Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

รวมคำถามคำตอบหมวดบทวิเคราะห์ (2)

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้เป็นการรวมคำถามคำตอบหมวดบทวิเคราะห์ ที่มีผู้สนใจถามเข้ามา เป็นชุดที่ 2 นะครับ



การถูกให้ร้าย

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

Subject: การถูกให้ร้าย

ผมมีคำถามเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับบุคคลที่คอยจะทำร้ายเรา
ในการทำงาน ย่อมมีเรื่องขัดแย้งกับคน บุคคลที่ไม่เป็นมิตรพยายามหาทางที่จะทำร้ายและให้ร้ายเรา ผมศึกษาธรรมะมา ก็เห็นคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าให้ปล่อยวางและแผ่เมตตา ใครโกรธตอบถือว่าเลวกว่าบุคคลที่โกรธเราเสียอีก แต่ยิ่งเราเฉย เขาก็คิดว่ารังแกเราได้โดยง่าย ก็จะยิ่งหาเรื่องเราเข้าไปอีก ดังนั้นผมเลยไม่แน่ใจในคำสอนนี้ว่าจะใช้ได้ผลกับคนชั่ว ผมยังเป็นปุถุชนธรรมดา ยังมีความอ่อนไหวต่อโลกธรรม ไม่เหมือนกับพระอรหันต์ที่ไม่หวั่นไหวเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น เพราะหมดกิเลสแล้ว ดังนั้นผมอยากจะถามว่าถ้าเจอคนที่จะคอยทำร้ายและให้ร้ายเรา เราควรจะโต้ตอบดีหรือไม่ จะขัดแย้งกับคำสอนของศาสนาพุทธหรือไม่ มีวิธีการจัดการกับคนชั่วที่คอยให้ร้ายเราได้อย่างไร


ตอบ

สวัสดีครับ ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ในมงคลสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงสิ่งที่เป็นมงคล 38 ประการ (ดูรายละเอียดได้ในเรื่องมงคลในพระพุทธศาสนา ในหมวดธรรมทั่วไปนะครับ) นั้น

มงคลข้อที่ 1 ก็คือ การไม่คบคนพาล
มงคลข้อที่ 2 ก็คือ การคบบัณฑิต
มงคลข้อที่ 4 ก็คือ การอยู่ในสถานที่อันเหมาะสม หรือสมควร
มงคลข้อที่ 6 ก็คือ การตั้งตนไว้ชอบ

การจัดการกับปัญหานี้ขั้นแรกก็ควรทำอย่างที่คุณ..... ได้กล่าวเอาไว้แล้ว คือปล่อยวางและแผ่เมตตาให้นะครับ ขอเสริมอีกนิดว่าขณะเดียวกันก็คิดเสียว่าเป็นการชดใช้กรรมเก่าที่เคยทำเอาไว้ในชาตินี้หรือชาติก่อนๆ เมื่อใช้กรรมหมดไปแล้วก็จะได้หมดเวรกันไป จะได้สบายใจขึ้นนะครับ ซึ่งตรงกับมงคลข้อที่ 6

ถ้ายังไม่หายก็คงต้องใช้วิธีพูดกับเขาดีๆ อย่างตรงไปตรงมาด้วยเหตุผลว่าเขาเข้าใจอะไรเราผิดไปหรือเปล่า ถ้ามีการเข้าใจผิดก็ควรปรับความเข้าใจกันใหม่ แล้วชี้แจงให้เขาเข้าใจว่าที่ผ่านมาเขาทำให้เรารู้สึกอย่างไรบ้าง แล้วตกลงกันว่าเราจะยกโทษในเรื่องที่แล้วไปแล้วทั้งหมด ต่อไปก็เริ่มต้นกันใหม่ ขอให้เป็นมิตรที่ดีต่อกันนะครับ บางครั้งการให้ของกำนัลเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นมาก็ได้นะครับ ขอให้ระลึกเอาไว้เสมอว่า เวรย่อมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร (ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๗ หน้า : ๒๒๐ ข้อ : ๑๑๕)

