Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ว-ศ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) หรือ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ออนไลน์

วงศกุล วงศ์และตระกูล

วจนะ คำพูด; สิ่งที่บ่งจำนวนนามทางไวยากรณ์ เช่น บาลีมี ๒ วจนะ คือ เอกวจนะ บ่งนามจำนวนเพียงหนึ่ง และ พหุ วจนะ บ่งนามจำนวนตั้งแต่สองขึ้นไป

วจีกรรม การกระทำทางวาจา, การกระทำด้วยวาจา, ทำกรรมด้วยคำพูด, ที่ดี เช่น พูดจริง พูดคำสุภาพ ที่ชั่ว เช่น พูดเท็จ พูดคำหยาบ ดู กุศลกรรมบถ, อกุศลกรรมบถ

วจีทวาร ทวารคือวาจา, ทางวาจา, ทางคำพูด (ข้อ ๒ ในทวาร ๓)

วจีทุจริต ประพฤติชั่วด้วยวาจา, ประพฤติชั่วทางวาจามี ๔ อย่างคือ ๑. มุสาวาท พูดเท็จ ๒. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด ๓. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ ๔. สัมผัปปลาป พูดเพ้อเจ้อ ดู ทุจริต

วจีวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา ได้แก่ การพูด การกล่าวถ้อยคำ

วจีสมาจาร ความประพฤติทางวาจา

วจีสังขาร 1. ปัจจัยปรุงแต่งวาจา ได้แก่ วิตก (ตรึก) และ วิจาร (ตรอง) ถ้าไม่มีตรึกตรองก่อนแล้ว พูดย่อมไม่รู้เรื่อง 2. สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางวาจา ได้แก่ วจีสัญเจตนา คือความจงใจทางวาจา ที่ก่อให้เกิดวจีกรรม ดู สังขาร

วจีสุจริต ประพฤติชอบด้วยวาจา, ประพฤติชอบทางวาจา มี ๔ อย่างคือ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจาก พูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ ดู สุจริต เทียบ วจีทุจริต

วณิพก คนขอทานโดยร้องเพลงขอ คือขับร้องพรรณนาคุณแห่งการให้ทานและสรรเสริญผู้ให้ทาน ที่เรียกว่าเพลงขอทาน

วทัญญู ผู้รู้ถ้อยคำ คือ ใจดี เอื้ออารี ยอมรับฟังความทุกข์ยากเดือดร้อน และความต้องการของผู้อื่น เข้าใจคำพูดของเขาได้ดี

วนปรัสถะ คำเพี้ยน ดู วานปรัสถ์

วโนทยาน สวนป่า เช่น สาลวโนทยาน คือ สวนป่าไม้สาละ

วรฺคานฺต อักษรที่สุดวรรคแห่งพยัญชนะตามหลัง

วรรค หมวด, หมู่, ตอน, พวก; กำหนดจำนวนภิกษุที่ประกอบเข้าเป็นสงฆ์หมวดหนึ่ง ๆ ซึ่งเมื่อครบจำนวนแล้วจึงจะ ทำสังฆกรรมอย่างนั้น ๆ ได้ มี ๔ พวก คือ ๑. สงฆ์ จตุรวรรค (สงฆ์พวก ๔ คือ ต้องมีภิกษุ ๔ รูปขึ้นไป ทำกรรมได้ทุก อย่างเว้นปวารณาให้ผ้ากฐิน อุปสมบทและอัพภาน) ๒. สงฆ์ ปัญจ วรรค (สงฆ์พวก ๕ คือ ต้องมีภิกษุ ๕ รูปขึ้นไปทำ ปวารณา ให้ผ้ากฐิน และอุปสมบทในปัจจันตชนบท) ๓. สงฆ์ ทศวรรค (สงฆ์พวก ๑๐ คือต้องมีภิกษุ ๑๐ รูปขึ้นไป ให้อุปสมบทในมัธยมชนบทได้) ๔. สงฆ์ วีสติวรรค (สงฆ์พวก ๒๐ คือต้องมีภิกษุ ๒๐ ขึ้นไป ทำอัพภานได้)

วรรณะ ผิว, สี, เพศ, ชนิด, พวก, เหล่า, หนังสือ, คุณความดี, ความยกย่องสรรเสริญ; ชนชั้นที่จัดแบ่งออกไปตามหลัก ศาสนาพราหมณ์เรียกว่า วรรณะ ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร

วรรณนา คำพรรณนา, คำอธิบายความคล้ายกับคำว่าอรรถกถา แต่คำว่าอรรถกถา ใช้หมายความทั้งคัมภีร์ คำว่า วรรณนาใช้เฉพาะคำอธิบายเป็นตอน ๆ

ววัตถิตะ บทที่แยก เช่น ตุณฺหี อสฺส ตรงข้ามกับสัมพันธ์ คือ บทที่เข้าสนธิ เช่น ตุณหสฺส, ตุณฺหิสฺส

วสวัตดี, วสวัดดี ชื่อพระยามาร เป็นเทพในสวรรค์ชั้นสูงสุดแห่งระดับกามาวจร เป็นผู้คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไม่ ให้ล่วงพ้นจากแดนกาม ซึ่งอยู่ในอำนาจครอบงำของตน ดู มาร 2, เทวปุตตมาร

วสันต์ ฤดูใบไม้ผลิ เทียบ วัสสานะ (ฤดูฝน)

วสี ความชำนาญมี ๕ อย่างคือ ๑. อาวัชชนวสี ความชำนาญคล่องแคล่วในการนึก ตรวจองค์ฌานที่ตนได้ออกมาแล้ว ๒. สมาปัชชนวสี ความชำนาญคล่องแคล่วในการที่เข้าฌานได้รวดเร็วทันที ๓. อธิฏฐานวสี ความชำนาญคล่องแคล่ว ในการที่จะรักษาไว้มิให้ฌานจิตต์นั้นตกภวังค์ ๔. วุฏฐานวสี ความชำนาญคล่องแคล่วในการจะออกจากฌานเมื่อใดก็ ได้ตามต้องการ ๕. ปัจจเวกขณวสี ความชำนาญคล่องแคล่วในการพิจารณาทบทวนองค์ฌาน

วักกะ ม้าม

วักกลิ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ชาวพระนครสาวัตถี เรียนจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ บวชใน พระพุทธศาสนา ด้วยความอยากเห็นพระรูปพระโฉมของพระศาสดา ครั้นบวชแล้วก็คอยติดตามดูพระองค์ตลอด เวลา จนไม่เป็นอันเจริญภาวนา พระพุทธเจ้าทรงรอเวลาให้ญาณของเธอสุกงอม ครั้นแล้วก็ตรัสเตือนเธอว่า “จะมี ประโยชน์อะไรที่ได้เห็นกายเปื่อยเน่านี้ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” ดังนี้ เป็นต้น และทรงสอนต่อไปด้วยอุบายวิธี จนในที่สุดพระวักกลิก็ได้สำเร็จพระอรหัต และต่อมาได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะในทางศรัทธาวิมุต คือ หลุดพ้นด้วยศรัทธา

วังคันตะ ชื่อพราหมณ์ผู้เป็นบิดาของพระสารีบุตร

วังคีสะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี ได้ศึกษาไตรเพทจนมีความชำนาญเป็นที่พอใจ ของอาจารย์ จึงได้เรียนมนตร์พิเศษชื่อฉวสีสมนตร์ สำหรับพิสูจน์ศีรษะซากศพ เอานิ้วเคาะหัวศพก็ทราบว่าผู้นั้นตาย แล้วไปเกิดเป็นอะไร ที่ไหน ท่านมีความชำนาญในมนตร์นี้มาก ต่อมาได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้แสดงความสามารถ ของตน แต่เมื่อเคาะศีรษะของผู้ปรินิพพานแล้วไม่สามารถบอกคติได้ ด้วยความอยากเรียนมนตร์เพิ่มอีก จึงขอบวชใน พระพุทธศาสนา ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีปฏิภาณ

