Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๗-๒ หน้า ๔๘ - ๙๔

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๗-๒ วินัยปิฎกที่ ๐๗ จุลวรรค ภาค ๒



พระวินัยปิฎก
จูฬวรรค ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “เอาเถิด การที่ท่านได้ทำความผิดเพราะความโง่เขลา
เบาปัญญาที่ได้ใส่ความพระทัพพมัลลบุตรด้วยสีลวิบัติที่ไม่มีมูล เพราะเหตุที่เห็นความ
ผิดเป็นความผิดแล้วแก้ไขให้ถูกต้อง ข้อนั้นเรารับ เพราะการที่บุคคลเห็นความผิดเป็น
ความผิดแล้ว แก้ไขให้ถูกต้องและสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น
สงฆ์จงหงายบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ให้สมโภคกับสงฆ์ได้
เหตุแห่งการหงายบาตร
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงหงายบาตรอุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ
๑. ไม่ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ลาภของภิกษุทั้งหลาย
๒. ไม่ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ประโยชน์ของภิกษุทั้งหลาย
๓. ไม่ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย
๔. ไม่ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลาย
๕. ไม่ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน
๖. ไม่กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
๗. ไม่กล่าวติเตียนพระธรรม
๘. ไม่กล่าวติเตียนพระสงฆ์
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หงายบาตรอุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้
วิธีหงายบาตรและกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงหงายบาตรอย่างนี้ เจ้าวัฑฒลิจฉวีนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์
ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย แล้วนั่งกระโหย่ง ประนมมือ
กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ สงฆ์คว่ำบาตรข้าพเจ้า ห้ามสมโภคกับสงฆ์ ข้าพเจ้า
นั้นกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้แล้ว ขอการหงายบาตรกับสงฆ์”
พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ.

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๔๘ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พึงขอแม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๒๖๗] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์คว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ห้าม
สมโภคกับสงฆ์ เจ้าวัฑฒลิจฉวีนั้นกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอ
การหงายบาตรต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงหงายบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ให้สมโภค
กับสงฆ์ได้ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์คว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ห้ามสมโภค
กับสงฆ์ เจ้าวัฑฒลิจฉวีนั้นกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอการหงาย
บาตร สงฆ์หงายบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ให้สมโภคกับสงฆ์ได้ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับ
การหงายบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ให้สมโภคกับสงฆ์ได้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใด
ไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
เจ้าวัฑฒลิจฉวี สงฆ์หงายบาตร ให้สมโภคกับสงฆ์ได้แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
[๒๖๘] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงเวสาลีตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จ
จาริกไปทางภัคคชนบท เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงภัคคชนบท ทราบว่าพระผู้
มีพระภาคประทับอยู่ ณ เภสกฬามฤคทายวัน เมืองสุงสุมารคิระในภัคคชนบทนั้น
เรื่องโพธิราชกุมาร ๑
สมัยนั้น โพธิราชกุมารสร้างปราสาทโกกนุทเสร็จได้ไม่นาน ยังไม่ได้นิมนต์
สมณ พราหมณ์หรือเชิญมนุษย์คนไหนมา ครั้งนั้น โพธิราชกุมารสั่งมาณพสัญชิกา-
บุตรว่า “มาเถิด สหายสัญชิกาบุตร ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
จงถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามถึงการมีพระประชวร
เบาบาง ความมีพระโรคาพาธน้อย ทรงมีความกระปรี้กระเปร่า พระพลานามัย ทรงพระ

เชิงอรรถ :
๑ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๒๔/๓๙๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๔๙ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เกษมสำราญ แล้วทูลนิมนต์ว่า ‘‘ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงทรงรับ
ภัตตาหารของโพธิราชกุมารเพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
มาณพสัญชิกาบุตรรับคำสั่งโพธิราชกุมารแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ กราบทูลสนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกันและกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “โพธิราชกุมารขอถวาย
อภิวาทพระยุคลบาทของพระโคดมผู้เจริญด้วยเศียรเกล้า ทูลถามพระประชวรเบาบาง
มีพระโรคาพาธน้อย ทรงกระปรี้กระเปร่า พระพลานามัย ทรงพระเกษมสำราญและ
กราบทูลนิมนต์อย่างนี้ว่า ‘ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงรับภัตตาหาร
ของโพธิราชกุมาร เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้” พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดย
ดุษณีภาพ
ครั้นมาณพสัญชิกาบุตรทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุก
จากอาสนะ เข้าไปเฝ้าโพธิราชกุมาร ณ ที่ประทับ ได้ทูลดังนี้ว่า “เกล้ากระหม่อมได้
กราบทูลพระโคดมนั้นตามรับสั่งของพระองค์แล้วว่า ‘โพธิราชกุมาร ขอถวายอภิวาท
พระยุคลบาทของท่านพระโคดมผู้เจริญด้วยเศียรเกล้า ทูลถามพระประชวรเบาบาง
มีพระโรคาพาธน้อย ทรงกระปรี้กระเปร่า พระพลานามัย ทรงพระเกษมสำราญและ
กราบทูลนิมนต์อย่างนี้ว่า ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงรับภัตตาหาร
ของโพธิราชกุมาร เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้’ ก็พระสมณโคดมทรงรับนิมนต์แล้ว”
ครั้นผ่านราตรีนั้น โพธิราชกุมารรับสั่งให้เตรียมของเคี้ยวของฉันที่ประณีต รับ
สั่งให้ใช้ผ้าขาวปูลาดโกกนุทปราสาท จนถึงบันไดขั้นสุดท้าย รับสั่งมาณพสัญชิกาบุตรว่า
“ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลภัตกาลว่า ‘ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
มาณพสัญชิกาบุตรรับคำสั่งโพธิราชกุมารแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูล
ภัตกาลให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕๐ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พอถึงเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จ
ไปนิเวศน์ของโพธิราชกุมาร เวลานั้นโพธิราชกุมารประทับรอพระผู้มีพระภาคอยู่ที่
ซุ้มประตูชั้นนอก ทอดพระเนตรเห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล จึงเสด็จไป
ต้อนรับถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วเชิญพระองค์เสด็จไปข้างหน้า เข้าโกกนุท
ปราสาท พระผู้มีพระภาคประทับยืนใกล้บันไดขั้นต่ำสุด
โพธิราชกุมารได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มี
พระภาคโปรดทรงเหยียบผ้า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระสุคตโปรดทรงเหยียบผ้าอันจะ
เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่หม่อมฉันตลอดกาลนานเถิด”
เมื่อพระราชกุมารกราบทูลอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคทรงดุษณีภาพ
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ โพธิราชกุมารก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธ-
เจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงเหยียบผ้า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระสุคตโปรด
ทรงเหยียบผ้าอันจะเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่หม่อมฉันตลอดกาลนานเถิด”
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเหลือบดูท่านพระอานนท์ ครั้งนั้น ท่านพระ
อานนท์ได้ถวายพระพรโพธิราชกุมารดังนี้ว่า “ราชกุมาร โปรดม้วนผ้าเถิด พระผู้มี
พระภาคจะไม่ทรงเหยียบผ้าขาว พระตถาคตทรงอนุเคราะห์คนรุ่นหลัง”๑

เชิงอรรถ :
๑ ทรงอนุเคราะห์คนรุ่นหลัง อรรถกถาอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงเหยีบผ้าเพราะเหตุ ๓ ประการ คือ
๑. เพื่อมิให้โพธิราชกุมารถือผิด โพธิราชกุมารได้ฟังมาว่า “ผู้ที่กระทำสักการะแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
แล้วจะได้สิ่งที่ปรารถนาสมใจ” จึงตั้งความปรารถนาว่า “ถ้าเราจะได้บุตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะ
ทรงเหยียบผ้าที่เราปู ถ้าไม่ได้บุตร ก็จะไม่ทรงเหยียบ” แล้วจึงปู พระผู้มีพระภาคดุษณีภาพรำพึงว่า
“พระกุมารต้องการอะไรจึงกระทำสักการะมากมาย” ได้ทรงทราบว่าปรารถนาบุตร แต่โพธิราชกุมาร
จะไม่มีบุตรเพราะผลกรรมที่ตนกับมเหสีกินลูกนกในชาติก่อน จึงไม่ทรงเหยียบผ้า ถ้าพระผู้มีพระภาค
ทรงเหยียบผ้าแล้ว ภายหลังโพธิราชกุมารไม่มีบุตร ท่านก็จะถือผิดว่า “ที่ได้ฟังมาว่า ผู้ที่ กระทำ
สักการะแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายแล้วจะได้สิ่งที่ตนปรารถนา เราเองก็ได้ตั้งความปรารถนากระทำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕๑ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
โพธิราชกุมารรับสั่งให้ม้วนผ้าแล้วให้ปูอาสนะบนโกกนุทปราสาทชั้นบน พระผู้
มีพระภาคเสด็จขึ้นโกกนุทปราสาท ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูถวาย พร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์ พระราชกุมารทรงนำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระ
พุทธเจ้าเป็นประธานด้วยพระองค์เอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ แล้วทรง
ห้ามภัตตาหารแล้วละพระหัตถ์จากบาตร ได้ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ลำดับนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้โพธิราชกุมารเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วเสด็จกลับ
เรื่องทรงห้ามเหยียบผืนผ้าขาว
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเหยียบผืนผ้าที่ปูไว้ รูปใดเหยียบ ต้อง
อาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น สตรีผู้หนึ่งไม่มีครรภ์ นิมนต์ภิกษุทั้งหลายแล้วปูผ้ากล่าวว่า “พระ
คุณเจ้าทั้งหลาย นิมนต์เหยียบผ้าเถิด”
ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมเหยียบ นางกล่าวว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย
นิมนต์เหยียบผ้าเพื่อเป็นสิริมงคล” ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมเหยียบ

เชิงอรรถ :
สักการะแล้ว แต่เราไม่ได้บุตร คำที่ฟังมาโมฆะเสียแล้ว เพื่อมิให้โพธิราชกุมารถือผิดอย่างนี้ จึงไม่
ทรงเหยียบผ้า
๒. เพื่อมิให้พวกเดียรถีย์ดูหมิ่นว่า สิ่งที่พวกสมณศากยบุตรทำไม่ได้ไม่มี พวกท่านเที่ยวเดินเหยียบผ้า.
ของชาวบ้าน
๓. เพื่อมิให้มนุษย์ทั้งหลายเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี(วิปฏิสาร)ในหมู่ภิกษุ ในครั้งพุทธกาล ภิกษุทั้งหลายรู้
วาระจิตของผู้อื่น รู้ว่าควรก็จะเหยียบ รู้ว่าไม่ควรก็จะไม่เหยียบ แต่ต่อมา อุปนิสัยจะอ่อนลง ภิกษุ
ทั้งหลายจะไม่รู้ เมื่อเหยียบผ้าไปแล้ว ถ้าความปรารถนาของเขาสำเร็จ ก็ดีไป ถ้าไม่สำเร็จ พวก
มนุษย์ก็จะคิดว่า “ครั้งก่อน ผู้ที่ตั้งความปรารถนาแล้วทำสักการะแก่ภิกษุสงฆ์แล้ว ย่อมได้สิ่งที่ปรารถนา
มาบัดนี้ไม่ได้ ครั้งก่อนภิกษุทั้งหลาย คงจะบำเพ็ญข้อปฏิบัติบริบูรณ์ บัดนี้ภิกษุทั้งหลายคงจะ
บกพร่องในข้อปฏิบัติ”
ที่ทรงอนุเคราะห์คนรุ่นหลัง ก็คืออนุเคราะห์ภิกษุทั้งหลายและพวกมนุษย์ที่จะเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีในภิกษุ
สงฆ์นั่นเอง (ดู วิ.อ. ๓/๒๖๘/๓๑๒, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖๘/๔๖๔-๔๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕๒ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ลำดับนั้น สตรีนั้นจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระคุณเจ้าทั้งหลาย
ถูกขอเพื่อเป็นสิริมงคลก็ไม่ยอมเหยียบผ้าเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินสตรีนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา ภิกษุทั้งหลายจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์ต้องการสิริมงคล ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ภิกษุที่ถูกขอเพื่อเป็นสิริมงคลเหยียบผืนผ้าได้”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายยำเกรงที่จะเหยียบผ้าเช็ดเท้าสะอาด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เหยียบผ้าเช็ดเท้าสะอาดได้”
ภาณวารที่ ๒ จบ
เรื่องนางวิสาขามิคารมาตา
[๒๖๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภัคคชนบท ตามพระอัธยาศัย
แล้วเสด็จจาริกไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงสาวัตถี ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี ในกรุง
สาวัตถีนั้น
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาถือหม้อน้ำ ปุ่มไม้ที่เช็ดเท้าและไม้กวาด เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “พระองค์โปรดรับหม้อน้ำ ปุ่มไม้ที่เช็ดเท้าและไม้กวาด
อันจะเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่หม่อมฉันตลอดกาลนานเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับหม้อน้ำและไม้กวาด แต่ไม่ทรงรับปุ่มไม้ที่เช็ดเท้า
จากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นางวิสาขามิคารมาตาเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕๓ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ลำดับนั้น นางวิสาขามิคารมาตาซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมี-
กถาแล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณแล้วกลับไป
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตหม้อน้ำและไม้กวาด ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุไม่พึงใช้ปุ่มไม้ที่เช็ดเท้า รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ที่เช็ดเท้า ๓ ชนิด คือ ศิลา กรวด ศิลาฟองน้ำ”
เรื่องพัด
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตา ถือพัดโบกกับพัดใบตาลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงรับ
พัดโบกและพัดใบตาล อันจะเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่หม่อมฉันตลอดกาล
นานเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับพัดโบกและพัดใบตาล ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรง
ชี้แจงให้นางวิสาขามิคารมาตาเห็นชัด ฯลฯ กระทำประทักษิณแล้วจากไป
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้วรับ
สั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตพัดโบกและพัดใบตาล”
สมัยนั้น แส้ปัดยุงเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตแส้ปัดยุง”
แส้ขนจามรีเกิดขึ้น ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้แส้ขนจามรี รูปใดใช้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตแส้ ๓ ชนิด คือ แส้ปอ แส้แฝก แส้ขนนกยูง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕๔ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องร่ม
[๒๗๐] สมัยนั้น ร่มเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตร่ม”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กั้นร่มเดินเที่ยว ครั้งนั้น อุบาสกคนหนึ่งไปเที่ยว
อุทยานกับสาวกของอาชีวกหลายคน พวกสาวกอาชีวกเห็นพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
เดินกั้นร่มมาแต่ไกล จึงได้กล่าวกับอุบาสกนั้นดังนี้ว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญเหล่านี้ของ
ท่าน เดินกั้นร่มมาคล้ายโหราจารย์มหาอมาตย์”
อุบาสกกล่าวว่า “ท่านเหล่านี้ไม่ใช่เป็นภิกษุ แต่เป็นปริพาชกขอรับ”
พวกเขาพนันกันว่า “เป็นภิกษุไม่ใช่ภิกษุ”
ลำดับนั้น อุบาสกจำพวกภิกษุที่เข้ามาใกล้ได้จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนา
ว่า “ไฉนพระคุณเจ้าผู้เจริญทั้งหลายจึงกั้นร่มเดินเที่ยวเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินอุบาสกตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ จริงหรือ”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดงธรรมีกถา รับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงกั้นร่ม รูปใดกั้น ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ ขาดร่มไม่มีความผาสุก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เป็นไข้กั้นร่มได้”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตร่มแก่ภิกษุ
ไข้เท่านั้น ไม่ทรงอนุญาตแก่ผู้ไม่เป็นไข้” จึงยำเกรงที่จะกั้นร่มในวัด ในเขตวัด


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕๕ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุถึงจะไม่เป็นไข้ก็
กั้นร่มในวัด ในเขตวัดได้”
เรื่องไม้เท้า
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเอาบาตรใส่สาแหรก ใช้ไม้เท้าคอนเดินผ่านไปทางประตู
เข้าหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเวลาวิกาล คนทั้งหลายบอกกันว่า “ดูนั่นโจรกำลังเดินไป ดาบ
ส่องแสงวาววับ” แล้วพากันวิ่งไล่จับ จำได้จึงปล่อยไป ครั้นภิกษุนั้นไปถึงวัดจึงเล่า
เรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “ท่านใช้ไม้เท้ากับสาแหรกหรือ”
ภิกษุนั้นรับว่า “อย่างนั้น ท่านทั้งหลาย”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อยสันโดษ ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุจึงใช้ไม้เท้ากับสาแหรกเล่า”
ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ
พระผู้มีพระภาคครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดงธรรมีกถา รับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ไม้เท้ากับสาแหรก รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ ขาดไม้เท้า ท่านไม่สามารถจะเดินไปไหนได้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์ให้ทัณฑสมมติแก่
ภิกษุผู้เป็นไข้”
คำขอทัณฑสมมติ๑และกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้ทัณฑสมมติอย่างนี้ ภิกษุไข้นั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่ม
อุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษาทั้งหลายแล้วนั่งกระโหย่ง

เชิงอรรถ :
๑ ทัณฑสมมติ คือ สงฆ์ประกาศอนุญาตให้ใช้ไม้เท้าได้เป็นกรณีพิเศษ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕๖ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ กระผมเป็นไข้ขาดไม้เท้าแล้วไม่สามารถ
จะเดินไปไหนได้ กระผมจึงขอทัณฑสมมติต่อสงฆ์”
พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
พึงขอแม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้รูปนี้เป็นไข้ ขาดไม้เท้าแล้วไม่สามารถ
จะเดินไปไหนได้ ท่านขอทัณฑสมมติต่อสงฆ์ สงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงให้ทัณฑสมมติ
แก่ภิกษุนั้น นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้รูปนี้เป็นไข้ ขาดไม้เท้าแล้วไม่
สามารถ จะเดินไปไหนได้ ท่านขอทัณฑสมมติต่อสงฆ์ สงฆ์ให้ทัณฑสมมติ แก่
ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ทัณฑสมมติแก่ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง
ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
ทัณฑสมมติ สงฆ์ให้แก่ภิกษุชื่อนี้แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้า
ขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
[๒๗๑] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ ขาดสาแหรกแล้วไม่สามารถนำบาตรไปได้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์ให้สิกกาสมมติแก่
ภิกษุไข้”
คำขอสิกกาสมมติ๑และกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้สิกกาสมมติอย่างนี้ ภิกษุเป็นไข้นั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์
ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษาทั้งหลายแล้วนั่งกระโหย่ง

