Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๘-๙ หน้า ๔๙๘ - ๕๖๐

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘-๙ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๐๘] พระคุณเจ้าไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ สุขสำราญดีหรือ
เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกหรือ
มูลผลาหารก็มีมากหรือ
[๒๐๐๙] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ
ในป่าที่มีเนื้อร้ายพลุกพล่าน ไม่มีมาเบียดเบียนหรือ
(อัจจุตฤๅษีกล่าวว่า)
[๒๐๑๐] พราหมณ์ เราไม่มีโรคเบียดเบียน เราสุขสบายดี
อนึ่ง เราเลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกดี
ทั้งมูลผลาหารก็มีมาก
[๒๐๑๑] อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย
ในป่าที่มีเนื้อร้ายอยู่พลุกพล่าน ก็ไม่มีมาเบียดเบียนเราเลย
[๒๐๑๒] หลายปีมาแล้ว เรามาอยู่อาศรมของเรา
ยังไม่รู้จักอาพาธที่ไม่น่ารื่นรมย์ซึ่งจะเกิดขึ้น
[๒๐๑๓] มหาพราหมณ์ ท่านมาดีแล้ว มิได้มาร้าย
ท่านผู้เจริญ ขอเชิญเข้าไปข้างใน
เชิญล้างเท้าทั้ง ๒ ของท่านเถิด
[๒๐๑๔] ผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง ผลหมากเม่า
มีรสหวานปานน้ำผึ้ง เชิญท่านเลือกบริโภคแต่ผลดี ๆ เถิด
[๒๐๑๕] น้ำดื่มเย็นสนิทที่เรานำมาจากซอกเขา
มหาพราหมณ์ ถ้าท่านต้องการ ก็เชิญดื่มเถิด
(ชูชกกล่าวว่า)
[๒๐๑๖] สิ่งใดที่พระคุณเจ้าให้แล้ว
สิ่งนั้นทั้งหมดเป็นอันข้าพเจ้ารับไว้แล้ว
บรรณาการพระคุณเจ้าได้ทำไว้ทุกอย่างแล้ว
ข้าพเจ้ามาก็เพื่อจะเยี่ยมเยือนพระราชาเวสสันดร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
พระโอรสของพระเจ้ากรุงสญชัย
ซึ่งพลัดพรากจากชาวกรุงสีพีมาช้านาน
ถ้าพระคุณเจ้าทราบสถานที่ประทับ
ก็โปรดแจ้งแก่ข้าพเจ้าเถิด
(อัจจุตฤๅษีกล่าวว่า)
[๒๐๑๗] ท่านผู้เจริญ มาเพื่อต้องการบุญ
เพื่อเยี่ยมเยือนพระเวสสันดรเจ้ากรุงสีพีก็หาไม่
เราเข้าใจว่าท่านปรารถนา(จะมาขอ)พระชายา
ผู้เคารพนบนอบพระราชาไปเป็นภรรยา
หรือมิฉะนั้น ท่านก็ปรารถนา(จะมาขอ)
พระกัณหาชินาไปเป็นทาสีและพระชาลีไปเป็นทาส
[๒๐๑๘] หรือหาไม่ ก็มาเพื่อจะนำทั้งพระมารดา
และพระโอรสทั้ง ๓ พระองค์ไปจากป่า
ท่านพราหมณ์ โภคะทั้งหลาย ทรัพย์สิน
และข้าวเปลือกของพระเวสสันดรนั้นไม่มี
(ชูชกกล่าวว่า)
[๒๐๑๙] ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ท่านยังไม่สมควรจะโกรธเคือง
เพราะข้าพเจ้ามิได้มาเพื่อขอ
การพบเห็นพระอริยะเป็นการดี
การอยู่ร่วมกับพระอริยะเป็นสุขทุกเมื่อ
[๒๐๒๐] ข้าพเจ้าไม่เคยได้พบพระเวสสันดรเจ้ากรุงสีพี
ผู้ทรงพลัดพรากจากชาวกรุงสีพีมานาน
ข้าพเจ้ามาเพื่อเยี่ยมเยือนพระองค์
ถ้าพระคุณเจ้ารู้จักสถานที่ประทับ
โปรดบอกแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
(อัจจุตฤๅษีกล่าวว่า)
[๒๐๒๑] มหาพราหมณ์ นั่นภูเขาคันธมาทน์ศิลาล้วน
ซึ่งเป็นที่ประทับอยู่ของพระเวสสันดร
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายและพระชายา
[๒๐๒๒] พระองค์ทรงเพศนักบวชอันประเสริฐ
ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา
นุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือพื้นดินและทรงบูชาไฟอยู่
[๒๐๒๓] ทิวไม้เขียวนั้นมีผลหลากหลาย
และภูผาสูงยอดเสียดเมฆเขียวชะอุ่ม
นั่นแลเป็นภูเขาที่เต็มไปด้วยดอกอัญชัน
[๒๐๒๔] นั่นหมู่ไม้ตะแบก หูกวาง ไม้ตะเคียน
ไม้รัง ไม้สะคร้อ และย่านทราย อ่อนไหวไปตามลม
เหมือนมาณพดื่มสุราครั้งเดียวก็ซวนเซไปมาอยู่
[๒๐๒๕] ท่านจะได้ยินเสียงนกนานาชนิด
ที่จับอยู่บนกิ่งไม้ดุจดังเสียงทิพยสังคีต
คือ นกโพระดก นกดุเหว่า ส่งเสียงขันคูกู่ร้อง
บินขวักไขว่ไปมาจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง
[๒๐๒๖] ทั้งหมู่ไม้ที่ต้องลมพัดสะบัดกิ่งใบไหวพลิ้วเสียดสีกันไปมา
เหมือนจะเรียกคนผู้กำลังเดินผ่านไปให้หวนกลับมา
และเหมือนจะเชิญชวนเหล่าชนผู้กำลังเดินผ่านมา
ให้ชื่นชมรื่นรมย์พักผ่อน ณ สถานที่ที่พระราชาเวสสันดร
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายและพระชายาประทับอยู่
[๒๐๒๗] พระองค์ทรงเพศนักบวชอันประเสริฐ
ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา
นุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือพื้นดินและทรงบูชาไฟอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๒๘] ที่ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ใจ มีดอกกุ่มร่วงหล่นเรี่ยราด
พื้นแผ่นดินเขียวชะอุ่มไปด้วยหญ้าแพรก
ณ ที่นั้น ไม่มีผงธุลีฟุ้งขึ้นเลย
[๒๐๒๙] หญ้านั้นสีเขียวคล้ายสร้อยคอนกยูง
อ่อนนุ่มเหมือนสัมผัสสำลี
หญ้ารายรอบยาวไม่เกิน ๔ นิ้ว
[๒๐๓๐] ต้นมะม่วง ชมพู่ มะขวิด
และมะเดื่อมีผลสุกอยู่ในที่ต่ำ ๆ
ป่านั้นเป็นสถานที่เพิ่มความรื่นรมย์มากขึ้น
เพราะมีหมู่ไม้ที่ใช้บริโภคได้
[๒๐๓๑] มีน้ำใสสะอาดกลิ่นหอม สีเหมือนแก้วไพฑูรย์
เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงปลาหลั่งไหลไปในป่านั้น
[๒๐๓๒] ภูมิภาคเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ ไม่ห่างไกลจากอาศรมนั้น
มีสระโบกขรณีดารดาษไปด้วยดอกปทุมและดอกอุบล
เหมือนมีในอุทยานนันทวันของพวกเทวดา
[๒๐๓๓] พราหมณ์ ในสระโบกขรณีนั้น
มีอุบลอยู่ ๓ เหล่า คือ อุบลเขียว อุบลขาว
และอุบลแดง งามตระการตามากมาย
[๒๐๓๔] ในสระนั้นมีดอกปทุมสีขาวดังผ้าโขมพัสตร์
สระนั้นชื่อสระมุจลินท์
ดารดาษไปด้วยอุบลขาว จงกลนี และผักทอดยอด
[๒๐๓๕] อนึ่ง ในสระนี้มีปทุมชาติบานสะพรั่ง
ปรากฏดังจะหาที่สุดมิได้
บ้างก็บานในฤดูคิมหันต์ บ้างก็บานในฤดูเหมันต์
ปรากฏเหมือนลอยอยู่บนน้ำซึ่งลึกประมาณเพียงเข่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๓๖] ปทุมชาติงามตระการตาชูดอกสะพรั่ง
ส่งกลิ่นอบอวล
หมู่ภมรก็โผบินร่อนเสียงดังกระหึ่มอยู่รายรอบ
เพราะกลิ่นหอมของดอกไม้
[๒๐๓๗] พราหมณ์ ณ ริมรอบขอบสระนี้
มีต้นไม้ขึ้นมากมายเช่นต้นกระทุ่ม
ต้นแคฝอย และต้นทองหลาง ผลิดอกออกช่อบานสะพรั่ง
[๒๐๓๘] ต้นปรู ไม้ซาก ไม้ปาริชาติ ก็มีดอกบานสะพรั่ง
ต้นกากะทิงมีอยู่ที่ ๒ ฟากฝั่งของสระมุจลินท์
[๒๐๓๙] ต้นซึก ต้นแคขาว บัวบกส่งกลิ่นฟุ้งไป
ต้นคนทีสอ ต้นคนที ต้นเขมา และต้นประดู่
ขึ้นอยู่ใกล้สระนั้น มีดอกบานสะพรั่ง
[๒๐๔๐] ต้นมะคำไก่ ไม้มะซาง ต้นแก้ว ต้นมะรุม
การะเกด กรรณิการ์ และชบา ผลิดอกบานสะพรั่ง
[๒๐๔๑] ต้นรกฟ้า ต้นอินทนิล ต้นกระท้อน และต้นทองกวาว
ต่างก็ผลิดอกออกช่อและยอดแดงระเรื่อ
[๒๐๔๒] ไม้มะรื่น ตีนเป็ด กล้วย ต้นคำฝอย นมแมว
คนทา ประดู่ลาย และสลอด ผลิดอกบานสะพรั่ง
[๒๐๔๓] ต้นมะไฟ ต้นงิ้ว ช้างน้าว พุดขาว กฤษณา
โกฐเขมา และโกฐสอ ผลิดอกบานสะพรั่ง
[๒๐๔๔] ณ บริเวณสระนั้น มีต้นไม้ที่มีทั้งอ่อนและแก่
ต้นไม่คดงอ ผลิดอกแย้มบาน
ตั้งอยู่ทั้ง ๒ ข้างอาศรมรอบเรือนไฟ
[๒๐๔๕] อนึ่ง ที่ริมรอบขอบสระนี้ มีพรรณไม้เกิดขึ้นมากมาย
คือ ตะไคร้ ถั่วเขียว ถั่วราชมาส สาหร่าย และสันตะวา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๔๖] น้ำในสระนี้ ถูกลมรำเพยพัด
เกิดเป็นระลอกคลื่นกระทบฝั่ง
มีหมู่แมลงโผบินเคล้าเกสรดอกไม้ที่แย้มบาน
สีเสียดเทศ เต่าร้าง และผักทอดยอดมีอยู่มาก
[๒๐๔๗] พราหมณ์ ต้นไม้ทั้งหลายดารดาษไปด้วยกล้วยไม้ชนิดต่าง ๆ
กลิ่นของบุปผชาติเหล่านั้นหอมอบอวล
อยู่ได้ถึง ๗ วัน ไม่ระเหยหายไป
[๒๐๔๘] บุปผชาติทั้งหลายเกิดอยู่เรียงราย ๒ ฟากฝั่ง
สระมุจลินท์ ล้วนแต่สวยงาม
ป่านั้นดารดาษไปด้วยต้นราชพฤกษ์ทำให้สวยงาม
[๒๐๔๙] กลิ่นดอกราชพฤกษ์นั้นหอมอบอวล
อยู่ได้ถึงกึ่งเดือน ไม่ระเหยหาย
ดอกอัญชันเขียว อัญชันขาว และกุ่มแดง มีดอกบานสะพรั่ง
ป่านั้นดารดาษไปด้วยอบเชยและแมงลัก
[๒๐๕๐] เหมือนป่านั้นจะให้คนบันเทิงใจ
ด้วยดอกไม้และกิ่งไม้ที่มีกลิ่นหอม
หมู่ภมรก็โผบินร่อนเสียงดังกระหึ่มอยู่รายรอบ
เพราะกลิ่นหอมของดอกไม้
[๒๐๕๑] พราหมณ์ ณ ริมรอบขอบสระนั้น มีฟักแฟง แตง
น้ำเต้า ๓ ชนิด คือ ชนิดหนึ่งมีผลเขื่องขนาดเท่าหม้อ
อีก ๒ ชนิดเหล่านั้นมีผลโตขนาดเท่าตะโพน
[๒๐๕๒] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีเมล็ดพันธุ์ผักกาด
เป็นจำนวนมาก ทั้งกระเทียมที่มีใบเขียวสด
ต้นเหลาชะโอนตั้งอยู่เหมือนต้นตาล
ผักสามหาวเป็นจำนวนมากควรเด็ดดอกด้วยกำมือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๕๓] มีเถาโคกกระออม นมตำเลีย เถาหญ้านาง
เถาชะเอม ไม้อโศก ต้นเทียน บอระเพ็ดไฟ ชิงช้าชาลี
[๒๐๕๔] ว่านหางช้าง อังกาบ เถาพลุ และมะลิซ้อน มีดอกแย้มบาน
ต้นทองกวาวเครือมีดอกบานสะพรั่ง ขึ้นอยู่ตามต้นไม้
[๒๐๕๕] ต้นก้างปลา กำยาน คัดเค้า ชะเอม มะลิเลื้อย
มะลิธรรมดา ชบา บัวบก งดงาม
[๒๐๕๖] ต้นแคฝอย ฝ้ายทะเล และกรรณิการ์มีดอกเบ่งบาน
ปรากฏดังข่ายทองงดงาม ระเรื่อ เปรียบเหมือนเปลวเพลิง
[๒๐๕๗] ดอกไม้ที่เกิดบนบกและเกิดในน้ำเหล่านั้น
ทั้งหมดต่างก็ปรากฏอยู่ในสระนั้น
เพราะมีน้ำขังอยู่มากน่ารื่นรมย์ ด้วยประการฉะนี้
[๒๐๕๘] อนึ่ง ในสระโบกขรณีนั้น
มีปลาที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำมากชนิด
คือ ปลาตะเพียน ปลาช่อน ปลาดุก
จระเข้ ปลามังกร ปลากา
[๒๐๕๙] ณ ที่ใกล้สระนั้น มีชะเอมต้น ชะเอมเครือ กำยาน
ประยงค์ เนระพูสี แห้วหมู สัตตบุษย์ สมุลแว้ง
[๒๐๖๐] พิมเสน สามสิบ กฤษณา เถากระไดลิงเป็นจำนานมาก
บัวบก โกฐขาว กระทุ่มเลือด ต้นหนาด
[๒๐๖๑] ขมิ้น แก้มหอม หรดาล กำคูณ สมอพิเภก
ไคร้เครือ การะบูร และกลิงคุก
[๒๐๖๒] อนึ่ง ในป่านั้น มีสัตว์หลากหลายชนิด คือ
ราชสีห์ เสือโคร่ง ยักษิณีมีหน้าดุจฬา ช้างพัง
ช้างพลาย เนื้อทราย เนื้อฟาน ละมั่ง และอีเห็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๖๓] สุนัขจิ้งจอก หมาใน บ่าง กระรอก
จามรี ชะนี ลิงลม ค่าง ลิง ลิงจุ่น
[๒๐๖๔] ณ ที่ใกล้สระนั้น มีกวาง กระทิง หมี วัวป่า แรด
หมู พังพอน และงูเห่า เป็นจำนวนมาก
[๒๐๖๕] กระบือ หมาใน สุนัขจิ้งจอก กิ้งก่า ตะกวด เหี้ย
เสือดาว และเสือเหลืองมีอยู่โดยรอบด้าน
[๒๐๖๖] กระต่าย แร้ง ราชสีห์ และเสือปลา
สกุณชาติหลายชนิด คือ นกกวัก นกยูง นกหงส์ขาว ไก่ฟ้า
[๒๐๖๗] นกกะปูด ไก่ป่า นกหัสดีลิงค์ ร่ำร้องคูขันหากันและกัน
นกยางโทน นกยางกรอก นกโพระดก นกต้อยตีวิด นกกระเรียน
[๒๐๖๘] เหยี่ยวดำ เหยี่ยวแดง นกช้อนหอย นกพริก นกคับแค
นกแขวก นกกด นกกระเต็นใหญ่ นกนางแอ่น
[๒๐๖๙] นกคุ่ม นกกระทา นกกระทุง นกกระจอก
นกกระจาบ นกกระเต็นน้อย นกกางเขน
[๒๐๗๐] นกการเวก นกแอ่นลม นกเงือก นกออก
สระมุจลินท์เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงนกนานาชนิด
กู่ร้องขานขันด้วยเสียงต่าง ๆ กัน
[๒๐๗๑] อนึ่ง ณ ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกมากมายมีขนปีกงามวิจิตร
มีเสียงไพเราะเสนาะโสตบันเทิงใจอยู่กับคู่ของตน
กู่ร้องประชันเสียงกันและกัน
[๒๐๗๒] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกส่งเสียงร้องไพเราะเป็นนิตย์
มีตางามประกอบด้วยเบ้าตาขาว มีฝูงนกที่มีขนปีกงามวิจิตร
[๒๐๗๓] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกส่งเสียงร้องไพเราะเป็นนิตย์
มีหงอน มีสร้อยคอเขียว กู่ร้องประชันเสียงกันและกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๗๔] มีไก่เถื่อน ไก่ฟ้า นกเปล้า นกนางนวล เหยี่ยวดำ
เหยี่ยวนกเขา นกกาน้ำ นกแขกเต้า และนกสาลิกา
[๒๐๗๕] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีนกเป็นจำนวนมากเป็นพวก ๆ
