Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๓-๑ หน้า ๑ - ๖๗

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๓-๑ วินัยปิฎกที่ ๐๓ ภิกขุนีวิภังค์



พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ

พระวินัยปิฎก
ภิกขุนีวิภังค์
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ปาราชิกกัณฑ์

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ (๑)
ว่าด้วยการยินดีการจับต้องที่บริเวณเหนือเข่าขึ้นไปของชาย

เรื่องภิกษุณีสุนทรีนันทา
[๖๕๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถปิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น นายสาฬหะหลานของนาง
วิสาขา มิคารมาตา๒ประสงค์จะสร้างวิหารถวายภิกษุณีสงฆ์ นายสาฬหะหลานของ
นางวิสาขามิคารมาตาจึงเข้าไปแจ้งความประสงค์แก่ภิกษุณีว่า “กระผมต้องการจะ
สร้างวิหารถวายภิกษุณีสงฆ์ ท่านทั้งหลายโปรดให้ภิกษุณีผู้ดูแลการก่อสร้างสัก ๑
รูปเถิด ขอรับ”

เชิงอรรถ :
๑ ถ้านับรวมกับสาธารณบัญญัติ คือที่ภิกษุต้องรักษาด้วย สิกขาบทนี้จัดเป็นสิกขาบทที่ ๕
๒ คำว่า “มิคารนตฺตา” แปลได้ ๒ นัย ในที่นี้ แปลว่า หลานของนางวิสาขามิคารมาตา ตาม
อธิบาย (วิ.อ. ๒/๖๕๖/๔๖๒, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๖๕๖/๑๓๗) ส่วนในพระสุตตันตปิฎก แปลว่า หลาน
ของมิคารเศรษฐี (องฺ.ติก. ๒๐/๖๗/๑๘๙) ตามอธิบาย (องฺ.ติก.อ. ๒/๖๗/๒๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
สมัยนั้น มีหญิงสาว ๔ คนพี่น้องบวชอยู่ในสำนักภิกษุณี คือนันทา นันทวดี
สุนทรีนันทา ถุลลนันทา ในจำนวน ๔ รูปนี้ ภิกษุณีสุนทรีนันทาบวชตั้งแต่วัยสาว
มีรูปงามน่าดู น่าชม เป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาด มีปัญญา ขยัน ไม่เกียจคร้าน
ประกอบด้วยปัญญาไตร่ตรองในงานนั้น ๆ สามารถกระทำ สามารถจัดแจงได้
ภิกษุณีสงฆ์จึงแต่งตั้งภิกษุณีสุนทรีนันทาให้เป็นผู้ดูแลการก่อสร้างของนายสาฬหะ
หลานของนางวิสาขามิคารมาตา
ครั้งนั้น ภิกษุณีสุนทรีนันทานั้นไปบ้านนายสาฬหะหลานของนางวิสาขามิคาร
มาตาเนือง ๆ บอกว่า “ท่านจงให้มีด จงให้ขวาน จงให้ผึ่ง จงให้จอบ จงให้สิ่ว” ฝ่าย
นายสาฬหะหลานของนางวิสาขามิคารมาตาก็หมั่นไปสำนักภิกษุณีอยู่เนือง ๆ เพื่อให้
รู้งานที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ คนทั้งสองนั้นมีจิตรักใคร่ต่อกันเพราะพบเห็นกันเนืองๆ
นายสาฬหะหลานของนางวิสาขามิคารมาตาเมื่อไม่ได้โอกาสที่จะทำมิดีมิร้าย
ภิกษุณีสุนทรีนันทา จึงได้จัดเตรียมภัตตาหารสำหรับถวายภิกษุณีสงฆ์เพื่อหาทางที่
จะประทุษร้ายนางนั้น เมื่อจะปูอาสนะในโรงฉัน ปูอาสนะไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่งด้วย
คิดว่า “ภิกษุณีจำนวนเท่านี้มีพรรษาแก่กว่าแม่เจ้าสุนทรีนันทา” ปูอาสนะไว้ ณ
ส่วนข้างหนึ่งด้วยคิดว่า “ภิกษุณีจำนวนเท่านี้มีพรรษาอ่อนกว่า” ปูอาสนะไว้สำหรับ
ภิกษุณีสุนทรีนันทา ณ ส่วนข้างหนึ่ง ในที่มิดชิด มีที่กำบัง เพื่อให้ภิกษุณีผู้เป็นเถระ
เข้าใจว่า “ภิกษุณีสุนทรีนันทานั่งอยู่กับพวกภิกษุณีนวกะ” แม้ภิกษุณีนวกะก็จะ
เข้าใจไปว่า “ภิกษุณีสุนทรีนันทานั่งอยู่กับพวกภิกษุณีผู้เป็นเถระ” ครั้นแล้วนาย
สาฬหะหลานของนางวิสาขามิคารมาตาจึงให้คนไปเรียนภิกษุณีสงฆ์ว่า “แม่เจ้า ได้
เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
ภิกษุณีสุนทรีนันทาสังเกตรู้ว่า “นายสาฬหะหลานของนางวิสาขามิคารมาตา
เตรียมการไว้มาก มิใช่เพียงจัดภัตตาหารถวายภิกษุณีสงฆ์เท่านั้น แต่ประสงค์ที่จะ
ทำมิดี มิร้ายเรา ถ้าเราไปก็ต้องมีเรื่องอื้อฉาวแน่” จึงสั่งภิกษุณีอันเตวาสินีไปว่า
“เธอจงไปนำบิณฑบาตมาให้เรา ถ้ามีผู้ถามถึงเรา จงตอบว่าเราเป็นไข้”
ภิกษุณีนั้นปฏิบัติตามคำสั่งของภิกษุณีสุนทรีนันทา
เวลานั้น นายสาฬหะหลานของนางวิสาขามิคารมาตายืนคอยที่ซุ้มประตูด้าน
นอก ถามถึงภิกษุณีสุนทรีนันทาว่า “แม่เจ้าสุนทรีนันทาไปไหน ขอรับ แม่เจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
สุนทรีนันทาไปไหน ขอรับ” เมื่อนายสาฬหะหลานของนางวิสาขามิคารมาตากล่าว
อย่างนั้น ภิกษุณีอันเตวาสินีของภิกษุณีสุนทรีนันทาได้กล่าวกับนายสาฬหะหลาน
ของนางวิสาขามิคารมาตาดังนี้ว่า “ท่าน ภิกษุณีสุนทรีนันทาเป็นไข้ ดิฉันจักรับ
บิณฑบาตไปถวาย”
ลำดับนั้น นายสาฬหะหลานของนางวิสาขามิคารมาตาคิดว่า “การที่เรา
เตรียมอาหารถวายภิกษุณีสงฆ์ ก็เพราะแม่เจ้าสุนทรีนันทา” จึงสั่งให้เลี้ยงดูภิกษุณี
สงฆ์แล้วเข้าไปทางสำนักภิกษุณี
สมัยนั้นแล ภิกษุณีสุนทรีนันทายืนคอยนายสาฬหะหลานของนางวิสาขามิคาร
มาตาอยู่นอกซุ้มประตูวัด พอเห็นเขาเดินมาแต่ไกลจึงหลบเข้าที่อยู่นอนคลุมโปงอยู่
บนเตียง
ลำดับนั้น นายสาฬหะเข้าไปหาภิกษุณีสุนทรีนันทาถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้ว ถาม
ภิกษุณีสุนทรีนันทาดังนี้ว่า “ท่านไม่สบายหรือ ทำไมจึงนอนอยู่ ขอรับ”
ภิกษุณีสุนทรีนันทากล่าวว่า “นาย สตรีผู้ปรารถนาคนที่ไม่ปรารถนาตอบ
ก็มีอาการเช่นนี้แหละ”
เขากล่าวว่า “แม่เจ้า ทำไม กระผมจะไม่ปรารถนาท่าน แต่หาโอกาสที่จะ
ทำมิดีมิร้ายท่านไม่ได้” มีความกำหนัด ถูกต้องกายภิกษุณีสุนทรีนันทาซึ่งมีความ
กำหนัด
คราวนั้น ภิกษุณีชรามีเท้าเจ็บรูปหนึ่งนอนอยู่ไม่ไกลจากที่ของภิกษุณีสุนทรีนันทา
นั้น เห็นนายสาฬหะหลานของนางวิสาขามิคารมาตาผู้กำหนัดกำลังถูกต้องกาย
กับภิกษุณีสุนทรีนันทาผู้กำหนัด จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้า
สุนทรีนันทาผู้กำหนัดจึงยินดีการถูกต้องกายกับชายผู้กำหนัดเล่า” บอกเรื่องนั้นแก่
ภิกษุณีทั้งหลาย บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความระมัดระวัง
ใฝ่การศึกษา พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าสุนทรีนันทาผู้
กำหนัดจึงยินดีการถูกต้องกายกับชายผู้กำหนัดเล่า” จากนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นจึงนำ
เรื่องไปบอกภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
ระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา ก็ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าสุนทรี
นันทาผู้กำหนัดจึงยินดีการถูกต้องกายกับชายผู้กำหนัดเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิ
ภิกษุณีสุนทรีนันทาโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีสุนทรีนันทากำหนัด
ยินดีการถูกต้องกายกับชายผู้กำหนัดจริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระ
พุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
ของภิกษุณีสุนทรีนันทาไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ
ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนภิกษุณีสุนทรีนันทาผู้กำหนัดจึงยินดีการถูกต้องกายกับชาย
ผู้กำหนัดเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริงกลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใส
ก็ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป”
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงตำหนิภิกษุณีสุนทรีนันทาโดยประการต่าง ๆ แล้ว
ได้ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก มักมาก ไม่สันโดษ ความคลุกคลี
ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย บำรุงง่าย มักน้อย สันโดษ
ความขัดเกลา ความกำจัดกิเลส อาการน่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความ
เพียรโดยประการต่าง ๆ ทรงแสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลายให้เหมาะสมให้คล้อย
ตามกับเรื่องนั้น แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจะ
บัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุณีทั้งหลาย โดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
๑. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
๓. เพื่อข่มภิกษุณีผู้เก้อยาก
๔. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุณีผู้มีศีลดีงาม
๕. เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์
๖. เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต
๗. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของคนที่เลื่อมใสแล้ว
๙. เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม
๑๐. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๖๕๗] ก็ภิกษุณีใดกำหนัดยินดีการจับต้อง การลูบคลำ การจับ การต้อง
หรือการบีบของชายผู้กำหนัดบริเวณใต้รากขวัญ๑ลงมาเหนือเข่าขึ้นไป แม้ภิกษุณี
นี้เป็นปาราชิกที่ชื่อว่าอุพภชาณุมัณฑลิกา๒ หาสังวาสมิได้
เรื่องภิกษุณีสุนทรีนันทา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๖๕๘] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด มีการงาน มีชาติวรรณะ มีชื่อ
มีตระกูล มีลักษณะนิสัย มีคุณธรรม มีอารมณ์อย่างไร เป็นเถระ นวกะ หรือ
มัชฌิมะ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็...ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ชื่อว่าภิกษุณี
เพราะอาศัยการเที่ยวขอ ชื่อว่าภิกษุณี เพราะใช้ผืนผ้าที่ถูกทำให้เสียราคา ชื่อว่า
ภิกษุณี เพราะเรียกกันโดยโวหาร ชื่อว่าภิกษุณี เพราะการปฏิญญาตน ชื่อว่าภิกษุณี
เพราะพระพุทธเจ้าทรงบวชให้ ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้อุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์

เชิงอรรถ :
๑ ใต้รากขวัญ คือใต้ส่วนของร่างกายที่เรียกว่า ไหปลาร้า
๒ คำว่า “อุพภชาณุมัณฑลิกา” แปลว่า บริเวณเหนือเข่า แม้บริเวณเหนือข้อศอกก็รวมอยู่กับบริเวณเหนือ
เข่า คำนี้เป็นชื่อเรียกภิกษุณีผู้ต้องอาบัติปาราชิกสิกขาบทนี้ (วิ.อ. ๒/๖๕๗-๘/๔๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์
ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้เจริญ ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้มีสาระ ชื่อว่าภิกษุณี
เพราะเป็นผู้ยังต้องศึกษา ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ไม่ต้องศึกษา ชื่อว่าภิกษุณี
เพราะเป็นผู้ที่สงฆ์ ๒ ฝ่ายพร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมที่ถูกต้อง
สมควรแก่เหตุ ในภิกษุณีที่กล่าวมานั้น ภิกษุณีที่สงฆ์ ๒ ฝ่ายพร้อมเพรียงกัน
อุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมที่ถูกต้องสมควรแก่เหตุนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรง
ประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า กำหนัด ได้แก่ ภิกษุณีมีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
ที่ชื่อว่า ผู้กำหนัด ได้แก่ ชายมีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
ที่ชื่อว่า ชาย ได้แก่ มนุษย์ผู้ชาย ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่เปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ แต่เป็นชายที่รู้เดียงสา สามารถถูกต้องกายได้
คำว่า ใต้รากขวัญลงมา ได้แก่ ภายใต้รากขวัญลงมา
คำว่า เหนือเข่าขึ้นไป ได้แก่ บริเวณเข่าส่วนบนขึ้นไป
ที่ชื่อว่า จับต้อง ได้แก่ กิริยาเพียงแต่ลูบคลำ
ที่ชื่อว่า ลูบคลำ ได้แก่ ลูบคลำไปทางโน้นทางนี้
ที่ชื่อว่า จับ ได้แก่ ลักษณะเพียงแต่จับ
ที่ชื่อว่า ต้อง ได้แก่ ลักษณะเพียงสัมผัส
คำว่า ยินดี ... หรือการบีบ ได้แก่ ยินดีที่จะให้จับอวัยวะแล้วบีบ
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ๑
คำว่า เป็นปาราชิก อธิบายว่า ภิกษุณีกำหนัดยินดีการจับต้อง การลูบคลำ
การจับ การต้อง หรือการบีบของชายผู้กำหนัดบริเวณใต้รากขวัญลงมาเหนือเข่าขึ้น
ไป ย่อมไม่เป็นสมณะหญิง ไม่เป็นเชื้อสายศากยธิดา เปรียบเหมือนคนถูกตัดศีรษะ
ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้โดยการต่อศีรษะเข้ากับร่างกายนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า เป็นปาราชิก

