Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๑๑-๒ หน้า ๕๐ - ๙๘

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๐๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค



พระสุตตันตปิฎก
ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการที่ถึงความบริสุทธิ์เพียงกระพี้

เรื่องการถึงความบริสุทธิ์เพียงกระพี้
[๗๒] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร
เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงให้
ข้าพระองค์ถึงยอดและถึงแก่นแห่งการกีดกันบาปด้วยตบะเถิด”
“นิโครธ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ เป็นอย่างไร
คือ ฯลฯ
นิโครธ การที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ จะเป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการได้
ก็เพราะเขามีสิ่งที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ โดยความเป็นผู้บำเพ็ญตบะ เขารักษาศีล
ให้ยิ่ง ไม่กลับมาเป็นคฤหัสถ์ พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด ฯลฯ
เขาละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต ทอนกำลังปัญญา
มีเมตตาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน
ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิต
อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีกรุณาจิต ฯลฯ
มีมุทิตาจิต ฯลฯ
มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่
เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง
๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง
๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการถึงความบริสุทธิ์ที่ถึงยอดและถึงแก่น
สังวัฏฏกัป๑เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัป๒เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป
และวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้น ก็ไปเกิดในภพโน้น
แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์
และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้น จึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกชาติก่อนได้
หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วย
ตบะ เป็นลัทธิที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิ
ที่บริสุทธิ์แน่นอน ไม่ใช่ไม่บริสุทธิ์ เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น”
“นิโครธ การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นลัทธิที่ยังไม่ถึงยอด
และถึงแก่น ที่แท้ เป็นลัทธิที่ถึงเพียงกระพี้เท่านั้น”
เรื่องการถึงความบริสุทธิ์ที่ถึงยอดและถึงแก่น
[๗๓] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร
เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงให้
ข้าพระองค์ถึงยอดและถึงแก่นแห่งการกีดกันบาปด้วยตบะเถิด”

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า สังวัฏฏะ แปลว่า ความเสื่อม ความพินาศ และคำว่า กัป แปลว่า กาลกำหนด ช่วงระยะเวลายาว
นานเหลือเกินที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาลประลัยครั้งหนึ่ง ดังนั้น คำว่า สังวัฏฏกัป หมายถึงช่วงระยะ
เวลาที่โลกเสื่อม มี ๓ อย่าง คือ (๑) อาโปสังวัฏฏกัป (กัปที่เสื่อมเพราะน้ำ) หมายถึงกัปที่เสื่อมเพราะ
น้ำท่วมนับแต่ชั้นสุภกิณหพรหมลงมา (๒) เตโชสังวัฏฏกัป (กัปที่เสื่อมเพราะไฟ) หมายถึงกัปที่ไฟไหม้
นับแต่ชั้นอาภัสสรพรหมลงมา (๓) วาโยสังวัฏฏกัป (กัปที่เสื่อมเพราะลม) หมายถึงกัปที่ลมพัดทำลาย
นับแต่ชั้นเวหัปผลพรหมลงมา หรือหมายถึงช่วงระยะเวลาที่เปลวไฟดับจนถึงมหาเมฆที่ให้กัปพินาศ
(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๕๖/๓๘๔, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๑๕๖-๑๕๘/๔๒๑, วิสุทฺธิ. ๒/๔๐๖/๕๕)
๒ วิวัฏฏกัป หมายถึงช่วงระยะเวลาที่โลกเจริญหรือหมายถึงช่วงระยะเวลาที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เกิดจน
ถึงมีมหาเมฆบริบูรณ์ (องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๑๕๖-๑๕๘/๔๒๑, วิสุทฺธิ. ๒/๔๐๖/๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการถึงความบริสุทธิ์ที่ถึงยอดและถึงแก่น
“นิโครธ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ เป็นอย่างไร
คือ ฯลฯ
นิโครธ การที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ จะเป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการได้
ก็เพราะเขามีสิ่งที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ โดยความเป็นผู้บำเพ็ญตบะ เขารักษา
ศีลให้ยิ่ง ไม่กลับมาเป็นคฤหัสถ์ พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด ฯลฯ
เขาละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต ทอนกำลังปัญญา
มีเมตตาจิต ฯลฯ
มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่
เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง
๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ฯลฯ เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะ
ทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
เขาเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม
เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
เขารู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ผู้เจริญเหล่านี้ที่ประกอบ
กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และ
ชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์เหล่านี้ ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต
และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรม
ตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เขาเห็น
หมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี
ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม อย่างนี้แล
นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วย
ตบะ เป็นลัทธิที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
คำสารภาพผิดของนิโครธปริพาชก
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิ
ที่บริสุทธิ์แน่นอน ไม่ใช่ไม่บริสุทธิ์ เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น๑”
[๗๔] “นิโครธ การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นลัทธิที่ถึง
ยอดและถึงแก่น ท่านกล่าวกับเราอย่างนี้ว่า ‘ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้
แนะนำเหล่าสาวก ทำให้เหล่าสาวกที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำแล้ว ถึงความ
เบาใจ ปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์อันเป็นที่พึ่งชั้นสูง’ เหตุอันยอดเยี่ยมกว่า และ
ประณีตกว่าที่ว่ามาแล้วนั่นแหละ เป็นธรรมที่เราใช้แนะนำเหล่าสาวก ทำให้เหล่า
สาวกที่เราแนะนำแล้วถึงความเบาใจ ปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์อันเป็นที่พึ่งชั้นสูง”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว ปริพาชกเหล่านั้น ส่งเสียงอื้ออึงว่า
“ในเรื่องนี้พวกเรากับอาจารย์ฉิบหายละ ในเรื่องนี้พวกเรากับอาจารย์วอดวายละ
พวกเราไม่รู้มากยิ่งไปกว่านี้เลย”
คำสารภาพผิดของนิโครธปริพาชก
[๗๕] เมื่อสันธานคหบดีทราบว่า บัดนี้ อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านี้ตั้งใจฟัง
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค เงี่ยโสตลงสดับ ไม่ส่งจิตไปในที่อื่นโดยแท้ จึงได้
กล่าวกับนิโครธปริพาชกว่า “ท่านนิโครธ ท่านได้กล่าวกับเราอย่างนี้ว่า ‘คหบดี
ท่านพึงทราบเถิด พระสมณโคดมจะเจรจากับใครได้ จะสนทนากับใครได้ จะมี
ปัญญาเฉลียวฉลาดเหนือกว่าใคร พระปัญญาของพระสมณโคดมเหมาะกับเรือนว่าง
เท่านั้น พระสมณโคดมไม่กล้าเข้าไปสู่บริษัท ไม่สามารถที่จะเจรจาได้ พระองค์
ประทับอยู่ ณ ภายในที่สงัดเท่านั้น เหมือนโคตาบอดเดินวนเวียนอยู่ ณ ภายในที่
สงัดเท่านั้น พระปัญญาของพระสมณโคดมเหมาะกับเรือนว่าง พระสมณโคดม
ไม่กล้าเข้าไปสู่บริษัท ไม่สามารถที่จะเจรจาได้ พระองค์ประทับอยู่เฉพาะภายใน

เชิงอรรถ :
๑ ถึงยอดและถึงแก่น ในที่นี้หมายความว่าถึงยอดและถึงแก่นตามลัทธิเดียรถีย์ ซึ่งมีอุปมาว่า ลาภสักการะ
เหมือนกิ่งไม้และใบไม้ ศีล ๕ เหมือนสะเก็ดไม้ สมาบัติ ๘ เหมือนเปลือกไม้ ปุพเพนิวาสานุสสติ (ญาณ
ที่ทำให้ระลึกชาติได้) และอภิญญาอันเป็นที่สุดเป็นกระพี้ไม้ ทิพพจักขุ (ญาณที่ทำให้มีตาทิพย์) เหมือนแก่นไม้
ส่วนความหมายตามพระพุทธศาสนามีอุปมาว่า ลาภสักการะเหมือนกิ่งไม้และใบไม้ ปาริสุทธิศีล ๔
เหมือนสะเก็ดไม้ ฌานสมาบัติเหมือนเปลือกไม้ อภิญญาที่เป็นโลกิยะเหมือนกระพี้ไม้ มรรคผลเหมือนแก่นไม้
(ที.ปา.อ. ๗๔/๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
คำสารภาพผิดของนิโครธปริพาชก
ที่สงัดเท่านั้น คหบดี ขอให้พระสมณโคดมมาสู่บริษัทนี้เถิด พวกเราจะผูกพระสมณ-
โคดมด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น เหวี่ยงให้หมุนเหมือนหม้อเปล่า ฉะนั้น’ ท่านนิโครธ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเสด็จมาถึงที่นี่แล้ว พวกท่าน
จงทำให้พระองค์ไม่กล้าเสด็จเข้ามาสู่บริษัท จงทำให้เป็นเหมือนโคตาบอดเดิน
วนเวียน จงผูกพระองค์ด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น จงเหวี่ยงพระองค์ให้หมุนเหมือน
หม้อเปล่าเถิด”
เมื่อสันธานคหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกนั่งนิ่ง เก้อเขิน๑ คอตก
ก้มหน้า ซบเซา ตอบโต้ไม่ได้
[๗๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นิโครธปริพาชกนั่งนิ่ง เก้อเขิน คอ
ตก ก้มหน้า ซบเซา ตอบโต้ไม่ได้ จึงตรัสกับนิโครธปริพาชกดังนี้ว่า “นิโครธ ท่าน
กล่าววาจานี้จริงหรือ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์กล่าววาจานี้จริง เพราะความเป็นคนโง่
เขลา ไม่ฉลาด”
“นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ท่านเคยได้ยินปริพาชกผู้แก่ ผู้เฒ่า
ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์ พูดกันอย่างนี้บ้างไหมว่า ‘พระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าทั้งหลายได้มีแล้วในอดีตกาล พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นเสด็จมาพบปะ
สมาคมกันแล้ว มีพระสุรเสียงดังอื้ออึงอยู่ มักทรงสนทนาถึงดิรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ
เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ
เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องพวงดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ
เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องเมืองหลวง เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ
เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด
เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้น ๆ เหมือน
ท่านกับอาจารย์พูดคุยกันในบัดนี้หรือ หรือว่าท่านเคยได้ยินมาอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นทรงใช้สอยเสนาสนะ เป็นป่าละเมาะ และป่าทึบ อันสงัด มีเสียง
เบา มีเสียงเอ็ดอึงน้อย ปราศจากเสียงพูดของคนที่สัญจร เป็นสถานที่ควรทำ
เรื่องลับของมนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้น เหมือนเราผู้ปฏิบัติอยู่ในบัดนี้”

เชิงอรรถ :
๑ เก้อเขิน ในที่นี้หมายถึงหมดอำนาจ หมดฤทธิ์เดช (ที.ปา.อ. ๗๕/๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
การทำให้แจ้งที่สุดซึ่งพรหมจรรย์
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินปริพาชกผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์
และผู้เป็นปาจารย์พูดสืบกันมาว่า ‘พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายได้มีแล้ว
ในอดีตกาล พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นเสด็จมาพบปะสมาคมกันแล้ว มีพระสุรเสียง
ดังอื้ออึงอยู่ มักทรงสนทนาถึงดิรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร
ฯลฯ เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้น ๆ เหมือนข้าพระองค์กับ
อาจารย์พูดคุยกันในบัดนี้ก็หามิได้ พระผู้มีพระภาคทั้งหลาย ทรงใช้สอยเสนาสนะ
เป็นป่าละเมาะ และป่าทึบ อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการ
สัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้น
เหมือนพระผู้มีพระภาคในบัดนี้”
“นิโครธ ท่านเป็นผู้รู้ เป็นคนแก่ ไม่ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคนั้น
เป็นผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อความตรัสรู้ พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงฝึกตนแล้ว
ทรงแสดงธรรมเพื่อการฝึกตน พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงสงบแล้ว ทรงแสดงธรรม
เพื่อความสงบ พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงข้ามโอฆะ๑ ๔ ประการ ได้แล้ว ทรงแสดง
ธรรมเพื่อข้ามโอฆะ ๔ ประการ พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงดับกิเลสได้แล้ว ทรงแสดง
ธรรมเพื่อความดับกิเลสได้”
การทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์
[๗๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความผิดได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้โง่ เขลา
ไม่ฉลาด ซึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ ขอพระองค์โปรดทรงรับทราบความ
ผิดของข้าพระองค์ตามความผิดเถิด เพื่อจะได้สำรวมต่อไป”
“นิโครธ เอาเถิด ความผิดได้ครอบงำท่านผู้โง่ เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งได้กล่าวกับ
เราอย่างนี้ แต่เธอเห็นความผิดว่าเป็นความผิดแล้วสารภาพตามความเป็นจริง ดังนั้น
เราขอรับทราบความผิดนั้นของท่าน ก็ผู้ที่เห็นความผิดว่าเป็นความผิดแล้วสารภาพ

เชิงอรรถ :
๑ โอฆะ หมายถึงกิเลสดุจน้ำท่วมพาผู้ตกไปให้พินาศ มี ๔ ประการ คือ (๑) กาโมฆะ (โอฆะคือกาม)
(๒) ภโวฆะ (โอฆะคือภพ) (๓) ทิฏโฐฆะ (โอฆะคือทิฏฐิ) (๔) อวิชโชฆะ (โอฆะคืออวิชชา) (ที.ปา.อ. ๓/๑๒/
๒๒๑, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๖/๔๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
การทำให้แจ้งที่สุดซึ่งพรหมจรรย์
ออกมาตามความเป็นจริง รับว่าจะสำรวมต่อไป วิธีนี้เป็นความเจริญในอริยวินัย
นิโครธ ก็เรากล่าวอย่างนี้ว่า
‘บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เป็นคนตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะ
แสดงธรรม เขาปฏิบัติตามธรรมที่สั่งสอน เพียง ๗ ปี ก็จะทำให้แจ้งประโยชน์
ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่แท้
นิโครธ ๗ ปี จงยกไว้
บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เป็นคนตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะ
แสดงธรรม เขาปฏิบัติตามธรรมที่สั่งสอน เพียง ๖ ปี ก็จะทำให้แจ้งประโยชน์
ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่แท้
นิโครธ ๖ ปีจงยกไว้
... เพียง ๕ ปี ...
... เพียง ๔ ปี ...
... เพียง ๓ ปี ...
... เพียง ๒ ปี ...
... เพียง ๑ ปี ... นิโครธ ๑ ปีจงยกไว้
บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เป็นคนตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะ
แสดงธรรม เขาปฏิบัติตามธรรมที่สั่งสอน เพียง ๗ เดือน ก็จะทำให้แจ้งประโยชน์
ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่แท้
นิโครธ ๗ เดือนจงยกไว้ ...
... เพียง ๖ เดือน...
... เพียง ๕ เดือน...
... เพียง ๔ เดือน...
... เพียง ๓ เดือน...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร] การสารภาพผิดของปริพาชก
... เพียง ๒ เดือน...
... เพียง ๑ เดือน...
... เพียงครึ่งเดือน นิโครธ ครึ่งเดือนจงยกไว้
บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เป็นคนตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะ
แสดงธรรม เขาปฏิบัติตามธรรมที่สั่งสอน เพียง ๗ วัน ก็จะทำให้แจ้งประโยชน์
ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่แท้
การสารภาพผิดของปริพาชก
[๗๘] นิโครธ บางทีท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้
เพราะปรารถนาจะให้เราเป็นอันเตวาสิก’ แต่ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น ผู้ใดเป็น
อาจารย์ของท่าน ผู้นั้นก็จงเป็นอาจารย์ของท่านต่อไป
บางทีท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เราเคลื่อนจาก
อุทเทส๑ จึงตรัสอย่างนี้’ แต่ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น อุทเทสใดเป็นของท่าน
อุทเทสนั้นก็จงเป็นของท่านต่อไป
บางทีท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เราเคลื่อนจาก
อาชีพ๒ จึงตรัสอย่างนี้’ แต่ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น อาชีพใดเป็นของท่าน
อาชีพนั้นก็จงเป็นของท่านต่อไป
บางทีท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เรากับอาจารย์
ตั้งอยู่ในอกุศลธรรมและธรรมที่นับเนื่องในอกุศลธรรม จึงตรัสอย่างนี้’ แต่ข้อนั้น
ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น อกุศลธรรมและธรรมที่นับเนื่องในอกุศลธรรม ก็จงเป็นของ
ท่านกับอาจารย์ต่อไป
บางทีท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เรากับอาจารย์
ห่างจากกุศลธรรมและธรรมที่นับเนื่องในกุศลธรรม จึงตรัสอย่างนี้’ แต่ข้อนั้นท่าน
ไม่พึงเห็นอย่างนั้น กุศลธรรมและธรรมที่นับเนื่องในกุศลธรรม ก็จงเป็นของท่านกับ
อาจารย์ต่อไป

