Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๑๑-๑ หน้า ๑ - ๔๙

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑-๑ สุตตันตปิฎกที่ ๐๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค



พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องเจ้าลิจฉวีนามว่าสุนักขัตตะ

พระสุตตันตปิฎก
ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. ปาฏิกสูตร
ว่าด้วยนักบวชเปลือยชื่อปาฏิกบุตร
เรื่องเจ้าลิจฉวีนามว่าสุนักขัตตะ
[๑] ข้าพเจ้า๑ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่นิคมของชาวมัลละชื่ออนุปิยะในแคว้น
มัลละ ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เสด็จ
เข้าไปยังอนุปิยนิคมเพื่อบิณฑบาต ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า “ยังเช้า
เกินไปที่จะเข้าไปยังอนุปิยนิคมเพื่อบิณฑบาต ทางที่ดี เราควรเข้าไปหาภัคควโคตร
ปริพาชกถึงอารามของเขา”
[๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาภัคควโคตรปริพาชกถึงอาราม
ของเขา ภัคควโคตรปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดเสด็จเข้ามาเถิด ขอรับเสด็จพระผู้มีพระภาค นาน ๆ
พระองค์จะมีเวลาเสด็จมา ณ ที่นี้ ขอพระผู้มีพระภาคประทับบนพุทธอาสน์ที่ปูลาด
ไว้แล้วเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ข้าพเจ้า ในตอนเริ่มต้นของพระสูตรนี้และพระสูตรอื่น ๆ ในเล่มนี้ หมายถึงพระอานนท์ (ที.สี.อ.
๑/๑/๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องเจ้าลิจฉวีนามว่าสุนักขัตตะ
พระผู้มีพระภาคประทับบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว
ฝ่ายภัคควโคตรปริพาชกก็เลือกนั่ง ณ ที่สมควรแห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งต่ำกว่า
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหลายวันมาแล้ว
สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร (โอรสของเจ้าลิจฉวี) ได้มาหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ ได้บอก
ข้าพระองค์ว่า ‘ท่านภัคควะ บัดนี้ ข้าพเจ้าบอกคืนพระผู้มีพระภาคแล้ว ข้าพเจ้า
ไม่อยู่อุทิศพระผู้มีพระภาค’ เรื่องที่สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร กล่าวแล้วนั้นเป็นจริงหรือ
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภัคควะ เรื่องที่สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร กล่าวแล้ว
นั่นเป็นจริง
[๓] เมื่อหลายวันมาแล้ว สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ได้เข้าไปหาเราถึงที่อยู่
ไหว้เรา แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้
ข้าพระองค์ขอบอกคืนพระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์จักไม่อยู่อุทิศพระผู้มีพระภาค’
เมื่อเขากล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกับสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ว่า ‘สุนักขัตตะ
เราได้กล่าวกับเธอบ้างหรือว่า ‘มาเถิด สุนักขัตตะ เธอจงอยู่อุทิศเรา’
‘หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า’
‘ก็หรือเธอได้กล่าวกับเราอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่
อุทิศพระผู้มีพระภาค’
‘หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า’
‘สุนักขัตตะ จริง ๆ แล้ว เราไม่ได้กล่าวกับเธอเลยว่า ‘มาเถิด สุนักขัตตะ
เธอจงอยู่อุทิศเรา’ ทั้งเธอก็ไม่ได้กล่าวกับเราเลยว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
จักอยู่อุทิศพระผู้มีพระภาค’ โมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเป็นใคร จะบอกคืนใคร
โมฆบุรุษ เธอจงดูเถิดว่า ‘การพูดเช่นนี้ เป็นความผิดของเธอมากเพียงไร’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องเจ้าลิจฉวีนามว่าสุนักขัตตะ
[๔] ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
อันเหนือธรรมดาของมนุษย์แก่ข้าพระองค์เลย’
‘สุนักขัตตะ เราได้กล่าวกับเธอบ้างหรือว่า ‘มาเถิด สุนักขัตตะ เธอจงอยู่
อุทิศเรา เราจักแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์แก่เธอ’
‘หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า’
‘หรือว่า เธอได้กล่าวกับเราอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่
อุทิศพระผู้มีพระภาค (ถ้า)พระผู้มีพระภาคจักแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดา
ของมนุษย์แก่ข้าพระองค์’
‘หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า’
‘สุนักขัตตะ จริง ๆ แล้ว เราไม่ได้กล่าวกับเธอเลยว่า ‘มาเถิด สุนักขัตตะ
เธอจงอยู่อุทิศเรา เราจักแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์แก่เธอ’
ทั้งเธอก็ไม่ได้กล่าวกับเราเลยว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่อุทิศพระ
ผู้มีพระภาค’ (ถ้า)พระผู้มีพระภาคจักแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของ
มนุษย์แก่ข้าพระองค์’ โมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเป็นใคร จะบอกคืนใคร สุนักขัตตะ
เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เราจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์
หรือไม่แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ก็ตาม ธรรมที่เราแสดงแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตามหรือ(ไม่)’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์จะทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดา
ของมนุษย์ หรือไม่แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ก็ตาม ธรรมที่
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม
พระพุทธเจ้าข้า’
‘สุนักขัตตะ จริง ๆ แล้ว เราจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์
หรือไม่แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ก็ตาม ธรรมที่เราแสดงแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม สุนักขัตตะ เมื่อเป็นเช่นนั้น
การที่เราแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์จะก่อผลอะไรได้เล่า โมฆ-
บุรุษ เธอจงดูเถิดว่า ‘การพูดเช่นนี้เป็นความผิดของเธอมากเพียงไร’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๓ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องเจ้าลิจฉวีนามว่าสุนักขัตตะ
[๕] ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคมิได้ประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิด
ของโลก๑ แก่ข้าพระองค์เลย’
‘สุนักขัตตะ เราได้กล่าวกับเธอบ้างหรือว่า ‘มาเถิด สุนักขัตตะ เธอจงอยู่
อุทิศเรา เราจักประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกแก่เธอ’
‘หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า’
‘สุนักขัตตะ ก็หรือเธอได้กล่าวกับเราอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
จักอยู่อุทิศพระผู้มีพระภาค (ถ้า)พระผู้มีพระภาคจักประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิด
ของโลกแก่ข้าพระองค์’
‘หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า’
‘สุนักขัตตะ จริง ๆ แล้ว เราไม่ได้กล่าวกับเธอเลยว่า ‘มาเถิด สุนักขัตตะ
เธอจงอยู่อุทิศเรา เราจักประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกแก่เธอ’ ทั้งเธอก็ไม่
ได้กล่าวกับเราเลยว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่อุทิศพระผู้มีพระภาค
(ถ้า)พระผู้มีพระภาคจักทรงประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกแก่ข้าพระองค์’
โมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเป็นใคร จะบอกคืนใคร สุนักขัตตะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่า
อย่างไร เราจะประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก หรือไม่ประกาศทฤษฎีว่าด้วย
ต้นกำเนิดของโลกก็ตาม ธรรมที่เราแสดงแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ
แก่ผู้กระทำตามหรือ(ไม่)’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์จะทรงประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก
หรือไม่ประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกก็ตาม ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม พระพุทธเจ้าข้า’

เชิงอรรถ :
๑ ทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ในที่นี้หมายถึงทฤษฎีที่กล่าวถึงการเกิดขึ้นของโลกว่า ‘นี้เป็นดินแดน
เริ่มต้นของโลก’ (ที.ปา.อ. ๕/๓, ที.ปา.ฏีกา ๕/๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]เรื่องเจ้าลิจฉวีนามว่าสุนักขัตตะ
สุนักขัตตะ จริง ๆ แล้ว เราจะประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก
หรือไม่ประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกก็ตาม ธรรมที่เราแสดงแล้วย่อม
เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่เราประกาศ
ทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก จักก่อผลอะไรได้เล่า โมฆบุรุษ เธอจงดูเถิดว่า
‘การพูดเช่นนี้เป็นความผิดของเธอมากเพียงไร’
[๖] สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญเราที่วัชชีคาม๑ด้วยเหตุผลหลายอย่างว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
โดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควร
ฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค๒’ สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญเราที่วัชชีคามด้วยเหตุผล
หลายอย่าง อย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ วัชชีคาม หมายถึงกรุงเวสาลีซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้าวัชชี (ที.ปา.อ. ๖/๓)
๒ พุทธคุณทั้ง ๙ บทนี้ แต่ละบทมีอรรถอเนกประการ คือ
๑. ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะห่างไกลจากกิเลส, เพราะกำจัดข้าศึกคือกิเลส, เพราะหักซี่กำแห่ง
สังสาระ คือการเวียนว่ายตายเกิด, เพราะเป็นผู้ควรรับไทยธรรม, เพราะไม่ทำบาปในที่ลับ
๒. ชื่อว่าตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพราะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและด้วยพระองค์เอง
๓. ชื่อว่าเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ วิชชา ได้แก่ วิชชา ๓ และวิชชา ๘ ดังนี้ วิชชา ๓ คือ
(๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความหยั่งรู้ที่ทำให้ระลึกชาติได้ (๒) จุตูปปาตญาณ ความหยั่งรู้จุติ(ตาย) และ
อุบัติ(เกิด) ของสัตว์ (๓) อาสวักขยญาณ ความหยั่งรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ วิชชา ๘ คือ (๑) วิปัสสนาญาณ
ญาณที่เป็นตัววิปัสสนา (๒) มโนมยิทธิ มีฤทธิ์ทางใจ (๓) อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ (๔) ทิพพโสต
หูทิพย์ (๕) เจโตปริยญาณ ปรีชากำหนดรู้จิตผู้อื่นได้ (๖) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความหยั่งรู้ที่ทำให้ระลึก
ชาติได้ (๗) ทิพพจักขุ ตาทิพย์ หรือเรียกว่าจุตูปปาตญาณ (๘) อาสวักขยญาณ ความหยั่งรู้ที่ทำให้สิ้น
อาสวะ จรณะ ๑๕ คือ (๑) สีลสัมปทา ความถึงพร้อมแห่งศีล (๒) อินทรียสังวร การสำรวมอินทรีย์
(๓) โภชเนมัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณในการบริโภค (๔) ชาคริยานุโยค การหมั่นประกอบความเพียร
เป็นเครื่องตื่น (๕) มีศรัทธา (๖) มีหิริ (๗) มีโอตตัปปะ (๘) เป็นพหูสูต (๙) วิริยารัมภะ ปรารภความเพียร
(๑๐) มีสติมั่นคง (๑๑) มีปัญญา (๑๒) ปฐมฌาน (๑๓) ทุติยฌาน (๑๔) ตติยฌาน (๑๕) จตุตถฌาน
๔. ชื่อว่าเสด็จไปดี เพราะทรงดำเนินรุดหน้าไปไม่หวนกลับคืนมาหากิเลสที่ทรงละได้แล้ว และยังมี
อรรถว่า ตรัสไว้ดี เพราะทรงกล่าวคำที่ควรในฐานะที่ควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องเจ้าลิจฉวีนามว่าสุนักขัตตะ
สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญพระธรรมที่วัชชีคามด้วยเหตุผลหลายอย่าง
ว่า ‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วย
ตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล๑ ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชน
พึงรู้เฉพาะตน’ สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญพระธรรมที่วัชชีคามด้วยเหตุผล
หลายอย่าง อย่างนี้แล
สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญพระสงฆ์ที่วัชชีคามด้วยเหตุผลหลายอย่าง
ว่า ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกทาง
ปฏิบัติสมควร ได้แก่ อริยบุคคล ๔ คู่ ๘ บุคคล พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้
เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การ
ทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญ
พระสงฆ์ที่วัชชีคามด้วยเหตุผลหลายอย่าง อย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๕. ชื่อว่ารู้แจ้งโลก เพราะทรงรู้แจ้งโลก เหตุเกิดโลก ความดับโลก วิธีปฏิบัติให้ลุถึงความดับโลก
(ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) และทรงรู้แจ้งโลกทั้ง ๓ คือ สังขารโลก สัตวโลก โอกาสโลก
๖. ชื่อว่าสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะทรงฝึกฝนคนที่ควรฝึกฝน ทั้งเทวดา มนุษย์
อมนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน ด้วยอุบายต่าง ๆ
๗. ชื่อว่าเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะทรงสั่งสอนทั้งเทวดาและมนุษย์ด้วย
ประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า ผู้ปฏิบัติตามแล้วสำเร็จมรรคผลในโลกนี้บ้าง จุติไปเกิดในสวรรค์
กลับมาฟังธรรมแล้วสำเร็จมรรคผลบ้าง ทรงช่วยเหลือหมู่สัตว์ให้พ้นความกันดาร คือความเกิด
๘. ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดด้วยพระองค์เอง แล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม
๙. ชื่อว่าเป็นพระผู้มีพระภาคเพราะ(๑)ทรงมีโชค(๒)ทรงทำลายข้าศึกคือกิเลส(๓)ทรงประกอบด้วย
ภคธรรม ๖ ประการ (คือ ความเป็นใหญ่เหนือจิตของตน, โลกุตตรธรรม, ยศ, สิริ, ความสำเร็จประโยชน์
ตามต้องการ และความเพียร) (๔) ทรงจำแนกแจกแจงธรรม (๕) ทรงเสพอริยธรรม (๖) ทรงคลายตัณหา
ในภพทั้ง ๓ (๗) ทรงเป็นที่เคารพของชาวโลก (๘) ทรงอบรมพระองค์ดีแล้ว (๙) ทรงมีส่วนแห่งปัจจัย ๔
เป็นต้น (วิ.อ. ๑/๑/๑๐๓-๑๑๘)
อนึ่ง พระพุทธคุณนี้ ท่านแบ่งเป็น ๑๐ ประการ โดยแยกข้อ ๖ เป็น ๒ ประการ คือ (๑) เป็นผู้
ยอดเยี่ยม (๒) เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ (วิสุทฺธิ. ๑/๒๖๕, วิ.อ. ๑/๑๑๒-๑๑๓)
๑ ไม่ประกอบด้วยกาล หมายถึงให้ผลไม่จำกัดกาล คือไม่ขึ้นกับกาลเวลา ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทุกเวลาทุกโอกาส
บรรลุเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้น (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๔/๑๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องนักบวชเปลือยชื่อโกรักขัตติยะ
สุนักขัตตะ เราขอบอกเธอ เราขอเตือนเธอ จักมีผู้ด่าว่าเธอได้ว่า ‘สุนักขัตตะ
ลิจฉวีบุตร ไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมได้ เมื่อไม่สามารถ
ประพฤติได้ ได้บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์’ สุนักขัตตะ จักมีผู้ด่าว่าเธอ
อย่างนี้แล ภัคควะ สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เมื่อถูกเราว่ากล่าวอย่างนี้ ได้หนีไปจาก
ธรรมวินัยนี้แล้ว เหมือนผู้ควรเกิดในอบายกลับไปตกนรก ฉะนั้น
เรื่องนักบวชเปลือยชื่อโกรักขัตติยะ
[๗] ภัคควะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่นิคมของชาวถูลู ชื่ออุตตรกา ในชุมชนชาวถูลู
ครั้นในเวลาเช้า เราครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร มีสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เป็น
ปัจฉาสมณะ๑ เข้าไปยังอุตตรกานิคมเพื่อบิณฑบาต สมัยนั้น มีนักบวชเปลือย
ชื่อโกรักขัตติยะ ประพฤติอย่างสุนัข คือ คลานไปด้วยข้อศอกและเข่ากินอาหาร
ที่กองบนพื้นดินด้วยปาก สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ได้เห็นเขาแล้ว จึงได้มีความคิด
ดังนี้ว่า ‘สมณะคลานไปด้วยข้อศอกและเข่า กินอาหารที่กองบนพื้นดินด้วยปาก
เป็นพระอรหันต์ชั้นดี’
ครั้งนั้น เราได้รู้ความรำพึงของสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ด้วยใจ จึงกล่าวกับ
สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ว่า ‘โมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอก็ยังปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ
ศากยบุตรอยู่หรือ’
เขาได้กล่าวว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฉนพระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียก
ข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘โมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอก็ยังปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะศากย-
บุตรอยู่หรือ’
‘สุนักขัตตะ เธอได้เห็นนักบวชเปลือยโกรักขัตติยะนี้ ผู้ประพฤติอย่างสุนัข
คลานไปด้วยข้อศอกและเข่า กินอาหารที่กองบนพื้นดินด้วยปากแล้ว ได้มีความคิด