วังสะ ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีป ตั้งอยู่ในเขตมัชฌิมชนบท ทางทิศใต้ของแคว้นโกศล ทางทิศตะวันตกของแคว้นกาสี และทางทิศเหนือของแคว้นอวันตี นครหลวงชื่อโกสัมพี บัดนี้เรียกว่าโกสัม (Kosam) อยู่บนฝั่งใต้ของแม่น้ำยมุนา ในสมัยพุทธกาล วังสะเป็นแคว้นที่รุ่งเรืองและมีอำนาจมากแคว้นหนึ่ง มีราชาปกครอง พระนามว่า พระเจ้าอุเทน

วัจกุฎี ส้วม, ที่ถ่ายอุจจาระสำหรับภิกษุสามเณร

วัจกุฎีวัตร ข้อปฏิบัติอันภิกษุพึงกระทำในวัจกุฎี, ข้อปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้ใช้ส้วม โดยย่อมี ๗ ข้อ คือ ใช้ตามลำดับผู้ ไปถึง, รักษากิริยาในการจะเข้าจะออกให้สุภาพเรียบร้อยและไม่ทำเสียงดัง, รักษาบริขารคือจีวรของตน, รักษาตัวเช่น ไม่เบ่งแรง ไม่ใช้สิ่งที่จะเป็นอันตราย, ไม่ทำกิจอื่นไปพลาง, ระวังไม่ทำสกปรก, ช่วยรักษาความสะอาด

วัชชี ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีป ตั้งอยู่บนฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำคันธกะอยู่ทางทิศ ตะวันออกของแคว้นมัลละ ทางทิศเหนือของแคว้นมคธ นครหลวงชื่อเวสาลี แคว้นวัชชีปกครองด้วยระบอบสามัคคี ธรรม พวกกษัตริย์ที่ปกครองเรียกว่ากษัตริย์ลิจฉวี (นอกจากพวกลิจฉวีแล้วยังมีพวกวิเทหะซึ่งปกครองอยู่ที่เมืองมิถิ ลา แต่ในสมัยพุทธกาลมีอำนาจน้อย) แคว้นวัชชีรุ่งเรืองเข้มแข็งและมีอำนาจมาก ตอนปลายพุทธกาลได้กลายเป็นคู่ แข่งกัน แคว้นมคธ แต่หลังพุทธกาลไม่นานก็เสียอำนาจแก่มคธเพราะอุบายทำลายสามัคคีของวัสสการพราหมณ์

วัชชีบุตร ชื่อภิกษุพวกหนึ่งชาวเมืองเวสาลี แสดงวัตถุ ๑๐ ประการ ละเมิดธรรมวินัย เป็นต้นเหตุแห่งการสังคายนา ครั้งที่ ๒

วัฏฏะ การวนเวียน, การเวียนเกิด เวียนตาย, การเวียนว่ายตายเกิด, ความเวียนเกิด หรือวนเวียน ด้วยอำนาจกิเลสกรรม และวิบาก เช่น กิเลสเกิดขึ้นแล้วให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมแล้วย่อมได้รับผลของกรรมเมื่อได้รับผลของกรรมแล้วกิเลส ก็เกิดอีกแล้วทำกรรม แล้วเสวยผลกรรมหมุนเวียนต่อไป ดู ไตรวัฏฏ์

วัฏฏคามณีอภัย ชื่อพระเจ้าแผ่นดินแห่งเกาะลังกาพระองค์หนึ่ง ครองราชย์ประมาณ พ.ศ. ๕๑๕-๕๒๗ ถูกพวกทมิฬแย่งชิงราชสมบัติ เสด็จไปซ่อนพระองค์อยู่ในป่า และได้รับความช่วยเหลือจากพระเถระรูปหนึ่ง ต่อมาพระองค์กู้ราชสมบัติคืนมา ได้ทรงสร้างอภัยคีรีวิหารและอาราธนาพระเถระรูปนั้นมาอยู่ครอง กับทั้งได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอีกเป็นอันมาก การสังคายนาครั้งที่ ๕ ที่จารึกพุทธพจน์ลงในใบลาน ก็จัดทำในรัชกาลนี้

วัฏฏูปัจเฉท ความเข้าไปตัดเสียซึ่งวัฏฏะ (เป็นไวพจน์ของวิราคะ)

วัฑฒกีประมาณ ประมาณของช่างไม้, เกณฑ์หรือมาตราวัดของช่างไม้

วัฑฒลิจฉวี เจ้าลิจฉวีชื่อว่าวัฑฒะ ถูกพระเมตติยะ และพระภุมมชกะเสี้ยมสอนให้ทำการโจทพระทัพพมัลลบุตรด้วย อาบัติปฐมปาราชิก เป็นต้นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติการลงโทษคว่ำบาตร

วัฑฒิ, วัฑฒิธรรม หลักความเจริญ (ของอารยชน) ดู อริยวัฑฒิ

วัณณกสิณ ๔ กสิณที่เพ่งวัตถุมีสีต่างๆ ๔ อย่างคือ นีลํ สีเขียว, ปิตํ สีเหลือง, โลหิตํ สีแดง, โอทาตํ สีขาว ดู กสิณ

วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ คือหวงผิวพรรณ ไม่พอใจให้คนอื่นสวยงามหรือหวงคุณวัณณะ ไม่พอใจให้ใครมีคุณ ความดีมาแข่งตน (ข้อ ๔ ในมัจฉริยะ ๕)

วัตตขันธกะ ชื่อขันธกะที่ ๘ แห่งคัมภีร์จุลวรรค วินัยปิฎก ว่าด้วยวัตรประเภทต่างๆ

วัตตปฏิบัติ ดู วัตรปฏิบัติ

วัตตเภท ความแตกแห่งวัตร หมายความว่าละเลยวัตร, ละเลยหน้าที่ คือไม่ทำตามข้อปฏิบัติที่กำหนดไว้ เช่น ภิกษุผู้ กำลังประพฤติมานัต หรือกำลังอยู่ปริวาส ละเลยวัตรของตน พระอรรถกถาจารย์ปรับอาบัติทุกกฎ

วัตถิกรรม การผูกรัดที่ทวารหนักคือ ผูกรัดหัวริดสีดวงงอกที่ทวารหนัก ท่านสันนิษฐานว่า อาจจะหมายถึงการสวน ทวารเบาก็ได้

วัตถุ เรื่อง, สิ่ง, ข้อความ, ที่ดิน; ที่ตั้งของเรื่อง หมายถึงบุคคลผู้เป็นที่ตั้งแห่งการทำกรรมของสงฆ์ เช่น ในการให้ อุปสมบท คนที่จะบวชเป็นวัตถุแห่งการให้อุปสมบท

