Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๗-๔ หน้า ๑๖๐ - ๒๑๒

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗-๔ สุตตันตปิฎกที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๑. กาลิงควรรค ๗. ปลาสชาดก (๓๐๗)
(พระศาสดาได้ตรัส ๒ พระคาถานี้ว่า)
[๑๙] ทุชัจจมาณพ สุชัจจมาณพ นันทมาณพ
สุขวัจฉนมาณพ วัชฌมาณพ และอัทธุวสีลมาณพนั้น
มีความต้องการหญิงสาว จึงพากันละธรรมเสีย
[๒๐] ส่วนพราหมณ์ผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง มีปัญญา
มีความก้าวหน้าในสัจจธรรม ตามรักษาธรรมอยู่
ละทิ้งอิตถีลาภเพราะเหตุอะไรเล่า
สีลวีมังสชาดกที่ ๕ จบ
๖. สุชาตาชาดก (๓๐๖)
ว่าด้วยพระนางสุชาดา
(พระนางสุชาดาเทวีทูลถามพระราชาว่า)
[๒๑] ฝ่าพระบาท ผลไม้สีแดงเกลี้ยงเกลาเหล่านี้
ที่เก็บไว้ในถาดทองคำ มีชื่อว่าผลอะไร
หม่อมฉันทูลถามแล้ว
ขอพระองค์จงตรัสบอกหม่อมฉัน
(พระราชาทรงกริ้ว จึงตรัสว่า)
[๒๒] พระเทวี เมื่อก่อนเธอเป็นคนหัวโล้น
นุ่งผ้าเก่าเหน็บชายพก
เที่ยวเลือกเก็บผลไม้เหล่าใด
นี้เป็นผลไม้ประจำตระกูลของเธอ
[๒๓] หญิงต่ำทรามผู้นี้อยู่ในราชตระกูล
ย่อมเดือดร้อนไม่รื่นรมย์
โภคะทั้งหลายย่อมละผู้ไม่มีบุญไป
พวกท่านจงนำหญิงนี้กลับไปในสถานที่ที่หล่อนเก็บพุทราขาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๑. กาลิงควรรค ๗. ปลาสชาดก (๓๐๗)
(อำมาตย์โพธิสัตว์คิดช่วยเหลือพระนางสุชาดาเทวี จึงกราบทูลว่า)
[๒๔] ข้าแต่มหาราช โทษคือความประมาทเลินเล่อเหล่านี้
ย่อมมีแก่หญิงผู้ได้ยศ
ขอพระองค์โปรดทรงละเว้นแก่พระนางสุชาดา
ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธ
ต่อพระนางสุชาดานั้นเลย
สุชาตาชาดกที่ ๖ จบ
๗. ปลาสชาดก (๓๐๗)
ว่าด้วยพราหมณ์ขยันกวาดใบไม้
(รุกขเทวดาโพธิสัตว์ถามพราหมณ์ผู้มากวาดโคนต้นไม้ว่า)
[๒๕] พราหมณ์ ท่านก็รู้อยู่ว่า
ไม้ใบต้นนี้ไม่มีจิตใจ ไม่ได้ยินเสียง และไม่มีความรู้สึก
เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ลืม
เพียรพยายามถามอยู่เป็นนิตย์ถึงการนอนเป็นสุข
(พราหมณ์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวตอบว่า)
[๒๖] ต้นไม้ใหญ่ปรากฏได้ในที่ไกล
ตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่ราบเรียบ เป็นที่สถิตของเทพยดา
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงนอบน้อมไม้ใบต้นนี้
และเทพยดาผู้สถิตอยู่ในไม้ใบต้นนี้ เพราะเหตุแห่งทรัพย์
(รุกขเทวดาโพธิสัตว์เลื่อมใสต่อพราหมณ์ จึงกล่าวว่า)
[๒๗] พราหมณ์ ข้าพเจ้านั้นเพ่งถึง
ความเป็นผู้รู้อุปการคุณที่ท่านทำแล้ว
จักตอบแทนท่านตามอานุภาพของตน
ก็การที่ท่านมาในสำนักของสัตบุรุษทั้งหลาย
แล้วทำการขวนขวายจะพึงไร้ผลได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๑. กาลิงควรรค ๙. ฉวชาดก (๓๐๙)
[๒๘] ไม้เลียบต้นใดขึ้นอยู่เบื้องหน้าต้นมะพลับ
เขาล้อมรั้วไว้แล้ว เป็นที่บูชากันมาก่อน เป็นต้นไม้ใหญ่
ขุมทรัพย์ฝังไว้ที่โคนต้นไม้เลียบนั้นไม่มีเจ้าของมีอยู่
ท่านจงไปขุดเอาขุมทรัพย์นั้นเถิด
ปลาสชาดกที่ ๗ จบ
๘. ชวสกุณชาดก (๓๐๘)
ว่าด้วยราชสีห์ไม่รู้คุณนกหัวขวาน
(นกหัวขวานโพธิสัตว์กล่าวกับราชสีห์ว่า)
[๒๙] พญาเนื้อ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน
ข้าพเจ้าได้กระทำกิจอย่างหนึ่งแก่ท่านตามกำลังที่ตนมีอยู่
ข้าพเจ้าจะได้อะไรเป็นเครื่องตอบแทนบ้าง
(ราชสีห์กล่าวว่า)
[๓๐] เจ้าอยู่ในระหว่างฟันของเราผู้มีเลือดเป็นอาหาร
ผู้กระทำกรรมโหดร้ายอยู่เป็นนิตย์
การรอดชีวิตไปได้ก็นับว่าเป็นบุญอย่างใหญ่หลวง
(นกหัวขวานโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๓๑] ผู้ไม่รู้อุปการคุณที่ผู้อื่นทำแล้ว
ผู้ที่ไม่เคยทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ใคร
ผู้ที่ไม่ตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นทำให้แล้ว
น่าตำหนิ ความกตัญญูไม่มีในผู้ใด
การคบหาผู้นั้นก็ไร้ประโยชน์
[๓๒] แม้ด้วยอุปการคุณที่กระทำต่อหน้า
มิตรธรรมยังหาไม่ได้ในบุคคลใด
บัณฑิตไม่ริษยา ไม่ด่าว่าบุคคลนั้น
พึงค่อย ๆ หลีกห่างจากเขาไปเสีย
ชวสกุณชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๑. กาลิงควรรค ๙. ฉวชาดก (๓๐๙)
๙. ฉวชาดก (๓๐๙)
ว่าด้วยการนั่งเรียนมนต์ไม่เหมาะสมเหมือนเรียนกับศพ
(คนจัณฑาลโพธิสัตว์ไปลักมะม่วงในพระราชอุทยาน เห็นพระราชานั่งในที่สูง
เรียนมนต์ ปุโรหิตนั่งในที่ต่ำสอนมนต์ จึงลงจากต้นมะม่วงมาตำหนิ ถูกพระราชา
ตรัสถามแล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๓๓] กิจที่เราทั้ง ๓ กระทำขึ้นนี้ทั้งหมดไม่ชอบธรรม
เพราะคนทั้ง ๒ ไม่เห็นธรรมเนียม
จึงเคลื่อนคลาดจากธรรมเนียมเดิม
อาจารย์ผู้สอนมนต์นั่งต่ำ
และศิษย์ผู้เรียนมนต์นั่งสูง
(ปุโรหิตกล่าวว่า)
[๓๔] เราบริโภคข้าวสาลีสุก สะอาด ปรุงด้วยเนื้อ
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ประพฤติธรรม
ที่ฤๅษีทั้งหลายประพฤติกัน
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๓๕] ท่านจงหลีกไป โลกนี้ยังกว้างใหญ่
แม้คนอื่นในชมพูทวีปก็ยังหุงข้าวกินกันอยู่
เพราะเหตุนั้น ขออธรรมที่ท่านได้ประพฤติมาแล้ว
อย่าได้ทำลายท่านเหมือนหินทำลายหม้อเลย
[๓๖] พราหมณ์ น่าติเตียนการได้ยศ
และการได้ทรัพย์สำหรับเลี้ยงชีวิต
ซึ่งเป็นเหตุให้ประสบความพินาศ
และประพฤติผิดธรรม
ฉวชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๒. ปุจิมันทวรรค ๑. ปุจิมันทชาดก (๓๑๑)
๑๐. สัยหชาดก (๓๑๐)
ว่าด้วยสัยหอำมาตย์
(ฤๅษีโพธิสัตว์ได้กล่าวกับสัยหอำมาตย์ว่า)
[๓๗] เราไม่ปรารถนาแผ่นดินอันมีสมุทรเป็นขอบเขต
มีสาครล้อมรอบประดุจต่างหู พร้อมกับคำนินทา
ท่านจงทราบอย่างนี้เถิด สัยหอำมาตย์
[๓๘] พราหมณ์ น่าติเตียนการได้ยศ
และการได้ทรัพย์สำหรับเลี้ยงชีวิต
ซึ่งเป็นเหตุให้ประสบความพินาศ
หรือประพฤติไม่เป็นธรรม
[๓๙] ถึงแม้เราจะเป็นนักบวชถือบาตรเลี้ยงชีพ
การเลี้ยงชีพเช่นนั้นแหละยังดีกว่าการแสวงหาโดยไม่ชอบธรรม
[๔๐] ถึงแม้เราจะเป็นนักบวชถือบาตรเลี้ยงชีพ
ไม่เบียดเบียนผู้อื่นในโลก
การเลี้ยงชีพเช่นนั้นแหละยังดีกว่าการครองราชสมบัติ
สัยหชาดกที่ ๑๐ จบ
กาลิงควรรคที่ ๑ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. จูฬกาลิงคชาดก ๒. มหาอัสสาโรหชาดก
๓. เอกราชชาดก ๔. ทัททรชาดก
๕. สีลวีมังสชาดก ๖. สุชาตาชาดก
๗. ปลาสชาดก ๘. ชวสกุณชาดก
๙. ฉวชาดก ๑๐. สัยหชาดก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๒. ปุจิมันทวรรค ๑. ปุจิมันทชาดก (๓๑๑)
๒. ปุจิมันทวรรค
หมวดว่าด้วยไม้สะเดา
๑. ปุจิมันทชาดก (๓๑๑)
ว่าด้วยเทวดาประจำต้นสะเดา
(รุกขเทวดาโพธิสัตว์กล่าวกับโจรว่า)
[๔๑] จงลุกขึ้นเจ้าโจร มัวนอนอยู่ทำไม
การนอนของเจ้ามีประโยชน์อะไร
พระราชาทั้งหลายอย่าได้จับเจ้า
ผู้กระทำผิดอย่างร้ายแรงในหมู่บ้านเลย
(เทวดาประจำต้นโพธิ์กล่าวว่า)
[๔๒] เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจักจับโจร
ผู้กระทำความผิดอย่างร้ายแรงในหมู่บ้านมิใช่หรือ
ธุระอะไรของปุจิมันทเทวดาในเรื่องนั้นเล่า
(เทวดาประจำต้นสะเดาตอบว่า)
[๔๓] อัสสัตถเทวดา ท่านไม่ทราบเรื่องระหว่างข้าพเจ้ากับโจร
พระราชาทั้งหลายจับโจรผู้กระทำผิดอย่างร้ายแรง
ในบ้านได้แล้วเสียบที่หลาวไม้สะเดา
ข้าพเจ้ามีใจระแวงในเรื่องนั้น
(เทวดาประจำต้นโพธิ์กล่าวว่า)
[๔๔] บุคคลพึงระแวงภัยที่ควรระแวง
พึงป้องกันภัยที่ยังมาไม่ถึง
เพราะภัยที่ยังมาไม่ถึง
นักปราชญ์จึงได้พิจารณาเห็นโลกทั้ง ๒
ปุจิมันทชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๒. ปุจิมันทวรรค ๔. โลหกุมภิชาดก (๓๑๔)
๒. กัสสปมันทิยชาดก (๓๑๒)
ว่าด้วยฤาษีกัสสปมันทิยะ
(ฤๅษีโพธิสัตว์สอนบิดาว่า)
[๔๕] ท่านพ่อกัสสปะ แม้เด็กหนุ่มจะด่าว่าบ้าง
ทุบตีบ้าง เพราะยังเป็นวัยรุ่น
บัณฑิตผู้ฉลาดย่อมอดทน อดกลั้น
ความผิดทั้งหมดนั้นที่เด็กวัยรุ่นทำ
[๔๖] แม้ถ้าบัณฑิตทั้งหลายวิวาทกันก็ประสานกันได้โดยเร็ว
ส่วนคนพาลแตกกันเหมือนภาชนะดิน
พวกเขาระงับเวรกันไม่ได้เลย
[๔๗] คนที่รู้โทษที่ตนล่วงเกินแล้ว และคนที่รู้จักการให้อภัย
ทั้ง ๒ คนนั้นจะสมัครสมานกันยิ่งขึ้น
ความสนิทสนมของพวกเขาย่อมไม่เสื่อมคลาย
[๔๘] ผู้ใดเมื่อชนเหล่าอื่นล่วงเกินกัน
เขาสามารถประสานชนเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง
ผู้นั้นแหละเป็นผู้ยอดเยี่ยม
เป็นผู้นำภาระไป เป็นผู้ทรงธุระไว้ได้
กัสสปมันทิยชาดกที่ ๒ จบ
๓. ขันติวาทิชาดก (๓๑๓)
ว่าด้วยขันติวาทีดาบส
(เสนาบดีขอร้องดาบสโพธิสัตว์ไม่ให้โกรธว่า)
[๔๙] ท่านมหาวีระ ผู้ใดสั่งให้ตัดมือ เท้า ใบหู และจมูกของท่าน
ท่านจงโกรธผู้นั้นเถิด อย่าให้แว่นแคว้นนี้พินาศเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๒. ปุจิมันทวรรค ๔. โลหกุมภิชาดก (๓๑๔)
(ดาบสโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๕๐] พระราชาพระองค์ใดรับสั่งให้ตัดมือ
เท้า ใบหู และจมูกของข้าพเจ้า
ขอให้พระราชาพระองค์นั้นจงมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน
บัณฑิตทั้งหลายเช่นอาตมาไม่โกรธเคืองเลย
(พระศาสดาได้ตรัส ๒ พระคาถานี้ว่า)
[๕๑] สมณะผู้ถึงสรรเสริญขันติมีในอดีตกาลนานมาแล้ว
พระเจ้ากาสีได้รับสั่งให้ประหารดาบสผู้ดำรงมั่นในขันติธรรมองค์นั้น
[๕๒] พระเจ้ากาสีเบียดเสียดอยู่ในนรก
เสวยวิบากอันเผ็ดร้อนแห่งกรรมอันหยาบช้านั้น
ขันติวาทิชาดกที่ ๓ จบ
๔. โลหกุมภิชาดก (๓๑๔)
ว่าด้วยสัตว์ในโลหกุมภีนรก
(สัตว์นรกที่กล่าวว่า ทุ แล้วจมลง ประสงค์จะกล่าวอย่างนี้ว่า)
[๕๓] พวกเราเมื่อโภคะทั้งหลายมีอยู่ ไม่ได้ให้ทาน
ไม่ได้กระทำที่พึ่งให้แก่ตน
จึงชื่อว่ามีชีวิตอยู่อย่างชั่วช้า
(สัตว์นรกที่กล่าวว่า ส ประสงค์จะกล่าวอย่างนี้ว่า)
[๕๔] พวกเราไหม้อยู่ในนรกทั้งหมด ๖๐,๐๐๐ ปีบริบูรณ์
เมื่อไรหนอที่สุดจะปรากฏ
(สัตว์นรกที่กล่าวว่า น ประสงค์จะกล่าวอย่างนี้ว่า)
[๕๕] เพื่อนยาก ที่สุดไม่มี ที่สุดจะมีแต่ที่ไหน
ที่สุดจักไม่ปรากฏ เพราะว่าในกาลนั้น
เราและท่านได้ทำกรรมชั่วไว้มาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๒. ปุจิมันทวรรค ๗. มตโรทนชาดก (๓๑๗)
(สัตว์นรกที่กล่าวว่า โส ประสงค์จะกล่าวอย่างนี้ว่า)
[๕๖] เราไปจากที่นี้แล้วได้เกิดเป็นมนุษย์
จะรู้ถ้อยคำของผู้ขอ ถึงพร้อมด้วยศีล กระทำกุศลให้มาก
โลหกุมภิชาดกที่ ๔ จบ
๕. มังสชาดก (๓๑๕)
ว่าด้วยบุตรเศรษฐีขอเนื้อนายพราน
(นายพรานกล่าวกับบุตรเศรษฐีคนที่ ๑ ว่า)
[๕๗] ท่านเป็นผู้ขอเนื้อ
คำพูดของท่านหยาบจริง ๆ เช่นกับเนื้อพังผืด
นี่เพื่อน ข้าพเจ้าให้เนื้อพังผืดแก่ท่าน
(นายพรานกล่าวกับบุตรเศรษฐีคนที่ ๒ ว่า)
[๕๘] คำว่า พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว
เป็นเช่นกับอวัยวะของมนุษย์ที่เขาพูดกันอยู่ในโลก
คำพูดของท่านเช่นกับอวัยวะ
นี่เพื่อน ข้าพเจ้าให้เนื้อล้วน ๆ แก่ท่าน
(นายพรานกล่าวกับบุตรเศรษฐีคนที่ ๓ ว่า)
[๕๙] เมื่อลูกเรียกว่าพ่อ ใจพ่อก็หวั่นไหว
คำพูดของท่านเช่นกับเนื้อหัวใจ
นี่เพื่อน ข้าพเจ้าให้เนื้อหัวใจแก่ท่าน
(นายพรานกล่าวกับบุตรเศรษฐีคนที่ ๔ ว่า)
[๖๐] ในบ้านของผู้ใดไม่มีเพื่อน บ้านนั้นเป็นเช่นกับป่า
คำพูดของท่านเช่นกับสมบัติทั้งหมด
นี่เพื่อน ข้าพเจ้าให้เนื้อทั้งหมดแก่ท่าน
มังสชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๒. ปุจิมันทวรรค ๗. มตโรทนชาดก (๓๑๗)
๖. สสปัณฑิตชาดก (๓๑๖)
ว่าด้วยกระต่ายบัณฑิตโพธิสัตว์
(นากกล่าวกับท้าวสักกะผู้แปลงกายเป็นพราหมณ์มาขออาหารว่า)
[๖๑] ข้าพเจ้ามีปลาตะเพียนแดงอยู่ ๗ ตัว
ซึ่งพรานเบ็ดตกขึ้นมาได้จากน้ำวางไว้บนบก
พราหมณ์ ขอท่านจงบริโภคอาหารที่ข้าพเจ้ามีอยู่อย่างนี้
แล้วบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด
(สุนัขจิ้งจอกกล่าวว่า)
[๖๒] ในเวลากลางคืน ข้าพเจ้าได้นำอาหารของคนเฝ้านาคนโน้นมา
คือ เนื้อย่าง ๒ ไม้ เหี้ย ๒ ตัว นมส้ม ๑ หม้อ
ท่านพราหมณ์ ขอท่านจงบริโภคอาหารที่ข้าพเจ้ามีอยู่นี้
แล้วบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด
(ลิงกล่าวว่า)
[๖๓] มะม่วงสุก น้ำเย็น ร่มเงาที่เย็นน่ารื่นรมย์
ท่านพราหมณ์ ขอท่านจงบริโภคอาหารที่ข้าพเจ้ามีอยู่นี้
แล้วบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด
(กระต่ายโพธิสัตว์ไม่มีอาหาร เมื่อจะสละชีวิตของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๔] งา ถั่ว และข้าวสารของกระต่ายไม่มี
ขอท่านจงบริโภคข้าพเจ้าที่สุกด้วยไฟนี้
แล้วบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด
สสปัณฑิตชาดกที่ ๖ จบ
๗. มตโรทนชาดก (๓๑๗)
ว่าด้วยการร้องไห้ถึงคนที่ตายแล้ว
(เศรษฐีโพธิสัตว์กล่าวกับพวกลิงว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๒. ปุจิมันทวรรค ๙. ติตติรชาดก (๓๑๙)
[๖๕] พวกท่านร้องไห้ถึงคนที่ตายไปแล้วเท่านั้น
แต่หาได้ร้องไห้ถึงคนที่จักตายไม่
สัตว์ทั้งหลายที่ยังมีร่างกายอยู่ย่อมละชีวิตไปโดยลำดับ
[๖๖] เทวดา มนุษย์ สัตว์ ๔ เท้า หมู่ปักษี สัตว์เลื้อยคลาน
และสัตว์ที่มีร่างกายใหญ่ ไม่เป็นใหญ่ในร่างกายของตน
ถึงจะรื่นรมย์อยู่ในร่างกายนั้นก็ย่อมละชีวิตของตนไป
[๖๗] สุขและทุกข์ที่เพ่งเล็งกันอยู่ในหมู่มนุษย์
มีความแปรผันไม่ยั่งยืนอย่างนี้
ความร่ำไห้คร่ำครวญเป็นสิ่งไร้ประโยชน์
ทำไมท่านจึงยังเศร้าโศกอยู่เล่า
[๖๘] นักเลงก็ดี นักดื่มก็ดี คนไม่ได้รับการศึกษาก็ดี
คนโง่ก็ดี คนมุทะลุก็ดี คนไม่มีความเพียรก็ดี
คนไม่ฉลาดในธรรมก็ดี ย่อมเข้าใจนักปราชญ์ว่าเป็นคนโง่
มตโรทนชาดกที่ ๗ จบ
๘. กณเวรชาดก (๓๑๘)
ว่าด้วยหญิงหลายใจระลึกถึงความหลังใต้ต้นยี่โถแดง
(พวกนักฟ้อนได้ฟ้อนรำได้ขับเพลงขับนี้ว่า)
[๖๙] นางสามา ที่ท่านสวมกอดในเวลาที่อยู่ใต้กอต้นยี่โถแดง
ฝากข่าวมาบอกท่านถึงความที่ตนสบายดี
(โจรโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวกับนักฟ้อนว่า)
[๗๐] ผู้เจริญ ข่าวที่ว่า ลมพัดพาภูเขาไปได้ ข่าวนี้ไม่น่าเชื่อถือ
ถ้าลมจะพัดพาภูเขาไปได้ ก็พึงพัดพาแผ่นดินแม้ทั้งหมดไปได้
ก็นางสามาตายแล้วจะฝากข่าวมาบอกพวกเรา
ถึงความที่ตนสบายดีได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๒. ปุจิมันทวรรค ๙. ติตติรชาดก (๓๑๙)
(นักฟ้อนกล่าวว่า)
[๗๑] นางสามายังไม่ตายเลย และไม่ต้องการชายอื่น ได้ข่าวว่า
นางสามากินอาหารมื้อเดียว ยังต้องการแต่ท่านเท่านั้น
(โจรโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๗๒] นางสามาได้เปลี่ยนเอาเราผู้ไม่เคยเชยชิด
กับชายผู้เคยเชยชิดกันมานาน
นางสามาคงจะเปลี่ยนเอาชายอื่นผู้ไม่ใช่ขาประจำ
กับเราผู้เป็นขาประจำแน่นอน เราจะไปจากที่นี้ให้ไกลแสนไกล
กณเวรชาดกที่ ๘ จบ
๙. ติตติรชาดก (๓๑๙)
ว่าด้วยนกกระทา
(นกกระทาถามดาบสโพธิสัตว์ว่า)
[๗๓] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าอยู่สบายดี
และได้บริโภคอาหารตามชอบใจ ข้าพเจ้ากำลังอยู่ในอันตราย
คติของข้าพเจ้าจะเป็นอย่างไรหนอ
(ดาบสโพธิสัตว์ตอบปัญหาของนกกระทาว่า)
[๗๔] ปักษี ถ้าใจของเธอไม่น้อมไปเพื่อกรรมชั่ว
บาปก็ไม่แปดเปื้อนเธอผู้เป็นคนดี
ไม่ขวนขวายในการกระทำกรรมชั่ว
(นกกระทาได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๗๕] นกกระทาจำนวนมากมาด้วยเข้าใจว่า
ญาติของพวกเราจับอยู่ที่นี้
ย่อมประสบเคราะห์กรรมเพราะอาศัยข้าพเจ้า
ใจข้าพเจ้ารังเกียจในกรรมชั่วนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๓. กุฏิทูสกวรรค ๑. กุฏิทูสกชาดก (๓๒๑)
(ดาบสโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า)
[๗๖] ถ้าใจของเธอไม่ถูกกรรมชั่วประทุษร้าย
กรรมชั่วที่นายพรานทำเพราะอาศัยเธอ ก็ไม่ถูกต้องเธอ
บาปก็ไม่แปดเปื้อนเธอผู้เป็นคนดี ผู้ขวนขวายน้อย
ติตติรชาดกที่ ๙ จบ
๑๐. สุจจชชาดก (๓๒๐)
ว่าด้วยพระราชาไม่ทรงสละสิ่งที่สละได้ง่าย
(พระราชเทวีตรัสกับอำมาตย์ว่า)
[๗๗] พระราชาเมื่อไม่พระราชทานภูเขาด้วยเพียงพระวาจา
ชื่อว่าไม่ทรงสละสิ่งที่ควรสละได้ง่ายหนอ
ก็เมื่อพระองค์ไม่ทรงสละสิ่งนั้น ฉันจะพึงให้อะไร
พระราชาไม่พระราชทานภูเขาด้วยพระวาจา
(พระราชาตรัสว่า)
[๗๘] งานใดควรทำ พึงพูดถึงแต่งานนั้นเถิด
งานใดไม่ควรทำ ก็อย่าพูดถึงงานนั้นเลย
คนไม่ทำ เอาแต่พูด บัณฑิตย่อมรู้ทัน
(พระราชเทวีกราบทูลว่า)
[๗๙] ข้าแต่ราชบุตร ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระองค์
พระองค์ดำรงอยู่ในสัจจธรรม
ถึงแม้จะถูกเนรเทศ
ก็ยังมีพระหฤทัยยินดีในสัจจธรรม
(อำมาตย์โพธิสัตว์ได้ฟังพระเสาวนีย์ของพระเทวีผู้ตรัสคุณความดีของพระราชา
อยู่อย่างนั้น จึงประกาศคุณความดีของพระราชเทวีว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๓. กุฏิทูสกวรรค ๑. กุฏิทูสกชาดก (๓๒๑)
[๘๐] หญิงใดเป็นภรรยาของสามีที่ยากจนก็พลอยยากจนด้วย
เมื่อสามีร่ำรวยก็พลอยร่ำรวยมีชื่อเสียงด้วย
หญิงนั้นนับว่าเป็นภรรยาสุดประเสริฐของเขา
ส่วนหญิงที่เป็นภรรยาของชายผู้ที่มีเงินทองอยู่แล้ว
ไม่น่าอัศจรรย์เลย
สุจจชชาดกที่ ๑๐ จบ
ปุจิมันทวรรคที่ ๒ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปุจิมันทชาดก ๒. กัสสปมันทิยชาดก
๓. ขันติวาทิชาดก ๔. โลหกุมภิชาดก
๕. มังสชาดก ๖. สสปัณฑิตชาดก
๗. มตโรทนชาดก ๘. กณเวรชาดก
๙. ติตติรชาดก ๑๐. สุจจชชาดก

๓. กุฏิทูสกวรรค
หมวดว่าด้วยการประทุษร้ายรัง
๑. กุฏิทูสกชาดก (๓๒๑)
ว่าด้วยลิงประทุษร้ายรัง
(นกขมิ้นโพธิสัตว์กล่าวกับลิงว่า)
[๘๑] วานร ศีรษะ มือ และเท้าของท่านเหมือนของมนุษย์
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรหนอ เรือนของท่านจึงไม่มี
(ลิงได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๘๒] นกขมิ้น ศีรษะ มือ และเท้าของเราเหมือนของมนุษย์ก็จริง
