Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๙-๓ หน้า ๘๓ - ๑๒๓

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๙-๓ สุตตันตปิฎกที่ ๐๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค



พระสุตตันตปิฎก
ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๗.ทิพยจักษุญาณ
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต
กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด
พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่
ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ
และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไป
บังเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล
[๒๔๗] เปรียบเหมือนปราสาทตั้งอยู่ที่ทางสามแพร่งกลางเมืองหลวง คนตาดี
ยืนบนปราสาทนั้นเห็นหมู่ชนกำลังเข้าไปสู่เรือนบ้าง ออกจากเรือนบ้าง สัญจรอยู่
ตามถนนบ้าง นั่งอยู่ที่ทางสามแพร่งกลางเมืองหลวงบ้าง ก็รู้ว่า ‘คนเหล่านี้เข้าไปสู่
เรือน คนเหล่านี้ออกจากเรือน คนเหล่านี้สัญจรอยู่ตามถนน คนเหล่านี้นั่งอยู่ที่ทาง
สามแพร่งกลางเมืองหลวง’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียง
ดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้น
สูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึง
หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต
กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด
พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่
ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ
และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไป
บังเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๘.อาสวักขยญาณ

๘. อาสวักขยญาณ
[๒๔๘] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้
ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้
อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ
ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้น
แล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว๑ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็น
อย่างนี้อีกต่อไป’๒
[๒๔๙] เปรียบเหมือนสระน้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัวบนยอดภูเขา คนตาดียืนที่
อบสระนั้น เห็นหอยโข่งและหอยกาบ ก้อนกรวดและก้อนหินหรือฝูงปลากำลัง
แหวกว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้าง ในสระนั้น ก็คิดอย่างนี้ว่า ‘สระน้ำนี้ใสสะอาดไม่
ขุ่นมัว หอยโข่งและหอยกาบ ก้อนกรวดและก้อนหิน และฝูงปลาเหล่านี้กำลังแหวก
ว่ายอยู่ก็มี หยุดอยู่ก็มี ในสระนั้น’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส
เพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่น
ไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้
ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้
อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจาก
กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า
‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่ง
ดีกว่าและประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ
มหาบพิตร ไม่มีผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์อย่างอื่นที่ยอดเยี่ยม
กว่าหรือประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์นี้เลย”

เชิงอรรถ :
๑ กิจที่ควรทำในที่นี้ หมายถึง กิจในอริยสัจ ๔ คือ การกำหนดรู้ทุกข์, การละเหตุเกิดแห่งทุกข์, การทำ
ให้แจ้งซึ่งความดับทุกข์ และการอบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้เจริญ (ที.สี.อ. ๒๔๘/๒๐๓ )
๒ ไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมรรคญาณเพื่อความหมดสิ้นแห่งกิเลสอีกต่อไป เพราะพระพุทธศาสนาถือว่าการ
บรรลุพระอรหัตตผลเป็นจุดหมายสูงสุด (ที.สี.อ. ๒๔๘/๒๐๓ )

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
พระเจ้าอชาตศัตรูทรงประกาศพระองค์เป็นอุบาสก

พระเจ้าอชาตศัตรูทรงประกาศพระองค์เป็นอุบาสก
[๒๕๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ได้
กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระ
ภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่
คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คน
มีตาดีจักเห็นรูปได้ หม่อมฉันนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระ
สงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่
วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความผิดได้ครอบงำหม่อมฉันผู้
โง่เขลาเบาปัญญาซึ่งได้ปลงพระชนม์พระราชบิดาผู้ทรงธรรม เพราะต้องการความ
เป็นใหญ่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดทรงรับทราบความผิดของหม่อม
ฉันตามความเป็นจริงเถิด เพื่อจะได้สำรวมต่อไป”
[๒๕๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เจริญพร มหาบพิตร ความผิดได้ครอบงำ
พระองค์ผู้โง่เขลาเบาปัญญาซึ่งได้ปลงพระชนม์พระราชบิดาผู้ทรงธรรม เพราะ
ต้องการความเป็นใหญ่ แต่พระองค์ทรงเห็นความผิดว่าเป็นความผิดแล้วทรง
สารภาพตามความเป็นจริง ดังนั้น อาตมภาพขอรับทราบความผิดนั้นของพระองค์
ก็ผู้ที่เห็นความผิดว่าเป็นความผิดแล้วสารภาพออกมาตามความเป็นจริง รับว่าจะ
สำรวมต่อไป วิธีนี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า”
[๒๕๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ได้
กราบทูลว่า “ถ้าอย่างนั้น บัดนี้ หม่อมฉันขอทูลลากลับ เพราะมีกิจมีหน้าที่ที่จะ
ต้องทำอีกมาก พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ขอพระองค์จงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด
มหาบพิตร”
พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ทรงชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ได้เสด็จลุกจากที่ประทับ ทรงกราบพระผู้มีพระภาค ทรงกระทำประทักษิณแล้ว
เสด็จจากไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
[๒๕๓] ครั้นเมื่อท้าวเธอเสด็จจากไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุ
มารับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระราชาองค์นี้ถูกขจัดเสียแล้ว ถูกทำลายเสียแล้ว
หากท้าวเธอจักไม่ปลงพระชนม์พระราชบิดาผู้ทรงธรรม ธรรมจักษุ๑ อันไร้ธุลีคือ
กิเลส ปราศจากมลทิน จักเกิดขึ้นแก่ท้าวเธอ ณ ที่ประทับนี้ทีเดียว”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเวยยากรณภาษิตนี้จบลง ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่าง
ชื่นชมยินดีพุทธภาษิตนั้นแล
สามัญญผลสูตรที่ ๒ จบ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] เรื่องพราหมณ์โปกขรสาติ

๓. อัมพัฏฐสูตร
ว่าด้วยชายหนุ่มชื่ออัมพัฏฐะ
[๒๕๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่
ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชาวโกศลชื่ออิจฉานังคลคาม
ประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคลวัน ใกล้อิจฉานังคลคาม
เรื่องพราหมณ์โปกขรสาติ
[๒๕๕] สมัยนั้น พราหมณ์โปกขรสาติ๑ ปกครองเมืองอุกกัฏฐะซึ่งมีประชากร
และสัตว์เลี้ยงมากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ เป็นพระ
ราชทรัพย์ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย(ส่วน
พิเศษ) พราหมณ์โปกขรสาติได้ฟังข่าวว่า “ท่านพระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จ
ออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่
ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงอิจฉานังคลคามโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ราวป่า
อิจฉานังคลวัน ใกล้อิจฉานังคลคาม ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไป
อย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย
พระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็น
สารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า๒ เป็นพระผู้มีพระภาค๓ พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก

เชิงอรรถ :
๑ พราหมณ์ผู้นี้มีผิวกายเหมือนดอกบัวขาว งดงามดุจเสาระเนียดเงิน ศีรษะสีดำดุจมรกต หนวดดุจปุยเมฆ
ดำในดวงจันทร์ ลูกตาทั้ง ๒ ข้างเหมือนดอกบัวเขียว จมูกกลมเกลี้ยงเกลา ฝ่ามือฝ่าเท้าและช่องปาก
งดงามดังไล้ทาด้วยสีครั่ง เขาเป็นคนที่มีร่างกายงดงามมาก (ที.สี.อ. ๒๕๕/๒๑๙)
๒ ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดด้วยพระองค์เองและทรงสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม
๓ ชื่อว่า เป็นพระผู้มีพระภาค เพราะ (๑) ทรงมีโชค (๒) ทรงทำลายข้าศึกคือกิเลส (๓) ทรงประกอบด้วย
ภคธรรม ๖ ประการ (คือ ความเป็นใหญ่เหนือจิตของตน, โลกุตตรธรรม, ยศ, สิริ, ความสำเร็จประโยชน์
ตามต้องการ และความเพียร) (๔) ทรงจำแนกแจกแจงธรรม (๕) ทรงเสพอริยธรรม (๖) ทรงคาย
ตัณหาในภพทั้งสาม (๗) ทรงเป็นที่เคารพของชาวโลก (๘) ทรงอบรมพระองค์ดีแล้ว (๙) ทรงมีส่วน
แห่งปัจจัย ๔ เป็นต้น (วิ.อ. ๑/๑๐๓-๑๑๘, สารตฺถ.ฏีกา. ๑/๒๗๐)
อนึ่ง พุทธคุณนี้ ท่านแบ่งเป็น ๑๐ ประการ โดยแยกพุทธคุณข้อ ๖ เป็น ๒ ประการ คือ (๑) เป็น
ผู้ยอดเยี่ยม (๒) เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ (วิสุทฺธิ. ๑/๒๖๕, วิ.อ. ๑/๑๑๒-๑๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] เรื่องอัมพัฏฐมาณพ
มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วยพระ
องค์เองแล้วทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มี
ความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้ง
อรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้
เป็นความดีอย่างแท้จริง”
เรื่องอัมพัฏฐมาณพ
[๒๕๖] เวลานั้น อัมพัฏฐมาณพผู้เป็นศิษย์ของพราหมณ์โปกขรสาติ เป็น
ผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์๑ จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์
อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์๒ รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์
และการทำนายลักษณะมหาบุรุษ๓ อาจารย์ยกย่องและตัวเขาก็ยอมรับในวิชชา ๓
ประการอันเป็นของอาจารย์ของตนว่ารู้เท่ากันกับที่อาจารย์รู้

