Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๑๓-๒ หน้า ๕๒ - ๑๐๒

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๐๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์



พระสุตตันตปิฎก
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๕. ชีวกสูตร
ชีวก หากเธอกล่าวหมายถึงการละราคะ โทสะ โมหะนี้ เราเห็นด้วย”
หมอชีวกโกมารภัจกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์กล่าว
หมายถึงการละราคะ โทสะ โมหะนี้แล พระพุทธเจ้าข้า”
ทำบุญได้บาปด้วยเหตุ ๕ ประการ
[๕๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ชีวก เหตุให้ประสพ๑สิ่งที่ไม่เป็นบุญ ๕ ประการ
ของบุคคลผู้ฆ่าสัตว์เจาะจงถวายตถาคตหรือสาวกของตถาคต คือ
๑. การที่เขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านจงไปนำสัตว์ชนิดโน้นมา’ นี้เป็น
เหตุให้ประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญเป็นอันมากประการที่ ๑
๒. การที่สัตว์นั้นได้รับทุกข์โทมนัสขณะถูกผูกคอนำมา นี้เป็นเหตุให้
ประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญเป็นอันมากประการที่ ๒
๓. การที่เขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านจงไปฆ่าสัตว์ชนิดนี้’ นี้เป็นเหตุ
ให้ประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญเป็นอันมากประการที่ ๓
๔. การที่สัตว์นั้นได้รับทุกข์โทมนัสขณะถูกฆ่า นี้เป็นเหตุให้ประสพสิ่งที่
ไม่เป็นบุญเป็นอันมากประการที่ ๔
๕. การที่เขาทำให้ตถาคตหรือสาวกของตถาคตยินดีด้วยเนื้อที่ไม่สมควร๒
นี้เป็นเหตุให้ประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญเป็นอันมากประการที่ ๕
ชีวก เหตุให้ประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญเป็นอันมาก ๕ ประการนี้แล ของบุคคล
ผู้ฆ่าสัตว์เจาะจงถวายตถาคตหรือสาวกของตถาคต”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว หมอชีวกโกมารภัจจึงกราบทูลว่า
“น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุทั้งหลายฉันเฉพาะภัตตาหาร

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร
ที่สมควร ภิกษุทั้งหลายฉันเฉพาะอาหารที่ไม่มีโทษ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิต
ของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตาม
ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มี
พระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำ
ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล
ชีวกสูตรที่ ๕ จบ

๖. อุปาลิวาทสูตร
ว่าด้วยวาทะของคหบดีชื่ออุบาลี
[๕๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวัน เขตเมืองนาลันทา
สมัยนั้นแล นิครนถ์ นาฏบุตรพร้อมกับบริษัทนิครนถ์เป็นจำนวนมาก อาศัยอยู่ที่
เมืองนาลันทา ต่อมา นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสี๑ ออกเที่ยวหาอาหารในเมืองนาลันทา
กลับจากเที่ยวหาอาหารภายหลังเวลาอาหารแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงปาวาริกัมพวัน ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว
ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับนิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีซึ่งยืนอยู่
ที่นั้นแลว่า “ตปัสสี ที่นั่งมีอยู่ ถ้าท่านประสงค์ ก็จงนั่งเถิด”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีจึงเลือกนั่ง ณ ที่
สมควร ที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร

เปรียบเทียบทัณฑะ ๓ กับกรรม ๓
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามนิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีว่า “ตปัสสี นิครนถ์ นาฏบุตร
บัญญัติกรรมในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่วไว้เท่าไร”
นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม นิครนถ์ นาฏบุตรมิได้บัญญัติ
เป็นอาจิณว่า ‘กรรม กรรม’ แต่บัญญัติเป็นอาจิณว่า ‘ทัณฑะ ทัณฑะ’
“ตปัสสี นิครนถ์ นาฏบุตรบัญญัติทัณฑะในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติ
กรรมชั่วไว้เท่าไร”
“ท่านพระโคดม นิครนถ์ นาฏบุตรบัญญัติทัณฑะในการทำกรรมชั่ว ในการ
ประพฤติกรรมชั่วไว้ ๓ ประการ คือ (๑) กายทัณฑะ (๒) วจีทัณฑะ (๓) มโนทัณฑะ”
“ตปัสสี กายทัณฑะอย่างหนึ่ง วจีทัณฑะอย่างหนึ่ง มโนทัณฑะอย่างหนึ่งหรือ”
“ท่านพระโคดม กายทัณฑะก็อย่างหนึ่ง วจีทัณฑะก็อย่างหนึ่ง มโนทัณฑะ
ก็อย่างหนึ่ง”
“ตปัสสี บรรดาทัณฑะทั้ง ๓ ประการนี้ที่จำแนกแยกเป็นอย่างนี้ คือ
(๑) กายทัณฑะ (๒) วจีทัณฑะ (๓) มโนทัณฑะ นิครนถ์ นาฏบุตรบัญญัติทัณฑะ
ไหนว่ามีโทษมากกว่ากัน ในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่ว”
“ท่านพระโคดม บรรดาทัณฑะทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกแยกเป็นอย่างนี้
นิครนถ์ นาฏบุตรบัญญัติกายทัณฑะว่ามีโทษมากกว่ากัน ในการทำกรรมชั่ว ในการ
ประพฤติกรรมชั่ว มิใช่วจีทัณฑะ หรือมโนทัณฑะ”
“ตปัสสี ท่านตอบว่า ‘กายทัณฑะ’ หรือ”
“ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘กายทัณฑะ”
“ตปัสสี ท่านตอบว่า ‘กายทัณฑะ’ หรือ”
“ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘กายทัณฑะ”
“ตปัสสี ท่านตอบว่า ‘กายทัณฑะ’ หรือ”
“ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘กายทัณฑะ”
พระผู้มีพระภาคทรงให้นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสียืนยันคำพูดนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการ
อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร
[๕๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีจึงได้ทูลถาม
พระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม พระองค์ทรงบัญญัติทัณฑะในการทำกรรมชั่ว
ในการประพฤติกรรมชั่วไว้เท่าไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ตปัสสี ตถาคตมิได้บัญญัติเป็นอาจิณว่า
‘ทัณฑะ ทัณฑะ’ แต่บัญญัติเป็นอาจิณว่า ‘กรรม กรรม”
“ท่านพระโคดม พระองค์ทรงบัญญัติกรรมในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติ
กรรมชั่วไว้เท่าไร”
“ตปัสสี เราบัญญัติกรรมในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่วไว้ ๓ ประการ
คือ (๑) กายกรรม (๒) วจีกรรม (๓) มโนกรรม๑”
“ท่านพระโคดม กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่ง
เท่านั้นหรือ”
“ตปัสสี กายกรรมก็อย่างหนึ่ง วจีกรรมก็อย่างหนึ่ง มโนกรรมก็อย่างหนึ่ง
เท่านั้น”
“ท่านพระโคดม บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการนี้ที่จำแนกแยกเป็นอย่างนี้ คือ
(๑) กายกรรม (๒) วจีกรรม (๓) มโนกรรม พระองค์ทรงบัญญัติกรรมไหนว่ามี
โทษมากกว่ากัน ในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่ว”
“ตปัสสี บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการที่จำแนกแยกเป็นอย่างนี้ เราบัญญัติ
มโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่ว มิใช่กายกรรม
หรือวจีกรรม”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร
“ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสตอบว่า ‘มโนกรรม’ หรือ”
“ใช่ เราตอบว่า ‘มโนกรรม”
“ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสตอบว่า ‘มโนกรรม’ หรือ”
“ใช่ เราตอบว่า ‘มโนกรรม”
“ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสตอบว่า ‘มโนกรรม’ หรือ”
“ใช่ เราตอบว่า ‘มโนกรรม”
นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีให้พระผู้มีพระภาคทรงยืนยันในพระดำรัสนี้ถึง ๓ ครั้ง
ด้วยประการอย่างนี้ แล้วลุกจากอาสนะเข้าไปหานิครนถ์ นาฏบุตรถึงที่อยู่
อุบาลีอาสาโต้วาทะกับพระพุทธเจ้า
[๕๘] สมัยนั้น นิครนถ์ นาฏบุตรนั่งอยู่กับบริษัทคฤหัสถ์เป็นจำนวนมาก
ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านพาลกะ มีคหบดีชื่ออุบาลีเป็นหัวหน้า ได้เห็นนิครนถ์ชื่อทีฆ-
ตปัสสีเดินมาแต่ไกล จึงทักทายว่า “ตปัสสี เชิญทางนี้ ท่านมาจากไหนแต่วันเชียว”
ทีฆตปัสสีตอบว่า “ผมมาจากสำนักของพระสมณโคดมนี้เอง ขอรับ”
“ท่านได้สนทนาปราศรัยกับพระสมณโคดมบ้างหรือไม่”
“ก็ได้สนทนาปราศรัยบ้าง ขอรับ”
“สนทนาปราศรัยกันถึงเรื่องอะไรเล่า”
จากนั้น นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีได้เล่าเรื่องที่สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค
ให้นิครนถ์ นาฏบุตรฟังทั้งหมด เมื่อนิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีเล่าจบ นิครนถ์ นาฏบุตร
จึงกล่าวว่า
“ดีละ ดีละ ตปัสสี การที่ท่านทีฆตปัสสีชี้แจงให้พระสมณโคดมฟังนั้น ตรง
ตามที่สาวกผู้ได้ศึกษาจนรู้ทั่วถึงคำสอนของศาสดาอย่างถูกต้องชี้แจงไว้ มโนทัณฑะ
อันต่ำทรามจะดีงามได้อย่างไร เมื่อเทียบกับกายทัณฑะที่สำคัญเช่นนี้ แท้จริงในการ
ทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่ว กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า มิใช่วจีทัณฑะ
หรือมโนทัณฑะเลย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร
[๕๙] เมื่อนิครนถ์ นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาลีคหบดีได้กล่าวกับนิครนถ์
นาฏบุตรว่า “ดีละ ดีละ ท่านผู้เจริญ ท่านทีฆตปัสสีชี้แจงดีแล้ว ถูกต้องแล้ว
การที่ท่านทีฆตปัสสีชี้แจงให้พระสมณโคดมฟังนั้น ตรงตามที่สาวกผู้ได้ศึกษาจนรู้
ทั่วถึงคำสอนของศาสดาอย่างถูกต้องชี้แจงไว้ มโนทัณฑะอันต่ำทรามจะดีงามได้
อย่างไร เมื่อเทียบกับกายทัณฑะที่สำคัญเช่นนี้ แท้จริงในการทำกรรมชั่ว ในการ
ประพฤติกรรมชั่ว กายทัณฑะเท่านั้นย่อมมีโทษมากกว่า มิใช่วจีทัณฑะ หรือมโน-
ทัณฑะเลย
ท่านผู้เจริญ เอาเถิด ข้าพเจ้าจะไปโต้วาทะในเรื่องนี้กับพระสมณโคดมเอง
ถ้าพระสมณโคดมจักยืนยัน เหมือนอย่างที่ท่านตปัสสียืนยันไว้อย่างนั้น ข้าพเจ้าจัก
พูดตะล่อมวกไปวกมาหว่านล้อมให้งง เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรงจับขนแกะที่มีขน
ยาวฉุดดึงไปดึงมาหมุนจนงง หรือเปรียบเหมือนชายฉกรรจ์ผู้เป็นกรรมกรในโรงงาน
สุรา ทิ้งกระสอบที่มีส่วนผสมสุราใบใหญ่ลงในบ่อหมักส่าที่ลึก แล้วจับที่มุมส่ายไป
ส่ายมาสลัดออก ข้าพเจ้าจักขจัด บด ขยี้ซึ่งวาทะของพระสมณโคดมด้วยวาทะ
เหมือนคนที่แข็งแรงเป็นนักเลงสุรา จับไหสุราคว่ำลง หงายขึ้น เขย่าจนน้ำสุรา
สะเด็ด หรือข้าพเจ้าจักเล่นกีฬาซักป่านกับพระสมณโคดม เหมือนช้างแก่อายุ ๖๐ ปี
ลงไปยังสระลึกเล่นกีฬาซักป่าน
ท่านผู้เจริญ เอาเถิด ข้าพเจ้าจะไป จักโต้วาทะในเรื่องที่พูดกันนี้กับพระ
สมณโคดมเอง”
“คหบดี ท่านจงไป จงโต้วาทะในเรื่องที่พูดกันนี้กับพระสมณโคดม แท้จริง
เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ หรือท่านก็ได้ ควรโต้วาทะกับพระสมณโคดม”
[๖๐] เมื่อนิครนถ์ นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีได้กล่าว
กับนิครนถ์ นาฏบุตรว่า “ท่านผู้เจริญ การที่อุบาลีคหบดีจะพึงโต้วาทะกับพระ
สมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย เพราะพระสมณโคดมเป็นคนมีมารยา รู้มายา
เป็นเครื่องกลับใจพวกสาวกของอัญเดียรถีย์ได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร
นิครนถ์ นาฏบุตร กล่าวว่า “ตปัสสี เป็นไปไม่ได้เลย๑ที่อุบาลีคหบดีจะพึงเป็น
สาวกของพระสมณโคดม แต่เป็นไปได้๒ที่พระสมณโคดมจะพึงเป็นสาวกของอุบาลี-
คหบดี
คหบดี ท่านจงไป จงโต้วาทะในเรื่องที่พูดกันนี้กับพระสมณโคดม แท้จริงเราก็ได้
ทีฆตปัสสีก็ได้ หรือท่านก็ได้ ควรโต้วาทะกับพระสมณโคดม”
แม้ครั้งที่ ๒ นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีก็ได้เตือนนิครนถ์ นาฏบุตรว่า “ท่านผู้เจริญ
การที่อุบาลีคหบดีจะพึงโต้วาทะกับพระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย เพราะ
พระสมณโคดมเป็นคนมีมารยา รู้มายาเป็นเครื่องกลับใจพวกสาวกของอัญเดียรถีย์ได้”
นิครนถ์ นาฏบุตร กล่าวว่า “ตปัสสี เป็นไปไม่ได้เลยที่อุบาลีคหบดีจะพึง
เป็นสาวกของพระสมณโคดม แต่เป็นไปได้ที่พระสมณโคดมจะพึงเป็นสาวกของ
อุบาลีคหบดี
คหบดี ท่านจงไป จงโต้วาทะในเรื่องที่พูดกันนี้กับพระสมณโคดม แท้จริง
เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ หรือท่านก็ได้ ควรโต้วาทะกับพระสมณโคดม”
แม้ครั้งที่ ๓ นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีก็ได้กล่าวเตือนนิครนถ์ นาฏบุตรว่า “ท่าน
ผู้เจริญ การที่อุบาลีคหบดีจะพึงโต้วาทะกับพระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย
เพราะพระสมณโคดมเป็นคนมีมารยา รู้มายาเป็นเครื่องกลับใจพวกสาวกของ
อัญเดียรถีย์ได้”
นิครนถ์ นาฏบุตร กล่าวว่า “ตปัสสี เป็นไปไม่ได้เลยที่อุบาลีคหบดีจะพึง
เป็นสาวกของพระสมณโคดม แต่เป็นไปได้ที่พระสมณโคดมจะพึงเป็นสาวกของ
อุบาลีคหบดี
คหบดี ท่านจงไป จงโต้วาทะในเรื่องที่พูดกันนี้กับพระสมณโคดม แท้จริง
เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ หรือท่านก็ได้ ควรโต้วาทะกับพระสมณโคดม”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร
อุบาลีคหบดีรับคำนิครนถ์ นาฏบุตรแล้วลุกจากที่นั่ง ไหว้นิครนถ์ นาฏบุตร
และกระทำประทักษิณแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงปาวาริกัมพวัน ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านผู้เจริญ นิครนถ์ชื่อ
ทีฆตปัสสีได้มาที่นี้บ้างไหม”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า “มา คหบดี”
“ท่านผู้เจริญ ท่านได้สนทนาปราศรัยกับนิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีบ้างไหม”
“ได้สนทนาบ้าง คหบดี”
“ท่านผู้เจริญ ท่านได้สนทนาปราศรัยเรื่องอะไรกับนิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีหรือ”
จากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกเรื่องที่สนทนาปราศรัยกับนิครนถ์ชื่อ
ทีฆตปัสสีทั้งหมด แก่อุบาลีคหบดีทุกประการ
[๖๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อุบาลีคหบดีได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า
“ดีละ ดีละ ท่านผู้เจริญ ทีฆตปัสสีชี้แจงดีแล้ว ถูกต้องแล้ว การที่นิครนถ์
ชื่อทีฆตปัสสีชี้แจงให้พระผู้มีพระภาคฟังนั้น ตรงตามที่สาวกผู้ได้ศึกษาจนรู้ทั่วถึง
คำสอนของศาสดาอย่างถูกต้องชี้แจงไว้ มโนทัณฑะอันต่ำทรามจะดีงามได้อย่างไร
เมื่อเทียบกับกายทัณฑะที่สำคัญเช่นนี้ แท้จริงในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติ
กรรมชั่ว กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า มิใช่วจีทัณฑะ หรือมโนทัณฑะเลย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี หากท่านจะพึงยึดมั่นอยู่ในคำสัตย์แล้วสนทนากัน
เราจึงจะสนทนาในเรื่องนี้ด้วย”
อุบาลีคหบดีกราบทูลว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะยึดมั่นคำสัตย์แล้วสนทนากัน
เราทั้ง ๒ จงมาสนทนากันในเรื่องนี้เถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร

