Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๙-๒ หน้า ๔๒ - ๘๒

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๙-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๐๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค



พระสุตตันตปิฎก
ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
ว่าดวยการบัญญัติอัตาและโลกเพราะผัสสะเป็นเหตุ
[๑๒๐] พวกที่มีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด
โลกไม่มีที่สุด ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ
[๑๒๑] พวกที่มีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ
ย่อมกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ
[๑๒๒] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย บัญญัติ
อัตตาและโลกว่า เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย ด้วยมูลเหตุ ๒ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะ
เป็นเหตุ
[๑๒๓] พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภ
ขันธ์ส่วนอดีต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๑๘ อย่าง ข้อนั้นก็
เพราะผัสสะเป็นเหตุ
[๑๒๔] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญา บัญญัติอัตตา
หลังจากตายแล้วว่ามีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๑๖ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ
[๑๒๕] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา บัญญัติอัตตา
หลังจากตายแล้วว่าไม่มีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๘ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ
[๑๒๖] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญา
ก็มิใช่ บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่ามีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ด้วย
มูลเหตุ ๘ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ
[๑๒๗] พวกที่มีวาทะว่า หลังจากตายแล้วอัตตาขาดสูญ บัญญัติความขาด
สูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีกของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๗ อย่าง ข้อนั้นเพราะ
ผัสสะเป็นเหตุ
[๑๒๘] พวกที่มีวาทะว่า มีสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน บัญญัติ
นิพพานในปัจจุบันว่าเป็นบรมธรรมของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๕ อย่าง ข้อนั้นเพราะ
ผัสสะเป็นเหตุ
[๑๒๙] พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต
ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๔๔ อย่าง ข้อ
นั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ว่าด้วยสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
[๑๓๐] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวกที่
กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมีความ
เห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต
ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๖๒ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
[๑๓๑] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกที่มีวาทะว่าเที่ยง
บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้น
จากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๓๒] พวกที่มีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและ
โลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่
พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๓๓] พวกที่มีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่
มีที่สุดด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๓๔] พวกที่มีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ
ย่อมกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอนด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้น
จากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๓๕] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย บัญญัติ
อัตตาและโลกว่า เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย ด้วยมูลเหตุ ๒ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่
พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๓๖] พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภ
ขันธ์ส่วนอดีต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๑๘ อย่าง เป็นไปไม่ได้
เลยที่พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๓๗] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญา บัญญัติอัตตาหลัง
จากตายแล้วว่ามีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๑๖ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้น
จากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ว่าด้วยวัฏฏะที่เจ้าลัทธิตั้งไว้
[๑๓๘] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา บัญญัติอัตตา
หลังจากตายแล้วว่าไม่มีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๘ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้น
จากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๓๙] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญา
ก็มิใช่ บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่ามีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ด้วย
มูลเหตุ ๘ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๔๐] พวกที่มีวาทะว่า หลังจากตายแล้วอัตตาขาดสูญ บัญญัติความขาดสูญ
ความพินาศและความไม่เกิดอีกของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๗ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลย
ที่พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๔๑] พวกที่มีวาทะว่า มีสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน บัญญัติ
นิพพานในปัจจุบันว่าเป็นบรมธรรมของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๕ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลย
ที่พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๔๒] พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต
ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๔๔ อย่าง
เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๔๓] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวกที่
กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมี
ความเห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและ
อนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๖๒ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่
พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
ว่าด้วยวัฏฏะที่เจ้าลัทธิตั้งไว้
[๑๔๔] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกที่มีวาทะว่าเที่ยง
บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง พวกที่มีวาทะว่า บางอย่าง
เที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ฯลฯ พวกที่มีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ฯลฯ พวก
ที่มีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน ฯลฯ พวกที่มีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มี
เหตุปัจจัย ฯลฯ พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต ฯลฯ พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ว่าด้วยไม่มีวัฏฏะเป็นต้น
ตายแล้วมีสัญญา ฯลฯ พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา ฯลฯ
พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ฯลฯ พวก
ที่มีวาทะว่า หลังจากตายแล้วอัตตาขาดสูญ ฯลฯ พวกที่มีวาทะว่า มีสภาพ
บางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน ฯลฯ พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต ฯลฯ พวก
ที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้ง
ส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมีความเห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต
ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๖๒
อย่าง สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกรับสัมผัส (ผัสสะ)๑ ทางผัสสายตนะ ๖ แล้ว
เกิดเวทนา (ความรู้สึก) เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดมีตัณหา (ความอยาก) เพราะ
ตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดมีอุปาทาน (ความยึดมั่น ถือมั่น) เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึง
เกิดมีภพ (ความมี ความเป็น) เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดมีชาติ (ความเกิด) เพราะ
ชาติเป็นปัจจัยจึงเกิดมีชรา (ความแก่) มรณะ (ความตาย) โสกะ (ความเศร้าโศก)
ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความไม่สบายกาย) โทมนัส (ความไม่สบายใจ)
และอุปายาส (ความคับแค้นใจ)
ว่าด้วยไม่มีวัฏฏะเป็นต้น
[๑๔๕] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดภิกษุรู้ชัดถึงความเกิด ความดับ คุณ โทษแห่ง
ผัสสายตนะ ๖ และอุบายเครื่องสลัดผัสสายตนะเหล่านั้นออกตามความเป็นจริง
เมื่อนั้นเธอย่อมรู้ชัดยิ่งกว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้น
อุปมาเหมือนชาวประมงทอดแห
[๑๔๖] ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวก
ที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมี
ความเห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและ

เชิงอรรถ :
๑ สัมผัส หรือการกระทบกันระหว่างอายตนะภายในกับอายตนะภายนอก เช่น ตากระทบรูป เป็นต้น
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทิฏฐิ ๖๒ เริ่มต้นจากผัสสะนำไปสู่เวทนา สุดท้ายก็คือความทุกข์ ดังนั้นจึงไม่อาจนำ
ไปสู่ความดับทุกข์ได้แต่อย่างใด (ที.สี.อ. ๑๔๔/๑๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ว่าด้วยไม่มีวัฏฏะเป็นต้น
อนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ทั้งหมดถูกทิฏฐิ ๖๒ นี้ซึ่งเป็นดุจตาข่าย
ปกคลุมเอาไว้ ตกอยู่ในตาข่ายนี้ เมื่อโผล่ขึ้นก็โผล่อยู่ในตาข่ายนี้ ติดอยู่ในตาข่ายนี้
ถูกปกคลุมเอาไว้ เมื่อโผล่ขึ้นก็โผล่อยู่ในตาข่ายนี้เอง
เปรียบเหมือนชาวประมง หรือลูกมือชาวประมง ผู้ชำนาญ ใช้แหตาถี่ทอดลง
หนองน้ำเล็ก ๆ เขาคิดว่า บรรดาสัตว์ตัวใหญ่ในหนองน้ำแห่งนี้ทั้งหมดถูกแหครอบ
เอาไว้ อยู่ในแหนี้ เมื่อผุดขึ้นก็ผุดอยู่ในแหนี้ ติดอยู่ในแหนี้ ถูกครอบเอาไว้ เมื่อผุด
ขึ้นก็ผุดอยู่ในแหนี้ ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวกที่
กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมี
ความเห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและ
อนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ทั้งหมดถูกทิฏฐิ ๖๒ นี้๑ ซึ่งเป็นดุจตาข่าย
ปกคลุมเอาไว้ ตกอยู่ในตาข่ายนี้ เมื่อโผล่ขึ้นก็โผล่อยู่ในตาข่ายนี้ ติดอยู่ในตาข่ายนี้
ถูกปกคลุมเอาไว้ เมื่อโผล่ขึ้นก็โผล่อยู่ในตาข่ายนี้เอง ฉันนั้น
อุปมาร่างกายเหมือนผลมะม่วง
[๑๔๗] ภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคตขาดตัณหาที่พาไปสู่ภพเสียแล้ว๒
เทวดาและมนุษย์จักเห็นกายของตถาคตได้ชั่วเวลายังดำรงอยู่ หลังจากกายแตก
สลายไปเพราะสิ้นชีวิตแล้ว เทวดาและมนุษย์จักไม่เห็นกายนั้นอีก
เปรียบเหมือนเมื่อกลุ่มผลมะม่วงถูกตัดขั้ว ผลมะม่วงทั้งหมดที่ห้อยอยู่กับขั้วก็
ย่อมติดตามขั้วนั้นไป ฉันใด กายของตถาคตขาดตัณหาที่พาไปสู่ภพเสียแล้ว เทวดา
และมนุษย์จักเห็นกายของตถาคตได้ชั่วเวลาที่ยังดำรงอยู่ หลังจากกายแตกสลายไป
เพราะสิ้นชีวิตแล้ว เทวดาและมนุษย์จักไม่เห็นกายนั้นอีก ฉันนั้น”

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐิ ๖๒ คือทฤษฎีทางอภิปรัชญาที่มีอยู่ในอินเดีย ทั้งก่อนและร่วมสมัยกับพระพุทธองค์ มีอยู่ทั้งหมด ๖๒
ทฤษฎี พระพุทธองค์ทรงยกมาแสดงเพื่อยืนยันว่า พระองค์ทรงรู้ทฤษฎีดังกล่าวอย่างแจ่มแจ้ง และทรง
แสดงพรหมชาลสูตรครอบคลุมทฤษฎีเหล่านั้นทั้งหมด เปรียบเหมือนชาวประมงใช้แหทอดคลุมปลาไว้ได้
ทั้งหมด ฉะนั้น
๒ ไม่มีตัณหาที่จะเป็นเหตุให้เกิดอีก (ที.สี.อ. ๑๔๗/๑๑๗-๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ว่าด้วยไม่มีวัฏฏะเป็นต้น
[๑๔๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ธรรมบรรยายนี้มีชื่อว่าอะไร
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ เธอจงจำธรรมบรรยายนี้ว่า ข่ายแห่ง
ประโยชน์ (อรรถชาละ) ก็ได้ ข่ายแห่งธรรม (ธรรมชาละ) ก็ได้ ข่ายแห่ง
สัพพัญญุตญาณอันประเสริฐ (พรหมชาละ) ก็ได้ ข่ายแห่งทิฏฐิ(ทิฏฐิชาละ) ก็ได้
ตำราพิชัยสงคราม (สังคามวิชัย) อันยอดเยี่ยมก็ได้๑”
[๑๔๙] ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็แล
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเวยยากรณภาษิตนี้จบลง โลกธาตุที่ประกอบด้วย ๑๐,๐๐๐
จักรวาลได้หวั่นไหวแล้วแล
พรหมชาลสูตรที่ ๑ จบ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
เรื่องพระเจ้าอชาตศัตรูและราชอำมาตย์

๒. สามัญญผลสูตร
ว่าด้วยผลแห่งความเป็นสมณะ

เรื่องพระเจ้าอชาตศัตรูและราชอำมาตย์
[๑๕๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของหมอชีวก โกมารภัจ๑
เขตกรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป สมัยนั้นแล ใน
คืนวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันอุโบสถของเดือนที่ ๔ ซึ่งเป็นเดือนที่มีดอกโกมุท
บานสะพรั่ง พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร๒ มีอำมาตย์
แวดล้อม ประทับนั่งอยู่บนปราสาทชั้นบน ขณะนั้น ท้าวเธอทรงเปล่งอุทานว่า
“ราตรีสว่างไสวน่ารื่นรมย์ งดงาม น่าชื่นชมยิ่งนัก เป็นฤกษ์งามยามดี วันนี้เราควร
เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดหนอ ที่จะทำให้จิตใจของเราเบิกบานเลื่อมใสได้”
[๑๕๑] เมื่อท้าวเธอทรงเปล่งอุทานอย่างนี้ ราชอำมาตย์ผู้หนึ่งได้กราบทูล
ว่า “ขอเดชะ ครูปูรณะ กัสสปะ๓ เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียง
มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ คนจำนวนมากยกย่องกันว่าเป็นคนดี มีประสบการณ์มาก
บวชมานาน มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมามาก พระองค์โปรดเสด็จ
เข้าไปหาท่าน เมื่อเสด็จเข้าไปหา พระทัยของพระองค์จะเบิกบานเลื่อมใส”
เมื่อราชอำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้ ท้าวเธอทรงนิ่ง
[๑๕๒] ราชอำมาตย์อีกคนหนึ่งได้กราบทูลว่า “ขอเดชะ ครูมักขลิ โคศาล๔
เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียงมีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ

เชิงอรรถ :
๑ ที่ชื่อว่า ชีวก เพราะเมื่อคลอดออกมาวันแรกถูกแม่นำไปทิ้ง แต่มีชีวิตรอดมาได้ ที่ชื่อว่า โกมารภัจ เพราะ
อภัยราชกุมารทรงนำไปเลี้ยงไว้อย่างราชกุมาร เขาจบการศึกษาทางแพทย์ เป็นคนแรกที่ผ่าตัดสมองเป็น
ผลสำเร็จ นอกจากนี้ ยังเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าอีกด้วย (วิ. มหา. ๕/๓๒๘/๑๒๕)
๒ พระเจ้าอชาตศัตรู เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสารกับพระนางเวเทหิ (ที.สี.อ. ๑๕๐/๑๒๗)
๓ เจ้าลัทธิชื่อปูรณะ กัสสปโคตร (ที.สี.อ. ๑๕๑/๑๓๐)
๔ เจ้าลัทธิชื่อมักขลิ ผู้เกิดในโรงโค (ที.สี.อ. ๑๕๒/๑๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
เรื่องพระเจ้าอชาตศัตรูและราชอำมาตย์
คนจำนวนมากยกย่องกันว่าเป็นคนดี มีประสบการณ์มาก บวชมานาน มีชีวิตอยู่
หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมามาก พระองค์โปรดเสด็จเข้าไปหาท่าน เมื่อเสด็จ
เข้าไปหา พระทัยของพระองค์จะเบิกบานเลื่อมใส”
เมื่อราชอำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้ ท้าวเธอก็ทรงนิ่ง
[๑๕๓] ราชอำมาตย์อีกคนหนึ่งได้กราบทูลว่า “ขอเดชะ ครูอชิตะ เกสกัมพล๑
เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียงมีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ คน
จำนวนมากยกย่องกันว่าเป็นคนดี มีประสบการณ์มาก บวชมานาน มีชีวิตอยู่หลาย
รัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมามาก พระองค์โปรดเสด็จเข้าไปหาท่าน เมื่อเสด็จเข้า
ไปหา พระทัยของพระองค์จะเบิกบานเลื่อมใส”
เมื่อราชอำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้ ท้าวเธอก็ทรงนิ่ง
[๑๕๔] ราชอำมาตย์อีกคนหนึ่งได้กราบทูลว่า “ขอเดชะ ครูปกุธะ กัจจายนะ๒
เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียงมีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ คน
จำนวนมากยกย่องกันว่าเป็นคนดี มีประสบการณ์มาก บวชมานาน มีชีวิตอยู่หลาย
รัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมามาก พระองค์โปรดเสด็จเข้าไปหาท่าน เมื่อเสด็จเข้า
ไปหา พระทัยของพระองค์จะเบิกบานเลื่อมใส”
เมื่อราชอำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้ ท้าวเธอก็ทรงนิ่ง
[๑๕๕] ราชอำมาตย์อีกคนหนึ่งได้กราบทูลว่า “ขอเดชะ ครูสัญชัย เวลัฏฐ-
บุตร๓ เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียงมีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ
คนจำนวนมากยกย่องกันว่าเป็นคนดี มีประสบการณ์มาก บวชมานาน มีชีวิตอยู่
หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมามาก พระองค์โปรดเสด็จเข้าไปหาท่าน เมื่อเสด็จ
เข้าไปหา พระทัยของพระองค์จะเบิกบานเลื่อมใส”
เมื่อราชอำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้ ท้าวเธอก็ทรงนิ่ง

เชิงอรรถ :
๑ เจ้าลัทธิชื่ออชิตะ ผู้นุ่งห่มผ้าที่ทำด้วยผมของมนุษย์ (ที.สี.อ. ๑๕๓/๑๓๑)
๒ เจ้าลัทธิชื่อปกุธะ กัจจายนโคตร (ที.สี.อ. ๑๕๔/๑๓๒)
๓ เจ้าลัทธิชื่อสัญชัย ผู้เป็นบุตรของช่างสาน (ที.สี.อ. ๑๕๕/๑๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ว่าด้วยหมอชีวก โกมารภัจ
[๑๕๖] ราชอำมาตย์อีกคนหนึ่งได้กราบทูลว่า “ขอเดชะ ครูนิครนถ์
นาฏบุตร๑ เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียงมีเกียรติยศ เป็น
เจ้าลัทธิ คนจำนวนมากยกย่องกันว่าเป็นคนดี มีประสบการณ์มาก บวชมานาน
มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมามาก พระองค์โปรดเสด็จเข้าไปหาท่าน
เมื่อเสด็จเข้าไปหา พระทัยของพระองค์จะเบิกบานเลื่อมใส”
เมื่อราชอำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้ ท้าวเธอก็ทรงนิ่ง
ว่าด้วยหมอชีวก โกมารภัจ
[๑๕๗] สมัยนั้น หมอชีวก โกมารภัจ นั่งนิ่งอยู่ ณ ที่ไม่ไกลจากพระเจ้า
อชาตศัตรู เวเทหิบุตร ท้าวเธอตรัสถามหมอชีวก โกมารภัจ ว่า “สหายชีวก ทำไม
ท่านจึงนิ่งอยู่เล่า”
หมอชีวก โกมารภัจ ทูลตอบว่า “ขอเดชะ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นพระ
อรหันต์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของข้าพระพุทธเจ้า
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป พระองค์มีพระกิตติศัพท์อันงามขจร
ไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็น
สารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า๒ เป็นพระผู้มีพระภาค๓ พระองค์โปรดเสด็จเข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เมื่อเสด็จเข้าไปเฝ้า พระทัยของพระองค์จะเบิกบานเลื่อมใส”

เชิงอรรถ :
๑ นิครนถ์ ผู้เป็นบุตรของนักฟ้อน (ที.สี.อ. ๑๕๖/๑๓๒)
๒ ชื่อว่า เป็นพระพุทธเจ้า เพราะทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดด้วยพระองค์เองและทรงสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม
๓ ชื่อว่า เป็นพระผู้มีพระภาค เพราะ (๑) ทรงมีโชค (๒) ทรงทำลายข้าศึกคือกิเลส (๓) ทรงประกอบด้วย
ภคธรรม ๖ ประการ (คือ ความเป็นใหญ่เหนือจิตของตน, โลกุตตรธรรม, ยศ, สิริ, ความสำเร็จประโยชน์
ตามต้องการ และความเพียร) (๔) ทรงจำแนกแจกแจงธรรม (๕) ทรงเสพอริยธรรม (๖) ทรงคาย
ตัณหาในภพทั้งสาม (๗) ทรงเป็นที่เคารพของชาวโลก (๘) ทรงอบรมพระองค์ดีแล้ว (๙) ทรงมีส่วน
แห่งปัจจัย ๔ เป็นต้น (วิ.อ. ๑/๑๐๓-๑๑๘, สารตฺถ.ฏีกา. ๑/๒๗๐)
อนึ่ง พุทธคุณนี้ ท่านแบ่งเป็น ๑๐ ประการ โดยแยกพุทธคุณข้อ ๖ เป็น ๒ ประการ คือ (๑) เป็น
ผู้ยอดเยี่ยม (๒) เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ (วิสุทฺธิ. ๑/๒๖๕, วิ.อ. ๑/๑๑๒-๑๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
พระเจ้าอชาตศัตรูทูลถามเรื่องผลแห่งความเป็นสมณะ
[๑๕๘] ท้าวเธอจึงมีรับสั่งว่า “ถ้าอย่างนั้น ท่านจงสั่งให้จัดเตรียมขบวน
ช้างเถิด สหายชีวก”
หมอชีวก โกมารภัจ กราบทูลรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว สั่งให้เตรียม
ช้างพัง ๕๐๐ เชือกและช้างพระที่นั่ง กราบทูลว่า “ขบวนช้างพร้อมแล้ว ขอเชิญใต้
ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จเถิด พระเจ้าข้า”
[๑๕๙] ต่อมา พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร โปรดให้สตรี ๕๐๐ คนขึ้นช้าง
พังเชือกละ ๑ คน แล้วทรงช้างพระที่นั่ง มีผู้ถือคบเพลิง เสด็จออกจากกรุงราชคฤห์
ด้วยราชานุภาพอันยิ่งใหญ่สมพระเกียรติไปสวนมะม่วงของหมอชีวก โกมารภัจ
พอใกล้จะถึงสวนมะม่วง ท้าวเธอทรงหวาดระแวง พระโลมชาติชูชัน จึงตรัส
ถามหมอชีวก โกมารภัจ ว่า “สหายชีวก ท่านไม่ได้หลอกเรา ไม่ได้ลวงเรา ไม่ได้นำ
เรามาให้ศัตรูดอกหรือ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูปทำไมจึงไม่มีเสียงจาม
เสียงกระแอมไอ หรือเสียงพูดคุยกันเลย”
หมอชีวก โกมารภัจ ทูลตอบว่า “พระองค์โปรดอย่าได้ทรงหวาดระแวงไปเลย
ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้หลอกพระองค์ ไม่ได้ลวงพระองค์ ไม่ได้นำพระองค์มาให้ศัตรู
หรอก ขอเดชะ พระองค์โปรดเสด็จเข้าไปเถิด นั่นยังมีแสงประทีปตามอยู่ในหอนั่ง”
พระเจ้าอชาตศัตรูทูลถามเรื่องผลแห่งความเป็นสมณะ
[๑๖๐] ท้าวเธอจึงได้เสด็จเข้าไปโดยขบวนช้างพระที่นั่งจนสุดทางช้าง แล้ว
เสด็จลงจากช้างพระที่นั่งเข้าทางประตูหอนั่ง ตรัสถามหมอชีวก โกมารภัจ ว่า
“สหายชีวก พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ไหนเล่า”
หมอชีวก โกมารภัจ ทูลตอบว่า “ขอเดชะ ผู้ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระ
พักตร์ไปทางทิศตะวันออกข้างหน้าภิกษุสงฆ์ นั่นแลคือพระผู้มีพระภาค พระเจ้าข้า”
[๑๖๑] ลำดับนั้น พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระ
ภาคถึงที่ประทับ ได้ประทับยืน ณ ที่สมควร ทรงชำเลืองเห็นภิกษุสงฆ์สงบนิ่งเหมือน
สระน้ำใส จึงทรงเปล่งอุทานว่า “ขอให้อุทัยภัทรกุมาร๑ ของเราจงมีความสงบอย่าง
ภิกษุสงฆ์ในเวลานี้เถิด”

เชิงอรรถ :
๑ อุทัยภัทรกุมาร คือ พระโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรู (ที.สี.อ. ๑๖๑/๑๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
พระเจ้าอชาตศัตรูทูลถามเรื่องผลแห่งความเป็นสมณะ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร พระองค์เสด็จมาตามความรักบัญชา”
ท้าวเธอกราบทูลว่า “อุทัยภัทรกุมารเป็นที่รักของหม่อมฉัน ขอให้เธอจงมี
ความสงบอย่างภิกษุสงฆ์ในเวลานี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
[๑๖๒] ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงกราบพระผู้มีพระภาค ทรงไหว้ภิกษุสงฆ์แล้ว
ประทับนั่ง ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอวโรกาส
ทูลถามปัญหาบางอย่างกะพระผู้มีพระภาค หากพระผู้มีพระภาคจะประทาน
พระวโรกาสเพื่อทรงตอบปัญหาของหม่อมฉัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เชิญถามตามพระประสงค์เถิด มหาบพิตร”
[๑๖๓] พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อาชีพที่อาศัยศิลปะเหล่านี้ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู พนักงานเชิญธง
พนักงานจัดกระบวนทัพ พวกจัดส่งเสบียง ราชนิกุลผู้ทรงเป็นนายทหารระดับสูง
พลอาสา ขุนพล พลกล้า พลสวมเกราะ พวกทาสเรือนเบี้ย พวกทำขนม ช่างกัลบก
พนักงานเครื่องสรง พวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างหูก ช่างจักสาน ช่างหม้อ
นักคำนวณ นักบัญชี หรืออาชีพที่อาศัยศิลปะอย่างอื่นทำนองนี้ คนเหล่านั้นได้รับ
ผลจากอาชีพที่อาศัยศิลปะที่เห็นประจักษ์มาเลี้ยงชีพในปัจจุบัน จึงบำรุงตนเอง บิดา
มารดา บุตรภรรยา มิตรสหายให้เป็นสุข บำเพ็ญทักษิณาในสมณพราหมณ์ซึ่งมีผล
มากเป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดีมีสุขเป็นผลให้เกิดในสวรรค์ พระองค์จะทรงบัญญัติ
ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นนั้นบ้างหรือไม่”
[๑๖๔] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “มหาบพิตร พระองค์ทรงจำได้หรือไม่ว่า
ปัญหาข้อนี้ได้ตรัสถามสมณพราหมณ์อื่นมาบ้างแล้ว”
“หม่อมฉันจำได้ว่าเคยถามปัญหาข้อนี้กับสมณพราหมณเหล่าอื่นมาแล้ว
พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านเหล่านั้นตอบว่าอย่างไร หากไม่หนักพระทัย เชิญพระองค์ตรัสเถิด”
“ณ สถานที่ที่มีพระผู้มีพระภาคหรือผู้เปรียบดังพระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่
หม่อมฉันไม่หนักใจเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“ถ้าอย่างนั้น เชิญพระองค์ตรัสเถิด มหาบพิตร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ลัทธิของครูปูรณกัสสป

