Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๕-๗ หน้า ๓๙๓ - ๔๕๗

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕-๗ สุตตันตปิฎกที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๗. นิพพานธาตุสูตร
สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่
ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว๑ บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภว-
สังโยชน์แล้ว๒ หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ เพราะอินทรีย์ ๕ ที่ยังคงอยู่ ไม่ดับไป ภิกษุ
นั้นจึงประสบอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ เสวยสุขและทุกข์อยู่ ภิกษุทั้งหลาย
ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะของภิกษุนั้น เราเรียกว่า สอุปาทิเสส-
นิพพานธาตุ
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจ
ที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภว-
สังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ ภิกษุทั้งหลาย เวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้
นั่นแลของภิกษุนั้น อันตัณหาเป็นต้นให้เพลิดเพลินไม่ได้ต่อไปแล้ว จักระงับดับสนิท
ภิกษุทั้งหลาย สภาวะดังกล่าวนี้ เราเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ตถาคตผู้มีพระจักษุ๓ ไม่ทรงอิงอาศัยสิ่งใด ๆ
ผู้คงที่ ทรงประกาศนิพพานธาตุไว้ ๒ ประการนี้ คือ

เชิงอรรถ :
๑ ปลงภาระได้แล้ว หมายถึงปลงขันธภาระได้ ปลงกิเลสภาระได้ และปลงอภิสังขารภาระได้ (ขุ.อิติ.อ. ๔๔/
๑๘๙)
๒ สิ้นภวสังโยชน์ หมายถึงสิ้นกิเลสที่เป็นเครื่องผูกสัตว์ คร่าสัตว์มาไว้ในภพทั้งหลาย (ขุ.อิติ.อ. ๔๔/๑๘๙)
๓ หมายถึงจักษุ ๕ ประการ คือ (๑) พุทธจักษุ (ตาพระพุทธเจ้า) (๒) มังสจักษุ (ตาเนื้อ) (๓) ทิพพจักษุ (ตาทิพย์)
(๔) ปัญญาจักษุ (ตาปัญญา) (๕) สมันตจักษุ (ตาเห็นรอบ) (ดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๒๔, ขุ.อิติ.อ.
๔๔/๑๙๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๘. ปฏิสัลลานสูตร
นิพพานธาตุประการหนึ่ง เป็นสภาวะมีให้เห็นในอัตภาพนี้
ชื่อว่าสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาที่นำไปสู่ภพ
ส่วนนิพพานธาตุอีกประการหนึ่ง เป็นสภาวะมีในภายภาคหน้า
ชื่อว่าอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
เป็นที่ดับสนิทแห่งภพทั้งหลายได้โดยสิ้นเชิง
ชนทั้งหลายผู้รู้ที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่งนี้แล้ว
มีจิตหลุดพ้นเพราะความสิ้นไปแห่งภวเนตติ๑
ยินดียิ่งในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งกิเลส เพราะบรรลุธรรมเป็นสาระ
เป็นผู้คงที่ ละภพทั้งปวงได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
นิพพานธาตุสูตรที่ ๗ จบ
๘. ปฏิสัลลานสูตร
ว่าด้วยการหลีกเร้น
[๔๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้พอใจในการหลีกเร้น ยินดีในการ
หลีกเร้น หมั่นประกอบความสงบแห่งจิตภายใน ไม่ห่างจากฌาน ประกอบด้วย
วิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง๒] เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ภวเนตติ เป็นชื่อของตัณหา หมายถึงเชือกผูกสัตว์ไว้ในภพ(ภวรชฺชุ) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑/๒๗๙)
๒ เพิ่มพูนเรือนว่าง ในที่นี้หมายถึงการเรียนสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วไปยังเรือนว่าง นั่งอยู่
ตลอดวันและคืน เจริญอธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา (องฺ.ทสก.อ. ๓/๗๑/๓๕๗, ม.มู.อ. ๑/๖๕/๑๖๙,
ขุ.อิติ.อ. ๔๕/๑๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๙. สิกขานิสังสสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายพอใจในการหลีกเร้น ยินดีในการหลีกเร้น
หมั่นประกอบความสงบแห่งจิตภายใน ไม่ห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา
เพิ่มพูนเรือนว่างอยู่ พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ชนทั้งหลายมีจิตสงบแล้ว มีปัญญารักษาตน
มีสติ เพ่งพินิจอยู่ ไม่ไยดีในกามทั้งหลาย
ย่อมเห็นแจ้งธรรมโดยชอบ
เป็นผู้ยินดีในความไม่ประมาท
มีปกติเห็นภัยในความประมาท
เป็นผู้ไม่ควรเสื่อม ดำรงอยู่ใกล้นิพพานทีเดียว
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฏิสัลลานสูตรที่ ๘ จบ
๙. สิกขานิสังสสูตร
ว่าด้วยผู้มีสิกขาเป็นอานิสงส์
[๔๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีสิกขา๑ เป็นอานิสงส์ มีปัญญา๒
เป็นเยี่ยม มีวิมุตติ๓เป็นแก่นสาร มีสติเป็นใหญ่๔อยู่เถิด

เชิงอรรถ :
๑ สิกขา ในที่นี้หมายถึงสิกขา ๓ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา (ขุ.อิติ.อ. ๔๖/๑๙๔)
๒ ปัญญา ในที่นี้หมายถึงอธิปัญญาสิกขา (ขุ.อิติ.อ. ๔๖/๙๔)
๓ วิมุตติ ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.อิติ.อ. ๔๖/๑๙๔)
๔ สติเป็นใหญ่ หมายถึงมีจิตตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ (ขุ.อิติ.อ. ๔๖/๑๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๙. สิกขานิสังสสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายเป็นผู้มีสิกขาเป็นอานิสงส์ มีปัญญาเป็นเยี่ยม
มีวิมุตติเป็นแก่นสาร มีสติเป็นใหญ่อยู่ พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ
อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
เราเรียกมุนีผู้มีสิกขาบริบูรณ์ ไม่มีธรรมที่ต้องละ
มีปัญญาเป็นเยี่ยม มีปกติเห็นที่สุดคือภาวะที่สิ้นสุดแห่งชาติ
ทรงไว้ซึ่งร่างกายสุดท้ายนั้นแลว่า
เป็นผู้ละมาร เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งชรา๑
เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายจงเป็นผู้ยินดีในฌาน
เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นทุกเมื่อ มีความเพียร
มีปกติเห็นที่สุดคือภาวะที่สิ้นสุดแห่งชาติ
ครอบงำมารพร้อมทั้งเสนามารได้
เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งชาติและมรณะได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สิกขานิสังสสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ อิติวุตตกะข้อ ๓๙ หน้า ๓๘๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๐. ชาคริยสูตร
๑๐. ชาคริยสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ตื่นอยู่
[๔๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้ตื่น๑ อยู่อย่างมีสติ มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น
เบิกบาน ผ่องใส และควรเป็นผู้เห็นแจ้งสมควรแก่กาลในกุศลธรรมทั้งหลาย ในการ
ประกอบเนือง ๆ ซึ่งกัมมัฏฐานนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเป็นผู้ตื่น อยู่อย่างมีสติ มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น
เบิกบาน ผ่องใส และเป็นผู้เห็นแจ้งสมควรแก่กาลในกุศลธรรมทั้งหลาย ในการ
ประกอบกัมมัฏฐานนั้นอยู่ พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผล
ในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
เธอทั้งหลายที่หลับอยู่ จงรีบตื่น
ที่ตื่นอยู่ จงฟังคำของเรานี้
ความเป็นผู้ตื่นจากความหลับเป็นคุณประเสริฐ
เพราะภัย๒ย่อมไม่มีแก่ผู้ตื่นอยู่

เชิงอรรถ :
๑ เป็นผู้ตื่น หมายถึงเป็นผู้มีความเพียรเป็นเครื่องตื่น (ขุ.อิติ.อ. ๔๗/๑๙๖)
๒ ภัย ในที่นี้หมายถึง (๑) อัตตานุวาทภัย (ภัยเกิดจากการติเตียนตนเอง) (๒) ปรานุวาทภัย (ภัยเกิดจาก
การถูกผู้อื่นติเตียน) (๓) ทัณฑภัย (ภัยเกิดจากการถูกลงอาชญา) (๔) ทุคคติภัย (ภัยเกิดจากทุคติ) และ
(๕) วัฏฏภัยมีชาติ เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๔๗/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๑. อาปายิกสูตร
ผู้ที่ตื่นอยู่ มีสติสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น
เบิกบาน ผ่องใส พิจารณาธรรมโดยชอบตามกาลที่เหมาะสม
มีสมาธิเป็นธรรมผุดขึ้น๑ พึงกำจัดความมืดได้
เพราะฉะนั้นแล ภิกษุควรประพฤติธรรมเป็นเหตุให้ตื่น
มีความเพียร มีปัญญารักษาตน มีปกติได้ฌาน
ตัดสังโยชน์ในชาติและชราได้แล้ว
ก็จะบรรลุสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในอัตภาพนี้แน่นอน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ชาคริยสูตรที่ ๑๐ จบ
๑๑. อาปายิกสูตร
ว่าด้วยคนผู้จะเกิดในอบาย
[๔๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้ จะเกิดในอบาย จะเกิดในนรก เพราะไม่ละ
ความประพฤติชั่วนี้
คน ๒ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. คนที่ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญญาว่า ประพฤติพรหมจรรย์
๒. คนที่ชอบโจทผู้ประพฤติพรหมจรรย์อย่างบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ด้วย
อพรหมจรรย์อันไม่มีมูล

