Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

รวมคำถามคำตอบหมวดบทวิเคราะห์ (6)

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้เป็นการรวมคำถามคำตอบหมวดบทวิเคราะห์ ที่มีผู้สนใจถามเข้ามาเป็นชุดที่ 6 นะครับ



อานิสงส์ของการสวดมนต์

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

ปกติสวดมนต์ก่อนนอน แต่ไม่ค่อยแปลเป็นภาษาไทย สวดเป็นบาลีเท่านั้น ต่างกันมั้ยคะ แปลกับไม่แปล

อีกอย่างอานิสงส์ของการสวดมนต์คืออะไรคะ อันหลังนี้ ชวนให้คนสวดมนต์ แต่หาเหตุผลไม่เจอเวลาถูกถามกลับว่าสวดไปทำไมหน่ะค่ะ เพราะตัวเอง ส่วนตัวเวลาสวดมนต์ เพราะส่วนนึงก็เป็นนิสัย และอีกอย่างสมาธิก็นิ่งดีขณะสวด แต่รู้สึกเหตุผลไม่พอจะให้โน้มน้าวคนอื่นหน่ะค่ะ

ดีเหมือนกัน ไม่ถูกถามกลับก็ไม่รู้ว่าเรายังไม่รู้อะไรอีกมากมายนี่นา

ขอบคุณมากค่ะ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

เรื่องการแปลหรือไม่แปลอยู่ในข้อ 3. นะครับ อานิสงส์ของการสวดมนต์ก็ขึ้นกับตัวผู้สวดเองด้วยนะครับ เช่น
  1. ถ้าสวดด้วยจิตที่จดจ่อ แน่วแน่ ก็ได้สมาธิในขั้นต้นอยู่แล้ว และถ้ามีการนั่งสมาธิหลังจากสวดมนต์ก็จะทำสมาธิได้ง่ายขึ้น เพราะจิตเป็นสมาธิอยู่พอสมควรก่อนแล้วครับ คล้ายๆ กับการเดินจงกรมก่อนนั่งสมาธิ

  2. ถ้าสวดด้วยความเลื่อมใสก็จะทำให้จิตประณีตและผ่องใสขึ้นในระดับหนึ่ง

  3. ถ้าแปลได้ (รู้ความหมายภาษาบาลี หรือสวดแบบแปลไทยด้วย) แล้วพิจารณาตามไปด้วย ก็จะเกิดปัญญาเข้าใจธรรมชาติของชีวิตได้มากขึ้น เหมือนการฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าโดยตรง (กรณีที่สวดบทที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้านะครับ เช่น ธัมมจักกัปปวัตนสูตร อนัตตลักขณสูตร อาทิตตปริยายสูตร หรือแม้แต่บททำวัตรเช้า ฯลฯ)

  4. คนที่กำลังเป็นทุกข์ใจ ถ้าสวดมนต์โดยเฉพาะสวดแบบข้อ 1,2,3 ก็จะช่วยลดความทุกข์ได้ในระดับหนึ่งนะครับ อย่างน้อยก็ในขณะสวดมนต์อยู่ แต่ถ้าจิตมีกำลังของศรัทธา ปิติ สมาธิ หรือปัญญามากๆ ก็จะช่วยได้มากหรือนานขึ้นครับ

  5. คนที่กำลังอยู่ในห้วงแห่งความกลัว กังวล ฯลฯ การสวดมนต์ก็พอจะสร้างขวัญและกำลังใจได้ครับ

  6. การสวดมนต์ก่อนนอนก็จะเป็นการปรับสภาพจิตได้ดี ทำให้หลับง่ายและลดโอกาสของการฝันร้ายลงไปด้วยครับ

  7. คนที่มีศรัทธา การสวดมนต์ก็จะเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ทำบาปได้ทางหนึ่งนะครับ

  8. เป็นการสืบทอดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ทางหนึ่งครับ โดยเฉพาะการสวดบทที่เป็นธรรมะโดยตรง

  9. การสวดมนต์เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีอย่างหนึ่งในการพัฒนาจิตใจตามแนวทางของพระพุทธศาสนานะครับ คือทำให้น้อมใจไปสู่การปฏิบัติขั้นอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น และยังเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนในการปฏิบัติธรรมในขั้นสูงๆ ขึ้นไปด้วยครับ คือทำให้นึกถึงการปฏิบัติธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอตามการสวดมนต์ และคอยเตือนใจเมื่อจะก้าวสู่ทางที่ไม่ดี

  10. เป็นการถ่ายทอดประเพณีที่ดีสู่คนในรุ่นต่อๆ ไปด้วยนะครับ ศาสนาพุทธจะได้อยู่คู่โลกไปนานๆ

ตอนนี้นึกได้เท่านี้ครับ

***** ที่น่าเป็นห่วงก็คือบางท่านสวดมนต์โดยคิดว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ คิดว่าจะช่วยดลบันดาลให้เป็นนั่นเป็นนี่ ได้นั่นได้นี่ หรือทำให้แคล้วคลาดปลอดภัย จนบางครั้งถึงกับทำให้ประมาท หรืองอมืองอเท้า ไม่มีความเพียรอย่างที่ควรจะเป็นนะครับ

คือถ้าสวดมนต์เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการทำความเพียรหรือทำความดีอื่นๆ แล้วไม่ตกอยู่ในความประมาท รวมถึงสวดด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่สมเหตุสมผลก็เป็นสิ่งที่ดีครับ