เชิงอรรถ :
๑ สิกกาสมมติ คือ สงฆ์ประกาศอนุญาตให้ใช้สาแหรกได้เป็นกรณีพิเศษ “สาแหรก” คือ ภาชนะที่ทำด้วย
หวายสำหรับหิ้วหรือหาบ ส่วนบนทำเป็นหูหิ้ว ส่วนล่างใช้ไม้ขัดกันเป็นสี่เหลี่ยมสำหรับวางกระจาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕๗ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ผมเป็นไข้ ขาดสาแหรกแล้วไม่สามารถ
นำบาตรไปได้ ผมจึงขอสิกกาสมมติต่อสงฆ์”
พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
พึงขอแม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้รูปนี้เป็นไข้ ขาดสาแหรกแล้วไม่
สามารถนำบาตรไปได้ ท่านขอสิกกาสมมติต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงให้สิกกา
สมมติแก่ภิกษุนั้น นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้รูปนี้เป็นไข้ ขาดสาแหรกแล้วไม่
สามารถจะนำบาตรไปได้ ท่านขอสิกกาสมมติต่อสงฆ์ สงฆ์ให้สิกกาสมมติแก่ภิกษุ
ชื่อนี้ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้สิกกาสมมติแก่ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใด
ไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สิกกาสมมติ สงฆ์ให้แก่ภิกษุชื่อนี้แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้า
ขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
[๒๗๒] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ ขาดไม้เท้าไม่สามารถจะเดินไปไหนได้
ขาดสาแหรกก็ไม่สามารถจะนำบาตรไปได้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์ให้ทัณฑสิกกาสมมติ
แก่ภิกษุผู้เป็นไข้”
คำขอทัณฑสิกกาสมมติและกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้ทัณฑสิกกาสมมติอย่างนี้ ภิกษุเป็นไข้นั้นพึงเข้าไปหา
สงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษาทั้งหลายแล้วนั่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕๘ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
กระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ผมเป็นไข้ ขาดไม้เท้าไม่สามารถ
จะไปไหนได้ ขาดสาแหรกไม่สามารถจะนำบาตรไปได้ ผมขอทัณฑสิกกาสมมติต่อสงฆ์”
พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
พึงขอแม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้รูปนี้เป็นไข้ ขาดไม้เท้าไม่สามารถ
จะเดินไปไหนได้ ขาดสาแหรกไม่สามารถจะนำบาตรไปได้ ท่านขอทัณฑสิกกาสมมติ
ต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงให้ทัณฑสิกกาสมมติแก่ภิกษุชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้รูปนี้เป็นไข้ ขาดไม้เท้าไม่สามารถ
จะเดินไปไหนได้ ขาดสาแหรกไม่สามารถจะนำบาตรไปได้ ท่านขอทัณฑสิกกาสมมติ
ต่อสงฆ์ สงฆ์ให้ทัณฑสิกกาสมมติแก่ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ทัณฑ
สิกกาสมมติแก่ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึง
ทักท้วง
ทัณฑสิกกาสมมติ สงฆ์ให้แก่ภิกษุชื่อนี้แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
เรื่องภิกษุสำรอกอาหาร
[๒๗๓] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีนิสัยเคี้ยวเอื้อง ท่านสำรอกอาหารออกมาเคี้ยว
แล้วกลืนเข้าไปอีก ภิกษุทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ภิกษุนี้ฉันอาหาร
ในเวลาวิกาล” แล้วนำเรื่องไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เพิ่งจุติมาจากกำเนิดโค ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มีนิสัยเคี้ยวเอื้อง เคี้ยวเอื้องได้ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ
ไม่พึงกลืนอาหารที่ออกมานอกปากแล้วเข้าไปอีก รูปใดกลืน พึงปรับอาบัติตามธรรม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕๙ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
สมัยนั้น สมาคมหนึ่งได้จัดสังฆภัต มีเมล็ดข้าวตกกลาดเกลื่อนในโรงอาหาร
มากมาย คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตร เมื่อเขาถวายข้าวสุก จึงไม่รับโดยเอื้อเฟื้อเล่า ข้าวแต่ละเมล็ดกว่าจะ
สำเร็จได้ต้องใช้กรรมวิธีนับร้อย”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หยิบอาหารที่เขาถวาย
ซึ่งตกลงไปขึ้นมาฉันได้เอง อาหารนั้นพวกทายกเขาบริจาคแล้ว”
เรื่องการไว้เล็บและตัดเล็บ
[๒๗๔] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไว้เล็บยาวเที่ยวบิณฑบาต หญิงคนหนึ่งเห็นจึง
กล่าวกับภิกษุนั้นดังนี้ว่า “เชิญท่านมาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ”
ภิกษุตอบว่า “อย่าเลยน้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร”
หญิงนั้นกล่าวว่า “ถ้าท่านไม่เสพ ดิฉันจักใช้เล็บหยิกข่วนเนื้อตัวเองแล้วส่งเสียง
เอะอะเดี๋ยวนี้ว่า “ภิกษุรูปนี้กระทำมิดีมิร้ายดิฉัน”
ภิกษุตอบว่า “จงรู้เองเถิด น้องหญิง”
ลำดับนั้น หญิงนั้นใช้เล็บหยิกข่วนเนื้อตัวเอง ส่งเสียงเอะอะว่า “ภิกษุนี้กระทำ
มิดีมิร้ายดิฉัน”
คนทั้งหลายวิ่งเข้าไปจับกุมภิกษุนั้น ได้เห็นผิวหนังบ้าง เลือดบ้างที่เล็บมือของ
หญิงนั้นจึงกล่าวกันว่า “นี้เป็นการกระทำของหญิงนี้เอง ภิกษุนี้ไม่ได้เป็นตัวการ” แล้ว
ปล่อยภิกษุนั้นไป ครั้นภิกษุนั้นไปถึงวัดได้บอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “ท่านไว้เล็บยาวหรือ”
ภิกษุนั้นตอบว่า “จริงอย่างนั้น ท่านทั้งหลาย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖๐ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อยสันโดษ ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุจึงไว้เล็บยาวเล่า” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไว้เล็บยาว รูปใดไว้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้เล็บมือตัดเล็บมือบ้าง ใช้ปากกัดเล็บบ้าง ใช้เล็บมือ
ครูดที่ฝาผนังบ้าง นิ้วมือเจ็บ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตมีดตัดเล็บ”
ภิกษุทั้งหลายตัดเล็บจนเลือดออก นิ้วมือเจ็บ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ตัดเล็บเสมอเนื้อ”
เรื่องขัดเล็บ
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ช่วยกันขัดเล็บทั้ง ๒๐ เล็บ คนทั้งหลายตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “ทำเหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงขัดเล็บทั้ง ๒๐ เล็บ
รูป ใดขัด ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แคะขี้เล็บได้เท่านั้น”
เรื่องมีดโกน
[๒๗๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไว้ผมยาว ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสามารถปลงผมให้แก่กัน
ได้หรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “สามารถ พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖๑ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ฯลฯ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตมีดโกน หินลับมีด ฝักมีด ผ้าพันมีด
เครื่องใช้โกนทุกชนิด”
เรื่องแต่งหนวด
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ช่วยกันแต่งหนวด ... ปล่อยหนวดไว้ยาว ... ไว้
เครายาว(เหมือนหนวดแพะ) ... ช่วยกันแต่งหนวดเป็นรูปสี่เหลี่ยม ... ช่วยกันแต่งขน
หน้าอก ... ช่วยกันแต่งขนหน้าท้อง ... ช่วยกันแต่งหนวดเป็นเขี้ยวโง้ง ... ช่วยกัน
โกนขนในที่แคบ
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงช่วยกันตัดหนวด ... ไม่พึง
ปล่อยหนวดไว้ยาว ... ไม่พึงไว้เครายาว(เหมือนหนวดแพะ) ... ไม่พึงช่วยกันแต่งหนวด
เป็นรูปสี่เหลี่ยม ... ไม่พึงช่วยกันแต่งขนหน้าอก ... ไม่พึงช่วยกันแต่งขนหน้าท้อง ...
ไม่พึงช่วยกันแต่งหนวดเป็นเขี้ยวโง้ง ... ไม่พึงช่วยกันโกนขนในที่แคบ รูปใดช่วยกันโกน
ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องทรงอนุญาตให้โกนขนในที่ลับ
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นแผลในที่แคบ ทายาไม่ติด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้โกนขนในที่แคบได้ เพราะ
อาพาธเป็นปัจจัย”
เรื่องกรรไกร
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้กรรไกรตัดผม คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖๒ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้กรรไกรตัดผม รูปใดใช้ตัด
ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นแผลที่ศีรษะ ไม่อาจจะใช้มีดโกนปลงผมได้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้กรรไกรตัดผมได้
เพราะอาพาธเป็นปัจจัย”
เรื่องไว้ขนจมูก
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลาย ปล่อยขนจมูกไว้ยาว คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “เหมือนปีศาจ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไว้ขนจมูกยาว รูปใดไว้
ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้ก้อนกรวดบ้าง ขี้ผึ้งบ้างถอนขนจมูก จมูกเจ็บ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้แหนบ”
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ผมหงอก
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ช่วยกันถอนผมหงอก พวกคนทั้งหลายพากันตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงช่วยกันถอนผมหงอก
รูปใดช่วยกันถอน ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖๓ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องไม้แคะหู
[๒๗๖] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีขี้หูจุกช่องหูทั้ง ๒ ข้าง ภิกษุทั้งหลายจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ไม้แคะขี้หู”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ไม้แคะขี้หูชนิดต่าง ๆ คือทำด้วยทอง ทำด้วยเงิน
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ไม้แคะหูชนิดต่าง ๆ
รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ไม้แคะขี้หูทำด้วยกระดูก
ทำด้วยงา ทำด้วยเขาสัตว์ ทำด้วยไม้อ้อ ทำด้วยไม้ไผ่ ทำด้วยไม้ธรรมดา ทำด้วยครั่ง
ทำด้วยเมล็ดผลไม้ ทำด้วยโลหะ ทำด้วยกระดองสังข์”
เรื่องพระฉัพพัคคีย์สะสมโลหะและทองสัมฤทธิ์
[๒๗๗] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สะสมโลหะ ทองสัมฤทธิ์ไว้เป็นจำนวนมาก
คนทั้งหลายไปเที่ยวชมวิหารพบเห็นจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระ
สมณะเชื้อสายศากยบุตรจึงสะสมโลหะ ทองสัมฤทธิ์ ไว้เป็นจำนวนมาก เหมือนพ่อ
ค้าขายเครื่องทองสัมฤทธิ์เล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสะสมโลหะทองสัมฤทธิ์
ไว้เป็นจำนวนมาก รูปใดสะสม ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องกล่องยาตา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายรังเกียจกล่องยาตาบ้าง ไม้ป้ายยาตาบ้าง ไม้แคะขี้หูบ้าง
ของที่ใช้ห่อบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖๔ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล่องยาตา ไม้ป้ายยาตา
ไม้แคะขี้หู ของที่ใช้ห่อ”
เรื่องผ้ารัดเข่า
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์นั่งใช้สังฆาฏิรัดเข่า แผ่นสังฆาฏิหลุด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนั่งรัดเข่าด้วยสังฆาฏิ รูป
ใดนั่งรัด ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ ท่านขาดผ้ารัดเข่าย่อมไม่มีความผาสุก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้ารัดเข่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “จะทำผ้ารัดเข่าอย่างไร” ภิกษุทั้งหลายจึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้สะดึง ที่แผ่ด้าย ฟืม
ด้ายพัน ไม้สลักทอ เครื่องหูกทุกอย่าง”
เรื่องประคดเอว
[๒๗๘] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไม่ได้คาดประคดเอวเข้าไปบิณฑบาต อันตรวาสก
(สบง)ของท่านหลุดที่ถนน คนทั้งหลายเห็นแล้วพากันโห่ร้อง ภิกษุนั้นเขินอาย ครั้น
ภิกษุนั้นไปถึงวัดจึงบอกเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ได้คาดประคดเอวไม่พึงเข้า
หมู่บ้าน รูปใดเข้า ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตประคดเอว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖๕ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ประคดเอวชนิดต่าง ๆ คือ ประคดถักเชือก ถัก
เป็นหัวงูน้ำ กลมคล้ายเกลียวเชือก คล้ายสังวาล คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ประคดเอวชนิดต่าง ๆ
คือ ประคดถักเชือก ถักเป็นหัวงูน้ำ กลมคล้ายเกลียวเชือก คล้ายสังวาล รูปใดใช้
ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตประคดเอว ๒ ชนิด คือ ประคดแผ่นผ้า
ประคดไส้สุกร”
ชายประคดเอวลุ่ย ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ถักคล้ายเกลียวเชือก หรือคล้ายสังวาล”
ปลายประคดเอวลุ่ย ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้เย็บทบเข้ามาแล้วถักเป็นห่วง”
ปลายห่วงประคดเอวลุ่ย ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตลูกถวิน”๑
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้ลูกถวิน
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ลูกถวินชนิดต่าง ๆ ทำด้วยทอง ทำด้วยเงิน
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ลูกถวินชนิดต่าง ๆ รูป
ใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตลูกถวินทำด้วยกระดูก ทำด้วยงา
ทำด้วยเขาสัตว์ ทำด้วยไม้อ้อ ทำด้วยไม้ไผ่ ฯลฯ ทำด้วยกระดองสังข์ ทำด้วย
เส้นด้าย”

