Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในอนันตจักรวาล

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

สิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ไม่ใช่สัตว์ประหลาดจากต่างดาว ไม่ใช่โรคภัยไข้เจ็บ ไม่ใช่สิ่งไกลตัวที่ไหนนะครับ แต่เป็นจิตของเราแต่ละคนนั่นเองครับ ที่กล่าวว่าจิตของเราเองคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในอนันตจักรวาลนั้น ก็เพราะว่าโดยความเป็นจริงที่แท้แล้วสิ่งอื่นหรือคนอื่นนั้นไม่มีอะไรหรือใครเลยที่จะทำให้เราเป็นทุกข์ได้นะครับ ไม่ว่าจะเป็นคำพูด การกระทำ สายตา กิริยา ท่าทาง น้ำเสียง ฯลฯ (ถ้าจิตของเราไม่ไปยึดมั่นถือมั่น ไม่หวั่นไหวไปตามสิ่งเหล่านั้น) แต่สิ่งที่ทำให้เราเป็นทุกข์ ก็คือจิตของเราเองที่หวั่นไหวไปตามสิ่งเหล่านั้นต่างหาก

ไม่ว่าคนอื่นจะแสดงกิริยาในทางที่ดีหรือไม่ดีก็ตามนะครับ ถ้าจิตของเราไปยึดมั่นก็ย่อมจะหวั่นไหว ถ้าไม่หวั่นไหวไปในทางที่เป็นสุข ก็หวั่นไหวไปในทางที่เป็นทุกข์ คือถ้าปรุงแต่งให้สุขก็สุข ปรุงแต่งให้ทุกข์ก็ทุกข์นะครับ แต่ถ้าจิตไม่ไปยึดมั่นก็จะไม่หวั่นไหว เมื่อไม่หวั่นไหวก็จะสงบระงับ ไม่กระเพื่อม ไม่ซัดส่าย ไม่โยกโคลงเคลงไปมา แล้วก็จะได้พบกับความสุขอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นความสุขอันประณีต ล้ำลึก เป็นสภาวะของจิตที่บริสุทธิ์ ปลอดโปร่ง เบาสบาย ซึ่งผู้ที่เคยสัมผัสมาแล้วย่อมจะซาบซึ้งใจได้ดี

มาพิจารณาถึงความน่ากลัวของจิตกันต่อนะครับ ไม่ใช่เฉพาะความทุกข์ทางใจเท่านั้นนะครับที่เกิดจากจิตของเราเอง แม้แต่ความทุกข์ทางกายทั้งหลาย เช่น ความเจ็บปวด ความหนาว ความร้อน ก็ล้วนเกิดจากจิตของเราเองด้วยครับ ลองพิจารณาดูนะครับว่าคนที่หลับสนิทนั้นเป็นทุกข์เพราะความเจ็บปวด ความหนาว ความร้อน ฯลฯ หรือไม่ ที่ไม่เป็นทุกข์นั้นไม่ใช่เพราะเขาไม่ได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอกเลยนะครับ แต่เป็นเพราะว่าจิตของเขาไม่ได้ไปรับรู้สภาวะแวดล้อมเหล่านั้นเลยต่างหากครับ

นี่ก็เป็นเครื่องยืนยันอย่างชัดเจนแล้วนะครับว่าสิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ทางกายนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่สิ่งอื่นเลย แต่เป็นเพราะจิตของเรานี้นั่นเองครับ ทุกข์ทางกายจึงเกิดขึ้น

เพราะจิตของเราเองเป็นต้นเหตุที่แท้จริงของทุกข์ทั้งทางกายและทางใจนั่นเอง จึงกล่าวได้นะครับว่า จิตของเราเองคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในอนันตจักรวาล

สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

ทิโส ทิสํ ยนฺตํ กยิรา ... เวรี วา ปน เวรินํ
มิจฺฉาปณิหิตํ จิตฺตํ ..... ปาปิโย นํ ตโต กเร

โจรกับโจร หรือไพรีกับไพรี พึงทำความพินาศให้แก่กัน
ส่วนจิตที่ตั้งไว้ผิด พึงทำเขาให้เสียหายยิ่งกว่านั้น.

(จากพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๕ หน้า : ๓๙ ข้อ : ๔๒)


น ตํ มาตา ปิตา กยิรา ... อญฺเญ วาปิจ ญาตกา
สมฺมาปณิหิตํ จิตฺตํ ... เสยฺยโส นํ ตโต กเร.

