Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๗-๖ หน้า ๒๖๖ - ๓๑๘

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗-๖ สุตตันตปิฎกที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๑๐. พกพรหมชาดก (๔๐๕)
๙. กปิชาดก (๔๐๔)
ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้บริหารหมู่คณะ
(พระโพธิสัตว์กล่าวให้โอวาทแก่ฝูงลิงว่า)
[๖๑] บัณฑิตไม่ควรอยู่ในสถานที่ที่คนคู่เวรกันอยู่
เพราะบุคคลเมื่ออยู่ในระหว่างคนเป็นคู่เวรกัน
คืนหนึ่งหรือสองคืนก็ตาม ย่อมอยู่เป็นทุกข์
[๖๒] ลิงตัวหัวหน้ามีจิตเรรวน เพราะทำตามลิงที่มีจิตเรรวน
มันได้ทำความพินาศให้แก่ฝูง เพราะลิงตัวเดียวเป็นเหตุ
[๖๓] สัตว์โง่แต่สำคัญตนว่าฉลาด เป็นผู้นำฝูง
ลุอำนาจใจของตนเอง
ก็จะต้องนอนตายเหมือนอย่างลิงตัวนี้
[๖๔] สัตว์โง่แต่มีกำลัง เป็นผู้นำฝูง ไม่ดี
เพราะไม่เกื้อกูลแก่หมู่ญาติ
เหมือนนกต่อไม่เกื้อกูลแก่นกทั้งหลาย
[๖๕] ส่วนสัตว์ฉลาดมีกำลัง เป็นผู้นำฝูง ดี
เพราะเกื้อกูลแก่หมู่ญาติ
เหมือนท้าววาสวะเกื้อกูลแก่หมู่เทพชั้นดาวดึงส์
[๖๖] ส่วนผู้ใดตรวจดูศีล ปัญญา และสุตะในตน
ผู้นั้นย่อมประพฤติประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย
คือ ทั้งตนและผู้อื่น
[๖๗] เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์พึงตรวจดูตน
เหมือนตรวจดูศีล ปัญญา และสุตะ
แล้วบริหารหมู่คณะบ้าง ปฏิบัติอยู่ลำพังผู้เดียวบ้าง
กปิชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๑๐. พกพรหมชาดก (๔๐๕)
๑๐. พกพรหมชาดก (๔๐๕)
ว่าด้วยพรตและศีลของพกพรหม
(พกพรหมกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า)
[๖๘] ข้าแต่พระโคดม พวกข้าพระองค์ทั้ง ๗๒ คน
ได้กระทำบุญไว้ มีอำนาจ พ้นชาติและชรา
การถึงความเป็นพรหมนี้เป็นชาติสุดท้าย สำเร็จด้วยพระเวท
ชนทั้งหลายมิใช่น้อยกล่าวนมัสการพวกข้าพระองค์
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๖๙] ท้าวพกพรหม ท่านสำคัญอายุใดว่ายืนยาว
ความจริงอายุนั้นน้อย ไม่ยืนยาวเลย
เราตถาคตทราบอย่างชัดแจ้ง
ถึงอายุ ๑๐๐,๐๐๐ นิรัพพุทะของท่าน
(พกพรหมกราบทูลว่า)
[๗๐] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสว่า
เราตถาคตเป็นผู้เห็นไม่มีที่สิ้นสุด
พ้นชาติ ชรา และความโศกเสียได้
พรตและศีลครั้งก่อนของข้าพระองค์เป็นเช่นไร
ขอพระองค์จงตรัสบอกพรตและศีล
ที่ข้าพระองค์ควรจะรู้แก่ข้าพระองค์
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๗๑] ท่านได้ช่วยให้มนุษย์เป็นจำนวนมากที่มีความกระหาย
ถูกความร้อนแผดเผาให้ได้ดื่มน้ำ
นั่นเป็นพรตและศีลครั้งก่อนของท่าน
เราตถาคตระลึกได้เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้นมา๑

เชิงอรรถ :
๑ เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้นมา หมายถึงจำความฝันได้ (ขุ.ชา.อ. ๕/๗๑/๑๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๑. คันธารชาดก (๔๐๖)
[๗๒] การที่ท่านได้ปล่อยหมู่ชนซึ่งถูกจับที่ฝั่งแม่น้ำเอณินำไปเป็นเชลย
นั่นเป็นพรตและศีลครั้งก่อนของท่าน
เราตถาคตระลึกได้เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้นมา
[๗๓] ท่านใช้กำลังเข้าข่ม ได้ปลดปล่อยเรือที่พญานาคดุร้าย
ยึดไว้ที่กระแสแม่น้ำคงคาเพราะต้องการจะทำลายมนุษย์
นั่นเป็นพรตและศีลครั้งก่อนของท่าน
เราตถาคตระลึกได้เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้นมา
[๗๔] อนึ่ง เราตถาคตได้เคยเป็นศิษย์ของท่านชื่อว่ากัปปะ
สำคัญท่านว่ามีปัญญา ประกอบด้วยวัตรปฏิบัติ
นั่นเป็นพรตและศีลครั้งก่อนของท่าน
เราตถาคตระลึกได้เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้นมา
(พกพรหมกล่าวสดุดีพระผู้มีพระภาคว่า)
[๗๕] อายุของข้าพระองค์นี่ พระองค์ทรงทราบชัดแน่นอน
ทั้งอย่างอื่นก็ยังทรงทราบด้วย
เพราะพระองค์ทรงเป็นพุทธะอย่างแท้จริง
เพราะพระองค์ทรงเป็นพุทธะนั่นแหละจึงทรงมีอานุภาพ
รุ่งเรืองอย่างนี้ ทรงทำพรหมโลกให้สว่างไสวอยู่
พกพรหมชาดกที่ ๑๐ จบ
กุกกุวรรคที่ ๑ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้

๑. กุกกุชาดก ๒. มโนชชาดก
๓. สุตนชาดก ๔. มาตุโปสกคิชฌชาดก
๕. ทัพภปุปผชาดก ๖. ทสัณณกชาดก
๗. เสนกชาดก ๘. อัฏฐิเสนชาดก
๙. กปิชาดก ๑๐. พกพรหมชาดก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๑. คันธารชาดก (๔๐๖)
๒. คันธารวรรค
หมวดว่าด้วยคันธารดาบส
๑. คันธารชาดก (๔๐๖)
ว่าด้วยคันธารดาบสโพธิสัตว์
(พระโพธิสัตว์ต่อว่าวิเทหดาบสว่า)
[๗๖] ท่านละทิ้งหมู่บ้านจำนวนถึง ๑๖,๐๐๐ หมู่บ้าน
และเรือนคลังที่บริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ
บัดนี้ ยังทำการสะสมอยู่อีก
(วิเทหดาบสแย้งว่า)
[๗๗] ท่านละแคว้นคันธาระซึ่งมีทรัพย์และน้ำดื่มสมบูรณ์
เลิกจากการสั่งสอน
ทำไม เดี๋ยวนี้จึงยังสั่งสอนอยู่ในที่นี้อีกเล่า
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๗๘] ท่านเวเทหดาบส ข้าพเจ้ากล่าวธรรม๑
ข้าพเจ้าไม่พอใจอธรรมเลย
บาปย่อมไม่แปดเปื้อนข้าพเจ้าผู้กล่าวธรรม
(วิเทหดาบสกล่าวว่า)
[๗๙] แม้หากวาจาจะมีประโยชน์มาก
แต่ผู้อื่นได้รับความขัดเคืองใจ
เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง
วาจานั้นบัณฑิตก็ไม่ควรจะกล่าว

เชิงอรรถ :
๑ กล่าวธรรม ในที่นี้หมายถึงกล่าวความเป็นจริง (ขุ.ชา.อ. ๕/๗๘/๑๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๓. กุมภการชาดก (๔๐๘)
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๘๐] บุคคลเมื่อถูกตักเตือนจะโกรธหรือไม่โกรธก็ตาม
หรือจะโปรยความโกรธเช่นกับโปรยแกลบทิ้งก็ตาม
แต่บาปก็ไม่แปดเปื้อนข้าพเจ้าผู้กล่าวธรรม
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๘๑] หากชนจำนวนมากไม่มีความรู้เป็นของตน
หรือไม่ได้ศึกษาวินัยอย่างดี
ก็จะพึงเที่ยวไปเหมือนกระบือบอดเที่ยวไปในป่า
[๘๒] ก็แหละเพราะบุคคลบางพวกในโลกนี้
ได้ศึกษาดีแล้วในสำนักของอาจารย์
ฉะนั้น จึงเป็นผู้มีวินัยได้รับการแนะนำแล้ว
มีจิตตั้งมั่นดีแล้วเที่ยวไป
คันธารชาดกที่ ๑ จบ
๒. มหากปิชาดก (๔๐๗)
ว่าด้วยพญาลิงโพธิสัตว์
(พระราชาตรัสถามพญาลิงว่า)
[๘๓] พญาลิง เจ้าทอดตัวเป็นสะพาน
ให้ลิงเหล่านี้ข้ามไปโดยสวัสดี
เจ้าเป็นอะไรกับลิงเหล่านั้น
ลิงเหล่านั้นเป็นอะไรกับเจ้า
(พญาลิงกราบทูลว่า)
[๘๔] ขอเดชะพระองค์ผู้ปราบข้าศึก
ข้าพระองค์เป็นพญาลิงผู้เป็นใหญ่ปกครองฝูงลิงเหล่านั้น
ผู้มีทั้งความเศร้าโศกและความกลัวต่อพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๓. กุมภการชาดก (๔๐๘)
[๘๕] ข้าพระองค์ได้พุ่งตัวซึ่งมีเถาวัลย์ผูกติดที่ ๒ เท้าหลังอย่างมั่นคง
ไปจากต้นไม้นั้นประมาณชั่วร้อยคันธนูที่ปลดสายแล้ว
[๘๖] ข้าพระองค์นั้นพุ่งออกไปตามลมเข้าหาต้นมะม่วงนี้
ดุจเมฆถูกลมพัดขาด เมื่อไปไม่ถึง
จึงใช้เท้าหน้าทั้ง ๒ จับกิ่งมะม่วงกลางอากาศนั้น
[๘๗] ข้าพเจ้านั้น ถูกกิ่งไม้และเถาวัลย์ขึงอยู่เหมือนสายพิณ
พวกลิงใช้เท้าเหยียบข้ามไปโดยสวัสดี
[๘๘] การผูกด้วยเถาวัลย์นั้นไม่ทำให้ข้าพเจ้าเดือดร้อน
ถึงตายก็ไม่เดือดร้อน ขอข้าพเจ้าได้นำความสุข
มาให้แก่ฝูงลิงที่ข้าพเจ้าปกครองอยู่(เท่านั้น)
[๘๙] ขอเดชะพระราชาผู้ปราบข้าศึก
นี้เป็นอุปมาสำหรับพระองค์
ขอพระองค์ทรงสดับข้ออุปมานั้นเถิด
ก็พระราชามหากษัตริย์ผู้ทรงทราบชัด
ควรจะแสวงหาความสุขมาให้แก่ชนทั้งปวง
คือ ทั้งชาวแคว้น พาหนะ พลนิกาย และชาวบ้าน
มหากปิชาดกที่ ๒ จบ
๓. กุมภการชาดก (๔๐๘)
ว่าด้วยนายช่างหม้อ
(พระปัจเจกพุทธเจ้า ๔ องค์กล่าวกับพระโพธิสัตว์องค์ละคาถาว่า)
[๙๐] อาตมาได้เห็นต้นมะม่วงกลางป่า เขียวชะอุ่ม
งอกงาม ผลิดอกออกผลสะพรั่ง
อาตมาได้เห็นมะม่วงต้นนั้นถูกทำลาย เพราะผลเป็นเหตุ
ครั้นเห็นเช่นนั้นจึงเที่ยวภิกขาจาร (ออกบวช)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๔. ทัฬหธัมมชาดก (๔๐๙)
[๙๑] กำไลแก้วคู่หนึ่งที่นายช่างผู้ชาญฉลาดเจียรไนแล้ว
เป็นของเกลี้ยงเกลา ที่สตรีสวมใส่ย่อมไม่เกิดเสียงดัง๑
แต่เพราะสวมใส่วงที่ ๒ เข้าจึงได้มีเสียงดัง
อาตมาเห็นเช่นนั้นแล้วจึงเที่ยวภิกขาจาร
[๙๒] นกจำนวนมากพากันรุมจิกตีนกตัวหนึ่ง
ซึ่งกำลังคาบชิ้นเนื้อมาอยู่เพราะอาหารเป็นเหตุ
อาตมาได้เห็นเช่นนั้นแล้วจึงเที่ยวภิกขาจาร
[๙๓] อาตมาได้เห็นโคผู้มีหนอกกระเพื่อม
มีสีสันและมีกำลังอยู่ท่ามกลางฝูงโค
อาตมาได้เห็นมันขวิดโคผู้ตัวหนึ่งเพราะกามเป็นเหตุ
ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้วจึงเที่ยวภิกขาจาร