เชิงอรรถ :
๑ ปัจฉาสมณะ หมายถึงพระติดตาม คือ คอยติดตามรับใช้ (ขุ.อุ.อ. ๗๗/๔๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องนักบวชเปลือยชื่อโกรักขัตติยะ
ดังนี้ว่า ‘สมณะที่คลานไปด้วยข้อศอกและเข่า กินอาหารที่กองบนพื้นดินด้วยปาก
เป็นพระอรหันต์ชั้นดี’ มิใช่หรือ’
‘ใช่ พระพุทธเจ้าข้า ก็พระผู้มีพระภาคยังทรงหวงความเป็นพระอรหันต์อยู่หรือ’
‘โมฆบุรุษ เรามิได้หวงความเป็นพระอรหันต์เลย แต่เธอได้เกิดความเห็นชั่ว
นี้ขึ้น เธอจงละความเห็นชั่วนั้นเสีย ความเห็นชั่วนั้นอย่าได้มีเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์
แก่เธอตลอดกาลนานเลย สุนักขัตตะ นักบวชเปลือยโกรักขัตติยะ ที่เธอเข้าใจว่าเป็น
สมณะผู้เป็นพระอรหันต์ชั้นดีนั้น อีก ๗ วัน จักตายด้วยโรคอลสกะ๑ แล้วจักไปเกิด
ในหมู่อสูรชื่อกาลกัญชิกา๒ ซึ่งต่ำต้อยกว่าหมู่อสูรทุกประเภท และคนจักนำศพนั้น
ไปทิ้งที่ป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะ ถ้าเธอประสงค์จะรู้ พึงเข้าไปหานักบวชเปลือยโกรัก-
ขัตติยะแล้วถามว่า ‘ท่านโกรักขัตติยะ ท่านทราบคติของตนหรือ’ เป็นไปได้ที่เขาจัก
ตอบว่า ‘ท่านสุนักขัตตะ เราทราบคติของเรา คือจะไปเกิดในหมู่อสูรชื่อกาลกัญชิกา
ซึ่งต่ำต้อยกว่าหมู่อสูรทุกประเภท’
ภัคควะ ครั้งนั้น สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ได้เข้าไปหานักบวชเปลือยโกรักขัตติยะ
ถึงที่อยู่ แล้วได้พูดกับนักบวชเปลือยโกรักขัตติยะดังนี้ว่า ‘ท่านโกรักขัตติยะ พระ
สมณโคดมพยากรณ์ว่า’ อีก ๗ วัน โกรักขัตติยะจักตายด้วยโรคอลสกะ แล้วจักไป
เกิดในหมู่อสูรชื่อกาลกัญชิกา ซึ่งต่ำต้อยกว่าหมู่อสูรทุกประเภท และคนจักนำ
ศพนั้นไปทิ้งที่ป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะ’ ท่านโกรักขัตติยะควรกินอาหารแต่พอสมควร
และดื่มน้ำแต่พอสมควร เพื่อทำให้คำพูดของพระสมณโคดมผิดไป’
[๘] ภัคควะ ตอนนั้น สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ไม่เชื่อตถาคต จึงนับวันและคืน
ตลอด ๗ วัน โดยเริ่มจากวันที่ล่วงไป ๑ วัน ๒ วัน ต่อมา ถึงวันที่ ๗ นักบวชเปลือย

เชิงอรรถ :
๑ โรคอลสกะ หมายถึงโรคที่เกิดจากอาหารไม่ย่อย ได้แก่ ท้องอืด ท้องเฟ้อ (ที.ปา.ฏีกา ๗/๕)
๒ อสูรชื่อกาลกัญชิกา หมายถึงอสูรที่มีตัวสูง ๓ คาวุต มีเนื้อและโลหิตน้อย มีตาติดบนศีรษะคล้ายตาปู
มีปากเท่ารูเข็มบนศีรษะ ก้มตัวลงกินอาหารด้วยปากเล็ก ๆ นั้น (ที.ปา.อ. ๗/๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องนักบวชเปลือยชื่อโกรักขัตติยะ
โกรักขัตติยะได้ตายด้วยโรคอลสกะ แล้วไปเกิดในหมู่อสูรชื่อกาลกัญชิกา ซึ่งต่ำต้อย
กว่าหมู่อสูรทุกประเภท และคนนำศพนั้นไปทิ้งที่ป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะ
[๙] ภัคควะ สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ได้ฟังข่าวว่า ‘นักบวชเปลือยโกรักขัตติยะ
ตายด้วยโรคอลสกะ ถูกเขานำไปทิ้งไว้ที่ป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะ’ จึงเข้าไปหาศพนัก
บวชเปลือยโกรักขัตติยะถึงป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะแล้ว ใช้มือตบศพนักบวชเปลือย
โกรักขัตติยะ ๓ ครั้ง ถามว่า ‘ท่านโกรักขัตติยะ ท่านทราบคติของท่านหรือ’
ขณะนั้น ศพนักบวชเปลือยโกรักขัตติยะลุกขึ้นยืน เอามือลูบหลัง(ของเขา)แล้วตอบว่า
‘ท่านสุนักขัตตะ เราทราบคติของเรา เราไปเกิดในหมู่อสูรชื่อกาลกัญชิกา ซึ่งต่ำต้อย
กว่าหมู่อสูรทุกประเภท’ แล้วล้มลงนอนหงายอยู่ ณ ที่นั้นเอง
[๑๐] ภัคควะ ครั้งนั้น สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เข้าไปหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เรา
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร เราได้กล่าวกับสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ดังนี้ว่า ‘สุนักขัตตะ
เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เราปรารภนักบวชเปลือยโกรักขัตติยะแล้วพยากรณ์แก่เธอ
ไว้อย่างไร ผลของการพยากรณ์เป็นอย่างนั้นหรือ หรือว่าเป็นอย่างอื่น’
สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ตอบว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรง
ปรารภนักบวชเปลือยโกรักขัตติยะแล้วพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ไว้อย่างไร ผลของการ
พยากรณ์เป็นอย่างนั้น๑ มิได้เป็นอย่างอื่นเลย’
‘สุนักขัตตะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนั้น เราได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์
อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ หรือยังไม่ได้แสดง’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อัน
เหนือธรรมดาของมนุษย์แล้วแน่นอน มิใช่ไม่ได้ทรงแสดง’

เชิงอรรถ :
๑ ผลของการพยากรณ์เป็นอย่างนั้น หมายถึงผลการพยากรณ์ที่เป็นอิทธิปาฏิหาริย์ ๕ ประการ ที่พระผู้มี
พระภาคตรัสไว้เป็นจริงทุกอย่าง คือ นักบวชเปลือยโกรักขัตติยะ (๑) ตายในวันที่ ๗ ก็เป็นจริง (๒) ตาย
ด้วยโรคอลสกะ ก็เป็นจริง (๓) ไปเกิดในหมู่อสูรชื่อกาลกัญชิกา ก็เป็นจริง (๔) ถูกเขานำไปทิ้งที่ป่าช้าชื่อ
วีรณัตถัมภกะ ก็เป็นจริง (๕) หลังจากที่ตนเกิดเป็นอสูรแล้วได้พูดกับสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ก็เป็นจริง
(ที.ปา.อ. ๑๐/๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องนักบวชเปลือยชื่อกฬารมัชฌกะ
‘โมฆบุรุษ ถึงอย่างนี้ เธอยังจะกล่าวกับเราผู้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือ
ธรรมดาของมนุษย์ว่า ‘พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดา
ของมนุษย์แก่ข้าพระองค์’ อยู่อีกหรือ เธอจงดูเถิดว่า ‘การพูดเช่นนี้เป็นความผิด
ของเธอมากเพียงไร’ ภัคควะ สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เมื่อถูกเราว่ากล่าวอย่างนี้
ได้หนีไปจากธรรมวินัยนี้แล้ว เหมือนผู้ควรเกิดในอบายกลับไปตกนรก ฉะนั้น
เรื่องนักบวชเปลือยชื่อกฬารมัชฌกะ
[๑๑] ภัคควะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี
ขณะนั้น นักบวชเปลือยชื่อกฬารมัชฌกะอยู่ที่วัชชีคาม เขตกรุงเวสาลี ถึงความเป็นผู้
เลิศด้วยลาภ๑และถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ๒ เขาถือสมาทานวัตรบท ๗ ประการ คือ
๑. เราพึงเป็นคนเปลือย ไม่นุ่งห่มผ้าตลอดชีวิต
๒. เราพึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เสพเมถุนตลอดชีวิต
๓. เราพึงดำรงชีพด้วยสุราและเนื้อสัตว์ ไม่กินข้าวและขนมกุมมาส
(ขนมสด) ตลอดชีวิต
๔. เราไม่พึงล่วงเกินอุเทนเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งกรุงเวสาลี
๕. เราไม่พึงล่วงเกินโคตมกเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้แห่งกรุงเวสาลี
๖. เราไม่พึงล่วงเกินสัตตัมพเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกแห่งกรุงเวสาลี
๗. เราไม่พึงล่วงเกินพหุปุตตกเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือแห่งกรุงเวสาลี
ดังนี้
เพราะการสมาทานวัตรบทครบ ๗ ประการนี้ เขาจึงถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ
และถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศที่วัชชีคาม

เชิงอรรถ :
๑ ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ หมายถึงได้รับการนับถือว่าเป็นสมณะชั้นดี จึงได้รับของถวายแต่ที่ดี ๆ (ที.ปา.
ฏีกา ๑๑/๗)
๒ ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ หมายถึงมีนักบวชเปลือยจำนวนมากห้อมล้อมและมีคฤหัสถ์ผู้มั่งคั่งมาเยี่ยมเยือน
อยู่เป็นประจำ (ที.ปา.ฏีกา ๑๑/๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องนักบวชเปลือยชื่อกฬารมัชฌกะ
[๑๒] ภัคควะ ครั้งนั้น สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เข้าไปหานักบวชเปลือย
กฬารมัชฌกะถึงที่อยู่แล้วถามปัญหา เขาถูกถามปัญหาแล้วไม่สามารถตอบปัญหา
ของสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตรนั้นให้ถูกต้องได้ จึงแสดงความโกรธ ความขัดเคือง
และความไม่แช่มชื่นให้ปรากฏ ขณะนั้น สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ได้มีความคิด
ดังนี้ว่า ‘เราได้รุกรานสมณะผู้เป็นพระอรหันต์ชั้นดีแล้ว ขอความผิดนั้นอย่าได้มีเพื่อ
ไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เราตลอดกาลนานเลย’
[๑๓] ครั้งนั้น สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตรได้เข้าไปหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร
เราได้กล่าวกับสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ดังนี้ว่า ‘โมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอ ก็ยัง
ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะศากยบุตรอยู่หรือ’
เขาได้กล่าวว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฉนพระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียก
ข้าพระองค์อย่างนี้ว่า โมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอ ก็ยังปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ
ศากยบุตรอยู่หรือ’
‘สุนักขัตตะ เธอเข้าไปหานักบวชเปลือยกฬารมัชฌกะแล้วถามปัญหา เขา
ถูกถามปัญหาแล้วไม่สามารถตอบปัญหาของเธอให้ถูกต้องได้ จึงแสดงความโกรธ
ความขัดเคือง และความไม่แช่มชื่นให้ปรากฏ เธอจึงได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘เราได้
รุกรานสมณะผู้เป็นพระอรหันต์ชั้นดีแล้ว ขอความผิดนั้นอย่าได้มีเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อ
ทุกข์แก่เราตลอดกาลนานเลย’ มิใช่หรือ’
‘ใช่ พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคก็ยังหวงความเป็นพระอรหันต์อยู่หรือ’
‘โมฆบุรุษ เรามิได้หวงความเป็นพระอรหันต์เลย แต่เธอได้เกิดความเห็นชั่วนี้ขึ้น
เธอจงละความเห็นชั่วนั้นเสีย ความเห็นชั่วนั้นอย่าได้มีเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เธอ
ตลอดกาลนานเลย สุนักขัตตะ นักบวชเปลือยกฬารมัชฌกะที่เธอเข้าใจว่าเป็นสมณะ
ผู้เป็นพระอรหันต์ชั้นดีนั้น อีกไม่นาน เขาก็จะกลับนุ่งห่มผ้า มีภรรยา กินข้าวและ
ขนมกุมมาส ล่วงเกินเจดีย์ที่มีอยู่ในกรุงเวสาลีทั้งหมด กลายเป็นคนเสื่อมยศ
แล้วจักตายไป’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องนักบวชเปลือยชื่อกฬารมัชฌกะ
ภัคควะ ต่อมาไม่นาน นักบวชเปลือยกฬารมัชฌกะ ก็กลับนุ่งห่มผ้า มีภรรยา
กินข้าวและขนมกุมมาส ล่วงเกินเจดีย์ที่มีอยู่ในกรุงเวสาลีทั้งหมด กลายเป็นคน
เสื่อมยศแล้วตายไป
[๑๔] ภัคควะ สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ได้ฟังข่าวว่า ‘นักบวชเปลือยกฬาร-
มัชฌกะ กลับนุ่งห่มผ้า มีภรรยา กินข้าวและขนมกุมมาส ล่วงเกินเจดีย์ที่มีอยู่ใน
กรุงเวสาลีทั้งหมด เสื่อมจากยศแล้วตายไป’ จึงเข้าไปหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร เราจึงกล่าวกับสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ว่า ‘สุนักขัตตะ เธอเข้าใจ
เรื่องนั้นว่าอย่างไร เราปรารภนักบวชเปลือยกฬารมัชฌกะแล้วพยากรณ์แก่เธอไว้
อย่างไร ผลของการพยากรณ์เป็นอย่างนั้นหรือ หรือว่าเป็นอย่างอื่น’
สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ตอบว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรง
ปรารภนักบวชเปลือยกฬารมัชฌกะ แล้วพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ไว้อย่างไร ผลของ
การพยากรณ์เป็นอย่างนั้น มิได้เป็นอย่างอื่นเลย’
‘สุนักขัตตะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนั้น เราได้แสดง
อิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์แล้ว หรือยังไม่ได้แสดง’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือ
ธรรมดาของมนุษย์แล้วแน่นอน มิใช่ไม่ได้ทรงแสดง’
‘โมฆบุรุษ ถึงอย่างนี้ เธอยังจะกล่าวกับเราผู้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือ
ธรรมดาของมนุษย์ว่า ‘พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือ
ธรรมดาของมนุษย์แก่ข้าพระองค์’ อยู่อีกหรือ เธอจงดูเถิดว่า ‘การพูดเช่นนี้เป็น
ความผิดของเธอมากเพียงไร’ ภัคควะ สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เมื่อถูกเราว่ากล่าวอย่างนี้
ได้หนีไปจากธรรมวินัยนี้แล้ว เหมือนผู้ควรเกิดในอบายกลับไปตกนรก ฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องนักบวชเปลือยชื่อปาฎิกบุตร

