Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๕-๑๑ หน้า ๖๕๔ - ๗๑๘

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕-๑๑ สุตตันตปิฎกที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย สุตตนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๕๖] บุคคลจะชื่อว่า เป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หามิได้
จะชื่อว่ามิใช่พราหมณ์เพราะชาติกำเกิดก็หามิได้
แต่ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม
ชื่อว่ามิใช่พราหมณ์เพราะกรรม
[๖๕๗] บุคคลชื่อว่าเป็นชาวนาเพราะกรรม
ชื่อว่าเป็นช่างศิลป์ เป็นพ่อค้า เป็นคนรับใช้ ก็เพราะกรรม
[๖๕๘] ชื่อว่าเป็นโจร เป็นทหารอาชีพ เป็นปุโรหิต
แม้กระทั่งเป็นพระราชา ก็เพราะกรรมทั้งนั้น
[๖๕๙] บัณฑิตผู้มีปกติเห็นปฏิจจสมุปบาท
ฉลาดในกรรมและวิบาก
ย่อมเห็นกรรมตามความเป็นจริงอย่างนี้
[๖๖๐] สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
หมู่สัตว์เป็นไปตามกรรม
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเครื่องผูกพัน
เปรียบเหมือนรถที่แล่นไปมีหมุดเป็นเครื่องตรึงไว้ ฉะนั้น
[๖๖๑] บุคคลจะเป็นพราหมณ์ ก็เพราะกรรมอันประเสริฐนี้
คือ ตบะ พรหมจรรย์ สัญญมะ ทมะ๑
กรรมอันประเสริฐนี้นำความเป็นพราหมณ์ที่สูงสุดมาให้
[๖๖๒] บุคคลสมบูรณ์ด้วยวิชชา ๓
มีความสงบ สิ้นภพใหม่แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ตบะ หมายถึงการสำรวมอินทรีย์ พรหมจรรย์ หมายถึงการประพฤติธรรมอันประเสริฐ สัญญมะ
หมายถึงมีศีล ทมะ หมายถึงมีปัญญา (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๖๑/๓๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
บุคคลนั้นเป็นทั้งพรหม และท้าวสักกะของบัณฑิตผู้รู้แจ้งอยู่
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพได้
กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะ
ยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำพวกข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
วาเสฏฐสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. โกกาลิกสูตร๑
ว่าด้วยพระโกกาลิกะ
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล โกกาลิกภิกษุเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีความปรารถนาชั่ว
ลุอำนาจความปรารถนาชั่ว”
เมื่อโกกาลิกภิกษุกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับโกกาลิก-
ภิกษุดังนี้ว่า “โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธอจง
ทำจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด สารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีล
เป็นที่รัก”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๘๑/๒๔๘, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๘๙/๒๐๐-๒๐๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
แม้ครั้งที่ ๒ โกกาลิกภิกษุก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคทรงเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของข้าพระองค์ มีพระพุทธพจน์
ที่ข้าพระองค์เชื่อถือได้ก็จริง แต่ท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นผู้มี
ความปรารถนาชั่ว ลุอำนาจความปรารถนาชั่ว”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับโกกาลิกภิกษุดังนี้ว่า “โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น
เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธอจงทำจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด
สารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก”
แม้ครั้งที่ ๓ โกกาลิกภิกษุก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคทรงเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของข้าพระองค์ มีพระพุทธพจน์
ที่ข้าพระองค์เชื่อถือได้ก็จริง แต่ท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นผู้มี
ความปรารถนาชั่ว ลุอำนาจความปรารถนาชั่ว”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับโกกาลิกภิกษุดังนี้ว่า “โกกาลิกะ เธออย่ากล่าว
อย่างนั้น เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธอจงทำจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะ
เถิด สารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก”
ครั้งนั้น โกกาลิกภิกษุลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำ
ประทักษิณแล้วจากไป
เมื่อโกกาลิกภิกษุจากไปไม่นาน ร่างกายก็มีตุ่มขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดเกิด
ขึ้นทั่วร่าง ตุ่มเหล่านั้นโตเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด แล้วก็โตเท่าเมล็ดถั่วเขียว โตเท่า
เมล็ดถั่วดำ โตเท่าเมล็ดพุทรา โตเท่าเมล็ดกระเบา โตเท่าผลมะขามป้อม โตเท่า
ผลมะตูมอ่อน เท่าผลมะตูมแก่ แล้วก็แตกเยิ้ม หนองและเลือดไหลออกมา
โกกาลิกภิกษุเพราะทนพิษตุ่มแตกนั้นไม่ไหวจึงมรณภาพลงในขณะนั้น และเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
มรณภาพลงแล้วได้ไปเกิดในปทุมนรก เพราะมีจิตผูกอาฆาตในท่านพระสารีบุตรและ
ท่านพระโมคคัลลานะ
ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป๑ ท้าวสหัมบดีพรหมมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมี
ให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืน
อยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
โกกาลิกภิกษุมรณภาพแล้วไปเกิดในปทุมนรก เพราะมีจิตผูกอาฆาตในท่านพระสารีบุตร
และท่านพระโมคคัลลานะ”
ท้าวสหัมบดีพรหมครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
กระทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นแล
ครั้นคืนนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป ท้าวสหัมบดีพรหม ฯลฯ ภิกษุ
ทั้งหลาย ท้าวสหัมบดีพรหมครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็กระทำประทักษิณแล้วหายไป
ณ ที่นั้นแล”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้เแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ประมาณอายุในปทุมนรกนานเท่าไรหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ ประมาณอายุในปทุมนรกนานมาก ประมาณ
อายุในปทุมนรกนั้น ยากที่จะนับได้ว่า ‘ประมาณเท่านี้ปี ประมาณ ๑๐๐ ปีเท่านี้
ประมาณ ๑,๐๐๐ ปีเท่านี้ ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปีเท่านี้”
ภิกษุนั้นทูลถามอีกว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์พอจะยกอุปมาได้
หรือไม่ พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ได้ ภิกษุ” แล้วตรัสว่า “ภิกษุ หนึ่งเกวียน
เมล็ดงาของชาวโกศลมีอัตรา ๒๐ ขารี๑ ล่วงไปแล้ว ๑๐๐,๐๐๐ ปี บุรุษจึงนำ
เมล็ดงาออกจากเกวียนนั้น ๑ เมล็ด เมล็ดงาหนึ่งเกวียนของชาวโกศลซึ่งมีอัตรา
๒๐ ขารีนั้น จะพึงหมดไปโดยทำนองนี้เร็วกว่า แต่ว่า ๑ อัพพุทนรก๒หาหมด
ไปไม่ ๒๐ อัพพุทนรก เป็น ๑ นิรัพพุทนรก ๒๐ นิรัพพุทนรก เป็น ๑ อพพนรก
๒๐ อพพนรก เป็น ๑ อหหนรก ๒๐ อหหนรก เป็น ๑ อฏฏนรก ๒๐ อฏฏนรก
เป็น ๑ กุมุทนรก ๒๐ กุมุทนรก เป็น ๑ โสคันธิกนรก ๒๐ โสคันธิกนรก เป็น
๑ อุปปลกนรก ๒๐ อุปปลกนรก เป็น ๑ ปุณฑรีกนรก ๒๐ ปุณฑรีกนรก เป็น
๑ ปทุมนรก
ภิกษุ โกกาลิกภิกษุนี้เกิดในปทุมนรก เพราะมีจิตผูกอาฆาตในสารีบุตรและ
โมคคัลลานะ”

เชิงอรรถ :
๑ ขารี เป็นชื่อมาตราตวงชนิดหนึ่งของอินเดียโบราณ มีลำดับมาตราดังนี้
๔ กุฑุวะ หรือปสตะ(ฟายมือ) เป็น ๑ ปัตถะ (กอบ)
๔ ปัตถะ เป็น ๑ อาฬหกะ
๔ อาฬหกะ เป็น ๑ โทณะ
๔ โทณะ เป็น ๑ มาณิกา
๔ มาณิกา เป็น ๑ ขารี
๒๐ ขารี เป็น ๑ เกวียน
(ขุ.สุ.อ. ๒/๖๖๒/๓๐๗, อภิธา. ฏีกา คาถา ๔๘๐-๔๙๔)
๒ อัพพุทนรก นิรัพพุทนรก อพพนรก อหหนรก อฏฏนรก กุมุทนรก โสคันธิกนรก อุปปลกนรก ปุณฑรีกนรก
ปทุมนรก ทั้งหมดนี้อยู่ในอเวจีมหานรก เป็นนรกเล็กอยู่ในนรกใหญ่ ไม่มีภูมิเป็นของตนเอง แต่เป็นที่ซึ่ง
สัตว์จะต้องรับกรรม เช่น อัพพุทนรก เป็นสถานที่ทรมานสัตว์โดยการนับชิ้นเนื้อเป็นเครื่องบอกระยะ
เวลาในการทรมานสัตว์ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๘๙/๓๖๖, ขุ.สุ.อ. ๒/๖๖๒/๓๐๗)
อนึ่ง นรกเหล่านี้ปรากฏชื่อตามจำนวนสังขยา อรรถกถาให้นัยไว้ว่า นรกเหล่านี้มีวิธีนับระยะเวลาปี
ของอัพพุทนรกเป็นตัวอย่างดังนี้ คือ
๑๐,๐๐๐,๐๐๐ ปี เป็น ๑ โกฏิ-ปี
๑๐,๐๐๐,๐๐๐ โกฏิ-ปี เป็น ๑ ปโกฏิ-ปี
๑๐,๐๐๐,๐๐๐ ปโกฏิ-ปี เป็น ๑ โกฏิปโกฏิ-ปี
๑๐,๐๐๐,๐๐๐ โกฏิปโกฏิ-ปี เป็น ๑ นหุต-ปี
๑๐,๐๐๐,๐๐๐ นหุต-ปี เป็น ๑ นินนหุต-ปี
๑๐,๐๐๐,๐๐๐ นินนหุต-ปี เป็น ๑ อัพพุทะ-ปี
ต่อจากอัพพุทะไปใช้ ๑ x ๒๐ เช่น ๒๐ อัพพุทะ (๑ อัพพุทะ x ๒๐) ได้เท่ากับ ๑ นิรัพพุทะ เป็นต้น
(ขุ.สุ.อ. ๒/๖๖๒/๓๐๗, กัจ. ๕/๘/๓๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๖๖๓] ผรุสวาจา(คำหยาบ)เป็นเหมือนผึ่ง๑
เครื่องตัดตนของคนพาลผู้กล่าวคำชั่ว
ย่อมเกิดที่ปากของคนพาล
[๖๖๔] ผู้ใดสรรเสริญคนที่ควรติเตียน
หรือติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ
ผู้นั้นชื่อว่าสั่งสมความผิดไว้ด้วยปาก
ย่อมไม่ประสบความสุข เพราะความผิดนั้น
[๖๖๕] การปราชัยด้วยทรัพย์
ในการเล่นการพนันจนหมดตัวนี้
เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย
แต่การที่บุคคลมีใจประทุษร้าย
ในบุคคลผู้ดำเนินไปดีแล้วนี้เท่านั้น
เป็นความผิดมากกว่า
[๖๖๖] บุคคลผู้ตั้งวาจาและใจอันชั่ว
ติเตียนพระอริยะย่อมเข้าถึงนรก
สิ้น ๑๓๖,๐๐๐ นิรัพพุทกัป
กับอีก ๕ อัพพุทกัป
[๖๖๗] คนที่ชอบกล่าวคำไม่จริง
หรือคนที่ทำความชั่วแล้วกล่าวว่า
‘ฉันไม่ได้ทำ’ ต่างก็ตกนรก๒