พระผู้มีพระภาคทรงย้อนถามปัญหา
[๖๒] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
นิครนถ์ในโลกนี้ป่วย มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ถูกห้ามใช้น้ำเย็น ใช้แต่น้ำร้อน เมื่อเขา
ไม่ได้น้ำเย็นจะต้องตาย นิครนถ์ นาฏบุตรบัญญัติว่านิครนถ์ผู้นี้จะไปเกิด ณ ที่ไหน”
อุบาลีคหบดีทูลตอบว่า “ท่านผู้เจริญ เหล่าเทพที่ชื่อว่ามโนสัตว์มีอยู่ เขาย่อม
เกิดในหมู่เทพนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาเป็นผู้มีใจผูกพันตายไป”
“คหบดี ท่านจงใส่ใจแล้วชี้แจงดูที ทำไมคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับ
คำหลัง ของท่านจึงไม่สัมพันธ์กันเล่า คหบดี ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ
ข้าพเจ้าจะยึดมั่นคำสัตย์แล้วสนทนากัน เราทั้ง ๒ จงมาสนทนากันในเรื่องนี้เถิด”
“ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็ถูก ถึงกระนั้น ในการทำกรรมชั่ว
ในการประพฤติกรรมชั่ว กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า มิใช่วจีทัณฑะ หรือ
มโนทัณฑะเลย”
[๖๓] “คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในโลกนี้นิครนถ์ นาฏบุตร
พึงเป็นผู้สำรวมด้วยการสังวร ๔ อย่าง คือ
๑. เว้นน้ำดิบทุกอย่าง
๒. ประกอบกิจที่เว้นจากบาปทุกอย่าง
๓. ล้างบาปทุกอย่าง
๔. รับสัมผัสทุกอย่างโดยไม่ให้เกิดบาป
แต่ขณะเธอก้าวไป ถอยกลับ ย่อมทำให้สัตว์เล็ก ๆ ตายไปเป็นอันมาก
คหบดี นิครนถ์ นาฏบุตรจะบัญญัติว่า นิครนถ์ผู้นี้มีวิบากอย่างไร”
“ท่านผู้เจริญ นิครนถ์ นาฏบุตรมิได้บัญญัติกรรมที่ไม่จงใจว่ามีโทษมาก”
“ถ้าเป็นกรรมที่จงใจเล่า คหบดี”
“ก็เป็นกรรมมีโทษมาก ท่านผู้เจริญ”
“นิครนถ์ นาฏบุตรบัญญัติความจงใจไว้ในส่วนไหนเล่า คหบดี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร
“ในมโนทัณฑะ ท่านผู้เจริญ”
“คหบดี ท่านจงกำหนดใจแล้วชี้แจงดูที ทำไมคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อน
กับคำหลังของท่าน จึงไม่สัมพันธ์กันเล่า ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้า
จะยึดมั่นคำสัตย์แล้วสนทนากัน เราทั้ง ๒ จงมาสนทนากันในเรื่องนี้เถิด”
“ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็ถูก ถึงกระนั้น ในการทำกรรมชั่ว
ในการประพฤติกรรมชั่ว กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า มิใช่วจีทัณฑะ หรือมโน-
ทัณฑะเลย”
[๖๔] “คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บ้านนาลันทานี้มั่งคั่ง อุดม
สมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น มิใช่หรือ”
“ใช่ ท่านผู้เจริญ บ้านนาลันทานี้มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก
มีพลเมืองหนาแน่น”
“คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ชายคนหนึ่งในบ้านนาลันทานี้
เงื้อดาบขึ้นพร้อมกับพูดว่า ‘เราจักทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ให้เป็นลาน
เนื้อเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อเดียวกัน ชั่วขณะพริบตาเดียว’ ท่านเข้าใจความข้อนั้น
ว่าอย่างไร เขาจะสามารถทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ให้เป็นลานเนื้อเดียวกัน
ให้เป็นกองเนื้อเดียวกัน ชั่วขณะพริบตาเดียว ได้หรือไม่”
“ท่านผู้เจริญ ต่อให้ชาย ๑๐ คน ๒๐ คน ๓๐ คน ๔๐ คน ๕๐ คน
ก็ไม่สามารถจะทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ให้เป็นลานเนื้อเดียวกัน ให้เป็น
กองเนื้อเดียวกัน ชั่วขณะพริบตาเดียวได้ ชายผู้ต่ำทรามคนเดียวจะเก่งกาจอะไร
ปานนั้น”
“คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ผู้ถึงความ
เชี่ยวชาญทางจิตมาในบ้านนาลันทานี้ สมณะหรือพราหมณ์นั้นบอกอย่างนี้ว่า ‘เรา
จักทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้าด้วยจิตคิดประทุษร้ายครั้งเดียว’ คหบดี ท่านเข้าใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร
ความข้อนั้นว่าอย่างไร สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ผู้ถึงความเชี่ยวชาญทางจิตนั้น
จะสามารถทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยจิตคิดประทุษร้ายครั้งเดียว ได้หรือไม่”
“ท่านผู้เจริญ บ้านนาลันทา ๑๐ หลัง ๒๐ หลัง ๓๐ หลัง ๔๐ หลัง ๕๐ หลัง
สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ผู้ถึงความเชี่ยวชาญทางจิตนั้น ยังสามารถทำให้เป็น
เถ้าได้ด้วยจิตคิดประทุษร้ายครั้งเดียว แล้วบ้านนาลันทาที่ทรุดโทรมหลังเดียวจะ
คณนาอะไรเล่า”
“คหบดี ท่านจงกำหนดใจแล้วชี้แจงดูที ทำไมคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อน
กับคำหลังของท่าน จึงไม่สัมพันธ์กันเล่า คหบดี ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ
ข้าพเจ้าจะยึดมั่นคำสัตย์แล้วสนทนากัน เราทั้ง ๒ จงมาสนทนากันในเรื่องนี้เถิด”
“ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็ถูก ถึงกระนั้น ในการทำกรรมชั่ว
ในการประพฤติกรรมชั่ว กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า มิใช่วจีทัณฑะ หรือมโน-
ทัณฑะเลย”
[๖๕] “คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ
ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ ได้กลายเป็นป่าทึบ ท่านได้ฟังมาแล้วมิใช่หรือ”
“ใช่ ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว”
“คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ
ป่ามาตังคะ ได้กลายเป็นป่าทึบเพราะใคร”
“ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ
ป่ามาตังคะได้กลายเป็นป่าทึบเพราะจิตคิดประทุษร้ายของพวกฤาษี”
“คหบดี ท่านจงกำหนดใจแล้วชี้แจงดูที ทำไมคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อน
กับคำหลังของท่าน จึงไม่สัมพันธ์กันเล่า คหบดี ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ
ข้าพเจ้าจะยึดมั่นคำสัตย์แล้วสนทนากัน เราทั้ง ๒ จงมาสนทนากันในเรื่องนี้เถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร

อุบาลีคหบดีแสดงตนเป็นอุบาสก
[๖๖] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพียงอุปมาข้อแรกข้าพระองค์ก็มีใจยินดีชื่นชม
ต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว แต่ข้าพระองค์ปรารถนาจะฟังปฏิภาณการชี้แจงปัญหา
อันวิจิตรนี้ของพระผู้มีพระภาค ฉะนั้น ข้าพระองค์จึงได้แสร้งทำเป็นเหมือนอยู่
ต่างฝ่ายกับพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคล
หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วย
ตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม
และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึง
สรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
[๖๗] “คหบดี ท่านจงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำเถิด๑ การใคร่ครวญก่อนแล้ว
จึงทำ เป็นความดีสำหรับคนที่มีชื่อเสียงเช่นท่าน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ด้วยพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับข้าพระองค์
อย่างนี้ว่า ‘คหบดี ท่านจงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำเถิด การใคร่ครวญก่อนแล้ว
จึงทำ เป็นความดีสำหรับคนที่มีชื่อเสียงเช่นท่าน’ ข้าพระองค์ยิ่งมีใจยินดีชื่นชม
ต่อพระผู้มีพระภาคยิ่งขึ้น ด้วยว่า พวกอัญเดียรถีย์ได้ข้าพระองค์เป็นสาวกแล้ว
ก็จะพึงเที่ยวประกาศไปทั่วหมู่บ้านนาลันทาว่า ‘อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของพวกเรา’