แต่ปัญญาที่บัณฑิตสรรเสริญว่าประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์เราไม่มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๓. กุฏิทูสกวรรค ๔. จัมมสาฏกชาดก (๓๒๔)
(นกขมิ้นโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๘๓] บุคคลผู้มีจิตไม่มั่นคง กลับกลอก ประทุษร้ายมิตร
มีปกติไม่ยั่งยืนอยู่เป็นนิจ ย่อมไม่มีความสุข
[๘๔] นี่ลิง ท่านจงสร้างอานุภาพปัญญา
จงกลับตัวให้มีความเป็นปกติเสีย
จงสร้างกระท่อมป้องกันลมและความหนาวเถิด
กุฏิทูสกชาดกที่ ๑ จบ
๒. ทุททุภายชาดก (๓๒๒)
ว่าด้วยกระต่ายตื่นตูม
(กระต่ายกล่าวกับราชสีห์โพธิสัตว์ว่า)
[๘๕] ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน
ข้าพเจ้าอยู่ที่ใด ที่นั้นมีเสียงดังสนั่น
แม้ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่า เสียงดังสนั่นนั้นเป็นเสียงอะไร
(พระศาสดาตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๘๖] กระต่ายได้ยินเสียงผลมะตูมหล่นเสียงดังสนั่นก็วิ่งหนีไป
ฝูงสัตว์ฟังคำของกระต่ายก็กลัวตัวสั่น
[๘๗] พวกคนโง่เขลายังไม่ทันรู้เรื่องแจ่มแจ้ง
ฟังคนอื่นโจษขาน ก็พากันตื่นตระหนก
พวกเขาเชื่อคนอื่นง่าย
[๘๘] ส่วนคนเหล่าใดเป็นนักปราชญ์
เพียบพร้อมด้วยศีลและปัญญา
ยินดีในความสงบ และเว้นไกลจากการกระทำชั่ว
คนเหล่านั้นหาเชื่อคนอื่นง่ายไม่
ทุททุภายชาดกที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๓. กุฏิทูสกวรรค ๔. จัมมสาฏกชาดก (๓๒๔)
๓. พรหมทัตตชาดก (๓๒๓)
ว่าด้วยพระเจ้าพรหมทัต
(ดาบสโพธิสัตว์ได้กล่าวคาถากับพระราชาว่า)
[๘๙] ขอถวายพระพรมหาบพิตร ขึ้นชื่อว่าผู้ขอ
ย่อมได้ผล ๒ อย่าง คือ (๑) ไม่ได้ทรัพย์ (๒) ได้ทรัพย์
เพราะการขอมีสภาพเช่นนี้เป็นธรรมดา
[๙๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งแคว้นปัญจาละ
บัณฑิตทั้งหลายเรียกการขอว่า เป็นการร้องไห้
เรียกการปฏิเสธว่า เป็นการร้องไห้ตอบ
[๙๑] ชาวแคว้นปัญจาละผู้มาประชุมพร้อมเพรียงกัน
ขออย่าได้เห็นอาตมภาพร้องไห้หรือเห็นพระองค์ทรงกันแสงตอบเลย
เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงปรารถนาสถานที่ลับ
(พระราชาตรัสพระราชทานพรแก่ดาบสโพธิสัตว์ว่า)
[๙๒] ท่านพราหมณ์ โยมขอถวายโคแดง ๑,๐๐๐ ตัว
พร้อมกับโคจ่าฝูงแก่ท่าน
เพราะพระอริยะได้ฟังคาถาอันประกอบด้วยธรรม
ของพระคุณเจ้าแล้วจะไม่พึงถวายแก่พระอริยะได้อย่างไร
พรหมทัตตชาดกที่ ๓ จบ
๔. จัมมสาฏกชาดก (๓๒๔)
ว่าด้วยปริพาชกชื่อจัมมสาฏกะ
(ปริพาชกยืนประนมมือต่อแพะแล้วกล่าวว่า)
[๙๓] สัตว์ ๔ เท้างดงามจริงหนอ ท่าทางสง่า และน่ารักน่าเอ็นดู
ย่อมอ่อนน้อมต่อพราหมณ์ผู้เพียบพร้อมด้วยชาติและมนต์
จักเป็นแพะประเสริฐ มียศศักดิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๓. กุฏิทูสกวรรค ๖. กักการุชาดก (๓๒๖)
(พ่อค้าบัณฑิตโพธิสัตว์ห้ามปริพาชกนั้นว่า)
[๙๔] นี่พราหมณ์ อย่าได้วางใจสัตว์ ๔ เท้าตัวนี้
ด้วยการเห็นมันเพียงครู่เดียวเลย
มันต้องการจะขวิดให้เต็มที่ จึงย่อตัวลงแสดงท่าขวิดให้เหมาะ
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเหตุนั้น จึงตรัสว่า)
[๙๕] กระดูกขาอ่อนของปริพาชกก็หัก
บริขารที่หาบก็พลัดตกและสัมภาระทั้งหมดของพราหมณ์ก็แตก
ปริพาชกประคองแขนทั้ง ๒ ข้างคร่ำครวญอยู่ว่า
ช่วยด้วย แพะฆ่าคนประพฤติพรหมจรรย์
(ปริพาชกกล่าวว่า)
[๙๖] ผู้ที่สรรเสริญคนซึ่งไม่ควรบูชาจะถูกขวิดนอนอยู่
เหมือนเราผู้โง่เขลาถูกแพะขวิดในวันนี้
จัมมสาฏกชาดกที่ ๔ จบ
๕. โคธชาดก (๓๒๕)
ว่าด้วยฤๅษีจะกินเหี้ย
(พญาเหี้ยโพธิสัตว์เมื่อสนทนากับดาบส จึงได้กล่าวว่า)
[๙๗] ข้าพเจ้าเข้าใจท่านว่าเป็นสมณะ จึงเข้าไปหาท่านผู้ไม่สำรวม
ท่านเอาท่อนไม้ขว้างปาข้าพเจ้า ทำเหมือนมิใช่สมณะ
[๙๘] นี่เจ้าผู้โง่เขลา จะมีประโยชน์อะไรแก่เจ้า
ด้วยชฎาและการนุ่งห่มหนังเสือเหลือง
ภายในของเจ้าแสนจะรกรุงรัง
เจ้าขัดสีแต่ภายนอกเท่านั้น
(ดาบสได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๙๙] มาเถิดเหี้ย เจ้าจงกลับมากินข้าวสาลีสุก
น้ำมัน เกลือ และดีปลีของเรายังมีอยู่เพียงพอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๓. กุฏิทูสกวรรค ๖. กักการุชาดก (๓๒๖)
(พญาเหี้ยโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๑๐๐] ข้าพเจ้านั้นจะเข้าไปยังจอมปลวกที่ลึกถึง ๑๐๐ ชั่วคน
น้ำมัน เกลือ และดีปลีของท่านจะมีประโยชน์อะไร
สิ่งเหล่านั้นไม่มีประโยชน์สำหรับข้าพเจ้า
โคธชาดกที่ ๕ จบ
๖. กักการุชาดก (๓๒๖)
ว่าด้วยผู้สมควรได้ดอกกักการุทิพย์
(หัวหน้าเทพบุตรองค์ที่ ๑ กล่าวกับพระราชาผู้ขอดอกไม้ทิพย์ว่า)
[๑๐๑] ผู้ใดไม่ลักทรัพย์ด้วยกาย ไม่พูดเท็จ
ได้ยศแล้วก็ไม่มัวเมา ผู้นั้นแหละสมควรได้ดอกกักการุทิพย์
(เทพบุตรองค์ที่ ๒ กล่าวกับปุโรหิตว่า)
[๑๐๒] ผู้ใดแสวงหาทรัพย์อันน่าปลื้มใจโดยชอบธรรม
ไม่หลอกลวงเอาทรัพย์เขามา ได้โภคะทั้งหลายแล้วไม่มัวเมา
ผู้นั้นแหละสมควรได้ดอกกักการุทิพย์
(เทพบุตรองค์ที่ ๓ กล่าวกับปุโรหิตว่า)
[๑๐๓] ผู้ใดมีจิตไม่หน่ายเร็ว มีศรัทธาไม่คลายง่าย
ไม่บริโภคโภชนะอร่อยเพียงคนเดียว
ผู้นั้นแหละสมควรได้ดอกกักการุทิพย์
(เทพบุตรองค์ที่ ๔ กล่าวกับปุโรหิตว่า)
[๑๐๔] ผู้ใดไม่ด่าว่าสัตบุรุษต่อหน้าหรือลับหลัง
พูดอย่างไรทำอย่างนั้น
ผู้นั้นแหละสมควรได้ดอกกักการุทิพย์
กักการุชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๓. กุฏิทูสกวรรค ๙. กาฬพาหุชาดก (๓๒๙)
๗. กากวตีชาดก (๓๒๗)
ว่าด้วยนางกากวดี
(นฏกุเวรคนธรรพ์ยืนอยู่ในราชสำนัก ได้ขับร้องเพลงว่า)
[๑๐๕] นางผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้าอยู่ที่ใด
กลิ่นกายนางก็ยังหอมฟุ้งมาจากที่นั้น
ข้าพเจ้ามีใจกำหนัดยินดีในนางใด
นางนั้นชื่อว่ากากวดี อยู่ไกลจากนี้
(พญาครุฑได้ฟังดังนั้น จึงถามว่า)
[๑๐๖] ท่านข้ามสมุทรไปได้อย่างไร
ข้ามแม่น้ำเกปุกะไปได้อย่างไร
ข้ามสมุทรทั้ง ๗ ไปได้อย่างไร
และขึ้นไปยังวิมานฉิมพลีได้อย่างไร
(นฏกุเวรคนธรรพ์ตอบว่า)
[๑๐๗] ข้าพเจ้าข้ามสมุทรไปได้เพราะท่าน
ข้ามแม่น้ำเกปุกะไปได้เพราะท่าน
ข้ามสมุทรทั้ง ๗ ไปได้เพราะท่าน
และขึ้นไปยังวิมานฉิมพลีได้ก็เพราะท่าน
(พญาครุฑได้กล่าวว่า)
[๑๐๘] น่าติเตียนจริง เราตัวใหญ่เสียเปล่า
แต่หามีความคิดไม่
เพราะเราได้นำชายชู้ของเมียตัวเองทั้งไปทั้งกลับ
กากวตีชาดกที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๓. กุฏิทูสกวรรค ๙. กาฬพาหุชาดก (๓๒๙)
๘. อนนุโสจิยชาดก (๓๒๘)
ว่าด้วยทุกคนไม่ควรเศร้าโศก
(พระโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่มหาชนว่า)
[๑๐๙] ตาปสินีผู้เจริญไปอยู่ในหมู่ชนเป็นจำนวนมากที่ตายแล้ว
นางผู้อยู่ร่วมกับพวกคนตายเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไรแก่เรา
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศกถึง
นางสัมมิลลหาสินีตาปสินีผู้เป็นที่รัก
[๑๑๐] ถ้าบุคคลจะพึงเศร้าโศกถึงความตายที่ไม่มีแก่สัตว์ผู้เศร้าโศก
ควรเศร้าโศกถึงตนผู้ตกอยู่ในอำนาจของมัจจุทุกเมื่อเถิด
[๑๑๑] อายุสังขารจะติดตามสัตว์ผู้ยืน นั่ง นอน
และเดินไปมาเท่านั้นก็หาไม่
วัยย่อมติดตามเหล่าสัตว์แม้กระทั่งลืมตาและหลับตา
[๑๑๒] เมื่อความพลัดพรากมีอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย
ในอัตภาพที่เต็มไปด้วยอันตรายนี้อย่างนี้
บุคคลควรเอ็นดูสัตว์ที่ยังเป็นอยู่ยังเหลืออยู่
ไม่ควรเศร้าโศกถึงสัตว์ที่ตายไปแล้ว
อนนุโสจิยชาดกที่ ๘ จบ
๙. กาฬพาหุชาดก (๓๒๙)
ว่าด้วยลิงชื่อกาฬพาหุ
(นกแขกเต้าโปฏฐปาทะกล่าวกับนกแขกเต้าราธโพธิสัตว์ผู้เป็นพี่ชายว่า)
[๑๑๓] เมื่อก่อน เราได้ข้าวและน้ำใดจากราชสำนัก
บัดนี้ ข้าวและน้ำนั้นไปหาลิง๑เท่านั้น พี่ราธะ
เรากลับไปป่ากันเถิด เพราะพระเจ้าธนัญชัยไม่สักการะเราแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ แปลถอดความจากคำบาลีว่า สาขมิค แปลว่า เนื้อที่อยู่บนกิ่งไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๔. โกกิลวรรค ๑. โกกิลชาดก (๓๓๑)
(นกราธโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๑๔] น้องโปฏฐปาทะเอ๋ย โลกธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้
คือ ความมีลาภ ไม่มีลาภ มียศ ไม่มียศ
นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์ เป็นของไม่เที่ยง
เจ้าอย่าเศร้าโศกไปเลย จะเศร้าโศกไปทำไม
(นกโปฏฐปาทะกล่าวว่า)
[๑๑๕] พี่ราธะ พี่เป็นบัณฑิตแแท้ ๆ ย่อมรู้ประโยชน์ที่ยังไม่มาถึง
ทำอย่างไร เราจะเห็นลิงชั่วถูกไล่ออกจากราชตระกูล
(นกราธโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๑๖] ลิงกาฬพาหุกระดิกหู กลอกหน้ากลอกตา
ทำให้พระราชกุมารหวาดกลัวอยู่บ่อย ๆ
มันจะทำตนเองให้อดข้าวและน้ำ๑
กาฬพาหุชาดกที่ ๙ จบ
๑๐. สีลวีมังสชาดก (๓๓๐)
