม่
ครั้นกล่าววิธีปฏิบัตินี้แล้ว ก็ได้ปรินิพพานในสาลวัน
วีสตินิบาต จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. พระอธิมุตตเถระ ๒. พระปาราปริยเถระ
๓. พระเตลกานิเถระ ๔. พระรัฏฐปาลเถระ
๕. พระมาลุงกยบุตรเถระ ๖. พระเสลเถระ
๗. พระภัททิยกาฬิโคธบุตรเถระ ๘. พระองคุลิมาลเถระ
๙. พระอนุรุทธเถระ ๑๐. พระปาราปริยเถระ๑

ในวีสตินิบาตนี้ มีพระเถระที่ท่านระบุไว้ ๑๐ รูปถ้วน
และมี ๒๔๕ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๑. ปุสสเถรคาถา
๑๗. ติงสนิบาต
๑. ปุสสเถรคาถา
ภาษิตของพระปุสสเถระ
(พระสังคีติกาจารย์ได้กล่าวภาษิตเบื้องต้นไว้ว่า)
[๙๔๙] ฤๅษีปัณฑรสโคตรได้พบเห็นภิกษุมากรูป
ผู้น่าเลื่อมใส อบรมตน สำรวมดีแล้ว
ได้สอบถามพระปุสสเถระว่า
[๙๕๐] ในกาลภายหน้า ภิกษุทั้งหลายในพระศาสนานี้
จะมีความพอใจอย่างไร มีความประสงค์อย่างไร
มีอากัปกิริยาอย่างไร
ข้าพเจ้าเรียนถามท่านแล้ว นิมนต์บอกความข้อนั้นด้วยเถิด
(พระปุสสเถระไดักล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๙๕๑] ท่านปัณฑรสฤๅษี เชิญท่านฟังคำของอาตมา
ขอเชิญตั้งใจจดจำให้ดี
อาตมาจะบอกข้อความที่ท่านถามถึงอนาคตแก่ท่าน
[๙๕๒] ในกาลภายหน้า ภิกษุทั้งหลายส่วนมาก
จักเป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่คุณท่าน
หัวดื้อ โอ้อวด ริษยา และมีวาทะขัดแย้งกัน
[๙๕๓] มีความสำคัญในสัทธรรมที่ยังไม่รู้ ไม่เห็นว่ารู้ ว่าเห็น
มีความคิดในธรรมที่ลึกซึ้งว่าตื้น เป็นคนเบา
ไม่หนักแน่นในธรรม ไม่เคารพกันและกัน
[๙๕๔] ในกาลภายหน้า โทษเป็นอันมาก
จะเกิดขึ้นในสัตว์โลก
ภิกษุทั้งหลายผู้ไร้ความคิด
จะทำธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วนี้
ให้มัวหมอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๑. ปุสสเถรคาถา
[๙๕๕] ทั้งจะเสื่อมจากคุณธรรม กล้าพูดในท่ามกลางสงฆ์
มีพวกมาก ปากจัด ไม่ยอมรับฟัง(ความคิดเห็นของผู้อื่น)
[๙๕๖] ฝ่ายพวกที่มีคุณธรรม พูดในท่ามกลางสงฆ์ตามความเป็นจริง
ละอายใจ ไม่ต้องการผลประโยชน์จักมีพวกน้อย
[๙๕๗] ในกาลภายหน้า ภิกษุทั้งหลายจะมีปัญญาทราม
พากันยินดี เงิน ทอง ไร่นา สวน แพะ แกะ และคนใช้ชายหญิง
[๙๕๘] จะเป็นคนอันธพาล ชอบมุ่งแต่จะตำหนิติเตียน
ไม่ตั้งมั่นในศีล ถือตัวจัด โหดร้าย เที่ยวไป
ชอบก่อการทะเลาะวิวาท
[๙๕๙] ทั้งจะมีใจฟุ้งซ่าน นุ่งห่มแต่จีวรสีเขียว
เที่ยวทำตัวดังพระอริยะ
[๙๖๐] จะใช้น้ำมันแต่งผมให้งดงาม
เป็นคนเหลาะแหละเหลวไหล
ใช้ยาหยอดแต่งตา นุ่งห่มจีวรสีงาช้าง
เที่ยวไปตามถนนหนทาง
[๙๖๑] จะรังเกียจผ้ากาสาวะซึ่งย้อมดีแล้ว
ที่พระอริยะทั้งหลายไม่รังเกียจ
เป็นธงชัยของพระอรหันต์ ชอบใช้แต่ผ้าขาว
[๙๖๒] จะมุ่งแต่ลาภ เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน
รังเกียจเสนาสนะป่า
ชอบอยู่แต่เสนาสนะใกล้บ้าน
[๙๖๓] จะไม่สำรวม เที่ยวประพฤติตามพวกภิกษุ
ที่ยินดีในมิจฉาชีพ ได้ลาภอยู่เสมอ ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๑. ปุสสเถรคาถา
[๙๖๔] ในกาลภายหน้า ภิกษุทั้งหลายจะไม่บูชายกย่องเหล่าภิกษุผู้ไม่
มีลาภ ทั้งจะไม่คบค้าสมาคมกับเหล่าภิกษุผู้รักษาศีลดี
ซึ่งเป็นนักปราชญ์
[๙๖๕] จะห่มจีวรสีแดงที่คนป่าชอบย้อมใช้
พากันติเตียนผ้ากาสาวะซึ่งเป็นธงชัยของตน
บางพวกก็จะห่มจีวรสีขาว ซึ่งเป็นธงชัยของพวกเดียรถีย์
[๙๖๖] ในกาลภายหน้า ภิกษุเหล่านั้นจะไม่มีความเคารพในผ้ากาสาวะ
ทั้งจะไม่พิจารณาใช้ผ้ากาสาวะ
[๙๖๗] การไม่คิดพิจารณาให้ดี
ได้เป็นความเลวร้ายอย่างใหญ่หลวงของพญาช้าง
ที่ถูกลูกศรเสียบแทง
ถูกทุกขเวทนาครอบงำทุรนทุรายอยู่
[๙๖๘] เพราะครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาช้างฉัททันต์
ได้เห็นผ้ากาสาวะ ซึ่งโสณุตตรพรานคลุมร่างไว้
ที่ย้อมดีแล้วเป็นธงชัยของพระอรหันต์
ได้กล่าวภาษิตที่ประกอบด้วยประโยชน์ในขณะนั้นแหละว่า
[๙๖๙] ผู้ใดยังมีกิเลสดุจน้ำฝาด
ปราศจากทมะ และสัจจะ
จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ
ผู้นั้นไม่ควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะเลย
[๙๗๐] ส่วนผู้ใดพึงคลายกิเลสดุจน้ำฝาด
ตั้งมั่นดีแล้วในศีล ประกอบด้วยทมะและสัจจะ
ผู้นั้นแหละควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะได้

เชิงอรรถ :
๑ ความฝึกอินทรีย์ (ขุ.เถร.อ.๒/๙๖๙/๔๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๑. ปุสสเถรคาถา
[๙๗๑] ผู้ใดมีศีลวิบัติ มีปัญญาทราม ไม่สำรวมอินทรีย์
ชอบทำตามความพอใจ มีจิตฟุ้งซ่าน ทั้งไม่บริสุทธิ์
ผู้นั้นไม่ควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะเลย
[๙๗๒] ส่วนผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ
มีจิตตั้งมั่นดี มีความดำริในใจใสสะอาด
ผู้นั้นแหละ ควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะได้
[๙๗๓] ผู้ที่ไม่มีศีล ฟุ้งซ่าน มีมานะจัด เป็นคนพาล
ควรที่จะนุ่งห่มผ้าขาวเท่านั้น
ผ้ากาสาวะจะช่วยอะไรได้
[๙๗๔] ในกาลภายหน้า ทั้งพวกภิกษุและภิกษุณี
ผู้มีใจชั่ว ไม่เอื้อเฟื้อ
จะข่มขี่ฝ่ายที่คงที่มีจิตเมตตา
[๙๗๕] พวกที่เป็นคนโง่เขลา มีปัญญาทราม
ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบทำตามความพอใจ
ถึงพระเถระทั้งหลาย จะสอนให้ครองจีวร ก็จักไม่เชื่อฟัง
[๙๗๖] พวกเธอซึ่งเป็นคนโง่เขลา
พระอุปัชฌาย์อาจารย์สอนอย่างนั้น
ก็จะไม่เคารพกันและกัน
ไม่เอื้อเฟื้อพระอุปัชฌาย์อาจารย์
เหมือนม้าพยศไม่ยอมให้สารถีฝึก
[๙๗๗] ครั้นกาลภายหลัง(ตติยสังคายนา)ผ่านไปแล้ว
พวกภิกษุและภิกษุณีในกาลภายหน้า จักปฏิบัติกันอย่างนี้
(ครั้นพระปุสสเถระแสดงภัยอย่างใหญ่หลวงที่ยังมาไม่ถึงนั้นจะมาถึงในกาล
ภายหน้าอย่างนั้น เมื่อจะให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายที่ประชุมกัน ณ ที่นั้นอีก จึง
ได้กล่าว ๓ ภาษิตเหล่านี้ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๒. สารีปุตตเถรคาถา
[๙๗๘] ภัยอย่างใหญ่หลวงซึ่งยังมาไม่ถึงนี้ จะมาถึงข้างหน้า
ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ว่าง่าย พูดจาอ่อนหวาน
มีความเคารพกันและกัน
[๙๗๙] มีจิตเมตตากรุณา สำรวมในศีล
ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว
บากบั่นมั่นคงเป็นประจำเถิด
[๙๘๐] ขอชนทั้งหลายจงเห็นความประมาทโดยเป็นสิ่งที่น่ากลัว
และเห็นความไม่ประมาทโดยเป็นสิ่งที่เกษม
แล้วบำเพ็ญอัฏฐังคิกมรรคที่จะบรรลุอมตบท๑ได้
๒. สารีปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระสารีบุตรเถระ
(พระสารีบุตรเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตแก่ภิกษุทั้งหลาย จึงได้กล่าว
ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๙๘๑] ผู้ใดมีสติประพฤติเหมือนผู้สำรวมกาย เหมือนสัตบุรุษ
ไม่ประมาท เหมือนผู้สำรวมความคิด
ยินดีในการเจริญกรรมฐานไว้ภายใน
มีจิตตั้งมั่นดีอยู่ผู้เดียว สันโดษ
นักปราชญ์ทั้งหลาย เรียกผู้นั้นว่าเป็นภิกษุ
[๙๘๒] ภิกษุ เมื่อฉันอาหารสดก็ตาม แห้งก็ตาม
ไม่พึงฉันให้อิ่มเกินไป ไม่พึงฉันให้น้อยเกินไป
พึงฉันแต่พอประมาณ พึงมีสติอยู่
[๙๘๓] พึงเลิกฉันก่อนอิ่ม ๔-๕ คำ แล้วดื่มน้ำ
เท่านี้ก็เพียงพอเพื่ออยู่ผาสุก
ของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งนิพพาน

เชิงอรรถ :
๑ นิพพาน (ขุ.เถร.อ. ๒/๙๘๐/๔๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๒. สารีปุตตเถรคาถา
[๙๘๔] อนึ่ง การนุ่งห่มจีวรที่สมควร ซึ่งเป็นประโยชน์
นี้ก็เพียงพอเพื่ออยู่ผาสุก
ของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งนิพพาน
[๙๘๕] เมื่อภิกษุนั่งขัดสมาธิในกุฎีใด ฝนตกไม่เปียกเข่าทั้งสอง
กุฎีเท่านี้ ก็เพียงพอเพื่ออยู่ผาสุก
ของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งนิพพาน
[๙๘๖] ภิกษุใดพิจารณาเห็นสุขโดยความเป็นทุกข์
เห็นทุกข์เป็นเหมือนลูกศรคอยทิ่มแทงได้
ภิกษุนั้น ไม่ได้มีความยึดมั่นในอทุกขมสุขเวทนาทั้ง ๒ นั้น
ว่าเป็นของเนื่องในตน
เธอจะพึงถูกกิเลสอะไรผูกมัดไว้ในโลกได้อย่างไร
[๙๘๗] ภิกษุผู้มีความปรารถนาลามก
เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน
มีการเล่าเรียนน้อย ไม่เอื้อเฟื้อ
อย่าได้มีในสำนักเรา ในกาลไหน ๆ เลย
(เพราะ)คนเช่นนั้นในสัตวโลก
จะพึงสอนแบบไหนอย่างไรได้
[๙๘๘] ส่วนภิกษุผู้เป็นพหูสูต มีปัญญา
ตั้งมั่นดีในศีล ประกอบความสงบใจเนือง ๆ อยู่
ขอจงมาสถิตอยู่บนกระหม่อมของเราเถิด
[๙๘๙] ภิกษุใดประกอบธรรมเป็นเหตุให้เนิ่นช้า๑อยู่เนือง ๆ
มีใจยินดีในธรรมเป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ภิกษุนั้น ชื่อว่าพลาดจากนิพพาน
ซึ่งเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม

เชิงอรรถ :
๑ ความยินดีในกามและความติดในรูปเป็นต้น (ขุ.เถร.อ. ๒/๙๘๙/๔๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๒. สารีปุตตเถรคาถา
[๙๙๐] ส่วนภิกษุใดละธรรมเป็นเหตุให้เนิ่นช้าได้แล้ว
ยินดีแล้วในทางแห่งธรรมซึ่งเป็นเหตุไม่ให้เนิ่นช้า
ภิกษุนั้นบรรลุนิพพาน
ซึ่งเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม
[๙๙๑] พระอรหันต์ทั้งหลาย อยู่สถานที่ใด
คือ จะเป็นบ้านก็ตาม ป่าก็ตาม ที่ลุ่มก็ตาม ที่ดอนก็ตาม
สถานที่นั้น เป็นรมณียสถาน
[๙๙๒] ท่านผู้ปราศจากราคะทั้งหลาย
จะยินดีป่าทั้งหลาย อันน่ารื่นรมย์
ที่ชนผู้แสวงหากามไม่ยินดี
เพราะท่านเหล่านั้น ไม่แสวงหากาม
[๙๙๓] บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญามักชี้โทษ
มักพูดปรามไว้ เหมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์
(และ) พึงคบผู้ที่เป็นบัณฑิตเช่นนั้น
เพราะเมื่อคบคนเช่นนั้น ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมเลย
[๙๙๔] ผู้ใดพึงกล่าวสอนพร่ำสอน และห้ามจากความชั่ว
ผู้นั้นย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย
แต่ไม่เป็นที่รักของอสัตบุรุษทั้งหลาย
[๙๙๕] พระผู้มีพระภาคตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระจักษุ
ได้ทรงแสดงธรรมโปรดผู้อื่น
เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่
เรามุ่งประโยชน์ ได้ตั้งใจฟัง
การตั้งใจฟังของเรานั้น ไม่ไร้ประโยชน์
จึงเป็นผู้หลุดพ้นแล้วหาอาสวะมิได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๒. สารีปุตตเถรคาถา
[๙๙๖] เราไม่ได้ตั้งความปรารถนาไว้
เพื่อปุพเพนิวาสญาณ๑ ทิพพจักขุญาณ๒
เจโตปริยญาณ๓ อิทธิวิธญาณ๔
จุตูปปาตญาณ๕ และทิพพโสตญาณ๖
(ยักษ์กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๙๙๗] พระเถระโล้นชื่ออุปติสสะนั่นแหละ
ยอดเยี่ยมด้วยปัญญา
ครองผ้าสังฆาฏิอาศัยโคนไม้นั่นเองนั่งเข้าฌานอยู่
[๙๙๘] สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าสมาบัติอันไม่มีวิตก
เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้นิ่งอย่างประเสริฐโดยแท้จริง
[๙๙๙] ภูเขาศิลาล้วน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเพราะสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวเหมือนภูเขา
(พระสารีบุตรเถระฟังคำของสามเณรนั้นแล้ว จึงได้กล่าวภาษิตว่า)
[๑๐๐๐] คนผู้ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน
ใฝ่ใจแสวงหาความสะอาดอยู่เป็นนิตย์
ความชั่วเพียงเท่าปลายขนทราย
ย่อมปรากฏดังเท่าก้อนเมฆ
(พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงว่าตนมีจิตเสมอกัน ทั้งตาย ทั้งเป็นอยู่ จึง
กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)

เชิงอรรถ :
๑ ความรู้ที่เป็นเครื่องระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อน ทั้งของตนและของผู้อื่น
๒ ความรู้คือดวงตาทิพย์
๓ ความรู้กำหนดใจผู้อื่นได้
๔ ความรู้ที่แสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ
๕ ความรู้การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
๖ ความรู้ที่ทำให้ฟังได้ยินหมดตามปรารถนา (หูทิพย์) ๑-๖ (ขุ.เถร.อ. ๒/๙๙๖/๔๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๒. สารีปุตตเถรคาถา
[๑๐๐๑] เราไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่
แต่เรามีสติสัมปชัญญะอยู่เฉพาะหน้า จักละกายนี้
[๑๐๐๒] เราไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่
แต่เราคอยเวลาอันควร
เหมือนลูกจ้างทำการงานคอยค่าจ้าง
(และเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น จึงได้กล่าวไว้อีก ๒ ภาษิตว่า)
[๑๐๐๓] ความตายนี้มีแน่นอนใน ๒ คราว
คือ คราวแก่และคราวหนุ่มจะไม่ตาย ไม่มี
เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อย่าพินาศเลย
ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย
[๑๐๐๔] เมืองชายแดนได้รับการคุ้มครองทั้งภายในและภายนอก ฉันใด
ท่านทั้งหลายโปรดคุ้มครองตนให้ได้ ฉันนั้น
ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย
เพราะเหล่าชนที่ปล่อยให้ขณะล่วงเลยไป
ย่อมแออัดกันในนรก เศร้าโศกอยู่
(พระสารีบุตรเถระ พบท่านพระมหาโกฏฐิตะเมื่อจะประกาศเกียรติคุณของท่าน
จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๐๐๕] ภิกษุผู้สงบ งดเว้นจากการทำชั่ว
พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
ย่อมกำจัดบาปธรรมทั้งหลายได้
เหมือนกับลมพัดใบไม้ให้ร่วงหล่น
[๑๐๐๖] ภิกษุผู้สงบระงับ งดเว้นจากการทำความชั่ว
มักพูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
ย่อมกำจัดบาปธรรมได้แล้ว
เหมือนกับลมพัดใบไม้ให้ลอยไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๒. สารีปุตตเถรคาถา
[๑๐๐๗] ภิกษุผู้สงบระงับ ไม่มีความคับแค้น
มีใจผ่องใสไม่ขุ่นมัว มีศีลอันงาม
เป็นปราชญ์ พึงทำที่สุดทุกข์ได้
(พระสารีบุตรเถระปรารภพวกภิกษุวัชชีบุตรที่เชื่อพระเทวทัตต์ จึงได้กล่าว
ภาษิตทั้งหลายไว้ว่า)
[๑๐๐๘] บุคคลไม่พึงไว้ใจในปุถุชนบางพวก
ทั้งที่เป็นคฤหัสถ์และบรรพชิต
แม้เบื้องต้นเขาจะเป็นคนดี ภายหลังจะเป็นคนไม่ดี
หรือเบื้องต้นเป็นคนไม่ดี ภายหลังจะกลับเป็นคนดีก็ตาม
[๑๐๐๙] นิวรณธรรม ๕ เหล่านี้ คือ
(๑) กามฉันทะ (๒) พยาบาท (๓) ถีนมิทธะ
(๔) อุทธัจจกุกกุจจะ (๕) วิจิกิจฉา
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองใจของภิกษุ
[๑๐๑๐] สมาธิของภิกษุใดผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท
ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ
(๑) ด้วยมีผู้สักการะ (๒) ด้วยไม่มีผู้สักการะ
[๑๐๑๑] ภิกษุผู้เข้าฌาน มีความเพียรต่อเนื่อง
พิจารณาเห็นด้วยปัญญาที่สุขุม
ยินดีในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปาทาน๑นั้น
นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่า สัตบุรุษ
[๑๐๑๒] มหาสมุทร ๑ แผ่นดิน ๑ ภูเขา ๑ ลม ๑
ไม่ควรที่จะเปรียบเทียบกับความหลุดพ้นอย่างประเสริฐ
ของพระศาสดา

เชิงอรรถ :
๑ ความยึดมั่นถือมั่น (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๑๑/๔๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๓. อานนทเถรคาถา
[๑๐๑๓] พระเถระผู้ประพฤติตามพระธรรมจักร
ที่พระศาสดาทรงให้เป็นไป มีปัญญามาก มีจิตตั้งมั่น
เป็นผู้เสมอด้วยแผ่นดิน น้ำ และไฟ ไม่ยินดี ย่อมไม่ยินร้าย
[๑๐๑๔] ภิกษุถึงที่สุดสาวกปัญญาบารมี มีความรู้มาก เป็นมหามุนี
ไม่โง่เขลา ไม่ใช่เหมือนผู้โง่เขลา เป็นผู้เย็นอยู่เป็นนิตย์
[๑๐๑๕] เราปรนนิบัติพระศาสดา ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ปลงภาระที่หนักได้ ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
[๑๐๑๖] ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น
ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี้เป็นคำพร่ำสอนของเรา
เราหลุดพ้นจากกิเลสและภพได้ทั้งหมดแล้ว จะปรินิพพานละ
๓. อานนทเถรคาถา
ภาษิตของพระอานนทเถระ
(พระอานนทเถระ เมื่อสังคายนาพระธรรมได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๐๑๗] บัณฑิตไม่พึงทำความเป็นสหายกับคนพูดส่อเสียด ๑
คนมักโกรธ ๑ คนตระหนี่ ๑ คนชอบใจที่จะให้ผู้อื่นพินาศ ๑
เพราะการสมาคมกับคนชั่วเป็นความเลว ๑
[๑๐๑๘] บัณฑิตพึงทำความเป็นสหายกับคนที่มีศรัทธา ๑
มีศีลเป็นที่รัก ๑ มีปัญญา ๑ เป็นพหูสูต ๑
เพราะการสมาคมกับคนดีทั้งหลายเป็นความเจริญ
[๑๐๑๙] ขอเชิญดูอัตภาพที่ผ้าและอาภรณ์เป็นต้นทำให้วิจิตร
มีกายเป็นแผล มีกระดูก ๓๐๐ ท่อนเป็นโครงร่าง
กระสับกระส่าย ที่พวกคนเขลาดำริหวังกันส่วนมาก
ซึ่งไม่มีความยั่งยืนตั้งมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๓. อานนทเถรคาถา
[๑๐๒๐] ขอเชิญดูอัตภาพที่สตรีใช้แก้วมณีและต่างหูแต่งให้วิจิตร
ซึ่งมีหนังหุ้มกระดูกไว้ภายใน งามพร้อมเสื้อผ้า
[๑๐๒๑] เท้าทั้งสองย้อมด้วยครั่งสด หน้าทาด้วยจุรณ
ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[๑๐๒๒] ผมที่ตบแต่งให้เป็นลอนดังกระดานหมากรุก
ตาทั้งสองที่หยอดด้วยยาหยอดตาก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[๑๐๒๓] กายที่มีสภาพเปื่อยเน่าเป็นธรรมดาซึ่งตบแต่งแล้ว
เหมือนกล่องยาหยอดตาใหม่ ๆ ที่งดงาม
ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนแสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[๑๐๒๔] พระอานนทเถระผู้โคตมโคตร เป็นพหูสูต
กล่าวธรรมได้อย่างวิจิตร เป็นพุทธอุปัฏฐาก
ปลงภาระได้แล้ว พรากจากกิเลสที่ประกอบสัตว์ไว้
พอเอนกายลงนอน
[๑๐๒๕] สิ้นอาสวะ พรากจากกิเลสที่ประกอบสัตว์ไว้
ล่วงกิเลสเป็นเครื่องข้อง ดับกิเลสได้สนิท
ถึงฝั่งแห่งความเกิดและความตาย
ยังทรงร่างกาย ซึ่งมีในภพสุดท้ายอยู่
[๑๐๒๖] ธรรมทั้งหลายของพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งดวงอาทิตย์
ตั้งอยู่เฉพาะในบุรุษพิเศษใด
บุรุษพิเศษนั้น คือพระอานนทโคตมโคตร
ยังดำรงอยู่ในหนทางเป็นที่ดำเนินไปสู่นิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๓. อานนทเถรคาถา
[๑๐๒๗] เราได้เรียนมาจากพระพุทธเจ้า ๘๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
จากภิกษุ ๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
จึงรวมธรรมที่เราช่ำชองคล่องปากได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
[๑๐๒๘] คนที่มีการศึกษาน้อยนี้ย่อมแก่ไปเปล่าเหมือนโคพลิพัท๑
เขาเจริญแต่เนื้อหนัง ส่วนปัญญาหาเจริญไม่
[๑๐๒๙] ผู้ที่มีการศึกษามาก กลับดูหมิ่นผู้ที่มีการศึกษาน้อย
เพราะการศึกษาเป็นเหตุ ย่อมปรากฏแก่เรา
เหมือนคนตาบอดถือดวงประทีปไป
[๑๐๓๐] บุคคลพึงเข้าไปนั่งใกล้ท่านผู้เป็นพหูสูต
ทั้งไม่ควรทำสุตะ๒ให้เสื่อมสูญไป
เพราะความเป็นพหูสูตนั้นเป็นรากเง่าของพรหมจรรย์
ฉะนั้น จึงควรเป็นผู้ทรงธรรม
[๑๐๓๑] บุคคลรู้เบื้องต้นและเบื้องปลายภาษิต
รู้อรรถแห่งภาษิต ฉลาดในนิรุตติ และในบท๓
เรียนธรรมให้รู้ให้เข้าใจดีและพิจารณาเนื้อความ
[๑๐๓๒] เขาก็ทำความพอใจด้วยความอดทน
พยายามพิจารณาไตร่ตรองถึงนามรูปนั้น
เริ่มตั้งความเพียรในเวลา(ที่ควรประคองจิตเป็นต้น)
จึงจะพึงเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นดีในภายในได้
[๑๐๓๓] ผู้หวังความรู้แจ้งธรรมพึงคบหาท่านผู้เป็นพหูสูต
ทรงธรรม มีปัญญา เป็นพุทธสาวกเช่นนั้น

เชิงอรรถ :
๑ โคถึกที่มีกำลัง (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๒๘/๔๖๖)
๒ ความเป็นผู้มีการศึกษามากด้วยการเล่าเรียน (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๓๐/๔๖๗)
๓ ปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ คือในนิรุตติปฏิสัมภิทาและในปฏิสัมภิทา ๓ ที่เหลือ (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๓๑/๔๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๓. อานนทเถรคาถา
[๑๐๓๔] บุคคลผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม
รักษาคลังธรรมของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้นเป็นดวงตาและเป็นปูชนียบุคคล
ของชาวโลกทั้งมวล
[๑๐๓๕] ภิกษุมีธรรม๑ เป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในธรรม
พิจารณาใคร่ครวญถึงธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่
ก็ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม
[๑๐๓๖] ภิกษุผู้หนักในความตระหนี่กาย
เมื่อกายและชีวิตเสื่อมไปอยู่
เธอไม่ขยันหมั่นเพียร ยังติดความสุขทางกาย
จะมีความอยู่ผาสุกด้วยความเป็นสมณะได้แต่ที่ไหน
[๑๐๓๗] ทิศทุกทิศ ไม่ปรากฏ ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้งแก่เรา
เมื่อพระธรรมเสนาบดีซึ่งเป็นกัลยาณมิตร นิพพานเสียแล้ว
โลกนี้ทั้งหมดปรากฏเหมือนกับว่ามืดมิด
[๑๐๓๘] กัลยาณมิตรเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ผู้ปราศจากสหาย
ผู้มีพระศาสดาล่วงลับหมือนกายคตาสติ
[๑๐๓๙] มิตรเก่า ก็ล่วงลับไป จิตของเราไม่ยอมสมาคมกับมิตรใหม่
วันนี้เรานั้น ขอเข้าฌานอยู่คนเดียว
เหมือนกับนกเข้าอยู่ประจำรังในฤดูฝน
(พระศาสดาได้ตรัสกับพระอานนทเถระด้วยพระพุทธภาษิตว่า)
[๑๐๔๐] เธออย่าได้ห้ามชนหมู่มากผู้เป็นชาวต่างรัฐต่างถิ่น
ที่พากันมาไม่ทันพบเรา
ชนเหล่านั้นซึ่งมุ่งฟังธรรม จงเข้าพบเราได้
นี้แหละเป็นเวลาเข้าพบเรา

เชิงอรรถ :
๑ สมถะและวิปัสสนา (ขุ.เถร.อ. ๑๐๓๕/๔๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๓. อานนทเถรคาถา
(พระอานนทเถระได้ฟังพุทธดำรัสนั้นแล้ว ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๐๔๑] พระศาสดาผู้มีพระจักษุทรงประทานพระวโรกาส
ไม่ทรงห้ามชนหมู่มากซึ่งเป็นชาวต่างรัฐต่างถิ่น
ที่พากันมาไม่ทันเข้าเฝ้า
[๑๐๔๒] เมื่อเราเป็นเสขบุคคลอยู่ ๒๕ ปี กามสัญญา๑มิได้เกิดขึ้น
