Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๖-๑๑ หน้า ๕๓๔ - ๕๘๖

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖-๑๑ สุตตันตปิฎกที่ ๑๘ ขุททกนิกาย
วิมาน เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย เถรคาถา
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต] ๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
[๑๑๘๘] ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน
ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษสูงสุด ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน
ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านสิ้นอาสวะแล้วเป็นผู้ควรแก่ทักษิณา
[๑๑๘๙] พระโมคคัลลานะผู้อันมนุษย์และเทวดาบูชาแล้ว
เกิดโดยอริยชาติ ครอบงำความตายเสียได้
ไม่ติดอยู่ในสังขาร เหมือนดอกบัวไม่ติดอยู่กับน้ำ
[๑๑๙๐] พระโมคคัลลานะรู้แจ้งโลกได้ตั้งพันเพียงครู่เดียว
เหมือนท้าวมหาพรหมเป็นผู้ชำนาญในคุณคือฤทธิ์
ในจุติและอุบัติของเหล่าสัตว์
ย่อมเห็นเทวดาทั้งหลายได้ด้วยทิพยจักษุในกาลอันสมควร
(พระมหาโมคคัลลานะ เมื่อจะประกาศคุณของตนได้กล่าวภาษิตว่า)
[๑๑๙๑] พระสารีบุตรเท่านั้นเยี่ยมกว่าภิกษุผู้ทรงคุณธรรมชั้นสูง
ทั้งทางด้านปัญญา ศีล และอุปสมะ
[๑๑๙๒] พึงเนรมิตอัตภาพชั่วขณะเดียวได้ตั้งแสนโกฏิ
เราเป็นผู้ฉลาดในวิธีแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ทั้งเป็นผู้ชำนาญด้วยฤทธิ์
[๑๑๙๓] ภิกษุโมคคัลลานโคตรผู้ถึงความสำเร็จโดยความเป็นผู้ชำนาญ
ในสมาธิและวิชชา เป็นปราชญ์
มีอินทรีย์มั่นคงในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้อันตัณหาอาศัยไม่ได้
ได้ตัดเครื่องจองจำคือกิเลสเสียได้อย่างเด็ดขาด
เหมือนช้างทำลายปลอกที่ทำด้วยเถาหัวด้วนให้ขาดเสีย
[๑๑๙๔] เราได้ปรนนิบัติพระศาสดา
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ปลงภาระที่หนักเสียได้ ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
[๑๑๙๕] เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงเราก็ได้บรรลุแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต] ๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
[๑๑๙๖] นรกที่ทุสสิมาร๑ ได้ทำร้ายพระวิธุรอัครสาวก
และพระกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วได้ไปหมกไหม้อยู่ เป็นเช่นไร
[๑๑๙๗] คือ นรกที่มีขอเหล็กเป็นร้อย
ทั้งให้เกิดทุกขเวทนาเฉพาะตนทั่วถึงหมด
นรกที่ทุสสิมารได้ทำร้ายพระวิธุระองค์อัครสาวก
และพระกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วได้ไปหมกไหม้อยู่ เป็นเช่นนี้
[๑๑๙๘] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ย่อมรู้กรรมและผลกรรมนี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง
กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์
[๑๑๙๙] วิมานทั้งหลายที่อยู่ท่ามกลางมหาสมุทร
อยู่ได้ตลอดกัป มีสีดังแก้วไพฑูรย์งดงาม
แสงไฟสว่างดุจกองไฟที่ลุกโพลง
ทั้งเพียบพร้อมด้วยรัศมี มีหมู่นางอัปสรจำนวนมาก
มีผิวพรรณต่างกันฟ้อนรำอยู่
[๑๒๐๐] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ย่อมรู้วิมานนี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง
กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้าจะต้องได้รับทุกข์
[๑๒๐๑] ภิกษุใดอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ไปแล้ว
ภิกษุสงฆ์เป็นอันมากก็เห็นอยู่
ทำปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดาให้ไหวด้วยปลายนิ้วเท้า
[๑๒๐๒] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ย่อมรู้วิมานนี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง
กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์

เชิงอรรถ :
๑ ทุสสิมาร คือมารผู้ชอบประทุษร้าย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต] ๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
[๑๒๐๓] ภิกษุใดมีพลังฤทธิ์กล้าแข็ง ได้ทำเวชยันตปราสาทให้ไหวด้วย
ปลายนิ้วเท้า ทั้งทำเทพทั้งหลายให้สลดใจ
[๑๒๐๔] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ย่อมรู้วิมานนี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง
กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์
[๑๒๐๕] ภิกษุนั้นใดไต่ถามท้าวสักกเทวราชที่เวชยันตปราสาทว่า
มหาบพิตร ท้าวเธอทรงทราบวิมุตติซึ่งเป็นที่สิ้นตัณหาบ้างไหม
ท้าวสักกเทวราชถูกถามปัญหา ได้ทรงพยากรณ์ตามแนวเทศนาที่
พระศาสดาทรงแสดงแล้วแก่ภิกษุนั้น
(พระมหาโมคคัลลานเถระได้พูดทักทายท้าวมหาพรหมนั้นด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๐๖] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ย่อมรู้วิมุตติเป็นที่สิ้นตัณหานี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง
กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์
[๑๒๐๗] ภิกษุใดยืนอยู่ที่สุธรรมสภาสอบถามท้าวมหาพรหมว่า
ท่านผู้เจริญ แม้วันนี้ ท่านยังมีความเห็นอยู่อย่างเมื่อก่อน
หรือท่านยังเห็นอยู่ว่ารัศมีของพระผู้มีพระภาค
พร้อมทั้งสาวกพวยพุ่งรุ่งเรืองยิ่งนัก
[๑๒๐๘] ครั้นท้าวมหาพรหมถูกถามปัญหาแล้ว
ได้พยากรณ์ตามแนวเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดงแล้วแก่ภิกษุนั้นว่า
ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้นิรทุกข์
ข้าพเจ้าไม่ได้มีความเห็นอย่างเมื่อก่อนแล้ว
[๑๒๐๙] ข้าพเจ้าเห็นว่า รัศมีของพระผู้มีพระภาค
พร้อมทั้งสาวกเป็นไปล่วงเลยรัศมีในพรหมโลก
วันนี้ ข้าพเจ้านั้นละทิ้งคำพูดของพระเจ้า
ผู้เห็นว่า เราเป็นผู้เที่ยง มีความยั่งยืน เสียได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
(พระมหาโมคคัลลานเถระได้พูดทักทายท้าวมหาพรหมนั้นด้วยภาษิตเหล่านี้ ว่า)
[๑๒๑๐] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้ทิฏฐินี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง
กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์
[๑๒๑๑] ภิกษุใดแสดงยอดขุนเขาสิเนรุให้ชนชาวชมพูทวีป ปุพพวิเทหทวีป
อมรโคยานทวีป และชาวอุตตรกุรุทวีป เห็นกันได้ด้วยวิโมกข์
[๑๒๑๒] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ย่อมรู้วิโมกข์ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้วนี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง
กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์
[๑๒๑๓] ไฟไม่ได้ตั้งใจเลยว่า เราจะไหม้คนพาล
แต่คนพาลกระโดดเข้าไปหาไฟที่ลุกโพลง ให้ไหม้ตัวเอง ฉันใด
[๑๒๑๔] มาร ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกันทำร้ายพระตถาคตและอริยสาวก
นั้นแล้ว ก็จะเผาตนเอง เหมือนคนพาลถูกไฟไหม้
[๑๒๑๕] มารทำร้ายพระตถาคตและอริยสาวกนั้น จึงได้ประสบสิ่งมิใช่บุญ
มารผู้ชั่วช้า หรือท่านเข้าใจว่า บาปไม่ให้ผลแก่เรา
[๑๒๑๖] มารผู้มุ่งแต่ความตาย เมื่อท่านทำแต่บาปท่านก็ย่อมตายด้วย
ความทุกข์สิ้นกาลนาน ท่านอย่าได้รังเกียจสาวกของพระพุทธเจ้า
แล้วมุ่งทำร้ายภิกษุทั้งหลายเลย
[๑๒๑๗] พระมหาโมคคัลลานเถระได้คุกคามมารที่ป่าเภสกฬาวันดังนี้แล้ว
เพราะเหตุนั้น มารนั้นเสียใจ จึงได้หายไป ณ ที่นั้นนั่นเอง
ทราบว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระได้กล่าวภาษิตทั้งหลาย
ด้วยประการฉะนี้แล
สัฏฐินิบาต จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
พระมหาโมคคัลลานเถระผู้มีฤทธิ์มากรูปเดียวเท่านั้น
และในสัฏฐินิบาตนี้มี ๖๘ ภาษิต ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
๒๑. มหานิบาต
๑. วังคีสเถรคาถา
ภาษิตของพระวังคีสเถระ
(พระวังคีสเถระบวชแล้วใหม่ ๆ ได้เห็นหญิงหลายคน ล้วนแต่งตัวงดงาม พา
กันไปวิหาร ก็เกิดความกำหนัดยินดี เมื่อจะบรรเทาความกำหนัดยินดีนั้น ได้กล่าว
ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๑๘] ความตรึกกับความคะนองอย่างเลวทรามเหล่านี้
ย่อมเข้าครอบงำเราผู้ออกบวชเป็นบรรพชิต
[๑๒๑๙] บุตรของคนสูงศักดิ์ได้ศึกษาวิชายิงธนูคราวละมากๆ
มาอย่างเชี่ยวชาญ ยิงลูกธนูไปรอบ ๆ ตัวโดยไม่ผิดพลาด
[๑๒๒๐] ถึงแม้หญิงจะมามากยิ่งไปกว่าหญิงเหล่านี้
ก็จะเบียดเบียนเราไม่ได้แน่นอน
เพราะเราได้เป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในธรรมเสียแล้ว
[๑๒๒๑] ด้วยว่า เราได้สดับทางเป็นที่ให้ถึงนิพพานนี้
เบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ดวงอาทิตย์
ใจของเรายินดีแล้วในทางนั้นแน่นอน
[๑๒๒๒] มารผู้ชั่วช้า ถ้าท่านยังเข้ามาหาเราผู้อยู่ด้วยอาการอย่างนี้
เราก็จะทำทางที่เราทำไว้ให้ถึงที่สุด
โดยท่านจะไม่พบเห็นได้ ฉะนั้น
[๑๒๒๓] ผู้ใดละความยินดี ยินร้าย
และความตรึกเกี่ยวกับบ้านเรือนได้ทั้งหมด
หมดตัณหา ไม่มีกิเลส ไม่พึงก่อตัณหาดุจป่าในที่ไหน ๆ
ผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
[๑๒๒๔] รูปอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้
ทั้งที่อาศัยแผ่นดิน อยู่ในอากาศ อันนับเนื่องในภพ ๓
ล้วนไม่เที่ยงคร่ำคร่าไปทั้งนั้น
ท่านผู้รู้ทั้งหลายรู้แจ้งอย่างนี้แล้ว มีตนหลุดพ้นเที่ยวไป
