Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๗-๕ หน้า ๒๑๓ - ๒๖๕

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗-๕ สุตตันตปิฎกที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วัณณาโรหวรรค ๔. ขัขโชปนกชาดก (๓๖๔)
[๗๒] ผู้ใดไม่ประมาท ระแวงการทำลายมิตร
คอยจับผิดอยู่เสมอ ผู้นั้นหาใช่มิตรไม่
ส่วนผู้ใดผู้อื่นยุให้แตกกันมิได้ ไม่มีความระแวงในมิตรคนใด
อยู่อย่างปลอดภัยเหมือนบุตรที่นอนแนบอกมารดา
ผู้นั้นแหละนับว่าเป็นมิตรแท้
[๗๓] กุลบุตรเมื่อเห็นผลและอานิสงส์
เมื่อนำธุระ๑อันเป็นของบุรุษไปอยู่
ชื่อว่าย่อมบำเพ็ญฐานะที่ทำความปราโมทย์
และความสุขอันนำความสรรเสริญมาให้
[๗๔] บุคคลดื่มรสอันเกิดเพราะความสงัด
และรสแห่งความสงบชื่อว่าดื่มรสคือปีติในธรรม
ย่อมไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีบาป
หิริชาดกที่ ๓ จบ
๔. ขัชโชปนกชาดก (๓๖๔)
ว่าด้วยหิ่งห้อย
(เทวดาคุกคามพระราชาแล้วกล่าวสอนด้วยการยกขัชโชปนปัญหาดังนี้ว่า)
[๗๕] ใครหนอ เมื่อไฟลุกโพลงอยู่ ยังเที่ยวแสวงหาไฟ
ได้เห็นหิ่งห้อยในยามราตรี กลับสำคัญว่าไฟ
[๗๖] เขาขยี้โคมัยและหญ้าให้เป็นจุรณ
แล้วเกลี่ยลงบนหิ่งห้อยนั้น
ก็ไม่อาจจะให้ไฟลุกโพลงได้
[๗๗] คนโง่เป็นดุจคนใบ้ แม้โดยอุบายไม่ถูกวิธีอย่างนี้ก็ไม่ได้ผล
เหมือนคนรีดนมจากเขาโคย่อมไม่ได้น้ำนม

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ธุระ ในที่นี้ ได้แก่ ธุระ ๔ คือ ทาน ศีล ภาวนา มิตรภาพ ( ขุ.ชา.อ. ๔/๗๓/๔๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วัณณาโรหวรรค ๖. คุมพิยชาดก (๓๖๖)
[๗๘] ชนทั้งหลายบรรลุประโยชน์ที่ต้องการด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ
คือ การข่มศัตรูและยกย่องมิตร
[๗๙] พระเจ้าแผ่นดินทั้งหลายทรงครอบครองแผ่นดิน
อันมีทรัพย์สมบัติอยู่ได้ก็ด้วยการได้หมู่อำมาตย์มีแม่ทัพเป็นประมุข
และด้วยการถวายคำแนะนำของหมู่อำมาตย์ราชวัลลภ
ขัชโชปนกชาดกที่ ๔ จบ
๕. อหิตุณฑิกชาดก (๓๖๕)
ว่าด้วยหมองู
(หมองูกล่าวกับลิงว่า)
[๘๐] นี่เพื่อนผู้มีใบหน้างาม
เราเป็นนักเลงแพ้การพนันสะกา
เจ้าจงโยนมะม่วงสุกมาให้บ้าง
เราจะได้กินมะม่วงเพราะความพยายามของเจ้า
(ลิงได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๘๑] นี่เพื่อน ท่านสรรเสริญข้าพเจ้า
ผู้มีปกติหลุกหลิกด้วยคำไม่จริงเลย
ท่านได้ยินหรือได้เห็นลิงตัวไหนบ้างที่มีใบหน้างาม
[๘๒] นี่หมองู การที่ท่านเข้าไปยังร้านขายข้าวเปลือกเมาแล้ว
เฆี่ยนตีข้าพเจ้าผู้หิวโหย ยังฝังใจข้าพเจ้าอยู่จนทุกวันนี้
[๘๓] ข้าพเจ้าเมื่อระลึกถึงการนอนอันเป็นทุกข์นั้นอยู่
ถึงแม้ท่านจะให้ครองราชสมบัติ แล้วขอมะม่วงก็ไม่ยอมให้
เพราะข้าพเจ้าถูกท่านคุกคามอย่างน่ากลัวเช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วัณณาโรหวรรค ๖. คุมพิยชาดก (๓๖๖)
[๘๔] นักปราชญ์ควรผูกความเป็นเพื่อนมิตรไมตรีกับคนผู้ที่ตนรู้ว่า
มีชาติตระกูล มีความอิ่มในครรภ์๑ ไม่ตระหนี่
อหิตุณฑิกชาดกที่ ๕ จบ
๖. คุมพิยชาดก (๓๖๖)
ว่าด้วยยักษ์คุมพิยะ
(พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาแล้วตรัสว่า)
[๘๕] ยักษ์คุมพิยะ เมื่อแสวงหาเหยื่อได้วางยาพิษ
อันมีสี รส และกลิ่นเหมือนน้ำผึ้งไว้ในป่า
[๘๖] เหล่าชนผู้เข้าใจว่า เป็นน้ำผึ้ง ได้ลิ้มยาพิษเข้าไป
ยาพิษนั้นออกฤทธิ์แรงกล้าแก่พวกเขา
พวกเขาจึงถึงความตายเพราะยาพิษนั้น
[๘๗] ส่วนเหล่าชนที่พิจารณาเห็นว่า นั่นคือยาพิษ
แล้วงดเว้นเสียก็อยู่เป็นสุข ปราศจากทุกข์
ขณะที่พวกอื่นทุรนทุราย ถูกยาพิษเผาผลาญ
[๘๘] กามทั้งหลายที่ฝังอยู่ในหมู่มนุษย์
บัณฑิตพึงทราบอย่างนี้ว่า เป็นพิษ
กามนั้นเป็นทั้งเหยื่อเป็นทั้งเครื่องผูก
ถ้ำที่อาศัยคือร่างกายตกอยู่ในอำนาจของมัจจุราช
[๘๙] บัณฑิตทั้งหลายผู้กระสับกระส่ายย่อมงดเว้น
กามทั้งหลายอันเป็นเครื่องบำเรอกิเลสเหล่านี้ได้ทุกเมื่ออย่างนี้
ย่อมล่วงพ้นเครื่องข้องในโลกได้
คุมพิยชาดกที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ มีความอิ่มในครรภ์ หมายถึงบุคคลผู้อิ่มด้วยโภชนะรสดีในครรภ์แห่งมารดาก็ตาม (อยู่ในครรภ์ก็ได้รับ
การบำรุงดี) หรือในห้องนอนที่ประดับตกแต่งไว้แล้วก็ตาม (คลอดแล้วก็ได้รับการบำรุงดี) เป็นคนไม่กำพร้า
ด้วยหวังใช้สอยโภคสมบัติ ควรผูกมิตรกับคนเช่นนี้ (ขุ.ชา.อ. ๔/๘๔/๔๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วัณณาโรหวรรค ๙. มิตตวินทุกชาดก (๓๖๙)
๗. สาลิยชาดก (๓๖๗)
ว่าด้วยลูกนกสาลิกา
(พระโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่บริษัทผู้ประชุมกันอยู่ว่า)
[๙๐] ผู้ใดลวงเราให้จับงูเห่าด้วยคำว่า นี่ลูกนกสาลิกา
ผู้นี้พร่ำสอนแต่สิ่งที่ชั่ว ถูกงูนั้นกัดตาย
[๙๑] นรชนใดต้องการจะฆ่าคนที่มิได้ทุบตีตน
และคนที่มิได้ใช้ให้ผู้อื่นทุบตีตน
นรชนนั้นย่อมถูกฆ่าให้นอนตายเหมือนชายคนนี้ที่ถูกงูกัดตาย
[๙๒] นรชนใดต้องการจะฆ่าคนที่มิได้ฆ่าตน
และคนที่มิได้ใช้ให้ผู้อื่นฆ่าตน
นรชนนั้นย่อมถูกฆ่าให้นอนตายเหมือนชายคนนี้ที่ถูกงูกัดตาย
[๙๓] คนซัดฝุ่นเต็มกำมือทวนลม
ฝุ่นนั้นย่อมกลับมากระทบเขานั่นเอง
เหมือนชายคนนี้ที่ถูกงูกัดตาย
[๙๔] ผู้ใดประทุษร้ายนรชนผู้ไม่ประทุษร้าย
ผู้บริสุทธิ์ ผู้ไม่มีความผิด
บาปย่อมกลับมาถึงคนผู้โง่เขลานั้นเองเหมือนผงธุลีที่คนซัดทวนลม
สาลิยชาดกที่ ๗ จบ
๘. ตจสารชาดก (๓๖๘)
ว่าด้วยขื่อคาไม้ไผ่
(พระราชาทรงเห็นเด็กเหล่านั้นไม่กลัวทั้งยังมีใจร่าเริง จึงตรัสถามว่า)
[๙๕] พวกเจ้าตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรู
ถูกจองจำด้วยขื่อคาที่ทำด้วยลำไม้ไผ่ ยังมีหน้าผ่องใส
เพราะเหตุไร พวกเจ้าจึงไม่เศร้าโศก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วัณณาโรหวรรค ๙. มิตตวินทุกชาดก (๓๖๙)
(พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๙๖] ความเศร้าโศกและความพิไรรำพัน
ไม่ได้ประโยชน์เลยแม้แต่น้อยนิด
คนที่เศร้าโศกเป็นทุกข์ ศัตรูรู้เข้าแล้วย่อมพอใจ
[๙๗] ส่วนคนผู้เป็นบัณฑิตรู้หลักในการวินิจฉัยอรรถคดี
ย่อมไม่สะทกสะท้านในเพราะอันตรายในกาลใด ๆ
เขามีใบหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ยังเหมือนเดิม
ศัตรูเห็นเข้าแล้วย่อมเป็นทุกข์
[๙๘] บุคคลพึงได้ประโยชน์ในที่ใดด้วยประการใด ๆ
คือ ด้วยการร่ายมนต์ ด้วยการปรึกษากับบัณฑิต
ด้วยคำอันเป็นสุภาษิต ด้วยการให้สินจ้างรางวัล
หรือด้วยประเพณี๑ พึงพากเพียรพยายาม
ทำประโยชน์ในที่นั้นด้วยประการนั้น ๆ
[๙๙] อนึ่ง ในกาลใดบัณฑิตรู้ว่า
ประโยชน์นี้เราหรือบุคคลอื่นไม่พึงได้รับ
แม้ในกาลนั้นบัณฑิตก็ไม่ควรเศร้าโศก พึงอดกลั้น
ด้วยคิดเสียว่า กรรมเป็นของมั่นคง บัดนี้ เราจะทำอะไรได้
ตจสารชาดกที่ ๘ จบ
๙. มิตตวินทุกชาดก (๓๖๙)
ว่าด้วยนายมิตตวินทุกะ
(นายมิตตวินทุกะเห็นเทพบุตรโพธิสัตว์นั้น จึงถามว่า)
[๑๐๐] ข้าพเจ้าได้กระทำอะไรไว้แก่เหล่าเทวดา
ข้าพเจ้าได้กระทำความชั่วอะไรไว้
จักรนี้จึงได้จรดที่ศีรษะแล้วพัดผันอยู่บนกระหม่อมของข้าพเจ้า