(พระโพธิสัตว์กล่าวกับภรรยาว่า)
[๙๔] พระเจ้ากรัณฑกะ ราชาแห่งแคว้นกาลิงคะ
พระเจ้านัคคชิ ราชาแห่งแคว้นคันธาระ
พระเจ้านิมิราช ราชาแห่งแคว้นวิเทหะ
และพระเจ้าทุมมุขะ ราชาแห่งแคว้นปัญจาละ
ทรงละทิ้งแคว้นเหล่านั้นแล้ว
หมดความกังวล ทรงผนวชแล้ว
[๙๕] แม้พระราชาทุกพระองค์เสมอด้วยเทพเจ้า
เสด็จมาประชุมกัน ย่อมรุ่งเรืองเหมือนไฟที่ลุกโชน
นี่น้องหญิงผู้มีโชค ถึงพี่ก็จะเป็นเหมือนพระราชาเหล่านี้
จักละกามซึ่งมีประการต่าง ๆ แล้วเที่ยวไปผู้เดียว

เชิงอรรถ :
๑ สวมใส่ย่อมไม่เกิดเสียงดัง หมายถึงสวมข้างละวง (ขุ.ชา.อ. ๕/๙๑/๑๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๔. ทัฬหธัมมชาดก (๔๐๙)
(ภรรยากล่าวว่า)
[๙๖] เวลานี้เท่านั้นเหมาะที่จะบวช เวลาอื่นไม่เหมาะ
ภายหลังคงจะไม่มีผู้ที่จะพร่ำสอนดิฉัน
ท่านผู้มีโชค ถึงดิฉันก็จักเที่ยวไปผู้เดียว
เหมือนสกุณีที่รอดพ้นจากมือคน
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๙๗] พวกเด็ก ๆ รู้จักของดิบ ของสุก ของเค็ม และของจืด
อาตมาเห็นเช่นนั้นแล้วจึงบวช
น้องหญิงจงเที่ยวภิกขาจารไปเถิด
อาตมาก็จะเที่ยวภิกขาจารไป
กุมภการชาดกที่ ๓ จบ
๔. ทัฬหธัมมชาดก (๔๐๙)
ว่าด้วยพระเจ้าทัฬหธรรม
(ช้างกล่าวกับพระโพธิสัตว์ว่า)
[๙๘] ถึงหากข้าพเจ้าจะขนลูกศรผูกติดที่อก
ไปเผชิญหน้ากับศัตรูในสนามรบ
ก็หาได้ทำให้พระเจ้าทัฬหธรรมโปรดปรานไม่
[๙๙] หน้าที่ทหารอันเกรียงไกรและการรับใช้สื่อสาร
ที่ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติเป็นอย่างดีในสงคราม
พระราชามิได้ทรงทราบแน่
[๑๐๐] ข้าพเจ้านั้นคงจะต้องตายอย่างขาดพวกพ้อง
ไร้ที่พึ่งอาศัยแน่ จะเห็นได้
ดังที่พระราชทานข้าพเจ้าแก่นายช่างหม้อ
ให้ทำหน้าที่ขนอุจจาระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๕. โสมทัตตชาดก (๔๑๐)
(พระโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า)
[๑๐๑] บุคคลบางคนยังหวังประโยชน์อยู่ตราบใด
ก็ยังคบหากันอยู่ตราบนั้น
เมื่อไร้ประโยชน์ พวกคนโง่ก็ทอดทิ้งเขาไป
เหมือนกษัตริย์ทรงทอดทิ้งช้างพังชื่อโอฏฐีพยาธิ
[๑๐๒] ผู้ใดเขาทำความดี ทำประโยชน์ให้ก่อน ก็ไม่รู้จักคุณ
ประโยชน์ทั้งหลายที่เขาปรารถนาก็ย่อมฉิบหายไป
[๑๐๓] ผู้ใดเขาทำความดี ทำประโยชน์ให้ก่อน ก็รู้จักคุณอยู่เสมอ
ประโยชน์ทั้งหลายที่เขาปรารถนาก็ย่อมเจริญยิ่งขึ้น
[๑๐๔] เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูลพระองค์
ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ
ตลอดทั้งประชาชนที่มาประชุมกัน ณ ที่นี้
ขอท่านทุกคนจงเป็นผู้กตัญญู
จงดำรงอยู่ในสวรรค์สิ้นกาลนาน
ทัฬหธัมมชาดกที่ ๔ จบ
๕. โสมทัตตชาดก (๔๑๐)
ว่าด้วยลูกช้างชื่อโสมทัต
(ดาบสคร่ำครวญหาช้างน้อยว่า)
[๑๐๕] เมื่อก่อน โสมทัตพ่อช้างน้อยมีอัธยาศัยกว้างขวาง
มาต้อนรับเราแต่ไกลในป่า
วันนี้หายไปไหน จึงไม่เห็น
[๑๐๖] ช้างเชือกที่นอนตายเหมือนยอดเถาย่านทราย
ที่ถูกเด็ดทิ้งคือเจ้าโสมทัตนี้เอง
เจ้ากุญชรล้มลงนอนที่พื้นดินตายเสียแล้วหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๕. โสมทัตตชาดก (๔๑๐)
(ท้าวสักกะตรัสกับดาบสว่า)
[๑๐๗] การที่ท่านบวชเป็นสมณะพ้นจากการครองเรือนไปแล้ว
ยังมัวเศร้าโศกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ไม่เป็นการดีเลย
(ดาบสกล่าวกับท้าวสักกะว่า)
[๑๐๘] ท้าวสักกะ เพราะการอยู่ร่วมกันแล
ความรักจึงเกิดในหทัยของมนุษย์หรือของเนื้อ
อาตมาจึงไม่สามารถที่จะไม่เศร้าโศกถึงลูกเนื้อนั้นได้
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๐๙] ชนเหล่าใดร้องไห้ บ่นเพ้อ รำพัน
ถึงคนที่ตายแล้วและคนที่จะตาย
สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวการร้องไห้ว่าเปล่าประโยชน์
ท่านฤๅษี เพราะฉะนั้น ท่านอย่าร้องไห้ไปเลย
[๑๑๐] พราหมณ์ สัตว์ที่ตายละโลกนี้ไปแล้ว
จะพึงลุกขึ้นได้เพราะการร้องไห้
เราทุกคนก็คงมาประชุมกันร้องไห้ถึงหมู่ญาติของกันและกัน
(ดาบสกล่าวสดุดีท้าวสักกะว่า)
[๑๑๑] พระองค์ช่วยระงับอาตมาผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมดได้
เหมือนคนเอาน้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง
[๑๑๒] พระองค์ได้บรรเทาความเศร้าโศกถึงบุตรของอาตมา
ผู้กำลังเศร้าโศก ชื่อว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความเศร้าโศก
ซึ่งเสียบหัวใจของอาตมาขึ้นได้แล้วหนอ
[๑๑๓] ท้าววาสวะ อาตมาซึ่งพระองค์ช่วยถอนลูกศร
คือความเศร้าโศกขึ้นได้แล้วเป็นผู้ปราศจากความเศร้าโศก
ไม่มีความขุ่นมัว จึงไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้
เพราะได้ฟังคำของพระองค์
โสมทัตตชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๗. โกฏสิมพลิชาดก (๔๑๒)
๖. สุสีมชาดก (๔๑๑)
ว่าด้วยพระเจ้าสุสีมะออกผนวช
(พระโพธิสัตว์โอวาทตนเองว่า)
[๑๑๔] เมื่อก่อนผมสีดำได้งอกบริเวณศีรษะ วันนี้ผมเหล่านั้นมีสีขาว
สุสีมะ เจ้าเห็นแล้วจงประพฤติธรรมเถิด
เวลานี้เป็นเวลาสมควรที่จะประพฤติพรหมจรรย์
(พระราชเทวีทูลพระราชาว่า)
[๑๑๕] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ
ผมหงอกของหม่อมฉันมิใช่ของพระองค์
ผมหงอกงอกบนศีรษะของหม่อมฉัน
หม่อมฉันได้ทูลคำเท็จเพราะหวังทำประโยชน์แก่ตนเอง
ขอเดชะพระราชาผู้ประเสริฐ
ขอพระองค์พระราชทานอภัยแก่หม่อมฉันสักครั้งหนึ่งเถิด
[๑๑๖] ขอเดชะพระมหาราช พระองค์ยังทรงหนุ่ม น่าทัศนา
ทรงดำรงอยู่ในปฐมวัย งามประดุจยอดไม้
ขอพระองค์ทรงครอบครองราชสมบัติ
และทรงสนพระทัยหม่อมฉัน
ขอพระองค์อย่าด่วนประพฤติพรหมจรรย์ที่ให้ผลตามกาลเลย
(พระราชาตรัสกับพระราชเทวีว่า)
[๑๑๗] เราเห็นสาววัยรุ่น มีผิวพรรณเกลี้ยงเกลา
ร่างกายงดงาม ทรวดทรงเฉิดฉาย
เจ้าหล่อนมีกิริยาละมุนละไม ประดุจดังเถาย่านาง
ประหนึ่งว่าประเล้าประโลมกิเลสกามยามไปใกล้บุรุษเพศ
[๑๑๘] ต่อมาเราเห็นหญิงนั้นมีอายุถึง ๘๐ ปี หรือ ๙๐ ปีนับแต่เกิด
ถือไม้เท้าตัวสั่นงันงก มีกายค่อมลงเหมือนกลอนเรือนเที่ยวไปอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๗. โกฏสิมพลิชาดก (๔๑๒)
[๑๑๙] เรานั้น เมื่อพิจารณาใคร่ครวญถึงเหตุอันนั้นแหละ
จึงนอนอยู่ท่ามกลางที่นอนคนเดียว และพิจารณาเห็นว่า
ถึงเราก็จะต้องเป็นอย่างนั้น จึงไม่ยินดีในการครองเรือน
เวลานี้เป็นเวลาสมควรที่จะประพฤติพรหมจรรย์
[๑๒๐] ความยินดีของผู้ครองเรือนเปรียบเหมือนเชือกที่ผูกยึดเหนี่ยวไว้
นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเชือกนั้นแล้ว
ไม่มีความอาลัย ละกามสุขไป
สุสีมชาดกที่ ๖ จบ
๗. โกฏสิมพลิชาดก (๔๑๒)
ว่าด้วยเทวดาผู้สถิตอยู่ที่ต้นงิ้วใหญ่
(พญาครุฑกล่าวกับรุกขเทวดาว่า)
[๑๒๑] ข้าพเจ้าจับพญานาคตัวยาวตั้ง ๑,๐๐๐ วามาไว้
พญานาคและข้าพเจ้านั้นมีร่างกายใหญ่โต
ท่านยังรองรับไว้ได้ ไม่สะทกสะท้าน
[๑๒๒] โกฏสิมพลิเทพบุตร เพราะเหตุไร
เมื่อท่านรองรับนางนกน้อยตัวนี้ซึ่งมีเนื้อน้อยกว่าข้าพเจ้า
จึงมีความกลัวจนตัวสั่น
(รุกขเทวดากล่าวกับพญาครุฑว่า)
[๑๒๓] พญาครุฑ ตัวท่านกินเนื้อเป็นอาหาร
ส่วนนกนี้กินผลไม้เป็นอาหาร
นกตัวนี้กินเมล็ดไทร เมล็ดดีปลี เมล็ดมะเดื่อ
และเมล็ดโพธิ์แล้ว จักถ่ายรดลำต้นข้าพเจ้า
[๑๒๔] ต้นไม้เหล่านั้นจะเจริญงอกงามอยู่ระหว่างกิ่งของข้าพเจ้า
ต้นไม้เหล่านั้นจะรึงรัดปกคลุมข้าพเจ้า
จักทำให้ข้าพเจ้าไม่เป็นต้นไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๙. ชาครชาดก (๔๑๔)
[๑๒๕] แม้ต้นไม้เหล่าอื่นมีรากและลำต้นมั่นคง
ที่ถูกนกตัวนี้นำพืชมาทำลายก็มีอยู่
[๑๒๖] ต้นไม้ทั้งหลายที่งอกขึ้นมา
จะเติบโตเกินต้นไม้เจ้าป่าแม้ที่มีลำต้นใหญ่โต
พญาครุฑ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าเมื่อเห็นภัยในอนาคต
จึงสะทกสะท้าน
(พญาครุฑกล่าวว่า)
[๑๒๗] บุคคลพึงระแวงภัยที่ควรระแวง
พึงป้องกันภัยที่ยังมาไม่ถึง
เพราะภัยที่ยังมาไม่ถึง
นักปราชญ์จึงได้พิจารณาเห็นโลกทั้ง ๒
โกฏสิมพลิชาดกที่ ๗ จบ
๘. ธูมการิชาดก (๔๑๓)
ว่าด้วยพราหมณ์ผู้ก่อไฟรมควัน
(พระศาสดาตรัสขยายอาการถามของพระธนญชัยในอดีตว่า)
[๑๒๘] พระเจ้ายุธิฏฐิละผู้ใคร่ธรรม ได้ตรัสถามวิธุรบัณฑิตว่า
พราหมณ์ เจ้าทราบบ้างไหม มีใครคนหนึ่งเศร้าโศกมาก
(พระโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า)
[๑๒๙] มีพราหมณ์วาเสฏฐโคตร บูชาไฟอยู่ในป่ากับฝูงแพะ
ไม่เกียจคร้าน ก่อไฟรมควันทั้งกลางวันและกลางคืน
[๑๓๐] ด้วยกลิ่นควันไฟนั้นของเขา พวกละมั่งถูกยุงรบกวน
