Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๓๓-๕ หน้า ๒๖๐ - ๓๒๔

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓-๕ สุตตันตปิฎกที่ ๒๕ ขุททกนิกาย
อปทาน ภาค ๒ พุทธวงศ์ จริยาปิฎก



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๕. กุมารกัสสปเถราปทาน
[๑๖๕] มารดาของข้าพเจ้าได้พญาเนื้อชื่อนิโครธนั้น
สละชีวิตของตนช่วยให้พ้นจากความตายแล้ว
ตักเตือนข้าพเจ้าผู้เป็นลูกของตนในครั้งนั้นอย่างนี้ว่า
[๑๖๖] ‘ควรคบแต่เนื้อชื่อนิโครธเท่านั้น
ไม่ควรเข้าไปคบหาเนื้อชื่อสาขะ
การตายในสำนักของเนื้อชื่อนิโครธยังประเสริฐกว่า
การมีชีวิตอยู่ในสำนักของเนื้อชื่อสาขะ จะประเสริฐอย่างไร๑
[๑๖๗] ข้าพเจ้า มารดาของข้าพเจ้าและพวกเนื้อนอกนี้
ได้เนื้อชื่อนิโครธผู้เป็นนายฝูงนั้นพร่ำสอน
อาศัยโอวาทของเนื้อชื่อนิโครธนั้น
จึงได้ไปยังที่อยู่อาศัยคือสวรรค์ชั้นดุสิตที่รื่นรมย์
ประหนึ่งว่าได้ไปยังเรือนของตนที่ทิ้งจากไป
[๑๖๘] เมื่อศาสนาของพระกัสสปธีรเจ้า
กำลังถึงความสิ้นไป ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปยังภูเขา
บำเพ็ญเพียรตามคำสอนของพระชินเจ้า
[๑๖๙] ก็บัดนี้ เกิดในตระกูลเศรษฐีในกรุงราชคฤห์
มารดาของข้าพเจ้ามีครรภ์ ออกบวชเป็นบรรพชิต
[๑๗๐] ภิกษุณีทั้งหลายรู้ว่ามารดาของข้าพเจ้ามีครรภ์
จึงนำไปหาพระเทวทัต พระเทวทัตนั้นกล่าวว่า
‘จงนาสนะภิกษุณีชั่วรูปนี้เสีย’
[๑๗๑] แม้ในบัดนี้ มารดาผู้ให้กำเนิดของข้าพเจ้า
อันพระชินเจ้าผู้เป็นจอมมุนี ทรงอนุเคราะห์ไว้
จึงได้มีความสุขอยู่ในสำนักของภิกษุณี

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ชา.(แปล) ๒๗/๑๒/๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๕. กุมารกัสสปเถราปทาน
[๑๗๒] พระเจ้าแผ่นดินพระนามว่าโกศล
ได้ทรงทราบเรื่องนั้นแล้วจึงทรงชุบเลี้ยงข้าพเจ้าไว้
ด้วยเครื่องบริหารพระกุมาร
และตัวข้าพเจ้าก็มีชื่อว่ากัสสปะ
[๑๗๓] เพราะอาศัยท่านพระมหากัสสปเถระ
ข้าพเจ้าจึงมีชื่อว่ากุมารกัสสปะ
เพราะได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า
กายเช่นกับจอมปลวก
[๑๗๔] จากนั้นจิตของข้าพเจ้าก็หลุดพ้น
ไม่ถือมั่นโดยประการทั้งปวง
ข้าพเจ้าได้รับตำแหน่งเอตทัคคะ ก็เพราะทรมานพระเจ้าปายาสิ
[๑๗๕] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๗๖] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๗๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกุมารกัสสปเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กุมารกัสสปเถราปทานที่ ๕ จบ
ภาณวารที่ ๒๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๖. พาหิยเถราปทาน
๖. พาหิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระพาหิยเถระ
(พระพาหิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๗๘] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงเป็นผู้นำ(สัตว์โลก) มีพระรัศมีมาก
เป็นผู้เลิศในโลกทั้ง ๓ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๑๗๙] ข้าแต่พระมุนี เมื่อพระผู้มีพระภาค
ตรัสสรรเสริญคุณของภิกษุผู้ตรัสรู้ได้เร็วพลัน
ข้าพระองค์ได้ฟังแล้วมีจิตเบิกบาน
จึงได้ทำสักการะพระผู้มีพระภาค ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๑๘๐] ข้าแต่พระมุนี ข้าพระองค์ถวายทานตลอด ๗ วัน
แด่พระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระสาวก
ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ปรารถนาตำแหน่งนั้นในกาลนั้น
[๑๘๑] ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ข้าพเจ้าว่า
‘จงดูพราหมณ์ที่หมอบอยู่แทบเท้าของเรานี้
ผู้มีโสมนัสเอิบอิ่มสมบูรณ์ เห็นประจักษ์
[๑๘๒] มีร่างกายที่บุญกรรมสร้างสรรค์ให้คล้ายทองคำ
ผุดผ่อง ผิวบาง ริมฝีปากแดงเหมือนผลตำลึงสุก
มีฟันขาวคมเรียบเสมอ
[๑๘๓] มีกำลังคือคุณมาก มีโลมชาติชูชันและมีใจฟูขึ้น
เป็นบ่อเกิดแห่งกระแสน้ำคือคุณ
มีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสด้วยปีติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๖. พาหิยเถราปทาน
[๑๘๔] เขาปรารถนาตำแหน่งของภิกษุผู้ตรัสรู้เร็วพลัน
ในอนาคต จักมีพระมหาวีระพระนามว่าโคดม
[๑๘๕] เขาจักมีนามว่าพาหิยะ
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักเป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น’
[๑๘๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ายินดีแล้ว
หมั่นกระทำสักการะแด่พระมหามุนีจนตลอดชีวิต
จุติแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ ดุจไปยังที่อยู่ของตน
[๑๘๗] ข้าพเจ้าจะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ย่อมเป็นผู้มีความสุข เพราะอานุภาพแห่งกรรมนั้น
ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดจึงได้เสวยสมบัติ
[๑๘๘] เมื่อสิ้นศาสนาของพระกัสสปธีรเจ้า
ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปยังภูเขาศิลาล้วน
บำเพ็ญเพียรตามคำสอนของพระชินสีห์
[๑๘๙] เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีปัญญา
ทำตามคำสอนของพระชินสีห์
ข้าพเจ้า ๕ คนด้วยกัน
จุติจากอัตภาพนั้นแล้วได้ไปเกิดยังเทวโลก
[๑๙๐] ข้าพเจ้าชื่อพาหิยะ เกิดในภารุกัจฉนคร
ซึ่งเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์
ภายหลังได้แล่นเรือไปในสาคร
ซึ่งให้สำเร็จประโยชน์เพียงเล็กน้อย
[๑๙๑] แต่นั้น เรือแล่นไปได้ ๒-๓ วัน ก็อับปางลง
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าตกลงไปในสาคร
ซึ่งเป็นที่อยู่แห่งมังกรที่ร้ายกาจ น่าสะพรึงกลัว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๖. พาหิยเถราปทาน
[๑๙๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าพยายามว่ายน้ำข้ามทะเลใหญ่
ไปถึงท่าประเสริฐชื่อสุปปารกะ
ข้าพเจ้ามีคนรู้จักน้อย
[๑๙๓] นุ่งผ้าเปลือกไม้เข้าไปยังบ้านเพื่อก้อนข้าว
ครั้งนั้น หมู่ชนพากันยินดีกล่าวว่า
‘ผู้นี้เป็นพระอรหันต์มาที่นี้แล้ว
[๑๙๔] พวกเราสักการะพระอรหันต์นี้ด้วยข้าว น้ำ
ผ้า ที่นอน และเภสัชแล้ว จักถึงความสุข’
[๑๙๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ปัจจัย เป็นผู้ที่พวกเขาสักการบูชาแล้ว
จึงเกิดความดำริโดยไม่แยบคายขึ้นว่า เราเป็นพระอรหันต์
[๑๙๖] ลำดับนั้น บุพเทวดารู้วารจิตของข้าพเจ้า
จึงตักเตือนว่า ‘ท่านไม่รู้ทางที่เป็นอุบาย๑
จะเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไรเล่า’
[๑๙๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าถูกเทวดาตักเตือนแล้ว
ก็เกิดความสลดใจ จึงสอบถามเทวดานั้นว่า
‘พระอรหันต์ผู้ประเสริฐกว่านรชน
ในโลกเหล่านี้คือใคร ‘อยู่ที่ไหน’
[๑๙๘] เทวดานั้นตอบว่า ‘พระชินเจ้าผู้มีพระปัญญามาก
ผู้ประเสริฐ มีปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน
พระองค์เป็นโอรสของเจ้าศากยะ เป็นพระอรหันต์
ไม่มีอาสวะ ทรงแสดงธรรมเพื่อบรรลุอรหัต
อยู่ในพระราชมณเฑียรของพระเจ้าโกศลในกรุงสาวัตถี’
[๑๙๙] ข้าพเจ้าได้ฟังคำของเทวดานั้นแล้ว
เอิบอิ่มใจเหมือนคนกำพร้าได้ขุมทรัพย์

เชิงอรรถ :
๑ รู้ทางที่เป็นอุบาย คือรู้ทางที่จะให้บรรลุถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๒/๑๙๖/๒๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๖. พาหิยเถราปทาน
ยิ้มแย้ม เบิกบานใจที่จะได้พบพระอรหันต์ผู้ประเสริฐ
น่าชม น่าพึงใจ ผู้มีพระญาณเป็นโคจรไม่มีที่สิ้นสุด
[๒๐๐] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าออกจากที่นั้นไปด้วยตั้งใจว่า
‘เราเมื่อชนะกิเลสได้ก็จะได้เห็นพระพักตร์
ที่ปราศจากมลทินของพระศาสดาในกาลทุกเมื่อ’
ไปถึงแคว้นที่รื่นรมย์นั้นแล้วได้ถามพวกพราหมณ์ว่า
‘พระศาสดาผู้ทำชาวโลกให้เพลิดเพลินประทับอยู่ ณ ที่ไหน’
[๒๐๑] ครั้งนั้น พราหมณ์ทั้งหลายตอบว่า
‘พระศาสดาผู้ที่มนุษย์และเทวดากราบไหว้
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังเมือง
ท่านผู้ขวนขวายจะเข้าเฝ้าพระมุนี
จงรีบกลับไปเฝ้ากราบไหว้พระองค์ผู้เป็นบุคคลผู้เลิศ’
[๒๐๒] ลำดับนั้น ข้าพเจ้าได้ไปยังกรุงสาวัตถี
ที่อุดมสมบูรณ์โดยด่วน ได้เห็นพระองค์ผู้ไม่มักมาก
และไม่ติดในรสอาหาร กำลังเสด็จบิณฑบาต
[๒๐๓] ทรงบาตร มีพระเนตรสำรวม
ทรงยังอมตธรรมให้โชติช่วงอยู่ในนครนี้
ประหนึ่งเป็นที่อยู่ของพระสิริ
มีพระพักตร์โชติช่วงดังรัศมีดวงอาทิตย์
[๒๐๔] ครั้นพบพระองค์ ข้าพเจ้าจึงได้หมอบลงแล้ว
กราบทูลดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระโคดม
ขอพระองค์โปรดเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์
ผู้วิบัติในทางที่น่ารังเกียจด้วยเถิด’
[๒๐๕] พระมุนีผู้ประเสริฐได้ตรัสว่า ‘เรากำลังเที่ยวบิณฑบาต
เพื่อประโยชน์แก่การช่วยสัตว์ให้ข้ามพ้น
เวลานี้ไม่ใช่เวลาแสดงธรรมแก่ท่าน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๖. พาหิยเถราปทาน
[๒๐๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีความปรารถนาแรงกล้าในธรรม
จึงได้ทูลอ้อนวอนพระพุทธเจ้าบ่อย ๆ
พระองค์แสดงธรรมอันเป็นสุญญตบทที่ลึกซึ้งแก่ข้าพเจ้า
[๒๐๗] ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมของพระองค์แล้ว
ก็บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ
โอ ! ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่พระศาสดาทรงอนุเคราะห์แล้ว
เป็นผู้มีอายุสิ้นแล้ว
[๒๐๘] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๐๙] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๑๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
[๒๑๑] พระพาหิยทารุจิริยเถระ
ถูกแม่โคตัวที่ถูกผีสิงไม่เห็นตัวขวิดให้ล้มลงที่กองขยะ
ได้กล่าวพยากรณ์ด้วยประการดังนี้
[๒๑๒] พระเถระผู้มีปัญญามาก เป็นนักปราชญ์
ครั้นกล่าวบุพจริตของตนแล้ว
ปรินิพพานในกรุงสาวัตถี ที่อุดมสมบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๖. พาหิยเถราปทาน
[๒๑๓] พระฤๅษีผู้ประเสริฐ เสด็จออกจากนคร
ทอดพระเนตรเห็นพระพาหิยทารุจิริยะผู้นุ่งผ้าเปลือกไม้
เป็นนักปราชญ์ ซึ่งมีความเร่าร้อนอันลอยได้แล้ว
[๒๑๔] ล้มลงที่ภูมิภาค ดุจคันเสาธงใหญ่อันลมพัดให้ล้มลง
หมดอายุ กิเลสเหือดแห้ง ทำกิจในศาสนาของพระชินเจ้า
[๒๑๕] ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสเรียกสาวกทั้งหลาย
ผู้ยินดีในศาสนามาสั่งว่า เธอทั้งหลายจงช่วยกันยกร่าง
ของเพื่อนพรหมจารีแล้วนำไปเผาเสียเถิด
[๒๑๖] จงสร้างสถูปบูชา เขาเป็นคนมีปรีชามากนิพพานแล้ว
สาวกผู้ทำตามคำของเรา
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายที่ตรัสรู้ได้เร็วพลัน
[๒๑๗] คาถาที่มีประโยชน์คาถาเดียวที่คนฟังแล้วสงบระงับได้
ย่อมดีกว่าคาถาที่ไร้ประโยชน์ตั้ง ๑,๐๐๐ คาถา๑
[๒๑๘] ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ตั้งอยู่ในนิพพานใด
ในพระนิพพานนั้น ดาวฤกษ์ที่สุกสกาวก็ส่องแสงไปไม่ถึง
ดวงอาทิตย์ก็ส่องแสงไปไม่ถึง
[๒๑๙] ดวงจันทร์ก็ส่องแสงไปไม่ถึง ความมืดก็ไม่มี
อนึ่ง เมื่อใด พราหมณ์ผู้ได้ชื่อว่าเป็นมุนี
เพราะเป็นผู้สงบ รู้จริงด้วยตนเองแล้ว
[๒๒๐] เมื่อนั้น เขาย่อมพ้นจากรูปภพ อรูปภพ สุข และทุกข์๒
พระโลกนาถผู้เป็นมุนี เป็นที่พึ่งของโลกทั้ง ๓
ได้ตรัสไว้อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้
ได้ทราบว่า ท่านพระพาหิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
พาหิยเถราปทานที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ธ. (แปล) ๒๕/๑๐๑/๖๑
๒ ดูเทียบ ขุ.อุ. (แปล) ๒๕/๑๐/๑๘๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๗. มหาโกฏฐิกเถราปทาน
๗. มหาโกฏฐิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมหาโกฏฐิกเถระ
(พระมหาโกฏฐิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๒๑] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลกทั้งปวง๑ เป็นพระมุนี มีพระจักษุ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๒๒๒] พระองค์เป็นผู้ตรัสสอน ทรงแสดงธรรมให้สัตว์รู้ชัดได้
ทรงช่วยสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้น
ทรงฉลาดในเทศนา เป็นพระพุทธเจ้า
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[๒๒๓] พระองค์เป็นผู้อนุเคราะห์ ประกอบด้วยพระกรุณา
ทรงแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลเพื่อสรรพสัตว์
ทรงทำเดียรถีย์ที่มาเฝ้าทั้งหมดให้ดำรงอยู่ในศีล ๕
[๒๒๔] เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสนาจึงหมดความอากูล
ว่างจากพวกเดียรถีย์
และงดงามด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้ได้วสี ผู้คงที่
[๒๒๕] พระมหามุนีพระองค์นั้น ทรงมีพระวรกายสูง ๕๘ ศอก
มีพระฉวีวรรณคล้ายทองคำที่ล้ำค่า
มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๒