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร
ก็แล พระผู้มีพระภาคตรัสกับข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘คหบดี ท่านจงใคร่ครวญก่อน
แล้วจึงทำเถิด การใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ เป็นความดีสำหรับคนที่มีชื่อเสียง
เช่นท่าน’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม
และพระสงฆ์เป็นสรณะ เป็นครั้งที่ ๒ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
[๖๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี ตระกูลของท่านเป็นดุจบ่อน้ำของพวก
นิครนถ์มานานแล้ว ท่านควรเข้าใจว่า ควรให้บิณฑบาตแก่นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไป
หาต่อไปเถิด”
อุบาลีคหบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ด้วยพระดำรัสที่พระผู้มี
พระภาคตรัสกับข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘ตระกูลของท่านเป็นดุจบ่อน้ำของพวกนิครนถ์
มานานแล้ว ท่านควรเข้าใจว่า ควรให้บิณฑบาตแก่นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปหา
ต่อไปเถิด’ นี้ ข้าพระองค์ยิ่งมีใจยินดีชื่นชมต่อพระผู้มีพระภาคมากยิ่งขึ้น ข้าพระองค์
ได้ฟังคำนี้มาว่า ‘พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า ‘บุคคลควรให้ทานแก่เราเท่านั้น
ไม่ควรให้แก่คนเหล่าอื่น บุคคลควรให้ทานแก่สาวกของเราเท่านั้น ไม่ควรให้แก่พวก
สาวกของนักบวชเหล่าอื่น ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นย่อมมีผลมาก ที่ให้แก่คนเหล่าอื่น
หามีผลมากไม่ ทานที่ให้แก่สาวกทั้งหลายของเราเท่านั้นย่อมมีผลมาก ที่ให้แก่
สาวกของนักบวชเหล่าอื่นหามีผลมากไม่’ แต่ความจริง พระผู้มีพระภาคทรงชักชวน
ให้ข้าพระองค์ให้ทานแม้ในพวกนิครนถ์ ก็แล ข้าพระองค์จักทราบกาลอันสมควรใน
การให้ทานนี้ต่อไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม
และพระสงฆ์เป็นสรณะ เป็นครั้งที่ ๓ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร

อุบาลีคหบดีบรรลุธรรม
[๖๙] หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพีกถา๑ แก่อุบาลีคหบดี คือ
ทรงประกาศทานกถา๒(เรื่องทาน) สีลกถา๓(เรื่องศีล) สัคคกถา๔(เรื่องสวรรค์) กามา-
ทีนวกถา๕(เรื่องโทษความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)และเนกขัมมานิสังสกถา๖
(เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม) เมื่อใด พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า อุบาลีคหบดี
มีจิตควรบรรลุธรรม มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตสูง มีจิตผ่องใส เมื่อนั้น
จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้า(พระองค์ก่อนๆ) ทั้งหลาย ทรงยกขึ้น
แสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ผ้าขาวสะอาดปราศจากสิ่ง
ปนเปื้อน จะพึงรับน้ำย้อมต่าง ๆ ได้อย่างดี แม้ฉันใด ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี
ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่อุบาลีคหบดี ขณะที่นั่งอยู่นั่นเองว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความ
เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา’ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร
จากนั้น อุบาลีคหบดีเห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรม หมดความ
สงสัย ไม่มีคำถามใด ๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกในหลักคำสอนของ
พระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เอาเถิด บัดนี้
ข้าพระองค์ขอทูลลากลับ เพราะมีกิจมีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี เธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
[๗๐] จากนั้น อุบาลีคหบดีชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ลุกจากที่นั่งถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วกลับไปยังที่อยู่
ของตน เรียกนายประตูมาสั่งว่า
“นายประตูเพื่อนรัก ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราจะปิดประตูกันพวกนิครนถ์ทั้งชาย
และหญิง แต่เราจะเปิดประตูไว้สำหรับพระผู้มีพระภาคและสาวกของพระผู้มีพระภาค
คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ถ้านิครนถ์คนใดคนหนึ่งมา ท่านพึงบอก
อย่างนี้ว่า ‘หยุดก่อนท่าน อย่าเข้าไปเลย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อุบาลีคหบดีเป็น
สาวกของพระสมณโคดมแล้ว อุบาลีคหบดีปิดประตูกันพวกนิครนถ์ทั้งชายและหญิง
แต่เปิดประตูไว้สำหรับพระผู้มีพระภาคและสาวกของพระผู้มีพระภาค คือ ภิกษุ
ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หากท่านต้องการอาหารก็จงรออยู่ที่นี่แหละ จะมีคน
นำมาให้ที่นี่เอง”
นายประตูรับคำอุบาลีคหบดีแล้ว
[๗๑] นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีได้ยินว่า “ข่าวว่า อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของ
พระสมณโคดมแล้ว” ลำดับนั้น จึงเข้าไปหานิครนถ์ นาฏบุตรถึงที่อยู่แล้วถามว่า
“ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ยินว่า ‘ข่าวว่า อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว”
นิครนถ์ นาฏบุตรตอบว่า “ตปัสสี เป็นไปไม่ได้เลยที่อุบาลีคหบดีจะพึงเป็น
สาวกของพระสมณโคดมนั้น แต่เป็นไปได้ที่พระสมณโคดมจะพึงเป็นสาวกของ
อุบาลีคหบดี”
แม้ครั้งที่ ๒ นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีก็ได้กล่าวกับนิครนถ์ นาฏบุตรว่า “ท่าน
ผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ยินว่า ‘ข่าวว่า อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร
นิครนถ์ นาฏบุตรก็ยังพูดว่า “ตปัสสี เป็นไปไม่ได้เลยที่อุบาลีคหบดีจะพึง
เป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น แต่เป็นไปได้ที่พระสมณโคดมจะพึงเป็นสาวกของ
อุบาลีคหบดี”
แม้ครั้งที่ ๓ นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีก็ได้กล่าวกับนิครนถ์ นาฏบุตรว่า “ท่านผู้เจริญ
ข้าพเจ้าได้ยินว่า ‘ข่าวว่า อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว”
นิครนถ์ นาฏบุตรก็ยังพูดด้วยความมั่นใจว่า “ตปัสสี เป็นไปไม่ได้เลยที่อุบาลีคหบดี
จะพึงเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น แต่เป็นไปได้ที่พระสมณโคดมจะพึงเป็นสาวก
ของอุบาลีคหบดี”
นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ เอาเถิด ข้าพเจ้าจะไปดูให้รู้แน่ว่า
อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของพระสมณโคดม จริงหรือไม่”
นิครนถ์ นาฏบุตรจึงกล่าวว่า “ตปัสสี ท่านไปเถิด จะได้รู้ว่า อุบาลีคหบดีเป็น
สาวกของพระสมณโคดม จริงหรือไม่”
อุบาลีคหบดีไม่ต้อนรับนิครนถ์
[๗๒] ต่อมา นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีเข้าไปยังที่อยู่ของอุบาลีคหบดี นายประตู
เห็นเขาเดินมาแต่ไกลจึงบอกว่า
“หยุดก่อนท่าน อย่าเข้าไปเลย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อุบาลีคหบดีเป็นสาวก
ของพระสมณโคดมแล้ว อุบาลีคหบดีปิดประตูกันพวกนิครนถ์ทั้งชายและหญิง แต่
เปิดประตูไว้สำหรับพระผู้มีพระภาคและสาวกของพระผู้มีพระภาค คือ ภิกษุ ภิกษุณี
อุบาสก อุบาสิกา ถ้าท่านต้องการอาหารก็จงรออยู่ที่นี่แหละ จะมีคนนำมาให้ที่นี่เอง”
นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีบอกว่า “ข้าพเจ้าไม่ต้องการอาหารหรอก” แล้วกลับจาก
ที่นั้น เข้าไปหานิครนถ์ นาฏบุตรถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า
“ท่านผู้เจริญ เป็นความจริงทีเดียวที่อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของพระสมณโคดม
ข้อนั้นข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับท่านดังได้กล่าวไว้แล้วว่า ‘การที่อุบาลีคหบดีจะโต้วาทะ
กับพระสมณโคดมนั้นข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย เพราะพระสมณโคดมเป็นคนมีมารยา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร
รู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญเดียรถีย์ได้ ท่านผู้เจริญ อุบาลีคหบดีของ
ท่านคงถูกพระสมณโคดมกลับใจด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจเสียแล้ว”
นิครนถ์ นาฏบุตร กล่าวว่า “ตปัสสี เป็นไปไม่ได้เลยที่อุบาลีคหบดีจะพึง
เป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น แต่เป็นไปได้ที่พระสมณโคดมจะพึงเป็นสาวกของ
อุบาลีคหบดี”
แม้ครั้งที่ ๒ นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีก็ได้กล่าวกับนิครนถ์ นาฏบุตรว่า “ท่าน
ผู้เจริญ เป็นความจริงทีเดียวที่อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของพระสมณโคดม ข้อนั้น
ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับท่านดังได้กล่าวไว้แล้วว่า ‘การที่อุบาลีคหบดีจะโต้วาทะกับพระ
สมณโคดมนั้นข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย เพราะพระสมณโคดมเป็นคนมีมารยา รู้มายา
เป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญเดียรถีย์ได้ ท่านผู้เจริญ อุบาลีคหบดีของท่านคง
ถูกพระสมณโคดมกลับใจด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจเสียแล้ว”
นิครนถ์ นาฏบุตร ก็ยังกล่าวว่า “ตปัสสี เป็นไปไม่ได้เลยที่อุบาลีคหบดี
จะพึงเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น แต่เป็นไปได้ที่พระสมณโคดมจะพึงเป็นสาวก
ของอุบาลีคหบดี เอาเถิด ตปัสสี เราจะไปดูให้รู้แน่ว่า อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของ
พระสมณโคดม จริงหรือไม่”
ลำดับนั้น นิครนถ์ นาฏบุตรพร้อมกับบริษัทนิครนถ์เป็นจำนวนมากได้เข้า
ไปยังที่อยู่ของอุบาลีคหบดี นายประตูเห็นนิครนถ์ นาฏบุตรเดินมาแต่ไกลจึงพูด
เตือนท่านว่า
“หยุดก่อนท่าน อย่าเข้าไปเลย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของ
พระสมณโคดมแล้ว อุบาลีคหบดีปิดประตูกันพวกนิครนถ์ทั้งชายและหญิง แต่เปิด
ประตูไว้สำหรับพระผู้มีพระภาคและสาวกของพระผู้มีพระภาค คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก
อุบาสิกา ถ้าท่านต้องการอาหารก็จงรออยู่ที่นี่แหละ จะมีคนนำมาให้ที่นี่เอง”
นิครนถ์ นาฏบุตร กล่าวว่า “นายประตูเพื่อนรัก ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเข้าไปหา
อุบาลีคหบดีแล้วบอกอย่างนี้ว่า ‘ท่านขอรับ นิครนถ์ นาฏบุตรพร้อมกับบริษัทนิครนถ์
เป็นจำนวนมากยืนรออยู่นอกซุ้มประตู เขาต้องการพบท่าน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร
นายประตูรับคำแล้วเข้าไปหาอุบาลีคหบดีเรียนว่า “ท่านขอรับ นิครนถ์ นาฏบุตร
พร้อมกับบริษัทนิครนถ์เป็นจำนวนมากยืนรออยู่นอกซุ้มประตู เขาต้องการพบท่าน”
อุบาลีคหบดีกล่าวว่า “นายประตูเพื่อนรัก ถ้าเช่นนั้น ท่านจงปูอาสนะไว้ที่ศาลา
ประตูกลาง”
นายประตูรับคำแล้ว ปูอาสนะไว้ที่ศาลาประตูกลางเสร็จแล้ว เข้าไปหาอุบาลีคหบดี
เรียนว่า “ท่านขอรับ อาสนะปูไว้ที่ศาลาประตูกลางเสร็จแล้ว ขอท่านจงกำหนดเวลา
ที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
[๗๓] จากนั้น อุบาลีคหบดีเข้าไปยังศาลาประตูกลางนั่งบนอาสนะเลิศ ล้ำค่า
สูงส่ง และดียิ่งนั้นเสียเอง แล้วเรียกนายประตูมาสั่งว่า “นายประตูเพื่อนรัก ถ้าเช่นนั้น
ท่านจงไปหานิครนถ์ นาฏบุตร บอกกับเขาอย่างนี้ว่า ‘ท่านครับ อุบาลีคหบดีสั่งมา
อย่างนี้ว่า ‘จงเข้าไปเถิดครับ ถ้าท่านประสงค์”
นายประตูรับคำแล้วเข้าไปหานิครนถ์ นาฏบุตร เรียนว่า “ท่านขอรับ อุบาลี-
คหบดีสั่งมาอย่างนี้ว่า ‘จงเข้าไปเถิดขอรับ ถ้าท่านประสงค์”
ลำดับนั้น นิครนถ์ นาฏบุตรพร้อมกับบริษัทนิครนถ์เป็นจำนวนมากจึงเข้าไปยัง
ศาลาประตูกลาง
ได้ยินว่า เมื่อก่อน อุบาลีคหบดีเห็นนิครนถ์ นาฏบุตรเดินมาจะไกลแค่ไหน
ก็ตาม ก็จะไปต้อนรับถึงที่นั้น เช็ดถูอาสนะเลิศ ล้ำค่า สูงส่ง และดียิ่งด้วยผ้าห่มแล้ว
เชื้อเชิญให้นั่ง บัดนี้ เขากลับนั่งบนอาสนะเลิศ ล้ำค่า สูงส่ง และดียิ่งนั้นเสียเอง
แล้วได้พูดกับนิครนถ์ นาฏบุตรอย่างนี้ว่า “ท่านขอรับ อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านประสงค์
ก็จงนั่งเถิด”
เมื่อคหบดีกล่าวอย่างนี้ นิครนถ์ นาฏบุตรก็พูดว่า “ท่านบ้าหรือโง่กันเล่า
คหบดี ท่านเองบอกกับเราว่า ‘ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะไปโต้วาทะกับพระสมณโคดม’
ครั้นไปแล้ว ท่านเองกลับถูกสวมปากด้วยตะกร้อคือวาทะใบใหญ่เสียนี่ ชายผู้มี
อัณฑะแต่ถูกควักอัณฑะออกเสียทั้ง ๒ ข้าง หรือคนมีดวงตาแต่ถูกควักดวงตาออก
ทั้ง ๒ ข้าง แม้ฉันใด ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน บอกว่า ‘จะไปโต้วาทะกับพระสมณโคดม’
ครั้นไปแล้ว กลับถูกสวมปากด้วยตะกร้อคือวาทะใบใหญ่ พระสมณโคดมกลับใจ
ท่านด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร

