Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๕-๖ หน้า ๓๒๗ - ๓๙๒

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕-๖ สุตตันตปิฎกที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อุทาน
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๕. จุนทสูตร
ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีพระปรีชา
เสวยพระกระยาหารของนายจุนทะกัมมารบุตรแล้ว
ทรงพระประชวรหนักจวนเจียนจะปรินิพพาน
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยสูกรมัททวะแล้ว
ได้เกิดอาการพระประชวรอย่างรุนแรงลงพระบังคนหนัก
ตรัสว่า เราจะไปยังกรุงกุสินารา
รับสั่งขอน้ำดื่ม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแวะลงข้างทาง เสด็จเข้าไปยังควงไม้ต้นหนึ่งแล้ว
รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอจงปูสังฆาฏิ ๔ ชั้นแก่เรา
เราเหน็ดเหนื่อย จะนั่ง” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วจึงปูสังฆาฏิ
๔ ชั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์นั้นแล้วตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้
ว่า “อานนท์ เธอจงนำน้ำดื่มมาเพื่อเรา เรากระหายจะดื่มน้ำ”
เมื่อพระผู้มีพระภาครับสั่งอย่างนี้ ท่านพระอานนท์จึงได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่มผ่านไปเมื่อ
สักครู่นี้เอง น้ำนั้นถูกล้อเกวียนย่ำจนขุ่นเป็นตมไหลไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม่น้ำ
กุกุฏานี้อยู่ไม่ไกล มีน้ำใส รสจืด เย็นฉ่ำ สะอาด มีท่าขึ้นลงสะดวก น่ารื่นรมย์
พระผู้มีพระภาคจักทรงดื่ม และทรงสนานพระวรกายให้ชุ่มชื่นได้ ณ แม่น้ำนั้น”
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์ เธอจง
นำน้ำดื่มมาเพื่อเรา เรากระหายจะดื่มน้ำ”
ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียนประมาณ
๕๐๐ เล่มผ่านไปเมื่อสักครู่นี้เอง น้ำนั้นถูกล้อเกวียนย่ำ จนขุ่นเป็นตมไหลไป ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ แม่น้ำกุกุฏานี้อยู่ไม่ไกล มีน้ำใส รสจืด เย็นฉ่ำ สะอาด มีท่าขึ้นลง
สะดวก น่ารื่นรมย์ พระผู้มีพระภาคจักทรงดื่ม และทรงสนานพระวรกายให้ชุ่มชื่นได้
ณ แม่น้ำนั้น”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๕. จุนทสูตร
แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์ เธอจง
นำน้ำดื่มมาเพื่อเรา เรากระหายจะดื่มน้ำ” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ถือบาตรเดินไปที่แม่น้ำนั้น
ครั้งนั้น แม่น้ำซึ่งถูกล้อเกวียนย่ำจนขุ่นเป็นตมไหลไปอยู่นั้น เมื่อท่านพระ
อานนท์เดินเข้าไปถึง ก็พลันใสสะอาด ไม่ขุ่น ไหลไปตามปกติ ลำดับนั้น ท่านพระ
อานนท์ได้มีความคิดดังนี้ว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคตทรงมี
ฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง แม่น้ำนี้มีน้ำน้อย ถูกล้อเกวียนย่ำจนขุ่นเป็นตมไป
เมื่อเราเดินมาถึงก็พลันใส สะอาด ไม่ขุ่น ไหลไป” ท่านพระอานนท์จึงใช้บาตรตักน้ำ
แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม่น้ำนี้มีน้ำน้อย ถูกล้อเกวียนย่ำจนขุ่นเป็นตมไหลไป
เมื่อข้าพระองค์เดินเข้าไปถึง ก็พลันใสสะอาด ไม่ขุ่นไหลไป ขอพระผู้มีพระภาค
ทรงดื่มน้ำเถิด ขอพระสุคตทรงดื่มน้ำเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงดื่มน้ำแล้วเสด็จไปที่แม่น้ำกุกุฏา พร้อมกับ
สงฆ์หมู่ใหญ่ พอเสด็จถึงก็เสด็จลงแม่น้ำนั้น ทรงสรงและทรงดื่มแล้วเสด็จขึ้น เสด็จ
กลับไปยังสวนอัมพวันแล้วรับสั่งเรียกท่านพระจุนทกะมาตรัสว่า “จุนทกะ เธอจงปู
ผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้นแก่เรา เราเหน็ดเหนื่อย จะนอน” ท่านพระจุนทกะทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้วปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น จากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสำเร็จสีหไสยา
โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท ทรงมีสติสัมปชัญญะ
บริบูรณ์ ทรงกำหนดพระทัยว่าจะเสด็จลุกขึ้น ส่วนท่านพระจุนทกะก็นั่งเฝ้าอยู่เบื้อง
พระพักตร์ของพระองค์ ในที่นั้นเอง
ภายหลัง พระธรรมสังคาหกาจารย์ได้รจนาคาถาสรุปดังนี้ว่า
พระพุทธเจ้าผู้ตถาคตศาสดา หาผู้เปรียบมิได้ในโลกนี้
ทรงมีพระวรกายเหน็ดเหนื่อยมาก
เสด็จถึงแม่น้ำกุกุฏาซึ่งมีน้ำใส รสจืด สะอาด
เสด็จลงไปสู่แม่น้ำนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๕. จุนทสูตร
พระศาสดาผู้อันชาวโลกทั้งหมดบูชา
เสด็จอยู่ท่ามกลางภิกษุสงฆ์
ทรงสรงและทรงดื่มน้ำแล้วเสด็จขึ้นจากแม่น้ำ
พระผู้มีพระภาคบรมศาสดา ผู้ทรงแสวงหาคุณยิ่งใหญ่
ทรงประกาศเผยแผ่ธรรมวินัยไว้ในพุทธศาสนานี้
เสด็จเข้าไปยังสวนอัมพวันแล้ว
รับสั่งเรียกพระจุนทกะมาตรัสว่า
เธอจงปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้นให้เป็นที่นอนแก่เรา
ท่านพระจุนทกะนั้น อันพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงฝึกฝนอบรมพระองค์แล้วตรัสเตือน
จึงปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น ทันที
พระบรมศาสดาทรงมีพระวรกายเหน็ดเหนื่อย ทรงบรรทมแล้ว
ฝ่ายพระจุนทกะก็นั่งเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ในที่นั้น
บิณฑบาตทาน ๒ คราว มีผลเสมอกัน
ครั้นต่อมา พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
หากจะมีใครมากล่าวให้นายจุนทกัมมารบุตรเดือดร้อนใจว่า ‘ท่านจุนทะ การที่พระ
ตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้ายแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน ไม่ใช่
ลาภของท่าน ท่านได้ชั่วแล้ว อานนท์ เธอพึงระงับความเดือดร้อนใจของนายจุนท-
กัมมารบุตรอย่างนี้ว่า
ท่านจุนทะ การที่พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้าย แล้วเสด็จ
ดับขันธปรินิพพาน เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ท่านจุนทะ ความข้อนี้ อาตมภาพ
ได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคว่า บิณฑบาต ๒ คราว
มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่าและมีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตอื่น
อย่างมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๕. จุนทสูตร
บิณฑบาต ๒ คราว อะไรบ้าง คือ
๑. บิณฑบาตที่พระตถาคตเสวยแล้วตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยม
๒. บิณฑบาตที่พระตถาคตเสวยแล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
บิณฑบาต ๒ คราวนี้ มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่าและมี
อานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตอื่นอย่างมาก
นายจุนทกัมมารบุตรได้สั่งสมกุศลกรรมที่เป็นเหตุให้มีอายุยืน มีผิวพรรณ
ผ่องใส มีความสุข เกิดในสวรรค์ เจริญด้วยลาภยศ เป็นใหญ่ยิ่งแล้ว อานนท์
เธอพึงระงับความเดือดร้อนใจของนายจุนทกัมมารบุตรอย่างนี้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
ผู้ให้ทาน ย่อมเพิ่มพูนบุญ
ผู้สำรวม (ในศีล) ย่อมไม่ก่อเวร
ส่วนผู้ฉลาด ย่อมละบาปได้
เพราะสิ้นราคะ โทสะ และโมหะ
ผู้นั้นจึงชื่อว่าปรินิพพานแล้ว
จุนทสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
๖. ปาฏลิคามิยสูตร๑
ว่าด้วยอุบาสกชาวปาฏลิคาม
[๗๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ ได้เสด็จมาถึงปาฏลิคาม
อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไป
ในแคว้นมคธพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จมาถึงปาฏลิคามแล้ว” จึงพากัน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบ
ทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดรับอาคารที่พักของ
ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยพระอาการดุษณี
ลำดับนั้น อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรง
รับนิมนต์แล้วจึงพากันลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ
แล้วพากันเดินไปยังอาคารที่พัก ปูลาดอาสนะทั่วอาคาร จัดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ
ตามประทีปน้ำมันไว้แล้วกลับเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ
ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
ทั้งหลายปูลาดอาสนะ ดาดเพดานทั่วอาคารที่พัก จัดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตาม
ประทีปน้ำมันไว้แล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด
พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๘๕-๒๘๖/๙๗-๑๐๓, ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๔๘-๑๕๔/๙๒-๙๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จไปที่อาคารที่พัก พร้อมกับภิกษุสงฆ์ ทรงชำระพระบาทแล้วเสด็จเข้าไปยัง
อาคารที่พัก ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก แม้ภิกษุสงฆ์
ก็ล้างเท้าแล้วเข้าไปยังอาคารที่พัก นั่งพิงฝาด้านทิศตะวันตก ผินหน้าไปทางทิศ
ตะวันออกห้อมล้อมพระผู้มีพระภาค แม้อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามก็ล้างเท้า
แล้วเข้าไปยังอาคารที่พักนั้น นั่งพิงฝาด้านทิศตะวันออก ผินหน้าไปทางทิศตะวันตก
ห้อมล้อมพระผู้มีพระภาค
โทษแห่งศีลวิบัติ ๕ ประการ๑
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับอุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามว่า “คหบดี
ทั้งหลาย ศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีลมีโทษ ๕ ประการนี้ โทษ ๕ ประการ คือ
๑. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติในโลกนี้ ย่อมถึงความเสื่อมโภคทรัพย์เป็น
อันมากซึ่งมีความประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นโทษประการที่ ๑ แห่งศีล
วิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๒. กิตติศัพท์อันชั่วของบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมกระฉ่อนไป นี้เป็น
โทษที่ ๒ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๓. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ จะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ จะเป็นขัตติยบริษัท
ก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม สมณบริษัทก็ตาม
ย่อมไม่แกล้วกล้า เก้อเขินเข้าไป นี้เป็นโทษประการที่ ๓ แห่งศีลวิบัติ
ของบุคคลผู้ทุศีล
๔. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมหลงลืมสติตาย นี้เป็นโทษประการที่ ๔
แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๕. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ หลังจากตายแล้ว ย่อมไปบังเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก นี้เป็นโทษประการที่ ๕ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
คหบดีทั้งหลาย ศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีลมีโทษ ๕ ประการนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๑๖/๒๐๙-๒๐๑, องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๒๑๓/๓๕๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
อานิสงส์แห่งศีลสมบัติ ๕ ประการ
คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล มีอานิสงส์ ๕ ประการนี้ อานิสงส์
๕ ประการ คือ
๑. บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติในโลกนี้ ย่อมได้โภคทรัพย์เป็นอันมาก
ซึ่งมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ แห่งศีล
สมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๒. กิตติศัพท์อันงามของบุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ ย่อมขจรไป นี้เป็น
อานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๓. บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ จะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ จะเป็นขัตติยบริษัท
ก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม หรือสมณบริษัท
ก็ตาม ย่อมแกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไป นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓
แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๔. บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ ย่อมไม่หลงลืมสติตาย นี้เป็นอานิสงส์ประการ
ที่ ๔ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๕. บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๕ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีลมีอานิสงส์ ๕ ประการนี้แล”
หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคาม
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาจนดึกดื่นแล้วทรงส่งกลับด้วยรับสั่งว่า “คหบดีทั้งหลาย
ราตรีใกล้จะสว่าง ขอท่านทั้งหลาย จงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ลำดับนั้น อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามต่างชื่นชมอนุโมทนาพระธรรมเทศนา
ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แล้วลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
ทำประทักษิณแล้วจากไป เมื่ออุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามจากไปไม่นาน พระผู้มี
พระภาคก็เสด็จเข้าไปยังเรือนว่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
สร้างเมืองปาฏลีบุตร
สมัยนั้น สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ กำลังสร้างเมือง
ปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกวัชชี ครั้งนั้น เทวดาจำนวนมากเป็นเรือนพัน กำลัง
ยึดครองที่ดินในปาฏลิคาม คือ
เทวดาที่มีศักดิ์ใหญ่ยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพระราชา และมหา-
อำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์ใหญ่ ต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น๑
เทวดาที่มีศักดิ์ชั้นกลางยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพระราชาและมหา-
อำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์ชั้นกลาง ต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น
เทวดาที่มีศักดิ์ชั้นต่ำยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์
ของพระราชาที่มีศักดิ์ชั้นต่ำ ต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงเล็งทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ได้ทอดพระเนตร
เห็นเทวดาเหล่านั้นเป็นเรือนพัน กำลังยึดครองที่ดินในปาฏลิคาม คือ เทวดาที่มี
ศักดิ์ใหญ่ยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชา
ที่มีศักดิ์ใหญ่ต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น เทวดาที่มีศักดิ์ชั้นกลาง
ยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์
ชั้นกลางต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น เทวดาที่มีศักดิ์ชั้นต่ำยึดครองที่
ดินในประเทศใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์ชั้นต่ำ
ต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงตื่นบรรทมในเวลาใกล้รุ่ง รับสั่งเรียกท่านพระ
อานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ ใครกำลังสร้างเมืองในปาฏลิคาม”

