Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๒-๑๑ หน้า ๕๓๘ - ๕๙๑

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒-๑๑ สุตตันตปิฎกที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก ฉักกนิบาต



พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๑. โสณสูตร
โทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมน้อมไปในความไม่ลุ่มหลง เพราะสิ้นโมหะ เพราะ
ปราศจากโมหะ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้ารูปารมณ์ที่รุนแรงที่จะพึงรู้แจ้งทางตา มาปรากฏ
ทางตาของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ รูปารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำ
จิตของภิกษุนั้นได้เลย จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคง
หนักแน่น และภิกษุนั้นก็พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น
ถ้าสัททารมณ์ที่รุนแรงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ
ถ้าคันธารมณ์ที่รุนแรงที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ
ถ้ารสารมณ์ที่รุนแรงที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ
ถ้าโผฏฐัพพารมณ์ที่รุนแรงที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ฯลฯ
แม้ถ้าธรรมารมณ์ที่รุนแรงที่จะพึงรู้แจ้งทางใจ มาปรากฏทางใจของภิกษุผู้มีจิต
หลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ธรรมารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้น
ได้เลย จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคงหนักแน่น
และภิกษุนั้นก็พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น
จิตของพระขีณาสพผู้น้อมไปในเนกขัมมะ
น้อมไปในปวิเวก น้อมไปในความไม่เบียดเบียน
น้อมไปในความสิ้นอุปาทาน
น้อมไปในความสิ้นตัณหา และน้อมไปในความไม่ลุ่มหลง
ย่อมหลุดพ้นโดยชอบเพราะเห็นความเกิดแห่งอายตนะ๑
ภิกษุผู้มีจิตสงบระงับหลุดพ้นโดยชอบ
ย่อมไม่มีการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว
ทั้งไม่มีกิจที่จะต้องทำอีก
ภูเขาหินแท่งทึบย่อมไม่สะเทือนเพราะลม ฉันใด
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ทั้งมวล

เชิงอรรถ :
๑ รวมถึงความดับแห่งอายตนะด้วย (วิ.อ. ๓/๒๔๓-๒๔๔/๑๖๕, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๔/๓๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๒. ผัคคุณสูตร
ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์
ย่อมทำจิตของผู้คงที่ให้หวั่นไหวไม่ได้ ฉันนั้น
จิตของผู้คงที่นั้นเป็นจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
ไม่เกาะเกี่ยวด้วยอารมณ์อะไร
เพราะท่านผู้คงที่พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น๑
โสณสูตรที่ ๑ จบ
๒. ผัคคุณสูตร
ว่าด้วยพระผัคคุณะอาพาธ
[๕๖] สมัยนั้นแล ท่านพระผัคคุณะ อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น
ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่
สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระผัคคุณะ
อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มี
พระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปเยี่ยมท่านพระผัคคุณะถึงที่อยู่เถิด
พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยพระอาการดุษณี
ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น๒เสด็จเข้าไปหาท่าน
พระผัคคุณะถึงที่อยู่ ท่านพระผัคคุณะได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล
จึงลุกขึ้นจากเตียง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระผัคคุณะว่า “อย่าเลย
ผัคคุณะ เธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะที่ภิกษุอื่นปูลาดไว้ยังมีอยู่ เราจักนั่งบน
อาสนะนั้น” พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ได้ตรัสถามท่าน
พระผัคคุณะดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ความเกิดดับของจิตนั้น” แปลตามนัย องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๕/๑๓๘ แต่ใน ขุททกนิกาย แปลว่า
“ความเสื่อมไปแห่งอารมณ์นั้น” ตามนัย ขุ.เถร.อ. ๒/๖๔๔/๒๖๓ ดู วิ.ม. ๕/๒๔๓/๔-๕, ขุ.เถร. (แปล)
๒๖/๖๔๐-๖๔๔/๔๕๐
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๗ (โสปปสูตร) หน้า ๔๓๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๒. ผัคคุณสูตร
“ผัคคุณะ เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลา ไม่กำเริบ
หรืออาการทุเลาปรากฏ อาการกำเริบไม่ปรากฏหรือ๑”
ท่านพระผัคคุณะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สบาย
จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์มีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการ
กำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ
เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรงใช้เหล็กแหลมที่คมแทงศีรษะ ฉันใด ลมอันแรงกล้า
ก็เสียดแทงศีรษะของข้าพระองค์ ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์ไม่สบาย จะเป็นอยู่
ไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์มีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบ
ปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ
เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรง พึงใช้เชือกหนังที่เหนียวรัดที่ศีรษะ ฉันใด ความ
เจ็บปวดในศีรษะของข้าพระองค์ก็มีประมาณยิ่งฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์ไม่สบาย
จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์มีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการ
กำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ
เปรียบเหมือนคนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ชำนาญพึงใช้มีดแล่เนื้อที่คม
กรีดท้อง ฉันใด ลมอันแรงกล้าก็เสียดแทงท้องของข้าพระองค์ ฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าพระองค์ไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์มีแต่กำเริบหนักขึ้น
ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ
เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรง ๒ คนพึงจับแขนคนที่อ่อนแอกว่าคนละข้าง ย่างให้
ร้อนบนหลุมถ่านเพลิง ฉันใด ความเร่าร้อนในกายของข้าพระองค์ก็มีมากยิ่งฉันนั้น
เหมือนกัน ข้าพระองค์ไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์มีแต่
กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ๒
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงให้ท่านพระผัคคุณะเห็นชัด ชวนใจ
ให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จลุกจากพุทธอาสน์จากไป

เชิงอรรถ :
๑ ดู สํ.สฬา. ๑๘/๗๔/๖๖
๒ ดู ม.มู. ๑๒/๓๗๘/๓๓๙-๓๔๐, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๘๗/๘๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๒. ผัคคุณสูตร
ครั้งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปไม่นาน ท่านพระผัคคุณะได้มรณภาพ
แล้ว ในเวลามรณภาพ อินทรีย์๑ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ต่อมา ท่านพระอานนท์เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปไม่นาน
ท่านพระผัคคุณะได้มรณภาพแล้ว และในเวลามรณภาพอินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก”
อานิสงส์การฟังธรรม
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ อินทรีย์ของผัคคุณภิกษุจักไม่ผ่องใสได้
อย่างไร แรกทีเดียวจิตของผัคคุณภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์
(สังโยชน์เบื้องต่ำ) ๕ ประการ แต่เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น จิตของผัคคุณภิกษุ
จึงหลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ
อานนท์ การฟังธรรมตามกาล การพิจารณาเนื้อความตามกาลมีอานิสงส์ ๖
ประการนี้
อานิสงส์ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตยังไม่หลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
ประการ ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอได้เห็นตถาคต ตถาคต
แสดงธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มี
ความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนแก่เธอ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น จิตของ
เธอจึงหลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ นี้เป็นอานิสงส์
ประการที่ ๑ ในการฟังธรรมตามกาล
๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตยังไม่หลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
ประการ ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอไม่ได้เห็นตถาคตเลย แต่ได้
เห็นสาวกของตถาคต สาวกของตถาคตแสดงธรรมที่มีความงามใน

เชิงอรรถ :
๑ อินทรีย์ ในที่นี้หมายถึงอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๖/๑๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๒. ผัคคุณสูตร
เบื้องต้น มีความงามในท่านกลาง มีความงามในที่สุด ประกาศ
พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน
แก่เธอ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น จิตของเธอจึงหลุดพ้นจาก
โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ ในการ
ฟังธรรมตามกาล
๓. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตยังไม่หลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
ประการ ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอไม่ได้เห็นตถาคต ทั้งไม่ได้
เห็นสาวกของตถาคต แต่ตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจ
ซึ่งธรรม ตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา เมื่อเธอตรึก
ตามตรองตามเพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ได้
เรียนมา จิตของเธอจึงหลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ
นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ ในการพิจารณาเนื้อความตามกาล
๔. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
ประการ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิ-
กิเลสอันยอดเยี่ยม๑ ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอได้เห็นตถาคต
ตถาคตย่อมแสดงธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามใน
ท่ามกลาง ฯลฯ ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน
แก่เธอ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น จิตของเธอจึงน้อมไปในธรรม
เป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔
ในการฟังธรรมตามกาล
๕. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
ประการ แต่จิตของเธอไม่น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส
อันยอดเยี่ยม ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอไม่ได้เห็นตถาคต
แต่เธอได้เห็นสาวกของตถาคต สาวกของตถาคตแสดงธรรมที่มี
ความงามในเบื้องต้น ฯลฯ ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์
ครบถ้วนแก่เธอ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น จิตของเธอจึงน้อมไป

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๖/๑๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๓. ฉฬภิชาติสูตร
ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม นี้เป็นอานิสงส์
ประการที่ ๕ ในการฟังธรรมตามกาล
๖. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
ประการ แต่จิตของเธอไม่น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส
อันยอดเยี่ยม ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอไม่ได้เห็นทั้งตถาคต
ทั้งไม่ได้เห็นสาวกของตถาคต แต่เธอตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตาม
ด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา เมื่อเธอ
ตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมา
ตามที่ตนได้เรียนมา จิตของเธอจึงน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่ง
อุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๖ ในการพิจารณา
เนื้อความตามกาล
อานนท์ การพิจารณาเนื้อความตามกาลมีอานิสงส์ ๖ ประการนี้แล
ผัคคุณสูตรที่ ๒ จบ
๓. ฉฬภิชาติสูตร
ว่าด้วยอภิชาติ๑ ๖ จำพวก
[๕๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุง
ราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปูรณะ กัสสปะบัญญัติอภิชาติ ๖ จำพวก คือ
๑. บัญญัติกัณหาภิชาติ (ชาติดำ)
๒. บัญญัตินีลาภิชาติ (ชาติเขียว)
๓. บัญญัติโลหิตาภิชาติ (ชาติแดง)

เชิงอรรถ :
๑ อภิชาติ ในที่นี้หมายถึงการกำหนดหมายชนเป็นชั้น เป็นกลุ่ม เช่นหมู่คนที่ประพฤติอย่างนี้ ๆ กำหนดเรียก
อย่างนี้ ๆ (ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๗) หรือหมายถึงชาติกำเนิด (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๗/๑๓๙, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๗/
๑๕๐) และดู ที.สี. (แปล) ๙/๑๖๘/๕๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๓. ฉฬภิชาติสูตร
๔. บัญญัติหลิททาภิชาติ (ชาติเหลือง)
๕. บัญญัติสุกกาภิชาติ (ชาติขาว)
๖. บัญญัติปรมสุกกาภิชาติ (ชาติขาวยิ่ง)
ปูรณะ กัสสปะบัญญัติคนฆ่าแพะ คนฆ่าสุกร พรานนก พรานเนื้อ ชาวประมง
โจร เพชฌฆาต เจ้าหน้าที่เรือนจำ หรือคนทำงานที่โหดร้ายอื่น ๆ ว่าเป็นกัณหาภิชาติ
บัญญัติพวกภิกษุผู้โน้มเอียงไปในฝ่ายดำ หรือพวกกัมมวาทะ กิริยวาทะอื่น ๆ
ว่าเป็นนีลาภิชาติ
บัญญัตินิครนถ์ผู้ใช้ผ้าผืนเดียวว่าเป็นโลหิตาภิชาติ
บัญญัติคฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาว หรือสาวกของอเจลก๑ว่าเป็นหลิททาภิชาติ
บัญญัติอาชีวกหรืออาชีวิกาว่าเป็นสุกกาภิชาติ
บัญญัติเจ้าลัทธิชื่อว่า นันทวัจฉโคตร เจ้าลัทธิชื่อกิสสังกิจจโคตร เจ้าลัทธิ
ชื่อมักขลิโคสาลว่าเป็นปรมสุกกาภิชาติ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปูรณะ กัสสปะบัญญัติอภิชาติ ๖ ประการนี้ไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ การที่ปูรณะ กัสสปะบัญญัติอภิชาติ ๖
ประการนี้ไว้ ชาวโลกทั้งปวงเห็นคล้อยตามด้วยหรือ”
พระอานนท์กราบทูลว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ คนทั้งหลายบังคับบุรุษยากจน ขัดสน
เข็ญใจ ผู้ไม่ปรารถนาส่วนเนื้อว่า ‘แน่ะบุรุษผู้เจริญ ท่านพึงกินเนื้อนี้ และต้องให้
ค่าเนื้อ’ ฉันใด ปูรณะ กัสสปะก็ฉันนั้นเหมือนกัน บัญญัติอภิชาติ ๖ ประการนี้
สำหรับสมณพราหมณ์เหล่านั้นไว้ โดยที่ชาวโลกทั้งปวงก็ไม่ยอมรับ เหมือนคนพาล
ไม่เฉียบแหลม ไม่รู้หลักการบัญญัติ ไม่ฉลาด
อานนท์ เราก็บัญญัติอภิชาติ ๖ ประการไว้ ขอเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าว”