คือ เหลือง แดง ขาว นกหัสดีลิงค์ พญาหงส์ทอง
นกกาน้ำ นกแขกเต้า นกเอี้ยง
[๒๐๗๖] นกดุเหว่า นกอกขาว หงส์ขาว
นกเงือก นกเค้าแมว ห่าน
นกยาง นกโพระดก นกต้อยตีวิด
[๒๐๗๗] นกพิราบ หงส์แดง นกจักรพาก นกเป็ดน้ำ
นกหัสดีลิงค์ ส่งเสียงร้องที่น่ารื่นรมย์ใจ
นกเหล่านั้นต่างก็ส่งเสียงร้องกู่ก้องหากันและกันที่เชิงเขา
ทั้งเช้าและเย็นอยู่เป็นนิตย์
[๒๐๗๘] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกจำนวนมากที่มีสีต่าง ๆ กัน
บันเทิงใจอยู่กับคู่ของตนกู่ประชันเสียงกันและกัน
[๒๐๗๙] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกจำนวนมากที่สีต่าง ๆ กัน
ทั้งหมดต่างก็ขันคูกู่ร้องเสียงไพเราะ
อยู่ฟากฝั่งทั้ง ๒ ของสระมุจลินท์
[๒๐๘๐] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกการเวก
ต่างก็บันเทิงใจอยู่กับคู่ของตน กู่ประชันเสียงกันและกัน
[๒๐๘๑] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ ฝูงนกการเวกทั้งหมดนั้น
ต่างก็กู่ร้องเสียงไพเราะอยู่ฟากฝั่งทั้ง ๒ ข้างของสระมุจลินท์
[๒๐๘๒] ป่านั้นเกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อทราย เนื้อฟาน
เป็นที่อยู่อาศัยของช้างพลายและช้างพัง
ดารดาษไปด้วยเถาวัลย์นานาชนิด
เป็นที่อาศัยอยู่ของฝูงชะมด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๐๘๓] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีธัญญชาติเป็นจำนวนมาก
คือ ข้าวฟ่าง ลูกเดือยเป็นอันมาก
ข้าวสาลีที่ไม่ต้องหุงด้วยฟืนไฟ และอ้อยมิใช่น้อยก็มีอยู่ในป่านั้น
[๒๐๘๔] ทางนี้เป็นทางเดินไปได้คนเดียว ตรงไปยังอาศรม
คนผู้ไปถึงอาศรมซึ่งเป็นสถานที่ที่พระเจ้าเวสสันดร
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายประทับอยู่นั้น
จะไม่ประสบความหิว ความกระหาย และความไม่ยินดี
[๒๐๘๕] พระองค์ทรงเพศเป็นนักบวชอันประเสริฐ
ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฏา
นุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือพื้นดินและบูชาไฟอยู่
[๒๐๘๖] ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์
ครั้นได้ฟังคำแนะนำนี้แล้ว กระทำประทักษิณ
มีใจเบิกบาน อำลาท่านฤๅษี
แล้วหลีกไปยังสถานที่ที่พระเจ้าเวสสันดรประทับอยู่
พรรณนากัณฑ์มหาพน จบ
กัณฑ์กุมาร
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๐๘๗] ลุกขึ้นยืนเถิดนะ พ่อชาลี การมาของพวกยาจกในวันนี้
ปรากฏเหมือนที่พ่อเห็นพราหมณ์มาเมื่อครั้งก่อน ๆ
ความชื่นชมยินดีทำให้พ่อเกษมศานต์
(พระชาลีกราบทูลว่า)
[๒๐๘๘] ข้าแต่พระบิดา แม้หม่อมฉันก็เห็นผู้นั้น
ปรากฏเหมือนพราหมณ์ ดูเหมือนคนเดินทาง
จักเป็นแขกของพวกเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
(ชูชกทูลถามว่า)
[๒๐๘๙] พระองค์ไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ ทรงสุขสำราญดีหรือ
เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกหรือ
มูลผลาหารก็มีมากหรือ
[๒๐๙๐] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ
ในป่าที่มีเนื้อร้ายพลุกพล่าน ไม่มีมาเบียดเบียนหรือ
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๐๙๑] ท่านพราหมณ์ เราทั้งหลายไม่มีโรคเบียดเบียนเป็นสุขสำราญดี
อนึ่ง เราเลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกดี
ทั้งมูลผลาหารก็มีมาก
[๒๐๙๒] อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย
ในป่าที่มีเนื้อร้ายอยู่พลุกพล่าน ก็ไม่มีมาเบียดเบียนเราเลย
[๒๐๙๓] เมื่อเรามาอยู่ในป่ามีชีวิตอันหงอยเหงาตลอด ๗ เดือน
เราเพิ่งจะเห็นท่านผู้เป็นพราหมณ์บูชาไฟ
ทรงพรตอันประเสริฐ ถือไม้เท้ามีสีดังผลมะตูม
และลักจั่นน้ำนี้เป็นคนแรก
[๒๐๙๔] ท่านมหาพราหมณ์ ท่านมาดีแล้ว มิได้มาร้าย
ท่านผู้เจริญ ขอเชิญเข้าไปข้างใน
เชิญล้างเท้าทั้ง ๒ ของท่านเถิด
[๒๐๙๕] พราหมณ์ ผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง
ผลหมากเม่ามีรสหวานปานน้ำผึ้ง
เชิญท่านเลือกฉันแต่ผลดี ๆ เถิด
[๒๐๙๖] มหาพราหมณ์ แม้น้ำดื่มนี้ก็เย็นสนิท เรานำมาจากซอกเขา
ถ้าท่านต้องการก็เชิญดื่มเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๐๙๗] อนึ่ง ท่านมาถึงป่าใหญ่ เพราะเหตุไร
หรือเพราะปัจจัยอะไร
เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกความนั้นแก่เรา
(ชูชกกราบทูลว่า)
[๒๐๙๘] ห้วงน้ำเต็มเปี่ยมอยู่ตลอดเวลาไม่เหือดแห้งฉันใด
พระองค์ก็ฉันนั้น หม่อมฉันมาเพื่อทูลขอ
ขอพระองค์ผู้ที่หม่อมฉันทูลขอแล้ว
ทรงพระกรุณาพระราชทานพระโอรสทั้งหลายเถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๐๙๙] ท่านพราหมณ์ เรายอมให้ เรามิได้หวั่นไหว
ท่านจงเป็นใหญ่ นำลูกทั้ง ๒ ของเราไปเถิด
พระนางมัทรีราชบุตรีไปป่าแต่เช้า
จักกลับมาจากการแสวงหาผลไม้ในเวลาเย็น
[๒๑๐๐] ท่านพราหมณ์ จงพักค้างคืนสักคืนหนึ่งเถิด พรุ่งนี้เช้าจึงค่อยไป
เมื่อกุมารและกุมารีที่พระมารดาของเธอให้อาบน้ำดำเกล้า
ประดับระเบียบดอกไม้ไว้แล้ว
[๒๑๐๑] พราหมณ์ จงพักค้างคืนสักคืนหนึ่งเถิด พรุ่งนี้เช้าจึงค่อยไป
จงพากุมารและกุมารีที่ประดับตกแต่งด้วยกลิ่นหอมชนิดต่าง ๆ ไป
ในหนทางที่ปกคลุมไปด้วยดอกไม้นานาชนิด
เกลื่อนกล่นไปด้วยมูลผลาหารนานาประการ
(ชูชกกราบทูลว่า)
[๒๑๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ
ข้าพระองค์ไม่ชอบใจที่จะพักอยู่ ข้าพระองค์ยินดีที่จะไป
แม้อันตรายจะพึงมีแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ก็จะไปให้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๐๓] เพราะว่า ธรรมดาสตรีเหล่านี้เป็นผู้ไม่สมควรแก่การขอ
มีปกติกระทำอันตราย หญิงทั้งหลายรู้มนต์๑
ย่อมรับทุกสิ่งโดยข้างซ้าย
[๒๑๐๔] เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทานด้วยพระศรัทธา
พระองค์อย่าได้เห็นพระมารดาของพระปิโยรสนั้นเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ
พระมารดาของพระปิโยรสทั้ง ๒ พระองค์นั้น
จะพึงทำอันตรายได้ ข้าพระองค์จะไปให้ได้
[๒๑๐๕] ขอพระองค์ตรัสเรียกพระโอรสเหล่านั้นมาเถิด
อย่าให้พระโอรสเหล่านั้นได้พบเห็นพระมารดาเลย
เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทานอยู่ด้วยศรัทธา
บุญย่อมเจริญยิ่งขึ้นด้วยอาการฉะนี้
[๒๑๐๖] ขอพระองค์ตรัสเรียกพระโอรสเหล่านั้นมาเถิด
อย่าให้พระโอรสเหล่านั้นได้พบเห็นพระมารดาเลย
ขอเดชะ พระองค์ทรงประทานทรัพย์คือพระโอรสทั้งหลาย
แก่ข้าพระองค์แล้วจักเสด็จไปสวรรค์
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๑๐๗] ถ้าท่านไม่ปรารถนาจะเห็นภริยาของเราผู้มีวัตรอันงาม
ก็จงทูลถวายพระกุมารทั้ง ๒ คือพระชาลีและพระกัณหาชินา
แด่พระเจ้ากรุงสญชัยผู้เป็นพระอัยกา
[๒๑๐๘] พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระราชกุมารเหล่านี้
ผู้มีพระสุระเสียงไพเราะ ตรัสพระวาจาน่ารัก
ทรงปลื้มพระทัยปรีดาปราโมทย์
จักพระราชทานทรัพย์แก่ท่านเป็นอันมาก

เชิงอรรถ :
๑ มนต์ หมายถึงมารยา (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๑๐๓/๓๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
(ชูชกกราบทูลว่า)
[๒๑๐๙] ข้าแต่พระราชบุตร ขอพระองค์โปรดทรงฟังข้าพระองค์ก่อน
ข้าพระองค์กลัวการที่จะถูกหาว่าฉกชิงเอาไป
พระเจ้ากรุงสญชัยมหาราชจะพึงลงพระราชอาญาข้าพระองค์
คือ จะทรงปรับสินไหมหรือให้ประหารชีวิต
ข้าพระองค์จะขาดทั้งทรัพย์และทาส
และจะถูกนางพราหมณีผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ติเตียนได้
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๑๑๐] พระมหาราชทรงตั้งอยู่ในธรรม ทรงเป็นผู้ผดุงรัฐ
ให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ผู้มีพระสุระเสียงไพเราะ ตรัสพระวาจาน่ารัก
ได้ปีติและโสมนัสแล้วจักพระราชทานทรัพย์แก่ท่านเป็นอันมาก
(ชูชกกราบทูลว่า)
[๒๑๑๑] ข้าพระองค์จักทำตามสิ่งที่พระองค์ทรงพร่ำสอนคงไม่ได้
จักนำทารกทั้งหลายไปเป็นทาสรับใช้
ของนางพราหมณีเท่านั้น
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๑๒] ลำดับนั้น พระกุมารทั้ง ๒
คือ พระชาลีและพระกัณหาชินา ได้สดับคำของชูชกผู้หยาบช้า
ตกพระทัยจึงพากันเสด็จวิ่งหนีไปจากที่นั้น
(พระเวสสันดรตรัสเรียก ๒ กุมารว่า)
[๒๑๑๓] ชาลีลูกรัก มานี่เถิด
เจ้าทั้ง ๒ จงช่วยกันบำเพ็ญบารมีของพ่อให้เต็มเถิด
จงช่วยกันโสรจสรงหทัยของพ่อให้เยือกเย็นเถิด
จงเชื่อฟังคำของพ่อเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๑๔] เจ้าทั้ง ๒ จงเป็นดุจยานนาวาของพ่อ
อันไม่โยกโคลงในสาครคือภพเถิด พ่อจักข้ามฝั่งคือชาติ
จักช่วยสัตวโลกพร้อมด้วยเทวโลกให้ข้ามด้วย
[๒๑๑๕] แม่กัณหาลูกรัก มานี่เถิด ทานบารมีเป็นที่รักของพ่อ
เจ้าทั้ง ๒ จงช่วยกันโสรจสรงหทัยของพ่อให้เยือกเย็นเถิด
จงเชื่อฟังคำของพ่อเถิด
[๒๑๑๖] เจ้าทั้ง ๒ จงเป็นดุจยานนาวาของพ่อ
อันไม่โยกโคลงในสาครคือภพเถิด พ่อจักข้ามฝั่งคือชาติ
จักช่วยสัตวโลกพร้อมด้วยเทวโลกให้ข้ามด้วย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๑๗] ลำดับนั้น พระเวสสันดรผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ทรงพาพระกุมารทั้ง ๒ คือ พระชาลีและพระกัณหาชินามา
ได้พระราชทานให้แก่พราหมณ์แล้ว
[๒๑๑๘] ลำดับนั้น พระเวสสันดรทรงพาพระกุมารทั้ง ๒
คือพระชาลีและพระกัณหาชินามา
ได้พระราชทานให้แก่พราหมณ์แล้ว
ก็ทรงพระทัยชื่นบานในปุตตทานอันอุดม
[๒๑๑๙] ครั้งนั้น เมื่อพระเวสสันดรได้พระราชทาน
พระกุมารทั้ง ๒ แล้ว ความบันลือลั่น
น่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้า ได้เกิดขึ้น
แผ่นดินก็สะท้านหวั่นไหว
[๒๑๒๐] ครั้งนั้น พระเวสสันดรผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ทรงประคองอัญชลี พระราชทานพระกุมาร
ผู้เจริญด้วยความสุขให้เป็นทานแก่พราหมณ์
ความบันลือลั่นน่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้า
ได้เกิดขึ้นแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๒๑] ลำดับนั้น พราหมณ์ผู้หยาบช้ากัดเถาวัลย์ให้ขาดแล้ว
เอาเถาวัลย์ผูกพระหัตถ์ของพระกุมารทั้ง ๒
ฉุดกระชากลากไปด้วยเถาวัลย์
[๒๑๒๒] แต่นั้น พราหมณ์นั้นถือเอาเชือกและไม้เท้า
ทุบตีพระกุมารทั้ง ๒ นั้นไป
ทั้งที่พระเจ้าเวสสันดรพระเจ้ากรุงสีพีทอดพระเนตรเห็นอยู่
[๒๑๒๓] ลำดับนั้น พระกุมารทั้งหลาย
พอหลุดจากพราหมณ์ก็รีบวิ่งหนีไป
พระชาลีมีพระเนตรทั้ง ๒ นองไปด้วยพระอัสสุชล
ชะเง้อมองดูพระบิดา
[๒๑๒๔] ทรงถวายบังคมพระยุคลบาทของพระบิดา
พระวรกายสั่นระริกเหมือนใบโพธิ์
ครั้นทรงถวายบังคมพระยุคลบาทของพระบิดาแล้ว
ก็ได้กราบทูลดังนี้ว่า
[๒๑๒๕] ข้าแต่พระบิดา พระมารดากำลังเสด็จออกไปป่า
พระองค์ก็จะพระราชทานหม่อมฉันทั้ง ๒ เสียแล้ว
ข้าแต่พระบิดา ขอพระองค์โปรดประทานหม่อมฉันทั้ง ๒
เมื่อหม่อมฉันทั้ง ๒ เห็นพระมารดากลับมาก่อน
[๒๑๒๖] ข้าแต่พระบิดา พระมารดากำลังเสด็จออกไปป่า
พระองค์ก็จะพระราชทานหม่อมฉันทั้ง ๒ เสียแล้ว
ขอพระองค์โปรดพระราชทานหม่อมฉันทั้ง ๒
จนกว่าพระมารดาของหม่อมฉันทั้ง ๒ จะได้เสด็จมา
เมื่อนั้น พราหมณ์นี้จะขายหรือจะฆ่า
ก็จงทำตามความปรารถนาเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๒๗] พราหมณ์ผู้หยาบช้านี้ประกอบด้วยบุรุษโทษ ๑๘ ประการ๑ คือ

๑. มีเท้าทู่ ๒. มีเล็บกุด
๓. มีปลีน่องหย่อนยาน ๔. มีริมฝีปากบนยาว