เชิงอรรถ :
๑ ในอรรถกถาแปลว่า ด้วยวงศ์ตระกูล (ขุ.ชา.อ. ๔/๙๘/๔๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วัณณาโรหวรรค ๑๐. ปลาสชาดก (๓๗๐)
(เทพบุตรโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๐๑] เพราะเหตุอะไรเล่า
ท่านล่วงเลยปราสาทแก้วผลึก
ปราสาทเงิน ปราสาทแก้วมณี
และปราสาททอง แล้วมา ณ ที่นี้
(นายมิตตวินทุกะกล่าวว่า)
[๑๐๒] ขอท่านจงดูข้าพเจ้าผู้ถึงความหายนะ
เพราะความสำคัญนี้ว่า
ในที่นี้โภคะทั้งหลายเห็นจะ
มีมากกว่าปราสาททั้ง ๔ หลังนี้
(เทพบุตรโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๐๓] ท่านเมื่อมีความปรารถนามากเกินไป
ได้ครอบครองนารี ๔ นาง ไม่พอใจนางทั้ง ๔
ได้ครอบครองนารี ๘ นาง ไม่พอใจนางทั้ง ๘
ได้ครอบครองนารี ๑๖ นาง ไม่พอใจนางทั้ง ๑๖
ได้ครอบครองนารี ๓๒ นาง ไม่พอใจนางทั้ง ๓๒
จึงได้ประสบจักร
จึงพัดผันอยู่ที่ศีรษะของท่าน
ผู้ถูกความปรารถนามากเกินไปขจัดแล้ว
[๑๐๔] ขึ้นชื่อว่าความอยาก
มีสภาพแผ่ไปยิ่งใหญ่ไพศาล
ทำให้เต็มได้ยาก
ก็ชนเหล่าใดกำหนัดตามความอยาก
ชนเหล่านั้นจึงต้องเทินจักรไว้
มิตตวินทุกชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วัณณาโรหวรรค ๑๐. ปลาสชาดก (๓๗๐)
๑๐. ปลาสชาดก (๓๗๐)
ว่าด้วยปลาสเทวดา
(พญาหงส์ปรึกษากับปลาสเทวดาว่า)
[๑๐๕] พญาหงส์ได้กล่าวกับปลาสเทวดาว่า
นี่เพื่อน ต้นไทรงอกติดอยู่ที่ค่าคบของท่าน
มันงอกขึ้นเพื่อจะตัดสิ่งอันเป็นที่รักของท่าน
(ปลาสเทวดาไม่เชื่อคำของพญาหงส์ จึงกล่าวว่า )
[๑๐๖] ต้นไทรจงเจริญเติบโตขึ้นเถิด
ข้าพเจ้าจะเป็นที่พึ่งของต้นไทรนั้นเหมือนบิดาและมารดา
และต้นไทรนั้นจะเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าเหมือนกัน
(พญาหงส์กล่าวว่า)
[๑๐๗] เพราะเหตุใด ท่านจึงปล่อยให้ต้นไม้ที่น่ากลัวดุจข้าศึก
เจริญเติบโตที่ค่าคบ เหตุนั้น ข้าพเจ้าจะขอเตือนท่านแล้วจะไป
การเจริญเติบโตของต้นไทรนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย
(ต่อมารุกขเทวดานั้นคร่ำครวญอยู่ว่า)
[๑๐๘] บัดนี้ ไทรต้นนี้แหละ ทำให้เราหวาดกลัว
เพราะไม่เชื่อฟังคำของพญาหงส์
ซึ่งเป็นถ้อยคำอันสำคัญปานประหนึ่งว่าขุนเขาสิเนรุราช
ภัยอันใหญ่หลวงจึงมาถึงเราแล้ว
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพระคาถาว่า)
[๑๐๙] ผู้ใดเมื่อเจริญขึ้นกลับกัดกินที่พึ่งอาศัยของตน
ความเจริญของผู้นั้นผู้ฉลาดไม่สรรเสริญ
นักปราชญ์รังเกียจความพินาศ
จึงพยายามกำจัดรากเหง้าของอันตรายนั้น
ปลาสชาดกที่ ๑๐ จบ
วัณณาโรหวรรคที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๓. อัฑฒวรรค ๒. มิคโปตกชาดก (๓๗๒)
๓. อัฑฒวรรค
หมวดว่าด้วยชาดกมีครึ่งวรรค
๑. ทีฆีติโกสลชาดก (๓๗๑)
ว่าด้วยพระเจ้าทีฆีติโกศล
(ทีฆาวุกุมารทรงระลึกถึงโอวาทที่พระราชมารดาและพระราชบิดาประทานไว้แล้ว
จึงกราบทูลพระเจ้าพรหมทัตว่า)
[๑๑๐] ข้าแต่มหาราช เมื่อพระองค์ตกอยู่ในอำนาจของข้าพระองค์
อย่างนี้ เหตุที่เปลื้องทุกข์พระองค์ได้มีอยู่หรือ พระเจ้าข้า
(พระราชาตรัสคาถาว่า)
[๑๑๑] พ่อเอ๋ย เมื่อฉันตกอยู่ในอำนาจของเธออย่างนี้
เหตุบางอย่างที่จะเปลื้องทุกข์ฉันได้ไม่มี
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๑๒] ข้าแต่มหาราช เว้นความสุจริต
และถ้อยคำอันเป็นสุภาษิตเสียแล้ว
เหตุอื่นที่จะต้านทานในเวลาที่จะตาย ข้าพระองค์ไม่เห็นเลย
ทรัพย์สมบัตินอกนี้ก็เช่นกัน
[๑๑๓] ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา
ได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป
เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่สงบระงับ
[๑๑๔] ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา
ได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป
เวรของชนเหล่านั้นย่อมสงบระงับ
[๑๑๕] เพราะว่าในกาลไหน ๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้
ย่อมไม่สงบระงับด้วยเวร แต่เวรทั้งหลาย
ย่อมสงบระงับด้วยการไม่จองเวร นี้เป็นธรรมเก่า
ทีฆีติโกสลชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๓. อัฑฒวรรค ๒. มิคโปตกชาดก (๓๗๒)
๒. มิคโปตกชาดก (๓๗๒)
ว่าด้วยลูกเนื้อ
(ท้าวสักกเทวราชทอดพระเนตรดาบสร้องไห้คร่ำครวญ จึงเสด็จมายืนอยู่ใน
อากาศตรัสว่า)
[๑๑๖] การที่ท่านผู้ละการครองเรือนบวชเป็นสมณะ
เศร้าโศกถึงลูกเนื้อที่ตายไปแล้วนั้น
เป็นการไม่สมควร
(ดาบสได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๑๗] ท้าวสักกะ เพราะการอยู่ร่วมกันแล
ความรักจึงเกิดในหทัยของมนุษย์หรือของเนื้อ
อาตมาจึงไม่สามารถที่จะไม่เศร้าโศกถึงลูกเนื้อนั้นได้
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๑๘] ชนเหล่าใดร้องไห้ บ่นเพ้อ รำพัน
ถึงคนที่ตายแล้วและคนที่จะตาย
สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวการร้องไห้ว่าเปล่าประโยชน์
ท่านฤๅษี เพราะฉะนั้น ท่านอย่าร้องไห้ไปเลย
[๑๑๙] พราหมณ์ สัตว์ที่ตายละโลกนี้ไปแล้ว
จะพึงลุกขึ้นได้เพราะการร้องไห้
เราทุกคนก็คงมาประชุมกัน ร้องไห้ถึงหมู่ญาติของกันและกัน
(ดาบสกล่าวสดุดีท้าวสักกะว่า)
[๑๒๐] พระองค์ช่วยระงับอาตมาผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมดได้
เหมือนคนเอาน้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๓. อัฑฒวรรค ๔. จูฬธนุคคหชาดก (๓๗๔)
[๑๒๑] พระองค์ได้บรรเทาความเศร้าโศกถึงบุตรของอาตมา
ผู้กำลังเศร้าโศก ชื่อว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความเศร้าโศก
ซึ่งเสียบหัวใจของอาตมาขึ้นได้แล้วหนอ
[๑๒๒] ท้าววาสวะ อาตมาซึ่งพระองค์ได้ช่วยถอนลูกศร
คือความเศร้าโศกขึ้นได้แล้วเป็นผู้ปราศจากความเศร้าโศก
ไม่มีความขุ่นมัว จึงไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้
เพราะได้ฟังคำของพระองค์
มิคโปตกชาดก ที่ ๒ จบ
๓. มูสิกชาดก (๓๗๓)
ว่าด้วยหนูถูกฆ่าตาย
(เวลาจะไปสระโบกขรณีเพื่อสรงสนาน พระราชาตรัสว่า)
[๑๒๓] คนบ่นเพ้ออยู่ว่า นางหนูไปไหน ไปที่ไหน
เราคนเดียวเท่านั้นรู้ว่า นางหนูถูกฆ่าอยู่ในบ่อน้ำ
(เวลาเสด็จเข้าไปยังปราสาท พระราชาเสด็จดำเนินสาธยายไปว่า)
[๑๒๔] เหตุที่เจ้าเที่ยวมองข้างโน้นข้างนี้ไปมาเสมือนหนึ่งลา
ทำให้เรารู้ว่า เจ้าฆ่านางหนูที่บ่อน้ำแล้ว
ยังปรารถนาจะกินพระเจ้ายวะอีก
(พระราชาเสด็จดำเนินท่องบ่นจนถึงหัวบันไดว่า)
[๑๒๕] นี่เจ้าโง่ เจ้ายังเป็นเด็กเล็กนัก ยังเป็นวัยรุ่น
มายืนถือท่อนไม้ยาว เราจักไม่ยอมให้ชีวิตแก่เจ้า
(พระราชารอดพ้นจากความตาย ทรงร่าเริงยินดี ทรงเปล่งอุทานว่า)
[๑๒๖] เราผู้ถูกบุตรปองฆ่า รอดพ้นจากความตาย
เพราะอยู่บนวิมานในอากาศก็หาไม่
เพราะบุตรสุดที่รักเสมอด้วยอวัยวะก็หาไม่
แต่เราพ้นจากความตายเพราะคาถาที่อาจารย์ผูกให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๓. อัฑฒวรรค ๔. จูฬธนุคคหชาดก (๓๗๔)
[๑๒๗] บุคคลควรเรียนสูตร๑ทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นชั้นต่ำ ชั้นสูง หรือปานกลาง
และควรรู้จุดมุ่งหมายของวิชาทุกอย่าง
แต่ว่าไม่ควรใช้วิชาทุกอย่าง
เวลาที่สูตรซึ่งได้ศึกษามาแล้วนำประโยชน์มาให้ก็ยังมีอยู่
มูสิกชาดกที่ ๓ จบ
๔. จูฬธนุคคหชาดก (๓๗๔)
ว่าด้วยจูฬธนุคคหบัณฑิต
(ภรรยาของจูฬธนุคคหบัณฑิตกล่าวกับนายโจรว่า)
[๑๒๘] พราหมณ์ ท่านถือเอาห่อเครื่องประดับทั้งหมดข้ามฝั่งไปแล้ว
จงรีบกลับมารับฉันข้ามไปจากฝั่งนี้โดยเร็ว ณ บัดนี้
(นายโจรได้ฟังดังนั้นยืนอยู่ที่ฝั่งโน้นกล่าวว่า)
[๑๒๙] นางผู้เจริญได้เปลี่ยนเอาเราผู้ไม่เคยเชยชิด
กับชายผู้เคยเชยชิดกันมานาน
นางผู้เจริญคงจะเปลี่ยนเอาชายอื่นผู้ไม่ใช่ขาประจำ
กับเราผู้เป็นขาประจำแน่นอน เราจะไปจากที่นี้ให้ไกลแสนไกล
(สุนัขจิ้งจอกได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๑๓๐] นี่ใครหัวเราะดังลั่นอยู่ที่พุ่มตะไคร่น้ำ
ที่นี้ไม่มีการฟ้อนรำ ขับร้อง ปรบมือ ประโคมดนตรี
นางผู้มีตะโพกอันผึ่งผาย งดงาม
เหตุไรหนอ ในเวลาที่ควรร้องไห้ เจ้ากลับหัวเราะ
(ภรรยาของจูฬธนุคคหบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๓๑] นี่สุนัขจิ้งจอกผู้ต่ำทราม โง่เขลา เจ้ามีปัญญาน้อย
เสื่อมสิ้นทั้งปลาทั้งชิ้นเนื้อแล้วซบเซาอยู่เหมือนคนกำพร้า

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า สูตร ในที่นี้ได้แก่ปริยัติ (ขุ.ชา.อ. ๔/๑๒๗/๔๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๓. อัฑฒวรรค ๕. กโปตกชาดก (๓๗๕)
(สุนัขจิ้งจอกกล่าวว่า)
[๑๓๒] โทษของผู้อื่นเห็นได้ง่าย
ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก
เจ้านั่นแหละเสื่อมสิ้นทั้งผัวทั้งชายชู้
ย่อมซบเซายิ่งกว่าเราเสียอีก
(ภรรยาของจูฬธนุคคหบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๓๓] พญาเนื้อผู้ต่ำทราม เรื่องนี้จริงดังที่ท่านพูด
เรานั้นไปจากที่นี้แล้ว จักอยู่ในอำนาจของผัวอย่างเดียว
(ท้าวสักกเทวราชสดับคำของนางผู้ทุศีลไร้อาจาระ จึงตรัสว่า)
[๑๓๔] ผู้ใดลักถาดดินไปได้ ถึงถาดสำริดผู้นั้นก็ลักไปได้
บาปที่เจ้าได้กระทำแล้วนั่นแหละ
เจ้าก็จักต้องกระทำมันอีก
จูฬธนุคคหชาดกที่ ๔ จบ
๕. กโปตกชาดก (๓๗๕)
ว่าด้วยนกพิราบโพธิสัตว์
(กาคิดจะกินปลา จึงกล่าวว่า)
[๑๓๕] บัดนี้แหละเราสบายแล้ว ไม่มีโรค
หมดเสี้ยนหนาม นกพิราบก็บินออกไปแล้ว
บัดนี้ เราจะทำตามความพอใจ
เพราะว่าเนื้อและผักที่เหลือจะทำให้เรามีกำลัง
(นกพิราบกลับมาเห็นกาถูกถอนขนทาด้วยน้ำเปรียงเน่า จึงเยาะเย้ยว่า)
[๑๓๖] นกยางอะไรนี่ มีหงอน เป็นโจร มีเมฆเป็นปู่
แม่นกยาง เจ้าจงลงมาข้างล่างนี้เถิด
กาสหายของเราเป็นสัตว์ดุร้าย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๓. อัฑฒวรรค ๕. กโปตกชาดก (๓๗๕)
(กาได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๓๗] ท่านอย่าหัวเราะเยาะ
เพราะเห็นข้าพเจ้าถูกลูกชายพ่อครัวถอนขน
แล้วทาด้วยผงเมล็ดผักกาด
ผสมกากเปรียงเช่นนี้เลย
(นกพิราบเย้ยหยันอยู่ว่า)
[๑๓๘] ท่านอาบน้ำชำระกายดีแล้ว
ลูบไล้ด้วยของหอมดีแล้ว
อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวและน้ำ
และที่คอของท่านก็ประดับด้วยแก้วไพฑูรย์
ท่านได้ไปถิ่นกชังคละมาหรือ
(กาได้กล่าวว่า)
[๑๓๙] มิตรก็ตาม ศัตรูก็ตามของท่าน
อย่าได้ไปถิ่นกชังคละเลย
เพราะคนในถิ่นกชังคละนั้น
ถอนขนแล้วผูกกระเบื้องไว้ที่คอของเรา
(นกพิราบกล่าวว่า)
[๑๔๐] เพื่อนเอ๋ย เจ้าจักประสบความชั่วร้ายเช่นนี้อีก
เพราะปกติของเจ้าเป็นเช่นนั้น
อาหารของมนุษย์เป็นของที่นกไม่ควรกิน
กโปตกชาดกที่ ๕ จบ
อัฑฒวรรคที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก
รวมชาดกที่มีในวัณณาโรหวรรคและอัฑฒวรรค คือ

