Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๔-๑ หน้า ๑ - ๔๔

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๔-๑ วินัยปิฎกที่ ๐๔ มหาวรรค ภาค ๑



พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑.โพธิกถา

พระวินัยปิฎก
มหาวรรค ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. มหาขันธกะ

๑. โพธิกถา๑
ว่าด้วยเหตุการณ์แรกตรัสรู้ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์

เรื่องทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท
[๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้น
โพธิพฤกษ์๒ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคได้
ประทับนั่งโดยบัลลังก์เดียว๓เสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์เป็นเวลา ๗ วัน
ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท๔ โดยอนุโลมและปฏิโลมตลอด
ปฐมยามแห่งราตรีว่า

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.อุ. ๒๕/๑-๔/๙๓-๙๖
๒ วิหรติ ... โพธิรุกฺขมูเล ป�มาภิสมฺพุทฺโธ เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์ ฎีกาอธิบาย
ว่า “อภิสมฺพุทฺโธ หุตฺวา สพฺพป�มํ โพธิรุกฺขมูเล วิหรติ ตรัสรู้แล้ว ประทับนั่ง ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์
ก่อนที่อื่นทั้งหมด” (วิมติ.ฏีกา ๒/๑/๑๐๘)
๓ นั่งโดยบัลลังก์เดียว หมายถึงนั่งขัดสมาธิโดยไม่ลุกขึ้นเลยตลอด ๗ วัน (วิ.อ. ๓/๑/๓)
๔ มนสิการปฏิจจสมุปบาท แปลว่า พิจารณาโดยถ้วนถี่ ใส่ใจโดยถ้วนถี่ พิจารณาโดยแยบคายซึ่งปฏิจจ-
สมุปบาท คือธรรมที่อาศัยกันและกันแล้วยังธรรมที่เกิดร่วมกันให้เกิดขึ้น (วิ.อ. ๓/๑/๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑.โพธิกถา
ปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาสจึงมี

กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้
ปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ๑ สังขารจึงดับ

เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ


เชิงอรรถ :
๑ วิราคะ ในที่นี้หมายถึงมรรค (วิ.อ. ๓/๑/๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑. โพธิกถา

เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาสจึงดับ

กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการดับด้วยอาการอย่างนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ใน
เวลานั้นว่า
พุทธอุทานคาถาที่ ๑๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะมารู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ๒
[๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลมและ
ปฏิโลม ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรีว่า
ปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี


เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานที่ ๑ เกิดขึ้นด้วยอำนาจการที่ทรงพิจารณาปัจจยาการหรือปฏิจจสมุปบาท (วิ.อ. ๓/๓/๖)
๒ ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงโพธิปักขิยธรรมที่ให้สำเร็จการตรัสรู้ปัจจยาการ(หรือปฏิจจสมุปบาท)โดย
อนุโลม(และปฏิโลม) (วิ.อ. ๓/๑/๕)
พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพผู้ลอยบาปธรรมเสียได้ (วิ.อ. ๓/๑/๕)
ธรรม ในที่นี้หมายถึงธรรมคือกองทุกข์ทั้งสิ้นมีสังขารเป็นต้น พร้อมทั้งเหตุคืออวิชชาเป็นต้น (วิ.อ. ๓/๑/๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑.โพธิกถา

เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาสจึงมี

กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้
ปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ

เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาสจึงดับ

กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการดับด้วยอาการอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑.โพธิกถา
ลำดับนั้น ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่ง
อุทานนี้ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทานคาถาที่ ๒๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย
[๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลมและ
ปฏิโลมตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรีว่า
ปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาสจึงมี

กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานที่ ๒ เกิดขึ้นด้วยอำนาจการที่ทรงพิจารณานิพพาน (วิ.อ. ๓/๓/๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑. โพธิกถา
ปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ

เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาสจึงดับ

กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการดับด้วยอาการอย่างนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทานคาถาที่ ๓๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
เมื่อนั้น พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนา๒เสียได้
ดุจพระอาทิตย์อุทัยขึ้นสาดส่องท้องฟ้าให้สว่างไสวฉะนั้น
โพธิกถา จบ

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานที่ ๓ นี้ เกิดขึ้นด้วยอำนาจการที่ทรงพิจารณามรรค (วิ.อ. ๓/๓/๖)
๒ มารและเสนามาร ในที่นี้หมายถึงกามทั้งหลาย (วิ.อ. ๓/๓/๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒. อชปาลกถา
๒. อชปาลกถา
ว่าด้วยเหตุการณ์ขณะประทับอยู่ ณ ควงต้นอชปาลนิโครธ
เรื่องทรงแสดงธรรมเป็นเหตุให้เป็นพราหมณ์
[๔] ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น แล้วเสด็จ
จากควงต้นโพธิพฤกษ์ ไปยังควงต้นอชปาลนิโครธ๑ ครั้นถึงแล้ว จึงประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียวเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ควงต้นอชปาลนิโครธเป็นเวลา ๗ วัน
ครั้งนั้น พราหมณ์หุหุกชาติ๒ผู้หนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้ว ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกันและกันแล้วได้ยืน ณ ที่สมควร พราหมณ์นั้นผู้ยืน ณ ที่สมควรแล้วแล
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “พระโคดมผู้เจริญ บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์
ด้วยเหตุเพียงไรหนอ ก็และธรรมเหล่าไหนที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พราหมณ์ใด ลอยบาปธรรมเสีย ไม่ตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ
ไม่มีกิเลสดุจน้ำฝาด สำรวมตน๓เรียนจบพระเวท๔อยู่จบพรหมจรรย์๕
พราหมณ์นั้น ไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้นในอารมณ์ไหน ๆ ในโลก
ควรกล่าววาทะว่า เราเป็นพราหมณ์โดยธรรม
อชปาลกถา จบ

เชิงอรรถ :
๑ นิโครธ แปลว่า ต้นไทร ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Banyan” หรือ “Indian Fig-tree” ไม้จำพวกไทรหรือกร่าง
ของอินเดีย พวกคนเลี้ยงแพะชอบมานั่งที่ร่มเงาของต้นนิโครธนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อชปาลนิโครธ
(วิ.อ. ๓/๔/๘; PALI-ENGLISH DICTIONARY, P.355, Edited by T.W. RHYS DAVIDS and
WILLIAM STEDE)
๒ หุหุกชาติ คือ ชอบตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ พราหมณ์นี้มีทิฏฐิว่า “สิ่งที่เห็นแล้วเป็นมงคล” ชอบเที่ยวตวาดว่า
หึ หึ เพราะความถือตัวและเพราะความโกรธ (ดู ขุ.อุ. ๒๕/๔/๙๖)
๓ สำรวมตน หมายถึงมีจิตมุ่งมั่นอยู่ในภาวนาหรือสำรวมด้วยศีลสังวร (วิ.อ. ๓/๔/๙)
๔ เรียนจบพระเวท หมายถึงบรรลุมรรคญาณ ๔ (โสดาปัตติมรรค,สกทาคามิมรรค,อนาคามิมรรค,อรหัตต-
มรรค) หรือเรียนจบเวท ๓ (ฤคเวท,ยชุรเวท,สามเวท) (วิ.อ. ๓/๔/๙)
๕ อยู่จบพรหมจรรย์ หมายถึงจบมรรคพรหมจรรย์ (วิ.อ. ๓/๔/๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๓. มุจลินทกถา
๓. มุจลินทกถา
ว่าด้วยเหตุการณ์ขณะประทับอยู่ ณ ควงต้นมุจลินท์
เรื่องทรงเปล่งอุทานปรารภความสุข
[๕] ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น แล้วเสด็จ
จากควงต้นอชปาลนิโครธไปยังควงต้นมุจลินท์๑ ครั้นถึงแล้ว จึงประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียวเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ควงต้นมุจลินท์เป็นเวลา ๗ วัน
ครั้งนั้น ได้บังเกิดเมฆใหญ่ขึ้นในสมัยมิใช่ฤดูกาล เป็นฝนเจือลมหนาวตกพรำตลอด
๗ วัน ลำดับนั้น พญานาคมุจลินท์ได้ออกจากที่อยู่ของตนไปโอบรอบพระกายของ
พระผู้มีพระภาคด้วยขนด ๗ รอบ แผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเหนือพระเศียรด้วยหวังว่า
“ความหนาว อย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค ความร้อน อย่าได้เบียดเบียน
พระผู้มีพระภาค สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลานอย่าได้เบียดเบียน
พระผู้มีพระภาค”
ครั้น ๗ วันผ่านไป พญานาคมุจลินท์รู้ว่า ฝนหายปลอดเมฆแล้ว จึงคลาย
ขนดออกจากพระกายของพระผู้มีพระภาค จำแลงร่างของตนเป็นมาณพ ยืนประนมมือ
ถวายอภิวาทอยู่เบื้องพระพักตร์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทานคาถา
ความสงัด๒เป็นสุขของบุคคลผู้สันโดษ
ผู้มีธรรมปรากฏแล้ว ผู้เห็นอยู่