๕. มีน้ำลายไหล ๖. มีเขี้ยว
๗. มีจมูกหัก
[๒๑๒๘] ๘. มีพุงเหมือนหม้อ ๙. มีหลังค่อม
๑๐. มีตาเหล่ ๑๑. มีหนวดแดง
๑๒. มีผมเหลือง ๑๓. มีหนังย่นตกกระ
[๒๑๒๙] ๑๔. มีตาเหลือง ๑๕. มีกายคต
๑๖. มีขาโกง ๑๗. มีขนหยาบยาว

๑๘. นุ่งห่มหนังเสือ เป็นอมนุษย์ที่น่าสะพรึงกลัว
[๒๑๓๐] เป็นมนุษย์หรือยักษ์ที่กินเนื้อและเลือด
ออกจากบ้านมาสู่ป่า มาทูลขอทรัพย์กับพระองค์ พระเจ้าข้า
(กัณหาชาลีกล่าวว่า)
[๒๑๓๑] ข้าแต่พระบิดา หม่อมฉันทั้ง ๒ กำลังถูกปีศาจนำไปอยู่
เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงมองเมินอยู่
พระทัยของเสด็จพ่อเห็นจะเหมือนหิน
หรือมิฉะนั้น ก็เหมือนแผ่นเหล็กที่ตรึงไว้

เชิงอรรถ :
๑ บุรุษโทษ ๑๘ ประการ คือ (๑) มีเท้าทู่ หมายถึงมีเท้าแบนเป็นแผ่น (๒) มีเล็บกุด หมายถึงมีเล็บเน่า
(๓) มีปลีน่องหย่อนยาน หมายถึงเนื้อปลีน่องหย่อนยานลงข้างล่าง (๔) มีริมฝีปากบนยาว หมายถึง
ริมฝีปากด้านบนยาวห้อยปิดริมฝีปากด้านล่าง (๕) มีน้ำลายไหล หมายถึงมีน้ำลายไหล(ตลอดเวลา)
(๖) มีเขี้ยว หมายถึงมีเขี้ยวงอกขึ้นเหมือนเขี้ยวสุกร (๗) มีจมูกหัก หมายถึงมีจมูกทั้งหักทั้งคด (๘-๑๐
ความชัดแล้ว) (๑๑) มีหนวดแดง หมายถึงมีหนวดสีแดงเหมือนเส้นลวดทองแดง (๑๒) มีผมเหลือง
หมายถึงมีผมงอกขึ้นมาเป็นสีทอง (๑๓) มีหนังย่นตกกระ หมายถึงหนังตามตัวเต็มไปด้วยรอยย่นและ
เกลื่อนกล่นไปด้วยมูลแมลงวัน (๑๔) มีตาเหลือง หมายถึงมีลูกตาเหลือกเหลืองเหมือนตาแมว (๑๕) มี
กายคด หมายถึงมีที่คด ๓ แห่ง คือ สะเอว หลัง และคอ (๑๖) มีขาโกง หมายถึงมีเท้าเฉไปคนละทาง
ข้อต่อกระดูกไม่สนิทกัน (เวลาเดิน)เสียงดังกฏะ กฏะ (๑๗) ความชัดแล้ว (๑๘) เป็นอมนุษย์ หมายถึง
ไม่ใช่มนุษย์ คือ ผู้นั้นเป็นยักษ์จำแลงตัวเป็นมนุษย์เที่ยวไป (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๑๒๗-๒๑๒๙/๓๙๑-๓๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๓๒] พระองค์ไม่ทรงรู้สึกว่า หม่อมฉันทั้ง ๒
ถูกพราหมณ์ผู้หยาบช้าเหลือเกิน ผู้แสวงหาทรัพย์ผูกมัด
แกเฆี่ยนตีหม่อมฉันทั้ง ๒ เหมือนนายโคบาลเฆี่ยนตีโค
[๒๑๓๓] ขอให้น้องกัณหาอยู่ ณ ที่นี้นี่แหละ
เธอยังไม่รู้จักทุกข์ร้อนอะไร ๆ เธอจะคร่ำครวญ
เหมือนลูกเนื้อที่ยังดื่มนมพลัดจากฝูงไม่เห็นแม่
(พระกุมารคร่ำครวญถึงพระมารดาและพระบิดาว่า)
[๒๑๓๔] ข้าพระองค์ไม่เป็นทุกข์
เพราะความทุกข์เช่นนี้คนพึงได้รับเหมือนกัน
แต่ทุกข์ที่หม่อมฉันไม่เห็นพระมารดา
เป็นทุกข์ที่ยิ่งกว่านี้ของหม่อมฉัน
[๒๑๓๕] ข้าพระองค์ไม่เป็นทุกข์
เพราะความทุกข์เช่นนี้คนพึงได้รับเหมือนกัน
แต่ทุกข์ที่หม่อมฉันไม่เห็นเสด็จพ่อ
เป็นทุกข์ที่ยิ่งกว่านี้ของหม่อมฉัน
[๒๑๓๖] พระมารดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่
เมื่อไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกัณหาชินากุมารี
ผู้มีดวงเนตรงดงาม ก็จักทรงกันแสงพร่ำหาตลอดกาลนาน
[๒๑๓๗] พระบิดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่
เมื่อไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกัณหาชินากุมารี
ผู้มีดวงเนตรงดงาม ก็จักทรงกันแสงพร่ำหาตลอดกาลนาน
[๒๑๓๘] พระมารดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่
เมื่อไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกัณหาชินากุมารี
ผู้มีดวงเนตรงดงาม ก็จักทรงกันแสงพร่ำหา
ในอาศรมตลอดกาลนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๓๙] พระบิดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่
เมื่อไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกัณหาชินากุมารี
ผู้มีดวงเนตรงดงาม ก็จักทรงกันแสงพร่ำหา
ในอาศรมตลอดกาลนาน
[๒๑๔๐] พระมารดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่
จักทรงกันแสงพร่ำหาตลอดกาลนาน
ทรงหวนระลึกถึงเราทั้ง ๒ ตลอดครึ่งคืนหรือทั้งคืนแล้ว
จะทรงซูบผอมตายไปเหมือนแม่น้ำน้อยในฤดูแล้งเหือดแห้งไป
[๒๑๔๑] พระบิดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่
จักทรงกันแสงพร่ำหาตลอดกาลนาน
ทรงหวนระลึกถึงเราทั้ง ๒ ตลอดครึ่งคืนหรือทั้งคืนแล้ว
จะทรงซูบผอมตายไปเหมือนแม่น้ำเขินเหือดแห้งไป
[๒๑๔๒] รุกขชาติชนิดต่าง ๆ เหล่านี้
คือ ต้นหว้า ต้นย่านทราย ที่มีกิ่งห้อยย้อย
วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งรุกขชาติต่าง ๆ เหล่านั้นไป
[๒๑๔๓] รุกขชาติชนิดที่มีผลชนิดต่าง ๆ
คือ ต้นโพธิ์ใบ ต้นขนุน ต้นไทร
และต้นมะขวิด ที่เราทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน
วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งรุกขชาติเหล่านั้นไป
[๒๑๔๔] สวนเหล่านี้ก็ยังตั้งอยู่ นี้แม่น้ำที่เยือกเย็น
เราทั้ง ๒ เคยลงเล่นมาก่อน
วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งสิ่งทั้ง ๒ นั้นไป
[๒๑๔๕] บุปผชาติชนิดต่าง ๆ บนภูเขาลูกโน้น
ที่เราทั้ง ๒ เคยทัดทรงมาก่อน
วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งสิ่งเหล่านั้นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๔๖] ผลไม้ชนิดต่าง ๆ บนภูเขาลูกโน้น
ที่เราทั้ง ๒ เคยบริโภคมาก่อน
วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งผลไม้เหล่านั้นไป
[๒๑๔๗] สิ่งของเหล่านี้ คือ ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว
ที่พระบิดาทรงปั้นไว้ให้เราทั้ง ๒ เล่น
ซึ่งเราทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน
วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งตุ๊กตาเหล่านั้นไป
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๔๘] พระกุมารทั้ง ๒ พระองค์ถูกพราหมณ์ชูชกนำไปอยู่
ได้กราบทูลพระบิดาดังนี้ว่า
ข้าแต่พระบิดา ขอให้พระองค์ทรงพระกรุณา
ตรัสบอกพระมารดาว่า ลูกทั้ง ๒ ไม่มีโรค
และขอพระองค์ทรงพระสำราญเถิด
(ชาลีกล่าวว่า)
[๒๑๔๙] ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว
เหล่านี้เป็นของหม่อมฉันทั้ง ๒
ขอให้พระองค์โปรดประทานตุ๊กตาเหล่านั้นแก่พระมารดา
ความเศร้าโศกของพระองค์จักหายไปเพราะตุ๊กตาเหล่านั้น
[๒๑๕๐] ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว
เหล่านี้เป็นของหม่อมฉันทั้ง ๒
พระมารดาได้ทอดพระเนตรเห็นตุ๊กตาเหล่านั้น
ก็จักทรงกำจัดความเศร้าโศกเสียได้
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๕๑] ลำดับนั้น พระเวสสันดรขัตติยราชทรงบำเพ็ญทานแล้ว
เสด็จเข้าไปสู่บรรณศาลาทรงกันแสงพิลาปว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
(พระเวสสันดรทรงคร่ำครวญว่า)
[๒๑๕๒] วันนี้ ลูกน้อยทั้ง ๒ จะหิวข้าว กระหายน้ำอย่างไรหนอ
จักเดินทางไกล ร้องไห้สะอึกสะอื้น
ครั้นในตอนเย็นเวลาบริโภคอาหาร
ใครจะให้อาหารแก่ลูกทั้ง ๒ นั้น
[๒๑๕๓] วันนี้ ลูกน้อยทั้ง ๒ จะหิวข้าว กระหายน้ำอย่างไรหนอ
จักเดินทางไกล ร้องไห้สะอึกสะอื้น
ครั้นในตอนเย็นเวลาบริโภคอาหาร
ลูกทั้ง ๒ เคยอ้อนมัทรีผู้เป็นมารดาว่า พระเจ้าแม่
ลูกทั้ง ๒ หิวแล้ว ขอเสด็จแม่จงประทานแก่ลูกทั้ง ๒ เถิด
[๒๑๕๔] ลูกทั้ง ๒ ไม่ได้สวมรองเท้า
จะเดินทางด้วยเท้าเปล่าได้อย่างไร
ลูกทั้ง ๒ จะเมื่อยล้ามีบาทาทั้ง ๒ ข้างฟกช้ำ
ใครจะจูงมือลูกทั้ง ๒ นั้นเดินทาง
[๒๑๕๕] ทำไมหนอ พราหมณ์นั้นช่างร้ายกาจนักไม่ละอาย
เฆี่ยนตีลูก ๆ ผู้ไม่ประทุษร้ายต่อหน้าเรา
[๒๑๕๖] แม้แต่คนที่ตกเป็นทาสีเป็นทาสของเรา
หรือคนรับใช้อื่น ใครเล่าที่มีความละอาย
จักเฆี่ยนตีคนที่แสนต่ำต้อยแม้นั้นได้
[๒๑๕๗] เมื่อเรายังอยู่ พราหมณ์ช่างด่า
ช่างเฆี่ยนลูกรักทั้ง ๒ ของเราผู้มองดูอยู่
เหมือนปลาที่ติดอยู่ที่หน้าไซ
[๒๑๕๘] หรือเราจักถือเอาธนู จักเหน็บพระขรรค์ไว้ข้างซ้าย
นำเอาลูกทั้ง ๒ ของเรามา
เพราะว่าลูกทั้ง ๒ ถูกเฆี่ยนตีเป็นทุกข์ทรมาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๕๙] การที่กุมารทั้งหลายเดือดร้อน
เป็นทุกข์แสนสาหัสนี้ไม่ควรเลย
ก็ใครเล่ารู้ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย
ให้ทานแล้วย่อมเดือดร้อนใจในภายหลัง
(ชาลีกล่าวว่า)
[๒๑๖๐] ได้ยินว่า คนบางพวกในโลกนี้ได้พูดความจริงไว้อย่างนี้ว่า
บุตรใดไม่มีมารดาของตนเอง บุตรนั้นก็เหมือนไม่มีบิดา
[๒๑๖๑] มานี่เถิด น้องกัณหา เราทั้ง ๒ จักตายด้วยกัน
จะมีชีวิตอยู่ไปก็เปล่าประโยชน์
พระบิดาผู้ทรงเป็นจอมประชาชนได้ประทานเราทั้ง ๒
แก่ตาพราหมณ์ผู้แสวงหาทรัพย์ ผู้หยาบช้าเหลือเกิน
แกเฆี่ยนตีหม่อมฉันทั้ง ๒ เหมือนนายโคบาลเฆี่ยนตีโค
[๒๑๖๒] รุกขชาติชนิดต่าง ๆ เหล่านี้ คือ ต้นหว้า
ต้นย่านทรายมีกิ่งห้อยย้อย ที่เราทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน
น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งรุกขชาติเหล่านั้นไป
[๒๑๖๓] รุกขชาติที่มีผลต่างชนิด ๆ คือ ต้นโพธิ์ใบ
ต้นขนุน ต้นไทร และต้นมะขวิด ที่เราทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน
น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้ง
รุกขชาติเหล่านั้นไป
[๒๑๖๔] สวนเหล่านี้ก็ยังตั้งอยู่ นี้แม่น้ำที่เยือกเย็น
เราทั้ง ๒ เคยลงเล่นมาก่อน
น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งสิ่งทั้ง ๒ นั้นไป
[๒๑๖๕] บุปผชาติชนิดต่าง ๆ บนภูเขาลูกโน้น
ที่เราทั้ง ๒ เคยทัดทรงมาก่อน
น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งสิ่งเหล่านั้นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๖๖] ผลไม้ชนิดต่าง ๆ บนภูเขาลูกโน้น
ที่เราทั้ง ๒ เคยบริโภคมาก่อน น้องกัณหา วันนี้
เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งผลไม้เหล่านั้นไป
[๒๑๖๗] สิ่งของเหล่านี้ คือ ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว
ที่พระบิดาทรงปั้นไว้ให้เราทั้ง ๒ เล่น
ซึ่งเราทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน
น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งตุ๊กตาเหล่านั้นไป
[๒๑๖๘] พระกุมารทั้ง ๒ เหล่านั้น คือ พระชาลี
และพระกัณหาชินาถูกพราหมณ์ชูชกนำไปอยู่
พอพ้นออกจากมือพราหมณ์ ก็พากันวิ่งไปทางนั้น ๆ
[๒๑๖๙] ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นถือเอาเชือกและไม้เท้า
ทุบตีราชกุมารและกุมารีทั้ง ๒ นั้นแล้วนำไป
ทั้งที่พระเวสสันดรพระเจ้ากรุงสีพีทอดพระเนตรเห็นอยู่
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๗๐] พระกัณหาชินาได้กราบทูลพระบิดาว่า ข้าแต่พระบิดา
พราหมณ์นี้เฆี่ยนตีหม่อมฉันด้วยไม้เท้าเหมือนตีทาสีผู้เกิดในเรือนเบี้ย
[๒๑๗๑] ข้าแต่พระบิดา ผู้นี้คงจะมิใช่พราหมณ์เป็นแน่
เพราะพราหมณ์ทั้งหลายเป็นผู้มีธรรม
แต่พราหมณ์คงจะเป็นยักษ์แปลงเพศเป็นพราหมณ์
นำลูกทั้ง ๒ ไปเพื่อจะกินเป็นอาหาร พระเจ้าข้า
ลูกทั้ง ๒ ถูกพราหมณ์ผู้เป็นปีศาจนำไป
ข้าแต่พระบิดา ทำไมหนอ พระองค์จึงเมินเฉยอยู่เล่า
(พระกัณหาชินาได้เดินคร่ำครวญไปว่า)
[๒๑๗๒] เท้าของเราทั้ง ๒ นี้ยังเล็กนักเป็นทุกข์ ทั้งหนทางก็ไกล
เดินไปได้แสนยาก เมื่อพระอาทิตย์คล้อยลงต่ำ
พราหมณ์ก็เร่งเราทั้ง ๒ ให้รีบเดิน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๗๓] เราทั้ง ๒ ขอโอดครวญกราบไหว้เทพเจ้าทั้งหลาย
ผู้สิงสถิตอยู่ ณ ภูเขา ลำเนาไพร สระน้ำ
และบ่อน้ำ ที่มีท่าสวยงาม ด้วยเศียรเกล้า
[๒๑๗๔] ขอเทพเจ้าทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่ ณ ป่าหญ้า ลดาวัลย์
ต้นไม้ที่เป็นโอสถ บนภูเขา และป่าไม้
