Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๓-๙ หน้า ๓๗๗ - ๔๒๓

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓-๙ สุตตันตปิฎกที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก อัฏฐก นวกนิบาต



พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค ๑๐.ภูมิจาลสูตร
เหตุปัจจัย ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มหาปฐพีนี้ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ เวลา
ที่ลมพายุพัดแรงย่อมทำให้น้ำกระเพื่อม น้ำที่กระเพื่อมย่อมทำให้
แผ่นดินไหวตาม นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๑ ที่ทำให้แผ่นดินไหว
อย่างรุนแรง
๒. สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ เชี่ยวชาญทางจิต หรือเหล่าเทวดาผู้มี
ฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากได้เจริญปฐวีสัญญานิดหน่อย แต่เจริญ
อาโปสัญญาจนหาประมาณมิได้ จึงทำให้แผ่นดินนี้ไหวสั่นสะเทือน
เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๒ ที่ทำให้แผ่นดินไหวอย่าง
รุนแรง
๓. คราวที่พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะจุติจากภพดุสิต เสด็จสู่พระครรภ์
ของพระมารดา แผ่นดินนี้ก็ไหวสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัย
ประการที่ ๓ ที่ทำให้แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
๔. คราวที่พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ ประสูติจากพระครรภ์ของ
พระมารดา แผ่นดินนี้ก็ไหวสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัย
ประการที่ ๔ ที่ทำให้แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
๕. คราวที่ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แผ่นดินนี้ก็ไหวสั่น
สะเทือนเลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๕ ที่ทำให้แผ่นดินไหว
อย่างรุนแรง
๖. คราวที่ตถาคตประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยมให้เป็นไป แผ่นดินนี้
ก็ไหวสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๖ ที่ทำให้
แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๒.ภูมิจาลวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๗. คราวที่ตถาคตมีสติสัมปชัญญะปลงอายุสังขาร แผ่นดินนี้ก็ไหวสั่น
สะเทือนเลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๗ ที่ทำให้แผ่นดินไหว
อย่างรุนแรง
๘. คราวที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ แผ่นดินนี้ก็
ไหวสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๘ ที่ทำให้แผ่น
ดินไหวอย่างรุนแรง
อานนท์ เหตุปัจจัย ๘ ประการนี้แล ที่ทำให้แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง”
ภูมิจาลสูตรที่ ๑๐ จบ
ภูมิจาลวรรคที่ ๒ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อิจฉาสูตร ๒. อลังสูตร
๓. สังขิตตสูตร ๔. คยาสีสสูตร
๕. อภิภายตนสูตร ๖. วิโมกขสูตร
๗. อนริยโวหารสูตร ๘. อริยโวหารสูตร
๙. ปริสาสูตร ๑๐. ภูมิจาลสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๑.ปฐมสัทธาสูตร
๓. ยมกวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมคู่กัน
๑. ปฐมสัทธาสูตร๑
ว่าด้วยศรัทธา สูตรที่ ๑
[๗๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่ไม่มีศีล
เธอชื่อว่าเป็นผู้ไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้ เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วย
คิดว่า ‘ทางที่ดี เราควรเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล’ เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล
เมื่อนั้น เธอจึงชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้
ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล แต่ไม่เป็นพหูสูต เธอชื่อว่าเป็นผู้ไม่บริบูรณ์ด้วย
องค์นั้นอย่างนี้ เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า ‘ทางที่ดี เราควรเป็นผู้มี
ศรัทธา มีศีล และเป็นพหูสูต’ เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล และเป็นพหูสูต
เมื่อนั้น เธอจึงชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้
ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล และเป็นพหูสูต แต่ไม่เป็นธรรมกถึก๒ ฯลฯ เป็น
ธรรมกถึก แต่ไม่เข้าไปสู่บริษัท ฯลฯ เข้าไปสู่บริษัท แต่ไม่แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่
บริษัท ฯลฯ แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท แต่ไม่ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง๓
ซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนา ได้โดยยาก ได้โดยลำบาก
ฯลฯ ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนา
ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก แต่ไม่ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มี

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๘-๑๐/๑๒-๑๖
๒ ธรรมกถึก หมายถึงผู้แสดงธรรม หรือนักเทศน์ซึ่งจะต้องมีองค์ธรรม ๕ ประการ คือ (๑) แสดงธรรมไปตาม
ลำดับ (๒) แสดงอ้างเหตุ (๓) แสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู (๔) ไม่เพ่งอามิสแสดงธรรม (๕) แสดงธรรม
ไม่กระทบตนและผู้อื่น (องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๑๕๙/๒๖๓)
๓ มีในจิตยิ่ง (อภิเจตสิก) ในที่นี้หมายถึงอุปจารสมาธิ (ม.มู.อ. ๑/๖๖/๑๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๑.ปฐมสัทธาสูตร
อาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เธอชื่อว่าเป็น
ผู้ไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้ เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า ‘ทางที่ดี
เราควรเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล เป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก เข้าไปสู่บริษัท แกล้วกล้า
แสดงธรรมแก่บริษัท เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขใน
ปัจจุบันตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก และทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน’
เมื่อใด ภิกษุ
๑. มีศรัทธา ๒. มีศีล
๓. เป็นพหูสูต ๔. เป็นธรรมกถึก
๕. เข้าไปสู่บริษัท ๖. แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท
๗. ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความ
ปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
๘. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้น
ไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อนั้น เธอจึงชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ชื่อว่าเป็นผู้ก่อให้เกิด
ความเลื่อมใสได้รอบด้าน๑ และเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง๒”
ปฐมสัทธาสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ก่อให้เกิดความเลื่อมใสได้รอบด้าน หมายถึงมีกายกรรม และวจีกรรมที่น่าเลื่อมใส (องฺ.ทสก.อ. ๓/๘/๓๑๙)
๒ บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงบริบูรณ์ด้วยอาการของสมณะ ด้วยธรรมของสมณะ (องฺ.อฏฺฐก.อ.
๓/๗๑-๗๒/๒๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๒.ทุติยสัทธาสูตร
๒. ทุติยสัทธาสูตร
ว่าด้วยศรัทธา สูตรที่ ๒
[๗๒] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่ไม่มีศีล เธอชื่อว่าเป็นผู้ไม่
บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้ เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า ‘ทางที่ดี
เราควรเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล’ เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล เมื่อนั้น เธอจึงชื่อ
ว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้
ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล แต่ไม่เป็นพหูสูต ฯลฯ เป็นพหูสูต แต่ไม่เป็น
ธรรมกถึก ฯลฯ เป็นธรรมกถึก แต่ไม่เข้าไปสู่บริษัท ฯลฯ เข้าไปสู่บริษัท แต่ไม่
แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท ฯลฯ แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท แต่ไม่ได้
สัมผัสสันตวิโมกข์๑ ไม่มีรูปเพราะล่วงรูปทั้งหลายได้ด้วยกายอยู่๒ ฯลฯ ได้สัมผัส
สันตวิโมกข์ซึ่งไม่มีรูปเพราะล่วงรูปทั้งหลายได้ด้วยกายอยู่ แต่ไม่ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน เธอจึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้ เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้น
ให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า ‘ทางที่ดี เราควรเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล เป็นพหูสูต เป็น
ธรรมกถึก เข้าไปสู่บริษัท แกล้วกล้า แสดงธรรมแก่บริษัท ได้สัมผัสสันตวิโมกข์ซึ่ง
ไม่มีรูป เพราะล่วงรูปทั้งหลายได้ด้วยกายอยู่ และทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
เมื่อใด ภิกษุ
๑. มีศรัทธา ๒. มีศีล
๓. เป็นพหูสูต ๔. เป็นธรรมกถึก

เชิงอรรถ :
๑ สันตวิโมกข์ หมายถึงอรูปฌานที่พ้นได้อย่างสิ้นเชิง เพราะพ้นจากธรรมที่เป็นข้าศึก กล่าวคือนิวรณ์ ๕ และ
เพราะไม่เกี่ยวข้องในอารมณ์เป็นต้น (องฺ.ทสก.อ. ๓/๙/๓๒๐)
๒ กาย ในที่นี้หมายถึงนามกาย คือกองแห่งนามธรรม ได้แก่ เจตสิกทั้งหลาย (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๒๖/๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๓.ปฐมมรณัสสติสูตร
๕. เข้าไปสู่บริษัท ๖. แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท
๗. ได้สัมผัสสันตวิโมกข์ซึ่งไม่มีรูป เพราะล่วงรูปทั้งหลายได้ด้วยกายอยู่
๘. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อนั้น เธอจึงชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ชื่อว่าเป็นผู้ก่อให้เกิด
ความเลื่อมใสได้รอบด้าน และเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง
ทุติยสัทธาสูตรที่ ๒ จบ
๓. ปฐมมรณัสสติสูตร
ว่าด้วยการเจริญมรณัสสติ๑สูตรที่ ๑
[๗๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ คิญชกาวสถาราม๒ ใน
นาทิกคาม ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย มรณัสสติที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์
มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เธอทั้งหลายเจริญมรณัสสติอยู่หรือไม่”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร”
ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้คืนหนึ่งและวันหนึ่ง เราพึงมนสิการถึงคำสอน
ของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ’ ข้าพระองค์เจริญมรณัสสติอย่างนี้แล”