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงภิกษุณีผู้ต้องอาบัติปาราชิก ๔ สิกขาบท อันเป็นความผิดเช่นเดียวกับปาราชิก ๔ สิกขาบท
ของภิกษุสงฆ์ (ดู พระวินัยปิฎกแปล ๑/๓๙/๒๙,๔๒/๓๑,๔๔/๓๒,๘๙/๗๘-๗๙,๙๑/๘๐,๑๖๗/๑๓๙,
๑๗๑/๑๔๐-๑๔๑,๑๙๖/๑๘๒,๑๙๗/๑๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์
คำว่า หาสังวาสมิได้ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าสังวาส ได้แก่ กรรมที่ทำร่วมกัน
อุทเทสที่สวดร่วมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่าสังวาส สังวาสนั้นไม่มีกับ
ภิกษุณีรูปนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้
บทภาชนีย์
[๖๕๙] ทั้งสองฝ่ายมีความกำหนัด ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้กายจับต้องกายบริเวณ
ใต้รากขวัญลงมาเหนือเข่าขึ้นไป ภิกษุณีต้องอาบัติปาราชิก๑ ใช้กายจับต้องของที่
เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติถุลลัจจัย ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องกาย ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ใช้ของโยนไปถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่เนื่อง
ด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ
ใช้กายถูกต้องกายบริเวณเหนือรากขวัญขึ้นไปใต้เข่าลงมา ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ใช้กายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้อง
กาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ใช้ของโยนไปถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่เนื่อง
ด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ
[๖๖๐] ฝ่ายหนึ่งมีความกำหนัด ใช้กายจับต้องกาย บริเวณใต้รากขวัญลง
มาเหนือเข่าขึ้นไป ต้องอาบัติถุลลัจจัย ใช้กายจับต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้อง
อาบัติทุกกฏ ใช้ของเนื่องด้วยกายถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่อง
ด้วยกายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องกาย
ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้
ของโยนไปถูกต้องของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ

เชิงอรรถ :
๑ เมื่อภิกษุณีและชายมีความกำหนัดในอันจะถูกต้องกายกัน ภิกษุณีใช้กายตามที่กำหนดถูกต้องกายส่วนใด
ส่วนหนึ่งของชายหรือชายใช้กายส่วนใดส่วนหนึ่ง ถูกต้องกายตามที่กำหนดของภิกษุณีด้วยอาการทั้ง ๒
นั้น ภิกษุณีต้องอาบัติปาราชิก (วิ.อ. ๒/๖๕๙/๔๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๗ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์
ใช้กายจับต้องกายบริเวณเหนือรากขวัญขึ้นไปใต้เข่าลงมา ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้
กายจับต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องกาย
ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ใช้ของโยนไปถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่เนื่อง
ด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ
[๖๖๑] ทั้งสองฝ่ายมีความกำหนัด ใช้กายถูกต้องกายของยักษ์ เปรต
บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉานที่แปลงกายเป็นมนุษย์ บริเวณใต้รากขวัญลงมาเหนือ
เข่าขึ้นไป ต้องอาบัติถุลลัจจัย ใช้กายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้อง
ของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ใช้ของโยนไปถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่เนื่อง
ด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ
ใช้กายถูกต้องกายบริเวณเหนือรากขวัญขึ้นไปใต้เข่าลงมา ต้องอาบัติทุกกฏ
ใช้กายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้อง
กาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ใช้ของโยนไปถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่เนื่อง
ด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ
[๖๖๒] ฝ่ายหนึ่งมีความกำหนัด ใช้กายจับต้องกาย บริเวณใต้รากขวัญลง
มาเหนือเข่าขึ้นไป ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้กายจับต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วย
กายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ใช้ของโยนไปถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่เนื่อง
ด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๘ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
ใช้กายจับต้องกายบริเวณเหนือรากขวัญขึ้นไปใต้เข่าลงมา ต้องอาบัติทุกกฏ
ใช้กายจับของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องกาย
ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ใช้ของโยนไปถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่เนื่อง
ด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๖๖๓] ๑. ภิกษุณีไม่จงใจ
๒. ภิกษุณีไม่มีสติ
๓. ภิกษุณีผู้ไม่รู้
๔. ภิกษุณีผู้ไม่ยินดี
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีจิตฟุ้งซ่าน
๗. ภิกษุณีกระสับกระส่ายเพราะเวทนา
๘. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๙ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ นิทานวัตถุ
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒
ว่าด้วยการปกปิดโทษ
เรื่องภิกษุณีสุนทรีนันทา
[๖๖๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีสุนทรีนันทามีครรภ์กับ
นายสาฬหะหลานของนางวิสาขามิคารมาตา แต่ปกปิดเรื่องไว้ในขณะที่ครรภ์ยัง
อ่อน ๆ เมื่อครรภ์แก่จึงสึกไปคลอดบุตร
ภิกษุณีทั้งหลายได้กล่าวกับภิกษุณีถุลลนันทาดังนี้ว่า “แม่เจ้า สุนทรีนันทาสึก
ไปไม่นานก็คลอดบุตร เธอคงจะมีครรภ์ขณะเป็นภิกษุณีกระมัง” ภิกษุณีถุลลนันทา
จึงยอมรับ ภิกษุณีทั้งหลายกล่าวว่า “แม่เจ้า เธอรู้ว่าภิกษุณีต้องอาบัติปาราชิก
เหตุใดจึงไม่โจทเอง ไม่บอกแก่คณะเล่า”
ภิกษุณีถุลลนันทาตอบว่า “แม่เจ้า ความเสียหายของภิกษุณีสุนทรีนันทานี้
ก็คือความเสียหายของดิฉันนั่นแหละ ความเสื่อมเกียรติของภิกษุณีสุนทรีนันทา นี้ก็
คือความเสื่อมเกียรติของดิฉันนั่นแหละ ความอัปยศของภิกษุณีสุนทรีนันทา นี้ก็คือ
ความอัปยศของดิฉันนั่นแหละ ความเสื่อมลาภของภิกษุณีสุนทรีนันทา นี้ก็คือ
ความเสื่อมลาภของดิฉันนั่นแหละ ดิฉันจะบอกความเสียหายของตน ความเสื่อม
เกียรติของตน ความอัปยศของตน ความเสื่อมลาภของตนแก่คนอื่นได้อย่างไร”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทารู้อยู่จึงไม่ทักท้วงภิกษุณีผู้ต้องธรรมคือปาราชิกด้วยตนเอง ไม่บอก
แก่คณะเล่า” ครั้นแล้วภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทารู้อยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๐ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ สิกขาบทวิภังค์
ไม่ทักท้วงภิกษุณีผู้ต้องธรรมคือปาราชิกด้วยตนเอง ไม่บอกแก่คณะ จริงหรือ” ภิกษุ
ทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทารู้อยู่จึงไม่ทักท้วงภิกษุณีผู้ต้องธรรมคือ
ปาราชิกด้วยตนเอง ไม่บอกแก่คณะเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้
ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๖๖๕] ก็ภิกษุณีใดรู้อยู่ไม่ทักท้วงภิกษุณีผู้ต้องธรรมคือปาราชิกด้วยตนเอง
ไม่บอกแก่คณะ ก็ในกาลใดภิกษุณีนั้นยังครองเพศอยู่ก็ดี เคลื่อนไปก็ดี ถูก
นาสนะก็ดี ไปเข้ารีตก็ดี ภายหลังภิกษุณีผู้รู้เรื่องนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า
เมื่อก่อนดิฉันรู้จักภิกษุณีนี้ดีว่า ‘นางมีความประพฤติอย่างนี้ ๆ แต่ดิฉันไม่ได้
โจทด้วยตนเอง ไม่ได้บอกแก่คณะ’ แม้ภิกษุณีนี้เป็นปาราชิกที่ชื่อว่าวัชช-
ปฏิจฉาทิกา๑ หาสังวาสมิได้
เรื่องภิกษุณีสุนทรีนันทา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๖๖๖] คำว่า ก็ ... ใด คือผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “วัชชปฏิจฉาทิกา” แปลว่า ปกปิดโทษ, ปกปิดความผิด เป็นชื่อเรียกภิกษุณีผู้ต้องอาบัติปาราชิก
สิกขาบทนี้ (วิ.อ. ๒/๖๖๕/๔๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๑ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ สิกขาบทวิภังค์
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ ภิกษุณีนั้นรู้เอง คนเหล่าอื่นบอกเธอ หรือภิกษุณีที่ต้อง
อาบัตินั้นบอก
คำว่า ต้องธรรมคือปาราชิก คือ ต้องอาบัติปาราชิก ๘ ข้อใดข้อหนึ่ง
คำว่า ไม่โจทด้วยตนเอง คือ ไม่ทักท้วงเอง
คำว่า ไม่บอกแก่คณะ หมายถึง ไม่บอกภิกษุณีอื่น ๆ
คำว่า ก็ในกาลใดภิกษุณีนั้นยังครองเพศอยู่ก็ดี เคลื่อนไปก็ดี เป็นต้น
อธิบายว่า ที่ชื่อว่า ครองเพศอยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงภิกษุณีผู้ดำรงอยู่
ในเพศของตน ที่ชื่อว่า เคลื่อนไป ตรัสหมายถึงภิกษุณีผู้มรณภาพ ที่ชื่อว่า ถูก
นาสนะ ตรัสหมายถึงภิกษุณีผู้สึกเองหรือถูกผู้อื่นให้สึก ที่ชื่อว่า เข้ารีต ตรัสหมาย
ถึงภิกษุณีผู้เข้ารีตเดียรถีย์ ภายหลังภิกษุณีผู้รู้เรื่องนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า
เมื่อก่อนดิฉันรู้จักภิกษุณีนี้ดีว่า ‘นางมีความประพฤติอย่างนี้ ๆ”
คำว่า แต่ดิฉันไม่ได้โจทด้วยตนเอง คือ แต่ดิฉันไม่ได้ทักท้วงด้วยตนเอง
คำว่า ไม่ได้บอกแก่คณะ คือ ดิฉันไม่บอกภิกษุณีเหล่าอื่น
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า เป็นปาราชิก อธิบายว่า ภิกษุณีรู้อยู่ว่าพอทอดธุระว่า “เราจะไม่ทักท้วง
ภิกษุณีผู้ต้องธรรมคือปาราชิกต้วยตนเอง จะไม่บอกแก่หมู่คณะ” เธอย่อมไม่เป็น
สมณะหญิง ไม่เป็นเชื้อสายศากยธิดา เปรียบเหมือนใบไม้เหี่ยวเหลืองหลุดจากขั้ว
แล้วไม่อาจเป็นของเขียวสดต่อไปได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เป็น
ปาราชิก
คำว่า หาสังวาสมิได้ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าสังวาส ได้แก่ กรรมที่ทำร่วมกัน
อุทเทสที่สวดร่วมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่าสังวาส สังวาสนั้นไม่มีกับ
ภิกษุณีรูปนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๒ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๖๖๗] ๑. ภิกษุณีไม่บอกด้วยคิดว่า “สงฆ์จักบาดหมาง ทะเลาะ ข้ดแย้ง
หรือวิวาทกัน”
๒. ภิกษุณีไม่บอกด้วยคิดว่า “สงฆ์จักแตกแยก จักร้าวราน”
๓. ภิกษุณีไม่บอกด้วยคิดว่า “ภิกษุณีนี้เป็นคนหยาบช้า ดุร้าย จัก
ทำอันตรายแก่ชีวิตหรืออันตรายแก่พรหมจรรย์ได้”
๔. ภิกษุณีไม่บอกเพราะไม่พบภิกษุณีอื่น ๆ ที่สมควร
๕. ภิกษุณีไม่ประสงค์จะปกปิดแต่ยังไม่ได้บอกใคร
๖. ภิกษุณีไม่บอกด้วยคิดว่า “ผู้นั้นจักเปิดเผยเพราะกรรมของตนเอง”
๗. ภิกษุณีวิกลจริต
๘. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๓ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ นิทานวัตถุ
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓
ว่าด้วยการประพฤติตามภิกษุที่ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๖๖๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาประพฤติตาม
พระอริฏฐะ๑ผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรม
แล้ว บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงประพฤติตามพระอริฏฐะผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งที่
สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้
ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาประพฤติตาม
ภิกษุชื่ออริฏฐะผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนีย
กรรมจริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงประพฤติตามภิกษุชื่อ
อริฏฐะผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมเล่า
ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใสหรือทำคน
ที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ประพฤิตามพระอริฏฐะ” ในที่นี้หมายถึงประพฤติในทำนองเดียวกัน ประพฤติเลียนแบบ คือ
พระอริฏฐะมีทิฏฐิบาปเกิดขึ้นในใจว่า “ตัวเองรู้ธรรมถึงขนาดที่ว่า ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เป็นธรรมทำอันตรายก็หาสามารถทำอันตรายได้จริงไม่...” ภิกษุณีถุลลนันทาก็มีทิฏฐิเช่นนั้นเหมือนกัน (ดู
วินัยปิฎกแปล เล่ม ๒/๔๑๗/๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๔ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๖๖๙] ก็ภิกษุณีใดประพฤติตามภิกษุผู้ถูกสงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนีย
กรรมโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์นั้น ผู้ไม่เอื้อเฟื้อ สงฆ์ยังไม่รับรอง
ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย๑ ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลาย
พึงว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ภิกษุนั่นถูกสงฆ์พร้อมเพรียงกันลง
อุกเขปนียกรรมโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์๒ เป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อ สงฆ์ยัง
ไม่รับรอง ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย แม่เจ้าอย่าประพฤติ
ตามภิกษุนั่น” ภิกษุณีนั้นผู้อันภิกษุณีทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่
อย่างนั้น ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์จนครบ ๓ ครั้งเพื่อให้
สละเรื่องนั้น ถ้านางกำลังถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบ ๓ ครั้งสละเรื่องนั้นได้
นั่นเป็นการดี ถ้านางไม่สละ แม้ภิกษุณีนี้ก็เป็นปาราชิกชื่ออุกขิตตานุวัตติกา๓
หาสังวาสมิได้
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๖๗๐] คำว่า ก็ ... ใด คือผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้

