Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๑๐-๒ หน้า ๔๒ - ๘๒

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๐๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค



พระสุตตันตปิฎก
ทีฆนิกาย มหาวรรค
____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คู่พระอัครสาวก
พันธุมดีราชธานี บอกราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะว่า
‘พระวิปัสสีพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงพันธุมดีราชธานี ประทับอยู่ที่เขมมฤคทายวัน
มีพระประสงค์จะพบท่านทั้งสอง’
นายทายบาลทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี กราบทูล
แก่พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบอกบุตรปุโรหิตชื่อติสสะดังนี้ว่า ‘พระวิปัสสี
พุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงพันธุมดีราชธานี ประทับอยู่ที่เขมมฤคทายวัน มีพระประสงค์
จะพบท่านทั้งสอง’
[๗๔] พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ สั่งให้บุรุษ
เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ แล้วขึ้นยานพาหนะคันงามออกจากกรุงพันธุมดีราชธานี
พร้อมกับยานพาหนะคันงาม ๆ ติดตามอีกหลายคัน ขับตรงไปยังเขมมฤคทายวัน
จนสุดทางที่ยานพาหนะจะเข้าไปได้ แล้วลงจากยานเดินตรงเข้าไปเฝ้าพระวิปัสสี
พุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
[๗๕] พระวิปัสสีพุทธเจ้าตรัสอนุปุพพิกถา๑แก่พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะ
และบุตรปุโรหิตชื่อติสสะเหล่านั้น คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา (เรื่องทาน)
๒. สีลกถา (เรื่องศีล)
๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)๒
๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม)
เมื่อทรงทราบว่า พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะมีจิต
ควรบรรลุธรรม อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิก

เชิงอรรถ :
๑ อนุปุพพิกถา หมายถึงธรรมเทศนาที่แสดงเนื้อความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ เพื่อขัดเกลาอัธยาศัยของผู้ฟัง
ให้ประณีตขึ้นไปเป็นชั้น ๆ จนพร้อมที่จะทำความเข้าใจในธรรมส่วนปรมัตถ์ (ที.สี.อ. ๒๙๘/๒๕๐)
๒ แปลมาจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สํกิเลสํ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คู่พระอัครสาวก
ธรรมเทศนา๑ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุ
ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแก่พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตร
ปุโรหิตชื่อติสสะ ณ อาสนะนั้นแลว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา‘เหมือนผ้าขาวสะอาด ปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
[๗๖] พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะเห็นธรรมแล้ว
บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว หมดความสงสัยแล้วปราศจาก
ความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น๒ ในคำสอนของพระศาสดา
ได้กราบทูลพระวิปัสสีพุทธเจ้าว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มี
พระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตาม
ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์ทั้งสองนี้ขอถึงพระ
ผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมเป็นสรณะ และพึงได้การบรรพชาพึงได้การอุปสมบท
ในสำนักของพระผู้มีพระภาค’
[๗๗] พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ ได้การบรรพชา
ได้การอุปสมบทในสำนักของพระวิปัสสีพุทธเจ้า พระองค์ทรงชี้แจงให้ภิกษุเหล่านั้น
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงประกาศโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง
ของสังขารและอานิสงส์ในนิพพาน จิตของพระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตร
ปุโรหิตชื่อติสสะอันพระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไป
ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ไม่นานนัก ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น

เชิงอรรถ :
๑ สามุกกังสิกธรรมเทศนา หมายถึงธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงเห็น
ด้วยสยัมภูญาณ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น คือมิได้รับแนะนำจากผู้อื่น ตรัสรู้ลำพังพระองค์เองก่อนใครในโลก
(วิ.อ. ๓/๒๙๓/๑๘๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖/๒๓๗, ที.สี.อ. ๒๙๘/๒๕๐)
๒ ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น หมายถึงไม่ต้องอาศัยผู้อื่นคอยแนะนำพร่ำสอนในคำสอนของพระศาสนา ไม่ได้หมายถึง
ว่า ไม่ต้องเชื่อใคร (อปรปฺปจฺจโย =ไม่มีใครอื่นอีกเป็นปัจจัย) (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๘/๒๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] มหาชนออกบวช