เรื่องนักบวชเปลือยชื่อปาฏิกบุตร
[๑๕] ภัคควะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตกรุง
เวสาลีนั้น สมัยนั้น นักบวชเปลือยชื่อปาฏิกบุตรอาศัยอยู่ที่วัชชีคาม เขตกรุง
เวสาลี ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภและถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ เขาชอบพูดอวด
ในบริษัท ในกรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นญาณวาท เราก็เป็น
ญาณวาท๑ด้วย ผู้เป็นญาณวาทควรจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของ
มนุษย์กับผู้เป็นญาณวาทด้วยกัน ขอให้พระสมณโคดมเสด็จมาครึ่งทาง แม้เราก็จะ
ไปครึ่งทาง ณ ที่พบกันนั้น เราทั้งสองพึงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดา
ของมนุษย์ด้วยกัน ถ้าพระสมณโคดมจักทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดา
ของมนุษย์ ๑ อย่าง เราจักแสดง ๒ อย่าง ถ้าพระสมณโคดมจักทรงแสดงอิทธิ-
ปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ ๒ อย่าง เราจักแสดง ๔ อย่าง ถ้าพระ
สมณโคดมจักทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ ๔ อย่าง เรา
จักแสดง ๘ อย่าง พระสมณโคดมจักทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของ
มนุษย์มากเท่าใด ๆ ก็ตาม เราจักแสดงให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณ’
[๑๖] ภัคควะ สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เข้าไปหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วนั่ง ณ
ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
อาศัยอยู่ที่วัชชีคาม เขตกรุงเวสาลี ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภและถึงความเป็นผู้
เลิศด้วยยศ เขาชอบพูดอวดในบริษัท ในกรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็น
ญาณวาท เราก็เป็นญาณวาทด้วย ผู้เป็นญาณวาทควรจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
อันเหนือธรรมดาของมนุษย์กับผู้เป็นญาณวาทด้วยกัน ขอให้พระสมณโคดมเสด็จมา
ครึ่งทาง แม้เราก็จะไปครึ่งทาง ณ ที่พบกันนั้น เราทั้งสองพึงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ด้วยกัน ถ้าพระสมณโคดมจักทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ ๑ อย่าง เราจักแสดง ๒ อย่าง ถ้าพระสมณโคดม

เชิงอรรถ :
๑ ญาณวาท ในที่นี้หมายถึงลัทธิที่เข้าใจว่าตนรู้สัพพัญญุตญาณ และกล่าวอ้างเรื่องสัพพัญญุตญาณว่า
“เรารู้ทุกสิ่ง” (ที.ปา.อ. ๑๕/๙, ที.ปา.ฏีกา ๑๕/๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องนักบวชเปลือยชื่อปาฎิกบุตร
จักทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ ๒ อย่าง เราจักแสดง ๔ อย่าง
ถ้าพระสมณโคดมจักทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ ๔ อย่าง
เราจักแสดง ๘ อย่าง พระสมณโคดมจักทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดา
ของมนุษย์มากเท่าใด ๆ ก็ตาม เราจักแสดงให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณ’
ภัคควะ เมื่อสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร กล่าวอย่างนี้ เราได้กล่าวกับสุนักขัตตะ
ลิจฉวีบุตร ดังนี้ว่า ‘สุนักขัตตะ ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่ละวาจา ไม่ละ
ความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้ แม้เขาจะคิด
อย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไป
เผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’
[๑๗] ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรักษาพระวาจา
นั้นเถิด ขอพระสุคตจงทรงรักษาพระวาจานั้นเถิด’
‘สุนักขัตตะ ก็ไฉนเธอจึงกล่าวกับเราอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรักษาพระวาจานั้นเถิด ขอพระสุคตจงทรงรักษาพระวาจา
นั้นเถิด’ ดังนี้เล่า’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคตรัสวาจานี้โดยนัยเดียวว่า ‘ถ้านักบวช
เปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็ไม่อาจ
ที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้ แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด
ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไปเผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะ
พึงแตกแน่’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรอาจแปลงรูปมาเผชิญ
หน้ากับพระผู้มีพระภาคก็ได้ ในตอนนั้นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคก็จะเป็นเท็จ’
[๑๘] ‘สุนักขัตตะ ตถาคตเคยกล่าววาจาที่เป็น ๒ นัยบ้างไหม’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดรู้ใจของนักบวชเปลือย
ปาฏิกบุตรด้วยพระทัยว่า ‘ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด
ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้ แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า
‘ถึงเรายังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไปเผชิญหน้ากับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องนักบวชเปลือยชื่อปาฎิกบุตร
พระสมณโคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่หรือ’ หรือว่าเหล่าเทวดาก็ได้
กราบทูลความข้อนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้านักบวชเปลือย
ปาฏิกบุตรยังไม่ละวาจา ฯลฯ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’
[๑๙] ‘สุนักขัตตะ เรากำหนดรู้ใจของนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรด้วยใจของเรา
ว่า ‘ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตรยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น
ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้’ แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเราจะไม่ละวาจา
ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไปเผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้
ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’ และเหล่าเทวดาก็ได้บอกความข้อนี้แก่เราว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตรไม่ละวาจา ฯลฯ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’
แม้เสนาบดีของเจ้าลิจฉวีชื่ออชิตะ ซึ่งได้ถึงแก่อนิจกรรมไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ไปเกิด
ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ ก็ได้เข้ามาบอกเราอย่างนี้ว่า ‘นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรเป็น
คนไม่ละอาย เป็นคนพูดเท็จ ทั้งได้พยากรณ์ข้าพระองค์ที่วัชชีคามว่า ‘เสนาบดีของ
เจ้าลิจฉวีชื่ออชิตะไปเกิดในมหานรก’ ข้าพระองค์มิได้ไปเกิดในมหานรก แต่ไปเกิด
ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรเป็นคน
ไม่ละอาย เป็นคนพูดเท็จ ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตรยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด
ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับพระผู้มีพระภาคได้ แม้เขาจะคิด
อย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไปเผชิญ
หน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’
แม้เพราะเหตุนี้แล เรากำหนดรู้ใจของนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรด้วยใจของเรา
ว่า ‘ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตรยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น
ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้’ แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละวาจา
ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไปเผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้
ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่ และเหล่าเทวดาก็ได้บอกความข้อนี้แก่เราว่า ‘ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตรยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัด
ความเห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับพระผู้มีพระภาคได้ แม้เขาจะคิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์
อย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไป
เผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’
สุนักขัตตะ ก็เรานั้นแล จะเข้าไปยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต กลับจาก
บิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว จะเข้าไปยังอารามของนักบวชเปลือย
ปาฏิกบุตร เพื่อพักกลางวัน ถ้าเธออยากจะบอกก็จงไปบอกเขาเดี๋ยวนี้’
เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์
[๒๐] ภัคควะ ครั้นในเวลาเช้า เราครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เข้าไป
ยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว
เข้าไปยังอารามของนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร เพื่อพักกลางวัน ครั้งนั้น สุนักขัตตะ
ลิจฉวีบุตร รีบเข้าไปยังกรุงเวสาลีแล้วเข้าเฝ้าพวกเจ้าลิจฉวีที่มีชื่อเสียงทูลว่า ‘ท่าน
ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสด็จเข้าไปยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต กลับ
จากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เสด็จเข้าไปยังอารามของนักบวช
เปลือยปาฏิกบุตร เพื่อทรงพักกลางวัน ขอพวกท่านจงรีบออกไป จักมีการแสดง
อิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ ของพวกสมณะชั้นดี’ ครั้งนั้น พวกเจ้าลิจฉวี
ที่มีชื่อเสียงได้พูดกันว่า ‘ท่านผู้เจริญ ทราบข่าวว่า จักมีการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ ของพวกสมณะชั้นดี ฉะนั้น เชิญพวกเราไป(ดู)กันเถิด’
สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เข้าไปหาพวกพราหมณมหาศาล๑ คหบดีผู้มั่งคั่ง และ
สมณพราหมณ์ลัทธิต่าง ๆ ผู้มีชื่อเสียง แล้วบอกอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย พระ
ผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสด็จเข้าไปยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาต
ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เสด็จเข้าไปยังอารามของนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
เพื่อทรงพักกลางวัน ขอพวกท่านจงรีบออกไป จักมีการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อัน
เหนือธรรมดาของมนุษย์ ของพวกสมณะชั้นดี’ ครั้งนั้น พวกสมณพราหมณ์ลัทธิ