จึงได้เข้าไปอยู่ใกล้พราหมณ์ผู้ก่อไฟรมควันตลอดฤดูฝน
[๑๓๑] เขาพอใจพวกละมั่ง เลยไม่เอาใจใส่พวกแพะ
มันจะมาหรือจะไปก็ไม่รับรู้
แพะเหล่านั้นของเขาจึงพินาศไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๙. ชาครชาดก (๔๑๔)
[๑๓๒] เมื่อป่าไร้ยุงในฤดูใบไม้ร่วง
พวกละมั่งก็พากันเข้าไปยังซอกเขาและต้นน้ำลำธาร
[๑๓๓] พราหมณ์เห็นพวกละมั่งจากไปแล้ว
และพวกแพะก็ถึงความพินาศ จึงซูบผอม
มีผิวพรรณหม่นหมองและเป็นโรคผอมเหลือง
[๑๓๔] ด้วยประการเช่นนี้ ผู้ใดไม่สนใจคนเก่าของตน
รักแต่คนมาใหม่ ผู้นั้นก็จะโดดเดี่ยว
เศร้าโศกมากเหมือนดังพราหมณ์ผู้ก่อไฟรมควัน
ธูมการิชาดกที่ ๘ จบ
๙. ชาครชาดก (๔๑๔)
ว่าด้วยผู้หลับและตื่น
(รุกขเทวดาถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๓๕] ในโลกนี้ เมื่อเขาตื่น ใครหลับ เมื่อเขาหลับ ใครตื่น
ใครจะเข้าใจปัญหานี้ของเราหนอ
ใครจะตอบปัญหานี้แก่เราได้
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๓๖] เมื่อพวกเขาตื่นอยู่ ข้าพเจ้าหลับ
เมื่อพวกเขาหลับ ข้าพเจ้าตื่นอยู่
ข้าพเจ้าเข้าใจปัญหานี้ ข้าพเจ้าขอตอบท่าน
(รุกขเทวดาถามว่า)
[๑๓๗] เมื่อพวกเขาตื่น ท่านหลับอย่างไร
เมื่อพวกเขาหลับ ท่านตื่นอย่างไร
ท่านเข้าใจปัญหานี้อย่างไร
ท่านตอบข้าพเจ้าได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๑๐. กุมมาสปิณฑิชาดก (๔๑๕)
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๓๘] คนเหล่าใดไม่รู้จักธรรมว่า
นี้เป็นสัญญมะ และว่านี้เป็นทมะ
เมื่อคนเหล่านั้นหลับอยู่ ข้าพเจ้าก็ตื่นอยู่น่ะซิเทวดา
[๑๓๙] ชนเหล่าใดคลายราคะ โทสะ และอวิชชาได้แล้ว
เมื่อชนเหล่านั้นตื่นอยู่ ข้าพเจ้าก็หลับนะซิเทวดา
[๑๔๐] เมื่อท่านเหล่านั้นตื่นอยู่อย่างนี้ ข้าพเจ้าก็หลับ
เมื่อท่านเหล่านั้นหลับแล้วอย่างนี้ ข้าพเจ้าก็ตื่น
ข้าพเจ้าเข้าใจปัญหานี้อย่างนี้ จึงตอบท่านอย่างนี้
(รุกขเทวดากล่าวสดุดีพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๔๑] ถูกแล้ว เมื่อเขาตื่นท่านหลับ เมื่อเขาหลับท่านตื่น
ท่านเข้าใจปัญหานี้ถูกต้องแล้ว จึงตอบเราได้ถูกต้อง
ชาครชาดกที่ ๙ จบ
๑๐. กุมมาสปิณฑิชาดก (๔๑๕)
ว่าด้วยอานิสงส์ถวายขนมกุมมาส
(พระราชาทรงอุทานบทเพลงท่ามกลางพสกนิกรว่า)
[๑๔๒] ได้ยินว่า การบำรุงพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ผู้เห็นธรรมอันไม่ต่ำทราม
มีผลานิสงส์ไม่น้อยเลย
เชิญดูผลานิสงส์แห่งก้อนขนมกุมมาสทั้งแห้งทั้งจืด
[๑๔๓] ดูเถิด ช้าง โค ม้า จำนวนมากเหล่านี้
รวมทั้งทรัพย์ ธัญชาติ ผืนปฐพีทั้งสิ้น
ทั้งเหล่านารีผู้มีรูปงามเทียบด้วยนางอัปสรเหล่านี้
เป็นผลานิสงส์ของก้อนขนมกุมมาส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๑๐. กุมมาสปิณฑิชาดก (๔๑๕)
(พระราชเทวีกราบทูลพระราชาว่า)
[๑๔๔] ขอเดชะพระองค์ผู้องอาจประดุจพญากุญชร
ผู้เป็นใหญ่ในกุศลธรรม
พระองค์ตรัสพระคาถาอยู่เนือง ๆ
ขอเดชะพระองค์ผู้ผดุงแคว้นให้เจริญ
หม่อมฉันขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์ผู้มีพระหทัยเบิกบานอย่างยิ่งตรัสบอกเถิด
(พระราชาตรัสกับพระราชเทวีว่า)
[๑๔๕] เราได้เกิดในตระกูลหนึ่งในเมืองนี้เอง
เป็นคนรับจ้าง ทำงานให้คนอื่น เป็นผู้สำรวมศีล
[๑๔๖] เราออกไปทำงานได้เห็นสมณะ ๔ รูป
สมบูรณ์ด้วยอาจาระและศีล เยือกเย็น ไม่มีอาสวะ
[๑๔๗] เรายังจิตให้เลื่อมใสในสมณะเหล่านั้น
นิมนต์ให้นั่งบนเครื่องลาดที่ทำด้วยใบไม้ เลื่อมใสแล้ว
ได้ถวายขนมกุมมาสแด่พุทธเจ้าทั้งหลายด้วยมือทั้ง ๒ ของตน
[๑๔๘] กุศลกรรมนั้นได้มีผลแก่เราเช่นนี้
เราได้เสวยราชสมบัตินี้
คือแผ่นดินที่ประเสริฐมั่งคั่งสมบูรณ์
(พระราชเทวีตรัสสดุดีพระราชาว่า)
[๑๔๙] พระองค์เมื่อพระราชทานให้ ก็จงเสวยเถิด
อย่าได้ทรงประมาท
ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นใหญ่ในกุศลธรรม
ขอพระองค์ทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไป
ขอเดชะพระราชาผู้เป็นใหญ่ในกุศลธรรม
ขอพระองค์อย่าประพฤติอธรรม จงทรงรักษาธรรมเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๑๑. ปรันตปชาดก (๔๑๖)
(พระราชาตรัสกับพระราชเทวีว่า)
[๑๕๐] พระธิดาของพระเจ้าโกศลผู้งดงาม
เรานั้นได้ประพฤติตามทางที่พระอริยะ
ได้ประพฤติมาแล้วนั้นอย่างสม่ำเสมอ
เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นที่ชอบใจของเรา
เราต้องการพบท่าน
[๑๕๑] นี่พระราชธิดาผู้แสนดีของพระเจ้าโกศล
พระนางงดงามท่ามกลางหมู่นารี เหมือนเทพอัปสร
พระนางได้กระทำกรรมดีอะไรไว้
เพราะเหตุไรเล่า พระนางจึงมีพระฉวีวรรณงดงามยิ่งนัก
(พระราชเทวีทูลว่า)
[๑๕๒] ขอเดชะจอมกษัตริย์ หม่อมฉันได้เกิดเป็นทาสี
รับใช้ผู้อื่นแห่งตระกูลเศรษฐีอัมพัฏฐโคตร
สำรวมแล้ว เลี้ยงชีพโดยชอบธรรม มีศีล ไม่เหลียวดูความชั่ว
[๑๕๓] ในกาลครั้งนั้น หม่อมฉันได้ถวายข้าว
ที่คดมาเพื่อตนแก่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต
หม่อมฉันเองปลื้มใจ ดีใจ
กรรมของหม่อมฉันนั้นมีผลเช่นนี้
กุมมาสปิณฑิชาดกที่ ๑๐ จบ
๑๑. ปรันตปชาดก (๔๑๖)
ว่าด้วยปรันตปะมหาดเล็ก
(มหาดเล็กชื่อปรันตปะกราบทูลพระราชเทวีว่า)
[๑๕๔] บาปคงจะมาถึงข้าพระองค์ ภัยคงจะมาถึงข้าพระองค์
เพราะในคราวนั้น คนหรือสัตว์ได้ทำกิ่งไม้ให้ไหว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๑๑. ปรันตปชาดก (๔๑๖)
(ปุโรหิตคิดถึงภรรยา จึงบ่นเพ้อว่า)
[๑๕๕] ความกระสันของข้าพเจ้ากับหญิงผู้หวาดกลัวซึ่งอยู่ไม่ไกล
จักทำให้ข้าพเจ้าผอมเหลืองแน่
เหมือนกิ่งไม้ทำให้เจ้าปรันตปะผอมเหลือง
[๑๕๖] แม่กานดาผู้มีความงามหาที่ติมิได้
อยู่ในบ้านก็ยังจักทำให้ข้าพเจ้าเศร้าโศก
จักกระทำให้ข้าพเจ้าผอมเหลือง
เหมือนกิ่งไม้ทำให้เจ้าปรันตปะผอมเหลือง
[๑๕๗] หางตาที่หยาดเยิ้มซึ่งเจ้าหล่อนชำเลืองมา
การยิ้มและการเจรจา
จักกระทำให้ข้าพเจ้าผอมเหลือง
เหมือนกิ่งไม้ทำให้เจ้าปรันตปะผอมเหลือง
(ปรันตปะกล่าวกับพระกุมารว่า)
[๑๕๘] เสียงนั้นได้มาแน่แล้ว
เสียงนั้นได้บอกแก่ท่านแน่แล้ว
ผู้ที่สั่นกิ่งไม้นั้นได้บอกเหตุนั้นแน่
[๑๕๙] สิ่งที่เราผู้เป็นคนโง่คิดแล้วว่า
ก็ในคราวนั้น คนหรือสัตว์ได้ทำกิ่งไม้ให้ไหว
สิ่งนี้แลได้มาถึงแล้ว
(พระกุมารตรัสว่า)
[๑๖๐] เจ้าได้สำนึกแล้วซิว่า ตามที่เจ้าได้ฆ่าพ่อของเรา
เอากิ่งไม้ปิดไว้คอยระแวงอยู่ว่า ภัยจักมาถึงตัวเรา
ปรันตปชาดกที่ ๑๑ จบ
คันธารวรรคที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. คันธารชาดก ๒. มหากปิชาดก
๓. กุมภการชาดก ๔. ทัฬหธัมมชาดก
๕. โสมทัตตชาดก ๖. สุสีมชาดก
๗. โกฏสิมพลิชาดก ๘. ธูมการิชาดก
๙. ชาครชาดก ๑๐. กุมมาสปิณฑิชาดก
๑๑. ปรันตปชาดก

รวมวรรคที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. กุกกุวรรค ๒. คันธารวรรค

สัตตกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘๔ }


๘. อัฏฐกนิบาต
กัจจานิวรรค
หมวดว่าด้วยนางกัจจานี
๑. กัจจานิชาดก (๔๑๗)
ว่าด้วยนางกัจจานี
(ท้าวสักกะตรัสถามนางกัจจานีว่า)
[๑] แม่กัจจานี เจ้านุ่งห่มผ้าขาวสะอาด มีผมเปียกชุ่ม
ยกหม้อขึ้นตั้งบนเตา ซาวข้าวสารและงาป่น
ข้าวสุกคลุกงาจักมีไว้เพื่อเหตุอะไร
(นางกัจจานีตอบว่า)
[๒] พราหมณ์ ข้าวสุกคลุกงาที่สุกดีแล้ว
จักมีไว้เพื่อเป็นอาหารสำหรับตนเองหามิได้เลย
ธรรมะได้ตายแล้ว
วันนี้ ข้าพเจ้าจักทำบุญอุทิศให้ธรรมะกลางป่าช้า
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๓] แม่กัจจานี เจ้าจงใคร่ครวญแล้วจึงทำ
ใครหนอบอกเจ้าว่า ธรรมะได้ตายแล้ว
ท้าวสหัสสนัยน์ผู้มีอานุภาพล้นบอกไว้ว่า
ธรรมะอันประเสริฐย่อมไม่ตายในกาลไหน ๆ
(นางกัจจานีกล่าวว่า)
[๔] พราหมณ์ ข้าพเจ้ามั่นใจในข้อนี้ว่า
ธรรมะได้ตายแล้ว ข้าพเจ้าไม่มีความสงสัย
เพราะเดี๋ยวนี้ คนชั่วกลับเป็นอยู่สบาย
[๕] เหมือนอย่างลูกสะใภ้ของข้าพเจ้าเป็นหมัน
หล่อนทุบตี ขับไล่ข้าพเจ้าแล้วคลอดบุตร
เดี๋ยวนี้หล่อนเป็นใหญ่ในตระกูลทั้งหมด
ส่วนข้าพเจ้ากลับถูกทอดทิ้งอยู่อย่างเดียวดาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๒. อัฏฐสัททชาดก (๔๑๘)
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๖] เรายังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ตาย
เรามาที่นี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าโดยเฉพาะ
ลูกสะใภ้คนใดทุบตีขับไล่เจ้าแล้วคลอดบุตร
เราจะทำหล่อนพร้อมกับบุตรให้เป็นเถ้าธุลีทีเดียว
(นางกัจจานีกล่าวว่า)
[๗] ข้าแต่เทวราช หากพระองค์ทรงพอพระทัยเสด็จมาที่นี้