มหาชนออกบวช
[๗๘] ภิกษุทั้งหลาย มหาชนในกรุงพันธุมดีราชธานีประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน
ได้ทราบข่าวว่า ‘พระวิปัสสีพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงพันธุมดี ประทับอยู่ที่เขมมฤคทายวัน
พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ โกนผมและหนวด นุ่งห่ม
ผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากพระราชวังและเรือนบวชเป็นบรรพชิตในสำนักพระวิปัสสี-
พุทธเจ้า’ จึงคิดกันว่า ‘พระธรรมวินัยและการบรรพชาที่พระราชโอรสพระนามว่า
ขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ โกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจาก
พระราชวังและเรือนบวชเป็นบรรพชิตนั้น คงจะไม่ต่ำทราม คนระดับพระราชโอรส
พระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
ออกจากพระราชวังและเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้ ทำไม พวกเราจักบวชบ้างไม่ได้เล่า’
มหาชนประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน จึงชักชวนกันออกจากกรุงพันธุมดีราชธานี ไปยัง
เขมมฤคทายวันเข้าไปเฝ้าพระวิปัสสีพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่
สมควร
[๗๙] พระวิปัสสีพุทธเจ้าตรัสอนุปุพพิกถาแก่ชนเหล่านั้น คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา
เมื่อทรงทราบว่าชนเหล่านั้น มีจิตควรบรรลุ อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ชน
๘๔,๐๐๐ เหล่านั้น ณ ที่นั่งนั้นแลว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา’ เหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๒๖/๓๒-๓๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
บรรพชิตรุ่นแรกที่บวชตามเสด็จบรรลุธรรม
[๘๐] ชนเหล่านั้นเห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว
หมดความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อ
ผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระวิปัสสีพุทธเจ้าดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศ
ธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’
พวกข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
และพึงได้การบรรพชาพึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค’
[๘๑] มหาชนประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ได้การบรรพชาได้การอุปสมบทใน
สำนักของพระวิปัสสีพุทธเจ้า พระองค์ทรงชี้แจงให้ภิกษุเหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงประกาศโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของสังขาร
และอานิสงส์ในนิพพาน จิตของภิกษุเหล่านั้นอันพระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ไม่นานนัก ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น
บรรพชิตรุ่นแรกที่บวชตามเสด็จบรรลุธรรม
[๘๒] ภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตประมาณ ๘๔,๐๐๐ รูปเหล่านั้นได้ทราบข่าวว่า
‘พระวิปัสสีพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงพันธุมดีราชธานี ประทับอยู่ที่เขมมฤคทายวัน กำลัง
ทรงแสดงธรรม’ จึงพากันไปยังเขมมฤคทายวัน กรุงพันธุมดีเข้าไปเฝ้าพระวิปัสสี-
พุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
[๘๓] พระวิปัสสีพุทธเจ้าตรัสอนุปุพพิกถาแก่บรรพชิตเหล่านั้น คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา
เมื่อทรงทราบว่า บรรพชิตเหล่านั้นมีจิตควรบรรลุธรรม อ่อน ปราศจาก
นิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๕ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา
ทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจาก
มลทิน ได้เกิดขึ้นแก่บรรพชิต ๘๔,๐๐๐ รูปเหล่านั้น ณ อาสนะนั้นแลว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา’ เหมือนผ้าขาว
สะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
[๘๔] บรรพชิตเหล่านั้นเห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว หมดความสงสัยแล้ว ไม่มีความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระวิปัสสีพุทธเจ้าดังนี้ว่า ‘ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรง
ประกาศธรรมแจ่มแจ้ง โดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดี
จักเห็นรูปได้’ พวกข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและ
พระสงฆ์เป็นสรณะ และพึงได้การบรรพชาพึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี
พระภาค’
[๘๕] บรรพชิตประมาณ ๘๔,๐๐๐ รูปเหล่านั้น ได้การบรรพชาได้การ
อุปสมบทในสำนักพระวิปัสสีพุทธเจ้า พระองค์ทรงชี้แจงให้ภิกษุเหล่านั้นเห็นชัด
ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงประกาศโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของ
สังขารและอานิสงส์ในนิพพาน จิตของภิกษุเหล่านั้นอันพระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงชี้แจง
ให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลม
ใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ไม่นานนัก ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะ
ไม่ถือมั่น
ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา
[๘๖] ภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้น มีภิกษุอยู่ประมาณ ๑๖๘,๐๐๐ รูปในกรุง
พันธุมดีราชธานี ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีพุทธเจ้าประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้มี
พระรำพึงอย่างนี้ว่า ‘เวลานี้ ในกรุงพันธุมดีมีภิกษุสงฆ์อยู่จำนวนมากถึง ๑๖๘,๐๐๐ รูป
ทางที่ดีเราควรประกาศให้ภิกษุทั้งหลายรู้ทั่วกันว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
จงจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๖ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าไปทางเดียวกัน
๒ รูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความ
งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์
ครบถ้วน ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะ
ไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่ แต่เมื่อเวลาล่วงไป ทุก ๆ
๖ ปี เธอทั้งหลายควรกลับมายังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์’
[๘๗] ครั้งนั้น ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่ง ทราบพระรำพึงของพระวิปัสสีพุทธเจ้า
ด้วยใจได้หายตัวไปจากพรหมโลก มาปรากฏเฉพาะพระพักตร์ของพระวิปัสสีพุทธเจ้า
เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น ท้าวมหาพรหมนั้น ห่มผ้า
เฉวียงบ่า ประนมมือน้อมไปทางพระวิปัสสีพุทธเจ้าได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระ
ผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น เวลานี้
ในกรุงพันธุมดีราชธานีมีภิกษุสงฆ์อยู่จำนวนมากถึง ๑๖๘,๐๐๐ รูป พระองค์โปรด
ทรงอนุญาตภิกษุทั้งหลายว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อเกื้อกูล
แก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล
เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าไปทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรม
มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด จงประกาศ
พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ในโลกนี้ยังมี
เหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์
ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่’ ข้าพระองค์จักหาวิธีให้ภิกษุทั้งหลายกลับมายัง
กรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์ เมื่อล่วงไปทุก ๆ ๖ ปี พระพุทธเจ้าข้า’
เมื่อท้าวมหาพรหมกราบทูลอย่างนี้แล้ว จึงถวายอภิวาทพระวิปัสสีพุทธเจ้า
กระทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นเอง
[๘๘] ครั้นในเวลาเย็น พระวิปัสสีพุทธเจ้าเสด็จออกจากที่หลีกเร้น รับสั่ง
เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เราหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ณ ที่นี้ ได้มี
ความรำพึงอย่างนี้ว่า ‘เวลานี้ ในกรุงพันธุมดีราชธานีมีภิกษุสงฆ์อยู่จำนวนมากถึง
๑๖๘,๐๐๐ รูป ทางที่ดีเราควรประกาศให้ภิกษุทั้งหลายรู้ทั่วกันว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๗ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา
เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์
ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่า
ไปทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้น
จะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่ แต่เมื่อเวลา
ล่วงไปทุก ๆ ๖ ปี เธอทั้งหลายควรกลับมายังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดง
ปาติโมกข์’
ต่อมา ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่ง ทราบความรำพึงของเราด้วยใจแล้วได้หายตัว
จากพรหมโลกมาปรากฏเฉพาะหน้าเรา เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือ
คู้แขนเข้า ฉะนั้น ท้าวมหาพรหมนั้นห่มผ้าเฉวียงบ่า ประนมมือน้อมมาทางที่เราอยู่
ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต
เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น เวลานี้ ในกรุงพันธุมดีราชธานีมีภิกษุสงฆ์อยู่จำนวนมากถึง
๑๖๘,๐๐๐ รูป พระองค์โปรดทรงอนุญาตภิกษุทั้งหลายว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์
ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่า
ไปทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้น
จะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่’ ข้าพระองค์
จักหาวิธีให้ภิกษุทั้งหลายกลับมายังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์ เมื่อเวลา
ล่วงไปทุก ๆ ๖ ปี พระพุทธเจ้าข้า’
เมื่อท้าวมหาพรหมนั้นได้กล่าวอย่างนี้แล้ว จึงถวายอภิวาทเรากระทำประทักษิณ
แล้วหายไป ณ ที่นั้นเอง
ภิกษุทั้งหลาย เราประกาศให้รู้ทั่วกันว่า ‘เธอทั้งหลาย จงจาริกไปเพื่อเกื้อกูล
แก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๘ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าไปทางเดียวกัน ๒ รูป
จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงาม
ในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟัง
ธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่ แต่เมื่อเวลาล่วงไปทุก ๆ ๖ ปี
เธอทั้งหลายควรกลับมายังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์’ ภิกษุส่วนมาก
ได้จาริกไปตามชนบท โดยวันเดียวเท่านั้น
[๘๙] สมัยนั้น ในชมพูทวีปมีอาวาสอยู่ ๘๔,๐๐๐ แห่ง เมื่อเวลาล่วงไป ๑ ปี
เหล่าเทวดาได้ประกาศว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เวลาล่วงไป ๑ ปีแล้ว บัดนี้ยัง
เหลือเวลา ๕ ปี เมื่อเวลาล่วงไป ๕ ปี พวกท่านพึงเข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี
เพื่อแสดงปาติโมกข์’
เมื่อเวลาล่วงไป ๒ ปี เหล่าเทวดาได้ประกาศว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย
เวลาล่วงไป ๒ ปีแล้ว บัดนี้ยังเหลือเวลา ๔ ปี เมื่อเวลาล่วงไป ๔ ปี พวกท่าน
พึงเข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์’
เมื่อเวลาล่วงไป ๓ ปี เหล่าเทวดาได้ประกาศว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย
เวลาล่วงไป ๓ ปีแล้ว บัดนี้ยังเหลือเวลา ๓ ปี เมื่อเวลาล่วงไป ๓ ปี พวกท่าน
พึงเข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์’
เมื่อเวลาล่วงไป ๔ ปี เหล่าเทวดาได้ประกาศว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย
เวลาล่วงไป ๔ ปีแล้ว บัดนี้ยังเหลือเวลา ๒ ปี เมื่อเวลาล่วงไป ๒ ปี พวกท่าน
พึงเข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์’
เมื่อเวลาล่วงไป ๕ ปี เหล่าเทวดาได้ประกาศว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย
เวลาล่วงไป ๕ ปีแล้ว บัดนี้ยังเหลือเวลา ๑ ปี เมื่อเวลาล่วงไป ๑ ปี พวกท่าน
พึงเข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๙ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
ทรงแสดงพระโอวาทปาติโมกข์
เมื่อเวลาล่วงไป ๖ ปี เหล่าเทวดาได้ประกาศว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย
เวลาล่วงไป ๖ ปีแล้ว บัดนี้ถึงเวลาแล้ว พวกท่านพึงเข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี
เพื่อแสดงปาติโมกข์’
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น บางพวกเดินทางไปด้วยฤทธิ์ ด้วยอานุภาพของตน
บางพวกเดินทางไปด้วยฤทธิ์ ด้วยอานุภาพของเทวดา เพียงวันเดียวเท่านั้น พากัน
เข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์
ทรงแสดงพระโอวาทปาติโมกข์
[๙๐] ภิกษุทั้งหลาย พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงแสดงปาติโมกข์๑ ในที่ประชุมสงฆ์
ที่กรุงพันธุมดีราชธานีนั้นดังนี้
‘ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นบรมธรรม
ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
การไม่ทำบาป๒ทั้งปวง
การทำกุศล๓ให้ถึงพร้อม
การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว
นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ปาติโมกข์ ในที่นี้มิได้หมายถึงอาณาปาติโมกข์ (ประมวลพุทธบัญญัติที่ทรงตั้งขึ้นเป็นพุทธอาณา ได้แก่
อาทิพรหมจริยกสิกขา ที่มีพระพุทธานุญาตให้สวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน) แต่หมายถึงโอวาทปาติโมกข์
ซึ่งประกอบด้วยคาถา ๓ คาถามี ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา เป็นต้น ที่พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ทรงแสดงเอง
(ที.ม.อ. ๙๐/๗๖, วิ.อ. ๑/๑๙/๑๙๐-๑๙๒)
๒ บาป หมายถึงกรรมที่มีโทษซึ่งสหรคตด้วยอกุศลจิต ๑๒ ดวง (ที.ม.ฏีกา ๙๐/๙๒)
๓ กุศล หมายถึงกุศลที่เป็นไปในภูมิ ๔ (ที.ม.อ. ๙๐/๗๖, ที.ม.ฏีกา ๙๐/๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คำกราบทูลของเทวดา
การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น
การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ความสำรวมในปาติโมกข์
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร
การอยู่ในเสนาสนะที่สงัด
การประกอบความเพียรในอธิจิต
นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย’๑
คำกราบทูลของเทวดา
[๙๑] ภิกษุทั้งหลาย สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่ควงต้นราชสาละ ป่าสุภควัน
กรุงอุกกัฏฐะ ขณะที่เรานั้นหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้มีความรำพึงอย่างนี้ว่า ‘เทวโลก
ชั้นสุทธาวาสที่เราไม่เคยอยู่มาเลยตลอดกาลนานนี้ ไม่ใช่ใคร ๆ จะเข้าถึงได้โดยง่าย
ยกเว้นเหล่าเทพชั้นสุทธาวาส ทางที่ดี เราควรไปหาเหล่าเทพชั้นสุทธาวาส’ จึงได้
หายไปจากควงต้นราชสาละนั้นไปปรากฏในเหล่าเทพชั้นอวิหาอย่างรวดเร็ว เหมือนบุรุษ
ผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเรา
อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
นับจากกัปนี้ถอยหลังไป ๙๑ กัป พระวิปัสสีพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก มีพระชาติ
เป็นกษัตริย์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์ มีพระโคตรว่าโกณฑัญญะ มีพระ
ชนมายุประมาณ ๘๐,๐๐๐ ปี ตรัสรู้ที่ควงต้นแคฝอย ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่
ที่เจริญ ได้แก่พระขัณฑะและพระติสสะ มีการประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑
มีภิกษุ ๑๖๘,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๒ มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๓ มีภิกษุ
๘๐,๐๐๐ รูป พระสาวกที่เข้าประชุมทั้ง ๓ ครั้ง ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ มีภิกษุ
อโสกะเป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก มีพระเจ้าพันธุมาเป็นพระบิดา พระนาง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ธ. ๒๕/๑๘๓-๑๘๕/๔๙-๕๐, ขุ.อุ. ๒๕/๓๖/๑๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คำกราบทูลของเทวดา
พันธุมดีเทวีเป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงพันธุมดีเป็นราชธานีของพระเจ้าพันธุมา
การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ของพระองค์เป็นอย่างนี้ การบรรพชาของพระองค์
เป็นอย่างนี้ การบำเพ็ญเพียรของพระองค์เป็นอย่างนี้ การตรัสรู้ของพระองค์เป็น
อย่างนี้ การแสดงธรรมจักรของพระองค์เป็นอย่างนี้ พวกข้าพระองค์ประพฤติ
พรหมจรรย์ในพระวิปัสสีพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเราถึง
ที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
นับจากกัปนี้ถอยหลังไป ๓๑ กัป พระสิขีพุทธเจ้า ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ
พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสิขีพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดี
ในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้ ในกัปที่ ๓๑ นั้นเอง พระเวสสภูพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้น
ในโลก ฯลฯ พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระเวสสภูพุทธเจ้า คลายความ
กำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้ ในภัทรกัปนี้เอง พระกกุสันธพุทธเจ้า
พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ พวกข้า
พระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า
พระกัสสปพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเรา
ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้
นิรทุกข์ ในภัทรกัปนี้เอง บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จ
อุบัติขึ้นในโลก มีพระชาติเป็นกษัตริย์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์ มีพระโคตร
ว่าโคตมะ มีพระชนมายุเพียงเล็กน้อย ผู้ที่มีอายุยืนก็เพียง ๑๐๐ ปี หรือเกินไปอีก
เล็กน้อย๑ ตรัสรู้ที่ควงต้นอัสสัตถะ ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่เจริญ ได้แก่
พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ
๑,๒๕๐ รูป พระสาวกที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ มีภิกษุอานนท์เป็น