เชิงอรรถ :
๑ ทราบว่า เทวดาทั้งหลายเข้าสิงร่างของคนผู้เชี่ยวชาญวิชาดูพื้นที่แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นบอกว่าควรจะ
สร้างบ้านเมืองที่นั้นที่นี้ เพราะเทวดาเหล่านั้นประสงค์จะให้พระราชาและมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ใหญ่ มีศักดิ์
ชั้นกลาง มีศักดิ์ชั้นต่ำอยู่ใกล้ชิดกับตน และทำสักการะสมควรแก่ตน (วิ.อ.๓/๒๘๖/๑๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สุนีธะและวัสสการะ
ผู้เป็นมหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ กำลังสร้างเมืองในปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกวัชชี
พระพุทธเจาข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอำมาตย์แห่ง
มคธรัฐกำลังสร้างเมืองในปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกวัชชี เหมือนได้ปรึกษากับเทวดา
ชั้นดาวดึงส์ อานนท์ ณ ที่นี้ เราเล็งทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ได้เห็นเทวดา
จำนวนมาก เป็นเรือนพัน กำลังยึดครองที่ดินในปาฏลิคาม คือ เทวดาที่มีศักดิ์ใหญ่
ยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์ใหญ่
ต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น เทวดาที่มีศักดิ์ชั้นกลางยึดครองที่ดิน
ในประเทศใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์ชั้นกลางต่างก็
น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น เทวดาที่มีศักดิ์ชั้นต่ำยึดครองที่ดินในประเทศใด
จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์ชั้นต่ำต่างก็น้อมไปเพื่อสร้าง
นิเวศน์ในประเทศนั้น
อานนท์ ตลอดพื้นที่อันเป็นย่านชุมชนแห่งอารยชนและเป็นทางค้าขาย นครนี้
จะเป็นนครชั้นเอก เป็นทำเลค้าขาย ชื่อปาฏลีบุตร และนครปาฏลีบุตรจะเกิด
อันตราย ๓ อย่าง คือ อัคคีภัย อุทกภัย หรือการแตกความสามัคคีภายในกลุ่ม”
สองมหาอำมาตย์เลี้ยงพระ
ครั้งนั้น สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วได้ยืน ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์ทั้งหลาย
ในวันนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
สุนีธะและวัสสการะมหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ ทราบอาการที่พระผู้มีพระภาค
ทรงรับนิมนต์แล้ว จึงเข้าไปยังที่พักของตน แล้วสั่งให้จัดเตรียมของเคี้ยวของฉัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
อย่างประณีตไว้ในที่พักของตนแล้วส่งคนไปกราบทูลภัตกาลว่า “ข้าแต่พระโคดม
ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าไปยังที่พักของสุนีธะและวัสสการะมหาอำมาตย์แห่ง
มคธรัฐ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ลำดับนั้น สุนีธะและวัสสการะ
มหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตมาประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประธาน ให้อิ่มหนำด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ
ทรงละพระหัตถ์จากบาตรแล้ว ได้นั่งเฝ้า ณ ที่สมควร ที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่สุนีธะและวัสสการะมหาอำมาตย์แห่ง
มคธรัฐ ด้วยพระคาถาเหล่านี้ว่า
อนุโมทนาคาถา
บัณฑิตอยู่ในที่ใด เลี้ยงดูท่านผู้มีศีล
ผู้สำรวม ประพฤติพรหมจรรย์ ในที่ที่ตนอยู่นั้น
พึงอุทิศทักษิณาแก่เหล่าเทวดาผู้สถิตอยู่ในที่นั้น
เทวดาเหล่านั้นอันเขาบูชาแล้ว ย่อมบูชาตอบ
อันเขานับถือแล้ว ย่อมนับถือตอบ
จากนั้นย่อมอนุเคราะห์บัณฑิตนั้นเป็นการตอบแทน
ดุจมารดาอนุเคราะห์บุตรผู้เกิดแต่อก ฉะนั้น
ดังนั้น ผู้ที่เทวดาอนุเคราะห์แล้ว
ย่อมพบเห็นแต่สิ่งที่เจริญทุกเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
ประตูโคดมและท่าโคดม
พระผู้มีพระภาค ครั้นทรงอนุโมทนามหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะ
แคว้นมคธด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้ว ทรงลุกขึ้นจากอาสนะเสด็จจากไป สมัยนั้น
มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะแคว้นมคธ ตามส่งเสด็จพระผู้มี
พระภาคไปเบื้องพระปฤษฎางค์ด้วยคิดว่า “วันนี้ ประตูที่ท่านพระสมณโคดมเสด็จ
ออกไป จะได้ชื่อว่า ‘ประตูโคดม’ ท่าที่พระองค์เสด็จข้ามแม่น้ำคงคา จะได้ชื่อว่า
‘ท่าพระโคดม”
ต่อมา ประตูที่พระผู้มีพระภาคเสด็จผ่านไปนั้นได้ปรากฏนามว่า ‘ประตูพระโคดม’
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปทางแม่น้ำคงคา เวลานั้น แม่น้ำคงคามีน้ำเต็ม
เสมอตลิ่ง นกกาพอดื่มกินได้ คนทั้งหลายผู้ปรารถนาจะข้ามฟาก บางพวกเที่ยว
หาเรือ บางพวกเที่ยวหาแพ บางพวกผูกทุ่น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
ทรงหายไปจากฝั่งนี้แห่งแม่น้ำคงคา ไปปรากฏพระวรกายที่ฝั่งโน้น เหมือนบุรุษมี
กำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นคนเหล่านั้นผู้ปรารถนาจะข้ามฟาก บางพวก
เที่ยวหาเรือ บางพวกเที่ยวหาแพ บางพวกผูกทุ่น
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
คนพวกหนึ่งกำลังสร้างสะพาน
ข้ามสระใหญ่ โดยมิให้แปดเปื้อนด้วยโคลนตม
ขณะที่คนอีกพวกหนึ่งกำลังผูกทุ่นอยู่
ชนผู้ฉลาดได้ข้ามพ้นไปแล้ว๑
ปาฏลิคามิยสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๘๖/๑๐๐-๑๐๑, ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๕๓-๑๕๔/๙๖-๙๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๗. ทวิธาปถสูตร
๗. ทวิธาปถสูตร
ว่าด้วยทางสองแพร่ง
[๗๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จพุทธดำเนินทางไกลไปในแคว้นโกศล มีท่าน
พระนาคสมาละเป็นปัจฉาสมณะ๑ ท่านพระนาคสมาละได้เห็นทางสองแพร่ง
ในระหว่างทาง จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ
นี้คือทางที่จะไป ไปทางนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” เมื่อท่านพระนาคสมาละกราบทูล
อย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระนาคสมาละดังนี้ว่า “นาคสมาละ
นี้คือทางที่จะไป เราจะไปทางนี้”
แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระนาคสมาละได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ นี้คือทางที่จะไป ไปทางนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระนาคสมาละดังนี้ว่า “นาคสมาละ นี้คือทาง
ที่จะไป เราจะไปทางนี้”
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระนาคสมาละได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ นี้คือทางที่จะไป ไปทางนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับท่านพระนาคสมาละดังนี้ว่า “นาคสมาละ นี้คือ
ทางที่จะไป เราจะไปทางนี้”
ครั้งนั้น ท่านพระนาคสมาละวางบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคไว้ที่พื้นดิน
ณ ทางนั้นเองแล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้บาตรและจีวรของพระผู้มี
พระภาค” แล้วจากไป เมื่อท่านพระนาคสมาละเดินไปตามทางนั้น พวกโจรที่แอบ
ซุ่มอยู่ระหว่างทาง ได้ออกมารุมทำร้ายทั้งเตะทั้งต่อย ทุบบาตรแตก และฉีกผ้า
สังฆาฏิขาด หลังจากนั้น ท่านพระนาคสมาละมีบาตรแตก มีผ้าสังฆาฏิขาด เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระ

เชิงอรรถ :
๑ ปัจฉาสมณะ หมายถึงพระผู้ติดตามรับใช้ (ขุ.อุ.อ. ๗๗/๔๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกายอุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๘. วิสาขาสูตร
ผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เมื่อข้าพระองค์
เดินไปตามทางนั้น พวกโจรที่แอบซุ่มอยู่ระหว่างทาง ได้ออกมารุมทำร้ายทั้ง
เตะทั้งต่อย ทุบบาตรแตก และฉีกผ้าสังฆาฏิขาด พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
บุคคลผู้จบเวท๑ ถึงจะเที่ยวไปด้วยกัน
อยู่ร่วมกัน ปะปนกับคนอื่น
รู้แจ้ง (คนชั่ว) ย่อมละคนชั่วไปได้
เหมือนนกกระเรียนเว้นน้ำ ดื่มแต่น้ำนม ฉะนั้น
ทวิธาปถสูตรที่ ๗ จบ
๘. วิสาขาสูตร
ว่าด้วยนางวิสาขา
[๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทในบุพพารามของนางวิสาขา
มิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น หลานสาวผู้เป็นที่รัก ที่ชอบใจ ของนางวิสาขา
มิคารมาตาเสียชีวิตลง ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตามีผ้าเปียก ผมเปียก เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคแต่เที่ยงวัน ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสถามนางวิสาขามิคารมาตาดังนี้ว่า “วิสาขา เธอมาจากไหน จึงมีผ้าเปียก ผมเปียก
เข้ามาที่นี่แต่เที่ยงวัน”