เนื่องจากการสวดมนต์มีผลในการปรับสภาพจิตให้ประณีตและผ่องใสขึ้นในแง่มุมต่างๆ ดังที่ได้ยกตัวอย่างเป็นข้อๆ ไปแล้วนั้นนะครับ จึงมีผลพลอยได้ตามมา คือ เมื่อจิตประณีตผ่องใสแล้ว สิ่งที่ดีๆ ต่างๆ ก็จะตามมาครับ เช่น เป็นที่รักใคร่ชอบใจของคนอื่นๆ ใครๆ เห็นแล้วก็รู้สึกสบายใจ ไว้เนื้อเชื่อใจ และอยากให้การสนับสนุนในแง่ต่างๆ เกิดความรู้สึกเมตตา และเป็นมิตร ฯลฯ

(ในส่วนหลังนี้เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้นนะครับ อย่าไปคาดหวังในเรื่องเหล่านี้ เพราะถ้าสวดมนต์เพื่อหวังผลเหล่านี้โดยตรง จิตก็อาจจะประกอบไปด้วยความโลภ ซึ่งนอกจากจิตจะไม่ประณีตผ่องใสขึ้นแล้ว ยังอาจจะทำให้จิตแย่ลงด้วยนะครับ แล้วผลพลอยได้ที่ว่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น)

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


ดวง หรือชะตาชีวิต

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

ดวง” หรือ “ชะตาชีวิต” หรือ “ลิขิตสวรรค์” (อันหลังนี่มุขตลกนะคะ คลายเครียด) คืออะไร มีอิทธิพลต่อชีวิตหนึ่งๆ มากน้อยเพียงใด ฝืนได้หรือไม่ได้ ทำไมถึงมีส่วนถูกมาก ตัวอย่างมีมากมายตั้งแต่สมัยพระพุทธกาล ดังนั้น น่าจะมีส่วนถูกและจริงบ้าง ไม่มากก็น้อย

คำถามที่สองต่อเนื่องจากคำถามที่แล้ว เนื่องจากหลักคำสอนของศาสนาพุทธสอนให้เชื่อ “เรื่องกรรม” การกระทำในอดีตมีผลต่อปัจจุบัน และกรรมปัจจุบันส่งผลต่ออนาคต และถ้า “ดวงชะตา” มีส่วนกำหนดให้ปัจจุบันรับผลจากอดีต (อาจจะไกลขนาดอดีตชาติ) ออกมาในรูปของดวงแล้ว แปลว่า ชีวิตนั้นกำหนดทิศทางโดยรวมของชีวิตในชาตินั้นไม่ได้เลยหรือคะ

อาจต้องใช้ตัวอย่างประกอบ เช่น คนๆ หนึ่ง มีดวงว่าสมบูรณ์ทุกอย่าง อำนาจ วาสนา สติปัญญา ยกเว้น บริวารตกหายนะ (ซึ่งก็ตรงกับหลักศาสนาที่ว่าทุกชีวิตเกิดมาชดใช้และสร้างกรรม ตราบเท่าที่ยังมีกิเลส) ต่อมาสังเกตบริวาร ชัดๆ ก็คือบุตร เป็นคนไม่ดี ทั้งๆ มีที่มาพร้อมทุกอย่าง ยากที่มนุษย์ผู้หนึ่งจะมีได้ มีโอกาสดีมาก ทั้งโอกาสทางโลก และทางธรรม

คำถามไม่ได้อยู่ที่ตัวบุพการี แต่อยู่ที่บุตร ว่าถึงแม้มีของเก่าส่งมาดี แต่เสมือนว่าเขาถูกกำหนดมาให้เป็นคนไม่ดี และสร้างของใหม่ไม่ดีเช่นนั้นหรือคะ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ
  1. ดวง” หรือ “ชะตาชีวิต” นั้น ความจริงก็คือกระแสการส่งผลของกรรมนั่นเองครับ เนื่องจากสัตว์โลกรวมทั้งมนุษย์ด้วยย่อมเป็นไปตามกรรม ดังนั้นกระแสการส่งผลของกรรมจึงมีอิทธิพลต่อชีวิตอย่างมาก

    ยกตัวอย่าง เช่น เจ้าชายสิทธัตถะนั้น จะกล่าวว่ามีดวงจะได้เป็นพระพุทธเจ้า หรือชะตาชีวิตกำหนดให้เป็นพระพุทธเจ้า ก็สามารถจะพูดได้นะครับ แต่ความจริงแล้วสิ่งที่ทำให้พระองค์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็คือกรรมเก่าที่พระองค์ทรงสร้างเอาไว้ในอดีตชาติ รวมถึงกรรมใหม่คือความเพียรที่พระองค์ได้ทรงทำในชาติที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะนั่นเองนะครับ เพราะถ้าขาดปัจจัยทั้งสองอย่างนี้แล้วพระองค์ก็ย่อมจะไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน

    เพราะฉะนั้นก็พูดได้อย่างเต็มปากว่า พระองค์ทรงสร้างดวงและกำหนดชะตาชีวิตของพระองค์เอง (ตั้งแต่อดีตชาตินานมาแล้วนะครับ)

  2. ที่ว่าฝืนได้หรือไม่นั้น ขอตอบว่าฝืนได้ครับ ตัวอย่างเช่น ในสมัยพุทธกาลนั้น ภิกษุที่ได้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าก็คือพระสารีบุตร ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรได้บอกกับศิษย์ของท่าน ซึ่งขณะนั้นบวชเป็นสามเณรอยู่ ว่าสามเณรนั้นจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกิน 7 วัน ก็จะต้องตาย (ซึ่งตรงนี้จะบอกว่าดวงกำลังจะถึงที่ตายก็คงได้นะครับ)