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ผึ่ง” หมายถึงชื่อเครื่องมือสำหรับถากไม้ชนิดหนึ่ง รูปคล้ายจอบ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตย-
สถาน พ.ศ.๒๕๒๕)
๒ ดู ธรรมบท ข้อ ๓๐๖ หน้า ๑๒๘, อุทาน ข้อ ๓๘ หน้า ๒๔๘, อิติวุตตกะ ข้อ ๔๘ หน้า ๓๙๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
คน ๒ จำพวกนั้น ต่างก็มีกรรมชั่ว
ตายไปแล้วมีคติเท่าเทียมกันในโลกหน้า
[๖๖๘] บุคคลใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย
เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
บาปย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้นซึ่งเป็นคนพาลอย่างแน่แท้
ดุจผงธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลม ฉะนั้น๑
[๖๖๙] ผู้หมกมุ่นในความโลภต่าง ๆ ไม่มีศรัทธา
มีนิสัยหยาบกระด้าง ไม่รู้พุทธพจน์
มีความตระหนี่ ชอบพูดส่อเสียด
ย่อมใช้วาจากล่าวร้ายผู้อื่น
[๖๗๐] โกกาลิกะผู้มีปากเป็นหล่ม ชอบพูดเท็จ
ไม่ใช่คนดี ชอบกำจัดความเจริญของตน
เป็นคนชั่ว ชอบทำแต่กรรมชั่ว
เป็นคนต่ำช้า เป็นคนอาภัพ เป็นอวชาตบุตร
เธออย่าพูดมากในที่นี้ อย่าต้องเป็นสัตว์นรกเลย
[๖๗๑] เธอย่อมเกลี่ยธุลีคือกิเลสลงใส่ตน
ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองเลย
เธอชอบทำกรรมหยาบช้าแล้ว ยังติเตียนสัตบุรุษ
เธอประพฤติทุจริตมากมาย
ต้องไปเกิดในมหานรกเป็นเวลายาวนานแน่นอน
[๖๗๒] กรรม๒ของใคร ๆ ย่อมไม่สูญหายไปไหน
เขาต้องได้รับผลกรรมนั้น และเป็นเจ้าของกรรมนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบท ข้อ ๑๒๕ หน้า ๗๐ ในเล่มนี้
๒ กรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรม และอกุศลกรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๗๒/๓๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
คนโง่เขลาผู้ชอบทำกรรมชั่วหยาบ
จะประสบทุกข์ที่ตนได้รับในปรโลก
[๖๗๓] ผู้ทำกรรมชั่วย่อมเข้าถึงสถานที่ที่นายนิรยบาล
เอาขอเหล็กอันคมกริบมาเกี่ยวไว้
ถูกหลาวเหล็กอันคมกริบเสียบไว้
และมีก้อนเหล็กแดงโชติช่วงเป็นอาหาร
ตามสมควรแก่ความชั่ว ตามสมควรแก่กรรมชั่วที่ตนทำไว้
[๖๗๔] นายนิรยบาลทั้งหลายเมื่อพูดกับสัตว์นรก ก็พูดไม่ไพเราะ
สัตว์นรกเหล่านั้นจะวิ่งหนีไปก็ไม่ได้
จะเข้าไปขอความช่วยเหลือก็ไม่ได้
จึงนอนอยู่บนถ่านเพลิงอันลาดไว้
เข้าไปสู่กองไฟอันลุกโพลง
[๖๗๕] นายนิรยบาลเอาข่ายเหล็กพันสัตว์นรก
แล้วทุบด้วยฆ้อนเหล็กในที่นั้น ๆ
สัตว์นรกทั้งหลายเข้าไปสู่นรกหมอกควันที่มืดทึบ
ซึ่งปกคลุมอบอวลไปทั่วดุจกลุ่มหมอก
[๖๗๖] ต่อจากนั้น สัตว์นรกเหล่านั้น
ก็เข้าไปสู่โลหกุมภีนรกที่มีเปลวไฟลุกโพลง
ลอยวนขึ้นลงพร้อมกับถูกไฟไหม้อยู่
ในหม้อเหล็กที่ติดไฟลุกนั้นเป็นเวลานานแสนนาน
[๖๗๗] สัตว์นรกผู้ทำกรรมชั่วหยาบไว้ประจำ
จะพลิกหนีไปทางทิศใด ๆ
ก็ถูกไฟตามเผาไหม้อยู่
ในหม้อเหล็กร้อนแดงที่ปนด้วยหนองและเลือด
ได้รับทุกข์ระกำลำบาก
ซ้ำยังแปดเปื้อนหนองและเลือดอยู่ในโลหกุมภีนรกนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
[๖๗๘] สัตว์นรกผู้ทำกรรมชั่วหยาบไว้ประจำ
ย่อมหมกไหม้อยู่ในน้ำที่มีหมู่หนอนยั้วเยี้ยในโลหกุมภี
นรกแต่ละขุมนั้น ๆ ไม่มีฝั่งที่จะให้ขึ้นอาศัยเลย
เพราะมีกระทะครอบอยู่อย่างมิดชิดรอบทุกทิศ
[๖๗๙] ยังมีป่าไม้ที่มีใบคม เหมือนดาบขึ้นอยู่ทั่วไป
ซึ่งพวกสัตว์นรกเข้าไปก็จะถูกตัดลำตัวขาดทันที
นายนิรยบาลก็จะเอาเบ็ดเกี่ยวลิ้น
ทรมานด้วยการดึงออกมาเรื่อย ๆ
[๖๘๐] ต่อจากนั้น สัตว์นรกนั้นต้องตกนรกน้ำกรดซึ่งเป็นแอ่ง
ถูกคมมีดโกนคมกริบกรีดตามตัว
สัตว์ที่โง่เขลาชอบทำบาปไว้มาก
จึงต้องตกลงไปบนคมมีดโกนนั้น
[๖๘๑] เพราะได้เคยก่อกรรมทำเข็ญไว้
สัตว์นรกจึงถูกสุนัขดำด่าง
และสุนัขจิ้งจอกรุมทึ้งกัดกิน ร้องคร่ำครวญอยู่ในที่นั้น ๆ
ซ้ำยังถูกฝูงแร้ง กา และนกตะกรุมรุมทึ้งจิกกินอีก
[๖๘๒] คนผู้ชอบทำกรรมชั่วหยาบเป็นประจำ ต้องรู้แก่ใจว่า
การดำรงอยู่ในนรกนี้ทุกข์ยากลำบากจริง ๆ
เพราะฉะนั้น นรชนจึงควรรีบทำกิจที่ควรทำแต่ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่นี้
และไม่ควรประมาท
[๖๘๓] เกวียนบรรทุกงาที่ผู้รู้ทั้งหลายนับคำนวณ
แล้วนำเข้าไปเปรียบกับอายุสัตว์ที่เกิดในปทุมนรก
ก็ได้เท่ากับ ๕๑,๒๐๐ โกฏิ
[๖๘๔] สัตว์นรกทั้งหลาย ต้องอยู่ในนรกซึ่งมีทุกข์มากมาย
ตามที่เรากล่าวไว้ในที่นี้ ตลอดระยะเวลายาวนาน
เพราะฉะนั้น บุคคลควรกำหนดรักษาวาจาใจให้เป็นปกติ
ในท่านผู้บริสุทธิ์ มีศีลเป็นที่รัก และมีคุณงามความดี
โกกาลิกสูตรที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
๑๑. นาลกสูตร
ว่าด้วยนาลกดาบสทูลถามปัญหา
[๖๘๕] อสิตฤๅษีอยู่ในที่พักกลางวัน ได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพ
และทวยเทพชั้นดาวดึงส์มีใจชื่นชมโสมนัส
ยกผ้าทิพย์ขึ้นชมเชยอยู่มิได้ขาด
ณ ที่สถิตอันสะอาด
[๖๘๖] ครั้นเห็นแล้วจึงทำความนอบน้อม
พลางถามเทวดาทั้งหลายผู้มีใจเบิกบานในที่นั้นว่า
เพราะเหตุไร ทวยเทพจึงดีใจอย่างล้นเหลือ
เพราะอาศัยอะไร ท่านทั้งหลายจึงยกผ้าทิพย์ขึ้นแล้วรื่นเริงอยู่เช่นนี้
[๖๘๗] แม้คราวที่เกิดสงครามกับพวกอสูร ทวยเทพได้ชัยชนะ
เหล่าอสูรปราชัย อาการดีใจขนลุกขนพองสยองเกล้าเช่นนี้ก็มิได้มี
เทวดาทั้งหลายได้เห็นเหตุอะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน
จึงพากันเบิกบานสำราญใจมากมายเช่นนี้
[๖๘๘] ทวยเทพเปล่งเสียงชมเชยขับร้องบรรเลงดนตรี
ปรบมือฟ้อนรำกันอยู่
ข้าพเจ้าขอถามท่านทั้งหลายผู้อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุว่า
ท่านผู้ไร้ทุกข์ทั้งหลาย
ขอพวกท่านจงช่วยกันขจัดความสงสัยของข้าพเจ้า
ให้สิ้นไปโดยเร็วเถิด
(เทวดาทั้งหลายกล่าวตอบดังนี้)
[๖๘๙] พระโพธิสัตว์ผู้เป็นรัตนะอันประเสริฐ ไม่มีผู้เปรียบเทียบ
ได้บังเกิดแล้วในมนุษยโลก ที่ป่าลุมพินีวัน
ในคามชนบทของเจ้าศากยะทั้งหลาย
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข
เพราะเหตุนั้น เราทั้งหลายจึงพากันยินดีเบิกบานใจอย่างล้นเหลือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๖๙๐] พระโพธิสัตว์นั้น เป็นบุคคลผู้เลิศเป็นผู้สูงสุดในสรรพสัตว์
เป็นนรชนผู้องอาจ ประเสริฐสูงสุดในหมู่สัตว์ทั้งปวง
จะทรงประกาศธรรมจักรที่ป่าอิสิปตนะ
เปรียบเหมือนพญาราชสีห์ มีกำลัง
มีอำนาจเหนือหมู่เนื้อบันลือสีหนาทอยู่
[๖๙๑] อสิตฤๅษีนั้นฟังเสียงของเทวดานั้นแล้ว
จึงรีบลงเข้าไปสู่ที่ประทับของพระเจ้าสุทโธทนะ ณ เวลานั้นทันที
ครั้นนั่งแล้วได้ทูลถามเจ้าศากยะทั้งหลายในที่นั้นว่า
พระกุมารประทับอยู่ที่ไหน อาตมภาพประสงค์จะเฝ้า
[๖๙๒] ลำดับนั้น เจ้าศากยะทั้งหลาย
ได้ทรงนำพระกุมาร ผู้ทรงเปล่งปลั่งดังทอง
ที่ปากเบ้าซึ่งช่างทองผู้ชำนาญหลอมดีแล้ว
ทรงรุ่งเรืองยิ่งด้วยพระสิริ มีพระฉวีวรรณผุดผ่อง
เป็นพระโอรสผู้ประเสริฐ
ออกมาให้อสิตฤๅษีเฝ้าชมพระบารมี
[๖๙๓] อสิตฤๅษีได้เห็นพระกุมารผู้ทรงรุ่งเรืองดังเปลวไฟ
เหมือนดวงจันทร์เพ็ญลอยเด่นในนภากาศ
มีแสงพราวกว่าหมู่ดาว
ดุจดวงอาทิตย์พ้นจากเมฆแผดแสงอยู่ในสารทกาล
จึงเกิดความยินดี ได้รับปีติไพบูลย์
[๖๙๔] ทวยเทพกั้นเศวตฉัตร มีซี่มากมาย
ประกอบด้วยชั้น ๑,๐๐๐ ชั้น ไว้ในนภากาศ
จามรด้ามทองทั้งหลาย โบกไปมาอยู่
แต่ผู้ถือจามรและเศวตฉัตรไม่ปรากฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๖๙๕] ฤๅษีเกล้าชฎา นามว่ากัณหสิริ
ได้เห็นพระกุมารงามดุจแท่งทองบนผ้ากัมพลแดง
และเศวตฉัตรที่กั้นอยู่บนพระเศียร
ก็มีจิตเบิกบาน ดีใจพลางช้อนอุ้มพระกุมารไว้แนบกาย
[๖๙๖] พออุ้มพระกุมารผู้ประเสริฐไว้แล้ว
อสิตฤๅษีผู้เรียนจบลักษณะมนตร์
ก็ตรวจพิจารณาลักษณะ
มีจิตเลื่อมใส ได้เปล่งวาจาว่า
พระกุมารนี้ไม่มีผู้อื่นเยี่ยมกว่า
เป็นผู้สุงสุดในบรรดาสัตว์ ๒ เท้า
[๖๙๗] ครั้นแล้ว อสิตฤๅษีหวนระลึกถึงการที่ตนต้องไปเกิด
ก็ระทมใจจนน้ำตาไหล
ซึ่งเจ้าศากยะทั้งหลายได้ทอดพระเนตรเห็นฤๅษีร้องไห้เช่นนั้น
จึงตรัสถามว่า พระกุมารจะมีอันตรายหรืออย่างไร
[๖๙๘] อสิตฤๅษีได้ทูลเจ้าศากยะทั้งหลาย
ผู้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว ไม่ทรงสบายพระทัยว่า
ไม่ใช่อาตมภาพระลึกถึงสิ่งที่เป็นอัปปมงคลในพระกุมาร
และก็ไม่ใช่พระกุมารนั้นจะทรงมีอันตราย
พระกุมารนี้ไม่เป็นผู้ต่ำต้อยเลย
ขอมหาบพิตรทั้งหลายจงสบายพระทัยเถิด
[๖๙๙] พระกุมารนี้จะทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ
จะทรงเห็นนิพพานที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง
จะทรงบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชน
จักประกาศธรรมจักร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
พรหมจรรย์๑ของพระกุมารนี้
จะเผยแผ่ขจรไปอย่างกว้างขวาง
[๗๐๐] แต่อายุของอาตมภาพเหลืออยู่ในโลกนี้ไม่นาน
อาตมภาพจะต้องมรณภาพไปในระหว่างนี้
อาตมภาพนั้นจะไม่ได้สดับธรรมของพระกุมาร
ผู้ทรงมีความเพียรหาผู้เสมอเหมือนมิได้
เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงเร่าร้อนถึงความพินาศ ทุกข์ใจ
[๗๐๑] อสิตฤๅษีนั้นทูลให้เจ้าศากยะทั้งหลาย
เกิดความปีติเป็นล้นพ้นแล้ว
จึงออกจากพระราชวังไปบำเพ็ญพรหมจรรย์ต่อไป
พร้อมกับอนุเคราะห์หลานของตนเอง
ฝึกให้เขาสมาทานในธรรมของพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงมีความเพียรหาผู้เสมอเหมือนมิได้
[๗๐๒] กล่าวสอนว่า ต่อไปภายหน้า
เจ้าได้ยินเสียงระบือไปว่า พระพุทธเจ้า
พระสิทธัตถราชกุมารนี้ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว
กำลังทรงเผยแผ่ทางดำเนินสู่อมตธรรม
เจ้าจงไปทูลสอบถามด้วยตนเองในสำนักของพระองค์
จงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด
[๗๐๓] นาลกดาบสสั่งสมบุญไว้มาก
ได้รับคำพร่ำสอนจากอสิตฤๅษี
ผู้มีใจเกื้อกูล มีจิตมั่นคง
ซึ่งเป็นผู้เห็นนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่งในอนาคต
จึงเฝ้ารักษาโสตินทรีย์ รอคอยพระชินสีห์อยู่

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงศาสนา (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๙๙/๓๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๗๐๔] นาลกดาบสได้ฟังเสียงระบือถึงการที่พระชินสีห์
ทรงประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ
จึงไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ องอาจกว่าฤๅษี
แล้วเลื่อมใส ได้ทูลถามปฏิปทาที่ประเสริฐสุดกับพระมุนีผู้ประเสริฐ
ในเมื่อเวลาคำสั่งสอนของอสิตฤๅษีมาถึงเข้า
วัตถุคาถา จบ
(นาลกดาบสทูลถามดังนี้)
[๗๐๕] ข้าแต่พระโคดม คำของอสิตฤๅษีนั้น
ข้าพระองค์ได้รู้ว่า เป็นจริงตามที่กล่าวแล้ว
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
[๗๐๖] พระองค์ผู้อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอจงตรัสบอกมุนีและปฏิปทาอันสูงสุดของมุนีแห่งบรรพชิต
ผู้แสวงหาการเที่ยวไปเพื่อภิกษา แก่ข้าพระองค์เถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๗๐๗] เราจักพยากรณ์ปฏิปทาของมุนีที่ปฏิบัติได้ยาก
ทั้งให้เกิดความยินดีได้ยากแก่เธอ
เอาเถิด เราจะบอกปฏิปทาของมุนีนั้นแก่เธอ
เธอจงช่วยเหลือตนเอง จงเป็นผู้มั่นคงเถิด
[๗๐๘] มุนีพึงทำทั้งคำด่าและการกราบไหว้
ในหมู่บ้านให้มีส่วนเสมอกัน
คือพึงรักษาจิตไม่ให้คิดร้าย เป็นผู้สงบ
ไม่ฟุ้งซ่านเที่ยวไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๗๐๙] อารมณ์สู่งต่ำ๑เปรียบเหมือนเปลวไฟในป่าย่อมปรากฏ
นารีมักประเล้าประโลมมุนี
เธอจงระวังอย่าให้นางประเล้าประโลมได้
[๗๑๐] มุนีพึงงดเว้นจากเมถุนธรรม
ละกามคุณทั้งที่ประณีตและไม่ประณีต
ไม่ยินดียินร้ายในสัตว์ผู้ยังหวาดสะดุ้งและที่มั่นคง
[๗๑๑] มุนีพึงทำตนให้เป็นอุปมาว่า เราฉันใด
สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้น
สัตว์เหล่านี้ฉันใด เราก็ฉันนั้น ดังนี้แล้ว
ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า
[๗๑๒] มุนีละความปรารถนาและความโลภในปัจจัย ๔
ที่ปุถุชนพากันหลงยึดติดได้แล้ว เป็นผู้มีจักษุ
ปฏิบัติปฏิปทาของมุนี
ก็จะข้ามพ้นความทะยานอยากในปัจจัยซึ่งเป็นดุจเหวลึกนี้ได้
[๗๑๓] มุนีควรเป็นผู้มีท้องพร่อง ฉันอาหารแต่พอประมาณ
มีความปรารถนาน้อย ปราศจากความละโมบ
หมดความกระหายหิวด้วยความอยาก ไม่มีความอยากอีกต่อไป
ดับความเร่าร้อนได้ตลอดกาล