เชิงอรรถ :
๑ เกินไปอีกเล็กน้อย ในที่นี้หมายถึงคนมีอายุยืนเกิน ๑๐๐ ปี สมัยพุทธกาล ได้แก่ พระมหากัสสปะ
พระอานนท์ พระนางมหาปชาบดีโคตมี นางวิสาขา พราหมณ์โปกขรสาติ พราหมณ์พรหมายุ พราหมณ์เสละ
พราหมณ์พาวรี ทุกท่านมีอายุ ๑๒๐ ปี พระอนุรุทธะมีอายุ ๑๕๐ ปี พระพากุละมีอายุ ๑๖๐ ปี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คำกราบทูลของเทวดา
อุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก๑ มีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระบิดา พระนางมายาเทวี
เป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด มีกรุงกบิลพัสดุ์เป็นราชธานี การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์
ของพระองค์เป็นอย่างนี้ การบรรพชาของพระองค์เป็นอย่างนี้ การบำเพ็ญเพียรของ
พระองค์เป็นอย่างนี้ การตรัสรู้ของพระองค์เป็นอย่างนี้ การแสดงธรรมจักรของ
พระองค์เป็นอย่างนี้ พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค คลายความ
กำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’
[๙๒] ครั้งนั้น เราพร้อมกับเหล่าเทพชั้นอวิหา ได้เข้าไปหาเหล่าเทพชั้นอตัปปา
ถึงที่อยู่ ...
เราพร้อมกับเหล่าเทพชั้นอวิหาและชั้นอตัปปา ได้เข้าไปหาเหล่าเทพชั้นสุทัสสา
ถึงที่อยู่ ...
เราพร้อมกับเหล่าเทพชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา และชั้นสุทัสสา ได้เข้าไปหา
เหล่าเทพชั้นสุทัสสีถึงที่อยู่ ...
ครั้งนั้น เราพร้อมกับเหล่าเทพชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา ชั้นสุทัสสา และชั้นสุทัสสี
ได้เข้าไปหาเหล่าเทพชั้นอกนิฏฐาถึงที่อยู่ ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวน
หลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
เทวดาเหล่านั้นได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นับจากกัปนี้
ถอยหลังไป ๙๑ กัป พระวิปัสสีพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก มีพระชาติเป็นกษัตริย์
ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์ มีพระโคตรว่าโกณฑัญญะ มีพระชนมายุประมาณ
๘๐,๐๐๐ ปี ตรัสรู้ที่ควงต้นแคฝอย ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่
พระขัณฑะและพระติสสะ มีการประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ มีภิกษุ
๑๖๘,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๒ มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๓ มีภิกษุ ๘๐,๐๐๐ รูป
พระสาวกที่เข้าประชุมทั้ง ๓ ครั้ง ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ มีภิกษุอโสกะเป็นอุปัฏฐาก

เชิงอรรถ :
๑ ในปฐมโพธิกาล พระผู้มีพระภาคไม่มีพระอุปัฏฐากประจำ บางคราวพระนาคสมาละ บางคราวพระ-
นาคิตะ บางคราวพระอุปวาณะ บางคราวพระสุนักขัตตะ บางคราวจุนทะ สมณุทเทส บางคราวพระสาคตะ
บางคราว พระเมฆิยะ (วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คำกราบทูลของเทวดา
เป็นอัครอุปัฏฐาก มีพระเจ้าพันธุมาเป็นพระบิดา พระนางพันธุมดีเทวีเป็น
พระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงพันธุมดีเป็นราชธานีของพระเจ้าพันธุมา การเสด็จออก
มหาภิเนษกรมณ์ของพระองค์เป็นอย่างนี้ การบรรพชาของพระองค์เป็นอย่างนี้
การบำเพ็ญเพียรของพระองค์เป็นอย่างนี้ การตรัสรู้ของพระองค์เป็นอย่างนี้
การแสดงธรรมจักรของพระองค์เป็นอย่างนี้ พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์
ในพระวิปัสสีพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเรา
ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้นิรทุกข์ นับจากกัปนี้ถอยหลังไป ๓๑ กัป พระสิขีพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก
ฯลฯ พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสิขีพุทธเจ้า คลายความกำหนัด
ยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเรา
ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้นิรทุกข์ ในกัปที่ ๓๑ นั้นเอง พระเวสสภูพุทธเจ้า ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ
พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระเวสสภูพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดี
ในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเรา
ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้นิรทุกข์ ในภัทรกัปนี้เอง พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสป-
พุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ ในพระ
กกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า คลายความกำหนัด
ยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’
[๙๓] ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามา
หาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้นิรทุกข์ ในภัทรกัปนี้เอง บัดนี้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๔ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] ทรงสรุปพระธรรมเทศนา
อุบัติขึ้นในโลก มีพระชาติเป็นกษัตริย์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์ มีพระโคตร
ว่าโคตมะ มีพระชนมายุเพียงเล็กน้อย ผู้ที่มีอายุยืนก็เพียง ๑๐๐ ปี หรือเกินไปอีก
เล็กน้อย ตรัสรู้ที่ควงต้นอัสสัตถะ ทรงมีคู่อัครสาวก เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่ พระสารีบุตร
และพระโมคคัลลานะ มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป พระสาวก
ที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ มีภิกษุอานนท์เป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก
มีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระบิดา พระนางมายาเทวีเป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด มีกรุง
กบิลพัสดุ์เป็นราชธานี การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ของพระองค์เป็นอย่างนี้
การบรรพชาของพระองค์เป็นอย่างนี้ การบำเพ็ญเพียรของพระองค์เป็นอย่างนี้
การตรัสรู้ของพระองค์เป็นอย่างนี้ การแสดงธรรมจักรของพระองค์เป็นอย่างนี้
พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค คลายความกำหนัดยินดี
ในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’
ทรงสรุปพระธรรมเทศนา
[๙๔] ภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตมีปัญญาแทงตลอดธรรมธาตุดังกล่าวมานี้
จึงเป็นเหตุให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรม
เครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้ตัดทางได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว
ทั้งโดยพระชาติ พระนาม พระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการประชุม
พระสาวกว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงมีพระโคตรอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น
จึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๕ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] ทรงสรุปพระธรรมเทศนา
แม้เหล่าเทวดาก็บอกเรื่องนั้นให้ทราบ จึงเป็นเหตุให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้ตัดทาง
ได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ทั้งโดยพระชาติ พระนาม
พระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการประชุมพระสาวกว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระโคตร
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีธรรม
เป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็น
เครื่องหลุดพ้นอย่างนี้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาคแล้วแล
มหาปทานสูตรที่ ๑ จบ

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

๒. มหานิทานสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นต้นเหตุใหญ่

ปฏิจจสมุปบาท๑
[๙๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกุรุชื่อกัมมาสธัมมะ
แคว้นกุรุ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง๒ สุดจะ
คาดคะเนได้ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังปรากฏแก่ข้าพระองค์เหมือนกับว่าเป็นธรรมง่าย ๆ
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่าพูดอย่างนั้น อานนท์ อย่าพูดอย่างนั้น อานนท์
ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง สุดจะคาดคะเนได้ ก็เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจปฏิจจ-
สมุปบาทนี้ หมู่สัตว์จึงยุ่งเหมือนขอดด้ายของช่างหูก เป็นปมนุงนังเหมือนกระจุกด้าย
เหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ข้ามพ้นอบาย๓ ทุคติ วินิบาตและสงสาร
[๙๖] อานนท์ เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมีหรือ’
ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี’ ควรตอบว่า
‘เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ชาติจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า
‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ภพจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า
‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ภพจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๖๐/๑๑๓
๒ ลึกซึ้ง หมายถึงลึกซึ้งโดยอาการ ๔ คือ (๑) อรรถ (ผล) (๒) ธรรม (เหตุ) (๓) เทศนา (วิธีการแสดง)
(๔) ปฏิเวธ (การบรรลุ) (ที.ม.อ. ๙๕/๙๐)
๓ อบาย หมายถึงภาวะหรือที่อันปราศจากความเจริญ ๔ คือ (๑) นรก (๒) กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน (๓) แดน
เปรต (๔) อสุรกาย (ที.ม.อ ๙๕/๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย อุปาทานจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’
ถ้าถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะตัณหาเป็น
ปัจจัย อุปาทานจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ตัณหาจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า
‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย เวทนาจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า
‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ผัสสะจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า
‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย นามรูปจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้า
ถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
นามรูปจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้า
ถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี‘ควรตอบว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย
วิญญาณจึงมี’
[๙๗] ด้วยเหตุดังนี้แล