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๑๙/๔๔๔
๒ คิญชกาวสถาราม หมายถึงปราสาทที่สร้างด้วยอิฐ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๙/๑๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๓.ปฐมมรณัสสติสูตร
ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้
ข้าพระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร”
ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้วันหนึ่ง เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มี
พระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ’ ข้าพระองค์เจริญมรณัสสติอย่างนี้แล”
ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์
ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร”
ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้กึ่งวัน เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มี
พระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ’ ข้าพระองค์เจริญมรณัสสติอย่างนี้แล”
ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้
ข้าพระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร”
ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะฉันบิณฑบาตมื้อหนึ่ง เราพึง
มนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ’ ข้าพระองค์เจริญ
มรณัสสติอย่างนี้แล”
ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้
ข้าพระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร”
ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะฉันบิณฑบาตครึ่งหนึ่ง เราพึง
มนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ’ ข้าพระองค์เจริญ
มรณัสสติอย่างนี้แล”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๓.ปฐมมรณัสสติสูตร
ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้
ข้าพระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร”
ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะเคี้ยวกินคำข้าว ๔-๕ คำ เราพึง
มนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ’ ข้าพระองค์เจริญ
มรณัสสติอย่างนี้แล”
ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้
ข้าพระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร”
ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะเคี้ยวกินคำข้าว ๑ คำ เราพึง
มนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ’ ข้าพระองค์เจริญ
มรณัสสติอย่างนี้แล”
ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้
ข้าพระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร”
ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะหายใจเข้าหายใจออก หรือหายใจ
ออกหายใจเข้า เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ’
ข้าพระองค์เจริญมรณัสสติอย่างนี้แล”
เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุรูปที่เจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้คืนหนึ่งและ
วันหนึ่ง เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ’
ภิกษุรูปที่เจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้วันหนึ่ง เราพึง
มนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๓.ปฐมมรณัสสติสูตร
ภิกษุรูปที่เจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้กึ่งวัน เราพึง
มนสิการถึงคำของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ’
ภิกษุรูปที่เจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะฉัน
บิณฑบาตมื้อหนึ่ง เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจ
ให้มากหนอ’
ภิกษุรูปที่เจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะฉัน
บิณฑบาตครึ่งหนึ่ง เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจ
ให้มากหนอ’
ภิกษุรูปที่เจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะเคี้ยว
กินคำข้าว ๔-๕ คำ เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจ
ให้มากหนอ’
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าภิกษุทั้ง ๖ รูปนี้ ยังเป็นผู้ประมาทอยู่ เจริญมรณัสสติ
อย่างเพลาเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนภิกษุรูปที่เจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่
ได้เพียงชั่วขณะเคี้ยวกินคำข้าว ๑ คำ เราพึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค
เราพึงทำกิจให้มากหนอ’
และภิกษุรูปที่เจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะ
หายใจเข้าหายใจออก หรือหายใจออกหายใจเข้า เราพึงมนสิการถึงคำสอนของ
พระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ’
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าภิกษุทั้ง ๒ รูปนี้เป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ เจริญมรณัสสติ
อย่างแรงกล้าเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่
ประมาทอยู่ จักเจริญมรณัสสติอย่างแรงกล้าเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล”
ปฐมมรณัสสติสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๔. ทุติยมรณัสสติสูตร
๔. ทุติยมรณัสสติสูตร
ว่าด้วยการเจริญมรณัสสติ๑สูตรที่ ๒
[๗๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ คิญชกาวสถาราม ใน
นาทิกคาม ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย มรณัสสติที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ๒ มีอมตะเป็นที่สุด
มรณัสสติที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันผ่านไป กลางคืนย่างเข้ามา พิจารณา
ดังนี้ว่า ‘ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากแท้ คือ งูพึงกัดเราก็ได้ แมงป่องพึงต่อย
เราก็ได้ หรือตะขาบพึงกัดเราก็ได้ เพราะเหตุนั้น เราพึงตาย เราพึงมีอันตราย๓นั้น
เราพึงพลาดหกล้มก็ได้ ภัตตาหารที่เราฉันแล้วไม่พึงย่อยก็ได้ ดีของเราพึงกำเริบก็ได้
เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้ ลมมีพิษดังศัสตราของเราพึงกำเริบก็ได้ พวกมนุษย์
พึงทำร้ายเราก็ได้ หรือพวกอมนุษย์พึงทำร้ายเราก็ได้ เพราะเหตุนั้น เราพึงตาย
เราพึงมีอันตรายนั้น’ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘บาปอกุศลธรรม
ที่เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้จะตายในเวลากลางคืนมีอยู่หรือไม่’
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘บาปอกุศลธรรมที่เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึง
เป็นอันตรายแก่เราผู้จะตายในเวลากลางคืนยังมีอยู่’ ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ
ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมชัญญะ
ให้มีประมาณยิ่งเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๒๐/๔๔๗
๒ อมตะ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๔๘-๔๙/๑๘๔)
๓ อันตราย มี ๓ อย่าง คือ (๑) อันตรายต่อชีวิต (๒) อันตรายต่อสมณธรรม (๓) อันตรายต่อสวรรค์และ
อันตรายต่อมรรคสำหรับผู้ที่ตายอย่างปุถุชน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๐/๑๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๔. ทุติยมรณัสสติสูตร
บุคคลผู้มีผ้าที่ถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะที่ถูกไฟไหม้ ควรทำความพอใจ ความ
พยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ
ให้มีประมาณยิ่งเพื่อดับไฟที่ไหม้ผ้าหรือไฟที่ไหม้ศีรษะนั้น แม้ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้น
เหมือนกัน ควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้น
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘บาปกุศลธรรมที่เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึงเป็น
อันตรายแก่เราผู้จะตายในเวลากลางคืนไม่มี’ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์
นั้นแล ตามสำเหนียกในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่เถิด
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางคืนผ่านไป กลางวันย่างเข้ามา พิจารณาเห็น
ดังนี้ว่า ‘ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากแท้ คือ งูพึงกัดเราก็ได้ แมงป่องพึง
ต่อยเราก็ได้ หรือตะขาบพึงกัดเราก็ได้ เพราะเหตุนั้น เราพึงตาย เราพึงมีอันตรายนั้น
เราพึงพลาดหกล้มก็ได้ ภัตตาหารที่เราฉันแล้วไม่พึงย่อยก็ได้ ดีของเราพึงกำเริบก็ได้
เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้ ลมมีพิษดังศัสตราของเราพึงกำเริบก็ได้ พวกมนุษย์พึง
ทำร้ายเราก็ได้ หรือพวกอมนุษย์พึงทำร้ายเราก็ได้ เพราะเหตุนั้น เราพึงตาย เราพึง
มีอันตรายนั้น’ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘บาปอกุศลธรรมที่
เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้จะตายในเวลากลางวันยังมีอยู่หรือไม่’
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘บาปอกุศลธรรมที่เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึง
เป็นอันตรายแก่เราผู้จะตายในเวลากลางวันยังมีอยู่’ ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ
ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและ
สัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้น
บุคคลผู้มีผ้าที่ถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะที่ถูกไฟไหม้ ควรทำความพอใจ ความ
พยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ
ให้มีประมาณยิ่งเพื่อดับไฟที่ไหม้ผ้าหรือไฟที่ไหม้ศีรษะนั้น แม้ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้น
เหมือนกัน ควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๕.ปฐมสัมปทาสูตร
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘บาปอกุศลธรรมที่เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึงเป็น
อันตรายแก่เราผู้จะตายในเวลากลางวันไม่มี’ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์นั้นแล
ตามสำเหนียกในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่เถิด
ภิกษุทั้งหลาย มรณัสสติที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เป็นอย่างนี้แล
ทุติยมรณัสสติสูตรที่ ๔ จบ
๕. ปฐมสัมปทาสูตร
ว่าด้วยสัมปทา สูตรที่ ๑
[๗๕] ภิกษุทั้งหลาย สัมปทา (ความถึงพร้อม) ๘ ประการนี้
สัมปทา ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อุฏฐานสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยความหมั่น)
๒. อารักขสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการรักษา)
๓. กัลยาณมิตตตา (ความเป็นผู้มีมิตรดี)
๔. สมชีวิตา (ความเป็นอยู่เหมาะสม)
๕. สัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา)
๖. สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล)
๗. จาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยจาคะ)
๘. ปัญญาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยปัญญา)
ภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๘ ประการนี้แล
คนขยันหมั่นเพียรในการทำงาน
ไม่ประมาท รู้วิธีการเลี้ยงชีพแต่พอเหมาะ
รักษาทรัพย์ที่หามาได้ เป็นผู้มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล
รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๖.ทุติยสัมปทาสูตร
ชำระทางแห่งประโยชน์ที่มีในภพหน้าอยู่เป็นนิตย์
ที่พระพุทธเจ้าผู้มีพระนามว่าสัจจะตรัสธรรม ๘ ประการดังกล่าวมานี้
เพื่อผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธา
อันเป็นเหตุนำสุขมาให้ในโลกทั้ง ๒ คือ
ประโยชน์เกื้อกูลในภพนี้ และสุขในภพหน้า
จาคะ บุญนี้ย่อมเจริญยิ่งขึ้นแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้
ปฐมสัมปทาสูตรที่ ๕ จบ
๖. ทุติยสัมปทาสูตร
ว่าด้วยสัมปทา๑ สูตรที่ ๒
[๗๖] ภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๘ ประการนี้
สัมปทา ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. อุฏฐานสัมปทา ๒. อารักขสัมปทา
๓. กัลยาณมิตตตา ๔. สมชีวิตา
๕. สัทธาสัมปทา ๖. สีลสัมปทา
๗. จาคสัมปทา ๘. ปัญญาสัมปทา

อุฏฐานสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้เลี้ยงชีพด้วยการงานใด จะเป็นกสิกรรม พาณิชยกรรม
โครักขกรรม เป็นช่างศร รับราชการ หรือศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เป็นผู้ขยัน
ไม่เกียจคร้านในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา
อันเป็นอุบายในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น สามารถทำได้ สามารถจัดได้ นี้เรียกว่า
อุฏฐานสัมปทา

เชิงอรรถ :
๑ ดูอัฏฐกนิบาต ข้อ ๕๔ (ทีฆชาณุสูตร) หน้า ๓๔๐-๓๔๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๓.ทุติยสัมปทาสูตร
อารักขสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้มีโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบ
รวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม
เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์นั้นด้วยคิดว่า ‘ทำอย่างไร โภคทรัพย์เหล่านี้ของเราจึง
จะไม่ถูกพระราชาริบ โจรไม่ลัก ไฟไม่ไหม้ น้ำไม่พัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักไม่ลักไป’
นี้เรียกว่า อารักขสัมปทา
กัลยาณมิตตตา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้วางตัวเหมาะสม เจรจา สนทนากับคนในหมู่บ้านหรือ
ในนิคมที่ตนอาศัยอยู่ จะเป็นคหบดี บุตรคหบดี คนหนุ่มผู้เคร่งศีล หรือคนแก่ผู้
เคร่งศีลก็ตาม ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยจาคะ
และถึงพร้อมด้วยปัญญา คอยศึกษาสัทธาสัมปทาของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาตาม
สมควร คอยศึกษาสีลสัมปทาของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยศีลตามสมควร คอยศึกษา
จาคสัมปทาของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะตามสมควร และคอยศึกษาปัญญาสัมปทา
ของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาตามสมควร นี้เรียกว่า กัลยาณมิตตตา
สมชีวิตา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้รู้ทางเจริญแห่งโภคทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้ว
เลี้ยงชีวิตแต่พอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนักด้วยคิดว่า ‘ด้วยการใช้
จ่ายอย่างนี้ รายรับของเราจักเกินรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่เกินรายรับ’
เปรียบเหมือนคนชั่งของ หรือลูกมือของคนชั่งของ ยกตาชั่งขึ้นดูก็รู้ได้ว่า ‘ต้องลดลง
เท่านี้ หรือเพิ่มขึ้นเท่านี้’ ฉันใด กุลบุตร ก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ทางเจริญแห่ง
โภคทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพแต่พอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก
ไม่ให้ฝืดเคืองนักด้วยคิดว่า ‘ด้วยการใช้จ่ายอย่างนี้ รายรับของเราจักเกินรายจ่าย
และรายจ่ายของเราจักไม่เกินรายรับ’ ถ้ากุลบุตรนี้มีรายรับน้อย แต่เลี้ยงชีพอย่าง
ฟุ่มเฟือย ก็จะมีผู้กล่าวหาเขาได้ว่า ‘กุลบุตรผู้นี้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เหมือนคนกินผล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๓.ทุติยสัมปทาสูตร
มะเดื่อ‘๑ ถ้ากุลบุตรนี้มีรายรับมาก แต่เลี้ยงชีวิตอย่างฝืดเคือง ก็จะมีผู้กล่าวหาเขา
ได้ว่า ‘กุลบุตรผู้นี้จักตายอย่างไม่สมฐานะ’ แต่เพราะกุลบุตรนี้รู้ทางเจริญแห่ง
โภคทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีวิตแต่พอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก
ไม่ให้ฝืดเคืองนักด้วยคิดว่า ‘ด้วยการใช้จ่ายอย่างนี้ รายรับของเราจักเกินรายจ่าย
และรายจ่ายของเราจักไม่เกินรายรับ’ นี้เรียกว่า สมชีวิตา
สัทธาสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคตว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ๒ เป็นศาสดาของเทวดาและ
มนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ นี้เรียกว่า สัทธาสัมปทา
สีลสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ๓ เว้นขาดจากการเสพ
ของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท นี้เรียกว่า สีลสัมปทา
จาคสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน ฯลฯ๔ ควรแก่
การขอ ยินดีในการแจกทาน นี้เรียกว่า จาคสัมปทา
ปัญญาสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้มีปัญญา คือ ฯลฯ๕ ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
นี้เรียกว่า ปัญญาสัมปทา
ภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๘ ประการนี้แล
คนขยันหมั่นเพียรในการทำงาน
ไม่ประมาท รู้วิธีการเลี้ยงชีวิตแต่พอเหมาะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ อัฏฐกนิบาต ข้อ ๕๔ หน้า ๓๔๒ ในเล่มนี้
๒-๕ ดูข้อความเต็มในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๕๔ หน้า ๓๔๓-๓๔๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๗.อิจฉาสูตร
รักษาทรัพย์ที่หามาได้ เป็นผู้มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล
รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่
ชำระทางแห่งประโยชน์ที่มีในภพหน้าอยู่เป็นนิตย์
ที่พระพุทธเจ้าผู้มีพระนามว่าสัจจะตรัสธรรม ๘ ประการดังกล่าวมานี้
เพื่อผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธา
อันเป็นเหตุนำสุขมาให้ในโลกทั้ง ๒ คือ
ประโยชน์เกื้อกูลในภพนี้ และสุขในภพหน้า
จาคะ บุญนี้ย่อมเจริญยิ่งขึ้นแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้
ทุติยสัมปทาสูตรที่ ๖ จบ
๗. อิจฉาสูตร
ว่าด้วยความอยากได้ลาภ๑
[๗๗] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า “ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวดังนี้ว่า
“บุคคล ๘ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๘ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. เมื่อภิกษุในพระธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง
ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น เธอหมั่น พากเพียร พยายามเพื่อ
ให้ได้ลาภ เมื่อเธอหมั่น พากเพียร พยายามเพื่อให้ได้ลาภ แต่ลาภ
ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้ลาภนั้น เธอจึงเศร้าโศก ลำบากใจ ร่ำไร
ทุบอก คร่ำครวญ ถึงความเลอะเลือน ภิกษุนี้เราเรียกว่าผู้อยาก
ได้ลาภอยู่ หมั่น พากเพียร พยายามเพื่อให้ได้ลาภ เธอชื่อว่าเป็น
ผู้ไม่ได้ลาภ เศร้าโศก ร่ำไร และเคลื่อนจากพระสัทธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ดูอัฏฐกนิบาตข้อ ๖๑ (อิจฉาสูตร) หน้า ๓๕๕-๓๕๗ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๗.อิจฉาสูตร
๒. เมื่อภิกษุในพระธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง
ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น เธอหมั่น พากเพียร พยายาม
เพื่อให้ได้ลาภ เมื่อเธอหมั่น พากเพียร พยายามเพื่อให้ได้ลาภ
ลาภก็เกิดขึ้น เพราะได้ลาภนั้น เธอจึงมัวเมา ประมาท เลินเล่อ
ภิกษุนี้เราเรียกว่าผู้อยากได้ลาภอยู่ หมั่น พากเพียร พยายาม
เพื่อให้ได้ลาภ เธอชื่อว่าเป็นผู้ได้ลาภ มัวเมา ประมาท และเคลื่อน
จากพระสัทธรรม
๓. เมื่อภิกษุในพระธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง
ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น เธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร
ไม่พยายามเพื่อให้ได้ลาภ เมื่อเธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร
ไม่พยายามเพื่อให้ได้ลาภ ลาภก็ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้ลาภนั้น
เธอจึงเศร้าโศก ลำบากใจ ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ ถึงความ
เลอะเลือน ภิกษุนี้เราเรียกว่าผู้อยากได้ลาภอยู่ แต่ไม่หมั่น
ไม่พากเพียร ไม่พยายามเพื่อให้ได้ลาภ เธอชื่อว่าเป็นผู้ไม่ได้ลาภ
เศร้าโศก ร่ำไร และเคลื่อนจากพระสัทธรรม
๔. เมื่อภิกษุในพระธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง
ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น แต่เธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร
ไม่พยายามเพื่อให้ได้ลาภ เมื่อเธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายาม
เพื่อให้ได้ลาภ แต่ลาภก็เกิดขึ้น เพราะได้ลาภนั้น เธอจึงมัวเมา
ประมาท เลินเล่อ ภิกษุนี้เราเรียกว่าผู้อยากได้ลาภ แต่ไม่หมั่น
ไม่พากเพียร ไม่พยายามเพื่อให้ได้ลาภ เธอชื่อว่าเป็นผู้ได้ลาภ
มัวเมา ประมาท และเคลื่อนจากพระสัทธรรม
๕. เมื่อภิกษุในพระธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง
ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น เธอหมั่น พากเพียร พยายามเพื่อ
ให้ได้ลาภ เมื่อเธอหมั่น พากเพียร พยายามเพื่อให้ได้ลาภ แต่ลาภ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๗.อิจฉาสูตร
ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้ลาภนั้น เธอก็ไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ
ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความเลอะเลือน ภิกษุนี้เรา
เรียกว่าผู้อยากได้ลาภอยู่ หมั่น พากเพียร พยายามเพื่อให้ได้ลาภ
เธอชื่อว่าเป็นผู้ไม่ได้ลาภ ไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร และไม่เคลื่อนจาก
พระสัทธรรม
๖. เมื่อภิกษุในพระธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง
ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น เธอหมั่น พากเพียร พยายามเพื่อ
ให้ได้ลาภ เมื่อเธอหมั่น พากเพียร พยายามเพื่อให้ได้ลาภ ลาภก็
เกิดขึ้น เพราะได้ลาภนั้น เธอก็ไม่มัวเมา ไม่ประมาท ไม่เลินเล่อ
ภิกษุนี้เราเรียกว่าผู้อยากได้ลาภอยู่ หมั่น พากเพียร พยายามเพื่อ
ให้ได้ลาภ เธอชื่อว่าเป็นผู้ได้ลาภ ไม่มัวเมา ไม่ประมาท และไม่
เคลื่อนจากพระสัทธรรม
๗. เมื่อภิกษุในพระธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง
ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น แต่เธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายาม
เพื่อให้ได้ลาภ เมื่อเธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายามเพื่อให้
ได้ลาภ ลาภก็ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้ลาภนั้น เธอก็ไม่เศร้าโศก
ไม่ลำบากใจ ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความเลอะเลือน
ภิกษุนี้เราเรียกว่าผู้อยากได้ลาภอยู่ แต่ไม่หมั่น ไม่พากเพียร
ไม่พยายามเพื่อให้ได้ลาภ เธอชื่อว่าเป็นผู้ไม่ได้ลาภ ไม่เศร้าโศก
ไม่ร่ำไร และไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม
๘. เมื่อภิกษุในพระธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง
ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น แต่เธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร
ไม่พยายามเพื่อให้ได้ลาภ เมื่อเธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายาม
เพื่อให้ได้ลาภ แต่ลาภก็เกิดขึ้น เพราะได้ลาภนั้น เธอก็ไม่มัวเมา
ไม่ประมาท ไม่เลินเล่อ ภิกษุนี้เราเรียกว่าผู้อยากได้ลาภอยู่ แต่ไม่
หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายามเพื่อให้ได้ลาภ เธอชื่อว่าเป็นผู้ได้ลาภ
ไม่มัวเมา ไม่ประมาท และไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม
ผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคล ๘ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก”
อิจฉาสูตรที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๘.อลังสูตร
๘. อลังสูตร
ว่าด้วยผู้สามารถทำประโยชน์ตนและผู้อื่น๑
[๗๘] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ฯลฯ
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้มีความสามารถสำหรับ
ตนเอง และมีความสามารถสำหรับผู้อื่น
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. ใคร่ครวญได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย
๒. ทรงจำธรรมที่ฟังแล้วไว้ได้
๓. พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ได้
๔. รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
๕. มีวาจางาม เจรจาถ้อยคำไพเราะ ประกอบด้วยวาจาชาวเมืองที่
สละสลวยไม่หยาบคายให้รู้ความหมายได้
๖. ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับตนเอง และมีความสามารถสำหรับผู้อื่น
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับตนเอง และมีความสามารถสำหรับผู้อื่น
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. ใคร่ครวญไม่ได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่ทรงจำธรรมที่ฟังแล้วไว้ได้
๒. พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ได้

