Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

อุปติสสะมาณพ

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้เป็นตัวอย่างการบรรลุธรรมของอุปติสสะมาณพ (พระสารีบุตร) ตอนบรรลุธรรมขั้นโสดาบันนะครับ

ย่อความจากพระไตรปิฎก พระวินัยปิฎก เล่ม 4 มหาวรรค ภาค 1 มหาขันธกะ


เรื่องพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะบรรพชา


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๔ หน้า : ๗๒ ข้อ : ๖๐)

[๖๔] ก็โดยสมัยนั้นแล สญชัยปริพาชก (เจ้าลัทธิๆ หนึ่ง - ธัมมโชติ) อาศัยอยู่ในพระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ จำนวน ๒๕๐ คน. ก็ครั้งนั้น อุปติสสะมาณพประพฤติพรหมจรรย์ อยู่ในสำนักสญชัยปริพาชก.

ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระอัสสชิ (หนึ่งในห้าปัญจวัคคีย์ - ธัมมโชติ) นุ่งอันตรวาสก (สบง, ผ้านุ่ง - ธัมมโชติ) แล้วถือบาตร จีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์ มีมรรยาทก้าวไป ถอยกลับ แลเหลียว คู้แขน เหยียดแขน น่าเลื่อมใส มีนัยน์ตาทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ.

อุปติสสะปริพาชกได้เห็นท่านพระอัสสชิ กำลังเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ มีมรรยาทก้าวไป ถอยกลับ แลเหลียว คู้แขน เหยียดแขน น่าเลื่อมใส มีนัยน์ตาทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ ครั้นแล้วได้มีความดำริว่า บรรดาพระอรหันต์ หรือท่านผู้ได้บรรลุพระอรหัตมรรคในโลก ภิกษุรูปนี้คงเป็นผู้ใดผู้หนึ่งแน่ ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาภิกษุรูปนี้ แล้วถามว่า ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร? แล้วได้ดำริต่อไปว่า ยังเป็นกาลไม่สมควรจะถามภิกษุรูปนี้ เพราะท่านกำลังเข้าละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาต ผิฉะนั้น เราพึงติดตามภิกษุรูปนี้ไปข้างหลังๆ เพราะเป็นทางอันผู้มุ่งประโยชน์ทั้งหลายจะต้องสนใจ.

ครั้งนั้น ท่านพระอัสสชิเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ ถือบิณฑบาตกลับไป. จึงอุปติสสะปริพาชกเข้าไปหาท่านพระอัสสชิ ถึงแล้วได้พูดปราศรัยกับท่านพระอัสสชิ ครั้นผ่านการพูดปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิง เป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. อุปติสสะปริพาชกยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคำนี้ กะท่านพระอัสสชิ

ว่า : อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร ขอรับ?

อ. มีอยู่ ท่านพระมหาสมณะศากยบุตร เสด็จออกทรงผนวชจากศากยตระกูล เราบวชเฉพาะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นศาสดาของเรา และเราชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น.

อุป. ก็พระศาสดาของท่านสอนอย่างไร แนะนำอย่างไร?

อ. เราเป็นคนใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ไม่อาจแสดงธรรมแก่ท่าน ได้กว้างขวาง แต่จักกล่าวใจความแก่ท่านโดยย่อ.

อุป. น้อยหรือมาก นิมนต์กล่าวเถิด ท่านจงกล่าวแต่ใจความแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการใจความอย่างเดียว ท่านจักทำพยัญชนะให้มากทำไม.

[๖๕] ลำดับนั้น ท่านพระอัสสชิได้กล่าวธรรมปริยายนี้แก่อุปติสสะปริพาชก ว่าดังนี้:-

ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้.

[๖๖] ครั้นได้ฟังธรรมปริยายนี้ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็นธรรมดา ได้เกิดขึ้นแก่ อุปติสสะปริพาชก (อุปติสสะปริพาชกบรรลุธรรมขั้นโสดาบัน - ธัมมโชติ) ธรรมนี้แหละถ้ามีก็เพียงนี้เท่านั้น ท่านทั้งหลายจงแทงตลอดบทอันหาความโศกมิได้ บทอันหาความโศกมิได้นี้ พวกเรายังไม่เห็น ล่วงเลยมาแล้วหลายหมื่นกัลป์. (1 กัลป์ = ระยะเวลาที่โลกเกิดขึ้นมาและถูกทำลายไป 1 รอบนะครับ - ธัมมโชติ)

>>>>> อุปติสสะปริพาชกนี้ ต่อมาได้บวชในพระพุทธศาสนา คนทั่วไปเรียกท่านว่าพระสารีบุตร (เพราะมารดาของท่านชื่อสารี) และได้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้านะครับ ได้รับการยกย่องว่าเป็นสาวกที่มีปัญญามากที่สุดครับ

วิเคราะห์

เนื่องจากอุปติสสะปริพาชกนั้นเป็นผู้มีปัญญามาก และได้สร้างสมบุญบารมีเพื่อการหลุดพ้นมาจนเต็มรอบแล้วนะครับ จิตใจท่านจึงน้อมไปเพื่อความหลุดพ้นอย่างเต็มที่แล้ว เมื่อท่านได้รับการสะกิดอีกเพียงนิดเดียวก็คลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไปได้ครับ ซึ่งธรรมที่พระอัสสชิแสดงนั้นได้กระตุ้นให้อุปติสสะปริพาชกเห็นแจ้งในความจริงของสิ่งทั้งหลายว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วในไม่ช้าก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา สิ่งต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นนั้นเป็นเพียงสภาวะที่เกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น อีกไม่นานก็จะเปลี่ยนแปรไป เหมือนฟองสบู่ที่เกิดขึ้นชั่วขณะแล้วก็แตกดับไป จิตของอุปติสสะปริพาชกจึงคลายความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไป กลายเป็นอริยบุคคลชั้นโสดาบันครับ.

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น