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย___วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย___นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย___ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย___เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย___ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย___อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย___ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย___ชาติจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๘ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาสจึงมี
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ ด้วยประการฉะนี้
[๙๘] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่ชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าชาติ คือ ชาติ
เพื่อความเป็นเทพของพวกเทพ เพื่อความเป็นคนธรรพ์ของพวกคนธรรพ์ เพื่อความ
เป็นยักษ์ของพวกยักษ์ เพื่อความเป็นภูตของพวกภูต เพื่อความเป็นมนุษย์ของพวก
มนุษย์ เพื่อความเป็นสัตว์สี่เท้าของพวกสัตว์สี่เท้า เพื่อความเป็นสัตว์ปีกของพวก
สัตว์ปีก เพื่อความเป็นสัตว์เลื้อยคลานของพวกสัตว์เลื้อยคลาน ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ
ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง ก็ถ้าชาติไม่ได้มีเพื่อความเป็นอย่างนั้นของสรรพสัตว์พวกนั้น ๆ
เมื่อชาติไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะชาติดับไป ชรามรณะจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งชราและมรณะ ก็คือชาตินั่นเอง
[๙๙] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่ภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าภพ คือ กามภพ
รูปภพ หรืออรูปภพ ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อภพไม่มีโดยประการ
ทั้งปวง เพราะภพดับไป ชาติจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งชาติ ก็คือภพนั่นเอง
[๑๐๐] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่อุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าอุปาทาน คือ
กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม) ทิฏฐุปาทาน(ความยึดมั่นในทิฏฐิ) สีลัพพตุปาทาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๙ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท
(ความยึดมั่นในศีลพรต) หรืออัตตวาทุปาทาน(ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา) ไม่ได้
มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่ออุปาทานไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ
อุปาทานดับไป ภพจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งภพ ก็คืออุปาทานนั่นเอง
[๑๐๑] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทาน
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่ตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าตัณหา
คือ รูปตัณหา(อยากได้รูป) สัททตัณหา(อยากได้เสียง) คันธตัณหา(อยากได้กลิ่น)
รสตัณหา(อยากได้รส) โผฏฐัพพตัณหา(อยากได้โผฏฐัพพะ) และธัมมตัณหา (อยากได้
ธรรมารมณ์) ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อตัณหาไม่มีโดยประการ
ทั้งปวง เพราะตัณหาดับไป อุปาทานจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งอุปาทาน ก็คือตัณหานั่นเอง
[๑๐๒] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่เวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าเวทนา คือ
เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัส เวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัส เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัส
เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัส เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัส และเวทนาที่เกิดจาก
มโนสัมผัส ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อเวทนาไม่มีโดยประการ
ทั้งปวง เพราะเวทนาดับไป ตัณหาจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งตัณหา ก็คือเวทนานั่นเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๐ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท
[๑๐๓] อานนท์ ด้วยเหตุดังนี้แล

เพราะอาศัยเวทนา___ตัณหาจึงมี
เพราะอาศัยตัณหา___ปริเยสนา (การแสวงหา) จึงมี
เพราะอาศัยปริเยสนา___ลาภะ (การได้) จึงมี
เพราะอาศัยลาภะ___วินิจฉยะ (การกำหนด) จึงมี
เพราะอาศัยวินิจฉยะ___ฉันทราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจ
ความพอใจ) จึงมี
เพราะอาศัยฉันทราคะ___อัชโฌสานะ (ความหมกมุ่นฝังใจ) จึงมี
เพราะอาศัยอัชโฌสานะ___ปริคคหะ (การยึดถือครอบครอง) จึงมี
เพราะอาศัยปริคคหะ___มัจฉริยะ (ความตระหนี่) จึงมี
เพราะอาศัยมัจฉริยะ___อารักขะ (ความหวงกั้น) จึงมี
เพราะอารักขะเป็นเหตุ___บาปอกุศลธรรมเป็นอเนก ย่อมเกิด
ขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา
การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท
การพูดขึ้นเสียงว่า ‘มึง มึง’ การพูด
ส่อเสียด และการพูดเท็จ

[๑๐๔] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอารักขะเป็นเหตุ บาปอกุศล-
ธรรมเป็นอเนก ย่อมเกิดขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ
การแก่งแย่ง การวิวาท การพูดขึ้นเสียงว่า ‘มึง มึง’ การพูดส่อเสียด และการ
พูดเท็จ’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อารักขะเป็นเหตุ บาปอกุศลธรรมเป็นอเนก ย่อมเกิด
ขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การพูด
ขึ้นเสียงว่า ‘มึง มึง’ การพูดส่อเสียด และการพูดเท็จ ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าอารักขะ
ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่ออารักขะไม่มีโดยประการทั้งปวง
เพราะอารักขะดับไป บาปอกุศลธรรมเป็นอเนก จะเกิดขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือ
ศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การพูดขึ้นเสียงว่า ‘มึง มึง’ การพูด
ส่อเสียด และการพูดเท็จได้หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๑ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “เกิดขึ้นไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ และปัจจัย
แห่งบาปอกุศลธรรมเป็นอเนกที่เกิดขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ
การแก่งแย่ง การวิวาท การพูดขึ้นเสียงว่า ‘มึง มึง’ การพูดส่อเสียด และการ
พูดเท็จ ก็คืออารักขะนั่นเอง
[๑๐๕] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยมัจฉริยะ อารักขะจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยมัจฉริยะ อารักขะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้ามัจฉริยะไม่ได้
มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อมัจฉริยะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ
มัจฉริยะดับไป อารักขะจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งอารักขะ ก็คือมัจฉริยะนั่นเอง
[๑๐๖] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยปริคคหะ มัจฉริยะ
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยปริคคหะ มัจฉริยะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าปริคคหะ
ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อปริคคหะไม่มีโดยประการทั้งปวง
เพราะปริคคหะดับไป มัจฉริยะจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งมัจฉริยะ ก็คือปริคคหะนั่นเอง
[๑๐๗] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยอัชโฌสานะ ปริคคหะ
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยอัชโฌสานะ ปริคคหะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าอัชโฌสานะ
ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่ออัชโฌสานะไม่มีโดยประการทั้งปวง
เพราะอัชโฌสานะดับไป ปริคคหะจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งปริคคหะ ก็คืออัชโฌสานะนั่นเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๒ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

[๑๐๘] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยฉันทราคะ อัชโฌสานะ
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยฉันทราคะ อัชโฌสานะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้า
ฉันทราคะไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อฉันทราคะไม่มีโดยประการ
ทั้งปวง เพราะฉันทราคะดับไป อัชโฌสานะจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งอัชโฌสานะ ก็คือฉันทราคะนั่นเอง
[๑๐๙] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยวินิจฉยะ ฉันทราคะจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยวินิจฉยะ ฉันทราคะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าวินิจฉยะไม่ได้
มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อวินิจฉยะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ
วินิจฉยะดับไป ฉันทราคะจะปรากฏได้หรือ''
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งฉันทราคะ ก็คือวินิจฉยะนั่นเอง
[๑๑๐] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยลาภะ วินิจฉยะจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยลาภะ วินิจฉยะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าลาภะไม่ได้มีแก่
ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อลาภะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะลาภะ
หมดไป วินิจฉยะจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งวินิจฉยะ ก็คือลาภะนั่นเอง
[๑๑๑] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยปริเยสนา ลาภะจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยปริเยสนา ลาภะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าปริเยสนาไม่ได้
มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อปริเยสนาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ
ปริเยสนาดับไป ลาภะจะปรากฏได้หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๓ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งลาภะ ก็คือปริเยสนานั่นเอง
[๑๑๒] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยตัณหา ปริเยสนา
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยตัณหา ปริเยสนาจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าตัณหา คือ
กามตัณหา๑ ภวตัณหา๒ และวิภวตัณหา๓ ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง
เมื่อตัณหาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะตัณหาดับไป ปริเยสนาจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งปริเยสนา ก็คือตัณหานั่นเอง
อานนท์ ธรรม ๒ อย่างนี้ ทั้ง ๒ ส่วน๔ รวมลงเป็นอย่างเดียวกับเวทนา
ด้วยประการฉะนี้
[๑๑๓] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่ผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าผัสสะ คือ จักขุ-
สัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส และมโนสัมผัสไม่ได้มีแก่
ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อผัสสะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะผัสสะดับไป
เวทนาจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งเวทนา ก็คือผัสสะนั่นเอง

