Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๘-๖ หน้า ๓๑๑ - ๓๗๓

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘-๖ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(ลำดับนั้น พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๒๒] แก้วมณีนี้พวกนางนาคมาณวิกาประมาณ ๑,๐๐๐
ล้วนแต่มีนัยน์ตาแดง วงล้อมไว้โดยรอบ
เราเดินทางไปได้แก้วมณีนี้มาในวันนี้
(พราหมณ์เนสาทะประสงค์จะลวงพราหมณ์อลัมปายนะ ประกาศโทษของแก้ว
มณี ประสงค์จะรับเป็นของตน จึงได้กล่าวว่า)
[๘๒๓] แก้วมณีอันเกิดแต่หินนี้ที่หามาได้ด้วยดี
ที่บุคคลบูชานับถือ วางไว้ เก็บไว้เป็นอย่างดีทุกเมื่อ
พึงทำประโยชน์ทุกอย่างให้สำเร็จได้
[๘๒๔] เมื่อบุคคลปราศจากการระมัดระวังในการเก็บรักษา
หรือในการวางไว้ เก็บไว้
แก้วมณีที่เกิดแต่หินนี้ที่บุคคลหามาได้แล้วไม่ใส่ใจ
ย่อมนำมาซึ่งความพินาศ
[๘๒๕] คนผู้ไม่มีกุศลไม่ควรประดับแก้วมณีทิพย์นี้
เราจักให้ทองคำ ๑๐๐ แท่งแก่ท่าน
ท่านจงให้แก้วมณีนี้แก่เราเถิด
(ลำดับนั้น พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๒๖] แก้วมณีของเรานี้ไม่ควรแลกเปลี่ยนด้วยโคหรือรัตนะ
เพราะแก้วมณีอันเกิดแต่หินนี้สมบูรณ์ด้วยลักษณะ
ฉะนั้น เราไม่ควรแลกเปลี่ยนเลย
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๒๗] ถ้าท่านไม่แลกเปลี่ยนแก้วมณีด้วยโคหรือรัตนะ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านจะแลกเปลี่ยนแก้วมณีด้วยอะไร
เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกข้อนั้นแก่เรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๒๘] ผู้ใดบอกนาคใหญ่ผู้มีเดชยากที่บุคคลจะล่วงเกินได้แก่เรา
เราจะให้แก้วมณีอันเกิดแต่หินนี้
อันเป็นเหมือนรุ่งเรืองด้วยเดชแก่ผู้นั้นไป
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๒๙] ครุฑตัวประเสริฐหรืออะไรหนอ
แปลงเพศเป็นพราหมณ์มาแสวงหานาค
ประสงค์จะนำไปเป็นภักษาของตน
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๓๐] ท่านพราหมณ์ เรามิได้เป็นพญาครุฑ
เราไม่เคยเห็นครุฑ เราเป็นผู้สนใจด้วยงูพิษ
ชนทั้งหลายรู้จักเราว่า เป็นหมองู
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๓๑] ท่านมีกำลังอะไร มีศิลปะอะไร
ท่านเป็นผู้ได้รับการสนับสนุนในเรื่องอะไร
จึงไม่ยำเกรงนาค
(พราหมณ์อลัมปายนะนั้นเมื่อจะแสดงพลังของตน จึงกล่าวว่า)
[๘๓๒] ครุฑมาบอกวิชาหมองูอย่างยอดเยี่ยม
แก่ฤๅษีโกสิยโคตรผู้อยู่ป่าประจำ
ประพฤติตบะมาเป็นเวลานาน
[๘๓๓] เราเข้าไปหาฤๅษีตนหนึ่งบรรดาฤๅษี
ผู้บำเพ็ญตนอยู่ในระหว่างภูเขา
ได้บำรุงท่านด้วยความเคารพ
มิได้เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๘๓๔] ในกาลนั้น ท่านบำเพ็ญวัตรและพรหมจรรย์
เป็นผู้มีโชค เมื่อได้สมาคมกับเรา
จึงสอนมนต์ทิพย์ให้แก่เราด้วยความรัก
[๘๓๕] เราได้รับการสนับสนุนในมนต์นั้น จึงไม่กลัวนาค
เราเป็นอาจารย์ของพวกหมอขจัดพิษ
ชนทั้งหลายรู้จักเราว่า อลัมปายนะ
(พราหมณ์เนสาทะได้ฟังดังนั้น เมื่อปรึกษากับบุตร จึงกล่าวว่า)
[๘๓๖] พ่อโสมทัต พวกเรารับแก้วมณีไว้สิ เจ้าจงเข้าใจ
เราทั้ง ๒ อย่าละสิริที่มาถึงตนด้วยอาชญาตามความชอบใจสิ
(โสมทัตผู้เป็นบุตรของพราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๓๗] พ่อพราหมณ์ ภูริทัตนาคราชบูชาคุณพ่อผู้ไปถึงที่อยู่ของตน
เพราะเหตุไร คุณพ่อจึงปรารถนาที่จะประทุษร้าย
ต่อมิตรผู้ทำความดีเพราะความหลงอย่างนี้เล่า
[๘๓๘] ถ้าคุณพ่อต้องการทรัพย์ พระภูริทัตก็คงจะให้
คุณพ่อจงไปขอเถิด พระภูริทัตคงจะให้ทรัพย์เป็นอันมากแก่คุณพ่อ
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๓๙] โสมทัต การกินของที่ถึงมือถึงภาชนะ
หรือตั้งอยู่เบื้องหน้าเป็นความประเสริฐ
ประโยชน์ที่เห็นประจักษ์อย่าได้ล่วงเลยเราไปเลย
(โสมทัตกล่าวว่า)
[๘๔๐] คนผู้ประทุษร้ายมิตรสละความเกื้อกูล
จะต้องหมกไหม้อยู่ในนรกอันร้ายแรง
แผ่นดินย่อมสูบผู้นั้น หรือถึงมีชีวิตอยู่ก็ซูบซีด
[๘๔๑] ถ้าพ่อต้องการทรัพย์ ลูกเข้าใจว่า
พ่อจักต้องประสบเวรที่ตนได้ทำไว้ในไม่ช้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๔๒] พราหมณ์ทั้งหลายบูชามหายัญอย่างนี้แล้วย่อมบริสุทธิ์ได้
เราจักบูชามหายัญ ก็จักพ้นจากบาปได้อย่างนี้
(โสมทัตกล่าวว่า)
[๘๔๓] เชิญเถิด บัดนี้ ลูกจะขอแยกทางไป
วันนี้ ลูกจะไม่ขออยู่ร่วมกับพ่อ จะไม่ขอเดินทาง
ร่วมกับพ่อผู้ทำกรรมหยาบช้าอย่างนี้สักก้าวเดียว
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๔๔] โสมทัตผู้เป็นพหูสูตครั้นกล่าวคำนี้กับบิดา
ประกาศกับเทวดาทั้งหลายแล้ว ได้หลีกไปจากที่นั้น
(พราหมณ์เนสาทะพาพราหมณ์อลัมปายนะไป เห็นพญานาคภูริทัตนอนขนด
อยู่บนจอมปลวกจึงชี้มือบอกว่า)
[๘๔๕] ท่านจงจับนาคใหญ่นั้น จงส่งแก้วมณีนี้มาให้แก่เรา
นาคใหญ่นี้มีผิวพรรณดังสีแมลงค่อมทอง ศีรษะแดง
[๘๔๖] กายนั้นปรากฏดั่งกองปุยฝ้ายนอนอยู่บนจอมปลวกนั่น
ท่านจงจับเอาเถิด พราหมณ์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๔๗] ลำดับนั้น พราหมณ์อลัมปายนะเอาทิพยโอสถลูบทาตัว
และร่ายมนต์ป้องกันตัวอย่างนี้ จึงสามารถจับพญานาคนั้นได้
(ลำดับนั้น นาคสุทัศนะพระโอรสองค์โตของพระนางสมุททชา ทูลถามมารดา
ว่า)
[๘๔๘] เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นข้าพระองค์
ผู้ให้สำเร็จสิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงมาเฝ้าแล้ว
อินทรีย์ของพระแม่เจ้าจึงไม่ผ่องใส
พระพักตร์ของพระแม่เจ้าก็เกรียมดำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๘๔๙] เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นข้าพระองค์เช่นนี้
พระพักตร์ของพระแม่เจ้าก็เกรียมดำ
เหมือนดอกบัวที่ถูกขยี้อยู่ในมือ
[๘๕๐] ใครด่าทอท่านหรือ พระแม่เจ้ามีเวทนาอะไรหรือ
เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นข้าพระองค์ผู้มาเฝ้า
พระพักตร์ของพระแม่เจ้าเกรียมดำเพราะเหตุไร
(พระนางสมุททชาตรัสบอกแก่สุทัศนะว่า)
[๘๕๑] ลูกรัก แม่ได้ฝันล่วงมาได้หนึ่งเดือนแล้วว่า
มีชายมาตัดแขนของแม่ดูเหมือนจะเป็นข้างขวา
ถือเอาไปทั้งที่ยังเปื้อนเลือด เมื่อแม่กำลังร้องไห้อยู่
[๘๕๒] ตั้งแต่แม่ได้ฝันเห็นแล้ว พ่อสุทัศนะ เจ้าจงรู้เถิดว่า
แม่ไม่ได้ความสุขทั้งกลางวันทั้งกลางคืน
(พระนางสมุททชาครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็คร่ำครวญอยู่ว่า)
[๘๕๓] เมื่อก่อน พระภูริทัตผู้ที่นางนาคกัญญา
ผู้มีร่างกายสวยงาม คลุมด้วยข่ายทองคำพากันบำเรอ
ยังไม่ปรากฏตัว
[๘๕๔] เมื่อก่อน พระภูริทัตผู้ซึ่งเสนาทั้งหลายถือดาบอันคมกล้า
แวดล้อมดังดอกกรรณิการ์บานสะพรั่งยังไม่ปรากฏตัว
[๘๕๕] เอาละ บัดนี้ เราจักไปที่อยู่ของพระภูริทัต
จะไปเยี่ยมเยือนน้องชายของเจ้า
ผู้ดำรงอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๕๖] ภรรยาทั้งหลายของนาคภูริทัต
ครั้นได้เห็นพระมารดาของนาคภูริทัตกำลังเสด็จมา
จึงพากันเข้าประคองแขนคร่ำครวญว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๘๕๗] ข้าแต่พระแม่เจ้า ตลอดหนึ่งเดือนล่วงไปแต่วันนี้
พวกหม่อมฉันยังไม่ทราบว่า
พระภูริทัตผู้ทรงยศพระโอรสของพระแม่เจ้าสิ้นชีพแล้ว
หรือว่ายังดำรงพระชนม์อยู่
[๘๕๘] เมื่อพวกเราไม่เห็นพระภูริทัตก็จักระทมทุกข์สิ้นกาลนาน
เหมือนแม่นกที่ลูกถูกฆ่าตายเห็นแต่รังที่ว่างเปล่า
[๘๕๙] เมื่อพวกเราไม่เห็นพระภูริทัตก็จักระทมทุกข์สิ้นกาลนาน
เหมือนแม่นกเขาที่ลูกถูกฆ่าตายเห็นแต่รังที่ว่างเปล่า
[๘๖๐] เมื่อพวกเราไม่เห็นพระภูริทัต
ก็จักหม่นไหม้ไปด้วยทุกข์สิ้นกาลนาน
เหมือนนางนกจักรพากบนเปือกตมที่ปราศจากน้ำเป็นแน่
[๘๖๑] เหมือนเบ้าหลอมทองของพวกช่างทอง
ย่อมไหม้อยู่ข้างในหาไหม้ข้างนอกไม่ฉันใด
พวกเราเมื่อไม่เห็นพระภูริทัตก็ย่อมหม่นไหม้ด้วยความโศกฉันนั้น
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๖๒] บุตรและภรรยาในที่อยู่ของพระภูริทัต
ต่างพากันล้มนอนระเกะระกะ
เหมือนต้นรังที่ถูกลมพัดทำให้ย่อยยับไป
[๘๖๓] ครั้นได้ยินเสียงกึกก้องของบุตรและภรรยาเหล่านั้น
ในที่อยู่ของพระภูริทัตแล้ว
นาคอริฏฐะและสุโภคะต่างก็วิ่งวุ่นไปในระหว่างพูดขึ้นว่า
[๘๖๔] ข้าแต่พระแม่เจ้า จงเบาพระทัยเถิด อย่าเศร้าโศกเลย
เพราะสัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา
คือ ย่อมเกิด ย่อมตาย
การตายและการเกิดนี้เป็นความแปรผันของสัตว์นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พระนางสมุททชามารดากล่าวว่า)
[๘๖๕] ลูกรัก ถึงแม่จะทราบว่า
สัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา
แต่ว่าเมื่อไม่เห็นพระภูริทัต แม่ก็ได้รับความเศร้าโศก
[๘๖๖] พ่อสุทัศนะ เจ้าจงรู้ไว้เถิด
ถ้าคืนวันนี้ เมื่อยังไม่เห็นพระภูริทัต
แม่เข้าใจว่าจักต้องตายแน่
(สุทัศนกุมารกล่าวว่า)
[๘๖๗] ข้าแต่พระแม่เจ้า จงเบาพระทัยเถิด อย่าเศร้าโศกเลย
ลูกทั้งหลายจักนำท่านพี่ภูริทัตมา
จักเที่ยวไปตามหาท่านพี่ภูริทัตตามทิศน้อยใหญ่
[๘๖๘] ที่ภูเขา ซอกเขา บ้าน และนิคม
พระแม่เจ้าจะได้ทรงเห็นท่านพี่กลับมาภายใน ๗ วัน
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๖๙] นาคหลุดจากมือเลื้อยไปฟุบลงที่เท้าโดยกะทันหัน
ข้าแต่พ่อ คุณพ่อถูกมันกัดเอากระมังหนอ
คุณพ่ออย่ากลัวเลย จงได้รับความสุขเถิด
(สุทัศนกุมารผู้ปลอมตัวเป็นดาบสตามหานาคภูริทัตพี่ชายกล่าวว่า)
[๘๗๐] นาคตัวนี้ไม่สามารถจะทำความทุกข์อะไรให้เราได้เลย
หมองูเท่าที่มีอยู่ก็ไม่มีคนไหนจะดียิ่งกว่าเรา
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๗๑] ใครกันหนอ เงอะงะ แปลงเพศเป็นพราหมณ์
มายังสำนักบริษัท อวดอ้างยุทธการที่ดี
ขอบริษัทจงฟังข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(สุทัศนกุมารกล่าวว่า)
[๘๗๒] หมองู ท่านจงต่อสู้กับเราด้วยนาค
เราจักต่อสู้กับท่านด้วยลูกเขียด ในการรบของเรานั้น
เราทั้ง ๒ จงพนันกันด้วยทรัพย์เพียง ๕,๐๐๐
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๗๓] มาณพ เราเท่านั้นเป็นผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์
ท่านเป็นคนจน ใครหนอจะเป็นคนค้ำประกันท่าน
และอะไรเป็นเดิมพันของท่านเล่า
[๘๗๔] ส่วนข้าพเจ้ามีทั้งเดิมพัน และมีทั้งคนค้ำประกันเช่นนั้น
ในการขันสู้ของเราทั้ง ๒ นั้น
เราทั้ง ๒ จงพนันกันด้วยทรัพย์เพียง ๕,๐๐๐
(สุทัศนกุมารเข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า)
[๘๗๕] มหาบพิตร ขอพระองค์โปรดสดับคำของอาตมภาพ
ขอมหาบพิตรจงทรงพระเจริญ ขอมหาบพิตรผู้ทรงเกียรติ
จงทรงค้ำประกันทรัพย์ ๕,๐๐๐ ให้อาตมภาพเถิด
(พระราชาตรัสว่า)
[๘๗๖] หนี้เป็นของตกค้างมาแต่บิดา หรือท่านก่อมันขึ้นมาเอง
ท่านพราหมณ์ เพราะเหตุไร
ท่านจึงขอทรัพย์ข้าพเจ้ามากมายอย่างนี้
(สุทัศนกุมารกราบทูลว่า)
[๘๗๗] พราหมณ์อลัมปายนะปรารถนาจะต่อสู้กับอาตมภาพด้วยนาค
อาตมภาพจะให้ลูกเขียดกัดพราหมณ์อลัมปายนะ
[๘๗๘] มหาบพิตรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญ
ขอเชิญพระองค์ผู้ทรงคับคั่งไปด้วยหมู่กษัตริย์
เสด็จออกไปทอดพระเนตรนาคในวันนี้เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๗๙] มาณพ เรามิได้ดูหมิ่นท่านด้วยวาทศิลป์เลย
แต่ท่านมัวเมาศิลปะเกินไป จึงไม่ยำเกรงนาค
(สุทัศนกุมารกล่าวว่า)
[๘๘๐] ท่านพราหมณ์ แม้อาตมาก็มิได้ดูหมิ่นท่านด้วยวาทศิลป์
แต่ท่านกล้าลวงประชาชนด้วยนาคที่ปราศจากพิษ
[๘๘๑] ประชาชนจะพึงรู้เรื่องนี้เหมือนอาตมภาพรู้จักท่าน
ท่านจักไม่ได้แกลบสักกำมือหนึ่งเลย
ท่านจะได้ทรัพย์แต่ที่ไหนเล่า อลัมปายนะ
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๘๒] ท่านคนสกปรก ม้วนชฎา รุ่มร่าม
นุ่งห่มหนังสัตว์ขรุขระ เหมือนคนเงอะงะเข้ามายังบริษัท
ซึ่งดูหมิ่นนาคผู้มีพิษถึงอย่างนี้ว่าไม่มีพิษ
[๘๘๓] ท่านเข้ามาใกล้แล้วนั่นแหละ จึงจะรู้นาคนั้นได้ว่า
เต็มไปด้วยเดชร้ายแรง๑ ข้าพเจ้าแน่ใจว่า
นาคตัวนี้จักทำท่านให้เป็นเหมือนกองเถ้าไปทันที
(สุทัศนกุมารกล่าวว่า)
[๘๘๔] งูเรือน งูปลา งูเขียวต่างหากมีพิษ
แต่นาคหัวแดงไม่มีพิษเลย
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๘๕] ข้าพเจ้าได้ยินมาจากเหล่าพระอรหันต์
ผู้สำรวม ผู้บำเพ็ญตบะอย่างนี้ว่า
ทายกทั้งหลายให้ทานในโลกนี้แล้วย่อมไปสวรรค์
ท่านจงให้ทานเสียแต่ยังมีชีวิตเถิด ถ้าท่านมีความประสงค์จะให้