วัตถุ ๑๐ เรื่องที่เป็นต้นเหตุ, ข้อซึ่งเป็นที่ตั้งหรือเป็นจุดเริ่มเรื่อง, ข้อปฏิบัติ ๑๐ ประการของพวกภิกษุวัชชีบุตรชาว เมืองเวสาลี ที่ผิดเพี้ยนย่อหย่อนทางพระวินัย แปลกจากสงฆ์พวกอื่น เป็นเหตุปรารภให้มีการสังคายนาครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๑๐๐ มีดังนี้ ๑. สิงคิโลณกัปปะ เรื่องเกลือเขนง ถือว่าเกลือที่เก็บไว้ในเขนง (ครั้งนั้นภิกษุเก็บเกลือไว้ในเขนง ความหมายคือ รับประเคนไว้ค้างคืนแล้ว) เอาออกผสมอาหารฉันได้ ๒. ทวังคุลกัปปะ เรื่องสองนิ้ว ถือว่าเงาแดดบ่าย เลยเที่ยงเพียง ๒ นิ้ว ฉันอาหารได้ ๓. คามันตรกัปปะ เรื่องเข้าละแวกบ้านถือว่า ภิกษุฉันแล้ว ห้ามอาหารแล้ว ปรารภ ว่าจะเข้าละแวกบ้านเดี๋ยวนั้น ฉันโภชนะเป็นอนติริตตะได้ ๔. อาวาสกัปปะ เรื่องอาวาส ถือว่าภิกษุในหลายอาวาสที่มี สีมาเดียวกันแยกทำอุโบสถต่างหากกันได้ ๕. อนุมติกัปปะ เรื่องอนุมัติ ถือว่าภิกษุยังมาไม่พร้อม ทำสังฆกรรมไป พลาง ภิกษุที่มาหลังจึงขออนุมัติก็ได้ ๖ อาจิณณกัปปะ เรื่องเคยประพฤติมา ถือว่าธรรมเนียมใดอุปัชฌาย์อาจารย์เคย ประพฤติมาแล้ว ควรประพฤติตามอย่างนั้น ๗. อมถิตกัปปะ เรื่องไม่กวนถือว่า น้ำนมสดแปรไปแล้วแต่ยังไม่เป็นทธิ คือนมส้ม ภิกษุฉันแล้วห้ามอาหารแล้ว ดื่มน้ำ ดื่มน้ำนมอย่างนั้นอันเป็นอนติริตตะได้ ๘. ชโลคิง ปาตุง ถือว่าสุรา อย่างอ่อน ไม่ให้เมา ดื่มได้ ๙. อทสกัง นิสีทนัง ถือว่า ผ้านิสีทนะ ไม่มีชายก็ใช้ได้ ๑๐. ชาตรูปรชตัง ถือว่าทองและเงิน เป็นของควร รับได้ กรณีวัตถุ ๑๐ ประการนี้ จัดเป็น วิวาทาธิกรณ์ใหญ่เรื่องหนึ่ง

วัตถุกาม พัสดุอันน่าใคร่ ได้แก่กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ ดู กาม

วัตถุเทวดา เทวดาที่ดิน, พระภูมิ

วัตถุวิบัติ วิบัติโดยวัตถุ คือ บุคคลหรือวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสังฆกรรมนั้นๆ ขาดคุณสมบัติ ทำให้สังฆกรรมเสีย ใช้ไม่ ได้ เช่น ในการอุปสมบท ผู้อุปสมบทอายุไม่ครอบ ๒๐ ปี หรือมีเรื่องที่เป็นความผิดอย่างร้ายแรง เช่น ฆ่าบิดามารดา หรือเป็นปาราชิกเมื่อบวชเป็นภิกษุคราวก่อน หรือไปเข้ารีตเดียรถีย์ทั้งเป็นภิกษุ หรือเป็นสตรี ดังนี้เป็นต้น

วัตถุสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งวัตถุ, ความสมบูรณ์โดยบุคคลหรือวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งการทำสังฆกรรมนั้น ๆ มีคุณ- สมบัติถูกต้อง ทำให้สังฆกรรมใช้ได้ไม่บกพร่องในด้านนี้ เช่น ในการอุปสมบท ผู้ขอบวชเป็นชายมีอายุครบ ๒๐ ปี ไม่เป็นมนุษย์วิบัติเช่น ถูกตอน ไม่ได้ทำความผิดร้ายแรงเช่นฆ่าบิดามารดา ไม่ใช่คนทำความเสียหายใน พระพุทธ ศาสนาหนัก เช่น ปาราชิก เมื่อบวชคราวก่อน ดังนี้เป็นต้น

วัตร กิจพึงกระทำ, หน้าที่, ธรรมเนียม, ความประพฤติ, ข้อปฏิบัติ จำแนกออกเป็น กิจวัตร ว่าด้วยกิจที่ควรทำ (เช่น อุปัชฌายวัตร สัทธิวิหาริกวัตร อาคันตุกวัตร) ๑. จริยาวัตร ว่าด้วยมารยาทอันควรประพฤติ (เช่น ไม่ทิ้งขยะทางหน้า ต่างหรือทิ้งลงนอกฝานอกกำแพงไม่จับวัตถุอนามาส) ๑ วิธีวัตร ว่าด้วยแบบอย่างที่พึงกระทำ (เช่น วิธีเก็บบาตร วิธี พับจีวร วิธีเปิดปิดหน้าต่างตามฤดู วิธีเดินเป็นหมู่) ๑; วัตรส่วนมากมาในวัตตขันธกะ

วัตรบท ๗ หลักปฏิบัติ หรือข้อที่ถือปฏิบัติประจำ ๗ อย่าง ที่ทำให้มฆมาณพได้เป็นท้าวสักกะหรือพระอินทร์คือ ๑. มาตาเปติภโร เลี้ยงมารดาบิดา ๒. กุเลเชฏฺฐาปจายี เคารพผู้ใหญ่ในตระกูล ๓. สณฺหวาโจ พูดคำสุภาพอ่อนหวาน ๔. อปิสุณวาโจ หรือ เปสุเณยฺยปฺปหายี ไม่พูดส่อเสียด พูดสมานสามัคคี ๕. ทานสํวิภาครโต หรือ มจฺเฉรวินย ชอบ เผื่อแผ่ให้ปัน ปราศ จากความตระหนี่ ๖. สจฺจวาโจ มีวาจาสัตย์ ๗. อโกธโน หรือ โกธาภิกู ไม่โกรธ ระงับความโกรธได้

วัตรปฏิบัติ การปฏิบัติตามหน้าที่, การทำตามข้อปฏิบัติที่พึงกระทำเป็นประจำ, ความประพฤติที่เป็นไปตามขนบ- ธรรมเนียมแห่งเพศ ภาวะหรือวิถีดำเนินชีวิตของตน

วัน ระยะเวลา ๑๒ ชั่วโมง ตั้งแต่ย่ำรุ่งจนถึงย่ำค่ำ, ระยะเวลา ๒๔ ชั่วโมง ตั้งแต่ย่ำรุ่งถึงย่ำรุ่ง หรือตั้งแต่เที่ยงคืนถึง เที่ยงคืน การที่เรียกว่า วัน นั้นเพราะแต่โบราณถือเอากำหนดพระอาทิตย์ซึ่งเรียกตะวันขึ้นจนถึงตะวันตกเป็นกำหนด จึงเรียกว่าวันคืนมาจากคำว่าตะวันนั่นเอง

วันอุโบสถ ดู อุโบสถ

วัปปะ ชื่อภิกษุรูปหนึ่งในคณะปัญจวัคคีย์ เป็นพระอรหันต์รุ่นแรก

วัปปมงคล พิธีแรกนาขวัญ คือพิธีเริ่มไถนาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา

วัย ส่วนแห่งอายุ, ระยะของอายุ, เขตอายุ นิยมแบ่งเป็น ๓ วัย คัมภีร์วิสุทธิมรรคจัดดังนี้ ๑. ปฐมวัย วัยต้น ๓๓ ปี คือ อายุ ๑ ปี ถึง ๓๓ ปี ๒. มัชฌิมวัย วัยกลาง ๓๔ ปี คือ อายุ ๓๔ ถึง ๖๗ ปี ๓. ปัจฉิมวัย วัยปลาย ๖๘ ปี คือ อายุ ๖๘ ถึง ๑๐๐ ปี

วัสวดี ชื่อของพระยามาร ดู วสวัตดี

วัสสานะ, วัสสานฤดู ฤดูฝน ดู มาตรา

วัสสาวาสิกพัสตร์ ดู ผ้าจำนำพรรษา

วัสสิกสาฎก ดู ผ้าอาบน้ำฝน

วัสสิกสาฏิกา ดู ผ้าอาบน้ำฝน

วัสสูปนายิกา วันเข้าพรรษา ดู จำพรรษา

วางไว้ทำร้าย ได้แก่ วางขวาก ฝังหลาว ไว้ในหลุมพราง วางของหนักไว้ให้ตกทับ วางยาพิษ เป็นต้น