เชิงอรรถ :
๑ รู้แจ้งโลกทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงรู้แจ้งโลกตามสภาวะ เหตุเกิดโลก ความดับโลก วิธีปฏิบัติให้ลุถึง
ความดับโลก คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และทรงรู้แจ้งโลกทั้ง ๓ คือ (๑) สังขารโลก (๒) สัตวโลก
(๓) โอกาสโลก (ขุ.พุทฺธ.อ. ๖๐/๑๔๓)
๒ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๗. มหาโกฏฐิกเถราปทาน
[๒๒๖] ขณะนั้น สัตว์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี
พระชินสีห์พระองค์นั้น
ก็ดำรงพระชนมายุอยู่ประมาณเท่านั้น
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[๒๒๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ชาวกรุงหงสวดี เรียนจบไตรเพท
ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ผู้เลิศกว่าสัตว์โลกทั้งปวง
แล้วได้ฟังพระธรรมเทศนา
[๒๒๘] ครั้งนั้น พระธีรเจ้าพระองค์นั้น
ทรงตั้งสาวกผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา
ฉลาดในอรรถ ธรรม นิรุตติ
และปฏิภาณไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
[๒๒๙] ข้าพเจ้าได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้วก็พลอยยินดี
จึงได้ทูลนิมนต์พระชินเจ้าผู้ประเสริฐ
พร้อมทั้งสาวกให้เสวยและฉันตลอด ๗ วัน
[๒๓๐] ข้าพเจ้าทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าผู้ดังสาคร
พร้อมทั้งสาวกให้ครองผ้าชุดใหม่
แล้วหมอบลงแทบพระบาท ปรารถนาตำแหน่งนั้น
[๒๓๑] ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลผู้เลิศในโลก
ได้ตรัสว่า ‘จงดูพราหมณ์ผู้ประเสริฐ
ซึ่งหมอบอยู่แทบเท้าเรานี้ มีรัศมีเหมือนกลีบบัว
[๒๓๒] พราหมณ์นี้ปรารถนาตำแหน่งประเสริฐสุดของภิกษุ
เพราะการบริจาคทานด้วยศรัทธานั้น
และเพราะการฟังพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า
[๒๓๓] พราหมณ์นี้จักเป็นผู้มีความสุขในทุกภพ
เวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่
จักได้ตำแหน่งนั้นตามใจปรารถนาในอนาคตกาล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๗. มหาโกฏฐิกเถราปทาน
[๒๓๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๒๓๕] พราหมณ์นี้จักมีนามว่าโกฏฐิกะ
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
เป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น’
[๒๓๖] ข้าพเจ้าได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว
เป็นผู้เบิกบาน มีจิตประกอบด้วยเมตตา
บำรุงพระชินเจ้าจนตลอดชีวิตในครั้งนั้น
เพราะข้าพเจ้าเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญา
[๒๓๗] ด้วยวิบากกรรมนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๒๓๘] ข้าพเจ้าได้ครองเทวสมบัติตลอด ๓๐๐ ชาติ
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ชาติ
[๒๓๙] และได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
เพราะอานุภาพแห่งกรรมนั้น
ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้มีความสุขในทุกภพ
[๒๔๐] ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน ๒ ภพ
คือ (๑) เทวดา (๒) มนุษย์
คติอื่นข้าพเจ้าไม่รู้จักเลย
นี้เป็นผลแห่งกรรมที่สั่งสมไว้ดีแล้ว
[๒๔๑] ข้าพเจ้าเกิดเฉพาะใน ๒ ตระกูล
คือ (๑) ตระกูลกษัตริย์ (๒) ตระกูลพราหมณ์
จะไม่เกิดในตระกูลที่ต่ำ
นี้เป็นผลแห่งกรรมที่สั่งสมไว้ดีแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๗. มหาโกฏฐิกเถราปทาน
[๒๔๒] เมื่อถึงภพสุดท้าย
ข้าพเจ้าได้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
เกิดในตระกูลพราหมณมหาศาล
ที่มีทรัพย์มากในกรุงสาวัตถี
[๒๔๓] มารดาของข้าพเจ้าชื่อจันทวดี
บิดาของข้าพเจ้าชื่ออัสสลายนะ
ในคราวที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำบิดาของข้าพเจ้า
เพื่อความบริสุทธิ์ทุกอย่าง
[๒๔๔] ข้าพเจ้าเลื่อมใสในพระสุคต
ได้บวชเป็นบรรพชิต
พระโมคคัลลานะเป็นพระอาจารย์
พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์
[๒๔๕] ในขณะกำลังปลงผม ข้าพเจ้าก็ตัดทิฏฐิพร้อมทั้งรากได้
และขณะนุ่งผ้ากาสาวะ ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๒๔๖] ข้าพเจ้ามีปัญญาแตกฉานในอรรถ ธรรม นิรุตติ และปฏิภาณ
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้เลิศในโลก
จึงทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
[๒๔๗] ข้าพเจ้าถูกท่านพระอุปติสสะ
ไต่ถามในปฏิสัมภิทาก็แก้ได้ไม่ขัดข้อง
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้เลิศในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๒๔๘] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๘. อุรุเวลกัสสปเถราปทาน
[๒๔๙] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๕๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมหาโกฏฐิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มหาโกฏฐิกเถราปทานที่ ๗ จบ
๘. อุรุเวลกัสสปเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุรุเวลกัสสปเถระ
(พระอุรุเวลกัสสปเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๕๑] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลกทั้งปวง เป็นพระมุนี มีพระจักษุ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๒๕๒] พระองค์เป็นผู้ตรัสสอน ทรงแสดงธรรมให้สัตว์รู้ชัดได้
ทรงช่วยสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้น
ทรงฉลาดในเทศนา เป็นพระพุทธเจ้า
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[๒๕๓] พระองค์เป็นผู้อนุเคราะห์ ประกอบด้วยพระกรุณา
แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลเพื่อสรรพสัตว์
ทรงทำเดียรถีย์ที่มาเฝ้าทั้งหมดให้ดำรงอยู่ในศีล ๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๘. อุรุเวลกัสสปเถราปทาน
[๒๕๔] เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสนาจึงหมดความอากูล
ว่างจากพวกเดียรถีย์
และงดงามด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้ได้วสี ผู้คงที่
[๒๕๕] พระมหามุนีพระองค์นั้น ทรงมีพระวรกายสูง ๕๘ ศอก
มีพระฉวีวรรณคล้ายทองคำที่ล้ำค่า
มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑
[๒๕๖] ขณะนั้น สัตว์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี
พระชินสีห์พระองค์นั้น
ก็ดำรงพระชนมายุอยู่ประมาณเท่านั้น
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[๒๕๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ชาวกรุงหงสวดี
ประชาชนสมมติว่าเป็นผู้ประเสริฐ
ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ส่องโลกให้สว่างไสว
แล้วได้ฟังพระธรรมเทศนา
[๒๕๘] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ฟังพระผู้มีพระภาค
ทรงแต่งตั้งสาวกของพระองค์ในตำแหน่งเอตทัคคะ
ในที่ประชุมใหญ่ จึงพลอยยินดี
[๒๕๙] ได้ทูลนิมนต์พระมหาชินเจ้าพร้อมกับสาวกจำนวนมาก
แล้วได้ถวายทานพร้อมด้วยพราหมณ์อีก ๑,๐๐๐ คน
[๒๖๐] ครั้นถวายมหาทานแล้ว
ข้าพเจ้าได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร เป็นผู้เบิกบาน ได้กราบทูลดังนี้ว่า
[๒๖๑] ‘ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า
ด้วยความเชื่อในพระองค์และด้วยอธิการคุณ
ขอให้ข้าพระองค์ผู้เกิดในภพนั้น ๆ จงมีบริวารมากเถิด’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๘. อุรุเวลกัสสปเถราปทาน
[๒๖๒] ครั้งนั้น พระศาสดาผู้มีพระสุรเสียงก้อง
เหมือนเสียงคชสารคำราม
มีพระสำเนียงไพเราะเหมือนเสียงนกการเวก
ได้ตรัสกับบริษัทว่า ‘จงดูพราหมณ์นี้
[๒๖๓] ผู้มีผิวพรรณดุจทองคำ แขนใหญ่
ปากและดวงตาเหมือนดอกปทุม
มีโลมชาติชูชันและมีใจฟูขึ้น ร่าเริงมีศรัทธาในคุณของเรา
[๒๖๔] เขาปรารถนาตำแหน่งภิกษุผู้มีเสียงเหมือนราชสีห์
ในอนาคตกาล เขาจักได้ตำแหน่งนี้สมความปรารถนา
[๒๖๕] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๒๖๖] พราหมณ์นี้จักมีนามว่ากัสสปะ ตามโคตร
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักเป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น
[๒๖๗] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ได้มีพระผู้เป็นผู้นำชั้นเลิศของโลกพระนามว่าผุสสะ
ทรงเป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม หาผู้เปรียบมิได้
ไม่มีใครเสมอเหมือน
[๒๖๘] พระศาสดาพระนามว่าผุสสะพระองค์นั้นแล
ทรงกำจัดความมืด๑ ทั้งปวง ถางรกชัฏใหญ่
ทรงบันดาลฝนคืออมตธรรมให้ตกลง
ให้มนุษย์และทวยเทพอิ่มหนำ