เชิงอรรถ :
๑ เต็มไปด้วยเดชร้ายแรง หมายถึงเต็มไปด้วยพิษร้ายแรง (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๘๘๘/๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๘๘๖] นาคนี้มีฤทธิ์มาก มีเดชยากที่ใครจะล่วงเกินได้
ข้าพเจ้าจะให้มันฉกท่าน มันจักทำท่านให้เป็นเถ้าไปได้
(สุทัศนกุมารกล่าวว่า)
[๘๘๗] สหาย แม้เราก็ได้ยินมาจากเหล่าพระอรหันต์
ผู้สำรวม ผู้บำเพ็ญตบะอย่างนี้ว่า
ทายกทั้งหลายให้ทานในโลกนี้แล้วย่อมไปสวรรค์
ท่านนั่นแหละเมื่อยังมีชีวิตอยู่จงให้ทาน
ถ้าท่านมีความประสงค์จะให้
[๘๘๘] ลูกเขียดชื่อว่าอัจจิมุขีนี้เต็มไปด้วยเดชร้ายแรง
เราจะให้ลูกเขียดนั้นกัดท่าน มันจักทำท่านให้เป็นเถ้าไปได้
[๘๘๙] นางเป็นธิดาของท้าวธตรัฏฐะเป็นน้องสาวต่างมารดาของเรา
นางอัจจิมุขีเต็มไปด้วยเดชร้ายแรงจงกัดท่าน
[๘๙๐] พรหมทัตมหาบพิตร
ขอพระองค์ได้โปรดทราบไว้เถิด
หากอาตมภาพหยดพิษลงบนแผ่นดิน
ต้นหญ้าลดาวัลย์และรุกขชาติที่เป็นยาทั้งหลาย
ก็จะพึงเฉาแห้งไปโดยไม่ต้องสงสัย
[๘๙๑] พรหมทัตมหาบพิตร
ขอพระองค์ได้โปรดทราบไว้เถิด
หากอาตมภาพจักขว้างพิษขึ้นไปบนอากาศ
ฝนก็จะไม่ตก หิมะก็จะไม่ตกตลอด ๗ ปี
[๘๙๒] พรหมทัตมหาบพิตร
ขอพระองค์ได้โปรดทราบไว้เถิด
หากอาตมภาพจักหยดพิษลงไปในแม่น้ำ
ฝูงสัตว์คือปลาและเต่าที่เกิดในน้ำ
ต่างก็จะพึงล้มตายไปทั้งหมด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๙๓] เมื่อเรากำลังอาบน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ของโลก๑
ซึ่งขังอยู่ที่ท่าน้ำปยาคะ
มีภูตอะไรมาฉุดเราลงสู่แม่น้ำยมุนาอันลึก
(สุโภคกุมารน้องชายนาคภูริทัตกล่าวว่า)
[๘๙๔] พญานาคตัวประเสริฐใดที่เป็นใหญ่ในโลก
เรืองยศ ปกคลุมกรุงพาราณสีไว้โดยรอบ
เราเป็นลูกของพญานาคตัวประเสริฐนั้น
พราหมณ์ นาคทั้งหลายเรียกเราว่า สุโภคะ
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๙๕] ถ้าท่านเป็นโอรสของพญานาคผู้ประเสริฐ
เป็นเจ้าแห่งชาวกาสี เป็นใหญ่แห่งเทวดา
พระบิดาของท่านมีศักดามากผู้หนึ่ง
และพระมารดาของท่านก็ไม่มีใครเทียมเท่าได้ในหมู่มนุษย์
ผู้มีอานุภาพมากเช่นท่าน
ไม่สมควรฉุดแม้เพียงแต่ทาสของพราหมณ์ให้จมน้ำเลย
(สุโภคกุมารกล่าวว่า)
[๘๙๖] เจ้าแอบแฝงต้นไม้ ยิงเนื้อละมั่งที่มาเพื่อจะดื่มน้ำ
เจ้าเนื้อมายาตัวนั้นถูกยิงแล้ว
ยังวิ่งไปได้ไกลด้วยกำลังศร
[๘๙๗] เจ้าได้เห็นมันล้มลงในป่าใหญ่
เจ้านั้นจึงหาบเนื้อของมันเข้าไปหาต้นไทรในเวลาเย็น
เป็นต้นไม้มีใบเหลือง ระเกะระกะไปด้วยราก

เชิงอรรถ :
๑ น้ำอันศักดิ์สิทธิ์ของโลก หมายถึงน้ำที่โลกสมมติว่าสามารลอยบาปได้อย่างนี้ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๘๙๓/๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๘๙๘] กึกก้องไปด้วยเสียงร้องของนกแขกเต้าและนกสาลิกา
มีฝูงนกดุเหว่าส่งเสียงร้องระงม น่ารื่นรมย์ใจ
มีหญ้าแพรกเขียวอยู่เป็นประจำ
[๘๙๙] พี่ชายของเรานั้นมีอานุภาพมาก รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์และยศ
แวดล้อมไปด้วยนางนาคกัญญาทั้งหลาย
ปรากฏตัวต่อท่านผู้อยู่ที่ต้นไทรนั้น
[๙๐๐] เขาบำเรอเจ้านั้นให้เอิบอิ่มด้วยสิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่าง
เจ้ายังประทุษร้ายต่อเขาผู้มิได้ประทุษร้าย
เวรของเจ้านั้นมาถึงที่นี้แล้ว
[๙๐๑] เจ้าจงรีบยื่นคอออกมา เราจักไม่ให้ชีวิตแก่เจ้า
เมื่อระลึกถึงเวรที่เจ้าก่อไว้ต่อพี่ชายของเรา
เราจักตัดศีรษะของเจ้า
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๙๐๒] พราหมณ์ถือการสาธยาย(เวท)
เป็นผู้ประกอบในการอ้อนวอน และเป็นผู้บูชาไฟ
จึงไม่ควรถูกฆ่าด้วยเหตุ ๓ ประการนี้๑
(สุโภคกุมารกล่าวว่า)
[๙๐๓] เมืองของท้าวธตรัฏฐะอยู่ภายใต้แม่น้ำยมุนา
จรดภูเขาหิมพานต์ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากแม่น้ำยมุนา
ล้วนไปด้วยทองคำงามรุ่งเรือง
[๙๐๔] พี่น้องร่วมอุทรของเราล้วนแต่เป็นคนขึ้นชื่อลือชา
พี่น้องของเราเหล่านั้นในเมืองนั้นจักว่าอย่างใด
เจ้าก็จักต้องเป็นอย่างนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ด้วยเหตุ ๓ ประการนี้ หมายถึงพราหมณ์ไม่สมควรถูกฆ่าคือใคร ๆ จะฆ่าพราหมณ์ไม่ได้ด้วยเหตุ ๓ ประการ
มีความเป็นผู้ควรถูกฆ่าเป็นต้นเหล่านี้ เพราะผู้ที่ฆ่าพราหมณ์ย่อมเกิดในนรก (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๙๐๒/๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(นาคกาณาริฏฐะ กล่าวถ้อยคำที่ผิดว่า)
[๙๐๕] พี่สุโภคะ ยัญและพระเวททั้งหลายในโลก
ที่พวกพราหมณ์ประกอบขึ้น มิใช่ของเล็กน้อย๑
เพราะฉะนั้น ผู้ติเตียนพราหมณ์ผู้ที่ไม่ควรติเตียน
ชื่อว่าย่อมละเลยทรัพย์เครื่องปลื้มใจและธรรมของสัตบุรุษ
[๙๐๖] พวกพราหมณ์ถือการสาธยาย(เวท)
พวกกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน
พวกแพศย์ยึดเกษตรกรรมและพวกศูทรยึดการรับใช้
วรรณะทั้ง ๔ นี้เข้าถึงการงานตามที่อ้างมาแต่ละอย่าง
กล่าวกันว่า มหาพรหมผู้มีอำนาจสร้างขึ้นไว้
[๙๐๗] แม้พวกเทพเจ้าเหล่านี้ คือ ท้าวธาดา วิธาดา
วรุณ กุเวร โสมะ พระยม พระจันทร์ พระวายุ
และพระอาทิตย์ ต่างก็บูชายัญโดยวิธีการต่าง ๆ
และให้สิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่างแก่พวกพราหมณ์ผู้สาธยาย
[๙๐๘] ท้าวอัชชุนะและภีมเสนผู้มีกำลังมาก
มีแขนตั้งพัน ไม่มีใครเสมอเหมือนในแผ่นดิน
ยกธนูขึ้นได้ถึง ๕๐๐ คัน ก็ได้ทรงบูชาไฟในครั้งนั้น
[๙๐๙] พี่สุโภคะ ผู้เลี้ยงดูพวกพราหมณ์มาเป็นเวลานาน
ด้วยข้าวและน้ำตามกำลังความสามารถ
มีจิตเลื่อมใสอนุโมทนาอยู่ ได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง
[๙๑๐] พระเจ้ามุจลินท์สามารถบูชาเทวดาคือไฟผู้กินมาก
มีรัศมีไม่ต่ำทรามให้อิ่มหนำด้วยเนยใส
ทรงบูชายัญวิธีแก่เทวดาคือไฟผู้ประเสริฐแล้ว
ได้ไปบังเกิดในทิพยคติ

