Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๘-๘ หน้า ๔๓๖ - ๔๙๗

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘-๘ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(พญานาคตรัสว่า)
[๑๕๙๗] “ท่านบัณฑิต ในนาคพิภพนี้
ไม่มีสมณะและพราหมณ์ที่เราจะถวายข้าวและน้ำเลย
เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนี้แก่เรา
โดยที่เราจะพึงได้ครอบครองวิมานต่อไปอีกเถิด”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๕๙๘] “ข้าแต่พญานาค ก็นาคทั้งหลายที่เป็นพระโอรส
พระธิดา พระชายา ทั้งพระญาติและข้าเฝ้าของพระองค์
ผู้อุบัติในวิมานนี้มีอยู่ ขอพระองค์ทรงเป็นผู้ไม่ประทุษร้าย
ในนาคที่เป็นพระโอรสเป็นต้นเหล่านั้น
ด้วยพระกายและพระวาจาเป็นนิตย์เถิด
[๑๕๙๙] พระองค์ทรงรักษาความไม่ประทุษร้าย
ด้วยพระกายและพระวาจาอย่างนี้
พระองค์ดำรงอยู่ในวิมานนี้ได้จนตลอดพระชนมายุแล้ว
จักเสด็จไปสู่เทวโลกซึ่งสูงขึ้นไปกว่านาคพิภพนี้”
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[๑๖๐๐] ท่านเป็นอำมาตย์คู่ชีพของพระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์ใด
พระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์นั้นพรากจากท่านแล้ว
ย่อมทรงเศร้าโศกแน่ทีเดียว คนผู้ถูกความทุกข์ครอบงำก็ดี
คนผู้ป่วยหนักก็ดี ได้สมาคมกับท่านแล้วพึงได้ความสุข”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๖๐๑] “ข้าแต่พญานาค พระองค์ตรัสธรรมของเหล่าสัตบุรุษ
ซึ่งเป็นส่วนแห่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม
ที่นักปราชญ์ได้ประพฤติดีแล้วโดยแท้
เพราะบรรดาอันตรายทั้งหลาย เมื่อภัยเช่นนี้เกิดขึ้น
คุณวิเศษของเหล่าบุคคลผู้มีปัญญาเช่นข้าพระองค์ย่อมปรากฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(พญานาคตรัสถามว่า)
[๑๖๐๒] “ขอท่านจงบอกเรา ปุณณกยักษ์นี้ได้ท่านมาเปล่า ๆ หรือ
ขอท่านจงบอกเรา ปุณณกยักษ์นี้ชนะในการเล่นการพนัน
จึงได้ท่านมา ปุณณกยักษ์นี้บอกว่า ได้ท่านมาโดยธรรม
ท่านตกอยู่ในเงื้อมมือของปุณณกยักษ์นี้ได้อย่างไร”
(วิธุรบัณฑิตทูลตอบว่า)
[๑๖๐๓] “ปุณณกยักษ์นี้เล่นการพนันชนะพระราชาของข้าพระองค์
ผู้เป็นใหญ่ในกรุงอินทปัตถ์นั้น
พระราชาพระองค์นั้นที่ปุณณกยักษ์ชนะแล้ว
จึงได้ทรงพระราชทานข้าพระองค์แก่ปุณณกยักษ์นี้
ปุณณกยักษ์นี้จึงได้ข้าพระองค์มาโดยธรรม
มิใช่ได้มาโดยไม่เป็นธรรม”
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๖๐๔] “ในกาลนั้น พญานาคผู้ประเสริฐทรงสดับคำสุภาษิต
ของวิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์แล้ว
ทรงชื่นชมโสมนัสมีพระทัยเต็มตื้นด้วยปีติ
ทรงจูงมือวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ต่ำทราม
ได้เสด็จเข้าไปในที่อยู่ของพระชายา” ตรัสว่า
[๑๖๐๕] “น้องวิมลา เพราะเหตุใด น้องจึงผอมเหลือง
เพราะเหตุใด น้องจึงไม่ชอบเสวยพระกระยาหาร
ก็เกียรติคุณเช่นนั้นของเราไม่มี
ท่านผู้นี้คือวิธุรบัณฑิตผู้บรรเทาความมืดของโลกทั้งปวง
[๑๖๐๖] นี้คือผู้ที่น้องต้องการหัวใจ ผู้ทำความสว่างไสวมาถึงแล้ว
เชิญน้องตั้งใจฟังถ้อยคำของท่าน
การที่จะได้เห็นท่านอีกเป็นการหาได้ยาก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(พระศาสดาตรัสต่อไปว่า)
[๑๖๐๗] “นางวิมลาทอดพระเนตรเห็นวิธุรบัณฑิตนั้น
ผู้มีปัญญาดุจแผ่นดินแล้ว มีพระทัยยินดีโสมนัส
ทรงยกพระองคุลีทั้ง ๑๐ นิ้วขึ้นไหว้และตรัสกับวิธุรบัณฑิต
ผู้เป็นนักปราชญ์ประเสริฐที่สุดแห่งชาวกุรุรัฐว่า
[๑๖๐๘] “ท่านเป็นมนุษย์มาเห็นนาคพิภพที่ตนไม่เคยเห็น
ถูกภัยคือความตายคุกคามแล้ว ไม่กลัวและไม่อภิวาท
อาการเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่มีแก่ผู้มีปัญญา”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๖๐๙] “ข้าแต่พระนางเจ้านาคี ข้าพระองค์ไม่กลัว
และไม่ถูกภัยคือความตายคุกคาม
นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต
หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน
[๑๖๑๐] คนจะกราบไหว้ผู้ปรารถนาจะฆ่าตน
หรือผู้ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้ผู้ที่ฆ่าตน
กราบไหว้ตนได้อย่างไร กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จ”
(นางนาควิมลาตรัสว่า)
[๑๖๑๑] บัณฑิต คำนั้นถูกอย่างที่ท่านพูด ท่านพูดจริง
นักโทษประหารไม่ควรกราบไหว้เพชฌฆาต
หรือเพชฌฆาตก็ไม่ควรให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน
[๑๖๑๒] คนจะกราบไหว้ผู้ปรารถนาจะฆ่าตน
หรือผู้ที่ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้ผู้ที่จะฆ่าตน
กราบไหว้ตนได้อย่างไร กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(วิธุรบัณฑิตทูลถามว่า)
[๑๖๑๓] “ข้าแต่นางนาคกัญญา วิมานของพระองค์นี้
เป็นของไม่เที่ยง แต่เป็นเหมือนเที่ยง
ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร
และการอุบัติในนาคพิภพได้มีแล้วแก่พระองค์
ข้าพระองค์ขอทูลถามเนื้อความนั้นกับพระองค์
วิมานนี้พระองค์ทรงได้มาอย่างไรหนอ
[๑๖๑๔] วิมานนี้พระองค์ทรงได้มาเพราะอาศัยอะไร
หรือเป็นของเกิดขึ้นตามฤดูกาล
พระองค์งทรงสร้างขึ้นเองหรือเหล่าเทวดาถวายพระองค์
ข้าแต่นางนาคกัญญา ขอพระองค์ตรัสบอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระองค์
ตามที่พระองค์ทรงได้วิมานนี้เถิด”
(นางนาควิมลาตอบว่า)
[๑๖๑๕] “วิมานนี้ ฉันจะได้มาเพราะอาศัยอะไรก็หามิได้
จะเกิดขึ้นตามฤดูกาลก็หามิได้
ฉันมิได้ทำขึ้นเอง เหล่าเทวดาก็มิได้ถวาย
วิมานนี้ฉันได้มาด้วยบุญกรรมอันไม่ต่ำทรามของฉันเอง
(วิธุรบัณฑิตทูลถามว่า)
[๑๖๑๖] “ข้าแต่พระนางเจ้านาคี อะไรเป็นวัตร
อะไรเป็นพรหมจรรย์ของพระองค์
ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร
และการอุบัติในนาคพิภพ ทั้งวิมานใหญ่ของพระองค์นี้
เป็นผลของกรรมอะไรที่พระองค์ได้ประพฤติไว้ดีแล้ว”
(นางนาควิมลาตอบว่า)
[๑๖๑๗] “ฉันและพระสวามีของฉันทั้ง ๒
เป็นผู้มีศรัทธา เป็นทานบดี
ครั้งนั้น เรือนของฉันเป็นดังบ่อน้ำ
ฉันได้บำรุงสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายให้อิ่มหนำสำราญแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
[๑๖๑๘] ฉันและพระสวามีได้ถวายทาน คือ ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ เครื่องประทีป ที่นอน ที่พัก
ผ้านุ่งห่ม ผ้าปูนอน ข้าว และน้ำ โดยเคารพ
[๑๖๑๙] ทานที่ได้ถวายโดยเคารพนั้นเป็นวัตรของฉัน
และการสมาทานวัตรนั้นเป็นพรหมจรรย์ของฉัน
ท่านนักปราชญ์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร
การอุบัติในนาคพิภพ และวิมานใหญ่ของฉันนี้
เป็นผลแห่งวัตรและพรหมจรรย์นั้นที่ฉันประพฤติดีแล้ว”
(วิธุรบัณฑิตทูลถามว่า)
[๑๖๒๐] “ถ้าวิมานนี้พระองค์ทรงได้มาด้วยอานุภาพแห่งบุญอย่างนี้
พระองค์ย่อมทรงทราบผลบุญ
และทราบการอุบัติในนาคพิภพเพราะผลบุญ
เพราะเหตุนั้นแล ขอพระองค์อย่าทรงประมาท
จงทรงประพฤติธรรมตามที่จะได้ครอบครองวิมานนี้ต่อไปเถิด
(นางนาควิมลากล่าวว่า)
[๑๖๒๑] “ท่านบัณฑิต ในนาคพิภพนี้
ไม่มีสมณะและพราหมณ์ที่ฉันจะถวายข้าวและน้ำเลย
ฉันถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนี้แก่ฉัน
โดยที่ฉันจะพึงได้ครอบครองวิมานต่อไปอีกเถิด”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๖๒๒] “ข้าแต่พระนางเจ้านาคี ก็นาคทั้งหลายที่เป็นพระโอรส
พระธิดา พระสวามี ทั้งพระญาติ และข้าเฝ้าของพระองค์
ผู้อุบัติในวิมานนี้มีอยู่ ขอพระองค์ทรงเป็นผู้ไม่ประทุษร้าย
ในนาคที่เป็นพระโอรสเป็นต้นเหล่านั้น
ด้วยพระกายและพระวาจาเป็นนิตย์เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
[๑๖๒๓] พระองค์ทรงรักษาความไม่ประทุษร้าย
ด้วยพระกายและพระวาจาอย่างนี้
พระองค์ดำรงอยู่ในวิมานนี้ได้จนตลอดพระชนมายุแล้ว
จักเสด็จไปสู่เทวโลกซึ่งสูงขึ้นไปกว่านาคพิภพนี้”
(นางนาควิมลาตรัสว่า)
[๑๖๒๔] “ท่านเป็นอำมาตย์คู่ชีพของพระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์ใด
พระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์นั้นพรากจากท่านแล้ว
ย่อมทรงเศร้าโศกแน่ทีเดียว คนผู้ถูกความทุกข์ครอบงำก็ดี
คนผู้ป่วยหนักก็ดี ได้สมาคมกับท่านแล้วพึงได้ความสุข”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๖๒๕] “ข้าแต่พระนางเจ้านาคี พระองค์ตรัสธรรมของเหล่าสัตบุรุษ
ซึ่งเป็นส่วนแห่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม
ที่นักปราชญ์ได้ประพฤติดีแล้วโดยแท้
เพราะบรรดาอันตรายทั้งหลาย เมื่อภัยเช่นนี้เกิดขึ้น
คุณวิเศษของบุคคลผู้มีปัญญาเช่นข้าพระองค์ย่อมปรากฏ”
(นางนาควิมลาตรัสถามว่า)
[๑๖๒๖] “ขอท่านจงบอกเรา ปุณณกยักษ์นี้ได้ท่านมาเปล่า ๆ หรือ
ขอท่านจงบอกเรา ปุณณกยักษ์นี้ชนะในการเล่นการพนัน
จึงได้ท่านมา ปุณณกยักษ์นี้บอกว่า ได้ท่านมาโดยธรรม
ท่านตกอยู่ในเงื้อมมือของปุณณกยักษ์นี้ได้อย่างไร”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๖๒๗] “ปุณณกยักษ์นี้เล่นการพนันชนะพระราชาของข้าพระองค์
ผู้เป็นใหญ่ในกรุงอินทปัตถ์นั้น
พระราชาพระองค์นั้นที่ปุณณกยักษ์ชนะแล้ว
จึงได้ทรงพระราชทานข้าพระองค์แก่ปุณณกยักษ์นี้
ปุณณกยักษ์นี้จึงได้ข้าพระองค์มาโดยธรรม
มิใช่ได้มาโดยไม่เป็นธรรม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสว่า)
[๑๖๒๘] พญานาควรุณได้ตรัสถามปัญาหากับบัณฑิตฉันใด
แม้พระนางวิมลานาคกัญญาก็ตรัสถามปัญหากับบัณฑิตฉันนั้น
[๑๖๒๙] วิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ที่พญานาควรุณตรัสถามแล้ว
ได้พยากรณ์ปัญหาให้พญานาควรุณทรงยินดีฉันใด
แม้พระนางวิมลานาคกัญญาก็ให้ทรงยินดีฉันนั้น
[๑๖๓๐] วิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ทราบว่า พญานาคผู้ประเสริฐ
และนางนาคกัญญาทั้ง ๒ พระองค์นั้นพอพระทัย
ก็ไม่ครั่นคร้าม ไม่กลัว ไม่ขนพองสยองเกล้า
ได้กราบทูลท้าววรุณนาคราชว่า
[๑๖๓๑] “ข้าแต่พญานาค พระองค์อย่าทรงวิตกเลย
ข้าพระองค์เป็นส่วย๑ ขอพระองค์จงทรงทำกิจ
ด้วยเนื้อหทัยตามที่พระองค์ทรงประสงค์เถิด
ข้าพระองค์จะทำลายสรีระนี้ตามพระประสงค์ของพระองค์เอง”
(พญานาคตรัสว่า)
[๑๖๓๒] “ปัญญานั่นเอง เป็นหัวใจของบัณฑิตทั้งหลาย
พวกเรายินดีด้วยปัญญาของท่านยิ่งนัก
ขอปุณณกเสนาบดีของยักษ์จงได้ภรรยา ณ วันนี้
และจงไปส่งท่านให้ถึงแคว้นกุรุในวันเดียวกันนี้เถิด”
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๖๓๓] ปุณณกยักษ์นั้นได้นางอิรันทดีนาคกัญญาแล้ว
ก็มีใจชื่นชมโสมนัส ได้กล่าวกับวิธุรบัณฑิต
ผู้ประเสริฐที่สุดแห่งชาวแคว้นกุรุว่า

เชิงอรรถ :
๑ ส่วย หมายถึงของที่เรียกเก็บจากพื้นเมืองส่งเป็นภาคหลวง ตามวิธีเรียกเก็บภาษีอากรในสมัยโบราณ
(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ หน้า ๗๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
[๑๖๓๔] “ท่านวิธุรบัณฑิต ท่านได้ทำให้ข้าพเจ้า
พร้อมเพรียงกับภรรยา
ข้าพเจ้าจะทำกิจให้แก่ท่าน จะให้รัตนะคือแก้วมณีนี้แก่ท่าน
และจะนำท่านไปส่งให้ถึงแคว้นกุรุในวันนี้เลยทีเดียว”
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๖๓๕] “กัจจานะ ขอท่านจงมีไมตรี
อย่าได้แตกแยกกับภรรยาผู้น่ารักของท่านตลอดไปเถิด