เชิงอรรถ :
๑ ลูกถวิน คือ ห่วงร้อยสายประคตเอว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖๖ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องลูกดุม
[๒๗๙] สมัยนั้น ท่านพระอานนท์ห่มสังฆาฏิเนื้อบางเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน
สังฆาฏิถูกลมบ้าหมูพัดเวิกขึ้น ครั้นท่านพระอานนท์กลับไปถึงอารามจึงบอกเรื่องนั้น
ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตลูกดุม รังดุม”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ลูกดุมชนิดต่าง ๆ ทำด้วยทอง ทำด้วยเงิน คน
ทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ลูกดุมชนิดต่าง ๆ รูปใดใช้
ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตลูกดุมทำด้วยกระดูก ทำด้วยงา ทำด้วย
เขาสัตว์ ทำด้วยไม้อ้อ ทำด้วยไม้ไผ่ ทำด้วยไม้จริง ทำด้วยยางไม้ ทำด้วยผลไม้
ทำด้วยโลหะ ทำด้วยกระดองสังข์ ทำด้วยเส้นด้าย”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเย็บติดลูกดุมบ้าง รังดุมบ้างที่จีวร จีวรขาด ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตแผ่นผ้ารองลูกดุม ผ้า
รองรังดุม”
ภิกษุทั้งหลายเย็บแผ่นผ้ารองลูกดุม ผ้ารองรังดุมที่ชายจีวร มุมผ้าเปิด ภิกษุ
ทั้งหลาย จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ติดแผ่นผ้ารองลูกดุม
ผ้ารองรังดุมที่ชายผ้าลึกเข้าไป ๗-๘ องคุลี”๑

เชิงอรรถ :
๑ มาตราวัดโบราณ องคุลีเท่ากับ ๑ นิ้ว ยาวเท่ากับช่วงข้อปลายของนิ้วกลาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖๗ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องการนุ่งห่มอย่างคฤหัสถ์
[๒๘๐] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์นุ่งผ้าอย่างคฤหัสถ์ คือ นุ่งปล่อยชาย
เหมือนงวงช้าง เหมือนหางปลา ปล่อยชายสี่แฉก ปล่อยชายคล้ายก้านตาลยกกลีบ
ตั้งร้อย คนทั้งหลาย ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ทำเหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภค
กาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนุ่งผ้าอย่างคฤหัสถ์ คือ
นุ่งปล่อยชายเหมือนงวงช้าง เหมือนหางปลา ปล่อยชายสี่แฉก ปล่อยชายคล้าย
ก้านตาลยกกลีบตั้งร้อย รูปใดนุ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ห่มอย่างคฤหัสถ์ คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ทำเหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์ รูป
ใดห่ม ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์นุ่งผ้าโจงกระเบน คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ทำเหมือนคนหาบของหลวง”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนุ่งผ้าโจงกระเบน รูปใดนุ่ง
ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องหาบของ
[๒๘๑] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์หาบของ คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ทำเหมือนคนหาบของหลวง”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖๘ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงหาบของ รูปใดหาบ ต้อง
อาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คอน หาม เทิน แบก กระเดียด หิ้ว”
เรื่องไม้ชำระฟัน ๑
[๒๘๒] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่เคี้ยวไม้ชำระฟัน ปากมีกลิ่นเหม็น
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย การไม่เคี้ยวไม้ชำระฟันมีโทษ ๕
ประการนี้ โทษ ๕ ประการคือ

๑. ตาฝ้าฟาง ๒. ปากมีกลิ่นเหม็น
๓. ประสาทลิ้นรับรสได้ไม่ดี ๔. น้ำดีและเสมหะหุ้มห่ออาหาร
๕. เบื่ออาหาร

ภิกษุทั้งหลาย การไม่เคี้ยวไม้ชำระฟันมีโทษ ๕ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย การเคี้ยวไม้ชำระฟันมีประโยชน์ ๕ ประการ คือ

๑. ตาสว่าง ๒. ปากไม่มีกลิ่นเหม็น
๓. ประสาทลิ้นรับรสได้ดี ๔. น้ำดีและเสมหะไม่หุ้มห่ออาหาร
๕. เจริญอาหาร

ภิกษุทั้งหลาย การเคี้ยวไม้ชำระฟันมีประโยชน์ ๕ ประการนี้แล ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตไม้ชำระฟัน
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เคี้ยวไม้ชำระฟันขนาดยาว ใช้ไม้เหล่านั้นแหละ
ตีสามเณร
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๒๐๘/๓๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖๙ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเคี้ยวไม้ชำระฟันขนาดยาว
รูปใดเคี้ยว ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้ชำระฟันยาว ๘ นิ้วเป็น
อย่างมาก และภิกษุไม่พึงใช้ไม้ชำระฟันนั้นตีสามเณร รูปใดตี ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเคี้ยวไม้ชำระฟันสั้นเกินไป จึงหลุดเข้าไปติดในลำคอ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเคี้ยวไม้ชำระฟันสั้นเกินไป
รูปใดเคี้ยว ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้ชำระฟันสั้น ๔ องคุลี
เป็นอย่างต่ำ”
เรื่องพระฉัพพัคคีย์จุดไฟเผากองหญ้า
[๒๘๓] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์จุดไฟเผากองหญ้า คนทั้งหลายตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคนเผาป่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงจุดไฟเผากองหญ้า รูปใด
จุดเผา ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น หญ้าขึ้นรกวิหาร เมื่อไฟป่าไหม้ลามมาถึง วิหารจึงถูกไฟไหม้ ภิกษุยำ
เกรงอยู่ที่จะจุดไฟต้านไฟป่าเพื่อป้องกัน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จุดไฟต้านไฟป่าที่กำลัง
ไหม้”
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ขึ้นต้นไม้
[๒๘๔] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ขึ้นต้นไม้ ไต่จากต้นหนึ่งไปอีกต้นหนึ่ง
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนลิง”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗๐ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงขึ้นต้นไม้ รูปใดขึ้น ต้อง
อาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไปกรุงสาวัตถี ในแคว้นโกศล ระหว่างทางถูกช้างไล่ภิกษุ
นั้นวิ่งไปที่โคนไม้ ยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมขึ้น พอดีช้างนั้นเดินไปทางอื่น ครั้นภิกษุนั้น
ไปถึงกรุงสาวัตถีได้บอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีเหตุที่สมควร เราอนุญาตให้ขึ้น
ต้นไม้สูงชั่วบุรุษ แต่ในคราวมีอันตราย ขึ้นได้ตามความประสงค์”
เรื่องทรงห้ามยกพระพุทธพจน์ขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต
[๒๘๕] สมัยนั้นภิกษุ ๒ รูป ชื่อเมฏฐะและโกกุฏฐะ เป็นพี่น้องกัน เกิดใน
ตระกูลพราหมณ์ พูดจาอ่อนหวานมีเสียงไพเราะ ภิกษุทั้ง ๒ รูปนั้นเข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “พระพุทธเจ้าข้า เวลานี้ภิกษุต่างชื่อ ต่างโคตร ต่าง
เชื้อชาติ ต่างตระกูลพากันออกบวช ภิกษุเหล่านั้นทำพระพุทธพจน์ให้ผิดเพี้ยนด้วยภาษา
ของตน๑ ขอวโรกาส ข้าพระพุทธเจ้าจะขอยกพระพุทธพจน์ขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต”๒
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอ
จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ขอวโรกาส ข้าพระพุทธเจ้าจะขอยกพระพุทธพจน์ขึ้นเป็นภาษา
สันสกฤต’เล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงยกพุทธวจนะขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต รูปใดยกขึ้น ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เล่าเรียนพุทธวจนะด้วยภาษาของตน”