เชิงอรรถ :
๑ อุทเทส ในที่นี้หมายถึงแบบแผนแห่งธรรม (ที.ปา.อ. ๗๘/๒๗, ที.ปา.ฏีกา ๗๘/๒๖)
๒ อาชีพ ในที่นี้หมายถึงการดำรงชีพ (ที.ปา.อ. ๗๘/๒๗, ที.ปา.ฏีกา ๗๘/๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร] การสารภาพผิดของปริพาชก
นิโครธ ด้วยประการอย่างนี้แล เพราะปรารถนาจะให้ท่านเป็นอันเตวาสิก เรา
จึงกล่าวอย่างนี้ก็หาไม่ ปรารถนาจะให้ท่านเคลื่อนจากอุทเทสจึงกล่าวอย่างนี้ก็หาไม่
ปรารถนาจะให้ท่านเคลื่อนจากอาชีพ จึงกล่าวอย่างนี้ก็หาไม่ ปรารถนาจะให้ท่านกับ
อาจารย์ดำรงอยู่ในอกุศลธรรมและธรรมที่นับเนื่องในอกุศลธรรม จึงกล่าวอย่างนี้
ก็หาไม่ ปรารถนาจะให้ท่านกับอาจารย์ห่างจากกุศลธรรมและธรรมที่นับเนื่องใน
กุศลธรรม จึงกล่าวอย่างนี้ก็หาไม่
นิโครธ เราแสดงธรรมเพื่อให้ละอกุศลธรรมที่ยังละไม่ได้ ที่เศร้าหมอง ที่สร้าง
ภพใหม่ ที่มีความกระวนกระวาย ที่มีทุกข์เป็นผล ที่เป็นปัจจัยแห่งความเกิด ความแก่
และความตายต่อ ๆ ไป ท่านทั้งหลายปฏิบัติตามธรรมแล้ว จักละธรรมเป็นเหตุให้
เศร้าหมอง๑ ได้ ธรรมเป็นเหตุให้ผ่องแผ้ว๒จักเจริญยิ่งขึ้น ท่านทั้งหลายจักรู้แจ้ง
ความบริบูรณ์แห่งปัญญา๓และความไพบูลย์๔ด้วยตนเองอยู่ในปัจจุบันทีเดียว”
[๗๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นได้นั่งนิ่ง เก้อเขิน
คอตก ก้มหน้า ซบเซา ตอบโต้ไม่ได้ คล้ายกับถูกมารดลใจ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริดังนี้ว่า “โมฆบุรุษเหล่านี้ทั้งหมด ถูกมาร
ใจบาปดลใจแล้ว จนไม่มีใครแม้สักคนหนึ่งที่คิดอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี พวกเราจัก
ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดม เพื่อความรู้ทั่วถึงบ้างว่า ‘๗ วันจักก่อผล
อะไรได้”
พระผู้มีพระภาคทรงบันลือสีหนาท๕ ในอารามของปริพาชกของพระนาง
อุทุมพริกาแล้ว ทรงเหาะขึ้นสู่อากาศ ปรากฏพระองค์อยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ ส่วน
สันธานคหบดีก็กลับเข้าไปกรุงราชคฤห์ในขณะนั้นเหมือนกัน
อุทุมพริกสูตรที่ ๒ จบ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
การมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง

๓. จักกวัตติสูตร
ว่าด้วยพระเจ้าจักรพรรดิ
การมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง
[๘๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองมาตุลา แคว้นมคธ ณ ที่นั้น
พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้น
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นเกาะ๑ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็น
ที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด
ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ
มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมป-
ชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด
อภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรม
เป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ มีตนเป็นเกาะ ในที่นี้หมายถึงทำตนให้พ้นจากห้วงน้ำ คือ โอฆะ ๔ เหมือนกับเกาะกลางมหาสมุทรที่น้ำ
ท่วมไม่ถึง (ที.ม.อ. ๑๖๕/๑๕๐, ที.ม.ฏีกา ๑๖๕/๑๘๐) ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๖๕/๑๑๑, สํ.ม. (แปล)
๑๙/๓๗๙/๒๓๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร] เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิทัฬหเนมิ
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงประพฤติธรรมอันเป็นโคจร๑ ซึ่งเป็นวิสัยอัน
สืบเนื่องมาจากบิดาของตน เมื่อเธอทั้งหลายประพฤติธรรมอันเป็นโคจรซึ่งเป็นวิสัย
อันสืบเนื่องมาจากบิดาของตน มารจะไม่ได้โอกาส จะไม่ได้อารมณ์ ภิกษุทั้งหลาย
บุญนี้ย่อมเจริญขึ้นได้อย่างนี้ เพราะการสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ
เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิทัฬหเนมิ
[๘๑] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า
ทัฬหเนมิ ผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้งสี่
เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ
ได้แก่ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว (๕) นางแก้ว
(๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่ง
ล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรง
ชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาครเป็น
ขอบเขต
[๘๒] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น เมื่อเวลาล่วงไปหลายปี หลายร้อยปี หลาย
พันปี พระเจ้าทัฬหเนมิรับสั่งเรียกราชบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า ‘บุรุษผู้เจริญ ในขณะที่
ท่านเห็นจักรแก้วอันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง พึงบอกแก่เราทันที’ ราชบุรุษนั้น
ทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว เมื่อเวลาล่วงไปอีกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี
ราชบุรุษนั้นได้เห็นจักรแก้วอันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง จึงเข้าไปเฝ้าท้าวเธอถึง
ที่ประทับ แล้วได้กราบทูลพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าทัฬหเนมิดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระองค์ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของ
พระองค์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้งแล้ว’

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมอันเป็นโคจร ในที่นี้หมายถึงธรรมที่เป็นอารมณ์กัมมัฏฐานของภิกษุ (ที.ปา.อ. ๘๐/๓๑, ที.ปา.ฏีกา
๘๐/๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร] เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิทัฬหเนมิ
ลำดับนั้น ท้าวเธอรับสั่งเรียกพระกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่มาตรัสว่า
‘ลูกเอ๋ย ทราบว่าจักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพ่อถอยเคลื่อนจากที่ตั้งแล้ว ก็พ่อได้ยิน
มาว่า ‘จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ใดถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง
ณ บัดนี้ พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้น จะทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่นาน’ กามทั้งหลาย
อันเป็นของมนุษย์พ่อก็ได้บริโภคแล้ว บัดนี้เป็นเวลาที่พ่อจะแสวงหากามทั้งหลาย
อันเป็นทิพย์ มาเถิด ลูกเอ๋ย ลูกจงปกครองแผ่นดิน อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขตนี้
ส่วนพ่อจะโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต๑’
[๘๓] ภิกษุทั้งหลาย ครั้นพระเจ้าทัฬหเนมิทรงสั่งสอนพระกุมารผู้เป็นพระ
ราชโอรสองค์ใหญ่ในเรื่องการครองราชย์เรียบร้อยแล้ว ทรงโกนพระเกศาและพระมัสสุ
ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อพระราชฤๅษี
ผนวชได้ ๗ วัน จักรแก้วอันเป็นทิพย์ได้อันตรธานไป
ครั้งนั้น ราชบุรุษคนหนึ่งเข้าไปเฝ้ากษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษก๒ แล้ว ถึงที่
ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระองค์
ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว’ ขณะนั้น เมื่อจักรแก้วอัน
เป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ท้าวเธอทรงเสียพระทัย ทรงแสดงความเสียพระทัยให้
ปรากฏ จึงเสด็จเข้าไปหาพระราชฤๅษีถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระองค์ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไป
แล้ว’ เมื่อท้าวเธอกราบทูลอย่างนี้ พระราชฤๅษีจึงตรัสว่า ‘ลูก เมื่อจักรแก้วอัน
เป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว เจ้าอย่าเสียใจและอย่าแสดงความเสียใจให้ปรากฏเลย

เชิงอรรถ :
๑ บวชเป็นบรรพชิต ในที่นี้หมายถึงบวชเป็นดาบส ซึ่งต้องโกนผมและหนวดเป็นพิธีการแรก หลังจากบวช
แล้วเมื่อผมงอกขึ้นมาใหม่ ก็จะใช้วิธีมุ่นผมเป็นชฎา แล้วเที่ยวไป การบวชในสมัยแรกใช้ผ้ากาสาวพัสตร์
(ผ้าที่ย้อมน้ำฝาด) ในสมัยต่อมาใช้ผ้าเปลือกไม้ก็มี (ที.ปา.อ. ๘๒/๓๓)
๒ มูรธาภิเษก หมายถึงพิธีหลั่งน้ำรดพระเศียรในงานราชาภิเษก หรือพระราชพิธีอื่น ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร] จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ
ด้วยว่า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ หาใช่เป็นทรัพย์สมบัติที่เป็นมรดกสืบมาจากบิดาของ
เจ้าไม่ ขอให้ลูกประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐเถิด ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แล
คือ เมื่อลูกประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ สนานพระเศียร ในวันอุโบสถ
๑๕ ค่ำ รักษาอุโบสถ ประทับอยู่ชั้นบนปราสาทหลังงาม จักปรากฏจักรแก้วอันเป็น
ทิพย์ ซึ่งมีกำ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง’
จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ
[๘๔] ‘จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐนั้น เป็นอย่างไร พระเจ้าข้า’
‘ลูกเอ๋ย ถ้าเช่นนั้น ลูกจงอาศัยธรรม๑เท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม
นับถือธรรม บูชาธรรม นอบน้อมธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรม
เป็นใหญ่ จงจัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองชนภายใน๒ กำลังพล พวกกษัตริย์ผู้
ตามเสด็จ พราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท สมณพราหมณ์ สัตว์
จำพวกเนื้อและนกโดยธรรม การกระทำสิ่งที่ผิดแบบแผน อย่าได้เป็นไปในแว่นแคว้น
ของลูก อนึ่ง บุคคลเหล่าใดในแว่นแคว้นของลูก ไม่มีทรัพย์ ลูกพึงให้ทรัพย์แก่บุคคล
เหล่านั้นด้วย อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดในแว่นแคว้นของลูก เว้นขาดจากความ
มัวเมา และความประมาท๓ ตั้งมั่นอยู่ในขันติ(ความอดทน)และโสรัจจะ(ความเสงี่ยม)
ฝึกตน สงบตน ให้ตนดับกิเลสอยู่แต่ผู้เดียว ลูกพึงเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น
ตามกาลอันควรแล้วไต่ถามสอบถามว่า ‘ท่านขอรับ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล
อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเกี่ยวข้อง อะไรไม่ควรเกี่ยวข้อง อะไรที่ข้าพเจ้า
ทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน หรือว่าอะไรที่ข้าพเจ้าทำอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ คือ (๑) เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ (๒) เว้นขาดจากการ
ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ (๓) เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม (๔) เว้นขาดจากการพูดเท็จ
(๕) เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด (๖) เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ (๗) เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ
(๘) ความไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา (๙) ความมีจิตไม่พยาบาท (๑๐) ความเห็นชอบ (ที.ปา.อ. ๘๔/๓๔)
๒ ชนภายใน ในที่นี้หมายถึงพระมเหสี พระราชโอรส และพระราชธิดา (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๔/๘๘)
๓ ความประมาท ในที่นี้หมายถึงความมีจิตหมกมุ่นในกามคุณ ๕ (ที.ปา.อ. ๘๔/๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร] การปรากฏของจักรแก้ว
พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน’ ครั้นลูกได้ฟังจากสมณพราหมณ์เหล่า
นั้นแล้ว สิ่งใดเป็นอกุศล พึงละเว้นสิ่งนั้น สิ่งใดเป็นกุศล พึงยึดถือประพฤติสิ่งนั้น
ให้มั่น ลูกเอ๋ย จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐนั้น เป็นอย่างนี้แล’
การปรากฏของจักรแก้ว
[๘๕] ภิกษุทั้งหลาย กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วรับสนองพระดำรัส
ของพระราชฤๅษีแล้ว ทรงประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ เมื่อท้าวเธอทรง
ประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐอยู่ สนานพระเศียร ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ รักษา
อุโบสถ ประทับอยู่ชั้นบนปราสาทหลังงาม ปรากฏจักรแก้วอันเป็นทิพย์ ซึ่งมี
กำ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง เมื่อกษัตราธิราชผู้ได้รับ
มูรธาภิเษกแล้ว ทอดพระเนตรแล้วทรงดำริว่า ‘เราได้ฟังเรื่องนี้มาว่า ‘กษัตราธิราช
พระองค์ใด ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงสนานพระเศียร ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ
รักษาอุโบสถ ประทับอยู่ชั้นบนปราสาทหลังงาม จักปรากฏจักรแก้วอันเป็นทิพย์
ซึ่งมีกำ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง กษัตราธิราช
พระองค์นั้นย่อมเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ’ เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิกระมัง’
ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงลุกจากที่ประทับ ทรงพระภูษาเฉวียงบ่า พระหัตถ์ซ้าย
ทรงจับพระเต้าทอง พระหัตถ์ขวาทรงชูจักรแก้วขึ้นตรัสว่า ‘จักรแก้วอันประเสริฐ
จงหมุนไป จงได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่’ ทันใดนั้น จักรแก้วหมุนไปทางทิศตะวันออก
ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา๑ ได้เสด็จตามไป เสด็จเข้าพักแรมพร้อมด้วย
จตุรงคินีเสนาในประเทศที่จักรแก้วอันเป็นทิพย์หยุดอยู่
พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออก พากันเสด็จมาเฝ้าแล้วกราบทูล
อย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จพระองค์
ราชสมบัติของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทานพระราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’