เชิงอรรถ :
๑ บทสวด (มันตระ) ในคัมภีร์พระเวท หมายถึงบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า ซึ่งรวบรวมเป็นหมวด ๆ เรียก
ชื่อว่า ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และอาถรรพเวท
๒ ไตรเพท หมายถึงคัมภีร์ ๓ ข้างต้น คือ ฤคเวท (อิรุเวท) ยชุรเวท และสามเวท (ส่วนอาถรรพเวท
ปรากฏภายหลังจากการปรากฏของพระสูตรนี้)
นิฆัณฑุศาสตร์ คัมภีร์ประเภทศัพทมูลวิทยา (Etymology) คลังศัพท์ (Lexicon) หรืออภิธานศัพท์
(Glossary) ที่รวบรวมคำศัพท์ในพระเวทซึ่งเป็นคำยาก หรือคำที่เลิกใช้แล้ว นำมาอธิบายความหมาย
เป็นส่วนหนึ่งของนิรุกติ ซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า
นิฆัณฏุ
เกฏุภศาสตร์ คัมภีร์ที่ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมแก่การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นส่วน
หนึ่งของกัลปะ ซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า ไกฏภ
อักษรศาสตร์ คือ คัมภีร์ว่าด้วยสิกขา (การเปล่งเสียง, การออกเสียง) และนิรุตติ (การอธิบายคำศัพท์
โดยอาศัยประวัติและกำเนิดของคำ)
ประวัติศาสตร์ คือพงศาวดารเล่าเรื่องเก่า ๆ มักจะมีคำว่า สิ่งนี้ได้เป็นมาอย่างนี้ [ที.สี.อ. ๒๕๖/ ๒๒๒ และ
ดู Dawson, John.A Classical Dictionary of Hindu Mythology (London: Routledge and
Kegan Paul, 1957) p. 222]
๓ ศาสตร์ว่าด้วยลักษณะของบุคคลสำคัญมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น อันมีอยู่ในคัมภีร์พราหมณ์ ซึ่งเรียกว่า
มนตร์ เฉพาะส่วนที่ว่าด้วยผู้เป็นพระพุทธเจ้า เรียกว่าพุทธมนตร์ มีอยู่ ๑๖,๐๐๐ คาถา (ที.สี.อ.
๒๕๖/๒๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] เรื่องอัมพัฏฐมาณพ
[๒๕๗] ครั้งนั้นพราหมณ์โปกขรสาติเรียกอัมพัฏฐมาณพมาบอกว่า “อัมพัฏฐะ
ท่านพระสมณโคดมพระองค์นี้เป็นศากยบุตร เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล
เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จ
ถึงอิจฉานังคลคามโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคลวัน ใกล้อิจฉานังคล-
คาม ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระ
ผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบ
พร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่าง
ยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระ
ผู้มีพระภาค พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และ
หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้วทรง
ประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่าง
แท้จริง’ มาเถิด พ่ออัมพัฏฐมาณพ เธอจงไปเฝ้าท่านพระสมณโคดมถึงที่ประทับ
ครั้นแล้วจงรู้จักพระสมณโคดมให้ได้ พวกเราจะได้รู้จักท่านพระโคดมว่า กิตติศัพท์
ของท่านพระโคดมที่ขจรไปเช่นนั้นจริงหรือไม่ ท่านพระโคดมทรงเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่”
[๒๕๘] อัมพัฏฐมาณพเรียนถามว่า “ท่านขอรับ ทำอย่างไรผมจึงจะรู้จักท่าน
พระโคดมว่า กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมที่ขจรไปเช่นนั้นจริงหรือไม่ ท่านพระโคดม
ทรงเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่”
พราหมณ์โปกขรสาติตอบว่า “พ่ออัมพัฏฐะ พระมหาบุรุษผู้ประกอบด้วย
ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการที่ปรากฏในมนตร์ของเรา ย่อมมีคติ ๒ อย่าง ไม่เป็น
อย่างอื่น คือ (๑) ถ้าทรงอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครอง
ราชย์โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ
แล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว (รัตนะ) ๗ ประการ คือ จักรแก้ว
ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว คหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว มีพระราชบุตร
มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญมีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์สามารถ
ย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรมไม่ต้องใช้อาชญาหรือศัสตรา ครอบครอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
อัมพัฏฐมาณพพูดกตศากยวงศ์ว่าเป็นคนรับใช้ครั้งที่ ๑
แผ่นดินมีสาครเป็นขอบเขต (๒) ถ้าเสด็จออกจากพระราชวังไปผนวชเป็นบรรพชิต
จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลก เราเป็นผู้ให้มนตร์ แต่เธอ
เป็นผู้รับมนตร์”
[๒๕๙] อัมพัฏฐมาณพรับคำแล้วลุกจากที่นั่ง ไหว้พราหมณ์โปกขรสาติ
กระทำประทักษิณแล้วขึ้นยานพาหนะเทียมลาไปพร้อมด้วยมาณพหลายคน ตรงไป
ยังราวป่าอิจฉานังคลวันจนสุดทางยานพาหนะ แล้วลงจากยานพาหนะเดินเข้าไปยัง
พระอาราม
เวลานั้น ภิกษุหลายรูปกำลังเดินจงกรมอยู่กลางแจ้ง อัมพัฏฐมาณพเข้าไปหา
ภิกษุเหล่านั้นถึงที่จงกรมแล้วถามว่า “ท่านขอรับ เวลานี้ท่านพระโคดมพระองค์นั้น
ประทับอยู่ที่ไหน พวกเรามาที่นี้ก็เพื่อจะเฝ้าท่านพระโคดมพระองค์นั้น”
[๒๖๐] ภิกษุเหล่านั้นคิดว่า ‘อัมพัฏฐมาณพคนนี้เกิดในตระกูลที่มีชื่อเสียง ทั้ง
เป็นศิษย์ของพราหมณ์โปกขรสาติผู้โด่งดัง พระผู้มีพระภาคทรงสนทนากับกุลบุตร
เช่นนี้จะไม่หนักพระทัย’ จึงตอบว่า “อัมพัฏฐะ นั่นพระวิหารปิดประตูอยู่ ท่านจง
เข้าไปทางพระวิหารนั้นเงียบ ๆ ค่อย ๆ เข้าไปที่เฉลียงกระแอมก่อนจึงเคาะบานประตู
พระผู้มีพระภาคจักทรงเปิดประตูให้ท่าน”
[๒๖๑] ต่อมา อัมพัฏฐมาณพเข้าไปทางพระวิหารนั้นเงียบ ๆ ค่อย ๆ เข้า
ไปที่เฉลียงกระแอมก่อนจึงเคาะบานประตู พระผู้มีพระภาคทรงเปิดประตูให้
อัมพัฏฐมาณพจึงเข้าไป ฝ่ายพวกมาณพก็พากันเข้าไปสนทนากับพระผู้มีพระภาค
ครั้นสนทนากันพอคุ้นเคยดีจึงนั่งลง ณ ที่สมควร
แต่อัมพัฏฐมาณพเดินบ้าง ยืนบ้าง สนทนากับพระผู้มีพระภาคผู้ประทับนั่งอยู่
[๒๖๒] พระผู้มีพระภาคตรัสถามอัมพัฏฐมาณพว่า “อัมพัฏฐะ เธอเคย
สนทนากับพราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่าผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์ เหมือนดังที่เธอเดินบ้าง
ยืนบ้าง สนทนากับเราผู้นั่งอยู่เช่นนี้หรือ”
อัมพัฏฐมาณพพูดกดศากยวงศ์ว่าเป็นคนรับใช้ครั้งที่ ๑
[๒๖๓] อัมพัฏฐมาณพตอบว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านพระโคดม แท้จริง
พราหมณ์ผู้เดินก็ควรสนทนากับพราหมณ์ผู้เดิน พราหมณ์ผู้ยืนก็ควรสนทนากับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
อัมพัฏฐมาณพพูดกตศากยวงศ์ว่าเป็นคนรับใช้ครั้งที่ ๒
พราหมณ์ผู้ยืน พราหมณ์ผู้นั่งก็ควรสนทนากับพราหมณ์ผู้นั่ง พราหมณ์ผู้นอนก็ควร
สนทนากับพราหมณ์ผู้นอน แต่ข้าพเจ้ากำลังสนทนากับสมณะศีรษะโล้น ผู้เป็นคน
รับใช้ เป็นคนวรรณะต่ำ(กัณหโคตร) เกิดจากพระบาทของท้าวมหาพรหมเหมือน
ท่านพระโคดมต่างหาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ เธอมาที่นี่เพราะมีธุระก็ควรตระหนักถึงธุระ
นั้นไว้ให้ดี ท่านทั้งหลาย อัมพัฏฐมาณพนี้ไม่ได้รับการอบรมแต่สำคัญตนว่าได้รับ
การอบรมมาดี ไม่มีอะไรเลยนอกจากมารยาทของคนที่ไม่ได้รับการอบรม”
[๒๖๔] ทันทีที่ถูกพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นคนไม่ได้รับการอบรม อัมพัฏฐ-
มาณพก็โกรธเคืองไม่พอใจ เมื่อจะข่มขู่พระผู้มีพระภาค เมื่อจะว่าร้ายพระผู้มีพระ
ภาค คิดว่า ‘เราจะทำให้พระสมณโคดมเสียหาย’ จึงได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคว่า
“ท่านพระโคดม คนชาติศากยะดุร้าย หยาบช้า วู่วาม พูดพล่าม เป็นคนรับใช้ ไม่
ยอมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมพวกพราหมณ์ การที่คนชาติศากยะ
ซึ่งเป็นคนดุร้าย หยาบช้า วู่วาม พูดพล่าม เป็นคนรับใช้ ไม่ยอมสักการะ เคารพ
นับถือ บูชานอบน้อมพวกพราหมณ์ เป็นการไม่เหมาะไม่ควรเลย”
นี้เป็นครั้งที่ ๑ ที่อัมพัฏฐมาณพพูดกดศากยวงศ์ว่าเป็นคนรับใช้
อัมพัฏฐมาณพพูดกดศากยวงศ์ว่าเป็นคนรับใช้ครั้งที่ ๒
[๒๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัมพัฏฐะ พวกเจ้าศากยะได้ทำผิดอะไร
ต่อเธอ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าเดินทางไปกรุงกบิลพัสดุ์ด้วย
ธุระของพราหมณ์โปกขรสาติผู้เป็นอาจารย์ เข้าไปที่ท้องพระโรงของพวกศากยะ
เวลานั้น พวกศากยะและศากยกุมารจำนวนมาก กำลังนั่งใช้นิ้วมือสะกิดหยอกล้อ
กันอยู่บนอาสนะสูง ในท้องพระโรง เห็นจะหัวเราะเยาะข้าพเจ้าเป็นแน่ ไม่มีใคร
เชื้อเชิญให้ข้าพเจ้านั่งเลย ท่านพระโคดม การที่คนชาติศากยะซึ่งเป็นคนดุร้าย
หยาบช้า วู่วาม พูดพล่าม เป็นคนรับใช้ ไม่ยอมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นอบน้อมพวกพราหมณ์ เป็นการไม่เหมาะไม่ควรเลย”
นี้เป็นครั้งที่ ๒ ที่อัมพัฏฐมาณพพูดกดศากยวงศ์ว่าเป็นคนรับใช้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
พระพุทธดำรัสว่าอัมพัฏฐมาณพเป็นลูกของหญิงรับใช้