๑. วัณณาโรหชาดก ๒. สีลวีมังสชาดก
๓. หิริชาดก ๔. ขัขโชปนกชาดก
๕. อหิตุณฑิกชาดก ๖. คุมพิยชาดก
๗. สาลิยชาดก ๘. ตจสารชาดก
๙. มิตตวินทุกชาดก ๑๐. ปลาสชาดก
๑๑. ทีฆีติโกสลชาดก ๑๒. มิคโปตกชาดก
๑๓. มูสิกชาดก ๑๔. จูฬธนุคคหชาดก
๑๕. กโปตกชาดก

รวมวรรคที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. มณิกุณฑลวรรค ๒. วัณณาโรหวรรค
๓. อัฑฒวรรค

ปัญจกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒๖ }


๖. ฉักกนิบาต
๑. อวาริยวรรค
หมวดว่าด้วยบิดาของนางอวาริยา
๑. อวาริยชาดก (๓๗๖)
ว่าด้วยบิดาของนางอวาริยา
(ฤๅษีโพธิสัตว์กล่าวสอนพระราชาอยู่ทุก ๆ วันว่า)
[๑] ขอถวายพระพรมหาบพิตรผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน
ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธเลย
มหาบพิตรผู้เป็นจอมทัพ ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธเลย
พระราชาผู้ไม่ทรงพิโรธตอบผู้ที่โกรธ
ย่อมเป็นที่บูชาของชาวแว่นแคว้น
[๒] อาตมภาพพร่ำสอนในที่ทุกสถาน
คือ ทั้งในหมู่บ้าน ในป่า ในที่ลุ่ม หรือในที่ดอน
ขอถวายพระพรมหาบพิตรผู้จอมทัพ
ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธเลย
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงนายเรือผู้โง่เขลาว่า)
[๓] ที่แม่น้ำคงคาได้มีคนแจวเรือจ้างชื่ออวาริยปิตา๑
เขารับส่งคนข้ามฟากก่อนแล้วจึงขอค่าโดยสารภายหลัง
เพราะเหตุนั้น เขาจึงมีการทะเลาะวิวาทกับคนโดยสาร
จึงไม่เจริญด้วยโภคะทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ อวาริยปิตา แปลว่า เป็นบิดาของนางอวาริยา (ขุ.ชา.อ. ๕/๓/๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๒. เสตเกตุชาดก (๓๗๗)
(ฤๅษีโพธิสัตว์บอกถึงเหตุที่จะให้โภคะเจริญแก่นายเรือนั้นว่า)
[๔] พ่อเรือจ้าง ท่านจงขอค่าโดยสาร
กับคนที่ยังไม่ได้ข้ามไปฝั่งโน้นก่อนซิ
เพราะว่า ใจของคนที่ข้ามฟากไปแล้วเป็นอย่างหนึ่ง
ใจของคนที่ต้องการจะข้ามฟากเป็นอีกอย่างหนึ่ง
(ฤๅษีโพธิสัตว์สอนนายเรือนั้นอีกว่า)
[๕] อาตมภาพพร่ำสอนในที่ทุกสถาน
คือ ทั้งในหมู่บ้าน ในป่า ในที่ลุ่ม หรือในที่ดอน
พ่อเรือจ้าง ขอท่านอย่าโกรธเลย
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า)
[๖] พระราชาได้พระราชทานบ้านส่วยเพราะอนุสาสนีบทใด
เพราะอนุสาสนีบทนั้นแหละ คนแจวเรือจ้างจึงได้ตบปาก๑
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสข้อความสุดท้ายว่า)
[๗] ถาดใส่อาหารก็ตกแตกแล้ว ภรรยาก็ถูกทำร้าย
และเด็กที่เกิดในครรภ์ก็แท้งตกลงมาที่ภาคพื้น
เขาไม่อาจจะให้ประโยชน์เกิดขึ้นจากโอวาทนั้นได้
เหมือนเนื้อไม่อาจจะให้ประโยชน์เกิดขึ้นจากทองคำ๒
อวาริยชาดกที่ ๑ จบ
๒. เสตเกตุชาดก (๓๗๗)
ว่าด้วยเสตเกตุดาบส
(พระโพธิสัตว์เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์สอนมาณพเสตเกตุผู้เป็นหัวหน้าศิษย์ว่า)

เชิงอรรถ :
๑ ตบปาก ในที่นี้หมายถึงตบปากของฤาษีโพธิสัตว์ (ขุ.ชา.อ. ๕/๖/๕)
๒ ไม่อาจจะให้ประโยชน์เกิดขึ้นจากทองคำ คือ ไม่อาจทำทองคำให้เกิดเป็นประโยชน์ได้ (ขุ.ชา.อ. ๕/๗/๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๒. เสตเกตุชาดก (๓๗๗)
[๘] พ่อเอ๋ย เจ้าอย่าโกรธ เพราะความโกรธไม่ดีเลย
ทิศที่เจ้ายังไม่ได้เห็น ยังไม่ได้ยินมีอีกมาก
พ่อเสตเกตุ มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า
พระอริยะทั้งหลายกล่าวสรรเสริญอาจารย์ว่าเป็นทิศเบื้องขวา
[๙] คฤหัสถ์ถวายข้าว น้ำ และผ้า กล่าวนิมนต์ผู้ใด
แม้ผู้นั้นพระอริยะทั้งหลายย่อมเรียกว่า เป็นทิศเบื้องบน
เสตเกตุ ทิศนี้เป็นทิศที่ยอดเยี่ยม
เพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีทุกข์ถึงแล้วย่อมเป็นสุข
(พระราชาทรงเห็นดาบสทั้งหลายบำเพ็ญตบะผิด จึงตรัสสนทนากับปุโรหิตว่า)
[๑๐] ชฎิลเหล่าใดนุ่งห่มหนังสัตว์ที่ขรุขระ
มีขี้ฟันเขรอะ ร่างกายสกปรก สาธยายมนต์อยู่
ชฎิลเหล่านั้นประกอบหน้าที่การงานของมนุษย์
จะรู้แจ้งโลกนี้แล้วพ้นจากอบายได้หรือ
(ปุโรหิตกราบทูลว่า)
[๑๑] ขอเดชะพระราชา หากบุคคลถึงจะเป็นพหูสูต
กระทำแต่กรรมชั่ว ก็ชื่อว่าไม่ประพฤติธรรม
เขาแม้จะมีพระเวทตั้งพัน อาศัยความเป็นพหูสูตนั้น
แต่ไม่บรรลุจรณธรรม๑ ก็พ้นจากทุกข์ไม่ได้
(เสตเกตุดาบสกล่าวกับปุโรหิตนั้นว่า)
[๑๒] บุคคลแม้จะมีพระเวทตั้งพัน อาศัยความเป็นพหูสูตนั้น
แต่ไม่บรรลุจรณธรรม ก็พ้นจากทุกข์ไม่ได้
อาตมาเข้าใจว่า พระเวททั้งหลายเป็นสิ่งที่ไร้ผล
จรณธรรมพร้อมทั้งความสำรวม๒เท่านั้นเป็นสัจจะ

เชิงอรรถ :
๑ จรณธรรม ในที่นี้หมายถึงศีลและสมาบัติ ๘ (ขุ.ชา.อ. ๕/๑๑/๑๑)
๒ ความสำรวม ในที่นี้เป็นชื่อของศีล (ขุ.ชา.อ. ๕/๑๒/๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๓. ทรีมุขชาดก (๓๗๙)
(ปุโรหิตได้กล่าวว่า)
[๑๓] พระเวททั้งหลายจะไร้ผลก็หาไม่
จรณธรรมพร้อมทั้งความสำรวมเท่านั้นเป็นสัจจะ
เพราะบุคคลบรรลุพระเวททั้งหลายแล้วย่อมได้เกียรติ
บุคคลผู้ฝึกตนดีแล้วด้วยจรณธรรมย่อมบรรลุความสงบ๑
เสตเกตุชาดกที่ ๒ จบ
๓. ทรีมุขชาดก (๓๗๘)
ว่าด้วยพระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า
(พระปัจเจกพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพรหมทัตว่า)
[๑๔] กามทั้งหลายเสมือนเปือกตม เสมือนหล่ม
ก็ภัยนี้บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นมูลเหตุแห่งภัย ๓ ประการ
กามทั้งหลายคือธุลีและควัน อาตมภาพก็ได้ประกาศไว้แล้ว
ขอถวายพระพร พระเจ้าพรหมทัต
ขอมหาบพิตรทรงละกามเหล่านี้ออกผนวชเถิด
(พระราชาครั้นทรงสดับดังนั้นแล้ว ตรัสบอกความที่พระองค์พัวพันด้วย
กิเลสว่า)
[๑๕] ท่านพราหมณ์ โยมกำหนัดยินดี
และหมกมุ่นอยู่ในกามทั้งหลาย
ประสงค์จะมีชีวิตอยู่อย่างนี้
จึงไม่อาจจะละกามอันน่าสะพรึงกลัวนั้นได้
แต่โยมจะทำบุญทั้งหลายให้มาก