เชิงอรรถ :
๑ อารมณ์สูงต่ำ หมายถึงอิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่น่าปรารถนา) และอนิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) (ขุ.สุ.อ.
๒/๗๐๙/๓๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๗๑๔] มุนีนั้นเที่ยวรับบิณฑบาตแล้ว ควรเข้าไปชายป่าทันที
ยืนหรือนั่งที่โคนต้นไม้ชายป่านั้น
[๗๑๕] มุนีนั้นควรจะขวนขวายในฌาน ทรงปัญญา
ยินดีอยู่เฉพาะในชายป่า
ควรเพ่งพินิจ ทำตนให้ยินดียิ่ง ณ โคนต้นไม้นั้น
[๗๑๖] จากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว
มุนีควรเข้าไปสู่บริเวณหมู่บ้าน
ไม่ควรยินดีรับนิมนต์ฉันที่เรือน
และอาหารที่เขานำมาจากบ้านถวายเจาะจง
[๗๑๗] มุนีเข้าไปถึงหมู่บ้านแล้ว
ไม่ควรรีบร้อนเข้าไปเรือนตระกูลอุปัฏฐาก
เป็นผู้ตัดการพูดคุย ไม่ควรกล่าววาจาเกี่ยวกับการแสวงหาของกิน
[๗๑๘] มุนีนั้นคิดว่า สิ่งที่เราได้แล้วล้วนแต่เป็นประโยชน์ทั้งนั้น
ถึงไม่ได้ก็ดี ดังนี้แล้ว
เป็นผู้คงที่ เพราะการได้เและไม่ได้ทั้ง ๒ อย่างนั้น
กลับเข้าไปยังที่อยู่ของตน
เหมือนคนหาผลไม้เข้าไปยังต้นไม้ ฉะนั้น
[๗๑๙] มุนีนั้นอุ้มบาตรเที่ยวไป
ไม่เป็นใบ้ก็สมมติตนว่าเป็นใบ้
ไม่ควรดูหมิ่นทานว่าน้อย
ไม่ควรดูแคลนทายกผู้ให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๗๒๐] ปฏิปทา๑ที่พระสมณะประกาศแล้ว มีทั้งสูงและต่ำ๒
มุนีผู้ปฏิบัติจะไปถึงฝั่งถึง ๒ ครั้งหามิได้๓
ฝั่งนี้ ผู้ปฏิบัติรู้ได้ครั้งเดียว ก็หามิได้๔
[๗๒๑] อนึ่ง มุนีเป็นภิกษุซึ่งตัดกระแสขาดแล้ว
ไม่มีตัณหาซ่านไป ละกิจน้อยใหญ่ได้แล้ว
ย่อมไม่มีความเร่าร้อน๕
[๗๒๒] เราจะพยากรณ์ปฏิปทาของมุนีให้เธอทราบต่อไปคือ
ภิกษุผู้ปฏิบัติควรเป็นผู้มีคมมีดโกนเป็นเครื่องเปรียบ
กดเพดานไว้ด้วยลิ้น สำรวมท้อง
[๗๒๓] ควรเป็นผู้มีจิตไม่ท้อแท้ และไม่ควรครุ่นคิดกังวลมาก
เป็นผู้หมดกลิ่นสาบ๖ ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย
มีพรหมจรรย์เป็นจุดหมาย

เชิงอรรถ :
๑ ปฏิปทา หมายถึงประเภทของการปฏิบัติ มี ๔ อย่าง คือ (๑) ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก
และรู้ได้ช้า) (๒) ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา(ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว) (๓) สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา
(ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า) (๔) สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา(ปฏิบัติสะดวก และรู้ได้เร็ว) (องฺ.จตุกฺก. (แปล)
๒๑/๑๖๑-๑๖๓/๒๒๖-๒๓๐)
๒ มีทั้งสูงและต่ำ หมายถึงปฏิปทาสูง คือ ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา และสุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
ส่วนปฏิปทาต่ำ คือ ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา และสุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๒๐/๓๓๐)
๓ หมายถึงมุนีไม่สามารถบรรลุนิพพานถึง ๒ ครั้งได้ ข้อความนี้แสดงถึงภาวะที่ไม่มีความเสื่อม กล่าวคือ
กิเลสเหล่าใดที่ละได้แล้ว ก็ไม่ต้องกลับไปละกิเลสเหล่านั้นซ้ำอีก (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๒๐/๓๓๐)
๔ ข้อความนี้แสดงภาวะที่ละกิเลสด้วยมรรคนั้น ๆ ตามลำดับถึงอรหัตตมรรค มิใช่ละกิเลสทั้งหมดด้วยมรรค
ใดมรรคหนึ่ง (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๒๐/๓๓๐) และดู อภิ.ก. ๓๗/๒๖๕/๔๗๔
๕ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๔/๒๗๐
๖ กลิ่นสาบ หมายถึงความโกรธ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๔/๑๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๗๒๔] พึงฝึกฝนเพื่อการนั่งสงบผู้เดียว
และเพื่อบำเพ็ญจิตภาวนาของสมณะ
ความเป็นมุนีที่เราบอกไว้แล้วโดยส่วนเดียว
หากเธอจักยินดีอยู่ผู้เดียว
เธอก็จักปรากฏเกียรติคุณไปทั่ว ๑๐ ทิศ
[๗๒๕] เธอได้ฟังเสียงสรรเสริญของนักปราชญ์ทั้งหลาย
ผู้เพ่งพินิจอยู่ ตัดขาดจากกามแล้ว
ต่อจากนั้น ควรทำหิริและศรัทธาให้ยิ่งขึ้น
จึงนับว่าเป็นสาวกของเราได้
[๗๒๖] เธอจะเข้าใจคำที่เรากล่าวแล้วนั้นได้แจ่มแจ้ง
ด้วยการเปรียบเทียบแม้น้ำกับลำคลอง และหนองบึง คือ
แม่น้ำน้อยไหลดังสนั่น
แม่น้ำสายใหญ่ๆ ไหลเงียบสงบ
[๗๒๗] สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นดัง
สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นเงียบ
คนพาลเปรียบได้กับหม้อน้ำที่มีน้ำเพียงครึ่งเดียว
บัณฑิตเปรียบได้กับห้วงน้ำที่เต็มเปี่ยม
[๗๒๘] พระสมณพุทธเจ้าทรงรู้จักถ้อยคำที่จะตรัสให้มากว่า
มีสาระประกอบด้วยประโยชน์ จึงทรงแสดงธรรม
พระองค์ทรงรู้อยู่จึงตรัสได้มาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[๗๒๙] อนึ่ง สมณะใดรู้แจ้งธรรม
สำรวมจิตของตนได้ ไม่กล่าวมากทั้งที่รู้
สมณะนั้นชื่อว่าเป็นมุนี
ย่อมควรแก่ปฏิปทาของมุนี
สมณะนั้นเป็นมุนีได้บรรลุปฏิปทาของมุนี๑แล้ว
นาลกสูตรที่ ๑๑ จบ
๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาเห็นธรรมเป็นคู่
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา-
มิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นเป็นคืนวันเพ็ญ เป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งกลางแจ้งมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ทอดพระเนตรเห็นภิกษุ-
สงฆ์สงบนิ่งจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การฟังกุศลธรรมที่เป็นของ
พระอริยะ เป็นเครื่องนำออกจากโลก เป็นเหตุให้ดำเนินไปสู่ความตรัสรู้ จะมี
ประโยชน์อะไรแก่ท่านทั้งหลาย’ เธอทั้งหลายควรตอบเขาอย่างนี้ว่า ‘มีประโยชน์ให้
รู้จักธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่ตามความเป็นจริง’
เธอทั้งหลายควรตอบเขาถึงธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่ คือ
(๑) การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ นี้เป็นคู่
ที่ ๒ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ

เชิงอรรถ :
๑ บรรลุปฏิปทาของมุนี หมายถึงบรรลุอรหัตตมัคคญาณ (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๒๗-๗๒๙/๓๓๒-๓๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
อย่างนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน
๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือความเป็นพระอนาคามี เมื่อยังมีอุปาทานขันธ์
เหลืออยู่”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๓๐] สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดไม่รู้จักทุกข์
เหตุเกิดทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ลงได้สิ้นเชิง
และไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[๗๓๑] สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นผู้เสื่อมจากเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ
เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
เป็นผู้เข้าถึงชาติและชราแท้
[๗๓๒] ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดรู้จักทุกข์
เหตุเกิดทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ลงได้สิ้นเชิง
และรู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[๗๓๓] สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ
เป็นผู้ควรเพื่อจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
และเป็นผู้ไม่เข้าถึงชาติและชรา๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ อิติวุตตกะ ข้อ ๑๐๓ หน้า ๔๘๑-๔๘๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
(๒) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น
๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ ด้วยวิธีอื่นยังมีอีกบ้างไหม’ ควรตอบเขาว่า ‘มี’ หากเขาถาม
ต่อไปอีกว่า ‘มีอย่างไร’ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า
‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอุปธิ๑เป็นปัจจัย’ นี้เป็น
คู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะอุปธิทั้งหลายนั้นเองดับลงโดยการ
คายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๓๔] ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ล้วนเกิดมาจากอุปธิเป็นต้นเหตุ
ผู้ใดแล ไม่มีปัญญา ก่ออุปธิ
ผู้นั้นจัดว่าเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
เพราะฉะนั้น บุคคลรู้อยู่เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่า
มีชาติเป็นแดนเกิด ไม่ควรก่ออุปธิ
(๓) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น
๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ ด้วยวิธีอื่นยังมีอีกบ้างไหม’ ควรตอบเขาว่า ‘มี’ หากเขาถาม
ต่อไปอีกว่า ‘มีอย่างไร’ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ
ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย’
นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะอวิชชานั้นเองดับลงโดยการ
คายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

เชิงอรรถ :
๑ อุปธิ ในที่นี้หมายถึงกรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๓๓/๓๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[๗๓๕] อวิชชานั่นแลเป็นคติของสัตว์ทั้งหลาย
ผู้เข้าถึงชาติ มรณะ และสังสารวัฏ
ซึ่งมีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น๑อยู่บ่อย ๆ
[๗๓๖] อวิชชาคือความหลงมัวเมาอย่างใหญ่หลวงนี้
เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายจมปลักอยู่สิ้นกาลนาน
สัตว์เหล่าใดทำลายอวิชชาด้วยวิชชาแล้ว
สัตว์เหล่านั้นย่อมไม่เข้าถึงภพใหม่อีก
(๔) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น
๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ ด้วยวิธีอื่นยังมีอีกบ้างไหม’ ควรตอบเขาว่า ‘มี’ หากเขาถาม
ต่อไปอีกว่า ‘มีอย่างไร’ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ
ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะสังขาร๒เป็นปัจจัย’
นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะสังขารทั้งหลายนั้นเองดับลงโดยการ
คายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๓๗] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดเกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย
เพราะสังขารทั้งหลายดับลง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[๗๓๘] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะสังขารเป็นปัจจัย
เพราะความสงบสังขารทั้งปวง สัญญาทั้งหลายจึงดับลง

เชิงอรรถ :
๑ สภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น หมายถึงสภาวะแห่งความเป็นมนุษย์และความเป็นสัตว์อื่นที่เหลือ
จากความเป็นมนุษย์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๓๕/๓๓๘)
๒ สังขาร ในที่นี้หมายถึงปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๓๖/๓๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ความสิ้นทุกข์ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้
เพราะรู้ความสิ้นทุกข์นี้โดยถ่องแท้แล้ว
[๗๓๙] บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นชอบ เป็นผู้จบเวท รู้โดยชอบแล้ว
ครอบงำกิเลสเครื่องประกอบของมารได้แล้ว ย่อมไม่เกิดอีก
(๕) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมด
ย่อมเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย๑’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า
‘เพราะวิญญาณนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’
นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๔๐] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
เพราะวิญญาณดับลง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[๗๔๑] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
เป็นผู้ปราศจากตัณหา ดับกิเลสได้สิ้นเชิงแล้ว
เพราะวิญญาณระงับลง
(๖) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิด
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย๒’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะผัสสะ
นั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒

เชิงอรรถ :
๑ วิญญาณเป็นปัจจัย หมายถึงอภิสังขารวิญญาณที่เกิดพร้อมกับกรรมเป็นปัจจัย (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๓๙/๓๓๙)
๒ ผัสสะเป็นปัจจัย หมายถึงผัสสะที่สัมปยุตด้วยอภิสังขารวิญญาณเป็นปัจจัย (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๔๑/๓๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๔๒] ชนทั้งหลายผู้ถูกผัสสะครอบงำแล้ว
แล่นไปตามกระแส (ตัณหา) ในภพ
ดำเนินไปผิดทาง ย่อมห่างไกลจากความสิ้นสังโยชน์
[๗๔๓] ส่วนชนทั้งหลายผู้กำหนดรู้ผัสสะจนทั่วถึงแล้ว
ยินดีในธรรมเป็นที่สงบระงับได้ด้วยปัญญา
ย่อมเป็นผู้ปราศจากตัณหา ดับกิเลสลงได้สิ้นเชิง
เพราะรู้ยิ่งถึงผัสสะ
(๗) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม
เกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัย๑ ‘ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ‘เพราะ
เวทนานั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ อย่างนี้
ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๔๔] เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา
มีอยู่ทั้งภายในและภายนอก
[๗๔๕] ภิกษุรู้ว่า เวทนานี้เป็นเหตุแห่งทุกข์
ถูกต้องสัมผัสเวทนาที่มีความเสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา
มีปกติทรุดโทรมไป ด้วยอุทยัพพยญาณแล้ว
เห็นความเสื่อมเป็นที่สุด