ท่านจงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
[๑๐๔๓] เมื่อเราเป็นเสขบุคคลอยู่ ๒๕ ปี โทสสัญญา๒มิได้เกิดขึ้น
ท่านจงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
[๑๐๔๔] เราได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคด้วยเมตตากายกรรม
ดุจพระฉายาที่ติดตามพระองค์เป็นเวลา ๒๕ ปี
[๑๐๔๕] เราได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคด้วยเมตตาวจีกรรม
ดุจพระฉายาที่ติดตามพระองค์เป็นเวลา ๒๕ ปี
[๑๐๔๖] เราได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคด้วยเมตตามโนกรรม
ดุจพระฉายาที่ติดตามพระองค์เป็นเวลา ๒๕ ปี
[๑๐๔๗] เมื่อพระพุทธองค์เสด็จจงกรม
เราได้จงกรมตามเบื้องพระปฤษฎางค์ของพระองค์
เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ ญาณได้เกิดขึ้นแก่เรา
[๑๐๔๘] เรายังเป็นเสขะมีกิจที่ต้องทำ ยังไม่ได้บรรลุอรหัต
แต่พระศาสดาผู้ทรงอนุเคราะห์เรา ปรากฏว่าปรินิพพานเสียแล้ว
[๑๐๔๙] เวลานั้น(เรา)ได้มีความสะพรึงกลัว และขนพองสยองเกล้า
ในเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยพระคุณอย่างประเสริฐ
โดยอาการทั้งปวง เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ความกำหนดหมายในความใคร่
๒ ความกำหนดหมายในความโกรธ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
(พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายเมื่อจะสรรเสริญพระอานนทเถระ จึงได้
กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๐๕๐] พระอานนทเถระ เป็นพหูสูต ทรงธรรม
รักษาคลังธรรมของพระพุทธเจ้าผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่
เป็นดวงตาของชาวโลกทั้งมวล ปรินิพพานเสียแล้ว
[๑๐๕๑] พระอานนทเถระเป็นพหูสูต ทรงธรรม
รักษาคลังธรรมของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เป็นดวงตาของชาวโลกทั้งมวล กำจัดความมืดในโลกที่มืดมนได้
[๑๐๕๒] พระอานนทเถระ มีคติ๑ มีสติ มีธิติ๒ แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
และทรงพระสัทธรรมไว้ ได้เป็นบ่อเกิดรัตนะ๓
(พระอานนทเถระก่อนจะปรินิพพาน ได้กล่าวภาษิตสุดท้ายว่า)
[๑๐๕๓] เราได้ปรนนิบัติพระศาสดา
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ปลงภาระที่หนักเสียได้ บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก
ติงสนิบาต จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
๑. พระปุสสเถระ ๒. พระสารีบุตรเถระ
๓. พระอานนทเถระ
ในตึงสนิบาตนี้ มีพระเถระที่ระบุไว้ ๓ รูป
และมี ๑๐๕ ภาษิต ฉะนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ญาณคือความหยั่งรู้ (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๕๒/๔๗๑)
๒ ปัญญาเครื่องทรงจำ (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๕๒/๔๗๑)
๓ พระสัทธรรม (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๕๒/๔๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๘. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. มหากัสสปเถรคาถา
๑๘. จัตตาฬีสนิบาต
๑. มหากัสสปเถรคาถา
ภาษิตของพระมหากัสสปเถระ
(พระมหากัสสปเถระได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๐๕๔] บุคคลไม่พึงมีหมู่คณะแวดล้อมเที่ยวไป
เพราะเป็นเหตุทำใจให้ฟุ้งซ่าน ยากแก่การได้สมาธิ
การสงเคราะห์ชนต่าง ๆ เป็นความลำบาก
บุคคลเห็นโทษด้วยประการฉะนี้แล้ว
ไม่พึงชอบใจการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
[๑๐๕๕] มุนีไม่พึงเกี่ยวข้องตระกูลทั้งหลาย
เพราะเป็นเหตุทำใจให้ฟุ้งซ่าน ยากแก่การได้สมาธิ
ผู้ขวนขวายเกี่ยวข้องกับตระกูลนั้น
ย่อมติดในรส ละทิ้งประโยชน์อันจะนำความสุขมาให้
[๑๐๕๖] ด้วยว่านักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
กล่าวการไหว้และการบูชาในตระกูลทั้งหลายว่า เป็นเปือกตม
เป็นลูกศรอันละเอียดซึ่งถอนขึ้นได้ยาก
เป็นสักการะที่คนชั่วละได้ยาก
[๑๐๕๗] เราลงจากเสนาสนะแล้วได้เข้าไปบิณฑบาตยังนคร
ได้เข้าไปยืนอยู่ใกล้ ๆ บุรุษโรคเรื้อนซึ่งกำลังบริโภคอาหารนั้นด้วย
ความเอื้อเฟื้อ
[๑๐๕๘] บุรุษโรคเรื้อนนั้นใช้มือข้างที่หงิกงอ
น้อมคำข้าวเข้ามาถวายเรา
และเมื่อเขาใส่คำข้าวลง
นิ้วมือของเขาเน่าเฟะก็ขาดตกลงในบาตรของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๘. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. มหากัสสปเถรคาถา
[๑๐๕๙] เราได้อาศัยฝาเรือนฉันคำข้าวนั้นอยู่
ขณะฉัน หรือฉันเสร็จแล้ว เราไม่มีความรังเกียจเลย
[๑๐๖๐] ภิกษุใดไม่ดูหมิ่นบริโภคปัจจัย ๔ นี้ คือ
(๑) อาหารบิณฑบาตที่จะต้องลุกขึ้นยืนรับ (๒) บังสุกุลจีวร
(๓) เสนาสนะคือโคนไม้ (๔) ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า
ภิกษุนั้นแหละควรอยู่ในทิศทั้ง ๔ ได้
[๑๐๖๑] ในปัจฉิมวัย ภิกษุบางพวกเมื่อขึ้นภูเขาย่อมลำบาก
แต่กัสสปะซึ่งเป็นทายาทของพระพุทธเจ้า
มีสติสัมปชัญญะตั้งมั่น แข็งแรงด้วยกำลังฤทธิ์ ย่อมขึ้นได้สบาย
[๑๐๖๒] กัสสปะซึ่งหมดอุปาทาน ละความหวาดกลัวภัยได้แล้ว
กลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้ขึ้นภูเขา เข้าฌานอยู่
[๑๐๖๓] กัสสปะซึ่งหมดอุปาทาน เมื่อสัตว์ทั้งหลายถูกไฟไหม้อยู่
ก็ดับไฟเสียได้ กลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้ขึ้นภูเขา เข้าฌานอยู่
[๑๐๖๔] กัสสปะซึ่งหมดอุปาทาน ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ
กลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้ขึ้นภูเขา เข้าฌานอยู่
[๑๐๖๕] ภูมิภาคเรียงรายไปด้วยแนวต้นกุ่ม
น่ารื่นรมย์ใจ กึกก้อง ด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์
ล้วนแล้วด้วยภูเขา ย่อมทำเราให้ยินดี
[๑๐๖๖] ภูเขาเหล่านั้นมีสีเขียวดุจเมฆ งดงาม
มีน้ำเย็น ทรงความสะอาดไว้
ดารดาษด้วยแมลงค่อมทอง ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจ
[๑๐๖๗] ภูเขาเหล่านั้นเปรียบดังปราสาท
เขียวชะอุ่มสูงตระหง่านเทียมเมฆ
กึกด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์
ย่อมทำเราให้ยินดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๘. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. มหากัสสปเถรคาถา
[๑๐๖๘] ภูเขาเหล่านั้นที่ฝนตกรดใหม่ ๆ มีพื้นน่ารื่นรมย์
ทั้งเหล่าฤๅษีก็อาศัยอยู่ เซ็งแซ่ด้วยเสียงนกยูงร้อง
ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจ
[๑๐๖๙] สถานที่เช่นนั้นเหมาะแก่เราผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งเข้าฌาน
เหมาะแก่เราผู้เป็นภิกษุมีใจเด็ดเดี่ยว มุ่งประโยชน์
[๑๐๗๐] เหมาะแก่เราผู้เป็นภิกษุ มีใจเด็ดเดี่ยว มุ่งความผาสุก
เหมาะแก่เรา ผู้คงที่ มีใจเด็ดเดี่ยว มั่นคง
[๑๐๗๑] ภูเขาเหล่านั้นมีสีเสมอด้วยดอกผักตบ
คล้ายกับว่าหมู่เมฆบนท้องฟ้าปกคลุม
คลาคล่ำไปด้วยฝูงนกนานาชนิด ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจ
[๑๐๗๒] ภูเขาเหล่านั้นไม่มีหมู่คนพลุกพล่าน
มีแต่หมู่เนื้ออาศัยอยู่
คลาคล่ำไปด้วยฝูงนกนานาชนิด
ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจ
[๑๐๗๓] ภูเขาหินอันกว้างใหญ่ไพศาลมีน้ำไหลใสสะอาด
มีฝูงค่างและฝูงเนื้อฟานคลาคล่ำ
ดารดาษไปด้วยน้ำและสาหร่าย ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจยิ่งนัก
[๑๐๗๔] ความยินดีด้วยดนตรีมีเครื่อง ๕ เช่นนั้น
ย่อมไม่มีแก่เราผู้มีจิตตั้งมั่น
พิจารณาเห็นธรรมโดยชอบ
[๑๐๗๕] ภิกษุไม่ควรทำงานก่อสร้างให้มาก
พึงเว้นห่างหมู่ชน ไม่พึงขวนขวายเพื่อลาภผล
ภิกษุผู้ปฏิบัติเช่นนั้นเป็นผู้ขวนขวาย
ในลาภผลและติดในรสอาหาร
ย่อมละทิ้งประโยชน์ที่จะนำความสุขมาให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๘. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. มหากัสสปเถรคาถา
[๑๐๗๖] ภิกษุไม่พึงทำงานก่อสร้างให้มาก
พึงเว้นห่างงานก่อสร้างนั้น
ซึ่งไม่นำประโยชน์มาให้ตน
เพราะกายจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า
เธอซึ่งประสบความลำบาก
ย่อมไม่ประสบความสงบใจ
[๑๐๗๗] ภิกษุไม่พิจารณาเห็นแม้ประโยชน์ตน
ด้วยเพียงท่องบ่นพระพุทธวจนะ
ย่อมเที่ยวชูคอ สำคัญตัวว่าประเสริฐกว่าเขา
[๑๐๗๘] นรชนใดไม่ประเสริฐเป็นพาล
สำคัญตนว่าประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา
ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ย่อมไม่สรรเสริญนรชนนั้น ผู้มีใจกระด้าง
[๑๐๗๙] ส่วนผู้ใดเป็นคนประเสริฐกว่าเขาแต่ไม่ถือตัวว่า
ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา หรือว่าเลวกว่าเขา
หวั่นไหวด้วยมานะสักอย่างหนึ่งใน ๙ อย่าง
[๑๐๘๐] ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้นั้นนั่นแหละว่า
มีปัญญา คงที่เช่นนั้น ตั้งมั่นดีในศีลทั้งหลาย
บำเพ็ญความสงบใจอยู่เนือง ๆ
[๑๐๘๑] ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ผู้นั้นย่อมห่างไกลจากพระสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดิน
[๑๐๘๒] ก็เหล่าภิกษุมีหิริและโอตตัปปะตั้งมั่นโดยชอบทุกเมื่อ
มีพรหมจรรย์งอกงาม ย่อมเป็นผู้มีภพใหม่สิ้นแล้ว
[๑๐๘๓] ภิกษุที่ยังมีจิตฟุ้งซ่าน กลับกลอก
ถึงจะห่มผ้าบังสุกุล ก็ย่อมไม่งดงามด้วยผ้าบังสุกุลนั้น
เหมือนวานรที่คลุมด้วยหนังราชสีห์ ไม่งดงาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๘. จัตตาฬีสนิบาต] ๑.มหากัสสปเถรคาถา
[๑๐๘๔] ส่วนภิกษุผู้มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กลับกลอก
มีปัญญารักษาตนรอด สำรวมอินทรีย์
ย่อมงดงามด้วยผ้าบังสุกุล เหมือนราชสีห์ที่ซอกภูเขาฉะนั้น
[๑๐๘๕] อุบัติเทพมีฤทธิ์ มีเกียรติยศ
มีจำนวนมากถึง ๑๐,๐๐๐ เหล่านี้
และหมู่พรหมทั้งหมดนั้น
[๑๐๘๖] พากันมายืนประนมมือ
นอบน้อมท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรผู้เป็นปราชญ์
เข้าฌานสมาบัติได้อย่างอุกฤษฏ์
มีจิตตั้งมั่น พร้อมกับเปล่งวาจาว่า
[๑๐๘๗] ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน
ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษสูงสุด ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน
ที่พวกเราไม่รู้ว่า ท่านอาศัยอารมณ์ไรเล่า ถึงเข้าฌานอยู่
[๑๐๘๘] น่าอัศจรรย์จริงหนอ
วิสัยเฉพาะตัวของท่านผู้รู้ทั้งหลายลึกซึ้งยิ่งนัก
พวกเราผู้สามารถที่จะรู้วิสัยแม้ที่ละเอียด
ดุจนายขมังธนูผู้ยิงขนทรายได้มาประชุมกันแล้ว ก็ยังรู้ไม่ได้
[๑๐๘๙] เพราะได้เห็นท่านพระสารีบุตรผู้ควรแก่การบูชา
ซึ่งหมู่ทวยเทพบูชาแล้วอย่างนั้นในครั้งนั้น
ท่านพระกัปปินะจึงได้มีความยิ้มแย้ม
[๑๐๙๐] ทั่วพุทธอาณาเขต ยกเว้นพระมหามุนีเสีย
เราได้เป็นผู้ประเสริฐในธุดงคคุณ ไม่มีใครเทียบเท่าเรา
[๑๐๙๑] เราปรนนิบัติพระศาสดา
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ปลงภาระที่หนักเสียได้แล้ว ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๘. จัตตาฬีสนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[๑๐๙๒] พระโคดมผู้ทรงพระคุณหาประมาณมิได้
มีพระทัยน้อมไปในเนกขัมมะ
สลัดออกจากภพ ๓
ไม่ทรงติดจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
เหมือนดอกบัวไร้มลทินไม่ติดน้ำฉะนั้น
[๑๐๙๓] พระองค์เป็นจอมปราชญ์
มีสติปัฏฐานเป็นพระศอ
มีศรัทธาเป็นพระหัตถ์
มีปัญญาเป็นพระเศียร
ทรงมีพระปรีชามาก
ทรงปฏิบัติดับกิเลสและกองทุกข์ได้ตลอดไป
จัตตาฬีสนิบาต จบบริบูรณ์
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
๑. พระมหากัสสปเถระรูปเดียวเท่านั้น
และในจัตตาฬีสนิบาตมี ๔๐ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต] ๑. ตาลปุฏเถรคาถา
๑๙. ปัญญาสนิบาต
๑. ตาลปุฏเถรคาถา
ภาษิตของพระตาลปุฏเถระ
(พระตาลปุฏเถระหวังจะจำแนกแสดงโยนิโสมนสิการโดยประการต่าง ๆ จึงได้
กล่าวสอนภิกษุทั้งหลายด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๐๙๔] เมื่อไรหนอเราจะอยู่ผู้เดียวไม่มีตัณหาเป็นเพื่อนที่ซอกเขา
เมื่อไรหนอเราจะพิจารณาเห็นแจ้งภพทั้งปวงโดยเป็นสภาวะไม่เที่ยงอยู่
เมื่อไรหนอความดำริเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จได้
[๑๐๙๕] เมื่อไรหนอเราจะได้เป็นมุนีนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ที่ตัดด้วยศัสตรา
ไม่ยึดมั่น ไม่มีความหวัง ละราคะ โทสะ และโมหะได้แล้ว เที่ยว
ไปในป่าใหญ่อยู่ได้อย่างสบาย
[๑๐๙๖] เมื่อไรหนอเราจึงจะเห็นแจ้งร่างกายนี้ซึ่งไม่เที่ยง เป็นรังแห่ง
ความตายและเป็นรังแห่งโรค ถูกมรณะและชราคอยรบกวน
ปราศจากความกลัว อาศัยอยู่ในป่าแต่ผู้เดียว
ตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๐๙๗] เมื่อไรหนอเราพึงจับดาบคมกริบคืออริยมรรคที่สำเร็จด้วยปัญญา
ตัดเถาวัลย์คือตัณหาที่ก่อให้เกิดภัย นำทุกข์มาให้
เป็นเหตุให้หมุนวนเวียนไปตามอารมณ์มากอย่าง
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๐๙๘] เมื่อไรหนอเราจะได้ฉวยศัสตราที่สำเร็จด้วยปัญญาอันมีเดชานุภาพ
มากของท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลาย หักรานกิเลสมาร
พร้อมทั้งเสนามารโดยฉับพลัน เหนือบัลลังก์สีหอาสน์๑
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ

เชิงอรรถ :
๑ บัลลังก์ที่นั่งอย่างมั่นคง, บัลลังก์ที่นั่งแล้วชนะมารและเสนามารได้ (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๙๘/๕๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต] ๑. ตาลปุฏเถรคาถา
[๑๐๙๙] เมื่อไรหนอสัตบุรุษผู้มีความหนักแน่นในธรรม
คงที่ มีปกติเห็นตามความเป็นจริง ชนะอินทรีย์แล้ว
จะพึงเห็นเราว่า บำเพ็ญเพียรในสมาคม
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๑๐๐] เมื่อไรหนอความเกียจคร้าน ความหิวกระหาย
ลม แดด หรือเหลือบ ยุง สัตว์เลื้อยคลาน
จะไม่เบียดเบียนเราที่ซอกภูเขา นี้เป็นความประสงค์ส่วนตัวเรา
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๑๐๑] เมื่อไรหนอเราจึงจะได้เป็นผู้มีจิตตั้งมั่น มีสติ
บรรลุอริยสัจ ๔ ที่เห็นได้แสนยาก ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้
แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทรงทราบแล้วด้วยพระปัญญา
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๑๐๒] เมื่อไรหนอ เราจะมีความสงบระงับจากเครื่องเร่าร้อน
ในเพราะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
ที่เรายังไม่รู้เท่าทัน พิจารณาเห็นได้ด้วยปัญญา
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๑๐๓] เมื่อไรหนอเราถูกว่ากล่าวติเตียนด้วยคำหยาบ
จะไม่เดือดร้อนใจ เพราะคำหยาบนั้นเป็นเหตุ
ถึงได้รับการสรรเสริญ ก็จะไม่ยินดี เพราะการสรรเสริญนั้นเป็นเหตุ
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๑๐๔] เมื่อไรหนอเราพึงเห็นสภาพภายใน
คือ เบญจขันธ์ของเราเหล่านี้ รูปธรรมที่ยังไม่รู้
และสภาพภายนอก คือ ท่อนไม้ กอหญ้า
และลดาวัลย์ ว่าเป็นสภาพเสมอกัน
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต] ๑. ตาลปุฏเถรคาถา
[๑๑๐๕] เมื่อไรหนอน้ำฝนใหม่ตามฤดูกาลในเวลาใกล้รุ่ง
จะตกรดเราผู้ครองผ้าจีวรดำเนินไปในมรรคา๑
ที่ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ดำเนินไปอยู่ในป่า
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๑๐๖] เมื่อไรหนอเราพึงได้ยินเสียงร้องของนกยูงที่ซอกเขาในป่า
แล้วลุกขึ้นพิจารณาเพื่อบรรลุอมตธรรม
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๑๐๗] เมื่อไรหนอเราจะพึงข้ามพ้นแม่น้ำคงคา ยมุนา สุรัสวดี ที่ไหล
ไปถึงบาดาล มีปากอ่าวใหญ่ทั้งน่ากลัว ไปได้ด้วยฤทธิ์ ไม่ติดขัด
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๑๐๘] เมื่อไรหนอเราจะพึงงดเว้นนิมิตว่างามทั้งปวงเสียได้
ขวนขวายในฌานแล้ว ทำลายความพอใจในกามคุณทั้งหลาย
เหมือนช้างทำลายเสาตะลุง และโซ่เหล็กได้แล้วเที่ยวไปในสงคราม
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๑๐๙] เมื่อไรหนอเราจึงจะได้บรรลุคำสอนของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหา
คุณอันยิ่งใหญ่ได้แล้ว พอใจเหมือนลูกหนี้ผู้ขัดสนถูกเจ้าหนี้บีบ
บังคับ แสวงหาทรัพย์มาได้ก็พึงพอใจ
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๑๑๐] (จิตผู้เจริญ) ท่านอ้อนวอนเรามาเป็นเวลาหลายปีว่า
ท่านไม่สมควรอยู่ครองเรือนเลย บัดนี้เรานั้นก็ได้บวชสมประสงค์
แล้ว เหตุไฉน ท่านจึงไม่ชักนำเสียเล่า
[๑๑๑๑] จิตผู้เจริญ ท่านอ้อนวอนเรามาแล้วมิใช่หรือว่า
ฝูงนกยูงมีขนปีกแพรวพราว และเสียงกึกก้องแห่งธารน้ำตกตาม
ซอกเขา จะทำท่านผู้เข้าฌานอยู่ในป่าให้เพลิดเพลิน

เชิงอรรถ :
๑ สมถะและวิปัสสนา (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๑๐๕/๕๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต] ๑. ตาลปุฏเถรคาถา
[๑๑๑๒] เรายอมสละญาติมิตรอันเป็นที่รักในสกุล
ความยินดีในการเล่น และกามคุณในโลกได้หมดแล้ว เข้ามาถึงป่านี้
ท่านช่างไม่ยินดีกับเราเสียเลยนะจิต
[๑๑๑๓] เราเมื่อพิจารณาเห็นว่า เพราะจิตนี้เป็นของเราเท่านั้น
ฉะนั้น ท่านจึงไม่ใช่ของผู้อื่น การร้องไห้รำพันจะมีประโยชน์อะไร
ในเวลาทำสงครามกับกิเลสมาร จิตทั้งหมดนี้มีแต่หวั่นไหวดังนี้
จึงได้ออกบวชแสวงหาอมตบท
[๑๑๑๔] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐเหนือเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นจอมท้าวสักกเทวราช เป็นจอมสารถีฝึกนระได้
ตรัสสุภาษิตไว้ว่า จิตนี้กวัดแกว่งเหมือนลิง
ทั้งห้ามได้แสนยาก เพราะไม่ปราศจากความกำหนัด
[๑๑๑๕] เพราะเหล่าปุถุชนที่ยังไม่รู้เท่าทัน
พัวพันอยู่ในกามทั้งหลายที่งดงาม มีรสหวาน ชวนให้รื่นรมย์ใจ
พวกเขาแสวงหาภพใหม่ ก่อแต่สิ่งที่ไร้ประโยชน์
ถูกจิตทำให้เหินห่างจากสุข นำไปไว้ในนรก ย่อมประสบทุกข์
[๑๑๑๖] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านมีเสือเหลืองและเสือโคร่งห้อมล้อมอยู่ในป่า
ที่มีเสียงนกยูงและนกกระไนร่ำร้อง
จงละความห่วงใยในร่างกาย อย่าได้พลาดหวังเสียเลย
[๑๑๑๗] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงเจริญฌาน อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ และสมาธิภาวนา
ทั้งบรรลุวิชชา ๓ ในพระพุทธศาสนาให้ได้
[๑๑๑๘] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงเจริญมรรคมีองค์ ๘ ที่นำสัตว์ออกจากวัฏฏทุกข์
หยั่งถึงความสิ้นทุกข์ทั้งมวล ชำระล้างกิเลสได้หมดสิ้น
เพื่อบรรลุนิพพานให้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต] ๑. ตาลปุฏเถรคาถา
[๑๑๑๙] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงพิจารณาเห็นเบญจขันธ์โดยอุบายที่แยบคายว่า เป็นทุกข์
จงละเหตุให้เกิดทุกข์ และจงทำความสิ้นทุกข์ในอัตภาพนี้แหละ
ให้ได้
[๑๑๒๐] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงพิจารณาเบญจขันธ์โดยอุบายที่แยบคายว่า
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์
ว่า ว่างเปล่า ไม่มีตัวตน
และว่า ต้องวิบัติไป เป็นผู้ฆ่า
จงดับมโนวิจารทางใจเสียให้ได้
[๑๑๒๑] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงปลงผมและโกนหนวดแล้ว ถือเพศสมณะ
มีรูปร่างแปลก ถูกเขาสาปแช่ง
ถือบาตรเที่ยวภิกษาไปตามตระกูลทั้งหลาย
จงพากเพียรในคำสอนของพระศาสดา
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ให้ได้
[๑๑๒๒] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงสำรวมระวังให้ดี เมื่อเที่ยวไปในระหว่างตรอก
อย่ามีใจเกี่ยวข้องในตระกูล
และกามารมณ์ทั้งหลายเที่ยวไป
เหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญที่ปราศจากเมฆฉะนั้น
[๑๑๒๓] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงยินดีในธุดงคคุณทั้ง ๕ คือ
(๑) ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
(๒) ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
(๓) ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร
(๔) ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
(๕) ถือการไม่นอนเป็นวัตรทุกเมื่อให้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต] ๑. ตาลปุฏเถรคาถา
[๑๑๒๔] บุคคลบางคนต้องการผลไม้ ปลูกไม้ผลไว้แล้ว
ไม่ได้รับผล ประสงค์จะโค่นต้นไม้นั้นเสีย ฉันใด
จิต ท่านทำเรา ที่ท่านชักนำให้หวั่นไหวในความไม่เที่ยง
ให้เป็นเหมือนบุคคลผู้ปลูกต้นไม้ฉันนั้น
[๑๑๒๕] จิต ที่ไม่มีรูปร่าง ไปได้ไกล ทั้งเที่ยวไปแต่ผู้เดียว
บัดนี้ เราจะไม่ทำตามคำของท่าน
เพราะกามทั้งหลาย ล้วนแต่ก่อให้เกิดทุกข์ ให้ผลเผ็ดร้อน
มีภัยอย่างใหญ่หลวง
เราจะประพฤติมุ่งมั่นอยู่เฉพาะนิพพาน
[๑๑๒๖] เราไม่ได้ออกบวชเพราะไม่มีบุญ เพราะหมดความกระดากอาย
เพราะตกอยู่ภายใต้อำนาจจิต เพราะทำผิดต่อชาติบ้านเมือง
ก็หรือเพราะเหตุแห่งอาชีพ
จิต ก็ท่านได้รับรองกับเราไว้ว่า จะอยู่ในอำนาจเรามิใช่หรือ
[๑๑๒๗] จิต ท่านแนะนำเราไว้คราวนั้นแหละว่า
ความเป็นผู้มักน้อย การละความลบหลู่คุณท่าน
และความสงบทุกข์ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ
มาบัดนี้ ท่านกลับประพฤติเช่นเดิม
[๑๑๒๘] เราไม่อาจกลับไปหาตัณหา อวิชชา
ความรัก ความชัง รูปอันสวยงาม สุขเวทนา
และกามคุณที่น่าชอบใจ ซึ่งคายได้แล้ว
[๑๑๒๙] จิต เราได้ทำตามคำของท่านมาทุกภพ ทุกชาติ
ทุกคติ และทุกวิญญาณฐิติ
เราไม่ได้ขุ่นเคืองท่านในหลายชาติ
เพราะความที่ท่านเป็นคนกตัญญู จึงเกิดมีอัตภาพนี้ขึ้น
ทั้งเราก็ได้เร่ร่อนไปในทุกข์ ที่ท่านทำให้มาช้านาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต] ๑. ตาลปุฏเถรคาถา