เชิงอรรถ :
๑ ดูอัฏฐกนิบาตข้อ ๖๒ (อลังสูตร) หน้า ๓๕๗-๓๖๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๘.อลังสูตร
๓. รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
๔. มีวาจางาม ฯลฯ ให้รู้ความหมายได้
๕. ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับตนเอง และมีความสามารถสำหรับผู้อื่น
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับตนเอง แต่ไม่มีความสามารถสำหรับผู้อื่น
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. ใคร่ครวญได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย
๒. ทรงจำธรรมที่ฟังแล้วไว้ได้
๓. พิจารณาเนื้อความธรรมที่ทรงจำไว้ได้ รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรม
สมควรแก่ธรรม
๔. ไม่มีวาจางาม ไม่เจรจาถ้อยคำไพเราะ ไม่ประกอบด้วยวาจา
ชาวเมืองที่สละสลวยไม่หยาบคายให้รู้ความหมายได้ ทั้งไม่ชี้แจงให้
เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ไม่ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ ไม่เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ไม่ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับตนเอง แต่ไม่มีความสามารถสำหรับผู้อื่น
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับผู้อื่น แต่ไม่มีความสามารถสำหรับตนเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๘.อลังสูตร
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. ใคร่ครวญได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย
๒. ทรงจำธรรมที่ฟังแล้วไว้ได้ แต่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรง
จำไว้ ทั้งไม่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
๓. มีวาจางาม เจรจาถ้อยคำไพเราะ ฯลฯ ให้รู้ความหมายได้
๔. ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ฯลฯ
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นผู้มีความ
สามารถสำหรับผู้อื่น แต่ไม่มีความสามารถสำหรับตนเอง
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับตนเอง แต่ไม่มีความสามารถสำหรับผู้อื่น
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. ใคร่ครวญไม่ได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่ทรงจำธรรมที่ฟังแล้วไว้ได้
๒. พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ได้
๓. รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่ไม่มีวาจางาม
ไม่เจรจาถ้อยคำไพเราะ ไม่ประกอบด้วยวาจาชาวเมืองที่สละสลวย
ไม่หยาบคาย ให้รู้ความหมายได้ ทั้งไม่ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารี
เห็นชัด ไม่ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ ไม่เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ไม่ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นผู้มีความ
สามารถสำหรับตนเอง แต่ไม่มีความสามารถสำหรับผู้อื่น
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับผู้อื่น แต่ไม่มีความสามารถสำหรับตนเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๘.อลังสูตร
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. ใคร่ครวญไม่ได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่ทรงจำธรรมที่ฟังแล้วไว้ได้
๒. ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ได้ ทั้งไม่รู้อรรถรู้ธรรมแล้ว
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มีวาจางาม ฯลฯ ให้รู้ความหมายได้
๓. ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับผู้อื่น แต่ไม่มีความสามารถสำหรับตนเอง
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับตนเอง แต่ไม่มีความสามารถสำหรับผู้อื่น
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. ใคร่ครวญไม่ได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งไม่ทรงจำธรรมที่ฟังแล้ว
ไว้ได้ แต่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ได้
๒. รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่ไม่มีวาจางาม ฯลฯ
ให้รู้ความหมายได้ไม่ ทั้งไม่ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ฯลฯ
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับตนเอง แต่ไม่มีความสามารถสำหรับผู้อื่น
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ เป็นผู้มีความสามารถ
สำหรับผู้อื่น แต่ไม่มีความสามารถสำหรับตนเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๙.ปริหานสูตร
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. ใคร่ครวญไม่ได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งไม่ทรงจำธรรมที่ฟังแล้ว
ไว้ได้ ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ได้ ไม่รู้อรรถรู้
ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่มีวาจางาม เจรจาถ้อยคำ
ไพเราะ ประกอบด้วยวาจาชาวเมืองที่สละสลวยไม่หยาบคายให้รู้
ความหมายได้
๒. ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญ แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล เป็นผู้มีความ
สามารถสำหรับผู้อื่น แต่ไม่มีความสามารถสำหรับตนเอง
อลังสูตรที่ ๘ จบ
๙. ปริหานสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้พระเสขะเสื่อม๑
[๗๙] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุ
ผู้เป็นเสขะ
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้ชอบการงาน
๒. ความเป็นผู้ชอบการพูดคุย
๓. ความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
๔. ความเป็นผู้ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่
๕. ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ดูสัตตกนิบาตข้อ ๒๘ (ปฐมปริหานิสูตร) หน้า ๔๓-๔๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๑๐.กุสีตารัมภวัตถุสูตร
๖. ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
๗. ความเป็นผู้ชอบธรรมเป็นเครื่องข้อง
๘. ความเป็นผู้ชอบปปัญจธรรม๑
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็นเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้
เป็นเสขะ
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้ไม่ชอบการงาน
๒. ความเป็นผู้ไม่ชอบการพูดคุย
๓. ความเป็นผู้ไม่ชอบการนอนหลับ
๔. ความเป็นผู้ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่
๕. ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
๖. ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค
๗. ความเป็นผู้ไม่ชอบธรรมเป็นเครื่องข้อง
๘. ความเป็นผู้ไม่ชอบปปัญจธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ
ผู้เป็นเสขะ
ปริหานสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. กุสีตารัมภวัตถุสูตร
ว่าด้วยเหตุแห่งความเกียจคร้านและเหตุปรารภความเพียร
[๘๐] ภิกษุทั้งหลาย กุสีตวัตถุ (เหตุแห่งความเกียจคร้าน) ๘ ประการนี้
กุสีตวัตถุ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้มีงานที่ต้องทำ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราจัก
ต้องทำงาน เมื่อเราทำงานอยู่ กายจักเมื่อยล้า อย่ากระนั้นเลย