แต่ถ้ายังไม่หายก็ควรทำตามมงคลข้อที่ 1 และ 2 คือพยายามหลีกเลี่ยงคนๆ นั้น และพยายามเข้าใกล้คนที่ดีมีศีลธรรม ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วคงทำได้ไม่ง่ายนักนะครับ โดยเฉพาะสำหรับคนทำงาน

ถ้าไม่สำเร็จก็คงต้องตั้งจิตอันประกอบด้วยเมตตา กรุณา แล้วสั่งสอนให้เขาได้รู้สำนึก เพื่อให้เขาเลิกทำบาปทำกรรมกับเราต่อไป ขอย้ำว่าทำด้วยความเมตตา กรุณา เพื่อให้เขากลับตัวกลับใจนะครับ ไม่ใช่ทำด้วยความโกรธแค้น ตัวอย่างเรื่องทำนองนี้ที่มีในพระไตรปิฎกก็มี เช่น พระพุทธเจ้าทรงทรมานพญานาคที่โรงไฟของชฎิล (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๔๗ ข้อ : ๓๗), พระพุทธเจ้ารับสั่งให้พระโมคคัลลาน์ไปทรมานพญานาค (รายละเอียดการปราบนันโทปนันทนาคราชของพระโมคคัลลานะนั้น มีแสดงในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา (คัมภีร์ที่ขยายความพระไตรปิฎก) คือ อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา สัฏฐิกนิบาต เรื่อง มหาโมคคัลลานเถรคาถา) ฯลฯ

ขั้นตอนนี้ถ้าไม่แน่ใจที่จะทำคนเดียว ก็อาจหาเพื่อนคนอื่นๆ ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันมาเป็นแนวร่วมด้วยก็ได้นะครับ หรือถ้าจำเป็นก็อาจต้องให้เรื่องนี้มีการรับรู้ไปถึงผู้ที่เป็นผู้บังคับบัญชาของคนๆ นั้นด้วย ขอย้ำอีกครั้งว่าต้องทำด้วยความเมตตา กรุณา เพื่อให้เขากลับตัวกลับใจจริงๆ นะครับ ไม่ใช่ทำด้วยความโกรธแค้น

แต่ถ้ายังไม่สำเร็จอีกก็อาจจะต้องทำตามมงคลข้อที่ 4 คือ ย้ายที่ทำงานซะเลย อาจจะเป็นการย้ายห้อง ย้ายหน้าที่ ย้ายสำนักงานสาขา หรืออาจถึงขั้นย้ายบริษัทตามความเหมาะสม หรือไม่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าโลกที่เต็มไปด้วยคนที่มีกิเลสก็เป็นอย่างนี้เป็นธรรมดา หนีไปไหนก็คงจะต้องเจออีกไม่มากก็น้อย เพราะฉะนั้นก็ต้องยอมรับความจริงข้อนี้แล้วปล่อยวางให้ได้นะครับ พยายามมองหาข้อดีของเขา (คนที่สร้างปัญหาให้เรา) ให้เจอ แล้วนึกถึงแต่ข้อดีของเขา คิดว่าอย่างน้อยเขาก็ยังมีข้อดีอยู่บ้าง พยายามรักษาจิตของตนเองเอาไว้ให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด เพื่อจะสามารถอยู่ในโลกนี้ต่อไปได้อย่างไม่เป็นทุกข์มากนักนะครับ

จะอย่างไรก็ตามก็ขอให้ใจเย็นๆ เย็นที่สุด พยายามทำไปตามขั้นตอน จะได้ไม่ต้องมาเสียใจภายหลังนะครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ


สภาวะจิตบางอย่าง

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

Subject: Dhamma Question

สวัสดีครับ

1. ความเศร้า, ความสงสาร, ความอาลัย, ฯ ความรู้สึก เหล่านี้เป็นอกุศลจิตหรือไม่ครับ
2. ถ้าใช่ เมื่อเกิดกับเราถือว่าเราได้บาปหรือไม่ครับ