เชิงอรรถ :
๑ ความสงบ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.ชา.อ. ๕/๑๓/๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๓. ทรีมุขชาดก (๓๗๙)
(พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้าตรัสสอนให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปว่า)
[๑๖] ผู้ใดอันบุคคลผู้หวังความเจริญ
อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล
กล่าวสอนอยู่ ก็ไม่กระทำตามคำสอน
ผู้นั้นสำคัญแต่สิ่งที่ตนยึดถือว่า นี้เท่านั้นประเสริฐ
เป็นคนโง่ ย่อมเกิดในครรภ์บ่อย ๆ
[๑๗] เขาย่อมเข้าถึงนรกอันน่ากลัว
เต็มไปด้วยอุจจาระและปัสสาวะที่ไม่งามสำหรับผู้งาม
สัตว์เหล่าใดยังไม่ปราศจากราคะ
ยังมีความกำหนัดในกามทั้งหลาย
สัตว์เหล่านั้นก็ยังละความเกิดในครรภ์ไปไม่ได้
(พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้าทรงหวังจะแสดงเหตุที่พ้นจากครรภ์ จึงตรัสหนึ่ง
คาถาครึ่ง และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสครึ่งพระคาถาสุดท้ายว่า)
[๑๘] สัตว์เหล่านี้คลอดออกมามีกายแปดเปื้อนด้วยอุจจาระ
ด้วยเลือดและเสมหะในขณะที่คลอด
สัตว์เหล่านี้มีร่างกายสัมผัสส่วนใด ๆ
ส่วนนั้น ๆ ทั้งหมด ล้วนไม่น่าชื่นใจ
เป็นทุกข์อย่างเดียว
[๑๙] อาตมาเห็นแล้วจึงถวายพระพร
มิใช่ได้ยินมาจากคนอื่นแล้วจึงถวายพระพร
อาตมายังระลึกอดีตชาติได้มากอีกด้วย
พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้าได้ให้พระราชาผู้ทรงปรีชาญาณ
ยอมรับด้วยคาถาสุภาษิตอันวิจิตร
ทรีมุขชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๕. อาสังกชาดก (๓๘๐)
๔. เนรุชาดก (๓๗๙)
ว่าด้วยอานุภาพของภูเขาเนรุ
(หงส์น้องชายของพญาหงส์โพธิสัตว์สนทนากับพี่ชายว่า)
[๒๐] กาป่าก็ดี ฝูงกาธรรมดาก็ดี
พวกเราผู้ประเสริฐกว่านกทั้งหลายก็ดี
พอมาถึงภูเขานี้แล้ว เป็นเหมือนกันหมด
[๒๑] ราชสีห์ก็ดี เสือโคร่งก็ดี สุนัขจิ้งจอกก็ดี หมู่เนื้อก็ดี
พอมาถึงที่นี้แล้วก็เป็นเหมือนกันหมด
ภูเขานี้ชื่ออะไร
(พญาหงส์โพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๒๒] มนุษย์ทั้งหลายรู้จักภูเขาที่ยอดเยี่ยมลูกนี้ว่าเนรุ
เพราะสัตว์ทุกชนิดอยู่ที่ภูเขาลูกนี้
จะกลายเป็นสีทองเหมือนกันหมด
(หงส์น้องชายได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๒๓] สถานที่ใดคนดีไม่ได้รับการยกย่อง
ซ้ำถูกดูหมิ่น แต่กลับยกย่องคนเลว
สถานที่นั้นไม่ควรอาศัยอยู่เลย
[๒๔] สถานที่ใดคนเกียจคร้าน คนขยัน
คนกล้าหาญ และคนขลาดได้รับการบูชา
สถานที่นั้นคนดีไม่อยู่ เหมือนภูเขาที่ไม่ทำความแตกต่างกัน
[๒๕] ภูเขาเนรุนี้ไม่แยกคนเลว คนดี คนปานกลาง
คือ ไม่กระทำให้แปลกกัน
อย่ากระนั้นเลย เราสละภูเขาเนรุนี้ไปเถิด
เนรุชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๕. อาสังกชาดก (๓๘๐)
๕. อาสังกชาดก (๓๘๐)
ว่าด้วยอาสังกากุมาริกา
(นางอาสังกากุมาริกากราบทูลพระราชาว่า)
[๒๖] เถาวัลย์ชื่ออาสาวดีเกิดแล้วในอุทยานจิตรลดาวัน
เถาวัลย์นั้น ๑,๐๐๐ ปี จึงจะออกผลหนึ่ง
[๒๗] แม้นานถึงเพียงนั้นจึงจะมีผล
ทวยเทพก็ยังพากันไปเยือนอุทยานนั้นเนือง ๆ
ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงหวังไว้เถิด
เพราะว่าความหวังที่ยังมีผลเป็นความสุข
[๒๘] ปักษาทิชาชาติยังมีความหวังอยู่ร่ำไป
ความหวังของมันที่มีอยู่ห่างไกลถึงเพียงนั้นก็ยังสำเร็จได้
ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงหวังไว้เถิด
เพราะว่าความหวังที่มีผลเป็นความสุข
(พระราชาตรัสบอกเหตุที่จะไปกับนางอาสังกากุมาริกาว่า)
[๒๙] หล่อนให้ฉันเอิบอิ่มด้วยคำพูดเท่านั้น
หาให้ฉันเอิบอิ่มด้วยการกระทำไม่
เหมือนดอกหงอนไก่มีสีสวย แต่ไม่มีกลิ่น
[๓๐] ผู้ใดเมื่อไม่ให้ ไม่เสียสละโภคทรัพย์
ดีแต่พูดคำอ่อนหวานซึ่งไม่มีผลในมิตรทั้งหลาย
ความสัมพันธ์ของผู้นั้นกับมิตรย่อมจืดจาง
[๓๑] ควรพูดถึงแต่สิ่งที่ควรทำ
ไม่ควรพูดถึงสิ่งที่ไม่ควรทำ
คนไม่ทำ ดีแต่พูด บัณฑิตย่อมรู้ทัน
[๓๒] กำลังของเราหมดสิ้นแล้วหนอ เสบียงก็ไม่มี
สงสัยจะตายเป็นแน่ อย่ากระนั้นเลย เราจะไปกันเดี๋ยวนี้แหละ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๗. สิริกาฬกัณณิชาดก (๓๘๒)
(พระนางอาสังกากุมาริกาเทวีได้สดับพระราชดำรัสนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๓๓] คำว่า อาสังกา นั่นแหละเป็นชื่อของหม่อมฉัน
ข้าแต่มหาราชผู้จอมทัพ ขอพระองค์ทรงคอยก่อน
หม่อมฉันขอบอกลาบิดาก่อน
อาสังกชาดกที่ ๕ จบ
๖. มิคาโลปชาดก (๓๘๑)
ว่าด้วยนกแร้งมิคาโลปะ
(พญาแร้งโพธิสัตว์เรียกลูกมาอบรมว่า)
[๓๔] มิคาโลปะ พ่อไม่พอใจเลยที่เจ้าบินไปเช่นนั้น
ลูกเอ๋ย เจ้าบินสูงเกินไป เลยขอบเขตของพวกแร้งไปแล้ว
[๓๕] เมื่อใด แผ่นดินปรากฏแก่เจ้าเสมือนแปลงนา ๔ เหลี่ยม
ลูกเอ๋ย เมื่อนั้น เจ้าจงกลับจากที่นั้น อย่าบินเลยที่นั้นไป
[๓๖] แม้นกเหล่าอื่นที่มีปีกเป็นยานพาหนะ บินไปในอากาศ
สำคัญตนว่ายั่งยืน ถูกแรงลมพัดพินาศแล้วก็มีอยู่
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า)
[๓๗] นกแร้งมิคาโลปะไม่เชื่อฟังคำสอนของแร้งอปรัณณะพ่อผู้เฒ่า
บินผ่านลมกาละไป ตกอยู่ในอำนาจลมเวรัมภา (ลมกรด)
[๓๘] ลูกเมียของมัน และนกแร้งเหล่าอื่นที่อาศัยมันเป็นอยู่
ทั้งหมดก็ถึงความพินาศ เพราะนกที่ไม่ทำตามโอวาทตัวเดียว
[๓๙] ผู้ใดในโลกนี้ไม่เชื่อฟังคำของผู้ใหญ่ทั้งหลาย
ประพฤติเกินขอบเขตย่อมเดือดร้อน
เหมือนนกแร้งที่ละเมิดคำสอน
ชนทั้งหลายย่อมถึงความพินาศทุกคน
เพราะไม่กระทำตามคำสอนของท่านผู้รู้
มิคาโลปชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๗. สิริกาฬกัณณิชาดก (๓๘๒)
๗. สิริกาฬกัณณิชาดก (๓๘๒)
ว่าด้วยสิริกับกาฬกัณณี
(เศรษฐีโพธิสัตว์สนทนากับกาฬกัณณีเทพธิดาว่า)
[๔๐] ใครหนอมีผิวพรรณดำ ทั้งไม่น่ารัก ไม่น่าดู
เธอเป็นใคร เป็นลูกสาวของใคร ฉันจะรู้จักเธอได้อย่างไร
(กาฬกัณณีเทพธิดากล่าวว่า)
[๔๑] ดิฉันเป็นลูกสาวของท้าววิรูปักขมหาราช
เป็นคนโหดร้าย มีผิวดำ ไร้ปัญญา
เทพทั้งหลายรู้จักดิฉันว่ากาฬกัณณี
ดิฉันขอท่านจงให้โอกาส
ดิฉันขออาศัยอยู่ในสำนักของท่าน
(เศรษฐีโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๔๒] เธอตกลงปลงใจในชายผู้มีปกติเช่นไร
มีความประพฤติเช่นไร
แม่กาฬี ฉันถามแล้ว เธอจงตอบ
ฉันจะรู้จักเธอได้อย่างไร
(กาฬกัณณีเทพธิดาได้บอกคุณของตนว่า)
[๔๓] ชายใดมักลบหลู่คุณท่าน ตีเสมอ
แข่งดี ริษยา ตระหนี่ และโอ้อวด
ทำทรัพย์ที่ได้มาแล้วให้พินาศไป ดิฉันรักใคร่ชายนั้น
(กาฬกัณณีเทพธิดากล่าวต่อไปว่า)
[๔๔] ชายใดมักโกรธ ผูกโกรธ พูดส่อเสียด
มักทำลายมิตรภาพ มีวาจาเสียดแทง พูดวาจาหยาบคาย
ดิฉันรักใคร่ชายนั้นยิ่งกว่าชายคนแรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๗. สิริกาฬกัณณิชาดก (๓๘๒)
[๔๕] ชายที่ไม่รู้จักประโยชน์ของตนว่า
งานนี้ควรทำวันนี้ งานนี้ควรทำพรุ่งนี้
ถูกสั่งสอนก็พาลโกรธ ซ้ำยังดูหมิ่นคนที่ดีกว่าตัว
[๔๖] ชายใดมัวเมาด้วยการเล่นเป็นประจำ
ทั้งยังกำจัดมิตรทั้งหมดไปเสีย
ดิฉันรักใคร่ชายนั้น จะมีความสุขกับเขา
(พระโพธิสัตว์ติเตียนกาฬกัณณีเทพธิดานั้นว่า)
[๔๗] แม่กาฬี เธอจงไปจากที่นี้เสียเถิด
เรื่องเช่นนี้ไม่มีในพวกเรา
เธอจงไปยังชนบท นิคม และราชธานีอื่น ๆ เถิด
(กาฬกัณณีเทพธิดาได้ฟังดังนั้นไม่พอใจ จึงกล่าวว่า)
[๔๘] เรื่องนั้นแม้ดิฉันก็ทราบดีว่า เรื่องเช่นนี้ไม่มีอยู่ในพวกท่าน
แต่คนโง่ทั้งหลายที่รวบรวมทรัพย์ไว้เป็นจำนวนมาก
ก็ยังมีอยู่ในโลก
ส่วนดิฉันและเทพพี่ชายของดิฉันทั้ง ๒ คน
ช่วยกันผลาญทรัพย์นั้นจนหมดสิ้น
(พระโพธิสัตว์เห็นสิริเทพธิดา จึงกล่าวว่า)