เชิงอรรถ :
๑ ภาษาของตน คือ ภาษามคธซึ่งมีสำนวนโวหารตามแบบที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส (วิ.อ. ๓/๒๘๕/๓๑๗)
๒ ฉนฺทโส คือ สกฺกตภาสาย = ภาษาสันสกฤต (วิ.อ. ๓/๒๘๕/๓๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗๑ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์เรียนโลกายัต
[๒๘๖] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เรียนโลกายัต๑ พวกคนทั้งหลายพากันตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ
ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เห็นสาระในโลกายัตพึงถึง
ความเจริญ ความงอกงาม ความไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้หรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่ถึง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เห็นสาระในธรรมวินัยนี้ ย่อม
เรียนโลกายัตหรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่เรียน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเรียนโลกายัต รูปใดเรียน
ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สอนโลกายัต คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสอนโลกายัต รูปใดสอน ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องพระฉัพพัคคีย์เรียนดิรัจฉานวิชา
[๒๘๗] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เรียนดิรัจฉานวิชา ภิกษุทั้งหลายจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ โลกายัต หมายถึง ติตถิยศาสตร์ คือ ศาสตร์ของพวกเจ้าลัทธิต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยเหตุไร้ประโยชน์
เช่น เรื่องสรรพสิ่งไม่บริสุทธิ์ เป็นเดน สรรพสิ่งบริสุทธิ์ ไม่เป็นเดน กาขาว นกยางดำ เป็นต้น (วิ.อ.๓/
๒๘๖/๓๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗๒ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเรียนดิรัจฉานวิชา รูปใด
เรียน ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สอนดิรัจฉานวิชา คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม” ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสอนดิรัจฉานวิชา รูปใดสอน ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องให้พรเมื่อมีผู้จาม
[๒๘๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคห้อมล้อมด้วยบริษัทหมู่ใหญ่ ประทับนั่ง
แสดงธรรม ได้ทรงจามขึ้น ภิกษุทั้งหลายได้ถวายพระพรเสียงดังว่า “ขอพระผู้มี
พระภาคจงทรงพระเจริญพระชนมายุเถิด ขอพระสุคตจงทรงพระเจริญพระชนมายุเถิด
พระพุทธเจ้าข้า” การแสดงธรรมต้องหยุดลง เพราะเสียงถวายพระพรนั้น
พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีการจาม ผู้ที่
ได้รับพรว่า ‘ขอจงมีอายุยืน’ จะมีชีวิตหรือต้องตายเพราะสาเหตุนั้นละหรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีการจาม ภิกษุไม่พึงให้พรว่า
‘ขอจงมีอายุยืน’ รูปใดให้ ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ในคราวที่ภิกษุทั้งหลายจาม คนทั้งหลายให้พรว่า “ขอท่านทั้งหลาย
จงมีอายุยืน” ภิกษุยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมให้พรตอบ
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสายศากยบุตร
เมื่อเขาให้พรว่า ‘จงมีอายุยืน’ จึงไม่ให้พรตอบเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายต้องการความเป็นสิริมงคล
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกคฤหัสถ์ให้พรว่า ‘จงมีอายุยืน’ เราอนุญาตให้ภิกษุให้พรตอบ
ว่า ‘ท่านก็จงมีอายุยืน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗๓ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องฉันกระเทียม
[๒๘๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคห้อมล้อมด้วยบริษัทหมู่ใหญ่ ประทับนั่ง
แสดงธรรมอยู่ ภิกษุรูปหนึ่งฉันกระเทียม ท่านคิดว่า “ภิกษุทั้งหลายอย่าได้กลิ่น
กระเทียม” จึงนั่ง ณ ที่สมควรด้านหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้นผู้นั่ง ณ ที่สมควรด้านหนึ่งจึงตรัส
ถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทำไมภิกษุนั้นจึงนั่ง ณ ที่สมควรด้านหนึ่งเล่า”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ภิกษุนั้นฉันกระเทียมแล้วคิดว่า ‘ภิกษุทั้งหลายอย่า
ได้กลิ่นกระเทียม’ จึงนั่ง ณ ที่สมควรด้านหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย อาหารที่ภิกษุฉันแล้วทำให้
เหินห่างจากธรรมกถาเช่นนี้ ควรฉันหรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่ควรฉัน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันกระเทียม รูปใดฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรอาพาธเป็นลมเสียดท้อง ท่านพระมหาโมคคัลลานะ
เข้าไปหาแล้วถามว่า “ท่านสารีบุตร เมื่อก่อนท่านเป็นลมเสียดท้อง หายจากโรค
เพราะฉันอะไร”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “เพราะฉันกระเทียม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันกระเทียมได้ เพราะ
อาพาธเป็นปัจจัย”
เรื่องหม้อปัสสาวะ
[๒๙๐] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายถ่ายปัสสาวะลงในที่นั้น ๆ ในอาราม อารามสกปรก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถ่ายปัสสาวะในที่สมควร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗๔ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
อารามมีกลิ่นเหม็น ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
หม้อปัสสาวะ”
ภิกษุทั้งหลายนั่งปัสสาวะไม่สะดวก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตฐานวางเท้าถ่ายปัสสาวะ”
ฐานวางเท้าถ่ายปัสสาวะอยู่ในที่เปิดเผย ภิกษุทั้งหลายละอายที่จะถ่ายปัสสาวะ
ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ล้อมรั้ว ๓ ชนิด คือ
รั้วอิฐ รั้วศิลา รั้วไม้”
หม้อปัสสาวะไม่มีฝาปิดส่งกลิ่นเหม็น ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตฝาปิด”
เรื่องหลุมถ่ายอุจจาระ
[๒๙๑] สมัยนั้น พวกภิกษุถ่ายอุจจาระลงในที่นั้น ๆ ในอาราม อารามสกปรก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถ่ายอุจจาระในที่สมควร”
อารามมีกลิ่นเหม็น ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
หลุมถ่ายอุจจาระ”
ขอบปากหลุมถ่ายอุจจาระพัง ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ก่อคันกั้นดิน ๓ ชนิด คือ คันที่ทำด้วยอิฐ คันที่ทำด้วยศิลา คันที่
ทำด้วยไม้”
หลุมอุจจาระพื้นต่ำ น้ำจึงท่วม ฯลฯ รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
ถมพื้นให้สูง”
ดินที่ถมพัง ฯลฯ รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ก่อคันกั้นดินที่ถม
ได้ ๓ ชนิด คือ คันที่ทำด้วยอิฐ คันที่ทำด้วยศิลา คันที่ทำด้วยไม้”
ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ฯลฯ รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบันได
๓ ชนิด คือ บันไดอิฐ บันไดศิลา บันไดไม้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗๕ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เมื่อภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด”
ภิกษุทั้งหลายนั่งถ่ายอุจจาระที่ริมหลุมพลัดตกลงไป ฯลฯ พระผู้มีพระภาค
รับ สั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลาดพื้นแล้วเจาะช่องถ่ายอุจจาระตรงกลาง”
ภิกษุทั้งหลายนั่งถ่ายอุจจาระไม่สะดวก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตฐานวางเท้าถ่ายอุจจาระ”
ภิกษุทั้งหลายถ่ายปัสสาวะออกไปข้างนอก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตรางรองปัสสาวะ”
ไม้ชำระไม่มี ฯลฯ รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้ชำระ”
ตะกร้าใส่ไม้ชำระไม่มี ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ตะกร้าใส่ไม้ชำระ”
หลุมอุจจาระไม่ได้ปิดฝา ส่งกลิ่นเหม็น ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตฝาปิด”
เรื่องวัจกุฎี
ภิกษุทั้งหลายถ่ายอุจจาระในที่แจ้งต้องลำบากเพราะความร้อนบ้าง เพราะความ
หนาวบ้าง ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตวัจกุฎี”
วัจกุฎีไม่มีบานประตู ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
บานประตู กรอบเช็ดหน้า รูครกที่รับเดือยประตู ห่วงข้างบน สายยู ไม้หัวลิง กลอน
ลิ่ม ช่องดาล ช่องสำหรับชัก เชือกสำหรับชัก”
ผงหญ้าตกเกลื่อนวัจกุฎี ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตให้รื้อลง แล้วเอาดินโบกฉาบดินทั้งภายในภายนอก ทำให้มีสีขาว ให้มีสีดำ ให้
มีสียางไม้ เขียน ลวดลายดอกไม้ เขียนลวดลายเถาวัลย์ จักเป็นฟันมังกร เขียน
ลวดลายดอกจอก ราวจีวร สายระเดียง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗๖ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
[๒๙๒] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งทุพพลภาพเพราะชรา ถ่ายอุจจาระแล้วลุกขึ้น
ล้มลง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชือกสำหรับเหนี่ยว”
วัจกุฎีไม่ได้ล้อมรั้ว ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ล้อมรั้ว ๓ ชนิด คือ
รั้วอิฐ รั้วศิลา รั้วไม้”
วัจกุฎีไม่มีซุ้ม ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตซุ้ม”
ซุ้มมีพื้นที่ต่ำ ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถม
พื้นให้สูง”
ดินที่ถมพังทะลาย ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ก่อคันกั้นดินที่ถม ๓ ชนิด คือ คันที่ทำด้วยอิฐ คันที่ทำด้วยศิลา คันที่ทำด้วยไม้”
ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตบันได ๓ ชนิด คือ บันไดอิฐ บันไดศิลา บันไดไม้”
เมื่อภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด”
ซุ้มไม่มีประตู ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
บานประตู กรอบเช็ดหน้า รูครกที่รับเดือยประตู ห่วงข้างบน สายยู ไม้หัวลิง กลอน
ลิ่ม ช่องดาล ช่องสำหรับชัก เชือกสำหรับชัก”
ผงหญ้าตกเกลื่อนที่ซุ้ม ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตให้รื้อลงแล้วเอาดินโบกฉาบทั้งภายในภายนอก ทำให้มีสีขาว ให้มีสีดำ ให้มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗๗ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
สียางไม้ เขียนลวดลายพวงดอกไม้ เขียนลวดลายเถาวัลย์ จักเป็นฟันมังกร เขียนลวด
ลายดอกจอก”
บริเวณลื่น ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้โรย
กรวดแร่”
กรวดแร่ยังไม่เต็ม ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้วางศิลาเรียบ”
น้ำขัง ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตท่อระบายน้ำ”
หม้ออุจจาระไม่มี ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
หม้ออุจจาระ”
กระบอกขันตักน้ำล้างอุจจาระไม่มี ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตกระบอกขันตักน้ำล้างอุจจาระ”
ภิกษุทั้งหลายนั่งชำระไม่สะดวก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตฐานวางเท้าชำระ”
ฐานที่นั่งถ่ายอยู่ในที่เปิดเผย ภิกษุทั้งหลายละอายที่จะถ่าย ฯลฯ พระผู้มีพระ
ภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ล้อมรั้ว ๓ ชนิด คือ รั้วอิฐ รั้วศิลา รั้วไม้”
หม้ออุจจาระไม่ได้ปิด ผงหญ้าและขี้ฝุ่นตกลง ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตฝาปิด”
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ประพฤติไม่เหมาะสม ๑
[๒๙๓] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ประพฤติไม่เหมาะสมเห็นปานนี้ คือ ปลูก
ไม้ดอกเองบ้าง ใช้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ใช้ผู้อื่นรดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง

เชิงอรรถ :
๑ วิ.มหา. (แปล) ๑/๔๓๑/๔๕๙-๔๖๐, วิ.จู. (แปล) ๖/๒๑/๓๙-๔๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗๘ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ใช้ผู้อื่นเก็บบ้าง ร้อยดอกไม้เองบ้าง ใช้ผู้อื่นร้อยบ้าง ทำมาลัยต่อก้านเองบ้าง ใช้ผู้
อื่นทำบ้าง ทำมาลัยเรียงก้านเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง จัดดอกไม้ช่อเองบ้าง ใช้ผู้
อื่นจัดบ้าง ทำดอกไม้พุ่มเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้เทริดเองบ้าง ใช้ผู้อื่น
ทำบ้าง ทำดอกไม้พวงเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้แผงประดับอกเองบ้าง ใช้
ให้ผู้อื่นทำบ้าง
ภิกษุพวกนั้นนำไปเองบ้าง ใช้ผู้อื่นนำไปบ้างซึ่งมาลัยต่อก้าน มาลัยเรียงก้าน
ดอกไม้ช่อ ดอกไม้พุ่ม ดอกไม้เทริด ดอกไม้พวง ดอกไม้แผงประดับอก เพื่อกุลสตรี
เพื่อกุลธิดา เพื่อกุลกุมารี เพื่อสะใภ้ของตระกูล เพื่อทาสหญิงในตระกูล
ภิกษุพวกนั้นฉันอาหารในภาชนะเดียวกันบ้าง ดื่มน้ำในขันใบเดียวกันบ้าง นั่ง
บนอาสนะเดียวกันบ้าง นอนบนเตียงเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาดเดียวกันบ้าง
นอนคลุมผ้าห่มผืนเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาดและคลุมผ้าห่มร่วมกันบ้าง
กับกุลสตรี กุลธิดา กุลกุมารี สะใภ้ของตระกูล ทาสหญิงในตระกูล
ภิกษุพวกนั้นฉันอาหารในเวลาวิกาลบ้าง ดื่มน้ำเมาบ้าง ทัดทรงดอกไม้ของหอม
และเครื่องลูบไล้บ้าง ฟ้อนรำบ้าง ขับร้องบ้าง ประโคมบ้าง เต้นรำบ้าง ฟ้อนรำ
กับหญิงฟ้อนรำบ้าง ขับร้องกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ประโคมกับหญิงฟ้อนรำบ้าง เต้นรำ
กับหญิงฟ้อนรำบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงขับร้องบ้าง ขับร้องกับหญิงขับร้องบ้าง ประโคม
กับหญิงขับร้องบ้าง เต้นรำกับหญิงขับร้องบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงประโคมบ้าง ขับร้อง
กับหญิงประโคมบ้าง ประโคมกับหญิงประโคมบ้าง เต้นรำกับหญิงประโคมบ้าง ฟ้อนรำ
กับหญิงเต้นรำบ้าง ขับร้องกับหญิงเต้นรำบ้าง ประโคมกับหญิง เต้นรำบ้าง เต้นรำ
กับหญิงเต้นรำบ้าง เล่นหมากรุกแถวละ ๘ ตาบ้าง แถวละ ๑๐ ตาบ้าง เล่นหมาก
เก็บบ้าง เล่นชิงนางบ้าง เล่นหมากไหวบ้าง เล่นโยนห่วงบ้าง เล่นไม้หึ่งบ้าง เล่น
ฟาดให้เป็นรูปต่าง ๆ บ้าง เล่นสกาบ้าง เล่นเป่าใบไม้บ้าง เล่นไถน้อย ๆ บ้าง เล่น
หกคะเมนบ้าง เล่นไม้กังหันบ้าง เล่นตวงทรายด้วยใบไม้บ้าง เล่นรถน้อย ๆ บ้าง เล่น
ธนูน้อย ๆ บ้าง เล่นเขียนทายบ้าง เล่นทายใจบ้าง เล่นเลียนคนพิการบ้าง หัดขี่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗๙ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
ช้างบ้าง หัดขี่ม้าบ้าง หัดขี่รถบ้าง หัดยิงธนูบ้าง หัดเพลงอาวุธบ้าง วิ่งผลัดช้างบ้าง
วิ่งผลัดม้าบ้าง วิ่งผลัดรถบ้าง วิ่งขับกันบ้าง วิ่งเปี้ยวบ้าง ผิวปากบ้าง ปรบมือบ้าง
ปล้ำกันบ้าง ชกมวยบ้าง ปูลาดผ้าสังฆาฏิท่ามกลางเวทีเต้นรำแล้วพูดกับหญิงฟ้อนรำ
อย่างนี้ว่า “น้องหญิง เธอจงฟ้อนรำในที่นี้” ดังนี้แล้ว ให้การคำนับบ้าง ประพฤติ
ไม่เหมาะสมต่าง ๆ บ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงประพฤติไม่เหมาะสม รูปใด
ประพฤติ ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องโลหะ
สมัยนั้น เมื่อท่านพระอุรุเวลกัสสปะบวชแล้ว เครื่องใช้โลหะ เครื่องใช้ไม้ เครื่องใช้
ดินจำนวนมากเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีปรึกษากันดังนี้ว่า “พระผู้
มีพระภาคทรงอนุญาตเครื่องใช้โลหะหรือไม่ได้ทรงอนุญาต ทรงอนุญาตเครื่องใช้ไม้หรือ
ไม่ได้ทรงอนุญาต ทรงอนุญาตเครื่องใช้ดินหรือไม่ได้ทรงอนุญาต” จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องใช้โลหะทุกชนิด เว้นเครื่อง
ประหาร อนุญาตเครื่องใช้ไม้ทุกชนิดเว้นเก้าอี้นอน บัลลังก์(แท่นนั่ง) บาตรไม้ เขียงเท้า
(รองเท้าไม้) อนุญาตเครื่องใช้ดินทุกชนิด ยกเว้นเครื่องใช้เช็ดเท้า กุฎีดินเผา ”
ขุททกวัตถุขันธกะที่ ๕ จบ
รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
พระฉัพพัคคีย์สรงน้ำขัดสีกายกับต้นไม้
สรงน้ำขัดสีกายกับเสา สรงน้ำขัดสีกายกับฝา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘๐ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
สรงน้ำในที่ไม่สมควร ใช้มือทำด้วยไม้หอมถูกายสรงน้ำ
ใช้เชือกชุบจุรณศิลาสีเหมือนพลอยแดงถูกายสรงน้ำ
ทำบริกรรมให้แก่กันและกัน
ใช้ไม้บังเวียนจักเป็นฟันมังกรถูกายสรงน้ำ
ภิกษุเป็นหิด ภิกษุทุพพลภาพเพราะชรา
ทรงอนุญาตให้ใช้ฝ่ามือถูหลัง
พระฉัพพัคคีย์ใช้เครื่องประดับชนิดต่าง ๆ คือ เครื่องประดับหู
สร้อยสังวาล สร้อยคอ เครื่องประดับเอว วลัย สร้อยตาบ
เครื่องประดับข้อมือ แหวนสวมนิ้วมือ
พระฉัพพัคคีย์ไว้ผมยาว ใช้แปรงหวีผม
ใช้หวีหวีผม เสยผม ใช้น้ำมันผสมขี้ผึ้งเสยผม
ใช้น้ำมันผสมน้ำเสยผม ส่องเงาหน้าที่คันฉ่อง ในภาชนะใส่น้ำ
ภิกษุเป็นแผลที่หน้า ทรงอนุญาตให้ตรวจดูรอยแผลที่คันฉ่องหรือ
ที่ภาชนะใส่น้ำได้ พระฉัพพัคคีย์ทาหน้า ถูหน้า ผัดหน้า เจิมหน้า
ย้อมตัว ย้อมหน้า ย้อมทั้งหน้าทั้งตัว ภิกษุอาพาธเป็นโรคตา
ทรงอนุญาตให้ทาหน้าได้ พระฉัพพัคคีย์ดูมหรสพ
สวดธรรมด้วยเสียงขับยาว ทรงอนุยาตให้สวดสรภัญญะ
พระฉัพพัคคีย์ใช้ผ้าขนสัตว์ พระฉัพพัคคีย์ฉันมะม่วง
สมาคมหนึ่งถวายชิ้นมะม่วง ทรงอนุญาตให้ผลไม้
ที่สมควรแก่สมณะ ภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัดเพราะไม่เจริญเมตตา
ภิกษุตัดองคชาตของตน เศรษฐีถวายบาตรไม้จันทน์
พระฉัพพัคคีย์ใช้บาตรชนิดต่าง ๆ ใช้เชิงรองบาตรชนิดต่าง ๆ
เช่นเชิงรองบาตรทอง ใช้เชิงรองบาตรสวยงาม
ภิกษุบางพวกเก็บบาตรไว้ทั้งที่ยังไม่แห้ง ทำให้บาตรเหม็นอับ
เอาบาตรผึ่งแดดทั้งที่ยังมีน้ำ บาตรมีกลิ่นเหม็น
ภิกษุบางพวกวางบาตรไว้ในที่ร้อน ผิวบาตรเสีย
วางบาตรในที่ไม่มีเชิงรอง วางบาตรไว้ที่ตั่งไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘๑ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
วางบาตรไว้ที่ริมตั่งไม้ บาตรกลิ้งตกแตก
วางบาตรไว้ที่พื้นดิน ทรงอนุญาตหญ้ารอง ปลวกกัดหญ้า
ทรงอนุญาตท่อนผ้ารอง ทรงอนุญาตชั้นวาง
ทรงอนุญาตหม้อปากกว้างเก็บบาตร
ทรงอนุญาตถลกบาตร ทรงอนุญาตสายโยกด้ายถัก
ทรงห้ามแขวนบาตรไว้ที่เดือยข้างฝา ทรงห้ามเก็บบาตรไว้บนเตียง
บนตั่ง บนตัก บนกลด ภิกษุถือบาตรอยู่ในมือไม่พึงผลักประตู
ไม่พึงใช้กระโหลกน้ำเต้าแทนบาตร ไม่พึงใช้หม้อกระเบื้องแทนบาตร
ไม่พึงใช้กระโหลกผีแทนบาตร ไม่พึงใช้กระโถนแทนบาตร
ภิกษุรูปหนึ่งใช้มือฉีกผ้าเย็บจีวร มีดมีด้ามเกิดขึ้นแก่สงฆ์
ทรงห้ามใช้มีดด้ามทอง ภิกษุทั้งหลายใช้ขนไก่และไม้กลัดเย็บจีวร
ทรงอนุญาตกล่องเข็ม แป้งข้าวหมาก ผงขมิ้น ฝุ่นศิลา ขี้ผึ้ง
ผ้ามัดขี้ผึ้งเพื่อไม่ให้เข็มมีสนิมขึ้น
ภิกษุทั้งหลายเย็บจีวรโดยขึงกับหลักทำให้มุมจีวรเสีย
ทรงอนุญาตให้ผูกไม้สะดึง ทรงห้ามขึงไม้สะดึงในที่ไม่เรียบ
ทรงห้ามขึงไม้สะดึงที่พื้นดิน ขอบไม้สะดึงชำรุด ไม้สะดึงไม่พอ
ทรงอนุญาตให้ทำหมายระยะ ทรงอนุญาตเส้นบรรทัด
ภิกษุทั้งหลายไม่ล้างเท้าเหยียบไม้สะดึง เท้าเปียกเหยียบไม้สะดึง
สวมรองเท้าเหยียบไม้สะดึง ภิกษุทั้งหลายเย็บจีวร
โดยใช้นิ้วมือรับเข็ม ทรงอนุญาตปลอกสวมนิ้วมือ
ทรงอนุญาตกล่องสำหรับเก็บเครื่องเย็บผ้า
ทรงอนุญาตถุงเก็บปลอกสวมนิ้วมือ
ทรงอนุญาตสายโยกด้ายถัก
ภิกษุทั้งหลายเย็บจีวรในที่แจ้ง โรงสะดึงมีพื้นที่ต่ำ
ดินที่ถมพังทะลาย ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก
ผงหญ้าตกเกลื่อนที่โรงสะดึง
ทรงอนุญาตให้ฉาบทั้งภายในภายนอก ทำให้มีสีขาว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘๒ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
สีดำ สีเหลือง เขียนลวดลายดอกไม้
เขียนลวดลายเถาวัลย์ จักเป็นฟันมังกร
เขียนลวดลายดอกจอก ราวจีวร สายระเดียง
ภิกษุทั้งหลายทิ้งไม้สะดึงหลีกไป ไม้สะดึงหัก ไม้สะดึงคลี่ออก
ภิกษุทั้งหลายเก็บไม้สะดึงไว้ที่ฝากุฎี
ภิกษุทั้งหลายเก็บเข็มมีดไว้ในบาตร
ทรงอนุญาตะถุงเก็บเครื่องยา ทรงอนุญาตสายโยกด้ายถัก
ภิกษุผูกรองเท้าไว้กับประคตเอว ทรงอนุญาตถุงเก็บรองเท้า
สายโยกด้ายถัก น้ำในระหว่างทางเป็นอกัปปิยะ
ทรงอนุญาตผ้ากรองน้ำ กระบอกกรองน้ำ
ภิกษุ ๒ รูปเดินทางไปกรุงเวสาลี
ทรงอนุญาตผ้ากรองน้ำมีขอบ
ทรงอนุญาตให้ลาดผ้าลงบนน้ำ ทรงอนุญาตกุฎีกันยุง
ภิกษุทั้งหลายมีอาพาธมากเพราะฉันอาหารประณีต
หมอชีวกจึงทูลขออนุญาตสร้างที่จงกรมและเรือนไฟ
ภิกษุทั้งหลายจงกรมในที่ขรุขระเท้าเจ็บ
ที่จงกรมมีพื้นที่ต่ำ ทรงอนุญาตก่อคันกั้นดินที่ถม ๓ ชนิด
ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก
ทรงอนุญาตบันไดและราวสำหรับยึด
ภิกษุทั้งหลายจงกรมในที่แจ้ง ผงหญ้าตกเกลื่อนที่โรงจงกรม
ทรงอนุญาตให้ฉาบทั้งภายในทั้งภายนอก ทำให้มีสีขาว
สีดำ สีเหลือง เขียนลวดลายดอกไม้ เขียนลวดลายเถาวัลย์
จักเป็นฟันมังกร เขียนลวดลายดอกจอก ราวจีวร สายระเดียง
ทรงอนุญาตให้ถมพื้นที่เรือนไฟให้สูง ดินที่ถมพังทะลาย
ทรงอนุญาตบันได ราวบันได ทรงอนุญาตบานประตู
กรอบเช็ดหน้า รูครกที่รับเดือยประตู
ห่วงข้างบน สายยู ไม้หัวลิง กลอน ลิ่ม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘๓ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
ช่องดาล ช่องสำหรับชัก เชือกสำหรับชัก
ทรงอนุญาตให้ฉาบฝาเรือนไฟรอบ ๆ ทรงอนุญาตช่องระบายควัน
ภิกษุทั้งหลายตั้งเตาไฟไว้กลางเรือนไฟ
ทรงอนุญาตดินทาหน้า รางละลายดิน ดินมีกลิ่นเหม็น
ไฟแผดเผากาย ทรงอนุญาตที่ใส่น้ำ ขันตักน้ำ
เรือนไฟไม่อบเหงื่อ เรือนไฟมีพื้นลื่น
ทรงอนุญาตให้ชำระล้าง ทรงอนุญาตให้ทำท่อระบายน้ำ
ทรงอนุญาตตั่งรองนั่งในเรือนไฟ ทรงอนุญาตให้ทำซุ้ม
ทรงอนุญาตให้โรยกรวดแร่ ทรงอนุญาตให้วางศิลาเรียบ
ทรงอนุญาตท่อระบายน้ำ
ภิกษุทั้งหลายเปลือยกายไหว้กัน
ภิกษุทั้งหลายวางจีวรไว้บนพื้นดิน ฝนตกจีวรเปียก
ทรงอนุญาตเครื่องกำบัง ๓ ชนิด
ทรงอนุญาตบ่อน้ำในเรือนไฟ ขอบบ่อน้ำทรุด บ่อน้ำมีพื้นที่ต่ำ
ภิกษุทั้งหลายใช้ประคดเอวและเถาวัลย์ผูกภาชนะตักน้ำ
ทรงอนุญาตคันโพง ระหัดมือ ระหัดจักร
ภาชนะตักน้ำทั้งหลายแตก
ทรงอนุญาตถังตักน้ำโลหะ ถังไม้และถังหนัง
ทรงอนุญาตศาลาบ่อน้ำ ผงหญ้าตกเกลื่อนในศาลาบ่อน้ำ
ทรงอนุญาตฝาปิดบ่อน้ำ ทรงอนุญาตรางน้ำ
ทรงอนุญาตรางระบายน้ำ ทรงอนุญาตกำแพงกั้น
บ่อน้ำลื่น ทรงอนุญาตท่อระบายน้ำ
ภิกษุทั้งหลายมีเนื้อตัวเปียกชุ่มเย็น ทรงอนุญาตสระโบกขรณี
น้ำในสระโบกขรณีเก่า ทรงอนุญาตเรือนไฟมีปั้นลม
พระฉัพพัคคีย์อยู่ปราศผ้าปูนั่ง ๔ เดือน
พระฉัพพัคคีย์นอนบนที่นอนโรยด้วยดอกไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘๔ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
ทรงอนุญาตให้รับประเคนดอกไม้ของหอม
ทรงอนุญาตสันถัตขนเจียมไม่ต้องอธิษฐาน
พระฉัพพัคคีย์ฉันอาหารโตก ทรงอนุญาตเชิงบาตร
พระฉัพพัคคีย์ฉันอาหารในภาชะเดียวกัน นอนเตียงเดียวกัน
เจ้าวัฑฒลิจฉวีสใส่ความพระทัพพะ
โพธิราชกุมารทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคมารับภัตตาหาร
ที่ปราสาทใหม่ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงเหยียบผ้าขาว
นางวิสาขามิคารมาตานำหม้อน้ำปุ่มไม้ที่เช็ดเท้า
และไม้กวาดเข้าไปถวาย ทรงอนุญาตที่เช็ดเท้าศิลา
กรวด ศิลาฟองน้ำ ทรงอนุญาตพัดโบก พัดใบตาล
แส้ปัดยุง แส้จามรี พระฉัพพัคคีย์กั้นร่มเดินเที่ยว
ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ขาดร่มแล้วไม่มีความผาสุก
พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้ใช้ร่มได้
กางร่มในเขตวัดได้ รวมเป็น ๓ เรื่อง
ทรงอนุญาตสิกกาสมมติ
ภิกษุรูปหนึ่งมีนิสัยเคี้ยวเอื้อง สมาคมหนึ่งจัดสังฆภัต
ทำเมล็ดข้าวตกเกลื่อน
ภิกษุรูปหนึ่งไว้เล็บยาว ภิกษุทั้งหลายใช้เล็บตัดเล็บ
นิ้วมือเจ็บ ตัดเล็บจนเลือดออก ทรงอนุญาตให้ตัดเล็บ
เสมอเนื้อ
พระฉัพพัคคีย์ขัดเล็บทั้ง ๒๐ เล็บ ภิกษุทั้งหลายไว้ผมยาว
ทรงอนุญาตมีดโกน หินลับมีด ปลอกมีด ผ้าพันมีด
เครื่องใช้โกน พระฉัพพัคคีย์แต่งหนวด ปล่อยหนวดไว้ยาว
ไว้เครายาว แต่งหนวดเป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่งขนหน้าอก
แต่งขนหน้าท้อง แต่งหนวดเป็นเขี้ยวโง้ง โกนขนในที่แคบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘๕ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
ภิกษุอาพาธอนุญาตให้โกนขนในที่แคบได้
ทรงอนุญาตใช้กรรไกรตัดผม ในกรณีที่ศีรษะเป็นแผล
ทรงห้ามไว้ขนจมูกยาว ทรงห้ามใช้ก้อนกรวดถอนขนจมูก
ทรงห้ามใช้กันและกันถอนผมหงอก
ทรงอนุญาตไม้แคะหูในกรณีที่ขี้หูอุดช่องหู
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สะสมโลหะ ทรงอนุญาตยาตา
ทรงห้ามนั่งรัดเข่า ทรงอนุญาตผ้ารัดเข่า
ทรงอนุญาตด้ายพันและไม้สลักทอ ทรงอนุญาตประคดเอว
ทรงห้ามใช้ประคดเอวชนิดต่าง ๆ คือ ประคดถักเชือก
ถักเป็นหัวงูน้ำ กลมคล้ายเกลียวเชือก คล้ายสังวาล
ทรงอนุญาตประคดแผ่นผ้า ประคดไส้สุกร
ชายประคดเอวลุ่ย ทรงอนุญาตให้เย็บทบถักเป็นห่วง
ปลายห่วงประคตลุ่ย ทรงอนุญาตลูกถวิน
ทรงอนุญาตลูกดุม ภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ลูกดุมชนิดต่าง ๆ
ภิกษุทั้งหลายติดแผ่นผ้ารองลูกดุมและรังดุมที่ชายจีวร
ทรงอนุญาตให้ติดแผ่นผ้าลึกเข้าไป
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์นุ่งผ้าอย่างคฤหัสถ์
คือ นุ่งปล่อยชายเหมือนงวงช้าง เหมือนหางปลา
ปล่อยชายเป็นสี่แฉก ปล่อยชายคล้ายก้านตาล
นุ่งยกกลีบตั้งร้อย พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์
นุ่งผ้าโจงกระเบน พวกภิกษุฉัพพัคคีย์หาบของ
ทรงอนุญาตให้คอนหามเป็นต้นได้
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ไม้ชำระฟันตีสามเณร
ไม้ชำระฟันติดลำคอ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์จุดไฟเผากองหญ้า
ทรงอนุญาตให้จุดไฟต้านไฟป่าที่กำลังไหม้
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ขึ้นต้นไม้ ภิกษุรูปหนึ่งถูกช้างไล่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘๖ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
ภิกษุเมฏฐะและโกกุฏฐะทูลขอยกพระพุทธพจน์
ขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เรียนสอนโลกายัต
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เรียนดิรัจฉานวิชา
เมื่อมีการจาม ไม่ควรกล่าวคำให้พร
ทรงอนุญาตให้พรตอบเพื่อความเป็นสิริมงคล
ทรงห้ามฉันกระเทียมเมื่อเข้าสมาคม
พระสารีบุตรอาพาธเป็นลมเสียดท้อง
ทรงอนุญาตให้ฉันกระเทียมได้
อารามสกปรกมีกลิ่นเหม็น นั่งปัสสาวะไม่สะดวก
ทรงอนุญาตฐานวางเท้าถ่ายปัสสาวะ
ที่ปัสสาวะเปิดเผยภิกษุทั้งหลายละอาย
ทรงอนุญาติรั้วไม้ หม้อปัสสาวะไม่มีฝาปิดส่งกลิ่นเหม็น
ภิกษุทั้งหลายถ่ายอุจจาระลงที่นั้น ๆ อารามมีกลิ่นเหม็น
ขอบปากหลุมถ่ายอุจจาระพัง
ทรงอนุญาตให้ถมพื้นให้สูง ทรงอนุญาตให้ก่อคันกั้น
ทรงอนุญาตบันได ราวยึด
ภิกษุทั้งหลายนั่งถ่ายอุจจาระที่ริมหลุดพลัดตกลงไป
นั่งถ่ายไม่สะดวก ทรงอนุญาตฐานวางเท้าถ่าย
ถ่ายปัสสาวะออกไปข้างนอก
ทรงอนุญาตรางรองปัสสาวะไม้ชำระ
ตะกร้าที่ใส่ไม้ หลุมอุจจาระไม่ได้ปิดฝา
ทรงอนุญาตฝาปิด
ทรงอนุญาตวัจกุฎี บานประตู กรอบเช็ดหน้า
รูครกที่รับเดือยประตู ห่วงข้างบนสายยู ไม้หัวลิง
กลอน ลิ่ม ช่องดาล ช่องสำหรับชัก เชือกสำหรับชัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘๗ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
ผงหญ้าตกเกลื่อน ทรงอนุญาตให้ฉาบด้วยดิน
ทั้งภายในทั้งภายนอก ทำให้มีสีขาว สีดำ สีเหลือง
สียางไม้ เขียนลวดลายดอกไม้ เขียนลวดลายเถาวัลย์
จักเป็นฟันมังกร เขียนลวดลายดอกจอก
ราวจีวร สายระเดียง
ภิกษุรูปหนึ่งทุพพลภาพเพราะชราถ่ายอุจจาระลุกขึ้นแล้วล้มลง
ทรงอนุญาตให้ล้อมรั้ว ทรงอนุญาตซุ้มประตูวัจกุฎี
ทรงอนุญาตให้โรยกรวดแร่ ทรงอนุญาตให้วางศิลาเลียบ
มีน้ำขัง ก็ทรงอนุญาตท่อระบายน้ำ
ทรงอนุญาตหม้ออุจจาระ ขันตักน้ำ
ภิกษุทั้งหลายนั่งถ่ายไม่สะดวก
ฐานที่นั่งถ่ายอุจจาระเปิดเผย ภิกษุทั้งหลายละอาย
ทรงอนุญาตฝาปิด
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ประพฤติไม่เหมาะสม
เรื่องทรงอนุญาตเครื่องใช้โลหะ เว้นเครื่องประหาร
ทรงอนุญาตเครื่องใช้ไม้ เว้นเก้าอี้นอน บัลลังก์
บาตรและเขียงเท้า ทรงอนุญาตเครื่องใช้ดิน
เว้นเครื่องใช้เช็ดเท้าและกุฎีดินเผา
นักวินัยพึงทราบนิเทศแห่งวัตถุที่เหมือนกันข้างต้นว่า ย่อไว้ในอุททาน
เรื่องในขุททกวัตถุขันธกะ ที่แสดงไว้ ๑๑๐ เรื่อง
พระวินัยธรผู้ศึกษาดีแล้ว หวังเกื้อกูล มีศีลเป็นที่รัก
มีปัญญาดุจประทีป เป็นพหูสูต ผู้ควรเคารพกราบไหว้
จะเป็นผู้สืบต่อพระสัทธรรม
และอนุเคราะห์เหล่าสพรหมจารี ผู้มีศีลดีงาม

ขุททกวัตถุขันธกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘๘ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
๖. เสนาสนขันธกะ
๑. ปฐมภาณวาร
วิหารานุชานนะ
ว่าด้วยทรงอนุญาตวิหาร
เรื่องเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ขออนุญาตสร้างวิหาร
[๒๙๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ทรงบัญญัติ(ยัง
ไม่ทรงอนุญาต)เสนาสนะแก่ภิกษุทั้งหลาย และภิกษุเหล่านั้นอยู่ในที่นั้น ๆ คือ ป่า
โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง
เวลาเช้าตรู่ ภิกษุเหล่านั้นเดินออกมาจากที่นั้น ๆ คือ จากป่า โคนไม้ ภูเขา
ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ทอดสายตาลงต่ำ มีการก้าวไป การ
ถอยหลัง การมองดู การเหลียวดู การคู้แขน การเหยียดแขนน่าเลื่อมใส เป็นผู้
สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ
ครั้งนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ไปสวนแต่เช้าตรู่ ได้แลเห็นภิกษุเหล่านั้นเดิน
ออกจากที่นั้น ๆ คือ จากป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง
ลอมฟาง ทอดสายตาลงต่ำ มีการก้าวไป การถอยหลัง การมองดู การเหลียวดู
การคู้แขน การเหยียดแขนน่าเลื่อมใส เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ ครั้นเห็นแล้ว
เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์นั้นก็มีจิตเลื่อมใส
ลำดับนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ได้เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น ครั้นแล้วจึงได้
กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า “ถ้ากระผมจะ ให้สร้างวิหาร พระคุณเจ้าจะอยู่ในวิหาร
ของกระผมหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘๙ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
ภิกษุทั้งหลายตอบว่า “คหบดี พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ทรงอนุญาตวิหาร”
เศรษฐีกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น พระคุณเจ้าจงทูลถามพระผู้มีพระภาคแล้วแจ้งให้
กระผมทราบ”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำของเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ต้องการจะให้สร้างวิหารถวาย
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
ทรงอนุญาตเสนาสนะ ๕ ชนิด
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเสนาสนะ ๕ ชนิด คือ วิหาร เรือน
มุงแถบเดียว ปราสาท เรือนโล้น ถ้ำ”
ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปหาเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าว
กับเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ดังนี้ว่า “ท่านคหบดี พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตวิหาร๑แล้ว
บัดนี้ ท่านกำหนดกาลอันควรเถิด”
ลำดับนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ให้สร้างวิหาร ๖๐ หลัง โดยใช้เวลาแค่เพียง
วันเดียว ครั้นให้สร้างเสร็จแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว
ได้ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ผู้นั่ง ณ ที่สมควร ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคกับภิกษุสงฆ์จงรับนิมนต์ ฉัน
ภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้งนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึง
ลุกจากอาสนะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วทูลลาจากไป

