Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

ทิศ 6 : ข้อควรปฏิบัติต่อบุคคลต่างๆ

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

ทิศ6 คืออะไร

ทิศ6 คือข้อควรปฏิบัติต่อบุคคลต่างๆ ตามหลักพระพุทธศาสนานะครับ

ทิศ6 หมายถึงอะไร

ทิศ6 ในที่นี้ หมายถึงบุคคลต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบกับทิศต่างๆ 6 ทิศนะครับ ได้แก่ มารดาบิดา ครูบาอาจารย์ บุตรภรรยา มิตรสหาย บ่าวไพร่ข้าทาสบริวารและกรรมกร สมณพราหมณ์

ทิศ 6 มีความสำคัญอย่างไร

ทิศ 6 มีความสำคัญต่อทุกคนนะครับ ไม่ว่าจะเป็น นักเรียน นักศึกษา คนวัยทำงาน ผู้สูงอายุ แม้กระทั่งนักบวช เพราะเป็นแนวทางปฏิบัติอันดีต่อบุคคลต่างๆ รอบตัวของทุกๆ คน เพื่อประโยชน์หลายอย่าง เช่น เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม เพื่อความสุขในการดำเนินชีวิตของทุกคน เพื่อความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงในชีวิตของทุกคนในสังคม ฯลฯ

ทิศ 6 มีรายละเอียด ดังนี้ครับ



ทิศ 6 ในหนังสือนวโกวาท ในชุดเรียนนักธรรมตรี


ทิศ ๖

๑. ปุรัตถิมทิส คือ ทิศเบื้องหน้า หมายถึง มารดาบิดา.
๒. ทิกขิณทิส คือ ทิศเบื้องขวา หมายถึง อาจารย์.
๓. ปัจฉิมทิศ คือ ทิศเบื้องหลัง หมายถึง บุตรภรรยา.
๔. อุตตรทิส คือ ทิศเบื้องซ้าย หมายถึง มิตร.
๕. เหฏฐิมทิส คือ ทิศเบื้องต่ำ หมายถึง บ่าว.
๖. อุปริมทิส คือ ทิศเบื้องบน หมายถึง สมณพราหมณ์.

๑. ปุรัตถิมทิส คือทิศเบื้องหน้า มารดาบิดา บุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕


( ๑ ) ท่านได้เลี้ยงมาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ.
( ๒ ) ทำกิจของท่าน.
( ๓ ) ดำรงวงศ์สกุล.
( ๔ ) ประพฤติตนให้เป็นคนควรรับทรัพย์มรดก.
( ๕ ) เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน.

มารดาบิดาได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕


( ๑ ) ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว.
( ๒ ) ให้ตั้งอยู่ในความดี.
( ๓ ) ให้ศึกษาศิลปวิทยา.
( ๔ ) หาภรรยาที่สมควรให้.
( ๕ ) มอบทรัพย์ให้ในสมัย.

๒. ทักขิณทิส คือทิศเบื้องขวา อาจารย์ ศิษย์พึงบำรุงด้วยสถาน ๕


( ๑ ) ด้วยลุกขึ้นยืนรับ.
( ๒ ) ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้.
( ๓ ) ด้วยเชื่อฟัง.
( ๔ ) ด้วยอุปัฏฐาก.
( ๕ ) ด้วยเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ.

อาจารย์ได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถาน ๕


( ๑ ) แนะนำดี.
( ๒ ) ให้เรียนดี.
( ๓ ) บอกศิลปให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง.
( ๔ ) ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง.
( ๕ ) ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย ( คือจะไปทางทิศไหนก็ไม่อดอยาก ).

๓. ปัจฉิมทิส คือทิศเบื้องหลัง ภรรยา สามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๕


( ๑ ) ด้วยยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา.
( ๒ ) ด้วยไม่ดูหมิ่น.
( ๓ ) ด้วยไม่ประพฤติล่วงใจ.
( ๔ ) ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้.
( ๕ ) ด้วยให้เครื่องแต่งตัว.

ภรรยาได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕


( ๑ ) จัดการงานดี.
( ๒ ) สงเคราะห์คนข้างเคียงของผัวดี.
( ๓ ) ไม่ประพฤติล่วงใจผัว.
( ๔ ) รักษาทรัพย์ที่ผัวหามาได้ไว้.
( ๕ ) ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง.

๔. อุตตรทิส คือทิศเบื้องซ้าย มิตร กุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕


( ๑ ) ด้วยให้ปัน.
( ๒ ) ด้วยเจรจาถ้อยคำไพเราะ.
( ๓ ) ด้วยประพฤติประโยชน์.
( ๔ ) ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ.
( ๕ ) ด้วยไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความเป็นจริง.

มิตรได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕


( ๑ ) รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว.
( ๒ ) รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว.
( ๓ ) เมื่อมีภัย เอาเป็นที่พึ่งพำนักได้.
( ๔ ) ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ.
( ๕ ) นับถือตลอดถึงวงศ์ของมิตร.