เชิงอรรถ :
๑ มหาศาล ในที่นี้หมายถึงผู้มีทรัพย์มาก ขัตติยมหาศาล มีพระราชทระพย์ ๑๐๐ - ๑,๐๐๐ โกฏิ พราหมณ-
มหาซาลมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ คหบดีมหาศาลมีทรัพย์ ๔๐ โกฏิ (ที.ม.อ. ๒๑๐/๑๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์
ต่าง ๆ ผู้มีชื่อเสียง ได้พูดกันว่า ‘ท่านผู้เจริญ ทราบข่าวว่า จักมีการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ ของพวกสมณะชั้นดี ฉะนั้น ขอให้พวกเราไป(ดู)กันเถิด’
ภัคควะ ครั้งนั้น พวกเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียง พราหมณมหาศาล คหบดีผู้
มั่งคั่ง และสมณพราหมณ์ลัทธิต่าง ๆ ผู้มีชื่อเสียง ต่างพากันไปยังอารามของนักบวช
เปลือยปาฏิกบุตร บริษัทนั้น ๆ เป็นเรือนร้อย เรือนพัน
[๒๑] ภัคควะ นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรได้ฟังข่าวว่า ‘พวกเจ้าลิจฉวีผู้มี
ชื่อเสียง พราหมณมหาศาล คหบดีผู้มั่งคั่ง และสมณพราหมณ์ลัทธิต่าง ๆ ผู้มี
ชื่อเสียง ต่างพากันออกมาแล้ว แม้พระสมณโคดมก็ประทับพักกลางวันอยู่ที่อาราม
ของเรา’ จึงเกิดความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้า ครั้งนั้น นักบวชเปลือย
ปาฏิกบุตร กลัว ตัวสั่น ขนพองสยองเกล้า หนีไปยังอารามของตินทุกขาณุปริพาชก
บริษัทนั้นได้ฟังข่าวว่า ‘นักบวชเปลือยปาฏิกบุตร กลัว ตัวสั่น ขนพอง
สยองเกล้า หนีเข้าไปยังอารามของตินทุกขาณุปริพาชก’
ทันใดนั้น บริษัทนั้นได้เรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า ‘พ่อคุณ เธอจงเข้าไปหานัก
บวชเปลือยปาฏิกบุตรที่อารามของตินทุกขาณุปริพาชก แล้วจงบอกกับนักบวช
เปลือยปาฏิกบุตรอย่างนี้ว่า ‘ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไปเถิด พวกเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียง
พราหมณมหาศาล คหบดีผู้มั่งคั่ง และสมณพราหมณ์ลัทธิต่าง ๆ ผู้มีชื่อเสียง
ต่างพากันออกมาแล้ว แม้พระสมณโคดมก็ประทับพักกลางวันอยู่ที่อารามของท่าน
อนึ่ง ท่านได้พูดอวดไว้ในบริษัท ในกรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็น
ญาณวาท เราก็เป็นญาณวาทด้วย ผู้เป็นญาณวาทควรแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือ
ธรรมดาของมนุษย์กับผู้เป็นญาณวาทด้วยกัน ขอให้พระสมณโคดมเสด็จมาครึ่งทาง
แม้เราก็จะไปครึ่งทาง ณ ที่พบกันนั้น เราทั้งสองจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือ
ธรรมดาของมนุษย์ด้วยกัน ถ้าพระสมณโคดมจักทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือ
ธรรมดาของมนุษย์ ๑ อย่าง เราจักแสดง ๒ อย่าง ถ้าพระสมณโคดมจักทรงแสดง
อิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ ๒ อย่าง เราจักแสดง ๔ อย่าง ถ้าพระ
สมณโคดมจักทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ ๔ อย่าง เราจัก
แสดง ๘ อย่าง พระสมณโคดมจักทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์
มนุษย์มากเท่าใด ๆ ก็ตาม เราจักแสดงให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณ’ ท่านปาฏิกบุตร
ท่านจงออกไปครึ่งทาง พระสมณโคดมเสด็จมาก่อนคนทั้งปวงทีเดียว ประทับพัก
กลางวันอยู่ที่อารามของท่าน’
[๒๒] ‘ภัคควะ บุรุษนั้นรับคำสั่งแล้ว จึงเข้าไปหานักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
ที่อารามของตินทุกขาณุปริพาชก แล้วบอกกับนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรดังนี้ว่า
‘ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไปเถิด พวกเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียง พราหมณมหาศาล
คหบดีผู้มั่งคั่ง และสมณพราหมณ์ลัทธิต่าง ๆ ผู้มีชื่อเสียง ต่างพากันออกมาแล้ว
แม้พระสมณโคดมก็ประทับพักกลางวันอยู่ที่อารามของท่าน อนึ่ง ท่านได้พูดอวดไว้
ในบริษัท ในกรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นญาณวาท เราก็เป็นญาณวาท
ด้วย อนึ่ง ผู้เป็นญาณวาทควรแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์กับผู้
เป็นญาณวาทด้วยกัน ฯลฯ เราจักแสดงให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณ’ ท่านปาฏิกบุตร
ท่านจงออกไปครึ่งทาง พระสมณโคดมเสด็จมาก่อนคนทั้งปวงทีเดียว ประทับพัก
กลางวันอยู่ที่อารามของท่าน’
ภัคควะ เมื่อบุรุษนั้นกล่าวอย่างนี้ นักบวชเปลือยปาฏิกบุตร จึงกล่าวตอบว่า
‘เราจะไป ๆ’ แล้วซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้ ครั้งนั้น บุรุษนั้น
ได้กล่าวกับนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรดังนี้ว่า ‘ท่านปาฏิกบุตร ท่านเป็นอะไรเล่า
ตะโพกของท่านติดกับตั่งหรือ หรือว่าตั่งติดกับตะโพกของท่าน ท่านกล่าวว่า ‘เรา
จะไป ๆ’ แต่กลับซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้’ ภัคควะ นักบวช
เปลือยปาฏิกบุตร แม้ถูกบุรุษต่อว่าอยู่อย่างนี้ ก็ยังกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็
ซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้
[๒๓] ภัคควะ เมื่อบุรุษนั้นได้ทราบว่า ‘นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรนี้แพ้แล้ว
ก็ยังกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้’
จึงกลับมาหาบริษัทนั้นแล้วบอกอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรนี้
แพ้แล้ว ก็ยังกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจาก
ที่นั่งได้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์
ภัคควะ เมื่อบุรุษนั้นกล่าวอย่างนี้ เราจึงได้กล่าวกับบริษัทนั้นดังนี้ว่า ‘ท่าน
ทั้งหลาย ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความ
เห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้ แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละ
วาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไปเผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’
ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’
ภาณวารที่ ๑ จบ
[๒๔] ภัคควะ ครั้งนั้น มหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวีคนหนึ่ง ลุกจากที่นั่ง ได้กล่าว
กับบริษัทนั้นดังนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น โปรดคอยสักครู่ได้ไหม บางทีข้าพเจ้า
อาจจะไปนำนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรมายังบริษัทนี้ได้’ ลำดับนั้น มหาอำมาตย์ของ
เจ้าลิจฉวีคนนั้น จึงเข้าไปหานักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ถึงอารามของตินทุกขาณุปริพาชก
แล้วกล่าวกับนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรดังนี้ว่า ‘ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไปเถิด
ท่านกลับไปดีกว่า พวกเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียง พราหมณมหาศาล คหบดีผู้มั่งคั่ง และ
สมณพราหมณ์ลัทธิต่าง ๆ ผู้มีชื่อเสียง ต่างพากันออกมาแล้ว แม้พระสมณโคดมก็
ประทับพักกลางวันอยู่ที่อารามของท่าน อนึ่ง ท่านได้พูดอวดไว้ในบริษัท ในกรุงเวสาลี
อย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นญาณวาท เราก็เป็นญาณวาทด้วย ฯลฯ เราจักแสดง
ให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณ’ ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงออกไปครึ่งทาง พระสมณโคดม
เสด็จมาก่อนคนทั้งปวงทีเดียว ประทับพักกลางวันอยู่ที่อารามของท่านแล้ว อนึ่ง
พระสมณโคดมตรัสวาจาในบริษัทว่า ‘ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่ละวาจา
ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้ แม้เขาจะ
คิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไป
เผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’ ท่านปาฏิกบุตร
ท่านจงกลับไปเถิด ด้วยการกลับไปของท่านนั่นแหละ พวกเราจะทำให้ท่านชนะ
จะทำให้พระสมณโคดมแพ้’
ภัคควะ เมื่อมหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวีกล่าวอย่างนี้ นักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
จึงกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์
ครั้งนั้น มหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวี จึงกล่าวกับนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรดังนี้ว่า
‘ท่านปาฏิกบุตร ท่านเป็นอะไรไปเล่า ตะโพกของท่านติดกับตั่งหรือ หรือว่าตั่ง
ติดกับตะโพกของท่าน ท่านกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แต่กลับซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง
ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้’ ภัคควะ นักบวชเปลือยปาฏิกบุตร แม้ถูกมหาอำมาตย์ของ
เจ้าลิจฉวีเมื่อต่อว่าอยู่อย่างนี้ ก็ยังกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่
นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้
[๒๕] ภัคควะ เมื่อมหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวีนั้นได้ทราบว่า ‘นักบวชเปลือย
ปาฏิกบุตรนี้แพ้แล้ว ก็ยังกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง
ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้’ จึงกลับมาหาบริษัทนั้นแล้วบอกอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรนี้แพ้แล้ว ก็ยังกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่
ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้’
ภัคควะ เมื่อมหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวีนั้นกล่าวอย่างนี้ เราจึงได้กล่าวกับ
บริษัทนั้นดังนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่ละวาจา ไม่ละ
ความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้ แม้เขาจะคิด
อย่างนี้ว่า ‘ถึงเราจะไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไป
เผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’ แม้เจ้าลิจฉวี
ผู้เจริญทั้งหลายจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พวกเราจะเอาเชือกมัดนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
แล้วใช้โคหลาย ๆ คู่ฉุดมา’ เชือกนั้นก็จะขาด หรือไม่กายของนักบวชเปลือยปาฏิก-
บุตรก็จะขาด แต่ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัด
ความเห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้ แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเรา
ยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไปเผชิญหน้ากับพระสมณ-
โคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’
[๒๖] ภัคควะ ครั้งนั้น ชาลิยปริพาชก ผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะ (นักบวช
ผู้นิยมใช้บาตรไม้) ลุกจากที่นั่งกล่าวกับบริษัทนั้นดังนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น
ขอให้ท่านทั้งหลายรอคอยสักครู่ ข้าพเจ้าอาจจะไปนำนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรมายัง
บริษัทนี้ได้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์
ภัคควะ ชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะเข้าไปหานักบวชเปลือย
ปาฏิกบุตร ถึงอารามของตินทุกขาณุปริพาชกแล้วกล่าวกับนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
ดังนี้ว่า ‘ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไปเถิด ท่านกลับไปดีกว่า พวกเจ้าลิจฉวีผู้มี
ชื่อเสียง พราหมณมหาศาล คหบดีผู้มั่งคั่ง และสมณพราหมณ์ลัทธิต่าง ๆ ผู้มี
ชื่อเสียง ต่างพากันออกมาแล้ว แม้พระสมณโคดมก็ประทับพักกลางวันอยู่ที่อาราม
ของท่าน อนึ่ง ท่านได้เคยพูดอวดไว้ในบริษัท ในกรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า ‘พระสมณ-
โคดมเป็นญาณวาท ฯลฯ เราจักแสดงให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณ’ ท่านปาฏิกบุตร
ท่านจงออกไปครึ่งทาง พระสมณโคดมเสด็จมาก่อนคนทั้งปวงทีเดียว ประทับพัก
กลางวันอยู่ที่อารามของท่านแล้ว อนึ่ง พระสมณโคดมได้ตรัสวาจาในบริษัทว่า
‘ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น
ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้ แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละวาจา
ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไปเผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้
ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’ แม้เจ้าลิจฉวีผู้เจริญทั้งหลายจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พวกเรา
จะเอาเชือกมัดนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร แล้วใช้โคหลาย ๆ คู่ฉุดมา’ เชือกนั้นก็จะขาด
หรือไม่กายของนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรก็จะขาด แต่ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
ยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้า
กับเราได้ แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความ
เห็นนั้นก็อาจไปเผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’
ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไปเถิด ด้วยการกลับไปของท่านนั่นแหละ พวกเราจะ
ทำให้ท่านชนะ จะทำให้พระสมณโคดมแพ้’
ภัคควะ เมื่อชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะกล่าวอย่างนี้ นักบวช
เปลือยปาฏิกบุตร จึงกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจ
ลุกจากที่นั่งได้ ครั้งนั้น ชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะ จึงกล่าวกับ
นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรดังนี้ว่า ‘ท่านปาฏิกบุตร ท่านเป็นอะไรไปเล่า ตะโพก
ของท่านติดกับตั่งหรือ หรือว่าตั่งติดกับตะโพกของท่าน ท่านกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’
แต่กลับซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้’ ภัคควะ นักบวชเปลือย
ปาฏิกบุตร แม้ถูกชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะต่อว่าอยู่อย่างนี้ ก็ยังกล่าวว่า
‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์
[๒๗] ภัคควะ เมื่อชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะนั้นได้ทราบว่า
‘นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรนี้แพ้แล้ว ก็ยังกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่
นั้นเองไม่อาจลุกจากที่นั่งได้’ จึงกล่าวกับนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรดังนี้ว่า
‘ท่านปาฏิกบุตร เรื่องเคยมีมาแล้ว คือ ราชสีห์๑เจ้าแห่งสัตว์ป่า คิดว่า ‘ทาง
ที่ดี เราพึงอาศัยป่าทึบบางแห่งซ่อนตัวอยู่ ครั้นซ่อนตัวอยู่ในป่าทึบนั้นแล้ว พึงออก
จากที่ซ่อนในเวลาเย็น ครั้นออกจากที่ซ่อนแล้ว พึงบิดกาย ครั้นบิดกายแล้ว
พึงเหลียวดูไปรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศ ครั้นเหลียวดูไปรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศแล้ว พึงบันลือ
สีหนาท๒ ๓ ครั้ง ครั้นบันลือสีหนาท ๓ ครั้งแล้ว จึงออกไปหากิน เรานั้นล่าหมู่เนื้อ
ตัวล่ำสัน กินเนื้อนุ่ม ๆ แล้วกลับมาซ่อนตัวอยู่ตามเดิม’
ครั้งนั้น พญาราชสีห์นั้น อาศัยป่าทึบบางแห่งซ่อนตัวอยู่ ครั้นซ่อนตัวอยู่ใน
ป่าทึบนั้นแล้ว ออกจากที่ซ่อนในเวลาเย็น ครั้นออกจากที่ซ่อนแล้ว บิดกาย ครั้น
บิดกายแล้ว เหลียวดูไปรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศ ครั้นเหลียวดูไปรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศแล้ว
บันลือสีหนาท ๓ ครั้ง ครั้นบันลือสีหนาท ๓ ครั้งแล้ว จึงออกไปหากิน มันล่า
หมู่เนื้อตัวล่ำสัน กินเนื้อนุ่ม ๆ แล้วกลับมาซ่อนตัวอยู่ตามเดิม
[๒๘] ท่านปาฏิกบุตร มีสุนัขจิ้งจอกแก่ตัวหนึ่ง เจริญเติบโตด้วยการกินเนื้อที่
เป็นเดนของราชสีห์เจ้าแห่งสัตว์ป่านั้นนั่นเอง อ้วนท้วน มีกำลัง ต่อมา สุนัขจิ้งจอก
แก่ตัวนั้น เกิดความคิดดังนี้ว่า ‘เราเป็นใคร ราชสีห์เจ้าแห่งสัตว์ป่าเป็นใคร ทางที่ดี
เราควรอาศัยป่าทึบบางแห่งซ่อนตัวอยู่ ครั้นซ่อนตัวอยู่ในป่าทึบนั้น พึงออกจากที่
ซ่อนในเวลาเย็น ครั้นออกจากที่ซ่อนแล้ว พึงบิดกาย ครั้นบิดกายแล้ว พึงเหลียว
ดูไปรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศ ครั้นเหลียวดูไปรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศแล้ว พึงบันลือสีหนาท

เชิงอรรถ :
๑ ราชสีห์ ได้แก่ พญาสิงโต มี ๔ ชนิด คือ (๑) ติณราชสีห์ (ราชสีห์ที่มีสีเขียว) (๒) กาฬราชสีห์ (ราชสีห์
ที่มีสีดำ) (๓) ปัณฑุราชสีห์ (ราชสีห์ที่มีสีเหลือง) (๔) ไกรสรราชสีห์ (ราชสีห์ที่มีสีขาวหรือมีสีแดง) ในที่นี้
หมายถึงไกรสรราชสีห์ที่เลิศกว่าราชสีห์ทุกประเภท (ที.ปา.อ. ๒๗/๑๒)
๒ บันลือสีหนาท ในที่นี้หมายถึงการเปล่งเสียงดังของราชสีห์ด้วยความกรุณาต่อสัตว์ที่อ่อนแอเพื่อให้หลีกหนี
ไปเสียก่อน (ที.ปา.อ. ๒๗/๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์
๓ ครั้ง ครั้นบันลือสีหนาท ๓ ครั้งแล้ว จึงออกไปหากิน เรานั้นล่าหมู่เนื้อตัวล่ำสัน
กินเนื้อนุ่ม ๆ แล้วกลับมาซ่อนตัวอยู่ตามเดิม’
ครั้งนั้น สุนัขจิ้งจอกแก่ตัวนั้น อาศัยป่าทึบบางแห่งซ่อนตัวอยู่ ครั้นซ่อนตัว
อยู่ในป่าทึบนั้นแล้ว ออกจากที่ซ่อนในเวลาเย็น ครั้นออกจากที่ซ่อนแล้ว บิดกาย
ครั้นบิดกายแล้ว เหลียวดูไปรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศ ครั้นเหลียวดูไปรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศแล้ว
จึงคิดว่า ‘เราจักบันลือสีหนาท’ แต่กลับร้องเสียงสุนัขจิ้งจอกออกมา ๓ ครั้ง
ร้องอย่างเสียงสุนัขจิ้งจอกนั่นเอง สุนัขจิ้งจอกผู้ต่ำทรามเป็นใคร และการบันลือ
สีหนาทมีผลเป็นอย่างไร ท่านปาฏิกบุตร ท่านก็เป็นเช่นนั้น ดำรงชีพตามแบบ
พระสุคต๑ บริโภคอาหารที่เป็นเดนพระสุคต ยังสำคัญพระตถาคตผู้เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าว่าควรท้าทายได้ ถามว่า ปาฏิกบุตรผู้ต่ำทรามเป็นใคร และการ
ท้าทายพระตถาคตผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดผลเป็นอย่างไร
[๒๙] ภัคควะ เมื่อชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะ ไม่อาจที่จะให้
นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรลุกจากที่นั่งนั้นได้ แม้ด้วยข้ออุปมานี้ จึงได้กล่าวกับเขา
ดังนี้ว่า
สุนัขจิ้งจอกสำคัญตนว่าเป็นราชสีห์
จึงได้ลำพองตัวว่าเป็นเจ้าแห่งสัตว์ป่า
มันจึงได้ร้องเสียงสุนัขจิ้งจอกเช่นนั้นขึ้น
สุนัขจิ้งจอกผู้ต่ำทรามเป็นใคร
และการบันลืออย่างราชสีห์เกิดผลเป็นอย่างไร
ท่านปาฏิกบุตร ท่านก็เป็นเช่นนั้น ดำรงชีพตามแบบพระสุคต บริโภคอาหาร
ที่เป็นเดนพระสุคต ยังสำคัญพระตถาคตผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าควร
ท้าทายได้ ถามว่า ปาฏิกบุตรผู้ต่ำทรามเป็นใคร และการท้าทายพระตถาคตผู้เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดผลเป็นอย่างไร