มายาเครื่องกลับใจ
[๗๔] อุบาลีคหบดีชี้แจงว่า “ท่านขอรับ มายาเป็นเครื่องกลับใจนี้ดีจริง
มายาเป็นเครื่องกลับใจนี้งามจริง ญาติสาโลหิตผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้า หากกลับใจได้
ด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจนี้ มายาเป็นเครื่องกลับใจนี้ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์
เกื้อกูล เพื่อสุขแก่ญาติสาโลหิตผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้าไปนานแสนนาน
กษัตริย์ทั้งปวง หากกลับใจได้ด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจนี้ มายาเครื่อง
กลับใจนี้ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่กษัตริย์ทั้งปวงไปนานแสนนาน
แม้พราหมณ์ทั้งปวง ฯลฯ
แพศย์ ฯลฯ
ศูทรทั้งปวง หากกลับใจได้ด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจนี้ มายาเป็นเครื่องกลับใจ
นี้ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่ศูทรทั้งปวงไปนานแสนนาน
แม้โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์ หากกลับใจได้ด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจนี้ มายาเป็นเครื่องกลับใจ
นี้ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
แก่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ไปนานแสนนาน
ท่านขอรับ ถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าจะอุปมาให้ท่านฟัง เพราะวิญญูชนบางพวก
ในโลกนี้ย่อมเข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ แม้ด้วยข้ออุปมา
[๗๕] ท่านขอรับ เรื่องเคยมีมาแล้ว สาววัยรุ่นภรรยาของพราหมณ์แก่เฒ่า
วัยชราคนหนึ่งมีครรภ์ใกล้คลอด ต่อมา ภรรยาสาวนั้นจึงพูดกับพราหมณ์นั้นว่า
‘พี่พราหมณ์ พี่จงไปซื้อลูกลิงจากตลาดมาสักตัวไว้เป็นเพื่อนเล่นของลูกฉัน’ เมื่อนาง
บอกอย่างนั้น พราหมณ์นั้นก็พูดว่า ‘น้องหญิง คอยจนคลอดเสียก่อนเถิด ถ้าเธอ
คลอดลูกเป็นชาย ฉันก็จักซื้อลูกลิงตัวผู้จากตลาดมาให้เป็นเพื่อนเล่นของลูกชายเธอ
แต่ถ้าเธอคลอดลูกเป็นหญิง ฉันก็จักซื้อลูกลิงตัวเมียจากตลาดมาให้เป็นเพื่อนเล่นของ
ลูกสาวเธอ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร
แม้ครั้งที่ ๒ ภรรยาสาวก็พูดกับพราหมณ์นั้นว่า ‘พี่พราหมณ์ พี่จงไปซื้อ
ลูกลิงจากตลาดมาสักตัวไว้เป็นเพื่อนเล่นของลูกฉัน’ แม้ครั้งที่ ๒ พราหมณ์ก็พูดว่า
‘น้องหญิง คอยจนคลอดเสียก่อนเถิด ถ้าเธอคลอดลูกเป็นชาย ฉันก็จักซื้อลูกลิงตัวผู้
จากตลาดมาให้เป็นเพื่อนเล่นของลูกชายเธอ แต่ถ้าเธอคลอดลูกเป็นหญิง ฉันก็จัก
ซื้อลูกลิงตัวเมียจากตลาดมาให้เป็นเพื่อนเล่นของลูกสาวเธอ’
แม้ครั้งที่ ๓ ภรรยาสาวนั้นก็พูดกับพราหมณ์นั้นว่า ‘พี่พราหมณ์ พี่จงไปซื้อ
ลูกลิงจากตลาดมาสักตัวไว้เป็นเพื่อนเล่นของลูกฉัน’ ก็แล พราหมณ์แก่นั้นหลงใหล
รักใคร่ภรรยาสาวจึงซื้อลูกลิงจากตลาดมาแล้วบอกเธอว่า ‘ฉันซื้อลูกลิงจากตลาดมา
ไว้เป็นเพื่อนเล่นของลูกเธอแล้วนะ น้องหญิง’ เมื่อพราหมณ์บอกอย่างนี้แล้ว ภรรยา
สาวนั้นจึงพูดว่า ‘พี่พราหมณ์ พี่จงอุ้มลูกลิงตัวนี้ไปหาลูกช่างย้อมผู้ชำนาญการย้อม
แล้วบอกเขาว่า ‘เพื่อนผู้ชำนาญการย้อม ฉันอยากให้ท่านย้อมลูกลิงตัวนี้ให้สีจับ
อย่างสนิทดี ขัดแล้วขัดอีก ให้เรียบร้อยทั้งสองด้าน’
พราหมณ์ผู้หลงใหลรักใคร่ภรรยาสาวนั้นอุ้มลูกลิงไปหาลูกนายช่างย้อมผู้ชำนาญ
การย้อมแล้วบอกว่า ‘เพื่อนผู้ชำนาญการย้อม ฉันอยากให้ท่านย้อมลูกลิงตัวนี้ให้
สีจับอย่างสนิทดี ขัดแล้วขัดอีก ให้เรียบร้อยทั้งสองด้าน’ เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้
แล้ว บุตรนายช่างย้อมผู้ชำนาญการย้อมได้บอกว่า ‘ท่านผู้เจริญ ลูกลิงของท่านนี้
ควรย้อมสีเท่านั้น ไม่ควรขัดแล้วขัดอีก’ แม้ฉันใด วาทะของนิครนถ์ผู้เขลาก็ฉันนั้น
เหมือนกัน ควรเป็นที่ยินดีของคนเขลาด้วยกันเท่านั้น ไม่ควรเป็นที่ยินดี ไม่ควร
ซักถาม และไม่ควรพิจารณาของบัณฑิตทั้งหลาย
ท่านผู้เจริญ ต่อมา พราหมณ์นั้นถือผ้าใหม่คู่หนึ่งไปหาบุตรนายช่างย้อมผู้ชำนาญ
การย้อมแล้วบอกกับเขาว่า ‘เพื่อนผู้ชำนาญการย้อม ฉันอยากให้ท่านย้อมผ้าใหม่
คู่นี้ให้สีจับอย่างสนิทดี ขัดแล้วขัดอีก ให้เรียบร้อยทั้งสองด้าน’ เมื่อพราหมณ์บอก
อย่างนี้แล้ว บุตรนายช่างย้อมผู้ชำนาญการย้อมก็ได้บอกว่า ‘ท่านผู้เจริญ ผ้าใหม่
ของท่านคู่นี้ ควรย้อม ควรขัดแล้วขัดอีก’ แม้ฉันใด วาทะของพระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ควรเป็นที่ยินดีของบัณฑิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร
ทั้งหลายเท่านั้น ไม่ควรเป็นที่ยินดี ไม่ควรซักถาม และไม่ควรพิจารณา๑ของคนเขลา
ทั้งหลาย”
นิครนถ์ นาฏบุตรถามว่า “คหบดี บริษัทพร้อมทั้งพระราชาต่างก็รู้จักท่าน
อย่างนี้ว่า ‘อุบาลีคหบดีเป็นสาวกของนิครนถ์ นาฏบุตร’ เราจะจำท่านว่า เป็นสาวก
ของใครเล่า”
เมื่อนิครนถ์ นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาลีคหบดีลุกจากอาสนะพาดสไบ
เฉวียงบ่า ประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ พูดกับนิครนถ์ นาฏบุตรว่า
“ท่านขอรับ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟังการกล่าวสรรเสริญพระคุณของพระผู้มีพระภาค
ของข้าพเจ้าผู้เป็นสาวก” แล้วกล่าวคาถาประพันธ์ดังต่อไปนี้ว่า
อุบาลีคหบดีประกาศตนเป็นพุทธสาวก
[๗๖] “ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคผู้เป็นปราชญ์
ปราศจากโมหะ ทรงทำลายกิเลสเครื่องตรึงจิตได้
ทรงชำนะมาร ไม่มีทุกข์ มีจิตเสมอด้วยดี มีมารยาทเจริญ
มีพระปัญญาดี ทรงข้ามกิเลสอันปราศจากความเสมอ
(และ)ปราศจากมลทินได้
ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคผู้ไม่มีความสงสัย
มีพระทัยดี ทรงคายโลกามิสได้ ทรงบันเทิง
ทรงเจริญสมณธรรมสำเร็จแล้ว ทรงเกิดเป็นมนุษย์
มีพระสรีระเป็นชาติสุดท้าย ทรงเป็นนระไม่มีผู้เปรียบได้
ปราศจากกิเลสเพียงดังธุลี

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร
ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคผู้ไม่มีความสงสัย
ทรงเฉียบแหลม ผู้ทรงแนะนำสัตว์ ผู้เป็นสารถีผู้ประเสริฐ
ผู้ยอดเยี่ยม ทรงมีธรรมงาม หมดความเคลือบแคลง
ทรงให้แสงสว่าง ทรงตัดมานะเสียได้ มีพระวิริยะ
ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคผู้องอาจ
ไม่มีใครประมาณได้ มีพระคุณลึกซึ้ง บรรลุถึงญาณ
ทรงทำความเกษม มีพระญาณ ดำรงอยู่ในธรรม
ทรงสำรวมพระองค์ดีแล้ว ล่วงกิเลสเครื่องข้อง หลุดพ้นแล้ว
ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ
ผู้ทรงมีเสนาสนะอันสงัด สิ้นสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้ว
มีพระปัญญาโต้ตอบ มีพระปัญญาหยั่งรู้
ทรงลดธงคือมานะเสียได้ ปราศจากราคะ
เป็นผู้ฝึกแล้ว เป็นผู้ปราศจากธรรมเครื่องยึดหน่วง
ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๗๑
ผู้ไม่ลวงโลก ทรงมีวิชชา ๓ เป็นผู้ประเสริฐ
ทรงชำระกิเลสแล้ว ประสมอักษรให้เป็นบทคาถา
ทรงสงบระงับ มีพระญาณแจ่มแจ้ง
ทรงให้ธรรมทานก่อนผู้อื่นทั้งหมด เป็นผู้สามารถ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๖. อุปาลิวาทสูตร
ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคผู้เป็นอริยะ
มีพระองค์อบรมแล้ว บรรลุคุณที่ควรบรรลุ
ทรงแสดงอรรถให้พิสดาร มีพระสติ
ทรงเห็นแจ้ง ไม่ยุบลง ไม่ฟูขึ้น
ไม่ทรงหวั่นไหว เป็นผู้มีความชำนาญ
ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคผู้เสด็จไปดีแล้ว
ทรงมีฌาน ไม่ทรงปล่อยพระทัยไปตามกระแส
เป็นผู้หมดจด ไม่สะดุ้ง ปราศจากความกลัว
สงบอยู่ผู้เดียว ทรงบรรลุธรรมอันเลิศ
ทรงข้ามพ้นเอง ทรงยังสัตว์อื่นให้ข้ามพ้นด้วย
ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคผู้สงบแล้ว
มีพระปัญญากว้างใหญ่เสมอด้วยแผ่นดิน
มีพระปัญญาใหญ่หลวง ปราศจากความโลภ
ทรงดำเนินปฏิปทาเหมือนพระพุทธเจ้าในปางก่อน
เสด็จไปดี ไม่มีบุคคลเปรียบ ไม่มีผู้เสมอเหมือน
ทรงแกล้วกล้า เป็นผู้ละเอียด สุขุม
ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค
ผู้ตัดตัณหาได้เด็ดขาด ผู้ตื่น ปราศจากควัน
ผู้ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิฉาบทา ผู้ควรบูชา
ผู้ทรงได้รับพระนามว่ายักขะ๑ เป็นบุคคลผู้สูงสุด
มีพระคุณชั่งไม่ได้ เป็นผู้ใหญ่ยิ่ง
บรรลุยศอย่างยอดเยี่ยม”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๗. กุกกุรวติกสูตร
[๗๗] นิครนถ์ นาฏบุตรถามว่า “คหบดี ท่านประมวลถ้อยคำสำหรับพรรณนา
คุณของพระสมณโคดมไว้ตั้งแต่เมื่อไร”
อุบาลีคหบดีตอบว่า “ท่านขอรับ ช่างดอกไม้ หรือลูกมือช่างดอกไม้ผู้ชำนาญ
พึงร้อยดอกไม้ต่าง ๆ กองใหญ่ให้เป็นพวงมาลัยอันวิจิตรได้ แม้ฉันใด พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงมีพระคุณควรพรรณนาเป็นอเนก ทรงมีพระคุณ
ควรพรรณนาได้หลายร้อย ใครเล่าจักพรรณนาไม่ได้ถึงพระคุณของพระองค์ผู้ควร
พรรณนา”
จากนั้น นิครนถ์ นาฏบุตรทนดูสักการะของพระผู้มีพระภาคไม่ได้ จึงกระอัก
โลหิตอุ่นออกจากปาก ณ ที่นั้นเอง ดังนี้แล
อุปาลิวาทสูตรที่ ๖ จบ