ลัทธิของครูปูรณะ กัสสปะ
อกิริยวาทะ๑ = ลัทธิที่ถือว่าทำแล้วไม่เป็นอันทำ
[๑๖๕] พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
คราวหนึ่งในกรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไปหาครูปูรณะ กัสสปะ ถึงที่อยู่ เจรจาปราศรัย
กันพอคุ้นเคยดี ได้นั่งลงถามครูปูรณะ กัสสปะ ว่า ‘ท่านกัสสปะ อาชีพที่อาศัยศิลปะ
มากมายเหล่านี้ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู พนักงานเชิญธง พนักงาน
จัดกระบวนทัพ พวกจัดส่งเสบียง ราชนิกุลผู้ทรงเป็นนายทหารระดับสูง พลอาสา
ขุนพล พลกล้า พลสวมเกราะ พวกทาสเรือนเบี้ย พวกทำขนม ช่างกัลบก พนักงาน
เครื่องสรง พวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างหูก ช่างจักสาน ช่างหม้อ นัก
คำนวณ นักบัญชี หรืออาชีพที่อาศัยศิลปะอย่างอื่นทำนองนี้ คนเหล่านั้นได้รับ
ผลจากอาชีพที่อาศัยศิลปะที่เห็นประจักษ์มาเลี้ยงชีพในปัจจุบัน จึงบำรุงตนเอง บิดา
มารดา บุตรภรรยา มิตรสหายให้เป็นสุข บำเพ็ญทักษิณาในสมณพราหมณ์ซึ่งมีผล
มากเป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดีมีสุขเป็นผลให้เกิดในสวรรค์ ท่านกัสสปะจะบัญญัติผล
แห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นนั้นบ้างหรือไม่’
[๑๖๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามอย่างนี้ ครูปูรณะ กัสสปะ
ตอบว่า ‘มหาบพิตร เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียน
เอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำให้เศร้าโศกเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้เศร้าโศก ทำให้ลำบาก
เอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของ
ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ตัดช่องย่องเบา ปล้น ทำโจรกรรมในบ้านหลังเดียว ดักซุ่มที่
ทางเปลี่ยว เป็นชู้ พูดเท็จ ผู้ทำ(เช่นนั้น) ก็ไม่จัดว่าทำบาป แม้หากบุคคลใช้จักรมี
คมดุจมีดโกนสังหารเหล่าสัตว์ในปฐพีนี้ให้เป็นดุจลานตากเนื้อ ให้เป็นกองเนื้อเดียว
กัน เขาย่อมไม่มีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หากบุคคลไปฝั่ง
ขวาแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้
อื่นเบียดเบียน เขาย่อมไม่มีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หาก

เชิงอรรถ :
๑ ลัทธิที่ถือว่า การกระทำทุกอย่างไม่มีผล ทำดีก็ไม่ได้ดี ทำชั่วก็ไม่ได้ชั่ว เป็นความเห็นที่ปฏิเสธกฎแห่งกรรม
(ที.สี.อ. ๑๖๖/๑๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ลัทธิของครูมักขลิโคศาล
บุคคลไปฝั่งซ้ายแม่น้ำคงคา ให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา เขาย่อมไม่
มีบุญที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบุญมาถึงเขา ไม่มีบุญที่เกิดจากการให้ทาน จากการ
ฝึกอินทรีย์ จากการสำรวม จากการพูดคำสัตย์ ไม่มีบุญมาถึงเขา’ หม่อมฉันถามถึง
ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ แต่ครูปูรณะ กัสสปะ กลับตอบเรื่องที่ทำแล้ว
ไม่เป็นอันทำ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึงผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์
แต่ครูปูรณะ กัสสปะ กลับตอบเรื่องที่ทำแล้วไม่เป็นอันทำ เปรียบเหมือนเขาถาม
เรื่องมะม่วงกลับตอบเรื่องขนุนสำปะลอ หรือเขาถามเรื่องขนุนสำปะลอกลับตอบเรื่อง
มะม่วง หม่อมฉันจึงคิดว่า คนระดับเราจะรุกรานสมณพราหมณ์ผู้อยู่ในราช-
อาณาเขตได้อย่างไรกัน หม่อมฉันจึงไม่ชื่นชม ไม่ตำหนิคำกล่าวของครูปูรณะ กัสสปะ
ถึงไม่ชื่นชม ไม่ตำหนิ แต่ก็ไม่พอใจ และไม่เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจออกมา
เมื่อไม่ยึดถือ ไม่ใส่ใจคำกล่าวนั้น ก็ได้ลุกจากที่นั่งจากไป
ลัทธิของครูมักขลิ โคศาล
นัตถิกวาทะ๑= ลัทธิที่ถือว่าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย
[๑๖๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คราวหนึ่งในกรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไปหา
ครูมักขลิ โคศาล ถึงที่อยู่ เจรจาปราศรัยกันพอคุ้นเคยดี ได้นั่งลงถามครูมักขลิ
โคศาล ว่า ‘ท่านโคศาล อาชีพที่อาศัยศิลปะมากมายเหล่านี้ คือ ฯลฯ๒ ท่านโคศาล
จะบัญญัติผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นนั้นบ้างหรือไม่’
[๑๖๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามอย่างนี้ ครูมักขลิ โคศาล
ตอบว่า ‘มหาบพิตร ความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย สัตว์
ทั้งหลายเศร้าหมองเอง ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย สัตว์
ทั้งหลายบริสุทธิ์เอง ไม่ใช่เพราะการกระทำของตนและไม่ใช่เพราะการกระทำของ
ผู้อื่น ไม่ใช่เพราะการกระทำของมนุษย์ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ไม่มีความ

เชิงอรรถ :
๑ ลัทธิที่ถือว่า ไม่มีเหตุปัจจัยที่ทำให้สัตว์บริสุทธิ์หรือเศร้าหมอ (ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๖)
๒ ความเต็มเหมือนในข้อ ๑๖๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ลัทธิของครูมักขลิโคศาล
สามารถของมนุษย์ ไม่มีความพยายามของมนุษย์ สัตว์ ปาณะ ภูตะ ชีวะ๑ ทั้งปวง
ล้วนไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ผันแปรไปตามโชคชะตา ตามสถานภาพ
ทางสังคมและตามลักษณะเฉพาะตน ย่อมเสวยสุขและทุกข์ในอภิชาติ๒ทั้ง ๖ อนึ่ง
กำเนิดที่เป็นประธาน ๑,๔๐๖,๖๐๐ กรรม ๕๐๐ กรรม ๕ กรรม ๓ กรรม ๑
กรรมกึ่ง๓ ปฏิปทา ๖๒ อันตรกัป ๖๒ อภิชาติ ๖ ปุริสภูมิ๔ ๘ อาชีวก ๔,๙๐๐
ปริพาชก ๔,๙๐๐ นาควาส ๔,๙๐๐ อินทรีย์ ๒,๐๐๐ นรก ๓๐๐ รโชธาตุ๕ ๓๖
สัญญีครรภ์ ๗ อสัญญีครรภ์ ๗ นิคัณฐีครรภ์๖ ๗ เทวดา ๗ มนุษย์ ๗ ปีศาจ ๗
สระ ๗ ตาไม้ไผ่ ๗ ตาไม้ไผ่ ๗๐๐ เหวใหญ่ ๗ เหวน้อย ๗๐๐ มหาสุบิน ๗
สุบิน ๗๐๐ มหากัป๗ ๘,๔๐๐,๐๐๐ เหล่านี้ที่คนพาลและบัณฑิตพากันเที่ยวเวียนว่าย
ไปแล้ว จักทำที่สุดทุกข์ได้เอง ไม่มีความสมหวังในความปรารถนาว่า เราจักอบรม
กรรมที่ยังไม่ให้ผลให้ให้ผล หรือสัมผัสกรรมที่ให้ผลแล้วจักทำให้หมดสิ้นไปด้วยศีล พรต
ตบะหรือพรหมจรรย์นี้ ไม่มีสุขทุกข์ที่ทำให้สิ้นสุดลงได้ (จำนวนเท่านั้นเท่านี้)

เชิงอรรถ :
๑ สัตว์ หมายถึง สัตว์ชั้นสูง เช่น อูฐ ม้า ลา ปาณะ หมายถึง สัตว์ที่มี ๑ อินทรีย์ ๒ อินทรีย์เป็นต้น
ภูตะ หมายถึง สัตว์ทุกจำพวกทั้งที่เกิดจากฟองไข่และเกิดในครรภ์มารดา ชีวะ หมายถึง พวกพืชทุกชนิด
(ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๖)
๒ อภิชาติ คือ การกำหนดหมายชนชั้น เช่น โจรเป็นกัณหาภิชาติ (สีดำ) นักบวชเป็นนีลาภิชาติ (สีเขียว)
นิครนถ์เป็นโลหิตาภิชาติ (สีแดง) คฤหัสถ์เป็นหลิททาภิชาติ (สีเหลือง) อาชีวกเป็นสุกกาภิชาติ (สีขาว)
นักบวชที่เคร่งวัตรปฏิบัติเป็นปรมสุกกาภิชาติ (สีขาวยิ่งนัก) [ ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๗]
๓ ตามทัศนะของครูมักขลิ โคศาล กรรม ๕ หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น และกาย กรรม ๓ หมายถึงกายกรรม
วจีกรรม และมโนกรรม กรรม ๑ หมายถึง กายกรรมกับวจีกรรมรวมกัน กรรมกึ่ง หมายถึงมโนกรรม
(ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๗)
๔ ขั้นตอนแห่งการเจริญเติบโตและพัฒนาการของบุคคล นับตั้งแต่คลอดไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แบ่ง
เป็น ๘ ขั้น คือ มันทภูมิ (ระยะไร้เดียงสา) ขิฑฑาภูมิ (ระยะรู้เดียงสา) ปทวีมังสภูมิ (ระยะตั้งไข่)
อุชุคตภูมิ (ระยะเดินตรง) เสขภูมิ (ระยะศึกษา) สมณภูมิ (ระยะสงบ) ชินภูมิ (ระยะมีความรอบรู้)
ปันนภูมิ (ระยะแก่หง่อม) ( ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๗-๑๔๘)
๕ ฝุ่นระออง ในที่นี้หมายถึง ที่ที่ฝุ่นจับเกาะ เช่นหลังฝ่ามือ ฝ่าเท้า เป็นต้น (ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๗)
๖ ที่งอกซึ่งอยู่ที่ข้อหรือตา เช่นอ้อย ไม้ไผ่ และไม้อ้อ เป็นต้น (ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๘)
๗ กำหนดระยะเวลา ๑ มหากัป ยาวนานมาก อรรถกถาเปรียบว่า มีสระน้ำใหญ่แห่งหนึ่งเต็มด้วยน้ำ บุคคล
เอาปลายใบหญ้าคาจุ่มลงไปนำหยดน้ำออกมา ๑๐๐ ปีต่อ ๑ ครั้ง จนน้ำในสระนั้นแห้ง กระทำเช่นนี้ไปจน
ครบ ๗ ครั้ง นั่นคือระยะเวลา ๑ มหากัป (ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
ลัทธิของครูอชิตะ เกสกัมพล
เหมือนตวงด้วยทะนาน ไม่มีสังสารวัฏที่ทำให้สิ้นสุดไปได้ด้วยอาการอย่างนี้ ไม่มี
ความเสื่อมและความเจริญ ไม่มีการเลื่อนขึ้นสูงและเลื่อนลงต่ำ พวกคนพาลและ
บัณฑิตพากันเที่ยวเวียนว่ายไปแล้วก็จักทำที่สุดทุกข์ได้เอง เหมือนกลุ่มด้ายที่ถูก
ขว้างไปย่อมคลี่หมดไปได้เองฉะนั้น’
[๑๖๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึงผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ แต่ครูมักขลิ โคศาล กลับตอบเรื่องความบริสุทธิ์เพราะเวียนว่ายตาย
เกิด เปรียบเหมือนเขาถามเรื่องมะม่วงกลับตอบเรื่องขนุนสำปะลอ หรือเขาถามเรื่อง
ขนุนสำปะลอกลับตอบเรื่องมะม่วง หม่อมฉันจึงคิดว่า คนระดับเราจะรุกราน
สมณพราหมณ์ผู้อยู่ในราชอาณาเขตได้อย่างไรกัน หม่อมฉันจึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิคำ
กล่าวของครูมักขลิ โคศาล ถึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิ แต่ก็ไม่พอใจ และไม่เปล่งวาจาแสดง
ความไม่พอใจออกมา เมื่อไม่ยึดถือ ไม่ใส่ใจคำกล่าวนั้น ก็ได้ลุกจากที่นั่งจากไป
ลัทธิของครูอชิตะ เกสกัมพล
อุจเฉทวาทะ = ลัทธิที่ถือว่าหลังจากตายแล้วอัตตาขาดสูญ
[๑๗๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คราวหนึ่งในกรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไปหา
ครูอชิตะ เกสกัมพล ถึงที่อยู่ เจรจาปราศรัยกันพอคุ้นเคยดี ได้นั่งลงถามครูอชิตะ
เกสกัมพลว่า ‘ท่านอชิตะ อาชีพที่อาศัยศิลปะมากมายเหล่านี้ คือ ฯลฯ๑ ท่านอชิตะ
จะบัญญัติผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นนั้นบ้างหรือไม่’
[๑๗๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามอย่างนี้ ครูอชิตะ เกสกัมพล
ตอบว่า ‘มหาบพิตร ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงก็
ไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วก็ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี บิดาไม่มีคุณ
มารดาไม่มีคุณ สัตว์ที่เกิดผุดขึ้น๒ ก็ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบทำให้
แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็ไม่มีในโลก