ขอท่านจงเป็นผู้มีจิตเบิกบานมีปีติโสมนัส
ท่านได้ให้แก้วมณีแล้ว
ขอจงนำข้าพเจ้าไปยังกรุงอินทปัตถ์ด้วยเถิด
(พระศาสดาตรัสต่อไปว่า)
[๑๖๓๖] ปุณณกยักษ์นั้นเชิญให้วิธุรบัณฑิต
ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุ ซึ่งมีปัญญาไม่ต่ำทราม
ให้ขึ้นนั่งบนอาสนะข้างหน้าของตนแล้ว
นำไปยังกรุงอินทปัตถ์
[๑๖๓๗] ปุณณกยักษ์นั้นได้นำวิธุรบัณฑิต
ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุไปสู่กรุงอินทปัตถ์
ได้เร็วยิ่งกว่าใจของมนุษย์คิดไปรับอารมณ์๑เสียอีก
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[๑๖๓๘] “โน่น กรุงอินทปัตถ์ปรากฏอยู่
และป่ามะม่วงที่น่ารื่นรมย์ก็เห็นเป็นหย่อม ๆ
ข้าพเจ้าพร้อมกับภรรยาและท่านก็ได้ถึงที่พักอาศัยของตน”

เชิงอรรถ :
๑ เร็วยิ่งกว่าใจของมนุษย์คิดไปรับอารมณ์ หมายถึงธรรมดาใจไปหาอะไรไม่ได้ เป็นแต่ว่ารับอารมณ์ได้ไกล
ท่านจึงเรียกว่า ใจไป อธิบายว่า การเดินทางของม้าสินธพมโนมัย(ของปุณณกยักษ์)นั้น เร็วยิ่งกว่าใจ
รับอารมณ์ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๓๖๗/๒๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๖๓๙] ปุณณกยักษ์ผู้มีผิวพรรณผุดผ่องนั้น
ได้ยกวิธุรบัณฑิตผู้ประเสริฐที่สุดของชาวแคว้นกุรุ
ลงไว้ในท่ามกลางธรรมสภาแล้ว
ก็ขึ้นม้าอาชาไนยเหาะไปในอากาศกลางหาว
[๑๖๔๐] พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นวิธุรบัณฑิตนั้นแล้ว
ทรงพระปรีดาปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง
เสด็จลุกขึ้นสวมกอดวิธุรบัณฑิตด้วยพระพาหาทั้ง ๒
ไม่ทรงหวั่นไหว ทรงเชื้อเชิญให้นั่งบนอาสนะ
ท่ามกลางธรรมสภาตรงพระพักตร์ ตรัสว่า
[๑๖๔๑] “ท่านเป็นผู้แนะนำพวกเรา
เหมือนนายสารถีบังคับรถหุ้มเกราะ
ชาวแคว้นกุรุทั้งหลายยินดีเพราะได้เห็นท่าน
เราได้ถามท่านแล้ว ขอจงบอกเนื้อความนั้น
ท่านพ้นจากมาณพมาได้อย่างไร”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๖๔๒] “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน
ซึ่งแกล้วกล้าและประเสริฐกว่าคน
ผู้ที่พระองค์เรียกว่ามาณพนั้นมิใช่มนุษย์
เขาเป็นยักษ์ชื่อปุณณกะ
พระองค์ก็ทรงเคยได้ทราบชื่อมาแล้ว
ก็ปุณณกยักษ์นั้นเป็นอำมาตย์คู่ชีพของท้าวกุเวร
[๑๖๔๓] พญานาคทรงพระนามว่าวรุณผู้ครองนาคพิภพ
มีพระกายใหญ่ สะอาด สมบูรณ์ด้วยผิวพรรณและกำลัง
ปุณณกยักษ์รักปรารถนานางนาคกัญญาชื่ออิรันทดี
ผู้เป็นธิดาของพญานาคนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
[๑๖๔๔] ปุณณกยักษ์นั้นจึงตกลงใจจะฆ่าข้าพระองค์
เพราะเหตุแห่งนางอิรันทดีผู้มีเอวบางร่างน้อยน่ารัก
ก็ปุณณกยักษ์นั้นแลเป็นผู้พร้อมเพรียงกับภรรยา
ส่วนข้าพระองค์ได้รับอนุญาตพญานาคมา
และได้แก้วมณีมาด้วย”
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๖๔๕] “มีต้นไม้ต้นหนึ่งเกิดริมประตูราชมณเฑียรของเรา
มีปัญญาเป็นลำต้น มีศีลเป็นกิ่ง
ต้นไม้นั้นผลิผลต้องตามอรรถและธรรม
มีผลเป็นปัญจโครส๑ ดารดาษไปด้วยช้าง ม้า และโค
[๑๖๔๖] เมื่อมหาชนกำลังทำการบูชาต้นไม้นั้น
เล่นเพลินอยู่ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง และดนตรี
มีบุรุษคนหนึ่งไล่ทหารให้หนีไปแล้วถอนต้นไม้นั้นไปด้วย
ต้นไม้ของเรานั้นกลับคืนมาตั้งอยู่ตามเดิม
วิธุรบัณฑิตนี้ก็เหมือนต้นไม้ใหญ่นั้น
กลับคืนมาสู่ที่อยู่ของตนตามเดิมแล้ว
ขอท่านทั้งหลายจงทำความเคารพนบนอบแก่ต้นไม้นี้เถิด
[๑๖๔๗] ขอเชิญอำมาตย์เหล่าใดเหล่าหนึ่งผู้มีความปลื้มใจด้วยยศ
ที่ได้เพราะอาศัยเราทุก ๆ ท่านทีเดียว
จงแสดงความปลื้มใจของตนให้ปรากฏในวันนี้เถิด
ท่านกระทำบรรณาการให้มากแล้ว
จงทำความเคารพนบนอบแก่ต้นไม้นี้เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ปัญจโครส หมายถึงผลที่ได้จากนมโค ๕ ประการ (นมสด, นมส้ม, เนยใส, เนยข้น, เปรียง) (ขุ.ชา.อ.
๑๐/๑๖๔๕/๒๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
[๑๖๔๘] สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ถูกผูกไว้และขังไว้
ซึ่งมีอยู่ในแว่นแคว้นของเรา
ขอชนทั้งหลายจงปล่อยสัตว์เหล่านั้นจากเครื่องผูกให้หมดเถิด
วิธุรบัณฑิตนี้หลุดพ้นจากการจองจำแล้วฉันใด
ขอสัตว์เหล่านั้นจงหลุดพ้นจากเครื่องผูกฉันนั้นเหมือนกัน
[๑๖๔๙] ขอพวกชาวนาชาวไร่จงหยุดพักคราดไถไว้
เล่นมหรสพตลอดเดือนหนึ่งนี้เถิด
ขอเชิญพราหมณ์ทั้งหลายจงมาบริโภคข้าวที่เจือด้วยเนื้อ
พวกนักเลงสุราและพวกที่ชอบดื่มสุราจงดื่มจากถ้วยที่เต็มเปี่ยม
[๑๖๕๐] พวกหญิงแพศยาที่อาศัยอยู่ตามถนนใหญ่
จงเล้าโลมชายผู้มีความต้องการเป็นนิตย์
อนึ่ง ราชบุตรทั้งหลายจงจัดแจงการรักษาในแคว้นให้เข้มแข็ง
อย่าได้เบียดเบียนกันและกัน
ขอท่านทั้งหลายจงทำความเคารพยำเกรงแก่ต้นไม้นี้เถิด”
(เมื่อพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว)
[๑๖๕๑] พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพวกพราหมณ์
ได้นำข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้วิธุรบัณฑิต
[๑๖๕๒] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ได้นำข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้วิธุรบัณฑิต
[๑๖๕๓] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
ต่างพากันนำข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้วิธุรบัณฑิต
[๑๖๕๔] ชนเป็นจำนวนมากเห็นวิธุรบัณฑิตกลับมาถึงแล้ว
ต่างก็เลื่อมใส ครั้นวิธุรบัณฑิตมาถึงโดยลำดับแล้ว
ต่างโบกผ้าไปมาด้วยประการฉะนี้แล
วิธุรชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทศพร
๑๐. เวสสันดรชาดก๑ (๕๔๗)
ว่าด้วยพระเจ้าเวสสันดรทรงบำเพ็ญบารมีชาติสุดท้าย
กัณฑ์ทศพร
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๖๕๕] ผุสดีผู้มีรัศมีผิวพรรณอันประเสริฐ
มีอวัยวะส่วนด้านหน้าสวยงาม
เธอจงเลือกเอาพร ๑๐ ประการ
ในปฐพีอันเป็นที่รักแห่งหฤทัยของเธอเถิด
(เทพธิดาผุสดีกราบทูลว่า)
[๑๖๕๖] ข้าแต่ท้าวเทวราช หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์
หม่อมฉันได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หรือ
พระองค์จึงให้หม่อมฉันจุติจากสถานอันน่ารื่นรมย์
ดุจลมพัดต้นไม้ใหญ่ให้โค่นไป
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๖๕๗] เธอมิได้ทำบาปกรรมอะไรไว้เลย
และเธอจะไม่เป็นที่รักของเราก็หามิได้
แต่บุญของเธอได้หมดสิ้นแล้ว
เหตุนั้น เราจึงกล่าวกับเธออย่างนี้
[๑๖๕๘] ความตายใกล้เธอแล้ว
เธอจักต้องพลัดพรากจากไป
เธอจงรับพร ๑๐ ประการนี้ของเราผู้กำลังจะให้

เชิงอรรถ :
๑ พระศาสดาประทับอยู่ ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงปรารภฝนโบกขรพรรษ (ฝนดุจน้ำตกในใบบัว
มีสีแดง ผู้ต้องการให้เปียกจึงเปียก) ให้เป็นเหตุ ตรัสเวสสันดรชาดกแก่ภิกษุทั้งหลาย (ขุ.ชา.อ.
๑๐/๕๔๗/๒๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทศพร
(เทพธิดาผุสดีกราบทูลว่า)
[๑๖๕๙] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง
ถ้าพระองค์จะประทานพรแก่หม่อมฉัน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้หม่อมฉัน
พึงเกิดในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้ากรุงสีพี
[๑๖๖๐] ข้าแต่ท้าวปุรินททะ ขอให้หม่อมฉัน
(๑) พึงเป็นผู้มีตาดำเหมือนลูกเนื้อทราย ซึ่งมีนัยน์ตาดำ
(๒) พึงมีขนคิ้วดำ
(๓) พึงมีนามว่าผุสดีในพระราชนิเวศน์นั้น
[๑๖๖๑] (๔) พึงได้โอรสผู้ให้สิ่งที่ประเสริฐ
ประกอบความเกื้อกูลในยาจก
มิได้ตระหนี่ ซึ่งพระราชาทุกประเทศบูชา มีเกียรติยศ
[๑๖๖๒] (๕) เมื่อหม่อมฉันตั้งครรภ์ ขออย่าให้ครรภ์นูนขึ้น
พึงมีครรภ์ไม่นูนเสมอดังคันศร
ที่นายช่างศรเหลาเกลี้ยงเกลาแล้ว
[๑๖๖๓] (๖) ข้าแต่ท้าววาสวะ ขอถันทั้งคู่ของหม่อมฉันอย่าได้หย่อนยาน
(๗) ขอผมหงอกจงอย่าได้มี
(๘) ขอผงธุลีอย่าได้ติดเปรอะเปื้อนกาย
(๙) ขอหม่อมฉันพึงได้ปลดปล่อยนักโทษผู้ต้องประหาร
[๑๖๖๔] (๑๐) ขอให้หม่อมฉันได้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงสีพี
ในพระราชนิเวศน์นั้นอันกึกก้องไปด้วยเสียงร้องของนกยูง
และนกกระเรียน แวดล้อมด้วยหมู่ขัตติยนารี
มีทั้งคนเตี้ยและคนค่อมเกลื่อนกล่น ที่พ่อครัวชาวแคว้นมคธเลี้ยงดู
[๑๖๖๕] กึกก้องไปด้วยเสียงกลอนและเสียงบานประตูอันวิจิตร
มีคนเชิญให้ดื่มสุราและกินกับแกล้มเถิด พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๖๖๖] นางผู้งามทั่วทั้งสรรพางค์กาย
พร ๑๐ ประการใด ที่เราได้ให้เธอ
เธอจักได้พรเหล่านั้นทั้งหมด
ในแคว้นของพระเจ้ากรุงสีพี
[๑๖๖๗] ท้าววาสวมฆวานสุชัมบดีเทวราช
ครั้นตรัสพระดำรัสนี้ จึงโปรดประทานพร
แก่พระนางผุสดีแล้วทรงอนุโมทนา
กัณฑ์ทศพร จบ
กัณฑ์หิมพานต์
(พระศาสดาตรัสเนื้อความนี้ว่า)
พระนางผุสดีนั้น
จุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้ว
มาบังเกิดในตระกูลกษัตริย์
ได้ทรงอยู่ร่วมกับพระเจ้าสัญชัยในกรุงเชตุดร
พระนางผุสดีทรงครรภ์ถ้วนทศมาสแล้ว
เมื่อทรงทำประทักษิณพระนคร
ได้ประสูติเราในท่ามกลางถนนของพวกพ่อค้า
ชื่อของเรามิได้เนื่องมาแต่พระมารดาและมิได้เกิดแต่พระบิดา
เราเกิดที่ถนนของพวกพ่อค้า
ฉะนั้น เราจึงชื่อว่า เวสสันดร
เมื่อเรายังเป็นเด็กเล็กเกิดได้ ๘ ขวบ
นั่งอยู่บนปราสาท คิดที่จะบริจาคทานว่า
เราพึงให้หทัย ดวงตา เนื้อ เลือด และร่างกาย
ถ้าว่าจะมีใครมาขอเรา เราก็ยินดีบริจาคให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
เมื่อเราคิดจะบริจาคทานตามสภาพความเป็นจริง
ใจก็ไม่หวั่นไหวมุ่งมั่นอยู่ในกาลนั้น
เหมือนแผ่นดินมีภูเขาสิเนรุและหมู่ไม้เป็นเครื่องประดับ
(พระเวสสันดรตรัสกับพวกพราหมณ์ผู้มาทูลขอช้างว่า)
[๑๖๖๘] พวกพราหมณ์ผู้มีขนรักแร้ดก
และมีเล็บยาว มีขี้ฟันเขรอะ มีธุลีบนศีรษะ
เหยียดแขนข้างขวาออก จะขออะไรฉันหรือ
(พวกพราหมณ์กราบทูลว่า)
[๑๖๖๙] ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ทั้งหลายทูลขอรัตนะ
ที่เป็นเครื่องทำให้แคว้นของชาวกรุงสีพีเจริญ
ขอได้โปรดพระราชทานช้างตัวประเสริฐ
มีงาดุจงอนไถ มีกำลังสามารถเถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๖๗๐] เราจะให้ช้างพลายซับมันตัวประเสริฐ
ซึ่งเป็นช้างพาหนะอันสูงสุด
ที่พวกพราหมณ์ขอเรา เรามิได้หวั่นไหว
[๑๖๗๑] พระราชาผู้ทรงผดุงแคว้นให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
มีพระทัยน้อมไปในการบริจาค
เสด็จลงจากคอช้าง ทรงให้ทานแก่พราหมณ์ทั้งหลาย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๖๗๒] เมื่อพระเจ้ากรุงสีพีพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว
คราวนั้นความน่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าก็ได้เกิดขึ้น
แผ่นดินก็กัมปนาทหวั่นไหว
[๑๖๗๓] เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว
คราวนั้นความน่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าก็ได้เกิดขึ้น
ชาวพระนครก็กำเริบเสิบสาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๖๗๔] เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว
ชาวเมืองก็วุ่นวายสับสนเสียงดังเซ็งแซ่
เป็นที่น่าสะพรึงกลัวแผ่กระจายไปมากมาย
พระนครก็ปั่นป่วน เมื่อพระเวสสันดร
ผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ได้พระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว
เสียงอื้ออึงอันน่าสะพรึงกลัวเป็นอันมากก็เป็นไปในนครนั้น
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๑๖๗๕] พวกคนผู้มีชื่อเสียง พระราชบุตร
แพศย์ ชาวนา พราหมณ์
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ
[๑๖๗๖] ชาวนิคมและชาวกรุงสีพีทั้งมวลมาประชุมพร้อมกัน
ชนเหล่านั้นเห็นพวกพราหมณ์นำพญาช้างไป
จึงกราบทูลแด่พระเจ้ากรุงสญชัยให้ทรงทราบว่า
[๑๖๗๗] ข้าแต่สมมติเทพ
แคว้นของพระองค์ถูกกำจัดแล้ว
เพราะเหตุไร พระเวสสันดรพระโอรสของพระองค์
จึงพระราชทานช้างตัวประเสริฐของเราทั้งหลาย
ที่ชาวแคว้นบูชา
[๑๖๗๘] ทำไม พระเวสสันดรจึงได้พระราชทาน
พญากุญชรของเราทั้งหลายตัวมีงาดุจงอนไถ
แกล้วกล้าสามารถ รู้จักเขตแห่งการรบทั้งปวง
เผือกผ่องประเสริฐสุด
[๑๖๗๙] คลุมด้วยผ้ากัมพลเหลือง ซับมัน อาจย่ำยีศัตรูได้
มีงาน่าชอบใจ เผือกผ่องดังภูเขาไกรลาส
พร้อมทั้งพัดวาลวีชนี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๖๘๐] ทำไม พระเวสสันดรจึงได้พระราชทาน
พญาช้างราชพาหนะซึ่งเป็นยานชั้นเลิศ
เป็นทรัพย์อย่างประเสริฐ พร้อมทั้งฉัตรขาว เครื่องลาด
หมอช้าง และคนเลี้ยงช้างแก่พวกพราหมณ์
[๑๖๘๑] พระเวสสันดรนั้นควรจะพระราชทาน
ข้าว น้ำ ผ้านุ่งห่ม และที่นั่งที่นอน
ทานเช่นนี้แหละเหมาะสม ทานนั้นแหละสมควรแก่พราหมณ์
[๑๖๘๒] ข้าแต่พระเจ้ากรุงสญชัย ทำไม พระเวสสันดรพระโอรส
ผู้เป็นพระราชาโดยสืบพระราชวงศ์ของพระองค์นี้
ผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจึงพระราชทานพญาคชสารไป
[๑๖๘๓] ถ้าพระองค์จักไม่ทรงทำตามคำนี้ของชาวกรุงสีพี
ชาวกรุงสีพีเห็นทีจักยึดอำนาจพระองค์
พร้อมทั้งพระโอรสไว้ในเงื้อมมือ
(พระเจ้าสัญชัยตรัสว่า)
[๑๖๘๔] ถึงชนบทจะไม่มี และแม้แคว้นจะพินาศไปก็ตามเถิด
เราจะไม่พึงเนรเทศพระราชบุตรผู้ไม่มีโทษ
ออกไปจากแคว้นของตนตามคำของชาวกรุงสีพี
เพราะพระราชบุตรเกิดจากอกของเรา
[๑๖๘๕] ถึงชนบทจะไม่มี และแม้แคว้นจะพินาศไปก็ตามเถิด
เราจะไม่พึงเนรเทศพระราชบุตรผู้ไม่มีโทษ
ออกไปจากแคว้นของตนตามคำของชาวกรุงสีพี
เพราะพระราชบุตรเกิดแต่ตัวของเรา
[๑๖๘๖] อนึ่ง เราจะไม่พึงประทุษร้ายในพระราชบุตรนั้น
เพราะเธอเป็นผู้มีศีลและวัตรอันประเสริฐ
แม้คำติเตียนจะพึงมีแก่เรา และเราจะพึงประสบบาปเป็นอันมาก
เราจะให้ประหารพระเวสสันดรโอรสของเราด้วยศัสตราได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
(ชาวเมืองกราบทูลว่า)
[๑๖๘๗] พระองค์อย่าได้รับสั่งให้ประหารพระเวสสันดรนั้น
ด้วยท่อนไม้หรือด้วยศัสตรา
พระเวสสันดรนั้นไม่ควรแก่เครื่องจองจำ
แต่จงทรงขับไล่พระเวสสันดรนั้น
จากแคว้นไปอยู่ที่เขาวงกตเถิด
(พระเจ้าสัญชัยตรัสว่า)
[๑๖๘๘] ถ้าความพอใจของชาวกรุงสีพีเป็นเช่นนี้ เราก็ไม่ขัด
ขอเธอจงอยู่และบริโภคกามทั้งหลายตลอดคืนนี้
[๑๖๘๙] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว
ชาวกรุงสีพีจงพร้อมเพรียงกันขับไล่เธอเสียจากแคว้นเถิด
[๑๖๙๐] นายนักการ ท่านจงลุกขึ้นรีบไปทูลพระเวสสันดรว่า
ขอเดชะ ชาวกรุงสีพี ชาวนิคม
พากันโกรธเคืองพระองค์ มาชุมนุมกันแล้ว
[๑๖๙๑] พวกคนผู้มีชื่อเสียง พระราชบุตร แพศย์ พราหมณ์
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ
ทั้งชาวนิคมและชาวกรุงสีพีทั้งมวลก็มาประชุมพร้อมกันแล้ว
[๑๖๙๒] เมื่อสิ้นราตรีนี้แล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว
ชาวกรุงสีพีจะชุมนุมกันขับไล่พระองค์ออกไปจากแคว้น
[๑๖๙๓] นายนักการนั้น เมื่อได้รับพระราชดำรัสสั่ง
จึงรีบสวมสอดเครื่องประดับมือ
นุ่งห่มเรียบร้อย ประพรมด้วยจุรณแก่นจันทน์
[๑๖๙๔] สระศีรษะในน้ำ สวมกุณฑลแก้วมณีแล้ว
รีบเข้าไปตำหนักอันน่ารื่นรมย์
ซึ่งเป็นพระราชนิเวศน์ของพระเวสสันดร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๖๙๕] ได้เห็นพระเวสสันดรราชกุมาร
ซึ่งกำลังทรงพระสำราญรื่นรมย์อยู่
ในพระราชวังของพระองค์ซึ่งแน่นขนัดไปด้วยหมู่อำมาตย์
ปานประหนึ่งท้าววาสวะแห่งสวรรค์ชั้นไตรทศ
[๑๖๙๖] นายนักการนั้นครั้นรีบไปในพระราชนิเวศน์นั้นแล้ว
จึงได้กราบทูลพระเวสสันดรว่า ข้าแต่พระองค์ผู้จอมทัพ
ข้าพระองค์จะกราบทูลความทุกข์แด่พระองค์
ขอพระองค์อย่าได้ทรงกริ้วข้าพระองค์เลย
[๑๖๙๗] นายนักการนั้นถวายบังคมแล้วพลางร้องไห้คร่ำครวญ
กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช
พระองค์ทรงชุบเลี้ยงข้าพระองค์
ทรงนำมาซึ่งรสที่น่าใคร่ทุกอย่าง
[๑๖๙๘] ข้าพระบาทจะกราบทูลแด่พระองค์
เมื่อข้าพระองค์กราบทูลข่าวสาส์นเรื่องทุกข์ร้อนนั้นแล้ว
ขอพระองค์จงทรงยังข้าพระองค์ให้เบาใจด้วยเกิด
ขอเดชะ ชาวกรุงสีพีและชาวนิคมโกรธเคืองพระองค์
มาชุมนุมกันแล้ว
[๑๖๙๙] พวกคนผู้มีชื่อเสียง พระราชบุตร แพศย์ พราหมณ์
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ
ทั้งชาวนิคมและชาวกรุงสีพีทั้งมวลล้วนมาประชุมกัน
[๑๗๐๐] เมื่อสิ้นราตรีนี้แล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว
ชาวกรุงสีพีจะชุมนุมกันขับไล่พระองค์ออกไปจากแคว้น
(พระเวสสันดรตรัสถามว่า)
[๑๗๐๑] นายนักการ เพราะเหตุไร ชาวกรุงสีพีจึงโกรธเคืองเรา
ขอท่านจงบอกความชั่วที่เรามองไม่เห็น
ทำไม พวกเขาจึงจะขับไล่เรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
(นายนักการกราบทูลว่า)
[๑๗๐๒] พวกคนผู้มีชื่อเสียง พระราชบุตร แพศย์ พราหมณ์
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ
ต่างพากันติเตียน เพราะพระองค์พระราชทานพญาช้าง
เหตุนั้น พวกเขาจึงจะขับไล่พระองค์
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๗๐๓] เราจะให้หทัย ให้จักษุ เงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์
หรือแก้วมณีซึ่งเป็นทรัพย์ภายนอกของเราก็จะเป็นไรไป
[๑๗๐๔] เมื่อยาจกมาถึง เราเห็นแล้วจะพึงให้แขนขวาแขนซ้าย
ก็ไม่หวั่นไหวเลย ใจของเรายินดีในการให้
[๑๗๐๕] ถึงชาวกรุงสีพีทั้งมวลจะขับไล่เราหรือจะเข่นฆ่าเรา
หรือตัดเราให้เป็น ๗ ท่อนก็ตามเถิด
เราจะไม่งดการให้เลย
[๑๗๐๖] ชาวกรุงสีพีและชาวนิคมประชุมพร้อมกันกล่าวอย่างนี้ว่า
พระเวสสันดรผู้มีวัตรอันงามจงเสด็จไป
สู่อารัญชรคีรีทางฝั่งแม่น้ำโกนติมารา
ตามทางที่พระราชาผู้ถูกขับไล่เสด็จออกไปนั้นเถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๗๐๗] เรานั้นจักไปตามทางที่พระราชาผู้มีโทษเสด็จไป
ขอให้ท่านทั้งหลายจงงดโทษแก่เราคืนหนึ่งและวันหนึ่ง
พอให้เราได้ให้ทานก่อนเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๗๐๘] พระราชาตรัสตักเตือนพระนางมัทรี
ผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กายว่า
ทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้ให้แก่พระนาง
และสิ่งของที่ควรสงวนอันเป็นของพระนาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๗๐๙] คือ เงิน ทอง แก้วมุกดา หรือแก้วไพฑูรย์มีอยู่เป็นอันมาก
และทรัพย์ฝ่ายบิดาของพระนางเอง ควรเก็บไว้ทั้งหมด
[๑๗๑๐] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
ได้ทูลถามพระเวสสันดรนั้นว่า ข้าแต่สมมติเทพ
หม่อมฉันจะเก็บไว้ที่ไหน หม่อมฉันได้ทูลถามพระองค์แล้ว
ขอได้โปรดตรัสบอกเนื้อความนั้นเถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๗๑๑] มัทรี เธอพึงให้ทานในท่านผู้มีศีลทั้งหลายตามสมควรเถิด
เพราะที่พึ่งอย่างอื่นของสัตว์ทั้งปวงยิ่งไปกว่าทานไม่มี
[๑๗๑๒] มัทรี เธอพึงเอาใจใส่ในลูกทั้งหลาย
พึงเอาใจใส่ในแม่ผัวและพ่อผัว
อนึ่ง ผู้ใดพึงตกลงปลงใจว่าจะเป็นพระสวามีของเธอ
ก็พึงบำรุงผู้นั้นโดยความเคารพ
[๑๗๑๓] ถ้าไม่มีผู้ใดตกลงปลงใจเป็นพระสวามีของเธอ
เพราะเธอกับพี่จะต้องพลัดพรากจากกัน
เธอก็จงแสวงหาผู้อื่นมาเป็นพระสวามีเถิด
อย่าลำบากเพราะขาดเราเลย
[๑๗๑๔] เพราะเราจะไปสู่ป่าที่น่าสะพรึงกลัวอันประกอบไปด้วยสัตว์ร้าย
เมื่อเราคนเดียวอยู่ในป่าใหญ่ ชีวิตก็น่าสงสัย
[๑๗๑๕] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
ได้ทูลถามพระเวสสันดรนั้นว่า ทำไมพระองค์
จึงตรัสเรื่องที่ไม่เป็นจริง ทำไมจึงตรัสเรื่องไม่ดี
[๑๗๑๖] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
การที่พระองค์จะพึงเสด็จไปตามลำพังนี้มิใช่ธรรม
แม้หม่อมฉันก็จะตามเสด็จไปตามทางที่พระองค์เสด็จไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๗๑๗] ความตายร่วมกับพระองค์
หรือการมีชีวิตอยู่เว้นจากพระองค์
ความตายร่วมกับพระองค์นั้นเท่านั้นประเสริฐกว่า
การมีชีวิตอยู่เว้นจากพระองค์จะประเสริฐอะไร
[๑๗๑๘] การก่อไฟให้ลุกโพลงมีเปลวเป็นอันเดียวกัน
แล้วจึงตายในไฟที่ลุกโพลงนั้นประเสริฐกว่า
การมีชีวิตอยู่เว้นจากพระองค์จะประเสริฐอะไร
[๑๗๑๙] ช้างพังติดตามพญาช้างผู้ได้รับการฝึกอยู่ในป่า
เที่ยวไปตามซอกเขาเสมอบ้าง ไม่เสมอบ้างฉันใด
[๑๗๒๐] หม่อมฉันจะพาลูกทั้งหลายติดตามพระองค์ไปข้างหลังฉันนั้น
หม่อมฉันจักเป็นผู้เลี้ยงง่ายสำหรับพระองค์
จักไม่เป็นผู้เลี้ยงยากสำหรับพระองค์
[๑๗๒๑] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ส่งเสียงไพเราะ พูดจาน่ารัก นั่งอยู่ที่พุ่มไม้ในป่า
จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๒] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ส่งเสียงไพเราะ พูดจาน่ารัก กำลังเล่นอยู่ที่พุ่มไม้ในป่า
จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๓] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ส่งเสียงไพเราะ พูดจาน่ารัก อยู่ที่อาศรมอันน่ารื่นรมย์
จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๔] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ส่งเสียงไพเราะ พูดจาน่ารัก เล่นอยู่ที่อาศรมอันน่ารื่นรมย์
จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๗๒๕] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ผู้ทัดทรงมาลาประดับองค์อยู่ที่อาศรมรมณียสถาน
จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๖] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ผู้ทัดทรงมาลาประดับองค์เล่นเพลิดเพลินอยู่
ในอาศรมอันน่ารื่นรมย์
จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๗] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ทัดทรงมาลาอยู่ในอาศรมอันน่ารื่นรมย์
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๘] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารทั้งหลาย
ทัดทรงมาลา กำลังฟ้อนรำ
เล่นเพลิดเพลินอยู่ในอาศรมอันน่ารื่นรมย์
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๙] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นช้างพลาย
มีวัยล่วงได้ ๖๐ ปี กำลังเที่ยวไปในป่าตามลำพัง
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๐] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นช้างพลาย
มีวัยล่วงได้ ๖๐ ปี กำลังเที่ยวไปทั้งในเวลาเย็นเวลาเช้า
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๑] เมื่อใด ช้างพลายมีวัยล่วงได้ ๖๐ ปี
เดินนำหน้าโขลงช้างพังไป ส่งเสียงร้องดังกึกก้อง
พระองค์ได้ทรงสดับเสียงร้องของช้างที่บันลือลั่นอยู่นั้น