๗. กุกกุรวติกสูตร
ว่าด้วยการประพฤติวัตรเลียนแบบสุนัข
[๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวโกลิยะชื่อหลิททวสนะ
แคว้นโกลิยะ ครั้งนั้นแล บุตรของชาวโกลิยะชื่อปุณณะผู้ประพฤติโควัตร๑และ
ชีเปลือยชื่อเสนิยะผู้ประพฤติกุกกุรวัตร๒ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
นายปุณณะ โกลิยบุตร ผู้ประพฤติโควัตร ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่
สมควร ส่วนชีเปลือยชื่อเสนิยะผู้ประพฤติกุกกุรวัตร ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่
บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว ก็แสดงท่าตะกุยดุจสุนัขแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
นายปุณณะ โกลิยบุตรผู้ประพฤติโควัตรได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๗. กุกกุรวติกสูตร
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชีเปลือยชื่อเสนิยะ ผู้ประพฤติกุกกุรวัตรนี้ ทำสิ่งที่
ผู้อื่นทำได้ยาก กินอาหารที่เขากองไว้บนพื้นดิน เขาสมาทานกุกกุรวัตรนั้นอย่าง
สมบูรณ์แบบมานานแล้ว คติของเขาจักเป็นอย่างไร ภพหน้าของเขาจักเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า “อย่าเลย ปุณณะ เธอจงงดเรื่องนี้เสียเถิด อย่าถาม
เราถึงเรื่องนี้เลย”
แม้ครั้งที่ ๒ นายปุณณะ โกลิยบุตรผู้ประพฤติโควัตรก็ได้ทูลถามพระผู้มี
พระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชีเปลือยชื่อเสนิยะนี้ ผู้ประพฤติกุกกุรวัตร ทำสิ่งที่
ผู้อื่นทำได้ยาก กินอาหารที่เขากองไว้บนพื้นดิน เขาสมาทานกุกกุรวัตรอย่าง
สมบูรณ์แบบมานานแล้ว คติของเขาจักเป็นอย่างไร ภพหน้าของเขาจักเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า “อย่าเลย ปุณณะ เธอจงงดเรื่องนี้เสียเถิด อย่าถาม
เราถึงเรื่องนี้เลย”
แม้ครั้งที่ ๓ นายปุณณะ โกลิยบุตรผู้ประพฤติโควัตร ก็ได้ทูลถามพระผู้มี
พระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชีเปลือยชื่อเสนิยะผู้ประพฤติกุกกุรวัตร ทำสิ่งที่ผู้อื่น
ทำได้ยาก กินอาหารที่เขากองไว้บนพื้นดิน เขาสมาทานกุกกุรวัตรอย่างสมบูรณ์
แบบมานานแล้ว คติของเขาจักเป็นอย่างไร ภพหน้าของเขาจักเป็นอย่างไร”
คติของบุคคลผู้ประพฤติโควัตรและกุกกุรวัตร
[๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ปุณณะ เราห้ามเธอไม่ได้แน่ว่า ‘อย่าเลย
ปุณณะ เธอจงงดเรื่องนี้เสียเถิด อย่าถามเราถึงเรื่องนี้เลย’ แต่เราจักชี้แจงให้เธอฟัง
บุคคลบางคนในโลกนี้บำเพ็ญกุกกุรวัตร บำเพ็ญตนตามปกติแบบสุนัข บำเพ็ญจิต
แบบสุนัข บำเพ็ญกิริยาอาการแบบสุนัขอย่างสมบูรณ์ไม่ขาดสาย ครั้นบำเพ็ญกุกกุรวัตร
บำเพ็ญตนตามปกติแบบสุนัข บำเพ็ญจิตแบบสุนัข บำเพ็ญกิริยาอาการแบบสุนัข
อย่างสมบูรณ์ไม่ขาดสายแล้ว หลังจากตายไป เขาย่อมไปเกิดในหมู่สุนัข อนึ่ง ถ้าเขา
มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘เราจักเป็นเทวดา หรือเทพองค์ใดองค์หนึ่งด้วยศีล วัตร ตบะ หรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๗. กุกกุรวติกสูตร
พรหมจรรย์นี้’ ทิฏฐิของเขานั้นจัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่า คติของผู้มีมิจฉาทิฏฐิ
มี ๒ อย่าง คือ (๑) นรก (๒) กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
ปุณณะ กุกกุรวัตรเมื่อใครประพฤติสมบูรณ์ ย่อมนำไปเกิดในหมู่สุนัข เมื่อ
ประพฤติบกพร่อง ย่อมนำไปเกิดในนรก ด้วยประการอย่างนี้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ชีเปลือยชื่อเสนิยะผู้ประพฤติกุกกุรวัตร
ถึงกับร้องไห้น้ำตานองหน้า
ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับนายปุณณะ โกลิยบุตร ผู้ประพฤติโควัตร
ว่า “ปุณณะ เราห้ามเธอไม่ได้แน่ว่า ‘อย่าเลย ปุณณะ เธอจงงดเรื่องนี้เสียเถิด อย่าถาม
เราถึงเรื่องนี้เลย”
ชีเปลือยชื่อเสนิยะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มิได้ร้องไห้
ถึงเรื่องที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับข้าพระองค์ แม้ข้าพระองค์จะสมาทานกุกกุรวัตรนี้
อย่างสมบูรณ์แบบมาช้านานแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นายปุณณะ โกลิยบุตร
ผู้ประพฤติโควัตร สมาทานโควัตรนั้นอย่างสมบูรณ์แบบมานานแล้ว คติของเขาจักเป็น
อย่างไร ภพหน้าของเขาจักเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่าเลย เสนิยะ เธอจงงดเรื่องนี้เสียเถิด อย่าถามเรา
ถึงเรื่องนี้เลย”
แม้ครั้งที่ ๒ ชีเปลือยชื่อเสนิยะก็ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ชีเปลือยชื่อเสนิยะผู้ประพฤติกุกกุรวัตร ก็ได้ทูลถามพระผู้มี
พระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นายปุณณะ โกลิยบุตร สมาทานโควัตรนั้น
อย่างสมบูรณ์แบบมาช้านานแล้ว คติของเขาจักเป็นอย่างไร ภพหน้าของเขาจักเป็น
อย่างไร”
[๘๐] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เสนิยะ เราห้ามเธอไม่ได้แน่ว่า ‘อย่าเลย
เสนิยะ เธอจงงดเรื่องนี้เสียเถิด อย่าถามเราถึงเรื่องนี้เลย’ แต่เราจักชี้แจงให้เธอฟัง
บุคคลบางคนในโลกนี้บำเพ็ญโควัตร บำเพ็ญตนตามปกติแบบโค บำเพ็ญจิตแบบโค
บำเพ็ญกิริยาอาการแบบโคอย่างสมบูรณ์ไม่ขาดสาย ครั้นบำเพ็ญโควัตร บำเพ็ญตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๗. กุกกุรวติกสูตร
ตามปกติแบบโค บำเพ็ญจิตแบบโค บำเพ็ญกิริยาอาการแบบโคอย่างสมบูรณ์ไม่ขาด
สายแล้ว หลังจากตายไป ย่อมไปเกิดในหมู่โค อนึ่ง ถ้าเขามีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘เราจัก
เป็นเทวดาหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่งด้วยศีล วัตร ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้’ ทิฏฐิของ
เขานั้นจัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่า คติของผู้มีมิจฉาทิฏฐิมี ๒ อย่าง คือ (๑) นรก
(๒) กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
เสนิยะ โควัตรเมื่อใครประพฤติสมบูรณ์ ย่อมนำไปเกิดในหมู่โค เมื่อประพฤติ
บกพร่อง ย่อมนำไปเกิดในนรก ด้วยประการอย่างนี้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นายปุณณะ โกลิยบุตรผู้ประพฤติโควัตร
ถึงกับร้องไห้น้ำตานองหน้า
จากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชีเปลือยชื่อเสนิยะผู้ประพฤติกุกกุรวัตรว่า
“เสนิยะ เราห้ามเธอไม่ได้แน่ว่า ‘อย่าเลย เสนิยะ เธอจงงดเรื่องนี้เสียเถิด อย่าถาม
เราถึงเรื่องนี้เลย”
นายปุณณะ โกลิยบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มิได้
ร้องไห้ถึงเรื่องที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับข้าพระองค์ แม้ข้าพระองค์จะสมาทานโควัตร
นี้อย่างสมบูรณ์แบบมาช้านานแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสใน
พระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเท่านั้นทรงสามารถแสดงธรรมโดยวิธีที่
ข้าพระองค์จะพึงละโควัตรนี้ได้ และชีเปลือยชื่อเสนิยะผู้ประพฤติกุกกุรวัตรจะพึงละ
กุกกุรวัตรนั้นได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ปุณณะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
นายปุณณะ โกลิยบุตร ผู้ประพฤติโควัตร ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี
พระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๗. กุกกุรวติกสูตร

กรรม ๔ ประการ
[๘๑] “ปุณณะ กรรม ๔ ประการนี้ เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว
จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม
กรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กรรมดำมีวิบากดำ๑
๒. กรรมขาวมีวิบากขาว๒
๓. กรรมทั้งดำและขาว มีวิบากทั้งดำและขาว๓
๔. กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว๔ เป็นไปเพื่อ
ความสิ้นกรรม
กรรมดำมีวิบากดำ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรุงแต่ง๕กายสังขาร๖ที่มีความเบียดเบียน๗ปรุงแต่ง
วจีสังขาร๘ที่มีความเบียดเบียน และปรุงแต่งมโนสังขาร๙ที่มีความเบียดเบียน เขา