เชิงอรรถ :
๑ จตุรงคินีเสนา หมายถึงกองทัพที่มีกำลัง ๔ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า (สํ.ส.อ.
๑/๑๒๕/๑๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร] การปรากฏของจักรแก้ว
ท้าวเธอตรัสตอบอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
เขาไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดคำเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และจงครอง
ราชสมบัติไปตามเดิมเถิด’
พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออกเหล่านั้นกลับอ่อนน้อมต่อท้าวเธอ
[๘๖] ภิกษุทั้งหลาย จากนั้น จักรแก้วหมุนไปยังมหาสมุทรทิศตะวันออก
แล้วกลับเวียนไปทางทิศใต้ ฯลฯ หมุนไปยังมหาสมุทรทิศใต้แล้วกลับเวียนไปทาง
ทิศตะวันตก ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาได้เสด็จตามไป เสด็จเข้าพักแรมพร้อม
ด้วยจตุรงคินีเสนาในประเทศที่จักรแก้วอันเป็นทิพย์หยุดอยู่
พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันตก พากันเสด็จมาเฝ้าแล้วกราบทูล
อย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จพระองค์
ราชสมบัติของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทานพระราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’
ท้าวเธอตรัสตอบอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
เขาไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดคำเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และจงครอง
ราชสมบัติไปตามเดิมเถิด’
พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันตกเหล่านั้นกลับอ่อนน้อมต่อท้าวเธอ
[๘๗] จากนั้น จักรแก้วหมุนไปยังมหาสมุทรทิศตะวันตกแล้วกลับหมุนไป
ทางทิศเหนือ ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา ได้เสด็จตามไป เสด็จเข้าพักแรม
ในประเทศที่จักรแก้วอันเป็นทิพย์หยุดอยู่ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือ
พากันเสด็จมาเฝ้าแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จ
มาเถิด ขอรับเสด็จพระองค์ ราชสมบัติของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทาน
พระราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๒ เป็นต้น
ท้าวเธอตรัสตอบอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
เขามิได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดคำเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และจงครอง
ราชสมบัติไปตามเดิมเถิด’
พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือเหล่านั้นกลับอ่อนน้อมต่อท้าวเธอ
ครั้งนั้น จักรแก้วได้ปราบปรามแผ่นดินมีมหาสมุทรเป็นขอบเขตอย่างราบคาบ
เสร็จแล้วหมุนกลับยังราชธานีนั้นมาปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิที่พระทวารภายใน
พระราชวัง ณ หน้ามุขที่ทรงวินิจฉัยราชกิจ ทำภายในพระราชวังของท้าวเธอให้
สว่างไสว
เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๒ เป็นต้น
[๘๘] ภิกษุทั้งหลาย แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๒ ฯลฯ
แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๓ ฯลฯ
แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๔ ฯลฯ
แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๕ ฯลฯ
แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๖ ฯลฯ
แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๗ เมื่อเวลาล่วงไปหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี
ได้รับสั่งเรียกราชบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า ‘บุรุษผู้เจริญ ในขณะที่ท่านเห็นจักรแก้ว
อันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง พึงบอกแก่เราทันที’ ราชบุรุษนั้นทูลรับสนองพระ
ราชดำรัสแล้ว เมื่อเวลาล่วงไปอีกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี ราชบุรุษนั้นได้
เห็นจักรแก้วอันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง จึงเข้าไปเฝ้าท้าวเธอถึงที่ประทับ แล้ว
ได้กราบทูลพระเจ้าจักรพรรดิดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระองค์
ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระองค์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้งแล้ว’
[๘๙] ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอรับสั่งเรียกพระกุมาร ผู้เป็นพระราช-
โอรสองค์ใหญ่มาตรัสว่า ‘ลูกเอ๋ย ทราบว่าจักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพ่อถอยเคลื่อนจาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๒ เป็นต้น
ที่ตั้งแล้ว ก็พ่อได้ยินมาว่า ‘จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ใด
ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง ณ บัดนี้ พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้น จะทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่
นาน’ กามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์พ่อก็ได้บริโภคแล้ว บัดนี้เป็นเวลาที่พ่อจะ
แสวงหากามทั้งหลายอันเป็นทิพย์ มาเถิด ลูกเอ๋ย ลูกจงปกครองแผ่นดิน อันมี
มหาสมุทรเป็นขอบเขตนี้ ส่วนพ่อจะโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออก
จากเรือนบวช เป็นบรรพชิต
ครั้นพระเจ้าจักรพรรดิทรงสั่งสอนพระกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในเรื่อง
การครองราชย์เรียบร้อยแล้ว ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์
เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อพระราชฤๅษีผนวชได้ ๗ วัน จักรแก้ว
อันเป็นทิพย์ได้อันตรธานไป
[๙๐] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น ราชบุรุษคนหนึ่งเข้าไปเฝ้ากษัตราธิราชผู้ได้รับ
มูรธาภิเษกแล้วถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
ขอพระองค์ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว’ ขณะนั้น เมื่อ
จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ท้าวเธอทรงเสียพระทัย ทรงแสดงความเสีย
พระทัยให้ปรากฏ แต่ไม่ได้เสด็จเข้าไปหาพระราชฤๅษีทูลถามถึงจักรวรรดิวัตรอัน
ประเสริฐ นัยว่า ท้าวเธอทรงปกครองประชาราษฎร์ตามพระมติของพระองค์เอง
เมื่อท้าวเธอทรงปกครองประชาราษฎร์ตามพระมติของพระองค์เองอยู่ ประชาราษฎร์
ก็ไม่เจริญต่อไปเหมือนเก่าก่อน เหมือนเมื่อกษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ ซึ่งได้ทรงประพฤติ
จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐอยู่
ครั้งนั้น ข้าราชการ ข้าราชบริพาร โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพ นายกอง
ราชองครักษ์ องคมนตรี ได้ประชุมกันกราบทูลท้าวเธอดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ทราบว่า
เมื่อพระองค์ทรงปกครองชนบท๑ ตามพระมติของพระองค์เอง ประชาราษฎร์ก็ไม่

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๔ ข้อ ๕๐ หน้า ๓๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น
เจริญต่อไปเหมือนเก่าก่อน เหมือนเมื่อกษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ ซึ่งได้ทรงประพฤติ
จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐอยู่ พระเจ้าข้า ในแว่นแคว้นของพระองค์มีข้าราชการ
ข้าราชบริพาร โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ องคมนตรี
อยู่พร้อมทีเดียว ข้าพระองค์ทั้งหลายและประชาราษฎร์เหล่าอื่น จดจำจักรวรรดิวัตร
อันประเสริฐได้อยู่ ขอพระองค์โปรดตรัสถามถึงจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐเถิด พระองค์
ตรัสถามแล้ว พวกข้าพระพุทธเจ้าก็จักกราบทูลจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐถวาย’
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น
[๙๑] ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอโปรดให้ประชุมข้าราชการ ข้าราช-
บริพาร โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ องคมนตรี
ตรัสถามถึงจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ พวกเขาจึงกราบทูลจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ
แก่ท้าวเธอ ท้าวเธอได้ฟังคำทูลตอบของพวกเขาแล้ว จึงทรงจัดการรักษา ป้องกัน
และคุ้มครองโดยชอบธรรม แต่ไม่ได้พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ เมื่อไม่
พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนจึงแพร่หลาย เมื่อความขัดสน
แพร่หลาย บุรุษคนหนึ่งจึงถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย ประชาชน
ช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้วนำไปถวายแก่ท้าวเธอ กราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละออง
ธุลีพระบาท บุรุษคนนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย’ เมื่อพวกเขา
กราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสถามบุรุษนั้นว่า ‘ทราบว่า เธอถือเอาสิ่งของที่
ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยจริงหรือ’
‘จริง พระเจ้าข้า’
‘เพราะเหตุไร’
‘เพราะข้าพระองค์ไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ’
ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงพระราชทานทรัพย์ให้แก่เขาแล้วรับสั่งว่า ‘พ่อคุณ เธอจง
เลี้ยงชีพ จงเลี้ยงมารดาบิดา เลี้ยงบุตรภรรยา ประกอบการงานทั้งหลาย จงตั้งทักษิณา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น
ในสมณพราหมณ์ทั้งหลายที่ทำให้มีผลสูงขึ้นไป๑ที่เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล
ให้เกิดในสวรรค์๒ด้วยทรัพย์นี้เถิด’
เขาได้ทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว
แม้บุรุษอีกคนหนึ่ง ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย คนทั้งหลาย
ช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้วจึงนำไปถวายแก่ท้าวเธอ กราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละออง
ธุลีพระบาท บุรุษนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย’ เมื่อพวกเขากราบ
ทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสถามบุรุษนั้นว่า ‘พ่อคุณ ได้ยินว่า เธอถือเอาสิ่งของ
ที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยจริงหรือ’
‘จริง พระเจ้าข้า’
‘เพราะเหตุไร’
‘เพราะข้าพระองค์ไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ’
ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงพระราชทานทรัพย์ให้แก่เขาแล้วรับสั่งว่า ‘พ่อคุณ เธอ
จงเลี้ยงชีพ จงเลี้ยงมารดาบิดา จงเลี้ยงบุตรภรรยา จงประกอบการงานทั้งหลาย
จงตั้งทักษิณาในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ที่ทำให้มีผลสูงขึ้นไป เป็นไปเพื่อไห้ได้อารมณ์ดี
มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ด้วยทรัพย์นี้เถิด’
เขาทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว
[๙๒] ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายได้ฟังมาว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ทราบ
ว่า คนถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย พระเจ้าแผ่นดินยังพระราช-
ทานทรัพย์ให้อีก’ จึงพากันคิดเห็นอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี แม้พวกเราก็ควรถือเอาสิ่ง
ของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยบ้าง’

เชิงอรรถ :
๑ มีผลสูงขึ้นไป ในที่นี้หมายถึงส่งผลให้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ คือ (๑) จาตุมหาราช (๒) ดาวดึงส์
(๓) ยามา (๔) ดุสิต (๕) นิมมานรดี (๖) ปรนิมมิตวสวัตดี (ที.ปา.ฏีกา ๙๑/๓๖)
๒ ให้เกิดในสวรรค์ในที่นี้หมายถึงให้ได้คุณวิเศษที่ล้ำเลิศ ๑๐ อย่าง มีผิวพรรณทิพย์ เป็นต้น (ที.ปา.อ. ๙๑/๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น
ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย คนทั้งหลาย
ช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้ว จึงนำไปถวายแก่ท้าวเธอ กราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละออง
ธุลีพระบาท บุรุษนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย’ เมื่อพวกเขากราบทูล
อย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสถามบุรุษนั้นว่า ‘พ่อคุณ ได้ทราบว่า เธอถือเอาสิ่งของ
ที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยจริงหรือ’
‘จริง พระเจ้าข้า’
‘เพราะเหตุไร’
‘เพราะข้าพระองค์ไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ’
ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงทรงพระดำริอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเราจักให้ทรัพย์แก่คนที่ถือเอา
สิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย อทินนาทาน (การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
ไม่ได้ให้)นี้ จักแพร่หลายขึ้นด้วยประการอย่างนี้ ทางที่ดี เราควรให้คุมตัวบุรุษผู้นี้
อย่างแข็งขัน แล้วตัดต้นคอ ตัดศีรษะของบุรุษนั้นเสีย’ จากนั้น ท้าวเธอทรงสั่งบังคับ
ราชบุรุษทั้งหลายว่า ‘แน่ะพนาย ถ้าเช่นนั้น ท่านจงใช้เชือกเหนียว ๆ มัดบุรุษนี้
ไพล่หลังอย่างแน่นหนาแล้ว โกนผมนำตระเวนไปตามถนนและตรอก พร้อมกับ
แกว่งบัณเฑาะว์๑เสียงดังน่ากลัวนำออกทางประตูด้านทิศใต้ จงคุมตัวอย่างแข็งขัน
ทำการประหารชีวิต ตัดศีรษะบุรุษนั้นเสียทางด้านทิศใต้แห่งพระนคร’ ราชบุรุษทั้งหลาย
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว จึงใช้เชือกเหนียวมัดบุรุษนั้นเอาแขนไพล่หลังอย่างแน่น
หนาแล้ว โกนผมนำตระเวนไปตามถนนและตรอกพร้อมกับแกว่งบัณเฑาะว์เสียงดัง
น่ากลัวนำออกทางประตูด้านทิศใต้ คุมตัวอย่างแข็งขัน ทำการประหารชีวิต ตัดศีรษะ
บุรุษนั้นทางด้านทิศใต้แห่งพระนคร
[๙๓] ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายได้ฟังว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ทราบว่า
พระเจ้าแผ่นดินได้คุมตัวคนผู้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยอย่างแข็งขัน
ตัดต้นคอ ตัดศีรษะพวกเขาเสีย’ ครั้นได้ฟังแล้วจึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี

เชิงอรรถ :
๑ บัณเฑาะว์ ในที่นี้หมายถึงกลองที่ใช้ตีให้สัญญาณเมื่อจะประหารนักโทษ (ที.ปา.อ. ๙๒/๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น
แม้พวกเราก็ควรให้ช่างทำศัสตราอย่างคม ๆ แล้วจับคนที่ไม่ให้สิ่งของที่พวกเรา
ถือเอาโดยอาการขโมยคุมตัวไว้อย่างแข็งขัน จักประหารชีวิต ตัดศีรษะของพวกมันเสีย’
พวกเขาจึงให้ช่างทำศัสตราคม แล้วจึงเริ่มทำการปล้นบ้าน นิคม พระนคร ปล้นตาม
ถนนหนทาง จับคนที่ไม่ให้สิ่งของที่พวกตนถือเอาโดยอาการขโมย คุมตัวอย่างแข็งขัน
ประหารชีวิต ตัดศีรษะของบุคคลเหล่านั้นเสีย
[๙๔] ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์
ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความ
ขัดสนแพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตรา
ก็แพร่หลาย เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาต(การฆ่าสัตว์)ก็แพร่หลาย เมื่อ
ปาณาติบาตแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง
เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย
๘๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๔๐,๐๐๐ ปี
ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๔๐,๐๐๐ ปี บุรุษคนหนึ่งถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้
โดยอาการขโมย พวกเขาช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้ว จึงนำไปถวายแก่กษัตราธิราช
ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วกราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท บุรุษนี้
ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย’ เมื่อพวกเขากราบทูลอย่างนี้แล้ว
ท้าวเธอจึงตรัสถามบุรุษนั้นว่า ‘พ่อคุณ ได้ทราบว่า เธอถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้
โดยอาการขโมย จริงหรือ’ บุรุษนั้นได้กราบทูลคำเท็จทั้งที่รู้อยู่ว่า ‘ไม่จริงเลย
พระเจ้าข้า’
[๙๕] ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์
ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความ
ขัดสนแพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตรา
ก็แพร่หลาย เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาตก็แพร่หลาย เมื่อปาณาติบาต
แพร่หลาย มุสาวาท(การพูดเท็จ)ก็แพร่หลาย เมื่อมุสาวาทแพร่หลาย คนเหล่านั้น
ก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง
มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๔๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลง
เหลือ ๒๐,๐๐๐ ปี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น
ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๒๐,๐๐๐ ปี บุรุษคนหนึ่งถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้
โดยอาการขโมย บุรุษอีกคนหนึ่งจึงกราบทูลกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วว่า
‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท บุรุษชื่อนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการ
ขโมย’ ชื่อว่าได้กระทำการส่อเสียด
[๙๖] ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่
พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความขัดสน
แพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตราก็แพร่หลาย
เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาตก็แพร่หลาย เมื่อปาณาติบาตแพร่หลาย มุสาวาท
ก็แพร่หลาย เมื่อมุสาวาทแพร่หลาย ปิสุณาวาจา(การพูดส่อเสียด)ก็แพร่หลาย
เมื่อปิสุณาวาจาแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอย
บ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มี
อายุขัย ๒๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๑๐,๐๐๐ ปี
ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐,๐๐๐ ปี มนุษย์บางพวกมีวรรณะดี บางพวกมี
วรรณะไม่ดี พวกที่มีวรรณะไม่ดี ก็เพ่งเล็งพวกที่มีวรรณะดี ประพฤติล่วงละเมิดใน
ภรรยาของคนอื่น
[๙๗] ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่
พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความขัดสน
แพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ฯลฯ กาเมสุมิจฉาจาร
(การประพฤติผิดในกาม)ก็แพร่หลาย เมื่อกาเมสุมิจฉาจารแพร่หลาย คนเหล่านั้น
ก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง
มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๑๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลง
เหลือ ๕,๐๐๐ ปี
[๙๘] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๕,๐๐๐ ปี ธรรม ๒ ประการ
คือ ผรุสวาจา(การพูดคำหยาบ) และสัมผัปปลาปะ(การพูดเพ้อเจ้อ)ก็แพร่หลาย
เมื่อธรรม ๒ ประการแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อม
ถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น
ที่มีอายุขัย ๕,๐๐๐ ปี บางพวกก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๒,๕๐๐ ปี บางพวกก็มี
อายุขัยถอยลงเหลือ ๒,๐๐๐ ปี
[๙๙] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๒,๕๐๐ ปี อภิชฌา(ความเพ่งเล็ง
อยากได้ของของเขา) และพยาบาท(ความคิดร้าย) ก็แพร่หลาย เมื่ออภิชฌา และ
พยาบาทแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อ
พวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย
๒,๕๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๑,๐๐๐ ปี
[๑๐๐] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑,๐๐๐ ปี มิจฉาทิฏฐิ(ความ
เห็นผิด) ก็แพร่หลาย เมื่อมิจฉาทิฏฐิแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง
มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง
บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๑,๐๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๕๐๐ ปี
[๑๐๑] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๕๐๐ ปี ธรรม ๓ ประการ
คือ อธัมมราคะ๑ วิสมโลภะ๒ และมิจฉาธรรม๓ ก็แพร่หลาย เมื่อธรรม ๓ ประการ
แพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขา
มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๕๐๐ ปี
บางพวกก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๒๕๐ ปี บางพวกก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๒๐๐ ปี
ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๒๕๐ ปี ธรรมเหล่านี้ คือ ความไม่เกื้อกูลมารดา
ความไม่เกื้อกูลบิดา ความไม่เกื้อกูลสมณะ ความไม่เกื้อกูลพราหมณ์ และการไม่
ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล ก็แพร่หลาย

เชิงอรรถ :
๑ อธัมมราคะ แปลว่า ความกำหนัดที่ผิดธรรม หมายถึงความกำหนัดในบุคคลที่ไม่สมควรกำหนัด เช่น
แม่ พ่อ (ที.ปา.อ. ๑๐๑/๓๘)
๒ วิสมโลภะ แปลว่า ความโลภจัด หมายถึงความโลภที่รุนแรงในฐานะแม้ที่ควรจะได้ (ที.ปา.อ. ๑๐๑/๓๘)
๓ มิจฉาธรรม แปลว่า ความกำหนัดผิดธรรมชาติ หมายถึงความกำหนัดที่ชายมีต่อชาย และที่ผู้หญิงมีต่อ
ผู้หญิง (ที.ปา.อ. ๑๐๑/๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร] สมัยที่คนมีอายุขัย ๑๐ ปี
[๑๐๒] ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่
พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความขัดสน
แพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตราก็แพร่หลาย
เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาตก็แพร่หลาย เมื่อปาณาติบาตแพร่หลาย มุสาวาท
ก็แพร่หลาย เมื่อมุสาวาทแพร่หลาย ปิสุณาวาจาก็แพร่หลาย เมื่อปิสุณาวาจาแพร่
หลาย กาเมสุมิจฉาจารก็แพร่หลาย เมื่อกาเมสุมิจฉาจารแพร่หลาย ธรรม ๒
ประการ คือ ผรุสวาจา และสัมผัปปลาปะก็แพร่หลาย เมื่อธรรม ๒ ประการ
แพร่หลาย อภิชฌาและพยาบาทก็แพร่หลาย เมื่ออภิชฌาและพยาบาทแพร่หลาย
มิจฉาทิฏฐิก็แพร่หลาย เมื่อมิจฉาทิฏฐิแพร่หลาย ธรรม ๓ ประการ คือ อธัมมราคะ
วิสมโลภะ และมิจฉาธรรมก็แพร่หลาย เมื่อธรรม ๓ ประการแพร่หลาย ธรรมเหล่านี้
คือ ความไม่เกื้อกูลมารดา ความไม่เกื้อกูลบิดา ความไม่เกื้อกูลสมณะ ความไม่
เกื้อกูลพราหมณ์ และการไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลก็แพร่หลาย เมื่อ
ธรรมเหล่านี้แพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง
เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย
๒๕๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๑๐๐ ปี
สมัยที่คนมีอายุขัย ๑๐ ปี
[๑๐๓] ภิกษุทั้งหลาย จักมีสมัยที่มีบุตรของมนุษย์เหล่านี้มีอายุขัย ๑๐ ปี
ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี เด็กหญิงอายุ ๕ ปี ก็มีสามีได้ ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย
๑๐ ปี รสเหล่านี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และเกลือ จักอันตรธาน
ไปสิ้น ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี หญ้ากับแก้จักเป็นอาหารอย่างดี ภิกษุทั้งหลาย
ข้าวสาลี เนื้อ และข้าวสุก เป็นอาหารอย่างดีในบัดนี้ ฉันใด ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย
๑๐ ปี หญ้ากับแก้ก็จักเป็นอาหารอย่างดี ฉันนั้น
ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี กุศลกรรมบถ ๑๐ จักอันตรธานไปหมดสิ้น
อกุศลกรรมบถ ๑๐ จักเจริญรุ่งเรืองเหลือเกิน ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี แม้แต่
ชื่อว่ากุศลก็จักไม่มี และคนที่ทำกุศลจักมีแต่ที่ไหน ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี
มนุษย์ทั้งหลายที่ไม่เกื้อกูลมารดา ไม่เกื้อกูลบิดา ไม่เกื้อกูลสมณะ ไม่เกื้อกูล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร] สมัยที่คนมีอายุขัย ๑๐ ปี
พราหมณ์ และไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ก็จักได้รับการบูชาและได้รับ
การสรรเสริญ ภิกษุทั้งหลาย คนที่เกื้อกูลมารดา เกื้อกูลบิดา เกื้อกูลสมณะ เกื้อกูล
พราหมณ์ และประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ได้รับการบูชาและได้รับการ
สรรเสริญในบัดนี้ ฉันใด ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี มนุษย์ทั้งหลายที่ไม่เกื้อกูล
มารดา ไม่เกื้อกูลบิดา ไม่เกื้อกูลสมณะ ไม่เกื้อกูลพราหมณ์ และไม่ประพฤติอ่อนน้อม
ต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ก็จักได้รับการบูชาและได้รับการสรรเสริญ ฉันนั้น
ในเมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุขัย ๑๐ ปี พวกเขาจักไม่มีจิตคิดเคารพยำเกรงว่า
‘แม่’ ว่า ‘ป้า น้า’ ว่า ‘ป้าสะใภ้ น้าสะใภ้’ ว่า ‘ภรรยาของอาจารย์’ หรือว่า
‘ภรรยาของครู’ สัตว์โลกจักถึงความสมสู่ปะปนกันหมด เป็นเสมือน แพะ แกะ ไก่
สุกร สุนัขบ้าน และสุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น
ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี มนุษย์เหล่านั้นก็จักเกิดความอาฆาต๑อย่าง
แรงกล้า ความพยาบาท๒อย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่งใจอย่างแรงกล้า ความคิด
จะฆ่ากันอย่างแรงกล้า มารดากับบุตรก็ดี บุตรกับมารดาก็ดี บิดากับบุตรก็ดี บุตร
กับบิดาก็ดี พี่ชายน้องชายกับพี่สาวน้องสาวก็ดี พี่สาวน้องสาวกับพี่ชายน้องชายก็ดี
จักเกิดความอาฆาตอย่างแรงกล้า ความพยาบาทอย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่ง
ใจอย่างแรงกล้า ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า ภิกษุทั้งหลาย นายพรานเนื้อ เห็น
เนื้อเข้า เกิดความอาฆาตอย่างแรงกล้า ความพยาบาทอย่างแรงกล้า ความคิดร้าย
แห่งใจอย่างแรงกล้า ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า ฉันใด ในเมื่อมนุษย์ทั้งหลายมี
อายุขัย ๑๐ ปี มนุษย์เหล่านั้นจักเกิดความอาฆาตอย่างแรงกล้า ความพยาบาท
อย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่งใจอย่างแรงกล้า ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า
มารดากับบุตรก็ดี บุตรกับมารดาก็ดี บิดากับบุตรก็ดี บุตรกับบิดาก็ดี พี่ชายน้อง

เชิงอรรถ :
๑ ความอาฆาต หมายถึงความโกรธที่ทำให้ผูกใจเจ็บ (ที.ปา.อ. ๑๐๓/๓๙)
๒ ความพยาบาท หมายถึงความโกรธที่ทำให้ประโยชน์สุขทั้งของตนทั้งของคนอื่นพินาศ (ที.ปา.อ. ๑๐๓/๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะ เป็นต้น
ชายกับพี่สาวน้องสาวก็ดี พี่สาวน้องสาวกับพี่ชายน้องชายก็ดี จักเกิดความอาฆาต
อย่างแรงกล้า ความพยาบาทอย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่งใจอย่างแรงกล้า
ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า ฉันนั้น
[๑๐๔] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี จักมีสัตถันตรกัป๑
ตลอด ๗ วัน มนุษย์เหล่านั้นจักเกิดความเข้าใจในกันและกันว่าเป็นเนื้อ ศัสตรา
ทั้งหลายอันคมกริบจักปรากฏในมือของพวกเขา พวกเขาจักใช้ศัสตราอันคมกริบ
ฆ่ากันเองด้วยเข้าใจว่า ‘นี้เป็นเนื้อ นี้เป็นเนื้อ’
ครั้งนั้น มนุษย์เหล่านั้นบางพวก มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘พวกเราอย่าฆ่าใคร ๆ
และใคร ๆ ก็อย่าฆ่าพวกเรา ทางที่ดี เราควรเข้าไปตามป่าหญ้า สุมทุมพุ่มไม้
ป่าไม้ เกาะกลางแม่น้ำ หรือซอกเขา ใช้รากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหารเลี้ยงชีพ’
พวกเขาจึงพากันเข้าไปตามป่าหญ้า สุมทุมพุ่มไม้ ป่าไม้ เกาะกลางแม่น้ำหรือ
ซอกเขา ใช้รากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหารเลี้ยงชีพอยู่ตลอด ๗ วัน เมื่อล่วงไป
๗ วัน พวกเขาพากันออกจากป่าหญ้า สุมทุมพุ่มไม้ ป่าไม้ เกาะกลางแม่น้ำ หรือ
ซอกเขา แล้วต่างสวมกอดกันและกัน ขับร้องปลอบใจกันในที่ประชุมว่า ‘ท่านผู้เจริญ
ทั้งหลาย เราพบเห็นกันแล้ว ท่านยังมีชีวิตอยู่ เราพบเห็นกันแล้ว ท่านยังมีชีวิตอยู่’
เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะ เป็นต้น
[๑๐๕] ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น มนุษย์เหล่านั้นจักปรึกษากันอย่างนี้ว่า
‘พวกเราสูญสิ้นญาติมากมายเช่นนี้ เพราะยึดถืออกุศลธรรมเป็นเหตุ ทางที่ดี พวกเรา
ควรทำกุศล ควรทำกุศลอย่างไรดี ทางที่ดี พวกเราควรงดเว้นจากปาณาติบาต(การ
ฆ่าสัตว์) ควรสมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้’ แล้วจึงพากันงดเว้นจากปาณาติบาต