[๔๙] ใครหนอมีผิวพรรณทิพย์ ยืนเรียบร้อยอยู่บนแผ่นดิน
เธอเป็นใคร เป็นลูกสาวของใคร ฉันจะรู้จักเธอได้อย่างไร
(สิริเทพธิดาได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า)
[๕๐] ดิฉันเป็นลูกสาวของท้าวธตรัฏฐมหาราชผู้มีสิริ
ดิฉันชื่อสิริลักษมี เทพทั้งหลายรู้จักดิฉันว่า
เป็นผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน
ดิฉันขอท่านจงให้โอกาส
ดิฉันขออาศัยอยู่ในสำนักของท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๗. สิริกาฬกัณณิชาดก (๓๘๒)
(เศรษฐีโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๕๑] เธอตกลงปลงใจในชายผู้มีปกติวิเช่นไร
มีความประพฤติเช่นไร
แม่ลักษมี ฉันถามแล้ว เธอจงตอบ
ฉันจะรู้จักเธอได้อย่างไร
(สิริเทพธิดากล่าวว่า)
[๕๒] ชายใดชนะอันตรายทั้งปวงได้
คือ ความหนาว ความร้อน
ลม แดด เหลือบ ยุง สัตว์เลื้อยคลาน
ความหิว และความกระหายได้
ทำการงานทุกอย่างติดต่อตลอดวันตลอดคืน
ไม่ทำประโยชน์ที่เป็นไปตามกาลให้เสื่อมเสียไปด้วย
ดิฉันพอใจชายนั้นและจะตกลงปลงใจกับเขา
[๕๓] ชายใดไม่มักโกรธ เป็นกัลยาณมิตร เสียสละ
สมบูรณ์ด้วยศีล ไม่โอ้อวด ซื่อตรง
สงเคราะห์ มีวาจาไพเราะอ่อนหวาน
ถึงจะเป็นใหญ่ก็ถ่อมตน
ดิฉันจะเป็นหญิงมีสิริอันไพบูลย์ในชายนั้น
เหมือนคลื่นที่ปรากฏแก่ผู้มองดูท้องทะเล
[๕๔] อีกอย่างหนึ่ง ชายใดสงเคราะห์บุคคล
ทั้งที่เป็นมิตรหรือศัตรู ทั้งชั้นสูง เสมอกัน หรือต่ำกว่า
ทั้งที่ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์
ทั้งในที่แจ้งหรือที่ลับ
ชายใดไม่พูดจาหยาบคายไม่ว่าในกาลไหน ๆ
ดิฉันจะเป็นของชายนั้นถึงแม้จะตายแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๙. ธัมมัทธชชาดก (๓๘๔)
[๕๕] บุคคลใดไร้ปัญญา ได้สิริที่น่าใคร่แล้ว
ลืมคุณความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง
บรรดาคุณความดีที่ได้กล่าวแล้วเหล่านั้น
ดิฉันเว้นบุคคลนั้นซึ่งมีสภาพร้อนรน
ประพฤติไม่เสมอต้นเสมอปลาย
เหมือนคนที่มีนิสัยรักความสะอาดเว้นห่างไกลหลุมคูถ
[๕๖] บุคคลย่อมสร้างความมีโชคด้วยตนเอง
ย่อมสร้างความไม่มีโชคด้วยตนเอง
คนอื่นจะทำความมีโชคและความไม่มีโชคให้คนอื่นหาได้ไม่
สิริกาฬกัณณิชาดกที่ ๗ จบ
๘. กุกกุฏชาดก (๓๘๓)
ว่าด้วยไก่โพธิสัตว์
(นางแมวไปยังโคนต้นไม้ที่ไก่เกาะอยู่แล้วอ้อนวอนว่า)
[๕๗] พ่อไก่หงอนแดงผู้มีขนปีกงดงาม ท่านจงลงมาจากกิ่งไม้เถิด
ฉันจะยอมเป็นภรรยาของท่านโดยไม่คิดมูลค่า
(ไก่โพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๕๘] แม่นางแมวรูปงาม เธอเป็นสัตว์สี่เท้า
ส่วนฉันเป็นสัตว์สองเท้า
แมวตัวเมียกับไก่ตัวผู้ไม่ควรจะรื่นรมย์ยินดีกันฉันสามีภรรยา
เธอจงหาสามีอื่นเถิด
(แมวได้ฟังดังนั้นคิดหาอุบายใหม่กล่าวว่า)
[๕๙] ฉันจะเป็นภรรยาสาวของท่านที่พูดจาอ่อนหวาน น่ารัก
ขอท่านจงรับฉันผู้เลอโฉม ผู้เป็นสาวพรหมจารีไว้
ด้วยการรับอันดีงามเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๙. ธัมมัทธชชาดก (๓๘๔)
(ไก่โพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้วคิดจะขู่ไล่แมวให้หนีไป จึงกล่าวว่า)
[๖๐] นางโจรผู้กินซากศพ ดื่มเลือด เจ้าเบียดเบียนไก่
ต้องการเราเป็นผัว ไม่ใช่ด้วยการได้อันดีงามหรอก
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า)
[๖๑] หญิงผู้มีวาจาประกอบด้วยองค์ ๔ เห็นชายมีทรัพย์
ก็ล่อลวงนำไปด้วยการพูดจาอ่อนหวาน
เหมือนนางแมวล่อลวงไก่
[๖๒] อนึ่ง ผู้ใดไม่รู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ผู้นั้นจะตกอยู่ในอำนาจของศัตรู
และจะเดือดร้อนในภายหลัง
[๖๓] ส่วนผู้ใดรู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ผู้นั้นย่อมพ้นจากความคับขันอันเกิดจากศัตรู
เหมือนไก่พ้นจากนางแมว
กุกกุฏชาดกที่ ๘ จบ
๙. ธัมมัทธชชาดก (๓๘๔)
ว่าด้วยการมีธรรมเป็นธงชัย
(กาเรียกนกทั้งหลายมากล่าวว่า)
[๖๔] พี่น้องทั้งหลาย พวกท่านจงประพฤติธรรมเถิด
จงประพฤติธรรมเถิด พวกท่านจะมีแต่ความเจริญ
เพราะว่าผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
(นกทั้งหลายเมื่อไม่รู้จึงพากันสรรเสริญกาทุศีลนั้นว่า)
[๖๕] กานี้เจริญจริงหนอ ประพฤติธรรมได้ยอดเยี่ยม
ยืนด้วยขาข้างเดียวสอนธรรมอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๑๐. นันทิยมิคราชชาดก (๓๘๕)
(พญานกโพธิสัตว์เรียกฝูงนกมาสั่งให้คอยจับกาว่า)
[๖๖] พวกเจ้าไม่รู้ปกติของมัน
เพราะไม่รู้ จึงพากันสรรเสริญมัน
มันกินทั้งไข่และลูกอ่อนแล้วพูดว่า ธรรมะ ธรรมะ
[๖๗] มันพูดอย่างหนึ่งแต่ทำอย่างหนึ่ง
มันประพฤติธรรมแต่ปาก แต่กายไม่ประพฤติธรรม
เพราะฉะนั้น มันจึงชื่อว่าไม่ทรงธรรม
[๖๘] มันปากหวาน รู้ใจได้ยาก
แสร้งทำตัวว่ามีธรรมเป็นธงชัย
เหมือนงูเห่าซ่อนตัวอยู่ในรู
ให้เขายกย่องว่าเป็นผู้ดีทุกบ้านทุกตำบล
คนทุศีลประเภทนี้คนโง่รู้ได้ยาก
[๖๙] พวกท่านจงใช้จะงอยปาก ปีก
และเท้าจิกตีกาตัวนี้
ทำให้กาเลวทรามพินาศไป
กาตัวนี้ไม่สมควรอยู่ร่วมกับพวกเรา
ธัมมัทธชชาดกที่ ๙ จบ
๑๐. นันทิยมิคราชชาดก (๓๘๕)
ว่าด้วยพญาเนื้อนันทิยะ
(พ่อแม่ของเนื้อนันทิยโพธิสัตว์ต้องการจะเห็นลูก จึงส่งข่าวถึงลูกว่า)
[๗๐] พ่อพราหมณ์ ถ้าท่านไปป่าอัญชันเมืองสาเกตุ
ช่วยบอกเนื้อลูกชายในไส้ของข้าพเจ้าที่ชื่อนันทิยะด้วยว่า
พ่อแม่ของเจ้าแก่เฒ่าปรารถนาจะพบเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๑๐. นันทิยมิคราชชาดก (๓๘๕)
(เนื้อนันทิยโพธิสัตว์ประกาศข้อความนี้ว่า)
[๗๑] ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าได้กินหญ้า น้ำ
และข้าวของพระราชา
ก้อนข้าวของพระราชานั้น
ข้าพเจ้าจะไม่พยายามกินให้เสียเปล่า
[๗๒] ข้าพเจ้าจะหันข้างให้พระราชาผู้ทรงถือธนู
เมื่อนั้นข้าพเจ้าจะพึงพ้นความตาย
ได้รับความสุข พบเห็นพ่อแม่ได้บ้าง
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสว่า)
[๗๓] เมื่อก่อนเราได้เป็นพญาเนื้อ ๔ เท้า
มีรูปงามชื่อว่านันทิยะ อยู่ ณ ที่ประทับของพระเจ้าโกศล
[๗๔] พระเจ้าโกศลได้เสด็จมาที่อัญชนามฤคทายวัน
ทรงโก่งธนู สอดลูกศรเพื่อจะฆ่าเรา
[๗๕] เราได้หันข้างให้พระราชาผู้ทรงเหนี่ยวธนูพระองค์นั้น
เมื่อนั้นเราจึงพ้นความตาย ได้รับความสุข มาพบพ่อแม่
นันทิยมิคราชชาดกที่ ๑๐ จบ
อวาริยวรรคที่ ๑ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อวาริยชาดก ๒. เสตเกตุชาดก
๓. ทรีมุขชาดก ๔. เนรุชาดก
๕. อาสังกชาดก ๖. มิคาโลปชาดก
๗. สิริกาฬกัณณิชาดก ๘. กุกกุฏชาดก
๙. ธัมมัทธชชาดก ๑๐. นันทิยมิคราชชาดก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๒. สูจิชาดก (๓๘๗)
๒. ขรปุตตวรรค
หมวดว่าด้วยม้าเกิดแต่ลา
๑. ขรปุตตชาดก (๓๘๖)
ว่าด้วยม้าสินธพลูกลา
(ม้าสินธพกล่าวกับแพะท้าวสักกะจำแลงว่า)
[๗๖] ได้ยินว่า เป็นความจริงที่บัณฑิตทั้งหลาย
กล่าวถึงแพะว่าเป็นสัตว์โง่
ดูเอาเถิด สัตว์โง่ไม่รู้จักกรรมที่ควรทำในที่ลับหรือที่แจ้ง
(แพะท้าวสักกะจำแลงกล่าวว่า)
[๗๗] เจ้าม้าเพื่อนยาก เจ้าจงรู้เถิดว่า เจ้าช่างเป็นสัตว์โง่จริง ๆ
เพราะเจ้าถูกสนตะพายจนปากคดหน้าคว่ำ
[๗๘] เพื่อน ความโง่ของเจ้าอีกอย่างหนึ่ง
คือถูกเขาปล่อยแล้วไม่หนีไป เพื่อนเอ๋ย
แต่พระเจ้าเสนกะที่เพื่อนลากไปโง่กว่าเจ้าเสียอีก
(ม้าสินธพฟังคำของแพะจำแลงแล้วจึงกล่าวว่า)
[๗๙] พญาแพะเพื่อนยาก ท่านรู้เหตุที่เราโง่
แต่พระเจ้าเสนกะโง่เพราะเหตุอะไร
เราถามแล้ว เจ้าจงบอกเหตุนั้น
(แพะท้าวสักกะจำแลงบอกว่า)
[๘๐] ผู้ใดได้ประโยชน์สูงสุด๑แล้วจะยกให้ภรรยา
ด้วยการยกให้นั้น เขาจักต้องสละตน
ส่วนภรรยานั้นจักไม่เป็นภรรยาของเขาอีก