เชิงอรรถ :
๑ ผู้จบเวท หมายถึงผู้บรรลุสัจจะ ๔ ด้วยอริยมรรค (ขุ.อุ.อ. ๗๗/๔๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๘. วิสาขาสูตร
นางวิสาขาทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หลานสาวผู้เป็นที่รัก ที่ชอบใจ
ของหม่อมฉันเสียชีวิตแล้ว จึงทำให้หม่อมฉันมีผ้าเปียก ผมเปียกเข้ามาที่นี่แต่เที่ยงวัน
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วิสาขา เธอต้องการมีบุตรและหลานจำนวนเท่ากับ
ชาวกรุงสาวัตถีหรือ”
นางวิสาขาทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันต้องการมีบุตรและ
หลานจำนวนเท่ากับชาวกรุงสาวัตถี พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วิสาขา ชาวกรุงสาวัตถีเสียชีวิตลง แต่ละวัน
มากเท่าไร”
นางวิสาขาทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชาวกรุงสาวัตถีเสียชีวิตลง
แต่ละวัน ๑๐ คนบ้าง ๙ คนบ้าง ๘ คนบ้าง ๗ คนบ้าง ๖ คนบ้าง ๕ คนบ้าง
๔ คนบ้าง ๓ คนบ้าง ๒ คนบ้าง ๑ คนบ้าง กรุงสาวัตถีจะไม่ว่างเว้นจากคนที่เสีย
ชีวิตเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วิสาขา เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอมิต้องมี
ผ้าเปียก ผมเปียก ทุกครั้งทุกคราวหรือ”
นางวิสาขาทูลตอบว่า “ไม่ถึงขนาดนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า มีลูกและ
หลานมากขนาดนั้น หม่อมฉันก็พอใจแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วิสาขา ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๑๐๐ ก็มีทุกข์ ๑๐๐
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๙๐ ก็มีทุกข์ ๙๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๘๐ ก็มีทุกข์ ๘๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๗๐
ก็มีทุกข์ ๗๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๖๐ ก็มีทุกข์ ๖๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๕๐ ก็มีทุกข์ ๕๐
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๔๐ ก็มีทุกข์ ๔๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๓๐ ก็มีทุกข์ ๓๐ ผู้มีสิ่งเป็น
ที่รัก ๒๐ ก็มีทุกข์ ๒๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๑๐ ก็มีทุกข์ ๑๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๙ ก็มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๙. ปฐมทัพพสูตร
ทุกข์ ๙ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๘ ก็มีทุกข์ ๘ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๗ ก็มีทุกข์ ๗ ผู้มีสิ่งเป็น
ที่รัก ๖ ก็มีทุกข์ ๖ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๕ ก็มีทุกข์ ๕ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๔ ก็มีทุกข์ ๔
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๓ ก็มีทุกข์ ๓ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๒ ก็มีทุกข์ ๒ ผู้มีสิ่งเป็นที่รักเพียง ๑
ก็มีทุกข์เพียง ๑ ผู้ไม่มีสิ่งเป็นที่รัก ก็ไม่มีทุกข์ ซึ่งเราเรียกว่า ผู้หมดความโศก
ปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่มีความคับแค้นใจ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
ความโศก ความคร่ำครวญ และความทุกข์หลากหลายมีในโลกนี้
ย่อมเกิดมีได้เพราะอาศัยสิ่งเป็นที่รัก
เมื่อไม่มีสิ่งเป็นที่รัก ความเศร้าโศกเป็นต้นเหล่านี้ก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น คนที่ไม่มีสิ่งเป็นที่รักในโลกไหนๆ
จึงชื่อว่ามีความสุข ปราศจากความเศร้าโศก
ดังนั้น ผู้ปรารถนาความไม่เศร้าโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี
จึงไม่ควรยึดสิ่งเป็นที่รักในโลกไหน ๆ
วิสาขาสูตรที่ ๘ จบ
๙. ปฐมทัพพสูตร
ว่าด้วยพระทัพพมัลลบุตร สูตรที่ ๑
[๗๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระทัพพมัลลบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระสุคต บัดนี้
ถึงเวลาที่ข้าพระองค์จะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ทัพพะ เธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” ทันใดนั้นเอง ท่านพระทัพพ-

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๑๐. ทุติยทัพพสูตร
มัลลบุตรก็ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท ทำประทักษิณแล้ว เหาะขึ้นไปในอากาศ
นั่งขัดสมาธิ เข้าเตโชกสิณสมาบัติ๑อยู่กลางอากาศ ออกจากสมาบัติแล้วจึงปรินิพพาน
ขณะที่ท่านพระทัพพมัลลบุตรเหาะขึ้นไปในอากาศ นั่งขัดสมาธิ เข้าเตโชกสิณ-
สมาบัติอยู่กลางอากาศ ออกจากสมาบัติแล้วปรินิพพาน สรีระของท่านถูกไฟเผา
ไหม้อยู่นั้น ไม่ปรากฏว่ามีเถ้าและเขม่าควันเลย มีอุปมาเหมือนเนยใสหรือน้ำมัน
ที่ถูกไฟเผาไหม้ ไม่ปรากฏว่ามีเถ้าและเขม่าควัน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
ร่างกายได้แตกดับไปแล้ว
เวทนาทั้งหมดดับสนิทแล้ว
สัญญาก็ดับลง สังขารทั้งหลายก็สงบระงับ
วิญญาณก็ถึงความดับสูญ
ปฐมทัพพสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. ทุติยทัพพสูตร
ว่าด้วยพระทัพพมัลลบุตร สูตรที่ ๒
[๘๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย
มารับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี
พระภาคจึงตรัสดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ เข้าเตโชกสิณสมาบัติ หมายถึงเข้าจตุตถฌานสมาบัติ มีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ (ขุ.อุ.อ. ๗๙/๔๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๑๐. ทุติยทัพพสูตร
“ภิกษุทั้งหลาย ขณะที่พระทัพพมัลลบุตรเหาะขึ้นไปในอากาศ นั่งขัดสมาธิเข้า
เตโชกสิณสมาบัติอยู่กลางอากาศ ออกจากสมาบัติแล้วปรินิพพาน สรีระของเธอถูก
ไฟเผาไหม้อยู่นั้น ไม่ปรากฏว่ามีเถ้าและเขม่าควันเลย มีอุปมาเหมือนเนยใส หรือน้ำ
มันที่ถูกไฟเผาไหม้ไม่ปรากฏว่ามีเถ้าและเขม่าควัน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
ไฟที่ลุกโพลง ถูกช่างใช้ค้อนเหล็กตี
ก็ค่อย ๆ มอดดับสนิทลงไป
ใคร ๆ รู้ไม่ได้ว่าไฟนั้นไปอยู่ที่ไหน ฉันใด
พระอรหันต์ทั้งหลายผู้หลุดพ้นโดยชอบ
ข้ามโอฆะเครื่องผูกพันในกามได้หมดแล้ว
บรรลุถึงความสุขที่ไม่หวั่นไหว
ย่อมไม่มีคติที่จะบัญญัติให้รู้กันได้ ฉันนั้น
ทุติยทัพพสูตรที่ ๑๐ จบ
ปาฏลิคามิยวรรคที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] รวมจำนวนวรรคที่มีในอุทาน
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมนิพพานปฏิสังยุตตสูตร ๒. ทุติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
๓. ตติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตร ๔. จตุตถนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
๕. จุนทสูตร ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
๗. ทวิธาปถสูตร ๘. วิสาขาสูตร
๙. ปฐมทัพพสูตร ๑๐. ทุติยทัพพสูตร

รวมจำนวนวรรคที่มีในอุทาน คือ

๑. โพธิวรรค ๒. มุจจลินทวรรค
๓. นันทวรรค ๔. เมฆิยวรรค
๕. โสณเถรวรรค ๖. ชัจจันธวรรค
๗. จูฬวรรค ๘. ปาฏลิคามิยวรรค

ทั้ง ๘ วรรคนี้ มีพระสูตรที่พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงมีพระจักษุญาณ ปราศจาก
มลทิน ทรงจำแนกแสดงไว้ละเอียดรวม ๘๐ สูตร ซึ่งเหล่าบัณฑิตผู้มีศรัทธา ได้กล่าว
วรรคนั้นว่าอุทาน ฉะนี้แล
อุทาน จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๑. โลภสูตร
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. เอกกนิบาต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. โลภสูตร
ว่าด้วยโลภะ
[๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้๑
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราขอรับรองความเป็น
อนาคามีของเธอทั้งหลาย
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งคือโลภะ(ความอยากได้)ได้ เราขอ
รับรองความเป็นอนาคามีของเธอทั้งหลาย”

เชิงอรรถ :
๑ แปลตามนัย ขุ.อิติ.อ. ๑๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๒. โทสสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โลภะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้โลภไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง๑ ย่อมละโลภะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โลภสูตรที่ ๑ จบ
๒. โทสสูตร
ว่าด้วยโทสะ
[๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราขอรับรองความเป็น
อนาคามีของเธอทั้งหลาย
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งคือโทสะ(ความคิดประทุษร้าย)ได้
เราขอรับรองความเป็นอนาคามีของเธอทั้งหลาย”