เชิงอรรถ :
๑ ความมืด ในที่นี้หมายถึงกิเลสมีราคะ โทสะ และโมหะเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๒/๒๖๘/๒๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๘. อุรุเวลกัสสปเถราปทาน
[๒๖๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้า ๓ คนพี่น้อง
ได้เป็นราชอำมาตย์ในกรุงพาราณสี
ล้วนแต่เป็นที่ไว้วางพระทัยของพระราชา
[๒๗๐] รูปร่างองอาจแกล้วกล้า สมบูรณ์ด้วยพละกำลัง
ไม่พ่ายแพ้ในสงคราม
ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินผู้ถูกเจ้าเมืองชายแดนก่อกำเริบ
จึงมีรับสั่งกับพวกข้าพเจ้าว่า
[๒๗๑] ‘ท่านทั้งหลายจงไปชนบทชายแดน
ปราบปรามขบถของแผ่นดินให้ราบคาบแล้วกลับมา’
และทรงพร่ำสอนว่า ‘พวกท่านบำรุงแว่นแคว้นของเรา
ให้เกษมแล้วจงมอบคืน’
[๒๗๒] ลำดับนั้น ข้าพเจ้าได้กราบทูลว่า
‘ถ้าพระองค์จะพึงประทานพระผู้ทรงเป็นผู้นำ
เพื่อให้ข้าพระองค์ทั้งหลายอุปัฏฐากบ้าง
พระองค์ทั้งหลายก็จักทำกิจของพระองค์ให้สำเร็จ’
[๒๗๓] ลำดับนั้น ข้าพเจ้าได้รับพระราชทานพรแล้ว
ถูกพระภูมิบาลส่งไปปราบปรามชายแดนที่กำเริบให้วางอาวุธแล้ว
จึงกลับมายังนครนั้นอีก
[๒๗๔] ข้าพเจ้าทูลขอการรับอุปัฏฐากพระศาสดาจากพระราชา
ได้พระศาสดาทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เป็นพระมุนีผู้ประเสริฐแล้ว ได้บูชาพระองค์จนตลอดชีวิต
[๒๗๕] ผ้ามีค่ามาก อาหารมีรสเลิศ
เสนาสนะเป็นที่รื่นรมย์และเภสัชที่มีประโยชน์
[๒๗๖] พวกข้าพเจ้ามีศีล มีกรุณา มีใจประกอบด้วยภาวนา
จึงถวายปัจจัยที่พวกข้าพเจ้าให้เกิดขึ้นโดยธรรม
แด่พระมุนีพร้อมทั้งพระสงฆ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๘. อุรุเวลกัสสปเถราปทาน
[๒๗๗] อุปัฏฐากพระผู้ทรงเป็นผู้นำด้วยจิตเมตตาตลอดเวลา
เมื่อพระผู้ทรงเป็นผู้นำ ผู้เลิศในโลกนั้นปรินิพพานแล้ว
ก็ทำการบูชาตามกำลัง
[๒๗๘] ทุกคนจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
เสวยสุขอย่างมากในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๗๙] ข้าพเจ้าเมื่อเกิดอยู่ในภพ
เป็นเหมือนนายช่างดอกไม้
ได้ดอกไม้ตามแต่จะหามาได้แล้ว
จัดแสดงให้เป็นแบบต่าง ๆ มากมาย
ได้เป็นพระเจ้าวิเทหราช
[๒๘๐] ข้าพเจ้ามีอัธยาศัยเป็นมิจฉาทิฏฐิ
เพราะถ้อยคำของอเจลกคุณ
ตกนรกเพราะไม่เชื่อคำตักเตือนของธิดาของข้าพเจ้านามว่ารุจา
[๒๘๑] ถูกนารทพรหมพร่ำสอนมากมาย
จึงละทิฏฐิอันชั่วช้านั้นได้
[๒๘๒] แล้วบำเพ็ญกุศลกรรมบถ ๑๐ ให้บริบูรณ์โดยพิเศษ
ละกายมนุษย์แล้วจึงได้ไปเกิดในสวรรค์ ดุจไปยังที่อยู่ของตน
[๒๘๓] เมื่อถึงภพสุดท้าย
ข้าพเจ้าได้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
เกิดในตระกูลพราหมณมหาศาล ในกรุงพาราณสีที่มั่งคั่ง
[๒๘๔] ข้าพเจ้ากลัวต่อความแก่ ความเจ็บ และความตาย
จึงเข้าป่าใหญ่ แสวงหาบทคือพระนิพพาน
ได้บวชในสำนักของชฎิล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๘. อุรุเวลกัสสปเถราปทาน
[๒๘๕] ครั้งนั้น น้องชายทั้ง ๒ ของข้าพเจ้า
ก็ได้บวชพร้อมกับข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าได้สร้างอาศรมอาศัยอยู่ที่ตำบลอุรุเวลา
[๒๘๖] ข้าพเจ้ามีชื่อว่ากัสสปะ ตามโคตร
แต่เพราะอาศัยอยู่ที่ตำบลอุรุเวลา
จึงได้นามบัญญัติว่าอุรุเวลกัสสปะ
[๒๘๗] เพราะน้องชายของข้าพเจ้าอาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำ
เขาจึงได้นามว่านทีกัสสปะ
เพราะน้องชายอีกคนหนึ่งของข้าพเจ้า
อาศัยอยู่ที่ตำบลคยา เขาจึงประกาศนามว่าคยากัสสปะ
[๒๘๘] น้องชายคนเล็กมีศิษย์ ๒๐๐ คน
น้องชายคนกลางมีศิษย์ ๓๐๐ คน
ส่วนข้าพเจ้ามีไม่น้อยกว่า ๕๐๐ คน
ศิษย์ทุกคนล้วนประพฤติตามข้าพเจ้า
[๒๘๙] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้เลิศในโลก
เป็นสารถีฝึกนรชน ได้เสด็จมาหาข้าพเจ้า
ทรงทำปาฏิหาริย์ต่าง ๆ แก่ข้าพเจ้า และทรงแนะนำ
[๒๙๐] ข้าพเจ้ากับบริวาร ๑,๐๐๐ ได้อุปสมบท
ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา
ได้บรรลุอรหัตพร้อมกับภิกษุเหล่านั้นทุกรูป
[๒๙๑] ภิกษุเหล่านั้นและภิกษุเหล่าอื่นจำนวนมาก
แวดล้อมข้าพเจ้าเป็นบริวารยศ
และข้าพเจ้าก็สามารถสั่งสอนได้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคผู้เป็นฤๅษี
ผู้ประเสริฐก็สั่งสอนข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๙. ราธเถราปทาน
[๒๙๒] พระองค์ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
คือความเป็นผู้มีบริษัทมาก
โอ สักการะที่ได้ทำไว้ในพระพุทธเจ้า
ได้ก่อให้เกิดผลแก่ข้าพเจ้าแล้ว
[๒๙๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๙๔] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๙๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุรุเวลกัสสปเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุรุเวลกัสสปเถราปทานที่ ๘ จบ
๙. ราธเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระราธเถระ
(พระราธเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๙๖] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลกทั้งปวง เป็นพระมุนี มีพระจักษุ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๒๙๗] พระองค์เป็นผู้ตรัสสอน ทรงแสดงธรรมให้สัตว์รู้ชัดได้
ทรงช่วยสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๙. ราธเถราปทาน
ทรงฉลาดในเทศนา เป็นพระพุทธเจ้า
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[๒๙๘] พระองค์เป็นผู้อนุเคราะห์ ประกอบด้วยพระกรุณา
ทรงแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลเพื่อสรรพสัตว์
ทรงทำเดียรถีย์ที่มาเฝ้าทั้งหมดให้ดำรงอยู่ในศีล ๕
[๒๙๙] เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสนาจึงหมดความอากูล
ว่างจากพวกเดียรถีย์
และงดงามด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้ได้วสี ผู้คงที่
[๓๐๐] พระมหามุนีพระองค์นั้น ทรงมีพระวรกายสูง ๕๘ ศอก
มีพระฉวีวรรณคล้ายทองคำที่ล้ำค่า
มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑
[๓๐๑] ขณะนั้น สัตว์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี
พระชินสีห์พระองค์นั้น
ก็ดำรงพระชนมายุอยู่ประมาณเท่านั้น
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[๓๐๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ชาวกรุงหงสวดี เรียนจบมนตร์
ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐกว่านรชน
[๓๐๓] ทรงมีความเพียรมาก ทรงแกล้วกล้าในบริษัท
ทรงเป็นผู้นำวิเศษ ทรงกำลังตั้งภิกษุผู้มีปฏิภาณไว้
ในตำแหน่งเอตทัคคะแล้วได้ฟังพระธรรมเทศนา
[๓๐๔] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าทำสักการะในพระองค์ผู้เป็นผู้นำสัตว์โลก
พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ แล้วหมอบลงแทบพระบาทด้วยเศียรเกล้า
ปรารถนาตำแหน่งนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๙. ราธเถราปทาน
[๓๐๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค
ผู้มีพระรัศมีซ่านออกจากพระวรกายดุจแท่งทอง
ได้ตรัสกับข้าพเจ้าด้วยพระสุรเสียงอันน่ายินดี
มีปกตินำมลทินคือกิเลสออกไปว่า
[๓๐๖] ‘จงเป็นผู้มีความสุข
มีอายุยืนเถิด ปณิธาน(ความปรารถนา) ของเธอก็จงสำเร็จเถิด
สักการะที่เธอทำในเราพร้อมทั้งพระสงฆ์ก็จงมีผลไพบูลย์อย่างยิ่งเถิด
[๓๐๗] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๓๐๘] พราหมณ์นี้จักมีนามว่าราธะ
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
เป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น
[๓๐๙] พระผู้ทรงเป็นผู้นำพระองค์นั้น
เป็นพระราชโอรสของเจ้าศากยะ ทรงองอาจกว่านรชน
ทรงยินดีในคุณที่เป็นเหตุของท่านแล้ว จักทรงแต่งตั้งท่านว่า
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปฏิภาณ’
[๓๑๐] ข้าพเจ้าได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว
เป็นผู้เบิกบาน มีจิตประกอบด้วยเมตตา
บำรุงพระชินเจ้าจนตลอดชีวิต ในครั้งนั้น
เพราะข้าพเจ้าเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญา
[๓๑๑] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๙. ราธเถราปทาน
[๓๑๒] ข้าพเจ้าได้ครองเทวสมบัติตลอด ๓๐๐ ชาติ
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ชาติ
[๓๑๓] และได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอย่างไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
เพราะอานุภาพแห่งกรรมนั้น
ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้มีความสุขในทุกภพ
[๓๑๔] เมื่อถึงภพสุดท้าย ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลที่ยากจน
ขาดเครื่องนุ่งห่มและอาหาร
ในกรุงราชคฤห์ที่อุดมสมบูรณ์
[๓๑๕] ได้ถวายภิกษาทัพพีหนึ่งแก่พระสารีบุตรผู้คงที่
ในเวลาที่ข้าพเจ้าแก่เฒ่า ได้อาศัยอารามนั้นอยู่
[๓๑๖] ครั้งนั้น ไม่มีภิกษุรูปใดบวชให้ข้าพเจ้าผู้แก่เฒ่า
ผู้มีกำลังและเรี่ยวแรงถดถอย
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงเป็นคนตกยาก
มีผิวพรรณไม่ผ่องใสและเศร้าโศก
[๓๑๗] พระมหามุนีผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา
ทอดพระเนตรเห็นเข้าจึงตรัสถามข้าพเจ้าว่า
‘ลูก ไฉนจึงเศร้าโศก จงบอกถึงความเสียดแทงที่เกิดในใจของเธอ’
[๓๑๘] ข้าพเจ้าได้กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร
ข้าพระองค์ไม่ได้บวชในศาสนาของพระองค์ ซึ่งพระองค์ตรัสดีแล้ว
เพราะความเศร้าโศกนั้น ข้าพระองค์จึงเป็นคนตกยาก
ข้าแต่พระผู้ทรงเป็นผู้นำ
ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์ด้วยเถิด’
[๓๑๙] ครั้งนั้น พระมุนีผู้ประเสริฐ
ได้รับสั่งให้เรียกภิกษุมาประชุมพร้อมแล้วตรัสถามว่า
‘ผู้ที่นึกถึงสักการะยิ่งใหญ่ของพราหมณ์นี้ได้ มีอยู่หรือจงบอกมา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๙. ราธเถราปทาน
[๓๒๐] ครั้งนั้น พระสารีบุตรได้กราบทูลว่า
‘ข้าพระองค์ระลึกถึงสักการะของเขาได้อยู่
พราหมณ์นี้ได้ถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง
แก่ข้าพระองค์ผู้กำลังเที่ยวบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า’
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๓๒๑] สาธุ สาธุ สารีบุตร เธอเป็นคนกตัญญู
เธอจงให้พราหมณ์เฒ่านี้บวชเถิด
เขาจักเป็นปูชนียบุคคล’
[๓๒๒] ลำดับนั้น ข้าพเจ้าได้รับการบรรพชาอุปสมบท
ด้วยกรรมวาจา และไม่นานนักก็ได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ
[๓๒๓] เพราะข้าพเจ้าเป็นผู้เพลิดเพลิน
ฟังพุทธดำรัสโดยความเคารพ
ฉะนั้น พระชินเจ้าจึงทรงตั้งข้าพเจ้าว่า
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายปฏิภาณ
[๓๒๔] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๒๕] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๒๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระราธเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ราธเถราปทานที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๑๐. โมฆราชเถราปทาน
๑๐. โมฆราชเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโมฆราชเถระ
(พระโมฆราชเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๒๗] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลก ทรงบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์
เป็นพระมุนี มีพระจักษุ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๓๒๘] พระองค์เป็นผู้ตรัสสอน ทรงแสดงธรรมให้สัตว์รู้ชัดได้
ทรงช่วยสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้น
ทรงฉลาดในเทศนา เป็นพระพุทธเจ้า
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[๓๒๙] พระองค์เป็นผู้อนุเคราะห์ ประกอบด้วยพระกรุณา
ทรงแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลเพื่อสรรพสัตว์
ทรงทำเดียรถีย์ที่มาเฝ้าทั้งหมดให้ดำรงอยู่ในศีล ๕
[๓๓๐] เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสนาจึงหมดความอากูล
ว่างจากพวกเดียรถีย์
และงดงามด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้ได้วสี ผู้คงที่
[๓๓๑] พระมหามุนีพระองค์นั้น ทรงมีพระวรกายสูง ๕๘ ศอก
มีพระฉวีวรรณคล้ายทองคำที่ล้ำค่า
มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑
[๓๓๒] ขณะนั้น สัตว์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี
พระชินสีห์พระองค์นั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๑๐. โมฆราชเถราปทาน
ก็ดำรงพระชนมายุอยู่ประมาณเท่านั้น
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[๓๓๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ารับจ้างทำงานของบุคคลอื่นในตระกูลหนึ่ง
ในกรุงหงสวดี ข้าพเจ้าไม่มีทรัพย์สินอะไรที่เป็นของตนเลย
[๓๓๔] ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ที่ศาลาพักผ่อนที่เขาปรับพื้นไว้แล้ว
ได้ก่อไฟขึ้นที่ศาลา พื้นศิลาจึงดำเพราะถูกไฟไหม้
[๓๓๕] ครั้งนั้น พระโลกนาถผู้ประกาศสัจจะ ๔
ได้ตรัสสรรเสริญสาวกผู้ทรงจีวรเศร้าหมองในที่ประชุมชน
[๓๓๖] ข้าพเจ้าพอใจในคุณนั้นของพระองค์ จึงได้ปรนนิบัติพระตถาคต
ปรารถนาตำแหน่งที่สูงสุดคือความเป็นผู้เลิศ
กว่าภิกษุผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง
[๓๓๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ได้ตรัสกับสาวกทั้งหลายว่า
จงดูบุรุษนี้ผู้มีผ้าห่มเศร้าหมอง ร่างกายผอมบาง
[๓๓๘] แต่สีหน้าผ่องใสเพราะปีติ
ประกอบด้วยทรัพย์คือ ศรัทธา มีโลมชาติชูชัน
มีใจร่าเริง ไม่หวั่นไหว เหมือนหมู่ไม้สาละที่หนาแน่น๑
[๓๓๙] บุรุษนี้ผู้มีความพอใจในคุณของภิกษุชื่อสัจจเสนะ
ผู้ทรงจีวรเศร้าหมองนั้น จึงปรารถนาตำแหน่งนั้น
[๓๔๐] ข้าพเจ้าได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้วเป็นผู้เบิกบาน
ซบศีรษะลงถวายพระชินเจ้า กระทำแต่กรรมที่ดีงาม
ในศาสนาพระชินเจ้าจนตลอดชีวิต