เชิงอรรถ :
๑ สมานสํวาสกา ภิกฺขู สหายา นาม, ยสฺส ปน โส สํวาโส เตหิ สทฺธึ นตฺถิ น เตน เต สหายา
กตา โหนฺติ, อิติ โส อกตสหาโย นาม. ภิกษุทั้งหลายผู้มีสังวาสเสมอกันชื่อว่า สหาย ก็ภิกษุใดไม่มี
สังวาสนั้นกับสหายเหล่านั้น (และ)ภิกษุนั้นไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันนั้นให้เป็นสหายของตน
เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่า ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย (กงฺขา.อ. ๓๔๔)
๒ “โดยธรรม” คือเรื่องจริง,โดยเรื่องที่เป็นจริง “โดยวินัย” คือโจทแล้วให้จำเลยให้การ “โดยสัตถุศาสน์” คือ
ด้วยความถึงพร้อมแห่งญัตติและอนุสาวนาหรือโดยศาสนาของพระพุทธเจ้า (วิ.อ. ๒/๖๖๙-๖๗๐/๔๖๖)
๓ คำว่า “อุกขิตตานุวัตติกา” แปลว่า ประพฤติตามผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร ถูกสงฆ์ลงโทษโดยการไล่ออกจากหมู่
หมายถึงถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมนั่นเอง คำนี้เป็นชื่อเรียกภิกษุณีผู้ต้องอาบัติปาราชิกสิกขาบทนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ สิกขาบทวิภังค์
สงฆ์ที่ชื่อว่า พร้อมเพรียงกัน คือ มีสังวาสเสมอกัน อยู่ในสมานสังวาสสีมา
ที่ชื่อว่า ถูก ... ลงอุกเขปนียกรรม คือ ถูกลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็น
เพราะไม่ทำคืน หรือเพราะไม่สละคืนอาบัติ
คำว่า โดยธรรม โดยวินัย คือ โดยธรรมใด โดยวินัยใด
คำว่า โดยสัตถุศาสน์ คือ โดยคำสั่งสอนของพระชินเจ้า โดยคำสั่งสอนของ
พระพุทธเจ้า
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่เอื้อเฟื้อ คือ ไม่ยอมรับสงฆ์ คณะ บุคคล หรือกรรม
ที่ชื่อว่า สงฆ์ยังไม่รับรอง คือ ถูกสงฆ์ขับไล่แล้วยังไม่เรียกกลับเข้าหมู่
ที่ชื่อว่า ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย คือ ภิกษุทั้งหลาย
ผู้มีสังวาสเสมอกัน๑ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ผู้เป็นสหาย ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลง
อุกเขปนียกรรม ไม่มีสังวาสนั้นกับภิกษุเหล่านั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า “ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย”
คำว่า ประพฤติตามภิกษุ ... นั้น ความว่า ภิกษุนั้นมีความเห็นเช่นใด มี
ความชอบใจเช่นใด มีความพอใจเช่นใด แม้ภิกษุณีนั้นก็เป็นผู้มีความเห็นเช่นนั้น
มีความชอบใจเช่นนั้น มีความพอใจเช่นนั้น
คำว่า ภิกษุณีนั้น ได้แก่ ภิกษุณีผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม
คำว่า อันภิกษุณีทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุณีเหล่าอื่น
ภิกษุณีทั้งหลายที่ได้เห็นได้ยินพึงว่ากล่าวตักเตือนเธอว่า “แม่เจ้า ภิกษุนั่นถูก
สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ เป็นผู้
ไม่เอื้อเฟื้อ สงฆ์ยังไม่รับรอง ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย แม่เจ้า
อย่าประพฤติตามภิกษุนั่น” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒ พึงว่ากล่าวตักเตือน
เธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าเธอไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณี

เชิงอรรถ :
๑ มีสังวาสเสมอกัน คือมีกรรมที่ทำร่วมกันมีอุทเทสที่สวดร่วมกันและมีสิกขาเสมอกัน (ดู ข้อ ๖๕๘,๖๖๖,
๖๗๑ และข้อ ๖๗๖ หน้า ๗,๑๒,๑๘,๒๓, วิ.อ. ๒/๖๖๙-๖๗๐/๔๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ สิกขาบทวิภังค์
ทั้งหลายได้ยินไม่ว่ากล่าวตักเตือน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลาย
พึงคุมตัวมาสู่ท่ามกลางสงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนว่า “แม่เจ้า ภิกษุนั่นถูกสงฆ์พร้อม
เพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ เป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อ
สงฆ์ยังไม่รับรอง ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย แม่เจ้าอย่า
ประพฤติตามภิกษุนั่น” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒ พึงว่ากล่าวตักเตือน
เธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าเธอไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีสงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์
วิธีสวดสมนุภาสน์และกรรมวาจาสวดสมนุภาสน์
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีสงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีนั้นอย่างนี้ คือ ภิกษุณี
ผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
[๖๗๑] “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกสงฆ์
พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ เป็นผู้ไม่
่เอื้อเฟื้อ สงฆ์ยังไม่รับรอง ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย เธอไม่
สละเรื่องนั้น ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น
นี่เป็นญัตติ๑
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีนี้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกสงฆ์พร้อมเพรียง
กันลงอุกเขปนียกรรมโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ เป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อ สงฆ์ยัง
ไม่รับรอง ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย เธอไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์
สวดสมนุภาสน์ภิกษุชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น แม่เจ้ารูปใดเห็นด้วยกับการสวด
สมณุภาสน์ภิกษุณีนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น แม่เจ้ารูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย
แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าขอกล่าวความนี้ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าขอกล่าว
ความนี้ ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ ญัตติ คือ การประกาศให้สงฆ์ทราบเพื่อทำกิจร่วมกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๗ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ บทภาชนีย์
ภิกษุณีชื่อนี้สงฆ์สวดสมนุภาสน์เพื่อให้สละเรื่องนั้นแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้"
จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย จบ
กรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติปาราชิก
คำว่า ภิกษุณีแม้นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า เป็นปาราชิก อธิบายว่า ภิกษุณีถูกสงฆ์สวดสมนุภาสน์จนครบ ๓
ครั้งก็ยังไม่ยอมสละ เธอย่อมไม่เป็นสมณะหญิง ไม่เป็นเชื้อสายศากยธิดา เปรียบ
เหมือนแผ่นศิลาหนาแตกออกเป็น ๒ เสี่ยงจะประสานให้สนิทเป็นเนื้อเดียวกันอีก
ไม่ได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก
คำว่า หาสังวาสมิได้ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าสังวาส ได้แก่ กรรมที่ทำร่วมกัน
อุทเทสที่สวดร่วมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่าสังวาส สังวาสนั้นไม่มีกับ
ภิกษุณีรูปนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้
บทภาชนีย์
ติกปาราชิก
[๖๗๒] กรรมที่ทำถูกต้อง๑ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ไม่สละ
ต้องอาบัติปาราชิก
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ไม่สละ ต้องอาบัติปาราชิก
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ไม่สละ ต้อง
อาบัติปาราชิก

เชิงอรรถ :
๑ “กรรมที่ทำถูกต้อง” ในที่นี้หมายถึงอุกเขปนียกรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๘ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ อนาปัตติวาร
ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติปาราชิก คือ
[๖๗๓] ๑. ภิกษุณียังไม่ถูกสวดสมนุภาสน์
๒. ภิกษุณียอมสละ
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๙ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ นิทานวัตถุ
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๔
ว่าด้วยวัตถุ ๘ มีการยินดีการจับมือของชายเป็นต้น
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๖๗๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์กำหนัด
ยินดีการจับมือบ้าง ยินดีการที่ชายผู้กำหนัดจับมุมสังฆาฏิบ้าง ยืนเคียงคู่กันกับ
ชายบ้าง สนทนากันบ้าง ไปที่นัดหมายบ้าง ยินดีการที่ชายมาหาบ้าง เดินตาม
เข้าไปสู่ที่ลับบ้าง น้อมกายเข้าไปเพื่อคลุกคลีกันด้วยกายนั้นเพื่อจะเสพอสัทธรรม
นั้น๑กับชายผู้กำหนัดบ้าง
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงกำหนัดยินดีการจับมือบ้าง ยินดีการที่ชายผู้กำหนัดจับมุม
สังฆาฏิบ้าง ยืนเคียงคู่กันกับชายบ้าง สนทนากันบ้าง ไปที่นัดหมายบ้าง ยินดี
การที่ชายมาหาบ้าง เดินตามเข้าไปสู่ที่ลับบ้าง น้อมกายเข้าไปเพื่อคลุกคลีกันด้วย
กายนั้นเพื่อจะเสพอสัทธรรมกับชายผู้กำหนัดบ้างเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้น
ได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์กำหนัด
ยินดีการจับมือบ้าง ยินดีการที่ชายผู้กำหนัดจับมุมสังฆาฏิบ้าง ยืนเคียงคู่กันกับ
ชายบ้าง สนทนากันบ้าง ไปที่นัดหมายบ้าง ยินดีการที่ชายมาหาบ้าง เดินตาม
เข้าไปสู่ที่ลับบ้าง น้อมกายเข้าไปเพื่อคลุกคลีกันด้วยกายนั้นเพื่อจะเสพอสัทธรรม

เชิงอรรถ :
๑ คือประสงค์จะถูกต้องกายกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ สิกขาบทวิภังค์
กับชายผู้กำหนัดบ้าง จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
มีความกำหนัดยินดีการจับมือบ้าง ยินดีการที่ชายผู้กำหนัดจับมุมสังฆาฏิบ้าง ยืน
เคียงคู่กันกับชายบ้าง สนทนากันบ้าง ไปที่นัดหมายบ้าง ยินดีการที่ชายมาหาบ้าง
เดินตามเข้าไปสู่ที่ลับบ้าง น้อมกายเข้าไปเพื่อคลุกคลีกันด้วยกายนั้นเพื่อจะเสพ
อสัทธรรมกับชายผู้กำหนัดบ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่
ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๖๗๕] ก็ภิกษุณีใดกำหนัดพึงยินดีการจับมือ ยินดีการที่ชายผู้กำหนัดจับ
มุมสังฆาฏิ ยืนเคียงคู่กันกับชาย สนทนากัน ไปที่นัดหมาย ยินดีการที่ชาย
มาหา เดินตามเข้าไปสู่ที่ลับ หรือน้อมกายเข้าไปเพื่อคลุกคลีกันด้วยกายนั้น
เพื่อจะเสพอสัทธรรม๑นั้นกับชายผู้กำหนัด แม้ภิกษุณีนี้เป็นปาราชิกชื่อ
อัฏฐวัตถุกา๒ หาสังวาสมิได้
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๖๗๖] คำว่า ก็ ... ใด คือผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้

เชิงอรรถ :
๑ “อสัทธรรม” ในที่นี้หมายถึงการถูกต้องกันทางกาย ไม่ใช่เมถุนธรรม (วิ.อ. ๒/๖๗๕/๔๖๗)
๒ คำว่า “อัฏฐวัตถุกา” แปลว่า วัตถุ เหตุ หรือกรณี ๘ อย่าง เป็นชื่อเรียกภิกษุณีผู้ต้องอาบัติปาราชิก
สิกขาบทนี้ เมื่อทำครบ ๘ อย่าง คือ (๑) ยินดีการจับมือ (๒) ยินดีการจับมุมสังฆาฏิ (๓) ยืนเคียงคู่
(๔) สนทนากัน (๕) ไปที่นัดหมาย (๖) ยินดีที่เขามาหา (๗) เดินตามเข้าไปสู่ที่ลับ (๘) น้อมกาย
เข้าเพื่อจะเสพอสัทธรรมกับชายผู้กำหนัด (วิ.อ. ๒/๖๗๖/๔๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ สิกขาบทวิภังค์
ที่ชื่อว่า กำหนัด ได้แก่ ภิกษุณีมีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
ที่ชื่อว่า ผู้กำหนัด ได้แก่ ชายมีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
ที่ชื่อว่า ชาย ได้แก่ มนุษย์ผู้ชาย ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่เปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้
แต่เป็นชายที่รู้เดียงสา สามารถถูกต้องกายได้
คำว่า ยินดีการจับมือ ความว่า ที่ชื่อว่า มือ หมายเอาตั้งแต่ข้อศอกถึงปลาย
เล็บ ภิกษุณียินดีการจับอวัยวะบริเวณเหนือรากขวัญขึ้นไป ใต้เข่าลงมา เพื่อจะเสพ
อสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า ยินดีการ...จับมุมสังฆาฏิ คือ ยินดีการจับผ้านุ่งหรือผ้าห่มเพื่อจะ
เสพอสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า ยืนเคียงคู่กัน คือ ยืนอยู่ในระยะช่วงแขนของชายเพื่อจะเสพอสัทธรรม
นั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า สนทนากัน คือ ยืนสนทนาอยู่ในระยะช่วงแขนของชายเพื่อจะเสพ
อสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า ไปที่นัดหมาย ความว่า ภิกษุณีที่ชายสั่งว่า “จงมายังที่ชื่อนี้” แล้ว
ไปเพื่อจะเสพอสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ ย่างเท้า พอย่างเข้าระยะช่วง
แขนของชาย ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า ยินดีการที่ชายมาหา ความว่า ยินดีการที่ชายมาเพื่อจะเสพอสัทธรรม
ต้องอาบัติทุกกฏ พอย่างเข้าระยะช่วงแขน ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า เดินตามเข้าไปสู่ที่ลับ ความว่า พอย่างเข้าสถานที่ที่ปกปิดด้วยวัตถุอย่างใด
อย่างหนึ่งเพื่อจะเสพอสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า หรือน้อมกายเข้าไปเพื่อคลุกคลีกันด้วยกายนั้น ความว่า อยู่ในระยะ
ช่วงแขนของชาย น้อมกายเข้าไปเพื่อจะเสพอสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ อนาปัตติวาร
คำว่า เป็นปาราชิก อธิบายว่า ภิกษุณีเมื่อทำวัตถุครบทั้ง ๘ ประการย่อม
ไม่เป็นสมณะหญิง ไม่เป็นเชื้อสายศากยธิดา๑ เปรียบเหมือนต้นตาลยอดด้วนที่ไม่
อาจงอกได้ต่อไป ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก
คำว่า หาสังวาสมิได้ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าสังวาส ได้แก่ กรรมที่ทำร่วมกัน
อุทเทสที่สวดร่วมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่าสังวาส สังวาสนั้นไม่มีกับ
ภิกษุณีรูปนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๖๗๗] ๑. ภิกษุณีไม่จงใจ
๒. ภิกษุณีไม่มีสติ