[๑๒๒๕] เหล่าปุถุชนที่มีจิตหมกมุ่นในอุปธิทั้งหลาย
คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
ท่านจงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวกำจัดความพอใจในเบญจกามคุณนี้เสีย
เพราะผู้ใดไม่ติดในเบญจกามคุณนี้
บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่าเป็นมุนี
[๑๒๒๖] ถ้ามิจฉาวิตกที่อิงอาศัยทิฏฐิ ๖๐ ประการ
ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่ตั้งมั่นในกาลไหน ๆ
ผู้ใดไม่พึงเป็นไปในอำนาจกิเลสด้วยอำนาจมิจฉาวิตกเหล่านั้น
ทั้งไม่ชอบกล่าวคำหยาบคาย ผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ
[๑๒๒๗] ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต มีจิตมั่นคงมานาน ไม่ลวงโลก
มีปัญญารักษาตนได้ หมดความทะเยอทะยาน
เป็นมุนี ได้บรรลุสันตบท ย่อมหวังคอยเฉพาะเวลาที่จะปรินิพพาน
[๑๒๒๘] ท่านผู้เป็นสาวกของพระโคดม
ท่านจงละความเย่อหยิ่งเสีย
และจงละทางแห่งความเย่อหยิ่งให้หมด
เพราะผู้ที่หมกมุ่นอยู่ในทางแห่งความเย่อหยิ่ง
จะต้องเดือดร้อนเป็นเวลานาน
[๑๒๒๙] หมู่สัตว์ที่ยังลบหลู่คุณท่าน
ถูกความเย่อหยิ่งกำจัดแล้ว ย่อมตกนรก
เหล่าปุถุชนที่ถูกความเย่อหยิ่งกำจัดแล้ว
เกิดในนรก ย่อมเศร้าโศกตลอดกาลนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
[๑๒๓๐] บางครั้ง ภิกษุปฏิบัติชอบแล้ว
ชนะกิเลสได้ด้วยมรรค ไม่เศร้าโศกเลย
ยังกลับได้เกียรติคุณและความสุข
บัณฑิตทั้งหลายเรียกภิกษุผู้ปฏิบัติชอบเช่นนั้นว่า เป็นผู้เห็นธรรม
[๑๒๓๑] เพราะเหตุนั้น ภิกษุในพระศาสนานี้
ไม่ควรมีกิเลสเครื่องตรึงใจ ๕ อย่าง
ควรมีแต่ความเพียรชอบ ละนิวรณ์ได้แล้ว เป็นผู้บริสุทธิ์
ทั้งละความเย่อหยิ่งได้หมด
สงบระงับได้แล้วทำที่สุดทุกข์ได้ด้วยวิชชา ๓
(พระวังคีสเถระเมื่อจะแจ้งความเป็นไปของตนแก่พระอานนทเถระ จึงได้กล่าว
ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๓๒] กระผมถูกกามราคะแผดเผา
จิตของกระผมเร่าร้อน
ท่านผู้เป็นเชื้อสายโคตมโคตร ดังกระผมจะขอโอกาส
ขอท่านโปรดอนุเคราะห์ช่วยบอกเหตุที่ดับราคะให้ด้วย
(พระอานนทเถระได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๓๓] จิตของท่านเร่าร้อนก็เพราะความสำคัญผิด
ท่านจงละทิ้งนิมิตว่างามซึ่งประกอบด้วยราคะเสีย
[๑๒๓๔] จงอบรมจิตให้มีอารมณ์เดียว ให้ตั้งมั่นดี
ด้วยการพิจารณาเห็นว่าไม่งาม
จงอบรมกายคตาสติ
และจงเป็นผู้เบื่อหน่ายให้มาก
[๑๒๓๕] จงเจริญการพิจารณาเห็นว่า ไม่เที่ยง
และจงละมานานุสัยเสียให้ได้ขาด
แต่นั้น ท่านจะเป็นผู้สงบเที่ยวไป เพราะละมานะได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๔๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
(พระวังคีสเถระ เกิดความโสมนัส เมื่อจะชมเชยพระผู้มีพระภาคเบื้องพระพักตร์
จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๓๖] บุคคลพึงกล่าวแต่วาจาที่ไม่เป็นเหตุทำตนให้เดือดร้อน
และไม่เป็นเหตุเบียดเบียนชนเหล่าอื่น
วาจานั้นแลเป็นสุภาษิต
[๑๒๓๗] พึงกล่าวแต่วาจาที่น่ารัก ซึ่งเหล่าชนพากันชื่นชม
ไม่พึงพูดหยาบคายต่อชนเหล่าอื่น
พึงพูดแต่คำที่น่ารัก
[๑๒๓๘] คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย
ธรรมนี้เป็นของเก่า
สัตบุรุษทั้งหลายตั้งมั่นอยู่แล้วในคำสัตย์
ทั้งที่เป็นอรรถและเป็นธรรม
[๑๒๓๙] พระพุทธเจ้าตรัสพระวาจาใดอันเกษม
เพื่อบรรลุนิพพาน เพื่อทำที่สุดทุกข์
พระวาจานั้นแลสูงสุดกว่าวาจาทั้งหลาย
(พระวังคีสเถระเมื่อจะสรรเสริญท่านพระสารีบุตรเถระ จึงได้กล่าวภาษิต
เหล่านี้ว่า)
[๑๒๔๐] พระสารีบุตรมีปัญญาสุขุม เป็นนักปราชญ์
รู้ทางและมิใช่ทาง มีปัญญามาก
แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย
[๑๒๔๑] แสดงโดยย่อก็ได้ โดยพิสดารก็ได้
เมื่อท่านกำลังแสดงธรรม
เสียงที่เปล่งออกก็ไพเราะเหมือนเสียงนกสาลิกา
ทั้งปฏิภาณก็ปรากฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๔๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
[๑๒๔๒] เมื่อท่านแสดงธรรมนั้นอยู่
ภิกษุทั้งหลายที่ฟังคำไพเราะ
ก็มีจิตร่าเริงเบิกบานด้วยเสียงที่น่ายินดี น่าฟัง ไพเราะจับใจ
จึงตั้งใจฟัง
(พระวังคีสเถระเมื่อจะชมเชยพระศาสดา ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๔๓] ในวัน ๑๕ ค่ำ ซึ่งเป็นวันวิสุทธิปวารณา
วันนี้ มีภิกษุ ๕๐๐ รูปมาประชุมกัน
ล้วนเป็นผู้ตัดกิเลสเครื่องผูกคือสังโยชน์ได้ขาด
ไม่มีทุกข์สิ้นภพสิ้นชาติแล้ว
เป็นผู้แสวงหาคุณธรรมอันประเสริฐ
[๑๒๔๔] พระเจ้าจักรพรรดิมีหมู่อำมาตย์แวดล้อม
เสด็จเลียบแผ่นดินอันไพศาล
มีมหาสมุทรสาครเป็นขอบเขตนี้ ฉันใด
[๑๒๔๕] สาวกทั้งหลายผู้ได้วิชชา ๓ ละมัจจุราชได้
พากันแวดล้อมพระผู้มีพระภาคผู้ทรงชนะสงคราม
ทรงนำหมู่ เป็นผู้ยอดเยี่ยม ก็ฉันนั้น
[๑๒๔๖] พระสาวกทั้งมวลล้วนแต่เป็นพุทธชิโนรส
และในสาวกเหล่านี้ไม่มีความว่างเปล่าจากคุณธรรมเลย
ข้าพระองค์พึงถวายบังคมพระองค์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งดวงอาทิตย์
ซึ่งทรงทำลายลูกศรคือตัณหาได้แล้ว
[๑๒๔๗] ภิกษุกว่าพันรูปเข้าไปเฝ้าพระสุคตซึ่งกำลังทรงแสดงธรรม
ที่ปราศจากกิเลสดุจธุลีคือนิพพาน ซึ่งหาภัยแต่ที่ไหนมิได้
[๑๒๔๘] ภิกษุเหล่านั้นก็พากันฟังธรรมอันไพบูลย์
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีหมู่ภิกษุแวดล้อมย่อมทรงงดงามหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๔๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
[๑๒๔๙] พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่านาคะ
ทรงเป็นพระฤๅษีผู้สูงสุดกว่าบรรดาฤๅษีทั้งหลาย
ทรงโปรยฝนอมตธรรมให้ตกรดเหล่าพระสาวก
คล้ายฝนห่าใหญ่
[๑๒๕๐] ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า
พระวังคีสะสาวกของพระองค์ประสงค์จะเฝ้าพระศาสดา
จึงออกจากที่พักกลางวัน มาถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๕๑] พระวังคีสะครอบงำทางเป็นที่เกิดขึ้นแห่งกิเลสมาร
ทำลายกิเลสเครื่องตรึงใจ ๕ อย่างมีราคะเป็นต้นอยู่
เธอทั้งหลายจงดูวังคีสะ ผู้ทำการปลดเปลื้องกิเลสเป็นเครื่องผูก
ผู้อันตัณหา มานะ และทิฏฐิอิงอาศัยไม่ได้
ผู้จำแนกธรรมเป็นส่วน ๆ ได้นั้น
[๑๒๕๒] ความจริง พระวังคีสะได้บอกทางไว้หลายอย่าง
เพื่อถอนโอฆกิเลส
และเมื่อพระวังคีสะนั้นบอกทางอมตะนั้นไว้แล้ว
ภิกษุทั้งหลายที่เห็นธรรมก็ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
[๑๒๕๓] พระวังคีสะนั้นผู้ทำแสงสว่างให้เกิด รู้แจ่มแจ้ง
ได้เห็นนิพพานเป็นเหตุล่วงพ้นวิญญาณฐิติได้ทั้งหมด
ครั้นรู้และทำให้แจ้ง
จึงได้แสดงธรรมอันเลิศแก่ภิกษุผู้เดินทางไกล ๑๐ รูป
[๑๒๕๔] เมื่อท่านแสดงธรรมไว้ดีอย่างนี้
ท่านผู้รู้แจ้งธรรมทั้งหลายจะมีความประมาทได้อย่างไร
เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุผู้ไม่ประมาทในคำสอนของพระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น พึงตั้งใจศึกษา(สิกขา ๓) ทุกเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๔๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
(พระวังคีสเถระหวังจะชมเชยพระอัญญาโกณฑัญญเถระ จึงได้กล่าวภาษิต
เหล่านี้ว่า)
[๑๒๕๕] พระอัญญาโกณฑัญญเถระผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า
ได้มีความบากบั่นอย่างแรงกล้า
ได้วิเวกซึ่งเป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขเป็นประจำ
[๑๒๕๖] เป็นผู้ไม่ประมาท ศึกษาอยู่ ได้บรรลุสิ่งที่พระสาวกผู้ทำตาม
คำสอนของพระศาสดาจะพึงบรรลุได้ทุกรูป
[๑๒๕๗] พระอัญญาโกณฑัญญเถระมีอานุภาพมาก
ได้บรรลุวิชชา ๓ ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น
เป็นพุทธทายาทมาถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระศาสดาอยู่
(พระวังคีสเถระหวังจะชมเชยพระผู้มีพระภาคและพระอรหันตสาวก จึงได้กล่าว
ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๕๘] พระสาวกทั้งหลายผู้ได้บรรลุวิชชา ๓ ละมัจจุราชได้
พากันแวดล้อมพระมหามุนีผู้ถึงฝั่งแห่งทุกข์ ประทับนั่งที่ข้างภูเขา
[๑๒๕๙] พระมหาโมคคัลลานะผู้มีฤทธิ์มาก
พิจารณากำหนดรู้จิตที่หลุดพ้น
ไม่มีอุปธิของพระขีณาสพเหล่านั้นได้ด้วยจิต
[๑๒๖๐] พระสาวกเหล่านั้นพากันแวดล้อมพระมหามุนีโคดม
ผู้ทรงสมบูรณ์ด้วยสมบัติทุกประการ
ทรงถึงฝั่งแห่งทุกข์ เพียบพร้อมด้วยพระคุณมากอย่าง
(พระวังคีสเถระ หวังจะชมเชยพระผู้มีพระภาค จึงได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๒๖๑] ข้าแต่พระมหามุนีอังคีรส
พระองค์ไพโรจน์ล่วงโลกทั้งหมดด้วยพระยศ
เหมือนดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ที่ปราศจากมลทิน
สว่างจ้าอยู่บนท้องฟ้าที่ปราศจากเมฆหมอก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๔๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
(พระวังคีสเถระเมื่อจะประกาศคุณของพระศาสดาและของตน จึงได้กล่าว
ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๖๒] เมื่อก่อน เราเป็นผู้อันนักปราชญ์เคารพนับถือ
เที่ยวไปจากหมู่บ้านไปยังหมู่บ้าน จากเมืองไปยังเมือง
จึงได้เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
