Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๙-๔ หน้า ๑๒๔ - ๑๖๔

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๙-๔ สุตตันตปิฎกที่ ๐๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค



พระสุตตันตปิฎก
ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
พราหมณ์โสณทัณฑะประกาศตนเป็นอุบาสก
[๓๒๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จทรงวางพระหัตถ์แล้ว พราหมณ์
โสณทัณฑะจึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า แล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่
ท่านพระโคดม ถ้าข้าพระองค์อยู่ในท่ามกลางบริษัทจะลุกจากที่นั่งไปกราบท่านพระ
โคดม ก็จะถูกบริษัทดูหมิ่นเพราะเหตุนั้นได้ ผู้ถูกบริษัทดูหมิ่นจะเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศ
จะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศข้าพระองค์จึงมีโภคสมบัติ ถ้าข้าพระองค์อยู่ใน
ท่ามกลางบริษัทจะประนมมือ ขอท่านพระโคดมทรงทราบว่านั่นแทนการลุกจาก
ที่นั่ง(ไปต้อนรับ) ถ้าข้าพระองค์อยู่ในท่ามกลางบริษัทจะแก้ผ้าโพกศีรษะออก ขอ
ท่านพระโคดมทรงทราบว่านั่นแทนการกราบด้วยเศียรเกล้า ถ้าข้าพระองค์อยู่ใน
ยานพาหนะจะลงไปกราบท่านพระโคดม บริษัทก็จะดูหมิ่นเพราะเหตุนั้นได้ ผู้ถูก
บริษัทดูหมิ่นจะเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศจะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศข้าพระองค์จึงมี
โภคสมบัติ ถ้าข้าพระองค์อยู่ในยานพาหนะจะยกปฏักขึ้น ขอท่านพระโคดมทรง
ทราบว่านั่นแทนการลงจากยานพาหนะ(ไปต้อนรับ) ถ้าข้าพระองค์อยู่ในยานพาหนะ
จะลดร่มลง ขอท่านพระโคดมทรงทราบว่านั่นแทนการกราบด้วยเศียรเกล้า”
[๓๒๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงให้พราหมณ์โสณทัณฑะเห็น
ชัด ชักชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้
สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จจากไป
โสณทัณฑสูตรที่ ๔ จบ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
เรื่องพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต

๕. กูฏทันตสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อกูฏทันตะ

เรื่องพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต
[๓๒๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่
ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชาวมคธชื่อขาณุมัต ประทับอยู่ใน
สวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้หมู่บ้านขาณุมัต สมัยนั้น พราหมณ์กูฏทันตะปกครองหมู่บ้าน
ขาณุมัต ซึ่งมีประชากรและสัตว์เลี้ยงมากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดม
สมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ที่พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธพระราชทานปูนบำเหน็จ
ให้เป็นพรหมไทย (ส่วนพิเศษ)
ในเวลานั้น พราหมณ์กูฏทันตะกำลังเตรียมพิธีบูชามหายัญ โคเพศผู้ ลูกโค
เพศผู้ ลูกโคเพศเมีย แพะ และแกะอย่างละ ๗๐๐ ตัว ถูกนำเข้าไปผูกที่หลักเพื่อ
ฆ่าบูชายัญ
[๓๒๔] พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัตได้ฟังข่าวว่า “ท่านพระสมณ-
โคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นมคธ
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านขาณุมัตโดยลำดับ
ประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้หมู่บ้านขาณุมัต ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อัน
งามขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลกและหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เอง
แล้วทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามใน
ท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและ
พยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความ
ดีอย่างแท้จริง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
เรื่องพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต
[๓๒๕] ต่อมา พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต ออกจากหมู่บ้าน
ขาณุมัตเดินรวมกันเป็นหมู่ไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา
[๓๒๖] ขณะนั้น พราหมณ์กูฏทันตะพักผ่อนกลางวันอยู่ ณ ปราสาทชั้นบน
มองเห็นพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัตออกจากหมู่บ้านขาณุมัต เดินรวมกัน
เป็นหมู่ไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา จึงเรียกอำมาตย์ที่ปรึกษามาถามว่า “พ่ออำมาตย์
พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต ออกจากหมู่บ้านขาณุมัต เดินรวมกันเป็นหมู่
ไปยังสวนอัมพลัฏฐิกาทำไมกัน”
[๓๒๗] อำมาตย์ที่ปรึกษาตอบว่า “ท่านขอรับ พระสมณโคดมเป็นศากยบุตร
เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นมคธพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านขาณุมัตโดยลำดับ ประทับอยู่ในสวน
อัมพลัฏฐิกาใกล้หมู่บ้านขาณุมัต ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่าง
นี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระ
องค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถี
ฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็น
พระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ คนเหล่านั้นพากันไปเข้าเฝ้าท่านพระโคดมนั้น”
[๓๒๘] ลำดับนั้น พราหมณ์กูฏทันตะคิดว่า ‘เราได้ยินมาว่า พระสมณโคดม
ทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ ส่วนเราไม่รู้เลย แต่ปรารถนา
จะบูชามหายัญ ทางที่ดี เราควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมแล้วทูลถามยัญสมบัติ ๓
ประการ ซึ่งมีองค์ประกอบ ๑๖’
[๓๒๙] พราหมณ์กูฏทันตะจึงเรียกอำมาตย์ที่ปรึกษามาสั่งว่า “พ่ออำมาตย์
ถ้าอย่างนั้นท่านจงไปหาพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต ครั้นแล้วจงบอกอย่าง
นี้ว่า ท่านขอรับ พราหมณ์กูฏทันตะพูดว่า ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อน
พราหมณ์กูฏทันตะจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย”
อำมาตย์ที่ปรึกษารับคำของพราหมณ์กูฏทันตะแล้วเข้าไปหาพราหมณ์และ
คหบดีชาวบ้านขาณุมัต ครั้นแล้วก็บอกว่า “ท่านขอรับ พราหมณ์กูฏทันตะพูดว่า ขอ
ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อน พราหมณ์กูฏทันตะจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
ความเป็นผู้ดีของพราหมณ์กูฏทันตะ