เชิงอรรถ :
๑ เห็นแจ้ง หมายถึงเห็นอุปาทานขันธ์ ๕ โดยความไม่เที่ยง เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๑/๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๓. โมหสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โทสะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ประทุษร้ายไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโทสะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โทสสูตรที่ ๒ จบ
๓. โมหสูตร
ว่าด้วยโมหะ
[๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราขอรับรองความเป็น
อนาคามีของเธอทั้งหลาย
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งคือโมหะ(ความหลง)ได้ เราขอรับ
รองความเป็นอนาคามีของเธอทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โมหะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้หลงไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโมหะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โมหสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๔. โกธสูตร
๔. โกธสูตร
ว่าด้วยโกธะ
[๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราขอรับรองความเป็น
อนาคามีของเธอทั้งหลาย
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งคือโกธะ(ความโกรธ)ได้ เราขอ
รับรองความเป็นอนาคามีของเธอทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โกธะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้โกรธไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโกธะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โกธสูตรที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๕. มักขสูตร
๕. มักขสูตร
ว่าด้วยมักขะ
[๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราขอรับรองความเป็น
อนาคามีของเธอทั้งหลาย
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งคือมักขะ(ความลบหลู่)ได้ เราขอ
รับรองความเป็นอนาคามีของเธอทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
มักขะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ลบหลู่คุณท่านไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละมักขะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มักขสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๖. มานสูตร
๖. มานสูตร
ว่าด้วยมานะ
[๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราขอรับรองความเป็น
อนาคามีของเธอทั้งหลาย
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งคือมานะ(ความถือตัว)ได้ เราขอ
รับรองความเป็นอนาคามีของเธอทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
มานะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ถือตัวไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละมานะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มานสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๗. สัพพปริญญาสูตร
๗. สัพพปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง
[๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงธรรมทั้งปวง๑ ยังกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงไม่ได้๒
ยังไม่คลายความพอใจในธรรมทั้งปวงนั้น ยังละธรรมทั้งปวงไม่ได้๓ ก็ยังไม่อาจ
สิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้รู้ซึ้งถึงธรรมทั้งปวง กำหนดรู้ธรรมทั้งปวงได้ คลาย
ความพอใจในธรรมทั้งปวงนั้นได้ ละธรรมทั้งปวงได้ จึงอาจสิ้นทุกข์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้ใดรู้ธรรมทั้งปวงโดยอาการทุกอย่าง
ไม่ยินดีในธรรมทั้งปวง
ผู้นั้นแล กำหนดรู้ธรรมทั้งปวงได้
ล่วงพ้นทุกข์ทั้งปวงได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สัพพปริญญาสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่รู้ซึ้งถึงธรรมทั้งปวง หมายถึงไม่รู้ธรรมที่ควรรู้ทั้งปวง โดยนัยว่า “เหล่านี้คือขันธ์ ๕ เหล่านี้คืออายตนะ
๑๒ เหล่านี้คือธาตุ ๑๘ นี้คือทุกขอริยสัจ นี้คือทุกขสมุทัยสัจ” เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๗/๕๙)
๒ ยังกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงไม่ได้ หมายถึงยังไม่สามารถกำหนดรู้ธรรมด้วยญาตปริญญา ตีรณปริญญา
และปหานปริญญาได้ (ขุ.อิติ.อ. ๗/๕๙)
๓ ยังละธรรมทั้งปวงไม่ได้ หมายถึงยังละกิเลสวัฏที่ควรละด้วยมัคคปัญญาไม่ได้ (ขุ.อิติ.อ. ๗/๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๘. มานปริญญาสูตร
๘. มานปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้มานะ
[๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงมานะ ยังกำหนดรู้มานะไม่ได้ ยังไม่คลายความ
พอใจในมานะนั้น ยังละมานะไม่ได้ ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้รู้
ซึ้งถึงมานะ กำหนดรู้มานะได้ คลายความพอใจในมานะนั้นได้ ละมานะได้ จึงอาจ
สิ้นทุกข์ได้
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
หมู่สัตว์นี้ประกอบด้วยมานะ
ถูกมานะร้อยรัดไว้ ยินดีแล้วในภพ
ไม่กำหนดรู้มานะ จึงกลับมาเกิดซ้ำอีก
ส่วนหมู่สัตว์ที่ละมานะได้แล้ว
น้อมใจไปในธรรมเป็นที่สิ้นมานะ
ครอบงำมานะที่ร้อยรัดได้แล้ว
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องร้อยรัดได้ทั้งหมด
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มานปริญญาสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๙. โลภปริญญาสูตร
๙. โลภปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้โลภะ
[๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงโลภะ ยังกำหนดรู้โลภะไม่ได้ ยังไม่คลายความ
พอใจในโลภะนั้น ยังละโลภะไม่ได้ ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้รู้ซึ้ง
ถึงโลภะ กำหนดรู้โลภะได้ คลายความพอใจในโลภะนั้นได้ ละโลภะได้แล้ว จึงอาจ
สิ้นทุกข์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โลภะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้โลภไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโลภะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โลภปริญญาสูตรที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๑๐. โทสปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้โทสะ
[๑๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงโทสะ ยังกำหนดรู้โทสะไม่ได้ ยังไม่คลายความ
พอใจในโทสะนั้น ยังละโทสะไม่ได้ ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้รู้ซึ้ง
ถึงโทสะ กำหนดรู้โทสะได้ คลายความพอใจในโทสะนั้นได้ ละโทสะได้แล้ว จึงอาจ
สิ้นทุกข์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โทสะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ประทุษร้ายไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโทสะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โทสปริญญาสูตรที่ ๑๐ จบ
ปฐมวรรค จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โลภสูตร ๒. โทสสูตร
๓. โมหสูตร ๔. โกธสูตร
๕. มักขสูตร ๖. มานสูตร
๗. สัพพปริญญาสูตร ๘. มานปริญญาสูตร
๙. โลภปริญญาสูตร ๑๐. โทสปริญญาสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑. โมหปริญญาสูตร
๒. ทุติยวรรค
หมวดที่ ๒
๑. โมหปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้โมหะ
[๑๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงโมหะ ยังกำหนดรู้โมหะไม่ได้ ยังไม่คลายความ
พอใจในโมหะนั้น ยังละโมหะไม่ได้ ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้รู้ซึ้ง
ถึงโมหะ กำหนดรู้โมหะได้ คลายความพอใจในโมหะนั้นได้ ละโมหะได้แล้ว จึงอาจ
สิ้นทุกข์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โมหะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้หลงไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโมหะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โมหปริญญาสูตรที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๒. โกธปริญญาสูตร
๒. โกธปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้โกธะ
[๑๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงโกธะ ยังกำหนดรู้โกธะไม่ได้ ยังไม่คลายความ
พอใจในโกธะนั้น ยังละโกธะไม่ได้ ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้
รู้ซึ้งถึงโกธะ กำหนดรู้โกธะได้ คลายความพอใจในโกธะนั้นได้ ละโกธะได้แล้ว จึงอาจ
สิ้นทุกข์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โกธะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้โกรธไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโกธะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว ก็ไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โกธปริญญาสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๓. มักขปริญญาสูตร
๓. มักขปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้มักขะ
[๑๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงมักขะ ยังกำหนดรู้มักขะไม่ได้ ยังไม่คลายความ
พอใจในมักขะนั้น ยังละมักขะไม่ได้ ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้รู้
ซึ้งถึงมักขะ กำหนดรู้มักขะได้ คลายความพอใจในมักขะนั้นได้ ละมักขะได้แล้ว
จึงอาจสิ้นทุกข์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
มักขะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ลบหลู่คุณท่านไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละมักขะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มักขปริญญาสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๔. อวิชชานีวรณสูตร
๔. อวิชชานีวรณสูตร
ว่าด้วยธรรมเครื่องกางกั้นคืออวิชชา
[๑๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมเครื่องกางกั้นอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้
หมู่สัตว์ซึ่งถูกธรรมเครื่องกางกั้นปิดบังแล้ว ต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน
เหมือนธรรมเครื่องกางกั้นคืออวิชชานี้เลย ภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ที่ถูกธรรมเครื่อง
กางกั้นคืออวิชชาปิดบังแล้ว ต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ไม่มีธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้หมู่สัตว์
ซึ่งถูกปิดบังแล้ว ต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไปตลอดวันและคืน
เหมือนถูกโมหะปิดกั้นเลย
ส่วนอริยสาวกทั้งหลาย ละโมหะได้
ทำลายกองแห่งความมืด๑ได้
ย่อมไม่ท่องเที่ยวไปอีก
เพราะท่านเหล่านั้นไม่มีอวิชชาเป็นเหตุ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อวิชชานีวรณสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ กองแห่งความมืด ในที่นี้หมายถึงโมหะ (ความหลง) (ขุ.อิติ.อ.๑๔/๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๕. ตัณหาสังโยชนสูตร
๕. ตัณหาสังโยชนสูตร
ว่าด้วยสังโยชน์คือตัณหา
[๑๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นสังโยชน์อื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้หมู่สัตว์ซึ่งถูก
สังโยชน์ผูกมัดแล้วต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานเหมือนสังโยชน์คือตัณหานี้เลย
ภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ที่ถูกสังโยชน์คือตัณหาผูกมัดแล้ว ต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไป
สิ้นกาลนาน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลผู้มีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น
ภิกษุรู้โทษนี้ รู้ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
พึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา ไม่มีความถือมั่น มีสติสัมปชัญญะอยู่๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ตัณหาสังโยชนสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๙/๑๕, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๑/๕๔๐, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๗/๓๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๖. ปฐมเสขสูตร
๖. ปฐมเสขสูตร
ว่าด้วยพระเสขะ สูตรที่ ๑
[๑๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุผู้เป็นพระเสขะยังไม่บรรลุ ปรารถนาจะบรรลุธรรม
อันเป็นแดนเกษมจากโยคะ๑อันยอดเยี่ยม เราไม่เห็นเหตุอื่นแม้อย่างหนึ่งที่ทำเหตุซึ่ง
มีอยู่ภายในตนให้มีอุปการะมากอย่างนี้เหมือนโยนิโสมนสิการ(การมนสิการโดยแยบคาย)
นี้เลย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อมนสิการโดยแยบคายย่อมละอกุศลได้ และทำกุศล
ให้เจริญ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ไม่มีธรรมอื่นที่จะมีอุปการะมาก
แก่ภิกษุผู้เป็นพระเสขะเพื่อการบรรลุประโยชน์สูงสุด
เหมือนกับโยนิโสมนสิการ
เพราะภิกษุเมื่อเริ่มตั้งความเพียรด้วยโยนิโสมนสิการไว้
ก็พึงบรรลุความสิ้นทุกข์ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมเสขสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ หมายถึงอรหัตตผลและนิพพาน (ขุ.อิติ.อ. ๑๖/๗๐,๑๘/๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๘. สังฆเภทสูตร
๗. ทุติยเสขสูตร
ว่าด้วยพระเสขะ สูตรที่ ๒
[๑๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุผู้เป็นพระเสขะยังไม่บรรลุ ปรารถนาจะบรรลุธรรม
อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เราไม่เห็นเหตุอื่นแม้อย่างหนึ่งที่ทำเหตุซึ่งมี
อยู่ภายนอกตนให้มีอุปการะมากอย่างนี้เหมือนความเป็นผู้มีมิตรดีนี้เลย ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมละอกุศลได้ และทำกุศลให้เจริญ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีความเคารพ ยำเกรง
ปฏิบัติตามคำของมิตรทั้งหลาย
มีสติสัมปชัญญะมั่นคง
ก็พึงถึงความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวงได้โดยลำดับ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยเสขสูตรที่ ๗ จบ
๘. สังฆเภทสูตร
ว่าด้วยการทำสงฆ์ให้แตกกัน
[๑๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้น เพื่อไม่ใช่
เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่ความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่ประโยชน์ เพื่อไม่ใช่
เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เกิดขึ้นเพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๙. สังฆสามัคคีสูตร
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
คือ สังฆเภท๑
ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อสงฆ์แตกกัน ย่อมมีความบาดหมางกัน มีการบริภาษกัน
มีการดูหมิ่นกัน และมีการขับไล่กัน ในเพราะสังฆเภทนั้น ชนทั้งหลายที่ยังไม่เลื่อมใส
ก็ไม่เลื่อมใส และบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว ก็ย่อมเป็นอื่นไป”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ยินดีในการแตกกัน
ตั้งอยู่ในอธรรม เป็นผู้เข้าถึงอบาย อยู่ในนรกตลอดกัป
พลาดจากธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ๒
เสวยผลกรรมอยู่ในนรกตลอดกัป
เพราะทำลายสงฆ์ที่สามัคคีกันให้แตกแยกกัน๓
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สังฆเภทสูตรที่ ๘ จบ
๙. สังฆสามัคคีสูตร
ว่าด้วยการทำสงฆ์ให้สามัคคีกัน
[๑๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่
คนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก
เกิดขึ้นเพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ สังฆเภท หมายถึงการทำสงฆ์ให้แตกจากกัน เช่นการไม่ทำอุโบสถ ปวารณา และสังฆกรรมร่วมกัน
(ขุ.อิติ.อ. ๑๘/๗๘)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๓๖๐ ในเล่มนี้
๓ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๕๔/๒๑๖, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๓๙/๙๑, อภิ.ก. ๓๗/๖๕๗/๓๙๕-๓๙๖,๘๖๒/๔๙๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๐. ปทุฏฐจิตตสูตร
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
คือ สังฆสามัคคี
ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ย่อมไม่มีความบาดหมางกัน ไม่มี
การข่มขู่กัน ไม่มีการด่าว่ากัน และไม่มีการขับไล่กัน ในเพราะความสามัคคีของสงฆ์
นั้น ชนทั้งหลายที่ยังไม่เลื่อมใส ก็เลื่อมใส ส่วนชนทั้งหลายที่เลื่อมใสแล้ว ก็เลื่อมใส
ยิ่ง ๆ ขึ้นไป”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ความสามัคคีแห่งสงฆ์ เป็นเหตุให้เกิดสุข
และบุคคลผู้อนุเคราะห์สงฆ์ผู้สามัคคีกันแล้ว
ผู้ยินดีในความสามัคคีกัน ตั้งอยู่ในธรรม
ย่อมไม่พลาดจากธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ย่อมบันเทิงในสวรรค์ตลอดกัป เพราะสมานสงฆ์ให้สามัคคีกัน๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สังฆสามัคคีสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. ปทุฏฐจิตตสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีจิตถูกประทุษร้าย๒
[๒๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดวาระจิตของบุคคลผู้มีจิตถูกประทุษร้ายบางคนใน
โลกนี้ด้วยใจ จึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ถ้าบุคคลนี้ตายในขณะนี้ จะถูกไหม้ในนรกเหมือนถูก
นำไปฝังไว้ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะจิตของเขาถูกประทุษร้าย ภิกษุทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๕๔/๒๑๗, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๔๐/๙๒
๒ จิตถูกประทุษร้าย หมายถึงจิตขุ่นมัวด้วยกิเลสมีราคะ เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๒๐/๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ก็เพราะเหตุที่มีจิตถูกประทุษร้ายนั่นเอง สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ หลังจาก
ตายแล้วจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ด้วยอาการอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระพุทธเจ้าทรงรู้บุคคลบางคน
ผู้มีจิตถูกประทุษร้ายแล้วในโลกนี้
จึงทรงขยายเนื้อความนี้ให้ชัดแก่ภิกษุในที่ใกล้ว่า
ถ้าบุคคลนี้ตายในขณะนี้ ต้องไปเกิดในนรก
เพราะจิตของเขาถูกประทุษร้าย
เขาเป็นอย่างนั้น เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ก็เพราะเหตุที่มีจิตถูกประทุษร้าย
สัตว์ทั้งหลายจึงไปสู่ทุคติ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปทุฏฐจิตตสูตรที่ ๑๐ จบ
ทุติยวรรค จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โมหปริญญาสูตร ๒. โกธปริญญาสูตร
๓. มักขปริญญาสูตร ๔. อวิชชานีวรณสูตร
๕. ตัณหาสังโยชนสูตร ๖. ปฐมเสขสูตร
๗. ทุติยเสขสูตร ๘. สังฆเภทสูตร
๙. สังฆสามัคคีสูตร ๑๐. ปทุฏฐจิตตสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๑. ปสันนจิตตสูตร
๓. ตติยวรรค
หมวดที่ ๓
๑. ปสันนจิตตสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีจิตเลื่อมใส
[๒๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดวาระจิตของบุคคลผู้มีจิตเลื่อมใสบางคนในโลกนี้ด้วยใจ
จึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ถ้าบุคคลนี้ตายในขณะนี้ จะดำรงอยู่ในสวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญ
ไปประดิษฐานไว้ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะจิตของเขาเลื่อมใส ภิกษุทั้งหลาย
ก็เพราะเหตุที่มีจิตเลื่อมใสนั่นเอง สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้ว
จึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ด้วยอาการอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระพุทธเจ้าทรงรู้บุคคลบางคน
ผู้มีจิตเลื่อมใส๑ในโลกนี้
จึงทรงขยายเนื้อความนี้ให้ชัดแก่ภิกษุในที่ใกล้ว่า
ถ้าบุคคลนี้ตายในขณะนี้ ต้องไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
เพราะจิตของเขาเลื่อมใส
เขาเป็นอย่างนั้น เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ก็เพราะเหตุที่มีจิตเลื่อมใส สัตว์ทั้งหลายจึงไปสู่สุคติ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปสันนจิตตสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ผู้มีจิตเลื่อมใส หมายถึงผู้มีศรัทธาเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย และเชื่อผลแห่งกรรม (ขุ.อิติ.อ. ๒๑/๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๒. เมตตสูตร
๒. เมตตสูตร
ว่าด้วยการเจริญเมตตา
[๒๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวบุญเลย คำว่า ‘บุญ’ นี้ เป็นชื่อของความสุข
ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจ เรารู้ชัดผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก
น่าพอใจของบุญที่เราทำไว้ตลอดกาลนาน เราเจริญเมตตาพรหมวิหารมาถึง ๗ ปี
จึงไม่มาเกิดในโลกนี้อีกถึง ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป๑ ทราบมาว่า เมื่อกัปพินาศไป เราบังเกิด
อยู่ในพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อกัปเจริญขึ้นใหม่ เราบังเกิดอยู่ในพรหมวิมานที่ว่างเปล่า
ภิกษุทั้งหลาย ณ พรหมวิมานนั้น เราเป็นพรหม เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครเทียบ
ได้ด้วยคุณธรรม เป็นผู้สามารถเห็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้อย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้
บังคับจิตให้เป็นไปในอำนาจของตนได้ ภิกษุทั้งหลาย เราเคยเป็นท้าวสักกะจอมเทพ
ถึง ๓๖ ชาติติดต่อกัน เคยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชามีอำนาจ
แผ่ไปทั่วมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นผู้พิชิตชัยได้ทั้งภายในและภายนอก มีแว่นแคว้น
มั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ๒ นับได้หลายร้อยครั้ง
ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดินประเทศราชเลย
เรานั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ เราเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากถึง
เพียงนี้ด้วยผลของกรรมและวิบากของกรรมอะไรหนอ’