[๑๒๖๓] พระองค์ผู้เป็นพระมหามุนี ทรงถึงฝั่งแห่งทุกข์
ได้ทรงแสดงธรรมโปรดเรา
เราฟังธรรมแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา
[๑๒๖๔] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธองค์
แล้วรู้ชัดถึงขันธ์ อายตนะ และธาตุ จึงได้ออกบวชเป็นบรรพชิต
[๑๒๖๕] พระตถาคตทั้งหลายทรงอุบัติเพื่อประโยชน์แก่สตรีและบุรุษผู้ทำ
ตามคำสอนเป็นจำนวนมากหนอ
[๑๒๖๖] พระมหามุนีได้บรรลุพระโพธิญาณเพื่อประโยชน์แก่เหล่าภิกษุ
และภิกษุณีผู้ได้เห็นธรรมซึ่งเป็นทางออกจากทุกข์หนอแล
[๑๒๖๗] พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งดวงอาทิตย์ ทรงมีพระจักษุ
ทรงอนุเคราะห์ต่อหมู่สัตว์ ได้ทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือ
[๑๒๖๘] (๑) ทุกข์ (๒) เหตุให้เกิดทุกข์ (๓) ความดับทุกข์
(๔) อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[๑๒๖๙] เราได้เห็นธรรมเหล่านั้น เหมือนอย่างที่พระศาสดาตรัสไว้
ความเป็นจริงอย่างนี้ เราได้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว
ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๑๒๗๐] การที่เราได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าเป็นการดีหนอสำหรับเรา
เพราะเราได้บรรลุธรรมที่ประเสริฐสุด
บรรดาธรรมที่พระองค์ทรงจำแนกไว้ดีแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๔๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
[๑๒๗๑] เราได้ถึงฝั่งแห่งอภิญญา ชำระโสตธาตุให้หมดจด
ได้วิชชา ๓ บรรลุฤทธิ์ ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น
(พระวังคีสเถระ ในคราวที่พระอุปัชฌาย์ของท่านปรินิพพาน ได้กล่าวภาษิต
เหล่านี้ว่า)
[๑๒๗๒] ข้าพระองค์ขอทูลถามพระบรมศาสดาผู้มีพระปัญญามากว่า
ภิกษุใดมีชื่อเสียง เรืองยศ ตัดความสงสัย
ดับกิเลสเสียได้ในปัจจุบันชาตินี่แหละ
ได้ปรินิพพานที่อัคคาฬวเจดีย์วิหาร
[๑๒๗๓] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ภิกษุนั้นเห็นธรรมคือนิพพานอันมั่นคง
เป็นพราหมณ์มาแต่กำเนิด
มีนามที่พระองค์ทรงประทานให้ว่า นิโครธกัปปะ
ผู้มุ่งแต่ความหลุดพ้น ปรารภความเพียร
ยังกราบไหว้ท่านอยู่
[๑๒๗๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าศากยะ ซึ่งมีพระจักษุรอบคอบ
แม้ข้าพระองค์ทุกรูป ปรารถนาจะทราบถึงพระสาวกรูปนั้น
ข้าพระองค์ทั้งหลายพร้อมที่จะเงี่ยโสตลงฟัง
พระองค์มิใช่หรือเป็นศาสดา พระองค์เป็นผู้ยอดเยี่ยม
[๑๒๗๕] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญาดุจแผ่นดิน
ขอพระองค์โปรดตัดความเคลือบแคลงสงสัยของข้าพระองค์ทั้งหลาย
โปรดตรัสบอกพระนิโครธกัปปเถระผู้ปรินิพพานแล้วนั้น ให้ข้า
พระองค์ทราบด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุรอบคอบ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกท่ามกลางแห่งข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด
เหมือนท้าวสักกะผู้มีพระเนตรตั้งพันตรัสบอกแก่เหล่าเทวดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๔๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
[๑๒๗๖] กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้
เป็นทางก่อให้เกิดความลุ่มหลง เป็นฝ่ายแห่งความไม่รู้
เป็นมูลฐานแห่งความเคลือบแคลงสงสัย
กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่านั้นพอมาถึงพระตถาคตซึ่งมีพระจักษุ
มีพระคุณยิ่งกว่านรชนทั้งหลายนี้แล ย่อมหมดไป
[๑๒๗๗] ถ้าพระผู้มีพระภาคจะเป็นบุรุษแต่เพียงกำเนิด
ก็จะไม่พึงทรงทำลายกิเลสได้
เหมือนลมพัดทำลายก้อนเมฆหมอกที่หนาทึบไม่ได้
โลกทั้งมวลที่มืดอยู่แล้ว ก็ยิ่งจะมืดหนักลง
พระสาวกทั้งหลาย มีพระสารีบุตรเป็นต้น ที่รุ่งเรืองอยู่บ้าง
ก็จะไม่พึงรุ่งเรืองนัก
[๑๒๗๘] นักปราชญ์ทั้งหลาย เป็นผู้ทำแสงสว่างให้เกิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระปรีชาญาณ
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์เข้าใจพระองค์ว่า
ทรงทำแสงสว่างให้เกิดเป็นแม่นมั่น
ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ว่าพระองค์ทรงเห็นธรรมทั้งปวง
ได้อย่างแจ่มแจ้ง จึงได้พากันมาเฝ้า
ขอพระองค์โปรดประกาศพระนิโครธกัปปเถระแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย
ในบริษัทด้วยเถิด
[๑๒๗๙] พระองค์ทรงเปล่งพระวาจาอย่างไพเราะจับใจ
ทั้งทรงเปล่งด้วยพระสุรเสียงกังวานที่เกิดแต่พระนาสิกที่บุญญาธิการ
ตกแต่งมาดีแล้วได้อย่างคล่องแคล่วแผ่วเบา เหมือนพญาหงส์ทอง
โก่งคอขันเบา ๆ อย่างไพเราะ
ข้าพระองค์ทุกรูปตั้งใจแน่วแน่
ขอฟังพระดำรัสที่ไพเราะของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๔๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
[๑๒๘๐] ข้าพระองค์จะเปิดเผยความเกิดและความตายที่ละได้อย่างสิ้นเชิง
จะแสดงบอกบาปธรรมซึ่งเป็นตัวกำจัด
เพราะบรรดาปุถุชนและเสขบุคคลเป็นต้น
ผู้ที่ทำได้ตามความพอใจตนไม่มี
เหมือนคนที่ไตร่ตรองพิจารณาตามพระตถาคตเท่านั้น
สามารถที่จะรู้หรือกล่าวธรรมอย่างที่ตัวต้องการได้
[๑๒๘๑] พระดำรัสของพระองค์นี้มีไวยากรณ์สมบูรณ์
พระองค์ทรงมีพระปัญญาตรงไปตรงมาตรัสไว้อย่างถูกต้อง
ข้าพระองค์ก็เรียนมาดีแล้ว
การถวายบังคมที่ข้าพระองค์ถวายอย่างนอบน้อมนี้เป็นครั้งสุดท้าย
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญามาก
พระองค์ทรงทราบคติของพระนิโครธกัปปเถระได้
ไม่ยังข้าพระองค์ให้หลง
[๑๒๘๒] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
พระองค์ทรงตรัสรู้อริยธรรมทั้งที่เป็นโลกุตตระและโลกิยะ
ทรงทราบเญยยธรรมทั้งหมดได้
ไม่ยังข้าพระองค์ให้หลง
ข้าพระองค์หวังพระดำรัสของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง
เหมือนคนถูกความร้อนแผดเผาในฤดูร้อน
ก็ต้องการน้ำเป็นอย่างยิ่ง
ขอพระองค์ทรงยังฝนคือพระธรรมเทศนา
ที่ข้าพระองค์ฟังมาแล้วให้ตกลงเถิด
[๑๒๘๓] พระนิโครธกัปปเถระได้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์ของท่านนั้นไม่สูญเปล่าหรือ
ท่านนิพพานด้วยสอุปาทิเสสนิพพาน
หรือนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ข้าพระองค์ทั้งหลายขอฟังเรื่องนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๔๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
[๑๒๘๔] พระนิโครธกัปปเถระนั้นได้ตัดขาดตัณหาในนามรูปนี้
ทั้งตัดกระแสแห่งธรรมฝ่ายดำ
ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในสันดานมาช้านาน
ข้ามพ้นชาติมรณะได้อย่างสิ้นเชิง
พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐด้วยพลธรรม ๕ ประการได้ตรัสไว้ดังนี้
(พระวังคีสเถระกราบทูลด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๘๕] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นพุทธะ
ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระองค์แล้วย่อมเลื่อมใส
ทราบว่า เรื่องที่ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ไม่ไร้ประโยชน์
พระองค์เป็นพุทธเจ้าไม่ทรงลวงข้าพระองค์แน่นอน
[๑๒๘๖] สาวกของพระพุทธองค์พูดอย่างใด ก็ทำอย่างนั้น
ได้ตัดข่ายคือตัณหาที่แผ่กว้างทั้งมั่นคงของพญามารเจ้าเล่ห์ได้ขาด
[๑๒๘๗] พระผู้มีพระภาคสมควรที่จะตรัสว่า
ท่านนิโครธกัปปเถระได้เห็นมูลเหตุแห่งอุปาทาน
ล่วงพ้นบ่วงมัจจุราชที่ข้ามได้แสนยากแล้ว
(พระวังคีสเถระเมื่อจะประกาศความเลื่อมใส จึงได้กล่าวภาษิตสุดท้ายว่า)
[๑๒๘๘] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์
ข้าพระองค์ขอกราบไหว้ท่านพระนิโครธกัปปเถระ
ผู้เป็นวิสุทธิเทพ เป็นอนุชาตบุตร
มีความเพียรมาก เป็นผู้ประเสริฐ
ทั้งเป็นโอรสของพระองค์ผู้ประเสริฐนั้น
ทราบว่า ท่านพระวังคีสเถระได้กล่าวภาษิตทั้งหลายไว้
ด้วยประการฉะนี้แล
มหานิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๔๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
ในสัตตตินิบาต(มหานิบาต)นี้
พระวังคีสเถระผู้แตกฉานรูปเดียวเท่านั้น
ไม่มีพระเถระรูปอื่น และมี ๗๑ ภาษิต ฉะนี้แล
เถรคาถา จบ
สรุปความเถรคาถานี้
พระเถระ ๒๖๔ รูป ผู้เป็นพุทธบุตร ไม่มีอาสวะ
บรรลุนิพพานอันเป็นแดนเกษม พากันบันลือสีหนาท
ประกาศภาษิตไว้รวม ๑,๓๖๐ ภาษิต
แล้วก็พากันนิพพานเหมือนกองไฟหมดเชื้อแล้วดับไป ฉะนี้แล
เถรคาถา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๕๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑.เอกกนิบาต] ๒. มุตตาเถรีคาถา
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย เถรีคาถา
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. เอกกนิบาต
๑. อัญญตราเถรีคาถา
ภาษิตของพระอัญญตราเถรี
ทราบว่า พระเถรีรูปหนึ่งซึ่งไม่ปรากฏชื่อได้กล่าวภาษิตนี้ว่า
[๑] พระเถรีท่านจงใช้ท่อนผ้าทำจีวรนุ่งห่ม
แล้วพักผ่อนตามสบายเถิด เพราะราคะของท่านสงบแล้ว
เหมือนผักดองแห้งอยู่ในหม้อ
๒. มุตตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระมุตตาเถรี
(พระมุตตาเถรีรับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๒] มุตตา เธอจงพ้นไปจากโยคกิเลสทั้งหลาย๑
เหมือนดวงจันทร์พ้นจากถูกราหูจับ
