Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๘-๕ หน้า ๒๔๙ - ๓๑๐

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘-๕ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๓๗] หม่อมฉันเป็นผู้ประเสริฐ
เพราะทาน ความสำรวม และความฝึก
หม่อมฉันได้อุปัฏฐากดาบสเห็นปานนี้
ที่บำเพ็ญวัตรซึ่งไม่มีวัตรอื่นยิ่งกว่า
ละคณะไปอยู่ผู้เดียวมีจิตเป็นสมาธิ
[๔๓๘] หม่อมฉันจักนอบน้อมนรชนผู้มีชาติและไม่มีชาติ
ผู้ปฏิบัติตรงตลอดกาลเป็นนิตย์
เพราะเหล่าสัตว์เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
[๔๓๙] ฉะนั้น วรรณะทั้งปวงที่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ย่อมตกนรกเบื้องต่ำ วรรณะทั้งปวงย่อมบริสุทธิ์ได้
เพราะประพฤติธรรมสูงสุด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๔๐] ท้าวมฆวานสุชัมบดีเทวราชครั้นตรัสพระดำรัสนี้แล้ว
จึงทรงสั่งสอนพระเจ้าเนมิผู้ครองแคว้นวิเทหะแล้ว
ได้เสด็จจากไปสู่หมู่เทพชาวสวรรค์
(ท้าวสักกเทวราชครั้นตรัสอย่างนั้นแล้ว จึงตรัสเหตุนั้นอีกว่า)
[๔๔๑] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย
ผู้มาประชุมกัน ณ ที่นี้ประมาณเท่าใด
จงตั้งใจฟังคุณเป็นอันมากทั้งสูงและต่ำนี้
ของเหล่ามนุษย์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม
[๔๔๒] เหมือนพระเจ้าเนมินี้ผู้เป็นบัณฑิตมีพระประสงค์กุศล
เป็นพระราชาผู้ทรงปราบอริราชศัตรูได้
ได้ทรงให้ทานแก่ชาวแคว้นวิเทหะทั้งปวง
[๔๔๓] เมื่อพระองค์ทรงบริจาคทานนั้นอยู่
ก็ได้เกิดพระดำริขึ้นว่า ทานก็ดี พรหมจรรย์ก็ดี
อย่างไหนเล่าจะมีผลมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(มหาชนร่าเริงยินดี จึงกล่าวว่า)
[๔๔๔] ความขนพองสยองเกล้าที่ไม่เคยมีมาแล้วหนอ
ได้เกิดขึ้นแล้วในโลก
รถทิพย์ได้ปรากฏแก่พระเจ้าวิเทหะผู้ทรงยศ
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๔๕] มาตลีเทพบุตรผู้เป็นเทพสารถีมีฤทธิ์มาก
ได้เชื้อเชิญพระเจ้าวิเทหะผู้ครองกรุงมิถิลาว่า
[๔๔๖] ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐเป็นใหญ่ในทิศ
ขอเชิญเสด็จขึ้นรถพระที่นั่งนี้เถิด
เทพชั้นดาวดึงส์พร้อมด้วยพระอินทร์ประสงค์จะเฝ้าพระองค์
เพราะเทพเหล่านั้นกำลังระลึกถึง
นั่งกล่าวสรรเสริญคุณของพระองค์อยู่ ณ สุธรรมสภา
[๔๔๗] ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหะผู้ครองกรุงมิถิลา
ผู้ทรงธรรม ด่วนรีบเสด็จลุกขึ้นจากพระราชอาสน์
บ่ายพระพักตร์ขึ้นสู่รถพระที่นั่ง
[๔๔๘] มาตลีเทพบุตรได้ทูลถามพระเจ้าเนมิผู้เสด็จขึ้นรถทิพย์แล้วว่า
ข้าแต่พระราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเป็นใหญ่ในทิศ
ข้าพระองค์จะนำพระองค์ไปทางไหน
คือ ทางที่คนทำบาปหรือทำบุญไว้
(ลำดับนั้น พระเจ้าเนมิจึงตรัสกับมาตลีเทพสารถีนั้นว่า)
[๔๔๙] มาตลีเทพสารถี ขอให้ท่านจงนำเราไปทั้ง ๒ ทางนั่นแหละ
คือ ทางที่คนทำบาปและทางที่คนทำบุญไว้
(ต่อจากนั้น มาตลีเทพสารถีทูลถามว่า)
[๔๕๐] ข้าแต่พระราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเป็นใหญ่ในทิศ
ข้าพระองค์จะนำเสด็จพระองค์ไปทางไหนก่อน
คือ ทางที่คนทำบาปหรือทางที่คนทำบุญไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(พระเจ้าเนมิตรัสว่า)
[๔๕๑] เราจะดูนรกซึ่งเป็นที่อยู่ของเหล่านรชนที่มีกรรมเป็นบาป
สถานที่อยู่ของเหล่านรชนที่มีกรรมหยาบช้า
และคติของเหล่านรชนผู้ทุศีลก่อน
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๕๒] มาตลีเทพสารถีฟังพระดำรัสของพระราชาแล้ว
จึงแสดงแม่น้ำที่ชื่อเวตตรณี๑ ที่ข้ามได้ยาก
ประกอบด้วยน้ำด่างที่ร้อนเดือดพล่าน
เปรียบด้วยเปลวเพลิง
[๔๕๓] พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรสัตว์ผู้ตกอยู่ในแม่น้ำเวตตรณี
ที่ข้ามได้ยาก จึงได้ตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า
มาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นสัตว์นรกเหล่านี้ผู้ตกอยู่ในแม่น้ำเวตตรณี
เราขอถามท่าน สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรหนอ
จึงตกลงสู่แม่น้ำเวตตรณี
[๔๕๔] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
จึงได้ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๕๕] ชนเหล่าใดในมนุษยโลก ผู้มีกำลัง มีกรรมอันเป็นบาป
ย่อมเบียดเบียน ด่าว่าผู้อื่นซึ่งมีกำลังน้อย
ชนเหล่านั้นผู้มีกรรมหยาบช้า
ทำบาปแล้วย่อมตกลงสู่แม่น้ำเวตตรณี

เชิงอรรถ :
๑ แม่น้ำชื่อเวตตรณี เป็นแม่น้ำที่ตั้งขึ้นตามฤดูซึ่งมีกรรมเป็นเหตุ เหล่านายนิรยบาลในนรกนั้นถืออาวุธ
มีดาบ หอก หอกซัด ฉมวก และพลองเป็นต้นที่ลุกเป็นไฟ เข้าประหาร ทิ่มแทง ทุบตีสัตว์นรกทั้งหลาย
(ขุ.ชา.อ. ๙/๔๕๒/๑๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๕๖] ฝูงสุนัขดำ ฝูงสุนัขด่าง ฝูงแร้ง ฝูงกาปากเหล็กที่น่ากลัว
รุมกัดจิกกินสัตว์นรก ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นฝูงสัตว์รุมกัดจิกกินสัตว์นรก
ท่านมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน
สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงถูกฝูงกาปากเหล็กรุมกัดจิกกิน
[๔๕๗] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๕๘] ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น
มีธรรมลามก บริภาษ เบียดเบียน ด่าว่าสมณะและพราหมณ์
ชนเหล่านั้นผู้มีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้ว
จึงถูกฝูงกาปากเหล็กรุมกัดจิกกิน
(พระเจ้าเนมิทรงเห็นสัตว์นรกเหล่านั้น ทรงสะดุ้งกลัว ตรัสถามมาตลี-
เทพสารถีว่า)
[๔๕๙] สัตว์นรกเหล่านี้มีร่างกายลุกโชน
เดินเหยียบแผ่นดินเหล็กที่ลุกโชน
นายนิรยบาลทั้งหลายโบยตีด้วยกระบองเหล็กอันร้อน
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นสัตว์นรกเหล่านี้ที่ถูกโบยตีด้วยกระบองเหล็ก
เราขอถามท่าน สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงถูกทุบตีด้วยกระบองเหล็กนอนอยู่
[๔๖๐] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๖๑] ชนเหล่าใดในมนุษยโลกเป็นผู้มีธรรมอันชั่วช้า
เบียดเบียน ด่าว่าชายหญิงผู้ไม่มีธรรมอันชั่วช้า
ชนเหล่านั้นผู้มีธรรมอันชั่วช้า มีกรรมหยาบช้า
ทำบาปแล้ว จึงถูกทุบตีด้วยกระบองเหล็กนอนอยู่
(พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงตรัสถามว่า)
[๔๖๒] สัตว์นรกอีกพวกหนึ่งตกหลุมถ่านเพลิง
ถูกไฟไหม้ทั่วร่างกาย ร้องครวญครางอยู่
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นสัตว์นรกเหล่านี้ถูกไฟไหม้ทั่วร่างกาย
เราขอถามท่าน สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงตกหลุมถ่านเพลิงอยู่
[๔๖๓] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๖๔] ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งอ้างพยานโกงลบหนี้
เพราะเหตุแห่งทรัพย์ของประชุมชน
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน
ชนเหล่านั้นครั้นทำทรัพย์ของหมู่ชนให้สิ้นไปแล้ว
มีกรรมอันหยาบช้า ทำบาปแล้วตกอยู่ในหลุมถ่านเพลิง
(พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า)
[๔๖๕] โลหกุมภีใหญ่มีไฟลุกโพลงโชติช่วงปรากฏอยู่
ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นโลหกุมภีนั้น
ท่านมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน
สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงต้องดิ่งหัวตกลงไปสู่โลหกุมภี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๖๖] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๖๗] ชนเหล่าใดสุดแสนจะชั่ว เบียดเบียน
อาฆาตสมณะและพราหมณ์ผู้มีศีล
ชนเหล่านั้นผู้มีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้ว
จึงดิ่งหัวตกลงไปสู่โลหกุมภี
(พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า)
[๔๖๘] นายนิรยบาลย่อมตัดคอหรือผูกคอสัตว์นรก
ฉุดลากโยนลงไปในน้ำร้อน
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงถูกตัดศีรษะนอนอยู่
[๔๖๙] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๗๐] ชนเหล่าใดในมนุษยโลกสุดแสนจะชั่ว จับนกมาฆ่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน ชนเหล่านั้นครั้นฆ่านกแล้ว
มีกรรมหยาบช้าทำบาปแล้ว จึงถูกตัดศีรษะนอนอยู่
(พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า)
[๔๗๑] แม่น้ำนี้มีน้ำมาก มีฝั่งไม่ลึก
มีท่าน้ำงดงาม ไหลอยู่เสมอ
สัตว์นรกถูกความร้อนแผดเผาแล้วจะดื่มน้ำ
น้ำที่สัตว์นรกเหล่านั้นดื่มแล้วก็กลายเป็นแกลบไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๗๒] ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
น้ำที่สัตว์นรกเหล่านั้นดื่มแล้วจึงกลายเป็นแกลบไป
[๔๗๓] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๗๔] สัตว์นรกเหล่าใดมีการงานไม่บริสุทธิ์
เอาข้าวลีบปนข้าวเปลือกล้วน ๆ ขายให้แก่ผู้ซื้อ
น้ำที่สัตว์นรกผู้ถูกความร้อนแผดเผากระหายเหล่านั้นดื่มแล้ว
ก็กลายเป็นแกลบไป
(พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า)
[๔๗๕] นายนิรยบาลใช้ลูกศร หอก และโตมร
แทงสีข้างทั้ง ๒ ของเหล่าสัตว์นรกผู้คร่ำครวญอยู่
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงถูกแทงด้วยหอกนอนอยู่
[๔๗๖] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๗๗] ชนเหล่าใดในมนุษยโลกมีการงานไม่ดี
ลักทรัพย์ของผู้อื่น คือ ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน ทอง
แพะ แกะ ปศุสัตว์ และกระบือ มาเลี้ยงชีวิต
ชนเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้ว
จึงถูกแทงด้วยหอกนอนอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๔๗๘] เพราะเหตุไร สัตว์นรกเหล่านี้จึงถูกนายนิรยบาลล่ามคอไว้
สัตว์นรกอีกพวกหนึ่งถูกนายนิรยบาลหั่นแล้วสับนอนอยู่
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงถูกสับนอนอยู่
[๔๗๙] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๘๐] สัตว์นรกเหล่านี้เคยเป็นผู้ฆ่าแพะ ฆ่าสุกร ฆ่าปลา
ครั้นฆ่าปศุสัตว์ คือ กระบือ แพะ
และแกะแล้วจึงวางบนเขียงเพื่อขายเลี้ยงชีพ
สัตว์นรกเหล่านั้นทำบาปแล้วจึงต้องถูกสับเป็นชิ้น ๆ กองอยู่
(พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๔๘๑] ห้วงน้ำนี้เต็มไปด้วยอุจจาระและปัสสาวะ
ไม่สะอาด บูดเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป
สัตว์นรกถูกความหิวครอบงำ
ย่อมกินอุจจาระและปัสสาวะนั้น
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงต้องมากินอุจจาระและปัสสาวะ
[๔๘๒] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๘๓] สัตว์นรกเหล่านี้บางพวกมักก่อเหตุ เกรี้ยวกราด
รังแกมิตรสหาย ตั้งมั่นในการเบียดเบียนผู้อื่นทุกเมื่อ
สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า
เป็นพาล ประทุษร้ายมิตร ทำบาปแล้ว
จึงกินปัสสาวะและอุจจาระ
(พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า)
