Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มิลินทปัญหา ตอนที่ 12

มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 12 : นอกวรรค โคตมีปัญหา เรื่องถวายผ้าของพระนางโคตมี, เริ่มมณฑกปัญหา

ตอนที่ ๑๒

นอกวรรค

โคตมีปัญหา เรื่องถวายผ้าของพระนางโคตมี


พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า“ ข้าแต่พระนาคเสน เมื่อพระมหาปชาบดีโคตมีจะถวายผ้าคู่ใหม่แก่พระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ขอพระนางจงถวายสงฆ์เถิด เมื่อพระนางถวายสงฆ์แล้ว ก็จักเป็นอันบูชาแก่เราด้วยบูชาสงฆ์ด้วย” ดังนี้โยมจึงขอถามว่า พระตถาคตเจ้าไม่เป็นผู้มีพระคุณหนัก มีพระคุณวิเศษ เป็นผู้ควรแก่ถวายกว่าพระสงฆ์หรือ เพราะว่าผ้าคู่นั้นเป็นผ้าที่พระเจ้าแม่น้าทรงปลูกฝ้ายเอง เก็บเอง ดีดเอง ปั่นเอง กรอเอง ทอเอง ถ้าพระตถาคตเจ้ามีพระคุณยิ่งกว่า วิเศษกว่าพระสงฆ์แล้ว ก็จะต้องตรัสว่า เมื่อถวายเราก็จักมีผลมาก ต้องไม่ให้ถวายสงฆ์ เพราะเหตุที่พระตถาคตเจ้าไม่ให้ถวายพระองค์ ให้ถวายแก่พระสงฆ์เสียนี้แหละ โยมจึงยังสงสัยอยู่ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแก้ไขให้โยมสิ้นสงสัยเถิด ”

พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า “ เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมีผู้เป็นพระเจ้าแม่น้า น้อมนำผ้ามาถวาย พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า จงถวายสงฆ์ เมื่อถวายสงฆ์แล้วเป็นอันชื่อว่า บูชาเราด้วย บูชาสงฆ์ด้วย ที่ไม่ได้ทรงโปรดให้ถวายพระองค์นั้น ไม่ใช่เพราะพระองค์เป็นผู้ไม่ควรเคารพ หรือไม่ควรถวาย เป็นเพราะทรงเล็งเห็นประโยชน์ในอนาคตว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์จักเป็นที่สักการบูชา เมื่อจะทรงยกย่องคุณของสงฆ์ให้ปรากฏ จึงได้ตรัสว่า ขอพระนางจงถวายสงฆ์ เมื่อถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันชื่อว่าได้บูชาเราด้วย ได้บูชาสงฆ์ด้วย”

อุปมาเหมือนบิดายกย่องบุตร

“ เปรียบเหมือนบิดาเมื่อยังมีชีวีตอยู่ ย่อมยกย่องคุณความดีอันมีอยู่ของบุตร ในที่เฝ้าพระราชาซึ่งประทับในท่ามกลางของหมู่อำมาตย์นายประตู หมู่โยธา ราชบริพาร ทั้งหลายให้ปรากฏ ด้วยคิดว่าต่อไปข้างหน้า บุตรของเราจักได้เป็นที่บูชาของคนทั้งหลายข้อนี้มีอุปมาฉันใด พระตถาคตเจ้าเมื่อจะทรงยกย่องคุณของพระสงฆ์ให้ปรากฏ ดัวยทรงเล็งเห็นประโยชน์ในอนาคตว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์จักเป็นที่บูชาของคนทั้งหลายจึงได้ตรัสว่า “จงถวายแก่สงฆ์ เมื่อถวายสงฆ์แล้วจักเป็นอันบูชาเราด้วย บูชาสงฆด้วย” ฉันนั้น ขอถวายพระพร ไม่ใช่ว่าสงฆ์จะมีคุณยิ่งวิเศษกว่าพระตถาคตเจ้า เพียงด้วยเหตุที่โปรดให้ถวายผ้าเท่านั้น อีกประการหนึ่งมารดาบิดาย่อมให้บุตรนุ่งผ้า แต่งตัวให้บุตร อาบน้ำให้บุตรขัดสีให้บุตรเป็นธรรมดา บุตรเป็นผู้ยิ่งกว่าหรือวิเศษกว่ามารดาบิดา ด้วยเหตุเพียงมารดาบิดานุ่งผ้าให้แต่งตัวให้ อาบน้ำให้ ขัดสีให้เท่านั้นหรืออย่างไร ? ”