เชิงอรรถ :
๑ ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป หมายถึง ๗ มหากัป (ขุ.อิติ.อ.๒๒/๘๖)
๒ รัตนะ ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นารีแก้ว คหบดีแก้ว และปริณายกแก้ว (ที.สี.
(แปล) ๙/๒๕๘/๘๙, ที.ม. (แปล) ๑๐/๒๔๓-๒๕๑/๑๘๓-๑๘๗, ที.ปา. ๑๑/๑๙๙/๑๒๓, องฺ.สตฺตก. (แปล)
๒๓/๖๒/๑๒๐, ขุ.อิติ.อ.๒๒/๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๓. อุภยัตถสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เราตอบตนเองได้ว่า ‘บัดนี้ เราเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
ถึงเพียงนี้ด้วยผลของกรรมและวิบากของกรรม ๓ ประการ คือ
๑. ทาน (การให้)๑
๒. ทมะ (การฝึกตน)๒
๓. สัญญมะ (การสำรวม)๓”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บัณฑิตพึงศึกษาบุญที่ดีเลิศ
มีความสุขเป็นกำไรเท่านั้น คือพึงบำเพ็ญทาน
ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ และเจริญเมตตาจิต
บัณฑิตครั้นบำเพ็ญธรรม ๓ ประการ
อันเป็นเหตุเกิดความสุขเหล่านี้แล้ว
ย่อมเข้าถึงโลกที่เป็นสุข ซึ่งไม่มีการเบียดเบียนกัน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เมตตสูตรที่ ๒ จบ
๓. อุภยัตถสูตร
ว่าด้วยประโยชน์ทั้งสอง
[๒๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมถือเอา
ประโยชน์ทั้งสองได้ คือ ประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า

เชิงอรรถ :
๑ การให้ ในที่นี้หมายถึงการบริจาคไทยธรรมมีข้าวเป็นต้น (ขุ.อิติ.อ.๒๒/๘๙)
๒ การฝึกตน ในที่นี้หมายถึงการสำรวมอินทรีย์มีตาเป็นต้น และการข่มกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๒๒/๘๙)
๓ การสำรวม หมายถึงการสำรวมกาย วาจา (ขุ.อิติ.อ.๒๒/๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๔. อัฏฐิปุญชสูตร
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
คือ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล ที่บุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อม
ถือเอาประโยชน์ทั้งสองได้ คือ ประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท
ในการทำบุญทั้งหลาย
บัณฑิตผู้ไม่ประมาทย่อมบรรลุประโยชน์ทั้งสอง
ธีรชน เราเรียกว่า บัณฑิต
เพราะยึดประโยชน์ทั้งสองไว้ได้ คือ
ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในภายหน้า๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อุภยัตถสูตรที่ ๓ จบ
๔. อัฏฐิปุญชสูตร
ว่าด้วยร่างกระดูก
[๒๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลคนหนึ่งพึงแล่นไป ท่องเที่ยวไปตลอดกัป โครงกระดูก
ร่างกระดูก กองกระดูก ถ้ามีคนรวบรวมเก็บไว้ และไม่สูญหายไป ก็จะเป็นกอง
กระดูกใหญ่โตเท่าภูเขาเวปุลละนี้แน่นอน”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๒๘/๑๕๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๕. มุสาวาทสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า
กองกระดูกของคนคนหนึ่ง ตลอดกัปหนึ่ง
จะเป็นกองกระดูกเสมอเท่าภูเขา
ภูเขาเวปุลละนี้นั้น เป็นภูเขากว้างใหญ่
ตั้งอยู่ทางเหนือภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ของชาวมคธ
เมื่อใด บุคคลพิจารณาเห็นอริยสัจ ๔ คือ
ทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความพ้นทุกข์ และอริยมรรคมีองค์ ๘
ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ
เมื่อนั้น บุคคลนั้นแล่นไปแล้วอีก ๗ ชาติเป็นอย่างยิ่ง
ก็จะทำที่สุดทุกข์ได้ เพราะสังโยชน์ทั้งปวงสิ้นไป
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อัฏฐิปุญชสูตรที่ ๔ จบ
๕. มุสาวาทสูตร
ว่าด้วยการกล่าวเท็จ
[๒๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลล่วงละเมิดธรรมอย่างหนึ่งแล้ว เราขอบอกว่า
บาปกรรมอะไร ๆ อย่างอื่นที่เขาจะไม่ทำนั้นย่อมไม่มี
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
คือ สัมปชานมุสาวาท (การกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่)”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๖. ทานสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
คนที่ล่วงละเมิดธรรมอย่างหนึ่ง
มักกล่าวเท็จเสมอ ปฏิเสธปรโลก
จะไม่ทำบาปนั้นไม่มี๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มุสาวาทสูตรที่ ๕ จบ
๖. ทานสูตร
ว่าด้วยการให้
[๒๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้ผลแห่งทานเจตนาและการจำแนกทาน
เหมือนอย่างที่เรารู้ สัตว์เหล่านั้นไม่ให้ทานเสียก่อน ก็จะไม่บริโภค และมลทินคือ
ความตระหนี่ก็จะไม่พึงครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้นได้ แม้คำข้าวคือก้อนข้าวของ
สัตว์เหล่านั้นจะพึงเหลืออยู่คำสุดท้ายก็ตาม
ถ้าปฏิคาหกของพวกเขายังมีอยู่ สัตว์เหล่านั้นยังไม่ได้แบ่งคำข้าวคำสุดท้าย
แม้นั้น(ให้แก่ปฏิคาหก) ก็จะไม่บริโภค ภิกษุทั้งหลาย แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายไม่รู้ผล