ขอบพระคุณมากครับ


ตอบ

สวัสดีครับ ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ
  1. ความเศร้า ความอาลัย เป็นอกุศลจิตครับ โดยเป็นจิตประเภทโทสะอย่างอ่อน (จิตทุกประเภทที่ประกอบด้วยความทุกข์ใจ ล้วนจัดเป็นโทสมูลจิตทั้งสิ้นครับ คือเป็นจิตที่มีโทสะเป็นมูล โทสะนั้นไม่จำเป็นจะต้องถึงกับโกรธ แค่เพียงไม่สบายใจ หรือกังวลใจก็จัดเป็นโทสะแล้วนะครับ) โดยความอาลัยนั้นมีสาเหตุมาจากอุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) ซึ่งอุปาทานนั้นเป็นโลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) คือในกรณีนี้โลภะ (อุปาทาน) เป็นปัจจัยให้เกิดโทสะ (ความทุกข์ใจขณะเกิดความอาลัย คือเสียใจเพราะความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ที่พอใจ) คือขณะยึดเป็นโลภะ ขณะทุกข์เป็นโทสะนะครับ

    ส่วนความสงสารนั้น ถ้ามีความทุกข์ใจประกอบด้วย ในส่วนที่เป็นทุกข์นั้นก็เป็นอกุศลจิต คือเป็นโทสะอ่อนๆ เช่นกันครับ แต่ในส่วนที่ไม่ทุกข์ คือส่วนที่เป็นกรุณาจิต (ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์) นั้นเป็นมหากุศลจิตครับ คือบางครั้งจิต 2 ประเภทนี้เกิดสลับกันอย่างรวดเร็วมาก ก็จะทำให้ความสงสารนั้นมีทุกข์ปนอยู่ด้วย เป็นกุศลและอกุศลสลับกันไปครับ

  2. อกุศลจิตนั้นเมื่อเกิดขึ้นก็จะทำให้จิตเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ก็คือเป็นบาปครับ (บุญคือเครื่องชำระจิตให้ผ่องใส ประณีต เบาสบาย บาปคือเครื่องทำจิตให้เศร้าหมอง หยาบกระด้าง) จะมากจะน้อยก็ขึ้นกับความรุนแรง และระยะเวลาที่เกิดขึ้นนะครับ เมื่อรู้ตัวแล้วก็ควรรีบแก้ไข โดยคิดถึงเรื่องอื่นที่เป็นกุศลแทน

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ


ธัมมโชติ


ชอบคิดถึงอดีต

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

ดิฉันอายุ 28 ปี ในวัยเด็กดิฉันถูกเลี้ยงดูโดยคุณยาย และมารดาไม่ได้เลี้ยงดู เมื่อสมัยดิฉันยังเรียนหนังสืออยู่ ดิฉันไปขอเงินคุณแม่ ซึ่งแต่งงานใหม่ไปแล้ว เขามักไม่ยอมให้ และพูดจาว่าให้ไปขอพ่อมึงโน่น มาขออะไรกู และทำความรู้สึกให้ดิฉันแย่ที่สุดหลายอย่างตั้งแต่จำความได้ค่ะ

ปัจจุบัน ดิฉันชอบคิดถึงอดีต และไม่รู้สึกรักท่านเท่าไหร่ ดิฉันรู้ว่ามันไม่ดีมากๆ แต่อาจารย์พอจะมีวิธีช่วยดิฉันไม่ให้คิดถึงอดีตบ้างไหมค่ะ ดิฉันไม่อยากเป็นแบบนี้เลย กลัวตกนรกค่ะ และกลัวความไม่เจริญจะมาเยือนชีวิตค่ะ อาจารย์ได้โปรดช่วยดิฉันด้วย

เวลาคนอื่นทำอะไรให้โกรธ ดิฉันจะโกรธไม่นาน แต่ถ้าเป็นมารดาของดิฉัน ดิฉันจะเก็บเอามาคิดเสมอ ดิฉันพยายามนึกถึงความดีงามบางอย่างที่ท่านได้ทำ เพื่อจะได้ให้มันหักล้างกัน แต่บางครั้งก็สำเร็จ บางครั้งก็ไม่สำเร็จ

ขอบคุณค่ะ


ตอบ

สวัสดีครับ คุณ .....