๕. เหฏฐิมทิส คือทิศเบื้องต่ำ บ่าว นายพึงบำรุงด้วยสถาน ๕


( ๑ ) ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง.
( ๒ ) ด้วยให้อาหารและรางวัล.
( ๓ ) ด้วยรักษาพยาบาลในเวลาเจ็บไข้.
( ๔ ) ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน.
( ๕ ) ด้วยปล่อยในสมัย.

บ่าวได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕


( ๑ ) ลุกขึ้นทำการงานก่อนนาย.
( ๒ ) เลิกการงานทีหลังนาย.
( ๓ ) ถือเอาแต่ของที่นายให้.
( ๔ ) ทำการงานให้ดีขึ้น.
( ๕ ) นำคุณของนายไปสรรเสริญในที่นั้น ๆ.

๖. อุปริมทิส คือทิศเบื้องบน สมณะพราหมณ์ กุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕


( ๑ ) ด้วยกายกรรม คือทำอะไร ๆ ประกอบด้วยเมตตา.
( ๒ ) ด้วยวจีกรรม คือพูดอะไร ๆ ประกอบด้วยเมตตา.
( ๓ ) ด้วยมโนกรรม คือคิดอะไร ๆ ประกอบด้วยเมตตา.
( ๔ ) ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู คือมิได้ห้ามเข้าบ้านเรือน.
( ๕ ) ด้วยให้อามิสทาน.

สมณะพราหมณ์ได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๖


( ๑ ) ห้ามไม่ให้กระทำความชั่ว.
( ๒ ) ให้ตั้งอยู่ในความดี.
( ๓ ) อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม.
( ๔ ) ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง.
( ๕ ) ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่ม.
( ๖ ) บอกทางสวรรค์ให้.


ทิศ 6 ที่เป็น พุทธพจน์ หรือ พุทธวจนะ ในพระไตรปิฎก


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎกที่ ๐๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

๘. สิงคาลกสูตร ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์


(พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๑๒ ข้อ : ๒๖๖)

ว่าด้วยการปิดป้องทิศ ๖

[๒๖๖] อริยสาวกเป็นผู้ปิดป้องทิศ ๖ เป็นอย่างไร
คหบดีบุตร เธอพึงทราบทิศ ๖ นี้ คือ พึงทราบว่า มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า พึงทราบว่า อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา พึงทราบว่า บุตรและภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง พึงทราบว่า มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย พึงทราบว่า ทาสและกรรมกรเป็นทิศเบื้องล่าง พึงทราบว่า สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน

[๒๖๗] คหบดีบุตร บุตรพึงบำรุงมารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ
๒. จักทำกิจของท่าน
๓. จักดำรงวงศ์ตระกูล
๔. จักประพฤติตนให้เหมาะสมที่จะเป็นทายาท
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า บุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์บุตรโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
๔. หาภรรยา(สามี) ที่สมควรให้
๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาอันสมควร

คหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า บุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องหน้านั้นเป็นอันชื่อว่ากุลบุตรได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้

[๒๖๘] คหบดีบุตร ศิษย์พึงบำรุงอาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา โดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ลุกขึ้นยืนรับ
๒. เข้าไปคอยรับใช้
๓. เชื่อฟัง
๔. ดูแลปรนนิบัติ
๕. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ

อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา ศิษย์บำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. แนะนำให้เป็นคนดี
๒. ให้เรียนดี
๓. บอกความรู้ในศิลปวิทยาทุกอย่างด้วยดี
๔. ยกย่องให้ปรากฏในมิตรสหาย
๕. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย

คหบดีบุตร อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา ศิษย์บำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แลย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องขวานั้นเป็นอันชื่อว่าศิษย์ได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้

[๒๖๙] คหบดีบุตร สามีพึงบำรุงภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ให้เกียรติยกย่อง
๒. ไม่ดูหมิ่น
๓. ไม่ประพฤตินอกใจ
๔. มอบความเป็นใหญ่ให้
๕. ให้เครื่องแต่งตัว

ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลัง สามีบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. จัดการงานดี
๒. สงเคราะห์คนข้างเคียงดี
๓. ไม่ประพฤตินอกใจ
๔. รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้
๕. ขยันไม่เกียจคร้านในกิจทั้งปวง

คหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลัง สามีบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แลย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องหลังนั้นเป็นอันชื่อว่าสามีได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้

[๒๗๐] คหบดีบุตร กุลบุตรพึงบำรุงมิตรสหายผู้เป็นทิศเบื้องซ้ายโดยหน้าที่๕ ประการ คือ
๑. การให้ (การแบ่งปันสิ่งของให้)
๒. กล่าววาจาเป็นที่รัก
๓. ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์
๔. วางตนสม่ำเสมอ
๕. ไม่พูดจาหลอกลวงกัน

มิตรสหายผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย กุลบุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ป้องกันมิตรผู้ประมาทแล้ว
๒. ป้องกันทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว
๓. เมื่อมีภัยก็เป็นที่พึ่งพำนักได้
๔. ไม่ละทิ้งในยามอันตราย
๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ตระกูลของมิตร

คหบดีบุตร มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย กุลบุตรบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แลย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้นเป็นอันชื่อว่ากุลบุตรได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้

[๒๗๑] คหบดีบุตร นายพึงบำรุงทาสกรรมกร ผู้เป็นทิศเบื้องต่ำโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. จัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง
๒. ให้อาหารและค่าจ้าง
๓. ดูแลรักษายามเจ็บป่วย
๔. ให้อาหารมีรสแปลก
๕. ให้หยุดงานตามโอกาส

ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำ นายบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ตื่นขึ้นทำงานก่อนนาย
๒. เลิกงานเข้านอนทีหลังนาย
๓. ถือเอาแต่ของที่นายให้
๔. ทำงานให้ดีขึ้น
๕. นำคุณของนายไปสรรเสริญ

คหบดีบุตร ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำ นายบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์นายโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องต่ำนั้นเป็นอันชื่อว่านายได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้

[๒๗๒] คหบดีบุตร กุลบุตรพึงบำรุงสมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน โดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา
๒. จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา
๓. จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา
๔. เปิดประตูต้อนรับ
๕. ถวายปัจจัยเครื่องยังชีพ

สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน กุลบุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แลย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยหน้าที่ ๖ ประการ คือ
๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันดีงาม
๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๕. อธิบายสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๖. บอกทางสวรรค์ให้

คหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน กุลบุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยหน้าที่ ๖ ประการนี้ ทิศเบื้องบนนั้นเป็นอันชื่อว่ากุลบุตรได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้”

[๒๗๓] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้วจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

“มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า
อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา
บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง
มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย
ทาสกรรมกรเป็นทิศเบื้องล่าง
สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน
คฤหัสถ์ในตระกูลผู้มีความสามารถ(๑) พึงไหว้ทิศเหล่านี้
บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
เป็นคนละเอียดและมีไหวพริบ(๒)
มีความประพฤติเจียมตน
ไม่แข็งกระด้าง เช่นนั้น ย่อมได้ยศ
คนขยัน ไม่เกียจคร้าน
ย่อมไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย
คนมีความประพฤติไม่ขาดตอน(๓)
มีปัญญาเช่นนั้น ย่อมได้ยศ
คนชอบสงเคราะห์
ชอบสร้างไมตรี รู้เรื่องที่เขาบอก(๔)
ปราศจากความตระหนี่ เป็นผู้ชอบแนะนำ
ชี้แจงแสดงเหตุผล เช่นนั้น ย่อมได้ยศ
ทาน(การให้) เปยยวัชชะ(วาจาเป็นที่รัก)
อัตถจริยา(การประพฤติประโยชน์) ในโลกนี้
และสมานัตตตา(การวางตนสม่ำเสมอ)
ในธรรมนั้น ๆ ตามสมควร
สังคหธรรมเหล่านี้แลช่วยอุ้มชูโลก
เหมือนลิ่มสลักเพลาคุมรถที่แล่นไปไว้ได้ฉะนั้น
ถ้าไม่มีสังคหธรรมเหล่านี้
มารดาหรือบิดาก็ไม่พึงได้การนับถือ
หรือการบูชาเพราะบุตรเป็นเหตุ
แต่เพราะบัณฑิตเล็งเห็นความสำคัญของสังคหธรรมเหล่านี้
ฉะนั้น บัณฑิตเหล่านี้จึงถึงความเป็นใหญ่และเป็นผู้น่าสรรเสริญ”

[๒๗๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สิงคาลกะ คหบดีบุตร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

สิงคาลกสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :

ผู้มีความสามารถ ในที่นี้หมายถึงผู้มีความสามารถที่จะครองเรือน คือเลี้ยงดูบุตรและภรรยาให้เป็นสุขได้
(ที.ปา.อ. ๒๗๓/๑๕๐)
มีไหวพริบ ในที่นี้หมายถึงมีความเฉลียวฉลาดในการไหว้ทิศ คือเข้าใจความหมายของการไหว้อย่างถูกต้อง
(ที.ปา.อ. ๒๗๓/๑๕๐)
ประพฤติไม่ขาดตอน ในที่นี้หมายถึงประพฤติต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสาย (ที.ปา.อ. ๒๗๓/๑๕๐)
รู้เรื่องที่เขาบอก ในที่นี้หมายถึงรู้เรื่องที่บุพการีสั่งไว้ แล้วปฏิบัติตามนั้น (ที.ปา.อ. ๒๗๓/๑๕๐)


ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น