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๑๗๖ หน้า ๘๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๖. ทานสูตร
แห่งทานเจตนาและการจำแนกทานเหมือนอย่างที่เรารู้ ฉะนั้น สัตว์เหล่านั้นจึงไม่ให้ทาน
เสียก่อนแล้วบริโภค และมลทินคือความตระหนี่ก็ครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้นได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ถ้าสัตว์ทั้งหลายรู้ผลของการจำแนกทาน
ตามที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ตรัสไว้
โดยวิธีที่วิบากนั้นจะมีผลมากอย่างนี้
พึงกำจัดมลทินคือความตระหนี่ มีใจเลื่อมใสยิ่ง
พึงถวายทานตามกาลในพระอริยะทั้งหลาย
ซึ่งเป็นเขตที่ทานอันบุคคลถวายแล้วมีผลมาก
อนึ่ง ทายกจำนวนมากถวายข้าว
ให้เป็นทักษิณาทานในพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย
ตายจากมนุษยโลกนี้แล้ว ย่อมไปเกิดในสวรรค์
ครั้นไปเกิดในสวรรค์นั้นแล้ว
ยังปรารถนากามอยู่ แต่ไม่ตระหนี่
ก็จะบันเทิงในสวรรค์นั้น เสวยผลของการจำแนกทานอยู่
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทานสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๗. เมตตาภาวนาสูตร
๗. เมตตาภาวนาสูตร
ว่าด้วยการเจริญเมตตา
[๒๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ๑ที่มีอุปธิเป็นเหตุทั้งหมด ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่ง
เมตตาเจโตวิมุตติ เมตตาเจโตวิมุตติเท่านั้น แผ่แสงบริสุทธิ์ แผดเผากิเลส รุ่งเรือง
เหนือกว่าบุญกิริยาวัตถุทั้งหมดนั้น
แสงดาวทุกดวงรวมกัน ก็ยังสว่างไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งแสงจันทร์ แสงจันทร์
เท่านั้นกระจ่าง สว่างไสว รุ่งเรืองข่มแสงดาวทั้งหมดนั้น ฉันใด บุญกิริยาวัตถุที่มี
อุปธิเป็นเหตุทั้งหมดนั้นไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งเมตตาเจโตวิมุตติ ฉันนั้นเหมือนกัน
เมตตาเจโตวิมุตติเท่านั้น แผ่แสงบริสุทธิ์ แผดเผากิเลส รุ่งเรืองเหนือกว่าบุญกิริยา-
วัตถุทั้งหมดนั้น
เมื่ออากาศโปร่ง ปราศจากเมฆหมอกในสารทกาลในช่วงเดือนท้ายของฤดูฝน
ดวงอาทิตย์ลอยขึ้นอยู่บนอากาศ แผดแสงเจิดจ้า สว่างไสว ไล่ขจัดความมืดสลัวให้
หมดไป ฉันใด บุญกิริยาวัตถุที่มีอุปธิเป็นเหตุทั้งหมดนั้น ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่ง
เมตตาเจโตวิมุตติก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมตตาเจโตวิมุตติเท่านั้น แผ่แสงบริสุทธิ์
แผดเผากิเลส รุ่งเรืองเหนือกว่าบุญกิริยาวัตถุทั้งหมดนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี ดาวประกายพรึกทั้งหลาย ต่างทอแสง
แพรวพราวระยิบระยับ ฉันใด บุญกิริยาวัตถุที่มีอุปธิเป็นเหตุทั้งหมด ไม่ถึงเสี้ยว
ที่ ๑๖ แห่งเมตตาเจโตวิมุตติ ฉันนั้นเหมือนกัน เมตตาเจโตวิมุตติเท่านั้น แผ่แสง
บริสุทธิ์ แผดเผากิเลส รุ่งเรืองเหนือกว่าบุญกิริยาวัตถุทั้งหมดนั้น

เชิงอรรถ :
๑ บุญกิริยาวัตถุ หมายถึงการบำเพ็ญบุญอันเป็นเหตุให้ได้อานิสงส์ มี ๓ อย่าง คือ (๑) ทานมัย (๒) สีลมัย
(๓) ภาวนามัย (ขุ.อิติ.อ. ๒๗/๑๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๗. เมตตาภาวนาสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้มีสติตั้งมั่น เจริญเมตตาแผ่ไปไม่มีประมาณ
พิจารณาเห็นธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ ย่อมมีสังโยชน์เบาบาง
หากบุคคลมีจิตไม่คิดประทุษร้ายสัตว์แม้ชีวิตเดียว
เจริญเมตตาเป็นประจำอยู่
ก็เป็นผู้ชื่อว่าฉลาดเพราะการเจริญเมตตานั้น
แต่พระอริยบุคคลผู้มีใจอนุเคราะห์สัตว์ทุกหมู่เหล่า
ชื่อว่าสั่งสมบุญไว้เป็นอันมาก
พระราชาผู้ทรงธรรมเช่นกับฤๅษี
ทรงชนะใจหมู่สัตว์ทั่วแผ่นดินด้วยราชธรรม
ทรงบูชายัญ คือ (สัสสเมธะ ปุริสเมธะ สัมมาปาสะ
วาชเปยยะ และนิรัคคฬะ)๑ เสด็จเที่ยวไป

เชิงอรรถ :
๑ ยัญ ๕ นี้ เดิมทีเดียว คือราชสังคหวัตถุ(หลักสงเคราะห์ของพระราชา) มีดังนี้ (๑) สัสสเมธะ (ฉลาดในการ
บำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร) (๒) ปุริสเมธะ (ฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ)
(๓) สัมมาปาสะ (ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ) (๔) วาชเปยยะ (ความมี
วาจาอันดูดดื่มน้ำใจ) (๕) นิรัคคฬะ (บ้านเมืองสงบสุข ปราศจากโจรผู้ร้าย ไม่ต้องระแวงภัย บ้านเรือนไม่
ต้องลงกลอน) ยัญ ๔ ประการแรก เป็นเหตุ ส่วนยัญประการสุดท้ายเป็นผล
ต่อมาพราหมณ์สมัยหนึ่งดัดแปลงเป็นการบูชายัญ เพื่อผลประโยชน์ในทางลาภสักการะแก่ตน และมี
ความหมายแตกต่างออกไปดังนี้ อัสสเมธะ (การฆ่าม้าบูชายัญ) ปุริสเมธะ (การฆ่าคนบูชายัญ) สัมมาปาสะ
(การทำบ่วงแล้วขว้างไม้ลอดบ่วง ไม้ตกที่ไหนก็ทำพิธีบูชายัญที่นั่น) วาชเปยยะ (การดื่มน้ำเมาเพื่อกล่อม
จิตใจให้พร้อมที่จะบูชายัญ) นิรัคคฬะ (ยัญไม่มีลิ่มสลัก คือทั่วไปไม่มีขีดขั้นจำกัด หรือการฆ่าครบทุกอย่าง
บูชายัญ) (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑/๒๑๓, ขุ.อิติ.อ. ๒๗/๑๐๖-๑๐๘, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๓๙/๓๗๑-๓๗๒, องฺ.อฏฺฐก.
ฏีกา ๓/๑/๒๔๙-๒๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ยัญเหล่านั้น ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖
แห่งเมตตาเจโตวิมุตติที่บุคคลเจริญดีแล้ว
(เหมือนแสงหมู่ดวงดาวทุกดวงไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งแสงจันทร์ ฉะนั้น)
ผู้มีเมตตาในสัตว์ทุกหมู่เหล่า
จะไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า
ไม่ชนะเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นชนะ ไม่มีเวรกับใคร ๆ๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เมตตาภาวนาสูตรที่ ๗ จบ
ตติยวรรค จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปสันนจิตตสูตร ๒. เมตตสูตร
๓. อุภยัตถสูตร ๔. อัฏฐิปุญชสูตร
๕. มุสาวาทสูตร ๖. ทานสูตร
๗. เมตตาภาวนาสูตร