เชิงอรรถ :
๑ แบบพระสุคต ในที่นี้หมายถึงไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นคำสอนของพระสุคต(ที.ปา.อ.
๒๘/๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์
[๓๐] ภัคควะ เมื่อชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะ ไม่อาจที่จะให้
นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรลุกจากที่นั่งนั้นได้ แม้ด้วยข้ออุปมานี้ จึงได้กล่าวกับเขา
ดังนี้ว่า
สุนัขจิ้งจอกเห็นเงาของตน
ที่เคลื่อนไหวในน้ำว่าเป็นอย่างอื่น
จึงลำพองตัวว่าเป็นเสือ๑
ตราบเท่าที่ยังไม่เห็นตัวเอง (ตามความเป็นจริง)
มันจึงร้องเสียงสุนัขจิ้งจอกเช่นนั้น
สุนัขจิ้งจอกผู้ต่ำทรามเป็นใคร
และการบันลืออย่างราชสีห์๒เกิดผลเป็นอย่างไร
ท่านปาฏิกบุตร ท่านก็เป็นเช่นนั้น ดำรงชีพตามแบบพระสุคต บริโภคอาหาร
ที่เป็นเดนพระสุคต ยังสำคัญพระตถาคตผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าควร
ท้าทายได้ ถามว่า ปาฏิกบุตรผู้ต่ำทรามเป็นใคร และการท้าทายพระตถาคตผู้เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดผลเป็นอย่างไร
[๓๑] ภัคควะ เมื่อชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะ ไม่อาจที่จะให้
นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรลุกจากที่นั่งนั้นได้ แม้ด้วยข้ออุปมานี้ จึงได้กล่าวกับเขา
ดังนี้ว่า
สุนัขจิ้งจอกกินกบ(ตามบ่อ) กินหนูตามลานข้าว
และกินซากศพที่ทิ้งตามป่าช้า
มีตัวอ้วนพีอยู่ในป่าใหญ่ ป่าโปร่ง

เชิงอรรถ :
๑ ลำพองตัวว่าเป็นเสือ ในที่นี้หมายถึงสำคัญตัวเองว่าเป็นเสือที่มีกำลังเท่ากับราชสีห์ (ที.ปา.อ. ๓๐/๑๔)
๒ การบันลืออย่างราชสีห์ ในที่นี้หมายถึงการเปล่งเสียงร้องของสุนัขจิ้งจอกโดยเข้าใจว่า ตนมีกำลังเท่ากับ
ราชสีห์ (ที.ปา.อ. ๓๐/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์
ลำพองตัวว่าเป็นเจ้าแห่งสัตว์ป่า
มันจึงร้องเสียงสุนัขจิ้งจอกเช่นนั้นขึ้น
สุนัขจิ้งจอกผู้ต่ำทรามเป็นใคร
และการบันลืออย่างราชสีห์เกิดผลเป็นอย่างไร
ท่านปาฏิกบุตร ท่านก็เป็นเช่นนั้น ดำรงชีพตามแบบพระสุคต บริโภคอาหาร
ที่เป็นเดนพระสุคต ยังสำคัญพระตถาคตผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าควร
ท้าทายได้ ถามว่า ปาฏิกบุตรผู้ต่ำทรามเป็นใคร และการท้าทายพระตถาคตผู้เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดผลเป็นอย่างไร
[๓๒] ภัคควะ เมื่อชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะ ไม่อาจที่จะให้
นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรลุกจากที่นั่งนั้นได้ แม้ด้วยข้ออุปมานี้ จึงกลับมาหา
บริษัทนั้น แล้วบอกว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรนี้แพ้แล้ว
แต่ยังกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้’
[๓๓] ภัคควะ เมื่อชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะกล่าวอย่างนี้
เราจึงได้กล่าวกับบริษัทนั้นดังนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่
ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้
แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น
ก็อาจไปเผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’ แม้เจ้า
ลิจฉวีผู้เจริญทั้งหลายจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พวกเราจะเอาเชือกมัดนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
แล้วใช้โคหลาย ๆ คู่ฉุดมา’ เชือกนั้นก็จะขาด หรือไม่กายของนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
ก็จะขาด แต่ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความ
เห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้ แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละ
วาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไปเผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’
ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’
[๓๔] ภัคควะ ต่อจากนั้น เราจึงชี้แจงให้บริษัทนั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยาก
รับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถา ครั้นชี้แจงให้บริษัทนั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว จึงเปลื้องให้
พ้นจากเครื่องผูกใหญ่๑ ยกสัตว์ประมาณ ๘๔,๐๐๐ ขึ้นจากห้วงน้ำใหญ่ที่ข้ามได้ยาก๒
เข้าเตโชธาตุ เหาะขึ้นสู่อากาศสูงประมาณ ๗ ชั่วลำตาล เนรมิตไฟอื่นให้ลุกโพลง
ประมาณ ๗ ชั่วลำตาล มีควันตลบสูงแล้ว จึงมายังกูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
[๓๕] ภัคควะ ครั้งนั้น สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ได้เข้าไปหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เรา
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร เราจึงได้กล่าวกับสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ดังนี้ว่า ‘สุนักขัตตะ
เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เราปรารภนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร แล้วพยากรณ์
แก่เธอไว้อย่างไร ผลของการพยากรณ์เป็นอย่างนั้นหรือ หรือว่าเป็นอย่างอื่น’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงปรารภนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
แล้วพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ไว้อย่างไร ผลของการพยากรณ์เป็นอย่างนั้น มิได้เป็น
อย่างอื่นเลย’
‘สุนักขัตตะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนั้น เราได้แสดงอิทธิ-
ปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์แล้ว หรือยังไม่ได้แสดง’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อัน
เหนือธรรมดาของมนุษย์แล้วแน่นอน มิใช่ไม่ได้ทรงแสดง’
‘โมฆบุรุษ ถึงอย่างนี้ เธอยังจะกล่าวกับเราผู้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือ
ธรรมดาของมนุษย์ว่า ‘พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดา

เชิงอรรถ :
๑ เครื่องผูกใหญ่ ในที่นี้หมายถึงกิเลสตัณหา หรือ สังโยชน์ ๑๐ ประการ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ (ความเห็น
ว่าเป็นตัวของตน) (๒) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) (๓) สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลพรต)
(๔) กามราคะ (ความพอใจในกาม) (๕) ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่ง) (๖) รูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่ง
รูปฌาน) (๗) อรูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน) (๘) มานะ (ความถือตัว) (๙) อุทธัจจะ
(ความฟุ้งซ่าน) (๑๐) อวิชชา (ความไม่รู้แจ้ง) (ที.ปา.ฏีกา ๓๔/๑๓)
๒ ห้วงน้ำใหญ่ที่ข้ามได้ยาก ในที่นี้หมายถึงโอฆะ ๔ ประการ คือ (๑) กาโมฆะ (โอฆะคือกาม) (๒) ภโวฆะ
(โอฆะคือภพ) (๓) ทิฏโฐฆะ (โอฆะคือทิฏฐิ) (๔) อวิชโชฆะ (โอฆะคืออวิชชา) (ที.ปา.อ. ๓๔/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องการประกาศทฤษฏีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก
ของมนุษย์แก่ข้าพระองค์’ อยู่อีกหรือ เธอจงดูเถิดว่า ‘การพูดเช่นนี้ เป็นความ
ผิดของเธอมากเพียงไร’ ภัคควะ สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เมื่อถูกเราต่อว่าอยู่อย่างนี้
ได้หนีไปจากธรรมวินัยนี้แล้ว เหมือนผู้ควรเกิดในอบายกลับไปตกนรก ฉะนั้น
เรื่องการประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก
[๓๖] ภัคควะ ก็เรารู้ชัดทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก๑ เรารู้ชัดความเป็น
มาของทฤษฎีนั้น และรู้ชัดยิ่งกว่านั้น๒ และเมื่อรู้ชัดยิ่งกว่านั้นจึงไม่ยึดมั่น๓ เมื่อไม่
ยึดมั่นจึงรู้ชัดความดับ๔ด้วยตนเอง ที่เมื่อรู้ชัด ตถาคตจึงไม่ดำเนินไปสู่ความเสื่อม๕
[๓๗] ภัคควะ มีสมณพราหมณ์บางพวก ประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิด
ของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้าง ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้าง เราจึง
เข้าไปถามเขาอย่างนี้ว่า ‘ทราบว่า ท่านทั้งหลายบัญญัติทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิด
ของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้าง ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างจริงหรือ’
สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วยืนยันว่า ‘เป็นเช่นนั้น’ เราจึงถาม
ต่อไปว่า ‘พวกท่านประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่า
พระอิศวรเป็นผู้สร้าง ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้าง มีความเป็นมาอย่างไร’ สมณพราหมณ์
เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วก็ตอบไม่ได้ กลับย้อนถามเรา เราถูกเขาถามแล้ว
จึงตอบว่า

เชิงอรรถ :
๑ คำนี้แปลจากคำว่า “อคฺคญฺญํ” อรรถกถาแก้ว่า “โลกปญฺญตฺตึ” และอธิบายว่า ที่ชื่อว่าอัคคัญญะ
เพราะเป็นความรู้เกี่ยวกับต้นกำเนิดของโลก หมายถึงวิวัฒนาการการเกิดขึ้นและประวัติความเป็นไปของโลก
(โลกสฺส อคคนฺติ ชานิตพฺพํ ตํ อคฺคญฺญํ, โส ปน โลกสฺส อุปฺปตฺติกฺกโม ปวตฺติปเวณี จาติ) (ที.ปา.อ.
๓๖/๑๔, ที.ปา.ฏีกา ๓๖/๑๓)
๒ รู้ชัดยิ่งกว่านั้น ในที่นี้หมายถึงรู้ชัดตั้งแต่ศีล สมาธิ ปัญญา จนถึงสัพพัญญุตญาณ (ที.ปา.อ. ๓๖/๑๕)
๓ ไม่ยึดมั่น ในที่นี้หมายถึงไม่ยึดมั่นสิ่งที่รู้ชัดด้วยอำนาจตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ที.ปา.อ. ๓๖/๑๕)
๔ ความดับ ในที่นี้หมายถึงกิเลสนิพพาน (ความดับกิเลส) (ที.ปา.อ. ๓๖/๑๕)
๕ ไม่ดำเนินไปสู่ความเสื่อม ในที่นี้หมายถึงไม่ประสบความทุกข์ คือ ทุกข์เพราะไม่ได้บรรลุนิพพาน
(ที.ปา.อ. ๓๖/๑๕, ที.ปา.ฏีกา ๓๖/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องการประกาศทฤษฏีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก
[๓๘] ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยหนึ่งเมื่อล่วงไปนาน ๆ โลกนี้พินาศ เมื่อ
โลกกำลังพินาศ เหล่าสัตว์ส่วนมากไปเกิดในพรหมโลกชั้นอาภัสสระ นึกคิดอะไรก็
สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจร
ไปในอากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน
สมัยหนึ่ง เมื่อล่วงไปนาน ๆ โลกนี้กลับเจริญขึ้น เมื่อโลกกำลังเจริญขึ้น
วิมานของพรหมปรากฏว่าว่างเปล่า เวลานั้น สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งผู้จุติจากพรหมโลกชั้น
อาภัสสระ เพราะสิ้นอายุหรือสิ้นบุญ มาเกิดที่วิมานพรหมอันว่างเปล่า นึกคิดอะไร
ก็สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจร
ไปในอากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน
เพราะสัตว์ผู้นั้นอยู่ในวิมานแต่ผู้เดียวเป็นเวลานาน จึงรู้สึกเบื่อ เกิดความปรารถนา
ขึ้นว่า ‘โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นพึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง’ ต่อมา สัตว์เหล่าอื่นจุติจาก
พรหมโลกชั้นอาภัสสระ เพราะสิ้นอายุหรือสิ้นบุญ มาเกิดที่วิมานพรหม เป็นผู้อยู่
ร่วมกับสัตว์นั้น แม้สัตว์พวกนั้นนึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็น
อาหาร มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปในอากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม
สถิตอยู่นานแสนนาน
[๓๙] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บรรดาสัตว์พวกนั้น ผู้เกิดก่อนมีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นพรหม เป็นท้าวมหาพรหม ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็น
ถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ
ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดมาแล้วและกำลังจะเกิด เราบันดาลสัตว์เหล่านี้
ขึ้นมา เพราะเหตุไร เพราะว่าเรามีความคิดมาก่อนว่า ‘โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พึง
มาเป็นอย่างนี้บ้าง’ เรามีความตั้งใจอย่างนี้ และสัตว์เหล่านี้ได้มาเป็นอย่างนี้แล้ว’
แม้พวกสัตว์ที่เกิดภายหลังก็มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ท่านพระพรหมผู้เจริญนี้
เป็นท้าวมหาพรหม ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็น
อิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องการประกาศทฤษฏีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก
ผู้เกิดมาแล้วและกำลังจะเกิด พระพรหมผู้เจริญองค์นี้บันดาลพวกเราขึ้นมา เพราะ
เหตุไร เพราะว่าพวกเราได้เห็นพระพรหมองค์นี้เกิดในที่นี้ก่อน ส่วนพวกเราเกิดมา
ภายหลัง’
[๔๐] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บรรดาสัตว์พวกนั้น ผู้เกิดก่อนมีอายุยืนกว่า
มีผิวพรรณงดงามกว่า และมีศักดิ์มากกว่า ส่วนผู้เกิดภายหลังมีอายุสั้นกว่า มีผิวพรรณ
ทรามกว่า และมีศักดิ์น้อยกว่า
ข้อที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้น(ชั้นมหาพรหม)แล้วมาเป็นอย่างนี้(มาเกิด
เป็นมนุษย์) เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เมื่อเขามาเป็นอย่างนี้แล้ว ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิต เมื่อออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส
ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิด
อย่างถูกวิธีแล้ว บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกถึงชาติก่อนนั้นได้
ถัดจากชาตินั้นไประลึกไม่ได้
เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘พระพรหมผู้เจริญนั้น เป็นท้าวมหาพรหม ผู้ยิ่งใหญ่
ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล
ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิด
พระพรหมผู้เจริญบันดาลพวกเราขึ้นมา ท่านเป็นผู้เที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร
จักดำรงอยู่เที่ยงแท้ไปเช่นนั้นทีเดียว ส่วนพวกเราที่พระพรหมผู้เจริญนั้นบันดาลขึ้น
มากลับเป็นผู้ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน อายุสั้นต้องจุติมาเป็นอย่างนี้’
ท่านทั้งหลายประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่า
พระอิศวรเป็นผู้สร้าง ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้าง มีความเป็นมาอย่างนี้ ใช่หรือไม่’
สมณพราหมณ์เหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า ‘ท่านพระโคดม พวกข้าพเจ้าก็ได้ยินมาอย่าง
ที่ท่านพระโคดมตรัสนั่นแหละ’
ภัคควะ อนึ่ง เรารู้ชัดทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก เรารู้ชัดความเป็นมาของ
ทฤษฎีนั้น และรู้ชัดยิ่งกว่านั้น และเมื่อรู้ชัดยิ่งกว่านั้นจึงไม่ยึดมั่น เมื่อไม่ยึดมั่น
จึงรู้ชัดความดับด้วยตนเอง ที่เมื่อรู้ชัด ตถาคตจึงไม่ดำเนินไปสู่ความเสื่อม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องการประกาศทฤษฏีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก
[๔๑] ภัคควะ มีสมณพราหมณ์บางพวก ประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิด
ของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่ามีมูลเหตุมาจากเทพเหล่าขิฑฑาปโทสิกะ๑ เราจึงเข้าไป
ถามพวกเขาอย่างนี้ว่า ‘ทราบว่า ท่านทั้งหลายประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของ
โลกตามลัทธิอาจารย์ว่ามีมูลเหตุมาจากเทพเหล่าขิฑฑาปโทสิกะ จริงหรือ’ สมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วยืนยันว่า ‘เป็นเช่นนั้น’ เราจึงถามต่อไปว่า
ท่านทั้งหลายประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่ามีมูลเหตุ
มาจากเทพเหล่าขิฑฑาปโทสิกะ มีความเป็นมาอย่างไร’ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูก
เราถามอย่างนี้แล้วก็ตอบไม่ได้ กลับย้อนถามเรา เราถูกเขาถามแล้วจึงตอบว่า
[๔๒] ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มีเทพเหล่าหนึ่งชื่อขิฑฑาปโทสิกะ เทพเหล่านั้น
หมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานสรวลเสเฮฮาเกินเวลา เมื่อหมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนาน
สรวลเสเฮฮาเกินเวลาจึงหลงลืมสติ เพราะความหลงลืมสติ จึงพากันจุติจากชั้นนั้น
ข้อที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เมื่อ
เขามาเป็นอย่างนี้แล้ว ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตแล้ว อาศัยความเพียรครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่น
ประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้ว บรรลุเจโตสมาธิ
ที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกถึงชาติก่อนนั้นได้ ถัดจากชาตินั้นไประลึกไม่ได้
เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘เทพผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ไม่ใช่เทพเหล่าขิฑฑาปโทสิกะ
ไม่หมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานสรวลเสเฮฮาเกินเวลา เมื่อไม่หมกมุ่นอยู่ในความ
สนุกสนานสรวลเสเฮฮาเกินเวลาจึงไม่หลงลืมสติ เพราะไม่หลงลืมสติ จึงไม่จุติจาก
ชั้นนั้น เป็นผู้เที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร จักดำรงอยู่เที่ยงแท้ไปเช่นนั้นทีเดียว
ส่วนพวกเราเหล่าขิฑฑาปโทสิกะ มัวแต่หมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานสรวลเสเฮฮา

เชิงอรรถ :
๑ ขิฑฑาปโทสิกะ หมายถึงเทพผู้เพลิดเพลินในการเล่นจนเป็นเหตุให้ได้รับโทษ คือ ต้องจุติจากพรหมโลก
(ที.ปา.อ. ๔๑/๑๕, ที.ปา.ฏีกา ๔๑/๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องการประกาศทฤษฏีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก
เกินเวลา เมื่อหมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานสรวลเสเฮฮาเกินเวลาย่อมหลงลืมสติ
เพราะความหลงลืมสติ จึงต้องจุติจากชั้นนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน
มีอายุสั้น ต้องจุติมาเป็นอย่างนี้’
ท่านทั้งหลายประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่า
มีมูลเหตุมาจากเทพเหล่าขิฑฑาปโทสิกะ มีความเป็นมาอย่างนี้ ใช่หรือไม่’ สมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า ‘ท่านพระโคดม พวกข้าพเจ้าก็ได้ยินมาอย่างที่
ท่านพระโคดมตรัสนั่นแหละ’
ภัคควะ ก็เรารู้ชัดทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ฯลฯ ที่เมื่อรู้ชัด ตถาคต
จึงไม่ดำเนินไปสู่ความเสื่อม
[๔๓] ภัคควะ มีสมณพราหมณ์บางพวก ประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิด
ของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่ามีมูลเหตุมาจากเทพเหล่ามโนปโทสิกะ๑ เราจึงเข้าไปถาม
พวกเขาอย่างนี้ว่า ‘ทราบว่า ท่านทั้งหลายประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก
ตามลัทธิอาจารย์ว่ามีมูลเหตุมาจากเทพเหล่ามโนปโทสิกะ จริงหรือ’ สมณพราหมณ์
เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วยืนยันว่า ‘เป็นเช่นนั้น’ เราจึงถามต่อไปว่า ‘ท่านทั้งหลาย
ประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่ามีมูลเหตุมาจากเทพ
เหล่ามโนปโทสิกะ มีความเป็นมาอย่างไร’ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้
แล้วก็ตอบไม่ได้ กลับย้อนถามเรา เราถูกเขาถามแล้วจึงตอบว่า
[๔๔] ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มีเทพเหล่าหนึ่งชื่อมโนปโทสิกะ เทพเหล่านั้น
มัวจ้องจับผิดกันและกันเกินควร เมื่อมัวจ้องจับผิดกันและกันเกินควร จึงคิดมุ่งร้าย
ต่อกัน เมื่อคิดมุ่งร้ายต่อกัน จึงเหนื่อยกายเหนื่อยใจ พากันจุติจากชั้นนั้น

เชิงอรรถ :
๑ มโนปโทสิกะ หมายถึงเทพที่ต้องจุติเพราะคิดร้ายกันและกัน (ที.สี. ๔๗-๔๘/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องการประกาศทฤษฏีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก
ข้อที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เมื่อ
เขามาเป็นอย่างนี้แล้ว ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตแล้ว อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่น
ประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้ว บรรลุเจโตสมาธิ
ที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกถึงชาติก่อนนั้นได้ ถัดจากชาตินั้นไประลึกไม่ได้
เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘เทพผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ไม่ใช่เทพเหล่ามโนปโทสิกะ ย่อมไม่
มัวจ้องจับผิดกันและกันเกินควร เมื่อไม่มัวจ้องจับผิดกันและกันเกินควร ก็ไม่คิด
มุ่งร้ายต่อกัน เมื่อไม่คิดมุ่งร้ายต่อกัน ก็ไม่เหนื่อยกายเหนื่อยใจ จึงไม่จุติจากชั้นนั้น
เป็นผู้เที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร จักดำรงอยู่เที่ยงแท้ไปเช่นนั้นทีเดียว
ส่วนเราเหล่ามโนปโทสิกะ มัวจ้องจับผิดกันและกันเกินควร เมื่อมัวจ้องจับผิดกัน
และกันเกินควร จึงคิดมุ่งร้ายต่อกัน เมื่อคิดมุ่งร้ายต่อกัน จึงเหนื่อยกายเหนื่อยใจ
พากันจุติจากชั้นนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน มีอายุสั้น ต้องจุติมาเป็น
อย่างนี้’
ท่านทั้งหลายประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่า
มีมูลเหตุมาจากเทพเหล่ามโนปโทสิกะ มีความเป็นมาอย่างนี้ ใช่หรือไม่’ สมณพราหมณ์
เหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า ‘ท่านพระโคดม พวกข้าพเจ้าก็ได้ยินมาอย่างที่ท่านพระ
โคดมตรัสนั่นแหละ’
ภัคควะ ก็เรารู้ชัดทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ฯลฯ ที่เมื่อรู้ชัด ตถาคต
จึงไม่ดำเนินไปสู่ความเสื่อม
[๔๕] ภัคควะ มีสมณพราหมณ์บางพวก ประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิด
ของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่าเกิดขึ้นเอง เราจึงเข้าไปถามพวกเขาอย่างนี้ว่า ‘ทราบว่า
ท่านทั้งหลายประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่าเกิดขึ้นเอง
จริงหรือ’ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วยืนยันว่า ‘เป็นเช่นนั้น’
เราจึงถามต่อไปว่า ‘ท่านทั้งหลายประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องการประกาศทฤษฏีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก
อาจารย์ว่า เกิดขึ้นเอง มีความเป็นมาอย่างไร’ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถาม
อย่างนี้แล้ว ก็ตอบไม่ได้ กลับย้อนถามเรา เราถูกเขาถามแล้วจึงตอบว่า
[๔๖] ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มีเทพชื่ออสัญญีสัตว์๑จุติ(เคลื่อน)จากชั้นนั้น
เพราะเกิดสัญญาขึ้น
ข้อที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เมื่อ
เขามาเป็นอย่างนี้แล้ว ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตแล้ว อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่น
ประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้ว บรรลุเจโต-
สมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกถึงความเกิดแห่งสัญญานั้นได้ ถัดจากนั้นไป
ระลึกไม่ได้
เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและโลกเกิดขึ้นเอง เพราะเหตุไร เพราะเมื่อก่อน
เราไม่ได้มี บัดนี้ก็ไม่มี จึงน้อมไปเพื่อความเป็นผู้สงบ’
ท่านทั้งหลายประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่า
เกิดขึ้นเอง มีความเป็นมาอย่างนี้ ใช่หรือไม่’ สมณพราหมณ์เหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า
‘ท่านพระโคดม พวกข้าพเจ้าก็ได้ยินมาอย่างที่ท่านพระโคดมตรัสนั่นแหละ’
ภัคควะ ก็เรารู้ชัดทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก เรารู้ชัดความเป็นมาของ
ทฤษฎีนั้น และรู้ชัดยิ่งกว่านั้น และเมื่อรู้ชัดยิ่งกว่านั้นจึงไม่ยึดมั่น เมื่อไม่ยึดมั่น
จึงรู้ชัดความดับด้วยตนเอง ที่เมื่อรู้ชัด ตถาคตจึงไม่ดำเนินไปสู่ความเสื่อม
[๔๗] ภัคควะ สมณพราหมณ์บางพวก กล่าวตู่เราผู้มีวาทะอย่างนี้ ผู้กล่าว
อยู่อย่างนี้ ด้วยเรื่องที่ไม่มีอยู่จริง ด้วยคำไร้สาระ เป็นเท็จ ไม่เป็นความจริงว่า

เชิงอรรถ :
๑ อสัญญีสัตว์ หมายถึงสัตว์จำพวกไม่มีสัญญา ไม่เสวยเวทนา เมื่อมีสัญญาเกิดขึ้นก็เคลื่อนจากภพนั้นทันที
(ที.ปา. ๑๑/๓๕๙/๒๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องการประกาศทฤษฏีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก
‘พระสมณโคดมและภิกษุทั้งหลายวิปริตไปแล้ว พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า ‘ในเวลา
ที่พระโยคาวจรเข้าสุภวิโมกข์๑อยู่ ย่อมรู้ชัดสิ่งทั้งปวงว่า ‘ไม่งาม’ ภัคควะ แท้จริง
เราไม่ได้กล่าวอย่างนั้นเลยว่า ‘ในเวลาที่พระโยคาวจรเข้าสุภวิโมกข์อยู่ ย่อมรู้ชัดสิ่ง
ทั้งปวงว่า ‘ไม่งาม’ แต่เรากล่าวอย่างนี้ว่า ‘ในเวลาที่พระโยคาวจรเข้าสุภวิโมกข์อยู่
ย่อมรู้ชัดแต่สิ่งที่ดีงามเท่านั้น”
ภัคควโคตรปริพาชกกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกสมณพราหมณ์
ที่กล่าวว่าพระสมณโคดมและภิกษุทั้งหลายวิปริตนั้นนั่นแหละเป็นผู้วิปริต ข้าพระองค์
เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงสามารถแสดงธรรมให้
ข้าพระองค์เข้าถึงสุภวิโมกข์อยู่ได้”
[๔๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภัคควะ การที่เธอซึ่งมีทิฏฐิแตกต่างกัน
มีความถูกใจแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความมุ่งหมายแตกต่างกัน
มีอาจารย์แตกต่างกัน เข้าถึงสุภวิโมกข์อยู่ได้ นี้เป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก ขอให้เธอ
รักษาความเลื่อมใสในเราไว้ให้ดีเถิด”
ภัคควโคตรปริพาชกกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงการที่ข้าพระองค์
ซึ่งมีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความถูกใจแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความ
มุ่งหมายแตกต่างกัน มีอาจารย์แตกต่างกัน เข้าถึงสุภวิโมกข์อยู่ นี้เป็นสิ่งที่กระทำได้
ยากก็จริง แต่ข้าพระองค์จักรักษาความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคไว้ให้ดีให้ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภัคควโคตรปริพาชกมีใจยินดีชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล
ปาฏิกสูตรที่ ๑ จบ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร] เรื่องปริพาชกชื่อนิโครธ

๒. อุทุมพริกสูตร
ว่าด้วยการบันลือสีหนาทที่อุทุมพริการาม
เรื่องปริพาชกชื่อนิโครธ
[๔๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์
ก็สมัยนั้น ปริพาชกชื่อนิโครธอาศัยอยู่ในปริพาชการามของพระนางอุทุมพริกา
พร้อมกับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ประมาณ ๓,๐๐๐ คน ครั้งนั้น คหบดีชื่อสันธาน
ออกจากกรุงราชคฤห์เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคแต่ยังวัน๑ ขณะนั้น คหบดีชื่อสันธาน
มีความคิดดังนี้ว่า “ยังมิใช่เวลาที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคก่อน พระผู้มีพระภาค
ประทับหลีกเร้นอยู่๒ ยังมิใช่สมัยที่จะเข้าไปพบเหล่าภิกษุผู้เป็นที่เจริญใจ๓ เหล่าภิกษุ
ผู้เป็นที่เจริญใจยังพักอยู่หลีกเร้น ทางที่ดี เราควรเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงปริพาชกา-
รามของพระนางอุทุมพริกา” จากนั้นจึงเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงปริพาชการามของ
พระนางอุทุมพริกา
[๕๐] เวลานั้น นิโครธปริพาชกนั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ ผู้กำลัง
สนทนากันด้วยเสียงดังอื้ออึงถึงดิรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร
เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า
เรื่องที่นอน เรื่องพวงดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่อง
นิคม เรื่องเมืองหลวง เรื่องชนบท๔ เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่อง
ตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่อง
ความเจริญและความเสื่อม