เชิงอรรถ :
๑ สมาธิเป็นธรรมผุดขึ้น หมายถึงสัมมัปปธานที่ให้สำเร็จกิจ ๔ (ขุ.อิติ.อ. ๔๗/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๑. อาปายิกสูตร
ภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้แล จะเกิดในอบาย จะเกิดในนรก เพราะไม่ละ
ความประพฤติชั่วนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
คนที่ชอบกล่าวคำไม่จริง
หรือคนที่ทำความชั่วแล้วกล่าวว่า
“ฉันไม่ได้ทำ” ต่างก็ตกนรก
คน ๒ จำพวกนั้น ต่างก็มีกรรมชั่ว
ตายไปแล้ว มีคติเท่าเทียมกันในโลกหน้า๑
ภิกษุชั่วจำนวนมากมีผ้ากาสาวะพันที่คอ
มีธรรมเลวทราม ไม่สำรวม
ย่อมตกนรกเพราะบาปกรรมทั้งหลาย
การกลืนกินก้อนเหล็กแดงที่ร้อนดุจเปลวเพลิง
ยังดีกว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีลไม่สำรวม
บริโภคอาหารที่ชาวบ้านเขาถวาย๒
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อาปายิกสูตรที่ ๑๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู ธรรมบท ข้อ ๓๐๖ หน้า ๑๒๘, อุทาน ข้อ ๓๘ หน้าที่ ๒๔๘, สุตตนิบาต ข้อ ๖๖๗ หน้า ๖๕๙ ในเล่มนี้
๒ ดูธรรมบทข้อ ๓๐๗-๓๐๘ หน้า ๑๒๙, อิติวุตตกะข้อ ๙๑ หน้า ๔๖๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๒. ทิฏฐิคตสูตร
๑๒. ทิฏฐิคตสูตร
ว่าด้วยทิฏฐิ
[๔๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์ต่างก็ถูกทิฏฐิ ๒ อย่างครอบงำ คือ เทวดา
และมนุษย์พวกหนึ่งยึดติดอยู่๑ เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งแล่นเลยไป๒ ส่วนเทวดา
และมนุษย์ผู้มีปัญญาจักษุ ย่อมเห็นตามความเป็นจริง
เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งยึดติดอยู่ เป็นอย่างไร
คือ เทวดาและมนุษย์พอใจ ยินดี เพลิดเพลินอยู่ในภพ เมื่อตถาคตแสดงธรรม
เพื่อความดับแห่งภพ จิตของเทวดาและมนุษย์นั้นย่อมไม่ยอมรับ ไม่เลื่อมใส
ไม่ตั้งมั่น ไม่น้อมใจเชื่อ เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งยึดติดอยู่ เป็นอย่างนี้แล
เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งแล่นเลยไป เป็นอย่างไร
คือ เทวดาและมนุษย์อึดอัด ระอา รังเกียจ ไม่ยินดีภพนั่นแล จึงหลงเพลิดเพลิน
ความขาดสูญโดยทำนองว่า ท่านทั้งหลาย ทราบว่า อัตตาของเรานี้ เมื่อตายไป
ย่อมขาดสูญพินาศไป หลังจากตายแล้วจะไม่ต้องกลับมาเกิดอีก ชื่อว่าเป็นธรรมชาติ
สงบ ประณีต ถ่องแท้ เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งแล่นเลยไป เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ พวกหนึ่งยึดติดอยู่ หมายถึงพวกสัสสตทิฏฐิ (ขุ.อิติ.อ. ๔๙/๒๐๒)
๒ พวกหนึ่งแล่นเลยไป หมายถึงพวกอุจเฉททิฏฐิ (ขุ.อิติ.อ. ๔๙/๒๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๒. ทิฏฐิคตสูตร
เทวดาและมนุษย์ผู้มีปัญญาจักษุย่อมเห็นตามความเป็นจริง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ โดยสภาวะแท้จริง
ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้วก็ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับสิ่ง
ที่เป็นจริง โดยความเป็นจริงนั้น เทวดาและมนุษย์ผู้มีปัญญาจักษุย่อมเห็นตาม
ความเป็นจริง เป็นอย่างนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
อริยสาวกพิจารณาเห็นขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้วตามความเป็นจริง
และธรรมเป็นเครื่องก้าวล่วงขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว
ย่อมน้อมจิตไปในนิพพานตามความเป็นจริง
เพราะความสิ้นไปแห่งภวตัณหา
ถ้าอริยสาวกผู้กำหนดรู้ขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว
ปราศจากตัณหาในภพน้อยและใหญ่ไซร้
ชื่อว่าภิกษุ ย่อมไม่กลับมาสู่ภพอีก
เพราะขันธ์ ๕ เกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทิฏฐิคตสูตรที่ ๑๒ จบ
ทุติยวรรค จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. วิตักกสูตร ๒. เทสนาสูตร
๓. วิชชาสูตร ๔. ปัญญาปริหีนสูตร
๕. สุกกธัมมสูตร ๖. อชาตสูตร
๗. นิพพานธาตุสูตร ๘. ปฏิสัลลานสูตร
๙. สิกขานิสังสสูตร ๑๐. ชาคริยสูตร
๑๑. อาปายิกสูตร ๑๒. ทิฏฐิคตสูตร

