Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๖-๙ หน้า ๔๒๗ - ๔๘๐

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖-๙ สุตตันตปิฎกที่ ๑๘ ขุททกนิกาย
วิมาน เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย เถรคาถา
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๘. อัฏฐกนิบาต] ๓. มหาปันถกเถรคาถา
๓. มหาปันถกเถรคาถา
ภาษิตของพระมหาปันถกเถระ
(พระมหาปันถกเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๕๑๐] เมื่อใด เราได้เฝ้าพระศาสดา
ผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหนเป็นครั้งแรก
เมื่อนั้น เราได้มีความสังเวช
เพราะได้เฝ้าพระองค์ผู้เป็นบุคคลสูงสุด
[๕๑๑] ผู้ใดพึงใช้มือและเท้านวดพระศาสดาผู้ทรงสิริซึ่งเสด็จมา
ผู้นั้นพึงยังพระศาสดาให้ยินดีเช่นนั้นหาได้ไม่
[๕๑๒] คราวนั้น เราได้ละทิ้งบุตรภรรยา ทรัพย์ และข้าวเปลือก
ปลงผม โกนหนวด ออกบวชเป็นบรรพชิต
[๕๑๓] เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ
สำรวมด้วยดีในอินทรีย์ทั้งหลาย
นอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้อยู่อย่างเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้มาร
[๕๑๔] ต่อมา ความมุ่งมั่นที่จิตเราปรารถนาไว้ว่า
เมื่อเรายังถอนลูกศรคือตัณหาขึ้นไม่ได้
เราไม่พึงนั่งเปล่าแม้เพียงครู่เดียว
[๕๑๕] เชิญท่านดูความเพียรและความบากบั่นของเรานั้นผู้อยู่อย่างนี้
เราได้บรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๕๑๖] เรารู้ถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่มาก่อนได้
ชำระทิพยจักษุให้หมดจดแล้ว
เป็นพระอรหันต์ ผู้ควรแก่ทักษิณา
หลุดพ้นแล้ว ไม่มีอุปธิกิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๘. อัฏฐกนิบาต]รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[๕๑๗] ต่อเมื่อราตรีสิ้นไป พอดวงอาทิตย์ขึ้นไป
เราได้นั่งขัดสมาธิทำตัณหาให้เหือดแห้งไปได้หมด
อัฏฐกนิบาต จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
๑. พระมหากัจจายนเถระ ๒.พระสิริมิตตเถระ
๓. พระมหาปันถกเถระ
ในอัฏฐกนิบาต มีพระเถระ ๓ รูป
และมี ๒๔ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๙. นวกนิบาต] ๑. ภูตเถรคาถา
๙. นวกนิบาต
๑. ภูตเถรคาถา
ภาษิตของพระภูตเถระ
(พระภูตเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๕๑๘] เมื่อใด บัณฑิตกำหนดรู้ทุกข์ว่า
ชราและมรณะเป็นทุกข์ที่ปุถุชนทั้งหลาย
ผู้ติดอยู่ในเบญจขันธ์ไม่รู้แจ้ง
เป็นผู้มีสติ เข้าฌานอยู่
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐยิ่งกว่า
ความยินดีในวิปัสสนา มรรคและผลนั้น
[๕๑๙] เมื่อใด บัณฑิตละตัณหาที่ซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ
อันนำทุกข์มาให้
นำทุกข์อันเกิดเพราะความต่อเนื่องแห่งปปัญจธรรม๑
มีสติ เข้าฌานอยู่
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีวิปัสสนา มรรค และผลนั้น
[๕๒๐] เมื่อใด บัณฑิตสัมผัสทางอันสูงสุด ปลอดโปร่ง
ที่ให้ลุถึงมรรคมีองค์ ๘ เป็นที่ชำระกิเลสได้หมด
ด้วยปัญญา มีสติ เข้าฌานอยู่
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีในวิปัสสนามรรคและผลนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเครื่องเนิ่นช้า หมายถึงธรรมที่ทำการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลายให้ยึดยาวออกไป ซึ่งได้แก่
ราคะ ความกำหนัด มานะ ความถือตัวเป็นต้น (ขุ.เถร.อ. ๒/๕๑๙/๑๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๙. นวกนิบาต] ๑. ภูตเถรคาถา
[๕๒๑] เมื่อใด บัณฑิตเจริญสันตบท๑ซึ่งไม่มีความเศร้าโศก
ปราศจากกิเลสดุจธุลี อันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้
เป็นที่ชำระกิเลสได้หมด ตัดกิเลสเครื่องผูกพันคือสังโยชน์
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีในวิปัสสนา มรรค และผลนั้น
[๕๒๒] เมื่อใด กลองคือเมฆพรั่งพรูไปด้วยสายฝน
คำรามอยู่ในท้องฟ้า ซึ่งเป็นทางไปของฝูงนกโดยรอบ
และภิกษุผู้อยู่ประจำเงื้อมภูเขา ยังเข้าฌานอยู่
เมื่อนั้น ก็ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีในฌานนั้น
[๕๒๓] เมื่อใด บัณฑิตมีจิตเบิกบาน นั่งเข้าฌานอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำทั้งหลาย
ซึ่งดารดาษไปด้วยดอกโกสุม มีดอกไม้ป่าเป็นช่อสวยงาม
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีในฌานนั้น
[๕๒๔] เมื่อใด มีฝนฟ้าร้องในเวลากลางคืน
ฝูงสัตว์ที่มีเขี้ยวงาก็พากันยินดีในป่าใหญ่ที่สงัด
และภิกษุผู้อยู่ประจำเงื้อมภูเขา เข้าฌานอยู่
เมื่อนั้น ก็ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีในฌานนั้น
[๕๒๕] เมื่อใด ภิกษุกำจัดวิตกทั้งหลายของตนได้
เข้าถ้ำภายในภูเขา ปราศจากความกระวนกระวายใจ
ปราศจากกิเลสที่ตรึงใจโดยสิ้นเชิง เข้าฌานอยู่
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีในฌานนั้น

เชิงอรรถ :
๑ นิพพาน (ขุ.เถร.อ. ๒/๕๒๑/๑๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๙. นวกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[๕๒๖] เมื่อใด ภิกษุมีความสุข
กำจัดกิเลสที่เป็นมลทินที่ตรึงใจและความโศกได้
ไม่มีกลอนประตูคืออวิชชา ไม่มีป่าคือตัณหา
ปราศจากลูกศรคือกิเลส
ทั้งทำอาสวะให้สิ้นไปได้หมด เข้าฌานอยู่
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีในฌานนั้น
นวกนิบาต จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
๑. พระภูตเถระที่เห็นธรรมโดยถ่องแท้
เป็นดุจนอแรดรูปเดียว
และในนวกนิบาต มี ๙ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๓๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๐. ทสกนิบาต] ๑. กาฬุทายีเถรคาถา
๑๐. ทสกนิบาต
๑. กาฬุทายีเถรคาถา
ภาษิตของพระกาฬุทายีเถระ
(พระกาฬุทายีเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๕๒๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้
หมู่ไม้มีดอกและใบสีแดงดังถ่านเพลิง
ผลัดใบเก่าทิ้ง ผลิดอกออกผล
หมู่ไม้เหล่านั้น สว่างไสวดังเปลวเพลิง
ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีส่วนแห่งอรรถรสเป็นต้น
เวลานี้เป็นเวลาสมควรอนุเคราะห์หมู่พระญาติ
[๕๒๘] หมู่ไม้มีดอกบานสะพรั่ง น่ารื่นรมย์ใจ
ส่งกลิ่นหอมฟุ้งตลบไปทั่วทุกทิศ
ผลัดใบเก่าทิ้ง ผลิดอกออกผล
ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า
ถึงเวลาที่พระองค์จะเสด็จหลีกไปจากที่นี้
[๕๒๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ฤดูนี้ไม่หนาวนัก ไม่ร้อนนัก
เป็นฤดูที่สบาย เหมาะแก่การเดินทาง
พระประยูรญาติทั้งฝ่ายศากยวงศ์และโกลิยวงศ์จะได้เฝ้าพระองค์
ผู้ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกซึ่งกำลังเสด็จข้ามแม่น้ำโรหิณี
[๕๓๐] ชาวนาไถนาก็ด้วยหวังผล
หว่านพืชก็ด้วยหวังผล
พวกพ่อค้าที่เที่ยวหาทรัพย์ เดินเรือไปสู่สมุทร ก็ด้วยหวังผล
ข้าพระองค์อยู่ในที่นี้ด้วยหวังอันใด
ขอความหวังอันนั้นของข้าพระองค์จงสำเร็จเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๓๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๐. ทสกนิบาต] ๑. กาฬุทายีเถรคาถา
[๕๓๑] ชาวนาหว่านพืชตามฤดูกาล
ฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล
ชาวนาไถนาตามฤดูกาล
รัฐจึงจะได้ข้าวเปลือกเป็นประจำ
[๕๓๒] พวกผู้ขอเที่ยวขอบ่อย ๆ
พวกทานบดีก็ให้บ่อย ๆ
ครั้นทานบดีให้บ่อย ๆ แล้วก็ไปสู่สวรรค์บ่อย ๆ
[๕๓๓] นักปราชญ์มีปัญญากว้างขวาง เกิดในสกุลใด
ย่อมทำสกุลนั้นให้บริสุทธิ์สะอาดอย่างเดียว ถึง ๗ ชั่วคน
ข้าพระองค์เข้าใจว่า พระองค์เป็นเทพเหนือกว่าเทพ
ย่อมทรงสามารถทำผู้อื่นให้บริสุทธิ์ได้
เพราะพระองค์ทรงอุบัติโดยอริยชาติ ได้สัจนามว่า มุนี
[๕๓๔] พระราชบิดาของพระองค์พระนามว่า สุทโทธนะ
ผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่
ส่วนพระมเหสีพระนามว่า มหามายา เป็นพุทธมารดา
ซึ่งถนอมพระครรภ์พระโพธิสัตว์มาแล้ว
เสด็จสวรรคตไปบันเทิงอยู่ในโลกสวรรค์(ชั้นดุสิต)
[๕๓๕] พระนางมายาเทวีโคตมีพระองค์นั้นสวรรคต
จุติจากโลกนี้ เพียบพร้อมด้วยกามคุณทิพย์
มีหมู่นางฟ้าห้อมล้อม ทรงบันเทิงอยู่ด้วยกามคุณ ๕
(พระกาฬุทายีเถระ ได้ถวายพระพรพระเจ้าสุทโธทนมหาราชว่า)
[๕๓๖] อาตมภาพเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าผู้ที่ไม่มีใครย่ำยีได้
มีพระรัศมีแผ่ซ่านจากพระวรกาย ไม่มีผู้ที่จะเปรียบปาน คงที่
มหาบพิตร พระองค์เป็นบิดาของพระพุทธเจ้าผู้เป็นบิดาของ
อาตมา ทั้งเป็นพระเจ้าปู่ของอาตมาโดยธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๓๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๐. ทสกนิบาต] ๒. เอกวิหาริยเถรคาถา
๒. เอกวิหาริยเถรคาถา
ภาษิตของพระเอกวิหาริยเถระ
(พระเอกวิหาริยเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๕๓๗] ถ้าไม่มีผู้อื่นอยู่ข้างหน้าหรือข้างหลัง
เราอยู่ในป่าผู้เดียวจะมีความผาสุกอย่างยิ่ง
[๕๓๘] เอาเถอะ เราคนเดียวจะไปป่าที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า
มีแต่ความผาสุกแก่ภิกษุผู้มักอยู่ผู้เดียว มีใจเด็ดเดี่ยว
[๕๓๙] เราผู้เดียวมุ่งประโยชน์เป็นสำคัญ
จะรีบเข้าป่าใหญ่ที่ทำปีติให้เกิดแก่ผู้บำเพ็ญเพียร
น่ารื่นรมย์ ซึ่งช้างซับมันอาศัยอยู่
[๕๔๐] จะอาบน้ำที่ซอกภูเขาอันเยือกเย็นในป่าร่มรื่น