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๗๓๒] เมื่อใด พระองค์ผู้ให้สิ่งที่น่าพอใจ
ได้ทอดพระเนตรเห็นลำเนาไพรสองข้าง
แห่งทางอันเกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อร้าย
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๓] พระองค์ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นเนื้อที่เดินมาเป็นฝูง
ฝูงละ ๕ ตัวในเวลาเย็นและได้ทอดพระเนตรเห็นพวกกินนร
กำลังฟ้อนรำอยู่ ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๔] เมื่อใด พระองค์ได้ทรงสดับเสียงกระเซ็นของแม่น้ำ
ที่กำลังหลั่งไหลอยู่ และเสียงเพลงขับกล่อมของพวกกินนร
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๕] เมื่อใด พระองค์ได้ทรงสดับเสียงร้องของนกเค้า
ที่บินเที่ยวไปตามซอกเขา
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๖] เมื่อใด พระองค์ได้ทรงสดับเสียงร้องของเหล่าสัตว์ร้าย
คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง แรด และวัวลาน
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๗] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนกยูง
ซึ่งล้อมสะพรั่งไปด้วยนางนกยูงทั้งหลาย
กำลังรำแพนหางจับอยู่บนยอดเขา
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๘] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนกยูง
ที่มีขนปีกงามตระการตา ซึ่งกำลังรำแพนหางอยู่
ล้อมสะพรั่งไปด้วยนางนกยูงทั้งหลาย
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๓๙] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนกยูงตัวมีคอสีเขียว
มีหงอนงามล้อมสะพรั่งไปด้วยนางนกยูงทั้งหลายฟ้อนรำอยู่
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๔๐] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ทั้งหลาย
มีดอกเบ่งบาน กลิ่นหอมอบอวลในฤดูเหมันต์
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๔๑] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นพื้นดิน
อันดารดาษไปด้วยแมลงค่อมทอง
มีสีเขียวสดชะอุ่มในเดือนท้ายฤดูเหมันต์
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๔๒] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ทั้งหลาย
มีดอกบานสะพรั่ง คือ อัญชันเขียวที่กำลังผลิยอดอ่อน
ต้นโลท และบัวบกที่มีดอกบานสะพรั่ง
มีกลิ่นหอมอบอวลไปในฤดูเหมันต์
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๔๓] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นหมู่ไม้
มีดอกบานสะพรั่ง และปทุมชาติ
มีดอกร่วงหล่นลงในเดือนท้ายฤดูเหมันต์
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
กัณฑ์หิมพานต์ จบ
กัณฑ์ทานกัณฑ์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๗๔๔] พระนางผุสดีราชบุตรีผู้ทรงยศได้ทรงสดับคำ
ที่พระโอรสและพระสุณิสาพร่ำสนทนากัน
ทรงคร่ำครวญว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๔๕] เรากินยาพิษตายเสียดีกว่า
เรากระโดดเหวตายเสียดีกว่า
เราเอาเชือกผูกคอตายเสียดีกว่า
เพราะเหตุไร ชาวกรุงสีพีจึงจะให้ขับไล่ลูกเวสสันดรผู้ไม่มีโทษเล่า
[๑๗๔๖] เพราะเหตุไร ชาวกรุงสีพีจึงจะให้ขับไล่ลูกเวสสันดร
ผู้ไม่มีโทษ ผู้ปราดเปรื่อง
เป็นทานบดี ควรแก่การขอ ไม่ตระหนี่
ผู้ที่พระราชาทุก ๆ ประเทศบูชา มีเกียรติยศ
[๑๗๔๗] เพราะเหตุไร ชาวกรุงสีพีจึงจะให้ขับไล่ลูกเวสสันดร
ผู้ไม่มีโทษ ผู้เลี้ยงดูมารดาบิดา
ประพฤติถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
[๑๗๔๘] เพราะเหตุไร ชาวกรุงสีพีจึงจะให้ขับไล่ลูกเวสสันดร
ผู้ไม่มีโทษ ผู้เกื้อกูลแก่พระราชา พระเทวี
พระญาติทั้งหลาย มิตรสหายทั้งหลาย และทั่วทั้งแคว้น
[๑๗๔๙] ชาวกรุงสีพีจะให้ขับไล่ลูกผู้ไม่มีโทษ
แคว้นของพระองค์ก็จะเป็นเหมือนรังผึ้งที่ตัวแมลงผึ้งหนีจากไป
และเหมือนผลมะม่วงสุกที่ร่วงหล่นลงบนดิน
[๑๗๕๐] พระเจ้าแผ่นดินผู้อันพวกอำมาตย์ทอดทิ้งแล้ว
จักทรงลำบากอยู่ตามลำพัง
เหมือนหงส์มีขนปีกสิ้นแล้ว
ลำบากอยู่ในเปือกตมที่ไม่มีน้ำ
[๑๗๕๑] ข้าแต่มหาราช เพราะฉะนั้น
หม่อมฉันจึงขอกราบทูลพระองค์ว่า
ประโยชน์อย่าได้ล่วงเลยพระองค์ไปเสีย
ขอพระองค์อย่าได้ทรงขับไล่ลูกผู้ไม่มีโทษนั้น
ตามคำของชาวกรุงสีพีเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๑๗๕๒] เราย่อมทำความยำเกรงต่อธรรม
เราจึงขับไล่ลูกของตนผู้เป็นธงชัยของชาวกรุงสีพี
ถึงแม้ลูกจะเป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเราเอง
(พระนางผุสดีทรงคร่ำครวญว่า)
[๑๗๕๓] เมื่อก่อน ยอดธงปลิวสะบัดตามเสด็จพระเวสสันดร
เหมือนดอกกรรณิการ์บานสะพรั่ง
วันนี้ เธอจักเสด็จไปองค์เดียวเท่านั้น
[๑๗๕๔] เมื่อก่อน ยอดธงปลิวสะบัดตามเสด็จพระเวสสันดร
เหมือนสวนดอกกรรณิการ์ที่บานสะพรั่ง
วันนี้ เธอจักเสด็จไปองค์เดียวเท่านั้น
[๑๗๕๕] เมื่อก่อน กองทหารเคยตามเสด็จพระเวสสันดร
เหมือนดอกกรรณิการ์ที่บานสะพรั่ง
วันนี้ เธอจักเสด็จไปองค์เดียวเท่านั้น
[๑๗๕๖] เมื่อก่อน กองทหารเคยตามเสด็จพระเวสสันดร
เหมือนสวนดอกกรรณิการ์ที่บานสะพรั่ง
วันนี้ เธอจักเสด็จไปองค์เดียวเท่านั้น
[๑๗๕๗] เมื่อก่อน กองทหารเคยแต่งเครื่องแบบ
ผ้ากัมพลเหลืองจากแคว้นคันธาระ
ทอแสงแวววับเหมือนแมลงค่อมทอง
เคยตามเสด็จพระเวสสันดร
วันนี้ เธอจักเสด็จไปองค์เดียวเท่านั้น
[๑๗๕๘] เมื่อก่อน พระเวสสันดรเคยเสด็จไป
ด้วยช้างพระที่นั่ง วอ และราชรถทรง ทำไมเล่า
วันนี้ จะเสด็จไปด้วยพระบาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๕๙] เมื่อก่อน พระเวสสันดรเคยลูบไล้องค์ด้วยจุรณแก่นจันทน์
ตื่นอยู่ด้วยการฟ้อนรำขับร้อง ทำไมเล่า
วันนี้ จักทรงหนังเสืออันหยาบแข็งและหาบบริขารไป
[๑๗๖๐] เพราะเหตุไร กองทหารจึงไม่ขนเอาผ้า
ที่ย้อมด้วยน้ำฝาดและหนังเสือ
ติดตามพระเวสสันดรผู้เสด็จไปในป่าใหญ่เล่า
พระเวสสันดรจึงจะไม่ต้องนุ่งห่มผ้าคากรอง
[๑๗๖๑] พวกคนที่เป็นเจ้าทรงผนวช
จะทรงครองผ้าคากรองได้อย่างไรหนอ
แม่มัทรีจักนุ่งห่มผ้าคากรองได้อย่างไร
[๑๗๖๒] พระนางมัทรีเคยใช้แต่ผ้าแคว้นกาสี
แคว้นโขมะ และแคว้นโกทุมพร
แล้วมาใช้ผ้าคากรองจักทำได้อย่างไร
[๑๗๖๓] พระนางมัทรีนั้นเคยไปด้วยยาน คานหาม วอ และรถ
วันนี้ จะเดินเท้าไปตามทางได้อย่างไร
[๑๗๖๔] พระนางมัทรีผู้มีสิริโฉม มีฝ่ามืออันอ่อนนุ่ม
มีความเป็นอยู่อย่างมีความสุข
วันนี้ จะเดินเท้าไปตามทางได้อย่างไร
[๑๗๖๕] พระนางมัทรีผู้มีฝ่าเท้าอันอ่อนนุ่ม
มีความเป็นอยู่อย่างมีความสุข
เดินไปอย่างลำบากด้วยรองเท้าทอง
วันนี้ จะเดินเท้าไปตามทางได้อย่างไร
[๑๗๖๖] พระนางมัทรีผู้ทัดทรงมาลา
เดินนำหน้านางข้าหลวงเป็นพัน
วันนี้ จะเดินไปป่าคนเดียวได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๖๗] พระนางมัทรีเมื่อก่อนได้ยินเสียงสุนัขเห่าหอน
ก็สะดุ้งหวาดกลัวประจำ
วันนี้ จะเดินไปป่าได้อย่างไร
[๑๗๖๘] พระนางมัทรีผู้ได้ยินเสียงนกเค้าแมว นกฮูกร้องครวญคราง
ก็หวาดกลัวตัวสั่นเหมือนนางวารุณี๑
วันนี้ จะเดินไปป่าได้อย่างไร
[๑๗๖๙] หม่อมฉันกลับมายังนิเวศน์อันว่างเปล่านี้แล้ว
ก็จักระทมทุกข์ตลอดกาลนานเป็นแน่แท้
เหมือนแม่นกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า
[๑๗๗๐] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย
ก็จักผอมเหลืองลง
เหมือนแม่นกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า
[๑๗๗๑] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย
ก็จักวิ่งพล่านไปตามที่นั้น ๆ
เหมือนแม่นกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า
[๑๗๗๒] หม่อมฉันมายังนิเวศน์อันว่างเปล่านี้แล้ว
ก็จักระทมทุกข์สิ้นกาลนาน
เหมือนแม่นกออกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า
[๑๗๗๓] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย
ก็จักผอมเหลืองเป็นแน่แท้
เหมือนแม่นกออกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า
[๑๗๗๔] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย
ก็จักวิ่งพล่านไปตามที่นั้น ๆ
เหมือนแม่นกออกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า

เชิงอรรถ :
๑ นางวารุณี หมายถึงหญิงที่โดนผีสิง (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๗๖๘/๓๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๗๕] หม่อมฉันกลับมายังนิเวศน์อันว่างเปล่านี้แล้ว
ก็จักระทมทุกข์ตลอดกาลนานเป็นแน่แท้
เหมือนแม่นกจักรพากซบเซาอยู่ในเปือกตมที่ไม่มีน้ำ
[๑๗๗๖] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย
ก็จักผอมเหลืองเป็นแน่แท้
เหมือนแม่นกจักรพากซบเซาอยู่ในเปือกตมที่ไม่มีน้ำ
[๑๗๗๗] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย
ก็จักวิ่งพล่านไปตามที่นั้น ๆ
เหมือนแม่นกจักรพากวิ่งพล่านอยู่ในเปือกตมที่ไม่มีน้ำ
[๑๗๗๘] เมื่อหม่อมฉันพร่ำเพ้ออยู่อย่างนี้
ถ้าพระองค์ยังทรงให้ขับไล่ลูกเวสสันดร
ผู้ไม่มีความผิดจากแว่นแคว้นไปสู่ป่า
หม่อมฉันเห็นจะละชีวิตแน่
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๗๗๙] พระสนมกำนัลในพระเจ้ากรุงสีพีถ้วนหน้า
ได้ยินคำรำพันของพระนางผุสดีแล้ว
ต่างพากันมาประชุมประคองแขนทั้งหลายขึ้นร่ำไห้
[๑๗๘๐] พระโอรสทั้งหลายและพระชายาในนิเวศน์
ของพระเวสสันดร ต่างก็นอนกันแสง
เหมือนหมู่ไม้รังที่ถูกพายุพัดล้มระเนระนาด
[๑๗๘๑] พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์ในนิเวศน์
ของพระเวสสันดร ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายคร่ำครวญ
[๑๗๘๒] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ต่างก็พากันประคองแขนคร่ำครวญในนิเวศน์ของพระเวสสันดร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๘๓] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว
ต่อมาพระเวสสันดรก็เสด็จมาสู่โรงทาน
เพื่อทรงให้ทาน โดยรับสั่งว่า
[๑๗๘๔] พวกท่านจงให้ผ้าแก่ผู้ต้องการผ้า
ให้เหล้าแก่พวกนักเลงเหล้า
ให้โภชนะแก่พวกคนผู้ต้องการโภชนะโดยทั่วถึงกัน
[๑๗๘๕] และพวกท่านอย่าได้เบียดเบียนพวกวณิพกผู้มา ณ ที่นี้
จงเลี้ยงดูพวกเขาให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ
พวกเขาได้รับการบูชาแล้ว ก็จงไปเถิด
[๑๗๘๖] คราวนั้น มีเสียงอึกทึกกึกก้องน่าสะพรึงกลัว
เป็นไปในพระนครนี้ว่า
ชาวกรุงสีพีขับไล่พระเวสสันดรนั้นเพราะทรงบริจาคทาน
ขอให้พระองค์ได้ทรงบริจาคทานต่อไปอีกเถิด
[๑๗๘๗] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก
วณิพกเหล่านั้นก็เป็นดังคนเมามีท่าทางอิดโรย
นั่งปรับทุกข์กันและกันว่า
[๑๗๘๘] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวกรุงสีพีพากันขับไล่พระเวสสันดร
ผู้ไม่มีความผิดไปจากแคว้น
ก็เหมือนได้พากันตัดต้นไม้ที่มีผลต่าง ๆ
[๑๗๘๙] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวกรุงสีพีพากันขับไล่พระเวสสันดร
ผู้ไม่มีความผิดไปจากแคว้น
ก็เหมือนได้พากันตัดต้นไม้ที่ให้สิ่งที่น่าต้องการทุกอย่าง
[๑๗๙๐] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวกรุงสีพีพากันขับไล่พระเวสสันดร
ผู้ไม่มีความผิดไปจากแคว้น