ว่าด้วยการพิจารณาอานิสงส์ของศีล
(ปุโรหิตโพธิสัตว์ยืนอยู่ในที่ใกล้พระราชา ได้พรรณนาศีลด้วยคาถานี้ว่า)
[๑๑๗] ได้ยินว่า ศีลเป็นสิ่งดีงาม ศีลเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมในโลก
ดูเถิด นาคที่มีพิษร้ายแรงยังไม่เบียดเบียนใคร ๆ
เพราะสำนึกอยู่ว่าตนมีศีล
(พระโพธิสัตว์เห็นโทษของกามแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๑๘] ตราบใด เหยี่ยวนั้นยังคาบชิ้นเนื้อใด ๆ อยู่
ตราบนั้น เหยี่ยวทั้งหลายในโลกก็พากันรุมจิกตีกัน
แต่พวกมันจะไม่เบียดเบียนเหยี่ยวที่ไม่มีความกังวล

เชิงอรรถ :
๑ แปลถอดความจากคำบาลีว่า เยนารกา ฐสฺสติ อนฺนปานา แปลว่า อยู่ห่างไกลจากข้าวและน้ำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๔. โกกิลวรรค ๑. โกกิลชาดก (๓๓๑)
[๑๑๙] คนที่ไม่มีความหวังย่อมหลับสบาย
ความหวังที่ได้ผลสมหวังเป็นความสุข
นางปิงคลาทำความหวังให้สิ้นแล้วย่อมหลับสบาย
[๑๒๐] ความสุขอื่นยิ่งกว่าสมาธิไม่มีทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
คนผู้มีจิตเป็นสมาธิย่อมไม่เบียดเบียนทั้งผู้อื่นและตนเอง
สีลวีมังสชาดกที่ ๑๐ จบ
กุฏิทูสกวรรคที่ ๓ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กุฏิทูสกชาดก ๒. ทุททุภายชาดก
๓. พรหมทัตตชาดก ๔. จัมมสาฏกชาดก
๕. โคธชาดก ๖. กักการุชาดก
๗. กากวตีชาดก ๘. อนนุโสจิยชาดก
๙. กาฬพาหุชาดก ๑๐. สีลวีมังสชาดก

๔. โกกิลวรรค
หมวดว่าด้วยลูกนกดุเหว่า
๑. โกกิลชาดก (๓๓๑)
ว่าด้วยลูกนกดุเหว่า
(อำมาตย์แก้วโพธิสัตว์ ได้กราบทูลพระราชาว่า)
[๑๒๑] ผู้ใดพูดเมื่อยังไม่ถึงเวลาพูด ก็พูดเกินเวลา
ผู้นั้นจะถูกกำจัดนอนตายอยู่ เหมือนลูกนกดุเหว่า
[๑๒๒] ธรรมดาศัสตราที่ลับจนคมดีแล้ว
เหมือนยาพิษที่มีพิษร้ายแรงจะให้ตกไปในทันทีหาได้ไม่
เหมือนวาจาที่เป็นทุพภาษิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๔. โกกิลวรรค ๓. โคธชาดก (๓๓๓)
[๑๒๓] เพราะฉะนั้น บัณฑิตควรรักษาวาจาไว้
ทั้งในเวลาที่ควรพูดและไม่ควรพูด
ไม่ควรพูดให้เกินเวลาแม้ในบุคคลผู้เสมอกับตน
[๑๒๔] ส่วนผู้ใดมีความคิดเป็นเบื้องหน้า มีปัญญาเครื่องพิจารณา
เห็นประจักษ์ พูดพอเหมาะกับกาลเวลา
ผู้นั้นย่อมจับศัตรูทั้งหมดไว้ได้ดุจนกครุฑจับนาคได้
โกกิลชาดกที่ ๑ จบ
๒. รถลัฏฐิชาดก (๓๓๒)
ว่าด้วยปุโรหิตโกรธประหารผู้อื่นด้วยปะฏัก
(อำมาตย์ผู้พิพากษาโพธิสัตว์ กราบทูลพระราชาว่า)
[๑๒๕] ข้าแต่มหาราช คนบางคนทำร้ายตนเอง
กลับพูดว่า ถูกทำร้าย
ตนเองชนะ กลับพูดว่า ตนแพ้
ดังนั้น ไม่ควรเชื่อคนที่เป็นโจทก์ฝ่ายเดียว
[๑๒๖] เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เป็นชาติบัณฑิตควรฟังฝ่ายจำเลยบ้าง
เมื่อฟังคำของทั้ง ๒ ฝ่ายแล้วควรตัดสินโดยธรรม
[๑๒๗] คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเกียจคร้านไม่ดี
บรรพชิตไม่สำรวมไม่ดี
พระราชาไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วทำไม่ดี
การที่บัณฑิตโกรธไม่ดี
[๑๒๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ
กษัตริย์ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงควรทำ
ไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วไม่ควรตัดสิน
ยศและเกียรติย่อมเจริญแด่พระราชาผู้ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
รถลัฏฐิชาดกที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๔. โกกิลวรรค ๓. โคธชาดก (๓๓๓)
๓. โคธชาดก (๓๓๓)
ว่าด้วยพระราชาหลอกกินเหี้ยย่าง
(พระเทวีตรัสกับพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๒๙] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมทัพ เมื่อพระองค์ทรงเหน็บพระขรรค์
สวมเกราะ ทรงภูษาผ้าเปลือกไม้อยู่ ณ ท่ามกลางป่า
ในกาลนั้นแล หม่อมฉันได้รู้จักพระองค์อย่างชัดเจน
เหี้ยย่างที่กิ่งต้นอัสสัตถะได้หนีไปแล้ว
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๓๐] บุคคลควรนอบน้อมแก่ผู้ที่นอบน้อม
ควรคบผู้ที่คบด้วย ควรทำกิจแก่ผู้ที่ช่วยทำกิจ
ไม่ควรทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่
ผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
และไม่ควรคบแม้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะคบด้วย
[๑๓๑] ควรละทิ้งผู้ที่ละทิ้ง และไม่ควรทำความเยื่อใย
ไม่ควรคบกับผู้มีจิตใจเหินห่าง
ควรมองหาผู้อื่น(ที่มีความเยื่อใย)
เหมือนนกรู้ว่า ต้นไม้นี้หมดผลแล้วก็ไปยังต้นไม้อื่น
เพราะว่าโลกกว้างใหญ่
(พระราชาทรงระลึกถึงคุณความดีของพระเทวีได้ จึงตรัสกับพระเทวีว่า)
[๑๓๒] เรานั้นเป็นกษัตริย์มุ่งความกตัญญู (อุปการคุณที่เธอกระทำแล้ว)
จะกระทำการตอบแทนเธอตามความสามารถ
อนึ่ง เราจะมอบความเป็นใหญ่ให้แก่เธอทั้งหมด
เธอประสงค์สิ่งใด เราจะให้สิ่งนั้น
โคธชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๔. โกกิลวรรค ๖. พรหาฉัตตชาดก (๓๓๖)
๔. ราโชวาทชาดก (๓๓๔)
ว่าด้วยดาบสถวายโอวาทแด่พระราชา
(ดาบสโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า)
[๑๓๓] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว
โคทั้งฝูงก็ไปคดเคี้ยวตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว
[๑๓๔] ในหมู่มนุษย์ ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้นก็จะประพฤติไม่เป็นธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นทุกข์
[๑๓๕] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง
โคทั้งฝูงก็ไปตรงตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปตรง
[๑๓๖] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติชอบธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้นก็จะประพฤติชอบธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นสุข๑
ราโชวาทชาดกที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๗๐/๑๑๕-๑๑๖, ขุ.ชา. (แปล) ๒๘/๑๐๔-๑๐๗/๒๑, ๑๖๘-๑๗๑/๓๑-๓๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๔. โกกิลวรรค ๖. พรหาฉัตตชาดก (๓๓๖)
๕. ชัมพุกชาดก (๓๓๕)
ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกชัมพุกะอวดเก่ง
(ราชสีห์โพธิสัตว์สอนสุนัขจิ้งจอกว่า)
[๑๓๗] ชัมพุกะ ช้างนั้นมีร่างกายสูงใหญ่และมีงายาว
เจ้าไม่ได้เกิดในตระกูลของราชสีห์ที่สามารถจับช้างได้
(ราชสีห์โพธิสัตว์ยืนอยู่บนยอดภูเขา เห็นสุนัขจิ้งจอกถึงความพินาศ จึงกล่าวว่า)
[๑๓๘] สัตว์ใดมิใช่ราชสีห์ ทำท่าทางเหมือนราชสีห์
สัตว์นั้นจะเป็นเหมือนสุนัขจิ้งจอกถูกช้างเหยียบแล้ว
นอนทอดอาลัยอยู่บนแผ่นดิน
[๑๓๙] ผู้ใดไม่รู้กำลังกาย กำลังปัญญา
และกำเนิดของบุคคลผู้มียศ ผู้สูงสุด
มีร่างกายใหญ่และมั่นคง มีกำลังมาก
ผู้นั้นก็เหมือนชัมพุกะที่ถูกช้างฆ่านอนตายอยู่
[๑๔๐] ส่วนผู้ใดในโลกนี้รู้กำลังกายและกำลังปัญญาในตน
พิจารณาด้วยความรู้ที่ได้เล่าเรียนศึกษามา
และด้วยคำสุภาษิต ประมาณตนแล้วจึงทำการงาน
ผู้นั้นย่อมมีชัยอย่างไพบูลย์
ชัมพุกชาดกที่ ๕ จบ
๖. พรหาฉัตตชาดก (๓๓๖)
ว่าด้วยพระกุมารชื่อพรหาฉัตต์
(พระโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาในเวลาที่ทรงบ่นเพ้อว่า)
[๑๔๑] พระองค์ทรงบ่นอยู่ว่า หญ้า หญ้า
ใครหนอนำหญ้ามาถวายพระองค์
พระองค์มีกิจที่จะพึงทำด้วยหญ้าหรือหนอ
จึงตรัสแต่คำว่า หญ้า หญ้า เท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๔. โกกิลวรรค ๘. ถุสชาดก (๓๓๘)
(พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๔๒] ฉัตตฤๅษีนั้นมีร่างกายสูง เป็นพรหมจารี เป็นพหูสูต
มาแล้วที่นี้ ลักเอาทรัพย์ทั้งหมดของเราไป
ใส่หญ้าไว้ในตุ่มแทนแล้วหนีไป
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๔๓] ผู้ต้องการใช้หญ้ามีค่าน้อยแลกทรัพย์จำนวนมาก
ย่อมต้องกระทำอย่างนี้ คือ ถือเอาทรัพย์ของตน
แต่ไม่ถือเอาหญ้าซึ่งไม่ควรถือเอา
การพิไรรำพันในเรื่องนั้นจะมีประโยชน์อะไร
(พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๔๔] คนมีศีลไม่กระทำเช่นนั้น
คนพาลทำเช่นนั้นเป็นปกติ
ทำไมหนอจะทำคนที่มีศีลไม่มั่นคง
ซึ่งเป็นคนทุศีลให้เป็นบัณฑิตได้
พรหมฉัตตชาดกที่ ๖ จบ
๗. ปีฐชาดก (๓๓๗)
ว่าด้วยเศรษฐีถวายตั่งตามตระกูล
(เศรษฐีกรุงพาราณสีได้กล่าวกับดาบสโพธิสัตว์ว่า)
[๑๔๕] ข้าพเจ้ามิได้ถวายตั่ง น้ำดื่ม
และโภชนาหารแด่พระคุณเจ้า
ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์
ขอพระคุณเจ้าจงยกโทษให้ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าเห็นโทษนั้นอยู่
(พระดาบสโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๔๖] อาตมามิได้ติดใจ มิได้โกรธเคือง
และมิได้มีความไม่พอใจแม้แต่น้อย
อนึ่ง แม้อาตมาก็ยังคิดคำนึงในใจอยู่ว่า
หน้าที่ในตระกูลเป็นเช่นนี้แน่นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๔. โกกิลวรรค ๘. ถุสชาดก (๓๓๘)