เชิงอรรถ :
๑ มุจลินท์ คือ ต้นจิกนา ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “The Tree Barringtonai Acutangula” ต้นมุจลินท์นี้
เป็นเจ้าแห่งต้นมุจละ (PALI-ENGLISH DICTIONARY, P.535, COL. 1, Edited by T.W. RHYS
DAVIDS and WILLIAM STEDE)
๒ ความสงัด ในที่นี้หมายถึงธรรมเป็นที่สงบระงับสังขารทั้งปวง คือ นิพพานนั่นเอง (วิ.อ. ๓/๕/๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔.ราชายตนกถา
ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก
ความปราศจากราคะคือความล่วงกามทั้งหลายได้ เป็นสุขในโลก
ความกำจัดอัสมิมานะ(ความถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่)เสียได้
เป็นสุขอย่างยิ่ง๑
มุจลินทกถา จบ
๔. ราชายตนกถา
ว่าด้วยเหตุการณ์ขณะประทับอยู่ ณ ควงต้นราชายตนะ
เรื่องทรงพบกับตปุสสะและภัลลิกะ
[๖] ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น แล้วเสด็จ
จากควงต้นมุจลินท์ไปยังควงต้นราชายตนะ๒ ครั้นถึงแล้วจึงประทับนั่งโดยบัลลังก์เดียว
เสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ควงต้นราชายตนะเป็นเวลา ๗ วัน
ครั้งนั้น พ่อค้า ๒ คนชื่อตปุสสะและภัลลิกะ เดินทางไกลจากอุกกลชนบท
มาถึงที่นั้น ขณะนั้น เทวดาผู้เป็นญาติร่วมสายโลหิตของตปุสสะและภัลลิกะพ่อค้า
ทั้งสอง ได้กล่าวว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ เมื่อแรกตรัสรู้
ประทับอยู่ ณ ควงต้นราชายตนะ ท่านทั้งสองจงไปต้อนรับพระองค์ด้วยข้าวตูผงและ
ข้าวตูก้อนปรุงด้วยน้ำผึ้งเถิด การบูชาของท่านทั้งสองจักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขสิ้น
กาลนาน”
ต่อมา ตปุสสะและภัลลิกะ ได้ถือข้าวตูผงและข้าวตูก้อนปรุงด้วยน้ำผึ้งเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “พระองค์

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.อุ. ๒๕/๑๑/๑๐๕
๒ ราชายตนะ แปลกันว่า ต้นเกด ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Buchania Latifolia” และอธิบายเพิ่มเติมว่า
เป็นต้นไม้หลวง เป็นที่สิงสถิตของเทพแห่งนางไม้ทั้งหลาย (PALI-ENGLISH DICTIONARY, P.569,
COL. 2, Edited by T.W. RHYS DAVIDS and WILLIAM STEDE)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔. ราชายตนกถา
ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดทรงรับข้าวตูผลและข้าวตูก้อนปรุงด้วยนำผึ้ง ซึ่งจะเป็นไป
เพื่อประโยชน์สุขสิ้นกาลนานแก่ข้าพระองค์ทั้งสองเถิด”
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า “พระตถาคตทั้งหลายไม่ทรงรับ
ภัตตาหารด้วยพระหัตถ์เลย เราจะพึงรับข้าวตูผงและข้าวตูก้อนปรุงด้วยน้ำผึ้งอย่างไร
หนอ”
ทันใดนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ทราบความดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาค
ด้วยใจของตน ๆ จึงนำบาตรศิลา ๔ ใบมาจาก ๔ ทิศ เข้าไปถวายแล้ว
ทูลว่า “ขอพระองค์โปรดทรงรับข้าวตูผงและข้าวตูก้อนปรุงน้ำผึ้ง ด้วยบาตรนี้เถิด
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับข้าวตูผงและข้าวตูก้อนปรุงด้วยน้ำผึ้งด้วยบาตรศิลาใหม่
เอี่ยมแล้วเสวย
ต่อมา ตปุสสะและภัลลิกะได้กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้ง
สองนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมเป็นสรณะ ขอพระองค์โปรดทรงจำ
ข้าพระองค์ทั้งสองว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนตลอดชีวิต”
ตปุสสะและภัลลิกะนั้น ได้เป็นเทฺววาจิกอุบาสก(ผู้กล่าววาจาถึงรัตนะ ๒ ว่า
เป็นสรณะ)เป็นพวกแรกในโลกแล
ราชายตนกถา จบ๑

เชิงอรรถ :
๑ สรุปสถานที่สำคัญที่พระผู้มีพระภาค เสด็จประทับหลังจากตรัสรู้แล้วตามนัยแห่งอรรถกถา ดังนี้
สัปดาห์ที่ ๑ ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิ์
สัปดาห์ที่ ๒ ประทับอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นโพธิ์ เรียกว่า อนิมิสสเจดีย์
สัปดาห์ที่ ๓ เสด็จจงกรมไปมาระหว่างต้นโพธิ์กับอนิมิสสเจดีย์ เรียกบริเวณนั้นว่า รตนจงกรมเจดีย์
สัปดาห์ที่ ๔ ประทับอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นโพธิ์ เรียกบริเวณนั้นว่า รตนฆรเจดีย์
สัปดาห์ที่ ๕ ประทับอยู่ ณ ต้นอชปาลนิโครธ อยู่ห่างไกลออกไป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของต้นโพธิ์
สัปดาห์ที่ ๖ ประทับอยู่ ณ ต้นมุจลินท์ อยู่ห่างไกลออกไป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นโพธิ์
สัปดาห์ที่ ๗ ประทับอยู่ ณ ต้นราชายตนะ อยู่ห่างไกลออกไป ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของต้นโพธิ์
(วิ.อ. ๓/๔-๖/๘-๑๒, ขุ.พุทฺธ.อ. ๔๑๙-๔๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕.พรหมยาจนกถา
๕. พรหมยาจนกถา
ว่าด้วยพรหมอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม
เรื่องทรงพิจารณาความลึกซึ้งแห่งปฏิจสมุปบาท
[๗] ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธิ แล้วเสด็จจาก
ควงต้นราชายตนะไปยังต้นอชปาลนิโครธ ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ ควงต้น
อชปาลนิโครธนั้น ขณะเมื่อทรงหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงเกิดความดำริขึ้นในพระ
ทัยว่า๑ “ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต
ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ สำหรับหมู่ประชาผู้รื่นรมย์ด้วย
อาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย๒ ฐานะอันนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าว
คือหลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสมุปบาท ถึงแม้ฐานะอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากนัก
กล่าวคือความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ
นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะ
พึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา”
อนึ่งเล่า อนัจฉริยคาถาเหล่านี้ที่ไม่เคยทรงสดับมาก่อน ได้ปรากฏแจ่มแจ้ง
แก่พระผู้มีพระภาคว่า
อนัจฉริยคาถา
บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรมที่เราได้บรรลุด้วยความลำบาก
เพราะธรรมนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกราคะและโทสะครอบงำ จะรู้ได้ง่าย
แต่เป็นสิ่งพาทวนกระแส๓ ละเอียด ลึกซึ้ง รู้เห็นได้ยาก ประณีต
ผู้กำหนัดด้วยราคะ ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ ม.มู. ๑๒/๒๘๑/๒๔๒, ม.ม. ๑๓/๓๓๗/๓๑๙
๒ อาลัย คือกามคุณ ๕ ที่สัตว์พัวพัน ยินดี เพลิดเพลิน (วิ.อ. ๓/๗/๑๓) เป็นชื่อเรียกกิเลส ๒ อย่างคือ กามคุณ
๕ และตัณหาวิจริต ๑๐๘ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๗/๑๘๔) ดู อภิ.วิ. (แปล)๓๕/๙๗๓-๙๗๖/๖๒๒-๖๓๔
๓ พาทวนกระแส ในที่นี้หมายถึงพาเข้าถึงนิพพาน (วิ.อ. ๓/๗/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕.พรหมยาจนกถา
เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาดังนี้ พระทัยก็น้อมไปเพื่อการขวนขวายน้อย มิได้
น้อมไปเพื่อแสดงธรรม
[๘] ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบความดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาค
ด้วยใจของตน ได้มีความดำริว่า “ท่านผู้เจริญเอ๋ย โลกจะฉิบหายหนอ โลกจะ
พินาศหนอ เพราะพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยไปเพื่อ
การขวนขวายน้อย มิได้น้อมพระทัยไปเพื่อทรงแสดงธรรม” จึงหายไปจากพรหม
โลกมาปรากฏ ณ เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เปรียบประหนึ่งบุรุษมีกำลัง
เหยียดแขนออก หรือคู้แขนเข้าฉะนั้น แล้วห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
คุกเข่าเบื้องขวาลงบนแผ่นดิน ประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับพลางทูล
ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดแสดงธรรม ขอพระสุคตเจ้าได้
โปรดแสดงธรรม เพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในตาน้อยมีอยู่๑ สัตว์เหล่านั้นย่อม
เสื่อมเพราะไม่ได้สดับธรรม เพราะจักมีผู้รู้ธรรม๒”
ท้าวสหัมบดีพรหมได้ทูลอาราธนาดังนี้ แล้วได้ทูลเป็นประพันธคาถาต่อไปว่า
พรหมนิคมคาถา
ในกาลก่อน ธรรมที่ไม่บริสุทธิ์อันคนที่มีมลทิน๓คิดค้นไว้
ปรากฏในแคว้นมคธ
พระองค์ โปรดทรงเปิดประตูอมตธรรมนั้นเถิด
ขอเหล่าสัตว์ จงฟังธรรมที่พระสัมพุทธเจ้าผู้ปราศจากมลทิน
ได้ตรัสรู้แล้วตามลำดับ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงมีธุลีคือราคะ โทสะ โมหะ ปิดบังดวงตาปัญญาเบาบาง (วิ.อ. ๗๘-๙/๑๔-๑๕)
๒ เหตุการณ์นี้เป็นที่มาแห่งพิธีอาราธนาพระสงฆ์แสดงธรรม(ดู ขุ.พุทธ. ๓๓/๑/๔๓๕)
๓ คนที่มีมลทิน ในที่นี้หมายถึงครูทั้ง ๖ (วิ.อ. ๓/๘/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕.พรหมยาจนกถา
ข้าแต่พระองค์ผู้มีปัญญาดี มีสมันตจักษุ
บุรุษผู้ยืนอยู่บนยอดเขาศิลาล้วน พึงเห็นหมู่ชนได้
โดยรอบ ฉันใด
พระองค์ผู้หมดความโศกแล้ว ก็ฉันนั้น
โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรมแล้ว
จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความโศกและถูกชาติชรา
ครอบงำได้ชัดเจน
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ผู้ชนะสงคราม ผู้นำหมู่
ผู้ไม่มีหนี้ ขอพระองค์โปรดลุกขึ้นเสด็จจาริกไปในโลก
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดจงทรงแสดง
ธรรม เพราะจักมีผู้รู้ธรรม
[เมื่อท้าวสหัมบดีพรหมได้กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับ
ท้าวสหัมบดีพรหมว่า พรหม แม้เราเองก็มีความดำริว่า ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้
... จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา พรหม อนึ่งเล่า อนัจฉริยคาถาเหล่านี้ที่
ไม่เคยสดับมาก่อนได้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่เราว่า
บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรมที่เราได้บรรลุ ด้วยความลำบาก
... แต่เป็นสิ่งพาทวนกระแส ...
พรหม เมื่อเราพิจารณาแจ้งชัดดังนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อการขวนขวายน้อย
หาน้อมไปเพื่อแสดงธรรมไม่
แม้ครั้งที่ ๒ ท้าวสหัมบดีพรหมก็ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี
พระภาคได้โปรดแสดงธรรม ... เพราะจักมีผู้รู้ธรรม”
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า “พรหม แม้เราเองก็มีความคิด
ว่า... หาน้อมไปเพื่อแสดงธรรมไม่”
แม้ครั้งที่ ๓ ท้าวสหัมบดีพรหมก็ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี
พระภาคได้โปรดแสดงธรรม ... เพราะจักมีผู้รู้ธรรม”]