เชิงอรรถ :
๑ กามตัณหา (ความทะยานอยากในกาม) ในที่นี้หมายถึงราคะที่เนื่องด้วยกามคุณ ๕ (ที.ปา.อ.๓๐๕/๑๘๒)
๒ ภวตัณหา (ความทะยานอยากในภพ) ในที่นี้หมายถึงราคะในรูปภพและอรูปภพ, ราคะที่ประกอบด้วย
สัสสตทิฏฐิ (ที.ปา.อ. ๓๐๕/๑๘๒)
๓ วิภวตัณหา (ความทะยานอยากในวิภพ) ในที่นี้หมายถึงราคะที่ประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ (ที.ปา.อ. ๓๐๕/๑๘๒)
๔ ธรรม ๒ อย่างนี้ ทั้ง ๒ ส่วน ในที่นี้หมายถึงตัณหา ๒ ประการ ได้แก่ (๑) วัฏฏมูลตัณหา ตัณหาที่เป็นมูล
ในวัฏฏะ หมายถึงตัณหาที่เป็นปัจจัยของอุปาทาน (๒) สมุทาจารตัณหา ตัณหาที่ฟุ้งขึ้น หมายถึงตัณหา
ที่ท่านกล่าวว่า เพราะอาศัยตัณหา ปริเยสนาจึงมี เป็นต้น (ที.ม.อ. ๑๑๒/๙๘, ที.ม.ฏีกา ๑๑๒/๑๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท
[๑๑๔] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่นามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ดังต่อไปนี้ การบัญญัตินามกาย๑
ต้องพร้อมด้วยอาการ๒ เพศ๓ นิมิต๔ อุทเทส๕ เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทส
นั้น ๆ ไม่มี การสัมผัสแต่ชื่อในรูปกายจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “การบัญญัติรูปกายต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ
นิมิต และอุทเทส เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทสนั้น ๆ ไม่มี การสัมผัสโดยการ
กระทบในนามกายจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “การบัญญัตินามกายและรูปกายต้องพร้อมด้วย
อาการ เพศ นิมิต และอุทเทส เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทสนั้น ๆ ไม่มี
การสัมผัสแต่ชื่อจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “การบัญญัตินามรูปต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ
นิมิต และอุทเทส เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทสนั้น ๆ ไม่มี ผัสสะจะปรากฏ
ได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งผัสสะ ก็คือนามรูปนั่นเอง
[๑๑๕] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่วิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าวิญญาณ
จักไม่หยั่งลงในท้องมารดา นามรูปจะก่อตัวขึ้นในท้องมารดาได้หรือ”

เชิงอรรถ :
๑ นามกาย หมายถึงนามขันธ์ ๔ คือ (๑) เวทนาขันธ์ (๒) สัญญาขันธ์ (๓) สังขารขันธ์ (๔) วิญญาณขันธ์
(ที.ม.อ. ๑๑๔/๙๙)
๒ อาการ หมายถึงอากัปกิริยาของนามขันธ์แต่ละอย่างที่สำแดงออกมา (ที.ม.ฏีกา. ๑๑๔/๑๒๓)
๓ เพศ หมายถึงลักษณะที่บ่งบอกหรือใช้เป็นเครื่องอนุมานถึงนามขันธ์แต่ละอย่าง (ที.ม.ฏีกา ๑๑๔/๑๒๓)
๔ นิมิต หมายถึงเครื่องหมายแสดงถึงลักษณะเฉพาะของนามขันธ์แต่ละอย่าง (ที.ม.ฏีกา. ๑๑๔/๑๒๓)
๕ อุทเทส หมายถึงคำอธิบายเกี่ยวกับนามขันธ์แต่ละอย่าง เช่น เป็นสิ่งที่ไม่ใช่รูป เป็นสิ่งที่รับรู้ได้ (ที.ม.ฏีกา.
๑๑๔/๑๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ก็ถ้าวิญญาณหยั่งลงในท้องมารดาแล้วล่วงเลยไป
นามรูปจักบังเกิดขึ้นเพื่อความเป็นอย่างนี้ได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ก็ถ้าวิญญาณเด็กชายหรือเด็กหญิงผู้เยาว์วัยจัก
ขาดความสืบต่อ นามรูปจักเจริญงอกงามไพบูลย์ได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งนามรูป ก็คือวิญญาณนั่นเอง
[๑๑๖] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย วิญญาณ
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่นามรูปเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้า
วิญญาณจักไม่ได้อาศัยนามรูป ชาติ ชรา มรณะ และความเกิดขึ้นแห่งทุกขสมุทัย
จะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งวิญญาณ ก็คือนามรูปนั่นเอง
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล วิญญาณและนามรูปจึงเกิด แก่ ตาย จุติหรืออุบัติ
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีคำที่เป็นเพียงชื่อ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีคำที่ใช้ตาม
ความหมาย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีคำบัญญัติ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีแต่สื่อ
ความเข้าใจ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ วัฏฏะจึงเป็นไป ความเป็นอย่างนี้ย่อมปรากฏ
โดยการบัญญัติ๑ คือ นามรูปย่อมเป็นไปพร้อมกับวิญญาณ เพราะต่างก็เป็นปัจจัย
ของกันและกัน

เชิงอรรถ :
๑ความเป็นอย่างนี้ย่อมปรากฏโดยการบัญญัติ หมายถึงขันธ์ ๕ เป็นเพียงชื่อที่บัญญัติขึ้น (ที.ม.อ. ๑๑๖/๑๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] บัญญัติอัตตา