เชิงอรรถ :
๑ สัตถันตรกัป แปลว่าอันตรกัปพินาศเพราะศัสตรา เป็นชื่ออันตรกัป (กัประหว่าง) ๑ ใน ๓ อันตรกัป ซึ่ง
เป็นกัปย่อยของสังวัฎฎกัป(กัปเสื่อม) มักเรียกกันสั้น ๆ ว่ากัปพินาศ อีก ๒ กัป คือ (๑) ทุพภิกขันตรกัป
(กัปพินาศเพราะข้าวยากหมากแพง) (๒) โรคันขันตรกัป (กัปพินาศเพราะโรค) คำว่า กัป ในที่นี้เป็นคำย่อของ
คำว่า “กัปพินาศ” (กปฺปวินาส) (ที.ปา.อ. ๑๐๔/๓๙, ที.ปา.ฎีกา ๑๐๔/๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะ เป็นต้น
สมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้ เพราะสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ พวกเขาจักเจริญ
ด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง เมื่อพวกเขาเจริญด้วยอายุบ้าง เจริญด้วย
วรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์ทั้งหลายที่มีอายุขัย ๑๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๒๐ ปี
ลำดับนั้น มนุษย์เหล่านั้นจักปรึกษากันอย่างนี้ว่า ‘พวกเราเจริญด้วยอายุบ้าง
เจริญด้วยวรรณะบ้าง เพราะสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ ทางที่ดี พวกเราควรทำ
กุศลธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป ควรทำกุศลอย่างไรบ้าง พวกเราควรงดเว้นจากอทินนาทาน
(การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้) ควรงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร(การประพฤติ
ผิดในกาม) ควรงดเว้นจากมุสาวาท(การพูดเท็จ) ควรงดเว้นจากปิสุณาวาจา(การพูด
ส่อเสียด) ควรงดเว้นจากผรุสวาจา(การพูดคำหยาบ) ควรงดเว้นจากสัมผัปปลาปะ
(การพูดเพ้อเจ้อ) ควรละอภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้ของของเขา) ควรละพยาบาท
(ความคิดร้ายผู้อื่น) ควรละมิจฉาทิฏฐิ(ความเห็นผิด) ควรละธรรม ๓ ประการ คือ
อธัมมราคะ วิสมโลภะ และมิจฉาธรรม ทางที่ดี พวกเราควรเกื้อกูลมารดา ควร
เกื้อกูลบิดา ควรเกื้อกูลสมณะ ควรเกื้อกูลพราหมณ์ และควรประพฤติอ่อนน้อม
ต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ควรสมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้ ดังนี้ เขาเหล่านั้น
จักเกื้อกูลมารดา เกื้อกูลบิดา เกื้อกูลสมณะ เกื้อกูลพราหมณ์ และประพฤติอ่อนน้อม
ต่อผู้ใหญ่ในตระกูล จักสมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้
เพราะสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ พวกเขาจักเจริญด้วยอายุบ้าง จักเจริญด้วย
วรรณะบ้าง เมื่อพวกเขาเจริญด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์
ที่มีอายุขัย ๒๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๔๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๔๐ ปี
จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๘๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๘๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้น
เป็น ๑๖๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๑๖๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๓๒๐ ปี
บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๓๒๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๖๔๐ ปี บุตรของมนุษย์
ผู้มีอายุขัย ๖๔๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๒,๐๐๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย
๒,๐๐๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๔,๐๐๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๔,๐๐๐ ปี
จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๘,๐๐๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๘,๐๐๐ ปี จักมีอายุขัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
ความอุบัติของพระราชาพระนามว่าสังขะ
เพิ่มขึ้นเป็น ๒๐,๐๐๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๒๐,๐๐๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้น
เป็น ๔๐,๐๐๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๔๐,๐๐๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น
๘๐,๐๐๐ ปี เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี เด็กหญิงมีอายุ ๕๐๐ ปี จึงจักสมควร
มีสามีได้
ความอุบัติของพระราชาพระนามว่าสังขะ
[๑๐๖] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี จักมีอาพาธ ๓ อย่าง
คือ (๑) อิจฉา๑ (๒) อนสนะ๒ (๓) ชรา เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี ชมพูทวีปนี้
จักมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ บ้าน นิคมและราชธานีมีทุกระยะชั่วไก่บินตก๓ เมื่อมนุษย์มี
อายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี ชมพูทวีปนี้ จักดูประหนึ่งอเวจีนรกที่แออัดยัดเยียดไปด้วย
ผู้คนทั้งหลาย เหมือนป่าไม้อ้อ หรือป่าไม้แก่น ฉะนั้น เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี
กรุงพาราณสีนี้ จักเป็นราชธานีนามว่ากรุงเกตุมดี เป็นเมืองที่มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์
มีพลเมืองมาก มีประชากรคับคั่ง และมีภักษาหารสมบูรณ์๔ เมื่อมนุษย์มีอายุ
๘๐,๐๐๐ ปี ในชมพูทวีปนี้ จักมีเมือง ๘๔,๐๐๐ เมือง มีกรุงเกตุมดีราชธานีเป็น
เมืองเอก เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี จักมีพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสังขะ
ทรงอุบัติขึ้น ณ กรุงเกตุมดีราชธานี เป็นผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็น

เชิงอรรถ :
๑ อิจฉา ในที่นี้หมายถึงตัณหาที่ทำให้เกิดคำพูดอย่างนี้ว่า ‘ท่านจงให้อาหารแก่เรา’ (ที.ปา.อ. ๑๐๖/๔๐)
๒ อนสนะ ในที่นี้หมายถึงความเฉื่อยชาทางกายของผู้กินอาหารอิ่มแล้วต้องการจะนอนเพราะเมาอาหาร
(ที.ปา.อ. ๑๐๖/๔๐)
๓ มีทุกระยะชั่วไก่บินตก ในที่นี้หมายถึงระยะห่างจากบ้านหนึ่งถึงบ้านหนึ่ง คำนวณจากการบินของไก่ คือ
ในเมืองนี้ ไก่สามารถบินจากหลังคาบ้านหลังหนึ่งไปลงหลังคาบ้านหลังหนึ่งได้ซึ่งแสดงว่ามีบ้านเรือนหนาแน่น
จนไก่บินถึงกันได้ (ที.ปา.อ. ๑๐๖/๔๐)
๔ มีภักษาหารสมบูรณ์ ในที่นี้หมายถึงสมบูรณ์ด้วยอาหารที่ควรเคี้ยวและอาหารที่ควรบริโภค (ที.ม.อ.
๒๑๐/๑๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
การเสด็จอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าเมตไตรย
ใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีราชอาณาจักร
มั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ ได้แก่ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว
(๔) มณีแก้ว (๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรส
มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยี
ราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครอง
แผ่นดินนี้มีสาครเป็นขอบเขต
การเสด็จอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าเมตไตรย
[๑๐๗] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี พระผู้มีพระภาค
พระนามว่าเมตไตรย จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค๑ เหมือนตถาคตอุบัติขึ้นในโลกในบัดนี้ เป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี
รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและ
มนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรยพระองค์นั้น จักทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลกและหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์
ด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามเหมือนตถาคตในบัดนี้ รู้แจ้งโลกนี้
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา
และมนุษย์ด้วยตนเองแล้ว ประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๖ หน้า ๕-๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
การเสด็จอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าเมตไตรย
พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรยพระองค์นั้น จักทรงแสดงธรรมอัน
มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ประกาศ
พรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน เหมือนตถาคต
ในบัดนี้ แสดงธรรมอันมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลางและมีความ
งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
พระองค์จักทรงบริหารภิกษุสงฆ์หลายพันรูป เหมือนตถาคตบริหารภิกษุสงฆ์หลาย
ร้อยรูปในบัดนี้ ฉะนั้น
[๑๐๘] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระเจ้าสังขะ จักรับสั่งให้ยกปราสาทที่
พระเจ้ามหาปนาทะโปรดให้สร้างไว้ แล้วประทับอยู่ ทรงสละบำเพ็ญทานแก่สมณ-
พราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพกและยาจกทั้งหลาย จักทรงปลงพระเกศา
และพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตใน
สำนักของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเมตไตรย ท้าวเธอ
ผนวชแล้วไม่นานอย่างนี้ ทรงหลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาทมีความเพียร อุทิศ
กายและใจอยู่ ไม่นานนัก ก็ทำให้แจ้งประโยชน์อันยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์
ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยพระปัญญา
อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่แท้
[๑๐๙] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่ง
อื่นเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด
ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ
มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะเป็นต้นของภิกษุ
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัม-
ปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด
อภิชฌาและโทมนัสในโลก
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรม
เป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ เป็นอย่างนี้แล
เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะ เป็นต้น ของภิกษุ
[๑๑๐] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงประพฤติธรรมอันเป็นโคจร ซึ่งเป็น
วิสัยอันสืบเนื่องมาจากบิดาของตน เมื่อเธอทั้งหลายประพฤติธรรมอันเป็นโคจร ซึ่ง
เป็นวิสัยอันสืบเนื่องมาจากบิดาของตน จักเจริญด้วยอายุบ้าง จักเจริญด้วยวรรณะ
บ้าง จักเจริญด้วยสุขะบ้าง จักเจริญด้วยโภคะบ้าง จักเจริญด้วยพละบ้าง
ในเรื่องอายุของภิกษุ มีคำอธิบาย อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่
เกิดจากฉันทะและความเพียรสร้างสรรค์)
๒. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่
เกิดจากวิริยะและความเพียรสร้างสรรค์)
๓. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่
เกิดจากจิตตะและความเพียรสร้างสรรค์)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะเป็นต้นของภิกษุ
๔. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิมังสาสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่
เกิดจากวิมังสาและความเพียรสร้างสรรค์)
เพราะเจริญ ทำอิทธิบาท ๔ ประการนี้ให้มาก เมื่อมุ่งหวัง เธอจะพึงดำรงอยู่
ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป
ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นคำอธิบายในเรื่องอายุของภิกษุ
ในเรื่องวรรณะของภิกษุ มีคำอธิบาย อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบ
พร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน
สิกขาบททั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นคำอธิบายในเรื่องวรรณะของภิกษุ
ในเรื่องความสุขของภิกษุ มีคำอธิบาย อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก
วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
๒. เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน ...
๓. บรรลุตติยฌาน ...
๔. บรรลุจตุตถฌาน ...
ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นคำอธิบายในเรื่องความสุขของภิกษุ
ในเรื่องโภคะของภิกษุ มีคำอธิบาย อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า
ในที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะเป็นต้นของภิกษุ
๒. มีกรุณาจิต ...
๓. มีมุทิตาจิต ...
๔. มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔
... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่
เหล่าในที่ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มี
ขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นคำอธิบายในเรื่องโภคะของภิกษุ
ในเรื่องพละของภิกษุ มีคำอธิบาย อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ๑ ปัญญาวิมุตติ๒ อันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นคำอธิบายในเรื่องพละของภิกษุ
เราไม่เล็งเห็นกำลังอื่นแม้อย่างหนึ่ง ซึ่งข่มได้แสนยาก เหมือนกำลังของมาร๓
นี้เลย บุญนี้จะเจริญขึ้นได้อย่างนี้ก็เพราะสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล
จักกวัตติสูตรที่ ๓ จบ
เชิงอรรถ :
๑ เจโตวิมุตติ หมายถึงความหลุดพ้นแห่งจิต ความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจการฝึก หรือด้วยกำลัง
สมาธิ เช่น สมาบัติ ๘ เป็นเจโตวิมุตติอันละเอียดประณีต (ที.สี.อ. ๓๗๓/๒๘๑)
๒ ปัญญาวิมุตติ หมายถึงความหลุดพ้นด้วยปัญญา ความหลุดพ้นที่บรรลุด้วยการกำจัดอวิชชาได้ ทำให้
สำเร็จอรหัตตผล และทำให้เจโตวิมุตติ เป็นวิมุตติที่ไม่กำเริบ คือ ไม่กลับกลายได้อีกต่อไป (ที.สี.อ. ๓๗๓/
๒๘๑)
๓ กำลังของมาร ในที่นี้หมายถึงกำลังของเทวปุตตมาร มัจจุมาร และกิเลสมาร (ที.ปา.อ. ๑๑๐/๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร]
เรื่องสามเณรชื่อวาเสฏฐะและสามเณรชื่อภารทวาชะ

๔. อัคคัญญสูตร
ว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก
เรื่องสามเณรชื่อวาเสฏฐะและสามเณรชื่อภารทวาชะ
[๑๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคารมาตา
ในบุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น สามเณรชื่อวาเสฏฐะและสามเณรชื่อ
ภารทวาชะ หวังความเป็นภิกษุ จึงอยู่อบรมในสำนักของภิกษุทั้งหลาย ครั้นใน
เวลาเย็น พระผู้มีพระภาคทรงออกจากการหลีกเร้นแล้ว ได้เสด็จลงจากปราสาท
ทรงจงกรมอยู่ในที่กลางแจ้งที่ร่มเงาปราสาท
[๑๑๒] สามเณรชื่อวาเสฏฐะได้เห็นพระผู้มีพระภาคทรงออกจากการหลีกเร้น
เสด็จลงจากปราสาทแล้ว ทรงจงกรมอยู่ในที่กลางแจ้งที่ร่มเงาปราสาทในเวลาเย็น
จึงเรียกสามเณรชื่อภารทวาชะมากล่าวว่า “คุณภารทวาชะ พระผู้มีพระภาคนี้ทรง
ออกจากการหลีกเร้น เสด็จลงจากปราสาท ทรงจงกรมอยู่ในที่กลางแจ้งที่ร่มเงา
ของปราสาทในเวลาเย็น มาเถิด เราจักไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ เราควร
จะได้ฟังธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคบ้าง” ภารทวาชสามเณรก็
รับคำแล้ว
[๑๑๓] ครั้งนั้น วาเสฏฐสามเณรและภารทวาชสามเณรพากันเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้เดินจงกรมตาม
เสด็จพระผู้มีพระภาคซึ่งกำลังทรงจงกรมอยู่ พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งเรียกวาเสฏฐ-
สามเณรและภารทวาชสามเณรมาตรัสว่า “วาเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งสองมี
ชาติเป็นพราหมณ์ มีตระกูลเป็นพราหมณ์ ออกจากตระกูลของพราหมณ์ บวชเป็น
บรรพชิต พวกพราหมณ์ไม่ด่าไม่บริภาษเธอทั้งสองบ้างหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร]
เรื่องสามเณรชื่อวาเสฏฐะและสามเณรชื่อภารทวาชะ
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ด่า๑ บริภาษข้าพระองค์ทั้งสองด้วยคำ
เหยียดหยามอย่างสมใจ เต็มรูปแบบ๒ ไม่ใช่ไม่เต็มรูปแบบ”
“ก็พวกพราหมณ์ด่าบริภาษเธอทั้งสองด้วยคำเหยียดหยามอย่างสมใจ เต็มรูปแบบ
ไม่ใช่ไม่เต็มรูปแบบอย่างไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุด
คือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นเลว วรรณะที่ขาวคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นดำ
พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตร
เป็นโอรส เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม เกิดจากพระพรหม เป็นผู้ที่พระพรหม
สร้างขึ้น เป็นทายาทของพระพรหม เจ้าทั้งสองมาละวรรณะที่ประสริฐที่สุด เข้าไปอยู่
ในวรรณะที่เลวทราม คือ สมณะโล้น เป็นคนรับใช้๓ เป็นคนวรรณะต่ำ (กัณหโคตร)
เป็นเผ่าของมาร เกิดจากพระบาทของพระพรหม๔ เธอทั้งสองมาละวรรณะที่ประเสริฐ
ที่สุด เข้าไปอยู่ในวรรณะที่เลวทราม คือ สมณะโล้น เป็นคนรับใช้ เป็นคนวรรณะต่ำ
เป็นเผ่าของมาร เกิดจากพระบาทของพระพรหมนี้ ไม่เป็นความดี ไม่เป็นการ
สมควรเลย’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ได้พากันด่า บริภาษข้าพระองค์
ทั้งสองด้วยถ้อยคำเหยียดหยามอย่างสมใจ เต็มรูปแบบ ไม่ใช่ไม่เต็มรูปแบบอย่างนี้”
[๑๑๔] “วาเสฏฐะและภารทวาชะ พวกพราหมณ์ระลึกถึงเรื่องเก่าของตนไม่ได้๕
จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุด คือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นเลว
วรรณะที่ขาวคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นดำ พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่ใช่

