Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๖-๑๒ หน้า ๕๘๗ - ๖๔๐

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖-๑๒ สุตตันตปิฎกที่ ๑๘ ขุททกนิกาย
วิมาน เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย เถรีคาถา
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๘. อัฏฐกนิบาต] ๑. สีสูปจาลาเถรีคาถา
๘. อัฏฐกนิบาต
๑. สีสูปจาลาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสีสูปจาลาเถรี
(พระสีสูปจาลาเถรีเมื่อจะกล่าวภาษิตที่มารกล่าวแก่ตนจึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๙๖] ภิกษุณี ผู้มีศีลสมบูรณ์ สำรวมอินทรีย์ดีแล้ว
บรรลุบทอันสงบที่ใครทำให้เสียหายมิได้ มีสภาวะชื่นใจ
(มารถามว่า)
[๑๙๗] แม่นางจงตั้งจิตปรารถนาไว้ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์
ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
ที่แม่นางเคยอยู่มาแล้วแต่ก่อนเถิด
(พระสีสูปจาลาเถรีตอบว่า)
[๑๙๘] เทวดาชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี
และชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
[๑๙๙] พากันไปจากภพสู่ภพตลอดกาล ติดอยู่ในกายตน
ล่วงกายของตนไปไม่ได้ ก็แล่นไปหาชาติและมรณะ
[๒๐๐] โลกทั้งปวงถูกไฟไหม้ ลุกโพลงโชติช่วง หวั่นไหวแล้ว
[๒๐๑] พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่ไม่หวั่นไหว ชั่งไม่ได้
ปุถุชนเสพไม่ได้ โปรดเรา ใจของเรายินดีนักในธรรมนั้น
[๒๐๒] เราฟังคำสอนของพระองค์แล้ว ยินดีอยู่ในคำสอน
ได้บรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๒๐๓] กำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวง
ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว มารผู้ชั่วช้าเลวทราม
ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ท่านถูกเรากำจัดแล้ว
อัฏฐกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๘๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๙. นวกนิบาต] ๑. วัฑฒมาตุเถรีคาถา
๙. นวกนิบาต
๑. วัฑฒมาตุเถรีคาถา
ภาษิตของพระวัฑฒมาตาเถรี
(พระวัฑฒมาตาเถรีเมื่อจะกล่าวตักเตือนพระวัฑฒเถระ จึงได้กล่าวภาษิต
เหล่านี้ว่า)
[๒๐๔] ลูกวัฑฒะ กิเลสดุจหมู่ไม้ในป่า ในโลก
อย่าได้มีแก่พ่อไม่ว่าในกาลไหน ๆ เลย
ลูกเอ๋ย ลูกอย่าได้เป็นผู้มีความทุกข์ร่ำไปเลย
[๒๐๕] ลูกวัฑฒะ พระมุนีทั้งหลาย ไม่หวั่นไหว
ตัดความสงสัยเสียได้ เป็นผู้เย็น
ถึงความฝึกฝนแล้วเป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่อย่างสบาย
[๒๐๖] ลูกวัฑฒะ พ่อพึงพอกพูนมรรค
ซึ่งเป็นทางที่ท่านผู้แสวงหาคุณเหล่านั้นประพฤติกันมาแล้ว
เพื่อบรรลุญาณทัสนะ เพื่อทำที่สุดทุกข์
(พระวัฑฒะเถระ กล่าวตอบด้วยภาษิตนี้ว่า)
[๒๐๗] โยมมารดาบังเกิดเกล้า โยมกล้ากล่าวคาถานี้แก่ลูก
โยมมารดา ลูกเข้าใจว่า
กิเลสดุจหมู่ไม้ในป่าของโยมมารดาคงไม่มีแน่ละ
(พระเถรีกล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๐๘] ลูกวัฑฒะ สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทั้งเลว ประณีต และปานกลาง
กิเลสดุจหมู่ไม้ในป่าในสังขารเหล่านั้นของโยมแม่
อณูหนึ่งก็ดี ขนาดอณูหนึ่งก็ดี ไม่มีเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๘๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๙. นวกนิบาต] ๑. วัฑฒมาตุเถรีคาถา
[๒๐๙] เมื่อโยมแม่ไม่ประมาทเพ่งอยู่
อาสวะหมดสิ้นแล้ว
โยมแม่บรรลุวิชชา ๓
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
(พระเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๑๐] โยมมารดาได้มอบปฏัก
คือโอวาทอันโอฬารแก่เราหนอ
โยมมารดาของเราได้กล่าวภาษิตที่ประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่ง
เหมือนมารดาผู้อนุเคราะห์อื่น ๆ
[๒๑๑] ลูกฟังคำพร่ำสอนของโยมมารดาบังเกิดเกล้านั้นแล้ว
ถึงความสลดใจในธรรม
เพื่อบรรลุธรรมที่ปลอดโปร่งจากโยคะกิเลส
[๒๑๒] เรานั้นถูกโยมมารดาเตือนอยู่
มีใจเด็ดเดี่ยว
ด้วยการบำเพ็ญเพียร
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน
ได้สัมผัสความสงบอย่างยอดเยี่ยมแล้ว
นวกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๘๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๐. เอกาทสกนิบาต] ๑. กีสาโคตมีเถรีคาถา
๑๐. เอกาทสกนิบาต
๑. กีสาโคตมีเถรีคาถา
ภาษิตของพระกีสาโคตมีเถรี
(พระกีสาโคตมีเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๑๓] พระมุนีกล่าวสรรเสริญความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
ไว้เฉพาะชาวโลกว่า ผู้คบกัลยาณมิตร
ถึงแม้จะเป็นพาล ก็จะพึงเป็นบัณฑิตได้บ้าง
[๒๑๔] สัตบุรุษเป็นคนที่ควรคบ
ผู้คบสัตบุรุษ ปัญญาย่อมเจริญได้แน่นอน
ผู้คบสัตบุรุษ พึงพ้นจากทุกข์ทั้งมวลได้
[๒๑๕] และพึงรู้แจ้งอริยสัจ ๔ คือ
ทุกข์ ๑ เหตุให้เกิดทุกข์ ๑ ความดับทุกข์ ๑
อริยมรรคมีองค์แปด ๑
(ยักษิณีกล่าวว่า)
[๒๑๖] พระผู้มีพระภาคเป็นสารถีผู้ทรงฝึกคนที่ควรฝึก
ตรัสว่า ความเป็นหญิงเป็นทุกข์
เพราะแม้ความเป็นหญิงมีสามีร่วมกันก็เป็นทุกข์
หญิงบางพวกคลอดครั้งเดียว
[๒๑๗] อดกลั้นความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะการคลอดบุตรไม่ไหว
จึงเชือดคอตนเองเสียก็มี
บางพวกมีร่างกายอ่อนแอ
ทนความลำบากไม่ได้ กินยาพิษเสียก็มี
เด็กอยู่ในครรภ์ และมารดาผู้มีครรภ์
ย่อมประสบความย่อยยับทั้งสองคนก็มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๙๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๐. เอกาทสกนิบาต] ๑. กีสาโคตมีเถรีคาถา
(พระปฏาจาราเถรีกล่าวว่า)
[๒๑๘] เราเวลามีครรภ์แก่ใกล้คลอด
เดินทางไปยังไม่ทันถึงเรือนตน
ก็คลอดบุตรที่ระหว่างทาง พบสามีตาย
[๒๑๙] บุตรทั้งสองก็ตาย สามีก็ตายเสียที่ระหว่างทาง
มารดาบิดา และพี่ชายของเราผู้กำพร้า
ถูกเผาอยู่บนเชิงตะกอนเดียวกัน
(พระกีสาโคตมีเถรีกล่าวว่า)
[๒๒๐] เจ้า เมื่อสิ้นตระกูลแล้ว ตกเป็นคนกำพร้า
เสวยทุกข์หาประมาณมิได้
ก็แลน้ำตาของเจ้าไหลตลอดมาหลายพันชาติ
[๒๒๑] เราเห็นเจ้าและเนื้อบุตรของเจ้า
ถูกสุนัขเป็นต้นกัดกินที่ท่ามกลางป่าช้า
เราพร้อมกับสามีมีตระกูลฉิบหายแล้ว
ถูกชนทั้งปวงติเตียนแล้วได้บรรลุอมตธรรม
[๒๒๒] อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงอมตธรรม
เราได้เจริญแล้ว
แม้นิพพานเราก็ทำให้แจ้งแล้ว
เราได้พบกระจกคือธรรมแล้ว
[๒๒๓] ตัดลูกศรเสียได้ ปลงภาระได้แล้ว
กระทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
กีสาโคตมีเถรีผู้มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว
ได้กล่าวเนื้อความนี้ไว้
เอกาทสกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๙๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๑. ทวาทสกนิบาต] ๑. อุปลวัณณาเถรีคาถา
๑๑. ทวาทสกนิบาต
๑. อุปลวัณณาเถรีคาถา
ภาษิตของพระอุบลวรรณาเถรี
(พระอุบลวรรณาเถรีอาศัยภาษิตที่โยมมารดาของพระคังคาตีริยเถระกล่าว จึง
ได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๒๒๔] เรา ๒ คน คือ มารดาและธิดามีสามีร่วมกัน
เรานั้นได้มีความสลดใจ ขนพองสยองเกล้าอย่างไม่เคยมี
[๒๒๕] น่าติเตียนนัก กามทั้งหลายไม่สะอาด
มีกลิ่นเหม็น มีหนามมาก
ที่เรา ๒ คน คือ มารดาและธิดา เป็นภริยาร่วมกัน
[๒๒๖] เรานั้นเห็นโทษในกามทั้งหลาย
เห็นการออกจากกามโดยความปลอดโปร่ง
จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในกรุงราชคฤห์
(พระอุบลวรรณาเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๒๗] เราระลึกชาติก่อนได้ ทิพพจักขุ เจโตปริยญาณ
และโสตธาตุ เราชำระให้หมดจดแล้ว
[๒๒๘] แม้ฤทธิ์เราทำให้แจ้งแล้ว
เราบรรลุความสิ้นอาสวะแล้ว
ทำอภิญญา ๖ ให้แจ้งแล้ว
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๒๒๙] เราเนรมิตรถเทียมด้วยม้า ๔ ตัวด้วยฤทธิ์
มาถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นที่พึ่งของโลก ทรงพระสิริ แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๙๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๑. ทวาทสกนิบาต] ๑. อุปลวัณณาเถรีคาถา
(มารเห็นพระเถรีนั่งอยู่ที่พักกลางวัน ได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๒๓๐] ท่านเข้าไปใกล้ต้นไม้ที่มีดอกบานสะพรั่งถึงยอด
ยืนอยู่แต่ผู้เดียวที่โคนต้นไม้
และแม้เพื่อนไร ๆ ของท่านก็ไม่มี
ท่านไม่กลัวความสามหาวของพวกนักเลงเจ้าชู้หรือ
(พระอุบลวรรณาเถรีเมื่อจะคุกคามมาร จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๓๑] ต่อให้นักเลงเจ้าชู้ตั้งแสนคนเช่นนี้ห้อมล้อม
แม้เพียงขนของเราก็ไม่พึงหวั่นไหว ไม่สะเทือน
มาร ท่านผู้เดียวจะทำอะไรเราได้
[๒๓๒] เรานั้น หายตัวก็ได้ เข้าท้องท่านก็ได้
ยืนอยู่ระหว่างคิ้วของท่านก็ได้
เรายืนอยู่ ท่านก็มองไม่เห็น
[๒๓๓] เรามีจิตเชี่ยวชาญ อบรมอิทธิบาทดีแล้ว
เราทำอภิญญา ๖ ให้แจ้งแล้ว
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๒๓๔] กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว
เป็นเขียงรองสับขันธ์ทั้งหลาย
บัดนี้ เราไม่มีความยินดีในกามที่ท่านพูดถึง
[๒๓๕] กำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวงได้แล้ว
ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว
มารผู้ชั่วช้าเลวทราม ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า
ท่านถูกเรากำจัดแล้ว
ทวาทสกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๙๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๒. โสฬสกนิบาต] ๑. ปุณณาเถรีคาถา
๑๒. โสฬสกนิบาต
๑. ปุณณาเถรีคาถา
ภาษิตของพระปุณณาเถรี
พระปุณณาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๓๖] เราเป็นคนตักน้ำ กลัวต่อภัยคืออาชญาของนาย
ถูกภัยคือวาจาและโทสะของนายบีบคั้นแล้ว
จึงลงตักน้ำเป็นประจำ แม้หน้าหนาว
[๒๓๗] ท่านพราหมณ์ ท่านกลัวอะไรนะ จึงลงอาบน้ำเป็นประจำ
ทั้งมีตัวสั่นเทา ประสบความหนาวอย่างหนัก
(พราหมณ์กล่าวตอบด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๓๘] แม่ปุณณาผู้เจริญ ก็ท่านรู้อยู่ว่า
ฉันกำลังทำกุศลกรรมอันจะปิดกั้นบาปกรรม
ที่ตัวได้ก่อไว้ ยังจะสอบถามอีก
[๒๓๙] ผู้ใดไม่ว่าแก่หรือหนุ่มก่อบาปกรรมไว้
แม้ผู้นั้นย่อมพ้นจากบาปกรรมได้อย่างสิ้นเชิงก็เพราะการอาบน้ำ
(พระปุณณาเถรีกล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๔๐] ใครหนอช่างไม่รู้ มาบอกความนี้แก่ท่านซึ่งไม่รู้ว่า
คนจะพ้นจากบาปกรรมได้ก็เพราะการอาบน้ำ
[๒๔๑] พวกกบ เต่า งู จระเข้ และสัตว์เหล่าอื่น
ที่เที่ยวหากินอยู่ในน้ำทั้งหมดก็คงพากันไปสวรรค์แน่แท้
[๒๔๒] คนฆ่าแกะ คนฆ่าสุกร ชาวประมง พรานเนื้อ
โจร เพชฌฆาต และคนที่ก่อบาปกรรมอื่น ๆ แม้เหล่านั้น
ก็จะพึงพ้นจากบาปกรรมได้เพราะการอาบน้ำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๙๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๒. โสฬสกนิบาต] ๑. ปุณณาเถรีคาถา
[๒๔๓] ถ้าแม่น้ำเหล่านี้จะพึงนำบาปที่ท่านก่อไว้แต่ก่อนไปได้
แม่น้ำเหล่านี้ก็จะพึงนำทั้งบุญของท่านไปด้วย
ท่านก็จะพึงเป็นผู้ห่างจากบุญกรรมนั้นไป
[๒๔๔] ท่านพราหมณ์ ท่านกลัวบาปใด จึงลงอาบน้ำเป็นประจำ
ท่านก็อย่าได้ทำบาปอันนั้น
ขอความหนาวเย็นอย่าได้ทำลายผิวท่านเลย
(พราหมณ์กล่าวตอบด้วยภาษิตว่า)
[๒๔๕] ท่านนำฉันผู้เดินทางผิดมาสู่ทางที่พระอริยะเดินแล้วด้วยดี
แม่ปุณณาผู้เจริญ ฉันขอถวายผ้าสาฏกสำหรับสรงน้ำนี้แก่ท่าน
(พระปุณณาเถรีได้กล่าวตอบด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๔๖] ผ้าสาฏกจงเป็นของท่านตามเดิมเถิด เราไม่ต้องการผ้าสาฏก
ถ้าท่านกลัวทุกข์ ถ้าทุกข์ไม่น่ารักสำหรับท่าน
[๒๔๗] ท่านก็อย่าได้ก่อกรรมชั่วทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ
ถ้าท่านจะทำ หรือกำลังทำกรรมชั่ว
[๒๔๘] ท่านถึงจะเหาะหนีไป ก็ไม่พ้นจากทุกข์ไปได้เลย
ถ้าท่านกลัวทุกข์ ถ้าทุกข์ไม่น่ารักสำหรับท่าน
[๒๔๙] ท่านจงถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ผู้คงที่
ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกเถิด จงสมาทานศีล
ข้อนั้นแหละจะเป็นความหลุดพ้นแก่ท่าน
(พราหมณ์กล่าวตอบด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๕๐] ฉันขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ผู้คงที่
ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ขอสมาทานศีล ข้อนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ฉัน
[๒๕๑] เมื่อก่อน ฉันเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระพรหม
วันนี้ ฉันเป็นพราหมณ์จริง ฉันได้วิชชา ๓ มีความสวัสดี
จบเวท และเป็นผู้ล้างบาปได้แล้ว
โสฬสกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๙๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๑. อัมพปาลีเถรีคาถา
๑๓. วีสตินิบาต
๑. อัมพปาลีเถรีคาถา
ภาษิตของพระอัมพปาลีเถรี
(พระอัมพปาลีเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๕๒] เมื่อก่อน ผมของเรามีสีดำเหมือนสีแมลงภู่
มีปลายผมงอน เดี๋ยวนี้ ผมเหล่านั้น
กลายสภาพเป็นเหมือนป่านและปอเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๕๓] เมื่อก่อน มวยผมของเราเต็มด้วยดอกไม้หอมกรุ่น
เหมือนผอบที่อบกลิ่น
เดี๋ยวนี้ ผมนั้นมีกลิ่นเหมือนขนกระต่ายเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๕๔] เมื่อก่อน ผมของเราดกงาม
มีปลายผมรวบไว้ด้วยหวีและปิ่นปักผม
เหมือนป่าไม้ทึบ ที่ปลูกไว้เป็นระเบียบ งามสะพรั่ง
เดี๋ยวนี้ ผมนั้นบางลง ๆ ทั่วศีรษะเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๕๕] เมื่อก่อน ผมของเราตกแต่งด้วยช้องผม
ประดับด้วยปิ่นทองคำอันละเอียดมีกลิ่นหอม งดงาม
เดี๋ยวนี้ ผมนั้นล้านเลี่ยนทั้งศีรษะ
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๙๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๑. อัมพปาลีเถรีคาถา
[๒๕๖] เมื่อก่อน คิ้วของเรา สวยงามนัก
คล้ายรอยเขียนที่จิตรกรบรรจงเขียนไว้
เดี๋ยวนี้คิ้วนั้นมีรอยย่นห้อยลงเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๕๗] เมื่อก่อน ดวงตาทั้งคู่ของเราดำขลับ
กลมโต มีประกายงาม คล้ายแก้วมณี
เดี๋ยวนี้ ถูกชราทำลายเสียแล้ว จึงไม่งาม
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๕๘] เมื่อก่อน เวลายังรุ่นสาว จมูกของเราโด่ง งาม
เหมือนเกลียวหรดาลที่ปั้นวางไว้
เดี๋ยวนี้เหี่ยวแฟบเหมือนจะจมลงไปเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๕๙] เมื่อก่อน ใบหูทั้งสองของเราสวยงามนัก
เหมือนกำไลแขนที่ช่างทำอย่างประณีต เสร็จเรียบร้อยแล้ว
เดี๋ยวนี้กลับมีรอยย่นห้อยลงเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๖๐] เมื่อก่อน ฟันของเราสวยงามนัก
เหมือนสีหน่อตูมของต้นกล้วย
เดี๋ยวนี้ กลับหัก มีสีเหลืองปนแดงเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๙๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๑. อัมพปาลีเถรีคาถา
[๒๖๑] เมื่อก่อน เราพูดเสียงไพเราะ เหมือนนกดุเหว่า
ที่เที่ยวไปในไพรสณฑ์ ส่งเสียงไพเราะอยู่ในป่าใหญ่
เดี๋ยวนี้คำพูดของเราพลาดไป ทุก ๆ คำเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๖๒] เมื่อก่อน คอของเราสวยงามนัก
กลมเกลี้ยงเหมือนสังข์ทองขัดเกลาดีแล้ว
เดี๋ยวนี้ กลายเป็นงุ้มค่อมลงเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่วามจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๖๓] เมื่อก่อน แขนทั้งสองของเราสวยงามนัก
เหมือนไม้กลอนกลมกลึง
เดี๋ยวนี้ กลายเป็นลีบ เหมือนกิ่งแคคดเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๖๔] เมื่อก่อน มือทั้งสองของเราสวยงามนัก
ประดับด้วยแหวนทองงามระยับ
เดี๋ยวนี้ กลายเป็นเหมือนเหง้ามันเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๖๕] เมื่อก่อน ถันทั้งสองของเราเต่งตึงกลมกลึง
ตั้งประชิดกัน ทั้งงอนสล้างสวยงามนัก
เดี๋ยวนี้ กลายเป็นหย่อนยานเหมือนถุงหนังไม่มีน้ำเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๙๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๑. อัมพปาลีเถรีคาถา
[๒๖๖] เมื่อก่อน ร่างกายของเราเกลี้ยงเกลาสวยงามนัก
เหมือนอย่างแผ่นทองคำที่ขัดดีแล้ว
เดี๋ยวนี้ ดื่นไปด้วยรอยเหี่ยวย่นอันละเอียดเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๖๗] เมื่อก่อน ขาอ่อนทั้งสองของเราสวยงามนัก
เปรียบเหมือนงวงช้าง
เดี๋ยวนี้ เป็นปมเป็นปุ่ม เหมือนข้อไม้ไผ่เพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๖๘] เมื่อก่อน แข้งทั้งสองของเรา ประดับด้วยกำไลทอง
เกลี้ยงเกลาสวยงามนัก
เดี๋ยวนี้ กลับเหี่ยวแห้งเหมือนต้นงาแห้งเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๖๙] เมื่อก่อน เท้าทั้งสองของเราสวยงามนัก
เปรียบเหมือนรองเท้ายัดปุยนุ่น
เดี๋ยวนี้ แตกเป็นริ้วรอยเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๗๐] เดี๋ยวนี้ ร่างกายนี้เป็นเช่นนี้ คร่ำคร่าเพราะชรา
เป็นแหล่งที่อยู่แห่งทุกข์เป็นอันมาก
ปราศจากเครื่องลูบไล้ เป็นดุจเรือนอันคร่ำคร่า
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๙๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๒. โรหิณีเถรีคาถา
๒. โรหิณีเถรีคาถา
ภาษิตของพระโรหิณีเถรี
(พระโรหิณีเถรีกล่าวภาษิตที่บิดาและตนเองพูดจาโต้ตอบกันด้วยการเปล่งอุทาน
ว่า)
(บิดาถามเราว่า)
[๒๗๑] แม่โรหิณีผู้เจริญ เจ้าหลับก็พูดว่า“สมณะ”
ตื่นก็พูดว่า “สมณะ”
สรรเสริญแต่สมณะเท่านั้น
เห็นทีลูกจะบวชเป็นสมณะเสียแน่แท้
[๒๗๒] โรหิณี ลูกถวายข้าวและน้ำอย่างไพบูลย์แก่เหล่าสมณะ
พ่อขอถาม เดี๋ยวนี้ เพราะเหตุไรเหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
[๒๗๓] พวกสมณะไม่ชอบทำการงาน เกียจคร้าน
อาศัยแต่ของที่คนอื่นให้เลี้ยงชีพ
หวังแต่จะได้ ชอบของอร่อย
เพราะเหตุไร เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
(เราตอบท่านว่า)
[๒๗๔] คุณพ่อขา คุณพ่อสอบถามไล่เลียงกับลูก
เรื่องคุณของสมณะเสียตั้งนาน
ลูกจะขยายปัญญา ศีล และความบากบั่น
ของสมณะเหล่านั้นแก่คุณพ่อดังนี้
[๒๗๕] สมณะทั้งหลายชอบทำการงาน ไม่เกียจคร้าน
ทำแต่การงานที่ประเสริฐสุด จึงละราคะโทสะได้
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๐๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๒. โรหิณีเถรีคาถา