(ในทุกนิบาตแห่งอิติวุตตกะนี้ ท่านพระเถระผู้ทำปฐมสังคายนา ประกาศพระสูตร
ไว้ ๒๒ สูตร คือ ในปฐมวรรค ๑๐ สูตร และในทุติยวรรคนี้ ๑๒ สูตร ดังกล่าวมา
ฉะนี้เแล)
ทุกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๑. มูลสูตร
๓. ติกนิบาต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. มูลสูตร
ว่าด้วยอกุศลมูล๑
[๕๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล ๓ ประการนี้
อกุศลมูล ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อกุศลมูลคือโลภะ (ความอยากได้)
๒. อกุศลมูลคือโทสะ (ความคิดประทุษร้าย)
๓. อกุศลมูลคือโมหะ (ความหลง)
ภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โลภะ โทสะ และโมหะที่เกิดภายในตน
ย่อมทำร้ายบุรุษผู้มีจิตเลวทราม
เหมือนขุยไผ่กำจัดต้นไผ่ ฉะนั้น๒
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มูลสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อกุศลมูล หมายถึงรากเหง้าของอกุศล หรือต้นตอของความชั่ว (ขุ.อิติ.อ. ๕๐/๒๐๖)
๒ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๑๓/๑๓๐, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕/๒๑, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๘/๔๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๒. ธาตุสูตร
๒. ธาตุสูตร
ว่าด้วยธาตุ
[๕๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธาตุ ๓ ประการนี้
ธาตุ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปธาตุ๑ ๒. อรูปธาตุ๒ ๓. นิโรธธาตุ๓
ภิกษุทั้งหลาย ธาตุ ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สัตว์เหล่าใดกำหนดรู้รูปธาตุได้แล้ว
ไม่ติดอยู่ในอรูปธาตุ น้อมจิตไปในนิโรธธาตุ
สัตว์เหล่านั้นย่อมล่วงพ้นมัจจุราชไปได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสัมผัสอมตธาตุที่ไร้อุปธิด้วยนามกาย
ทรงรู้แจ้งประจักษ์ถึงเหตุแห่งความสลัดคืนอุปธิ
ผู้หาอาสวะมิได้ ทรงแสดงบท๔ที่ไม่มีความโศก ปราศจากธุลีไว้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ธาตุสูตรที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ รูปธาตุ ในที่นี้หมายถึงรูปภพ (ขุ.อิติ.อ. ๕๑/๒๐๘)
๒ อรูปธาตุ ในที่นี้หมายถึงอรูปภพ (ขุ.อิติ.อ. ๕๑/๒๐๘)
๓ นิโรธธาตุ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.อิติ.อ. ๕๑/๒๐๘, ๗๒/๒๕๑)
๔ บท ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.อิติ.อ. ๕๑/๒๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๓. ปฐมเวทนาสูตร
๓. ปฐมเวทนาสูตร๑
ว่าด้วยเวทนา สูตรที่ ๑
[๕๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ ประการนี้
เวทนา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สุขเวทนา (ความรู้สึกสุข)
๒. ทุกขเวทนา (ความรู้สึกทุกข์)
๓. อทุกขมสุขเวทนา (ความรู้สึกเฉย ๆ จะสุขก็ไม่ใช่ จะทุกข์ก็ไม่ใช่)
ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีจิตตั้งมั่น
มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ
ย่อมรู้ชัดเวทนา เหตุเกิดเวทนา นิพพานอันเป็นที่ดับเวทนา
และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับเวทนา
เพราะสิ้นเวทนาทั้งหลาย
ภิกษุจึงเป็นผู้หมดความหิว ปรินิพพานแล้ว
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมเวทนาสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๔๙/๒๗๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๔. ทุติยเวทนาสูตร
๔. ทุติยเวทนาสูตร๑
ว่าด้วยเวทนา สูตรที่ ๒
[๕๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ ประการนี้
เวทนา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สุขเวทนา ๒. ทุกขเวทนา ๓. อทุกขมสุขเวทนา
ภิกษุพึงเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นทุกข์๒ พึงเห็นทุกขเวทนาโดยความเป็นดุจลูกศร
พึงเห็นอทุกขมสุขเวทนาโดยความไม่เที่ยง
ภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นทุกข์ เห็นทุกขเวทนาโดย
ความเป็นดุจลูกศร เห็นอทุกขมสุขเวทนาโดยความไม่เที่ยงได้ ภิกษุนี้เราเรียกว่า
‘เป็นอริยะ มีความเห็นชอบ ตัดตัณหาได้ เพิกถอนสังโยชน์ได้แล้ว ได้ทำที่สุด
แห่งทุกข์ เพราะรู้แจ้งมานะได้โดยชอบ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุใดเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นทุกข์
เห็นทุกขเวทนาโดยความเป็นดุจลูกศร
เห็นอทุกขมสุขเวทนาที่มีอยู่โดยความไม่เที่ยง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๕๓/๒๗๓
๒ ทุกข์ หมายถึงวิปริณามทุกข์ (ทุกข์คือ ความผันแปรเปลี่ยนแปลงเรื่อยไป) (ขุ.อิติ.อ.๕๓/๒๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๕. ปฐมเอสนาสูตร
ภิกษุนั้นแล เป็นผู้มีความเห็นชอบ
เพราะเหตุที่หลุดพ้นได้เด็ดขาดในเวทนานั้น
จึงชื่อว่าสำเร็จอภิญญา ๖ ประการ
เป็นผู้สงบ ล่วงพ้นโยคะได้แล้ว เป็นมุนีแท้จริง
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยเวทนาสูตรที่ ๔ จบ
๕. ปฐมเอสนาสูตร
ว่าด้วยการแสวงหา สูตรที่ ๑
[๕๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา ๓ ประการนี้
การแสวงหา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. การแสวงหากาม ๒. การแสวงหาภพ
๓. การแสวงหาพรหมจรรย์๑
ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิพรหมจรรย์ กล่าวคือ ลัทธิที่มีความเชื่อว่า ‘โลกเที่ยง’ ‘โลกไม่เที่ยง’
เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๕๔/๒๒๔) และดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๑๙/๕๗๕ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๖. ทุติยเอสนาสูตร
สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีจิตตั้งมั่น
มีสติสัมปชัญญะ
ย่อมรู้ชัดการแสวงหา เหตุเกิดการแสวงหา
ธรรมเป็นที่ดับการแสวงหา๑
และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความสิ้นสุดการแสวงหา
เพราะสิ้นการแสวงหาทั้งหลาย
ภิกษุจึงเป็นผู้หมดความหิว ปรินิพพานแล้ว๒
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมเอสนาสูตรที่ ๕ จบ
๖. ทุติยเอสนาสูตร
ว่าด้วยการแสวงหา สูตรที่ ๒
[๕๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา ๓ ประการนี้
การแสวงหา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. การแสวงหากาม ๒. การแสวงหาภพ
๓. การแสวงหาพรหมจรรย์
ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา ๓ ประการนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเป็นที่ดับการแสวงหา แยกเป็น ๓ ระดับ คือ (๑) ปฐมมรรค(โสดาปัตติมรรค) เป็นที่ดับการแสวงหา
พรหมจรรย์ (๒) อนาคามิมรรค เป็นที่ดับการแสวงหากาม (๓) อรหัตตมรรค เป็นที่ดับการแสวงหาภพ
(ขุ.อิติ.อ. ๕๔/๒๒๔) และดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๑๙/๕๗๕ ประกอบ
๒ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๔, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๑๙/๕๗๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๖. ทุติยเอสนาสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
การแสวงหากาม การแสวงหาภพ
และการแสวงหาพรหมจรรย์
คือการยึดถือว่าอย่างนี้จริง
อันเป็นทิฏฐิฏฐาน๑
ภิกษุผู้คลายกำหนัดได้ทั้งหมด
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา
ชื่อว่าสละคืนการแสวงหา(กามและภพ)
พร้อมทั้งถอนทิฏฐิฏฐานได้๒
เพราะสิ้นการแสวงหาทั้งหลาย
ภิกษุจึงเป็นผู้ไม่หวัง
และหมดความสงสัยโดยสิ้นเชิง
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยเอสนาสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ทิฏฐิฏฐาน” เป็นชื่อของทิฏฐินั่นเอง ทิฏฐิทั้งหลายที่ชื่อว่า ทิฏฐิฏฐาน เพราะเป็นเหตุแห่งความ
พินาศทั้งหลายทั้งปวง (ขุ.อิติ.อ. ๕๕/๒๒๕)
๒ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๓๘/๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๗. ปฐมอาสวสูตร
๗. ปฐมอาสวสูตร
ว่าด้วยอาสวะ สูตรที่ ๑
[๕๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อาสวะ๑ ๓ ประการนี้
อาสวะ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามาสวะ (อาสวะคือกาม) ๒. ภวาสวะ (อาสวะคือภพ)
๓. อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา)
ภิกษุทั้งหลาย อาสวะ ๓ ประการนี้แล
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีจิตตั้งมั่น
มีสติสัมปชัญญะ
ย่อมรู้ชัดอาสวะ เหตุเกิดอาสวะ ธรรมเป็นที่ดับอาสวะ
และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับอาสวะ
เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ภิกษุจึงเป็นผู้หมดความหิว ปรินิพพานแล้ว
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมอาสวสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อาสวะ หมายถึงกิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน (ที.ปา.อ.๓๐๕/๑๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๘. ทุติยอาสวสูตร
๘. ทุติยอาสวสูตร
ว่าด้วยอาสวะ สูตรที่ ๒
[๕๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อาสวะ ๓ ประการนี้
อาสวะ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามาสวะ ๒. ภวาสวะ ๓. อวิชชาสวะ
ภิกษุทั้งหลาย อาสวะ ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้สิ้นกามาสวะ และภวาสวะ
สำรอกอวิชชาได้แล้ว มีจิตหลุดพ้น
เป็นผู้หาอุปธิมิได้ พิชิตมารพร้อมทั้งเสนามารได้แล้ว
ย่อมทรงไว้ซึ่งร่างกายสุดท้าย
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยอาสวสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๙. ตัณหาสูตร
๙. ตัณหาสูตร๑
ว่าด้วยตัณหา
[๕๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ตัณหา ๓ ประการนี้
ตัณหา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามตัณหา๒
๒. ภวตัณหา๓
๓. วิภวตัณหา๔
ภิกษุทั้งหลาย ตัณหา ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ชนทั้งหลายผู้เกี่ยวข้องด้วยโยคะคือตัณหา
มีจิตยินดีในภพน้อยและภพใหญ่๕
เป็นผู้ติดข้องด้วยโยคะคือบ่วงมาร
ไม่มีความเกษมจากโยคะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๔, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๓๒๓/๓๔๒, องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๑๐๖/๖๒๗, อภิ.วิ.
(แปล) ๓๕/๙๑๖-๙๑๗, ๙๑๘/๕๗๓-๕๗๔
๒ กามตัณหา หมายถึงความมีจิตกำหนัดนักในกาม (ขุ.อิติ.อ.๕๘/๒๒๗)
๓ ภวตัณหา หมายถึงความมีจิตกำหนัดนักในภวทิฏฐิ (ขุ.อิติ.อ.๕๘/๒๒๗)
๔ วิภวตัณหา หมายถึงความมีจิตกำหนัดนักในอุจเฉททิฏฐิ (ขุ.อิติ.อ.๕๘/๒๒๗)
๕ ในที่นี้ ภพน้อย หมายถึงสัสสตทิฏฐิ หรือภวตัณหา ภพใหญ่ หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ หรือวิภวตัณหา (ขุ.อิติ.อ.
๕๘/๒๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๑๐. มารเธยยสูตร
สัตว์เหล่านั้นย่อมท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ
เข้าถึงชาติและมรณะ
ส่วนชนเหล่าใดละตัณหาได้
ปราศจากตัณหาในภพน้อยและภพใหญ่
บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะแล้ว
ชนเหล่านั้นชื่อว่า ไปถึงฝั่งในโลก
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ตัณหาสูตรที่ ๘ จบ
๑๐. มารเธยยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้ล่วงพ้นบ่วงมาร
[๕๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ย่อมล่วงพ้นบ่วงมาร รุ่งเรืองดุจ
ดวงอาทิตย์
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. เป็นผู้ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมล่วงพ้นบ่วงมาร
รุ่งเรืองดุจดวงอาทิตย์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้เจริญศีล สมาธิ และปัญญาเหล่านี้ไว้ดีแล้ว
จึงล่วงพ้นบ่วงมาร รุ่งเรืองดุจดวงอาทิตย์ ฉะนั้น
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มารเธยยสูตรที่ ๑๐ จบ
ปฐมวรรค จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มูลสูตร ๒. ธาตุสูตร
๓. ปฐมเวทนาสูตร ๔. ทุติยเวทนาสูตร
๕. ปฐมเอสนาสูตร ๖. ทุติยเอสนาสูตร
๗. ปฐมอาสวสูตร ๘. ทุติยอาสวสูตร
๙. ตัณหาสูตร ๑๐. มารเธยยสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑. ปุญญกิริยาวัตถุสูตร
๒. ทุติยวรรค
หมวดที่ ๒
๑. ปุญญกิริยาวัตถุสูตร๑
ว่าด้วยบุญกิริยาวัตถุ
[๖๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ๒ ๓ ประการนี้
บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทาน
๒. บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีล
๓. บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนา
ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้หวังประโยชน์สุข ควรฝึกฝนบำเพ็ญบุญนี้เท่านั้น
ที่ให้ผลเลิศติดต่อกันไป มีสุขเป็นกำไร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๓-๑๙๖, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๓๖/๒๙๔-๒๙๕
๒ บุญกิริยาวัตถุ มาจากบุญกิริยา + วัตถุ แยกอธิบายความหมายได้ดังนี้ (๑) บุญกิริยา หมายถึงการตั้งใจ
บำเพ็ญบุญ (๒) วัตถุ หมายถึงที่ตั้งหรือเหตุให้เกิดอานิสงส์ต่าง ๆ ดังนั้น บุญกิริยาวัตถุ จึงหมายถึงการ
บำเพ็ญบุญอันเป็นที่ตั้งหรือเป็นเหตุให้เกิดอานิสงส์ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๓๖/๒๕๖-๒๕๗, ขุ.อิติ.อ. ๖๐/๒๓๒,
องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา ๓/๓๖/๒๙๒-๒๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๒. จักขุสูตร
คือควรบำเพ็ญทาน ควรประพฤติธรรมสม่ำเสมอ
และควรเจริญเมตตาภาวนา
บัณฑิต ครั้นเจริญธรรม ๓ ประการ
ที่เป็นเหตุให้เกิดสุขดังกล่าวมานี้แล้ว
ย่อมเข้าถึงโลกที่มีสุข ปราศจากการเบียดเบียนกัน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปุญญกิริยาวัตถุสูตรที่ ๑ จบ
๒. จักขุสูตร
ว่าด้วยจักษุ
[๖๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย จักษุ ๓ ประการนี้
จักษุ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มังสจักษุ (ตาเนื้อ)
๒. ทิพพจักษุ (ตาทิพย์)
๓. ปัญญาจักษุ (ตาคือปัญญา)
ภิกษุทั้งหลาย จักษุ ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นอุดมบุรุษ
ได้ตรัสจักษุ ๓ ประการนี้ คือ มังสจักษุ
ทิพพจักษุ และปัญญาจักษุอันยอดเยี่ยม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๓. อินทริยสูตร
ความเกิดขึ้นแห่งมังสจักษุ เป็นทางแห่งทิพพจักษุ
เมื่อใด ญาณคือปัญญาจักษุอันยอดเยี่ยมเกิดขึ้น
เมื่อนั้น บุคคลย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
เพราะได้ปัญญาจักษุ๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
จักขุสูตรที่ ๒ จบ
๓. อินทริยสูตร
ว่าด้วยอินทรีย์
[๖๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๓ ประการนี้
อินทรีย์ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์๒
๒. อัญญินทรีย์๓
๓. อัญญาตาวินทรีย์๔
ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๓ ประการนี้แล”