“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่บุตรประเสริฐกว่ามารดาบิดาด้วยเหตุเพียงเท่านี้”
“ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ไม่ใช่พระสงฆ์ยิ่งกว่า วิเศษกว่า ด้วยเหตุเพียงโปรดให้ถวายผ้าเท่านั้น แต่เมื่อพระตถาคตเจ้าจะทรงกระทำสิ่งที่ควรกระทำแก่สงฆ์ จึงโปรดให้ถวายผ้าแก่สงฆ์ ”

อุปมาเหมือนพระราชา

“ อีกอย่างหนึ่ง สมมุติว่ามีบุรุษคนใดคนหนึ่ง น้อมนำเครื่องบรรณาการมาถวายพระราชา พระราชาได้พระราชทานเครื่องบรรณาการนั้นแก่ข้าราชการ หรือทหาร หรือปุโรหิต คนใดคนหนึ่ง ผู้ที่ได้รับพระราชทานนั้นจะได้ชื่อว่ายิ่งกว่า วิเศษกว่าพระราชา ด้วยเหตุเพียงได้รับพระราชทานของนั้นเท่านั้นหรืออย่างไร? ”
“ ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือไม่ใช่พระสงฆ์เป็นผู้ยิ่งกว่า วิเศษกว่า พระตถาคตเจ้า ด้วยการให้ถวายผ้าเท่านั้น อีกประการหนึ่งพระสงฆ์ย่อมเกิดจากพระตถาคตเจ้า เมื่อพระตถาคตเจ้าจะตั้งพระสงฆ์ไว้ในตำแหน่งควรบูชาแทนพระพุทธเจ้าจึงได้โปรดให้ถวายผ้า อีกประการหนึ่งพระตถาคตเจ้าทรงดำริว่า พระสงฆ์เป็นผู้ควรบูชาอยู่ ตามความจริงแล้วไม่ใช่ว่าพระตถาคตเจ้าจะทรงยกย่องพระสงฆ์ว่าเป็นผู้ควรบูชายิ่งกว่าพระองค์ อีกประการหนึ่ง ผู้ใดควรแก่การบูชา พระตถาคตเจ้าก็ทรงสรรเสริญการบูชานั้น ดูก่อนมหาราชะ มหาบพิตรพระราชสมภาร องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นวิสุทธิเทพยิ่งกว่าเทพยดาอื่น เมื่อจะทรงยกย่องข้อปฏิบัติ คือความมักน้อยไว้ ก็ได้ตรัสไวัในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย อันว่าด้วยธรรมทายาทว่า “ภิกษุองค์ก่อนโน้น เป็นผู้ควรบูชากว่า ควรสรรเสริญกว่า” ดังนี้ ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งในโลก จะยิ่งกว่า วิเศษกว่า พระตถาคตเจ้า พระตถาคตเจ้าเป็นผู้ควรแก่การถวายทานเป็นผู้เยี่ยม เป็นผู้ยิ่ง ”

ภาษิตสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้า

ดูก่อนมหาราชะ มีเทวบุตรองค์หนึ่งชื่อว่ามาณวคามิกะ ได้กล่าวขึ้นในท่ามกลางเทพยดาและมนุษย์ ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้าว่า “ภูเขาเวปุลลบรรพต เป็นภูเขาประเสริฐกว่าภูเขาทั้งปวง อันมีในแขวงราชคฤห์ ภูเขาเสตบรรพต เป็นภูเขาใหญ่กว่าภูเขาทั้งหลายในป่าหิมพานต์ ดวงอาทิตย์ประเสริฐกว่าสิ่งที่มีในอากาศทั้งสิ้น มหาสมุทรใหญ่กว่าแม่น้ำทั้งหลาย ดวงจันทร์ดีกว่าดวงดาวทั้งหลาย พระพุทธเจ้าเลิศกว่ามนุษย์โลกและเทวโลกทั้งสิ้น” ดังนี้ คำนี้มาณวคามิกะเทพบุตรได้กล่าวไว้ถูกต้องดีแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงเห็นชอบด้วยแล้ว อนึ่ง พระสารีบุตรเถระได้กล่าวไว้ว่า “ผู้ถึงสรณะ หรือยกมือไหว้ด้วยใจเลื่อมใสต่อพระพุทธเจ้าเพียงครั้งเดียวเท่านั้นก็อาจช่วยผู้นั้นให้ข้ามพ้นได้” ดังนี้ ส่วนองค์สมเด็จพระชินสีห์ผู้ทรงกำจัดพลมารเสียได้แล้ว ผู้เป็นวิสุทธิเทพยิ่งกว่าเทพยดาทั้งหลาย ก็ได้ตรัสไว้ว่า “บุคคลเอก เมื่อจะเกิดขึ้นในโลก ก็เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์สุขของโลก บุคคลเอกนั้นได้แก่ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
“ ดีแล้วพระนาคเสน โยมขอรับไว้ด้วยดีซึ่งการกล่าวแก้ปัญหาข้อนี้”