เชิงอรรถ :
๑ สาวกของอเจลก หมายถึงสาวกของอาชีวก (นักบวชเปลือย) ซึ่งถือตัวว่าตนมีจิตขาวสะอาดบริสุทธิ์กว่า
พวกนิครนถ์และยกย่องผู้ที่ให้ปัจจัยแก่ตนว่าประเสริฐกว่าพวกนิครนถ์เช่นกัน (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๗/๑๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๓. ฉฬภิชาติสูตร
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
อานนท์ อภิชาติ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นกัณหาภิชาติ ประพฤติธรรมดำ
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นกัณหาภิชาติ ประพฤติธรรมขาว
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นกัณหาภิชาติ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นสุกกาภิชาติ ประพฤติธรรมดำ
๕. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นสุกกาภิชาติ ประพฤติธรรมขาว
๖. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นสุกกาภิชาติ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว
บุคคลเป็นกัณหาภิชาติ ประพฤติธรรมดำ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ตระกูล
นายพราน ตระกูลช่างสาน ตระกูลช่างรถ หรือตระกูลคนขนขยะ ซึ่งเป็นตระกูล
ยากจน มีข้าวน้ำและสิ่งของเครื่องใช้น้อย เป็นไปอย่างฝืดเคือง เป็นแหล่งที่หาของ
กินและเครื่องนุ่งห่มได้ยาก และเขามีผิวพรรณหม่นหมอง ไม่น่าดู ต่ำเตี้ย มีความ
เจ็บป่วยมาก ตาบอด เป็นง่อย เป็นคนกระจอกหรือเป็นโรคอัมพาต มักไม่ได้ข้าว
น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป
และเขายังประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต๑ นรก
บุคคลเป็นกัณหาภิชาติ ประพฤติธรรมดำ เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นกัณหาภิชาติ ประพฤติธรรมขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ฯลฯ
มักไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่อง
ประทีป แต่เขาประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต หลังจากตายแล้วจึงไป
เกิดในสุคติโลกสวรรค์
บุคคลเป็นกัณหาภิชาติ ประพฤติธรรมขาว เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ อบาย ทุคติ วินิบาต ทั้ง ๓ คำนี้เป็นไวพจน์ของนรก (องฺ.เอกก.อ. ๑/๔๓/๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๓. ฉฬภิชาติสูตร
บุคคลเป็นกัณหาภิชาติ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ฯลฯ
และเขามีผิวพรรณหม่นหมอง ไม่น่าดู ต่ำเตี้ย เขาโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เขาผู้บวชแล้วอย่างนี้ ละนิวรณ์ ๕
ประการอันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทอนกำลังปัญญา มีจิตตั้งมั่นดีในสติปัฏฐาน ๔
ประการ๑ เจริญโพชฌงค์ ๗ ประการ๒ ตามความเป็นจริงแล้ว บรรลุนิพพานที่ไม่ดำ
ไม่ขาว
บุคคลเป็นกัณหาภิชาติ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสุกกาภิชาติ ประพฤติธรรมดำ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล
ตระกูลพราหมณมหาสาล ตระกูลคหบดีมหาศาล ซึ่งเป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์
มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าว
เปลือกมาก๓ และเขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก มักได้ข้าว
น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แต่เขา
ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก
บุคคลเป็นสุกกาภิชาติ ประพฤติธรรมดำ เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสุกกาภิชาติ ประพฤติธรรมขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล ฯลฯ
มักได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่อง

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ม. ๑๐/๓๗๒-๓๗๔/๒๔๘-๒๔๙, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๓๕๕/๓๐๖, ๓๗๔/๓๑๙
๒ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๒๑, องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๕๗-๑๖๓/๔๐๔, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๔๖๖-๔๗๑/๓๕๘-๓๖๑
๓ มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก ในที่นี้หมายถึงมีทรัพย์คือโคเป็นต้น และมีปุพพัณณชาติ ได้แก่ ธัญญชาติ
๗ ชนิด คือ (๑) ข้าวเปลือก (๒) ข้าวเจ้า (๓) หญ้ากับแก้ (๔) ข้าวละมาน (๕) ลูกเดือย (๖) ข้าวเหนียว
(๗) ข้าวละมาน ตลอดถึงมีอปรัณณชาติ ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วราชมาส งา พืชผักที่กินหลังอาหารมากมาย
(วิ.อ. ๑/๑๐๔/๓๖๘, สารตฺถ.ฏีกา ๒/๑๐๔/๑๗๖, สํ.สฬา.อ. ๑/๑๑๔/๑๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๔. อาสวสูตร
ประทีป และเขายังประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต หลังจากตายแล้ว
จึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
บุคคลเป็นสุกกาภิชาติ ประพฤติธรรมขาว เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสุกกาภิชาติ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เกิดในตระกูลสูง คือตระกูลขัตติยมหาศาล
ตระกูลพราหมณมหาศาล ตระกูลคหบดีมหาศาล ซึ่งเป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์
มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าว
เปลือกมาก และเขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก เขาโกน
ผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เขาผู้บวช
แล้วอย่างนี้ ละนิวรณ์ ๕ ประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทอนกำลังปัญญา
มีจิตตั้งมั่นดีในสติปัฏฐาน ๔ ประการ เจริญโพชฌงค์ ๗ ประการ ตามความ
เป็นจริงแล้ว บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาวอย่างนี้
บุคคลเป็นสุกกาภิชาติ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว เป็นอย่างนี้แล
อานนท์ อภิชาติ ๖ ประการนี้แล
ฉฬภิชาติสูตรที่ ๓ จบ
๔. อาสวสูตร
ว่าด้วยอาสวธรรม๑
[๕๘] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้ควรแก่
ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการสังวร๒
๒. ละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการใช้สอย

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ม. ๑๐/๑๔๒/๗๓, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๓๒๑/๓๔๐, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๓๗/๕๘๖-๕๘๗
๒ สังวร เป็นชื่อของสติ หมายถึงการระวัง การปิด การกั้น (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๘/๑๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๔. อาสวสูตร
๓. ละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยความอดกลั้น
๔. ละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการเว้น
๕. ละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการบรรเทา๑
๖. ละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการเจริญ
ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการสังวร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว๒ เป็นผู้สำรวมด้วยการสังวร
ในจักขุนทรีย์อยู่ ซึ่งเมื่อเธอไม่สำรวมอยู่ อาสวะ๓และความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น
ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นย่อม
ไม่มีแก่เธอ ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วเป็นผู้สำรวมด้วยการ
สังวรในโสตินทรีย์ ... ฆานินทรีย์ ... ชิวหินทรีย์ ... กายินทรีย์ ... เป็นผู้สำรวมด้วย
การสังวรในมนินทรีย์อยู่ ซึ่งเมื่อเธอไม่สำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ
ความคับแค้นก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความ
คับแค้นย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการสังวร
ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการใช้สอย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยจีวรเพียงเพื่อป้องกัน
ความหนาว ความร้อน เหลือบยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน

เชิงอรรถ :
๑ ดู อปัสเสนธรรม ๔ ประการ ใน องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๐/๔๐, ที.ปา ๑๑/๓๐๘/๒๐๐, ที.ปา.อ. ๓๐๘/๒๐๔
๒ โดยแยบคาย ในที่นี้หมายถึงโดยอุบายหรือแนวทาง ได้แก่ พิจารณาเห็นโทษของการไม่สำรวมจักขุนทรีย์
เป็นต้น เช่น พิจารณาเปรียบเทียบว่าการถูกทิ่มแทงด้วยหลาวเหล็กแดงอันร้อนลุกโชน ยังดีกว่าการไม่
พิจารณาแล้วเกิดอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ในรูปเป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๘/๑๓๙)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๕ ปัญจกนิบาต ข้อ ๒๐๐ (นิสสารณียสูตร) หน้า ๓๔๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๔. อาสวสูตร
เพื่อปกปิดอวัยวะที่น่าละอาย พิจารณาโดยแยบคายแล้วฉันบิณฑบาต ไม่ใช่เพื่อ
เล่น ไม่ใช่เพื่อความมัวเมา๑ ไม่ใช่เพื่อประดับ๒ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง๓ แต่เพื่อกายนี้ดำรง
อยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตินทรีย์เป็นไป เพื่อบำบัดความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์
ด้วยคิดเห็นว่า ‘โดยอุบายนี้เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสียได้ และจักไม่ให้เวทนาใหม่
เกิดขึ้น ความดำรงอยู่แห่งชีวิต ความไม่มีโทษ และการอยู่โดยผาสุกจักมีแก่เรา’
พิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยเสนาสนะเพื่อป้องกันความหนาว ความร้อน
เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน เพื่อบรรเทาอันตรายที่เกิด
จากฤดู และยินดีในการหลีกเร้น พิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยคิลานปัจจัย-
เภสัชชบริขาร๔ เพื่อบรรเทาเวทนาที่เกิดจากอาพาธต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อไม่มี
ความเบียดเบียนเป็นที่สุด๕ ซึ่งเมื่อเธอไม่ใช้สอยอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ
ความคับแค้นก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอใชัสอยอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความ
คับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการใช้สอย
ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยความอดกลั้น เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วเป็นผู้อดทนต่อความหนาว
ความร้อน ความหิว กระหาย เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน

เชิงอรรถ :
๑ เพื่อความมัวเมา หมายถึงความถือตัว ความลำพองตน ความทะนงตน ความเห่อเหิม ในที่นี้หมายถึง
ความถือตัวว่ามีกำลังเหมือนนักมวยปล้ำ ความถือตัวเพราะมานะ และความถือตัวว่าเป็นชาย (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา
๓/๕๘/๑๕๕) และดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๘๔๕/๕๕๐
๒ เพื่อประดับ ในที่นี้หมายถึงเพื่อให้ร่างกายอ้วนพีอวบอิ่มเหมือนหญิงแพศยา (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา. ๓/๕๘/๑๕๕,
วิสุทธิ. ๑/๑๘/๓๓)
๓ เพื่อตกแต่ง ในที่นี้หมายถึงเพื่อประเทืองผิวให้งดงามเหมือนหญิงนักฟ้อน (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา. ๓/๕๘/๑๕๕,
วิสุทธิ. ๑/๑๘/๓๓)
๔ คำว่า คิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร แยกอธิบายความหมายดังนี้ ยาที่ชื่อว่า คิลานปัจจัย เพราะเป็นเครื่อง
ปราบโรค ที่ชื่อว่า เภสัช เพราะเป็นวัตถุที่หมออนุญาตให้ใช้ได้ และที่ชื่อว่า บริขาร เพราะเป็นสัมภาระ
เครื่องนำชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๘/๑๕๗, วิสุทฺธิ ๑/๑๘/๓๖)
๕ เพื่อไม่มีความเบียดเบียนเป็นที่สุด หมายถึงเพื่อไม่ให้มีความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๘/
๑๕๗, วิสุทธิ. ๑/๑๘/๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๔. อาสวสูตร
เป็นผู้อดกลั้นต่อคำหยาบ คำส่อเสียด ต่อเวทนาทั้งหลายอันมีในร่างกายเป็นทุกข์
กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ พรากชีวิตได้ ซึ่งเมื่อเธอไม่อดกลั้นอยู่
อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธออดกลั้นอยู่ อาสวะ
และความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยความอดกลั้น
ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการเว้น เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วเว้นช้างดุร้าย เว้นม้าดุร้าย
เว้นโคดุร้าย เว้นสุนัขดุร้าย เว้นงู หลัก ตอ สถานที่มีหนาม หลุม เหว บ่อน้ำครำ
บ่อโสโครก และพิจารณาโดยแยบคายแล้วเว้นสถานที่ไม่ควรนั่ง สถานที่ไม่ควร
เที่ยวไป และมิตรชั่ว ที่เพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายลงความเห็นว่าเป็นฐานะที่เป็น
บาปเสีย ซึ่งเมื่อเธอไม่เว้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นก็จะพึง
เกิดขึ้น เมื่อเธอเว้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นย่อมไม่มีแก่เธอ
ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการเว้น
ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการบรรเทา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วไม่รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ
บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป พิจารณาโดยแยบคายแล้ว
ไม่รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่รับวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่รับบาป
อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้น
ไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งเมื่อเธอไม่บรรเทาอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น
ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอบรรเทาอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นย่อม
ไม่มีแก่เธอ ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการบรรเทา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๔. อาสวสูตร
ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการเจริญ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วเจริญสติสัมโพชฌงค์ที่อาศัย
วิเวก๑ อาศัยวิราคะ (ความคลายกำหนัด) อาศัยนิโรธ (ความดับ) น้อมไปในการสละ
พิจารณาโดยแยบคายแล้วเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญวิริยสัมโพชฌงค์
ฯลฯ เจริญปีติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญสมาธิ-
สัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ
น้อมไปในการสละ ซึ่งเมื่อเธอไม่เจริญอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น
ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอเจริญอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นย่อมไม่มี
แก่เธอ ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการเจริญ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้ควรแก่ของที่เขา
นำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญ
อันยอดเยี่ยมของโลก
อาสวสูตรที่ ๔ จบ