เพื่อประโยชน์แก่หม่อมฉันโดยเฉพาะอย่างนี้
ขอหม่อมฉัน ลูกชาย ลูกสะใภ้ และหลาน
จงอยู่ร่วมเรือนกันด้วยความบันเทิงใจเถิด
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๘] แม่กาติยานี หากเจ้าพอใจเช่นนั้น
แม้จะถูกทุบตีขับไล่ก็อย่าละธรรม
ขอให้เจ้า ลูกชาย ลูกสะใภ้ และหลาน
จงอยู่ร่วมเรือนกันด้วยความบันเทิงใจเถิด
[๙] นางกาติยานีนั้นกับลูกสะใภ้ได้มีใจบันเทิงอยู่ร่วมกัน
ลูกชายและหลานก็ได้ช่วยกันปฏิบัติบำรุง
เพราะท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพได้ทรงอนุเคราะห์
กัจจานิชาดกที่ ๑ จบ
๒. อัฏฐสัททชาดก (๔๑๘)
ว่าด้วยเสียงของบุคคลทั้ง ๘
(พระดาบสกราบทูลชี้แจงเสียงทั้ง ๘ คือเสียงนกยางว่า)
[๑๐] สระนี้ เมื่อก่อนลุ่มลึก มีปลามาก มีน้ำมาก
เป็นที่อยู่อาศัยของพญานกยาง ซึ่งเป็นที่อยู่แห่งบิดาของเรา
ทุกวันนี้ พวกเรามีชีวิตอยู่ได้ด้วยกบ จึงละทิ้งน้ำไปไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๒. อัฏฐสัททชาดก (๔๑๘)
(เสียงกาว่า)
[๑๑] ใครหนอจะทำลายนัยน์ตาดวงที่ ๒
ของควาญช้างชื่อพันธุระผู้ไม่มีศีล
ใครหนอจักช่วยลูก ๆ ของเรา รังของเรา และตัวเราให้ปลอดภัย
(เสียงแมลงภู่ว่า)
[๑๒] กระพี้เท่าที่มีอยู่ถูกเจาะไปหมด
ขอถวายพระพรมหาบพิตร แมลงภู่หมดอาหารไม่ยินดีในแก่น
(เสียงนกดุเหว่า)
[๑๓] เรานั้นคงจักพ้นจากพระราชนิเวศน์ไปจากที่นี้แล้ว
ทำตนให้ยินดี อาศัยอยู่ตามต้นไม้กิ่งไม้แน่นอน
(เสียงเนื้อว่า)
[๑๔] เรานั้นคงจักพ้นจากพระราชนิเวศน์ไปจากที่นี้แล้ว
เดินนำหน้าฝูง ดื่มน้ำที่ดีเลิศแน่นอน
(เสียงลิงว่า)
[๑๕] นายพรานชื่อภรตะชาวแคว้นพาหิกะได้นำเรา
ผู้มัวเมาด้วยกาม กำหนัดหมกมุ่นอยู่ในกามนั้นมา
ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน
(เสียงกินนรว่า)
[๑๖] นางกินนรีได้กล่าวกับเราที่ยอดเขาแหลมในเวลามืดมิด
ด้วยถ้อยคำอันอ่อนหวานว่า โปรดระวังเท้า
อย่าเหยียบพลาดไปถูกแง่หิน
(เสียงพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า)
[๑๗] เราได้เห็นพระนิพพานอันเป็นที่สิ้นชาติ
จักไม่กลับมานอนในครรภ์อีกอย่างไม่ต้องสงสัย
ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย การนอนในครรภ์ก็เป็นครั้งสุดท้าย
สังสารวัฏเพื่อภพต่อไปของเราสิ้นแล้ว
อัฏฐสัททชาดกที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๔. สุมังคลชาดก (๔๒๐)
๓. สุลสาชาดก (๔๑๙)
ว่าด้วยนางสุลสาหญิงงามเมือง
(นางสุลสากล่าวกับสามีว่า)
[๑๘] นี้สร้อยทองคำ แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์
เป็นจำนวนมาก ขอเชิญพี่ขนไปทั้งหมด
ขอพี่จงมีความเจริญ และจงประกาศดิฉันว่าเป็นนางทาสี
(สามีกล่าวว่า)
[๑๙] แม่โฉมงาม เธอจงเปลื้องออกมาเถิด
อย่าคร่ำครวญไปนักเลย
เราจะไม่รับรู้อะไรทั้งนั้น ฆ่าเจ้าแล้วจึงนำทรัพย์ไป
(นางสุลสากล่าวว่า)
[๒๐] ตั้งแต่ดิฉันรู้เดียงสา ดิฉันจำตัวเองได้ว่า
ยังไม่เคยรู้จักรักชายอื่นยิ่งกว่าพี่เลย
[๒๑] มานี้เถิด ดิฉันจักสวมกอดพี่
และจักกระทำประทักษิณ
เพราะตั้งแต่นี้ต่อไป ดิฉันและพี่จะไม่พบกันอีก
(เทวดาผู้สถิตอยู่ที่ยอดเขากล่าวว่า)
[๒๒] ใช่ว่าชายจะเป็นบัณฑิตในที่ทุกสถานก็หาไม่
แม้หญิงมีปัญญาเห็นประจักษ์ในเรื่องนั้น ๆ ก็เป็นบัณฑิตได้
[๒๓] ใช่ว่าชายจะเป็นบัณฑิตในที่ทุกสถานก็หาไม่
แม้หญิงมีปัญญาคิดเนื้อความได้ฉับพลันก็เป็นบัณฑิตได้
[๒๔] นางสุลสาเผชิญหน้าโจร คิดอุบายได้อย่างเร็วพลันหนอ
ได้ฆ่าโจรสัตตุกะเหมือนนายพรานเนื้อผู้ฉลาด
เมื่อธนูมีลูกศรพร้อมย่อมฆ่าเนื้อได้เร็วพลัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๔. สุมังคลชาดก (๔๒๐)
[๒๕] อนึ่ง ผู้ใดไม่รู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ผู้นั้นเป็นคนมีปัญญาน้อย
ย่อมถูกฆ่าเหมือนโจรที่ถูกฆ่าทิ้งที่ซอกเขา
[๒๖] ส่วนผู้ใดรู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ผู้นั้นย่อมพ้นจากความคับขันอันเกิดจากศัตรู
เหมือนนางสุลสาพ้นจากโจรสัตตุกะ
สุลสาชาดกที่ ๓ จบ
๔. สุมังคลชาดก (๔๒๐)
ว่าด้วยนายสุมังคละ
(พระราชาตรัสกับอำมาตย์ว่า)
[๒๗] ผู้เป็นใหญ่รู้ตัวว่าเรากำลังโกรธจัดก็อย่าเพิ่งลงโทษ
เพราะผู้ลงโทษอันไม่เหมาะสมแก่ตนโดยขาดเหตุผลแล้ว
จะพึงก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่บุคคลอื่นอย่างมากมาย
[๒๘] เมื่อใดผู้เป็นใหญ่รู้สึกว่าตนมีจิตผ่องใส
พึงพิจารณาคดีที่คนอื่นทำผิด
เมื่อพิจารณาด้วยตนเองว่า คดีเป็นอย่างนี้ ๆ
เมื่อนั้นพึงลงโทษตามความเหมาะสมแก่เขา
[๒๙] ส่วนผู้ใดไม่ลำเอียง พิจารณาความเหมาะสมและไม่เหมาะสม
ผู้นั้นชื่อว่าไม่เบียดเบียนผู้อื่นและตนเอง
ผู้เป็นใหญ่คนใดในโลกนี้ลงโทษตามสมควร
ผู้นั้นย่อมมีคุณงามความดีคุ้มครอง ไม่เสื่อมจากสิริ
[๓๐] กษัตริย์เหล่าใดทรงลำเอียง ไม่ทรงพิจารณาก่อนกระทำ
ทรงรีบลงพระอาชญา
กษัตริย์เหล่านั้นมีโทษอันน่าติเตียน
สวรรคตพ้นจากโลกนี้ไปแล้วย่อมไปสู่ทุคติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๕. คังคมาลชาดก (๔๒๑)
[๓๑] กษัตริย์เหล่าใดทรงยินดีในธรรมที่อริยชนประกาศไว้แล้ว
กษัตริย์เหล่านั้นนับว่าทรงยอดเยี่ยม
ด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
กษัตริย์เหล่านั้นทรงดำรงมั่นอยู่ในธรรม
คือ ขันติ โสรัจจะ และสมาธิ
ทรงไปสู่โลกทั้ง ๒ โดยวิธีเช่นนั้น
[๓๒] เราเป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่กว่าชายและหญิง
ถึงแม้เราจะโกรธก็จะหักห้ามความโกรธได้
ดำรงตนไว้อย่างนั้นต่อชุมชน
จะอนุเคราะห์ลงอาชญาโดยธรรม
(นายสุมังคละกล่าวสดุดีพระราชาว่า)
[๓๓] ขอเดชะพระบรมกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่แห่งหมู่ชน
ขอพระสิริสมบัติอย่าได้ละพระองค์ในกาลไหน ๆ เลย
ขอพระองค์อย่าทรงกริ้ว มีพระราชหฤทัยผ่องใสอยู่เป็นนิตย์
ปราศจากความทุกข์ รักษาพระองค์อยู่ตลอด ๑๐๐ ปีเถิด
[๓๔] ขอเดชะพระบรมกษัตริย์
ขอพระองค์จงทรงประกอบด้วยคุณธรรมเหล่านี้ คือ
ทรงมีพระอริยวัตรอันมั่นคง ทรงรับอนุสาสนีโดยง่าย
ไม่ทรงกริ้ว ทรงพระสำราญ
ปกครองแผ่นดินโดยปราศจากการเบียดเบียน
อนึ่ง พระองค์แม้เสด็จพ้นจากโลกนี้ไปแล้ว ขอจงเสด็จสู่สุคติเถิด
[๓๕] พระธรรมิกราชาธิราชเมื่อทรงปกครองโดยกุศโลบาย
อันชอบธรรม ด้วยเหตุที่เหมาะสม ด้วยคำอันเป็นสุภาษิต
พึงทำมหาชนผู้มีความกระวนกระวายให้เย็นใจ
ดุจมหาเมฆยังเมทนีดลให้ชุ่มฉ่ำด้วยน้ำ
สุมังคลชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๕. คังคมาลชาดก (๔๒๑)
๕. คังคมาลชาดก (๔๒๑)
ว่าด้วยพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าคังคมาละ
(พระเจ้าอุทัยตรัสถามชายคนหนึ่งว่า)
[๓๖] แผ่นดินร้อนเหมือนถ่านเพลิง
ระอุด้วยทรายที่ร้อนราวกับเถ้าถ่าน ถึงอย่างนั้น
เจ้าก็ยังพากเพียรร้องเพลงอยู่ แดดไม่แผดเผาเจ้าหรือ
[๓๗] เบื้องบนดวงอาทิตย์ก็ร้อน เบื้องล่างทรายก็ร้อน
ถึงอย่างนั้น เจ้าก็ยังพากเพียรร้องเพลงอยู่
แดดไม่แผดเผาเจ้าหรือ
(ชายคนนั้นกราบทูลว่า)
[๓๘] แดดหาแผดเผาข้าพระองค์ไม่
แต่แดดคือกามทั้งหลายย่อมแผดเผาข้าพระองค์
ขอเดชะพระมหาราชเจ้า เพราะว่าความต้องการมีหลายอย่าง
ความต้องการเหล่านั้นย่อมแผดเผาข้าพระองค์ หาใช่แดดไม่
(พระเจ้าอัฑฒมาสกทรงเปล่งอุทานว่า)
[๓๙] นี่กาม เราได้เห็นรากเหง้าของเจ้าแล้ว
เจ้าเกิดได้เพราะความดำริ เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีก
เจ้าจะไม่มีอย่างนี้อีกต่อไป
(พระเจ้าอัฑฒมาสกทรงแสดงธรรมแก่พสกนิกรว่า)
[๔๐] กามแม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่เพียงพอ แม้มากก็ไม่อิ่ม
โอหนอ กามทั้งหลายคนพาลเพ้อรำพันถึง
กุลบุตรนักปฏิบัติพึงเว้นได้ขาด
(พระเจ้าอุทัยทรงเปล่งอุทานว่า)
[๔๑] การที่เราเป็นพระอุทัยราชาได้บรรลุถึงความเป็นใหญ่
นี้เป็นผลแห่งกรรมอันเล็กน้อยของเรา
การที่มาณพละกามราคะบวชนั้นชื่อว่าได้ลาภดีแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๖. เจติยราชชาดก (๔๒๒)
(พระราชชนนีของพระเจ้าพรหมทัตตรัสว่า)
[๔๒] สัตว์ทั้งหลายละกรรมชั่วได้ด้วยตบะ
แต่จะละภาวะแห่งช่างกัลบกและช่างหม้อด้วยตบะได้หรือ
คังคมาละ วันนี้เจ้าใช้ตบะข่มขี่
ร้องเรียกพระเจ้าพรหมทัตโดยพระนาม
จะสมควรแลหรือ
(พระเจ้าพรหมทัตทรงห้ามพระราชชนนีว่า)
[๔๓] ขอเดชะเสด็จแม่ จงทอดพระเนตรผลในปัจจุบันเถิด
นี้เป็นผลแห่งขันติและโสรัจจะ
พวกหม่อมฉันพร้อมทั้งพระราชวงศ์และเสนาอำมาตย์
ไหว้ท่านผู้ที่ชนทั้งปวงไหว้แล้ว
(พระเจ้าพรหมทัตทรงชี้แจงแก่พสกนิกรว่า)