มีดอกไม้บานสะพรั่ง จงกรมแต่ผู้เดียว
[๕๔๑] เมื่อไร เราจะได้อยู่ป่าใหญ่ที่น่ารื่นรมย์แต่ผู้เดียว
ไม่มีเพื่อน ได้สำเร็จกิจ ไม่มีอาสวะ
[๕๔๒] ขอความประสงค์ของเราผู้ต้องการจะทำอย่างนั้นจงสำเร็จเถิด
เราจักทำให้สำเร็จได้เอง ผู้อื่นไม่อาจทำให้ผู้อื่นได้เลย
[๕๔๓] เรานี้สวมเกราะคือความเพียรอยู่ จะเข้าป่าใหญ่
ยังไม่ถึงความสิ้นอาสวะ ก็จักไม่ออกจากป่าใหญ่นั้น
[๕๔๔] เมื่อลมเย็นพัดเอากลิ่นดอกไม้หอมฟุ้งมา
เราจะนั่งบนยอดเขาทำลายอวิชชา
[๕๔๕] จักได้รับความสุข รื่นรมย์ด้วยวิมุตติสุข
ที่เงื้อมภูเขามีพื้นเย็นในป่า ซึ่งดารดาษด้วยดอกโกสุม แน่แท้
[๕๔๖] เรานั้นมีความดำริเต็มเปี่ยม เหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญ
สิ้นอาสวะทั้งปวง บัดนี้ การเกิดอีกก็ไม่มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๓๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๐. ทสกนิบาต] ๓. มหากัปปินเถรคาถา
๓. มหากัปปินเถรคาถา
ภาษิตของพระมหากัปปินเถระ
(พระมหากัปปินเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๕๔๗] ผู้ใดย่อมเห็นประโยชน์ที่เกื้อกูลและไม่เกื้อกูล
ทั้งสองที่ยังมาไม่ถึงนั้นได้ก่อน
ผู้ที่เป็นศัตรูหรือมิตรของผู้นั้น
คอยหาช่องทางอยู่ก็ย่อมไม่เห็น
[๕๔๘] ผู้ใดเจริญอานาปานสติให้บริบูรณ์ด้วยดี
อบรมมาโดยลำดับ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
ผู้นั้นยังโลกนี้ให้สว่างไสว
เหมือนดวงจันทร์พ้นจากเมฆ
[๕๔๙] จิตของเราผ่องแผ้วหนอ
ได้รับอบรมด้วยดีอย่างไม่มีประมาณ
เป็นจิตรู้แจ้งแทงตลอดและประคองไว้ดีแล้ว
ย่อมสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ
[๕๕๐] ผู้มีปัญญาถึงจะสิ้นทรัพย์ ก็เป็นอยู่ได้
ส่วนคนมีทรัพย์ แต่ไม่มีปัญญา ก็เป็นอยู่ไม่ได้
[๕๕๑] ปัญญาเป็นเครื่องตัดสินเรื่องที่ได้ฟังมา
เป็นเหตุเจริญชื่อเสียงและความสรรเสริญ
นรชนผู้ประกอบด้วยปัญญาในโลกนี้
แม้ในเวลาที่ตนตกทุกข์ ก็ยังประสบสุขได้
[๕๕๒] ธรรมนี้มิใช่มีแต่วันนี้
ไม่น่าอัศจรรย์ ทั้งมิใช่ไม่เคยมีมา
ในโลกที่สัตว์เกิดสัตว์ตายจะไม่เคยมีได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๓๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๐. ทสกนิบาต] ๔. จูฬปันถกเถรคาถา
[๕๕๓] เมื่อสัตว์เกิดมาแล้วจะต้องตายต่อจากการมีชีวิตแน่แท้
สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ๆ ในโลกนี้ย่อมตายทั้งนั้น
เพราะสัตว์ทั้งหลายมีความเกิด ความตายเป็นธรรมดาอย่างนี้
[๕๕๔] การที่คนอื่น ๆ ร้องไห้ถึงผู้ที่ตายไป
เพื่อต้องการให้ผู้ที่ตายไปนั้นมีชีวิต
ไม่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ตายไป
การร้องไห้นี้นำยศมาให้ไม่ได้
นำความสรรเสริญมาให้ก็ไม่ได้
ทั้งสมณพราหมณ์ก็ไม่สรรเสริญเลย
[๕๕๕] ดวงตาและร่างกายของผู้ร้องไห้ย่อมร่วงโรย
ผิวพรรณ กำลัง และความคิดก็เสื่อม
พวกคนที่เป็นศัตรูของผู้ร้องไห้นั้นย่อมยินดี
ส่วนพวกที่เป็นมิตรของเขาก็ย่อมไม่มีความสุขไปด้วย
[๕๕๖] เพราะฉะนั้นแล บุคคลพึงปรารถนาท่านผู้เป็นนักปราชญ์
และท่านผู้เป็นพหูสูตซึ่งสามารถทำกิจของตนให้สำเร็จได้
ด้วยกำลังปัญญาให้อยู่ในสกุล
เหมือนคนทั้งหลายข้ามแม่น้ำที่เต็มเปี่ยมได้ด้วยเรือ
๔. จูฬปันถกเถรคาถา
ภาษิตของพระจูฬปันถกเถระ
(พระจูฬปันถกเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๕๕๗] เมื่อก่อน เราได้มีญาณคติเกิดช้า เราจึงถูกดูหมิ่น
ทั้งพี่ชาย ก็ได้ขับไล่เราว่า เจ้าจงกลับไปบ้านเดี๋ยวนี้
[๕๕๘] เรานั้นถูกขับไล่แล้ว ยังมีความเยื่อใยในพระศาสนาอยู่
จึงได้ไปยืนเสียใจใกล้ซุ้มประตูสังฆารามนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๓๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๐. ทสกนิบาต] ๔. จูฬปันถกเถรคาถา
[๕๕๙] พระผู้มีพระภาคได้เสด็จมา ณ ที่นั้น
ทรงลูบศีรษะเรา ทรงจับแขนเรา พาเข้าไปสู่สังฆาราม
[๕๖๐] พระศาสดาทรงอนุเคราะห์เรา
ได้ทรงประทานผ้าเช็ดพระบาท ด้วยรับสั่งว่า
เธอจงอธิษฐานผ้าที่สะอาดนี้ให้มั่นคง ณ ที่สมควร
[๕๖๑] เราฟังพระดำรัสของพระองค์
ยังยินดีอยู่ในพระศาสนา
ได้ทำสมาธิให้เกิดเพื่อบรรลุประโยชน์สูงสุด
[๕๖๒] เรารู้ถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่มาก่อน
ชำระทิพยจักษุให้หมดจดแล้ว
เราบรรลุวิชชา ๓
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๕๖๓] ปันถกเถระเนรมิตตนหนึ่งพัน
นั่งในอัมพวันที่น่ารื่นรมย์
จนถึงเวลาเขามานิมนต์
[๕๖๔] ลำดับนั้น พระศาสดาทรงใช้ทูต
ให้ไปบอกเวลาฉันอาหารแก่เรา
เมื่อทูตบอกเวลาฉันแล้ว
เราก็ได้เหาะไปเฝ้า
[๕๖๕] ถวายบังคมพระยุคลบาทพระศาสดาแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
ทีนั้น พระศาสดาทรงรับรองเราผู้ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่
[๕๖๖] ปันถกเถระเป็นผู้ควรบูชาของชาวโลกทั้งมวล
เป็นผู้ควรรับของที่เขานำมาบูชา
เป็นเนื้อนาบุญของหมู่มนุษย์ ได้รับทักษิณาแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๓๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๐. ทสกนิบาต] ๕. กัปปเถรคาถา
๕. กัปปเถรคาถา
ภาษิตของพระกัปปเถระ
(พระศาสดาตรัสอสุภกถาสอนพระเจ้ากัปปะนั้นด้วยพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๕๖๗] ร่างกายนี้เต็มไปด้วยของโสโครกและมลทินต่าง ๆ
มีหลุมคูถใหญ่เป็นที่เกิด เป็นดุจบ่อน้ำครำที่มีมานาน
เป็นดุจฝีใหญ่ เป็นดุจแผลใหญ่
[๕๖๘] เป็นกายเต็มไปด้วยหนองและเลือด เต็มไปด้วยหลุมคูถ
มีน้ำไหลออกเป็นนิตย์ หลั่งของเน่าเสียออกอยู่ประจำ
[๕๖๙] มีเส้นเอ็นใหญ่ ๖๐ เส้นรัดรึงไว้
มีเครื่องฉาบทาคือเนื้อฉาบทาไว้ มีเสื้อคือหนังหุ้มห่อไว้
เป็นกายเปื่อยเน่า ไม่มีประโยชน์
[๕๗๐] เชื่อมต่อไว้ด้วยโครงกระดูก
เกี่ยวร้อยไว้ด้วยด้ายคือเส้นเอ็น
ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถได้ เพราะมีมหาภูตรูป ๔
ชีวิตินทรีย์ ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ๑
และวิญญาณเป็นต้นเกี่ยวเนื่องกัน
[๕๗๑] นรชนผู้มีจิตเป็นไปตามความปรารถนา
ดำเนินไปสู่ความตายอย่างแน่นอน
อยู่ใกล้มัจจุราช ละทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้เอง
[๕๗๒] ร่างกายที่ถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้
ถูกกิเลสเครื่องร้อยรัด ๔ อย่างร้อยรัดไว้
เป็นกายจมลงในห้วงน้ำคือกิเลส
ถูกข่ายคืออนุสัยกิเลสปกคลุมไว้

เชิงอรรถ :
๑ ลมหายใจออกหายใจเข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๓๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๐. ทสกนิบาต] ๖. วังคันตปุตตอุปเสนคาถา
[๕๗๓] ประกอบด้วยนิวรณ์ ๕ เพียบพร้อมด้วยวิตก
ถูกรากเหง้าแห่งภพคือตัณหารัดรึง
ถูกเครื่องปิดบังคือโมหะปิดบังไว้
[๕๗๔] ร่างกายนี้ถูกเครื่องหมุนคือกรรมให้หมุนไป จึงหมุนไปอย่างนี้
สมบัติ(ที่มีอยู่ในร่างกายนี้)มีวิบัติเป็นที่สุด
ย่อมมีความพลัดพรากกันเป็นธรรมดา
[๕๗๕] เหล่าปุถุชนผู้โง่เขลาซึ่งยึดถือร่างกายนี้ว่าเป็นของเรา
ย่อมทำสังสารวัฏที่น่ากลัวให้เจริญ ทั้งยึดภพใหม่ไว้
[๕๗๖] เหล่ากุลบุตรผู้เป็นบัณฑิตซึ่งละร่างกายที่น่ารังเกียจนี้
คลายอวิชชา และภวตัณหาซึ่งเป็นรากเหง้าแห่งภพได้แล้ว
จักปรินิพพานอย่างไม่มีอาสวะ
เหมือนคนที่ต้องการความสุขอยากมีชีวิตอยู่
เห็นอสรพิษตัวเปื้อนคูถแล้วก็หลีกหนีไปฉะนั้น
๖. วังคันตปุตตอุปเสนเถรคาถา
ภาษิตของพระวังคันตปุตตอุปเสนเถระ
(พระวังคันตปุตตอุปเสนเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๕๗๗] ภิกษุพึงอยู่เสนาสนะอันสงัด ปราศจากเสียงอื้ออึง
ที่สัตว์ร้ายอาศัยอยู่ เพราะการหลีกเร้นเป็นเหตุ
[๕๗๘] พึงเก็บผ้าจากกองขยะ จากป่าช้า
และตรอกน้อย ตรอกใหญ่นั้น
ทำเป็นผ้านุ่ง ผ้าห่ม แล้วใช้จีวรที่เศร้าหมอง
[๕๗๙] ภิกษุพึงคุ้มครองทวาร
สำรวมระวังทำใจให้เคารพเอื้อเฟื้อแล้ว
เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับสกุล ตามลำดับตรอก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๓๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๐. ทสกนิบาต] ๗. โคตมเถรคาถา
[๕๘๐] พึงยินดีด้วยของตามที่ได้ ถึงจะเป็นของเศร้าหมอง
และไม่ควรปรารถนารสอย่างอื่นจากรสตามที่ได้มาให้มาก
สำหรับผู้ที่ยังติดในรส ใจย่อมไม่ยินดีในฌาน
[๕๘๑] ภิกษุพึงเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด
เป็นมุนี และไม่อยู่คลุกคลีด้วยคฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งสอง
[๕๘๒] ภิกษุผู้เป็นบัณฑิตควรแสดงตนให้เป็นเหมือนคนโง่และคนใบ้
ไม่ควรพูดมากในท่ามกลางสงฆ์
[๕๘๓] ท่านไม่พึงว่าร้ายใคร พึงเว้นการกระทบกระทั่ง
ควรสำรวมในพระปาติโมกข์ และรู้จักประมาณในการขบฉัน
[๕๘๔] เป็นผู้ฉลาดในการเกิดขึ้นแห่งจิตที่กำหนดนิมิตไว้ดีแล้ว
ประกอบสมถะและวิปัสสนาตามกาลอันสมควรเนือง ๆ
[๕๘๕] ภิกษุผู้เป็นบัณฑิตพึงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียรเป็นนิตย์
ประกอบภาวนาทุกเมื่อ
หากยังไม่ถึงที่สุดทุกข์ไม่พึงถึงความวางใจ
[๕๘๖] อาสวะทั้งปวงของภิกษุผู้ปรารถนาความบริสุทธิ์เป็นอยู่อย่างนี้
ย่อมสิ้นไป และท่านก็ย่อมบรรลุนิพพาน
๗. โคตมเถรคาถา
ภาษิตของพระโคดมเถระ
(พระโคดมเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๕๘๗] บุคคลพึงรู้จักประโยชน์ของตน ๑ พึงตรวจดูปาพจน์๑ ๑