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในข้อ ๑๖๕
๒ โอปปาติกะ สัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ (ตาย) ก็หายวับไป ไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่น เทวดา
และสัตว์นรกเป็นต้น (ที.สี.อ. ๑๗๑/๑๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ลัทธิของครูปกุธกัจจายนะ
มนุษย์คือที่ประชุมแห่งมหาภูตรูป ๔ เมื่อสิ้นชีวิต ธาตุดินไปตามธาตุดิน ธาตุน้ำ
ไปตามธาตุน้ำ ธาตุไฟไปตามธาตุไฟ ธาตุลมไปตามธาตุลม อินทรีย์ทั้งหลายย่อม
ผันแปรไปเป็นอากาศธาตุ มนุษย์มีเตียงนอนเป็นที่ ๕ นำศพไป๑ ร่างกายปรากฏอยู่
แค่ป่าช้า กลายเป็นกระดูกขาวโพลนดุจสีนกพิราบ การเซ่นสรวงสิ้นสุดลงแค่เถ้าถ่าน
คนเขลาบัญญัติทานนี้ไว้ คำที่คนบางพวกย้ำว่ามีผลนั้นว่างเปล่า เท็จ ไร้สาระ เมื่อ
สิ้นชีวิตไม่ว่าคนเขลาหรือคนฉลาดย่อมขาดสูญไม่เกิดอีก’
[๑๗๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึงผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ แต่ครูอชิตะ เกสกัมพล กลับตอบเรื่องความขาดสูญ เปรียบเหมือนเขา
ถามเรื่องมะม่วงกลับตอบเรื่องขนุนสำปะลอ หรือเขาถามเรื่องขนุนสำปะลอกลับตอบ
เรื่องมะม่วง หม่อมฉันจึงคิดว่า คนระดับเราจะรุกรานสมณพราหมณ์ผู้อยู่ใน
ราชอาณาเขตได้อย่างไรกัน หม่อมฉันจึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิคำกล่าวของครูอชิตะ
เกสกัมพล ถึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิ แต่ก็ไม่พอใจ และไม่เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจ
ออกมา เมื่อไม่ยึดถือ ไม่ใส่ใจคำกล่าวนั้น ก็ได้ลุกจากที่นั่งจากไป
ลัทธิของครูปกุธะ กัจจายนะ
นัตถิกวาทะ = ลัทธิที่ถือว่าไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย
[๑๗๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คราวหนึ่งในกรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไปหา
ครูปกุธะ กัจจายนะ ถึงที่อยู่ เจรจาปราศรัยกันพอคุ้นเคยดี ได้นั่งลงถามครูปกุธะ
กัจจายนะว่า ‘ท่านกัจจายนะ อาชีพที่อาศัยศิลปะมากมายเหล่านี้ คือ ฯลฯ๒ ท่าน
กัจจายนะจะบัญญัติผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นนั้นบ้าง
หรือไม่’
[๑๗๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามอย่างนี้ ครูปกุธะ กัจจายนะ
ตอบว่า ‘มหาบพิตร สภาวะ ๗ กองนี้ ไม่มีผู้สร้าง ไม่มีผู้บันดาล ไม่มีผู้เนรมิต
ไม่มีผู้ให้เนรมิต ยั่งยืน มั่นคงดุจยอดภูเขา ดุจเสาระเนียด ไม่หวั่นไหว ไม่ผันแปร
ไม่กระทบกระทั่งกัน ไม่ก่อให้เกิดสุขหรือทุกข์ หรือทั้งสุขและทุกข์แก่กันและกัน

เชิงอรรถ :
๑ เวลาหามศพจะใช้บุรุษ ๔ คนเดินหามเตียงนอนไป ฉะนั้น จึงชื่อว่า มีเตียงเป็นที่ ๕ (ที.สี.อ. ๑๗๑/๑๕๐)
๒ ความเต็มเหมือนในข้อ ๑๖๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
ลัทธิของครูนิครนถ์ นาฏบุตร
สภาวะ ๗ กองนั้นคืออะไรบ้าง คือ กองแห่งธาตุดิน กองแห่งธาตุน้ำ กองแห่งธาตุไฟ
กองแห่งธาตุลม กองสุข กองทุกข์ กองชีวะ สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีผู้สร้าง ไม่มี
ผู้บันดาล ไม่มีผู้เนรมิต ไม่มีผู้ให้เนรมิต ยั่งยืน มั่นคงดุจยอดภูเขา ดุจเสาระเนียด
ไม่หวั่นไหว ไม่ผันแปร ไม่กระทบกระทั่งกัน ไม่ก่อให้เกิดสุขหรือทุกข์ หรือทั้งสุขและ
ทุกข์แก่กันและกัน ในสภาวะ ๗ กองนั้น ไม่มีผู้ฆ่า ไม่มีผู้ใช้ให้คนอื่นฆ่า ไม่มีผู้ฟัง ไม่
มีผู้ใช้ให้คนอื่นฟัง ไม่มีผู้รู้ ไม่มีผู้ทำให้คนอื่นรู้ ใครก็ตามแม้จะเอาศัสตราคม
ตัดศีรษะใคร ก็ไม่ชื่อว่าปลงชีวิตใครได้ เพราะเป็นเพียงศัสตราแทรกผ่านไประหว่าง
สภาวะ ๗ กองเท่านั้นเอง’
[๑๗๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึงผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ แต่ครูปกุธะ กัจจายนะ กลับตอบเรื่องความขาดสูญ เปรียบเหมือนเขาถาม
เรื่องมะม่วงกลับตอบเรื่องขนุนสำปะลอ หรือเขาถามเรื่องขนุนสำปะลอกลับตอบ
เรื่องมะม่วง หม่อมฉันจึงคิดว่า คนระดับเราจะรุกรานสมณพราหมณ์ผู้อยู่ใน
ราชอาณาเขตได้อย่างไรกัน หม่อมฉันจึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิคำกล่าวของครูปกุธะ
กัจจายนะ ถึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิ แต่ก็ไม่พอใจ และไม่เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจ
ออกมา เมื่อไม่ยึดถือ ไม่ใส่ใจคำกล่าวนั้น ก็ได้ลุกจากที่นั่งจากไป
ลัทธิของครูนิครนถ์ นาฏบุตร
อัตตกิลมถานุโยค = ลัทธิที่ถือว่าการทรมานตนเองเป็นการเผากิเลส
[๑๗๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คราวหนึ่งในกรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไป
หาครูนิครนถ์ นาฏบุตร ถึงที่อยู่ เจรจาปราศรัยกันพอคุ้นเคยดี ได้นั่งลงถามครู
นิครนถ์ นาฏบุตร ว่า ‘ท่านอัคคิเวสสนะ อาชีพที่อาศัยศิลปะมากมายเหล่านี้ คือ
ฯลฯ๑ ท่านอัคคิเวสสนะจะบัญญัติผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน
ได้เช่นนั้นบ้างหรือไม่’
[๑๗๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามอย่างนี้ ครูนิครนถ์ นาฏบุตร
ตอบว่า ‘มหาบพิตร นิครนถ์ในโลกนี้สำรวมด้วยการสังวร ๔ อย่าง คือ ๑. เว้น

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในข้อ ๑๖๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ลัทธิของครูสัญชัยเวลัฏฐบุตร
น้ำดิบทุกอย่าง ๒. ประกอบกิจที่เว้นจากบาปทุกอย่าง ๓. ล้างบาปทุกอย่าง
๔. รับสัมผัสทุกอย่างโดยไม่ให้เกิดบาป นิครนถ์สำรวมด้วยการสังวร ๔ อย่างนี้
ดังนั้นบัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้ถึงที่สุดแล้ว สำรวมแล้ว ตั้งมั่นแล้ว’
[๑๗๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึงผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ แต่ครูนิครนถ์ นาฏบุตร กลับตอบเรื่องความสังวร ๔ อย่าง เปรียบเหมือน
เขาถามเรื่องมะม่วงกลับตอบเรื่องขนุนสำปะลอ หรือเขาถามเรื่องขนุนสำปะลอกลับ
ตอบเรื่องมะม่วง หม่อมฉันจึงคิดว่า คนระดับเราจะรุกรานสมณพราหมณ์ผู้อยู่ใน
ราชอาณาเขตได้อย่างไรกัน หม่อมฉันจึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิคำกล่าวของครูนิครนถ์
นาฏบุตร ถึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิ แต่ก็ไม่พอใจ และไม่เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจ
ออกมา เมื่อไม่ยึดถือ ไม่ใส่ใจคำกล่าวนั้น ก็ได้ลุกจากที่นั่งจากไป
ลัทธิของครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร
อมราวิกเขปวาทะ = ลัทธิที่หลบเลี่ยงไม่แน่นอน
[๑๗๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คราวหนึ่งในกรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไป
หาครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร ถึงที่อยู่ เจรจาปราศรัยกันพอคุ้นเคยดี ได้นั่งลงถามครูสัญชัย
เวลัฏฐบุตร ว่า ‘ท่านสัญชัย อาชีพที่อาศัยศิลปะมากมายเหล่านี้ คือ ฯลฯ๑
ท่านสัญชัยจะบัญญัติผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นนั้นบ้าง
หรือไม่’
[๑๘๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามอย่างนี้ ครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร
ตอบว่า ‘ถ้ามหาบพิตรตรัสถามอาตมภาพว่า โลกหน้ามีจริงหรือ หากอาตมภาพมี
ความเห็นว่ามีจริง ก็จะทูลตอบว่ามีจริง แต่อาตมภาพมีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่
อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่ จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่ ถ้ามหาบพิตร
ตรัสถามอาตมภาพว่า โลกหน้าไม่มีหรือ ฯลฯ โลกหน้ามีและไม่มีหรือ ฯลฯ โลก
หน้าจะว่ามีก็มิใช่ จะว่าไม่มีก็มิใช่หรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุดเกิดมีจริงหรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุด
เกิดไม่มีหรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุดเกิดมีและไม่มีหรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุดเกิดจะว่ามีก็มิใช่
จะว่าไม่มีก็มิใช่หรือ ฯลฯ ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีจริงหรือ ฯลฯ ผลวิบาก