เชิงอรรถ :
๑ เวทนาเป็นปัจจัย หมายถึงเวทนาที่สัมปยุตด้วยกรรมเป็นปัจจัย (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๔๔/๓๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ชื่อว่ารู้แจ้งเห็นจริงในเวทนานั้นอย่างนี้
เพราะเวทนาทั้งหลายสิ้นไปนั่นเอง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
(๘) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิด
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ‘เพราะตัณหานั้น
เองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๔๖] บุคคลมีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏ ที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น
[๗๔๗] ภิกษุรู้โทษนี้ รู้ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
พึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา ไม่มีความถือมั่น มีสติสัมปชัญญะอยู่๑
(๙) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม
เกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะ
อุปาทานนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็น
คู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๙/๑๕, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๑/๕๔๐, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๗/๓๖๔ และดู
อิติวุตตกะ ข้อ ๑๕ หน้า ๓๕๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[๗๔๘] ภพมีได้เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย
สัตว์เกิดมาแล้วต้องประสบทุกข์ ต้องตาย
นี้เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์
[๗๔๙] เพราะฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลายรู้ด้วยปัญญาโดยชอบ
รู้แจ้งภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
เพราะอุปาทานสิ้นไป จึงไม่เข้าถึงภพใหม่อีก
(๑๐) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม
เกิดเพราะอารัมภะ๑เป็นปัจจัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะ
อารัมภะนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็น
คู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๕๐] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอารัมภะเป็นปัจจัย
เพราะอารัมภะทั้งหลายดับลง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[๗๕๑] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอารัมภะเป็นปัจจัย
สละคืนอารัมภะได้ทั้งหมด
น้อมจิตไปในนิพพานที่ปราศจากอารัมภะ

เชิงอรรถ :
๑ อารัมภะ ในที่นี้หมายถึงความเพียรที่สัมปยุตด้วยกรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๔๙/๓๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[๗๕๒] ภิกษุผู้ถอนภวตัณหาได้แล้ว มีจิตสงบ
มีชาติและสงสารสิ้นแล้ว ย่อมไม่มีภพใหม่
(๑๑) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมด
ย่อมเกิดเพราะอาหารเป็นปัจจัย‘๑ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า
‘เพราะอาหารนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’
นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๕๓] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอาหารเป็นปัจจัย
เพราะอาหารทั้งหลายดับลง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[๗๕๔] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัย
กำหนดรู้อาหารทุกอย่าง
จึงเป็นผู้ไม่มีตัณหาในอาหารทั้งหมด
[๗๕๕] ภิกษุรู้ความไม่มีโรค๒โดยชอบ
พิจารณาแล้วจึงใช้สอยปัจจัย ๔

เชิงอรรถ :
๑ อาหาร หมายถึงอาหารที่สัมปยุตด้วยกรรม ความจริง สัตว์ ๔ จำพวกมีอาหารเป็นปัจจัย คือ
(๑) รูปูปคา (ผู้เข้าถึงรูป) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในกามธาตุ ๑๑ อย่าง เสพกวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว)
(๒) เวทนูปคา(ผู้เข้าถึงเวทนา) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในรูปธาตุ ยกเว้นอสัญญีสัตว์ เสพผัสสาหาร
(๓) สัญญูปคา (ผู้เข้าถึงสัญญา) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในอรูปธาตุ ๓ อย่าง เบื้องต่ำ เสพมโนสัญเจตนาหาร
อันเกิดแต่สัญญา (๔) สังขารูปคา (ผู้เข้าถึงสังขาร) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในภูมิเบื้องสูง เสพวิญญาณาหาร
อันเกิดแต่สังขาร (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๕๑/๓๔๐)
๒ ความไม่มีโรค ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๕๕/๓๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ดำรงอยู่ในธรรม จบเวท
ย่อมไม่เข้าถึงการนับ๑อีกต่อไป
เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป
(๑๒) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม
เกิดเพราะอิญชิตะ๒(ความหวั่นไหว) เป็นปัจจัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็น
เนือง ๆ ว่า ‘เพราะอิญชิตะนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้
อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๕๖] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอิญชิตะเป็นปัจจัย
เพราะดับอิญชิตะ
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[๗๕๗] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอิญชิตะเป็นปัจจัย
เพราะฉะนั้น จึงควรสละตัณหา ดับสังขารได้
ไม่มีอิญชิตะ ไม่มีความถือมั่น มีสติ สัมปชัญญะอยู่
(๑๓) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ผันทิตะ(ความดิ้นรน) ย่อมมีแก่ผู้ตกอยู่ใต้อำนาจ
ตัณหาทิฏฐิ และมานะ’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ผู้ที่พ้นจาก
อำนาจตัณหาทิฏฐิ และมานะ ย่อมไม่ดิ้นรน’ นี้เป็นคู่ที่ ๒

เชิงอรรถ :
๑ ไม่เข้าถึงการนับ ในที่นี้หมายถึงไม่เข้าถึงการนับว่า ‘เทพ’ หรือ “มนุษย์” เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๗๕/๓๔๑)
๒ อิญชิตะ(ความหวั่นไหว) ในที่นี้หมายถึงตัณหา มานะ ทิฏฐิ กรรม และกิเลส (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๕๕/๓๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๕๘] ผู้พ้นจากอำนาจตัณหา ทิฏฐิ และมานะ ย่อมไม่ดิ้นรน
ส่วนผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจตัณหาเป็นต้น ถือมั่นอยู่
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่นไปได้
[๗๕๙] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ตัณหาเป็นภัยใหญ่
พ้นจากตัณหาเป็นต้นนั้นได้แล้ว
ไม่มีความถือมั่น มีสติ สัมปชัญญะอยู่
(๑๔) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘อรูปภพละเอียดกว่ารูปภพ’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การ
พิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘นิโรธละเอียดกว่าอรูปภพ’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๖๐] สัตว์ทั้งหลายทั้งที่เข้าถึงรูปภพและที่ดำรงอยู่ในอรูปภพ
เมื่อยังไม่รู้ชัดถึงความดับกิเลส
ก็ยังต้องกลับมาเกิดใหม่อีก
[๗๖๑] ส่วนผู้ที่กำหนดรู้รูปภพแล้ว ไม่ดำรงอยู่ในอรูปภพ
น้อมจิตไปในนิพพาน ย่อมชนะมัจจุราชได้
(๑๕) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘นามรูปที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์พากันพิจารณาเห็นว่า นามรูป
นี้เป็นของจริง ซึ่งพระอริยะทั้งหลายพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
อันชอบว่า นามรูปนี้ไม่เป็นของจริง’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ
ว่า ‘นิพพานที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์พากันพิจารณาเห็นว่า นิพพานนี้ไม่มีอยู่จริง
ซึ่งพระอริยะทั้งหลายพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า นิพพาน
นี้มีอยู่จริง’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๖๒] ท่านมีความเข้าใจผิดในนามรูปที่มิใช่อัตตาว่าเป็นอัตตา
จงดูชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ซึ่งพากันยึดมั่นในนามรูป โดยเข้าใจว่า
นามรูปนี้เป็นของจริง
[๗๖๓] ความจริง นามรูปนั้นย่อมแปรผันเป็นอย่างอื่น
จากอาการที่คนทั่วไปเข้าใจอยู่เสมอ
นามรูปของผู้เข้าใจเช่นนั้น หาเป็นจริงตามนั้นไม่
เพราะนามรูปนั้นปรากฏชั่วครู่ก็เสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา
[๗๖๔] นิพพานมีความไม่เสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา
ซึ่งพระอริยะทั้งหลายรู้แจ้งตามความเป็นจริง
จึงเป็นผู้ปราศจากตัณหา ปรินิพพานแล้ว
เพราะรู้แจ้งอริยสัจ
(๑๖) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น
๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ ด้วยวิธีอื่นมีบ้างไหม’ ควรตอบเขาว่า ‘มี’ หากเขาถาม
ต่อไปอีกว่า ‘มีอย่างไร’ ก็ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า
‘อิฏฐารมณ์ที่ชาวโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์พากันพิจารณาเห็นว่า อิฏฐารมณ์นี้เป็นความสุข
ซึ่งพระอริยะทั้งหลายพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า อิฏฐารมณ์
นี้เป็นความทุกข์’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นว่า ‘นิพพานที่ชาวโลกพร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
มนุษย์พากันพิจารณาเห็นว่า นิพพานนี้เป็นความทุกข์ ซึ่งพระอริยะทั้งหลาย
พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘นิพพานนี้เป็นความสุข’ นี้เป็น
คู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง
คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือความเป็นพระอนาคามี เมื่อยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๖๕] รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
ล้วนน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ที่กล่าวกันว่ามีอยู่ประมาณเท่าใด
[๗๖๖] รูปเป็นต้นเหล่านั้นแลเป็นสิ่งที่ชาวโลก
พร้อมทั้งเทวโลกสมมติว่า เป็นสุข
ถ้ารูปเป็นต้นเหล่านั้นดับในที่ใด
ที่นั้น เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นก็สมมติกันว่า เป็นทุกข์
[๗๖๗] ส่วนอริยบุคคลทั้งหลายเห็นการดับสักกายะว่า เป็นสุข
การเห็นของอริยบุคคลทั้งหลายผู้เห็นอยู่นี้
ย่อมขัดแย้งกับชาวโลกทั้งปวง
[๗๖๘] บุคคลเหล่าอื่นกล่าวสิ่งใดว่า เป็นสุข
อริยบุคคลทั้งหลายกล่าวสิ่งนั้นว่า เป็นทุกข์
บุคคลเหล่าอื่นกล่าวสิ่งใดว่า เป็นทุกข์
อริยบุคคลทั้งหลายรู้แจ้งสิ่งนั้นว่า เป็นสุข

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[๗๖๙] เธอจงเห็นธรรมที่รู้ได้ยาก
คนพาลผู้หลง ไม่รู้แจ้งในนิพพานนี้
ความมืดปรากฏแก่บุคคลผู้ถูกนิวรณ์คือกิเลสหุ้มห่อไว้
(เหมือน) ความมืดปรากฏแก่บุคคลผู้ไม่เห็น ฉะนั้น
[๗๗๐] แต่นิพพานย่อมปรากฏแจ่มแจ้งแก่สัตบุรุษ
เหมือนแสงสว่างปรากฏแก่บุคคลผู้เห็นอยู่ ฉะนั้น
ชนทั้งหลายผู้แสวงหาทาง ไม่ฉลาดในธรรม
ย่อมไม่รู้แจ้ง(นิพพาน)ที่อยู่ใกล้
[๗๗๑] บุคคลผู้ถูกความกำหนัดในภพครอบงำ
แล่นไปตามกระแส (ตัณหา)ในภพ
ถูกบ่วงมารคล้องไว้ จะไม่รู้ธรรมนี้ได้ง่าย
[๗๗๒] เว้นอริยบุคคลทั้งหลายแล้ว
ใครเล่าควรจะตรัสรู้บท๑
ที่อริยบุคคลทั้งหลายตรัสรู้ชอบแล้ว
ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน๒
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ขณะที่พระผู้มีพระภาคตรัสพระภาษิตนี้อยู่ จิตของ
ภิกษุประมาณ ๖๐ รูปหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น
ทวยตานุปัสสนาสูตรที่ ๑๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ บท ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (สํ.สฬา.อ. ๓/๑๓๖/๕๓, ขุ.สุ.อ. ๒/๗๗๒/๓๔๓)
๒ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๑๓๖/๑๗๑-๑๗๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] รวมพระสูตรในวรรค
รวมหัวข้อธรรมประจำเรื่องในพระสูตรนี้ คือ

๑. สัจจะ ๒. อุปธิ
๓. อวิชชา ๔. สังขาร
๕. วิญญาณ ๖. ผัสสะ
๗. เวทนา ๘. ตัณหา
๙. อุปาทาน ๑๐. อารัมภะ
๑๑. อาหาร ๑๒. อิญชิตะ
๑๓. ผันทิตะ ๑๔. รูป
๑๕. นิพพานสัจจะ ๑๖. ทุกข์

มหาวรรคที่ ๓ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปัพพัชชาสูตร ๒. ปธานสูตร
๓. สุภาสิตสูตร ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
๕. มาฆสูตร ๖. สภิยสูตร
๗. เสลสูตร ๘. สัลลสูตร
๙. วาเสฏฐสูตร ๑๐. โกกาลิกสูตร
๑๑. นาลกสูตร ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑. กามสูตร
๔. อัฏฐกวรรค
หมวดว่าด้วยการไม่ติดอยู่ในกาม
กามสูตร๑
ว่าด้วยเรื่องกาม
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พราหมณ์ผู้เป็นชาวนา ณ กรุงสาวัตถีดังนี้)
[๗๗๓] ถ้ากาม๒นั้นสำเร็จด้วยดีแก่สัตว์นั้น ผู้อยากได้กามอยู่
สัตว์นั้นได้กามตามที่ต้องการแล้ว
ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่แท้
[๗๗๔] ถ้าเมื่อสัตว์นั้นอยากได้กามอยู่ เกิดความพอใจแล้ว
กามเหล่านั้นเสื่อมไป
สัตว์นั้นย่อมเจ็บปวด เหมือนถูกลูกศรแทง
[๗๗๕] ผู้ใดละกามได้ เหมือนคนเดินเลี่ยงหัวงู
ผู้นั้นมีสติ ล่วงพ้นตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา๓นี้ในโลก
[๗๗๖] นรชนใดปรารถนาเนือง ๆ ซึ่งไร่นา ที่ดิน เงิน โค ม้า
ทาส บุรุษ สตรี พวกพ้อง หรือกามเป็นอันมาก
[๗๗๗] กิเลสทั้งหลายอันไม่มีกำลังครอบงำนรชนนั้น
อันตรายทั้งหลาย๔ย่ำยีนรชนนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑-๖/๑-๒๓
๒ กาม ในที่นี้หมายถึงวัตถุกาม (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๗๓/๓๔๖)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๘๙ ในเล่มนี้
๔ อันตราย มี ๒ อย่าง (๑) อันตรายที่ปรากฏ คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เป็นต้น (๒) อันตรายที่ไม่ปรากฏ คือ
กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต เป็นต้น ในที่นี้หมายถึงอันตรายที่ไม่ปรากฏ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕/๑๖-๑๗,
ขุ.สุ.อ. ๒/๗๗๗/๓๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสูตร
เพราะอันตรายนั้น ทุกข์จึงติดตามนรชนนั้นไป
เหมือนน้ำไหลเข้าเรือรั่ว ฉะนั้น
[๗๗๘] เพราะฉะนั้น สัตว์เกิด๑พึงมีสติทุกเมื่อ ละกามทั้งหลายได้
ครั้นละกามเหล่านั้นได้แล้ว พึงข้ามโอฆะได้
เหมือนคนวิดน้ำเรือแล้วไปถึงฝั่งได้ ฉะนั้น
กามสูตรที่ ๑ จบ
๒. คุหัฏฐกสูตร๒
ว่าด้วยผู้ข้องอยู่ในถ้ำ
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ ณ กรุงสาวัตถีดังนี้)
[๗๗๙] นรชนผู้ข้องอยู่ในถ้ำ๓ ถูกกิเลสมากหลายปิดบังไว้
เมื่อดำรงตนอยู่(อย่างนี้) ก็จมลงในเหตุให้ลุ่มหลง๔
ผู้เป็นเช่นนั้นแล ย่อมอยู่ไกลจากวิเวก
เพราะกามทั้งหลายในโลกไม่เป็นของที่นรชนละได้ง่ายเลย
[๗๘๐] สัตว์เหล่านั้นมีความปรารถนาเป็นต้นเหตุ
ติดพันอยู่กับความพอใจในภพ มุ่งหวัง(กาม)
ในกาลภายหลัง(อนาคต)หรือในกาลก่อน(อดีต)
ปรารถนากามเหล่านี้และกามที่มีอยู่ก่อน
ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นได้ยาก(และ)ทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นไม่ได้เลย

