Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๕-๖ หน้า ๒๑๐ - ๒๕๐

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๕-๖ วินัยปิฎกที่ ๐๕ มหาวรรค ภาค ๒



พระวินัยปิฎก
มหาวรรค ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๕. จีวรรชนกถา
เรื่องย้อมด้วยน้ำเย็น
สมัยนั้น พวกภิกษุใช้น้ำย้อมที่เย็นย้อมจีวร จีวรมีกลิ่นเหม็นสาบ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตหม้อย้อมขนาดเล็กไว้
ต้มน้ำย้อม"
เรื่องนำย้อมล้น
น้ำย้อมล้นออก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผูกตะกร้อกันน้ำล้น”
เรื่องไม่รู้ว่าน้ำย้อมเดือดแล้วหรือยังไม่เดือด
สมัยนั้น พวกภิกษุไม่รู้ว่าน้ำย้อมต้มเดือดแล้วหรือยังไม่เดือด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หยดหยาดน้ำลงใน
น้ำหรือบนหลังเล็บ”
เรื่องยกหม้อน้ำย้อมลง
สมัยนั้น พวกภิกษุยกหม้อน้ำย้อมลงทำหม้อกลิ้งตกแตก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกระบวยตักน้ำย้อม
เป็นภาชนะมีด้าม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๕. จีวรรชนกถา
เรื่องไม่มีภาชนะสำหรับย้อม
สมัยนั้น พวกภิกษุไม่มีภาชนะสำหรับย้อม
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอ่างและหม้อไว้สำหรับ
ย้อม”
เรื่องขยำจีวรในถาดและในบาตร
สมัยนั้น พวกภิกษุขยำจีวรลงในถาดบ้าง ในบาตรบ้าง จีวรปริขาด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรางสำหรับย้อม”
เรื่องตากจีวรบนพื้น
สมัยนั้น พวกภิกษุตากจีวรบนพื้นดิน จีวรเปื้อนฝุ่น
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องรองทำด้วยหญ้า”
เรื่องปลวกกัดเครื่องรองทำด้วยหญ้า
เครื่องรองทำด้วยหญ้าถูกปลวกกัด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวจีวรและสายระเดียง”
เรื่องแขวนจีวรพับกลาง
พวกภิกษุแขวนจีวรพับกลาง น้ำย้อมหยดออกจากชายจีวรทั้งสองข้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๕. จีวรรชนกถา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผูกมุมจีวรไว้”
เรื่องชายจีวรชำรุด
ชายจีวรชำรุด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตด้ายผูกมุมจีวร”
เรื่องน้ำย้อมหยดออกจากชายข้างเดียว
น้ำย้อมหยดออกจากชายข้างเดียว
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ย้อมจีวร พลิกกลับ
ไปกลับมาแต่เมื่อหยาดน้ำยังหยดไม่ขาดสาย อย่าเพิ่งหลีกไป”
เรื่องจีวรแข็ง
สมัยนั้น จีวรกลายเป็นผ้าเนื้อแข็ง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จุ่มลงในน้ำ”
เรื่องจีวรหยาบกระด้าง
สมัยนั้น จีวรเป็นผ้าหยาบกระด้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทุบด้วยฝ่ามือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๖. ฉินทกจีวรานุชานนา
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้จีวรที่ไม่ได้ตัด
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้จีวรที่ไม่ได้ตัดที่ย้อมน้ำฝาดมีสีเหมือนงาช้าง
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้จีวรที่ไม่ได้ตัด ภิกษุใด
ใช้ต้องอาบัติทุกกฏ”
๒๑๖. ฉินทกจีวรานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตจีวรตัด
เรื่องตัดจีวรตามแบบคันนา
[๓๔๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทักขิณาคิรีชนบท ทอดพระเนตรเห็นนาของชาวมคธ
ซึ่งเขาพูนดินเป็นคันนาสี่เหลี่ยมจตุรัส ก่อคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง
คั่นระหว่างด้วยคันนาสั้น ๆ เชื่อมกันเหมือนทางสี่แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนาตัดผ่านกัน
รับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ เธอเห็นนาของชาวมคธซึ่งเขาพูนดินเป็น
คันนาสี่เหลี่ยม ยาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง คั่นระหว่างด้วยคันนาสั้น ๆ เชื่อมกัน
เหมือนทางสี่แพร่ง หรือ”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอสามารถทำจีวรของภิกษุให้มีรูปอย่างนั้นได้
หรือ”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “สามารถทำได้ พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคิรีชนบทตามพระอัธยาศัยแล้ว
เสด็จกลับมายังกรุงราชคฤห์อีก ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์แต่งจีวรสำหรับภิกษุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๖. ฉินทกจีวรานุชานนา
หลายรูป แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้กราบทูลดังนี้ว่า “ขอพระองค์โปรดทอด
พระเนตรจีวรที่ข้าพระองค์จัดทำแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ตรัสสรรเสริญพระอานนท์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วรับ
สั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นบัณฑิต ภิกษุทั้งหลาย อานนท์
มีปัญญามาก ที่เข้าใจความหมายที่เรากล่าวย่อ ๆ ได้อย่างพิสดาร เธอทำผ้ากุสิบ้าง
ทำผ้าอัฑฒกุสิบ้าง ทำผ้ามณฑลบ้าง ทำผ้าอัฑฒมณฑลบ้าง ทำผ้าวิวัฏฏะบ้าง
ทำผ้าอนุวิวัฏฏะบ้าง ทำผ้าคีเวยยกะบ้าง ทำผ้าชังเฆยยกะบ้าง ทำผ้าพาหันตะบ้าง๑
จีวรเป็นผ้าที่ต้องตัด เศร้าหมองเพราะศัสตรา เหมาะแก่สมณะ และพวกโจรไม่
ต้องการ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสังฆาฏิตัด อุตตราสงค์ตัด และอันตรวาสกตัด

เชิงอรรถ :
๑ ผ้ากุสิ คือ ผ้ายาวที่ติดขอบจีวรทั้งด้านยาวและด้านกว้าง (อนุวาต)
ผ้าอัฑฒกุสิ คือ ผ้าสั้นที่แทรกอยู่เป็นตอน ๆ ในระหว่างผ้ายาว
ผ้ามณฑล คือ ผ้ามีบริเวณกว้างใหญ่ในแต่ละตอนของจีวร ๕ ตอน (จีวร ๕ ขัณฑ์)
ผ้าอัฑฒมณฑล คือ ผ้ามีบริเวณเล็ก ๆ
ผ้าวิวัฏฏะ คือ ตอน (ขัณฑ์) ของผ้าที่อยู่ตรงกลางซึ่งเย็บผ้ามณฑลและอัฑฒมณฑลเข้าด้วยกัน
ผ้าอนุวิวัฏฏะ คือ ผ้า ๒ ตอน (ขัณฑ์) ที่อยู่ ๒ ด้านของจีวร
ผ้าคีเวยยกะ คือ ผ้าที่เอาด้ายเย็บเล็มทาบเข้ามาทีหลังเพื่อทำให้แน่นหนา บริเวณที่พันรอบคอ
ผ้าชังเฆยยกะ คือ ผ้าที่เอาด้ายเย็บทาบเข้าทีหลัง บริเวณที่ปิดแข้ง
ผ้าพาหันตะ คือ ผ้าทั้ง ๒ ด้าน (ของจีวร) ที่ภิกษุเมื่อห่มจีวรขนาดพอดี จะม้วนมาพาดไว้บนแขน
หันหน้าออกด้านนอก (วิ.อ. ๓/๓๔๕/๒๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๗. ติจีวรานุชานนา
๒๑๗. ติจีวรานุชานนา
ว่าด้วยการอนุญาตไตรจีวร
เรื่องทอดพระเนตรเห็นภิกษุแบกห่อจีวร
[๓๔๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปกรุงเวสาลี พระผู้มีพระภาคทรงดำเนินทางไกลระหว่าง
กรุงราชคฤห์ต่อกับกรุงเวสาลี ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้จำนวน
มากหอบผ้าพะรุงพะรัง บ้างก็ทูนห่อผ้าที่พับดังฟูกไว้บนศีรษะ บ้างก็แบกขึ้นบ่า
บ้างก็กระเดียดไว้ที่สะเอวเดินมา ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้มี
พระดำริว่า “โมฆบุรุษเหล่านี้หมกมุ่นเพื่อความมักมากในจีวรเหลือเกิน อย่ากระนั้นเลย
เราควรกำหนดเขตแดน เราควรกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย” แล้ว
เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงเวสาลี ประทับอยู่ที่โคตมกเจดีย์
สมัยนั้น เป็นยามค่ำคืนที่หนาวเหน็บในฤดูหนาวอยู่ในช่วงเดือน ๓ เดือน ๔
พระผู้มีพระภาคทรงห่มจีวรผืนเดียว ประทับนั่งอยู่กลางแจ้งตลอดราตรีขณะที่น้ำค้างตก
แต่ไม่ทรงหนาว เมื่อปฐมยามผ่านไปทรงรู้สึกหนาว ทรงห่มจีวรผืนที่ ๒ จึงไม่ทรง
หนาว เมื่อมัชฌิมยามผ่านไป ทรงรู้สึกหนาว ทรงห่มจีวรผืนที่ ๓ จึงไม่ทรงหนาว
เมื่อปัจฉิมยามผ่านไป ยามรุ่งอรุณแห่งราตรีอันเป็นเบื้องต้นแห่งความสดชื่น ทรง
รู้สึกหนาว ทรงห่มจีวรผืนที่ ๔ จึงไม่ทรงหนาว แล้วทรงพระดำริว่า “กุลบุตรในธรรม
วินัยนี้ที่เป็นคนมีปกติหนาว กลัวความหนาว อาจครองชีพอยู่ได้ด้วยผ้า ๓ ผืน
อย่ากระนั้นเลย เราควรกำหนดเขตแดน ควรกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องผ้า เราควร
อนุญาตผ้า ๓ ผืนแก่ภิกษุทั้งหลาย”
เรื่องทรงอนุญาตไตรจีวร
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราเดินทางไกลระหว่างกรุงราชคฤห์กับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๘. อติเรกจีวรกถา
กรุงเวสาลีต่อกัน ได้เห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้จำนวนมากหอบผ้าพะรุงพะรัง บ้างก็ทูน
ห่อผ้าที่พับดังฟูกไว้บนศีรษะ บ้างก็แบกขึ้นบ่า บ้างก็กระเดียดไว้ที่สะเอวเดินมา
ครั้นเห็นแล้ว เราได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘โมฆบุรุษเหล่านี้หมกมุ่นเพื่อความมักมากใน
จีวรเหลือเกิน อย่ากระนั้นเลย เราควรกำหนดเขตแดน เราควรกำหนดกฏเกณฑ์ใน
เรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย’ ต่อมา ในยามค่ำคืนที่หนาวเหน็บในฤดูหนาวอยู่ในช่วง