มารดาบิดาหรือญาติเหล่าอื่น ไม่พึงทำเหตุนั้นให้ได้
ส่วนจิตที่ตั้งไว้ดีแล้ว พึงทำเขาให้ดีกว่านั้น

(จากพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๕ หน้า : ๓๙ ข้อ : ๔๓)


มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา ... มโนเสฏฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปทุฏฺเฐน .... ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติ ... จกฺกํว วหโต ปทํ ฯ
มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา ... มโนเสฏฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปสนฺเนน ..... ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ สุขมเนฺวติ ...... ฉายาว อนุปายินี ฯ

ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ
ถ้าบุคคลมีใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม
ทุกข์ย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะทุจริต ๓ อย่างนั้น
(กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต - ทุจริตทางกาย วาจา ใจ)
เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคผู้ลากเกวียนไปอยู่ ฉะนั้น
ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ
ถ้าบุคคลมีใจผ่องใส กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม
สุขย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะสุจริต ๓ อย่างนั้น
เหมือนเงามีปรกติไปตาม ฉะนั้น

(จากพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๕ หน้า : ๒๓ ข้อ : ๑)


จะเห็นว่าสิ่งที่ทำให้เราได้ดี ได้ชั่ว ไปสู่ที่สูงที่ต่ำ หรือเป็นสุขเป็นทุกข์ แท้จริงแล้วก็มีอยู่สิ่งเดียวเท่านั้นนะครับก็คือจิตของเรา จิตของเราเท่านั้นที่จะบันดาลให้เราเป็นไปต่างๆ ได้อย่างแท้จริง คนอื่นๆ จะมีผลบ้างก็เพียงส่วนเล็กน้อยผิวเผินในปัจจุบันเท่านั้นเอง คือจะมีส่วนในการกระตุ้น ชักจูง เหนี่ยวนำ ก่อกวน บ่อนทำลาย แนะนำ ให้ความรู้ ให้กำลังใจ ให้การสนับสนุน ฯลฯ แต่ถ้าจิตของเราแน่วแน่มั่นคง ไม่หวั่นไหว หรือเฉื่อยชา เฉยเมย ชาชิน คนอื่นเหล่านั้นก็ทำอะไรเราไม่ได้นะครับ ไม่ว่าจะทำให้เราดีขึ้น หรือแย่ลง จิตของเราก็จะมีความคงที่ (ดีคงที่ กลางๆ คงที่ หรือแย่คงที่) ไม่ขึ้นไม่ลง

แต่ถ้าจิตของเราเองพุ่งตรงไปสู่สิ่งที่ไม่ดี คือเป็นจิตที่ตั้งไว้ผิดแล้ว ความเสียหายทั้งปวงก็จะตามมา ซึ่งความเสียหายนั้นจะรุนแรงกว่าที่มหาโจรผู้ยิ่งใหญ่จะทำแก่เราได้เสียอีกนะครับ เพราะมหาโจรนั้นจะทำได้อย่างมากก็เพียงแค่ทำให้เราตายไปเท่านั้นเอง แล้วก็จบกันแค่นั้น แต่ความเสียหายที่จิตเราสร้างขึ้นมาเองนั้นจะติดตามไปไม่รู้จักจบสิ้น หลายภพหลายชาติจนกว่าจะหมดแรงกรรมนั้น แม้ในชาตินี้เองก็จะทำให้จิตต้องเร่าร้อนเป็นทุกข์อยู่เป็นประจำครับ

ส่วนจิตที่พุ่งตรงไปสู่สิ่งที่ดี คือจิตที่ตั้งไว้ดีแล้วนั้น ประโยชน์สุขทั้งหลายก็จะตามมานะครับ ซึ่งประโยชน์นั้นจะยิ่งใหญ่และมากมายจนเกินกว่าที่ผู้อื่นจะทำให้ได้ เพราะผู้อื่นจะให้ได้เฉพาะความสุขหรือประโยชน์ในขณะนั้นๆ เท่านั้นเองนะครับ ไม่ยั่งยืน อยู่ได้อย่างมากก็เฉพาะในชาตินี้เท่านั้น แต่ประโยชน์สุขที่จิตเราสร้างขึ้นมาเองนั้นจะติดตามเราไปได้ทุกหนแห่ง หลายภพหลายชาติจนกว่าจะหมดแรงกรรมนั้นนะครับ แม้ในชาตินี้ก็จะส่งผลให้ได้รับความสุข ความสบายใจอยู่เสมอ

คำว่าจิตที่ตั้งไว้ผิดนั้นก็คือ ตั้งไว้ด้วยเจตนาแห่งความโลภ ความโกรธ ความคิดที่จะเบียดเบียน ทำร้ายผู้อื่น อันเป็นเหตุให้ทำผิดศีลธรรมนานาประการนะครับ ซึ่งจะทำให้ได้รับผลเป็นความทุกข์ จากความกังวลใจ ขัดเคืองใจ หวาดระแวง ต้องคอยระวังศัตรูจะทำร้าย มีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัวอยู่เสมอ ฯลฯ

ส่วนจิตที่ตั้งไว้ถูกก็คือ ตั้งไว้ด้วยเจตนาแห่งความเสียสละ ความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ความคิดที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น มีความเพียรในการรักษาศีล ทำสมาธิ เจริญวิปัสสนา อยู่ในศีลธรรม ฯลฯ ซึ่งเป็นเหตุแห่งกุศลกรรมทั้งปวง อันจะส่งผลให้มีความสุข สบายใจ ไม่ต้องสะดุ้งหวาดกลัวครับ

ธัมมโชติ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น