[๒๗๖] สมณะทั้งหลาย กำจัดมูลราก๑ทั้ง ๓ ของบาป
ทำแต่งานสะอาด จึงละบาปได้ทั้งหมด
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
[๒๗๗] กายกรรมของสมณะเหล่านั้นสะอาด
วจีกรรมก็สะอาด มโนกรรมก็สะอาด
เพราะเหตุนั้นเหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
[๒๗๘] สมณะเหล่านั้น ไร้มลทินดุจสังข์และมุกดาที่ขัดดีแล้ว
สะอาดทั้งภายในและภายนอก บริบูรณ์ด้วยธรรมฝ่ายขาว
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
[๒๗๙] สมณะเหล่านั้นเป็นพหูสูต ทรงธรรม
เป็นพระอริยะ เป็นอยู่โดยธรรม แสดงเหตุและผล
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
[๒๘๐] สมณะเหล่านั้นเป็นพหูสูต ทรงธรรม
เป็นพระอริยะ เป็นอยู่โดยธรรม มีจิตมีอารมณ์เดียว๒ มีสติ
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
[๒๘๑] สมณะเหล่านั้นอยู่ป่าห่างไกลผู้คน มีสติ
พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน รู้ที่สุดทุกข์
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
[๒๘๒] สมณะเหล่านั้น หลีกออกจากหมู่บ้านใดไป
ไม่เหลียวแลอย่างกังวลในหมู่บ้านนั้น
ไปอย่างไม่มีเยื่อใยเลย
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก

เชิงอรรถ :
๑ โลภะ (ความอยากได้) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) โมหะ (ความหลง) (ขุ.เถรี.อ. ๒๗๖/๒๗๗)
๒ จิตมีสมาธิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๐๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๓. จาปาเถรีคาถา
[๒๘๓] สมณะเหล่านั้นไม่เก็บสะสมทรัพย์สมบัติไว้ในยุ้งฉาง
ในหม้อ และในกระเช้า แสวงหาแต่อาหารที่สำเร็จแล้ว
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
[๒๘๔] สมณะเหล่านั้นไม่รับเงิน ทอง และรูปิยะ
เลี้ยงชีพด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
[๒๘๕] สมณะเหล่านั้นบวชมาจากต่างสกุลกัน
และต่างชนบทกัน ก็รักซึ่งกันและกัน
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
(บิดากล่าวกับเราว่า)
[๒๘๖] ลูกโรหิณีผู้เจริญ ลูกเกิดมาในสกุล
เพื่อประโยชน์แก่พวกเราแท้หนอ
ลูกมีศรัทธา มีความเคารพแรงกล้า
ในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
[๒๘๗] เพราะลูกรู้จักพระรัตนตรัยนั้นว่า
เป็นบุญเขตอันยอดเยี่ยม
สมณะเหล่านั้นคงจะรับทักษิณาทานของพ่อบ้างนะ
[๒๘๘] เพราะว่า ยัญคือบุญที่เราตั้งไว้แล้วในสมณะเหล่านั้น
คงจะมีผลไพบูลย์แก่พวกเราแน่
(เรากล่าวกับบิดาว่า) ถ้าคุณพ่อกลัวทุกข์
ถ้าคุณพ่อเกลียดทุกข์
[๒๘๙] ขอคุณพ่อ โปรดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
ผู้คงที่ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกเถิด
จงสมาทานศีล ข้อนั้นจะเป็นประโยชน์แก่คุณพ่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๐๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๓. จาปาเถรีคาถา
(บิดากล่าวกับเราว่า)
[๒๙๐] พ่อขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
ผู้คงที่ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ขอสมาทานศีล
ข้อนั้นจะเป็นประโยชน์แก่พ่อ
[๒๙๑] เมื่อก่อน พ่อเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระพรหม
วันนี้ พ่อเป็นพราหมณ์ พ่อได้วิชชา ๓ มีความสวัสดี
จบเวท และเป็นผู้ล้างบาปได้แล้ว
๓. จาปาเถรีคาถา
ภาษิตของพระจาปาเถรี
(พระจาปาเถรีได้รวบรวมคาถาที่อุปกาชีวกและตนกล่าวด้วยการเปล่งอุทาน
ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
(อุปกาชีวกกล่าวว่า)
[๒๙๒] เมื่อก่อน ตัวเรา(เป็นปริพาชก)ถือไม้เท้า
เดี๋ยวนี้ เรานั้นกลายเป็นพรานล่าเนื้อไปเสียแล้ว
ไม่อาจข้ามจากตัณหาและเปือกตมอันร้ายกาจ๑
ไปสู่ฝั่งโน้นได้เลย
[๒๙๓] เมื่อก่อน นางจาปาดูหมิ่นเราว่าเป็นคนมัวเมานัก
จึงกล่อมลูกเย้ยหยันเสียดสี
เราจะตัดความเกี่ยวข้องด้วยจาปาไปบวชเสีย
(เรากล่าวว่า)
[๒๙๔] อย่าโกรธเลย ท่านมหาวีระ อย่าโกรธเลย ท่านมหามุนี
เพราะว่า ผู้ถูกความโกรธครอบงำแล้ว ไม่มีความบริสุทธิ์ดอก
แล้วตบะจะมีแต่ที่ไหนเล่า

เชิงอรรถ :
๑ กาม (ความใคร่, ความกำหนัด) ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) (ขุ.เถรี.อ. ๒๙๒/๒๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๐๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๓. จาปาเถรีคาถา
(อุปกาชีวกกล่าวว่า)
[๒๙๕] เราจะออกจากบ้านนาลา ใครจะอยู่ในบ้านนาลานี้ได้
เจ้าจะผูกเหล่าสมณะผู้เลี้ยงชีพโดยธรรมด้วยมารยาหญิงอยู่หรือ
(เรากล่าวว่า)
[๒๙๖] มาสิ ท่านกาฬะ กลับมาเถิด
เชิญบริโภคกามเหมือนแต่ก่อน
ดิฉันและพวกญาติยอมอยู่ในอำนาจของท่าน
(อุปกาชีวกกล่าวว่า)
[๒๙๗] จาปา เจ้ากล่าวคำอ่อนหวานเช่นใดแก่เรา
พึงเปล่งคำอ่อนหวานให้ยิ่งไปกว่านี้อีก ๔ เท่า
คำอ่อนหวานนั้นจะพึงเป็นคำจับใจบุรุษ
ผู้ยินดีในเธอเท่านั้นดอกนะ
(เรากล่าวว่า)
[๒๙๘] ท่านกาฬะ ดิฉันซึ่งสะสวย
มีเรือนร่างงามดังต้นคนทามีดอกบานสะพรั่งอยู่บนยอดเขา
ดังเครือทับทิมมีดอกบานแล้ว
ดังต้นแคฝอยมีดอกบานสะพรั่งภายในเกาะ
[๒๙๙] มีร่างกายลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์
นุ่งห่มผ้าแคว้นกาสีมีค่ามาก
เพราะเหตุไร ท่านจึงละทิ้งไปเสียเล่า
(อุปกาชีวกกล่าวว่า)
[๓๐๐] เจ้าจะตามเบียดเบียนเราด้วยรูปที่ตกแต่ง
เหมือนอย่างพรานนกประสงค์จะตามเบียดเบียนนก
ไม่ได้ดอกนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๐๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๓. จาปาเถรีคาถา
(เรากล่าวว่า)
[๓๐๑] ท่านกาฬะ ก็ผลคือลูกของเรานี้ท่านทำให้เกิดมาแล้ว
ท่านจะละทิ้งดิฉันซึ่งมีลูกไปเพื่ออะไรเล่า
(อุปกาชีวกกล่าวว่า)
[๓๐๒] ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย มีความเพียรมาก ย่อมละพวกลูก
จากนั้นก็ละพวกญาติ ต่อจากนั้นก็ละทรัพย์
ตัดเครื่องผูกพันได้ขาด แล้วออกบวช
เหมือนพญาช้างทำเครื่องผูกให้ขาดแล้วหนีไป
(เรากล่าวว่า)
[๓๐๓] บัดนี้ ดิฉันจะเอาท่อนไม้ทุบ
หรือเอากริชแทงลูกคนนี้ของท่านให้ล้มลงเหนือพื้นดิน
เพราะความเศร้าโศกถึงลูก
ท่านจะไปไม่ได้แน่
(อุปกาชีวกกล่าวว่า)
[๓๐๔] ถึงเจ้าจักยอมมอบลูกให้ฝูงสุนัขจิ้งจอก(กินเป็นอาหาร)
แน่ะหญิงเลว เพราะลูกเป็นต้นเหตุ
เจ้าจักทำเราให้หวนกลับมาอีกไม่ได้ดอก
(เรากล่าวว่า)
[๓๐๕] ท่านกาฬะผู้เจริญ บัดนี้ ท่านจักไปที่ไหน
จะเป็นหมู่บ้าน นิคม นคร ราชธานีไหน ก็เชิญเถิด
(อุปกาชีวกกล่าวว่า)
[๓๐๖] เมื่อก่อน เราเป็นเจ้าคณะ
ไม่เป็นสมณะ แต่สำคัญตัวว่าเป็นสมณะ
ได้เที่ยวไปตามหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ทุกนคร ทุกราชธานี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๐๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๓. จาปาเถรีคาถา
[๓๐๗] พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้ ณ ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ทรงแสดงธรรมโปรดหมู่สัตว์เพื่อให้ละทุกข์ทั้งปวง
เราควรจักไปเฝ้าพระองค์
พระองค์จักเป็นศาสดาของเรา
(เรากล่าวว่า)
[๓๐๘] บัดนี้ ขอท่านพึงกราบทูลพระโลกนาถผู้ยอดเยี่ยม
ถึงการถวายอภิวาทของดิฉัน
และพึงทำประทักษิณ
แล้วอุทิศส่วนบุญให้ดิฉันด้วย
(อุปกาชีวกกล่าวว่า)
[๓๐๙] แม่จาปา ข้อที่เจ้าพูดกับเรา เรารับได้
บัดนี้เราจักกราบทูลพระโลกนาถผู้ยอดเยี่ยม
ถึงการถวายอภิวาทของเจ้า
และจักทำประทักษิณ
แล้วอุทิศส่วนบุญให้แก่เจ้าแน่
[๓๑๐] ต่อแต่นั้น ท่านกาฬะได้เดินทางไปใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้กำลังทรงแสดงอมตบท
[๓๑๑] คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์
และอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[๓๑๒] ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระองค์
ทำประทักษิณพระองค์
แล้วอุทิศส่วนบุญให้จาปา
บวชเป็นบรรพชิต บรรลุวิชชา ๓
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๐๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๔. สุนทรีเถรีคาถา
๔. สุนทรีเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุนทรีเถรี
(สุชาตพราหมณ์ผู้เป็นบิดา เมื่อจะถามถึงเหตุแห่งการบรรเทาความเศร้าโศก
จึงถามพระวาสิฏฐีเถรีด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๓๑๓] นางผู้เจริญ เมื่อก่อน เจ้ากินลูก ๆ ให้ตายไป
เจ้าเดือดร้อนอย่างยิ่งทั้งกลางวันและกลางคืน
[๓๑๔] พราหมณี วันนี้ เจ้านั้นกินลูกหมดทั้ง ๗ คน
แม่วาสิฏฐี เพราะเหตุไร เจ้าจึงไม่เดือดร้อนหนักหนาเล่า
(พระวาสิฏฐีเถรีกล่าวว่า)
[๓๑๕] ท่านพราหมณ์ ในส่วนอดีต
ลูกและหมู่ญาติของเราหลายร้อยคน
เราและท่านก็กินกันมาแล้ว
[๓๑๖] เรานั้นรู้นิพพานที่เป็นธรรมเครื่องสลัด
ซึ่งความเกิดและความตายออกเสีย
จึงไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้ และไม่เดือดร้อน
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๓๑๗] แม่วาสิฏฐี น่าอัศจรรย์จริงหนอที่เจ้ากล่าววาจาเช่นนี้
เจ้ารู้ธรรมของใครเล่า
จึงกล่าววาจาเช่นนี้
(พระวาสิฏฐีเถรีกล่าวว่า)
[๓๑๘] ท่านพราหมณ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เสด็จมาถึงเมืองมิถิลา