เดือน ๓ เดือน ๔ เราครองจีวรผืนเดียวนั่งอยู่กลางแจ้งตลอดราตรีขณะที่น้ำค้างตก
แต่ยังไม่รู้สึกหนาว เมื่อปฐมยามผ่านไป รู้สึกหนาว ห่มจีวรผืนที่ ๒ จึงไม่หนาว
เมื่อมัชฌิมยามผ่านไป รู้สึกหนาว ห่มจีวรผืนที่ ๓ จึงไม่หนาว เมื่อปัจฉิมยามผ่านไป
ยามรุ่งอรุณแห่งราตรีอันเป็นเบื้องต้นแห่งความสดชื่น รู้สึกหนาว ห่มจีวรผืนที่ ๔
จึงไม่หนาว ภิกษุทั้งหลาย เราเองได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ที่เป็น
คนมีปกติหนาว กลัวความหนาว อาจครองชีพอยู่ได้ด้วยผ้า ๓ ผืน อย่ากระนั้น
เลย เราควรกำหนดเขตแดน เราควรกำหนดกฏเกณฑ์ในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย
เราควรอนุญาตผ้า ๓ ผืน ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไตรจีวร คือ สังฆาฏิ ๒ ชั้น
อุตตราสงค์ชั้นเดียว อันตรวาสกชั้นเดียว”
๒๑๘. อติเรกจีวรกถา
ว่าด้วยอติเรกจีวร
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ทรงอติเรกจีวรชุดอื่นเข้าบ้าน
[๓๔๗] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต
ไตรจีวรแล้ว” จึงใช้ไตรจีวรชุดหนึ่งเข้าบ้าน ใช้ไตรจีวรอีกชุดหนึ่งอยู่ในอาราม
ใช้ไตรจีวรอีกชุดหนึ่งลงสรงน้ำ บรรดาภิกษุผู้มักน้อยสันโดษตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงทรงอติเรกจีวรเล่า” แล้วนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๘. อติเรกจีวรกถา
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทรงอติเรกจีวร ภิกษุใดทรง พึงปรับอาบัติตามธรรม”
สมัยนั้น อติเรกจีวรเกิดขึ้นแก่ท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์ต้องการจะ
ถวายอติเรกจีวรนั้นแก่ท่านพระสารีบุตร แต่ท่านพระสารีบุตรอยู่เมืองสาเกต ทีนั้น
ท่านพระอานนท์ ได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า
‘ภิกษุไม่พึงทรงอติเรกจีวร’ ก็อติเรกจีวรนี้เกิดขึ้นแก่เรา เราต้องการจะถวายท่าน
พระสารีบุตร แต่ท่านอยู่ที่เมืองสาเกต เราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์จึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ อีกนานเพียงไร สารีบุตรจะกลับมา”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “อีก ๙ วัน หรือ ๑๐ วัน จึงจะกลับมา
พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ ๑๐ วัน
เป็นอย่างมาก”
เรื่องอติเรกจีวรเกิดขึ้น
สมัยนั้น อติเรกจีวรเกิดขึ้นแก่พวกภิกษุ ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มี
ความคิดดังนี้ว่า “พวกเราจะปฏิบัติในอติเรกจีวรอย่างไร” แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปอติเรกจีวร”
เรื่องทรงอนุญาตผ้าปะเมื่ออันตรวาสกขาดทะลุ
[๓๔๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงเวสาลีตามพระอัธยาศัย
แล้วเสด็จจาริกไปทางกรุงพาราณสี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงพาราณสี
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
ครั้งนั้น อันตรวาสกของภิกษุรูปหนึ่งขาดทะลุ ภิกษุนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า
“พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตผ้า ๓ ผืน คือ สังฆาฏิ ๒ ชั้น อุตตราสงค์ชั้นเดียว
อันตรวาสกชั้นเดียว ก็อันตรวาสกของเราผืนนี้ขาดทะลุ อย่ากระนั้นเลย เราควร
ทาบผ้าปะ บริเวณโดยรอบจะเป็น ๒ ชั้น ตรงกลางเป็นชั้นเดียว” จึงได้ทาบผ้าปะ
พระผู้มีพระภาคเสด็จไปตามเสนาสนะ ทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้นกำลังทาบ
ผ้าปะจึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายตรัสดังนี้ว่า “เธอทำอะไรภิกษุ”
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า “ข้าพระองค์กำลังทาบผ้าปะ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ ดีแล้วที่เธอทาบผ้าปะ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย สำหรับผ้าใหม่และผ้าเทียมผ้าใหม่ เรา
อนุญาตสังฆาฏิ ๒ ชั้น อุตตราสงค์ชั้นเดียว อันตรวาสกชั้นเดียว สำหรับผ้าที่เก็บไว้
ค้างฤดูเราอนุญาตสังฆาฏิ ๔ ชั้น อุตตราสงค์ ๒ ชั้น อันตรวาสกชั้นเดียว
ภิกษุพึงทำอุตสาหะในผ้าบังสุกุลได้ตามต้องการหรือในผ้าที่เก็บมาจากร้านตลาด ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าปะ การชุน รังดุม ลูกดุม การทำให้แน่น”
๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
ว่าด้วยนางวิสาขากราบทูลขอพร
เรื่องฝนตกพร้อมกัน ๔ ทวีป
[๓๔๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสีตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุง
สาวัตถีแล้ว ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ
บิณฑิกเศรษฐี ในกรุงสาวัตถีนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้ว
นั่งอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นางวิสาขามิคารมาตาเห็นชัด
ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ลำดับนั้น นางวิสาขามิคารมาตาผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด
ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาค
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของหม่อมฉัน เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุก
จากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป
ครั้นผ่านราตรีนั้น เมฆฝนใหญ่ตั้งเค้าขึ้นในทวีปทั้ง ๔ ตกลงมาอย่างหนัก๑
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ฝนตกใน
เชตวันฉันใด ตกในทวีปทั้ง ๔ ก็ฉันนั้น พวกเธอจงสรงสนานกายด้วยน้ำฝนเถิด
นี้เป็นเมฆฝนใหญ่ครั้งสุดท้ายที่ตั้งเค้าขึ้นตก (พร้อมกัน) ในทวีปทั้ง ๔”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว พากันเอาจีวรวางไว้ สรงสนาน
กายด้วยน้ำฝน ลำดับนั้น นางวิสาขามิคารมาตาสั่งให้คนเตรียมของเคี้ยวของฉันอัน
ประณีตแล้วสั่งสาวใช้ว่า “ไปเถิดแม่สาวใช้ เธอไปสู่อารามแล้วบอกภัตกาลว่า ถึงเวลา
แล้ว ท่านเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว”

เชิงอรรถ :
๑ ทวีปทั้ง ๔ ได้แก่
๑. ชมพูทวีป ๒. อมรโคยานทวีป
๓. อุตตรกุรุทวีป ๔. ปุพพวิเทหทวีป (องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๘๑/๓๐๖-๓๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
นางทาสีรับคำแล้วไปสู่อาราม เห็นพวกภิกษุเอาจีวรวางไว้ สรงสนานกายด้วย
น้ำฝนอยู่คิดว่า “ไม่มีภิกษุอยู่ในอาราม มีแต่พวกอาชีวกกำลังสนานกายด้วยน้ำ
ฝน”๑ จึงกลับไปหานางวิสาขามิคารมาตา ได้กล่าวดังนี้ว่า “แม่เจ้า ไม่มีภิกษุอยู่
ในอาราม มีแต่พวกอาชีวกกำลังสนานกายด้วยน้ำฝน”
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาผู้เป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาด มีปัญญา ได้มี
ความคิดดังนี้ว่า “พวกพระคุณเจ้าคงเอาจีวรวางไว้สรงสนานกายด้วยน้ำฝนเป็นแน่
นางทาสีคนนี้เป็นคนเขลา จึงเข้าใจว่า ไม่มีภิกษุอยู่ในอาราม มีแต่พวกอาชีวกกำลัง
สนานกายด้วยน้ำฝน” จึงสั่งสาวใช้ว่า “ไปเถิดแม่สาวใช้ เธอไปที่อารามแล้วบอก
เวลาว่า ถึงเวลาแล้ว ท่านเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
สมัยนั้น ภิกษุเหล่านั้นชำระร่างกายจนหนาวแล้วนุ่งผ้าเรียบร้อย ต่างถือจีวร
เข้าไปสู่ที่อยู่ตามเดิม นางทาสีนั้นไปสู่อารามไม่พบพวกภิกษุเข้าใจว่า “ไม่มีภิกษุใน
อาราม อารามว่างเปล่า” จึงกลับไปหานางวิสาขามิคารมาตา ได้กล่าวดังนี้ว่า
“แม่เจ้า ไม่มีภิกษุในอาราม อารามว่างเปล่า”
ลำดับนั้น นางวิสาขามิคารมาตา ผู้เป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาด มีปัญญา ได้
มีความคิดดังนี้ว่า “พวกพระคุณเจ้าคงจะชำระร่างกายจนหนาวแล้วนุ่งผ้าเรียบร้อย
ต่างถือจีวรเข้าไปสู่ที่อยู่ตามเดิม นางทาสีคนนี้เป็นคนเขลาจึงเข้าใจว่า ไม่มีภิกษุใน
อาราม อารามว่างเปล่า” จึงสั่งสาวใช้อีกว่า “ไปเถิดแม่สาวใช้ เธอไปที่อารามแล้ว
บอกภัตกาลว่า ถึงเวลาแล้ว ท่านเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
[๓๕๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า “พวก
เธอจงเตรียมบาตรและจีวร ถึงเวลาภัตตาหารแล้ว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จ
หายไปในพระเชตวัน มาปรากฏที่ซุ้มประตูบ้านนางวิสาขามิคารมาตา เปรียบเหมือน

เชิงอรรถ :
๑ อาชีวก เป็นชื่อเรียกพวกนักบวชเปลือย (วิ.อ. ๓/๑๑๐/๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
คนมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ประทับนั่งบนพระพุทธอาสน์ที่เขา
ปูไว้พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตารื่นเริงบันเทิงใจว่า “น่าอัศจรรย์จริง ผู้เจริญ