วาจา คำพูด, ถ้อยคำ

วาจาชอบ ดู สัมมาวาจา

วาจาชั่วหยาบ ในวินัยหมายถึงถ้อยคำพาดพิงทวารหนักทวารเบาและเมถุน ดู ทุฏฐุลลวาจา

วาชเปยะ, วาชไปยะ“วาจาดูดดื่มใจ”, น้ำคำควรดื่ม”, ความรู้จักพูดคือ รู้จักทักทายปราศรัย มีถ้อยคำสุภาพนุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์ เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใจอันดี ความเชื่อถือและความนิยมนับถือ (ข้อ ๔ ในราชสังคหวัตถุ ๔)

วาตสมุฏฐานา อาพาธา ความเจ็บไข้ที่มีลมเป็นสมุฏฐาน

วานปรัสถ์ ผู้อยู่ป่า, เป็นธรรมเนียมของพราหมณ์ว่าผู้ที่ครองเรือน มีครอบครัวเป็นหลักฐาน ครั้นลูกหลานเติบโตก็จัด แจงให้มีครอบครัว ตนเองชราลงก็มุ่งแสวงบุญกุศล เข้าป่าจำศีลถือพรตบำเพ็ญตบะต่อไป ดู อาศรม

วาโยธาตุ ธาตุลม คือ ธาตุที่มีลักษณะพัดไปมา, ภาวะสั่นไหว เคร่งตึง ค้ำจุน; ในร่างกายนี้ ส่วนที่ใช้กำหนดเป็น อารมณ์กรรมฐาน ได้แก่ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้องลมในไส้ ลมพัดไปตามตัว ลมหายใจ (ตาม สภาวะ วาโยธาตุ คือสภาพสั่นไหว หรือค้ำจุน) ดู ธาตุ

วาร วันหนึ่ง ๆ ในสัปดาห์, ครั้ง, เวลากำหนด

วาระ ครั้งคราว, เวลาที่กำหนดสำหรับผลัดเปลี่ยน

วารี น้ำ

วาลิการาม ชื่อวัดหนึ่งในเมืองเวสาลีแคว้นวัชชีเป็นที่ประชุมทำสังคายนาครั้งที่ ๒ ชำระวัตถุ ๑๐ ประการที่เป็นเสี้ยน หนามพระธรรมวินัย

วาสนา อาการกายวาจา ที่เป็นลักษณะพิเศษของบุคคล ซึ่งเกิดจากกิเลสบางอย่าง และได้สั่งสมอบรมมาเป็นเวลานาน จนเคยชินติดเป็นพื้นประจำตัว แม้จะละกิเลสนั้นได้แล้ว แต่ก็อาจจะละอาการกายวาจาที่เคยชินไม่ได้ เช่น คำพูดติด ปาก อาการเดินที่เร็วหรือเดินต้วมเตี้ยม เป็นต้น ท่านขยายความว่า วาสนา ที่เป็นกุศล ก็มี เป็นอกุศล ก็มี เป็นอัพยาก ฤต คือ เป็นกลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ก็มี ที่เป็นกุศลกับอัพยากฤตนั้น ไม่ต้องละ แต่ที่เป็นอกุศลซึ่งควรจะละนั้น แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่จะเป็นเหตุให้เข้าถึงอบายกับส่วนที่เป็นเหตุให้เกิดอาการแสดงออกทางกายวาจาแปลก ๆ ต่าง ๆ ส่วน แรก พระอรหันต์ทุกองค์ละได้ แต่ส่วนหลัง พระพุทธเจ้าเท่านั้นละได้ พระอรหันต์อื่นละไม่ได้ จึงมีคำกล่าวว่าพระ พุทธเจ้าเท่านั้นละกิเลสทั้งหมดได้พร้อมทั้งวาสนา; ในภาษาไทย คำว่าวาสนา มีความหมายเพี้ยนไป กลายเป็นอำนาจ บุญเก่า หรือกุศลที่ทำให้ได้รับลาภยศ

วาสภคามิกะ ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในการกสงฆ์ ผู้ทำสังคายนาครั้งที่ ๒

วิกขัมภนวิมุตติ พ้นด้วยข่มหรือสะกดไว้ ได้แก่ความพ้นจากกิเลสและอกุศลธรรมได้ด้วยกำลังฌาน อาจสะกดไว้ได้ นานกว่าตทังควิมุตติ แต่เมื่อฌานเสื่อมแล้ว กิเลสอาจเกิดขึ้นอีก จัดเป็นโลกิยวิมุตติ (ข้อ ๒ ในวิมุตติ ๕; ในบาลีเป็น ข้อ ๑ ถึงชั้นอรรถกถา จึงกลายมาเป็นข้อ ๒)

วิกติกา เครื่องลาดที่เป็นรูปสัตว์ร้าย เช่นราชสีห์ เสือ เป็นต้น

วิกัป, วิกัปป์ ทำให้เป็นของสองเจ้าของคือ ขอให้ภิกษุสามเณรอื่นร่วมเป็นเจ้าของบาตรหรือจีวรนั้นๆ ด้วย ทำให้ไม่ ต้องอาบัติเพราะเก็บอดิเรกบาตรหรืออติเรกจีวรไว้เกินกำหนด เช่นวิกัปจีวรผืนหนึ่งต่อหน้าในหัตถบาสว่า “อิมํ จีวรํ ตุยฺหํ วิกปฺเปมิ” ข้าพเจ้าวิกัปจีวรผืนนี้แก่ท่าน

วิกัปปิตจีวร จีวรที่วิกัปป์ไว้, จีวรที่ทำให้เป็นของ ๒ เจ้าของ

วิการ 1. พิการ, ความแปรผัน, ความผิดแปลก, ผิดปรกติ 2. ทำต่างๆ, ขยับเขยื้อน เช่น กวักมือ ดีดนิ้ว เป็นต้น

วิกาล ผิดเวลา, ในวิกาลโภชนสิกขาบท (ห้ามฉันอาหารในเวลาวิกาล) หมายถึงตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงก่อนอรุณวัน ใหม่; ส่วนในอันธการวรรค สิกขาบทที่ ๗ ในภิกษุนีวิภังค์ (ห้ามภิกษุณีเข้าสู่ตระกูลในเวลาวิกาล เอาที่นอนปูลาดนั่ง นอนทับโดยไม่บอกกล่าวขออนุญาตเจ้าบ้าน) หมายถึงตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงก่อนอรุณวันใหม่; ในสิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สุตตันต ปิฎก กล่าวถึงการเที่ยวซอกแซกในเวลาวิกาลว่าเป็นอบายมุขนั้น ก็หมายถึงเวลาค่ำ

วิกาลโภชน์ การกินอาหารในเวลาวิกาล, การฉันอาหารผิดเวลา ดู วิกาล

วิกุพพนฤทธิ์, วิกุพพนาอิทธิ ฤทธิ์คือการแผลง, ฤทธิ์บิดผัน, ฤทธิ์ผันแผลงคือ เปลี่ยนจากรูปร่างปกติ แปลงเป็นเด็ก เป็นครุฑ เป็นเทวดา เป็นเสือ เป็นงู เป็นต้น (ต้องห้ามทางพระวินัย)

วิขัมภนปหาน การละกิเลสได้ด้วยข่มไว้ด้วยฌาน; มักเขียน วิกขัมภนปหาน

วิขัมภนวิมุติ ดู วิกขัมภนวิมุตติ

วิจาร ความตรอง, การพิจารณาอารมณ์, การตามฟั้นอารมณ์ (ข้อ ๒ ในองค์ฌาน ๕)

วิจารณ์ 1. พิจารณา, ไตร่ตรอง 2. สอบสวน, ตรวจตรา 3. คิดการ, กะการ, จัดเตรียม, จัดแจง, ดูแล, จัดดำเนินการ 4. ในภาษาไทย มักหมายถึง ติชม, แสดงความคิดเห็นในเชิงตัดสินคุณค่า ชี้ข้อดีข้อด้อย

วิจารณญาณ ปัญญาที่ไตร่ตรองพิจารณาเหตุผล

วิจิกิจฉา ความลังเลไม่ตกลงได้, ความไม่แน่ใจ, ความสงสัย, ความเคลือบแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย, ความลังเลเป็น เหตุไม่แน่ใจในปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน (ข้อ ๕ ในนิวรณ์ ๕)