[๔๘๔] ห้วงน้ำนี้เต็มไปด้วยเลือดและหนอง
ไม่สะอาด บูดเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป
สัตว์นรกทั้งหลายถูกความร้อนแผดเผา
เกิดความกระหาย จึงดื่มเลือดและหนอง
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงกินเลือดและหนอง
[๔๘๕] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๘๖] ชนเหล่าใดในมนุษยโลกฆ่ามารดาบิดา
หรือพระอรหันต์ ชื่อว่าเป็นปาราชิก (ผู้พ่ายแพ้)
ชนเหล่านั้นผู้มีกรรมอันหยาบช้า ทำบาปแล้ว
จึงกินเลือดและหนอง
(เมื่อมาตลีเทพสารถีแสดงเรื่องนั้นแล้ว พระเจ้าเนมิจึงตรัสถามว่า)
[๔๘๗] ท่านจงดูลิ้นของสัตว์นรกที่นายนิรยบาลเกี่ยวด้วยเบ็ด
และจงดูหนังที่นายนิรยบาลถลกด้วยขอเหล็ก
สัตว์นรกเหล่านี้ย่อมดิ้นรนเหมือนปลาถูกโยนขึ้นบนบก
ร้องไห้น้ำลายไหล เพราะเหตุไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๘๘] ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงกลืนกินเบ็ดนอนอยู่
[๔๘๙] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๙๐] สัตว์นรกบางพวกเคยเป็นมนุษย์
มีตำแหน่งหน้าที่ให้ลดราคาซื้อลงจากราคาขาย
ทำการโกงด้วยตาชั่งโกง เพราะโลภในทรัพย์
ปกปิดการโกงไว้เหมือนคนเมื่อจะฆ่าปลาเอาเหยื่อปกปิดเบ็ดไว้
[๔๙๑] บุคคลผู้ทำการโกงถูกกรรมของตนหุ้มห่อไว้
ไม่มีการป้องกันได้เลย สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า
ทำบาปแล้ว จึงต้องกลืนกินเบ็ดนอนอยู่
(พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๔๙๒] นางสัตว์นรกเหล่านี้มีร่างกายแตกเยิ้ม
น่าเกลียด เปรอะเปื้อน เกรอะกรังไปด้วยเลือดและหนอง
เหมือนพวกโคหัวขาดในที่ฆ่า
ยกแขนทั้ง ๒ ข้างขึ้นร้องคร่ำครวญอยู่
นางสัตว์นรกนั้นถูกฝังไว้ในแผ่นดินทุกเมื่อ
มีภูเขาไฟลุกโชติช่วงกลิ้งมาบดขยี้
[๔๙๓] ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของนางสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน นางสัตว์นรกเหล่านี้
ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงถูกฝังไว้ในแผ่นดินทุกเมื่อ
มีภูเขาไฟลุกโชติช่วงกลิ้งมาบดขยี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๙๔] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๙๕] หญิงเหล่านั้นเป็นกุลธิดาในมนุษยโลกที่เป็นอยู่นี้
มีการงานไม่บริสุทธิ์ ประพฤติไม่สงบเสงี่ยม
ทำตัวเป็นนักเลง ทอดทิ้งสามีแล้วไปคบหาชายอื่น
เพราะเหตุแห่งความเริงรมย์และเล่นสนุก
หญิงเหล่านั้นทำจิตของตนให้เริงรมย์อยู่กับชายอื่น
ในมนุษยโลกแล้ว มีภูเขาไฟลุกโชติช่วงกลิ้งมาบดขยี้
(พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๔๙๖] เพราะเหตุไร นายนิรยบาลอีกพวกหนึ่งนี้
จึงจับเท้าสัตว์นรกให้มีศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงถูกนายนิรยบาลจับศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก
[๔๙๗] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๙๘] สัตว์นรกทั้งหลายเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก
ต่างทำกรรมไว้ไม่ดี ล่วงละเมิดเหล่าภรรยาของชายอื่น
เช่นนั้นชื่อว่าเป็นผู้ลักของสำคัญที่สุด
จึงต้องถูกนายนิรยบาลจับศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๙๙] สัตว์นรกเหล่านั้นเสวยทุกขเวทนาอยู่ในนรกนั้น
สิ้นปีเป็นอันมาก เพราะบุคคลผู้ทำบาปกรรมเป็นปกติ
ถูกกรรมของตนเชิดไว้ข้างหน้า ไม่มีการต้านทานได้เลย
สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมอันหยาบช้า ทำบาปแล้ว
จึงต้องถูกนายนิรยบาลจับศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก
(พระเจ้าเนมิตรัสถามว่า)
[๕๐๐] สัตว์นรกทั้งเล็กและใหญ่เหล่านี้
มีการประกอบเหตุการณ์ต่าง ๆ กัน
มีรูปร่างแสนจะน่ากลัว ปรากฏอยู่ในนรก
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงต้องมาเสวยทุกขเวทนาอันร้ายแรงแข็งกล้า
และเผ็ดร้อนเหลือประมาณอยู่
[๕๐๑] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๐๒] เหล่าสัตว์นรกที่เมื่อมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก
เป็นผู้มีทิฏฐิสุดแสนชั่ว๑ หลงทำกรรมเพราะความชะล่าใจ
และชักชวนผู้อื่นในทิฏฐิเช่นนั้น มีทิฏฐิชั่ว
จึงต้องมาเสวยทุกขเวทนาอันแรงแข็งกล้า
และเผ็ดร้อนเหลือประมาณอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐิสุดแสนชั่ว หมายถึงมีบาปธรรมมากด้วยความเห็นผิดที่มีวัตถุ ๑๐ คือ การให้ทานไม่มีผล การบูชา
ไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล การเสวยผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ แม้สมณ-
พราหมณ์ทั้งหลายก็ไม่มี สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี (ขุ.ชา.อ. ๙/๕๐๒/๑๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(มาตลีเทพสารถีฟังพระดำรัสแล้ว จึงแสดงนรกมากมายในทิศทั้ง ๔ ว่า)
[๕๐๓] ข้าแต่มหาราช พระองค์ได้ทรงทราบสถานที่อยู่
ของเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมชั่ว ของเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมหยาบช้า
และคติของเหล่าสัตว์ผู้ทุศีลแล้ว
ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ บัดนี้
ขอเชิญพระองค์เสด็จขึ้นไปในสำนักของท้าวสักกเทวราชเถิด
(เทพมาตลีสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามถึงเทพธิดา จึงกราบทูลพยากรณ์แด่
พระองค์ว่า)
[๕๐๔] วิมาน ๕ ยอดนี้ย่อมปรากฏนางเทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก
ประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่างมีดอกไม้เป็นต้น
นั่งอยู่ในท่ามกลางที่ไสยาสน์
แสดงเทพฤทธิ์ได้ต่าง ๆ สถิตอยู่ในวิมานนี้
(พระเจ้าเนมิตรัสว่า)
[๕๐๕] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นพฤติการณ์ของนางเทพธิดาผู้สถิตอยู่ในวิมานนี้
เราขอถามท่าน นางเทพธิดานี้ได้ทำกรรมอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๐๖] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๐๗] บางทีพระองค์จะทรงเคยได้ยินว่า
ในมนุษยโลกมีนางทาสีเรือนทาสของพราหมณ์ชื่อว่า พีรณี
คราวหนึ่งนางทราบว่า แขกมาถึงแล้วตามกาล
ก็ชื่นชม ยินดีเหมือนมารดาชื่นชมบุตรของตน
นางมีการสำรวมและการบริจาค บันเทิงอยู่ในวิมาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามถึงกุศลกรรมที่โสณทินนเทพบุตรทำแล้ว
จึงทูลตอบแด่พระองค์ว่า)
[๕๐๘] วิมานทั้ง ๗ หลังถูกนิรมิตขึ้น เรืองรองผ่องใส
มีเทพบุตรตนหนึ่งซึ่งมีฤทธิ์มาก
ประดับประดาด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง
มีหมู่เทพธิดาแวดล้อมผลัดเปลี่ยนเวียนวนอยู่โดยรอบ
ในวิมานทั้ง ๗ หลัง ซึ่งตั้งเรียงรายกันอยู่ตามลำดับนั้น
(พระเจ้าเนมิตรัสว่า)
[๕๐๙] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นพฤติการณ์ของเทพบุตรผู้อยู่ในวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรตนนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๑๐] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๑๑] เทพบุตรตนนี้เคยเป็นคหบดีชื่อโสณทินนะ
เป็นทานบดีให้สร้างวิหาร ๗ หลังอุทิศแก่บรรพชิต
[๕๑๒] เขาได้อุปัฏฐากภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในวิหาร ๗ หลังนั้น
ด้วยความเคารพ ได้บริจาคผ้านุ่ง ผ้าห่ม
อาหาร เสนาสนะ เครื่องประทีป
ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตเลื่อมใส
[๕๑๓] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์
[๕๑๔] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน
ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามถึงกุศลกรรมของเหล่าเทพอัปสร จึง
ทูลตอบว่า)
[๕๑๕] วิมานที่ถูกนิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วผลึก
เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่นางเทพอัปสรผู้ประเสริฐ
รุ่งเรืองด้วยเรือนยอดประกอบไปด้วยข้าวและน้ำ
งดงามด้วยการฟ้อนรำและขับร้องทั้ง ๒ อย่าง
ส่องแสงสว่างไสวอยู่
(พระเจ้าเนมิตรัสว่า)
[๕๑๖] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปแห่งวิมานนี้
เราขอถามท่าน นางเทพอัปสรเหล่านี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๑๗] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๑๘] นางเทพอัปสรเหล่านั้นเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก
เคยเป็นอุบาสิกาผู้มีศีล ยินดีในการให้ทาน
มีใจเลื่อมใสเป็นนิตย์ ตั้งอยู่ในสัจจะ
ไม่ประมาทในการรักษาอุโบสถศีล
เป็นผู้สำรวมและทำการบริจาคทาน
จึงบันเทิงอยู่ในสวรรค์
(พระเจ้าเนมิตรัสถามถึงกุศลกรรมของเทพบุตรเหล่านั้นว่า)
[๕๑๙] วิมานที่ถูกนิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์
ประกอบด้วยภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์
จัดสรรสร้างไว้เป็นส่วน ๆ ส่องแสงสว่างไสวอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๕๒๐] เสียงทิพย์ คือ เสียงเปิงมาง เสียงตะโพน
เสียงการฟ้อนรำขับร้อง และเสียงประโคมดนตรี
เปล่งออกมาน่าฟัง เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ
[๕๒๑] เราไม่รู้สึกว่า เคยได้เห็นหรือเคยได้ฟังเสียง
ที่น่ารื่นรมย์ใจอย่างนี้ ที่ไพเราะอย่างนี้มาก่อนเลย
[๕๒๒] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรตนนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๒๓] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๒๔] เทพบุตรบางพวกเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก
เคยเป็นอุบาสกผู้มีศีล ได้สร้างสวนดอกไม้
บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน
ได้ปรนนิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ
[๕๒๕] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย๑
ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส
[๕๒๖] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์
[๕๒๗] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ
ทั้งมีความสำรวมและบริจาคทาน
เทพบุตรเหล่านั้นจึงมาบันเทิงอยู่ในสวรรค์

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ปัจจัย ได้แก่ คิลานปัจจัย (ยาเพื่อคนไข้) (ขุ.ชา.อ. ๙/๕๒๕/๑๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(พระเจ้าเนมิทรงมีพระทัยยินดี จึงตรัสถามกุศลกรรมของเทพบุตรนั้นว่า)
[๕๒๘] วิมานที่ถูกนิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วผลึก
เกลื่อนกล่นด้วยหมู่นางเทพอัปสรผู้ประเสริฐ
รุ่งเรืองด้วยเรือนยอด
[๕๒๙] บริบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ
งดงามด้วยการฟ้อนรำขับร้องทั้ง ๒ ส่องแสงสว่างไสวอยู่
และแม่น้ำสายหนึ่งที่ประกอบด้วยไม้ดอกนานาชนิด
ไหลไปล้อมรอบวิมานนั้น
[๕๓๐] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๓๑] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๓๒] เทพบุตรนี้เคยเป็นคหบดีเป็นทานบดีอยู่ในกรุงมิถิลา