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในข้อ ๑๖๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ได้ข้อที่ ๑
แห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มีหรือ ฯลฯ ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีและไม่มีหรือ
ฯลฯ ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วจะว่ามีก็มิใช่ จะว่าไม่มีก็มิใช่หรือ ฯลฯ หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคต๑ เกิดอีกหรือ ฯลฯ หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีกหรือ ฯลฯ
หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีกหรือ ฯลฯ หลังจากตายแล้ว ตถาคต
จะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่หรือ หากอาตมภาพมีความเห็นว่า หลัง
จากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ ก็จะทูลตอบว่า หลัง
จากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ แต่อาตมภาพมีความ
เห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่ จะว่ามิใช่ไม่ใช่
ก็มิใช่ ’
[๑๘๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึงผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ แต่ครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร กลับตอบหลบเลี่ยง เปรียบเหมือนเขาถามเรื่อง
มะม่วงกลับตอบเรื่องขนุนสำปะลอ หรือเขาถามเรื่องขนุนสำปะลอกลับตอบเรื่อง
มะม่วง หม่อมฉันจึงคิดว่า คนระดับเราจะรุกรานสมณพราหมณ์ผู้อยู่ในราชอาณา-
เขตได้อย่างไรกัน หม่อมฉันจึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิคำกล่าวของครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร
ถึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิ แต่ก็ไม่พอใจ และไม่เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจออกมา เมื่อ
ไม่ยึดถือ ไม่ใส่ใจคำกล่าวนั้น ก็ได้ลุกจากที่นั่งจากไป
ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ได้ข้อที่ ๑
[๑๘๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอทูลถามพระองค์ว่า อาชีพที่อาศัย
ศิลปะมากมายเหล่านี้ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู พนักงานเชิญธง พนัก
งานจัดกระบวนทัพ พวกจัดส่งเสบียง ราชนิกุลผู้ทรงเป็นนายทหารระดับสูง พล
อาสา ขุนพล พลกล้า พลสวมเกราะ พวกทาสเรือนเบี้ย พวกทำขนม ช่างกัลบก
พนักงานเครื่องสรง พวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างหูก ช่างจักสาน ช่าง
หม้อ นักคำนวณ นักบัญชี หรืออาชีพที่อาศัยศิลปะอย่างอื่นทำนองนี้ คนเหล่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใช้กันมาก่อนพุทธกาล หมายถึง อัตตา (อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระ
พุทธเจ้า อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึง สัตตะ (ที.สี.อ. ๖๕/๑๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ได้ข้อที่ ๑
ได้รับผลจากอาชีพที่อาศัยศิลปะที่เห็นประจักษ์มาเลี้ยงชีพในปัจจุบัน จึงบำรุงตนเอง
บิดามารดา บุตรภรรยา มิตรสหายให้เป็นสุข บำเพ็ญทักษิณาในสมณพราหมณ์ซึ่ง
มีผลมากเป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดีมีสุขเป็นผลให้เกิดในสวรรค์ พระองค์จะทรง
บัญญัติผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นนั้นบ้างหรือไม่
พระพุทธเจ้าข้า”๑
[๑๘๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “บัญญัติได้ มหาบพิตร แต่ในเรื่องนี้
อาตมภาพขอย้อนถามพระองค์ก่อน โปรดตอบตามพอพระทัย พระองค์ทรงเข้า
พระทัยเรื่องนี้ว่าอย่างไร คือ สมมติว่าพระองค์มีบุรุษทาสกรรมกรผู้ตื่นก่อน นอน
ทีหลัง เฝ้ารับพระบัญชาตามรับสั่ง คอยประพฤติให้ถูกพระทัย ต้องเพ็ดทูลอย่าง
ไพเราะ คอยสังเกตพระพักตร์ เขาคิดว่า น่าอัศจรรย์ผลบุญนัก แท้จริง พระเจ้า
อชาตศัตรู เวเทหิบุตร พระองค์นี้ทรงเป็นมนุษย์ แม้เราก็เป็นมนุษย์ แต่พระองค์ทรง
เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ดุจเทพเจ้า ส่วนเราเป็นทาสกรรมกรของพระองค์
ต้องตื่นก่อน นอนทีหลัง เฝ้ารับพระบัญชาตามรับสั่ง คอยประพฤติให้ถูกพระทัย
ต้องเพ็ดทูลอย่างไพเราะ คอยสังเกตพระพักตร์ เราควรทำบุญไว้จะได้เป็นเหมือน
พระองค์ท่าน ทางที่ดีเราพึงโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไป
บวชเป็นบรรพชิต
ต่อมา เขาโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็น
บรรพชิต เมื่อบวชแล้วเป็นผู้สำรวมกาย วาจา ใจ อยู่สันโดษด้วยอาหารพอประทัง
ความหิวและผ้าพอคุ้มกาย ยินดียิ่งในความสงัด ถ้าราชบุรุษกราบทูลพฤติการณ์
ของเขาอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ พระองค์ทรงทราบเถิดว่า บุรุษผู้เคยเป็นทาสกรรมกร
ของพระองค์ที่ต้องตื่นก่อน นอนทีหลัง เฝ้ารับพระบัญชาตามรับสั่ง คอยประพฤติให้
ถูกพระทัย ต้องเพ็ดทูลอย่างไพเราะ คอยสังเกตพระพักตร์อยู่นั้น (บัดนี้) เขาโกนผม
และหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว
เป็นผู้สำรวมกาย วาจา ใจ อยู่สันโดษด้วยอาหารพอประทังความหิวและผ้าพอ

เชิงอรรถ :
๑ คำถามประเด็นนี้ คือ ชาวโลกครองชีวิตอยู่เพราะมีวิชาชีพ สมณคุณมีประโยชน์ที่มองเห็นได้ชัดเจนเหมือน
วิชาชีพต่าง ๆ บ้างหรือไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ได้ข้อที่ ๒
คุ้มกาย ยินดียิ่งในความสงัด’ พระองค์จะตรัสอย่างนี้เชียวหรือว่า เฮ้ย เจ้าคนนั้น
จงมาหาข้า จงเป็นทาสกรรมกรที่ต้องตื่นก่อน นอนทีหลัง คอยรับคำสั่ง คอย
ประพฤติให้ถูกใจ พูดอย่างไพเราะ คอยเฝ้าสังเกตดูหน้าตามเดิม”
[๑๘๔] พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร กราบทูลว่า “จะทำอย่างนั้นไม่ได้
พระพุทธเจ้าข้า ที่จริง หม่อมฉันเสียอีกควรจะไหว้ ลุกรับ เชื้อเชิญให้เขานั่ง บำรุง
ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (ยารักษาโรคและเครื่อง
ยา) และจัดการรักษา ปกป้อง คุ้มครองเขาอย่างชอบธรรม”
[๑๘๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยเรื่องนั้น
ว่าอย่างไร หากเมื่อเป็นอย่างนี้ ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์มีอยู่หรือไม่”
พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร กราบทูลว่า “เมื่อเป็นอย่างนี้ ผลแห่งความ
เป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ก็มีอยู่แน่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร นี้คือผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ได้ในปัจจุบันที่อาตมภาพบัญญัติถวายพระองค์เป็นข้อที่ ๑”
ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ได้ข้อที่ ๒
[๑๘๖] พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ทูลถามว่า “พระองค์จะทรงบัญญัติผล
แห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันเช่นนี้แม้อย่างอื่นได้อีกหรือไม่
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “บัญญัติได้ มหาบพิตร แต่ในเรื่องนี้อาตมภาพ
ขอย้อนถามพระองค์ก่อน โปรดตอบตามพอพระทัย พระองค์ทรงเข้าพระทัยเรื่องนี้
ว่าอย่างไร คือสมมติว่า พระองค์มีบุรุษเป็นชาวนา เป็นคหบดี ซึ่งต้องเสียภาษีบำรุง
รัฐ เขาคิดว่า น่าอัศจรรย์ผลบุญนัก แท้จริง พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร พระองค์
นี้ทรงเป็นมนุษย์ แม้เราก็เป็นมนุษย์ แต่พระองค์ทรงเอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ
๕ ดุจเทพเจ้า ส่วนเราเป็นชาวนา เป็นคหบดีที่ต้องเสียภาษีบำรุงรัฐของพระองค์
เราควรทำบุญไว้จะได้เป็นเหมือนพระองค์ท่าน ทางที่ดีเราพึงโกนผมและหนวดนุ่งห่ม
ผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ผลแห่งความเป็นสมณะที่ประณีตกว่าที่ผ่านมา
ต่อมา เขาละทิ้งกองโภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและ
หนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วเป็นผู้
สำรวมกาย วาจา ใจ อยู่สันโดษด้วยอาหารพอประทังความหิวและผ้าพอคุ้มกาย
ยินดียิ่งในความสงัด ถ้าราชบุรุษกราบทูลพฤติการณ์ของเขาอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ
พระองค์ทรงทราบเถิดว่า บุรุษผู้เคยเป็นชาวนา เป็นคหบดีที่เคยเสียภาษีบำรุงรัฐ
ของพระองค์นั้น (บัดนี้) เขาโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไป
บวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วเป็นผู้สำรวมกาย วาจา ใจ อยู่สันโดษด้วยอาหาร
พอประทังความหิวและผ้าพอคุ้มกาย ยินดียิ่งในความสงัด’ พระองค์จะตรัสอย่างนี้
เชียวหรือว่า เฮ้ย เจ้าคนนั้นจงมาหาข้า จงเป็นชาวนา เป็นคหบดีเสียภาษีบำรุงรัฐ
ตามเดิม”
[๑๘๗] พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร กราบทูลว่า “จะทำอย่างนั้นไม่ได้
พระพุทธเจ้าข้า ที่จริง หม่อมฉันเสียอีกควรจะไหว้ ลุกรับ เชื้อเชิญให้เขานั่ง บำรุง
ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (ยารักษาโรคและ
เครื่องยา) และจัดการรักษา ปกป้อง คุ้มครองเขาอย่างชอบธรรม”
[๑๘๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยเรื่องนั้น
ว่าอย่างไร หากเมื่อเป็นอย่างนี้ ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์มีอยู่หรือไม่”
พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร กราบทูลว่า “เมื่อเป็นอย่างนี้ ผลแห่งความเป็น
สมณะที่เห็นประจักษ์ก็มีอยู่แน่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร นี้คือผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ได้ในปัจจุบันที่อาตมภาพบัญญัติถวายพระองค์เป็นข้อที่ ๒”
ผลแห่งความเป็นสมณะที่ประณีตกว่าที่ผ่านมา
[๑๘๙] พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ทูลถามว่า “พระองค์จะทรงบัญญัติผล
แห่งความเป็นสมณะ ที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันแม้อย่างอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่า
ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์เหล่านี้ได้อีกหรือไม่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “บัญญัติได้ มหาบพิตร ขอพระองค์โปรดสดับ
โปรดตั้งพระทัยให้ดี อาตมภาพจักแสดงถวาย”
พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ผลแห่งความเป็นสมณะที่ประณีตกว่าที่ผ่านมา
[๑๙๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้
เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้
แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค ตถาคตรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ด้วย
ตนเองแล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น๑ มีความงามใน
ท่ามกลางและมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์๒ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
[๑๙๑] คหบดี บุตรคหบดี หรืออนุชน (คนผู้เกิดภายหลัง) ในตระกูลใด
ตระกูลหนึ่งได้สดับธรรมนั้นแล้วเกิดศรัทธาในตถาคต เมื่อมีศรัทธาย่อมตระหนักว่า
‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด๓ เป็นทางแห่งธุลี๔ การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง๕
การที่ผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ขัด ไม่
ใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดีเราควรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือน
ไปบวชเป็นบรรพชิต’
[๑๙๒] ต่อมา เขาละทิ้งกองโภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติน้อยใหญ่ โกน
ผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมมีความงามในเบื้องต้นหมายถึงศีล ธรรมมีความงามในท่ามกลางหมายถึงอริยมรรค และธรรมมี
ความงามในที่สุดหมายถึงพระนิพพาน (ที.สี.อ. ๑๙๐/๑๕๙)
๒ คำว่า พรหมจรรย์หมายถึงความประพฤติประเสริฐ มีนัย ๑๐ ประการ คือ ทาน (การให้) ไวยาวัจจะ
(การขวนขวายช่วยเหลือ) ปัญจสีละ (ศีลห้า) อัปปมัญญา (การประพฤติพรหมวิหารอย่างไม่มีขอบเขต)
เมถุนวิรัติ(การงดเว้นจากการเสพเมถุน)สทารสันโดษ(ความยินดีเฉพาะคู่ครองของตน)วิริยะ(ความ
เพียร)อุโปสถังคะ(องค์อุโบสถ)อริยมรรค(ทางอันประเสริฐ) และศาสนา(พระพุทธศาสนา)ในที่นี้หมาย
ถึงศาสนา (ที. สี.อ. ๑๙๐/๑๖๐-๑๖๒)
๓ การอยู่ครองเรือนชื่อว่าเป็นเรื่องอึดอัด เพราะไม่มีเวลาว่างเพื่อจะทำกุศลกรรม แม้เรือนจะมีเนื้อที่
กว้างขวางถึง ๖๐ ศอก มีบริเวณภายในบ้านตั้ง ๑๐๐ โยชน์ มีคนอยู่อาศัยเพียง ๒ คนคือสามีภรรยา ก็
ยังถือว่าอึดอัด เพราะมีความห่วงกังวลกันและกัน (ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓)
๔ ชื่อว่าเป็นทางแห่งธุลี เพราะเป็นที่เกิดและเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอันทำจิตให้เศร้าหมอง เช่นราคะเป็นต้น
(ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓)
๕ นักบวชแม้จะอยู่ในเรือนยอด ปราสาทแก้วและเทพวิมาน ซึ่งมีประตูหน้าต่างปิดมิดชิด ก็ยังถือว่าปลอดโปร่ง
เพราะนักบวชไม่มีความยึดติดในสิ่งใด ๆ เลย (ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] จูฬศีล
[๑๙๓] เมื่อบวชแล้วอย่างนี้ สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์ เพียบ
พร้อมด้วยมารยาทและโคจร(การเที่ยวไป) เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรมอันเป็นกุศล มี
อาชีวะบริสุทธิ์ สมบูรณ์ด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย๑ สมบูรณ์ด้วย
สติสัมปชัญญะ (และ) เป็นผู้สันโดษ
จูฬศีล
[๑๙๔] มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างไร คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและ
ศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อ
สรรพสัตว์อยู่
๒. ภิกษุละ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ รับ
เอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็น
คนสะอาดอยู่
๓. ภิกษุละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติพรหม-
จรรย์ เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้าน
๔. ภิกษุละ เว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความ
สัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
๕. ภิกษุละ เว้นขาดจากคำส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่
ไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่
มาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคน
ที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่
ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี

เชิงอรรถ :
๑ อินทรีย์ทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (ที.สี.อ. ๑๙๓/๑๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] จูฬศีล
๖. ภิกษุละ เว้นขาดจากคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะ
น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
๗. ภิกษุละ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง
พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่
อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลา
๘. ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม
๙. ภิกษุฉันมื้อเดียว ไม่ฉันตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลา
วิกาล
๑๐. ภิกษุเว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการ
ละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล
๑๑. ภิกษุเว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวง
ดอกไม้ของหอมและเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว
๑๒. ภิกษุเว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่
๑๓. ภิกษุเว้นขาดจากการรับทองและเงิน
๑๔. ภิกษุเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ
๑๕. ภิกษุเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
๑๖. ภิกษุเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
๑๗. ภิกษุเว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย
๑๘. ภิกษุเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
๑๙. ภิกษุเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
๒๐. ภิกษุเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
๒๑. ภิกษุเว้นขาดจากการรับเรือกสวนไร่นาและที่ดิน
๒๒. ภิกษุเว้นขาดจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร
๒๓. ภิกษุเว้นขาดจากการซื้อขาย
๒๔. ภิกษุเว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วย
เครื่องตวงวัด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] มัชฌิมศีล
๒๕. ภิกษุเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง
หรือ
๒๖. ภิกษุเว้นขาดจากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิง
วิ่งราว การปล้น และการขู่กรรโชก
ทั้งหมดนี้คือศีลของภิกษุ
จูฬศีล จบ

มัชฌิมศีล
[๑๙๕] ๑. ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เช่นที่สมณ-
พราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังพรากพืชคามและ
ภูตคามเหล่านี้ คือ พืชเกิดจากเหง้า เกิดจากลำต้น เกิดจากตา เกิดจากยอด เกิด
จากเมล็ด
[๑๙๖] ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการบริโภคของที่สะสมไว้ เช่นที่สมณพราหมณ์
ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังบริโภคของที่สะสมไว้เหล่านี้
คือ สะสมข้าว น้ำ ผ้า ยาน ที่นอน ของหอมและอามิส
[๑๙๗] ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศล เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังดูการ
ละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศลอย่างนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมดนตรี
การรำ การเล่านิทาน การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง การสร้าง
ฉากบ้านเมืองให้สวยงาม การละเล่นของคนจัณฑาล การเล่นกระดานหก การ
ละเล่นหน้าศพ การแข่งชนช้าง การแข่งม้า การแข่งชนกระบือ การแข่งชนโค การ
แข่งชนแพะ การแข่งชนแกะ การแข่งชนไก่ การแข่งชนนกกระทา การรำกระบี่
กระบอง การชกมวย มวยปล้ำ การรบ การตรวจพลสวนสนาม การจัดกระบวน
ทัพ การตรวจกองทัพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] มัชฌิมศีล
[๑๙๘] ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายในการเล่นการพนันอันเป็นเหตุ
แห่งความประมาท เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วย
ศรัทธาแล้วยังขวนขวายในการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่งความประมาทอย่างนี้ คือ
เล่นหมากรุกแถวละ ๘ ตา หรือ ๑๐ ตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่น
โยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสะกา เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถเล็ก ๆ เล่นหกคะเมน
เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถเล็ก ๆ เล่นธนูเล็ก ๆ เล่นเขียนทาย เล่นทายใจ
เล่นล้อเลียนคนพิการ
[๑๙๙] ๕. ภิกษุเว้นขาดจากที่นอนอันสูงใหญ่ เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ
บางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังใช้ที่นอนสูงใหญ่อย่างนี้ คือ เตียง
มีเท้าสูงเกินขนาด เตียงมีเท้าเป็นรูปสัตว์ร้าย พรมขนสัตว์ เครื่องลาดขนแกะลาย
วิจิตร เครื่องลาดขนแกะสีขาว เครื่องลาดมีลายรูปดอกไม้ เครื่องลาดยัดนุ่น เครื่อง
ลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายเช่นสีหะและเสือ เครื่องลาดขนแกะมีขน ๒ ด้าน
เครื่องลาดขนแกะมีขนด้านเดียว เครื่องลาดปักด้วยไหมประดับรัตนะ เครื่องลาดผ้า
ไหมประดับรัตนะ เครื่องลาดขนแกะขนาดใหญ่ที่นางฟ้อน ๑๖ คนร่ายรำได้ เครื่อง
ลาดบนหลังช้าง เครื่องลาดบนหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดทำด้วยหนังเสือ
เครื่องลาดหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอน ๒ ข้าง
[๒๐๐] ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายในการประดับตกแต่งร่างกาย
เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยัง
ขวนขวายในการประดับตกแต่งร่างกายอย่างนี้ คือ อบผิว นวด อาบน้ำหอม เพาะกาย
ส่องกระจก แต้มตา ทัดพวงดอกไม้ ประทินผิว ผัดหน้า ทาปาก ประดับข้อมือ
สวมเกี้ยว ใช้ไม้ถือ ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้พระขรรค์ ใช้ร่ม สวมรองเท้าวิจิตร ติด
กรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดและแส้ขนหางจามรี นุ่งห่มผ้าขาวชายยาว
[๒๐๑] ๗. ภิกษุเว้นขาดจากเดรัจฉานกถา เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบาง
พวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังพูดเดรัจฉานกถาอย่างนี้ คือ เรื่อง
พระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว
เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องพวงดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] มหาศีล
เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องเมืองหลวง เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคน
กล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก
เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม
[๒๐๒] ๘. ภิกษุเว้นขาดจากการพูดทุ่มเถียงแก่งแย่งกัน เช่นที่สมณพราหมณ์
ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังพูดทุ่มเถียงแก่งแย่งกันอย่าง
นี้ คือ ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ แต่ผมรู้ทั่วถึง ท่านจะรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร
ท่านปฏิบัติผิด แต่ผมปฏิบัติถูก คำพูดของผมมีประโยชน์ แต่คำพูดของท่านไม่มี
ประโยชน์ คำที่ควรพูดก่อน ท่านกลับพูดภายหลัง คำที่ควรพูดภายหลัง ท่านกลับ
พูดเสียก่อน เรื่องที่ท่านเคยชินได้ผันแปรไปแล้ว ผมจับผิดคำพูดของท่านได้แล้ว
ผมข่มท่านได้แล้ว ถ้าท่านมีความสามารถก็จงหาทางแก้คำพูดหรือเปลื้องตนให้พ้น
ผิดเถิด
[๒๐๓] ๙. ภิกษุเว้นขาดจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังทำ
หน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสารอย่างนี้ คือ รับเป็นสื่อให้พระราชา ราชมหาอำมาตย์
กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี และกุมารว่า ‘ท่านจงไปที่นี้หรือที่โน้น จงนำเอาสิ่งนี้ไป
จงเอาสิ่งนี้มาจากที่โน้น’ หรือ
[๒๐๔] ๑๐. ภิกษุเว้นขาดจากการพูดหลอกลวงและการพูดเลียบเคียง เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังพูดหลอก
ลวง เลียบเคียง หว่านล้อม พูดและเล็ม ใช้ลาภต่อลาภ
ทั้งหมดนี้คือศีลของภิกษุ
มัชฌิมศีล จบ

มหาศีล
[๒๐๕] ๑. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพผิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] มหาศีล
ทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ ทำนายอวัยวะ ทำนายตำหนิ ทำนายโชคลาง ทำนายฝัน
ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ พิธีเบิกแว่นเวียนเทียน พิธีซัด
แกลบบูชาไฟ พิธีซัดรำบูชาไฟ พิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ พิธีเติมเนยบูชาไฟ พิธีเติมน้ำ
มันบูชาไฟ พิธีพ่นเครื่องเซ่นบูชาไฟ พิธีพลีกรรมด้วยเลือด วิชาดูอวัยวะ วิชาดูพื้นที่
วิชาการปกครอง วิชาทำเสน่ห์ เวทมนตร์ไล่ผี วิชาตั้งศาลพระภูมิ วิชาหมองู วิชาว่า
ด้วยพิษ วิชาว่าด้วยแมงป่อง วิชาว่าด้วยหนู วิชาว่าด้วยเสียงนก วิชาว่าด้วยเสียงกา
วิชาทายอายุ วิชาป้องกันลูกศร วิชาว่าด้วยเสียงสัตว์ร้อง
[๒๐๖] ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพผิด
ทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ ทำนายลักษณะแก้วมณี ลักษณะผ้า ลักษณะ
ไม้พลอง ลักษณะศัสตรา ลักษณะดาบ ลักษณะศร ลักษณะธนู ลักษณะอาวุธ
ลักษณะสตรี ลักษณะบุรุษ ลักษณะเด็กชาย ลักษณะเด็กหญิง ลักษณะทาสชาย
ลักษณะทาสหญิง ลักษณะช้าง ลักษณะม้า ลักษณะกระบือ ลักษณะโคอุสภะ
ลักษณะโคสามัญ ลักษณะแพะ ลักษณะแกะ ลักษณะไก่ ลักษณะนกกระทา
ลักษณะเหี้ย ลักษณะตุ้มหู๑ ลักษณะเต่า ลักษณะมฤค
[๒๐๗] ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพผิด
ทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักเสด็จหรือไม่
เสด็จ พระราชาในอาณาจักรจักทรงยกทัพเข้าประชิด พระราชานอกอาณาจักรจัก
ทรงล่าถอย พระราชานอกอาณาจักรจักทรงยกทัพมาประชิด พระราชาในอาณาจักร
จักทรงล่าถอย ชัยชนะจักตกเป็นของพระราชาในอาณาจักร ความปราชัยจักมีแก่
พระราชานอกอาณาจักร ชัยชนะจักตกเป็นของพระราชานอกอาณาจักร ความ
ปราชัยจักมีแก่พระราชาในอาณาจักร พระราชาองค์นี้จักทรงชนะ พระราชาองค์นี้จัก
ทรงพ่ายแพ้