เธอจงมีจิตหลุดพ้นแล้วบริโภคก้อนข้าวอย่างไม่มีหนี้เถิด

เชิงอรรถ :
๑ โยคกิเลส กิเลสที่ผูกสัตว์ไว้ในภพมี ๔ คือ (๑) กามโยคะ โยคะคือกาม (๒) ภวโยคะ โยคะคือภพ
(๓) ทิฏฐิโยคะ โยคะคือทิฏฐิ (๔) อวิชชาโยคะ โยคะคืออวิชชา (ขุ.เถรี.อ.๒/๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๕๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๕. อัญญตราติสสาเถรีคาถา
๓. ปุณณาเถรีคาถา
ภาษิตของพระปุณณาเถรี
(พระปุณณาเถรีรับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๓] ปุณณา เธอจงยังธรรมทั้งหลายให้บริบูรณ์
เหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญ
จงทำลายกองแห่งความมืดด้วยปัญญาที่บริบูรณ์
๔. ติสสาเถรีคาถา
ภาษิตของพระติสสาเถรี
(พระติสสาเถรีรับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๔] ติสสา เธอจงศึกษาในไตรสิกขา
โยคกิเลสทั้งหลายอย่าได้ครอบงำเธอเลย
เธอจงพรากจากกิเลสโยคะทั้งหมด
ท่องเที่ยวไปในโลกอย่างไม่มีอาสวะเถิด
๕. อัญญตราติสสาเถรีคาถา
ภาษิตของพระติสสาเถรีอีกรูปหนึ่ง
พระติสสาเถรีอีกรูปหนึ่ง (รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๕] ติสสา เธอจงประกอบธรรมทั้งหลายเถิด
ขณะอย่าได้ล่วงเลยเธอไป
เพราะผู้ที่มีขณะล่วงเลยไปแล้ว
จะต้องเศร้าโศกแออัดกันอยู่ในนรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๕๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๘. มิตตเถรีคาถา
๖. ธีราเถรีคาถา
ภาษิตของพระธีราเถรี
พระธีราเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๖] ธีรา เธอจงสัมผัสนิโรธซึ่งเป็นความสงบ
ระงับสัญญาอันเป็นสุข
จงยินดีนิพพานที่ยอดเยี่ยมซึ่งปลอดโปร่งโยคกิเลสเถิด
๗. อัญญตราธีราเถรีคาถา
ภาษิตของพระธีราเถรีอีกรูปหนึ่ง
พระธีราเถรีอีกรูปหนึ่ง(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๗] ธีราภิกษุณีผู้อบรมอินทรีย์แล้วด้วยธรรมทั้งหลายที่ทรงไว้
ย่อมชนะมาร๑พร้อมทั้งเสนามาร๒
แล้วดำรงไว้ซึ่งกายที่มีในภพสุดท้าย

๘. มิตตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระมิตตาเถรี
พระมิตตาเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๘] มิตตา เธอบวชแล้วด้วยศรัทธา
จงยินดีในกัลยาณมิตร
เจริญกุศลธรรมเพื่อบรรลุธรรมที่ปลอดโปร่งจากโยคะกิเลสเถิด

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสมาร (ขุ.เถรี.อ. ๗/๑๖)
๒ วัตถุกาม (ขุ.เถรี.อ. ๗/๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๕๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑๑. มุตตาเถรีคาถา
๙. ภัทราเถรีคาถา
ภาษิตของพระภัทราเถรี
พระภัทราเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๙] ภัทรา เธอบวชแล้วด้วยศรัทธา
จงยินดีในธรรมที่ดีงาม
เจริญกุศลธรรมเพื่อบรรลุธรรมที่ยอดเยี่ยม
ซึ่งปลอดโปร่งจากโยคะกิเลสเถิด
๑๐. อุปสมาเถรีคาถา
ภาษิตของพระอุปสมาเถรี
พระอุปสมาเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๐] อุปสมา เธอพึงข้ามโอฆะ๑ซึ่งเป็นบ่วงมารที่ข้ามได้แสนยาก
จงชนะมารพร้อมทั้งเสนามาร
ดำรงไว้ซึ่งกายที่มีในภพสุดท้ายเถิด
๑๑. มุตตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระมุตตาเถรี
พระมุตตาเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๑] เราเป็นผู้พ้นด้วยดี พ้นโดยชอบด้วยความพ้นจาก
ความค่อม ๓ อย่าง คือ
(๑) ค่อมเพราะครก (๒) ค่อมเพราะสาก (๓) ค่อมเพราะสามี
เป็นผู้พ้นจากความเกิดและความตาย
ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ สังสารวัฏ (ขุ.เถรี.อ. ๑๐/๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๕๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑๕. อุตตราเถรีคาถา
๑๒. ธัมมทินนาเถรีคาถา
ภาษิตของพระธัมมทินนาเถรี
พระธรรมทินนาเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๒] ผู้ที่เกิดฉันทะมีอัตภาพสุดท้ายก็พึงสัมผัสนิพพานด้วยใจ
มีจิตไม่ปฏิพัทธ์ในกามทั้งหลาย
บัณฑิตเรียกว่า ผู้มีกระแสในเบื้องบน๑
๑๓. วิสาขาเถรีคาถา
ภาษิตของพระวิสาขาเถรี
พระวิสาขาเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๓] ท่านทั้งหลาย จงทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
ที่บุคคลทำแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง
จงรีบล้างเท้าทั้งสอง แล้วนั่ง ณ ที่อันสมควรเถิด
๑๔. สุมนาเถรีคาถา
ภาษิตฃองพระสุมนาเถรี
พระสุมนาเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๔] เธอพิจารณาเห็นธาตุทั้งหลายว่าเป็นทุกข์แล้วอย่ามาเกิดอีก
คลายความพอใจในภพแล้ว จะเป็นผู้สงบระงับท่องเที่ยวไป
๑๕. อุตตราเถรีคาถา
ภาษิตของพระอุตตราเถรี
พระอุตตราเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๕] เราเป็นผู้สำรวมกาย วาจา และใจ
ถอนตัณหาพร้อมทั้งมูลรากได้แล้ว เป็นผู้เย็นดับสนิทแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ อนาคามิมรรคและสุทธาวาส (ขุ.เถรี.อ. ๑๒/๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๕๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑๘. สังฆาเถรีคาถา
๑๖. วุฑฒปัพพชิตสุมนาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุมนาเถรีผู้บวชเมื่อแก่
พระวุฑฒปัพพชิตสุมนาเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๖] สุมนาผู้เฒ่า เธอจงใช้ท่อนผ้าทำจีวรนุ่งห่ม
แล้วพักผ่อนตามสบายเถิด
เพราะเธอมีราคะสงบระงับแล้ว
เป็นผู้เย็น ดับสนิทแล้ว
๑๗. ธัมมาเถรีคาถา
ภาษิตของพระธัมมาเถรี
พระธรรมาเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๗] เราทุพพลภาพ มีกายสั่นเทา ถือไม้เท้าเที่ยวบิณฑบาต
ได้ล้มลงบนแผ่นดินตรงนั้นเอง
คราวนั้น จิตของเราหลุดพ้นแล้ว
เพราะเห็นโทษในกาย
๑๘. สังฆาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสังฆาเถรี
พระสังฆาเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๘] เราละเรือน บุตร และสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นที่รัก บวชแล้ว
ละราคะโทสะ และคลายอวิชชาเสีย
ถอนตัณหาพร้อมทั้งมูลรากได้แล้ว
เป็นผู้สงบระงับ ดับสนิทแล้ว
เอกกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๕๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๒. เชนตาเถรีคาถา
๒. ทุกนิบาต
๑. อภิรูปนันทาเถรีคาถา
ภาษิตของพระนันทาเถรี
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคตรัสสอนนันทาสิกขมานาผู้ยินดีในรูปที่สวยงาม
เนือง ๆ ด้วยพระคาถาเหล่านี้ (ภายหลังพระเถรีบรรลุอรหัตผลแล้วได้กล่าวภาษิต
นี้ว่า)
[๑๙] นันทา เธอจงพิจารณาดูกายซึ่งกระสับกระส่าย
ไม่สะอาด เป็นของเปื่อยเน่า
จงอบรมจิตให้ตั้งมั่นดี มีอารมณ์เดียว ด้วยอสุภภาวนาเถิด
[๒๐] และจงอบรมอนิมิตตวิโมกข์
ละเสียซึ่งอนุสัยคือมานะ
เพราะละมานะได้ แต่นั้นเธอจะอยู่อย่างสงบ
๒. เชนตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระเชนตาเถรี
ทราบว่า พระเชนตาเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า
[๒๑] โพชฌงค์ ๗ ประการเป็นทางบรรลุนิพพานนี้
เราเจริญแล้วทั้งหมดตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
[๒๒] เพราะเราได้เห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล้ว
ร่างกายนี้เป็นร่างกายที่มีในภพสุดท้าย
ชาติสงสารสิ้นแล้ว
บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๕๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๕. จิตตาเถรีคาถา
๓. สุมังคลมาตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุมังคลมาตาเถรี
พระสุมังคลมาตาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๓] เราพ้นดีแล้ว ในการพ้นดีแล้ว เป็นผู้พ้นแล้วโดยชอบจากสาก
จากสามีของเราผู้ไม่มีหิริ จากร่ม จากหม้อข้าว และจากงูน้ำ
[๒๔] เรากำลังตัดราคะ และโทสะ อาศัยโคนไม้
เข้าฌานอยู่โดยความสุขว่า สุขหนอ
๔. อัฑฒกาสีเถรีคาถา
ภาษิตของพระอัฑฒกาสีเถรี
พระอัฑฒกาสีเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๕] ส่วยของเรามีประมาณเท่าส่วยในกาสีชนบท
ชาวนิคมกำหนดราคาแคว้นกาสีนั้นไว้แล้ว
จึงตั้งราคาเราไว้ครึ่งหนึ่ง
[๒๖] ภายหลัง เราเบื่อหน่ายในรูป
และเมื่อเบื่อหน่ายจึงคลายความกำหนัด
เราอย่าพึงแล่นไปสู่ชาติสงสารบ่อย ๆ อีกเลย
เราบรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
๕. จิตตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระจิตตาเถรี
พระจิตตาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๗] เราเป็นผู้มีร่างกายผ่ายผอม เป็นไข้ อ่อนเพลียมาก
ต้องเดินถือไม้เท้าไปไหน ๆ ก็จริงนะ
ถึงอย่างนั้น ก็ยังขึ้นภูเขาได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๕๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๗. มิตตาเถรีคาถา
[๒๘] เราเก็บผ้าสังฆาฏิ และคว่ำบาตรแล้ว
ข่มตนทำลายกองความมืดได้แล้วบนภูเขา
๖. เมตติกาเถรีคาถา
ภาษิตของพระเมตติกาเถรี
พระเมตติกาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๙] เราประสบทุกข์ เสื่อมกำลัง ผ่านวัยสาวไปแล้ว