เชิงอรรถ :
๑ มิใช่ของเล็กน้อย หมายถึงยัญและเวททั้งหลายในโลกนี้มิใช่ของเล็กน้อย คือ ไม่ต่ำต้อย มีอานุภาพมาก
(ขุ.ชา.อ. ๑๐/๙๐๕/๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๑๑] พระเจ้าทุทีปะผู้มีอานุภาพมาก
มีพระชนมายุยืนถึง ๑,๐๐๐ ปี มีพระรูปงามน่าดูยิ่ง
ทรงละแคว้นอันไม่มีที่สุดพร้อมทั้งเสนา
เสด็จออกผนวชแล้ว ได้เสด็จไปสู่สวรรค์
[๙๑๒] พี่สุโภคะ พระเจ้าสาคระทรงปราบแผ่นดินอันมีสาครเป็นที่สุด
รับสั่งให้ตั้งเสาเจว็ดอันงามยิ่ง ล้วนแล้วด้วยทองคำ
ทรงบูชาไฟแล้ว ได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง
[๙๑๓] พี่สุโภคะ แม่น้ำคงคาที่ไหลไปสู่มหาสมุทรเป็นที่สั่งสมนมส้ม
ย่อมเป็นไปด้วยอานุภาพของผู้ใด
ผู้นั้นคือพระเจ้าอังคโลมบาท ทรงบูชาไฟแล้ว
เสด็จไปเกิดในพระนครของท้าวสหัสสนัยน์
[๙๑๔] เทวดาผู้ประเสริฐมีฤทธ์มาก เรืองยศ
เป็นเสนาบดีของท้าววาสวะในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
กำจัดมลทินด้วยวิธีโสมยาคะ ได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง
[๙๑๕] เทพผู้ประเสริฐมีฤทธิ์มียศองค์ใดได้ทรงสร้างโลกนี้
โลกหน้า แม่น้ำภาคีรถี ภูเขาหิมพานต์ และภูเขาวิชฌะ
แม้เทพองค์นั้นก็ทรงได้บำเรอไฟในกาลนั้น
[๙๑๖] ภูเขามาลาคีรีก็ดี ภูเขาหิมพานต์ก็ดี ภูเขาคิชฌกูฏก็ดี
ภูเขาสุทัศนะก็ดี ภูเขานิสภะก็ดี ภูเขากากเวรุก็ดี
ภูเขาเหล่านี้และภูเขาใหญ่อื่น ๆ ว่ากันว่า
พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญสร้างขึ้นไว้
[๙๑๗] ชนทั้งหลายเรียกพราหมณ์ถือการสาธยาย(เวท)
ผู้เข้าถึงคุณแห่งมนต์ ผู้มีตบะในโลกนี้ว่า
ผู้ประกอบการอ้อนวอนมหาสมุทรซัดท่วมพราหมณ์นั้น
ผู้กำลังตระเตรียมน้ำอยู่ที่ฝั่งสมุทร
เพราะฉะนั้น น้ำในสมุทรจึงดื่มไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๑๘] วัตถุที่ควรบูชาทั้งหลาย คือ พวกพราหมณ์
มีอยู่มากในแผ่นดินของท้าววาสวะ
พราหมณ์เหล่านั้นมีอยู่ทั้งในทิศตะวันออก ทิศตะวันตก
ทิศใต้ และทิศเหนือย่อมทำความรู้ให้เกิด
(พระโพธิสัตว์กล่าวเฉลยว่า)
[๙๑๙] พ่ออริฏฐะ แท้จริง การเรียนรู้พระเวท
เป็นโทษของเหล่านักปราชญ์
แต่เป็นการกระทำของพวกคนพาล
เหมือนอาการของพยับแดด
เพราะเป็นของมองเห็นไม่ได้เสมอไป
มีคุณทางหลอกลวง พาเอาคนผู้มีปัญญาไปไม่ได้
[๙๒๐] เวททั้งหลายมิได้มีเพื่อป้องกันคนผู้ประทุษร้ายมิตร
ผู้ล้างผลาญความเจริญ เหมือนไฟที่บุคคลบำเรอแล้ว
ย่อมป้องกันคนโทสจริตให้ทำกรรมชั่วไม่ได้
[๙๒๑] ถ้าคนทั้งหลายจะนำเอาไม้ที่มีอยู่ในโลกทั้งหมด
พร้อมทั้งทรัพย์สมบัติของตนผสมกับหญ้าให้ไฟเผา
ไฟที่มีเดชอันไม่มีใครเทียมเผาสิ่งทั้งหมด
แนะพ่อลิ้นสองแฉก ใครเล่าจะพึงทำให้ไฟนั้นอิ่มได้
[๙๒๒] นมสดแปรไปได้เป็นธรรมดา คือ
เป็นนมส้มแล้วก็กลับกลายไปเป็นเนยข้นฉันใด
ไฟก็มีความแปรไปเป็นธรรมดาได้ฉันนั้น
ไฟที่ประกอบด้วยความเพียรในการสีไฟจึงเกิดไฟได้
[๙๒๓] ไม่ปรากฏว่าไฟเข้าไปอยู่ในไม้แห้งและไม้สด
เมื่อคนไม่สีไฟ ไฟก็ไม่เกิด
ไฟย่อมไม่เกิดเพราะไม่มีคนทำให้เกิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๒๔] ก็ถ้าไฟจะพึงเข้าไปอยู่ภายในไม้แห้งและไม้สด
ป่าทั้งหมดในโลกก็จะพึงแห้งไป
และไม้แห้งก็จะพึงลุกโพลงขึ้นเองได้
[๙๒๕] ถ้าคนเลี้ยงดูไฟที่มีเปลวควันกำลังส่องแสงอยู่
ให้เผา(กิน)ไม้และหญ้า ชื่อว่าได้ทำบุญ
คนเผาถ่าน คนต้มเกลือ พ่อครัว และคนเผาศพ
ก็ชื่อว่าพึงได้ทำบุญด้วย
[๙๒๖] ถ้าหากพราหมณ์เหล่านี้ทำบุญได้เพราะเลี้ยงไฟ
ด้วยการเรียนมนต์ เพราะเลี้ยงไฟให้อิ่มหนำ
คนบางคนในโลกนี้ผู้เอาเชื้อไฟให้ไฟเผาไหม้
จะไม่ชื่อว่าได้ทำบุญอย่างไรเล่า
[๙๒๗] แนะพ่อลิ้นสองแฉก เพราะเหตุไร
เพราะไฟเป็นสิ่งที่โลกยำเกรง
พึงกินได้ทั้งของที่มีกลิ่นไม่น่าพอใจ คนเป็นอันมากไม่ชอบ
และของที่พวกมนุษย์หลีกเลี่ยงไม่ประเสริฐนั้น
[๙๒๘] ความจริง คนบางพวกนับถือไฟเป็นเทวดา
ส่วนพวกมิลักขะนับถือน้ำเป็นเทวดา
คนทั้งหมดนี้กล่าวเท็จ ไฟและน้ำไม่ใช่เทพเจ้าตนใดตนหนึ่ง
[๙๒๙] ชาวโลกบำเรอไฟที่ไม่มีอินทรีย์ ไม่มีกายที่จะรับรู้สึกได้
ส่องแสงสว่าง เป็นเครื่องทำการงานของประชาชน
เมื่อยังทำบาปกรรมอยู่ จะพึงถึงสุคติได้อย่างไร
[๙๓๐] พวกพราหมณ์ผู้ต้องการเลี้ยงชีวิตของตนในโลกนี้กล่าวว่า
พระพรหมครอบงำได้ทั้งหมด และว่าพระพรหมบำเรอไฟ
เมื่อพระพรหมมีอานุภาพและมีอำนาจทุกสิ่ง
ทำไมจึงไม่สร้างตนเอง แต่กลับมาไหว้ไฟที่ตนสร้างขึ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๓๑] คำของพวกพราหมณ์น่าหัวเราะเยาะ๑
ไม่ควรสวด ไม่เป็นความจริง
พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวคำเท็จไว้ก่อน
เพราะเหตุแห่งสักการะ พราหมณ์เหล่านั้น
เมื่อลาภสักการะยังไม่ปรากฏขึ้น ก็ร้อยกรองยัญที่ชื่อว่า
“สันติธรรม” โยงเข้ากับการฆ่าสัตว์๒ (บูชายัญ)
[๙๓๒] พวกพราหมณ์ถือการสาธยาย (มนต์)
พวกกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน
พวกแพศย์ยึดเกษตรกรรม และพวกศูทรยึดการรับใช้
วรรณทั้ง ๔ นี้เข้าถึงการงานตามที่อ้างมาแต่ละอย่าง
กล่าวกันว่า มหาพรหมผู้มีอำนาจได้สร้างขึ้นไว้
[๙๓๓] ถ้าคำนี้จะพึงเป็นคำจริงเหมือนที่พวกพราหมณ์ได้กล่าวไว้
ผู้ที่มิใช่กษัตริย์ก็ไม่พึงได้ราชสมบัติ
ผู้ที่มิใช่พราหมณ์ก็ไม่พึงศึกษามนต์
คนนอกจากแพศย์ก็ไม่พึงทำเกษตรกรรม
และพวกศูทรก็ไม่พึงพ้นจากการรับใช้ผู้อื่น
[๙๓๔] แต่เพราะคำนี้ไม่จริง เป็นคำเท็จ
ฉะนั้น พวกคนเหล่านี้จึงกล่าวเท็จทั้งนั้นเพราะเห็นแก่ท้อง๓
พวกคนมีปัญญาน้อยย่อมเชื่อถือคำนั้น
พวกบัณฑิตย่อมพิจารณาเห็นคำนั้นด้วยตนเอง

เชิงอรรถ :
๑ น่าหัวเราะเยาะ หมายความว่า ขึ้นชื่อว่า คำของพวกพราหมณ์ สมควรต้องหัวเราะเยาะ เพราะอด
ทนต่อความเพ่งพินิจ(ตรวจสอบ)ของบัณฑิตไม่ได้ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๙๓๑/๗๑)
๒ โยงเข้ากับการฆ่าสัตว์ หมายถึงพวกพราหมณ์โยงลาภสักการะซึ่งไม่ปรากฏประมาณเท่านี้เข้ากับหมู่สัตว์
แล้วเชื่อมสันติธรรม กล่าวคือ ลัทธิธรรมของตนอันประกอบด้วยการฆ่าสัตว์แล้วร้อยกรองคัมภีร์ชื่อ
ยัญญสูตรขึ้นไว้ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๙๓๑/๗๑)
๓ เพราะเห็นแก่ท้อง หมายถึงผู้อาศัยท้องเลี้ยงชีวิตหรือเพราะเหตุต้องการจะบรรจุให้เต็มท้อง (ขุ.ชา.อ.
๑๐/๙๓๔/๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๓๕] เพราะพวกกษัตริย์ย่อมเก็บภาษีอากรจากพวกแพศย์
พวกพราหมณ์ก็ถือศัสตราเที่ยวฆ่าสัตว์
เพราะเหตุไร พระพรหมจึงไม่บันดาล
โลกที่ปั่นป่วนแตกต่างกันเช่นนั้นให้เที่ยงตรงเสียเล่า
[๙๓๖] เพราะถ้าพระพรหมเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง
เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์
เพราะเหตุไร จึงทำโลกทั้งปวงให้มีทุกข์
เพราะเหตุไร จึงไม่บันดาลโลกทั้งปวงให้มีแต่ความสุข
[๙๓๗] เพราะถ้าพระพรหมนั้นเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง
เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์
เพราะเหตุไร จึงชักจูงให้โลกทำแต่ความพินาศโดยไม่เป็นธรรม
เช่น มีมายา พูดเท็จ และมัวเมาเล่า
[๙๓๘] อริฏฐะ เพราะถ้าพระพรหมนั้นเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง
เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ แต่เป็นเจ้าชีวิตที่ไม่ชอบธรรม
เมื่อธรรมมีอยู่ ก็ไม่จัดตั้งธรรม กลับจัดตั้งอธรรม
[๙๓๙] ตั๊กแตน ผีเสื้อ งู แมลงภู่ หนอน
และแมลงวัน ใครฆ่าแล้วย่อมบริสุทธิ์
ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมของอนารยชน
ซึ่งเป็นธรรมที่ผิดของชาวกัมโพชะจำนวนมาก
[๙๔๐] ก็ถ้าคนฆ่าผู้อื่นจะบริสุทธิ์ได้
แม้คนผู้ถูกฆ่าก็เข้าถึงแดนสวรรค์ได้
พวกพราหมณ์ก็ควรฆ่าพวกพราหมณ์
และพวกคนที่เชื่อพราหมณ์เหล่านั้นด้วย
[๙๔๑] พวกเนื้อ ปศุสัตว์ และโคแต่ละพวก
ไม่ได้อ้อนวอนเพื่อให้ฆ่าตนเองเลย
ล้วนแต่ดิ้นรนต้องการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้
คนทั้งหลายย่อมนำสัตว์และปศุสัตว์เข้าผูกไว้ที่เสายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๔๒] พวกคนพาลยื่นหน้าพูดนำไปที่เสาบูชายัญซึ่งเป็นที่ผูกสัตว์
ด้วยการพรรณนาอย่างวิจิตรว่า เสายัญนี้จักให้
สิ่งที่น่าใคร่แก่เจ้าในโลกอื่นในสัมปรายภพแน่นอน
[๙๔๓] ถ้าบุคคลจะพึงได้แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดา ข้าวเปลือก
ทรัพย์ เงิน ทอง ที่เสายัญทั้งที่ไม้แห้งและไม้สด
ถ้าเสายัญจะพึงให้สิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่างในไตรทิพย์ได้
หมู่พราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในไตรเพทเท่านั้นจึงควรบูชายัญ
ผู้ไม่ใช่พราหมณ์ก็ไม่ควรให้พราหมณ์บูชายัญให้เลย
[๙๔๔] แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดา ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน ทอง
จักมีที่เสายัญ ที่ไม้แห้ง และไม้สดที่ไหน
เสายัญจะพึงให้สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงในไตรทิพย์ที่ไหนเล่า
๙๔๕] พราหมณ์เหล่านี้เป็นผู้โอ้อวด หยาบช้า
โง่เขลา โลภจัด ยื่นปากพูดนำไป
ด้วยการพรรณนาอย่างหยดย้อยต่าง ๆ ว่า
จงรับเอาไฟไป จงให้ทรัพย์แก่เรา
แต่นั้น ท่านจักมีความสุขในสิ่งที่น่าปรารถนาทั้งปวง
[๙๔๖] พวกพราหมณ์พาคนเข้าไปโรงบูชาไฟแล้ว
ต่างก็ยื่นหน้าพูดนำไปด้วยการพรรณนาอย่างวิจิตรต่าง ๆ
ให้เขาโกนผม โกนหนวด และตัดเล็บ
ยังทรัพย์ของเขาให้สิ้นไปด้วยเวททั้งหลาย
[๙๔๗] พวกพราหมณ์ผู้หลอกลวง แอบหลอกลวงได้คนหนึ่ง
ก็มาประชุมกินกันเป็นอันมาก เหมือนฝูงกาตอมนกเค้า
หลอกเอาจนเกลี้ยงแล้วเก็บไว้ที่บริเวณบูชายัญ
[๙๔๘] พวกพราหมณ์ลวงผู้นั้นได้คนหนึ่งอย่างนี้แล้ว
ก็พากันมาเป็นอันมาก ใช้ความพยายามแล้วพยายามอีก
ล่อหลอกพรรณนาสิ่งที่มองไม่เห็น ปล้นเอาทรัพย์ที่มองเห็นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๔๙] เหมือนพวกราชบุรุษที่พระราชาสอนสั่งให้เก็บส่วย
ถือเอาทรัพย์ของพระราชาไป
อริฏฐะ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเหมือนโจร มิใช่สัตบุรุษ
เป็นผู้ควรจะฆ่าเสีย แต่ไม่มีใครฆ่าในโลก
[๙๕๐] พวกพราหมณ์กล่าวว่า
ไม้ทองหลางเป็นแขนขวาของพระอินทร์
จึงตัดเอาไม้ทองหลางมาใช้ในยัญนี้
หากคำนั้นเป็นจริง พระอินทร์ก็แขนขาด
เพราะเหตุไร พระอินทร์ชนะพวกอสูรด้วยกำลังแขนนั้นได้
[๙๕๑] หากคำนั้นแหละเป็นเท็จ
พระอินทร์ก็ยังมีอวัยวะสมบูรณ์
เป็นเทวดาชั้นดีเยี่ยม ไม่มีใครฆ่า แต่กำจัดพวกอสูรได้
มนต์ของพราหมณ์เหล่านี้เปล่าประโยชน์
นี้เป็นการลวงกันที่เห็นอยู่ในโลกนี้
[๙๕๒] ภูเขามาลาคีรีก็ดี ภูเขาหิมพานต์ก็ดี ภูเขาคิชฌกูฏก็ดี
ภูเขาสุทัศนะก็ดี ภูเขานิสภะก็ดี ภูเขากากเวรุก็ดี
ภูเขาเหล่านี้ และภูเขาใหญ่อื่น ๆ กล่าวกันว่า
พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญได้สร้างไว้
[๙๕๓] ชนทั้งหลายกล่าวกันว่า
พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญเอาอิฐเช่นใดมาสร้างภูเขา
อิฐเช่นนั้นมิใช่ภูเขา ภูเขาเป็นอย่างหนึ่ง
ไม่หวั่นไหว เห็นได้ชัดว่าเป็นหิน
[๙๕๔] ภูเขามิใช่อิฐแต่เป็นหินมานานแล้ว
เหล็กและโลหะย่อมไม่เกิดในอิฐนั้น
แต่เขาจะพรรณนาถึงยัญนี้ จึงกล่าวว่า
พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญได้สร้างไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๕๕] ชนทั้งหลายเรียกพราหมณ์ถือการสาธยาย(เวท)
ผู้เข้าถึงคุณแห่งมนต์ ผู้มีตบะในโลกนี้ว่า
“ผู้ประกอบในการอ้อนวอน”
มหาสมุทรซัดท่วมพราหมณ์นั้น
ผู้กำลังตระเตรียมน้ำอยู่ที่ฝั่งสมุทร
เพราะฉะนั้น น้ำในสมุทรจึงดื่มไม่ได้
[๙๕๖] แม่น้ำพัดพาเอาพราหมณ์ผู้จบพระเวท
ทรงมนต์เกินกว่าพันคนไป น้ำมีรสไม่เสียมิใช่หรือ
เพราะเหตุไร มหาสมุทรที่กว้างใหญ่จึงดื่มไม่ได้
[๙๕๗] บ่อน้ำเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกมนุษย์นี้
ที่พวกขุดบ่อขุดไว้ เกิดเป็นน้ำเค็มได้
แต่มิใช่เค็มเพราะท่วมพราหมณ์ตาย
น้ำในบ่อเหล่านั้นดื่มไม่ได้ นะพ่อลิ้นสองแฉก
[๙๕๘] เมื่อก่อนครั้งต้นกัป ใครเป็นภรรยาของใคร
ใจให้มนุษย์เกิดก่อน๑ แม้โดยธรรมดานั้น
ไม่มีใครเลวกว่าใครมาแต่กำเนิด
ท่านกล่าวจำแนกส่วนของสัตว์ไว้แม้อย่างนี้
[๙๕๙] แม้บุตรของคนจัณฑาลก็เรียนพระเวท
สวดมนต์ได้ เป็นคนฉลาด มีความคิด
ศีรษะของเขาจะไม่พึงแตก ๗ เสี่ยง
มนต์เหล่านี้พวกพราหมณ์แต่งขึ้นไว้ฆ่าตน