จบนอกวรรค

เริ่มมณฑกปัญหา

ลำดับนั้น พระนาคเสนเถระได้กลับสู่สังฆารามอีก พระเจ้ามิลินท์ผู้มีพระวาจาเฉลียวฉลาด ผู้ชอบไต่ถาม ผู้มีความรู้ยิ่ง ผู้เฉียบแหลม ได้เข้าใกล้พระนาคเสนเพื่อให้ความรู้แตกฉาน เมื่อมีการไต่ถามโต้เถียงกับพระนาคเสนอยู่เนืองๆ ไม่ขาดสาย ก็มีความรู้แตกฉานชำนาญในพระไตรปิฏก

อยู่มาคืนวันหนึ่งเมื่อทรงรำลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า อันประกอบด้วยองค์ ๙ ก็ได้ทรงเห็น เมณฑกปัญหา (คือปัญหาสองแง่) อันเป็นปัญหาที่แก้ไขยาก ด้วยถ้อยคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นปริยาย (คือโดยอ้อม) ก็มี ตรัสไว้โดยอรรถะ (คือมีความหมายลึกซึ้ง ) ก็มี เป็นคำของพระสาวกก็มีอยู่ ความหมายของถ้อยคำเหล่านั้นเป็นของรู้ได้ยาก เปรียบเหมือนแพะชนกัน นานไปเบื้องหน้าจะเกิดวิววาทกันในถ้อยคำเหล่านั้น เราควรจักให้พระนาคเสนเลื่อมใสต่อเรา แล้วให้กล่าวแก้ซึ่ง เมณฑกปัญหา คือปัญหาอันอุปมาดังแพะชนกันให้แจ้งไว้ ปัญหาที่แก้ยากเหล่านั้น จักมีผู้แก้ได้ตามทางที่พระนาคเสนได้ชี้ไว้

ทรงสมาทานวัตรบท ๘

เมื่อพระเจ้ามิลินทร์ทรงดำริดังนี้แล้ว รุ่งเช้าขึ้นก็เสด็จเข้าสู่ที่สระสรง ทรงประดับประดาพระองค์ดีแล้ว ก็ทรงระลึกถึงสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าในอดีต อนาคต ปัจจุบัน แล้วทรงสมาทานวัตรบท ๘ ว่าเราจะประพฤติตบะ จักทำให้อาจารย์ยินดี แล้วจักถามปัญหา ทรงดำริดังนี้แล้วก็ทรงเปลื้องเครื่องประดับของกษัตริย์ ทรงแต่งพระองค์เป็นมุนี สมาทานคุณธรรมทั้ง ๘ คือ ๑. จักไม่ทรงวินิจฉัยอรรถคดีตลอดถึง ๗ วัน ๒. ไม่ให้เกิดราคะ ๓. ไม่ให้เกิดความโกรธ ๔. ไม่ให้เกิดความหลง ๕. จักนบนอบกระทั่งทารกทาริกาของพวกทาสี ๖. จักรักษากายวาจาให้ดี ๗. จะรักษาอายตนะทั้ง ๖ ให้ดี ๘. จักทำใจมีเมตตา