อัมพัฏฐมาณพพูดกดศากยวงศ์ว่าเป็นคนรับใช้ครั้งที่ ๓
[๒๖๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ แม้นางนกไส้ยังพูดได้ตาม
ปรารถนาในรังของตน ก็นั่นกรุงกบิลพัสดุ์เป็นถิ่นของพวกศากยะ ท่านอัมพัฏฐะ
ไม่น่าจะกินแหนงแคลงใจเพราะเรื่องเล็กน้อยเพียงเท่านี้”
เขากล่าวว่า “ท่านพระโคดม วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์
แพศย์ และศูทร ในวรรณะทั้ง ๔ นี้ แท้จริงแล้ว ๓ วรรณะ คือ กษัตริย์ แพศย์
ศูทร เป็นคนบำเรอของพราหมณ์ การที่คนชาติศากยะซึ่งเป็นคนดุร้าย หยาบช้า
วู่วาม พูดพล่าม เป็นคนรับใช้ ไม่ยอมสักการะ เคารพ นับถือ บูชานอบน้อมพวก
พราหมณ์ เป็นการไม่เหมาะไม่ควรเลย”
นี้เป็นครั้งที่ ๓ ที่อัมพัฏฐมาณพพูดกดศากยวงศ์ว่าเป็นคนรับใช้
พระพุทธดำรัสว่าอัมพัฏฐมาณพเป็นลูกของหญิงรับใช้
[๒๖๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า ‘อัมพัฏฐมาณพนี้ชอบ
เหยียดหยามพวกศากยะรุนแรงว่าเป็นคนรับใช้ ทางที่ดี เราควรถามถึงตระกูลดูบ้าง’
จึงตรัสถามว่า “อัมพัฏฐะ เธอมีตระกูล(โคตร)อย่างไร”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าคือกัณหายนตระกูล(กัณหายนโคตร)”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ เมื่อเธอระลึกถึงตระกูลเก่าแก่ของบิดา
มารดาของเธอดู (จะรู้ว่า) พวกศากยะเป็นลูกเจ้า แต่เธอเป็นลูกของหญิงรับใช้ของ
พวกศากยะ ก็พวกศากยะพากันอ้างถึงพระเจ้าโอกกากราชว่าเป็นบรรพบุรุษของตน
อัมพัฏฐะ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าโอกกากราชมีพระประสงค์จะพระราชทาน
ราชสมบัติแก่พระโอรสของพระมเหสีผู้เป็นที่โปรดปราน จึงรับสั่งให้เนรเทศพระ
ราชกุมารทั้ง ๔ พระองค์ คือ พระอุกกามุขราชกุมาร พระกรกัณฑุราชกุมาร พระ
หัตถินิกราชกุมาร พระสินีปุรราชกุมาร ออกจากราชอาณาเขต พระราชกุมาร
เหล่านั้นถูกเนรเทศออกจากราชอาณาเขตแล้ว ก็เสด็จออกไปอาศัยอยู่ ณ ราวป่าไม้
สากะใหญ่ ริมฝั่งสระโบกขรณี เชิงภูเขาหิมพานต์ ทรงอยู่ร่วมเป็นสามีภรรยากับ
พระภคินีของพระองค์เอง เพราะเกรงพระชาติจะปนกับผู้อื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
พระพุทธดำรัสว่าอัมพัฏฐมาณพเป็นลูกของหญิงรับใช้
ต่อมา พระเจ้าโอกกากราชตรัสถามหมู่อำมาตย์ราชบริพารว่า ‘เวลานี้พวก
กุมารอยู่ที่ไหน’
พวกอำมาตย์ราชบริพารกราบทูลว่า ‘ขอเดชะ เวลานี้พระราชกุมารพำนักอยู่
ณ ราวป่าไม้สากะใหญ่ ริมฝั่งสระโบกขรณี เชิงภูเขาหิมพานต์ ทรงอยู่ร่วมเป็นสามี
ภรรยากับพระภคินีของพระองค์เอง เพราะเกรงพระชาติจะปนกับผู้อื่น’
พระเจ้าโอกกากราชจึงทรงเปล่งพระอุทานว่า ‘ท่านทั้งหลาย พวกกุมารมี
ความสามารถ (ศากยะ) พวกกุมารมีความสามารถยอดเยี่ยม (บรมศากยะ)’
พวกที่ชื่อว่า ศากยะ ได้เกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และพระเจ้าโอกกากราช
พระองค์นั้นก็คือบรรพบุรุษของพวกศากยะ
พระเจ้าโอกกากราชมีหญิงรับใช้คนหนึ่งชื่อทิสา นางคลอดลูกชายคนหนึ่งชื่อ
กัณหะ กัณหะพอเกิดมาก็พูดว่า ‘แม่จงล้างฉัน จงให้ฉันอาบน้ำ จงปลดเปลื้องฉัน
จากสิ่งโสโครกนี้ ฉันเกิดมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่แม่’ มนุษย์สมัยนั้นเรียกปีศาจว่า
‘กัณหะ (พวกดำ) เหมือนกับที่มนุษย์สมัยนี้เรียกผีว่า ‘ปีศาจ’ มนุษย์เหล่านั้นกล่าว
กันว่า ‘เด็กคนนี้พอเกิดมาก็พูดได้เลย กัณหะเกิดแล้ว ปีศาจเกิดแล้ว’ พวกที่ชื่อว่า
กัณหายนะได้เกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และเด็กกัณหะนั้นก็คือบรรพบุรุษของ
พวกกัณหายนะ
อัมพัฏฐะ เมื่อเธอระลึกถึงตระกูลเก่าแก่ของบิดามารดาของเธอ (จะรู้ว่า) พวก
ศากยะเป็นลูกเจ้า แต่เธอเป็นลูกของหญิงรับใช้ของพวกศากยะ”
[๒๖๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ มาณพเหล่านั้นได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดมอย่าเหยียดหยามอัมพัฏฐมาณพรุนแรงว่าเป็นลูก
ของหญิงรับใช้เลย อัมพัฏฐมาณพ มีชาติตระกูลดี เป็นลูกผู้มีตระกูล ศึกษามามาก
พูดเพราะ ฉลาด และสามารถเจรจาโต้ตอบกับท่านพระโคดมได้”
[๒๖๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะพวกมาณพเหล่านั้นว่า “มาณพ
ถ้าพวกเธอคิดว่า ‘อัมพัฏฐมาณพมีชาติตระกูลต่ำ ไม่ใช่ลูกผู้มีตระกูล ศึกษามาน้อย
พูดไม่เพราะ โง่เขลา และไม่สามารถเจรจาโต้ตอบกับเราได้’ อัมพัฏฐมาณพจง
หยุด พวกเธอจงเจรจาโต้ตอบกับเราแทน แต่หากพวกเธอคิดว่า ‘อัมพัฏฐมาณพมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
พระพุทธดำรัสว่าอัมพัฏฐมาณพเป็นลูกของหญิงรับใช้
ชาติตระกูลดี เป็นลูกผู้มีตระกูล ศึกษามามาก พูดเพราะ ฉลาด และสามารถเจรจา
โต้ตอบกับท่านพระโคดมได้’ พวกเธอก็จงหยุด อัมพัฏฐมาณพก็จงเจรจาโต้ตอบกับ
เรา(ต่อไป)”
มาณพเหล่านั้นกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม อัมพัฏฐมาณพมีชาติตระกูลดี
เป็นลูกผู้มีตระกูล ศึกษามามาก พูดเพราะ ฉลาด และสามารถเจรจาโต้ตอบกับท่าน
พระโคดมได้ พวกข้าพเจ้าจักหยุดนิ่ง อัมพัฏฐมาณพจงเจรจาโต้ตอบกับท่านพระ
โคดม(ต่อไป)”
[๒๗๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะอัมพัฏฐมาณพว่า “อัมพัฏฐะ
ปัญหาอันชอบธรรมข้อนี้ย่อมมาถึงเธอ เธอแม้ไม่ต้องการก็จะต้องตอบ (เพราะ)
ถ้าไม่ตอบ ขืนพูดกลบเกลื่อน นิ่งเสียหรือจากไปเสีย ศีรษะของเธอจะแตกเป็น ๗
เสี่ยง ณ ที่นี้แหละ อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอเคยได้ฟังพวก
พราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่าผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์เล่ากันมาอย่างไร พวกกัณหายนะ
เกิดจากใครก่อน ใครคือบรรพบุรุษของพวกกัณหายนะ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้ อัมพัฏฐมาณพได้นิ่งเฉย พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสถามอีกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอเคย
ได้ฟังพวกพราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่าผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์เล่ากันมาอย่างไร พวก
กัณหายนะเกิดจากใครก่อน ใครคือบรรพบุรุษของพวกกัณหายนะ”
แม้ครั้งที่ ๒ อัมพัฏฐมาณพก็ยังคงนิ่งเฉย
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อัมพัฏฐะ เธอจงตอบเดี๋ยวนี้ เวลานี้
ไม่ใช่เวลาที่เธอจะนิ่งเฉย (เพราะ) ผู้ที่ถูกตถาคตถามปัญหาอันชอบธรรมถึง ๓ ครั้ง
แต่ไม่ยอมตอบ ศีรษะของเขาจะแตกเป็น ๗ เสี่ยง ณ ที่นี้แหละ”
[๒๗๑] ขณะนั้น ยักษ์วชิรปาณีถือค้อนเหล็กใหญ่มีไฟลุกโชติช่วงยืนอยู่ใน
อากาศเบื้องบนอัมพัฏฐมาณพ คิดว่า ‘หากอัมพัฏฐมาณพนี้ถูกพระผู้มีพระภาคตรัส
ถามปัญหาอันชอบธรรมถึง ๓ ครั้ง แต่ไม่ยอมตอบ เราจะทุบศีรษะของเขาให้แตก
เป็น ๗ เสี่ยง ณ ที่นี้แหละ’
พระผู้มีพระภาคและอัมพัฏฐมาณพเท่านั้นที่มองเห็นยักษ์วชิรปาณีตนนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] เรื่องอัมพัฏฐวงศ์
[๒๗๒] เวลานั้น อัมพัฏฐมาณพตกใจกลัวจนขนพองสยองเกล้าจึงเข้าไป
ใกล้ มุ่งหมายให้พระผู้มีพระภาคเป็นที่ปกป้อง เป็นที่คุ้มครอง และเป็นที่ยึดเหนี่ยว
ทูลถามว่า “ท่านพระโคดมตรัสอะไร โปรดตรัสอีกครั้งเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอเคยได้
ฟังพวกพราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่าผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์เล่ากันมาอย่างไร พวก
กัณหายนะเกิดจากใครก่อน ใครคือบรรพบุรุษของพวกกัณหายนะ”
อัมพัฏฐมาณพกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ฟังมาเหมือนกับที่ท่าน
พระโคดมตรัสนั่นแหละ พวกกัณหายนะเกิดมาจากนายกัณหะนั้นก่อน นายกัณหะ
นั้นคือบรรพบุรุษของพวกกัณหายนะ”
เรื่องอัมพัฏฐวงศ์
[๒๗๓] เมื่ออัมพัฏฐมาณพกราบทูลอย่างนี้ พวกมาณพได้ส่งเสียงอื้ออึง
เซ็งแซ่ว่า “ได้ทราบว่า อัมพัฏฐมาณพมีชาติตระกูลต่ำ ไม่ใช่ลูกผู้มีตระกูล เป็นลูก
ของหญิงรับใช้ของพวกศากยะ ได้ทราบว่า พวกศากยะเป็นโอรสของเจ้านายของ
อัมพัฏฐมาณพ พวกเรากลับเข้าใจท่านพระสมณโคดมผู้เป็นธรรมวาทีว่าควรถูก
รุกราน”
[๒๗๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริอย่างนี้ว่า ‘มาณพเหล่านี้
เหยียดหยามอัมพัฏฐมาณพรุนแรงว่า เป็นลูกของหญิงรับใช้ ทางที่ดีเราควรช่วย
ปลดเปลื้อง’ จึงตรัสกะมาณพเหล่านั้นว่า “มาณพ พวกเธออย่าเหยียดหยาม
อัมพัฏฐมาณพรุนแรงว่าเป็นลูกของหญิงรับใช้เลย เพราะนายกัณหะนั้น (ต่อมา) ได้
เป็นฤๅษีคนสำคัญเดินทางไปยังทักขิณาชนบท เรียนพรหมมันตระ แล้วเข้าเฝ้า
พระเจ้าโอกกากราช กราบทูลขอพระราชธิดาพระนามว่ามัททรูปี พระเจ้าโอกกาก-
ราชทรงกริ้วไม่พอพระทัยตรัสว่า ‘เหวย ๆ เจ้าคนนี้มันใครกัน ก็แค่ลูกของหญิง
รับใช้ จะมาขอมัททรูปีธิดาของข้าได้’ จึงทรงขึ้นพระแสงศร แต่ไม่อาจจะทรงแผลงศร
ทั้งไม่อาจลดศรลงได้
ทันใดนั้น หมู่อำมาตย์ราชบริพารเข้าไปหากัณหฤๅษีกล่าวว่า ‘ข้าแต่ท่าน
ผู้เจริญ ขอพระเจ้าอยู่หัวจงทรงพระเจริญ ๆ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] ความเป็นกษัตริย์ประเสริฐที่สุด
ฤๅษีกล่าวว่า ‘พระราชาจะทรงพระเจริญ แต่ถ้าพระราชาจะทรงแผลงศรลงไป
เบื้องต่ำ แผ่นดินจะทรุดทั่วพระราชอาณาเขต’
หมู่อำมาตย์ราชบริพารกล่าวว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระเจ้าอยู่หัวจงทรง
พระเจริญ ขอให้บ้านเมืองจงมีความปลอดภัย’
ฤๅษีกล่าวว่า ‘พระราชาจะทรงพระเจริญ บ้านเมืองก็จะมีความปลอดภัย แต่
ถ้าพระราชาจะทรงแผลงศรขึ้นไปข้างบน ฝนจะไม่ตกทั่วพระราชอาณาเขตตลอด
๗ ปี’
หมู่อำมาตย์ราชบริพารกล่าวว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระเจ้าอยู่หัวจงทรง
พระเจริญ ขอให้บ้านเมืองจงมีความปลอดภัย ขอให้ฝนจงตกตามฤดูกาล’
ฤๅษีกล่าวว่า ‘พระราชาจะทรงพระเจริญ บ้านเมืองจะมีความปลอดภัย ฝนก็
จะตกตามฤดูกาล ก็ต่อเมื่อพระราชาจะทรงวางพระแสงศรไว้ที่พระราชกุมารพระองค์
ใหญ่ด้วยมุ่งพระทัย ว่า พระราชกุมารจักมีความเจริญ จักหายจากความหวาดผวา’
หมู่อำมาตย์ราชบริพารกราบทูลพระเจ้าโอกกากราชว่า ‘ขอพระเจ้าอยู่หัวทรง
วางพระแสงศรไว้ที่พระราชกุมารพระองค์ใหญ่ด้วยมุ่งพระทัยว่า พระราชกุมารจักมี
ความเจริญ จักหายจากความหวาดผวา’
พระเจ้าโอกกากราชจึงทรงวางพระแสงศรไว้ที่พระราชกุมารพระองค์ใหญ่ พระ
ราชกุมารก็ทรงเป็นผู้มีความเจริญ หายจากความหวาดผวา พระเจ้าโอกกากราชทรง
ตกพระทัยหวาดกลัว พระโลมชาติชูชัน ถูกข่มขู่ด้วยพรหมทัณฑ์ จึงได้พระราชทาน
พระนางมัททรูปีราชธิดาแก่ฤๅษีนั้นไป
มาณพ พวกเธออย่าเหยียดหยามอัมพัฏฐมาณพรุนแรงว่าเป็นลูกของหญิงรับ
ใช้เลย เพราะนายกัณหะนั้นได้เป็นฤๅษีคนสำคัญมาแล้ว”
ความเป็นกษัตริย์ประเสริฐที่สุด
[๒๗๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะอัมพัฏฐมาณพว่า “อัมพัฏฐะ เธอ
เข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ขัตติยกุมารในโลกนี้อยู่ร่วมกับนางพราหมณกัญญา จนมี
บุตร บุตรที่เกิดจากนางพราหมณกัญญากับขัตติยกุมาร ควรจะได้นั่งร่วมกันหรือ
กินดื่มร่วมกันกับพวกพราหมณ์บ้างหรือไม่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] ความเป็นกษัตริย์ประเสริฐที่สุด
เขากราบทูลว่า “ควรจะได้ ท่านพระโคดม”
“พราหมณ์ควรจะเชิญเขาให้มาบริโภคในงานเลี้ยงเพื่อผู้ตาย งานมงคล งาน
ยัญพิธีหรืองานเลี้ยงแขกเหรื่อบ้างหรือไม่”
“ควรเชิญให้มาบริโภค”
“พราหมณ์ควรจะบอกมนตร์ให้เขาหรือไม่”
“ควรจะบอก”
“เขาควรถูกห้ามเกี่ยวข้องกับสตรีหรือไม่”
“ไม่ควรถูกห้าม”
“เขาควรจะได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์หรือไม่”
“ไม่ควรจะได้รับ”
“ข้อนั้น เพราะเหตุไร”
“เพราะเขาไม่บริสุทธิ์ข้างมารดา”
“อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พราหมณกุมารในโลกนี้อยู่ร่วมกับ
นางขัตติยกัญญา จนมีบุตร บุตรที่เกิดจากนางขัตติยกัญญากับพราหมณกุมาร
ควรจะได้นั่งร่วมกันหรือกินดื่มร่วมกันกับพวกพราหมณ์บ้างหรือไม่”
“ควรจะได้ ท่านพระโคดม”
“พราหมณ์ควรจะเชิญเขาให้มาบริโภคในงานเลี้ยงเพื่อผู้ตาย งานมงคล งาน
ยัญพิธี หรืองานเลี้ยงแขกเหรื่อบ้างหรือไม่”
“ควรเชิญให้มาบริโภค”
“พราหมณ์ควรจะบอกมนตร์ให้เขาหรือไม่”
“ควรจะบอก”
“เขาควรถูกห้ามเกี่ยวข้องกับสตรีหรือไม่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] ความเป็นกษัตริย์ประเสริฐที่สุด
“ไม่ควรถูกห้าม”
“เขาควรจะได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์หรือไม่”
“ไม่ควรจะได้รับ”
“ข้อนั้น เพราะเหตุไร”
“เพราะเขาไม่บริสุทธิ์ข้างบิดา”
[๒๗๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ เมื่อเทียบหญิงกับหญิง เทียบ
ชายกับชาย กษัตริย์พวกเดียวเท่านั้นที่จัดว่าประเสริฐ พราหมณ์จัดว่าต่ำกว่า เธอ
เข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พวกพราหมณ์ในโลกนี้โกนศีรษะพราหมณ์คนหนึ่งแล้ว
มอมด้วยเถ้า เนรเทศออกจากแว่นแคว้นหรือจากเมืองเพราะความผิดบางอย่าง
พราหมณ์คนนั้นควรจะได้นั่งร่วมกันหรือกินดื่มร่วมกันกับพวกพราหมณ์บ้างหรือไม่”
“ไม่ควรได้ ท่านพระโคดม”
“พราหมณ์ควรจะเชิญเขาให้มาบริโภคในงานเลี้ยงเพื่อผู้ตาย งานมงคล งาน
ยัญพิธี หรืองานเลี้ยงแขกเหรื่อบ้างหรือไม่”
“ไม่ควรเชิญให้มาบริโภค”
“พราหมณ์ควรจะบอกมนตร์ให้เขาหรือไม่”
“ไม่ควรบอก”
“เขาควรถูกห้ามเกี่ยวข้องกับสตรีหรือไม่”
“ควรถูกห้าม”
“อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พวกกษัตริย์ในโลกนี้ปลงพระเกศา
กษัตริย์องค์หนึ่งแล้วมอมด้วยเถ้า เนรเทศออกจากแว่นแคว้นหรือจากเมืองเพราะ
ความผิดบางอย่าง กษัตริย์องค์นั้นควรจะได้นั่งร่วมกันหรือกินดื่มร่วมกันกับพวก
พราหมณ์บ้างหรือไม่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] ความเป็นกษัตริย์ประเสริฐที่สุด
“ควรจะได้ ท่านพระโคดม”
“พราหมณ์ควรจะเชิญเขาให้มาบริโภคในงานเลี้ยงเพื่อผู้ตาย งานมงคล งาน
ยัญพิธีหรืองานเลี้ยงแขกเหรื่อบ้างหรือไม่”
“ควรเชิญให้มาบริโภค”
“พราหมณ์ควรจะบอกมนตร์ให้เขาหรือไม่”
“ควรจะบอก”
“เขาควรถูกห้ามเกี่ยวข้องกับสตรีหรือไม่”
“ไม่ควรถูกห้าม”
[๒๗๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ กษัตริย์ที่ถูกกษัตริย์ด้วยกัน
ปลงพระเกศา มอมด้วยเถ้าแล้วเนรเทศออกจากแว่นแคว้นหรือจากเมือง ชื่อว่าเป็น
ผู้ถึงความตกต่ำอย่างยิ่ง กษัตริย์เมื่อถึงความตกต่ำอย่างยิ่งเช่นนี้ ก็ยังจัดว่าประเสริฐ
อยู่ พราหมณ์ต่างหากที่ยังต่ำกว่า สมดังคาถาที่สนังกุมารพรหมกล่าวไว้ว่า
‘ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่ กษัตริย์จัดว่าประเสริฐที่สุด
ส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะจัดว่าเป็นผู้
ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์’๑
อัมพัฏฐะ สนังกุมารพรหมกล่าวคาถานั้นไว้ชอบ ไม่ใช่ไม่ชอบ กล่าวไว้ถูกต้อง
ไม่ใช่ไม่ถูกต้อง มีประโยชน์ ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ เราเห็นด้วยทีเดียว แม้เราก็กล่าว
อย่างเดียวกันนี้ว่า
ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่ กษัตริย์จัดว่าประเสริฐที่สุด
ส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ จัดว่าเป็นผู้
ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์”
ภาณวารที่ ๑ จบ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] เรื่องวิชาและจรณะ