ความเป็นผู้ดีของพราหมณ์กูฏทันตะ
[๓๓๐] เวลานั้น พราหมณ์หลายร้อยคนพักอยู่ในหมู่บ้านขาณุมัต เพราะตั้ง
ใจจะบริโภคมหายัญของพราหมณ์กูฏทันตะ พอได้ฟังว่า ‘พราหมณ์กูฏทันตะจักไป
เข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย’ จึงพากันไปหาพราหมณ์กูฏทันตะ
[๓๓๑] ครั้นเข้าไปหาแล้วถามว่า “ท่านกูฏทันตะจักไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม
จริงหรือ”
พราหมณ์กูฏทันตะตอบว่า “ใช่ เราคิดจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม”
พวกพราหมณ์ห้ามว่า “ท่านกูฏทันตะอย่าได้ไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม
เลย ท่านกูฏทันตะไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม ถ้าไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม
เกียรติยศของท่านกูฏทันตะจะเสื่อมเสีย เกียรติยศของพระสมณโคดมจะเจริญ
รุ่งเรืองยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ท่านกูฏทันตะจึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระ
สมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่านกูฏทันตะ เพราะว่า ท่านกูฏทันตะเป็นผู้มี
ชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ
ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ด้วยเหตุนี้ ท่านกูฏทันตะจึง
ไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่าน
กูฏทันตะ
อนึ่ง ท่านกูฏทันตะเป็นคนมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ฯลฯ เป็นผู้คงแก่
เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์
และประวัติศาสตร์ รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะ
มหาบุรุษ ฯลฯ เป็นผู้มีรูปงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหม
มีกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก ฯลฯ เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ
ประกอบด้วยศีลที่เจริญ ฯลฯ เป็นผู้มีวาจาไพเราะสุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำ
อ่อนหวานอย่างชาวเมือง นุ่มนวล เข้าใจง่าย ฯลฯ เป็นอาจารย์และปาจารย์ของหมู่
ชน สอนมนตร์แก่มาณพ ๓๐๐ คน เหล่ามาณพผู้ต้องการมนตร์จำนวนมากจาก
ทิศทางต่างชนบท พากันมาเรียนมนตร์ในสำนักของท่านกูฏทันตะ ฯลฯ ท่าน
กูฏทันตะเป็นคนแก่คนเฒ่าเป็นผู้ใหญ่ มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์กูฏทันตะแสดงพระพุทธคุณ
มาก ส่วนพระสมณโคดมเป็นคนหนุ่ม บวชแต่ยังหนุ่ม ฯลฯ ท่านกูฏทันตะเป็นผู้ที่
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธและพราหมณ์โปกขรสาติสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นอบน้อม ฯลฯ ท่านกูฏทันตะปกครองหมู่บ้านขาณุมัต ซึ่งมีประชากรและสัตว์
เลี้ยงมากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ที่
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย ด้วยเหตุนี้
ท่านกูฏทันตะจึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะ
เสด็จมาหาท่านกูฏทันตะ”
พราหมณ์กูฏทันตะแสดงพระพุทธคุณ
[๓๓๒] เมื่อพวกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ พราหมณ์กูฏทันตะได้กล่าวว่า “ท่าน
ทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นพวกท่านโปรดฟังเราบ้าง เรานี่แหละควรไปเข้าเฝ้าท่านพระ
โคดม ท่านพระโคดมไม่ควรเสด็จมาหาเรา ได้ทราบว่า พระสมณโคดมทรงเป็นผู้มี
พระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ทรงถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอด
เจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ด้วยเหตุนี้
ท่านพระโคดมไม่ควรเสด็จมาหาเรา เราต่างหากควรไปเข้าเฝ้าท่านพระโคดม
ท่านทั้งหลาย ข่าวว่า พระสมณโคดมทรงละพระประยูรญาติผนวชแล้ว ฯลฯ
ทรงสละทรัพย์สินเงินทองมากมายทั้งที่ฝังอยู่ในพื้นดินและในอากาศผนวชเแล้ว ฯลฯ
พระสมณโคดมกำลังหนุ่มแน่นมีพระเกศาดำสนิท ทรงพระเจริญอยู่ในปฐมวัยเสด็จ
ออกจากพระราชวังไปผนวชเป็นบรรพชิต ฯลฯ เมื่อพระชนกพระชนนีไม่ทรง
ปรารถนา(จะให้เสด็จออกผนวช) มีน้ำพระเนตรชุ่มพระพักตร์ทรงกันแสงอยู่ พระ
สมณโคดมทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุแล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกจากพระ
ราชวังไปผนวชเป็นบรรพชิต ฯลฯ พระสมณโคดมมีพระรูปงดงามน่าดูน่าเลื่อมใส มี
พระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหม มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็น
ยากนัก ฯลฯ พระสมณโคดมทรงมีอริยศีล มีศีลที่เป็นกุศล ประกอบด้วยศีลที่เป็น
กุศล ฯลฯ มีพระวาจาไพเราะสุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน อย่าง
ชาวเมือง นุ่มนวล เข้าใจง่าย ฯลฯ ทรงเป็นอาจารย์และปาจารย์ของหมู่ชนมากมาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์กูฏทันตะแสดงพระพุทธคุณ
ฯลฯ ทรงสิ้นกามราคะไม่ประดับตกแต่ง ฯลฯ ทรงเป็นกรรมวาที กิริยวาที ไม่ทรง
มุ่งร้ายต่อพราหมณ์ ฯลฯ ผนวชแล้วจากตระกูลสูงคือขัตติยตระกูลอันบริสุทธิ์ ฯลฯ
ผนวชแล้วจากตระกูลมั่งคั่งมีทรัพย์มากมีโภคะมาก ฯลฯ ประชาชนต่างบ้านต่าง
เมืองพากันมาทูลถามปัญหาพระสมณโคดม ฯลฯ ทวยเทพหลายพันองค์ถวายชีวิต
ถึงพระสมณโคดมเป็นที่พึ่ง ฯลฯ พระสมณโคดมทรงมีพระกิตติศัพท์อันงามขจรไป
อย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย
พระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถี
ฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็น
พระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค ฯลฯ พระสมณโคดมทรงประกอบด้วยลักษณะ
มหาบุรุษ ๓๒ ประการ ฯลฯ ทรงมีปกติตรัสเชื้อเชิญ ตรัสผูกมิตรไมตรีอ่อนหวาน
ไม่ทรงสยิ้วพระพักตร์ ทรงเบิกบาน มักตรัสทักทายก่อน ฯลฯ ทรงเป็นผู้ที่
บริษัท ๔๑ สักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ เทวดาและมนุษย์มาก
มายเลื่อมใสพระสมณโคดม ฯลฯ พวกอมนุษย์ย่อมไม่เบียดเบียนมนุษย์ในหมู่บ้าน
หรือนิคมที่พระสมณโคดมทรงพำนักอยู่ ฯลฯ พระสมณโคดมทรงเป็นหัวหน้า ทรง
เป็นคณาจารย์ ได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าเจ้าลัทธิอื่น ๆ ไม่ทรง
รุ่งเรืองพระยศเหมือนพวกสมณพราหมณ์ที่รุ่งเรืองยศ ที่แท้ทรงรุ่งเรืองพระยศ
เพราะทรงมีวิชชาและจรณะอันยอดเยี่ยม ฯลฯ พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ
พร้อมทั้งพระราชโอรส พระมเหสี ข้าราชบริพารและหมู่อำมาตย์ต่างมอบชีวิตถึง
พระสมณโคดมเป็นสรณะ ฯลฯ พระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมทั้งพระราชโอรส พระ
มเหสี ข้าราชบริพารและหมู่อำมาตย์ต่างมอบชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ ฯลฯ
พราหมณ์โปกขรสาติ พร้อมทั้งบุตร ภรรยา ข้าราชการ และหมู่อำมาตย์ต่างมอบ
ชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ พระสมณโคดมทรงเป็นผู้ที่พระเจ้าพิมพิสารจอม
ทัพมคธทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ ทรงเป็นผู้ที่พระเจ้า
ปเสนทิโกศลทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ ทรงเป็นผู้ที่
พราหมณ์โปกขรสาติสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ ในที่นี้หมายถึง ผู้เข้าเฝ้าโดยทั่วไป มีอยู่ ๔ จำพวก คือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัทและ
สมณบริษัท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
เรื่องยัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช
พระสมณโคดมเสด็จถึงหมู่บ้านขาณุมัตโดยลำดับ ประทับอยู่ที่สวนอัมพลัฏฐิกา
ใกล้หมู่บ้านขาณุมัต ท่านทั้งหลาย สมณพราหมณ์ที่มาสู่เขตหมู่บ้านของเราจัดว่า
เป็นแขกของเรา ซึ่งพวกเราควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา และนอบน้อม พระ
สมณโคดมเสด็จมาถึงหมู่บ้านขาณุมัตโดยลำดับ ประทับอยู่ที่สวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้
หมู่บ้านขาณุมัต พระสมณโคดมจึงจัดเป็นแขกของเราที่พวกเราควรสักการะ เคารพ
นับถือ บูชา และนอบน้อม ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ พระสมณโคดมจึงไม่ควรเสด็จมาหาเรา
เราต่างหากควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม เราทราบพระคุณของพระสมณโคดมเพียง
เท่านี้ แต่พระสมณโคดมไม่ใช่ว่าจะมีพระคุณเพียงเท่านี้ แท้จริงแล้ว พระสมณโคดม
มีพระคุณนับประมาณมิได้”
[๓๓๓] เมื่อพราหมณ์กูฏทันตะกล่าวอย่างนี้ พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวว่า
“ท่านกูฏทันตะกล่าวยกย่องพระสมณโคดมถึงเพียงนี้ ถึงหากท่านพระโคดมพระองค์
นั้นจะประทับอยู่ไกลจากที่นี่ตั้ง ๑๐๐ โยชน์ ก็สมควรอยู่ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาจะไปเข้า
เฝ้า แม้จะต้องขนเสบียงไปก็ควร”
พราหมณ์กูฏทันตะกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น พวกเราทั้งหมดจักไปเข้าเฝ้าพระ
สมณโคดมด้วยกัน”
เรื่องยัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช
[๓๓๔] ต่อมา พราหมณ์กูฏทันตะพร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่พากัน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่สวนอัมพลัฏฐิกา ได้สนทนากับพระผู้มีพระภาค ครั้น
สนทนาพอคุ้นเคยดีแล้วจึงนั่งลง ณ ที่สมควร ฝ่ายพราหมณ์และคหบดีชาวบ้าน
ขาณุมัต บางพวกกราบพระผู้มีพระภาค บางพวกสนทนา บางพวกไหว้ไปทางพระ
ผู้มีพระภาค บางพวกประกาศชื่อและตระกูล บางพวกนิ่งเฉย แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
[๓๓๕] พราหมณ์กูฏทันตะนั่งลงกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ยิน
มาว่า พระสมณโคดมทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีองค์ประกอบ ๑๖ ส่วน
ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่ปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอประทานวโรกาส ขอท่านพระโคดม
โปรดแสดงยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีองค์ประกอบ ๑๖ แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
เรื่องยัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช
[๓๓๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง จงตั้งใจ
ให้ดี เราจะแสดง” พราหมณ์กูฏทันตะทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “พราหมณ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้ามหาวิชิตราชทรง
เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง ต่อมา
ท้าวเธอประทับอยู่ตามลำพังทรงคิดคำนึงว่า ‘เราได้ถือครองโภคสมบัติที่เป็นของ
มนุษย์อย่างมากมาย ได้เอาชนะแล้วครอบครองดินแดนที่กว้างใหญ่ ทางที่ดีเราพึง
บูชามหายัญที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน’
[๓๓๗] ท้าวเธอจึงรับสั่งให้เรียกพราหมณ์ปุโรหิตมารับสั่งว่า ‘พราหมณ์ วันนี้
เราพักอยู่ตามลำพังเกิดความคิดคำนึงขึ้นว่า เราได้ถือครองโภคสมบัติที่เป็นของ
มนุษย์อย่างมากมาย ได้เอาชนะแล้วครอบครองดินแดนที่กว้างใหญ่ ทางที่ดี เราพึง
บูชามหายัญที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน พราหมณ์ เรา
ปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านผู้เจริญโปรดแนะนำวิธีบูชายัญที่จะอำนวย
ประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน’
[๓๓๘] เมื่อท้าวเธอรับสั่งอย่างนี้ พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า ‘บ้านเมือง
ของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนาม มีการเบียดเบียน โจรยังปล้นบ้าน ปล้นนิคม ปล้น
เมืองหลวง ดักจี้ในทางเปลี่ยว เมื่อบ้านเมืองยังมีเสี้ยนหนาม พระองค์จะโปรดให้
ฟื้นฟูพลีกรรมขึ้นก็จะชื่อว่าทรงกระทำสิ่งที่ไม่สมควร พระองค์มีพระราชดำริอย่าง
นี้ว่า ‘เราจักปราบปรามเสี้ยนหนามคือโจร ด้วยการประหาร จองจำ ปรับไหม
ตำหนิโทษ หรือเนรเทศ’ อย่างนี้ไม่ใช่การกำจัดเสี้ยนหนามคือโจรที่ถูกต้อง เพราะ
ว่า โจรที่เหลือจากที่กำจัดไปแล้วจักมาเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ในภายหลังได้
แต่การกำจัดเสี้ยนหนามคือโจรที่ถูกต้อง ต้องอาศัยวิธีการต่อไปนี้ คือ
๑. ขอให้พระองค์พระราชทานพันธุ์พืชและอาหารให้แก่พลเมืองผู้
ขะมักเขม้นในเกษตรกรรมและการเลี้ยงปศุสัตว์ในบ้านเมืองของ
พระองค์
๒. ขอให้พระองค์พระราชทานต้นทุนให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นใน
พาณิชยกรรมในบ้านเมืองของพระองค์
๓. ขอให้พระองค์พระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการที่
ขยันขันแข็งในบ้านเมืองของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
เรื่องยัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช
พลเมืองเหล่านั้นจักขวนขวายในหน้าที่การงานของตน ไม่พากันเบียดเบียน
บ้านเมืองของพระองค์ และจักมีกองพระราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองก็จะอยู่
ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชนจะชื่นชมยินดีต่อกัน มีความ
สุขกับครอบครัว๑ อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน’
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคำของพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว ได้พระราชทาน
พันธุ์พืชและอาหารแก่พลเมืองที่ขะมักเขม้นในเกษตรกรรมและการเลี้ยงปศุสัตว์
พระราชทานต้นทุนให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม พระราชทานอาหาร
และเงินเดือนแก่ข้าราชการที่ขยันขันแข็งในบ้านเมืองของพระองค์ พลเมืองเหล่านั้น
ขวนขวายในหน้าที่การงานของตน ไม่พากันเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ และ
ได้มีกองพระราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองอยู่ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการ
เบียดเบียน ประชาชนต่างชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัว อยู่อย่างไม่ต้อง
ปิดประตูบ้าน
ต่อมา ท้าวเธอรับสั่งให้พราหมณ์ปุโรหิตเข้าเฝ้าแล้วตรัสว่า ‘ท่านผู้เจริญ เรา
ได้กำจัดเสี้ยนหนามคือโจรจนหมดสิ้นด้วยวิธีการของท่าน และได้มีกองราชทรัพย์
อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองอยู่ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชน
ต่างชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัว อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน เรา
ปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านผู้เจริญโปรดแนะนำวิธีบูชายัญที่จะอำนวย
ประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน’
[๓๓๙] พราหมณ์ปุโรหิตจึงกราบทูลว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ขอพระองค์โปรดรับสั่งให้
เชิญเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์
โปรดรับสั่งให้เชิญอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราช-
อาณาเขตของพระองค์ โปรดรับสั่งให้เชิญพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ใน
ชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์ และโปรดรับสั่งให้เชิญคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ใน
นิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์มาปรึกษาว่า ท่านผู้เจริญ
ทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอพวกท่านผู้เจริญจงร่วมมือกับเราเพื่อ
อำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน’