วิจิตร งาม, งดงาม, แปลก, ตระการ, หรู, แพรวพราว

วิชชา ความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ; วิชชา ๓ คือ ๑. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้ที่ให้ระลึกชาติได้ ๒. จุตูปปาตญาณ ความรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ๓. อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น; วิชชา ๘ คือ ๑. วิปัสสนาญาณ ญาณในวิปัสสนา ๒. มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ ๓. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ ๔. ทิพพโสต หูทิพย์ ๕. เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจผู้อื่นได้ ๖. ปุพเพนิวาสานุสติ ๗. ทิพพจักขุ ตาทิพย์ (= จุตูปปาตญาณ) ๘. อาสวักขยญาณ

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ประกอบด้วยวิชชา ๓ หรือ วิชชา ๘ และจรณะ ๑๕ อันเป็น ปฏิปทาเครื่องบรรลุวิชชานั้น, มีความรู้ประเสริฐ ความประพฤติประเสริฐ (ข้อ ๓ ในพุทธคุณ ๙)

วิชชาธร, วิชาธร ดู วิทยาธร

วิญญัติ 1. การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย, การสื่อความหมาย มี ๒ คือ ๑. กายวิญญัติ การให้รู้ความหมายด้วยกาย เช่น พยักหน้า กวักมือ ๒. วจีวิญญัติ การให้รู้ความหมายด้วยวาจา คือพูด หรือบอกกล่าว 2. การออกปากขอของ ต่อ คนไม่ควรขอ หมายถึงภิกษุขอสิ่งของต่อคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ ผู้ไม่ใช่คนปวารณา

วิญญาณ ความรู้แจ้งอารมณ์, จิต, ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกกระทบกัน เช่นรู้อารมณ์ ในเวลาเมื่อรูปมากระทบตาเป็นต้น ได้แก่ การเห็น การได้ยินเป็นอาทิ; วิญญาณ ๖ คือ ๑. จักขุวิญญาณ ความรู้อารมณ์ ทางตา (เห็น) ๒. โสตวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู (ได้ยิน) ๓. ฆานวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางจมูก (ได้กลิ่น) ๔. ชิวหา วิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น (รู้รส) ๕. กายวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย (รู้สิ่งต้องกาย) ๖. มโนวิญญาณ ความรู้ อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)

วิญญาณฐิติ ภูมิเป็นที่ตั้งของวิญญาณมี ๗ คือ ๑. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายต่างกันมีสัญญาต่างกัน เช่น พวกมนุษย์ พวก เทพบางหมู่ พวกวินิปาติกะ บางหมู่ ๒. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพผู้อยู่ใน จำพวกพรหมผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน ๓. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกเทพอาภัสสระ ๔. สัตวเหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพสุภกิณหะ ๕. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นอา กาสานัญจายตนะ ๖ สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ ๗. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ

วิญญาณธาตุ ธาตุรู้, ความรู้แจ้ง, ความรู้อะไรได้ (ข้อ ๖ ในธาตุ ๖)

วิญญาณัญจายตนะ ฌานอันกำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้ (ข้อ ๒ ในอรูป ๔)

วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ, วิญญาณเป็นอาหารคือเป็นปัจจัยอุดหนุนหล่อเลี้ยงให้เกิดนามรูป (ข้อ ๔ ในอาหาร ๔)

วิญญู ผู้รู้แจ้ง, นักปราชญ์; ผู้รู้ผิดรู้ชอบ ตามปกติ

วิตก ความตรึก, ตริ, กายยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หรือปักจิตลงสู่อารมณ์ (ข้อ ๑ ในองค์ฌาน ๕), การคิด, ความดำริ; ไทยใช้ ว่าเป็นห่วงกังวล

วิตกจริต พื้นนิสัยหนักในทางตรึก, มีวิตกเป็นปรกติ, มีปรกตินึกพล่านหรือคิดจับจดฟุ้งซ่าน, ผู้มีจิตชนิดนี้พึงแก้ด้วย เพ่งกสิณ หรือเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน (ข้อ ๖ ในจริต ๖)

วิติกกมะ ดู วีติกกมะ

วิทยา ความรู้

วิทยาธร “ผู้ทรงวิทยา”, ผู้มีวิชากายสิทธิ์, ผู้มีฤทธิ์ที่สำเร็จด้วยวิทยาอาคมหรือของวิเศษ, พ่อมด

วิเทหะ ชื่อแคว้นหนึ่งในชมพูทวีป นครหลวงชื่อมิถิลา เป็นดินแดนพวกวัชชีอีกถิ่นหนึ่ง ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำคงคา ตรง ข้ามกับแคว้นมคธ

วิธัญญา ชื่อนครหรือถิ่นหนึ่งในสักกชนบท ปกครองโดยกษัตริย์วงศ์ศากยะ; เวธัญญะ ก็เรียก

วินยวาที ผู้มีปรกติกล่าวพระวินัย

วินยสมฺมุขตา ความเป็นต่อหน้าวินัยในวิวาทาธิกรณ์ หมายความว่าปฏิบัติตามธรรมวินัยและสัตถุศาสน์อันเป็นเครื่อง ระงับอธิกรณ์นั้น

วินัย ระเบียบสำหรับกำกับความประพฤติให้เป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน, ประมวลสิกขาบทของพระสงฆ์ทั้ง ส่วนอาทิพรหมจรรย์และอภิสมาจาร; ถ้าพูดว่าพระวินัย หมายถึงพระวินัยปิฎก

วินัย ระเบียบแบบแผนสำหรับฝึกฝนควบคุมความประพฤติของบุคคลให้มีชีวิตที่ดีงามเจริญก้าวหน้าและควบคุมหมู่ ชนให้อยู่ร่วมกันด้วยความสงบเรียบร้อยดีงาม, ประมวลบทบัญญัติข้อบังคับสำหรับฝึกฝนควบคุมความประพฤติ;

วินัย มี ๒ อย่างคือ ๑. อนาคาริยวินัย วินัยของผู้ไม่ครองเรือน คือ วินัยของบรรพชิต หรือ วินัยของพระสงฆ์ ได้แก่ การไม่ต้องการอาบัติทั้ง ๗ หรือ ปาริสุทธิศีล ๔ ๒. อาคาริยวินัย วินัยของผู้ครองเรือน คือวินัยของชาวบ้าน ได้แก่ การงดเว้นจาก อกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือ กุศลกรรมบถ ๑๐

วินัยกถา คำพูดเกี่ยวกับพระวินัย, คำบรรยาย คำอธิบาย หรือเรื่องสนทนาเกี่ยวกับพระวินัย

วินัยกรรม การกระทำเกี่ยวกับพระวินัยหรือการปฏิบัติตามวินัย เช่นการปลงอาบัติ การอธิษฐานบริขาร การวิกัป บาตรและจีวร เป็นต้น

วินัยธร “ผู้ทรงวินัย”, ภิกษุผู้ชำนาญวินัย; พระอุบาลีเถระ ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะ ในบรรดา พระวินัยธร

วินัยปิฎก ดู ไตรปิฎก

วินัยมุข มุขแห่งวินัย, หลักใหญ่ๆ หรือหัวข้อสำคัญๆ ที่เป็นเบื้องต้นแห่งพระวินัย หรือเป็นปากทางนำเข้าสู่วินัยเป็น ชื่อหนังสือที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงรจนาขึ้น เพื่อชี้ประโยชน์แห่งพระวินัยมุ่งช่วย ให้พระภิกษุสามเณรตั้งอยู่ในปฏิบัติพอดีพองาม ผู้ไม่เคร่งจะได้รู้จักสำรวมรักษามรรยาทสมเป็นสมณะ ฝ่ายผู้เคร่ง ครัดเกินไปจะได้หายงมงายไม่สำคัญตนว่าดีกว่าผู้อื่น ตั้งรังเกียจผู้อื่นเพราะเหตุเล็กน้อย เพียงสักว่าธรรมเนียมหรือแม้ ชักนำผู้อื่นในปฏิบัติอันดี ต่างจะได้อานิสงส์คือไม่มีวิปฏิสารทรงมุ่งหมายเพื่อจะแต่งแก้หนังสือบุพพสิกขาวัณณนา ของพระอมราภิรักขิต (อมร เกิด) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส; จัดพิมพ์เป็น ๓ เล่ม ใช้เป็นแบบเรียนนักธรรมชั้นตรี ชั้น โท และชั้นเอก ตามลำดับ

