Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๗-๗ หน้า ๓๑๙ - ๓๗๑

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗-๗ สุตตันตปิฎกที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๑๒. ทัททรชาดก (๔๓๘)
[๑๐๗] คนอกตัญญู คอยจับผิดอยู่เป็นนิตย์
ถึงจะให้แผ่นดินทั้งหมด ก็ทำให้เขาพึงพอใจไม่ได้
(พญาราชสีห์ถามพญาเสือโคร่งว่า)
[๑๐๘] นี่พ่อสุพาหุ ทำไมหนอ ท่านจึงด่วนกลับมาพร้อมกับมาณพ
ท่านมีกิจสำคัญในที่นี้หรือ
เราถามแล้ว ท่านจงบอกเรื่องนั้น
(พญาเสือโคร่งตอบว่า)
[๑๐๙] วันนี้ เราสงสัยการฆ่านกกระทา๑
เพื่อนของท่านซึ่งเป็นสัตว์ดี
เราได้ฟังหน้าที่การงานของชายผู้นี้
จึงไม่แน่ใจว่านกกระทาจะมีความสุขในวันนี้
(พญาราชสีห์ถามว่า)
[๑๑๐] โดยการประมวลความประพฤติของชายคนนี้
ชายคนนี้มีหน้าที่การงานอะไร
หรือการยอมรับอะไรของชายคนนี้ที่ท่านฟังมา
จึงสงสัยว่า นกกระทาถูกชายคนนี้ฆ่า
(พญาเสือโคร่งตอบว่า)
[๑๑๑] การค้าขายตามแบบแผนของชาวเมืองกาลิงคะ
ชายคนนี้ก็ได้ดำเนินมาแล้ว
หนทางที่ใช้ตอกทอยสัญจรด้วยหวาย คนผู้นี้ก็ผ่านมาแล้ว
แม้การรบด้วยกระบองพร้อมทั้งบ่วงบาศกลางโรงมหรสพ
ชายคนนี้ก็ได้แสดงมาแล้วกับนักฟ้อนทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ทัททระ แปลว่า นกกระทา (ขุ.ชา.อ. ๕/๑๐๙/๓๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก
[๑๑๒] นกทั้งหลายเขาก็จับมาแล้ว
งานตวงข้าวเขาก็ทำมาแล้ว
การพนันเขาก็ชนะมาแล้ว
เขาละเมิดการสำรวมศีล
เลือดที่ออกตั้งครึ่งคืนเขาก็คัดให้หยุดได้
มือถูกไฟไหม้เพราะการรับก้อนข้าวที่ร้อน
[๑๑๓] โดยประมวลความประพฤติของชายคนนี้แล้ว
หน้าที่การงานเหล่านั้นเป็นของเขา ที่เราฟังมา
ดังจะเห็นได้ ขนนกกระทากระจุกนี้ยังปรากฏอยู่
โคทั้งหลายเขายังฆ่าได้
ทำไมนกกระทาเขาจะฆ่าไม่ได้เล่า
ทัททรชาดกที่ ๑๒ จบ
รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. คิชฌชาดก ๒. โกสัมพิยชาดก
๓. มหาสุวราชชาดก ๔. จูฬสุวกราชชาดก
๕. หริตจชาดก ๖. ปทกุสลมาณวชาดก
๗. โลมสกัสสปชาดก ๘. จักกวากชาดก
๙. หลิททราคชาดก ๑๐. สมุคคชาดก
๑๑. ปูติมังสชาดก ๑๒. ทัททรชาดก

นวกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๒. กัณหชาดก (๔๔๐)
๑๐. ทสกนิบาต
๑. จตุทวารชาดก (๔๓๙)
ว่าด้วยเมืองมี ๔ ประตู
(นายมิตตวินทกะถามรุกขเทวดาโพธิสัตว์ว่า)
[๑] เมืองนี้มี ๔ ประตู มีกำแพงเหล็กมั่นคง
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมชั่วอะไร จึงถูกกักขังไว้
[๒] ประตูทุกบานได้ถูกปิดไว้ ข้าพเจ้าถูกขังเหมือนกับนก
เทพผู้ควรบูชา เหตุอะไรหนอ ข้าพเจ้าจึงถูกจักรบดขยี้
(รุกขเทวดาตอบว่า)
[๓] นี่สหาย ท่านได้ทรัพย์ถึง ๑๒๐,๐๐๐ แล้ว
ก็ไม่กระทำตามคำของพวกญาติผู้อนุเคราะห์
[๔] ท่านได้แล่นเรือออกไปสู่สมุทรสาคร
ซึ่งทำให้เรือโลดเต้นได้ อันมีความสำเร็จน้อย
ท่านเมื่อมีความปรารถนามากเกินไป
ได้ครอบครองนารี ๔ นาง ไม่พอใจนางทั้ง ๔
ได้ครอบครองนารี ๘ นาง ไม่พอใจนางทั้ง ๘
[๕] ได้ครอบครองนารี ๑๖ นาง ไม่พอใจนางทั้ง ๑๖
ได้ครอบครองนารี ๓๒ นาง ไม่พอใจนางทั้ง ๓๒
จึงได้ประสบจักร
จักรจึงพัดผันอยู่ที่ศีรษะของท่าน
ผู้ถูกความปรารถนามากเกินไปขจัดแล้ว
[๖] อันความอยากที่แผ่ซ่านไป กว้างขวางยิ่งนัก ให้เต็มได้ยาก
คนเหล่าใดย่อมกำหนัดตามความอยากนั้น
คนเหล่านั้นต้องเป็นผู้ทูนจักรไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๒. กัณหชาดก (๔๔๐)
[๗] คนเหล่าใดละทิ้งทรัพย์เป็นจำนวนมาก
ไม่พิจารณาหนทางที่ยังมิได้ใคร่ครวญ
คนเหล่านั้นต้องเป็นผู้ทูนจักรไว้
[๘] บัณฑิตพึงพิจารณาการงานและโภคะอันไพบูลย์
เมื่ออยากได้ก็อย่าพึงส้องเสพสิ่งที่ประกอบด้วยความฉิบหาย
พึงทำตามคำบอกกล่าวของผู้อนุเคราะห์ทั้งหลาย
บุคคลเช่นนั้นจักรก็จะไม่พึงกล้ำกราย
(นายมิตตวินทกะถามว่า)
[๙] เทพผู้ควรบูชา จักรบนศีรษะของข้าพเจ้า
จะอยู่นานสักเท่าไรเล่าหนอ กี่พันปี
ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกเรื่องนั้นแก่ข้าพเจ้า
(รุกขเทวดาตอบว่า)
[๑๐] มิตตวินทกะ ท่านจงฟังข้าพเจ้า
เจ้าต้องระลึกถึงให้มาก ตระหนักไว้โดยยิ่ง
จักรยังคงพัดผันอยู่บนศีรษะของเจ้า
เมื่อเจ้ามีชีวิตอยู่ ก็จะไม่พ้นมันหรอก
จตุทวารชาดกที่ ๑ จบ
๒. กัณหชาดก (๔๔๐)
ว่าด้วยกัณหฤาษี
(ท้าวสักกะตรัสกับฤๅษีกัณหะว่า)
[๑๑] ชายคนนี้ผิวดำหนอ บริโภคอาหารสีดำ
อยู่ในภูมิประเทศสีดำ เราไม่ชอบใจเลย
(ฤๅษีกัณหะกล่าวว่า)
[๑๒] ท้าวสุชัมบดีสักกเทวราช เพราะผิวไม่นับว่าเป็นคนดำ
เพราะพราหมณ์มีความดีเป็นแก่นในภายใน
ผู้ที่มีกรรมชั่วนั่นแหละ นับว่าเป็นคนดำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒๒ }


(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๓] ท่านพราหมณ์ เพราะถ้อยคำที่ท่านเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่านตามที่ใจของท่านปรารถนา
(ฤๅษีกัณหะกล่าวว่า)
[๑๔] ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากพระองค์จะประทานพรแก่อาตมา
อาตมาหวังเฉพาะความประพฤติของตน คือ อย่ามีความโกรธ
อย่ามีโทสะ อย่ามีความโลภ และอย่ามีความเสน่หา
ขอพระองค์ทรงประทานพรทั้ง ๔ ประการเหล่านี้แก่อาตมาเถิด
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๕] พราหมณ์ ท่านเห็นโทษอะไรในความโกรธ
ในโทสะ ในความโลภ หรือในความเสน่หา
ข้าพเจ้าถามแล้วขอท่านจงบอกแก่ข้าพเจ้า
(ฤๅษีกัณหะกล่าวว่า)
[๑๖] ความโกรธนั้นเกิดจากความไม่อดทน
ถึงจะน้อย ก็จะมากได้
ต่อไปก็จะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น เป็นความขัดข้องใจ
มีความคับแค้นใจเป็นอันมาก
เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่ชอบความโกรธ
[๑๗] คนถูกโทสะครอบงำมีวาจาหยาบคาย
ต่อไปก็ประหมัดตบตีกัน ใช้ท่อนไม้ประหารกัน
ที่สุดก็จะใช้ศัสตราประหัตประหารกัน
โทสะมีความโกรธเป็นสมุฏฐาน
เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่ชอบโทสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๓. จตุโปสถิยชาดก (๔๔๑)
[๑๘] การปล้นฆ่าชาวบ้าน การจี้ข่มขู่เอาทรัพย์ การคดโกง
และการหลอกลวงย่อมปรากฏมีอยู่ในบุคคลผู้มีความโลภ
เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่ชอบความโลภ
[๑๙] ความผูกพันที่ถูกความเสน่หาร้อยรัดไว้อันเกิดแต่ใจ
นอนเนื่องอยู่เป็นอันมาก ย่อมทำให้เดือดร้อนมากมาย
เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่ชอบความเสน่หา
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๒๐] พราหมณ์ เพราะถ้อยคำที่ท่านเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่านตามที่ใจของท่านปรารถนา
(ฤๅษีกัณหะกล่าวว่า)
[๒๑] ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากพระองค์จะประทานพรแก่อาตมา
อาตมาเมื่ออยู่ในป่า ก็อยู่เพียงผู้เดียวเป็นนิตย์
อาพาธทั้งหลายที่ร้ายกาจซึ่งกระทำอันตรายได้ขออย่าได้เกิดขึ้นเลย
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๒๒] พราหมณ์ เพราะถ้อยคำที่ท่านเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่านตามที่ใจของท่านปรารถนา
(ฤๅษีกัณหะกล่าวว่า)
[๒๓] ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากพระองค์จะประทานพรแก่อาตมา
ใจก็ตาม กายก็ตาม
ขออย่าได้เข้าไปกระทบกระทั่งใคร ๆ ในกาลไหน ๆ
เพราะการกระทำของอาตมาเลย อาตมาปรารถนาพรดังนี้
กัณหชาดกที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๓. จตุโปสถิยชาดก (๔๔๑)
๓. จตุโปสถิยชาดก (๔๔๑)
ว่าด้วยบุคคลทั้ง ๔ รักษาอุโบสถ
(วรุณนาคราชกล่าวว่า)
[๒๔] นรชนใดไม่ทำความโกรธในบุคคลที่ควรโกรธ
และไม่โกรธในกาลไหน ๆ
นรชนนั้นเป็นสัตบุรุษ
สัตบุรุษนั้นแม้จะโกรธก็ไม่เปิดเผยความโกรธ
นรชนนั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก
(พญาครุฑกล่าวว่า)
[๒๕] นรชนใดมีท้องพร่องอยู่ ยังอดทนต่อความหิวได้
ฝึกตนได้ มีตบะ ดื่มน้ำและบริโภคอาหารพอประมาณ
ไม่ทำความชั่วเพราะเหตุแห่งอาหาร
นรชนนั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๒๖] นรชนใดละการเล่นและความยินดีในกามทั้งปวงเสียได้
ไม่พูดเหลาะแหละอะไร ๆ ในโลก
งดเว้นจากการประดับตบแต่งร่างกายและจากเมถุนธรรม
นรชนนั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก
(พระเจ้าธนัญชัยได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๗] อนึ่ง นรชนใดสละความหวงแหนและโลภธรรมทั้งปวงได้
ด้วยปัญญาเครื่องกำหนดรู้
นรชนนั้นแลผู้ฝึกตน มีความมั่นคง
ไม่ยึดถือสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่าเป็นของเรา หมดความหวัง
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๓. จตุโปสถิยชาดก (๔๔๑)
(พระราชาเหล่านั้นทั้งหมดพากันถามวิธุรบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๒๘] พวกข้าพเจ้าขอถามท่านผู้มีปัญญาไม่ทราม รู้สิ่งที่ควรทำ
พวกข้าพเจ้าเกิดมีการโต้แย้งกันในถ้อยคำทั้งหลาย
ในวันนี้ ขอท่านจงตัดความสงสัยลังเลใจให้ด้วย
จงช่วยข้าพเจ้าทั้งหมดให้ข้ามพ้นความสงสัยลังเลใจนั้นเสีย
(วิธุรบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๒๙] บัณฑิตเหล่าใดได้เห็นเนื้อความ