ได้สร้างสวนสาธารณะ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน
ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ
[๕๓๓] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย
ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส
[๕๓๔] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์
[๕๓๕] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน
ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(พระเจ้าเนมิตรัสถามถึงกุศลกรรมของเทพบุตรผู้ประกอบด้วยสมบัตินั้นว่า)
[๕๓๖] วิมานที่นิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วผลึก
เกลื่อนกล่นด้วยหมู่นางเทพอัปสรนารีผู้ประเสริฐ
รุ่งเรืองด้วยเรือนยอด
[๕๓๗] บริบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ
งดงามด้วยการฟ้อนรำขับร้องทั้ง ๒ ส่องแสงสว่างไสวอยู่
และแม่น้ำสายหนึ่งที่ประกอบด้วยต้นไม้ดอกนานาชนิด
ไหลไปล้อมรอบวิมานนั้น
[๕๓๘] มีไม้เกด ไม้มะขวิด ไม้มะม่วง ไม้สาละ ไม้หว้า
ไม้มะพลับ และไม้มะหาดเป็นจำนวนมาก มีผลตลอดฤดูกาล
[๕๓๙] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๔๐] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๔๑] เทพบุตรนี้เคยเป็นคหบดี เป็นทานบดีอยู่ในกรุงมิถิลา
ได้สร้างสวนสาธารณะ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน
ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ
[๕๔๒] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย
ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส
[๕๔๓] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๕๔๔] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน
ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน
(พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๕๔๕] วิมานที่นิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์
ประกอบด้วยภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์
ที่จัดสรรสร้างไว้เป็นส่วน ๆ ส่องแสงสว่างไสวอยู่
[๕๔๖] มีเสียงทิพย์ คือ เสียงเปิงมาง เสียงตะโพน
เสียงการฟ้อนรำขับร้อง และเสียงประโคมดนตรี
เปล่งออกมาน่าฟัง เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ
[๕๔๗] เราไม่รู้สึกว่า เคยได้เห็นหรือเคยได้ฟังเสียง
ที่น่ารื่นรมย์อย่างนี้ ที่ไพเราะอย่างนี้มาก่อนเลย
[๕๔๘] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๔๙] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๕๐] เทพบุตรตนนี้เคยเป็นคหบดี
เป็นทานบดีอยู่ในกรุงพาราณสี
ได้สร้างสวนสาธารณะ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน
ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ
[๕๕๑] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย
ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๕๕๒] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์
[๕๕๓] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน
ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน
(พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๕๕๔] วิมานทองที่นิรมิตขึ้นนี้ รุ่งเรืองสุกใส
เหมือนดวงอาทิตย์ดวงใหญ่โผล่ขึ้นมาเป็นสีแดง
[๕๕๕] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๕๖] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๕๗] เทพบุตรตนนี้เคยเป็นคหบดี เป็นทานบดีอยู่ในกรุงสาวัตถี
ได้สร้างสวนสาธารณะ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน
ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ
[๕๕๘] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย
ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส
[๕๕๙] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์
[๕๖๐] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน
ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรสมบัติของเทพบุตรที่อยู่ในวิมานนั้น จึงตรัสว่า)
[๕๖๑] วิมานทองเป็นอันมากนี้ที่ได้นิรมิตไว้
ลอยอยู่ในอากาศ รุ่งเรืองสุกใสเหมือนสายฟ้า
ส่องแสงเรือง ๆ อยู่ในระหว่างก้อนเมฆทึบ
เหล่าเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก ประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวง
มีหมู่เทพอัปสรห้อมล้อมผลัดเปลี่ยนเวียนวนกัน
อยู่ในวิมานเหล่านั้นโดยรอบ
[๕๖๒] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรเหล่านี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๖๓] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๖๔] เทพบุตรเหล่านี้เคยเป็นสาวกในศาสนา
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเมื่อศรัทธาตั้งมั่นแล้ว
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระสัทธรรมดีแล้ว
ได้ทำตามพระดำรัสของพระศาสดา
ข้าแต่พระราชา เชิญพระองค์ทอดพระเนตร
สถานที่สถิตของเทพบุตรเหล่านั้นเถิด
(มาตลีเทพสารถีเมื่อจะทำอุตสาหะเพื่อจะให้พระเจ้าเนมิเสด็จไปสำนักของท้าว
สักกเทวราช จึงทูลว่า)
[๕๖๕] ข้าแต่มหาราช พระองค์ได้ทรงทราบสถานที่อยู่
ของเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมชั่ว
และทรงทราบสถานที่สถิตอยู่ของเหล่าเทพเจ้าผู้มีกรรมดีแล้ว
ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
บัดนี้ เชิญพระองค์เสด็จขึ้นไปในสำนักของท้าวสักกเทวราชเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(พระศาสดาเมื่อจะตรัสการที่พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรภูเขาเหล่านั้นแล้วตรัส
ถามมาตลีเทพสารถีให้แจ่มแจ้ง จึงตรัสว่า)
[๕๖๖] พระมหาราชเสด็จประทับบนทิพยยาน
เทียมด้วยม้าสินธพ ๑,๐๐๐ ตัว เสด็จไปอยู่
ได้ทอดพระเนตรเห็นภูเขาทั้งหลายในระหว่างมหาสมุทรสีทันดร
ครั้นแล้วจึงได้ตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า ภูเขาเหล่านี้ชื่ออะไร
[๕๖๗] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบ
(มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามอย่างนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๕๖๘] ภูเขาหลวงทั้ง ๗ เทือก คือ ภูเขาสุทัศนะ
ภูเขากรวีกะ ภูเขาอิสินธร ภูเขายุคันธร
ภูเขาเนมินธร ภูเขาวินตกะ ภูเขาอัสสกัณณะ
[๕๖๙] ภูเขาเหล่านี้สูงขึ้นไปตามลำดับ
อยู่ในมหาสมุทรสีทันดร เป็นที่อยู่ของท้าวมหาราช
ข้าแต่พระราชา เชิญพระองค์ทอดพระเนตรภูเขาเหล่านั้นเถิด
(พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรเห็นพระอินทร์นั้นแล้ว จึงตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๕๗๐] ประตูมีรูปหลายอย่าง รุ่งเรือง
งดงามไปด้วยรัตนะนานาชนิด
สมบูรณ์ด้วยรูปเหมือนพระอินทร์ ย่อมปรากฏ
เหมือนป่าใหญ่ที่เสือโคร่งหรือราชสีห์รักษาไว้ดีแล้ว
[๕๗๑] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นประตูนี้ เราขอถามท่าน
ประตูนี้เขาเรียกชื่อว่าอะไรหนอ
น่ารื่นรมย์ใจ ปรากฏแต่ที่ไกลทีเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๕๗๒] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๗๓] ประตูนี้เขาเรียกว่า จิตรกูฏ
เป็นที่เสด็จเข้าออกของท้าวสักกเทวราช
ประตูนี้เป็นซุ้มประตูของเทพนคร
ที่ตั้งอยู่ในที่สุดแห่งภูเขาสุทัศนะ
[๕๗๔] ประตูมีรูปหลายอย่าง รุ่งเรือง
งดงามไปด้วยรัตนะนานาชนิด
สมบูรณ์ด้วยรูปเหมือนพระอินทร์ ย่อมปรากฏ
เหมือนป่าใหญ่ที่เสือโคร่งหรือราชสีห์รักษาไว้ดีแล้ว
ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปทางประตูนี้เถิด
ขอเชิญพระองค์ทรงเหยียบภาคพื้นอันเป็นทิพย์
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๕๗๕] พระมหาราชเสด็จประทับบนทิพยยาน
ที่เทียมด้วยม้าสินธพประมาณ ๑,๐๐๐ ตัว เสด็จไปอยู่
ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวสภานี้แล้ว
(พระเจ้าเนมิได้ทอดพระเนตรเห็นเทวสภาชื่อสุธรรมา จึงตรัสถามมาตลีเทพ-
สารถีว่า)
[๕๗๖] วิมานที่นิรมิตไว้แล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์
เปรียบเสมือนอากาศ ส่องแสงสว่างไสว ทอสีเขียวในสารทกาล
[๕๗๗] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้
เราขอถามท่าน วิมานนี้เขาเรียกว่าอะไรหนอ
น่ารื่นรมย์ใจ ปรากฏแต่ไกลทีเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๕๗๘] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมิผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๗๙] วิมานนี้นั้นเป็นเทวสภา เขาเรียกชื่อปรากฏว่า สุธรรมา
รุ่งเรืองด้วยแก้วไพฑูรย์ตระการตา ที่นิรมิตไว้อย่างดี
[๕๘๐] มีเสา ๘ เหลี่ยมที่ทำไว้ดีแล้ว
ทุกต้นล้วนแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์
เป็นที่อยู่ของเทพชั้นดาวดึงส์ทั้งมวล
ซึ่งมีพระอินทร์เป็นประธาน
[๕๘๑] ประชุมกันคิดถึงประโยชน์ของเหล่าเทวดาและมนุษย์
ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปสู่ทิพยสถาน
เป็นที่บันเทิงกันและกันของเหล่าเทวดาโดยทางนี้เถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๕๘๒] เทพเจ้าทั้งหลายเห็นพระเจ้าเนมิเสด็จมาถึง
ต่างพากันยินดีต้อนรับว่า
ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้วมิได้เสด็จมาร้าย
ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
บัดนี้ ขอพระองค์ประทับนั่ง ณ ที่ใกล้ท้าวเทวราชเถิด
[๕๘๓] ถึงท้าวเทวราชก็ทรงยินดีต้อนรับพระองค์
ผู้เป็นใหญ่แห่งชาวแคว้นวิเทหะ ทรงปกครองกรุงมิถิลา
ท้าววาสวะก็ทรงเชื้อเชิญด้วยทิพยกามารมณ์และทิพยอาสน์ว่า
[๕๘๔] ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เป็นความดีแล้วที่พระองค์ได้เสด็จมาถึงทิพยสถาน
เป็นที่อยู่ของเหล่าเทวดาผู้บันดาลสิ่งที่ตนต้องประสงค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
ให้เป็นไปตามอำนาจ ขอเชิญพระองค์ประทับอยู่ในหมู่เทพเจ้า
ผู้ประกอบด้วยความสำเร็จแห่งทิพยกามารมณ์ทั้งปวง
ขอเชิญพระองค์ทรงเสวยกามทั้งหลาย
ที่มิใช่ของมนุษย์อยู่ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์เถิด พระเจ้าข้า
(พระเจ้าเนมิถูกท้าวเทวราชเชื้อเชิญด้วยกามทิพย์และให้ประทับนั่ง เมื่อจะ
ทรงปฏิเสธ จึงตรัสว่า)
[๕๘๕] ยานที่ขอยืมเขามา ทรัพย์ที่ขอยืมเขามาสำเร็จประโยชน์ฉันใด
ของที่บุคคลอื่นให้ก็สำเร็จประโยชน์ฉันนั้นเหมือนกัน
[๕๘๖] หม่อมฉันมิได้ประสงค์สิ่งที่ผู้อื่นให้
บุญทั้งหลายที่ตนได้ทำไว้เอง
เป็นทรัพย์ของหม่อมฉันแผนกหนึ่งต่างหาก
[๕๘๗] หม่อมฉันนั้นจักกลับไปทำบุญให้มากขึ้นในหมู่มนุษย์
ด้วยการบริจาคทาน การประพฤติสม่ำเสมอ
ความสำรวม และความฝึกอินทรีย์ที่บุคคลทำแล้ว
จะได้รับความสุขและไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง
(พระเจ้าเนมิโพธิสัตว์เมื่อจะตรัสยกย่องคุณของมาตลีเทพสารถี จึงตรัสว่า)
[๕๘๘] ท่านมาตลีเทพสารถีได้แสดงสถานที่อยู่ของทวยเทพ
ผู้มีกรรมดี และสถานที่อยู่ของเหล่าสัตว์นรกผู้มีกรรมชั่ว