เรื่องวิชชาและจรณะ
[๒๗๘] อัมพัฏฐมาณพทูลถามว่า “่ท่านพระโคดม ก็จรณะนั้นเป็นอย่างไร
วิชชานั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อัมพัฏฐะ ในวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็น
คุณยอดเยี่ยม เขาไม่อ้างชาติ ไม่อ้างตระกูล หรือไม่อ้างความถือตัวว่า ท่านคู่ควรกับ
เราหรือท่านไม่คู่ควรกับเรา แต่ในที่ที่มีอาวาหมงคล วิวาหมงคล หรืออาวาหมงคล
และวิวาหมงคล เขาจึงอ้างชาติ อ้างตระกูล หรืออ้างความถือตัวว่า ท่านคู่ควรกับเรา
หรือท่านไม่คู่ควรกับเรา อัมพัฏฐะ ชนที่ยึดติดเพราะอ้างชาติ ยึดติดเพราะอ้างตระกูล
ยึดติดเพราะอ้างความถือตัวหรือยึดติดอยู่กับอาวาหมงคลและวิวาหมงคล ชื่อว่ายัง
อยู่ห่างไกลจากวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยม อัมพัฏฐะ การ
ทำให้แจ้งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยมย่อมมีได้เพราะละการ
ยึดติดเพราะอ้างชาติ การยึดติดเพราะอ้างตระกูล การยึดติดเพราะอ้างความถือตัว
และการยึดติดอยู่กับอาวาหมงคลและวิวาหมงคลแล้วเท่านั้น”
[๒๗๙] อัมพัฏฐมาณพทูลถามว่า “ท่านพระโคดม จรณะนั้นเป็นอย่างไร
วิชชานั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ๑ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ใน
ที่นี้)
ภิกษุนั้นสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตกวิจาร
ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น
ยังมีอีก อัมพัฏฐะ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความ
ผ่องใสในภายในมีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอัน
เกิดจากสมาธิอยู่ ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตรข้อ ๑๙๐-๒๒๕ คือ เพิ่มจูฬศีล มัชฌิมศีล มหาศีล อินทรียสังวร
สติสัมปชัญญะ สันโดษ การละนิวรณ์ อุปมานิวรณ์ ๕ เข้ามา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
ทางเสื่อม ๔ ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ
ยังมีอีก อัมพัฏฐะ เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น
ยังมีอีก อัมพัฏฐะ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน
แล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ฯลฯ
ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้า
หมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อ
ญาณทัสสนะ ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นวิชชาอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น
ฯลฯ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่
มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ข้อนี้จัดเป็นวิชชาอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น๑
อัมพัฏฐะ ที่แสดงมาทั้งหมดนี้ จัดเป็นวิชชา
อัมพัฏฐะ ภิกษุผู้ปฏิบัติเช่นนี้เรียกว่า ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาบ้าง ว่า ผู้
เพียบพร้อมด้วยจรณะบ้าง ว่า ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะบ้าง อัมพัฏฐะ
วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอย่างอื่นซึ่งเหนือกว่าและประณีตกว่าวิชชาสมบัติและ
จรณสมบัตินี้ไม่มีอีกแล้ว
ทางเสื่อม ๔ ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ
[๒๘๐] อัมพัฏฐะ วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้มีทางเสื่อมอยู่
๔ ประการ ๔ ประการอะไรบ้าง คือ
(๑) สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่บรรลุวิชชาสมบัติ
และจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ จึงหาบหิ้วบริขารดาบสเข้าไปสู่
ราวป่าด้วยตั้งใจว่าจักบริโภคผลไม้หล่น เขาต้องเป็นคนรับใช้
ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้ ข้อนี้เป็นทาง
เสื่อมประการที่ ๑ แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตรข้อ ๒๒๖-๓๔๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
ทางเสื่อม ๔ ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ
(๒) อีกอย่างหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่
บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ทั้งไม่สามารถจะ
หาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ จึงถือเสียมและตะกร้าเข้าไปสู่ราวป่า
ด้วยตั้งใจว่าจักบริโภคเหง้า ราก และผลไม้ เขาต้องเป็นคนรับใช้
ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้ ข้อนี้เป็นทาง
เสื่อมประการที่ ๒ แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม
(๓) อีกอย่างหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่
บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะ
หาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ทั้งไม่สามารถจะหาเหง้า ราก และผลไม้
บริโภคได้ จึงสร้างเรือนไฟไว้ใกล้บ้านหรือนิคมแล้วบูชาไฟอยู่
เขาต้องเป็นคนรับใช้ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
โดยแท้ ข้อนี้เป็นทางเสื่อมประการที่ ๓ แห่งวิชชาสมบัติและ
จรณสมบัติอันยอดเยี่ยม
(๔) อีกอย่างหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่
บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะ
หาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ไม่สามารถหาเหง้า ราก และผลไม้
บริโภคได้ ทั้งไม่สามารถจะบูชาไฟได้ จึงสร้างเรือนมีประตู ๔
ด้านไว้ที่หนทางใหญ่สี่แพร่งแล้วพักอยู่ด้วยตั้งใจว่า เราจะบูชา
ท่านผู้ที่เดินทางมาจากทิศทั้ง ๔ ตามสติกำลัง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็น
สมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม เขาต้องเป็นคนรับใช้ของท่านที่เพียบ
พร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้ ข้อนี้เป็นทางเสื่อมประการที่
๔ แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม
อัมพัฏฐะ วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมมีทางเสื่อมอยู่ ๔ ประการ
นี้แล
[๒๘๑] อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอกับอาจารย์ย่อมปรากฏมี
ในวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้บ้างหรือไม่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
ทางเสื่อม ๔ ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ
เขากราบทูลว่า “ไม่ปรากฏมีเลย ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากับอาจารย์ปฏิบัติไป
ทางหนึ่ง วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนั้นอยู่อีกทางหนึ่ง ข้าพเจ้ากับ
อาจารย์ยังอยู่ห่างไกลจากวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอกับ
อาจารย์เมื่อยังไม่บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ก็หาบหิ้วบริขาร
ดาบสเข้าไปสู่ราวป่าด้วยตั้งใจว่าจักบริโภคผลไม้หล่น อย่างนั้นหรือ”
“ไม่เป็นอย่างนั้นเลย ท่านพระโคดม”
“อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอกับอาจารย์เมื่อยังไม่บรรลุวิชชา-
สมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ทั้งไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ก็
ถือเสียมและตะกร้าเข้าไปสู่ราวป่าด้วยตั้งใจว่า จักบริโภคเหง้า ราก และผลไม้ อย่าง
นั้นหรือ”
“ไม่เป็นอย่างนั้นเลย ท่านพระโคดม”
“อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอกับอาจารย์เมื่อยังไม่บรรลุวิชชา
สมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ทั้งไม่
สามารถจะหาเหง้า ราก และผลไม้บริโภคได้ ก็สร้างเรือนไฟไว้ใกล้บ้านหรือนิคม
แล้วบูชาไฟ อย่างนั้นหรือ”
“ไม่เป็นอย่างนั้นเลย ท่านพระโคดม”
“อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอกับอาจารย์เมื่อยังไม่บรรลุวิชชา
สมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ไม่
สามารถจะหาเหง้า ราก และผลไม้บริโภคได้ ทั้งไม่สามารถจะบูชาไฟได้ ก็สร้างเรือน
มีประตู ๔ ด้านไว้ที่หนทางใหญ่สี่แพร่งแล้วพักอยู่ด้วยตั้งใจว่า เราจะบูชาท่านผู้ที่
เดินทางมาจากทิศทั้ง ๔ ตามสติกำลัง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม
อย่างนั้นหรือ”
“ไม่เป็นอย่างนั้นเลย ท่านพระโคดม”
[๒๘๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ เธอกับอาจารย์เสื่อมจากวิชชา-
สมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้แล้ว และยังเสื่อมเพราะมีทางเสื่อม ๔ ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] ฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์
แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ด้วย ก็พราหมณ์โปกขรสาติผู้
เป็นอาจารย์ของเธอได้พูดว่า ‘สมณะโล้นบางเหล่าเป็นคนรับใช้ เป็นคนวรรณะ
ต่ำ(กัณหโคตร) เกิดจากพระบาทของท้าวมหาพรหม ไม่มีประโยชน์เลยที่พวก
พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทจะสนทนาด้วย ๋ ตนเองก็ตกอยู่ในความเสื่อม บำเพ็ญวิชชา-
สมบัติและจรณสมบัติให้บริบูรณ์ไม่ได้ อัมพัฏฐะ เธอจงดูความผิดของพราหมณ์
โปกขรสาติผู้เป็นอาจารย์ของเธอว่ามีเพียงไร
ฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์
[๒๘๓] อัมพัฏฐะ ถึงพราหมณ์โปกขรสาติปกครองเมืองที่พระเจ้าปเสนทิ-
โกศลพระราชทานให้ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ยังไม่โปรดให้เขาเข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์
เวลาจะทรงปรึกษาก็ทรงปรึกษานอกพระวิสูตร ทำไม ท้าวเธอจึงไม่โปรดให้เขาเข้า
เฝ้าเฉพาะพระพักตร์ ทั้ง ๆ ที่เขาได้รับพระราชทานภิกษาหารอันชอบธรรมเล่า อัมพัฏฐะ
เธอจงดูความผิดของพราหมณ์โปกขรสาติผู้เป็นอาจารย์ของเธอว่ามีเพียงไร
[๒๘๔] อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงช้าง
ทรงม้าหรือประทับอยู่บนรถพระที่นั่ง จะทรงปรึกษาราชกิจบางเรื่องกับมหาอำมาตย์
หรือพระบรมวงศานุวงศ์แล้วเสด็จจากที่นั้นไปประทับ ณ ที่แห่งหนึ่ง ต่อมา ศูทร
หรือจัณฑาลพึงมายืนปรึกษาอย่างเดียวกัน ณ ที่นั้นว่า ‘พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสอย่าง
นี้ ๆ’ เขาเพียงพูดได้เหมือนที่พระราชาตรัสหรือปรึกษาได้เหมือนอย่างที่พระราชาทรง
ปรึกษา ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จะจัดว่าเขาเป็นพระราชาหรือราชอำมาตย์ได้หรือไม่”
เขากราบทูลว่า “ไม่ได้เลย ท่านพระโคดม”
[๒๘๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ เธอก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน
พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์ คือ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษี
วามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตร ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ
ฤๅษีกัสสปะ ฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนตร์บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์ในเวลานี้ขับ
ตามกล่อมตามซึ่งบทมนตร์เก่าที่ท่านขับไว้กล่อมไว้ รวบรวมไว้ กล่าวได้ถูกต้องตาม
ที่ท่านกล่าวไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้ เพียงคิดว่า ‘เรากับอาจารย์เรียน
มนตร์ของท่านเหล่านั้น’ เธอจักได้ชื่อว่าเป็นฤๅษีหรือผู้ปฏิบัติเพื่อเป็นฤๅษีเพราะเหตุ
เพียงเท่านั้น นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] ฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์
[๒๘๖] อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอได้ฟังพราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่า
ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์เล่ากันมาอย่างไร พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์
คือ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตร ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส
ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ ฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนตร์บอกมนตร์
ที่พวกพราหมณ์ในเวลานี้ขับตามกล่อมตามซึ่งบทมนตร์เก่าที่ท่านขับไว้กล่อมไว้
รวบรวมไว้ กล่าวได้ถูกต้องตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้
ฤๅษีเหล่านั้นอาบน้ำทาตัวเรียบร้อย แต่งผมและหนวด ประดับพวงดอกไม้ นุ่งห่มผ้า
ขาว บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ เหมือนเธอกับอาจารย์ในเวลานี้หรือไม่”
เขากราบทูลว่า “ไม่เหมือนเลย ท่านพระโคดม”
“ฯลฯ ฤๅษีเหล่านั้นบริโภคข้าวสาลีที่เก็บกากแล้ว มีแกงและกับหลายอย่าง
เหมือนเธอกับอาจารย์ในเวลานี้หรือไม่”
“ไม่เหมือนเลย ท่านพระโคดม”
“ฯลฯ ฤๅษีเหล่านั้นบำเรออยู่ด้วยนางงามผู้มีรูปร่างอ่อนช้อย ตกแต่งด้วยผ้า
โพกศีรษะ เหมือนเธอกับอาจารย์ในเวลานี้หรือไม่”
“ไม่เหมือนเลย ท่านพระโคดม”
“ฯลฯ ฤๅษีเหล่านั้นใช้รถเทียมม้าหางตัด ใช้ปฏักด้ามยาวแทงสัตว์พาหนะห้อ
ไป เหมือนเธอกับอาจารย์ในเวลานี้หรือไม่”
“ไม่เหมือนเลย ท่านพระโคดม”
“ฯลฯ ฤๅษีเหล่านั้นใช้บุรุษขัดกระบี่ รักษาเชิงเทินแห่งนครมีคูล้อมรอบ ลงลิ่ม
เหมือนเธอกับอาจารย์ในเวลานี้หรือไม่”
“ไม่เหมือนเลย ท่านพระโคดม”
“ฯลฯ อัมพัฏฐะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า เธอกับอาจารย์ไม่ใช่ฤๅษี ไม่ใช่ผู้
ปฏิบัติเพื่อเป็นฤๅษี อัมพัฏฐะ ผู้มีความเคลือบแคลงสงสัยในเราก็จงถาม เราจัก
อธิบายให้ฟัง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
อัมพัฏมาณพกลับไปรายงานพราหมณ์โปกขรสาติ