    สามเณรนั้นจึงได้ลาพระสารีบุตรเพื่อกลับไปตายที่บ้านเกิดจะได้บอกลาญาติด้วย ในระหว่างทางที่จะไปที่บ้านเกิดนั้นสามเณรได้เจอปลาที่กำลังกระเสือกกระสนจะเอาชีวิตให้รอดในแอ่งน้ำที่กำลังแห้งขอด สามเณรเห็นแล้วเกิดความสงสารจึงจับปลานั้นไปปล่อยในที่ที่มีน้ำมาก ปลานั้นจึงรอดตายครับ

    สามเณรก็ได้เดินทางต่อไปจนถึงบ้าน แล้วรอความตายอยู่ที่บ้านนั้นนะครับ ผ่านไปหลายวันก็ยังไม่ตายสักทีก็เลยเดินทางกลับไปหาพระสารีบุตร แล้วได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่าสามเณรรอดตายเพราะบุญที่ได้ช่วยชีวิตปลานั้นเอาไว้ครับ

    (เนื่องจากผู้ดำเนินการหาแหล่งอ้างอิงข้อมูลที่ชัดเจนของเรื่องนี้ไม่พบ แต่ก็ได้สอบถามจากผู้รู้หลายท่าน และมีไม่น้อยกว่า 6 ท่านที่ทราบเรื่องนี้ โดยแต่ละท่านจำรายละเอียดได้แตกต่างกันไปบ้าง แต่ก็ไม่มีท่านใดเลยที่จำได้ว่าอยู่ในคัมภีร์เล่มใด ดังนั้นหากเรื่องนี้มีความคลาดเคลื่อนไปประการใด ทางผู้ดำเนินการก็ขอกราบขออภัยผู้เกี่ยวข้องทุกๆ ท่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ - ธัมมโชติ)

    ธรรมดาแล้วคำทำนายที่จะไม่ผิดพลาดเลยนั้น ก็คงมีเฉพาะคำทำนายของพระพุทธเจ้าเท่านั้นนะครับ ส่วนคำทำนายของคนอื่นก็ย่อมมีโอกาสผิดพลาดได้ เช่นคำทำนายของพระสารีบุตรนั้น ท่านว่าตามกรรมเก่าที่กำลังจะส่งผล แต่ท่านไม่ทราบว่าสามเณรจะทำกรรมใหม่ (คือการช่วยชีวิตปลา) ซึ่งมีผลรุนแรงกว่ากรรมเก่าอันนั้น กรรมเก่าที่จะทำให้ตายนั้นก็เลยส่งผลยังไม่ได้ คำทำนายก็เลยผิดพลาดไปเพราะกรรมใหม่นั้นนะครับ กรรมเก่านั้นก็เลยต้องรอส่งผลในโอกาสต่อๆ ไป

    จากตัวอย่างนี้ก็คงชัดเจนนะครับ ว่าดวง หรือชะตาชีวิตนั้นฝืนได้หรือไม่ได้

  3. ที่ว่าดวงนั้นมีส่วนจริงบ้างหรือไม่ ก็คงอยู่ที่ว่าใครเป็นผู้ทำนายนะครับ ถ้าเป็นพุทธทำนายก็ยังไม่เห็นจะมีความผิดพลาดเลย แต่ถ้าเป็นคนอื่นทำนาย บางคนทายถูกตามกรรมเก่า แต่ถ้ามีกรรมใหม่มาขวางกั้นคำทำนายก็ย่อมผิดพลาดได้นะครับ นอกจากนี้ยังมีบางคนที่ทายมั่วๆ หลอกคนอื่นไปวันๆ ก็มี ซึ่งก็อาจมีตรงบ้างตามหลักสถิตินะครับ

    เพราะฉะนั้นแล้ว จึงไม่ควรใส่ใจกับเรื่องดวงให้มากนัก มาพยายามสร้างกรรมใหม่ให้ดีๆ เอาไว้จะดีกว่านะครับ

  4. "ชีวิตนั้นกำหนดทิศทางโดยรวมของชีวิตในชาตินั้นไม่ได้เลยหรือคะ" จากคำตอบที่ผ่านๆ มา ก็คงตอบได้นะครับว่ากำหนดได้ แต่ก็ขึ้นกับว่าจะทำกรรมใหม่ที่มีกำลังแรงกว่ากรรมเก่าได้มากขนาดไหน

    ชีวิตก็เหมือนกับเรือ กรรมเก่าก็เหมือนกับกระแสน้ำ กรรมใหม่เหมือนการพายเรือนะครับ

    > ถ้าไม่ออกแรงเลย เรือก็ย่อมจะไปตามกระแสน้ำ (ไปตามกรรมเก่า)
    > แต่ถ้าออกแรงมากพอ เรือก็ย่อมจะลอยทวนน้ำไปได้ (ชีวิตเป็นไปตามกรรมใหม่)
    > แต่ถ้าออกแรงกลางๆ เรือก็ย่อมจะไปตามน้ำบ้าง ทวนน้ำบ้าง แต่ก็ไม่เหมือนกับ 2 กรณีแรกนะครับ (ชีวิตเป็นไปตามกรรมเก่าบ้าง กรรมใหม่บ้าง)
    > แต่ถ้าแทนที่จะพายเรือทวนน้ำ กลับพายเรือตามน้ำ เรือก็จะแล่นตามน้ำไปอย่างรวดเร็วกว่าทุกกรณีข้างต้นนะครับ (ชีวิตเป็นไปตามกรรมทั้งเก่าและใหม่เสริมแรงกัน) เช่น กรรมเก่าดี แล้วปัจจุบันก็ทำดีด้วย หรือกรรมเก่าไม่ดี แล้วปัจจุบันก็ทำไม่ดีอีก