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๗. กุกกุรวติกสูตร
ครั้นปรุงแต่งแล้วย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียน ผัสสะที่มีความเบียดเบียนย่อม
ถูกต้องบุคคลผู้เข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนนั้น เขาถูกผัสสะที่มีความเบียดเบียน
กระทบเข้า ย่อมเสวยเวทนาที่มีความเบียดเบียน เป็นทุกข์โดยส่วนเดียว เหมือน
สัตว์นรกทั้งหลาย
ปุณณะ เพราะกรรมที่มีดังนี้แล ความเกิดขึ้นของสัตว์จึงมีได้ สัตว์ย่อมเกิดขึ้น
เพราะกรรมที่ทำไว้ ผัสสะย่อมถูกต้องสัตว์ผู้เกิดแล้วนั้น เราจึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลกรรม’ นี้เรียกว่า กรรมดำมีวิบากดำ (๑)
กรรมขาวมีวิบากขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรุงแต่งกายสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน ปรุงแต่ง
วจีสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน และปรุงแต่งมโนสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน เขา
ครั้นปรุงแต่งแล้วย่อมเข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียน ผัสสะที่ไม่มีความเบียดเบียน
ย่อมถูกต้องบุคคลผู้เข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียนนั้น เขาถูกผัสสะที่ไม่มีความ
เบียดเบียนกระทบเข้า ย่อมเสวยเวทนาที่ไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุขโดยส่วนเดียว
เหมือนเทพทั้งหลายชั้นสุภกิณหะ
ปุณณะ เพราะกรรมที่มีดังนี้แล ความเกิดขึ้นของสัตว์จึงมีได้ สัตว์ย่อมเกิดขึ้น
เพราะกรรมที่ทำไว้ ผัสสะย่อมถูกต้องสัตว์ผู้เกิดแล้วนั้น เราจึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลกรรม’ นี้เรียกว่า กรรมขาวมีวิบากขาว (๒)
กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความ
เบียดเบียนบ้าง ปรุงแต่งวจีสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง
และปรุงแต่งมโนสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง เขาครั้น
ปรุงแต่งแล้วย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง
ผัสสะที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ย่อมถูกต้องบุคคลผู้เข้า
ถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้างนั้น เขาถูกผัสสะที่มีความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๗. กุกกุรวติกสูตร
เบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้างกระทบเข้า ย่อมเสวยเวทนาที่มีความ
เบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง มีสุขและทุกข์ระคนกัน เหมือนมนุษย์
เทวดาบางพวก๑ และวินิปาติกะ๒บางพวก
ปุณณะ เพราะกรรมที่มีดังนี้แล ความเกิดขึ้นของสัตว์จึงมีได้ สัตว์ย่อม
เกิดขึ้นเพราะกรรมที่ทำไว้ ผัสสะย่อมถูกต้องสัตว์ผู้เกิดแล้วนั้น เราจึงกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลกรรม’ นี้เรียกว่า กรรมทั้งดำและขาว มีวิบาก
ทั้งดำและขาว (๓)
กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความ
สิ้นกรรม เป็นอย่างไร
คือ บรรดากรรมเหล่านั้น เจตนา๓เพื่อละกรรมดำที่มีวิบากดำ เจตนาเพื่อละ
กรรมขาวที่มีวิบากขาว และเจตนาเพื่อละกรรมทั้งดำและขาว ที่มีวิบากทั้งดำและขาว
ปุณณะ เพราะกรรมที่มีดังนี้แล ความเกิดขึ้นของสัตว์จึงมีได้ สัตว์ย่อมเกิดขึ้น
เพราะกรรมที่ทำไว้ ผัสสะย่อมถูกต้องสัตว์ผู้เกิดแล้วนั้น เราจึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลกรรม’ นี้เรียกว่า กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้ง
ไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม
ปุณณะ กรรม ๔ ประการนี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วจึง
ประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม (๔)”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๗. กุกกุรวติกสูตร

นายปุณณะแสดงตนเป็นอุบาสกและเสนิยะชีเปลือยขอบวช
[๘๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นายปุณณะ โกลิยบุตร ผู้ประพฤติ
โควัตร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรง
ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า
‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและ
พระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ส่วนชีเปลือยชื่อเสนิยะผู้ประพฤติกุกกุรวัตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรง
ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดี
จักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์
เป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เสนิยะ ผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ประสงค์จะบรรพชา
อุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน หลังจาก ๔ เดือนล่วงไปแล้ว
เมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุ อนึ่ง ในเรื่องนี้ เราคำนึงถึงความ
แตกต่างระหว่างบุคคลด้วย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๗. กุกกุรวติกสูตร
เขากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ประสงค์จะ
บรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาส๑ ๔ เดือน หลังจาก ๔ เดือน
ล่วงไปแล้ว เมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุ ข้าพระองค์จักขออยู่
ปริวาส ๔ ปี หลังจาก ๔ ปีล่วงไปแล้ว เมื่อภิกษุพอใจก็จงให้บรรพชาอุปสมบท
เป็นภิกษุเถิด”
ชีเปลือยชื่อเสนิยะผู้ประพฤติกุกกุรวัตร ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของ
พระผู้มีพระภาค เมื่อบวชแล้วไม่นาน จากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนักได้ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์๒ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วย
ปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๓
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว๔ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”
จึงเป็นอันว่า ท่านพระเสนิยะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งบรรดาพระอรหันต์
ทั้งหลาย ดังนี้แล
กุกกุรวติกสูตรที่ ๗ จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๘. อภยราชกุมารสูตร

๘. อภยราชกุมารสูตร
ว่าด้วยพระราชกุมารพระนามว่าอภัย
[๘๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล พระราชกุมารพระนามว่าอภัยเสด็จเข้าไปหานิครนถ์
นาฏบุตรถึงที่อยู่ ทรงไหว้นิครนถ์ นาฏบุตรแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร นิครนถ์
นาฏบุตรได้ทูลอภัยราชกุมารว่า
“เสด็จไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จไปโต้วาทะกับพระสมณ-
โคดมเถิด เมื่อพระองค์ทรงโต้วาทะกับพระสมณโคดมอย่างนี้แล้ว กิตติศัพท์อันงาม
ของพระองค์จักระบือไปว่า ‘อภัยราชกุมารทรงโต้วาทะกับพระสมณโคดมผู้มีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมากอย่างนี้”
อภัยราชกุมารตรัสถามว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะโต้วาทะกับพระสมณโคดม
ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ได้อย่างไร”
นิครนถ์ นาฏบุตรทูลตอบว่า “มาเถิดพระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จเข้า
ไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ แล้วตรัสถามพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระ
องค์ผู้เจริญ มีบ้างไหมที่พระตถาคตตรัสวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของ
คนอื่น’ ถ้าพระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้แล้วจะทรงตอบว่า ‘ราชกุมาร มีบ้างที่
ตถาคตกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น’
พระองค์พึงทูลถามพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็น
เช่นนั้น การกระทำของพระองค์จะต่างอะไรจากปุถุชน๑ เพราะปุถุชนก็กล่าววาจา
อันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น’ ถ้าพระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้แล้ว

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๘. อภยราชกุมารสูตร
จะทรงตอบว่า ‘ราชกุมาร ตถาคตไม่กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของ
คนอื่น’
พระองค์พึงทูลถามพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็น
เช่นนั้น เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงพยากรณ์พระเทวทัตว่า ‘เทวทัตจักเกิดในอบาย
จักเกิดในนรก ดำรงอยู่สิ้น ๑ กัป เป็นผู้ที่ใคร ๆ เยียวยาไม่ได้ เพราะวาจาของ
พระองค์นั้น พระเทวทัตโกรธ เสียใจ’
พระราชกุมาร พระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้วจะทรง
กลืนไม่เข้า คายไม่ออก กระจับเหล็กติดอยู่ในลำคอของบุรุษ บุรุษนั้นไม่อาจกลืน
เข้าไป ไม่อาจคายออก แม้ฉันใด พระสมณโคดมก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถูกพระองค์
ทูลถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้วก็จะทรงกลืนไม่เข้า คายไม่ออก”
อภัยราชกุมารทรงรับคำนิครนถ์ นาฏบุตรแล้วเสด็จลุกจากที่ประทับทรงไหว้
นิครนถ์ นาฏบุตร กระทำประทักษิณแล้วเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร
[๘๔] อภัยราชกุมารประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้วทรงแหงนดูดวงอาทิตย์
ทรงดำริว่า “วันนี้ไม่ใช่เวลาสมควรที่จะโต้วาทะกับพระผู้มีพระภาค วันพรุ่งนี้เถิด
เราจะโต้วาทะกับพระผู้มีพระภาคในวังของเรา” จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคมีพระองค์เป็นที่ ๔๑ โปรดทรงรับภัตตาหารของ
ข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ลำดับนั้น อภัยราชกุมารทรงทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว
จึงเสด็จลุกจากที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทรงกระทำประทักษิณแล้ว
เสด็จจากไป

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๘. อภยราชกุมารสูตร
เมื่อล่วงราตรีนั้นไป เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตร
และจีวร เสด็จเข้าไปยังวังของอภัยราชกุมาร ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว
ต่อมา อภัยราชกุมารทรงอังคาสพระผู้มีพระภาคให้อิ่มหนำสำราญด้วยของเคี้ยว
ของฉันอันประณีตด้วยพระองค์เอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จทรงวางพระหัตถ์แล้ว
อภัยราชกุมารจึงทรงเลือกประทับนั่ง ณ ที่สมควร ที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า
ถ้อยคำอันไม่เป็นที่รัก
[๘๕] อภัยราชกุมารประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคต๑จะพึงตรัสวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจ
ของคนอื่นบ้างหรือหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราชกุมาร ในปัญหาข้อนี้ จะวิสัชนาโดยส่วน
เดียวมิได้”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะปัญหาข้อนี้ พวกนิครนถ์ฉิบหายแล้ว”
“ราชกุมาร เหตุไฉน พระองค์จึงตรัสอย่างนี้เล่า”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะปัญหาข้อนี้ พวกนิครนถ์ได้ฉิบหายแล้ว ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส หม่อมฉันเข้าไปหานิครนถ์ นาฏบุตรถึงที่อยู่
ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร นิครนถ์ นาฏบุตรได้บอกว่า ‘เสด็จไปเถิดพระราชกุมาร
เชิญพระองค์เสด็จไปโต้วาทะกับพระสมณโคดมเถิด เมื่อพระองค์ทรงโต้วาทะกับพระ
สมณโคดมอย่างนี้ กิตติศัพท์อันงามของพระองค์จักระบือไปว่า ‘อภัยราชกุมารทรง
โต้วาทะกับพระสมณโคดมผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้’
เมื่อนิครนถ์ นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้ ข้าพระองค์ได้ถามว่า ‘ท่านขอรับ ข้าพเจ้า
จะโต้วาทะกับท่านพระสมณโคดมผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ ได้อย่างไร’
นิครนถ์ นาฏบุตรตอบว่า ‘มาเถิดพระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าพระสมณ-
โคดมถึงที่ประทับแล้วทูลถามอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีบ้างไหมที่พระตถาคต