ทรงแสดงลักษณะมหาบุรุษ ๒ ประการ
[๒๘๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากพระวิหารทรงจงกรมอยู่ แม้
อัมพัฏฐมาณพก็ออกจากพระวิหารเดินจงกรมอยู่เหมือนกัน ขณะที่เขาเดินตามพระ
ผู้มีพระภาคอยู่ ได้สังเกตดูลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ในพระวรกายของพระ
ผู้มีพระภาค ได้เห็นลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการโดยส่วนมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ
คือ พระคุยหฐานซึ่งเร้นอยู่ในฝัก กับพระชิวหาใหญ่ จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อ
สนิทใจ
[๒๘๘] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า ‘อัมพัฏฐมาณพนี้เห็น
ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการของเราโดยส่วนมาก เว้นอยู่ ๒ ประการคือ คุยหฐาน
ซึ่งเร้นอยู่ในฝัก กับชิวหาใหญ่ จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อสนิทใจ’ ทันใดนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธาภิสังขารให้เขามองเห็นพระคุยหฐานซึ่งเร้นอยู่ในฝัก
และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณทั้ง ๒ ข้างกลับไปมา สอดเข้าช่องพระ
นาสิกทั้ง ๒ ข้างกลับไปมาแผ่ปิดจนมิดมณฑลพระนลาฏ
อัมพัฏฐมาณพคิดว่า ‘พระสมณโคดมทรงประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒
ประการครบถ้วน ไม่ใช่ไม่ครบถ้วน’ จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระ
โคดม บัดนี้ ข้าพเจ้าขอลากลับ เพราะมีกิจมีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ขอเธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด อัมพัฏฐะ”
ทีนั้น อัมพัฏฐมาณพได้ขึ้นรถเทียมม้าจากไป
อัมพัฏฐมาณพกลับไปรายงานพราหมณ์โปกขรสาติ
[๒๘๙] สมัยนั้น พราหมณ์โปกขรสาติลุกออกมานั่งคอยอัมพัฏฐมาณพอยู่ ณ
อารามของตนพร้อมกับคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่ ฝ่ายอัมพัฏฐมาณพขับยานพาหนะ
ไปทางอารามของตนจนสุดทางที่ยานพาหนะจะเข้าไปได้ จึงลงเดินเข้าไปหา
พราหมณ์โปกขรสาติ กราบแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร
[๒๙๐] พราหมณ์โปกขรสาติถามอัมพัฏฐมาณพว่า “พ่ออัมพัฏฐะ เธอได้เห็น
ท่านพระโคดมพระองค์นั้นแล้วหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
พราหมณ์โปกขรสาติเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เขาตอบว่า “ได้เห็นแล้ว ขอรับ”
“กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมที่ขจรไปเป็นเช่นนั้นจริง ไม่เป็นอย่างอื่นเลยหรือ
ท่านพระโคดมทรงเป็นเช่นนั้นจริง ไม่เป็นอย่างอื่นเลยหรือ”
“ขอรับ กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมที่ขจรไปเป็นเช่นนั้นจริง ไม่เป็นอย่างอื่น
เลย ท่านพระโคดมทรงเป็นเช่นนั้นจริง ไม่เป็นอย่างอื่นเลย ทั้งยังทรงประกอบด้วย
ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการครบถ้วน ไม่ใช่ไม่ครบถ้วน”
“เธอได้สนทนากับพระสมณโคดมบ้างหรือไม่”
“ได้สนทนา ขอรับ”
พราหมณ์โปกขรสาติถามว่า “เธอได้สนทนากับพระสมณโคดมว่าอย่างไรบ้าง”
อัมพัฏฐมาณพจึงได้เล่าเรื่องเท่าที่ตนสนทนากับพระผู้มีพระภาคให้พราหมณ์
โปกขรสาติทราบทุกประการ
[๒๙๑] เมื่ออัมพัฏฐมาณพเล่าให้ฟังอย่างนี้ พราหมณ์โปกขรสาติกล่าวว่า
“โธ่เอ๋ย พ่อบัณฑิตผู้พหูสูตทรงไตรเพทของเรา หลังจากตายแล้วคนจะไปบังเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็เพราะคนผู้ประพฤติประโยชน์เช่นนี้ เธอพูดกระทบ
ท่านพระโคดมอย่างนี้ ๆ แต่กลับถูกท่านพระโคดมยกเอาพวกเราเป็นตัวอย่าง
เปรียบเทียบอย่างนี้ ๆ โธ่เอ๋ย พ่อบัณฑิตผู้พหูสูตทรงไตรเพทของเรา หลังจากตาย
แล้วคนจะไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็เพราะคนผู้ประพฤติประโยชน์
เช่นนี้” โกรธเคือง ไม่พอใจ จึงเตะอัมพัฏฐมาณพจนล้มกลิ้ง ทั้งอยากเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคในเวลานั้นทีเดียว
พราหมณ์โปกขรสาติเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
[๒๙๒] พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวกับพราหมณ์โปกขรสาติว่า “วันนี้เกินเวลา
ที่จะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมเสียแล้ว รอพรุ่งนี้ค่อยไปเถิดท่านโปกขรสาติ”
ต่อมา พราหมณ์โปกขรสาติสั่งให้จัดเตรียมของขบฉันอันประณีตไว้ในนิเวศน์
ของตน แล้วขึ้นยานพาหนะเดินทางออกจากเมืองอุกกัฏฐะ เมื่อยังตามคบเพลิงอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
พราหมณ์โปกขรสาติเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ขับยานพาหนะตรงไปยังราวป่าอิจฉานังคลวัน เมื่อเข้าไปจนสุดทางยานพาหนะจึง
ลงเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ สนทนากับพระผู้มีพระภาคพอคุ้นเคย
แล้ว จึงนั่งลง ณ ที่สมควร
[๒๙๓] พราหมณ์โปกขรสาตินั่งเรียบร้อยแล้วได้ทูลถามว่า “ท่านพระโคดม
อัมพัฏฐมาณพศิษย์ของข้าพเจ้าได้มาที่นี่หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เขามาที่นี่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “พระองค์ได้สนทนากับเขาบ้างหรือไม่”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เราได้สนทนากับเขา พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “พระองค์ได้สนทนากับเขาว่าอย่างไรบ้าง”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเล่าเรื่องเท่าที่พระองค์ทรงสนทนากับอัมพัฏฐมาณพให้
พราหมณ์โปกขรสาติทราบทุกประการ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พราหมณ์โปกขรสาติได้กราบทูลว่า “ท่าน
พระโคดม อัมพัฏฐมาณพเป็นคนโง่ โปรดยกโทษให้เขาเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ขอให้อัมพัฏฐมาณพจงมีความสุขเถิด พราหมณ์”
[๒๙๔] ครั้งนั้น พราหมณ์โปกขรสาติได้สังเกตดูลักษณะมหาบุรุษ ๓๒
ประการในพระวรกายของพระผู้มีพระภาค ได้เห็นลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ
โดยส่วนมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ พระคุยหฐานซึ่งเร้นอยู่ในฝักกับพระชิวหาใหญ่
จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อสนิทใจ
[๒๙๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า ‘พราหมณ์โปกขรสาตินี้
เห็นลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการของเราโดยส่วนมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ
คุยหฐานซึ่งเร้นอยู่ในฝักกับชิวหาใหญ่ จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อสนิทใจ’ ทันใด
นั้น พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธาภิสังขารให้เขามองเห็นพระคุยหฐานซึ่งเร้นอยู่
ในฝัก และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณทั้ง ๒ ข้างกลับไปมา สอดเข้า
ช่องพระนาสิกทั้ง ๒ ข้างกลับไปมาแผ่ปิดจนมิดมณฑลพระนลาฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
พราหมณ์โปกขรสาติประกาศตนเป็นอุบาสก
[๒๙๖] พราหมณ์โปกขรสาติคิดว่า ‘พระสมณโคดมทรงประกอบด้วยลักษณะ
มหาบุรุษ ๓๒ ประการครบถ้วน ไม่ใช่ไม่ครบถ้วน’ จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพเจ้าในวันนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
[๒๙๗] ทีนั้น พราหมณ์โปกขรสาติทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับ
นิมนต์แล้วจึงกราบทูลภัตกาลว่า “ท่านพระโคดม ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
ตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไป
ยังนิเวศน์ของพราหมณ์โปกขรสาติพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้
พราหมณ์โปกขรสาติได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนพระผู้มีพระภาคให้ทรง
อิ่มหนำด้วยตนเอง และพวกมาณพก็ได้ประเคนภิกษุสงฆ์เช่นกัน เมื่อพระผู้มีพระ
ภาคเสวยเสร็จทรงวางพระหัตถ์ พราหมณ์โปกขรสาติจึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใด
ที่หนึ่ง ซึ่งต่ำกว่า
[๒๙๘] พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพีกถา คือ ทรงประกาศเรื่องทาน เรื่องศีล
เรื่องสวรรค์ เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม และอานิสงส์ใน
การออกบวช แก่พราหมณ์โปกขรสาติซึ่งนั่งอยู่ ณ ที่สมควร เมื่อทรงทราบว่า
พราหมณ์โปกขรสาติมีจิตควรบรรลุธรรม สงบ อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกเทศนา๑ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุ
อันไร้ธุลีคือกิเลส ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่พราหมณ์โปกขรสาติบนที่นั่งนั่นเองว่า
‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนดับไปเป็นธรรมดา’
เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
พราหมณ์โปกขรสาติประกาศตนเป็นอุบาสก
[๒๙๙] ลำดับนั้น พราหมณ์โปกขรสาติเห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลง
สู่ธรรม หมดความสงสัย ไม่มีคำถามใด ๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกใน

เชิงอรรถ :
๑ พระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงยกขึ้นแสดงเอง โดยไม่มีผู้ทูลอาราธนา หรือทูลถาม (ที.สี.อ. ๒๙๘/
๒๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
พราหมณ์โปกขรสาติประกาศตนเป็นอุบาสก
หลัก คำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม
ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระ
โคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการ
ต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง
หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์นี้พร้อมด้วย
บุตรภรรยา บริวาร และมิตรสหาย ขอถึงท่านพระโคดมพร้อมทั้งพระธรรมและ
พระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึง
สรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต ขอท่านพระโคดมจงเสด็จเข้าไปสู่โปกขร-
สาติตระกูล เหมือนดังที่เสด็จเข้าไปสู่ตระกูลอุบาสกอื่น ๆ ในเมืองอุกกัฏฐะ เหล่า
มาณพหรือมาณวิกาในโปกขรสาติตระกูลจักไหว้ ลุกรับ ถวายอาสนะและน้ำ จักทำ
จิตให้เลื่อมใส ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พวกเขาตลอดกาลนาน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ท่านกล่าวดีแล้ว”
อัมพัฏฐสูตรที่ ๓ จบ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
เรื่องพราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปา

๔. โสณทัณฑสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโสณทัณฑะ

เรื่องพราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปา
[๓๐๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นอังคะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่
ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงกรุงจัมปา ประทับอยู่ใกล้สระโบกขรณีคัคครา
สมัยนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะปกครองกรุงจัมปา ซึ่งมีประชากรและสัตว์เลี้ยง
มากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ที่พระ
เจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย (ส่วนพิเศษ)
[๓๐๑] พราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปาได้ฟังข่าวว่า “ท่านพระสมณโคดม
เป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นอังคะ
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงกรุงจัมปาโดยลำดับ
ประทับอยู่ใกล้สระโบกขรณีคัคคราในกรุงจัมปา ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อัน
งามขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วย
พระองค์เองแล้วทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มี
ความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้ง
อรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้
เป็นความดีอย่างแท้จริง”
ต่อมา พราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปา ออกจากกรุงจัมปาเดินรวมกันเป็น
หมู่ไปยังสระโบกขรณีคัคครา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
ความเป็นผู้ดีของพราหมณ์โสณทัณฑะ
[๓๐๒] สมัยนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะพักผ่อนกลางวันอยู่ ณ ปราสาทชั้น
บน มองเห็นพราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปาซึ่งล้วนออกจากกรุงจัมปาเดินรวม
กันเป็นหมู่ไปยังสระโบกขรณีคัคครา จึงเรียกอำมาตย์ที่ปรึกษามาถามว่า “พ่อ
อำมาตย์ พราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปา ออกจากกรุงจัมปาเดินรวมกันเป็นหมู่
ไปยังสระโบกขรณีคัคคราทำไมกัน”
อำมาตย์ที่ปรึกษาตอบว่า “ท่านขอรับ พระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จ
ออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นอังคะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่
ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงกรุงจัมปาโดยลำดับ ประทับอยู่ใกล้สระโบกขรณี
คัคคราในกรุงจัมปา ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ
เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้
อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็น
พระผู้มีพระภาค’ คนเหล่านั้นพากันไปเข้าเฝ้าท่านพระโคดมนั้น”
พราหมณ์โสณทัณฑะกล่าวว่า “พ่ออำมาตย์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงไปหาพวก
พราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปา ครั้นแล้วจงบอกอย่างนี้ว่า ท่านขอรับ พราหมณ์
โสณทัณฑะพูดว่า ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อน พราหมณ์โสณทัณฑะจะไป
เข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย”
อำมาตย์ที่ปรึกษารับคำของพราหมณ์โสณทัณฑะแล้ว เข้าไปหาพวกพราหมณ์
และคหบดีชาวกรุงจัมปา ครั้นแล้วก็บอกว่า “ท่านขอรับ พราหมณ์โสณทัณฑะ
พูดว่า ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อน พราหมณ์โสณทัณฑะจะไปเข้าเฝ้าพระ
สมณโคดมด้วย”
ความเป็นผู้ดีของพราหมณ์โสณทัณฑะ
[๓๐๓] เวลานั้น พราหมณ์ต่างถิ่น ๕๐๐ คน มีธุระเดินทางมาพักอยู่ใน
กรุงจัมปา พอได้ฟังว่า ‘พราหมณ์โสณทัณฑะจักไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย’ จึงพา
กันเข้าไปหาพราหมณ์โสณทัณฑะแล้วถามว่า “ท่านโสณทัณฑะจักไปเข้าเฝ้า
พระสมณโคดมจริงหรือ”
พราหมณ์โสณทัณฑะตอบว่า “ใช่ เราคิดจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
ความเป็นผู้ดีของพราหมณ์โสณทัณฑะ
พวกพราหมณ์ห้ามว่า “ท่านโสณทัณฑะอย่าได้ไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม
เลย ท่านโสณทัณฑะไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม ถ้าไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม
เกียรติยศของท่านโสณทัณฑะจะเสื่อมเสีย เกียรติยศของพระสมณโคดมจะเจริญ
รุ่งเรืองยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ท่านโสณทัณฑะจึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระ
สมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่านโสณทัณฑะ เพราะว่า ท่านโสณทัณฑะ
เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่ว
บรรพบุรุษ๑ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ด้วยเหตุนี้ ท่าน
โสณทัณฑะจึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จ
มาหาท่านโสณทัณฑะ
อนึ่ง ท่านโสณทัณฑะเป็นคนมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ฯลฯ เป็นผู้คง
แก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์
อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และ
ลักษณะมหาบุรุษ ฯลฯ เป็นผู้มีรูปงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจ
พรหม มีกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก ฯลฯ เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ
ประกอบด้วยศีลที่เจริญ ฯลฯ เป็นผู้มีวาจาไพเราะสุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำ
อ่อนหวานอย่างชาวเมือง นุ่มนวล เข้าใจง่าย ฯลฯ เป็นอาจารย์และปาจารย์ของ
หมู่ชน สอนมนตร์แก่มาณพ ๓๐๐ คน เหล่ามาณพผู้ต้องการมนตร์จำนวนมาก
จากทิศทางต่างชนบทพากันมาเรียนมนตร์ในสำนักของท่านโสณทัณฑะ ฯลฯ ท่าน
โสณทัณฑะเป็นคนแก่คนเฒ่าเป็นผู้ใหญ่ มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัย
มามาก ส่วนพระสมณโคดมเป็นคนหนุ่ม บวชแต่ยังหนุ่ม ฯลฯ ท่านโสณทัณฑะ
เป็นผู้ที่พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธและพราหมณ์โปกขรสาติสักการะ เคารพ นับถือ
บูชา นอบน้อม ฯลฯ
ท่านโสณทัณฑะปกครองกรุงจัมปา ซึ่งมีประชากรและสัตว์เลี้ยงมากมาย มี
พืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ที่พระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพมคธพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย ด้วยเหตุนี้ ท่านโสณทัณฑะ
จึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่าน
โสณทัณฑะ”