(เศรษฐีได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๔๗] พวกข้าพเจ้าถวายอาสนะ น้ำดื่ม
และน้ำมันทาเท้า ทุกสิ่งทุกเมื่อ
นี้เป็นหน้าที่ในตระกูลครั้งปู่ย่าตายายของข้าพเจ้า
[๑๔๘] พวกข้าพเจ้าบำรุงสมณะและพราหมณ์โดยเคารพ
ในกาลทุกเมื่อเหมือนญาติผู้ใหญ่
นี้เป็นธรรมในตระกูลครั้งบิดาและปู่ของข้าพเจ้า
ปีฐชาดกที่ ๗ จบ
๘. ถุสชาดก (๓๓๘)
ว่าด้วยหนูไม่กินแกลบ
(ในเวลาที่พระโอรสมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษา ขณะที่กำลังเสวยพระกระยาหารเย็น
พระราชาแห่งกรุงพาราณสีตรัสกับพระโอรสว่า)
[๑๔๙] แกลบก็ปรากฏโดยความเป็นแกลบ
และข้าวสารก็ปรากฏโดยความเป็นข้าวสารแก่หนูทั้งหลาย
แต่พวกหนูเว้นแกลบเสียแล้วเคี้ยวกินเฉพาะข้าวสารเท่านั้น
(ในเวลามีการเข้าเฝ้าเป็นการใหญ่ พระราชาตรัสว่า)
[๑๕๐] การปรึกษากันในป่าก็ดี การกระซิบกันในบ้านก็ดี
การวางแผนฆ่าเราก็ดี ทั้งหมดนั้นเรารู้แล้ว
(ครั้นพระราชาประทับยืนอยู่ที่หัวบันได ก็ตรัสว่า)
[๑๕๑] ได้ยินว่า พ่อของลิงกัดผล(ลูกอัณฑะ)ของลูกลิง
ที่เกิดตามธรรมชาติเสียตั้งแต่ยังเล็กอยู่
(พระราชาประทับยืนที่ธรณีประตู ตรัสอีกว่า)
[๑๕๒] การที่เจ้ากระสับกระส่ายอยู่เหมือนแพะตาบอดในไร่ผักกาด
และเจ้านอนอยู่ใต้แท่นบรรทม ทั้งหมดนั้นเรารู้แล้ว
ถุสชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๕. จูฬกุณาลวรรค ๑. กุณฑลิกชาดก (๓๔๑)
๙. พาเวรุชาดก (๓๓๙)
ว่าด้วยความเสื่อมลาภของกาในแคว้นพาเวรุ
(พระศาสดาทรงประมวลอดีตนิทานมาแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑๕๓] เพราะยังไม่เห็นนกยูงที่มีหงอน มีเสียงอันไพเราะ
ประชาชนในแคว้นพาเวรุนั้นได้พากันบูชากาด้วยเนื้อและผลไม้
[๑๕๔] แต่เมื่อใดนกยูงที่มีเสียงไพเราะมายังแคว้นพาเวรุ
เมื่อนั้นลาภและสักการะของกาก็เสื่อมถอยไป
[๑๕๕] ตราบใดพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชา
ผู้ทำโลกให้สว่างไสวยังมิได้อุบัติขึ้น ตราบนั้น
ประชาชนก็พากันบูชาสมณะและพราหมณ์เหล่าอื่นจำนวนมาก
[๑๕๖] แต่เมื่อใดพระพุทธเจ้าผู้มีพระสุรเสียงไพเราะทรงแสดงธรรม
เมื่อนั้นลาภสักการะของพวกเดียรถีย์ก็เสื่อมไป
พาเวรุชาดกที่ ๙ จบ
๑๐. วิสัยหชาดก (๓๔๐)
ว่าด้วยวิสัยหเศรษฐี
(ท้าวสักกะเสด็จมายืนอยู่ในอากาศ ได้ตรัสกับวิสัยหเศรษฐีโพธิสัตว์ว่า)
[๑๕๗] ท่านวิสัยหเศรษฐี เมื่อก่อนท่านได้ให้ทาน
ก็เมื่อท่านให้ทานอยู่อย่างนั้น โภคะทั้งหลายของท่าน
ก็สิ้นไปเป็นธรรมดา ตั้งแต่นี้ไป ถ้าท่านจะไม่พึงให้ทาน
โภคะทั้งหลายของท่านผู้งดให้ทานก็จะพึงดำรงอยู่
(วิสัยหเศรษฐีโพธิสัตว์ได้ฟังแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๕๘] ท้าวสหัสสเนตร พระอริยะทั้งหลายกล่าวอนารยธรรมว่า
เป็นกิจที่อริยชนหรือแม้คนยากจนไม่ควรทำ
ท่านจอมชน เราพึงสละศรัทธาเพราะเหตุแห่งการบริโภคทรัพย์ใด
ขอทรัพย์นั้นอย่าพึงเกิดแก่เราเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๕. จูฬกุณาลวรรค ๑. กุณฑลิกชาดก (๓๔๑)
[๑๕๙] รถคันหนึ่งแล่นไปทางใด รถคันอื่นก็จะแล่นไปทางนั้น
ท้าววาสวะ ธรรมเนียมที่ได้ประพฤติปฏิบัติมาแต่ก่อน
ขอจงดำเนินต่อไปเถิด
[๑๖๐] ถ้ายังมียังเป็นอยู่ก็จะให้เรื่อยไป
เมื่อไม่มีชีวิตจะให้อย่างไร
ข้าพเจ้าแม้มีสภาพอย่างนี้ ก็ยังจะให้
ข้าพเจ้าจะไม่ลืมการให้เลย
วิสัยหชาดกที่ ๑๐ จบ
โกกิลวรรคที่ ๔ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โกกิลชาดก ๒. รถลัฏฐิชาดก
๓. โคธชาดก ๔. ราโชวาทชาดก
๕. ชัมพุกชาดก ๖. พรหมฉัตตชาดก
๗. ปีฐชาดก ๘. ถุสชาดก
๙. พาเวรุชาดก ๑๐. วิสัยหชาดก

๕. จูฬกุณาลวรรค
หมวดว่าด้วยนกกุณาละหมวดสั้น
๑. กุณฑลิกชาดก (๓๔๑)
ว่าด้วยกุณฑลิกราชา
(ในเรื่องที่พญานกกุณาละพูดกับนกปุณณมุขะนี้มีคาถาประพันธ์ไว้อีกส่วนหนึ่งว่า)
[๑๖๑] บรรดาพวกผู้หญิงที่ทำความรื่นรมย์ให้แก่พวกผู้ชาย
เป็นคนหลายใจ ไม่มีใครจะบังคับได้
แม้ถ้าว่าพวกนางจะพึงทำให้เกิดความพอใจในที่ทั้งปวง
ก็ไม่ควรไว้ใจ เพราะว่าพวกผู้หญิงเปรียบเสมือนท่าน้ำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๕. จูฬกุณาลวรรค ๓. กุนตินีชาดก (๓๔๓)
(พญานกกุณาละเกิดเป็นปัญจาลจัณฑปุโรหิต นำเหตุที่ตนได้เห็นมาแสดงว่า)
[๑๖๒] บัณฑิตเห็นเหตุคลายความกำหนัดของพญากินนร
และพญากินนรีแล้ว พึงทราบเถิดว่า
ผู้หญิงทั้งปวงไม่ยินดีในเรือนของสามี
เหมือนภรรยาได้ทอดทิ้งสามีคู่ชีวิตเช่นนั้นไป
เพราะพบชายอื่นแม้เป็นคนง่อยเปลี้ย
(พญานกกุณฑลิกะเกิดเป็นพระเจ้าพรหมทัต เมื่อจะแสดงเรื่องที่ตนได้ทราบ
มาแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๖๓] พระมเหสีของพระเจ้าพกะและพระเจ้าพาวรี
ผู้หมกมุ่นอยู่ในกามมากเกินไป
ได้เป็นชู้กับมหาดเล็กคนสนิทของพระนาง
มีหรือผู้หญิงทั้งหลายจะไม่พึงเป็นชู้กับชายอื่น
(พญานกกุณฑลิกะเกิดเป็นพระเจ้าพรหมทัต เมื่อจะแสดงเรื่องที่ตนเห็นมาเอง
จึงกล่าวว่า)
[๑๖๔] พระนางปิงคิยานี อัครมเหสีผู้เป็นที่รัก
ของพระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นใหญ่แห่งโลกทั้งมวล
ได้เป็นชู้กับคนเลี้ยงม้าผู้ใกล้ชิดพระนาง
พระนางเป็นผู้มักมากในกาม มิได้ประสบผลแม้ทั้ง ๒ อย่าง๑
กุณฑลิกชาดกที่ ๑ จบ
๒. วานรชาดก (๓๔๒)
ว่าด้วยวานรโพธิสัตว์
(วานรโพธิสัตว์ได้กล่าวกับจระเข้ว่า)
[๑๖๕] ข้าพเจ้าสามารถขึ้นจากน้ำมาบนบกได้
จระเข้ บัดนี้ข้าพเจ้าไม่ตกอยู่ในอำนาจของท่านอีกต่อไป

เชิงอรรถ :
๑ คือ ไม่ได้พบคนเลี้ยงม้าและไม่ได้ครองตำแหน่งอัครมเหสี (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๑๓/๓๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๕. จูฬกุณาลวรรค ๓. กุนตินีชาดก (๓๔๓)
[๑๖๖] พอกันทีสำหรับผลมะม่วง ลูกหว้า และขนุน
ที่ต้องข้ามฝั่งสมุทรไปกิน ผลมะเดื่อของเราดีกว่า
[๑๖๗] อนึ่ง ผู้ใดไม่รู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ผู้นั้นจะตกอยู่ในอำนาจของศัตรูและจะเดือดร้อนในภายหลัง
[๑๖๘] ส่วนผู้ใดรู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ผู้นั้นย่อมพ้นจากความคับขันอันเกิดจากศัตรู
และจะไม่เดือดร้อนในภายหลัง
วานรชาดกที่ ๒ จบ
๓. กุนตินีชาดก (๓๔๓)
ว่าด้วยนางนกกระเรียน
(นางนกกระเรียนกราบทูลพระราชาโพธิสัตว์ว่า)
[๑๖๙] ข้าพระองค์ได้อาศัยอยู่ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์
ได้รับสักการะอยู่เนืองนิตย์
บัดนี้ พระองค์ได้ทรงก่อเหตุแห่งความเสียใจให้แก่ข้าพระองค์
ข้าแต่มหาราช เอาเถิด ข้าพระองค์จะลาไปยังป่าหิมพานต์
(พระราชาโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๗๐] ผู้ใดรู้กรรมชั่วร้ายที่คนอื่นทำแก่ตน
และรู้กรรมชั่วร้ายที่ตนทำตอบแก่เขา
เวรของผู้นั้นย่อมระงับไปด้วยเหตุเพียงเท่านี้
แม่นกกระเรียน เพราะฉะนั้น เธอจงอยู่เถิด อย่าไปเลย
(นางนกระเรียนได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๑๗๑] มิตรภาพของผู้ประทุษร้ายและของผู้ถูกประทุษร้าย
ย่อมสมานกันไม่ได้อีก ใจไม่อนุญาตให้อยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ข้าพระองค์จักไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๕. จูฬกุณาลวรรค ๖. เกสวชาดก (๓๔๖)
(พระราชาโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๑๗๒] มิตรภาพของผู้ประทุษร้ายและของผู้ถูกประทุษร้าย
พวกที่เป็นนักปราชญ์ย่อมสมานกันได้อีก
แต่พวกที่โง่เขลาย่อมสมานกันไม่ได้
แม่นกกระเรียน เธอจงอยู่เถิด อย่าไปเลย
กุนตินีชาดกที่ ๓ จบ
๔. อัมพชาดก (๓๔๔)
ว่าด้วยพระขรัวตาเฝ้าสวนมะม่วง
(ลูกสาวเศรษฐีคนที่ ๑ กล่าวคำสาบานแก่ชฏิลโกงว่า)
[๑๗๓] หญิงใดได้ลักผลมะม่วงทั้งหลายของท่านไป
ขอหญิงนั้นจงตกอยู่ในอำนาจของชายที่ย้อมผมให้ดำ
และลำบากด้วยการใช้แหนบ(ถอนผมหงอกที่งอกแซมขึ้นมา)
(ลูกสาวเศรษฐีคนที่ ๒ กล่าวคำสาบานแก่ชฏิลโกงว่า)
[๑๗๔] หญิงใดได้ลักผลมะม่วงทั้งหลายของท่านไป
หญิงนั้นถึงจะมีอายุตั้ง ๒๐ ปี ๒๕ ปี
หรือยังไม่ถึง ๓๐ ปี ก็ขออย่าหาผัวได้เลย
(ต่อจากนั้น ลูกสาวเศรษฐีคนที่ ๓ กล่าวคำสาบานว่า)
[๑๗๕] หญิงใดได้ลักผลมะม่วงทั้งหลายของท่านไป
ขอหญิงนั้นถึงจะกระเสือกกระสนเดินทางอันยาวไกลเพียงคนเดียว
ก็อย่าได้พบผัวแม้ในสถานที่ที่ได้นัดหมายกันไว้เลย
(ต่อจากนั้น ลูกสาวเศรษฐีคนที่ ๔ จึงกล่าวคำสาบานบ้างว่า)
[๑๗๖] หญิงใดได้ลักผลมะม่วงทั้งหลายของท่านไป
ขอหญิงนั้นถึงจะมีที่อยู่อันสะอาด ตกแต่งร่างกายสวยงาม
ประดับประดาด้วยระเบียบดอกไม้ ลูบไล้ด้วยกระแจะจันทน์
ก็จงนอนอยู่บนที่นอนเพียงคนเดียวเถิด
อัมพชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๕. จูฬกุณาลวรรค ๖. เกสวชาดก (๓๔๖)
๕. คชกุมภชาดก (๓๔๕)
ว่าด้วยสัตว์เลื้อยคลานชื่อคชกุมภะ
(อำมาตย์แก้วโพธิสัตว์กล่าวกับตัวคชกุมภะว่า)