เชิงอรรถ :
๑ วิเวก ในที่นี้หมายถึงวิเวก (ความสงัด) ๕ ประการ คือ (๑) วิกขัมภนวิเวก (สงัดด้วยการข่มไว้ คือการสงัด
จากกิเลสของท่านผู้บำเพ็ญฌาน ย่อมข่มนิวรณ์ไว้ได้ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น) (๒) ตทังควิเวก (สงัด
ด้วยองค์นั้น ๆ คือ สงัดจากกิเลสด้วยธรรมที่เป้นคู่ปรับหรือธรรมที่ตรงกันข้าม เช่น สงัดจากสักกายทิฏฐิ
ด้วยความรู้ที่กำหนดแยกนามรูปออกได้ เป็นการสงัดชั่วคราวในกรณีนั้น ๆ) (๓) สมุจเฉทวิเวก (สงัดด้วย
การตัดขาดคือสงัดจากกิเลสได้เด็ดขาดด้วยโลกุตตรมรรค ในขณะแห่งมรรคนั้น ๆ) (๔) ปัสสัทธิวิเวก (สงัด
ด้วยการสงบระงับ คืออาศัยโลกุตตรมรรค สงัดจากกิเลสได้เด็ดขาดบรรลุโลุกตตรผล กิเลสเป็นอันสงบ
ระงับไปหมดแล้วไม่ต้องขวนขวายเพื่อสงัดอีกในขณะแห่งผลนั้น ๆ) (๕) นิสสรณวิเวก (สงัดด้วยการสลัด
ออกได้ คือสงัดจากกิเลสได้หมดสิ้น ดำรงอยู่ในภาวะที่กิเลสสงัดแล้วยั่งยืนตลอดไป) ได้แก่ อมตธาตุคือ
นิพพาน (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๒/๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๕. ทารุกัมมิกสูตร
๕. ทารุกัมมิกสูตร
ว่าด้วยคหบดีชื่อทารุกัมมิกะ
[๕๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ คิญชกาวสถาราม ครั้งนั้น คหบดี
ชื่อว่าทารุกัมมิกะ๑ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามดังนี้ว่า
“คหบดี ทานประจำตระกูลท่านยังให้อยู่หรือ”
คหบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานประจำตระกูลข้าพระองค์ยัง
ให้อยู่ ทั้งทานนั้นข้าพระองค์ให้ในภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ หรือผู้บรรลุอรหัตตมรรค
ผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “คหบดี ท่านผู้เป็นคฤหัสถ์ เป็นกามโภคี
อยู่ครองเรือน นอนเบียดเสียดบุตร ใช้สอยผงแก่นจันทน์จากแคว้นกาสี ทัดทรง
ดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่ พึงรู้ข้อนี้ได้ยากว่า
‘เหล่านี้คือพระอรหันต์ เหล่านี้คือท่านผู้บรรลุอรหัตตมรรค’
คหบดี
๑. ถ้าภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล ปากกล้า
พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิต
กวัดแกว่ง ไม่สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียน
ด้วยเหตุนั้น ถ้าภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว
ไม่โลเล ไม่ปากกล้า ไม่พูดพร่ำเพรื่อ มีสติมั่นคง มีสัมปชัญญะ
มีจิตตั้งมั่น มีจิตแน่วแน่ สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้น
พึงได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ทารุกัมมิกะ หมายถึงอุบาสกผู้ประกอบอาชีพขายฟืน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๙/๑๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๕. ทารุกัมมิกสูตร
๒. ถ้าภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้าน เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้น
พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ถ้าภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้าน เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน
ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น
๓. ถ้าภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็น
อย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ถ้าภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต
เป็นวัตร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับ
การสรรเสริญด้วยเหตุนั้น
๔. ถ้าภิกษุผู้รับนิมนต์ เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้น
พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ถ้าภิกษุรับนิมนต์ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ
เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น
๕. ถ้าภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็น
อย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ถ้าภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุล
เป็นวัตร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับ
การสรรเสริญด้วยเหตุนั้น
๖. ถ้าภิกษุผู้ทรงคหบดีจีวร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล ปากกล้า
พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิต
กวัดแกว่ง ไม่สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียน
ด้วยเหตุนั้น ถ้าแม้ภิกษุผู้ทรงคหบดีจีวร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว
ไม่โลเล ไม่ปากกล้า ไม่พูดพร่ำเพรื่อ มีสติมั่นคง มีสัมปชัญญะ
มีจิตตั้งมั่น มีจิตแน่วแน่ สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้น
พึงได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น
คหบดี เชิญท่านถวายสังฆทานเถิด เมื่อท่านถวายสังฆทานอยู่ จิตจักเลื่อมใส
หลังจากตายแล้วท่านจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”
คหบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักถวายสังฆทานตั้งแต่
วันนี้เป็นต้นไป”
ทารุกัมมิกสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๖. หัตถิสารีปุตตสูตร
๖. หัตถิสารีปุตตสูตร
ว่าด้วยท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตร
[๖๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุง
พาราณสี สมัยนั้นแล ภิกษุเถระจำนวนมากกลับจากบิณฑบาตภายหลังฉันอาหาร
เสร็จแล้ว นั่งประชุมสนทนาอภิธัมมกถาอยู่ในโรงฉัน๑ทราบว่า ในที่ประชุมนั้น
เมื่อภิกษุผู้เป็นเถระกำลังสนทนาอภิธัมมกถากันอยู่ ท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตรก็พูด
สอดขึ้นในระหว่าง
ลำดับนั้น ท่านพระมหาโกฏฐิกะได้กล่าวกับท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตรว่า
“เมื่อภิกษุผู้เป็นเถระกำลังสนทนาอภิธัมมกถากันอยู่ ท่านจิตตหัตถิสารีบุตรพูดสอด
ขึ้นในระหว่าง ขอให้ท่านจิตตหัตถิสารีบุตรรอคอยจนกว่าภิกษุผู้เป็นเถระจะสนทนา
กันจบ”
เมื่อท่านพระมหาโกฏฐิกะกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกภิกษุผู้เป็นสหายของท่าน
พระจิตตหัตถิสารีบุตรได้กล่าวกับท่านมหาโกฏฐิกะว่า “แม้ท่านพระมหาโกฏฐิกะก็
อย่ารุกรานท่านจิตตหัตถิสารีบุตร เพราะท่านจิตตหัตถิสาริบุตรเป็นบัณฑิต และ
ท่านสามารถกล่าวอภิธัมมกถากับภิกษุผู้เป็นเถระได้”
ท่านพระมหาโกฏฐิกะได้กล่าวว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่ทราบวาระจิต
ของผู้อื่นพึงรู้ข้อนี้ได้ยาก คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้สงบเสงี่ยม อ่อนน้อม เรียบร้อย ตลอด
เวลาที่ยังอาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจารีผู้ดำรงอยู่ในฐานะ
เป็นครูรูปใดรูปหนึ่งอยู่ แต่เมื่อใด เขาหลีกไปจากพระศาสดา
หลีกไปจากเพื่อนพรหมจารีซึ่งดำรงอยู่ในฐานะเป็นครู เมื่อนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ฉักกนิบาต ข้อ ๒๘ (ทุติยสมยสูตร) หน้า ๔๖๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๖. หัตถิสารีปุตตสูตร
เขาคลุกคลี๑อยู่กับเหล่าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา
มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ และสาวกของเดียรถีย์ เมื่อ
เขาคลุกคลีอยู่ ปล่อยจิต ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบโอ้อวด ราคะจึง
รบกวนจิตเขา เขาถูกราคะรบกวนจิตแล้ว ย่อมบอกคืนสิกขากลับ
มาเป็นคฤหัสถ์ ผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือนโคที่เคยกินข้าวกล้า
ถูกเขาผูกไว้ด้วยเชือกหรือขังไว้ในคอก ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘บัดนี้ โคตัวที่เคยกินข้าวกล้านี้จักไม่ลงกินข้าวกล้าอีก’ ผู้นั้นชื่อว่า
กล่าวถูกต้องหรือ ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น แต่เป็นไปได้
ที่โคที่เคยกินข้าวกล้าตัวนั้นพึงดึงเชือกขาดหรือแหกคอกแล้วลงไป
กินข้าวกล้าอีก ฉันใด ผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้สงบเสงี่ยม อ่อนน้อม เรียบร้อย ตลอด
เวลาที่ยังอาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจารีผู้ดำรงอยู่ในฐานะ
เป็นครูรูปใดรูปหนึ่งอยู่ แต่เมื่อใด เขาหลีกไปจากพระศาสดา
หลีกไปจากเพื่อนพรหมจารีซึ่งดำรงอยู่ในฐานะเป็นครู เมื่อนั้น
เขาคลุกคลีอยู่กับเหล่าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา
มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ และสาวกของเดียรถีย์ เมื่อ
เขาคลุกคลีอยู่ ปล่อยจิต ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบโอ้อวด ราคะจึง
รบกวนจิตเขา เขาถูกราคะรบกวนจิตแล้ว ย่อมบอกคืนสิกขากลับ
มาเป็นคฤหัสถ์
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุ
ปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เขา
กล่าวว่า ‘เราได้ปฐมฌาน’ แต่ยังคลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ฯลฯ
ย่อมบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ ผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบ
เหมือนฝนลูกเห็บ ตกที่ทางใหญ่สี่แพร่ง พึงทำฝุ่นให้หายไป

เชิงอรรถ :
๑ คลุกคลี ในที่นี้หมายถึงคลุกคลี ๕ อย่าง คือ (๑) คลุกคลีด้วยการฟัง (๒) คลุกคลีด้วยการพบเห็น
(๓) คลุกคลีด้วยการสนทนาปราศรัย (๔) คลุกคลีด้วยการใช้สอยรวมกัน (๕) คลุกคลีทางกาย (องฺ.ฉกฺก.
อ. ๓/๖๐/๑๔๔, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๖๐/๑๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๖. หัตถิสารีปุตตสูตร
ปรากฏเป็นทางลื่น ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ ฝุ่นจักไม่ปรากฏที่
ทางใหญ่สี่แพร่งโน้นอีก’ ผู้นั้นชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรือ ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น แต่เป็นไปได้ที่มนุษย์ โค หรือสัตว์เลี้ยง
พึงเหยียบน้ำที่ทางใหญ่สี่แพร่งโน้น หรือลมและแดดพึงแผดเผา
ให้แห้ง เมื่อเป็นเช่นนั้นฝุ่นก็พึงปรากฏอีกได้ ฉันใด ผู้มีอายุทั้งหลาย
บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สงัดจากกามและ
อกุสลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานที่มีวิตกวิจาร มีปีติและสุข
อันเกิดจากวิเวกอยู่ เขากล่าวว่า ‘เราได้ปฐมฌาน’ แต่ยังคลุกคลีอยู่
กับพวกภิกษุ ฯลฯ ย่อมบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน
มีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มี
วิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เขากล่าวว่า ‘เราได้
ทุติยฌาน’ แต่ยังคลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ฯลฯ ย่อมบอกคืน
สิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ ผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือนฝนลูก
เห็บตกลงที่บึงใหญ่ไม่ไกลบ้านหรือนิคม พึงยังหอยโข่ง หอยกาบ
ก้อนกรวด และกระเบื้องถ้วยให้หมดไป ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘บัดนี้ หอยโข่ง หอยกาบ ก้อนกรวด และกระเบื้องถ้วย จักไม่
ปรากฏในบึงโน้นอีก’ ผู้นั้นชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรือ ผู้มีอายุทั้งหลาย
ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น แต่เป็นไปได้ที่มนุษย์ โค และสัตว์เลี้ยงพึง
ดื่มน้ำในบึงโน้น หรือลมแดดพึงแผดเผาให้แห้งไป เมื่อเป็นเช่นนั้น
หอยโข่ง หอยกาบ ก้อนกรวด และกระเบื้องถ้วยก็พึงปรากฏได้อีก
ฉันใด ผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสใน
ภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติ
และสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เขากล่าวว่า ‘เราได้ทุติยฌาน’ แต่ยัง
คลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ฯลฯ ย่อมบอกคืนสิกขากลับมาเป็น
คฤหัสถ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๖. หัตถิสารีปุตตสูตร
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติ-
สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะ
ทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เขากล่าวว่า
‘เราได้ตติยฌาน’ แต่ยังคลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ฯลฯ ย่อมบอก
คืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ ผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือน
อาหารที่ค้างคืน ไม่พึงยังบุรุษผู้ชอบบริโภคอาหารที่ประณีตให้ยินดีได้
ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ บุรุษโน้นจักไม่ชอบใจอาหารอีกแน่
‘ผู้นั้นชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรือ ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น
แต่เป็นไปได้ที่อาหารอื่นจักไม่ยังบุรุษโน้นผู้ชอบบริโภคอาหารที่ประณีต
ให้ยินดีได้ตลอดเวลาที่รสอาหารนั้นจักดำรงอยู่ในร่างกายของเขา
แต่เมื่อใด รสอาหารนั้นจักหมดไป เมื่อนั้น อาหารนั้นก็พึงยังเขาให้
ยินดีอีกได้ ฉันใด ผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญ
ว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เขากล่าวว่า ‘เราได้ตติยฌาน’
แต่คลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ฯลฯ ย่อมบอกคืนสิกขากลับมาเป็น
คฤหัสถ์
๕. บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและ
โทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติ
บริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เขากล่าวว่า ‘เราได้จตุตถฌาน’ แต่ยัง
คลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ฯลฯ ย่อมบอกคืนสิกขากลับมาเป็น
คฤหัสถ์ ผู้มีอายุ เปรียบเหมือนห้วงน้ำใกล้ภูเขาไม่มีลม ปราศจาก
คลื่น ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ คลื่นจักไม่ปรากฏที่ห้วงน้ำ
โน้นอีก’ ผู้นั้นชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรือ ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้ไม่เป็น
เช่นนั้น แต่เป็นไปได้ที่ลมฝนอันแรงกล้าพึงพัดมาจากทิศตะวันออก
ทำให้เกิดคลื่นที่ห้วงน้ำนั้น ลมฝนที่พัดมาจากทิศตะวันตก ฯลฯ
ทิศเหนือ ฯลฯ ทิศใต้ ก็พึงทำให้เกิดคลื่นที่ห้วงน้ำนั้นได้ ฉันใด
ผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๖. หัตถิสารีปุตตสูตร
ละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุ
จตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เขา
กล่าวว่า ‘เราได้จตุตถฌาน’ แต่ยังคลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ย่อม
บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์
๖. บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง จึงบรรลุ
เจโตสมาธิที่ไม่มีนิมิตอยู่ เขากล่าวว่า ‘เราได้เจโตสมาธิที่ไม่มีนิมิต’
แต่ยังคลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา
มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ เมื่อ
เขาคลุกคลีอยู่ ปล่อยจิต ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบพูดคุย ราคะจึง
รบกวนจิตเขา เขาถูกราคะรบกวนจิตแล้วย่อมบอกคืนสิกขากลับ
มาเป็นคฤหัสถ์ ผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพระราชา หรือ
มหาอำมาตย์ของพระราชา ยกกองทัพ ๔ เหล่า เดินทางไกลไป
พักแรมอยู่ที่แนวป่าแห่งหนึ่ง ในแนวป่านั้น เสียงจักจั่นเรไรพึงเงียบ
ไปเพราะเสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงพลเดินเท้า เสียงกึกก้อง
แห่งกลอง บัณเฑาะว์ สังข์ และพิณ ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้
เสียงจักจั่นเรไรจักไม่ปรากฏที่แนวป่าโน้นอีก’ ผู้นั้นชื่อว่ากล่าวถูกต้อง
หรือผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น แต่เป็นไปได้ที่ เมื่อใด
พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เสด็จหลีกไปจากแนวป่านั้น
เมื่อนั้น เสียงจักจั่นเรไร ก็พึงปรากฏได้อีก ฉันใด ผู้มีอายุทั้งหลาย
บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะไม่มนสิการ
ถึงนิมิตทั้งปวง บรรลุเจโตสมาธิอยู่ เขากล่าวว่า ‘เราได้เจโตสมาธิ
อันไม่มีนิมิต’ แต่ยังคลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก
อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์
สาวกของเดียรถีย์ เมื่อเขาคลุกคลีอยู่ ปล่อยจิต ไม่สำรวมอินทรีย์
ชอบพูดคุย ราคะจึงรบกวนจิตเขา เขาถูกราคะรบกวนจิตแล้ว
ย่อมบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์”
ต่อมา ท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตร บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ พวกภิกษุ
ผู้เป็นสหายของจิตตหัตถิสารีบุตรได้เข้าไปหาท่านพระมหาโกฏฐิกะถึงที่อยู่แล้วถามว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๖. หัตถิสารีปุตตสูตร
“ท่านพระมหาโกฏฐิกะกำหนดรู้ใจบุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรด้วยใจว่า ‘บุรุษชื่อจิตต-
หัตถิสารีบุตรเป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ ๆ และจักบอกคืนสิกขากลับมาเป็น
คฤหัสถ์’ หรือเทวดาทั้งหลายแจ้งเนื้อความนี้ว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บุรุษชื่อว่า
จิตตหัตถิสารีบุตร เป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ ๆ และจักบอกคืนสิกขากลับมาเป็น
คฤหัสถ์”
ท่านพระมหาโกฏฐิกะกล่าวว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้กำหนดรู้ใจบุรุษ
ชื่อว่าจิตตหัตถิสารีบุตรด้วยใจว่า ‘เป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ ๆ และจักบอกคืน
สิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์’ แม้เทวดาก็บอกเนื้อความนี้แก่ข้าพเจ้า”
ลำดับนั้น พวกภิกษุผู้เป็นสหายของบุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรได้พากันเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรเป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ ๆ
และได้บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่นานนัก บุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตร
จักระลึกถึงคุณแห่งเนกขัมมะได้”
ต่อมา ไม่นานนัก จิตตหัตถิสารีบุตรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อจิตตหัตถิสารีบุตรได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว
ไม่นาน หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท๑ มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนัก
ได้ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม๒อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่กุลบุตรทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ประมาท ในที่นี้หมายถึงไม่ละสติในกัมมัฏฐาน (ม.ม.อ. ๒/๘๒/๘๐)
๒ ประโยชน์ยอดเยี่ยม ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล หรืออริยผลอันเป็นที่สุดแห่งมรรคพรหมจรรย์ (องฺ.ทุก.อ.
๒/๕/๗, ม.มู.อ. ๒/๘๒/๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๗. มัชเฌสูตร
ผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
ท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตร ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์
ทั้งหลาย
หัตถิสารีปุตตสูตรที่ ๖ จบ
๗. มัชเฌสูตร
ว่าด้วยส่วนท่ามกลาง
[๖๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุง
พาราณสี สมัยนั้นแล เมื่อภิกษุเถระจำนวนมากกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉัน
อาหารเสร็จแล้ว นั่งประชุมกันที่โรงฉัน ได้สนทนากันขึ้นในระหว่างว่า ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในติสสเมตเตยยปัญหานิทเทส๑ปารายนวรรคว่า
ผู้ใดรู้ชัดซึ่งส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา๒
เราเรียกผู้นั้นว่า เป็นมหาบุรุษ
ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัด๓ในโลกนี้ได้
เมื่อภิกษุทั้งหลายถามกันอย่างนี้ว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ส่วนสุดด้านหนึ่ง คือ
อะไร ส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง คืออะไร ท่ามกลาง คืออะไร เครื่องร้อยรัด คืออะไร”