เชิงอรรถ :
๑ อีกนัยหนึ่ง หมายถึงยอดเรือน (ที.สี.อ. ๒๒/๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] มหาศีล
[๒๐๘] ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพ
ผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ พยากรณ์ว่าจักมีจันทรคราส สุริยคราส
นักษัตรคราส ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์จักโคจรถูกทางหรือผิดทาง ดาวนักษัตรจัก
โคจรถูกทางหรือผิดทาง จักมีอุกกาบาตและดาวตก แผ่นดินไหว ฟ้าร้อง ดวงจันทร์
ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรจักขึ้น ตก มัวหมอง แจ่มกระจ่าง จันทรคราส สุริยคราส
หรือนักษัตรคราสจักมีผลอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หรือดาวนักษัตรโคจรถูก
ทางจักมีผลอย่างนี้ โคจรผิดทางจักมีผลอย่างนี้ อุกกาบาตและดาวตก แผ่นดินไหว
ฟ้าร้องจักมีผลอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรขึ้น ตก มัวหมอง
แจ่มกระจ่างจักมีผลอย่างนี้
[๒๐๙] ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพผิด
ทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ พยากรณ์ว่าฝนจะดี ฝนจะแล้ง จะหาภิกษาหารได้
ง่าย จะหาภิกษาหารได้ยาก จะมีความสงบร่มเย็น จะมีภัย จะมีโรค จะไม่มีโรค การ
คำนวณด้วยการนับนิ้ว (มุททา) การคำนวณด้วยวิธีคิดในใจ (คณนา) การคำนวณ
ด้วยวิธีอนุมานด้วยสายตา (สังขาน) วิชาฉันทลักษณ์และโลกายตศาสตร์
[๒๑๐] ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพผิด
ทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ฤกษ์วิวาหมงคล ฤกษ์
เรียงหมอน ฤกษ์หย่าร้าง ฤกษ์รวบรวมทรัพย์ ฤกษ์ใช้จ่ายทรัพย์ ทำให้โชคดี ทำให้
เคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนตร์ทำให้ลิ้นแข็ง ทำให้คางแข็ง ทำให้มือสั่น
ทำให้คางสั่น ทำให้หูอื้อ เป็นหมอดูลูกแก้ว ใช้หญิงสาวเป็นคนทรง ใช้หญิงประจำ
เทวาลัยเป็นคนทรง บวงสรวงดวงอาทิตย์และท้าวมหาพรหม ร่ายมนตร์พ่นไฟ ทำ
พิธีเรียกขวัญ หรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] อินทรียสังวร
[๒๑๑] ๗. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพผิด
ทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ ทำพิธีบนบาน พิธีแก้บน ร่ายมนตร์ขับผี ตั้ง
ศาลพระภูมิ ทำกะเทยให้เป็นชาย ทำชายให้เป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน พิธี
บวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนตร์ รดน้ำมนตร์ พิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ยาถ่าย ยา
แก้โรคลมตีขึ้นเบื้องบน ยาแก้โรคลมตีลงเบื้องต่ำ ยาแก้ปวดศีรษะ น้ำมันหยอดหู
น้ำมันหยอดตา ยานัตถุ์ ยาหยอดตา ยาป้ายตา เป็นหมอตา หมอผ่าตัด หมอรักษา
เด็ก (กุมารเวช) การให้สมุนไพรและยา การใส่ยาแล้วล้างออกเมื่อโรคหาย
ทั้งหมดนี้คือศีลของภิกษุ
[๒๑๒] มหาบพิตร ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัย
อันตรายจากการสำรวมในศีลเลย เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกเป็นพระ
ราชา กำจัดข้าศึกได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยอันตรายจากข้าศึกเลย ภิกษุผู้สมบูรณ์
ด้วยอริยสีลขันธ์อย่างนี้ย่อมเสวยสุขอันไม่มีโทษในภายใน มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่า
สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล
มหาศีล จบ

อินทรียสังวร
[๒๑๓] มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย๑ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยตาแล้วไม่รวบถือ๒ ไม่แยกถือ๓ ย่อมปฏิบัติเพื่อ
สำรวมในจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคือ

เชิงอรรถ :
๑ อินทรีย์ทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (ที สี. อ. ๑๙๓/๑๖๔)
๒ คำว่า รวบถือ (นิมิตฺตคฺคาหี) คือมองภาพรวมโดยไม่พิจารณาลงไปในรายละเอียด เช่นมองว่า รูปนั้นสวย
รูปนี้ไม่สวย
๓ คำว่า แยกถือ (อนุพฺยญฺชนคฺคาหี) คือมองแยกพิจารณาเป็นส่วน ๆ ไป เช่น ตาสวย แต่จมูกไม่สวย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] การละนิวรณ์ ๕
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟัง
เสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะ
ด้วยกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อ
สำรวมในมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุ
ผู้ประกอบด้วยความสำรวมอินทรีย์อันเป็นอริยะนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนกับกิเลส
ในภายใน มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายเป็นอย่างนี้แล
สติสัมปชัญญะ
[๒๑๔] มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเป็นอย่างไร คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิบาตรและจีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว
การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การ
พูด การนิ่ง มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเป็นอย่างนี้แล
สันโดษ
[๒๑๕] มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าผู้สันโดษเป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกายและบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้
ทันทีเหมือนนกบินไป ณ ที่ใด ๆ ก็มีแต่ปีกเป็นภาระ มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่า
ผู้สันโดษเป็นอย่างนี้แล
การละนิวรณ์ ๕
[๒๑๖] ภิกษุนั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรียสังวร อริยสติ-
สัมปชัญญะและอริยสันโดษอย่างนี้แล้ว พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า
โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต
ภายหลังฉันอาหารเสร็จแล้ว นั่งขัดสมาธิตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] อุปมานิวรณ์ ๕
[๒๑๗] เธอละอภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา) ในโลก๑ มีใจปราศจาก
อภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือพยาบาท มีจิตไม่
พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือ
พยาบาท ละถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง
มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้ง
ซ่านและรำคาญใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก
อุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉา
ในกุศลธรรมอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา
อุปมานิวรณ์ ๕
[๒๑๘] เปรียบเหมือนคนกู้หนี้มาลงทุนจนประสบผลสำเร็จ ใช้หนี้เก่าที่
เป็นต้นทุนจนหมด เก็บกำไรที่เหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยา เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อน
เรากู้หนี้มาลงทุน การงานสำเร็จผลดี ได้ใช้หนี้เก่าที่ยืมมาลงทุนหมดแล้ว กำไรก็ยัง
มีเหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยา’ เพราะความไม่มีหนี้สินเป็นเหตุ เขาจึงได้รับ
ความเบิกบานใจและความสุขใจ
[๒๑๙] เปรียบเหมือนคนไข้อาการหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง ต่อมา
หายป่วย บริโภคอาหารได้ กลับมีกำลัง เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราป่วยอาการหนัก
บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง เวลานี้หายป่วย บริโภคอาหารได้ มีกำลังเป็นปกติ’
เพราะการหายจากโรคเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
[๒๒๐] เปรียบเหมือนคนต้องโทษถูกคุมขังในเรือนจำ ต่อมา พ้นโทษออก
จากเรือนจำโดยสวัสดิภาพ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราต้อง
โทษถูกคุมขังในเรือนจำ เวลานี้พ้นโทษออกจากเรือนจำโดยสวัสดิภาพ ไม่ต้องเสีย
ค่าใช้จ่ายใด ๆ’ เพราะการพ้นจากเรือนจำเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและ
ความสุขใจ

เชิงอรรถ :
๑ โลก ในที่นี้หมายถึง สภาพที่ต้องแตกสลาย กล่าวคือ อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่ ความยึดติดว่า รูป เวทนา
สัญญา สังขาร และวิญญาณ มีตัวตนและเป็นของตน อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ (ที.สี.อ. ๒๑๗/๑๙๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ปฐมฌาณ
[๒๒๑] เปรียบเหมือนคนที่ตกเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไป
ไหนตามใจชอบก็ไม่ได้ ต่อมา พ้นจากความเป็นทาส พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น
เป็นไทแก่ตัวเอง จะไปไหนก็ได้ตามใจชอบ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเอง
ไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไปไหนตามใจชอบก็ไม่ได้ เวลานี้พ้นจากความเป็นทาส พึ่ง
ตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัวเอง จะไปไหนก็ได้ตามใจชอบ’ เพราะความ
เป็นไทแก่ตัวเองเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
[๒๒๒] เปรียบเหมือนคนมีทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้
ยาก มีภัยเฉพาะหน้า ต่อมา ข้ามพ้นทางกันดาร ถึงหมู่บ้านอันสงบร่มเย็นปลอดภัย
โดยสวัสดิภาพ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเรามีทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหาร
ได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า เวลานี้ข้ามพ้นทางกันดารถึงหมู่บ้านอันสงบร่มเย็น
ปลอดภัยโดยสวัสดิภาพ’ เพราะการพบภูมิสถานอันร่มเย็นเป็นเหตุ เขาจึงได้รับ
ความเบิกบานใจและความสุขใจ
[๒๒๓] มหาบพิตร ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ที่ตนยังละไม่ได้ เหมือนหนี้
โรค เรือนจำ ความเป็นทาส และทางไกลกันดาร
[๒๒๔] มหาบพิตร ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ที่ตนละได้แล้ว เหมือนความ
ไม่มีหนี้ ความไม่มีโรค การพ้นโทษจากเรือนจำ ความเป็นไทแก่ตัวเอง และภูมิสถาน
อันสงบร่มเย็น
[๒๒๕] เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ที่ตนละได้แล้ว ย่อมเกิดความ
เบิกบานใจ เมื่อเบิกบานใจก็ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบ
ย่อมได้รับความสุข เมื่อมีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น
ปฐมฌาน
[๒๒๖] ภิกษุนั้นสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่
มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยปีติและ
สุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิด
จากวิเวกจะไม่ถูกต้อง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ตติยฌาน
[๒๒๗] เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนาน หรือลูกมือพนักงานสรงสนาน ผู้
ชำนาญ เทผงถูตัวลงในภาชนะสัมฤทธิ์แล้วเอาน้ำประพรมให้ติดเป็นก้อน พอตกเย็น
ก้อนถูตัวที่ยางซึมไปจับ ก็ติดกันหมด ไม่กระจายออก ฉันใด ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น
เอิบอิ่มด้วยปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกาย
ที่ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็น
สมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ข้อก่อน ๆ
ทุติยฌาน
[๒๒๘] ยังมีอีก มหาบพิตร เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุ
ทุติยฌานมีความผ่องใสในภายในมีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มี
แต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยปีติและสุขอัน
เกิดจากสมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจาก
สมาธิจะไม่ถูกต้อง
[๒๒๙] เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกเป็นวังวน ไม่มีทางที่กระแสน้ำจะไหลเข้าได้
ทั้งด้านตะวันออก ด้านใต้ ด้านตะวันตก และด้านเหนือ ฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล แต่
กระแสน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้วทำห้วงน้ำนั้นให้ชุ่มชื่นเอิบอาบเนืองนองไป
ด้วยน้ำเย็น ไม่มีส่วนไหนของห้วงน้ำนั้นที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุทำกายนี้
ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของ
ร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความ
เป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ข้อก่อน ๆ
ตติยฌาน
[๒๓๐] ยังมีอีก มหาบพิตร เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มี
สติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญ
ว่า ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยสุขอันไม่มีปีติ
รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มีปีติจะไม่ถูกต้อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๑.วัปัสสนาญาณ
[๒๓๑] เปรียบเหมือนในกอบัวเขียว (อุบล) กอบัวหลวง (ปทุม) หรือกอ
บัวขาว (บุณฑริก) ดอกบัวเขียว ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาวบางเหล่าที่เกิดเจริญ
เติบโตในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำ มีน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้นชุ่มชื่น
เอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำเย็นตั้งแต่ยอดถึงเหง้า ไม่มีส่วนไหนที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง
ฉันใด ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วน
ไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มีปีติจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็น
สมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ข้อก่อน ๆ
จตุตถฌาน
[๒๓๒] ยังมีอีก มหาบพิตร เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและ
โทมนัสดับไปก่อน ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะ
อุเบกขาอยู่ เธอมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่
ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง
[๒๓๓] เปรียบเหมือนคนนั่งใช้ผ้าขาวคลุมตัวตลอดศีรษะ ไม่มีส่วนไหนของ
ร่างกายที่ผ้าขาวจะไม่ปกคลุม ฉันใด ภิกษุมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้
ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผล
แห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะ
ที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ
วิชชา ๘ ประการ
๑. วิปัสสนาญาณ
[๒๓๔] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๑ ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสมีราคะเป็นต้น ท่านเรียกว่า กิเลสเพียงดังเนิน (อังคณะ) เพราะยังจิตให้ลาดต่ำ โน้มเอียงไปสู่ที่ต่ำ
เช่นต้องย้อนกลับไปสู่จตุตถฌานอีก เป็นต้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
วิชชา ๘ ประการ วิชชา ๘ ประการ ๒.มโนยิทธิญาณ
น้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ๑ รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘กายของเรานี้คุมกันเป็นรูปร่าง
ประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป ๔ เกิดจากบิดามารดา เจริญวัยเพราะข้าวสุกและขนมสด
ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบ ต้องนวดเฟ้น มีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา วิญญาณ
ของเราอาศัยและเนื่องอยู่ในกายนี้’
[๒๓๕] เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่
เจียระไนดีแล้ว สุกใสเป็นประกายได้สัดส่วน มีด้ายสีเขียว เหลือง แดง ขาวหรือ
สีนวลร้อยอยู่ข้างใน คนตาถึงหยิบแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณา รู้ว่า
‘แก้วไพฑูรย์อันงดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไนดีแล้ว สุกใสเป็น
ประกายได้สัดส่วน มีด้ายสีเขียว เหลือง แดง ขาวหรือสีนวลร้อยอยู่ข้างใน’ ฉันใด
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง
อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อญาณ-
ทัสสนะ รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘กายของเรานี้คุมกันเป็นรูปร่าง ประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป ๔
เกิดจากบิดามารดา เจริญวัยเพราะข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบ ต้องนวด
เฟ้น มีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา วิญญาณของเราอาศัยและเนื่องอยู่ในกาย
นี้’ ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและประณีต
กว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ
๒. มโนมยิทธิญาณ
[๒๓๖] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อเนรมิตกายที่เกิดแต่ใจ คือ เนรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปที่เกิดแต่ใจ
มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง
[๒๓๗] เปรียบเหมือนคนชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง เขาเห็นว่า ‘นี้คือหญ้าปล้อง
นี้คือไส้ หญ้าปล้องเป็นอย่างหนึ่ง ไส้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ไส้ถูกชักออกมาจาก