ก็เหมือนได้พากันตัดต้นไม้ที่นำรสที่น่าต้องการทุกอย่างมาให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๙๑] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก
ทั้งคนแก่ เด็ก และคนปานกลาง
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญ
[๑๗๙๒] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก
พวกทรงเจ้า พวกขันที สนมฝ่ายใน และโหรหลวง
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญ
[๑๗๙๓] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก
แม้หญิงทั้งหลายที่อยู่ในกรุงนั้นต่างก็พากันร้องไห้คร่ำครวญ
[๑๗๙๔] สมณะ พราหมณ์ และพวกวณิพกเหล่าอื่น
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า เป็นการไม่ยุติธรรมเลย
[๑๗๙๕] เพราะเหตุที่พระเวสสันดรกำลังบำเพ็ญทาน
อยู่ในพระราชวังของพระองค์
จะเสด็จออกไปจากแคว้นของพระองค์
เพราะคำของชาวกรุงสีพีเป็นเหตุ
[๑๗๙๖] พระเวสสันดรได้พระราชทานช้าง ๗๐๐ เชือก
ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
อันมีสายรัดทองและสัปคับทอง
[๑๗๙๗] มีนายควาญช้างถือหอกซัดและขอ ขึ้นขี่คอประจำแล้ว
เสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๗๙๘] พระเวสสันดรทรงพระราชทานม้า ๗๐๐ ตัว
ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
เป็นม้าสินธพชาติอาชาไนย มีฝีเท้าเร็ว
[๑๗๙๙] มีนายสารถีถือทวนและธนู ขึ้นขี่ประจำแล้ว
เสด็จออกจากแคว้นของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๐๐] พระเวสสันดรทรงพระราชทานรถ ๗๐๐ คัน
ซึ่งผูกสอดเครื่องรบชักธงขึ้น
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
[๑๘๐๑] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนู ขึ้นขับขี่แล้ว
เสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๘๐๒] พระเวสสันดรพระราชทานสตรี ๗๐๐ นาง
นั่งประจำในรถคันละนาง
สวมสอดด้วยสร้อยสังวาล ตบแต่งด้วยเครื่องทอง
[๑๘๐๓] มีเครื่องประดับ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม
และประดับเครื่องอาภรณ์ล้วนแต่มีสีเหลือง
มีดวงตากว้าง ใบหน้ายิ้มแย้ม สะโพกงาม
เอวบางร่างน้อย แล้วเสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๘๐๔] พระเวสสันดรพระราชทานแม่โคนม ๗๐๐ ตัว
พร้อมด้วยภาชนะเงินสำหรับรองรับน้ำนมทุก ๆ ตัวแล้ว
เสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๘๐๕] พระเวสสันดรพระราชทานทาสี ๗๐๐ คน
และทาส ๗๐๐ คนแล้ว
จึงเสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๘๐๖] พระเวสสันดรนี้พระราชทานช้าง ม้า รถ
และนารีที่ประดับตบแต่งแล้ว
จึงเสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๘๐๗] ในสมัยนั้น ได้มีสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้า
เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานมหาทานแล้ว
แผ่นดินก็สะท้านหวั่นไหว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๐๘] ในสมัยนั้น ได้มีสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้า
เมื่อพระเวสสันดรทรงประนมมือ
เสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๘๐๙] คราวนั้น เสียงอึกทึกกึกก้องน่าสะพรึงกลัว
เป็นไปในพระนครนี้ว่า
ชาวกรุงสีพีขับไล่พระเวสสันดรนั้นเพราะบริจาคทาน
ขอให้พระองค์ได้ทรงบริจาคทานต่อไปอีกเถิด
[๑๘๑๐] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก
วณิพกเหล่านั้นก็เป็นดังคนเมามีท่าทางอิดโรย
นั่งปรับทุกข์กันและกัน
[๑๘๑๑] พระเวสสันดรกราบทูลพระเจ้ากรุงสญชัย
ผู้ประเสริฐ ผู้ทรงธรรมว่า
ขอเดชะ ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเนรเทศข้าพระองค์เถิด
ข้าพระองค์จะไปยังเขาวงกต
[๑๘๑๒] ข้าแต่มหาราช สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีมาแล้ว
ที่จะมีมา และที่มีอยู่
สัตว์เหล่านั้นยังไม่อิ่มด้วยกามเลย
จะต้องพากันไปสู่สำนักของพญายม
[๑๘๑๓] ข้าพระองค์นั้นบำเพ็ญทานอยู่ในบุรีของตน
ยังชื่อว่าเบียดเบียนชาวเมืองของตน
จะต้องออกจากแคว้นของตนเพราะเหตุแห่งคำของชาวกรุงสีพี
[๑๘๑๔] หม่อมฉันจักต้องได้เสวยความคับแค้นนั้น ๆ ในป่า
อันเกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อร้าย
ซึ่งแรดและเสือเหลืองอยู่อาศัย
ข้าพระองค์จะบำเพ็ญบุญ
ขอพระองค์ประทับจมอยู่ในเปือกตมเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๑๕] ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอพระแม่เจ้า
ได้ทรงโปรดอนุญาตหม่อมฉันเถิด หม่อมฉันพอใจการบวช
หม่อมฉันเมื่อบำเพ็ญทานอยู่ในบุรีของตน
ยังชื่อว่าเบียดเบียนชาวเมืองของตน
จะต้องออกจากแคว้นของตนเพราะเหตุแห่งคำของชาวกรุงสีพี
[๑๘๑๖] หม่อมฉันจักต้องได้เสวยความคับแค้นนั้น ๆ ในป่า
อันเกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อร้าย
ซึ่งแรดและเสือเหลืองอยู่อาศัย
หม่อมฉันจะบำเพ็ญบุญ
ขอพระองค์ประทับจมอยู่ในเปือกตมเถิด
(พระนางผุสดีตรัสว่า)
[๑๘๑๗] ลูกเอ๋ย แม่อนุญาตให้ลูก ขอการบวชของลูกจงสำเร็จ
ส่วนแม่มัทรีผู้มีโฉมงาม มีสะโพกผึ่งผาย เอวบางร่างน้อยนี้
จงอยู่กับลูก ๆ เถิด จักทำอะไรในป่าได้
(พระนางมัทรีกราบทูลว่า)
[๑๘๑๘] หม่อมฉันไม่ต้องการนำแม้ทาสีไปสู่ป่าโดยที่เธอไม่ปรารถนา
ถ้าเธอปรารถนา จะติดตามไปก็ตามใจ
ถ้าไม่ปรารถนาก็จงอยู่เถิด
[๑๘๑๙] ลำดับนั้น พระมหาราชเสด็จดำเนินไปทรงวิงวอนพระสุณิสาว่า
แม่มัทรี ผู้มีร่างกายอันชโลมจันทน์
เจ้าอย่าได้ทรงไว้ซึ่งความหมักหมมด้วยละอองธุลีเลย
[๑๘๒๐] แม่มัทรีเคยทรงผ้าแคว้นกาสี อย่าได้ทรงผ้าคากรองเลย
การอยู่ในป่าเป็นความลำบาก
แม่มัทรีผู้มีลักษณะงาม เจ้าอย่าได้ไปเลยนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๒๑] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
ได้กราบทูลพระสัสสุระนั้นว่า
ความสุขใดจะพึงมีแก่หม่อมฉันโดยเว้นจากพระเวสสันดร
หม่อมฉันไม่พึงปรารถนาความสุขนั้น
[๑๘๒๒] พระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ได้ตรัสกับพระนางมัทรีนั้นว่า
เชิญฟังก่อนแม่มัทรี สัตว์อันจะรบกวน
ยากที่จะอดทนได้ สัตว์เหล่าใดมีอยู่ในป่า
[๑๘๒๓] สัตว์เหล่านั้นเป็นอันมาก คือ เหลือบ ตั๊กแตน
ยุง และผึ้ง มันจะพึงเบียดเบียนเธอในป่านั้น
ความทุกข์อย่างยิ่งนั้นจะพึงมีแก่เธอ
[๑๘๒๔] เธอจะต้องได้พบสัตว์ที่น่ากลัวอื่นอีก
ที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำ เช่นงูเหลือม
สัตว์ที่ไม่มีพิษ แต่มีกำลังมาก
[๑๘๒๕] มันรัดมนุษย์ หรือแม้แต่เนื้อที่มาใกล้
ด้วยขนดแล้วนำมาสู่อำนาจของมัน
[๑๘๒๖] แม้เนื้อร้ายอื่น ๆ เช่นหมีดำ
คนที่มันได้เห็นแล้วหนีขึ้นต้นไม้ก็ไม่พ้น
[๑๘๒๗] ควายเปลี่ยวขวิดลับปลายเขาทั้งคู่ให้แหลม
เที่ยวไปอยู่ในถิ่นที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำโสตุมพะ
[๑๘๒๘] แม่มัทรี เธอเปรียบเสมือนแม่โคนมรักลูก
เห็นฝูงเนื้อและโคถึกที่ท่องเที่ยวอยู่ในป่า จักทำอย่างไร
[๑๘๒๙] แม่มัทรี เธอได้เห็นลิงทะโมนไพรที่น่าสะพรึงกลัว
ซึ่งบังเอิญประจวบเข้าที่หนทางที่เดินได้ยาก
ความหวาดหวั่นพรั่นพรึงอันใหญ่หลวง
ก็จักมีแก่เธอเพราะไม่รู้จักเขต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๓๐] แม่มัทรี เมื่อเธออยู่ในพระนคร
ได้ยินเสียงสุนัขเห่าหอน ยังสะดุ้งตกใจบ่อย ๆ
เธอไปถึงเขาวงกตจักทำอย่างไร
[๑๘๓๑] เมื่อฝูงนกพากันจับชุมนุมอยู่ในเวลาเที่ยงตรง
ป่าใหญ่เหมือนส่งเสียงกระหึ่ม
เธอปรารถนาจะไปในป่าใหญ่นั้นทำไม
[๑๘๓๒] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้ทรงสิริโฉม
ได้กราบทูลคำนี้กับพระเจ้ากรุงสญชัยนั้นว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ขอพระองค์ทรงพระกรุณา
ตรัสบอกสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวที่มีอยู่ในป่าแก่หม่อมฉัน
หม่อมฉันจักยอมอดทนต่อสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวเหล่านั้นทั้งหมด
หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๓๓] หม่อมฉันจักแหวกต้นเป้ง หญ้าคา
หญ้าคมบาง แฝก หญ้าปล้อง
และหญ้ามุงกระต่ายไปด้วยอก
หม่อมฉันจักไม่เป็นผู้อันพระเวสสันดรนั้นนำไปได้โดยยาก
[๑๘๓๔] กุมารีได้สามีด้วยวัตตจริยาเป็นอันมาก
คือ ด้วยการอดอาหาร ทรมานท้อง
และด้วยการผูกคาดด้วยไม้คางโค
[๑๘๓๕] ด้วยการบำเรอไฟ และด้วยการดำน้ำ
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๓๖] ชายใดจับมือหญิงหม้ายนั้นผู้ไม่ปรารถนาฉุดคร่าไป
ชายนั้นเป็นผู้ไม่ควรบริโภคของที่เป็นเดนของหญิงหม้ายนั้น
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๓๗] ชายอื่นดูหมิ่นหญิงผู้ไม่มีสามี
ให้ทุกข์มากมายมิใช่น้อยแก่หญิงผู้ไม่มีสามีนั้น
ด้วยการจับผม เตะ ถีบ ถอง
และผลักให้ล้มลงบนพื้นดิน ไม่ยอมหลีกไป
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๓๘] พวกผู้ชายเจ้าชู้ต้องการหญิงหม้ายผู้มีผิวพรรณผุดผ่อง
ให้ทรัพย์เล็กน้อยแล้ว ก็เข้าใจว่า ตนเป็นผู้มีโชคดี
ย่อมยื้อยุดฉุดกระชากหญิงหม้ายผู้ไม่ปรารถนาจะไป
เหมือนฝูงกาพากันรุมทึ้งนกเค้า
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๓๙] อันว่าหญิงหม้าย แม้จะอยู่ในตระกูลญาติ
ที่เจริญรุ่งเรืองไปด้วยเครื่องทองสัมฤทธิ์
จะไม่ได้รับคำติเตียนล่วงเกินจากพี่น้องและเพื่อนฝูงเป็นไปไม่ได้
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๔๐] แม่น้ำที่ไม่มีน้ำก็ดี แว่นแคว้นที่ไม่มีเจ้าครองก็ดี ย่อมไร้ประโยชน์
แม้หญิงหม้ายถึงจะมีพี่น้องตั้ง ๑๐ ก็เหมือนอยู่โดดเดี่ยว
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๔๑] ธงเป็นเครื่องหมายแห่งรถ ควันเป็นเครื่องปรากฏแห่งไฟ
พระราชาเป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดิน
ภัสดาเป็นศรีสง่าของสตรี
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๔๒] หญิงใดผู้มีเกียรติ เป็นคนขัดสนในเวลาสามีขัดสน
เป็นคนมั่งคั่งในเวลาสามีมั่งคั่ง หญิงนั้นแล
เทพเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญว่า “กระทำสิ่งที่ทำไดัยาก”
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๔๓] หม่อมฉันจักบวชติดตามพระสวามีไปทุกเมื่อ
ในเมื่อแม้แต่แผ่นดินยังไม่แตกสลายไป
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดของหญิง
[๑๘๔๔] หม่อมฉันขาดพระเวสสันดรแล้ว
ก็ไม่ปรารถนาแม้แต่แผ่นดินอันมีสาครเป็นขอบเขต
ซึ่งมีทรัพย์เครื่องปลื้มใจมากมาย
บริบูรณ์ด้วยรัตนะนานัปปการ
[๑๘๔๕] หญิงเหล่าใดเมื่อสามีมีทุกข์ ย่อมปรารถนาสุขเพื่อตน
หญิงเหล่านั้นเลวทรามแท้ หัวใจของพวกเธอเป็นอย่างไรหนอ
[๑๘๔๖] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก
หม่อมฉันจักขอติดตามพระองค์ไปด้วย
เพราะพระองค์เป็นผู้ทรงประทาน
สิ่งที่น่าต้องการทั้งปวงแก่หม่อมฉัน
[๑๘๔๗] พระมหาราชได้ตรัสพระดำรัสนี้
กับพระนางมัทรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กายว่า
แม่มัทรีผู้มีลักษณะสวยงาม พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา
ลูกทั้งหลายเหล่านี้ของเธอยังเป็นเด็ก เจ้าจงฝากฝังไว้แล้วไปเถิด
พวกเราจะรับเลี้ยงดูเด็กทั้งหลายนั้นไว้เอง
[๑๘๔๘] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
