Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มงคลในพระพุทธศาสนา

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นมงคล เวลาที่เป็นฤกษ์ดี และเรื่องของดวงดาวที่มีในพระสูตรในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเอาไว้นะครับ

ปัจจุบันนี้ชาวพุทธทั้งหลายมีความเชื่อในเรื่องสิ่งที่เป็นมงคลแตกต่างกันไปนะครับ บางคนก็ไม่เชื่อเลยคิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ บางคนก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่บางคนก็เชื่ออย่างไม่ลืมหูลืมตาคิดว่าทำอย่างนั้นแล้วดีเป็นศิริมงคล ทำอย่างนี้ไม่ดีทำแล้วจะแย่

ลองมาดูกันนะครับว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องนี้เอาไว้อย่างไรบ้าง


เนื้อหาประกอบด้วย



สรุปความจากพระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖ ข้อ : ๑)

มงคลสูตร


สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น มีผู้กราบทูลถามพระพุทธเจ้า ถึงสิ่งที่เป็นมงคล

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า :

การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑
การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ ความเป็นผู้มีบุญอันกระทำแล้วในกาลก่อน ๑
การตั้งตนไว้ชอบ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
พาหุสัจจะการมีศิลปวิทยา ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑
วาจาสุภาษิต ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
การบำรุงมารดาบิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑
การงานอันไม่อากูล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
การให้ทาน ๑ การประพฤติธรรม ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑
การกระทำอันไม่มีโทษ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
การงดการเว้นจากบาป ๑ ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑
ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
ความเคารพผู้อื่น ๑ ความประพฤติถ่อมตน ๑ ความสันโดษ ๑ ความกตัญญู ๑
การฟังธรรมตามกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การได้เห็นสมณะทั้งหลาย
การสนทนาธรรมตามกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
ความเพียรเผากิเลส ๑ การประพฤติพรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ
การกระทำนิพพานให้แจ้ง ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้วย่อมไม่หวั่นไหว ๑
จิตไม่เศร้าโศก ๑ จิตปราศจากธุลีแห่งกิเลส ๑ มีจิตอันเกษม ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทำมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า
ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ฯ

อธิบายเพิ่มเติม

  • มงคล = สิ่งที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญนะครับ
  • การบูชาบุคคลที่ควรบูชา - เป็นมงคลเพราะเมื่อเราเคารพนับถือใคร ก็จะดำเนินรอยตามคนคนนั้น ถ้าคนคนนั้นเป็นผู้ที่ควรบูชา เราก็จะเป็นคนดีตามไปด้วยนะครับ
  • การอยู่ในประเทศอันสมควร - คือการอยู่ในท้องถิ่นที่เหมาะสมในการดำเนินชีวิต มีสิ่งแวดล้อมที่ดี
  • พาหุสัจจะ = พหูสูต คือเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมามาก มีความรู้มาก
  • การมีศิลปวิทยา - หมายถึงมีความรู้ที่ใช้ประกอบอาชีพได้
  • วาจาสุภาษิต - การพูดในสิ่งที่ดี มีประโยชน์
  • การงานอันไม่อากูล = การงานอันไม่ยุ่งเหยิง สับสน
  • ความสันโดษ = พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่
  • การได้เห็นสมณะทั้งหลาย - เป็นมงคลเพราะจะได้มีโอกาสฟังธรรม สนทนาธรรม และไขข้อข้องใจต่างๆ นะครับ
  • การเห็นอริยสัจ = การบรรลุมรรค/ผล การมีดวงตาเห็นธรรม
  • การกระทำนิพพานให้แจ้ง - ความหมายใกล้เคียงกับการเห็นอริยสัจนะครับ      แต่เน้นหนักไปที่ผลจิต ในขณะที่การเห็นอริยสัจเน้นหนักไปที่มรรคจิต
  • โลกธรรม - สิ่งที่เป็นธรรมดาของโลก มี 8 อย่างนะครับคือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ ได้รับการสรรเสริญ ถูกนินทา มีสุข มีทุกข์

ซึ่งมงคลเหล่านี้ก็คือคำแปลของมงคลสูตรที่พระภิกษุนิยมสวดเวลามีงานบุญต่างๆ เช่น งานขึ้นบ้านใหม่นั่นเองครับ ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นว่ามงคลที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้นเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ถือปฏิบัติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระเลยนะครับ และมงคลเหล่านี้จะเป็นมงคลอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อนำไปใช้ปฏิบัติเท่านั้นนะครับ ไม่ใช่เพียงแค่นั่งฟังพระสวดแล้วจะเป็นมงคลขึ้นมาได้