ขอให้ช่วยกราบทูลพระมารดาว่า เราทั้ง ๒ นี้ไม่มีโรค
พราหมณ์นี้นำเราทั้ง ๒ ไป
[๒๑๗๕] อนึ่ง เทพเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย ขอให้ท่านทั้งหลาย
จงช่วยกราบทูลพระแม่เจ้ามัทรีผู้เป็นพระมารดาของเราทั้ง ๒ ว่า
ถ้าพระแม่เจ้าปรารถนาจะเสด็จติดตามมา
ก็ให้รีบเสด็จติดตามมาโดยเร็ว
[๒๑๗๖] ทางนี้เป็นทางเดินไปได้คนเดียว ตรงไปยังอาศรม
พระมารดาพึงเสด็จติดตามมาทางนั้นเท่านั้น
ก็จะทันได้เห็นเราทั้ง ๒ อย่างเร็วไว
[๒๑๗๗] โอหนอ พระเจ้าแม่ผู้ทรงเพศเป็นตาปสินี
ทรงนำมูลผลาหารมาจากป่า
ได้เห็นอาศรมอันว่างเปล่า พระองค์จักเป็นทุกข์
[๒๑๗๘] พระมารดาเสด็จเที่ยวไปแสวงหามูลผลาหารจนล่วงเวลา
คงได้มามิใช่น้อย คงไม่ทราบว่า
เราทั้ง ๒ ถูกพราหมณ์ผู้แสวงหาทรัพย์ผูกมัดพาไป
[๒๑๗๙] ถูกพราหมณ์ผู้หยาบช้าเหลือเกิน ผู้แสวงหาทรัพย์ผูกมัด
แกเฆี่ยนตีหม่อมฉันทั้ง ๒ เหมือนนายโคบาลเฆี่ยนตีโค
เออก็วันนี้ เราทั้ง ๒ จะได้เห็นพระมารดา
เสด็จมาจากการแสวงหามูลผลาหารในเวลาเย็น
[๒๑๘๐] พระมารดาพึงประทานผลไม้ที่เจือด้วยน้ำผึ้งแก่พราหมณ์
ครั้งนั้น พราหมณ์นี้หิวกระหาย จะไม่พึงเร่งให้เราทั้ง ๒ เดิน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๑๘๑] เท้าทั้ง ๒ ของเราบวมหนอ
พราหมณ์ก็เร่งให้เราทั้ง ๒ รีบเดิน
พระกุมารทั้งหลายทรงรักใคร่ในพระมารดา
ทรงกันแสงพิลาปอยู่ ณ ที่นั้นด้วยประการฉะนี้
กัณฑ์กุมาร จบ
กัณฑ์มัทรี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๘๒] เทวดาเหล่านั้นได้ฟังพระกุมารทั้ง ๒ นั้น
ทรงพิลาปรำพันแล้ว จึงได้กล่าวกับเทพบุตรทั้ง ๓
ดังนี้ว่า “ท่านทั้ง ๓ จงแปลงเพศเป็นสัตว์ร้ายในป่า
คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลือง
[๒๑๘๓] อย่าให้พระนางมัทรีราชบุตรีเสด็จกลับมาจากการแสวงหา
มูลผลาหารในตอนเย็น และอย่าให้สัตว์ร้ายในป่า
อันเป็นแคว้นของเราทั้งหลายรบกวนพระนางมัทรีราชบุตรีได้
[๒๑๘๔] ถ้าราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลือง
พึงรบกวนพระนางผู้ทรงสิริโฉม
พระชาลีกุมารก็จะมีพระชนม์อยู่ไม่ได้เลย
แล้วพระกัณหาชินาจะมีพระชนม์อยู่ได้แต่ที่ไหน
พระนางผู้ทรงลักษณะอันสง่างาม
จะพึงสูญเสียทั้งพระภัสดาและพระลูกรักทั้ง ๒ ไปเท่านั้น”
(พระนางมัทรีใคร่ครวญว่า)
[๒๑๘๕] “เสียมของเราก็หล่นลง ตาข้างขวาก็เขม่นอยู่ริก ๆ
ต้นไม้ทั้งหลายที่เคยมีผลก็กลับไม่มีผล
และทุก ๆ ทิศก็มืดมน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๑๘๖] เมื่อพระนางเสด็จกลับบ่ายพระพักตร์มาสู่อาศรม
ในเวลาที่พระอาทิตย์อัสดงคต เหล่าสัตว์ร้ายก็มายืนขวางทาง
(พระนางมัทรีรำพึงว่า)
[๒๑๘๗] เมื่อพระอาทิตย์คล้อยต่ำลง และอาศรมก็ยังอยู่ไกลนัก
พระเจ้าพี่เวสสันดรและพระลูกรักทั้ง ๒ นั้น
ก็คอยบริโภคมูลผลาหารที่เราจักนำไปจากป่านี้
[๒๑๘๘] พระจอมกษัตริย์นั้นประทับอยู่ในบรรณศาลาพระองค์เดียว
คงจะทรงปลอบประโลมให้ลูกน้อยทั้ง ๒ ผู้หิวกระหาย
คอยทอดพระเนตรดูเราผู้ยังมาไม่ถึงให้ยินดีเป็นแน่แท้
[๒๑๘๙] ลูกน้อยเหล่านั้นของเราเป็นกำพร้าน่าสงสาร
ในเวลาเย็นเป็นเวลากินเวลาดื่มก็จักคอย
เหมือนลูกเนื้อที่กำลังดื่มนมเป็นแน่แท้
[๒๑๙๐] ลูกน้อยเหล่านั้นของเราเป็นกำพร้าน่าสงสาร
ในเวลาเย็นเป็นเวลากินเวลาดื่มก็จักคอย
เหมือนลูกเนื้อที่กำลังกระหายน้ำเป็นแน่แท้
[๒๑๙๑] ลูกน้อยเหล่านั้นของเราเป็นกำพร้าน่าสงสาร
คงจะยืนคอยต้อนรับเรา
เหมือนลูกโคอ่อนคอยชะเง้อหาแม่เป็นแน่แท้
[๒๑๙๒] ลูกน้อยเหล่านั้นของเราเป็นกำพร้าน่าสงสาร
คงจะยืนคอยต้อนรับเรา
เหมือนลูกหงส์ที่ตกอยู่ในเปือกตมเป็นแน่แท้
[๒๑๙๓] ลูกน้อยเหล่านั้นของเราเป็นกำพร้าน่าสงสาร
คงจะยืนคอยต้อนรับเราอยู่ไม่ไกลจากอาศรม
[๒๑๙๔] หนทางที่จะไปก็มีอยู่ทางเดียว
และเป็นทางที่เดินไปได้คนเดียว โดยข้างหนึ่งเป็นสระน้ำ
อีกข้างหนึ่งเป็นบึง เรายังไม่เห็นทางอื่นที่จะไปสู่อาศรมได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๑๙๕] ข้าแต่พญาเนื้อทั้งหลายผู้มีกำลังมากในป่าใหญ่
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมต่อท่านทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายกับข้าพเจ้าก็เป็นพี่น้องกันโดยธรรม
ข้าพเจ้าขออ้อนวอน ขอท่านทั้งหลายจงให้ทางแก่ข้าพเจ้าเถิด
[๒๑๙๖] ข้าพเจ้าเป็นภรรยาของพระราชบุตรผู้มีสิริ
ผู้ถูกขับไล่จากกรุงสีพี
และข้าพเจ้ามิได้ดูหมิ่นพระสวามีพระองค์นั้นเลย
เหมือนดังนางสีดาคอยประพฤติตามพระราม
[๒๑๙๗] ขอท่านทั้งหลายจงหลีกทางให้ดิฉัน
แล้วกลับไปเยี่ยมลูกน้อยของท่าน
ในเวลาออกหาอาหารในตอนเย็น
ส่วนดิฉันก็จะกลับไปเยี่ยมลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พระชาลีและพระกัณหาชินา
[๒๑๙๘] อนึ่ง มูลผลาหารนี้ก็มีอยู่มาก
และภักษาก็มีอยู่ไม่น้อย ดิฉันขอแบ่งให้พวกท่านกึ่งหนึ่ง
ดิฉันอ้อนวอนแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงให้ทางแก่ดิฉันเถิด
[๒๑๙๙] พระมารดาของเราทั้งหลายเป็นราชบุตรี
และพระบิดาของเราทั้งหลายก็เป็นพระราชบุตร
ท่านทั้งหลายกับดิฉันเป็นพี่น้องกันโดยธรรม
ดิฉันอ้อนวอนแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงให้ทางแก่ดิฉันเถิด
[๒๒๐๐] พญาเนื้อร้ายทั้งหลายได้ฟังวาจาอันไพเราะ
ซึ่งประกอบด้วยความการุณย์เป็นอย่างมาก
ของพระนางผู้ทรงพิลาปรำพันอยู่
จึงได้พากันหลีกออกจากทางไป
[๒๒๐๑] ลูกน้อยทั้งหลายคงขมุกขมัวไปด้วยฝุ่น
คงจะยืนคอยต้อนรับเรา
เหมือนลูกโคอ่อนยืนคอยชะเง้อหาแม่เป็นแน่แท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๐๒] ลูกน้อยทั้งหลายคงขมุกขมัวไปด้วยฝุ่น
คงจะยืนคอยต้อนรับเราอยู่ตรงนี้
เหมือนลูกหงส์ที่ตกอยู่ในเปือกตมเป็นแน่แท้
[๒๒๐๓] ลูกน้อยทั้งหลายคงขมุกขมัวไปด้วยฝุ่น
คงจะยืนคอยต้อนรับเราอยู่ตรงนี้ ไม่ห่างไกลจากอาศรม
[๒๒๐๔] ลูกน้อยเหล่านั้นเคยร่าเริงวิ่งมาต้อนรับเรา
เหมือนจะทำให้หทัยของเราหวั่นไหว
เหมือนลูกเนื้อเห็นแม่แล้วหูชันร่าเริงวิ่งไปวิ่งมารอบแม่
วันนี้ เรามิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย
[๒๒๐๕] เราละลูกน้อยทั้งหลายไว้ออกไปหาผลไม้
เหมือนแม่แพะและแม่เนื้อละลูกน้อย ไปหากิน
เหมือนปักษีละลูกน้อยไปจากรัง หรือเหมือนแม่ราชสีห์
ผู้ต้องการอาหารละลูกน้อยไว้ออกไปหากิน
วันนี้ เราไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย
[๒๒๐๖] นี้รอยเท้าวิ่งเล่นไปมาของลูกน้อยทั้ง ๒
ยังปรากฏอยู่เหมือนรอยเท้าช้างที่เชิงเขา
นี้กองทรายที่ลูกน้อยทั้ง ๒ ขนมาเล่น
ยังกระจัดกระจายอยู่ ณ ที่ใกล้อาศรม
วันนี้ เราไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย
[๒๒๐๗] ลูกน้อยทั้งหลายเคยเกลื่อนกล่นไปด้วยทราย
และขมุกขมัวไปด้วยฝุ่น วิ่งเข้ามาล้อมเราอยู่รอบ ๆ
เรามิได้เห็นทารกเหล่านั้น
[๒๒๐๘] เมื่อก่อนลูกน้อยทั้งหลายเคยต้อนรับเราผู้กลับมา
จากป่าแต่ที่ไกล วันนี้ เราไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๐๙] ลูกน้อยทั้งหลายเคยไปคอยต้อนรับแม่ คอยมองดูเราแต่ที่ไกล
เหมือนลูกแพะหรือลูกเนื้อคอยชะเง้อหาแม่
เรามิได้เห็นทารกเหล่านั้นเลย
[๒๒๑๐] ผลมะตูมสีเหลืองที่ตกอยู่นี้
เป็นของเล่นของลูกน้อยทั้ง ๒ นั้น
วันนี้ เรามิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย
[๒๒๑๑] ถันทั้ง ๒ ของเรานี้ยังเต็มไปด้วยน้ำนม
และอกของเราเหมือนจะแตกดับ
วันนี้ เรามิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่ กัณหาชินานั้นเลย
[๒๒๑๒] ใครเล่าจะค้นชายพก ใครเล่าจะเหนี่ยวถันทั้ง ๒ ของเรา
วันนี้ เราไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย
[๒๒๑๓] เวลาเย็น ลูกน้อยทั้ง ๒ ขมุกขมัวไปด้วยฝุ่น
เคยวิ่งเข้ามาเกาะที่ชายพกของเรา
วันนี้ เรามิได้เห็นทารกเหล่านั้นเลย
[๒๒๑๔] เมื่อก่อน อาศรมนี้ปรากฏแก่เราเหมือนโรงมหรสพ
วันนี้ เมื่อเราไม่เห็นลูกน้อยเหล่านั้น
อาศรมปรากฏเหมือนดังจะหมุนไป
[๒๒๑๕] นี่อย่างไร อาศรมจึงปรากฏกับเราดูเงียบสงัดจริงหนอ
แม้ฝูงกาป่าก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของเราคงจะตายแน่
[๒๒๑๖] นี่อย่างไร อาศรมจึงปรากฏกแก่เราดูเงียบสงัดจริงหนอ
แม้ฝูงนกก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของเราคงจะตายแน่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๑๗] นี่อย่างไร พระองค์จึงทรงนิ่งเฉยอยู่
แม้เมื่อคืนใจหม่อมฉันก็เหมือนฝันไป แม้ฝูงกาป่าก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงจะตายแน่
[๒๒๑๘] นี่อย่างไร พระองค์จึงทรงนิ่งเฉยอยู่
แม้เมื่อคืนใจหม่อมฉันก็เหมือนฝันไป แม้ฝูงนกก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงจะตายแน่
[๒๒๑๙] ข้าแต่พระลูกเจ้า เหล่าเนื้อร้ายในป่าอันเงียบสงัด
ได้กินทารกทั้งหลายของหม่อมฉันแล้วหรือกระไรหนอ
หรือว่าใครนำทารกทั้งหลายของหม่อมฉันไป
[๒๒๒๐] ทารกเหล่านั้นผู้กำลังพูดจาน่ารัก
พระองค์ทรงส่งไปเป็นทูต หรือว่ายังหลับอยู่
หรือทารกเหล่านั้นของเราออกไปเล่นภายนอก
[๒๒๒๑] เส้นผม ลายมือ ลายเท้าของทารกเหล่านั้นมิได้ปรากฏเลย
หรือนกทั้งหลายมาโฉบเฉี่ยวเอาไป
หรือว่าใครนำทารกทั้งหลายของหม่อมฉันไป
[๒๒๒๒] การที่หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินาในวันนี้นั้น
เป็นทุกข์ยิ่งกว่าการถูกขับไล่จากแคว้น
เปรียบเหมือนแผลที่ถูกลูกศรแทง
[๒๒๒๓] การที่หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒
และฝ่าพระบาทมิได้ตรัสกับหม่อมฉันนี้
เป็นดุจลูกศรเสียบแทงหทัยของหม่อมฉันซ้ำสอง
หทัยของหม่อมฉันย่อมหวั่นไหว
[๒๒๒๔] ข้าแต่พระราชบุตร ถ้าคืนวันนี้พระองค์มิได้ตรัสกับหม่อมฉัน
พรุ่งนี้เช้าพระองค์น่าจะได้ทอดพระเนตรหม่อมฉัน
ผู้ปราศจากชีวิตตายไปแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๒๒๕] แม่มัทรีราชบุตรีผู้มีรูปโฉมงดงาม ผู้มียศ
มัวไปแสวงหามูลผลาหารแต่เช้า
ทำไมจึงกลับมาจนเย็น
(พระนางมัทรีกราบทูลว่า)
[๒๒๒๖] พระองค์ได้ทรงสดับแล้วมิใช่หรือ
ซึ่งเสียงบันลือลั่นของราชสีห์และเสือโคร่ง
ต่างก็มุ่งมาสู่สระนี้เพื่อจะดื่มน้ำ
[๒๒๒๗] บุพพนิมิตได้เกิดมีแก่หม่อมฉันผู้กำลังเที่ยวอยู่ในป่าใหญ่
คือ เสียมพลัดตกจากมือของหม่อมฉัน
และกระเช้าที่หาบอยู่ก็พลัดตกจากบ่า
[๒๒๒๘] เวลานั้น หม่อมฉันหวาดกลัวเป็นกำลัง
จึงได้ทำอัญชลี นอบน้อมไปทั่วทุกทิศ
ขอความสวัสดีพึงมีแต่ที่นี้ด้วย
[๒๒๒๙] ขอพระราชบุตรของเราอย่าได้ถูกราชสีห์
หรือเสือเหลืองเบียดเบียนเลย
หรือขอให้ทารกทั้งหลายอย่าได้ถูกหมี
สุนัขป่า หรือเสือดาวรังควานเลย
[๒๒๓๐] สัตว์ร้ายทั้ง ๓ ในป่า คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง
และเสือเหลืองได้มายืนขวางทางหม่อมฉัน
เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงกลับมาถึงในเวลาเย็น
(พระนางมัทรีทรงคร่ำครวญว่า)
[๒๒๓๑] เราเป็นผู้ไม่ประมาท หมั่นปฏิบัติพระสวามี
บำรุงเลี้ยงดูลูกน้อยทั้งหลายทุกวัน
เหมือนมาณพปฏิบัติอาจารย์
เราเกล้าผมประพฤติพรหมจรรย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๓๒] นุ่งห่มหนังเสือ เที่ยวไปแสวงหามูลผลาหาร
ในป่ามาทุกวันคืนเพราะความรักเธอทั้งหลาย นะลูกน้อย
[๒๒๓๓] ขมิ้นเหลือง ผลมะตูมสุกแม่หามาแล้ว
และแม่ก็ได้นำผลไม้สุกมา นี้เป็นของเล่นของลูกรักทั้ง ๒ นะลูก
[๒๒๓๔] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมกษัตริย์ เหง้าบัวพร้อมทั้งฝัก
หน่ออุบล และกระจับ ที่คลุกน้ำผึ้ง