เชิงอรรถ :
๑ ดู ขุ.สุ. ๒๕/๑๐๔๗/๕๓๒,๑๐๔๙/๕๓๓, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๙/๗๓,๑๑/๗๙
๒ มันตา หมายถึงปัญญา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ความไม่หลงงมงาย (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๑/๑๔๕) และดู
ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๙/๗๓,๑๑/๗๙ ประกอบ
๓ เครื่องร้อยรัด ในที่นี้หมายถึงตัณหา (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๑/๑๔๕) และดู ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑/๘๒ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๗. มัชเฌสูตร
ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ผัสสะ๑เป็น
ส่วนสุดด้านหนึ่ง เหตุเกิดผัสสะ๒เป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง ความดับผัสสะ๓อยู่ท่ามกลาง
ตัณหาจัดเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะตัณหาย่อมร้อยรัดผัสสะและเหตุเกิดผัสสะนั้นไว้
เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้น ๆ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุชื่อว่ารู้ยิ่งในธรรมที่ควร
รู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควร
กำหนดรู้ ย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน”
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุเถระทั้งหลายว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย อดีตเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อนาคตเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง
ปัจจุบันอยู่ท่ามกลาง ตัณหาจัดเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะตัณหาย่อมร้อยรัดอดีต
อนาคต และปัจจุบันนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้น ๆ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
ภิกษุชื่อว่ารู้ยิ่งในธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควร
รู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน”
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุเถระทั้งหลายว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย สุขเวทนาเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ทุกขเวทนาเป็นส่วนสุดอีก
ด้านหนึ่ง อทุกขมสุขเวทนาอยู่ท่ามกลาง ตัณหาจัดเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะตัณหา
ย่อมร้อยรัดสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนานั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้น
แห่งภพนั้น ๆ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุชื่อว่ารู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่
ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมทำที่สุด
แห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน”

เชิงอรรถ :
๑ ผัสสะ หมายถึงอัตภาพนี้ (อัตภาพปัจจุบัน) เพราะเกิดขึ้นด้วยอำนาจผัสสะ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๑/๑๔๕)
๒ เหตุเกิดผัสสะ หมายถึงอัตภาพในอนาคตที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยคือกรรมที่เคยทำไว้ในอัตภาพปัจจุบัน
(องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๑/๑๔๕)
๓ ความดับผัสสะ หมายถึงนิพพาน ที่ชื่อว่าอยู่ท่ามกลางระหว่างอัตภาพปัจจุบันกับอัตภาพอนาคต เพราะ
เป็นธรรมที่ตัดตัณหาอันเป็นเครื่องร้อยรัดอัตภาพทั้งสองนั้นได้ และเป็นธรรมที่แยกอัตภาพทั้งสองนั้นให้
อยู่คนละส่วนกัน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๑/๑๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๗. มัชเฌสูตร
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุเถระทั้งหลายว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย นามเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง รูปเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง วิญญาณ๑
อยู่ท่ามกลาง ตัณหาจัดเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะตัณหาย่อมร้อยรัดนาม รูป และ
วิญญาณนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้น ๆ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุชื่อว่ารู้ยิ่ง
ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้
ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน”
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุเถระทั้งหลายว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย อายตนะภายใน ๖ เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อายตนะภายนอก ๖
เป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง วิญญาณอยู่ท่ามกลาง ตัณหาจัดเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะ
ตัณหาย่อมร้อยรัดอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ และวิญญาณนั้นไว้
เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้น ๆ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุชื่อว่ารู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง
กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้
ย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน”
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุเถระทั้งหลายว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย สักกายะ๒เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง เหตุเกิดสักกายะเป็นส่วนสุดอีก
ด้านหนึ่ง ความดับสักกายะอยู่ท่ามกลาง ตัณหาจัดเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะตัณหา
ย่อมร้อยรัดสักกายะ เหตุเกิดสักกายะ และความดับสักกายะนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิด
ขึ้นแห่งภพนั้น ๆ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุชื่อว่ารู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรม
ที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมทำที่สุด
แห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน”

เชิงอรรถ :
๑ วิญญาณ ในที่นี้หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณ ที่ชื่อว่าอยู่ท่ามกลางระหว่างนามกับรูปนั้น เพราะวิญญาณเป็น
ตัวก่อปัจจัยให้เกิดรูปกับนาม (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๑/๑๔๗)
๒ สักกายะ ในที่นี้หมายถึงวัฏฏะ ๓ คือ กิเลส กรรม วิบาก ที่เกี่ยวข้องในกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ หรือ
หมายถึงอุปาทานขันธ์ (ดูรายละเอียดในเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๔ หน้า ๔๓๓)
เหตุเกิดสักกายะ หมายถึงสมุทัยสัจ ได้แก่ ตัณหา
ความดับสักกายะ หมายถึงนิโรธสัจ ได้แก่ นิพพาน (ที.ปา.อ. ๓๐๕/๑๘๖, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๑/๑๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๗. มัชเฌสูตร
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุเถระทั้งหลายว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกเราเที่ยวพยากรณ์ตามปฏิภาณของตน มาเถิด พวกเรา
จักพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลเนื้อความนี้ให้ทรงทราบ พระผู้มี
พระภาคจักทรงพยากรณ์แก่พวกเรา พวกเราก็จักทรงจำไว้ตามที่พระผู้มีพระภาค
ทรงพยากรณ์นั้น
ภิกษุเถระทั้งหลายรับคำของภิกษุนั้นแล้ว ลำดับนั้น ภิกษุเถระทั้งหลายได้
พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลคำสนทนาทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
คำของใครหนอกล่าวได้ไพเราะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหมดกล่าวดีแล้วตามเหตุนั้น ๆ
แต่ข้อความที่เรามุ่งกล่าวไว้ในติสสเมตเตยยปัญหานิทเทส ปารายนวรรคว่า
ผู้ใดรู้ชัดซึ่งส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
เราเรียกผู้นั้นว่า เป็นมหาบุรุษ
ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้
เธอทั้งหลาย จงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ผัสสะเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง เหตุเกิดผัสสะเป็นส่วนสุดอีก
ด้านหนึ่ง ความดับผัสสะอยู่ท่ามกลาง ตัณหาจัดเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะตัณหา
ย่อมร้อยรัดผัสสะ และเหตุเกิดผัสสะนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้น ๆ ด้วยเหตุ
เพียงเท่านี้ ภิกษุชื่อว่ารู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่ง
ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน”
มัชเฌสูตรที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๘. ปุริสินทริยญาณสูตร
๘. ปุริสินทริยญาณสูตร
ว่าด้วยญาณเป็นเครื่องรู้อินทรีย์ของบุคคล
[๖๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมของแคว้นโกศลชื่อทัณฑกัปปกะ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้
ทรงแวะลงจากหนทาง ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง
และภิกษุเหล่านั้นได้พากันเข้าไปสู่นิคมชื่อทัณฑกัปปกะ เพื่อแสวงหาที่พัก
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์พร้อมด้วยภิกษุจำนวนมาก ได้ไปยังแม่น้ำอจิรวดี
เพื่อสรงน้ำ ครั้นสรงน้ำเสร็จแล้ว ได้ขึ้นมานุ่งผ้าผืนเดียวยืนผึ่งตัวอยู่ ลำดับนั้น
ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์แล้วถามว่า “ท่านอานนท์ พระผู้มีพระภาค
ทรงกำหนดรู้เหตุทั้งหมดด้วยพระทัยแล้วหรือ จึงทรงพยากรณ์พระเทวทัตว่า ‘เทวทัต
จะต้องเกิดในอบาย ตกนรก ดำรงอยู่ตลอดกัป แก้ไขไม่ได้’ หรือว่าพระผู้มีพระภาค
ทรงกำหนดรู้เหตุบางอย่างเท่านั้น จึงได้ทรงพยากรณ์พระเทวทัตเช่นนี้”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ผู้มีอายุ ข้อนี้พระผู้มีพระภาคได้พยากรณ์ไว้
อย่างนี้แล”
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์พร้อมด้วยภิกษุจำนวนมากได้ไปยังแม่น้ำอจิรวดี
เพื่อสรงน้ำ ครั้นสรงน้ำเสร็จแล้ว ได้ขึ้นมานุ่งผ้าผืนเดียวยืนผึ่งตัวอยู่ ลำดับนั้น
ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้ามาหาข้าพระองค์แล้วถามว่า ท่านอานนท์ พระผู้มีพระภาคทรง
กำหนดรู้เหตุทั้งหมดด้วยพระทัยแล้วหรือ จึงทรงพยากรณ์พระเทวทัตว่า ‘เทวทัตจะ
ต้องเกิดในอบาย ตกนรก ดำรงอยู่ตลอดกัป แก้ไขไม่ได้ หรือว่าพระผู้มีพระภาค
ทรงกำหนดรู้เหตุบางอย่างเท่านั้น จึงได้ทรงพยากรณ์พระเทวทัตเช่นนี้’ เมื่อภิกษุนั้น
กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับภิกษุรูปนั้นว่า ‘ผู้มีอายุ ข้อนี้พระผู้มี
พระภาคได้ทรงพยากรณ์ไว้อย่างนี้แล”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๘. ปุริสินทริยญาณสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ภิกษุรูปนั้นคงเป็นภิกษุใหม่ บวชได้ไม่นาน
หรือว่าเป็นภิกษุเถระ แต่โง่เขลา ไม่เฉียบแหลม เพราะข้อที่เราพยากรณ์ว่าเป็นหนึ่ง
จักเป็นสองได้อย่างไร อานนท์ เราไม่เห็นบุคคลอื่นแม้คนหนึ่ง ซึ่งเรากำหนดรู้เหตุ
ทั้งหมดด้วยใจแล้ว จึงพยากรณ์อย่างนี้เหมือนเทวทัตเลย ตราบใดเราเห็นธรรมฝ่าย
ขาวของเทวทัตแม้เท่ารอยเจาะแห่งปลายขนทราย ตราบนั้นเราก็ไม่พยากรณ์เทวทัตว่า
‘เทวทัตจะต้องเกิดในอบาย ตกนรก ดำรงอยู่ตลอดกัป แก้ไขไม่ได้’ แต่เมื่อเราไม่เห็น
ธรรมฝ่ายขาวของเทวทัตแม้เท่ารอยเจาะแห่งปลายขนทราย เมื่อนั้นเราจึงพยากรณ์
เทวทัตนั้นว่า ‘เทวทัตจะต้องเกิดในอบาย ตกนรก ดำรงอยู่ตลอดกัป แก้ไขไม่ได้’
อานนท์ เปรียบเหมือนหลุมคูถ ลึกชั่วคน เต็มด้วยคูถเสมอขอบปากหลุม
บุรุษพึงตกลงไปที่หลุมคูถนั้นจมมิดศีรษะ บุรุษบางคนหวังประโยชน์ หวังเกื้อกูล
หวังความปลอดภัย ใคร่จะยกเขาขึ้นจากหลุมคูถนั้น จึงเข้ามาหา เขาเดินรอบหลุม
คูถนั้นอยู่ ก็ไม่เห็นอวัยวะที่ไม่เปื้อนคูถ แม้เท่ารอยเจาะแห่งปลายขนทรายซึ่งพอจะ
จับยกขึ้นมาได้ ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อใดไม่ได้เห็นธรรมฝ่ายขาวของ
เทวทัตแม้เท่ารอยเจาะแห่งปลายขนทรายเลย เมื่อนั้น เราจึงพยากรณ์เทวทัตว่า
‘เทวทัตจะต้องเกิดในอบาย ตกนรก ดำรงอยู่ตลอดกัป แก้ไขไม่ได้’ ถ้าเธอทั้งหลาย
พึงฟังตถาคต เราจักจำแนกญาณเป็นเครื่องรู้อินทรีย์ของบุคคล”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาลที่สมควร
ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลที่สมควรที่พระผู้มีพระภาคจะทรงจำแนกญาณเป็นเครื่อง
รู้อินทรีย์ของบุคคล ภิกษุทั้งหลายได้สดับจากพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
อานนท์
๑. เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลบางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรม
ก็ดี อกุศลธรรมก็ดี ของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัยต่อมา เรากำหนดใจ
ด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมของบุคคลนี้แลหายไป
อกุศลธรรมเกิดขึ้นมาแทน แต่กุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ เพราะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๘. ปุริสินทริยญาณสูตร
กุศลมูลนั้น กุศลธรรมของเขาจักปรากฏ บุคคลนี้จักเป็นผู้ไม่เสื่อม
ต่อไปเป็นธรรมดาด้วยประการฉะนี้’ เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่ไม่หัก
ไม่เน่า ไม่ถูกลมแดดแผดเผา ที่คัดพันธุ์ไว้๑ เก็บไว้อย่างดี ซึ่งบุคคล
ปลูกไว้ในที่ดินอันพรวนดีแล้วในนาดี เธอทราบไหมว่า ‘เมล็ดพืช
เหล่านี้จักเจริญงอกงามไพบูลย์”
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เช่นเดียวกัน เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคล
บางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แล มีอยู่’
สมัยต่อมา เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมของบุคคลนี้แล
หายไป อกุศลธรรมเกิดขึ้นมาแทน แต่กุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ เพราะ
กุศลมูลนั้น กุศลธรรมของเขาจักปรากฏ บุคคลนี้จักเป็นผู้ไม่เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา
ด้วยประการฉะนี้’ ตถาคตกำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึง
รู้ญาณเป็นเครื่องรู้อินทรีย์ของบุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ธรรมที่อาศัยกัน
เกิดขึ้นต่อไป อย่างนี้แล
๒. เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลบางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรม
ก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัยต่อมา เรากำหนดใจ
ด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘อกุศลธรรมของบุคคลนี้แลหายไป
กุศลธรรมเกิดขึ้นมาแทน แต่อกุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ เพราะ
อกุศลมูลนั้น อกุศลมูลของเขาจักปรากฏ บุคคลนี้จักเป็นผู้ไม่เสื่อม***
ต่อไปเป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้’ เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่
ไม่หัก ไม่เน่า ไม่ถูกลมและแดดแผดเผา ที่คัดพันธุ์ไว้ เก็บไว้อย่างดี
ซึ่งบุคคลปลูกไว้บนศิลาแท่งทึบ เธอทราบไหมว่า ‘เมล็ดพืชเหล่านี้
จักไม่เจริญงอกงามไพบูลย์”