ทรงแสดงธรรมโปรดหมู่สัตว์เพื่อละทุกข์ทั้งปวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๐๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๔. สุนทรีเถรีคาถา
[๓๑๙] ท่านพราหมณ์ เราฟังธรรมที่ปราศจากอุปธิกิเลส๑
ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
รู้แจ้งพระสัทธรรมในธรรมเทศนานั้นแล้ว
จึงบรรเทาความเศร้าโศกถึงลูกเสียได้
(สุชาตพราหมณ์กล่าวว่า)
[๓๒๐] ถึงเรานั้นก็จักไปเมืองมิถิลาเหมือนกัน
ถ้าอย่างไร พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ก็คงจะทรงช่วยปลดเปลื้องเราจากทุกข์ทั้งสิ้นได้แน่
[๓๒๑] พราหมณ์ได้พบพระพุทธเจ้าผู้ทรงหลุดพ้นแล้ว ไม่มีอุปธิกิเลส
พระมุนีผู้ถึงฝั่งแห่งทุกข์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดพราหมณ์นั้น
[๓๒๒] คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์
และอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[๓๒๓] สุชาตพราหมณ์รู้แจ้งพระสัทธรรม
ในพระธรรมเทศนาคืออริยสัจ ๔ นั้นแล้ว
เข้าบวชได้ ๓ วัน ก็ได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว
(พระสุชาตพราหมณ์กล่าวกับนายสารถีว่า)
[๓๒๔] มานี่สิ สารถี เธอจงกลับไป
จงมอบรถคันนี้ให้พราหมณีด้วย
และช่วยบอกนางพราหมณีถึงความสบาย ไม่เจ็บป่วยว่า
บัดนี้ สุชาตพราหมณ์บวชได้ ๓ วัน ก็ได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว
[๓๒๕] ลำดับนั้น นายสารถีนำรถและทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ
ไปมอบให้นางพราหมณี และได้บอกนางพราหมณีถึงความสบาย
ไม่เจ็บป่วยว่า บัดนี้ สุชาตพราหมณ์บวชได้ ๓ วัน ก็ได้บรรลุ
วิชชา ๓ แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ปราศจากทุกข์ (ขุ.เถรี.อ. ๓๑๙/๒๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๐๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๔. สุนทรีเถรีคาถา
(พราหมณีกล่าวว่า)
[๓๒๖] นายสารถี ฉันฟังเรื่องพราหมณ์ได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว
ขอมอบรถม้าคันนี้และทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ
เป็นรางวัลตอบแทนเจ้าที่ให้ข่าวดี
(นายสารถีไม่ยอมรับ กลับกล่าวว่า)
[๓๒๗] ข้าแต่พราหมณี รถม้ากับทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ
จงเป็นของแม่เจ้าตามเดิมเถิด
ถึงตัวข้าพเจ้าก็จักบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ
(พราหมณีกล่าวกับสุนทรีธิดาว่า)
[๓๒๘] บิดาของลูก ละช้าง ม้า โค แก้วมณี แก้วกุณฑล
และเครื่องอุปกรณ์เรือนมากมายนี้
ออกบวชเสียแล้ว
ลูกสุนทรีลูกจงบริโภคโภคสมบัติทั้งหลาย
จงเป็นทายาทรับมรดกในตระกูล นะลูก
(สุนทรีฟังคำของมารดานั้นแล้ว เมื่อจะประกาศความที่ตนตั้งใจจะออกบวช
จึงได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๓๒๙] บิดาของลูกกระทบกระเทือนใจ
เพราะความเศร้าโศกถึงลูกชาย
จึงละช้าง ม้า โค แก้วมณี แก้วกุณฑล
และอุปกรณ์เรือนที่น่ารื่นรมย์นี้ออกบวช
ถึงลูกก็กระทบกระเทือนใจ
เพราะความเศร้าโศกถึงพี่ชายมาก
ก็จักออกบวชด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๐๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๔. สุนทรีเถรีคาถา
(ลำดับนั้น มารดาเมื่อจะชักนำสุนทรีธิดาในทางเนกขัมมะ จึงได้กล่าวภาษิต
เหล่านี้ว่า)
[๓๓๐] ลูกสุนทรี ขอความดำริของลูกจงสำเร็จตามที่ลูกปรารถนาเถิด
ลูกเมื่อใช้สอยสิ่งเหล่านี้ คือ ก้อนข้าวที่พึงลุกขึ้นยืนรับ
การเที่ยวแสวงหาอาหาร และนุ่งห่มผ้าบังสุกุล
จงเป็นผู้ไม่มีอาสวะในโลกหน้าเถิด
(พระสุนทรีจึงกล่าวขออนุญาตพระภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์ว่า)
[๓๓๑] ข้าแต่แม่เจ้า ดิฉันเมื่อเป็นสิกขมานา
ก็ชำระทิพยจักขุให้หมดจดได้แล้ว
ดิฉันระลึกรู้ถึงชาติก่อนที่เคยอยู่อาศัยมาได้
[๓๓๒] ข้าแต่แม่เจ้า ผู้มีคุณความดีเป็นผู้งามในหมู่พระเถรี
เพราะอาศัยแม่ท่าน ดิฉันบรรลุวิชชา ๓
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๓๓๓] ข้าแต่แม่เจ้า โปรดอนุญาตเถิดเจ้าค่ะ
ดิฉันประสงค์จะไปกรุงสาวัตถี
จักบันลือสีหนาทในสำนักพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
(พระสุนทรีเถรีไปถึงกรุงสาวัตถีแล้ว เข้าไปยังพระวิหาร ได้เห็นพระศาสดา
ประทับนั่งอยู่บนธรรมาสน์ จึงพูดกับตนเองว่า)
[๓๓๔] สุนทรีท่านจงดูพระศาสดาผู้มีพระรัศมีดังทองคำ
มีพระฉวีวรรณเรืองรองดังทองคำ
ทรงฝึกเหล่าชนที่ใคร ๆ ฝึกไม่ได้
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ
(กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๑๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๕. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา
[๓๓๕] ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรหม่อมฉันผู้ชื่อว่าสุนทรี
ซึ่งหลุดพ้นแล้ว ไม่มีอุปธิกิเลส
ปราศจากราคะ ไม่เกาะเกี่ยว
ไม่มีอาสวะ ทำกิจเสร็จแล้วมาเฝ้าอยู่
[๓๓๖] ข้าแต่พระมหาวีระ สุนทรีสาวิกาของพระองค์
ออกจากกรุงพาราณสี มาเฝ้าพระองค์
ถวายอภิวาทพระยุคลบาทอยู่
[๓๓๗] พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของหม่อมฉัน
ข้าแต่พระผู้ทรงเป็นพราหมณ์
หม่อมฉันเป็นธิดาซึ่งเกิดแต่พระอุระ
เกิดแต่พระโอษฐ์ของพระองค์
ไม่มีอาสวะ ทำกิจเสร็จแล้ว
(ลำดับนั้น พระศาสดาเมื่อจะชมเชยการมาเฝ้าของนาง จึงได้ตรัสว่า)
[๓๓๘] สุนทรีผู้เจริญ เธอมาดีแล้ว มาไม่เลวเลย
เพราะว่าผู้ที่ฝึกแล้วอย่างนี้ ปราศจากราคะ
ไม่เกาะเกี่ยว ไม่มีอาสวะ
ทำกิจเสร็จแล้ว ย่อมมากราบเท้าพระศาสดา
๕. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุภากัมมารธิดาเถรี
พระสุภากัมมารธิดาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๓๓๙] เพราะเมื่อก่อน เรายังสาวนุ่งห่มผ้าสะอาด
ได้ฟังธรรมแล้ว เรานั้นไม่ประมาท
จึงได้ตรัสรู้สัจธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๑๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๕. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา
[๓๔๐] ฉะนั้น เราจึงไม่ยินดีอย่างยิ่งในกามทั้งปวง
เห็นภัยในกายของตน กระหยิ่มเฉพาะเนกขัมมะเท่านั้น
[๓๔๑] ละหมู่ญาติ ทาส กรรมกร บ้าน ไร่นา ความมั่งคั่ง
และกองโภคะที่น่ารื่นรมย์ ที่เขาบันเทิงกันนัก
[๓๔๒] ละสมบัติมิใช่น้อย ออกบวชด้วยศรัทธาอย่างนี้
ในพระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศดีแล้ว
[๓๔๓] ข้อที่เราละเงินทองแล้วยังกลับ (ยินดีเงินทอง) อีกนั้น
ไม่สมควรแก่เรา เพราะเราปรารถนาความไม่มีห่วงกังวล
[๓๔๔] เพราะเงินทอง หาใช่มีไว้เพื่อความตรัสรู้ เพื่อความสงบใจไม่
เงินทองนั้นไม่สมควรแก่สมณะ ทั้งไม่ใช่อริยทรัพย์
[๓๔๕] อนึ่ง เงินทองนี้ ทำให้เกิดความโลภ นำมาซึ่งความมัวเมา
ให้เกิดความลุ่มหลง เป็นเครื่องเพิ่มพูนความกำหนัดยินดี
มีความระแวง มีความยุ่งยาก
และในเงินทองนั้นไม่มีความยั่งยืนมั่นคงเลย
[๓๔๖] อนึ่ง ผู้คนเป็นอันมากยินดีในทรัพย์นั้น ชื่อว่าเป็นผู้ประมาท
มีใจเศร้าหมอง ต่างผิดใจต่อกันและกัน
กระทำความบาดหมางทะเลาะวิวาทกัน
[๓๔๗] การฆ่ากัน การถูกจองจำ การต้องโทษมีตัดมือเป็นต้น
ความเสื่อม ความเศร้าโศก ร่ำไร
ความพินาศเป็นอันมากของคนทั้งหลาย
ผู้เนื่องอยู่ในกามทั้งหลาย ก็มองเห็นกันอยู่
[๓๔๘] ท่านทั้งหลายเป็นญาติก็เหมือนเป็นศัตรู
เพราะเหตุไร จึงชักจูงเรานั้นไว้ในกามทั้งหลายเล่า
ท่านทั้งหลายจงรู้เถิดว่า เราเห็นภัยในกามทั้งหลายจึงบวช

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๑๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๕. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา
[๓๔๙] อาสวะทั้งหลาย ย่อมไม่สิ้นไปเพราะเงินและทอง
กามทั้งหลาย เป็นศัตรู เป็นผู้ฆ่า
เป็นข้าศึก เป็นดังลูกศรเสียบไว้
[๓๕๐] ท่านทั้งหลายเป็นญาติก็เหมือนเป็นศัตรู
เพราะเหตุไร จึงชักจูงเราไว้ในกามทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายจงรู้เถิดว่า
เราบวชศีรษะโล้นครองผ้าสังฆาฏิแล้ว
[๓๕๑] ก้อนข้าวที่จะพึงลุกขึ้นยืนรับ การเที่ยวแสวงหา
การนุ่งห่มผ้าบังสุกุล
และบริขารเครื่องอาศัยของนักบวชผู้ไม่มีเรือน
นี่แหละเป็นของเหมาะสมสำหรับเรา
[๓๕๒] กามทั้งหลายทั้งที่เป็นของทิพย์ และที่เป็นของมนุษย์
เหล่าท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่คลายเสียแล้ว
ท่านเหล่านั้น น้อมไปแล้วในฐานะอันปลอดโปร่ง
บรรลุสุขอันไม่หวั่นไหวแล้ว
[๓๕๓] เราอย่าร่วมด้วยกามทั้งหลายซึ่งช่วยอะไรไม่ได้เลย
กามทั้งหลายเป็นศัตรู เป็นผู้ฆ่า
อุปมาด้วยกองไฟ นำแต่ทุกข์มาให้
[๓๕๔] กามนั่น เป็นสภาวะที่เบียดเบียน มีภัย
เป็นไปกับด้วยความคับแค้น
เป็นเสี้ยนหนาม และกามนั้น มีสภาวะหมกมุ่น
ไม่เรียบร้อย เป็นเหตุลุ่มหลงมาก
[๓๕๕] เป็นเหตุขัดข้อง และเป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว
กามทั้งหลาย เปรียบด้วยงูพิษ
ที่เหล่าปุถุชนทั้งเขลาและบอดเพลิดเพลินกันยิ่งนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๑๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๕. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา
[๓๕๖] ปุถุชนเหล่านั้นเป็นจำนวนมาก