ขอเชิญพระองค์ทรงเสวยพร้อมพระโอรสทั้งหลายเถิด
[๒๒๓๕] ขอพระองค์โปรดประทานดอกปทุมให้พ่อชาลี
ประทานดอกโกมุทให้กุมารี
พระองค์จะได้ทอดพระเนตรพระกุมารทั้งหลาย
ผู้ทรงประดับดอกไม้ฟ้อนรำอยู่
ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ขอพระองค์โปรดตรัสเรียก
พระโอรสทั้งหลายมาเถิด
[๒๒๓๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ต่อจากนั้น
ขอพระองค์ทรงสดับพระสุรเสียงอันไพเราะอ่อนหวาน
ของแม่กัณหาชินาผู้ซึ่งกำลังเข้าสู่อาศรมเถิด
[๒๒๓๗] เราทั้ง ๒ ถูกเนรเทศจากแคว้น เป็นผู้มีสุขและทุกข์เสมอกัน
ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ถึงพระองค์ก็โปรดทอดพระเนตรลูกน้อยทั้ง ๒
คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินาเถิด
[๒๒๓๘] หม่อมฉันคงได้สาปแช่งสมณะและพราหมณ์
ผู้มีพรหมจรรย์เป็นเบื้องหน้า มีศีล เป็นพหูสูตในโลกเป็นแน่
วันนี้ หม่อมฉันจึงไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒
คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา
[๒๒๓๙] รุกขชาติชนิดต่าง ๆ เหล่านี้ คือ ต้นหว้า
ต้นย่านทรายมีกิ่งห้อยย้อย ที่พระกุมารทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน
วันนี้ กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๔๐] รุกขชาติที่มีผลชนิดต่าง ๆ คือ ต้นโพธิ์ใบ ต้นขนุน
ต้นไทร และต้นมะขวิด เหล่านี้ที่กุมารทั้ง ๒ เคยมาวิ่งเล่น
วันนี้ กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๑] สวนเหล่านี้ก็ยังตั้งอยู่ นี้แม่น้ำที่เยือกเย็น
ที่กุมารทั้ง ๒ เคยมาเล่น
กุมารทั้ง ๒ ไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๒] บุปผชาติชนิดต่าง ๆ มีอยู่บนภูเขาลูกนี้
ที่กุมารทั้ง ๒ เคยทัดทรง
กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๓] ผลไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่บนภูเขาลูกนี้
ที่กุมารทั้ง ๒ เคยมาเสวย
กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๔] ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว
เหล่านี้ที่กุมารเหล่านั้นเคยเล่น
กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๕] ตุ๊กตาเนื้อทรายทองเล็ก ๆ ตุ๊กตากระต่าย ตุ๊กตานกเค้า
ตุ๊กตาชะมดเหล่านี้เป็นอันมากที่กุมารทั้ง ๒ เคยเล่น
กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๖] ตุ๊กตาหงส์ ตุ๊กตานกกระเรียน
ตุ๊กตานกยูงที่มีแววหางงามวิจิตร
เหล่านี้ที่กุมารทั้ง ๒ เคยเล่น
กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๗] พุ่มไม้มีดอกบานสะพรั่งทุกฤดูกาลเหล่านี้
ที่กุมารทั้ง ๒ เคยมาเล่น
กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๔๘] สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์เหล่านี้ มีนกจักรพากส่งเสียงกู่ขัน
ดารดาษไปด้วยดอกมณฑาลก ปทุม และอุบล
ที่กุมารทั้ง ๒ เคยมาเล่น กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๙] พระองค์มิได้หักฟืน มิได้ตักน้ำ มิได้ติดไฟ
เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงหงอยเหงาซบเซาอยู่
[๒๒๕๐] เพราะคนรักกับคนรักยังรวมกันอยู่
ความทุกข์ร้อนของหม่อมฉันย่อมหายไป
วันนี้ หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒
คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา
[๒๒๕๑] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ ของฉัน
ไม่ทราบว่า ผู้ใดนำลูกน้อยเหล่านั้นไป
แม้แต่ฝูงกาป่าก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงตายแล้วเป็นแน่
[๒๒๕๒] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ ของเรา
ไม่ทราบว่า ผู้ใดนำลูกน้อยเหล่านั้นไป
แม้ฝูงนกก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงตายแล้วเป็นแน่
[๒๒๕๓] พระนางมัทรีทรงปริเวทนา
พลางเที่ยวไปวิ่งหาตามซอกเขาและป่าชัฏ
ในท้องเขาวงกตนั้นแล้วเสด็จมายังอาศรมอีก
ทรงกันแสงอยู่ในสำนักพระราชสวามี ทูลคร่ำครวญว่า
[๒๒๕๔] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ ของเรา
และไม่ทราบว่า ผู้ใดนำลูกน้อยเหล่านั้นไป
แม้แต่ฝูงกาป่าก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงตายแล้วเป็นแน่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๕๕] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ ของเรา
และไม่ทราบว่า ผู้ใดนำลูกน้อยเหล่านั้นไป
แม้แต่ฝูงนกก็ไม่ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงตายแล้วเป็นแน่
[๒๒๕๖] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ ของเรา
และไม่ทราบว่าผู้ใดนำลูกน้อยเหล่านั้นไป
ทั้งที่เที่ยวไปหาที่โคนไม้ ภูเขา และถ้ำ
[๒๒๕๗] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้ทรงพระรูปโฉมงดงาม ผู้มีพระยศ
ประคองพระพาหาคร่ำครวญล้มลง ณ พื้นดิน
แทบพระยุคลบาทของพระเวสสันดรนั้นนั่นเองด้วยประการฉะนี้
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๒๕๘] พระเวสสันดรราชฤๅษีทรงวักน้ำประพรม
พระนางมัทรีราชบุตรีผู้เสด็จมาเฝ้าพระองค์
(ทรงวิสัญญีล้มลงแทบพระยุคลบาทของพระองค์)
ทรงทราบว่า พระนางทรงฟื้นพระองค์ดีแล้ว
จึงได้ตรัสพระดำรัสนี้กับพระนางว่า
[๒๒๕๙] มัทรี เราไม่อยากจะบอกความทุกข์แก่เธอแต่แรกก่อน
พราหมณ์แก่ยาจกผู้ตกยากมาสู่อาศรม
[๒๒๖๐] เราได้ให้ลูกน้อยทั้ง ๒ แก่พราหมณ์นั้นไป
มัทรี เธออย่าได้กลัวเลย เธอจงดีใจเถิด
มัทรี เธออย่าเห็นลูกน้อยทั้ง ๒ เลย อย่าได้ร้องไห้ไปนักเลย
เมื่อเรายังชีวิตอยู่ ไม่มีโรคภัย ก็จักได้พบลูกน้อยทั้ง ๒ แน่
[๒๒๖๑] สัตบุรุษเห็นยาจกมาหาแล้วพึงให้บุตร ปศุสัตว์
ธัญชาติ และทรัพย์อื่นใดในเรือน
มัทรี ขอเธอจงอนุโมทนาปุตตทานอันสูงสุดของเราเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
(พระนางมัทรีกราบทูลว่า)
[๒๒๖๒] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันขออนุโมทนา
ปุตตทานอันสูงส่งของพระองค์
ขอพระองค์พระราชทานปุตตทานอันสูงส่งแล้ว
ทรงทำพระทัยให้ผ่องใสเถิด
ขอพระองค์จงทรงบำเพ็ญทานให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเถิด
[๒๒๖๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชน
ในหมู่มนุษย์ผู้เป็นคนตระหนี่
พระองค์ผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ได้ทรงบำเพ็ญทานแก่พราหมณ์แล้ว
[๒๒๖๔] แผ่นดินก็บันลือลั่นแก่พระองค์
กิตติศัพท์ของพระองค์บันลือไปถึงสวรรค์ชั้นไตรทิพย์
สายฟ้าก็แลบแปลบปลาบอยู่โดยรอบ
ดังสะท้านปานประหนึ่งว่าภูเขาจะถล่มทลาย
[๒๒๖๕] เทพเจ้าทั้ง ๒ หมู่ผู้สิงสถิตอยู่ ณ ภูเขานารทะ
ต่างถวายอนุโมทนาแด่พระเวสสันดรนั้นว่า
พระอินทร์ พระพรหม ท้าวประชาบดี
พระโสม ยมยักษ์ ท้าวเวสสุวรรณมหาราช
และเทพเจ้าเหล่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
พร้อมทั้งพระอินทร์ทุกถ้วนหน้า ต่างก็ถวายอนุโมทนา
[๒๒๖๖] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้ทรงรูปโฉมงดงาม
ผู้มีพระยศ ก็ทรงอนุโมทนาปุตตทาน
อันสูงสุดของพระเวสสันดรแล้วด้วยประการฉะนี้แล
กัณฑ์มัทรี จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ
กัณฑ์สักกบรรพ
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๒๖๗] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว
ท้าวสักกเทวราชทรงแปลงเพศเป็นพราหมณ์
ได้ปรากฏแก่กษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์นั้นแต่เช้าตรู่
(พราหมณ์ทูลถามว่า)
[๒๒๖๘] พระคุณเจ้าไม่มีโรคาพาธเบียดเบียนหรือหนอ
ทรงพระสำราญดีหรือ
พระคุณเจ้าเลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกหรือ
มูลผลาหารมีมากหรือ
[๒๒๖๙] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ
ในป่าที่มีเนื้อร้ายอยู่พลุกพล่านไม่มีมาเบียดเบียนหรือ
(พระเวสสันดรตอบว่า)
[๒๒๗๐] ท่านพราหมณ์ เราไม่มีโรคมาเบียดเบียน เป็นสุขสำราญดี
อนึ่ง เราเลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหาร
และมูลผลาหารก็มีอยู่มาก
[๒๒๗๑] อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย
ในป่าที่มีเนื้อร้ายอยู่พลุกพล่าน ก็ไม่มีมาเบียดเบียนเราเลย
[๒๒๗๒] เมื่อพวกเรามีชีวิตเศร้าโศกอยู่ในป่ามาตลอด ๗ เดือน
เราย่อมเห็นท่านผู้เป็นพราหมณ์ ผู้ทรงเพศอันประเสริฐ
บูชาไฟ ถือไม้เท้าสีดังผลมะตูมสุก
และลักจั่นน้ำนี้เป็นคนที่ ๒
[๒๒๗๓] มหาพราหมณ์ ท่านมาดีแล้ว มิได้มาร้าย
ท่านผู้เจริญ ขอเชิญเข้าไปภายใน เชิญล้างเท้าของท่านเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ
[๒๒๗๔] พราหมณ์ ผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง
ผลหมากเม่าที่มีรสหวานปานน้ำผึ้ง
เชิญท่านเลือกบริโภคแต่ผลที่ดี ๆ เถิด
[๒๒๗๕] มหาพราหมณ์ แม้น้ำดื่มนี้ก็เย็นสนิทเรานำมาจากซอกเขา
ถ้าท่านต้องการก็เชิญดื่มเถิด
[๒๒๗๖] อนึ่ง ท่านมาถึงป่าใหญ่ เพราะเหตุไร
หรือเพราะปัจจัยอะไร
เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกความนั้นแก่เรา
(พราหมณ์กราบทูลว่า)
[๒๒๗๗] ห้วงน้ำยังเต็มเปี่ยมตลอดเวลาไม่เหือดแห้งฉันใด
พระองค์ทรงมีพระทัยเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาฉันนั้น
ข้าพระองค์ทูลขอแล้ว ขอพระองค์ทรงพระกรุณา
พระราชทานพระชายาแก่ข้าพระองค์เถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๒๗๘] ท่านพราหมณ์ ท่านขอสิ่งใด เราจะให้สิ่งนั้น
เรามิได้หวั่นไหวเลย เราไม่ซ่อนสิ่งของที่มีอยู่
ใจของเรายินดีในทาน
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๒๗๙] พระเวสสันดรผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ทรงกุมพระหัตถ์ของพระนางมัทรี ทรงจับเต้าน้ำ
หลั่งน้ำพระราชทานพระนางมัทรีให้เป็นทานแก่พราหมณ์
[๒๒๘๐] ขณะนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์
ทรงบริจาคพระนางมัทรีให้เป็นทาน
ความน่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าได้เกิดขึ้น
แผ่นดินก็หวั่นไหว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ
[๒๒๘๑] พระนางมัทรีมิได้มีพระพักตร์เง้างอ มิได้ทรงเก้อเขิน
และมิได้ทรงกันแสง ทรงเพ่งดูพระสวามีโดยดุษณีภาพ
โดยคิดว่า ท้าวเธอย่อมทรงทราบสิ่งที่ประเสริฐ
(พระศาสดาตรัสพระดำรัสนี้ว่า)
เมื่อตถาคตเป็นพระเวสสันดร
บริจาคพ่อชาลีและแม่กัณหาชินาซึ่งเป็นธิดา
และพระมัทรีเทวีผู้มีวัตรอันดี ผู้ยำเกรงในพระสวามี
มิได้คิดเสียดายเลย เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น
บุตรทั้ง ๒ เป็นที่เกลียดชังของเราก็หามิได้
พระนางมัทรีเทวีจะไม่เป็นที่รักของเราก็หามิได้
แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
ฉะนั้น เราจึงได้ให้ของซึ่งเป็นที่รัก
(ต่อมา พระนางมัทรีกราบทูลว่า)
[๒๒๘๒] หม่อมฉันเป็นพระชายาของพระองค์ตั้งแต่ยังเป็นสาวรุ่น
พระองค์ทรงเป็นพระสวามีผู้เป็นใหญ่ของหม่อมฉัน
พระองค์ทรงปรารถนาจะพระราชทานหม่อมฉันแก่ผู้ใด
ก็ทรงพระราชทานแก่ผู้นั้นเถิด
หรือทรงปรารถนาจะขายหรือจะฆ่า ก็ทรงขายหรือทรงฆ่าเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๒๘๓] ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบพระดำริของกษัตริย์ทั้ง ๒ นั้น
จึงได้ตรัสดังนี้ว่า ข้าศึกทั้งมวล๑ทั้งที่เป็นของทิพย์และเป็นของมนุษย์