เชิงอรรถ :

๑ คัดพันธุ์ไว้ หมายถึงพืชที่เขาเก็บเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ไว้ อีกนัยหนึ่ง หมายถึงพืชที่เกิดในเดือนสารทะ
คือ ฤดูใบไม้ร่วง (สาราทานีติ สรทมาเส วา นิพฺพตฺตานิ) (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๒/๑๔๘, องฺ.ฉกฺก. ฏีกา
๓/๖๒/๑๖๕-๑๖๖)

*** ตรวจสอบกับฉบับจริงที่เป็นเล่มหนังสือแล้ว ข้อความส่วนนี้ในเว็บธัมมโชติตรงกับฉบับมหาจุฬาฯ (ปกสีฟ้า) ที่เป็นหนังสือทุกตัวอักษร

แต่ในฉบับมหามกุฏฯ (ปกสีน้ำตาล) เป็น "จักเป็นผู้เสื่อม" ซึ่งต่างจากฉบับของมหาจุฬาฯ ที่เป็น "จักเป็นผู้ไม่เสื่อม"

ถ้าจะวิเคราะห์ว่าข้อความในฉบับไหนน่าจะเหมาะสมกว่ากัน ถ้าดูในส่วนเปรียบเทียบตอนท้ายที่ว่า "เมล็ดพืชเหล่านี้ จักไม่เจริญงอกงามไพบูลย์" ก็จะเห็นว่าความหมายตรงกับ "จักเป็นผู้เสื่อม" ในฉบับมหามกุฏฯ

และถ้าดูในตอนท้ายของข้อเดียวกันในหน้าถัดไปของฉบับมหาจุฬาฯ เอง ที่ว่า "แต่อกุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ เพราะอกุศลมูลนั้น อกุศลธรรมของเขาจักปรากฏ บุคคลนี้จักเป็นผู้เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา" ก็จะเห็นชัดเจนว่าข้อความที่ถูกต้องควรเป็น "จักเป็นผู้เสื่อม" ตามฉบับของมหามกุฎฯ - หมายเหตุโดยธัมมโชติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๘. ปุริสินทริยญาณสูตร
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เช่นเดียวกัน เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคล
บางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่” สมัย
ต่อมา เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘อกุศลธรรมของบุคคลนี้แลหาย
ไปแล้ว กุศลธรรมเกิดขึ้นมาแทน แต่อกุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ เพราะ
อกุศลมูลนั้น อกุศลธรรมของเขาจักปรากฏ บุคคลนี้จักเป็นผู้เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา
ด้วยประการอย่างนี้’ ตถาคตกำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจ
จึงรู้ญาณเป็นเครื่องรู้อินทรีย์ของบุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ธรรมที่อาศัย
กันเกิดขึ้นต่อไปอย่างนี้แล
๓. เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลบางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรม
ก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัยต่อมา เรากำหนดใจ
ด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘ธรรมขาวแม้เท่ารอยเจาะแห่งปลาย
ขนทรายของบุคคลนี้ก็ไม่มี บุคคลนี้ประกอบด้วยอกุศลธรรมฝ่ายดำ
อย่างเดียว หลังจากตายแล้ว จักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’
เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่หัก เน่า ถูกลมและแดดแผดเผา ซึ่งบุคคล
ปลูกไว้ในดินซึ่งพรวนดีแล้วในนาดี เธอทราบไหมว่า ‘เมล็ดพืช
เหล่านี้จักไม่เจริญงอกงามไพบูลย์”
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เช่นเดียวกัน เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคล
บางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัย
ต่อมา เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘ธรรมขาวแม้เท่ารอยเจาะแห่ง
ปลายขนทรายของบุคคลนี้ก็ไม่มี บุคคลนี้ประกอบด้วยอกุศลธรรมฝ่ายดำอย่างเดียว
หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’ ตถาคตกำหนดใจด้วยใจจึง
รู้บุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ญาณเป็นเครื่องรู้อินทรีย์ของบุคคลอย่างนี้แล
กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นต่อไปอย่างนี้แล”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์สามารถที่จะบัญญัติบุคคลอีก ๓ จำพวกที่มีส่วน
เหมือนกับบุคคล ๓ จำพวกนี้หรือหนอ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๘. ปุริสินทริยญาณสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ เราสามารถ
๔. เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลบางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรม
ก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัยต่อมา เรากำหนดใจ
ด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมของบุคคลนี้หายไปแล้ว
อกุศลธรรมเกิดขึ้นมาแทน กุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ แม้กุศล-
มูลนั้นก็ถึงความถอนขึ้นทั้งหมด บุคคลนี้จักเป็นผู้เสื่อมต่อไปเป็น
ธรรมดา ด้วยประการฉะนี้’ เปรียบเหมือนถ่านไฟที่ลุกโพลงรุ่งโรจน์
โชติช่วง ซึ่งบุคคลวางไว้บนศิลาก้อนใหญ่ เธอทราบไหมว่า ‘ถ่านไฟ
เหล่านี้จักไม่ลุกลาม ขยายกว้างออกไป”
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เปรียบเหมือนเมื่อพระอาทิตย์ตกไปในเวลา
เย็น เธอทราบไหมว่า ‘ความสว่างหายไป ความมืดปรากฏขึ้น”
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนในเวลารับ
ประทานอาหารในเวลาเที่ยงคืน เธอทราบไหมว่า ‘ความสว่างหายไป ความมืด
ปรากฏขึ้น”
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เช่นเดียวกัน เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคล
บางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัย
ต่อมา เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมของบุคคลนี้หายไปแล้ว
อกุศลธรรมปรากฏขึ้น แต่กุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ แม้กุศลมูลนั้นก็ถึงความ
ถอนขึ้นทั้งหมด บุคคลคนนี้จักเป็นผู้เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้’
ตถาคตกำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ญาณเป็นเครื่องรู้
อินทรีย์ของบุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นต่อไป
อย่างนี้แล
๕. เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลบางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรม
ก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัยต่อมา เรากำหนดใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๘. ปุริสินทริยญาณสูตร
ด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘อกุศลธรรมของบุคคลนี้หายไปแล้ว
กุศลธรรมปรากฏขึ้น แต่อกุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ แม้
อกุศลมูลนั้นก็ถึงความถอนขึ้นทั้งหมด บุคคลนี้ก็จักเป็นผู้ไม่เสื่อม
ต่อไปเป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้’ เปรียบเหมือนถ่านไฟที่
ลุกโพลง รุ่งโรจน์ โชติช่วง ซึ่งบุคคลวางไว้บนกองหญ้าแห้ง หรือบน
กองไม้แห้ง เธอทราบไหมว่า ‘ถ่านไฟเหล่านี้จักลุกลามขยายกว้าง
ออกไป”
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เปรียบเหมือนเมื่อพระอาทิตย์กำลังขึ้นมาใน
เวลารุ่งอรุณ เธอทราบไหมว่า ‘ความมืดหายไป ความสว่างปรากฏขึ้น”
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนในเวลารับ
ประทานอาหารในเวลาเที่ยงวัน เธอทราบไหมว่า ‘ความมืดหายไป ความสว่าง
ปรากฏขึ้น”
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เช่นเดียวกัน เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคล
บางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัย
ต่อมา เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘อกุศลธรรมของบุคคลนี้หาย
ไปแล้ว กุศลธรรมปรากฏขึ้น แต่อกุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ แม้อกุศลมูลนั้น
ก็ถึงความถอนขึ้นทั้งหมด บุคคลนี้จักเป็นผู้ไม่เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา ด้วยประการ
อย่างนี้’ ตถาคตกำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ญาณ
เป็นเครื่องรู้อินทรีย์ของบุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น
ต่อไปอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๘. ปุริสินทริยญาณสูตร
๖. เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลบางคนในโลกนี้แม้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรม
ก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัยต่อมา เรากำหนดใจ
ด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘อกุศลธรรมแม้เท่ารอยเจาะแห่ง
ปลายขนทรายของบุคคลนี้ก็ไม่มี บุคคลนี้ประกอบด้วยธรรมที่ไม่
มีโทษ เป็นธรรมฝ่ายขาวอย่างเดียว จักปริพพานในปัจจุบัน
แน่นอน’ เปรียบเหมือนถ่านไฟที่เย็น ดับแล้ว ซึ่งบุคคลวางไว้บน
กองหญ้าแห้ง หรือบนกองไม้แห้ง เธอทราบไหมว่า ‘ถ่านไฟนี้จักไม่
ลุกลามขยายกว้างออกไป”
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เช่นเดียวกัน เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคล
บางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัย
ต่อมา เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘อกุศลธรรมแม้เท่ารอยเจาะแห่ง
ปลายขนทรายของบุคคลนี้ก็ไม่มี บุคคลนี้ประกอบด้วยธรรมที่ไม่มีโทษ เป็นธรรม
ฝ่ายขาวอย่างเดียว จักปรินิพพานในปัจจุบันแน่นอน กำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคล
อย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ญาณเป็นเครื่องรู้อินทรีย์ของบุคคลอย่างนี้แล กำหนด
ใจด้วยใจจึงรู้ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นต่อไปอย่างนี้แล
อานนท์ บรรดาบุคคล ๖ จำพวกนั้น บุคคล ๓ จำพวกแรก คือ คนหนึ่งเป็น
ผู้ไม่เสื่อมเป็นธรรมดา คนหนึ่งเป็นผู้เสื่อมเป็นธรรมดา อีกคนหนึ่งเกิดในอบาย
และตกนรก บรรดาบุคคล ๖ จำพวกนั้น บุคคล ๓ จำพวกหลัง คือ คนหนึ่งเป็น
ผู้เสื่อมเป็นธรรมดา คนหนึ่งเป็นผู้ไม่เสื่อมเป็นธรรมดา อีกคนหนึ่งจักปรินิพพาน
เป็นธรรมดา”
ปุริสินทริยญาณสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๙. นิพเพธิกสูตร
๙. นิพเพธิกสูตร
ว่าด้วยธรรมบรรยาย๑ชำแรกกิเลส
[๖๓] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมบรรยายเป็นเหตุชำแรกกิเลสแก่เธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมบรรยายที่เป็นเหตุชำแรกกิเลสนั้น อะไรบ้าง คือ
๑. เธอทั้งหลายพึงทราบกาม เหตุเกิดแห่งกาม ความต่างกันแห่งกาม
วิบากแห่งกาม ความดับแห่งกาม ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกาม
๒. เธอทั้งหลายพึงทราบเวทนา เหตุเกิดแห่งเวทนา ความต่างกันแห่ง
เวทนา วิบากแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนา ข้อปฏิบัติให้ถึงความ
ดับแห่งเวทนา
๓. เธอทั้งหลายพึงทราบสัญญา เหตุเกิดแห่งสัญญา ความต่างกันแห่ง
สัญญา วิบากแห่งสัญญา ความดับแห่งสัญญา ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งสัญญา
๔. เธอทั้งหลายพึงทราบอาสวะ เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความต่างกันแห่ง
อาสวะ วิบากแห่งอาสวะ ความดับแห่งอาสวะ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งอาสวะ
๕. เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างกันแห่ง
กรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ข้อปฏิบัติให้ถึงความ
ดับแห่งกรรม
๖. เธอทั้งหลายพึงทราบทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความต่างกันแห่ง
ทุกข์ วิบากแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับ
แห่งทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบกาม เหตุเกิด
แห่งกาม ความต่างกันแห่งกาม วิบากแห่งกาม ความดับแห่งกาม ข้อปฏิบัติให้
ถึงความดับแห่งกาม’ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