พึงตรวจตราสิ่งที่สมควรในศาสนานี้
ของกุลบุตรผู้เข้าถึงความเป็นสมณะ ๑

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมและวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้แล้ว (ขุ.เถร.อ.๒/๕๘๗/๒๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๔๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๐. ทสกนิบาต] ๗. โคตมเถรคาถา
[๕๘๘] มิตรดี ๑ การสมาทานสิกขาให้บริบูรณ์ ๑
การเชื่อฟังครูทั้งหลาย ๑ นี้เป็นการสมควรแก่สมณะในศาสนานี้
[๕๘๙] ความเคารพในพระพุทธเจ้า ๑
ความนอบน้อมในพระธรรมตามความเป็นจริง ๑
การทำความยำเกรงในพระสงฆ์ ๑
นี้เป็นการสมควรแก่สมณะ
[๕๙๐] ภิกษุผู้ประกอบในอาจาระและโคจร ๑
ผู้ชำระอาชีพให้บริสุทธิ์ ซึ่งท่านผู้รู้ไม่ตำหนิติเตียน ๑
การตั้งจิตไว้ชอบ ๑ นี้เป็นการสมควรแก่สมณะ
[๕๙๑] จาริตศีล ๑ วาริตศีล ๑
การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถที่น่าเลื่อมใส ๑
การประกอบเนือง ๆ ในอธิจิต ๑
นี้เป็นการสมควรแก่สมณะ
[๕๙๒] เสนาสนะป่า ๑ ที่สงัด ๑ ที่เงียบ ๑ ที่มุนีอยู่อาศัย ๑
นี้เป็นการสมควรแก่สมณะ
[๕๙๓] จตุปาริสุทธิศีล ๑ พาหุสัจจะ ๑
การพิจารณาค้นคว้าธรรมตามความเป็นจริง ๑
การรู้แจ้งอริยสัจ ๑ นี้เป็นการสมควรแก่สมณะ
[๕๙๔] ข้อที่บุคคลพึงเจริญอนิจจสัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ๑
เจริญอนัตตสัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ๑
เจริญอสุภสัญญา ๑ เจริญอนภิรติสัญญาในโลก ๑
นี้เป็นการสมควรแก่สมณะ
[๕๙๕] ข้อที่บุคคลพึงเจริญโพชฌงค์ ๑ อิทธิบาท ๑
อินทรีย์ ๑ พละ ๑ อริยัฏฐังคิกมรรค ๑
นี้เป็นการสมควรแก่สมณะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๔๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๐. ทสกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[๕๙๖] พระมุนีพึงละตัณหา ๑
ทำลายอาสวะพร้อมทั้งรากเหง้า ๑
พึงอยู่อย่างผู้มีจิตหลุดพ้น ๑
นี้เป็นการสมควรแก่สมณะ
ทสกนิบาต จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. พระกาฬุทายีเถระ ๒. พระเอกวิหาริยเถระ
๓. พระมหากัปปินเถระ ๔. พระจูฬปันถกเถระ
๕. พระกัปปเถระ ๖. พระวังคันตปุตตอุปเสนเถระ
๗. พระโคตมเถระ

ในทสกนิบาตนี้ มีพระเถระ ๗ รูปนี้
และมี ๗๐ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๔๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๑. เอกาทสกนิบาต]๑. สังกิจจเถรคาถา
๑๑. เอกาทสกนิบาต
๑. สังกิจจเถรคาถา
ภาษิตของพระสังกิจจเถระ
(อุบาสกคนหนึ่งต้องการบำรุงสังกิจจสามเณร จึงนิมนต์สามเณรให้อยู่ที่ใกล้
ด้วยคาถาว่า)
[๕๙๗] พ่อสามเณร ป่าจะมีประโยชน์อะไรสำหรับท่าน
ในฤดูฝน ภูเขาชื่ออุชชุหานะนั่นเองไม่เป็นที่สบาย
ลมหัวด้วนก็พัดมาประจำ ท่านจะพึงพอใจหรือ
เพราะความสงัดเป็นที่ต้องการของผู้เจริญฌาน
(พระสังกิจจเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๕๙๘] ในฤดูฝน ลมหัวด้วน ย่อมพัดพาเมฆหมอกไปได้ฉันใด
สัญญาที่ประกอบด้วยวิเวกก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ย่อมดึงจิตของอาตมาไปสู่ที่วิเวก
[๕๙๙] กายคตาสติกรรมฐานที่ประกอบด้วยความคลายกำหนัด
ในร่างกาย เกิดขึ้นแก่อาตมาทันที เหมือนกาดำเกิดจากฟองไข่
เที่ยวอาศัยอยู่ในป่าช้า
[๖๐๐] ภิกษุผู้ไม่มีคนอื่นคอยดูแลรักษา
และไม่คอยดูแลรักษาคนอื่น นั้นแล
ไม่มีความเยื่อใยในกามทั้งหลาย ย่อมอยู่เป็นสุข
[๖๐๑] ภูเขาศิลาอันกว้างใหญ่ไพศาล
มีน้ำไหลใสสะอาด
มีฝูงค่างและฝูงเนื้อฟานคลาคล่ำ
ดารดาษไปด้วยน้ำและสาหร่ายเหล่านั้น
ย่อมทำให้อาตมารื่นรมย์ใจยิ่งนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๔๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๑. เอกาทสกนิบาต ]รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[๖๐๒] ในเสนาสนะที่สงัดคือป่า ซอกเขา และถ้ำ
ที่สัตว์ร้ายอาศัยอยู่ อาตมาเคยอยู่มาแล้ว
[๖๐๓] อาตมาไม่เคยดำริถึงสิ่งที่ไม่ดี ประกอบด้วยโทษเลยว่า
ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกเบียดเบียน จงถูกฆ่า จงประสบทุกข์
[๖๐๔] อาตมาได้ปรนนิบัติพระศาสดา
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ปลงภาระที่หนักเสียได้
ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
[๖๐๕] อาตมาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นอันเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง
อาตมาก็ได้บรรลุแล้ว
[๖๐๖] อาตมาไม่อยากตาย
ไม่อยากเป็นอยู่
แต่อาตมารอคอยเวลาอยู่
เหมือนลูกจ้างทำการงานคอยค่าจ้าง
[๖๐๗] อาตมาไม่อยากตาย
ไม่อยากเป็นอยู่
แต่อาตมามีสติสัมปชัญญะอยู่เฉพาะหน้า
คอยเวลาอันควร
เอกาทสกนิบาต จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
รวมพระสังกิจจเถระผู้ทำกิจเสร็จแล้ว
ไม่มีอาสวะรูปเดียวเท่านั้น
และในเอกาทสกนิบาต มี ๑๑ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๔๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๑. สีลวเถรคาถา
๑๒. ทวาทสกนิบาต
๑. สีลวเถรคาถา
ภาษิตของพระสีลวเถระ
(พระสีลวเถระแสดงธรรมด้วยคาถาเหล่านี้ว่า)
[๖๐๘] กุลบุตรในสัตว์โลกนี้ผู้ใคร่ประโยชน์
พึงศึกษาศีลนั่นแหละให้เป็นอันศึกษาดีแล้วในโลกนี้
เพราะศีลที่รักษาแล้ว ย่อมนำสมบัติทุกประเภทมาให้ได้
[๖๐๙] ผู้มีปัญญาเมื่อปรารถนาความสุข ๓ อย่าง
คือ การสรรเสริญ ๑ การได้ความปลื้มใจ ๑
การตายไปแล้วบันเทิงในสวรรค์ ๑
ควรรักษาศีล
[๖๑๐] เพราะผู้มีศีล มีความสำรวม ย่อมได้มิตรมาก
ส่วนผู้ทุศีล ประพฤติแต่ความชั่ว ย่อมแตกจากมิตร
[๖๑๑] นรชนผู้ทุศีลย่อมได้รับการตำหนิและติเตียน
นรชนผู้มีศีลย่อมได้รับความยกย่องชมเชยและสรรเสริญทุกเมื่อ
[๖๑๒] ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง
เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย
เป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง
เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์
[๖๑๓] สังวรศีล เป็นเครื่องกั้นทุจริต ทำจิตให้ร่าเริง
และเป็นท่าสำหรับหยั่งลงมหาสมุทรคือนิพพาน
ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์
เพราะฉะนั้น ควรชำระศีลให้บริสุทธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๔๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๒. สุนีตเถรคาถา
[๖๑๔] ศีลเป็นกำลังหาสิ่งเปรียบปานมิได้
เป็นอาวุธชั้นเยี่ยม เป็นอาภรณ์อันประเสริฐ
เป็นเกราะบังอย่างน่าอัศจรรย์
[๖๑๕] ศีลเป็นสะพานอันมีพลังมาก มีกลิ่นหอมอย่างยิ่ง
เป็นเครื่องลูบไล้อย่างประเสริฐ
ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้มีศีล มีชื่อเสียง ระบือไปทั่วทุกทิศ
[๖๑๖] ศีลเป็นกำลังที่ดีเลิศ เป็นเสบียงเดินทางชั้นเยี่ยม
เป็นยานพาหนะชั้นประเสริฐ
ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้มีศีลไปได้ทั่วทุกทิศ
[๖๑๗] คนพาลมีใจไม่ตั้งมั่นในศีล ย่อมได้รับการติฉินนินทาในโลกนี้
และตายไปแล้ว ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในอบายภูมิ
ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในที่ทั่วไป
[๖๑๘] ธีรชนตั้งมั่นดีในศีล ย่อมได้รับชื่อเสียงในโลกนี้
และตายไปแล้ว ย่อมได้รับสุขโสมนัสในสวรรค์
ย่อมได้รับสุขโสมนัสในที่ทั่วไป
[๖๑๙] ศีลเท่านั้นเป็นเลิศในโลกนี้
ส่วนผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุดทั้งในหมู่มนุษย์และหมู่เทวดา
ชัยชนะก็เพราะศีลและปัญญา
๒. สุนีตเถรคาถา
ภาษิตของพระสุนีตเถระ
(พระสุนีตเถระได้บันลือสีหนาทด้วยคาถาเหล่านี้ว่า)
[๖๒๐] เราเกิดมาในสกุลต่ำ ซ้ำขัดสน
มีของกินน้อย มีการงานต่ำ
ได้เป็นคนเก็บดอกไม้ที่เหี่ยวแห้งไปทิ้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๔๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๒. สุนีตเถรคาถา
[๖๒๑] เราถูกคนทั้งหลายเกลียดชัง ดูหมิ่น ข่มขู่
ได้ถ่อมตน ไหว้หมู่ชนเป็นอันมาก
[๖๒๒] ต่อมา เราได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงมีความเพียรมากซึ่งมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม
กำลังเสด็จเข้าไปยังพระนครอันอุดมของชาวมคธ
[๖๒๓] จึงวางหาบลงแล้ว
เข้าไปถวายบังคมพระองค์ซึ่งเป็นบุคคลผู้สูงสุด
ได้ประทับยืนอยู่เพื่ออนุเคราะห์เรา
[๖๒๔] ครั้งนั้น เราได้ถวายบังคมพระยุคลบาทพระศาสดา
แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
จึงได้ทูลขอบรรพชากับพระองค์ผู้สูงสุดกว่าสรรพสัตว์
[๖๒๕] ลำดับนั้น พระศาสดาผู้ทรงมีพระกรุณา
อนุเคราะห์สัตว์โลกทั้งมวล ได้ตรัสกับเราว่า
เธอเป็นภิกษุมาเถิด
พระวาจานั้นได้เป็นการอุปสมบทของเรา
[๖๒๖] เรานั้นอยู่ในป่าแต่ผู้เดียว ไม่เกียจคร้าน
ได้ทำตามพระโอวาทพระศาสดาผู้ชนะมารทรงสั่งสอนเรามา
[๖๒๗] ในราตรีปฐมยาม เราระลึกชาติก่อนได้
ในมัชฌิมยาม ได้ชำระทิพยจักษุให้สะอาดแล้ว
ในปัจฉิมยาม ได้ทำลายกองแห่งความมืดคืออวิชชาแล้ว
[๖๒๘] ต่อเมื่อราตรีสิ้นไป
ดวงอาทิตย์ขึ้นไปจนตก
พระอินทร์และท้าวมหาพรหมพากันมาประณมอัญชลี
นอบน้อมเราพร้อมกับกล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๔๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๒. ทวาทสกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[๖๒๙] ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษอาชาไนย
ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน
ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษสูงสุด
ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน
ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านสิ้นอาสวะแล้วเป็นผู้ควรแก่ทักษิณา
[๖๓๐] ลำดับนั้น พระศาสดาได้ทรงเห็นซึ่งหมู่เทวดาแวดล้อมอยู่
จึงทรงแย้ม แล้วได้ตรัสเนื้อความนี้ว่า
[๖๓๑] บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะคุณธรรมนี้ คือ
ตบะ พรหมจรรย์ ความสำรวม และความฝึกฝน
ตบะเป็นต้นนี้จัดเป็นพราหมณ์ชั้นสูงสุด
ทวาทสกนิบาต จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ ๒ รูป คือ
พระเถระ ๒ รูปนี้มีฤทธิ์มาก คือ
๑. พระสีลวเถระ ๒. พระสุนีตเถระ
ในทวาทสกนิบาตมี ๒๔ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๔๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๓. เตรสกนิบาต] ๑. โสณโกฬิวิสเถรคาถา
๑๓. เตรสกนิบาต
๑. โสณโกฬิวิสเถรคาถา
ภาษิตของพระโสณโกฬิวิสเถระ
(พระโสณโกฬิวิสเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๖๓๒] ผู้ใดเป็นคหบดีที่ยิ่งใหญ่
สมความปรารถนาในรัฐของพระเจ้าอังคะ
วันนี้ ผู้นั้นชื่อว่าโสณะ
เป็นผู้เยี่ยมที่สุดในธรรมทั้งหลาย ได้ถึงที่สุดทุกข์
[๖๓๓] ภิกษุพึงตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ พึงละสังโยชน์เบื้องสูง ๕
และพึงเจริญอินทรีย์ ๕ ให้ยิ่ง
ภิกษุผู้ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องได้ทั้ง ๕
ท่านเรียกว่า ข้ามโอฆะได้แล้ว
[๖๓๔] สำหรับภิกษุผู้ประมาท มีใจพองเหมือนต้นอ้อ
ยังมีความยินดีในอายตนะภายนอก
ศีล สมาธิ และปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์
[๖๓๕] ภิกษุเหล่านี้ละทิ้งกิจที่ควรทำ มาทำแต่กิจที่ไม่ควรทำ
อาสวะทั้งหลายของพวกเธอผู้ประมาท
มีใจพองเหมือนต้นอ้อ ย่อมเจริญ
[๖๓๖] ส่วนภิกษุเหล่าใดปรารภกายคตาสติด้วยดีเป็นนิตย์
ภิกษุเหล่านั้นมักกระทำกิจที่ควรทำเป็นนิตย์ ไม่ทำกิจที่ไม่ควรทำ
อาสวะของพวกเธอผู้มีสติสัมปชัญญะ ย่อมถึงความสิ้นไป
[๖๓๗] เมื่อพระศาสดาตรัสบอกทางตรงไว้แล้ว เธอทั้งหลายจงดำเนิน
ไปเถิด อย่าหยุดเสีย กุลบุตรผู้หวังประโยชน์
เมื่อเตือนตนด้วยตนเอง พึงน้อมตนเข้าถึงนิพพานได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๔๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา[๑๓. เตรสกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[๖๓๘] เมื่อเราบำเพ็ญเพียรอย่างหนัก
พระศาสดาซึ่งมีพระจักษุยอดเยี่ยมในโลก
ได้ทรงแสดงธรรมอุปมาด้วยสายพิณสอนเรา
เราฟังพระดำรัสของพระองค์แล้วยินดีอยู่ในคำสอน
[๖๓๙] ทำสมถะ๑ให้ถึงพร้อมเพื่อบรรลุประโยชน์สูงสุด
เราบรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสองของพุทธเจ้าแล้ว
[๖๔๐] เราผู้น้อมไปในเนกขัมมะ๒ และความสงัดใจ
น้อมไปในความไม่เบียดเบียน หมดความยึดมั่นถือมั่น
[๖๔๑] น้อมไปในความสิ้นตัณหาและความไม่หลงแห่งใจ
เพราะเห็นความเกิดขึ้นแห่งอายตนะ จิตจึงหลุดพ้นได้โดยชอบ
[๖๔๒] ภิกษุผู้มีจิตสงบระงับหลุดพ้นโดยชอบ ทำกิจเสร็จแล้วนั้น
ย่อมไม่มีการสั่งสม ทั้งไม่มีกิจอื่นที่จะต้องทำ
[๖๔๓] ภูเขาหินแท่งทึบย่อมไม่สะเทือนเพราะลมฉันใด
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธรรมารมณ์ทั้งมวล
[๖๔๔] ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
ทำจิตของผู้คงที่ให้หวั่นไหวไม่ได้ ฉันนั้น
จิตของผู้คงที่นั้น เป็นจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
ไม่เกาะเกี่ยวด้วยอารมณ์อะไร
เพราะผู้คงที่นั้นได้เห็นความเสื่อมไปแห่งอารมณ์นั้นแล้ว
เตรสกนิบาต จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
๑. พระโสณโกฬิวิสเถระมีฤทธิ์มากรูปเดียวเท่านั้น
และในเตรสกนิบาตนี้ มี ๑๓ คาถา ฉะนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ สมาธิที่ทำให้เกิดวิปัสสนา (ขุ.เถร.อ. ๒/๖๓๙/๒๖๑)
๒ การออกบวช (ขุ.เถร.อ. ๒/๖๔๐/๒๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๕๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๔. จุททสกนิบาต] ๑. ขทิรวนิยเรวตเถรคาถา
๑๔. จุททสกนิบาต
๑. ขทิรวนิยเรวตเถรคาถา
ภาษิตของพระขทิวนิยเรวตเถระ
(พระขทิรวนิยเรวตเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๖๔๕] นับแต่อาตมาออกบวชเป็นบรรพชิต
ไม่เคยดำริถึงสิ่งที่ไม่ดี ประกอบด้วยโทษเลยว่า
[๖๔๖] ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกเบียดเบียน จงถูกฆ่า จงประสบทุกข์
อาตมาไม่เคยดำริในระยะกาลยาวนานเช่นนี้
[๖๔๗] แต่รู้เฉพาะการเจริญเมตตาไม่มีประมาณ
ซึ่งได้อบรมสั่งสมมาโดยลำดับตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว
[๖๔๘] เป็นมิตร เป็นสหายกับสัตว์ทุกจำพวก
อนุเคราะห์สัตว์ทุกจำพวก
ยินดีในการไม่เบียดเบียน เจริญเมตตาจิตทุกเมื่อ
[๖๔๙] และทำจิตที่ไม่ง่อนแง่น ไม่ขุ่นเคืองให้บันเทิง
เจริญพรหมวิหาร ที่คนเลวส้องเสพไม่ได้
[๖๕๐] สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าทุติยฌานที่ไม่มีวิตก
เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้นิ่งอย่างประเสริฐโดยแท้จริง
[๖๕๑] ภูเขาศิลาล้วนตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้น เพราะสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวดุจภูเขา ฉันนั้น
[๖๕๒] คนผู้ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน
ใฝ่ใจแสวงหาความสะอาดอยู่เป็นนิตย์
ความชั่วเพียงเท่าปลายขนทราย
ย่อมปรากฏดังเท่าก้อนเมฆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๕๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๔. จุททสกนิบาต] ๑. ขทิรวนิยเรวตเถรคาถา
[๖๕๓] เมืองชายแดนได้รับการคุ้มครองทั้งภายในและภายนอก ฉันใด
ท่านทั้งหลายโปรดคุ้มครองตนให้ได้ ฉันนั้น
ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย
[๖๕๔] อาตมาไม่อยากตาย
ไม่อยากเป็นอยู่
แต่อาตมารอคอยเวลาอยู่
เหมือนลูกจ้างทำการงานคอยค่าจ้าง
[๖๕๕] อาตมาไม่อยากตาย
ไม่อยากเป็นอยู่
แต่อาตมามีสติสัมปชัญญะอยู่เฉพาะหน้า
คอยเวลาอันสมควร
[๖๕๖] อาตมาปรนนิบัติพระศาสดา
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ปลงภาระที่หนักเสียได้
ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
[๖๕๗] อาตมาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นอันเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง
อาตมาก็ได้บรรลุแล้ว
[๖๕๘] หน้าที่ที่ควรทำให้ถึงพร้อมมีทานและศีลเป็นต้น
ท่านทั้งหลาย โปรดทำให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด
นี้เป็นคำสั่งสอนของอาตมา
อาตมาหลุดพ้นจากกิเลสและภพได้ทั้งหมดแล้ว
จักปรินิพพานละ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๕๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๔. จุททสกนิบาต] ๒. โคทัตตเถรคาถา
๒. โคทัตตเถรคาถา
ภาษิตของพระโคทัตตเถระ
(พระโคทัตตเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๖๕๙] โคอาชาไนยดีถูกเทียมที่แอกเกวียน
สามารถนำแอกเกวียนไปได้
ถูกภาระหนักเบียดเบียน
ก็ไม่ยอมสลัดแอกเกวียนที่เทียมไว้ ฉันใด
[๖๖๐] เหล่าชนที่บริบูรณ์ด้วยปัญญา
เหมือนมหาสมุทรที่เต็มเปี่ยมด้วยน้ำ
ย่อมไม่ดูหมิ่นชนอื่น ๆ ฉันนั้น
ข้อนี้เป็นดังอริยธรรมของคนทั้งหลาย
[๖๖๑] นรชนคนหนุ่มทั้งหลายที่ตกอยู่ในอำนาจของกาลเวลา
ไปตามอำนาจของความเจริญและความเสื่อม
ย่อมประสบทุกข์ และย่อมเศร้าโศก
[๖๖๒] เหล่าปุถุชนที่ยังโง่เขลา มักไม่เห็นตามความเป็นจริง
พอมีสุขเป็นเหตุก็ฟูขึ้น พอมีทุกข์เป็นเหตุก็ฟุบลง
จึงเดือดร้อนเพราะเหตุ ๒ ประการนี้
[๖๖๓] ส่วนอริยชนทั้งหลายที่ล่วงตัณหา
เป็นเหตุพัวพันในทุกขเวทนา สุขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา
ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวดุจเสาเขื่อน ไม่ฟูขึ้นหรือฟุบลง
[๖๖๔] ย่อมไม่ติดในลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ
นินทา สรรเสริญ สุขและทุกข์เลย
[๖๖๕] ท่านเหล่านั้นไม่ติดในโลกธรรมทุกประเภท
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว
ธีรชนทั้งหลายประสบสุข ไม่พ่ายแพ้ในที่ทุกแห่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๕๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๔. จุททสกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[๖๖๖] การไม่ได้ลาภโดยธรรม กับการได้ลาภโดยไม่ชอบธรรม
๒ อย่างนี้ การไม่ได้ลาภแต่ชอบธรรมประเสรฐิกว่า
การได้ลาภโดยไม่ชอบธรรมไม่ประเสริฐเลย
[๖๖๗] ผู้ไม่มีความรู้ มียศ กับผู้มีความรู้แต่ไม่มียศ
๒ จำพวกนี้ ผู้มีความรู้ แต่ไม่มียศ ประเสริฐกว่า
ผู้ไม่มีความรู้ มียศ ไม่ประเสริฐเลย
[๖๖๘] การที่คนพาลสรรเสริญ กับการที่บัณฑิตติเตียน
๒ อย่างนี้ การที่บัณฑิตติเตียนนั่นแหละประเสริฐกว่า
การที่คนพาลสรรเสริญไม่ประเสริฐเลย
[๖๖๙] ความสุขที่เกิดเพราะอาศัยกามคุณ
กับความทุกข์ที่เกิดแต่ความสงัด
๒ อย่างนี้ ความทุกข์ที่เกิดแต่ความสงัด ประเสริฐกว่า
ความสุขที่เกิดเพราะอาศัยกามคุณ ไม่ประเสริฐเลย
[๖๗๐] ความเป็นอยู่โดยไม่ชอบธรรม กับความตายโดยชอบธรรม
๒ อย่างนี้ ความตายโดยชอบธรรมประเสริฐกว่า