ทั้งหลาย ไม่เคยปรากฏ ผู้เจริญทั้งหลาย พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมี
อานุภาพมาก เมื่อห้วงน้ำไหลนองไปแค่เข่าบ้าง เมื่อห้วงน้ำไหลนองไปแค่สะเอว
บ้าง เท้าหรือจีวรของภิกษุสักรูปเดียวก็ไม่เปียกน้ำเลย” จึงได้ประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประธาน ด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีตด้วยมือตนเอง กระทั่ง
พระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ทรงละพระหัตถ์จากบาตร นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
กราบทูลว่า “หม่อมฉันกราบทูลขอพร ๘ ประการ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ตถาคตทั้งหลายเลิกให้พรเสียแล้ว วิสาขา”
นางวิสาขากราบทูลว่า “หม่อมฉันทูลขอพรที่เหมาะสมและไม่มีโทษ พระ
พุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จงพูดมาเถิด วิสาขา”
เรื่องนางวิสาขาขอพรเพื่อถวายผ้าอาบน้ำฝนเป็นต้น
นางวิสาขามิคารมาตากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันประสงค์
จะถวายผ้าวัสสิกสาฎก ถวายอาคันตุกภัต ถวายคมิกภัต ถวายคิลานภัต ถวาย
คิลานุปัฏฐากภัต ถวายคิลานเภสัช ถวายธุวยาคู๑แก่พระสงฆ์ และถวายผ้า
อาบน้ำแก่ภิกษุณีสงฆ์จนตลอดชีวิต”

เชิงอรรถ :
๑ ผ้าวัสสิกสาฎก คือ ผ้าอาบน้ำฝน
อาคันตุกภัต คือ อาหารสำหรับภิกษุที่มาขอพักอาศัย ไม่ใช่อยู่ประจำ
คมิกภัต คือ อาหารสำหรับภิกษุที่เตรียมจะเดินทางไป
คิลานภัต คือ อาหารสำหรับภิกษุไข้
คิลานุปัฏฐากภัต คือ อาหารสำหรับภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้
คิลานเภสัช คือ เภสัชสำหรับภิกษุไข้
ธุวยาคู คือ ข้าวต้มที่ถวายเป็นประจำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอเห็นอำนาจประโยชน์อะไรจึงขอพร ๘
ประการกับตถาคต”
นางวิสาขามิคารมาตากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า วันนี้หม่อมฉันสั่งสาวใช้
ไปว่า ‘ไปเถิดแม่สาวใช้ เธอไปสู่อารามแล้วบอกเวลาว่า ‘ได้เวลาแล้ว ท่านเจ้าข้า
ภัตตาหารเสร็จแล้ว’ ครั้นนางไปสู่อารามได้เห็นภิกษุเอาจีวรวางไว้ สรงสนานกาย
ด้วยน้ำฝนอยู่จึงเข้าใจว่า ‘ไม่มีภิกษุอยู่ในอาราม มีแต่พวกอาชีวกกำลังสนานกาย
ด้วยน้ำฝน’ จึงกลับเข้ามาหาหม่อมฉันบอกดังนี้ว่า ‘แม่เจ้า ไม่มีภิกษุอยู่ในอาราม
มีแต่พวกอาชีวกกำลังสนานกายด้วยน้ำฝน”
๑. การเปลือยกายไม่งาม น่าเกลียด น่าชัง หม่อมฉันเห็นอำนาจ
ประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายผ้าวัสสิกสาฎกแก่พระสงฆ์จน
ตลอดชีวิต
๒. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุอาคันตุกะไม่ชำนาญหนทาง ไม่รู้จักที่โคจร
บิณฑบาตลำบาก ภิกษุอาคันตุกะนั้นฉันอาคันตุกภัตของหม่อมฉัน
แล้ว พอชำนาญทาง รู้จักที่โคจร จะเที่ยวบิณฑบาตได้ไม่ลำบาก
หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายอาคันตุกภัตแก่
พระสงฆ์จนตลอดชีวิต
๓. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุผู้เตรียมตัวจะเดินทาง มัวแสวงหาภัตตาหาร
เพื่อตนอยู่ จะพลาดจากหมู่เกวียน หรือถึงที่ที่ตนจะไปอยู่เมื่อ
พลบค่ำ จะเดินทางลำบาก ภิกษุผู้เตรียมจะเดินทางนั้นฉัน
คมิกภัตของหม่อมฉันแล้วจะไม่พลาดจากหมู่เกวียน หรือไม่ถึงที่ที่
ตนจะไปอยู่ทันเวลา จะได้เดินทางไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นอำนาจ
ประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายคมิกภัตแก่พระสงฆ์จนตลอดชีวิต
๔. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อภิกษุไข้ไม่ได้โภชนาหารที่เป็นสัปปายะ อาพาธ
จะกำเริบหรือจะถึงมรณภาพได้ ภิกษุไข้นั้นฉันคิลานภัตของหม่อม
ฉันแล้ว อาพาธจะทุเลาหรือไม่ถึงมรณภาพ หม่อมฉันเห็น
อำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายคิลานภัตแก่พระสงฆ์จน
ตลอดชีวิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
๕. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้มัวแสวงหาภัตตาหารเพื่อ
ตนเอง จะนำภัตตาหารไปถวายภิกษุไข้ในเมื่อเวลาสาย ตนเองจะ
อดอาหาร ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้นั้นได้ฉันคิลานุปัฏฐากภัตของ
หม่อมฉันแล้ว จะนำภัตตาหารไปถวายภิกษุไข้ได้ทันเวลา ตนเองก็
ไม่อดอาหาร หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวาย
คิลานุปัฏฐากภัตแก่พระสงฆ์จนตลอดชีวิต
๖. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อภิกษุไข้ไม่ได้เภสัชที่เป็นสัปปายะ อาพาธจะ
กำเริบ หรือถึงมรณภาพได้ ภิกษุไข้นั้นฉันคิลานเภสัชของหม่อมฉัน
แล้ว อาพาธจะทุเลาหรือไม่ถึงมรณภาพ หม่อมฉันเห็นอำนาจ
ประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายคิลานเภสัชแก่พระสงฆ์จนตลอดชีวิต
๗. อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเห็นอานิสงส์ ๑๐ ประการ
จึงได้ทรงอนุญาตข้าวต้มไว้ที่เมืองอันธกวินทะ หม่อมฉันเห็น
อำนาจอานิสงส์เหล่านั้น จึงปรารถนาถวายข้าวต้มเป็นประจำแก่
พระสงฆ์จนตลอดชีวิต
๘. พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุณีทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ เปลือยกายอาบน้ำ
ในแม่น้ำอจิรวดีท่าเดียวกับหญิงแพศยา พวกหญิงแพศยาทั้งหลาย
เย้ยภิกษุณีเหล่านั้นว่า แม่เจ้าทั้งหลาย พวกท่านยังเป็นสาว
จะประพฤติพรหมจรรย์ไปทำไมกัน ธรรมดามนุษย์ควรบริโภคกาม
มิใช่หรือ ต่อเมื่อชรา พวกท่านจึงค่อยประพฤติพรหมจรรย์
เมื่อเป็นอย่างนี้ ชื่อว่าได้หยิบฉวยเอาประโยชน์ทั้ง ๒ แล้ว”
ภิกษุณีเหล่านั้นถูกพวกหญิงแพศยาเย้ยหยันต่างเก้อเขิน พระ
พุทธเจ้าข้า มาตุคาม๑เปลือยกายย่อมไม่งดงาม น่าเกลียด น่าชัง
หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายผ้าอาบน้ำแก่
ภิกษุณีสงฆ์จนตลอดชีวิต

เชิงอรรถ :
๑ มาตุคาม คือผู้หญิง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
[๓๕๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วิสาขา เธอเห็นอานิสงส์อะไรจึงขอพร
๘ ประการกับตถาคต”
นางวิสาขามิคารมาตากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุทั้งหลายในพระ
ธรรมวินัยนี้จำพรรษาในทิศต่าง ๆ แล้วจะเดินทางมากรุงสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มี
พระภาค ภิกษุเหล่านั้นจะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถามว่า ‘พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุ
ชื่อนี้มรณภาพแล้ว เธอมีคติอย่างไร มีภพหน้าอย่างไร’ พระผู้มีพระภาค
จะทรงพยากรณ์ภิกษุนั้นในโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตผล
หม่อมฉันจะเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นแล้วถามว่า ‘พระคุณเจ้ารูปนั้นเคยมากรุงสาวัตถี
ไหมเจ้าข้า’ ถ้าภิกษุเหล่านั้นตอบหม่อมฉันว่า ‘ภิกษุนั้นเคยมากรุงสาวัตถี’ ใน
เรื่องนี้หม่อมฉันจะสันนิษฐานได้ว่า ‘พระคุณเจ้านั้นคงใช้ผ้าวัสสิกสาฎก คงฉัน
อาคันตุกภัต คมิกภัต คิลานภัต คิลานุปัฏฐากภัต คิลานเภสัช หรือธุวยาคู
ของหม่อมฉันเป็นแน่’ เมื่อหม่อมฉันระลึกถึงบุญกุศลนั้นก็จะเกิดความปลื้มใจ เมื่อ
หม่อมฉันปลื้มใจก็จะเกิดอิ่มใจ เมื่ออิ่มใจ กายจะสงบ หม่อมฉันมีกายสงบ
จะมีความสุข จิตของผู้มีความสุขจะตั้งมั่น หม่อมฉันจะได้อบรมอินทรีย์ พละ และ
โพชฌงค์ หม่อมฉันเห็นอานิสงส์นี้จึงกราบทูลขอพร ๘ ประการกับพระตถาคต
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ วิสาขา เป็นการดีแล้วที่เธอเห็นอานิสงส์
นี้จึงขอพร ๘ ประการกับตถาคต วิสาขา เราอนุญาตพร ๘ ประการแก่เธอ”
คาถาอนุโมทนา
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนานางวิสาขามิคารมาตาด้วยพระคาถา
เหล่านี้ว่า
สตรีใดเมื่อให้ข้าวและน้ำก็เบิกบานใจ
มีศีล เป็นสาวิกาของพระสุคต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๐. นิสีทนาทิอนุชานนา
ครอบงำความตระหนี่ ให้ทานซึ่งเป็นหนทางสวรรค์
เป็นเครื่องบรรเทาความโศก นำสุขมาให้
สตรีนั้นอาศัยหนทางที่ไม่มีธุลี ไม่มีกิเลสยวนใจ
ย่อมได้กำลังและอายุทิพย์ เธอผู้ประสงค์บุญ มีความสุข
มีพลานามัย ย่อมปลื้มใจในชาวสวรรค์ตลอดกาลนาน
[๓๕๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาต่อนางวิสาขามิคารมาตาด้วย
พระคาถาเหล่านี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะแล้วเสด็จกลับ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าวัสสิกสาฎก อาคันตุกภัต
คมิกภัต คิลานภัต คิลานุปัฏฐากภัต คิลานเภสัช ธุวยาคู และผ้าอาบน้ำ
สำหรับภิกษุณีสงฆ์”
วิสาขาภาณวาร จบ
๒๒๐. นิสีทนาทิอนุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตผ้ารองนั่งเป็นต้น