เชิงอรรถ :
๑ แต่ยังวัน ในที่นี้หมายถึงเพิ่งจะเลยเที่ยง เพิ่งจะบ่าย (ที.ปา.อ. ๔๙/๑๗)
๒ ประทับหลีกเร้นอยู่ หมายถึงเข้าฌานอยู่ (ที.ปา.อ. ๔๙/๑๗)
๓ เป็นที่เจริญใจ ในที่นี้หมายถึงผู้ทำจิตของคนที่ไปหาให้เจริญขึ้นและให้ปราศจากนิวรณ์ ๕ ประการ คือ
(๑) กามฉันทะ (ความพอใจในกาม) (๒) พยาบาท (ความคิดร้าย) (๓) ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม)
(๔) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) (๕) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) (ที.ปา.อ. ๔๙/๑๗)
๔ ชนบท ในที่นี้หมายถึงเขตปกครองที่ประกอบด้วยเมือง(นคร)หลายเมือง ตรงกับคำว่า แคว้นหรือรัฐใน
ปัจจุบัน ตามนัย (ที.สี.อ. ๑๗/๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร] เรื่องปริพาชกชื่อนิโครธ
[๕๑] นิโครธปริพาชกเห็นสันธานคหบดีมาแต่ไกล จึงห้ามบริษัทของตนว่า
“ท่านทั้งหลายโปรดเงียบเสียงหน่อย อย่าส่งเสียงอื้ออึง สันธานคหบดีผู้นี้เป็นสาวก
ของพระสมณโคดมกำลังมา อนึ่ง สันธานคหบดีผู้นี้เป็นคนหนึ่ง ในบรรดาสาวก
ของพระสมณโคดมผู้เป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาว เท่าที่อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์ ก็ท่าน
เหล่านี้ชอบเสียงเบา ได้รับการอบรมในเรื่องเสียงเบา กล่าวสรรเสริญเสียงเบา
บางทีเมื่อเขาทราบว่าบริษัทมีเสียงเบาอาจจะเข้ามาก็ได้” เมื่อนิโครธปริพาชกกล่าว
อย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นจึงได้เงียบ
[๕๒] ครั้งนั้น สันธานคหบดีเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงที่อยู่ ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับ
นิโครธปริพาชกดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ฝ่ายอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านี้มา
พบปะสมาคมกันแล้ว มีเสียงดังอื้ออึงอยู่ มักสนทนาถึงดิรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ
เรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญ และความเสื่อมแต่ฝ่ายพระผู้มี
พระภาคนั้น ทรงใช้เสนาสนะ เป็นป่าละเมาะ๑ และป่าทึบ๒ อันสงัด มีเสียงน้อย
มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับ
ของมนุษย์๓ ควรแก่การหลีกเร้น”
[๕๓] เมื่อสันธานคหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกจึงกล่าวกับสันธาน
คหบดีดังนี้ว่า “คหบดี ท่านพึงทราบเถิด พระสมณโคดมจะเจรจากับใครได้ จะ
สนทนากับใครได้ จะมีปัญญาเฉลียวฉลาดเหนือกว่าใคร พระปัญญาของพระสมณ-
โคดมเหมาะกับเรือนว่างเท่านั้น พระสมณโคดมไม่กล้าเข้าไปสู่บริษัท ไม่สามารถที่
จะเจรจาได้ พระองค์ประทับอยู่ ณ ภายในที่สงัดเท่านั้น เหมือนโคตาบอดเดิน
วนเวียนอยู่ ณ ภายในที่สงัดเท่านั้น พระปัญญาของพระสมณโคดมเหมาะกับ
เรือนว่าง พระสมณโคดมไม่กล้าเข้าไปสู่บริษัท ไม่สามารถที่จะเจรจาได้ พระองค์

เชิงอรรถ :
๑ ป่าละเมาะ หมายถึงป่าที่มีคนอาศัยทำมาหากิน สัญจรไปมา (ที.ปา.ฏีกา ๕๒/๑๗)
๒ ป่าทึบ หมายถึงป่าที่ไม่มีคนอาศัยทำมาหากิน มีลักษณะ ๕ อย่าง คือ (๑) อยู่ห่างไกล (๒) อยู่กลางดง
(๓) น่ากลัว (๔) น่าสยอง (๕) ตั้งอยู่ชายแดน (ที.ปา.ฏีกา ๕๒/๑๗)
๓ เป็นสถานที่ควรทำเรื่องลับของมนุษย์ ในที่นี้หมายถึงป่าที่มีสภาพเงียบสงัดจากผู้คน (ที.ปา.ฏีกา ๕๒/๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร] ลัทธิกีดกันบาปด้วยตบะ
ประทับอยู่เฉพาะภายในที่สงัดเท่านั้น คหบดี ขอให้พระสมณโคดมมาสู่บริษัทนี้เถิด
พวกเราจะผูกพระสมณโคดมด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น เหวี่ยงให้หมุนเหมือนหม้อเปล่า
ฉะนั้น”
[๕๔] พระผู้มีพระภาคทรงสดับถ้อยคำสนทนาระหว่างสันธานคหบดีกับนิโครธ-
ปริพาชกนี้ ด้วยทิพพโสตธาตุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จ
ลงจากภูเขาคิชฌกูฏแล้ว เสด็จเข้าไปยังสถานที่ให้เหยื่อนกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณี
สุมาคธา เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ สถานที่นั้น นิโครธปริพาชกเห็นพระผู้มี
พระภาคเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ สถานที่ให้เหยื่อนกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณี
สุมาคธา จึงห้ามบริษัทของตนว่า “ท่านทั้งหลายโปรดเงียบเสียงหน่อย อย่าส่งเสียง
อื้ออึง พระสมณโคดมนี้เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ สถานที่ให้เหยื่อนกยูง ที่ฝั่ง
สระโบกขรณีสุมาคธา พระองค์โปรดเสียงเบา ทรงได้รับการอบรมในเรื่องเสียงเบา
ตรัสสรรเสริญเสียงเบา บางทีเมื่อพระองค์ทรงทราบว่า บริษัทมีเสียงเบาอาจจะเสด็จ
เข้ามาก็ได้ ถ้าว่า พระสมณโคดมจะพึงเสด็จมาสู่บริษัทนี้ไซร้ พวกเราจะพึงทูลถาม
ปัญหานี้กับพระองค์ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้
แนะนำเหล่าสาวก ทำให้เหล่าสาวกที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำแล้ว ถึงความ
เบาใจ ปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์๑ อันเป็นที่พึ่งชั้นสูง๒” เมื่อนิโครธปริพาชกกล่าว
อย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นจึงได้เงียบ
ลัทธิกีดกันบาปด้วยตบะ
[๕๕] ทีนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงที่อยู่ นิโครธ
ปริพาชกจึงทูลเชิญดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้ามาเถิด
ขอรับเสด็จพระผู้มีพระภาค นาน ๆ พระองค์จะมีเวลาเสด็จมา ณ ที่นี่ ขอพระผู้มี
พระภาคประทับบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้เถิด” พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธ-
อาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ส่วนนิโครธปริพาชกก็เลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า

เชิงอรรถ :
๑ อาทิพรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรมรรคหรืออริยมรรค (ที.ปา.อ. ๕๔/๑๙-๒๐, ที.ปา.ฏีกา ๕๔/๑๙)
๒ เป็นที่พึ่งชั้นสูง หมายถึงเป็นที่อาศัยชั้นสูงสุด ประเสริฐที่สุด (ที.ปา.อ. ๕๔/๑๙, ที.ปา.ฏีกา ๕๔/๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร] ลัทธิกีดกันบาปด้วยตบะ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า “นิโครธ เวลานี้ ท่านทั้งหลายสนทนากันด้วย
เรื่องอะไร เรื่องอะไรที่ท่านทั้งหลายสนทนากันค้างไว้” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัส
อย่างนี้ นิโครธปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พวกข้าพระองค์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ สถานที่ให้เหยื่อ
นกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ถ้าพระสมณโคดมจะพึง
เสด็จมาสู่บริษัทนี้ พวกเราจะพึงทูลถามปัญหานี้กับพระองค์ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้แนะนำเหล่าสาวก ทำให้เหล่าสาวกที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงแนะนำแล้ว ถึงความเบาใจ ปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์ อันเป็นที่พึ่ง
ชั้นสูง เรื่องนี้แลที่ข้าพระองค์ทั้งหลายสนทนากันค้างไว้ ก็พอดีพระองค์เสด็จมาถึง”
[๕๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “นิโครธ ธรรมที่เราใช้แนะนำเหล่าสาวก
ทำให้เหล่าสาวกที่เราแนะนำแล้ว ถึงความเบาใจ ปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์อันเป็น
ที่พึ่งชั้นสูงนี้ เป็นธรรมที่ท่านผู้มีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความถูกใจแตกต่างกัน มีความ
พอใจแตกต่างกัน มีความมุ่งหมายแตกต่างกัน มีอาจารย์แตกต่างกัน รู้ได้ยาก
เชิญเถิด นิโครธ ท่านจงถามปัญหาเรื่องกีดกันบาปอย่างยิ่งในลัทธิอาจารย์ของตน
กับเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลัทธิกีดกันบาปด้วยตบะ ที่บริบูรณ์เป็นอย่างไร
ที่ไม่บริบูรณ์เป็นอย่างไร” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ปริพาชกเหล่านั้นได้ส่ง
เสียงอื้ออึงขึ้นว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระสมณ-
โคดมมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ทรงหยุดลัทธิของพระองค์ไว้ ทรงเปิดโอกาสให้ถาม
ลัทธิคนอื่นได้”
[๕๗] ขณะนั้น นิโครธปริพาชกห้ามปริพาชกเหล่านั้นให้สงบเสียงแล้ว
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ถือลัทธิ
กีดกันบาปด้วยตบะ มีการกีดกันบาปด้วยตบะเป็นแก่นสาร ยึดติดอยู่กับการกีดกัน
บาปด้วยตบะ การกีดกันบาปด้วยตบะ ที่บริบูรณ์เป็นอย่างไร ที่ไม่บริบูรณ์เป็น
อย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร] ลัทธิกีดกันบาปด้วยตบะ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “นิโครธ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ เป็นอเจลก
(ประพฤติเปลือยกาย) ไม่มีมารยาท เลียมือ เขาเชิญให้ไปรับอาหารก็ไม่ไป เขาเชิญ
ให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับอาหารที่เขาแบ่งไว้ ไม่รับอาหารที่เขาทำเจาะจง
ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ ไม่รับอาหารจากปากหม้อ ไม่รับอาหารจากปากภาชนะ
ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่รับอาหารคร่อมท่อนไม้ ไม่รับอาหารคร่อมสาก
ไม่รับอาหารของคน ๒ คนที่กำลังบริโภค ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์ ไม่รับ
อาหารของหญิงผู้กำลังให้บุตรดื่มนม ไม่รับอาหารของหญิงที่คลอเคลียชาย ไม่รับ
อาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับอาหารในที่เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มีแมลงวัน
ไต่ตอมเป็นกลุ่ม ๆ ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง
รับอาหารในเรือนหลังเดียว ยังชีพด้วยข้าวคำเดียว รับอาหารในเรือน ๒ หลัง ยังชีพ
ด้วยข้าว ๒ คำ ฯลฯ๑ รับอาหารในเรือน ๗ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๗ คำ ยังชีพด้วย
อาหารในถาดน้อย ๑ ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๒ ใบ ฯลฯ ยังชีพด้วย
อาหารในถาดน้อย ๗ ใบ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๑ วัน กินอาหารที่เก็บไว้
ค้างคืน ๒ วัน ฯลฯ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๗ วัน ถือการบริโภคอาหาร ๑๕ วัน
ต่อมื้อ กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร กินลูกเดือยเป็นอาหาร
กินกากข้าวเป็นอาหาร กินสาหร่ายเป็นอาหาร กินรำเป็นอาหาร กินข้าวตังเป็น
อาหาร กินกำยานเป็นอาหาร กินหญ้าเป็นอาหาร กินโคมัยเป็นอาหาร กินเหง้า
และผลไม้ป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นยังชีพ นุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน
นุ่งห่มผ้าห่อศพ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น) นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ นุ่งห่มหนังเสือ
นุ่งห่มหนังเสือมีเล็บ นุ่งห่มผ้าคากรอง๒ นุ่งห่มผ้าเปลือกปอกรอง นุ่งห่มผ้าผลไม้
กรอง นุ่งห่มผ้ากัมพลผมมนุษย์ นุ่งห่มผ้ากัมพลขนสัตว์ นุ่งห่มผ้าขนปีกนกเค้า
เป็นผู้ถอนผมและหนวด คือถือการถอนผมและหนวด ยืนอย่างเดียว ไม่ยอมนั่ง
เดินกระโหย่ง คือถือการเดินกระโหย่ง (เหยียบพื้นไม่เต็มเท้า) ถือการนอนบนหนาม

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๙๘/๒๓๐ ประกอบ
๒ ผ้าคากรอง หมายถึงผ้าที่ถักทอด้วยหญ้าคา เป็นผ้าที่พวกฤๅษีใช้นุ่งห่ม (องฺ.ติก.อ. ๒/๙๔/๒๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
ว่าด้วยอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง)
นอนบนที่นอนอันทำด้วยหนาม นอนบนแผ่นกระดาน นอนบนเนินดิน นอนตะแคง
ข้างเดียว เอาฝุ่นคลุกตัว อยู่กลางแจ้ง นั่งบนอาสนะตามที่ปูลาดไว้ บริโภคคูถ คือ
ถือการบริโภคคูถ ไม่ดื่มน้ำเย็น คือถือการไม่ดื่มน้ำเย็น อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง คือ
ถือการลงอาบน้ำ
นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วย
ตบะ เป็นลัทธิที่บริบูรณ์หรือไม่บริบูรณ์”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิ
ที่บริบูรณ์แน่นอน มิใช่ไม่บริบูรณ์”
“นิโครธ เรากล่าวว่าการกีดกันบาปด้วยตบะแม้ที่บริบูรณ์อย่างนี้ ก็ยังมีอุปกิเลส
อยู่เป็นอันมาก”
ว่าด้วยอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง)
[๕๘] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่าการ
กีดกันบาปด้วยตบะที่บริบูรณ์อย่างนี้ ก็ยังมีอุปกิเลสอยู่อีกเป็นอันมาก”
“นิโครธ
๑. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ ยึดมั่นตบะ เขามีใจยินดี มีความดำริ
อันบริบูรณ์ด้วยตบะ๑นั้น ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะจน
เป็นเหตุให้เขามีใจยินดี มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยตบะนั้น นี้แล
เป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
๒. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขายกตนข่มผู้อื่นด้วยตบะนั้น
ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะจนเป็นเหตุให้เขายกตนข่มผู้อื่น
ด้วยตบะนั้น นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

เชิงอรรถ :
๑ มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยตบะ ในที่นี้หมายถึงพอใจในการบำเพ็ญแต่ตบะเท่านั้น (ที.ปา.อ. ๕๘/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
ว่าด้วยอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง)
๓. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขามัวเมา๑ หลงใหล ถึงความ
ประมาทด้วยตบะนั้น ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะจนเป็น
เหตุให้เขามัวเมา หลงใหล ถึงความประมาทด้วยตบะนั้น นี้แล
เป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
[๕๙] ๔. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาทำลาภ๒สักการะและความ
สรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขามีใจยินดี มีความดำริอัน
บริบูรณ์ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ข้อที่บุคคลผู้
บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะจนเป็นเหตุทำลาภสักการะและความ
สรรเสริญให้เกิดขึ้น เขามีใจยินดี มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยลาภ
สักการะและความสรรเสริญนั้น นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้
บำเพ็ญตบะ
๕. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาทำลาภสักการะและความ
สรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขายกตนข่มผู้อื่น ด้วยลาภ
สักการะและความสรรเสริญนั้น ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่น
ตบะจนเป็นเหตุทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เขา
ยกตนข่มผู้อื่นด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น นี้แลเป็น
อุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
๖. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาทำลาภสักการะและความ
สรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขามัวเมา หลงใหล ถึงความ
ประมาทด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ข้อที่บุคคลผู้
บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะจนเป็นเหตุทำลาภสักการะและความ
สรรเสริญให้เกิดขึ้น เขามัวเมา หลงใหล ถึงความประมาทด้วย
ลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคล
ผู้บำเพ็ญตบะ