    แน่นอนว่าคนที่กรรมเก่าดี ถ้าปัจจุบันทำดีด้วย ความดีก็จะส่งผลมากนะครับ แต่ถ้าปัจจุบันทำไม่ดี ความดีที่มีอยู่เดิมก็จะส่งผลได้น้อยลง ความไม่ดีที่ทำใหม่ก็จะส่งผลไม่มากนัก เพราะมีกรรมเก่าที่ดีมาคอยกั้นผลเอาไว้ เช่น คนที่เคยให้ทานเอาไว้มากๆ แม้ชาตินี้จะไม่ต้องพยายามมากนักก็ร่ำรวยได้ แต่ถ้าพยายามมากก็จะยิ่งรวยขึ้นไปใหญ่

    คนที่กรรมเก่าไม่ดี ถ้าปัจจุบันทำไม่ดีด้วยแล้ว ความไม่ดีก็จะส่งผลมากขึ้นไปอีก เพราะกรรมเก่าและกรรมใหม่ส่งผลเสริมแรงกันครับ แต่ถ้าปัจจุบันทำดี ความดีที่ทำใหม่ก็จะส่งผลไม่มากเท่าที่ควร เช่น คนที่ในอดีตชาติไม่เคยให้ทาน หรือให้น้อย แม้ชาตินี้จะขยันทำงานมากแต่ก็ไม่รวยเท่าที่ควร แต่ถ้ายิ่งไม่ขยันด้วยแล้วก็อาจถึงขั้นอดตายไปเลย

  5. จากตัวอย่างเรื่องบุตรไม่ดีนั้น ก็เป็นเพราะกรรมเก่านั้นมีทั้งดีและไม่ดีประกอบกันครับ เช่นกรณีของบุตรคนนี้นั้น ชาติก่อนๆ เขาคงทำบุญบางอย่างเอาไว้ เช่น ให้ทาน ทำให้เขาเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดี แต่ชาติก่อนอาจจะไม่ได้รักษาศีล ไม่ได้ทำสมาธิ หรือวิปัสสนาเลย พื้นฐานจิตใจของเขาถึงได้ไม่ค่อยดี เช่น อาจจะทุจริตได้เงินมา แล้วเอาเงินที่ทุจริตนั้นไปทำบุญ เป็นต้น

    เขาจึงเกิดมาในสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่เพราะพื้นฐานจิตใจของเขาไม่ดี เขาจึงแสดงออกมาในทางที่ไม่ดี ซึ่งทั้งหมดก็เป็นผลจากกรรมเก่าที่ดีและไม่ดีปนกันครับ
ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


สร้างความสุขให้ชีวิต

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการสร้างความสุขซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมมนุษย์


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

คำถามนี้กว้างมากเลยนะครับ ขอตอบเป็นข้อๆ นะครับ
  1. ใช้หลักสังคหวัตถุ 4 : คุณเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจของผู้อื่นไว้ได้ 4 อย่าง คือ
    1. ทาน การแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน
    2. ปิยวาจา พูดจาน่ารักน่านิยมนับถือ
    3. อัตถจริยา บำเพ็ญประโยชน์
    4. สมานัตตตา ความมีตนเสมอ คือ ทำตัวให้เข้ากันได้ เช่น ไม่ถือตัว ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน เป็นต้น
      (จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต))

  2. ใช้หลักมงคล 38 ประการในมงคลสูตร (ดูรายละเอียดได้ที่เรื่องมงคลในพระพุทธศาสนา หมวดธรรมทั่วไปนะครับ)

  3. มองโลกในแง่ดี

  4. เอาใจเขามาใส่ใจเรา อย่าเอาแต่ใจตนเอง

  5. ลดความยึดมั่นในสิ่งต่างๆ ลงไป เพราะไม่มีใครทำให้ทุกอย่างเป็นดังใจปรารถนาได้ตลอดเวลา คือรู้จักปล่อยวางนะครับ

  6. ปรับตัวปรับใจให้มีความสุขกับสภาพที่เป็นจริงในปัจจุบัน มีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ไม่เพ้อหรือกังวลถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ไม่คร่ำครวญถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว ย้อนกลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้วนะครับ

  7. ยอมรับสภาพที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ ไม่จินตนาการ หรือคาดหวังในสิ่งที่ไม่เป็นจริงนะครับ เช่น ยอมรับว่าตัวเราเป็นอย่างนี้ มีความรู้ความสามารถแค่นี้ มีคุณสมบัติอย่างนี้ ยอมรับคนอื่นแต่ละคนในความเป็นตัวเขา ในสภาวะต่างๆ ที่เขาเป็นอยู่จริงๆ พอใจในสิ่งที่แต่ละคนเป็นอยู่จริงๆ แล้วปรับตัวปรับใจให้มีความสุขกับสภาวะที่เป็นจริงต่างๆ เหล่านั้น ไม่ไปคาดหวังให้ใครๆ เป็นไปอย่างที่เราต้องการให้เป็น (ซึ่งไม่ใช่สภาวะที่แท้จริงของเราหรือเขา และเป็นไปไม่ได้ที่เราหรือเขาจะมีสภาวะอย่างที่เราคาดหวังนั้น ถึงเป็นได้ก็เป็นอย่างไม่มีความสุข) สรุปคือพอใจในสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่นะครับ

  8. ยอมรับสภาพความจำเป็นของคนอื่น ที่บางครั้งไม่สามารถทำในสิ่งที่เราต้องการได้

  9. มีชีวิตอยู่ด้วยความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

  10. ใช้เหตุผลเป็นตัวตัดสิน อย่าใช้อารมณ์ หรือกิเลสเป็นตัวตัดสิน

  11. ยอมรับความจริงในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล

  12. ยอมรับความจริงในเรื่องโลกธรรม 8 คือ สิ่งที่เป็นของคู่โลก 8 ประการ ที่มีอยู่เป็นธรรมดา หลีกเลี่ยงไม่ได้นะครับ ได้แก่ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ ได้รับการสรรเสริญ ถูกนินทา มีสุข มีทุกข์ เมื่อเหตุการณ์ใดใน 8 อย่างนี้เกิดขึ้น ก็ให้เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาของโลกนะครับ ไม่ควรไปยินดียินร้าย เช่นเดียวกับที่เห็นพระอาทิตย์ขึ้นลง เมื่อสิ่งใดเกิดขึ้นแล้วไม่นานก็จะแปรเปลี่ยนไป ไม่แน่นอน