ข้องอยู่แล้วด้วยเปือกตมคือกาม ไม่รู้ความจริงในโลก
ย่อมไม่รู้ซึ้งถึงที่สิ้นสุดความเกิดและความตาย
[๓๕๗] ผู้คนเป็นอันมากพากันเดินทางไปทุคติซึ่งมีกามเป็นเหตุทั้งนั้น
อันนำโรคมาให้แก่ตนทีเดียว
[๓๕๘] กามทั้งหลายเป็นเหตุให้เกิดศัตรู ให้เดือดร้อน
นำความเศร้าหมองมา เป็นเหยื่อในโลก
เป็นเครื่องจองจำ เกี่ยวเนื่องด้วยความตาย
[๓๕๙] กามทั้งหลายเป็นเหตุให้บ้า ให้บ่นเพ้อ ย่ำยีจิต
เพราะทำหมู่สัตว์ให้เศร้าหมอง
พึงเห็นว่า เหมือนลอบที่มารรีบดักไว้
[๓๖๐] กามทั้งหลาย มีโทษหาที่สุดไม่ได้ มีทุกข์มาก มีพิษมาก
มีความพอใจน้อย เป็นสนามรบ ทำกรรมฝ่ายกุศลให้เหือดแห้งลง
[๓๖๑] เรานั้นละความพินาศซึ่งมีกามเป็นเหตุเช่นนั้นได้แล้ว
จักไม่กลับมาหามันอีก เพราะว่าตั้งแต่บวชแล้ว
เรายินดีอย่างยิ่งในนิพพาน
[๓๖๒] หวังความเยือกเย็น จึงทำสงครามต่อกามทั้งหลาย
ยินดีแล้วในนิพพานเป็นที่สิ้นสังโยชน์
จักเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่
[๓๖๓] เดินตามทางอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทางสายตรง
ไม่เศร้าโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี เป็นทางปลอดโปร่ง
ซึ่งเป็นทางที่เหล่าท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่พากันข้ามไปแล้ว
(พระผู้มีพระภาค ทรงแนะนำพระเถรีผู้บรรลุพระอรหัตตผลในวันที่ ๘ หลังจาก
บวช ผู้นั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง แก่ภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะทรงสรรเสริญ
จึงตรัสคาถาเหล่านี้ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๑๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๕. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา
[๓๖๔] ท่านทั้งหลาย จงดูธิดาของช่างทองผู้สวยงาม
ผู้ดำรงอยู่ในธรรมผู้นี้เถิด
เธอได้บรรลุอรหัตตผลอันไม่หวั่นไหว
เข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้
[๓๖๕] วันนี้เป็นวันที่ ๘ หลังจากเธอมีศรัทธาบวชแล้ว
งามเพราะบรรลุพระสัทธรรม
ได้พระอุบลวัณณาเถรีช่วยแนะนำแล้ว
บรรลุวิชชา ๓ ละมัจจุมารเสียได้
[๓๖๖] ภิกษุณีรูปนี้นั้น เป็นไทแก่ตัวเอง
ไม่เป็นหนี้ อบรมอินทรีย์แล้ว
พรากจากกิเลสที่เคยมีได้หมด
ไม่มีอาสวะ ทำกิจเสร็จแล้ว
(พระสังคีติกาจารย์ได้กล่าวภาษิตนี้ไว้ว่า)
[๓๖๗] ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าหมู่สัตว์พร้อมด้วยหมู่เทพ
พากันเข้าไปหาพระเถรีซึ่งเป็นธิดาของช่างทอง
ผู้สวยงามนั้นด้วยฤทธิ์ของตน แล้วทรงนมัสการอยู่
วีสตินิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๑๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๔. ติงสนิบาต] ๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา
๑๔. ติงสนิบาต
๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุภาชีวกัมพวนิกาเถรี
พระสุภาชีวกัมพวนิกาเถรี(ได้เปล่งอุทานด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๓๖๘] นักเลงเจ้าชู้คนหนึ่งได้ยืนขวางกั้นพระสุภาภิกษุณี
ซึ่งกำลังเดินไปสวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจที่น่ารื่นรมย์
พระสุภาภิกษุณีได้พูดกับชายนักเลงเจ้าชู้นั้นว่า
[๓๖๙] ฉันประพฤติผิดอะไรต่อท่านหรือ จึงมายืนขวางกั้นฉันไว้
ท่านผู้อาวุโส ชายไม่ควรถูกต้องหญิงนักบวชเลย
[๓๗๐] เพราะเหตุไร ท่านจึงยืนขวางกั้นดิฉันผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุยั่วยวน
มีส่วนบริสุทธิ์ด้วยสิกขาที่พระสุคตทรงแสดงไว้
ในศาสนาที่ควรเคารพแห่งพระศาสดาของดิฉัน
[๓๗๑] เพราะเหตุไร ท่าน จึงมีจิตขุ่นมัว มีจิตมีกิเลสดุจธุลี
มายืนขวางกั้นฉันผู้มีจิตไม่ขุ่นมัว
ปราศจากกิเลสเป็นเหตุยั่วยวน
มีจิตหลุดพ้นในเบญจขันธ์ทั้งปวง
(นักเลงเจ้าชู้กล่าวตอบด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๓๗๒] แม่นางยังสาว ทั้งสวยไม่ทรามเลย
บรรพชาจักทำประโยชน์อะไรให้แม่นางได้ โปรดทิ้งผ้ากาสายะเสีย
มาสิ เรามารื่นรมย์กันในป่าที่มีดอกไม้บานสะพรั่งเถิด
[๓๗๓] และหมู่ไม้ถูกลมพัดเอาละอองเกสรดอกไม้ฟุ้งขึ้น
ก็โชยกลิ่นหอมตลบไปทั่ว ฤดูนี้ เป็นต้นฤดูฝนน่าสบาย
มาสิ เรามารื่นรมย์กันในป่าที่มีดอกไม้บานสะพรั่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๑๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๔. ติงสนิบาต] ๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา
[๓๗๔] อนึ่ง ต้นไม้ทั้งหลายมีดอกบานแล้ว
ต้องลมไหวระริก ดุจจะมีเสียงครวญอยู่
แม่นางจักมีความยินดีอะไร
ถ้าแม่นางจักเข้าป่าเพียงผู้เดียว
[๓๗๕] ป่าใหญ่มีหมู่สัตว์ร้ายอาศัยอยู่
คลาคล่ำไปด้วยช้างพลายตกมัน
และช้างพัง ไม่มีผู้คน น่าสะพรึงกลัว
แม่นางไม่มีเพื่อน ยังปรารถนาจะเข้าไปหรือ
[๓๗๖] แม่นางงามไม่มีใครเปรียบ
แม่นางท่องเที่ยวไป
เหมือนตุ๊กตาที่นายช่างผู้ชาญฉลาดทำแล้วด้วยทองคำสีสุก
งดงามด้วยผ้าสวยเนื้อละเอียดของแคว้นกาสี
ดังเทพอัปสรเที่ยวไปในสวนจิตรลดาเชียวละ
[๓๗๗] ถ้าเราทั้งสองได้อยู่ร่วมกันในกลางป่า
ฉันจะยอมอยู่ในอำนาจของแม่นาง
แม่นางผู้มีดวงตาหยาดเยิ้มดังกินรี
เพราะคนที่น่ารักกว่าแม่นางสำหรับฉันไม่มีเลย
[๓๗๘] ถ้าแม่นางเชื่อฉัน ก็จะมีความสุข
มาสิ มาครองเรือนกัน
แม่นางจะได้อยู่บนปราสาทที่ปราศจากลมพัด
หญิงทั้งหลายจะคอยรับใช้แม่นาง
[๓๗๙] แม่นาง จงนุ่งห่มผ้าเนื้อละเอียดของแคว้นกาสี
จงตกแต่งร่างกาย สวมมาลัย ลูบไล้ประเทืองผิว
ฉันจะทำเครื่องประดับต่าง ๆ มากชนิด
ที่เป็นทองคำแก้วมณีและมุกดาให้แม่นาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๑๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๔. ติงสนิบาต] ๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา
[๓๘๐] แม่นางขึ้นที่นอนใหญ่ใหม่เอี่ยม มีค่ามาก
สวยงามปูด้วยผ้าโกเชาว์ขนยาวและผ้าสำลี
คลุมด้วยผ้าที่ซักสะอาดแล้ว
ตกแต่งด้วยแก่นจันทน์มีกลิ่นหอม
[๓๘๑] ดอกอุบลโผล่พ้นน้ำ ไม่มีมนุษย์ชมแล้วฉันใด
แม่นางเป็นสาวพรหมจารีก็ฉันนั้น
เมื่อส่วนเรือนร่างของแม่นางยังไม่มีใครเชยชมเลย
แม่นางก็จักถึงความชราร่วงโรยไปเสียเปล่า ๆ
(พระสุภาชีวกัมพวนิกาเถรีถามว่า)
[๓๘๒] ในร่างกายที่จะต้องแตกสลายเป็นธรรมดา
ซึ่งเต็มไปด้วยซากศพ
รังแต่จะรกป่าช้านี้ มีอะไรที่ท่านเข้าใจว่าเป็นสาระ
เพราะเห็นสิ่งใด จึงเกิดติดใจ ขอท่านโปรดบอกสิ่งนั้นมาเถิด
(นักเลงเจ้าชู้ตอบว่า)
[๓๘๓] เพราะเห็นดวงตาของแม่นาง เสมือนดวงตาลูกเนื้อทราย
และเสมือนดวงตากินรีที่เที่ยวอยู่ตามไหล่เขา
ความใคร่ความยินดีของฉันยิ่งกำเริบ
[๓๘๔] เพราะเห็นดวงตาของแม่นางอุปมาดังปลายดอกอุบล
ดวงหน้าของแม่นางไร้ไฝฝ้าเรืองรองดังดวงหน้ารูปทองคำ
ความใคร่ความปรารถนาของฉันก็ยิ่งกำเริบ
[๓๘๕] แม่นางผู้มีดวงตาบริสุทธิ์มีขนตายาว
แม้ฉันจะไปไกลแสนไกล
ก็จะยังคงระลึกถึงดวงตาทั้งคู่ของแม่นางเท่านั้น
แม่นางผู้มีดวงตาหยาดเยิ้มดังกินรี
เพราะว่าสิ่งอะไรอื่นที่น่ารักกว่าดวงตาของแม่นางสำหรับฉันไม่มีเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๑๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๔. ติงสนิบาต] ๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา
(พระสุภาชีวกัมพวนิกาเถรีกล่าวตอบว่า)
[๓๘๖] ท่านปรารถนาดิฉันผู้เป็นธิดาของพระพุทธเจ้า
นับว่าปรารถนาจะเดินทางผิด
แสวงหาดวงจันทร์เอาเป็นของเล่น
ต้องการจะกระโดดขึ้นภูเขาสิเนรุ
[๓๘๗] เพราะว่า ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
บัดนี้ ดิฉันไม่มีความกำหนัดเลย
ความกำหนัดนั้น ดิฉันไม่รู้ดอกว่าเป็นเช่นไร
เพราะมันถูกดิฉันกำจัดเสียแล้วพร้อมทั้งรากด้วยอริยมรรค
[๓๘๘] ความกำหนัดนั้นดิฉันยกออกแล้ว
เหมือนลมหอบเอาเชื้อเพลิงออกจากหลุมถ่านเพลิง
ถูกทำให้พินาศไปแต่ยอด เหมือนยกภาชนะที่ตกลงในยาพิษออกไป
ความกำหนัดนั้น ดิฉันไม่รู้ดอกว่าเป็นเช่นไร
เพราะมันถูกดิฉันกำจัดเสียแล้วพร้อมทั้งรากด้วยอริยมรรค
[๓๘๙] หญิงใดไม่พิจารณาเบญจขันธ์ หรือไม่เข้าเฝ้าพระศาสดา
เชิญท่านประเล้าประโลมหญิงเช่นนั้นเถิด
ท่านนั้นจะต้องเดือดร้อน
เพราะอาศัยสุภาภิกษุณีผู้รู้ตามความเป็นจริงนี้
[๓๙๐] เพราะสติของดิฉันมั่นคง
ไม่ว่าในการด่า การไหว้ สุขและทุกข์
เพราะรู้ว่าสังขารที่ปัจจัยปรุงแต่งเป็นของไม่งาม
ใจดิฉันจึงไม่ติดอยู่ในภพ ๓ ทั้งสิ้นเลย
[๓๙๑] ดิฉันนั้นเป็นสาวิกาของพระสุคต
ดำเนินไปด้วยยานคืออริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘
ถอนกิเลสดุจลูกศรเสียแล้ว ไม่มีอาสวะ
ยินดีอยู่แต่ในเรือนว่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๑๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๔. ติงสนิบาต] ๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา
[๓๙๒] รูปภาพที่ทำด้วยไม้หรือใบลานที่เขาบรรจงเขียนไว้สวยงาม
อันเขาผูกไว้ด้วยด้ายและตรึงไว้ด้วยตะปู
ทำให้เหมือนกับจะฟ้อนรำได้ต่าง ๆ ดิฉันเห็นมาแล้ว
[๓๙๓] เมื่อรูปนั้นถูกรื้อออก ปลดด้ายและตะปูออก
ก็บกพร่อง กระจัดกระจาย
แยกออกเป็นชิ้น ๆ ไม่พึงได้สภาพที่ชื่อว่ารูป
บุคคลจะพึงเอาใจจดจ่อในรูปนั้นทำไม
[๓๙๔] ร่างกายของดิฉันนี้ ก็เปรียบด้วยรูปภาพนั้น
เว้นจากธรรม๑เหล่านั้นเสีย ก็เป็นไปไม่ได้