ความเป็นอยู่โดยไม่ชอบธรรม ไม่ประเสริฐเลย
[๖๗๑] ท่านเหล่าใดละความยินดี ยินร้ายได้
มีจิตสงบ เที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ ไม่ติดอยู่ในโลก
ท่านเหล่านั้นไม่มีความรักหรือความชัง
[๖๗๒] เจริญโพชฌงค์ ๗ อินทรีย์ ๕ และพละ ๕
บรรลุความสงบอย่างยิ่ง ไม่มีอาสวะ ย่อมปรินิพพาน
จุททสกนิบาต จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
พระเถระ ๒ รูปนี้ มีฤทธิ์มาก คือ
๑. พระขทิรวนิยเรวตเถระ ๒. พระโคทัตตเถระ
ในจุททสกนิบาตนี้ มี ๒๘ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๕๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๕. โสฬสกนิบาต] ๑. อัญญาสิโกณฑัญญเถรคาถา
๑๕. โสฬสกนิบาต
๑. อัญญาสิโกณฑัญญเถรคาถา
ภาษิตของพระอัญญาโกณฑัญญเถระ
(ท้าวสักกเทวราชตรัสภาษิตที่ ๑ ว่า)
[๖๗๓] ข้าพเจ้านี้สดับธรรมซึ่งมีอรรถรสมาก จึงเลื่อมใสอย่างยิ่ง
ธรรมที่คลายกำหนัดพอใจ เพราะไม่ยึดมั่นโดยสิ้นเชิง
พระคุณท่านแสดงไว้แล้ว
(พระอัญญาโกณฑัญญเถระได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๖๗๔] อารมณ์ที่วิจิตรในโลกมากมาย
เห็นจะย่ำยีคนที่ยังมีความดำริถึงอารมณ์ ว่างาม
ซึ่งประกอบด้วยราคะในพื้นปฐพีนี้
[๖๗๕] เมื่อฝนห่าใหญ่ตกลงมาช่วยระงับฝุ่นธุลีที่ลมพัดให้ฟุ้งขึ้นได้ ฉันใด
เมื่อใดพระอริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญา
เมื่อนั้น ความดำริผิดย่อมระงับไปได้ ฉันนั้น
[๖๗๖] เมื่อใด พระอริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์
[๖๗๗] เมื่อใด พระอริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์
[๖๗๘] เมื่อใด พระอริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๕๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๕. โสฬสกนิบาต] ๑. อัญญาสิโกณฑัญญเถรคาถา
[๖๗๙] อัญญาโกณฑัญญเถระผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า
ได้มีความบากบั่นอย่างแรงกล้า ละความเกิดและความตายได้
บำเพ็ญมัคคพรหมจรรย์อย่างบริบูรณ์สิ้นเชิง
[๖๘๐] ตัดบ่วงคือโอฆะ๑ ตะปูตรึงใจ๒อย่างมั่นคง
และทำลายภูเขาที่ทำลายได้ยากแล้ว
ข้ามไปถึงฝั่งคือนิพพาน มีปกติเข้าฌาน
พ้นจากเครื่องผูกคือกิเลสมารได้แล้ว
[๖๘๑] ภิกษุที่ยังมีจิตฟุ้งซ่าน กลับกลอก
คบหาแต่มิตรชั่ว ถูกคลื่น(คือความผูกโกรธ)ซัดไป
จมในห้วงน้ำใหญ่คือสงสาร
[๖๘๒] ส่วนภิกษุที่มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กลับกลอก มีปัญญารักษาตน
สำรวมอินทรีย์ คบหาแต่มิตรดี
เป็นนักปราชญ์ พึงทำความสิ้นทุกข์ได้
[๖๘๓] นรชนผู้รู้ประมาณในข้าวและน้ำย่อมซูบผอม
มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็นคล้ายเถาหญ้านาง แต่มีใจไม่ย่อท้อ
[๖๘๔] ถูกฝูงเหลือบและยุงกัดในป่าใหญ่
พึงเป็นผู้มีสติอดกลั้นในอันตรายนั้น เหมือนช้างในสงคราม
[๖๘๕] อาตมาไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่
แต่รอคอยเวลาอยู่ เหมือนลูกจ้างทำการงานคอยค่าจ้าง
[๖๘๖] อาตมาไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่
แต่อาตมามีสติสัมปชัญญะอยู่เฉพาะหน้า คอยเวลาอันควร

เชิงอรรถ :
๑ ห้วงน้ำ ๔ อย่าง คือ (๑) กาโมฆะ ห้วงน้ำคือกาม (๒) ภโวฆะ ห้วงน้ำคือภพ (๓) ทิฏโฐฆะ ห้วงน้ำตือ
ทิฏฐิ (๔) อวิชโชฆะ ห้วงน้ำคืออวิชชา (ขุ.เถร.อ. ๒/๖๘๐/๒๘๓)
๒ ตะปูตรึงใจมี ๕ อย่าง คือ (๑) ความสงสัยในพระศาสดา (๒) ในพระธรรม ( ๓) ในพระสงฆ์ (๔) ในการ
ศึกษา (๕) โกรธไม่พอใจในเพื่อนพรหมจรรย์ (ขุ.เถร.อ. ๒/๖๘๐/๒๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๕๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๕. โสฬสกนิบาต] ๒. อุทายีเถรคาถา
[๖๘๗] อาตมาปรนนิบัติพระศาสดา
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ปลงภาระที่หนักเสียได้ ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
[๖๘๘] อาตมาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นอาตมาได้บรรลุแล้ว
จะมีประโยชน์อะไรด้วยสัทธิวิหาริกผู้ว่ายากสำหรับอาตมา
๒. อุทายีเถรคาถา
ภาษิตของพระอุทายีเถระ
(พระอุทายีเถระเมื่อจะชมเชยพระศาสดา ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๖๘๙] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงบังเกิดในหมู่มนุษย์
ฝึกฝนพระองค์แล้ว มีพระหฤทัยตั้งมั่น
ทรงดําเนินไปในทางที่ประเสริฐ ทรงยินดีในธรรมเป็นที่สงบระงับจิต
[๖๙๐] ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวงพระองค์ใดที่มนุษย์ทั้งหลาย
นอบน้อม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแม้เทวดาทั้งหลายก็
นอบน้อม ข้าพเจ้าฟังมาแต่พระอรหันต์ทั้งหลายดังว่ามานี้
[๖๙๑] เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายย่อมนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์ใด ผู้ทรงล่วงสังโยชน์ทั้งปวง เสด็จออกจากป่า๑ มาสู่
นิพพาน เสด็จออกจากกามมายินดีในเนกขัมมะ เหมือนทองคำที่
พ้นจากหิน
[๖๙๒] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล เป็นดุจช้างตัวประเสริฐ
ทรงรุ่งเรืองล่วงโลกพร้อมทั้งเทวโลก ดุจภูเขาหิมวันต์เหนือภูเขา
ศิลาเหล่าอื่น ทรงมีพระนามว่านาคโดยแท้จริง ทรงยอดเยี่ยม
กว่าผู้ที่มีนามว่านาคทั้งหมด

เชิงอรรถ :
๑ กิเลส (ขุ.เถร.อ. ๒/๖๙๑/๒๘,)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๕๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๕. โสฬสกนิบาต] ๒. อุทายีเถรคาถา
[๖๙๓] เราจะแสดงผู้ที่ได้นามว่านาคโดยแท้จริงนั้นแก่พวกท่าน
เพราะผู้ที่ไม่ทำชั่วทุกอย่าง ชื่อว่านาค
ความสงบเสงี่ยมและความไม่เบียดเบียนทั้ง ๒ นั้น
เป็นเท้าหน้าของผู้ที่ได้นามว่า ช้าง
[๖๙๔] สติ และสัมปชัญญะทั้ง ๒ นั้น
เป็นเท้าหลังของผู้ที่ได้นามว่าช้าง
ผู้ที่ได้นามว่าพญาช้าง
มีศรัทธาเป็นงวง มีอุเบกขาเป็นงาขาว
[๖๙๕] มีสติเป็นคอ มีปัญญาเครื่องพิจารณาค้นคว้าธรรมเป็นเศียร
มีธรรมคือสมถะและวิปัสสนาซึ่งเป็นที่รวมอยู่แห่งปัญญาเป็นท้อง
มีวิเวกเป็นหาง
[๖๙๖] พญาช้างคือพระพุทธเจ้านั้นทรงเข้าฌานประจำ
ทรงยินดีในนิพพาน มีพระหฤทัยตั้งมั่นดีภายใน
เมื่อเสด็จพระราชดำเนิน ก็มีพระหฤทัยตั้งมั่น
ประทับยืน ก็มีพระหฤทัยตั้งมั่น
[๖๙๗] เมื่อบรรทม ก็มีพระหฤทัยตั้งมั่น
แม้ประทับนั่ง ก็มีพระหฤทัยตั้งมั่น ทรงสำรวมทุกอย่าง
นี้เป็นคุณสมบัติของพญาช้างคือพระพุทธเจ้า
[๖๙๘] พญาช้าง คือพระพุทธเจ้านั้น บริโภคสิ่งที่ไม่มีโทษ
ไม่บริโภคสิ่งที่มีโทษ ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มแล้วงดการสั่งสม
[๖๙๙] ตัดสังโยชน์ กิเลสเครื่องผูกพันน้อยใหญ่ทั้งหมด
ไม่มีความห่วงใยเลย ไปได้ทุกทิศ
[๗๐๐] ดอกบัวขาวมีกลิ่นหอมหวน ชวนให้รื่นรมย์ใจเกิดก็ในน้ำ
เติบโตก็ในน้ำ แต่ไม่ติดอยู่กับน้ำ แม้ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๕๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๕. โสฬสกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[๗๐๑] พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในโลก ทั้งทรงอยู่ในโลก
ก็ไม่ทรงติดอยู่กับโลก
เหมือนดอกบัวไม่ติดอยู่กับน้ำ ฉันนั้นเหมือนกัน
[๗๐๒] ไฟกองใหญ่ที่ลุกโชน เมื่อหมดเชื้อก็ดับไป
ถึงเมื่อยังมีเถ้าอยู่ เขาก็เรียกว่า ไฟดับ
[๗๐๓] อุปมาที่ให้รู้แจ่มแจ้งเนื้อความข้อนี้
วิญญูชนทั้งหลายแสดงไว้แล้ว
ท่านผู้ที่มีนามว่ามหานาคทั้งหลายจะรู้แจ้งพญาช้างคือพระพุทธเจ้า
อันเราผู้ได้นามว่านาคแสดงไว้แล้ว
[๗๐๔] พญาช้างคือพระพุทธเจ้า ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ
หมดอาสวะ เมื่อทรงละพระวรกาย จะไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน
โสฬสกนิบาต จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
พระเถระ ๒ รูปนี้ มีฤทธิ์มาก คือ
๑. พระอัญญาโกณฑัญญะเถระ ๒. พระอุทายีเถระ
ในโสฬสกนิบาตนี้ มี ๓๒ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๕๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๑. อธิมุตตเถรคาถา
๑๖. วีสตินิบาต
๑. อธิมุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระอธิมุตตเถระ
(หัวหน้าโจร เมื่อจะสรรเสริญพระเถระ ได้กล่าว ๒ ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๗๐๕] เมื่อก่อน เหล่าสัตว์ที่พวกเราฆ่าเพื่อบูชายัญหรือเพื่อทรัพย์
ย่อมเกิดความกลัวทั้งนั้น ย่อมพากันหวาดหวั่นและบ่นเพ้อรำพัน
[๗๐๖] ท่านนั้นไม่มีความกลัว สีหน้าผ่องใสยิ่งนัก
เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่คร่ำครวญ ในเมื่อเกิดภัยใหญ่เช่นนี้
(พระเถระ เมื่อจะแสดงธรรมโปรดหัวหน้าโจร จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๗๐๗] ท่านหัวหน้า สำหรับผู้ที่ไม่เยื่อใยในชีวิตย่อมไม่มีทุกข์ทางใจ
ภัยทุกอย่างผู้ที่สิ้นสังโยชน์ล่วงพ้นภัยทุกอย่างได้แล้ว
[๗๐๘] เมื่อสิ้นตัณหาที่นำไปสู่ภพก็ย่อมไม่มีความกลัวตายโดยประการ
ใดประการหนึ่งในปัจจุบันนั้น เหมือนคนที่ไม่กลัวความหนัก ในเมื่อ
วางของหนักลงแล้ว
[๗๐๙] พรหมจรรย์อาตมาประพฤติดีแล้ว
และแม้มรรคอาตมาก็อบรมดีแล้ว
อาตมาจึงไม่มีความกลัวตาย เหมือนคนไม่กลัวโรคในเมื่อหายโรค
[๗๑๐] พรหมจรรย์อาตมาประพฤติดีแล้ว
และแม้มรรคอาตมาก็อบรมดีแล้ว
อาตมาได้เห็นภพว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี
เหมือนคนดื่มยาพิษแล้วสำรอกออกมา