ต้องเดินถือไม้เท้าไปไหน ๆ ก็จริงนะ
ถึงอย่างนั้น ก็ยังขึ้นภูเขาได้
[๓๐] เราเก็บผ้าสังฆาฏิ และคว่ำบาตรแล้ว นั่งบนภูเขา
ครั้งนั้น จิตของเราหลุดพ้นแล้ว
เราได้บรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
๗. มิตตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระมิตตาเถรี
พระมิตตาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๓๑] เรายินดีเพลิดเพลินเทพนิกาย
จึงเข้าจำอุโบสถซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘
ตลอดวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
และตลอดปาฏิหาริยปักษ์
[๓๒] เราเมื่อปรารถนาหมู่เทพจึงได้เข้าจำอุโบสถวันนี้
เรานั้นฉันอาหารมื้อเดียว
ปลงผม ห่มผ้าสังฆาฏิ บวชแล้ว
ไม่พึงปรารถนาเทพนิกาย
กำจัดความกระวนกระวายในใจเสียได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๕๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๑๐. สามาเถรีคาถา
๘. อภยมาตุเถรีคาถา
ภาษิตของพระอภยมาตุเถรี
พระอภยมาตุเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๓๓] แม่เจ้า ท่านจงพิจารณาร่างกายนี้ เบื้องบนตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป
เบื้องล่างตั้งแต่ปลายผมลงมาว่า เป็นของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็นเน่า
[๓๔] เราพิจารณาอยู่อย่างนี้ จึงถอนราคะทั้งปวงได้
ตัดความเร่าร้อนได้ขาด เป็นผู้เย็นดับสนิทแล้ว
๙. อภยาเถรีคาถา
ภาษิตของพระอภยาเถรี
พระอภยาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๓๕] อภยา กายซึ่งปุถุชนทั้งหลายข้องอยู่ มีสภาวะที่จะต้องแตกไป
เราจะเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่เฉพาะหน้า ละทิ้งกายนี้เสีย
[๓๖] เราถูกทุกข์มากมายกระทบแล้ว จึงยินดีในความไม่ประมาท
บรรลุความสิ้นตัณหา ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
๑๐. สามาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสามาเถรี
พระสามาเถรี(ได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๓๗] เราบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ จึงไม่ได้ความสงบใจ
ต้องเข้าออกจากที่อยู่ถึง ๔-๕ ครั้ง
ตั้งแต่ได้รับโอวาทของพระอานนทเถระแล้ว
ในคืนที่ ๘ เรานั้นจึงถอนตัณหาได้
[๓๘] เราถูกทุกข์มากมายกระทบแล้ว จึงยินดีในความไม่ประมาท
บรรลุความสิ้นตัณหา ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ทุกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๖๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๓. ติกนิบาต] ๒. อุตตมาเถรีคาถา
๓. ติกนิบาต
๑. อปราสามาเถรีคาถา
ภาษิตของพระอปราสามาเถรี
พระอปราสามาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๓๙] ตั้งแต่เราบวชมาแล้ว ๒๕ พรรษา
ยังไม่รู้สึกว่าได้ความสงบจิตในกาลไหน ๆ เลย
[๔๐] เราบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ จึงไม่ได้ความสงบจิต
เพราะเหตุนั้น เรามาระลึกถึงคำสอนของพระชินเจ้า
จึงได้ถึงความสังเวช
[๔๑] ถูกทุกข์มากมายกระทบแล้ว จึงยินดีในความไม่ประมาท
บรรลุความสิ้นตัณหา ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
วันนี้เป็นคืนที่ ๗ นับแต่วันที่เราทำตัณหาให้แห้งสนิทแล้ว
๒. อุตตมาเถรีคาถา
ภาษิตของพระอุตตมาเถรี
พระอุตตมาเถรี(ได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๔๒] เราบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ จึงไม่ได้ความสงบจิต
ต้องเข้าออกจากที่อยู่ถึง ๔-๕ ครั้ง
[๔๓] ได้เข้าไปหาภิกษุณีผู้มีวาจาที่เชื่อถือได้
ท่านได้แสดงธรรม คือขันธ์ อายตนะ และธาตุแก่เรา
[๔๔] เราฟังธรรมของท่านแล้วได้ปฏิบัติตามที่ท่านพร่ำสอน
เอิบอิ่มด้วยสุขที่เกิดแต่ปีติ
นั่งขัดสมาธิท่าเดียวตลอด ๗ วัน
ในวันที่ ๘ ทำลายกองความมืดได้แล้ว จึงเหยียดเท้าออก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๖๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๓. ติกนิบาต] ๔. ทันติกาเถรีคาถา
๓. อปราอุตตมาเถรีคาถา
ภาษิตของพระอปราอุตตมาเถรี
พระอปราอุตตมาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๔๕] โพชฌงค์ ๗ ประการเป็นทางบรรลุนิพพานนี้
เราเจริญแล้วทั้งหมดตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
[๔๖] ได้สุญญตสมาบัติและอนิมิตตสมาบัติเป็นประจำตามปรารถนา
เราเป็นธิดาซึ่งเกิดแต่พระอุระของพระพุทธเจ้า
ยินดีแล้วในนิพพานทุกเมื่อ
[๔๗] กามทั้งปวงทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์เราก็ตัดขาดแล้ว
การเวียนว่ายตายเกิดสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก
๔. ทันติกาเถรีคาถา
ภาษิตของพระทันติกาเถรี
พระทันติกาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๔๘] เราออกจากที่พักกลางวันบนภูเขาคิชฌกูฏ
ได้เห็นช้างลงสู่แม่น้ำแล้ว ขึ้นที่ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
[๔๙] นายควาญช้างถือขอแล้ว ร้องบอกว่า จงเหยียดเท้าออก
ช้างเหยียดเท้าออกแล้ว
นายควาญช้างจึงขึ้นขี่ช้าง
[๕๐] เราเห็นช้างที่ไม่เคยได้รับการฝึก
ครั้นได้รับการฝึกแล้ว ตกอยู่ในอำนาจของมนุษย์ทั้งหลาย
ภายหลังแต่ได้เห็นช้างนั้น เราจึงเข้าป่า
ทำจิตให้เป็นสมาธิเพราะกิริยาช้างนั้นเป็นเหตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๖๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๓. ติกนิบาต] ๖. สุกกาเถรีคาถา
๕. อุพพิรีเถรีคาถา
ภาษิตของพระอุพพิรีเถรี
(พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎี แสดงพระองค์แก่พระอุพพิรีเถรี ได้
ตรัสพุทธภาษิตนี้ว่า)
[๕๑] อุพพิรีเธอคร่ำครวญอยู่ในป่าว่า ลูกชีวาเอ๋ย ดังนี้
เธอจงรู้สึกตนก่อนเถิด
บรรดาธิดาของเธอที่มีชื่อเหมือนกันว่า ชีวา
ถูกเผาอยู่ในป่าช้านี้ทั้งหมดถึง ๘๔,๐๐๐ คน
เธอเศร้าโศกถึงธิดาคนไหน
พระอุพพิรีเถรี(บรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะกราบทูล ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๕๒] ลูกศรคือความโศกที่เห็นได้ยาก ซึ่งเสียบที่หทัยหม่อมฉัน
หม่อมฉันถอนขึ้นได้แล้ว เพราะพระองค์ได้ทรงช่วยบรรเทาความ
โศกถึงธิดาของหม่อมฉันซึ่งถูกความโศกครอบงำ
[๕๓] วันนี้ หม่อมฉันนั้นถอนลูกศรคือความโศกขึ้นได้แล้ว
หมดความอยาก ดับรอบแล้ว
ได้ถึงมุนีพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
๖. สุกกาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุกกาเถรี
พระสุกกาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๕๔] พวกมนุษย์เมืองราชคฤห์เหล่านี้ทำอะไรกัน
มัวดื่มน้ำผึ้ง๑ ดีดนิ้วมืออยู่ ไม่เข้าไปหาพระสุกกาเถรีผู้กำลังแสดง
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เล่า

เชิงอรรถ :
๑ น้ำหวานที่เกิดจากการหมักดองของเครื่องปรุงหลายอย่าง (เมรัย, น้ำเมา) (ขุ.เถรี.อ. ๕๔/๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๖๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๓. ติกนิบาต] ๗. เสลาเถรีคาถา
[๕๕] ส่วนพวกคนที่มีปัญญา
เข้าใจดื่มพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น
ซึ่งเป็นธรรมไม่นำกลับหลัง
ทำผู้ฟังให้ชุ่มชื่น มีโอชะ
ดุจบุคคลเดินทางไกลดื่มน้ำฝน
[๕๖] พระสุกกาเถรีมีธรรมบริสุทธิ์
ปราศจากราคะ
มีจิตตั้งมั่น ชนะมารพร้อมทั้งเสนามาร
ยังทรงร่างกายที่มีในภพสุดท้ายอยู่
๗. เสลาเถรีคาถา
ภาษิตของพระเสลาเถรี
(มารกล่าวกับพระเสลาเถรีว่า)
[๕๗] นิพพานเป็นที่สลัดออกไม่มีในโลก
ท่านจะทำประโยชน์อะไรด้วยวิเวกเล่า
เชิญท่านบริโภคความยินดีในกามทั้งหลายเถิด
อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลังเลย
พระเสลาเถรี(โต้ตอบมารด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๕๘] กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว
เป็นเขียงรองสับขันธ์ทั้งหลาย
บัดนี้ เราไม่มีความยินดีในกามที่ท่านพูดถึง
[๕๙] เรากำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวงได้แล้ว
ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว
มารผู้ชั่วช้าเลวทราม ท่านจงรู้อย่างนี้
ท่านถูกเรากำจัดแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๖๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๓. ติกนิบาต] ๘. โสมาเถรีคาถา
๘. โสมาเถรีคาถา
ภาษิตของพระโสมาเถรี
(มารกล่าวกับพระโสมาเถรีว่า)
[๖๐] ฐานะใดอันประเสริฐอย่างยิ่ง
คือพระอรหัตซึ่งฤๅษีทั้งหลายพึงบรรลุ
อันบุคคลเหล่าอื่นให้สำเร็จได้ยาก
ท่านเป็นหญิงมีปัญญาแค่ ๒ นิ้ว๑
ไม่สามารถจะบรรลุฐานะอันนั้นได้
พระโสมาเถรี(โต้ตอบมารด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๖๑] เมื่อจิตตั้งมั่นดี
ญาณเป็นไปอยู่
เมื่อเห็นแจ้งธรรมโดยชอบ
ความเป็นหญิงจะทำอะไรเราได้
[๖๒] เรากำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวงได้แล้ว
ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว
มารผู้ชั่วช้าเลวทราม ท่านจงรู้อย่างนี้
ท่านถูกเรากำจัดแล้ว
ติกนิบาต จบ

เชิงอรรถ :