ครั้นทรงมั่นอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๘ นี้ ตลอด ๗ วันแล้ว รุ่งเช้าวันที่ ๘ ก็เสวยพระกระยาหารเช้า แล้วสำรวมพระเนตรเป็นอันดี มีพระวาจาพอประมาณ มีพระอิริยาบถอันดี มีพระหฤทัยมั่นคงเบิกบาน แล้วเข้าไปหาพระนาคเสนเถระ กราบไหว้แล้วทรงยืนตรัสว่า “ข้าแต่พระนาคเสน โยมมีเรื่องที่จะสนทนากับพระผู้เป็นเจ้าในป่าที่เงียบสงัดโดยลำพังสองคนไม่มีผู้อื่นปะปน ป่านั้นต้องเป็นป่าประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นป่าที่สมควรแก่สมณะ เป็นป่าที่สมควรถามปัญหา ในการถามและแก้นั้นไม่ควรให้มีข้อลี้ลับ ควรให้แจ่มแจ้งทุกข้อ ควรให้เข้าใจได้ด้วยอุปมา ข้าแต่พระนาคเสน แผ่นดินใหญ่นี้ ย่อมเป็นที่เก็บเป็นที่ซ่อนซึ่งสิ่งที่ควรเก็บควรซ่อนฉันใด โยมก็สมควรฟังข้อลึกลับ ที่ควรเก็บควรซ่อนไว้ฉันนั้น เมื่อมีข้อควรปรึกษาเกิดขึ้น โยมก็สมควรแก่การปรึกษา”

พระเจ้ามิลินท์ตรัสอย่างนี้แล้ว ก็พร้อมกับพระเถระออกไปสู่ป่าใหญ่แห่งหนึ่ง แล้วตรัสต่อไปอีกหลายอย่าง

ที่ไม่ควรปรึกษากัน ๘ ประการ

พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า “ข้าแต่พระนาคเสน บุรุษผู้จะปรึกษาหารือกัน ควรรู้ไว้ว่า ที่ควรงดเว้นมีอยู่ ๘ คือ ๑. ที่อันไม่สม่ำเสมอ ๒. ที่มีภัย ๓. ที่มีลมแรง ๔. ที่กำบัง ๕. ที่ศาลเจ้า ๖. ที่ถนนหนทาง ๗. ที่ก้าวขึ้นก้าวลง ๘. ที่ท่าน้ำ

ที่ทั้ง ๘ นี้ เป็นที่ควรงดเว้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าเมื่อปรึกษากันในที่ไม่สม่ำเสมอ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่สบาย เรื่องที่ปรึกษาหารือกันก็จะไม่สม่ำเสมอดี เมื่อปรึกษากันในที่มีภัย ใจก็จะสะดุ้งกลัว จะไม่แลเห็นเหตุผลได้ดี เมื่อปรึกษากันในที่มีลมแรง เสียงลมพัดตลบอบไป มิอาจที่จะคิดความหมายนั้นได้ เมื่อปรึกษากันในที่กำบังก็จะมีผู้แอบฟัง เมื่อปรึกษากันที่ศาลเจ้า ของหนักๆ ก็จะหักพังลงมา เมื่อปรึกษากันที่หนทางก็จะไม่เข้าใจข้อความได้ดี เพราะมีคนเดินไปมาสับสน เมื่อปรึกษากันในที่ขึ้นลง จิตใจก็จะไม่มั่นคง เมื่อปรึกษากันในที่ท่าน้ำก็จะมีผู้รู้แพร่งพราย เพราะฉะนั้นจึงควรเว้นที่ทั้ง ๘ คือ ที่ไม่สม่ำเสมอ ที่มีภัย ที่มีลมแรง ที่มีกำบัง ที่ศาลเจ้า ที่หนทาง ที่ก้าวขึ้นก้าวลง ที่ท่าน้ำ เหล่านี้เสีย”

คนที่ไม่ควรปรึกษา ๘ จำพวก

เมื่อพระเจ้ามิลินท์ทรงแสดงที่ควรเว้น ๘ แห่งดังนี้แล้ว จึงทรงแสดงบุคคลควรเว้นอีก ๘ จำพวกว่า “ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลผู้ที่ถูกปรึกษาแล้ว ทำเรื่องให้เสียไปมีอยู่ ๘ จำพวก คือ ๑. คนมีราคะจริต คือหนักในทางราคะ ๒. คนโทสะจริต มากด้วยโทสะ ๓. คนโมหะจริต มากด้วยความลุ่มหลง ๔. คนมานะจริต มากด้วยการถือตัว ๕. คนโลภเห็นแต่จะได้ ๖. คนขี้เกียจ ย่อท้อ อ่อนแอ ๗. คนเห็นแก่ตัวฝ่ายเดียว ๘. คนพาล คือคนโง่มุทะลุ ”