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ อัฏฐกนิบาต ข้อ ๓๐ หน้า ๒๘๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๑๐.กุสีตารัมภวัตถุสูตร
เราจะนอน’ เธอจึงนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยัง
ไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำ
ให้แจ้ง นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่ ๑
๒. ภิกษุทำงานแล้ว เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราได้ทำงานแล้ว เมื่อ
เราทำงาน กายเมื่อยล้าแล้ว อย่ากระนั้นเลย เราจะนอน’ เธอจึง
นอนเสีย ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรม
ที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นกุสีตวัตถุ
ประการที่ ๒
๓. ภิกษุต้องเดินทาง เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราจักต้องเดินทาง เมื่อ
เราเดินทาง กายจักเมื่อยล้า อย่ากระนั้นเลย เราจะนอน’ เธอจึง
นอนเสีย ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุ
ธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็น
กุสีตวัตถุประการที่ ๓
๔. ภิกษุเดินทางแล้ว เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราเดินทางแล้ว เมื่อ
เราเดินทาง กายเมื่อยล้าแล้ว อย่ากระนั้นเลย เราจะนอน’ เธอจึง
นอนเสีย ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุ
ธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็น
กุสีตวัตถุประการที่ ๔
๕. ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตตามหมู่บ้านหรือนิคม ไม่ได้โภชนะเศร้าหมอง
หรือประณีตบริบูรณ์เพียงพอตามต้องการ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า
‘เราเที่ยวบิณฑบาตตามหมู่บ้านหรือนิคม ก็ไม่ได้โภชนะเศร้าหมอง
หรือประณีตบริบูรณ์เพียงพอตามต้องการ กายของเรานั้นเมื่อยล้าแล้ว
ไม่ควรแก่การงาน อย่ากระนั้นเลย เราจะนอน’ เธอจึงนอนเสีย
ไม่ปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่ ๕
๖. ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตตามหมู่บ้านหรือนิคม ได้โภชนะเศร้าหมอง
หรือประณีตบริบูรณ์เพียงพอตามต้องการ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๑๐.กุสีตารัมภวัตถุสูตร
‘เราเที่ยวบิณฑบาตตามหมู่บ้านหรือนิคม ได้โภชนะเศร้าหมองหรือ
ประณีตบริบูรณ์เพียงพอตามต้องการแล้ว กายของเรานั้นหนัก ไม่ควร
แก่การงาน เหมือนถั่วราชมาสชุ่มด้วยน้ำ อย่ากระนั้นเลย เรา
จะนอน’ เธอจึงนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็นกุสีตวัตถุ
ประการที่ ๖
๗. ภิกษุเกิดมีอาพาธขึ้นเล็กน้อย เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราเกิดมี
อาพาธขึ้นเล็กน้อยแล้ว มีข้ออ้างที่จะนอนได้ อย่ากระนั้นเลย
เราจะนอน’ เธอจึงนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็น
กุสีตวัตถุประการที่ ๗
๘. ภิกษุหายอาพาธแล้ว แต่หายอาพาธยังไม่นาน เธอมีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘เราหายอาพาธแล้ว แต่หายอาพาธยังไม่นาน กาย
ของเรานั้นยังอ่อนแอ ไม่ควรแก่การงาน อย่ากระนั้นเลย เรา
จะนอน’ เธอจึงนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยัง
ไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำ
ให้แจ้ง นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่ ๘
ภิกษุทั้งหลาย กุสีตวัตถุ ๘ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย อารัมภวัตถุ (เหตุปรารภความเพียร) ๘ ประการนี้
อารัมภวัตถุ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีงานที่ต้องทำ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราจัก
ต้องทำงาน เมื่อเราทำงาน การจะใส่ใจคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
มิใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราจะรีบปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรม
ที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่
ทำให้แจ้ง’ เธอจึงปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อ
บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็น
อารัมภวัตถุประการที่ ๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค ๑๐.กุสีตารัมภวัตถุสูตร
๒. ภิกษุทำงานแล้ว เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทำงานแล้ว
เมื่อทำงาน ก็ไม่สามารถที่จะใส่ใจคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้
อย่ากระนั้นเลย เราจะรีบปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง
เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง’
เธอจึงปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็นอารัมภวัตถุประการที่ ๒
๓. ภิกษุต้องเดินทาง เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจักต้องเดินทาง
การที่เราเดินทางอยู่จะใส่ใจคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามิใช่ทำได้ง่าย
อย่ากระนั้นเลย เราจะรีบปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็นอารัมภ-
วัตถุประการที่ ๓
๔. ภิกษุเดินทางแล้ว เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราเดินทางแล้ว
เมื่อเดินทาง ก็ไม่สามารถจะใส่ใจคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้
อย่ากระนั้นเลย เราจะรีบปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็นอารัมภ-
วัตถุประการที่ ๔
๕. ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตตามหมู่บ้านหรือนิคม ไม่ได้โภชนะเศร้าหมอง
หรือประณีตบริบูรณ์เพียงพอตามต้องการ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า
เราเที่ยวบิณฑบาตตามหมู่บ้านหรือนิคม ก็ไม่ได้โภชนะเศร้าหมอง
หรือประณีตบริบูรณ์เพียงพอตามต้องการ กายของเรานั้นเบา
ควรแก่การงาน อย่ากระนั้นเลย เราจะรีบปรารภความเพียร ฯลฯ
นี้เป็นอารัมภวัตถุประการที่ ๕
๖. ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตตามหมู่บ้านหรือนิคม ได้โภชนะเศร้าหมอง
หรือประณีตบริบูรณ์เพียงพอตามต้องการ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า
เราเที่ยวบิณฑบาตตามหมู่บ้านหรือนิคม ได้โภชนะเศร้าหมองหรือ
ประณีตบริบูรณ์เพียงพอตามต้องการแล้ว กายของเราเบา ควรแก่
การงาน อย่ากระนั้นเลย เราจะรีบปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็น
อารัมภวัตถุประการที่ ๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๓.ยมกวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๗. ภิกษุเกิดมีอาพาธขึ้นเล็กน้อย เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราเกิดมี
อาพาธขึ้นเล็กน้อยแล้ว เป็นไปได้ที่อาพาธของเราจะพึงรุนแรงขึ้น
อย่ากระนั้นเลย เราจะรีบปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็นอารัมภ-
วัตถุประการที่ ๗
๘. ภิกษุหายอาพาธแล้ว แต่หายอาพาธยังไม่นาน เธอมีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘เราหายอาพาธแล้ว แต่หายอาพาธยังไม่นาน เป็นไปได้
ที่อาพาธของเราจะพึงกลับกำเริบขึ้น อย่ากระนั้นเลย เราจะรีบ
ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่
บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง’ เธอจึงปรารภความเพียร
เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้ง
ธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นอารัมภวัตถุประการที่ ๘
ภิกษุทั้งหลาย อารัมภวัตถุ ๘ ประการนี้แล
กุสีตารัมภวัตถุสูตรที่ ๑๐ จบ
ยมกวรรคที่ ๓ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมสัทธาสูตร ๒. ทุติยสัทธาสูตร
๓. ปฐมมรณัสสติสูตร ๔. ทุติยมรณัสสติสูตร
๕. ปฐมสัมปทาสูตร ๖. ทุติยสัมปทาสูตร
๗. อิจฉาสูตร ๘. อลังสูตร
๙. ปริหานสูตร ๑๐. กุสีตารัมภวัตถุสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๔.สติวรรค ๑.สติสัมปชัญญสูตร
๔. สติวรรค
หมวดว่าด้วยสติสัมปชัญญะ
๑. สติสัมปชัญญสูตร
ว่าด้วยผลแห่งสติสัมปชัญญะ
[๘๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อสติสัมปชัญญะไม่มี หิริและ
โอตตัปปะของบุคคลผู้มีสติสัมปชัญญะวิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อหิริและ
โอตตัปปะไม่มี อินทรียสังวรของบุคคลผู้มีหิริและโอตตัปปะวิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูก
ขจัดแล้ว เมื่ออินทรียสังวรไม่มี ศีลของบุคคลผู้มีอินทรียสังวรวิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูก
ขจัดแล้ว เมื่อศีลไม่มี สัมมาสมาธิของบุคคลผู้มีศีลวิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว
เมื่อสัมมาสมาธิไม่มี ยถาภูตญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีสัมมาสมาธิวิบัติ ชื่อว่า
มีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะไม่มี นิพพิทาและวิราคะของบุคคล
ผู้มียถาภูตญาณทัสสนะวิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อนิพพิทาและวิราคะไม่มี
วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีนิพพิทาและวิราคะวิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ที่มีกิ่งและใบวิบัติแล้ว สะเก็ด เปลือก กระพี้ แม้แก่น
ของต้นไม้นั้น ย่อมไม่ถึงความบริบูรณ์ แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อสติสัมปชัญญะไม่มี หิริและโอตตัปปะของบุคคลผู้มี
สติสัมปชัญญะวิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อหิริและโอตตัปปะไม่มี อินทรีย-
สังวรของบุคคลผู้มีหิริและโอตตัปปะวิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว ฯลฯ วิมุตติ-
ญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีนิพพิทาและวิราคะวิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว ฉันนั้น
เหมือนกัน
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อสติสัมปชัญญะมี หิริและโอตตัปปะของบุคคลผู้สมบูรณ์
ด้วยสติสัมปชัญญะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อหิริและโอตตัปปะมี อินทรียสังวร
ของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่ออินทรียสังวรมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๔.สติวรรค ๒.ปุณณิยสูตร
ศีลของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรียสังวร ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อศีลมี สัมมาสมาธิ
ของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อสัมมาสมาธิมี ยถาภูต-
ญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสัมมาสมาธิ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อ
ยถาภูตญาณทัสสนะมี นิพพิทาและวิราคะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยยถาภูตญาณทัสสนะ
ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อนิพพิทาและวิราคะมี วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์
ด้วยนิพพิทาและวิราคะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
ภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ที่มีกิ่งและใบสมบูรณ์ สะเก็ด เปลือก กระพี้ แม้แก่นของ
ต้นไม้นั้น ย่อมถึงความบริบูรณ์ แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อสติสัมปชัญญะมี หิริและโอตตัปปะของบุคคลผู้สมบูรณ์
ด้วยสติสัมปชัญญะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อหิริและโอตตัปปะมี อินทรียสังวรของ
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ฯลฯ วิมุตติญาณทัสสนะ
ของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยนิพพิทาและวิราคะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ฉันนั้นเหมือนกัน”
สติสัมปชัญญะสูตรที่ ๑ จบ
๒. ปุณณิยสูตร
ว่าด้วยพระปุณณิยะ๑
[๘๒] ครั้งนั้น ท่านพระปุณณิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระธรรมเทศนาของ
พระตถาคตแจ่มแจ้งในบางคราว แต่ในบางคราว กลับไม่แจ่มแจ้ง”