ได้กราบทูลพระเจ้าสญชัยนั้นดังนี้ว่า ข้าแต่สมมติเทพ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินาเป็นลูกรักของหม่อมฉัน
ลูกทั้ง ๒ นั้นจักชโลมใจหม่อมฉัน
ผู้มีชีวิตที่เศร้าโศกให้รื่นรมย์ในป่านั้นได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๔๙] พระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ได้ตรัสกับพระนางมัทรีนั้นว่า
เด็กทั้งหลายเคยเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่ปรุงด้วยเนื้ออันสะอาด
เมื่อมาเสวยผลไม้ จักทำอย่างไร
[๑๘๕๐] เด็กทั้งหลายเคยเสวยในถาดทองหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ
เป็นของใช้ประจำราชตระกูล
เมื่อต้องมาเสวยในใบไม้ จักทำอย่างไร
[๑๘๕๑] เด็กทั้งหลายเคยสวมใส่ผ้าแคว้นกาสี
แคว้นโขมะ และแคว้นโกทุมพร
เมื่อต้องมาสวมใส่ผ้าคากรอง๑ จักทำอย่างไร
[๑๘๕๒] เด็กทั้ง ๒ เคยไปด้วยคานหาม วอ และรถ
เมื่อต้องเดินด้วยเท้าเปล่า จักทำอย่างไร
[๑๘๕๓] เด็กทั้งหลายเคยนอนในเรือนยอด มีบานหน้าต่างปิดมิดชิด
เมื่อต้องมานอนในที่โคนไม้ จักทำอย่างไร
[๑๘๕๔] เด็กทั้งหลายเคยนอนบนพรมที่ปูลาดอย่างวิจิตรบนบัลลังก์
เมื่อต้องมานอนที่ลาดด้วยหญ้า จักทำอย่างไร
[๑๘๕๕] เด็กทั้งหลายเคยลูบไล้ด้วยกฤษณาและจันทน์หอม
เมื่อต้องมาแปดเปื้อนละอองธุลี จักทำอย่างไร
[๑๘๕๖] เด็กทั้งหลายเคยดำรงอยู่ในความสุข
มีผู้ใช้แส้จามรีและกำหางนกยูงพัดวีให้
ต้องถูกเหลือบและยุงกัด จักทำอย่างไร
[๑๘๕๗] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
ได้กราบทูลพระเจ้ากรุงสญชัยดังนี้ว่า ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์อย่าได้ทรงปริเวทนาการ และอย่าได้เสียพระทัยเลย
หม่อมฉันทั้งหลายเป็นอย่างไร เด็กทั้งหลายก็จักเป็นอย่างนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ผ้าทำด้วยหญ้าคา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
[๑๘๕๘] พระนางมัทรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
ครั้นกราบทูลดังนี้แล้วก็เสด็จจากไป
พระนางผู้มีลักษณะโสภาทรงพาพระโอรสทั้งหลาย
เสด็จไปตามทางที่พระเจ้ากรุงสีพีเคยเสด็จไป
[๑๘๕๙] ลำดับนั้น พระเวสสันดรผู้เป็นกษัตริย์
ครั้นได้ทรงบริจาคทานแล้วก็ถวายบังคม
พระบิดาและพระมารดา และทรงทำประทักษิณ
[๑๘๖๐] รีบเสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่งอันเทียมด้วยม้าสินธพ ๔ ตัว
ทรงพาพระโอรสและพระชายาเสด็จไปสู่เขาวงกต
[๑๘๖๑] ลำดับนั้น พระเวสสันดรเสด็จไป
ในสถานที่ที่มีหมู่ชนเป็นอันมากอยู่
ตรัสบอกลาว่า เราจะไปละนะ
ขอหมู่ญาติทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีโรคเถิด
[๑๘๖๒] เชิญดูเถิดมัทรี ที่ประทับของพระเจ้ากรุงสีพีผู้ประเสริฐ
ปรากฏเป็นรูปอันน่ารื่นรมย์
ส่วนตำหนักของเราเป็นดังที่อยู่ของเปรต
[๑๘๖๓] พราหมณ์ทั้งหลายได้ตามพระเวสสันดรนั้นไป
พวกเขาได้ทูลขอม้ากับพระองค์ พระองค์ถูกขอแล้ว
จึงได้ทรงมอบม้า ๔ ตัวให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๔ คน
[๑๘๖๔] เชิญดูเถิดมัทรี ละมั่งทองปรากฏร่างงดงาม
เป็นดังม้าที่ได้รับการฝึกมาดีแล้ว นำเราไป
[๑๘๖๕] ต่อมา พราหมณ์คนที่ ๕ ในป่านั้น
ได้มาทูลขอราชรถกับพระองค์
พระองค์ถูกขอแล้ว ก็ทรงพระราชทานราชรถนั้นให้แก่เขา
และพระองค์มิได้มีพระทัยท้อแท้เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
[๑๘๖๖] ลำดับนั้น พระเวสสันดรรับสั่งให้คนของพระองค์ลงแล้ว
ทรงพอพระทัยมอบรถม้าพระที่นั่ง
ให้แก่พราหมณ์ผู้แสวงหาทรัพย์ไป
[๑๘๖๗] มัทรี เธอจงอุ้มแม่กัณหาผู้เป็นน้องนี้ซึ่งเบากว่า
ส่วนพี่จักอุ้มพ่อชาลี เพราะเธอเป็นพี่คงจะหนักกว่า
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๘๖๘] พระราชาทรงอุ้มพระกุมาร
ส่วนพระนางมัทรีราชบุตรีทรงอุ้มทาริกา
ทรงยินดีร่วมกัน ทั้งตรัสปราศรัยคำอันไพเราะ
กับกันและกันดำเนินไป
กัณฑ์ทานกัณฑ์ จบ
กัณฑ์วนปเวสน์
(พระศาสดาตรัสเนื้อความที่พระเวสสันดรตรัสกับพระนางมัทรีว่า)
[๑๘๖๙] ถ้ามนุษย์บางคนเดินไปตามทาง หรือเดินสวนทางมา
เราจะได้ถามทางกับพวกเขาว่า เขาวงกตอยู่ที่ไหน
[๑๘๗๐] พวกเขาพบเราในระหว่างทางนั้น
ต่างก็พากันคร่ำครวญอย่างน่าสงสาร
ทุกข์ระทมตอบเราว่า เขาวงกตยังอยู่อีกไกล
(พระศาสดาตรัสเนื้อความนี้ว่า)
[๑๘๗๑] ถ้าทารกทั้งหลาย
ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ที่มีผลในป่าใหญ่
ต่างก็ทรงกันแสง เพราะเหตุแห่งผลไม้เหล่านั้น
[๑๘๗๒] หมู่ไม้สูงใหญ่ดังจะเห็นทารกทรงพระกันแสง
จึงโน้มกิ่งลงมาเอง จนใกล้จะถึงทารกทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
[๑๘๗๓] พระนางมัทรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
เห็นเหตุอัศจรรย์ไม่เคยมีมา
ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดขนพองสยองเกล้านี้แล้ว จึงกล่าวสาธุการว่า
[๑๘๗๔] เหตุอันน่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมาในโลก
เป็นเหตุให้เกิดขนพองสยองเกล้า
ด้วยเดชแห่งพระเวสสันดร ต้นไม้จึงโน้มกิ่งลงมา
[๑๘๗๕] ทวยเทพทั้งหลายต่างก็ได้มาช่วยย่นทางเข้า
ให้กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์เสด็จถึงเจตราชได้
โดยใช้เวลาเสด็จเพียงวันเดียว
เพื่ออนุเคราะห์ทารกทั้งหลาย
[๑๘๗๖] กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์นั้นทรงดำเนินไปสิ้นทางไกล
เสด็จถึงเจตราชซึ่งเป็นชนบทที่เจริญมั่งคั่ง
มีเนื้อและข้าวอย่างดีเป็นอันมาก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๘๗๗] ชาวนครเจตราชเห็นพระนางมัทรี
ผู้มีลักษณะสวยงามเสด็จมา
ก็ห้อมล้อมแห่แหนด้วยกล่าวกันว่า
พระแม่เจ้าเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติหนอ
ดำเนินมาด้วยพระบาทเปล่า
[๑๘๗๘] เคยทรงราชยานคานหามและราชรถ
วันนี้ พระนางมัทรีต้องดำเนินด้วยพระบาทเปล่าในป่า
[๑๘๗๙] พระยาเจตราชทั้งหลายได้เห็นพระเวสสันดร
ต่างก็ทรงกันแสงเข้าไปเฝ้ากราบทูลถามว่า
ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ทรงพระสำราญ
ปราศจากโรคาพาธหรือ พระองค์ไม่มีทุกข์หรือ
พระราชบิดาของพระองค์หาพระโรคาพาธมิได้หรือ
ชาวกรุงสีพีก็ไม่มีโรคหรอกหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
[๑๘๘๐] ข้าแต่มหาราช พลนิกายของพระองค์อยู่ที่ไหน
กระบวนรถของพระองค์อยู่ที่ไหน พระองค์ไม่มีม้าทรง
ไม่มีรถทรง ทรงดำเนินมาสิ้นทางแสนไกล
ถูกพวกอมิตรย่ำยีหรือ จึงเสด็จมาถึงทิศนี้
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๘๘๑] สหายทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีความสุขไม่มีโรคเบียดเบียน
อนึ่ง พระราชบิดาของข้าพเจ้าก็ทรงปราศจากพระโรค
และชาวกรุงสีพีก็ไม่มีโรคเบียดเบียน
[๑๘๘๒] เพราะข้าพเจ้าได้ให้พญากุญชรมีงาดุจงอนไถ
แกล้วกล้าสามารถรู้จักเขตแห่งการรบทั้งปวง
เผือกผ่องประเสริฐสุด
[๑๘๘๓] คลุมด้วยผ้ากัมพลเหลือง ซับมัน อาจย่ำยีศัตรูได้
มีงาน่าชอบใจ เผือกผ่องดังภูเขาไกรลาส
พร้อมทั้งพัดวาลวีชนี
[๑๘๘๔] ทำไม พระเวสสันดรจึงได้พระราชทาน
พญาช้างราชพาหนะซึ่งเป็นยานชั้นเลิศ
เป็นทรัพย์อย่างประเสริฐพร้อมทั้งฉัตรขาว เครื่องลาด
หมอช้าง และคนเลี้ยงช้างแก่พวกพราหมณ์
[๑๘๘๕] เพราะเหตุนั้น ชาวกรุงสีพีจึงพากันโกรธเคืองข้าพเจ้า
ทั้งพระบิดาก็ทรงกริ้วขับไล่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะไปเขาวงกต สหายทั้งหลาย
ขอท่านทั้งหลายจงทราบโอกาสซึ่งเป็นที่อยู่ในป่าของข้าพเจ้าเถิด
(พระยาเจตราชกราบทูลว่า)
[๑๘๘๖] ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดี มิได้เสด็จมาร้าย
พระองค์ผู้ทรงเป็นใหญ่เสด็จมาถึงแล้ว
ขอพระองค์ตรัสบอกพระประสงค์สิ่งที่มีอยู่ในเมืองนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
[๑๘๘๗] ข้าแต่มหาราช ขอเชิญพระองค์เสวยสุธาโภชนาหาร
ข้าวสาลี ผักดอง เหง้ามัน น้ำผึ้ง และเนื้อเถิด
พระองค์เป็นแขกที่ข้าพระองค์ทั้งหลายสมควรต้อนรับ
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๘๘๘] สิ่งใดที่ท่านทั้งหลายให้แล้ว
ขอสิ่งนั้นทั้งหมดจงเป็นอันเราได้รับไว้แล้วเถิด
บรรณาการเป็นอันท่านทั้งหลายได้ทำแล้วทุกอย่าง
พระราชาทรงพิโรธข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไปยังเขาวงกต
สหายทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงทราบ
โอกาสซึ่งเป็นที่อยู่ในป่าของข้าพเจ้าเถิด
(พระยาเจตราชกราบทูลว่า)
[๑๘๘๙] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ
ขอเชิญพระองค์เสด็จประทับ ณ เจตราชนี้ก่อนเถิด
จนกว่าชาวเจตราชจักไปเฝ้าพระเจ้ากรุงสีพีเพื่อทูลขอถึงพระราชสำนัก
[๑๘๙๐] เพื่อทูลขอพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ทรงอภัยโทษให้ชาวเจตราชได้ที่พึ่งแล้ว
มีความปรีดาแห่แหนแวดล้อมพระองค์ไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๘๙๑] ท่านทั้งหลายอย่าได้ชอบใจเลย
การไปทูลขอถึงพระราชสำนักเพื่อให้พระราชาทรงอภัยโทษให้
แม้แต่พระราชาก็ไม่ทรงเป็นใหญ่ในเรื่องนี้
[๑๘๙๒] เพราะถ้าชาวกรุงสีพีพร้อมทั้งพลนิกาย
และชาวนิคมโกรธเคืองยิ่งแล้ว
ก็ปรารถนาจะกำจัดพระราชาเสียเพราะสาเหตุแห่งเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
(พระยาเจตราชกราบทูลว่า)
[๑๘๙๓] ข้าแต่พระองค์ผู้ผดุงรัฐให้เจริญ
ถ้าเหตุการณ์นี้ในรัฐนั้นเป็นไปเช่นนี้ ขอพระองค์ทรงมี
ชาวเจตราชแวดล้อมเสด็จครองราชสมบัติในรัฐนี้เถิด
[๑๘๙๔] รัฐนี้มั่งคั่งสมบูรณ์ ชนบทก็มั่งคั่งกว้างใหญ่
ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงตกลงพระทัยครองราชสมบัติเถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๘๙๕] ข้าพเจ้าไม่มีความพอใจ ไม่ตกลงใจที่จะครองราชสมบัติ
บุตรแห่งชาวเจตราชทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า
ผู้ถูกขับไล่จากแคว้นเถิด
[๑๘๙๖] ชาวกรุงสีพี พลนิกาย และชาวนิคมคงไม่ยินดีว่า
ชาวเจตราชได้ราชาภิเษกข้าพเจ้าผู้ถูกขับไล่จากแคว้น
[๑๘๙๗] แม้ความไม่เบิกบานใจจะพึงมีแก่ท่านทั้งหลาย
เพราะเหตุแห่งข้าพเจ้าแน่นอน
อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่ชอบใจความบาดหมางใจ
และความทะเลาะกับชาวกรุงสีพีเลย
[๑๘๙๘] มิใช่แต่เท่านั้น ความบาดหมางใจจะพึงรุนแรงขึ้น
สงครามใหญ่ก็อาจจะมีได้ คนเป็นจำนวนมากก็จะฆ่าฟันกันเอง
เพราะเหตุแห่งข้าพเจ้าผู้เดียว
[๑๘๙๙] สิ่งใดที่ท่านทั้งหลายให้แล้ว
ขอสิ่งนั้นทั้งหมดจงเป็นอันข้าพเจ้ารับไว้แล้วเถิด
บรรณาการเป็นอันท่านทั้งหลายได้ทำแล้วทุกอย่าง
พระราชาทรงพิโรธข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไปยังเขาวงกต
สหายทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงทราบ
โอกาสซึ่งเป็นที่อยู่ในป่าของข้าพเจ้าเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
(ชาวเจตราชกราบทูลว่า)
[๑๙๐๐] เชิญเถิด ราชฤๅษีทั้งหลายผู้ทรงบูชาไฟ
มีพระทัยตั้งมั่นประทับอยู่ ณ ประเทศใด
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจักกราบทูลประเทศนั้น
ขอให้ทรงทราบเหมือนอย่างผู้ฉลาดในหนทางฉะนั้นเถิด
[๑๙๐๑] ข้าแต่มหาราช โน่น ภูเขาคันธมาทน์ที่เป็นศิลาล้วน
ซึ่งเป็นสถานที่ประทับอยู่ของพระองค์