  13. เรื่องสิ่งที่ควรปฏิบัติต่อบุคคลต่างๆ นั้น มีในเรื่องทิศ 6 : ข้อควรปฏิบัติต่อบุคคลต่างๆ ในหมวดธรรมทั่วไปครับ
ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


โรคทางจิต

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

คนที่จิตใจไม่นิ่ง ส่ายไหวตลอดเวลา (แบบอ่อน) จนกลายเป็นอาการทางจิตแบบต่างๆ เช่นโรคทางจิตต่างๆ (แบบรุนแรงจนแสดงอาการ) อาทิ โรคซึมเศร้า โรคหวาดระแวง หลงลืม โรคบุคลิกภาพหลายแบบ (มีหลายบุคลิกในหนึ่งคน) ฯลฯ

ถามทางกรรมเก่า ทำอะไรมา กรรมปัจจุบันทำอะไร (ดื่มสุราเนี่ยปัญญาอ่อนใช่มั้ยคะ แต่กลุ่มนี้นี่ฉลาดปรกติค่ะ)

ถามปัจจุบัน ถ้าเจอคนแบบนี้ แก้ไขได้อย่างไร ช่วยนะคะ ไม่ใช่หนีห่างๆ อันนั้นง่ายไป เพราะคนกลุ่มนี้ ส่วนมากจะไม่ยอมรับว่าตัวเองมีภาวะผิดธรรมชาติ และไม่มีความต้องการที่จะแก้ไขหน่ะค่ะ

ขอบคุณค่ะ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

โทษของการดื่มสุรา (รวมถึงกรรมชนิดอื่นๆ ด้วย) นั้นมีอยู่หลายระดับความรุนแรงนะครับ ถ้าขั้นเบาๆ ก็ไม่จำเป็นต้องถึงกับปัญญาอ่อนครับ เช่น อาจจะทำให้ขาดสติได้ง่าย เลื่อนลอย ไม่ค่อยมีสมาธิ (หมายถึงสมาธิตามธรรมชาตินะครับ) ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้เกิดปัญหาทางจิตด้านต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

แต่ก็ควรพิจารณาปัจจัยด้านอื่นๆ ประกอบด้วยนะครับ เช่น การพูดปด พูดส่อเสียด (ยุให้เขาแตกแยกกัน) พยาบาท อภิชฌา (อยากได้ของของคนอื่นอย่างไม่ชอบธรรม) เหล่านี้ก็จะทำให้เกิดความหวาดระแวง มองโลกในแง่ร้าย คิดหรือกลัวว่าคนอื่นจะทำเช่นนั้นกับตนเองบ้าง ก็จะเป็นตัวเสริมให้เกิดความผิดปรกติต่างๆ ทางจิตได้เช่นกันครับ หรือแม้แต่การชอบพูดเพ้อเจ้อ ถึงแม้จะไม่เป็นกรรมหนักแต่ก็ส่งผลให้จิตไม่หนักแน่น เลื่อนลอย ไม่ค่อยมีสาระได้เช่นกันครับ

ซึ่งกรรมต่างๆ นั้น ไม่ว่าจะเป็นกรรมเก่าหรือกรรมในปัจจุบันก็ส่งผลได้ทั้งนั้นครับ ยิ่งถ้ามีทั้งกรรมเก่าและกรรมปัจจุบันประกอบกัน ก็ยิ่งส่งผลได้มากและรุนแรงขึ้นครับ

สำหรับการช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้นั้น ถ้าทำให้เขายอมรับความจริงได้ก็ง่ายขึ้นนะครับ แต่ถ้าเขาไม่ยอมรับความจริงก็ยากหน่อย

ถ้ามองในแง่ของกรรม ก็ต้องแก้ด้วยการให้ทำกรรมใหม่ที่ให้ผลในทางตรงข้ามกันครับ เช่น ให้เลิกดื่มสุรา ให้รู้จักการฝึกสติในชีวิตประจำวัน การรักษาศีล 5 รวมถึงการปรับสภาวะจิตเพื่อแก้ปัญหาการมองโลกในแง่ร้าย และความหวาดระแวงต่างๆ เช่น การบริจาคทาน (เป็นการฝึกทำประโยชน์ให้คนอื่นอย่างจริงใจ) การทำสาธารณะประโยชน์ต่างๆ การแผ่เมตตา ถ้าได้อยู่ใกล้ชิดกับกัลยาณมิตร ก็จะทำให้เขาปรับมุมมองต่อบุคคลภายนอกได้ง่ายขึ้นด้วยครับ

นอกจากนี้ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรยกระดับจิตให้ประณีตขึ้น เช่น การทำสมาธิ การเจริญวิปัสสนา (แต่สำหรับการทำสมาธิ และเจริญวิปัสสนาสำหรับผู้มีปัญหาทางจิตนั้น ต้องทำด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษด้วยนะครับ ควรมีการดูแล และสอบอารมณ์อย่างใกล้ชิด และสม่ำเสมอ ไม่งั้นเสี่ยงที่จะเพี้ยนไปได้ง่ายๆ)