เชิงอรรถ :
๑ ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก (อุเร ปุตฺเต นจฺเจนฺตา)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
คุณลักษณะของพระเจ้ามหาวิชิตราช ๘ อย่าง
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคำพราหมณ์ปุโรหิตแล้วรับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครองเมือง
ที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์ รับสั่งให้เชิญอำมาตย์
ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์ รับสั่งให้
เชิญพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์
และรับสั่งให้เชิญคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของ
พระองค์มาปรึกษาว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอพวก
ท่านผู้เจริญจงร่วมมือกับเราเพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน’ คนเหล่า
นั้นกราบทูลว่า ‘ขอพระองค์จงทรงบูชายัญเถิด ตอนนี้เป็นเวลาบูชายัญ’ บุคคล ๔
พวกนี้ที่เห็นชอบตามพระราชดำริ จัดเป็นองค์ประกอบของยัญนั้น
คุณลักษณะของพระเจ้ามหาวิชิตราช ๘ อย่าง
[๓๔๐] พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบด้วยคุณลักษณะ ๘ อย่าง คือ
๑. ทรงมีพระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ถือ
ปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้าน
ตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล
๒. ทรงมีพระรูปงดงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก
ดุจพรหม มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก
๓. ทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหาร
เต็มท้องพระคลัง
๔. ทรงมีกองทหารที่เข้มแข็ง ประกอบด้วยกองทัพ ๔ เหล่า๑ อยู่ใน
ระเบียบวินัย คอยรับพระบัญชา มีพระบรมเดชานุภาพดังจะ
เผาผลาญข้าศึกได้ด้วยพระราชอิสริยยศ
๕. ทรงมีพระราชศรัทธา ทรงเป็นทายก๒ ทรงเป็นทานบดี๓ มิได้ทรง
ปิดประตู๔ ทรงเป็นดุจโรงทานของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า
คนเดินทาง วณิพก และยาจก ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เนือง ๆ

