Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

ผลของการจับผิดและนินทาผู้อื่น

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้เป็นเรื่องผลของการจับผิดและนินทาผู้อื่นที่มีในอรรถกถาธรรมบทนะครับ

เนื้อหาประกอบด้วย


คนชอบจับผิดผู้อื่นไม่เจริญในธรรม


อรรถกถาธรรมบท : มลวรรควรรณนา

เรื่องพระอุชฌานสัญญีเถระ


(เนื้อเรื่องที่เป็นเรื่องราวรายละเอียดนี้นำมาจากคัมภีร์ชั้นอรรถกถาซึ่งขยายความพระไตรปิฎกอีกทีนะครับ ในพระไตรปิฎกจะมีเฉพาะข้อธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ตอนท้ายเรื่องเท่านั้น ซึ่งสามารถดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๑๑ ข้อ : ๒๕๓)

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเถระรูปหนึ่งชื่อ อุชฌานสัญญี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ปรวชฺชานุปสฺสิสฺส" เป็นต้น.

คุณวิเศษให้เกิดแก่ผู้เพ่งโทษผู้อื่น

(น่าจะเป็น "คุณวิเศษไม่เกิดแก่ผู้เพ่งโทษผู้อื่น " มากกว่านะครับ - ธัมมโชติ)

ได้ยินว่า พระเถระนั้นเที่ยวแส่หาแต่โทษของภิกษุทั้งหลายเท่านั้น ว่า " ภิกษุนี้ ย่อมนุ่งอย่างนี้, ภิกษุนี้ ย่อมห่มอย่างนี้." (คือคอยจับผิด และกล่าวติเตียนผู้อื่น - ธัมมโชติ) พวกภิกษุกราบทูลแด่พระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเถระชื่อโน้น ย่อมกระทำอย่างนี้."

พระศาสดาตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในข้อวัตร กล่าวสอนอยู่อย่างนี้ ใครๆ ไม่ควรติเตียน, (หมายถึงผู้ที่กล่าวสอนผู้อื่นด้วยความเมตตา เพื่อให้เขาปฏิบัติตนได้ถูกต้อง เหมาะสมนะครับ - ธัมมโชติ) ส่วนภิกษุใด แสวงหาโทษของชนเหล่าอื่น เพราะความมุ่งหมายในอันยกโทษ (คำว่า "ยกโทษ" ในสำนวนบาลี หมายถึงการกล่าวโทษ ไม่ได้หมายถึงการให้อภัยอย่างในสำนวนไทยนะครับ - ธัมมโชติ) กล่าวอย่างนี้แล้วเที่ยวไปอยู่, บรรดาคุณวิเศษมีฌานเป็นต้น คุณวิเศษแม้อย่างหนึ่ง ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น. อาสวะทั้งหลายเท่านั้นย่อมเจริญอย่างเดียว" (อาสวะ คือกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานนะครับ - ธัมมโชติ)

ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-

๑๑. ปรวชฺชานุปสฺสิสฺส
นิจฺจํ อุชฺฌานสญฺญิโน
อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติ
อารา โส อาสวกฺขยา.

"อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น
ผู้คอยดูโทษของบุคคลอื่น
ผู้มีความมุ่งหมายในอันยกโทษเป็นนิตย์,
บุคคลนั้นเป็นผู้ไกลจากความสิ้นไปแห่งอาสวะ."

วิเคราะห์เพิ่มเติม

ผู้ที่คอยจ้องจับผิดผู้อื่นนั้น จิตใจจะหยาบกระด้าง จึงเป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้าในธรรม เพราะผู้ที่มีความเจริญก้าวหน้าในธรรมนั้น จิตใจจะประณีต ละเอียดอ่อนขึ้นไปเรื่อยๆ ตามขั้นของความเจริญก้าวหน้านั้น


พระอรหันต์ยังถูกนินทา


อรรถกถาธรรมบท : โกธวรรควรรณนา

เรื่องอตุลอุบาสก


(เนื้อเรื่องที่เป็นเรื่องราวรายละเอียดนี้นำมาจากคัมภีร์ชั้นอรรถกถาซึ่งขยายความพระไตรปิฎกอีกทีนะครับ ในพระไตรปิฎกจะมีเฉพาะข้อธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ตอนท้ายเรื่องเท่านั้น ซึ่งสามารถดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๐๓ ข้อ : ๒๒๗)