เชิงอรรถ :
๑ วิหาร หมายถึงเสนาสนะที่อยู่อาศัย (ดู วิ.อ. ๓/๒๙๔/๓๑๙,๓๒๑/๓๔๓, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๙๔/๔๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๙๐ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
ครั้งผ่านราตรีนั้นไป เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ให้จัดเตรียมของเคี้ยวของฉันอัน
ประณีต แล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ถวายวิหาร
เวลาเช้าตรู่ พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จ
ไปนิเวศน์ของเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูถวายพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์ เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ทรง
ห้ามภัตตาหารแล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึงนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
ดังนี้ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าต้องการบุญ ต้องการสวรรค์จึงให้สร้างวิหาร ๖๐ หลังนี้ไว้
ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติในวิหารเหล่านี้อย่างไรเล่า พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงถวายวิหารเหล่านั้นแก่สงฆ์
ในทิศทั้ง ๔ ผู้มาแล้วและยังไม่มา”
เศรษฐีทูลรับพระพุทธดำรัสแล้วได้จัดถวายวิหาร ๖๐ หลังแก่สงฆ์จากทิศทั้ง
๔ ผู้มาแล้วและยังไม่มา
คาถาอนุโมทนาผู้ถวายวิหาร
[๒๙๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ด้วย
พระคาถาเหล่านี้ว่า
วิหารย่อมป้องกันความหนาวร้อนและสัตว์ร้าย
นอกจากนั้น ยังป้องกันงู ยุงและฝนในคราวหนาวเย็น
นอกจากนั้น ยังป้องกันลมและแดดอันร้อนจัดที่เกิดขึ้น
การถวายวิหารแก่สงฆ์ เพื่อหลีกเร้นอยู่ เพื่อความสุข
เพื่อเพ่งพินิจ และเพื่อเห็นแจ้ง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญว่าเป็นทานอันเลิศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๙๑ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
เพราะฉะนั้น ผู้ฉลาดเมื่อเห็นประโยชน์ของตน
พึงสร้างวิหารอันรื่นรมย์ถวายภิกษุผู้พหูสูตให้อยู่ในที่นี้เถิด
อีกประการหนึ่ง ผู้เป็นบัณฑิตมีจิตเลื่อมใสในภิกษุพหูสูต
ผู้ปฏิบัติตรง พึงถวายข้าว น้ำ ผ้า
และเสนาสนะอันควรแก่ท่านเหล่านั้น
ท่านเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมอันเป็นเหตุบรรเทาสรรพทุกข์แก่เขา
ซึ่งเมื่อเขารู้ทั่วถึงแล้วจะเป็นผู้ไม่มีอาสวะปรินิพพานได้ในชาตินี้
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ด้วยพระคาถาเหล่านี้
เสร็จแล้ว ทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับ
เรื่องบานประตู
[๒๙๖] คนทั้งหลายได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตวิหาร” จึง
พากันสร้างวิหารอย่างกระตือรือร้น วิหารเหล่านั้นไม่มีบานประตู งูบ้าง แมงป่องบ้าง
ตะขาบบ้างจึงเข้าไปได้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบานประตู”
ภิกษุทั้งหลายเจาะช่องฝา ใช้เถาวัลย์บ้าง เชือกบ้างผูกบานประตู หนูบ้าง
ปลวกบ้าง กัดเชือกที่ผูกไว้ บานประตูที่ถูกกัดตกลงมา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกรอบเช็ดหน้า รูครกที่
รับเดือยประตู ห่วงข้างบน”
บานประตูปิดได้ไม่สนิท ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๙๒ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตช่องสำหรับชัก เชือก
สำหรับชัก”๑
บานประตูปิดไม่อยู่ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสายยู ไม้หัวลิง ลิ่ม
กลอน”
เรื่องลูกดาล
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่สามารถปิดประตูได้ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตลูกดาล ๓ ชนิด คือ
ลูกดาลโลหะ ลูกดาลไม้ ลูกดาลเขาสัตว์”
ใคร ๆ ก็เปิดเข้าไปได้ วิหารทั้งหลายคุ้มกันไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตลิ่มยนต์”
สมัยนั้น วิหารที่มุงหญ้าทั้งหลายพอถึงฤดูหนาวก็หนาว ถึงฤดูร้อนก็ร้อน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รื้อลงแล้วเอาดินโบกฉาบ
ทั้งภายในภายนอก”
เรื่องบานหน้าต่าง
สมัยนั้น วิหารทั้งหลายยังไม่มีหน้าต่าง ทำให้เสียสายตา มีกลิ่นอับ ภิกษุ
ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ ช่องสำหรับชัก คือช่องที่สอดนิ้วมือเข้าไปแล้วจับบานประตูดึงปิดจนสนิท
เชือกสำหรับชัก คือเชือกที่สอดเข้าทางช่องประตูที่เจาะไว้ผูกสำหรับปิดประตู (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๙๖/๔๗๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๙๓ }

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตหน้าต่าง ๓ ชนิด คือ
หน้าต่างมีลวดลายทำเป็นกะบัง(ชุกชี) หน้าต่างมีตาข่าย หน้าต่างมีลูกกรง”
กระแตบ้าง ค้างคาวบ้างก็ยังเข้าไปที่ซอกหน้าต่างได้ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผืนผ้าเล็กสำหรับกั้น
หน้าต่าง”
กระแตบ้าง ค้างคาวบ้างก็ยังเข้าไปทางช่องหน้าต่าง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตม่านหน้าต่าง”
กระแตบ้าง ค้างคาวบ้างเข้าไปทางม่านหน้าต่าง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบานหน้าต่าง เครื่องอัด
บานหน้าต่าง”
เรื่องเครื่องลาดตั่งไม้เตียงถักสาน
สมัยนั้น ภิกษุนอนบนพื้นดิน เนื้อตัวบ้าง จีวรบ้างเปื้อนฝุ่น ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้หญ้ารองนั่ง”
หญ้าที่รองถูกหนูบ้าง ปลวกบ้างกัด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตตั่งไม้”
เมื่อนอนบนตั่งนั้น เนื้อตัวเจ็บ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเตียงถักหรือเตียงสาน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๙๔ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น