[๗๑๑] ผู้ที่ถึงฝั่ง ไม่ยึดมั่น เสร็จกิจ หมดอาสวะ
ย่อมพอใจเพราะความสิ้นอายุ
เหมือนผู้ร้ายพ้นจากการถูกประหารชีวิต ก็ร่าเริงยินดีอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๖๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๑. อธิมุตตเถรคาถา
[๗๑๒] ผู้บรรลุสภาวธรรมชั้นสูงสุด ไม่มีความเยื่อใยในโลกทั้งมวล
เมื่อจะตายก็ไม่เศร้าโศก เหมือนคนที่พ้นจากเรือนที่ถูกไฟไหม้
[๗๑๓] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ตรัสว่า
ความเกี่ยวข้องกันอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ภพที่ได้ในหมู่สัตว์ก็ดี
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ตรัสว่า
สิ่งนี้ทั้งหมดไม่มีอิสระ
[๗๑๔] พระอริยสาวกผู้รู้แจ้งภพ ๓ นั้นตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว
ไม่ยึดภพไร ๆ เหมือนคนไม่จับก้อนเหล็กแดงลุกโชน
[๗๑๕] อาตมาไม่มีความคิดว่า
เราได้เป็น เราจะเป็น เราจักไม่เป็นเช่นนี้อีก
สังขารทั้งหลายจักดับไป อาตมาจะคร่ำครวญถึงสังขารนั้นไปทำไม
[๗๑๖] ท่านหัวหน้า สำหรับผู้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นแห่งธรรม
ล้วน ๆ ความสืบเนื่องแห่งสังขารล้วน ๆ ตามที่เป็นจริง
ย่อมไม่มีความกลัว
[๗๑๗] เมื่อใด บุคคลพิจารณาเห็นโลกว่า
เสมอด้วยหญ้าและไม้ด้วยปัญญา
เมื่อนั้น เขาซึ่งไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
ย่อมไม่เศร้าโศกว่า ของเราไม่มี
[๗๑๘] อาตมาเบื่อหน่ายร่างกาย ไม่ต้องการภพ
กายนี้จะแตก และจะไม่มีกายอื่นอีก
[๗๑๙] หากพวกท่านปรารถนาจะทำกิจใดด้วยร่างกาย
ขอเชิญทำกิจนั้นได้ตามความปรารถนาเถิด
ในการทำหรือไม่ทำนั้น อาตมาจะไม่มีทั้งความเคียดแค้นและพอใจ
เพราะการทำนั้นเป็นเหตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๖๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๑.อธิมุตตเถรคาถา
[๗๒๐] พวกโจรฟังคำของพระอธิมุตตเถระนั้นซึ่งน่าอัศจรรย์
ทำให้ขนชูชันนั้นแล้ว วางศัสตราวุธแล้ว
ได้กล่าวเนื้อความนี้ว่า
[๗๒๑] ท่านผู้เจริญ ท่านไม่มีความเศร้าโศกนี้
เพราะท่านทำกรรมอะไรไว้
หรือใครเป็นอาจารย์ของท่าน
หรือเพราะอาศัยคำสอนของใคร
พระอธิมุตตเถระ (ได้ฟังดังนั้นแล้ว เมื่อจะให้คำตอบ จึงได้กล่าวภาษิต
เหล่านี้ว่า)
[๗๒๒] พระศาสดาผู้เป็นสัพพัญญู ทรงรู้เห็นธรรมทั้งปวง
ทรงชนะหมู่มาร มีพระกรุณาอย่างใหญ่หลวง
ทรงเยียวยารักษาสัตว์โลกทั้งมวล
เป็นอาจารย์ของอาตมา
[๗๒๓] พระองค์ได้ทรงแสดงธรรม
ที่ให้ถึงความสิ้นอาสวะอย่างยอดเยี่ยมนี้ไว้
เพราะอาศัยคำสั่งสอนของพระองค์
อาตมาจึงได้ความไม่เศร้าโศกนี้แล
[๗๒๔] พวกโจรฟังคำสุภาษิตของพระอธิมุตตเถระผู้เป็นฤๅษี
จึงพากันวางศัสตราและอาวุธ
บางพวกก็ได้งดเว้นกรรมนั้น
และบางพวกก็ได้ขอบวช
[๗๒๕] พวกเขา ครั้นบวชในพระศาสนาของพระสุคต
เจริญโพชฌงค์ ๗ และพละ ๕ แล้ว
เป็นบัณฑิต มีจิตเบิกบาน ยินดี อบรมอินทรีย์แล้ว
ได้บรรลุสันตบทคือนิพพาน อันไม่มีปัจจัยอะไร ๆ ปรุงแต่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๖๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๒. ปาราปริยเถรคาถา
๒. ปาราปริยเถรคาถา
ภาษิตของพระปาราปริยเถระ
(พระปาราปริยเถระเมื่อจะประกาศอาการที่ตนคิด จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๗๒๖] ภิกษุชื่อปาราปริยะ เป็นสมณะ นั่งอยู่แต่ลำพังผู้เดียว
มีจิตสงบสงัดเข้าฌานอยู่ ได้มีความคิดว่า
[๗๒๗] คนพึงทำอะไรโดยลำดับ
ประพฤติวัตรอย่างไร ประพฤติมารยาทอย่างไร
จึงจะชื่อว่าพึงทำกิจของตนและไม่เบียดเบียนใคร ๆ
[๗๒๘] อินทรีย์ทั้งหลายนั่นแหละ ย่อมมีไว้เพื่อเป็นประโยชน์
และไม่เป็นประโยชน์สำหรับมวลมนุษย์
อินทรีย์ที่ไม่ได้ระวังรักษาย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์
ส่วนอินทรีย์ที่ระวังรักษาแล้วย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์
[๗๒๙] คนที่ระวังรักษาและคุ้มครองอินทรีย์เท่านั้น
ชื่อว่าเป็นผู้ทำกิจของตน และไม่พึงเบียดเบียนใคร ๆ
[๗๓๐] ถ้าผู้ใดไม่ห้ามจักขุนทรีย์ที่เป็นไปในรูปทั้งหลายมักไม่เห็นโทษ
ผู้นั้นย่อมพ้นจากทุกข์ไม่ได้เลย
[๗๓๑] อนึ่ง ผู้ใดไม่ห้ามโสตินทรีย์ที่เป็นไปในเสียงทั้งหลาย
มักไม่เห็นโทษ ผู้นั้นย่อมพ้นจากทุกข์ไม่ได้เลย
[๗๓๒] หากผู้ใดไม่เห็นอุบายเป็นที่สลัดออก ส้องเสพกลิ่น
ผู้นั้นยังติดอยู่ในกลิ่น ย่อมพ้นจากทุกข์ไม่ได้
[๗๓๓] ผู้ใดยังคำนึงถึงรสเปรี้ยว รสหวาน และรสขม
ติดอยู่ในความอยากในรส ย่อมไม่รู้สึกถึงความคิดในใจที่เกิดขึ้นว่า
เราจะทำที่สุดทุกข์ ผู้นั้นก็ย่อมพ้นจากทุกข์ไม่ได้
[๗๓๔] ผู้ใดยังนึกถึงโผฏฐัพพะที่สวยงาม ไม่ปฏิกูล ยินดีแล้ว
ผู้นั้นย่อมประสบทุกข์ต่าง ๆ ซึ่งมีราคะเป็นเหตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๖๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๒.ปาราปริยเถรคาถา
[๗๓๕] ผู้ใดไม่อาจระวังรักษาใจจากธรรมารมณ์เหล่านี้
ทุกข์ที่เกิดจากกระแสอารมณ์ทั้ง ๕ ย่อมติดตามผู้นั้น
เพราะไม่ระวังรักษาใจนั้น
[๗๓๖] ร่างกายนี้เต็มไปด้วยหนอง เลือด และซากศพเป็นจำนวนมาก
ที่นรชนผู้กล้าสร้างไว้ เกลี้ยงเกลา วิจิตรงดงามแต่ภายนอก
ภายในเต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีคูถเป็นต้น ดุจสมุก
[๗๓๗] ที่เผ็ดร้อน มีรสหวานชื่นใจ ผูกพันด้วยความรัก
เป็นทุกข์ ฉาบไว้ด้วยของที่น่าชื่นใจภายนอก
ดุจมีดโกนทาน้ำผึ้งที่คนเขลาไม่รู้ซึ้งฉะนั้น
[๗๓๘] บุรุษที่ยังกำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น (รส) และโผฏฐัพพะ
ของสตรี ย่อมประสบทุกข์ต่าง ๆ
[๗๓๙] กระแสตัณหาในสตรีทั้ง ๕ ย่อมไหลไปในทวารทั้ง ๕ ของบุรุษ
ผู้ใดมีความเพียรอาจทำการป้องกันกระแสตัณหาทั้ง ๕ นั้นได้
[๗๔๐] ผู้นั้น มีความรู้ตั้งอยู่ในธรรม ขยัน มีปัญญาเครื่องพิจารณา
ถึงจะยินดีอยู่ ก็พึงทำกิจที่ประกอบด้วยเหตุผลได้
[๗๔๑] ถ้ายังติดอยู่กับการประกอบกิจที่เป็นประโยชน์ปัจจุบัน
ควรเว้นกิจที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นผู้ไม่ประมาท
มีปัญญาเครื่องพิจารณา รู้ว่ากิจนั้นไม่ควรทำแล้ว พึงเว้นเสีย
[๗๔๒] ควรยึดกิจที่ประกอบประโยชน์ในปัจจุบัน
และความยินดีที่ประกอบด้วยธรรม ประพฤติ เพราะความยินดี
นั้นแล ชื่อว่าเป็นความยินดีสูงสุด
[๗๔๓] ผู้ใดปรารถนาจะใช้อุบายต่าง ๆ ช่วงชิงเอาสิ่งของของคนเหล่าอื่น
ฆ่า เบียดเบียนผู้อื่น และทำผู้อื่นให้เศร้าโศก
ฉกชิงเอาสิ่งของของคนเหล่าอื่นด้วยความทารุณ ร้ายกาจ
การกระทำของผู้นั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๖๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๓. เตลกานิเถรคาถา
[๗๔๔] คนมีกำลัง เมื่อจะถากไม้ย่อมใช้ลิ่มตอกลิ่ม ฉันใด
ภิกษุผู้ฉลาดก็ฉันนั้น ย่อมใช้อินทรีย์นั่นแหละขจัดอินทรีย์
[๗๔๕] นรชนใดอบรมศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา
ใช้อินทรีย์ ๕ ฝึกอินทรีย์ ๕ เป็นพราหมณ์
ไม่มีทุกข์ ถึงอนุปาทิเสสนิพพาน
[๗๔๖] นรชนนั้นมีความรู้ ตั้งอยู่ในธรรม
ทำตามอนุสาสนีที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการ
ย่อมประสบสุข
๓. เตลกานิเถรคาถา
ภาษิตของพระเตลกานิเถระ
(พระเตลกานิเถระได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๗๔๗] เราได้มีความเพียร ค้นคิดธรรมอยู่นานหนอ
เมื่อสอบถามสมณพราหมณ์ ก็ยังไม่ได้ความกระจ่างใจ
[๗๔๘] ในโลกนี้ ใครเล่า เป็นผู้ถึงฝั่ง
ใครเป็นผู้บรรลุธรรมที่หยั่งลงสู่อมตะ
เราจะปฏิบัติตามธรรมของใครซึ่งจะเป็นเหตุให้รู้แจ้งปรมัตถธรรมได้
[๗๔๙] เรามีความคดคือกิเลสอยู่ภายใน เหมือนปลากินเบ็ด
ทั้งถูกผูกด้วยบ่วงคือกิเลส เหมือนท้าวเวปจิตติอสูรถูกผูกด้วยบ่วง
ของท้าวสักกะจอมเทพ
[๗๕๐] เรากระชากบ่วงคือกิเลสนั้นไม่หลุด
จึงไม่พ้นไปจากความเศร้าโศกและความร่ำไรรำพันนั้น
ใครในโลกนี้จะช่วยแก้เครื่องผูกคือกิเลส
ประกาศทางตรัสรู้ให้เราได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๖๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๓. เตลกานิเถรคาถา
[๗๕๑] เราจะปฏิบัติตามธรรมของใครคือสมณะ
หรือพราหมณ์หรือใครผู้แสดงธรรมเป็นเหตุกำจัดกิเลส
ที่จะลอยชราและมรณะเสียได้
[๗๕๒] จิตของเราถูกร้อยไว้ด้วยความลังเลสงสัย
ประกอบด้วยความแข่งดีมีกำลัง ถึงความกระด้าง
เพราะใจประกอบด้วยความโกรธ ถูกความโลภคอยทำลาย
[๗๕๓] เชิญท่านดูลูกศรคือทิฏฐิ ๓๐ ประเภท
อันมีธนูคือตัณหาเป็นสมุฏฐานเนื่องอยู่ในอก
มีกำลังทำลายหทัยอยู่เถิด
[๗๕๔] การไม่ละทิฏฐิที่เหลือ๑เป็นอันถูกลูกศร
คือความดำริผิดให้อาจหาญ
เราถูกยิงด้วยลูกศรคือทิฏฐินั้นหวั่นไหวอยู่
เหมือนใบไม้ไหวเพราะต้องลม
[๗๕๕] บาปกรรมตั้งขึ้นภายในเรา พลันให้ผล
เป็นไปในร่างกายที่มีผัสสายตนะ๒ ๖ ทุกเมื่อ
[๗๕๖] เรายังไม่พบหมอที่จะช่วยถอนลูกศร๓ของเรานั้นได้เลย
ทั้งหมดนั้นก็ไม่สามารถใช้เครื่องมือแพทย์ต่าง ๆ
ศัสตรา เวทมนต์ และยาอื่น ๆ ถอนลูกศรนั้นได้
[๗๕๗] ใครเล่าไม่ต้องใช้ศัสตรา ไม่ทำร่างกายให้เป็นแผล
ไม่เบียดเบียนร่างกายทุกส่วน จักถอนลูกศรคือกิเลส
ซึ่งเป็นลูกศรโดยปรมัตถ์ที่เสียบอยู่ภายในหทัยของเราออกได้

เชิงอรรถ :
๑ คือตั้งแต่สักกายทิฏฐิเป็นต้น (ขุ.เถร.อ. ๒/๗๕๔/๓๑๕)
๒ ผัสสายตนะ ๖ ได้แก่ ๑.จักขุสัมผัส ความกระทบทางตา ๒.โสตสัมผัส ความกระทบทางหู ๓.ฆานสัมผัส
ความกระทบทางจมูก ๔.ชิวหาสัมผัส ความกระทบทางลิ้น ๕.กายสัมผัส ความกระทบทางกาย ๖.