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์สูงสุด ในที่นี้หมายถึงมนต์วิเศษชื่อสัพพรุตชานนมนต์ คือมนต์รู้เสียงร้องของสรรพสัตว์ (ขุ.ชา.อ.
๕/๘๐/๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๒. สูจิชาดก (๓๘๗)
(แพะท้าวสักกะจำแลงกล่าวอีกว่า)
[๘๑] พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน บุคคลผู้เช่นกับพระองค์
มาทอดทิ้งตัวเองด้วยคิดว่า เรามีสิ่งอันเป็นที่รัก
ย่อมไม่ประสบสิ่งอันเป็นที่รักทั้งหลาย
เพราะตนแลประเสริฐกว่า
และยังประเสริฐกว่าสิ่งอันเป็นที่รักชั้นเยี่ยม
บุรุษสั่งสมประโยชน์แล้วก็จะพึงได้ภรรยาอันเป็นที่รักในภายหลัง
ขรปุตตชาดกที่ ๑ จบ
๒. สูจิชาดก (๓๘๗)
ว่าด้วยเข็ม
(ช่างทองโพธิสัตว์ยืนใกล้ประตูเรือนของหัวหน้าช่างทอง อธิบายเรื่องเข็มว่า)
[๘๒] ใครต้องการจะซื้อเข็มที่ไม่ขรุขระ ไม่หยาบ ขัดด้วยหินแข็ง
มีรูร้อยด้ายเรียบร้อย เล่มเล็ก และปลายคมบ้าง
(ช่างทองโพธิสัตว์อธิบายเรื่องเข็มนั้นอีกว่า)
[๘๓] ใครต้องการจะซื้อเข็มที่เกลี้ยงเกลา มีรูร้อยด้ายเรียบร้อย
กลมกลึงตลอดเล่ม เจาะทะลุทั่งได้ และแข็งแกร่งบ้าง
(นางกุมาริกาพูดกับช่างทองโพธิสัตว์ว่า)
[๘๔] เดี๋ยวนี้ เข็มและเบ็ดถูกนำออกไปจากหมู่บ้านนี้
นี่ใครกันต้องการจะขายเข็มในหมู่บ้านช่างทอง
[๘๕] ศัสตราก็ออกไปจากหมู่บ้านนี้
การงานชนิดต่าง ๆ จำนวนมาก
ย่อมเป็นไปด้วยอุปกรณ์จากหมู่บ้านนี้
นี่ใครกันต้องการจะขายเข็มในหมู่บ้านช่างทอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๔. สุวัณณกักกฏกชาดก (๓๘๙)
(ช่างทองโพธิสัตว์ฟังคำของนางกุมาริกานั้น จึงกล่าวว่า)
[๘๖] คนที่ฉลาดรู้อยู่พึงมาขายเข็มในหมู่บ้านช่างเหล็ก
อาจารย์เท่านั้นจึงจะรู้ได้ว่า งานนั้นทำดีหรือไม่ดี
[๘๗] นางผู้เจริญ ถ้าบิดาของเธอรู้เรื่องเข็มเล่มนี้ที่ฉันทำแล้ว
จะต้องเชื้อเชิญฉันด้วยตัวเธอและทรัพย์สินอื่น ๆ ที่มีอยู่ในเรือนนี้
สูจิชาดกที่ ๒ จบ
๓. ตุณฑิลชาดก (๓๘๘)
ว่าด้วยตุณฑิลสุกรโพธิสัตว์
(จูฬตุณฑิลสุกรบอกเหตุที่ตนเห็นมาว่า)
[๘๘] วันนี้ นายแม่ของเราเปลี่ยนอาหารให้ใหม่
รางข้าวมีอาหารเต็มบริบูรณ์
นายแม่ก็ยืนอยู่ใกล้ ๆ
คนจำนวนมากก็ยืนถือบ่วงอยู่
ฉันไม่อยากกินเลย
(มหาตุณฑิลสุกรโพธิสัตว์ได้กล่าวว่า)
[๘๙] เจ้าสะดุ้งกลัว หัวหมุน มองหาที่พึ่งไปไย
เจ้าไม่มีที่พึ่งหรอก จะหนีไปไหนกัน
พ่อตุณฑิละ อย่าดิ้นรนไปเลย กินเสียเถิด
พวกเราถูกเขาขุนเพื่อต้องการเนื้อ
[๙๐] เจ้าจงลงสู่ห้วงน้ำที่ไม่มีโคลนตม
ชำระเหงื่อและมลทินทั้งปวงให้สิ้นไป
แล้วถือเอาเครื่องลูบไล้ชนิดใหม่
ที่มีกลิ่นหอมไม่จางหายไปในกาลไหน ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๔. สุวัณณกักกฏกชาดก (๓๘๙)
(จูฬตุณฑิลสุกรถามว่า)
[๙๑] อะไรหนอคือห้วงน้ำที่ไม่มีโคลนตม
อะไรเล่าที่เรียกว่าเหงื่อและมลทิน
และอะไรเล่าคือเครื่องลูบไล้ชนิดใหม่
ที่มีกลิ่นหอมไม่จางหายไปในกาลไหน ๆ
(มหาตุณฑิลสุกรโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๙๒] ธรรมะคือห้วงน้ำที่ไม่มีโคลนตม
บาปเรียกว่าเหงื่อและมลทิน
อนึ่ง ศีลคือเครื่องลูบไล้ชนิดใหม่
ที่มีกลิ่นหอมไม่จางหายไปในกาลไหน ๆ
[๙๓] คนที่ฆ่าสัตว์ย่อมพอใจ ส่วนสัตว์ที่ถูกฆ่าย่อมไม่พอใจ
ในคืนเดือนเพ็ญแห่งวันอุโบสถ สัตว์ทั้งหลายเช่นเรายินดีสละชีพ
ตุณฑิลชาดกที่ ๓ จบ
๔. สุวัณณกักกฏกชาดก (๓๘๙)
ว่าด้วยปูทองที่ฉลาด
(กาด่างูว่า)
[๙๔] เราถูกปูทองซึ่งมีตาโปนออกมา
มีกระดูกเป็นหนัง๑ อาศัยอยู่ในน้ำ ไม่มีขน หนีบแล้ว
ร้องขอความกรุณาอยู่
เพื่อนเอ๋ย เพราะเหตุใดหนอ ท่านจึงละทิ้งเราไป
(พระศาสดาทรงแสดงข้อความนี้ว่า)
[๙๕] งูผู้เป็นเพื่อนนั้น เมื่อจะป้องกันกาผู้เป็นเพื่อน
จึงพ่นพิษพร้อมกับแผ่พังพานใหญ่ไปจนถึงตัวปู
ปูจึงได้หนีบงูไว้อีก