วินัยวัตถุ เรื่องเกี่ยวกับพระวินัย

วินิจฉัย ไตร่ตรอง, ใคร่ครวญ, ชี้ขาด, ตัดสิน, ชำระความ

วินิบาต โลกหรือวิสัยเป็นที่ตกไปแห่งสัตว์อย่างไร้อำนาจ, แดนเป็นที่ตกลงไปพินาศย่อยยับ; อรรถกถาแห่ง อิติวุตตกะอธิบายนัยหนึ่งว่าเป็นไวพจน์ของคำว่านรกนั่นเอง อีกนัยหนึ่งว่าหมายถึงกำเนิดอสุรกาย

วินิปาติกะ ท่านว่าได้แก่พวกเวมานิกเปรต คือ พวกเปรตมีวิมานอยู่ ได้เสวยสุขและต้องทุกข์ทรมานเป็นช่วงๆ สลับ กันไป มีสุขบ้างทุกข์บ้างคละระคน

วินีตวัตถุ เรื่องที่ท่านวินิจฉัยแล้ว, เรื่องที่ตัดสินแล้ว ท่านแสดงไว้เป็นตัวอย่าง สำหรับเทียบเคียงตัดสิน ในการปรับ อาบัติ (ทำนองคำพิพากษาของศาลสูงสุดที่นำมาศึกษากัน)

วิบัติ ความเสีย, ความผิดพลาด, ความบกพร่อง, ความเสียหายใช้การไม่ได้ 1. วิบัติความเสียของภิกษุมี ๔ อย่าง คือ ๑. ศีลวิบัติ ความเสียแห่งศีล ๒. อาจารวิบัติ ความเสียมรรยาท ๓. ทิฏฐิวิบัติ ความเห็นผิดธรรมผิดวินัย ๔. อาชีว- วิบัติ ความเสียหายแห่งการเลี้ยงชีพ 2. วิบัติคือความเสียหายใช้ไม่ได้ ของสังฆกรรม มี ๔ คือ ๑. วัตถุวิบัติ เสียโดย วัตถุ เช่น อุปสมบทคนอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ๒. สีมาวิบัติ เสียโดยสีมา เช่น สีมาไม่มีนิมิต ๓. ปริสวิบัติ เสียโดยบริษัทคือ ที่ประชุม เช่น ภิกษุเข้าประชุมไม่ครบองค์สงฆ์ ๔. กรรมวาจาวิบัติ เสียโดยกรรมวาจา เช่น สวดผิดพลาดตกหล่น สวดแต่อนุสาวนาไม่ได้ตั้งญัตติ เป็นต้น (ข้อกรรมวาจาวิบัติบางกรณีแยกเป็นญัตติวิบัติและอนุสาวนาวิบัติ กลายเป็น วิบัติ ๕ ก็มี) เทียบ สมบัติ

วิบาก ผล, ผลแห่งกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน

วิปจิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น, รู้ต่อเมื่อขยายความ (ข้อ ๒ ในบุคคล ๔)

วิปฏิสาร ความเดือดร้อน, ความร้อนใจ เช่น ผู้ประพฤติผิดศีล เกิดความเดือดร้อนขึ้นในใจ ในเพราะความไม่บริสุทธิ์ ของตนเรียกว่า “เกิดวิปฏิสาร”

วิปปวาส อยู่ปราศ เป็นประการหนึ่ง ในรัตติเฉท การขาดราตรีแห่งการประพฤติมานัตและการอยู่ปริวาส; สำหรับผู้ ประพฤติมานัต วิปปวาส หมายถึงอยู่ในถิ่น (จะเป็นวัดหรือที่มิใช่วัดเช่นป่าเป็นต้นก็ตาม) ที่ไม่มีสงฆ์อยู่เป็นเพื่อน คือ อยู่ปราศจากสงฆ์, สำหรับผู้อยู่ปริวาส หมายถึง อยู่ในถิ่นปราศจากปกตัตตภิกษุ (มีปกตัตตภิกษุอยู่เป็นเพื่อรูปเดียวก็ ใช้ได้) ดู รัตติเฉท

วิปริณาม ความแปรปรวน, ความผันแปรเปลี่ยนแปลงเรื่อยไป

วิปลาส, พิปลาส กิริยาที่ถือโดยอาการวิปริตผิดจากความเป็นจริง, ความเห็นหรือความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากสภาพที่ เป็นจริง มีดังนี้; ก. วิปลาสด้วยอำนาจจิตต์และเจตสิก ๓ ประการ คือ ๑. วิปลาสด้วยอำนาจสำคัญผิด เรียกว่า “สัญญา- วิปลาส” ๒. วิปลาสด้วยอำนาจคิดผิด เรียกว่า “จิตตวิปลาส” ๓. วิปลาสด้วยอำนาจเห็นผิด เรียกว่า “ทิฏฐิวิปลาสข. วิป- ลาสด้วยสามารถวัตถุเป็นที่ตั้ง ๔ ประ การ คือ ๑. วิปลาสในของที่ไม่เที่ยง ว่าเที่ยง ๒. วิปลาสในของที่เป็นทุกข์ว่า เป็นสุข ๓. วิปลาสในของที่ไม่ใช่ตนว่าเป็นตน ๔. วิปลาสในของที่ไม่งามว่างาม

วิปัสสนา ความเห็นแจ้ง คือเห็นตรงต่อความเป็นจริงของสภาวธรรม; ปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์อันให้ถอนความหลง ผิดรู้ผิดในสังขารเสียได้, การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดภาวะของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นของมันเอง (ข้อ ๒ ในกัมมัฏฐาน ๒ หรือภาวนา ๒) ดู ภาวนา, ไตรลักษณ์

วิปัสสนากัมมัฏฐาน กรรมฐานคือวิปัสสนา ดู วิปัสสนา

วิปัสสนาญาณ ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนาหรือญาณที่จัดเป็นวิปัสสนามี ๙ อย่าง คือ ๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณ ตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนามรูป ๒. ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นจำเพาะความดับเด่นขึ้นมา ๓. ภยตู ปัฏฐานญาณ ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว ๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นโทษ ๕. นิพ- พิทานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นด้วยความหน่าย ๖. มุจจิตุกัมยตาญาณ ญาณหยั่งรู้อันให้ใคร่จะพ้นไปเสีย ๗. ปฏิ- สังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทาง ๘. สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดย ความเป็น กลางต่อสังขาร ๙. สัจจานุโลมิกญาณ ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจจ์

วิปัสสนาธุระ ธุระฝ่ายวิปัสสนา, ธุระด้านการเจริญวิปัสสนา, กิจพระศาสนาในด้านการบำเพ็ญกรรมฐาน; เทียบ คันถธุระ

วิปัสสนาปัญญา ปัญญาที่ถึงขั้นเป็นวิปัสสนา, ปัญญาที่ใช้ในการเจริญวิปัสสนา คือ ปัญญาที่พิจารณาเข้าใจสังขารตาม ความเป็นจริง

วิปัสสนาภาวนา การเจริญวิปัสสนา ดู ภาวนา, วิปัสสนา

วิปัสสนายานิก ผู้มีวิปัสสนาเป็นยานคือผู้เจริญวิปัสสนาโดยยังไม่ได้ฌานสมาบัติมาก่อน