ร่างกายเว้นจากธรรม๑ทั้งหลายเสีย ก็เป็นไปไม่ได้
บุคคลจะพึงเอาใจจดจ่อในร่างกายนั้นทำไม
[๓๙๕] เหมือนบุคคลได้เห็นภาพจิตรกรรม
ที่จิตรกรระบายด้วยหรดาล
ทำไว้ที่ฝาผนัง ในจิตรกรรมนั้น ท่านก็ยังเห็นวิปริต
ความสำคัญว่ามนุษย์ของท่านก็ไร้ประโยชน์
[๓๙๖] คนบอด ท่านยังจะเข้าไปยึดอัตภาพที่ว่างเปล่า
เหมือนภาพลวงตาที่ปรากฏต่อหน้า
เหมือนต้นไม้ทองในความฝัน เหมือนรูปของมายากลที่นักเล่นกล
แสดงท่ามกลางฝูงชนว่าเป็นของจริง
[๓๙๗] ฟองเป็นดังฟองน้ำที่อยู่กลางดวงตานั้น
มีน้ำตา มีมูลตา เกิดที่ดวงตานั้น
และส่วนของดวงตาต่าง ๆ ก็มารวมกัน
เหมือนก้อนครั่งที่อยู่ตามโพรงไม้

เชิงอรรถ :
๑ เว้นจากธาตุมีปฐวีธาตุเป็นต้น และเว้นจากอวัยวะมีจักษุเป็นต้น ร่างกายเว้นจากธาตุและอวัยวะนี้ย่อม
เป็นไปไม้ได้ (ขุ.เถรี.อ. ๓๙๔/๓๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๒๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๔. ติงสนิบาต] ๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา
[๓๙๘] พระสุภาเถรีมีดวงตางามและมีใจไม่ข้องไม่ติดในดวงตานั้น
ก็ควักดวงตาออกจากเบ้าตา
ส่งมอบให้ชายเจ้าชู้ผู้นั้นทันที
พร้อมกับกล่าวว่า
เชิญนำดวงตานั้นไปเถิด
เพราะเรามอบให้ท่านแล้ว
[๓๙๙] ทันใดนั้นเอง ความกำหนัดในดวงตานั้น
ของนักเลงเจ้าชู้นั้นก็หายไป
และเขาขอขมาพระเถรีนั้นด้วยคำว่า
ข้าแต่แม่นางผู้ประพฤติพรหมจรรย์
ขอความสวัสดีพึงมีแก่แม่นางเถิด
ความประพฤติอนาจารเช่นนี้จักไม่มีต่อไปอีกละ
(พระสุภาชีวกัมพวนิกาเถรีกล่าวว่า)
[๔๐๐] ท่านกระทบกระทั่งคนเช่นดิฉันนี้
ก็เหมือนกอดกองไฟที่ลุกโชน
เหมือนจับงูมีพิษร้าย
ท่านขอโทษดิฉัน พึงมีความสวัสดีได้บ้าง
[๔๐๑] ภิกษุณีนั้นพ้นจากนักเลงเจ้าชู้นั้นแล้ว
ได้ไปยังสำนักพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
ได้ชมบุญลักษณะอันประเสริฐ
จักษุก็กลับเป็นปกติเหมือนอย่างเดิม
ติงสนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๒๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
๑๕. จัตตาฬีสนิบาต
๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
ภาษิตของพระอิสิทาสีเถรี
(พระสังคีติกาจารย์ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๔๐๒] ในเมืองปาฏลีบุตรได้ชื่อว่าเป็นเมืองดอกไม้
เป็นแผ่นดินที่ผ่องใส
มีพระภิกษุณี ผู้ทรงคุณธรรม
เป็นกุลธิดาในศากยสกุล ๒ รูป
[๔๐๓] ใน ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งชื่อว่าอิสิทาสี รูปที่ ๒ ชื่อว่าโพธิ
ล้วนมีศีลสมบูรณ์ ยินดีเข้าฌาน เป็นพหูสูต กำจัดกิเลสได้แล้ว
[๔๐๔] ทั้งสองรูปนั้นเที่ยวบิณฑบาต ฉันและล้างบาตรแล้ว
ก็นั่งพักอย่างสบายในที่สงัด ได้เปล่งถ้อยคำเหล่านี้ถามตอบกัน
(พระโพธิเถรีถามว่า)
[๔๐๕] แม่เจ้าอิสิทาสี แม่เจ้าเป็นผู้น่าเลื่อมใสอยู่
แม้วัยของแม่เจ้าก็ยังไม่เสื่อมโทรม
แม่เจ้าเห็นโทษอะไร จึงขวนขวายในเนกขัมมะเล่า
[๔๐๖] พระอิสิทาสีเถรีนั้นฉลาดในการแสดงธรรม
เมื่อถูกซักถามในที่สงัด จึงได้กล่าวตอบดังนี้ว่า
แม่เจ้าโพธิ ขอแม่เจ้าจงฟังเหตุที่ฉันออกบวช
(ต่อไปนี้เป็นคำวิสัชนา)
[๔๐๗] ในกรุงอุชเชนนีราชธานี
บิดาของดิฉันเป็นเศรษฐี สำรวมในศีล
ดิฉันเป็นธิดาคนเดียวของท่าน
จึงเป็นที่รักที่โปรดปราน และน่าเอ็นดู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๒๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
[๔๐๘] ภายหลังพวกคนสนิทของดิฉัน
ที่มีตระกูลสูงมาจากเมืองสาเกต
ขอดิฉันว่า เศรษฐีมีรัตนะมากขอดิฉัน
บิดาได้ให้ดิฉันเป็นสะใภ้ของเศรษฐีนั้น
[๔๐๙] ดิฉันต้องเข้าไปทำความนอบน้อมพ่อผัวและแม่ผัวทุกเช้าเย็น
ต้องกราบเท้าด้วยเศียรเกล้า ตามที่ถูกสั่งสอนมา
[๔๑๐] พี่สาวน้องสาว พี่ชายน้องชาย
หรือบ่าวไพร่ของสามีดิฉันไม่ว่าคนใด
ดิฉันเห็นแล้วแม้ครั้งเดียว ก็หวาดกลัวต้องให้ที่นั่งเขา
[๔๑๑] ดิฉันต้องรับรองเขาด้วยข้าว น้ำ ของเคี้ยว
และสิ่งของที่จัดเตรียมไว้ในที่ที่เขาเข้าไปนั้น
นำเข้าไปให้ และต้องให้ของที่สมควรแก่เขา
[๔๑๒] ดิฉันลุกขึ้นตามเวลา เข้าไปยังเรือนสามี
ล้างมือและเท้าที่ใกล้ประตู ประนมมือเข้าไปหาสามี
[๔๑๓] ต้องจัดหาหวี เครื่องผัดหน้า ยาหยอดตา
และกระจก แต่งตัวให้สามีเอง เสมอเหมือนหญิงรับใช้
[๔๑๔] หุงข้าวต้มแกงเอง ล้างภาชนะเองทั้งนั้น
ปรนนิบัติสามี เสมือนมารดาปรนนิบัติบุตรน้อยคนเดียว
[๔๑๕] จงรักภักดี ทำหน้าที่ครบถ้วน
เลิกถือเนื้อถือตัว ขยันไม่เกียจคร้าน
มีศีลอย่างนี้ สามีก็ยังเกลียด
[๔๑๖] สามีนั้น บอกมารดาและบิดาว่า
ลูกจักลาไปละ ลูกไม่ขออยู่ร่วมกับอิสิทาสี
ทั้งไม่ยอมอยู่ร่วมเรือนหลังเดียวกันด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๒๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
(มารดาบิดาของเขากล่าวว่า)
[๔๑๗] อย่าพูดอย่างนี้สิลูก
อิสิทาสีเป็นบัณฑิต ฉลาดรอบครอบ
ขยันไม่เกียจคร้าน ทำไมลูกจึงไม่ชอบใจล่ะ
(สามีของดิฉันพูดว่า)
[๔๑๘] อิสิทาสี ไม่ได้เบียดเบียนอะไรลูกดอก
แต่ลูกไม่อยากอยู่ร่วมกับอิสิทาสี
ลูกเกลียด ลูกพอแล้ว จักขอลาไป
[๔๑๙] แม่ผัวและพ่อผัว ฟังคำของสามีดิฉันนั้นแล้ว
ได้ถามดิฉันว่า เจ้าประพฤติผิดอะไร
เจ้าจึงถูกเขาทอดทิ้ง
จงพูดไปตามความเป็นจริงสิ
(ดิฉันตอบว่า)
[๔๒๐] ดิฉันไม่ได้ประพฤติผิดอะไร ไม่ได้เบียดเบียนเขา
ทั้งไม่ได้พูดคำหยาบคาย ดิฉันกล้าหรือ
ที่จะทำสิ่งที่สามีเกลียดดิฉันได้นะคุณแม่
[๔๒๑] มารดาบิดาของเขานั้น เสียใจ ถูกทุกข์ครอบงำ
หวังทะนุถนอมบุตร จึงนำดิฉันส่งกลับไปเรือนบิดา
ฉันเป็นผู้ชนะสิริที่สวยงามแล้วหนอ
[๔๒๒] ภายหลัง บิดาได้ยกดิฉันให้แก่กุลบุตร
ผู้ร่ำรวยน้อยกว่าสามีคนแรกครึ่งหนึ่ง
โดยสินสอดครึ่งหนึ่งจากสินสอดที่เศรษฐีให้เราครั้งแรก
[๔๒๓] ดิฉัน อยู่ในเรือนสามีคนที่ ๒ นั้นได้เดือนเดียว
ต่อมา เขาขับไล่ดิฉันซึ่งบำรุงบำเรออยู่ดุจทาสี
ไม่คิดประทุษร้าย มีศีลสมบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๒๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
[๔๒๔] บิดาของดิฉัน บอกบุรษผู้หนึ่ง ที่ฝึกกายและวาจาแล้ว
มีหน้าที่ฝึกจิตของชนเหล่าอื่น กำลังเที่ยวขอทานอยู่ว่า
เจ้าจงทิ้งผ้าเก่า ๆ และกระเบื้องขอทานเสีย
มาเป็นลูกเขยข้าเถิด
[๔๒๕] แม้บุรุษนั้น อยู่ได้ครึ่งเดือน ก็พูดกับบิดาว่า
โปรดคืนผ้าเก่า กระเบื้องขอทาน
และภาชนะขอทานแก่ฉันเถิด
ฉันจักไปขอทานตามเดิม
[๔๒๖] ครั้งนั้น บิดามารดาและหมู่ญาติของดิฉันทุกคน
พูดกับคนขอทานนั้นว่า เจ้าทำอะไรไม่ได้ในที่นี้ รีบบอกมา
เธอจักทำกิจนั้นแทนเจ้าเอง
[๔๒๗] เขาถูกบิดามารดาและหมู่ญาติของดิฉันถามอย่างนี้แล้ว
จึงพูดว่า ถึงตัวฉันจะเป็นใหญ่และเป็นไท
ฉันพอแล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะอยู่ร่วมกับอิสิทาสี
ฉันไม่ขออยู่ร่วมกับอิสิทาสี
ทั้งไม่ขออยู่ร่วมเรือนหลังเดียวกับเธอ
[๔๒๘] ชายขอทานนั้นถูกบิดาปล่อยก็ไป
แม้ดิฉันอยู่คนเดียว ก็คิดว่า
จะลาบิดามารดาไปตายหรือไปบวชเสีย
[๔๒๙] ขณะนั้น พระแม่เจ้าชินทัตตาเถรี
ผู้ทรงวินัย เป็นพหูสูต มีศีลสมบูรณ์
เที่ยวบิณฑบาตมายังตระกูลบิดา
[๔๓๐] ดิฉันเห็นท่าน จึงลุกไปจัดที่นั่งของดิฉันถวายท่าน
และเมื่อท่านนั่งเรียบร้อยแล้ว
ดิฉันก็กราบเท้าแล้วถวายอาหาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๒๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
[๔๓๑] ดิฉันเลี้ยงดูท่านด้วยข้าวน้ำ ของควรเคี้ยว
และสิ่งของที่จัดไว้ในเรือนนั้นให้อิ่มหนำสำราญ
จึงเรียนท่านว่า ดิฉันประสงค์จะบวช เจ้าค่ะ
[๔๓๒] ลำดับนั้น บิดาพูดกับดิฉันว่า
ลูกเอ๋ย ลูกจงประพฤติธรรมในเรือนนี้ก็แล้วกัน
จงเลี้ยงดูสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย
ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำเถิด
[๔๓๓] ขณะนั้น ดิฉันร้องไห้ประนมมือพูดกับบิดาว่า
ความจริง ลูกทำบาปมามากแล้ว
ลูกจักชำระกรรมนั้นให้เสร็จสิ้นกันเสียที
[๔๓๔] ครั้งนั้น บิดาจึงให้พรดิฉันว่า
ขอให้ลูกบรรลุอรหัตตมรรค อรหัตตผลอันเลิศ
และจงได้นิพพานที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดกว่าเทวดาและมนุษย์
ทรงกระทำให้แจ้งเถิด
[๔๓๕] ดิฉันกราบลามารดาบิดาและหมู่ญาติทุกคน
บวชได้ ๗ วัน ก็ได้บรรลุวิชชา ๓
[๔๓๖] รู้ระลึกชาติได้ ๗ ชาติ จักบอกกรรมที่มีผลวิบากแก่แม่เจ้า
ขอแม่เจ้าโปรดสำรวมใจฟังวิบากกรรมนั้นเถิด
[๔๓๗] ชาติก่อน ดิฉันเป็นช่างทองในเมืองเอรกกัจฉะ
มีทรัพย์มาก มัวเมาในวัยหนุ่ม ได้เป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น
[๔๓๘] ดิฉันนั้นตายจากชาตินั้นแล้ว
ต้องไปหมกไหม้อยู่ในนรกเป็นเวลานาน ถูกไฟนรกเผาแล้ว
ครั้นพ้นจากนรกนั้นแล้ว ก็เกิดในท้องนางลิง
[๔๓๙] พอเกิดได้ ๗ วัน วานรใหญ่ จ่าฝูง ก็กัดอวัยวะสืบพันธุ์
นี้เป็นผลกรรมที่ดิฉันเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๒๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
[๔๔๐] ดิฉันนั้นตายจากกำเนิดวานรนั้นแล้ว
เกิดในท้องแม่แพะตาบอด และเป็นง่อยอยู่ในป่า แคว้นสินธุ
[๔๔๑] พออายุได้ ๑๒ ปี พาเด็กขึ้นหลังไป
ถูกเด็กตัดอวัยวะสืบพันธุ์ ป่วยเป็นโรค
หมู่หนอนชอนไชที่อวัยวะสืบพันธุ์
นี้เป็นผลกรรมที่ดิฉันเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น