เชิงอรรถ :
๑ เหมือนหมู่ไม้สาละวนที่หนาแน่น ในที่นี้ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ (องฺ.จตุกฺก. (แปล)
๒๑/๑๕๐/๒๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๑๐. โมฆราชเถราปทาน
[๓๔๑] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๓๔๒] ด้วยกรรมคือการใช้ไฟลนที่พื้นศาลาพักผ่อน
ข้าพเจ้าจึงถูกทุกขเวทนาเบียดเบียน
หมกไหม้ในนรกนับพันปี
[๓๔๓] ด้วยวิบากกรรมที่ยังเหลืออยู่นั้น
ข้าพเจ้าเกิดเป็นมนุษย์
จึงมีรอยตำหนิติดตัวมาตามลำดับตลอด ๕๐๐ ชาติ
[๓๔๔] เพราะอานุภาพแห่งกรรมนั้น
ข้าพเจ้าจึงเต็มไปด้วยโรคเรื้อน
เสวยมหันตทุกข์ตลอด ๕๐๐ ชาติเหมือนกัน
[๓๔๕] ในภัทรกัปนี้ ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส
จึงได้นิมนต์พระอุปริฏฐะผู้มียศ
ให้ฉันบิณฑบาตจนอิ่มหนำ
[๓๔๖] ด้วยผลกรรมอันวิเศษนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๓๔๗] เมื่อถึงภพสุดท้าย ข้าพเจ้าได้เกิดในตระกูลกษัตริย์
เพียบพร้อมไปด้วยมหาสมบัติ เมื่อพระชนกสวรรคตไป
[๓๔๘] ข้าพเจ้าถูกโรคเรื้อนรบกวน
ในเวลากลางคืน ก็ไม่ได้รับความสุขในการนอน
เพราะความสุขในรัชสมบัติกลายเป็นโมฆะไป
ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงได้ชื่อว่าโมฆราช

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๑๐. โมฆราชเถราปทาน
[๓๔๙] ข้าพเจ้าเห็นโทษของร่างกาย
จึงบวชเป็นบรรพชิต มอบตัวเป็นศิษย์
ของพราหมณ์ผู้เลิศชื่อพาวรี
[๓๕๐] ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าพระผู้ทรงเป็นผู้นำแห่งนรชน
พร้อมด้วยบริวารจำนวนมาก
ได้ทูลถามปัญหาที่ละเอียดลึกซึ้ง
กับพระองค์ผู้มีวาทะประเสริฐ ผู้มีวาทะเป็นประโยชน์ว่า
[๓๕๑] โลกนี้ โลกหน้า พรหมโลก และเทวโลก
ข้าพระองค์ไม่ทราบถึงความเห็นของพระองค์
พระนามว่าโคดม ผู้มีพระยศ
[๓๕๒] เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีปัญหามาถึงพระองค์
ผู้ทรงเห็นล่วงสามัญชนว่า
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นโลกอย่างไร
มัจจุราชจึงจะมองไม่เห็น
[๓๕๓] โมฆราช เธอจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ
พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า
ถอนความเห็นว่าเป็นอัตตาเสีย
เมื่อเป็นเช่นนี้ จะพึงข้ามพ้นมัจจุราชได้
[๓๕๔] เธอเมื่อพิจารณาเห็นโลกด้วยอุบายอย่างนี้
มัจจุราชจึงจะมองไม่เห็น
พระพุทธเจ้า ผู้ทรงเยียวยาโรคได้ทุกชนิด
ได้ตรัสกับข้าพเจ้าดังว่ามานี้
[๓๕๕] พร้อมกับเวลาจบคาถา ข้าพเจ้าปราศจากผมและหนวด
นุ่งห่มผ้ากาสาวะได้เป็นภิกษุและเป็นพระอรหันต์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] ๑๐. โมฆราชเถราปทาน
[๓๕๖] ข้าพเจ้าถูกโรคเบียดเบียน ถูกเขาพูดบีบคั้นว่า
วิหารอย่าได้เสียหายเลย จึงไม่อยู่ในวิหารของสงฆ์
[๓๕๗] ข้าพเจ้าเก็บผ้ามาจากกองขยะ ป่าช้า และทางรถทางเกวียน
แล้วทำผ้าสังฆาฏิจากผ้านั้น ใช้สอยจีวรที่เศร้าหมอง
[๓๕๘] พระผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ เป็นนายแพทย์ใหญ่
ทรงพอพระทัยในคุณข้อนั้นของข้าพเจ้า
จึงทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งแห่งภิกษุ
ผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายที่ใช้สอยจีวรเศร้าหมอง
[๓๕๙] ข้าพเจ้าสิ้นบุญและบาป หายจากโรคทุกชนิด
ไม่มีอาสวะ ดับสนิท
เหมือนเปลวไฟที่หมดเชื้อดับไป
[๓๖๐] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๖๑] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๖๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโมฆราชเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โมฆราชเถราปทานที่ ๑๐ จบ
กัจจายนวรรคที่ ๕๔ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มหากัจจายนเถราปทาน ๒. วักกลิเถราปทาน
๓. มหากัปปินเถราปทาน ๔. ทัพพมัลลปุตตเถราปทาน
๕. กุมารกัสสปเถราปทาน ๖. พาหิยเถราปทาน
๗. มหาโกฏฐิกเถราปทาน ๘. อุรุเวลกัสสปเถราปทาน
๙. ราธเถราปทาน ๑๐. โมฆราชเถราปทาน