เชิงอรรถ :
๑ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า
๒ ผู้ที่ไม่ใช่มีเพียงศรัทธาอย่างเดียว แต่เป็นผู้ที่สามารถบริจาคได้ด้วย (ที.สี.อ. ๓๔๐/๒๖๗)
๓ ผู้เป็นนายแห่งทาน ไม่ใช่เป็นทาสหรือเป็นสหายของทาน กล่าวคือ ตนเองใช้สอยตามมีตามเกิด แต่
บริจาคของดีของประณีตให้แก่คนอื่น (ที.สี.อ. ๓๔๐/๒๖๗)
๔ มิได้ปิดประตู (อนาวฏทฺวาโร) หมายถึง ไม่ทรงตระหนี่ แต่ยินดีต้อนรับคนอนาถาตลอดเวลา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร] ยัญพิธี ๓ ประการ
๖. ทรงรู้เรื่องราวที่ได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมานั้น ๆ ไว้มาก
๗. ทรงทราบความหมายแห่งภาษิตที่ได้ทรงศึกษานั้นว่า นี้คือจุดมุ่ง
หมายแห่งภาษิตนี้ ๆ
๘. ทรงเป็นบัณฑิตมีพระปรีชาสามารถดำริเรื่องราวในอดีต อนาคต
และปัจจุบันได้
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบด้วยคุณลักษณะ ๘ อย่างดังกล่าวนี้ ซึ่งถือ
เป็นองค์ประกอบแห่งยัญนั้นโดยแท้
คุณลักษณะของพราหมณ์ปุโรหิต ๔ อย่าง
[๓๔๑] พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณลักษณะ ๔ อย่าง คือ
๑. เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิ
บริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้
เพราะอ้างถึงชาติตระกูล
๒. เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์
เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เข้าใจตัวบทและ
ไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ๑
๓. เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ
๔. เป็นบัณฑิตมีปัญญาเฉียบแหลมลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดา
พราหมณ์ผู้รับการบูชา
พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณลักษณะ ๔ อย่างดังกล่าวนี้ ซึ่งถือเป็นองค์
ประกอบแห่งยัญนั้นโดยแท้
ยัญพิธี ๓ ประการ
[๓๔๒] ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิตแสดงยัญพิธี ๓ ประการถวายแด่พระเจ้า
มหาวิชิตราชก่อนจะทรงบูชายัญว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถ ๒ และ ๓ ในหน้า ๘๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลถวายคำแนะนำ ๑๐ อย่างก่อนจะทรงบูชายัญ
๑. เมื่อพระองค์ปรารถนาจะทรงบูชามหายัญก็ไม่ควรทำความเดือด
ร้อนพระทัยว่า กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเราจักสิ้นเปลือง
๒. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ก็ไม่ควรทำความเดือดร้อน
พระทัยว่า กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเรากำลังสิ้นเปลืองไป
๓. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญแล้วก็ไม่ควรทำความเดือดร้อนพระ
ทัยว่า กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเราได้สิ้นเปลืองไปแล้ว
พราหมณ์ปุโรหิตแสดงยัญพิธี ๓ ประการดังกล่าวนี้ถวายแด่พระเจ้ามหา-
วิชิตราชก่อนจะทรงบูชายัญ
พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลถวายคำแนะนำ ๑๐ อย่างก่อนจะทรงบูชายัญ
[๓๔๓] ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิตขจัดความเดือดร้อนพระทัยของพระเจ้า
มหาวิชิตราชเพราะผู้รับทานด้วยอาการ ๑๐ อย่างก่อนจะทรงบูชายัญ คือ
๑. ทั้งพวกที่ฆ่าสัตว์ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ จักพากันมา
สู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่ฆ่าสัตว์
จักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวก
ที่เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์เท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรง
อนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๒. ทั้งพวกที่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ทั้งพวกที่เว้นขาด
จากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้จักพากันมาสู่พิธี
บูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่ถือเอา
สิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้จักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระ
องค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของ
ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้เท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรง
อนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๓. ทั้งพวกที่ประพฤติผิดในกาม ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการ
ประพฤติผิดในกาม จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลถวายคำแนะนำ ๑๐ อย่างก่อนจะทรงบูชายัญ
บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่ประพฤติผิดในกามจักได้รับผล
กรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาด
จากการประพฤติผิดในกามเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค
ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๔. ทั้งพวกที่กล่าวคำเท็จ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำเท็จ
จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น
พวกที่กล่าวคำเท็จจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรง
เจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำเท็จเท่านั้นแล้ว
ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้
เลื่อมใสในภายในเถิด
๕. ทั้งพวกที่กล่าวคำส่อเสียด ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำ
ส่อเสียด จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒
พวกนั้น พวกที่กล่าวคำส่อเสียดจักได้รับผลกรรมของเขาเอง
ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำ
ส่อเสียดเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และ
ทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๖. ทั้งพวกที่กล่าวคำหยาบ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบ
จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น
พวกที่กล่าวคำหยาบจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์
ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบเท่านั้น
แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้
เลื่อมใสในภายในเถิด
๗. ทั้งพวกที่กล่าวคำเพ้อเจ้อ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำ
เพ้อเจ้อจักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒
พวกนั้น พวกที่กล่าวคำเพ้อเจ้อจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอ
พระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำเพ้อ
เจ้อเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรง
ทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง
๘. ทั้งพวกที่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ทั้งพวกที่ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น
พวกที่เพ่งเล็งอยากได้ของเขาจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอ
พระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
เท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระ
ทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๙. ทั้งพวกที่มีจิตพยาบาท ทั้งพวกที่ไม่มีจิตพยาบาท จักพากันมา
สู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่มีจิต
พยาบาทจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจง
เฉพาะพวกที่ไม่มีจิตพยาบาทเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค
ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๐. ทั้งพวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทั้งพวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จักพากันมาสู่
พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่เป็น
มิจฉาทิฏฐิจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจง
เฉพาะพวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค
ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
พราหมณ์ปุโรหิตขจัดความเดือดร้อนพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชเพราะ
ผู้รับทาน ด้วยอาการ ๑๐ อย่างนี้ก่อนจะทรงบูชายัญ
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง
[๓๔๔] ต่อมา พราหมณ์ปุโรหิตได้กราบทูลชี้แจงให้เห็นชัด ชักชวนให้อยาก
รับเอาไปปฏิบัติ เร้าพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชผู้จะทรงบูชามหายัญให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมพระทัยให้สดชื่นร่าเริงด้วยอาการ ๑๖ อย่าง คือ
๑. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครอง
เมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษา ทรงบูชามหายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง
เห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิ
พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครอง
เมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาแล้ว โปรดทรงทราบ
ตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา
และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๒. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญอำมาตย์
ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษา ทรงบูชา
มหายัญเห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มี
ใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญ
อำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาแล้ว
โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค
ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๓. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญพราหมณ์
มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษา ทรงบูชา
มหายัญเห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มี
ใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญ
พราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาแล้ว
โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค
ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๔. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญคหบดีผู้มั่งคั่ง
ที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษา ทรงบูชามหายัญเห็น
ปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิ
พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญคหบดีผู้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง
มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาแล้ว โปรดทรง
ทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรง
อนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๕. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงเป็นกษัตริย์
ผู้มีพระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ไม่ทรง
ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ เป็นผู้ที่จะถูก
คัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูลว่า ถึงกระนั้น ก็ยังทรง
บูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิ
พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้มีพระชาติกำเนิด
ดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ทรงถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดี
ตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้าง
ถึงชาติตระกูล โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรง
บูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใส
ในภายในเถิด
๖. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์มีพระรูปไม่งดงาม
ไม่น่าดู ไม่น่าเลื่อมใส พระฉวีวรรณไม่ผุดผ่องดุจพรหม ไม่มี
พระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นไม่ยากเลย ถึง
กระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะ
เหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์มี
พระรูปงดงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจ
พรหม มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก
โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค
ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง
๗. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงเป็นกษัตริย์
ผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้อง
พระคลัง ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น
อยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะ
พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มี
พืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง โปรดทรงทราบตามนี้เถิด
ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำ
พระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๘. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงมีกองทหาร
ที่เข้มแข็งประกอบด้วยกองทัพ ๔ เหล่า อยู่ในระเบียบวินัย
คอยรับพระบัญชา ไม่ทรงมีพระบรมเดชานุภาพดังว่าจะเผา
ผลาญข้าศึกได้ด้วยพระราชอิสริยยศ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยัง
ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใคร
ตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงมีกองทหารที่
เข้มแข็ง ประกอบด้วยกองทัพ ๔ เหล่า อยู่ในระเบียบวินัย คอย
รับพระบัญชา ทรงมีพระบรมเดชานุภาพดังว่าจะเผาผลาญ
ข้าศึกได้ด้วยพระราชอิสริยยศ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด
ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำ
พระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๙. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงมีพระราช
ศรัทธา ไม่ทรงเป็นทายก ไม่ทรงเป็นทานบดี ทรงปิดประตูไว้
ไม่ทรงเป็นดุจโรงทานของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง
วณิพก และยาจก ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง
เห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดย
ธรรม เพราะพระองค์ทรงมีพระราชศรัทธา ทรงเป็นทายก ทรง
เป็นทานบดี มิได้ทรงปิดประตู ทรงเป็นดุจโรงทานของ
สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจก ทรง
บำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เนือง ๆ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอ
พระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำ
พระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๐. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงรู้เรื่องราวที่
ถ่ายทอดสืบต่อกันมานั้น ๆ ไว้มาก ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยัง
ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิ
พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงรู้เรื่องราวที่ถ่ายทอด
สืบต่อกันมานั้น ๆ ไว้มากโปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระ
องค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัย
ให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๑. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงทราบความ
หมายแห่งภาษิตที่ได้ทรงศึกษานั้นว่า นี้คือจุดมุ่งหมายแห่งภาษิต
นี้ ๆ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่
แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะ
พระองค์ทรงทราบความหมายแห่งภาษิตที่ได้ทรงศึกษานั้นว่า นี้
คือจุดมุ่งหมายแห่งภาษิตนี้ ๆ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด
ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำ
พระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๒. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงเป็นบัณฑิต
ไม่ทรงเฉียบแหลม ไม่ทรงมีพระปรีชาสามารถ ไม่สามารถจะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง
ทรงดำริอรรถที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้ ถึงกระนั้น
พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็
ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็น
บัณฑิตเฉียบแหลม ทรงมีพระปรีชาสามารถ ทรงสามารถที่จะ
ดำริ อรรถที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้ โปรดทรงทราบ
ตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา
และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๓. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์
ไม่ใช่เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ไม่ใช่ผู้ถือ
ปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ เป็นผู้ที่จะถูกคัดค้าน
ตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรง
บูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิ
พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็น
ผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์
ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้าง
ถึงชาติตระกูล โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา
ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสใน
ภายในเถิด
๑๔. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์
ไม่ใช่ผู้คงแก่เรียน ไม่ทรงจำมนตร์ ไม่รู้จบไตรเพท พร้อมทั้ง
นิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์
ไม่ใช่ผู้รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ไม่ใช่ผู้ชำนาญโลกายตศาสตร์และ
ลักษณะมหาบุรุษ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็น
ปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม
เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง
รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษร-
ศาสตร์ และประวัติศาสตร์ รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญ
โลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด
ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำ
พระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๕. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์
ไม่ใช่ผู้มีศีล ไม่มีศีลที่เจริญ ไม่ประกอบด้วยศีลที่เจริญ ถึงกระนั้น
พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็
ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของ
พระองค์เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ โปรด
ทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรง
อนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๖. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์
ไม่ใช่บัณฑิตผู้เฉลียวฉลาดมีปัญญาลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ใน
บรรดาพราหมณ์ผู้รับการบูชา ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชา
มหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิ
พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้
เฉลียวฉลาด มีปัญญาลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์
ผู้รับการบูชา โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา
ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใส
ในภายในเถิด
พราหมณ์ปุโรหิตได้กราบทูลชี้แจงให้เห็นชัด ชักชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชผู้จะทรงบูชามหายัญให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมพระทัยให้สดชื่นร่าเริงด้วยอาการ ๑๖ อย่างเหล่านี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง
[๓๔๕] ในยัญนั้นไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิด ไม่
ต้องตัดต้นไม้มาทำหลักบูชายัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคาเพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น แม้
เหล่าชนที่เป็นทาส คนรับใช้ กรรมกรของพระเจ้ามหาวิชิตราชก็ไม่ถูกลงอาชญา ไม่
มีภัยคุกคาม ไม่ต้องร้องไห้ฟูมฟายทำบริกรรม แท้จริง คนที่ปรารถนาจะทำจึงได้
ทำ ที่ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ ทำแต่สิ่งที่ปรารถนาเท่านั้น สิ่งที่ไม่ปรารถนาไม่ต้อง
ทำ ยัญพิธีนั้นสำเร็จลงเพียงเพราะเนยใส น้ำมัน เนยข้น นมเปรี้ยว น้ำผึ้ง และ
น้ำอ้อยเท่านั้น
[๓๔๖] ต่อมา พวกเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท พวก
อำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท พวกพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ใน
นิคมและอยู่ในชนบท พวกคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท พากันนำ
ทรัพย์จำนวนมากเข้าไปเฝ้าพระเจ้ามหาวิชิตราช กราบทูลว่า ‘ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้นำทรัพย์จำนวนมากนี้มาเพื่อพระองค์ ขอพระองค์ทรง
รับไว้เถิด’
ท้าวเธอตรัสว่า ‘อย่าเลย ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราเองได้รวบรวมทรัพย์
สินจำนวนมากมาจากภาษีอากรอันชอบธรรม ทรัพย์ที่พวกท่านนำมาก็จงเป็น
ของพวกท่านเถิด และพวกท่านจงนำทรัพย์จากที่นี่ไปเพิ่มอีก’
คนเหล่านั้นเมื่อถูกปฏิเสธ จึงจากไปปรึกษาหารือกันว่า ‘การที่พวกเราจะ
รับทรัพย์สินเหล่านี้กลับคืนไปยังบ้านเมืองของตนอีกนั้นไม่เป็นการสมควรเลย พระ
เจ้ามหาวิชิตราชกำลังทรงบูชามหายัญ เอาเถอะพวกเรามาร่วมบูชายัญโดยเสด็จ
พระราชกุศลกันเถิด’
[๓๔๗] ต่อมา พวกเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทเริ่มบำเพ็ญ
ทานทางทิศตะวันออกแห่งหลุมยัญ พวกอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ใน
ชนบทเริ่มบำเพ็ญทานทางทิศใต้แห่งหลุมยัญ พวกพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคม
และอยู่ในชนบทเริ่มบำเพ็ญทานทางทิศตะวันตกแห่งหลุมยัญ พวกคหบดีผู้มั่งคั่งที่
อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทเริ่มบำเพ็ญทานทางทิศเหนือแห่งหลุมยัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง
แม้ในยัญของเจ้าผู้ครองเมืองเป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร
และสัตว์นานาชนิด ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำหลักบูชายัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคาเพื่อ
เบียดเบียนสัตว์อื่น แม้เหล่าชนที่เป็นทาส คนรับใช้ กรรมกรของเจ้าผู้ครองเมือง
เป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่ถูกลงอาชญา ไม่มีภัยคุกคาม ไม่ต้องร้องไห้ฟูมฟายทำบริกรรม
แท้จริง คนที่ปรารถนาจะทำจึงได้ทำ ที่ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ ทำแต่สิ่งที่ปรารถนา
เท่านั้น สิ่งที่ไม่ปรารถนาไม่ต้องทำ ยัญพิธีนั้นสำเร็จลงเพียงเพราะเนยใส น้ำมัน
เนยข้น นมเปรี้ยว น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเท่านั้น
บุคคล ๔ พวกเห็นชอบตามพระราชดำริ พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบ
ด้วยคุณลักษณะ ๘ อย่าง พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณสมบัติ ๔ อย่าง และ
ยัญพิธีอีก ๓ ประการ จึงรวมเรียกว่า ยัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖”
[๓๔๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พวกพราหมณ์ได้ส่งเสียงอื้ออึงว่า
“โอ ! ยัญ โอ ! ยัญสมบัติ” ส่วนพราหมณ์กูฏทันตะนั่งนิ่ง
ทันใดนั้น พวกพราหมณ์ได้ถามพราหมณ์กูฏทันตะว่า “เหตุใด ท่านกูฏทันตะ
จึงไม่ชื่นชมสุภาษิตของพระสมณโคดมว่าเป็นคำกล่าวถูกต้องเล่า”
พราหมณ์กูฏทันตะตอบว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะไม่ชื่นชมสุภาษิต
ของพระสมณโคดมว่าเป็นคำกล่าวถูกต้องก็หาไม่ แม้ผู้ไม่ชื่นชมสุภาษิตของพระ
สมณโคดมว่าเป็นคำกล่าวถูกต้อง ศีรษะของเขาจะแตก ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าก็ยังรู้สึก
อย่างนี้ว่า พระสมณโคดมไม่ได้ตรัสอย่างนี้ว่า เราได้สดับมาอย่างนี้ หรือว่า เรื่องนี้
ควรเป็นอย่างนี้ แต่พระองค์ตรัสว่า เหตุอย่างนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในกาลนั้น เรื่องเช่น
นี้ได้มีแล้วในกาลนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า พระสมณโคดมทรงเป็นพระเจ้ามหาวิชิตราช
ผู้เป็นเจ้าของแห่งยัญในครั้งโน้นเสียเอง หรือพระองค์ทรงเป็นพราหมณ์ปุโรหิต
ผู้อำนวยการบูชายัญนั้นแน่นอน” ทูลถามว่า “ท่านพระโคดมย่อมทรงทราบแจ้งชัด
หรือว่า ผู้บูชายัญหรือผู้อำนวยการบูชายัญเห็นปานนั้น หลังจากตายแล้วไปบังเกิด
ในสุคติโลกสวรรค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ เรารู้แจ้งชัดว่า ผู้บูชายัญหรือผู้
อำนวยการบูชายัญเห็นปานนั้น หลังจากตายแล้วไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ สมัย
นั้นเราได้(เกิด)เป็นพราหมณ์ปุโรหิตผู้อำนวยการบูชายัญนั้น”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร] ยัญที่สืบตระกูลกันมาคือนิตยทาน