เชิงอรรถ :
๑ เมื่อภิกษุณีล่วงละเมิดแต่ละวัตถุ ต้องอาบัติเล็กน้อยดังนี้
๑. ในขณะที่เดินทางไปที่นัดหมาย ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ ย่างก้าว พอก้าวเข้าสู่
หัตถบาส(ระยะช่วงแขน)ของชาย ต้องอาบัติถุลลัจจัย
๒. ยินดีการที่ชายมา ต้องอาบัติทุกกฏ พอชายก้าวเข้าสู่หัตถบาส ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ส่วนวัตถุที่เหลืออีก ๖ คือ
๑. ยินดีการจับมือ ๒. ยินดีการจับมุมสังฆาฏิ
๓. ยืนเคียงคู่กัน ๔. สนทนากัน
๕. ตามเข้าไปสู่ที่ลับ ๖. น้อมกายเข้าไปเพื่อจะเสพอสัทธรรม
ปรับอาบัติถุลลัจจัยเท่านั้นสำหรับแต่ละวัตถุ
ภิกษุณีต้องอาบัติถุลลัจจัยเพราะล่วงละเมิดแต่ละวัตถุแล้ว ไม่คิดจะสลัดทิ้ง โดยคิดว่า “เราจะต้อง
อาบัติแม้เพราะวัตถุอื่นอีก” แม้จะแสดง(ปลง)อาบัติก็ไม่เป็นอันแสดง อาบัตินั้นยังสะสมอยู่ เมื่อต้องอาบัติ
ถุลลัจจัยเพราะล่วงละเมิดวัตถุอื่น ๆ ก็เป็นการสะสมอาบัติเรื่อยไป พอเมื่อล่วงละเมิดครบวัตถุทั้ง ๘ ต้อง
อาบัติปาราชิก แต่ถ้าภิกษุณีนั้นล่วงละเมิดวัตถุใดวัตถุหนึ่งแล้ว คิดสลัดทิ้งไปว่า “บัดนี้เราจักไม่ต้องอาบัติ”
แล้วแสดง(ปลง)อาบัติ อาบัติถุลลัจจัยนั้นย่อมตกไป ไม่สะสมอยู่ แม้จะล่วงละเมิดวัตถุอื่น ๆ อีกจนครบ
ทั้ง ๘ ก็ไม่ต้องอาบัติปาราชิก เพราะเธอทำการสลัดทิ้งโดยแสดง(ปลง)อาบัติทุกครั้งที่ล่วงละเมิดวัตถุแต่ละ
อย่าง (วิ.อ. ๒/๖๗๖/๔๖๘, กงฺขา.อ. ๓๔๕-๓๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] บทสรุป
๓. ภิกษุณีผู้ไม่รู้
๔. ภิกษุณีผู้ไม่ยินดี
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีจิตฟุ้งซ่าน
๗. ภิกษุณีกระสับกระส่ายเพราะเวทนา
๘. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ จบ
บทสรุป
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือปาราชิก ๘ สิกขาบท๑ ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้วแต่
ละข้อ ๆ ซึ่งภิกษุณีต้องเข้าแล้วย่อมอยู่ร่วมกับภิกษุณีทั้งหลายไม่ได้ เป็นปาราชิก
หาสังวาสมิได้ เหมือนเมื่อก่อนบวช
ข้าพเจ้าขอถามแม่เจ้าทั้งหลายในธรรมคือปาราชิก ๘ สิกขาบทนั้นว่า “แม่เจ้า
ทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๓ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วในธรรมคือปาราชิก ๘ สิกขาบทนี้ เพราะฉะนั้นจึง
นิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
ปาราชิกกัณฑ์ในภิกขุนีวิภังค์ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ปาราชิกของภิกษุณีที่เหลืออีก ๔ สิกขาบท มีเนื้อความเหมือนกันกับปาราชิก ๔ สิกขาบทของภิกษุ ฉะนั้น
จึงรวมเป็น ๘ สิกขาบท (ดู วินัยปิฎกแปล เล่ม ๑/๔๔/๓๒,๙๑/๘๐,๑๗๑/๑๔๐-๑,๑๙๗/๑๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือสังฆาทิเสส ๑๗ สิกขาบทเหล่านี้มาถึงวาระที่จะ
ยกขึ้นแสดงเป็นข้อ ๆ ตามลำดับ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๑
ว่าด้วยการก่อคดีพิพาท
เรื่องอุบาสกกับภิกษุณีถุลลนันทา
[๖๗๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อุบาสกคนหนึ่งถวายโรงเก็บของ
แก่ภิกษุณีสงฆ์แล้วถึงแก่กรรม เขามีบุตร ๒ คน คนหนึ่งไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใส
อีกคนหนึ่งมีศรัทธาเลื่อมใส บุตรทั้งสองแบ่งสมบัติของบิดา บุตรคนที่ไม่มีศรัทธา
ไม่เลื่อมใสได้กล่าวกับบุตรคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้นดังนี้ว่า “พวกเรายังมีโรงเก็บของ
อยู่ เอาโรงเก็บของนี้มาแบ่งกันเถิด”
เมื่อเขากล่าวอย่างนั้น บุตรคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสได้กล่าวกับบุตรคนที่ไม่มี
ศรัทธาไม่เลื่อมใสดังนี้ว่า “ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ บิดาของพวกเราถวายโรงเก็บ
ของให้ภิกษุณีสงฆ์แล้ว”
บุตรคนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสได้กล่าวกับบุตรคนมีศรัทธาเลื่อมใสนั้นแม้ครั้ง
ที่ ๒ ดังนี้ว่า “พวกเรายังมีโรงเก็บของอยู่ เอามันมาแบ่งกันเถิด” บุตรคนที่มี
ศรัทธาเลื่อมใสก็กล่าวกับบุตรคนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสดังนี้ว่า “ท่านอย่าได้กล่าว
อย่างนี้ บิดาของพวกเราถวายโรงเก็บของให้ภิกษุณีสงฆ์แล้ว”
บุตรคนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสกล่าวกับบุตรคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสแม้ครั้งที่ ๓
ว่า “พวกเรายังมีโรงเก็บของอยู่ เอามันมาแบ่งกันเถิด”
ต่อมา บุตรคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสคิดว่า ถ้าเราได้โรงเก็บของก็จักถวายภิกษุณีสงฆ์
จึงกล่าวกับบุตรคนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสดังนี้ว่า “ตกลง เราจะแบ่งมรดกกัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
ครั้งนั้น เมื่อทั้งสองกำลังแบ่งกันอยู่ โรงเก็บของตกเป็นสมบัติของบุตรคนที่ไม่มี
ศรัทธาไม่เลื่อมใส ต่อมา บุตรคนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสได้เข้าไปหาภิกษุณีทั้งหลาย
แล้วได้กล่าวดังนี้ว่า “เชิญท่านทั้งหลายออกไป โรงเก็บของเป็นสมบัติของกระผม”
เมื่อเขากล่าวอย่างนี้ ภิกษุณีถุลลนันทาได้กล่าวกับบุรุษนั้นดังนี้ว่า “เธออย่า
ได้กล่าวอย่างนี้ บิดาของเธอถวายโรงเก็บของให้ภิกษุณีสงฆ์แล้ว”
ทั้งสองฝ่ายโต้เถียงกันว่า ถวาย ไม่ได้ถวาย จึงพากันไปฟ้องพวกมหาอมาตย์
ผู้พิพากษา
พวกมหาอมาตย์ถามว่า “แม่เจ้า มีใครบ้างที่พอจะรู้เห็นเป็นพยานได้ว่า
โรงเก็บของเขาถวายภิกษุณีสงฆ์แล้ว”
เมื่อพวกมหาอมาตย์กล่าวอย่างนี้ ภิกษุณีถุลลนันทาจึงได้กล่าวกับพวกมหา
อมาตย์ดังนี้ว่า “พวกท่านเคยเห็นหรือได้ยินบ้างไหมว่า เมื่อจะถวายทานจะต้องมี
พยานด้วย”
พวกมหาอมาตย์ตอบว่า “แม่เจ้ากล่าวจริง” จึงตัดสินมอบโรงเก็บของให้
ภิกษุณีสงฆ์ไป
บุรุษนั้นแพ้คดี จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “หญิงชั่วหัวโล้นเหล่านี้
ไม่ใช่สมณะหญิง ไฉนจึงให้ผู้พิพากษาริบโรงเก็บของของเราเล่า”
ภิกษุณีถุลลนันทาบอกเรื่องนั้นให้พวกมหาอมาตย์ทราบ พวกมหาอมาตย์ได้
ปรับสินไหมเขา บุรุษนั้นถูกปรับจึงให้สร้างที่พักอาชีวก๑ ไว้ใกล้ที่อยู่ภิกษุณีแล้วสั่ง
อาชีวกว่า “พวกท่านจงช่วยกันพูดตะโกนใส่ภิกษุณีเหล่านี้”
ภิกษุณีถุลลนันทาจึงบอกเรื่องนั้นให้พวกมหาอมาตย์ทราบ พวกมหาอมาตย์
สั่งให้จับบุรุษนั้นจองจำไว้ พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ครั้ง
แรกพวกภิกษุณีให้เจ้าหน้าที่ริบโรงเก็บของ ครั้งที่ ๒ ให้ปรับสินไหม ครั้งที่ ๓ ให้
จองจำ คราวนี้เห็นทีจะสั่งฆ่า”

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “อาชีวก” เป็นคำเรียกนักบวชชีเปลือยพวกหนึ่งในครั้งพุทธกาล เป็นสาวกของมักขลิโคสาล (ดู
ทีฆนิกาย สีลขันวรรค แปล ๙/๑๖๗-๑๖๙/๕๔-๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึง
ชอบก่อคดีพิพาทเล่า” ลำดับนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาเป็นผู้ชอบ
ก่อคดีพิพาท จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงเป็นผู้ชอบก่อ
คดีพิพาทเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณี
ทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๖๗๙] ก็ภิกษุณีใดก่อคดีพิพาทกับคหบดี กับบุตรคหบดี กับทาส หรือ
กับกรรมกร โดยที่สุดกระทั่งกับสมณปริพาชก ภิกษุณีนี้ต้องธรรมคือ
สังฆาทิเสสที่ชื่อว่าปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ๑
เรื่องอุบาสกกับภิกษุณีถุลลนันทา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๖๘๐] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ” เป็นชื่อเฉพาะของธรรมคืออาบัติสังฆาทิเสสที่ต้องในทันทีที่ล่วงละเมิด
โดยไม่มีการสวดสมนุภาสน์ และภิกษุณีที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสต้องถูกไล่ออกจากภิกษุณีสงฆ์ (วิ.อ. ๒/
๖๗๙/๔๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๗ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ก่อคดีพิพาท พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงผู้ก่อคดี
ที่ชื่อว่า คหบดี ได้แก่ ชายผู้ครองเรือนคนใดคนหนึ่ง
ที่ชื่อว่า บุตรคหบดี ได้แก่ บุตรและพี่น้องชายคนใดคนหนึ่ง
ที่ชื่อว่า ทาส ได้แก่ ทาสในเรือนเบี้ย ทาสน้ำเงิน ทาสเชลย
ที่ชื่อว่า กรรมกร ได้แก่ คนรับจ้างชั่วคราว คนงานประจำ
ที่ชื่อว่า สมณปริพาชก ได้แก่ นักบวชคนใดคนหนึ่งอยู่ในลัทธิปริพาชก
ยกเว้นภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร และสามเณรี
ภิกษุณีแสวงหาเพื่อนหรือเดินไปด้วยตั้งใจว่า “จะก่อคดี๋ ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกเรื่องของคนหนึ่ง(แก่ตุลาการ) ต้องอาบัติทุกกฏ บอกเรื่องของคนที่สอง ต้อง
อาบัติถุลลัจจัย เมื่อศาลตัดสินแล้ว ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า ปฐมาปัตติกะ คือ ต้องอาบัติพร้อมการล่วงละเมิดวัตถุโดยไม่ต้องสวด
สมนุภาสน์
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้นสงฆ์เท่านั้นให้มานัต ชักเข้า
หาอาบัติเดิม เรียกเข้าหมู่๑ ภิกษุณีหลายรูปก็ทำไม่ได้ ภิกษุณีรูปเดียวก็ทำไม่ได้
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส
คำว่า สังฆาทิเสส นี้เป็นการขนานนาม เป็นคำเรียกหมวดอาบัตินั้นนั่นเอง
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส๒