เชิงอรรถ :
๑ สัตว์เกิด หมายถึงนรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เป็นไปตามกรรม (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๖/๒๓)
๒ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗-๑๔/๒๘-๖๗
๓ ถ้ำ ในที่นี้หมายถึงร่างกาย (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๗๙/๓๕๐)
๔ เหตุให้ลุ่มหลง ในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗/๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสูตร
[๗๘๑] สัตว์เหล่านั้นยินดีขวนขวาย ลุ่มหลงในกามทั้งหลาย
เป็นผู้ตกต่ำ ตั้งอยู่ในกรรมที่ผิด
ประสบทุกข์แล้วจึงคร่ำครวญอยู่ว่า
เราจุติจากภพนี้ จักเป็นอะไรหนอ
[๗๘๒] เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้๑
พึงรู้จักกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกว่า เป็นกรรมที่ผิด
ไม่พึงประพฤติผิดเพราะเหตุแห่งกรรมที่ผิดนั้น
นักปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย
[๗๘๓] เราเห็นหมู่สัตว์นี้ผู้ตกไปในอำนาจตัณหาในภพทั้งหลาย๒
กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก
นรชนที่เลวผู้ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
ร่ำไรอยู่ใกล้ปากมัจจุราช
[๗๘๔] พวกเธอจงดูหมู่สัตว์ผู้กำลังดิ้นรนอยู่
เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
เหมือนฝูงปลาในน้ำน้อยสิ้นกระแสแล้ว
นรชนเห็นโทษนี้แล้วก็อย่าก่อตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในภพทั้งหลาย
พึงประพฤติไม่ยึดถือว่า เป็นของเรา
[๗๘๕] นักปราชญ์พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน
กำหนดรู้ผัสสะ๓แล้ว ก็ไม่ติดใจ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้ ดูรายละเอียดใน ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๐/๔๘-๔๙
๒ ภพทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงกามภพ รูปภพ และอรูปภพ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๑/๕๗)
๓ ผัสสะ หมายถึงความสัมผัสอารมณ์ที่มากระทบ เช่น ตากระทบกับรูป หรือตาเห็นรูป เรียกจักขุสัมผัส
เป็นต้น (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๓/๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร
ติเตียนกรรมใดด้วยตน ก็ไม่ทำกรรมนั้น
ไม่ติดในสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินแล้ว
[๗๘๖] มุนีกำหนดรู้สัญญาแล้ว ไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย
พึงข้ามโอฆะได้ ถอนลูกศรได้แล้ว ไม่ประมาท
ประพฤติอยู่ ย่อมไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า
คุหัฏฐกสูตรที่ ๒ จบ
๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร๑
ว่าด้วยเรื่องเดียรถีย์กับมุนี
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พระอานนท์ดังนี้)
[๗๘๗] เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่วกล่าวร้าย
บุคคลเหล่าอื่นเข้าใจว่าจริงก็กล่าวร้ายด้วย
แต่มุนีย่อมไม่ใส่ใจคำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น มุนีจึงไม่มีกิเลสเครื่องตรึงจิตในที่ไหน ๆ
[๗๘๘] ผู้ไปตามความพอใจ ตั้งอยู่ในความชอบใจ
พึงก้าวล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า
แต่เมื่อทำตนให้เพียบพร้อม รู้อย่างไรก็พึงพูดอย่างนั้น
[๗๘๙] สัตว์เกิดใดไม่มีใครถาม
ก็บอกศีลและวัตรของตนแก่บุคคลเหล่าอื่น
สัตว์เกิดใดกล่าวถึงตัวเองเท่านั้น
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกสัตว์เกิดนั้นว่า ผู้ไม่มีอริยธรรม
[๗๙๐] ส่วนภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสแล้ว
ไม่โอ้อวดในศีลทั้งหลายว่า เราเป็นดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบคำแปลพร้อมทั้งอธิบายใน ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕-๒๒/๗๔-๑๐๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร
อนึ่ง ภิกษุใดไม่มีกิเลสเครื่องฟูในที่ไหน ๆ ในโลก
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกภิกษุนั้นว่า ผู้มีอริยธรรม
[๗๙๑] เจ้าลัทธิใด มีธรรมที่กำหนดไว้ อันปัจจัยปรุงแต่งเชิดชูไว้
(แต่)ไม่ขาวสะอาด เจ้าลัทธินั้นเห็นอานิสงส์ใดในตน
อาศัยอานิสงส์นั้น และสันติ๑ที่กำเริบซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้น
[๗๙๒] ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย ๆ
การปลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น
ก็มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย
เพราะฉะนั้น ในความถือมั่นเหล่านั้น
นรชนย่อมสลัดทิ้งธรรมบ้าง ยึดถือธรรมไว้บ้าง
[๗๙๓] ทิฏฐิที่กำหนด(เพื่อเกิด)ในภพน้อยภพใหญ่
ของผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดไม่มีในที่ไหน ๆ ในโลก
เพราะผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้น
ละความหลอกลวงและความถือตัวได้แล้ว
ไม่มีความถือมั่น จะพึงไปด้วยเหตุอะไรเล่า
[๗๙๔] เพราะว่า ผู้มีความถือมั่นย่อมเข้าถึงวาทะในธรรมทั้งหลาย
จะพึงกล่าวคำติเตียนผู้ไม่มีความถือมั่นด้วยเหตุอะไรเล่า
เพราะทิฏฐิว่ามีอัตตา ทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา๒
ไม่มีแก่ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น
ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น สลัดแล้วซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละ
ทุฏฐัฏฐกสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สันติ หมายถึงความสงบ มี ๓ อย่าง คือ (๑) อัจจันตสันติ (ความสงบอย่างสิ้นเชิง) หมายถึงอมตนิพพาน
(๒) ตทังคสันติ (ความสงบด้วยองค์นั้น ๆ) หมายถึงผู้บรรลุรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ (๓) สมมุติสันติ
(ความสงบโดยสมมติ) หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ ในที่นี้หมายถึงสันติโดยสมมติ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙/๘๘-๘๙)
๒ ทิฏฐิว่ามีอัตตา หมายถึงสัสสตทิฏฐิ ทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ ดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๒/
๙๘-๑๐๐, ๙๓/๒๘๘-๒๘๙ และดู สุตตนิบาตข้อ ๘๖๕ หน้า ๗๐๗ ในเล่มนี้ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสูตร
๔. สุทธัฏฐกสูตร๑
ว่าด้วยผู้พิจารณาเห็นความหมดจด
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[๗๙๕] เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง
ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น
บุคคลเมื่อรู้จริงอย่างนี้ก็รู้ว่า ความเห็นนี้ยอดเยี่ยม
จึงเป็นผู้พิจารณาเห็นความหมดจด
เพราะฉะนั้น ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นญาณ
[๗๙๖] ถ้าความหมดจดมีแก่นรชนเพราะความเห็น
หรือนรชนนั้นละทุกข์ได้เพราะญาณ
นรชนผู้ยังมีอุปธินั้นย่อมหมดจดเพราะมรรคอื่น(ก็ได้)
เพราะว่า ทิฏฐิย่อมบ่งบอกถึงนรชนนั้นผู้พูดอย่างนั้น
[๗๙๗] พราหมณ์๒ ไม่กล่าวความหมดจดในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
ศีลและวัตรหรืออารมณ์ที่รับรู้โดยมรรคอื่น
พราหมณ์นั้นผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป ละอัตตาได้๓
เรียกว่า ผู้ไม่ทำเพิ่มเติมในโลกนี้
[๗๙๘] สมณพราหมณ์เหล่านั้นละสิ่งแรก อาศัยสิ่งหลัง
ไปตามความพลุ่งพล่าน๔
ย่อมข้ามกิเลสเครื่องข้องไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๓-๓๐/๑๐๑-๑๒๓
๒ พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงผู้ลอยบาปธรรม ๗ ประการ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ (๒) วิจิกิจฉา (๓) สีลัพพต-
ปรามาส (๔) ราคะ (๕) โทสะ (๖) โมหะ (๗) มานะ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๕/๑๐๔)
๓ ละอัตตาได้ หมายถึงละ สละ และคายความยึดมั่นถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อว่าเป็นอัตตาด้วย
อำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๕/๑๐๙)
๔ ความพลุ่งพล่าน ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๖/๑๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสูตร
สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมยึดถือ ย่อมสลัดทิ้ง
เหมือนลิงจับกิ่งไม้แล้วก็ปล่อย ฉะนั้น
[๗๙๙] สัตว์เกิดสมาทานวัตรทั้งหลายเอง
ข้องอยู่ในสัญญา๑ ย่อมดำเนินไปลุ่ม ๆ ดอน ๆ
ส่วนผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยเวททั้งหลาย๒แล้ว
เป็นผู้มีปัญญาอันไพบูลย์
ย่อมไม่ดำเนินไปลุ่ม ๆ ดอน ๆ
[๘๐๐] ผู้มีปัญญานั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง คือ
รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง
ใคร ๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนดผู้มีปัญญานั้น
ผู้เห็นผู้ประพฤติเปิดเผยด้วยเหตุอะไรเล่า
[๘๐๑] สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู
สัตบุรุษเหล่านั้นไม่กล่าวว่าเป็นความหมดจดสุดโต่ง
สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น ที่ร้อยรัดไว้แล้ว
ไม่ก่อความหวังในที่ไหน ๆ ในโลก
[๘๐๒] พระอรหันต์เป็นผู้ไปพ้นเขตแดน๓แล้ว เป็นพราหมณ์
เพราะรู้และเห็น พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีความถือมั่น
ไม่มีความกำหนัดในกามคุณอันเป็นที่กำหนัด
ไม่กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด
พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีความถือมั่นว่า ยอดเยี่ยมในโลกนี้
สุทธัฏฐกสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ข้องอยู่ในสัญญา หมายถึงพัวพันอยู่ในกามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญา และทิฏฐิสัญญา
(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๗/๑๑๒)
๒ รู้ธรรมด้วยเวททั้งหลาย หมายถึงรู้อริยสัจ ๔ ด้วยมรรคญาณ ๔ (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๙๙/๓๖๓)
๓ เขตแดน หมายถึงกิเลส (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๐๒/๓๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสูตร
๕. ปรมัฏฐกสูตร๑
ว่าด้วยผู้ยึดถือทิฏฐิของตนว่ายอดเยี่ยม
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[๘๐๓] สัตว์เกิดผู้ยึดถือในทิฏฐิทั้งหลายว่า ยอดเยี่ยม
ย่อมทำทิฏฐิใดให้ยิ่งใหญ่ในโลก
กล่าวทิฏฐิอื่นทุกอย่างนอกจากทิฏฐินั้นว่า เลว
เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดนั้นจึงไม่ล่วงพ้นการวิวาทไปได้
[๘๐๔] เจ้าลัทธิเห็นอานิสงส์ใดในตน ในรูปที่เห็น
ในเสียงที่ได้ยิน ในศีลและวัตร หรือในอารมณ์ที่รับรู้
เจ้าลัทธินั้นยึดมั่นทิฏฐินั้นในลัทธิของตนนั้น
เห็นทิฏฐิอื่นทั้งปวงโดยความเป็นของเลว
[๘๐๕] บุคคลอาศัยศาสดาใด เห็นศาสดาอื่นว่า เลว
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกศาสดานั้นว่า เป็นเครื่องร้อยรัด
เพราะฉะนั้นแล ภิกษุจึงไม่ควรอาศัยรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่รับรู้ หรือศีลและวัตร
[๘๐๖] ภิกษุไม่พึงกำหนดทิฏฐิในโลกด้วยญาณ หรือแม้ด้วยศีลและวัตร
ไม่พึงเอาตนเข้าไปเทียบว่าเสมอเขา
ไม่พึงสำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา หรือเลิศกว่าเขา
[๘๐๗] ภิกษุนั้นละอัตตาแล้ว ไม่ยึดถือ ไม่สร้างนิสัยแม้ด้วยญาณ
เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน
ภิกษุนั้นก็ไม่เข้าเป็นฝักเป็นฝ่าย
ภิกษุนั้นไม่ถือแม้ทิฏฐิอะไร ๆ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓๑-๓๘/๑๒๓-๑๔๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๖. ชราสูตร
[๘๐๘] พระอรหันต์ใดผู้ไม่มีความคะนึงหาในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน
ในโลกนี้ ในภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือในโลกหน้า
พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีเครื่องอยู่อะไร ๆ
ความตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่นก็ไม่มี
[๘๐๙] พระอรหันต์นั้นไม่มีทิฏฐิอันสัญญากำหนดไว้แม้นิดเดียว
ในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน หรือในอารมณ์ที่รับรู้ในโลกนี้
ใคร ๆ ในโลกนี้ จะพึงกำหนดพระอรหันต์นั้น
ผู้เป็นพราหมณ์ไม่ยึดถือทิฏฐิอยู่ด้วยเหตุอะไรเล่า
[๘๑๐] พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย
ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู(ตัณหาและทิฏฐิ)ไว้
แม้ธรรมทั้งหลาย๑พระอรหันต์เหล่านั้นก็ไม่ปรารถนา
พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์นั้น ใคร ๆ ก็นำไปด้วยศีลและวัตรไม่ได้
เป็นผู้ถึงฝั่ง๒ ไม่กลับมา เป็นผู้คงที่
ปรมัฏฐกสูตรที่ ๕ จบ
๖. ชราสูตร๓
ว่าด้วยชรา
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พุทธบริษัทชาวเมืองสาเกตดังนี้)
[๘๑๑] ชีวิตนี้น้อยนัก มนุษย์ย่อมตายภายใน ๑๐๐ ปี
แม้หากผู้ใดจะมีชีวิตอยู่เกินไปกว่านั้น
ผู้นั้นก็จะตายเพราะชราแน่แท้