ในกรณีที่เขาไม่ยอมรับว่าตนเองผิดปรกติ หรือไม่มีความต้องการที่จะแก้ไข ก็คงต้องใช้การแสดงอานิสงส์ด้านอื่นๆ เข้าล่อครับ เพราะการกระทำต่างๆ นั้นมีประโยชน์หลายด้านประกอบกันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องบอกเขาว่า ให้ทำเพื่อแก้ไขปัญหาทางจิตของเขาก็ได้ครับ (ถ้าบอกตรงๆ อาจได้รับแรงต้านก็ได้นะครับ)

เช่น การไม่ดื่มสุรา ก็อาจแสดงเหตุผลในเรื่องการทะเลาะวิวาท สุขภาพกาย สุขภาพจิต อุบัติเหตุ ความสิ้นเปลืองทรัพย์สิน ความน่าเชื่อถือ ฯลฯ การฝึกสติ ก็อาจพูดในแง่ของการไม่ให้สมองเสื่อมเร็วกว่าเวลาอันควร หรือประสิทธิภาพในการทำงาน การเรียน ฯลฯ การรักษาศีล ก็อาจพูดในแง่ของอานิสงส์ของศีลข้อต่างๆ ในแง่ต่างๆ ทั้งทางโลก ทางธรรม สำหรับการให้ทาน การแผ่เมตตา ฯลฯ ก็ทำนองเดียวกันครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


โน้มน้าวให้คนสนใจปฏิบัติธรรม

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

คนที่เป็นคนดีโดยรวม ประสบความสำเร็จในชีวิตมาก มีคุณธรรมในใจมากพอประมาณ แต่ไม่สวดมนต์ ภาวนา ปฏิบัติ ทำยังไงโน้มน้าวเค้าน่ะคะ?

อายุของคนนี้ก็ไม่น้อยแล้ว เอาแบบกลมกลืนนะคะ ไปฝืนใจเค้าคงไม่ได้หน่ะค่ะ ดีไม่ดีกลายเป็นทำให้เค้ารู้สึกรำคาญเอาซะอีก


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

เรื่องที่ถามมานั้น ก็คงทำได้หลายอย่างประกอบกันนะครับ เช่น
  1. เวลาคุยกันตามปรกติก็ค่อยๆ สอดแทรกเรื่องประโยชน์ของการปฏิบัติธรรม ไปตามโอกาสที่เหมาะสม ลองอ่านเรื่องเหล่านี้ประกอบก็ได้นะครับ
  2. ถ้ามีโอกาสก็ชวนให้ไปทำกิจกรรมด้านการปฏิบัติธรรมร่วมกัน เช่น สวดมนต์ ไหว้พระ ทำกรรมฐาน เพื่อให้ได้ลองสัมผัสกับความสุขแบบเรียบง่ายจากการปฏิบัติดูบ้างนะครับ

  3. ทำเป็นตัวอย่างให้เขาเห็น คือให้เขาเห็นว่าปฏิบัติธรรมแล้วมีผลดีอย่างไรบ้าง
ลองทำไปตามโอกาสอย่าให้เขารู้สึกว่าสั่งสอนหรือบีบคั้นนะครับ คงต้องใช้เวลาพอสมควรนะครับ ใจเย็นๆ ค่อยๆ ทำไป อย่าคาดหวังมากจนจิตใจเป็นทุกข์หรือตกต่ำนะครับ ทำไปด้วยจิตที่เป็นกุศลแล้วดีเองครับ อย่างน้อยถึงเขาจะไม่ได้อะไรมาก แต่จิตใจของเราเองก็เป็นบุญเป็นกุศล มีความสุขที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นแล้วครับ

ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาด้วยครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


สัมผัสที่ 6

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

สัมผัสที่หก คืออะไร พบบ่อยแค่ไหน เชื่อได้แค่ไหน ทำไมถึงถูกต้องได้บ่อยๆ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

สัมผัสที่ 6 คือการรับรู้ทางจิตครับ คนที่ชาติก่อนๆ ทำสมาธิมาพอสมควรชาตินี้ก็จะมีสัมผัสที่ 6 ได้ง่ายเพราะพื้นฐานของจิตประณีตพอ แต่คนที่ไม่มีพื้นฐานมาจากชาติก่อนๆ เลย ก็ต้องทำสมาธิได้ขั้นสูงพอสมควรจึงจะรับรู้ทางสัมผัสที่ 6 ได้ครับ

สัมผัสที่ 6 ที่สมบูรณ์จริงๆ นั้นต้องเป็นของผู้ที่ได้ฌานขั้นสูงจึงจะรับรู้ได้อย่างชัดเจนและเชื่อถือได้มากนะครับ แต่สำหรับคนทั่วๆ ไปนั้น การรับรู้จะไม่ชัดเจนจึงมีการคิดปรุงแต่งต่อเติมเข้ามาประกอบด้วย ดังนั้นความน่าเชื่อถือจึงลดลงไปตามขั้น เผลอๆ บางครั้งอาจเป็นความคิดปรุงแต่งล้วนๆ เลยก็ได้นะครับ ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่ามีสัมผัสที่ 6 เกิดขึ้นจึงควรพิจารณาให้ดีด้วยครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


ญาติอารมณ์ร้อน

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

มีญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เอาแต่ใจตัวเองมาก อารมณ์ร้อน และคงเคยชินติดเป็นนิสัย ตอนนี้ก็แก้ยากมากแล้ว ไม่แน่ใจว่าเรื่องธรรมะจะสนใจมากน้อยเพียงใด แต่เท่าที่เห็นไม่เคยปฏิบัติค่ะ ทำบุญตามเทศกาลบ้าง ปัญหาอยู่ที่ตอนนี้มีเหตุจำเป็นบางประการ ที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับคุณแม่ดิฉันอย่างใกล้ชิด คุณแม่ดิฉันก็อดทนแต่เป็นอดแบบเก็บ นานมาก (ก็เพิ่งทราบเช่นกัน) จนปะทุในที่สุด แบบสุภาพนะคะ แต่ก็ปะทุ