ในวรรคนี้ บัณฑิตนับคาถาได้ ๓๖๒ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๑. ลกุณฏกภัททิยเถราปทาน
๕๕. ภัททิยวรรค
หมวดว่าด้วยพระภัททิยะเป็นต้น
๑. ลกุณฏกภัททิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระลกุณฏกภัททิยเถระ
(พระลกุณฏกภัททิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลกในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นบุตรเศรษฐีผู้มีทรัพย์มากในกรุงหงสวดี
เที่ยวเดินเล่นพักผ่อนอยู่ ได้ไปถึงสังฆาราม
[๓] ครั้งนั้น พระผู้ทรงเป็นผู้นำ ผู้ส่องโลกให้สว่างไสวพระองค์นั้น
ทรงแสดงธรรม ได้ตรัสสรรเสริญสาวก
ผู้ประเสริฐกว่าภิกษุทั้งหลายที่มีเสียงไพเราะ
[๔] ข้าพเจ้าได้ฟังการสรรเสริญนั้นแล้วก็พลอยยินดี
จึงได้ทำสักการะแด่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
กราบพระยุคลบาทของพระศาสดาแล้ว
ปรารถนาตำแหน่งนั้น
[๕] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ได้ตรัสพยากรณ์ในท่ามกลางสงฆ์ว่า
ในอนาคตกาล ท่านผู้นี้จักได้ตำแหน่งนี้สมความปรารถนา
[๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๑. ลกุณฏกภัททิยเถราปทาน
[๗] บุตรเศรษฐีนี้จักมีนามว่าภัททิยะ
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
เป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น
[๘] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๙] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
พระชินเจ้าพระนามว่าผุสสะ ทรงเป็นผู้นำ
หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก ยากที่จะข่มได้
ประเสริฐกว่าสัตว์โลกทั้งปวง เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๑๐] และพระองค์ทรงเพียบพร้อมด้วยจรณะ
ทรงเป็นผู้ประเสริฐ เที่ยงตรง ทรงมีความเพียรเผากิเลส
ทรงแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลเพื่อสรรพสัตว์
ทรงเปลื้องสัตว์จำนวนมากจากกิเลสเครื่องจองจำ
[๑๑] ข้าพเจ้าเกิดเป็นนกดุเหว่าขาว
อาศัยอยู่ที่ต้นมะม่วงใกล้พระคันธกุฎี
อันประเสริฐน่าเพลิดเพลินยินดี
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสะพระองค์นั้น
[๑๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเห็นพระชินเจ้าผู้ประเสริฐสุด
ทรงเป็นทักขิไณยบุคคล กำลังเสด็จบิณฑบาต
จึงทำจิตให้เลื่อมใส แล้วส่งเสียงร้องอย่างไพเราะ
[๑๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าบินไปที่สวนหลวง
คาบมะม่วงผลที่สุกดีมีเปลือกเหมือนทองคำ
น้อมเข้าไปถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๑. ลกุณฏกภัททิยเถราปทาน
[๑๔] ขณะนั้น พระชินเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำ
ประกอบด้วยพระมหากรุณา ทรงทราบวารจิตของข้าพเจ้า
จึงทรงรับบาตรมาจากมือของภิกษุผู้อุปัฏฐาก
[๑๕] ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริงได้ถวายผลมะม่วงแด่พระมหามุนี
ครั้นใส่บาตรแล้วก็ประนมปีก
[๑๖] ส่งเสียงร้องด้วยเสียงไพเราะน่ายินดี น่าฟัง
เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า แล้วกลับไปหลับนอน
[๑๗] ครั้งนั้น นกเหยี่ยวผู้มีใจหยาบช้า
ได้โฉบข้าพเจ้าผู้มีจิตเบิกบาน
มีอัธยาศัยน้อมไปสู่ความรักต่อพระพุทธเจ้าไปฆ่าเสีย
[๑๘] ข้าพเจ้าจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ไปเสวยสุขอย่างมากอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต
แล้วมาสู่กำเนิดมนุษย์เพราะอานุภาพแห่งกรรมนั้น
[๑๙] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ มีพระยศยิ่งใหญ่
ประเสริฐกว่านักปราชญ์ทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๒๐] พระองค์นั้นพร้อมสาวกทรงประกาศศาสนาให้รุ่งเรือง
ข่มเดียรถีย์ผู้หลอกลวงเสียแล้ว ทรงแนะนำเวไนยสัตว์
ปรินิพพานแล้ว
[๒๑] เมื่อพระองค์ทรงเป็นผู้เลิศในโลก เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ประชุมชนจำนวนมากที่เลื่อมใส
สร้างพระสถูปเพื่อจะบูชาพระพุทธเจ้าผู้ศาสดา
[๒๒] พวกเขาปรึกษากันอย่างนี้ว่า
เราทั้งหลายจักช่วยกันสร้างพระสถูปของพระศาสดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๑. ลกุณฏกภัททิยเถราปทาน
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ให้สูงถึง ๗ โยชน์
ประดับด้วยรัตนะ ๗ ประการ
[๒๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นจอมทัพของพระเจ้าแผ่นดิน
แคว้นกาสีพระนามว่ากิกี
ได้พูดถึงขนาดเจดีย์ของพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงพระคุณหาประมาณมิได้
[๒๔] ครั้งนั้น ชนเหล่านั้นได้ช่วยกันสร้างเจดีย์ของพระศาสดา
ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์กว่านรชน สูงเพียงโยชน์เดียว
ประดับด้วยรัตนะนานาชนิดตามคำแนะนำของข้าพเจ้า
[๒๕] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๒๖] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลเศรษฐี
ที่มั่งคั่ง สมบูรณ์ มีทรัพย์มากในกรุงสาวัตถี
[๒๗] ข้าพเจ้าได้เห็นพระสุคตในเวลาเสด็จเข้านคร
เป็นผู้มีความอัศจรรย์ใจ บวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๒๘] ด้วยกรรมคือการลดขนาดของพระเจดีย์ที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้แล้ว
ข้าพเจ้าจึงมีร่างกายต่ำเตี้ย น่าเย้ยหยัน
[๒๙] ข้าพเจ้าบูชาพระพุทธเจ้าผู้เป็นฤาษีผู้ประเสริฐ ด้วยเสียงที่ไพเราะ
จึงได้ถึงความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่มีเสียงไพเราะ
[๓๐] ด้วยการถวายผลไม้แด่พระพุทธเจ้า
และด้วยการระลึกถึงพระพุทธคุณ
ข้าพเจ้าจึงสมบูรณ์ด้วยสามัญผลอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๒. กังขาเรวตเถราปทาน
[๓๑] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๒] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระลกุณฏกภัททิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ลกุณฏกภัททิยเถราปทานที่ ๑ จบ
๒. กังขาเรวตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกังขาเรวตเถระ
(พระกังขาเรวตเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๔] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๓๕] พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น มีพระหนุเหมือนคางราชสีห์
พระดำรัสเหมือนเสียงพรหม
พระดำรัสที่เปล่งออกดุจเสียงหงส์และเสียงมโหระทึก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๒. กังขาเรวตเถราปทาน
เสด็จดำเนินประดุจการก้าวย่างของพญากุญชร
มีพระรัศมีประหนึ่งรัศมีของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เป็นต้น
[๓๖] ทรงพระปรีชามาก มีความเพียรมาก
มีความเพ่งพินิจมาก ทรงรู้คติของเหล่าสัตว์จำนวนมาก
ประกอบด้วยพระมหากรุณา
เป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ ทรงขจัดความมืดใหญ่
[๓๗] บางคราว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เลิศในโลกทั้ง ๓ เป็นมุนี
ทรงทราบวารจิตของสัตว์ทั้งหลายพระองค์นั้น
เมื่อจะทรงแนะนำเวไนยสัตว์หมู่ใหญ่จึงทรงแสดงธรรม
[๓๘] พระชินเจ้าตรัสสรรเสริญภิกษุผู้มีปกติเข้าฌาน
ยินดีในฌาน มีความเพียร สงบระงับ
มีจิตไม่ขุ่นมัว ทรงทำหมู่ชนผู้เป็นบริษัทให้ยินดี
[๓๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ชาวกรุงหงสาวดี จบไตรเพท
ได้ฟังพระธรรมแล้วก็พลอยยินดี
จึงปรารถนาตำแหน่งนั้น
[๔๐] ครั้งนั้น พระชินเจ้าทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ได้ตรัสพยากรณ์ในท่ามกลางสงฆ์ว่า
จงยินดีเถิด พราหมณ์ เธอจักได้ตำแหน่งนั้นสมความปรารถนา
[๔๑] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๔๒] เขาจักมีนามว่าเรวตะ
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
เป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๒. กังขาเรวตเถราปทาน
[๔๓] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๔๔] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลกษัตริย์
ที่มั่งคั่งสมบูรณ์ มีทรัพย์มาก ในกรุงโกลิยะ
[๔๕] ในคราวที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมในกรุงกบิลพัสดุ์
ข้าพเจ้าเลื่อมใสในพระสุคต จึงออกบวชเป็นบรรพชิต
[๔๖] ความสงสัยของข้าพเจ้าในสิ่งที่ควรและไม่ควรนั้น ๆ มีมาก
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมที่ประเสริฐ
กำจัดข้อสงสัยทั้งปวงนั้น
[๔๗] จากนั้น ข้าพเจ้าก็ข้ามพ้นสงสารได้
เป็นผู้มีความยินดีอยู่ในสุขที่เกิดแต่ฌานทุกเมื่อ
ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นข้าพเจ้าจึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[๔๘] ความสงสัยบางอย่างในความรู้ของตน
หรือในความรู้ของผู้อื่นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
ความสงสัยทั้งปวงนั้น บุคคลผู้มีปกติเข้าฌาน
มีความเพียรประพฤติพรหมจรรย์ย่อมละได้
[๔๙] กรรมที่ข้าพเจ้าทำได้ไว้ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐
ได้แสดงผลแก่ข้าพเจ้าแล้วในอัตภาพนี้
ข้าพเจ้าหลุดพ้นดีแล้ว(จากกิเลส)
ดุจความเร็วแห่งลูกศรที่พ้นไปจากแล่ง
ข้าพเจ้าเผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๓. สีวลีเถราปทาน
[๕๐] ลำดับนั้น พระมุนีผู้มีพระปรีชามาก
ทรงถึงที่สุดโลก ทรงเห็นข้าพเจ้าว่ายินดีในฌานเนืองนิจ
จึงทรงตั้งข้าพเจ้าว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายที่ยินดีในฌาน
[๕๑] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๕๒] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๕๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกังขาเรวตเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กังขาเรวตเถราปทานที่ ๒ จบ
๓. สีวลีเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสีวลีเถระ
(พระสีวลีเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๔] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๓. สีวลีเถราปทาน
[๕๕] สำหรับพระองค์ ศีลใคร ๆ ก็นับไม่ได้
สมาธิเปรียบได้ดังเพชร
ญาณที่ประเสริฐใคร ๆ ก็นับไม่ได้
และวิมุตติก็หาอะไรเปรียบมิได้
[๕๖] พระผู้ทรงเป็นผู้นำ ทรงแสดงธรรม
ในสมาคมมนุษย์ เทวดา นาค และพรหม
ซึ่งเนืองแน่นไปด้วยสมณะและพราหมณ์
[๕๗] พระพุทธองค์ผู้แกล้วกล้าในท่ามกลางบริษัท
ทรงตั้งสาวกของพระองค์ ผู้มีลาภมาก มีบุญ
มีความรุ่งเรืองไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
[๕๘] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์ในกรุงหงสวดี
ได้ฟังพระชินเจ้าตรัสถึงคุณเป็นอันมากของสาวกนั้น
[๕๙] ข้าพเจ้าจึงทูลนิมนต์พระชินสีห์พร้อมด้วยสาวก
ให้เสวยและฉันตลอด ๗ วัน
ครั้นถวายมหาทานแล้ว ก็ได้ปรารถนาตำแหน่งนั้น
[๖๐] ครั้งนั้น พระธีรเจ้าผู้องอาจกว่าบุรุษ
ทอดพระเนตรเห็นข้าพเจ้าผู้หมอบอยู่แทบยุคลบาท
จึงได้ตรัสพระดำรัสนี้ด้วยพระสุรเสียงอย่างกึกก้อง
[๖๑] ลำดับนั้น ผู้ประสงค์จะสดับพระดำรัสของพระชินเจ้า
คือ มหาชน ทวยเทพ คนธรรพ์ พรหมผู้มีฤทธิ์มาก
[๖๒] อนึ่ง สมณะและพราหมณ์ต่างประนมมือนมัสการ(กราบทูลว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระองค์ทั้งหลายขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษสูงสุด
ข้าพระองค์ทั้งหลายขอนอบน้อมพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๓. สีวลีเถราปทาน
[๖๓] พระมหากษัตริย์ได้ถวายทานเกิน ๗ วัน
ข้าแต่พระมหามุนี ข้าพระองค์ทั้งหลาย
ประสงค์จะฟังผลของมหาทานนั้น
ขอพระองค์โปรดพยากรณ์ด้วยเถิด
[๖๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ท่านทั้งหลายจงฟังภาษิตของเรา
ทักษิณาที่ตั้งไว้แล้วในพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงคุณหาประมาณมิได้พร้อมทั้งพระสงฆ์
[๖๕] ใครจะเป็นผู้กล่าวถึงทักษิณาทานได้
เพราะทักษิณานั้นมีผลหาประมาณมิได้
อนึ่ง กษัตริย์ผู้มีโภคะมากนี้ปรารถนาตำแหน่งอันสูงสุดว่า
[๖๖] ในบรรดาคนที่มีลาภไพบูลย์
เราก็พึงเป็นผู้มีลาภเหมือนภิกษุชื่อสุทัศนะ
กษัตริย์องค์นี้จักทรงได้ตำแหน่งนั้นในอนาคตกาล
[๖๗] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๖๘] กษัตริย์องค์นี้จักมีนามว่าสีวลี
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
เป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น
[๖๙] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๓. สีวลีเถราปทาน
[๗๐] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
พระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกพระนามว่าวิปัสสี ผู้มีพระเนตรงดงาม
ทรงเห็นแจ้งธรรมทั้งปวง เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๗๑] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นคนโปรดปราน
เป็นคนที่ขยันและขวนขวายในการงาน
แห่งตระกูลหนึ่งอยู่ในกรุงพันธุมดี
[๗๒] ครั้งนั้น ชุมชนหมู่หนึ่งสั่งให้นายช่างสร้างบริเวณ
ซึ่งปรากฏชื่อว่ามหันต์ ถวายพระผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระนามว่าวิปัสสี
[๗๓] เมื่อการสร้างบริเวณสำเร็จแล้ว
พวกเขาได้ถวายมหาทานซึ่งประกอบด้วยของเคี้ยว
มัวแต่แสวงหานมส้มใหม่
และน้ำผึ้งใหม่อยู่จึงไม่ได้ถวาย
[๗๔] ขณะนั้น ข้าพเจ้ากำลังถือนมส้ม
และน้ำผึ้งใหม่เดินไปยังเรือนของนายจ้าง
ชนทั้งหลายที่แสวงหานมส้มและน้ำผึ้งใหม่มาพบข้าพเจ้า
[๗๕] ถึงให้ราคาถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ ก็ยังไม่ได้ของ ๒ อย่างนั้น
ลำดับนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า
ของอย่างนี้จักไม่ใช่เป็นของเล็กน้อยเลย
[๗๖] ชนเหล่านี้ทั้งหมดสักการะพระตถาคต ฉันใด
แม้เราก็จักทำสักการะพระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
พร้อมทั้งพระสงฆ์ ฉันนั้น
[๗๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้นำนมส้มและน้ำผึ้งไป ผสมเข้าด้วยกัน
แล้วถวายพระโลกนาถพร้อมทั้งพระสงฆ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๒๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๓. สีวลีเถราปทาน
[๗๘] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๗๙] ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
ผู้มียศยิ่งใหญ่ในกรุงพาราณสีอีก
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าแค้นใจศัตรูจึงสั่งทหาร
ให้ปิดประตูเมือง
[๘๐] ครั้งนั้น เหล่าพระราชาผู้มีเดช
ที่ถูกล้อมรักษาไว้ได้เพียงวันเดียว
เพราะวิบากแห่งกรรมนั้น
ข้าพเจ้าจึงต้องตกนรกที่ร้ายกาจ
[๘๑] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย ข้าพเจ้าเกิดในกรุงโกลิยะ
พระชนนีของข้าพเจ้าพระนามว่าสุปปวาสา
พระชนกของข้าพเจ้าพระนามว่ามหาลิลิจฉวี
[๘๒] ข้าพเจ้าเกิดในขัตติยตระกูลก็เพราะบุญกรรม
แต่เพราะอานุภาพแห่งการปิดประตูเมือง
ข้าพเจ้าจึงต้องประสบทุกข์
อยู่ในพระครรภ์ของพระมารดาถึง ๗ ปี
[๘๓] ข้าพเจ้าหลงช่องคลอดอีก ๗ วัน ประสบทุกข์หนัก
พระมารดาของข้าพเจ้าต้องประสบทุกข์แสนสาหัสเช่นนี้
ก็เพราะมีความพอใจให้ปิดประตูเมือง
[๘๔] ข้าพเจ้าผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุเคราะห์แล้ว
จึงคลอดออกจากพระครรภ์ของพระมารดาโดยความสวัสดี
ข้าพเจ้าได้ออกบวชเป็นบรรพชิตในวันที่คลอดนั่นเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๓. สีวลีเถราปทาน
[๘๕] พระสารีบุตรเถระผู้มีปัญญามาก
เป็นพระอุปัชฌาย์ของข้าพเจ้า
พระมหาโมคคัลลานเถระผู้มีฤทธิ์มาก
เมื่อปลงผมให้ได้พร่ำสอนข้าพเจ้า
[๘๖] ในขณะกำลังปลงผม ข้าพเจ้าก็ได้บรรลุอรหัตตผล
ทวยเทพ หมู่นาค และมนุษย์ทั้งหลาย
ต่างก็น้อมนำปัจจัยเข้ามาถวายข้าพเจ้า
[๘๗] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีใจยินดีปรีดา
บูชาพระโลกนาถพระนามว่าปทุมุตตระ
และพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษด้วยปัจจัยทั้งหลายโดยพิเศษ
[๘๘] ด้วยผลอันวิเศษแห่งกรรมนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้ลาภที่อุดมไพบูลย์ในที่ทุกแห่ง
คือในป่า ในบ้าน ในน้ำ และบนบก
[๘๙] ในคราวใด พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศในโลก
เป็นผู้นำวิเศษพร้อมด้วยภิกษุ ๓๐,๐๐๐ รูป
เสด็จไปเยี่ยมพระเรวตะ
[๙๐] ในคราวนั้น ข้าพเจ้าบำรุงพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงมีปรีชามาก ทรงมีความเพียรมาก
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก พร้อมด้วยพระสงฆ์ด้วยปัจจัย ๔
ที่เหล่าเทวดาน้อมนำมาถวายข้าพเจ้า
[๙๑] พระองค์ได้เสด็จเยี่ยมพระเรวตะแล้ว
ภายหลังเสด็จกลับไปยังพระเชตวันมหาวิหาร
จึงทรงแต่งตั้งข้าพเจ้าไว้ในเอตทัคคะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๔. วังคีสเถราปทาน
[๙๒] พระศาสดาผู้ทรงบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์
ได้ตรัสสรรเสริญข้าพเจ้าในท่ามกลางบริษัทว่า
ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสาวกของเรา
ภิกษุชื่อว่าสีวลีนี้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ที่มีลาภมาก
[๙๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๙๔] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๙๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสีวลีเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สีวลีเถราปทานที่ ๓ จบ
๔. วังคีสเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระวังคีสเถระ
(พระวังคีสเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙๖] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๔. วังคีสเถราปทาน
[๙๗] ศาสนาของพระองค์งดงามไปด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย
เหมือนคลื่นในสาคร และเหมือนดวงดาวในท้องฟ้า
[๙๘] พระชินเจ้าผู้สูงสุด อันมนุษย์พร้อมทั้งทวยเทพ อสูร
และนาคห้อมล้อมในท่ามกลางหมู่ชน
ซึ่งเนืองแน่นไปด้วยสมณะและพราหมณ์
[๙๙] พระชินเจ้าพระองค์นั้นทรงถึงที่สุดโลก
ทรงทำสัตว์โลกทั้งหลายให้ยินดีด้วยพระรัศมี
ทรงทำดอกบัวคือเวไนยสัตว์ให้เบ่งบานด้วยพระดำรัส
[๑๐๐] ทรงสมบูรณ์ด้วยเวสารัชชธรรม ๔๑ ประการ
เป็นบุรุษผู้สูงสุด ละความกลัวและความกำหนัดได้แล้ว
ทรงบรรลุธรรมที่เกษม มีความแกล้วกล้า
[๑๐๑] พระผู้ทรงเป็นผู้เลิศในโลก
ทรงปฏิญาณฐานะที่ประเสริฐ ล้ำเลิศ
และพุทธภูมิทั้งสิ้น ไม่มีใครจะทักท้วงได้ในฐานะไหน ๆ
[๑๐๒] เมื่อพระพุทธเจ้าผู้คงที่พระองค์นั้น
บันลือสีหนาทที่น่าสะพรึงกลัวอยู่
ย่อมไม่มีเทวดา มนุษย์ หรือพรหมบันลือตอบได้
[๑๐๓] พระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้า
ทรงแสดงธรรมที่ประเสริฐ ทรงช่วยมนุษย์และเทวดา
ให้ข้าม(สงสารวัฏ)ทรงประกาศธรรมจักรในท่ามกลางบริษัท
[๑๐๔] ตรัสสรรเสริญคุณเป็นอันมาก
แล้วตั้งพระสาวกผู้เลิศกว่าภิกษุผู้มีปฏิภาณ
ที่ชาวโลกยกย่องว่าเป็นคนดีนั้นไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