[๑๗๗] เจ้าตัวโยกเยก๑ เจ้ามีความเชื่องช้าอย่างนี้
คราวเมื่อไฟป่าไหม้ป่า เจ้าจะทำอย่างไร
(ตัวคชกุมภะได้ฟังดังนั้น จึงตอบว่า)
[๑๗๘] โพรงไม้และรอยแตกระแหงของแผ่นดินมีอยู่เป็นจำนวนมาก
ถ้าพวกข้าพเจ้าหนีเข้าไปไม่ทัน พวกข้าพเจ้าก็ตาย
(อำมาตย์โพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๗๙] ผู้ใดในคราวที่ควรทำช้า ๆ กลับทำงานอย่างเร็วพลัน
ในคราวที่ควรทำอย่างรีบด่วน กลับทำอย่างเชื่องช้า
ผู้นั้นย่อมหักราญประโยชน์ของตนเอง
เหมือนคนแข็งแรงเหยียบใบตาลแห้ง
[๑๘๐] ผู้ใดในคราวที่ควรทำช้า ๆ ก็ค่อย ๆ ทำงานอย่างช้า ๆ
ในคราวที่ควรทำรีบด่วน ก็รีบทำอย่างเร็วพลัน
ประโยชน์ของผู้นั้นก็บริบูรณ์
เหมือนดวงจันทร์กำจัดความมืด ยังราตรีให้สว่างอยู่
คชกุมภชาดกที่ ๕ จบ
๖. เกสวชาดก (๓๔๖)
ว่าด้วยเกสวดาบส
(นารทอำมาตย์กล่าวกับเกสวดาบสว่า)

เชิงอรรถ :
๑ เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายกระพองช้าง เมื่อจะเดินต้องโยกตัวก่อน หรือโยกตัวอยู่บ่อย ๆ จึงเรียก
ตัวโยกเยก (ขุ.ชา.อ. ๔/๑๗๗/๓๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๕. จูฬกุณาลวรรค ๘. อรัญญชาดก (๓๔๘)
[๑๘๑] ทำไมหนอ เกสวดาบสผู้มีโชคจึงได้ละพระเจ้ากรุงพาราณสี
ผู้เป็นจอมมนุษย์ ผู้ยังความประสงค์ทั้งปวงให้สำเร็จได้
กลับมายินดีอยู่ในอาศรมของกัปปดาบส
(เกสวดาบสกล่าวว่า)
[๑๘๒] ท่านนารทอำมาตย์ สถานที่อันน่ารื่นรมย์
ซึ่งให้สำเร็จประโยชน์ได้มีอยู่ หมู่ไม้อันน่ารื่นรมย์ใจก็มีอยู่
แต่ถ้อยคำอันเป็นสุภาษิตของกัปปดาบส
ย่อมทำให้เรารื่นรมย์ยินดี
(นารทอำมาตย์กล่าวว่า)
[๑๘๓] พระคุณเจ้าบริโภคข้าวสาลีสุก สะอาด ปรุงด้วยเนื้อ
เหตุไฉนข้าวฟ่างและลูกเดือยอันหารสชาติมิได้
จึงทำให้พระคุณเจ้าพอใจ
(เกสวดาบสกล่าวว่า)
[๑๘๔] โภชนะจะดีหรือไม่ดี จะน้อยหรือมากก็ตาม
บุคคลผู้มีความคุ้นเคยกันบริโภคในที่ใด
โภชนะที่บริโภคแล้วในที่นั้น เป็นของดีทั้งนั้น
เพราะรสทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง
เกสวชาดกที่ ๖ จบ
๗. อยกูฏชาดก (๓๔๗)
ว่าด้วยยักษ์ถือพะเนินเหล็กใหญ่
(พระราชาโพธิสัตว์ตรัสกับยักษ์ว่า)
[๑๘๕] วันนี้ท่านที่ถือพะเนินเหล็กล้วน ๆ ใหญ่เหลือประมาณ
ยืนอยู่กลางอากาศ ถูกเขาแต่งตั้งมาเพื่อคุ้มครองรักษาข้าพเจ้า
หรือว่าพยายามจะฆ่าข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๕. จูฬกุณาลวรรค ๘. อรัญญชาดก (๓๔๘)
(ยักษ์ฟังคำของพระราชาโพธิสัตว์แล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๑๘๖] ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์เป็นทูตถูกพวกรากษสส่งมาที่นี้
เพื่อปลงพระชนม์พระองค์
แต่ว่าพระอินทเทวราชคุ้มครองพระองค์อยู่
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงผ่าพระเศียรของพระองค์ไม่ได้
(พระราชาโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงตรัส ๒ คาถาว่า)
[๑๘๗] ก็ถ้าท้าวมัฆวานเทวราชผู้เป็นจอมแห่งเทพ
พระสวามีของพระนางสุชาดาคุ้มครองรักษาข้าพเจ้าอยู่
พวกปีศาจทั้งปวงจงแผดเสียงคำรามไปเถิด
ข้าพเจ้าไม่สะดุ้งกลัวพวกรากษส๑เลย
[๑๘๘] พวกกุมภัณฑ์และพวกปีศาจในกองหยากเยื่อทั้งปวง
จงคร่ำครวญไปเถิด
ปีศาจทั้งหลายไม่สามารถจะรบกับข้าพเจ้าได้
ท่าทางที่ทำให้น่ากลัวนั้นมีอยู่เป็นอันมาก
อยกูฏชาดกที่ ๗ จบ
๘. อรัญญชาดก (๓๔๘)
ว่าด้วยวัตรของผู้ออกจากป่า
(ดาบสหนุ่มกล่าวกับดาบสผู้เป็นบิดาว่า)
[๑๘๙] คุณพ่อ ลูกออกจากป่าไปสู่บ้านแล้ว
ควรจะคบคนมีศีลอย่างไร มีข้อปฏิบัติอย่างไร
ลูกถามแล้ว ขอพ่อจงบอกข้อนั้น

เชิงอรรถ :
๑ รากษส ในที่นี้หมายถึงยักษ์ร้าย ผีเสื้อน้ำ (ขุ.ชา.อ. ๔/๑๘๗/๓๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๕. จูฬกุณาลวรรค ๑๐. เทวตาปัญหชาดก (๓๕๐)
(ดาบสผู้เป็นบิดาตอบว่า)
[๑๙๐] ลูกรัก ผู้ใดพึงทำให้ลูกเบาใจ
อดทนความคุ้นเคยของลูกได้
เชื่อฟังและอดกลั้นถ้อยคำของลูกได้
ลูกไปจากที่นี้แล้ว จงคบผู้นั้น
[๑๙๑] ผู้ใดไม่กระทำความชั่วทางกาย วาจา ใจ
ลูกไปจากที่นี้แล้ว จงดำรงตนอยู่เหมือนลูกในไส้คบผู้นั้นเถิด
[๑๙๒] คนที่มีจิตกลับกลอกเหมือนลิง
รักง่ายหน่ายเร็วดุจผ้าที่ย้อมด้วยขมิ้น
ลูกรัก ถึงแม้ว่าพื้นชมพูทวีปทั้งสิ้นจะไร้มนุษย์
ลูกก็อย่าคบคนเช่นนั้นเลย
อรัญญชาดกที่ ๘ จบ
๙. สันธิเภทชาดก (๓๔๙)
ว่าด้วยการทำลายมิตรไมตรี
(พระราชาโพธิสัตว์ตรัสกับนายสารถีว่า)
[๑๙๓] นายสารถี สัตว์ตัวเมียทั้ง ๒ ตัวไม่เหมือนกัน
และอาหารก็ไม่เหมือนกัน
ต่อมาภายหลัง เจ้าสุนัขจิ้งจอกชั่วนี้ยุให้แตกสามัคคีกัน
ดูเถิด เรื่องที่เราคิดถูกต้องพียงใด
[๑๙๔] ฝูงสุนัขจิ้งจอกพากันกินโคอุสภะ
และราชสีห์ เพราะคำส่อเสียดใด
คำส่อเสียดนั้น จึงเป็นไปถึงตัดมิตรไมตรี
เพราะเนื้อเป็นเหตุ เหมือนดาบอันคมกริบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๕. จูฬกุณาลวรรค ๑๐. เทวตาปัญหชาดก (๓๕๐)
[๑๙๕] นายสารถี เจ้าเห็นการนอนตายของสัตว์ทั้ง ๒ ตัวนี้ไหม
ผู้ใดเชื่อถือถ้อยคำของผู้ส่อเสียด มุ่งทำลายมิตรไมตรี
ผู้นั้นจะต้องนอนตายอย่างนี้
[๑๙๖] นายสารถี ชนเหล่าใดไม่เชื่อถ้อยคำของผู้มุ่งทำลายมิตรไมตรี
ชนเหล่านั้นย่อมประสบความสุข เหมือนคนไปสวรรค์
สันธิเภทชาดกที่ ๙ จบ
๑๐. เทวตาปัญหชาดก (๓๕๐)
ว่าด้วยปัญหาของเทวดา
(พระราชาตรัสบอกปัญหาที่เทวดาถามแก่พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตว่า)
[๑๙๗] บุคคลใช้มือทั้ง ๒ เท้าทั้ง ๒ ทุบตีและตบปากผู้อื่น
ข้าแต่มหาราช เขากลับเป็นที่รักเพราะเหตุแห่งการทุบตีนั้น
พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นใคร
(พระราชาตรัสบอกปัญหาข้อที่ ๒ ตามที่เทวดาถามว่า)
[๑๙๘] บุคคลด่าผู้อื่นตามใจชอบ
แต่ปรารถนาการกลับมาของเขา
ข้าแต่มหาราช เขากลับเป็นที่รักเพราะเหตุแห่งการด่านั้น
พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นใคร
(พระราชาตรัสบอกปัญหาข้อที่ ๓ ตามที่เทวดาถามว่า)
[๑๙๙] บุคคลกล่าวตู่กันด้วยถ้อยคำอันไม่เป็นจริง
พากันโจทกันด้วยถ้อยคำไม่จริง
ข้าแต่มหาราช เขากลับเป็นที่รักของกันและกัน
เพราะเหตุแห่งการกล่าวตู่และโจทกันนั้น
พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นใคร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก
(พระราชาตรัสบอกปัญหาข้อที่ ๔ ตามที่เทวดาถามว่า)
[๒๐๐] บุคคลนำข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะไป
พวกเขาผู้นำไปกลับเป็นที่รักโดยแท้
พวกเขากลับเป็นที่รักเพราะเหตุแห่งการนำสิ่งของไป
พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นใคร๑
เทวตาปัญหชาดกที่ ๑๐ จบ
จูฬกุณาลวรรคที่ ๕ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กุณฑลิกชาดก ๒. วานรชาดก
๓. กุนตินีชาดก ๔. อัมพชาดก
๕. คชกุมภชาดก ๖. เกสวชาดก
๗. อยกูฏชาดก ๘. อรัญญชาดก
๙. สันธิเภทชาดก ๑๐. เทวตาปัญหชาดก

รวมวรรคที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. กาลิงควรรค ๒. ปุจิมันทวรรค
๓. กุฏิทูสกวรรค ๔. โกกิลวรรค
๕. จูฬกุณาลวรรค

จตุกกนิบาต จบ

เชิงอรรถ :
๑ มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เฉลยปัญหาว่า ผู้ใช้มือเท้าทุบตีผู้อื่น คือเด็กเล็ก ๆ ผู้ถูกทุบตี คือมารดา ผู้ด่าผู้
อื่นตามชอบใจ คือมารดา ผู้ถูกด่า คือบุตร ผู้กล่าวตู่กันและกันด้วยคำไม่จริง คือคู่รักกัน ผู้ที่นำสิ่งของ
ไป คือสมณพราหมณ์ ผู้ที่พอใจให้นำไป คือทายก (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๐๐/๒๘๔-๒๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙๘ }


๕. ปัญจกนิบาต
๑. มณิกุณฑลวรรค
หมวดว่าด้วยต่างหูแก้วมณี
๑. มณิกุณฑลชาดก (๓๕๑)
ว่าด้วยต่างหูแก้วมณี
(พระราชาโจรเข้าไปหาพระราชาโพธิสัตว์แห่งกรุงพาราณสีแล้วตรัสว่า)
[๑] พระองค์หมดสิ้น รถ ม้า และต่างหูแก้วมณี
อนึ่ง พระองค์หมดสิ้นพระโอรสและนางสนม
เมื่อโภคะทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีเหลืออยู่เลย
เพราะเหตุใด พระองค์ไม่ทรงเดือดร้อนในคราวที่ควรเศร้าโศก
(พระราชาโพธิสัตว์ตรัสตอบว่า)
[๒] โภคะทั้งหลายละทิ้งสัตวโลกไปก่อนก็มี
สัตวโลกละทิ้งโภคะเหล่านั้นไปก่อนก็มี
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงใคร่อยู่ในกาม
โภคะทั้งหลายที่สัตว์ใช้สอยอยู่เป็นของไม่แน่นอน
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงไม่เศร้าโศกในคราวที่ควรเศร้าโศก
[๓] ดวงจันทร์ขึ้นเต็มดวงแล้วก็แหว่งเว้าไป
ดวงอาทิตย์ทำโลกส่วนใหญ่ให้อบอุ่นแล้วลับขอบฟ้าไป
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นศัตรู โลกธรรมทั้งหลายข้าพระองค์ทราบดีแล้ว
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงไม่เศร้าโศกในคราวที่ควรเศร้าโศก
(พระราชาโพธิสัตว์ทรงแสดงธรรมแก่พระราชาโจรแล้วทรงติเตียนว่า)