เรื่องภิกษุนอนหลับขาดสติสัมปชัญญะ
[๓๕๓] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายฉันอาหารอันประณีต จำวัดหลับขาดสติ
สัมปชัญญะ เมื่อพวกเธอจำวัดหลับขาดสติสัมปชัญญะ น้ำอสุจิออกมาเพราะความ
ฝัน เสนาสนะ เปรอะเปื้อนน้ำอสุจิ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีท่านพระอานนท์ตามเสด็จ เสด็จจาริกไปตาม
เสนาสนะได้ทอดพระเนตรเห็นเสนาสนะเปรอะเปื้อนน้ำอสุจิ จึงตรัสถามท่านพระ
อานนท์ว่า “อานนท์ เสนาสนะนั่นเปรอะเปื้อนอะไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๐. นิสีทนาทิอนุชานนา
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “เวลานี้ ภิกษุฉันอาหารอย่างดี จำวัดหลับขาด
สติสัมปชัญญะ เมื่อพวกภิกษุเหล่านั้นจำวัดหลับขาดสติสัมปชัญญะ น้ำอสุจิออกมา
เพราะความฝัน เสนาสนะนี้จึงเปรอะเปื้อนน้ำอสุจิ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นแหละ อานนท์ อย่างนั้นแหละ อานนท์
เพราะเมื่อภิกษุเหล่านั้นจำวัดหลับขาดสติสัมปชัญญะ น้ำอสุจิย่อมออกมาเพราะความ
ฝัน อานนท์ น้ำอสุจิของภิกษุผู้จำวัดหลับมีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ ย่อมไม่ออกมา
อานนท์ น้ำอสุจิแม้ของปุถุชนผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม๑ ย่อมไม่ออกมา อานนท์
ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่ใช่โอกาสที่น้ำอสุจิของพระอรหันต์จะออกมา”
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย วันนี้ เรามีอานนท์เดินตามหลัง เที่ยวจาริกไป
ตามเสนาสนะได้เห็นเสนาสนะเปรอะเปื้อนน้ำอสุจิจึงถามอานนท์ว่า ‘อานนท์ เสนาสนะ
นั่นเปรอะเปื้อนอะไร’ อานนท์ตอบว่า ‘เวลานี้ ภิกษุฉันอาหารอย่างดี จำวัดหลับ
ขาดสติสัมปชัญญะ เมื่อพวกภิกษุเหล่านั้นจำวัดหลับขาดสติสัมปชัญญะ น้ำอสุจิ
ออกมาเพราะความฝัน เสนาสนะเปรอะเปื้อนน้ำอสุจิ’ เรากล่าวรับรองว่า อย่างนั้น
แหละ อานนท์ อย่างนั้นแหละ อานนท์ เพราะเมื่อภิกษุเหล่านั้นจำวัดหลับขาด
สติสัมปชัญญะ อานนท์ น้ำอสุจิย่อมออกมาเพราะความฝัน น้ำอสุจิของภิกษุผู้จำ
วัดหลับมีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ ย่อมไม่ออกมา อานนท์ น้ำอสุจิแม้ของปุถุชนผู้
ปราศจากความกำหนัดในกามย่อมไม่ออกมา อานนท์ ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่
ใช่โอกาสที่น้ำอสุจิของพระอรหันต์จะออกมา”
นอนหลับขาดสติสัมปชัญญะมีโทษ ๕ อย่าง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่จำวัดหลับขาดสติสัมปชัญญะ มีโทษ ๕ อย่าง คือ
๑. หลับเป็นทุกข์ ๒. ตื่นเป็นทุกข์

เชิงอรรถ :
๑ ปุถุชนผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม คือ ผู้มีปกติได้ฌาน (วิ.อ. ๓/๓๕๓/๒๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๐. นิสีทนาทิอนุชานนา
๓. เห็นความฝันเลวทราม ๔. เทวดาไม่รักษา
๕. น้ำอสุจิเคลื่อน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่จำวัดหลับขาดสติสัมปชัญญะ มีโทษ ๕ อย่างนี้แล
นอนหลับมีสติสัมปชัญญะ มีอานิสงส์ ๕ อย่าง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่จำวัดหลับมีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีอานิสงส์ ๕
อย่าง คือ

๑. หลับเป็นสุข ๒. ตื่นเป็นสุข
๓. ไม่เห็นความฝันเลวทราม ๔. เทวดารักษา
๕. น้ำอสุจิไม่เคลื่อน

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่จำวัดหลับมีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีอานิสงส์ ๕
อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้ารองนั่งเพื่อรักษากาย รักษาจีวร รักษาเสนาสนะ
เรื่องผ้าปูนั่งผืนเล็กเกินไป
สมัยนั้น ผ้ารองนั่งมีขนาดเล็กเกินไป ป้องกันเสนาสนะได้ไม่หมด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำผ้าปูนอนใหญ่ได้
ตามที่ภิกษุต้องการ”
เรื่องฝีดาษ
[๓๕๔] สมัยนั้น ท่านพระเพลัฏฐสีสะผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านพระอานนท์
อาพาธเป็นโรคฝีดาษ ผ้านุ่งห่มเกรอะกรังติดตัวเพราะน้ำเหลือง พวกภิกษุเอาน้ำ
ชุบผ้าเหล่านั้นแล้วค่อย ๆ ดึงออกมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๐. นิสีทนาทิอนุชานนา
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปตามเสนาสนะ ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้น
กำลังเอาน้ำชุบผ้าแล้วค่อย ๆ ดึงออก จึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้อาพาธเป็นโรคอะไร”
พวกภิกษุกราบทูลว่า “อาพาธเป็นโรคฝีดาษ ผ้านุ่งห่มเกรอะกรังที่ตัวเพราะ
น้ำเหลือง พวกข้าพระองค์เอาน้ำชุบผ้าเหล่านั้นแล้วค่อย ๆ ดึงออก พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าปิดฝีแก่ภิกษุอาพาธที่เป็นหิด
ตุ่มพุพองหรือฝีดาษ”
เรื่องทรงอนุญาตผ้าเช็ดปาก
[๓๕๕] ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาถือผ้าเช็ดปาก เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาค ณ ที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้
กราบทูลดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคโปรดรับผ้าเช็ดปากของหม่อมฉัน เพื่อเกื้อกูล
เพื่อความสุขตลอดกาลนานเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับผ้าเช็ดปากแล้วทรงชี้แจงให้นางวิสาขามิคารมาตาเห็นชัด
ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถา จึงได้ลุกจากอาสนะ ทำประทักษิณแล้วจากไป
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าเช็ดปาก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๑. ปัจฏิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา
เรื่องทรงอนุญาตให้ถือวิสาสะผ้าเปลือกไม้
[๓๕๖] สมัยนั้น มัลลกษัตริย์ชื่อโรชะ เป็นสหายของท่านพระอานนท์
มัลลกษัตริย์โรชะนั้นฝากผ้าเปลือกไม้เก่าไว้กับท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์
เองก็มีความต้องการผ้าเปลือกไม้เก่า
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผู้ประกอบด้วย
คุณสมบัติ ๕ อย่างถือวิสาสะได้ คือ
๑. เคยเห็นกันมา ๒. เคยคบกันมา
๓. เคยบอกอนุญาตไว้ ๔. เขายังมีชีวิตอยู่
๕. รู้ว่า “เมื่อเราถือเอาแล้ว เขา(ผู้เป็นเจ้าของ)จะพอใจ”
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ อย่างนี้ถือวิสาสะ
กันได้”
เรื่องไตรจีวรบริบูรณ์
[๓๕๗] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีไตรจีวรบริบูรณ์ แต่ยังต้องการผ้ากรอง
น้ำบ้าง ถุงบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าบริขาร”
๒๒๑. ปัจฉิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา
ว่าด้วยผ้าที่ต้องวิกัปเป็นอย่างต่ำเป็นต้น
เรื่องอธิษฐาน
[๓๕๘] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “ผ้าที่พระผู้มีพระภาค
ทรงอนุญาต คือไตรจีวร ผ้าอาบน้ำฝน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ผ้าปิดฝี ผ้าเช็ดปาก
หรือผ้าบริขาร ต้องอธิษฐานทั้งหมดหรือ หรือว่าต้องวิกัป”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๑. ปัจฏิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อธิษฐานผ้าไตรจีวร
ไม่ใช่ให้วิกัป ให้อธิษฐาน ผ้าอาบน้ำฝนตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน พ้นเขตนั้นให้วิกัปไว้
ให้อธิษฐานผ้าปูนั่ง ไม่ใช่ให้วิกัป ให้อธิษฐานผ้าปูนอน ไม่ใช่ให้วิกัป ให้อธิฐานผ้า
ปิดฝีตลอดเวลาที่อาพาธ พ้นจากนั้นให้วิกัปไว้ ให้อธิษฐานผ้าเช็ดปาก ไม่ใช่ให้วิกัป
ให้อธิษฐานผ้าบริขาร ไม่ใช่ให้วิกัป”
เรื่องจีวรมีขนาดเพียงไรจึงต้องวิกัป
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “จีวรมีขนาดเพียงไรเป็นอย่างต่ำ
พึงวิกัป”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปจีวรมีขนาดยาว
๘ นิ้ว กว้าง ๔ นิ้ว โดยนิ้วสุคตเป็นอย่างต่ำ”
เรื่องอุตตราสงค์ที่ทำจากผ้าบังสุกุลหนัก
[๓๕๙] สมัยนั้น อุตตราสงค์ที่ทำจากผ้าบังสุกุลของท่านพระมหากัสสปะหนัก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เย็บดามด้วยด้าย”
เรื่องชายสังฆาฏิไม่เสมอกัน
สังฆาฏิมีชายไม่เสมอกัน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รื้อชายที่ไม่เท่ากัน
ออก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๑. ปัจฏิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา
เรื่องด้ายหลุดลุ่ย
ด้ายหลุดลุ่ย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ติดผ้าอนุวาตหุ้มขอบ”
เรื่องแผ่นสังฆาฏิลุ่ยออก
สมัยนั้น แผ่นสังฆาฏิลุ่ยออก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เย็บตะเข็บดังตา
หมากรุก”
เรื่องผ้าไม่พอ