คำถามข้อที่หนึ่ง ทำอย่างไรให้คุณแม่ไม่รู้สึกบาป เพราะท่านบอกเสมอว่า เหมือนมีวจีกรรม แต่มโนกรรมหน่ะนานแล้ว เช่น หงุดหงิด รำคาญ แล้วก็รู้สึกบาปทุกที

สอง จะทำอย่างไรให้ญาติผู้ใหญ่ท่านนั้นเย็น และมอง และพยายามปรับตัวเองบ้าง อาจจะยาก เพราะอายุมากแล้ว แต่ในฐานะหลานพออ่านคำตอบเรื่องบุตร (เรื่องดวง หรือชะตาชีวิต ในหมวดบทวิเคราะห์ - ธัมมโชติ) ก็อยากให้โน้มจิตเข้ามาทางนี้บ้าง สงสาร กลัวว่ามันจะไกลเกินโน้มได้ในชาติต่อๆไป อยากช่วยเพราะส่วนหนึ่งญาติท่านนี้ก็รักและเอ็นดูดิฉันมาก


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ
  1. เรื่องญาติผู้ใหญ่ที่อารมณ์ร้อน (โทสจริต) นั้น ก็อยู่ที่ว่าท่านยอมรับความจริง และคิดที่จะปรับปรุงตัวหรือไม่นะครับ

    ถ้าท่านไม่ยอมรับความจริง คนอื่นก็คงทำได้แค่เพียงจัดสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ สงบ ร่มรื่น เย็นสบาย ไม่มีสิ่งกวนใจโดยไม่จำเป็น ผู้ที่อยู่ใกล้ก็ควรทำใจให้เย็นที่สุดนะครับ ไม่ทำให้ท่านขัดเคืองโดยไม่จำเป็นและพยายามทำความเข้าใจว่าธรรมชาติของท่านเป็นอย่างนี้เอง แล้วยอมรับความจริงตามสภาพครับ

    อาจมีการหย่อนใจเป็นระยะๆ นะครับ เช่น พาไปเที่ยวสวนสาธารณะ ฯลฯ

    แต่ถ้าท่านคิดที่จะปรับปรุงก็ทำได้ดังนี้
    1. พูดคุยให้ท่านทราบว่าคนอื่นรู้สึกว่าท่านเป็นคนอารมณ์ร้อน เพราะบางทีท่านอาจจะทำไปด้วยความเคยชินจนไม่รู้ตัวเองเลยก็ได้ครับ แล้วก็พูดคุยถึงผลเสียจากการเป็นคนอารมณ์ร้อนนั้น เช่น ตัวท่านเองก็ไม่มีความสุข คนที่อยู่ใกล้ก็ไม่มีความสุข เป็นผลเสียต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ฯลฯ เพื่อให้ท่านมีความคิดที่จะพยายามปรับปรุงตัวอย่างจริงจังครับ

    2. จัดสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวเอาไว้แล้ว

    3. ให้ท่านทำสิ่งต่างๆ ให้ช้าลง ประณีตขึ้น เป็นระเบียบขึ้น เพื่อให้ใจเย็นขึ้นครับ

    4. ให้ท่านแผ่เมตตาบ่อยๆ นะครับ โดยแผ่ออกไปรอบๆ ตัว ให้กับคนและสรรพสัตว์ทั้งหลายโดยทั่วไป จิตก็จะเย็นขึ้นเรื่อยๆ ครับ

    5. ให้ท่านสวดมนต์ไหว้พระเป็นประจำ สวดบทยาวๆ ยิ่งดีครับ เพื่อเป็นการฝึกจิตให้เย็นขึ้น

    6. ให้ท่านให้ทาน รักษาศีล ทำสมาธิ วิปัสสนา ตามกำลังที่จะทำได้นะครับ

    7. เวลาอยู่ว่างๆ ก็ให้ตามรู้การเข้าออกของลมหายใจไปเรื่อยๆ

    8. ให้พยายามปล่อยวางเรื่องต่างๆ ให้มากที่สุดนะครับ คิดถึงหลักความจริงที่ว่า ไม่มีใครทำอะไรให้ได้อย่างใจของเราไปทุกอย่างหรอก แม้แต่ตัวเราเองก็ยังทำให้ตัวเราพอใจไม่ได้ตลอดเลยครับ

  2. สำหรับคุณแม่ของคุณนั้น ก็คงต้องทำความเข้าใจเรื่องของเหตุปัจจัยให้มากที่สุดนะครับ คือ สิ่งต่างๆ ล้วนไม่มีอำนาจในตนเองอย่างแท้จริง (อนัตตา) ต่างก็แปรผันไปตามเหตุปัจจัยด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่มีอะไรที่ผิดหรือถูกในตัวของมันเองอย่างแท้จริง เพราะการกระทำทุกอย่างก็เป็นเพียงผลการตอบสนองต่อเหตุปัจจัย (อ่านเรื่องต่างๆ ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบนะครับ)

    อย่างการที่ท่านทนไม่ไหวจนกระทั่งมีปฏิกิริยาโต้ตอบออกมา ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางใจก็ตาม ก็ล้วนเกิดจากเหตุปัจจัยที่บีบคั้นอย่างรุนแรงทั้งสิ้นนะครับ จะโทษว่าเป็นความผิดของท่านก็ไม่ถูก และท่านก็ไม่มีเจตนาที่จะให้เป็นเช่นนั้น ดังนั้น ถึงจะบาปก็บาปไม่รุนแรงครับ