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕. พรหมยาจนกถา
เรื่องทรงพิจารณาเวไนยสัตว์เปรียบด้วยดอกบัว๑
[๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงรับคำทูลอาราธนาของพรหม และเพราะ
อาศัยพระกรุณาในหมู่สัตว์ ทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ๒ เมื่อทรงตรวจดูโลก
ด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในตาน้อย มีธุลีในตามาก๓ มีอินทรีย์แก่กล้า
มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวก
มักเห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัวก็มี บางพวกมักไม่เห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัวก็มี
มีอุปมาเหมือนในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม
ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ ดอกอุบล
ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำอยู่เสมอน้ำ ดอกอุบล
ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ขึ้นพ้นน้ำ ไม่แตะน้ำ ฉันใด
พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีธุลีใน
ตาน้อย มีธุลีในตามาก มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการ
ทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวกมักเห็นปรโลกและโทษว่าเป็น
สิ่งน่ากลัวก็มี บางพวกมักไม่เห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งน่ากลัวก็มี ฉันนั้น๔

เชิงอรรถ :
๑ ที.ม. ๑๐/๖๙/๓๓, ม.มู. ๑๒/๒๘๓/๒๔๔, อภิ.ก. ๓๗/๘๕๖/๔๙๐, ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๓๓/๑๕๓
๒ พุทธจักษุ หมายถึง (๑) อินทริยปโรปริยัตติญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและความหย่อนแห่ง
อินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย คือ รู้ว่า สัตว์นั้น ๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด
มีกิเลสมาก กิเลสน้อย มีความพร้อม ที่จะตรัสรู้หรือไม่ (๒) อาสยานุสยญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัย
ความมุ่งหมาย สภาพจิตที่นอนอยู่ (ขุ.ป. ๓๑/๑๑๑/๑๒๔,๑๑๓/๑๒๖)
๓ ตา ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (วิ.อ. ๓/๙/๑๕, ดู ขุ.ป. ๓๑/๑๑๑-๑๑๕/๑๒๔-๑๒๘)
๔ นอกจากบัวจมอยู่ในน้ำ บัวอยู่เสมอน้ำ บัวพ้นน้ำ ๓ เหล่านี้ อรรถกถาได้กล่าวถึงบัวเหล่าที่ ๔
คือ บัวที่มีโรคยังไม่พ้นน้ำเป็นภักษาของปลาและเต่า ซึ่งมิได้ยกขึ้นสู่บาลี แล้วแบ่งบุคคลเป็น ๔ เหล่า
(ตามที่ปรากฏใน องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๓๓/๒๐๒, อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๐/๑๔๒,๑๔๘-๑๕๑/๑๘๖-๑๘๗)
คือ (๑) อุคฆฏิตัญญู (๒) วิปจิตัญญู (๓) เนยยะ (๔) ปทปรมะ แล้วเปรียบอุคฆฏิตัญญู เป็น
เหมือนบัวพ้นน้ำ ที่พอต้องแสงอาทิตย์แล้วก็บานในวันนี้ เปรียบวิปจิตัญญู เป็นเหมือนบัวอยู่เสมอน้ำ
ที่จะบานในวันรุ่งขึ้น เปรียบเนยยะ เป็นเหมือนบัวจมอยู่ในน้ำที่จะขึ้นมาบานในวันที่ ๓ ส่วนปทปรมะ
เปรียบเหมือนบัวที่มีโรค ยังไม่พ้นน้ำ ไม่มีโอกาสขึ้นมาบาน เป็นภักษาของปลาและเต่า
พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุอันเป็นเหมือนกออุบลเป็นต้น ได้ทรงเห็นโดยอาการทั้งปวงว่า
หมู่ประชาผู้มีธุลีในตาน้อยมีประมาณเท่านี้ หมู่ประชาผู้มีธุลีในตามากมีประมาณเท่านี้ และในหมู่ประชา
ทั้ง ๒ นั้น อุคฆฏิตัญญูบุคคลมีประมาณเท่านี้ (ที.ม.อ. ๖๖/๖๔-๖๕, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๙/๑๙๒-๑๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
ครั้นทรงเห็นแล้ว ได้ตรัสคาถาตอบท้าวสหัมบดีพรหมว่า
สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดจะฟัง จงปล่อยศรัทธามาเถิด
เราได้เปิดประตูอมตธรรมแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว
ท่านพรหม เพราะเราสำคัญว่าจะลำบาก
จึงมิได้แสดงธรรมที่ประณีตคล่องแคล่ว ในหมู่มนุษย์
ขณะนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมได้ทราบว่า “พระพุทธองค์ได้ทรงประทานโอกาส
เพื่อจะแสดงธรรมแล้ว” จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้ว
อันตรธานไป ณ ที่นั้นแล
พรหมยาจนกถา จบ

๖. ปัญจวัคคิยกถา
ว่าด้วยภิกษุปัญจวัคคีย์
เรื่องอาฬารดาบสกาลามโคตร
[๑๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า “เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อน
หนอ ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน” แล้วทรงดำริต่อไปว่า “อาฬารดาบส กาลามโคตร
นี้ เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในตาน้อยมานาน ถ้ากระไร เราจะพึง
แสดงธรรมแก่อาฬารดาบส กาลามโคตรก่อน เธอจักรู้ธรรมนี้ได้ ฉับพลัน”
ลำดับนั้น เทวดาผู้ไม่ปรากฏกายมาทูลพระผู้มีพระภาคว่า “พระองค์ผู้เจริญ
อาฬารดาบส กาลามโคตร ได้ทำกาละ ๗ วันแล้ว”
แม้พระผู้มีพระภาคก็ได้เกิดญาณขึ้นว่า “อาฬารดาบส กาลามโคตร ได้ทำ
กาละ ๗ วันแล้ว” จึงทรงดำริว่า “อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นผู้มีความเสื่อม
นานหนอ๑ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน”