เชิงอรรถ :
๑ ใครเป็นภรรยาของใคร หมายความว่า ใครจะชื่อว่าเป็นภรรยาของใคร เพราะในเวลานั้นยังไม่มีเพศชาย
เพศหญิง ภายหลังเกิดชื่อว่ามารดาบิดา เพราะอำนาจเมถุนธรรม ใจให้มนุษย์เกิดก่อน หมายความ
ว่า แท้จริง เวลานั้นใจเท่านั้นทำให้เกิดเป็นมนุษย์ คือ สัตว์ทั้งหลายบังเกิดขึ้นด้วยใจเท่านั้น (ขุ.ชา.อ.
๑๐/๙๕๘/๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๖๐] มนต์เหล่านี้พวกพราหมณ์แต่งขึ้นด้วยวาจา
แต่งขึ้น (และ) ยึดถือไว้ด้วยความโลภ
เข้าถึงท่วงทำนองของพวกพราหมณ์นักแต่งกาพย์
ยากที่จะปลดเปลื้องได้
จิตของพวกคนโง่ตั้งอยู่ด้วยอาการที่ไม่สม่ำเสมอ
คนไม่มีปัญญาจึงหลงเชื่อคำนั้น
[๙๖๑] พราหมณ์หามีกำลังเยี่ยงลูกผู้ชาย
ดุจกำลังของราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลืองไม่
ความเป็นมนุษย์ของพราหมณ์เหล่านั้นพึงเห็นเหมือนของโค๑
แต่ชาติพราหมณ์เหล่านั้นมีลักษณะไม่เสมอ
[๙๖๒] ก็ถ้าพระราชาปกครองแผ่นดิน พร้อมทั้งอำมาตย์คู่ชีพ
และราชบริษัทผู้รับพระราชโองการ
ทรงชำนะหมู่ศัตรูลำพังพระองค์เอง
ประชาราษฎร์ของพระองค์นั้นก็จะพึงมีสุขอยู่เป็นนิตย์
[๙๖๓] มนต์ของกษัตริย์และไตรเพทเหล่านี้มีความหมายเท่ากัน
ถ้าไม่วินิจฉัยความแห่งมนต์และไตรเพทนั้น ก็ไม่รู้ได้
เหมือนทางที่ถูกน้ำท่วม
[๙๖๔] มนต์ของกษัตริย์และไตรเพทเหล่านี้มีความหมายเท่ากัน
มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ
ทั้งหมดทีเดียวเป็นธรรมดาของวรรณะ ๔ นั้น
[๙๖๕] พวกคหบดีใช้คนเป็นจำนวนมากให้ทำงานบนแผ่นดิน
เพราะเหตุแห่งทรัพย์และข้าวเปลือกฉันใด
แม้หมู่พราหมณ์ผู้ทรงไตรเพทก็ฉันนั้น
ย่อมใช้คนเป็นจำนวนมากให้ทำงานบนแผ่นดินในวันนี้

เชิงอรรถ :
๑ พึงเห็นเหมือนของโค อธิบายว่า ชาติพราหมณ์เหล่านั้นนั่นแหละเหมือนกับของโค เพราะมีปัญญาทราม
แต่มีลักษณะไม่เสมอ เพราะมีรูปร่างสัณฐานต่างกับโค (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๙๖๑/๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๖๖] พราหมณ์เหล่านี้ก็เหมือนกับพวกคหบดี
ต่างมีความขวนขวายประกอบในกามคุณเป็นนิตย์
ย่อมใช้คนเป็นจำนวนมากให้ทำการงานบนแผ่นดิน
แนะพ่อลิ้นสองแฉก เพราะฉะนั้น พราหมณ์เหล่านั้นจึงไร้ปัญญา
(พระเจ้าสาครพรหมทัตทูลถามพระบิดาผู้เป็นดาบสว่า)
[๙๖๗] กระบวนกลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์
และมโหระทึกนำหน้าใครมา ยังพระราชาผู้จอมทัพให้ทรงร่าเริง
[๙๖๘] ใครมีหน้าสีสุกใสด้วยกรอบอุณหิสทอง
ที่ติดอยู่ชายหน้าผากอันหนา มีประกายดังสายฟ้า
ใครยังหนุ่มแน่นสวมสอดแล่งธนู รุ่งเรืองด้วยสิริเดินมา
[๙๖๙] ใครมีพักตร์เปล่งปลั่งดังทอง
เหมือนถ่านเพลิงไม้ตะเคียนที่ลุกโชนอยู่ที่ปากเบ้า
รุ่งเรืองไปด้วยสิริมาอยู่
[๙๗๐] ใครมีฉัตรทองชมพูนุทพร้อมทั้งซี่ที่น่าพึงใจ
สำหรับใช้กันแสงดวงอาทิตย์ ใครรุ่งเรืองไปด้วยสิริมาอยู่
[๙๗๑] ใครมีปัญญาประเสริฐ มีพัดวาลวีชนีอย่างดีเยี่ยม
ที่บุคคลประคองไว้บนเศียรทั้ง ๒ ข้าง
[๙๗๒] ใครถือกำหางนกยูงอันวิจิตรอ่อนสลวย
มีด้ามล้วนแล้วด้วยทองและแก้วมณี
เที่ยวไปมาผ่านหน้าทั้ง ๒ ข้าง
[๙๗๓] ใครมีตุ้มหูอันกลมเกลี้ยงเหล่านี้
ซึ่งมีประกายดังสีถ่านเพลิงไม้ตะเคียน
ซึ่งลุกโชนอยู่ที่ปากเบ้างดงามข้างหน้าทั้ง ๒ ข้าง
[๙๗๔] ใครมีปลายผมอ่อนสลวยดำสนิทเห็นปานนี้
ถูกลมพัดสบัดพลิ้วอยู่เหมือนสายฟ้าพุ่งขึ้นจากท้องฟ้า
ทำให้ชายหน้าผากงดงามอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๗๕] ใครมีนัยน์ตาทั้ง ๒ ข้างกว้างและใหญ่
มีเนตรกว้างงดงาม มีพักตร์ผ่องใสดุจคันฉ่องทอง
[๙๗๖] ใครมีฟันเหล่านี้เกิดที่ปาก
งามหมดจดดุจสังข์อันขาวผ่อง
เมื่อพูด ย่อมงามดังดอกมณฑาลกตูม
[๙๗๗] ใครมีมือและเท้าทั้ง ๒ ข้าง
มีสีเหมือนน้ำครั่ง รักษาได้ง่าย
มีริมฝีปากแดงดังผลตำลึงสุก
เปล่งปลั่งดังดวงอาทิตย์ในเวลากลางวัน
[๙๗๘] เขาเป็นใครห่มผ้าปาวารขนสัตว์ขาวสะอาด
ดังต้นสาละใหญ่มีดอกบานสะพรั่งข้างหิมวันตบรรพต
ในฤดูหิมะตก งามดังดวงจันทร์ได้ชัยชนะ
[๙๗๙] เขาเป็นใครนั่งอยู่ในท่ามกลางบริษัท
สะพายดาบอันวิจิตรด้วยด้ามแก้วมณี
ล้อมสะพรั่งไปด้วยลายทอง
[๙๘๐] เขาเป็นใครสวมรองเท้าที่ขลิบด้วยทองงดงาม
เย็บวิจิตรสำเร็จเรียบร้อยดี
ข้าพเจ้านมัสการแด่พระมเหสี
(พระดาบสกล่าวว่า)
[๙๘๑] นาคที่มาเหล่านั้นเป็นนาคที่มีฤทธิ์
มียศ เป็นลูกของท้าวธตรัฏฐะ
เกิดจากนางสมุททชา
นาคเหล่านี้ต่างก็มีฤทธิ์มาก
ภูริทัตตชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
๗. จันทกุมารชาดก๑ (๕๔๔)
ว่าด้วยจันทกุมารทรงบำเพ็ญขันติบารมี
[๙๘๒] พระเจ้าเอกราช ผู้มีกรรมหยาบช้า
ประทับอยู่ในกรุงบุปผวดี
ท้าวเธอตรัสถามขัณฑหาลปุโรหิต
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์ ผู้เป็นคนหลงว่า
[๙๘๓] ท่านพราหมณ์ ท่านฉลาดในสุจริตธรรมและอาจารวินัย
ขอจงบอกทางสวรรค์แก่เรา
อย่างที่นรชนทำบุญแล้ว จากโลกนี้จะไปสู่สุคติภพเถิด
(ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า)
[๙๘๔] ข้าแต่สมมติเทพ เหล่านรชนให้ทานยิ่งกว่าทาน
ฆ่าคนที่ไม่น่าจะฆ่า ทำบุญแล้วย่อมไปสู่สวรรค์ได้อย่างนี้
(พระราชาตรัสว่า)
[๙๘๕] ก็ทานที่ยิ่งกว่าทานนั้นคืออะไร
และคนจำพวกไหนเป็นผู้ไม่น่าจะฆ่าในโลกนี้
ขอท่านจงบอกข้อนั้นแก่เรา
เราจักบูชายัญ จักให้ทาน
(ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า)
[๙๘๖] ข้าแต่สมมติเทพ ควรบูชายัญด้วยพระราชโอรส
พระราชธิดา พระมเหสี ชาวนิคม โคอุสภราช
และม้าอาชาไนย อย่างละ ๔
ควรบูชายัญด้วยของครบอย่างละ ๔ พระเจ้าข้า