[๑๑๓๐] จิต ท่านนั่นแหละทำเราให้เป็นพราหมณ์บ้าง
ให้เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นพระราชาบ้าง
เพราะอำนาจแห่งท่านนั่นแหละ
บางคราวเราเป็นแพศย์บ้าง
เป็นศูทรบ้าง เป็นเทพบ้าง
[๑๑๓๑] เพราะเหตุแห่งท่าน เพราะอำนาจแห่งท่าน
มีท่านเป็นมูลเหตุ บางคราวเราเป็นอสูรบ้าง
เป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง เป็นเปรตบ้าง
[๑๑๓๒] ท่านประทุษร้ายเรามาแล้วบ่อยครั้งมิใช่หรือ
ท่านแสดงน้ำใจเหมือนจะห้ามเรา
ครู่เดียวท่านก็ล่อลวงเหมือนกับคนบ้า
จิต เราได้ผิดอะไรต่อท่านไว้บ้าง
[๑๑๓๓] แต่ก่อนจิตนี้ได้ท่องเที่ยวไปตามอารมณ์ต่าง ๆ
ตามความปรารถนา ตามความต้องการ ตามความสบาย
วันนี้ เราจะข่มจิตนั้นโดยอุบายอันแยบคาย
เหมือนควาญช้างปราปพยศช้างตกมัน
[๑๑๓๔] พระศาสดาของเราทรงหยั่งรู้โลกนี้
โดยความเป็นสภาวะไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่มีแก่นสาร
จิต เชิญท่านพาเราบ่ายหน้าไปในศาสนาของพระชินเจ้า
ช่วยเราให้ข้ามโอฆะใหญ่ที่ข้ามได้แสนยาก
[๑๑๓๕] จิต เรือนคืออัตภาพนี้ไม่เป็นของท่านเหมือนเมื่อก่อน
เราไม่พึงกลับไปอยู่ในอำนาจท่าน
จะบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ธรรมดาสมณะทั้งหลายไม่ประสบความเสียหายเหมือนเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต] ๑. ตาลปุฏเถรคาถา
[๑๑๓๖] ภูเขา มหาสมุทร แม่น้ำคงคาเป็นต้น
แผ่นดิน ทิศใหญ่ทั้ง ๔ ทิศน้อยทั้ง ๔
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง และภพทั้ง ๓
ล้วนเป็นสภาพไม่เที่ยง มีแต่ถูกเบียดเบียนอยู่เสมอ
จิต ท่านไปที่ไหนเล่าจึงจะยินดีความสุข
[๑๑๓๗] จิต เรามั่นคงแล้ว ท่านจะทำอะไรได้
เราไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจท่าน
คนไม่พึงแตะต้องถุงหนัง มีปากสองข้าง
น่าตินัก ร่างกายที่เต็มไปด้วยของไม่สะอาดต่าง ๆ
หลั่งของไม่สะอาดออกจากปากแผลทั้ง ๙
[๑๑๓๘] ท่านเข้าไปสู่เรือนคือถ้ำที่เงื้อมเขาและยอดเขา
ที่สวยงามตามธรรมชาติ ซึ่งฝูงหมูป่าและฝูงกวางอาศัยอยู่
และป่าที่ฝนตกรดใหม่ ๆ นั้น จะยินดีภาวนา ณ ที่นั้น
[๑๑๓๙] ฝูงนกยูงมีขนคอเขียวสวยงาม มีหงอนงาม
มีปีกงาม ทั้งปกคลุมด้วยขนปีกสวยงาม
ส่งสำเนียงเสียงร้องก้องกังวานไพเราะจับใจนั้น
จะช่วยท่านผู้บำเพ็ญฌานอยู่ในป่าให้รื่นรมย์ได้
[๑๑๔๐] เมื่อฝนตก หญ้างอกยาวประมาณ ๔ นิ้ว
เมื่อป่าไม้ผลิดอกออกช่อ งามคล้ายก้อนเมฆ
เราเป็นเหมือนต้นไม้จะนอนบนยอดหญ้าในระหว่างภูเขา
เครื่องลาดหญ้านั้นอ่อนนุ่มจะเป็นเหมือนที่นอนสำลีสำหรับเรา
[๑๑๔๑] เราจะทำท่านไว้ในอำนาจให้ได้เหมือนคนผู้เป็นใหญ่
จะพอใจด้วยปัจจัยตามที่ได้ จะทำท่านไว้ในอำนาจให้ได้
เหมือนคนไม่เกียจคร้าน เหมือนกระสอบใส่แมวที่มัดไว้ดีแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต] ๑. ตาลปุฏเถรคาถา
[๑๑๔๒] เราจะทำท่านไว้ในอำนาจให้ได้เหมือนคนผู้เป็นใหญ่
จะพอใจด้วยปัจจัยตามที่ได้
จะใช้ความพยายามนำท่านมาไว้ในอำนาจให้ได้
เหมือนนายควาญช้างผู้ชาญฉลาด
ใช้ขอสับช้างตกมันให้อยู่ในอำนาจตน
[๑๑๔๓] เราพร้อมกับท่านผู้ฝึกฝนดีแล้ว มั่นคง
สามารถดำเนินไปถึงทางที่ปลอดโปร่ง
ซึ่งท่านผู้ตามรักษาจิตทั้งหลายได้ดำเนินไปแล้วทุกสมัย
เหมือนนายสารถีผู้ฝึกม้าสามารถดำเนินไปถึงภูมิภาค
ที่ปลอดภัยได้ด้วยม้าอาชาไนยที่มีใจซื่อตรง
[๑๑๔๔] เราจะผูกท่านไว้ที่อารมณ์กรรมฐานด้วยกำลังภาวนา
เหมือนนายควาญช้างใช้เชือกที่เหนียวผูกช้างไว้ที่เสาตะลุง
จิตที่เราคุ้มครองดี อบรมดีแล้วด้วยสติ
จะเป็นจิตอันตัณหาในภพทั้งปวงอาศัยไม่ได้
[๑๑๔๕] ท่านตัดเหตุเกิดคืออายตนะที่แล่นไปผิดทางด้วยปัญญา
ข่มมันเสียด้วยความเพียร
ให้ตั้งมั่นอยู่ในทางถูก
เห็นแจ้งทั้งความเกิดและความดับ
แล้วจะเป็นทายาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีวาทะเป็นเลิศ
[๑๑๔๖] จิต ท่านชักนำเราให้เป็นไปตามอำนาจของความเข้าใจผิด ๔ อย่าง
เหมือนคนจูงเด็กชาวบ้านวิ่งวนไปฉะนั้น
ท่านน่าจะคบหาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เพียบพร้อมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ
ผู้ตัดเครื่องผูกคือสังโยชน์เสียได้
เป็นพระมหามุนี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[๑๑๔๗] มฤคชาติเข้าไปยังภูเขาอันน่ารื่นรมย์
ประกอบด้วยน้ำและดอกไม้
เที่ยวไปในป่าอันงดงามอย่างเสรี
จิต ท่านก็จะรื่นรมย์ในภูเขาที่ไม่เกลื่อนกล่นด้วยผู้คนตามลำพังใจ
เมื่อท่านไม่ยินดีอยู่ที่ภูเขานั้น
ท่านก็จะต้องเสื่อมโดยไม่ต้องสงสัย
[๑๑๔๘] จิตชายและหญิงเหล่าใดประพฤติตามความพอใจ
ตามอำนาจของท่าน จะเสวยความสุข
ชายหญิงเหล่านั้นโง่เขลา ประพฤติไปตามอำนาจมาร
เพลิดเพลินในภพน้อยภพใหญ่
เป็นสาวกของท่าน
ปัญญาสนิบาต จบบริบูรณ์
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
พระตาลปุฏเถระผู้บริสุทธิ์รูปเดียว
และในปัญญาสนิบาตนี้ มี ๕๕ ภาษิต ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต] ๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
๒๐. สัฏฐินิบาต
๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
ภาษิตของพระมหาโมคคัลลานเถระ
(พระมหาโมคคัลลานเถระได้กล่าวสอนภิกษุทั้งหลายด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๑๔๙] เราทั้งหลายถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
พอใจอาหารในบาตรที่ได้มาด้วยการเที่ยวแสวงหา
เป็นผู้มีจิตมั่นคงด้วยดีภายใน
จึงทำลายเสนามัจจุราชได้
[๑๑๕๐] เราทั้งหลายถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
พอใจอาหารในบาตรที่ได้มาด้วยการเที่ยวแสวงหา
จะกำจัดเสนามัจจุราชได้
เหมือนช้างทำลายเรือนไม้อ้อ
[๑๑๕๑] เราทั้งหลายถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร
มีความเพียรต่อเนื่อง
พอใจในอาหารที่อยู่ในบาตรด้วยการเที่ยวแสวงหาได้มา
เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยดีภายใน
พึงทำลายเสนามัจจุราชได้
[๑๑๕๒] เราทั้งหลายถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร
มีความเพียรต่อเนื่อง
พอใจในอาหารที่อยู่ในบาตรด้วยการเที่ยวแสวงหาได้มา
จะกำจัดเสนามัจจุราชได้
เหมือนช้างทำลายเรือนไม้อ้อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต] ๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
(พระเถระหวังจะสอนหญิงแพศยา จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๑๕๓] น่าติ กระท่อมคือเรือนร่างสำเร็จด้วยโครงกระดูก
ฉาบทาด้วยเนื้อ รึงรัดไปด้วยเส้นเอ็น
เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น
เธอยังมัวยึดถือเรือนร่างที่สัตว์อื่นหมายปองว่าเป็นของเรา
[๑๑๕๔] ในร่างกายซึ่งเหมือนถุงเต็มด้วยคูถ
มีหนังหุ้มห่อไว้ของเธอผู้เปรียบเหมือนนางปีศาจ
มีฝีที่อก มีช่อง ๙ ช่อง หลั่งของไม่สะอาดออกอยู่เป็นนิตย์
[๑๑๕๕] เรือนร่างของเธอที่เนื่องมาแต่การปฏิบัติโดยชอบ
มีช่อง ๙ ช่อง ส่งกลิ่นเหม็น
ท่านผู้เห็นภัยในสังสารวัฏย่อมเว้นเสียห่างไกล
เหมือนคนรักความสะอาดเห็นคูถแล้วก็หลีกเสียห่างไกล