มโนสัมผัส ความกระทบทางใจ (ที.ปาฏิ. ๑๑/๓๒๓/๒๑๕)
๓ คือทิฏฐิและกิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๖๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๓. เตลกานิเถรคาถา
[๗๕๘] ผู้ลอยโทษที่เป็นพิษ(คือกิเลสมีราคะเป็นต้น)เสียได้
จัดว่าเป็นใหญ่ในธรรมแท้ ประเสริฐสุด
ช่วยชี้มือ(คืออริยมรรค) บอกที่บก(คือนิพพาน)
ให้แก่เราผู้ตกห้วงน้ำใหญ่ คือสงสารที่ลึก
[๗๕๙] เราได้จมลงในห้วงน้ำใหญ่คือสงสาร
ซึ่งมีดินเหนียวคือธุลีมีราคะเป็นต้นที่ไม่สามารถจะนำออกได้
เป็นที่แผ่ไปแห่งมายาความริษยา ความแข่งดี
และความง่วงเหงาหาวนอน
[๗๖๐] ความดำริทั้งหลายที่อาศัยราคะ เป็นเหมือนห้วงน้ำใหญ่
มีอุทธัจจะเป็นเมฆคำรน มีเมฆหมอกคือสังโยชน์ ๑๐
ย่อมนำเราผู้มีความเห็นผิดไป
[๗๖๑] กระแสตัณหาไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง
ทั้งตัณหาดังเถาวัลย์ก็ผลิขึ้น
ใครจะพึงกั้นกระแสตัณหาเหล่านั้นได้
ใครเล่าจักตัดตัณหาดังเถาวัลย์นั้นได้
[๗๖๒] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เชิญท่านทั้งหลายทำเขื่อนอันเป็นเครื่อง
กั้นกระแสตัณหาเสีย อย่าให้กระแสตัณหาที่เกิดแต่ใจพัดพาท่าน
ทั้งหลายไปเร็วพลันดังกระแสน้ำพัดพาต้นไม้ที่อยู่ริมฝั่งไป
[๗๖๓] พระศาสดาทรงมีพระปัญญาเป็นอาวุธ
อันหมู่ฤๅษีอาศัยแล้ว เป็นที่พึ่งสำหรับเราผู้มีภัย
กำลังแสวงหาฝั่งคือนิพพานจากที่มิใช่ฝั่งได้อย่างนี้
[๗๖๔] พระองค์ได้ทรงประทานบันได ที่นายช่างทำดีแล้ว บริสุทธิ์
ทำด้วยไม้แก่นคือธรรมอันมั่นคง
แก่เราผู้กำลังถูกกระแสห้วงน้ำ(คือตัณหา)พัดไป
และรับสั่งว่า อย่ากลัวเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๖๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๔. รัฏฐปาลเถรคาถา
[๗๖๕] เราได้ขึ้นปราสาทคือสติปัฏฐาน
พิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้ยินดีในร่างกายของตน
ที่เราจักได้รู้ในกาลก่อนโดยเป็นแก่นสาร
[๗๖๖] เมื่อคราวที่เราได้เห็นทาง (คือวิปัสสนา)
ซึ่งเป็นอุบายสำหรับขึ้นเรือ (คืออริยมรรค)
แล้วไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน จึงได้เห็นท่าที่ดีเยี่ยม๑
[๗๖๗] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงทางอันยอดเยี่ยม
เพื่อไม่ให้เป็นไปแห่งบาปธรรมคือทิฏฐิและมานะเป็นต้น
ซึ่งเปรียบเหมือนลูกศรเกิดแต่ตน ทั้งเกิดแต่ตัณหาที่นำไปสู่ภพได้
[๗๖๘] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำจัดโทษที่เป็นพิษ
ได้ทรงช่วยบรรเทากิเลสเครื่องร้อยรัดของเราที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน
ครอบงำสันดานอยู่มาเป็นเวลานาน
๔. รัฏฐปาลเถรคาถา
ภาษิตของพระรัฏฐปาลเถระ
(พระรัฏฐปาลเถระได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๗๖๙] ขอเชิญโยมมารดาบิดาทรงดูอัตภาพ
ที่ผ้าและอาภรณ์เป็นต้น ทำให้วิจิตร
มีกายเป็นแผล มีกระดูก ๓๐๐ ท่อนเป็นโครงร่าง
กระสับกระส่ายที่พวกคนเขลาดำริหวังกันส่วนมาก
ซึ่งไม่มีความยั่งยืนตั้งมั่น
[๗๗๐] ขอเชิญโยมมารดาบิดาทรงดูรูปที่สตรีใช้แก้วมณีและต่างหู
แต่งให้วิจิตร ซึ่งมีหนังหุ้มกระดูกไว้ภายใน งามพร้อมเสื้อผ้า

เชิงอรรถ :
๑ โสดาปัตติมรรค (ขุ.เถร.อ. ๒/๗๖๖/๓๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๖๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๔. รัฏฐปาลเถรคาถา
[๗๗๑] เท้าทั้งสองย้อมด้วยครั่งสด หน้าทาด้วยจุรณ
ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[๗๗๒] ผมที่ตบแต่งให้เป็นลอนดังกระดานหมากรุก
ตาทั้งสองที่หยอดด้วยยาหยอดตาก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[๗๗๓] กายที่มีสภาพเปื่อยเน่าเป็นธรรมดาซึ่งตบแต่งแล้ว
เหมือนกล่องยาหยอดตาใหม่ ๆ ที่งดงาม
ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[๗๗๔] นายพรานเนื้อดักบ่วงไว้แล้ว เนื้อไม่มาติดบ่วง
เราทั้งหลาย(ฝูงเนื้อ)กินเหยื่อแล้วหลบหนีไป
เมื่อนายพรานกำลังคร่ำครวญอยู่
[๗๗๕] เราทั้งหลายกัดบ่วงของพรานเนื้อขาดแล้ว เนื้อไม่ติดบ่วง
เรากินเหยื่อแล้วหลบหนีไป เมื่อพรานเนื้อกำลังเศร้าโศกอยู่
[๗๗๖] อาตมาเห็นผู้คนที่มีทรัพย์ในโลก ได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแล้ว
ไม่ยอมให้(ใคร) เพราะความหลง
ได้ทรัพย์แล้ว เก็บสะสมไว้ และปรารถนากามคุณยิ่ง ๆ ขึ้นไป
[๗๗๗] พระราชาทรงกดขี่ ช่วงชิงเอาแผ่นดิน
ทรงครอบครองแผ่นดินซึ่งมีสมุทรสาครล้อมรอบ
ตลอดสมุทรสาครฝั่งนี้ ยังไม่ทรงพอ
ยังทรงปรารถนาจะครอบครองสมุทรสาครฝั่งโน้นอีก
[๗๗๘] ทั้งพระราชาและคนอื่นเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ปราศจากตัณหา
เข้าถึงความตาย ยังไม่เต็มตามที่ต้องการเลย
ก็ละทิ้งร่างกายไป เพราะความอิ่มด้วยกามไม่มีในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๖๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๔. รัฏฐปาลเถรคาถา
[๗๗๙] หมู่ญาติพากันสยายผม คร่ำครวญถึงคนที่ตายนั้นและพูดว่า
ทำอย่างไรหนอ พวกญาติของเราทั้งหลายจึงจะไม่ตาย
แต่นั้นก็นำศพนั้นซึ่งห่อผ้าไว้แล้วยกขึ้นสู่เชิงตะกอนแล้วช่วยกันเผา
[๗๘๐] ศพนั้นถูกเขาใช้หลาวแทงเผาอยู่ ละโภคทรัพย์ มีแต่ผ้าผืนเดียว
เมื่อคนจะตาย ญาติ มิตร หรือสหายก็ช่วยไม่ได้
[๗๘๑] ทายาททั้งหลายก็ขนทรัพย์สมบัติของเขาไป
ส่วนสัตว์ที่ตายไปก็ย่อมไปตามกรรม
เมื่อตายไป ทรัพย์ไร ๆ คือ บุตร ภรรยา ข้าวของ เงินทอง
และแว่นแคว้นก็ติดตามไปไม่ได้
[๗๘๒] ทรัพย์ช่วยคนให้มีอายุยืนไม่ได้
ทั้งช่วยคนให้ละความแก่ก็ไม่ได้
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนั้นว่าน้อยนัก
ไม่ยั่งยืน มีความแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา
[๗๘๓] ทั้งคนมั่งมี ทั้งคนยากจนก็ย่อมประสบเช่นนั้น
ทั้งพาลและบัณฑิตก็ประสบเหมือนกันทั้งนั้น
คนพาลนั่นแหละถูกเหตุแห่งทุกข์กระทบเข้า
ย่อมหวั่นไหวเพราะความเป็นคนโง่
ส่วนบัณฑิตถูกต้องก็ไม่หวั่นไหว
[๗๘๔] เพราะเหตุนั้นแล ปัญญาเท่านั้นเป็นเหตุบรรลุนิพพาน
ซึ่งเป็นที่สุดแห่งภพในโลกนี้ จึงประเสริฐกว่าทรัพย์
ก็เพราะยังไม่ได้บรรลุที่สุด คนพาลทั้งหลายจึงทำแต่กรรมชั่วในภพ
น้อยภพใหญ่เพราะความเขลา
[๗๘๕] ผู้ที่ทำกรรมชั่ว ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏร่ำไป
คนมีปัญญาน้อย เมื่อเชื่อคนที่ทำกรรมชั่วนั้น
ก็ย่อมเวียนว่ายตายเกิดร่ำไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๗๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๔. รัฏฐปาลเถรคาถา
[๗๘๖] โจรผู้ทำกรรมถูกเขาจับได้ตรงทาง ๓ แยก
ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตน ฉันใด
หมู่สัตว์ผู้ทำกรรมชั่ว ตายไปแล้ว ย่อมเดือดร้อนในโลกหน้า
เพราะกรรมของตน ฉันนั้น
[๗๘๗] เพราะกามทั้งหลายที่งดงามน่าปรารถนาชวนให้รื่นรมย์ใจ
ย่อมย่ำยีจิตโดยสภาวะต่าง ๆ ฉะนั้น
อาตมาเห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย จึงได้บวช มหาบพิตร
[๗๘๘] สัตว์ทั้งหลายทั้งหนุ่มทั้งแก่ พอร่างแตกสลายก็ล่วงไป
เหมือนผลไม้สุกงอมร่วงหล่นไป
มหาบพิตร อาตมาเห็นความไม่เที่ยงแม้นี้ จึงได้บวช
ความเป็นสมณะที่ปฏิบัติไม่ผิดนั่นแหละ ประเสริฐกว่า
[๗๘๙] อาตมาบวชด้วยศรัทธาได้ปฏิบัติชอบในพระศาสนาของพระชินเจ้า
การบวชของอาตมาไม่มีโทษ อาตมาฉันอาหารอย่างไม่เป็นหนี้
[๗๙๐] พิจารณาเห็นกามทั้งหลายโดยความเป็นของร้อน
เงินทองโดยความเป็นศัสตรา ทุกข์ตั้งแต่ถือปฏิสนธิในครรภ์ และ
ภัยใหญ่ในนรก
[๗๙๑] ครั้นเห็นโทษนี้แล้ว จึงได้ความสังเวชในครั้งนั้น
ในคราวนั้น อาตมานั้นเป็นผู้ถูกลูกศรคือราคะเป็นต้นทิ่มแทงอยู่
บัดนี้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว
[๗๙๒] อาตมาปรนนิบัติพระศาสดา
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ปลงภาระที่หนักเสียได้
ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
[๗๙๓] อาตมาออกบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นอันเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง
อาตมาก็ได้บรรลุแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๗๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๕. มาลุงกยปุตตเถรคาถา
๕. มาลุงกยปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระมาลุงกยบุตรเถระ
(พระมาลุงกยบุตรเถระได้กล่าวภาสิตเหล่านี้ว่า)
[๗๙๔] เมื่อเห็นรูป มัวใส่ใจถึงอารมณ์อันเป็นที่รักอยู่
ย่อมหลงลืมสติได้
ผู้ที่มีจิตกำหนัดนักยังเสวยรูปารมณ์อยู่
[๗๙๕] เวทนาต่าง ๆ ซึ่งมีรูปเป็นอารมณ์ ย่อมเจริญแก่เขา
อภิชฌา๑ และวิหิงสา๒ ย่อมเบียดเบียนจิตของเขา
เพราะสั่งสมอย่างนี้ ทุกข์ย่อมเป็นไป
ท่านกล่าวว่ายังห่างไกลนิพพาน
[๗๙๖] เมื่อฟังเสียงแล้ว มัวใส่ใจถึงอารมณ์อันเป็นที่รักอยู่
ย่อมหลงลืมสติได้
ผู้ที่มีจิตกำหนัดนัก ยังเสวยสัททารมณ์อยู่
สัททารมณ์นั้นย่อมผูกพันเขาไว้
[๗๙๗] เวทนาต่าง ๆ ซึ่งมีเสียงเป็นอารมณ์ ย่อมเจริญแก่เขา
อภิชฌา และวิหิงสา ย่อมเบียดเบียนจิตของเขา
เพราะสั่งสมอย่างนี้ ทุกข์ย่อมเป็นไป
ท่านกล่าวว่ายังห่างไกลนิพพาน
[๗๙๘] เมื่อบุคคลดมกลิ่นแล้ว ใส่ใจว่าเป็นนิมิตที่น่ายินดี
ก็เป็นอันหลงลืมสติ
ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น เขามีจิตกำหนัดนัก
เพลิดเพลิน และติดคันธารมณ์นั้นอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ความเพ่งเล็งอยากได้จัด (ขุ.เถร.อ. ๒/๗๙๕/๓๓๕)
๒ ความพยาบาท (ขุ.เถร.อ. ๒/๗๙๒/๓๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๗๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๕. มาลุงกยปุตตเถรคาถา
[๗๙๙] เวทนาต่าง ๆ ซึ่งมีกลิ่นเป็นอารมณ์ ย่อมเจริญแก่เขา
อภิชฌา และวิหิงสา ย่อมเบียดเบียนจิตของเขา
เพราะสั่งสมอย่างนี้ ทุกข์ย่อมเป็นไป
ท่านกล่าวว่า ยังห่างไกลนิพพาน
[๘๐๐] เมื่อบุคคลลิ้มรสแล้ว ใส่ใจว่าเป็นนิมิตที่อร่อย
ก็เป็นอันหลงลืมสติ
ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น เขามีจิตกำหนัดนัก
เพลิดเพลิน และติดรสารมณ์นั้นอยู่
[๘๐๑] เวทนาต่าง ๆ ซึ่งมีรสเป็นอารมณ์ ย่อมเจริญแก่เขา
อภิชฌา และวิหิงสา ย่อมเบียดเบียนจิตของเขา
เพราะสั่งสมอย่างนี้ ทุกข์ย่อมเป็นไป
ท่านกล่าวว่ายังห่างไกลนิพพาน
[๘๐๒] เมื่อบุคคลถูกต้องโผฏฐัพพะแล้ว ใส่ใจว่าเป็นนิมิตที่น่าติดใจ
ก็เป็นอันหลงลืมสติ
ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น เขามีจิตกำหนัดนัก
เพลิดเพลิน และติดโผฏฐัพพารมณ์นั้นอยู่
[๘๐๓] เวทนาต่าง ๆ ซึ่งมีผัสสะเป็นอารมณ์ ย่อมเจริญแก่เขา
อภิชฌา และวิหิงสา ย่อมเบียดเบียนจิตของเขา
เพราะสั่งสมอย่างนี้ ทุกข์ย่อมเป็นไป
ท่านกล่าวว่า ยังห่างไกลนิพพาน