เชิงอรรถ :
๑ พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ทรงปรารภพระเทวทัตตรัสจันทกุมารชาดกซึ่งมีคำเริ่มต้นว่า มี
พระราชาผู้ทรงทำกรรมหยาบช้า ดังนี้เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๙๘๗] ในพระราชวังมีเสียงระเบ็งเซ็งแซ่เป็นอันเดียวกัน
เพราะได้ยินคำว่า พระกุมาร พระกุมารี
และพระมเหสีจะถูกประหาร
(พระราชาตรัสว่า)
[๙๘๘] ขอพวกท่านจงไปทูลพระกุมารทั้งหลาย
คือ จันทกุมาร สุริยกุมาร ภัททเสนกุมาร
สูรกุมาร และวามโคตตกุมารเถิดว่า
“ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่ในที่เดียวกัน
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ”
[๙๘๙] ขอพวกเจ้าจงไปทูลพระกุมารีทั้งหลาย
คือ อุปเสนากุมารี โกกิลากุมารี
มุทิตากุมารี และนันทากุมารีเถิดว่า
“ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่อยู่ในที่เดียวกัน
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ”
[๙๙๐] อนึ่ง พวกเจ้าจงไปทูลพระนางวิชยา
พระนางเอราวดี พระนางเกศินี
และพระนางสุนันทาผู้เป็นมเหสีของเรา
ผู้ซึ่งประกอบด้วยลักษณะอันประเสริฐเถิดว่า
“ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่อยู่ในที่เดียวกัน
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ”
[๙๙๑] พวกท่านจงไปบอกพวกคหบดี
คือ ปุณณมุขคหบดี ภัททิยคหบดี
สิงคาลคหบดี และวัฑฒคหบดีเถิดว่า
“ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่อยู่ในที่เดียวกัน
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๙๙๒] คหบดีเหล่านั้นมีบุตรและภรรยามาก
ต่างก็มาพร้อมกัน ณ ที่นั้น
ได้กราบทูลพระราชาว่า “ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์จงไว้จุก๑แก่ข้าพระองค์ทั้งหมดเถิด
อีกอย่างหนึ่ง ขอให้ทรงประกาศพวกข้าพระองค์เป็นข้าทาสเถิด”
(พระราชาตรัสว่า)
[๙๙๓] พวกท่านจงรีบนำช้างทั้งหลายของเรามา
คือ ช้างอภยังกร ช้างนาฬาคีรี
ช้างอัจจุคคตะ ช้างวรุณทันตะ
ช้างเหล่านั้นจักเป็นประโยชน์แก่การบูชายัญ
[๙๙๔] พวกท่านจงรีบไปนำม้าอัสดรของเรามา
คือ ม้าเกศี ม้าสุรามุขะ ม้าปุณณกะ ม้าวินตกะ
ม้าเหล่านั้นจักเป็นประโยชน์แก่การบูชายัญ
[๙๙๕] ขอพวกท่านจงรีบไปนำเอาโคอุสภะของเรามา
คือ โคยูถปติ โคอโนชะ โคนิสภะ และโคควัมปติ
จงต้อนโคเหล่านั้นทั้งหมดเข้าเป็นหมู่
เราจักบูชายัญ จักให้ทาน
[๙๙๖] พวกท่านจงตระเตรียมยัญทุกอย่างไว้
เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น เราจักบูชายัญ
พวกท่านจงบังคับเหล่ากุมารมาว่า
จงรื่นรมย์ตลอดราตรีนี้เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ไว้จุก หมายถึงทำให้เป็นผู้รับใช้ ทำให้เป็นทาส (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๙๙๒/๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๙๙๗] พวกท่านจงตั้งยัญทุกอย่างไว้
เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น เราจักบูชายัญ
พวกเจ้าจงไปทูลพระกุมาร ณ บัดนี้
วันนี้แหละเป็นคืนสุดท้าย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๙๙๘] พระมารดาเสด็จมาจากพระตำหนัก
ทรงกันแสงพลางตรัสถามพระเจ้าเอกราชนี้นั้นว่า
“ลูกรัก ได้ยินว่า พ่อจักบูชายัญด้วยพระโอรสทั้ง ๔ หรือ”
(พระราชากราบทูลว่า)
[๙๙๙] เมื่อจะต้องฆ่าจันทกุมาร บุตรแม้ทุกคนหม่อมฉันก็สละได้
หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายแล้ว
จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์
(พระราชมารดาตรัสว่า)
[๑๐๐๐] ลูกเอ๋ย พ่ออย่าเชื่อคำนั้นที่ว่า
“สุคติจะมีได้เพราะใช้บุตรบูชายัญ
เพราะว่า นั้นเป็นทางไปนรก ไม่ใช่ทางไปสวรรค์”
[๑๐๐๑] ลูกโกณฑัญญะเอ๋ย พ่อจงให้ทาน
อย่าได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง นี้เป็นทางไปสู่สุคติ
และทางไปสู่สุคติมิใช่เพราะใช้บุตรบูชายัญ
(พระราชากราบทูลว่า)
[๑๐๐๒] คำของอาจารย์ทั้งหลายมีว่า
“หม่อมฉันจักฆ่าทั้งจันทกุมารและสุริยกุมาร
หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายที่สละได้ยากแล้ว
จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๐๐๓] แม้แต่พระเจ้าวสวัตดีพระราชบิดา
ได้ตรัสถามพระราชโอรสของพระองค์นั้นว่า
“ลูกรัก ได้ยินว่า พ่อจักบูชายัญด้วยโอรสทั้ง ๔ หรือ”
(พระราชากราบทูลว่า)
[๑๐๐๔] เมื่อจะต้องฆ่าจันทกุมาร บุตรแม้ทุกคนหม่อมฉันก็สละได้
หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายแล้ว
จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์
(พระราชบิดาตรัสว่า)
[๑๐๐๕] ลูกเอ๋ย พ่ออย่าเชื่อคำนั้นที่ว่า
“สุคติจะมีได้เพราะใช้บุตรบูชายัญ
เพราะว่า นั้นเป็นทางไปนรก มิใช่ทางไปสู่สวรรค์
[๑๐๐๖] ลูกโกณฑัญญะเอ๋ย พ่อจงให้ทาน
อย่าได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง นี้เป็นทางไปสู่สุคติ
และทางไปสู่สุคติมิใช่เพราะใช้บุตรบูชายัญ
(พระราชากราบทูลว่า)
[๑๐๐๗] คำของอาจารย์ทั้งหลายมีว่า
“หม่อมฉันจักฆ่าทั้งจันทกุมารและสุริยกุมาร
หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายที่สละได้ยากแล้ว
จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์”
(พระราชบิดาตรัสว่า)
[๑๐๐๘] ลูกโกณฑัญญะเอ๋ย พ่อจงให้ทาน
อย่าได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง
พ่อจงเป็นผู้มีบุตรห้อมล้อม
รักษารัฐและชนบทเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(จันทกุมารกราบทูลว่า)
[๑๐๐๙] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นข้าทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขาได้
[๑๐๑๐] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะขนมูลช้างให้เขาได้
[๑๐๑๑] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะขนมูลม้าให้เขาได้
[๑๐๑๒] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิต
ตามที่พระองค์มีพระประสงค์เถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกขับไล่จากแคว้น
ก็จักเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๐๑๓] พวกเจ้าพากันพร่ำเพ้ออยู่เพราะรักชีวิต ได้ก่อทุกข์แก่เราแท้
จงปล่อยพวกพระกุมารไป ณ บัดนี้เถิด
เราขอเลิกการใช้บุตรบูชายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า)
[๑๐๑๔] เมื่อก่อนทีเดียว ข้าพระองค์ได้กราบทูลพระองค์แล้วว่า
การบูชายัญนี้ทำได้ยาก เกิดได้แสนยาก
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร
พระองค์จึงทรงทำยัญที่พวกข้าพระองค์ได้ตระเตรียมไว้แล้ว
ให้กระจัดกระจายไปเล่า
[๑๐๑๕] ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นบูชายัญแทนก็ดี
และอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของเหล่าชนผู้กำลังบูชาอยู่ก็ดี
ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปสู่สุคติ
(จันทกุมารกราบทูลว่า)
[๑๐๑๖] ข้าแต่สมมติเทพ เพราะเหตุไร
เมื่อก่อนพระองค์จึงรับสั่งให้พวกพราหมณ์
กล่าวคำสวัสดีแก่พวกหม่อนฉัน
มาภายหลัง พระองค์จะรับสั่งฆ่าพวกหม่อมฉัน
เพื่อต้องการจะบูชายัญโดยหาเหตุมิได้
[๑๐๑๗] ข้าแต่พระบิดา เมื่อก่อน
เวลาที่พวกหม่อมฉันยังเป็นเด็กหนุ่ม
พระองค์มิได้ทรงฆ่าเองและมิได้ทรงรับสั่งให้ผู้อื่นฆ่า
บัดนี้ พวกหม่อมฉันถึงความเจริญวัยเป็นหนุ่มแน่นแล้ว
มิได้คิดประทุษร้ายต่อพระองค์เลย
เพราะเหตุไร จึงจะถูกฆ่า
[๑๐๑๘] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตร
ข้าพระองค์ทั้งหลายผู้ขึ้นขี่ช้างและม้า
ผูกสอดเครื่องรบได้ออกรบแล้วหรือกำลังสู้รบ
บุตรทั้งหลายผู้กล้าหาญดังเช่นพวกข้าพระองค์
ย่อมไม่ควรที่จะต้องถูกฆ่าเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๑๙] เมื่อเมืองชายแดน หรือเมื่อพวกโจรในดงกำเริบ
ชนทั้งหลายย่อมใช้คนเช่นข้าพระองค์
ข้าแต่พระบิดา แต่พวกข้าพระองค์จะถูกฆ่า
ในสถานที่ที่ไม่สมควรโดยหาเหตุมิได้
[๑๐๒๐] ข้าแต่สมมติเทพ แม่นกที่เกื้อกูลเหล่าใดพากันทำรังอยู่
ลูกนกทั้งหลายเป็นที่รักของแม่นกเหล่านั้น
ส่วนพระองค์รับสั่งให้ฆ่าพวกข้าพระองค์เพราะเหตุไร
[๑๐๒๑] ข้าแต่สมมติเทพ อย่าได้ทรงเชื่อขัณฑหาลปุโรหิต
ขัณฑหาลปุโรหิตไม่พึงฆ่าข้าพระองค์
เพราะเขาฆ่าข้าพระองค์ได้แล้ว
ก็จะพึงฆ่าพระองค์ในอันดับต่อไป
[๑๐๒๒] ข้าแต่มหาราช พระราชาทั้งหลาย
ย่อมพระราชทานบ้านอย่างดี
นิคมอย่างดี แม้แต่โภคทรัพย์แก่พราหมณ์นั้น
อนึ่ง พวกพราหมณ์นั้นแม้ได้ข้าวและน้ำอันเลิศในตระกูล
ย่อมบริโภคในตระกูล
[๑๐๒๓] ข้าแต่มหาราช พวกพราหมณ์ย่อมปรารถนา
เพื่อประทุษร้ายต่อผู้ให้ข้าวน้ำเช่นนั้นแม้เหล่านั้น
เพราะโดยมากพวกพราหมณ์แม้เหล่านี้
เป็นคนอกตัญญู พระเจ้าข้า
[๑๐๒๔] ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขาได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๒๕] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะขนมูลช้างให้เขาได้
[๑๐๒๖] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะขนมูลม้าให้เขาได้
[๑๐๒๗] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์ให้เป็นทาส
ของขัณฑหาลปุโรหิตตามที่พระองค์มีพระประสงค์เถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกขับไล่จากแคว้น
ก็จักเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๐๒๘] พวกเจ้าพากันพร่ำเพ้ออยู่เพราะรักชีวิต ได้ก่อทุกข์แก่เราแท้
จงปล่อยพวกพระกุมารทั้งหลายไป ณ บัดนี้เถิด
เราขอเลิกการใช้บุตรบูชายัญ
(ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า)
[๑๐๒๙] เมื่อก่อนทีเดียว ข้าพระองค์ได้กราบทูลพระองค์แล้วว่า
การบูชายัญนี้ทำได้ยาก เกิดได้แสนยาก
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร
พระองค์จึงทรงทำยัญที่พวกข้าพระองค์ได้ตระเตรียมไว้แล้ว
ให้กระจัดกระจายไปเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๓๐] ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นบูชายัญแทนก็ดี
และอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของเหล่าชนผู้กำลังบูชาอยู่ก็ดี
ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปสู่สุคติ
(จันทกุมารกราบทูลว่า)
[๑๐๓๑] ข้าแต่พระราชา ถ้าชนทั้งหลายบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลาย
จุติจากโลกนี้แล้วย่อมไปสู่เทวโลกดังได้ยินมา
พราหมณ์จงบูชาก่อนเถิด
ขอพระองค์ทรงบูชายัญตามในภายหลัง
[๑๐๓๒] ถ้าชนทั้งหลายบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลาย
จุติจากโลกนี้แล้วย่อมไปสู่เทวโลกดังได้ยินมา
ขอขัณฑหาลพราหมณ์ผู้นี้แหละ
จงบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายของตนเถิด
[๑๐๓๓] ถ้าว่าขัณฑหาลพราหมณ์รู้อยู่อย่างนี้
ทำไมจึงไม่ฆ่าบุตรของตน
ไม่ฆ่าคนที่เป็นญาติทุกคนและตนเองเล่า
[๑๐๓๔] ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นบูชายัญแทนก็ดี
และอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของเหล่าชนผู้กำลังบูชายัญอยู่ก็ดี
ชนเหล่านั้นย่อมไปสู่นรกทุกคน
[๑๐๓๕] ก็ถ้าว่าคนผู้ฆ่าผู้อื่นจะบริสุทธิ์ได้
แม้คนผู้ถูกฆ่านั้นก็เข้าถึงแดนสวรรค์ได้
พวกพราหมณ์ก็ควรฆ่าพวกพราหมณ์
และพวกคนที่เชื่อพราหมณ์เหล่านั้นด้วย
[๑๐๓๖] ดังที่ได้ยินมา พ่อเรือนและแม่เรือนผู้รักบุตรที่มีอยู่ในนครนี้
ทำไมจึงไม่ทัดทานพระราชาว่า
“อย่าทรงฆ่าบุตรผู้เกิดแต่ตนเลย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๓๗] ดังที่ได้ยินมา พ่อเรือนและแม่เรือนผู้รักบุตรที่มีอยู่ในนครนี้
ทำไมจึงไม่ทัดทานพระราชาว่า
“อย่าทรงฆ่าบุตรผู้เกิดแต่ตนเลย”
[๑๐๓๘] เราเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์แก่พระราชา
และเป็นผู้เกื้อกูลแก่ชนบททั้งมวล
ใคร ๆ ก็ไม่พึงมีความแค้นเคืองกับเรา
ชาวชนบททั้งหลายไม่ช่วยกราบทูลให้พระองค์ได้ทรงทราบเลย
[๑๐๓๙] แม่เรือนทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย
จงไปกราบทูลพระบิดาและวิงวอนขัณฑหาลพราหมณ์ว่า
“ขออย่าฆ่าพระกุมารทั้งหลาย
ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์”
[๑๐๔๐] แม่เรือนทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย
จงไปกราบทูลพระบิดาและวิงวอนขัณฑหาลพราหมณ์ว่า
“ขออย่าฆ่าพระกุมารทั้งหลาย
ผู้เป็นบุคคลตัวอย่างที่หวังของชาวโลกทั้งมวล”
[๑๐๔๑] ไฉนหนอ เราพึงเกิดในตระกูลช่างรถ
ตระกูลปุกกุสะ หรือในตระกูลพ่อค้า
พระราชาก็ไม่พึงรับสั่งให้ฆ่าเราในการบูชายัญวันนี้
(จันทกุมารตรัสกับพระชายาทั้งหลายว่า)
[๑๐๔๒] เจ้าผู้มีความคิดทั้งปวง จงไปหมอบลงแทบเท้า
ของผู้เป็นเจ้าขัณฑหาละ เรียนว่า
“เรามิได้เห็นความผิดเลย”
[๑๐๔๓] เจ้าผู้มีความคิดทั้งปวง จงไปหมอบลงแทบเท้า
ของผู้เป็นเจ้าขัณฑหาละ เรียนว่า
“ท่านผู้เจริญ เราทั้งหลายได้ประทุษร้ายอะไรท่าน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๐๔๔] พระเสลาราชกุมารีผู้ควรการุณย์ทรงเห็นพระภาดาทั้งหลาย
ที่เขานำมาเพื่อบูชายัญ จึงทรงคร่ำครวญว่า
ได้ยินว่า พระบิดาของเราทรงปรารถนาสวรรค์
รับสั่งให้ตั้งพิธีบูชายัญขึ้น
[๑๐๔๕] พระวสุลราชนัดดากลิ้งเกลือกไปมาต่อพระพักตร์
ของพระราชากราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ
ข้าพระบาทยังเป็นเด็ก ไม่ถึงความเป็นหนุ่ม
ขอพระองค์ได้ทรงโปรดอย่าฆ่าพระบิดาของข้าพระบาทเลย”
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๐๔๖] วสุละ นั่นพ่อเจ้า เจ้าจงไปพร้อมกับพ่อ
เจ้าพากันพร่ำเพ้ออยู่ในพระราชวัง ได้ก่อทุกข์ให้แก่เราแท้
จงปล่อยพระกุมารไป ณ บัดนี้เถิด
เราขอเลิกการใช้บุตรบูชายัญ
(ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า)
[๑๐๔๗] เมื่อก่อนทีเดียว ข้าพระองค์ได้กราบทูลพระองค์แล้วว่า
“การบูชายัญนี้ทำได้ยาก เกิดได้แสนยาก
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร
พระองค์จึงทรงทำยัญที่พวกข้าพระองค์ได้ตระเตรียมไว้แล้ว
ให้กระจัดกระจายไปเล่า
[๑๐๔๘] ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นบูชายัญแทนก็ดี
และอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของเหล่าชนผู้กำลังบูชาอยู่ก็ดี
ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปสู่สุคติ
[๑๐๔๙] ข้าแต่พระเจ้าเอกราช ข้าพระองค์ได้ตระเตรียม
จัดแจงยัญด้วยแก้วสารพัดไว้เพื่อพระองค์แล้ว
เชิญเสด็จออกเถิด พระองค์ทรงบูชายัญแล้วจักเสด็จไปสู่สวรรค์
บันเทิงพระหฤทัย พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๕๐] หญิงสาว ๗๐๐ คนนี้เป็นภรรยาของจันทกุมาร
ต่างสยายผมร้องไห้เดินไปตามทาง
[๑๐๕๑] ส่วนหญิงอีกพวกหนึ่งก็ออกไปด้วยความเศร้าโศก
เหมือนเหล่าเทวดาในอุทยานนันทวัน
ต่างสยายผมร้องไห้ไปตามทาง
(หญิง ๗๐๐ พร่ำเพ้อว่า)
[๑๐๕๒] จันทกุมารและสุริยกุมาร
ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกราชบุรุษนำไปบูชายัญเพื่อพระเจ้าเอกราช
[๑๐๕๓] จันทกุมารและสุริยกุมาร
ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกราชบุรุษนำไป
ทำความเศร้าโศกพระหฤทัยให้แก่พระมารดา
[๑๐๕๔] จันทกุมารและสุริยกุมาร
ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกราชบุรุษนำไป ทำความเศร้าใจให้แก่ประชาชน
[๑๐๕๕] จันทกุมารและสุริยกุมาร
เสวยกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ
ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกราชบุรุษนำไปบูชายัญเพื่อพระเจ้าเอกราช