บัณฑิตเหล่านั้นจึงจะกล่าวได้อย่างแยบคายในกาลนั้น
ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน ท่านผู้ฉลาดทั้งหลาย
จะแนะนำเนื้อความแห่งถ้อยคำที่ยังมิได้บอกกล่าวได้อย่างไรหนอ
[๓๐] ก็พญานาคราชกล่าวสรรเสริญเรื่องอะไร
พญาครุฑบุตรของนางวินตากล่าวสรรเสริญเรื่องอะไร
ราชาแห่งคนธรรพ์กล่าวสรรเสริญเรื่องอะไร
ราชาแห่งชาวแคว้นกุรุผู้ประเสริฐกล่าวสรรเสริญเรื่องอะไร
(พระราชาทั้ง ๔ พระองค์ตรัสกับวิธุรบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๓๑] พญานาคกล่าวสรรเสริญขันติ
พญาครุฑบุตรของนางวินตากล่าวสรรเสริญความเป็นผู้มีอาหารน้อย
ราชาแห่งคนธรรพ์กล่าวสรรเสริญการละความอภิรมย์
พระราชาแห่งชาวแคว้นกุรุผู้ประเสริฐกล่าวสรรเสริญความไม่กังวล
(วิธุรบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๓๒] คำเหล่านี้ทั้งหมดเป็นสุภาษิต
ก็ในคำเหล่านี้ หาคำที่เป็นทุพภาษิตไม่ได้สักข้อเดียว
และคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้มีอยู่ในนรชนใดอย่างมั่นคง
เหมือนอย่างซี่กำที่สอดใส่ไว้ในดุมเกวียน
นรชนนั้นแลผู้พรั่งพร้อมด้วยธรรมทั้ง ๔ ประการ
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๓. จตุโปสถิยชาดก (๔๔๑)
(พระราชาทั้ง ๔ พระองค์ตรัสว่า)
[๓๓] ท่านประเสริฐจริงหนอ ยอดเยี่ยม เป็นผู้ถึงธรรม
รู้ธรรม มีปัญญาดี สางปัญหาได้ด้วยปัญญา
เป็นนักปราชญ์ ขจัดความสงสัยลังเลใจเสียได้
เหมือนนายช่างงาตัดงาช้างด้วยเลื่อยอันคม
[๓๔] ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้าพอใจการแก้ปัญหาของท่าน
นี้เป็นผ้าสีดอกอุบล ผุดผ่อง เนื้อละเอียดเสมือนควันไฟ
หาค่ามิได้ ข้าพเจ้าขอมอบให้ท่านเพื่อบูชาธรรม
[๓๕] ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้าพอใจการแก้ปัญหาของท่าน
นี้เป็นพวงมาลาทองคำ แย้มบาน มีกลีบถึง ๑๐๐ กลีบ
มีเกษรที่ประดับประดาด้วยรัตนะถึง ๑,๐๐๐
ข้าพเจ้าขอมอบให้ท่านเพื่อบูชาธรรม
[๓๖] ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้าพอใจการแก้ปัญหาของท่าน
แก้วมณีหาค่ามิได้ สวยงาม ผุดผ่อง เป็นเครื่องประดับคล้องคอ
ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอมอบให้ท่านเพื่อบูชาธรรม
[๓๗] ข้าพเจ้าพอใจการแก้ปัญหาของท่าน ขอมอบโคนม โคผู้
และช้าง อย่างละ ๑,๐๐๐ ตัว รถเทียมม้าอาชาไนย ๑๐ คัน
และบ้านส่วย ๑๖ ตำบลเหล่านี้ให้แก่ท่านเพื่อบูชาธรรม
(พระบรมศาสดาทรงประมวลชาดกมาตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า)
[๓๘] พญานาคในครั้งนั้น คือ พระสารีบุตร
ส่วนพญาครุฑ คือ โกลิตะ๑ ราชาแห่งคนธรรพ์ คือ พระอนุรุทธะ
พระราชา คือ พระอานนท์ผู้เป็นบัณฑิต
ส่วนวิธุรบัณฑิต คือ พระโพธิสัตว์
เธอทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้อย่างนี้แล
จตุโปสถิยชาดกที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ โกลิตะ คือ พระมหาโมคคัลลานเถระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๔. สังขชาดก (๔๔๒)
๔. สังขชาดก (๔๔๒)
ว่าด้วยสังขพราหมณ์
(อุปัฏฐากกล่าวกับสังขพราหมณ์ว่า)
[๓๙] ท่านสังขพราหมณ์ ท่านเป็นพหูสูต
ธรรมก็ได้ฟังมาแล้ว สมณพราหมณ์ท่านก็ได้พบมาแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนั้น
ท่านมาแสดงอาการพร่ำเพ้อในขณะอันไม่สมควรเลย
คนอื่นนอกจากข้าพเจ้าจะมีใครเป็นที่ปรึกษาของท่านเล่า
(สังขพราหมณ์กล่าวว่า)
[๔๐] เทพธิดาผู้มีใบหน้างาม รูปงาม
สวมใส่เครื่องประดับทองคำ
เชิญถาดอาหารทองคำ มีศรัทธาและยินดีบอกเราว่า
ขอเชิญท่านบริโภคอาหารเถิด
เราตอบปฏิเสธเทพธิดาตนนั้น
(อุปัฏฐากกล่าวว่า)
[๔๑] ท่านพราหมณ์ คนพบเห็นเทพผู้ควรบูชาเช่นนี้
เมื่อหวังความสุข ก็ควรจะไต่ถาม
ท่านจงลุกขึ้นประนมมือถามเทพผู้นั้นตรง ๆ ว่า
ท่านเป็นเทพธิดาหรือหญิงมนุษย์กันหนอ
(สังขพราหมณ์ถามเทพธิดาว่า)
[๔๒] เพราะท่านมองดูข้าพเจ้าด้วยเมตตา
และยังบอกเชิญข้าพเจ้าว่าบริโภคภัตตาหารเถิด
แม่นางผู้มีอานุภาพมาก
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า
ท่านเป็นเทพธิดาหรือหญิงมนุษย์กันหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๔. สังขชาดก (๔๔๒)
(เทพธิดาตอบว่า)
[๔๓] ท่านสังขพราหมณ์ ข้าพเจ้าเป็นเทพธิดา มีอานุภาพ
มาท่ามกลางสมุทรวารนี้ มีความเอ็นดู จะมีจิตประทุษร้ายก็หาไม่
ข้าพเจ้ามาที่นี้ก็เพื่อประโยชน์แก่ท่านนั่นเอง
[๔๔] ท่านสังขพราหมณ์ ในมหาสมุทรนี้ มีข้าว น้ำ
ที่นอน ที่นั่ง และยานนานาชนิด
ข้าพเจ้าจะมอบให้ท่านทุกอย่างตามที่ใจของท่านปรารถนา
(สังขพราหมณ์กล่าวว่า)
[๔๕] ข้าพเจ้าได้บูชาและบวงสรวงมาแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง
แม่เทพธิดาผู้มีเรือนร่างงดงาม มีสะโพกผึ่งผาย มีคิ้วงาม
เอวบางร่างน้อย ท่านเป็นใหญ่แห่งบุญกรรมทุกอย่างของข้าพเจ้า
นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไรของข้าพเจ้าเล่า
(เทพธิดาตอบว่า)
[๔๖] ท่านสังขพราหมณ์ ท่านให้ภิกษุรูปหนึ่งผู้เดินกระโหย่งเท้า
กระหาย ลำบาก ในหนทางที่ร้อนสวมรองเท้าถวาย
ทักษิณานั้นให้สมบัติที่น่าปรารถนาแก่ท่านในวันนี้
(สังขพราหมณ์กล่าวว่า)
[๔๗] ขอจงเนรมิตเรือที่ทำด้วยไม้กระดาน
ไม่รั่ว ใช้ใบตะไคร่น้ำเป็นใบเรือ
เพราะในกลางทะเลนี้ไม่ใช่ภาคพื้นแห่งยานอื่น
ช่วยส่งข้าพเจ้าให้ถึงเมืองโมฬินีในวันนี้เถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๔๘] เทพธิดานั้นปลื้มใจ ยินดีปรีดา
ได้เนรมิตเรืออันงดงาม ณ ที่นั้น พาสังขพราหมณ์
พร้อมทั้งอุปัฏฐากชายนำไปส่งถึงเมืองอันน่ารื่นรมย์
สังขชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๕. จูฬโพธิชาดก (๔๔๓)
๕. จูฬโพธิชาดก (๔๔๓)
ว่าด้วยจูฬโพธิกุมาร
(พระราชาตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๔๙] พราหมณ์ ถ้าจะพึงมีคนมาพานางปริพาชิกาของท่าน
ผู้มีดวงตางาม ยิ้มแย้มร่าเริงน่ารักนี้ไปโดยพลการ
ท่านจะทำอย่างไรเล่า
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๕๐] ถ้าอาตมาเกิดความโกรธขึ้น
ความโกรธก็จะไม่พึงเสื่อมคลาย
จะไม่เสื่อมคลายตลอดชีวิตของอาตมา
อาตมาจะห้ามความโกรธเสียโดยพลัน
เหมือนฝนห่าใหญ่ระงับฝุ่นละออง
(พระราชาตรัสว่า)
[๕๑] วันก่อน ท่านนั้นกล่าวอวดอ้างอย่างไรหนอ
วันนี้ดูเหมือนมีกำลัง จึงทำเป็นนั่งนิ่งเย็บผ้าห่มอยู่ ณ บัดนี้
(พระโพธิสัตว์ทูลตอบว่า)
[๕๒] อาตมาเกิดความโกรธขึ้นแล้ว
ความโกรธไม่เสื่อมคลาย
จะไม่เสื่อมคลายตลอดชีวิตของอาตมา
อาตมาได้ห้ามความโกรธเสียแล้วโดยพลัน
เหมือนฝนห่าใหญ่ระงับฝุ่นละออง
(พระราชาตรัสว่า)
[๕๓] ทำไม ความโกรธที่เกิดขึ้นแล้วแก่ท่านจึงไม่เสื่อมคลาย
ทำไม ความโกรธจึงไม่เสื่อมคลายตลอดชีวิตของท่าน
ไฉน ท่านจึงห้ามความโกรธได้เหมือนฝนห่าใหญ่ระงับฝุ่นละออง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๕. จูฬโพธิชาดก (๔๔๓)
(พระโพธิสัตว์ทูลว่า)
[๕๔] เมื่อความโกรธเกิดขึ้นย่อมมองไม่เห็น
เมื่อไม่เกิดย่อมมองเห็นได้ดี
ความโกรธนั้นเกิดขึ้นแล้วแก่อาตมา จึงไม่เสื่อมคลาย
เพราะความโกรธเป็นอารมณ์ของคนโง่
[๕๕] ความโกรธที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ศัตรูผู้มุ่งความทุกข์พอใจ
ได้เกิดขึ้นแก่อาตมา ยังไม่เสื่อมคลายเลย
เพราะความโกรธเป็นอารมณ์ของคนโง่
[๕๖] อนึ่ง เมื่อเกิดความโกรธขึ้น
บุคคลย่อมไม่หยั่งรู้ประโยชน์ของตัวเอง
ความโกรธนั้นเกิดขึ้นแล้วแก่อาตมา ยังไม่เสื่อมคลายเลย
เพราะความโกรธเป็นอารมณ์ของคนโง่
[๕๗] คนถูกความโกรธใดครอบงำ ย่อมละทิ้งกุศลธรรม
ทำประโยชน์แม้อันไพบูลย์ให้เสียไป
ความโกรธนั้นมีเสนาน่าสะพรึงกลัว มีกำลังย่ำยี
ความโกรธของอาตมายังไม่เสื่อมคลายไปเลย มหาบพิตร
[๕๘] เมื่อไม้แห้งเสียดสีกันอยู่ก็เกิดไฟป่า
ไฟนั้นเกิดจากไม้แห้งอันใดก็ไหม้ไม้แห้งนั้นเอง
[๕๙] ความโกรธย่อมเกิดขึ้นเพราะความแข่งดีของคนพาลผู้โง่เขลา
ไม่มีความรู้ แม้เขาก็ถูกความโกรธนั้นแหละเผาผลาญ
[๖๐] ความโกรธย่อมเพิ่มพูนแก่ผู้ใดเหมือนดังไฟที่กองหญ้าและไม้แห้ง
ผู้นั้นย่อมเสื่อมยศเหมือนดวงจันทร์ข้างแรม
[๖๑] ผู้ใดระงับความโกรธเสียได้เหมือนไฟที่ปราศจากเชื้อ
ผู้นั้นยศย่อมบริบูรณ์เหมือนดวงจันทร์ข้างขึ้น
จูฬโพธิชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๖. มัณฑัพยชาดก (๔๔๔)
๖. มัณฑัพยชาดก (๔๔๔)
ว่าด้วยมัณฑัพยคหบดี
(ดาบสกระทำสัจจวาจาว่า)
[๖๒] อาตมาต้องการบุญ มีจิตเลื่อมใส
ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้เพียง ๗ วันเท่านั้น
ต่อแต่นั้น แม้จะไม่พอใจประพฤติพรหมจรรย์
ก็ยังประพฤติมาเกิน ๕๐ ปี
ด้วยสัจจวาจานี้ ขอจงมีความสวัสดี
ขอพิษจงคลาย ขอยัญญทัตต์กุมารจงรอดชีวิต
(บิดากระทำสัจจวาจาว่า)
[๖๓] เพราะแต่ไหนแต่ไรมา ข้าพเจ้าเห็นแขกในเวลามาพัก
ก็ไม่ยินดีให้พัก
อนึ่ง สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายแม้ผู้เป็นพหูสูต
ก็ไม่ทราบความที่ข้าพเจ้าไม่พอใจ
ข้าพเจ้าแม้จะไม่พอใจก็ตาม ก็ยังให้ทาน
ด้วยสัจจวาจานี้ ขอจงมีความสวัสดี
ขอพิษจงคลาย ขอยัญญทัตต์ลูกพ่อจงรอดชีวิต
(มารดากระทำสัจจวาจาว่า)
[๖๔] ลูกรัก อสรพิษที่มีพิษร้ายแรงตัวใด
ได้โผล่ขึ้นจากปล่องมากัดเจ้า
วันนี้ อสรพิษตัวนั้น และบิดาของเจ้า