[๓๖๐] สมัยนั้น เมื่อสงฆ์กำลังทำไตรจีวรให้ภิกษุรูปหนึ่ง ผ้าตัดทั้งหมดไม่พอ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าที่ต้องตัด ๒ ผืน
ไม่ตัด ๑ ผืน”
ผ้าที่ตัด ๒ ผืน ที่ไม่ตัด ๑ ผืน ผ้าก็ยังไม่พอ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าที่ไม่ตัด ๒ ผืน
ตัด ๑ ผืน”
เรื่องผ้าเพลาะ
ผ้าที่ไม่ตัด ๒ ผืน ที่ตัด ๑ ผืน ผ้าก็ยังไม่พอ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ติดผ้าเพลาะ ภิกษุ
ทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุไม่พึงใช้ผ้าที่ไม่ได้ตัดทั้งหมด รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๑. ปัจฏิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา
ทรงอนุญาตให้ให้ผ้าแก่โยมมารดาบิดาได้
เรื่องจีวรเกิดขึ้นมาก
[๓๖๑] สมัยนั้น จีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุรูปหนึ่งหลายผืน และภิกษุนั้นประสงค์
จะให้ผ้านั้นแก่มารดาบิดา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุให้ด้วยกล่าวว่า ‘เป็น
มารดาบิดา’ เราจะว่าอะไร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ให้แก่มารดาบิดา แต่ภิกษุ
ไม่พึงทำสัทธาไทย(ของที่ให้ด้วยศรัทธา)ให้ตกไป รูปใดทำให้ตกไป ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องเก็บจีวรไว้ในวิหารอันธวัน
[๓๖๒] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเก็บจีวร(สังฆาฏิ)ไว้ในป่าอันธวัน ครองอุตตรา-
สงค์กับอันตรวาสกเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน พวกโจรลักจีวร(สังฆาฏิ)นั้นไป ภิกษุ
นั้นจึงใช้ผ้าเก่า ครองจีวรเศร้าหมอง
พวกภิกษุกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ทำไมท่านจึงใช้ผ้าเก่าครองจีวรเศร้าหมองเล่า”
ภิกษุรูปนั้นตอบว่า “ท่านทั้งหลาย ผมเก็บจีวร(สังฆาฏิ)ไว้ในป่าอันธวันแห่งนี้
แล้วครองอุตตราสงค์กับอันตรวาสกเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน พวกโจรลักจีวร(สังฆาฏิ)
นั้นไป เพราะเหตุนั้น ผมจึงใช้ผ้าเก่า ครองจีวรเศร้าหมอง”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีแต่อุตตราสงค์กับอันตรวาสก
ไม่พึงเข้าหมู่บ้าน รูปใดเข้าไป ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องท่านพระอานนท์เผลอสติ
สมัยนั้น ท่านพระอานนท์เผลอสติ ครองอุตตราสงค์กับอันตรวาสกเข้าไป
บิณฑบาตในหมู่บ้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๑. ปัจฏิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา
พวกภิกษุได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์ พระผู้มีพระภาค
ทรงบัญญัติห้ามไว้มิใช่หรือว่า ‘ภิกษุมีแต่อุตตราสงค์กับอันตรวาสกไม่พึงเข้าหมู่บ้าน’
ทำไม่ท่านจึงมีเพียงอุตตราสงค์กับอันตรวาสกเข้าหมู่บ้านเล่า”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ใช่ขอรับ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามไว้แล้ว
ว่า ‘ภิกษุมีแต่อุตตราสงค์กับอันตรวาสกไม่พึงเข้าหมู่บ้าน’ แต่ผมเข้าหมู่บ้านเพราะ
เผลอสติ”
ภิกษุทั้งหลายจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บสังฆาฏิ มี ๕ อย่าง คือ
๑. เป็นไข้ ๒. เป็นฤดูที่หมายรู้ว่าฝนจะตก๑
๓. ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ ๔. วิหารมีกุญแจคุมแน่นหนา
๕. ได้กรานกฐินแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บสังฆาฏิ มี ๕ อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บอุตตราสงค์ มี ๕ อย่าง คือ
๑. เป็นไข้ ๒. เป็นฤดูที่หมายรู้ว่าฝนจะตก
๓. ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ ๔. วิหารมีกุญแจคุมแน่นหนา
๕. ได้กรานกฐินแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บอุตตราสงค์ มี ๕ อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บอันตรวาสก มี ๕ อย่าง คือ
๑. เป็นไข้ ๒. สังเกตเห็นว่าฝนจะตก
๓. ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ ๔. วิหารมีกุญแจคุมแน่นหนา
๕. ได้กรานกฐินแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บอันตรวาสกไว้ มี ๕ อย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึง อยู่ในช่วงฤดูฝน ๔ เดือน (วิ.อ. ๓/๓๖๒/๒๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๒. สังฆิกจีวรุปปาทกถา
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บผ้าอาบน้ำฝนไว้ มี ๕ อย่าง คือ
๑. เป็นไข้ ๒. ไปนอกสีมา
๓. ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ ๔. วิหารมีกุญแจคุมแน่นหนา
๕. ผ้าอาบน้ำฝนยังไม่ได้ทำหรือทำค้างไว้
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บผ้าอาบน้ำฝนไว้ มี ๕ อย่างนี้แล
๒๒๒. สังฆิกจีวรุปปาทกถา
ว่าด้วยการให้จีวรเกิดขึ้นแก่สงฆ์
เรื่องภิกษุรูปเดียวจำพรรษา
[๓๖๓] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอยู่จำพรรษาผู้เดียว คนทั้งหลายในถิ่นนั้นได้
ถวายจีวรด้วยกล่าวว่า “พวกเราขอถวายแก่สงฆ์”
ต่อมา ภิกษุนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า
‘ภิกษุมี ๔ รูปเป็นอย่างน้อย ชื่อว่าสงฆ์’ แต่เรามีผู้เดียว และคนเหล่านี้ได้ถวาย
จีวรด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายแก่สงฆ์’ อย่ากระนั้นเลย เราพึงนำจีวรของสงฆ์
เหล่านี้ไปกรุงสาวัตถี” แล้วได้นำจีวรเหล่านั้นไปยังกรุงสาวัตถี ได้กราบทูลเรื่องนี้ให้
พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ จีวรเหล่านั้นเป็นของเธอผู้เดียวจนถึงคราว
เดาะกฐิน ภิกษุทั้งหลาย แต่ในกรณีนี้มีภิกษุจำพรรษารูปเดียว คนทั้งหลายในถิ่น
นั้นได้ถวายจีวรด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายแก่สงฆ์’ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
จีวรเหล่านั้นแก่เธอรูปเดียวจนถึงคราวเดาะกฐิน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๒. สังฆิกจีวรุปปาทกถา
เรื่องภิกษุอยู่รูปเดียวตลอดฤดูกาล
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอยู่รูปเดียวตลอดฤดูกาล๑ คนทั้งหลายในถิ่นนั้นได้
ถวายจีวรด้วยกล่าวว่า “พวกเราขอถวายแก่สงฆ์”
ลำดับนั้น ภิกษุนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า
‘ภิกษุมี ๔ รูปเป็นอย่างน้อย ชื่อว่าสงฆ์’ แต่เรามีผู้เดียว และคนเหล่านี้ได้ถวาย
จีวรด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายแก่สงฆ์’ อย่ากระนั้นเลย เราพึงนำจีวรของสงฆ์
เหล่านี้ไปกรุงสาวัตถี” แล้วได้นำจีวรเหล่านั้นไปยังกรุงสาวัตถี แล้วบอกเรื่องนั้นแก่
ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์พร้อมใจกันแจกกัน
ภิกษุทั้งหลาย แต่ในกรณีนี้ภิกษุอยู่รูปเดียวตลอดฤดูกาล คนทั้งหลายในถิ่น
นั้นได้ถวายจีวรด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายแก่สงฆ์’
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุนั้นอธิษฐานจีวรเหล่านั้นว่า ‘จีวรเหล่านี้เป็น
ของเรา’
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นยังไม่ได้อธิษฐานจีวรนั้น มีภิกษุรูปอื่นมาก็พึง
ให้ส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังแบ่งจีวรนั้น แต่ยังไม่ได้จับสลาก
มีภิกษุรูปอื่นมาก็พึงให้ส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังแบ่งจีวรนั้น และจับสลากเสร็จ
แล้วมีภิกษุรูปอื่นมา ภิกษุเหล่านั้นไม่ต้องการก็ไม่ต้องให้ส่วนแบ่ง”

เชิงอรรถ :
๑ ฤดูกาล ในที่นี้ หมายถึงฤดูกาลอื่นนอกจากฤดูฝน (วิ.อ. ๓/๓๖๓/๒๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๒. สังฆิกจีวรุปปาทกถา
เรื่องพระเถระสองพี่น้อง
สมัยนั้น มีพระเถระสองพี่น้อง คือ ท่านพระอิสิทาสและท่านพระอิสิภัต จำ
พรรษาอยู่ในกรุงสาวัตถี ได้เดินทางไปอาวาสใกล้บ้านแห่งหนึ่ง
คนทั้งหลายกล่าวว่า “นาน ๆ พระเถระทั้งหลายจะมา” จึงได้ถวายภัตตาหาร
พร้อมด้วยจีวร
ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ประจำในอาวาสถามพระเถระทั้งสองว่า “ท่านขอรับ จีวร
ของสงฆ์เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะอาศัยพระเถระ พระเถระจะยินดีส่วนแบ่งไหม”
พระเถระทั้งสองกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกเรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว จีวรเหล่านั้นเป็นของพวกท่านเท่านั้นจนถึงคราว
เดาะกฐิน”
เรื่องภิกษุ ๓ รูปจำพรรษาในกรุงราชคฤห์
สมัยนั้น ภิกษุ ๓ รูปจำพรรษาอยู่ในกรุงราชคฤห์ คนทั้งหลายในถิ่นนั้น
ได้ถวายจีวรโดยกล่าวว่า “พวกเราขอถวายแก่สงฆ์”
ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า