เชิงอรรถ :
๑ ด่า ในที่นี้หมายถึงด่าด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ อย่าง คือ (๑) เจ้าเป็นโจร (๒) เจ้าเป็นคนพาล (๓) เจ้าเป็น
คนหลง (๔) เจ้าเป็นอูฐ (๕) เจ้าเป็นโค (๖) เจ้าเป็นลา (๗) เจ้าเป็นสัตว์นรก (๘) เจ้าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน
(๙) เจ้าไม่ได้สุคติ (๑๐) เจ้าหวังได้แต่ทุคติเท่านั้น (ที.ปา.อ. ๑๑๓/๔๖)
๒ เต็มรูปแบบ ในที่นี้หมายถึงยกอักโกสวัตถุทั้ง ๑๐ อย่างมาด่า (ที.ปา.อ. ๑๑๓/๔๖)
๓ เป็นคนรับใช้ ในที่นี้หมายถึงคหบดีซึ่งพวกวรรณะพราหมณ์ถือว่าเป็นคนชั้นต่ำ เพราะยังถูกเครื่องผูกคือ
เรือนผูกไว้ (ที.ปา.อ. ๑๑๓/๔๗, ที.ปา.ฏีกา ๑๑๓/๔๖)
๔ เป็นเผ่าของมาร เกิดจากพระบาทของพระพรหม แปลจากบาลีว่า “พนฺธุปาทาปจฺเจ” ตามนัย ที.ปา.อ.
๑๑๓/๔๗ ส่วน ที.สี.อ. ๒๖๓/๒๒๙ ให้ความหมายว่าเกิดจากพระบาทของพระพรหมเท่านั้น
๕ ระลึกถึงเรื่องเก่าของตนไม่ได้ หมายถึงไม่รู้จักกำเนิดและความเป็นไปของโลก ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่า
ด้วยต้นกำเนิดของโลกอันมีมาแต่โบราณ (ที.ปา.อ. ๑๑๔/๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] ความบริสุทธิ์แห่งวรรณะ ๔
พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตร เป็นโอรส เกิดจากโอษฐ์ของพระ-
พรหม เกิดจากพระพรหม เป็นผู้ที่พระพรหมสร้างขึ้น เป็นทายาทของพระพรหม’
วาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ปรากฏชัดอยู่ว่า นางพราหมณีของพราหมณ์ทั้งหลาย
มีระดูบ้าง มีครรภ์บ้าง คลอดอยู่บ้าง ให้ลูกดื่มนมบ้าง ก็พราหมณ์เหล่านั้นเป็น
ผู้เกิดทางช่องคลอดของนางพราหมณีทั้งนั้น ยังกล่าวอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐ
ที่สุด คือพราหมณ์เท่านั้น ฯลฯ เป็นทายาทของพระพรหม’ ก็พราหมณ์เหล่านั้น
กล่าวตู่พรหมและพูดเท็จ พวกเขาจะต้องประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก
ความบริสุทธิ์แห่งวรรณะ ๔
[๑๑๕] วาเสฏฐะและภารทวาชะ วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ (๑) กษัตริย์
(๒) พราหมณ์ (๓) แพศย์ (๔) ศูทร
๑. แม้กษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
เขาไม่ได้ให้ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ
พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา มีจิตพยาบาท เห็นผิด
ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็น
อกุศล มีโทษ นับว่ามีโทษ ไม่ควรประพฤติ นับว่าไม่ควรประพฤติ
ไม่สามารถเป็นอริยธรรม นับว่าไม่สามารถเป็นอริยธรรม เป็น
ธรรมดำ๑ มีวิบากดำ๒ ที่วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านั้นปรากฏ
อย่างชัดเจนในกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้
๒. แม้พราหมณ์ ...
๓. แม้แพศย์ ...
๔. แม้ศูทรบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้
ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา มีจิตพยาบาท เห็นผิด ด้วยประการ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมดำ ในที่นี้หมายถึงธรรมที่ไม่บริสุทธิ์มาแต่เดิม (ที.ปา.ฏีกา ๑๑๕/๔๗)
๒ มีวิบากดำ ในที่นี้หมายถึงมีผลเป็นทุกข์ (ที.ปา.อ. ๑๑๕/๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] ความบริสุทธิ์แห่งวรรณะ ๔
ดังกล่าวมานี้ ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล มีโทษ นับ
ว่ามีโทษ ไม่ควรประพฤติ นับว่าไม่ควรประพฤติ ไม่สามารถเป็น
อริยธรรม นับว่าไม่สามารถเป็นอริยธรรม เป็นธรรมดำ มีวิบากดำ
ที่วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านั้นปรากฏอย่างชัดเจนในศูทรบาง
คนในโลกนี้
วาเสฏฐะและภารทวาชะ
๑. แม้กษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้น
ขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นขาดจากการ
ประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูด
ส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ
ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา มีจิตไม่พยาบาท เห็นชอบด้วย
ประการดังกล่าวมานี้ ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล ไม่มี
โทษ นับว่าไม่มีโทษ ควรประพฤติ นับว่าควรประพฤติ สามารถ
เป็นอริยธรรม นับว่าสามารถเป็นอริยธรรม เป็นธรรมขาว๑ มี
วิบากขาว๒ ที่วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านั้นปรากฏอย่าง
ชัดเจนในกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้
๒. แม้พราหมณ์ ...
๓. แม้แพศย์ ...
๔. แม้ศูทรบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... ไม่เพ่งเล็ง
อยากได้ของของเขา มีจิตไม่พยาบาท เห็นชอบ ด้วยประการ
ดังกล่าวมานี้ ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล ไม่มีโทษ
นับว่าไม่มีโทษ ควรประพฤติ นับว่าควรประพฤติ สามารถเป็น
อริยธรรม นับว่าสามารถเป็นอริยธรรม เป็นธรรมขาว มีวิบาก
ขาว ที่วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านั้นปรากฏอย่างชัดเจนใน
ศูทรบางคนในโลกนี้

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมขาว ในที่นี้หมายถึงธรรมที่บริสุทธิ์เพราะปราศจากกิเลส (ที.ปา.อ. ๑๑๕/๔๗)
๒ มีวิบากขาว ในที่นี้หมายถึงมีผลเป็นสุข (ที.ปา.อ. ๑๑๕/๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] ความบริสุทธิ์แห่งวรรณะ ๔
[๑๑๖] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อวรรณะ ๔ เหล่านี้ รวมกันเป็นบุคคล
๒ จำพวก คือ
๑. พวกที่ดำรงอยู่ในธรรมดำที่วิญญูชนติเตียนจำพวกหนึ่ง
๒. พวกที่ดำรงอยู่ในธรรมขาวที่วิญญูชนสรรเสริญจำพวกหนึ่ง
ในเรื่องนี้ พวกพราหมณ์ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุด คือพราหมณ์
เท่านั้น วรรณะอื่นเลว วรรณะที่ขาวคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นดำ พราหมณ์
เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตร เป็นโอรส
เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม เกิดจากพระพรหม เป็นผู้ที่พระพรหมสร้างขึ้น เป็น
ทายาทของพระพรหม’ วิญญูชนทั้งหลายย่อมไม่รับรองถ้อยคำของพราหมณ์เหล่านั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า บรรดาวรรณะ ๔ เหล่านี้ ผู้ใดเป็นภิกษุอรหันตขีณาสพ
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๑ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว๒ ปลงภาระได้แล้ว๓ บรรลุประโยชน์
ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ผู้นั้นเรียกได้ว่า
เป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลายในวรรณะ ๔ เหล่านั้น โดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม
เพราะธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[๑๑๗] วาเสฏฐะและภารทวาชะ โดยเหตุผลนี้ เธอทั้งสองพึงทราบเถิดว่า
‘ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า’
วาเสฏฐะและภารทวาชะ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบว่า ‘พระสมณโคดม
เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูลที่เท่าเทียมกัน๔’ ดังนี้ ก็พวกศากยะยังต้องตามเสด็จ
พระเจ้าปเสนทิโกศลอยู่ตลอดเวลา และพวกเจ้าศากยะยังต้องกระทำการนอบน้อม

เชิงอรรถ :
๑ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว หมายถึงได้เป็นพระอเสขะ ส่วนพระเสขะ ๗ จำพวก และกัลยาณปุถุชนชื่อว่า
กำลังประพฤติพรหมจรรย์ (ที.ปา.อ. ๑๑๖/๔๘)
๒ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว หมายถึงทำกิจมีความกำหนดรู้ เป็นต้นในอริยสัจ ๔ ด้วยมรรค ๔ (ที.ปา.อ.
๑๑๖/๔๘)
๓ ปลงภาระได้แล้ว หมายถึงปลงกิเลสภาระ(ภาระคือกิเลส) ขันธภาระ(ภาระคือร่างกาย) และอภิสังขารภาระ
(ภาระคืออภิสังขาร) ลงแล้ว (ที.ปา.อ. ๑๑๖/๔๘)
๔ เท่าเทียมกัน เป็นคำเปรียบเทียบที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงใช้เพื่อยกย่องศากยตระกูลว่าเสมอกับ
ราชตระกูลของพระองค์ (ที.ปา.อ. ๑๑๗/๔๙, ที.ปา.ฏีกา ๑๑๗/๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] ความบริสุทธิ์แห่งวรรณะ ๔
การอภิวาท การต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรม ในพระเจ้าปเสนทิโกศลอยู่
ด้วยประการดังว่ามานี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกระทำการนอบน้อม การอภิวาท
การต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรมนั้นในเราตถาคต ดังที่พวกเจ้าศากยะ
กระทำการนอบน้อม การอภิวาท การต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรม
ในพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์มิได้ทรงกระทำการนอบน้อม การอภิวาท การ
ต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรมนั้น ด้วยทรงดำริว่า ‘พระสมณโคดมมีพระ
ชาติกำเนิดดี เราเองมีชาติกำเนิดไม่ดี พระสมณโคดมทรงแข็งแรง เราเองไม่แข็งแรง
พระสมณโคดมมีผิวพรรณผ่องใส เราเองมีผิวพรรณเศร้าหมอง พระสมณโคดม
เป็นผู้สูงศักดิ์ เราเองเป็นผู้ต่ำศักดิ์’ โดยที่แท้ พระองค์เมื่อจะทรงสักการะธรรม
เคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม นอบน้อมธรรม จึงทรงกระทำการนอบน้อม
การอภิวาท การต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรมในเราตถาคตอย่างนี้ โดย
เหตุผลนี้ เธอพึงทราบอย่างนี้ว่า ‘ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และ
โลกหน้า’
[๑๑๘] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งสองมีชาติกำเนิดต่างกัน มีชื่อ
ต่างกัน มีโคตรต่างกัน มีตระกูลต่างกัน ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อมีผู้
ถามว่า ‘ท่านเป็นพวกไหน’ พึงตอบเขาว่า ‘เราเป็นพวกพระสมณศากยบุตร’ ดังนี้เถิด
ผู้ใดแลมีศรัทธาตั้งมั่นในตถาคต เกิดแต่ราก ประดิษฐานมั่นคงที่สมณพราหมณ์
เทพ มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกให้หวั่นไหวไม่ได้ ควรจะเรียกผู้นั้นว่า ‘เป็นบุตร
เป็นโอรส เกิดจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาค เกิดจากพระธรรม อันพระธรรม
เนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพระธรรม’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคำว่า ‘ธรรมกาย’ ก็ดี
‘พรหมกาย’ ก็ดี ‘ธรรมภูต’ ก็ดี ‘พรหมภูต’ ก็ดี ล้วนเป็นชื่อของตถาคต
[๑๑๙] วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมัยหนึ่ง ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน
โลกนี้เสื่อม เมื่อโลกกำลังเสื่อม เหล่าสัตว์ส่วนมากไปเกิดที่พรหมโลกชั้นอาภัสสระ
นึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นภักษา มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย
เที่ยวสัญจรไปในอากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] ความปรากฏแห่งง้วนดิน
สมัยหนึ่ง ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน โลกนี้เจริญขึ้น เมื่อโลกกำลังเจริญขึ้น
เหล่าสัตว์ส่วนมากจุติจากพรหมโลกชั้นอาภัสสระมาเป็นอย่างนี้๑ นึกคิดอะไรก็สำเร็จ
ได้ตามปรารถนา๒ มีปีติเป็นภักษา๓ มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปใน
อากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน
ความปรากฏแห่งง้วนดิน
[๑๒๐] วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมัยนั้น ทั่วทั้งจักรวาลนี้แหละเป็นน้ำ
ทั้งนั้น มืดมนอนธการ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายยังไม่
ปรากฏ กลางคืน กลางวันยังไม่ปรากฏ เดือนหนึ่ง ครึ่งเดือน ฤดูและปีก็ยังไม่
ปรากฏ หญิงชายก็ยังไม่ปรากฏ สัตว์ทั้งหลายปรากฏชื่อแต่เพียงว่า ‘สัตว์’ เท่านั้น
ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำ ปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้น
ดุจน้ำนมที่บุคคลเคี่ยวให้แห้งแล้วทำให้เย็นสนิทจับเป็นฝาอยู่ข้างบน ง้วนดินนั้น
สมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรส มีสีเหมือนเนยใสหรือเนยข้น
อย่างดี และมีรสอร่อยเหมือนน้ำผึ้งมิ้มซึ่งปราศจากโทษ๔ ต่อมา สัตว์ผู้หนึ่งมีนิสัย
โลภกล่าวว่า ‘ท่านผู้เจริญสิ่งนี้จะเป็นเช่นไร๕’ แล้วใช้นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มดู เมื่อ
เขาใช้นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มดูอยู่ รสง้วนดินได้แผ่ซ่านไป เขาจึงเกิดความอยาก
ในรส แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พากันถือแบบอย่างสัตว์นั้น จึงใช้นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มดู
เมื่อสัตว์เหล่านั้นใช้นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มดูอยู่ รสง้วนดินก็แผ่ซ่านไป และสัตว์เหล่านั้น
ก็เกิดความอยากในรสขึ้นเช่นเดียวกัน