ชื่อว่าเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เรา
(พระศาสดาเมื่อจะตรัสการที่พระเจ้าเนมิโพธิสัตว์บวชแล้วให้แจ้งชัด จึงตรัส
พระคาถาสุดท้ายว่า)
[๕๘๙] พระเจ้าเนมิแห่งชนชาวแคว้นวิเทหะทรงปกครองกรุงมิถิลา
ครั้นได้ตรัสพระคาถานี้แล้วทรงบูชายัญเป็นอันมากแล้ว
จึงทรงเข้าถึงความสำรวม
เนมิราชชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
๕. มโหสธชาดก๑ (๕๔๒)
ว่าด้วยพระมโหสธบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี
(พระเจ้าวิเทหะทอดพระเนตรเห็นมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เข้ามาเฝ้า ก็สบาย
พระทัย เมื่อจะรับสั่งกับมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า)
[๕๙๐] พ่อมโหสธ พระเจ้าพรหมทัตผู้ครองแคว้นปัญจาละ
เสด็จยาตราทัพมาพร้อมด้วยกองทัพทุกหมู่เหล่า
กองทัพของพระเจ้าปัญจาละนั้นประมาณไม่ได้
[๕๙๑] มีกองช่างโยธา กองราบ
ล้วนแต่ฉลาดในสงครามทุกอย่าง มีเสียงอึกทึกกึกก้อง
เป็นสัญญาให้กันและกันรู้ได้ด้วยเสียงกลองและเสียงสังข์
[๕๙๒] มีความรู้ในการใช้โลหธาตุ มีเครื่องประดับครบครัน
มีธงทิวสลอน ช้างและม้า สมบูรณ์ดีด้วยผู้เชี่ยวชาญศิลป์
ตั้งมั่นด้วยเหล่าทหารผู้แกล้วกล้า
[๕๙๓] กล่าวกันว่า ในกองทัพนี้ มีบัณฑิต ๑๐ คน
มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน มีการประชุมปรึกษากันในที่ลับ
พระมารดาของพระเจ้าปัญจาละเป็นองค์ที่ ๑๑
ช่วยปกครองสั่งสอนชาวแคว้นปัญจาละ
[๕๙๔] อนึ่ง ในบรรดาชนเหล่านี้
กษัตริย์ ๑๐๑ พระนครผู้เรืองยศตามเสด็จพระเจ้าปัญจาละ
ถูกชิงแคว้น กลัวภัย
จึงตกอยู่ในอำนาจของชาวแคว้นปัญจาละ

เชิงอรรถ :
๑ พระศาสดาเมื่อประทับ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภปัญญาบารมีของพระองค์ ตรัสมโหสธชาดกซึ่ง
มีคำเริ่มต้นว่า พระเจ้าพรหมทัตผู้ครองแคว้นปัญจาละเสด็จยาตราทัพมาพร้อมด้วยกองทัพทุกหมู่เหล่า
เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๐๙) (ต้นเรื่องมโหสธชาดกมีปรากฏในชาดกภาค ๑ คือ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗
ถึง ๑๑ ตอน มีสัพพสังหารกปัญหชาดก เป็นต้น)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๕๙๕] เป็นผู้ทำตามที่พระราชารับสั่ง
ไม่มีความปรารถนาจะกล่าว ก็จำต้องกล่าวคำเป็นที่รัก
ต้องตามเสด็จพระเจ้าปัญจาละผู้มีอำนาจมาก่อน
ไม่มีความปรารถนาก็ต้องตกอยู่ในอำนาจของพระเจ้าปัญจาละ
[๕๙๖] กรุงมิถิลาก็ถูกล้อมด้วยกองทัพนั้นเป็น ๓ ชั้น
เมืองหลวงของชาวแคว้นวิเทหะก็ถูกขุดเป็นคูโดยรอบ
[๕๙๗] พ่อมโหสธ กองทัพที่แวดล้อมกรุงมิถิลานั้น
ปรากฏเหมือนดาวบนท้องฟ้า
พ่อจงรู้ว่า จักรอดพ้นได้อย่างไร
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๕๙๘] ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์ทรงเหยียดพระบาทตามพระสำราญเถิด
ขอเชิญเสวยและรื่นรมย์พระหฤทัยในกามเถิด
พระเจ้าพรหมทัตจะต้องทิ้งกองทัพชาวแคว้นปัญจาละเสด็จหนีไป
(พราหมณ์เกวัฏเข้าไปเฝ้าถวายบังคมพระเจ้าวิเทหะแล้วกราบทูลเหตุที่ตนมาว่า)
[๕๙๙] พระราชามีพระประสงค์จะทำสันถวไมตรีกับพระองค์
จะพระราชทานรัตนะแก่พระองค์ ตั้งแต่นี้ไป
ราชทูตทั้งหลายผู้มีวาจาไพเราะ พูดคำเป็นที่รักจงมา
[๖๐๐] ขอจงกล่าววาจาอ่อนหวาน เป็นที่ชื่นชมต่อกัน
ขอแคว้นปัญจาละกับแคว้นวิเทหะ
ทั้ง ๒ แคว้นนั้นจงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
(พระเจ้าวิเทหะทอดพระเนตรพราหมณ์เกวัฏแล้วตรัสถามถึงอาการที่สนทนา
กับมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๖๐๑] ท่านเกวัฏ ท่านได้พบกับมโหสธเป็นอย่างไรหนอ
ขอเชิญเล่าเรื่องราวนั้น มโหสธกับท่านต่างอดโทษกันแล้วกระมัง
มโหสธยินดีแล้วกระมัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(พราหมณ์เกวัฏจึงกราบทูลว่า)
[๖๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชน คนผู้ไม่สุภาพ
ไม่ชื่นชมกับใคร เป็นคนกระด้าง ไม่ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ
เขาไม่กล่าวข้อความอะไร ๆ เป็นเหมือนคนใบ้และคนหนวก
(พระเจ้าวิเทหะได้สดับดังนั้น ไม่ทรงยินดี ไม่ทรงคัดค้าน เริ่มตั้งคำถามขึ้น
เองว่า)
[๖๐๓] มนต์บทนี้เห็นได้ยากแน่นอน
มโหสธผู้มีความเพียรได้เห็นประโยชน์อันบริสุทธิ์
จริงอย่างนั้น กายของเราก็ยังหวั่น ๆ อยู่
ใครเล่าจักทิ้งแคว้นของตนไปสู่เงื้อมมือของผู้อื่น
(พระเจ้าวิเทหะตรัสถามมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๖๐๔] มติของเราทั้ง ๖ คนผู้เป็นบัณฑิต
มีปัญญายอดเยี่ยม เป็นเอกฉันท์เสมอกัน
มโหสธ แม้เธอก็จงลงมติว่า ควรไปหรือไม่ควรไป
หรือควรยับยั้งอยู่ที่นี้
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสดังนั้น คิดแล้วได้กราบทูลว่า)
[๖๐๕] ข้าแต่พระราชา พระองค์ย่อมทรงทราบอยู่ทีเดียวว่า
พระเจ้าจูฬนีพรหมทัตทรงมีอานุภาพมาก มีพลังมาก
และปรารถนาจะปลงพระชนม์พระองค์
เหมือนนายพรานเนื้อด้วยนางเนื้อ
[๖๐๖] ปลาอยากกินเหยื่อสดกลืนเบ็ดที่ใช้เหยื่อปกปิดไว้
ก็ไม่รู้ว่าตนจะตายฉันใด
[๖๐๗] ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงติดอยู่ในกาม
ก็ย่อมไม่ทรงทราบพระธิดาของพระเจ้าจูฬนี
เหมือนปลาไม่รู้จักว่าตนจะตายฉันนั้นเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๖๐๘] ถ้าพระองค์จะเสด็จไปแคว้นปัญจาละ
ก็จักเสียพระองค์ไปในทันที ภัยใหญ่จักมาถึงพระองค์
เหมือนภัยคือความตายมาถึงเนื้อที่เดินไปตามทาง๑
(พระเจ้าวิเทหะถูกมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ข่มมากเกินไป จึงทรงกริ้วแล้ว
ตรัสถามว่า)
[๖๐๙] พวกเรานั่นแหละผู้กล่าวถึงประโยชน์อันสำคัญกับท่าน
กลับเป็นคนโง่ บ้าน้ำลาย
ท่านเล่าเติบโตมาด้วยหางไถ๒
จะรู้ประโยชน์เหมือนคนอื่น ๆ ได้ละหรือ
(พระเจ้าวิเทหะด่าบริภาษมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ เมื่อจะขับไล่ จึงตรัสว่า)
[๖๑๐] ท่านทั้งหลายจงไสคอมโหสธบัณฑิตนี้
ผู้พูดเป็นอันตรายแก่การได้รัตนะของเรา
ขับไล่ให้พ้นไปจากแคว้นของเรา
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๑๑] ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตก็หลีกไปจากราชสำนัก
ของพระเจ้าวิเทหะ ต่อมา ก็ได้เรียกนกแขกเต้าตัวฉลาด
ที่ชื่อมาธุระ ที่เป็นทูตมาสั่งว่า
[๖๑๒] มานี่เถิด สหายผู้มีขนปีกสีเขียว
เจ้าจงทำการขวนขวายช่วยเหลือเรา
มีนางนกสาลิกาที่เขาเลี้ยงไว้ใกล้ที่บรรทมของพระเจ้าปัญจาละ

เชิงอรรถ :
๑ เนื้อที่เดินไปตามทาง หมายถึงฝูงเนื้อป่าได้ยินเสียงนางเนื้อต่อที่นายพรานฝึกไว้ดีแล้วร้องขึ้น ก็จะเดิน
เข้าไปหาด้วยความกำหนัด จะถูกนายพรานแทงถึงแก่ความตาย (ขุ.ชา.อ. ๙/๖๐๘/๓๔๐)
๒ เติบโตมาด้วยหางไถ หมายถึงมโหสธบัณฑิตบุตรของคหบดีจับหางไถเจริญเติบโตมาตั้งแต่วัยเด็ก
(บุตรชาวนาจะรู้เรื่องอะไร) (ขุ.ชา.อ. ๙/๖๐๙/๓๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๖๑๓] นางนกตัวนั้นฉลาดในสิ่งทั้งปวง เจ้าจงถามมันโดยละเอียด
มันรู้ความลับทุกอย่างทั้งของพระราชา
และเกวัฏฏพราหมณ์โกสิยโคตรนั้น
[๖๑๔] นกแขกเต้าตัวฉลาดที่ชื่อมาธุระ ตัวมีขนปีกสีเขียว
รับคำของมโหสธบัณฑิตแล้วได้ไปยังที่อยู่ของนางนกสาลิกา
[๖๑๕] แต่นั้น นกแขกเต้าตัวฉลาดที่ชื่อว่ามาธุระนั้น
ครั้นไปถึงแล้วก็ได้ถามนางนกสาลิกา
ตัวมีกรงงาม มีเสียงเพราะว่า
[๖๑๖] แม่กรงงาม เธอสบายดีหรือ
แม่เพศสวย เธอผาสุกหรือ
เธอได้ข้าวตอกกับน้ำผึ้งในกรงอันงามของเธออยู่หรือ
[๖๑๗] นางนกสาลิกาตอบว่า สุวบัณฑิตผู้สหาย
ฉันสบายดีและไม่มีโรคเบียดเบียน
อนึ่ง ฉันได้ข้าวตอกและน้ำผึ้งอยู่นะ
[๖๑๘] ท่านมาจากที่ไหน หรือใครใช้ให้มา
สหาย ก่อนหน้านี้ฉันไม่เคยพบหรือเคยรู้จักท่านเลย
(นกแขกเต้าได้ฟังคำของนางนกสาลิกานั้นแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๖๑๙] ฉันถูกเขาเลี้ยงไว้ใกล้ที่บรรทมบนปราสาทของพระเจ้ากรุงสีพี
ต่อมา พระราชาพระองค์นั้นทรงตั้งอยู่ในธรรม
โปรดให้ปล่อยเหล่าสัตว์ที่ถูกขังไว้จากที่ขัง
(นกแขกเต้าต้องการจะฟังความลับ จึงกล่าวมุสาว่า)
[๖๒๐] ฉันนั้นได้มีนางนกสาลิกามีเสียงหวานตัวหนึ่งเป็นภรรยาเก่า
นางได้ถูกเหยี่ยวฆ่าตายเสียในห้องบรรทม
ต่อหน้าของฉันในกรงอันงามที่เห็นอยู่
[๖๒๑] เพราะฉันรักเธอจึงมาหาเธอ
ถ้าเธอเปิดโอกาสให้ เราทั้ง ๒ ก็จะได้อยู่ร่วมกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(นางนกสาลิกาได้ฟังดังนั้น ก็ดีใจ แต่ไม่ให้นกแขกเต้ารู้ว่าตัวก็รัก ทำเป็นไม่
ปรารถนา แล้วกล่าวว่า)
[๖๒๒] ก็นกแขกเต้าก็ควรรักใคร่กับนางนกแขกเต้า
ส่วนนกสาลิกาก็ควรรักใคร่กับนางนกสาลิกา
นกแขกเต้ากับนางนกสาลิกาอยู่ร่วมกันจะเป็นเช่นไร
(นกแขกเต้าได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๖๒๓] ผู้ใดใคร่อยู่ในกามแม้แต่กับหญิงจัณฑาล
ผู้นั้นก็เป็นเหมือนกันทั้งหมด
เพราะในกามไม่มีคนที่จะไม่เหมือนกัน
(นกแขกเต้าบัณฑิตครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว เมื่อจะประมวลเรื่องในอดีตมา
แสดง จึงกล่าวต่อว่า)
[๖๒๔] มีพระชนนีของพระเจ้ากรุงสีพีพระนามว่าชัมพาวดี
พระนางเป็นพระมเหสีที่โปรดปรานของพระเจ้าวาสุเทพกัณหโคตร
(นกแขกเต้าบัณฑิตยกอุทาหรณ์อย่างอื่นมากล่าวอีกว่า)
[๖๒๕] มีกินนรีชื่อรัตนวดี แม้เธอก็ได้ร่วมรักกับวัจฉดาบส
มนุษย์ได้ร่วมรักกับนางเนื้อก็มี
ในความใคร่ มนุษย์หรือสัตว์ไม่มีต่างกัน
(นกแขกเต้าบัณฑิตเมื่อจะทดลองนางนกสาลิกา จึงกล่าวอีกว่า)
[๖๒๖] แม่นกสาลิกาผู้มีเสียงไพเราะ เอาเถอะ ฉันจักไปละ
เพราะถ้อยคำของเธอนี้เป็นเหตุให้ฉันประจักษ์
เธอดูหมิ่นฉันแน่
(นางนกสาลิกาได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๖๒๗] มาธุรสุวบัณฑิต สิริย่อมไม่มีแก่ผู้ด่วนได้ใจเร็ว
เชิญท่านอยู่ ณ ที่นี้แหละจนกว่าจะได้เฝ้าพระราชา
จนกว่าจะได้ฟังเสียงตะโพน และเห็นอานุภาพของพระราชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(นกแขกเต้าบัณฑิตเมื่อจะถามความลับนั้น จึงกล่าวว่า)
[๖๒๘] เสียงดังอึกทึกนี้ฉันได้ยินมาภายนอกชนบทว่า
พระธิดาของพระเจ้าปัญจาละ
มีพระฉวีวรรณดังดาวประกายพรึก
พระเจ้าปัญจาละจักพระราชทานพระราชธิดานั้น
แก่ชาวแคว้นวิเทหะ คือ จักมีอภิเษก
ระหว่างพระเจ้าวิเทหะกับพระธิดานั้น
(นางนกสาลิกาถูกนกแขกเต้าบัณฑิตแค่นไค้นัก จึงกล่าวว่า)
[๖๒๙] มาธุระ วิวาหมงคลเช่นนี้จงอย่ามีแก่คนผู้เป็นศัตรูกัน
เหมือนวิวาหะของพระธิดาของพระเจ้าปัญจาละ
กับพระเจ้าวิเทหะเลย
(นางนกสาลิกาครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงกล่าวอีกว่า)
[๖๓๐] พระราชาผู้เป็นจอมทัพแห่งชาวแคว้นปัญจาละ
จักทรงนำพระเจ้าวิเทหะมา
แต่นั้นจักรับสั่งให้ปลงพระชนม์ชีพพระองค์เสีย
พระเจ้าวิเทหะไม่เป็นพระสหายของพระเจ้าปัญจาละ
(นกแขกเต้าบัณฑิตได้ฟังดังนั้น หวังจะให้นางนกสาลิกาอนุญาตให้ตนกลับไป
จึงกล่าวว่า)
[๖๓๑] เอาเถิด เธอจงอนุญาตให้ฉันไปสัก ๗ คืน
เพียงให้ฉันได้กราบทูลพระเจ้ากรุงสีพีและพระมเหสีของพระองค์ว่า
ฉันได้ที่พักในที่อยู่ของนางนกสาลิกาแล้ว