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๕๖] จันทกุมารและสุริยกุมาร
เสวยกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ
ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกนำไป ทำความเศร้าโศกพระหฤทัยให้แก่พระราชชนนี
[๑๐๕๗] จันทกุมารและสุริยกุมาร
เสวยกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ
ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกนำไป ทำความเศร้าใจให้แก่ประชาชน
[๑๐๕๘] เมื่อก่อน พลช้างตามเสด็จจันทกุมารและสุริยกุมาร
ผู้เสด็จขึ้นคอช้างตัวประเสริฐ
วันนี้ จันทกุมารและสุริยกุมารทั้ง ๒ พระองค์
เสด็จดำเนินด้วยพระบาท
[๑๐๕๙] เมื่อก่อน พลม้าตามเสด็จจันทกุมารและสุริยกุมาร
ผู้เสด็จทรงขึ้นหลังม้าตัวประเสริฐ
วันนี้ จันทกุมารและสุริยกุมารทั้ง ๒ พระองค์
เสด็จดำเนินด้วยพระบาท
[๑๐๖๐] เมื่อก่อน พลรถตามเสด็จจันทกุมารและสุริยกุมาร
ผู้เสด็จขึ้นทรงรถคันประเสริฐ
วันนี้ จันทกุมารและสุริยกุมารทั้ง ๒ พระองค์
เสด็จดำเนินด้วยพระบาท
[๑๐๖๑] เมื่อก่อน จันทกุมารและสุริยกุมาร
ที่ราชบุรุษเชิญเสด็จออกด้วยม้าทั้งหลายที่ตกแต่งเครื่องทอง
วันนี้ จันทกุมารและสุริยกุมารทั้ง ๒ พระองค์
เสด็จดำเนินด้วยพระบาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(มหาชนเพ้อว่า)
[๑๐๖๒] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
ก็จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะทรงบูชายัญด้วยพระโอรส ๔ พระองค์
[๑๐๖๓] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
ก็จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้นพระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะทรงบูชายัญด้วยพระธิดา ๔ พระองค์
[๑๐๖๔] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
ก็จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะทรงบูชายัญด้วยพระมเหสี ๔ พระองค์
[๑๐๖๕] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
ก็จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะทรงบูชายัญด้วยคหบดี ๔ คน
[๑๐๖๖] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะทรงบูชายัญด้วยช้าง ๔ เชือก
[๑๐๖๗] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะทรงบูชายัญด้วยม้า ๔ ตัว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๖๘] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะบูชายัญด้วยโคอุสภราช ๔ ตัว
[๑๐๖๙] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะบูชายัญด้วยสัตว์ทุกจำพวกอย่างละ ๔
[๑๐๗๐] นี่ปราสาทของท่านล้วนด้วยทองคำ
ห้อยระย้าด้วยพวงมาลัยดอกไม้
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๑] นี่เรือนยอดของท่านล้วนด้วยทองคำ
ห้อยระย้าด้วยพวงมาลัยดอกไม้
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๒] นี่พระอุทยานของท่าน
มีดอกไม้บานสะพรั่งทุกเวลา น่ารื่นรมย์ใจ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๓] นี่ป่าอโศกของท่าน
มีดอกบานสะพรั่งทุกเวลา น่ารื่นรมย์ใจ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๔] นี่ป่ากรรณิการ์ของท่าน
มีดอกบานสะพรั่งทุกเวลา น่ารื่นรมย์ใจ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๕] นี่ป่าแคฝอยของท่าน
มีดอกบานสะพรั่งทุกเวลา น่ารื่นรมย์ใจ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๗๖] นี่สวนมะม่วงของท่าน
มีดอกบานสะพรั่งทุกเวลา น่ารื่นรมย์ใจ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๗] นี่สระโบกขรณีของท่านที่ดารดาษไปด้วย
ดอกบัวหลวง ดอกบัวขาว และเรือที่ขจิตด้วยทองคำ
งดงามด้วยลวดลายเครือวัลย์ สุดแสนที่น่ารื่นรมย์ใจ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๘] นี่ช้างแก้วของท่าน เป็นช้างงามีกำลังชื่อเอราวัณ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๙] นี่ม้าแก้วของท่าน เป็นม้าเร็วมีกีบไม่แตก
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๘๐] นี่รถม้าของท่าน เวลาแล่นไปมีเสียงดังก้องไพเราะ
เหมือนเสียงนกสาลิกา สวยงามตระการตาด้วยแก้ว
ซึ่งเป็นที่ที่พระลูกเจ้าประทับเสด็จไป
งดงามเหมือนพวกเทวดาในพระอุทยานนันทวัน
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๘๑] ทำไมหนอ พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จักทรงบูชายัญด้วยพระราชโอรสทั้ง ๔ พระองค์
ผู้งดงามทัดเทียมกับทอง มีพระวรกายอันอ่อน
ชโลมด้วยจุรณแก่นจันทน์
[๑๐๘๒] ทำไมหนอ พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จักทรงบูชายัญด้วยพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์
ผู้งดงามทัดเทียมกับทอง มีพระวรกายอันอ่อน
ชโลมด้วยจุรณแก่นจันทน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๘๓] ทำไมหนอ พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จักทรงบูชายัญด้วยพระมเหสีทั้ง ๔ พระองค์
ผู้งดงามทัดเทียมกับทอง มีพระวรกายอันอ่อน
ชโลมด้วยจุรณแก่นจันทน์
[๑๐๘๔] ทำไมหนอ พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จักทรงบูชายัญด้วยคหบดีทั้ง ๔ คน
ผู้งดงามทัดเทียมกับทอง
มีร่างกายชโลมด้วยจุรณแก่นจันทน์
[๑๐๘๕] คามนิคมทั้งหลายจะว่างเปล่า ไม่มีคนอยู่
กลายเป็นป่าใหญ่ไปฉันใด บุปผวดีนครก็จักเป็นฉันนั้น
ในเมื่อจันทกุมารและสุริยกุมารถูกบูชายัญ
(พระเทวีกราบทูลว่า)
[๑๐๘๖] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันจักกลายเป็นคนวิกลจริต
ถูกขจัดความเจริญ มีร่างกายเปรอะเปื้อนไปด้วยฝุ่นธุลี
ถ้าเขาฆ่าจันทกุมาร ชีวิตของหม่อมฉันจะแตกสลาย
[๑๐๘๗] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันจักกลายเป็นคนวิกลจริต
ถูกขจัดความเจริญ มีร่างกายเปรอะเปื้อนไปด้วยฝุ่นธุลี
ถ้าเขาฆ่าสุริยกุมาร ชีวิตของหม่อมฉันจะแตกสลาย
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๐๘๘] เพราะเหตุไร สะใภ้ของเราเหล่านี้ คือ นางฆัฏฏิกา
นางอุปริกขี นางโบกขรณี และนางภาริกา
ต่างก็กล่าวปิยวาจากะกันและกัน
ฟ้อนรำอยู่ในสำนักของพระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร
จึงไม่ทำให้ลูก ๆ ของเรารื่นรมย์ได้
หญิงอื่นที่จะเสมอเหมือนกับสะใภ้ ๔ คนนั้นไม่มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(พระเทวีคร่ำครวญกับลูกสะใภ้ สาปแช่งขัณฑหาลปุโรหิตว่า)
[๑๐๘๙] เจ้าขัณฑหาละ ความโศกเศร้าเสียใจใด
ย่อมเกิดมีแก่เราในเมื่อจันทกุมารถูกเขานำไปฆ่า
แม่ของเจ้าจงประสบความโศกเศร้าเสียใจของเรานี้
[๑๐๙๐] เจ้าขัณฑหาละ ความโศกเศร้าเสียใจใด
ย่อมเกิดมีแก่เราในเมื่อสุริยกุมารถูกเขานำไปฆ่า
แม่ของเจ้าก็จงประสบความโศกเศร้าเสียใจของเรานี้
[๑๐๙๑] เจ้าขัณฑหาละ ความโศกเศร้าเสียใจใด
ย่อมเกิดมีแก่เราในเมื่อจันทกุมารถูกเขานำไปฆ่า
ภรรยาของเจ้าก็จงประสบความโศกเศร้าเสียใจของเรานี้
[๑๐๙๒] เจ้าขัณฑหาละ ความโศกเศร้าเสียใจใด
ย่อมเกิดมีแก่เราในเมื่อสุริยกุมารถูกเขานำไปฆ่า
ภรรยาของเจ้าก็จงประสบความโศกเศร้าเสียใจของเรานี้
[๑๐๙๓] เจ้าขัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย
ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์
แม่ของเจ้าก็อย่าได้เห็นลูก ๆ และสามีเลย
[๑๐๙๔] เจ้าขัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย
ผู้เป็นที่มุ่งหวังของชาวโลกทั้งมวล
แม่ของเจ้าก็อย่าได้เห็นลูก ๆ และสามีเลย
[๑๐๙๕] เจ้าขัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย
ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์
ภรรยาของเจ้าก็อย่าได้เห็นลูก ๆ และสามีเลย
[๑๐๙๖] เจ้าขัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย
ผู้เป็นที่มุ่งหวังของชาวโลกทั้งมวล
ภรรยาของเจ้าก็อย่าได้เห็นลูก ๆ และสามีเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(จันทกุมารกราบทูลว่า)
[๑๐๙๗] ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขาได้
[๑๐๙๘] ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะขนมูลช้างให้เขาได้
[๑๐๙๙] ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะขนมูลม้าให้เขาได้
[๑๑๐๐] ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตที่พระองค์มีพระประสงค์เถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกขับไล่จากแคว้น
ก็จักเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๐๑] ข้าแต่สมมติเทพ หญิงทั้งหลายผู้ปรารถนาบุตร
แม้จะเป็นคนยากจนก็วิงวอนขอบุตรต่อเทพเจ้า
หญิงบางพวกละปฏิภาณ๑แล้วไม่ได้บุตรก็มี
[๑๑๐๒] หญิงเหล่านั้นย่อมทำความหวังว่า “ขอบุตรจงเกิดแก่เรา”
แต่นั้น ขอหลาน ๆ จงเกิดอีก
ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อเป็นเช่นนี้
พระองค์รับสั่งให้ฆ่าพวกข้าพระองค์
เพื่อต้องการจะทรงบูชายัญโดยเหตุอันไม่สมควร
[๑๑๐๓] ข้าแต่พระบิดา คนทั้งหลายได้บุตรด้วยการวิงวอน
ขอพระองค์อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
ขออย่าทรงบูชายัญนี้ด้วยบุตรทั้งหลายที่ได้มาโดยยาก
[๑๑๐๔] ข้าแต่พระบิดา คนทั้งหลายได้บุตรด้วยการวิงวอน
ขอพระองค์อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
ขออย่าได้พรากพวกข้าพระองค์
ผู้เป็นบุตรที่ได้มาโดยยากจากมารดาเลย
[๑๑๐๕] ข้าแต่พระมารดา พระมารดาย่อมย่อยยับ
เพราะทรงเลี้ยงลูกจันทกุมารด้วยความลำบากมาก
ลูกขอกราบพระยุคลบาทของพระมารดา
ขอพระราชบิดาจงทรงได้ปรโลกเถิด
[๑๑๐๖] เชิญพระมารดา จงสวมกอดลูก
แล้วประทานพระยุคลบาทมาให้ลูกกราบไหว้เถิด
ลูกจะจากไป ณ บัดนี้
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญของพระเจ้าเอกราช

เชิงอรรถ :
๑ ละปฏิภาณ หมายถึงละการแพ้ท้อง คือ ไม่ได้การแพ้ท้อง (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๑๐๑/๑๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๐๗] เชิญพระมารดา จงสวมกอดลูก
แล้วประทานพระยุคลบาทมาให้ลูกกราบไหว้เถิด
ลูกจะจากไป ณ บัดนี้
ทำความโศกเศร้าพระทัยให้แก่พระมารดา
[๑๑๐๘] เชิญพระมารดาจงสวมกอดลูก
แล้วประทานพระยุคลบาทมาให้ลูกกราบไหว้เถิด
ลูกจะจากไป ณ บัดนี้
ทำความโศกเศร้าเสียใจให้แก่ประชาชน
(พระมารดาตรัสกับจันทกุมารว่า)
[๑๑๐๙] เชิญเถิด ลูกโคตมี เจ้าจงรัดเมาลีด้วยใบบัว
จงประดับดอกไม้อันแซมด้วยกลีบจำปา
นี่เป็นปกติของเจ้าที่มีมาเก่าก่อน
[๑๑๑๐] เชิญเถิด เจ้าจงไล้ทาเครื่องลูบไล้
คือจันทน์แดงอันเป็นครั้งสุดท้ายของเจ้า
เจ้าไล้ทาด้วยจุรณแก่นจันทน์แดงนั้นแล้วย่อมงามในราชบริษัท
[๑๑๑๑] เชิญเถิด เจ้าจงนุ่งผ้าของชาวแคว้นกาสีเป็นครั้งสุดท้าย
ซึ่งเป็นผ้าเนื้อละเอียด อ่อนนุ่ม
เจ้านุ่งผ้ากาสิกพัสตร์นั้นดีแล้วย่อมงามในราชบริษัท
[๑๑๑๒] เชิญเจ้าประดับหัตถาภรณ์
อันเป็นเครื่องประดับทองคำฝังแก้วมุกดาและแก้วมณี
เจ้าประดับหัตถาภรณ์นั้นแล้วย่อมงามในราชบริษัท
(พระเทวีกราบทูลพระราชาว่า)
[๑๑๑๓] พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองรัฐเป็นทายาทของชนบท
ผู้เป็นใหญ่เป็นอิสระในโลกนี้
จะไม่ทรงทำความสิเนหาให้เกิดในพระโอรสแน่ละหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๑๑๔] แม้ลูกก็เป็นที่รักของเรา ตนเองก็เป็นที่รัก
เธอและภรรยาทั้งหลายก็เป็นที่รักของเรา
แต่เราปรารถนาสวรรค์ เพราะฉะนั้น เราจึงจักฆ่าให้ได้
(พระเทวีกราบทูลว่า)
[๑๑๑๕] ข้าแต่สมมติเทพ อันดับแรก
ขอพระองค์จงรับสั่งให้ฆ่าหม่อมฉันเถิด
ขอทุกข์อย่าได้ทำลายหทัยของหม่อมฉันเลย
พระโอรสของพระองค์เป็นสุขุมาลชาติ ประดับแล้วงดงาม
[๑๑๑๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้า เชิญเถิด
ขอพระองค์ได้โปรดฆ่าหม่อมฉันเถิด
หม่อมฉันจักอยู่กับจันทกุมารในปรโลก
ขอพระองค์ทรงทำบุญให้ไพบูลย์เถิด
หม่อมฉันทั้ง ๒ จะท่องเที่ยวไปในปรโลก
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๑๑๗] จันทาผู้มีนัยน์ตาโต เจ้าอย่าชอบใจความตายเลย
โคตมีบุตรถูกเราบูชายัญแล้ว ผัว พี่ผัว น้องผัวของเจ้า
เป็นอันมากเหล่านั้นจักทำให้รื่นรมย์ใจได้
[๑๑๑๘] เมื่อพระราชาได้ตรัสอย่างนี้แล้ว
พระนางจันทาเทวีทรงตีพระองค์เองด้วยฝ่าพระหัตถ์
พอทีด้วยชีวิตในโลกนี้ เราจักดื่มยาพิษตาย
[๑๑๑๙] พระญาติและมิตรผู้มีหทัยดีของพระราชาพระองค์นี้
ย่อมไม่มีแน่แท้ จึงไม่ทูลทัดทานพระราชาว่า
อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าบุตรทั้งหลาย
ผู้เกิดแต่พระอุระเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๒๐] พระญาติและมิตรผู้มีหทัยดีของพระราชาพระองค์นี้
ย่อมไม่มีแน่แท้ จึงไม่ทูลทัดทานพระราชาว่า
อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าบุตรผู้เกิดแต่ตนเลย
[๑๑๒๑] บุตรของหม่อมฉันเหล่านี้ประดับพวงดอกไม้
สวมกำไลทองต้นแขน ขอพระราชาทรงบูชายัญ
ด้วยบุตรของหม่อมฉันเหล่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น
ขอพระองค์ทรงปล่อยบุตรโคตมีเถิด พระเจ้าข้า
[๑๑๒๒] ข้าแต่มหาราช ขอจงฆ่าหม่อมฉัน
แบ่งออกเป็นร้อยส่วนแล้วบูชายัญ ๗ ส่วน
ขออย่าทรงฆ่าบุตรองค์ใหญ่
ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์เลย
[๑๑๒๓] ข้าแต่มหาราช ขอจงฆ่าหม่อมฉัน
แบ่งออกเป็นร้อยส่วนแล้วบูชายัญ ๗ ส่วน
ขออย่าทรงฆ่าบุตรองค์ใหญ่
ผู้เป็นที่มุ่งหวังของชาวโลกทั้งมวลเลย
(จันทกุมารตรัสกับพระนางจันทาเทวีว่า)
[๑๑๒๔] เครื่องประดับเป็นอันมากล้วนแต่ของดี ๆ คือ
แก้วมุกดา แก้วมณี และแก้วไพฑูรย์
ที่เราให้แก่เจ้า ในเมื่อเจ้ากล่าวคำดี
นี้เป็นของที่เราให้แก่เจ้าเป็นครั้งสุดท้าย
(พระนางจันทากราบทูลว่า)
[๑๑๒๕] เมื่อก่อน พวงดอกไม้ที่บานเคยสวมที่พระศอ
ของพระกุมารเหล่าใด
วันนี้ ดาบที่เขาลับคมดีแล้ว
จักตัดที่พระศอของพระกุมารเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๒๖] เมื่อก่อน พวงดอกไม้ที่วิจิตร
เคยสวมที่พระศอของพระกุมารเหล่าใด
วันนี้ ดาบที่เขาลับคมดีแล้ว
จักตัดที่พระศอของพระกุมารแม้เหล่านั้น
[๑๑๒๗] ไม่นานหนอ ดาบจักตัดที่พระศอ
ของพระราชบุตรทั้งหลาย
ส่วนหทัยของเราจะยังไม่แตก
ตราบเท่าที่มีเครื่องผูกมารัดเราไว้แน่น
[๑๑๒๘] จันทกุมารและสุริยกุมาร
ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกราชบุรุษนำไปบูชายัญเพื่อพระเจ้าเอกราช
[๑๑๒๙] จันทกุมารและสุริยกุมาร
ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกนำออกไปทำความเศร้าพระทัยแก่พระมารดา
[๑๑๓๐] จันทกุมารและสุริยกุมาร
ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกนำออกไปทำความเศร้าใจให้แก่ประชาชน
[๑๑๓๑] จันทกุมารและสุริยกุมาร
เสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ
ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกราชบุรุษนำไปบูชายัญเพื่อพระเจ้าเอกราช