วิปัสสนูปกิเลส อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา,สภาพน่าชื่นชมแต่ที่แท้เป็นโทษเครื่องเศร้าหมองแห่งวิปัสสนาซึ่งเกิดแก่ผู้ได้ วิปัสสนาอ่อนๆ ทำให้เข้าใจผิดว่าตนบรรลุมรรคผลแล้ว จึงไม่ดำเนินก้าวหน้าต่อไปในวิปัสสนาญาณมี ๑๐ คือ ๑. โอ- ภาส แสงสว่าง ๒. ปีติ ความอิ่มใจ ๓. ญาณ ความรู้ ๔. ปัสสัทธิ ความสงบการและจิต ๕. สุข ความสบายกายสบายจิต ๖. อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ ๗. ปัคคาหะ ความเพียรที่พอดี ๘. อุปัฏฐาน สติชัด ๙. อุเบกขา ความวางจิตเป็นกลาง ๑๐. นิกันติ ความพอใจ

วิปัสสี พระนามของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอดีต ดู พระพุทธเจ้า ๗

วิปากญาณ ปรีชาหยั่งรู้ผลแห่งกรรมคือรู้จักแยกได้ว่า บรรดาผลที่สัตว์ทั้งหลายได้รับอันซับซ้อน อันใดเป็นผลของ กรรมดีหรือกรรมชั่วอย่างใดๆ เรียกเต็มว่า กรรมวิปากญาณ (ข้อ ๒ ในทสพลญาณ)

วิปากทุกข์ ทุกข์ที่เป็นผลของกรรมชั่ว เช่น ถูกลงอาชญาได้รับความทุกข์หรือตกอบาย หรือเกิดวิปฏิสารคือเดือดร้อนใจ

วิปากวัฏฏ์ วนคือวิบาก, วงจรส่วนวิบาก, หนึ่งในวัฏฏะ ๓ แห่งปฏิจจสมุปบาทประกอบด้วยวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา, ชาติ ชรามรณะ ดู ไตรวัฏฏ์

วิปากสัทธา ดู สัทธา

วิภวตัณหา ความอยากในวิภพ คือความทะยานอยากในความไม่มีไม่เป็นอยากไม่เป็นนั่น ไม่เป็นนี่ อยากตายเสีย อยากขาดสูญ อยากพรากพ้นไปจากภาวะที่ตนเกลียดชังไม่ปรารถนา, ความทะยานอยากที่ประกอบด้วยวิภว ทิฏฐิ หรืออุจเฉททิฏฐิ (ข้อ ๓ ในตัณหา ๓)

วิภังค์ 1. (ในคำว่า “วิภังค์แห่งสิกขาบท”) คำจำแนกความแห่งสิกขาบทเพื่ออธิบายแสดงความหมายให้ชัดขึ้น; ท่าน ใช้เป็นชื่อเรียกคัมภีร์ที่จำแนกความเช่นนั้นในพระวินัยปิฎกว่าคัมภีร์วิภังค์ คือคัมภีร์จำแนกความสิกขาบทในภิกขุปา- ฏิโมกข์ เรียกว่ามหาวิภังค์ หรือภิกขุวิภังค์ คัมภีร์จำแนกความสิกขาบทในภิกขุนีปาฏิโมกข์เรียกว่า ภิกขุนีวิภังค์เป็น หมวดต้นแห่งพระวินัยปิฎก 2. ชื่อคัมภีร์ที่ ๒ แห่งพระอภิธรรมปิฎกที่อธิบายจำแนกความแห่งหลักธรรมสำคัญเช่น ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ปัจจยาการ เป็นต้น ให้ชัดเจนจบไปทีละเรื่องๆ

วิภัชชวาที “ผู้กล่าวจำแนก”, ผู้แยกแยะพูด”, เป็นคุณบทคือคำแสดงคุณลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า หมายความว่า ทรงแสดงธรรมแยกแยะแจกแจงออกไป ให้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากส่วนประกอบย่อย ๆ มาประชุมกัน เข้าอย่างไร เช่น แยกแยะกระจายนามรูปออกเป็นขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ เป็นต้น สิ่งทั้งหลายมีด้านที่เป็นคุณและด้านที่เป็นโทษอย่างไร เรื่องนั้นๆ มีข้อจริงข้อเท็จอะไรบ้าง การกระทำอย่างนั้นๆ มีแง่ถูกแง่ผิดแง่ที่ดีและแง่ไม่ดีประการใด เป็นต้น เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจสิ่งนั้นเรื่องนั้นอย่างชัดเจน มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง เช่นมองเห็นความเป็นอนัตตา เป็นต้น ไม่มองอย่างตีคลุมหรือเห็นแต่ด้านเดียวแล้วยึดติดในทิฏฐิต่าง ๆ อันทำให้ไม่เข้าถึงความจริงแท้ตามสภาวะ

วิภัตติ ชื่อวิธีไวยากรณ์ภาษาบาลีและสันสกฤต สำหรับแจกศัพท์โดยเปลี่ยนท้ายคำให้มีรูปต่างๆ กันเพื่อบอกการก และกาลเป็นต้น เช่นคำนาม โลโก ว่า โลก, โลกํ ซึ่งโลก, โลกา จากโลก, โลเก ในโลก; คำกิริยา เช่น นมติ ย่อมน้อม, นมตุ จงน้อม, นมิ น้อมแล้ว เป็นต้น

วิภาค การแบ่ง, การจำแนก, ส่วน, ตอน

วิมติวิโนทนี ชื่อคัมภีร์ฎีกาอธิบายพระวินัย แต่งโดยพระกัสสปเถระ ชาวแคว้นโจฬะ ในอินเดียตอนใต้

วิมละ บุตรเศรษฐีเมืองพาราณสีเป็นสหายของยสกุลบุตร ได้ทราบข่าวยสกุลบุตรออกบวช จึงได้บวชตามพร้อมด้วย สหายอีก ๓ คน คือ สุพาหุ ปุณณชิ และควัมปติ จัดเป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง

วิมังสา การสอบสวนทอดลอง, การตรวจสอบ, การหมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น (ข้อ ๔ ในอิทธิบาท ๔)

วิมาน ที่อยู่หรือที่ประทับของเทวดา

วิมุต อักขระที่ว่าปล่อยเสียงเช่น สุณาตุ, เอสา ญตฺติ

วิมุตตานุตตริยะ การพ้นอันเยี่ยมคือหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ ได้แก่พระนิพพาน (ข้อ ๓ ในอนุตตริยะ ๓)

วิมุตติ ความหลุดพ้น, ความพ้นจากกิเลสมี ๕ อย่างคือ ๑. ตทังควิมุตติ พ้นด้วยธรรมคู่ปรับหรือพ้นชั่วคราว ๒. วิก- ขัมภนวิมุตติ พ้นด้วยข่มหรือสะกดไว้ ๓. สมุจเฉทวิมุตติ พ้นด้วยตัดขาด ๔. ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ ๕. นิส- สรณวิมุตติ พ้นด้วยออกไป; ๒ อย่างแรก เป็น โลกิยวิมุตติ ๓ อย่างหลังเป็น โลกุตตรวิมุตติ

วิมุตติกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้พ้นจากกิเลส (ข้อ ๙ ในกถาวัตถุ ๑๐)

วิมุตติขันธ์ กองวิมุตติ, หมวดธรรมว่า ด้วยวิมุตติ คือการทำจิตให้พ้นจาก อาสวะ เช่น ปหานะ การละ, สัจฉิกิริยาการทำให้แจ้ง (ข้อ ๔ ในธรรมขันธ์ ๕)

วิมุตติญาณทัสสนะ ความรู้ความเห็นในวิมุตติ, ความรู้เห็นว่าจิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย

วิมุตติญาณทัสสนกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดความรู้ความเห็นในความที่ใจพ้นจากกิเลส (ข้อ ๑๐ ในกถาวัตถุ ๑๐)

วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ กองวิมุตติญาณทัสนะ, หมวดธรรมว่าด้วยความรู้ความเห็นว่า จิตหลุดพ้นแล้วจาก อาสวะ เช่น ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ (ข้อ ๕ ในธรรมขันธ์ ๕)