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า มีกระดูกเป็นหนัง ได้แก่ กระดองปู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๕. มัยหกสกุณชาดก (๓๙๐)
(งูถามปูว่า)
[๙๖] ก็ธรรมดาปูไม่ต้องการจะจับกากิน
และไม่ต้องการจะจับงูเห่ากิน
ท่านผู้มีตาโปน เราขอถามท่าน
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรท่านจึงหนีบเราทั้ง ๒ ไว้
(ปูจึงบอกเหตุผลที่หนีบกาไว้ว่า)
[๙๗] ชายนี้เป็นผู้หวังความเจริญแก่ข้าพเจ้า
จับข้าพเจ้าแล้วนำไปที่แอ่งน้ำ
เมื่อเขาตาย ข้าพเจ้าจะมีทุกข์มิใช่น้อย
ข้าพเจ้าและชายนี้ก็จะไม่มีทั้ง ๒ คน
[๙๘] อนึ่ง ชนทั้งมวลเห็นข้าพเจ้ามีร่างกายเจริญเติบโต
มีเนื้ออร่อย มีเนื้อมาก และมีเนื้อนุ่ม ก็ต้องการจะเบียดเบียน
แม้กาทั้งหลายเห็นข้าพเจ้าแล้วก็พึงเบียดเบียน
(งูต้องการลวงปู จึงกล่าวว่า)
[๙๙] ถ้าเราทั้ง ๒ ถูกหนีบเพราะเหตุแห่งชายนี้
ขอชายนี้จงลุกขึ้น ข้าพเจ้าจะดูดพิษให้
ขอท่านจงปล่อยข้าพเจ้าและกาโดยเร็ว
ก่อนที่พิษอันร้ายแรงจะเข้าสู่ชายนี้
(ปูได้ฟังดังนั้นคิดอุบายได้แล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๐๐] ข้าพเจ้าจะปล่อยงูแต่จะยังไม่ปล่อยกา
กาจักเป็นตัวประกันก่อนจนกว่าข้าพเจ้าจะเห็น
ชายนี้มีความสุข ปราศจากโรคแล้ว
จึงจะปล่อยกาเหมือนปล่อยงู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๕. มัยหกสกุณชาดก (๓๙๐)
(พระศาสดาตรัสพระคาถาสุดท้ายประชุมชาดกว่า)
[๑๐๑] กาในกาลนั้นคือพระเทวทัต ส่วนงูเห่าคือมาร
ปูคือพระอานนท์ ส่วนพราหมณ์โชคดีคือเราผู้เป็นศาสดา
สุวัณณกักกฏกชาดกที่ ๔ จบ
๕. มัยหกสกุณชาดก (๓๙๐)
ว่าด้วยนกมัยหกะ
(ฤๅษีโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่น้องชายว่า)
[๑๐๒] นกมัยหกะ๑บินไปตามเนินเขาและซอกเขา
จับที่ต้นเลียบซึ่งมีผลสุกแล้วร่ำร้องว่า ของกู ของกู
[๑๐๓] เมื่อมันบ่นเพ้ออยู่อย่างนี้ ฝูงนกที่บินรวมกันมา
ก็พากันจิกกินผลเลียบแล้วก็บินจากไป
มันก็ยังคงบ่นเพ้ออยู่นั่นเอง ฉันใด
[๑๐๔] คนบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เก็บหอมรอมริบทรัพย์ไว้เป็นจำนวนมาก
ตนเองก็ไม่ได้ใช้สอย บางส่วนก็ไม่ได้แบ่งให้หมู่ญาติเลย
[๑๐๕] เขามิได้ใช้สอยหรือบริโภคสมบัติอื่น ๆ
ที่ตนมีอยู่แม้สักคราวเดียว
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนุ่งห่ม อาหาร มาลัย หรือเครื่องลูบไล้ก็ตาม
อนึ่ง พวกญาติ ๆ เขาก็ไม่สงเคราะห์
[๑๐๖] เมื่อเขาบ่นเพ้อว่า ของกู ของกู อยู่อย่างนี้ หวงแหนอยู่
พระราชาบ้าง พวกโจรบ้าง
พวกทายาทไม่เป็นที่รักบ้าง ก็ฉกฉวยเอาทรัพย์ไป
คนผู้นั้นก็ยังคงบ่นเพ้ออยู่นั่นแหละ

เชิงอรรถ :
๑ นกมัยหกะ หมายถึงนกเขา เพราะชอบร้อง(ขัน)ว่า ของกู ของกู อยู่ตลอดเวลา (ขุ.ชา.อ. ๕/๑๐๒/๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๗. อุปสิงฆปุปผชาดก (๓๙๒)
[๑๐๗] ส่วนนักปราชญ์ได้โภคะทั้งหลายแล้วย่อมสงเคราะห์พวกญาติ
เพราะการสงเคราะห์นั้นเขาย่อมได้รับเกียรติยศชื่อเสียง
เขาจากโลกนี้ไปแล้วก็บันเทิงในสวรรค์
มัยหกสกุณชาดกที่ ๕ จบ
๖. ปัพพชิตวิเหฐกชาดก (๓๙๑)
ว่าด้วยผู้เบียดเบียนนักบวช
(พระราชาทรงเจรจากับวิทยาธรว่า)
[๑๐๘] ท่านผู้มีรูปงามประนมมือนมัสการสมณะรูปทรามที่อยู่ข้างหน้า
สมณะนั้นประเสริฐกว่าท่านหรือเสมอท่าน
ขอท่านจงบอกชื่อของตนเองและชื่อของสมณะรูปนั้น
(ท้าวสักกโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า)
[๑๐๙] ข้าแต่มหาราช ทวยเทพทั้งหลายจะไม่เอ่ยชื่อ
และโคตรของวิสุทธิเทพผู้ดำเนินไป
แต่ข้าพระองค์จะบอกชื่อของตนแด่พระองค์
ข้าพระองค์คือท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพชั้นไตรทศ
(พระราชาตรัสถามถึงประโยชน์ในการนอบน้อมภิกษุว่า)
[๑๑๐] ผู้ใดเห็นภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยจรณะแล้ว
ให้ท่านอยู่ข้างหน้าประนมมือนมัสการอยู่
ข้าแต่เทวราช ข้าพระองค์ขอถามเนื้อความนั้นกับพระองค์
ผู้นั้นจากโลกนี้ไปแล้วจะได้ความสุขหรือ
(ท้าวสักกโพธิสัตว์ตรัสบอกว่า)
[๑๑๑] ผู้ใดเห็นภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยจรณะแล้ว
ให้ท่านอยู่ข้างหน้าประนมมือนมัสการอยู่
ผู้นั้นจะได้รับการสรรเสริญในปัจจุบัน
และหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสวรรค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๗. อุปสิงฆปุปผชาดก (๓๙๒)
(พระราชาทำลายความยึดถือผิดของตนได้แล้วทรงดีพระทัย จึงตรัสว่า)
[๑๑๒] วันนี้ มิ่งขวัญได้เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์แล้วหนอ
ที่ข้าพระองค์ได้เห็นท้าววาสวะผู้เป็นจอมเทพ
ข้าแต่ท้าวสักกะ ข้าพระองค์เห็นภิกษุและพระองค์แล้ว
จะทำบุญให้มาก ๆ
(ท้าวสักกโพธิสัตว์ตรัสชมเชยบัณฑิตว่า)
[๑๑๓] ชนเหล่าใดมีปัญญา เป็นพหูสูต
คิดเหตุการณ์ได้เป็นอันมาก
ชนเหล่านั้นควรคบโดยแท้
ขอเดชะพระราชา พระองค์ทรงเห็นภิกษุและข้าพระองค์แล้ว
ขอจงทำบุญให้มากเถิด
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๑๔] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมเทพ
เพราะได้ฟังคำอันเป็นสุภาษิตของพระองค์
ข้าพระองค์จักไม่เป็นคนมักโกรธ มีจิตผ่องใสอยู่เป็นนิตย์
เป็นผู้ควรแก่การขอของแขกทุกคน
จักกำจัดมานะแล้วกราบไหว้ท่านผู้ควรกราบไหว้
ปัพพชิตวิเหฐกชาดกที่ ๖ จบ
๗. อุปสิงฆปุปผชาดก (๓๙๒)
ว่าด้วยฤาษีลักดมดอกไม้
(เทพธิดาองค์หนึ่งสถิตอยู่ที่ค่าคบต้นไม้ ต้องการให้ฤๅษีโพธิสัตว์สลดใจ จึง
กล่าวว่า)
[๑๑๕] ท่านผู้นิรทุกข์ การที่ท่าน ลักดมดอกบัวที่เขายังไม่ได้ให้
นั่นเป็นองค์แห่งการขโมยอย่างหนึ่ง
ท่านชื่อว่าเป็นผู้ขโมยกลิ่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๘. วิฆาสาทชาดก (๓๙๓)
(ฤๅษีโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๑๖] ดอกบัวอาตมาก็ไม่ได้ลักและไม่ได้หัก ดมอยู่ห่าง ๆ๑
เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไมจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ขโมยกลิ่น
(ฤๅษีโพธิสัตว์เห็นบุรุษขุดเหง้าบัวเก็บดอกบัว จึงกล่าวกับเทพธิดานั้นว่า)
[๑๑๗] ชายใดขุดเอาเหง้าบัว หักเอาดอกบัวขาวไป
ชายนั้นหยาบช้าอย่างนี้ ทำไมไม่ถูกกล่าวหา
(เทพธิดาบอกสาเหตุที่ไม่ว่ากล่าวบุรุษนั้นว่า)
[๑๑๘] คนที่ทำงานหยาบช้ามากเป็นคนแปดเปื้อน
เหมือนผ้านุ่งของหญิงเลี้ยงเด็ก
สำหรับชายคนนั้นเราไม่ว่าอะไร
แต่ท่านเราสมควรจะว่ากล่าว
[๑๑๙] บุคคลผู้บริสุทธิ์แสวงหาแต่กรรมอันสะอาดอยู่เสมอ
ความชั่วเท่าปลายขนทรายย่อมปรากฏเหมือนเท่าหมอกเมฆ
(ฤๅษีโพธิสัตว์ซึ่งเทพธิดานั้นให้สลดใจกล่าวว่า)
[๑๒๐] นี่เทพผู้ควรบูชา ท่านรู้จักอาตมาดี
ซ้ำยังได้อนุเคราะห์อาตมาด้วย
ขอท่านโปรดเตือนซ้ำอีก เมื่อเห็นความบกพร่องเช่นนี้
(เทพธิดากล่าวว่า)
[๑๒๑] ข้าพเจ้าไม่ได้อาศัยท่านเลี้ยงชีพ
และไม่ได้เป็นลูกจ้างของท่าน
ท่านผู้เห็นภัย ท่านเองนั่นแหละ
ควรจะรู้จักกรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติ
อุปสิงฆปุปผชาดกที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดมอยู่ห่าง ๆ หมายถึงยืนดมอยู่ในที่ไกล (ขุ.ชา.อ. ๕/๑๑๖/๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๘. วิฆาสาทชาดก (๓๙๓)
๘. วิฆาสาทชาดก (๓๙๓)
ว่าด้วยผู้บริโภคอาหารที่เป็นเดน
(ท้าวสักกเทวราชโพธิสัตว์จำแลงเป็นนกแขกเต้ามายังที่อยู่ของเหล่าดาบส เมื่อ
จะทำให้ดาบสเหล่านั้นสลดใจ ได้กล่าวว่า)
[๑๒๒] พวกคนกินเดนพากันอยู่สบายจริงหนอ
ซ้ำได้รับการสรรเสริญในปัจจุบันและจะมีสุคติในโลกหน้า
(ดาบสรูปหนึ่งเรียกดาบสที่เหลือมากล่าวว่า)
[๑๒๓] ท่านบัณฑิตผู้ร่วมอุทรทั้งหลาย
พวกท่านไม่สนใจที่จะฟังนกแขกเต้าพูด
พวกท่านจงฟังคำของนกแขกเต้า
นกแขกเต้าตัวนี้กำลังสรรเสริญพวกเราเป็นแน่
(นกแขกเต้ากล่าวกับดาบสเหล่านั้นว่า)
[๑๒๔] ข้าพเจ้าไม่ได้สรรเสริญพวกท่าน
ท่านผู้กินซากศพทั้งหลาย พวกท่านจงฟังข้าพเจ้า
พวกท่านเป็นผู้บริโภคอาหารที่เหลือทิ้ง
แต่มิใช่ผู้บริโภคอาหารที่เป็นเดน
(ดาบสทั้งหมดฟังคำของนกแขกเต้าแล้ว ได้กล่าวว่า)
[๑๒๕] พวกเราบวชมาแล้ว ๗ พรรษา เกล้ามวยผม
เลี้ยงชีพด้วยอาหารที่เป็นเดนอยู่ท่ามกลางป่า
ถ้าหากพวกเราเป็นผู้สมควรที่ท่านจะติเตียน
แล้วพวกไหนเล่าเป็นผู้สมควรที่ท่านจะสรรเสริญ
(ท้าวสักกเทวราชโพธิสัตว์ต้องการจะให้ดาบสเหล่านั้นเกิดความละอาย
จึงกล่าวว่า)
[๑๒๖] พวกท่านเลี้ยงชีพด้วยอาหารอันเหลือทิ้งของราชสีห์
เสือโคร่ง และเนื้อร้าย ยังสำคัญตนว่า เป็นคนกินเดน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๑๐. มณิชาดก (๓๙๕)
(ท้าวเธอเมื่อจะบอกข้อความนั้นแก่ดาบสเหล่านั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๖ ว่า)
[๑๒๗] ชนเหล่าใดให้อาหารแก่สมณะ พราหมณ์
และวณิพกอื่น ๆ แล้วบริโภคอาหารที่เหลือ
ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นคนกินเดน
วิฆาสาทชาดกที่ ๘ จบ
๙. วัฏฏกชาดก (๓๙๔)
ว่าด้วยนกคุ่มโพธิสัตว์
(นกคุ่มโพธิสัตว์กล่าวต้อนรับกาโลเลว่า)
[๑๒๘] คุณลุงกา ท่านกินอาหารอย่างดี ทั้งเนยใสและน้ำมัน
แต่ทำไมท่านจึงซูบผอมเล่า
(กาฟังคำของนกคุ่มนั้นแล้ว ได้กล่าวว่า)
[๑๒๙] เมื่อกาอยู่ในท่ามกลางศัตรู
แสวงหาเหยื่ออยู่ในหมู่ศัตรูนั้น
มีใจหวาดกลัวอยู่เป็นนิตย์
จะหาความมั่นใจได้ที่ไหน
[๑๓๐] พวกกามีใจหวาดกลัวอยู่เป็นนิตย์
ได้ก้อนข้าวมาด้วยกรรมอันชั่วช้า จึงไม่อิ่มหนำ
พ่อนกคุ่ม เพราะเหตุนั้น เราจึงซูบผอม
[๑๓๑] พ่อนกคุ่ม เจ้ากินหญ้าและพืชอย่างเลว
มีโอชาน้อย แต่ทำไมท่านจึงอ้วนพีเล่า
(นกคุ่มโพธิสัตว์บอกเหตุที่ตัวเองอ้วนว่า)
[๑๓๒] พวกนกคุ่มมักน้อยเพราะไม่คิดเรื่องอาหาร
และไม่ต้องไปหากินไกล เลี้ยงชีพด้วยอาหารตามมีตามได้
กาเอ๋ย เพราะเหตุนั้น เราจึงอ้วนพี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๑๐. มณิชาดก (๓๙๕)
[๑๓๓] เพราะคนมีความมักน้อย มีความสุข
ไม่ต้องพะวงเรื่องอาหาร
กินอาหารที่เหมาะสมพอประมาณ
ก็จะดำเนินชีวิตให้เกิดความสุขได้
วัฏฏกชาดกที่ ๙ จบ
๑๐. มณิชาดก (๓๙๕)
ว่าด้วยกาถูกกระเบื้องแขวนคอแทนแก้วมณี
(นกพิราบโพธิสัตว์เห็นกาแล้วเมื่อจะเยาะเย้ย จึงกล่าวว่า)
[๑๓๔] นานแล้วหนอ เราเพิ่งจะได้เห็นเพื่อนประดับแก้วมณี
เพื่อนของเราให้ช่างตกแต่งขนปากงามจริงหนอ
(กาได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๑๓๕] เรามัวยุ่งอยู่กับงานราชการ
เล็บและขนปีกจึงงอกยาวรุงรัง
เป็นเวลานานจึงได้ช่างกัลบก
ถอนออกเสียจนหมดในวันนี้
(นกพิราบโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๓๖] เจ้าได้ช่างกัลบกที่หาได้ยากแล้วให้ถอนขนออกไป
เพื่อนเอ๋ย เมื่อเป็นเช่นนั้น
อะไรเล่า ส่งเสียงดังกริ่ง ๆ อยู่ที่คอของท่าน
(กาได้กล่าวว่า)
[๑๓๗] ผู้ดีทั้งหลายห้อยแก้วมณีไว้ที่คอ
เราเลียนแบบพวกเขา
เจ้าอย่าเข้าใจว่า เราทำเล่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก
[๑๓๘] แม้หากเจ้าพอใจการตกแต่งขนปาก
ที่นายช่างตกแต่งได้อย่างสวยงามอย่างนี้
เพื่อนเอ๋ย เราจะให้เขาช่วยตกแต่งให้ท่าน
และแก้วมณีเราก็จะมอบให้ท่าน
(นกพิราบโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๓๙] ท่านเท่านั้นสมควรแก่แก้วมณี
และการตกแต่งขนปากอย่างสวยงาม
การไม่เห็นท่านเป็นที่พอใจของเรา
เราขอลาท่านไปก่อน
มณิชาดกที่ ๑๐ จบ
ขรปุตตวรรคที่ ๒ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ขรปุตตชาดก ๒. สูจิชาดก
๓. ตุณฑิลชาดก ๔. สุวัณณกักกฏกชาดก
๕. มัยหกสกุณชาดก ๖. ปัพพชิตวิเหฐกชาดก
๗. อุปสิงฆปุปผชาดก ๘. วิฆาสาทชาดก
๙. วัฏฏกชาดก ๑๐. มณิชาดก