(นางนกสาลิกาได้ฟังดังนั้น เมื่อไม่สามารถจะห้ามได้ จึงกล่าวว่า)
[๖๓๒] เอาเถิด ฉันอนุญาตให้ท่านไปได้เพียง ๗ คืน
ถ้า ๗ คืนท่านยังไม่กลับมายังที่อยู่ ฉันกำหนดวันตายไว้แล้ว
ท่านจักกลับมาได้ ก็ต่อเมื่อฉันได้ตายไปแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๓๓] ลำดับนั้นแล นกแขกเต้าตัวฉลาดชื่อมาธุระ
จึงได้บินไปบอกคำของนางนกสาลิกานี้แก่มโหสธบัณฑิต
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เมื่อจะเปล่งอุทานด้วยกำลังปีติ จึงได้กราบทูลว่า)
[๖๓๔] ราชบุรุษพึงได้บริโภคโภคะ
ในพระตำหนักของพระราชาพระองค์ใด
ก็ควรทำประโยชน์ให้แก่พระราชาพระองค์นั้นเท่านั้น
ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมแห่งชน เอาเถิด
ข้าพระองค์จะไปสู่เมืองอันน่ารื่นรมย์ของพระเจ้าปัญจาละก่อน
เพื่อสร้างพระราชนิเวศน์ถวายแด่พระองค์
ผู้ทรงพระนามว่าวิเทหะผู้ทรงยศ
[๖๓๕] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นกษัตริย์
ครั้นข้าพระองค์สร้างพระราชนิเวศน์ถวายแด่พระองค์
ผู้ทรงพระนามว่าวิเทหะผู้ทรงยศแล้ว
พึงส่งข่าวมาถวายพระองค์ได้เมื่อใด
ขอพระองค์เสด็จไปเมื่อนั้น
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๓๖] ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตได้ไปยังเมืองอันน่ารื่นรมย์
ของพระเจ้าปัญจาละก่อน เพื่อสร้างพระราชนิเวศน์
ถวายพระเจ้าวิเทหะผู้ทรงยศ
[๖๓๗] ครั้นได้สร้างพระราชนิเวศน์ถวายแด่พระเจ้าวิเทหะ
ผู้ทรงยศ แล้วภายหลังจึงได้ส่งทูต
ไปกราบทูลพระเจ้าวิเทหะผู้ครองกรุงมิถิลาว่า
ข้าแต่มหาราช ขอเชิญพระองค์เสด็จ ณ บัดนี้เถิด
พระราชนิเวศน์ที่สร้างเพื่อพระองค์สำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๖๓๘] ลำดับนั้น พระราชาเสด็จไปพร้อมด้วยจตุรงคเสนา
เพื่อทอดพระเนตรเมืองเจริญที่มโหสธบัณฑิตสร้างถวาย
ในแคว้นกปิละซึ่งมีพาหนะนับไม่ถ้วน
[๖๓๙] แต่นั้น ท้าวเธอครั้นเสด็จไปถึงแล้ว
จึงทรงส่งพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้าพรหมทัตว่า
ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันจะมา
เพื่อถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์
[๖๔๐] ขอพระองค์โปรดพระราชทานพระธิดา
ผู้ทรงความงามทั่วทั้งองค์
ประดับด้วยเครื่องอลังการทำด้วยทองคำ
แห่ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวง
ให้เป็นมเหสีของหม่อมฉัน ณ บัดนี้เถิด
(พระเจ้าจูฬนีสดับถ้อยคำของราชทูตแล้วก็ทรงโสมนัส เมื่อจะทรงแสดงโสมนัส
ให้ปรากฏเด่นชัด ประทานรางวัลแก่ราชทูตแล้ว จึงตรัสว่า)
[๖๔๑] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ พระองค์เสด็จมาดีแล้ว
อนึ่ง พระองค์มิได้เสด็จมาร้าย
เชิญพระองค์ทรงหาฤกษ์ไว้เถิด หม่อมฉันจะถวายพระราชธิดา
ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทำด้วยทองคำ
แห่ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวงแก่พระองค์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๔๒] ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหะก็ได้ทรงหาฤกษ์
ครั้นแล้วจึงทรงส่งพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้าพรหมทัตว่า
[๖๔๓] ขอพระองค์ทรงพระราชทานพระราชธิดา
ผู้ทรงความงามทั่วทั้งองค์
ประดับด้วยเครื่องอลังการทำด้วยทองคำ
แห่ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวง
ให้เป็นมเหสีของหม่อมฉัน ณ บัดนี้เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(ฝ่ายพระเจ้าจูฬนีตรัสตอบว่า)
[๖๔๔] หม่อมฉันจะถวายพระราชธิดา
ผู้ทรงความงามทั่วทั้งองค์
ประดับด้วยเครื่องอลังการทำด้วยทองคำ
แห่ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวง
ให้เป็นมเหสีของพระองค์ ณ บัดนี้
(พระเจ้าวิเทหะเมื่อทรงปรึกษากับอาจารย์ผู้เป็นบัณฑิต จึงตรัสว่า)
[๖๔๕] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
เป็นกองทัพที่สวมเกราะตั้งอยู่
จุดคบเพลิงสว่างไสวอยู่
บัณฑิตทั้งหลายจะเข้าใจอย่างไรหนอ
[๖๔๖] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
เป็นกองทัพที่สวมเกราะตั้งอยู่
จุดคบเพลิงสว่างไสวอยู่
บัณฑิตทั้งหลายจักทำอย่างไรหนอ
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๖๔๗] ข้าแต่มหาราช พระเจ้าจูฬนีพรหมทัตมีกำลังมาก
รักษาพระองค์ไว้ จะทรงประทุษร้ายพระองค์
รุ่งเช้าก็จักรับสั่งให้ปลงพระชนม์พระองค์
(พระเจ้าวิเทหะทรงกลัวต่อมรณภัย ได้ตรัสว่า)
[๖๔๘] หทัยของเราสั่นและปากก็แห้งผาก
เราไม่ได้รับความเย็นใจเลย เป็นเสมือนถูกไฟเผาอยู่กลางแดด
[๖๔๙] เบ้าหลอมทองของพวกช่างทองย่อมไหม้อยู่ข้างใน
หาไหม้ข้างนอกไม่ฉันใด
ใจของเราก็ฉันนั้น ไหม้อยู่ข้างใน หาไหม้ข้างนอกไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ยินเสียงพระเจ้าวิเทหะคร่ำครวญ จึงกราบทูลว่า)
[๖๕๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ ทรงเป็นผู้ประมาท
ล่วงเลยการปรึกษา ทำลายการปรึกษา
บัดนี้ ขอชนทั้งหลายผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญา
จงป้องกันพระองค์เถิด
[๖๕๑] พระราชาไม่ทรงทำตามคำของข้าพระองค์ผู้เป็นอำมาตย์
ผู้ใคร่ประโยชน์และหวังดี ทรงยินดีด้วยปีติของพระองค์
จึงเหมือนเนื้อติดบ่วงนายพราน
[๖๕๒] ปลาอยากกินเหยื่อสด กลืนขอเบ็ดที่ใช้เหยื่อปิดบังไว้
ก็ไม่รู้ว่าตนจะตายฉันใด
[๖๕๓] ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงติดอยู่ในกาม
ก็ย่อมไม่ทรงทราบพระธิดาของพระเจ้าจูฬนี
เหมือนปลาไม่รู้จักตนว่าจะตายฉันนั้น
[๖๕๔] ถ้าพระองค์เสด็จไปแคว้นปัญจาละ
ก็จักเสียพระองค์ไปทันที ภัยใหญ่จักมาถึงพระองค์
เหมือนภัยคือความตายมาถึงเนื้อตัวเดินไปตามทาง
[๖๕๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน บุรุษผู้เป็นอนารยชน
ก็เป็นเหมือนงูที่อยู่ในชายพกจะพึงกัดได้
นักปราชญ์ไม่พึงผูกไมตรีกับบุรุษผู้นั้น
เพราะการสังคมกับบุรุษชั่วนำทุกข์มาให้โดยแท้
[๖๕๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน
นักปราชญ์พึงผูกไมตรีกับบุคคลผู้มีศีล
เป็นพหูสูตที่รู้จักกันนั้นแหละ
เพราะการสมาคมกับสัตบุรุษนำสุขมาให้โดยแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ข่มพระเจ้าวิเทหะยิ่งขึ้น จึงนำพระดำรัสที่ตรัสไว้ใน
กาลก่อนมากราบทูลว่า)
[๖๕๗] ข้าแต่พระราชา พระองค์ได้ตรัสถึงเหตุ
ที่จะให้ได้รัตนะอันสูงส่งในสำนักของข้าพระองค์
ทรงเป็นผู้โง่เขลา บ้าน้ำลาย
ข้าพระองค์เป็นบุตรของคหบดี เติบโตมาด้วยหางไถ
จะรู้เหตุที่จะให้ได้รัตนะอันสูงส่งเหมือนคนอื่น ๆ ได้อย่างไร
[๖๕๘] ท่านทั้งหลายจงไสคอมโหสธบัณฑิตนี้
ผู้พูดเป็นอันตรายต่อการได้รัตนะของเรา
ขับไล่ให้พ้นไปจากแคว้นของเรา
(พระเจ้าวิเทหะเมื่อจะยึดมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เป็นที่พึ่ง จึงตรัสว่า)
[๖๕๙] มโหสธ เหล่าบัณฑิตย่อมไม่พูดทิ่มแทงเพราะโทษที่ล่วงไปแล้ว
เพราะเหตุไร เจ้าจึงมาทิ่มแทงเรา
เหมือนม้าที่เขาล่ามไว้ถูกแทงด้วยปฏัก
[๖๖๐] ถ้าเจ้าเห็นว่าเราจะพ้นภัยหรือปลอดภัย
เพราะเหตุไร เจ้าจึงทิ่มแทงเราเพราะโทษที่ล่วงไปแล้วเล่า
จงสั่งสอนเราโดยความสวัสดีนั้นเถิด
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๖๖๑] ข้าแต่กษัตริย์ กรรมของมนุษย์ที่ล่วงไปแล้ว
ทำได้ยาก เกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง
ข้าพระองค์ไม่อาจจะปลดเปลื้องพระองค์ได้
ขอพระองค์ได้โปรดทรงทราบเถิด
[๖๖๒] ช้างทั้งหลายที่มีฤทธิ์ มียศ
สามารถเหาะไปทางอากาศได้ ของพระราชาใดมีอยู่
ช้างเหล่านั้นก็จะพึงพาพระราชานั้นไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๖๖๓] ม้าทั้งหลายที่มีฤทธิ์ มียศ
สามารถเหาะไปทางอากาศได้ ของพระราชาใดมีอยู่
ม้าเหล่านั้นก็จะพึงพาพระราชานั้นไปได้
[๖๖๔] นกทั้งหลายที่มีฤทธิ์ มียศ
สามารถบินไปทางอากาศได้ ของพระราชาใดมีอยู่
นกเหล่านั้นจะพึงพาพระราชานั้นไปได้
[๖๖๕] ยักษ์ทั้งหลายที่มีฤทธิ์ มียศ
สามารถเหาะไปทางอากาศได้ ของพระราชาใดมีอยู่
ยักษ์เหล่านั้นก็จะพึงพาพระราชานั้นไปได้
[๖๖๖] ข้าแต่กษัตริย์ กรรมของมนุษย์ที่ล่วงไปแล้ว
ทำได้ยาก เกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง
ข้าพระองค์ไม่อาจปลดเปลื้องพระองค์ทางอากาศได้
(เสนกบัณฑิตเมื่อจะขอร้องมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ จึงได้กล่าวว่า)
[๖๖๗] บุรุษผู้ยังมองไม่เห็นฝั่งในมหาสมุทร ได้ที่พำนักในที่ใด
เขาย่อมได้รับความสุขในที่นั้นฉันใด
[๖๖๘] ท่านมโหสธ ขอท่านจงได้เป็นที่พึ่ง
ทั้งของพวกข้าพเจ้าและพระราชาฉันนั้นเถิด
ท่านเป็นผู้ประเสริฐสุดของพวกข้าพเจ้าเหล่ามนตรี
ขอท่านจงช่วยปลดเปลื้องข้าพเจ้าทั้งหลาย
ให้พ้นจากทุกข์ด้วยเถิด
(ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เมื่อจะข่มเสนกบัณฑิต จึงกล่าวว่า)
[๖๖๙] ท่านอาจารย์เสนกะ กรรมของมนุษย์ที่ล่วงไปแล้ว
ทำได้ยาก เกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง
ข้าพเจ้าไม่อาจจะปลดเปลื้องท่านได้
ขอท่านจงรู้เอาเองเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(พระเจ้าวิเทหะตรัสถามว่า)
[๖๗๐] ขอท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ
บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านอาจารย์เสนกะ
ณ ที่นี้ ท่านจะเข้าใจสิ่งที่ควรทำอย่างไร
(เสนกบัณฑิตได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๖๗๑] พวกเราจะปิดประตูเอาไฟจุดเผา
หรือมิฉะนั้นก็จับศัสตราห้ำหั่นฆ่ากันและกัน
ชิงละชีวิตไปเสียก่อน อย่าให้พระเจ้าพรหมทัตฆ่าพวกเรา
ด้วยการทรมานเป็นเวลานานเลย
(พระเจ้าวิเทหะตรัสถามปุกกุสบัณฑิตว่า)
[๖๗๒] ขอท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ
บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านอาจารย์ปุกกุสะ
ณ ที่นี้ ท่านจะเข้าใจสิ่งที่ควรทำอย่างไร
(ปุกกุสบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๖๗๓] พวกเราจะกินยาพิษฆ่าตัวตาย ชิงละชีวิตไปเสียก่อน
อย่าให้พระเจ้าพรหมทัตฆ่าพวกเรา
ด้วยการทรมานเป็นเวลานานเลย
(พระเจ้าวิเทหะตรัสถามกามินทบัณฑิตว่า)
[๖๗๔] ขอท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ
บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านอาจารย์กามินทะ
ณ ที่นี้ ท่านจะเข้าใจสิ่งที่ควรทำอย่างไร
(กามินทบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๖๗๕] พวกเราจะเอาเชือกผูกคอตายหรือโดดเหวตาย
อย่าให้พระเจ้าพรหมทัตฆ่าพวกเรา
ด้วยการทรมานเป็นเวลานานเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(พระเจ้าวิเทหะตรัสถามเทวินทบัณฑิตว่า)
[๖๗๖] ขอท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ
บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านอาจารย์เทวินทะ
ณ ที่นี้ ท่านจะเข้าใจสิ่งที่ควรทำอย่างไร
(เทวินทบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๖๗๗] พวกเราจะปิดประตูเอาไฟจุดเผา
หรือมิฉะนั้นก็จับศัสตราห้ำหั่นฆ่ากันและกัน