เชิงอรรถ :
๑ มีความเสื่อมนานหนอ หมายถึงมีความเสื่อมมาก เพราะเสื่อมจากมรรคและผลที่จะพึงบรรลุ เพราะ
เกิดในอักขณะ คือ อาฬารดาบสตายไปเกิดในอากิญจัญญายตนภพ ส่วนอุททกดาบสตายไปเกิดใน
เนวสัญญานาสัญญายตนภพ (วิ.อ. ๓/๑๐/๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
เรื่องอุททกดาบสรามบุตร
ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า “เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ
ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน” จึงทรงดำริต่อไปว่า “อุททกดาบส รามบุตรนี้
เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในตาน้อยมานาน ถ้ากระไร เราจะพึง
แสดงธรรมแก่อุททกดาบส รามบุตรก่อน เธอจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน”
ลำดับนั้น เทวดาผู้ไม่ปรากฏกายมาทูลพระผู้มีพระภาคว่า “พระองค์ผู้เจริญ
อุททกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละเมื่อวานนี้”
แม้พระผู้มีพระภาคก็ได้เกิดญาณขึ้นว่า “อุททกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละ
เมื่อวานนี้” จึงทรงดำริว่า “อุททกดาบส รามบุตร เป็นผู้มีความเสื่อมนานหนอ
เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน”
ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริดังนี้ว่า “เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ
ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน” จึงทรงดำริว่า “ภิกษุปัญจวัคคีย์ มีอุปการะแก่เรามาก
ที่ได้เฝ้าปรนนิบัติเราผู้มุ่งหน้าบำเพ็ญเพียรมา ถ้ากระไร เราจะพึงแสดงธรรมแก่
ภิกษุปัญจวัคคีย์ก่อน” แล้วทรงดำริต่อไปว่า “บัดนี้ ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ”
ก็ได้ทรงเห็นภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ด้วย
ทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์
ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลาตามพระอัธยาศัยแล้ว
ได้เสด็จจาริกไปทางกรุงพาราณสี
เรื่องอุปกาชีวก
[๑๑] อาชีวกชื่ออุปกะได้พบพระผู้มีพระภาคเสด็จดำเนินทางไกล ณ ระหว่าง
แม่น้ำคยากับต้นโพธิพฤกษ์ ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “อาวุโส อินทรีย์ของ
ท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็น
ศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
เมื่ออุปกาชีวกทูลถามดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถาตอบอุปกาชีวกว่า
“เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง๑ รู้ธรรมทั้งปวง๒
มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง๓ ละธรรมทั้งปวงได้สิ้นเชิง๔
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา ตรัสรู้ยิ่งเอง
แล้วจะพึงกล่าวอ้างใครเล่า
เราไม่มีอาจารย์๕ เราไม่มีผู้เสมอเหมือน
เราไม่มีผู้ทัดเทียม ในโลกกับทั้งเทวโลก
เพราะเราเป็นอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม
เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเองเพียงผู้เดียว เป็นผู้เยือกเย็น
ดับกิเลสได้แล้วในโลก
เราจะไปเมืองหลวงแห่งชาวกาสี ประกาศธรรมจักร
ตีกลองอมตธรรมไปในโลกอันมีความมืดมน”๖
อุปกาชีวกทูลว่า “อาวุโส ท่านสมควรเป็นพระอนันตชินะตามที่ท่านประกาศ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ชนเหล่าใดได้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว
ชนเหล่านั้นย่อมเป็นพระชินะเช่นเรา
อุปกะ เราชนะความชั่วได้แล้ว
เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่าพระชินะ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้แล้ว อุปกาชีวกจึงทูลว่า “อาวุโส ควรจะเป็น
อย่างนั้น” โคลงศีรษะแล้วเดินสวนทางหลีกไป

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
๒ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๔ (วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
๓ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
๔ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
๕ เราไม่มีอาจารย์ ในที่นี้หมายถึงไม่มีอาจารย์ในระดับโลกุตตรธรรม (วิ.อ. ๓/๑๑/๑๗)
๖ ม.มู. ๑๒/๒๘๕/๒๔๖, ม.ม. ๑๓/๓๔๑/๓๒๓ อภิ.ก. ๓๗/๔๐๕/๒๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
เรื่องทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์
[๑๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ ถึงป่าอิสิปตน
มฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี แล้วได้เสด็จไปทางที่ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ ภิกษุ
ปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ได้นัดหมายกันและกันว่า “ท่าน
ทั้งหลาย พระสมณโคดมนี้เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็น
คนมักมาก กำลังเสด็จมา พวกเราไม่พึงกราบไหว้ ไม่พึงลุกรับ ไม่พึงรับบาตรและ
จีวรของพระองค์ แต่จะจัดอาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาก็จักประทับนั่ง”
ครั้นเสด็จมาถึง ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ไม่อาจตั้งอยู่ในกติกาของตนได้ ต่างต้อนรับ
พระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งรับบาตรและจีวร รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้าง
พระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปวาง
พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่งบนอาสนะที่ภิกษุปัญจวัคคีย์จัดถวาย แล้วทรงล้างพระบาท
แต่ภิกษุปัญจวัคคีย์กลับร้องเรียกพระผู้มีพระภาคโดยออกพระนาม และใช้คำว่า
“อาวุโส”๑
เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์ กล่าวอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสห้ามภิกษุ
ปัญจวัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าร้องเรียกตถาคตโดยออกชื่อและใช้คำว่า
อาวุโส ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ
เราได้บรรลุอมตธรรมแล้วจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอเมื่อปฏิบัติตามที่เรา
สั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้”

เชิงอรรถ :
๑ ในครั้งพุทธกาล คำว่า “อาวุโส” เป็นคำที่คนทั่วไปใช้กล่าวนำทักทายร้องเรียกกัน ไม่แสดงความเคารพ
เป็นพิเศษ ก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้ารับสั่งห้ามพระผู้น้อยเรียกพระผู้ใหญ่
โดยใช้คำว่า “อาวุโส” และห้ามพูดกับผู้ใหญ่โดยออกชื่อท่านนั้นท่านนี้ แต่ควรเรียกพระผู้ใหญ่โดยใช้คำว่า
“ภันเต” หรือ “อายัสมา” ส่วนพระผู้ใหญ่ควรเรียกพระผู้น้อยว่า “อาวุโส” หรือโดยการระบุชื่อนั้นชื่อนี้
(ดู. ที. ม. ๑๐/๒๑๖/๑๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “อาวุโสโคดม แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วย
ทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังมิได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นญาณทัสสนะที่
ประเสริฐ อันสามารถ บัดนี้พระองค์เป็นผู้มักมากคลายความเพียร เวียนมาเพื่อ
ความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นญาณทัสสนะที่
ประเสริฐ อันสามารถได้เล่า”
เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุ
ปัญจวัคคีย์ดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่เป็นคนมักมาก ไม่ได้คลายความเพียร
ไม่ได้เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้เอง
โดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว จะสั่งสอน จะแสดง
ธรรม พวกเธอเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์
อันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้”
แม้ครั้งที่ ๒ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระปัญจวัคคีย์ดังนี้ว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “อาวุโส
โคดม แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยัง
มิได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นญาณทัสสนะที่ประเสริฐ อันสามารถ บัดนี้
พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจัก
บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นญาณทัสสนะที่ประเสริฐ อันสามารถได้เล่า”
เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุ
ปัญจวัคคีย์ดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังจำได้หรือไม่ว่า ถ้อยคำเช่นนี้เราได้
เคยกล่าวในกาลก่อนแต่นี้”
ภิกษุปัญจวัคคีย์กราบทูลว่า “ถ้อยคำเช่นนี้ไม่เคยได้ฟังมาก่อน พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ
พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว จะสั่งสอน จะแสดงธรรม
พวกเธอเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม
อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ
ต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้”
พระผู้มีพระภาคทรงสามารถให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ยินยอมได้แล้ว
ลำดับนั้น ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้ยอมเชื่อฟังพระผู้มีพระภาค เงี่ยโสตสดับ ตั้ง
จิตเพื่อรู้ยิ่ง
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร๑
[๑๓] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ได้รับสั่งกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ที่สุด ๒ อย่างนี้ บรรพชิตไม่พึงเสพ กล่าวคือ
๑. กามสุขัลลิกานุโยคในกามทั้งหลาย (การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุขใน
กามทั้งหลาย) เป็นธรรมอันทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
๒. อัตตกิลมถานุโยค(การประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตน) เป็น
ทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ภิกษุทั้งหลาย มัชฌิมาปฏิปทาไม่เอียงเข้าใกล้ที่สุด ๒ อย่างนั้น ตถาคตได้
ตรัสรู้อันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ๒ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อ
ความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย ก็มัชฌิมาปฏิปทาที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว อันเป็นปฏิปทาก่อให้
เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้
เพื่อพระนิพพานนั้นเป็นไฉน