เชิงอรรถ :
๑ วิธีนับลำดับบรรพบุรุษแบบหนึ่ง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของวงศ์สกุล โดยนับจากปัจจุบันขึ้นไป ๗ ชั้น
(ที.สี.อ. ๓๐๓/๒๕๒-๒๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
พราหมณ์โสณทัณฑะแสดงพระพุทธคุณ

พราหมณ์โสณทัณฑะแสดงพระพุทธคุณ
[๓๐๔] เมื่อพวกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ พราหมณ์โสณทัณฑะได้กล่าวว่า
“ท่านทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกท่านโปรดฟังเราบ้าง เรานี่แหละควรไปเข้าเฝ้าท่าน
พระโคดม ท่านพระโคดมไม่ควรเสด็จมาหาเรา ได้ทราบว่า พระสมณโคดมทรงเป็น
ผู้มีพระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ทรงถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดี
ตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ด้วยเหตุ
นี้ ท่านพระโคดมจึงไม่ควรเสด็จมาหาเรา เราต่างหากควรไปเข้าเฝ้าท่านพระโคดม
ท่านทั้งหลาย ข่าวว่า พระสมณโคดมทรงละพระประยูรญาติผนวชแล้ว ฯลฯ
ทรงสละทรัพย์สินเงินทองมากมายทั้งที่ฝังอยู่ในพื้นดินและในอากาศผนวชแล้ว ฯลฯ
พระสมณโคดมกำลังหนุ่มแน่นมีพระเกศาดำสนิท ทรงพระเจริญอยู่ในปฐมวัยเสด็จ
ออกจากพระราชวังไปผนวชเป็นบรรพชิต ฯลฯ เมื่อพระชนกพระชนนีไม่ทรง
ปรารถนา(จะให้เสด็จออกผนวช) มีน้ำพระเนตรชุ่มพระพักตร์ทรงกันแสงอยู่ พระ
สมณโคดมทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุแล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกจาก
พระราชวังไปผนวชเป็นบรรพชิต ฯลฯ พระสมณโคดมมีพระรูปงดงามน่าดูน่าเลื่อมใส
มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหม มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็น
ยากนัก ฯลฯ พระสมณโคดมทรงมีอริยศีล มีศีลที่เป็นกุศล ประกอบด้วยศีลที่เป็น
กุศล ฯลฯ มีพระวาจาไพเราะสุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน อย่างชาว
เมือง นุ่มนวล เข้าใจง่าย ฯลฯ ทรงเป็นอาจารย์และปาจารย์ของหมู่ชนมากมาย ฯลฯ
ทรงสิ้นกามราคะไม่ประดับตกแต่ง ฯลฯ ทรงเป็นกรรมวาที กิริยวาที ไม่ทรง
มุ่งร้ายต่อพราหมณ์ ฯลฯ ผนวชแล้วจากตระกูลสูงคือขัตติยตระกูลอันบริสุทธิ์ ฯลฯ
ผนวชแล้วจากตระกูลมั่งคั่งมีทรัพย์มากมีโภคะมาก ฯลฯ ประชาชนต่างบ้านต่าง
เมืองพากันมาทูลถามปัญหาพระสมณโคดม ฯลฯ ทวยเทพหลายพันองค์ถวายชีวิต
ขอถึงพระสมณโคดมเป็นที่พึ่ง ฯลฯ พระสมณโคดมทรงมีพระกิตติศัพท์อันงามขจร
ไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็น
สารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค ฯลฯ พระสมณโคดมทรงประกอบด้วย
ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ฯลฯ ทรงมีปกติตรัสเชื้อเชิญ ตรัสผูกมิตรไมตรี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
พราหมณ์โสณทัณฑะแสดงพระพุทธคุณ
อ่อนหวาน ไม่ทรงสยิ้วพระพักตร์ ทรงเบิกบาน มักตรัสทักทายก่อน ฯลฯ ทรงเป็น
ผู้ที่บริษัท ๔๑ สักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ เทวดาและมนุษย์
มากมายเลื่อมใสพระสมณโคดม ฯลฯ พวกอมนุษย์ย่อมไม่เบียดเบียนมนุษย์ในหมู่
บ้านหรือนิคมที่พระสมณโคดมทรงพำนักอยู่ ฯลฯ พระสมณโคดมทรงเป็นหัวหน้า
ทรงเป็นคณาจารย์ ได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าเจ้าลัทธิอื่น ๆ ไม่
ทรงรุ่งเรืองพระยศเหมือนพวกสมณพราหมณ์ที่รุ่งเรืองยศ ที่แท้ทรงรุ่งเรืองพระยศ
เพราะทรงมีวิชชาและจรณะอันยอดเยี่ยม ฯลฯ พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ
พร้อมทั้งพระราชโอรส พระมเหสี ข้าราชบริพารและหมู่อำมาตย์ต่างมอบชีวิตถึงพระ
สมณโคดมเป็นสรณะ ฯลฯ พระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมทั้งพระราชโอรส พระมเหสี
ข้าราชบริพารและหมู่อำมาตย์ต่างมอบชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ ฯลฯ
พราหมณ์โปกขรสาติ พร้อมทั้งบุตร ภรรยา ข้าราชการ และหมู่อำมาตย์ต่างมอบ
ชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ พระสมณโคดมทรงเป็นผู้ที่พระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพมคธทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ ทรงเป็นผู้ที่พระเจ้า
ปเสนทิโกศลทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ ทรงเป็นผู้ที่พราหมณ์
โปกขรสาติสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ
พระสมณโคดมเสด็จถึงกรุงจัมปาโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ริมสระโบกขรณี-
คัคครา ในกรุงจัมปา ท่านทั้งหลาย สมณพราหมณ์ที่มาสู่เขตหมู่บ้านของเราจัดว่า
เป็นแขกของเรา ซึ่งพวกเราควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา และนอบน้อม พระ
สมณโคดมเสด็จมาถึงกรุงจัมปาโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ริมสระโบกขรณีคัคครา
ในกรุงจัมปา พระสมณโคดมจึงจัดเป็นแขกของเราที่พวกเราควรสักการะ เคารพ
นับถือ บูชา และนอบน้อม ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ พระสมณโคดมจึงไม่ควรเสด็จมาหา
เรา เราต่างหากควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม เราทราบพระคุณของพระสมณโคดม
เพียงเท่านี้ แต่พระสมณโคดมไม่ใช่ว่าจะมีพระคุณเพียงเท่านี้ แท้จริงแล้ว พระ
สมณโคดมมีพระคุณนับประมาณมิได้”

เชิงอรรถ :
๑ ในที่นี้หมายถึง ผู้เข้าเฝ้าโดยทั่วไป มีอยู่ ๔ จำพวก คือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัทและ
สมณบริษัท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
ความคำนึงของพราหมณ์โสณทัณฑะ
[๓๐๕] เมื่อพราหมณ์โสณทัณฑะกล่าวอย่างนี้ พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวว่า
“ท่านโสณทัณฑะกล่าวยกย่องพระสมณโคดมถึงเพียงนี้ ถึงหากท่านพระโคดม
พระองค์นั้นจะประทับอยู่ไกลจากที่นี่ตั้ง ๑๐๐ โยชน์ ก็สมควรอยู่ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธา
จะไปเข้าเฝ้า แม้จะต้องขนเสบียงไปก็ควร”
พราหมณ์โสณทัณฑะกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น พวกเราทั้งหมดจักไปเข้าเฝ้าพระ
สมณโคดมด้วยกัน”
ความคิดคำนึงของพราหมณ์โสณทัณฑะ
[๓๐๖] ต่อมา พราหมณ์โสณทัณฑะพร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่เข้าไป
ถึงสระโบกขรณีคัคครา เมื่อผ่านราวป่าไป เขาเกิดความคิดคำนึงว่า ‘ถ้าเราจะถาม
ปัญหากับพระสมณโคดม หากพระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้
ท่านไม่ควรถามอย่างนี้ ที่ถูก ควรจะถามอย่างนี้ บริษัทก็จะดูหมิ่นเราเพราะเหตุนั้น
ว่า พราหมณ์โสณทัณฑะโง่เขลา ไม่อาจแยกแยะตั้งคำถามกับพระสมณโคดมได้ ผู้
ถูกบริษัทดูหมิ่นจะพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็จะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศเราจึงมี
โภคสมบัติ ถ้าพระสมณโคดมจะถามปัญหากับเรา และเราตอบไม่ถูกพระทัยของ
พระสมณโคดม หากพระสมณโคดมจะตรัสอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้ท่านไม่
ควรตอบอย่างนี้ ที่ถูก ควรตอบอย่างนี้ บริษัทก็จะดูหมิ่นเราเพราะเหตุนั้นว่า
พราหมณ์โสณทัณฑะโง่เขลา ไม่อาจตอบปัญหาให้ถูกพระทัยของพระสมณโคดมได้
ผู้ถูกบริษัทดูหมิ่นจะพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็จะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศเราจึงมี
โภคสมบัติ อนึ่ง เราเข้ามาใกล้ถึงเพียงนี้แล้ว ยังไม่ทันได้เฝ้าเลย แต่คิดจะกลับ
บริษัทก็จะดูหมิ่นเราเพราะเหตุนั้นว่า พราหมณ์โสณทัณฑะโง่เขลา ถือตัวมาก
ขลาดกลัว ไม่อาจเข้าเฝ้าพระสมณโคดมได้ เข้ามาใกล้ถึงเพียงนี้แล้ว ยังไม่ทันได้เฝ้า
เลย ไฉนจึงกลับเสียเล่า ผู้ถูกบริษัทดูหมิ่นจะพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็จะเสื่อม
โภคสมบัติ เพราะมียศ เราจึงมีโภคสมบัติ’
[๓๐๗] ลำดับนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนากับพระผู้มีพระภาค ครั้นสนทนาพอคุ้นเคยกันดีแล้วจึงนั่งลง ณ ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร] ข้อบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์
ฝ่ายพราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปา บางพวกกราบพระผู้มีพระภาค บางพวก
สนทนา บางพวกไหว้ไปทางพระผู้มีพระภาค บางพวกประกาศชื่อและตระกูล บาง
พวกนิ่งเฉยแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
[๓๐๘] ขณะนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะนั่งวิตกถึงแต่เรื่องนี้ว่า ‘ถ้าเราจะถาม
ปัญหากับพระสมณโคดม หากพระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อ
นี้ท่านไม่ควรถามอย่างนี้ ที่ถูก ควรจะถามอย่างนี้ บริษัทก็จะดูหมิ่นเราเพราะเหตุ
นั้นว่า พราหมณ์โสณทัณฑะโง่เขลา ไม่อาจแยกแยะตั้งคำถามกับพระสมณโคดมได้
ผู้ถูกบริษัทดูหมิ่นจะพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็จะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศเราจึงมี
โภคสมบัติ ถ้าพระสมณโคดมจะถามปัญหากับเรา และเราตอบไม่ถูกพระทัยของ
พระสมณโคดม หากพระสมณโคดมจะตรัสอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้ท่าน
ไม่ควรตอบอย่างนี้ ที่ถูก ควรตอบอย่างนี้ บริษัทก็จะดูหมิ่นเราเพราะเหตุนั้นว่า
พราหมณ์โสณทัณฑะโง่เขลา ไม่อาจตอบปัญหาให้ถูกพระทัยของพระสมณโคดมได้
ผู้ถูกบริษัทดูหมิ่นจะพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็จะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศเราจึงมี
โภคสมบัติ โอหนอ ขอให้พระสมณโคดมตรัสถามปัญหากับเราเรื่องไตรเพทอันเป็น
ความรู้ของอาจารย์เรา เราจะตอบให้ถูกพระทัยของพระสมณโคดมได้’
ข้อบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์
[๓๐๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดคำนึงของเขาด้วยพระทัย
ทรงพระดำริว่า ‘พราหมณ์โสณทัณฑะนี้กำลังอึดอัดใจ เราควรถามปัญหากับเขาใน
เรื่องไตรเพทอันเป็นความรู้ของอาจารย์เขา’ จึงได้ตรัสถามเขาว่า “พราหมณ์ พวก
พราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเท่าไรว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อเขาจะพูด
ว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”
[๓๑๐] พราหมณ์โสณทัณฑะคิดว่า ‘เราปรารถนา มุ่งหวัง ตั้งใจ ต้องการว่า
โอหนอ ขอให้พระสมณโคดมตรัสถามปัญหากับเราในเรื่องไตรเพทอันเป็นความ
รู้ของอาจารย์เรา เราจะตอบให้ถูกพระทัยของพระสมณโคดมได้ เผอิญที่พระ
สมณโคดมตรัสถามปัญหากับเราในเรื่องไตรเพท อันเป็นความรู้ของอาจารย์เรา เรา
จะตอบให้ถูกพระทัยของพระสมณโคดมได้แน่’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
คุณสมบัติของผู้เป็นพราหมณ์