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

เท่าที่อ่านดูแล้ว คิดว่าคุณ ..... มีความเชื่อในเรื่องกฏแห่งกรรมอยู่ไม่น้อยนะครับ เมื่อเชื่อว่ากรรมที่ทำในปัจจุบันจะส่งผลไปถึงชาติหน้าได้ ก็น่าจะมีความเชื่อด้วยว่าสิ่งที่คุณ ..... ประสบมาตั้งแต่วัยเด็กจนถึงปัจจุบันนั้น ก็เป็นผลจากกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อนๆ เช่นกันนะครับ นั่นก็คือเหตุการณ์ที่ไม่ดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ก็ควรจะโทษกรรมที่คุณ ..... ได้เคยทำเอาไว้ในชาติก่อนๆ แทนที่จะไปตำหนิคุณแม่ของคุณเอง

คุณแม่ของคุณก็หนีไม่พ้นกฏแห่งกรรมเช่นเดียวกันครับ กรรมที่ท่านทำไว้ก็จะตอบสนองท่านเองด้วยความยุติธรรม เพราะกฏแห่งกรรมเป็นกฏที่ยุติธรรมที่สุดนะครับ คุณ ..... กำลังชดใช้กรรมเก่าที่ได้ทำเอาไว้ในชาติก่อนๆ ขณะเดียวกันคุณแม่ของคุณก็กำลังสร้างกรรมใหม่

คุณ ..... ควรจะสงสารคุณแม่ของคุณมากกว่าที่จะโกรธท่านนะครับ (ที่ท่านกำลังสร้างกรรมที่ไม่ดี) ถ้าช่วยเตือนสติท่านได้ก็เป็นสิ่งที่ดี ถ้าช่วยไม่ได้ก็คงต้องทำใจให้เป็นอุเบกขา แล้วก้มหน้าชดใช้กรรมเก่าให้หมดโดยเร็วนะครับ อย่าสร้างบาปกรรมใหม่ขึ้นมาอีก ที่ทำไปแล้วก็ควรจะขอขมาท่านนะครับ (ที่คิดไม่ดีกับท่านเอาไว้) ถ้าสามารถไปขอขมาท่านด้วยตัวเองได้ก็จะดีมากครับ แล้วขอให้ท่านยกโทษให้ (ซึ่งก็จะเป็นการเตือนสติท่านไปในตัวด้วย) แต่อย่างน้อยก็ควรอธิษฐานจิตขอขมาท่านไปก่อน แล้วตั้งใจว่าจะไม่โกรธท่านอีก ก็จะสบายใจขึ้นได้มากนะครับ

ตอนนี้ถ้าสามารถให้ทาน รักษาศีล ทำสมาธิ หรือเจริญวิปัสสนาได้ก็ควรจะทำนะครับ เพื่อให้จิตใจผ่องใสขึ้น สิ่งร้ายๆ ต่างๆ จะได้มาเยือนได้ยากขึ้นครับ

อย่างน้อยก่อนนอนทุกคืนก็ควรจะแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ และมนุษย์ทั้งหลาย รวมทั้งเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ถ้าสวดมนต์ไหว้พระด้วยก็จะดีมากครับ เท่านี้ก็น่าจะทำให้คุณ ..... มีความสุขขึ้นอีกมากเลยละครับ

พยายามแผ่เมตตาให้คุณแม่ของคุณบ่อยๆ นะครับ วันละหลายๆ ครั้งด้วยใจจริง จะช่วยล้างความฝังใจที่ร้ายๆ ได้ครับ และทุกครั้งที่คิดถึงท่านในทางที่ไม่ดี ก็พยายามฝืนใจ พยายามนึกถึงความดีต่างๆ ของท่าน และแผ่เมตตาให้ท่านมากๆ จนกว่าความรู้สึกไม่ดีต่อท่านจะหายไปนะครับ ถ้าจิตมีกำลังมากพอและทำจากใจจริงๆ ไม่นานก็คงเห็นผลครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ


ธัมมโชติ


ฆราวาสกับการปฏิบัติธรรม

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

Subject: สภาวะการมีครอบครัว...