เชิงอรรถ :
๑ ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๖, อภิ.ก. ๓๗/๓๗๔/๒๑๔
๒ อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ หมายถึงอินทรีย์ของผู้ปฏิบัติด้วยมุ่งว่า ‘เราจักรู้อมตบท (นิพพาน) หรือ
อริยสัจธรรม ๔ ที่ยังมิได้รู้ ยังมิได้บรรลุ’ คำนี้เป็นชื่อของโสดาปัตติมัคคญาณ (ขุ.อิติ.อ. ๖๒/๒๓๗)
๓ อัญญินทรีย์ หมายถึงอินทรีย์ หรือปัญญาที่รู้โดยข้ามพ้นแดนมิจฉาทิฏฐิแล้วกำหนดรู้อริยสัจ ๔ มีทุกข์
เป็นต้น เช่นเดียวกับโสดาปัตติมัคคญาณ แต่มีลักษณะรู้ชัดกว่ากันตามลำดับ คำนี้เป็นชื่อของญาณ ๖
คือตั้งแต่โสดาปัตติผลญาณ ถึงอรหัตตมัคคญาณ (ขุ.อิติ.อ. ๖๒/๒๓๗-๒๓๘)
๔ อัญญาตาวินทรีย์ หมายถึงอินทรีย์ของท่านผู้รู้ทั่วถึงแล้ว กล่าวคือปัญญาของพระอรหันตขีณาสพ คำนี้
เป็นชื่อของอรหัตตผลญาณ (ขุ.อิติ.อ. ๖๒/๒๓๗-๒๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๔. อัทธาสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ญาณในความสิ้นกิเลสย่อมเกิดขึ้นแก่พระเสขะ
ผู้กำลังศึกษาและปฏิบัติตามทางสายตรงก่อน
ลำดับต่อจากนั้นอัญญินทรีย์จึงเกิดขึ้น
ต่อจากอัญญินทรีย์นั้น
ญาณว่า ‘วิมุตติของเราไม่กำเริบ’ เพราะภวสังโยชน์สิ้นไป
ย่อมเกิดขึ้นแก่ท่านผู้หลุดพ้นด้วยอรหัตตผล ผู้คงที่๑
พระอริยะผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรีย์
ผู้สงบ ยินดีในสันติบท
พิชิตมารพร้อมทั้งเสนามารได้แล้ว
ย่อมทรงไว้ซึ่งร่างกายสุดท้าย
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อินทริยสูตรที่ ๓ จบ
๔. อัทธาสูตร๒
ว่าด้วยกาลเวลา
[๖๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย กาล ๓ กาลนี้
กาล ๓ กาล อะไรบ้าง คือ
๑. อดีตกาล ๒. อนาคตกาล ๓. ปัจจุบันกาล
ภิกษุทั้งหลาย กาล ๓ กาลนี้แล”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๘๖/๓๑๒ และดู องฺ.ติก.อ. ๒/๘๖/๒๔๐-๒๔๑, ขุ.อิติ.อ. ๖๒/๒๓๗ ประกอบ
๒ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๔. อัทธาสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สัตว์ทั้งหลายผู้สำคัญขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรื่องที่พูดกัน
ยึดมั่นอยู่ในเรื่องที่พูดกัน
ย่อมดิ่งเข้าหากิเลสเครื่องประกอบของมัจจุราช
เพราะไม่กำหนดรู้เรื่องที่พูดกันให้ถ่องแท้
ส่วนพระขีณาสพกำหนดรู้เรื่องที่พูดกันได้อย่างถ่องแท้
จึงไม่สำคัญผู้พูด ท่านมีใจสัมผัสวิโมกข์
และสันติบทอันยอดเยี่ยมแล้วนั่นแล
พระขีณาสพนั้น ชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ
ที่เกิดจากความกำหนดรู้เรื่องที่พูดกัน สงบแล้ว
ยินดีในสันติบท เป็นผู้พิจารณาแล้วจึงใช้สอยปัจจัย ๔ เสมอ
ดำรงอยู่ในธรรม เป็นผู้จบเวท
จึงไม่เข้าถึงการนับ๑อีกต่อไป
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อัทธาสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่เข้าถึงการนับ หมายถึงไม่นับว่าเป็นมนุษย์และเทวดา เพราะไม่มีภพที่จะเกิดอีก (ขุ.อิติ.อ. ๖๓/๒๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๕. ทุจจริตสูตร
๕. ทุจจริตสูตร
ว่าด้วยทุจริต
[๖๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ทุจริต ๓ ประการนี้
ทุจริต ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กายทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยกาย)
๒. วจีทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยวาจา)
๓. มโนทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยใจ)
ภิกษุทั้งหลาย ทุจริต ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลมีปัญญาทราม ทำกายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริต และอกุศลกรรมอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยโทษไว้ตลอด
ไม่ทำกุศลกรรมไว้เลย ทำแต่อกุศลกรรมไว้มากมาย
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในนรก
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุจจริตสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๖. สุจริตสูตร
๖. สุจริตสูตร
ว่าด้วยสุจริต
[๖๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย สุจริต ๓ ประการนี้
สุจริต ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กายสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยกาย)
๒. วจีสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยวาจา)
๓. มโนสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยใจ)
ภิกษุทั้งหลาย สุจริต ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลผู้มีปัญญา ละกายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริตและอกุศลกรรมอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยโทษได้แล้ว
ไม่ทำอกุศลกรรมไว้ ทำแต่กุศลกรรมไว้มากมาย
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสวรรค์
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สุจริตสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๗. โสเจยยสูตร
๗. โสเจยยสูตร
ว่าด้วยความสะอาด
[๖๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ความสะอาด ๓ ประการนี้
ความสะอาด ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความสะอาดกาย ๒. ความสะอาดวาจา
๓. ความสะอาดใจ
ภิกษุทั้งหลาย ความสะอาด ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้มีกายสะอาด มีวาจาสะอาด
มีใจสะอาด ไม่มีอาสวะ
เป็นผู้สะอาด ถึงพร้อมด้วยความสะอาด
บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า เป็นผู้ล้างบาปได้๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โสเจยยสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๒๒/๓๖๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๘. โมเนยยสูตร
๘. โมเนยยสูตร
ว่าด้วยความเป็นมุนี
[๖๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นมุนี ๓ ประการนี้
ความเป็นมุนี ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นมุนีทางกาย ๒. ความเป็นมุนีทางวาจา
๓. ความเป็นมุนีทางใจ
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นมุนี ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้ที่เป็นมุนีทางกาย เป็นมุนีทางวาจา
เป็นมุนีทางใจ ไม่มีอาสวะ
เป็นมุนี ถึงพร้อมด้วยความเป็นมุนี
บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า เป็นผู้ละได้ทุกอย่าง๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โมเนยยสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา ๑๑/๓๐๕/๑๙๖, องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๒๓/๓๖๙, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๔/๖๙, ๑๔๙/๔๐๐,
ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๑/๑๒๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๙. ปฐมราคสูตร
๙. ปฐมราคสูตร
ว่าด้วยการละราคะ สูตรที่ ๑
[๖๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดยังละราคะ โทสะ โมหะไม่ได้ บุคคลนี้เราเรียกว่า
ถูกมาร๑ผูกไว้ สวมบ่วงมารไว้ และถูกมารผู้มีบาปทำได้ตามความปรารถนา
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว บุคคลนี้เราเรียกว่า
ไม่ถูกมารผูกไว้ ไม่สวมบ่วงมารไว้ และไม่ถูกมารผู้มีบาปทำได้ตามความปรารถนา”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
เรียกบุคคลผู้ละราคะ โทสะ และอวิชชาได้แล้วว่า
เป็นคนหนึ่งในบรรดาท่านผู้อบรมตนแล้ว
เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้ไปแล้วอย่างนั้น เป็นผู้ตรัสรู้
เป็นผู้ล่วงเวรและภัย เป็นผู้ละกิเลสทั้งปวงได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมราคสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ มารในที่นี้หมายถึงกิเลสมาร (ขุ.อิติ.อ. ๖๘/๒๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๐. ทุติยราคสูตร
๑๐. ทุติยราคสูตร
ว่าด้วยการละราคะ สูตรที่ ๒
[๖๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดเป็นภิกษุหรือภิกษุณี ยังละราคะ โทสะ โมหะไม่ได้
บุคคลนี้เราเรียกว่า ยังข้ามทะเล๑ที่มีคลื่น มีระลอก๒ มีน้ำวน๓ มีสัตว์ร้าย๔ มี
ผีเสื้อน้ำไม่ได้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดเป็นภิกษุหรือภิกษุณี ละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว
บุคคลนี้เราเรียกว่า ข้ามทะเลที่มีคลื่น มีระลอก มีน้ำวน มีสัตว์ร้าย มีผีเสื้อน้ำ
ได้แล้ว ข้ามไปถึงฝั่งเป็นผู้ลอยบาปอยู่บนบก๕”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลใดคลายราคะ โทสะ และอวิชชาได้แล้ว
บุคคลนั้นชื่อว่าข้ามสมุทรนี้ซึ่งมีทั้งคลื่น สัตว์ร้าย
(และ)ผีเสื้อน้ำ ที่น่ากลัว ข้ามได้ยาก

เชิงอรรถ :
๑ ทะเล หมายถึงสังสารวัฏ หรืออายตนะ ๖ (ขุ.อิติ.อ.๖๙/๒๔๗)
๒ ระลอก หมายถึงความโกรธ และความคับแค้นใจ (ขุ.อิติ.อ.๖๙/๒๔๗)
๓ น้ำวน หมายถึงกามคุณ ๕ (ขุ.อิติ.อ.๖๙/๒๔๗)
๔ สัตว์ร้าย ผีเสื้อน้ำ หมายถึงมาตุคาม (ขุ.อิติ.อ.๖๙/๒๔๗
๕ หมายถึงข้ามโอฆะใหญ่คือสังสารวัฏและกามทั้งหลายเป็นต้น แล้วดำรงอยู่บนบกคือนิพพาน (ขุ.อิติ.อ.
๖๙/๒๔๗) และดู องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๑๕/๒๔ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
เรากล่าวว่า ‘บุคคลนั้นล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้อง ละมัจจุได้
ไม่มีอุปธิ ละทุกข์เพื่อไม่เกิดอีกต่อไป
ถึงความดับ ไม่ถึงการนับ
ลวงมัจจุราชให้หลงได้๑’
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยราคสูตรที่ ๑๐ จบ
ทุติยวรรค จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปุญญกิริยาวัตถุสูตร ๒. จักขุสูตร
๓. อินทริยสูตร ๔. อัทธาสูตร
๕. ทุจจริตสูตร ๖. สุจริตสูตร
๗. โสเจยยสูตร ๘. โมเนยยสูตร
๙. ปฐมราคสูตร ๑๐. ทุติยราคสูตร