ไม่มีความแตกต่างกันเลย
เพราะไม่ได้เป็นที่รักของแม่
ด้วยสัจจวาจานี้ ขอจงมีความสวัสดี
ขอพิษจงคลาย ขอยัญญทัตต์ลูกชายจงรอดชีวิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๖. มัณฑัพยชาดก (๔๔๔)
(นายมัณฑัพยะถามทีปายนดาบสว่า)
[๖๕] ชนบางพวกผู้สงบระงับ ฝึกตนแล้ว บวชเป็นดาบส
มีรูปร่างไม่น่าใคร่ไม่มีเลย นอกเสียจากกัณหดาบส
ท่านทีปายนดาบส ท่านรังเกียจอะไร
จึงไม่พอใจประพฤติพรหมจรรย์
(ทีปายนดาบสตอบว่า)
[๖๖] กัณหดาบสนั้นเป็นคนโง่จริงหนอ เหมือนกับเด็กใบ้น้ำลาย
ออกบวชด้วยศรัทธาแล้วยังกลับไปหาสิ่งนั้นอีก
อาตมารังเกียจวาทะเช่นนี้
ถึงไม่พอใจก็ยังประพฤติพรหมจรรย์
ซึ่งเป็นฐานะที่วิญญูชนสรรเสริญและเป็นฐานะของสัตบุรุษ
อาตมาจึงบำเพ็ญบุญแม้อย่างนี้
(ทีปายนดาบสย้อนถามว่า)
[๖๗] ท่านเลี้ยงดูสมณะ พราหมณ์ และคนเดินทาง
ให้อิ่มหน่ำด้วยข้าวและน้ำ
เรือนของท่านนี้เพียบพร้อมด้วยข้าวและน้ำ
มีภักษาหารเปรียบดังอู่ข้าวอู่น้ำ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านรังเกียจวาทะอะไร
ถึงไม่พอใจก็ยังให้ทานนี้
(นายมัณฑัพยะตอบว่า)
[๖๘] บิดาและปู่ของข้าพเจ้าเป็นคนมีศรัทธา
เป็นทานบดี เป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอ
ข้าพเจ้าผู้ประพฤติตามประเพณีของตระกูลนั้น
อย่าได้ชื่อว่า เป็นคนทำลายตระกูลคนสุดท้ายเลย
ข้าพเจ้ารังเกียจวาทะเช่นนั้น
ถึงไม่พอใจก็ยังคงให้ทานนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๗. นิโครธชาดก (๔๔๕)
(นายมัณฑัพยะถามภรรยาว่า)
[๖๙] นี่นางผู้มีทรวดทรงงาม เราได้นำเจ้าผู้ยังเป็นหญิงวัยรุ่น
ยังไม่มีปัญญาสามารถจัดแจงทรัพย์ได้มาจากตระกูลญาติ
และเจ้าก็มิได้บอกให้รู้ถึงความที่เจ้าไม่รักเรา
ยังบำเรอเราโดยปราศจากความรัก เมื่อเป็นเช่นนั้น
เพราะเหตุไร เจ้าจึงยังอยู่ร่วมกับเราอย่างนี้ แม่นางผู้เจริญ
(ภรรยาตอบว่า)
[๗๐] ตั้งแต่ไหนแต่ไรเนิ่นนานมาแล้ว
หญิงสาวคนหนึ่งทิ้งสามีแล้วได้ชายอื่นเป็นสามีไม่มีในตระกูลนี้
ขอดิฉันผู้ประพฤติตามประเพณีของตระกูลนั้น
อย่าชื่อว่า เป็นคนทำลายตระกูลคนสุดท้ายเลย
ดิฉันรังเกียจวาทะเช่นนั้น ถึงไม่พอใจก็ยังบำเรอท่านอยู่
(ภรรยากล่าวขอโทษนายมัณฑัพยะผู้เป็นสามีว่า)
[๗๑] ท่านมัณฑัพยะ วันนี้ดิฉันพูดคำที่ไม่ควรพูด
เพื่อเห็นแก่ลูก ขอท่านจงอดโทษถ้อยคำที่ดิฉันพูดนั้นเถิด
ไม่มีสิ่งอื่นใดในโลกนี้ จะยิ่งไปกว่าความรักลูก
ขอยัญญทัตต์ลูกของเรานั้นจงรอดชีวิตเถิด
มัณฑัพยชาดกที่ ๖ จบ
๗. นิโครธชาดก (๔๔๕)
ว่าด้วยพระเจ้านิโครธ
(นายโปตติกะกราบทูลพระเจ้านิโครธว่า)
[๗๒] ขอเดชะพระเจ้านิโครธ พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างไร
ตามที่สาขเสนาบดีกล่าวว่า เราไม่รู้จักมันเลยว่า
มันผู้นี้เป็นใคร หรือเป็นคนสอดแนมของใคร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๗. นิโครธชาดก (๔๔๕)
[๗๓] ต่อแต่นั้น คนผู้กระทำตามคำสั่งของสาขเสนาบดี
ได้ตบหน้าข้าพระองค์แล้วลากคอนำข้าพระองค์ออกไป
[๗๔] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งหมู่ชน
สาขเสนาบดีเพื่อนของพระองค์เป็นคนมีความคิดต่ำทราม
อกตัญญู ประทุษร้ายมิตร กระทำกรรมอันไม่ประเสริฐเช่นนี้
(พระเจ้านิโครธตรัสว่า)
[๗๕] เพื่อน เรื่องนี้เรายังไม่ทราบ ทั้งใคร ๆ ก็มิได้บอกเรา
ถึงเรื่องที่สาขะได้กระทำการฉุดคร่าท่าน มีแต่ท่านได้บอกเรา
[๗๖] ท่านส่งเสริมเพื่อนทั้งสอง คือ เราและสาขะให้มีอาชีพดีขึ้น
คือ ท่านได้ให้อิสริยยศแก่พวกเราเป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์
สมบัติเหล่านี้พวกเราได้มาก็เพราะท่าน
ในเรื่องนี้เราไม่สงสัยเลย
[๗๗] เมล็ดพืชที่ถูกเผาในกองไฟย่อมไม่งอกขึ้น ฉันใด
ความดีที่ทำในคนชั่วก็ย่อมพินาศไปไม่งอกงาม ฉันนั้น
[๗๘] ส่วนความดีที่ทำในคนผู้มีความกตัญญู มีศีล
มีความประพฤติอันประเสริฐ ย่อมไม่เสียหาย
เหมือนเมล็ดพืชในนาที่ดี
(พระราชารับสั่งว่า)
[๗๙] ก็เจ้าสาขะผู้นี้เป็นคนชั่วช้า คดโกง มีความคิดเยี่ยงคนชั่ว
จงเอาหอกแทงมัน เราไม่ต้องการให้มันมีชีวิตอยู่
(นายโปตติกะกราบทูลว่า)
[๘๐] ขอเดชะพระมหาราช ขอพระองค์ทรงโปรดงดโทษแก่เขาเถิด
ชีวิตนำกลับคืนมาไม่ได้ ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ
ขอพระองค์ทรงโปรดงดโทษแก่คนชั่วเถิด
ข้าพระองค์ไม่ต้องการฆ่าเขา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๘. ตักกลชาดก (๔๔๖)
(นายโปตติกะกล่าวสอนลูกสาวลูกชายว่า)
[๘๑] ควรคบแต่พระเจ้านิโครธเท่านั้น
อย่าเข้าไปคบหาเจ้าสาขเสนาบดีเลย
การตายในสำนักของพระเจ้านิโครธประเสริฐกว่า
การมีชีวิตอยู่ในสำนักของเจ้าสาขเสนาบดีจะประเสริฐอะไร
นิโครธชาดกที่ ๗ จบ
๘. ตักกลชาดก (๔๔๖)
ว่าด้วยตักกลบัณฑิต
(ลูกชายวัย ๗ ขวบถามพ่อว่า)
[๘๒] คุณพ่อ หัวหอม หัวกระเทียมก็ไม่มี มันเทศก็ไม่มี
มันมือเสือก็ไม่มี เหง้าตาลก็ไม่มีเลย
คุณพ่อต้องการอะไร
จึงขุดหลุมอยู่คนเดียวกลางป่าช้าในป่า
(พ่อตอบว่า)
[๘๓] ลูกรัก ปู่ของเจ้าทุพพลภาพมากแล้ว
ถูกความลำบากเพราะความเจ็บป่วยหลายอย่างเบียดเบียน
วันนี้ พ่อจะขุดหลุมฝังปู่เจ้า
เพราะพ่อไม่ชอบใจชีวิตอย่างนั้นของปู่เจ้า
(ลูกชายกล่าวว่า)
[๘๔] คุณพ่อได้รับความคิดอันชั่วช้านี้มา
แล้วกระทำกรรมอันหยาบช้าไร้ประโยชน์
คุณพ่อ เมื่อคุณพ่อแก่ชราก็จักได้รับการกระทำเช่นนี้แม้จากลูก
ถึงลูกก็จะประพฤติตามประเพณีของตระกูลนั้น
จะขุดหลุมฝังคุณพ่อเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๘. ตักกลชาดก (๔๔๖)
(พ่อกล่าวว่า)
[๘๕] นี่เจ้าเด็กน้อย เจ้าพูดกระทบข่มขู่พ่อด้วยวาจาที่หยาบ
ลูกรัก เจ้าเป็นลูกแท้ ๆ ของพ่อ กลับไม่อนุเคราะห์เกื้อกูลพ่อ
(ลูกชายกล่าวโต้ตอบว่า)
[๘๖] คุณพ่อ ลูกจะไม่อนุเคราะห์เกื้อกูลคุณพ่อก็หาไม่
แม้ลูกก็อนุเคราะห์เกื้อกูลคุณพ่อ
แต่ไม่อาจจะห้ามคุณพ่อผู้กำลังทำกรรมชั่วช้านั้น
จากการกระทำนั้นได้
(พ่อกล่าวว่า)
[๘๗] พ่อสวิฏฐะ ผู้ใดมีความชั่วช้า
เบียดเบียนพ่อแม่ผู้ไม่ประทุษร้ายตน
เมื่อตายไปชาติหน้า ผู้นั้นจะตกนรกอย่างไม่ต้องสงสัย
[๘๘] พ่อสวิฏฐะ ส่วนผู้ใดบำรุงพ่อแม่ด้วยข้าวและน้ำ
เมื่อตายไปชาติหน้า ผู้นั้นจะขึ้นสวรรค์อย่างไม่ต้องสงสัย
[๘๙] ลูกรัก เจ้าไม่อนุเคราะห์เกื้อกูลพ่อก็หามิได้
เจ้าอนุเคราะห์เกื้อกูลพ่อแท้ ๆ
แต่พ่อถูกแม่ของเจ้าสั่งมา จึงกระทำกรรมหยาบช้าเช่นนี้
(ลูกชายกล่าวว่า)
[๙๐] ภรรยาของพ่อไม่ใช่คนดี เป็นแม่บังเกิดเกล้าของลูกนั่นเอง
พ่อควรขับแม่ออกจากเรือนไป
แม่นั้นควรจะได้รับทุกข์อย่างอื่นบ้าง
[๙๑] ภรรยาของพ่อไม่ใช่คนดี เป็นแม่บังเกิดเกล้าของลูกนั่นเอง
แม่นั้นมีความคิดชั่วช้า ได้รับการฝึกแล้วหมดพยศ
เหมือนช้างพัง จงให้กลับมาอยู่ต่อไป
ตักกลชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๙. มหาธัมมปาลชาดก (๔๔๗)
๙. มหาธัมมปาลชาดก (๔๔๗)
ว่าด้วยมหาธรรมปาลกุมาร
(อาจารย์ทิศาปาโมกข์ถามพราหมณ์ว่า)
[๙๒] วัตรของท่านเป็นอย่างไร
อนึ่ง พรหมจรรย์ของท่านเป็นอย่างไร
นี้เป็นผลแห่งวัตรและพรหมจรรย์ที่ท่านประพฤติดีแล้วอย่างไร
พราหมณ์ ขอท่านโปรดบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้าว่า
เพราะเหตุไรหนอ พวกท่านจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ
(พราหมณ์ตอบว่า)
[๙๓] พวกเราประพฤติธรรม๑ ไม่กล่าวเท็จ
งดเว้นกรรมชั่ว ละเว้นกรรมอันไม่ประเสริฐทั้งหมด
เพราะเหตุนั้นแล พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ
[๙๔] พวกเราฟังธรรมทั้งของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ
แต่พวกเราไม่ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษเลย
จึงละเว้นอสัตบุรุษ ไม่ละเว้นสัตบุรุษ
เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ
[๙๕] ก่อนจะให้ทาน พวกเราก็ดีใจ แม้ขณะให้ก็พอใจ
แม้ให้ไปแล้วก็ไม่เดือดร้อนในภายหลัง
เพราะฉะนั้น พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ
[๙๖] พวกเราเลี้ยงดูสมณะ พราหมณ์ คนเดินทาง
วณิพก ยาจก และคนจนให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ
เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ

เชิงอรรถ :
๑ ประพฤติธรรม ในที่นี้หมายถึงประพฤติกุศลกรรมบถ (ทางแห่งความดี ๑๐) คือ ทางกาย ๓ ได้แก่
(๑) ละการฆ่าสัตว์ (๒) ละการลักทรัพย์ (๓) ละการประพฤติผิดในกาม ทางวาจา ๔ ได้แก่ (๑) ละการ
พูดเท็จ (๒) ละการพูดส่อเสียด (๓) ละการพูดคำหยาบ (๔) ละการพูดเพ้อเจ้อ ทางใจ ๓ ได้แก่ (๑) ไม่
เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น (๒) ไม่มีจิตคิดร้ายต่อผู้อื่น (๓) มีความเห็นชอบ (ขุ.ชา.อ. ๕/๙๓/๔๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๙. มหาธัมมปาลชาดก (๔๔๗)
[๙๗] อนึ่ง พวกเราไม่นอกใจภรรยา
ถึงพวกภรรยาก็ไม่นอกใจพวกเรา
นอกจากภรรยาเหล่านั้นแล้ว พวกเราประพฤติพรหมจรรย์
เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ
[๙๘] พวกเรางดเว้นการฆ่าสัตว์ทั้งปวง
ละเว้นสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ในโลก ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่พูดเท็จเลย
เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ
[๙๙] บุตรทั้งหลายที่เกิดในหญิงชั้นสูงมีมารยาทอันดีงามเหล่านั้น
เป็นคนฉลาด มีปัญญามาก เป็นพหูสูต จบไตรเพท
เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ
[๑๐๐] พ่อแม่ พี่น้องหญิงชาย ลูกเมีย
และเราทั้งหมดก็ประพฤติธรรมเพราะเหตุโลกหน้า
เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่มๆ
[๑๐๑] ทาสชายหญิง บุคคลรอบข้างที่อาศัยเลี้ยงชีพ
และคนงานทั้งหมดก็ประพฤติธรรมเพราะเหตุโลกหน้า
เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ
(พราหมณ์แสดงคุณของผู้ประพฤติธรรมว่า)
[๑๐๒] ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
ธรรมที่ตนประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้
นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ตนประพฤติดีแล้ว
ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ถึงทุคติ
[๑๐๓] ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
เหมือนร่มคันใหญ่ในฤดูฝน
ธรรมปาลกุมารของเรามีธรรมคุ้มครอง ยังอยู่เป็นสุข
กระดูกที่ท่านนำมาเป็นกระดูกคนอื่น
มหาธัมมปาลชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๑. มัฏฐกุณฑลีชาดก (๔๔๙)
๑๐. กุกกุฏชาดก (๔๔๘)
ว่าด้วยพญาไก่
(พญาไก่กล่าวว่า)
[๑๐๔] ไม่ควรวางใจในคนทำความชั่ว
คนพูดเหลาะแหละ คนเห็นแก่ตัว
แม้คนที่สงบเกินไปก็ไม่ควรวางใจ
[๑๐๕] เพราะว่ามีคนพวกหนึ่งเป็นเช่นกับโคกระหายน้ำ
เพียงแต่พูดเสียดสีมิตร แต่ไม่กระทำตามที่พูด
[๑๐๖] ผู้ใดดีแต่ประณมมือไหว้ พูดวกวน เป็นมนุษย์กระพี้
ไม่มีความกตัญญู ผู้นั้นก็ไม่ควรนั่งใกล้
[๑๐๗] อนึ่ง ไม่พึงวางใจสตรีหรือบุรุษผู้มีจิตแปรปรวน
แม้คนเปิดเผยความสัมพันธ์มีประการต่าง ๆ เช่นนั้น
ก็ไม่ควรวางใจ
[๑๐๘] คนผู้ตกอยู่ในกรรมชั่ว มีวาจาไม่มั่นคง ฆ่าได้ทุกคน
เหมือนดาบที่ลับแล้วซ่อนไว้ แม้คนเช่นนั้นก็ไม่ควรวางใจ
[๑๐๙] คนบางพวกในโลกนี้ เป็นคนเทียมมิตร
มีวาจาคมคาย แต่ไร้น้ำใจ เข้าไปหาด้วยอุบายต่าง ๆ
แม้คนเช่นนั้นก็ไม่ควรวางใจ
[๑๑๐] คนใดเห็นอามิสหรือทรัพย์ในที่ใดยังละทิ้งเพื่อนนั้นไปเสียได้
คนเช่นนั้นเป็นคนโง่ ทำลายมิตร
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๑๑] สัตว์จำนวนมากปกปิดตนไว้ เป็นคนเทียมมิตร
คอยคบหาอยู่ คนเหล่านี้เป็นคนชั่ว
ควรละเว้นเสีย เหมือนไก่ละเว้นเหยี่ยว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๑. มัฏฐกุณฑลีชาดก (๔๔๙)
[๑๑๒] อนึ่ง ผู้ใดไม่รู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ผู้นั้นจะตกอยู่ในอำนาจของศัตรูและจะเดือดร้อนในภายหลัง
[๑๑๓] ส่วนผู้ใดรู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ผู้นั้นย่อมพ้นจากความคับขันอันเกิดจากศัตรู
เหมือนไก่พ้นจากเหยี่ยว
[๑๑๔] คนผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม มีปกติกำจัดอยู่เป็นนิตย์
เหมือนบ่วงที่เขาดักไว้ในป่าฉะนั้น
นรชนผู้มีปัญญาพิจารณาควรเว้นให้ห่างไกล
เหมือนไก่ในป่าไผ่จะเว้นเหยี่ยว
กุกกุฏชาดกที่ ๑๐ จบ
๑๑. มัฏฐกุณฑลีชาดก (๔๔๙)
ว่าด้วยมัฏฐกุณฑลีเทพบุตร๑
(พราหมณ์จะถามมาณพว่า)
[๑๑๕] เจ้าประดับตกแต่งร่างกาย ใส่ต่างหูเกลี้ยง
ทัดทรงดอกไม้ มีกายลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์แดง
ประคองแขนคร่ำครวญอยู่กลางป่า
เจ้ามีทุกข์เรื่องอะไร
(มาณพตอบว่า)
[๑๑๖] เรือนรถที่ทำด้วยทองคำ งามผุดผ่องเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ายังหาล้อรถทั้งคู่นั้นไม่ได้
เพราะความทุกข์นั้น ข้าพเจ้าจักยอมสละชีวิต
(พราหมณ์รับรองว่า)
[๑๑๗] พ่อมาณพผู้เจริญ ล้อทองคำ ล้อแก้วมณี ล้อทองแดง
หรือล้อเงิน จงบอกข้ามา ข้าจะจัดล้อทั้งคู่ให้เจ้า

เชิงอรรถ :
๑ ดู ขุ.วิ.(แปล) ๒๖/๑๒๐๗-๑๒๑๖/๑๕๑-๑๕๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๒. พิลารโกสิยชาดก (๔๕๐)
[๑๑๘] มาณพได้กล่าวแก่พราหมณ์นั้นว่า
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ ย่อมปรากฏในท้องฟ้านั้น
รถทองของข้าพเจ้าย่อมงามด้วยล้อทั้งคู่นั้น
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๑๑๙] พ่อมาณพ เจ้าโง่นัก ที่มาปรารถนาสิ่งที่ไม่ควรปรารถนา
ข้าเข้าใจว่า เจ้าจักตายเสียเปล่า
เพราะเจ้าไม่มีทางจะได้ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เลย
(มาณพกล่าวว่า)
[๑๒๐] แม้การโคจรไปมาของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ยังปรากฏ
รัศมียังปรากฏในวิถีทั้ง ๒
ส่วนคนที่ตายไปแล้วย่อมไม่ปรากฏ
เราทั้ง ๒ ผู้ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในที่นี้ ใครหนอโง่กว่ากัน
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๑๒๑] พ่อมาณพ เจ้าพูดจริงแท้ เราทั้ง ๒ ผู้ร้องไห้คร่ำครวญอยู่
ข้านี่แหละโง่กว่า ที่มาปรารถนาคนที่ตายไปแล้ว
เหมือนทารกร้องไห้อยากได้ดวงจันทร์
[๑๒๒] เจ้าช่วยระงับข้าผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมดได้
เหมือนคนใช้น้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง
[๑๒๓] เจ้าได้บรรเทาความเศร้าโศกของข้าผู้กำลังเศร้าโศกถึงบุตร
ชื่อว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความโศก
ซึ่งเสียบที่หัวใจของข้าขึ้นได้แล้วหนอ
[๑๒๔] พ่อมาณพ ข้าซึ่งเจ้าช่วยถอนลูกศรคือความโศกขึ้นให้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากความเศร้าโศก ไม่ขุ่นมัว ไม่ร้องไห้
เพราะได้ฟังคำของเจ้า
มัฏฐกุณฑลีชาดกที่ ๑๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๒. พิลารโกสิยชาดก (๔๕๐)
๑๒. พิลารโกสิยชาดก (๔๕๐)
ว่าด้วยท้าวสักกะทรมานเศรษฐีตีนแมว
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๒๕] สัตบุรุษทั้งหลายถึงจะไม่หุงต้มกินเอง
ได้โภชนะมาก็ปรารถนาที่จะให้
ส่วนท่านหุงต้มกินเอง ไฉนเล่าจึงไม่ให้
การไม่ให้นั้นไม่สมควรเลย
[๑๒๖] คนไม่ให้ทานเพราะเหตุ ๒ อย่างนี้
คือ เพราะตระหนี่ ๑ เพราะประมาท ๑
ผู้รู้เมื่อหวังบุญ ควรให้ทาน
[๑๒๗] คนตระหนี่กลัวต่อความหิวความกระหายอันใดจึงไม่ให้ทาน
ภัยคือความหิวและความกระหายนั่นแหละย่อมมีแก่เขาผู้ไม่ให้
คนตระหนี่กลัวต่อความหิวและความกระหายอันใด
ความหิวและความกระหายนั่นแหละย่อมเบียดเบียนเขาผู้เป็นคนพาล
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[๑๒๘] เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงครอบงำมลทิน
กำจัดความตระหนี่แล้วพึงให้ทาน
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า
(สุริยเทพบุตรเสด็จลงมาแล้ว ขออาหารว่า)
[๑๒๙] อสัตบุรุษทั้งหลายเมื่อจะให้ทานชื่อว่าให้ได้ยาก
เมื่อจะกระทำกรรมก็ชื่อว่าทำได้ยาก
ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายพวกอสัตบุรุษรู้ได้ยาก
และพวกอสัตบุรุษก็ทำตามได้ยาก
[๑๓๐] เพราะฉะนั้น สัตบุรุษและอสัตบุรุษ
จึงมีคติที่ไปจากโลกนี้ต่างกัน คือ
พวกอสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก พวกสัตบุรุษย่อมไปสู่สวรรค์๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเล่มนี้ หน้า ๗๙, ดู ขุ.ชา. (แปล) ๒๘/๒๒๘๖-๒๒๘๗/๕๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๓. จักกวากชาดก (๔๕๑)
(มาตลีเทพบุตรเสด็จมาแสดงธรรมว่า)
[๑๓๑] แม้มีไทยธรรมเพียงเล็กน้อย คนพวกหนึ่งก็ให้
คนพวกหนึ่งมีไทยธรรมมาก แต่ไม่ให้
ทักษิณาจากไทยธรรมส่วนน้อยที่บุคคลให้แล้ว
นับได้เสมอกับการให้ตั้งพัน
(ปัญจสิขเทพบุตรเสด็จมาแสดงธรรมว่า)
[๑๓๒] แม้ผู้ใดเที่ยวแสวงหาอาหารเลี้ยงลูกเมีย
เมื่อมีรายได้น้อยก็ยังให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าผู้ประพฤติธรรม
การบูชาของคนที่บูชายัญด้วยทรัพย์จำนวนพันนับแสนคนเหล่านั้น
ยังไม่ถึงแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของคนจนผู้ประพฤติธรรมเช่นนั้นเลย
(เศรษฐีได้ฟังดังนั้นแล้ว ได้กล่าวว่า)
[๑๓๓] ยัญอันไพบูลย์เพราะมีค่ามากนี้
เหตุใดจึงไม่มีค่าเท่าเทียมทานที่บุคคลให้แล้วโดยสม่ำเสมอเล่า
อนึ่ง การบูชาของคนที่บูชายัญด้วยทรัพย์ จำนวนพันนับแสนคน
เหล่านั้นย่อมไม่ถึงแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของคนจน
ผู้ประพฤติธรรมเช่นนั้นเป็นอย่างไร
(ปัญจสิขเทพบุตรกล่าวว่า)
[๑๓๔] เพราะว่าคนพวกหนึ่งตั้งอยู่ในกายกรรมเป็นต้นอันไม่สม่ำเสมอ
ทรมานสัตว์บ้าง ฆ่าสัตว์บ้าง ทำให้สัตว์เศร้าโศกบ้าง แล้วจึงให้ทาน
ทักษิณานั้นมีหน้าชุ่มไปด้วยน้ำตา ประกอบไปด้วยอาชญา
จึงไม่เท่าราคาของทานที่เขาให้อย่างสม่ำเสมอ
การบูชาของคนที่บูชายัญด้วยทรัพย์จำนวนพันนับแสนคนเหล่านั้น
ยังไม่ถึงแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของคนจน
ที่ประพฤติธรรมเช่นนั้นด้วยอาการอย่างนี้
พิลารโกสิยชาดกที่ ๑๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๓. จักกวากชาดก (๔๕๑)
๑๓. จักกวากชาดก (๔๕๑)
ว่าด้วยนกจักรพาก
(กาถามนกจักรพากว่า)
[๑๓๕] นกจักรพากท่านมีสีสวยรูปงามล่ำสัน
เลือดฝาดดี ทรวดทรงงาม ใบหน้าผ่องใส
[๑๓๖] ท่านจับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา คงกินอาหารอย่างนี้
คือ ปลากา ปลากระบอก ปลาหมอ
ปลาค้าว และปลาตะเพียน นะซิ