รวมวรรคที่มีในนิบาตนี้ คือ
๑. อวาริยวรรค ๒. ขรปุตตวรรค
ฉักกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕๔ }


๗. สัตตกนิบาต
๑. กุกกุวรรค
หมวดว่าด้วยมาตราวัดศอก
๑. กุกกุชาดก (๓๙๖)
ว่าด้วยมาตราวัดศอก
(พระราชาตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑] ช่อฟ้าสูงศอกครึ่ง โดยรอบกว้างประมาณ ๘ คืบ
ช่อฟ้านั้นทำด้วยแก่นไม้สีเสียด ไม่มีกระพี้
ตั้งอยู่บนอะไร จึงไม่ตกลงมาจากข้างบน
(พระโพธิสัตว์ทูลตอบว่า)
[๒] ช่อฟ้าที่จันทัน ๓๐ ตัว ซึ่งทำด้วยไม้แก่น ไม่ตรง
วางเรียงรายไว้เสมอกัน ค้ำยันไว้ และติดแน่นอย่างแข็งแรง
ตั้งอยู่เสมอกัน จึงไม่ตกลงมาจากข้างบน
[๓] แม้พระราชาผู้ทรงพระปรีชาก็เช่นกัน มีมิตรไมตรีที่สนิท
เป็นคนสะอาดไม่แตกแยก สงเคราะห์ด้วยดี
ย่อมไม่คลาดไปจากสิริเหมือนช่อฟ้าที่จันทันช่วยยึดไว้
[๔] คนมีมีด เมื่อไม่ปอกผลมะงั่วที่มีเปลือกแข็งออก
ก็ย่อมทำให้มีรสขม เมื่อปอกเปลือกออกก็จะทำให้มีรสดีขึ้น
ขอเดชะ แต่เมื่อปอกเปลือกบางออกก็จะทำให้รสไม่ดี ข้อนี้ฉันใด
[๕] แม้พระราชาผู้ทรงพระปรีชาก็ฉันนั้น
ไม่ทรงบีบคั้นชาวบ้าน ทรงรวบรวมพระราชทรัพย์
ปฏิบัติพระราชภารกิจตามทำนองคลองธรรม
ทรงทำแต่ความเจริญ ไม่ทรงเบียดเบียนผู้อื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๓. สุตนชาดก (๓๙๘)
[๖] บัวมีรากขาวเกิดแต่น้ำสะอาดในสระโบกขรณี
เปลือกตม ฝุ่นละออง และน้ำ
ย่อมไม่ติดดอกบัวที่บานเพราะดวงอาทิตย์ ฉันใด
[๗] พระราชาผู้มีความสะอาดในการวินิจฉัยคดี ไม่ทรงหุนหัน
มีการงานบริสุทธิ์ ปราศจากบาปก็ฉันนั้นเหมือนกัน
กรรมกิเลสย่อมไม่แปดเปื้อน
เพราะพระราชาเช่นนั้นเปรียบเหมือนบัวที่เกิดแล้วในสระโบกขรณี
กุกกุชาดกที่ ๑ จบ
๒. มโนชชาดก (๓๙๗)
ว่าด้วยราชสีห์มโนชะ
(สุนัขจิ้งจอกปรารภกับตนเองว่า)
[๘] เพราะคันธนูโก่งและสายธนูส่งเสียงดัง
พญาเนื้อมโนชะสหายของเราจึงถูกฆ่า
[๙] ทางที่ดี เราจะหนีเข้าป่าไปตามสบายเสียแต่เดี๋ยวนี้แหละ
ผู้ที่ตายแล้วเช่นนี้เป็นเพื่อนกันไม่ได้
เราเมื่อยังมีชีวิตอยู่ต้องได้เพื่อนใหม่
(พ่อราชสีห์มโนชะกล่าวว่า)
[๑๐] ผู้ที่คบคนชั่ว ย่อมไม่ได้รับความสุขอย่างแท้จริง
ดูเถิด เจ้ามโนชะนอนตายเพราะคำสั่งสอนของสุนัขจิ้งจอกคิริยะ
(แม่ราชสีห์มโนชะกล่าวว่า)
[๑๑] แม่ไม่ยินดีเลย ลูกคบคนชั่ว
จงดูเถิดเจ้ามโนชะนอนตายจมกองเลือดของตนเอง
(น้องสาวราชสีห์มโนชะกล่าวว่า)
[๑๒] บุคคลผู้ไม่กระทำตามถ้อยคำของผู้เกื้อกูลแนะประโยชน์
ต้องเป็นเช่นนี้ และประสบแต่ความเลว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๓. สุตนชาดก (๓๙๘)
(เมียราชสีห์มโนชะกล่าวว่า)
[๑๓] ผู้ที่เป็นคนชั้นสูงแต่มาคบคนชั้นต่ำ
ย่อมเป็นคนเลวกว่าคนชั้นต่ำนั้นเสียอีก
จงดูเถิด พญาเนื้อชั้นสูงมาคบสุนัขจิ้งจอกชั้นต่ำ
ถูกกำลังลูกศรกำจัดแล้วด้วยประการฉะนี้
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๑๔] คนคบคนเลวก็เลวตาม
คนคบคนเสมอกันย่อมไม่เสื่อมในกาลไหน ๆ
การคบคนที่ดีกว่าย่อมเจริญเร็วพลัน
เพราะเหตุนั้น จงคบคนที่ดีกว่าตนเถิด
มโนชชาดกที่ ๒ จบ
๓. สุตนชาดก (๓๙๘)
ว่าด้วยสุตนโพธิสัตว์
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๕] ท่านมฆเทพผู้สถิตอยู่ที่ต้นไทรนี้
พระราชาทรงส่งภัตตาหารที่ปรุงด้วยเนื้อที่สะอาดมาให้ท่าน
ท่านจงออกมาบริโภคเถิด
(ยักษ์กล่าวว่า)
[๑๖] มาเถิดมาณพ จงวางภักษาหารที่เพียบพร้อมด้วยกับข้าวลง
มาณพ เจ้าก็จะเป็นภักษาหาร จัดเป็นภักษาหารทั้ง ๒ อย่าง
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๗] ยักษ์ ท่านจะละทิ้งประโยชน์อันยิ่งใหญ่เพราะเหตุเพียงเล็กน้อย
ชนทั้งหลายที่หวาดระแวงความตายจักไม่นำภักษาหารมาให้ท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๔. มาตุโปสกคิชฌชาดก (๓๙๙)
[๑๘] นี่ยักษ์ ท่านจักได้ภักษาหารที่สะอาด ประณีต
มีรสอร่อยเป็นประจำทุกวัน
ก็เมื่อท่านกินเราเสียแล้ว
คนที่จะนำภักษาหารมาให้ท่านในที่นี้จักหาได้ยากอย่างยิ่ง
(ยักษ์กล่าวว่า)
[๑๙] พ่อสุตนะ เนื้อความตามที่ท่านพูด
เป็นประโยชน์แก่เราทีเดียว
เราอนุญาตท่าน
ขอให้ท่านจงกลับไปพบมารดาโดยความสวัสดีเถิด
[๒๐] พ่อมาณพ ท่านจงนำพระขรรค์ ฉัตร และถาดไปด้วย
ขอมารดาของท่านจงพบความสวัสดี
และขอให้ท่านจงพบมารดา
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๒๑] นี่ยักษ์ ขอท่านพร้อมกับหมู่ญาติทั้งหมด
จงเป็นสุขเช่นกันเถิด เราก็ได้ทรัพย์แล้ว
และเราก็กระทำตามพระราชโองการแล้ว
สุตนชาดกที่ ๓ จบ
๔. มาตุโปสกคิชฌชาดก (๓๙๙)
ว่าด้วยพญาแร้งโพธิสัตว์เลี้ยงมารดา
(แร้งรำพึงรำพันว่า)
[๒๒] พ่อแม่ของเราแก่เฒ่าอาศัยอยู่ที่ซอกเขา
จักกระทำอย่างไรหนอ
เราก็ติดบ่วง ตกอยู่ในอำนาจของนายพรานนิลียะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๔. มาตุโปสกคิชฌชาดก (๓๙๙)
(ลูกนายพรานถามว่า)
[๒๓] นี่นกแร้ง เจ้ากำลังคร่ำครวญหรือ
คร่ำครวญไปทำไม เราไม่เคยได้ยิน
ไม่เคยเห็นนกที่พูดภาษามนุษย์ได้
(แร้งตอบว่า)
[๒๔] เราเลี้ยงพ่อแม่ผู้แก่เฒ่าซึ่งอาศัยอยู่ที่ซอกเขา
ท่านทั้ง ๒ นั้นจักทำอย่างไรหนอ
เพราะเราตกอยู่ในอำนาจของท่านเสียแล้ว
(ลูกนายพรานกล่าวว่า)
[๒๕] ธรรมดานกแร้งย่อมเห็นซากศพได้
ไกลถึงร้อยโยชน์มิใช่หรือ
เพราะเหตุไร เจ้าแม้มาใกล้ข่ายและบ่วงแล้วก็ไม่รู้
(แร้งกล่าวว่า)
[๒๖] เมื่อใดสัตว์มีความเสื่อมในขณะจะสิ้นชีวิต
เมื่อนั้นถึงจะมาใกล้ข่ายและบ่วงก็ไม่รู้
(ลูกนายพรานกล่าวว่า)
[๒๗] เจ้าจงเลี้ยงพ่อแม่ผู้แก่เฒ่าซึ่งอาศัยอยู่ที่ซอกเขาเถิด
เราอนุญาต เจ้าจงไปพบพวกญาติโดยความสวัสดีเถิด
(แร้งกล่าวว่า)
[๒๘] เมื่อเป็นเช่นนั้น นายพราน
ขอท่านจงบันเทิงใจพร้อมกับหมู่ญาติทั้งหมดเถิด
เราจักเลี้ยงพ่อแม่ผู้แก่เฒ่าซึ่งอาศัยอยู่ที่ซอกเขา
มาตุโปสกคิชฌชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๖. ทสัณณกชาดก (๔๐๑)
๕. ทัพภปุปผชาดก (๔๐๐)
ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกชื่อทัพภปุปผะ
(นากที่เที่ยวไปในน้ำลึกพูดกับนากที่เที่ยวไปตามริมฝั่งว่า)
[๒๙] เพื่อนผู้เจริญ เพื่อนผู้เที่ยวไปตามริมฝั่ง
จงวิ่งตามเรามาเถิด เราจับปลาใหญ่ได้แล้ว
มันพาเราไปอย่างรวดเร็ว
(นากที่เที่ยวไปตามริมฝั่งพูดว่า)
[๓๐] เพื่อนผู้เจริญ เพื่อนผู้เที่ยวไปในน้ำลึก
จงจับมันไว้ให้มั่นคงด้วยกำลัง
เราจะยกมันขึ้นมาเหมือนนกครุฑโฉบงูขึ้น
(นากทั้ง ๒ พูดกับสุนัขจิ้งจอกว่า)
[๓๑] พวกเราเกิดวิวาทกันขึ้น พ่อทัพภปุปผะจงฟังเรา
เพื่อนจงระงับความทะเลาะกัน ขอความวิวาทจงสงบไป
(สุนัขจิ้งจอกกล่าวว่า)
[๓๒] เมื่อก่อนเราเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม พิจารณาคดีมาแล้วมากมาย
เพื่อน เราจะระงับความทะเลาะกัน ความวิวาทจงสงบไป
[๓๓] นากตัวที่เที่ยวไปตามริมฝั่งจงเอาหางไป
ตัวที่เที่ยวไปในน้ำลึกจงเอาหัวไป
ส่วนท่อนกลางนี้ตกเป็นของเราผู้ตั้งอยู่ในธรรม
(นากทั้ง ๒ พูดกันว่า)
[๓๔] ถ้าเราไม่ทะเลาะกัน จักมีอาหารไปนานวัน
สุนัขจิ้งจอกคาบเอาปลาตะเพียนที่ไม่ใช่ท่อนหัวท่อนหางไปเสียแล้ว
(เมียสุนัขจิ้งจอกถามว่า)
[๓๕] วันนี้เรายินดีเพราะเห็นผัวมีหน้าเบิกบาน
เหมือนขัตติยราชทรงยินดีเพราะได้ราชสมบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๖. ทสัณณกชาดก (๔๐๑)
[๓๖] ทำไมหนอ ท่านเกิดอยู่บนบกจึงจับปลาในน้ำได้
นี่ท่านผู้ร่วมชีวิต ฉันถามแล้วโปรดบอก ท่านได้มาอย่างไร
(สุนัขจิ้งจอกตอบว่า)
[๓๗] เพราะการทะเลาะกัน สัตว์จึงผ่ายผอม ทรัพย์จึงสิ้นไป
พวกนากเสื่อมเพราะการทะเลาะกัน
แม่มายาวี เธอจงกินปลาตะเพียนเถิด
[๓๘] ในหมู่มนุษย์ก็เช่นเดียวกัน เกิดการทะเลาะในที่ใด
ก็จะพากันไปหาผู้ตั้งอยู่ในธรรมในที่นั้น
ผู้วินิจฉัยคดีนั้นเป็นผู้ตัดสินให้พวกเขา
ในการทะเลาะนั้นก็จะพากันหมดสิ้นทรัพย์ไป
พระคลังหลวงก็จะเพิ่มพูน
ทัพภปุปผชาดกที่ ๕ จบ
๖. ทสัณณกชาดก (๔๐๑)
ว่าด้วยดาบแคว้นทสัณณกะ
(พระราชาตรัสถามอายุรบัณฑิตว่า)
[๓๙] ดาบแคว้นทสัณณกะคมกริบดื่มเลือดของคนที่ถูกต้อง
ชายผู้นี้กลืนเข้าไปได้ท่ามกลางชุมชน
เหตุอื่นใดที่ทำได้ยากกว่านั้นมีอยู่หรือ
เราถามแล้ว จงบอกเหตุนั้น
(อายุรบัณฑิตทูลตอบว่า)
[๔๐] ชายผู้นี้กลืนดาบคมกริบที่ดื่มเลือดของคนที่ถูกต้องเข้าไปได้
เพราะความโลภ แต่ผู้ใดพูดว่าจะให้
คำพูดของเขาทำได้ยากกว่าการกลืนดาบนั้น
เหตุอย่างอื่นทั้งหมดทำได้ง่าย
ขอเดชะพระเจ้ามัททวะผู้สมมติเทพ
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๗. เสนกชาดก (๔๐๒)
(พระราชาตรัสถามปุกกุสบัณฑิตว่า)
[๔๑] อายุรบัณฑิตผู้ฉลาดในธรรมได้แก้เนื้อความแห่งปัญหาแล้ว
บัดนี้เราจะถามท่านปุกกุสบัณฑิตบ้าง
เหตุอื่นใดที่ทำได้ยากกว่านั้นมีอยู่หรือ
เราถามแล้ว ท่านจงบอกเหตุนั้น
(ปุกกุสบัณฑิตทูลตอบว่า)
[๔๒] วาจาที่เปล่งออกมาคนอาศัยไม่ได้ ไม่มีผล
แต่ผู้ใดให้แล้วไม่ติดใจ การกระทำของผู้นั้นทำได้ยากกว่านั้น
เหตุอื่นทั้งหมดทำได้ง่าย ขอเดชะพระเจ้ามัททวะผู้สมมติเทพ
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้
(พระราชาตรัสถามเสนกบัณฑิตว่า)
[๔๓] ปุกกุสบัณฑิตผู้ฉลาดในธรรมได้แก้เนื้อความแห่งปัญหาแล้ว
บัดนี้เราจะถามท่านเสนกบัณฑิตบ้าง
เหตุอื่นใดที่ทำได้ยากกว่านั้นมีอยู่หรือ
เราถามแล้ว ท่านจงบอกเหตุนั้น
(เสนกบัณฑิตทูลตอบว่า)
[๔๔] ทานจะน้อยหรือมากก็ตาม คนก็ควรจะให้
แต่ว่าผู้ใดเมื่อให้แล้ว ภายหลังไม่เดือดร้อน
การให้ของผู้นั้นทำได้ยากกว่า
เหตุอื่นทั้งหมดทำได้ง่าย ขอเดชะพระเจ้ามัททวะผู้สมมติเทพ
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้
(พระราชาตรัสสดุดีพระโพธิสัตว์ว่า)
[๔๕] ตามที่เสนกบัณฑิตกล่าวมาย่อมครอบคลุมปัญหาทุกข้อ
อายุรบัณฑิตและปุกกุสบัณฑิตได้กล่าวแก้แล้ว
ทสัณณกชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๗. เสนกชาดก (๔๐๒)
๗. เสนกชาดก (๔๐๒)
ว่าด้วยเสนกบัณฑิต
(เสนกบัณฑิตกล่าวว่า)
[๔๖] ท่านมีจิตฟุ้งซ่าน มีดวงตาบอบช้ำ
หยาดน้ำตาก็ไหลออกมาจากนัยน์ตาทั้ง ๒ ของท่าน
อะไรของท่านหาย หรือท่านต้องการอะไรจึงมาที่นี้
พ่อพราหมณ์ เชิญพูดมาเถิด
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๔๗] วันนี้ เมื่อข้าพเจ้าไปถึงบ้าน ภรรยาต้องตาย
เมื่อไปไม่ถึงบ้าน ข้าพเจ้าต้องตาย เทวดาบอกไว้
เพราะทุกข์นี้ ข้าพเจ้าจึงหวาดกลัว
ท่านเสนกบัณฑิต โปรดบอกเหตุนี้แก่ข้าพเจ้า
(เสนกบัณฑิตกล่าวว่า)
[๔๘] ข้าพเจ้าพิจารณาเหตุหลายประการแล้ว
กล่าวเหตุใดในเหตุนี้ เหตุนั้นแน่นอนจักเป็นเรื่องจริง
พ่อพราหมณ์ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า งูเห่าได้เลื้อยเข้าไป
ในถุงย่ามข้าวสัตตุของท่าน โดยท่านไม่รู้ตัว
[๔๙] ท่านจงเอาท่อนไม้เคาะถุงย่ามดูเถิด
จะเห็นงูมีลิ้นสองแฉก มีน้ำลายฟูมปาก
ท่านจะตัดความเคลือบแคลงสงสัยเสียได้วันนี้
ท่านจะได้เห็นงู จงแก้ถุงย่ามเถิด
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๕๐] พราหมณ์นั้นมีท่าทางสยดสยอง
ได้แก้ถุงย่ามข้าวสัตตุออกท่ามกลางชุมชน
ขณะนั้น งูร้ายมีพิษร้ายแรงเลื้อยออกมาแผ่พังพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๘. อัฏฐิเสนชาดก (๔๐๓)
(พราหมณ์กล่าวสดุดีพระราชาว่า)
[๕๑] พระเจ้าชนกทรงได้ลาภดีแล้วที่ได้ทรงพบเสนกะผู้มีปัญญาดี
พราหมณ์ ท่านเปิดเผยข้อที่ปกปิดได้หนอ
เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ญาณของท่านมีกำลังยิ่งนัก
(พราหมณ์ต้องการจะสดุดีเสนกบัณฑิต จึงกล่าวว่า)
[๕๒] ข้าพเจ้ามีทรัพย์อยู่ ๗๐๐ กหาปณะนี้
เชิญรับไปทั้งหมดเถิด ข้าพเจ้าให้ท่าน
เพราะข้าพเจ้าได้ชีวิตในวันนี้ก็เพราะท่าน
ซ้ำท่านยังได้ทำความสวัสดีแก่ภรรยาของข้าพเจ้าด้วย
(เสนกบัณฑิตกล่าวว่า)
[๕๓] บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่รับค่าจ้าง
เพราะคาถาอันวิจิตรที่กล่าวดีแล้ว พ่อพราหมณ์
แต่นี้ไป ขอให้คนทั้งหลายจงช่วยกันให้ทรัพย์แก่ท่าน
ท่านจงนำไปยังที่อยู่ของตนเถิด
เสนกชาดกที่ ๗ จบ
๘. อัฏฐิเสนชาดก (๔๐๓)
ว่าด้วยอัฏฐิเสนฤาษี
(พระราชาตรัสถามฤๅษีอัฏฐิเสนะว่า)
[๕๔] พระคุณเจ้าอัฏฐิเสนะ โยมไม่รู้จักวณิพกพวกนี้เลย
แต่พวกเขาได้พร้อมใจกันมาขอกับโยม
ทำไมพระคุณเจ้าจึงไม่ขอโยมบ้าง
(ฤๅษีอัฏฐิเสนะทูลตอบว่า)
[๕๕] ผู้ขอย่อมไม่เป็นที่รัก ผู้ไม่ให้ของที่ขอก็ไม่เป็นที่รัก
เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงไม่ขอมหาบพิตร
ขอความหมางใจอย่าได้มีแก่อาตมภาพเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๘. อัฏฐิเสนชาดก (๔๐๓)
(พระราชาตรัสว่า)
[๕๖] ผู้ใดเลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยการขอ
ไม่ขอสิ่งที่ควรขอในกาลอันควร
ผู้นั้นทำลายผู้อื่นเสียจากบุญ
ทั้งตนเองก็เลี้ยงชีพอยู่ไม่ได้
[๕๗] ส่วนผู้ใดเลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยการขอ
ขอสิ่งที่ควรขอในกาลอันควร
ผู้นั้นทำผู้อื่นให้ได้บุญ
ทั้งตนเองก็เลี้ยงชีพอยู่ได้
[๕๘] ผู้มีปัญญาทั้งหลายเห็นยาจกมาแล้วไม่รังเกียจ
ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้ประพฤติพรหมจรรย์
พระคุณเจ้าเป็นที่รักของโยม
นิมนต์พระคุณเจ้ากล่าวขอสิ่งที่ต้องการเถิด
(ฤๅษีอัฏฐิเสนะทูลว่า)
[๕๙] ผู้มีปัญญาทั้งหลายย่อมไม่ขอเลย
ส่วนนักปราชญ์ควรจะรู้เอง
พระอริยะเพียงเจาะจงยืนเท่านั้น
นี้เป็นการขอของพระอริยะ
(พระราชาตรัสว่า)
[๖๐] ท่านพราหมณ์ โยมขอถวายโคแดง ๑,๐๐๐ ตัว
พร้อมกับโคจ่าฝูงแก่ท่าน
เพราะพระอริยะได้ฟังคาถา
อันประกอบด้วยธรรมของพระคุณเจ้าแล้ว
จะไม่พึงถวายแก่พระอริยะได้อย่างไร
อัฏฐิเสนชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖๕ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น