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๓๒] จันทกุมารและสุริยกุมาร
เสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ
ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกนำออกไปทำความเศร้าพระทัยให้แก่พระมารดา
[๑๑๓๓] จันทกุมารและสุริยกุมาร
เสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ
ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกนำออกไปทำความเศร้าใจให้แก่ประชาชน
[๑๑๓๔] เมื่อเขาตกแต่งเครื่องบูชายัญครบทุกสิ่งแล้ว
เมื่อจันทกุมารและสุริยกุมารประทับนั่ง
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ
พระราชธิดาของพระเจ้าปัญจาละประนมพระหัตถ์
เสด็จดำเนินเวียนไปในระหว่างบริษัททั้งปวง ได้ทำสัจกิริยาว่า
[๑๑๓๕] ขัณฑหาละผู้มีปัญญาทราม
ได้ทำกรรมชั่วด้วยสัจจะอันใด
ด้วยสัจวาจานี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้อยู่ร่วมกับพระสวามี
[๑๑๓๖] อมนุษย์ก็ดี ยักษ์ก็ดี
สัตว์ที่เกิดแล้วและที่จะมาเกิดก็ดี มีอยู่ในที่นี้
ขอจงทำความขวนขวายช่วยเหลือข้าพเจ้า
ขอให้ข้าพเจ้าได้อยู่ร่วมกับพระสวามี
[๑๑๓๗] เหล่าเทวดาที่มาแล้ว ณ ที่นี้
สรรพสัตว์ที่เกิดแล้วและที่จะมาเกิด
ขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าผู้ไร้ที่พึ่งซึ่งแสวงหาที่พึ่ง
ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านทั้งหลาย
ขออย่าให้พวกข้าศึกชนะพระสวามีของข้าพเจ้าเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๓๘] ท้าวสักกเทวราชทรงสดับเสียงคร่ำครวญ
ของพระนางจันทานั้นแล้วทรงกวัดแกว่งค้อนเหล็ก
ยังความกลัวให้เกิดแก่พระเจ้าเอกราชนั้นแล้ว
ได้ตรัสกับพระราชาดังนี้ว่า
[๑๑๓๙] พระราชากาลี ขอท่านจงรู้ไว้
อย่าให้เราต้องทุบเศียรของท่านด้วยค้อนเหล็กนี้เลย
ท่านอย่าได้ฆ่าบุตรองค์ใหญ่
ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์
[๑๑๔๐] พระราชากาลี ท่านเคยเห็นที่ไหน
คนที่ปรารถนาสวรรค์ต้องฆ่าบุตร
ภรรยา เศรษฐี และคหบดีผู้ไม่คิดประทุษร้าย
[๑๑๔๑] ขัณฑหาลปุโรหิตและพระราชาได้ฟังพระดำรัส
ของท้าวสักกะนั้นแล้ว ได้เห็นรูปอันน่าอัศจรรย์
จึงได้แก้เครื่องจองจำสัตว์ทั้งปวงออก
เหมือนแก้เครื่องจองจำสัตว์ผู้ไม่ต้องถูกฆ่าออกฉะนั้น
[๑๑๔๒] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น
ทุกคนใช้ก้อนดินคนละก้อนทุ่มลง
นั่นคือการฆ่าขัณฑหาลปุโรหิต
[๑๑๔๓] คนที่ทำกรรมชั่วต้องตกนรกทั้งหมดฉันใด
คนที่ทำกรรมชั่วแล้วจากโลกนี้ไป
ก็ไม่พึงได้การไปสู่สุคติเลยฉันนั้น
[๑๑๔๔] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
ราชบริษัททั้งหลายมาประชุมกันอภิเษกจันทกุมาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๔๕] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
ราชกัญญาทั้งหลายมาประชุมกันอภิเษกจันทกุมาร
[๑๑๔๖] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
เทพบริษัททั้งหลายมาประชุมกันอภิเษกพระจันทกุมาร
[๑๑๔๗] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
เทพกัญญาทั้งหลายมาประชุมกันอภิเษกจันทกุมาร
[๑๑๔๘] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
ราชบริษัททั้งหลายมาประชุมกันแล้ว ต่างก็แกว่งผ้าและโบกธง
[๑๑๔๙] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
ราชกัญญาทั้งหลายมาประชุมกันแล้ว ต่างก็แกว่งผ้าและโบกธง
[๑๑๕๐] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
เทพบริษัททั้งหลายมาประชุมกันแล้ว ต่างก็แกว่งผ้าและโบกธง
[๑๑๕๑] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
เทพกัญญาทั้งหลายมาประชุมกันแล้ว ต่างก็แกว่งผ้าและโบกธง
[๑๑๕๒] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
ประชาชนเป็นอันมาก ต่างก็รื่นรมย์ยินดี
พวกเขาได้ประกาศความยินดีในเวลาที่จันทกุมาร
เสด็จเข้าสู่พระนครและได้ประกาศโฆษณาความหลุดพ้น
จากเครื่องจองจำของสัตว์ทั้งปวงแล้ว
จันทกุมารชาดกที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
๘. มหานารทกัสสปชาดก๑ (๕๔๕)
ว่าด้วยพระมหานารทกัสสปะทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๑๕๓] พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระราชาของชาวแคว้นวิเทหะ
ทรงพระนามว่าอังคติ ทรงมีพระราชยาน
พระราชทรัพย์มากมาย ทรงมีพลนิกายเหลือที่จะคณานับ
[๑๑๕๔] เมื่อปฐมยามคืนวันเพ็ญเดือน ๔
ซึ่งเป็นเวลาที่ดอกโกมุทบานยังไม่ผ่านไป
พระองค์รับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์
[๑๑๕๕] ราชบัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยการศึกษาเล่าเรียน
มีปกติยิ้มก่อนจึงพูด เฉลียวฉลาด
และอำมาตย์ผู้ใหญ่อีก ๓ นาย
คือ (๑) วิชัยอำมาตย์ (๒) สุนามอำมาตย์
(๓) อลาตเสนาบดีอำมาตย์
[๑๑๕๖] พระเจ้าวิเทหะตรัสถามอำมาตย์ ๓ นายนั้นทีละคนว่า
ท่านทั้งหลายจงกล่าวตามความพอใจของตน ๆ ว่า
ในคืนวันเพ็ญเดือน ๔ นี้ ดวงจันทร์แจ่มจรัส
กลางคืนวันนี้ เราทั้งหลายจะพึงพักอยู่
ตลอดฤดูกาลเช่นนี้นี้ ด้วยความยินดีอะไร
[๑๑๕๗] ลำดับนั้น อลาตเสนาบดีอำมาตย์ได้กราบทูล
คำนี้แด่พระราชาว่า “ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายพึงจัด
ราชยาน กองพลช้าง กองพลม้า กองพลเสนา
ที่ยินดีร่าเริงแล้วให้พร้อมสรรพ

เชิงอรรถ :
๑ พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ อุทยานลัฏฐิวัน ทรงปรารภการที่ทรงทรมานอุรุเวลกัสสปะ ตรัสมหา-
นารทกัสสปชาดกซึ่งมีคำเริ่มต้นว่า ได้มีพระราชาแห่งกรุงวิเทหะ ดังนี้เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๑๕๘] ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะนำกองทัพ
ที่ทรงพลังเกรียงไกรออกต่อสู้การยุทธ์ให้ได้
พวกใดยังไม่มาสู่อำนาจ
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะนำมาสู่อำนาจ
นี้เป็นความเห็นส่วนตัวของข้าพระพุทธเจ้า
เราทั้งหลายจะได้ชัยชนะผู้ที่ยังไม่ชนะ”
[๑๑๕๙] สุนามอำมาตย์ได้ฟังคำของอลาตเสนาบดีอำมาตย์แล้ว
ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาราช
พวกศัตรูของฝ่าพระบาทมาสู่พระราชอำนาจหมดแล้ว
[๑๑๖๐] ต่างพากันวางศัสตรา ยอมสวามิภักดิ์แล้วทั้งหมด
วันนี้เป็นวันมหรสพสนุกสนานยิ่ง
การรบข้าพระพุทธเจ้าไม่ชอบใจ
[๑๑๖๑] ขอชนทั้งหลายจงรีบนำข้าวน้ำ
และของควรเคี้ยวมาเพื่อพระองค์เถิด
ขอเดชะ ขอฝ่าพระบาทจงทรงรื่นรมย์ด้วยกามคุณ
ในการฟ้อนรำ ขับร้อง และการประโคมอันไพเราะเถิด”
[๑๑๖๒] วิชัยอำมาตย์ได้ฟังคำของสุนามอำมาตย์แล้ว
ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาราช กามทุกอย่าง
ได้ปรากฏแก่พระองค์อยู่เป็นนิตย์แล้ว
[๑๑๖๓] ขอเดชะ การเพลิดเพลินด้วยกามคุณทั้งหลาย
พระองค์ทรงหาได้ไม่ยากเลย ทรงปรารถนาก็ได้ทุกเมื่อ
การรื่นรมย์กามคุณทั้งหลายมิใช่ความคิดเห็นของข้าพระองค์
[๑๑๖๔] วันนี้ เราทั้งหลายควรพากันเข้าไปหาสมณะ
หรือพราหมณ์ผู้เป็นพหูสูต รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ
ที่ท่านจะพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราได้ดีกว่า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๑๖๕] พระเจ้าอังคติได้สดับคำของวิชัยอำมาตย์แล้ว
ได้ตรัสว่า แม้เราก็ชอบใจคำพูดของวิชัยอำมาตย์ตามที่พูดไว้
[๑๑๖๖] วันนี้ เราทั้งหลายควรพากันเข้าไปหาสมณะ
หรือพราหมณ์ผู้เป็นพหูสูต รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ
ที่ท่านจะพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราได้ดีกว่า
[๑๑๖๗] ท่านที่อยู่ ณ ที่นี้ ทุกท่านจงลงมติว่า
“วันนี้ เราทั้งหลายควรพากันเข้าไปหาบัณฑิต
ผู้รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ
ที่ท่านจะพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราได้”
[๑๑๖๘] อลาตเสนาบดีได้ฟังพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหะแล้ว
ได้กราบทูลดังนี้ว่า ได้มีชีเปลือย
ที่ชาวโลกยอมรับว่าเป็นนักปราชญ์อยู่ในมฤคทายวัน
[๑๑๖๙] ชีเปลือยผู้นี้ชื่อว่าคุณะ ผู้กัสสปโคตร
เป็นพหูสูต พูดจาไพเราะ เป็นเจ้าหมู่คณะ
ขอเดชะ เราทั้งหลายควรพากันเข้าไปหาท่าน
ท่านจักกำจัดความสงสัยของพวกเราได้”
[๑๑๗๐] พระราชาได้ทรงสดับคำของอลาตเสนาบดีแล้ว
ได้รับสั่งสารถีว่า “เราจะไปยังมฤคทายวัน
ท่านจงนำยานที่เทียมม้าแล้วมาที่นี้”
[๑๑๗๑] พวกนายสารถีได้จัดเทียมพระราชยานที่ทำด้วยงา
มีกระพองเป็นเงิน และจัดรถพระที่นั่งรองที่บุผ้าขาวอันผุดผ่อง
ดังดวงจันทร์ในราตรีที่ปราศจากมลทินโทษ
มาถวายแด่พระราชานั้น
[๑๑๗๒] รถนั้นเทียมด้วยม้าสินธพ ๔ ตัวล้วนแต่มีสีดังดอกโกมุท
เป็นม้ามีฝีเท้าเร็วดังลมพัด วิ่งเรียบ ประดับด้วยดอกไม้ทอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๑๗๓] ฉัตร รถ ม้า และพัดวีชนีล้วนมีสีขาว
พระเจ้าวิเทหะพร้อมด้วยหมู่อำมาตย์
เสด็จออกย่อมงดงามเหมือนดวงจันทร์
[๑๑๗๔] หมู่พลราชบริพารผู้กล้าหาญอยู่บนหลังม้า
ถือหอกดาบตามเสด็จจอมกษัตริย์ผู้ประเสริฐกว่านรชน
[๑๑๗๕] พระเจ้าวิเทหะบรมกษัตริย์พระองค์นั้น
เสด็จไปถึงมฤคทายวันโดยครู่เดียว
เสด็จลงจากพระราชยานแล้ว
ทรงดำเนินเข้าไปหาคุณาชีวก พร้อมด้วยหมู่อำมาตย์
[๑๑๗๖] ในคราวนั้น มีพราหมณ์และคหบดีแม้เหล่าใด
มาประชุมกันในพระราชอุทยานนั้น
พระราชามิให้พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้น
ผู้นั่งอยู่ที่ภาคพื้นซึ่งไม่ได้เว้นที่ไว้ลุกหนีไป
[๑๑๗๗] ลำดับนั้น พระราชาเสด็จเข้าไปประทับนั่งบนราชอาสน์
ที่ปูลาดด้วยพระยี่ภู่มีสัมผัสอ่อนนุ่ม ณ ที่อันสมควร
[๑๑๗๘] ได้ทรงปราศรัยไต่ถามสุขทุกข์ว่า
“พระคุณเจ้าสบายดีอยู่หรือ ลมมิได้กำเริบเสียดแทงหรือ
[๑๑๗๙] พระคุณเจ้าเลี้ยงชีวิตโดยไม่ฝืดเคืองหรือ
ได้บิณฑบาตพอประทังชีวิตให้เป็นไปอยู่หรือ
พระคุณเจ้ามีอาพาธน้อยหรือ จักษุมิได้เสื่อมไปหรือ”
[๑๑๘๐] คุณาชีวกทูลปราศรัยกับพระเจ้าวิเทหะผู้ทรงยินดีในวินัยว่า
“ถวายพระพรมหาบพิตร อาตมภาพสบายดีทุกประการ
[๑๑๘๑] บ้านเมืองของพระองค์ไม่กำเริบหรือ
ช้างม้าของพระองค์มิได้มีโรคหรือ ราชพาหนะก็ยังเป็นไปหรือ
พยาธิไม่มีมาเบียดเบียนพระวรกายของพระองค์บ้างหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๑๘๒] ลำดับนั้น พระราชาผู้เป็นจอมทัพทรงใคร่ธรรม
อันอาชีวกทูลชมเชยแล้ว
ได้ตรัสถามอรรถธรรมและเหตุในลำดับว่า
[๑๑๘๓] “ท่านกัสสปะ นรชนพึงประพฤติธรรม
ในบิดาและมารดาอย่างไร
พึงประพฤติธรรมในอาจารย์อย่างไร
พึงประพฤติธรรมในบุตรภรรยาอย่างไร
[๑๑๘๔] พึงประพฤติธรรมในวุฑฒบุคคลอย่างไร
พึงประพฤติธรรมในสมณะและพราหมณ์อย่างไร
พึงประพฤติธรรมในพลนิกายอย่างไร
พึงประพฤติธรรมในชาวชนบทอย่างไร
[๑๑๘๕] ชนทั้งหลายประพฤติธรรมอย่างไร
ละโลกนี้แล้วจึงไปสู่สุคติ
ส่วนคนบางพวกไม่ดำรงอยู่ในธรรม ทำไมจึงตกนรก”
[๑๑๘๖] คุณาชีวกกัสสปโคตรได้ฟังพระดำรัส
ของพระเจ้าวิเทหะแล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า
“ขอถวายพระพรมหาบพิตร ขอพระองค์ทรงสดับ
ทางที่จริงแท้ของพระองค์เถิด
[๑๑๘๗] ผลดีผลชั่วแห่งธรรมที่ประพฤติแล้วไม่มี
ข้าแต่สมมติเทพ โลกอื่นไม่มี
ใครเล่าจากโลกอื่นนั้นมาสู่โลกนี้
[๑๑๘๘] ข้าแต่สมมติเทพ ปู่ย่าตายายไม่มี
มารดาบิดาจะมีได้ที่ไหน
ชื่อว่าอาจารย์ไม่มี ใครจักฝึกคนที่ยังไม่ฝึก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๑๘๙] สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ทัดเทียมกันหมด
ผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญไม่มี
กำลังหรือความเพียรไม่มี
บุรุษผู้มีความหมั่นจะได้รับผลแต่ที่ไหน
สัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดตามกันมาเหมือนเรือพ่วงตามเรือไป
[๑๑๙๐] สัตว์ย่อมได้สิ่งที่ควรจะได้
ในข้อนั้น ผลทานจะมีแต่ที่ไหน
ข้าแต่สมมติเทพ ผลทานไม่มี
เขาไม่มีอำนาจ ไม่มีความเพียร๑ พระเจ้าข้า
[๑๑๙๑] พวกคนพาลบัญญัติทาน พวกบัณฑิตรับทาน
พวกคนพาลถือตนว่าเป็นบัณฑิต เป็นผู้ไร้อำนาจ
ย่อมให้ทานแก่นักปราชญ์ทั้งหลาย
[๑๑๙๒] รูปกายอันเป็นที่รวม ๗ ประการนี้ คือ
(๑) ดิน (๒) น้ำ (๓) ไฟ (๔) ลม
(๕) สุข (๖) ทุกข์ (๗) ชีวิต เป็นของเที่ยง
ไม่ขาดสูญ ไม่กำเริบ
ความขาดสูญไม่มีแก่สัตว์เหล่าใด
รูปกาย ๗ ประการนี้ย่อมมีแก่สัตว์เหล่านั้น
[๑๑๙๓] ผู้ฆ่า ผู้ตัด หรือใคร ๆ ผู้ถูกฆ่า ก็ไม่มี
ศัสตราทั้งหลายสอดแทรกเข้าไป
ในระหว่างรูปกาย ๗ ประการนี้