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๑๐/๓๖๗)
๒ ฝั่ง หมายถึงอมตนิพพาน ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวงเป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งปวง เป็นต้น (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๓๘/๑๓๘)
๓ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓๙-๔๘/๑๔๒-๑๖๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๖. ชราสูตร
[๘๑๒] ชนทั้งหลายย่อมเศร้าโศก เพราะวัตถุที่ยึดถือว่า เป็นของเรา
เพราะความยึดถือที่เที่ยงแท้ไม่มีอยู่
ความพลัดพรากจากกันนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
กุลบุตรเห็นดังนี้แล้ว ไม่พึงครองเรือน
[๘๑๓] บุรุษย่อมสำคัญเบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา
เบญจขันธ์นั้นบุรุษนั้นย่อมละไปเพราะความตาย
บัณฑิตผู้เป็นพุทธมามกะ รู้ชัดโทษนี้แล้ว
ไม่พึงน้อมไปเพื่อความยึดถือว่า เป็นของเรา
[๘๑๔] บุรุษผู้ตื่นขึ้นแล้ว
ไม่เห็นสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยความฝัน ฉันใด
ใคร ๆ ก็ไม่เห็นชนผู้เป็นที่รัก ซึ่งตายจากไปแล้ว ฉันนั้น
[๘๑๕] ชื่อของชนเหล่าใดที่กล่าวกันอยู่นี้
ชนเหล่านั้นยังเห็นกันอยู่บ้าง ยังได้ยินกันอยู่บ้าง
สัตว์เกิดจากไปแล้ว เหลือไว้แต่ชื่อเท่านั้นเพื่อกล่าวขานกัน
[๘๑๖] ชนทั้งหลายผู้ติดใจในวัตถุที่ยึดถือว่า เป็นของเรา
ย่อมละทิ้งความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ และความตระหนี่ไม่ได้
เพราะฉะนั้น มุนีผู้เห็นแดนเกษม ละความยึดถือได้แล้ว เที่ยวไป
[๘๑๗] บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตนในภพ
ของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้น ใช้ที่นั่งอันสงัดนั้นว่า
เป็นความสามัคคี
[๘๑๘] มุนีไม่อาศัยในสิ่งทั้งปวง๑ ไม่ทำสิ่ง๒ไหนให้เป็นที่รัก
และไม่ทำสิ่งไหนให้ไม่เป็นที่รัก
ความคร่ำครวญและความตระหนี่ไม่ติดอยู่ในมุนีนั้น
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ สิ่งทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงอายตนะ ๑๒ คือ ตาและรูป หูและเสียง จมูกและกลิ่น ลิ้นและรส กายและ
โผฏฐัพพะ ใจและธรรมารมณ์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๐๘/๓๗๑) และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๖/๑๖๑
๒ สิ่ง ในที่นี้หมายถึงสัตว์และสังขาร (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๑๘/๓๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสูตร
[๘๑๙] มุนีไม่ติดพันในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่รับรู้
เหมือนหยดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนดอกบัว ฉะนั้น
[๘๒๐] พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด
ย่อมไม่สำคัญหมายรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่รับรู้
พระอรหันต์นั้นไม่ต้องการความหมดจดด้วยมรรคอื่น
ย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่ต้องคลายกำหนัด
ชราสูตรที่ ๖ จบ
๗. ติสสเมตเตยยสูตร๑
ว่าด้วยปัญหาของติสสเมตเตยยะ
(ท่านพระติสสเมตเตยยะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้)
[๘๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ความคับแค้นของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
ข้าพระองค์ฟังคำสอนของพระองค์แล้วจักศึกษาวิเวก
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตเตยยะ)
[๘๒๒] คำสั่งสอนของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
ย่อมเลอะเลือน และบุคคลนั้นย่อมปฏิบัติผิด
การปฏิบัตินี้ เป็นธรรมไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๙-๕๘/๑๖๘-๑๙๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสูตร
[๘๒๓] ผู้ใดในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียว๑
(ต่อมา)เข้าไปเสพเมถุนธรรม๒
ผู้รู้ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า เป็นปุถุชนเลวในโลก
เหมือนยานที่แล่นไป๓ ฉะนั้น
[๘๒๔] ยศและเกียรติ๔ในเบื้องต้นของภิกษุนั้น เสื่อมไป
ภิกษุเห็นสมบัติและวิบัตินี้แล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุนธรรม
[๘๒๕] ภิกษุนั้นถูกความดำริครอบงำ
ย่อมซบเซาเหมือนคนกำพร้า
ครั้นได้ยินคำตำหนิของคนอื่นแล้ว
ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้น
[๘๒๖] ลำดับนั้น ภิกษุนั้นถูกถ้อยคำของผู้อื่นตักตือนแล้ว
ย่อมสร้างศัสตรา๕ย่อมก้าวลงสู่ความเป็นคนพูดเท็จ
นี้แหละเป็นเครื่องทำให้ติดใหญ่ของเธอ
[๘๒๗] ภิกษุ (ในเบื้องต้น) ได้สมญานามว่า เป็นบัณฑิต
อธิษฐานการเที่ยวไปผู้เดียว
ต่อมา เธอประกอบในเมถุนธรรม
ก็จักมัวหมอง เหมือนกับคนโง่ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ เที่ยวไปผู้เดียว หมายถึงบวชเป็นบรรพชิตและการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๑/๑๗๗)
๒ เข้าไปเสพเมถุน หมายถึงบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์เสพเมถุนธรรม (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๑/๑๗๘)
๓ ยานที่แล่นไป ในที่นี้หมายถึงยานช้าง ยานม้า และยานโค ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกหัด ย่อมแล่นพาออกไป
นอกทาง (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๑/๑๗๘)
๔ ยศและเกียรติ ในที่นี้หมายถึงลาภสักการะและความสรรเสริญ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๒๔/๓๗๓)
๕ ศัสตรา มี ๓ อย่าง คือ (๑) ศัสตราทางกาย (๒) ศัสตราทางวาจา (๓) ศัสตราทางใจ หรือกายทุจริต
๓ อย่าง วจีทุจริต ๔ อย่าง และมโนทุจริต ๓ อย่าง ในที่นี้หมายถึงศัสตราทางวาจา (ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๕๔/๑๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๘. ปสูรสูตร
[๘๒๘] มุนีรู้โทษนี้แล้ว ในคราวเป็นคฤหัสถ์
ก่อนบวชในธรรมวินัยนี้
พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคง
ไม่พึงเข้าไปเสพเมถุนธรรม
[๘๒๙] บุคคลพึงศึกษาวิเวกนั้นแหละ
เพราะการประพฤติวิเวกนี้ เป็นกิจสูงสุดของพระอริยะทั้งหลาย
ไม่พึงสำคัญตนว่าเราเป็นผู้ประเสริฐสุด ด้วยการประพฤติวิเวกนั้น
ผู้นั้นแล ชื่อว่า อยู่ใกล้นิพพาน
[๘๓๐] หมู่สัตว์ผู้ติดใจในกามทั้งหลาย
ย่อมยินดีมุนีผู้ว่าง ประพฤติอยู่
ไม่มุ่งหวังกามทั้งหลาย ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว
ติสสเมตเตยยสูตรที่ ๗ จบ
๘. ปสูรสูตร๑
ว่าด้วยปริพาชกชื่อว่าปสูระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ปสูรปริพาชกในท่ามกลางพุทธบริษัทดังนี้)
[๘๓๑] สมณพราหมณ์เป็นอันมาก
ย่อมกล่าวความหมดจดในธรรมนี้เท่านั้น
ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
บุคคลอาศัยศาสดาใดก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงาม
ในเพราะทิฏฐิของตนนั้น เป็นผู้ตั้งอยู่ในปัจเจกสัจจะ๒

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๙-๖๙/๑๙๕-๒๑๖
๒ ปัจเจกสัจจะ ในที่นี้หมายถึงสัจจะเฉพาะอย่าง เช่น สัจจะที่ว่า โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๕๙/๑๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๘. ปสูรสูตร
[๘๓๒] สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นคนอยากพูด
เข้าไปสู่บริษัทแล้ว จับคู่กล่าวหากันและกันว่า เป็นคนพาล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นอาศัยสิ่งอื่นแล้ว
ย่อมกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
อยากได้ความสรรเสริญ ก็กล่าวยกตนว่า เป็นผู้ฉลาด
[๘๓๓] คนผู้ประกอบถ้อยคำ(เพื่อกล่าว) ในท่ามกลางบริษัท
เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ
เป็นผู้เก้อเขินในเมื่อถูกคัดค้านตกไป
ย่อมโกรธเคืองเพราะคำนินทา แสวงหาข้อแก้ตัว
[๘๓๔] บริษัทผู้พิจารณาปัญหากล่าววาทะของเขาว่า เลว
ถูกคัดค้านให้ตกไปแล้ว
เขาเสื่อมวาทะไปแล้ว ย่อมคร่ำครวญเศร้าโศก
ทอดถอนใจว่า เขานำ(หน้า) เราไปแล้ว
[๘๓๕] การวิวาทเหล่านี้เกิดแล้วในหมู่สมณะ
ความยินดีและความยินร้าย มีอยู่ในการวิวาทเหล่านี้
บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว พึงงดเว้นถ้อยคำขัดแย้งกัน
เพราะว่าไม่มีประโยชน์อื่นนอกจากการได้ความสรรเสริญ
[๘๓๖] ก็หรือว่า บุคคลกล่าววาทะในท่ามกลางบริษัท
ได้รับความสรรเสริญเพราะทิฏฐิของตนนั้น
เขาย่อมหัวเราะและฟูใจด้วยประโยชน์แห่งความชนะนั้น
เพราะได้บรรลุถึงประโยชน์ตามที่ใจคิดไว้แล้ว
[๘๓๗] ความลำพองตน ย่อมเป็นภูมิสำหรับย่ำยีของเขา
เขาจึงกล่าวคำถือตัวและคำดูหมิ่นกัน
บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว ไม่ควรวิวาทกัน
เพราะผู้ฉลาดทั้งหลาย ไม่กล่าวความหมดจด
ด้วยความวิวาทกันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสูตร
[๘๓๘] คนกล้าที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยของเสวยของพระราชา
เขาคึกคะนอง อยากพบคนกล้าฝ่ายตรงข้ามย่อมได้พบ ฉันใด
(เจ้าลัทธิย่อมได้พบเจ้าลัทธิ ฉันนั้น)
ผู้กล้าเอ๋ย เจ้าลัทธิอยู่ที่ใด เธอจงไปเสียจากที่นั้นเถิด
เพราะกิเลสที่เคยมีแต่ก่อนของตถาคตมิได้มีเพื่อการรบ
[๘๓๙] ชนเหล่าใดถือทิฏฐิแล้ววิวาทกัน
และกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง
เธอจงพูดกับชนเหล่านั้นว่า กิเลสที่เป็นข้าศึกกัน
เมื่อวาทะเกิดไม่มีในธรรมวินัยนี้
[๘๔๐] พระอรหันต์เหล่าใด กำจัดเสนาได้แล้ว
ไม่เอาทิฏฐิไปกระทบทิฏฐิ เที่ยวไป
พระอรหันต์เหล่าใดในธรรมวินัยนี้
ไม่มีความถือมั่นสิ่งนี้ว่า ยอดเยี่ยม
ปสูระเอ๋ย เธอจะพึงได้อะไร ในพระอรหันต์เหล่านั้น
[๘๔๑] อนึ่ง เธอตรึกอยู่มาแล้ว เธอคิดทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ
มาถึงการแข่งคู่กับเราผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดแล้ว
ย่อมไม่สามารถเทียมทันได้เลย
ปสูรสูตรที่ ๘ จบ
๙. มาคันทิยสูตร๑
ว่าด้วยมาคันทิยพราหมณ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่มาคันทิยพราหมณ์พร้อมภรรยาดังนี้)
[๘๔๒] เพราะเห็นนางตัณหา นางอรดี และนางราคา
ก็ไม่ได้มีความพอใจในเมถุนธรรมเลย
จักมีความพอใจเพราะเห็นเรือนร่าง