พระนาคเสนจึงถามว่า “ คนทั้ง ๘ จำพวกนั้น ให้โทษอย่างไร ? ”
“ คนราคะจริต เมื่อปรึกษาด้วยอำนาจราคะ ก็ทำเรื่องที่ปรึกษาให้เสียไป ถึงคนจำพวกอื่นอีก ๗ จำพวกก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น บุคคล ๘ จำพวก คือ คนหนักในราคะ โทสะ โมหะ มานะ โลภะ เกียจคร้าน เห็นแก่ตัว โง่เขลา จึงเรียกว่า “ คนทำให้เสียเรื่องปรึกษา ”

คนที่ปิดความลับไม่ได้ ๙ จำพวก

“ ข้าแต่ดพระนาคเสน บุคคล ๙ จำพวกปิดข้อความอันลี้ลับไว้ไม่ได้ บุคคล ๙ จำพวกนั้น ได้แก่จำพวกไหนบ้าง คือ ๑. คนราคะจริต หนักในราคะ ๒. คนโทสะจริต มากด้วยโทสะ ๓. คนโมหะจริต มากด้วยความหลง ๔. คนขี้เกียจ ขี้กลัว ๕. คนหนักในอามิส ๖. สตรีทั้งปวง ๗. นักเลงสุราและนักเลงต่างๆ ๘. คนชอบแต่งตัว ๙. เด็กทั่วไป ทั้งหญิงทั้งชาย ”

พระเถระถามอีกว่า “ บุคคล ๙ จำพวกนั้น มีโทษอย่างไรบ้าง ”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า “ บุคคล ๙ จำพวกนั้น จำพวกราคะ ก็ปิดความลับไม่ได้ด้วยอำนาจราคะ คือเมื่อรักใครแล้ว ก็เปิดความลับให้ฟัง จำพวกโทสะ เมื่อโกรธขึ้นมา ก็พูดความลับโพล่งออกมา จำพวกโมหะ เมื่อใครพูดดีก็หลงเชื่อแล้วเปิดความลับให้ฟัง จำพวกขี้ขลาด เมื่อกลัวก็เปิดความลับ จำพวกหนักในอามิส เมื่อมีผู้ให้อามิสสินจ้าง ก็บอกความลับ จำพวกสตรี เป็นจำพวกมีปัญญาน้อยเมื่อถูกซักดักหน้าดักหลังก็เปิดความลับให้ฟัง จำพวกนักเลงสุรา เมื่อเมาแล้วก็เปิดความลับง่าย จำพวกชอบแต่งตัว ก็กังวลอยู่แต่เรื่องแต่งตัว อาจจะเผลอพูดความลับออกมาได้ง่าย จำพวกทารก ก็มีความคิดยังอ่อนเกินไป ไม่อาจปิดความลับไว้ได้”

เหตุให้เจริญความรู้ ๘ ประการ

“ ข้าแต่พระนาคเสน เหตุจะให้ความรู้ดีขึ้นมีอยู่ ๘ ประการ คือ ๑. เจริญด้วยวัยอายุ ๒. ความได้ยศศักดิ์ ๓. การชอบการซักไซ้ไต่ถาม ๔. ไม่คบพวกเดียรถีย์ ๕. การนึกถูกทาง ๖. การสนทนาเรื่องต่างๆ ๗. มากด้วยความรักในเหตุผล ๘. อยู่ในประเทศอันสมควร ข้าแต่พระนาคเสน ภูมิภาคนี้ประกอบด้วยองค์ ๘ อีกอย่างหนึ่ง โยมก็เป็นเพื่อนร่วมคิดอย่างเยี่ยมในโลก โลกนี้ยังเป็นไปอยู่ตราบใด โยมยังมีชีวีตอยู่ตราบใด ก็จะรักษาความลับไว้ให้ได้ตราบนั้น ความรู้ย่อมเจริญขึ้นด้วยเหตุ ๘ อย่างนี้ ศิษย์ผู้ปฏิบัติชอบเหมือนอย่างทุกวันนี้หาได้ยาก ส่วนอาจารย์ก็ควรปฏิบัติชอบให้ประกอบด้วยคุณของอาจารย์ ๒๕ ประการ