รวมพระสูตรในนิบาตนี้
ในเอกกนิบาตนี้มีพระสูตรรวมได้ ๒๗ สูตร คือ ในวรรคนี้มี ๗ สูตร ใน ๒
วรรคข้างต้นมี ๒๐ สูตร
เอกกนิบาต จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๑/๑๙๔-๑๙๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๑. ทุกขวิหารสูตร
๒. ทุกนิบาต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. ทุกขวิหารสูตร
ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นทุกข์
[๒๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมอยู่เป็นทุกข์
อึดอัด คับแค้น กระวนกระวายในปัจจุบันนี้ หลังจากมรณภาพแล้ว พึงหวังได้ทุคติ
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
๒. ความไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมอยู่เป็นทุกข์
อึดอัด คับแค้น กระวนกระวายในปัจจุบันนี้ หลังจากมรณภาพแล้ว พึงหวังได้ทุคติ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุใดไม่คุ้มครองทวารทั้ง ๖ นี้ คือ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ทั้งไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
ไม่สำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย
ภิกษุนั้นย่อมประสบทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ
ภิกษุเช่นนั้นจะมีแต่ความรุ่มร้อนกาย เร่าร้อนใจ
ชื่อว่าอยู่เป็นทุกข์ทั้งกลางวันและกลางคืน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุกขวิหารสูตรที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๒. สุขวิหารสูตร
๒. สุขวิหารสูตร
ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข
[๒๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมอยู่เป็นสุข ไม่อึดอัด
ไม่คับแค้น ไม่กระวนกระวายในปัจจุบันนี้ หลังจากมรณภาพแล้วพึงหวังได้สุคติ
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
๒. ความรู้จักประมาณในการบริโภค
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมอยู่เป็นสุข
ไม่อึดอัด ไม่คับแค้น ไม่กระวนกระวายในปัจจุบันนี้ หลังจากมรณภาพแล้วพึง
หวังได้สุคติ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุใดคุ้มครองทวารทั้ง ๖ นี้ คือ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ทั้งรู้จักประมาณในการบริโภค สำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย
ภิกษุนั้นย่อมประสบสุขทั้งทางกายและทางใจ
ภิกษุเช่นนั้นจะไม่มีความรุ่มร้อนกาย เร่าร้อนใจเลย
ชื่อว่าอยู่เป็นสุขทั้งกลางวันและกลางคืน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สุขวิหารสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๓. ตปนียสูตร
๓. ตปนียสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้เดือดร้อน
[๓๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเหตุให้เดือดร้อน ๒ ประการนี้
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ทำความดีไว้ ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำบุญเครื่อง
ต่อต้านความหวาดกลัวทุกข์ไว้ ทำแต่ความชั่ว ทำแต่ความหยาบช้า ทำแต่ความ
ร้ายกาจไว้
๑. เขาคิดว่า “เราไม่ได้ทำความดีไว้” จึงเดือดร้อน
๒. เขาคิดว่า “เราทำแต่ความชั่ว” จึงเดือดร้อน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นเหตุให้เดือดร้อน ๒ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลมีปัญญาทราม ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
และอกุศลกรรมอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยโทษ
ไม่ทำกุศลกรรมไว้ ทำแต่อกุศลกรรมไว้มากมาย
หลังจากตายแล้วจะไปบังเกิดในนรก
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ตปนียสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๔. อตปนียสูตร
๔. อตปนียสูตร
ว่าด้วยธรรมไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อน
[๓๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อน ๒ ประการนี้
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำความดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำบุญเครื่องต่อต้านความ
หวาดกลัวทุกข์ไว้ ไม่ได้ทำความชั่ว ไม่ได้ทำความหยาบช้า ไม่ได้ทำความร้ายกาจไว้
๑. เขาคิดว่า “เราทำความดีไว้” จึงไม่เดือดร้อน
๒. เขาคิดว่า “เราไม่ได้ทำความชั่วไว้” จึงไม่เดือดร้อน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อน ๒ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังต่อไปนี้
บุคคลผู้มีปัญญา ละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
และอกุศลกรรมอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยโทษได้แล้ว
ไม่ทำอกุศลกรรมไว้ ทำแต่กุศลกรรมไว้มากมาย
หลังจากตายแล้วจะไปบังเกิดในสวรรค์
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อตปนียสูตรที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๕. ปฐมสีลสูตร
๕. ปฐมสีลสูตร
ว่าด้วยศีลและทิฏฐิ สูตรที่ ๑
[๓๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ศีลวิบัติ (ความวิบัติแห่งศีล)
๒. มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด)
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
นรชนผู้มีปัญญาทราม ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้
คือ ศีลวิบัติ และมิจฉาทิฏฐิ
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในนรก
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมสีลสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๖. ทุติยสีลสูตร
๖. ทุติยสีลสูตร
ว่าด้วยศีลและทิฏฐิ สูตรที่ ๒
[๓๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ศีลสมบัติ (ความสมบูรณ์แห่งศีล)
๒. สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ)
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่
ในสวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
นรชนผู้มีปัญญา ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้
คือ ศีลสมบัติ และสัมมาทิฏฐิ
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสวรรค์
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยสีลสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๗. อาตาปีสูตร
๗. อาตาปีสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ไม่มีความเพียร
[๓๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ จึงไม่ควรเพื่อตรัสรู้
ไม่ควรเพื่อนิพพาน ไม่ควรเพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีความเพียร มีโอตตัปปะนั้นแล จึงควรเพื่อตรัสรู้ ควรเพื่อ
นิพพาน ควรเพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ
เป็นผู้เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน
มักท้อแท้ ง่วงซึม ไม่มีหิริ
ไม่มีความเอื้อเฟื้อต่อธรรม เช่นนี้
ย่อมไม่ควรเพื่อจะบรรลุสัมโพธิ๑อันยอดเยี่ยมได้
แต่ภิกษุผู้มีสติ มีปัญญารักษาตน
มีฌาน มีความเพียร
มีโอตตัปปะ และไม่ประมาท
ตัดสังโยชน์๒ในชาติ ชราได้แล้ว
พึงบรรลุสัมโพธิอันยอดเยี่ยม ในอัตภาพนี้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อาตาปีสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.อิติ.อ. ๓๔/๑๒๑)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๓๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๘. ปฐมนกุหนสูตร
๘. ปฐมนกุหนสูตร๑
ว่าด้วยการไม่หลอกลวง สูตรที่ ๑
[๓๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์นี้ มิใช่เพื่อจะลวงคน มิใช่เพื่อจะ
เกลี้ยกล่อมคน มิใช่เพื่ออานิสงส์คือลาภสักการะและการสรรเสริญ มิใช่เพื่อให้
คนรู้ว่า ‘คนจงรู้จักเราด้วยอาการอย่างนี้’ แท้จริง ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์นี้ก็เพื่อ
สังวร๒ และเพื่อปหานะ๓เท่านั้น”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์อันเป็นธรรมกำจัดความจัญไร๔
ทำให้สัตว์ถึงนิพพานเพื่อสังวร เพื่อปหานะ
ทางนี้ ท่านผู้ใหญ่ผู้แสวงหาคุณยิ่งใหญ่ดำเนินไปแล้ว
อนึ่ง เหล่าชนผู้ปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมนกุหนสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๕/๔๑
๒ สังวร (การสำรวม) มี ๕ อย่าง คือ (๑) ปาติโมกขสังวร (สำรวมในปาติโมกข์) (๒) สติสังวร (สำรวม
ด้วยสติ) (๓) ญาณสังวร (สำรวมด้วยญาณ) (๔) ขันติสังวร (สำรวมด้วยขันติ) (๕) วิริยสังวร (สำรวม
ด้วยความเพียร) (ขุ.อิติ.อ. ๓๕/๑๒๖, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๒๕/๓๒๓-๓๒๔)
๓ ปหานะ (การละ) มี ๕ อย่าง คือ (๑) ตทังคปหานะ (ละกิเลสด้วยองค์นั้น ๆ) (๒) วิกขัมภนปหานะ
(ละกิเลสด้วยการข่มไว้) (๓) สมุจเฉทปหานะ (ละกิเลสด้วยตัดขาด) (๔) ปฏิปัสสัทธิปหานะ (ละกิเลส
ด้วยสงบระงับ) (๕) นิสสรณปหานะ (ละกิเลสด้วยสลัดออกได้) (ขุ.อิติ.อ. ๓๕/๑๒๖, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา
๒/๒๕/๓๒๔-๓๒๕)
๔ความจัญไร มีความหมายหลายนัย คือ นัยที่ ๑ หมายถึงอุปัททวะที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต นัยที่ ๒
หมายถึงอุปกิเลสมีตัณหาเป็นต้น นัยที่ ๓ หมายถึงลัทธิเดียรถีย์ นัยที่ ๔ หมายถึงวิจิกิจฉา (ขุ.อิติ.อ.
๓๕/๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๑๐. โสมนัสสสูตร
๙. ทุติยนกุหนสูตร
ว่าด้วยการไม่หลอกลวง สูตรที่ ๒
[๓๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์นี้ มิใช่เพื่อจะลวงคน มิใช่เพื่อจะ
เกลี้ยกล่อมคน มิใช่เพื่ออานิสงส์คือลาภสักการะและการสรรเสริญ มิใช่เพื่อให้
คนรู้ว่า “คนจงรู้จักเราด้วยอาการอย่างนี้” แท้จริง ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์นี้
ก็เพื่อความรู้ยิ่ง และเพื่อความรอบรู้เท่านั้น”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์อันเป็นธรรมกำจัดความจัญไร
ทำให้สัตว์ถึงนิพพาน ก็เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรอบรู้
ทางนี้ ท่านผู้ใหญ่ผู้แสวงหาคุณยิ่งใหญ่ดำเนินไปแล้ว
อนึ่ง เหล่าชนผู้ปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยนกุหนสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. โสมนัสสสูตร
ว่าด้วยโสมนัส
[๓๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมอยู่อย่างมีความสุข
โสมนัสมากในปัจจุบัน และย่อมเริ่มประกอบความเพียรโดยแยบคาย เพื่อความ
สิ้นอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความมีสังเวคธรรม๑ในฐานะที่ควรมีสังเวคธรรม๒
๒. ความเพียรโดยแยบคายแห่งบุคคลผู้มีสังเวคธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมอยู่อย่างมี
ความสุขโสมนัสมากในปัจจุบัน และย่อมเริ่มประกอบความเพียรโดยแยบคาย เพื่อ
ความสิ้นอาสวะ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต มีความเพียร
มีปัญญารักษาตน พิจารณาเห็นชอบด้วยปัญญา
ควรมีสังเวคธรรมในฐานะที่ควรมีสังเวคธรรมทีเดียว
ภิกษุผู้มีความเพียร มีความประพฤติสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน
หมั่นประกอบอุบายเป็นเครื่องสงบใจอยู่อย่างนี้
พึงถึงความสิ้นทุกข์
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โสมนัสสสูตรที่ ๑๐ จบ
ปฐมวรรค จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ทุกขวิหารสูตร ๒. สุขวิหารสูตร
๓. ตปนียสูตร ๔. อตปนียสูตร
๕. ปฐมสีลสูตร ๖. ทุติยสีลสูตร
๗. อาตาปีสูตร ๘. ปฐมนกุหนสูตร
๙. ทุติยนกุหนสูตร ๑๐. โสมนัสสสูตร


เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๗๖ ในเล่มนี้
๒ ฐานะที่ควรมีสังเวคธรรม หมายถึงชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ในอบาย วัฏฏมูลกทุกข์ อาหารปริเยฏฐิมูลกทุกข์
(ขุ.อิติ.อ. ๓๗/๑๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑. วิตักกสูตร
๒. ทุติยวรรค
หมวดที่ ๒
๑. วิตักกสูตร
ว่าด้วยวิตก
[๓๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย วิตก ๒ ประการ คือ เขมวิตก๑ และวิเวกวิตก๒ ย่อมแผ่ซ่าน
ไปยังตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอันมาก ตถาคตพอใจความไม่เบียดเบียน
ยินดีความไม่เบียดเบียน วิตกนั่นแลแผ่ซ่านไปยังตถาคตผู้พอใจความไม่เบียดเบียน
ยินดีในความไม่เบียดเบียนเป็นอันมากว่า “เราจะไม่เบียดเบียนสัตว์ใด ๆ ทั้งที่ยังมีจิต
หวาดสะดุ้งหรือมีจิตมั่นคงด้วยการทำนี้”
ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตพอใจความสงัด ยินดีความสงัด วิตกนั่นแลแผ่ซ่านไปยัง
ตถาคตผู้พอใจความสงัด ยินดีความสงัดเป็นอันมากว่า ‘สิ่งใดเป็นอกุศล สิ่งนั้นเรา
ละได้แล้ว’ เพราะเหตุดังกล่าวนั้น แม้เธอทั้งหลายก็จงพอใจความไม่เบียดเบียน
ยินดีความไม่เบียดเบียนอยู่เถิด เธอทั้งหลายซึ่งพอใจความไม่เบียดเบียน ยินดีความ
ไม่เบียดเบียนอยู่ วิตกนี้นั้นแลจะแผ่ซ่านไปเป็นอันมากว่า “เราทั้งหลายจะไม่
เบียดเบียนสัตว์ใด ๆ ทั้งที่ยังมีจิตหวาดสะดุ้งหรือมีจิตมั่นคงด้วยการทำนี้”
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพอใจความสงัด ยินดีความสงัดอยู่เถิด เมื่อเธอ
ทั้งหลายซึ่งพอใจความสงัด ยินดีความสงัด วิตกนี้นั้นแลจะแผ่ซ่านไปเป็นอันมากว่า
“อะไรคืออกุศล อกุศลอะไรที่เราทั้งหลายยังละไม่ได้ เราทั้งหลายจะละอกุศลอะไร”