(นกจักรพากปฏิเสธคำพูดของกานั้นว่า)
[๑๓๗] ข้าพเจ้ามิได้กินอาหารชนิดนี้ หรือสัตว์บกสัตว์น้ำเลย
นอกเสียจากสาหร่ายและจอกแหน
เพื่อน สาหร่ายและจอกแหนนี้เป็นอาหารของข้าพเจ้า
(กาได้กล่าวว่า)
[๑๓๘] ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า สาหร่ายและจอกแหนนี้
เป็นอาหารของนกจักรพาก
เพื่อน แม้ตัวข้าพเจ้าก็ยังกินอาหารที่มีรสเค็ม
และคลุกเคล้าด้วยน้ำมันในบ้าน
[๑๓๙] ซึ่งเป็นอาหารที่เขาปรุงกันในหมู่มนุษย์
เป็นของสะอาดเจือด้วยเนื้อ
นกจักรพาก แต่สีสันของข้าพเจ้าไม่เหมือนท่าน
(นกจักรพรากได้กล่าวว่า)
[๑๔๐] ท่านเบียดเบียนหมู่มนุษย์
ต้องคอยมองดูผู้ที่ผูกเวรในตน
กินอย่างหวาดสดุ้ง ตกใจกลัว
เพราะเหตุนั้น สีสันของท่านจึงเป็นเช่นนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๔. ภูริปัญญชาดก (๔๕๒)
[๑๔๑] กา ท่านเป็นศัตรูกับชาวโลกทั้งปวง
ได้ก้อนข้าวมาด้วยความชั่ว ไม่ทำให้ผู้อื่นอิ่มหนำ
เพราะเหตุนั้น สีสันของท่านจึงเป็นเช่นนี้
[๑๔๒] เพื่อน ข้าพเจ้าไม่เบียดเบียนเหล่าสัตว์ทั้งปวง
มีความขวนขวายน้อย ไม่หวาดระแวง
ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีภัยแต่ที่ไหนกินอยู่
[๑๔๓] ท่านนั้นจงสร้างอานุภาพขึ้น
จงเลิกประพฤติแบบเดิมเสีย เที่ยวไปในโลกโดยไม่เบียดเบียน
จักเป็นที่รักของชาวโลกเหมือนอย่างข้าพเจ้า
[๑๔๔] ผู้ใดไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ทำทรัพย์ให้เสื่อมไป
ไม่ใช้ผู้อื่นทำทรัพย์ให้เสื่อมไป มีจิตเมตตาในสัตว์ทุกจำพวก
ผู้นั้นไม่ก่อเวรกับใคร ๆ
จักกวากชาดกที่ ๑๓ จบ
๑๔. ภูริปัญญชาดก (๔๕๒)
ว่าด้วยผู้มีปัญญากว้างขวาง
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๕] ท่านผู้มีปัญญากว้างขวาง ได้ยินว่า
คำที่ท่านอาจารย์เสนกกล่าวเป็นความจริง
เพราะสิริ ความเพียร และปัญญาคุ้มครองท่าน
ผู้ตกอยู่ในอำนาจของความเสื่อมไม่ได้
ท่านจึงต้องบริโภคก้อนข้าวเหนียวที่มีแกงน้อย
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๔๖] เราเมื่อเพิ่มพูนความสุขด้วยความลำบาก
พิจารณาดูกาลอันควรไม่ควร จึงหลบซ่อนตามความพอใจ
แต่ไม่ปิดช่องทางแห่งประโยชน์
ด้วยเหตุนั้น จึงพอใจกินข้าวเหนียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๔. ภูริปัญญชาดก (๔๕๒)
[๑๔๗] อนึ่ง เรารู้เวลาที่จะทำความเพียร
และเพิ่มพูนประโยชน์ด้วยปัญญาทั้งหลาย
เยื้องย่างอย่างการเยื้องกรายแห่งราชสีห์
แม้ต่อไปท่านก็จะเห็นเราด้วยความสำเร็จอันนั้น
(พระราชาเมื่อจะทรงทดลองบัณฑิต จึงตรัสว่า)
[๑๔๘] ก็คนพวกหนึ่งแม้มีความสุขก็ไม่ทำความชั่ว
คนอีกพวกหนึ่งเพราะกลัวการเกี่ยวข้อง
กับการถูกติเตียนจึงไม่ทำความชั่ว
ส่วนท่านเป็นผู้มีความคิดกว้างขวางมาก
เพราะเหตุไร จึงไม่ก่อทุกข์ให้แก่เรา
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๔๙] ธรรมดาบัณฑิตไม่ประพฤติกรรมชั่วเพราะเหตุความสุขแห่งตน
แม้ถูกความทุกข์กระทบถูกต้องพลั้งพลาดไป ก็สงบอยู่ได้
ไม่ละทิ้งธรรม เพราะความรักและความชัง
(พระราชาตรัสมายากษัตริย์ว่า)
[๑๕๐] บุคคลพึงยกตนที่ต่ำช้าขึ้นด้วยเหตุเล็กน้อยหรือรุนแรง
อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน ภายหลังพึงประพฤติธรรม
(พระโพธิสัตว์แสดงอุปมาด้วยต้นไม้ว่า)
[๑๕๑] บุคคลนั่งก็ตาม นอนก็ตามที่ร่มเงาต้นไม้ใด
ไม่ควรหักรานกิ่งต้นไม้นั้น
เพราะว่าคนประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม
[๑๕๒] คนผู้รู้แจ้งธรรมแต่สำนักอาจารย์ใด
อนึ่ง การที่สัตบุรุษทั้งหลายกำจัดความสงสัยของคนผู้นั้นได้
นั่นแหละนับว่าเป็นที่พึ่ง ที่พำนักของเขา
คนผู้มีปัญญาไม่พึงทำลายไมตรีกับอาจารย์นั้นเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๕. มหามังคลชาดก (๔๕๓)
(พระโพธิสัตว์อนุศาสน์พระราชาว่า)
[๑๕๓] คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเกียจคร้านไม่ดี
บรรพชิตไม่สำรวมไม่ดี
พระราชาไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วทำไม่ดี
การที่บัณฑิตโกรธไม่ดี
[๑๕๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ
กษัตริย์ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงควรทำ
ไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วไม่ควรตัดสิน
ยศและเกียรติย่อมเจริญแด่พระราชาผู้ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
ภูริปัญญชาดกที่ ๑๔ จบ
๑๕. มหามังคลชาดก (๔๕๓)
ว่าด้วยมหามงคล
(ศิษย์ผู้เป็นหัวหน้าถามอาจารย์ว่า)
[๑๕๕] ในเวลาต้องการความเป็นมงคล นรชนร่ายพระเวทอะไร
นรชนนั้นเรียนพระเวทอะไร
หรือบรรดาสุตะ เรียนสุตะบทไหน
และกระทำอย่างไร จึงได้รับความคุ้มครองโดยสวัสดิภาพ
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
(พระโพธิสัตว์บอกมงคลว่า)
[๑๕๖] เทวดาและเทพบิดรทั้งปวง
สัตว์เลื้อยคลานและสรรพสัตว์ทั้งปวง
อันผู้ใดแผ่เมตตาอยู่เป็นนิตย์
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการแผ่เมตตานั้นในสัตว์ทั้งหลายว่า
เป็นความสวัสดีของผู้นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๕. มหามังคลชาดก (๔๕๓)
(พระโพธิสัตว์กล่าวมงคลต่อไปอีกว่า)
[๑๕๗] ผู้ใดมีความประพฤติถ่อมตนต่อชาวโลกทั้งปวง
คือ ต่อหญิงชายทั้งหลาย พร้อมทั้งพวกเด็ก
เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำที่หยาบคาย
ไม่กล่าววาจาที่ขัดแย้ง
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวความอดกลั้นนั้นว่า
เป็นความสวัสดีของผู้นั้น
[๑๕๘] ผู้ใดมีปัญญา มีความรู้ ในเมื่อเหตุเกิดขึ้น
ไม่ดูหมิ่นมิตรสหายโดยศิลปะ สกุล ทรัพย์ และโดยชาติ
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวความไม่ดูหมิ่นนั้นในสหายทั้งหลายว่า
เป็นความสวัสดีของผู้นั้น
[๑๕๙] ผู้ใดพูดจาไม่โกหก คบเพื่อนดี
และไม่ประทุษร้ายมิตร แบ่งปันทรัพย์ของตนให้
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการกระทำนั้นในมิตรทั้งหลายว่า
เป็นความสวัสดีของผู้นั้น
[๑๖๐] ผู้ใดมีภรรยาซึ่งมีวัยเท่า ๆ กัน สามัคคีกัน
คล้อยตามกัน เป็นผู้ใคร่ธรรม ให้กำเนิดลูกได้
เป็นหญิงมีสกุล มีศีล มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อสามี
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการประพฤตินั้นในภรรยาทั้งหลายว่า
เป็นความสวัสดีของผู้นั้น
[๑๖๑] ผู้ใดมีพระราชาผู้เป็นใหญ่กว่าหมู่ชน ทรงมีพระเกียรติยศ
หยั่งรู้ความเป็นผู้บริสุทธิ์ และความพากเพียร
โดยปราศจากความคลางแคลงพระทัยว่า
ผู้นี้เป็นเพื่อนร่วมใจของเรา
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวความไม่คลางแคลงพระทัยนั้นว่า
เป็นความสวัสดีของผู้นั้นในพระราชาทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๖. ฆตปัณฑิตชาดก (๔๕๔)
[๑๖๒] ผู้ใดมีศรัทธา มีจิตเลื่อมใส พลอยอนุโมทนา ให้ข้าวน้ำ
ดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้เป็นทาน
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการให้ทานนั้นว่า
เป็นความสวัสดีของผู้นั้นในสวรรค์
[๑๖๓] ผู้ใดเป็นผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย
ผู้สำเร็จด้วยการประพฤติชอบ เป็นสัตบุรุษ
ได้ยินได้ฟังมามาก เป็นผู้แสวงหาคุณความดี
มีศีล ชำระล้างด้วยธรรมของพระอริยะ
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการชำระล้างด้วยธรรมของพระอริยะนั้นว่า
เป็นความสวัสดีในท่ามกลางพระอรหันต์ของผู้นั้น
(พระโพธิสัตว์รวมยอดเทศนาด้วยพระอรหันต์ ตรัสมหามงคล ๘ ประการว่า)
[๑๖๔] มงคลทั้ง ๘ ประการเหล่านี้เป็นความสวัสดีในโลก
ที่ท่านผู้รู้สรรเสริญ มีความสุขเป็นกำไร
ขอเชิญนรชนคนมีปัญญาในโลกประพฤติปฏิบัติมงคลเหล่านั้นเถิด
เพราะในมงคลทางโลก ไม่มีอะไรจริงสักอย่างเดียว
มหามังคลชาดกที่ ๑๕ จบ
๑๖. ฆตปัณฑิตชาดก (๔๕๔)
ว่าด้วยฆตบัณฑิต
(โรหิเณยยอำมาตย์สนทนากับพระเจ้าวาสุเทพว่า)
[๑๖๕] ขอเดชะพระเจ้ากัณหะ โปรดเสด็จลุกขึ้นเถิด
ทรงบรรทมอยู่ทำไม
พระองค์มัวทรงพระสุบินจะมีประโยชน์อะไร
พระเจ้าน้องยาเธอผู้เป็นดังดวงพระหฤทัย
และนัยน์เนตรเบื้องขวาของพระองค์มีลมกำเริบ
ข้าแต่พระเจ้าเกสวะ พระเจ้าฆตบัณฑิตพร่ำเพ้ออยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๖. ฆตปัณฑิตชาดก (๔๕๔)
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๑๖๖] พระเจ้าเกสวะครั้นได้ทรงสดับวาจาของโรหิเณยยอำมาตย์นั้น
รีบเสด็จลุกขึ้น ทรงกระวนกระวาย
เพราะความโศกถึงพระเจ้าน้องยาเธอ
(พระราชาตรัสกับฆตบัณฑิตว่า)
[๑๖๗] เจ้าบ่นเพ้อว่า กระต่าย กระต่าย
ไปทั่วพระนครทวาราวดีนี้เหมือนคนบ้าเพราะเหตุไร
ใครลักกระต่ายของเจ้าไป
(พระราชาได้ตรัสอีกว่า)
[๑๖๘] จะเป็นกระต่ายที่ทำด้วยทองคำ ด้วยแก้วมณี ด้วยโลหะ
หรือจะเป็นกระต่ายที่ทำด้วยเงิน ด้วยสังข์
ด้วยศิลา ด้วยแก้วประพาฬก็ตามที
พี่จะให้เขาทำมอบให้เจ้าทุกอย่าง
[๑๖๙] แม้กระต่ายอื่น ๆ ที่มีอยู่ในป่า หากินอยู่ในป่า
พี่จะนำกระต่ายแม้เหล่านั้นมาให้เจ้า
กระต่ายชนิดไหนเล่าที่เจ้าปรารถนา
(ฆตบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๗๐] กระต่ายทั้งหลายบรรดาที่อาศัยอยู่บนแผ่นดิน
หม่อมฉันไม่ต้องการ หม่อมฉันต้องการกระต่ายจากดวงจันทร์