คุณสมบัติของผู้เป็นพราหมณ์
[๓๑๑] ทันใดนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะยืดกายขึ้นเหลียวดูบริษัทแล้ว
กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วย
คุณสมบัติ ๕ อย่างว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็
พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย คุณสมบัติ ๕ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิ
บริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้
เพราะอ้างถึงชาติตระกูล
๒. เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์
เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เข้าใจตัวบทและ
ไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ๑
๓. เป็นผู้มีรูปงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหม
มีกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก
๔. เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ
๕. เป็นบัณฑิตมีปัญญาลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ผู้
รับการบูชา
พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ อย่างนี้แลว่าเป็นพราหมณ์
และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ บรรดาคุณสมบัติ ๕ อย่างนี้ (หาก)เว้นเสีย
๑ อย่าง พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเพียง ๔ อย่างว่าเป็น
พราหมณ์ได้หรือไม่ และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้ง
ไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”
พราหมณ์โสณทัณฑะกราบทูลว่า “ได้ ท่านพระโคดม บรรดาคุณสมบัติ ๕
อย่าง เว้นผิวพรรณเสียอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะผิวพรรณจักทำอะไรได้ บุคคลชื่อว่าเป็น
พราหมณ์เพราะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถ ๒ และ ๓ ในหน้า ๘๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
คุณสมบัติของผู้เป็นพราหมณ์
๑. เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิ
บริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้
เพราะอ้างถึงชาติตระกูล
๒. เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์
เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เข้าใจตัวบทและ
ไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ
๓. เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ
๔. เป็นบัณฑิตมีปัญญาลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ผู้
รับการบูชา
พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๔ อย่างนี้แลว่าเป็นพราหมณ์
และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”
[๓๑๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ บรรดาคุณสมบัติ ๔ อย่างนี้
(หาก)เว้นเสีย ๑ อย่าง พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเพียง ๓
อย่างว่าเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่ และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดย
ชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”
พราหมณ์โสณทัณฑะกราบทูลว่า “ได้ ท่านพระโคดม บรรดาคุณสมบัติ ๔
อย่าง เว้นมนตร์เสียอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะมนตร์จักทำอะไรได้ บุคคลชื่อว่าเป็น
พราหมณ์เพราะ
๑. เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิ
บริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้
เพราะอ้างถึงชาติตระกูล
๒. เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ
๓. เป็นบัณฑิตมีปัญญาลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ผู้
รับการบูชา
พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๓ อย่างนี้แลว่าเป็นพราหมณ์
และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
คุณสมบัติของผู้เป็นพราหมณ์
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ บรรดาคุณสมบัติ ๓ อย่างนี้ (หาก)
เว้นเสีย ๑ อย่าง พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเพียง ๒ อย่างว่า
เป็นพราหมณ์ได้หรือไม่ และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ
ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย ”
พราหมณ์โสณทัณฑะกราบทูลว่า “ได้ ท่านพระโคดม บรรดาคุณสมบัติ ๓
อย่าง เว้นชาติกำเนิดเสียอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะชาติกำเนิดจักทำอะไรได้ บุคคลชื่อว่า
เป็นพราหมณ์เพราะ
๑. เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ
๒. เป็นบัณฑิตมีปัญญาลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ผู้
รับการบูชา
พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๒ อย่างนี้แลว่าเป็นพราหมณ์
และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”
[๓๑๓] เมื่อพราหมณ์โสณทัณฑะกราบทูลอย่างนี้ พวกพราหมณ์เหล่านั้น
กล่าวว่า “ท่านโสณทัณฑะอย่าพูดอย่างนั้นเลย ท่านโสณทัณฑะอย่าพูดอย่างนั้น
เลย ท่านโสณทัณฑะลบหลู่ผิวพรรณ ลบหลู่มนตร์ ลบหลู่ชาติกำเนิด พูดคล้อย
ตามวาทะของพระสมณโคดมถ่ายเดียวเท่านั้น”
[๓๑๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าพวกท่านคิดว่า ‘พราหมณ์
โสณทัณฑะศึกษามาน้อย พูดไม่เพราะ โง่เขลา และไม่สามารถเจรจาโต้ตอบกับพระ
สมณโคดมได้’ พราหมณ์โสณทัณฑะจงหยุด พวกท่านจงเจรจาโต้ตอบกับเราแทน
แต่หากพวกท่านคิดว่า ‘พราหมณ์โสณทัณฑะศึกษามามาก พูดเพราะ ฉลาด และ
สามารถเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมได้’ พวกท่านก็จงหยุด พราหมณ์
โสณทัณฑะจงเจรจาโต้ตอบกับเรา (ต่อไป)”
[๓๑๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พราหมณ์โสณทัณฑะได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ขอท่านพระโคดมทรงหยุดทรงนิ่งเถิด ข้าพระองค์เองจักตอบ
พวกเขาโดยชอบแก่เหตุ” แล้วกล่าวกะพวกพราหมณ์เหล่านั้นว่า “ท่านผู้เจริญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร] เรื่องศีลและปัญญา
ทั้งหลายอย่าได้พูดอย่าได้กล่าวอย่างนี้เลยว่า ‘ท่านโสณทัณฑะลบหลู่ผิวพรรณ
ลบหลู่มนตร์ ลบหลู่ชาติกำเนิด พูดคล้อยตามวาทะของพระสมณโคดมถ่ายเดียว
เท่านั้น’ แท้จริง เราไม่ได้ลบหลู่ผิวพรรณ มนตร์ หรือชาติกำเนิดเลย”
[๓๑๖] เวลานั้น อังคกมาณพผู้เป็นหลานของพราหมณ์โสณทัณฑะนั่งอยู่ใน
บริษัทนั้นด้วย ทีนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะได้กล่าวกะพราหมณ์เหล่านั้นว่า “ท่าน
ผู้เจริญทั้งหลายเห็นอังคกมาณพหลานของเรานี้หรือไม่” “เห็น ขอรับ” “อังคกมาณพ
เป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหม มีกายดุจพรหม
โอกาสที่จะได้เห็นยากนัก ในที่ประชุมนี้นอกจากพระสมณโคดมแล้วไม่มีใครมี
ผิวพรรณเสมอกับอังคกมาณพเลย อังคกมาณพเป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้
จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์
เข้าใจตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ เราเป็นผู้
บอกมนตร์แก่เขา อังคกมาณพเป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือ
ปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึง
ชาติตระกูล เรารู้จักบิดามารดาของเขา แต่อังคกมาณพยังฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่
เจ้าของเขาไม่ให้ ล่วงละเมิดภรรยาของผู้อื่น กล่าวเท็จ ดื่มน้ำเมา ในกรณีอย่างนี้
ผิวพรรณ มนตร์ และชาติกำเนิดจักทำอะไรได้เล่า เพราะบุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์
เพราะเป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ และเป็นบัณฑิต มีปัญญา
ลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ผู้รับการบูชา พวกพราหมณ์เรียกผู้
ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๒ อย่างนี้แลว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เรา
เป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”
เรื่องศีลและปัญญา
[๓๑๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ บรรดาคุณสมบัติ ๒ อย่างนี้
(หาก)เว้นเสีย ๑ อย่าง พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเพียง
อย่างเดียวว่าเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่ และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูด
ได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร] เรื่องศีลและปัญญา
พราหมณ์โสณทัณฑะกราบทูลว่า “ข้อนี้ไม่ได้ ท่านพระโคดม เพราะปัญญา
ต้องมีศีลช่วยชำระให้บริสุทธิ์ ศีลก็ต้องมีปัญญาช่วยชำระให้บริสุทธิ์ ปัญญาย่อมมีใน
ที่ที่มีศีล ศีลย่อมมีในที่ที่มีปัญญา ปัญญาย่อมมีแก่ผู้มีศีล ศีลย่อมมีแก่ผู้มีปัญญา
นักปราชญ์ยกย่องศีลและปัญญาว่า เป็นสิ่งล้ำเลิศในโลก เปรียบเหมือนบุคคลใช้มือ
ล้างมือ หรือใช้เท้าล้างเท้า ฉันใด ปัญญาต้องมีศีลช่วยชำระให้บริสุทธิ์ ศีลก็ต้องมี
ปัญญาช่วยชำระให้บริสุทธิ์ ปัญญาย่อมมีในที่ที่มีศีล ศีลย่อมมีในที่ที่มีปัญญา
ปัญญาย่อมมีแก่ผู้มีศีล ศีลย่อมมีแก่ผู้มีปัญญา นักปราชญ์ยกย่องศีลและปัญญาว่า
เป็นสิ่งล้ำเลิศในโลก ฉันนั้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นแล พราหมณ์ อย่างนั้นแล พราหมณ์
ปัญญาต้องมีศีลช่วยชำระให้บริสุทธิ์ ศีลก็ต้องมีปัญญาช่วยชำระให้บริสุทธิ์ ปัญญา
ย่อมมีในที่ที่มีศีล ศีลย่อมมีในที่ที่มีปัญญา ปัญญาย่อมมีแก่ผู้มีศีล ศีลย่อมมีแก่ผู้มี
ปัญญา นักปราชญ์ยกย่องศีลและปัญญาว่า เป็นสิ่งล้ำเลิศในโลก เปรียบเหมือน
บุคคลใช้มือล้างมือ หรือใช้เท้าล้างเท้า ฉันใด ปัญญาต้องมีศีลช่วยชำระให้บริสุทธิ์
ศีลก็ต้องมีปัญญาช่วยชำระให้บริสุทธิ์ ปัญญาย่อมมีในที่ที่มีศีล ศีลย่อมมีในที่ที่มี
ปัญญา ปัญญาย่อมมีแก่ผู้มีศีล ศีลย่อมมีแก่ผู้มีปัญญา นักปราชญ์ยกย่องศีลและ
ปัญญาว่า เป็นสิ่งล้ำเลิศในโลก ฉันนั้น”
[๓๑๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “พราหมณ์ ศีลนั้นเป็นอย่างไร
ปัญญานั้นเป็นอย่างไร”
พราหมณ์โสณทัณฑะทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม ในเรื่องนี้พวกข้าพระองค์
มีความรู้เพียงเท่านี้ ขอประทานวโรกาส ขอท่านพระโคดมโปรดขยายความให้ชัดเจน
ด้วย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจักบอก”
เขาทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระ
อรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
พราหมณ์โสณทัณฑะประกาศตนเป็นอุบาสก
ใส่ไว้ในที่นี้) ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่
บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌานอยู่ ฯลฯ น้อมจิตไปเพื่อ
ญาณทัสสนะ ฯลฯ นี้เป็นปัญญาของภิกษุนั้น ฯลฯ รู้ชัดว่า‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์ แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
นี้เป็นปัญญาของภิกษุนั้น พราหมณ์ ปัญญานั้นเป็นอย่างนี้แล๑”
พราหมณ์โสณทัณฑะประกาศตนเป็นอุบาสก
[๓๑๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พราหมณ์โสณทัณฑะได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระ
โคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศ
ธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้
ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่าน
พระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจน
ตลอดชีวิต ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์
ในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
[๓๒๐] ทีนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับ
นิมนต์แล้ว จึงได้ลุกจากอาสนะ กราบพระผู้มีพระภาคแล้วกระทำประทักษิณจากไป
ครั้นผ่านคืนนั้นไป พราหมณ์โสณทัณฑะสั่งให้จัดของขบฉันอย่างประณีตไว้
ในนิเวศน์ของตน แล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลว่า “ท่านพระโคดม ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว” ตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวรเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของพราหมณ์โสณทัณฑะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับนั่ง
บนอาสนะที่ปูไว้ พราหมณ์โสณทัณฑะได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานให้อิ่มหนำด้วยตนเอง

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๐-๒๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๓ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น