เชิงอรรถ :
๑ เวสารัชชธรรม ๔ (ม.มู. (แปล) ๑๒/๑๕๐/๑๔๘, ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๘/๑๓-๑๔, ขุ.อป.อ.
๒/๑๐๐/๓๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๔. วังคีสเถราปทาน
[๑๐๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ชาวกรุงหงสวดี
ประชาชนสมมติว่าเป็นผู้ประเสริฐ
รู้แจ้งพระเวททุกคัมภีร์ มีนามว่าวังคีสะ
มีวาทะที่เป็นประโยชน์
[๑๐๖] ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระมหาวีระพระองค์นั้น
สดับพระธรรมเทศนานั้นแล้ว
ได้ปีติอย่างประเสริฐ เป็นผู้ยินดีในคุณของสาวก
[๑๐๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ทูลนิมนต์พระสุคตผู้ทำสัตว์โลกให้เพลิดเพลิน
พร้อมทั้งพระสงฆ์ให้เสวยและฉันตลอด ๗ วันแล้ว
ให้ครองผ้าชุดใหม่
[๑๐๘] ข้าพเจ้าได้หมอบลงแทบพระบาทด้วยเศียรเกล้า
ได้โอกาสจึงยืนประนมมืออยู่ ณ ที่สมควร
เป็นผู้ร่าเริง กล่าวสดุดีพระชินเจ้าผู้สูงสุดว่า
[๑๐๙] ข้าแต่พระองค์ผู้มีวาทะที่เป็นประโยชน์
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพระฤาษีผู้ประเสริฐ
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้เลิศในโลกทั้งปวง
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ขจัดภัย ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
[๑๑๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงย่ำยีมาร
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสดงทิฏฐิ
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงประทานสันติสุข

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๔. วังคีสเถราปทาน
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงทำที่พึ่ง ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
[๑๑๑] พระองค์ทรงเป็นที่พึ่งของชนทั้งหลายผู้ไม่มีที่พึ่ง
ทรงประทานความไม่มีภัยแก่คนทั้งหลายที่ตื่นกลัว
ทรงเป็นที่ไว้วางใจของคนทั้งหลายที่มีภูมิธรรม๑สงบระงับ
ทรงเป็นที่พึ่งของคนทั้งหลายผู้แสวงหาที่พึ่งที่ระลึก
[๑๑๒] เราได้สดุดีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ด้วยคำกล่าวสดุดีมีอาทิอย่างนี้แล้ว
ได้กล่าวสรรเสริญพระคุณอันยิ่งใหญ่
จึงได้บรรลุคติของภิกษุผู้เป็นนักพูดผู้กล้า
[๑๑๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีปฏิภาณไม่มีที่สิ้นสุด
ได้ตรัสว่า ผู้นั้นใดเป็นผู้เลื่อมใสทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า
พร้อมทั้งสาวกให้เสวยและฉันตลอด ๗ วัน
[๑๑๔] ด้วยมือทั้ง ๒ ของตน และได้กล่าวสดุดีคุณของเรา
ผู้นั้นปรารถนาตำแหน่งของภิกษุผู้เป็นนักพูดผู้แกล้วกล้า
[๑๑๕] ในอนาคตกาล เขาจักได้ตำแหน่งนี้สมความปรารถนา
เสวยทิพยสมบัติและมนุษยสมบัติมีประมาณไม่น้อย
[๑๑๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๑๑๗] พราหมณ์นี้จักมีนามว่าวังคีสะ
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
เป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น