สภาวะการมีครอบครัวที่เรายังต้องมีหน้าที่ของภรรยาที่ต้องปฏิบัติต่อผู้เป็นสามี กับการปฏิบัติธรรมจนจิตใจสะอาด สงบ ระงับจากความยินดีในกามราคะ จะไปด้วยกันได้อย่างไรคะ

ขอบคุณค่ะ


ตอบ

สวัสดีครับ คุณ .....

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ชีวิตของฆราวาสนั้นถ้าต้องการปฏิบัติธรรมให้บริสุทธิและได้ผลอย่างรวดเร็วนั้น ทำได้ไม่ง่ายนักนะครับ เพราะมีข้อติดขัดหลายประการ ทั้งหน้าที่การงาน ครอบครัว ฯลฯ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เสียทีเดียว

ในสมัยพุทธกาลก็มีตัวอย่างอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น นางวิสาขามหาอุบาสิกา (มิคารมาตา) นั้นเป็นโสดาบันตั้งแต่อายุ 7 ขวบ พอโตขึ้นก็แต่งงาน มีลูกหลานหลายคน และก็ไม่ได้ทิ้งธรรมนะครับ

ผู้ที่จะงดเว้นจากกามราคะได้อย่างสิ้นเชิงก็ต้องเป็นอนาคามีบุคคลหรือพระอรหันต์เท่านั้นนะครับ ส่วนผู้ที่ยังอยู่ในขั้นต่ำกว่านั้น (ตั้งแต่สกทาคามีบุคคลลงมา) ก็ยังมีกิเลสในเรื่องนี้อยู่ตามขั้นครับ เพียงแต่กิเลสนั้นจะแสดงตัวออกมาหรือไม่เท่านั้น เช่น พระอานนท์ท่านกล่าวว่าตั้งแต่ท่านบวชมาแล้วความกำหนัดในกามไม่ได้เกิดขึ้นกับท่านเลยแม้ในขณะที่ยังเป็นโสดาบันอยู่ก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้ก็อยู่ที่จริตของแต่ละบุคคลด้วยนะครับ

ดังนั้นผู้ที่สนใจธรรมอย่างแท้จริง ถ้าสามารถออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้ก็เป็นการดีนะครับ แต่ถ้ายังมีภาระหน้าที่ ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ก็ควรจะปฏิบัติธรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในวิสัยของฆราวาส เช่น การปฏิบัติกับสามี หรือภรรยา ก็ทำไปโดยสมควรตามหน้าที่ ไม่ใช่ทำไปด้วยอำนาจของกิเลส การบริโภคอาหารก็บริโภคเพื่อแก้หิว เพื่อไม่ให้เจ็บป่วย เพื่อให้ชีวิตเป็นไปได้ตามสมควร ไม่ใช่เพื่อความเอร็ดอร่อย ไม่ใช่เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่ใช่เพื่อตอบสนองกิเลส ฯลฯ

การกระทำอย่างอื่นๆ ก็ทำนองเดียวกันนะครับ คือ พยายามทำไปในทางที่ไม่ให้กิเลสงอกเงย หรือครอบงำจิตใจได้ สร้างสมบุญบารมีเอาไว้ทีละเล็กละน้อยตามกำลังที่จะทำได้ ทั้งในด้านทาน ศีล สมาธิ และวิปัสสนา

เมื่อใดถูกกิเลสครอบงำ พอมีสติระลึกได้ก็รับรู้ตามสภาพความเป็นจริง แล้วปล่อยวาง (เพื่อแก้ไข ปรับปรุง ในโอกาสต่อๆ ไป) อย่ายึดมั่น เสียใจนะครับ เพราะความยึดมั่น เสียใจก็เป็นกิเลส จะดึงให้จิตตกต่ำไปเปล่าๆ ครับ

ถ้าสามารถพูดคุยกับคู่สมรสให้ปฏิบัติธรรมไปด้วยกันได้ ก็จะยิ่งดีขึ้นมากครับ และจะลดความขัดแย้งทางจิตใจในการปฏิบัติตัวได้มากด้วย หรืออย่างน้อยก็ควรพูดให้เขาเข้าใจสภาพจิตใจของเรา แต่ละฝ่ายก็จะได้ทำตัวได้ง่ายขึ้นนะครับ