ชิงละชีวิตไปเสียก่อน มโหสธไม่สามารถจะช่วยปลดเปลื้องพวกเรา
ให้รอดพ้นไปได้โดยง่ายเลย
(พระเจ้าวิเทหะได้สดับดังนั้น คร่ำครวญจนมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ยิน จึง
ตรัสว่า)
[๖๗๘] บุคคลแสวงหาแก่นของต้นกล้วย แต่ไม่พบฉันใด
พวกเราเมื่อค้นหาปัญหาคืออุบายที่จะพ้นทุกข์
ก็ไม่พบปัญหานั้นฉันนั้น
[๖๗๙] บุคคลแสวงหาแก่นงิ้ว แต่ไม่พบฉันใด
พวกเราเมื่อค้นหาปัญหาคืออุบายที่จะพ้นทุกข์
ก็ไม่พบปัญหานั้นฉันนั้น
[๖๘๐] การที่เราทั้งหลายอยู่ในสำนักหมู่พาล
ซึ่งเป็นพวกเขลา ไม่รู้อะไร
ก็เท่ากับฝูงกุญชรอยู่ในที่ไม่มีน้ำซึ่งเป็นถิ่นไม่สมควรหนอ
[๖๘๑] หทัยของเราสั่น และปากก็แห้งผาก
เราไม่ได้รับความเย็นใจเลย เป็นเหมือนถูกไฟเผาอยู่กลางแดด
[๖๘๒] เบ้าหลอมทองของพวกช่างทองย่อมไหม้อยู่ข้างใน
หาไหม้ข้างนอกไม่ ฉันใด
ใจของเราก็ฉันนั้น ไหม้อยู่ข้างใน หาไหม้ข้างนอกไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๘๓] ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์มองเห็นประโยชน์นั้น
เห็นพระเจ้าวิเทหะผู้ประสบทุกข์ จึงได้กราบทูลคำนี้ว่า
[๖๘๔] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น
เหมือนช่วยปลดเปลื้องดวงจันทร์ที่ถูกราหูจับให้หลุดพ้น
[๖๘๕] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น
เหมือนช่วยปลดเปลื้องดวงอาทิตย์ที่ถูกราหูจับให้หลุดพ้น
[๖๘๖] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น
เหมือนช่วยปลดเปลื้องช้างเชือกจมปลักให้รอดพ้น
[๖๘๗] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น
เหมือนช่วยปลดเปลื้องงูที่ติดอยู่ในข้องให้รอดพ้น
[๖๘๘] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น
เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรงให้รอดพ้น
[๖๘๙] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น
เหมือนคนช่วยปล่อยปลาที่ติดแหให้รอดพ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๖๙๐] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์
พร้อมด้วยพระราชยานหมู่พลและพาหนะให้รอดพ้น
[๖๙๑] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักขับไล่กองทัพของพระเจ้าปัญจาละให้หนีไป
เหมือนขับไล่กาและเหยี่ยวให้หนีไป
[๖๙๒] อำมาตย์ใดพึงปลดเปลื้องพระองค์
ผู้ตกอยู่ในที่คับขันให้พ้นจากทุกข์ไม่ได้
ปัญญาของอำมาตย์ผู้เช่นนั้นหรืออำมาตย์
ผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญาผู้เช่นนั้น จะมีประโยชน์อะไร
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์สั่งเหล่าทหารให้เปิดประตูอุโมงค์ว่า)
[๖๙๓] มาเถิด ลุกขึ้นเถิดมาณพทั้งหลาย
จงเปิดปากอุโมงค์และประตูเรือนเถิด
พระเจ้าวิเทหะ พร้อมอำมาตย์จักเสด็จไปทางอุโมงค์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๙๔] พวกคนติดตามของมโหสธบัณฑิตฟังคำสั่งของมโหสธนั้นแล้ว
ช่วยกันเปิดประตูอุโมงค์และถอดกลอนที่ติดยนต์
[๖๙๕] เสนกะเดินนำเสด็จไปข้างหน้า
มโหสธเดินตามเสด็จไปข้างหลัง
พระเจ้าวิเทหะมีอำมาตย์ห้อมล้อมเสด็จไปท่ามกลาง
[๖๙๖] พระเจ้าวิเทหะเสด็จออกไปจากอุโมงค์แล้ว
เสด็จขึ้นประทับเรือพระที่นั่ง ส่วนมโหสธบัณฑิตได้ทราบว่า
พระเจ้าวิเทหะเสด็จขึ้นประทับเรือพระที่นั่งแล้ว
จึงถวายอนุสาสน์ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๖๙๗] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นจอมชน ผู้นี้คือพระโอรส
แห่งพระเจ้าจูฬนีผู้เป็นพระสัสสุระ (พ่อตา) ของพระองค์
พระเทวีนี้เป็นพระสัสสุ (แม่ยาย) ของพระองค์
ขอโปรดทรงปฏิบัติต่อพระสัสสุของพระองค์
เหมือนทรงปฏิบัติต่อพระราชมารดาของพระองค์เถิด
[๖๙๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ
พระภาดาแท้ ๆ ผู้ร่วมพระอุทร มีพระชนนีเดียวกัน
พระองค์ก็ควรทรงเอ็นดูฉันใด
พระปัญจาลจันทราชกุมารพระองค์ก็ควรเอ็นดูฉันนั้น
[๖๙๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ
พระนางปัญจาลจันทนีราชบุตรีของพระเจ้าพรหมทัตนี้
ที่พระองค์ทรงปรารถนายิ่งนัก
ขอพระองค์จงทำความรักใคร่ในพระนางของพระองค์
พระนางจะเป็นมเหสีของพระองค์
(พระเจ้าวิเทหะทรงประสงค์จะเสด็จไป จึงตรัสกับมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๗๐๐] มโหสธ ท่านจงรีบขึ้นเรือเถิด
จะยืนอยู่ที่ฝั่งทำไมหนอ พวกเราพ้นจากทุกข์ได้โดยยาก
จงรีบไป ณ บัดนี้เถิด
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๗๐๑] ข้าแต่มหาราช การที่ข้าพระองค์เป็นผู้นำกองทัพ
จะทอดทิ้งกองทัพแล้ว
พึงเอาตัวรอดนี้ ไม่เป็นธรรมเลย
[๗๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ
ข้าพระองค์จักนำกองทัพที่พระองค์ละทิ้งไว้ในพระราชนิเวศน์
ซึ่งพระเจ้าพรหมทัตพระราชทานแล้วนั้นกลับมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหะตรัสว่า)
[๗๐๓] ท่านบัณฑิต ท่านมีเสนาน้อย
จักข่มพระเจ้าพรหมทัตผู้มีเสนามากได้อย่างไร
ท่านไม่มีกำลังจักเดือดร้อน
เพราะพระเจ้าพรหมทัตมีกำลัง
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๗๐๔] ผู้มีปัญญา ถึงจะมีเสนาน้อย
ก็ชนะคนที่มีเสนามากแต่ไม่มีปัญญาได้
เหมือนพระราชาผู้ทรงพระปรีชา
ย่อมชนะพระราชาหลายพระองค์ผู้ไม่ทรงพระปรีชาได้
ดังดวงอาทิตย์ขึ้นมากำจัดความมืด
(พระเจ้าวิเทหะ ทรงสรรเสริญคุณของมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์แก่เสนกบัณฑิต
ว่า)
[๗๐๕] ท่านอาจารย์เสนกะ การอยู่ร่วมกับบัณฑิตทั้งหลาย
เป็นสุขดีหนอ เพราะมโหสธบัณฑิตได้ช่วยปลดเปลื้องพวกเรา
ผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูให้รอดพ้นได้
เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรงให้รอดพ้น
และเหมือนคนช่วยปล่อยปลาที่ติดอยู่ในร่างแหให้พ้น
(เสนกบัณฑิตได้ฟังพระราชดำรัสนั้นแล้ว จึงสรรเสริญคุณของมโหสธบัณฑิต
โพธิสัตว์ว่า)
[๗๐๖] ข้าแต่มหาราช บัณฑิตทั้งหลาย
เป็นผู้นำความสุขมาให้โดยแท้
มโหสธบัณฑิตได้ช่วยปลดเปลื้องพวกเรา
ผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูให้รอดพ้นได้
เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรงให้รอดพ้น
และเหมือนคนช่วยปล่อยปลาที่ติดอยู่ในร่างแหให้รอดพ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๐๗] พระเจ้าจูฬนีผู้ทรงมีพระกำลังมาก
เฝ้าระวังไว้ตลอดราตรีทั้งสิ้น
ครั้นรุ่งอรุณก็เสด็จไปถึงอุปการนคร๑
[๗๐๘] พระเจ้าปัญจาละพระนามว่าจูฬนีผู้ทรงมีพระกำลังมาก
เสด็จขึ้นประทับช้างพระที่นั่งตัวประเสริฐมีกำลัง
ต่อมีอายุ ๖๐ ปีจึงเสื่อมกำลัง ได้รับสั่งแล้วว่า
[๗๐๙] พระองค์ทรงสวมเกราะแก้วมณี
มีพระหัตถ์ทรงพระแสงศร ได้ตรัสสำทับกับเหล่าทหารหาญ
ผู้เชี่ยวชาญศิลปะทุก ๆ ด้าน ซึ่งมาประชุมกันอยู่
(บัดนี้เมื่อจะทรงแสดงข้อความเหล่านั้นโดยย่อ พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า)
[๗๑๐] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ
กองพลราบ ผู้มีฝีมือ ชำนาญในศิลปะธนู
ยิงได้แม่นยำ มาประชุมกันแล้ว
(พระเจ้าจูฬนีรับสั่งใหัจับพระเจ้าวิเทหะว่า)
[๗๑๑] พวกท่านจงไสช้างพลายงาทั้งหลายที่มีกำลัง
ต่อมีอายุ ๖๐ ปีจึงเสื่อมกำลังไป
ขอช้างทั้งหลายจงเหยียบย่ำทำลายเมือง
ที่พระเจ้าวิเทหะได้รับสั่งให้สร้างไว้ดีแล้ว
[๗๑๒] ขอให้ลูกศรขาวด้านหน้าทำด้วยเขี้ยวลูกสัตว์
มีปลายแหลมคมแทงทะลุกระดูกที่ถูกปล่อยไปแล้ว
จงข้ามไปตกลงด้วยกำลังธนูเถิด

เชิงอรรถ :
๑ อุปการนคร หมายถึงนครที่มโหสธบัณฑิตให้สร้างขึ้นในเขตเมืองปัญจาลนคร(ของพระเจ้าจุฬามณี เพื่อใช้
เป็นที่ประทับของพระเจ้าวิเทหะ เพื่อรอเวลาเข้าพิธีวิวาห์กับพระนางปัญจาลจันทนีธิดาของพระเจ้าจุฬามณี
(ขุ.ชา.อ. ๙/๑๐๗/๓๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๗๑๓] พวกทหารรุ่นหนุ่ม ๆ สวมเกราะแกล้วกล้า
มีอาวุธมีด้ามอันงดงาม
เมื่อช้างใหญ่ทั้งหลายแล่นเข้าสงครามมาอยู่
จงหันหน้าสู้ช้างทั้งหลายเถิด
[๗๑๔] หอกทั้งหลายที่ชโลมด้วยน้ำมันส่องแสงเป็นประกายเพลิง
โชติช่วงตั้งอยู่ดังดาวประกายพรึกซึ่งมีรัศมีตั้งร้อย
[๗๑๕] เมื่อเหล่าทหารมีกำลังอาวุธ
สวมสังวาลรัดเกราะเช่นนี้ ไม่หนีสงคราม
พระเจ้าวิเทหะต่อให้มีปีกบินก็หนีไปไหนไม่พ้น
[๗๑๖] เหล่าทหาร ๓๙,๐๐๐ นายทั้งหมดของเรา
แต่ละคนล้วนถูกคัดเลือกไว้แล้ว
เราเที่ยวไปทั่วแผ่นดินก็ไม่เห็นทหารผู้ทัดเทียม
[๗๑๗] อนึ่ง ช้างพลายงาทั้งหลายที่ประดับแล้วล้วนแต่มีกำลัง
ต่อเมื่ออายุ ๖๐ ปีจึงเสื่อมกำลัง
ซึ่งมีเหล่าทหารหนุ่ม ๆ มีผิวพรรณดุจทองคำสง่างามอยู่บนคอ
[๗๑๘] ทหารเหล่านั้นมีเครื่องประดับสีเหลือง
นุ่งผ้าสีเหลือง ผ้านุ่งผ้าห่มสีเหลือง
ย่อมสง่างามอยู่บนคอช้างดังเทพบุตรในอุทยานนันทวัน
[๗๑๙] กระบี่ทั้งหลายที่มีสีเช่นเดียวกับปลาสลาด
ขัดถูด้วยน้ำมันเป็นประกายวาบวับ
ที่เหล่าทหารกล้าทำสำเร็จแล้ว
ลับเป็นอย่างดีมีคมอยู่เสมอ
[๗๒๐] ดาบส่องแสงจ้า ปราศจากสนิม
ทำด้วยเหล็กกล้าทนทาน
ที่เหล่าทหารผู้มีกำลังชำนาญในการฟันถือไว้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๗๒๑] ดาบเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ด้ามทองคำ
ประกอบด้วยฝักสีแดง กวัดแกว่งไปมางดงาม
ดังสายฟ้าที่แปลบปลาบอยู่ในระหว่างก้อนเมฆ
[๗๒๒] เหล่าทหารดาบผู้แกล้วกล้าสวมเกราะ
สามารถตีลังกาไปในอากาศ ฉลาดในการใช้ดาบและโล่ห์
ฝึกฝนมาดีกว่าพลแม่นธนู สามารถจะตัดคอช้างให้ขาดตกลงไปได้
[๗๒๓] พระองค์ถูกทหารทั้งหลายเช่นนี้ล้อมไว้แล้ว
พระองค์จะพ้นไปจากที่นี้ไม่ได้
ข้าพระองค์ยังไม่เห็นราชานุภาพของพระองค์
ที่จะเป็นเหตุให้เสด็จดำเนินไปถึงกรุงมิถิลาได้
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ กล่าวเย้ยหยันกับพระเจ้าจูฬนีว่า)
[๗๒๔] พระองค์ทรงด่วนไสช้างพระที่นั่งตัวประเสริฐมาทำไมหนอ
พระองค์มีพระทัยร่าเริงเสด็จมา
พระองค์ทรงสำคัญว่า เราเป็นผู้ได้ประโยชน์
[๗๒๕] ขอพระองค์ทรงลดแล่งธนูนั่นลงเสียเถิด
ทรงเก็บลูกศรเสียเถิด จงทรงเปลื้องเกราะอันงดงาม
ติดแผ่ไปด้วยแก้วไพฑูรย์และแก้วมณีออกเสียเถิด
(พระเจ้าจูฬนีได้สดับดังนั้น ทรงคุกคามมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๗๒๖] เจ้ามีสีหน้าผ่องใส และพูดอย่างฝืนยิ้ม
ความถึงพร้อมด้วยผิวพรรณเช่นนี้ย่อมมีในคราวใกล้ตาย
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ประกาศข้อความนี้ว่า)
[๗๒๗] ข้าแต่ขัตติยราช พระดำรัสที่พระองค์ตรัสขู่คำราม
เป็นพระดำรัสที่เปล่าประโยชน์
พระองค์เป็นผู้มีความลับแตกเสียแล้ว
เพราะพระราชาของข้าพระองค์ยากที่พระองค์จะจับได้
เหมือนม้าขาเขยกขับม้าสินธพได้ยาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๗๒๘] พระราชาของข้าพระองค์พร้อมด้วยอำมาตย์ราชบริพาร
เสด็จข้ามแม่น้ำคงคาไปแล้วแต่วานนี้
ถ้าพระองค์จักทรงติดตามไป ก็จักตกไปสู่ความลำบาก
เหมือนกาบินไล่ติดตามพญาหงส์
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ไม่พรั่นพรึงดุจพญาราชสีห์ ยกอุทาหรณ์มากราบ
ทูลว่า)
[๗๒๙] สุนัขจิ้งจอกทั้งหลายเป็นสัตว์ต่ำทรามกว่าเนื้อ