เชิงอรรถ :
๑ “ชักเข้าหาอาบัติเดิม” คือมูลปฏิกัสสนา “เรียกเข้าหมู่” คืออัพภาน
๒ สังฆาทิเสสนี้เป็นชื่อเรียกกองอาบัติ แปลว่า “หมู่อาบัติที่ต้องการสงฆ์ทั้งในระยะเบื้องต้นและในระยะที่
เหลือ” หมายความว่า ภิกษุณีผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสจะออกจากอาบัตินั้นได้ต้องอาศัยสงฆ์ให้มานัต(ปักข
มานัต) ชักเข้าหาอาบัติเดิมและอัพภาน(เรียกเข้าหมู่) ในกรรมทั้งหมดนี้ ขาดสงฆ์เสียแล้ว ก็ทำไม่ได้สำเร็จ
ภิกษุณีผู้จะออกจากอาบัติสังฆาทิเสสนั้น แม้จะปิดอาบัติไว้ก็ไม่ต้องอยู่ปริวาส ประพฤติปักขมานัตในสงฆ์
๒ ฝ่ายเลยทีเดียว” (กงฺขา.อ. ๓๕๕, ดู วิ. มหา. ๑/๒๓๗/๒๕๒ เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๘ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๖๘๑] ๑. ภิกษุณีถูกพวกชาวบ้านดึงตัวไป
๒. ภิกษุณีขออารักขา
๓. ภิกษุณีบอกไม่เจาะจงบุคคล
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๙ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๒ นิทานวัตถุ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๒
ว่าด้วยการบวชให้สตรีผู้เป็นโจร
เรื่องชายาเจ้าลิจฉวีกับภิกษุณีถุลลนันทา
[๖๘๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ในกรุงเวสาลี ชายาของเจ้าลิจฉวี
องค์หนึ่งประพฤตินอกใจพระสวามี เจ้าลิจฉวีผู้นั้นตรัสกับหญิงนั้นดังนี้ว่า “เอาละ
เธอจงงดเว้น ถ้าไม่เช่นนั้นฉันจะทำโทษเธอ” นางแม้จะถูกว่ากล่าวอย่างนี้ก็ไม่เชื่อ
ต่อมา คณะเจ้าลิจฉวีได้ประชุมกันด้วยราชกรณียกิจบางอย่าง
เจ้าลิจฉวีองค์นั้นได้ตรัสกับพวกเจ้าลิจฉวีดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลายขออนุญาตให้
หม่อมฉันจัดการกับสตรีคนหนึ่ง”
คณะถามว่า “สตรีผู้นั้นคือใคร”
เจ้าลิจฉวีนั้นตอบว่า “นางคือภรรยาประพฤตินอกใจของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจัก
ฆ่านาง”
คณะกล่าวว่า “ท่านจงรู้เองเถิด”
สตรีนั้นทราบข่าวว่า สามีประสงค์จะฆ่านาง จึงเก็บของสำคัญ ๆ หนีไปยังกรุง
สาวัตถี เข้าไปหาพวกเดียรถีย์ขอบวช พวกเดียรถีย์ไม่ต้องการบวชให้ นางจึงเข้า
ไปหาพวกภิกษุณีขอบวช พวกภิกษุณีก็ไม่ต้องการจะบวชให้ จึงเข้าไปหาภิกษุณี
ถุลลนันทาอวดของมีค่าแล้วขอบวช ภิกษุณีถุลลนันทารับเอาสิ่งของแล้วบวชให้นาง
ต่อมา เจ้าลิจฉวีนั้นทรงตามหาสตรีนั้นไปถึงกรุงสาวัตถี พบนางบวชอยู่ใน
สำนักภิกษุณี จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้กราบทูล
พระเจ้าปเสนทิโกศลดังนี้ว่า “ขอเดชะ ชายาของหม่อมฉันขโมยของมีค่าหนีมา
กรุงสาวัตถี ขอพระองค์จงทรงอนุญาตให้จับนาง”
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า “เชิญท่านสืบหานาง พบแล้วจงมาบอก”
เจ้าลิจฉวีกราบทูลว่า “หม่อมฉันเห็นนางบวชอยู่ในสำนักภิกษุณี พระเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๐ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๒ พระบัญญัติ
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า “ถ้านางบวชอยู่ในสำนักภิกษุณี ใคร ๆ ก็ทำ
อะไรไม่ได้ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ขอให้นางประพฤติพรหมจรรย์
เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
ครั้งนั้น เจ้าลิจฉวีนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึง
บวชให้สตรีผู้เป็นโจรเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินเจ้าลิจฉวีนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึง
บวชให้สตรีผู้เป็นโจรเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้สตรี
ผู้เป็นโจร จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงบวชให้สตรี
ผู้เป็นโจรเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณี
ทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๖๘๓] ก็ภิกษุณีใดรู้อยู่ไม่บอกพระราชา สงฆ์ คณะ สมาคม หรือ
กลุ่มชนให้ทราบ บวชให้สตรีผู้เป็นโจรซึ่งเป็นที่รู้กันว่าต้องโทษประหาร เว้น
ไว้แต่สตรีที่สมควร แม้ภิกษุณีนี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสที่ชื่อว่าปฐมาปัตติกะ
นิสสารณียะ
เรื่องชายาเจ้าลิจฉวีกับภิกษุณีถุลลนันทา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๑ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๒ สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[๖๘๔] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ ภิกษุณีนั้นรู้เอง คนอื่นบอกให้เธอรู้ หรือสตรีผู้เป็นโจร
นั้นบอก
ที่ชื่อว่า สตรีผู้เป็นโจร คือ สตรีผู้ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ มีราคา ๕
มาสกหรือมากกว่า ๕ มาสก โดยส่วนแห่งจิตคิดจะลัก นี้ชื่อว่าสตรีผู้เป็นโจร
ที่ชื่อว่า ต้องโทษประหาร หมายถึง ผู้ทำความผิดโทษถึงประหารชีวิต
ที่ชื่อว่า เป็นที่รู้กัน หมายถึง ผู้คนเหล่าอื่นก็รู้ว่าผู้นี้ต้องโทษประหารชีวิต
คำว่า ไม่บอก...ให้ทราบ คือ ไม่บอก
ที่ชื่อว่า พระราชา ความว่า พระราชาทรงปกครองในที่ใด ต้องขอพระบรม
ราชานุญาตในถิ่นนั้น
ที่ชื่อว่า สงฆ์ พระผู้มีพระภาคตรัสถึงภิกษุณีสงฆ์ ต้องขอนุญาตภิกษุณีสงฆ์
ที่ชื่อว่า คณะ ความว่า คณะปกครองในถิ่นใด ต้องบอกคณะในถิ่นนั้น
ที่ชื่อว่า สมาคม ความว่า สมาคมปกครองในถิ่นใด ต้องบอกสมาคมในถิ่นนั้น
ที่ชื่อว่า กลุ่มชน ความว่า กลุ่มชนปกครองในถิ่นใด ต้องบอกกลุ่มชนในถิ่นนั้น
คำว่า เว้นไว้แต่สตรีที่สมควร อธิบายว่า ยกเว้นแต่สตรีผู้สมควร
ที่ชื่อว่า สตรีที่สมควร มี ๒ ประเภท คือ (๑) ผู้ที่บวชในสำนักเดียรถีย์
(๒) ผู้ที่บวชในสำนักภิกษุณีอื่น ภิกษุณีคิดว่า “เราจักบวชให้เว้นไว้แต่ผู้ที่ผ่านการ
บวชมาแล้ว” แล้วจึงแสวงหาคณะ กรรมวาจาจารย์ บาตรหรือจีวร หรือสมมติสีมา
ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๒ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์
จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย อุปัชฌาย์ต้องอาบัติสังฆาทิเสส คณะและอาจารย์ต้อง
อาบัติทุกกฏ
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน
คำว่า ปฐมาปัตติกะ คือ ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุโดยไม่ต้อง
สวดสมนุภาสน์
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ฯลฯ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส
บทภาชนีย์
[๖๘๕] สตรีผู้เป็นโจร ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นสตรีผู้เป็นโจร บวชให้ ต้องอาบัติ
สังฆาทิเสส เว้นไว้แต่สตรีที่สมควร
สตรีผู้เป็นโจร ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ เว้นไว้แต่สตรีที่
สมควร
สตรีผู้ป็นโจร ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่สตรีผู้เป็นโจร บวชให้ เว้นไว้แต่สตรีที่
สมควร ไม่ต้องอาบัติ
ไม่ใช่สตรีผู้เป็นโจร ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นสตรีผู้เป็นโจร บวชให้ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ไม่ใช่สตรีผู้เป็นโจร ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่สตรีผู้เป็นโจร ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่สตรีผู้เป็นโจร บวชให้ ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๓ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๒ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๖๘๖] ๑. ภิกษุณีไม่รู้ว่าเป็นสตรีผู้เป็นโจรจึงบวชให้
๒. ภิกษุณีขออนุญาตแล้วบวชให้
๓. ภิกษุณีบวชให้สตรีผู้เป็นโจรผู้สมควร
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๓ นิทานวัตถุ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๓
ว่าด้วยการเข้าละแวกหมู่บ้านตามลำพังเป็นต้น
เรื่องภิกษุณีอันเตวาสินีของพระภัททกาปิลานี
[๖๘๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อันเตวาสินีของพระภัททกาปิลานี
ทะเลาะกับภิกษุณีทั้งหลาย จึงหนีไปตระกูลญาติในหมู่บ้าน
พระภัททกาปิลานีไม่เห็นเธอจึงถามภิกษุณีทั้งหลายว่า “ภิกษุณีชื่อนี้หายไปไหน”
ภิกษุณีทั้งหลายตอบว่า “แม่เจ้า เธอทะเลาะกับภิกษุณีทั้งหลายแล้วหายไป”
พระภัททกาปิลานีกล่าวว่า “ที่หมู่บ้านโน้น มีตระกูลญาติของภิกษุณีนี้อยู่
ท่านทั้งหลายจงไปสืบหาดูที่ตระกูลญาตินั้น”
ภิกษุณีทั้งหลายไปที่ตำบลนั้นพบภิกษุณีนั้นแล้วได้กล่าวดังนี้ว่า “แม่เจ้า
ทำไมเธอมาคนเดียว ไม่ถูกใครทำมิดีมิร้ายบ้างหรือ”
เธอตอบว่า “แม่เจ้าทั้งหลาย ดิฉันไม่ถูกใครทำมิดีมิร้ายเลย”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีจึงไปสู่ละแวกหมู่บ้านรูปเดียวเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้
ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีเข้าละแวกหมู่บ้าน
รูปเดียว จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงไปสู่ละแวกหมู่บ้านรูป
เดียวเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณี
ทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๓ พระบัญญัติ
พระบัญญัติ
ก็ภิกษุณีใดไปสู่ละแวกหมู่บ้านรูปเดียว แม้ภิกษุณีนี้ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส
ที่ชื่อว่าปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีอันเตวาสินีของพระภัททกาปิลานี จบ
เรื่องภิกษุณี ๒ รูป
[๖๘๘] สมัยนั้น ภิกษุณี ๒ รูปเดินทางไกลจากเมืองสาเกตไปกรุงสาวัตถี
ระหว่างทางต้องข้ามแม่น้ำ ลำดับนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นได้เข้าไปหาพวกเรือจ้างแล้ว
ได้กล่าวดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลายโปรดสงเคราะห์พวกดิฉันให้ข้ามฟากด้วยเถิด”
พวกเรือจ้างตอบว่า “แม่เจ้า พวกเราไม่สามารถพาข้ามไปคราวละ ๒ รูปได้
นายเรือจ้างคนหนึ่งจึงพาภิกษุณีรูปหนึ่งข้ามฟาก นายเรือจ้างคนที่ข้ามฟากแล้ว
ข่มขืนภิกษุณีรูปที่ข้ามฟากแล้ว นายเรือจ้างคนที่ยังไม่ข้ามฟากก็ข่มขืนอีกรูปหนึ่งที่
ยังไม่ข้ามฟาก
ภายหลัง ภิกษุณีทั้งสองนั้นพบกันแล้วถามกันว่า “เธอไม่ถูกทำมิดีมิร้ายบ้าง
หรือ”
รูปที่ถูกถามตอบว่า “แม่เจ้า ฉันถูกทำมิดีมิร้าย ก็ท่านไม่ถูกทำมิดีมิร้าย
บ้างหรือ”
อีกรูปหนึ่งตอบว่า “แม่เจ้า ฉันก็ถูกทำมิดีมิร้าย”
ครั้นเธอทั้งสองถึงกรุงสาวัตถี บอกเรื่องนี้ให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ บรรดา
ภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณีจึงข้าม
ฝั่งแม่น้ำรูปเดียวเล่า” ครั้นแล้วภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๓ พระอนุบัญญัติ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีข้ามฝั่งแม่น้ำรูปเดียว
จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรง
ตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงข้ามฝั่งแม่น้ำรูปเดียวเล่า ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
ให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง
ดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุณีใดไปสู่ละแวกหมู่บ้านรูปเดียว หรือข้ามฝั่งแม่น้ำรูปเดียว
แม้ภิกษุณีนี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสที่ชื่อว่าปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณี ๒ รูป จบ
เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๖๘๙] สมัยนั้น ภิกษุณีจำนวนหลายรูปเดินทางไปกรุงสาวัตถี ในแคว้นโกศล
ได้เข้าไปสู่หมู่บ้านหนึ่งในตอนเย็น ในบรรดาภิกษุณีเหล่านั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งมีรูปงาม
น่าดู น่าชม ชายคนหนึ่งพอได้เห็นก็มีจิตรักใคร่ภิกษุณีนั้น ชายผู้นั้นเมื่อจัดที่นอน
ถวายภิกษุณีเหล่านั้น ได้จัดที่นอนไว้เพื่อภิกษุณีรูปงามนั้น ณ ส่วนข้างหนึ่ง
ภิกษุณีนั้นรู้ทันว่า “ชายคนนี้ถูกราคะครอบงำ ถ้าเขามาหาตอนกลางคืน เราต้อง
เสียหายแน่” จึงไปนอนที่ตระกูลหนึ่งโดยไม่บอกภิกษุณีทั้งหลาย ครั้งนั้น ชายผู้นั้น
มาค้นหาภิกษุณีนั้น พอดีไปถูกตัวภิกษุณีทั้งหลาย พวกภิกษุณี(ตื่นขึ้นมา)ไม่เห็น
ภิกษุณีนั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ภิกษุณีนั้นออกไปกับผู้ชายแล้วแน่นอน”
ครั้นเมื่อผ่านราตรีนั้น ภิกษุณีนั้นเข้าไปหาภิกษุณีทั้งหลาย พวกภิกษุณีได้
กล่าวกับภิกษุณีนั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้า เธอออกไปกับผู้ชายหรือ” ภิกษุณีนั้นกล่าวว่า
“แม่เจ้า ดิฉันมิได้ออกไปกับผู้ชาย” แล้วบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๓ พระอนุบัญญัติ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีจึงออกไปอยู่พักแรมในราตรีเพียงรูปเดียวเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้
นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีออกไปอยู่พักแรมใน
ราตรีเพียงรูปเดียวจริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงออกไปอยู่พัก
แรมในราตรีเพียงรูปเดียวเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุณีใดไปสู่ละแวกหมู่บ้านรูปเดียว ข้ามฝั่งแม่น้ำรูปเดียว หรือ
ออกไปอยู่พักแรมในราตรีรูปเดียว แม้ภิกษุณีนี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสชื่อ
ปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ
เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๖๙๐] สมัยนั้น ภิกษุณีจำนวนหลายรูปเดินทางไกลไปกรุงสาวัตถี ในแคว้น
โกศล ภิกษุณีรูปหนึ่งปวดอุจจาระ จึงปลีกตัว เดินตามหลังไปรูปเดียว คนทั้งหลาย
เห็นเธอจึงข่มขืน ลำดับนั้น ภิกษุณีนั้นเข้าไปหาภิกษุณีเหล่านั้น พวกภิกษุณีได้
กล่าวกับภิกษุณีนั้นดังนี้ว่า “ทำไมเธอจึงปลีกตัวอยู่เพียงรูปเดียว ไม่ถูกทำมิดีมิร้าย
ดอกหรือ” ภิกษุณีนั้นจึงตอบว่า “แม่เจ้า ดิฉันถูกทำมิดีมิร้าย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๓ สิกขาบทวิภังค์
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีจึงเดินปลีกตัวจากคณะอยู่เพียงรูปเดียวเล่า” ฯลฯ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีเดินปลีกตัวจากคณะ
อยู่เพียงรูปเดียว จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงเดินปลีกตัวจากคณะ
อยู่เพียงรูปเดียวเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นอีกได้เลย ฯลฯ” แล้วจึง
รับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๖๙๑] อนึ่ง ภิกษุณีใดไปสู่ละแวกหมู่บ้านรูปเดียว ข้ามฝั่งแม่น้ำรูปเดียว
ออกไปอยู่พักแรมในราตรีรูปเดียว หรือปลีกตัวจากคณะอยู่รูปเดียว แม้
ภิกษุณีนี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสที่ชื่อว่าปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๖๙๒] คำว่า อนึ่ง ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัส
ว่า อนึ่ง ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ไปสู่ละแวกหมู่บ้านรูปเดียว ความว่า เมื่อเธอย่างเท้าก้าวที่ ๑ เข้า
สู่บริเวณรั้วของหมู่บ้านที่มีรั้วล้อม ต้องอาบัติถุลลัจจัย ย่างเท้าก้าวที่ ๒ ต้อง
อาบัติสังฆาทิเสส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๓ อนาปัตติวาร
เมื่อเธอย่างเท้าก้าวที่ ๑ เข้าสู่อุปจารของหมู่บ้านที่ไม่มีรั้วล้อม ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย ย่างเท้าก้าวที่ ๒ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า ข้ามฝั่งแม่น้ำรูปเดียว ความว่า ที่ชื่อว่าแม่น้ำ คือสถานที่ใดที่หนึ่งซึ่ง
เมื่อภิกษุณีครองผ้าปกปิดมณฑล ๓ เดินข้าม อันตรวาสกเปียก เมื่อเธอย่างเท้าก้าว
ที่ ๑ ข้ามไปต้องอาบัติถุลลัจจัย ย่างเท้าก้าวที่ ๒ ข้ามไปต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า ออกไปอยู่พักแรมในราตรีรูปเดียว ความว่า เธอละหัตถบาส(ระยะ
ห่างสองศอกครึ่ง)จากภิกษุณีที่เป็นเพื่อนในขณะที่อรุณขึ้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย พ้น
หัตถบาสแล้ว ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า หรือปลีกตัวจากคณะอยู่รูปเดียว ความว่า ในป่าซึ่งไม่มีหมู่บ้านอยู่
เมื่อเดินไปกำลังจะพ้นระยะที่จะมองเห็นได้หรือบริเวณที่เพื่อนภิกษุณีจะได้ยินเสียง ต้อง
อาบัติถุลลัจจัย เมื่อพ้นไปแล้ว ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า ปฐมาปัตติกะ คือ ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุโดยไม่ต้อง
สวดสมนุภาสน์
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ฯลฯ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๖๙๓] ๑. ภิกษุณีที่เพื่อนภิกษุณีจากไป สึก มรณภาพ หรือไปเข้ารีต
๒. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๐ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๔ นิทานวัตถุ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๔
ว่าด้วยการเรียกภิกษุณีที่ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเข้าหมู่
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี
[๖๙๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีจัณฑกาลีเป็นผู้ก่อความ
บาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ก่อความอื้อฉาวถกเถียง ก่ออธิกรณ์ใน
สงฆ์ เมื่อสงฆ์จะลงโทษภิกษุณีจัณฑกาลีนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาก็คัดค้าน ต่อมา
ภิกษุณีถุลลนันทาเดินทางไปหมู่บ้านด้วยธุระบางอย่าง ครั้งนั้น ภิกษุณีสงฆ์ทราบว่า
“ภิกษุณีถุลลนันนทาจากไปแล้ว” จึงลงอุกเขปนียกรรมภิกษุณีจัณฑกาลีเพราะไม่
เห็นอาบัติ ครั้นภิกษุณีถุลลนันทาทำธุระในหมู่บ้านเสร็จแล้วกลับมายังกรุงสาวัตถี
เมื่อภิกษุณีถุลลนันทากำลังมาภิกษุณีจัณฑกาลีไม่ปูอาสนะ ไม่ตั้งน้ำล้างเท้า ตั้ง
รองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ไม่ลุกรับบาตรและจีวร ไม่เอาน้ำดื่มต้อนรับ ภิกษุณี
ถุลลนันทาได้กล่าวกับภิกษุณีจัณฑกาลีนั้นดังนี้ว่า “เมื่อฉันกำลังมา ไฉนเธอจึงไม่
ปูอาสนะ ไม่ตั้งน้ำล้างเท้า ตั้งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ไม่ลุกรับบาตรและจีวร
ไม่เอาน้ำดื่มต้อนรับเล่า”
ภิกษุณีจัณฑกาลีตอบว่า “แม่เจ้า คนไม่มีที่พึ่งก็ทำอย่างนี้แหละ”
ภิกษุณีถุลลนันทาถามว่า “เพราะเหตุไร เธอจึงไม่มีที่พึ่ง”
ภิกษุณีจัณฑกาลีตอบว่า “แม่เจ้า ภิกษุณีเหล่านี้เข้าใจว่า ‘ดิฉันเป็นคนไม่มี
ที่พึ่ง ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีใครคอยกล่าวปกป้อง’ จึงลงอุกเขปนียกรรมดิฉันเพราะไม่
เห็นอาบัติ”
ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวว่า “ภิกษุณีพวกนี้โง่เขลา ภิกษุณีพวกนี้ไม่ฉลาด
ภิกษุณีพวกนี้ไม่รู้จักกรรม โทษของกรรม กรรมวิบัติ หรือกรรมสมบัติ เรานี่แหละ
รู้จักกรรมบ้าง โทษของกรรมบ้าง กรรมวิบัติบ้าง กรรมสมบัติบ้าง เรานี่แหละพึงทำ
กรรมที่ยังไม่มีใครทำหรือรื้อฟื้นกรรมที่ตัดสินไปแล้วได้” จึงสั่งให้ประชุมภิกษุณีสงฆ์
ทันทีแล้วเรียกภิกษุณีจัณฑกาลีกลับเข้าหมู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๑ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๔ พระบัญญัติ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงเรียกภิกษุณีที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมโดยธรรม
โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ให้กลับเข้าหมู่ โดยไม่บอกการกสงฆ์๑ ไม่รับรู้ฉันทะของ
คณะเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาเรียกภิกษุณี
ที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ให้กลับ
เข้าหมู่โดยไม่บอกการกสงฆ์ ไม่รับรู้ฉันทะของคณะ จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย
ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงเรียกภิกษุณีผู้ที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรม
โดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ให้กลับเข้าหมู่โดยไม่บอกการกสงฆ์ ไม่รับรู้
ฉันทะของคณะเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๖๙๕] ก็ภิกษุณีใดเรียกภิกษุณีที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรม
โดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ให้กลับเข้าหมู่โดยไม่บอกการกสงฆ์ ทั้งไม่
รับรู้ฉันทะของคณะ แม้ภิกษุณีนี้ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสที่ชื่อว่าปฐมาปัตติกะ
นิสสารณียะ
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี จบ