ยัญที่สืบตระกูลกันมาคือนิตยทาน
[๓๔๙] พราหมณ์กูฏทันตะทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีก
หรือไม่ ที่ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่า
ยัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ นิตยทานที่ทำสืบกันมาถวายเจาะ
จงบรรพชิตผู้มีศีล นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มี
ผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม อะไรคือเหตุ อะไรคือปัจจัย ให้นิตยทานที่ทำ
สืบกันมาถวายเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีล ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่
มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ พระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุ
อรหัตตมรรคย่อมไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น เพราะในยัญนั้นยังปรากฏว่ามีการประหาร
ด้วยท่อนไม้บ้าง จับคอลากไปบ้าง ฉะนั้นพระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตตมรรค
จึงไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น ส่วนนิตยทานที่ทำสืบกันมาถวายเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีล
นั้น พระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตตมรรคจึงเข้าไปสู่ยัญเช่นนี้ได้ เพราะใน
ยัญนั้นไม่ปรากฏว่ามีการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง จับคอลากไปบ้าง ฉะนั้นพระ
อรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตตมรรคจึงเข้าไปสู่ยัญเช่นนี้ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้
นิตยทานที่ทำสืบกันมานั้น ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มี
ผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”
[๓๕๐] เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้
ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ
มีองค์ประกอบ ๑๖ และกว่านิตยทานที่ทำสืบกันมานี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
ยัญที่สืบตระกูลกันมาคือนิตยทาน
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ยัญของบุคคลผู้สร้างวิหารอุทิศพระสงฆ์ผู้มา
จากทิศทั้ง ๔ นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์
มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ และกว่านิตยทานที่ทำสืบกัน
มานี้”
[๓๕๑] เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้
ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ
มีองค์ประกอบ ๑๖ กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมาและกว่าวิหารทานนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ยัญของบุคคลผู้มีจิตเลื่อมใส ถึงพระพุทธเจ้า
พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการ
ตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ
๑๖ กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมา และกว่าวิหารทานนี้”
[๓๕๒] เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้ทุนทรัพย์
และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์
ประกอบ ๑๖ กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมา กว่าวิหารทาน และกว่าสรณคมน์นี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “การที่บุคคลผู้มีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท
ทั้งหลาย คือ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการถือเอา
สิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการประพฤติผิดในกาม เจตนา
เป็นเหตุเว้นจากการพูดเท็จ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและ
เมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียม
น้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการมี องค์ประกอบ ๑๖ กว่า
นิตยทานที่ทำสืบกันมา กว่าวิหารทาน และกว่าสรณคมน์นี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์กูฏทันตะประกาศตนเป็นอุบาสก
[๓๕๓] เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้ทุนทรัพย์
และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์
ประกอบ ๑๖ กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมา กว่าวิหารทาน กว่าสรณคมน์ และกว่า
สิกขาบทเหล่านี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตร
มาใส่ไว้ในที่นี้) ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่
นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญ
ที่กล่าวมาแล้วก่อน ๆ ฯลฯ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌาน
อยู่ นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่า
ยัญที่กล่าวมาแล้วก่อน ๆ ฯลฯ น้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ฯลฯ นี้เป็นยัญซึ่งใช้
ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญที่กล่าวมาแล้ว
ก่อน ๆ ฯลฯ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป๑’ นี้แลเป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการ
ตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญที่กล่าวมาแล้วก่อน ๆ พราหมณ์
ไม่มียัญสมบัติอื่น ๆ ที่จะดียิ่งกว่าหรือประณีตกว่ายัญสมบัตินี้อีกแล้ว”
พราหมณ์กูฏทันตะประกาศตนเป็นอุบาสก
[๓๕๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พราหมณ์กูฏทันตะได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม
ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่ม
แจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทาง

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๐-๒๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์กูฏทันตะบรรลุโสดาปัตติผล
แก่ผู้หลงทางหรือตามประทีบในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์
นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดม
จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต
ข้าพระองค์ได้ปล่อยโคเพศผู้ ลูกโคเพศผู้ ลูกโคเพศเมีย แพะ แกะ อย่างละ ๗๐๐
ตัว ได้ให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น ขอสัตว์เหล่านั้นจงได้กินหญ้าเขียวสด ได้ดื่มน้ำเย็น
กระแสลมอ่อน ๆ จงพัดถูกตัวสัตว์เหล่านั้นเถิด”
พราหมณ์กูฏทันตะบรรลุโสดาปัตติผล
[๓๕๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพีกถา คือ ทรงประกาศเรื่อง
ทาน เรื่องศีล เรื่องสวรรค์ เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม และ
อานิสงส์ในการออกบวชแก่พราหมณ์กูฏทันตะ เมื่อทรงทราบว่าพราหมณ์กูฏทันตะ
มีจิตควรบรรลุธรรม สงบ อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบานผ่องใส จึงทรงประกาศ
สามุกกังสิกเทศนา๑ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันไร้ธุลีคือกิเลส
ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่พราหมณ์กูฏทันตะบนที่นั่งนั่นเองว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมี
ความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนดับไปเป็นธรรมดา’ เปรียบเหมือนผ้า
ขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
[๓๕๖] ครั้นพราหมณ์กูฏทันตะเห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรม
หมดความสงสัย ไม่มีคำถามใด ๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีก ในหลัก
คำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ขอท่านพระโคดมพร้อมกับ
ภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
[๓๕๗] ทีนั้น พราหมณ์กูฏทันตะทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์
แล้ว จึงลุกจากที่นั่ง กราบพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป ครั้นล่วง
ราตรีนั้น เขาได้สั่งให้จัดของขบฉันอย่างประณีตไว้ในโรงพิธีบูชายัญของตน แล้ว
ให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”

เชิงอรรถ :
๑ พระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงยกขึ้นแสดงเอง โดยไม่มีผู้ทูลอาราธนาหรือทูลถาม (ที.สี.อ. ๒๙๘/๒๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์กูฏทันตะบรรลุโสดาปัตติผล
[๓๕๘] ตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จไปยังโรงพิธีบูชายัญของพราหมณ์กูฏทันตะพร้อมกับภิกษุสงฆ์แล้วประทับนั่ง
บนอาสนะที่ปูไว้
จากนั้น พราหมณ์กูฏทันตะได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานให้อิ่มหนำด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ
ทรงวางพระหัตถ์ พราหมณ์กูฏทันตะจึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พราหมณ์กูฏทันตะเห็นชัด ชักชวนให้อยากรับเอาไป
ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จจากไป
กูฏทันตสูตรที่ ๕ จบ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร] เรื่องพราหมณทูต