เชิงอรรถ :
๑ เขมวิตก หมายถึงความตรึกที่ประกอบด้วยเมตตา กรุณา และมุทิตา หรือหมายถึงอพยาบาทวิตก และ
อวิหิงสาวิตก (ขุ.อิติ.อ. ๓๘/๑๖๔-๑๖๘)
๒ วิเวกวิตก หมายถึงความตรึกที่ประกอบด้วยผลสมาบัติ หรือความตรึกที่ประกอบด้วยวิเวก ๓ ประการ คือ
กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก และประกอบด้วยวิเวก ๕ ประการ คือ ตทังควิเวก วิกขัมภนวิเวก สมุจเฉทวิเวก
ปฏิปัสสัทธิวิเวก นิสสรณวิเวก (ขุ.อิติ.อ. ๓๘/๑๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑. วิตักกสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
วิตก ๒ ประการ คือ เขมวิตกที่ทรงยกขึ้นแสดงเป็นข้อที่ ๑
วิเวกวิตกที่ทรงประกาศเป็นข้อที่ ๒
ย่อมแผ่ซ่านไปยังตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพิชิตมาร
มุนีผู้บรรเทาความมืด ผู้ถึงฝั่ง
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ผู้ถึงคุณอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายพึงถึง
ผู้มีความชำนาญ ผู้ไม่มีอาสวะ ผู้ข้ามวัฏฏทุกข์อันเป็นยาพิษ
ผู้น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา
ผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายสุดท้ายนั้นแล
เรากล่าวว่า เป็นผู้ละมาร เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งชรา
บุรุษ (ผู้มีตาดี) ยืนอยู่บนยอดภูเขาศิลาล้วน
พึงเห็นหมู่ชนได้โดยรอบ แม้ฉันใด
พระผู้มีพระภาคผู้มีพระปัญญาดี มีสมันตจักขุ๑
หมดความโศกแล้ว เสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรม
ทรงพิจารณาเห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศก
และถูกชาติชราครอบงำได้ชัดเจน๒ ฉันนั้น
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
วิตักกสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สมันตจักขุ หมายถึงสัพพัญญุตญาณ (ที.ม.อ. ๒/๗๐/๖๖, ขุ.อิติ.อ. ๓๘/๑๗๓)
๒ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๘/๑๓, ที.ม. (แปล) ๑๐/๗๐/๔๐, ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๘๒/๓๐๖-๓๐๗, ม.ม. (แปล)
๑๓/๓๓๘/๔๐๘, สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๗๒/๒๓๑, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๓๐, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๕/๓๐๔
และดู ขุ.อิติ.อ. ๓๘/๑๗๓ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๒. เทสนาสูตร
๒. เทสนาสูตร
ว่าด้วยธรรมเทศนา
[๓๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนาของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าโดยปริยาย
มี ๒ ประการ
ธรรมเทศนา ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ธรรมเทศนาว่า “ท่านทั้งหลายจงเห็นบาปว่าเป็นบาป” นี้จัดเป็น
ธรรมเทศนาประการที่ ๑
๒. ธรรมเทศนาว่า “ท่านทั้งหลายครั้นเห็นบาปว่าเป็นบาปแล้ว จงเบื่อ
หน่ายคลายกำหนัด ปลดเปลื้องตนให้พ้นจากบาปนั้น” นี้จัดเป็น
ธรรมเทศนาประการที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนาของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าโดยปริยาย
มี ๒ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
เธอจงดูธรรมเทศนา ๒ ประการ
ที่ตถาคตพุทธเจ้าผู้ทรงอนุเคราะห์สัตว์ทุกหมู่เหล่า
ได้ทรงประกาศไว้แล้วโดยคำปริยาย
เธอทั้งหลายผู้ฉลาด จงพิจารณาเห็นบาป
จงคลายความยินดีในบาปนั้น
เธอทั้งหลายมีจิตคลายความยินดีในบาปนั้นแล้ว
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เทสนาสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๓. วิชชาสูตร
๓. วิชชาสูตร
ว่าด้วยวิชชา
[๔๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อวิชชา(ความไม่รู้)เป็นหัวหน้าแห่งความถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรม
ทั้งหลาย อหิริกะ(ความไม่อายบาป) และอโนตตัปปะ(ความไม่กลัวบาป)เป็นไปตาม
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนวิชชา(ความรู้)เป็นหัวหน้าแห่งความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม
ทั้งหลาย หิริ(ความอายบาป) และโอตตัปปะ(ความกลัวบาป)เป็นไปตาม”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ทุคติ๑อย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้และในโลกอื่น
ทั้งหมดมีอวิชชาเป็นมูลเหตุ
เกิดขึ้นด้วยความปรารถนาและความโลภ
อนึ่ง เพราะมีอวิชชาเป็นมูลเหตุ
คนจึงมีความปรารถนาชั่ว
ไม่มีหิริ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ
เขาประสพ๒บาปอยู่เสมอ
เพราะบาปนั้น เขาต้องไปเกิดในอบายแน่นอน
เพราะฉะนั้น ภิกษุ เมื่อละฉันทะ โลภะ และอวิชชาได้
ทำวิชชาให้เกิดขึ้น จึงละทุคติทั้งปวงได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
วิชชาสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ทุคติ หมายถึงก่อเกิดทุกข์มีพยาธิ และมรณะ เป็นต้น หรือหมายถึงข้อประพฤติที่ถูกกิเลสมีราคะเป็นต้น
ครอบงำ ได้แก่ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต (ขุ.อิติ.อ. ๔๐/๑๗๖)
๒ ประสพ ในที่นี้หมายถึงสั่งสมบาปมีกายทุจริต เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๔๐/๑๗๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๔. ปัญญาปริหีนสูตร
๔. ปัญญาปริหีนสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เสื่อมจากปัญญา
[๔๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่เสื่อมจากอริยปัญญา๑ ชื่อว่าเสื่อมถึงที่สุด
สัตว์เหล่านั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ คับแค้น อึดอัด เร่าร้อนในปัจจุบัน หลังจากตายแล้ว
พึงหวังได้ทุคติ
ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่ไม่เสื่อมจากอริยปัญญา ชื่อว่าไม่เสื่อม สัตว์เหล่านั้น
ย่อมอยู่เป็นสุข ไม่คับแค้น ไม่อึดอัด ไม่เร่าร้อนในปัจจุบัน หลังจากตายแล้ว
พึงหวังได้สุคติ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ท่านจงดูชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกที่ยึดมั่นในนามรูป
เข้าใจว่า “นี้เท่านั้นเป็นจริง” เพราะเสื่อมจากปัญญา
ปัญญาที่เป็นเหตุให้ถึงความทำลายกิเลส
และปัญญาที่รู้ชัดความสิ้นไปแห่งชาติและภพโดยชอบ
เป็นปัญญาที่ประเสริฐในโลก
เทวดาและมนุษย์ ย่อมรักปรารถนาดี
ต่อพระสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์
ผู้มีพระสติไพบูลย์ มีพระปัญญาผ่องใส
มีพระสรีระเป็นร่างกายสุดท้าย
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปัญญาปริหีนสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อริยปัญญา หมายถึงวิปัสสนาปัญญาและมัคคปัญญา (ขุ.อิติ.อ. ๔๑/๑๗๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๕. สุกกธัมมสูตร
๕. สุกกธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรมฝ่ายขาว
[๔๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย สุกกธรรม๑ ๒ ประการนี้ ย่อมคุ้มครองโลก
สุกกธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. หิริ๒ ๒. โอตตัปปะ๓
ถ้าสุกกธรรม ๒ ประการนี้ไม่คุ้มครองโลก ในมนุษยโลกนี้ก็จะไม่ปรากฏ๔ให้รู้ว่า
หญิงนี้เป็นมารดา หญิงนี้เป็นน้า หญิงนี้เป็นป้า หญิงนี้เป็นภรรยาของอาจารย์หรือ
หญิงนี้เป็นภรรยาของครู มนุษยโลกก็จะประพฤติสำส่อนกันไปหมด เหมือนอย่าง
พวกแพะ แกะ ไก่ สุกร สุนัข และสุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเหตุที่สุกกธรรม ๒ ประการนี้ยังคุ้มครองโลกอยู่
ฉะนั้นจึงยังปรากฏให้รู้ว่า หญิงนี้เป็นมารดา หญิงนี้เป็นน้า หญิงนี้เป็นป้า หญิงนี้
เป็นภรรยาของอาจารย์ หรือหญิงนี้เป็นภรรยาของครู”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ สุกกธรรม หมายถึงกุศลธรรม คือธรรมที่เป็นฝ่ายขาว หรือ ธรรมบริสุทธิ์ (ขุ.อิติ.อ. ๔๒/๑๗๙)
๒ หิริ หมายถึงความละอายต่ออกุศลธรรม (ขุ.อิติ.อ. ๔๒/๑๗๙)
๓ โอตตัปปะ หมายถึงความกลัวต่ออกุศลธรรม (ขุ.อิติ.อ. ๔๒/๑๗๙)
๔ ไม่ปรากฏ หมายถึงไม่ปรากฏความเคารพยำเกรงต่อกัน (ขุ.อิติ.อ. ๔๒/๑๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๖. อชาตสูตร
หากสัตว์เหล่าใดไม่มีหิริโอตตัปปะในกาลทุกเมื่อ
สัตว์เหล่านั้นก็ชื่อว่าปราศจากสุกกธรรม
เป็นผู้เข้าถึงชาติและมรณะ
ส่วนสัตว์เหล่าใดเข้าไปตั้งหิริและโอตตัปปะไว้โดยชอบ
สัตว์เหล่านั้นมีพรหมจรรย์งอกงาม สงบ มีภพใหม่สิ้นไปแล้ว๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สุกกธรรมสูตรที่ ๕ จบ
๖. อชาตสูตร
ว่าด้วยธรรมชาติที่ไม่เกิด
[๔๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ปรากฏ อันปัจจัยไม่ทำ อันปัจจัยไม่
ปรุงแต่ง มีอยู่จริง ภิกษุทั้งหลาย หากธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ปรากฏ อันปัจจัยไม่ทำ
อันปัจจัยไม่ปรุงแต่ง จะไม่มีอยู่จริงไซร้ ในโลกนี้ก็จะไม่ปรากฏภาวะที่สลัดออกจาก
ธรรมชาติที่เกิด ที่ปรากฏ อันปัจจัยทำ อันปัจจัยปรุงแต่งได้เลย ภิกษุทั้งหลาย
ก็เพราะธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ปรากฏ อันปัจจัยไม่ทำ อันปัจจัยไม่ปรุงแต่ง มีอยู่จริง
ฉะนั้น จึงปรากฏภาวะที่สลัดออกจากธรรมชาติที่เกิด ที่ปรากฏ อันปัจจัยทำ
อันปัจจัยปรุงแต่ง”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๐๘๒/๕๑๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๗. นิพพานธาตุสูตร
ธรรมชาติที่เกิด ที่ปรากฏ ที่เกิดขึ้นพร้อมแล้ว
อันปัจจัยทำ อันปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ยั่งยืน
ระคนด้วยชราและมรณะ เป็นรังแห่งโรค
มีความเสื่อมโทรมเป็นปกติ
มีอาหารและตัณหาเป็นแดนเกิด
บุคคลจึงไม่ควรยินดีธรรมชาติดังกล่าวนั้น
ความสลัดออกจากธรรมชาติดังกล่าวนั้นได้
เป็นความสงบ มิใช่วิสัยแห่งการคาดคะเน
เป็นภาวะที่ยั่งยืน
ธรรมชาติที่ไม่เกิด ที่ไม่เกิดขึ้นพร้อมแล้ว
ไม่มีความโศก ปราศจากธุลีคือกิเลส
เป็นภาวะควรเข้าถึงแท้จริง
ความดับแห่งธรรมชาติที่เป็นทุกข์ทั้งหลาย
คือความสงบระงับแห่งสังขาร เป็นความสุข
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อชาตสูตรที่ ๖ จบ
๗. นิพพานธาตุสูตร
ว่าด้วยนิพพานธาตุ
[๔๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้
นิพพานธาตุ ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
๒. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๒ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น