[๔๔๒] ดิฉันนั้นตายจากกำเนิดแพะนั้นแล้ว
ก็เกิดในท้องแม่โคของพ่อค้าโค
เป็นลูกโคมีขนแดงดังน้ำครั่ง
อายุ ๑๒ เดือนก็ถูกตอน
[๔๔๓] ดิฉันถูกเขาใช้ให้ลากไถและเทียมเกวียน
ป่วยเป็นโรคตาบอด มีความลำบาก
นี้เป็นผลกรรมที่ดิฉันเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น
[๔๔๔] ดิฉันนั้นตายจากกำเนิดโคนั้นแล้ว
เกิดในท้องสาวใช้ข้างถนนในพระนคร
เป็นหญิงก็ไม่ใช่ เป็นชายก็ไม่เชิง
นี้เป็นผลกรรมที่ดิฉันเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น
[๔๔๕] อายุ ๓๐ ปีก็ตาย
มาเกิดเป็นเด็กหญิง
ในตระกูลช่างเกวียนที่เข็ญใจ
มีโภคทรัพย์น้อย
มีเจ้าหนี้มากมาย
[๔๔๖] เมื่อหนี้พอกพูนทับถมมากขึ้น
แต่นั้น นายกองเกวียนก็ริบเอาทรัพย์สมบัติแล้ว
ฉุดคร่าดิฉันนั้นผู้กำลังรำพันอยู่ออกจากเรือนของสกุล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๒๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
[๔๔๗] ภายหลัง บุตรของนายกองเกวียนนั้นชื่อคิริทาส
เห็นดิฉันเป็นสาวรุ่นอายุ ๑๖ ปี
ก็มีจิตปฏิพัทธ์ จึงขอไปเป็นภรรยา
[๔๔๘] แต่นายคิริทาสนั้น มีภรรยาอยู่ก่อนคนหนึ่ง
เป็นคนมีศีล มีคุณธรรม และมีชื่อเสียง
รักใคร่สามีอย่างดียิ่ง ดิฉันได้ทำให้สามีเกลียดนาง
[๔๔๙] ข้อที่สามีทั้งหลาย เลิกร้างดิฉัน
ซึ่งปรนนิบัติอยู่เสมือนสาวใช้ไป
ก็เป็นผลกรรมที่ดิฉันนั้นกระทำแล้วในครั้งนั้น
ดิฉันสิ้นสุดกรรมนั้นแล้ว
จัตตาฬีสนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๒๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
๑๖. มหานิบาต
๑. สุเมธาเถรีคาถา
ภาษิตพระสุเมธาเถรี
ทราบว่า พระสุเมธาเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า
[๔๕๐] เราเป็นธิดาของพระอัครมเหสีพระเจ้าโกญจะกรุงมันตาวดี ชื่อว่า
สุเมธา ผู้ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายผู้ทำตามคำสั่งสอน
ทำให้เกิดเลื่อมใสแล้ว
[๔๕๑] เจ้าหญิงสุเมธามีศีล กล่าวธรรมได้วิจิตร
เป็นพหูสูต ถูกแนะนำในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
เข้าเฝ้าพระชนกและพระชนนี กราบทูลว่า
“ขอพระชนกพระชนนีทั้ง ๒ พระองค์
โปรดตั้งพระทัยสดับคำของลูก
[๔๕๒] ลูกยินดีอย่างยิ่งในนิพพาน
ภพถึงแม้ว่าจะเป็นทิพย์ก็ไม่ยั่งยืน
จะกล่าวไปใยถึงกามทั้งหลายซึ่งเป็นของว่างเปล่า
มีความยินดีน้อย มีความคับแค้นมาก
[๔๕๓] กามทั้งหลายเผ็ดร้อน เปรียบด้วยงูพิษ
ที่พวกคนเขลาหมกมุ่นอยู่
พวกคนเขลาเหล่านั้นแออัดกันในนรก
ต้องประสบทุกข์เดือดร้อนอยู่เป็นเวลาช้านาน
[๔๕๔] พวกคนเขลาไม่สำรวมกายวาจาและใจ ทำแต่ความชั่ว
พอกพูนแต่ความชั่วย่อมโศร้าโศกในอบายทุกเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๒๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๔๕๕] พวกคนเขลาเหล่านั้นมีปัญญาทราม ไม่มีความคิด
ยินดีแล้วในทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์
ไม่รู้สัจธรรม ๔ ที่พระอริยะแสดงอยู่ จึงรู้อริยสัจไม่ได้
[๔๕๖] ทูลกระหม่อมแม่เจ้าขา คนเขลาเหล่าใดเมื่อไม่รู้สัจจะทั้งหลาย
ที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงแสดงไว้แล้ว ยังชื่นชมภพ พอใจเกิด
ในหมู่เทพ คนเขลาเหล่านั้นมีอยู่เป็นจำนวนมากในโลกนี้
[๔๕๗] ความเกิดในหมู่เทพในภพที่ไม่เที่ยง เป็นสภาวะที่ไม่ยั่งยืน
พวกคนเขลาย่อมไม่สะดุ้งกลัวต่อการที่จะต้องเกิดบ่อย ๆ
[๔๕๘] สัตว์ทั้งหลายย่อมได้อบาย ๔ กันง่าย
ส่วนคติ ๒ ได้กันลำบาก
เหล่าสัตว์ที่เข้าถึงอบาย ในนรกไม่มีการบวชนะเพคะ
[๔๕๙] ขอพระชนกพระชนนีทั้ง ๒ พระองค์
ทรงอนุญาตให้ลูกบวชในพระธรรมวินัยของพระทศพลเถิดเพคะ
ลูกจักขวนขวายน้อย พากเพียรเพื่อละชาติและมรณะ
[๔๖๐] กายที่มีโทษคือกายที่ไร้สาระซึ่งพวกคนเขลาชื่นชมนักหนา
จะมีประโยชน์อะไรในภพ
ขอทั้ง ๒ พระองค์ทรงอนุญาตเถิด
ลูกจักบวชเพื่อดับภวตัณหา๑
[๔๖๑] ความอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายลูกได้แล้ว
อักขณะ๒ลูกก็เว้นแล้ว
ขณะลูกก็ได้แล้ว
ลูกจะไม่พึงทำลายศีลและพรหมจรรย์ตลอดชีวิต”

เชิงอรรถ :
๑ ความอยากในภพ
๒ ไม่ใช่เวลา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๓๐ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๔๖๒] เจ้าหญิงสุเมธากราบทูลพระชนกพระชนนีอย่างนี้ว่า
“ตราบใดที่ลูกยังเป็นคฤหัสถ์จักไม่ยอมรับประทานอาหาร
ถึงจะตายก็ยอมเพคะ”
[๔๖๓] พระชนนีของพระนางสุเมธานั้นทรงเป็นทุกข์ ทรงกันแสง
และพระชนกของนางมีพระพักตร์นองด้วยอัสสุชล
ทั้ง ๒ พระองค์ทรงพยายามเกลี้ยกล่อมพระนางสุเมธานั้น
ซึ่งฟุบลงที่พื้นดิน ณ พื้นปราสาทว่า
[๔๖๔] “ลุกขึ้นเถิด ลูกรัก จะเศร้าโศกไปทำไม
พ่อแม่ได้ยกลูกให้พระเจ้าอนิกรัต
ผู้ทรงสง่างามในพระนครวารณวดีแล้ว
[๔๖๕] ลูกจักเป็นเอกอัครมเหสีของพระเจ้าอนิกรัต
ศีล พรหมจรรย์ บรรพชาทำได้ยากนะลูกรัก
[๔๖๖] อำนาจในแคว้นของพระเจ้าอนิกรัต ทรัพย์
ความเป็นใหญ่ โภคะ สุขในราชสกุลนี้
ถ้าลูกปรารถนาแล้ว ก็จักอยู่ในเงื้อมมือของลูก
ลูกก็ยังเป็นสาว จงบริโภคกามทั้งหลายเถิด
ลูกจงวิวาห์เสียนะลูกนะ”
[๔๖๗] ลำดับนั้น เจ้าหญิงสุเมธากราบทูลพระชนกพระชนนีนั้น
อย่างนี้ว่า “อำนาจเป็นต้นเช่นนี้จงอย่ามีเลย
เพราะภพหาสาระมิได้ ลูกขอบวชหรือตายเท่านั้น
แต่ลูกไม่ยอมวิวาห์แน่นอน
[๔๖๘] กายที่เปื่อยเน่าเหมือนหมู่หนอน ไม่สะอาด
มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป น่าสะพรึงกลัว
เป็นดุจถุงหนัง บรรจุศพ เต็มด้วยของไม่สะอาด
ไหลออกอยู่เนือง ๆ ซึ่งคนเขลายึดถืออยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๓๑ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๔๖๙] ลูกรู้อยู่ว่าร่างกายนั้นปฏิกูลเหมือนหมู่หนอน
ถูกฉาบไว้ด้วยเนื้อและเลือด
เป็นที่อยู่ของหมู่หนอน เป็นเหยื่อของแร้งกา
ทำไมทูลกระหม่อมจึงพระราชทานซากศพ
แก่พระราชาพระองค์นั้นเพคะ
[๔๗๐] ไม่ช้าร่างกายที่ปราศจากวิญญาณ
ถูกหมู่ญาติซึ่งพากันเกลียดชัง
ทอดทิ้งไปเหมือนท่อนไม้ที่เขาก็พากันนำไปทิ้งป่าช้า
[๔๗๑] มารดาบิดาของตนยังเกลียดชัง
พากันเอาซากศพนั้นไปทิ้งให้เป็นอาหารของสัตว์อื่น ๆ ในป่าช้า
กลับมาก็ต้องอาบน้ำดำเกล้า
จะกล่าวไปใยถึงหมู่ชนทั่ว ๆ ไปเล่า
[๔๗๒] หมู่ชนยึดถือแล้วในร่างกายอันเปื่อยเน่า
เป็นซากศพ ไม่มีแก่นสาร เป็นร่างของกระดูกและเอ็น
เต็มไปด้วยน้ำลาย น้ำตา และอุจจาระ
[๔๗๓] ผู้ใดพึงชำแหละร่างกายนั้นกลับข้างในมาไว้ข้างนอก
ผู้นั้นก็จะทนกลิ่นเหม็นของร่างกายนั้นไม่ได้
แม้มารดาของตนก็ยังเกลียดชัง
[๔๗๔] ลูกพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายว่า
ขันธ์ ธาตุ อายตนะอันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
มีชาติเป็นมูลเหตุ เป็นทุกข์ เพราะเหตุไร
จะพึงปรารถนาการวิวาห์เล่าเพคะ
[๔๗๕] หอก ๓๐๐ เล่มใหม่เอี่ยมจะพึงตกต้องที่กายทุก ๆ วัน
และทิ่มแทงอยู่ถึง ๑๐๐ ปี ยังประเสริฐกว่า
หากว่าความสิ้นทุกข์ จะพึงมีได้ด้วยอาการอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๓๒ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๔๗๖] ผู้ใดรู้แจ้งคำสอนของพระศาสดาอย่างนี้แล้ว
พึงยอมรับการทิ่มแทง ด้วยอาการอย่างนั้นยังประเสริฐกว่า
เพราะสังสารวัฎของคนเหล่านั้น
ซึ่งถูกชราพยาธิและมรณะเบียดเบียนบ่อย ๆ ยาวนาน
[๔๗๗] ในจำพวกเทวดา มนุษย์ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
หมู่อสุรกาย เปรต และสัตว์นรก
การทำร้ายกันยังปรากฏอยู่หาประมาณมิได้
[๔๗๘] สำหรับสัตว์ที่เศร้าหมองอยู่ในอบาย
ยังมีการทำร้ายกันอยู่มากในนรก
แม้ในเทวดาทั้งหลายก็ช่วยไม่ได้
สุขอื่นนอกจากสุขคือนิพพานไม่มีเลย
[๔๗๙] ชนเหล่าใดขวนขวายในพระธรรมวินัยของพระทศพล
มีความขวนขวายน้อย พากเพียรเพื่อละชาติและมรณะ
ชนเหล่านั้นย่อมถึงนิพพาน
[๔๘๐] ทูลกระหม่อมพ่อ เพคะ วันนี้แหละลูกจักออกบวช
โภคทรัพย์ทั้งหลายที่ไม่มีแก่นสารจะมีประโยชน์อะไร
ลูกเบื่อหน่ายกามทั้งหลายแล้ว
ทำให้เสมอด้วยรากสุนัข ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน”
[๔๘๑] เจ้าหญิงสุเมธานั้นกำลังกราบทูลพระชนกอยู่อย่างนี้
พระเจ้าอนิกรัตผู้ได้รับพระราชทานพระนางสุเมธานั้น
มีข้าราชบริพารหนุ่มแวดล้อมแล้ว
ก็เสด็จมาเพื่อเข้าสู่วิวาห์เมื่อเวลากระชั้นชิด
[๔๘๒] ภายหลัง เจ้าหญิงสุเมธาทราบว่าพระเจ้าอนิกรัตเสด็จมา
จึงใช้พระขรรค์ตัดพระเกศาอันดำขลับที่รวบไว้ อ่อนสลวย
ทรงปิดปราสาท เข้าปฐมฌาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๓๓ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๔๘๓] เจ้าหญิงสุเมธานั้นเข้าฌาน อยู่ในปราสาทนั้น
และพระเจ้าอนิกรัตก็ได้เสด็จมาถึงพระนคร
สุเมธาก็เจริญอนิจจสัญญาอยู่ในปราสาทนั้นนั่นแหละ
[๔๘๔] เจ้าหญิงสุเมธานั้นกำลังมนสิการ
และพระเจ้าอนิกรัตทรงแต่งองค์ด้วยแก้วมณีและทองคำ
ก็รีบเสด็จขึ้นปราสาท ทรงประคองอัญชลี
อ้อนวอนพระนางสุเมธาว่า
[๔๘๕] “อำนาจ ทรัพย์ ความเป็นใหญ่ โภคะ สุขในราชสมบัติ
น้องหญิงยังเป็นสาวอยู่
ขอเชิญบริโภคกามทั้งหลาย
กามสุขหาได้ยากในโลก
[๔๘๖] ราชสมบัติพี่ยอมสละให้น้องหญิงแล้ว
เชิญน้องหญิงบริโภคโภคทรัพย์
ถวายทานทั้งหลายเถิด
น้องหญิงอย่าทรงเสียพระทัยเลย
พระชนกพระชนนีของพระน้องหญิงทรงเป็นทุกข์”