๖. มหาลิสูตร
ว่าด้วยเจ้าลิจฉวีชื่อมหาลิ

เรื่องพราหมณทูต
[๓๕๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตกรุง
เวสาลี เวลานั้น พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธจำนวนมากมีธุระพักอยู่ในกรุง
เวสาลี พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธเหล่านั้นได้ฟังข่าวว่า “ท่านพระสมณ-
โคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา
ในป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า
ฯลฯ๑ การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง”
[๓๖๐] ต่อมา พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธเหล่านั้น เข้าไปยัง
กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน สมัยนั้นท่านพระนาคิตะเป็นพระพุทธอุปัฏฐาก๒
พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธเหล่านั้น เข้าไปหาท่านพระนาคิตะแล้วเรียนถาม
ว่า “ท่านพระนาคิตะ เวลานี้ท่านพระโคดมนั้นประทับอยู่ที่ไหน พวกเราต้องการ
เข้าเฝ้าท่านพระโคดมนั้น”
ท่านพระนาคิตะตอบว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลานี้ไม่ใช่เวลาเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาค เพราะพระผู้มีพระภาคประทับหลีกเร้นอยู่”
พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธเหล่านั้นจึงนั่ง(รอ) ณ ที่สมควรที่พระวิหาร
นั้นเองด้วยหวังว่า ‘พวกเราได้เข้าเฝ้าท่านพระโคดมก่อนจึงจะไป’

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในอัมพัฏฐสูตร ข้อ ๒๕๕
๒ ครั้งปฐมโพธิกาลไม่มีพระพุทธอุปัฏฐากประจำ ฉะนั้น บางคราวท่านพระนาคสมาละทำหน้าที่ บางคราว
ท่านพระนาคิตะทำหน้าที่ บางคราวท่านพระอุปวาณะทำหน้าที่ บางคราวท่านพระสุนักขัตตะทำหน้าที่
บางคราว สามเณรจุนทะทำหน้าที่ บางคราวท่านพระสาคตะทำหน้าที่ บางคราวท่านพระเมฆิยะทำ
หน้าที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร] เรื่องเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวี

เรื่องเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวี
[๓๖๑] ฝ่ายเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีผู้เป็นบริวารหมู่ใหญ่เสด็จ
เข้าไปหาท่านพระนาคิตะที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน ทรงกราบท่านพระนาคิตะ
แล้วประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร ทรงถามว่า “ท่านพระนาคิตะ เวลานี้พระผู้มี
พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน โยมต้องการเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”
ท่านพระนาคิตะตอบว่า “ถวายพระพร มหาลิ เวลานี้ไม่ใช่เวลาเข้าเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาค เพราะพระผู้มีพระภาคประทับหลีกเร้นอยู่”
เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีจึงประทับนั่ง(รอ) ณ ที่สมควรที่พระวิหารนั้นเองด้วยหวังว่า
‘เราได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนจึงจะไป’
[๓๖๒] ต่อมา สามเณรสีหะ๑ เข้าไปหาท่านพระนาคิตะ กราบท่านพระ
นาคิตะแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควรเรียนถามว่า “ข้าแต่ท่านพระกัสสปะผู้เจริญ พวก
พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธจำนวนมากเข้ามาที่นี่เพื่อจะขอเข้าเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาค แม้เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีผู้เป็นบริวารหมู่ใหญ่ก็เสด็จมา
ที่นี่เพื่อจะขอเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอโอกาสเถิด ขอรับ ขอให้หมู่ชนนั้นได้เข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคบ้าง”
ท่านพระนาคิตะตอบว่า “สีหะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ”
สามเณรสีหะรับคำของท่านพระนาคิตะแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
กราบพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธจำนวนมากเข้ามาที่นี่เพื่อจะขอเข้าเฝ้าพระผู้มี
พระภาค แม้เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีผู้เป็นบริวารหมู่ใหญ่ก็เสด็จมา
ที่นี่เพื่อจะขอเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอ
ให้หมู่ชนนั้นได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเถิด”

เชิงอรรถ :
๑ สามเณรสีหะเป็นหลานชายของท่านพระนาคิตะ (ที.สี.อ. ๓๖๒/๒๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร]
สมาธิที่ภิกษุเจริญ(บำเพ็ญ)เฉพาะส่วน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สีหะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงปูอาสนะไว้ในร่มเงาวิหาร”
สามเณรสีหะทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้วไปจัดอาสนะใน
ร่มเงาพระวิหาร
[๓๖๓] ต่อมา พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากพระวิหาร ไปประทับนั่งบน
อาสนะที่สามเณรสีหะจัดไว้ในร่มเงาพระวิหาร ลำดับนั้น พราหมณทูตชาวโกศลและ
ชาวมคธเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้สนทนากับพระผู้มีพระภาคพอ
คุ้นเคยดีแล้วจึงนั่งลง ณ ที่สมควร
[๓๖๔] ฝ่ายเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีผู้เป็นบริวารหมู่ใหญ่
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทรงกราบพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่งอยู่ ณ ที่สมควร
กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหลายวันมาแล้ว เจ้าสุนักขัตตะลิจฉวีบุตร
เข้าไปพบข้าพระองค์แล้วบอกว่า ‘มหาลิ ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าอยู่ใกล้ชิดพระผู้มี
พระภาคไม่นานเพียง ๓ ปี ได้เห็นรูปทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
แต่ไม่ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
เสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดที่เจ้าสุนักขัตตะลิจฉวีบุตรไม่ได้
ยินนั้นมีจริงหรือไม่มีจริง”
สมาธิที่ภิกษุเจริญเฉพาะส่วน
[๓๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาลิ เสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้
ใคร่ พาใจให้กำหนัดที่เจ้าสุนักขัตตะลิจฉวีบุตรไม่ได้ยินนั้นมีอยู่จริง ไม่ใช่ไม่มี”
เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรที่เป็นเหตุเป็นปัจจัย
ทำให้เจ้าสุนักขัตตะลิจฉวีบุตรไม่ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้
กำหนัด ซึ่งมีอยู่จริง ไม่ใช่ไม่มีนั้น”
[๓๖๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสมาธิ
เฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศตะวันออก
แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
เมื่อเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์ ... ในทิศตะวันออก แต่ไม่เจริญสมาธิ
เพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์ ... เธอจึงเห็นแต่รูปทิพย์ ... ในทิศตะวันออก แต่ไม่ได้ยินเสียงทิพย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร]
สมาธิที่ภิกษุเจริญ(บำเพ็ญ) ๒ ส่วน
... ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์อันชวน
ให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศตะวันออก แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้
ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
[๓๖๗] ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์อันชวน
ให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศใต้ ฯลฯ ในทิศตะวันตก ฯลฯ ในทิศเหนือ ฯลฯ
ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อัน
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด เมื่อเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์ ...
ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์ ...
เธอจึงเห็นแต่รูปทิพย์ ... ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่ได้ยินเสียง
ทิพย์ ... ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์อันชวน
ให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่
เจริญสมาธิเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
[๓๖๘] มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อให้ได้ยินเสียง
ทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้เห็นรูป
ทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด เมื่อเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อให้ได้
ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศตะวันออก แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์ ... เธอจึง
ได้ยินแต่เสียงทิพย์ ... ในทิศตะวันออก แต่ไม่ได้เห็นรูปทิพย์ ... ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พา
ใจให้กำหนัดในทิศตะวันออก แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อเห็นรูปทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้
ใคร่ พาใจให้กำหนัด
[๓๖๙] ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อให้ได้
ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศใต้ ฯลฯ ในทิศตะวันตก
ฯลฯ ในทิศเหนือ ฯลฯ ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เจริญสมาธิ
เพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด เมื่อเจริญสมาธิ
เฉพาะส่วนเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่
เจริญสมาธิเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์ ... เธอจึงได้ยินแต่เสียงทิพย์ ... ในทิศเบื้องบน ทิศ
เบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เห็นรูปทิพย์ ... ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร]
สมาธิที่ภิกษุเจริญ(บำเพ็ญ) ๒ ส่วน
เฉพาะส่วนเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศ
เบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์อันชวน
ให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
[๓๗๐] มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้เห็นรูป
ทิพย์และให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ในทิศตะวันออก
เมื่อเจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์และให้ได้ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศ
ตะวันออก เธอจึงได้เห็นรูปทิพย์และได้ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศตะวันออก ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์และให้ได้
ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศตะวันออก
[๓๗๑] ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้
เห็นรูปทิพย์และให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ในทิศใต้
ฯลฯ ในทิศตะวันตก ฯลฯ ในทิศเหนือ ฯลฯ ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง
เมื่อเจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้เห็นทั้งรูปทิพย์และได้ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศ
เบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง เธอจึงได้เห็นรูปทิพย์และได้ยินเสียงทิพย์ ... ใน
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิทั้ง ๒
ส่วนเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์และให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้
กำหนัด ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง
มหาลิ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สุนักขัตตะลิจฉวีบุตรไม่ได้ยินเสียงทิพย์อัน
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ซึ่งมีอยู่จริง ไม่ใช่ไม่มีนั้น”
[๓๗๒] เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประพฤติ
พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค๑ คงจะมุ่งบรรลุสมาธิภาวนาทั้งสองนั้นเป็นแน่”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาลิ ไม่ใช่ภิกษุจะประพฤติพรหมจรรย์ในเราเพียง
เพื่อบรรลุสมาธิภาวนาทั้งสองนี้เท่านั้น แท้จริง ยังมีธรรมอื่นที่ดีกว่าและประณีต
กว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ”

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค หมายถึง การบวชประพฤติธรรมในศาสนาของ
พระผู้มีพระภาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร] อริยมรรคมีองค์ ๘