เชิงอรรถ :
๑ บรรยาย แปลจาก ปริยาย ศัพท์ มีความหมาย ๓ นัย คือ (๑) หมายถึงเทศนา - ดู ม.มู. ๑๒/๒๐๕/๑๗๕
(๒) หมายถึงวาระ - ดู ม.อุ. ๑๔/๓๙๘/๓๔๔ (๓) หมายถึงเหตุ - ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๑๖๔/๑๓๖ (วิ.อ.
๑/๓/๑๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๙. นิพเพธิกสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า กามคุณ ๕ ประการนี้ คือ
๑. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ
๓. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ
๔. รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ
๕. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
ภิกษุทั้งหลาย แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่เรียกว่ากาม สิ่งเหล่านี้ เรียกว่ากามคุณ๑
ในอริยวินัย
[พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์นี้ต่อไปอีกว่า]
สังกัปปราคะ๒ของบุรุษชื่อว่ากาม
อารมณ์ที่วิจิตรทั้งหลายในโลกไม่ชื่อว่ากาม
สังกัปปราคะของบุรุษชื่อว่ากาม
อารมณ์ที่วิจิตรทั้งหลายในโลก
ตั้งอยู่ตามสภาพของตนเท่านั้น
แต่ธีรชนทั้งหลายย่อมกำจัดความพอใจ
ในอารมณ์ที่วิจิตรเหล่านั้นได้๓

เชิงอรรถ :
๑ กามคุณ แยกอธิบายว่า ที่ชื่อว่า กาม เพราะมีความหมายว่าเป็นสิ่งที่บุคคลพึงใคร่ ที่ชื่อว่า คุณ เพราะมี
ความหมายว่า ผูกพันไว้ ร้อยรัดไว้ ดุจคำว่า “อนฺตํ อนฺตคุณํ” (ไส้ใหญ่ ไส้เล็ก - ที.ม.๑๐/๓๗๗/๒๕๑,ม.มู.
๑๒/๑๑๐/๗๙, ขุ.ขุ.๒๕/๓/๒ และดุจคำว่า “กยิรา มาลาคุเณ พหู” (ช่างดอกไม้พึงร้อยพวงมาลัยไว้เป็น
จำนวนมาก - ขุ.ธ.๒๕/๕๓/๒๖ (องฺ.ฉกฺก.อ.๓/๖๓/๑๔๘)
๒ สังกัปปราคะ หมายถึงความกำหนัดที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจความดำริในวัตถุมีรูปที่งดงามเป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.อ.
๓/๖๓/๑๔๘, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๖๓/๗๐) สังกัปปราคะ นี้เป็นชื่อเรียกกิเลสกามอีกชื่อหนึ่งในจำนวนชื่อเรียก
กาม ๑๘ ชื่อ ดู ขุ.ชา.๒๗/๓๙/๑๘๘, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑/๒, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘/๖๖-๖๗
๓ สํ.สํ. ๑๕/๓๔/๒๖, อภิ.ก. ๓๗/๕๑๓/๓๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๙. นิพเพธิกสูตร
เหตุเกิดแห่งกาม เป็นอย่างไร
คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกาม
ความต่างกันแห่งกาม เป็นอย่างไร
คือ กามในรูปเป็นอย่างหนึ่ง กามในเสียงเป็นอย่างหนึ่ง กามในกลิ่นเป็น
อย่างหนึ่ง กามในรสเป็นอย่างหนึ่ง กามในโผฏฐัพพะเป็นอย่างหนึ่ง นี้เรียกว่า
ความต่างกันแห่งกาม
วิบากแห่งกาม เป็นอย่างไร
คือ การที่บุคคลผู้ใคร่อยู่ ทำอัตภาพที่เกิดจากความใคร่นั้น ๆ ให้เกิดขึ้น
จะเป็นส่วนแห่งบุญหรือไม่เป็นส่วนแห่งบุญก็ตาม นี้เรียกว่า วิบากแห่งกาม
ความดับแห่งกาม เป็นอย่างไร
คือ เพราะผัสสะดับ กามจึงดับ
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกาม ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

ภิกษุทั้งหลาย เพราะอริยสาวกรู้ชัดกามอย่างนี้ รู้ชัดเหตุเกิดแห่งกามอย่างนี้
รู้ชัดความต่างกันแห่งกามอย่างนี้ รู้ชัดวิบากแห่งกามอย่างนี้ รู้ชัดความดับแห่งกาม
อย่างนี้ รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกามอย่างนี้ เธอจึงรู้ชัดพรหมจรรย์ที่เป็น
เหตุชำแรกกิเลส เป็นที่ดับแห่งกามนี้
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบกาม ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งกาม’
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบเวทนา ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งเวทนา’ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๙. นิพเพธิกสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า เวทนา๑ ๓ ประการนี้ คือ
๑. สุขเวทนา (ความรู้สึกสุข)
๒. ทุกขเวทนา (ความรู้สึกทุกข์)
๓. อทุกขสุขมเวทนา (ความรู้สึกเฉย ๆ)
เหตุเกิดแห่งเวทนา เป็นอย่างไร
คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งเวทนา
ความต่างกันแห่งเวทนา เป็นอย่างไร
คือ สุขเวทนาที่เจืออามิสก็มี สุขเวทนาที่ไม่เจืออามิสก็มี ทุกขเวทนาที่เจือ
อามิสก็มี ทุกขเวทนาที่ไม่เจืออามิสก็มี อทุกขสุขเวทนาที่เจืออามิสก็มี อทุกขสุข-
เวทนาที่ไม่เจืออามิสก็มี นี้เรียกว่า ความต่างกันแห่งเวทนา
วิบากแห่งเวทนา เป็นอย่างไร
คือ การที่บุคคลผู้รู้สึกอยู่ ทำอัตภาพที่เกิดจากเวทนานั้น ๆ ให้เกิดขึ้น จะเป็น
ส่วนแห่งบุญหรือไม่เป็นส่วนแห่งบุญก็ตาม นี้เรียกว่า วิบากแห่งเวทนา
ความดับแห่งเวทนา เป็นอย่างไร
คือ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนา ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ
ฯลฯ
๘. สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอริยสาวกรู้ชัดเวทนาอย่างนี้ รู้ชัดเหตุเกิดแห่งเวทนา
อย่างนี้ รู้ชัดความต่างกันแห่งเวทนาอย่างนี้ รู้ชัดวิบากแห่งเวทนาอย่างนี้ รู้ชัด
ความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ เธอจึง
รู้ชัพรหมจรรย์ที่เป็นเหตุชำแรกกิเลส เป็นที่ดับแห่งเวทนานี้
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบเวทนา ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งเวทนา’
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบสัญญา ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งสัญญา’ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ปา.๑๑/๓๐๕/๑๙๔,๓๕๓/๒๔๔, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๗๐/๓๐๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๙. นิพเพธิกสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า สัญญา๑ ๖ ประการนี้ คือ
๑. รูปสัญญา (กำหนดหมายรูป)
๒. สัททสัญญา (กำหนดหมายเสียง)
๓. คันธสัญญา (กำหนดหมายกลิ่น)
๔. รสสัญญา (กำหนดหมายรส)
๕. โผฏฐัพพสัญญา (กำหนดหมายโผฏฐัพพะ)
๖. ธัมมสัญญา (กำหนดหมายธรรมารมณ์)
เหตุเกิดแห่งสัญญา เป็นอย่างไร
คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งสัญญา
ความต่างกันแห่งสัญญา เป็นอย่างไร
คือ สัญญาในรูปเป็นอย่างหนึ่ง สัญญาในเสียงเป็นอย่างหนึ่ง สัญญาในกลิ่น
เป็นอย่างหนึ่ง สัญญาในรสเป็นอย่างหนึ่ง สัญญาในโผฏฐัพพะเป็นอย่างหนึ่ง
สัญญาในธรรมเป็นอย่างหนึ่ง นี้เรียกว่า ความต่างกันแห่งสัญญา
วิบากแห่งสัญญา เป็นอย่างไร
คือ เรากล่าวว่าสัญญา ‘มีคำพูดเป็นผล (เพราะว่า) บุคคลกำหนดหมายอย่างใด
ก็พูดไปอย่างนั้นว่า ‘เรามีสัญญาอย่างนี้’ นี้เรียกว่า วิบากแห่งสัญญา
ความดับแห่งสัญญา เป็นอย่างไร
คือ เพราะผัสสะดับ สัญญาจึงดับ
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสัญญาได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ
ฯลฯ
๘. สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอริยสาวกรู้ชัดสัญญาอย่างนี้ รู้ชัดเหตุเกิดแห่งสัญญา
อย่างนี้ รู้ชัดความต่างกันแห่งสัญญาอย่างนี้ รู้ชัดวิบากแห่งสัญญาอย่างนี้ รู้ชัด
ความดับแห่งสัญญาอย่างนี้ รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสัญญาอย่างนี้ เธอจึง
รู้ชัดพรหมจรรย์ที่เป็นเหตุชำแรกกิเลส เป็นที่ดับแห่งสัญญานี้

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ปา.๑๑/๓๒๓/๒๑๕, ม.อุ.๑๔/๓๐๕/๒๗๙, อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๑๕๔/๑๑๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๙. นิพเพธิกสูตร
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบสัญญา ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งสัญญา’
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบอาสวะ ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งอาสวะ’ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า อาสวะ๑ ๓ ประการนี้ คือ
๑. กามาสวะ (อาสวะคือกาม)
๒. ภวาสวะ (อาสวะคือภพ)
๓. อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา)
เหตุเกิดแห่งอาสวะ เป็นอย่างไร
คือ อวิชชาเป็นเหตุเกิดแห่งอาสวะ
ความต่างกันแห่งอาสวะ เป็นอย่างไร
คือ อาสวะที่เป็นเหตุให้ไปสู่นรกก็มี อาสวะที่เป็นเหตุให้ไปสู่กำเนิดสัตว์
ดิรัจฉานก็มี อาสวะที่เป็นเหตุให้ไปสู่แดนเปรตก็มี อาสวะที่เป็นเหตุให้ไปสู่มนุษยโลก
ก็มี อาสวะที่เป็นเหตุให้ไปสู่เทวโลกก็มี นี้เรียกว่า ความต่างกันแห่งอาสวะ
วิบากแห่งอาสวะ เป็นอย่างไร
คือ การที่บุคคลมีอวิชชา ย่อมยังอัตภาพที่เกิดจากอวิชชานั้น ๆ ให้เกิดขึ้น จะ
เป็นส่วนแห่งบุญหรือไม่เป็นส่วนแห่งบุญก็ตาม นี้เรียกว่า วิบากแห่งอาสวะ
ความดับแห่งอาสวะ เป็นอย่างไร
คือ เพราะอวิชชาดับ อาสวะจึงดับ
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ
ฯลฯ
๒. สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอริยสาวกรู้ชัดอาสวะอย่างนี้ รู้ชัดเหตุเกิดแห่งอาสวะ
อย่างนี้ รู้ชัดความต่างกันแห่งอาสวะอย่างนี้ รู้ชัดวิบากแห่งอาสวะอย่างนี้ รู้ชัด