บัญญัติอัตตา
[๑๑๗] อานนท์ บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตา ย่อมบัญญัติด้วยความเห็น
กี่อย่าง
บุคคล
๑. เมื่อจะบัญญัติอัตตาที่มีขนาดจำกัด มีรูป ย่อมบัญญัติว่า ‘อัตตา
ของเรามีขนาดจำกัด มีรูป’
๒. เมื่อจะบัญญัติอัตตามีขนาดไม่จำกัด มีรูป ย่อมบัญญัติว่า ‘อัตตา
ของเรามีขนาดไม่จำกัด มีรูป’
๓. เมื่อจะบัญญัติอัตตาที่มีขนาดจำกัด ไม่มีรูป ย่อมบัญญัติว่า ‘อัตตา
ของเรามีขนาดจำกัด ไม่มีรูป’
๔. เมื่อจะบัญญัติอัตตาที่มีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป ย่อมบัญญัติว่า
‘อัตตาของเรามีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป’
[๑๑๘] ในความเห็น ๔ อย่างนั้น บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตามีขนาดจำกัด
มีรูป ย่อมบัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะในชาตินี้ หรือบัญญัติว่าเป็นสภาพมีอยู่ตลอดกาล
หรือมีความเห็นว่า ‘เราจักทำอัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพ
เที่ยง’ อานนท์ การลงความเห็นว่า อัตตาที่มีอยู่ มีขนาดจำกัด มีรูป ย่อมติดตาม
มาด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้
บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตามีขนาดไม่จำกัด มีรูป ย่อมบัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะ
ในชาตินี้ หรือบัญญัติว่าเป็นสภาพมีอยู่ตลอดกาล หรือมีความเห็นว่า ‘เราจักทำ
อัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพเที่ยง’ อานนท์ การลงความเห็น
ว่าอัตตาที่มีอยู่ มีขนาดไม่จำกัด มีรูป ย่อมติดตามมาด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น
จึงควรกล่าวไว้
บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตามีขนาดจำกัด ไม่มีรูป ย่อมบัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะ
ในชาตินี้ หรือบัญญัติว่าเป็นสภาพมีอยู่ตลอดกาล หรือมีความเห็นว่า ‘เราจักทำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๗ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ไม่บัญญัตอัตตา
อัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพเที่ยง’ อานนท์ การลงความเห็น
ว่าอัตตาที่มีอยู่ มีขนาดจำกัด ไม่มีรูป ย่อมติดตามมาด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น
จึงควรกล่าวไว้
บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตามีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป ย่อมบัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะ
ในชาตินี้ หรือบัญญัติว่าเป็นสภาพมีอยู่ตลอดกาล หรือมีความเห็นว่า ‘เราจักทำ
อัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพเที่ยง’ อานนท์ การลงความ
เห็นว่าอัตตา ที่มีอยู่ มีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป ย่อมติดตามมาด้วยอาการอย่างนี้
ฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้
อานนท์ บุคคลเมื่อบัญญัติอัตตา ย่อมบัญญัติด้วยความเห็น ๔ อย่างนี้แล”
ไม่บัญญัติอัตตา
[๑๑๙] “อานนท์ บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตา ย่อมไม่บัญญัติด้วยความเห็น
กี่อย่าง
บุคคล
๑. เมื่อไม่บัญญัติอัตตาที่มีขนาดจำกัด มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่า
‘อัตตาของเรามีขนาดจำกัด มีรูป’
๒. เมื่อไม่บัญญัติอัตตามีขนาดไม่จำกัด มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่า
‘อัตตาของเรามีขนาดไม่จำกัด มีรูป’
๓. เมื่อไม่บัญญัติอัตตาที่มีขนาดจำกัด ไม่มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่า
‘อัตตาของเรามีขนาดจำกัด ไม่มีรูป’
๔. เมื่อไม่บัญญัติอัตตาที่มีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่า
‘อัตตาของเรา มีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป’
[๑๒๐] ในความเห็น ๔ อย่างนั้น บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตามีขนาดจำกัด
มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะในชาตินี้ หรือไม่บัญญัติว่าเป็นสภาพมีอยู่ตลอดกาล
หรือไม่มีความเห็นว่า ‘เราจักทำอัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๘ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ความเห็นว่าเป็นอัตตา
สภาพเที่ยง’ การลงความเห็นว่าอัตตาที่มีอยู่มีขนาดจำกัด มีรูป ย่อมไม่ติดตามมา
ด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้
บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตามีขนาดไม่จำกัด มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะ
ในชาตินี้ หรือไม่บัญญัติว่าเป็นสภาพที่มีอยู่ตลอดกาล หรือไม่มีความเห็นว่า ‘เราจัก
ทำอัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพเที่ยง’ การลงความเห็นว่า
อัตตาที่มีอยู่ มีขนาดไม่จำกัด มีรูป ย่อมไม่ติดตามมาด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น
จึงควรกล่าวไว้
บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตามีขนาดจำกัด ไม่มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะ
ในชาตินี้ หรือไม่บัญญัติว่าเป็นสภาพที่มีอยู่ตลอดกาล หรือไม่มีความเห็นว่า ‘เราจัก
ทำอัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพเที่ยง’ การลงความเห็นว่า
อัตตาที่มีอยู่มีขนาดจำกัดไม่มีรูป ย่อมไม่ติดตามมาด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น จึงควร
กล่าวไว้
บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตามีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะ
ในชาตินี้ หรือไม่บัญญัติว่าเป็นสภาพมีอยู่ตลอดกาล หรือไม่มีความเห็นว่า ‘เราจัก
ทำอัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพเที่ยง’ การลงความเห็นว่า
อัตตาที่มีอยู่ มีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป ย่อมไม่ติดตามมาด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น
จึงควรกล่าวไว้
อานนท์ บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตา ย่อมไม่บัญญัติด้วยความเห็น ๔ อย่างนี้แล”
ความเห็นว่าเป็นอัตตา
[๑๒๑] “อานนท์ บุคคลเมื่อเห็นว่ามีอัตตา ย่อมเห็นด้วยความเห็น กี่อย่าง
บุคคลเมื่อเห็นเวทนาว่าเป็นอัตตา ย่อมเห็นว่า ‘เวทนาเป็นอัตตาของเรา’
หรือเห็นว่า ‘เวทนาไม่ใช่อัตตาของเรา (เพราะ) อัตตาของเราไม่เสวยอารมณ์’ หรือ
เห็นว่า ‘เวทนาไม่ใช่อัตตาของเรา อัตตาของเราจะไม่เสวยอารมณ์ก็มิใช่ อัตตาของเรา
ยังเสวยอารมณ์อยู่ เพราะอัตตาของเรามีเวทนาเป็นคุณสมบัติ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๙ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ความเห็นว่าเป็นอัตตา
[๑๒๒] อานนท์ ในความเห็น ๓ อย่างนั้น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาเป็น
อัตตาของเรา’ เขาจะถูกซักถามว่า ‘ผู้มีอายุ เวทนามี ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา
ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา บรรดาเวทนา ๓ อย่างนี้ เธอเห็นเวทนาอย่าง
ไหนว่าเป็นอัตตา’
ในคราวที่อัตตาเสวยสุขเวทนา ก็ย่อมไม่เสวยทุกขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนา
คงเสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น ในคราวที่อัตตาเสวยทุกขเวทนา ก็ย่อมไม่เสวยสุข-
เวทนาและอทุกขมสุขเวทนา คงเสวยแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น ในคราวที่อัตตาเสวย
อทุกขมสุขเวทนา ก็ย่อมไม่เสวยสุขเวทนาและทุกขเวทนา คงเสวยแต่อทุกขมสุข-
เวทนาเท่านั้น
[๑๒๓] อานนท์ แม้สุขเวทนาก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุปัจจัยเกิด
มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา
มีความดับไปเป็นธรรมดา แม้ทุกขเวทนาก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุ
ปัจจัยเกิด มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไป
เป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา แม้อทุกขมสุขเวทนาก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัย
ปรุงแต่ง อาศัยเหตุปัจจัยเกิด มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็น
ธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา
เมื่อบุคคลเสวยสุขเวทนา ย่อมมีความเห็นว่า ‘นี้เป็นอัตตาของเรา’ เมื่อ
สุขเวทนานั้นดับ จึงมีความเห็นว่า ‘อัตตาของเราดับไปแล้ว’ เมื่อบุคคลเสวยทุกข-
เวทนา ย่อมมีความเห็นว่า ‘นี้เป็นอัตตาของเรา’ เมื่อทุกขเวทนานั้นดับ จึงมีความ
เห็นว่า ‘อัตตาของเราดับไปแล้ว’ เมื่อบุคคลเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมมีความ
เห็นว่า ‘นี้เป็นอัตตาของเรา’ เมื่ออทุกขมสุขเวทนานั้นดับ จึงมีความเห็นว่า ‘อัตตา
ของเราดับไปแล้ว’
ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาเป็นอัตตาของเรา’ เมื่อเห็นเวทนาว่าเป็นอัตตา
ย่อมเห็นอัตตา ไม่เที่ยง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา และมีความ
เสื่อมไปเป็นธรรมดา ในปัจจุบัน เพราะเหตุนั้นแล อานนท์ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
จึงยังไม่ควรที่จะเห็นว่า ‘เวทนาเป็นอัตตาของเรา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๐ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ความเห็นว่าเป็นอัตตา
[๑๒๔] อานนท์ ในความเห็น ๓ อย่างนั้น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาไม่ใช่
อัตตาของเรา (เพราะ) อัตตาของเราไม่เสวยอารมณ์’ เขาจะถูกซักถามว่า ‘ในรูปขันธ์
ซึ่งไม่มีการเสวยอารมณ์ จะมีความรู้สึกว่า ‘เป็นเรา’ เกิดขึ้นได้หรือไม่”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “เกิดขึ้นไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “เพราะเหตุนั้นแล อานนท์ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
จึงยังไม่ควรที่จะเห็นว่า เวทนาไม่ใช่อัตตาของเรา เพราะอัตตาของเราไม่เสวยอารมณ์
[๑๒๕] อานนท์ ในความเห็น ๓ อย่างนั้น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาไม่ใช่
อัตตาของเรา อัตตาของเราจะไม่เสวยอารมณ์ก็มิใช่ อัตตาของเรายังเสวย
อารมณ์อยู่ เพราะอัตตาของเรามีเวทนาเป็นคุณสมบัติ’ เขาจะถูกซักถามว่า ‘ผู้มี
อายุ ก็เพราะเวทนาจะต้องดับไปทั้งหมดทั้งสิ้นไม่มีเหลือ เมื่อไม่มีเวทนา เพราะ
เวทนาดับไป โดยประการทั้งปวงยังจะมีความรู้สึกว่า ‘เป็นเรา’ ได้หรือไม่
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “เพราะเหตุนั้นแล อานนท์ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
จึงยังไม่ควรที่จะเห็นว่า ‘เวทนาไม่ใช่อัตตาของเรา อัตตาของเราจะไม่เสวยอารมณ์
ก็มิใช่ อัตตาของเรายังเสวยอารมณ์อยู่ เพราะอัตตาของเรามีเวทนาเป็นคุณสมบัติ’
[๑๒๖] อานนท์ ภิกษุใดไม่เห็นเวทนาว่าเป็นอัตตา ไม่เห็นการเสวยอารมณ์
ว่าเป็นอัตตา และไม่เห็นว่า ‘อัตตาของเรายังต้องเสวยอารมณ์ เพราะว่าอัตตาของ
เรามีเวทนาเป็นคุณสมบัติ’ ภิกษุนั้นเมื่อเห็นอย่างนี้ย่อมไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก
และเมื่อไม่ถือมั่นย่อมไม่สะทกสะท้าน เมื่อไม่สะทกสะท้านย่อมดับได้เฉพาะตน๑
ย่อมรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจ
อื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
ผู้ใดกล่าวกับภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วดังกล่าวนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า
‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกหรือ’ การกล่าวของผู้นั้นไม่สมควร ผู้ใดกล่าว

เชิงอรรถ :
๑ ย่อมดับได้เฉพาะตน หมายถึงดับกิเลสได้ด้วยตนเอง (ที.ม.อ. ๑๒๖/๑๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] วิญญาณฐิติ ๗ ประการ
กับภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วดังกล่าวนั้น อย่างนี้ว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า ‘หลังจากตายแล้ว
ตถาคตไม่เกิดอีกหรือ’ การกล่าวของผู้นั้นก็ไม่สมควร ผู้ใดกล่าวกับภิกษุผู้มีจิต
หลุดพ้นแล้วดังกล่าวนั้น อย่างนี้ว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคต
เกิดอีกและไม่เกิดอีกหรือ’ การกล่าวของผู้นั้นก็ไม่สมควร ผู้ใดกล่าวกับภิกษุผู้มีจิต
หลุดพ้นแล้วดังกล่าวนั้น อย่างนี้ว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่า
เกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่หรือ’ การกล่าวของผู้นั้นก็ไม่สมควร
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะชื่อ คำที่เป็นเพียงชื่อ ความหมาย คำที่ใช้ตาม
ความหมาย บัญญัติ คำบัญญัติ ความเข้าใจ สื่อความเข้าใจ วัฏฏะยังเป็นไปอยู่
ตลอดกาลเพียงใด วัฏฏะย่อมหมุนไปตลอดกาลเพียงนั้น
ภิกษุชื่อว่าหลุดพ้นแล้วเพราะรู้ยิ่งวัฏฏะนั้น ผู้ใดกล่าวกับภิกษุผู้หลุดพ้นแล้ว
เพราะรู้ยิ่งวัฏฏะนั้นว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า ‘พระอรหันต์ย่อมไม่รู้ไม่เห็น’ การกล่าวของ
ผู้นั้นก็ไม่สมควร’
วิญญาณฐิติ ๗ ประการ
(ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ)
[๑๒๗] อานนท์ วิญญาณฐิติ๑ ๗ ประการ และอายตนะ ๒ ประการนี้
วิญญาณฐิติ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มีสัตว์ทั้งหลายผู้มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน คือ มนุษย์
เทพบางพวก๒ และวินิปาติกะบางพวก๓ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๓๒/๒๒๒-๒๒๓, ๓๕๗/๒๕๘-๒๕๙, องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๒๔/๔๘๑-๔๘๒
๒ เทพบางพวก หมายถึงพวกเทพในสวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ คือ (๑) ชั้นจาตุมหาราช (๒) ชั้นดาวดึงส์
(๓) ชั้นยามา (๔) ชั้นดุสิต (๕) ชั้นนิมมานรดี (๖) ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี (ที.ม.อ. ๑๒๗/๑๐๙)
๓ วินิปาติกะบางพวก ในที่นี้หมายถึงยักษิณีและเวมานิกเปรตที่พ้นจากอบายภูมิ ๔ (ที.ม.อ. ๑๒๗/๑๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] วิญญาณฐิติ ๗ ประการ
๒. มีสัตว์ทั้งหลายผู้มีกายต่างกัน แต่มีสัญญาอย่างเดียวกัน คือ
พวกเทพชั้นพรหมกายิกา๑เกิดในปฐมฌานและเหล่าสัตว์ผู้เกิดใน
อบาย ๔ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๒
๓. มีสัตว์ทั้งหลายผู้มีกายอย่างเดียวกัน แต่มีสัญญาต่างกัน คือ
พวกเทพชั้นอาภัสสระ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๓
๔. มีสัตว์ทั้งหลายผู้มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน คือ
พวกเทพชั้นสุภกิณหะ (เทพที่เต็มไปด้วยความงดงาม) นี้เป็น
วิญญาณฐิติที่ ๔
๕. มีสัตว์ทั้งหลายผู้บรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า
‘อากาศหาที่สุดมิได้’ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนด
นานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๕
๖. มีสัตว์ทั้งหลายผู้ล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุด
มิได้’ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๖
๗. มีสัตว์ทั้งหลายผู้ล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ นี้เป็น
วิญญาณฐิติที่ ๗
อายตนะ ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อสัญญีสัตตายตนะ (อายตนะของสัตว์ผู้ไม่มีสัญญา) นี้เป็นอายตนะ
ที่ ๑
๒. เนวสัญญานาสัญญายตนะ (อายตนะของสัตว์ผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มี
สัญญาก็มิใช่) นี้เป็นอายตนะที่ ๒