สรุปคือทำเท่าที่จะทำได้ ได้แค่ไหนก็แค่นั้นนะครับ อย่าคิดมาก อย่ากังวล แต่ถ้าออกบวชได้ก็จะดีที่สุดครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ


ธัมมโชติ


การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ


คำถาม

Subject: thumma question

เรียน คุณธัมมโชติ

สวัสดีครับ

ขอเรียนถามปัญหาดังนี้นะครับ
  1. การพยายามมีสติระลึกอยู่กับลมหายใจในขณะที่ใช้ชีวิตประจำวัน หรือบางครั้งพยายามมีสติระลึกอยู่กับกริยาอาการต่างๆของร่างกาย ถือเป็นการปฏิบัติในข้อกายานุปัสนาสติปัฏฐานหรือไม่ครับ

  2. ถ้าใช่ถือว่าเป็นการทำบุญหรือไม่ครับ และเราสามารถแผ่ผลบุญนี้ออกไปได้หรือไม่ครับ
ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ


ตอบ

สวัสดีครับ คุณ .....

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ
  1. การมีสติระลึกอยู่กับลมหายใจและการมีสติระลึกอยู่กับกริยาอาการต่างๆของร่างกายนั้นจัดเป็นกายานุปัสนาสติปัฏฐานครับ คือการมีสติอยู่กับกาย (ลมหายใจเป็นส่วนที่ปรุงแต่งร่างกาย และเกี่ยวเนื่องกับร่างกาย จัดเป็นกายชนิดหนึ่ง) ซึ่งเป็นได้ทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน โดยมีรายละเอียดที่ลึกลงไปดังนี้ครับ

    ถ้ามีสติเพียงเพื่อยึดจิตไว้ไม่ให้ซัดส่ายก็เป็นการทำสมาธิ จัดเป็นสมถกรรมฐานครับ แต่ถ้าคอยสังเกตความเป็นไปของลมหายใจ (หรือร่างกาย แล้วแต่กรณี) ในแต่ละขณะด้วย เพื่อให้เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของลมหายใจ (หรือกริยาอาการของร่างกาย รวมทั้งตัวร่างกายเองด้วย) ซึ่งเป็นรูปชนิดหนึ่ง และมีธรรมชาติเช่นเดียวกับรูปนามอื่นๆ ทั้งหลาย (ความไม่เที่ยง แปรปรวนไปตลอดเวลา เอาแน่อะไรไม่ได้ คาดหวังอะไรไม่ได้เลย ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ฯลฯ) ก็จะเป็นวิปัสสนากรรมฐานนะครับ

    และถ้าคอยสังเกตสภาวะจิตประกอบไปด้วย (ในทำนองเดียวกับการสังเกตลมหายใจนะครับ) ก็จะเป็นจิตตานุปัสสนา ซึ่งจะได้ประโยชน์ยิ่งขึ้นไปอีกครับ

  2. ถือว่าเป็นการทำบุญครับ คือเป็นการชำระจิตให้ผ่องใส การทำสมาธินั้นเป็นบุญที่มากกว่าการให้ทาน เพราะทำให้จิตผ่องใสมากกว่าการให้ทาน การทำวิปัสสนาเป็นบุญที่มากกว่าการทำสมาธิเพราะกำจัดกิเลสได้ถาวรครับ

    และเราสามารถแผ่ผลบุญนี้ออกไปได้แน่นอนครับ ถ้ามีการแผ่เมตตาก่อนการแผ่ผลบุญก็จะดีมากครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ


ธัมมโชติ

2 ความคิดเห็น :