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ม.๑๐/๑๔๒/๗๓, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๓๒๑/๓๔๐, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๓๗/๕๘๖-๕๘๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๙. นิพเพธิกสูตร
ความดับแห่งอาสวะอย่างนี้ รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะอย่างนี้ เธอ
จึงรู้ชัดพรหมจรรย์ที่เป็นเหตุชำแรกกิเลส เป็นที่ดับอาสวะนี้
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบอาสวะ ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งอาสวะ’
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งกรรม’ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า เรากล่าวเจตนาว่าเป็นตัวกรรม บุคคล
คิดแล้ว จึงกระทำกรรมด้วยกาย วาจา ใจ
เหตุเกิดแห่งกรรม เป็นอย่างไร
คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม
ความต่างกันแห่งกรรม เป็นอย่างไร
คือ กรรมที่พึงเสวยในนรกก็มี กรรมที่พึงเสวยในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มี
กรรมที่พึงเสวยในแดนเปรตก็มี กรรมที่พึงเสวยในมนุษยโลกก็มี กรรมที่พึงเสวยใน
เทวโลกก็มี นี้เรียกว่า ความต่างกันแห่งกรรม
วิบากแห่งกรรม เป็นอย่างไร
คือ เรากล่าววิบากแห่งกรรมว่ามี ๓ ประการ คือ
๑. กรรมที่พึงเสวยในปัจจุบัน
๒. กรรมที่พึงเสวยในอัตภาพถัดไป
๓. กรรมที่พึงเสวยในอัตภาพต่อ ๆ ไป๑
นี้เรียกว่า วิบากแห่งกรรม
ความดับแห่งกรรม เป็นอย่างไร
คือ เพราะผัสสะดับ กรรมจึงดับ

เชิงอรรถ :
๑ กรรมที่พึงเสวยในปัจจุบัน เรียกว่า ทิฏฐเวทนียกรรม กรรมที่พึงเสวยในอัตภาพถัดไปเรียกว่า อุปปัชช-
เวทนียกรรม กรรมที่พึงเสวยในอัตภาพต่อ ๆ ไป เรียกว่า อปราปริยเวทนียกรรม (องฺ.เอกาทสก. (แปล)
๒๔/๒๑๗/๓๕๗, อภิ.ก.๓๗/๖๓๕/๓๘๕, ๘๙๐-๘๙๑/๕๐๖-๕๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๙. นิพเพธิกสูตร
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกรรมได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ
ฯลฯ
๘. สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอริยสาวกรู้ชัดกรรมอย่างนี้ รู้ชัดเหตุเกิดแห่งกรรมอย่างนี้
รู้ชัดความต่างกันแห่งกรรมอย่างนี้ รู้ชัดวิบากแห่งกรรมอย่างนี้ รู้ชัดความดับแห่ง
กรรมอย่างนี้ รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกรรมอย่างนี้ เธอจึงรู้ชัดพรหมจรรย์
ที่เป็นเหตุชำแรกกิเลส เป็นที่ดับกรรมนี้
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งกรรม’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความ
ต่างกันแห่งทุกข์ วิบากแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับ
แห่งทุกข์’ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า แม้ชาติ (ความเกิด) ก็เป็นทุกข์ แม้ชรา (ความแก่) ก็เป็น
ทุกข์ แม้มรณะ (ความตาย) ก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ (ความโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ)
ทุกข์ (ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) อุปายาส (ความคับแค้นใจ) ก็เป็นทุกข์
ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
เหตุเกิดแห่งทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ ตัณหาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์
ความต่างกันแห่งทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ ทุกข์มากก็มี ทุกข์น้อยก็มี ทุกข์ที่คลายช้าก็มี ทุกข์ที่คลายเร็วก็มี นี้เรียกว่า
ความต่างกันแห่งทุกข์
วิบากแห่งทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ถูกทุกข์ใดครอบงำ มีจิตถูกทุกข์ใดกลุ้มรุม ย่อม
เศร้าโศก ลำบากใจ ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ ถึงความเลอะเลือน หรือบุคคลถูกทุกข์
ใดครอบงำ มีจิตถูกทุกข์ใดกลุ้มรุมแล้วย่อมหาเหตุเปลื้องทุกข์ในภายนอกว่า ‘ใครจะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๑๐. สีหนาทสูตร
รู้บทเดียวหรือสองบทเพื่อดับทุกข์นี้ได้’ เรากล่าวว่าทุกข์นั้นมีความหลงเป็นผล หรือ
มีการแสวงหาเปลื้องทุกข์ภายนอกเป็นผล นี้เรียกว่า วิบากแห่งทุกข์
ความดับแห่งทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ เพราะตัณหาดับ ทุกข์จึงดับ
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ
ฯลฯ
๘. สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอริยสาวกรู้ชัดทุกข์อย่างนี้ รู้ชัดเหตุเกิดแห่งทุกข์อย่างนี้
รู้ชัดความต่างกันแห่งทุกข์อย่างนี้ รู้ชัดวิบากแห่งทุกข์อย่างนี้ รู้ชัดความดับแห่งทุกข์
อย่างนี้ รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์อย่างนี้ เธอจึงรู้ชัดพรหมจรรย์ที่เป็น
เหตุชำแรกกิเลส เป็นที่ดับทุกข์นี้
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความ
ต่างกันแห่งทุกข์ วิบากแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์’
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมบรรยายที่เป็นเหตุชำแรกกิเลสนี้นั้น เป็นอย่างนี้แล
นิพเพธิกสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. สีหนาทสูตร๑
ว่าด้วยการบันลือสีหนาท
[๖๔] ภิกษุทั้งหลาย กำลังของตถาคต ๖ ประการนี้ ที่ตถาคตมีแล้วเป็น
เหตุให้ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท๒

เชิงอรรถ :
๑ ดูมหาสีหนาทสูตร (ม.มู. ๑๒/๑๔๘/๑๐๗-๑๑๐, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๑/๔๓)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒-๕ ปัญจกนิบาต ข้อ ๑๑ (อนุสสุตสูตร) หน้า ๑๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๑๐. สีหนาทสูตร
กำลังของตถาคต ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตถาคตรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะในโลกนี้
ตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะ
โดยเป็นอฐานะตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคต
อาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักร
ในบริษัท
๒. ตถาคตรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และ
ปัจจุบัน โดยฐานะ โดยเหตุตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัด
วิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบันโดย
ฐานะโดยเหตุตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคต
อาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักร
ในบริษัท
๓. ตถาคตรู้ชัดความเศร้าหมอง๑ ความผ่องแผ้ว๒ แห่งฌาน วิโมกข์
สมาธิ และสมาบัติ๓ และการออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และ
สมาบัติตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดความเศร้าหมอง
ความผ่องแผ้วแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ และการ
ออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติตามความเป็นจริง นี้เป็น

เชิงอรรถ :
๑ ความเศร้าหมอง ในที่นี้หมายถึงธรรมฝ่ายเสื่อมได้แก่กาม วิตก วิจาร และปีติ เป็นต้น ที่เป็นอุปสรรค
ต่อการเจริญฌานตามลำดับขั้นของผู้ที่มีฌานยังไม่คล่องแคล่ว (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙, องฺ.ทสก.ฏีกา
๓/๒๑/๓๙๒) และดู องฺ.นวก. ๒๓/๔๑/๓๖๒-๓๖๙
๒ ความผ่องแผ้ว ในที่นี้หมายถึงธรรมฝ่ายเจริญ ได้แก่ การสงัดจากกาม การระงับวิตกวิจาร การจางคลาย
ไปแห่งปีติ เป็นต้น ซึ่งเป็นคุณต่อการเจริญฌานให้ยิ่งขึ้นไปของผู้ที่มีฌานคล่องแคล่ว (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/
๓๒๙, องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๒๑/๓๙๒) และดู องฺ.นวก. ๒๓/๔๑/๓๖๒-๓๖๙
๓ ในคำว่า “ฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ” นี้ ฌาน หมายถึงฌาน ๔ (ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน
จตุตถฌาน) (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙) วิโมกข์ หมายถึงวิโมกข์ ๘ มีข้อว่า ‘ผู้มีรูป มองเห็นรูปทั้งหลาย’
เป็นต้น (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙) และดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๙/๒๓๑, องฺ.อฏฺ_ก. ๒๓/๑๑๙/๒๘๙ สมาธิ หมายถึง
สมาธิ ๓ คือ สวิตักกสวิจารสมาธิ (สมาธิที่มีทั้งวิตกและวิจาร) อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ (สมาธิที่ไม่มี
วิตกมีเพียงวิจาร) อวิตักกาวิจารสมาธิ (สมาธิที่มีทั้งวิตกและวิจาร) (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙) และดู ขุ.ป.
๓๑/๔๓/๕๐ สมาบัติ หมายถึงอนุปุพพสมาบัติ ๙ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธ ๑
(องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙) และดู องฺ.นวก. ๒๓/๓๒/๓๓๖, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๘๒๘/๕๓๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๑๐. สีหนาทสูตร
กำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือ
สีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๔. ตถาคตระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง
ฯลฯ ตถาคตระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไป
และชีวประวัติ อย่างนี้ การที่ตถาคตระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ
๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ ตถาคตระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ
พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ นี้เป็นกำลังของตถาคต
ที่ตถาคต อาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท
ประกาศพรหมจักร ในบริษัท
๕. ตถาคตเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังเกิด ฯลฯ ด้วยตาทิพย์อัน
บริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ฯลฯ นี้เป็น
กำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสี
หนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท
๖. ตถาคตทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะ
อาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน การที่ตถาคต
ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน นี้เป็นกำลังของ
ตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท
ประกาศพรหมจักรในบริษัท
ภิกษุทั้งหลาย กำลังของตถาคต ๖ ประการนี้แล ที่ตถาคตมีแล้วเป็นเหตุให้
ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
ภิกษุทั้งหลาย บรรดากำลังของตถาคต ๖ ประการนั้น
หากชนเหล่าอื่นเข้ามาหาตถาคตถามปัญหาถึงญาณรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ
และอฐานะโดยเป็นอฐานะตามความเป็นจริง ตถาคตเมื่อถูกถามย่อมพยากรณ์ญาณ
รู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะตามความเป็นจริงแก่ชนเหล่านั้น
ตามที่ตถาคตรู้แจ้งญาณรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะและอฐานะโดยเป็นอฐานะตามความ
เป็นจริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๑๐. สีหนาทสูตร
หากชนเหล่าอื่นเข้ามาหาตถาคตถามปัญหาถึงญาณรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือ
กรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบันโดยฐานะโดยเหตุ ตามความเป็นจริง
ตถาคตเมื่อถูกถามย่อมพยากรณ์ญาณรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต
อนาคต และปัจจุบันโดยฐานะโดยเหตุตามความเป็นจริงแก่ชนเหล่านั้นตามที่ตถาคต
รู้แจ้งญาณรู้ชัดวิบากแห่งการยึดกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคตและปัจจุบันโดยฐานะ
โดยเหตุตามความเป็นจริง
หากชนเหล่าอื่นเข้ามาหาตถาคตถามปัญหาถึงญาณรู้ชัดความเศร้าหมอง
ความผ่องแผ้วแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ และการออกจากฌาน วิโมกข์
สมาธิ และสมาบัติตามความเป็นจริง ตถาคตเมื่อถูกถามย่อมพยากรณ์ญาณรู้ชัด
ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้วแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ และการ
ออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ ตามความเป็นจริงแก่ชนเหล่านั้นตามที่
ตถาคตรู้แจ้งญาณรู้ชัดความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้วแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิและ
สมาบัติ และการออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติตามความเป็นจริง
หากชนเหล่าอื่นเข้ามาหาตถาคตถามปัญหาถึงญาณรู้ชัดความระลึกชาติก่อนได้
ตามความเป็นจริง ตถาคตเมื่อถูกถามย่อมพยากรณ์ญาณรู้ชัดความระลึกชาติก่อน
ได้ตามความเป็นจริงแก่ชนเหล่านั้นตามที่ตถาคตรู้แจ้งญาณรู้ชัดความระลึกชาติก่อน
ได้ตามความเป็นจริง
หากชนเหล่าอื่นเข้ามาหาตถาคตถามปัญหาถึงญาณรู้ชัดการจุติและการเกิดของ
หมู่สัตว์ตามความเป็นจริง ตถาคตเมื่อถูกถามย่อมพยากรณ์ญาณรู้ชัดการจุติและ
การเกิดของหมู่สัตว์ตามความเป็นจริงแก่ชนเหล่านั้นตามที่ตถาคตรู้แจ้งญาณรู้ชัด
การจุติและการเกิดของหมู่สัตว์ตามความเป็นจริง
หากชนเหล่าอื่นเข้ามาหาตถาคตถามปัญหาถึงญาณรู้ชัดความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ตามความเป็นจริง ตถาคตเมื่อถูกถามย่อมพยากรณ์ญาณรู้ชัดความสิ้นอาสวะตาม
ความเป็นจริงแก่ชนเหล่านั้นตามที่ตถาคตรู้แจ้งญาณรู้ชัดความสิ้นอาสวะตาม
ความเป็นจริง
เรากล่าวว่า ญาณรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะตามความ
เป็นจริงนั้น เป็นของบุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ ไม่กล่าวว่า เป็นของบุคคลผู้มีจิตไม่เป็น
สมาธิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
เรากล่าวว่า ญาณรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และ
ปัจจุบันโดยฐานะโดยเหตุตามความเป็นจริงนั้น เป็นของบุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ
ไม่กล่าวว่า เป็นของบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ
เรากล่าวว่า ญาณรู้ชัดความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้วแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ
และสมาบัติ และการออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัตินั้น เป็นของบุคคล
ผู้มีจิตเป็นสมาธิ ไม่กล่าวว่า เป็นของบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ
เรากล่าวว่า ญาณรู้ชัดความระลึกชาติก่อนได้ตามความเป็นจริงนั้น เป็นของ
บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ ไม่กล่าวว่า เป็นของบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ
เรากล่าวว่า ญาณรู้ชัดจุติและการเกิดของหมู่สัตว์ตามความเป็นจริงนั้น เป็น
ของบุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ ไม่กล่าวว่า เป็นของบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ
เรากล่าวว่า ญาณรู้ชัดความสิ้นอาสวะทั้งหลายตามความเป็นจริงนั้น เป็นของ
บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ ไม่กล่าวว่า เป็นของบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย สมาธิเป็นมรรค๑ อสมาธิเป็นกุมมรรค๒ ด้วยประการฉะนี้แล
สีหนาทสูตรที่ ๑๐ จบ
มหาวรรคที่ ๖ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โสณสูตร ๒. ผัคคุณสูตร
๓. ฉฬภิชาติสูตร ๔. อาสวสูตร
๕. ทารุกัมมิกสูตร ๖. หัตถิสารีปุตตสูตร
๗. มัชเฌสูตร ๘. ปุริสินทริยญาณสูตร
๙. นิพเพธิกสูตร ๑๐. สีหนาทสูตร