ขอเดชะพระเจ้าเกสวะ ขอพระองค์จงนำกระต่ายนั้นลงมา
ประทานแก่หม่อมฉัน
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๗๑] น้องเอ๋ย เจ้าปรารถนาสิ่งที่ไม่ควรปรารถนา
มาต้องการกระต่ายจากดวงจันทร์
จักต้องละทิ้งชีวิตอันเป็นที่รักไปอย่างแน่นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๖. ฆตปัณฑิตชาดก (๔๕๔)
(ฆตบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๗๒] ขอเดชะพระเจ้ากัณหะ พระเจ้าพี่ก็ทรงทราบ
อย่างที่ทรงสอนคนอื่นเขา
แต่ทำไม พระโอรสที่สิ้นพระชนม์ไปก่อนแล้ว
พระเจ้าพี่จึงยังทรงเศร้าโศกถึงจนทุกวันนี้เล่า
(ฆตบัณฑิตได้กราบทูลต่อไปอีกว่า)
[๑๗๓] ฐานะอันใดที่มนุษย์หรืออมนุษย์ไม่ควรได้
คือ ลูกของเราที่เกิดมาแล้วขออย่าได้ตายเลย
ฐานะอันเป็นสิ่งที่หาไม่ได้
จะได้มาจากไหนเล่า
[๑๗๔] ขอเดชะพระเจ้ากัณหะ จะใช้เวทมนต์ เภสัชรากไม้
โอสถต่าง ๆ หรือพระราชทรัพย์
ก็ไม่สามารถจะพาพระราชโอรสที่ล่วงลับไปแล้ว
ที่พระองค์ทรงเศร้าโศกถึงอยู่กลับคืนมาได้
(พระราชาทรงสรรเสริญฆตบัณฑิตว่า)
[๑๗๕] พระราชาผู้มีพวกอำมาตย์
ที่เป็นคนเฉลียวฉลาดเหมือนฆตบัณฑิต
ทำเราให้สร่างเศร้าโศกได้ในวันนี้
จะมีความเศร้าโศกมาจากไหนเล่า
[๑๗๖] เจ้าช่วยระงับพี่ผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมดได้
เหมือนคนใช้น้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง
[๑๗๗] เจ้าได้บรรเทาความเศร้าโศกของพี่ผู้กำลังเศร้าโศกถึงบุตร
ชื่อว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความเศร้าโศก
ซึ่งเสียบที่หทัยของพี่ขึ้นได้แล้วหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๖. ฆตปัณฑิตชาดก (๔๕๔)
[๑๗๘] พ่อฆตบัณฑิต พี่ซึ่งเจ้าได้ช่วยถอนลูกศร
คือความเศร้าโศกขึ้นได้แล้วเป็นผู้ปราศจากความเศร้าโศก
ไม่มีความขุ่นมัว จะไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้
เพราะได้ฟังคำของเจ้า
(พระศาสดาตรัสคาถาสุดท้ายว่า)
[๑๗๙] นรชนทั้งหลายผู้มีปัญญาจะเป็นผู้อนุเคราะห์
ย่อมกระทำให้ผู้อื่นปราศจากความเศร้าโศก
เหมือนฆตบัณฑิตทำให้เชฏฐภาดาปราศจากความเศร้าโศก
ฆตปัณฑิตชาดกที่ ๑๖ จบ
รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. จตุทวารชาดก ๒. กัณหชาดก
๓. จตุโปสถิยชาดก ๔. สังขชาดก
๕. จูฬโพธิชาดก ๖. มัณฑัพยชาดก
๗. นิโครธชาดก ๘. ตักกลชาดก
๙. มหาธัมมปาลชาดก ๑๐. กุกกุฏชาดก
๑๑. มัฏฐกุณฑลีชาดก ๑๒. พิลารโกสิยชาดก
๑๓. จักกวากชาดก ๑๔. ภูริปัญญชาดก
๑๕. มหามังคลชาดก ๑๖. ฆตปัณฑิตชาดก

ทสกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕๓ }


๑๑. เอกาทสกนิบาต
๑. มาตุโปสกชาดก (๔๕๕)
ว่าด้วยพญาช้างเลี้ยงมารดา
(มารดาพระโพธิสัตว์ได้กล่าวคร่ำครวญว่า)
[๑] เพราะพญาช้างเผือกนั้นจากไป
ไม้อ้อยช้าง ไม้โมกมัน ไม้ช้างน้าว หญ้างวงช้าง
ข้าวฟ่างและลูกเดือยก็เจริญงอกงาม
อนึ่ง ต้นกรรณิการ์ทั้งหลายที่เชิงเขาก็ออกดอกบานสะพรั่ง
[๒] ไม่ว่าจะเป็นบ้าน หรือเมืองไหนก็ตาม
พระราชา หรือราชมหาอำมาตย์ผู้มีเครื่องประดับทองคำ
ย่อมจะบำรุงเลี้ยงซึ่งพญาช้าง
ที่พระเจ้าแผ่นดิน หรือพระราชโอรสทรงใช้ประทับทรง
ไม่ครั่นคร้ามอาจสังหารศัตรูได้ด้วยอาหาร
(พระราชาทรงขอร้องพญาช้างนั้นว่า)
[๓] พญาช้างจงรับเอาอาหารเถิด อย่าได้ผ่ายผอมเลย
งานหลวงนั้นยังมีอยู่เป็นอันมาก ที่ท่านจะกระทำต่อไป
(พระโพธิสัตว์ฟังพระดำรัสนั้นแล้วจึงกราบทูลว่า)
[๔] นางช้างนี้นั้นน่าสงสารจริง ตาบอด ไม่มีผู้นำทาง
เท้าคงจะสะดุดตอดิ้นรนไปจนถึงภูเขาจัณโฑรณะแน่นอน
(พระราชาตรัสถามว่า)
[๕] พญาช้าง นางช้างตาบอดไม่มีผู้นำทาง
เท้าสะดุดตอดิ้นรนไปจนถึงภูเขาจัณโฑรณะ
นางช้างเชือกนั้นเป็นอะไรกับเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕๔ }

๑. มาตุโปสกชาดก (๔๕๕)
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๖] ขอเดชะพระมหาราช นางช้างตาบอดไม่มีผู้นำทาง
เท้าสะดุดตอดิ้นรนไปจนถึงภูเขาจัณโฑรณะ
นางช้างเผือกนั้นเป็นมารดาของข้าพระพุทธเจ้าเอง
(พระราชาสดับเหตุผลนั้นแล้วจึงได้ตรัสว่า)
[๗] ท่านทั้งหลายจงปล่อยพญาช้างที่เลี้ยงมารดานี้ไป
ขอพญาช้างจงอยู่ร่วมกับมารดาและพวกญาติทั้งปวงเถิด
(พระศาสดาตรัสคาถาต่อไปว่า)
[๘] พญาช้างพอพ้นจากเครื่องผูก
ซึ่งพระเจ้ากาสีทรงสั่งกลับ
พักอยู่ครู่หนึ่ง แล้วได้ไปยังภูเขา
[๙] ต่อแต่นั้นมา พญาช้างได้ไปยังสระบัวที่มีน้ำเยือกเย็น
ซึ่งพวกช้างอาศัยอยู่ ใช้งวงนำน้ำมาพ่นรดมารดา
(มารดาพระโพธิสัตว์เมื่อจะด่าจึงกล่าวว่า)
[๑๐] ฝนอะไรนี้ไม่ดีเลย ไม่ตกต้องตามฤดูกาล
ลูกรักของเราที่คอยดูแลปรนนิบัติเราก็พลอยหายไปด้วย
(พระโพธิสัตว์เมื่อจะปลอบโยนมารดาจึงกล่าวว่า)
[๑๑] ลุกขึ้นเถิดแม่ มัวนอนอยู่ทำไม ลูกรักของแม่มาแล้ว
พระเจ้ากาสีผู้ปรีชาญาณ มีบริวารยศทรงปล่อยลูกมาแล้ว
(มารดาพระโพธิสัตว์เมื่อจะอนุโมทนาจึงกล่าวว่า)
[๑๒] ขอพระราชาผู้ทรงทนุบำรุงแคว้นกาสีให้เจริญรุ่งเรือง
ซึ่งทรงปล่อยลูกของเราผู้ประพฤติอ่อนน้อม
ต่อผู้หลักผู้ใหญ่ทุกเมื่อ ขอจงทรงมีพระชนมายุยืนนาน
มาตุโปสกชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๒. ชุณหชาดก (๔๕๗)
๒. ชุณหชาดก (๔๕๖)
ว่าด้วยพระเจ้าชุณหะ
(พราหมณ์เมื่อจะสนทนาจึงกล่าวกราบทูลว่า)
[๑๓] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นจอมชน
ขอพระองค์ทรงสดับวาจาของข้าพระองค์
ข้าพระองค์มาถึงที่นี้เพราะความประสงค์อย่างหนึ่งในพระเจ้าชุณหะ
ขอเดชะพระองค์ผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์ทั้งหลาย
บัณฑิตทั้งหลายไม่พูดกับพราหมณ์
ผู้เดินทางมายืนคอยขออยู่ว่า พึงไปข้างหน้าเถิด
(พระราชาทรงสดับคำของพราหมณ์จึงตรัสว่า)
[๑๔] พราหมณ์ เราฟังอยู่ เราคอยอยู่ เชิญพูดเถิด
ท่านมาถึงที่นี้เพราะประสงค์อะไร
หรือท่านประสงค์ประโยชน์อะไรในเราจึงมาถึงที่นี้
เชิญพูดมาเถิดพราหมณ์
(พราหมณ์และพระราชากล่าวโต้ตอบกันว่า)
[๑๕] ขอพระองค์ทรงพระราชทานบ้านส่วย ๕ ตำบล
สาวใช้ ๑๐๐ คน โค ๗๐๐ ตัว ทองคำเกิน ๑,๐๐๐ แท่ง
ภรรยา ๒ คนที่มีชาติสกุลเหมาะสมแก่ข้าพระองค์
[๑๖] พราหมณ์ ตบะอันน่าสะพรึงกลัวของท่านมีอยู่หรือ
มนต์อันวิจิตรของท่านมีอยู่หรือ
ยักษ์บางพวกที่เชื่อฟังท่านมีอยู่หรือ
อีกอย่างหนึ่ง ประโยชน์ที่เราได้ทำไว้แล้วท่านรู้ชัดหรือ
[๑๗] ตบะของข้าพระองค์ก็ไม่มี แม้มนต์ก็ไม่มี
แม้พวกยักษ์บางเหล่าที่เชื่อฟังข้าพระองค์ก็ไม่มี
ถึงประโยชน์ที่พระองค์ได้ทรงกระทำไว้แล้วข้าพระองค์ก็ไม่ทราบชัด
เพียงแต่ข้าพระองค์ได้พบกับฝ่าพระบาทมาก่อนเท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๒. ชุณหชาดก (๔๕๗)
[๑๘] เรารู้ว่า ครั้งนี้เป็นการพบครั้งแรก
ก่อนหน้านี้เราไม่รู้จักท่าน
เราถามแล้ว ท่านจงบอกความข้อนี้แก่เราว่า
เราได้พบกันเมื่อไรหรือที่ไหน
[๑๙] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ
เราทั้งหลายได้พักอยู่ที่ตักกศิลา
ในเมืองของพระเจ้าคันธารราชอันน่ารื่นรมย์
ณ สถานที่นั้น ในเวลากลางคืนที่มืดมิดเราได้กระทบไหล่กัน
[๒๐] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นจอมชน
เราทั้ง ๒ นั้นยืนอยู่ตรงนั้น ได้สนทนาชวนให้ระลึกถึงกัน ณ ที่นั้น
อันนั้นเป็นการพบกันของเราเท่านั้นเอง
ต่อจากนั้น ไม่ว่าภายหลังหรือเมื่อก่อน
ไม่มีการเจอะเจอกันเลย
[๒๑] พราหมณ์ การสมาคมกับคนดี
ย่อมมีในมนุษย์ทั้งหลายเป็นบางครั้ง
ในกาลบางคราวบัณฑิตทั้งหลายไม่ทำการสมาคมหรือสันถวไมตรี
หรือแม้คุณความดีที่เขาทำไว้ในกาลก่อนให้เสื่อมสูญไป
[๒๒] ส่วนคนพาลทั้งหลายย่อมทำการสมาคมหรือสันถวไมตรี
หรือคุณความดีที่ทำไว้ในกาลก่อนให้เสื่อมสูญไปบ้าง
คุณเป็นอันมากที่ทำไว้ในคนพาลทั้งหลายก็เสื่อมสูญไปเองบ้าง
เป็นความจริง คนพาลทั้งหลายเป็นคนอกตัญญู
[๒๓] ส่วนนักปราชญ์ทั้งหลายไม่ทำการสมาคมหรือสันถวไมตรี
หรือแม้คุณความดีที่ทำไว้ในกาลก่อนให้เสื่อมสูญไป
คุณความดีที่ทำไว้ในนักปราชญ์ทั้งหลายแม้เล็กน้อย
ก็ไม่เสื่อมสลายไป
เป็นความจริง นักปราชญ์ทั้งหลายเป็นคนมีความกตัญญูด้วยดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๓. ธัมมเทวปุตตชาดก (๔๕๗)
[๒๔] เราจะให้บ้านส่วยแก่ท่าน ๕ หมู่บ้าน
สาวใช้ ๑๐๐ คน โค ๗๐๐ ตัว ทองคำเกิน ๑,๐๐๐ แท่ง
ภรรยา ๒ คนที่มีชาติสกุลเหมาะสมแก่ท่าน
[๒๕] ขอเดชะพระมหาราช การสมาคมของสัตบุรุษเป็นอย่างนี้
ขอเดชะ พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งแคว้นกาสี
ข้าพระองค์เป็นเสมือนดวงจันทร์ที่รายล้อมด้วยหมู่ดาว
เพราะข้าพระองค์ได้สมาคมกับพระองค์ในวันนี้
ชุณหชาดกที่ ๒ จบ
๓. ธัมมเทวปุตตชาดก (๔๕๗)
ว่าด้วยธรรมเทพบุตร
(ธรรมเทพบุตรเชิญอธรรมเทพบุตรมาแล้วกล่าวว่า)
[๒๖] ข้าพเจ้าเป็นผู้สร้างยศ เป็นผู้สร้างบุญ
จนเป็นที่ชมเชยของสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายทุกเมื่อ
อธรรมเทพบุตร ข้าพเจ้าเป็นฝ่ายธรรม
เป็นผู้ที่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายบูชาแล้ว
จึงเป็นผู้ควรแก่หนทาง ขอท่านจงให้หนทางเถิด
(อธรรมเทพบุตรกล่าวว่า)
[๒๗] ข้าพเจ้าขึ้นยานฝ่ายอธรรมอย่างมั่นคง
มิได้หวาดหวั่น เป็นผู้ทรงพลัง
เพราะเหตุไร ข้าพเจ้านั้นจะต้องให้หนทาง
ที่ไม่เคยให้แก่ท่านในวันนี้เล่า
