Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

ความไม่ประมาทที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

ทุกวันนี้เราท่านทั้งหลายคงเคยได้ยินได้ฟังคำว่าประมาทหรือไม่ประมาทกันมาแล้ว คนละนับครั้งไม่ถ้วนกันทั้งนั้นนะครับ คราวนี้ลองมาคิดกันดูว่าคำว่าไม่ประมาทที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้นทรงมุ่งเน้นในเรื่องอะไรกันแน่ครับ

ผู้ที่เคยอ่านพระไตรปิฎกมามากพอ (ไม่ใช่อ่านเพียงแค่ไม่กี่สูตร) ก็จะมองเห็นภาพรวมของเนื้อหาและจุดประสงค์ในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าได้นะครับว่า พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณที่จะชี้ให้ผู้คนทั้งหลายได้มองเห็นความจริงของชีวิตที่ว่า ชีวิตนี้เต็มไปด้วยกับดัก ขวากหนาม หลุมพราง ในแทบจะทุกย่างก้าวของชีวิต

คำว่ากับดัก ขวากหนาม หลุมพราง ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรมนะครับ แต่หมายถึงว่าความทุกข์ ความเดือดร้อน ความยากลำบากทั้งหลายนั้น พร้อมที่จะเข้ามาห้ำหั่น บีบคั้น ย่ำยีบีฑา เราได้ตลอดเวลาครับ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ทางใจ เช่น ทุกข์จากความโกรธ ความเครียด ความกังวลใจ ความกลัว ความพลัดพราก ความผิดหวัง ความหดหู่ท้อถอย ฯลฯ เรียกว่าถ้าเผลอขาดสติหรือตั้งจิตไว้ผิดเมื่อไหร่ก็ต้องเป็นทุกข์เมื่อนั้นนะครับ หรือจะเป็นทุกข์ทางกาย เช่น ทุกข์จากความหิว ความอิ่มจนเกินไป ความร้อน ความหนาว ความเหน็ดเหนื่อย ความเจ็บปวด โรคภัยไข้เจ็บนานาชนิด ความแก่ ความตาย ฯลฯ

ซึ่งความทุกข์เหล่านี้ล้วนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาเล่นงานเราอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะมีทรัพย์สินเงินทองมากมายสักเพียงใดก็ตาม ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่มีใครสามารถหนีพ้นไปได้เลยนะครับ

เมื่อชีวิตเต็มไปด้วยอันตรายนานัปการอย่างนี้ ผู้ที่ยังเพลิดเพลินในชีวิต เพลิดเพลินในภพ เพลิดเพลินในการเกิดอยู่ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ประมาทด้วยกันทั้งนั้นนะครับ

ผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทก็คือผู้ที่มีความเพียรในการทำวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อจะได้พ้นทุกข์ที่จะตามมาจากการเกิดตลอดไปนั่นเองนะครับ เพราะไม่มีใครเลยที่จะรู้ว่าตนเองจะมีชีวิตอยู่เพื่อจะทำความเพียรได้อีกนานเท่าใด ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ไม่มีใครรู้ความตายแม้ในวันพรุ่งนี้ นั่นเองครับ (คือถึงแม้พรุ่งนี้บางคนจะต้องตาย แต่วันนี้เขาก็ยังไม่รู้เลยว่าเขาเหลือเวลาดูโลกอีกเพียงวันเดียวเท่านั้นเอง)

ผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับอย่างแท้จริงว่าเป็นผู้ที่ไม่มีความประมาทอย่างสมบูรณ์แล้วก็มีแต่พระอรหันต์ทั้งหลายเท่านั้นเองครับ เพราะเป็นผู้ที่พ้นจากความทุกข์ทางใจอย่างสิ้นเชิงแล้วและกำลังจะพ้นจากความทุกข์ทางกายในเวลาอีกไม่นานนัก คือเมื่อปรินิพพานนะครับ

ในปัจฉิมพุทโธวาทที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก่อนจะปรินิพพานว่า " ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิดฯ " จึงหมายถึงให้ทุกคนมีความเพียรในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั่นเองครับ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของตัวผู้ปฏิบัตินั้นนั่นเอง ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อผู้คนทั้งหลายมากเพียงใด ที่ถึงแม้ในวาระสุดท้ายของชีวิตก็ยังไม่ได้ทรงเรียกร้องสิ่งใดเพื่อประโยชน์ของพระองค์เองเลยนะครับ ทรงหวังแต่ประโยชน์เกื้อกูลผู้อื่นทั้งสิ้น.


ธัมมโชติ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น