เชิงอรรถ :
๑ เขาไม่มีอำนาจ ไม่มีความเพียร หมายถึงเมื่อผลทานไม่มีอย่างนี้ ใครคนใดคนหนึ่งซึ่งเป็นคนโง่ก็ยังให้
ทานอยู่ แต่เขาไม่มีอำนาจ ไม่มีความเพียร โดยสรุปอาชีวกกราบทูลชี้แจงว่า คนผู้นั้นไม่เชื่อว่าให้ทาน
ด้วยอำนาจ ด้วยกำลังของตน แต่สำคัญว่า ผลทานมีจึงให้ทาน เพราะเชื่อคนโง่พวกอื่น (ขุ.ชา.อ.
๑๐/๑๑๙๐/๑๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๑๙๔] ผู้ใดตัดศีรษะของผู้อื่นด้วยดาบที่ลับแล้ว
ผู้นั้นไม่ชื่อว่าตัดรูปกายเหล่านั้น
ในการทำเช่นนั้น ผลบาปจะมีแต่ที่ไหน
[๑๑๙๕] สัตว์ทุกจำพวกท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร ๘๔ มหากัป
ย่อมบริสุทธิ์ได้เอง เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้น
แม้สำรวมดีแล้วก็บริสุทธิ์ไม่ได้
[๑๑๙๖] เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้น
แม้จะประพฤติความดีมากมายก็บริสุทธิ์ไม่ได้
แม้ถ้าทำบาปไว้มากมายก็ไม่ล่วงพ้นขณะนั้นไปได้
[๑๑๙๗] ในวาทะของเราทั้งหลาย ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ตามลำดับ
เมื่อถึง ๘๔ กัป พวกเราย่อมไม่ล่วงเลยเขตที่แน่นอนนั้น
เหมือนสาครไม่ล้นฝั่งไป”
[๑๑๙๘] อลาตเสนาบดีได้ฟังคำของคุณาชีวกกัสสปโคตรแล้ว
ได้กล่าวดังนี้ว่า “ข้าพเจ้าชอบใจ
คำของท่านผู้เจริญตามที่กล่าวไว้
[๑๑๙๙] แม้ข้าพเจ้าเองก็ระลึกชาติก่อนที่ตนท่องเที่ยวไปได้
คือ ในชาติก่อน ข้าพเจ้าเกิดในกรุงพาราณสี
ที่เป็นเมืองมั่งคั่ง เป็นพรานฆ่าโคชื่อปิงคละ
[๑๒๐๐] ข้าพเจ้าเกิดในกรุงพาราณสีที่เป็นเมืองมั่งคั่งแล้ว
ได้ทำบาปกรรมไว้เป็นอันมาก คือ ได้ฆ่าสัตว์มีชีวิต
ได้แก่ กระบือ สุกร แพะเป็นจำนวนมาก
[๑๒๐๑] จุติจากชาตินั้นแล้วมาเกิดในตระกูลเสนาบดีอันบริบูรณ์นี้
บาปไม่มีผลแน่นอน ข้าพเจ้าจึงไม่ต้องไปตกนรก”
[๑๒๐๒] ครั้งนั้น ในกรุงมิถิลานี้ ได้มีคนเข็ญใจเป็นทาสชื่อว่าวีชกะ
กำลังรักษาอุโบสถ เข้าไปยังสำนักของคุณาชีวก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๐๓] ได้ฟังคำของกัสสปคุณาชีวก
และของอลาตเสนาบดีกล่าวกันแล้ว
จึงถอนหายใจอึดอัดร้องไห้หลั่งน้ำตา
[๑๒๐๔] พระเจ้าวิเทหะได้ตรัสถามนายวีชกะนั้นว่า
“สหาย เจ้าร้องไห้ทำไม เจ้าได้ฟังได้เห็นอะไรมาหรือ
เจ้าได้รับทุกขเวทนาอะไร จงบอกให้เราทราบเถิด”
[๑๒๐๕] นายวีชกะได้ฟังพระราชดำรัสของพระเจ้าวิเทหะแล้ว
ได้กราบทูลให้ทรงทราบดังนี้ว่า
“ข้าแต่มหาราชข้าพระองค์ไม่มีทุกขเวทนาเลย
ขอพระองค์ได้ทรงสดับคำของข้าพระพุทธเจ้าเถิด
[๑๒๐๖] แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ยังระลึกถึง
ความสุขในชาติก่อนของตนเองได้ คือ
ในชาติก่อน ข้าพระพุทธเจ้าได้เคยเกิดเป็นเศรษฐี
ชื่อว่าภาวเศรษฐี ยินดีในคุณธรรมอยู่ในเมืองสาเกต
[๑๒๐๗] ข้าพระพุทธเจ้านั้นได้รับการยกย่องจากพราหมณ์และคหบดี
ยินดีในการบริจาคทาน มีการงานสะอาด
ระลึกถึงบาปกรรมชั่วที่ตนเคยทำไว้ไม่ได้เลย
[๑๒๐๘] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ ข้าพระพุทธเจ้าจุติจากชาตินั้นแล้ว
มาเกิดในครรภ์ของนางกุมภทาสี
ซึ่งเป็นหญิงขัดสนยากจนในกรุงมิถิลานี้
ตั้งแต่เวลาที่เกิดมา ข้าพระพุทธเจ้า
ก็เป็นยาจกเข็ญใจตลอดมา
[๑๒๐๙] แม้ข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นคนยากจนอย่างนี้
ก็ยังตั้งมั่นอยู่ในความประพฤติชอบ
ได้ให้อาหารกึ่งหนึ่งแก่ผู้ที่ปรารถนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๑๐] ข้าพระพุทธเจ้านั้นได้รักษาอุโบสถศีล
ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำทุกเมื่อ
ไม่เบียดเบียนสัตว์และไม่ลักทรัพย์
[๑๒๑๑] กรรมทั้งปวงที่ข้าพระพุทธเจ้า
ได้ประพฤติมาดีแล้วนี้ไร้ผลแน่
ศีลนี้เห็นจะไร้ประโยชน์เหมือนอลาตเสนาบดีกล่าว
[๑๒๑๒] ข้าพระพุทธเจ้ากำเอาแต่ความปราชัยไว้
เหมือนนักเลงผู้ไร้ศิลปะเป็นแน่
ส่วนอลาตเสนาบดีกำเอาไว้แต่ชัยชนะ
เหมือนนักเลงผู้ฝึกฝนการพนัน
[๑๒๑๓] ข้าแต่พระราชา ข้าพระพุทธเจ้ายังมองไม่เห็นประตู
ที่จะเป็นทางไปสู่สุคติเลย ฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟัง
คำของกัสสปคุณาชีวกแล้ว จึงร้องไห้”
[๑๒๑๔] พระเจ้าอังคติได้สดับคำพูดของนายวีชกะแล้ว
ได้ตรัสว่า “ประตูสุคติไม่มี ท่านยังสงสัยอีกหรือวีชกะ”
[๑๒๑๕] ได้ทราบว่า “สุขหรือทุกข์สัตว์ได้เองแน่นอน
สัตว์ทั้งหลายหมดจดได้ด้วยการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ
เมื่อยังไม่ถึงเวลา ท่านอย่าได้รีบด่วนไปเลย
[๑๒๑๖] เมื่อก่อน แม้เราก็เคยทำความดีมา
ขวนขวายช่วยเหลือพราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย
สั่งสอนราชกิจอยู่เนือง ๆ งดเว้นจากความยินดี(ในกามคุณ)
ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้
[๑๒๑๗] ท่านผู้เจริญ พวกเราจะได้พบกันอีก
ถ้าจักมีการคบหาสมาคมกัน”
พระเจ้าวิเทหะครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว
ก็ได้เสด็จกลับไปยังพระราชนิเวศน์ของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๑๘] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว
พระเจ้าอังคติรับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์
ในสถานที่ประทับสำราญของพระองค์แล้ว
ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[๑๒๑๙] “ขอเหล่าอำมาตย์จงจัดกามคุณทั้งหลายให้แก่เราทุกเมื่อ
ในจันทกปราสาทของเรา
เมื่อราชการลับถูกเปิดเผยขึ้น
ใคร ๆ อย่าได้เข้ามาหาเรา
[๑๒๒๐] อำมาตย์ฉลาดในราชกิจ ๓ นาย คือ
(๑) วิชัยอำมาตย์ (๒) สุนามอำมาตย์
(๓) อลาตเสนาบดี จงนั่งพิจารณาข้อราชการเหล่านี้”
[๑๒๒๑] พระเจ้าวิเทหะครั้นตรัสดังนี้แล้ว
จึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า
“ขอท่านทั้งหลายจงใส่ใจในกามคุณให้มาก
และอย่าได้ไปยุ่งในกิจการอะไร ๆ
ในพวกพราหมณ์และคหบดีเลย”
[๑๒๒๒] ตั้งแต่วันนั้นมา ๒ สัปดาห์
พระราชกัญญาพระนามว่ารุจา
ผู้เป็นพระธิดาเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าวิเทหะ
ได้ตรัสกับพระพี่เลี้ยงว่า
[๑๒๒๓] “ขอพวกท่านจงช่วยกันประดับประดาให้ฉันด้วย
และขอให้เพื่อนหญิงของฉันจงช่วยกันประดับ
พรุ่งนี้ ๑๕ ค่ำเป็นวันทิพย์๑
ฉันจะไปเฝ้าพระบิดา”

เชิงอรรถ :
๑ วันทิพย์ หมายถึงวันที่เทวดาประชุมกันประดับตกแต่งร่างกาย (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๒๒๓/๑๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๒๔] พระพี่เลี้ยงทั้งหลายได้จัดมาลัย แก่นจันทน์
แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดา และผ้าสีต่าง ๆ
ที่มีค่ามากมาถวายแด่พระนางรุจานั้น
[๑๒๒๕] หญิงเป็นอันมากแวดล้อมพระนางรุจาราชธิดา
ผู้มีพระฉวีวรรณงามนั้น ผู้ประทับนั่งอยู่บนพระภัทรบิฐ๑
สวยงามยิ่งนักดังนางเทพกัญญา
[๑๒๒๖] พระนางรุจาราชธิดานั้นทรงประดับสรรพาภรณ์
เสด็จไป ณ ท่ามกลางเพื่อนหญิง
เหมือนสายฟ้าแลบออกจากเมฆ
ได้เสด็จเข้าสู่จันทกปราสาท
[๑๒๒๗] ครั้นเสด็จเข้าไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหะ
ถวายบังคมพระบิดาผู้ทรงยินดีในคำแนะนำแล้ว
ประทับอยู่บนพระภัทรบิฐอันขจิตด้วยทอง ณ ที่อันสมควร
[๑๒๒๘] พระเจ้าวิเทหะทอดพระเนตรเห็นพระนางรุจา
ประทับอยู่ท่ามกลางพระสหายหญิง
ซึ่งเป็นเหมือนสมาคมของนางเทพอัปสร
จึงได้ตรัสพระดำรัสดังนี้ว่า
[๑๒๒๙] “ลูกหญิงยังรื่นรมย์อยู่ในปราสาท
และสระโบกขรณีในภายในอุทยานอยู่หรือ
คนเหล่านั้นยังนำของเสวยเป็นอันมาก
มาให้ลูกหญิงอยู่เสมอหรือ
[๑๒๓๐] ลูกหญิงและเพื่อนหญิงของลูก
ยังเก็บดอกไม้หลายชนิดมาร้อยเป็นพวงมาลัย
ทำเรือนหลังเล็ก ๆ แต่ละหลังเล่นเพลิดเพลินอยู่หรือ

เชิงอรรถ :
๑ ภัทรบิฐ หมายถึงตั่งทอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๓ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น