เชิงอรรถ :
๑ “การกสงฆ์” คือสงฆ์ผู้ดำเนินการในกิจสำคัญ เช่น การสังคายนาหรือสังฆกรรมต่าง ๆ ในที่นี้หมายถึง
สงฆ์ผู้ร่วมกันทำอุกเขปนียกรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๒ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๔ สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[๖๙๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
สงฆ์ที่ชื่อว่า พร้อมเพรียงกัน คือ มีสังวาสเสมอกัน๑ อยู่ในสมานสังวาสสีมา๒
ที่ชื่อว่า ที่...ลงอุกเขปนียกรรม คือ ถูกสงฆ์ลงโทษเพราะไม่เห็นหรือไม่ทำ
คืนอาบัติ หรือเพราะไม่ยอมสละทิฏฐิบาป
คำว่า โดยธรรม โดยวินัย คือ โดยธรรมใด โดยวินัยใด
คำว่า โดยสัตถุศาสน์ คือ โดยคำสั่งสอนของพระชินเจ้า โดยคำสั่งสอน
ของพระพุทธเจ้า
คำว่า โดยไม่บอก คือ ไม่บอกสงฆ์ผู้กระทำกรรม
คำว่า ไม่รับรู้ฉันทะของคณะ คือ ไม่รู้ความพอใจของคณะ
ภิกษุณีคิดว่า “จะเรียกเข้าหมู่” จึงแสวงหาคณะ หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติ
ทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า ปฐมาปัตติกะ คือ ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุโดยไม่ต้อง
สวดสมนุภาสน์
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ฯลฯ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส

เชิงอรรถ :
๑ “มีสังวาสเสมอกัน” คือมีการทำกรรมร่วมกัน สวดอุทเทส(ปาติโมกข์)ร่วมกัน มีสิกขาเสมอกัน (ดู ข้อ
๖๕๘ หน้า ๗ ในเล่มนี้)
๒ “อยู่ในสมานสังวาสสีมา” อยู่ในเขตที่กำหนดไว้เป็นพิเศษสำหรับสงฆ์เพื่อเป็นสถานที่ทำสังฆกรรมร่วมกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๓ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทท ๔ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกสังฆาทิเสส
[๖๙๗] กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง เรียกเข้า
หมู่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ เรียกเข้าหมู่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง เรียกเข้าหมู่ ต้อง
อาบัติสังฆาทิเสส
ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๖๙๘] ๑. ภิกษุณีบอกสงฆ์ผู้ทำกรรมแล้วเรียกกลับเข้าหมู่
๒. ภิกษุณีเรียกกลับเข้าหมู่ เมื่อรับรู้ฉันทะของคณะแล้ว
๓. ภิกษุณีเรียกภิกษุณีผู้ประพฤติข้อวัตรกลับเข้าหมู่
๔. ภิกษุณีเรียกกลับเข้าหมู่ในเมื่อไม่มีการกสงฆ์ผู้ทำกรรม
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๔ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทท ๕ พระบัญญัติ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๕
ว่าด้วยการรับโภชนะจากมือชายผู้กำหนัด
เรื่องภิกษุณีสุนทรีนันทา
[๖๙๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุณีสุนทรีนันทามีรูปงาม น่าดู
น่าชม คนทั้งหลายเห็นเธอที่โรงฉัน ต่างก็กำหนัด จึงถวายอาหารที่ดี ๆ แก่นางผู้
กำหนัด ภิกษุณีสุนทรีนันทาจึงได้ฉันตามความต้องการ ส่วนภิกษุณีอื่น ๆ ไม่ได้
ฉันตามที่คิดไว้
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณี
สุนทรีนันทากำหนัด จึงรับของเคี้ยวหรือของฉันจากมือชายผู้กำหนัดด้วยมือของตน
แล้วเคี้ยวฉันเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีสุนทรีนันทากำหนัด
รับของเคี้ยวหรือของฉันจากมือชายผู้กำหนัดด้วยมือของตนแล้วเคี้ยวฉัน จริงหรือ”
พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีสุนทรีนันทากำหนัดจึงรับของเคี้ยวหรือของฉันจาก
มือชายผู้กำหนัดด้วยมือของตนแล้วเคี้ยวฉันเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๗๐๐] ก็ภิกษุณีใดกำหนัด รับของเคี้ยวหรือของฉันจากมือชายผู้กำหนัด
ด้วยมือของตนแล้วเคี้ยวหรือฉัน แม้ภิกษุณีนี้ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสที่ชื่อ
ปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ
เรื่องภิกษุณีสุนทรีนันทา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๕ สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[๗๐๑] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า กำหนัด ได้แก่ ภิกษุณีมีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
ที่ชื่อว่า ผู้กำหนัด ได้แก่ ชายมีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
ที่ชื่อว่า ชาย ได้แก่ มนุษย์ผู้ชาย ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่เปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ แต่เป็นชายที่รู้เดียงสา สามารถที่จะกำหนัดได้
ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ ยกเว้นโภชนะ ๕ น้ำและไม้ชำระฟัน นอกนั้นชื่อว่า
ของเคี้ยว
ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมสด ข้าวตู ปลา เนื้อ
ภิกษุณีรับประเคนด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฉัน
ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุก ๆ คำกลืน
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า ปฐมาปัตติกะ คือ ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุโดยไม่ต้อง
สวดสมนุภาสน์
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ฯลฯ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส
ภิกษุณีรับประเคนน้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อฝ่ายหนึ่งกำหนัด
รับประเคนด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๕ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
[๗๐๒] ฉัน ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทุกๆ คำกลืน ภิกษุณีรับประเคนน้ำและ
ไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติทุกกฏ
เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างกำหนัด รับประเคนจากมือยักษ์ เปรต บัณเฑาะก์หรือ
สัตว์ดิรัจฉานมีกายเป็นมนุษย์ ด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน
ต้องอาบัติถุลลัจจัยทุกๆ คำกลืน รับประเคนน้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติทุกกฏ
เมื่อกำหนัดฝ่ายเดียว รับประเคนด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ คำกลืน รับประเคนน้ำและไม้ชำระฟัน ต้อง
อาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๐๓] ๑. ภิกษุณีไม่กำหนัดรับของจากชายผู้ไม่กำหนัด
๒. ภิกษุณีรู้อยู่ว่า “เขาไม่กำหนัด” จึงรับประเคน
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๗ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๖ นิทานวัตภุ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๖
ว่าด้วยการส่งเสริมภิกษุณีให้รับโภชนะจากมือชายผู้กำหนัด
เรื่องภิกษุณีสุนทรีนันทา
[๗๐๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีสุนทรีนันทามีรูปงาม น่าดู
น่าชม คนทั้งหลายเห็นภิกษุณีสุนทรีนันทานั้นที่โรงฉัน ต่างก็กำหนัด จึงถวาย
อาหารที่ดี ๆ แก่ภิกษุณีสุนทรีนันทา แต่ภิกษุณีสุนทรีนันทามีความยำเกรง ไม่ยอม
รับประเคน ภิกษุณีผู้นั่งถัดกันได้กล่าวกับภิกษุณีสุนทรีนันทานั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้า
เหตุไรท่านจึงไม่รับประเคน”
นางตอบว่า “แม่เจ้า เพราะพวกเขาเป็นผู้กำหนัด”
ภิกษุณีนั้นถามว่า “ก็ท่านกำหนัดด้วยหรือ”
นางตอบว่า “แม่เจ้า ดิฉันไม่กำหนัด”
ภิกษุณีนั้นพูดว่า “แม่เจ้า ชายผู้นี้จะกำหนัดหรือไม่กำหนัดก็ทำอะไรท่านไม่ได้
เพราะท่านไม่กำหนัด นิมนต์เถิด แม่เจ้า ชายผู้นี้จะถวายของเคี้ยวหรือของฉันก็ตาม
ท่านจงรับประเคนของนั้นด้วยมือของตนเองแล้วเคี้ยวหรือฉันเถิด”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีจึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘แม่เจ้า ชายผู้นี้จะกำหนัดหรือไม่กำหนัดก็ตามก็ทำ
อะไรท่านไม่ได้ เพราะท่านไม่กำหนัด นิมนต์เถิด แม่เจ้า ชายผู้นี้จะถวายสิ่งใด จะ
เป็นของเคี้ยวหรือของฉันก็ตาม ท่านจงรับประเคนของนั้นด้วยมือของตนเองแล้ว
เคี้ยวฉันเถิด” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีกล่าวอย่างนี้ว่า ‘แม่เจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๘ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๖ สิกขาบทวิภังค์
ชายผู้นี้จะกำหนัดหรือไม่กำหนัดก็ตามก็ทำอะไรท่านไม่ได้ เพราะท่านไม่กำหนัด
นิมนต์เถิดแม่เจ้า ชายผู้นี้จะถวายสิ่งใด จะเป็นของเคี้ยวหรือของฉันก็ตาม ท่านจง
รับประเคนของนั้นด้วยมือของตนเองแล้วเคี้ยวหรือฉันเถิด ดังนี้ จริงหรือ” พวก
ภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘แม่เจ้า ชายผู้นี้จะกำหนัดหรือไม่
กำหนัดก็ตามก็ทำอะไรท่านไม่ได้ เพราะท่านไม่มีความกำหนัด นิมนต์เถิด แม่เจ้า
ชายผู้นี้จะถวายสิ่งใด จะเป็นของเคี้ยวหรือของฉันก็ตาม ท่านจงรับประเคนของนั้น
ด้วยมือของตนเองแล้วเคี้ยวหรือฉันเถิด ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๗๐๕] ก็ภิกษุณีใดกล่าวอย่างนี้ว่า “ชายผู้นั้นจะกำหนัดหรือไม่กำหนัดก็
ตามก็ทำอะไรท่านไม่ได้ เพราะท่านไม่กำหนัด นิมนต์เถิด แม่เจ้า ชายผู้นี้
จะถวายสิ่งใดจะเป็นของเคี้ยวหรือของฉันก็ตาม ท่านจงรับประเคนของนั้นด้วย
มือของตนเองแล้วเคี้ยวหรือฉันเถิด” ดังนี้ แม้ภิกษุณีนี้ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส
ที่ชื่อว่าปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ
เรื่องภิกษุณีสุนทรีนันทา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๗๐๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า กล่าวอย่างนี้ ความว่า ภิกษุณีส่งเสริมด้วยกล่าวว่า “แม่เจ้า ชายผู้นี้
จะกำหนัดหรือไม่กำหนัดก็ตามก็ทำอะไรท่านไม่ได้ เพราะท่านไม่กำหนัด นิมนต์เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๙ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๖ บทภาชนีย์
แม่เจ้า ชายผู้นี้จะถวายสิ่งใดจะเป็นของเคี้ยวหรือของฉันก็ตาม ท่านจงรับประเคน
ของนั้นด้วยมือของตนเองแล้วเคี้ยวหรือฉันเถิด” ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุณีรับประเคนตามคำของภิกษุณีนั้นด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้อง
อาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติถุลลัจจัยทุก ๆ คำกลืน ฉันเสร็จแล้ว ต้องอาบัติ
สังฆาทิเสส
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า ปฐมาปัตติกะ คือ ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุโดยไม่ต้อง
สวดสมนุภาสน์
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ฯลฯ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส
ภิกษุณีส่งเสริมด้วยกล่าวว่า “จงรับประเคนน้ำและไม้ชำระฟัน” ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ภิกษุณีรับประเคนตามคำของภิกษุณีนั้นด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้อง
อาบัติทุกกฏ
บทภาชนีย์
[๗๐๗] ฝ่ายหนึ่งกำหนัด ภิกษุณีส่งเสริมด้วยกล่าวว่า “จงเคี้ยวของเคี้ยว
หรือจงฉันของฉันจากมือของยักษ์ เปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉานที่มีกาย
เป็นมนุษย์” ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุณีรับประเคนตามคำของภิกษุณีนั้นด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้อง
อาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ คำกลืน เมื่อฉันเสร็จ ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ภิกษุณีส่งเสริมด้วยกล่าวว่า “จงรับประเคนน้ำและไม้สีฟัน” ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุณีรับประเคนตามคำของภิกษุณีนั้นด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้องอาบัติ
ทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕๐ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๖ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๐๘] ๑. ภิกษุณีรู้อยู่ว่า “ชายไม่กำหนัด” จึงส่งเสริม
๒. ภิกษุณีรู้อยู่ว่า “นางโกรธ จึงไม่รับประเคน” จึงส่งเสริม
๓. ภิกษุณีรู้อยู่ว่า “นางจะไม่รับประเคนเพราะความเอ็นดูตระกูล”
จึงส่งเสริม
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕๑ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๗ นิทานวัตถุ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๗
ว่าด้วยการบอกคืนพระรัตนตรัย
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี
[๗๐๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีจัณฑกาลีทะเลาะกับ
ภิกษุณีทั้งหลาย โกรธ ไม่พอใจ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า “เราขอบอกลาพระพุทธ
ขอบอกลาพระธรรม ขอบอกลาพระสงฆ์ ขอบอกลาสิกขา สมณะหญิงจะมีแต่
สมณศากยธิดาเหล่านี้กระนั้นหรือ แม้สมณะหญิงเหล่าอื่นที่ประพฤติดีมีความ
ละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษาก็ยังมีอยู่ เราจะไปประพฤติพรหมจรรย์ใน
สำนักสมณะหญิงเหล่านั้น”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าจัณฑกาลีโกรธ ไม่พอใจ แล้วจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ดิฉันขอบอกลาพระพุทธ
ขอบอกลาพระธรรม ขอบอกลาพระสงฆ์ ขอบอกลาสิกขา สมณะหญิงจะมีแต่
สมณศากยธิดาเหล่านี้กระนั้นหรือ แม้สมณะหญิงเหล่าอื่นที่ประพฤติดี มีความ
ละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษาก็มีอยู่ เราจะไปประพฤติพรหมจรรย์ใน
สำนักสมณะหญิงเหล่านั้นดังนี้เล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอก
ภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีจัณฑกาลีโกรธ ไม่
พอใจ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าขอบอกลาพระพุทธ ขอบอกลาพระธรรม
ขอบอกลาพระสงฆ์ ขอบอกลาสิกขา สมณะหญิงจะมีแต่สมณศากยธิดาเหล่านี้
กระนั้นหรือ แม้สมณะหญิงเหล่าอื่นที่ประพฤติดีมีความละอาย มีความระมัดระวัง
ใฝ่การศึกษาก็มีอยู่ เราจะไปประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักสมณะหญิงเหล่านั้นดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕๒ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๗ พระบัญญัติ
จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจัณฑกาลีโกรธ ไม่พอใจ จึงพูด
อย่างนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าขอบอกลาพระพุทธ ขอบอกลาพระธรรม ขอบอกลาพระสงฆ์
ขอบอกลาสิกขา สมณะหญิงจะมีแต่สมณศากยธิดาเหล่านี้กระนั้นหรือ แม้สมณะ
หญิงเหล่าอื่นที่ประพฤติดี มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษาก็มีอยู่
เราจะไปประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักสมณะหญิงเหล่านั้น’ดังนี้เล่า ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
ให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๗๑๐] ก็ภิกษุณีใดโกรธ ไม่พอใจ กล่าวอย่างนี้ว่า “ดิฉันขอบอกลา
พระพุทธ ขอบอกลาพระธรรม ขอบอกลาพระสงฆ์ ขอบอกลาสิกขา สมณะ
หญิงจะมีแต่สมณศากยธิดาเหล่านั้นกระนั้นหรือ แม้สมณะหญิงเหล่าอื่นผู้มี
ความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษาก็ยังมีอยู่ เราจะไปประพฤติ
พรหมจรรย์ในสำนักของสมณะหญิงเหล่านั้น” ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึง
ว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ท่านโกรธ ไม่พอใจ ก็อย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า
‘ดิฉันขอบอกลาพระพุทธ ขอบอกลาพระธรรม ขอบอกลาพระสงฆ์ ขอบอกลา
สิกขา สมณะหญิงจะมีแต่สมณศากยธิดากระนั้นหรือ แม้สมณะหญิงเหล่าอื่นผู้
มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษาก็มีอยู่ เราจะไปประพฤติ
พรหมจรรย์ในสำนักของสมณะหญิงเหล่านั้น’ ดังนี้ แม่เจ้า ท่านจงยินดีเถิด
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุด
ทุกข์โดยชอบเถิด” ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนอยู่อย่างนี้ ก็
ยังยืนยันอยู่อย่างนั้น ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์จนครบ
๓ ครั้งเพื่อให้สละเรื่องนั้น ถ้าเธอกำลังถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบ ๓ ครั้ง
สละเรื่องนั้นได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ แม้ภิกษุณีนี้ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส
ที่ชื่อว่ายาวตติยกะ นิสสารณียะ
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕๓ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๗ สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[๗๑๑] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า โกรธไม่พอใจ คือ ไม่ชอบใจ แค้นใจ เจ็บใจ
คำว่า กล่าวอย่างนี้ คือ กล่าวว่า “ดิฉันขอบอกลาพระพุทธ ขอบอกลาพระ
ธรรม ขอบอกลาพระสงฆ์ ขอบอกลาสิกขา สมณะหญิงจะมีแต่สมณศากยธิดา
เหล่านี้กระนั้นหรือ แม้สมณะหญิงเหล่าอื่นผู้มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่
การศึกษาก็มีอยู่ เราจะไปประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักสมณะหญิงเหล่านั้น”
คำว่า ภิกษุณีนั้น ได้แก่ ภิกษุณีผู้กล่าวอย่างนั้น
คำว่า อันภิกษุณีทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุณีเหล่าอื่น
ภิกษุณีทั้งหลายที่ได้เห็นได้ยินพึงว่ากล่าวตักเตือนว่า “แม่เจ้า ท่านโกรธ ไม่
พอใจ ก็อย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ดิฉันขอบอกลาพระพุทธ ขอบอกลาพระธรรม
ขอบอกลาพระสงฆ์ ขอบอกลาสิกขา สมณะหญิงจะมีแต่สมณศากยธิดาเหล่านี้
กระนั้นหรือ แม้สมณะหญิงเหล่าอื่นผู้มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การ
ศึกษาก็ยังมีอยู่ เราจะไปประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสมณะหญิงเหล่านั้น’ ดังนี้
แม่เจ้า ท่านจงยินดีเถิด พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว จงประพฤติ
พรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒ พึง
ว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินแล้วไม่ว่ากล่าว ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณีนั้นอัน
ภิกษุณีทั้งหลายพึงนำมาท่ามกลางสงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนว่า “แม่เจ้า ท่านโกรธ ไม่
พอใจ ก็อย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ดิฉันขอบอกลาพระพุทธ ขอบอกลาพระธรรม
ขอบอกลาพระสงฆ์ ขอบอกลาสิกขา สมณะหญิงจะมีแต่สมณศากยธิดาเหล่านี้
กระนั้นหรือ แม้สมณะหญิงเหล่าอื่นผู้มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕๔ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๗ สิกขาบทวิภังค์
ศึกษาก็ยังมีอยู่ เราจะไปประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสมณะหญิงเหล่านั้น’ ดังนี้
แม่เจ้า ท่านจงยินดีเถิด พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว จงประพฤติ
พรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒
พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้อง
อาบัติทุกกฏ ภิกษุณีนั้นอันสงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์
วิธีสวดสมนุภาสน์และกรรมวาจาสวดสมนุภาสน์
ภิกษุทั้งหลาย ก็สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีนั้นอย่างนี้ คือ ภิกษุณีผู้ฉลาด
สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
[๗๑๒] “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้โกรธ ไม่พอใจ กล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ดิฉันขอบอกลาพระพุทธ ขอบอกลาพระธรรม ขอบอกลาพระสงฆ์ ขอ
บอกลาสิกขา สมณะหญิงจะมีแต่สมณศากยธิดาเหล่านี้กระนั้นหรือ แม้สมณะหญิง
เหล่าอื่นผู้มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษาก็ยังมีอยู่ เราจะไป
ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสมณะหญิงเหล่านั้น’ เธอไม่ยอมสละเรื่องนั้น ถ้า
สงฆ์พร้อมกันแล้วพึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น นี่เป็นญัตติ
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้โกรธ ไม่พอใจ กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ดิฉัน
ขอบอกลาพระพุทธ ขอบอกลาพระธรรม ขอบอกลาพระสงฆ์ ขอบอกลาสิกขา
สมณะหญิงจะมีแต่สมณะศากยธิดาเหล่านี้กระนั้นหรือ แม้สมณะหญิงเหล่าอื่นผู้มี
ความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษาก็ยังมีอยู่ เราจะไปประพฤติพรหมจรรย์
ในสำนักของสมณะหญิงเหล่านั้น’ เธอไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวดสมนุภาสน์ภิกษุณี
ชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น แม่เจ้ารูปใดเห็นด้วยกับการสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อ
ให้สละเรื่องนั้น แม่เจ้ารูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่ ๒ ฯลฯ ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่ ๓
ฯลฯ
ภิกษุณีนี้สงฆ์สวดสมนุภาสน์เพื่อให้สละเรื่องนั้นแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๗ บทภาชนีย์
จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เมื่อเธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส
อาบัติทุกกฏ(ที่ต้อง)เพราะญัตติ ถุลลัจจัย(ที่ต้อง)เพราะกรรมวาจา ๒ ครั้ง ย่อม
ระงับไป
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า ยาวตติยกะ คือ ต้องอาบัติเพราะสวดสมนุภาสน์จบ ๓ ครั้ง ไม่ใช่
ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุ
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ฯลฯ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส
บทภาชนีย์
ติกสังฆาทิเสส
[๗๑๓] กรรม๑ที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ไม่สละ๒
ต้องอาบัติสังฆาทิเสส๓
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ไม่สละ ต้อง
อาบัติสังฆาทิเสส

เชิงอรรถ :
๑ “กรรม” หมายถึงญัตติจตุตถกรรมวาจาสำหรับสวดสมนุภาสน์
๒ “ไม่สละ” คือไม่สละเรื่องที่กล่าวด้วยอำนาจความโกรธว่า “ขอบอกลาพระพุทธ” เป็นต้นนั้น
๓ ต้องอาบัติสังฆาทิเสสหลังจากที่สงฆ์สวดสมนุภาสน์ครบ ๓ ครั้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๗ อนาปัตติวาร
ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๑๔] ๑. ภิกษุณียังไม่ถูกสวดสมนุภาสน์
๒. ภิกษุณียอมสละ
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕๗ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๘ นิทานวัตถุ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๘
ว่าด้วยภิกษุณีโกรธเพราะถูกตัดสินให้แพ้คดีในอธิกรณ์
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี
[๗๑๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีจัณฑกาลีถูกตัดสินให้แพ้
คดีในอธิกรณ์หนึ่ง๑ โกรธ ไม่พอใจ กล่าวอย่างนี้ว่า “พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชอบ
พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชัง พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะหลง และพวกภิกษุณี
ลำเอียงเพราะกลัว”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าจัณฑกาลี เมื่อถูกตัดสินให้แพ้คดีในอธิกรณ์หนึ่งแล้วโกรธ ไม่พอใจ กล่าว
อย่างนี้ว่า ‘พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชอบ พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชัง พวก
ภิกษุณีลำเอียงเพราะหลง และพวกภิกษุณีลำเอียงเพราะกลัวเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีจัณฑกาลีถูกตัดสินให้
แพ้คดีในอธิกรณ์หนึ่งโกรธ ไม่พอใจ กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชอบ
พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชัง พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะหลง และพวกภิกษุณี
ลำเอียงเพราะกลัว’ ดังนี้ จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีผู้จัณฑกาลี
เมื่อถูกตัดสินให้แพ้คดีในอธิกรณ์หนึ่งโกรธ ไม่พอใจ กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกภิกษุณี

เชิงอรรถ :
๑ “อธิกรณ์หนึ่ง” หมายถึงอธิกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในอธิกรณ์ ๔ (วิ.อ. ๒/๗๑๕/๔๘๐, ดู อธิกรณ์ ๔
ในสิกขาบทวิภังค์แห่งสิกขาบทนี้ และใน วิ.ป. ๘/๓๔๘/๓๒๓-๓๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕๘ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๘ สิกขาบทวิภังค์
ลำเอียงเพราะชอบ พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชัง พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะหลง
และพวกภิกษุณีลำเอียงเพราะกลัวเล่า’ ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๗๑๖] ก็ภิกษุณีใดถูกตัดสินให้แพ้คดีในอธิกรณ์หนึ่ง โกรธ ไม่พอใจ จึง
กล่าวอย่างนี้ว่า “พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชอบ พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชัง
พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะหลง และพวกภิกษุณีลำเอียงเพราะกลัว” ภิกษุณีนั้น
อันภิกษุณีทั้งหลายพึงว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ท่านเมื่อถูกตัดสิน
ให้แพ้คดีในอธิกรณ์หนึ่งโกรธ ไม่พอใจ ก็อย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกภิกษุณี
ลำเอียงเพราะชอบ พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชัง พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะ
หลง และพวกภิกษุณีลำเอียงเพราะกลัว’ แม่เจ้าเองก็ยังลำเอียงเพราะชอบบ้าง
ลำเอียงเพราะชังบ้าง ลำเอียงเพราะหลงบ้าง ลำเอียงเพราะกลัวบ้าง” ภิกษุณี
นั้นอันภิกษุณีทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนอยู่อย่างนี้ก็ยังยืนยันอยู่อย่างนั้น ภิกษุณี
นั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์จนครบ ๓ ครั้งเพื่อให้สละเรื่องนั้น ถ้า
เธอกำลังถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบ ๓ ครั้งสละเรื่องนั้นได้ นั่นเป็นการดี ถ้า
ไม่สละ แม้ภิกษุณีนี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสที่ชื่อว่ายาวตติยกะ นิสสารณียะ
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๗๑๗] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕๙ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๘ สิกขาบทวิภังค์
คำว่า ในอธิกรณ์หนึ่ง คือ ที่ชื่อว่า อธิกรณ์ ได้แก่ อธิกรณ์ ๔ อย่าง๑ คือ
(๑) วิวาทาธิกรณ์ (๒) อนุวาทาธิกรณ์ (๓) อาปัตตาธิกรณ์ (๔) กิจจาธิกรณ์
ที่ชื่อว่า ถูกตัดสินให้แพ้คดี พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงผู้แพ้คดี
คำว่า โกรธไม่พอใจ คือ ไม่ชอบใจ แค้นใจ เจ็บใจ
คำว่า กล่าวอย่างนี้ คือ กล่าวว่า พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชอบ ฯลฯ
และพวกภิกษุณีลำเอียงเพราะกลัว
คำว่า ภิกษุณีนั้น คือ ภิกษุณีผู้กล่าวอย่างนั้น
คำว่า อันภิกษุณีทั้งหลาย คือ อันภิกษุณีเหล่าอื่น
ภิกษุณีทั้งหลายที่ได้เห็นได้ยินพึงว่ากล่าวตักเตือนว่า “แม่เจ้า ท่านถูกตัดสิน
ให้แพ้คดีในอธิกรณ์หนึ่งแล้ว โกรธ ไม่พอใจ ก็อย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกภิกษุณี
ลำเอียงเพราะชอบ ฯลฯ และพวกภิกษุลำเอียงเพราะกลัว แม่เจ้าเองก็ยังลำเอียง
เพราะชอบบ้าง ฯลฯ ลำเอียงเพราะกลัวบ้าง” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒
พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้อง
อาบัติทุกกฏ ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินแล้วไม่ตักเตือน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณีนั้น
อันภิกษุณีทั้งหลายพึงพามาท่ามกลางสงฆ์แล้วว่ากล่าวตักเตือนว่า “แม่เจ้า ท่าน
เมื่อถูกตัดสินให้แพ้คดีในอธิกรณ์หนึ่งแล้ว โกรธ ไม่พอใจ ก็อย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า
‘พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชอบ ฯลฯ และพวกภิกษุณีลำเอียงเพราะกลัว’ ดังนี้
แม่เจ้าเองก็ยังลำเอียงเพราะชอบบ้าง ฯลฯ ลำเอียงเพราะกลัวบ้าง” พึงว่ากล่าว
ตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒ พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็น
การดี ถ้าไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณีนั้นอันสงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์

เชิงอรรถ :
๑ อธิกรณ์ ๔ อย่าง คือ
๑. วิวาทาธิกรณ์ ได้แก่ การเถียงกันว่า นี้เป็นธรรมวินัย นี้ไม่ใช่ธรรมวินัยเป็นต้น
๒. อนุวาทาธิกรณ์ ได้แก่ การโจทกันด้วยศีลวิบัติ อาจารวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ หรืออาชีววิบัติ
๓. อาปัตตาธิกรณ์ ได้แก่ การต้องอาบัติ การปรับอาบัติและแก้ต่างให้พ้นอาบัติ
๔. กิจจาธิกรณ์ ได้แก่ กิจธุระของสงฆ์ เช่น อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม
ญัตติจตุตถกรรม มีการสวดปาติโมกข์เป็นต้น (ดู วิ.ป. ๘/๓๔๘/๒๒๒-๒๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๖๐ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๘ สิกขาบทวิภังค์
วิธีสวดสมนุภาสน์และกรรมวาจาสวดสมนุภาสน์
ภิกษุทั้งหลาย ก็สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีนั้นอย่างนี้ คือ ภิกษุณีผู้ฉลาด
สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
[๗๑๘] “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้ถูกตัดสินให้แพ้คดีใน
อธิกรณ์หนึ่ง โกรธ ไม่พอใจ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชอบ
ฯลฯ และพวกภิกษุณีลำเอียงเพราะกลัว” เธอไม่สละเรื่องนั้น ถ้าสงฆ์พร้อมกัน
แล้วพึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น นี่เป็นญัตติ
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้ถูกตัดสินให้แพ้คดีในอธิกรณ์เรื่องหนึ่ง
โกรธ ไม่พอใจ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชอบ ฯลฯ และ
พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะกลัว’ เธอไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้
เพื่อให้สละเรื่องนั้น แม่เจ้ารูปใดเห็นด้วยกับการสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้
สละเรื่องนั้น แม่เจ้ารูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
ดิฉันกล่าวความนี้แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ ดิฉันกล่าวความนี้แม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ
ภิกษุณีชื่อนี้สงฆ์สวดสมนุภาสน์แล้วเพื่อให้สละเรื่องนั้น สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เมื่อเธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส
อาบัติทุกกฏ(ที่ต้อง)เพราะญัตติ อาบัติถุลลัจจัย(ที่ต้อง)เพราะกรรมวาจา ๒ ครั้ง
ย่อมระงับไป
คำว่า ภิกษุณีแม้นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า ยาวตติยกะ คือ ต้องอาบัติเพราะสวดสมนุภาสน์จบ ๓ ครั้ง ไม่ใช่
ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุ
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ฯลฯ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๖๑ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๘ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกสังฆาทิเสส
[๗๑๙] กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ไม่สละ
ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ไม่สละ ต้อง
อาบัติสังฆาทิเสส
ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๒๐] ๑. ภิกษุณียังไม่ถูกสงฆ์สวดสมนุภาสน์
๒. ภิกษุณีผู้สละ
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๖๒ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๙ นิทานวัตถุ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๙
ว่าด้วยภิกษุณีมีความประพฤติเลวทราม
เรื่องภิกษุณีอันเตวาสินีของภิกษุณีถุลลนันทา
[๗๒๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีอันเตวาสินีของภิกษุณี
ถุลลนันทาอยู่คลุกคลีกัน๑ มีความประพฤติเลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย
มีชื่อเสียงไม่ดี๒ มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของกันและกัน
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุณีจึงอยู่คลุกคลีกัน มีความประพฤติเลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย
มีชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของกันและกันเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบพวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีอยู่คลุกคลีกัน มี
ความประพฤติเลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียน
ภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของกันและกัน จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระ
พุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวก
ภิกษุณีจึงอยู่คลุกคลีกัน มีความประพฤติเลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มี
ชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของกันและกันเล่า ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
ให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ “อยู่คลุกคลีกัน” ในที่นี้หมายถึงอยู่คลุกคลีกันกับพวกคฤหัสถ์ทั้งทางกาย เช่น การตำข้าว หุงข้าว บดของ
หอม ร้อยดอกไม้ เป็นต้น และทางวาจา เช่น การช่วยส่งข่าวสาร การชักสื่อ เป็นต้น (วิ.อ. ๒/๗๒๓/๔๘๐)
๒ “มีชื่อเสียงไม่ดี” คือมีความเป็นอยู่ที่เสื่อมเสีย มีอาชีพไม่เหมาะสม (วิ.อ. ๒/๗๒๓/๔๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๖๓ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๙ สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๗๒๒] ก็ภิกษุณีทั้งหลายอยู่คลุกคลีกัน มีความประพฤติเลวทราม มี
กิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ปกปิด
โทษของกันและกัน ภิกษุณีเหล่านั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงว่ากล่าวตักเตือน
อย่างนี้ว่า “น้องหญิงทั้งหลายอยู่คลุกคลีกัน มีความประพฤติเลวทราม มี
กิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ปกปิด
โทษของกันและกัน น้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจงแยกกันอยู่เถิด สงฆ์ย่อม
สรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิงทั้งหลายเท่านั้น” ภิกษุณีเหล่านั้นอัน
ภิกษุณีทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนอยู่อย่างนี้ ก็ยังยืนยันอยู่อย่างนั้น ภิกษุณี
เหล่านั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์จนครบ ๓ ครั้งเพื่อให้สละเรื่องนั้น
ถ้าพวกเธอกำลังถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบ ๓ ครั้งสละเรื่องนั้นได้ นั่นเป็น
การดี ถ้าไม่สละ แม้ภิกษุณีเหล่านี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสที่ชื่อว่ายาวตติยกะ
นิสสารณียะ
เรื่องภิกษุณีอันเตวาสินีของภิกษุณีถุลลนันทา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๗๒๓] คำว่า ก็ ภิกษุณีทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงมาตุคามที่
อุปสมบทแล้ว
คำว่า อยู่คลุกคลีกัน คือ ที่ชื่อว่า คลุกคลีกัน ได้แก่ อยู่คลุกคลีกันทาง
กายและทางวาจาที่ไม่เหมาะสม
คำว่า มีความประพฤติเลวทราม คือ ประกอบด้วยความประพฤติเลวทราม
คำว่า มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย คือ มีกิตติศัพท์เสื่อมเสียขจรไป
คำว่า มีชื่อเสียงไม่ดี คือ เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาอาชีวะเลวทราม
คำว่า มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ คือ เมื่อถูกสงฆ์ทำกรรมแก่พวกเดียวกัน
ก็คัดค้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๖๔ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๙ สิกขาบทวิภังค์
คำว่า ปกปิดโทษของกันและกัน คือ ปกปิดความผิดของกันและกันไว้
คำว่า ภิกษุณีเหล่านั้น ได้แก่ ภิกษุณีที่อยู่คลุกคลีกัน
คำว่า อันภิกษุณีทั้งหลาย ได้แก่ อันภิกษุณีเหล่าอื่น
ภิกษุณีทั้งหลายที่ได้เห็นได้ทราบพึงว่ากล่าวตักเตือนว่า “น้องหญิงทั้งหลายอยู่
คลุกคลีกัน มีความประพฤติเลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี
มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของกันและกัน น้องหญิงทั้งหลาย พวกท่าน
จงแยกกันอยู่เถิด สงฆ์ย่อมสรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิงทั้งหลายเท่านั้น”
พึงว่ากล่าวตักเตือนพวกเธอแม้ครั้งที่ ๒ พึงว่ากล่าวตักเตือนพวกเธอแม้ครั้งที่ ๓
ถ้าพวกเธอสละได้นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณีทั้งหลายได้ยิน
แล้วไม่ว่ากล่าวตักเตือน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณีเหล่านั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึง
นำมาท่ามกลางสงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนว่า “น้องหญิงทั้งหลายอยู่คลุกคลีกัน มีความ
ประพฤติเลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียน
ภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของกันและกัน น้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจงแยกกันอยู่
เถิด สงฆ์ย่อมสรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิงทั้งหลายเท่านั้น” พึงว่ากล่าว
ตักเตือนพวกเธอแม้ครั้งที่ ๒ พึงว่ากล่าวตักเตือนพวกเธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าพวกเธอ
สละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณีเหล่านั้นอันสงฆ์พึงสวด
สมนุภาสน์
วิธีสวดสมนุภาสน์และกรรมวาจาสวดสมนุภาสน์
ภิกษุทั้งหลาย ก็สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีเหล่านั้นอย่างนี้ คือ ภิกษุณี
ผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
[๗๒๔] “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้และชื่อนี้อยู่คลุกคลีกัน มี
ความประพฤติเลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียน
ภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของกันและกัน พวกเธอไม่สละเรื่องนั้น ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว
พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้และชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น นี่เป็นญัตติ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๖๕ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๙ บทภาชนีย์
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชี่อนี้และชื่อนี้อยู่คลุกคลีกัน มีความ
ประพฤติเลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียน
ภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของกันและกัน พวกเธอยังไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวด
สมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้และชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น แม่เจ้ารูปใดเห็นด้วยกับการสวด
สมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้และชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น แม่เจ้ารูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใด
ไม่เห็นด้วย แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
ข้าพเจ้ากล่าวข้อความนี้แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ ข้าพเจ้ากล่าวข้อความนี้แม้ครั้ง
ที่ ๓ ฯลฯ
ภิกษุณีชื่อนี้และชื่อนี้สงฆ์สวดสมนุภาสน์เพื่อให้สละเรื่องนั้น สงฆ์เห็นด้วย
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เมื่อเธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส
อาบัติทุกกฏ(ที่ต้อง)เพราะญัตติ อาบัติถุลลัจจัย(ที่ต้อง)เพราะกรรมวาจา ๒ ครั้ง
ย่อมระงับไป
สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณี ๒-๓ รูปคราวเดียวกัน ไม่พึงสวดสมนุภาสน์
ภิกษุณีมากกว่านั้นคราวเดียวกัน
คำว่า แม้ภิกษุณีเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า ยาวตติยกะ คือ ต้องอาบัติเพราะสวดสมนุภาสน์จบ ๓ ครั้ง ไม่ใช่
ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุ
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ฯลฯ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส
บทภาชนีย์
[๗๒๕] กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ไม่สละ
ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๖๖ }

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๙ อนาปัตติวาร
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ไม่สละ ต้อง
อาบัติสังฆาทิเสส
ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๒๖] ๑. ภิกษุณียังไม่ถูกสวดสมนุภาสน์
๒. ภิกษุณีผู้สละ
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีมีจิตฟุ้งซ่าน
๕. ภิกษุณีกระสับกระส่ายเพราะเวทนา
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๖๗ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น