(ธรรมเทพบุตรกล่าวว่า)
[๒๘] ธรรมแลปรากฏขึ้นก่อน ภายหลังอธรรมจึงเกิดขึ้นในโลก
ข้าพเจ้าเป็นผู้เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุด และเก่าแก่กว่า
เพราะเหตุนั้น จงหลีกทางให้พี่ไปเถิด น้องชาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๓. ธัมมเทวปุตตชาดก (๔๕๗)
(อธรรมเทพบุตรกล่าวว่า)
[๒๙] ข้าพเจ้าก็จะไม่ให้หนทางแก่ท่านเพราะการขอร้อง
เพราะการเจรจาได้ถูกต้อง หรือเพราะเป็นผู้ควรแก่หนทาง
วันนี้เราทั้ง ๒ จงรบกันเถิด
ผู้ใดชนะในการรบ หนทางเป็นของผู้นั้น
(ธรรมเทพบุตรกล่าวว่า)
[๓๐] ข้าพเจ้าเป็นผู้ขึ้นชื่อลือชาไปทั่วทิศ
มีพลังมหาศาล มียศหาประมาณมิได้ ไม่มีผู้เทียมเท่า
ประกอบด้วยคุณทั้งปวง เป็นฝ่ายธรรม
อธรรมเทพบุตร ท่านจะชนะได้อย่างไร
[๓๑] คนเขาใช้เหล็กเท่านั้นตีทอง หาใช้ทองตีเหล็กไม่
วันนี้ถ้าอธรรมกำจัดธรรมได้
เหล็กก็จะพึงน่าดูเหมือนทองคำ
[๓๒] อธรรมเทพบุตร ถ้าท่านมีกำลังในการรบ
ผู้หลักผู้ใหญ่และครูของท่านก็จะไม่มี
จะด้วยความพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม
ข้าพเจ้าก็จะยอมให้หนทางแก่ท่าน
แม้คำหยาบคายของท่าน ข้าพเจ้าก็ยกโทษให้
(พระผู้มีพระภาคครั้นทรงทราบข้อความนี้จึงได้ตรัสว่า)
[๓๓] ก็อธรรมเทพบุตรครั้นได้สดับคำนี้แล้ว
ก็ล้มศีรษะปักลง เท้าชี้ขึ้น รำพึงรำพันอยู่ว่า
เราต้องการจะต่อสู้ ยังไม่ทันได้ต่อสู้
อธรรมเทพบุตรได้ถูกกำจัดแล้วด้วยเหตุเพียงเท่านี้
[๓๔] ธรรมเทพบุตรผู้มีขันติเป็นพลังชนะแล้ว
ฆ่าอธรรมเทพบุตรผู้มีพลังในการรบได้แล้ว
ให้ตกไป ณ ภาคพื้น มีจิตใจปลาบปลื้ม มีพลังกล้าแข็ง
มีความบากบั่นอย่างแท้จริง ขึ้นรถขับไปตามทางนั่นแล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๔. อุทยชาดก (๔๕๘)
[๓๕] ผู้ใดไม่ยกย่องนับถือมารดาบิดา
สมณะและพราหมณ์ในเรือนของตน
ผู้เช่นนั้นหลังจากตายไป ทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้แล้ว
ย่อมตกนรกเหมือนอธรรมเทพบุตรล้มศีรษะปักลงแล้ว
[๓๖] ส่วนผู้ใดยกย่องนับถือมารดาบิดา
สมณะและพราหมณ์ในเรือนของตน
ผู้เช่นนั้นหลังจากตายไป ทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้แล้ว
ย่อมไปสู่สุคติเหมือนธรรมเทพบุตรขึ้นรถขับไป
ธัมมเทวปุตตชาดกที่ ๓ จบ
๔. อุทยชาดก (๔๕๘)
ว่าด้วยพระเจ้าอุทัย
(ท้าวสักกะเมื่อทรงเจรจากับพระราชธิดา จึงตรัสว่า)
[๓๗] พระนางผู้ทรงพระภูษาสะอาด มีพระเพลาแนบสนิท
มีพระวรกายงามหาที่ตำหนิมิได้
เสด็จขึ้นสู่ปราสาท ประทับนั่งอยู่พระองค์เดียว
พระนางผู้มีพระเนตรงามเพียงดังเนตรกินนรี
หม่อมฉันขออนุญาตพระนาง
ขอให้เราได้อยู่ร่วมกันสองคนสักคืนหนึ่งนี้
(ลำดับนั้น พระราชธิดาได้ตรัสว่า)
[๓๘] เมืองนี้มีคูในระหว่างอยู่รายรอบ
มีป้อมปราการและซุ้มประตูอันมั่นคง
มีทหารถือดาบเฝ้าระวังรักษา
ยากที่ใคร ๆ จะเข้ามาได้
[๓๙] อนึ่ง แม้ทหารหนุ่ม ๆ ก็ไม่มีมา เมื่อเป็นเช่นนั้น
เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงต้องการพบข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๔. อุทยชาดก (๔๕๘)
(ท้าวสักกะจึงตรัสว่า)
[๔๐] พระนางผู้เลอโฉม หม่อมฉันเป็นเทพบุตรได้มา
ณ ตำหนักของพระนาง ขอพระนางพึงพอพระทัยหม่อมฉันเถิด
หม่อมฉันขอถวายถาดทองคำซึ่งมีเหรียญทองคำเต็มถาดแด่พระนาง
(พระราชธิดาสดับพระดำรัสนั้นแล้วจึงตรัสว่า)
[๔๑] จะเป็นเทวดา ยักษ์ หรือมนุษย์ก็ตาม
คนอื่นหม่อมฉันไม่ปรารถนา นอกจากพระเจ้าอุทัย
เทพบุตรผู้มีอานุภาพมาก ขอพระองค์เสด็จไปเสียเถิด
และเสด็จไปแล้ว อย่าได้เสด็จกลับมาอีกเลย
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๔๒] พระนางผู้ประกอบด้วยความหมดจด
พระนางอย่าให้ความยินดีในเมถุน
ที่บรรดาสัตว์ผู้บริโภคกามถือว่าเป็นความยินดีชั้นเยี่ยม
ซึ่งเป็นเหตุให้เหล่าสัตว์ประพฤติลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไปเลย
หม่อมฉันขอถวายถาดเงินซึ่งเต็มไปด้วยทองคำแด่พระนาง
(พระราชธิดาตรัสว่า)
[๔๓] ธรรมดาชาย เมื่อจะให้หญิงยินยอม
ย่อมเอาทรัพย์มาประมูลหญิงที่ตนพอใจ
แต่สำหรับพระองค์ตรงกันข้าม
มีสภาพเหนือกว่าเห็นได้ชัด มีทรัพย์น้อยกว่ามาหา
(ท้าวสักกะได้ตรัสว่า)
[๔๔] พระนางผู้มีพระวรกายงดงาม
ธรรมดาอายุและผิวพรรณของหมู่มนุษย์
ในมนุษยโลกย่อมทรุดโทรมไป
เพราะเหตุนั้น แม้ทรัพย์ก็ลดลงตามฉวีวรรณของพระนาง
เพราะวันนี้พระนางทรงชรากว่าเมื่อวาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๔. อุทยชาดก (๔๕๘)
[๔๕] พระราชบุตรีผู้ทรงยศ หม่อมฉันพิเคราะห์เห็นอย่างนี้ว่า
เมื่อวันคืนล่วงไป ฉวีวรรณของพระนางก็ทรุดโทรมไป
[๔๖] พระราชบุตรีผู้มีปรีชา ด้วยวัยนี้แหละ
พระองค์ควรประพฤติพรหมจรรย์
พระองค์จะมีพระฉวีวรรณงดงามยิ่งขึ้น
(พระราชธิดาตรัสว่า)
[๔๗] พวกเทพไม่แก่ชราเหมือนมนุษย์หรือ
ในร่างกายของพวกเทพไม่มีรอยเหี่ยวย่นหรือ
เทพบุตรผู้ทรงอานุภาพมาก หม่อมฉันขอทูลถามพระองค์
ร่างกายของหมู่เทพเป็นอย่างไรหนอ
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๔๘] พวกเทพไม่แก่ชราเหมือนมนุษย์
ในร่างกายของพวกเทพก็ไม่มีรอยเหี่ยวย่น
พวกเทพเหล่านั้นมีวรรณะอันเป็นทิพย์
และโภคะอันไพบูลย์ยิ่งขึ้นไปทุกวัน
(พระราชธิดาตรัสว่า)
[๔๙] หมู่ชนมิใช่น้อยในโลกนี้กลัวอะไรหนอ
ทางอะไรที่ท่านกล่าวไว้โดยลัทธิมิใช่น้อย
เทพบุตรผู้ทรงอานุภาพมาก หม่อมฉันขอทูลถามพระองค์
บุคคลดำรงอยู่ในทางไหนจึงไม่ต้องกลัวปรโลก
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๕๐] บุคคลตั้งวาจาและใจไว้โดยชอบ ไม่กระทำบาปด้วยกาย
เมื่อครอบครองเรือนก็มีข้าวและน้ำมาก เป็นผู้มีศรัทธา
อ่อนโยน รู้จักแบ่งปันกันกิน รู้ความประสงค์ของผู้ขอ
เป็นผู้สงเคราะห์ พูดผูกใจเพื่อน มีวาจาอ่อนหวาน
ดำรงอยู่ในทางนี้ ย่อมไม่กลัวปรโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๔. อุทยชาดก (๔๕๘)
(พระราชธิดาตรัสว่า)
[๕๑] เทพบุตร พระองค์ย่อมพร่ำสอนหม่อมฉันเหมือนแม่เหมือนพ่อ
หม่อมฉัน ขอทูลถามพระองค์ผู้มีวรรณงดงาม
พระองค์ผู้มีพระวรกายงดงามเป็นใครกันหนอ
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๕๒] พระนางผู้เลอโฉม หม่อมฉันคือพระเจ้าอุทัย
มาที่นี้เพราะมีสัญญากันไว้ หม่อมฉันบอกพระองค์แล้วก็จะไปละ
หม่อมฉันพ้นสัญญากับพระองค์แล้ว
(พระราชธิดาตรัสว่า)
[๕๓] ถ้าพระองค์เป็นพระเจ้าอุทัยจริง
เสด็จมาที่นี้เพราะมีสัญญากันไว้
ขอเดชะพระราชบุตร ขอพระองค์จงพร่ำสอนหม่อมฉัน
ตราบเท่าที่จะได้มาพบกันอีกครั้งหนึ่ง
(พระโพธิสัตว์เมื่อจะทรงสอน จึงตรัสว่า)
[๕๔] วัยย่อมผ่านไปอย่างรวดเร็ว ขณะเวลาก็เหมือนกัน
ไม่หยุดอยู่กับที่ สัตว์ทั้งหลายย่อมตายแน่นอน
สรีระร่างกายไม่ยั่งยืน ย่อมจะทรุดโทรมไป
แม่อุทัยภัทรา เธอจงอย่าประมาท ประพฤติธรรมเถิด
[๕๕] แผ่นดินทั้งสิ้นเต็มไปด้วยทรัพย์
พึงเป็นของพระราชาผู้เดียวเท่านั้น ไม่พึงตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่น
บุคคลผู้ยังไม่ปราศจากราคะ ก็ย่อมจะละทิ้งทรัพย์แม้นั้นไป
แม่อุทัยภัทรา เธอจงอย่าประมาท ประพฤติธรรมเถิด
[๕๖] มารดา บิดา พี่น้องทั้งหลาย แม้ภรรยาสินไถ่ก็ดี
แม้ชนเหล่านั้นก็จะต้องพลัดพรากจากกันและกันไป
แม่อุทัยภัทรา เธอจงอย่าประมาท ประพฤติธรรมเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๕. ปานียชาดก (๔๕๙)
[๕๗] แม่อุทัยภัทรา เธอรู้ว่าร่างกายเป็นอาหารของสัตว์อื่น
รู้ว่าสุคติและทุคติในสังสารวัฏเป็นสภาพที่อยู่อันต่ำต้อยแล้ว
จงอย่าประมาท ประพฤติธรรมเถิด
(พระราชธิดาเลื่อมใสแล้วเมื่อจะทรงชมเชย จึงตรัสคาถาสุดท้ายว่า)
[๕๘] เทพบุตรนี้ตรัสดีแล้ว ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อย
และชีวิตนั้นลำบาก อยู่ได้นิดหน่อย ประกอบไปด้วยทุกข์
หม่อมฉันนั้นจะละทิ้งเมืองสุรุนธนะแคว้นกาสีไปบวชคนเดียว
อุทยชาดกที่ ๔ จบ
๕. ปานียชาดก (๔๕๙)
ว่าด้วยการรังเกียจบาปเพราะเผลอไปดื่มน้ำ
(พระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อจะถวายพระพรแก่พระราชา จึงได้ตรัสว่า)
[๕๙] อาตมาเป็นมิตรของชายคนหนึ่งได้ดื่มน้ำของมิตรที่เขามิได้ให้
เหตุนั้น ภายหลังจึงรังเกียจว่า นั้นเป็นความชั่วเราได้ทำแล้ว
เราอย่าได้ทำความชั่วอีกเลย
เพราะเหตุนั้น อาตมาจึงบวช (๑)
[๖๐] ก็อาตมาเห็นภรรยาของคนอื่นแล้วเกิดความรัก
เหตุนั้น ภายหลังจึงรังเกียจว่า นั้นเป็นความชั่วเราได้ทำแล้ว
เราอย่าได้ทำความชั่วอีกเลย
เพราะเหตุนั้น อาตมาจึงบวช (๒)
[๖๑] ขอถวายพระพรมหาบพิตร พวกโจรในป่าได้จับบิดากับอาตมา
อาตมารู้อยู่ถูกพวกโจรเหล่านั้นถาม
ก็ได้ตอบเรื่องนั้นเป็นอย่างอื่นไป
[๖๒] เหตุนั้น ภายหลังจึงรังเกียจว่า นั้นเป็นความชั่วเราได้ทำแล้ว
เราอย่าได้ทำความชั่วอีกเลย
เพราะเหตุนั้น อาตมาจึงบวช (๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๕. ปานียชาดก (๔๕๙)
[๖๓] เมื่อเขาตั้งพิธีบูชายัญชื่อโสมยาคะ๑
พวกมนุษย์ได้กระทำปาณาติบาต
อาตมาได้ยินยอมอนุญาตให้แก่พวกเขา
[๖๔] เหตุนั้น ภายหลังจึงรังเกียจว่า นั้นเป็นความชั่วเราได้ทำแล้ว
เราอย่าได้ทำความชั่วอีกเลย
เพราะเหตุนั้น อาตมาจึงบวช (๔)
[๖๕] เมื่อก่อน ชนทั้งหลายในบ้านของอาตมา
ได้สำคัญสุราและเมรัยเหมือนน้ำหวาน