[๔๔] ท่านทั้งหลายอย่าได้ว่าอะไร ๆ ท่านคังคมาลมุนี
ผู้ศึกษาอยู่ในข้อปฏิบัติของมุนี
เพราะพระคุณเจ้ารูปนี้ได้ข้ามมหาสมุทรคือสังสารวัฏ
ซึ่งผู้ที่ข้ามได้แล้วปราศจากความเศร้าโศกเที่ยวไป
คังคมาลชาดกที่ ๕ จบ
๖. เจติยราชชาดก (๔๒๒)
ว่าด้วยพระเจ้าเจติยราช
(ดาบสถวายโอวาทแด่พระราชาว่า)
[๔๕] ธรรมย่อมฆ่าผู้ทำลายธรรม
ย่อมไม่ฆ่าใคร ๆ ที่ไม่ทำลายธรรม
เพราะเหตุนั้นแล บุคคลไม่ควรทำลายธรรม
ขอธรรมที่พระองค์ทรงทำลายแล้วอย่าได้ฆ่าพระองค์เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๖. เจติยราชชาดก (๔๒๒)
[๔๖] บุคคลเมื่อกล่าวคำเหลาะแหละ เทวดาทั้งหลายก็หลีกหนีไป
ผู้ใดถูกถามปัญหา ทั้งที่รู้อยู่ก็ตอบเป็นอย่างอื่นไป
ผู้นั้นปากจะเน่ากลิ่นฟุ้งไปและจะพลัดตกจากฐานะของตน
[๔๗] ขอถวายพระพรพระเจ้าเจติยะ
ก็ถ้าพระองค์ตรัสวาจาสัตย์ พระองค์จะดำรงอยู่เช่นเดิม
ถ้าพระองค์ยังตรัสวาจาเท็จอยู่ พระองค์จะประทับอยู่ที่แผ่นดิน
[๔๘] พระราชาพระองค์ใดถูกถามปัญหา
ทั้งที่ทรงทราบอยู่ก็ทรงตอบเป็นอย่างอื่นไป
ในแคว้นของพระราชาพระองค์นั้น
ฝนย่อมตกในเวลาไม่ใช่ฤดูกาล ย่อมไม่ตกในฤดูกาล
[๔๙] ขอถวายพระพรพระเจ้าเจติยะ
ก็ถ้าพระองค์ตรัสวาจาสัตย์ พระองค์จะดำรงอยู่เช่นเดิม
ถ้าพระองค์ยังตรัสวาจาเท็จอยู่ พระองค์จะถูกธรณีสูบ
[๕๐] ขอถวายพระพร พระองค์ผู้เป็นใหญ่ทั่วทุกทิศ
ผู้ใดถูกถามปัญหา ทั้งที่ทราบอยู่ก็ตอบเป็นอย่างอื่นไป
ผู้นั้นจะมีชิวหาเป็น ๒ แฉกเหมือนลิ้นงู
[๕๑] ขอถวายพระพรพระเจ้าเจติยะ
ก็ถ้าพระองค์ตรัสวาจาสัตย์ พระองค์จะดำรงอยู่เช่นเดิม
ถ้าพระองค์ยังตรัสวาจาเท็จอยู่ พระองค์จะถูกธรณีสูบลึกลงไป
[๕๒] ขอถวายพระพร พระองค์ผู้เป็นใหญ่ทั่วทุกทิศ
ผู้ใดถูกถามปัญหา ทั้งที่ทราบอยู่ก็ตอบเป็นอย่างอื่นไป
ผู้นั้นจะไม่มีชิวหาเหมือนปลา
[๕๓] ขอถวายพระพรพระเจ้าเจติยะ
ก็ถ้าพระองค์ตรัสวาจาสัตย์ พระองค์จะดำรงอยู่เช่นเดิม
แต่ถ้าพระองค์ยังตรัสวาจาเท็จอยู่ พระองค์จะถูกธรณีสูบลึกลงไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๗. อินทริยชาดก (๔๒๓)
[๕๔] ผู้ใดถูกถามปัญหา ทั้งที่รู้อยู่ก็ตอบเป็นอย่างอื่น
ผู้นั้นจะมีแต่ลูกผู้หญิงมาเกิด ไม่มีลูกผู้ชายมาเกิดในตระกูล
[๕๕] ขอถวายพระพรพระเจ้าเจติยะ
ก็ถ้าพระองค์ตรัสวาจาสัตย์ พระองค์จะดำรงอยู่เช่นเดิม
แต่ถ้าพระองค์ยังตรัสวาจาเท็จอยู่ พระองค์จะถูกธรณีสูบลึกลงไป
[๕๖] ผู้ใดถูกถามปัญหา ทั้งที่รู้อยู่ก็ตอบเป็นอย่างอื่นไป
ผู้นั้นจะไม่มีบุตร ที่มีก็จะหลีกหนีไปคนละทิศละทาง
[๕๗] ขอถวายพระพรพระเจ้าเจติยะ
ก็ถ้าพระองค์ตรัสวาจาสัตย์ พระองค์จะดำรงอยู่เช่นเดิม
ถ้าพระองค์ยังตรัสวาจาเท็จอยู่ พระองค์จะถูกธรณีสูบลึกลงไป
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๕๘] พระเจ้าเจติยะพระองค์นั้นเมื่อก่อนเหาะเหินเดินอากาศได้
ถูกฤๅษีสาป เสื่อมจากสภาวธรรม
ถูกธรณีสูบจนตาย
[๕๙] เพราะฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญ
การลุอำนาจความพอใจ
บุคคลผู้มีจิตอันกิเลสไม่ประทุษร้าย
จะกล่าวแต่ถ้อยคำที่ประกอบด้วยสัจจะเท่านั้น
เจติยราชชาดกที่ ๖ จบ
๗. อินทริยชาดก (๔๒๓)
ว่าด้วยอำนาจของอินทรีย์
(สรภังคดาบสกล่าวกับนารทดาบสว่า)
[๖๐] นารทะ ผู้ใดตกอยู่ในอำนาจของอินทรีย์เพราะความใคร่
ผู้นั้นละโลกทั้ง ๒ แล้วย่อมไปเกิดในอบาย
แม้มีชีวิตอยู่ ร่างกายก็ซูบซีด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๗. อินทริยชาดก (๔๒๓)
[๖๑] ต่อจากสุขก็เป็นทุกข์ ต่อจากทุกข์ก็เป็นสุข
เธอจะเป็นผู้ได้รับทุกข์มากกว่าสุข
ดังนั้น เธอพึงหวังสุขอันประเสริฐเถิด
[๖๒] ผู้ใดในยามลำบาก ทนต่อความลำบากได้
ไม่คำนึงถึงความลำบาก ผู้นั้นเป็นนักปราชญ์
ย่อมเสวยโยคสุขอันเป็นที่สุดแห่งความลำบากนั้น
[๖๓] เธอไม่ควรเคลื่อนจากธรรม
เพราะความปรารถนากามทั้งหลาย
อันเป็นเหตุมิใช่ประโยชน์จากประโยชน์ต่าง ๆ
และเพราะทอดทิ้งฌานที่ได้บำเพ็ญแล้ว
(กาฬเทวิลดาบสกล่าวกับนารทดาบสว่า)
[๖๔] ผู้ครองเรือนมีความขยัน แบ่งปันกันกิน เป็นการดี
เมื่อได้สิ่งที่ต้องการก็ไม่ระเริง
และเมื่อเสื่อมจากสิ่งที่ต้องการก็ไม่เดือดร้อน
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๖๕] กาฬเทวิลดาบสผู้สงบได้กล่าวความเป็นบัณฑิตนั้นเพียงเท่านี้ว่า
ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะเลวไปกว่าผู้ตกอยู่ในอำนาจ
แห่งอินทรีย์ทั้งหลายนี้เลย
(มนุษย์เปรตกราบทูลพระเจ้าสีพีว่า)
[๖๖] ขอเดชะพระเจ้าสีพี
บุคคลเช่นข้าพระองค์ถึงความพินาศ
เหมือนความพินาศในเงื้อมมือของพวกศัตรู
ทำเหตุที่ให้เกิดยศเหล่านี้ คือ การงาน วิชชา
ความขยัน การวิวาห์ ศีล และความอ่อนโยนให้เสื่อมไป
บังเกิดเป็นมนุษย์เปรตด้วยกรรมของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๙. อัฏฐานชาดก (๔๒๕)
[๖๗] ข้าพระองค์นั้นไม่มีพวกพ้อง ไร้ที่พึ่ง
เหมือนคนเสื่อมจากทรัพย์นับพัน
เหินห่างจากธรรมอันประเสริฐเหมือนคนตายแล้ว
[๖๘] ข้าพระองค์ทำคนผู้ต้องการความสุขให้ได้รับความทุกข์
จึงตกอยู่ในสภาพเช่นนี้
ข้าพระองค์นั้นไม่ได้ประสบความสุขเลย
เหมือนอยู่ในกองถ่านเพลิง
อินทริยชาดกที่ ๗ จบ
๘. อาทิตตชาดก (๔๒๔)
ว่าด้วยสิ่งของในเรือนที่ถูกไฟไหม้
(พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวอนุโมทนาแด่พระราชาและพระเทวีว่า)
[๖๙] เมื่อเรือนถูกไฟไหม้ ภาชนะใดที่นำออกได้
ภาชนะนั้นก็เป็นประโยชน์แก่เขา
ส่วนภาชนะที่ถูกไฟไหม้ในเรือนนั้นก็ไม่เป็นประโยชน์เลย
[๗๐] สัตวโลกถูกชราและมรณะแผดเผาอยู่อย่างนี้
ทรัพย์ที่มหาบพิตรทรงนำออกให้ทานเป็นอันทรงนำออกดีแล้ว
(พระปัจเจกพุทธเจ้าที่เหลืออีก ๖ องค์ กล่าวอนุโมทนาว่า)
[๗๑] ชนใดให้ทานแก่ท่านผู้ได้ธรรม
บรรลุธรรมด้วยความขยันหมั่นเพียร
ชนนั้นย่อมพ้นจากนรกเวตรณีของพญายม
แล้วเข้าถึงทิพยสถาน
[๗๒] ทานและการรบ นักปราชญ์กล่าวว่า เสมอกัน
คือ คนแม้มีจำนวนน้อยก็ย่อมชนะคนจำนวนมากได้
ถึงทรัพย์มีจำนวนน้อย หากมีศรัทธาก็ให้ทานได้
เพราะทรัพย์มีจำนวนน้อยนั่นแหละ เขาย่อมมีความสุขในโลกหน้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๙. อัฏฐานชาดก (๔๒๕)
[๗๓] พระสุคตทรงสรรเสริญการเลือกให้
ท่านเหล่าใดควรแก่ทักษิณามีอยู่ในมนุษยโลกนี้
ทานที่บุคคลถวายในท่านเหล่านี้ย่อมมีผลมาก
เหมือนพืชที่หว่านลงในนาที่ดี
[๗๔] ผู้ใดไม่เที่ยวเบียดเบียนหมู่สัตว์
ไม่ทำความชั่ว เพราะกลัวคนอื่นติเตียน
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้นั้นซึ่งกลัวการถูกติเตียน
ไม่สรรเสริญผู้กล้าในการถูกติเตียน
เพราะกลัวต่อการถูกติเตียน สัตบุรุษทั้งหลายจึงไม่ทำความชั่ว
[๗๕] บุคคลเกิดเป็นกษัตริย์ด้วยพรหมจรรย์ชั้นต่ำ
เกิดเป็นเทวดาด้วยพรหมจรรย์ชั้นกลาง
และย่อมบริสุทธิ์ด้วยพรหมจรรย์ชั้นสูงสุด
[๗๖] ทานท่านสรรเสริญไว้หลายประการก็จริง
แต่ธรรมเท่านั้นประเสริฐกว่าทาน
เพราะแต่ก่อนมา สัตบุรุษทั้งหลายผู้มีปัญญาเท่านั้น
ได้บรรลุนิพพาน
อาทิตตชาดกที่ ๘ จบ
๙. อัฏฐานชาดก (๔๒๕)
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
(มหาธนฤๅษีกล่าวกับหญิงโสเภณีว่า)
[๗๗] เมื่อใดแม่น้ำคงคาดารดาษด้วยดอกโกมุทสงบนิ่ง
นกดุเหว่ามีขนสีขาวเหมือนสังข์และต้นหว้าออกผลเป็นผลตาล
เมื่อนั้นเราพึงไปด้วยกันได้แน่
[๗๘] เมื่อใดผ้าห่มผืนใหญ่ ๓ ชนิดทอด้วยขนเต่า ใช้ห่มกันหนาวได้
เมื่อนั้นเรากับเธอพึงเกี่ยวข้องกันได้แน่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๑๐. ทีปิชาดก (๔๒๖)
[๗๙] เมื่อใดป้อมถูกสร้างขึ้นอย่างดีด้วยขายุง มั่นคงและไม่หวั่นไหว
เมื่อนั้นเรากับเธอพึงเกี่ยวข้องกันได้แน่
[๘๐] เมื่อใดบันไดถูกสร้างขึ้นอย่างดีด้วยเขากระต่าย
เพื่อประโยชน์แก่การขึ้นสวรรค์ได้
เมื่อนั้นเรากับเธอพึงอยู่ร่วมกันได้แน่
[๘๑] เมื่อใดหนูทั้งหลายไต่บันไดไปกัดกินดวงจันทร์
และขับไล่ราหูไปได้
เมื่อนั้นเรากับเธอพึงเกี่ยวข้องกันได้แน่
[๘๒] เมื่อใดแมลงวันทั้งหลายพากันบินเที่ยวไปเป็นฝูง
ดื่มเหล้าหมดไหแล้ว อยู่ในถ่านเพลิงได้
เมื่อนั้นเรากับเธอพึงเกี่ยวข้องกันได้แน่
[๘๓] เมื่อใดลามีริมฝีปากเหมือนผลตำลึงสุก
มีใบหน้างาม ฉลาดในการฟ้อนรำขับร้อง
เมื่อนั้นเรากับเธอพึงเกี่ยวข้องกันได้แน่
[๘๔] เมื่อใดกาและนกเค้าอยู่ในที่ลับปรึกษาปรองดองกันได้
เมื่อนั้นเรากับเธอพึงเกี่ยวข้องกันได้แน่
[๘๕] เมื่อใดเอาใบบัวอ่อนที่แตกจากเหง้า
มาทำร่มให้แข็งแรงเพื่อกันฝน
เมื่อนั้นเรากับเธอพึงเกี่ยวข้องกันได้แน่
[๘๖] เมื่อใดนกน้อยใช้จะงอยปากคาบภูเขาคันธมาทน์บินไปได้