[๔] คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเกียจคร้านไม่ดี
บรรพชิตไม่สำรวมไม่ดี
พระราชาไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วทำไม่ดี
การที่บัณฑิตโกรธไม่ดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๓. เวนสาขชาดก (๓๕๓)
[๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ
กษัตริย์ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงควรทำ
ไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วไม่ควรตัดสิน
ยศและเกียรติย่อมเจริญแด่พระราชาผู้ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
มณิกุณฑลชาดกที่ ๑ จบ
๒. สุชาตชาดก (๓๕๒)
ว่าด้วยสุชาตกุมารโพธิสัตว์
(บิดาของสุชาตกุมารโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๖] ทำไมหนอ ลูกดูเหมือนรีบเร่งเกี่ยวหญ้าสดเขียวขจี
แล้วกล่าวบ่นเพ้อกับโคแก่ที่ตายไปแล้วว่า
เจ้าจงกิน เจ้าจงกิน
[๗] โคที่ตายไปแล้วลุกขึ้นมาไม่ได้เพราะข้าวเพราะน้ำ
ลูกบ่นเพ้อไปเปล่า ๆ เหมือนคนไร้ความคิด
(สุชาตกุมารโพธิสัตว์กล่าวตอบว่า)
[๘] หัวของโคก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม
สองเท้าหน้า สองเท้าหลัง หาง
และหูของโคก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม
ผมสำคัญว่า โคตัวนี้จะพึงลุกขึ้นได้
[๙] ส่วนศีรษะ มือทั้ง ๒ และเท้าทั้ง ๒ ของคุณปู่ไม่ปรากฏเลย
คุณพ่อนั่นแหละร้องไห้อยู่ที่สถูปดิน เป็นคนไร้ความคิดมิใช่หรือ
(บิดาชมเชยบุตรว่า)
[๑๐] ลูกช่วยระงับพ่อผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมดได้
เหมือนคนใช้น้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๓. เวนสาขชาดก (๓๕๓)
[๑๑] ลูกนั้นได้บรรเทาความเศร้าโศกของพ่อผู้กำลังเศร้าโศกถึงปู่
ชื่อว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความเศร้าโศก
ซึ่งเสียบที่หัวใจของพ่อขึ้นได้แล้วหนอ
[๑๒] พ่อผู้อันลูกได้ช่วยถอนลูกศรคือความเศร้าโศกขึ้นได้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากความเศร้าโศก ไม่มีความขุ่นมัว
จะไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้ เพราะได้ฟังคำของลูก ลูกเอ๋ย
[๑๓] นรชนทั้งหลายผู้มีปัญญา จะเป็นผู้อนุเคราะห์
ย่อมกระทำให้ผู้อื่นปราศจากความเศร้าโศก
เหมือนสุชาตกุมารทำให้บิดาปราศจากความเศร้าโศก
สุชาตชาดกที่ ๒ จบ
๓. เวนสาขชาดก (๓๕๓)
ว่าด้วยต้นไม้ป้องกันภัยไม่ได้
(พระโพธิสัตว์เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์กล่าวสอนพรหมทัตตกุมารว่า)
[๑๔] พรหมทัตตกุมาร ความเกษมสำราญ ภิกษาที่หาได้ง่าย
ความสุขสำราญกาย ทั้งหมดนี้ไม่มีตลอดกาลเป็นนิตย์
เมื่อประโยชน์สิ้นไป ท่านอย่าได้หลงลืม
เหมือนคนเรือแตกท่ามกลางสาครเลย
[๑๕] คนทำกรรมใดไว้ย่อมเห็นกรรมนั้นในตน
คนทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี
คนทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว
คนหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น
(พรหมทัตตกุมารนั้นกำหนดคำของพระโพธิสัตว์ได้แล้ว บ่นเพ้ออยู่ว่า)
[๑๖] ท่านอาจารย์ปาราสริยะได้กล่าวคำใดไว้ว่า
ท่านอย่าได้ทำความชั่วที่ทำแล้วจะทำตนให้เดือดร้อนในภายหลัง
คำนี้เป็นคำของอาจารย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๔. อรุคชาดก (๓๕๔)
[๑๗] ปิงคิยะ เราได้สำเร็จโทษกษัตริย์ ๑,๐๐๐ พระองค์
ผู้ประดับพระวรกาย ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์ที่ต้นไม้ใด
ต้นไม้นั้นมีกิ่งก้านสาขาแผ่ไพศาลคือต้นนี้เอง
ทุกข์นั้นนั่นแหละก็กลับมาสนองเรา
(ต่อมาพรหมทัตตกุมารทรงคร่ำครวญอยู่อย่างนั้น หวนระลึกถึงพระอัครมเหสี
จึงกล่าวว่า)
[๑๘] พระนางสามาผู้มีพระวรกายลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์
งามระหงดั่งกิ่งไผ่ที่แกว่งไกวไปมา
เราไม่เห็นพระมเหสีจักตาย
การไม่ได้เห็นพระมเหสีของเรานั้น
จักเป็นทุกข์ยิ่งกว่าทุกข์คือความตายนี้
เวนสาขชาดกที่ ๓ จบ
๔. อุรคชาดก (๓๕๔)
ว่าด้วยคนตายเหมือนงูลอกคราบ
(พราหมณ์โพธิสัตว์บอกเหตุแห่งการไม่ร้องไห้แก่ท้าวสักกะว่า)
[๑๙] บุตรของข้าพเจ้าละทิ้งร่างกายของตนไป เหมือนงูลอกคราบเก่า
เมื่อร่างกายใช้การไม่ได้ จึงละไปตายไปอย่างนี้
[๒๐] เขาถูกเผาก็ไม่รู้ถึงความคร่ำครวญของหมู่ญาติ
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา
เขาไปแล้วตามคติของเขา
(นางพราหมณีบอกเหตุที่ไม่ร้องไห้แก่ท้าวสักกะว่า)
[๒๑] บุตรของข้าพเจ้านี้ ข้าพเจ้าไม่ได้เชิญมาจากโลกอื่น เขาก็มา
ข้าพเจ้ามิได้อนุญาต ก็ไปจากโลกนี้
เขามาอย่างใด เขาก็ไปอย่างนั้น
จะคร่ำครวญไปทำไมเพราะการไปของเขานั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๔. อรุคชาดก (๓๕๔)
[๒๒] เขากำลังถูกเผา ก็ไม่รู้ถึงความคร่ำครวญของพวกญาติ
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา
เขาไปแล้วตามคติของเขา
(น้องสาวบอกเหตุที่ไม่ร้องไห้แก่ท้าวสักกะว่า)
[๒๓] ถ้าข้าพเจ้าร้องไห้ ก็จะพึงมีร่างกายผ่ายผอม
จะมีผลอะไรแก่ข้าพเจ้าเล่า
ญาติ มิตร สหายของข้าพเจ้าจะไม่มีความพอใจอย่างยิ่ง
[๒๔] พี่ชายของข้าพเจ้ากำลังถูกเผา
ก็ไม่รู้ถึงความคร่ำครวญของพวกญาติ
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา
เขาไปแล้วตามคติของเขา
(ภรรยาบอกเหตุที่ไม่ร้องไห้แก่ท้าวสักกะว่า)
[๒๕] คนที่ร้องไห้ถึงคนที่ตายแล้ว เปรียบเสมือนทารกที่ร้องไห้
ต้องการดวงจันทร์ที่โคจรไปในอากาศ
[๒๖] สามีของข้าพเจ้ากำลังถูกเผา
ก็ไม่รู้ถึงความคร่ำครวญของพวกญาติ
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา
เขาไปแล้วตามคติของเขา
(สาวใช้บอกเหตุที่ไม่ร้องไห้แก่ท้าวสักกะว่า)
[๒๗] คนที่ร้องไห้ถึงคนที่ตายแล้ว เป็นสิ่งไร้ประโยชน์
เปรียบเสมือนหม้อน้ำที่แตกแล้วจะประสานให้สนิทเหมือนเดิมไม่ได้
[๒๘] นายของข้าพเจ้ากำลังถูกเผา
ก็ไม่รู้ถึงความคร่ำครวญของพวกญาติ
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา
เขาไปแล้วตามคติของเขา
อุรคชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๖. การันทิยชาดก (๓๕๖)
๕. ฆฏชาดก (๓๕๕)
ว่าด้วยพระเจ้าฆฏะ
(พระเจ้าธังกะตรัสถามพระราชาโพธิสัตว์ว่า)
[๒๙] ชนเหล่าอื่นเศร้าโศก ร้องไห้ มีน้ำตานองหน้า
ส่วนพระองค์มีพระพักตร์ผ่องใส
พระเจ้าฆฏะ เพราะเหตุไร พระองค์จึงไม่เศร้าโศก
(พระโพธิสัตว์กราบทูลถึงเหตุที่ไม่เศร้าโศกแก่พระเจ้าธังกะว่า)
[๓๐] ความโศกนำสิ่งที่ล่วงไปแล้วคืนมาไม่ได้
นำความสุขที่ยังไม่มาถึงมาให้ไม่ได้
พระเจ้าธังกะ เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันจึงไม่เศร้าโศก
เพราะความเป็นสหายในความเศร้าโศกไม่มี
[๓๑] ผู้เศร้าโศกย่อมมีร่างกายผอมเหลืองและเบื่ออาหาร
เมื่อเขาถูกลูกศรคือความเศร้าโศกเสียบแทงจนซูบซีด
พวกศัตรูก็พากันดีใจ
[๓๒] เราจะอยู่บ้านหรืออยู่ป่า
อยู่ที่ลุ่มหรืออยู่ที่ดอนก็ตาม
ความพินาศจะไม่มาถึงเราเลย
เพราะเราได้พบทางแล้วอย่างนี้
[๓๓] ตนเองผู้เดียวเท่านั้นก็ไม่สามารถจะนำ
รสอันน่าใคร่ทั้งปวง๑ มาถวายแก่พระราชาพระองค์ใดได้
แม้แผ่นดินทั้งปวงก็จักนำความสุขมาถวาย
แด่พระราชาพระองค์นั้นไม่ได้
ฆฏชาดกที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ รสอันน่าใคร่ทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงสุขในฌาน (ขุ.ชา.อ. ๔/๓๓/๓๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๖. การันทิยชาดก (๓๕๖)
๖. การันทิยชาดก (๓๕๖)
ว่าด้วยการันทิยพราหมณ์
(อาจารย์เจรจากับการันทิยโพธิสัตว์ว่า)
[๓๔] เจ้าคนเดียวรีบเกินไป ยกหินก้อนใหญ่ทิ้งลงไปที่ซอกเขาในป่า
นี่เจ้าการันทิยะ จะมีประโยชน์อะไรแก่เจ้า
ด้วยการทิ้งก้อนหินลงที่ซอกเขานี้
(การันทิยโพธิสัตว์ฟังคำของท่านแล้ว ประสงค์จะปลุกอาจารย์ให้รู้สึก จึงกล่าวว่า)
[๓๕] กระผมเกลี่ยก้อนดินและก้อนหินลงไป
จะกระทำแผ่นดินใหญ่นี้ซึ่งมีสาครเป็นขอบเขต
ให้เรียบเสมอดังฝ่ามือ
เพราะฉะนั้น กระผมจึงทิ้งก้อนหินลงไปที่ซอกเขา
(พราหมณ์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๓๖] มนุษย์คนเดียวไม่สามารถทำแผ่นดินนี้ให้สม่ำเสมอดังฝ่ามือได้
นี่เจ้าการันทิยะ เราสำคัญว่า
เจ้าเมื่อปรารถนาจะทำซอกเขานี้ให้เต็ม
จะต้องละชีวโลกไปเสียก่อน
(การันทิยโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๓๗] ถ้ามนุษย์คนเดียวไม่สามารถจะทำแผ่นดินใหญ่ให้เสมอได้
ท่านพราหมณ์ ท่านก็เหมือนกัน จักนำมนุษย์เหล่านี้
ซึ่งมีความเห็นต่าง ๆ กันมาสู่อำนาจของตนไม่ได้
(อาจารย์ได้ฟังดังนั้นรู้ว่าตัวพลาดไปแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๓๘] เจ้าการันทิยะ เจ้าได้บอกข้อความที่เป็นจริงแก่เราโดยย่อ
ข้อนี้เป็นเช่นนั้น แผ่นดินนี้มนุษย์ไม่สามารถจะทำให้เสมอได้ฉันใด