๑ มีปัญญาทราม (ขุ.เถรี.อ. ๖๐/๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๖๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๔. จตุกกนิบาต] ๑. ภัททกาปิลานีเถรีคาถา
๔. จตุกกนิบาต
๑. ภัททกาปิลานีเถรีคาถา
ภาษิตของพระภัททกาปิลานีเถรี
พระภัททกาปิลานีเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๖๓] พระมหากัสสปเถระเป็นบุตร
เป็นทายาทของพระพุทธเจ้า
มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว
ท่านระลึกชาติได้ ทั้งเห็นสวรรค์และอบาย
[๖๔] อนึ่ง ท่านถึงความสิ้นชาติ
เป็นผู้เสร็จกิจแล้ว เพราะรู้ยิ่ง เป็นมุนี
เป็นพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ ด้วยวิชชา ๓ เหล่านี้
[๖๕] พระภัททกาปิลานีเถรีก็ได้วิชชา ๓ เหมือนพระมหากัสสปะ
ละมัจจุราชได้
ชนะมารพร้อมทั้งเสนามารได้แล้ว
ยังทรงร่างกายที่มีในภพสุดท้ายอยู่
[๖๖] เราทั้ง ๒ เห็นโทษทางโลก แล้วออกบวช
ฝึกฝนตน สิ้นอาสวะ
เป็นผู้เย็น ดับสนิทแล้ว
จตุกกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๖๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วิมลาเถรีคาถา
๕. ปัญจกนิบาต
๑. อัญญตราเถรีคาถา
ภาษิตของพระอัญญตราเถรี
พระเถรีรูปหนึ่ง(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๖๗] ตั้งแต่เราบวชมาตลอด ๒๕ พรรษา ยังไม่ประสพความสงบจิต
แม้ชั่วเวลาเพียงลัดนิ้วมือเดียวเลย
[๖๘] เราไม่ได้ความสงบจิต มีจิตชุ่มด้วยกามราคะ
เดินประคองแขนคร่ำครวญเข้าไปสู่วิหาร
[๖๙] ได้เข้าไปหาภิกษุณีผู้มีวาจาที่เชื่อถือได้
ท่านได้แสดงธรรม คือ ขันธ์ อายตนะ และธาตุแก่เรา
[๗๐] เราฟังธรรมของท่านแล้ว เข้าไปนั่ง ณ ที่สมควร
ระลึกชาติได้ ชำระทิพยจักษุให้หมดจดแล้ว
[๗๑] เราชำระเจโตปริยญาณและโสตธาตุให้หมดจดแล้ว
แม้ฤทธิ์เราก็ทำให้แจ้งแล้ว ธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะเราก็บรรลุแล้ว
อภิญญา ๖ เราก็ทำให้แจ้งแล้ว
เราได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
๒. วิมลาเถรีคาถา
ภาษิตของพระวิมลาเถรี
พระวิมลาเถรีผู้เคยเป็นหญิงคณิกา๑ (ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๗๒] เรามัวเมาด้วยผิวพรรณ รูปสมบัติ ความสวยงาม บริวารยศ
และเป็นผู้มีจิตกระด้างอย่างยิ่ง ด้วยความเป็นสาว ดูหมิ่นหญิงอื่น

เชิงอรรถ :
๑ หญิงแพศยา หรือหญิงโสเภณี (ขุ.เถรี.อ. ๗๒/๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๖๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๓. สีหาเถรีคาถา
[๗๓] ประดับร่างกายนี้ให้วิจิตรงดงามสำหรับลวงชายโง่
ได้ยืนอยู่ที่ประตูเรือนหญิงแพศยา
ดุจนายพรานเนื้อวางบ่วงดักเนื้อไว้
[๗๔] เราอวดเครื่องประดับต่าง ๆ เป็นอันมาก
และอวดอวัยวะที่ควรปกปิดให้ปรากฏ
กระซิกกระซี้ ได้ทำมายาหลายอย่างให้ชายจำนวนมากลุ่มหลง
[๗๕] วันนี้ เรานั้นปลงผมห่มผ้าสังฆาฏิ บวช เที่ยวบิณฑบาต
แล้วมานั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ ได้ฌานที่ไม่มีวิตก๑
[๗๖] ได้ตัดกิเลสเป็นเหตุเกาะเกี่ยว
ทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ได้ทั้งหมด
ทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป เป็นผู้เย็น ดับสนิทแล้ว
๓. สีหาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสีหาเถรี
พระสีหาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๗๗] เมื่อก่อน เราได้ถูกกามราคะเบียดเบียน มีจิตฟุ้งซ่าน
บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ เพราะไม่ทำไว้ในใจโดยแยบคาย
[๗๘] ถูกกิเลสกลุ้มรุม มักเข้าใจกามว่าสวยงาม
ตกอยู่ในอำนาจราคะ จึงไม่ได้ความสงบจิต
[๗๙] ผอมเหลือง และมีผิวพรรณไม่ผ่องใส
ประพฤติ(พรหมจรรย์)อยู่ ๗ ปี มีแต่ทุกข์
ไม่ได้ความสุขทั้งกลางวันและกลางคืน

เชิงอรรถ :
๑ ได้บรรลุทุติยฌาน (ขุ.เถรี.อ. ๗๕/๑๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๖๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๔. สุนทรีนันทาเถรีคาถา
[๘๐] เพราะเหตุนั้น เราจึงถือเชือกเข้าไปสู่ราวป่า ด้วยคิดว่า
จะผูกคอตายเสียในที่นี้ ดีกว่าที่จะกลับไปเป็นคฤหัสถ์อีก
[๘๑] จึงทำบ่วงให้มั่น ผูกที่กิ่งไม้ แล้วสวมบ่วงที่คอ
ทันใดนั้น จิตของเราก็หลุดพ้นจากกิเลส
๔. สุนทรีนันทาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุนทรีนันทาเถรี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงแสดงธรรมให้เหมาะแก่พระสุนทรีนันทาเถรี จึงได้ตรัส
พระพุทธภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๘๒] นันทา เธอจงพิจารณาดูร่างกายซึ่งกระสับกระส่าย
ไม่สะอาด เป็นของเปื่อยเน่า
จงอบรมจิตให้ตั้งมั่นดี มีอารมณ์เดียว ด้วยอสุภภาวนา
[๘๓] ร่างกายหญิงที่เนรมิตขึ้นนี้ ฉันใด
ร่างกายของเธอนั่น ก็ฉันนั้น
ร่างกายของเธอนั่น ฉันใด
ร่างกายหญิงที่เนรมิตขึ้นนี้ ก็ฉันนั้น
ร่างกายเป็นของเปื่อยเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป
ที่พวกคนเขลาเพลิดเพลินกันยิ่งนัก
[๘๔] เมื่อเธอพิจารณาร่างกายนั้นอย่างนี้
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน
แต่นั้น จะเห็นแจ้งด้วยปัญญาของตนเองได้
(พระสุนทรีเถรีบรรลุพระอรหัตแล้วได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๘๕] เมื่อเรานั้นไม่ประมาท
ค้นคว้าอยู่โดยแยบคาย
ได้เห็นร่างกายนี้ทั้งภายในและภายนอกตามความเป็นจริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๖๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๕. นันทุตตราเถรีคาถา
[๘๖] ทีนั้น เราจึงเบื่อหน่ายในร่างกาย
และคลายความกำหนัดในภายใน
ไม่ประมาท ไม่เกาะเกี่ยวในสิ่งอะไร ๆ
เป็นผู้สงบระงับ ดับสนิทแล้ว
๕. นันทุตตราเถรีคาถา
ภาษิตของพระนันทุตตราเถรี
พระนันทุตตราเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๘๗] เราบูชาไฟ ไหว้ดวงจันทร์
ดวงอาทิตย์ และเทวดา
ไปยังท่าน้ำแล้วลงดำน้ำ
[๘๘] สมาทานวัตรมากมาย
โกนศีรษะครึ่งหนึ่ง นอนบนแผ่นดิน
ไม่บริโภคอาหารในเวลากลางคืน
[๘๙] แต่ยังยินดีการประดับตกแต่ง
บำรุงร่างกายนี้ด้วยการอาบน้ำและขัดสี
ถูกกามราคะครอบงำแล้ว
[๙๐] ต่อมา ได้ศรัทธา บวชเป็นบรรพชิต
เห็นร่างกายตามความเป็นจริง
จึงถอนกามราคะได้
[๙๑] ตัดภพ ความอยาก และความปรารถนาได้ทั้งหมด
ไม่เกาะเกี่ยวด้วยกิเลสเครื่องผูกทุกอย่าง
บรรลุความสงบใจแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๗๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๗. สกุลาเถรีคาถา
๖. มิตตากาฬีเถรีคาถา
ภาษิตของพระมิตตากาฬีเถรี
พระมิตตากาฬีเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๙๒] เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา
แต่เป็นผู้ขวนขวายในลาภสักการะเที่ยวไปด้วยเหตุนั้น ๆ
[๙๓] ละทิ้งประโยชน์ที่ยอดเยี่ยม ถือเอาประโยชน์ที่เลว
ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส
ไม่ยินดีประโยชน์ของความเป็นสมณะ
[๙๔] เมื่อเรานั้นนั่งในที่อยู่ ได้เกิดความสังเวชว่า
เราเดินทางผิดเสียแล้ว ตกอยู่ในอำนาจของตัณหา
[๙๕] ชีวิตของเราน้อย ชราและพยาธิย่ำยี
ร่างกายนี้จะแตกสลายไปเสียก่อน
ไม่ใช่เวลาที่เราจะประมาท
[๙๖] เมื่อเราพิจารณาถึงความเกิดขึ้น
และความเสื่อมไปของขันธ์ทั้งหลายตามความเป็นจริง
จึงได้ดำรงอยู่อย่างผู้มีจิตหลุดพ้น
เราได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
๗. สกุลาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสกุลาเถรี
พระสกุลาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๙๗] เมื่อเรายังอยู่ในเรือน ฟังธรรมของภิกษุแล้ว
ได้เห็นนิพพานซึ่งเป็นธรรมปราศจากกิเลสดุจธุลี
เป็นทางถึงความสุข ไม่จุติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๗๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๘. โสณาเถรีคาถา
[๙๘] เรานั้นละบุตรธิดา ทรัพย์ และข้าวเปลือก
โกนผมแล้วบวชเป็นบรรพชิต
[๙๙] เป็นสิกขมานาอยู่ เจริญมรรคเบื้องสูง จึงละราคะ โทสะ
และอาสวะทั้งหลายที่ประกอบด้วยราคะและโทสะนั้นได้
[๑๐๐] อุปสมบทเป็นภิกษุณีแล้ว ระลึกชาติก่อนได้
ชำระทิพยจักษุที่อบรมแล้วอย่างดีให้หมดมลทินได้
[๑๐๑] เห็นสังขารทั้งหลายเป็นอนัตตาอันเกิดแต่เหตุ
มีสภาวะทรุดโทรมโดยความเป็นอนัตตาแล้วละอาสวะทั้งปวงได้
จึงเป็นผู้เย็นดับสนิทแล้ว
๘. โสณาเถรีคาถา
ภาษิตของพระโสณาเถรี
พระโสณาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๐๒] ในเรือนร่างคือรูปนี้ เราคลอดบุตร ๑๐ คน
เพราะเหตุนั้น จึงทรุดโทรมแก่ไป ได้เข้าไปหาภิกษุณี
[๑๐๓] ภิกษุณีนั้นแสดงธรรม คือ ขันธ์ อายตนะ และธาตุแก่เรา
เราฟังธรรมของท่านแล้วก็โกนผมบวช
[๑๐๔] เมื่อเราศึกษาอยู่ ก็ชำระทิพยจักษุให้หมดจด
ระลึกถึงชาติก่อนที่เราเคยอยู่อาศัยมา
[๑๐๕] และเจริญอนิมิตตสมาธิ๑ มีจิตตั้งมั่นดี มีอารมณ์เดียว
มีวิโมกข์๒เกิดขึ้นในลำดับ ไม่ยึดมั่น ดับสนิทแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ สมาธิที่พิจารณาธรรมไม่มีนิมิต ได้แก่ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยอำนาจอนิจจลักษณะ (ที.ปา.อ.
๙/๓๐๕)
๒ ความหลุดพ้นที่เกิดขึ้นโดยลำดับนับแต่ปฐมมรรค(โสดาปัตติมรรค)เป็นต้นไปจนถึงอรหัตตผล (ขุ.เถรี.อ.