[๔๘๗] เจ้าหญิงสุเมธาไม่ต้องการกามทั้งหลาย
ปราศจากโมหะแล้ว
จึงกราบทูลพระเจ้าอนิกรัตนั้นว่า
“อย่าทรงเพลิดเพลินกามเลย
โปรดทรงเห็นโทษในกามทั้งหลายเถิด เพคะ
[๔๘๘] พระเจ้ามันธาตุ เจ้าแห่งทวีปทั้ง ๔
ทรงเป็นยอดผู้บริโภคกามทั้งหลาย
ยังไม่ทันทรงอิ่มก็เสด็จสวรรคตไปแล้ว
ทั้งความปรารถนาของพระองค์ ก็ยังไม่เต็มเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๓๔ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๔๘๙] เทวดาผู้เป็นเจ้าแห่งฝนพึงหลั่งฝนคือรัตนะ ๗ ลงมาโดยรอบ
ทั่วทั้ง ๑๐ ทิศ ความอิ่มกามทั้งหลายก็ไม่มี
นรชนทั้งหลายยังไม่อิ่มเลย ก็พากันตายไป
[๔๙๐] กามทั้งหลายเปรียบด้วยดาบและหลาว
เปรียบด้วยหัวงูเห่า เปรียบด้วยร่างกระดูก
เปรียบด้วยคบเพลิงตามเผาอยู่
[๔๙๑] กามทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีทุกข์มาก มีพิษมาก
เป็นเหตุแห่งทุกข์ มีผลเป็นทุกข์ เหมือนก้อนเหล็กที่ลุกโชน
[๔๙๒] กามทั้งหลายเปรียบด้วยผลไม้ เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ
นำทุกข์มาให้ เปรียบด้วยความฝันหลอกลวง
เปรียบด้วยของที่ยืมเขามา
[๔๙๓] กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว
เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นทุกข์ เป็นความลำบาก
เสมือนหลุมถ่านเพลิง เป็นเหตุแห่งทุกข์
เป็นภัย เป็นเพชฌฆาต
[๔๙๔] กามทั้งหลายมีทุกข์มากอย่างนี้
บัณฑิตทั้งหลายจึงกล่าวว่าทำอันตราย
เชิญพระองค์เสด็จกลับไปเสียเถิด
หม่อมฉันไม่มีความวางใจในภพของตนเองเลย
[๔๙๕] เมื่อไฟกำลังไหม้ศีรษะของตนเองอยู่
คนอื่นจักช่วยอะไรหม่อมฉันได้
เมื่อชราและมรณะติดตามอยู่
ก็ควรพยายามกำจัดชราและมรณะนั้นเสีย”
[๔๙๖] ดิฉันเห็นพระชนกพระชนนีและพระเจ้าอนิกรัตเสด็จยังไม่ทันถึง
พระทวารก็ประทับนั่งที่พื้นดิน ทรงกันแสงอยู่
จึงได้กราบทูลดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๓๕ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๔๙๗] “สังสารวัฏเป็นสภาวะยืดยาวสำหรับพวกคนเขลา
ผู้ร้องไห้อยู่บ่อย ๆ เพราะบิดามารดาตาย
พี่ชายน้องชายถูกฆ่า และตัวเองถูกฆ่า
ในสังสารวัฏที่มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้แล้ว
[๔๙๘] ขอพระองค์ทรงโปรดระลึกถึงน้ำตา น้ำนม เลือด
และกองกระดูก ของสัตว์ทั้งหลายผู้ท่องเที่ยวไปมาว่ามากเพียงไร
เพราะความที่สังสารวัฏมีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้แล้ว
[๔๙๙] โปรดทรงระลึกถึงมหาสมุทรทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรง
นำมาเปรียบเทียบด้วยน้ำตา น้ำนมและเลือด
โปรดทรงระลึกถึงกองกระดูกในกัปหนึ่งของบุคคลคนหนึ่ง
เทียบเท่าภูเขาวิปุลบรรพต
[๕๐๐] โปรดทรงระลึกถึงแผ่นดินใหญ่ชมพูทวีปที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ทรงนำมาเปรียบเทียบด้วยสังสารวัฏของสัตว์ที่ท่องเที่ยวอยู่ใน
สังสารวัฏที่มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้แล้ว
แผ่นดินทั้งหลายทำให้เป็นก้อนเท่าเมล็ดพุทรา
ก็มากไม่พอเท่าจำนวนมารดาบิดาทั้งหลาย
[๕๐๑] โปรดทรงระลึกถึงหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้
ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงนำมาเปรียบเทียบ
เพราะสังสารวัฏมีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้แล้ว
ท่อนไม้ทั้งหลายมีขนาด ๔ นิ้ว
ก็มากไม่พอเท่าจำนวนบิดาและปู่ทั้งหลาย
[๕๐๒] โปรดทรงระลึกถึงเต่าตาบอด
และช่องแอกอันหมุนวนไปในทิศบูรพาและทิศอื่น ๆ
ในมหาสมุทรมาสวมหัวเต่าตาบอดตัวนั้น
เปรียบเทียบในการได้อัตภาพเป็นมนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๓๖ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๕๐๓] โปรดทรงระลึกถึงสภาวะที่จะสลายไปแห่งโทษคือกาย
ที่ไม่มีแก่นสาร ซึ่งเปรียบด้วยก้อนฟองน้ำ
โปรดทรงพิจารณาให้เห็นขันธ์ทั้งหลายว่าเป็นสภาพไม่เที่ยง
โปรดทรงระลึกถึงนรกทั้งหลายว่ามีความคับแค้นมาก
[๕๐๔] โปรดทรงระลึกถึงสัตว์ทั้งหลายที่พากันทำป่าช้าให้รก
ในชาตินั้น ๆ อยู่ร่ำไป
โปรดระลึกถึงภัยคือจรเข้๑
โปรดทรงระลึกถึงอริยสัจ ๔
[๕๐๕] เมื่ออมตนิพพานมีอยู่
พระองค์ยังจะทรงต้องการอะไร
ด้วยของเผ็ดร้อน ๕ อย่างที่ทรงดื่มแล้วอีกเล่า
เพราะว่า ความยินดีกามทุกอย่าง
เผ็ดร้อนกว่าของเผ็ดร้อน ๕ อย่าง
[๕๐๖] เมื่ออมตนิพพานมีอยู่
พระองค์ยังจะทรงต้องการอะไรด้วยกามทั้งหลายที่เร่าร้อนอีกเล่า
เพราะว่าความยินดีกามทุกอย่างอันไฟติดโพลงแล้ว
ให้เดือดร้อน ให้หวั่นไหว เผาให้ร้อนแล้ว
[๕๐๗] เมื่อการออกจากกามซึ่งไม่มีข้าศึกมีอยู่
พระองค์ยังจะทรงต้องการอะไรด้วยกามทั้งหลายที่มีข้าศึกมาก
กามทั้งหลายมีภัยอยู่ทั่วไป
คือ ราชภัย อัคคีภัย โจรภัย อุทกภัย
และอัปปิยภัย๒จึงชื่อว่ามีข้าศึกมาก

เชิงอรรถ :
๑ เห็นแก่กินเห็นแก่ปากแก่ท้อง
๒ ภัยที่เกิดจากคนร่วมมรดกที่ไม่ถูกกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๓๗ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๕๐๘] เมื่อโมกขธรรมมีอยู่
พระองค์ยังจะทรงต้องการอะไร
ด้วยกามทั้งหลายที่มีการฆ่าการจองจำเล่า
เพราะว่าการฆ่าการจองจำมีอยู่ในกามทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่กามย่อมได้รับทุกข์ทั้งหลาย
[๕๐๙] คบเพลิงหญ้าที่ลุกโพลงย่อมไหม้คนที่ถือ
และพวกคนที่ไม่ยอมปล่อย
เพราะว่ากามทั้งหลายเปรียบด้วยคบเพลิงย่อมไหม้คนที่ไม่ยอมละ
[๕๑๐] โปรดอย่าละสุขอันไพบูลย์
เพราะเหตุแห่งกามสุขเพียงเล็กน้อย
อย่าทรงเป็นดุจปลาใหญ่กลืนเบ็ด
ต้องเดือดร้อนในภายหลัง
[๕๑๑] โปรดอย่าทรงเป็นดุจสุนัขถูกล่ามโซ่หมุนไปหมุนมา
เพราะกามทั้งหลายเลย
เพราะกามทั้งหลายจักทำพระองค์ให้เป็นเหมือนคนจัณฑาลหิวจัด
ได้สุนัขแล้วทำให้พินาศได้
[๕๑๒] พระองค์ทรงประกอบด้วยกาม
จักเสวยทุกข์ซึ่งหาประมาณมิได้
และความเสียใจอย่างมาก
โปรดสละกามอันไม่ยั่งยืนเสียเถิด
[๕๑๓] เมื่อนิพพานที่ไม่มีความแก่มีอยู่
พระองค์ยังจะทรงต้องการอะไร
ด้วยกามทั้งหลายที่มีความแก่เล่า
ความเกิดทั้งปวงมีมรณะและพยาธิกำกับไว้ในภพทุกภพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๓๘ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๕๑๔] นิพพานนี้ไม่แก่ ไม่ตาย
เป็นทางดำเนินถึงความไม่แก่และไม่ตาย
ไม่มีความเศร้าโศก
ไม่ถูกข้าศึกเบียดเบียน
ไม่พลาด ไม่มีภัย
ไม่มีความเดือดร้อน
[๕๑๕] นิพพานนี้ พระอริยเจ้าเป็นจำนวนมากบรรลุแล้ว
อมตนิพพานนี้อันผู้พยายามโดยแยบคายพึงได้ในวันนี้นี่แหละ
แต่ผู้ไม่พยายามอาจหาได้ไม่”
[๕๑๖] เจ้าหญิงสุเมธาเมื่อไม่ทรงยินดีในสังขาร กราบทูลอย่างนี้
และเมื่อกำลังทรงเกลี้ยกล่อมพระเจ้าอนิกรัตอยู่
ก็ทรงโยนพระเกศาลงที่พื้นดิน
[๕๑๗] พระเจ้าอนิกรัตเสด็จลุกขึ้น ประคองอัญชลี
ทูลอ้อนวอนพระชนกของพระนางว่า
“โปรดทรงปลดปล่อยเจ้าหญิงสุเมธาให้ผนวชเถิด
เพราะว่าเจ้าหญิงทรงเห็นวิโมกข์และสัจธรรมแล้ว”
[๕๑๘] เจ้าหญิงสุเมธานั้นซึ่งพระชนกชนนีทรงปล่อยแล้ว
กลัวภัยคือความโศก
บวชแล้วเมื่อศึกษาอยู่
ก็ทำให้แจ้งอภิญญา ๖ และอรหัตผลแล้ว
[๕๑๙] นิพพานนั้นน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี
ได้มีแก่สุเมธาราชกัญญา
พระสุเมธาเถรีได้พยากรณ์วิธีที่ตนประพฤติแล้วในปุพเพนิวาสญาณ
เหมือนอย่างที่พยากรณ์ในเวลาใกล้ปรินิพพานว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๓๙ }

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๕๒๐] “เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าโกนาคมนะเสด็จอุบัติขึ้นใน
โลก เมื่อสร้างสังฆารามเสร็จใหม่ ๆ ข้าพเจ้าได้เป็นหญิง รวมกับ
เพื่อนกัน ๓ คน๑ ได้ถวายวิหารแด่สงฆ์
[๕๒๑] พวกเราทั้ง ๓ คนเกิดในเทวดา ๑๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง
๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐,๐๐๐ ชาติบ้าง
ไม่จำต้องกล่าวถึงการเกิดในมนุษย์เลย
[๕๒๒] พวกเรามีฤทธิ์มากในหมู่เทวดา
ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงฤทธิ์ในหมู่มนุษย์
เราเป็นมเหสีนารีรัตน์ของพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีรัตนะ ๗ ประการ
[๕๒๓] การสร้างอารามถวายสงฆ์เป็นวิหารทานนั้น
เป็นเหตุเป็นแดนเกิด(แห่งทิพยสมบัติตามที่กล่าวมาแล้ว)
ข้อนั้นเป็นมูล และเป็นความเกษมในพระศาสนา
เป็นเหตุตั้งมั่น (พร้อมด้วยธรรมครั้งที่ ๑)
ข้อนั้นเป็นนิพพานสำหรับข้าพเจ้าผู้ยินดีแล้วในธรรม
[๕๒๔] ชนเหล่าใดเชื่อพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค
ผู้มีพระปัญญาไม่ทราม
ชนเหล่านั้นย่อมกล่าวอย่างนี้ย่อมเบื่อหน่ายในภพ
ครั้นเบื่อหน่ายแล้ว ย่อมคลายกำหนัดดังนี้”
มหานิบาต จบบริบูรณ์
เถรีคาถา จบบริบูรณ์
ในเถรีคาถานี้ มี ๔๙๔ คาถา
และมีพระเถรีล้วนแต่เป็นผู้สิ้นอาสวะเกิน ๑๐๐ รูป ฉะนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ คือ ธนัญชานี เขมา และข้าพเจ้า (สุเมธา) (ขุ.เถรี.อ. ๕๒๐/๓๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๔๐ }

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ สุตตันตปิฎกที่ ๑๘ ขุททกนิกาย
วิมาน เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา จบ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น