อริยผล ๔
[๓๗๓] เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมที่ดีกว่า
และประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคมุ่งจะบรรลุนั้นคือ
อะไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นโสดาบัน เพราะ
ละสังโยชน์๑ได้ ๓ อย่าง ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๒ ในวันข้าง
หน้า ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ
ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุเป็นสกทาคามี เพราะละสังโยชน์ได้ ๓ อย่าง บรรเทา
ราคะโทสะและโมหะให้เบาบางได้ มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์
ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ
ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุไปบังเกิดเป็นโอปปาติกะ๓ เพราะละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ ๕
อย่าง ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก ธรรมนี้แลดีกว่าและ
ประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ
ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุทำให้แจ้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ธรรมนี้แลดีกว่าและ
ประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ
มหาลิ ธรรมเหล่านี้แลทั้งดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ใน
เรามุ่งจะบรรลุ”
อริยมรรคมีองค์ ๘
[๓๗๔] เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีทาง มีข้อ
ปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมเหล่านั้นอยู่หรือ”

เชิงอรรถ :
๑ สังโยชน์หมายถึง กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์ มี ๑๐ อย่างคือ สักกายทิฏฐิ , วิจิกิจฉา,
สีลัพพตปรามาส,กามฉันทะหรือกามราคะ, พยาบาทหรือปฏิฆะ, รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, อุทธัจจะ,
อวิชชา [องฺ.ทสก. ๒๔/๑๓/๑๔]
๒ สัมโพธิ ในที่นี้หมายเอา มรรค ๓ เบื้องสูง (สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) [ที.สี.อ.
๓๗๓/๒๘๑]
๓ เป็นโอปปาติกะ ในที่นี้หมายถึงไปเกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร] เรื่องนักบวช ๒ รูป
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาลิ มีทาง มีข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม
เหล่านั้นอยู่”
[๓๗๕] เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทางเป็นอย่างไร
ข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมเหล่านั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐเหล่านี้คือ สัมมา
ทิฏฐิ(เห็นชอบ), สัมมาสังกัปปะ(ดำริชอบ), สัมมาวาจา(เจรจาชอบ), สัมมา
กัมมันตะ(กระทำชอบ), สัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพชอบ), สัมมาวายามะ(พยายามชอบ),
สัมมาสติ(ระลึกชอบ) และสัมมาสมาธิ(ตั้งจิตมั่นชอบ) นี้แลคือทาง นี้คือข้อปฏิบัติ
เพื่อบรรลุธรรมเหล่านั้น
เรื่องนักบวช ๒ รูป
[๓๗๖] มหาลิ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี มีนักบวช ๒
รูป คือ มัณฑิยปริพาชกและชาลิยปริพาชก ซึ่งเป็นศิษย์ของพวกทารุปัตติกะ
(นักบวชผู้นิยมใช้บาตรไม้)เข้าไปหาเรา สนทนากับเราพอคุ้นเคยดีแล้วยืนอยู่ ณ ที่
สมควร ถามเราว่า ‘ท่านพระโคดม ชีวะ๑ กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะ
กับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
[๓๗๗] เราตอบว่า ‘ผู้มีอายุ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจะบอก’
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นรับคำของเราแล้ว เราจึงกล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ ตถาคตอุบัติขึ้นมา
ในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ๒ (พึงนำข้อความเต็มใน
สามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ในที่นี้) ผู้มีอายุ ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล
ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ ผู้มีอายุ ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะ
กล่าวว่า ‘ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นตอบว่า ‘ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ยังควรที่จะกล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’

เชิงอรรถ :
๑ ชีวะ ในที่นี้หมายถึง วิญญาณอมตะหรือ อาตมัน (Soul) [อภิ.ป�จ.อ.๑/๑/๑๒๙]
๒ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๔-๒๑๒ และควรดูเทียบต่อไปจนถึงข้อ ๒๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร] เรื่องนักบวช ๒ รูป
เรากล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็น
อย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน
ฯลฯ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌานอยู่ ผู้มีอายุ
ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือ
ว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นตอบว่า ‘ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ยังควรที่จะกล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
เรากล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็น
อย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน
ฯลฯ น้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ผู้มีอายุ ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือ
ที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นตอบว่า ‘ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ไม่ควรที่จะกล่าวว่า ชีวะกับ
สรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’๑
เรากล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็น
อย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน
ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ผู้มีอายุ ภิกษุผู้รู้
ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะ
กับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นตอบว่า ‘ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ไม่ควรที่จะกล่าวว่า ชีวะกับ
สรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
เรากล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ จึงไม่กล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่าง
เดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’ดังนี้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีมีใจยินดีชื่นชมภาษิตของ
พระผู้มีพระภาคแล้วแล
มหาลิสูตรที่ ๖ จบ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๗. ชาลิยสูตร] เรื่องนักบวช ๒ รูป

๗. ชาลิยสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อชาลิยะ

เรื่องนักบวช ๒ รูป
[๓๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี มี
นักบวช ๒ รูป คือ มัณฑิยปริพาชกและชาลิยปริพาชก ซึ่งเป็นศิษย์ของพวก
ทารุปัตติกะ(นักบวชผู้นิยมใช้บาตรไม้) เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค สนทนากับพระ
ผู้มีพระภาคพอคุ้นเคยแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ท่าน
พระโคดม ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
[๓๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ผู้มีอายุ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงตั้งใจ
ให้ดี เราจะบอก”
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้มีอายุ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ๑ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ใน
ที่นี้) ผู้มีอายุ ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล
ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ ผู้มีอายุ ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะกล่าว
ว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นทูลตอบว่า “ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ยังควรที่จะกล่าวว่า
ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๔-๒๑๒ อนึ่ง ชาลิยสูตรนี้มีเนื้อความเกี่ยวเนื่องกับมหาลิ
สูตรตอนปลาย (ข้อ ๓๗๖-๓๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๗. ชาลิยสูตร] เรื่องนักบวช ๒ รูป
ฯลฯ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌานอยู่ ผู้มีอายุ
ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือ
ว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นทูลตอบว่า “ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ยังควรที่จะกล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน
ฯลฯ น้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ผู้มีอายุ ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละ
หรือที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละ
อย่างกัน”
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นทูลตอบว่า “ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ยังควรที่จะกล่าวว่า
ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
[๓๘๐] ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ผู้มีอายุ
ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือ
ว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นทูลตอบว่า “ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ไม่ควรที่จะกล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ จึงไม่กล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้น มีใจยินดีต่างชื่นชม
ภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล
ชาลิยสูตรที่ ๗ จบ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร] เรื่องอเจลกัสสปะ