พระองค์ทรงชนะแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ข้าศึกทั้งมวล หมายถึงผู้รับทานที่มีทิพยสมบัติและผู้รับทานที่มีมนุษยสมบัติ ท่านเหล่านั้นยังมีความ
ตระหนี่อยู่ พระเวสสันดรชนะคนเหล่านี้ได้ด้วยการให้บุตรและภรรยาเป็นทาน (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๒๘๓/๔๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ
[๒๒๘๔] แผ่นดินก็บันลือลั่นแก่พระองค์
กิตติศัพท์ของพระองค์บันลือไปถึงสวรรค์ชั้นไตรทิพย์
สายฟ้าก็แลบแปลบปลาบอยู่โดยรอบ
ดังสะท้านปานประหนึ่งว่าภูเขาถล่มทลาย
[๒๒๘๕] เทพเจ้าทั้ง ๒ หมู่ผู้สิงสถิตอยู่ ณ ภูเขานารทะ
ต่างถวายอนุโมทนาแด่พระเวสสันดรนั้นว่า
พระอินทร์ พระพรหม ท้าวประชาบดี
พระโสม ยมยักษ์ ท้าวเวสสุวรรณมหาราชและทวยเทพทั้งมวล
ต่างก็ถวายอนุโมทนาว่า พระองค์ทรงกระทำสิ่งที่ทำได้ยากแท้
[๒๒๘๖] สัตบุรุษทั้งหลายเมื่อจะให้ทานชื่อว่าให้ได้ยาก๑
เมื่อจะทำกรรมก็ชื่อว่าทำได้ยาก
ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายพวกอสัตบุรุษรู้ได้ยาก
[๒๒๘๗] เพราะฉะนั้น สัตบุรุษและอสัตบุรุษ
จึงมีคติที่ไปจากโลกนี้ต่างกัน คือ
พวกอสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก พวกสัตบุรุษย่อมไปสู่สวรรค์
[๒๒๘๘] การที่พระองค์เสด็จมาประทับอยู่ในป่า
ได้พระราชทานพระกุมารทั้งหลายและพระชายาให้เป็นทานนี้
ชื่อว่าเป็นยานอันประเสริฐ ไม่เป็นยานที่พาก้าวลงสู่อบายภูมิ
ขอมหาทานของพระองค์จงเผล็ดผลในสวรรค์เถิด
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๒๒๘๙] ข้าพเจ้าขอถวายพระนางมัทรีพระชายา
ผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กายคืนแก่พระคุณเจ้า
พระองค์เท่านั้นทรงเป็นผู้คู่ควรกับพระนางมัทรี
และพระนางมัทรีก็เป็นผู้คู่ควรแก่พระสวามี
[๒๒๙๐] น้ำนมและสังข์ทั้ง ๒ มีสีเหมือนกันฉันใด
พระองค์และพระนางมัทรีก็ทรงมีพระทัยเสมอเหมือนกันฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดู ขุ.ชา. แปล ๒๗/๕๙-๖๐/๗๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ
[๒๒๙๑] ทั้ง ๒ พระองค์เป็นกษัตริย์ผู้สมบูรณ์ด้วยพระโคตร
เป็นอุภโตสุชาติ๑ทั้งฝ่ายพระมารดาและพระบิดา
ทรงถูกเนรเทศจากแคว้นมาอยู่ ณ อาศรมในป่านี้
บุญทั้งหลายที่พระองค์กระทำมาแล้วฉันใด
ขอพระองค์ทรงให้ทาน กระทำบุญอยู่ร่ำไปฉันนั้น
[๒๒๙๒] ข้าแต่พระราชฤๅษี หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะจอมเทพ
มาในสำนักของพระองค์ ขอพระองค์ทรงเลือกรับพร
หม่อมฉันขอถวายพร ๘ ประการแก่พระองค์
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๒๙๓] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้ทรงเป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
ถ้าพระองค์จะประสาทพรแก่หม่อมฉัน
ขอให้พระบิดาจงมารับหม่อมฉัน
ขอพระบิดาทรงต้อนรับหม่อมฉัน
ผู้ออกจากป่านี้ไปถึงเรือนของตนด้วยราชอาสน์
นี้เป็นพรประการที่ ๑
[๒๒๙๔] ขอให้หม่อมฉันไม่พึงชอบใจการฆ่าคน
อนึ่ง แม้ผู้นั้นจะเป็นนักโทษถึงประหารชีวิต
ผู้กระทำความผิดอย่างร้ายแรง
ขอให้หม่อมฉันพึงได้ปลดปล่อยให้พ้นจากการถูกประหารชีวิต
นี้เป็นพรประการที่ ๒
[๒๒๙๕] ขอให้ประชาชนทั้งหลายทั้งคนแก่ ทั้งเด็ก และคนปานกลาง
พึงเข้ามาอาศัยหม่อมฉันเลี้ยงชีวิต
นี้เป็นพรประการที่ ๓

เชิงอรรถ :
๑ อุภโตสุชาติ หมายถึงมีวรรณะเสมอกัน คือ บริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๒๑๙/๔๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ
[๒๒๙๖] ขอให้หม่อมฉันอย่าพึงล่วงละเมิดภรรยาผู้อื่น
พอใจแต่ในภรรยาของตนไม่ไปสู่อำนาจของหญิงทั้งหลาย
นี้เป็นพรประการที่ ๔
[๒๒๙๗] ข้าแต่ท้าวสักกะ ขอให้บุตรของหม่อมฉันผู้พลัดพรากไปนั้น
พึงมีอายุยืนนาน จงครอบครองแผ่นดินโดยธรรมเถิด
นี้เป็นพรประการที่ ๕
[๒๒๙๘] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว
ขอให้อาหารทิพย์พึงปรากฏ
นี้เป็นพรประการที่ ๖
[๒๒๙๙] เมื่อหม่อมฉันให้ทานอยู่ ขออย่าให้ไทยธรรมหมดสิ้นไป
เมื่อกำลังให้ ขอให้หม่อมฉันพึงทำใจให้ผ่องใส
ครั้นให้แล้ว ขออย่าให้หม่อมฉันได้เดือดร้อนใจในภายหลัง
นี้เป็นพรประการที่ ๗
[๒๓๐๐] เมื่อพ้นจากอัตภาพนี้ไป
ขอให้หม่อมฉันไปสู่สวรรค์ อันเป็นการไปพิเศษ
ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก
นี้เป็นพรประการที่ ๘
[๒๓๐๑] ครั้นได้สดับพระดำรัสของพระเวสสันดรแล้ว
ท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสพระดำรัสดังนี้ว่า
คงไม่นานนัก พระบิดาบังเกิดเกล้าของพระองค์
ก็คงจะเสด็จมาเยี่ยมพระองค์
[๒๓๐๒] ครั้นตรัสพระดำรัสนี้แล้ว ท้าวมฆวานสุชัมบดีเทวราช
ก็ได้พระราชทานพรแก่พระเวสสันดรแล้ว
เสด็จกลับไปสู่หมู่ชาวสวรรค์
กัณฑ์สักกบรรพ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
กัณฑ์มหาราช
(พระเจ้าสญชัยทอดพระเนตรเห็น ๒ กุมารจึงตรัสว่า)
[๒๓๐๓] นั่นใครหนอ หน้างามยิ่งนักดังทองคำธรรมชาติ
ที่นายช่างหล่อหลอมด้วยไฟ สีใสสุกปลั่ง
ดังแท่งทองธรรมชาติที่ละลายคว้างอยู่ที่ปากเบ้า
[๒๓๐๔] ทารกเหล่านี้มีอวัยวะคล้ายคลึงกัน
มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ
คนหนึ่งเหมือนพ่อชาลี
อีกคนเหมือนแม่กัณหาชินา
[๒๓๐๕] ทารกเหล่านี้มีรูปเสมอกันเหมือนราชสีห์ออกจากถ้ำทอง
ทารกเหล่านี้ปรากฏเหมือนหล่อหลอม
ด้วยทองคำธรรมชาติเลยทีเดียว
[๒๓๐๖] ภารทวาชพราหมณ์ ท่านได้นำ
ทารกเหล่านี้มาจากที่ไหนหนอ
วันนี้ ท่านได้มาถึงแคว้นของเราแล้ว
จะไปที่ไหนต่อไป
(ชูชกกราบทูลว่า)
[๒๓๐๗] ข้าแต่สมมติเทพ
ทารกเหล่านี้มีผู้ให้แก่ข้าพระองค์ด้วยความพอใจ
ตั้งแต่วันที่ได้ทารกเหล่านี้มา วันนี้เป็นคืนที่ ๑๕
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๐๘] ด้วยวาจาไพเราะอะไรเล่า ท่านจึงได้ทารกเหล่านี้มา
ท่านควรทำให้เราเชื่อโดยวิธีที่ชอบ
ใครให้ปุตตทานอันสูงสุดนั้นแก่ท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
(ชูชกกราบทูลว่า)
[๒๓๐๙] พระราชาผู้ทรงเป็นที่พึ่งของพวกยาจกที่มาทูลขอ
เป็นดังธรณีเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
คือพระเวสสันดรผู้เสด็จไปประทับอยู่ในป่า
ได้พระราชทานพระโอรสทั้งหลายแก่ข้าพระองค์
[๒๓๑๐] พระราชาผู้ทรงเป็นที่ต้องประสงค์ของพวกยาจกผู้มาทูลขอ
เป็นดังสาครอันเป็นที่รองรับของแม่น้ำทั้งหลายที่หลั่งไหลมา
คือพระเวสสันดรผู้เสด็จไปประทับอยู่ในป่า
ได้พระราชทานพระโอรสทั้งหลายแก่ข้าพระองค์
(พวกอำมาตย์ติเตียนพระเวสสันดรว่า)
[๒๓๑๑] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระราชาผู้มีศรัทธา
ทรงอยู่ครอบครองเรือน ทรงทำกรรมที่ไม่สมควรหนอ
พระเวสสันดรถูกเนรเทศออกจากแคว้นไปอยู่ในป่า
จะพึงพระราชทานพระโอรสทั้งหลายได้อย่างไรหนอ
[๒๓๑๒] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวพระนครมีประมาณเท่าใด
ที่มาประชุมกันอยู่ในที่นี้ ขอทุกท่านจงช่วยกันพิจารณาดูเรื่องนี้
พระเวสสันดรประทับอยู่ในป่า
ได้พระราชทานพระโอรสทั้งหลายได้อย่างไร
[๒๓๑๓] พระองค์จงพระราชทานทาส ทาสี ม้า แม่ม้าอัสดร
รถ และช้างกุญชรตัวประเสริฐไปเถิด
ทำไม จึงทรงพระราชทานทารกทั้งหลายเล่า
(พระชาลีกุมารกราบทูลว่า)
[๒๓๑๔] ข้าแต่สมเด็จพระอัยกา ในเรือนของผู้ใดไม่มีทาส
ม้า แม่ม้าอัสดร รถ และช้างกุญชรตัวประเสริฐ
ผู้นั้นจะพึงให้อะไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๑๕] บุตรน้อยทั้งหลาย ปู่สรรเสริญทานแห่งบิดาของเจ้านั้น
ไม่ได้ติเตียนเลย หทัยแห่งบิดาของเจ้าเป็นอย่างไรหนอ
จึงได้ให้เจ้าทั้ง ๒ แก่พราหมณ์วณิพก
(พระชาลีกุมารกราบทูลว่า)
ข้าแต่พระอัยกามหาราช พระบิดาของหม่อมฉัน
พระราชทานพวกหม่อมฉันแก่พราหมณ์วณิพกแล้ว
ได้ทรงสดับถ้อยคำรำพันพิลาปซึ่งน้องกัณหาได้กล่าวแล้ว
[๒๓๑๖] ข้าแต่สมเด็จพระอัยกา พระหทัยของพระบิดานั้น
เป็นทุกข์และเร่าร้อน มีดวงพระเนตรแดงดังดาวโรหิณี
มีพระอัสสุชลหลั่งไหล
[๒๓๑๗] น้องกัณหาชินาได้กราบทูลพระบิดาว่า
“ข้าแต่พระบิดา พราหมณ์นี้เฆี่ยนตีหม่อมฉัน
ด้วยไม้เท้าเหมือนตีทาสีผู้เกิดในเรือนเบี้ย
[๒๓๑๘] ข้าแต่พระบิดา ผู้นี้คงจะมิใช่พราหมณ์แน่
เพราะพราหมณ์ทั้งหลายเป็นผู้มีธรรม
แต่พราหมณ์คงจะเป็นยักษ์แปลงเพศเป็นพราหมณ์
นำลูกทั้ง ๒ ไปเพื่อจะกินเป็นอาหาร พระเจ้าข้า
ลูกทั้ง ๒ ถูกพราหมณ์ผู้เป็นปีศาจนำไป
ข้าแต่พระบิดา ทำไมหนอ พระองค์จึงทรงเมินเฉยอยู่เล่า”
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๑๙] มารดาของเจ้าทั้งหลาย เป็นพระราชบุตรี
บิดาเป็นราชบุตร เจ้าทั้งหลาย เคยขึ้นนั่งตักของปู่
แต่บัดนี้ เพราะเหตุไร จึงยืนอยู่ห่างไกลหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
(พระชาลีกุมารกราบทูลว่า)
[๒๓๒๐] พระมารดาของหม่อมฉันทั้งหลาย เป็นพระราชบุตรี
และพระบิดาก็เป็นพระราชบุตร
แต่หม่อมฉันทั้งหลาย เป็นทาสของพราหมณ์
เพราะฉะนั้น จึงยืนอยู่ห่างไกล พระเจ้าข้า
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๒๑] เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ไม่ชอบเลย
หทัยของปู่กำลังเร่าร้อน กายของปู่เหมือนอยู่บนเชิงตะกอน
ปู่มิได้รับความสุขบนราชอาสน์เลย
[๒๓๒๒] เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ไม่ชอบเลย
อย่าได้เพิ่มความเศร้าโศกให้เกิดแก่ปู่เลย
ปู่จักไถ่เธอทั้งหลายด้วยทรัพย์ เธอทั้งหลายจักไม่เป็นทาส
[๒๓๒๓] พ่อชาลี บิดาของเธอทั้งหลาย
ได้ตีราคาพวกเธอไว้เท่าไร จึงให้พราหมณ์
ขอให้เธอทั้งหลายจงบอกปู่ตามความจริง
พนักงานทั้งหลายจงให้พราหมณ์รับเอาทรัพย์ไปเถิด
(พระชาลีกุมารกราบทูลว่า)
[๒๓๒๔] ข้าแต่พระอัยกา พระบิดาทรงตีราคาหม่อมฉัน
มีค่าเท่าราคาทองคำ ๑,๐๐๐ แท่ง
ทรงตีราคาน้องกัณหาชินาราชกัญญา
ด้วยสัตว์พาหนะมีช้างเป็นต้นอย่างละ ๑๐๐
แล้วจึงได้พระราชทานให้แก่พราหมณ์
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๒๕] มหาดเล็ก เจ้าจงลุกขึ้น รีบไปนำทาสี ทาส โค ช้าง
และโคอุสภราชอย่างละ ๑๐๐ กับทองคำ ๑,๐๐๐ แท่ง
มาให้แก่พราหมณ์ เป็นค่าไถ่บุตรทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
[๒๓๒๖] ลำดับนั้น พนักงานรีบไปนำทาสี ทาส โค ช้าง
และโคอุสภราชอย่างละ ๑๐๐ มาให้แก่พราหมณ์
เป็นค่าไถ่
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๓๒๗] กษัตริย์ทั้ง ๒ ทรงไถ่แล้ว
รับสั่งให้สรงสนานและให้เสวยพระกระยาหารเสร็จ
ให้ประดับด้วยอาภรณ์ทั้งหลายแล้ว
สมเด็จพระอัยกาทรงอุ้มทารกองค์หนึ่ง
สมเด็จพระอัยยิกาทรงอุ้มองค์หนึ่ง
[๒๓๒๘] พระกุมารทั้ง ๒ ทรงสรงสนานพระเศียรแล้ว
ทรงพระภูษาอันสะอาด ทรงประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวงแล้ว
พระราชาผู้พระอัยกาก็ทรงอุ้มพระชาลีขึ้นประทับบนพระเพลา
[๒๓๒๙] พระกุมารทั้ง ๒ ทรงประดับกุณฑล
ที่มีเสียงดังก้องน่ารื่นรมย์ใจ
ทรงประดับดอกไม้และเครื่องอลังการทั้งปวงแล้ว
พระราชาทรงอุ้มพระชาลีกุมารขึ้นประทับ
บนพระเพลาแล้วได้ตรัสถามดังนี้ว่า
[๒๓๓๐] พ่อชาลี พระบิดาและพระมารดาทั้ง ๒ ของเธอ
ไม่มีโรคดอกหรือ เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหา
ผลาหารหรือ มูลผลาหารมีมากหรือ
[๒๓๓๑] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ
ในป่าที่มีเนื้อร้ายพลุกพล่าน ไม่มีมาเบียดเบียนหรือ
(พระชาลีกุมารกราบทูลว่า)
[๒๓๓๒] ข้าแต่สมมติเทพ พระบิดาและพระมารดาของหม่อมฉัน
ทั้ง ๒ พระองค์นั้นไม่มีโรค
เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหาผลาหาร และมูลผลาหารก็มีมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
[๒๓๓๓] อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย
ในป่าที่มีสัตว์ร้ายพลุกพล่าน ก็ไม่มีมาเบียดเบียน
ซึ่งพระบิดาและพระมารดาทั้ง ๒ พระองค์นั้นเลย
[๒๓๓๔] พระมารดาของหม่อมฉันทรงขุดรากบัว เหง้าบัว
ทรงสอยผลพุทรา ผลรกฟ้า และผลมะตูม
นำมาเลี้ยงพระบิดาและหม่อมฉันทั้ง ๒
[๒๓๓๕] พระมารดานั้นทรงนำมูลผลาหารใดมาจากป่า
พระบิดาและหม่อมฉันทั้ง ๒ มารวมกัน
เสวยมูลผลาหารนั้นในทุกคืนวัน
[๒๓๓๖] พระมารดาของหม่อมฉันทั้ง ๒ เป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ
ต้องมาเที่ยวแสวงหาผลไม้ มีพระฉวีวรรณผอมเหลือง
เพราะลมและแดด เหมือนดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือ
[๒๓๓๗] เมื่อพระมารดาเสด็จเที่ยวไปในป่าใหญ่
ซึ่งเป็นป่าที่มีสัตว์ร้ายพลุกพล่าน
เป็นที่อยู่อาศัยของแรดและเสือเหลือง
พระเกสาของพระองค์ก็ร่วงหล่น
[๒๓๓๘] พระมารดาทรงขมวดพระเมาลี
ทรงไว้ซึ่งเหงื่อไคลที่พระกัจฉะ ทรงพระภูษาหนังเสือ
บรรทมเหนือแผ่นดินและทรงบูชาไฟ
[๒๓๓๙] บุตรทั้งหลายเกิดมาแล้วเป็นที่รักของมนุษย์ในโลก
พระอัยกาของเราทั้งหลายไม่เกิดพระสิเนหาในพระโอรสเป็นแน่
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๔๐] หลานรัก จริงทีเดียว การที่ปู่ให้เนรเทศ
ซึ่งพระบิดาของเจ้าผู้ไม่มีโทษเพราะคำพูดของชาวกรุงสีพีนั้น
ชื่อว่าปู่ได้ทำกรรมชั่วร้าย
และชื่อว่าปู่ได้ทำกรรมที่ทำลายความเจริญแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
[๒๓๔๑] สิ่งใดสิ่งหนึ่งของปู่มีอยู่ในนครนี้ก็ดี
ทรัพย์และธัญชาติใด ๆ มีอยู่ก็ดี
ขอให้พระเจ้าเวสสันดรจงมาเป็นเจ้าปกครองสิ่งนั้น ๆ ในกรุงสีพีเถิด
(พระชาลีกุมารกราบทูลว่า)
[๒๓๔๒] ขอเดชะสมมติเทพ พระบิดาของหม่อมฉัน
เป็นผู้สูงสุดแห่งชาวกรุงสีพีคงจักไม่เสด็จมาเพราะคำของหม่อมฉัน
ขอให้พระองค์ผู้สมมติเทพเสด็จไปทรงอภิเษก
พระบิดาของหม่อมฉันด้วยโภคะทั้งหลายด้วยพระองค์เองเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๓๔๓] ลำดับนั้น พระเจ้ากรุงสญชัยจึงได้รับสั่งเสนาบดีว่า
กองทัพ คือ กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ
กองพลราบจงตระเตรียมอาวุธให้พร้อม
ชาวนิคม พราหมณ์ และพวกปุโรหิตจงตามเราไป
[๒๓๔๔] ต่อจากนั้น เหล่าทหาร ๖๐,๐๐๐ นายผู้สง่างาม
ผูกสอด(อาวุธ)แล้ว ประดับด้วยผ้าสีต่าง ๆ กัน
จงพากันรีบตามมาโดยเร็ว
[๒๓๔๕] เหล่าทหารผู้ผูกสอด(อาวุธ)แล้ว
ประดับประดาด้วยเสื้อผ้าสีต่าง ๆ กัน คือ
พวกหนึ่งแต่งด้วยผ้าสีเขียว พวกหนึ่งแต่งสีเหลือง
พวกหนึ่งแต่งสีแดง พวกหนึ่งแต่งสีขาวจงรีบตามมา
[๒๓๔๖] ภูเขาคันธมาทน์มีกลิ่นหอมถูกหิมะปกคลุม
ดารดาษไปด้วยพฤกษชาตินานาชนิด
เป็นที่อาศัยอยู่ของฝูงสัตว์เป็นอันมาก
[๒๓๔๗] และมีต้นไม้ที่เป็นทิพยโอสถ
สว่างไสวและฟุ้งตลบไปทั่วทิศฉันใด
ขอเหล่าทหารผู้ผูกสอด(อาวุธ)แล้วจงรีบตามมา
และจงรุ่งเรืองมีเกียรติยศฟุ้งขจรไปทั่วทิศฉันนั้นเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
[๒๓๔๘] ต่อจากนั้น จงจัดเทียมช้างที่สูงใหญ่ ๑๔,๐๐๐ เชือก
มีสายรัดประคับทองมีเครื่องประดับ
และเครื่องปกคลุมศีรษะที่สำเร็จแล้วด้วยทอง
[๒๓๔๙] มีนายควานช้างถือโตมรและขอ
ขึ้นขี่คอประจำ เตรียมพร้อมสรรพ
ประดับตกแต่งสวยงาม จงรีบตามมา
[๒๓๕๐] ต่อจากนั้น จงจัดม้าสินธพชาติอาชาไนย
๑๔,๐๐๐ ตัว ที่มีฝีเท้าเร็ว
[๒๓๕๑] พร้อมด้วยนายสารถีผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการ
ถือแส้และดาบสั้น ผูกสอด(อาวุธ)ขึ้นขี่ประจำหลัง
[๒๓๕๒] ต่อจากนั้น จงจัดเทียมกระบวนรถ ๑๔,๐๐๐ คัน
ที่มีเหล็กหุ้มกงล้ออย่างแน่นหนา เรือนรถขจิตด้วยทอง
[๒๓๕๓] จงยกธงขึ้นปักไว้บนรถคันนั้น ๆ
พวกนายขมังธนูผู้ยิงได้แม่นยำ คล่องแคล่วชำนาญ
ในรถทั้งหลาย จงเตรียมโล่ห์ เกราะ และแล่งธนูไว้ให้พร้อม
ทหารเหล่านี้จงตระเตรียมให้พร้อมแล้วรีบตามมา
[๒๓๕๔] ขอจงให้โปรยข้าวตอก ดอกไม้
มาลัย ของหอม และเครื่องลูบไล้เถิด
และจงให้จัดตั้งเครื่องบูชาอันมีค่า
ตามทางที่พระเจ้าเวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา
[๒๓๕๕] ในบ้านแต่ละหมู่บ้าน จงให้ตั้งหม้อสุราและเมรัยไว้
หมู่ละ ๑๐๐ หม้อที่หนทางที่พระเจ้าเวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา
[๒๓๕๖] จงให้ตั้งมังสาหาร ขนม ขนมแดกงา
ขนมกุมมาส ที่ปรุงด้วยเนื้อปลาไว้ใกล้ทาง
ที่พระเจ้าเวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
[๒๓๕๗] จงให้ตั้งเนยใส น้ำมัน นมส้ม นมสด
ขนมแป้ง ข้าวฟ่าง และสุราเป็นจำนวนมาก
ไว้ใกล้ทางที่พระเจ้าเวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา
[๒๓๕๘] ให้มีพนักงานพิเศษทั้งครัวหวานและครัวคาว
จัดตั้งไว้เพื่อประชาชนทั่วไป
ให้มีมหรสพฟ้อนรำขับร้องทุก ๆ อย่าง
เพลงปรบมือ กลองยาว คนขับเสภา
และคนผู้บรรเทาความเศร้าโศก๑
[๒๓๕๙] พวกมโหรีจงเล่นดนตรี
ดีดพิณพร้อมทั้งตีกลองน้อยกลองใหญ่
เป่าสังข์ ตีกลองหน้าเดียว
[๒๓๖๐] ตีตะโพน แกว่งบัณเฑาะว์ เป่าสังข์ ดีดจะเข้
และตีกลองใหญ่ กลองเล็ก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๓๖๑] กองทัพของกรุงสีพีเป็นกองทัพใหญ่
ที่จัดเป็นกระบวนตั้งไว้เสร็จแล้ว
มีพระชาลีราชกุมารเป็นผู้นำทาง ได้ยาตราไปยังเขาวงกต
[๒๓๖๒] ช้างพลายอายุ ๖๐ ปี มีสายรัดประคับทอง
ผูกตกแต่งไว้ บันลือก้องโกญจนาทกระหึ่มอยู่
ช้างวารณะก็บันลือโกญจนาทกระหึ่มอยู่
[๒๓๖๓] เหล่าม้าอาชาไนยก็แผดเสียงแหลมดังลั่น
เสียงกงล้อดังกึกก้อง ฝุ่นละอองฟุ้งตลบถึงนภากาศ
กองทัพของชาวกรุงสีพีก็จัดกระบวนตั้งไว้ดีแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ คนผู้บรรเทาความเศร้าโศก หมายถึงนักมายากล หรือนักร้อง นักดนตรี แม้พวกอื่น ท่านก็เรียกว่า
ผู้บรรเทาความเศร้าโศก เพราะสามารถนำความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นออกไปได้ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๓๕๘/๔๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์
[๒๓๖๔] กองทัพนั้นเป็นกองทัพใหญ่ จัดเป็นกระบวนตั้งไว้
สามารถทำลายล้างอริราชศัตรูได้
มีพระชาลีราชกุมารเป็นผู้นำทาง ได้ยาตราไปยังเขาวงกต
[๒๓๖๕] พระเจ้ากรุงสญชัยพร้อมด้วยข้าราชบริพารเหล่านั้น
เสด็จเข้าไปยังป่าใหญ่มีกิ่งไม้มากมายและน้ำมาก
ดารดาษไปด้วยต้นไม้ดอกและไม้ผลทั้ง ๒ อย่าง
[๒๓๖๖] ในป่าใหญ่นั้น มีนกมากมายหลายสี
มีเสียงกล่อมไพเราะ เกาะอยู่บนต้นไม้ที่ผลิดอกตามฤดูกาล
ร้องประสานเสียง เสียงระเบงเป็นคู่ ๆ
[๒๓๖๗] พระเจ้ากรุงสญชัยพร้อมด้วยราชบริพารเหล่านั้น
เสด็จพระราชดำเนินไปสู่ทางไกล
ล่วงเลยหลายวันหลายคืน
จึงบรรลุถึงประเทศที่พระเวสสันดรประทับอยู่
กัณฑ์มหาราช จบ
กัณฑ์ฉกษัตริย์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๓๖๘] พระเวสสันดรได้ทรงสดับเสียงกึกก้องแห่งกองทัพเหล่านั้น
ก็ตกพระทัยกลัว เสด็จขึ้นภูเขา ทรงหวาดหวั่นพรั่นพรึง
ทอดพระเนตรดูกองทัพ ตรัสว่า
[๒๓๖๙] เชิญดูเถิดมัทรี เสียงกึกก้องเช่นใดในป่า
ม้าอาชาไนยส่งเสียงแผดร้องก้องสนั่น ปรากฏยอดธงไหว ๆ
[๒๓๗๐] นายพรานเหล่านี้ได้ขึงข่ายล้อมฝูงเนื้อในป่า
ไล่ต้อนให้ตกลงในหลุมแล้ว ไล่ทิ่มแทงด้วยหอกอันคม
คัดเลือกเอาเนื้อเหล่านั้นตัวอ้วน ๆ ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์
[๒๓๗๑] เราทั้ง ๒ ก็ฉันนั้น เป็นผู้ไม่มีโทษ
ถูกขับไล่จากแคว้นมาอยู่ในป่า
จึงตกอยู่ในเงื้อมมือของพวกศัตรูเป็นแน่
จงดูเอาเถิดคนผู้ฆ่าคนที่ไม่มีกำลัง
(พระนางมัทรีกราบทูลว่า)
[๒๓๗๒] พวกศัตรูย่ำยีพระองค์ไม่ได้
เปรียบเหมือนไฟย่ำยีห้วงน้ำไม่ได้ฉะนั้น
ขอพระองค์จงทรงระลึกถึงข้อนั้นนั่นแหละ
แต่นี้ไปจะพึงมีแต่ความสวัสดี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๓๗๓] ลำดับนั้น พระเจ้าเวสสันดรได้เสด็จลงจากภูเขา
ประทับนั่งในบรรณศาลา ทรงตั้งพระทัยให้หนักแน่น
[๒๓๗๔] พระบิดารับสั่งให้ถอยรถกลับ ให้วางกำลังกองทัพไว้แล้ว
เสด็จเข้าไปหาพระโอรสผู้ประทับอยู่ในป่าเพียงลำพัง
[๒๓๗๕] เสด็จลงจากคอช้างพระที่นั่ง ทรงเฉวียงพระอังสา
ประนมพระหัตถ์ แวดล้อมแห่แหนด้วยหมู่อำมาตย์
เสด็จไปเพื่ออภิเษกพระโอรส
[๒๓๗๖] ณ ที่นั้น ท้าวเธอได้ทอดพระเนตรเห็น
พระโอรสทรงเพศเป็นบรรพชิต
ประทับนั่งเข้าฌานอยู่ในบรรณศาลา
เป็นสมาธิแน่วแน่ ไม่มีภัยแต่ที่ไหน
[๒๓๗๗] พระเวสสันดรและพระนางมัทรี
ทอดพระเนตรเห็นพระบิดา
ผู้มีความรักในบุตรกำลังเสด็จมา
ได้ทรงต้อนรับถวายอภิวาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์
[๒๓๗๘] ฝ่ายพระนางมัทรีทรงซบพระเศียรถวายอภิวาท
แทบพระยุคลบาทของพระสัสสุระ(พ่อผัว)กราบทูลว่า
ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันมัทรีสะใภ้ของพระองค์
ขอถวายบังคมพระยุคลบาท
พระเจ้ากรุงสญชัยทรงสวมกอด ๒ กษัตริย์ ใช้ฝ่าพระหัตถ์
ลูบพระปฤษฎางค์อยู่ไปมา ณ อาศรมนั้น (ตรัสว่า)
[๒๓๗๙] ลูกรัก พวกเจ้าไม่มีโรคเบียดเบียน เป็นสุขสำราญดีหรือ
เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกหรือ
มูลผลาหารมีมากอยู่หรือ
[๒๓๘๐] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ
ในป่าที่มีเนื้อร้ายพลุกพล่าน ไม่มาเบียดเบียนหรือ
(พระเวสสันดรกราบทูลว่า)
[๒๓๘๑] ข้าแต่สมมติเทพ พวกหม่อนฉันเป็นอยู่ตามมีตามได้
หม่อมฉันทั้งหลายเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง
ชีวิตเป็นอยู่ได้ด้วยการเที่ยวแสวงหา
[๒๓๘๒] ข้าแต่มหาราช นายสารถีทรมานม้าให้หมดฤทธิ์ฉันใด
หม่อมฉันทั้งหลายก็ถูกทรมานให้หมดฤทธิ์ฉันนั้น
ความหมดฤทธิ์ย่อมทรมานหม่อมฉันทั้งหลาย
[๒๓๘๓] ข้าแต่มหาราช เมื่อหม่อมฉันทั้งหลาย
ถูกเนรเทศมามีชีวิตอยู่อย่างหงอยเหงาในป่า
หม่อมฉันทั้งหลาย มีเนื้อหนังซูบซีดผอมลง
เพราะไม่ได้พบพระบิดาและพระมารดา
[๒๓๘๔] ข้าแต่มหาราช ทายาทผู้มีมโนรถยังไม่สมบูรณ์
ของหม่อมฉันผู้ประเสริฐแห่งชาวกรุงสีพี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์
คือพ่อชาลีและแม่กัณหาชินา ทั้ง ๒ องค์
ยังตกอยู่ในอำนาจของพราหมณ์ผู้หยาบช้า
มันเฆี่ยนตีพ่อชาลีและแม่กัณหาชินาทั้ง ๒ นั้นเหมือนเฆี่ยนตีโค
[๒๓๘๕] ถ้าพระองค์ทรงทราบ
หรือทรงได้สดับข่าวลูกทั้ง ๒ ของพระราชบุตรีนั้น
ขอได้ทรงกรุณารีบตรัสบอกแก่หม่อมฉันทั้งหลายด้วยเถิด
เหมือนหมอรีบพยาบาลคนผู้ถูกงูกัด
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๘๖] กุมารทั้ง ๒ คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา
พ่อได้ให้ทรัพย์แก่พราหมณ์แล้วไถ่ถอนมา
ลูกรัก ลูกอย่าได้กลัวเลย จงเบาใจเถิด
(พระเวสสันดรทูลถามว่า)
[๒๓๘๗] ข้าแต่พระบิดา พระองค์ไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ
ทรงพระสำราญดีหรือ
พระจักษุของพระมารดาของข้าพระองค์ยังไม่เสื่อมหรือ
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๘๘] ลูกรัก พ่อสบายดี ไม่มีโรคเบียดเบียน
อนึ่ง จักษุแม่ของเจ้าก็ไม่เสื่อม
(พระเวสสันดรทูลถามว่า)
[๒๓๘๙] ราชพาหนะของพระองค์ที่เขาเทียมแล้วยังมั่นคงหรือ
ราชพาหนะยังนำภาระไปได้หรือ
ชนบทเจริญดีอยู่หรือ ฝนไม่แห้งแล้งหรือ
(พระเจ้าสญชัยตอบว่า)
[๒๓๙๐] ราชพาหนะของเราที่เทียมแล้วยังมั่นคง
ราชพาหนะยังนำภาระไปได้
ชนบทก็เจริญดี และฝนก็ไม่แล้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์