เมื่อนั้นเรากับเธอพึงเกี่ยวข้องกันได้แน่
[๘๗] เมื่อใดเด็กน้อยยกเรือเดินทะเล
พร้อมทั้งเครื่องยนต์และใบเรือไปได้
เมื่อนั้นเรากับเธอพึงเกี่ยวข้องกันได้แน่
อัฏฐานชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๑๐. ทีปิชาดก (๔๒๖)
๑๐. ทีปิชาดก (๔๒๖)
ว่าด้วยเสือเหลือง
(แพะกล่าวกับเสือเหลืองว่า)
[๘๘] ท่านลุงลำบากไหม พอหากินได้สะดวกไหม สบายดีไหม
แม่ของข้าพเจ้าได้ถามถึงความสุขของลุง
พวกเราต้องการให้ลุงมีความสุข
(เสือเหลืองกล่าวกับแพะว่า)
[๘๙] นี่เจ้าแพะน้อย เจ้าเหยียบหางเบียดเบียนเรา
วันนี้ เจ้านั้นคงคิดซิว่า จะรอดพ้นด้วยการกล่าวคำว่า ลุง
(แพะกล่าวว่า)
[๙๐] ลุงนั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ข้าพเจ้าเดินมาข้างหน้าของลุง
หางของลุงอยู่ข้างหลัง ข้าพเจ้าเหยียบหางของลุงได้อย่างไรเล่า
(เสือเหลืองกล่าวว่า)
[๙๑] ทวีปทั้ง ๔ พร้อมทั้งสมุทรและภูเขามีประมาณเท่าใด
หางของเราก็ครอบคลุมไปประมาณเท่านั้น
เจ้าจะหลบหางของเรานั้นได้อย่างไร
(แพะกล่าวว่า)
[๙๒] เมื่อก่อน พ่อแม่และพี่ชายของข้าพเจ้า
ได้บอกเรื่องนี้แก่ข้าพเจ้าเหมือนกันว่า หางของสัตว์ดุร้ายยาว
ข้าพเจ้านั้นจึงได้เลี่ยงมาทางอากาศ
(เสือเหลืองกล่าวว่า)
[๙๓] เจ้าแพะน้อย ก็ฝูงเนื้อเห็นเจ้าเหาะมาจึงได้หนีไป
ภักษาของเราเจ้าได้ทำให้พินาศไปแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า)
[๙๔] เมื่อแม่แพะคร่ำครวญอยู่อย่างนี้
เจ้าเสือเหลืองสัตว์กินเนื้อเลือดก็ปราดเข้าขย้ำคอ
ถ้อยคำเป็นสุภาษิตย่อมไม่มีในคนโหดร้าย
[๙๕] ในคนโหดร้ายไม่มีเหตุ ไม่มีผล
ไม่มีถ้อยคำเป็นสุภาษิตในคนโหดร้าย
บุคคลพึงทำการหลบหลีกไป
เพราะคำของคนดีมันก็ไม่ชอบ
ทีปิชาดกที่ ๑๐ จบ
กัจจานิวรรค จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กัจจานิชาดก ๒. อัฏฐสัททชาดก
๓. สุลสาชาดก ๔. สุมังคลชาดก
๕. คังคมาลชาดก ๖. เจติยราชชาดก
๗. อินทริยชาดก ๘. อาทิตตชาดก
๙. อัฏฐานชาดก ๑๐. ทีปิชาดก

อัฏฐกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐๐ }


๙. นวกนิบาต
๑. คิชฌชาดก (๔๒๗)
ว่าด้วยนกแร้ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๑] หนทางที่คิชฌบรรพตชื่อปริสังกุปถะมีมาแต่โบราณ
ณ หนทางนั้นมีนกแร้งเลี้ยงพ่อแม่ที่แก่อยู่
มันได้นำเอามันข้นของงูเหลือมมาให้พ่อแม่กินโดยมาก
[๒] ก็พ่อของแร้งรู้อยู่ว่า ลูกบินสูงเกินไปจะตก
จึงได้สอนลูกแร้งชื่อสุปัตตะตัวแข็งแรง
กล้าหาญ บินไปได้ไกลว่า
[๓] ลูก เมื่อใดเจ้ารู้ว่า แผ่นดินที่ทะเลล้อมรอบ
กลมเหมือนวงล้อลอยอยู่ในน้ำ
เจ้าจงกลับแค่นั้นนะ ลูกอย่าบินไปเกินกว่านั้น
[๔] ปักษีตัวมีกำลัง เป็นพญานก โผขึ้นด้วยกำลัง
เอี้ยวคอมองดูภูเขาและป่าไม้
[๕] นกแร้งได้เห็นแผ่นดินที่มีทะเลล้อมรอบ กลมเหมือนวงล้อ
เหมือนอย่างที่ได้ฟังจากพ่อของมัน
[๖] มันก็ยังบินเลยสถานที่ที่บิดาบอกนั้นไป
สายลมอันแรงกล้า ก็ได้พัดกระหน่ำนกแร้งตัวแข็งแรงนั้น
[๗] สัตว์ที่บินเลยไป ไม่อาจจะบินกลับได้อีกเลย
นกแร้งตกอยู่ในอำนาจของลมเวรัมภา ได้ถึงความพินาศแล้ว
[๘] ลูกเมียของมันและนกแร้งเหล่าอื่นที่อาศัยมันเป็นอยู่
ทั้งหมดถึงความพินาศ เพราะนกที่ไม่ทำตามโอวาทตัวเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๓. มหาสุวราชชาดก (๔๒๙)
[๙] ผู้ใดในโลกนี้ไม่เชื่อฟังคำของผู้ใหญ่ทั้งหลาย
ประพฤติเกินขอบเขตย่อมเดือดร้อน
เหมือนนกแร้งที่ละเมิดคำสอน
ผู้นั้นแลย่อมถึงความพินาศ
เพราะไม่กระทำตามคำสอนของผู้ใหญ่
คิชฌชาดกที่ ๑ จบ
๒. โกสัมพิยชาดก (๔๒๘)
ว่าด้วยการทะเลาะกันในเมืองโกสัมพี
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๑๐] คนทะเลาะกันมีเสียงดังเหมือนกันไปหมด
ไม่มีใครเลยจะรู้สึกตัวว่าเป็นคนพาล
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสงฆ์แตกกัน ก็ไม่ยอมรับรู้เหตุอย่างอื่น
[๑๑] คนฟั่นเฟือนยกตนว่าเป็นบัณฑิต เอาแต่พูด
ยื่นปากพูดตามที่ตัวปรารถนา
แต่ไม่ยอมรับรู้เรื่องที่ทะเลาะกันอย่างไร้ยางอาย
[๑๒] ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา
ได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป
เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่สงบระงับ
[๑๓] ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา
ได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป
เวรของชนเหล่านั้นย่อมสงบระงับ
[๑๔] เพราะว่าในกาลไหน ๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้
ย่อมไม่สงบระงับด้วยเวร แต่เวรทั้งหลาย
ย่อมสงบระงับด้วยการไม่จองเวร นี้เป็นธรรมเก่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๓. มหาสุวราชชาดก (๔๒๙)
[๑๕] ชนพวกอื่นไม่รู้สึกว่าพวกเราย่อมย่อยยับในท่ามกลางสงฆ์นี้
ส่วนชนเหล่าใดในท่ามกลางสงฆ์นั้นย่อมรู้สึก
ต่อจากนั้น ความทะเลาะของชนเหล่านั้นย่อมสงบระงับ
[๑๖] คนสมัยก่อนตัดกระดูกกัน ปลิดชีวิต ปล้นโค
ม้า ทรัพย์ ซ้ำยังชิงเอาบ้านเมืองกัน
แม้คนเหล่านั้นก็ยังคบกันได้ ทำไมพวกเธอจึงคบกันไม่ได้
[๑๗] หากบุคคลจะพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เป็นนักปราชญ์ มีปกติอยู่ด้วยกรรมอันดีงาม
เที่ยวไปด้วยกัน ครอบงำอันตรายทั้งปวงแล้ว
มีสติ พอใจ พึงเที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด
[๑๘] หากบุคคลไม่ได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เป็นนักปราชญ์ มีปกติอยู่ด้วยกรรมอันดีงาม
เที่ยวไปด้วยกัน พึงเที่ยวไปผู้เดียว
เหมือนพระราชาทรงละแคว้นที่ทรงชนะแล้วเสด็จไปพระองค์เดียว
และเหมือนช้างมาตังคะเที่ยวไปตัวเดียวในป่า
[๑๙] การเที่ยวไปของบุคคลผู้เดียวเป็นความประเสริฐ
เพราะความเป็นสหายไม่มีในคนพาล
อนึ่ง บุคคลควรมีความขวนขวายน้อย
เที่ยวไปผู้เดียว ไม่พึงทำความชั่ว
เหมือนช้างมาตังคะเที่ยวไปตัวเดียวในป่า
โกสัมพิยชาดกที่ ๒ จบ
๓. มหาสุวราชชาดก (๔๒๙)
ว่าด้วยพญานกแขกเต้า
(ท้าวสักกะตรัสกับพญานกแขกเต้าว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๔. จูฬสุวกราชชาดก (๔๓๐)
[๒๐] เมื่อใดต้นไม้มีผลบริบูรณ์
เมื่อนั้นเหล่าวิหคก็พากันมาจิกกินผลไม้นั้น
ครั้นรู้ว่า เมื่อผลวาย ต้นไม้สิ้นไปแล้ว
ก็พากันจากต้นไม้นั้นไปตัวละทิศละทาง
[๒๑] พ่อนกแขกเต้าผู้มีจะงอยปากแดง
เจ้าจงเที่ยวไปเถิด อย่าเพิ่งตายเลย
เจ้ามาซบเซาอยู่บนตอไม้แห้งทำไม
เจ้านกแขกเต้าผู้มีสีเขียวเหมือนไพรสณฑ์ในวสันตฤดู
เจ้าบอกเราเถิด เหตุไร เจ้าจึงไม่ละทิ้งต้นไม้แห้ง
(พญานกแขกเต้ากล่าวว่า)
[๒๒] พญาหงส์ ชนเหล่าใดเป็นเพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์จนตลอดชีวิต
แม้เพื่อนนั้นจะสิ้นทรัพย์หรือไม่สิ้นทรัพย์ก็ตาม ก็ไม่ยอมละทิ้ง
ชนเหล่านั้นนับว่าเป็นสัตบุรุษระลึกถึงธรรมของสัตบุรุษอยู่เสมอ
[๒๓] พญาหงส์ ข้าพเจ้าก็เป็นหนึ่งในหมู่สัตบุรุษ
ต้นไม้เป็นทั้งญาติเป็นทั้งสหายของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าต้องการมีชีวิตอยู่ ทั้งที่รู้ว่าต้นไม้หมดสิ้นแล้ว
ก็ไม่อาจทอดทิ้งไปได้
เพราะการทอดทิ้งไปนั้นไม่ใช่ธรรม
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๒๔] เป็นการดีเจ้าปักษีที่เจ้าได้กระทำความเป็นเพื่อน
ไมตรีและความสนิทสนมในหมู่พวก
ถ้าคุณธรรมข้อนี้เจ้าพอใจ
เจ้าก็เป็นที่สรรเสริญของผู้รู้ทั้งหลาย
[๒๕] นี่เจ้านกแขกเต้าผู้มีปีกบินไปในอากาศ
เรานั้นจะให้พรแก่เจ้า
เจ้าจงเลือกพรสักอย่างหนึ่งตามที่เจ้าพอใจเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๔. จูฬสุวกราชชาดก (๔๓๐)
(พญานกแขกเต้ากล่าวว่า)
[๒๖] พญาหงส์ หากท่านจะให้พรแก่ข้าพเจ้า
ก็ขอให้ต้นไม้ต้นนี้มีอายุต่อไป
ขอต้นไม้นั้นจงงอกงามมีกิ่งและผลสมบูรณ์
ผลิผลมีรสอร่อย ยืนต้นสง่างามเถิด
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๒๗] เพื่อน เจ้าจงเห็นต้นไม้นั้นมีผลดก
ขอเจ้าจงอยู่ร่วมกันกับต้นมะเดื่อเถิด
ขอต้นไม้นั้นจงงอกงามมีกิ่งและผลสมบูรณ์
ผลิผลมีรสอร่อย ยืนต้นสง่างามเถิด
(พญานกแขกเต้ากล่าวว่า)
[๒๘] ท้าวสักกะ วันนี้ข้าพระองค์มีความสุขเพราะเห็นต้นไม้มีผลฉันใด
ขอพระองค์พร้อมทั้งพระประยูรญาติทั้งปวงจงมีความสุขฉันนั้นเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๒๙] ท้าวสักกะครั้นประทานพร
บันดาลให้ต้นไม้มีผลแก่นกแขกเต้าแล้ว
พร้อมด้วยพระมเหสี ก็เสด็จหลีกไปยังสวนเทพนันทวัน
มหาสุวราชชาดกที่ ๓ จบ
๔. จูฬสุวกราชชาดก (๔๓๐)
ว่าด้วยพญานกแขกเต้า