คุณของอาจารย์ ๒๕ ประการ

๑. ดูแลศิษย์เนืองๆ ๒. รู้จักคนที่ควรคบและไม่ควรคบ ๓. รู้ว่าศิษย์ประมาทหรือไม่ประมาท ๔. รู้เวลาที่ศิษย์นอน ๕. รู้เวลาศิษย์เจ็บไข้ ๖. รู้ว่าศิษย์ได้อาหารหรือยังไม่ได้ ๗. รู้คุณวิเศษต่างๆ ๘. รู้จักแจกแบ่งอาหารให้ศิษย์ ๙. รู้จักปลอบศิษย์ไม่ให้กลัว ๑๐. สอนให้ศิษย์ประพฤติตามเยี่ยงอย่างคนดี ๑๑. ต้องรู้จักรอบๆ บ้าน ๑๒. ต้องรู้จักรอบๆ วิหาร ๑๓. ไม่ควรเล่นหัวตลกคะนองกับศิษย์ ๑๔. ควรรู้จักอดโทษศิษย์ ๑๕. ควรตั้งใจทำดีต่อศิษย์ ๑๖. ควรประพฤติให้เป็นระเบียบต่อศิษย์ ๑๗. ไม่ควรปิดๆ บังๆ ศิษย์ ๑๘. สอนความรู้ให้ศิษย์สิ้นเชิง ๑๙. ควรคิดอยากให้ศิษย์รู้ศิลปะ ๒๐. ควรคิดแต่ทางที่จะให้ศิษย์เจริญ ๒๑. ควรคิดอยากให้ศิษย์ชอบเรียน ๒๒. ควรมีจิตอันเมตตาต่อศิษย์ ๒๓. ไม่ควรทิ้งศิษย์เวลามีอันตราย ๒๔. ไม่ควรประมาทกิริยาต่อศิษย์ ๒๕. ควรประคองศิษย์ผู้พลั้งพลาด

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คุณของอาจารย์มีอยู่ ๒๕ ประการ ดังที่ว่านี้ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงประพฤติชอบต่อโยม ด้วยคุณธรรมเหล่านี้ ศิษย์ผู้เป็นเช่นโยมนี้หาได้ยาก ความสงสัยใหญ่ได้มีอยู่แก่โยมเพราะ “เมณฑกปัญหา” คือปัญหาอันเปรียบดัวยแพะชนกัน สมเด็จพระภควันต์ได้ทรงแสดงไว้แล้ว ต่อไปข้างหน้าจักมีการถือผิดกัน ทะเลาะกันในเมณฑกปัญหานั้น อาจารย์ผู้ถูกปรวาที (ฝ่ายตรงข้าม) ไต่ถาม เมื่อรู้ก็จะแก้ได้ จะจำแนกแจกเนื้อความได้ จักทำลายปัญหาที่เป็นข้อเป็นปมออกได้ ต่อไปข้างหน้าพระภิกษุผู้เหมือนกับพระผู้เป็นเจ้าจักหาได้ยาก ขอพระผู้เป็นเจ้าจงให้จักษุ ให้ปัญญาแก่โยมไว้ เพื่อจะข่มเสียซึ่งคำที่เป็นเสี้ยนหนามต่อพระศาสนา”

พระนาคเสนเถระรับว่า “ ดีแล้ว มหาบพิตร ”
แล้วจึงแสดงคุณแห่งอุบาสก ๑๐ ว่า “ มหาบพิตร คุณของอุบาสกมีอยู่ ๑๐ ประการ
คืออะไรบ้าง? คุณแห่งอุบาสก ๑๐ ประการ ๑. เป็นผู้ร่วมสุขร่วมทุกข์กับพระภิกษุสงฆ์ ๒. รักษากายวาจาดี ๓. ถือธรรมะเป็นใหญ่ ๔. ยินดีในการจำแนกแจกทาน ๕. พยายามเพื่อให้รู้คำสอนของพระพุทธเจ้า ๖. เป็นผู้มีความเห็นถูก ๗. เป็นคนเชื่อกรรม ๘. ไม่ถือผู้อื่นว่าดีกว่าพระพุทธเจ้า ๙. ยินดีในความพร้อมเพรียง ๑๐. ไม่เป็นคนลวงโลก มีแต่นับถือพระรัตนตรัยโดยตรง ขอถวายพระพร คุณของอุบาสกทั้ง ๑๐ นี้ มีอยู่ในมหาบพิตรแล้ว การที่มหาบพิตรเล็งเห็นความเสื่อมเสียแห่งพระพุทธศาสนามุ่งแต่ความเจริญแล้วนั้น เป็นการสมควรแท้ อาตมภาพถวายโอกาสแก่มหาบพิตร ขอมหาบพิตรจงทรงไต่ถามตามพระทัยเถิด”

จบตอนเริ่มเมณฑกปัญหา


ขอขอบคุณต้นฉบับ : www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น