    หรือแม้แต่การที่ญาติผู้ใหญ่ท่านนั้นมีลักษณะนิสัยอย่างนั้น ก็ล้วนเป็นผลของเหตุปัจจัยที่รุมเร้าท่านมาในอดีตเช่นกันครับ จึงส่งผลให้ปัจจุบันท่านเป็นเช่นนี้

    เพราะฉะนั้นอย่าได้กังวลในเรื่องเหล่านี้เลยครับ เช่น เรื่องใครทำบาปทำกรรม หรือใครผิดใครถูก เพราะถึงอย่างไรก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้อยู่ดี ยิ่งคิดก็จะยิ่งทุกข์กันไปเปล่าๆ นะครับ

    แต่ควรหันมายอมรับสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน แล้วหาทางปรับปรุงหรือรักษาสภาพจิตให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคตดีกว่านะครับ

    ขอเสนอแนวทางที่คุณแม่ของคุณน่าจะทำได้ ดังนี้ครับ
    1. ยอมรับความจริงตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด แล้วพยายามปล่อยวางให้ได้ อาจจะคิดว่าเป็นการใช้หนี้กรรมเก่าก็ได้ครับ

    2. แผ่เมตตาให้ญาติผู้ใหญ่ท่านนั้นให้มากๆ ถ้าญาติท่านนั้นไม่ดีขึ้น อย่างน้อยจิตของคุณแม่ของคุณก็เย็นขึ้นนะครับ

    3. หาโอกาสอยู่ห่างๆ ญาติท่านนั้นเป็นระยะๆ เพื่อผ่อนคลายบ้าง จะได้ไม่เครียดจนเกินไปนะครับ อาจจะทำกิจกรรมอื่นๆ ประกอบ เช่น ไปเที่ยว ดูโทรทัศน์ ไปทำบุญที่วัดและคุยกับพระ สวดมนต์ไหว้พระ ทำสมาธิ เจริญวิปัสสนา ฯลฯ

    4. พยายามอย่าทำให้ญาติท่านนั้นขัดเคืองใจ หรือถ้าเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นก็พยายามใช้ความเย็นดับความร้อนนะครับ เช่น พยายามแผ่เมตตาสวนกลับไปให้ตั้งมั่นและทันกาลที่สุด ซึ่งอาจจะทำได้ยากแต่ถ้าทำได้ก็จะเห็นผลทันตาครับ คือ
      1. จิตของคุณแม่คุณก็เย็นขึ้น

      2. ไม่ไปก่อปฏิกิริยาลูกโซ่ คือ โกรธกันไปโกรธกันมาจนเรื่องวุ่นวายใหญ่โต ทำให้เรื่องระงับอยู่แค่นั้นครับ

      3. ถ้ากำลังของเมตตาจิตมีมากพอ ญาติท่านนั้นก็จะระงับความโกรธได้อย่างรวดเร็วครับ

      4. คุณแม่ของคุณก็จะไม่ต้องมากังวลกับเรื่องกลัวบาปในเรื่องนี้อีก

      5. ถ้าคิดว่าพอเป็นไปได้ ก็หาโอกาสที่เหมาะสมพูดคุยกับญาติท่านนั้นตามที่ได้กล่าวแล้วในข้อ 1. (ข้อแรกสุดนะครับ)

      6. อะไรที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรงนักก็ตามใจท่านไปเถอะครับ จะได้อยู่กันอย่างสงบ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ

2 ความคิดเห็น :

  1. สวัสดีค่ะ. อยากจะรู้ว่า ถ้าเรามีสัมผัสที่6แรง แล้วไปปิดเนตรปิดสัมผัส มันจะฝืนชะตารึป่าว หรือว่ามันจะส่งผลถึงเรายังไงรึป่าวคะ ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com

      ชะตาชีวิตก็คือการส่งผลของกรรม ทั้งบุญและบาป ทั้งกรรมเก่าและกรรมในปัจจุบัน ซึ่งสิ่งที่เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตก็คือกฎแห่งกรรม และตัวเราเองซึ่งเป็นผู้ที่ทำกรรมต่างๆ นั่นเองครับ

      การมีสัมผัสที่ 6 ก็เป็นผลของกรรมเก่าคือการทำสมาธิที่เคยทำเอาไว้ในชาติใกล้ๆ (เช่น ไม่เกิน 2-3 ชาติที่ผ่านมา) การไปปิดเนตรปิดสัมผัส (ถ้าสามารถทำได้) ก็เป็นการสร้างกรรมใหม่ที่ส่งผลตรงข้ามกับกรรมเก่า จะกล่าวว่าเป็นการฝืนชะตาก็ย่อมจะกล่าวได้ครับ แต่ผู้ที่ลิขิตชะตาที่ว่านั้นก็คือตัวเราเองนะครับ ที่เป็นผู้ทำสมาธิเอาไว้ในอดีต

      ดังนั้น ถ้ากังวลว่าการฝืนชะตานั้นจะทำให้ใครโกรธแล้วลงโทษเรา ก็เลิกกังวลได้เลยครับ

      สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือ การมีสัมผัสที่ 6 นั้นส่งผลดีหรือผลเสียกับเรามากกว่าการไม่มี และเราจะสามารถทำให้สัมผัสที่ 6 ที่มีนั้นเป็นประโยชน์ได้อย่างไร

      ถ้าทางไหนเป็นประโยชน์มากกว่าก็ควรเลือกทางนั้นครับ

      หลักในการพิจารณาง่ายๆ ก็คือ ถ้าสิ่งไหนทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมลง ก็ควรทำสิ่งนั้น
      ถ้าสิ่งไหนทำให้กุศลธรรมเสื่อมลง อกุศลธรรมเจริญขึ้น ก็ไม่ควรทำครับ

      ขอให้มีความสุขความเจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปนะครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