เชิงอรรถ :
๑ ภูมิธรรม หมายถึงโสดาปัตติมรรคเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๒/๑๑๑/๓๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๔. วังคีสเถราปทาน
[๑๑๘] ข้าพเจ้าได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว
เป็นผู้เบิกบาน มีจิตประกอบด้วยเมตตา
อุปัฏฐากพระชินเจ้าผู้ตถาคตด้วยปัจจัยทั้งหลาย
จนตลอดชีวิตในครั้งนั้น
[๑๑๙] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๒๐] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลปริพาชก
เมื่อข้าพเจ้าเกิดเป็นครั้งสุดท้าย มีอายุได้ ๗ ขวบ
[๑๒๑] เป็นผู้รู้แจ้งพระเวททุกคัมภีร์
แกล้วกล้าในวาทศาสตร์ มีเสียงไพเราะ
มีถ้อยคำวิจิตร สามารถย่ำยีวาทะของผู้อื่นได้
[๑๒๒] เพราะข้าพเจ้าเกิดที่วังคชนบท
และเป็นใหญ่ในถ้อยคำ ข้าพเจ้าจึงได้ชื่อว่าวังคีสะ
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ชื่อของข้าพเจ้าจะเป็นเลิศ ก็เป็นชื่อสมมติตามโลก
[๑๒๓] ในกาลที่ข้าพเจ้ารู้เดียงสา อยู่ในวัยเริ่มเป็นหนุ่ม
ได้เห็นท่านพระสารีบุตรในกรุงราชคฤห์ที่รื่นรมย์
ภาณวารที่ ๒๕ จบ
[๑๒๔] ท่านอุ้มบาตรสำรวม สายตาไม่ลอกแลก
พูดพอประมาณ และมองดูเพียงชั่วแอก เที่ยวบิณฑบาตอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๔. วังคีสเถราปทาน
[๑๒๕] ครั้นเห็นท่านแล้วก็ยิ้มแย้ม
ได้กล่าวบทคาถาที่สมควรอันวิจิตร
เหมือนดอกกรรณิการ์ที่เป็นกลุ่ม
[๑๒๖] ท่านบอกข้าพเจ้าถึงพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ครั้งนั้น พระสารีบุตรผู้ฉลาด เป็นนักปราชญ์นั้น
ได้พูดกับข้าพเจ้าให้ยิ่งขึ้นไป
[๑๒๗] ข้าพเจ้าอันพระเถระผู้คงที่กล่าวถ้อยคำ
อันประกอบด้วยวิราคธรรม ยอดเยี่ยมที่เห็นได้ยาก
ให้ยินดีแล้ว ด้วยปฏิภาณอันวิจิตร
[๑๒๘] จึงหมอบลงแทบเท้าของท่านด้วยเศียรเกล้า
แล้วก็กล่าวว่า ขอได้โปรดให้กระผมบรรพชาเถิด
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตร ผู้มีปัญญามาก
ได้นำข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๑๒๙] ข้าพเจ้าหมอบลงแทบพระยุคลพระบาทด้วยเศียรเกล้าแล้ว
นั่ง ณ ที่ใกล้พระศาสดา
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐกว่าบัณฑิตทั้งหลาย
ได้ตรัสถามข้าพเจ้าว่า
วังคีสะ ศิลปะอะไร ๆ ของท่านมีอยู่จริงหรือ
[๑๓๐] (ข้าพเจ้ากราบทูลว่า จริง พระเจ้าข้า)
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ท่านรู้ศีรษะของคนที่ตายไปแล้วว่า
ไปสู่สุคติหรือทุคติจริงหรือ
ถ้าท่านสามารถรู้ได้ด้วยวิชาพิเศษของท่าน จงบอกมา
[๑๓๑] เมื่อข้าพเจ้าทูลรับรองแล้ว
พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงกะโหลกศีรษะ ๓ กะโหลก
ข้าพเจ้าได้กราบทูลว่า เป็นศีรษะของคนที่เกิดในนรกและเทวดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๔. วังคีสเถราปทาน
[๑๓๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้นำ
ได้แสดงกะโหลกศีรษะของพระขีณาสพ
เพราะศีรษะนั้น ข้าพเจ้าหมดมานะ
จึงทูลขอบรรพชา อย่างอ่อนน้อม
[๑๓๓] ครั้นบรรพชาแล้ว ได้กล่าวสรรเสริญพระสุคตทุก ๆ แห่ง
เมื่อนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลายพากันเพ่งโทษข้าพเจ้าว่าเป็นจินตกวี
[๑๓๔] ลำดับนั้น พระพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ได้ตรัสถามข้าพเจ้าเพื่อทดลองว่า
คาถาเหล่านี้ ย่อมแจ่มแจ้งโดยสมควรแก่เหตุแก่คนทั้งหลาย
ผู้ตรึกตรองแล้วมิใช่หรือ
[๑๓๕] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร
ข้าพระองค์มิใช่นักกาพย์กลอน แต่ว่าคาถาทั้งหลาย
แจ่มแจ้งโดยสมควรแก่เหตุแก่ข้าพระองค์
วังคีสะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงกล่าวสดุดีเราโดยสมควรแก่เหตุในบัดนี้
[๑๓๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวคาถาสดุดีพระธีระผู้เป็นฤๅษีผู้ประเสริฐ
ในกาลนั้น พระชินเจ้าพระองค์นั้นทรงพอพระทัยด้วยสมควรแก่เหตุ
จึงทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งอันเลิศ
[๑๓๗] ข้าพเจ้ามีปฏิภาณอันวิจิตรจึงดูหมิ่นภิกษุรูปอื่น
แต่มีศีลเป็นที่รัก
เกิดความสลดใจเพราะการดูหมิ่นนั้นจึงได้บรรลุอรหัตแล้ว
[๑๓๘] (พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า)
ไม่มีใครอื่นที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย
ที่มีปฏิภาณเหมือนกับวังคีสภิกษุนี้
ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงจำไว้อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๕. นันทกเถราปทาน
[๑๓๙] กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐
ได้แสดงผลแก่ข้าพเจ้าแล้วในอัตภาพนี้
ข้าพเจ้าหลุดพ้นดีแล้ว(จากกิเลส)
ดุจความเร็วแห่งลูกศรที่พ้นไปจากแล่ง
ข้าพเจ้าเผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว
[๑๔๐] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๔๑] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๔๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระวังคีสเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
วังคีสเถราปทานที่ ๔ จบ
๕. นันทกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนันทกเถระ
(พระนันทกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๔๓] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๕. นันทกเถราปทาน
[๑๔๔] พระองค์เป็นผู้ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย
เป็นบุรุษอาชาไนย ทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล
และเพื่อความสุขแก่สรรพสัตว์ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
[๑๔๕] พระชินเจ้า ผู้ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ
มีพระสิริ ประดับด้วยพระเกียรติคุณ
คนทั่วโลกบูชา ปรากฏไปทุกทิศ
[๑๔๖] พระองค์ทรงข้ามพ้นวิจิกิจฉา ล่วงพ้นความสงสัย
มีใจดำริบริบูรณ์ ทรงบรรลุสัมโพธิญาณที่ยอดเยี่ยม
[๑๔๗] ทรงทำมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
เป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่านรชน
ตรัสบอกสิ่งที่บุคคลอื่นยังไม่เคยบอก
และทรงทำสิ่งที่ยังไม่เกิดให้เกิดมีพร้อม
[๑๔๘] ทรงรู้จักทาง ทรงเข้าใจทางอย่างแจ่มแจ้ง
ตรัสบอกทางให้ ทรงองอาจกว่านรชน
ทรงฉลาดในทาง ทรงเป็นพระศาสดา
เป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่านรชนผู้เป็นนายสารถีทั้งหลาย
[๑๔๙] ครั้งนั้น พระผู้ทรงเป็นผู้นำ
ทรงประกอบด้วยพระมหากรุณาได้แสดงธรรม
ทรงช่วยดึงหมู่สัตว์ผู้จมลงแล้วในเปือกตมคือโมหะขึ้น
[๑๕๐] พระมหามุนีทรงสรรเสริญสาวก
ผู้ที่ชาวโลกยกย่องว่าประเสริฐในการกล่าวสอนภิกษุณีทั้งหลาย
ได้ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
[๑๕๑] ข้าพเจ้าได้ฟังการสรรเสริญนั้นแล้วก็พลอยยินดี
จึงทูลนิมนต์พระตถาคตพร้อมทั้งพระสงฆ์
ให้เสวยและฉันภัตตาหารแล้ว ปรารถนาตำแหน่งที่สูงสุดนั้น
[๑๕๒] ครั้งนั้น พระผู้ทรงเป็นที่พึ่ง
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงเบิกบานพระทัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๕. นันทกเถราปทาน
ได้ตรัสกับข้าพเจ้าว่า ท่านจงเป็นผู้มีความสุข มีอายุยืนเถิด
ท่านจักได้ตำแหน่งนั้นสมความปรารถนา
[๑๕๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๑๕๔] ท่านจักมีนามว่านันทกะ
เป็นธรรมทายาทเป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
เป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น
[๑๕๕] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๕๖] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลเศรษฐี
ที่มั่งคั่ง สมบูรณ์ มีทรัพย์มากในกรุงสาวัตถี
[๑๕๗] ข้าพเจ้าได้เห็นพระสุคตในเวลาเสด็จเข้านคร
เป็นผู้มีความอัศจรรย์ใจ ได้ออกบวชเป็นบรรพชิต
ในวันที่พระองค์ทรงรับพระอารามชื่อว่าเชตวัน
[๑๕๘] จากนั้นไม่นานข้าพเจ้าได้รับการสั่งสอน
จากพระศาสดาผู้รู้แจ้งธรรม
จึงข้ามพ้นสังสารวัฏไปได้ บรรลุอรหัตตผล
[๑๕๙] ข้าพเจ้ากระทำการสอบถามธรรมกถาแก่ภิกษุณีทั้งหลาย
ภิกษุณีที่ข้าพเจ้าสอนนั้น ล้วนได้เป็นผู้ไม่มีอาสวะ
[๑๖๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ทรงบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูล
อันใหญ่หลวง ทรงพอพระทัย
จึงทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งภิกษุผู้เลิศ
กว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายผู้กล่าวสอนภิกษุณีจำนวน ๙๕ รูป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๖. กาฬุทายีเถราปทาน
[๑๖๑] กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐
ได้แสดงผลแก่ข้าพเจ้าแล้วในอัตภาพนี้
ข้าพเจ้าหลุดพ้นดีแล้ว(จากกิเลส)
ดุจความเร็วแห่งลูกศรที่พ้นไปจากแล่ง
ข้าพเจ้าเผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว
[๑๖๒] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๖๓] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๖๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนันทกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นันทกเถราปทานที่ ๕ จบ
๖. กาฬุทายีเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกาฬุทายีเถระ
(พระกาฬุทายีเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๖๕] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๖. กาฬุทายีเถราปทาน
[๑๖๖] พระชินเจ้าทรงเป็นศาสดา
ผู้ประเสริฐกว่าผู้นำ(เจ้าลัทธิ)ทั้งหลาย
ทรงรู้แจ้งสิ่งที่เป็นคุณและสิ่งที่เป็นโทษ
เป็นผู้กตัญญูกตเวที ทรงประกอบเหล่าสัตว์ไว้ในท่า๑
[๑๖๗] ทรงเป็นสัพพัญญู ทรงมีอัธยาศัยเอ็นดู
เป็นที่สั่งสมแห่งอนันตคุณ
ทรงพิจารณาด้วยพระญาณนั้นแล้ว
จึงทรงแสดงธรรมที่ประเสริฐ
[๑๖๘] บางครั้งพระชินเจ้านั้น ผู้มีความเพียรมาก
มีพระปัญญาบริสุทธิ์
แสดงธรรมที่ประกอบด้วยสัจจะทั้ง ๔ อันไพเราะ
แก่หมู่ชนเป็นอนันต์
[๑๖๙] สรรพสัตว์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ได้บรรลุธรรม
เพราะได้สดับธรรมที่ประเสริฐ มีความงามในเบื้องต้น
ท่ามกลาง และที่สุดนั้น
[๑๗๐] ครั้งนั้น แผ่นดินก็สั่นสะเทือน
และ เมฆก็คำรน เหล่าเทวดา พรหม
มนุษย์ และอสูร ต่างก็แซ่ซ้องสาธุการ
[๑๗๑] โอ พระศาสดาทรงประกอบด้วยพระกรุณา
โอ พระสัทธรรมเทศนา
โอ พระชินเจ้าผู้ทรงช่วยหมู่สัตว์
ที่จมลงในสมุทรคือภพขึ้นมาได้
[๑๗๒] เมื่อหมู่สัตว์พร้อมทั้งมนุษย์
เทวดา และพรหม เกิดความสังเวชเช่นนี้แล้ว
พระชินเจ้าได้ทรงสรรเสริญสาวก
ผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายทำตระกูลให้เลื่อมใส

เชิงอรรถ :
๑ ในท่า ในที่นี้หมายถึงประกอบคือให้สรรพสัตว์ดำรงอยู่ในมรรคที่เป็นมหากุศลซึ่งเป็นอุบายในการบรรลุนิพพาน
ด้วยการแสดงธรรม (ขุ.อป.อ. ๒/๑๖๖/๓๒๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๖. กาฬุทายีเถราปทาน
[๑๗๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลอำมาตย์ในกรุงหงสวดี
เป็นผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใส น่าชม มีทรัพย์
และมีธัญญาหารเหลือล้น
[๑๗๔] ข้าพเจ้าเข้าไปยังวิหารหังสาราม
ไหว้พระตถาคตพระองค์นั้น
ได้ฟังธรรมที่ไพเราะ และทำสักการะแด่พระองค์ผู้คงที่
[๑๗๕] ข้าพเจ้าหมอบลงแทบพระยุคลบาทแล้ว ได้กราบทูลคำนี้ว่า
ข้าแต่พระมุนี ภิกษุรูปใดในศาสนาของพระองค์
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายทำตระกูลให้เลื่อมใส
[๑๗๖] ข้าแต่พระมหาวีระ ข้าพระองค์พึงเป็นเหมือนภิกษุรูปนั้น
ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดด้วยเถิด
ครั้งนั้น พระศาสดาผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา
เมื่อจะใช้น้ำอมฤตรดข้าพเจ้า
[๑๗๗] ได้ตรัสกับข้าพเจ้าว่า ลุกขึ้นเถิดลูก
เธอจักได้ตำแหน่งนี้สมความปรารถนา
บุคคลทำสักการะในพระชินเจ้าแล้ว
จะพึงเป็นผู้ปราศจากผลได้อย่างไรเล่า
[๑๗๘] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๑๗๙] เขาจักมีนามว่ากาฬุทายี
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
เป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น
[๑๘๐] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว
เป็นผู้เบิกบาน มีจิตประกอบด้วยเมตตา
บำรุงพระชินเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ด้วยปัจจัยทั้งหลายจนตลอดชีวิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๖. กาฬุทายีเถราปทาน
[๑๘๑] ด้วยวิบากกรรมนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๘๒] บัดนี้ ภพนี้เป็นภพสุดท้าย
ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลมหาอำมาตย์
ในกรุงกบิลพัสดุ ที่น่ารื่นรมย์
พระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
[๑๘๓] ครั้งนั้น เจ้าชายสิทธัตถะผู้ทรงเป็นผู้องอาจกว่านรชน
ได้ประสูติแล้วที่สวนลุมพินี ที่รื่นรมย์
เพื่อเกื้อกูลและเพื่อความสุขแก่สัตว์โลกทั้งมวล
[๑๘๔] ข้าพเจ้าก็เกิดในวันนั้น
เติบโตพร้อมกับพระสิทธัตถราชกุมารนั้นแหละ
เป็นสหายที่รักเอ็นดู คุ้นเคย และฉลาดในทางนิติธรรม
[๑๘๕] พระสิทธัตถราชกุมารนั้นมีพระชนมายุ ๒๙ พรรษา
ได้เสด็จออกผนวช บำเพ็ญเพียรตลอด ๖ ปี
จึงได้เป็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
[๑๘๖] พระองค์ทรงชนะมารพร้อมทั้งเสนามาร
ทรงข้ามห้วงน้ำคือภพได้แล้ว
ได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก
[๑๘๗] เสด็จไปยังป่าอิสิปตนะ ทรงแนะนำปัญจวัคคีย์
จากนั้น พระผู้มีพระภาคก็เสด็จไปในที่นั้น ๆ
ทรงแนะนำเวไนยสัตว์
[๑๘๘] พระชินเจ้าพระองค์นั้น เมื่อจะทรงแนะนำเวไนยสัตว์
เมื่อจะทรงสงเคราะห์หมู่มนุษย์พร้อมทั้งทวยเทพ
ได้เสด็จไปถึงภูเขาในแคว้นมคธแล้ว ประทับอยู่ในกาลนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๖. กาฬุทายีเถราปทาน
[๑๘๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าถูกพระเจ้าแผ่นดิน
พระนามว่าสุทโธทนะ ทรงส่งไปแล้ว
ได้เฝ้าพระทศพล บวชแล้ว ได้เป็นพระอรหันต์
[๑๙๐] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าทูลอ้อนวอนพระศาสดา
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ให้เสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์
ลำดับนั้น ข้าพเจ้าได้ล่วงหน้าไปก่อน
ทำตระกูลใหญ่ ๆ ให้เลื่อมใสแล้ว
[๑๙๑] พระชินเจ้าผู้องอาจกว่าบุรุษ
ทรงพอพระทัยในคุณข้อนั้นแล้วกล่าวชมเชยข้าพเจ้า
พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษได้ทรงตั้งข้าพเจ้าว่า
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายที่ทำตระกูลให้เลื่อมใส
[๑๙๒] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๙๓] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๙๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกาฬุทายีเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กาฬุทายีเถราปทานที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๗. อภยเถราปทาน
๗. อภยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอภยเถระ
(พระอภยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๙๕] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงถึงความสำเร็จในธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๑๙๖] พระตถาคตทรงทำบุคคลบางพวกให้ตั้งอยู่ในสรณคมน์
บางพวกให้ตั้งอยู่ในศีลคือกุศลกรรมบถ ๑๐ ที่อุดม
[๑๙๗] พระองค์ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์
ทรงประทานสามัญญผล๑ ที่อุดมแก่บุคคลบางคน
ทรงมอบสมาบัติ ๘ และวิชชา ๓ แก่บุคคลบางคน
[๑๙๘] พระองค์ผู้ประเสริฐกว่านรชน
ทรงประกอบคนบางคนไว้ในอภิญญา ๖
พระองค์ผู้เป็นนาถะทรงประทาน
ปฏิสัมภิทา ๔ แก่บุคคลบางคน
[๑๙๙] พระองค์ผู้เป็นสารถีฝึกนรชน
ทรงเห็นหมู่สัตว์ที่ควรแนะนำให้ตรัสรู้ได้
แม้ในสถานที่นับโยชน์ไม่ถ้วน ก็รีบเสด็จไปแนะนำ
[๒๐๐] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นบุตรของพราหมณ์ในกรุงหงสวดี
เรียนจบพระเวททั้งหมด เข้าใจไวยากรณ์