(ท้าวสักกะตรัสถามพญานกแขกเต้าว่า)
[๓๐] หมู่ต้นไม้มีใบเขียวชอุ่ม มีผลดาษดื่น มีอยู่เป็นจำนวนมาก
ทำไมหนอ ใจของนกแขกเต้า
จึงยินดีต้นไม้แห้งเป็นโพรงไม่สร่างซา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๕. หริตจชาดก (๔๓๑)
(พญานกแขกเต้าตอบว่า)
[๓๑] ผลของต้นไม้นี้ ข้าพเจ้าอาศัยกินอยู่หลายปี
แม้ไม่มีผล ข้าพเจ้ารู้แล้ว แต่ก็ยังรักษาไมตรีนั้นไว้เหมือนเดิม
(ท้าวสักกะตรัสถามว่า)
[๓๒] ต้นไม้แห้ง ต้นไม้เป็นโพรง และต้นไม้ปราศจากใบและผล
ฝูงนกก็พากันละทิ้งไป นี่นกน้อย เจ้าเห็นโทษอะไร
(พญานกแขกเต้าตอบว่า)
[๓๓] นกเหล่าใดต้องการผลไม้จึงคบหา
รู้ว่าไม่มีผลก็ละทิ้งต้นไม้นั้นไป
นกเหล่านั้นเป็นพวกเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน
โง่เขลา เป็นผู้ทำลายพวกพ้อง
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๓๔] เป็นการดี เจ้าปักษี ที่เจ้าได้กระทำความเป็นเพื่อน ไมตรี
และความสนิทสนมในหมู่พวก ถ้าคุณธรรมข้อนี้เจ้าพอใจ
เจ้าก็เป็นที่สรรรเสริญของผู้รู้ทั้งหลาย
[๓๕] นี่เจ้านกแขกเต้าผู้มีปีกบินไปในอากาศ
เรานั้นจะให้พรแก่เจ้า
เจ้าจงเลือกพรสักอย่างหนึ่งตามที่เจ้าพอใจเถิด
(พญานกแขกเต้ากล่าวว่า)
[๓๖] ทำไมหนอ ข้าพเจ้าจะพึงเห็นต้นไม้นี้กลับมีใบมีผลได้อีก
ข้าพเจ้าจะพึงยินดีอย่างยิ่งเหมือนคนจนได้ขุมทรัพย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๓๗] ลำดับนั้น ท้าวสักกะทรงถือเอาน้ำอมฤตรดต้นไม้
กิ่งของต้นไม้นั้นก็แตกออกมา มีเงาร่มเย็น น่ารื่นรมย์ใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๕. หริตจชาดก (๔๓๑)
(พญานกแขกเต้ากล่าวว่า)
[๓๘] ท้าวสักกะ วันนี้ข้าพระองค์มีความสุขเพราะเห็นต้นไม้มีผลฉันใด
ขอพระองค์พร้อมทั้งพระประยูรญาติทั้งปวงจงมีความสุขฉันนั้นเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๓๙] ท้าวสักกะครั้นประทานพร
บันดาลให้ต้นไม้มีผลแก่นกแขกเต้าแล้ว
พร้อมด้วยพระมเหสี ก็เสด็จหลีกไปยังสวนเทพนันทวัน
จูฬสุวกราชชาดกที่ ๔ จบ
๕. หริตจชาดก (๔๓๑)
ว่าด้วยหริตจดาบสโพธิสัตว์
(พระราชาตรัสถามหริตจดาบสว่า)
[๔๐] ท่านมหาพรหม โยมทราบข่าวมาว่า
หริตจดาบสบริโภคกาม คำกล่าวนั้นคงเป็นเท็จใช่ไหม
พระคุณเจ้ายังบริสุทธิ์อยู่ใช่ไหม
(หริตจดาบสกราบทูลว่า)
[๔๑] ขอถวายพระพรมหาบพิตร
ข้อนี้เป็นจริงตามที่พระองค์ได้ทรงสดับมา
อาตมภาพหมกมุ่นอยู่ในกามคุณอันทำให้ลุ่มหลง
ได้เดินทางผิดไปแล้ว
(พระราชาตรัสว่า)
[๔๒] ใจบรรเทาราคะที่เกิดขึ้นไม่ได้ด้วยปัญญาใด
ปัญญานั้นเป็นธรรมชาติละเอียด
คิดแต่สิ่งที่ดี ๆ จะมีประโยชน์อะไร
ท่านไม่อาจบรรเทาจิตได้หรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๖. ปทกุสลมาณชาดก (๔๓๒)
(หริตจดาบสกราบทูลว่า)
[๔๓] ขอถวายพระพรมหาบพิตร ในโลกนี้มีสิ่งที่หยาบ
มีกำลังอย่างยิ่งที่ปัญญาหยั่งไม่ถึง ๔ ประการ คือ
๑. ราคะ (ความกำหนัด) ๒. โทสะ (ความโกรธ)
๓. มทะ (ความเมา) ๔. โมหะ (ความหลง)
(พระราชาตรัสว่า)
[๔๔] โยมได้ยกย่องพระคุณเจ้าไว้ว่า
ท่านหริตจดาบสเป็นพระอรหันต์ ถึงพร้อมด้วยศีล
ประพฤติบริสุทธิ์ เป็นนักปราชญ์ เป็นบัณฑิต
(หริตจดาบสกราบทูลว่า)
[๔๕] ขอถวายพระพรมหาบพิตร ฤๅษีแม้มีปัญญา
ยินดีแล้วในคุณธรรม ยังถูกความคิดลามกประกอบด้วยราคะ
ที่ยึดถือว่างาม เบียดเบียนเอาได้
(พระราชาตรัสว่า)
[๔๖] ราคะที่เกิดขึ้นในสรีระนี้เกิดขึ้นแล้วเป็นเหตุประทุษร้ายผิวพรรณ
พระคุณเจ้าจงละราคะนั้นเสีย ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระคุณเจ้า
พระคุณเจ้าได้รับยกย่องว่า เป็นนักปราชญ์ของคนหมู่มาก
(หริตจดาบสกราบทูลว่า)
[๔๗] อาตมภาพจักค้นหารากเหง้าของกามเหล่านั้น
ที่ทำให้มืดบอด มีทุกข์มาก มีพิษร้ายแรง
จักตัดราคะพร้อมทั้งเครื่องผูก
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๔๘] ครั้นกล่าวแล้วอย่างนี้ หริตจฤๅษีผู้ยึดมั่นสัจจะ
คลายกามราคะแล้ว เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก
หริตจชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๖. ปทกุสลมาณชาดก (๔๓๒)
๖. ปทกุสลมาณวชาดก (๔๓๒)
ว่าด้วยมาณพผู้ฉลาดในการสะกดรอย
(ภรรยากล่าวกับนายปาฏลีผู้เป็นสามีว่า)
[๔๙] แม่น้ำคงคาย่อมพัดพาพี่ปาฏลีผู้คงแก่เรียน ขับเพลงได้ไพเราะ
แน่ะพี่ผู้กำลังถูกน้ำพัดไป ขอความเจริญจงมีแก่พี่
ขอพี่จงให้บทเพลงแก่น้องสักบทหนึ่งเถิด
(สามีกล่าวว่า)
[๕๐] น้ำใดที่เขาใช้รดคนประสบทุกข์หรือคนกระสับกระส่าย
เรากำลังจะตายในท่ามกลางน้ำนั้น ภัยเกิดแล้วแต่ที่พึ่ง
(ช่างหม้อกล่าวว่า)
[๕๑] แผ่นดินใดที่พืชทั้งหลายงอกขึ้นได้หรือที่สัตว์ทั้งหลายดำรงอยู่
แผ่นดินนั้นกำลังบีบศีรษะของข้าพเจ้า ภัยเกิดแล้วแต่ที่พึ่ง
(ชายคนหนึ่งกล่าวว่า)
[๕๒] ไฟใดที่เขาใช้หุงข้าว หรือที่เขาใช้บำบัดความหนาว
ไฟนั้นกำลังไหม้ตัวข้าพเจ้า ภัยเกิดแล้วแต่ที่พึ่ง
(ชายคนหนึ่งกล่าวว่า)
[๕๓] ข้าวใดที่พวกพราหมณ์และกษัตริย์จำนวนมากใช้ยังชีพ
ข้าวนั้นข้าพเจ้าบริโภคแล้วกำลังจะฆ่าข้าพเจ้า ภัยเกิดแล้วแต่ที่พึ่ง
(ชายคนหนึ่งกล่าวว่า)
[๕๔] ลมใดในเดือนท้ายของฤดูร้อนที่พวกบัณฑิตปรารถนา
ลมนั้นกำลังทำลายตัวข้าพเจ้า ภัยเกิดแล้วแต่ที่พึ่ง
(พญานาคกล่าวว่า)
[๕๕] ต้นไม้ใดที่นกพากันมาอาศัย ต้นไม้นั้นกำลังพ่นไฟ
นกทั้งหลายพากันหลบหนีไปยังทิศทั้งหลาย ภัยเกิดแล้วแต่ที่พึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๗. โลมสกัสสปชาดก (๔๓๓)
(หญิงชรากล่าวกับลูกชายว่า)
[๕๖] หญิงสะใภ้ใดผู้มีความพอใจ ประดับประดาด้วยพวงดอกไม้
ลูบไล้ด้วยจันทน์หอมที่เรานำมา
หญิงสะใภ้นั้นกำลังไล่เราออกจากเรือน ภัยเกิดแล้วแต่ที่พึ่ง
(ชายชราคร่ำครวญว่า)
[๕๗] ลูกคนใดที่เกิดมาแล้วเป็นเหตุให้เรายินดี
และปรารถนาความเจริญ
ลูกคนนั้นกำลังไล่เราออกจากเรือน ภัยเกิดแล้วแต่ที่พึ่ง
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๕๘] ขอชาวชนบทและชาวนิคมที่มาประชุมพร้อมกันจงฟังข้าพเจ้า
ที่ใดมีน้ำ ที่นั้นกลับร้อน
ที่ใดปลอดภัย ที่นั้นกลับมีภัย
[๕๙] พระราชาและพราหมณ์ปุโรหิตปล้นแว่นแคว้น
ท่านทั้งหลายจงพากันรักษาตัวอยู่เถิด
ภัยเกิดแล้วแต่ที่พึ่ง
ปทกุสลมาณวชาดกที่ ๖ จบ
๗. โลมสกัสสปชาดก (๔๓๓)
ว่าด้วยโลมสกัสสปฤาษี
(ท้าวสักกะตรัสกับพระราชาว่า)
[๖๐] ข้าแต่มหาราช หากพระองค์ให้ฤๅษีโลมสกัสสปะบูชายัญได้
พระองค์จะเป็นเหมือนพระอินทร์ ไม่แก่ ไม่ตายเลย
(ฤๅษีโลมสกัสสปะกล่าวกับสัยหอำมาตย์ว่า)
[๖๑] อาตมาไม่ปรารถนาแผ่นดินอันมีสมุทรเป็นขอบเขต
มีสาครล้อมรอบประดุจต่างหู พร้อมกับคำนินทา
ท่านจงทราบอย่างนี้เถิด สัยหอำมาตย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๗. โลมสกัสสปชาดก (๔๓๓)
[๖๒] พราหมณ์ น่าติเตียนการได้ยศ
และการได้ทรัพย์สำหรับเลี้ยงชีวิต
ซึ่งเป็นเหตุให้ประสบความพินาศ
หรือประพฤติไม่เป็นธรรม
[๖๓] ถึงแม้เราจะเป็นนักบวชถือบาตรเลี้ยงชีพ
การเลี้ยงชีพเช่นนั้นแหละยังดีกว่าการแสวงหาโดยไม่ชอบธรรม
[๖๔] ถึงแม้เราจะเป็นนักบวชถือบาตรเลี้ยงชีพ
ไม่เบียดเบียนผู้อื่นในโลก
การเลี้ยงชีพเช่นนั้นแหละยังดีกว่าการครองราชสมบัติ
(ประชาชนที่มาประชุมกันกล่าวว่า)
[๖๕] ดวงจันทร์ก็มีกำลัง ดวงอาทิตย์ก็มีกำลัง
สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายก็มีกำลัง ฝั่งสมุทรก็มีกำลัง
แต่หญิงทั้งหลายมีกำลังเหนือกว่ากำลังทั้งหมด
[๖๖] เพราะพระนางจันทวดีได้ใช้ฤๅษีชื่อโลมสกัสสปะ
ซึ่งมีตบะสูงบูชายัญชื่อ วาชเปยยะ เพื่อประโยชน์แก่พระบิดาได้
(ฤๅษีโลมสกัสสปะสลดใจ จึงกล่าวว่า)
[๖๗] กรรมที่กระทำด้วยความโลภมีกามเป็นเหตุนั้น
เป็นกรรมเผ็ดร้อน
เราจักค้นหารากเหง้าของกรรมนั้น
จักตัดราคะพร้อมทั้งเครื่องผูก
[๖๘] น่าติเตียน กามทั้งหลายแม้มากมายในโลก
ขอถวายพระพรมหาบพิตร
ตบะเท่านั้นประเสริฐกว่ากามคุณทั้งหลาย
อาตมาจะละกาม บำเพ็ญตบะ
ส่วนแว่นแคว้นและพระนางจันทวดี ขอถวายคืนมหาบพิตร
โลมสกัสสปชาดกที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๙. หลิททราคชาดก (๔๓๕)
๘. จักกวากชาดก (๔๓๔)
ว่าด้วยนกจักรพาก
(กาถามนกจักรพากว่า)
[๖๙] เราขอถามนกทั้งหลายที่มีสีเหมือนผ้าที่ย้อมด้วยน้ำฝาด
มีใจร่าเริง เที่ยวไปเป็นคู่ ๆ ว่า
นกทั้งหลายสรรเสริญพวกเจ้าในหมู่มนุษย์ว่า เป็นนกชนิดไร
เชิญพวกเจ้าบอกนกชนิดนั้นแก่เราเถิด
(นกจักรพากตอบว่า)
[๗๐] นี่เจ้าผู้เบียดเบียนมนุษย์ ในหมู่มนุษย์
เขาเรียกพวกเราซึ่งบินตามกันไปว่า นกจักรพาก
ในหมู่นก พวกเราได้รับการยกย่องว่า มีความดี มีรูปงาม