๑๐๕/๑๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๗๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๙. ภัททากุณฑลเกสาเถรีคาถา
[๑๐๖] ขันธ์ ๕ ที่เรากำหนดรู้แล้ว
มีรากอันขาดแล้ว คงอยู่
สิ่งที่ยังคงอยู่ ก็คงมีอยู่ในกายที่คร่ำคร่า เลวทราม
บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
๙. ภัททากุณฑลเกสาเถรีคาถา
ภาษิตของพระภัททากุณฑลเกสาเถรี
(พระภัททากุณฑลเกสาเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๐๗] เมื่อก่อนเราถอนผม อมขี้ฟัน
มีผ้าผืนเดียว เที่ยวไป
สำคัญในสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ
และเห็นในสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ
[๑๐๘] เราจากที่พักกลางวันบนภูเขาคิชกูฏ
ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากกิเลส
แวดล้อมด้วยหมู่ภิกษุ
[๑๐๙] จึงคุกเข่าถวายบังคม ทำอัญชลีเบื้องพระพักตร์
พระองค์ได้ตรัสว่า มาเถิด ภัททา
พระดำรัสนั้น ทำให้เราได้อุปสมบทแล้ว
[๑๑๐] เมื่อก่อน เราบริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นอย่างเป็นหนี้
จาริกไปทั่วแคว้นอังคะ มคธ วัชชี กาสี และโกศล
ตั้งแต่พบพระศาสดา เราบริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นอย่าง
ไม่เป็นหนี้มา ๕๐ ปีแล้ว
[๑๑๑] ก็อุบาสกที่ได้ถวายจีวรแก่เราผู้ชื่อว่าภัททา
ซึ่งพ้นจากกิเลสที่ร้อยรัดทุกอย่าง
เป็นคนมีปัญญา ได้ประสบบุญเป็นอันมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๗๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๑๑. ติงสมัตตาเถรีคาถา
๑๐. ปฏาจาราเถรีคาถา
ภาษิตของพระปฏาจาราเถรี
(พระปฏาจาราเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๑๒] มาณพทั้งหลายใช้ไถ ไถนา หว่านเมล็ดพืชลงบนแผ่นดิน
ได้ทรัพย์มาเลี้ยงดูบุตรและภรรยา
[๑๑๓] เรามีศีลสมบูรณ์ ทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
ไม่เกียจคร้าน ไม่ฟุ้งซ่าน ไฉนจะไม่บรรลุนิพพานเล่า
[๑๑๔] เราล้างเท้า เห็นน้ำล้างเท้าไหลจากที่ดอนมาสู่ที่ลุ่ม
ใส่ใจนิมิตในน้ำ
[๑๑๕] แต่นั้น เราตั้งใจไว้มั่นคง ดุจม้าอาชาไนยที่ดี
ลำดับนั้น ถือประทีปเข้าไปยังวิหาร ตรวจดูที่นอน ขึ้นนั่งบนเตียง
[๑๑๖] ต่อแต่นั้น ถือลูกดาล(ปิดประตูลงกลอน) หมุนไส้ประทีปลง
ความหลุดพ้นทางใจก็ได้มี
เหมือนประทีปติดโพลงแล้วดับลง
๑๑. ติงสมัตตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระติงสมัตตาเถรี
ทราบว่า พระเถรีประมาณ ๓๐ รูปนี้ได้พยากรณ์อรหัตตผลในสำนักพระ
ปฏาจาราเถรีอย่างนี้ว่า
[๑๑๗] มาณพทั้งหลายถือสากตำข้าว
ได้ทรัพย์มาเลี้ยงดูบุตรและภรรยา
[๑๑๘] ท่านทั้งหลายจงทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่บุคคลกระทำแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง
จงรีบล้างเท้า แล้วนั่ง ณ ที่สมควรเถิด
จงประกอบความสงบใจเนือง ๆ
กระทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๗๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๑๒. จันทาเถรีคาถา
[๑๑๙] ภิกษุณีเหล่านั้นฟังคำสั่งสอนของปฏาจาราเถรีนั้นแล้ว
ล้างเท้าเข้าไปนั่ง ณ ที่สมควร ได้ประกอบความสงบใจเนือง ๆ
กระทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
[๑๒๐] ในปฐมยามแห่งราตรี พากันระลึกชาติก่อนได้
ในมัชฌิมยามแห่งราตรี ชำระทิพยจักษุให้หมดจดได้
ในปัจฉิมยามแห่งราตรี ทำลายกองแห่งความมืดได้
[๑๒๑] ภิกษุณีเหล่านั้น พากันลุกขึ้นกราบเท้าพระเถรีพร้อมกับกล่าวว่า
พวกเราทำตามคำสอนของท่านแล้ว จะอยู่แวดล้อมท่าน
เหมือนเทวดาชั้นดาวดึงส์แวดล้อมท้าวสักกะผู้ชนะในสงคราม
พวกเราได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ
๑๒. จันทาเถรีคาถา
ภาษิตของพระจันทาเถรี
พระจันทาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๒] เมื่อก่อน เราเป็นคนเข็ญใจ และเป็นหญิงหม้ายไม่มีบุตร
ปราศจากญาติมิตร ไม่ได้ความบริบูรณ์ด้วยอาหารและผ้า
[๑๒๓] ถือภาชนะและไม้เท้า เที่ยวขอทานจากตระกูลหนึ่งไปยังตระกูลหนึ่ง
ถูกความหนาวและความร้อนเบียดเบียน เที่ยวขอทานอยู่ถึง ๗ ปี
[๑๒๔] ต่อมาภายหลัง ได้พบปฏาจาราภิกษุณีผู้ได้ข้าวและน้ำอยู่เป็น
ประจำ จึงเข้าไปขอบวชเป็นบรรพชิต
[๑๒๕] และพระปฏาจาราภิกษุณีนั้นก็ได้กรุณาบวชให้เรา
ต่อมาท่านก็สั่งสอนเราให้ประกอบในประโยชน์อย่างยิ่ง
[๑๒๖] เราฟังคำของท่านแล้วได้ทำตามคำสอน
โอวาทของพระแม่เจ้าไม่เป็นโมฆะ
เราได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ
ปัญจกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๗๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๑. ปัญจสตมัตตาเถรีคาถา
๖. ฉักกนิบาต
๑. ปัญจสตมัตตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระปัญจสตมัตตาเถรี
(พระปฏาจาราเถรีกล่าวอบรมพระเถรี ๕๐๐ รูป ทีละรูปว่า)
[๑๒๗] ท่านไม่รู้ทางของสัตว์ใดผู้มาแล้วหรือไปแล้ว
เหตุไฉน ท่านจึงร้องไห้ถึงสัตว์ที่มาแล้วนั้นว่า บุตรของเรา
[๑๒๘] ถึงท่านจะรู้ทางของเขาผู้มาแล้วหรือไปแล้ว
ก็ไม่ควรเศร้าโศกถึงเขาเลย
เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมมีอย่างนี้เป็นธรรมดา
[๑๒๙] สัตว์ผู้ใคร ๆ มิได้เชื้อเชิญก็มาจากปรโลกนั้น
ใคร ๆ ยังมิได้อนุญาตก็ไปจากโลกนี้
เขามาจากที่ไหนกันแน่หนอ อยู่ได้ ๒-๓ วัน
แล้วก็ไปจากภพนี้สู่ภพอื่นก็มี จากภพนั้นไปสู่ภพอื่นก็มี
[๑๓๐] เขาละไปแล้ว จะท่องเที่ยวไปโดยรูปร่างของมนุษย์
เขามาอย่างใด ก็ไปอย่างนั้น
ในเพราะเหตุนั้นจะร่ำไห้ไปทำไม
(พระเถรีประมาณ ๕๐๐ รูป กล่าวทีละรูปด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๓๑] ท่านได้บรรเทาความโศกถึงบุตรของดิฉันซึ่งถูกความโศกครอบงำ
นับว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความโศกที่เห็นได้ยาก
ซึ่งเสียบที่หทัยของดิฉันขึ้นแล้วหนอ
[๑๓๒] วันนี้ ดิฉันช่วยถอนลูกศรคือความโศกขึ้นได้แล้ว
หายอยาก ดับสนิทแล้ว
ขอถึงพระมุนีพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๗๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๓. เขมาเถรีคาถา
๒. วาสิฏฐีเถรีคาถา
ภาษิตของพระวาสิฏฐีเถรี
พระวาสิฏฐีเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๓๓] เรากระทบกระเทือนใจเพราะความเศร้าโศกถึงบุตร
มีจิตฟุ้งซ่าน ไม่รู้สึกตัว
เปลือยกายและมีผมรุงรัง เที่ยวร้องไห้ไปตามที่ต่าง ๆ
[๑๓๔] ได้เที่ยวไปตามถนน กองขยะ ในป่าช้า
ในตรอกใหญ่ตรอกน้อย อด ๆ อยาก ๆ ถึง ๓ ปี
[๑๓๕] ภายหลัง ได้พบพระสุคตผู้ฝึกคนที่ยังไม่ได้ฝึก
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
ไม่เกิดความกลัวแต่ที่ไหน ๆ กำลังเสด็จไปยังกรุงมิถิลา
[๑๓๖] กลับได้สติแล้วเข้าไปถวายบังคม
พระโคดมพระองค์นั้น ได้ทรงพระกรุณาแสดงธรรมโปรดเรา
[๑๓๗] เราฟังธรรมของพระองค์แล้วบวชเป็นบรรพชิต
เพียรพยายามในคำสอนของพระศาสดา
ได้ทำให้แจ้งซึ่งบทธรรมอันปลอดโปร่ง
[๑๓๘] ถอนและละความโศกทั้งหมดได้แล้ว
เพราะเรากำหนดรู้วัตถุคืออุปาทานขันธ์ ๕
ซึ่งเป็นเหตุเกิดแห่งความโศกทั้งหลายได้
๓. เขมาเถรีคาถา
ภาษิตของพระเขมาเถรี
(มารใจบาปเมื่อจะประเล้าประโลมพระเถรีด้วยกามคุณ จึงได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๓๙] เธอยังเป็นสาว มีรูปสวย ถึงเราก็ยังหนุ่มรุ่น
มาสิ เขมา เรามาร่วมอภิรมย์กันด้วยดนตรีเครื่อง ๕ เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๗๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๔. สุชาตาเถรีคาถา
พระเขมาเถรี(เมื่อจะประกาศความไม่ยินดีของตน จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๔๐] เราอึดอัดเอือมระอาด้วยกายที่เปื่อยเน่า กระสับกระส่าย
ซึ่งมีอันจะแตกพังไปเป็นธรรมดานี้อยู่
เราถอนกามตัณหาได้แล้ว
[๑๔๑] กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว
เป็นเขียงรองสับขันธ์ทั้งหลาย
บัดนี้เราไม่มีความยินดีในกามที่ท่านพูดถึง
[๑๔๒] เรากำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวงได้แล้ว
ทำลายกองความมืดได้แล้ว
มารผู้ชั่วช้าเลวทราม ท่านจงรู้อย่างนี้
ท่านถูกเรากำจัดแล้ว
[๑๔๓] พวกคนเขลาไม่รู้ตามความเป็นจริง
พากันนอบน้อมดวงดาวทั้งหลาย
บูชาไฟอยู่ในป่าแล้วได้สำคัญว่าบริสุทธิ์
[๑๔๔] ส่วนเราแล นอบน้อมเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นบุรุษสูงสุด จึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
๔. สุชาตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุชาดาเถรี
(พระสุชาดาเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ ด้วยการเปล่งอุทานว่า)
[๑๔๕] เราแต่งตัว นุ่งห่มผ้าอย่างดี สวมมาลัย ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์
ประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง มีหมู่สาวใช้แวดล้อม
[๑๔๖] ใช้หมู่สาวใช้ให้ถือข้าว น้ำ ของเคี้ยว และของบริโภคมิใช่น้อย
นำออกจากเรือนไปยังอุทยาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๗๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๕. อโนปมาเถรีคาถา
[๑๔๗] รื่นรมย์สนุกสนานในอุทยานนั้นแล้ว
ขณะเดินกลับเรือนตน
แวะเข้าไปในป่าอัญชันใกล้เมืองสาเกตเพื่อชมวิหาร
[๑๔๘] ได้พบพระพุทธเจ้าผู้เป็นแสงสว่างของโลกแล้วเข้าไปเฝ้า
ถวายอภิวาทพระองค์ผู้มีพระจักษุ
ได้ทรงพระกรุณาแสดงธรรมโปรดเรา
[๑๔๙] และเราได้ฟังธรรมเทศนาของพระองค์
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว
ก็ได้รู้แจ้งชัดสัจจะ ได้สัมผัสธรรมคืออมตบท
ซึ่งปราศจากกิเลสดุจธุลีในที่นั้นนั่นเอง
[๑๕๐] ต่อแต่นั้น ได้รู้แจ้งพระสัทธรรม
แล้วบวชเป็นบรรพชิต
ได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่เปล่าปราศจากประโยชน์เลย
๕. อโนปมาเถรีคาถา
ภาษิตของพระอโนปมาเถรี
(พระอโนปมาเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ด้วยการเปล่งอุทานว่า)
[๑๕๑] เราเกิดในตระกูลสูงมีสิ่งของเครื่องปลื้มใจมาก
มีทรัพย์มาก สมบูรณ์ด้วยผิวพรรณสัณฐานและรูปร่าง
เป็นธิดาซึ่งเป็นลูกแท้ ๆ ของเมฆีเศรษฐี
[๑๕๒] เป็นผู้ที่พระราชโอรสปรารถนา บุตรเศรษฐีหมายปอง
เขาพากันส่งทูตไปขอต่อบิดาของเราว่า ขอจงให้อโนปมาแก่เรา