เชิงอรรถ :
๑ มาเป็นอย่างนี้ ในที่นี้หมายถึงมาเกิดเป็นมนุษย์ (ที.ปา.อ. ๑๑๙/๕๐)
๒ นึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา หมายความว่าสัตว์เหล่านั้นแม้มาเกิดในมนุษยโลกนี้ ก็ยังเป็น
โอปปาติกะ เกิดขึ้นด้วยใจที่บรรลุอุปจารฌานอย่างเดียวกัน (ที.ปา.อ. ๑๑๙/๕๐,ที.ปา.ฏีกา ๑๑๙/๕๒)
๓ มีปีติเป็นภักษา หมายความว่าแม้อยู่ในมนุษยโลกนี้ก็มีปีติเป็นอาหารเหมือนอยู่ในพรหมโลก(ที.ปา.อ.
๑๑๙/๕๐)
๔ ปราศจากโทษ ในที่นี้หมายถึงไม่มีตัวอ่อนในรัง (ที.ปา.อ. ๑๒๐/๕๑)
๕ สิ่งนี้จะเป็นเช่นไร หมายความว่ารสของง้วนดินนี้จะเป็นเช่นไร (ที.ปา.อ. ๑๒๐/๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร]
ความปรากฏแห่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เป็นต้น

ความปรากฏแห่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เป็นต้น
[๑๒๑] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมา สัตว์เหล่านั้นพากันใช้มือปั้นง้วนดิน
ให้เป็นคำ ๆ เพื่อจะบริโภค เมื่อใด สัตว์เหล่านั้นพากันใช้มือปั้นง้วนดินให้เป็นคำ ๆ
เพื่อบริโภค เมื่อนั้น รัศมีที่ซ่านออกจากร่างกายของสัตว์เหล่านั้นก็หายไป เมื่อรัศมี
ที่ซ่านออกจากร่างกายหายไป ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ก็ปรากฏ เมื่อดวงจันทร์
ดวงอาทิตย์ปรากฏ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ปรากฏ เมื่อดวงดาวนักษัตรทั้งหลาย
ปรากฏ กลางคืน กลางวันก็ปรากฏ เมื่อกลางคืน กลางวันปรากฏ เดือนหนึ่ง
ครึ่งเดือนก็ปรากฏ เมื่อเดือนหนึ่ง ครึ่งเดือนปรากฏ ฤดูและปีก็ปรากฏ ด้วยเหตุ
เพียงเท่านี้ โลกนี้ จึงได้กลับฟื้นขึ้นอีก
[๑๒๒] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา สัตว์เหล่านั้นเมื่อบริโภคง้วนดิน
มีง้วนดินนั้นเป็นภักษา มีง้วนดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน เมื่อ
บริโภคง้วนดิน มีง้วนดินนั้นเป็นภักษา มีง้วนดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นาน
แสนนาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายหยาบขึ้น ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏแตกต่างกัน
สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม บางพวกมีผิวพรรณทราม สัตว์เหล่าใดมีผิวพรรณงาม
สัตว์เหล่านั้นก็ดูหมิ่นสัตว์ที่มีผิวพรรณทรามว่า ‘พวกเรามีผิวพรรณงามกว่าสัตว์
เหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นมีผิวพรรณทรามกว่าพวกเรา’ เมื่อสัตว์เหล่านั้นเกิดมีมานะ
ถือตัว เพราะการดูหมิ่นเรื่องผิวพรรณเป็นปัจจัย ง้วนดินจึงหายไป
เมื่อง้วนดินหายไป สัตว์เหล่านั้นจึงประชุมกัน ครั้นแล้วต่างก็พากันโหยหาว่า
‘รสเอ๋ย รสเอ๋ย๑’ แม้ทุกวันนี้ก็เหมือนกัน พวกมนุษย์ได้ของมีรสดีบางอย่าง มักกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘รสเอ๋ย รสเอ๋ย’ พวกพราหมณ์พากันนึกได้แต่คำโบราณที่เกี่ยวข้องกับ
ทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกเท่านั้น แต่ไม่รู้เนื้อความแห่งคำนั้นเลย

เชิงอรรถ :
๑ รสเอ๋ย รสเอ๋ย เป็นคำรำพึงรำพันว่า ‘รสอร่อยที่เคยบริโภคหายไปแล้ว’ (ที.ปา.อ. ๑๒๒/๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] ความปรากฏแห่งเครือดิน

ความปรากฏแห่งสะเก็ดดิน
[๑๒๓] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อง้วนดินของสัตว์เหล่านั้นหายไป สะเก็ด
ดินก็ปรากฏ สะเก็ดดินนั้นปรากฏลักษณะเหมือนดอกเห็ด สะเก็ดดินนั้นสมบูรณ์ด้วยสี
สมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรส มีสีเหมือนเนยใสหรือเนยข้นอย่างดี และมีรส
อร่อยเหมือนน้ำผึ้งมิ้มซึ่งปราศจากโทษ
ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นได้พากันบริโภคสะเก็ดดิน เมื่อบริโภคสะเก็ดดินนั้น มี
สะเก็ดดินนั้นเป็นภักษา มีสะเก็ดดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน เมื่อ
บริโภคสะเก็ดดิน มีสะเก็ดดินนั้นเป็นภักษา มีสะเก็ดดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่
นานแสนนาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายหยาบขึ้น ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏแตกต่างกัน
สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม บางพวกมีผิวพรรณทราม สัตว์เหล่าใดมีผิวพรรณงาม
สัตว์เหล่านั้นก็ดูหมิ่นสัตว์ที่มีผิวพรรณทรามว่า ‘พวกเรามีผิวพรรณงามกว่าสัตว์
เหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นมีผิวพรรณทรามกว่าพวกเรา’ เมื่อสัตว์เหล่านั้นเกิดมีมานะ
ถือตัว เพราะการดูหมิ่นเรื่องผิวพรรณเป็นปัจจัย สะเก็ดดินจึงหายไป
ความปรากฏแห่งเครือดิน
[๑๒๔] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อสะเก็ดดินหายไป เครือดินก็ปรากฏ
เครือดินนั้นปรากฏคล้ายเถาผักบุ้ง เครือดินนั้นสมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น
สมบูรณ์ด้วยรส มีสีเหมือนเนยใสหรือเนยข้นอย่างดี และมีรสอร่อยเหมือนน้ำผึ้งมิ้ม
ซึ่งปราศจากโทษ
ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นได้พากันบริโภคเครือดิน เมื่อบริโภคเครือดินนั้น มี
เครือดินนั้นเป็นภักษา มีเครือดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน เมื่อ
บริโภคเครือดิน มีเครือดินนั้นเป็นภักษา มีเครือดินนั้นเป็นอาหาร ดำรงอยู่นาน
แสนนาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายหยาบขึ้น ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏแตกต่างกัน
สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม บางพวกมีผิวพรรณทราม สัตว์เหล่าใดมีผิวพรรณงาม
สัตว์เหล่านั้นก็ดูหมิ่นสัตว์ที่มีผิวพรรณทรามว่า ‘พวกเรามีผิวพรรณงามกว่าสัตว์
เหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นมีผิวพรรณทรามกว่าพวกเรา’ เมื่อสัตว์เหล่านั้นเกิดมีมานะ
ถือตัว เพราะการดูหมิ่นเรื่องผิวพรรณเป็นปัจจัย เครือดินจึงหายไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร]
ความปรากฏแห่งเพศหญิงเพศชาย
เมื่อเครือดินหายไป สัตว์เหล่านั้นจึงประชุมกัน ครั้นแล้วต่างพากันโหยหาว่า
‘พวกเราเคยมีเครือดิน บัดนี้เครือดินของพวกเราหายไปแล้ว’ ในสมัยนี้ก็เหมือนกัน
พวกมนุษย์ ถูกทุกข์ระทมบางอย่างกระทบเข้าก็พากันบ่นเพ้อว่า ‘เราเคยมีของสิ่งนี้
แต่เดี๋ยวนี้ของของเราหายไปแล้ว’ พวกพราหมณ์พากันนึกได้แต่คำโบราณที่
เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกเท่านั้น แต่ไม่รู้เนื้อความแห่งคำนั้นเลย
ความปรากฏแห่งข้าวสาลีในที่ที่ไม่ต้องไถ
[๑๒๕] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อเครือดินของสัตว์เหล่านั้นหายไปแล้ว
ข้าวสาลีอันผลิผลในที่ที่ไม่ต้องไถ ไม่มีรำ ไม่มีแกลบ บริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม มีเมล็ด
เป็นข้าวสารก็ปรากฏ ที่ที่พวกเขาเก็บเกี่ยวข้าวสาลีไปเพื่อเป็นอาหารเย็นในตอนเย็น
ก็กลับมีข้าวสาลีงอกสุกขึ้นได้ในตอนเช้า ที่ที่พวกเขาเก็บเกี่ยวข้าวสาลีไปเพื่อเป็น
อาหารเช้าในตอนเช้า ก็กลับมีข้าวสาลีงอกสุกขึ้นได้ในตอนเย็น ความพร่องไม่
ปรากฏเลย ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหลายพากันบริโภคข้าวสาลีซึ่งเกิดสุกเองในที่ที่ไม่ต้องไถ
มีข้าวสาลีนั้นเป็นภักษา มีข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน
ความปรากฏแห่งเพศหญิงและเพศชาย
[๑๒๖] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อสัตว์เหล่านั้นบริโภคข้าวสาลี ซึ่งเกิด
สุกเองในที่ที่ไม่ต้องไถ มีข้าวสาลีนั้นเป็นภักษา มีข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่
นานแสนนาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายหยาบขึ้น ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏแตกต่างกัน
และอวัยวะเพศหญิงปรากฏแก่ผู้เป็นหญิง อวัยวะเพศชายปรากฏแก่ผู้เป็นชาย
กล่าวกันว่า หญิงเพ่งดูชาย และชายก็เพ่งดูหญิงนานเกินไป เมื่อชนทั้ง ๒ เพศ
ต่างเพ่งดูกันและกันนานเกินไป ก็เกิดความกำหนัดขึ้น ความเร่าร้อนก็ปรากฏขึ้น
ในกาย เพราะความเร่าร้อนเป็นปัจจัย ชนเหล่านั้นจึงได้เสพเมถุนธรรม
ก็โดยสมัยนั้น สัตว์เหล่าใดเห็นสัตว์เหล่าอื่นกำลังเสพเมถุนกันจึงขว้างฝุ่นใส่บ้าง
ขว้างขี้เถ้าใส่บ้าง ขว้างมูลโคใส่บ้าง ด้วยกล่าวว่า ‘คนถ่อย เจ้าจงฉิบหาย คนถ่อย
เจ้าจงฉิบหาย’ แล้วกล่าวต่อไปว่า ‘ก็ไฉน สัตว์จึงทำกรรมอย่างนี้แก่สัตว์เล่า’ ข้อที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] การประพฤติเมถุนธรรม
ว่ามานั้น แม้ในขณะนี้ ในชนบทบางแห่ง เมื่อเขานำสัตว์ที่จะถูกฆ่าไปสู่ที่ประหาร มนุษย์
เหล่าอื่นก็จะขว้างฝุ่นใส่บ้าง ขว้างขี้เถ้าใส่บ้าง ขว้างมูลโคใส่บ้าง พวกพราหมณ์
พากันนึกได้แต่คำโบราณที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกเท่านั้น แต่ไม่
รู้เนื้อความแห่งคำนั้นเลย
การประพฤติเมถุนธรรม
[๑๒๗] วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมัยนั้น การเสพเมถุนธรรมอันเป็นเหตุ
ให้ถูกขว้างฝุ่นใส่เป็นต้นนั้น ถือว่าเป็นเรื่องไม่ดี แต่บัดนี้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา
สมัยนั้นเหล่าสัตว์ผู้เสพเมถุนธรรม ไม่ได้เข้าไปยังหมู่บ้านหรือนิคมตลอด ๑ เดือน
บ้าง ๒ เดือนบ้าง เนื่องจากสัตว์เหล่านั้นต้องการเสพอสัทธรรมเกินเวลา ต่อมาจึง
พากันสร้างเรือนขึ้น เพื่อปกปิดอสัทธรรมนั้น สัตว์๑บางคนเกิดความเกียจคร้าน
จึงมีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ เรานี้ช่างลำบากเสียจริง ที่ต้องนำข้าวสาลีมา
เพื่อเป็นอาหารเย็นในตอนเย็น และเพื่อเป็นอาหารเช้าในตอนเช้า ทางที่ดี เราควร
นำข้าวสาลีมาครั้งเดียวให้พอเพื่อเป็นอาหารเช้าและอาหารเย็น’
ต่อแต่นั้นมา สัตว์นั้นก็นำข้าวสาลีมาเพียงครั้งเดียว เพื่อเป็นอาหารเย็นและ
อาหารเช้า ครั้งหนึ่ง สัตว์ผู้หนึ่งเข้าไปหาสัตว์นั้นถึงที่อยู่แล้วได้ชักชวนว่า ‘มาเถิด
ท่านผู้เจริญ พวกเราไปเก็บข้าวสาลีกันเถิด’ สัตว์นั้นจึงตอบว่า ‘อย่าเลย ท่านผู้เจริญ
เรานำข้าวสาลีมาครั้งเดียวพอเพื่อเป็นอาหารเย็นและอาหารเช้าแล้ว’ ต่อมา สัตว์นั้น
จึงถือแบบอย่างสัตว์คนแรก นำข้าวสาลีมาครั้งเดียวพอเพื่อเป็นอาหารถึง ๒ วัน
ด้วยกล่าวว่า ‘เออ อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันนะท่าน’
ต่อมา สัตว์อีกผู้หนึ่งจึงเข้าไปหาสัตว์คนที่ ๒ ถึงที่อยู่ กล่าวชวนสัตว์คนนั้นว่า
‘มาเถิดท่านผู้เจริญ พวกเราไปเก็บข้าวสาลีกันเถิด’ สัตว์นั้นจึงตอบว่า ‘อย่าเลย
ท่านผู้เจริญ เรานำข้าวสาลีมาครั้งเดียวพอเพื่อเป็นอาหารถึง ๒ วัน’ ต่อมา สัตว์นั้น