เที่ยวไปตามห้วงน้ำ (ทั้งไม่ทำชั่วแม้เพราะเหตุแห่งอาหาร)
(กาถามว่า)
[๗๑] นี่นกจักรพาก พวกท่านกินผลไม้อะไรในห้วงน้ำ
หรือกินเนื้อแต่ที่ไหน กินอาหารอะไร
กำลังและผิวพรรณจึงไม่เสื่อมทราม ไม่ผิดรูปเลย
(นกจักรพากตอบว่า)
[๗๒] ในห้วงน้ำไม่มีผลไม้หรอก กา
เนื้อสำหรับนกจักรพากกินจะมีแต่ที่ไหน
พวกเรามีสาหร่ายเป็นภักษา ไม่กินเนื้อสัตว์
ทั้งไม่ทำชั่วแม้เพราะเหตุแห่งอาหาร
(พวกเราจึงมีรูปงาม ท่องเที่ยวไปตามห้วงน้ำ)
(กากล่าวว่า)
[๗๓] นกจักรพาก อาหารที่เจ้ากินนี้ เราไม่ชอบเลย
เมื่อเจ้าเป็นนกจักรพาก เจ้าก็มีอาหารที่เหมาะสม
เมื่อก่อนนี้เราได้มีความคิดเป็นอย่างอื่น
เพราะเหตุนั้นแล เราจึงเกิดความสงสัยในผิวพรรณของเจ้านี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๙. หลิททราคชาดก (๔๓๕)
[๗๔] ถึงเราก็กินเนื้อ ผลไม้ และข้าวที่ปรุงด้วยเกลือและน้ำนม
เรากินอาหารอันมีรสเลิศในหมู่มนุษย์
เหมือนผู้กล้าหาญ มีชัยชนะในสงคราม
ไฉนผิวพรรณของเราจึงไม่เป็นเช่นกับเจ้าเล่า นกจักรพากเอ๋ย
(นกจักรพากกล่าวว่า)
[๗๕] เจ้ากินของที่ไม่บริสุทธิ์ โฉบเอาเมื่อเขาเผลอ
ชื่อว่าได้ข้าวและน้ำด้วยความลำบาก
กา เจ้าไม่ชอบผลไม้หรือเนื้อกลางป่าช้า
[๗๖] นี่กา ผู้ใดได้ของกิน มาด้วยกรรมอันหยาบช้า
เมื่อเขาเผลอก็โฉบเอามากิน
ในภายหลัง ผู้นั้น ตนเองก็ติเตียน
และเขาถูกตนและผู้อื่นติเตียนแล้ว ย่อมละผิวพรรณและกำลัง
[๗๗] หากว่าผู้ใดบริโภคของแม้น้อย แต่เป็นของเย็น
ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกรรมที่ไม่หยาบช้า
ผู้นั้นย่อมมีทั้งกำลังและผิวพรรณในกาลนั้น
เพราะผิวพรรณทั้งปวงหามีเพราะอาหารเพียงอย่างเดียวไม่๑
จักกวากชาดกที่ ๘ จบ
๙. หลิททราคชาดก (๔๓๕)
ว่าด้วยจิตกลับกลอกเหมือนผ้าย้อมด้วยขมิ้น
(นางกุมาริกากล่าวกับดาบสหนุ่มว่า)
[๗๘] พวกที่บำเพ็ญตบะอดกลั้นอยู่ในบ้านยังประเสริฐกว่าท่าน
ผู้อดกลั้นบำเพ็ญตบะอยู่ในเสนาสนะอันสงัดในป่า

เชิงอรรถ :
๑ ผิวพรรณงามเพราะเหตุ ๔ ประการ คือ (๑) อาหาร (๒) อากาศ (๓) ความคิด (๔) การงานที่ทำ
(ขุ.ชา.อ. ๕/๗๗/๓๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๑๐. สมุคคชาดก (๔๓๖)
(ดาบสหนุ่มถามดาบสผู้เป็นบิดาว่า)
[๗๙] คุณพ่อ ลูกออกจากป่าไปสู่บ้านแล้ว
ควรจะคบหาคนมีศีลอย่างไร มีข้อปฏิบัติอย่างไร
ลูกถามแล้ว ขอพ่อจงบอกข้อนั้น
(ดาบสผู้เป็นบิดาตอบว่า)
[๘๐] ลูกรัก ผู้ใดพึงทำให้ลูกเบาใจ
อดทนความคุ้นเคยของลูกได้
เชื่อฟังและอดกลั้นถ้อยคำของลูกได้
ลูกไปจากที่นี้แล้ว จงคบผู้นั้นเถิด
[๘๑] ผู้ใดไม่ทำความชั่วทางกาย วาจา ใจ
ลูกไปจากที่นี้แล้ว จงดำรงตนอยู่เหมือนลูกในใส้ คบผู้นั้นเถิด
[๘๒] อนึ่ง ผู้ใดประพฤติธรรม
แม้ประพฤติธรรมอยู่ก็ไม่ถือตัว
ลูกไปจากที่นี้แล้วจงคบผู้นั้น
ซึ่งมีปัญญาทำแต่กรรมอันบริสุทธิ์เถิด
[๘๓] คนที่มีจิตกลับกลอกเหมือนลิง
รักง่ายหน่ายเร็วดุจผ้าที่ย้อมด้วยขมิ้น
ลูกรัก ถึงแม้ว่าพื้นชมพูทวีปทั้งสิ้นจะไร้มนุษย์
ลูกก็อย่าคบคนเช่นนั้นเลย
[๘๔] คนที่มีจิตโกรธเหมือนอสรพิษ
ลูกจงเว้นให้ห่างไกล เหมือนคนเว้นหนทางใหญ่ที่เปื้อนคูถ
และเหมือนคนขับขี่ยานพาหนะเว้นหนทางที่ไม่เรียบ
[๘๕] ลูกรัก เมื่อเข้าไปคบหาคนพาลอย่างสนิท
ก็จะเพิ่มพูนแต่ความฉิบหาย ลูกอย่าสมาคมกับคนพาลเลย
ขึ้นชื่อว่าการอยู่ร่วมกับคนพาลเป็นเหมือนการอยู่ร่วมกับศัตรูทุกเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๑๐. สมุคคชาดก (๔๓๖)
[๘๖] ลูกรัก ดังนั้นพ่อจึงขอร้องลูก
ลูกจงทำตามคำของพ่อ
ลูกอย่าสมาคมกับคนพาลเลย
เพราะการสมาคมกับคนพาลทั้งหลายเป็นทุกข์
หลิททราคชาดกที่ ๙ จบ
๑๐. สมุคคชาดก (๔๓๖)
ว่าด้วยหญิงในผอบแก้ว
(พระโพธิสัตว์กล่าวกับยักษ์ทานพว่า)
[๘๗] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านทั้ง ๓ คนมาจากที่ไหนหนอ
พวกท่านพากันมาดีแล้ว เชิญนั่งที่อาสนะเถิด
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
พวกท่านสุขสบายไม่มีโรคภัยเบียดเบียนหรือ
นานมาแล้วพวกท่านเพิ่งจะมาที่นี้ในวันนี้
(ยักษ์ทานพกล่าวว่า)
[๘๘] วันนี้ ข้าพเจ้ามาถึงที่นี้เพียงคนเดียว
ข้าพเจ้าไม่มีใครเป็นเพื่อนเลย
ท่านฤๅษี ท่านกล่าวว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
พวกท่านทั้ง ๓ คนมาจากที่ไหนหนอ
นั่นหมายถึงใครเล่า
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๘๙] ท่านก็คนหนึ่งละ และภรรยาสุดที่รัก
ซึ่งท่านซ่อนไว้ในผอบแก้วข้างใน
ท่านรักษาหล่อนไว้ในท้องในกาลทุกเมื่อ
หล่อนกำลังอภิรมย์อยู่กับวิทยาธรชื่อวายุบุตรในท้องนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๑๑. ปูติมังสชาดก (๔๓๗)
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๙๐] ทานพนั้น ฤๅษีบอกแล้วก็สลดใจ
ได้คายผอบแก้วออกมา ณ ที่นั้น
ได้เห็นภรรยาทัดทรงดอกไม้สวยงาม
กำลังอภิรมย์อยู่กับวิทยาธรชื่อวายุบุตรในผอบนั้น
(ยักษ์ทานพกล่าวว่า)
[๙๑] เหตุการณ์นี้ ท่านผู้บำเพ็ญตบะชั้นสูงได้เห็นแจ่มแจ้งแล้วว่า
นรชนผู้ตกอยู่ในอำนาจของสตรี
เหมือนนางที่เรารักษาไว้ภายในท้องนี้ดังชีวิตของตน
ยังกลับประทุษร้ายเรา ชมเชยกับชายอื่น นับว่าเป็นคนเลว
[๙๒] แม่นางผู้ที่เราบำรุงแล้วทั้งกลางวันและกลางคืน
เหมือนไฟที่ท่านผู้บำเพ็ญตบะอยู่ในป่าบำเรออยู่
หล่อนละเมิดธรรม กลับประพฤติอธรรม
เราไม่ควรทำความเชยชิดกับหญิงทั้งหลายเลย
[๙๓] เราเข้าใจหญิงเลวผู้ไม่สำรวมอยู่กลางตัวเราว่า
หญิงนี้เป็นของเรา มันละเมิดธรรม กลับประพฤติอธรรม
เราไม่ควรทำความเชยชิดกับหญิงทั้งหลายเลย
[๙๔] จะไว้ใจได้อย่างไรว่า เราคุ้มครองไว้ได้ดี
เพราะพวกหญิงหลายใจ ไม่มีการรักษาไว้ได้เลย
หญิงเหล่านี้เหมือนกับเหวเมืองบาดาล
ชายที่มัวเมาในหญิงเหล่านี้ย่อมถึงความพินาศ
[๙๕] เพราะเหตุนั้นแหละ ชายเหล่าใดสลัดมาตุคามเที่ยวไป
ชายเหล่านั้นมีความสุข ปราศจากความเศร้าโศก
ผู้ปรารถนาความเกษมอันสูงสุด
ไม่พึงทำความเชยชิดกับมาตุคามเลย
สมุคคชาดกที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๑๑. ปูติมังสชาดก (๔๓๗)
๑๑. ปูติมังสชาดก (๔๓๗)
ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกชื่อปูติมังสะ
(สุนัขจิ้งจอกตัวเมียกล่าวกับแม่แพะว่า)
[๙๖] นี่เพื่อนหญิง การมองดูของสุนัขจิ้งจอกปูติมังสะ
ฉันไม่พอใจเลย ควรละเว้นให้ห่างไกลจากสหายเช่นนี้
(สุนัขจิ้งจอกตัวผู้กล่าวว่า)
[๙๗] แม่เวณีนี้บ้า ยกย่องเพื่อนหญิงต่อหน้าผัว
ย่อมซบเซาถึงแม่แพะตัวที่มาแล้วกลับไป
(สุนัขจิ้งจอกตัวเมียกล่าวว่า)
[๙๘] นี่สหาย ท่านซิบ้า โง่เขลาขาดปัญญาพิจารณา
ทำลวงว่าตาย แต่กลับชะเง้อมอง โดยกาลอันไม่สมควร
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๙๙] บัณฑิตไม่ควรจะเพ่งมองในกาลอันไม่สมควร
ควรจะเพ่งมองในกาลอันสมควร
ผู้ที่เพ่งมองในกาลอันไม่สมควรย่อมซบเซา
เหมือนสุนัขจิ้งจอกชื่อปูติมังสะ
(สุนัขจิ้งจอกตัวเมียกล่าวกับแม่แพะว่า)
[๑๐๐] เพื่อนหญิง ขอให้รักของเราจงมีเหมือนเดิมเถิด
ขอเธอจงให้ความชื่นใจแก่ฉัน
ผัวของฉันกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาแล้ว
เธอควรไปเยี่ยมเยียนถามทุกข์สุขเถิด
(แม่แพะกล่าวว่า)
[๑๐๑] เพื่อนหญิง ขอความรักของเธอจงมีเหมือนเดิมเถิด
ฉันจะให้ความชื่นใจแก่เธอ ฉันจะไปพร้อมกับบริวารจำนวนมาก
ขอเธอจงทำอาหารไว้เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๑๒. ทัททรชาดก (๔๓๘)
(สุนัขจิ้งจอกตัวเมียกล่าวว่า)
[๑๐๒] บริวารของเธอที่ฉันจะทำอาหารให้กิน
เป็นสัตว์ชนิดไหน ทั้งหมดมีชื่อว่าอย่างไร
ฉันถามถึงสัตว์เหล่านั้นแล้ว
ขอเธอจงบอก
(แม่แพะกล่าวว่า)
[๑๐๓] บริวารของฉันเป็นเช่นนี้ คือ
สุนัขชื่อมาลิยะ จตุรักขะ ปิงคิยะ และชัมพุกะ
เธอจงทำอาหารเพื่อพวกเขา
(สุนัขจิ้งจอกตัวเมียกล่าวว่า)
[๑๐๔] เมื่อเธอออกจากถ้ำไป
แม้สิ่งของก็จะสูญหาย
ฉันจะแจ้งข่าวความสุขสบายแก่เพื่อนเอง
เธออยู่ที่นี้แหละ อย่าไปเลย
ปูติมังสชาดกที่ ๑๑ จบ
๑๒. ทัททรชาดก (๔๓๘)
ว่าด้วยนกกระทา
(รุกขเทวดากล่าวกับเหี้ยว่า)
[๑๐๕] คนที่เจ้าให้ข้าวหุงกินนั้นแหละ
ได้กินลูกน้อยทั้งหลายของเจ้าซึ่งไม่มีความผิด
เจ้าจงกัดมันให้จมเขี้ยว อย่าปล่อยให้มันมีชีวิตอยู่
(แม่เหี้ยกล่าวว่า)
[๑๐๖] คนที่ทำงานหยาบช้ามากเป็นคนแปดเปื้อน
เหมือนผ้านุ่งของหญิงเลี้ยงเด็ก
ข้าพเจ้ายังมองไม่เห็นส่วนที่จะกัดมันให้จมเขี้ยวเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑๘ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น