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๘๓/๑๘๓-๑๘๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๔.สติวรรค ๓.มูลกสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ปุณณิยะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่ไม่เข้าไปหา
ธรรมเทศนาของตถาคตจึงไม่แจ่มแจ้ง แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและเข้าไปหา
เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตจึงแจ่มแจ้ง
ปุณณิยะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและเข้าไปหา แต่ไม่เข้าไปนั่งใกล้ ... เข้าไปนั่งใกล้
แต่ไม่สอบถาม ... สอบถาม แต่ไม่เงี่ยโสตฟังธรรม ... เงี่ยโสตฟังธรรม แต่ฟังธรรม
แล้วไม่ทรงจำธรรมไว้ได้ ... ฟังแล้วทรงจำไว้ได้ แต่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่
ทรงจำไว้ได้ ... พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ได้ แต่หาใช่รู้อรรถรู้ธรรมแล้ว
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ ธรรมเทศนาของตถาคตจึงไม่แจ่มแจ้ง
ปุณณิยะ แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา เข้าไปหา เข้าไปนั่งใกล้ สอบถาม
เงี่ยโสตฟังธรรม ฟังธรรมแล้วทรงจำธรรมไว้ พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้
เป็นผู้รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคต
จึงแจ่มแจ้ง
ปุณณิยะ ธรรมเทศนาของตถาคตประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล จึงแจ่ม
แจ้งโดยแท้”
ปุณณิยสูตรที่ ๒ จบ
๓. มูลกสูตร
ว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง๑
[๘๓] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอัญเดียรถีย์ปริพาชกถามอย่างนี้ว่า
๑. ธรรมทั้งปวง๒มีอะไรเป็นมูลเหตุ
๒. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นแดนเกิด
๓. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นเหตุเกิด
๔. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นที่ประชุม

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๕๘/๑๒๕
๒ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (องฺ.อฏฺฐก. ๓/๘๓/๒๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๔.สติวรรค ๓.มูลกสูตร
๕. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นประมุข
๖. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นใหญ่
๗. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นยิ่ง
๘. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นแก่น
เธอทั้งหลายถูกถามแล้วอย่างนี้ จะพึงตอบอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างไร
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาค
เป็นที่พึ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เฉพาะพระผู้มีพระภาคเท่านั้น
ที่จะทรงอธิบายเนื้อความแห่งภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งได้ ภิกษุทั้งหลายฟังต่อจาก
พระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจ
ให้ดี เราจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอัญเดียรถีย์ปริพาชกถามอย่างนี้ว่า
๑. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นมูล
๒. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นแดนเกิด
๓. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นเหตุเกิด
๔. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นที่ประชุม
๕. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นประมุข
๖. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นใหญ่
๗. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นยิ่ง
๘. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นแก่น
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบอัญเดียรถีย์ปริพาชก
เหล่านั้นอย่างนี้ว่า
๑. ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล
๒. ธรรมทั้งปวงมีมนสิการเป็นแดนเกิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๔.สติวรรค ๔.โจรสูตร
๓. ธรรมทั้งปวงมีผัสสะเป็นเหตุเกิด
๔. ธรรมทั้งปวงมีเวทนาเป็นที่ประชุม
๕. ธรรมทั้งปวงมีสมาธิเป็นประมุข
๖. ธรรมทั้งปวงมีสติเป็นใหญ่
๗. ธรรมทั้งปวงมีปัญญาเป็นยิ่ง
๘. ธรรมทั้งปวงมีวิมุตติเป็นแก่น
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบอัญเดียรถีย์ปริพาชก
เหล่านั้นอย่างนี้แล”
มูลกสูตรที่ ๓ จบ
๔. โจรสูตร
ว่าด้วยเหตุเสื่อมของมหาโจร
[๘๔] ภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ย่อมเสื่อม
อย่างเร็วพลัน ดำรงอยู่ได้ไม่นาน
องค์ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ทำร้ายคนที่ไม่โต้ตอบ ๒. ปล้นสิ่งของจนไม่เหลือ
๓. ฆ่าผู้หญิง ๔. ข่มขืนเด็กหญิง
๕. ปล้นนักบวช ๖. ปล้นท้องพระคลัง
๗. ปล้นใกล้ถิ่นเกินไป ๘. ไม่ฉลาดในการเก็บ

ภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล ย่อมเสื่อมอย่าง
เร็วพลัน ดำรงอยู่ได้ไม่นาน
ภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล ย่อมไม่เสื่อมอย่าง
เร็วพลัน ดำรงอยู่ได้นาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๔.สติวรรค ๕.สมณสูตร
องค์ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ไม่ทำร้ายคนที่ไม่โต้ตอบ ๒. ไม่ปล้นสิ่งของจนไม่เหลือ
๓. ไม่ฆ่าผู้หญิง ๔. ไม่ข่มขืนเด็กหญิง
๕. ไม่ปล้นนักบวช ๖. ไม่ปล้นท้องพระคลัง
๗. ไม่ปล้นใกล้ถิ่นเกินไป ๘. ฉลาดในการเก็บ

ภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล ย่อมไม่เสื่อมอย่าง
เร็วพลัน ดำรงอยู่ได้นาน
โจรสูตรที่ ๔ จบ
๕. สมณสูตร
ว่าด้วยพระนามของพระพุทธเจ้า
[๘๕] ภิกษุทั้งหลาย
๑. คำว่า สมณะ เป็นพระนามของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. คำว่า พราหมณ์ เป็นพระนามของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๓. คำว่า เวทคู เป็นพระนามของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๔. คำว่า ภิสักกะ เป็นพระนามของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๕. คำว่า นิมมละ เป็นพระนามของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๖. คำว่า วิมละ เป็นพระนามของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๗. คำว่า ญาณี เป็นพระนามของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๘. คำว่า วิมุตตะ เป็นพระนามของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
สิ่งใดที่ผู้เป็นสมณะ ผู้เป็นพราหมณ์
อยู่จบพรหมจรรย์พึงบรรลุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๔.สติวรรค ๖.ยสสูตร
สิ่งใดอันยอดเยี่ยม ที่ผู้จบเวท
ผู้เป็นศัลยแพทย์พึงบรรลุ
สิ่งใดที่ผู้หมดมลทิน
ผู้ปลอดมลทิน ผู้สะอาดพึงบรรลุ
สิ่งใดอันยอดเยี่ยม ที่ผู้ได้ญาณ
ผู้หลุดพ้นพึงบรรลุ
สิ่งนั้น ๆ เราบรรลุแล้ว
เรานั้นเป็นผู้ชนะสงคราม
เป็นผู้หลุดพ้น เปลื้องมหาชนจากเครื่องผูก
เราเป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้ฝึกตนได้อย่างยอดเยี่ยม
เป็นอเสขบุคคล ปรินิพพานแล้ว๑
สมณสูตรที่ ๕ จบ
๖. ยสสูตร
ว่าด้วยยศ๒
[๘๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์แคว้นโกศลชื่ออิจฉานังคละ ณ ที่
นั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ราวป่าชื่ออิจฉานังคละ ใกล้หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อ
อิจฉานังคละ

เชิงอรรถ :
๑ ปรินิพพานแล้ว ในที่นี้หมายถึงดับกิเลสได้แล้ว (องฺ.อฏฺฐก. ๓/๘๕/๒๘๒)
๒ ดู องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๓๐/๔๑-๔๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๔.สติวรรค ๖.ยสสูตร
พวกพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละได้ทราบข่าวว่า “ท่านพระสมณ-
โคดมศากยบุตรทรงออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จถึงบ้านอิจฉานังคละ ประทับอยู่
ที่ราวป่าอิจฉานังคละใกล้หมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออิจฉานังคละ ท่านพระสมณโคดม
พระองค์นั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ฯลฯ ก็การได้พบ
พระอรหันต์เช่นนี้เป็นความดีอย่างแท้จริง”
ครั้นคืนผ่านไป พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละจึงพากันถือเอาของ
เคี้ยวของฉันเป็นอันมากเข้าไปถึงราวป่าชื่ออิจฉานังคละ ได้ยืนชุมนุมกันส่งเสียงอื้ออึง
ที่ซุ้มประตูด้านนอก
สมัยนั้นแล ท่านพระนาคิตะเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค พระผู้มี
พระภาคได้รับสั่งเรียกท่านพระนาคิตะมาตรัสถามว่า “นาคิตะ คนพวกไหนส่งเสียง
อื้ออึงอยู่นั้นคล้ายพวกชาวประมงแย่งปลากัน”
ท่านพระนาคิตะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พราหมณ์และคหบดีชาว
บ้านอิจฉานังคละเหล่านั้นพากันถือของเคี้ยวของฉันเป็นอันมากมายืนชุมนุมกันอยู่ที่
ซุ้มประตูด้านนอกเพื่อถวายพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “นาคิตะ เราไม่ติดยศ และยศก็ไม่ติดเรา ผู้ใดแลไม่ได้
ตามความปรารถนา ไม่ได้โดยไม่ยาก ไม่ได้โดยไม่ลำบากซึ่งเนกขัมมสุข๑ ปวิเวกสุข
อุปสมสุข และสัมโพธิสุขที่เราได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากนี้