เชิงอรรถ :
๑พวกเทพชั้นพรหมกายิกา หมายถึงพรหมชั้นปฐมฌาน ๓ ชั้น คือ (๑) พรหมปาริสัชชา (พวกบริษัทบริวาร
มหาพรหม) (๒) พรหมปุโรหิตา (พวกปุโรหิตมหาพรหม) (๓) มหาพรหมา (พวกท้าวมหาพรหม) (ที.ม.อ.
๑๒๓/๑๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] วิญญาณฐิติ ๗ ประการ
[๑๒๘] อานนท์ ในวิญญาณฐิติ ๗ ประการนั้น วิญญาณฐิติที่ ๑ ว่า สัตว์
ทั้งหลายผู้มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน คือ มนุษย์บางพวก เทพบางพวกและ
วินิปาติกะบางพวก ผู้ที่รู้วิญญาณฐิตินั้น รู้ความเกิด รู้ความดับ รู้คุณ รู้โทษของ
วิญญาณฐิตินั้น และรู้อุบายสลัดออกจากวิญญาณฐิตินั้น เขาควรจะเพลิดเพลินใน
วิญญาณฐิตินั้นอยู่อีกหรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า”
ฯลฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ วิญญาณฐิติที่ ๗ ว่า สัตว์ทั้งหลายผู้ล่วง
วิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยประการ
ทั้งปวงโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร” ผู้ที่รู้วิญญาณฐิตินั้น รู้ความเกิด รู้ความดับ รู้คุณ
รู้โทษของวิญญาณฐิตินั้น และรู้อุบายสลัดออกจากวิญญาณฐิตินั้น เขาควรจะเพลิดเพลิน
ในวิญญาณฐิตินั้นอยู่อีกหรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ ในอายตนะ ๒ ประการนั้น อายตนะที่ ๑
คือ อสัญญีสัตตายตนะ ผู้ที่รู้อสัญญีสัตตายตนะนั้น รู้ความเกิด รู้ความดับ รู้คุณ
รู้โทษของอสัญญีสัตตายตนะนั้น และรู้อุบายสลัดออกจากอสัญญีสัตตายตนะนั้น
เขาควรจะเพลิดเพลินในอสัญญีสัตตายตนะนั้นอยู่อีกหรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ อายตนะที่ ๒ คือ เนวสัญญานาสัญญา-
ยตนะ ผู้ที่รู้เนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น รู้ความเกิด รู้ความดับ รู้คุณ รู้โทษของ
เนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น และรู้อุบายสลัดออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น
เขาควรจะเพลิดเพลินในเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้นอยู่อีกหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๔ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] วิโมกข์ ๘ ประการ
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ ภิกษุผู้รู้ถึงความเกิด ความดับ คุณ โทษ
ของวิญญาณฐิติ ๗ และอายตนะ ๒ และอุบายสลัดออกจากวิญญาณฐิติ ๗ และ
อายตนะ ๒ นี้ตามความเป็นจริง ย่อมหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น๑ภิกษุนี้เราเรียกว่า
ผู้เป็นปัญญาวิมุต๒
วิโมกข์ ๘ ประการ
[๑๒๙] อานนท์ วิโมกข์๓ ๘ ประการนี้
วิโมกข์ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มีรูป เห็นรูปทั้งหลาย๔ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๑
๒. บุคคลผู้มีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอก๕ นี้เป็น
วิโมกข์ประการที่ ๒
๓. บุคคลผู้น้อมใจไปว่า ‘งาม‘๖ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๓
๔. บุคคลบรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘อากาศ
หาที่สุดมิได้’ อยู่ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนด
นานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๔

เชิงอรรถ :
๑ หลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น หมายถึงไม่ถือมั่นในอุปาทาน ๔ คือ (๑) กามุปาทาน (ความถือมั่นในกาม)
(๒) ทิฏฐุปาทาน (ความถือมั่นในทิฏฐิ) (๓) สีลัพพตุปาทาน (ความถือมั่นในศีลพรต) (๔) อัตตวาทุปาทาน
(ความถือมั่นในวาทะว่ามีอัตตา) (ที.ม.อ. ๑๒๘/๑๑๒)
๒ ผู้เป็นปัญญาวิมุต หมายถึงหลุดพ้นด้วยกำลังปัญญา โดยไม่ได้บรรลุสมาธิชั้นสูงคือวิโมกข์ ๘ (ที.ม.ฏีกา
๑๒๘/๑๔๔)
๓ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๓๙/๒๓๑, ๓๕๘/๒๗๑-๒๗๒, ม.ม. ๑๓/๒๔๘/๒๒๓, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๖๖/๓๖๘-
๓๖๙
๔ มีรูป หมายถึงได้รูปฌานโดยเจริญกสิณที่กำหนดวัตถุในกายของตน เช่น สีผม เห็นรูปทั้งหลาย หมายถึง
เห็นรูปฌาน ๔ (ที.ม.อ. ๑๒๙/๑๑๒-๑๑๓)
๕ เห็นรูปทั้งหลายภายนอก หมายถึงเห็นรูปทั้งหลายมีนีลกสิณเป็นต้นด้วยญาณจักขุ (ที.ม.อ. ๑๒๙/๑๑๒-
๑๑๓)
๖ ผู้น้อมใจไปว่างาม หมายถึงผู้เจริญวัณณกสิณ กำหนดสีที่งาม (ที.ม.อ. ๑๒๙/๑๑๒-๑๑๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] วิโมกข์ ๘ ประการ
๕. บุคคลล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
วิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่
นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๕
๖. บุคคลล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
อากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ นี้เป็นวิโมกข์
ประการที่ ๖
๗. บุคคลล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๗
๘. บุคคลล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
สัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๘
อานนท์ วิโมกข์ ๘ ประการนี้แล
[๑๓๐] อานนท์ ภิกษุผู้เข้าวิโมกข์ ๘ ประการนี้ โดยอนุโลมบ้าง โดยปฏิโลมบ้าง
ทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลมบ้าง เข้าหรือออกได้ตามโอกาสที่ต้องการ ตามชนิด
สมาบัติที่ต้องการ และตามระยะเวลาที่ต้องการ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุนี้
เราเรียกว่า ผู้เป็นอุภโตภาควิมุต๑อานนท์ อุภโตภาควิมุตติอย่างอื่นที่ดีกว่าหรือประณีต
กว่าอุภโตภาควิมุตตินี้ ไม่มี”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาคแล้วแล
มหานิทานสูตรที่ ๒ จบ

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ว่าด้วยมหาปรินิพพาน

๓. มหาปรินิพพานสูตร

ว่าด้วยมหาปรินิพพาน
[๑๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น
พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร มีพระประสงค์จะเสด็จไป
ปราบแคว้นวัชชี รับสั่งว่า “เราจะโค่นล้มพวกวัชชีผู้มีฤทธิ์๑มากอย่างนี้ มีอานุภาพ๒
มากอย่างนี้ ให้พินาศย่อยยับ๓”
[๑๓๒] พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร รับสั่ง
เรียกวัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แคว้นมคธมาตรัสว่า “มาเถิด พราหมณ์ ท่านจง
ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้า แล้วทูลถาม
ถึงพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์
อยู่สำราญตามคำของเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนาม
ว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ขอกราบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร
ทูลถามถึงพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัย
สมบูรณ์ อยู่สำราญ’ และจงกราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชาแห่งแคว้น
มคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร มีพระประสงค์จะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี
มีรับสั่งอย่างนี้ว่า ‘เราจะโค่นล้มพวกวัชชีผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้
ให้พินาศย่อยยับ’ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านอย่างไร ท่านพึงจำคำ
พยากรณ์นั้นให้ดีแล้วมาบอกเรา เพราะว่าพระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ตรัสคำเท็จ๔”