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๘. อภยราชกุมารสูตร
ตรัสวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น’ ถ้าพระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้
แล้วจะทรงตอบว่า ‘ราชกุมาร มีบ้างที่ตถาคตกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจ
ของคนอื่น’
พระองค์พึงทูลถามพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็น
เช่นนั้น การกระทำของพระองค์จะต่างอะไรจากปุถุชน เพราะปุถุชนก็กล่าววาจาอัน
ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น’ ถ้าพระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามอย่างนี้
แล้วจะทรงตอบอย่างนี้ว่า ‘ราชกุมาร ตถาคตไม่กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็น
ที่ชอบใจของคนอื่น’
พระองค์พึงทูลถามพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็น
เช่นนั้น เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงพยากรณ์พระเทวทัตว่า ‘เทวทัตจักเกิดในอบาย
จักเกิดในนรก ดำรงอยู่สิ้น ๑ กัป เป็นผู้ที่ใคร ๆ เยียวยาไม่ได้’ เพราะวาจาของ
พระองค์นั้น พระเทวทัตโกรธ เสียใจ’
พระราชกุมาร พระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้วจะ
ทรงกลืนไม่เข้า คายไม่ออก กระจับเหล็กติดอยู่ในลำคอของบุรุษ บุรุษนั้นไม่อาจ
กลืนเข้าไปได้ ไม่อาจคลายออก แม้ฉันใด พระสมณโคดมก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ถูกพระองค์ทูลถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้วจะทรงกลืนไม่เข้า คายไม่ออก”
เกณฑ์ในการตรัสวาจาของพระพุทธเจ้า
[๘๖] ขณะนั้นเอง กุมารน้อยยังนอนหงายอยู่บนพระเพลาของอภัยราชกุมาร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับอภัยราชกุมารว่า “ราชกุมาร พระองค์เข้าพระทัย
ความข้อนั้นว่าอย่างไร ถ้ากุมารน้อยนี้อาศัยความประมาทของพระองค์หรือของหญิง
พี่เลี้ยง พึงนำไม้หรือก้อนกรวดมาใส่ปาก พระองค์จะพึงปฏิบัติกับกุมารน้อยนั้นอย่างไร”
อภัยราชกุมารกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะนำออกเสีย
ถ้าหม่อมฉันไม่อาจจะนำออกแต่ทีแรกได้ หม่อมฉันก็จะเอามือซ้ายประคองศีรษะ
แล้วงอนิ้วมือขวา ล้วงเอาไม้หรือก้อนกรวดพร้อมด้วยเลือดออกเสีย ข้อนั้นเพราะ
เหตุไร เพราะหม่อมฉันมีความเอ็นดูในกุมารน้อย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๘. อภยราชกุมารสูตร
“ราชกุมาร ตถาคตก็อย่างนั้นเหมือนกัน รู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบ
ด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าว
วาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตรู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้น
ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
ตถาคตรู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็น
ที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ในข้อนั้น ตถาคตรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น
ตถาคตรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก
เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
ตถาคตรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก
เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ที่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้น
เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ในข้อนั้น ตถาคตรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะตถาคตมีความเอ็นดูในหมู่สัตว์ทั้งหลาย”
พุทธปฏิภาณ
[๘๗] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้เป็น
บัณฑิตก็ดี คหบดีผู้เป็นบัณฑิตก็ดี สมณะผู้เป็นบัณฑิตก็ดี ตั้งปัญหาแล้วเข้ามา
เฝ้าพระตถาคต ทูลถามปัญหานั้น การตอบปัญหาของบัณฑิตเหล่านั้น พระผู้มี
พระภาคทรงตรึกด้วยพระหทัยก่อนว่า ‘บัณฑิตทั้งหลายจักเข้ามาหาเราแล้วทูลถาม
ปัญหาอย่างนี้ เราเมื่อบัณฑิตเหล่านั้นทูลถามอย่างนี้แล้ว จักตอบอย่างนี้’ หรือ
ว่าคำตอบนั้นปรากฏแก่พระตถาคตโดยทันที”
“ราชกุมาร ถ้าเช่นนั้น ในข้อนี้ ตถาคตจักถามพระองค์บ้าง ข้อนี้พระองค์
เห็นควรอย่างไร พระองค์พึงตอบอย่างนั้น พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้น
ว่าอย่างไร พระองค์เป็นผู้ชำนาญในองค์ประกอบน้อยใหญ่ของรถ มิใช่หรือ”
“ใช่ พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันเป็นผู้ชำนาญในองค์ประกอบน้อยใหญ่ของรถ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๘. อภยราชกุมารสูตร
“ราชกุมาร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ชนทั้งหลายเข้า
ไปเฝ้าพระองค์แล้วทูลถามอย่างนี้ว่า ‘องค์ประกอบน้อยใหญ่ของรถคันนี้ชื่ออะไร’
การตอบปัญหาของชนเหล่านั้น พระองค์ตรึกด้วยพระทัยก่อนว่า ‘ชนทั้งหลายเข้า
มาหาเราแล้วจักถามอย่างนี้ เราเมื่อถูกชนเหล่านั้นถามอย่างนี้ จักตอบอย่างนี้’
หรือว่าคำตอบนั้นปรากฏแก่พระองค์โดยทันที”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะหม่อมฉันเป็นผู้เชี่ยวชาญรู้จักรถเป็นอย่างดี
ชำนาญในองค์ประกอบน้อยใหญ่ของรถ องค์ประกอบน้อยใหญ่ของรถทั้งหมด
หม่อมฉันทราบดีแล้ว ฉะนั้นการตอบปัญหานั้นปรากฏแก่หม่อมฉันโดยทันที”
“ราชกุมาร กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี คหบดี
ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี สมณะผู้เป็นบัณฑิตก็ดี ตั้งปัญหาแล้วจักเข้ามาหาตถาคต ถาม
ปัญหานั้น การตอบปัญหานั้นปรากฏแก่ตถาคตโดยทันทีเหมือนกัน ข้อนั้นเพราะ
เหตุไร เพราะธรรมธาตุ๑นั้น ตถาคตแทงตลอดดีแล้ว การตอบปัญหานั้นปรากฏ
แก่ตถาคตโดยทันที”
อภัยราชกุมารแสดงตนเป็นอุบาสก
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อภัยราชกุมารได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาค
ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดี
จักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์
เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่
วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล
อภยราชกุมารสูตรที่ ๘ จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๙. พหุเวทนิยสูตร

๙. พหุเวทนิยสูตร
ว่าด้วยเวทนาหลายประเภท
[๘๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะเข้าไปหาท่านพระอุทายี
ถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้เรียนถามท่านพระอุทายีว่า “ท่านอุทายี
พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้เท่าไร ขอรับ”
ท่านพระอุทายีตอบว่า “ช่างไม้ พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ คือ
(๑) สุขเวทนา (๒) ทุกขเวทนา (๓) อทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัส
เวทนาไว้ ๓ ประการนี้”
เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวอย่างนี้แล้ว ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะได้กล่าวกับท่าน
พระอุทายีว่า “ท่านอุทายี พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ แต่พระ
ผู้มีพระภาคตรัสไว้ ๒ ประการ คือ (๑) สุขเวทนา (๒) ทุกขเวทนา
ท่านผู้เจริญ อทุกขมสุขเวทนาพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในสุขที่สงบประณีต”
แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระอุทายีก็ได้กล่าวกับช่างไม้ชื่อปัญจกังคะว่า “ช่างไม้
พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๒ ประการ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้
๓ ประการ คือ (๑) สุขเวทนา (๒) ทุกขเวทนา (๓) อทุกขมสุขเวทนา
พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการนี้”
แม้ครั้งที่ ๒ ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะก็ได้กล่าวกับท่านพระอุทายีว่า “ท่านอุทายี
พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้
๒ ประการ คือ (๑) สุขเวทนา (๒) ทุกขเวทนา
ท่านผู้เจริญ อทุกขมสุขเวทนาพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในสุขที่สงบประณีต”
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอุทายีก็ได้กล่าวกับช่างไม้ชื่อปัญจกังคะว่า “ช่างไม้
พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๒ ประการ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้
๓ ประการ คือ (๑) สุขเวทนา (๒) ทุกขเวทนา (๓) อทุกขมสุขเวทนา
พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๙. พหุเวทนิยสูตร
แม้ครั้งที่ ๓ ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะก็ได้กล่าวกับท่านพระอุทายีว่า “ท่านอุทายี
พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้
เพียง ๒ ประการ คือ (๑) สุขเวทนา (๒) ทุกขเวทนา
ท่านผู้เจริญ อทุกขมสุขเวทนาพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในสุขที่สงบประณีต”
ท่านพระอุทายีไม่สามารถให้ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะยินยอมได้ ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ
ก็ไม่สามารถให้ท่านพระอุทายียินยอมได้
[๘๙] ท่านพระอานนท์ได้ยินการสนทนาปราศรัยนี้ของท่านพระอุทายีกับ
ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลถึงการสนทนาปราศรัยของท่านพระอุทายีกับช่างไม้ชื่อ
ปัญจกังคะทั้งหมดนั้นแด่พระผู้มีพระภาค เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า
“อานนท์ ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะไม่คล้อยตามบรรยาย๑ที่มีอยู่ของอุทายี ส่วน
อุทายีก็ไม่คล้อยตามบรรยายที่มีอยู่ของช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ
ประเภทแห่งเวทนา
อานนท์ เรากล่าวเวทนา ๒ ประการไว้โดยบรรยายก็มี กล่าวเวทนา
๓ ประการไว้โดยบรรยายก็มี กล่าวเวทนา ๕ ประการไว้โดยบรรยายก็มี กล่าว
เวทนา ๖ ประการไว้โดยบรรยายก็มี กล่าวเวทนา ๑๘ ประการไว้โดยบรรยายก็มี
กล่าวเวทนา ๓๖ ประการไว้โดยบรรยายก็มี กล่าวเวทนา ๑๐๘ ประการไว้โดย
บรรยายก็มี
ธรรมอันเราแสดงไว้แล้วโดยบรรยายอย่างนี้ เมื่อธรรมอันเราแสดงไว้แล้วโดย
บรรยายอย่างนี้ ชนเหล่าใดจักไม่รู้ ไม่สำคัญ ไม่ชื่นชมตามคำที่เรากล่าวเจรจาดีแล้ว
แก่กันและกัน ชนเหล่านั้นพึงหวังได้ว่า จักบาดหมางกัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน
ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๙. พหุเวทนิยสูตร
ธรรมอันเราแสดงไว้แล้วโดยบรรยายอย่างนี้ เมื่อธรรมอันเราแสดงไว้แล้วโดย
บรรยายอย่างนี้ ชนเหล่าใดจักรู้ สำคัญ ชื่นชมตามคำที่เรากล่าวเจรจาดีแล้ว
แก่กันและกัน ชนเหล่านั้นพึงหวังได้ว่า จักพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน
เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ มองดูกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่
กามสุข
[๙๐] อานนท์ กามคุณ ๕ ประการนี้
กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ...
๓. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ...
๔. รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ...
๕. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
กามคุณ ๕ ประการนี้
สุขโสมนัสที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ ประการนี้ เราเรียกว่า กามสุข
ชนใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสที่สงบอย่างยิ่งนี้’
เราก็ไม่คล้อยตามคำของชนนั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะยังมีสุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๙. พหุเวทนิยสูตร

สุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่า
สุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
นี้แล ชื่อว่าสุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้
ชนใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสที่สงบอย่างยิ่งนี้’ เราก็
ไม่คล้อยตามคำของชนนั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะยังมีสุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้
สุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เป็นอย่างไร
คือ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรลุทุติยฌาน มีความ
ผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข
อันเกิดจากสมาธิอยู่ ... บรรลุตติยฌาน ... บรรลุจตุตถฌาน ... อยู่
นี้แล ชื่อว่าสุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้
ชนใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ฯลฯ
สุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนด
นานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง บรรลุอากาสานัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า
‘อากาศหาที่สุดมิได้’
นี้แล ชื่อว่าสุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้
ชนใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๙. พหุเวทนิยสูตร
สุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะล่วงฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุวิญญาณัญจา-
ยตนฌานอยู่ โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’
นี้แล ชื่อว่าสุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้
ชนใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ฯลฯ
สุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะล่วงฌานได้โดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญา-
ยตนฌานอยู่ โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’
นี้แล ชื่อว่าสุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้
ชนใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ฯลฯ
สุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะล่วงฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญา-
นาสัญญายตนฌานอยู่
นี้แล ชื่อว่าสุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้
อานนท์ ชนใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสที่สงบ
อย่างยิ่งนี้’ เราก็มิได้คล้อยตามคำของชนนั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะยังมีสุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้
สุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะล่วงฌานได้โดยประการทั้งปวง บรรลุสัญญา-
เวทยิตนิโรธอยู่
นี้แล ชื่อว่าสุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๑๐. อปัณณกสูตร
[๙๑] อานนท์ เป็นไปได้ที่อัญเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลายจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘เป็นไปได้หรือ เป็นไปได้อย่างไรที่พระสมณโคดมกล่าวสัญญาเวทยิตนิโรธ และ
บัญญัติสัญญาเวทยิตนิโรธนั้นไว้ในสุข’
อานนท์ อัญเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลายผู้กล่าวอย่างนี้ เธอทั้งหลายพึงค้านว่า
‘ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงหมายถึงสุขเวทนาเพียงอย่างเดียวแล้ว
บัญญัติสัญญาเวทยิตนิโรธนั้นไว้ในสุขเลย แต่บุคคลย่อมประสบสุขในฐานะใด ๆ มีสุข
ในฐานะใด ๆ พระตถาคตจึงทรงบัญญัติฐานะนั้น ๆ ไว้ในสุข”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
พหุเวทนิยสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. อปัณณกสูตร
ว่าด้วยการปฏิบัติไม่ผิด
พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดชาวบ้านสาลา
[๙๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมกับภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ เสด็จถึงบ้านพราหมณ์ของชาวโกศลชื่อสาลา พราหมณ์และคหบดีชาวบ้าน
สาลาได้สดับข่าวว่า
“ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ท่านพระสมณโคดมเป็นศากยบุตร เสด็จ
ออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นโกศล พร้อมกับภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่เสด็จถึงบ้านพราหมณ์ชื่อสาลาโดยลำดับ ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์
อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๑๐. อปัณณกสูตร
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ พระองค์ทรงรู้แจ้ง
โลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมี
ความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศ
พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบ
พระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้เป็นความดีอย่างแท้จริง”
ครั้งนั้น พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านสาลาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ บางพวกถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกทูลสนทนาปราศรัย
พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประนมมือ
ไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประกาศชื่อและ
โคตรในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็นั่งนิ่งอยู่ ณ ที่
สมควร
ตรัสอปัณณกธรรม
[๙๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านสาลาผู้นั่ง
เรียบร้อยแล้วว่า
“พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ศาสดาองค์ใดองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่ชอบใจของ
ท่านทั้งหลาย เป็นเหตุให้ได้ศรัทธาที่มีเหตุผล มีอยู่หรือ”
พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ศาสดา
องค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นที่ชอบใจของข้าพระองค์ทั้งหลาย เป็นเหตุให้ได้ศรัทธาที่
มีเหตุผล ยังไม่มีเลย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๑๐. อปัณณกสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลาย
ยังไม่ได้ศาสดาเป็นที่ชอบใจ พึงสมาทานอปัณณกธรรม๑นี้แล้วประพฤติตามเถิด
เพราะว่า อปัณณกธรรมที่ท่านทั้งหลายสมาทานให้บริบูรณ์ จักเป็นไปเพื่อประโยชน์
เกื้อกูล เพื่อสุขแก่ท่านทั้งหลายตลอดกาลนาน
อปัณณกธรรมนั้น เป็นอย่างไร
นัตถิกทิฏฐิกับอัตถิกทิฏฐิ
[๙๔] คือ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงก็ไม่มีผล ผลวิบาก
แห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วก็ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ
โอปปาติก๒สัตว์ก็ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และ
โลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ก็ไม่มีในโลก’
สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น
พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชาแล้วมีผล การเซ่นสรวงก็มีผล
ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ
โอปปาติกสัตว์มีอยู่ สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และ
โลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ก็มีอยู่ในโลก’
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร สมณ-
พราหมณ์เหล่านี้มีวาทะขัดแย้งกันโดยตรง มิใช่หรือ”
พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นกราบทูลว่า “ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๑๐. อปัณณกสูตร