[๘๐๔] เมื่อบุคคลรู้ธรรมารมณ์แล้ว
ใส่ใจว่าเป็นนิมิตที่น่าเพลิดเพลิน
ก็เป็นอันหลงลืมสติ
ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น เขามีจิตกำหนัดนัก
เพลิดเพลิน และติดธรรมารมณ์นั้นอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๗๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๕. มาลุงกยปุตตเถรคาถา
[๘๐๕] เวทนาต่าง ๆ ซึ่งมีธรรมารมณ์เป็นเหตุ ย่อมเจริญแก่เขา
อภิชฌา และวิหิงสา ย่อมเบียดเบียนจิตของเขา
เพราะสั่งสมอย่างนี้ ทุกข์ย่อมเป็นไป
ท่านกล่าวว่ายังห่างไกลนิพพาน
[๘๐๖] ผู้ที่เห็นรูปแล้ว มีสติอยู่เฉพาะหน้า
ไม่กำหนัดยินดีในรูป มีจิตคลายความกำหนัด
รู้แจ้งรูปารมณ์นั้น และไม่ติดรูปารมณ์นั้นอยู่
[๘๐๗] เมื่อพระโยคีนั้นพิจารณาเห็นรูป
โดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น
หรือแม้เสวยเวทนาโดยที่กิเลสมีอภิชฌาเป็นต้น เป็นไปไม่ได้
กิเลสวัฏย่อมสิ้นไป ย่อมก่อรากขึ้นไม่ได้ฉันใด
ท่านมีสติประพฤติอยู่อย่างนี้ก็ฉันนั้น
เมื่อไม่ก่อวัฏฏทุกข์อย่างนี้ ท่านกล่าวว่าอยู่ใกล้นิพพาน
[๘๐๘] ผู้ที่ฟังเสียงแล้ว มีสติอยู่เฉพาะหน้า
ไม่กำหนัดยินดีในเสียง
มีจิตคลายความกำหนัด
รู้แจ้งสัททารมณ์นั้น และไม่ติดสัททารมณ์นั้นอยู่
[๘๐๙] เมื่อพระโยคีนั้น ฟังเสียง หรือแม้เสวยเวทนา
โดยที่กิเลสมีอภิชฌาเป็นต้น เป็นไปไม่ได้
กิเลสวัฏ ย่อมสิ้นไป ย่อมก่อรากขึ้นไม่ได้
ท่านมีสติประพฤติอยู่อย่างนี้ เมื่อไม่ก่อวัฏฏทุกข์อย่างนี้
ท่านกล่าวว่า อยู่ใกล้นิพพาน
[๘๑๐] ผู้ที่ดมกลิ่นแล้ว มีสติอยู่เฉพาะหน้า
ไม่กำหนัดยินดีในกลิ่น มีจิตคลายความกำหนัด
รู้แจ้งคันธารมณ์นั้น และไม่ติดคันธารมณ์นั้นอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๗๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๕. มาลุงกยปุตตเถรคาถา
[๘๑๑] เมื่อพระโยคีนั้น ดมกลิ่น หรือแม้เสวยเวทนา
โดยที่กิเลสมีอภิชฌาเป็นต้น เป็นไปไม่ได้
กิเลสวัฏ ย่อมสิ้นไป ย่อมก่อรากขึ้นไม่ได้
ท่านมีสติประพฤติอยู่อย่างนี้ เมื่อไม่ก่อวัฏฏทุกข์อย่างนี้
ท่านกล่าวว่า อยู่ใกล้นิพพาน
[๘๑๒] ผู้ที่ลิ้มรสแล้ว มีสติอยู่เฉพาะหน้า
ไม่กำหนัดยินดีในรส มีจิตคลายความกำหนัด
รู้แจ้งรสารมณ์นั้น และไม่ติดรสารมณ์นั้นอยู่
[๘๑๓] เมื่อพระโยคีนั้นลิ้มรส หรือแม้เสวยเวทนา
โดยที่กิเลสมีอภิชฌาเป็นต้น เป็นไปไม่ได้
กิเลสวัฏย่อมสิ้นไป ย่อมก่อรากขึ้นไม่ได้
ท่านมีสติประพฤติอยู่อย่างนี้ เมื่อไม่ก่อวัฏฏทุกข์อย่างนี้
ท่านกล่าวว่าอยู่ใกล้นิพพาน
[๘๑๔] ผู้ที่ถูกต้องโผฏฐัพพะแล้ว มีสติอยู่เฉพาะหน้า
ไม่กำหนัดยินดีในโผฏฐัพพะ มีจิตคลายความกำหนัด
รู้แจ้งโผฏฐัพพารมณ์นั้น และไม่ติดโผฏฐัพพารมณ์นั้นอยู่
[๘๑๕] เมื่อพระโยคีนั้น ถูกต้องโผฏฐัพพะ หรือแม้เสวยเวทนา
โดยที่กิเลสมีอภิชฌาเป็นต้นเป็นไปไม่ได้
กิเลสวัฏย่อมสิ้นไป ย่อมก่อรากขึ้นไม่ได้
ท่านมีสติประพฤติอยู่อย่างนี้ เมื่อไม่ก่อวัฏฏทุกข์อย่างนี้
ท่านกล่าวว่าอยู่ใกล้นิพพาน
[๘๑๖] ผู้ที่รู้ธรรมารมณ์แล้ว มีสติอยู่เฉพาะหน้า
ไม่กำหนัดยินดีในธรรมารมณ์
มีจิตคลายความกำหนัด รู้แจ้งธรรมารมณ์นั้น
และไม่ติดธรรมารมณ์นั้นอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๗๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๖. เสลเถรคาถา
[๘๑๗] เมื่อพระโยคีนั้น รู้แจ้งธรรมารมณ์หรือแม้เสวยเวทนา
โดยที่กิเลสมีอภิชฌาเป็นต้น เป็นไปไม่ได้
กิเลสวัฏย่อมสิ้นไป ย่อมก่อรากขึ้นไม่ได้
ท่านมีสติประพฤติอยู่อย่างนี้ เมื่อไม่ก่อวัฏฏทุกข์อย่างนี้
ท่านกล่าวว่าอยู่ใกล้นิพพาน
๖. เสลเถรคาถา
ภาษิตของพระเสลเถระ
(พระเสลเถระ ครั้งเป็นคฤหัสถ์ ได้สดุดีพระผู้มีพระภาคด้วยภาษิต ๖ ภาษิตว่า)
[๘๑๘] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์เสด็จอุบัติมาดีแล้ว
ทรงมีพระวิริยภาพ มีพระวรกายสมบูรณ์
มีพระรัศมีที่ซ่านออกจากพระวรกายงดงาม
สวยงามน่าทัศนายิ่งนัก
พระฉวีวรรณเปล่งปลั่งดังทองคำ พระเขี้ยวแก้วทั้งซ้ายขวาก็สุกใส
[๘๑๙] เพราะพระลักษณะแห่งมหาบุรุษ
ที่มีปรากฏแก่มหาบุรุษนั้น
ย่อมมีปรากฏในพระวรกายของพระองค์อย่างครบถ้วน
[๘๒๐] พระองค์มีพระเนตรแจ่มใส พระพักตร์ผุดผ่อง
พระวรกายสูงใหญ่ตรง
มีพระเดช ทรงรุ่งเรืองท่ามกลางหมู่สมณะ
เหมือนดวงอาทิตย์รุ่งเรืองอยู่
[๘๒๑] พระองค์เป็นภิกษุ มีพระคุณสมบัติงดงามน่าชม
มีพระฉวีวรรณ ผุดผ่องดังทองคำ
พระองค์ทรงมีวรรณสูงส่งถึงเพียงนี้ จะเป็นสมณะไปทำไม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๗๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๖. เสลเถรคาถา
[๘๒๒] พระองค์ควรเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ที่องอาจในหมู่พลรถ
ทรงปราบปรามไพรีชนะ ทรงเป็นใหญ่ในภาคพื้นชมพูทวีป
ซึ่งมีสมุทรสาครทั้งสี่เป็นขอบเขต
[๘๒๓] ข้าแต่พระโคดม ขอเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิจอมมนุษย์ตามพระราชประเพณี
ที่กษัตราธิราชโดยพระชาติได้เสวยราชย์
มีหมู่เสวกามาตย์เสด็จตามพระองค์เถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า)
[๘๒๔] เสลพราหมณ์ เราเป็นพระราชาอยู่แล้ว
คือเป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม
ยังธรรมจักรที่ไม่มีใคร ๆ หมุนไปได้ ให้หมุนไปได้
(พระเสลเถระครั้งเป็นคฤหัสถ์ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๘๒๕] ข้าแต่พระโคดม พระองค์ทรงปฏิญาณว่า
เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม
ทั้งยังตรัสยืนยันว่า ยังธรรมจักรให้เป็นไป
[๘๒๖] ใครหนอเป็นเสนาบดีของพระองค์ผู้เจริญ
เป็นสาวกผู้ประพฤติตามเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์ผู้เป็นศาสดา
ใครจะช่วยประกาศธรรมจักรที่พระองค์ทรงให้เป็นไปแล้วนี้ได้
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า)
[๘๒๗] เสลพราหมณ์เอ๋ย สารีบุตรผู้เกิดตามตถาคต
จะช่วยประกาศธรรมจักรที่ยอดเยี่ยมซึ่งเราให้เป็นไปไว้แล้ว
[๘๒๘] พราหมณ์ เราได้รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง
ได้เจริญธรรมที่ควรให้เจริญ ได้ละธรรมที่ควรละได้แล้ว
เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๗๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๖. เสลเถรคาถา
[๘๒๙] พราหมณ์ ท่านจงกำจัดความเคลือบแคลงสงสัยในเราเสีย
จงน้อมใจเชื่อเราเสียเถิด
เพราะว่าการพบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย
[๘๓๐] ผู้จะปรากฏเนือง ๆ ในโลก
ย่อมเป็นการหาได้ยาก
พราหมณ์ เรานั้น เป็นพุทธเจ้า
เป็นหมอผ่าตัดลูกศรคือกิเลสมีราคะเป็นต้นชั้นเยี่ยม
[๘๓๑] เป็นผู้ประเสริฐ ไม่มีผู้เปรียบเทียบ
ย่ำยีมารและเสนามาร
ทำมารทั้งหมดซึ่งไม่ใช่มิตรไว้ในอำนาจ
ไม่มีภัยแต่ที่ไหนเบิกบานอยู่
(พระเสลเถระ ครั้งเป็นคฤหัสถ์ กราบทูลด้วย ๓ คาถาว่า)
[๘๓๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระองค์
จงทรงใคร่ครวญคำของข้าพระองค์นี้
เหมือนอย่างที่พระตถาคตผู้มีพระจักษุ
เป็นหมอผ่าตัดลูกศรคือกิเลสมีราคะเป็นต้น
เป็นมหาวีระ ตรัสไว้ดังราชสีห์บันลือในป่า
[๘๓๓] ใครได้เห็นพระองค์ผู้ประเสริฐ ไม่มีผู้เปรียบเทียบ
ย่ำยีมารและเสนามาร
จะไม่พึงเลื่อมใสเล่า
ถึงคนที่เกิดในตระกูลต่ำก็ยังเลื่อมใส
[๘๓๔] ผู้ปรารถนาจะตามฉัน ก็เชิญมา
หรือผู้ไม่ปรารถนา ก็เชิญกลับไป
ฉันจะบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาประเสริฐนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๗๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๖. เสลเถรคาถา
(มาณพทั้งหลายซึ่งเป็นอันเตวาสิก ๓๐๐ คน ได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๘๓๕] ถ้าท่านอาจารย์ผู้เจริญชอบใจคำสอน
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้
แม้พวกเราก็จะบวชในสำนัก
ของพระพุทธเจ้าผู้มีพระปัญญาประเสริฐ
(พระเสลเถระ ครั้งเป็นคฤหัสถ์ดีใจ ได้กราบทูลด้วยภาษิตว่า)
[๘๓๖] พราหมณ์ ๓๐๐ คนนี้ พากันประนมมือ ทูลขอบรรพชาว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลาย
จะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระองค์
(พระผู้มีพระภาค ให้พราหมณ์ทั้งหมดบวชแล้ว ตรัสพระพุทธภาษิตว่า)
[๘๓๗] เสละ พรหมจรรย์เรากล่าวไว้ดีแล้ว
ผู้บรรลุจะเห็นได้เอง ให้ผลไม่จำกัดกาล
ในศาสนาที่มีการบรรพชาไม่ไร้ผล
เมื่อคนที่ไม่ประมาทหมั่นศึกษาอยู่
(พระเสลเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๘๓๘] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ
เพราะข้าพระองค์ทั้งหลายได้ถึงสรณคมน์นั้นในวันที่ ๘ แต่นี้ ฉะนั้น
ข้าพระองค์ทั้งหลายจึงได้ใช้เวลาฝึกอินทรีย์
ในพระศาสนาของพระองค์มาเป็นเวลา ๗ วัน
[๘๓๙] พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า
เป็นศาสดา เป็นจอมปราชญ์ ทรงครอบงำมารได้
ทรงตัดอนุสัยกิเลสได้ ทรงข้ามห้วงน้ำใหญ่คือสงสารได้แล้ว
จึงทรงยังหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามได้ด้วย
[๘๔๐] พระองค์ทรงล่วงอุปธิกิเลสได้พ้น ทำลายอาสวะแล้ว
ไม่มีความยึดมั่น ละความหวาดกลัวภัยได้
เหมือนราชสีห์ ไม่กลัวต่อหมู่เนื้อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๗๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๗. ภัททิยกาฬิโคธาปุตตเถรคาถา
[๘๔๑] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแกล้วกล้า
ภิกษุทั้ง ๓๐๐ รูปนี้ ยืนประนมมืออยู่
ขอพระองค์ทรงเหยียดพระยุคลบาทเถิด
ภิกษุทั้งหลาย จะได้ถวายบังคมพระองค์ผู้เป็นศาสดา
๗. ภัททิยกาฬิโคธาปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระภัททิยกาฬิโคธาปุตรเถระ
(พระภัททิยกาฬิโคธาบุตรเถระ (ได้บันลือสีหนาทต่อพระพักตร์พระศาสดา
ด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๘๔๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ (เมื่อก่อน) ข้าพระองค์
เมื่อจะไปไหน นั่งคอช้างไป
เมื่อจะนุ่งห่มผ้า ก็นุ่งห่มผ้าเนื้อละเอียด
เมื่อจะบริโภค ก็บริโภคแต่ข้าวสาลีที่ราดด้วยเนื้ออันสะอาด
[๘๔๓] บัดนี้ ข้าพระองค์มีนามว่าภัททิยะ
เป็นโอรสของพระนางกาฬิโคธา
เป็นผู้เจริญ มีความเพียรต่อเนื่อง
ยินดีในอาหารที่บิณฑบาตได้มา ไม่ยึดมั่น เพ่งพินิจอยู่
[๘๔๔] ข้าพระองค์มีนามว่าภัททิยะ เป็นโอรสของพระนางกาฬิโคธา
ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร มีความเพียรต่อเนื่อง
ยินดีในอาหารที่บิณฑบาตได้มา ไม่ยึดมั่น เพ่งพินิจอยู่
[๘๔๕] ฯลฯ ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๔๖] ฯลฯ ถือการครองผ้า ๓ ผืนเป็นวัตร
มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๘๐ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น