เห็นดอกทองกวาวบานในราตรี ก็เข้าใจว่า
เป็นชิ้นเนื้อ จึงเข้าล้อมต้นไว้
[๗๓๐] เมื่อราตรีผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น
สุนัขจิ้งจอกที่ต่ำทรามกว่าเนื้อเหล่านั้น
ได้เห็นดอกทองกวาวที่บานแล้ว ก็หมดหวังฉันใด
[๗๓๑] ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงล้อมพระเจ้าวิเทหะ
ก็จักทรงหมดหวังเสด็จกลับไป ฉันนั้นเหมือนกัน
เหมือนสุนัขจิ้งจอกล้อมต้นทองกวาว
(พระเจ้าจูฬนีได้สดับดังนั้นแล้ว ทรงสั่งลงโทษมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๗๓๒] พวกเจ้าจงตัดมือ เท้า หู และจมูก
ของมโหสธนี้ผู้ที่ปล่อยพระเจ้าวิเทหะ
ศัตรูผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเราให้รอดพ้นไป
[๗๓๓] พวกเจ้าจงเสียบมโหสธผู้ที่ปล่อยพระเจ้าวิเทหะ
ศัตรูผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเราให้รอดพ้น
บนหลาวแล้วย่างมันเสียเหมือนย่างเนื้อนี้
[๗๓๔] บุคคลแทงหนังวัวลงบนแผ่นดิน
หรือใช้ขอเกี่ยวหนังราชสีห์ หรือหนังเสือโคร่งฉุดมาฉันใด
[๗๓๕] เราจักให้พวกเจ้าช่วยกันใช้หอกทิ่มแทงมโหสธนี้
ผู้ที่ปล่อยพระเจ้าวิเทหะ
ศัตรูผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเราให้รอดพ้นฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสนั้น ก็หัวเราะกราบทูลว่า)
[๗๓๖] ถ้าพระองค์รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของข้าพระองค์
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ตัดมือและเท้าเป็นต้น
ของพระปัญจาลจันทราชกุมารเช่นเดียวกัน
[๗๓๗] ถ้าพระองค์รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของข้าพระองค์
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ตัดมือและเท้าเป็นต้น
ของพระนางปัญจาลจันทนีราชธิดาเช่นเดียวกัน
[๗๓๘] ถ้าพระองค์รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของข้าพระองค์
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ตัดมือและเท้าเป็นต้น
ของพระนางนันทาเทวีอัครมเหสีเช่นเดียวกัน
[๗๓๙] ถ้าพระองค์รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของข้าพระองค์
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ตัดมือและเท้าเป็นต้น
ของพระโอรส และพระชายาของพระองค์เช่นเดียวกัน
[๗๔๐] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบเนื้อของข้าพระองค์บนหลาว
แล้วย่างให้สุกเหมือนย่างเนื้อ
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้เสียบพระมังสะ
ของพระปัญจาลจันทราชกุมารบนหลาวแล้วย่างให้สุกเช่นเดียวกัน
[๗๔๑] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบเนื้อของข้าพระองค์บนหลาว
แล้วย่างให้สุกเหมือนย่างเนื้อ
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้เสียบพระมังสะ
ของพระนางปัญจาลจันทนีราชธิดาบนหลาวแล้วย่างให้สุกเช่นเดียวกัน
[๗๔๒] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบเนื้อของข้าพระองค์บนหลาว
แล้วย่างให้สุกเหมือนย่างเนื้อ
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้เสียบพระมังสะ
ของพระนางนันทาเทวีอัครมเหสีแล้วย่างให้สุกเช่นเดียวกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๗๔๓] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบเนื้อของข้าพระองค์บนหลาว
แล้วย่างให้สุกเหมือนย่างเนื้อ
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้เสียบพระมังสะ
ของพระโอรสและพระชายาของพระองค์แล้วย่างให้สุกเช่นเดียวกัน
[๗๔๔] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบข้าพระองค์แล้วใช้หอกทิ่มแทง
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ทิ่มแทง
พระปัญจาลจันทราชกุมารด้วยหอกเช่นเดียวกัน
[๗๔๕] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบข้าพระองค์แล้วใช้หอกทิ่มแทง
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ทิ่มแทง
พระนางปัญจาลจันทนีราชธิดาเช่นเดียวกัน
[๗๔๖] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบข้าพระองค์แล้วใช้หอกทิ่มแทง
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ใช้หอกทิ่งแทง
พระนางนันทาเทวีอัครมเหสีเช่นเดียวกัน
[๗๔๗] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบข้าพระองค์แล้วใช้หอกทิ่มแทง
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ใช้หอกทิ่มแทง
พระโอรสและพระชายาของพระองค์เช่นเดียวกัน
ข้อความดังกราบทูลมาอย่างนี้ ข้าพระองค์กับพระเจ้าวิเทหะ
ได้ปรึกษาตกลงกันไว้แล้วในที่ลับ
[๗๔๘] โล่หนักประมาณ ๑๐๐ ปละ๑
ที่ช่างหนังทำสำเร็จแล้วด้วยมีดของช่างหนัง
ย่อมช่วยป้องกันตนเพื่อห้ามลูกศรฉันใด

เชิงอรรถ :
๑ โล่หนักประมาณ ๑๐๐ ปละ หมายถึงโล่หนังหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ (๑ ปละ ประมาณ ๔ ออนซ์)
ซึ่งเขาใช้น้ำด่างจำนวนมากกัดทำให้อ่อน (ขุ.ชา.อ. ๙/๗๔๘/๓๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๗๔๙] ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น เป็นผู้นำสุขมาให้
บรรเทาทุกข์ถวายพระเจ้าวิเทหะผู้ทรงยศ
จึงจำกัดมติของพระองค์เสีย
ดุจกำจัดลูกศรด้วยโล่หนัก ๔๐๐ ปละ
[๗๕๐] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์จงทอดพระเนตร
พระราชมณเฑียรของพระองค์อันว่างเปล่า
พระสนมกำนัลใน พระกุมาร และพระมารดาของพระองค์
ข้าพระองค์ให้นำออกทางอุโมงค์
นำไปถวายพระเจ้าวิเทหะแล้ว
(พระเจ้าจูฬนีเมื่อสั่งให้อำมาตย์คนหนึ่งมาเฝ้าแล้วส่งไปเพื่อให้รู้ความจริง จึง
ตรัสว่า)
[๗๕๑] เชิญพวกเจ้าจงไปสู่ราชมณเฑียรของเราแล้วตรวจดู
คำของมโหสธนี้จริงหรือเท็จอย่างไร
(อำมาตย์นั้นไปแล้วกลับมา กราบทูลว่า)
[๗๕๒] ข้าแต่มหาราช มโหสธกราบทูลว่าฉันใด
คำนั้นเป็นจริงฉันนั้น
พระราชมณเฑียรทุกแห่งว่างเปล่า
เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงกา
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์พรรณนามรรคาที่พระนางนันทาเทวีเสด็จไป จึงทูลว่า)
[๗๕๓] ข้าแต่มหาราช
พระนางนันทาเทวีทรงพระโฉมงดงามทั่วทั้งสรรพางค์
มีพระโสณีผึ่งผายงามดุจดังแท่งทองคำธรรมชาติ
มีปกติตรัสพระสำเนียงอันอ่อนหวานประดุจดังลูกหงส์
เสด็จไปทางอุโมงค์นี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๗๕๔] ข้าแต่มหาราช พระนางนันทาเทวีทรงพระโฉม
งดงามทั่วทั้งสรรพางค์ ทรงพระภูษาโกไสย
มีพระสรีระเหลืองอร่าม มีสายรัดพระองค์งดงามด้วยทองคำ
ข้าพระองค์นำออกไปแล้วจากอุโมงค์นี้
[๗๕๕] พระนางนันทาเทวีมีพระบาทแดงสดใส
ทรงพระโฉมงดงาม มีสายรัดพระองค์เป็นแก้วมณีแกมทองคำ
มีดวงพระเนตรดังนัยน์ตานกพิราบ มีพระสรีระงดงาม
มีพระโอษฐ์แดงดังลูกตำลึงสุกสะโอดสะอง
[๗๕๖] มีบั้นพระองค์เล็กเรียวดังเถานาคลดาที่เกิดดีแล้ว
และเหมือนกาญจนไพที มีพระเกสายาวดำ
มีปลายช้อนขึ้นเล็กน้อย
[๗๕๗] มีดวงพระเนตรเขื่องดุจดวงตาของลูกเนื้อทรายที่เกิดดีแล้ว
และดุจเปลวเพลิงในฤดูหนาว
เหมือนแม่น้ำใกล้ภูผาอันดารดาษไปด้วยไม้ไผ่ต้นเล็ก ๆ
[๗๕๘] พระนางมีพระเพลางามดังงวงอัยรา
ที่สำคัญมีพระถันยุคลดังคู่ผลมะพลับ
มีพระสัณฐานสันทัด ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก
มีพระโขนงพองาม ไม่มากนัก
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ ทราบว่าพระเจ้าจูฬนีมีความเสน่หาเกิดขึ้น จึง
กราบทูลต่ออีกว่า)
[๗๕๙] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพาหนะที่สมบูรณ์ด้วยสิริ
พระองค์คงจะทรงยินดีกับการทิวงคต
ของพระนางนันทาเทวีเป็นแน่
ข้าพระองค์และพระนางนันทาเทวี
ก็จะพากันไปสำนักของพญายมด้วยกันแน่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(ลำดับนั้น พระเจ้าจูฬนีจึงตรัสถามมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๗๖๐] มโหสธผู้ได้ปล่อยพระเจ้าวิเทหะ
ศัตรูผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเราทำเล่ห์กลทิพย์หรือทำภาพลวงตา
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๗๖๑] ข้าแต่มหาราช บัณฑิตทั้งหลายในโลกนี้
ย่อมทำเล่ห์กลอันเป็นทิพย์
ชนผู้มีปัญญามีมันสมองเหล่านั้นย่อมปลดเปลื้องตนได้
[๗๖๒] เหล่าทหารหนุ่มผู้รับใช้เป็นคนฉลาด
เป็นผู้ขุดอุโมงค์ของข้าพระองค์ผู้ได้สร้างหนทาง
ที่พระเจ้าวิเทหะได้เสด็จไปกรุงมิถิลาไว้มีอยู่
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ทราบความประสงค์ของพระเจ้าจูฬนี จึงทูลว่า)
[๗๖๓] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทอดพระเนตรอุโมงค์
ที่สร้างไว้ดีแล้วงดงาม เรืองรองด้วยถ่องแถวแห่งกองพลช้าง
กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ซึ่งเขาทำเป็นรูปปั้นและเป็นลวดลายไว้ที่สำเร็จดีแล้วเถิด
(พระเจ้าจูฬนีทรงเห็นอุโมงค์แล้ว ทรงยกย่องคุณของมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๗๖๔] มโหสธ เป็นลาภของชนชาวแคว้นวิเทหะหนอ
(และ)เป็นลาภของผู้ที่มีเหล่าบัณฑิตเช่นนี้
อยู่ในเรือนในแคว้นเหมือนมีเจ้า
(ลำดับนั้น พระเจ้าจูฬนีตรัสด้วยประสงค์จะให้มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์อยู่ใน
สำนักของตนว่า)
[๗๖๕] เราจะให้เครื่องดำเนินชีวิต ที่บริหาร
เบี้ยเลี้ยงและบำเหน็จเป็น ๒ เท่า
ให้โภคะอันไพบูลย์ เจ้าจงใช้สอยและรื่นรมย์ในกามเถิด
เจ้าไม่กลับไปยังแคว้นวิเทหะ พระเจ้าวิเทหะจักทรงทำอะไรได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เมื่อจะปฏิเสธ จึงกราบทูลว่า)
[๗๖๖] ข้าแต่มหาราช บุคคลผู้ที่สละท่านผู้ชุบเลี้ยงตน
เพราะเหตุแห่งทรัพย์
ย่อมถูกตนและคนอื่นทั้ง ๒ ฝ่ายติเตียนได้
ข้าพระองค์ไม่พึงอยู่ในแคว้นของผู้อื่นได้
ตราบเท่าเวลาที่พระเจ้าวิเทหะยังทรงดำรงพระชนม์อยู่
[๗๖๗] ข้าแต่มหาราช บุคคลผู้ที่สละท่านผู้ชุบเลี้ยงตน
เพราะเหตุแห่งทรัพย์
ย่อมถูกตนและคนอื่นทั้ง ๒ ฝ่ายติเตียนได้
ข้าพระองค์ไม่พึงเป็นราชบุรุษของพระราชาองค์อื่นได้
ตราบเท่าเวลาที่พระเจ้าวิเทหะยังทรงดำรงพระชนม์อยู่
(ในเวลาที่มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ทูลลา พระเจ้าจูฬนี ตรัสว่า)
[๗๖๘] มโหสธ เราจะให้ทอง ๑,๐๐๐ แท่ง
บ้าน ๘๐ หมู่บ้านในแคว้นกาสีแก่ท่าน
ให้ทาสี ๔๐๐ คน และภรรยา ๑๐๐ คนแก่ท่าน
ท่านจงพากองทัพทั้งปวงไปโดยสวัสดีเถิด
[๗๖๙] ชนทั้งหลายจงให้อาหารแก่ช้างและม้าทั้งหลาย
อย่างละ ๒ เท่าเพียงใด ก็จงเลี้ยงกองพลรถและกองพลราบ
ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำเพียงนั้นเถิด
[๗๗๐] มโหสธบัณฑิต ท่านจงพาเอากองพลช้าง กองพลม้า
กองพลรถ และกองพลราบไปเถิด
พระเจ้าวิเทหมหาราชจงทอดพระเนตร
ท่านผู้ไปถึงกรุงมิถิลาแล้วเถิด
(ฝ่ายพระเจ้าวิเทหะทรงเห็นกองทัพใหญ่ ตกพระทัยตรัสกับบัณฑิตทั้ง ๔ ว่า)
[๗๗๑] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ปรากฏมากมายครบทั้ง ๔ กองพลที่น่าสะพรึงกลัว
บัณฑิตทั้งหลายจะเข้าใจอย่างไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(ลำดับนั้น เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๗๗๒] ข้าแต่มหาราช ความยินดีอย่างสูงส่งจงปรากฏแก่พระองค์