โทษแห่งการปฏิบัติผิด
[๙๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย บรรดาสมณ-
พราหมณ์ ๒ จำพวกนั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงก็ไม่มีผล ฯลฯ สมณพราหมณ์
ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนให้
ผู้อื่นรู้แจ้ง ก็ไม่มีในโลก’ สมณพราหมณ์เหล่านั้น พึงหวังข้อนี้ได้ คือ จักเว้นกุศล-
ธรรม ๓ ประการนี้ ได้แก่ (๑) กายสุจริต (๒) วจีสุจริต (๓) มโนสุจริต จักสมาทาน
อกุศลธรรม ๓ ประการนี้ ได้แก่ (๑) กายทุจริต (๒) วจีทุจริต (๓) มโนทุจริต
แล้วประพฤติอยู่
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่เห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง
แห่งอกุศลธรรม ไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรม
อนึ่ง โลกหน้ามี แต่เขากลับเห็นว่า ‘โลกหน้าไม่มี’ ความเห็นนั้นของเขาจึงเป็น
มิจฉาทิฏฐิ โลกหน้ามี แต่เขาดำริว่า ‘โลกหน้าไม่มี’ ความดำรินั้นของเขาจึงเป็น
มิจฉาสังกัปปะ โลกหน้ามี แต่เขากล่าวว่า ‘โลกหน้าไม่มี’ วาจานั้นของเขาจึงเป็น
มิจฉาวาจา โลกหน้ามี เขากล่าวว่า ‘โลกหน้าไม่มี’ ผู้นี้ย่อมทำตนเป็นข้าศึกต่อ
พระอรหันต์ผู้รู้แจ้งโลกหน้า โลกหน้ามี เขาทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่า ‘โลกหน้าไม่มี’ การที่
เขาทำให้ผู้อื่นเข้าใจเช่นนั้น เป็นการทำให้เข้าใจผิดจากความเป็นจริง และเขา
ยังจะยกตนข่มผู้อื่น ด้วยการทำให้เข้าใจผิดจากความเป็นจริงนั้น โดยนัยนี้ เริ่มต้น
เขาก็ละทิ้งความเป็นผู้มีศีลดีงามแล้วตั้งตนเป็นคนทุศีล เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย
บาปอกุศลธรรมเป็นอเนกเหล่านี้ คือ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา
ความเป็นข้าศึกกับพระอริยะ การทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดจากความเป็นจริง การยกตน
การข่มผู้อื่น ย่อมเกิดขึ้น ด้วยประการอย่างนี้
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น วิญญูชน
ย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘ถ้าโลกหน้าไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษบุคคลนี้หลังจาก
ตายแล้วจักทำตนให้มีความสวัสดีได้ ถ้าโลกหน้ามีจริง เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษบุคคลนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๑๐. อปัณณกสูตร
หลังจากตายแล้ว จักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก๑ถ้าโลกหน้าไม่มีจริง คำของ
สมณพราหมณ์เหล่านั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษบุคคลนี้ย่อม
กูกวิญญูชน ติเตียนได้ในปัจจุบันว่า ‘เป็นบุรุษบุคคลผู้ทุศีล เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็น
นัตถิกวาทะ’
ถ้าโลกหน้ามีจริง บุรุษบุคคลนี้จะได้รับโทษในโลกทั้ง ๒ คือ (๑) ในปัจจุบัน
ถูกวิญญูชนติเตียนได้ (๒) หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
อย่างนี้
อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นสมาทานให้บริบูรณ์ไม่ดี แพร่ดิ่งไปฝ่ายเดียว๒
ย่อมละเหตุที่เป็นกุศล ด้วยประการอย่างนี้
คุณแห่งการปฏิบัติชอบ
[๙๖] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์ ๒ จำพวกนั้น
สมณพราหมณ์เหล่าใดผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล ฯลฯ
สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่ง
เองแล้วสอนให้ผู้อื่นรู้แจ้ง มีอยู่ในโลก’ สมณพราหมณ์เหล่านั้นพึงหวังข้อนี้ได้ คือ
จักเว้นอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ ได้แก่ (๑) กายทุจริต (๒) วจีทุจริต (๓) มโนทุจริต
จักสมาทานกุศลธรรม ๓ ประการนี้ ได้แก่ (๑) กายสุจริต (๒) วจีสุจริต (๓) มโนสุจริต
แล้วประพฤติอยู่
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นเห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่ง
อกุศลธรรม เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรม
อนึ่ง โลกหน้ามี เขาเห็นว่า ‘โลกหน้ามีจริง’ ความเห็นนั้นของเขา จึงเป็น
สัมมาทิฏฐิ โลกหน้ามีจริง เขาดำริว่า ‘โลกหน้ามีจริง’ ความดำรินั้นของเขาจึงเป็น
สัมมาสังกัปปะ โลกหน้ามีจริง เขากล่าวว่า ‘โลกหน้ามีจริง’ วาจานั้นของเขาจึงเป็น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๑๐. อปัณณกสูตร
สัมมาวาจา โลกหน้ามีจริง เขากล่าวว่า ‘โลกหน้ามีจริง’ ผู้นี้ชื่อว่าไม่ทำตนเป็นข้าศึก
กับพระอรหันต์ผู้รู้แจ้งโลกหน้า โลกหน้ามี เขาทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่า ‘โลกหน้ามีจริง’
การที่เขาทำให้ผู้อื่นเข้าใจเช่นนั้น เป็นการทำให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริง และเขา
ย่อมไม่ยกตนข่มผู้อื่น ด้วยการทำให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริงนั้น โดยนัยนี้ เริ่มต้น
เขาก็ละทิ้งความเป็นผู้ทุศีล แล้วตั้งตนเป็นคนมีศีลดีงาม เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย
กุศลธรรมเป็นอเนกเหล่านี้ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา ความไม่
เป็นข้าศึกกับพระอริยะ การทำให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริง การไม่ยกตน การไม่
ข่มผู้อื่น ย่อมเกิดขึ้น ด้วยประการอย่างนี้
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น วิญญูชน
ย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘ถ้าโลกหน้ามี เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษบุคคลนี้ หลังจาก
ตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ ถ้าโลกหน้าไม่มีจริง คำของสมณพราหมณ์
เหล่านั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษบุคคลนี้ก็ย่อมได้รับคำสรรเสริญ
จากวิญญูชนในปัจจุบันว่า ‘เป็นบุรุษบุคคลผู้มีศีล เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นอัตถิกวาทะ’
ถ้าโลกหน้ามีจริง บุรุษบุคคลนี้ก็จะได้รับคุณในโลกทั้ง ๒ คือ (๑) ในปัจจุบัน
วิญญูชนย่อมสรรเสริญ (๒) หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ อย่างนี้
อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว แพร่ดิ่งไปทั้งสองฝ่าย๑
ย่อมละเหตุที่เป็นอกุศลได้ ด้วยประการอย่างนี้
อกิริยทิฏฐิกับกิริยทิฏฐิ
[๙๗] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะ
อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด
เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำให้เศร้าโศกเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้เศร้าโศก
ทำให้ลำบากเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์
ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ตัดช่องย่องเบา ปล้นเรือนหลังเดียว ดักจี้ในทาง
เปลี่ยว เป็นชู้ พูดเท็จ ผู้ทำ(เช่นนั้น) ก็ไม่จัดว่าทำบาป

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๑๐. อปัณณกสูตร
แม้หากบุคคลใช้จักรมีคมดุจมีดโกนสังหารเหล่าสัตว์ในปฐพีนี้ให้เป็นดุจลาน
ตากเนื้อ ให้เป็นกองเนื้อเดียวกัน เขาย่อมไม่มีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบาปมา
ถึงเขา
แม้หากบุคคลไปฝั่งขวาแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด
เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน เขาย่อมไม่มีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบาป
มาถึงเขา
แม้หากบุคคลไปฝั่งซ้ายแม่น้ำคงคา ให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา
เขาย่อมไม่มีบุญที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบุญมาถึงเขา ไม่มีบุญที่เกิดจากการให้ทาน
จากการฝึกอินทรีย์ จากการสำรวม จากการพูดคำสัตย์ ไม่มีบุญมาถึงเขา’
สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง มีวาทะขัดแย้งกันโดยตรงกับสมณพราหมณ์
เหล่านั้น พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้
ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำให้เศร้าโศกเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้
เศร้าโศก ทำให้ลำบากเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ดิ้นรน
ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ตัดช่องย่องเบา ปล้นเรือนหลังเดียว
ดักจี้ในทางเปลี่ยว เป็นชู้ พูดเท็จ ผู้ทำ(เช่นนั้น)จัดว่าทำบาป
แม้หากบุคคลใช้จักรมีคมดุจมีดโกนสังหารเหล่าสัตว์ในปฐพีนี้ให้เป็นดุจลาน
ตากเนื้อ ให้เป็นกองเนื้อเดียวกัน เขาย่อมมีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น มีบาปมาถึงเขา
แม้หากบุคคลไปฝั่งขวาแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด
เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน เขาย่อมมีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น มีบาป
มาถึงเขา
แม้หากบุคคลไปฝั่งซ้ายแม่น้ำคงคา ให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้
ผู้อื่นบูชา เขาย่อมมีบุญที่เกิดจากกรรมนั้น มีบุญมาถึงเขา ย่อมมีบุญที่เกิดจากการ
ให้ทาน จากการฝึกอินทรีย์ จากการสำรวม จากการพูดคำสัตย์ มีบุญมาถึงเขา’
ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร สมณพราหมณ์เหล่านี้มีวาทะขัดแย้งกัน
โดยตรง มิใช่หรือ”
พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นกราบทูลว่า “ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๑๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค] ๑๐. อปัณณกสูตร

โทษแห่งการปฏิบัติผิด
[๙๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย บรรดาสมณ-
พราหมณ์ ๒ จำพวกนั้น สมณพราหมณ์เหล่าใดผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่น
เบียดเบียน ทำให้เศร้าโศกเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้เศร้าโศก ทำให้ลำบากเอง ใช้ให้ผู้อื่น
ทำให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขา
ไม่ได้ให้ ตัดช่องย่องเบา ปล้นเรือนหลังเดียว ดักจี้ในทางเปลี่ยว เป็นชู้ พูดเท็จ
ผู้ทำ(เช่นนั้น) ก็ไม่จัดว่าทำบาป
แม้หากบุคคลใช้จักรมีคมดุจมีดโกนสังหารเหล่าสัตว์ ในปฐพีนี้ให้เป็นดุจลาน
ตากเนื้อ ให้เป็นกองเนื้อเดียวกัน เขาย่อมไม่มีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบาป
มาถึงเขา
แม้หากบุคคลไปฝั่งขวาแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ฯลฯ ไม่มีบุญที่
เกิดจากการให้ทาน จากการฝึกอินทรีย์ จากการสำรวม จากการพูดคำสัตย์
ไม่มีบุญมาถึงเขา’ สมณพราหมณ์เหล่านั้นพึงหวังข้อนี้ได้ คือ จักเว้นกุศลธรรม
๓ ประการนี้ ได้แก่ (๑) กายสุจริต (๒) วจีสุจริต (๓) มโนสุจริต จักสมาทาน
อกุศลธรรม ๓ ประการนี้ ได้แก่ (๑) กายทุจริต (๒) วจีทุจริต (๓) มโนทุจริต
แล้วประพฤติอยู่
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่เห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง
แห่งอกุศลธรรม ไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรม
อนึ่ง การกระทำมีผล แต่เขากลับเห็นว่า ‘การกระทำไม่มีผล’ ความเห็นนั้น
ของเขาจึงเป็นมิจฉาทิฏฐิ การกระทำมีผล แต่เขาดำริว่า ‘การกระทำไม่มีผล’
ความดำรินั้นของเขาจึงเป็นมิจฉาสังกัปปะ การกระทำมีผล แต่เขากล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า :๑๐๒ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น