เชิงอรรถ :
๑ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๒๙/๒๑๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๑. มิจฉาทิฏฐิกสูตร
๓. ตติยวรรค
หมวดที่ ๓
๑. มิจฉาทิฏฐิกสูตร
ว่าด้วยผู้มีความเห็นผิด
[๗๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโน-
ทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นผิด หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
คำที่ว่า ‘เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต
กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’ นั้น เราหาได้กล่าวเพราะ
รับฟังมาจากสมณะหรือพราหมณ์อื่น ๆ ไม่
ภิกษุทั้งหลาย ที่แท้แล้ว เรารู้เอง เห็นเอง ทราบเองทั้งนั้น จึงกล่าว
คำนี้ว่า ‘เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้าย
พระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด หลังจาก
ตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๒. สัมมาทิฏฐิกสูตร
บุคคลในโลกนี้ตั้งจิตไว้ผิด กล่าววาจาผิด
ทำการงานทางกายที่ผิด มีความขวนขวายน้อย๑
ทำกรรมอันไม่เป็นบุญไว้ในชีวิตอันน้อยในโลกนี้
เขามีปัญญาทราม หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในนรก
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มิจฉาทิฏฐิกสูตรที่ ๑ จบ
๒. สัมมาทิฏฐิกสูตร
ว่าด้วยผู้มีความเห็นชอบ
[๗๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต
ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
คำที่ว่า ‘เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต
ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นชอบ หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ นั้น เราหาได้กล่าวเพราะ
รับฟังมาจากสมณะหรือพราหมณ์อื่น ๆ ไม่
ภิกษุทั้งหลาย ที่แท้แล้ว เรารู้เอง เห็นเอง ทราบเองทั้งนั้น จึงกล่าว
คำนี้ว่า ‘เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าว

เชิงอรรถ :
๑ มีความขวนขวายน้อย หมายถึงไม่ทำประโยชน์สุขแก่ตนและผู้อื่น (ขุ.อิติ.อ. ๗๐/๒๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๓. นิสสรณิยสูตร
ร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลในโลกนี้ ตั้งจิตไว้ชอบ กล่าววาจาชอบ
ทำการงานทางกายที่ชอบ มีความขวนขวายมาก
ได้ทำกรรมอันเป็นบุญไว้ในชีวิตอันน้อยในโลกนี้
เขามีปัญญา หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสวรรค์
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สัมมาทิฏฐิกสูตรที่ ๒ จบ
๓. นิสสรณิยสูตร
ว่าด้วยธาตุที่มีคุณสมบัติสลัดออก
[๗๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธาตุเป็นที่สลัดออก ๓ ประการนี้
ธาตุเป็นที่สลัดออก ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เนกขัมมธาตุ๑เป็นที่สลัดละกามทั้งหลาย
๒. อรูปธาตุ๒เป็นที่สลัดละรูปธรรมทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ เนกขัมมธาตุ หมายถึงรูปฌาน (ขุ.อิติ.อ. ๗๒/๒๕๑)
๒ อรูปธาตุ หมายถึงอรูปฌาน (ขุ.อิติ.อ.๗๒/๒๕๑) และดูเทียบเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๓๘๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๔. สันตตรสูตร
๓. นิโรธธาตุ๑เป็นที่สลัดละธรรมชาติที่เกิดแล้ว ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัย
กันและกันเกิดขึ้น
ภิกษุทั้งหลาย ธาตุเป็นที่สลัดออก ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้มีความเพียรรู้ชัดธาตุเป็นที่สลัดกามออก
และธาตุเป็นเหตุล่วงพ้นรูปธรรมแล้ว
สัมผัสภาวะที่สงบระงับสังขารทั้งปวงตลอดกาล
ภิกษุนั้นแล เป็นผู้มีความเห็นชอบ
เพราะเหตุที่น้อมจิตไปในนิพพานธาตุนั้น
จึงชื่อว่าสำเร็จอภิญญา ๖ ประการ
เป็นผู้สงบ ล่วงพ้นโยคะได้แล้ว เป็นมุนีแท้จริง
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
นิสสรณิยสูตรที่ ๓ จบ
๔. สันตตรสูตร
ว่าด้วยนิโรธสงบยิ่งกว่าอรูปธรรม
[๗๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อรูปธรรม๒สงบยิ่งกว่ารูปธรรม๓ นิโรธ๔สงบยิ่งกว่าอรูปธรรม”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๓ หน้า ๓๘๘ ในเล่มนี้
๒ อรูปธรรม ในที่นี้หมายถึงอรูปภพ (ขุ.อิติ.อ.๗๓/๒๕๒)
๓ รูปธรรม ในที่นี้หมายถึงรูปภพ (ขุ.อิติ.อ.๗๓/๒๕๒)
๔ นิโรธ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.อิติ.อ. ๗๓/๒๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๕. ปุตตสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สัตว์เหล่าใดเข้าถึงรูปภพ
และสัตว์เหล่าใดดำรงอยู่ในอรูปภพ
สัตว์เหล่านั้นเมื่อยังไม่รู้แจ้งนิโรธ จะต้องกลับมาเกิดอีก
ส่วนสัตว์เหล่าใดกำหนดรู้รูปธาตุได้แล้ว
ไม่ติดอยู่ในอรูปธาตุ น้อมจิตอยู่ในนิโรธ
สัตว์เหล่านั้นย่อมล่วงพ้นมัจจุราชไปได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสัมผัสอมตธาตุที่ไร้อุปธิด้วยนามกาย
ทรงรู้แจ้งประจักษ์ถึงเหตุแห่งความสลัดคืนอุปธิ
ผู้หาอาสวะมิได้ ทรงแสดงบทที่ไม่มีความเศร้าโศก ปราศจากธุลีไว้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สันตตรสูตรที่ ๔ จบ
๕. ปุตตสูตร
ว่าด้วยบุตร
[๗๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุตร ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุตร ๓ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. อติชาตบุตร (บุตรที่มีคุณสมบัติสูงกว่ามารดาบิดา)
๒. อนุชาตบุตร (บุตรที่มีคุณสมบัติเสมอด้วยมารดาบิดา)
๓. อวชาตบุตร (บุตรที่มีคุณสมบัติต่ำกว่ามารดาบิดา)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๕. ปุตตสูตร
อติชาตบุตร เป็นอย่างไร
คือ มารดาบิดาของบุตรในโลกนี้ไม่ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ไม่ถึงพระธรรม
เป็นสรณะ ไม่ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ ไม่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ไม่งดเว้นจากการถือ
เอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ไม่งดเว้นจากการ
พูดเท็จ ไม่งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ส่วนบุตรของมารดาบิดาเหล่านั้น ถึงพระพุทธเจ้า
เป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้น
จากการพูดเท็จ งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม อติชาตบุตรเป็นอย่างนี้
อนุชาตบุตร เป็นอย่างไร
คือ มารดาบิดาของบุตรในโลกนี้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ
ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
มิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการ
ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม
แม้บุตรของมารดาบิดาเหล่านั้น ก็ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ
ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
มิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการ
ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม
อนุชาตบุตรเป็นอย่างนี้
อวชาตบุตร เป็นอย่างไร
คือ มารดาบิดาของบุตรในโลกนี้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็น
สรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของ
ที่เจ้าของมิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๕. ปุตตสูตร
การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม
ส่วนบุตรของมารดาบิดาเหล่านั้น ไม่ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ไม่ถึงพระธรรม
เป็นสรณะ ไม่ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ ไม่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ไม่งดเว้นจากการ
ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ไม่งดเว้นจาก
การพูดเท็จ ไม่งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม อวชาตบุตรเป็นอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย บุตร ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บัณฑิตย่อมปรารถนาอติชาตบุตรและอนุชาตบุตร
ไม่ปรารถนาอวชาตบุตร ซึ่งมีแต่ทำลายวงศ์ตระกูล
บุตร ๓ จำพวกนี้เท่านั้น มีอยู่ในโลกนี้
ส่วนบุตรผู้เป็นอุบาสก ถึงพร้อมด้วยศรัทธาและศีล
รู้ความประสงค์ของผู้ขอ๑ ปราศจากความตระหนี่
ย่อมรุ่งเรืองในหมู่บริษัท เหมือนดวงจันทร์พ้นจากเมฆ ฉะนั้น
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปุตตสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ รู้ความประสงค์ของผู้ขอ หมายถึงคฤหัสถ์เมื่อเห็นภิกษุเที่ยวบิณฑบาตยืนที่ประตูเรือนของตน เป็นผู้นิ่ง
ไม่ออกปากขอ แต่ก็รู้ความหมายได้ว่า ท่านกำลังขอ (องฺ.ปญฺจก.ฏีกา ๓/๓๖-๓๗/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๖. อวุฏฐิกสูตร
๖. อวุฏฐิกสูตร
ว่าด้วยบุคคลเปรียบด้วยฝน
[๗๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๓ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนไม่ตก
๒. บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนตกในพื้นที่บางส่วน
๓. บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนตกในพื้นที่ทั่วไป
บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนไม่ตก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะ พราหมณ์ คนยากเข็ญ
คนหมดเสบียงทาง คนเร่ร่อน และคนขอทานทุกหมู่เหล่า บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนไม่
ตกเป็นอย่างนี้
บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนตกในพื้นที่บางส่วน เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะ พราหมณ์ คนยากเข็ญ
คนหมดเสบียงทาง คนเร่ร่อน และคนขอทานบางพวก แต่ไม่ให้แก่คนบางพวก
บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนตกในพื้นที่บางส่วนเป็นอย่างนี้
บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนตกในพื้นที่ทั่วไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะ พราหมณ์ คนยากเข็ญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๖. อวุฏฐิกสูตร
คนหมดเสบียงทาง คนเร่ร่อน และคนขอทานทั่วทุกหมู่ทุกเหล่า บุคคลผู้เปรียบด้วย
ฝนตกในพื้นที่ทั่วไปเป็นอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลได้พบสมณะ พราหมณ์ คนยากเข็ญ
คนหมดเสบียงทาง คนเร่ร่อน และคนขอทานแล้ว
ไม่ยอมแบ่งข้าว น้ำ และเครื่องใช้สอยอื่น ๆ ให้
ปัญญาชนเรียกคนต่ำทราม ใจแคบเช่นนั้นว่า
‘เป็นผู้เปรียบด้วยฝนไม่ตก’
บุคคลไม่ให้ข้าวน้ำเป็นต้นแก่สมณะ พราหมณ์เป็นต้นบางพวก
แต่ให้แก่บางพวก
ปัญญาชนเรียกผู้นั้นว่า ‘เป็นผู้เปรียบด้วยฝนตกในพื้นที่บางส่วน’
คนที่เขาออกปากขอได้ง่าย ชอบช่วยเหลือคนโดยทั่วหน้า
มีใจเบิกบาน แจกจ่ายสิ่งของ
ปากก็พูดแต่คำว่า ‘จงให้ จงให้’
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนอย่างนั้น
รวบรวมทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม
นำมาเลี้ยงวณิพกผู้มาถึง ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ
เหมือนเมฆฝนส่งเสียงร้องคำรามทำให้ฝนตก
จนน้ำไหลนองเต็มทั้งที่ดอนและที่ลุ่ม ฉะนั้น
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อวุฏฐิกสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๗. สุขปัตถนาสูตร
๗. สุขปัตถนาสูตร
ว่าด้วยผู้ปรารถนาความสุข
[๗๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตเมื่อปรารถนาความสุข ๓ ประการนี้ พึงรักษาศีล
ความสุข ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เมื่อปรารถนาความสุขว่า “ขอความสรรเสริญ จงมาถึงเรา” พึงรักษาศีล
๒. เมื่อปรารถนาความสุขว่า “ขอโภคสมบัติทั้งหลาย จงเกิดขึ้นแก่เรา”
พึงรักษาศีล
๓. เมื่อปรารถนาความสุขว่า “หลังจากตายแล้ว เราจักไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์” พึงรักษาศีล
ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตเมื่อปรารถนาความสุข ๓ ประการนี้แล พึงรักษาศีล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
นักปราชญ์ เมื่อปรารถนาความสุข ๓ ประการ คือ
ความสรรเสริญ การได้ความปลื้มใจ๑
และการตายไปเกิดในสวรรค์ พึงรักษาศีล๒
บุคคลแม้ไม่ทำบาป แต่ยังคบคนทำบาป
ก็ต้องถูกระแวงสงสัยในบาปเรื่อยไป
และได้รับคำตำหนิติเตียนมากมาย