เชิงอรรถ :
๑ เนกขัมมสุข หมายถึงสุขเกิดจากบรรพชา(การบวช)
ปวิเวกสุข หมายถึงสุขเกิดจากความสงัดจากอุปธิกิเลสทางกายและใจ
อุปสมสุข หมายถึงสุขในผลสมาบัติที่ให้กิเลสสงบระงับ
สัมโพธิสุข หมายถึงสุขในอริยมรรค (ขุ.จู.อ. ๑๔๐/๑๓๓) และดู ม.อุ. ๑๔/๓๒๘/๓๐๐, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๐/
๔๕๑ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๔.สติวรรค ๖.ยสสูตร
ผู้นั้นชื่อว่ายินดีสุขที่ไม่สะอาด สุขในการนอนหลับ และสุขที่อิงอาศัยลาภสักการะและ
การสรรเสริญ”
ท่านพระนาคิตะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาค
ผู้สุคตจงทรงรับ บัดนี้ เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคจะทรงรับ พระองค์จักเสด็จไป
ทางใด ๆ พราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม และชาวชนบทก็จักหลั่งไหลไปทางนั้น ๆ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงมา น้ำย่อมไหลไปตามที่ลุ่ม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระผู้มีพระภาคทรงมีศีลและปัญญา”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “นาคิตะ เราไม่ติดยศ และยศก็ไม่ติดเรา ผู้ใดแลไม่
ได้ตามความปรารถนา ไม่ได้โดยไม่ยาก ไม่ได้โดยไม่ลำบากซึ่งเนกขัมมสุข ฯลฯ
ที่เราได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากนี้ ผู้นั้นชื่อว่ายินดีสุขที่
ไม่สะอาด สุขในการนอนหลับ สุขที่อิงอาศัยลาภสักการะและการสรรเสริญ
นาคิตะ แม้แต่เทวดาบางพวกก็ไม่ได้ตามความปรารถนา ไม่ได้โดยไม่ยาก
ไม่ได้โดยไม่ลำบากซึ่งเนกขัมมสุข ฯลฯ ที่เราได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก
ได้โดยไม่ลำบากนี้ นาคิตะ แม้แต่พวกเธอมาประชุมพร้อมหน้ากัน หมั่นประกอบ
การอยู่คลุกคลีอยู่ ก็มีความคิดอย่างนี้ว่า ท่านเหล่านี้ไม่ได้ตามความปรารถนา
ไม่ได้โดยไม่ยาก ไม่ได้โดยไม่ลำบากซึ่งเนกขัมมสุข ฯลฯ ที่เราได้ตามความปรารถนา
ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากนี้ เพราะท่านเหล่านั้นมาประชุมพร้อมหน้ากัน
หมั่นประกอบการอยู่คลุกคลีอยู่
๑. เราเห็นภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ใช้นิ้วจี้สัพยอกเล่นหัวกันอยู่ เรานั้น
มีความคิดอย่างนี้ว่า ท่านเหล่านี้ไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่ได้
โดยไม่ยาก ไม่ได้โดยไม่ลำบากซึ่งเนกขัมมสุข ฯลฯ ที่เราได้ตามความ
ปรารถนา ฯลฯ เพราะท่านเหล่านี้ใช้นิ้วจี้สัพยอกเล่นหัวกันอยู่
๒. เราเห็นภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ฉันอาหารตามต้องการจนอิ่มท้อง
แล้ว หมั่นประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอกเขนก
และความสุขในการหลับอยู่ เรานั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ท่านเหล่านี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๔.สติวรรค ๖.ยสสูตร
ไม่ได้ตามความปรารถนา ไม่ได้โดยไม่ยาก ไม่ได้โดยไม่ลำบากซึ่ง
เนกขัมมสุข ฯลฯ ที่เราได้ตามความปรารถนา ฯลฯ เพราะท่าน
เหล่านี้ฉันอาหารตามต้องการจนอิ่มท้องแล้ว หมั่นประกอบความสุข
ในการนอน ความสุขในการเอกเขนก และความสุขในการหลับอยู่
๓. เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ผู้อยู่ในเสนาสนะใกล้หมู่บ้าน มีสมาธินั่งอยู่
เรามีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ คนวัด หรือสมณุทเทส๑จักบำรุง
ท่านผู้นี้ จักทำให้ท่านเคลื่อนจากสมาธิ’ เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่
ยินดี การอยู่ในเสนาสนะใกล้หมู่บ้านของภิกษุนั้น
๔. เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ผู้อยู่ป่าเป็นวัตร นั่งโงกง่วงอยู่ในป่า เรา
มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ ท่านผู้นี้จักบรรเทาความลำบากคือ
การหลับนี้แล้วมนสิการความกำหนดหมายว่าป่าเป็นเอกัคคตารมณ์’
เพราะเหตุนั้น เราจึงยินดีการอยู่ในป่าของภิกษุนั้น
๕. เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ไม่มีสมาธินั่งอยู่ในป่า
เรามีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ ท่านผู้นี้จักตั้งจิตที่ไม่เป็นสมาธิให้
เป็นสมาธิ หรือจักตามรักษาจิตที่เป็นสมาธิไว้’ เพราะเหตุนั้น
เราจึงยินดีการอยู่ในป่าของภิกษุนั้น
๖. เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ผู้อยู่ป่าเป็นวัตร มีสมาธินั่งอยู่ในป่า
เรามีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ ท่านผู้นี้จักเปลื้องจิตที่ยังไม่หลุดพ้น
ให้หลุดพ้น หรือจักตามรักษาจิตที่หลุดพ้นแล้วไว้ได้’ เพราะเหตุนั้น
เราจึงยินดีการอยู่ในป่าของภิกษุนั้น
๗. เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ผู้อยู่ในเสนาสนะใกล้หมู่บ้าน ได้จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร เธอพอใจลาภ
สักการะและการสรรเสริญนั้น ละทิ้งการหลีกเร้น ละทิ้งเสนาสนะ
อันสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เข้ามารวมกันอยู่ตามหมู่บ้าน ตำบล

เชิงอรรถ :
๑ สมณุทเทส หมายถึงสามเณร (วิ.มหา. (แปล) ๒/๔๓๐/๕๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๔.สติวรรค ๗.ปัตตนิกุชชนสูตร
และเมืองหลวง’ เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่ยินดีการอยู่ในเสนาสนะ
ใกล้หมู่บ้านของภิกษุนั้น
๘. เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ได้จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร เธอสลัดลาภสักการะ
และการสรรเสริญนั้น ไม่ละทิ้งการหลีกเร้น ไม่ละทิ้งเสนาสนะอัน
สงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ’ เพราะเหตุนั้น เราจึงยินดีการอยู่ในป่า
ของภิกษุนั้น
สมัยใด เราเดินทางไกล ไม่เห็นใคร ๆ ข้างหน้า หรือข้างหลัง สมัยนั้น
เราย่อมมีความผาสุก โดยที่สุด แม้แต่การถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ”
ยสสูตรที่ ๖ จบ
๗. ปัตตนิกุชชนสูตร
ว่าด้วยเหตุแห่งการคว่ำบาตรและหงายบาตร
[๘๗] ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์เมื่อมุ่งหวัง พึงคว่ำบาตร๑ต่ออุบาสกผู้ประกอบ
ด้วยองค์ ๘ ประการ
องค์ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ลาภของภิกษุทั้งหลาย
๒. ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ประโยชน์ของภิกษุทั้งหลาย
๓. ขวนขวายเพื่อความอยู่ไม่ได้ของภิกษุทั้งหลาย
๔. ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลาย
๕. ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน
๖. กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า