[๑๕๓] อโนปมาธิดาของท่านนั้นมีค่าตัวเท่าใด
เราจะให้เงินและทองเป็น ๘ เท่าต่อค่าตัวนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๗๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๖. มหาปชาปติโคตมีเถรีคาถา
[๑๕๔] เรานั้นได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดในโลก
ไม่มีผู้อื่นยิ่งไปกว่า แล้วเข้าไปเฝ้า ณ ที่สมควร
ได้ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระองค์
[๑๕๕] พระโคดมพระองค์นั้นได้ทรงพระกรุณาแสดงธรรมโปรดเรา
เรานั่งอยู่ ณ อาสนะนั้น ก็ได้บรรลุผลที่ ๓๑
[๑๕๖] ครั้นแล้วก็โกนผมบวชเป็นบรรพชิต
วันนี้เป็นคืนที่ ๗ นับแต่วันที่เราทำตัณหาให้แห้งสนิทแล้ว
๖. มหาปชาปติโคตมีเถรีคาถา
ภาษิตของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี
(พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีประสงค์จะสดุดีพระคุณพระศาสดา จึงได้กล่าว
ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๕๗] พระพุทธเจ้าผู้ทรงแกล้วกล้าสูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง
หม่อมฉันขอนอบน้อมพระพุทธองค์ผู้ทรงช่วยปลดเปลื้องหม่อมฉัน
และชนอื่นเป็นจำนวนมากให้พ้นจากทุกข์
[๑๕๘] หม่อมฉันกำหนดรู้ทุกข์ทั้งปวงแล้ว
ทำตัณหาซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ให้เหือดแห้งแล้ว
ได้เจริญมรรคซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ และได้บรรลุนิโรธแล้ว
[๑๕๙] ชนทั้งหลายเป็นมารดาบิดา เป็นบุตรธิดา เป็นพี่น้อง
เป็นปู่ย่าตายายกันมาในชาติก่อน ๆ
หม่อมฉันไม่รู้ตามความเป็นจริง
ไม่พบที่พึ่งจึงท่องเที่ยวไป

เชิงอรรถ :
๑ อนาคามิผล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๘๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๗. คุตตาเถรีคาถา
[๑๖๐] เพราะหม่อมฉันได้พบพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล้ว
ร่างกายนี้เป็นร่างกายที่มีในภพสุดท้าย
การเวียนว่ายตายเกิดสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ไม่มีการเกิดอีก
[๑๖๑] ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรพระสาวกทั้งหลาย
ผู้บำเพ็ญเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว
มีความบากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์ พร้อมเพรียงกัน
การกระทำโลกุตตรธรรมให้ประจักษ์แก่ตนนี้
นับว่าเป็นการประกาศพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และพระพุทธสาวก
[๑๖๒] พระนางเจ้ามหามายาเทวี ประสูติพระโคดมมา
เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมากหนอ
เพราะพระองค์ได้ทรงบรรเทากองทุกข์ ของสัตว์ทั้งหลาย
ที่ยังถูกพยาธิและมรณะทิ่มแทงแล้ว
๗. คุตตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระคุตตาเถรี
(พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงอนุเคราะห์พระคุตตาเถรีได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑๖๓] คุตตา การละบุตรและสมบัติอันเป็นที่รัก
ออกบวชเพื่อประโยชน์แก่นิพพานใด
เธอจงพอกพูนนิพพานนั้นเนือง ๆ เถิด
อย่าตกอยู่ในอำนาจจิต
[๑๖๔] สัตว์ทั้งหลายผู้ยังไม่รู้แจ้ง ถูกจิตลวงแล้ว
ยินดีในสิ่งที่เป็นวิสัยของมาร
ย่อมพากันท่องเที่ยวไปสู่ชาติสงสารมิใช่น้อย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๘๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๘. วิชยาเถรีคาถา
[๑๖๕] ภิกษุณี เธอละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ อย่างนี้ คือ
สักกายทิฏฐิ๑ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
กามราคะ ปฏิฆะ
[๑๖๖] ให้ขาดแล้ว อย่าได้กลับมาสู่กามภพนี้อีก
[๑๖๗] เธอละเว้นรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา
ตัดสังโยชน์ทั้งหลายแล้ว จะทำที่สุดทุกข์ได้
[๑๖๘] ทำชาติสงสารให้สิ้นไปแล้ว
กำหนดรู้ภพใหญ่
หมดความทะยานอยาก
จะเป็นผู้สงบระงับอยู่ในปัจจุบัน
๘. วิชยาเถรีคาถา
ภาษิตของพระวิชยาเถรี
(พระวิชยาเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ด้วยการรเปล่งอุทานว่า)
[๑๖๙] เราบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้
จึงไม่ได้ความสงบใจ
ต้องเข้าออกจากที่อยู่ถึง ๔-๕ ครั้ง
[๑๗๐] จึงเข้าไปหาพระเขมาภิกษุณี
ไต่ถามโดยเคารพ
ท่านแสดงธรรมโปรดเรา คือ ธาตุ อายตนะ

เชิงอรรถ :
๑ สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน) วิจิกิจฉา (ความสงสัย) สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่น
ศีลพรต) กามราคะ (ความกำหนัดในกาม) ปฏิฆะ (ความหงุดหงิดขัดเคือง) รูปราคะ (ความปรารถนา
ในรูปภพ) อรูปราคะ (ความปรารถนาในอรูปภพ) มานะ (ความสำคัญตน) อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าาน)
อวิชชา (ความไม่รู้จริง)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๘๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๘. วิชยาเถรีคาถา
[๑๗๑] อริยสัจ ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗
และมรรคมีองค์ ๘ เพื่อบรรลุประโยชน์อันสูงสุด
[๑๗๒] เราฟังคำของท่านแล้วได้ปฏิบัติตามที่ท่านพร่ำสอน
ในปฐมยามแห่งราตรีก็ระลึกชาติก่อนได้
[๑๗๓] ในมัชฌิมยามแห่งราตรี ก็ชำระทิพยจักษุให้หมดจดได้
ในปัจฉิมยามแห่งราตรี ทำลายกองแห่งความมืดได้
[๑๗๔] ในกาลนั้น เรามีความสุขซึ่งเกิดแต่ปีติแผ่ไปทั่วร่างกายอยู่
ในวันที่ ๗ ก็ได้ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว
จึงเหยียดเท้าออก
ฉักกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๘๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๗. สัตตกนิบาต] ๑. อุตตราเถรีคาถา
๗. สัตตกนิบาต
๑. อุตตราเถรีคาถา
ภาษิตของพระอุตตราเถรี
(พระปฏาจาราเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๗๕] มาณพทั้งหลายถือสากตำข้าว
ได้ทรัพย์มาเลี้ยงดูบุตรและภรรยา
[๑๗๖] ท่านทั้งหลายจงพากเพียรในคำสอนของพระพุทธเจ้า
ที่กระทำแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง
จงรีบล้างเท้าแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
[๑๗๗] จงตั้งจิตให้แน่วแน่มีอารมณ์เดียวแล้ว
พิจารณาสังขารทั้งหลายโดยความเป็นของแปรปรวน
และโดยความเป็นของไม่ใช่ของตน
พระอุตตราเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๗๘] เราฟังคำพร่ำสอนของพระปฏาจาราเถรีนั้นแล้ว
ล้างเท้า เข้าไปนั่ง ณ ที่สมควร
[๑๗๙] ในปฐมยามแห่งราตรีระลึกชาติก่อนได้แล้ว
ในมัชฌิมยามแห่งราตรีชำระทิพยจักขุให้หมดจดได้
[๑๘๐] ในปัจฉิมยามแห่งราตรีทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว
ได้บรรลุวิชชา ๓ จึงลุกจากอาสนะ ในภายหลัง
ได้ทำตามคำสอนของท่านแล้ว
[๑๘๑] จะอยู่แวดล้อมท่าน
เหมือนเทวดาชั้นดาวดึงส์แวดล้อมท้าวสักกะผู้ไม่แพ้ในสงคราม
เราได้บรรลุวิชชา ๓ เป็นผู้ไม่มีอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๘๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๗. สัตตกนิบาต] ๒. จาลาเถรีคาถา
๒. จาลาเถรีคาถา
ภาษิตของพระจาลาเถรี
พระจาลาเถรี(เมื่อจะกล่าวภาษิตที่มารกล่าวแก่ตน จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๘๒] เราเป็นภิกษุณี อบรมอินทรีย์แล้ว ตั้งสติไว้มั่น
รู้แจ้งบทอันสงบเป็นเหตุเข้าไปสงบระงับสังขารเป็นสุข
(มารถามว่า)
[๑๘๓] ท่านมีศีรษะโล้นบวชเจาะจงใครหนอ
วางตัวเหมือนสมณะ ท่านไม่ชอบใจลัทธิเดียรถีย์
ทำไมยังมางมงายประพฤติทางผิดนี้อยู่เล่า
(พระจาลาเถรีตอบว่า)
[๑๘๔] เหล่าชนที่ถือลัทธิเดียรถีย์นอกจากศาสนานี้
ยึดมั่นทิฏฐิทั้งหลาย
ไม่รู้แจ้งธรรม ไม่ฉลาดในธรรม
[๑๘๕] ส่วนพระพุทธเจ้า เสด็จอุบัติในตระกูลศากยะ ไม่มีผู้ใด
เปรียบปราน พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดเรา
อันเป็นอุบายล่วงเสียซึ่งทิฏฐิทั้งหลาย คือ
[๑๘๖] ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์
และอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[๑๘๗] เราฟังคำสอนของพระองค์แล้ว ยินดีอยู่ในคำสอน
ได้บรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๑๘๘] เรากำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวงได้แล้ว
ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว
มารผู้ชั่วช้าเลวทราม ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า
ท่านถูกเรากำจัดแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๘๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๗. สัตตกนิบาต] ๓. อุปจาลาเถรีคาถา
๓. อุปจาลาเถรีคาถา
ภาษิตของพระอุปจาลาเถรี
พระอุปจาลาเถรี(เมื่อจะกล่าวภาษิตที่มารกล่าวแก่ตนจึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๘๙] เราเป็นภิกษุณี มีสติ มีจักษุ อบรมอินทรีย์แล้ว
รู้แจ้งบทอันสงบซึ่งอุดมบุรุษคบหาแล้ว
(มารถามว่า)
[๑๙๐] ทำไม แม่นางจึงไม่ชอบใจความเกิด
เพราะธรรมดาผู้เกิดมาแล้วย่อมบริโภคกามทั้งหลาย
เชิญแม่นางบริโภคความยินดีในกามทั้งหลายเถิด
แม่นางอย่าได้มีความเดือดร้อนในภายหลังเลย
(พระอุปจาลาเถรีตอบว่า)
[๑๙๑] ผู้เกิดมาแล้วจะต้องตาย จะต้องถูกตัดมือตัดเท้า
ถูกฆ่า ถูกจองจำ เกิดมาแล้วจำต้องประสบทุกข์
[๑๙๒] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติในตระกูลศากยะ
ผู้ทรงชนะแล้ว ทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระองค์ได้ทรงแสดงธรรม
โปรดเราอันเป็นอุบายล่วงเสียซึ่งชาติ คือ
[๑๙๓] ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์
และอริยมรรคมีด้วยองค์ ๘ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[๑๙๔] เราได้ฟังคำสอนของพระองค์แล้ว ยินดีอยู่ในคำสอน
ได้บรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๑๙๕] กำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวงได้แล้ว
ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว
มารผู้ชั่วช้าเลวทราม ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า
ท่านถูกเรากำจัดแล้ว
สัตตกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๘๖ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น