เชิงอรรถ :
๑ ความปลื้มใจ ในที่นี้หมายถึงทรัพย์สมบัติ (ขุ.อิติ.อ. ๗๖/๒๙๑)
๒ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๖๐๙/๔๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๗. สุขปัตถนาสูตร
บุคคลทำคนเช่นใดให้เป็นมิตร
และคบสนิทคนเช่นใด เขาก็เป็นเช่นคนนั้น
เพราะการอยู่ด้วยกันเป็นเช่นนั้น
คนชั่วเมื่อมาคบมาเกี่ยวข้องกับคนดีทั่วไป
หรือคนดีหลงไปคบไปเกี่ยวข้องเข้า
ย่อมพลอยทำให้คนดีแปดเปื้อนบาปไปด้วย
เหมือนลูกศรอาบยาพิษ ถูกยาพิษแปดเปื้อนแล้ว
ย่อมทำลายแล่งลูกศรที่สะอาดให้แปดเปื้อนไปด้วย ฉะนั้น
เพราะกลัวการแปดเปื้อนบาป
ผู้มีปัญญา จึงไม่คบคนชั่วเป็นมิตรเลย
ใบหญ้าคาที่คนนำมาใช้ห่อปลาเน่า
ก็พลอยเหม็นเน่าส่งกลิ่นคลุ้งตามไปด้วย ฉันใด
การคบคนพาล ก็ฉันนั้น
ใบไม้ทั้งหลายที่คนนำมาห่อกฤษณา
ก็พลอยมีกลิ่นหอมฟุ้งตามไปด้วย ฉันใด
การคบบัณฑิต ก็ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น บัณฑิตรู้ผลดีผลเสียที่จะเกิดแก่ตน
ดุจใบไม้ที่ใช้ห่อแล้ว ไม่ควรคบอสัตบุรุษ
ควรคบแต่สัตบุรุษเท่านั้น
เพราะว่า อสัตบุรุษย่อมชักนำให้ตกนรก
ส่วนสัตบุรุษย่อมชักนำให้เข้าถึงสุคติ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สุขปัตถนาสูตรที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๘. ภิทุรสูตร
๘. ภิทุรสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ต้องแตกสลายไปเป็นธรรมดา
[๗๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ร่างกายนี้ต้องแตกสลายไป วิญญาณ๑ มีความเสื่อมไปเป็น
ธรรมดา อุปธิทั้งหมด๒ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลรู้ว่าร่างกายนี้ต้องแตกสลายไป
และวิญญาณก็ต้องเสื่อมไป
เห็นภัยในอุปธิทั้งหลายแล้ว
ย่อมล่วงพ้นความเกิด และความตายได้
บรรลุถึงธรรมเป็นที่สงบอย่างยิ่งแล้ว
ชื่อว่าอบรมตนได้แล้ว รอคอยอยู่แต่เวลาเท่านั้น๓
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ภิทุรสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ วิญญาณ หมายถึงจิต ๓ ระดับ (จิตระดับกามาวจรภูมิ จิตระดับรูปาวจรภูมิ จิตระดับอรูปาวจรภูมิ
(ขุ.อิติ.อ.๗๗/๒๗๗)
๒ อุปธิทั้งหมด หมายถึงขันธ์ ๕ กิเลส อภิสังขาร (กรรม) และกามคุณ ๕ (ขุ.อิติ.อ.๗๗/๒๗๗)
๓ รอคอยอยู่แต่เวลาเท่านั้น หมายถึงรอคอยเวลาดับขันธปรินิพพาน (ขุ.อิติ.อ.๗๗/๒๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๙. ธาตุโสสังสันทนสูตร
๙. ธาตุโสสังสันทนสูตร
ว่าด้วยสัตว์ทั้งหลายเสมอกันโดยธาตุ
[๗๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อว่าโดยธาตุ๑ สัตว์ทั้งหลายเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ คือ
สัตว์ที่มีนิสัยเลวเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยเลว สัตว์ที่มีนิสัยดีงามเข้ากันได้
คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยดีงาม
ภิกษุทั้งหลาย แม้ในอดีตกาล เมื่อว่าโดยธาตุ สัตว์ทั้งหลายก็เข้ากันได้ คบกัน
ได้กับสัตว์ คือ สัตว์ที่มีนิสัยเลวเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยเลว สัตว์ที่มี
นิสัยดีงามเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยดีงาม”
ภิกษุทั้งหลาย แม้ในอนาคตกาล เมื่อว่าโดยธาตุ สัตว์ทั้งหลายก็จะเข้ากันได้
คบกันได้กับสัตว์ คือ สัตว์ที่มีนิสัยเลวเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยเลว
สัตว์ที่มีนิสัยดีงามเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยดีงาม
ภิกษุทั้งหลาย แม้ในปัจจุบันกาลนี้ เมื่อว่าโดยธาตุ สัตว์ทั้งหลายก็เข้ากันได้
คบกันได้กับสัตว์ คือ สัตว์ที่มีนิสัยเลวเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยเลว
สัตว์ที่มีนิสัยดีงามเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยดีงาม
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ธาตุ ในที่นี้หมายถึงอัธยาศัย (ขุ.อิติ.อ.๗๘/๒๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๑๐. ปริหานสูตร
เพราะการคลุกคลีกัน๑ กิเลสจึงเกิดขึ้น
เพราะการไม่คลุกคลีกัน กิเลสจึงขาดไป
บุคคลลงเรือเล็ก หวังจะข้ามมหาสมุทร
ยังไม่ทันถึงฝั่งก็จมลงในมหาสมุทร ฉันใด
บุคคลแม้มีความเป็นอยู่ดี อาศัยคนเกียจคร้าน
ก็จมลงในสังสารวัฏได้ ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น บุคคลควรเว้นคนเกียจคร้าน
ผู้มีความเพียรย่อหย่อนนั้น
ควรคบพระอริยะทั้งหลาย ผู้สงัด มีใจมั่นคง
เพ่งพินิจอยู่ ปรารภความเพียรเป็นนิตย์ เป็นบัณฑิต
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ธาตุโสสังสันทนสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. ปริหานสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุแห่งความเสื่อม
[๗๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้
เป็นเสขะ

เชิงอรรถ :
๑ การคลุกคลี มี ๕ ประการ คือ (๑) ทัสสนสังสัคคะ(การคลุกคลีด้วยการเห็น) (๒) สวนสังสัคคะ(การ
คลุกคลีด้วยการฟัง) (๓) สมุลลาปนสังสัคคะ(การคลุกคลีด้วยการเจรจา) (๔) สัมโภคสังสัคคะ(การ
คลุกคลีด้วยการใช้สอยร่วมกัน) (๕) กายสังสัคคะ(การคลุกคลีด้วยกาย) (ขุ.อิติ.อ.๗๘/๒๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๑๐. ปริหานสูตร
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุผู้เป็นเสขะในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ชอบการงาน๑ ยินดีในการงาน หมั่นประกอบความเป็นผู้
ชอบการงาน
๒. เป็นผู้ชอบการพูดคุย ยินดีในการพูดคุย หมั่นประกอบความเป็นผู้
ชอบการพูดคุย
๓. เป็นผู้ชอบการนอนหลับ ยินดีในการนอนหลับ หมั่นประกอบความ
เป็นผู้ชอบการนอนหลับ
ธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็นเสขะ”
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้
เป็นเสขะ
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุผู้เป็นเสขะในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ไม่ชอบการงาน ไม่ยินดีในการงาน ไม่หมั่นประกอบความเป็น
ผู้ชอบการงาน
๒. เป็นผู้ไม่ชอบการพูดคุย ไม่ยินดีในการพูดคุย ไม่หมั่นประกอบความ
เป็นผู้ชอบการพูดคุย
๓. เป็นผู้ไม่ชอบการนอนหลับ ไม่ยินดีในการนอนหลับ ไม่หมั่นประกอบ
ความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
ธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็นเสขะ”