เชิงอรรถ :
๑ มัวเมา ในที่นี้หมายถึงมัวเมาเกิดจากมานะ (ที.ปา.อ. ๕๘/๒๑)
๒ ลาภ ในที่นี้หมายถึงการได้ปัจจัย ๔ ประการที่เขาเตรียมไว้เพื่อน้อมถวายคือ (๑) ผ้านุ่งห่ม (๒) อาหาร
(๓) ที่อยู่อาศัย (๔) ยารักษาโรค (ที.ปา.อ. ๕๙/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
ว่าด้วยอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง)
[๖๐] ๗. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ ถึงกับแบ่งโภชนะ ๒ ส่วนว่า
‘สิ่งนี้เราชอบ สิ่งนี้เราไม่ชอบ’ สิ่งใดที่เขาไม่ชอบ เขาก็อยากทิ้ง
สิ่งนั้น ส่วนสิ่งใดที่เขาชอบ เขาก็พัวพัน ยินดี หลงใหล ยึดติด
สิ่งนั้น มองไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเครื่องสลัดออก บริโภคอยู่
ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
๘. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เพราะเหตุแห่งความอยากใน
ลาภสักการะและความสรรเสริญ ด้วยคิดว่า ‘พระราชา มหา-
อำมาตย์ของพระราชา กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี เดียรถีย์
จักสักการะเรา’ ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
[๖๑] ๙. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ระรานสมณะหรือพราหมณ์อื่นว่า ‘ก็ไฉน ผู้นี้
เลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุหลายอย่าง กินไปหมดทุกอย่าง คือ พืชเกิด
จากเหง้า พืชเกิดจากลำต้น พืชเกิดจากตา พืชเกิดจากยอด และ
พืชเกิดจากเมล็ดเป็นที่ห้า ปลายฟันของผู้นี้คมกริบประดุจสายฟ้า
คนทั้งหลายยังพากันเรียกว่าเป็นสมณะ’ ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็น
อุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
๑๐. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นผู้กำลังได้รับ
สักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ในตระกูลทั้งหลาย เขาดำริ
อย่างนี้ว่า ‘ในตระกูลทั้งหลาย คนทั้งหลายสักการะ เคารพ
นับถือ บูชาสมณะหรือพราหมณ์ชื่อนี้ที่เลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุหลาย
อย่าง แต่ในตระกูลทั้งหลายไม่มีใครสักการะ ไม่มีใครเคารพ ไม่มี
ใครนับถือ ไม่มีใครบูชาเราผู้บำเพ็ญตบะ ซึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุ
เศร้าหมอง’ เขาทำความริษยา๑และความตระหนี่๒ให้เกิดขึ้นในตระกูล
ทั้งหลาย ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

เชิงอรรถ :
๑ ความริษยา ในที่นี้หมายถึงการทำลายสักการะ เป็นต้น ของคนอื่น (ที.ปา.อ. ๖๑/๒๒)
๒ ความตระหนี่ ในที่นี้หมายถึงความไม่พอใจที่เห็นเขาทำสักการะ เป็นต้น แก่คนอื่น (ที.ปา.อ. ๖๑/๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
ว่าด้วยอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง)
[๖๒] ๑๑. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะเป็นผู้มีปกตินั่งในที่ที่คนเห็นได้ ข้อที่ ฯลฯ นี้แล
เป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
๑๒. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เที่ยวอวดตนในตระกูลทั้งหลายว่า ‘การ
กระทำแม้นี้ก็มีในตบะของเรา การกระทำแม้นี้ก็มีในตบะของเรา’
ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
๑๓. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ใช้ประโยชน์จากความผิด๑บางอย่างที่ปกปิดไว้
เมื่อถูกผู้อื่นถามว่า ‘สิ่งนี้ควรแก่ท่านหรือ’ จึงกล่าวถึงสิ่งที่ไม่ควร
ว่า ‘ควร’ กล่าวถึงสิ่งที่ควรว่า ‘ไม่ควร’ เขาพูดเท็จทั้งที่รู้ตัวอยู่
ด้วยประการฉะนี้ ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
๑๔. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เมื่อตถาคตหรือสาวกของตถาคตกำลังแสดง
ธรรมอยู่ ย่อมไม่คล้อยตามธรรมบรรยายที่ควรคล้อยตามอันมีอยู่
นั่นเทียว ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้มีตบะ
[๖๓] ๑๕. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธไว้ ข้อที่บุคคลผู้
บำเพ็ญตบะ เป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธไว้ นี้แลเป็นอุปกิเลสของ
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
๑๖. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ลบหลู่ ตีเสมอ ฯลฯ
๑๗. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ริษยา มีความตระหนี่ ฯลฯ
๑๘. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้โอ้อวด มีมายา ฯลฯ
๑๙. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้กระด้าง ถือตัวจัด ฯลฯ
๒๐. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้มีความปรารถนาชั่ว ตกอยู่ในอำนาจ
แห่งความปรารถนาชั่ว ฯลฯ
๒๑. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้มีความเห็นผิด ประกอบด้วยอันตคาหิก-
ทิฏฐิ ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ ความผิด ในที่นี้หมายถึงความผิดทั้งทางกาย วาจา และใจ (ที.ปา.ฏีกา ๖๒/๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการถึงความบริสุทธิ์เพียงสะเก็ด
๒๒. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะเป็นผู้ยึดมั่นทิฏฐิของตน มีความถือรั้น สละ
สิ่งที่ตนยึดมั่นได้ยาก ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะเป็นผู้ยึดมั่นทิฏฐิของตน
มีความถือรั้น สละสิ่งที่ตนยึดมั่นได้ยาก นี้แลเป็นอุปกิเลสของ
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร การกีดกันบาปด้วยตบะเหล่านี้ เป็น
อุปกิเลส หรือไม่เป็นอุปกิเลส”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การกีดกันบาปด้วยตบะเหล่านี้ เป็นอุปกิเลสแน่นอน
ไม่ใช่ไม่เป็นอุปกิเลส ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ประกอบด้วย
อุปกิเลสเหล่านี้ครบทุกอย่าง เป็นฐานะที่จะมีได้ ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงบุคคลผู้มี
อุปกิเลสเพียงบางข้อ”
เรื่องการถึงความบริสุทธิ์เพียงสะเก็ด
[๖๔] “นิโครธ
๑. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ ยึดมั่นตบะ เขามีใจไม่ยินดี ไม่มี
ความดำริอันบริบูรณ์ด้วยตบะนั้น ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่น
ตบะจนเป็นเหตุให้เขามีใจไม่ยินดี ไม่มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วย
ตบะนั้น เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
๒. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วย
ตบะนั้น ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
๓. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาไม่มัวเมา ไม่หลงใหล ไม่ถึง
ความประมาทด้วยตบะนั้น ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วย
เหตุนั้นอย่างนี้
[๖๕] ๔. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาทำลาภสักการะและความ
สรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขามีใจไม่ยินดี ไม่มีความดำริ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการถึงความบริสุทธิ์เพียงสะเก็ด
อันบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ข้อที่ ฯลฯ
เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
๕. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาทำลาภสักการะและความ
สรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยลาภ
สักการะและความสรรเสริญนั้น ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
๖. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาทำลาภสักการะและความ
สรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาไม่มัวเมา ไม่หลงใหล ไม่ถึง
ความประมาทด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ข้อที่ ฯลฯ
เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
[๖๖] ๗. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาไม่พิจารณาโภชนะทั้งหลาย
เป็น ๒ ส่วน ว่า ‘สิ่งนี้เราชอบ สิ่งนี้เราไม่ชอบ’ สิ่งใดที่เขาไม่ชอบ
เขาก็ไม่อยากทิ้งสิ่งนั้น ส่วนสิ่งที่เขาชอบ เขาก็ไม่พัวพัน ไม่ยินดี
ไม่หลงใหล ไม่ยึดติดสิ่งนั้น เห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก
บริโภคอยู่ ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
๘. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ไม่ยึดมั่นตบะ เพราะเหตุแห่งความอยากได้
ลาภสักการะและความสรรเสริญ ด้วยคิดว่า ‘พระราชา มหาอำมาตย์
ของพระราชา กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี เดียรถีย์ จักสักการะ
เรา’ ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
[๖๗] ๙. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ไม่ระรานสมณะหรือพราหมณ์อื่นว่า ‘ก็ไฉน
ผู้นี้เลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุหลายอย่าง กินไปหมดทุกอย่าง คือ พืช
เกิดจากเหง้า พืชเกิดจากลำต้น พืชเกิดจากตา พืชเกิดจากยอด
และพืชเกิดจากเมล็ดเป็นที่ห้า ปลายฟันของผู้นี้คมกริบประดุจสายฟ้า
คนทั้งหลายยังพากันเรียกว่าเป็นสมณะ’ ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็น
ผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการถึงความบริสุทธิ์เพียงสะเก็ด
๑๐. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นผู้กำลังได้รับ
สักการะ เคารพ นับถือ บูชาในตระกูลทั้งหลาย เขาไม่ดำริ
อย่างนี้ว่า ‘ในตระกูลทั้งหลาย คนทั้งหลายย่อมสักการะ เคารพ
นับถือ บูชา สมณะหรือพราหมณ์ชื่อนี้ผู้เลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุหลาย
อย่าง แต่ในตระกูลทั้งหลายไม่มีใครสักการะ ไม่มีใครเคารพ
ไม่มีใครนับถือ ไม่มีใครบูชาเราผู้บำเพ็ญตบะซึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุ
เศร้าหมอง’ เขาไม่ทำความริษยาและความตระหนี่ให้เกิดขึ้นในตระกูล
ทั้งหลาย ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
[๖๘] ๑๑. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่มีปกตินั่งในที่ที่คนเห็นได้ ข้อที่ ฯลฯ
เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
๑๒. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ย่อมไม่เที่ยวอวดตนในตระกูลทั้งหลายว่า
‘การกระทำแม้นี้ก็มีในตบะของเรา การกระทำแม้นี้ก็มีในตบะของ
เรา’ ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
๑๓. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ไม่ใช้ประโยชน์จากความผิดบางอย่างที่ปกปิดไว้
เมื่อถูกผู้อื่นถามว่า ‘สิ่งนี้ควรแก่ท่านหรือ’ จึงกล่าวถึงสิ่งที่ไม่ควร
ว่า ‘ไม่ควร’ กล่าวถึงสิ่งที่ควรว่า ‘ควร’ เขาไม่พูดเท็จทั้งที่รู้ตัวอยู่
ด้วยประการฉะนี้ ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้น
อย่างนี้
๑๔. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เมื่อตถาคตหรือสาวกของตถาคตกำลังแสดง
ธรรมอยู่ ย่อมคล้อยตามธรรมบรรยายที่ควรคล้อยตามอันมีอยู่
นั่นเทียว ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
[๖๙] ๑๕. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธไว้ ข้อที่บุคคลผู้
บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธไว้ เขาชื่อว่าเป็นผู้
บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการที่ถึงความบริสุทธิ์เพียงเปลือก
๑๖. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่ลบหลู่ ไม่ตีเสมอ ฯลฯ
๑๗. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ฯลฯ
๑๘. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ฯลฯ
๑๙. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่กระด้าง ไม่ถือตัวจัด ฯลฯ
๒๐. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่มีความปรารถนาชั่ว ไม่ตกอยู่ในอำนาจ
แห่งความปรารถนาชั่ว ฯลฯ
๒๑. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่มีความเห็นผิด ไม่ประกอบด้วย
อันตคาหิกทิฏฐิ ฯลฯ
๒๒. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่ยึดมั่นทิฏฐิของตน ไม่ถือรั้น สละ
สิ่งที่ตนยึดมั่นได้ง่าย ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะเป็นผู้ไม่ยึดมั่นทิฏฐิ
ของตน ไม่ถือรั้น สละสิ่งที่ตนยึดมั่นได้ง่าย เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วย
ตบะ เป็นลัทธิที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิ
ที่บริสุทธิ์แน่นอน ไม่ใช่ไม่บริสุทธิ์ เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น”
“นิโครธ การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ หาเป็นลัทธิที่ถึงยอด
และถึงแก่นไม่ ที่แท้ เป็นลัทธิที่ถึงเพียงสะเก็ดเท่านั้น”
เรื่องการถึงความบริสุทธิ์เพียงเปลือก
[๗๐] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร
เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงให้
ข้าพระองค์ถึงยอดและถึงแก่นแห่งการกีดกันบาปด้วยตบะเถิด”
“นิโครธ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการที่ถึงความบริสุทธิ์เพียงเปลือก
๑. ไม่ทำชีวิตให้ตกล่วงไป ไม่ใช้ผู้อื่นให้ทำชีวิตให้ตกล่วงไป เมื่อผู้อื่น
ทำชีวิตให้ตกล่วงไป ก็ไม่ดีใจ
๒. ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
มิได้ให้ เมื่อผู้อื่นถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ก็ไม่ดีใจ
๓. ไม่พูดเท็จ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นพูดเท็จ เมื่อผู้อื่นพูดเท็จ ก็ไม่ดีใจ
๔. ไม่เสพกามคุณ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเสพกามคุณ เมื่อผู้อื่นเสพกามคุณ
ก็ไม่ดีใจ
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ เป็นอย่างนี้แล
การที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ จะเป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการได้ ก็เพราะ
เขามีสิ่งที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ โดยความเป็นผู้บำเพ็ญตบะ เขารักษาศีลให้ยิ่ง
ไม่กลับมาเป็นคฤหัสถ์ เขาพักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา
ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เขากลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉัน
ภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เขาละอภิชฌา
(ความเพ่งเล็งอยากได้ของของเขา) ในโลก๑ มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้
บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความมุ่งร้าย คือ พยาบาท(ความคิดร้าย) มีจิตไม่พยาบาท
มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้าย คือ พยาบาท
ละถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติ-
สัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่าน
และร้อนใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ
ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้ ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา๒

เชิงอรรถ :
๑ โลก แปลว่าสภาพที่ต้องแตกสลาย ในที่นี้หมายถึงอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ คือ ความยึดติด รูป เวทนา
สัญญา สังขาร และวิญญาณว่ามีตัวตนและเป็นของตน อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ (ที.สี.อ. ๒๑๗/๑๙๐)
๒ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๙๘/๓๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการที่ถึงความบริสุทธิ์เพียงเปลือก
[๗๑] เขาละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต ทอนกำลัง
ปัญญา มีเมตตาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่
มีกรุณาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยกรุณาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่
มีมุทิตาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยมุทิตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่
มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่
นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วย
ตบะ เป็นลัทธิที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิ
ที่บริสุทธิ์แน่นอน ไม่ใช่ไม่บริสุทธิ์ เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่นทีเดียว”
“นิโครธ การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ยังไม่เป็นลัทธิที่ถึงยอด
และถึงแก่น ที่แท้ เป็นลัทธิที่ถึงเพียงเปลือกเท่านั้น”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔๙ }

2 ความคิดเห็น :

  1. ไม่ระบุชื่อ27 ธันวาคม 2565 เวลา 20:24

    สาธุ สาธุ
    ธุดง ในธรรมสถาน เดินวนรูปสามเหลี่ยม ได้เหมือน จงกลมไปยังที่สุดรอบไหมครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ https://tripitaka-online.blogspot.com

      สาระสำคัญของการเดินจงกรมอยู่ที่สติ สมาธิ ปัญญาที่เกิดขึ้นครับ จะเดินวนแบบไหนถ้าไม่เป็นอุปสรรคในการกำหนดสติก็ได้ประโยชน์ทั้งนั้นครับ การปรับเส้นทางการเดินให้เหมาะสมกับสถานที่ ย่อมดีกว่าการฝืนเดินโดยไม่เหมาะสมกับสถานที่อยู่แล้วครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