เชิงอรรถ :
๑ สามัญญผล ได้แก่ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล (ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๑๑/๒๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๗. อภยเถราปทาน
[๒๐๑] ฉลาดในนิรุตติ๑ แกล้วกล้าในคัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์
เข้าใจตัวบท รู้แจ่มแจ้งในคัมภีร์เกฏุภะ๒
ฉลาดในฉันท์และกาพย์กลอน
[๒๐๒] เมื่อเที่ยวเดินพักผ่อน ได้ไปถึงพระวิหารหังสาราม
ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ล้ำเลิศประเสริฐที่สุด
มีมหาชนห้อมล้อม
[๒๐๓] ข้าพเจ้ามีความคิดเป็นข้าศึก
เข้าไปใกล้พระองค์ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
ซึ่งกำลังทรงแสดงธรรม
ได้ฟังพระดำรัสซึ่งปราศจากมลทินของพระองค์
[๒๐๔] ข้าพเจ้าไม่เห็นพระดำรัสที่กระทบ
ที่กล่าวซ้ำ ๆ กัน ที่ผิดไวยากรณ์
หรือที่ไร้ประโยชน์ของพระมุนีพระองค์นั้นเลย
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงบวช
[๒๐๕] โดยเวลาไม่นานนัก ข้าพเจ้าก็เป็นผู้แกล้วกล้าในธรรมทุกอย่าง
ได้รับยกย่องให้เป็นคณบดี ในพระพุทธพจน์ที่ละเอียดอ่อน
[๒๐๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ประพันธ์คาถา ๔ คาถา
ซึ่งมีพยัญชนะสละสลวยชมเชยพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้เลิศในโลกทั้ง ๓ แล้วแสดงทุก ๆ วันว่า
[๒๐๗] พระพุทธเจ้าเป็นผู้ปราศจากความยินดี
มีความเพียรมาก ทรงอยู่ในสังสารวัฏที่มีภัย
ไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน
ก็เพราะทรงประกอบด้วยพระกรุณา(ในหมู่สัตว์)
ฉะนั้น พระมุนีจึงชื่อว่าทรงประกอบด้วยพระกรุณา

เชิงอรรถ :
๑ ที.สี.อ. ๒๕๖/๒๒๒ และดู Dawson, John. A classieal Dictionary of Hindu Mythology (London
Lroutledge and kegan Paul, 1957) P. 222
๒ ที.สี.อ. ๒๕๖/๒๒๒ และดู Dawson, John. A classieal Dictionary of Hindu Mythology (London
Lroutledge and kegan Paul, 1957) P. 222

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๗. อภยเถราปทาน
[๒๐๘] บุคคลผู้ใด ถึงเป็นปุถุชนก็ไม่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส
ประกอบด้วยสติ มีสัมปชัญญะ
เพราะฉะนั้น บุคคลผู้นั้นจึงเป็นอจินไตย
[๒๐๙] กิเลสที่มีกำลังอ่อน ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในสันดานของเรา
ถูกเผาด้วยไฟคือญาณแล้วไม่สิ้นไป ข้อนั้นไม่เคยมีเลย
[๒๑๐] ผู้ใดเป็นที่เคารพของสัตว์โลกทั้งปวง
ซึ่งเป็นครูในโลก และเป็นอาจารย์ของชาวโลก
โลกย่อมอนุวัตรตามผู้นั้น
[๒๑๑] ข้าพเจ้าขอสดุดีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ด้วยคาถามีอาทิดังนี้แสดงธรรมตลอดชีวิต
จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในสวรรค์
[๒๑๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้ากล่าวสดุดีพระพุทธเจ้าไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการกล่าวสดุดี
[๒๑๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ครองราชสมบัติที่ยิ่งใหญ่อันเป็นทิพย์ในเทวโลก
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิเสวยราชสมบัติที่ยิ่งใหญ่เป็นอันมาก
[๒๑๔] ข้าพเจ้าเกิดเฉพาะใน ๒ ภพ
คือ (๑) ภพเทวดา (๒) ภพมนุษย์
คติอื่นข้าพเจ้าไม่รู้จักเลย
นี้เป็นผลแห่งการกล่าวสดุดี
[๒๑๕] ข้าพเจ้าเกิดเฉพาะใน ๒ ตระกูล
คือ (๑) ตระกูลกษัตริย์ (๒) ตระกูลพราหมณ์
ข้าพเจ้าไม่รู้จักตระกูลต่ำเลย
นี้เป็นผลแห่งการกล่าวสดุดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๗. อภยเถราปทาน
[๒๑๖] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย ข้าพเจ้ามีนามว่าอภัย
เป็นโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร
ในกรุงราชคฤห์ที่อุดมสมบูรณ์
[๒๑๗] ข้าพเจ้าตกอยู่ในอำนาจของปาปมิตร
ถูกนิครนถ์นาฏบุตรให้ลุ่มหลง
ส่งไปเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๒๑๘] ข้าพเจ้าทูลถามปัญหาที่ละเอียดสุขุม
ได้ฟังพยากรณ์ที่ประเสริฐ
จึงบวช ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๒๑๙] ข้าพเจ้าได้รับยกย่องทุกเมื่อ
เพราะการสดุดีพระชินเจ้าผู้ประเสริฐ
เป็นผู้มีร่างกายและปากมีกลิ่นหอม
แต่เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสุข
[๒๒๐] เพราะอานุภาพแห่งกรรมนั้น
ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม
มีปัญญาแจ่มใส มีปัญญาว่องไว
มีปัญญามาก และมีปฏิภาณที่วิจิตร
[๒๒๑] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส
กล่าวสดุดีพระสยัมภูพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน
ด้วยผลแห่งกรรมนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ได้ไปบังเกิด
ในอบายภูมิตั้งหลายแสนกัป
[๒๒๒] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๘. โลมสติยเถราปทาน
[๒๒๓] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๒๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอภยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อภยเถราปทานที่ ๗ จบ
๘. โลมสติยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโลมสติยเถระ
(พระโลมสติยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๒๕] ในภัทรกัป๑นี้ พระชินเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๒๒๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าและสหายชื่อจันทนะ
บรรพชาในศาสนาแล้ว
ได้บำเพ็ญกิจในศาสนาจนตลอดชีวิต
[๒๒๗] ข้าพเจ้าทั้ง ๒ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

เชิงอรรถ :
๑ กัปมี ๔ คือ (๑) กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นองค์เดียว ชื่อว่าสารกัป (๒) กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๒
หรือ ๓ องค์ ชื่อว่าวรกัป (๓) กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๔ องค์ ชื่อว่ามัณฑกัป (๔) กัปที่มีพระ
พุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๕ องค์ ชื่อว่าภัทรกัป ในภัทรกัปนี้มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๕ องค์ คือ พระกกุสันธ
พุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระโคดมพุทธเจ้า พระเมตเตยยพุทธเจ้า (ขุ.อป.อ.
๒/๒๒๕/๓๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๘. โลมสติยเถราปทาน
ข่มเทพบุตรที่เหลือในสวรรค์ชั้นดุสิตนั้น
ด้วยการฟ้อน การขับร้อง การประโคม
[๒๒๘] และด้วยองค์ ๑๐ มีรูปเป็นต้นอันเป็นทิพย์
เสวยความสุขเป็นอันมากอยู่จนตลอดอายุ
[๒๒๙] จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นแล้ว
จันทเทพบุตรได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ส่วนข้าพเจ้าได้เกิดเป็นโอรสของเจ้าศากยะในกรุงกบิลพัสดุ์
[๒๓๐] ในคราวที่พระศาสดาทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ซึ่งพระอุทายีเถระทูลเชิญเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์
เพื่อทรงอนุเคราะห์เจ้าศากยะ
[๒๓๑] ครั้งนั้น พวกเจ้าศากยะมีมานะจัด
ไม่รู้คุณของพระพุทธเจ้า เป็นคนกระด้างเพราะชาติตระกูล
ไม่เอื้อเฟื้อ ไม่นอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๒๓๒] พระชินเจ้าทรงทราบความดำริ
ของเจ้าศากยะเหล่านั้น
จึงได้เสด็จจงกรมในอากาศ เหมือนเมฆฝนตกลง
และเหมือนเปลวไฟที่ลุกโพลงอยู่
[๒๓๓] ทรงแสดงพระรูปที่ไม่มีที่เปรียบแล้วอันตรธานไป
แม้พระองค์เดียวก็เนรมิตเป็นหลายองค์ได้
แล้วกลับเป็นองค์เดียวเหมือนเดิม
[๒๓๔] พระมุนีทรงแสดงความมืดและแสงสว่าง
ทรงกระทำปาฏิหาริย์มากมาย
ทรงปราบพวกพระญาติจนหมดมานะ
[๒๓๕] ขณะนั้นเอง มหาเมฆที่ตั้งขึ้นในทวีปทั้ง ๔ ทำฝนให้ตกแล้ว
ก็ในครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้แสดงเวสสันดรชาดก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๘. โลมสติยเถราปทาน
[๒๓๖] ครั้งนั้น กษัตริย์เหล่านั้นทุกพระองค์
กำจัดความมัวเมาที่เกิดจากชาติตระกูลได้แล้ว
ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ
ในครั้งนั้น พระเจ้าสุทโธทนะได้ตรัสว่า
[๒๓๗] ข้าแต่พระองค์ผู้มีปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน
ทรงมีสมันตจักษุ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓
ที่หม่อมฉันถวายบังคมพระบาทของพระองค์
(ครั้งที่ ๑) ในคราวที่พระองค์ประสูติแผ่นดินไหว
(ครั้งที่ ๒) ในคราวที่เงาต้นหว้าไม่ละพระองค์
[๒๓๘] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเห็นพุทธานุภาพนั้นแล้ว
เกิดอัศจรรย์ใจ จึงได้บรรพชา เป็นผู้บูชามารดา
ได้อาศัยอยู่ในกรุงกบิลพัสดุ์นั้นเอง
[๒๓๙] ครั้งนั้น จันทเทพบุตรได้เข้ามาหาข้าพเจ้าแล้ว
ถามถึงนัยทั้งโดยย่อและพิสดารแห่งภัทเทกรัตตสูตร๑
[๒๔๐] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าถูกจันทเทพบุตรตักเตือนแล้ว
จึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้นำของนรชน
ได้ฟังภัทเทกรัตตสูตร เป็นผู้สลดใจต้องการอยู่ป่า
[๒๔๑] ได้บอกลามารดาว่า จักอยู่ป่าแต่เพียงผู้เดียว
เมื่อถูกมารดาห้ามปรามว่า
ลูกเป็นคนละเอียดอ่อน ข้าพเจ้าก็ได้ตอบว่า
[๒๔๒] ข้าพเจ้าจักใช้อกบดขยี้หญ้าคา หญ้าเลา หญ้าแฝก
หญ้าปล้อง และหญ้ามุงกระต่าย
ให้แหลกละเอียดทั้งหมด พอกพูนวิเวก

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ม.อุ. (แปล) ๑๔/๒๗๒-๒๗๕/๓๑๙-๓๒๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๘. โลมสติยเถราปทาน
[๒๔๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเข้าป่าจึงได้บรรลุอรหัตตผล
นึกถึงคำสอนของพระชินเจ้า
เพราะระลึกถึงคำสอนของพระชินเจ้า คือ ภัทเทกรัตโตวาทว่า
[๒๔๔] บุคคลไม่ควรนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
ไม่ควรหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
สิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว
สิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็ยังไม่เกิดขึ้น
[๒๔๕] ส่วนบุคคลใดเห็นแจ้งธรรมที่เป็นปัจจุบัน
ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้น ๆ
บุคคลนั้นควรเจริญธรรมนั้นให้แจ่มแจ้ง
[๒๔๖] บุคคลควรทำความเพียรตั้งแต่วันนี้ทีเดียว
ใครเล่าจะรู้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชมีเสนานั้น
ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย
[๒๔๗] พระมุนีผู้สงบเรียกบุคคลผู้มีความเพียร
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน
ซึ่งมีปกติอยู่อย่างนี้นั้นแลว่า ผู้มีราตรีเดียวเจริญ ดังนี้
[๒๔๘] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๔๙] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๒๔ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น