อตุละโกรธพระเรวตะเพราะท่านไม่พูดด้วย

ความพิสดารว่า อตุละนั้นเป็นอุบาสกชาวกรุงสาวัตถี มีอุบาสกเป็นบริวาร ๕๐๐ คน วันหนึ่งพาพวกอุบาสกเหล่านั้นไปวิหาร เพื่อต้องการฟังธรรม ใคร่จะฟังธรรมในสำนักพระเรวตเถระ ไหว้พระเรวตเถระแล้วนั่ง.

ก็ท่านผู้มีอายุนั้นเป็นผู้ยินดีในการหลีกเร้น เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนราชสีห์, ฉะนั้น ท่านจึงไม่กล่าวอะไรกับอุบาสกนั้น เขาโกรธว่า "พระเถระนี้ไม่กล่าวอะไร" จึงลุกขึ้น

ไปยังสำนักพระสารีบุตรเถระ ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. เมื่อพระเถระกล่าวว่า "พวกท่านมาด้วยต้องการอะไร?" จึงกล่าวว่า "ท่านขอรับ ผมพาอุบาสกเหล่านี้เข้าไปหาพระเรวตเถระ เพื่อต้องการฟังธรรม, พระเถระไม่กล่าวอะไรแก่ผมนั้นเลย, ผมนั้นโกรธท่าน จึงมาที่นี้, ขอท่านจงแสดงธรรมแก่ผมเถิด."

ลำดับนั้น พระเถระกล่าวว่า "ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงนั่งเถิด อุบาสกทั้งหลาย" แล้วแสดงอภิธรรมกถาอย่างมากมาย.

อตุละโกรธคนผู้พูดมาก

อุบาสกโกรธว่า "ชื่อว่าอภิธรรมกถา ละเอียดยิ่งนัก สุขุมยิ่งนัก, พระเถระแสดงอภิธรรมอย่างเดียวมากมาย, พวกเราต้องการอะไรด้วยพระอภิธรรมนี้"

ดังนี้แล้ว ได้พาบริษัทไปยังสำนักพระอานนทเถระ; แม้เมื่อพระเถระกล่าวว่า "ทำไม? อุบาสก," จึงกล่าวว่า "ท่านขอรับ พวกผมเข้าไปหาพระเรวตเถระ เพื่อต้องการฟังธรรม, ไม่ได้แม้แต่การสนทนาและปราศรัยในสํานักของท่าน เลยโกรธ แล้วจึงมายังสำนักของพระสารีบุตรเถระ, แม้พระเถระนั้นก็แสดงอภิธรรมอย่างเดียวละเอียดนัก มากมายแก่พวกผม, พวกผมโกรธแม้ต่อพระเถระนั้นว่า พวกเราต้องการอะไรด้วยอภิธรรมนี้ แล้วจึงมาที่นี้; ขอท่านจงแสดงธรรมกถาแก่พวกผมเถิด ขอรับ."

พระเถระ. (จึงกล่าวว่า - ธัมมโชติ) ถ้าอย่างนั้น ขอพวกท่านจงนั่งฟังเถิด.

พระเถระแสดงธรรมแก่พวกเขาแต่น้อยๆ ทำให้เข้าใจง่าย.

อตุละโกรธคนผู้พูดน้อย

พวกเขาโกรธแม้ต่อพระเถระแล้ว ก็ไปยังสำนักพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะพวกเขาว่า "อุบาสกทั้งหลาย พวกท่านมาทำไมกัน."

พวกอุบาสก. เพื่อต้องการฟังธรรม พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. ก็พวกท่านฟังธรรมแล้วหรือ?