เชิงอรรถ :
๑ คว่ำบาตร ในที่นี้หมายถึงการสวดกรรมวาจาเพื่อไม่รับไทยธรรมของอุบาสกผู้ประพฤติผิดต่อสงฆ์ มิใช่
หมายถึงคว่ำปากบาตรลง (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๘๗/๒๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๔.สติวรรค ๘.อัปปสาทปเวทนียสูตร
๗. กล่าวติเตียนพระธรรม
๘. กล่าวติเตียนพระสงฆ์
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์เมื่อมุ่งหวัง พึงคว่ำบาตรต่ออุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์
๘ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์เมื่อมุ่งหวัง พึงหงายบาตรต่ออุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์
๘ ประการ
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ลาภของภิกษุทั้งหลาย
๒. ไม่ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ประโยชน์ของภิกษุทั้งหลาย
๓. ไม่ขวนขวายเพื่อความอยู่ไม่ได้ของภิกษุทั้งหลาย
๔. ไม่ด่าไม่บริภาษภิกษุทั้งหลาย
๕. ไม่ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน
๖. กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า
๗. กล่าวสรรเสริญพระธรรม
๘. กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์เมื่อมุ่งหวัง พึงหงายบาตรต่ออุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์
๘ ประการนี้แล
ปัตตนิกุชชนสูตรที่ ๗ จบ
๘. อัปปสาทปเวทนียสูตร
ว่าด้วยเหตุที่ควรประกาศว่าไม่ควรเลื่อมใส
[๘๘] ภิกษุทั้งหลาย อุบาสกเมื่อมุ่งหวัง พึงประกาศความไม่เลื่อมใสต่อภิกษุ
ผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ลาภของคฤหัสถ์ทั้งหลาย
๒. ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ประโยชน์ของคฤหัสถ์ทั้งหลาย
๓. ด่าบริภาษคฤหัสถ์ทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๔.สติวรรค ๘.อัปปสาทปเวทนียสูตร
๔. ยุยงคฤหัสถ์ทั้งหลายให้แตกกัน
๕. กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
๖. กล่าวติเตียนพระธรรม
๗. กล่าวติเตียนพระสงฆ์
๘. อุบาสกทั้งหลายเห็นภิกษุนั้นในอโคจร
ภิกษุทั้งหลาย อุบาสกเมื่อมุ่งหวัง พึงประกาศความไม่เลื่อมใสต่อภิกษุผู้
ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย อุบาสกเมื่อมุ่งหวัง พึงประกาศความเลื่อมใสต่อภิกษุผู้ประกอบ
ด้วยธรรม ๘ ประการ
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ลาภของคฤหัสถ์ทั้งหลาย
๒. ไม่ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ประโยชน์ของคฤหัสถ์ทั้งหลาย
๓. ไม่ด่าไม่บริภาษคฤหัสถ์ทั้งหลาย
๔. ไม่ยุยงคฤหัสถ์ทั้งหลายให้แตกกัน
๕. กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า
๖. กล่าวสรรเสริญพระธรรม
๗. กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์
๘. อุบาสกทั้งหลายเห็นภิกษุนั้นในโคจร
ภิกษุทั้งหลาย อุบาสกเมื่อมุ่งหวัง พึงประกาศความเลื่อมใสต่อภิกษุผู้ประกอบ
ด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล
อัปปสาทปเวทนียสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๔.สติวรรค ๙.ปฏิสารณียสูตร
๙. ปฏิสารณียสูตร
ว่าด้วยเหตุที่ควรลงปฏิสารณียกรรม
[๘๙] ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์เมื่อมุ่งหวัง พึงลงปฏิสารณียกรรม๑ต่อภิกษุผู้ประกอบ
ด้วยธรรม ๘ ประการ
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ลาภของคฤหัสถ์ทั้งหลาย
๒. ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ประโยชน์ของคฤหัสถ์ทั้งหลาย
๓. ด่าบริภาษคฤหัสถ์ทั้งหลาย
๔. ยุยงคฤหัสถ์ทั้งหลายให้แตกกัน
๕. กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
๖. กล่าวติเตียนพระธรรม
๗. กล่าวติเตียนพระสงฆ์
๘. รับคำที่ชอบธรรมของคฤหัสถ์แต่ไม่ทำตาม
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์เมื่อมุ่งหวัง พึงลงปฏิสารณียกรรมต่อภิกษุผู้ประกอบ
ด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์เมื่อมุ่งหวัง พึงระงับปฏิสารณียกรรมต่อภิกษุผู้ประกอบ
ด้วยธรรม ๘ ประการ
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ลาภของคฤหัสถ์ทั้งหลาย
๒. ไม่ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ประโยชน์ของคฤหัสถ์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ดู วิ.จู. (แปล) ๖/๓๙/๗๗-๗๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๔.สติวรรค ๑๐.สัมมาวัตตนสูตร
๓. ไม่ด่าไม่บริภาษคฤหัสถ์ทั้งหลาย
๔. ไม่ยุยงคฤหัสถ์ทั้งหลายให้แตกกัน
๕. กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า
๖. กล่าวสรรเสริญพระธรรม
๗. กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์
๘. รับคำที่ชอบธรรมของคฤหัสถ์แล้วทำตาม
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์เมื่อมุ่งหวัง พึงระงับปฏิสารณียกรรมต่อภิกษุผู้ประกอบ
ด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล
ปฏิสารณียสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. สัมมาวัตตนสูตร
ว่าด้วยการประพฤติชอบ
[๙๐] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงตัสสปาปิยสิกากรรม๑แล้ว พึงประพฤติ
ชอบในธรรม ๘ ประการ คือ
๑. ไม่พึงให้อุปสมบท
๒. ไม่พึงให้นิสสัย
๓. ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก
๔. ไม่พึงรับสมมติเป็นผู้สั่งสอนภิกษุณี
๕. แม้ได้รับสมมติแล้วก็ไม่พึงสั่งสอนภิกษุณี

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ สัตตกนิบาต ข้อ ๘๔ หน้า ๑๗๙-๑๘๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๔.สติวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๖. ไม่พึงรับสมมติอะไร ๆ จากสงฆ์
๗. ไม่พึงดำรงอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าอะไร ๆ
๘. ไม่พึงให้ประพฤติวุฏฐานวิธีเพราะตำแหน่งเดิมนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงตัสสปาปิยสิกากรรมแล้ว พึงประพฤติชอบใน
ธรรม ๘ ประการนี้แล
สัมมาวัตตนสูตรที่ ๑๐ จบ
สติวรรคที่ ๔ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สติสัมปชัญญสูตร ๒. ปุณณิยสูตร
๓. มูลกสูตร ๔. โจรสูตร
๕. สมณสูตร ๖. ยสสูตร
๗. ปัตตนิกุชชนสูตร ๘. อัปปสาทปเวทนียสูตร
๙. ปฏิสารณียสูตร ๑๐. สัมมาวัตตนสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์] ๕.สามัญญวรรค
๕. สามัญญวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมที่เหมือนกัน๑
[๙๑-๑๑๖] โพชฌาอุบาสิกา สิริมาอุบาสิกา ปทุมาอุบาสิกา สุธัมมา
อุบาสิกา มนุชาอุบาสิกา อุตตราอุบาสิกา มุตตาอุบาสิกา เขมาอุบาสิกา
รุจีอุบาสิกา จุนทีราชกุมารี พิมพีอุบาสิกา สุมนาราชกุมารี มัลลิกาเทวี
ติสสาอุบาสิกา ติสสมาตาอุบาสิกา โสณาอุบาสิกา โสณมาตาอุบาสิกา
กาณาอุบาสิกา กาณมาตาอุบาสิกา อุตตรานันทมาตาอุบาสิกา วิสาขามิคาร-
มาตาอุบาสิกา ขุชชุตตราอุบาสิกา สามาวดีอุบาสิกา สุปวาสาโกฬิยธิดา
สุปปิยาอุบาสิกา นกุลมาตาคหปตานี [๑-๒๖]
สามัญญวรรคที่ ๕ จบ
ทุติยปัณณาสก์ จบ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงวรรคที่ว่าด้วยองค์อุโบสถ ๘ เหมือนกัน (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๙๑/๒๘๔) ดูความเต็มของแต่ละสูตรเทียบ
ในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๔๓ (วิสาขาสูตร) หน้า ๓๐๙-๓๑๒ และข้อ ๔๕ (โพชฌาสูตร) หน้า ๓๑๔-๓๑๗
ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ราคเปยยาล
ราคเปยยาล
[๑๑๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเจริญธรรม ๘ ประการ เพื่อรู้ยิ่งราคะ
(ความกำหนัด)
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

[๑๑๘] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเจริญธรรม ๘ ประการ เพื่อรู้ยิ่งราคะ (๑)
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุรูปหนึ่งมีรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอก ขนาดเล็ก มีสีสัน
ดีหรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้
เราเห็น’
๒. ภิกษุรูปหนึ่งมีรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอก ขนาดใหญ่ มีสีสัน
ดีหรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้
เราเห็น’
๓. ภิกษุรูปหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอก ขนาดเล็ก มีสีสัน
ดีหรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้
เราเห็น’
๔. ภิกษุรูปหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอก ขนาดใหญ่
มีสีสันดีหรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้
เราเห็น’
๕. ภิกษุรูปหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอกที่เขียว มีสีเขียว
เปรียบด้วยของเขียว มีสีเขียวเข้ม ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญา
อย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’
๖. ภิกษุรูปหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอกที่เหลือง มีสี
เหลือง เปรียบด้วยของเหลือง มีสีเหลืองเข้ม ครอบงำรูปเหล่านั้นได้
มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ราคเปยยาล
๗. ภิกษุรูปหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอกที่แดง มีสีแดง
เปรียบด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญา
อย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’
๘ ภิกษุรูปหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอกที่ขาว มีสีขาว
เปรียบด้วยของขาว มีสีขาวเข้ม ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญา
อย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเจริญธรรม ๘ ประการนี้ เพื่อรู้ยิ่งราคะ (๒)
[๑๑๙] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเจริญธรรม ๘ ประการ เพื่อรู้ยิ่งราคะ
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุผู้มีรูป เห็นรูปทั้งหลาย
๒. ภิกษุผู้มีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอก
๓. ภิกษุเป็นผู้น้อมใจไปว่า ‘งาม’ เท่านั้น
๔. ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน โดยกำหนดว่า ‘อากาศหา
ที่สุดมิได้’ อยู่ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนด
นานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง
๕. ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌาน โดยประการทั้งปวง บรรลุ
วิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่
๖. ภิกษุล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
อากิญจัญญายตนฌาน โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่
๗. ภิกษุล่วงอากิญจัญญายตนฌาน โดยประการทั้งปวง บรรลุ
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่
๘. ภิกษุล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
สัญญาเวทยิตนิโรธอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเจริญธรรม ๘ ประการนี้ เพื่อรู้ยิ่งราคะ (๓)
[๑๒๐-๑๔๖] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเจริญธรรม ๘ ประการ เพื่อกำหนดรู้ราคะ
... เพื่อความสิ้นราคะ
... เพื่อละราคะ
... เพื่อความสิ้นไปแห่งราคะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๒๓ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น