ได้ปรุงน้ำเมาเพื่อความหายนะแก่ชนจำนวนมาก
อาตมาได้ยินยอมอนุญาตให้แก่พวกเขา
[๖๖] เหตุนั้น ภายหลังจึงรังเกียจว่า นั้นเป็นความชั่วเราได้ทำแล้ว
เราอย่าได้ทำความชั่วอีกเลย
เพราะเหตุนั้น อาตมาจึงบวช (๕)
(พระราชาทรงติเตียนกามว่า)
[๖๗] น่าติเตียนจริง ๆ กามเป็นอันมากมีกลิ่นเหม็น
มีขวากหนามมาก เราซ่องเสพอยู่ ไม่ได้ความสุขเช่นนั้นเลย
(พระอัครมเหสีทรงสรรเสริญความสุขในกามว่า)
[๖๘] กามทั้งหลายน่าพอใจมาก มีความสุข
สุขที่ยิ่งกว่ากามไม่มี คนผู้ซ่องเสพกามย่อมขึ้นสวรรค์
(พระโพธิสัตว์ติเตียนกามว่า)
[๖๙] กามทั้งหลายน่ายินดีน้อย มีทุกข์มาก
ทุกข์ที่ยิ่งกว่ากามไม่มี คนผู้ซ่องเสพกามย่อมตกนรก

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า โสมยาคะ หมายความว่า เมื่อมีงานมหรสพใหม่เกิดขึ้น พวกมนุษย์พากันทำพลีกรรมแก่ยักษ์
ฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า พิธีโสมยาคะ (ขุ.ชา.อ. ๖/๖๓/๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๖. ยุธัญชยชาดก (๔๖๐)
[๗๐] กามทั้งหลายมีทุกข์มากกว่าการใช้ดาบที่ลับดีแล้วฟัน
ใช้กริชที่ชุ่มด้วยน้ำมันแทง และใช้หอกพุ่งปักที่อก
[๗๑] กามทั้งหลายมีทุกข์มากกว่าการถูกฝังในหลุมถ่านเพลิง
ที่ลุกโพลงลึกเกินชั่วคนแล้วใช้ผาลที่เผาร้อนไถไปทั้งวัน
[๗๒] กามทั้งหลายมีทุกข์มากกว่าการดื่มยาพิษที่ร้ายแรง
กว่าการใช้น้ำมันที่เดือดพล่านรด
กว่าการตกกระทะทองแดงที่กำลังละลายคว้าง
ปานียชาดกที่ ๕ จบ
๖. ยุธัญชยชาดก (๔๖๐)
ว่าด้วยพระราชกุมารยุธัญชัย
(พระโพธิสัตว์ทูลขอบรรพชาว่า)
[๗๓] ขอเดชะพระมหาราช ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระองค์
ผู้ทรงเป็นจอมทัพ ซึ่งแวดล้อมไปด้วยมิตรและอำมาตย์
ข้าพระองค์จักบวช ขอพระองค์ผู้สมมติเทพ
โปรดพระราชทานการบวชนั้นเถิด
(พระราชาตรัสห้ามว่า)
[๗๔] ถ้าเจ้ายังมีความพร่องด้วยกามทั้งหลาย
พ่อจะเพิ่มเติมให้แก่เจ้า
พ่อจะห้ามคนที่เบียดเบียนเจ้า
ลูกยุธัญชัยอย่าบวชเลย
(พระโพธิสัตว์กุมารกราบทูลว่า)
[๗๕] ข้าพระองค์ไม่มีความพร่องด้วยกามทั้งหลาย
คนที่เบียดเบียนข้าพระองค์ก็ไม่มี
แต่ข้าพระองค์ปรารถนาจะกระทำที่พึ่งซึ่งชรากำจัดไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๖. ยุธัญชยชาดก (๔๖๐)
(พระศาสดาประกาศข้อความนั้นว่า)
[๗๖] พระราชบุตรทูลวิงวอนพระราชบิดา
และพระราชบิดาก็ทรงวิงวอนพระราชบุตร
ชาวนิคมก็ทูลวิงวอนว่า พ่อยุธัญชัยกุมาร
อย่าผนวชเลย พ่อเอ๋ย
(พระโพธิสัตว์กุมารกราบทูลว่า)
[๗๗] ข้าแต่ทูลกระหม่อมผู้ทรงเป็นจอมทัพ
พระองค์โปรดอย่าทรงห้ามข้าพระองค์ผู้จะบวชเลย
ขอข้าพระองค์อย่าได้ชื่อว่า เป็นผู้ประมาทเพราะกามทั้งหลาย
อย่าตกอยู่ในอำนาจของชราเลย
(พระมารดาตรัสว่า)
[๗๘] ลูกเอ๋ย แม่ขอร้องลูก ขอห้ามลูก
แม่ต้องการเห็นลูกนาน ๆ ลูกยุธัญชัย อย่าบวชเลย
(พระโพธิสัตว์กุมารกราบทูลว่า)
[๗๙] อายุของมนุษย์ทั้งหลายเหมือนน้ำค้างที่ยอดหญ้า
พอพระอาทิตย์ขึ้นก็แห้งไป
หม่อมแม่ พระองค์อย่าทรงห้ามหม่อมฉันเลย
(พระโพธิสัตว์ทูลเชิญพระราชบิดามาแล้วกราบทูลว่า)
[๘๐] ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ
ขอทรงให้ราชบุรุษรีบเชิญเสด็จพระราชมารดานี้ขึ้นพระราชยานเถิด
ขอพระราชมารดาอย่าทรงทำอันตรายแก่ข้าพระองค์
ผู้กำลังจะข้ามทางกันดารเลย
(พระเทวีทรงคร่ำครวญอยู่ว่า)
[๘๑] รีบไปกราบทูลว่า ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
รัมมนครจะเป็นเมืองร้าง ถ้าพระเจ้าสัพพทัตทรงอนุญาต
ให้ยุธัญชัยราชบุตรทรงผนวชแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๗. ทสรถชาดก (๔๖๑)
[๘๒] พระราชกุมารพระองค์ใดประเสริฐกว่าพระราชบุตรพันพระองค์
ยังทรงพระเยาว์ มีพระฉวีวรรณประดุจทองคำ
พระราชกุมารพระองค์นี้นั้นยังทรงมีพระกำลังแข็งแรง
ทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ผนวชแล้ว
(พระโพธิสัตว์กุมารกราบทูลว่า)
[๘๓] พระราชกุมารทั้ง ๒ พระองค์ คือ ยุธัญชัยกุมาร
และยุธิฏฐิลกุมารทรงละพระราชมารดาและพระราชบิดา
ตัดเครื่องข้องของมฤตยูผนวชแล้ว
ยุธัญชัยชาดกที่ ๖ จบ
๗. ทสรถชาดก (๔๖๑)
ว่าด้วยพระเจ้าทศรถ
(พระรามบัณฑิตกล่าวว่า)
[๘๔] มานี่ พ่อลักษณ์และแม่สีดา เจ้าทั้ง ๒ จงลงน้ำ
น้องภรตนี้กล่าวอย่างนี้ว่า พระเจ้าทศรถสวรรคตแล้ว
(ภรตกุมารถามรามบัณฑิตว่า)
[๘๕] เจ้าพี่ราม เพราะอานุภาพอะไร
เจ้าพี่จึงไม่ทรงเศร้าโศกถึงเหตุที่ควรเศร้าโศก
ความทุกข์จึงไม่ครอบงำเจ้าพี่
เพราะทรงสดับว่า ทูลกระหม่อมพ่อสวรรคตแล้ว
(พระรามบัณฑิตประกาศความไม่เที่ยงว่า)
[๘๖] บรรดาคนทั้งหลายผู้พร่ำเพ้อถึงอยู่เป็นอันมาก
ไม่มีสักคนหนึ่งที่สามารถจะรักษาชีวิตไว้ได้
วิญญูชนคนมีปัญญาจะพึงยังตนให้เดือดร้อนเพื่ออะไรเล่า
[๘๗] เพราะว่าคนหนุ่ม คนแก่ คนโง่ คนฉลาด
คนมั่งคั่งร่ำรวย คนจนก็ตาม ล้วนจะต้องตายทั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๗. ทสรถชาดก (๔๖๑)
[๘๘] สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมามีภัยต้องตายแน่นอน
เหมือนผลไม้สุกมีอันตรายต้องหล่นแน่นอน
[๘๙] ชนเป็นจำนวนมาก บางพวกเห็นกันเมื่อตอนเช้า
ในตอนเย็นกลับไม่ปรากฏ
บางพวกเห็นกันในตอนเย็น พอรุ่งเช้ากลับไม่ปรากฏ
[๙๐] หากผู้ที่หลงคร่ำครวญเบียดเบียนตนอยู่
จะพึงนำประโยชน์อะไรมาได้บ้าง
บัณฑิตผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ก็จะพึงกระทำเช่นนั้นบ้าง
[๙๑] ผู้ที่เบียดเบียนตนเองย่อมจะซูบผอม
ไม่ผ่องใสเพราะการคร่ำครวญนั้น
สัตว์ทั้งหลายผู้ละไปสู่ปรโลกก็คุ้มครองตนไม่ได้
การคร่ำครวญเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์
[๙๒] ที่พำนักอาศัยที่ร้อน บุคคลพึงใช้น้ำดับได้ฉันใด
ข้ออุปไมยก็ฉันนั้น ความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นแล้ว
นรชนคนผู้เป็นปราชญ์มีการสดับฟัง มีปัญญา เป็นบัณฑิต
พึงกำจัดเสียโดยพลันเหมือนลมพัดนุ่น
[๙๓] สัตว์ย่อมตายคนเดียว เกิดก็คนเดียวในสกุล
ส่วนการคบหากันของสรรพสัตว์มีความเกี่ยวข้องกันเป็นอย่างยิ่ง
[๙๔] เพราะเหตุนั้นแหละ นักปราชญ์ผู้เป็นพหูสูต
พิจารณาโลกนี้และโลกหน้า เพราะรู้ทั่วถึงธรรม
แม้ความเศร้าโศกใหญ่หลวงก็แผดเผาจิตใจไม่ได้
[๙๕] เรานั้นจักให้ จักบริโภค จักเลี้ยงดูญาติทั้งหลาย
และจักคุ้มครองมหาชนที่เหลือ นั่นเป็นหน้าที่ของท่านผู้รู้
[๙๖] พระรามบัณฑิตผู้มีพระศองามดุจทองคำ มีพระพาหาใหญ่
ทรงครอบครองราชสมบัติอยู่ ๑๖,๐๐๐ ปี
ทสรถชาดกที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๙. สุปปารกชาดก (๔๖๓)
๘. สังวรชาดก (๔๖๒)
ว่าด้วยพระเจ้าสังวร
(พระอุโบสถกุมารตรัสกับสังวรกุมารว่า)
[๙๗] ขอเดชะพระมหาราช พระราชบิดาผู้เป็นพระมหากษัตริย์
ทรงทราบอยู่ถึงสีลวัตรของพระองค์ ทรงยกย่องพระกุมารเหล่านี้
แต่หายกย่องพระองค์ด้วยชนบทใดชนบทหนึ่งไม่
[๙๘] เมื่อพระมหาราชผู้สมมติเทพทรงพระชนม์อยู่
หรือทิวงคตแล้วก็ตาม
พระญาติทั้งหลายเมื่อเห็นประโยชน์ของตน
จึงพากันยอมรับพระองค์
[๙๙] ขอเดชะพระเจ้าสังวร ด้วยพระจริยาวัตรอะไร
พระองค์จึงทรงดำรงอยู่เหนือพระเจ้าพี่ผู้มีพระชาติเสมอกัน
เพราะเหตุไร บรรดาพระญาติที่มาประชุมกันแล้ว
จึงไม่ล่วงเกินพระองค์
(พระเจ้าสังวรมหาราชตรัสคุณของพระองค์ว่า)
[๑๐๐] พระราชบุตร หม่อนฉันไม่ริษยาสมณะทั้งหลาย
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ย่อมนอบน้อมสมณะเหล่านั้นโดยเคารพ
ย่อมกราบเท้าสมณะผู้คงที่ทั้งหลาย
[๑๐๑] สมณะเหล่านั้นย่อมพร่ำสอนหม่อมฉัน
ผู้ประกอบแล้วในพระธรรมคุณ เชื่อฟัง
ไม่ริษยาสมณะผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลาย
ยินดีแล้วในพระธรรมคุณ
[๑๐๒] หม่อมฉันได้สดับคำของสมณะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่เหล่านั้นแล้ว ไม่ดูหมิ่นอะไร ๆ
ใจของหม่อมฉันยินดีในธรรมเป็นนิตย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๙. สุปปารกชาดก (๔๖๓)
[๑๐๓] พลช้าง ราชองครักษ์ พลรถ พลราบ
พลเหล่านั้นหม่อมฉันก็ไม่ตัดเบี้ยเลี้ยง
และรายได้ประจำที่ได้ตั้งไว้
[๑๐๔] อนึ่ง หม่อมฉันมีมหาอำมาตย์และมนตรีผู้คอยรับใช้ช่วยจัดการ
กรุงพาราณสีให้มีมังสาหาร สุรา และข้าวน้ำจำนวนมาก
[๑๐๕] อนึ่ง แม้พ่อค้าทั้งหลายที่มาจากแคว้นต่าง ๆ ก็พากันร่ำรวย
หม่อมฉันก็จัดการคุ้มครองพ่อค้าเหล่านั้น
ข้าแต่พระเจ้าพี่อุโบสถ ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด
(พระอุโบสถกุมารได้สดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสว่า)
[๑๐๖] ขอเดชะพระเจ้าสังวร นัยว่า
ขอพระองค์จงครองราชสมบัติโดยธรรม
แทนพระญาติทั้งหลาย
อนึ่ง ขอพระองค์ผู้มีพระปัญญาและทรงเป็นบัณฑิต
เกื้อกูลแก่พระญาติทั้งหลายเถิด
[๑๐๗] พระองค์ผู้อันพระญาติแวดล้อมแล้วอย่างนี้
ทั้งได้สะสมรัตนะต่าง ๆ ไว้มากมาย
ศัตรูทั้งหลายย่อมข่มเหงไม่ได้
เหมือนกับพระอินทร์ที่จอมอสูรราวีไม่ได้
สังวรชาดกที่ ๘ จบ
๙. สุปปารกชาดก (๔๖๓)
ว่าด้วยพ่อค้าสุปปารกะ
(พวกพ่อค้ากล่าวว่า)
[๑๐๘] มนุษย์ทั้งหลายมีจมูกแหลม ย่อมโผล่ขึ้น ดำลง
ท่านสุปปารกะ พวกเราขอถาม ทะเลนี้ชื่ออะไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗๑ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น