มโหสธบัณฑิตได้พากองทัพทั้งหมดมาถึงโดยสวัสดีแล้ว
(พระเจ้าวิเทหะเสด็จลุกขึ้นสวมกอดมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์แล้ว ทำปฏิสันถาร
ตรัสว่า)
[๗๗๓] คนทั้ง ๔ ทิ้งร่างคนตายไว้ในป่าช้าแล้วกลับไปฉันใด
เราทั้งหลายก็ทิ้งท่านไว้ในกปิลรัฐแล้วกลับมาที่นี้ฉันนั้น
[๗๗๔] เมื่อเป็นเช่นนั้น เจ้าปลดเปลื้องตนได้
เพราะเหตุ เพราะปัจจัย หรือเพราะประโยชน์อะไร
(ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์จึงกราบทูลว่า)
[๗๗๕] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะผู้เป็นกษัตริย์
ข้าพระองค์ล้อมประโยชน์ไว้ด้วยประโยชน์
ล้อมความคิดไว้ด้วยความคิด
ล้อมพระราชาไว้เหมือนน้ำทะเลล้อมชมพูทวีปไว้
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลถึงบรรณาการที่พระเจ้าจูฬนีพระราชทานแก่ตน
ให้ทรงทราบว่า)
[๗๗๖] พระเจ้าพรหมทัตทรงพระราชทานทองคำ ๑,๐๐๐ แท่ง
บ้าน ๘๐ หมู่บ้านในแคว้นกาสี
ทาสี ๔๐๐ คน และภรรยา ๑๐๐ คนแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์พากองทัพทั้งหมดมาที่นี้โดยสวัสดีแล้ว
(พระเจ้าวิเทหะทรงยินดี ร่าเริงอย่างยิ่ง ทรงยกย่องคุณของมโหสธบัณฑิต
โพธิสัตว์ว่า)
[๗๗๗] ท่านอาจารย์เสนกะ การอยู่ร่วมกับบัณฑิตทั้งหลาย
เป็นสุขดีหนอ เพราะมโหสธบัณฑิตปลดเปลื้องพวกเรา
ผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรงให้รอดพ้น
และเหมือนคนช่วยปล่อยปลาที่ติดอยู่ในร่างแหให้รอดพ้น
(ฝ่ายเสนกบัณฑิตรับพระราชดำรัสแล้วกราบทูลว่า)
[๗๗๘] ข้าแต่มหาราช ข้อความนี้ก็เป็นอย่างนี้
เพราะพวกบัณฑิตเป็นผู้นำสุขมาให้
มโหสธได้ช่วยปลดเปลื้องพวกเราผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรู
เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรง
และปลาที่ติดอยู่ในร่างแหให้พ้นไป
(พระเจ้าวิเทหะรับสั่งให้ชาวพระนครเที่ยวตีกลองประกาศว่า)
[๗๗๙] ขอประชาชนทั้งหลายจงดีดพิณทุกชนิด
จงตีกลองน้อย กลองใหญ่ และมโหระทึก
จงเป่าสังข์อันมีเสียงไพเราะของชาวเมืองเถิด
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๘๐] พวกพระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์
ต่างก็ได้นำข้าวน้ำเป็นอันมากมามอบให้แก่มโหสธบัณฑิต
[๗๘๑] พวกกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ต่างก็นำข้าวน้ำเป็นอันมากมามอบให้แก่มโหสธบัณฑิต
[๗๘๒] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
ได้นำข้าวและน้ำเป็นอันมากมามอบให้แก่มโหสธบัณฑิต
[๗๘๓] ชนเป็นอันมากได้เห็นมโหสธบัณฑิตกลับมา
ต่างก็เลื่อมใส ครั้นมโหสธบัณฑิตมาถึงแล้ว
ต่างก็โบกผ้าอยู่ไปมา
มโหสธชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
๖. ภูริทัตตชาดก๑ (๕๔๓)
ว่าด้วยพระเจ้าภูริทัต
(เหล่านาคมาณพเมื่อจะประกาศข้อความนี้ จึงกราบทูลพระราชาว่า)
[๗๘๔] รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่ในนิเวศน์ของท้าวธตรัฏฐะ
รัตนะทั้งหมดจงมาสู่พระราชนิเวศน์ของพระองค์
ขอพระองค์จงพระราชทานพระราชธิดาแก่พระราชา
(พระเจ้าพรหมทัตครั้นได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๘๕] ไม่ว่ากาลไหน ๆ พวกเราไม่เคยทำการวิวาห์กับพวกนาคเลย
พวกเราจะทำการวิวาห์อันไม่สมควรนั้นได้อย่างไร
(เหล่านาคมาณพได้ฟังพระดำรัสนั้น จึงขู่พระราชาว่า)
[๗๘๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งมนุษย์
พระองค์จำต้องเสียสละพระชนมชีพ
หรือแคว้นเป็นแน่ เพราะเมื่อนาคโกรธแล้ว
คนเช่นพระองค์จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้นาน
[๗๘๗] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์เป็นมนุษย์ไม่มีฤทธิ์
แต่มาดูหมิ่นพญานาคธตรัฏฐะผู้มีฤทธิ์
ซึ่งเป็นลูกในอกของท้าววรุณนาคราชที่เกิดอยู่ใต้แม่น้ำยมุนา
(พระเจ้าพรหมทัตตรัสว่า)
[๗๘๘] เราไม่ได้ดูหมิ่นท้าวธตรัฏฐะผู้ทรงยศ
เพราะท้าวธตรัฏฐะเป็นใหญ่แม้แห่งนาคเป็นอันมาก

เชิงอรรถ :
๑ พระศาสดาเมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยกรุงสาวัตถี ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภอุบาสก อุบาสิกา
ผู้รักษาอุโบสถศีล ตรัสภูริทัตตชาดกนี้ ซึ่งมีคำเริ่มต้นว่า รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่ ดังนี้ เป็นต้น
(ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๗๘๙] ถึงจะเป็นพญานาคผู้มีอานุภาพมาก
ก็ไม่สมควรกับธิดาของเรา
ส่วนเราเป็นกษัตริย์ของชาวแคว้นวิเทหะ
และนางสมุททชาธิดาของเราก็เป็นอภิชาตบุตร
(ท้าวธตรัฏฐะเมื่อทรงสั่งให้ประชุมบริษัท จึงตรัสว่า)
[๗๙๐] พวกนาคกัมพลอัสสดร๑จงเตรียมตัว
จงไปประกาศให้นาคทั้งปวงรู้กัน
จงพากันไปกรุงพาราณสี แต่อย่าได้เบียดเบียนใคร ๆ
(ท้าวธตรัฏฐะตรัสบอกนาคมาณพเหล่านั้นว่า)
[๗๙๑] นาคทั้งหลายจงแผ่พังพานห้อยอยู่ที่นิเวศน์
บึง ถนน ทาง ๔ แพร่ง ยอดไม้ และเสาระเนียด
[๗๙๒] แม้เราก็จะนิรมิตตัวให้ใหญ่ ขาวล้วน
วงล้อมเมืองใหญ่ด้วยขนดหาง
ทำความกลัวให้เกิดแก่ชาวกาสี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๙๓] นาคทั้งหลายได้ฟังคำของท้าวธตรัฏฐะแล้ว
ต่างก็แปลงเพศเป็นหลายอย่าง
พากันเข้าไปยังกรุงพาราณสี แต่มิได้เบียดเบียนใครเลย
[๗๙๔] นาคเหล่านั้นต่างพากันแผ่พังพานห้อยอยู่ที่นิเวศน์
บึง ถนน ทาง ๔ แพร่ง ยอดไม้ และเสาระเนียด
[๗๙๕] พวกหญิงสาวจำนวนมากได้เห็นนาคเหล่านั้น
แผ่พังพานห้อยอยู่ตามที่ต่าง ๆ
หายใจฟู่ ๆ อยู่ ต่างก็พากันร้องคร่ำครวญ

เชิงอรรถ :
๑ นาคกัมพลอัสสดร หมายถึงพวกนาคที่อาศัยอยู่ที่เชิงเขาสิเนรุและเป็นญาติฝ่ายพระมารดาของท้าวธตรัฏฐะ
(ขุ.ชา.อ. ๑๐/๗๙๐/๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๗๙๖] ชาวกรุงพาราณสีต่างก็สะดุ้ง ตกใจ กลัว เดือดร้อน
พากันไปประชุมกอดอกร้องทุกข์ว่า
ขอพระองค์จงทรงพระราชทานพระราชธิดาแก่พระราชาเถิด
(พราหมณ์เนสาทะไปยังสำนักพระโพธิสัตว์ถามว่า)
[๗๙๗] ท่านชื่ออะไร มีนัยน์ตาแดง มีอกผึ่งผาย
นั่งอยู่ในท่ามกลางป่าอันเต็มไปด้วยดอกไม้
นารี ๑๐ คนทรงเครื่องประดับสร้อยสังวาลทองคำ
นุ่งผ้าสวยงาม ยืนไหว้อยู่เป็นใคร
[๗๙๘] ท่านเป็นใคร มีแขนใหญ่ รุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางป่า
เหมือนไฟอันลุกโชนด้วยเปรียง
ท่านคงจะเป็นผู้มีศักดิ์ใหญ่คนใดคนหนึ่ง
เป็นยักษ์หรือเป็นนาคผู้มีอานุภาพมาก
(พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น ตรัสบอกว่าตนเป็นพญานาคว่า)
[๗๙๙] เราเป็นนาคผู้มีฤทธิ์เดช ยากที่ใคร ๆ จะล่วงล้ำได้
ถ้าแม้ว่าเราโกรธแล้ว จะพึงขบกัดชนบทที่เจริญ
ให้แหลกลาญไปได้ด้วยเดช
[๘๐๐] เรามีมารดาชื่อสมุททชาและบิดาชื่อธตรัฏฐะ
เราเป็นน้องคนเล็กของสุทัศนะ คนทั้งหลายรู้จักเราว่า ภูริทัต
(พระโพธิสัตว์ตรัสบอกที่อยู่ของตนว่า)
[๘๐๑] ท่านจงมองดูห้วงน้ำลึกน่ากลัวไหลวนอยู่ทุกเมื่อ
นั่นเป็นที่อยู่อันดีเลิศของเรา ลึกหลายร้อยชั่วคน
[๘๐๒] ท่านอย่ากลัวเลย จงเข้าไปยังแม่น้ำยมุนาที่มีน้ำสีเขียว
ไหลมาจากกลางป่า จอแจไปด้วยเสียงนกยูงและนกกระเรียน
เป็นที่อยู่อันเกษมสำราญของพวกผู้มีอาจารวัตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พระโพธิสัตว์พาพราหมณ์กับบุตรทั้ง ๒ ไปยังฝั่งแม่น้ำยมุนา ยืนอยู่ที่ริมฝั่ง
แล้วกล่าวว่า)
[๘๐๓] พราหมณ์ ท่านพร้อมด้วยบุตร
และภรรยาไปถึงนาคพิภพแล้ว
เราจะบูชาท่านด้วยกามทั้งหลาย
ท่านจักได้ความสุขในนาคพิภพนั้น
(พราหมณ์เนสาทะพรรณนาสมบัติของพระโพธิสัตว์ว่า)
[๘๐๔] แผ่นดินมีพื้นราบเรียบรอบด้าน
มีกฤษณาเป็นอันมาก
ดารดาษไปด้วยหมู่แมลงค่อมทอง
มีหญ้าสีเขียวชะอุ่มอุดมสวยงาม
[๘๐๕] แนวป่าไม้อันน่ารื่นรมย์
สระโบกขรณีที่นิรมิตขึ้นด้วยดีน่ารื่นรมย์ใจ
มีดอกปทุมบานสะพรั่งร่วงหล่นลงดารดาษ
[๘๐๖] มีเสา ๘ เหลี่ยมที่ทำไว้ดีแล้ว
ทุกต้นล้วนสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์
ปราสาทมีเสา ๑,๐๐๐ ต้น ส่องแสงแวววาว
เต็มไปด้วยนางนาคกัญญา
[๘๐๗] พระองค์เป็นผู้เข้าถึงทิพยวิมานอันกว้างขวาง
เกษมสำราญรื่นรมย์
ประกอบไปด้วยความสุขอย่างเลอเลิศด้วยบุญของตน
[๘๐๘] พระองค์เห็นจะไม่ทรงหวังวิมานของท้าวสหัสสนัยน์
เพราะฤทธิ์อันยิ่งให้ไพบูลย์ของพระองค์นี้
ก็เหมือนของท้าวสักกะผู้รุ่งเรือง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๘๐๙] อานุภาพของท้าวสักกะผู้รุ่งเรือง
ใคร ๆ ไม่พึงบรรลุได้แม้ด้วยใจ
ยศของเราทั้งหลายย่อมไม่ถึงเสี้ยว
ของท้าววสวัตดีผู้รับใช้พระอินทร์
(พระโพธิสัตว์ตรัสบอกความปรารถนาของตนว่า)
[๘๑๐] เราปรารถนาวิมานของเหล่าเทวดาผู้ดำรงอยู่ในความสุขนั้น
จึงเข้าไปจำอุโบสถศีล นอนอยู่บนจอมปลวก
(พราหมณ์เมื่อจะลากลับ จึงกล่าวว่า)
[๘๑๑] ข้าพระองค์พร้อมด้วยบุตรเข้าไปป่าแสวงหาเนื้อ
พวกญาติ ๆ ก็ยังไม่ทราบว่า
ข้าพระองค์นั้นตายแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่
[๘๑๒] ข้าพระองค์ขอทูลลาพระภูริทัตผู้ทรงยศ
ผู้เป็นพระโอรสของพระธิดาแคว้นกาสี
พระองค์ทรงอนุญาตแล้วก็จะได้ไปเยี่ยมญาติ ๆ
(ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๘๑๓] แท้จริง นั่นเป็นความพอใจของเราหนอ
ที่ให้ท่านอยู่ในสำนักของเรา
เพราะว่ากามทั้งหลายเช่นนี้จะหาได้ไม่ง่ายในหมู่มนุษย์
[๘๑๔] ถ้าท่านไม่ปรารถนาจะอยู่ เราจะบูชาท่านด้วยกามารมณ์
เราอนุญาตให้ท่านไปเยี่ยมญาติ ๆ ได้โดยความสวัสดี
(พระโพธิสัตว์ทรงให้แก้วมณีแก่พราหมณ์แล้วตรัสว่า)
[๘๑๕] เมื่อท่านทรงทิพยมณีนี้อยู่
ย่อมจะได้ทั้งปศุสัตว์และลูก ๆ
ขอท่านจงถือเอาทิพยมณีนี้ไปเถิด
จงปราศจากโรคภัย ประสบสุขเถิด พราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พราหมณ์จึงกล่าวว่า)
[๘๑๖] ข้าแต่พระภูริทัต พระดำรัสของพระองค์เป็นกุศล
ข้าพระองค์ยินดียิ่งนัก
ข้าพระองค์แก่แล้วจักบวช ไม่ปรารถนากามทั้งหลาย
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๘๑๗] หากพรหมจรรย์มีการแตกทำลาย
กิจที่ต้องทำด้วยโภคทรัพย์ทั้งหลายจะเกิดขึ้น
ท่านอย่าได้มีความหวั่นใจ ควรมาหาเรา
เราจะให้ทรัพย์แก่ท่านมาก ๆ
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๑๘] ข้าแต่พระภูริทัต พระดำรัสของพระองค์เป็นกุศล
ข้าพระองค์ยินดียิ่งนัก
ข้าพระองค์จักกลับมาอีก ถ้ามีความต้องการ
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๑๙] พระภูริทัตได้ฟังคำนี้แล้วจึงใช้ให้ชน ๔ คนไปส่งว่า
ท่านทั้งหลายจงลุกขึ้นมาไปเถิด
จงเตรียมตัวพาพราหมณ์ไปส่งโดยเร็ว
[๘๒๐] ชนทั้ง ๔ ที่พระภูริทัตใช้ให้ไปส่ง
ฟังพระดำรัสของพระภูริทัตแล้ว
ลุกขึ้นพาพราหมณ์ไปส่งจนถึงโดยเร็ว
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวกับพราหมณ์อลัมปายนะว่า)
[๘๒๑] แก้วมณีที่สมมติกันว่าเป็นมงคล เป็นของดี
เป็นเครื่องปลื้มใจ น่ารื่นรมย์ใจ เกิดแต่หิน
สมบูรณ์ด้วยลักษณะที่ท่านถืออยู่นี้ ใครให้มา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๐ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น