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ม. ๑๙/๑๐๘๑/๓๖๗/, ขุ.ป. ๓๑/๓๐/๓๕๘
๒ จักษุ ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (วิ.อ. ๓/๑๓/๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
มัชฌิมาปฏิปทานั้น ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ คือ๑

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

ภิกษุทั้งหลาย นี้คือมัชฌิมาปฏิปทานั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว อันเป็นปฏิปทา
ก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้
เพื่อพระนิพพาน
[๑๔] ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขอริยสัจ คือ แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์
แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ แม้ความเจ็บก็เป็นทุกข์ แม้ความตายก็เป็นทุกข์ ความ
ประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็น
ทุกข์ ความไม่ได้สิ่งที่ปรารถนาก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ ก็เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขสมุทยอริยสัจ คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก
ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความกำหนัด มีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์
นั้น ๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

เชิงอรรถ :
๑ องค์มรรคแต่ละข้อมีนัยพิสดาร ดังนี้
๑. สัมมาทิฏฐิ หมายถึงเห็นอริยสัจ ๔ เห็นไตรลักษณ์ หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท
๒. สัมมาสังกัปปะ หมายถึงความนึกคิดในทางสละปลอดจากกาม ความนึกคิดปลอดจากพยาบาท และ
ความนึกคิดปลอดจากการเบียดเบียน
๓. สัมมาวาจา หมายถึงพูดคำสัตย์ พูดไม่ส่อเสียด พูดคำอ่อนหวาน พูดสิ่งมีสาระ
๔. สัมมากัมมันตะ หมายถึงไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ทั้งหลาย ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
๕. สัมมาอาชีวะ หมายถึงเว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาอาชีพ
๖. สัมมาวายามะ หมายถึงเพียรระวังความชั่วไม่ให้เกิดขึ้น เพียรกำจัดความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรทำ
ความดีให้เกิด เพียรรักษาความดีไว้
๗. สัมมาสติ หมายถึงพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม
๘. สัมมาสมาธิ หมายถึงฌาน ๔
(ที.ม. ๑๐/๓๒๙/๒๑๔,๔๐๒/๒๖๖, ม.อุ. ๑๔/๓๒๕/๒๙๗,๓๗๕/๓๑๙, อภิ.วิ. (แปล)๓๕/๒๐๕/๑๗๑,๔๘๖/
๓๗๑,๔๘๘-๔๙๒/๓๗๓-๓๗๕,๔๙๘-๔๙๙/๓๗๗-๓๗๘,๕๐๔/๓๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วย
วิราคะ ความสละ ความสละทิ้ง ความพ้น ความไม่อาลัยในตัณหา
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘
นี้แหละ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ

[๑๕] ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
นี้ทุกขอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขอริยสัจนี้ ควรกำหนดรู้
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขอริยสัจนี้ เราได้กำหนดรู้แล้ว
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขสมุทยอริยสัจนี้ ควรละเสีย
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขสมุทยอริยสัจนี้ เราละได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขนิโรธอริยสัจนี้ ควรทำให้แจ้ง
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขนิโรธอริยสัจนี้ เราได้ทำให้แจ้งแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ ควรให้เจริญ
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ เราได้ให้เจริญแล้ว
[๑๖] ภิกษุทั้งหลาย ญาณทัสสนะ๑ตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ เหล่านี้
๓ รอบ ๑๒ อาการ๒อย่างนี้ ยังไม่หมดจดดีตราบใด เราก็ยังไม่ยืนยันว่า เป็นผู้
ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก กับทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ตราบนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ญาณทัสสนะ หมายถึงสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ (สํ.ม.อ. ๓/๑๐๘๑/๓๘๐, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๖/๒๑๙)
๒ ๓ รอบ ๑๒ อาการ หมายถึงสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ เกิดขึ้นเวียนไปในอริยสัจ ๔ ข้อ ข้อละ
๓ รอบ(๔ x ๓ = ๑๒) รวมเป็น ๑๒ รอบ ดังนี้ ก. (๑) นี้ทุกข์ (๒) ทุกข์นี้ควรกำหนดรู้ (๓) ทุกข์นี้
กำหนดรู้แล้ว ข. (๑) นี้สมุทัย (๒) สมุทัยนี้ควรละ (๓) สมุทัยนี้ละแล้ว ค. (๑) นี้นิโรธ (๒) นิโรธ
นี้ควรทำให้แจ้ง (๓) นิโรธนี้ทำให้แจ้งแล้ว ง. (๑) นี้มรรค (๒) มรรคนี้ควรทำให้เจริญ (๓) มรรคนี้ทำให้
เจริญแล้ว (สํ.ม.อ. ๓/๑๐๘๑/๓๘๐, สารตฺถ. ฏีกา ๓/๑๖/๒๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ความรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ เหล่านี้
๓ รอบ ๑๒ อาการอย่างนี้ หมดจดดีแล้ว เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้
สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก กับทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่
สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแก่เราว่า “ความ
หลุดพ้นของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเวยยากรณ์นี้๑อยู่ ธรรมจักษุ๒อันปราศจากธุลีปราศ
จากมลทินได้เกิดแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไปเป็นธรรมดา”
[๑๗] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว ทวยเทพ
ชั้นภุมมะกระจายข่าวว่า “นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงให้
เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์
เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก ให้หมุนกลับไม่ได้”๓
ทวยเทพชั้นจาตุมหาราช สดับเสียงของทวยเทพชั้นภุมมะแล้ว ได้กระจายข่าว
ต่อไป ฯลฯ
ทวยเทพชั้นดาวดึงส์ สดับเสียงของทวยเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว ได้กระจายข่าว
ต่อไป ฯลฯ
ทวยเทพชั้นยามา...
ทวยเทพชั้นดุสิต...
ทวยเทพชั้นนิมมานรดี...
ทวยเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ...

เชิงอรรถ :
๑ เวยยากรณ์ ในที่นี้หมายถึงพระสูตรที่ไม่มีคาถา ประกอบด้วยคำถามคำตอบ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๖/๒๒๐)
เป็นองค์อันหนึ่งในนวังคสัตถุศาสน์ (วิ.อ. ๑/๒๖)
๒ ธรรมจักษุ แปลว่า ดวงตาเห็นธรรม คือ โสดาปัตติมรรคญาณ (วิ.อ. ๓/๕๖/๒๗)
๓ ใคร ๆ ในโลกปฏิเสธไม่ได้ เพราะพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเจ้าของธรรมตรัสรู้มาโดยชอบ และเพราะธรรมจักร
เป็นธรรมยอดเยี่ยม (เนตฺติ.อ. ๙/ ๖๓, เนตฺติ.วิ. ๙/๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
ทวยเทพที่นับเนื่องในหมู่พรหม สดับเสียงของเหล่าเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
แล้วก็กระจายข่าวว่า “นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศแล้ว
ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร
พรหม หรือใคร ๆ ในโลก ให้หมุนกลับไม่ได้”
เพียงครู่เดียวเท่านั้น เสียงป่าวประกาศได้กระจายขึ้นไปถึงพรหมโลก ด้วย
ประการฉะนี้
ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ ก็สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่างอันเจิดจ้า หาประมาณมิได้
ก็ปรากฏในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานนี้ว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะ
ได้รู้แล้วหนอ ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ” ดังนั้น คำว่า “อัญญา
โกณฑัญญะ” นี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านพระโกณฑัญญะนั่นแล
ภิกษุปัญจวัคคีย์ทูลขอการบรรพชาอุปสมบท
[๑๘] ครั้งนั้น ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว
รู้แจ้งธรรมแล้วหยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ
ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น๑ ในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึง
ได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด”๒ แล้วตรัสต่อไปว่า “ธรรม
อันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านพระอัญญาโกณฑัญญะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น หมายถึงไม่ต้องอาศัยผู้อื่นคอยแนะนำพร่ำสอนในคำสอนของพระศาสดา ไม่ได้หมายถึง
ว่า ไม่ต้องเชื่อใครเลย (อปรปฺปจฺจโย-ไม่มีใครอื่นอีกเป็นปัจจัย) (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๘/๒๒๖)
๒ จงมาเป็นภิกษุเถิด หมายถึงคำประกาศอนุมัติการบรรพชาอุปสมบทแก่ผู้ขอบวชคือเท่ากับประกาศว่า
จงมารับการบรรพชาอุปสมบทตามที่ขอ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๘/๒๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
[๑๙] ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงโอวาท สั่งสอนภิกษุทั้งหลายที่เหลือ
ด้วยธรรมีกถา เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงโอวาท สั่งสอนด้วยธรรมีกถา ธรรมจักษุ
อันปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระวัปปะและท่านพระภัททิยะ
ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไปเป็น
ธรรมดา”
ท่านทั้ง ๒ นั้นได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้ง ๒ พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทใน
สำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอทั้ง ๒ จงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปอีกว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอทั้ง ๒ จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดย
ชอบเถิด”
พระวาจานั้นแล ได้เป็นการอุปสมบทของท่านทั้ง ๒ นั้น
ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้เสวยพระกระยาหารที่ท่านทั้งสามนำมาถวายแล้ว
ก็ทรงโอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลายที่เหลือด้วยธรรมีกถา ภิกษุ ๓ รูปเที่ยวบิณฑบาตแล้ว
นำสิ่งใดมา ทั้ง ๖ รูป ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรง
โอวาท สั่งสอนด้วยธรรมีกถา ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่
ท่านพระมหานามะและท่านพระอัสสชิว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไปเป็นธรรมดา”
ท่านทั้ง ๒ นั้นได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้า
แต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้ง ๒ พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทใน
สำนักของพระองค์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอทั้ง ๒ จงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอทั้ง ๒ จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์
โดยชอบเถิด”
พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านทั้ง ๒ นั้น
อนัตตลักขณสูตร๑
[๒๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย
รูปเป็นอนัตตา ภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูปนี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ รูปนี้ไม่พึงเป็นไป
เพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในรูปว่า “รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้
เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ
และบุคคลย่อมไม่ได้ในรูปว่า “รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็น อย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย เวทนาเป็นอนัตตา ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเวทนานี้จักเป็นอัตตา
แล้วไซร้ เวทนานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในเวทนาว่า “เวทนาของ
เราจงเป็นอย่างนี้ เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเวทนา
เป็นอนัตตา ฉะนั้น เวทนาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในเวทนาว่า
“เวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้ เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย สัญญาเป็นอนัตตา ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสัญญานี้จักเป็นอัตตา
แล้วไซร้ สัญญานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสัญญาว่า “สัญญาของ
เราจงเป็นอย่างนี้ สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสัญญา
เป็นอนัตตา ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสัญญาว่า
“สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้ สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสังขารเหล่านี้
จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ สังขารเหล่านี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสังขาร

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ข. ๑๗/๕๙/๕๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
ทั้งหลายว่า “สังขารทั้งหลายของเราจงเป็นอย่างนี้ สังขารทั้งหลายของเราอย่าได้
เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ฉะนั้น สังขาร
ทั้งหลายจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสังขารทั้งหลายว่า “สังขาร
ทั้งหลายของเราจงเป็นอย่างนี้ สังขารทั้งหลายของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลายวิญญาณเป็นอนัตตา ภิกษุทั้งหลาย ถ้าวิญญาณนี้จักเป็นอัตตา
แล้วไซร้ วิญญาณนี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในวิญญาณว่า “วิญญาณ
ของเราจงเป็นอย่างนี้ วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะ
วิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ใน
วิญญาณว่า “วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้ วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
[๒๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร
รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง”๑
ภิกษุปัญจวัคคีย์ทูลว่า “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สามัญลักษณะ ๓ ประการ ใน สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๑-๑๒/๑-๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็น
สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“สังขารทั้งหลายเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็น
สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็น
สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
[๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น รูปอย่างใด
อย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖. ปัญจวัคคิยกถา
เลวหรือ ประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ
ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอทั้งหลายพึงเห็น
ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่
อัตตาของเรา
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอทั้งหลาย
พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่
อัตตาของเรา
สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือ
ภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอ
ทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่
เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือ
ภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอทั้งหลาย
พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น
นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
[๒๓] ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย
แม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่าย
แม้ในสังขารทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลาย
กำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณว่า
หลุดพ้นแล้ว อริยสาวกย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควร
ทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
[๒๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนัตตลักขณสูตรนี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็มีใจ
ยินดีชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค เมื่อพระพุทธองค์ตรัสเวยยากรณ์นี้อยู่ จิตของ
ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น
ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลก ๖ รูป
ปัญจวัคคิยกถา จบ
ภาณวารที่ ๑ จบ
๗. ปัพพัชชากถา
ว่าด้วยการบรรพชา
เรื่องยสกุลบุตร
[๒๕] สมัยนั้น ในกรุงพาราณสี มีกุลบุตรชื่อยสะเป็นลูกเศรษฐีเป็น
ผู้สุขุมาลชาติ๑ ยสกุลบุตรนั้นมีปราสาท ๓ หลัง คือ หลังหนึ่งสำหรับฤดูหนาว
หลังหนึ่งสำหรับฤดูร้อน หลังหนึ่งสำหรับฤดูฝน ยสกุลบุตรได้รับการบำเรอด้วย
ดนตรี ไม่มีบุรุษเจือปน ตลอด ๔ เดือน อยู่บนปราสาทฤดูฝน ไม่ลงมายังปราสาท
ชั้นล่าง คืนวันหนึ่ง เมื่อยสกุลบุตรได้รับการบำเรออิ่มเอมเพียบพร้อมด้วยกามคุณ
๕ ได้หลับไปก่อน ฝ่ายบริวารชนได้หลับภายหลัง ตะเกียงน้ำมันถูกจุดสว่างทั้งคืน
คืนนั้นยสกุลบุตรตื่นขึ้นก่อน เห็นบริวารชนของตนกำลังหลับ บางนางมีพิณอยู่ใกล้
รักแร้ บางนางมีตะโพนอยู่ข้างคอ บางนางมีโปงมางอยู่ที่อก บางนางสยายผม
บางนางน้ำลายไหล บางนางละเมอเพ้อไปต่าง ๆ ปรากฏดุจป่าช้าผีดิบ เพราะได้เห็น
โทษจึงปรากฏแก่ยสกุลบุตร จิตตั้งอยู่ในความเบื่อหน่าย ยสกุลบุตรจึงเปล่งอุทาน
ขึ้นในขณะนั้นว่า “ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ท่านผู้เจริญ ที่นี่ขัดข้องหนอ”

เชิงอรรถ :
๑ สุขุมาลชาติ หมายถึงผู้ไม่มีทุกข์ (องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๙/๑๙๘, องฺ.ติก.อ. ๒/๓๙/๑๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
ครั้งนั้น ยสกุลบุตรจึงสวมรองเท้าทองเดินตรงไปยังประตูนิเวศน์ พวกอมนุษย์
เปิดประตูให้ด้วยคิดว่า “ใคร ๆ อย่าได้ทำอันตรายต่อการออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตของยสกุลบุตร”
ลำดับนั้น ยสกุลบุตรได้เดินต่อไปยังประตูเมือง พวกอมนุษย์ก็เปิดประตูให้
ด้วยคิดว่า “ใคร ๆ อย่าได้ทำอันตรายต่อการออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตของ
ยสกุลบุตร” หลังจากนั้น ยสกุลบุตรจึงเดินต่อไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
[๒๖] ครั้นราตรีย่ำรุ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้งได้
ทอดพระเนตรเห็นยสกุลบุตรเดินมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว จึงเสด็จลงจากที่จงกรม
ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ ขณะนั้น ยสกุลบุตรได้เปล่งอุทานขึ้น ณ ที่ไม่ไกล
พระผู้มีพระภาคว่า “ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ท่านผู้เจริญ ที่นี่ขัดข้องหนอ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับยสกุลบุตรนั้นดังนี้ว่า “ยสะ ที่นี่๑ ไม่วุ่นวาย ที่นี่
ไม่ขัดข้อง มาเถิด ยสะ จงนั่งลง เราจักแสดงธรรมแก่เธอ”
ลำดับนั้น ยสกุลบุตรร่าเริงเบิกบานใจว่า “ได้ยินว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง”
จึงถอดรองเท้าทองเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ
ทรงประกาศ
๑. ทานกถา (เรื่องทาน)
๒. สีลกถา (เรื่องศีล)
๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)๒
๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม) แก่ยสกุลบุตร
ผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควร

เชิงอรรถ :
๑ ที่นี่ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงพระนิพพาน (วิมติ.ฏีกา ๒/๒๖/๑๒๐)
๒ แปลมาจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สํกิเลสํ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
เมื่อทรงทราบว่า ยสกุลบุตรมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนา๑ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่
ยสกุลบุตร ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
บิดาตามหายสกุลบุตร
[๒๗] ครั้นรุ่งเช้า มารดาขึ้นไปบนปราสาทไม่พบยสกุลบุตร จึงเข้าไปหาเศรษฐี
คหบดีถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับเศรษฐีคหบดี ดังนี้ว่า “ท่านคหบดีเจ้าข้า
ยสะบุตรของท่านหายไปไหน”
ฝ่ายเศรษฐีคหบดีส่งทูตขี่ม้าไปตามหาทั้ง ๔ ทิศแล้ว ส่วนตนเองไปยังป่า
อิสิปตนมฤคทายวัน ได้พบรองเท้าทองวางอยู่ จึงตามไปยังที่นั้น พระผู้มีพระภาค
ทอดพระเนตรเห็นเศรษฐีคหบดีเดินมาแต่ไกล ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงมีพระดำริ
ว่า “ถ้ากระไร เราพึงบันดาลอิทธาภิสังขาร(การบันดาลทางฤทธิ์) ให้เศรษฐีคหบดี
ผู้นั่งที่นี่ไม่เห็นยสกุลบุตรนั่งอยู่ที่นั่น” จึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขารเช่นนั้น
ลำดับนั้น เศรษฐีคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงพบยส
กุลบุตรบ้างไหม พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี เชิญท่านนั่งลงก่อนเถิด บางทีท่านนั่งที่นี่แล้ว
จะพึงพบยสกุลบุตรนั่งอยู่ที่นี่ก็ได้”
เศรษฐีคหบดีร่าเริงเบิกบานใจว่า “ได้ยินว่า เรานั่งที่นี่จักพบยสกุลบุตรผู้นั่ง
อยู่ที่นี่” จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร

เชิงอรรถ :
๑ สามุกกังสิกธรรมเทศนา หมายถึงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
ทรงเห็นด้วยสยัมภูญาณ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น คือมิได้รับคำแนะนำจากผู้อื่น ทรงตรัสรู้ลำพังพระองค์เอง
ก่อนใครในโลก (วิ.อ. ๓/๒๙๓/๑๘๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖/๒๓๗, ที.สี.ฏีกา อภินว. ๒/๒๙๘/๓๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่เศรษฐีคหบดีผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้ว
เมื่อทรงทราบว่า เศรษฐีคหบดีมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่เศรษฐี
ผู้คหบดี ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง
มีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำ
ย้อมได้เป็นอย่างดี
เศรษฐีคหบดีได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระ
องค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ
พระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตาม
ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอ
ถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาค
จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
เศรษฐีคหบดีนี้แล ได้เป็นเตวาจิกอุบาสก(ผู้กล่าวถึงรัตนะทั้ง ๓ ว่าเป็นสรณะ)
เป็นคนแรก ในโลก
ยสกุลบุตรสำเร็จพระอรหัตตผล
[๒๘] ขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโปรดบิดาของยสกุลบุตรอยู่ จิต
ของยสกุลบุตรผู้พิจารณาภูมิธรรมตามที่ได้เห็นตามที่ได้รู้ ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย
เพราะไม่ถือมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริดังนี้ว่า “เมื่อเราแสดงธรรมแก่บิดาของ
ยสกุลบุตรอยู่ จิตของยสกุลบุตร ผู้พิจารณาภูมิธรรมตามที่ได้เห็นตามที่ได้รู้ ก็หลุด
พ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น ยสกุลบุตรไม่ควรจะกลับไปเป็นคฤหัสถ์
บริโภคกาม เหมือนเป็นคฤหัสถ์ครั้งก่อน ถ้ากระไร เราพึงคลายอิทธาภิสังขาร”
ทรงคลายอิทธาภิสังขารแล้ว
เศรษฐีคหบดีได้เห็นยสกุลบุตรนั่งอยู่ ครั้นเห็นแล้วจึงกล่าวกับยสกุลบุตรว่า
“พ่อยสะ มารดาของเจ้าโศกเศร้าคร่ำครวญถึง เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาเถิด”
ยสกุลบุตรได้เงยหน้าดูพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเศรษฐีคหบดี
ดังนี้ว่า “คหบดี ท่านจะเข้าใจข้อนั้นอย่างไร ยสกุลบุตรได้เห็นได้รู้ธรรมด้วยญาณ
อันเป็นเสขะ๑ ด้วยทัสสนะอันเป็นเสขะเหมือนท่าน เมื่อเธอพิจารณาภูมิธรรมตาม
ที่ได้เห็นตามที่ได้รู้อยู่ จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น คหบดี
ยสกุลบุตรควรหรือที่จะกลับไปเป็นคฤหัสถ์บริโภคกามเหมือนเป็นคฤหัสถ์ครั้งก่อน”
เศรษฐีคหบดีกราบทูลว่า “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสรับรองว่า “คหบดี ยสกุลบุตรได้เห็นได้รู้ธรรมด้วยญาณ
อันเป็นเสขะ ด้วยทัสสนะอันเป็นเสขะเหมือนท่าน เมื่อเขาพิจารณาภูมิธรรมตามที่
ได้เห็นตามที่ได้รู้อยู่ จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น คหบดี
ยสกุลบุตรไม่ควรจะกลับไปเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม เหมือนเป็นคฤหัสถ์ครั้งก่อน”
เศรษฐีคหบดีกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ การที่จิตของยสกุลบุตรหลุดพ้น
จากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น เป็นลาภของยสกุลบุตร ยสกุลบุตรได้ดีแล้ว
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคมียสกุลบุตรเป็นปัจฉาสมณะโปรดทรงรับภัตตาหาร
ของข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันนี้เถิด”

เชิงอรรถ :
๑ ญาณอันเป็นเสขะ หมายถึงญาณของบุคคลระดับพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี (ดู องฺ.ทุก.
(แปล) ๒๐/๓๖/๗๙ องฺ.ทุก.อ. ๒/๓๖/๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ เศรษฐีคหบดีทราบการที่พระผู้มี
พระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากอาสนะถวายอภิวาทกระทำประทักษิณกลับไป
เมื่อเศรษฐีคหบดีกลับไปแล้วไม่นาน ยสกุลบุตรได้กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า “ธรรมอัน
เรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด”
พระวาจานั้นแล ได้เป็นการอุปสมบทของท่านยสะนั้น
ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลก ๗ รูป
มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะได้ธรรมจักษุ
[๒๙] ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกถือบาตรและจีวร มีท่าน
พระยสะเป็นปัจฉาสมณะ เสด็จไปยังนิเวศน์ของเศรษฐีคหบดี ครั้นถึงแล้วจึงประทับนั่ง
ณ อาสนะที่เขาจัดถวาย
ลำดับนั้น มารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสะก็พากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่มารดาและภรรยาเก่า
เมื่อทรงทราบว่าทั้งสองมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส
จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่มารดาและ
ภรรยาเก่า ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งปวง มีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้ง
ธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความ
เป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์
ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้ง
โดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่
ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์ผู้เจริญ
หม่อมฉันทั้งสองนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันทั้งสอง ว่าเป็นอุบาสิกาผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
มารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสทั้งสองนี้ ได้เป็นเตวาจิกอุบาสิกา(ผู้กล่าว
ถึงรัตนะทั้ง ๓ ว่าเป็นสรณะ)เป็นคู่แรก ในโลก
ครั้นแล้ว มารดาบิดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสะได้นำของเคี้ยวของฉัน
อันประณีตประเคนพระผู้มีพระภาคกับท่านพระยสะด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มี
พระภาคเสวยเสร็จแล้วทรงห้ามภัตตาหารแล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึงนั่ง ณ ที่
สมควร ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้มารดาบิดาและภรรยาเก่าของ
ท่านพระยสะเห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้ สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วเสด็จลุกจากอาสนะจากไป
เรื่องการบรรพชาของสหาย ๔ คนของพระยสะ
[๓๐] สหายคฤหัสถ์ของท่านพระยสะ ๔ คน คือ วิมละ สุพาหุ
ปุณณชิ ควัมปติ เป็นบุตรของตระกูลเศรษฐีใหญ่น้อยในกรุงพาราณสีได้ทราบข่าวว่า
“ยสกุลบุตรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว”
ครั้นสหายคฤหัสถ์ได้ทราบข่าวแล้ว จึงได้มีความคิด ดังนี้ว่า “ธรรมวินัยและ
บรรพชาที่ยสกุลบุตรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
นั้น คงจะไม่ต่ำทรามเป็นแน่” ครั้นแล้วสหายคฤหัสถ์เหล่านั้น ได้พากันเข้าไปหา
ท่านพระยสะถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้ว ได้ไหว้ท่านพระยสะแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
ครั้งนั้น ท่านพระยสะได้พาสหายคฤหัสถ์ ๔ คนไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ท่านพระยสะผู้นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
สหายคฤหัสถ์ของข้าพระองค์ ๔ คนเหล่านี้ คือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ ควัมปติ
เป็นบุตรของตระกูลเศรษฐีใหญ่น้อยในกรุงพาราณสี ขอพระองค์โปรดประทาน
โอวาทสั่งสอนสหายของข้าพระองค์เหล่านี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่สหายเหล่านั้น
เมื่อทรงทราบว่าพวกเขามีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส
จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่พวกเขา ณ ที่นั่ง
นั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็น
ธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
พวกเขาได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว
ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้อง
เชื่อผู้อื่นในคำของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระองค์”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดย
ชอบเถิด” พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น
หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นด้วย
ธรรมีกถา เมื่อทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาอยู่ จิตของภิกษุเหล่านั้น
ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น
ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๑๑ รูป
เรื่องการบรรพชาของสหาย ๔ คนของพระยสะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
เรื่องการบรรพชาของสหาย ๕๐ คนของพระยสะ
[๓๑] สหายคฤหัสถ์ของท่านพระยสะจำนวน ๕๐ คน เป็นชาวชนบท เป็น
บุตรของตระกูลเศรษฐีใหญ่น้อยได้ทราบข่าวว่า “ยสกุลบุตรโกนผมและหนวดนุ่งห่ม
ผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว” ครั้นสหายคฤหัสถ์ได้ทราบข่าว
แล้วจึงได้มีความคิด ดังนี้ว่า “ธรรมวินัยและบรรพชาที่ยสกุลบุตรโกนผมและหนวด
นุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตนั้น คงจะไม่ต่ำทรามเป็นแน่”
ครั้นแล้วสหายคฤหัสถ์เหล่านั้น ได้พากันเข้าไปหาท่านพระยสะถึงที่อยู่ ครั้น
ถึงแล้ว ได้ไหว้ท่านพระยสะแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร
ครั้งนั้น ท่านพระยสะจึงพาสหายคฤหัสถ์ ๕๐ คนไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ท่านพระยสะผู้นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “พระพุทธ
เจ้าข้า สหายคฤหัสถ์ของข้าพระองค์ ๕๐ คนเหล่านี้ เป็นชาวชนบท เป็นบุตร
ของตระกูลเศรษฐีใหญ่น้อย ขอพระองค์โปรดประทานโอวาทสั่งสอนสหายของข้า
พระองค์เหล่านี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่สหายเหล่านั้น
เมื่อทรงทราบว่าพวกเขามีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส
จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่พวกเขา ณ
ที่นั่งนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไป
เป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
พวกเขาได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว
ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๘. มารกถา
ในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระองค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น
หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้น
ด้วย ธรรมีกถา เมื่อทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาอยู่ จิตของภิกษุ
เหล่านั้น ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น
ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลก ๖๑ รูป
บรรพชากถา จบ
๘. มารกถา
ว่าด้วยมาร
เรื่องส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูป ไปประกาศศาสนา
[๓๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกับภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราพ้นแล้วจากบ่วง๑ทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอ
ก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ อย่าไปโดยทางเดียวกันสองรูป
จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด
จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน สัตว์
ทั้งหลายที่มีธุลีในตาน้อย มีอยู่ ย่อมเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม จักมีผู้รู้ธรรม ภิกษุ
ทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม”