มนุษย์ทั้งหลายก็ฉันนั้น
การันทิยชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๘. จูฬธัมมปาลชาดก (๓๕๘)
๗. ลฏุกิกชาดก (๓๕๗)
ว่าด้วยนางนกไส้
(นางนกไส้ประคองปีกยืนข้างหน้าพญาช้างโพธิสัตว์แล้วกล่าวว่า)
[๓๙] พญาช้าง ข้าพเจ้าขอไหว้ท่าน
ผู้มีกำลังเสื่อมถอยโดยกาลที่มีอายุ ๖๐ ปี
ผู้อยู่ในป่า เป็นจ่าโขลง เพียบพร้อมด้วยยศ๑
ข้าพเจ้าขอไหว้ท่านด้วยปีกทั้ง ๒ ข้าง
ขอท่านอย่าได้ฆ่าลูกน้อยผู้ด้อยกำลังของข้าพเจ้า
(นางนกไส้นั้นกล่าวต้อนรับพญาช้างนั้นผู้เที่ยวไปตามลำพังเชือกเดียวว่า)
[๔๐] พญาช้าง๒ ข้าพเจ้าขอไหว้ท่านผู้เที่ยวไปผู้เดียว
อยู่ในป่า หากินตามเชิงเขา
ข้าพเจ้าขอไหว้ท่านด้วยปีกทั้ง ๒ ข้าง
ขอท่านอย่าได้ฆ่าลูกน้อยผู้ด้อยกำลังของข้าพเจ้า
(พญาช้างไดัฟังคำของนางนกไส้นั้น จึงกล่าวว่า)
[๔๑] นี่นางนกไส้ เราจะฆ่าลูกน้อยของเจ้า
เจ้ามีกำลังน้อยจะทำอะไรได้
เราจะใช้เท้าซ้ายบดขยี้นกไส้เช่นเจ้า
แม้ตั้ง ๑๐๐,๐๐๐ ตัวให้แหลกราญ
(นางนกไส้แอบอยู่ที่กิ่งไม้กล่าวคุกคามพญาช้างนั้นว่า)
[๔๒] กำลังไม่ใช่ว่าจะทำกิจให้สำเร็จทุกอย่าง
เพราะว่า คนโง่เขลามีกำลังไว้เพื่อฆ่าผู้อื่นและตนเอง
พญาช้าง ข้าพเจ้าจะทำความหายนะให้แก่ท่าน
ที่ฆ่าลูกน้อยผู้ด้อยกำลังของเรา

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ยศ หมายถึงบริวาร (ขุ.ชา.อ. ๔/๓๙/๓๘๙)
๒ พญาช้าง ในที่นี้ชาติต่อมาคือพระเทวทัต (ขุ.ชา.อ. ๔/๔๓/๓๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๘. จูฬธัมมปาลชาดก (๓๕๘)
(พระศาสดาทรงประมวลชาดก ตรัสพระคาถานี้ว่า)
[๔๓] ท่านจงดูกา นางนกไส้ กบ และแมลงวันหัวเขียว
สัตว์เหล่านี้ได้ฆ่าช้างแล้ว จงดูการจองเวรของคนคู่เวรทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น พวกเธออย่าก่อเวรกับใคร ๆ แม้กับคนไม่เป็นที่รักเลย
ลฏุกิกชาดกที่ ๗ จบ
๘. จูฬธัมมปาลชาดก (๓๕๘)
ว่าด้วยจูฬธรรมปาลกุมาร
(พระนางจันทาเทวีกราบทูลพระราชาว่า)
[๔๔] หม่อมฉันเท่านั้นที่ตัดความเจริญ
กระทำความผิดต่อพระเจ้ามหาปตาปะ
ฝ่าพระบาท ขอพระองค์โปรดทรงปล่อยธรรมปาลกุมาร
และโปรดทรงตัดมือทั้ง ๒ ของหม่อมฉันเถิด
[๔๕] หม่อมฉันเท่านั้นที่ตัดความเจริญ
กระทำความผิดต่อพระเจ้ามหาปตาปะ
ฝ่าพระบาท ขอพระองค์โปรดทรงปล่อยธรรมปาลกุมาร
และโปรดทรงตัดเท้าทั้ง ๒ ของหม่อมฉันเถิด
[๔๖] หม่อมฉันเท่านั้นที่ตัดความเจริญ
กระทำความผิดต่อพระเจ้ามหาปตาปะ
ฝ่าพระบาท ขอพระองค์โปรดทรงปล่อยธรรมปาลกุมาร
และโปรดทรงตัดศีรษะของหม่อมฉันเถิด
[๔๗] มิตรหรืออำมาตย์บางคนที่มีจิตใจงดงาม
อ่อนโยนของพระราชาพระองค์นี้คงไม่มีแน่
คนที่จะทูลทัดทานพระราชาว่า
ขอพระองค์โปรดอย่าสำเร็จโทษพระราชบุตร
ผู้ที่พระองค์ให้กำเนิดก็ไม่มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๑๐. สุสันธีชาดก (๓๖๐)
[๔๘] พระญาติหรือพระสหายบางคนที่มีจิตใจงดงาม
อ่อนโยนของพระราชาพระองค์นี้คงไม่มีแน่
คนที่จะทูลทัดทานพระราชาว่า ขอพระองค์โปรดอย่าสำเร็จโทษ
พระโอรสผู้ที่พระองค์ให้กำเนิดก็ไม่มี
[๔๙] พระพาหาทั้ง ๒ ที่ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์
ของธรรมปาลกุมารผู้เป็นทายาทแห่งแผ่นดินมาขาดสิ้นไป
ฝ่าพระบาท ลมปราณของหม่อมฉันก็จะดับสิ้นไป
จูฬธัมมปาลชาดกที่ ๘ จบ
๙. สุวัณณมิคชาดก (๓๕๙)
ว่าด้วยพญากวางทอง
(ภรรยาของพญาเนื้อโพธิสัตว์เมื่อจะให้พญาเนื้อเกิดอุตสาหะจึงกล่าวว่า)
[๕๐] พญาเนื้อผู้มีเท้าดุจทองคำ ท่านจงพยายามดึงเถิด
จงกัดบ่วงหนังให้ขาด ฉันจะรื่นรมย์อยู่ในป่าผู้เดียวไม่ได้
(พญาเนื้อโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๕๑] ฉันพยายามดึงอยู่ก็ไม่สำเร็จ ฉันตะกุยพื้นดินอย่างแรง
บ่วงหนังอันเหนียวก็ยิ่งบาดเท้าของฉัน
(นางเนื้อกล่าวแก่นายพรานว่า)
[๕๒] นายพราน ท่านจงปูลาดใบไม้
ชักดาบออกมาฆ่าข้าพเจ้าก่อน
แล้วจงฆ่าพญาเนื้อในภายหลัง
(นายพรานได้ฟังดังนั้นมีจิตเลื่อมใส จึงกล่าวว่า)
[๕๓] เราไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นมาก่อนว่า
แม่เนื้อพูดภาษามนุษย์ได้
นี่แม่เนื้อผู้เจริญ ตัวเจ้าและพญาเนื้อตัวนี้จงเป็นสุขเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๑๐. สุสันธีชาดก (๓๖๐)
(นางพญาเนื้อกล่าวว่า)
[๕๔] นายพราน วันนี้ข้าพเจ้าเห็นพญาเนื้อ
พ้นจากอันตรายแล้วย่อมร่าเริงฉันใด
ขอท่านพร้อมกับญาติทั้งหมดจงร่าเริงฉันนั้นเถิด
สุวัณณมิคชาดกที่ ๙ จบ
๑๐. สุสันธีชาดก (๓๖๐)
ว่าด้วยพระนางสุสันธี
(คนธรรพ์ชื่ออัคคะ ครั้นในเวลาพญาครุฑโพธิสัตว์มาเล่นสกา จึงถือพิณ
ขับร้องถวายพระราชาว่า)
[๕๕] กลิ่นดอกติมิระหอมตลบอบอวล
คลื่นสมุทรกระทบฝั่งดังกึกก้อง
พระนางสุสันธีประทับอยู่ไกลจากพระนครนี้มาก
พระเจ้าตัมพะ กามทั้งหลายย่อมเสียดแทงข้าพระองค์
(พญาครุฑได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๕๖] ท่านข้ามสมุทรไปได้อย่างไร
เห็นเกาะเสรุมะได้อย่างไร
ท่านอัคคะ พระนางกับท่านพบกันได้อย่างไร
(ลำดับนั้น คนธรรพ์ชื่ออัคคะได้กล่าวว่า)
[๕๗] เมื่อเรือพวกพ่อค้าผู้แสวงหาทรัพย์ออกไปจากท่าภรุกัจฉา
ถูกปลามังกรตีแตก ข้าพเจ้าเกาะแผ่นกระดานลอยไป
[๕๘] พระนางสุสันธีมีพระวรกายหอมเพราะกลิ่นจันทน์อยู่เป็นนิตย์
ทรงปลอบโยนข้าพระองค์ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะนุ่มนวล
แล้วทรงอุ้มข้าพระองค์เหมือนมารดาอุ้มลูกในไส้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วัณณาโรหวรรค ๒. สีลวีมังสชาดก (๓๖๒)
[๕๙] พระนางสุสันธีมีดวงพระเนตรอ่อนโยน
ทรงบำรุงข้าพระองค์ด้วยข้าว น้ำ ผ้า
และที่นอนด้วยพระองค์เอง
ข้าแต่พระเจ้าตัมพะ ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้
สุสันธีชาดกที่ ๑๐ จบ
มณิกุณฑลวรรคที่ ๑ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มณิกุณฑลชาดก ๒. สุชาตชาดก
๓. เวนสาขชาดก ๔. อุรคชาดก
๕. ฆฏชาดก ๖. การันทิยชาดก
๗. ลฏุกิกชาดก ๘. จูฬธัมมปาลชาดก
๙. สุวัณณมิคชาดก ๑๐. สุสันธีชาดก

๒. วัณณาโรหวรรค
หมวดว่าด้วยมีผิวพรรณต่างกัน
๑. วัณณาโรหชาดก (๓๖๑)
ว่าด้วยผู้มีผิวพรรณและทรวดทรงต่างกัน
(เสือโคร่งเข้าไปหาพญาราชสีห์แล้วถามว่า)
[๖๐] ท่านผู้มีเขี้ยวงาม ท่านได้กล่าวว่า
เสือโคร่งชื่อสุพาหุไม่ประเสริฐไปกว่าเรา
ด้วยผิวพรรณ ทรวดทรง ชาติ กำลังกาย
และกำลังความเพียรหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วัณณาโรหวรรค ๒. สีลวีมังสชาดก (๓๖๒)
(ราชสีห์กล่าวตอบว่า)
[๖๑] สุพาหุ ท่านได้กล่าวว่า
ราชสีห์ตัวมีเขี้ยวงามไม่ประเสริฐไปกว่าเรา
ด้วยผิวพรรณ ทรวดทรง ชาติ กำลังกาย
และกำลังความเพียรหรือ
[๖๒] สุพาหุเพื่อนรัก ถ้าท่านประทุษร้ายเรา
ผู้อยู่ร่วมกับท่านอย่างนี้
บัดนี้ เราไม่พอใจที่จะอยู่ร่วมกับท่านต่อไป
[๖๓] ผู้ใดเชื่อฟังถ้อยคำของบุคคลเหล่าอื่นอย่างจริงจัง
ผู้นั้นพึงแตกจากมิตรโดยเร็วพลัน
และพึงประสบเวรเป็นอันมาก
[๖๔] ผู้ใดไม่ประมาท ระแวงการทำลายมิตร
คอยจับผิดอยู่เสมอ ผู้นั้นหาใช่มิตรไม่
ส่วนผู้ใด ผู้อื่นยุให้แตกกันมิได้ ไม่มีความระแวงในมิตรคนใด
อยู่อย่างปลอดภัยเหมือนบุตรที่นอนแนบอกมารดา
ผู้นั้นแหละนับว่าเป็นมิตรแท้
วัณณาโรหชาดกที่ ๑ จบ
๒. สีลวีมังสชาดก (๓๖๒)
ว่าด้วยการทดลองศีล
(พราหมณ์โพธิสัตว์รู้ว่า ศีลสำคัญกว่าสุตะ จึงได้กราบทูลพระราชาว่า)
[๖๕] ข้าพระองค์มีความสงสัยว่า
ศีลประเสริฐกว่า หรือสุตะประเสริฐกว่า
บัดนี้ ข้าพระองค์หมดความสงสัยแล้วว่า
ศีลนั่นแลประเสริฐกว่าสุตะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วัณณาโรหวรรค ๔. ขัขโชปนกชาดก (๓๖๔)
[๖๖] ชาติและผิวพรรณเป็นของเปล่าประโยชน์
ทราบมาว่า ศีลเท่านั้นประเสริฐสุด
บุคคลไม่มีศีล มีเพียงสุตะเท่านั้น
ย่อมไม่มีความเจริญ
[๖๗] กษัตริย์ไม่ดำรงอยู่ในธรรม แพศย์ไม่อิงอาศัยธรรม
ชนทั้ง ๒ นั้นละโลกทั้ง ๒ ไปแล้วย่อมเข้าถึงทุคติ
[๖๘] กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล และคนเทขยะ
ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้วย่อมเป็นผู้เสมอกันในเทวโลก
[๖๙] พระเวทก็ตาม ชาติก็ตาม พวกพ้องก็ตาม
ไม่สามารถจะให้ยศและความสุขในสัมปรายภพได้
แต่ศีลของตนที่บริสุทธิ์แล้วเท่านั้น
นำความสุขมาให้ในสัมปรายภพ
สีลวีมังสชาดกที่ ๒ จบ
๓. หิริชาดก (๓๖๓)
ว่าด้วยความละอาย
(เศรษฐีชาวกรุงพาราณสีพูดกับคนทั้งหลายว่า)
[๗๐] บัณฑิตพึงรู้จักบุคคลผู้ไม่มีความละอาย
เกลียดชังความเป็นมิตร
กล่าวอยู่ว่า เราเป็นมิตรของท่าน
แต่ไม่เอื้อเฟื้อการงานที่เหมาะสมกับคำพูดว่า
บุคคลผู้นี้มิใช่มิตรของเรา
[๗๑] งานใดควรทำ พึงพูดถึงแต่งานนั้นเถิด
งานใดไม่ควรทำ ก็อย่าพูดถึงงานนั้นเลย
คนไม่ทำ เอาแต่พูด บัณฑิตย่อมรู้ทัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑๒ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น