๘. มหาสีหนาทสูตร
ว่าด้วยการบันลืออย่างองอาจดังพญาราชสีห์

เรื่องอเจลกัสสปะ
[๓๘๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กัณณกถล มฤคทายวัน เขตเมือง
อุชุญญา ครั้งนั้น อเจลกัสสปะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค สนทนากับพระองค์พอคุ้น
เคยแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ได้ยินมาว่า
‘พระสมณโคดมทรงตำหนิตบะทุกชนิด ทรงคัดค้านและชี้โทษผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวงว่า
เป็นผู้มีอาชีวะเศร้าหมองโดยส่วนเดียว’ สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระ
สมณโคดมทรงตำหนิตบะทุกชนิด ทรงคัดค้านและชี้โทษผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวงว่าเป็น
ผู้มีอาชีวะเศร้าหมองโดยส่วนเดียว’ ชื่อว่าพูดตรงตามที่ท่านพระโคดมตรัสไว้ ไม่
ชื่อว่ากล่าวตู่ท่านพระโคดมด้วยคำเท็จหรือ ชื่อว่าเป็นผู้พูดอย่างสมเหตุสมผลหรือ
ไม่มีบ้างหรือที่คำเล่าลืออันชอบธรรมนั้นจะเป็นเหตุที่ควรตำหนิได้ เพราะพวก
ข้าพระองค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่ท่านพระโคดมเลย”
[๓๘๒] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “กัสสปะ สมณพราหมณ์ที่กล่าวว่า
‘พระสมณโคดมทรงตำหนิตบะทุกชนิด ทรงคัดค้านและชี้โทษผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวงว่า
เป็นผู้มีอาชีวะเศร้าหมองโดยส่วนเดียว’ ไม่ถือว่าพูดตรงตามที่เราพูด ทั้งไม่ถือว่า
กล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ ด้วยอาศัยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เราจึงเห็นบุคคลผู้
บำเพ็ญตบะบางคนในโลกนี้มีอาชีวะเศร้าหมอง หลังจากตายแล้ว ไปบังเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรกก็มี ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ก็มี
[๓๘๓] ด้วยอาศัยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เราเห็นบุคคลผู้บำเพ็ญ
ตบะบางคนในโลกนี้อยู่เป็นทุกข์เพราะบุญน้อย หลังจากตายแล้วไปบังเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรกก็มี ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ก็มี เรารู้การมา การไป การจุติ
และการบังเกิดของคนเหล่านั้นตามความเป็นจริงอย่างนี้ ไฉนเราจักตำหนิตบะ
ทุกชนิด หรือคัดค้านและชี้โทษผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวงว่า เป็นผู้มีอาชีวะเศร้าหมองโดย
ส่วนเดียวเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการไล่เลียงสอบสวน
[๓๘๔] กัสสปะ มีสมณพราหมณ์บางพวกเป็นบัณฑิต ทรงภูมิปัญญา มักโต้
แย้ง มีท่าทางดังขมังธนู พวกเขาดูเหมือนจะกำจัดทิฏฐิได้ด้วยปัญญา สมณพราหมณ์
เหล่านั้นมีทรรศนะตรงกับเราในบางเรื่อง ไม่ตรงกันกับเราในบางเรื่อง บางประเด็นที่
พวกเขาว่าดี แม้เราก็ว่าดี บางประเด็นที่พวกเขาว่าไม่ดี แม้เราก็ว่าไม่ดี บางประเด็น
ที่พวกเขาว่าดี แต่เราว่าไม่ดี บางประเด็นที่พวกเขาว่าไม่ดี แต่เราว่าดี
บางประเด็นที่เราว่าดี สมณพราหมณ์พวกอื่นก็ว่าดี บางประเด็นที่เราว่าไม่ดี
สมณพราหมณ์พวกอื่นก็ว่าไม่ดี บางประเด็นที่เราว่าดี สมณพราหมณ์พวกอื่นกลับ
ว่าไม่ดี บางประเด็นที่เราว่าไม่ดี สมณพราหมณ์พวกอื่นกลับว่าดี
ว่าด้วยการไล่เลียงสอบสวน
[๓๘๕] กัสสปะ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า
‘ผู้มีอายุ เรื่องที่ทำให้พวกเรามีวัตรปฏิบัติไม่ตรงกันจงงดไว้ แต่ในเรื่องที่ตรงกัน
วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวน เปรียบเทียบศาสดากับศาสดา หมู่สาวกกับหมู่สาวก
ว่า ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็นอกุศลก็จัดว่าเป็นอกุศล ที่มีโทษก็จัดว่ามีโทษ
ที่ไม่ควรเสพก็จัดว่าไม่ควรเสพ ที่ไม่ประเสริฐก็จัดว่าไม่ประเสริฐ และที่เป็นฝ่ายชั่วก็
จัดว่าเป็นฝ่ายชั่ว ใครเล่าที่ละธรรมเหล่านี้ได้เด็ดขาด พระสมณโคดมหรือว่า
คณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่นกันแน่’
[๓๘๖] กัสสปะ เป็นไปได้ที่วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนจะพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็นอกุศลก็จัดว่าเป็นอกุศล ที่มีโทษก็จัดว่า
มีโทษ ที่ไม่ควรเสพก็จัดว่าไม่ควรเสพ ที่ไม่ประเสริฐก็จัดว่าไม่ประเสริฐ และที่เป็น
ฝ่ายชั่วก็จัดว่าเป็นฝ่ายชั่ว พระสมณโคดมละธรรมเหล่านี้ได้เด็ดขาด หรือว่า
คณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่นกันแน่’ ในเรื่องนั้นวิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวน
อย่างนี้ โดยมากจะสรรเสริญพวกเราฝ่ายเดียวเท่านั้น
[๓๘๗] ยังมีอีก กัสสปะ วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนพวกเรา เปรียบ
เทียบศาสดากับศาสดา หมู่สาวกกับหมู่สาวกว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็น
กุศลก็จัดว่าเป็นกุศล ที่ไม่มีโทษก็จัดว่าไม่มีโทษ ที่ควรเสพก็จัดว่าควรเสพ ที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการไล่เลียงสอบสวน
ประเสริฐก็จัดว่าประเสริฐ และที่เป็นฝ่ายดีก็จัดว่าเป็นฝ่ายดี ใครเล่าที่สมาทาน
ประพฤติธรรมเหล่านี้ได้ครบถ้วน พระสมณโคดมหรือว่าคณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่น
กันแน่’
[๓๘๘] กัสสปะ เป็นไปได้ที่วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนจะพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็นกุศลก็จัดว่าเป็นกุศล ที่ไม่มีโทษก็จัดว่า
ไม่มีโทษ ที่ควรเสพก็จัดว่าควรเสพ ที่ประเสริฐก็จัดว่าประเสริฐ และที่เป็นฝ่ายดีก็จัด
ว่าเป็นฝ่ายดี พระสมณโคดมสมาทานประพฤติธรรมเหล่านี้ได้ครบถ้วน หรือว่า
คณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่นกันแน่’ ในเรื่องนั้น วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวน
อย่างนี้ โดยมากจะสรรเสริญพวกเราฝ่ายเดียวเท่านั้น
[๓๘๙] ยังมีอีก กัสสปะ วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนพวกเรา เปรียบ
เทียบศาสดากับศาสดา หมู่สาวกกับหมู่สาวกว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็น
อกุศลก็จัดว่าเป็นอกุศล ที่มีโทษก็จัดว่ามีโทษ ที่ไม่ควรเสพก็จัดว่าไม่ควรเสพ ที่ไม่
ประเสริฐ ก็จัดว่าไม่ประเสริฐ และที่เป็นฝ่ายชั่วก็จัดว่าเป็นฝ่ายชั่ว ใครเล่าที่ละธรรม
เหล่านี้ได้เด็ดขาด หมู่สาวกของพระสมณโคดมหรือว่าหมู่สาวกของคณาจารย์ผู้
เจริญเหล่าอื่นกันแน่’
[๓๙๐] กัสสปะ เป็นไปได้ที่วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนจะพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็นอกุศลก็จัดว่าเป็นอกุศล ที่มีโทษก็จัดว่า
มีโทษ ที่ไม่ควรเสพก็จัดว่าไม่ควรเสพ ที่ไม่ประเสริฐก็จัดว่าไม่ประเสริฐ และที่เป็น
ฝ่ายชั่วก็จัดว่าเป็นฝ่ายชั่ว หมู่สาวกของพระสมณโคดมละธรรมเหล่านี้ได้เด็ดขาด
หรือว่าหมู่สาวกของคณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่นกันแน่’ ในเรื่องนั้น วิญญูชนเมื่อซักไซ้
ไล่เลียงสอบสวนอย่างนี้ โดยมากจะสรรเสริญพวกเราฝ่ายเดียวเท่านั้น
[๓๙๑] ยังมีอีก กัสสปะ วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนพวกเรา เปรียบ
เทียบศาสดากับศาสดา หมู่สาวกกับหมู่สาวกว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็น
กุศลก็จัดว่าเป็นกุศล ที่ไม่มีโทษก็จัดว่าไม่มีโทษ ที่ควรเสพก็จัดว่าควรเสพ ที่
ประเสริฐก็จัดว่าประเสริฐ และที่เป็นฝ่ายดีก็จัดว่าเป็นฝ่ายดี ใครเล่าที่สมาทาน
ประพฤติธรรมเหล่านี้ได้ครบถ้วน หมู่สาวกของพระสมณโคดมหรือว่าหมู่สาวกของ
คณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่นกันแน่’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการหลีกบาปด้วยตบะ
[๓๙๒] กัสสปะ เป็นไปได้ที่วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนจะพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็นกุศลก็จัดว่าเป็นกุศล ที่ไม่มีโทษก็จัดว่า
ไม่มีโทษ ที่ควรเสพก็จัดว่าควรเสพ ที่ประเสริฐก็จัดว่าประเสริฐ และที่เป็นฝ่ายดีก็จัด
ว่าเป็นฝ่ายดี หมู่สาวกของพระสมณโคดมสมาทานประพฤติธรรมเหล่านี้ได้ครบถ้วน
หรือว่าหมู่สาวกของคณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่นกันแน่’ ในเรื่องนั้น วิญญูชนเมื่อซักไซ้
ไล่เลียงสอบสวนอย่างนี้ โดยมากจะสรรเสริญพวกเราฝ่ายเดียวเท่านั้น
อริยมรรคมีองค์ ๘
[๓๙๓] กัสสปะ มีทาง มีข้อปฏิบัติ ที่ผู้ปฏิบัติตามจะรู้เองเห็นเองว่า ‘พระ
สมณโคดมตรัสถูกเวลา ตรัสคำจริง ตรัสอิงประโยชน์ ตรัสอิงธรรม ตรัสอิงวินัย’
กัสสปะ อะไรคือทาง อะไรคือข้อปฏิบัติ ที่ผู้ปฏิบัติตามจะรู้เองเห็นเองว่า ‘พระ
สมณโคดมตรัสถูกเวลา ตรัสคำจริง ตรัสอิงประโยชน์ ตรัสอิงธรรม ตรัสอิงวินัย’
มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐเหล่านี้คือ สัมมาทิฏฐิ(เห็นชอบ), สัมมาสังกัปปะ(ดำริ
ชอบ), สัมมาวาจา(เจรจาชอบ), สัมมากัมมันตะ(กระทำชอบ), สัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพ
ชอบ), สัมมาวายามะ(พยายามชอบ), สัมมาสติ(ระลึกชอบ) และสัมมาสมาธิ(ตั้งจิต
มั่นชอบ) กัสสปะ นี้แลคือทาง คือข้อปฏิบัติที่ผู้ปฏิบัติตามจะรู้เองเห็นเองว่า พระ
สมณโคดมตรัสถูกเวลา ตรัสคำจริง ตรัสอิงประโยชน์ ตรัสอิงธรรม ตรัสอิงวินัย”
ว่าด้วยการหลีกบาปด้วยตบะ
[๓๙๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ อเจลกัสสปะกราบทูลว่า “ท่านพระ
โคดม การบำเพ็ญตบะที่นับว่าเป็นสามัญคุณ๑ และเป็นพรหมัญคุณ๒ ของ
สมณพราหมณ์แม้เหล่านี้ คือ เป็นอเจลก(ประพฤติเปลือยกาย) ไม่มีมารยาท
เลียมือ เขาเชิญให้ไปรับอาหารก็ไม่ไป เขาเชิญให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับ
อาหารที่เขาแบ่งไว้ ไม่รับอาหารที่เขาทำเจาะจง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ ไม่รับ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึง สมณกรรม ได้แก่การบำเพ็ญตบะ อันเป็นสิ่งที่ทำให้ความเป็นสมณะสมบูรณ์ ตามความเข้าใจ
ของคนยุคนั้น (ที.สี.อ. ๓๙๔/๒๙๒)
๒ หมายถึง พราหมณกรรม ได้แก่ข้อปฏิบัติที่ทำให้เป็นพราหมณ์โดยสมบูรณ์ ตามความเข้าใจของคนยุค
นั้น (ที.สี.อ. ๓๙๔/๒๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๔ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น