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายและพระชายา
[๑๙๐๒] พระยาเจตราชทั้งหลายต่างก็ทรงกันแสง
มีพระเนตรนองด้วยพระอัสสุชล
กราบทูลพระเวสสันดรให้ทรงทราบว่า ข้าแต่มหาราช
จากนี้ไป ขอเชิญพระองค์ทรงบ่ายพระพักตร์
ตรงไปทางทิศเหนือเถิด
[๑๙๐๓] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ต่อจากนั้น
พระองค์จักทรงทอดพระเนตรเห็นภูเขาเวปุลละ
ซึ่งดารดาษไปด้วยหมู่ไม้นานาพันธุ์
มีเงาร่มเย็น น่ารื่นรมย์ใจ
[๑๙๐๔] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ
พระองค์เสด็จเลยภูเขาเวปุลละนั้นไป
จากนั้นก็จะทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำเกตุมดี
ซึ่งเป็นแม่น้ำลึก ไหลมาจากซอกเขา
[๑๙๐๕] เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงปลามากมาย
มีท่าน้ำราบเรียบดี มีน้ำมาก
พระองค์จะได้สรงสนานและเสวย ณ ที่นั้น
ปลุกปลอบพระโอรสและพระชายาให้สำราญพระทัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
[๑๙๐๖] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ต่อจากนั้นไป
พระองค์จักทอดพระเนตรเห็นต้นไทร
ที่มีผลหวาน มีร่มเงาเยือกเย็น เป็นที่รื่นรมย์ใจ
ซึ่งเกิดอยู่บนยอดเขาอันน่ารื่นรมย์
[๑๙๐๗] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ถัดจากนั้นไป
พระองค์จักทอดพระเนตรเห็นภูเขานาลิกะซึ่งเป็นศิลาล้วน
คลาคล่ำไปด้วยฝูงนกนานาพันธุ์และหมู่กินนร
[๑๙๐๘] ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือแห่งภูเขานาลิกะนั้น
มีสระมุจลินท์ที่ดารดาษไปด้วยดอกบุณฑริก
ดอกอุบลขาว และดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม
[๑๙๐๙] ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปยังไพรสณฑ์วนสถาน
อันเขียวชะอุ่มดังเมฆอยู่เป็นนิตย์ สะพรั่งไปด้วยไม้ดอก
และไม้ผลทั้ง ๒ เหมือนพญาราชสีห์ที่มุ่งเหยื่อ
[๑๙๑๐] ในไพรสณฑ์นั้น มีฝูงนกมากมาย
ส่งเสียงขันคูกู่ร้องก้องไพเราะ ประสานเสียงกู่ร้องอยู่อึงมี่
บนต้นไม้ที่ผลิดอกออกช่อตามฤดูกาล
[๑๙๑๑] พระองค์เสด็จดำเนินถึงซอกเขาซึ่งเป็นทางเดินลำบาก
และเป็นต้นของแม่น้ำทั้งหลาย จะได้ทอดพระเนตรเห็น
สระโบกขรณีอันสะพรั่งไปด้วยไม้กุ่มและไม้รกฟ้า
[๑๙๑๒] เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงปลามากมาย
มีท่าน้ำงาม ราบเรียบดี มีน้ำมาก
เต็มเปี่ยมอยู่สม่ำเสมอ เป็นสระสี่เหลี่ยม
มีน้ำอร่อย ปราศจากกลิ่นเหม็น
[๑๙๑๓] ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือแห่งสระโบกขรณีนั้น
พระองค์ได้ทรงสร้างบรรณศาลา
ครั้นแล้วพึงทรงบำเพ็ญเพียรเลี้ยงพระชนมชีพ
ด้วยการเที่ยวแสวงหามูลผลาหารอยู่เถิด
กัณฑ์วนปเวสน์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
กัณฑ์ชูชก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้นจึงตรัสว่า)
[๑๙๑๔] ได้มีพราหมณ์ชื่อชูชก ซึ่งอยู่ประจำในแคว้นกาลิงคะ
เขามีภรรยาสาวชื่ออมิตตตาปนา
[๑๙๑๕] ถูกพวกหญิงในหมู่บ้านนั้นที่พากันไปตักน้ำที่ท่าน้ำ
ต่างแตกตื่นกันมารุมด่าอย่างอึงมี่ว่า
[๑๙๑๖] มารดาของเจ้าคงเป็นศัตรูแน่นอน
บิดาของเจ้าก็คงเป็นศัตรูแน่ จึงได้พากันยกเจ้า
ที่ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๑๗] ไม่เกื้อกูลเลยหนอ
พวกญาติของเจ้าแอบไปปรึกษากันลับ ๆ
ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๑๘] พวกญาติของเจ้าเป็นศัตรูหนอ
ได้พากันแอบไปปรึกษากันลับ ๆ
ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๑๙] เป็นความชั่วจริงหนอ
ที่พวกญาติของเจ้าได้แอบไปปรึกษากันลับ ๆ
ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๒๐] เป็นความเลวทรามจริงหนอ
ที่พวกญาติของเจ้าได้แอบไปปรึกษากันลับๆ
ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๒๑] เป็นที่น่าเสียใจหนอ
ที่พวกญาติของเจ้าได้แอบไปปรึกษาลับ ๆ
ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
[๑๙๒๒] เจ้าคงไม่พอใจอยู่กับผัวแก่
การที่เจ้าอยู่ในเรือนของพราหมณ์เฒ่า
เจ้าตายเสียยังดีกว่าอยู่
[๑๙๒๓] แม่คนงามสุดสวย มารดาและบิดาของเจ้า
คงหาชายอื่นมาให้เป็นผัวเจ้าไม่ได้แน่
จึงยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๒๔] ในดิถีที่ ๙ เจ้าคงจักบูชายัญไว้ไม่ดี
คงจักไม่ได้ทำการบูชาไฟ
มารดาและบิดาของเจ้าจึงยกเจ้า
ผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๒๕] เจ้าคงสาปแช่งสมณะและพราหมณ์
ผู้มีพรหมจรรย์เป็นเบื้องหน้า
ผู้มีศีล เป็นพหูสูตในโลกแน่
เจ้าจึงได้มาอยู่ในเรือนของพราหมณ์เฒ่า
แต่ยังเป็นสาวแรกรุ่นอย่างนี้
[๑๙๒๖] การถูกงูกัดก็ไม่เป็นทุกข์
การถูกแทงด้วยหอกก็ไม่เป็นทุกข์
การได้เห็นผัวแก่นั้นแหละเป็นทุกข์หนักหนา
[๑๙๒๗] การเล่นหัวกับผัวแก่ก็ไม่มี การรื่นรมย์กับผัวแก่ก็ไม่มี
การสนทนาปราศรัยกับผัวแก่ก็ไม่มี แม้แต่การซิกซี้ก็ไม่งาม
[๑๙๒๘] แต่เมื่อใด ผัวหนุ่มเมียสาวเล่นเย้าหยอกกันอยู่ในที่ลับ
เมื่อนั้น ความเศร้าโศกทุกอย่าง
ที่เสียดแทงหัวใจอยู่ ก็หายไปสิ้น
[๑๙๒๙] เจ้ายังเป็นสาวรูปงาม พวกชายหนุ่มปรารถนายิ่งนัก
เจ้าจงไปอยู่อาศัยในตระกูลญาติเถิด
คนแก่จักทำให้เจ้ารื่นรมย์ได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
(นางอมิตตตาปนากล่าวว่า)
[๑๙๓๐] พราหมณ์ ฉันจักไม่ไปตักน้ำที่ท่าน้ำเพื่อท่านต่อไปอีก
เพราะพวกหญิงชาวบ้านมันรุมกันด่าฉัน เหตุที่ท่านเป็นคนแก่
(ชูชกปลอบว่า)
[๑๙๓๑] เธออย่าได้ทำการงานเพื่อฉัน
อย่าได้ตักน้ำมาเพื่อฉัน
ฉันจักตักน้ำเอง แม่มหาจำเริญ
เธออย่าได้โกรธเคืองฉัน
(นางอมิตตตาปนาตอบว่า)
[๑๙๓๒] ฉันมิได้เกิดในตระกูลที่จะใช้สามีตักน้ำ
พราหมณ์ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ฉันจักไม่อยู่ในเรือนของท่าน
[๑๙๓๓] พราหมณ์ ถ้าท่านจักไม่นำทาสหรือทาสีมาให้ฉัน
ท่านจงทราบอย่างนี้ว่า ฉันจักไม่อยู่ในสำนักของท่าน
(ชูชกกล่าวว่า)
[๑๙๓๔] พราหมณี ศิลปกรรมหรือทรัพย์
และข้าวเปลือกของฉันไม่มีที่ไหน
ฉันจักนำทาสหรือทาสีมาให้แก่เธอผู้เจริญได้
ฉันจักอุปถัมภ์บำรุงเธอ เธออย่าได้โกรธเคืองเลย
(นางอมิตตตาปนาตอบว่า)
[๑๙๓๕] มาเถิด ฉันจักบอกแก่ท่านตามที่ฉันได้ฟังมา
โน่นพระราชาเวสสันดรประทับอยู่ที่เขาวงกต
[๑๙๓๖] พราหมณ์ ท่านจงไปทูลขอทาสและทาสี
กับพระองค์เถิด เมื่อท่านทูลขอแล้ว
พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์จักพระราชทานทาสและทาสีให้แก่ท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
(ชูชกกล่าวว่า)
[๑๙๓๗] นางผู้เจริญ ฉันแก่แล้วเป็นคนทุพพลภาพ
ทั้งหนทางก็แสนไกล เดินไปได้แสนยาก
เธออย่าได้พิไรรำพัน อย่าได้เสียใจ
ฉันจักอุปถัมภ์บำรุงเธอ เธออย่าได้โกรธเคืองเลย
(นางอมิตตตาปนาพูดว่า)
[๑๙๓๘] คนขลาดยังไม่ทันถึงสนามรบ
ยังไม่ทันได้รบก็ยอมแพ้ฉันใด
พราหมณ์ ท่านยังไม่ทันได้ไป
ก็ยอมแพ้เสียแล้วก็ฉันนั้นเหมือนกัน
[๑๙๓๙] พราหมณ์ ถ้าท่านจักไม่นำทาสหรือทาสีมาให้ฉัน
ท่านจงทราบอย่างนี้ว่า ฉันจักไม่อยู่ในเรือนของท่าน
จักทำการที่ไม่พอใจให้แก่ท่าน ข้อนั้นจักเป็นทุกข์แก่ท่าน
[๑๙๔๐] ในคราวมหรสพซึ่งมีในต้นฤดูนักขัตฤกษ์
ท่านจักได้เห็นฉันแต่งตัวสวยงาม
รื่นรมย์อยู่กับชายอื่น ข้อนั้นจักเป็นทุกข์แก่ท่าน
[๑๙๔๑] พราหมณ์ เมื่อท่านที่เป็นคนแก่รำพันอยู่
เพราะไม่เห็นฉัน ร่างกายที่งอก็จักงอยิ่งขึ้น
และผมที่หงอกก็จักหงอกมากขึ้น
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๙๔๒] ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นตกใจกลัว
ตกอยู่ในอำนาจของนางพราหมณี
ถูกกามราคะบีบคั้น ได้กล่าวกับนางพราหมณีว่า
[๑๙๔๓] พราหมณี เธอจงทำเสบียงเดินทางให้ฉัน
ทั้งขนมงา ขนมเทียน สัตตุก้อน สัตตุผง
และข้าวผอก เธอจงจัดให้ดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
[๑๙๔๔] ฉันจักนำพระกุมารทั้ง ๒ มาให้เป็นทาส
พระกุมารทั้ง ๒ องค์นั้นเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน
จักปรนนิบัติเธอทั้งกลางคืนและกลางวัน
[๑๙๔๕] พราหมณ์ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพรหม
ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ก็สวมรองเท้า พร่ำสั่งเสียต่อไป
ทำประทักษิณภรรยาแล้ว
[๑๙๔๖] พราหมณ์นั้นสมาทานวัตร มีน้ำตานองหน้า
หลีกไปยังนครอันเจริญรุ่งเรืองของชาวกรุงสีพี
เที่ยวไปแสวงหาทาส
[๑๙๔๗] พราหมณ์ชูชกนั้นไปในเมืองนั้นแล้ว
ได้ถามชนทั้งหลายผู้มาประชุมกันอยู่ในที่นั้นว่า
พระราชาเวสสันดรประทับอยู่ที่ไหน
เราจะไปเฝ้าพระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ได้ที่ไหน
[๑๙๔๘] ชนเหล่านั้นผู้มาประชุมกัน ณ ที่นั้น
ได้ตอบพราหมณ์ชูชกนั้นไปว่า
พราหมณ์ พระเวสสันดรบรมกษัตริย์
ถูกพวกท่านเบียดเบียน เพราะทรงบริจาคทานมากเกินไป
จึงถูกขับไล่ไปจากแคว้นของพระองค์
บัดนี้ ประทับอยู่ ณ เขาวงกต
[๑๙๔๙] พราหมณ์ พระเวสสันดรผู้เป็นกษัตริย์
ถูกพวกท่านเบียดเบียน เพราะทรงบริจาคทานมากเกินไป
จึงทรงพาพระโอรสและพระชายา
ไปประทับอยู่ ณ เขาวงกต
[๑๙๕๐] พราหมณ์ชูชกนั้นเป็นผู้มีความติดใจในกาม
ถูกนางพราหมณีอมิตตตาตักเตือน
จึงได้เสวยทุกข์เป็นอันมากในป่าที่มีสัตว์ร้ายพลุกพล่าน
เป็นที่อาศัยอยู่ของแรดและเสือเหลือง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
[๑๙๕๑] แกถือไม้เท้าสีเหมือนผลมะตูม เครื่องบูชาไฟ และเต้าน้ำ
เข้าไปสู่ป่าใหญ่ ในที่ที่จะได้ทราบข่าว
พระเวสสันดรผู้ประทานสิ่งที่น่าใคร่
[๑๙๕๒] เมื่อแกเข้าไปยังป่าใหญ่ ถูกฝูงสุนัขรุมล้อมกัด
แกร้องเสียงหลง เดินผิดทางถอยห่างออกไปจากทาง
[๑๙๕๓] ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นผู้โลภในโภคะ ไม่สำรวม
เดินผิดทางที่จะไปยังเขาวงกต ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๙๕๔] ใครเล่าจะพึงบอกพระราชบุตร
พระนามว่าเวสสันดรผู้ประเสริฐสุด
ทรงชนะความตระหนี่ที่ใคร ๆ ให้แพ้ไม่ได้
ประทานความปลอดภัยในเวลามีภัยแก่เรา
[๑๙๕๕] พระองค์ทรงเป็นที่พึ่งของพวกยาจก
เหมือนธรณีเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราชผู้เปรียบดังธรณีแก่เราได้
[๑๙๕๖] พระองค์ทรงเป็นที่เข้าเฝ้าของพวกยาจก
เหมือนสาครเป็นที่ไหลรวมแห่งแม่น้ำทั้งหลาย
ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราชผู้เปรียบดังทะเลแก่เราได้
[๑๙๕๗] ใครจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช
ผู้เปรียบเหมือนห้วงน้ำมีท่าสวยงาม สะอาด
มีน้ำเยือกเย็นเป็นที่รื่นรมย์ใจ ดารดาษไปด้วยดอกบุณฑริก
สะพรั่งไปด้วยเกสรดอกบัวแก่เราได้
[๑๙๕๘] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช
ผู้เปรียบเหมือนต้นโพธิ์ที่เกิดอยู่ริมทาง
มีร่มเงาเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง
ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
[๑๙๕๙] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช
ผู้เปรียบเหมือนต้นไทรที่เกิดอยู่ริมทาง
มีร่มเงาเยือกเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ
เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง
ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้
[๑๙๖๐] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช
ผู้เปรียบเหมือนต้นมะม่วงที่เกิดอยู่ริมทาง
ที่มีร่มเงาเยือกเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ
เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง
ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้
[๑๙๖๑] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช
ผู้เปรียบเหมือนต้นสาละที่มีร่มเงาเยือกเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ
เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง
ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้
[๑๙๖๒] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช
ผู้เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่เกิดอยู่ริมทาง มีร่มเงาเยือกเย็น
เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง
ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้
[๑๙๖๓] ก็เมื่อเราเข้าไปในป่าใหญ่ เพ้อรำพันอยู่อย่างนี้
ผู้ใดพึงบอกว่า เรารู้จัก
ผู้นั้นจะพึงทำความเพลิดเพลินให้เกิดแก่เราได้
[๑๙๖๔] ก็เมื่อเราเข้าไปในป่าใหญ่ เพ้อรำพันอยู่อย่างนี้
ผู้ใดพึงบอกสถานที่ประทับอยู่
ของพระเวสสันดรได้ว่า เรารู้จัก
ผู้นั้นพึงประสบบุญมิใช่น้อยด้วยคำคำเดียวนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๙๖๕] เจตบุตรพรานป่าได้ตอบพราหมณ์ชูชกว่า
พราหมณ์ พระเวสสันดรผู้เป็นกษัตริย์ถูกพวกท่านรบกวน
เพราะทรงบริจาคทานมากเกินไป จึงถูกขับไล่ออกจากแคว้น
ของพระองค์ไปประทับอยู่ที่เขาวงกต
[๑๙๖๖] พราหมณ์ พระเวสสันดรผู้เป็นกษัตริย์ถูกพวกท่านรบกวน
เพราะทรงบริจาคทานมากเกินไป จึงทรงพาพระโอรส
และพระชายาไปประทับอยู่ที่เขาวงกต
[๑๙๖๗] ท่านเป็นคนโง่เขลา ทำสิ่งที่ไม่น่าทำ
จากแคว้นมาป่าใหญ่ เที่ยวแสวงหาพระราชบุตร
เหมือนนกยางเที่ยวเสาะหาปลาในน้ำ
[๑๙๖๘] พราหมณ์ ณ ที่นี้ เราจักไม่ให้ท่านมีชีวิตอยู่ได้
ลูกศรที่เรายิงนี้แหละจักดูดกินโลหิตของท่าน
[๑๙๖๙] พราหมณ์ เราจะตัดศีรษะของท่าน
ผ่าหัวใจพร้อมด้วยไส้พุง บูชายัญชื่อปันถสกุณะ๑
พร้อมด้วยเนื้อของท่าน
[๑๙๗๐] พราหมณ์ เราจะเชือดเฉือนเอาหัวใจของท่าน
พร้อมด้วยเนื้อ มันข้น และมันสมองของท่าน
ยกขึ้นเป็นเครื่องบวงสรวง
[๑๙๗๑] พราหมณ์ ข้อนั้นจักเป็นยัญที่เราบูชาดีแล้ว
บวงสรวงดีแล้ว ด้วยเนื้อของท่าน
และท่านจักนำพระชายาและพระโอรสทั้งหลาย
ของพระราชบุตรไปไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ ปันถสกุณะ หมายถึงการฆ่าแล้วผ่าเนื้อหัวใจควักออกมาพร้อมด้วยตับ ไต และลำไส้ แล้วบูชายัญแก่
เทวดาประจำทาง (คล้ายการฆ่านกแล้วย่างไฟบูชา) (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๙๖๙/๓๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) จูฬวนวัณณนา
(ชูชกโกหกว่า)
[๑๙๗๒] เจตบุตร ท่านจงฟังเราก่อน พราหมณ์ผู้เป็นทูตไม่ควรถูกฆ่า
เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่ฆ่าทูต นี้เป็นธรรมอันเก่าแก่
[๑๙๗๓] ชาวกรุงสีพีทุกคนตกลงยินยอมแล้ว
พระบิดาก็ทรงพระประสงค์จะพบพระราชบุตรนั้น
และพระมารดาของพระราชบุตรนั้นก็ทรงทุพพลภาพ
คงไม่นานนัก พระเนตรทั้ง ๒ ของพระองค์ก็จักขุ่นมัว
[๑๙๗๔] เจตบุตร ท่านจงฟังเราก่อน
เราเป็นทูตที่พวกชาวกรุงสีพีนั้นส่งมา
เราจักทูลเชิญพระราชบุตรเสด็จกลับ
ถ้าท่านรู้ขอได้บอกทางแก่เราเถิด
(พรานเจตบุตรกล่าวว่า)
ท่านเป็นทูตที่โปรดปรานของพระเวสสันดรผู้เป็นที่รักของเรา
เราจะให้รางวัลแก่ท่าน
[๑๙๗๕] พราหมณ์ เราจะให้น้ำเต้า และขาเนื้ออย่างดีแก่ท่าน
และจะบอกสถานที่ประทับอยู่ของพระเวสสันดร
ผู้ให้สิ่งที่น่าใคร่แก่ท่าน
กัณฑ์ชูชก จบ
จูฬวนวัณณนา
พรรณนากัณฑ์จุลพน
(พรานเจตบุตรกล่าวว่า)
[๑๙๗๖] มหาพราหมณ์ นั่นภูเขาคันธมาทย์ศิลาล้วน
ซึ่งเป็นที่ประทับอยู่ของพระเวสสันดร
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายและพระชายา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) จูฬวนวัณณนา
[๑๙๗๗] พระองค์ทรงเพศนักบวชอันประเสริฐ
ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา
ทรงนุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือแผ่นดินและทรงบูชาไฟอยู่
[๑๙๗๘] ทิวไม้เขียวนั้นมีผลหลากหลาย
และภูผาสูงยอดเสียดเมฆเขียวชะอุ่ม
นั่นแลเป็นภูเขาที่เต็มไปด้วยดอกอัญชัน
[๑๙๗๙] นั่นหมู่ไม้ตะแบก หูกวาง ไม้ตะเคียน ไม้รัง
ไม้สะคร้อ และย่านทราย อ่อนไหวไปตามลม
เหมือนมาณพดื่มสุราครั้งเดียวก็ซวนเซไปมาอยู่
[๑๙๘๐] ท่านจะได้ยินเสียงนกนานาชนิด
ที่จับอยู่บนกิ่งไม้ดุจทิพยสังคีต คือ
เหล่านกโพระดก นกดุเหว่า ส่งเสียงขันคูกู่ร้อง
บินขวักไขว่ไปมาจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง
[๑๙๘๑] ทั้งหมู่ไม้ที่ต้องลมพัดสะบัดกิ่งใบไหวพลิ้วเสียดสีกันไปมา
เหมือนจะเรียกคนผู้กำลังเดินไปให้หวนกลับมา
และเหมือนจะเชิญชวนเหล่าชนผู้กำลังเดินผ่านมา
ให้ชื่นชมรื่นรมย์พักผ่อน ณ สถานที่ที่พระเวสสันดร
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายประทับอยู่
[๑๙๘๒] พระองค์ทรงเพศเป็นบรรพชิตอันประเสริฐ
ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา
ทรงนุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือแผ่นดินและทรงบูชาไฟอยู่
[๑๙๘๓] ในบริเวณอาศรมสถานนั้นมีไม้มะม่วง
มะขวิด ขนุน ไม้รัง ชมพู่ สมอพิเภก
สมอไทย มะขามป้อม โพธิ และพุทรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) จูฬวนวัณณนา
[๑๙๘๔] ทั้งมะพลับทอง ไทร มะขวิด มะซางหวาน
และมะเดื่อ มีผลสุกแดงปลั่งอยู่ในที่ต่ำ
[๑๙๘๕] หมู่ไม้ที่มองเห็น ณ เชิงเขาปาเรวตะ ผลองุ่น
ผลจันทน์มีรสหวานเหมือนน้ำผึ้ง รวงผึ้งที่ปราศจากตัวผึ้ง
คนเอื้อมมือนำมาบริโภคได้เองในอาศรมนั้น
[๑๙๘๖] ต้นมะม่วงบางต้นก็ผลิดอกออกช่อแย้มบาน
บางต้นมีดอกและใบร่วงหล่น ผลิผลดาษดื่น
บางผลดิบ บางผลสุก ผลมะม่วงทั้งดิบและสุก
มีสีคล้ายหลังกบ
[๑๙๘๗] อนึ่ง ในบริเวณอาศรมนั้น
คนที่ยืนอยู่ใต้ต้นมะม่วงเหล่านั้นก็เก็บเอาผลมะม่วงสุกได้
ผลมะม่วงทั้งดิบและสุกมีสีสวยงาม กลิ่นหอม และมีรสอร่อย
[๑๙๘๘] สิ่งที่ว่ามาทั้งนี้เป็นที่น่าอัศจรรย์แก่ข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง
ถึงกับข้าพเจ้าออกอุทานว่า อือ
ที่ประทับอยู่ของพระเวสสันดรนั้น
เหมือนกับที่อยู่ของพวกเทวดา
งดงามเปรียบด้วยพระอุทยานนันทวัน
[๑๙๘๙] มีต้นตาล ต้นมะพร้าว และต้นอินทผาลัมอยู่ในป่าใหญ่
มีดอกสีหลากหลายเหมือนพวงดอกไม้
ที่เขาร้อยไว้บนต้นไม้ที่มีดอกบานสะพรั่ง
ต้นไม้เหล่านั้น ย่อมปรากฏดังยอดธงชัย
เหมือนดวงดาวประดับฟ้า
[๑๙๙๐] ในบริเวณอาศรมนั้นมีหมู่ไม้นานาพันธุ์
คือ ไม้โมกมัน โกฐสะค้าน แคฝอย บุนนาค
บุนนาคเขา และไม้ซึก มีดอกบานสะพรั่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) จูฬวนวัณณนา
[๑๙๙๑] อนึ่ง ในบริเวณอาศรมนั้นมีต้นราชพฤกษ์
มะเกลือ กฤษณา รักดำ ไทรใหญ่ หงอนไก่
และประดู่ เป็นอันมาก มีดอกบานสะพรั่ง
[๑๙๙๒] ในบริเวณอาศรมนั้นมีไม้โมกหลวง
ไม้สน ไม้กระทุ่ม ไม้ช่อ ไม้ตะแบก และไม้รัง
ล้วนมีดอกบานสะพรั่ง เป็นพุ่มเหมือนลอมฟาง
[๑๙๙๓] ในที่ไม่ไกลจากอาศรมนั้น
มีสระโบกขรณี ณ ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์
ดารดาษไปด้วยดอกปทุมและดอกอุบล
เหมือนสระโบกขรณีที่อยู่ในอุทยานนันทวันของเหล่าเทวดา
[๑๙๙๔] อนึ่ง ณ ที่ใกล้สระโบกขรณีนั้น
มีฝูงนกดุเหว่าเมารสดอกไม้ ส่งเสียงร้องไพเราะจับใจ
ทำให้ป่าใหญ่ดังอึกทึกกึกก้อง
เมื่อหมู่ไม้ผลิดอกออกช่อเบ่งบานตามฤดูกาล
[๑๙๙๕] รสหวานปานน้ำผึ้งพลัดร่วงลงจากเกสรดอกไม้
มาติดค้างอยู่บนใบบัว จึงชื่อว่าน้ำผึ้งใบบัว
อนึ่ง อาศรมนั้น เมื่อลมทิศใต้และทิศตะวันตกพัดมา
ก็เกลื่อนกลาดไปด้วยละอองเกสรดอกปทุม
[๑๙๙๖] ในสระโบกขรณีนั้นมีกระจับขนาดใหญ่
ทั้งข้าวสาลีอ่อนบ้าง แก่บ้าง
เหล่านั้นนั่นแหละล้มระเนระนาดอยู่บนพื้นดิน
และในสระโบกขรณีนั้น น้ำใสสะอาดมองเห็นฝูงปลา
เต่า และปูเป็นจำนวนมากที่กำลังว่ายไปมาเป็นกลุ่ม
รสที่ไหลออกจากเหง้าบัวและจากสายบัว
มีรสหวานปานน้ำผึ้ง นมสด และเนยใสที่เจือปนด้วยน้ำนม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) จูฬวนวัณณนา
[๑๙๙๗] ไม้ป่านั้นมีกลิ่นต่าง ๆ มีลมโชยพัดมา
หอมฟุ้งตลบอบอวลเหมือนจะยังชนผู้มาถึงแล้ว
ให้บันเทิงเบิกบานด้วยกลิ่นและพวงดอกไม้
หมู่ภมรก็โผบินร่อนส่งเสียงกระหึ่มอยู่รายรอบ
เพราะกลิ่นหอมของดอกไม้
[๑๙๙๘] อนึ่ง ที่ใกล้อาศรมนี้
มีฝูงนกจำนวนมากที่มีสีต่าง ๆ กัน
ต่างก็บันเทิงใจอยู่กับคู่ของตน
กู่ร้องประชันเสียงกันและกัน
[๑๙๙๙] ยังมีฝูงนกอีก ๔ ฝูง๑ อาศัยอยู่ใกล้สระโบกขรณี
คือ ฝูงนกนันทิกา ฝูงนกชีวปุตตา
ฝูงนกปุตตาปิยาจโน ฝูงนกปิยปุตตาปิยานันทา
[๒๐๐๐] ดอกไม้ทั้งหลาย ตั้งเรียงรายกันอยู่
เหมือนพวงมาลัยที่เขาร้อยไว้
หมู่ไม้เหล่านั้นย่อมปรากฏดังยอดธงชัย มีดอกสีต่าง ๆ กัน
ดังนายช่างผู้ฉลาดได้เก็บมาเรียงร้อยไว้เป็นอย่างดี
ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระราชาเวสสันดร
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายประทับอยู่
[๒๐๐๑] พระองค์ทรงเพศเป็นนักบวชอันประเสริฐ
ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา
ทรงนุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือพื้นดินและทรงบูชาไฟอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ฝูงนก ๔ ฝูง หมายถึงนกที่มีชื่อต่างกันตามเสียงร้อง ฝูงนกนันทิการ้องว่า “ข้าแต่พระเวสสันดรผู้เป็น
นาย ขอให้ท่านอยู่ในป่านี้อย่างเพลิดเพลินเถิด” ฝูงนกชีวปุตตาร้องว่า “ขอให้พระองค์และพระราชโอรส
จงเป็นอยู่สบาย” ฝูงนกปุตตาปิยาจโนร้องว่า “ขอให้พระองค์และพระโอรสสุดที่รักจงมีชีวิตอยู่” ฝูงนก
ปิยปุตตาปิยานันทาร้องว่า “ขอให้พระองค์และพระราชโอรสสุดที่รักจงเพลิดเพลิน” (ขุ.ชา.อ.
๑๐/๑๙๙๙/๓๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
(ชูชกกล่าวว่า)
[๒๐๐๒] ก็ข้าวสัตตุผงที่ระคนด้วยน้ำผึ้ง
และข้าวสัตตุก้อนที่มีรสหวานอร่อยของเรานี้
ที่นางอมิตตตาได้จัดแจงให้ เราจะแบ่งให้แก่เจ้า
(พรานเจตบุตรกล่าวว่า)
[๒๐๐๓] ท่านพราหมณ์ ขอจงเอาไว้เป็นเสบียงทางของท่านเถิด
ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาเสบียงทาง ท่านพราหมณ์
ขอท่านจงรับเอาคืนไปจากที่นี้เถิด ขอท่านจงไปตามสบายเถิด
[๒๐๐๔] ทางนี้เป็นทางเดินไปได้คนเดียว ตรงไปยังอาศรม
แม้อัจจุตฤๅษีผู้อยู่ในอาศรมนั้นเป็นผู้มีขี้ฟันเขรอะ
มีศีรษะเปื้อนด้วยธุลี ทรงเพศเป็นนักบวชอันประเสริฐ
ถือขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎาอยู่
[๒๐๐๕] เป็นผู้นุ่งห่มหนังเสือ นอนเหนือพื้นดิน และบูชาไฟ
เชิญท่านไปถามฤๅษีนั้นดูเถิด ฤๅษีจักบอกทางให้แก่ท่าน
[๒๐๐๖] ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์
ครั้นได้ฟังคำแนะนำนี้แล้วกระทำประทักษิณ
มีใจเบิกบาน อำลาพรานเจตบุตร
แล้วหลีกไปในทางที่อัจจุตฤๅษีอยู่
พรรณนากัณฑ์จุลพน จบ
มหาวนวัณณนา
พรรณนากัณฑ์มหาพน
[๒๐๐๗] พราหมณ์ชูชกภารทวาชะนั้น
เมื่อเดินไปก็ได้พบอัจจุตฤๅษี ครั้นพบแล้ว
ได้ทักทายปราศรัยกับอัจจุตฤๅษีว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๗ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น