เชิงอรรถ :
๑ บ่วง ในที่นี้ หมายถึง โลภะ (วิ.อ. ๓/๓๒/๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๘.มารกถา
เรื่องมาร
[๓๓] ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเป็นคาถาความว่า
“ท่านได้ถูกบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์
ทั้งที่เป็นของมนุษย์๑คล้องไว้แล้ว
ท่านได้ถูกผูกด้วยเครื่องพันธนาการมากมาย
แน่ะท่านสมณะ ท่านไม่พ้นจากเราได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
“เราได้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์
ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เราได้พ้นแล้วจากเครื่องพันธนาการมากมาย
แน่ะมารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว”
มารกราบทูลว่า
“บ่วง นี้เที่ยวไปในอากาศ มีในใจ สัญจรไปอยู่
เราจักคล้องท่านด้วยบ่วงนั้น
แน่ะสมณะ ท่านไม่พ้นจากเราได้”๒
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“เราปราศจากความพอใจในอารมณ์เหล่านี้
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจ
แน่ะมารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว”๓
ขณะนั้น มารผู้มีบาปทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้
จักเรา” มีทุกข์ เสียใจ ได้หายไป ณ ที่นั้น
มารกถา จบ

เชิงอรรถ :
๑ บ่วงทิพย์ บ่วงมนุษย์ คือบ่วงกิเลสที่เป็นทิพพกามคุณและกามคุณของมนุษย์ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๓/๒๔๔)
๒-๓ สํ.ส. ๑๕/๑๕๑/๑๓๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๙. ปัพพัชชูปสัมปทากถา
๙. ปัพพัชชูปสัมปทากถา
ว่าด้วยการบรรพชาและอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์
เรื่องทรงอนุญาตภิกษุบรรพชาอุปสมบทให้กุลบุตร
[๓๔] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายพาเหล่ากุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบท
มาจากทิศต่าง ๆ จากชนบทต่าง ๆ ด้วยตั้งใจว่า “พระผู้มีพระภาคจักทรงให้พวกเขา
บรรพชาอุปสมบท” ในการที่ภิกษุทั้งหลายนำกุลบุตรมา ทั้งภิกษุทั้งหลาย ทั้งเหล่า
กุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบท ย่อมลำบาก
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงเกิดความรำพึงขึ้น
ในพระทัยอย่างนี้ว่า “บัดนี้ ภิกษุทั้งหลายพาเหล่ากุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่ง
อุปสมบทมาจากทิศนั้น ๆ จากชนบทต่าง ๆ ด้วยตั้งใจว่า พระผู้มีพระภาคจักทรง
ให้พวกเขาบรรพชาอุปสมบท ในการที่ภิกษุทั้งหลายนำกุลบุตรมานั้น ทั้งพวกภิกษุ
ทั้งเหล่ากุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบท ย่อมลำบาก อย่ากระนั้นเลย เราพึง
อนุญาตภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายนั่นแหละ จงให้บรรพชา
จงให้อุปสมบทในทิศนั้น ๆ ในชนบทนั้น ๆ เถิด”
ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้น ทรงแสดงธรรมีกถา
เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอยู่ในที่สงัด
หลีกเร้นอยู่ที่นี้ ได้เกิดความคิดคำนึงขึ้นในใจว่า บัดนี้ ภิกษุทั้งหลายพาเหล่า
กุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบทมาจากทิศต่าง ๆ จากชนบทต่าง ๆ ด้วยตั้งใจ
ว่า พระผู้มีพระภาคจักทรงให้พวกเขาบรรพชาอุปสมบท ในการที่ภิกษุทั้งหลาย นำ
กุลบุตรมานั้น ทั้งภิกษุทั้งหลาย ทั้งเหล่ากุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบทย่อม
ลำบาก อย่ากระนั้นเลย เราควรอนุญาตภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้
ท่านทั้งหลายนั่นแหละ จงให้บรรพชา จงให้อุปสมบทในทิศนั้น ๆ ในชนบทนั้น ๆ เถิด
ภิกษุทั้งหลาย พึงให้บรรพชาพึงให้อุปสมบทอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๙.ปัพพัชชูปสัมปทากถา
ในเบื้องต้น พึงให้กุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบท ปลงผมและหนวด
ให้ครองผ้ากาสายะ ให้ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ให้กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย
ให้นั่งกระโหย่ง ให้ประนมมือแล้วสั่งว่า ‘เธอจงกล่าวอย่างนี้’ แล้วให้ว่าสรณคมน์ดังนี้
ไตรสรณคมน์
ว่าด้วยการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ๑

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ
สํฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ ๒
ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ ๒
ทุติยมฺปิ สํฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ ๒
ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ ๓
ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ ๓
ตติยมฺปิ สํฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ ๓

ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบรรพชาอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์เหล่านี้”
ปัพพัชชูปสัมปทากถา จบ

เชิงอรรถ :
๑ สรณะ หมายถึงสิ่งที่ทำลาย ขจัดปัดเป่า บรรเทาทุกข์ภัยและกิเลส การถือพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะก็
เพื่อเป็นเครื่องช่วยทำลายขจัดปัดเป่าทุกข์ภัยและกิเลสต่าง ๆ ในจิตใจให้หมดสิ้น (ขุ.ขุ.อ. ๖-๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๐. ทุติยมารกถา
๑๐. ทุติยมารกถา
ว่าด้วยมาร เรื่องที่ ๒
เรื่องทรงแนะวิธีให้ได้อนุตตรวิมุตติ
[๓๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษาแล้ว ได้รับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะมนสิการโดยแยบคาย เพราะตั้งความเพียรชอบโดย
แยบคายเราจึงได้บรรลุอนุตตรวิมุตติ ได้ทำอนุตตรวิมุตติให้แจ้ง ภิกษุทั้งหลาย
เพราะทำไว้ในใจโดยแยบคาย เพราะตั้งความเพียรชอบโดยแยบคาย แม้ท่าน
ทั้งหลายย่อมบรรลุอนุตตรวิมุตติได้ ย่อมทำอนุตตรวิมุตติให้แจ้งได้”
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเป็นคาถาความว่า
“ท่านได้ถูกผูกด้วยบ่วงมาร ทั้งที่เป็นของทิพย์
ทั้งที่เป็นของมนุษย์
ท่านได้ถูกเครื่องผูกหลายประการรัดรึงแล้ว
แน่ะสมณะ ท่านไม่พ้นเราได้ดอก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
“เราได้พ้นแล้วจากบ่วงมาร ทั้งที่เป็นของทิพย์
ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เราได้พ้นแล้วจากเครื่องผูกหลายประการ
แน่ะมารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว”
ขณะนั้น มารผู้มีบาปทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้
จักเรา” มีทุกข์ เสียใจ ได้หายไป ณ ที่นั้น
ทุติยมารกถา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๔ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น