เชิงอรรถ :
๑ สัตว์ ในที่นี้หมายถึงมนุษย์ในระยะแรก ๆ ที่เปลี่ยนสภาพมาจากเทพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] การแบ่งข้าวสาลี
จึงถือเอาแบบอย่างสัตว์คนที่ ๒ นำข้าวสาลีมาครั้งเดียวพอเพื่อเป็นอาหารถึง ๔ วัน
ด้วยกล่าวว่า ‘เออ อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันนะท่าน’
ต่อมา สัตว์อีกผู้หนึ่งเข้าไปหาสัตว์คนที่ ๓ ถึงที่อยู่ กล่าวชวนสัตว์คนนั้นว่า
‘มาเถิดท่านผู้เจริญ พวกเราไปเก็บข้าวสาลีกันเถิด’ สัตว์นั้นจึงตอบว่า ‘อย่าเลย
ท่านผู้เจริญ เรานำข้าวสาลีมาครั้งเดียวพอเพื่อเป็นอาหารถึง ๔ วัน’ ต่อมา สัตว์นั้น
จึงถือแบบอย่างสัตว์คนที่ ๓ นำข้าวสาลีมาครั้งเดียวพอเพื่อเป็นอาหารถึง ๘ วัน
ด้วยกล่าวว่า ‘เออ อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันนะท่าน’
เพราะสัตว์ทั้งหลายพากันบริโภคข้าวสาลีที่สั่งสมไว้ ดังนั้น ข้าวสาลีจึงมีรำ
ห่อเมล็ดบ้าง มีแกลบหุ้มเมล็ดบ้าง ต้นที่ถูกเกี่ยวแล้วก็ไม่กลับงอกขึ้นอีก
ความพร่องได้ปรากฏให้เห็น จึงได้มีข้าวสาลีเป็นหย่อม ๆ
การแบ่งข้าวสาลี
[๑๒๘] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นจึงประชุมกัน ครั้นแล้ว
ต่างพากันปรับทุกข์ว่า ‘ท่านผู้เจริญ บาปธรรมก็ปรากฏในสัตว์ทั้งหลายแล้ว ด้วยว่า
ในกาลก่อน พวกเรานึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นภักษา มีรัศมีซ่าน
ออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปในอากาศ อยู่ในวิมานงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน
สมัยหนึ่ง เมื่อล่วงไปนาน ๆ เกิดง้วนดินลอยขึ้นบนน้ำปรากฏแก่พวกเรา ง้วนดินนั้น
สมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรส พวกเรานั้นได้พากันใช้มือปั้นง้วน
ดินให้เป็นคำ ๆ เพื่อบริโภค เมื่อพวกเราพากันใช้มือปั้นง้วนดินให้เป็นคำ ๆ เพื่อ
บริโภคอยู่ รัศมีที่ซ่านออกจากร่างกายก็หายไป เมื่อรัศมีที่ซ่านออกจากร่างกาย
หายไป ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ก็ปรากฏ เมื่อดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ปรากฏแล้ว
ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ปรากฏ เมื่อดวงดาวนักษัตรทั้งหลายปรากฏแล้ว กลางคืน
กลางวันก็ปรากฏ เมื่อกลางคืนกลางวันปรากฏแล้ว เดือนหนึ่ง ครึ่งเดือนก็ปรากฏ
เมื่อเดือนหนึ่ง ครึ่งเดือนปรากฏ ฤดูและปีก็ปรากฏ พวกเรานั้นบริโภคง้วนดิน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] การแบ่งข้าวสาลี
มีง้วนดินเป็นภักษา มีง้วนดินเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน เพราะบาปอกุศล-
ธรรมปรากฏ ง้วนดินของพวกเราจึงหายไป เมื่อง้วนดินหายไป สะเก็ดดินก็ปรากฏ
สะเก็ดดินนั้นสมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรส พวกเรานั้นได้พากัน
บริโภคสะเก็ดดิน พวกเรานั้นบริโภคสะเก็ดดินนั้น มีสะเก็ดดินนั้นเป็นภักษา
มีสะเก็ดดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน เพราะบาปอกุศลธรรมปรากฏ
สะเก็ดดินของพวกเราจึงหายไป เมื่อสะเก็ดดินหายไป เครือดินก็ปรากฏ เครือดินนั้น
สมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรส พวกเรานั้นได้พากันบริโภค
เครือดิน พวกเรานั้นบริโภคเครือดินนั้น มีเครือดินนั้นเป็นภักษา มีเครือดินนั้น
เป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน เพราะบาปอกุศลธรรมปรากฏ เครือดินของ
พวกเราจึงหายไป เมื่อเครือดินหายไป ข้าวสาลีอันผลิผลในที่ที่ไม่ต้องไถ ไม่มีรำ
ไม่มีแกลบ บริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสารก็ปรากฏ ที่ที่พวกเราเก็บเกี่ยว
ข้าวสาลีไปเพื่อเป็นอาหารเย็นในตอนเย็น ก็กลับมีข้าวสาลีงอกสุกขึ้นได้ในตอนเช้า
ที่ที่พวกเราเก็บเกี่ยวข้าวสาลีไปเพื่อเป็นอาหารเช้าในตอนเช้า ก็กลับมีข้าวสาลีงอก
สุกขึ้นได้ในตอนเย็น ความพร่องไม่ปรากฏเลย พวกเรานั้นเมื่อพากันบริโภคข้าวสาลี
ซึ่งเกิดสุกเองในที่ที่ไม่ต้องไถ มีข้าวสาลีนั้นเป็นภักษา มีข้าวสาลีเป็นอาหาร ได้ดำรง
อยู่นานแสนนาน เพราะบาปอกุศลธรรมปรากฏ ข้าวสาลีของพวกเราจึงมีรำห่อเมล็ดบ้าง
มีแกลบหุ้มเมล็ดบ้าง ต้นที่ถูกเกี่ยวแล้วก็ไม่กลับงอกขึ้นอีก ความพร่องได้ปรากฏ
ให้เห็นจึงได้มีข้าวสาลีเป็นหย่อม ๆ ทางที่ดี เราควรแบ่งข้าวสาลีและปักปันเขตแดน
กันเถิด’ ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงพากันแบ่งข้าวสาลีและปักปันเขตแดนกัน
[๑๒๙] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์ผู้หนึ่งมีนิสัยโลภ รักษาส่วน
ของตนไว้แล้ว ถือเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ให้มาบริโภค คนทั้งหลายจับเขาได้ จึงกล่าวว่า
‘คุณ คุณทำกรรมชั่วที่รักษาส่วนของตนไว้แล้ว ถือเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ให้มาบริโภค
คุณอย่าทำกรรมชั่วอย่างนี้อีก’ สัตว์นั้นก็รับคำแล้ว
แม้ครั้งที่ ๒ สัตว์นั้น ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] มหาสมมตราช
แม้ครั้งที่ ๓ สัตว์นั้นก็รักษาส่วนของตนไว้แล้ว ถือเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ให้มา
บริโภค คนทั้งหลายได้พากันจับเขาแล้ว กล่าวคำนี้ว่า ‘คุณ คุณทำกรรมชั่ว ที่รักษา
ส่วนของตนไว้แล้ว ถือเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ให้มาบริโภค คุณอย่าได้ทำอย่างนี้อีก’
คนเหล่าอื่น ใช้ฝ่ามือบ้าง ก้อนดินบ้าง ท่อนไม้บ้าง ทำร้าย วาเสฏฐะและภารทวาชะ
ในเพราะเรื่องนั้นเป็นเหตุ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้จึงปรากฏ การครหา
จึงปรากฏ การพูดเท็จจึงปรากฏ การถือทัณฑาวุธจึงปรากฏ
มหาสมมตราช
[๑๓๐] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงได้ประชุมกันปรับ
ทุกข์กันว่า ‘ท่านผู้เจริญ บาปธรรมปรากฏในหมู่สัตว์แล้ว คือ การถือเอาสิ่งของที่
เจ้าของเขาไม่ได้ให้จักปรากฏ การครหาจักปรากฏ การพูดเท็จจักปรากฏ การถือ
ทัณฑาวุธจักปรากฏ ทางที่ดี พวกเราควรสมมต(แต่งตั้ง)สัตว์ผู้หนึ่ง ซึ่งจะว่ากล่าว
ผู้ที่ควรว่ากล่าว ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบ พวกเราจัก
แบ่งปันข้าวสาลีให้แก่สัตว์ผู้นั้น
ครั้นแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงเข้าไปหาท่านที่มีรูปงดงามกว่า น่าดูกว่า น่าเลื่อมใส
กว่า น่าเกรงขามกว่า แล้วจึงได้กล่าวดังนี้ว่า ‘มาเถิด ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงว่า
กล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว จงติเตียนผู้ที่ควรติเตียน จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบเถิด
และพวกเราจักแบ่งปันข้าวสาลีให้แก่ท่าน’
สัตว์ผู้นั้นรับคำแล้ว ได้ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ขับไล่
ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบ และสัตว์เหล่านั้นก็ได้แบ่งปันข้าวสาลีให้แก่สัตว์ผู้นั้น
[๑๓๑] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุที่สัตว์นั้นอันมหาชนสมมต(แต่งตั้ง)
ฉะนั้น คำแรกว่า ‘มหาสมมต มหาสมมต’ จึงเกิดขึ้น เพราะเหตุที่สัตว์นั้นเป็นใหญ่
แห่งที่นาทั้งหลาย ฉะนั้น คำที่ ๒ ว่า ‘กษัตริย์ กษัตริย์’ จึงเกิดขึ้น เพราะเหตุ
ที่สัตว์นั้นให้ชนเหล่าอื่นยินดีได้โดยชอบธรรม ฉะนั้น คำที่ ๓ ว่า ‘ราชา ราชา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] แวดวงพราหมณ์
จึงเกิดขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงได้เกิดมีแวดวง๑ กษัตริย์นั้นขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้น
เท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์พวกเดียวกันเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ที่มิใช่พวก
เดียวกัน มีโดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม ตามคำโบราณที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่า
ด้วยต้นกำเนิดของโลก ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
แวดวงพราหมณ์
[๑๓๒] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์บางพวกได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
‘ท่านผู้เจริญ บาปธรรมเกิดขึ้นในหมู่สัตว์แล้ว คือ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขา
ไม่ได้ให้จักปรากฏ การครหาจักปรากฏ การพูดเท็จจักปรากฏ การถือทัณฑาวุธ
จักปรากฏ การขับไล่จักปรากฏ ทางที่ดี พวกเราควรลอยบาปอกุศลธรรมทิ้ง
เสียเถิด สัตว์เหล่านั้นจึงได้พากันลอยบาปอกุศลธรรมนั้นทิ้งไป เพราะสัตว์ทั้งหลาย
พากันลอยบาปอกุศลธรรมทิ้งไป ฉะนั้น คำแรกว่า ‘พราหมณ์ พราหมณ์’ จึงเกิดขึ้น
พราหมณ์เหล่านั้นจึงสร้างกระท่อมมุงด้วยใบไม้ไว้ในราวป่าแล้ว บำเพ็ญฌานอยู่ใน
กระท่อมที่มุงด้วยใบไม้นั้น พราหมณ์เหล่านั้นไม่มีการหุงต้ม ไม่มีการตำข้าว พากัน
เที่ยวไปยังหมู่บ้านตำบลและเมืองแสวงหาอาหาร เพื่อเป็นอาหารเย็นในตอนเย็น
เพื่อเป็นอาหารเช้าในตอนเช้า พวกเขาได้อาหารแล้วก็บำเพ็ญฌานอยู่ในกระท่อม
มุงด้วยใบไม้ในราวป่านั่นเทียวอีก หมู่มนุษย์พบเขาแล้วจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ
สัตว์เหล่านี้สร้างกระท่อมมุงด้วยใบไม้ในราวป่าแล้ว บำเพ็ญฌานอยู่ในกระท่อมที่
มุงด้วยใบไม้นั้น พวกเขาไม่มีการหุงต้ม ไม่มีการตำข้าว พากันเที่ยวไปยังหมู่บ้าน
ตำบลและเมืองแสวงหาอาหาร เพื่อเป็นอาหารเย็นในตอนเย็น เพื่อเป็นอาหารเช้า
ในตอนเช้า พวกเขาได้อาหารแล้วมาบำเพ็ญฌานอยู่ในกระท่อมที่มุงด้วยใบไม้ในราว
ป่าอีก เพราะพวกเขาบำเพ็ญฌานอยู่ คำที่ ๒ ว่า ‘ฌายกา ฌายกา’ จึงเกิดขึ้น
ในจำนวนสัตว์เหล่านั้น สัตว์บางพวก เมื่อไม่บรรลุฌานนั้นในกระท่อมที่มุงด้วยใบไม้

เชิงอรรถ :
๑ แวดวง แปลจากคำว่า มณฺฑล ซึ่งอรรถกถาให้ความหมายว่า คณะ(หมู่) เช่น คำว่า พฺราหฺมณคณสฺส
แปลว่าหมู่ของพราหมณ์ (ที.ปา.อ. ๑๓๒/๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] แวดวงแพศย์
ในราวป่า จึงเที่ยวไปยังหมู่บ้านที่ใกล้เคียงกันและนิคมที่ใกล้เคียงกัน พากันทำคัมภีร์อยู่
มนุษย์ทั้งหลายเห็นเขาแล้วจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ สัตว์เหล่านี้ไม่ได้บรรลุ
ฌานนั้นในกระท่อมที่มุงด้วยใบไม้ในราวป่า จึงเที่ยวไปยังหมู่บ้านที่ใกล้เคียงกันและ
นิคมที่ใกล้เคียงกัน พากันทำคัมภีร์อยู่ ชนเหล่านี้ไม่บำเพ็ญฌาน’ เพราะชน
เหล่านี้ ไม่บำเพ็ญฌาน ในบัดนี้ คำที่ ๓ ว่า ‘อัชฌายกา อัชฌายกา’ จึงเกิดขึ้น
สมัยนั้น คำว่า ‘อัชฌายกา’ นั้นถือกันว่าเป็นคำเลว แต่ในสมัยนี้ คำว่า ‘อัชฌายกา’
นั้นถือกันว่าประเสริฐ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงได้เกิดมีแวดวงพราหมณ์นั้นขึ้นแก่
สัตว์เหล่านั้นเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์พวกเดียวกันเท่านั้น ไม่มี
แก่สัตว์ที่มิใช่พวกเดียวกัน มีโดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม ตามคำโบราณ
ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้ง
ในโลกนี้และโลกหน้า
แวดวงแพศย์
[๑๓๓] วาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาสัตว์เหล่านั้น บางพวกยึดมั่นเมถุน-
ธรรม๑แล้วแยกประกอบการงานที่แตกต่างออกไป๒ เพราะเหตุที่สัตว์เหล่านั้นยึดมั่น
เมถุนธรรม แล้วแยกประกอบการงานที่แตกต่างออกไป ฉะนั้น คำว่า ‘เวสสา
เวสสา’ จึงเกิดขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงได้เกิดมีแวดวงแพศย์นั้นขึ้นแก่สัตว์
เหล่านั้นเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์พวกเดียวกันเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์
ที่มิใช่พวกเดียวกัน มีโดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม ตามคำโบราณที่เกี่ยวข้อง
กับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้
และโลกหน้า

เชิงอรรถ :
๑ เมถุนธรรม แปลว่า ธรรมแห่งการดำเนินชีวิตของคนคู่ หมายถึงอสัทธรรมซึ่งเป็นประเวณีของชาวบ้าน
มารยาทของคนชั้นต่ำ กิริยาชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่ต้องทำในที่ลับ ต้องทำกันสองต่อสอง (ดู วิ.
มหา. (แปล) ๑/๕๕/๔๒, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๗๕/๑๖๔)
๒ การงานที่แตกต่างออกไป ในที่นี้หมายถึงการงานที่ทำให้มีชื่อเสียงโดดเด่น เช่น โคปกกรรม (การรักษา
ความปลอดภัย) พาณิชยกรรม (การค้าขาย) (ที.ปา.อ. ๑๓๓/๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙๘ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น