เชิงอรรถ :
๑ การงาน ในที่นี้หมายถึงงานนวกรรม คือ การก่อสร้างต่าง ๆ เช่น การก่อสร้างวิหาร เป็นต้น ความเป็น
ผู้ยินดีแต่การก่อสร้างจึงถือว่าเป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยนี้ เพราะทำให้ละเลยต่อการบำเพ็ญคันถธุระ
และวิปัสสนาธุระ (องฺ.ฉกฺก. ๓/๑๔/๑๐๕, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา. ๓/๑๔-๑๕/๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุชอบการงาน ยินดีในการพูดคุย
ชอบการนอนหลับ มีจิตฟุ้งซ่าน เช่นนี้
จึงไม่ควรเพื่อจะบรรลุอรหัตตผลอันยอดเยี่ยมได้
เพราะฉะนั้น ภิกษุจึงควรเป็นผู้ทำกิจแต่น้อย
นอนหลับแต่พอสมควร มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน เช่นนี้
จึงควรเพื่อจะบรรลุอรหัตตผลอันยอดเยี่ยมได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปริหานสูตรที่ ๑๐ จบ
ตติยวรรค จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มิจฉาทิฏฐิกสูตร ๒. สัมมาทิฏฐิกสูตร
๓. นิสสรณิยสูตร ๔. สันตตรสูตร
๕. ปุตตสูตร ๖. อวุฏฐิกสูตร
๗. สุขปัตถนาสูตร ๘. ภิทุรสูตร
๙. ธาตุโสสังสันทนสูตร ๑๐. ปริหานสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๑. วิตักกสูตร
๔. จตุตถวรรค
หมวดที่ ๔
๑. วิตักกสูตร
ว่าด้วยอกุศลวิตก
[๘๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อกุศลวิตก ๓ ประการนี้
อกุศลวิตก ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. วิตกที่เกี่ยวกับความไม่ต้องการให้ผู้อื่นดูหมิ่นตน
๒. วิตกที่เกี่ยวกับลาภสักการะและการสรรเสริญ
๓. วิตกที่เกี่ยวกับความเอ็นดูในคนอื่น
ภิกษุทั้งหลาย อกุศลวิตก ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลผู้ประกอบด้วยวิตกที่ไม่ต้องการให้ผู้อื่นดูหมิ่นตน
เป็นผู้หนักในลาภสักการะและการสรรเสริญ
มีปกติยินดีกับพวกอำมาตย์
ย่อมอยู่ห่างไกลจากธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละทิ้งบุตร สัตว์เลี้ยง
การแต่งงาน และความห่วงใยได้ เช่นนี้
จึงควรเพื่อจะบรรลุอรหัตตผลอันยอดเยี่ยมได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
วิตักกสูตรที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๒. สักการสูตร
๒. สักการสูตร
ว่าด้วยผู้ถูกสักการะครอบงำจิต
[๘๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกสักการะครอบงำย่ำยีจิต หลังจากตายแล้ว
จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกความเสื่อมสักการะครอบงำย่ำยีจิต หลังจากตายแล้ว
จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกสักการะและความเสื่อมสักการะทั้งสองครอบงำย่ำยีจิต
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
คำที่ว่า ‘เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกสักการะครอบงำย่ำยีจิต หลังจากตายแล้ว
จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกความเสื่อมสักการะ
ครอบงำย่ำยีจิต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เราได้
เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกสักการะและความเสื่อมสักการะทั้งสองครอบงำย่ำยีจิต หลังจาก
ตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’ นั้น เราหาได้กล่าวเพราะรับ
ฟังมาจากสมณะหรือพราหมณ์อื่น ๆ ไม่
ภิกษุทั้งหลาย แท้จริงแล้ว เรารู้เอง เห็นเอง ทราบเองทั้งนั้น จึงกล่าวคำนี้ว่า
‘เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกสักการะครอบงำย่ำยีจิต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกความเสื่อมสักการะครอบงำย่ำยีจิต
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูก
สักการะและความเสื่อมสักการะทั้งสองครอบงำย่ำยีจิต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๓. เทวสัททสูตร
สมาธิของภิกษุใด ผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท
ย่อมหวั่นไหวด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ
(๑) ด้วยมีผู้สักการะ (๒) ด้วยไม่มีผู้สักการะ
ภิกษุนั้นผู้เข้าฌาน มีความเพียรต่อเนื่อง
พิจารณาเห็นด้วยปัญญาที่สุขุม
ยินดีในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปาทาน๑
นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่า สัตบุรุษ๒
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สักการสูตรที่ ๒ จบ
๓. เทวสัททสูตร
ว่าด้วยการเปล่งเสียงของเทวดา
[๘๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เทวดาอาศัยโอกาส ๓ โอกาส จึงเปล่งเสียงออกไปในหมู่เทวดา
โอกาส ๓ โอกาส อะไรบ้าง คือ
๑. โอกาสที่อริยสาวกปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เทวดาย่อมเปล่งเสียงออกไปในหมู่
เทวดาว่า ‘อริยสาวกนี้ตั้งใจจะทำสงครามกับกิเลสมาร’ นี้เป็นเสียง
ของเทวดาข้อที่ ๑ ที่เปล่งออกไปเพราะอาศัยโอกาส

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปาทาน หมายถึงอรหัตตผลอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปาทาน ๔ ประการ คือ
(๑) กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม) (๒) ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิ) (๓) สีลัพพตุปาทาน (ความ
ยึดมั่นในศีลและวัตร) (๔) อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในอัตตวาทะ) (ขุ.อิติ.อ. ๘๑/๒๘๖) และดู ที.ปา.
๑๑/๓๑๒/๒๐๕ ประกอบ
๒ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๐๑๐-๑๐๑๑/๕๐๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๓. เทวสัททสูตร
๒. โอกาสที่อริยสาวกบำเพ็ญเพียรด้วยการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๗ หมวด
เทวดาย่อมเปล่งเสียงออกไปในหมู่เทวดาว่า ‘อริยสาวกนี้ กำลังผจญ
กับกิเลสมาร’ นี้เป็นเสียงของเทวดาข้อที่ ๒ ที่เปล่งออกไปเพราะ
อาศัยโอกาส
๓. โอกาสที่อริยสาวกทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เทวดา
ย่อมเปล่งเสียงออกไปในหมู่เทวดาว่า ‘อริยสาวกนี้ชนะสงครามแล้ว
เอาชนะได้ขาด จึงครอบครองตำแหน่งความเป็นใหญ่ในสงครามนั้น
นั่นแล’ นี้เป็นเสียงของเทวดาข้อที่ ๓ ที่เปล่งออกไปเพราะอาศัย
โอกาส
ภิกษุทั้งหลาย เทวดาอาศัยโอกาส ๓ โอกาสนี้แล จึงเปล่งเสียงออกไปในหมู่
เทวดา”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
แม้เทวดาเห็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ชนะสงครามกิเลส ทรงคุณธรรมยิ่งใหญ่
ปราศจากความสะทกสะท้าน
ย่อมนอบน้อมพร้อมกับกล่าวว่า
ท่านบุรุษอาชาไนย ขอนอบน้อมต่อท่าน
ผู้ครอบงำกิเลสที่ชนะได้ยาก
เอาชนะเสนาของมัจจุราชอันไม่มีใครกั้นไว้ได้ ด้วยวิโมกข์
เทวดาย่อมนอบน้อมท่านผู้มีจิตบรรลุอรหัตตผลแล้ว
ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้แล
เพราะท่านไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งมัจจุราช
เทวดาจึงนอบน้อมต่อท่าน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เทวสัททสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๔. ปัญจปุพพนิมิตตสูตร
๔. ปัญจปุพพนิมิตตสูตร
ว่าด้วยบุพพนิมิต ๕ ประการ
[๘๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาที่เทพบุตรจะจุติจากหมู่เทพ ย่อมปรากฏบุพพนิมิต
๕ ประการ คือ
๑. ดอกไม้ที่ประดับเหี่ยวแห้ง
๒. พัสตราภรณ์ที่สวมใส่หมองจางลง
๓. เหงื่อไหลออกจากรักแร้
๔. ผิวพรรณเศร้าหมองปรากฏที่กาย
๕. เทพบุตรนั้นจะหมดความยินดีในทิพยสมบัติของตน
เทวดาทราบว่า เทพบุตรนี้จะจุติ ก็พลอยยินดีอวยพรให้ ๓ ประการ คือ
๑. ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้ว ขอให้ได้ไปเกิดในภูมิที่ดี
๒. ท่านได้ไปเกิดในภูมิที่ดีแล้ว ขอให้ได้ลาภอันดี
๓. ท่านครั้นได้ลาภอันดีแล้ว ขอให้ดำรงตนอยู่ด้วยดี
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การไปเกิดในภูมิที่ดีของเทวดาเป็นอย่างไร การได้ลาภ
อันดีของเทวดาเป็นอย่างไร การดำรงตนอยู่ด้วยดีของเทวดาเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุทั้งหลาย การเกิดเป็นมนุษย์ ชื่อว่าเป็นการ
ไปเกิดในภูมิที่ดีของเทวดา การที่เทพบุตรลงมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วได้ความศรัทธา
ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ นี้ชื่อว่าเป็นการได้ลาภอันดีของเทวดา ก็ความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๔. ปัญจปุพพนิมิตตสูตร
ศรัทธาของเทพบุตรนั้นแล ตั้งมั่น มีเหตุเกิด หยั่งลง มั่นคง อันสมณพราหมณ์
เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกไม่สามารถทำให้คลอนแคลนไปได้ นี้ชื่อว่า
เป็นการดำรงตนอยู่ด้วยดีของเทวดา”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้
เมื่อเทพบุตรจะจุติจากเทวโลก เพราะสิ้นอายุ
เทวดาผู้พลอยยินดี ย่อมเปล่งเสียงอวยพร ๓ ประการ คือ
ท่านผู้เจริญ ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้ว
ขอให้ไปเกิดในภูมิที่ดี คืออยู่ร่วมกับมนุษย์เถิด
ท่านเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ขอให้ได้มีศรัทธาอย่างสูงยิ่ง
ในพระสัทธรรมเถิด
ศรัทธาของท่านนั้นขอให้ตั้งมั่น มีเหตุเกิด
หยั่งลง มั่นคงในสัทธรรม
ที่ตถาคตประกาศไว้ดีแล้ว
ใคร ๆ ทำให้คลอนแคลนไม่ได้ตลอดชีวิตเถิด
ท่านจงละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตได้ทั้งหมด
รวมทั้งละกรรมชั่วที่ประกอบด้วยโทษอื่น ๆ
จงทำความดีทางกาย วาจาให้มาก
และทำความดีทางใจที่ประมาณมิได้ ปราศจากอุปธิ
นอกจากนั้น ท่านจงทำบุญ
ที่ให้เกิดสมบัตินั้นให้มาก ด้วยการให้ทาน
ชักชวนผู้อื่นให้ดำรงอยู่ในสัทธรรม
ในพุทธศาสนาเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๕. พหุชนหิตสูตร
เมื่อเทวดารู้แน่ว่า เทพบุตรกำลังจะจุติ
ย่อมพลอยยินดีด้วยการอนุเคราะห์กล่าวชวนดังนี้ว่า
ท่านเทพบุตร ท่านจงหวนกลับมาเกิด
ในเทวโลกนี้บ่อย ๆ เถิด
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปัญจปุพพนิมิตตสูตรที่ ๔ จบ
๕. พหุชนหิตสูตร
ว่าด้วยบุคคลเกื้อกูลชาวโลก
[๘๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ เมื่อเกิดขึ้นในโลก๑ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อ
เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อ
ประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
บุคคล ๓ จำพวก คือ
๑. พระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย
พระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี
รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค
ตถาคตพระองค์นั้น ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความ
งามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์