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๐-๘๒/๒๑๗-๒๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสูตร
ที่เต็มไปด้วยปัสสาวะและอุจจาระนี้ได้อย่างไรเล่า
เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องเรือนร่างนางแม้ด้วยเท้า
(มาคันทิยพราหมณ์ทูลถามดังนี้)
[๘๔๓] หากท่านไม่ปรารถนานารีผู้เป็นอิตถีรัตนะเช่นนี้
ที่พระราชาผู้เป็นจอมคนจำนวนมากพากันปรารถนา
ท่านจะกล่าวทิฏฐิ ศีล วัตร ชีวิต
และการอุบัติขึ้นในภพว่าเป็นเช่นไร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มาคันทิยะ)
[๘๔๔] การตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่นว่า
เรากล่าวสิ่งนี้ ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เรา
เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น
เมื่อเลือกเฟ้น จึงได้เห็นความสงบภายใน
(มาคันทิยพราหมณ์ทูลถามดังนี้)
[๘๔๕] ทิฏฐิเหล่าใดที่ตกลงใจกำหนดไว้แล้ว
มุนีไม่ยึดมั่นทิฏฐิเหล่านั้นแล
กล่าวเนื้อความใดว่า ความสงบภายใน
เนื้อความนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศไว้อย่างไรหนอ
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มาคันทิยะ)
[๘๔๖] นักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสูตร
บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ๑
เพราะความไม่มีสุตะ๒ เพราะความไม่มีญาณ๓
เพราะความไม่มีศีล๔ เพราะความไม่มีวัตรนั้นก็หามิได้๕
นักปราชญ์สลัดทิ้งธรรมเหล่านี้ได้แล้ว
ไม่ยึดมั่น เป็นผู้สงบ ไม่อาศัยแล้ว ไม่พึงหวังภพ
(มาคันทิยพราหมณ์กราบทูลดังนี้)
[๘๔๗] หากนักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงสัมมาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ คือ (๑) ทานที่ให้แล้วมีผล (๒) ยัญที่บูชาแล้วมีผล (๓) การ
เซ่นสรวงมีผล (๔) ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วมีอยู่ (๕) โลกนี้มี (๖) โลกหน้ามี (๗) มารดามีคุณ
(๘) บิดามีคุณ (๙) สัตว์เป็นโอปปาติกะมีอยู่ (๑๐) สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รู้แจ้งโลกนี้และ
โลกหน้า ด้วยตนเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งมีอยู่ในโลก (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔)
๒ สุตะ ในที่นี้หมายถึงเสียงจากผู้อื่น คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม
และเวทัลละ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔)
๓ ญาณ หมายถึงกัมมัสสกตาญาณ (ญาณที่เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน) หมายถึงสัจจานุโลมิก-
ญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ) และหมายถึงอภิญญาญาณ (ญาณคือความรู้
อย่างยิ่งยวด) มี ๖ คือ (๑) อิทธิวิธิ (๒) ทิพพโสต (๓) เจโตปริยญาณ (๔) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
(๕) ทิพพจักขุ (๖) อาสวักขยญาณ และสมาปัตติญาณ (ญาณในสมาบัติ ๘) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔)
๔ ศีล ในที่นี้หมายถึงปาติโมกขสังวร (สำรวมในพระปาติโมกข์) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔)
๕ วัตร ในที่นี้หมายถึงธุดงค์ ๘ ข้อ คือ (๑) อารัญญิกังคธุดงค์ (สมาทานการอยู่ในป่าเป็นวัตร) (๒) ปิณฑ-
ปาติกังคธุดงค์ (สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร) (๓) ปังสุกูลิกังคธุดงค์ (สมาทานการนุ่งห่มผ้าบังสุกุล
เป็นวัตร) (๔) เตจีวริกังคธุดงค์ (สมาทานการทรงไตรจีวรเป็นวัตร) (๕) สปทานจาริกังคธุดงค์ (สมาทาน
การเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร) (๖) ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ (สมาทานห้ามภัตที่ถวายภาย
หลังเป็นวัตร) (๗) เนสัชชิกังคธุดงค์ (สมาทานการนั่งเป็นวัตร) (๘) ยถาสันถติกังคธุดงค์ (สมาทานการอยู่
ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔-๒๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสูตร
บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ
เพราะความไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ
เพราะความไม่มีศีล เพราะความไม่มีวัตรนั้น ก็หามิได้
ข้าพเจ้าจึงเข้าใจธรรมของท่านว่า เป็นเรื่องงมงายแน่นอน
เพราะสมณพราหมณ์บางพวกถึงความหมดจดได้เพราะทิฏฐิ
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มาคันทิยะ)
[๘๔๘] เพราะอาศัยทิฏฐิทั้งหลายท่านจึงถามเนือง ๆ
ได้มาถึงความลุ่มหลงในทิฏฐิทั้งหลายที่ท่านถือมั่นไว้แล้ว
และท่านก็มิได้เห็นสัญญาแม้น้อยหนึ่งจากธรรมนี้
เพราะฉะนั้น ท่านจึงประสบแต่ความงมงาย
[๘๔๙] ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา
ผู้นั้นพึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น
บุคคลไม่หวั่นไหวในเพราะความถือตัว ๓ อย่าง
ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา (หรือด้อยกว่าเขา)
จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น
[๘๕๐] บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้น พึงกล่าวอะไรว่า จริง
หรือบุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงโต้เถียงว่า เท็จ ด้วยเหตุอะไร
ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เราเลิศกว่าเขา (หรือด้อยกว่าเขา)
ย่อมไม่มีในพระอรหันต์ใด
พระอรหันต์นั้นพึงตอบโต้วาทะด้วยเหตุอะไรเล่า
[๘๕๑] บุคคลละที่อาศัยแล้ว ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย
มุนีไม่ทำความเยื่อใยในกาม ว่างจากกามทั้งหลาย
ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
[๘๕๒] บุคคลผู้เป็นนาคะ สงัดจากทิฏฐิเหล่าใด
พึงเที่ยวไปในโลก ไม่พึงพูดจายึดถือทิฏฐิเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสูตร
ดอกบัวก้านมีหนามเกิดในน้ำ
ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำและโคลนตม ฉันใด
มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี
ไม่แปดเปื้อนในกามและโลก ฉันนั้น
[๘๕๓] มุนีผู้จบเวทนั้น ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ
ไม่ถึงความถือตัวด้วยอารมณ์ที่รับรู้
มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้น ไม่ถูกกรรมและสุตะนำไป
มุนีนั้นไม่ถูกตัณหาและทิฏฐินำเข้าไปในที่อาศัยทั้งหลาย
[๘๕๔] มุนีผู้เว้นจากสัญญาแล้ว ย่อมไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด
มุนีผู้หลุดพ้นด้วยปัญญาแล้ว ย่อมไม่มีความลุ่มหลง
ชนเหล่าใดยังยึดถือสัญญาและทิฏฐิ
ชนเหล่านั้นย่อมเที่ยวกระทบกระทั่งกันในโลก
มาคันทิยสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. ปุราเภทสูตร๑
ว่าด้วยก่อนการดับขันธปรินิพพาน
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๕๕] บุคคลมีทัสสนะ๒อย่างไร มีศีล๓อย่างไร
จึงเรียกว่า เป็นผู้สงบ๔แล้ว
ข้าแต่พระโคตมะ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกนรชนผู้สูงสุดนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘๓-๙๖/๒๔๖-๒๙๖
๒ ทัสสนะ ในที่นี้หมายถึงอธิปัญญา (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๕๕/๓๘๘, ขุ.ม.อ. ๘๓/๓๑๕)
๓ ศีล ในที่นี้หมายถึงอธิศีล (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๕๕/๓๘๘, ขุ.ม.อ. ๘๓/๓๑๕)
๔ สงบ ในที่นี้หมายถึงอธิจิต (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๕๕/๓๘๘, ขุ.ม.อ. ๘๓/๓๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๕๖] ก่อนดับขันธปรินิพพาน พระอรหันต์เป็นผู้คลายตัณหา
ไม่ติดอยู่กับความเพลิดเพลินที่มีอยู่ในส่วนเบื้องต้น
ใคร ๆ กำหนดไม่ได้ในส่วนท่ามกลาง
พระอรหันต์นั้นมิได้มุ่งหวังถึงตัณหาและทิฏฐิ (ในส่วนเบื้องปลาย)
[๘๕๗] บุคคลผู้ไม่โกรธ ไม่สะดุ้ง ไม่โอ้อวด
ไม่คะนอง พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
เป็นผู้สำรวมวาจานั้นแล ชื่อว่า เป็นมุนี
[๘๕๘] บุคคลผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเหนี่ยวรั้งในอนาคต
ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
ผู้เห็นวิเวกในผัสสะทั้งหลาย
ย่อมไม่ถูกนำไปในทิฏฐิทั้งหลาย
[๘๕๙] บุคคลนั้นเป็นผู้หลีกเร้น
ไม่หลอกลวง ไม่ทะเยอทะยาน
ไม่ตระหนี่๑ ไม่คะนอง ไม่เป็นที่น่ารังเกียจ
และไม่ประกอบในความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด
[๘๖๐] บุคคลผู้ไม่ยินดีในสิ่งที่น่ายินดี
ไม่ประกอบในความดูหมิ่น
ละเอียดอ่อน มีปฏิภาณ
ไม่ต้องเชื่อใคร และไม่ต้องคลายกำหนัด
[๘๖๑] บุคคลไม่ศึกษาเพราะอยากได้ลาภ
ไม่โกรธเพราะไม่ได้ลาภ
ไม่เดือดดาลและไม่ยินดีในรสเพราะตัณหา

เชิงอรรถ :
๑ ตระหนี่ มี ๕ อย่าง (๑) อาวาสมัจฉริยะ(ตระหนี่ที่อยู่) (๒) กุลมัจฉริยะ(ตระหนี่ตระกูล) (๓) ลาภ-
มัจฉริยะ (ตระหนี่ลาภ) (๔) วัณณมัจฉริยะ(ตระหนี่วรรณะ) (๕) ธัมมมัจฉริยะ(ตระหนี่ธรรม) (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๘๗/๒๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสูตร
[๘๖๒] บุคคลเป็นผู้วางเฉย มีสติทุกเมื่อ
ไม่สำคัญว่าเสมอเขา ไม่สำคัญว่าเลิศกว่าเขา
ไม่สำคัญว่าด้อยกว่าเขา ในโลก
กิเลสหนาย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น
[๘๖๓] บุคคลใดไม่มีที่อาศัย
ไม่มีตัณหาในภพหรือในวิภพ๑
บุคคลนั้นรู้ธรรมแล้วไม่ต้องอาศัย
[๘๖๔] เราเรียกบุคคลนั้นผู้ไม่มุ่งหวังในกามทั้งหลายว่า
เป็นผู้เข้าไปสงบ บุคคลนั้นไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด
ข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ได้แล้ว
[๘๖๕] บุคคลนั้นไม่มีบุตร สัตว์เลี้ยง นา ไร่ และที่ดิน
ทิฏฐิว่า มีอัตตา หรือทิฏฐิว่า ไม่มีอัตตา หาไม่ได้ในบุคคลนั้น๒
[๘๖๖] เหล่าปุถุชน หรือสมณพราหมณ์
พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วยโทษ๓ใด
โทษนั้น ไม่เชิดชูบุคคลนั้นเลย
เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงไม่หวั่นไหวในเพราะวาทะทั้งหลาย
[๘๖๗] บุคคลผู้เป็นมุนี เป็นผู้คลายความยินดี ไม่ตระหนี่
ย่อมไม่กล่าวในเรื่องเลิศกว่าเขา
ไม่กล่าวในเรื่องเสมอเขา ไม่กล่าวในเรื่องด้อยกว่าเขา
เป็นผู้ไม่มีความกำหนด ย่อมไม่ถึงความกำหนด๔

เชิงอรรถ :
๑ ภพ หมายถึงสัสสตทิฏฐิหรือภวทิฏฐิ วิภพ หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ หรือวิภวทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๖๓/๓๙๐)
และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๑/๒๘๕)
๒ ดูสุตตนิบาตข้อ ๗๙๔ หน้า ๖๙๑ ในเล่มนี้ และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๒/๙๘-๑๐๐, ๙๓/๒๘๘-๒๘๙ ประกอบ
๓ โทษ หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๖๖/๓๙๐)
๔ ความกำหนด(กัปปะ) มี ๒ อย่าง คือ (๑) กำหนดด้วยอำนาจตัณหา (๒) กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๙๕/๒๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสูตร
[๘๖๘] บุคคลใดไม่มีความถือว่าเป็นของตนในโลก
เมื่อไม่มีความถือว่าเป็นของตน ย่อมไม่เศร้าโศก
ไม่ถึงความลำเอียงในธรรมทั้งหลาย
บุคคลนั้นแล เรียกว่า ผู้สงบ
ปุราเภทสูตรที่ ๑๐ จบ
๑๑. กลหวิวาทสูตร๑
ว่าด้วยการทะเลาะวิวาท
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๖๙] การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ
ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว
ความดูหมิ่น และวาจาส่อเสียด มีมาจากไหน
กิเลสเหล่านั้นมีมาจากไหน
ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกเหตุนั้น
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๗๐] การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ
ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว
ความดูหมิ่น และวาจาส่อเสียด มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก๒
การทะเลาะ การวิวาท ประกอบในความตระหนี่
มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก
เมื่อการวิวาทเกิดขึ้นแล้ว ก็มีวาจาส่อเสียดเกิดขึ้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๗-๑๑๒/๒๙๗-๓๓๗
๒ สิ่งเป็นที่รัก มีความหมาย ๒ อย่าง คือ (๑) สัตว์ หมายถึงมารดา บิดา พี่ น้อง บุตร ธิดา เป็นต้น
(๒) สังขาร หมายถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ชอบใจ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๘/๓๐๑-๓๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสูตร
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๗๑] สิ่งเป็นที่รักในโลกมีอะไรเป็นต้นเหตุ
และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ
ความโลภของชนเหล่านั้น มีอะไรเป็นต้นเหตุ
ความหวังและความสำเร็จหวังใด จะมีแก่นรชนในภพหน้า
ความหวังและความสำเร็จหวังนั้น มีอะไรเป็นต้นเหตุ
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๗๒] สิ่งเป็นที่รักในโลกมีความพอใจเป็นต้นเหตุ
และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ
ความโลภของชนเหล่านั้นมีความพอใจเป็นต้นเหตุ
ความหวังและความสำเร็จหวังใด จะมีแก่นรชนในภพหน้า
ความหวังและความสำเร็จหวังของนรชนนั้น
มีความพอใจนี้เป็นต้นเหตุ
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๗๓] ฉันทะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน
และความตัดสินใจมีมาจากไหน
อนึ่ง ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จ
และความสงสัย มีมาจากอะไร
และธรรมเหล่าใดพระสมณะตรัสไว้แล้ว
ธรรมเหล่านั้นมีมาจากอะไร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๗๔] ชนทั้งหลายในโลกพูดถึงสิ่งใดว่า น่าดีใจ น่าเสียใจ
ฉันทะก็จะมีขึ้นเพราะอาศัยสิ่งนั้น
ชนในโลกมองเห็นความเสื่อมและความเจริญในรูปทั้งหลายแล้ว
ย่อมทำการตัดสินใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสูตร
[๘๗๕] ธรรมแม้เหล่านี้ คือ ความโกรธ
ความเป็นคนพูดเท็จ และความสงสัย
ย่อมมีในเมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่
บุคคลผู้มีสงสัยพึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ๑
และธรรมเหล่าใดพระสมณะทรงทราบแล้วตรัสไว้
ธรรมเหล่านั้น เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ก็มีมา
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๗๖] ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน
เมื่ออะไรไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านั้นจึงไม่มี