พวกอุบาสก. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เบื้องต้นพวกข้าพระองค์ เข้าไปหาพระเรวตเถระ, ท่านไม่กล่าวอะไรกับพวกข้าพระองค์, พวกข้าพระองค์โกรธท่านแล้ว จึงไปหาพระสารีบุตรเถระ, พระเถระนั้นแสดงอภิธรรมแก่พวกข้าพระองค์มากมาย, พวกข้าพระองค์กำหนดอภิธรรมนั้นไม่ได้ จึงโกรธ แล้วเข้าไปหาพระอานนทเถระ พระเถระนั้นแสดงธรรมแก่พวกข้าพระองค์น้อยนัก, พวกข้าพระองค์โกรธแม้ต่อท่าน แล้วมาในที่นี้.

การนินทาสรรเสริญเป็นของเก่า

พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของเขาแล้ว จึงตรัสว่า "อตุละ ข้อนั้นเขาเคยประพฤติกันมาตั้งแต่โบราณทีเดียว, ชนทั้งหลายติเตียนทั้งคนนิ่ง ทั้งคนพูดมาก ทั้งคนพูดน้อยทีเดียว, ด้วยว่าผู้อันเขาพึงติเตียนอย่างเดียวเท่านั้น หรือว่าผู้อันเขาพึงสรรเสริญอย่างเดียวไม่มีเลย; แม้พระราชาทั้งหลาย คนบางพวกก็นินทา บางพวกก็สรรเสริญ, แผ่นดินใหญ่ก็ดี, พระจันทร์และพระอาทิตย์ก็ดี, ธาตุมีอากาศเป็นต้นก็ดี, คนบางพวกนินทา บางพวกสรรเสริญ, แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประทับนั่งแสดงธรรมในท่ามกลางบริษัท ๔ บางพวกนินทา บางพวกสรรเสริญ; ก็การนินทาและสรรเสริญของพวกอันธพาลไม่เป็นประมาณ (คือเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ควรใส่ใจนะครับ - ธัมมโชติ); แต่ผู้ที่ถูกบัณฑิตผู้มีปัญญาติเตียน จึงชื่อว่าเป็นอันติเตียน ผู้อันบัณฑิตสรรเสริญแล้ว ชื่อว่าเป็นอันสรรเสริญ"

ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
โปราณเมตํ อตุล เนตํ อชฺชตนามิว
นินฺทนฺติ ตุณฺหิมาสีนํ นินฺทนฺติ พหุภาณินํ
มิตภาณิมฺปิ นินฺทนฺติ นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต
น จาหุ น จ ภวิสฺสติ น เจตรหิ วิชฺชติ
เอกนฺติ นินฺทิโต โปโส เอกนฺตํ วา ปสํสิโต
ยญฺเจ วิญฺญู ปสํสนฺติ อนุวิจฺจ สุเว สุเว
อจฺฉิทฺทวุตฺตึ เมธาวึ ปญฺญาสีลสมาหิ
เนกฺขํ ชมฺโพนทสฺเสว โก ตํ นินฺทิตุมรหติ
เทวาปิ นํ ปสํสนฺติ พฺรหฺมุนาปิ ปสํสิโต.

"อตุละ การนินทาและสรรเสริญนั่นเป็นของเก่า,
นั่นมิใช่เป็นเหมือนมีในวันนี้, ชนทั้งหลายย่อมนินทาผู้นั่งนิ่งบ้าง,
ย่อมนินทาผู้พูดมากบ้าง, ย่อมนินทาผู้พูดพอประมาณบ้าง.
ผู้ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก คนผู้ถูกนินทาโดยส่วนเดียว
หรือว่าอันเขาสรรเสริญโดยส่วนเดียวไม่ได้มีแล้ว จักไม่มี
และไม่มีอยู่ในบัดนี้;
หากว่าวิญญูชนใคร่ครวญแล้วทุกๆ วัน สรรเสริญผู้ใด
ซึ่งมีความประพฤติไม่ขาดสาย มีปัญญา ผู้ตั้งมั่นด้วยปัญญาและศีล,
ใครเล่าย่อมควรเพื่อติเตียนผู้นั้น ผู้เป็นดังแท่งทองชมพูนุท
แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายก็สรรเสริญเขา ถึงพรหมก็สรรเสริญแล้ว."

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

1 ความคิดเห็น :

  1. ขออนุโมทนาบุญในการสร้างเวบไซด์พระไตรปิฏกออนไลน์นี้นะคะ สาธุสาธุสาธุค่ะ


    ตอบลบ