เชิงอรรถ :
๑ โลก มี ๓ คือ (๑) สัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์ (๒) สังขารโลก โลกคือสังขาร (ขันธ์ ๕) (๓) โอกาสโลก
โลกคือแผ่นดิน ในที่นี้หมายถึงสัตวโลก (ขุ.อิติ.อ. ๘๔/๒๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๕. พหุชนหิตสูตร
พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ครบถ้วน นี้คือบุคคล
จำพวกที่ ๑ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก
เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
๒. สาวกของพระตถาคตศาสดาพระองค์นั้นนั่นเอง เป็นพระอรหันต-
ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระ
ได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว
หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ สาวกนั้นแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น
มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์
พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ครบถ้วน นี้คือบุคคล
จำพวกที่ ๒ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่คน
หมู่มาก เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อ
ประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
๓. สาวกของพระตถาคตศาสดาพระองค์นั้นนั่นเอง ยังเป็นพระเสขะ
กำลังปฏิบัติอยู่ เป็นพหูสูต ถึงพร้อมด้วยศีลและวัตร แม้สาวกนั้น
ก็แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมี
ความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ
บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ครบถ้วน นี้คือบุคคลจำพวกที่ ๓ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้น
ในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่คน
หมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อ
ความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อ
เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อ
ประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๕. พหุชนหิตสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระศาสดาผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
จัดเป็นบุคคลจำพวกที่ ๑ ในโลก
พระสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระศาสดาพระองค์นั้น
ผู้อบรมตนแล้ว จัดเป็นบุคคลจำพวกที่ ๒
พระสาวกอื่น ๆ นอกจากนั้น ผู้ยังเป็นพระเสขะ
กำลังปฏิบัติอยู่ เป็นพหูสูต ถึงพร้อมด้วยศีลและวัตร
จัดเป็นบุคคลจำพวกที่ ๓
บุคคล ๓ จำพวกนี้เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในเทวดาและมนุษย์
เป็นผู้ส่องแสงสว่าง เผยแผ่สัจธรรมอยู่
ย่อมเปิดประตูเข้าสู่นิพพาน
ท่านเหล่านั้นช่วยปลดเปลื้องชนจำนวนมากออกจากโยคะ
ชนทั้งหลายผู้ปฏิบัติตามอริยมรรค
ที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงนำหมู่เวไนยชนออกจากภพ
ผู้ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า ทรงแสดงไว้ดีแล้ว
เป็นผู้ไม่ประมาทในศาสนธรรมของพระสุคต
ย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ในอัตภาพนี้ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
พหุชนหิตสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๖. อสุภานุปัสสีสูตร
๖. อสุภานุปัสสีสูตร
ว่าด้วยการพิจารณากายให้เห็นเป็นของไม่งาม
[๘๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพิจารณาเห็นความไม่งามในกายอยู่เสมอเถิด
จงหมั่นเจริญอานาปานสติ มุ่งเฉพาะอารมณ์ที่เป็นภายในของพวกเธอ จงพิจารณา
เห็นสภาวะไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวงอยู่เสมอเถิด เมื่อเธอทั้งหลายพิจารณาเห็นความ
ไม่งามในกายอยู่เสมอ ย่อมละราคานุสัยในธาตุที่สวยงามได้ เมื่อเธอทั้งหลาย
หมั่นเจริญอานาปานสติ มุ่งเฉพาะอารมณ์ที่เป็นภายในของพวกเธอ มิจฉาวิตกภายนอก
ที่เป็นฝ่ายแห่งความทุกข์ก็จะไม่มี เมื่อเธอทั้งหลายพิจารณาเห็นสภาวะไม่เที่ยงในสังขาร
ทั้งปวงอยู่เสมอ ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้มีความเพียรพิจารณาเห็นความไม่งามในกาย
ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
พิจารณาเห็นภาวะที่สงบระงับสังขารทั้งปวงตลอดกาล
ภิกษุนั้นแล เป็นผู้เห็นโดยชอบ
เพราะเหตุที่น้อมจิตไปในนิพพานธาตุนั้น
จึงชื่อว่าสำเร็จอภิญญา ๖ ประการ
เป็นผู้สงบ ล่วงพ้นโยคะได้แล้ว เป็นมุนีแท้จริง
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อสุภานุปัสสีสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๗. ธัมมานุธัมมปฏิปันนสูตร
๗. ธัมมานุธัมมปฏิปันนสูตร
ว่าด้วยผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
[๘๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อกล่าวว่า ‘สภาวะที่สมควรใดเป็นเหตุให้บุคคลเป็นผู้
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมด้วยการพยากรณ์ สภาวะที่สมควรนี้ชื่อว่าเป็นธรรมที่
สมควรแก่ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม’ ชื่อว่ากล่าวแต่เรื่องที่เป็นธรรมเท่านั้น
ไม่กล่าวเรื่องที่ไม่เป็นธรรม เมื่อตรึก ชื่อว่าตรึกถึงแต่วิตกที่เป็นธรรมเท่านั้น ไม่ตรึก
ถึงวิตกที่ไม่เป็นธรรม หรือเว้นกิริยาทั้งสองนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ
มีสัมปชัญญะอยู่”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุมีธรรมเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในธรรม
พิจารณาใคร่ครวญถึงธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่
ย่อมไม่เสื่อมจากสัทธรรม๑
ภิกษุเมื่อยืน เดิน นั่ง หรือนอนก็ตาม
ควบคุมจิตให้สงบอยู่ภายในได้
ย่อมบรรลุความสงบแท้จริง
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ธัมมานุธัมมปฏิปันนสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๓๖๔ หน้า ๑๔๗ ในเล่มนี้ และดู ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๐๓๕/๒๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๘. อันธกรณสูตร
๘. อันธกรณสูตร
ว่าด้วยวิตกทั้งที่ทำให้มืดมนและไม่มืดมน
[๘๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อกุศลวิตก ๓ ประการนี้ทำความมืดมน ไม่ทำให้เกิด
ปัญญาจักษุ ทำแต่ความไม่รู้ ดับปัญญา๑ เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
อกุศลวิตก ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามวิตก ทำความมืดมน ไม่ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำแต่ความ
ไม่รู้ ดับปัญญา เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
๒. พยาบาทวิตก ทำความมืดมน ไม่ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำแต่
ความไม่รู้ ดับปัญญา เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
๓. วิหิงสาวิตก ทำความมืดมน ไม่ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำแต่ความไม่รู้
ดับปัญญา เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
อกุศลวิตก ๓ ประการนี้แล ทำความมืดมน ไม่ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำแต่
ความไม่รู้ ดับปัญญา เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย กุศลวิตก ๓ ประการนี้ไม่ทำความมืดมน ทำให้เกิดปัญญา-
จักษุ ทำให้เกิดความรู้ ทำปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ เป็นไปเพื่อนิพพาน
กุศลวิตก ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เนกขัมมวิตก ไม่ทำความมืดมน ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำให้เกิดความรู้
ทำปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ เป็นไปเพื่อนิพพาน

เชิงอรรถ :
๑ ปัญญา หมายถึงปัญญา ๓ ประการ คือ (๑) กัมมัสสกตปัญญา (๒) ฌานปัญญา (๓) วิปัสสนาปัญญา
(ขุ.อิติ.อ. ๘๗/๓๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๘. อันธกรณสูตร
๒. อัพยาบาทวิตก ไม่ทำความมืดมน ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำให้เกิด
ความรู้ ทำปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ เป็นไปเพื่อ
นิพพาน
๓. อวิหิงสาวิตก ไม่ทำความมืดมน ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำให้เกิด
ความรู้ ทำปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ เป็นไปเพื่อ
นิพพาน
กุศลวิตก ๓ ประการนี้แล ไม่ทำความมืดมน ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำให้เกิด
ความรู้ ทำปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ เป็นไปเพื่อนิพพาน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร ควรตรึกถึงกุศลวิตก ๓ ประการ
และควรขจัดอกุศลวิตก ๓ ประการออก
ภิกษุนั้นย่อมทำมิจฉาวิตกและมิจฉาวิจารให้สงบลงได้พลัน
เหมือนฝนตกทำฝุ่นธุลีที่ฟุ้งขึ้นให้สงบหายได้ ฉะนั้น
ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียรนั้น มีใจสงบจากอกุศลวิตกทั้งหมด
ย่อมบรรลุสันติบท๑ได้ในอัตภาพนี้แน่นอน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อันธกรณสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๒๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๙. อันตรามลสูตร
๙. อันตรามลสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นมลทินภายใน
[๘๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน
เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. โลภะเป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
๒. โทสะเป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
๓. โมหะเป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน
เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โลภะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โลภะทำให้จิตกำเริบ โลภะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน(ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๙. อันตรามลสูตร
คนโลภไม่รู้จักผล คนโลภไม่รู้จักเหตุ
ความโลภครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น
ส่วนผู้ใดละโลภะได้
ไม่ทะยานอยากในอารมณ์ที่เป็นเหตุแห่งความโลภ
โลภะจะถูกอริยมรรคละได้เด็ดขาดไปจากผู้นั้น
เหมือนหยาดน้ำกลิ้งตกจากใบบัว ฉะนั้น
โทสะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โทสะทำให้จิตกำเริบ โทสะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน(ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนโกรธไม่รู้จักผล คนโกรธไม่รู้จักเหตุ
ความโกรธครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น
ส่วนผู้ใดละโทสะได้
ไม่ขัดเคืองในอารมณ์ที่เป็นเหตุแห่งความขัดเคือง
โทสะจะถูกอริยมรรคละได้เด็ดขาดไปจากผู้นั้น
เหมือนผลตาลสุกหลุดจากขั้ว ฉะนั้น
โมหะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โมหะทำจิตให้กำเริบ โมหะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน(ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนหลงไม่รู้จักผล คนหลงไม่รู้จักเหตุ
ความหลงครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๗ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น