‘ภิกษุมี ๔ รูปเป็นอย่างน้อย ชื่อว่าสงฆ์’ แต่พวกเรามีอยู่ ๓ รูป และคนเหล่านี้
ได้ถวายจีวรด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายแก่สงฆ์’ พวกเราจะปฏิบัติอย่างไรหนอ”
สมัยนั้น พระเถระหลายรูป คือ ท่านพระนีลวาสี ท่านพระสาณวาสี ท่าน
พระโคปกะ ท่านพระภคุ และท่านพระผลิกสันทานะอยู่ในกุกกุฏาราม เขตกรุง
ปาตลีบุตร
ภิกษุ ๓ รูปนั้นได้เดินทางไปกรุงปาตลีบุตรแล้วสอบถามพระเถระทั้งหลาย
พระเถระทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกเรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว จีวรเหล่านั้นเป็นของพวกท่านเท่านั้นจนถึงคราว
เดาะกฐิน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๓. อุปนันทสักยปุตตวัตถุ
๒๒๓. อุปนันทสักยปุตตวัตถุ
ว่าด้วยพระอุปนันทศากยบุตร
เรื่องพระอุปนันทะจำพรรษาแล้วไปอาวาสใกล้บ้าน
[๓๖๔] สมัยนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรจำพรรษาอยู่ในกรุงสาวัตถี ได้
เดินทางไปอาวาสใกล้บ้านแห่งหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลายในอาวาสนั้น ประสงค์จะแบ่งจีวร จึงประชุมกันกล่าวอย่างนี้ว่า
“ท่าน พวกภิกษุจะแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้ ท่านจะยินดีส่วนแบ่งไหม”
ท่านพระอุปนันทะตอบว่า “ท่านทั้งหลาย ผมขอยินดีส่วนแบ่งด้วย” ได้รับ
ส่วนจีวรจากอาวาสนั้นแล้วเดินทางไปอาวาสอื่น แม้พวกภิกษุในอาวาสอื่นนั้นก็
ประสงค์จะแบ่งจีวร จึงประชุมกัน แม้พวกภิกษุเหล่านั้นก็กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน
พวกภิกษุจะแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้ ท่านจะยินดีส่วนแบ่งไหม”
ท่านพระอุปนันทะตอบว่า “ท่านทั้งหลาย ผมขอยินดีส่วนแบ่งด้วย” ได้รับ
ส่วนจีวรจากอาวาสนั้น ถือจีวรห่อใหญ่เดินทางกลับไปกรุงสาวัตถีตามเดิม
ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านอุปนันทะ ท่านเป็นผู้มีบุญมาก จีวรจึง
เกิดขึ้นแก่ท่านเป็นจำนวนมาก”
ท่านพระอุปนันทะกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ผมจะมีบุญมาจากไหนกัน ผม
จำพรรษาอยู่ในกรุงสาวัตถีนี้ ได้เดินทางไปอาวาสใกล้บ้านแห่งหนึ่ง พวกภิกษุใน
อาวาสนั้นประสงค์จะแบ่งจีวรจึงได้ประชุมกัน พวกภิกษุเหล่านั้นกล่าวกับผมอย่างนี้
ว่า ‘ท่าน พวกภิกษุจะแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้ ท่านจะยินดีส่วนแบ่งไหม’ ผมตอบ
ว่า ‘ท่านทั้งหลาย ผมขอยินดีส่วนแบ่งด้วย’ ได้รับส่วนจีวรจากอาวาสนั้นแล้วเดิน
ทางไปอาวาสอื่น แม้พวกภิกษุในอาวาสอื่นนั้นประสงค์จะแบ่งจีวร จึงประชุมกัน
แม้พวกภิกษุเหล่านั้นก็กล่าวกับผมอย่างนี้ว่า ‘ท่าน พวกภิกษุจะแบ่งจีวรของสงฆ์
เหล่านี้ ท่านจะยินดีส่วนแบ่งไหม’ ผมตอบว่า ‘ผมขอยินดีส่วนแบ่งด้วย’ ได้รับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๓. อุปนันทสักยปุตตวัตถุ
ส่วนจีวรจากอาวาสนั้นแล้วเดินทางไปอาวาสอื่น แม้พวกภิกษุในอาวาสอื่นนั้น
ประสงค์จะแบ่งจีวร จึงประชุมกัน แม้พวกภิกษุเหล่านั้นก็กล่าวกับผมอย่างนี้ว่า
‘ท่าน พวกภิกษุจะแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้ ท่านจะยินดีส่วนแบ่งไหม’ ผมตอบว่า
‘ท่านทั้งหลาย ผมขอยินดีส่วนแบ่งด้วย’ ได้รับจีวรแม้จากอาวาสนั้น จีวรเป็น
จำนวนมากจึงเกิดขึ้นแก่ผมอย่างนี้”
พวกภิกษุถามว่า “ท่านอุปนันทะ ท่านจำพรรษาในวัดหนึ่งแล้วยังยินดีส่วน
จีวรในวัดอื่นอีกหรือ”
ท่านพระอุปนันทะกล่าวยอมรับตามนั้น
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรจำพรรษาในวัดหนึ่งจึงยินดีส่วนจีวรในวัดอื่นอีกเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ฯลฯ อุปนันทะ ทราบว่าเธอจำพรรษาในวัดหนึ่ง
แล้วยังยินดีส่วนจีวรในวัดอื่นอีก จริงหรือ”
ท่านพระอุปนันทะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจำพรรษา
ในวัดหนึ่งแล้วยังยินดีส่วนจีวรในวัดอื่นอีกเล่า โมฆบุรุษ การทำอย่างนี้มิได้ทำให้คน
ที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุจำพรรษาในวัดหนึ่งแล้ว ไม่พึงยินดีส่วน
จีวรในวัดอื่นอีก รูปใดยินดี ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องพระอุปนันทะจำพรรษาใน ๒ อาวาส
สมัยนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรรูปเดียวจำพรรษาอยู่ใน ๒ อาวาส
เพราะคิดว่า “ด้วยอุบายนี้ จีวรจะเกิดขึ้นแก่เรามาก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๔. คิลานวัตถุกถา
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “พวกเราจะให้ส่วนแบ่งแก่ท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงให้ตามความประสงค์
ส่วนหนึ่งแก่โมฆบุรุษ ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีที่ภิกษุรูปเดียวจำพรรษาอยู่ใน ๒
อาวาสเพราะคิดว่า ‘ด้วยอุบายนี้จีวรจะเกิดขึ้นแก่เรามาก’ ถ้าภิกษุจำพรรษาใน
อาวาสโน้นกึ่งหนึ่ง ในอาวาสโน้นอีกกึ่งหนึ่ง ก็พึงให้ส่วนจีวรอาวาสละกึ่งหนึ่ง
หรือให้ส่วนจีวรในอาวาสที่เธอจำพรรษามากกว่า”
๒๒๔. คิลานวัตถุกถา
ว่าด้วยภิกษุไข้
เรื่องภิกษุอาพาธเป็นโรคท้องร่วง
[๓๖๕] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคท้องร่วง ภิกษุนั้นนอนกลิ้ง
เกลือกไปมาบนปัสสาวะและอุจจาระของตนเอง
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคมีท่านพระอานนท์ตามเสด็จ เสด็จจาริกไปตาม
เสนาสนะ เสด็จเข้าไปทางที่อยู่ของภิกษุนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้นนอน
กลิ้งเกลือกไปมาบนปัสสาวะและอุจจาระของตนเอง จึงเสด็จเข้าไปใกล้แล้ว ได้ตรัส
ดังนี้ว่า “ภิกษุ เธออาพาธเป็นโรคอะไร”
ภิกษุนั้นทูลว่า “ข้าพระองค์อาพาธเป็นโรคท้องร่วง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอมีภิกษุผู้คอยพยาบาลหรือ”
ภิกษุนั้นทูลว่า “ไม่มี พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เหตุใด พวกภิกษุจึงไม่คอยพยาบาลเธอ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๔. คิลานวัตถุกถา
ภิกษุนั้นทูลว่า “เพราะข้าพระองค์ไม่ได้ทำอุปการะแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนั้น
พวกภิกษุจึงไม่คอยพยาบาลข้าพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า “อานนท์ เธอไปตัก
น้ำมา เราจะอาบน้ำให้ภิกษุนี้”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วตักน้ำมาถวาย พระผู้มีพระภาค
ทรงราดน้ำ ท่านพระอานนท์ขัดสี พระผู้มีพระภาคทรงประคองศีรษะขึ้น ท่าน
พระอานนท์ยกเท้าวางบนเตียง
ต่อมา พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบ
ถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในวิหารหลังโน้นมีภิกษุเป็นไข้หรือ”
พวกภิกษุกราบทูลว่า “มี พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธออาพาธเป็นโรคอะไร”
พวกภิกษุกราบทูลว่า “เธออาพาธเป็นโรคท้องร่วง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุนั้นมีภิกษุผู้คอยพยาบาลหรือ”
พวกภิกษุกราบทูลว่า “ไม่มี พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เหตุใด พวกภิกษุจึงไม่คอยพยาบาลเธอ”
พวกภิกษุกราบทูลว่า “เพราะเธอไม่ได้ทำอุปการะแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนั้น
พวกภิกษุจึงไม่คอยพยาบาลเธอ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดา ไม่มีบิดาผู้คอย
พยาบาล ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจะคอยพยาบาล
พวกเธอ ภิกษุทั้งหลาย ผู้จะพยาบาลเราก็จงพยาบาลภิกษุไข้เถิด ถ้ามีอุปัชฌาย์
อุปัชฌาย์พึงพยาบาลภิกษุไข้นั้นจนตลอดชีวิต(หรือ)จนกว่าเธอจะหาย ถ้ามีอาจารย์
อาจารย์พึงพยาบาลภิกษุไข้นั้นจนตลอดชีวิต(หรือ)จนกว่าเธอจะหาย ถ้ามีสัทธิ
วิหาริก สัทธิวิหาริกพึงพยาบาลภิกษุไข้นั้นจนตลอดชีวิต(หรือ)จนกว่าเธอจะหาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๔. คิลานวัตถุกถา
ถ้ามีอันเตวาสิก อันเตวาสิกพึงพยาบาลภิกษุไข้นั้นจนตลอดชีวิต(หรือ)จนกว่าเธอ
จะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌาย์ ผู้ร่วมอุปัชฌาย์พึงพยาบาลภิกษุไข้นั้นจนตลอด
ชีวิต(หรือ)จนกว่าเธอจะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ ผู้ร่วมอาจารย์พึงพยาบาล
ภิกษุไข้นั้นจนตลอดชีวิต(หรือ)จนกว่าเธอจะหาย ถ้าไม่มีอุปัชฌาย์ อาจารย์
สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ผู้ร่วมอุปัชฌาย์ หรือผู้ร่วมอาจารย์ สงฆ์ต้องพยาบาล
ภิกษุไข้นั้น ถ้าไม่พยาบาล ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องคนไข้ที่พยาบาลได้ยากและพยาบาลได้ง่าย
คนไข้ที่พยาบาลได้ยากมีอาการ ๕ อย่าง
[๓๖๖] ภิกษุทั้งหลาย คนไข้ที่มีอาการ ๕ อย่าง พยาบาลได้ยาก คือ
๑. ไม่ทำความสบาย