เชิงอรรถ :
๑ ฤทธิ ในที่นี้หมายถึงความพร้อมเพรียงกัน (ที.ม.อ.๑๓๑/๑๑๕)
๒ อานุภาพ ในที่นี้หมายถึงการได้รับการศึกษาฝึกฝนศิลปะต่าง ๆ เช่น ศิลปะเรื่องช้าง (ที.ม.อ.๑๓๑/๑๑๕)
๓ ให้พินาศย่อยยับ ในที่นี้หมายถึงทำให้ไม่มี ให้ถึงความไม่เจริญ และให้ถึงความเสื่อมไปแห่งญาติ เป็นต้น
(ที.ม.อ.๑๓๑/๑๑๕)
๔ ดูเทียบ องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๒๒/๓๒-๓๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ราชอปริหานิยธรรม

วัสสการพราหมณ์
[๑๓๓] วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แคว้นมคธ ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ ขึ้นยานพาหนะคันงาม ๆ ออกจากกรุงราชคฤห์พร้อมด้วย
ยานพาหนะคันงาม ๆ ติดตามอีกหลายคันไปยังภูเขาคิชฌกูฏ จนสุดทางที่ยานพาหนะ
จะเข้าไปได้ ลงจากยานพาหนะเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน จึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่า
อชาตศัตรู เวเทหิบุตร ขอกราบพระยุคลบาทของพระโคดมด้วยพระเศียร ทูลถาม
ถึงพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์
อยู่สำราญ พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร มีพระประสงค์
จะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี มีรับสั่งอย่างนี้ว่า ‘เราจะโค่นล้มพวกวัชชีผู้มีฤทธิ์มาก
อย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ ให้พินาศย่อยยับ”
ราชอปริหานิยธรรม
[๑๓๔] สมัยนั้น ท่านพระอานนท์ยืนถวายงานพัดพระผู้มีพระภาคอยู่ ณ
เบื้องพระปฤษฎางค์ พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสถามว่า
๑. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุม
กันมากครั้ง”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า
‘พวกเจ้าวัชชีหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกันมากครั้ง”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญ
อย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
ประชุมกันมากครั้ง”
๒. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อม
เพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่พวกเจ้าวัชชีจะพึงทำ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีพร้อมเพรียงกัน
ประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่พวกเจ้าวัชชีจะพึงทำ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๘ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ราชอปริหานิยธรรม
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และ
พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พวกเจ้าวัชชีจะพึงทำ”
๓. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้
ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรมที่วางไว้เดิม๑”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้
บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรมที่วางไว้เดิม
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว
ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรมที่วางไว้เดิม”
๔. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชี สักการะ เคารพ นับถือ บูชา
เจ้าวัชชีผู้มีพระชนมายุมากของชาววัชชี และสำคัญถ้อยคำของท่านเหล่านั้นว่าเป็น
สิ่งควรรับฟัง”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชี สักการะ เคารพ
นับถือ บูชาเจ้าวัชชีผู้มีพระชนมายุมากของชาววัชชี และสำคัญถ้อยคำของท่านเหล่านั้น
ว่าเป็นสิ่งควรรับฟัง”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจ้าวัชชีผู้มีพระชนมายุมาก
ของชาววัชชี และสำคัญถ้อยคำของท่านเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งควรรับฟัง”
๕. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีไม่ฉุดคร่าขืนใจกุลสตรี หรือกุลกุมารี
ให้อยู่ร่วมด้วย”

เชิงอรรถ :
๑ วัชชีธรรมที่วางไว้เดิม หมายถึงประเพณีที่สืบต่อกันมานาน เช่น จับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นโจร ผู้จับจะไม่
สอบสวนเอง แต่จะส่งให้ฝ่ายสอบสวน ฝ่ายสอบสวนสืบสวนแล้วรู้ว่าไม่ใช่ก็ปล่อย ถ้ายังสงสัยก็ส่งต่อขึ้นไป
ตามลำดับชั้น บางกรณีอาจส่งถึงเสนาบดี บางกรณีอาจส่งถึงพระราชาเพื่อทรงวินิจฉัย (ที.ม.อ. ๑๓๔/๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ราชอปริหานิยธรรม
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีไม่ฉุดคร่าขืนใจ
กุลสตรี หรือกุลกุมารีให้อยู่ร่วมด้วย”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังไม่ฉุดคร่าขืนใจกุลสตรี หรือกุลกุมารีให้อยู่ร่วมด้วย”
๖. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชี สักการะ เคารพ นับถือ บูชา
เจดีย์ในแคว้นวัชชีของชาววัชชีทั้งในเมืองและนอกเมือง และไม่ละเลยการบูชาอัน
ชอบธรรมที่เคยให้เคยกระทำต่อเจดีย์เหล่านั้นให้เสื่อมสูญไป”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชี สักการะ เคารพ
นับถือ บูชาเจดีย์ในแคว้นวัชชีของชาววัชชีทั้งในเมืองและนอกเมือง และไม่ละเลย
การบูชาอันชอบธรรมที่เคยให้เคยกระทำต่อเจดีย์เหล่านั้นให้เสื่อมสูญไป”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ในแคว้นวัชชีของชาววัชชี
ทั้งในเมืองและนอกเมือง และไม่ละเลยการบูชาอันชอบธรรมที่เคยให้เคยกระทำต่อ
เจดีย์เหล่านั้นให้เสื่อมสูญไป”
๗. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีจัดการรักษา คุ้มครอง ป้องกัน
พระอรหันต์ทั้งหลายโดยชอบธรรมด้วยตั้งใจว่า ‘ทำอย่างไร พระอรหันต์ที่ยังไม่มา
พึงมาสู่แว่นแคว้นของเรา ท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุกในแว่นแคว้น”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีจัดการรักษา
คุ้มครอง ป้องกันพระอรหันต์ทั้งหลายโดยชอบธรรมด้วยตั้งใจว่า ‘ทำอย่างไร
พระอรหันต์ที่ยังไม่มา พึงมาสู่แว่นแคว้นของเรา ท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุกใน
แว่นแคว้น”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังจัดการรักษา คุ้มครอง ป้องกันพระอรหันต์ทั้งหลาย
โดยชอบธรรมด้วยตั้งใจว่า ‘ทำอย่างไร พระอรหันต์ที่ยังไม่มา พึงมาสู่แว่นแคว้น
ของเรา ท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุกในแว่นแคว้น”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๐ }

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม
[๑๓๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับวัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์
แคว้นมคธว่า “พราหมณ์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่สารันทเจดีย์ เขตกรุงเวสาลี ได้แสดง
อปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ แก่พวกเจ้าวัชชี พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญ
อย่างเดียวไม่มีความเสื่อมเลยตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗
ประการนี้อยู่และใส่ใจอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แคว้นมคธ
ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พวกเจ้าวัชชีมีอปริหานิยธรรมแม้เพียง
ข้อเดียวก็พึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวไม่มีความเสื่อมเลย ไม่จำต้องกล่าวว่า
มีครบทั้ง ๗ ประการ ข้าแต่ท่านพระโคดม พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่า
อชาตศัตรู เวเทหิบุตร ไม่ควรทำสงครามกับพวกเจ้าวัชชี นอกจากจะใช้วิธี
ปรองดองทางการทูต หรือไม่ก็ทำให้แตกสามัคคีกัน ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าอย่างนั้น
บัดนี้ ข้าพระองค์ขอทูลลากลับ เพราะมีกิจมาก มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
จากนั้น วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์แคว้นมคธมีใจยินดีชื่นชมพระดำรัส
ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่งจากไป
ภิกขุอปริหานิยธรรม๑
[๑๓๖] เมื่อวัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แคว้นมคธจากไปไม่นาน พระผู้มี
พระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอจงไปนิมนต์ภิกษุที่เข้า
มาพักอยู่ในกรุงราชคฤห์ทุกรูปให้มาประชุมกันที่หอฉัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว นิมนต์ภิกษุที่เข้ามาพักอยู่ในกรุง
ราชคฤห์ทุกรูปให้มาประชุมกันที่หอฉันแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๒๓-๒๗/๓๗-๔๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม
พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคจงกำหนดเวลาที่สมควร
ณ บัดนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงลุกจากพุทธอาสน์ เสด็จเข้าไปยังหอฉัน
ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
จงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี
พระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญ๑อย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกันมากครั้ง
๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิก
ประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะพึงทำ
๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังไม่บัญญัติสิ่งที่เรามิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่ง
ที่เราได้บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นตามสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้แล้ว
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุผู้เป็นเถระ
เป็นรัตตัญญู๒ บวชมานาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก และ
สำคัญถ้อยคำของท่านเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งควรรับฟัง

เชิงอรรถ :
๑ ความเจริญ ในที่นี้หมายถึงความเจริญด้วยคุณธรรมมีศีลเป็นต้น (ที.ม.อ. ๑๓๖/๑๒๖)
๒ เป็นเถระ ในที่นี้หมายถึงเป็นผู้มีความมั่นคง (ถิรภาวะ) ในพระศาสนา ไม่หวนคืนไปสู่เพศคฤหัสถ์อีก ประกอบ
ด้วยคุณธรรมที่ให้เป็นพระเถระคือศีลเป็นต้น รัตตัญญู เป็นตำแหน่งเอตทัคคะที่พระอัญญาโกณฑัญญะ
ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้ามีความหมายว่ารู้ราตรีนาน คือบวชรู้แจ้งธรรม และเป็นพระขีณาสพก่อน
พระสาวกทั้งหลาย (ที.ม.อ. ๑๓๖/๑๒๖, ที.ม.ฏีกา ๑๓๖/๑๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๒ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น