  1. ไม่ระบุชื่อ27 สิงหาคม 2561 เวลา 18:31

    แฟนผมถูกผีสิงบ่อยครับ เขาชอบไปตำหนักทรงเจ้า ไปรับเอาองค์ยักษ์กับลิงมาไว้ที่ร้าน เวลาสิงก็จะมาทำร้ายร่างกายผม
    เมื่อวานก็เข้าสิงที่วัดขณะนั่งสมาธิ ก็สิงแล้วมาตีผม คนอื่นห้ามกันใหญ่เลย
    กราบขอคำแนะนำเถิดครับ ทางพระไตรปิฎกมีวิธีแก้ผีเข้าไหมครับ
    เป็นผีจริง ๆ ครับ
    ผมจะเอาองค์ยักศ์ออกจากร้าน เขาไม่ยอม จะทำร้ายผม
    เวลาผีเข้า เขาเปลี่ยนคนละคน จากนิสัยดี เป็นคนชั่วร้าย ด่าหยาบคาย
    มีวิธีแก้ไสยศาสตร์มนต์ดำไหมครับ
    ผีตัวนี้ดุมาก กลางวันแสก ๆ ยังทำประตูเหล็กปึงปังดังลั่นตั้งหลายวินาทีเลยตรับ

    เขาเข้าไปบวชอุบาสิกาที่วัดทุกวันพระ ยังตามไปสิงตอนนั่งสมาธิ ทุกคนเห็นนั่งโยกตัวแบบผีเข้า
    ทำไมพุทธคุณช่วยไม่ได้ครับ
    ผมทุกข์ใจมาก

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com

      ขออภัยที่ตอบช้าเป็นอย่างมากนะครับ เนื่องจากระบบไม่แจ้งเตือนข้อความใหม่มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 เลยพึ่งเห็นข้อความนี้ครับ

      เรื่องผีสิงที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกก็มีครับ เช่นในพระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๔๙) มีเนื้อความดังนี้

      ===============================

      เรื่องเนื้อดิบและเลือดสด

      สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้เพราะถูกอมนุษย์เข้าสิง อาจารย์และอุปัชฌาย์ช่วยกันรักษาภิกษุนั้น แต่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ภิกษุนั้นเดินไปที่ร้านขายหมูแล้วกินเนื้อดิบ ดื่มเลือดสด ๆ โรคอมนุษย์เข้าสิงของภิกษุนั้นจึงสงบ (ดูเชิงอรรถ ๑ ประกอบ) ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเนื้อดิบ เลือดสด ในเมื่อมีโรคอมนุษย์เข้าสิง”

      เชิงอรรถ :
      ๑ ภิกษุผู้เป็นไข้นั้น ไม่ได้กินเนื้อดิบ ไม่ได้ดื่มเลือดสด แต่อมนุษย์ (ผี) ที่สิงอยู่ในร่างภิกษุนั้น กินและดื่ม พอกินเนื้อดิบและดื่มเลือดสดแล้ว ก็ออกจากร่างภิกษุนั้นไป (วิ.อ. ๓/๒๖๔/๑๗๔)

      ===============================

      เรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าการให้กินเนื้อดิบ ดื่มเลือดสดๆ จะแก้ผีเข้าได้ทุกกรณีนะครับ เนื่องจากในกรณีนี้ผีนั้นมีความต้องการกินเนื้อดิบ ดื่มเลือดสดๆ ดังนั้น เมื่อได้ตามความต้องการแล้วจึงออกจากร่างภิกษุนั้นไป

      สำหรับกรณีที่ถามมานั้น ควรทำไปตามลำดับอ่อนไปแข็งดังนี้นะครับ

      1. ตอนผีเข้าลองพยายามพูดคุยด้วยดีๆ แล้วสอบถามว่าเป็นใคร มาจากไหน ต้องการอะไร ทำอย่างไรถึงจะเลิกมารบกวน อาจต้องใช้ความพยายามหลายครั้งหน่อยนะครับกว่าจะคุยกันดีๆ ได้ ถ้าคุยกันรู้เรื่องและคิดว่าพอทำตามได้ ก็ทำตามนั้น ให้ผีนั้นพอใจ แล้วจากกันไปด้วยดีก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดครับ

      2. เนื่องจากการที่ผีสิงเกิดจากการที่ผีนั้นมีกำลังจิตที่กล้าแข็งกว่าผู้ถูกสิง จึงสามารถครอบงำความรู้สึกนึกคิดของผู้ถูกสิงนั้นได้ ดังนั้น ทางแก้ก็คือการเพิ่มกำลังจิตกำลังสติของผู้ถูกสิงนั้นขึ้นมา ให้มีจิตมีสติที่เข้มแข็งพอที่จะไม่คล้อยตามการครอบงำหรือการดลใจของผีนั้น (ผีที่ว่านั้นอาจเป็นวิญญาณภายนอก หรือเป็นจิตใต้สำนึกหรืออนุสัยกิเลสของผู้นั้นเองก็ได้นะครับ)