[๑๑๕๖] หากชนพึงรู้ถึงเรือนร่างของเธอเหมือนที่ฉันรู้
ก็จะพึงเว้นเสียห่างไกล เหมือนคนรักความสะอาด
เห็นหลุมคูถในฤดูฝนก็หลีกเสียห่างไกล
(หญิงแพศยาเกิดความสลดใจ จึงได้กล่าวตอบท่านด้วยภาษิตนี้ว่า)
[๑๑๕๗] ข้าแต่ท่านสมณะผู้มีความเพียรมาก
เรื่องนี้เป็นจริงอย่างที่ท่านพูด
แต่ผู้คนบางพวกยังจมอยู่ในร่างกายนี้
เหมือนโคแก่จมอยู่ในปลัก
(พระเถระกล่าวตอบหญิงแพศยาด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๑๕๘] ผู้ใดประสงค์จะใช้ขมิ้น
หรือแม้เครื่องย้อมอย่างอื่น ย้อมอากาศ
การกระทำของผู้นั้นเป็นเหตุให้เกิดความลำบากใจเท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต] ๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
[๑๑๕๙] จิตของฉันนี้เสมอด้วยอากาศ ตั้งมั่นดีแล้วในอารมณ์ภายใน
เธอผู้มีความคิดเลวทราม เธออย่ามาหวังคนอย่างฉัน
เหมือนตัวแมลงเม่าชอบเล่นกองไฟ
(พระเถระเมื่อจะกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๑๖๐] เชิญท่านดูอัตภาพที่ผ้าและอาภรณ์เป็นต้นทำให้วิจิตร
มีกายเป็นแผล มีกระดูก ๓๐๐ ท่อนเป็นโครงร่าง
กระสับกระส่าย ที่พวกคนเขลาดำริหวังกันส่วนมาก
ซึ่งไม่มีความยั่งยืนตั้งมั่น
[๑๑๖๑] เชิญท่านดูรูปที่สตรีใช้แก้วมณีและต่างหูทำให้วิจิตร
ซึ่งมีหนังหุ้มกระดูกไว้ภายใน งามพร้อมกับผ้า
[๑๑๖๒] เท้าทั้งสองย้อมด้วยครั่งสด หน้าทาด้วยจุรณ
ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนแสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[๑๑๖๓] ผมที่ตบแต่งให้เป็นลอนดังกระดานหมากรุก
ตาทั้งสองที่หยอดด้วยยาหยอดตาก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[๑๑๖๔] กายที่มีสภาพเปื่อยเน่าเป็นธรรมดาซึ่งตบแต่งแล้ว
เหมือนกล่องยาหยอดตาใหม่ ๆ ที่งดงาม
ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[๑๑๖๕] นายพรานเนื้อดักบ่วงไว้ เนื้อไม่มาติดบ่วง
เราทั้งหลาย(ฝูงเนื้อ)กินเหยื่อแล้วหลบหนีไป
เมื่อนายพรานกำลังคร่ำครวญอยู่
[๑๑๖๖] เราทั้งหลาย(ฝูงเนื้อ)กัดบ่วงของนายพรานเนื้อขาดแล้ว
เนื้อไม่ติดบ่วง เรากินเหยื่อแล้วหลบหนีไป
ในเมื่อนายพรานเนื้อกำลังเศร้าโศกอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต] ๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
(พระเถระปรารภการปรินิพพานของพระสารีบุตรเถระจึงกล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๑๖๗] เวลานั้นก็เกิดเหตุน่าสะพรึงกลัว ขนพองสยองเกล้า
เมื่อพระสารีบุตรผู้เพียบพร้อมด้วยอาการทุกอย่างนิพพานแล้ว
[๑๑๖๘] สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
มีสภาวะเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
ความสงบระงับไปแห่งสังขารเหล่านั้นได้โดยสิ้นเชิง เป็นความสุข
[๑๑๖๙] ท่านผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลายที่พิจารณาเห็นเบญจขันธ์
โดยเป็นสภาวะแปรปรวน และโดยมิใช่ตัวตน
ย่อมรู้แจ้งได้อย่างสุขุมลุ่มลึก
เหมือนนายขมังธนูใช้ลูกศรยิงปลายขนเนื้อทราย
[๑๑๗๐] อนึ่ง ท่านผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลายที่พิจารณา
เห็นสังขารทั้งหลาย โดยเป็นสภาวะแปรปรวน
และโดยมิใช่ตัวตน รู้แจ้งได้อย่างละเอียด
เหมือนนายขมังธนูใช้ลูกศรยิงปลายขนทราย
[๑๑๗๑] ภิกษุผู้มีสติพยายามละกามราคะ
เหมือนคนพยายามใช้ศัสตราตัดเครื่องประหารที่ชื่อโอมัฏฐะ
และเหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะรีบดับไฟนั้นเสีย
[๑๑๗๒] ภิกษุผู้มีสติพยายามละภวราคะ๑
เหมือนคนพยายามใช้ศัสตราตัดเครื่องประหารที่ชื่อว่าโอมัฏฐะ
และเหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะรีบดับไฟนั้น
[๑๑๗๓] เราอันพระผู้มีพระภาคผู้อบรมพระองค์เอง
ทรงไว้ซึ่งพระวรกายมีในภพสุดท้าย ทรงเตือนแล้ว
ได้ทำปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดาให้ไหวด้วยปลายนิ้วเท้า

เชิงอรรถ :
๑ ความกำหนัด(ยินดี)ในภพ (ขุ.เถร.อ. ๑๑๗๒/)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต] ๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
[๑๑๗๔] บุคคลไม่พึงบรรลุนิพพาน
อันเป็นเหตุปลดเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวงได้
เพราะความเพียรย่อหย่อน
ทั้งบรรลุไม่ได้ด้วยกำลังความเพียรนิดหน่อย
[๑๑๗๕] ภิกษุนี้ยังหนุ่มและเป็นคนประเสริฐ
ชนะมารพร้อมทั้งเสนามาร
ยังทรงร่างกายซึ่งมีในภพสุดท้ายอยู่
[๑๑๗๖] ภิกษุผู้เป็นบุตรของพระพุทธองค์ซึ่งคงที่
หาผู้เสมอเหมือนมิได้อยู่ที่ซอกเขาเข้าฌาน
เหมือนสายฟ้าแลบส่องลอดเข้าไป
ตามช่องภูเขาเวภาระ และภูเขาปัณฑวะ
[๑๑๗๗] ภิกษุผู้สงบ งดเว้นจากการทำชั่ว
อยู่แต่ในเสนาสนะที่สงัดเป็นมุนี
เป็นทายาทของพระพุทธองค์ผู้ประเสริฐ
อันท้าวมหาพรหมพร้อมทั้งเทวดากราบไหว้
(พระเถระ เมื่อจะอนุเคราะห์พราหมณ์มิจฉาทิฏฐิ หลานชายพระสารีบุตรเถระ
จึงได้กล่าว ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๑๗๘] พราหมณ์ เชิญท่านไหว้พระมหากัสสปะผู้สงบระงับ
งดเว้นจากการกระทำความชั่ว อยู่แต่ในเสนาสนะที่สงัด
เป็นมุนี เป็นทายาทของพระพุทธองค์ผู้ประเสริฐ
[๑๑๗๙] อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดเป็นพราหมณ์
สืบเชื้อสายพราหมณ์ติดต่อกันมาทั้งหมดถึง ๑๐๐ ชาติ
เพียบพร้อมด้วยความรู้
[๑๑๘๐] ถึงแม้จะพึงเป็นผู้เล่าเรียนมนต์ จบไตรเพท
การเรียนสำเร็จวิชาเป็นต้นนั้นของผู้นั้น
ย่อมมีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งบุญที่ได้ไหว้พระมหากัสสปะนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต] ๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
[๑๑๘๑] ในเวลาเช้า ภิกษุเช่นใดเข้าวิโมกขสมาบัติ ๘ ทั้งอนุโลมและ
ปฏิโลม ออกจากสมาบัตินั้นแล้ว จึงเที่ยวไปบิณฑบาต
[๑๑๘๒] พราหมณ์ ท่านอย่ารุกรานภิกษุเช่นนั้น
อย่าได้ทำลายตนเสียเลย
เชิญทำใจให้เลื่อมใสในพระอรหันต์ผู้คงที่
รีบประนมมือไหว้เสีย ศีรษะของท่านอย่าได้แตก
(พระเถระเห็นพระโปฏฐิละปฏิบัติ จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๑๘๓] พระโปฏฐิละนี้ไม่เห็นพระสัทธรรม
ถูกสังสารวัฏหุ้มห่อไว้ เดินทางผิด ซึ่งเป็นทางคดไม่ควรเดิน
[๑๑๘๔] พระโปฏฐิละหมกมุ่นอยู่ในสังขาร ติดอยู่ในลาภสักการะ
ดังตัวหนอนที่ติดคูถ จึงเป็นคนเปล่า
(พระเถระเมื่อจะสรรเสริญท่านพระสารีบุตร จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๑๘๕] เชิญท่านดู ท่านพระสารีบุตรมีคุณน่าดู น่าชม
หลุดพ้นได้ด้วยวิกขัมภนปหานและสมุจเฉทปหานทั้ง ๒ ส่วน
มีจิตตั้งมั่นดีภายใน
[๑๑๘๖] ผู้ปราศจากลูกศรคือราคะเป็นต้น
สิ้นสังโยชน์ บรรลุวิชชา ๓
ละมัจจุเสียได้ ควรแก่ทักษิณา
เป็นเนื้อนาบุญอย่างยอดเยี่ยมของหมู่มนุษย์
(พระสารีบุตรเถระเมื่อจะสรรเสริญพระมหาโมคคัลลานเถระ จึงได้กล่าว
ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๑๘๗] อุบัติเทพมีฤทธิ์ มีเกียรติยศ
มีจำนวนมากถึง ๑๐,๐๐๐ เหล่านี้ และพรหมปุโรหิตทั้งหมดก็พา
กันมายืนประนมมือนอบน้อมพระโมคคัลลานะ
พร้อมกับกล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓๓ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น