ซึ่งบทสวดที่เป็นภาษาบาลีนั้นมีเนื้อความว่า :


อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา
ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ฯ
ปฏิรูปเทสวาโส จ ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา
อตฺตสมฺมาปณิธิ จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ฯ
พาหุสจฺจญฺจ สิปฺปญฺจ วินโย จ สุสิกฺขิโต
สุภาสิตา จ ยา วาจา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ฯ
มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห
อนากุลา จ กมฺมนฺตา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ฯ
ทานญฺจ ธมฺมจริยา จ ญาตกานญฺจ สงฺคโห
อนวชฺชานิ กมฺมานิ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ฯ
อารตี วิรตี ปาปา มชฺชปานา จ สญฺญโม
อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ฯ
คารโว จ นิวาโต จ สนฺตุฏฺฐี จ กตญฺญุตา
กาเลน ธมฺมสฺสวนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ฯ
ขนฺตี จ โสวจสฺสตา สมณานญฺจ ทสฺสนํ
กาเลน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ฯ
ตโป จ พฺรหฺมจริยญฺจ อริยสจฺจานทสฺสนํ
นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ฯ
ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ
อโสกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ฯ
เอตาทิสานิ กตฺวาน สพฺพตฺถมปราชิตา
สพฺพตฺถ โสตฺถึ คจฺฉนฺติ ตนฺเตสํ มงฺคลมุตฺตมนฺติ ฯ



เวลาที่เป็นฤกษ์ดี

คนจำนวนไม่น้อยที่เสียเวลาจำนวนมากไปกับการดูฤกษ์ดูยามว่าจะทำอะไรเมื่อไหร่ถึงจะดี และเมื่อได้ฤกษ์ที่คิดว่าดีมาแล้วก็ต้องเสียเวลาเพื่อรอให้ฤกษ์ที่ว่านั้นมาถึง จึงจะเริ่มทำในสิ่งนั้นๆ ได้ การเสียเวลาเหล่านี้บางครั้งทำให้ต้องเสียโอกาสที่ดีๆ ไป ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ลองมาดูกันนะครับว่าพระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง

พระไตรปิฎก สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต มังคลวรรคที่ ๕


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๐ หน้า : ๓๙๙ ข้อ : ๑๕๖)

สุปุพพัณหสูตร


[๕๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้าก็เป็นเวลาเช้าที่ดีของสัตว์เหล่านั้น
สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเที่ยง เวลาเที่ยงก็เป็นเวลาเที่ยงที่ดีของสัตว์เหล่านั้น
สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นก็เป็นเวลาเย็นที่ดีของสัตว์เหล่านั้น

สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด
เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี
รุ่งดี ขณะดี ยามดี และบูชาดี

ในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย กายกรรมเป็นส่วนเบื้องขวา
วจีกรรมเป็นส่วนเบื้องขวา มโนกรรมเป็นส่วนเบื้องขวา
ความปรารถนาของท่านเป็นส่วนเบื้องขวา
สัตว์ทั้งหลายทำกรรมอันเป็นส่วนเบื้องขวาแล้ว
ย่อมได้ผลประโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องขวา
ท่านเหล่านั้นได้ประโยชน์แล้ว จงได้รับความสุข
จงงอกงามในพระพุทธศาสนา จงไม่มีโรค
ถึงความสุข พร้อมด้วยญาติทั้งมวล ฯ
จบสุปุพพัณหสูตร


ลองดูที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอีกสูตรนะครับ

พระไตรปิฎก สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๗ หน้า : ๒๐ ข้อ : ๔๙)

นักขัตตชาดก ว่าด้วยประโยชน์คือฤกษ์


[๔๙] ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลาผู้มัวคอยฤกษ์อยู่
ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้.

จบนักขัตตชาดกที่ ๙.

คนเราถ้าจะทำความดีแล้วมัวคอยฤกษ์อยู่ ก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้วนะครับ กว่าฤกษ์นั้นจะมาถึงก็อาจถูกคนอื่นตัดหน้าไปก่อนแล้วก็ได้ หรืออาจมีอุปสรรค์อะไรมาขัดขวางการกระทำนั้นก็ได้นะครับ ใครจะไปรู้

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

1 ความคิดเห็น :

  1. ไม่ระบุชื่อ28 มกราคม 2566 เวลา 15:02

    ขอบคุณที่สาธารณะชนเข้าถึงได้

    ตอบลบ