      พลังภายนอก เช่น พุทธคุณ ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ถ้ากำลังจิตของผู้นั้นอ่อนกว่าฝ่ายที่มาสิงมากๆ ก็ต้านทานการครอบงำไม่ได้อยู่ดีครับ

      ต้องหาทางเพิ่มกำลังจิตกำลังสติของผู้ถูกสิงนั้นขึ้นมาให้ได้ ซึ่งผู้ที่มีความสำคัญที่สุดก็คือตัวผู้นั้นเองครับ ถ้าผู้ถูกสิงไม่ร่วมมือด้วยก็แก้ลำบาก เพราะการฝึกจิตก็เหมือนการออกกำลังกาย ถ้าเจ้าตัวไม่ยอมทำ คนอื่นจะทำอะไรได้

      ดังนั้น ขั้นแรกก็ต้องถามแฟนคุณก่อนครับว่ามีความเห็น ความรู้สึกในเรื่องนี้อย่างไร ถ้ายินดีให้เป็นอย่างนี้ (ดูจากที่เล่ามาทำให้ไม่แน่ใจครับว่าคิดยังไง) ก็ต้องแก้ที่ความคิดนี้ก่อน

      ถ้าแฟนคุณไม่ยินดีให้เป็นแบบนี้แล้ว ก็ทำสิ่งเหล่านี้ประกอบกันนะครับ

      1. เริ่มด้วยการฝึกสติ โดยการระลึกรู้ในอิริยาบถต่างๆ ในกิจวัตรประจำวัน คือให้ทำสิ่งต่างๆ ด้วยความรู้สึกตื่นรู้อยู่เสมอนะครับ ไม่ใช้ทำด้วยความรู้สึกลอยๆ ไปตามความเคยชิน เช่น เวลาเดินก็มีสติกับการก้าวไปของขา เวลากินข้าวก็มีสติกับการตักการเคี้ยวการกลืน เวลาดูโทรทัศน์ก็คอยสังเกตจิต/สังเกตความรู้สึกไปเป็นระยะๆ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้จิต/สติมีกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

      2. ปกติแล้วก่อนถูกสิงจะมีอาการนำมาก่อนนะครับ เช่น รู้สึกเบลอๆ ซึ่งเป็นอาการที่สติเริ่มอ่อนกำลังลง จะต้องสังเกตอาการนำนี้ให้ได้ และรีบแก้ไขก่อนที่จะถูกครอบงำ ด้วยการหายใจลึกๆ ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม รีบดึงความรู้สึกตัวคืนมา รีบเปลี่ยนอารมณ์/อิริยาบถ เพื่อให้มีความรู้สึกตื่นรู้มากที่สุด ที่สำคัญคือต้องมีความรู้สึกต่อต้านการครอบงำนั้นนะครับ ถ้ารู้สึกยินดี/คล้อยตามก็จะยิ่งถูกครอบงำได้ง่าย อาจต้องช่วยด้วยการตบหลังหรือตบ/นวดศีรษะเพื่อให้ตื่นตัวง่ายขึ้นด้วยครับ

      การนั่งสมาธินั้น ถ้าสติตามสมาธิไม่ทัน คือกำลังสติอ่อนกว่ากำลังสมาธิ จิตจะเบาๆ ลอยๆ แบบเบลอๆ เคลิ้มๆ ควบคุมไม่ได้ จะทำให้ถูกครอบงำได้ง่ายขึ้นนะครับ ถ้าเป็นอย่างนั้นต้องหายใจให้ลึกและทำความรู้สึกให้หนักแน่นขึ้น หรืออาจเดินจงกรมแทนนะครับ

      ทางแก้ที่สำคัญคือสติครับ สติเป็นทางมาแห่งกุศลทั้งปวง เป็นเครื่องป้องกันอกุศลทั้งปวงครับ

      ลบ