เชิงอรรถ :
๑ ความรู้และความเห็นตรงตามเป็นจริง อาจเรียกว่า มรรคญาณ ผลญาณ สัพพัญญุตญาณ ปัจจเวกขณญาณ
หรือวิปัสสนาญาณก็ได้ (ที.สี.อ. ๒๓๔/๑๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๓.อิทธิวิธญาณ
หญ้าปล้องนั่นเอง’ เปรียบเหมือนคนชักดาบออกจากฝัก เขาเห็นว่า ‘นี้คือดาบ นี้คือ
ฝัก ดาบเป็นอย่างหนึ่ง ฝักก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ดาบถูกชักออกมาจากฝักนั่นเอง’
หรือเปรียบเหมือนคนดึงงูออกจากคราบ เขาเห็นว่า ‘นี้คืองู นี้คือคราบ งูเป็นอย่าง
หนึ่ง คราบก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่งูถูกดึงออกจากคราบนั่นเอง’ ฉันใด เมื่อจิตเป็น
สมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน
เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อเนรมิตกายที่เกิด
แต่ใจ คือ เนรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปที่เกิดแต่ใจ มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่
บกพร่อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและ
ประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ
๓. อิทธิวิธญาณ
[๒๓๘] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธญาณ แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคน
ก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง
(และ)ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดินเหมือนไป
ในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไป
ในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้
[๒๓๙] เปรียบเหมือนช่างหม้อหรือลูกมือช่างหม้อผู้ชำนาญ เมื่อนวดดิน
เหนียวดีแล้ว พึงทำภาชนะที่ต้องการให้สำเร็จได้ เปรียบเหมือนช่างงาหรือลูกมือ
ช่างงาผู้ชำนาญเมื่อแต่งงาดีแล้ว พึงทำเครื่องงาชนิดที่ต้องการให้สำเร็จได้ เปรียบ
เหมือนช่างทองหรือลูกมือช่างทองผู้ชำนาญ เมื่อหลอมทองดีแล้ว พึงทำทองรูป
พรรณชนิดที่ต้องการให้สำเร็จได้ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่องไม่มีกิเลส
เพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่น
ไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธญาณ แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
วิชชา ๘ ประการ วิชชา ๘ ประการ ๕.เจโตปริยญาณ
แสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หาย
ไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง (และ)ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือ
ดำลงในแผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดิน
ก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์
ดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลก
ก็ได้ ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและประณีต
กว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ
๔. ทิพพโสตธาตุญาณ
[๒๔๐] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อทิพพโสตธาตุญาณได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์
ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
[๒๔๑] เปรียบเหมือนคนเดินทางไกล (มีประสบการณ์มาก) ได้ยินเสียงกลอง
เสียงตะโพน เสียงสังข์ เสียงบัณเฑาะว์ เสียงเปิงมาง ก็เข้าใจว่า นั่นเสียงกลอง เสียง
ตะโพน เสียงสังข์ เสียงบัณเฑาะว์ เสียงเปิงมาง ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์
ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน
ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อทิพพโสตธาตุญาณได้ยินเสียง ๒ ชนิด
คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและประณีตกว่า
ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ
๕. เจโตปริยญาณ
[๒๔๒] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิต
ไปเพื่อเจโตปริยญาณ กำหนดรู้จิตของสัตว์และคนอื่นด้วยจิตของตน คือ จิตมีราคะ
ก็รู้ว่ามีราคะ หรือปราศจากราคะก็รู้ว่าปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่ามีโทสะ หรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๖.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ปราศจากโทสะก็รู้ว่าปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่ามีโมหะ หรือปราศจากโมหะก็รู้
ว่าปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าหดหู่ หรือฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหัคคตะ
ก็รู้ว่าเป็นมหัคคตะ๑ หรือไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่าไม่เป็นมหัคคตะ จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้
ว่ามีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่า
เป็นสมาธิ หรือไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้น หรือไม่
หลุดพ้นก็รู้ว่าไม่หลุดพ้น
[๒๔๓] เปรียบเหมือนชายหนุ่มหญิงสาวที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงาหน้า
ของตนในกระจกใสสะอาดหรือในภาชนะน้ำใส หน้ามีไฝฝ้าก็รู้ว่ามีไฝฝ้า หรือไม่มี
ไฝฝ้าก็รู้ว่าไม่มีไฝฝ้า ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ กำหนดรู้จิตของสัตว์และคนอื่นด้วยจิตของตน
คือ จิตมีราคะก็รู้ว่ามีราคะ หรือปราศจากราคะก็รู้ว่าปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้
ว่ามีโทสะ หรือปราศจากโทสะก็รู้ว่าปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่ามีโมหะ หรือ
ปราศจากโมหะก็รู้ว่าปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าหดหู่ หรือฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน
จิตเป็นมหัคคตะก็รู้ว่าเป็นมหัคคตะ หรือไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่าไม่เป็นมหัคคตะ
จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่ามีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าเป็นสมาธิ หรือไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่า
หลุดพ้น หรือไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าไม่หลุดพ้น ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็น
สมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ข้อก่อน ๆ
๖. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
[๒๔๔] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า มหัคคตะ แปลว่า ถึงความเป็นใหญ่ มหัคคตจิต หมายถึงจิตที่ถึงฌานสมาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๗.ทิพยจักษุญาณ
๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง
๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง
๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมาก
บ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่า ‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น
มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไป
เกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวย
สุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เธอระลึกชาติก่อน
ได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
[๒๔๕] เปรียบเหมือนคนจากบ้านตนไปบ้านอื่นแล้วจากบ้านนั้นไปยังบ้านอื่นอีก
เขาจากบ้านนั้นกลับมายังบ้านเดิมของตน ระลึกได้อย่างนี้ว่า ‘เราได้จากบ้านตนไป
บ้านโน้น ในบ้านนั้นเราได้ยืน นั่ง พูด นิ่งเฉยอย่างนั้น ๆ เราได้จากแม้บ้านนั้นไปยัง
บ้านโน้น แม้ในบ้านนั้นเราก็ได้ยืน นั่ง พูด นิ่งเฉยอย่างนั้น ๆ แล้วกลับจากบ้านนั้น
มายังบ้านเดิมของตน’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ
๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า
‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุ
อย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มี
ตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึง
มาเกิดในภพนี้’ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมลักษณะทั่วไปและชีวประวัติ
อย่างนี้ ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและ
ประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ
๗. ทิพพจักขุญาณ
[๒๔๖] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๘๒ }

3 ความคิดเห็น :

  1. ไม่ระบุชื่อ16 ธันวาคม 2562 เวลา 15:08

    ขอสอบถามเป็นความรู้ครับ ว่า
    ".....๗ เทวดา ๗ มนุษย์ ๗ ปีศาจ ๗
    สระ ๗ ตาไม้ไผ่ ๗ ตาไม้ไผ่ ๗๐๐ เหวใหญ่ ๗ เหวน้อย ๗๐๐ มหาสุบิน..."
    ในหน้า ๕๕ เหตุใดจึงมี ๗ ตาไม้ไผ่ ซ้ำกันครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com

      เนื้อความบทนี้เริ่มด้วยชื่อตามด้วยจำนวนนะครับ แบ่งประโยคได้ดังนี้ครับ

      กำเนิดที่เป็นประธาน ๑,๔๐๖,๖๐๐
      กรรม ๕๐๐
      กรรม ๕
      กรรม ๓
      กรรม ๑
      กรรมกึ่ง (๓ - ตรงนี้คือเลขเชิงอรรถนะครับ)
      ปฏิปทา ๖๒
      อันตรกัป ๖๒
      อภิชาติ ๖
      ปุริสภูมิ (๔ - ตรงนี้คือเลขเชิงอรรถนะครับ) ๘
      อาชีวก ๔,๙๐๐
      ปริพาชก ๔,๙๐๐
      นาควาส ๔,๙๐๐
      อินทรีย์ ๒,๐๐๐
      นรก ๓๐๐
      รโชธาตุ (๕ - ตรงนี้คือเลขเชิงอรรถนะครับ) ๓๖
      สัญญีครรภ์ ๗
      อสัญญีครรภ์ ๗
      นิคัณฐีครรภ์ (๖ - ตรงนี้คือเลขเชิงอรรถนะครับ) ๗
      เทวดา ๗
      มนุษย์ ๗
      ปีศาจ ๗
      สระ ๗
      ตาไม้ไผ่ ๗
      ตาไม้ไผ่ ๗๐๐
      เหวใหญ่ ๗
      เหวน้อย ๗๐๐
      มหาสุบิน ๗
      สุบิน ๗๐๐
      มหากัป (๗ - ตรงนี้คือเลขเชิงอรรถนะครับ) ๘,๔๐๐,๐๐๐

      คือจะมี "ตาไม้ไผ่ ๗" กับ "ตาไม้ไผ่ ๗๐๐"
      ไม่ใช่ "๗ ตาไม้ไผ่" กับ "๗ ตาไม้ไผ่" นะครับ

      *** ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นคำสอนของครูมักขลิ โคศาล ซึ่งเป็นนักบวชลัทธิอื่น ไม่ใช่พุทธศาสนา คำสอนจึงไม่ตรงกับพุทธศาสนานะครับ อ่านแล้วจึงดูแปลกๆ เป็นธรรมดาครับ ***

      ธัมมโชติ

      ลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ13 มกราคม 2566 เวลา 18:42

    สาธุ ติดแอคแทค ครีบ

    ตอบลบ