๒. ไม่รู้ประมาณในความสบาย
๓. ไม่ฉันยา
๔. ไม่บอกอาการไข้ตามเป็นจริงแก่ผู้พยาบาลไข้ที่มุ่งประโยชน์ คือ ไม่
บอกอาการไข้ที่กำเริบว่ากำเริบ อาการไข้ที่ทุเลาว่าทุเลา อาการไข้
ที่ทรงอยู่ว่าทรงอยู่
๕. เป็นคนไม่อดทนความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้น เป็นทุกข์แสนสาหัส
กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะคร่าชีวิต
ภิกษุทั้งหลาย คนไข้ที่มีอาการ ๕ อย่างนี้แล พยาบาลได้ยาก
คนไข้ที่พยาบาลได้ง่ายมีอาการ ๕ อย่าง
ภิกษุทั้งหลาย คนไข้ที่มีอาการ ๕ อย่าง พยาบาลได้ง่าย คือ
๑. ทำความสบาย
๒. รู้ประมาณในความสบาย
๓. ฉันยา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๔. คิลานวัตถุกถา
๔. บอกอาการไข้ตามเป็นจริงแก่ผู้พยาบาลไข้ที่มุ่งประโยชน์ คือ บอก
อาการไข้ที่กำเริบว่ากำเริบ อาการไข้ที่ทุเลาว่าทุเลา อาการไข้ที่
ทรงอยู่ว่าทรงอยู่
๕. เป็นคนอดทนต่อความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้น เป็นทุกข์แสนสาหัส
กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะคร่าชีวิต
ภิกษุทั้งหลาย คนไข้ที่มีอาการ ๕ อย่างนี้แล พยาบาลได้ง่าย
บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ควรพยาบาลภิกษุไข้
ภิกษุทั้งหลาย ผู้พยาบาลภิกษุไข้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ควรพยาบาลคนไข้ คือ
๑. ไม่สามารถจัดยา
๒. ไม่รู้จักของแสลงและไม่แสลง คือ นำของแสลงเข้าไปให้ นำของไม่
แสลงออกไป
๓. พยาบาลคนไข้เพราะเห็นแก่อามิส ไม่มีจิตเมตตา
๔. รังเกียจที่จะนำอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลายหรือของที่อาเจียนออกมา
ไปเททิ้ง
๕. ไม่สามารถพูดให้คนไข้เห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา เป็น
บางครั้งบางคราว
ภิกษุทั้งหลาย ผู้พยาบาลภิกษุไข้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่ควรพยาบาล
คนไข้
บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรพยาบาลภิกษุไข้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรพยาบาล
ภิกษุไข้ คือ
๑. สามารถจัดยา
๒. รู้จักของแสลงและไม่แสลง คือ นำของแสลงออกไป นำของไม่แสลง
เข้ามาให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๕. มตสัจตกกถา
๓. ไม่พยาบาลคนไข้เพราะเห็นแก่อามิส มีจิตเมตตา
๔. ไม่รังเกียจที่จะนำอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลายหรือของที่อาเจียนออกมา
ไปเททิ้ง
๕. สามารถพูดให้คนไข้เห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา เป็นบางครั้ง
บางคราว
ภิกษุทั้งหลาย ผู้พยาบาลภิกษุไข้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ควรพยาบาล
คนไข้
๒๒๕. มตสันตกกถา
ว่าด้วยการให้บริขารของภิกษุมรณภาพแก่ผู้พยาบาลไข้
เรื่องภิกษุและสามเณรเป็นไข้
[๓๖๗] สมัยนั้น ภิกษุ ๒ รูปเดินทางไกลไปในแคว้นโกศล เธอทั้ง ๒ เดิน
ทางไปยังอาวาสแห่งหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่งในอาวาสนั้นเป็นไข้
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค
ทรงสรรเสริญการพยาบาลภิกษุไข้ พวกเราจงพยาบาลภิกษุรูปนี้กันเถิด” แล้วพากัน
พยาบาลภิกษุไข้นั้น
เธอได้รับการพยาบาลอยู่ได้มรณภาพลง
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นถือเอาบาตรและจีวรของเธอไปกรุงสาวัตถี แล้วกราบทูล
เรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมรณภาพ สงฆ์เป็นเจ้าของ
บาตรและจีวรแต่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้เป็นผู้มีอุปการะมาก ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้สงฆ์มอบไตรจีวรและบาตรแก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๕. มตสัจตกกถา
วิธีมอบให้ไตรจีวร บาตร และกรรมวาจาสำหรับมอบให้
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้ไตรจีวรและบาตรอย่างนี้ คือ ภิกษุพยาบาลภิกษุ
ไข้นั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ภิกษุชื่อนี้มรณภาพแล้ว นี้
คือไตรจีวรและบาตรของเธอ”
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้มรณภาพแล้ว นี้คือไตรจีวรและ
บาตรของเธอ สงฆ์พึงให้ไตรจีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้มรณภาพแล้ว นี้คือไตรจีวรและ
บาตรของเธอ สงฆ์ให้ไตรจีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ ท่านรูปใดเห็น
ด้วยกับการให้ไตรจีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง
ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สงฆ์ให้ไตรจีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้แล้วสงฆ์เห็นด้วย เพราะ
เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
สามเณรมรณภาพ
[๓๖๘] สมัยนั้น สามเณรรูปหนึ่งมรณภาพ ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อสามเณรมรณภาพ สงฆ์เป็น
เจ้าของบาตรและจีวร แต่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้เป็นผู้มีอุปการะมาก ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้สงฆ์มอบจีวรและบาตรแก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้”
วิธีมอบจีวรและบาตรให้ และกรรมวาจาสำหรับมอบให้
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้จีวรและบาตรอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้นั้น
พึงเข้าไปหาสงฆ์แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ สามเณรชื่อนี้มรณภาพแล้ว นี้
คือจีวรและบาตรของเธอ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๕. มตสัจตกกถา
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สามเณรชื่อนี้มรณภาพแล้ว นี้คือจีวรและ
บาตรของเธอ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลสามเณร
ไข้ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สามเณรชื่อนี้มรณภาพแล้ว นี้คือจีวรและ
บาตรของเธอ สงฆ์ให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลสามเณรไข้ ท่านรูปใดเห็น
ด้วยกับการให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลสามเณรไข้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่าน
รูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สงฆ์ให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลสามเณรไข้แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
ภิกษุสามเณรช่วยกันพยาบาลไข้
[๓๖๙] สมัยนั้น ภิกษุและสามเณรช่วยกันพยาบาลภิกษุไข้ เธอได้รับการ
พยาบาลอยู่ได้มรณภาพลง ลำดับนั้น ภิกษุผู้พยาบาลไข้ได้มีความคิดดังนี้ว่า “เรา
พึงให้ส่วนจีวรแก่สามเณรผู้พยาบาลไข้อย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มอบส่วนจีวรแก่
สามเณรผู้พยาบาลไข้เท่า ๆ กัน”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีเครื่องบริขารมาก มรณภาพลง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมรณภาพ สงฆ์เป็นเจ้า
ของบาตรและจีวร แต่ผู้พยาบาลไข้เป็นผู้มีอุปการะมาก ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้สงฆ์มอบไตรจีวรและบาตรแก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ บรรดาสิ่งของเหล่านั้น เราอนุญาต
ให้สงฆ์พร้อมใจกันแบ่งลหุภัณฑ์และลหุบริขาร ส่วนครุภัณฑ์และครุบริขาร เป็นของ
สงฆ์ผู้อยู่ในจตุรทิศทั้งที่เดินทางมาและยังไม่มา เป็นของที่ไม่ควรแจกไม่ควรแบ่ง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๗. กุสจีราทิปฏิกเขปกถา
๒๒๖. นัคคิยปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยทรงห้ามเปลือยกาย
เรื่องภิกษุเปลือยกาย
[๓๗๐] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเปลือยกายเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ
ที่ประทับแล้วได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญ
ความมักน้อย สันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการน่าเลื่อมใส การไม่สะสม
การปรารภความเพียรโดยประการต่าง ๆ การเปลือยกายนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความ
มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการน่าเลื่อมใส การไม่
สะสม การปรารภความเพียรโดยประการต่าง ๆ ขอประทานวโรกาส พระผู้มี
พระภาคทรงโปรดอนุญาตการเปลือยกายแก่ภิกษุเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่
สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย
โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้สมาทานการเปลือยกายที่พวกเดียรถีย์ทำกันเล่า โมฆบุรุษ
การทำอย่างนี้มิได้เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรง
ตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึง
สมาทานการเปลือยกายที่พวกเดียรถีย์ทำกัน รูปใดสมาทาน ต้องอาบัติถุลลัจจัย”
๒๒๗. กุสจีราทิปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยทรงห้ามผ้าคากรองเป็นต้น
เรื่องภิกษุนุ่งผ้าคากรองเป็นต้น
[๓๗๑] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนุ่งผ้าคากรอง ฯลฯ นุ่งผ้าเปลือกไม้ ฯลฯ นุ่ง
ผ้าผลไม้ ฯลฯ นุ่งผ้าทอด้วยผมคน ฯลฯ นุ่งผ้าทอด้วยขนสัตว์ ฯลฯ นุ่งผ้าทอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๗. กุสจีราทิปฏิกเขปกถา
ด้วยขนปีกนกเค้า ฯลฯ นุ่งหนังเสือแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ
ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญความมักน้อย ความ
สันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ
ความเพียรโดยประการต่าง ๆ หนังเสือนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความมักน้อยความสันโดษ
ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความ
เพียรโดยประการต่าง ๆ ขอประทานวโรกาส พระผู้มีพระภาคทรงโปรดอนุญาตหนังเสือ
แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่สมควร
ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ไฉนเธอจึงได้ใช้
หนังเสืออันเป็นสัญลักษณ์ของเดียรถีย์เล่า โมฆบุรุษ การทำอย่างนี้ มิได้เป็นไป
เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถา
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้หนังเสืออันเป็นสัญลักษณ์
ของเดียรถีย์ รูปใดใช้ ต้องอาบัติถุลลัจจัย”
เรื่องภิกษุนุ่งผ้าทำด้วยก้านดอกรักเป็นต้น
ต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งนุ่งผ้าทำด้วยก้านดอกรัก ฯลฯ นุ่งผ้าทำด้วยเปลือกปอ
แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความ
กำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียรโดยประการต่าง ๆ
ผ้าทำด้วยเปลือกปอนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา
ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียรโดยประการ
ต่าง ๆ ขอประทานวโรกาส พระผู้มีพระภาคทรงโปรดอนุญาตผ้าเปลือกปอแก่ภิกษุ
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่
สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๘. สัพพนีลกาทิปฏิกเขปกถา
โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้นุ่งผ้าเปลือกปอเล่า โมฆบุรุษ การทำอย่างนี้ มิได้เป็น
ไปเพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดง
ธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนุ่งผ้าทำด้วยเปลือกปอ
รูปใดพึงนุ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ”
๒๒๘. สัพพนีลกาทิปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยทรงห้ามจีวรสีเขียวล้วนเป็นต้น
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ห่มจีวรสีเขียวล้วนเป็นต้น
[๓๗๒] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ห่มจีวรสีเขียวล้วน ... ห่มจีวรสีเหลือง
ล้วน ... ห่มจีวรสีแดงล้วน ... ห่มจีวรสีบานเย็นล้วน ... ห่มจีวร สีดำล้วน ... ห่มจีวร
สีแสดล้วน ... ห่มจีวรสีชมพูล้วน ... ห่มจีวรที่ไม่ตัดชาย ... ห่มจีวรมีชายยาว ...
ห่มจีวรมีชายเป็นลายดอกไม้ ... ห่มจีวรมีชายเป็นแผ่น ... สวมเสื้อ ... สวมหมวก
... โพกศีรษะ
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระ
ศากยบุตรจึงใช้ผ้าโพกศีรษะเหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงห่มจีวรสีเขียวล้วน ... ไม่
พึงห่มจีวรสีเหลืองล้วน ... ไม่พึงห่มจีวรสีแดงล้วน ... ไม่พึงห่มจีวรสีบานเย็นล้วน ...
ไม่พึงห่มจีวรสีดำล้วน ... ไม่พึงห่มจีวรสีแสดล้วน ... ไม่พึงห่มจีวรสีชมพูล้วน ... ไม่
พึงห่มจีวรที่ไม่ตัดชาย ... ไม่พึงห่มจีวรมีชายยาว ... ไม่พึงห่มจีวรมีชายลายดอกไม้
... ไม่พึงห่มจีวรมีชายเป็นแผ่น ...ไม่พึงสวมเสื้อ ... ไม่พึงสวมหมวก ... ไม่พึงใช้ผ้า
โพกศีรษะ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๙. วัสสังวุตถานังอนุปปันนจีวรกถา
๒๒๙. วัสสังวุตถานังอนุปปันนจีวรกถา
ว่าด้วยจีวรยังไม่เกิดแก่ภิกษุผู้จำพรรษา
เรื่องจีวรยังไม่เกิดขึ้นภิกษุหลีกไป
[๓๗๓] สมัยนั้น พวกภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น พากัน
หลีกไปบ้าง สึกบ้าง มรณภาพบ้าง ปฏิญญาเป็นสามเณรบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้
บอกลาสิกขาบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ต้องอันติมวัตถุบ้าง๑ ปฏิญญาเป็นคนวิกลจริตบ้าง
ปฏิญญาเป็นคนมีจิตฟุ้งซ่านบ้าง ปฏิญญาเป็นคนกระสับกระส่ายเพราะเวทนาบ้าง
ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ถูก
สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนีย
กรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาปบ้าง ปฏิญญาเป็นบัณเฑาะก์บ้าง๒ ปฏิญญาเป็นคน

เชิงอรรถ :
๑ ต้องอันติมวัตถุ ได้แก่ ต้องอาบัติปาราชิก
๒ บัณเฑาะก์มี ๕ ประเภท คือ
๑. คนที่ดับความใคร่เร่าร้อน (เพราะกาม) ของตนโดยการใช้น้ำอสุจิผู้อื่นราดตัวเอง ชื่อว่า อาสิตต
บัณเฑาะก์
๒. เมื่อเกิดความริษยาขึ้น คนที่เมื่อเห็นผู้อื่นประพฤติล่วงเกินกัน ความเร่าร้อนจึงระงับ ชื่อว่า
อุสูยบัณเฑาะก์
๓. คนที่ถูกตัดองคชาต ชื่อว่า โอปักกมิกบัณเฑาะก์
๔. คนที่เป็นบัณเฑาะก์ในเวลาข้างแรมด้วยอานุภาพอกุศลวิบาก แต่ในเวลาข้างขึ้น ความเร่าร้อน
ย่อมระงับไป ชื่อว่า ปักขบัณเฑาะก์
๕. คนที่เป็นบัณเฑาะก์โดยกำเนิด ชื่อว่า นปุงสกบัณเฑาะก์
ในบัณเฑาะก์ ๕ ประเภทนี้
อาสิตตบัณเฑาะก์ และอุสูยบัณเฑาะก์ ไม่ห้ามบรรพชา
ส่วนบัณเฑาะก์อีก ๓ ประเภทที่เหลือ ห้ามบรรพชา
อนึ่งในกุรุนทีกล่าวว่า ปักขบัณเฑาะก์ ห้ามบรรพชาเฉพาะในปักษ์ที่เป็นบัณเฑาะก์ (ข้างแรม) (วิ.อ. ๓/
๑๐๙/๘๑-๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๙. วัสสังวุตถานังอนุปปันนจีวรกถา
ลักเพศบ้าง๑ ปฏิญญาเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์บ้าง ปฏิญญาเป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง
ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่ามารดาบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าบิดาบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าพระ
อรหันต์บ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ประทุษร้ายภิกษุณีบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ทำลายสงฆ์บ้าง
ปฏิญญาเป็นผู้ทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิตบ้าง ปฏิญญาเป็นอุภโตพยัญชนก
บ้าง๒
ภิกษุทั้งหลายจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
[๓๗๔] พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุจำพรรษา
แล้ว หลีกไปเสียเมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น เมื่อมีผู้รับแทนที่สมควร สงฆ์ก็พึงให้
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น สึกเสีย
มรณภาพลง ปฏิญญาเป็นสามเณร ปฏิญญาเป็นผู้บอกลาสิกขา เป็นผู้ต้อง
อันติมวัตถุ สงฆ์เป็นเจ้าของ(จีวรนั้น)
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้วเมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น ปฏิญญา
เป็นคนวิกลจริต ปฏิญญาเป็นคนมีจิตฟุ้งซ่าน ปฏิญญาเป็นคนกระสับกระส่าย

เชิงอรรถ :
๑ คนลักเพศ แปลมาจากคำว่า “เถยยสังวาสกะ” คนลักเพศมี ๓ จำพวก คือ
๑. คนลักเพศ ๒. คนลักสังวาส
๓. คนลักทั้งเพศและสังวาส
คนที่บวชเองแล้วไปวัด ไม่คำนึงพรรษาของภิกษุ ไม่ยินดีการไหว้ตามลำดับพรรษา ไม่ห้ามอาสนะ
ไม่เข้าร่วมในอุโบสถและปวารณาเป็นต้น นี้ชื่อว่า คนลักเพศ
คนที่ภิกษุทั้งหลายบวชให้ ขณะยังเป็นสามเณร ไปต่างถิ่น พูดเท็จว่า “ผมบวชมาแล้ว ๑๐ พรรษา
หรือ ๒๐ พรรษา” นับพรรษาตามแบบพรรษาของภิกษุ ยินดีการไหว้ตามลำดับพรรษา ห้ามอาสนะ
เข้าร่วมในอุโบสถและปวารณาเป็นต้น เพราะเหตุเพียงลักสังวาสเท่านั้น นี้ชื่อว่า คนลักสังวาส ก็กิริยา
ทุกประเภทมีการนับพรรษาของภิกษุเป็นต้นพึงทราบว่า “สังวาส”
คนที่บวชเองแล้วไปวัด นับพรรษาตามแบบพรรษาของภิกษุ ยินดีการไหว้ตามลำดับพรรษา ห้าม
อาสนะเข้าร่วมในอุโบสถและปวารณาเป็นต้น เพราะลักเพศและสังวาส นี้ชื่อว่า คนลักทั้งเพศและสังวาส
(วิ.อ. ๓/๑๑๐/๘๒-๘๓)
๒ อุภโตพยัญชนก หมายถึงคนมี ๒ เพศ คือ สัญลักษณ์เพศหญิง และสัญลักษณ์เพศชาย เพราะผล
กรรมที่ทำไว้ (วิ.อ. ๓/๑๑๖/๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๕๐ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น