เชิงอรรถ :
๑ มรรค ในที่นี้หมายถึงอุบายแห่งการบรรลุญาณทั้งหลาย ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๔/๑๕๐-
๑๕๑) และดู อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๒๐๖/๑๗๔,๔๘๖/๓๗๑
๒ กุมมรรค ในที่นี้หมายถึงมิจฉามรรคกล่าวคือทางผิดจากการบรรลุญาณทั้งหลาย ได้แก่ มิจฉาทิฏฐิ (เห็น
ผิด) มิจฉาสังกัปปะ (ดำริผิด) มิจฉาวาจา (เจรจาผิด) มิจฉากัมมันตะ (กระทำผิด) มิจฉาอาชีวะ (เลี้ยงชีพผิด)
มิจฉาวายามะ (พยายามผิด) มิจฉาสติ (ระลึกผิด) มิจฉาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นผิด) (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๔/๑๕๐-
๑๕๑) และดู อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๙๓๖/๕๘๖,๙๕๖/๖๑๒-๖๑๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๑. อนาคามิผลสูตร
๗. เทวตาวรรค
หมวดว่าด้วยเทวดา
๑. อนาคามิผลสูตร
ว่าด้วยอนาคามิผล
[๖๕] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการไม่ได้ ก็ไม่อาจทำให้แจ้ง
อนาคามิผลได้ ธรรม๑ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความไม่มีศรัทธา ๒. ความไม่มีหิริ
๓. ความไม่มีโอตตัปปะ ๔. ความเกียจคร้าน
๕. ความหลงลืมสติ ๖. ความมีปัญญาทราม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจทำให้แจ้ง
อนาคามิผลได้
ภิกษุละธรรม ๖ ประการได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้งอนาคามิผลได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความไม่มีศรัทธา ๒. ความไม่มีหิริ
๓. ความไม่มีโอตตัปปะ ๔. ความเกียจคร้าน
๕. ความหลงลืมสติ ๖. ความมีปัญญาทราม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้ง
อนาคามิผลได้
อนาคามิผลสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๑๓๒๘,๑๓๒๙/๓๓๒, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๐๐/๕๖๓, ๙๖๐/๕๖๕,๙๒๘/๕๘๑,๙๓๐/
๕๘๒,๙๓๒/๕๘๔,๙๓๕/๕๘๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๒. อรหัตตสูตร
๒. อรหัตตสูตร
ว่าด้วยอรหัตตผล
[๖๖] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการไม่ได้ ก็ไม่อาจทำให้แจ้ง
อรหัตตผลได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ถีนะ (ความหดหู่) ๒. มิทธะ (ความเซื่องซึม)
๓. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) ๔. กุกกุจจะ (ความร้อนใจ)
๕. อัสสัทธิยะ (ความไม่มีศรัทธา) ๖. ปมาทะ (ความประมาท)

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจทำให้แจ้ง
อรหัตตผลได้
ภิกษุละธรรม ๖ ประการได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้งอรหัตตผลได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ถีนะ ๒. มิทธะ
๓. อุทธัจจะ ๔. กุกกุจจะ
๕. อัสสัทธิยะ ๖. ปมาทะ

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้ง
อรหัตตผลได้
อรหัตตสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๓. มิตตสูตร
๓. มิตตสูตร
ว่าด้วยมิตร
[๖๗] ภิกษุทั้งหลาย
เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีเพื่อนชั่ว เสพ คบ เข้าไปนั่ง
ใกล้มิตรชั่ว และประพฤติตามมิตรชั่วเหล่านั้นอยู่ จักบำเพ็ญอภิสามาจาริกธรรม๑ให้
บริบูรณ์ได้
เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุไม่บำเพ็ญอภิสมาจาริกธรรมให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญ
เสขธรรม๒ให้บริบูรณ์ได้
เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุไม่บำเพ็ญเสขธรรมให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญศีล
ทั้งหลาย๓ให้บริบูรณ์ได้
เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุไม่บำเพ็ญศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์แล้ว จักละกามราคะ
รูปราคะ หรืออรูปราคะได้
ภิกษุทั้งหลาย
เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้มิตรดี
และประพฤติตามมิตรดีเหล่านั้นอยู่ จักบำเพ็ญอภิสมาจาริกธรรมให้บริบูรณ์ได้
เป็นไปได้ที่ภิกษุบำเพ็ญอภิสมาจาริกธรรมให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญเสขธรรม
ให้บริบูรณ์ได้
เป็นไปได้ที่ภิกษุบำเพ็ญเสขธรรมให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญศีลทั้งหลายให้
บริบูรณ์ได้
เป็นไปได้ที่ภิกษุบำเพ็ญศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์แล้ว จักละกามราคะ รูปราคะ
หรืออรูปราคะได้
มิตตสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑,๒,๓ ดูเชิงอรรถที่ ๑,๒,๓ ปัญจกนิบาต ข้อ ๒๑ หน้า ๒๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๔. สังคณิการามสูตร
๔. สังคณิการามสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
[๖๘] ภิกษุทั้งหลาย
๑. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่๑ ยินดีการคลุกคลี
ด้วยหมู่ ประกอบความชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ เป็นผู้ชอบคณะ๒
ยินดีในคณะ ประกอบความยินดีในคณะ จักยินดีในปวิเวก๓ตาม
ลำพังได้
๒. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่ยินดีในปวิเวกตามลำพังจักถือเอานิมิต
แห่งจิต๔ได้
๓. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่ถือเอานิมิตแห่งจิต จักบำเพ็ญสัมมาทิฏฐิ๕
ให้บริบูรณ์ได้
๔. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่บำเพ็ญสัมมาทิฏฐิให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญ
สัมมาสมาธิให้บริบูรณ์ได้
๕. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่บำเพ็ญสัมมาสมาธิ๖ให้บริบูรณ์แล้ว จักละ
สังโยชน์ได้
๖. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ยังละสังโยชน์ไม่ได้แล้ว จักทำให้แจ้งนิพพานได้
ภิกษุทั้งหลาย
๑. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ยินดีการคลุกคลี
ด้วยหมู่ ไม่ประกอบความชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ชอบคณะ

เชิงอรรถ :
๑ คลุกคลีด้วยหมู่ หมายถึงคลุกคลีด้วยหมู่คณะของตน (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๖๘-๖๙/๑๗๔)
๒ ชอบคณะ (คณาราโม) หมายถึงชอบคลุกคลีกับคนทั่วไป (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๖๘-๖๙/๑๗๔)
๓ ปวิเวก ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก (ความสงัดทางกาย) (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๘/๑๕๑)
๔ นิมิตแห่งจิต หมายถึงอาการซึ่งเป็นนิมิตแห่งสมาธิและวิปัสสนา (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๘/๑๕๑)
๕ ดูเชิงอรรถที่ ๔ ปัญจกนิบาต ข้อ ๒๑ หน้า ๒๔ ในเล่มนี้
๖ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ปัญจกนิบาต ข้อ ๒๑ หน้า ๒๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๕. เทวตาสูตร
ไม่ยินดีในคณะ ไม่ประกอบความยินดีในคณะ จักยินดีในปวิเวก
ตามลำพังได้
๒. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ยินดีในปวิเวกตามลำพัง จักถือเอานิมิตแห่งจิตได้
๓. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ถือเอานิมิตแห่งจิต จักบำเพ็ญสัมมาทิฏฐิให้บริบูรณ์
ได้
๔. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้บำเพ็ญสัมมาทิฏฐิให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญ
สัมมาสมาธิให้บริบูรณ์ได้
๕. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้บำเพ็ญสัมมาสมาธิให้บริบูรณ์แล้ว จักละสังโยชน์ได้
๖. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ละสังโยชน์ได้แล้ว จักทำให้แจ้งนิพพานได้
สังคณิการามสูตรที่ ๔ จบ
๕. เทวตาสูตร
ว่าด้วยเทวดาแสดงธรรม
[๖๙] ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป เทวดาตนหนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่ง
รัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อม
แก่ภิกษุ
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา
๒. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระธรรม
๓. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระสงฆ์
๔. ความเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา
๕. ความเป็นผู้ว่าง่าย
๖. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร(มิตรดี)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๕. เทวตาสูตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ
เมื่อเทวดานั้นได้กราบทูลดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ครั้นเทวดานั้น
ทราบว่า ‘พระศาสดาทรงพอพระทัยเรา’ จึงถวายอภิวาท ทำประทักษิณแล้วหายไป
ณ ที่นั้นแล
ครั้นคืนนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป เทวดาตนหนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมี
ให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าว
กับเราดังนี้ว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่
ภิกษุ
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา
๒. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระธรรม
๓. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระสงฆ์
๔. ความเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา
๕. ความเป็นผู้ว่าง่าย
๖. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อม
แก่ภิกษุ’
ภิกษุทั้งหลาย เทวดานั้นครั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงไหว้เราทำประทักษิณแล้ว
หายไป ณ ที่นั้นแล”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาคแล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทราบชัดเนื้อความแห่ง
พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อ ได้โดยพิสดารอย่างนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๕. เทวตาสูตร
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา สรรเสริญความเป็นผู้มี
ความเคารพในพระศาสดา ชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่มีความเคารพ
ในศาสดาให้มีความเคารพในพระศาสดา ทั้งประกาศคุณที่มีอยู่จริง
ของภิกษุเหล่าอื่นผู้มีความเคารพในศาสดาตามกาลอันควร
๒. ตนเองเป็นผู้มีความมีเคารพในพระธรรม ฯลฯ
๓. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา ฯลฯ
๕. ตนเองเป็นผู้ว่าง่าย ฯลฯ
๖. ตนเองเป็นผู้มีกัลยาณมิตร สรรเสริญความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
ชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่มีกัลยาณมิตรให้เป็นผู้มีกัลยาณมิตร
ทั้งประกาศคุณที่มีอยู่จริงของภิกษุเหล่าอื่นผู้มีกัลยาณมิตรตามกาล
อันควร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทราบชัดเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มี
พระภาคตรัสไว้โดยย่อ ได้โดยพิสดารอย่างนี้แล”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร ดีละ ดีละ เป็นการดีที่เธอรู้เนื้อความแห่ง
คำที่เรากล่าวไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้
สารีบุตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในศาสดา สรรเสริญความเป็นผู้มีความ
เคารพในศาสดา ชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่มีความเคารพในพระ
ศาสดาให้มีความเคารพในศาสดา ทั้งประกาศคุณที่มีจริงของภิกษุ
เหล่าอื่นผู้มีความเคารพในพระศาสดาตามกาลอันควร
๒. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในธรรม ฯลฯ
๓. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในสงฆ์ ฯลฯ
๔. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา ฯลฯ
๕. ตนเองเป็นผู้ว่าง่าย ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๖. สมาธิสูตร
๖. ตนเองเป็นผู้มีกัลยาณมิตร สรรเสริญความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
ชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่มีกัลยาณมิตรให้เป็นผู้มีกัลยาณมิตร
ทั้งประกาศคุณที่มีจริงของภิกษุเหล่าอื่นผู้มีกัลยาณมิตร ตามกาล
อันควร
สารีบุตร บัณฑิตพึงทราบเนื้อความแห่งคำที่เรากล่าวไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดาร
อย่างนี้แล”
เทวตาสูตรที่ ๕ จบ
๖. สมาธิสูตร
ว่าด้วยสมาธิ
[๗๐] ภิกษุทั้งหลาย
๑. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นมีสมาธิที่ไม่สงบ๑ มีสมาธิที่ไม่ประณีต
มีสมาธิที่ไม่ได้ด้วยความสงบระงับ มีสมาธิที่ไม่มีภาวะเป็นหนึ่ง
ผุดขึ้น๒ จักแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลาย
คนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ๓ ใช้อำนาจทางกายไป
จนถึงพรหมโลกได้
๒. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นจักได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์
และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและอยู่ใกล้ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือ
มนุษย์ได้
๓. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นจักกำหนดรู้จิตของสัตว์และบุคคลอื่นได้ด้วย
จิตของตน คือ จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ ฯลฯ หรือจิตไม่หลุดพ้น
ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้นได้

เชิงอรรถ :
๑ สมาธิที่ไม่สงบ หมายถึงสมาธิที่ไม่สงบจากกิเลสที่เป็นข้าศึกทั้งหลาย (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๗๐/๑๕๒)
๒ สมาธิที่ไม่มีภาวะเป็นหนึ่งผุดขึ้น หมายถึงสมาธิที่ไม่ชื่อว่า เอโกทิ อันเป็นสมาธิระดับทุติยฌานซึ่ง
ปราศจากวิตก วิจาร มีแต่ปีติและสุขเกิดจากสมาธิ (เทียบ วิ.อ. ๑/๑๑/๑๔๓-๑๔๔)
๓ ฯลฯ ที่ปรากฏในสูตรนี้ ดูความเต็มใน ปัญจกนิบาต ข้อ ๒๘ หน้า ๓๙-๔๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๙๑ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น