เชิงอรรถ :
๑ ญาณ ในที่นี้หมายถึงญาณ ๑๖ (โสฬสญาณ) ความหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับ
ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด คือ (๑) นามรูปปริจเฉทญาณ (ญาณกำหนดรู้นามและรูป) (๒) ปัจจยปริคคหญาณ
(ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป) (๓) สัมมสนญาณ (ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดย
ไตรลักษณ์) (๔) อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ) (๕) ภังคานุ-
ปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความสลายเห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปหมด) (๖) ภยตูปัฏ-
ฐานญาณ (ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไปไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น)
(๗) อาทีนวานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ) (๘) นิพพิทานุปัสสนาญาณ
(ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย) (๙) มุญจิตุกัมยตาญาณ (ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย เมื่อ
หน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น) (๑๐) ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ
(ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออก) (๑๑) สังขารุเปกขาญาณ (ญาณ
อันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร ไม่ยินดียินร้ายต่อสังขารทั้งหลาย) (๑๒) สัจจานุโลมิกญาณ หรือ
อนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลม ได้แก่การหยั่งรู้อริยสัจ) (๑๓) โคตรภูญาณ (ญาณหยั่งรู้ที่เป็น
หัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชน เข้าสู่ภาวะอริยบุคคล) (๑๔) มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค (ความ
หยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น) (๑๕) ผลญาณ ญาณในอริยผล (ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของ
พระอริยบุคคลชั้นนั้น ๆ) (๑๖) ปัจจเวกขณญาณ (ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน สำรวจรู้มรรคผล
กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่และนิพพาน) (ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๑-๖๕/๗-๑๐๙, วิสุทฺธิ. ๒/๖๖๒-๘๐๔/
๒๕๐-๓๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสูตร
ขอพระองค์จงตรัสบอกเรื่องความไม่มีและความมีว่า
มีต้นเหตุมาจากสิ่งใดแก่ข้าพระองค์
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๗๗] ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากผัสสะ
เมื่อผัสสะไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี
เราขอบอกเรื่องคือความไม่มีและความมีนี้ว่า
มีต้นเหตุมาจากผัสสะแก่เธอ
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๗๘] ผัสสะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน
และความยึดถือมีมาจากไหน
เมื่ออะไรไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี
เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๗๙] เพราะอาศัยนามและรูป ผัสสะจึงเกิดขึ้น
ความยึดถือมีต้นเหตุมาจากความปรารถนา
เมื่อความปรารถนาไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี
เมื่อรูปไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๘๐] เมื่อบุคคลดำเนินอย่างไร รูปจึงไม่มี
สุขและทุกข์จะไม่มีได้อย่างไร
สุขและทุกข์ย่อมไม่มีโดยวิธีการใด
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกวิธีการนั้นแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์มีความตั้งใจว่า จะรู้วิธีการนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๘๑] บุคคลไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาปกติ
ไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาผิดปกติ
เป็นผู้ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ปราศจากสัญญาก็มิใช่
เมื่อบุคคลดำเนินอย่างนี้ รูปจึงไม่มี
เพราะส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้ามีต้นเหตุมาจากสัญญา
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๘๒] ข้าพระองค์ได้ทูลถามธรรมใดแล้ว
พระองค์ก็ได้ตรัสตอบธรรมนั้นแก่ข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามธรรมอื่นอีก
ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมนั้นด้วยเถิด
สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่าเป็นบัณฑิตในโลกนี้
พากันกล่าวความหมดจดของยักษ์๑
ด้วยอรูปสมาบัติเท่านั้นหรือหนอว่า เป็นธรรมอันเลิศ
หรือว่าสมณพราหมณ์บางพวก กล่าวถึงความหมดจดอย่างอื่นว่า
เยี่ยมกว่าอรูปสมาบัตินี้
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๘๓] สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้
พากันกล่าวความหมดจดของยักษ์
ด้วยอรูปสมาบัติเท่านั้นว่า เป็นธรรมอันเลิศ
บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น
สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งก็อ้างตนว่า เป็นผู้ฉลาด
พากันกล่าวความสงบในความไม่มีอะไรเหลือ

เชิงอรรถ :
๑ ยักษ์ ในที่นี้หมายถึงสัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์ (ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๑๑๐/๓๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสูตร
[๘๘๔] มุนีผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณานั้น รู้จักสมณพราหมณ์
ผู้เป็นเจ้าลัทธิเหล่านี้ว่า เป็นผู้เข้าไปอาศัยทิฏฐิ
และรู้จักทิฏฐิเป็นที่อาศัย
นักปราชญ์ครั้นรู้จักแล้ว ก็หลุดพ้นไม่ถึงการวิวาท
ไม่กลับมาในภพน้อยภพใหญ่
กลหวิวาทสูตรที่ ๑๑ จบ
๑๒. จูฬวิยูหสูตร๑
ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะทิฏฐิสูตรเล็ก
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๘๕] สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิบางพวก
ยึดถือยู่เฉพาะทิฏฐิของตน ๆ
ถือแล้วก็อ้างตัวว่า เป็นคนฉลาด พูดกันไปต่าง ๆ ว่า
บุคคลใดรู้อย่างนี้ บุคคลนั้นชื่อว่า รู้ธรรมแล้ว
บุคคลใดคัดค้านธรรมนี้ บุคคลนั้นชื่อว่า ยังไม่สำเร็จกิจ
[๘๘๖] สมณพราหมณ์เหล่านั้นถืออย่างนี้ แล้วก็พากันวิวาท
และกล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด
วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้
วาทะไหนเป็นเรื่องจริงกันหนอ
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมด
ต่างก็อ้างตัวว่า เป็นคนฉลาด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๘๗] คนพาลไม่ยอมรับธรรมของผู้อื่นเลย
เป็นคนต่ำทราม มีปัญญาทราม

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๑๓-๑๒๙/๓๓๘-๓๖๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสูตร
สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั้นแหละเป็นคนพาล มีปัญญาทราม
สมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดนั้นแหละยึดถือทิฏฐิอยู่
[๘๘๘] ถ้าพวกสมณพราหมณ์ไม่ผ่องแผ้วเพราะทิฏฐิของตน๑
เป็นผู้มีปัญญาหมดจดดี ฉลาด มีความรู้แล้วไซร้
บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็ไม่มีใครเสื่อมปัญญา
เพราะทิฏฐิของสมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น ถือกันมาอย่างนั้น
[๘๘๙] คน ๒ จำพวกกล่าวทิฏฐิใดต่อกันว่า เป็นคนพาล
เราไม่กล่าวทิฏฐินั้นว่า จริง
สมณพราหมณ์พากันประกาศทิฏฐิของตน ๆ ว่า จริง
เพราะฉะนั้น จึงพากันใส่ไฟผู้อื่นว่า เป็นคนพาล
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๙๐] สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่าจริง ว่าแท้
สมณพราหมณ์พวกอื่นก็พากันกล่าวธรรมนั้นว่าเปล่า ว่าเท็จ
สมณพราหมณ์เหล่านั้นต่างพากันถือมั่นแม้อย่างนี้แล้ววิวาทกัน
เพราะหตุไร สมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๙๑] หมู่ชนรู้ชัดสัจจะใดไม่พึงวิวาทกัน
สัจจะนั้นมีอย่างเดียว๒เท่านั้น ไม่มีอย่างที่ ๒
สมณพราหมณ์เหล่านั้น พากันอวดสัจจะต่าง ๆ กันไปเอง
เพราะฉะนั้น สมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความนี้แปลตามบาลีที่ปรากฏว่า “สนฺทิฏฺฐิยา เจว น วีวทาตา” อีกนัยหนึ่งมีบาลีปรากฏว่า “สนฺทิฏฺฐิยา
เจ ปน วีวทาตา” ดังนี้ก็มี แปลว่า “ก็ถ้าพวกสมณพราหมณ์เป็นผู้ผ่องแผ้ว เพราะทิฏฐิของตน” (ขุ.สุ.อ.
๒/๘๘๗-๘๘๘/๓๙๖)
๒ สัจจะมีอย่างเดียว หมายถึงนิโรธสัจจะ หรือมัคคสัจจะ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๙๑/๓๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสูตร
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๙๒] เพราะเหตุไรหนอ สมณพราหมณ์จึงพูดสัจจะไปต่าง ๆ
อ้างตนว่า เป็นคนฉลาดพูดพร่ำกันไป
สัจจะที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่าเรียนมา
มีหลายอย่างต่าง ๆ กันหรือ
หรือว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันนึกตรึกเอาเอง
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๙๓] มิได้มีสัจจะหลายอย่างต่าง ๆ กันเลย
เว้นแต่สัจจะที่แน่นอนด้วยสัญญาในโลก
แต่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
พากันกำหนดความตรึกในทิฏฐิทั้งหลายไปเอง
แล้วกล่าวธรรมเป็น ๒ อย่างว่า
คำของเราจริง คำของท่านเท็จ
[๘๙๔] เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้ คือ
รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีล วัตร และอารมณ์ที่รับรู้
แล้วแสดงอาการดูหมิ่น และดำรงอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจ
แล้วก็ร่าเริงกล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด
[๘๙๕] เจ้าลัทธิใส่ไฟบุคคลอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะเหตุใด
ก็กล่าวถึงตนเองว่า เป็นคนฉลาด เพราะเหตุนั้น
เจ้าลัทธินั้นอวดอ้างตนเองว่า เป็นคนฉลาด
ย่อมดูหมิ่นบุคคลอื่นและกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน
[๘๙๖] เจ้าลัทธินั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอติสารทิฏฐิ๑
เมาด้วยความถือตัว มีความถือตัวจัด อภิเษกตนเองด้วยใจ
เพราะทิฏฐินั้นเจ้าลัทธิถือกันมาอย่างนั้น

เชิงอรรถ :
๑ อติสารทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ และทิฏฐิ ๖๒ นี้เอง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘ทิฏฐิที่ตกลงใจ’ (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๑๒๔/๓๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสูตร
[๘๙๗] อนึ่ง หากบุคคลเป็นผู้เลวทรามเพราะวาจาของผู้อื่นไซร้
เขาก็เป็นผู้มีปัญญาทรามพร้อมกับผู้นั้น
และถ้าผู้เรียนจบพระเวทเอง๑ เป็นนักปราชญ์ได้ไซร้
บรรดาสมณะ ก็ไม่มีใครเป็นคนพาล
[๘๙๘] ชนเหล่าใดกล่าวสรรเสริญธรรมอื่นนอกจากธรรมนี้
ชนเหล่านั้นเป็นผู้พลาดทางแห่งความหมดจด เป็นผู้ไม่บริบูรณ์
เดียรถีย์พากันกล่าวทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
เพราะพวกเขาเป็นผู้ยินดียิ่งด้วยความยินดีในทิฏฐิของตน
[๘๙๙] พวกเดียรถีย์พากันกล่าวความหมดจดว่ามีอยู่ในธรรมนี้เท่านั้น
ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
พวกเดียรถีย์ตั้งอยู่ในทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
ต่างกล่าวยืนยันในธรรมอันเป็นแนวทางของตนนั้น
[๙๐๐] อนึ่ง เจ้าลัทธิกล่าวยืนยันในแนวทางของตน
ใส่ไฟใครอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะทิฏฐินี้
เจ้าลัทธินั้น กล่าวถึงผู้อื่นว่า เป็นคนพาล
มีความไม่หมดจดเป็นธรรมดา
พึงนำความมุ่งร้ายมาเองทีเดียว
[๙๐๑] เจ้าลัทธินั้นตั้งอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจและนับถือเองแล้ว
ก็ถึงการวิวาทในกาลข้างหน้าในโลก
คนที่เกิดมาละทิฏฐิที่ตกลงใจทั้งมวลได้
ย่อมไม่ก่อการมุ่งร้ายในโลก
จูฬวิยูหสูตรที่ ๑๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ จบพระเวท หมายถึงจบไตรเพท อันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ มี ๓ คือ (๑) ฤคเวท
หรืออิรุเวท ประมวลบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า (๒) ยชุรเวท บทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญต่าง ๆ
(๓) สามเวท ประมวลบทเพลงขับสำหรับสวดหรือร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ ต่อมาเพิ่ม (๔) อถรรพเวท
หรืออาถรรพณเวท ว่าด้วยคาถาอาคมทางไสยศาสตร์ (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสูตร
๑๓. มหาวิยูหสูตร๑
ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะทิฏฐิสูตรใหญ่
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๙๐๒] สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งเหล่านี้
ยึดถือทิฏฐิอยู่ พากันกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง
สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกพวกนั่นแหละจะถูกนินทา
หรือว่าจะได้รับความสรรเสริญเพราะทิฏฐินั้น
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๙๐๓] ผลแห่งวาทะนี้น้อยนัก ไม่พอเพื่อความสงบ
เรากล่าวผลแห่งการวิวาทเป็น ๒ อย่าง๒
บุคคลเห็นโทษแม้นี้แล้ว
มองเห็นภูมิ(เหตุ)แห่งการไม่วิวาท๓ว่า เกษม
ไม่พึงวิวาทกัน
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๙๐๔] ทิฏฐิสมมติ๔เหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดจากปุถุชน
บุคคลผู้มีความรู้ย่อมไม่เข้าถึงทิฏฐิสมมติเหล่านี้ทุกอย่าง
บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงนั้น
ไม่ทำความพอใจในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
พึงถึงสิ่งที่ควรเข้าถึงอะไรเล่า

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๓๐-๑๔๙/๓๖๒-๓๙๗
๒ หมายถึงมีนินทา หรือสรรเสริญ อีกนัยหนึ่ง มีชนะ หรือพ่ายแพ้ (ขุ.สุ.อ. ๒/๙๐๓/๔๐๐)
๓ ภูมิแห่งการไม่วิวาท ในที่นี้หมายถึงอมตนิพพาน (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๓๑/๓๖๕)
๔ ทิฏฐิสมมติ หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๓๒/๓๖๖, ขุ.สุ.อ. ๒/๙๐๔/๔๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๙๐๕] สมณพราหมณ์ผู้กล่าวอ้างศีลว่า สูงสุด
สมาทานวัตรแล้ว ดำรงอยู่
ได้กล่าวความหมดจดด้วยความสำรวมว่า
พวกเราศึกษาในทิฏฐินี้แหละ และศึกษาความหมดจดแห่งวัตรนั้น
สมณพราหมณ์เหล่านั้นอ้างตนว่า เป็นคนฉลาด
ย่อมเป็นผู้ถูกนำเข้าสู่ภพ
[๙๐๖] ถ้าบุคคลเคลื่อนจากศีลและวัตร
พลาดกรรมแล้วก็หวั่นไหว
เขาย่อมเฝ้าแต่พร่ำเพ้อและปรารถนาความหมดจด
เหมือนคนออกจากเรือนอยู่ร่วมกับพวกเดินทาง
พลัดพรากจากพวก ฉะนั้น
[๙๐๗] อริยสาวกละศีลและวัตรได้ทั้งหมด
ละกรรมที่มีโทษและกรรมที่ไม่มีโทษ๑เสียได้
ไม่ปรารถนาความหมดจดและความไม่หมดจด
งดเว้นแล้ว ไม่ยึดมั่นทิฏฐิที่มีอยู่เที่ยวไป
[๙๐๘] สมณพราหมณ์เข้าไปอาศัยตบะที่ตนเกลียดชังนั้น
เข้าไปอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้
เป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า
ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
จึงยังพร่ำพูดถึงความหมดจดอยู่

เชิงอรรถ :
๑ กรรมที่มีโทษและกรรมที่ไม่มีโทษ หมายถึงอกุศลทั้งปวง ได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ และโลกิย-
กุศลได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๒/๙๐๗/๔๐๑, ที.ปา.อ. ๓/๓๑๒/๒๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๘ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น