[๒๓๙๑] เมื่อกษัตริย์ทั้ง ๓ เหล่านั้นกำลังทรงสนทนากันอย่างนี้
ด้วยประการฉะนี้ พระมารดาผู้เป็นราชบุตรี
ไม่ทรงฉลองพระบาท เสด็จไปปรากฏที่ช่องภูเขา
[๒๓๙๒] พระเวสสันดรและพระนางมัทรีทอดพระเนตรเห็นพระมารดา
ผู้มีความรักในพระโอรสกำลังเสด็จมา
จึงทรงต้อนรับถวายอภิวาท
[๒๓๙๓] ฝ่ายพระนางมัทรีทรงซบพระเศียรเกล้าถวายอภิวาท
แทบพระยุคลบาทของพระสัสสุ(แม่ผัว)กราบทูลว่า
ข้าแต่สมเด็จพระอัยยิกา หม่อมฉันมัทรีสะใภ้ของพระองค์
ขอถวายบังคมพระยุคลบาท
[๒๓๙๔] ส่วนบุตรน้อยทั้งหลาย
เสด็จมาแต่ที่ไกลโดยสวัสดิภาพ
ทอดพระเนตรเห็นพระนางมัทรี ก็ทรงคร่ำครวญวิ่งเข้าไปหา
อุปมาเหมือนลูกโคอ่อนคอยชะเง้อหาแม่เป็นแน่
[๒๓๙๕] ฝ่ายพระนางมัทรีทอดพระเนตรเห็นบุตรน้อยทั้งหลาย
ผู้เสด็จมาแต่ที่ไกลโดยสวัสดิภาพ
ทั้งสั่นระรัวไปทั่วพระวรกายเหมือนแม่มด
น้ำนมก็หลั่งไหล
[๒๓๙๖] เมื่อพระญาติทั้งหลายมาพร้อมกันแล้ว
ขณะนั้น ก็ได้เกิดเสียงดังอึกทึกกึกก้อง
ภูเขาทั้งหลายก็มีเสียงดังลั่น
แผ่นดินสะเทือนหวั่นไหว
[๒๓๙๗] ฝนตกลงยังท่อธารให้หลั่งไหลไป
ขณะที่พระเจ้าเวสสันดรได้สมาคมกับพระญาติทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
[๒๓๙๘] ในกาลที่กษัตริย์ทั้งหลาย คือ พระราชา พระเทวี พระโอรส
พระสุณิสา และพระนัดดาทั้งหลาย
มาประชุมพร้อมกันแล้ว ก็ได้เกิดอัศจรรย์น่าขนพองสยองเกล้า
[๒๓๙๙] ประชาราษฎร์ทั้งปวงมาพร้อมใจกัน
ประนมมือถวายบังคมพระมหากษัตริย์
ร้องไห้วิงวอนพระเวสสันดรและพระนางมัทรี
ในป่าอันน่าสะพรึงกลัวว่า
ขอพระองค์ทรงเป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย
ขอพระองค์ทั้ง ๒ ทรงพระกรุณาเสวยราชสมบัติ
เป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด
กัณฑ์ฉกษัตริย์ จบ
กัณฑ์นครกัณฑ์
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๔๐๐] พระบิดา ชาวชนบท และชาวนิคม
ได้พร้อมใจกันเนรเทศหม่อมฉัน
ผู้ครองราชสมบัติโดยธรรมจากแคว้น
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๔๐๑] ลูกรัก จริงทีเดียว การที่พ่อให้เนรเทศ
ซึ่งลูกผู้ไม่มีความผิดออกไปจากแคว้นตามคำของชาวกรุงสีพีนั้น
ชื่อว่าพ่อได้ทำกรรมชั่วร้าย
และชื่อว่าพ่อได้ทำกรรมที่ทำลายความเจริญแล้ว
[๒๔๐๒] ขึ้นชื่อว่าบุตรควรช่วยปลดเปลื้องความทุกข์
ของมารดาบิดาและพี่น้องที่เกิดขึ้น
เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ด้วยชีวิตของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๔๐๓] ลำดับนั้น พระเจ้าเวสสันดรได้ทรงชำระล้างธุลีและสิ่งโสโครก
ครั้นทรงชำระล้างธุลีและสิ่งโสโครกแล้ว
ได้ทรงเพศเป็นพระราชา
[๒๔๐๔] พระเวสสันดรบรมกษัตริย์ทรงสนานพระเศียรแล้ว
ทรงพัสตราภรณ์อันสะอาด ทรงประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง
สอดพระแสงขรรค์ที่ทำให้ราชปัจจามิตรเดือดร้อนเกรงขาม
เสด็จขึ้นทรงพญาปัจจยนาค
[๒๔๐๕] ครั้งนั้น เหล่าทหาร ๖๐,๐๐๐ นายผู้สง่างาม
ต่างก็ชื่นชมยินดี แวดล้อมพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ
[๒๔๐๖] ลำดับนั้น เหล่าพระสนมกำนัลในของพระเจ้ากรุงสีพี
มาประชุมพร้อมกัน ทูลเชิญพระนางมัทรีให้สรงสนานแล้ว
ถวายพระพรว่า ขอพระเวสสันดรจงทรงอภิบาลรักษาพระเจ้าแม่
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินาทั้ง ๒ พระองค์
อนึ่ง ขอพระเจ้ากรุงสญชัยมหาราชจงทรงอภิรักษ์พระแม่เจ้าเทอญ
[๒๔๐๗] พระเวสสันดรบรมกษัตริย์และพระนางมัทรี
กลับมาดำรงในสิริราชสมบัติตามเดิมแล้ว
ทรงระลึกถึงความลำบากของตนในกาลก่อน
จึงรับสั่งให้นำกลองนันทิเภรีไปตีประกาศ
ที่คุ้มครองเขาวงกตอันน่ารื่นรมย์
[๒๔๐๘] พระนางมัทรีผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะได้ปัจจัย๑ นี้แล้ว
ทรงระลึกถึงความลำบากของตนในกาลก่อน
ครั้นได้พบพระโอรสทั้งหลายก็มีพระทัยปลาบปลื้มโสมนัส

เชิงอรรถ :
๑ ได้ปัจจัยนี้ หมายถึงได้ราชสมบัติ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๔๐๘/๔๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
[๒๔๐๙] ก็พระนางมัทรีผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะได้ปัจจัยนี้แล้ว
ทรงระลึกถึงความลำบากของตนในกาลก่อน
มีพระทัยชื่นชมยินดีปรีดาพร้อมกับพระโอรสทั้งหลาย
[๒๔๑๐] ลูกรักทั้ง ๒ เมื่อก่อนแม่ได้บำเพ็ญวัตรนี้
นอนเหนือแผ่นดินเป็นนิตย์
นี้เป็นวัตรของแม่ เพราะแม่รักเจ้าทั้งหลาย
[๒๔๑๑] วัตรของแม่สำเร็จในวันนี้ เพราะได้พบพวกเจ้า
ลูกรักทั้ง ๒ ขอความโสมนัสที่เกิดจากแม่ก็ดี
จากพระบิดาก็ดี จงคุ้มครองลูก
อนึ่ง ขอพระเจ้ากรุงสญชัยมหาราช
จงทรงอภิรักษ์ความโสมนัสนั้น
[๒๔๑๒] บุญกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่แม่และพระบิดาของลูกทำแล้วมีอยู่
ด้วยบุญกุศลทั้งหมดนั้น ขอลูกจงเป็นผู้ไม่แก่ไม่ตาย
[๒๔๑๓] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยพระภูษาอย่างใด
พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดพระภูษาอย่างนั้น
คือ พระภูษากัปปาสิกพัสตร์ โกไสยพัสตร์ โขมพัสตร์
และโกทุมพรพัสตร์ ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา
[๒๔๑๔] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด
พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น
คือ พระธำมรงค์สุพรรณรัตน์ สร้อยพระศอนพรัตน์
ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา
[๒๔๑๕] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด
พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น
คือ พระวลัยสำหรับประดับข้อพระบาท
พระกุณฑลสำหรับพระกรรณ สายรัดพระองค์ฝังแก้วมณีเพชร
ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
[๒๔๑๖] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด
พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น
คือ ดอกไม้กรองเครื่องประดับพระเมาลี
เครื่องประดับพระนลาตและเครื่องประดับฝังแก้วมณีสีต่าง ๆ กัน
ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา
[๒๔๑๗] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด
พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น
คือ เครื่องประดับพระถัน เครื่องประดับพระอังสา
สะอิ้งเพชร และฉลองพระบาท
ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา
[๒๔๑๘] พระนางมัทรีราชบุตรีทรงตรวจดูเครื่องประดับ
ที่ร้อยด้วยด้ายและไม่ร้อยด้วยด้าย
พระนางมัทรีราชบุตรีทรงตรวจดูและประดับตกแต่งแล้ว
ทรงงดงามดังนางเทพกัญญาในพระอุทยานนันทวัน
[๒๔๑๙] พระนางมัทรีราชบุตรีทรงสนานพระเศียร
ทรงพัสตราภรณ์อันสะอาด ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง
ทรงงดงามดังนางเทพอัปสรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๒๔๒๐] พระนางมัทรีราชบุตรีทรงมีริมพระโอษฐ์งาม
ทรงงดงามดังต้นกล้วยสีทองที่เกิดในสวนจิตรลดาถูกลมพัดไปมา
[๒๔๒๑] พระนางมัทรีราชบุตรีมีพระโอษฐ์แดงดุจผลไทรและผลตำลึกสุก
งดงามดังกินนรีมีขนปีกงามวิจิตร บินร่อนอยู่ในอากาศ
[๒๔๒๒] เหล่าพนักงานตกแต่งดรุณหัตถีอันเป็นช้างพระที่นั่ง
ตัวประเสริฐ อดทนต่อหอกซัดและลูกศร
มีงาเรียวงามดุจงอนรถ มีกำลังกล้าหาญ
เสร็จแล้วให้นำมาประเทียบเกยคอยต้อนรับพระนางมัทรีนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
[๒๔๒๓] พระนางมัทรีนั้นเสด็จขึ้นประทับบนหลังดรุณหัตถี
อันเป็นช้างพระที่นั่งตัวประเสริฐ อดทนต่อหอกซัดและลูกศร
มีงาเรียวงามดุจงอนรถ มีกำลังกล้าหาญ
[๒๔๒๔] ฝูงเนื้อประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้
ฝูงเนื้อประมาณเท่านั้นไม่เบียดเบียนกันและกัน
ด้วยเดชของพระเวสสันดร
[๒๔๒๕] ฝูงนกประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้
ฝูงนกประมาณเท่านั้นไม่เบียดเบียนกันและกัน
ด้วยเดชของพระเวสสันดร
[๒๔๒๖] ฝูงเนื้อประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้
ฝูงเนื้อประมาณเท่านั้นมาประชุมในที่เดียวกัน
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จกลับ
[๒๔๒๗] ฝูงนกประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้
ฝูงนกประมาณเท่านั้นมาประชุมในที่เดียวกัน
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จกลับ
[๒๔๒๘] ฝูงเนื้อประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้
ฝูงเนื้อประมาณเท่านั้นมิได้ส่งเสียงร้องไพเราะเหมือนในกาลก่อน
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จกลับ
[๒๔๒๙] ฝูงนกประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้
ฝูงนกประมาณเท่านั้นมิได้ส่งเสียงร้องไพเราะเหมือนในกาลก่อน
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จกลับ
[๒๔๓๐] ราชมรรควิถีที่จะเสด็จพระราชดำเนินนั้น
ประชาราษฎร์ช่วยกันประดับตกแต่งงามตระการตา
ลาดด้วยดอกไม้ ตั้งแต่กรุงเชตุดร
จนถึงที่ประทับของพระเวสสันดร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
[๒๔๓๑] ลำดับนั้น เหล่าทหาร ๖๐,๐๐๐ นาย
ผู้แต่งเครื่องพร้อมสรรพ งามสง่าน่าดู
ต่างพากันติดตามแวดล้อมอยู่โดยรอบ
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกลับ
[๒๔๓๒] พวกพระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพวกพราหมณ์
ต่างพากันติดตามพระเวสสันดรแวดล้อมอยู่โดยรอบ
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกลับ
[๒๔๓๓] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ต่างพากันตามเสด็จแวดล้อมโดยรอบ
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกลับ
[๒๔๓๔] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
ต่างพร้อมใจกันมาประชุมแวดล้อมอยู่โดยรอบ
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกลับ
[๒๔๓๕] เหล่าทหารกล้าต่างก็สวมหมวก สวมเกราะ
ถือดาบ ถือโล่ห์หนังเดินนำหน้า
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกับ
[๒๔๓๖] กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์นั้นเสด็จเข้าสู่พระนครที่รื่นรมย์
ซึ่งมีป้อมปราการและประตูเป็นอันมาก
ประกอบด้วยข้าวน้ำอุดม
และการฟ้อนรำและขับร้องทั้ง ๒ ประการ
[๒๔๓๗] ชาวชนบทและชาวนิคมต่างชื่นชมโสมนัสยินดี
พร้อมใจกันมาประชุม ในเมื่อพระเวสสันดร
ผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จถึงพระนครโดยลำดับแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
[๒๔๓๘] เมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงพระราชทานทรัพย์เสด็จมาถึงแล้ว
ชาวชนบทและชาวนิคมต่างก็โบกผ้าสะบัดไปมา
พระองค์รับสั่งให้นำกลองนันทิเภรีไปตีประกาศในพระนคร
และรับสั่งให้ประกาศปลดปล่อยสัตว์ทั้งปวง
จากเครื่องพันธนาการ
[๒๔๓๙] ขณะที่พระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
เสด็จเข้าพระนคร
ท้าวสักกเทวราชก็ทรงบันดาลให้ฝนทองตกลงมา
[๒๔๔๐] ต่อมา พระเจ้าเวสสันดร ผู้เป็นกษัตริย์ ผู้มีปัญญา
ทรงบำเพ็ญทานแล้ว หลังจากสวรรคตแล้ว
พระองค์ก็เสด็จเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ฉะนี้แล
กัณฑ์นครกัณฑ์ จบ
มหาเวสสันดรชาดกที่ ๑๐ จบ
มหานิบาต จบ
ชาดก ภาค ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๖๐ }

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒ จบ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น