วิมุตติสุข สุขเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะและปวงทุกข์; พระพุทธเจ้าภายหลังตรัสรู้แล้วใหม่ ๆ ได้เสวยวิมุตติ สุข ๗ สัปดาห์ตามลำดับคือ สัปดาห์ที่ ๑ ประทับภายใต้ร่มไม้มหาโพธิ์ ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท สัปดาห์ที่ ๒ เสด็จ ไปประทับยืนด้านอีสาน ทรงจ้องดูต้นมหาโพธิ์ไม่กระพริบพระเนตร ที่นั้นเรียกว่า อนิมิสเจดีย์ สัปดาห์ที่ ๓ ทรงนิรมิต ที่จงกรมขึ้นระหว่างกลางแห่งพระมหาโพธิ์และอนิมิสเจดีย์ เสด็จจงกรมตลอด ๗ วัน ที่นั้นเรียก รัตนจงกรมเจดีย์ สัปดาห์ที่ ๔ ประทับนั่งขัดบัลลังก์พิจารณาพระอภิธรรมปิฎก ณ เรือนแก้วที่เทวดานิรมิตในทิศพายัพแห่งต้นมหาโพธิ์ ที่นั้นเรียก รัตนฆรเจดีย์ สัปดาห์ที่ ๕ ประทับใต้ร่มไม้ไทร ชื่ออชปาลนิโครธ ทรงตอบปัญหาของพราหมณ์หุหุกชาติ แสดงสมณะและพราหมณ์ที่แท้ พร้อมทั้งธรรมที่ทำให้เป็นสมณะและเป็นพราหมณ์ พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่าธิดา มาร ๓ คน ได้มาประโลมพระองค์ ณ ที่นี้ สัปดาห์ที่ ๖ ประทับใต้ต้นไม้จิก ชื่อ มุจจลินท์ มีฝนตก มุจจลินทนาคราชมา วงขนดแผ่พังพานปกป้องพระองค์ ทรงเปล่งอุทานแสดงความสุขที่แท้ อันเกิดจากการไม่เบียดเบียนกัน เป็นต้น สัปดาห์ที่ ๗ ประทับใต้ต้นไม้เกต ชื่อราชาตนะ พาณิช ๒ คน คือ ตปุสสะ และภัลลิกะ เข้ามาถวายสัตตุผง สัตตุก้อน และได้แสดงตนเป็นปฐมอุบาสกถึงสรณะ ๒ เมื่อสิ้นสัปดาห์ที่เจ็ด ณ ที่นี้แล้ว เสด็จกลับไปประทับใต้ต้นอชปาล นิโครธอีก ทรงดำริถึงความลึกซึ้งแห่งธรรมที่ตรัสรู้คือ ปฏิจจสมุปบาทและนิพพาน แล้วน้อมพระทัยที่จะไม่แสดง ธรรม เป็นเหตุให้สหัมบดีพรหมมากราบทูลอาราธนา และ ณ ที่นี้เช่นกัน ได้ทรงพระดำริเกี่ยวกับสติปัฏฐาน ๔ ที่เป็น เอกายนมรรคและอินทรีย์ ๕ อันมีอมตธรรมเป็นที่หมาย; พึงสังเกตว่าเรื่องในสัปดาห์ที่ ๒-๓-๔ นั้น เป็นส่วนที่พระ อรรถกถาจารย์กล่าวแทรกเข้ามา ความนอกนั้นมาในมหาวรรคแห่งพระวินัยปิฎก (เรื่องดำริถึงสติปัฏฐานและอินทรีย์ มาในสังยุตตนิกายมหาวารวรรค พระสุตตันตปิฎก)

วิมุติ ดู วิมุตติ

วิโมกข์ ความหลุดพ้นจากกิเลส มี ๓ ประเภทคือ ๑. สุญญตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นอนัตตาแล้วถอนความยึดมั่นได้ มองเห็นความว่าง ๒. อนิมิตตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นอนิจจัง แล้วถอนนิมิตได้ ๓. อัปปณิหิตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วย เห็นทุกข์ แล้วถอนความปรารถนาได้

วิรัติ ความเว้น, งดเว้น; เจตนาที่งดเว้นจากความชั่ว; วิรัติ ๓ คือ ๑. สัมปัตตวิรัติ เว้นได้ซึ่งสิ่งที่ประจวบเข้า ๒. สมา ทานวิรัติ เว้นด้วยการสมาทาน ๓. สมุจเฉทวิรัติ เว้นได้โดยเด็ดขาด

วิราคะ ความสิ้นกำหนด, ธรรมเป็นที่สิ้นราคะ, ความคลายออกได้หายติด เป็นไวพจน์ของนิพพาน

วิราคสัญญา กำหนดหมายธรรมเป็นที่สิ้นราคะ หรือภาวะปราศจากราคะว่าเป็นธรรมละเอียด (ข้อ ๖ ในสัญญา ๑๐)

วิริยะ ความเพียร, ความบากบั่น, ความเพียรเพื่อจะละความชั่ว ประพฤติความดี, ความพยายามทำกิจ ไม่ท้อถอย (ข้อ ๒ ในอิทธิบาท ๔)

วิริยารัมภะ ปรารภความเพียร คือลงมือทำความเพียรอย่างเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว, ระดมความเพียร (ข้อ ๔ ในเวสารัชชกรณ ธรรม ๕, ข้อ ๗ ในลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘, ข้อ ๕ ในสัทธรรม ๗, ข้อ ๗ ในนาถกรณธรรม ๑๐)

วิริยารัมภกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ปรารภความเพียร (ข้อ ๕ ในกถาวัตถุ ๑๐)

วิวัฏฏ์, วิวัฏฏะ ปราศจากวัฏฏะ, ภาวะพ้นวัฏฏะ ได้แก่ นิพพาน

วิวัฏฏคามีกุศล บุญกุศลที่ให้ถึงวิวัฏฏ์ คือพระนิพพาน

วิวาท การทะเลาะ, การโต้แย้งกัน, การ กล่าวเกี่ยงแย่งกัน, กล่าวต่าง คือว่าไปคนละทาง ไม่ลงกันได้

วิวาทมูล รากเหง้าแห่งการเถียงกัน, เหตุที่ก่อให้เกิดวิวาท กลายเป็นวิวาทาธิกรณ์ขึ้น มี ๒ อย่าง คือ ๑. ก่อวิวาทขึ้น ด้วยความปรารถนาดี เห็นแก่ธรรมวินัย มีจิตประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ ๒. ก่อวิวาทด้วยความปรารถนา เลว ทำด้วยทิฏฐิมานะ มีจิตประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ

วิวาทมูลทุกข์ ทุกข์มีวิวาทเป็นมูล, ทุกข์เกิดเพราะการทะเลาะกันเป็นเหตุ

วิวาทาธิกรณ์ วิวาทที่จัดเป็นอธิกรณ์, การวิวาทซึ่งเป็นเรื่องที่สงฆ์จะต้องเอาธุระดำเนินการพิจารณาระงับ ได้แก่การ เถียงกันปรารภพระธรรมวินัย เช่นเถียงกันว่า สิ่งนี้เป็นธรรม เป็นวินัย สิ่งนี้ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัย ข้อนี้พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ ข้อนี้ไม่ได้ตรัสไว้ ดังนี้เป็นต้น

วิวาหะ การแต่งงาน, การสมรส

วิเวก ความสงัด มี ๓ คือ อยู่ในที่สงัด เป็น กายวิเวก จิตสงบเป็น จิตวิเวก หมดกิเลสเป็น อุปธิวิเวก

วิศวามิตร ครูผู้สอนศิลปวิทยาแก่พระราชกุมารสิทธัตถะ

วิศาขนักษัตร หมู่ดาวฤกษ์ชื่อวิศาขะ (ดาวคันฉัตร) เป็นหมู่ดาวฤกษ์ที่ ๑๖ มี ๕ ดวง ดู ดาวนักษัตร

วิศาขบูชา การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ เพื่อรำลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของ พระองค์; วิสาขบูชา ก็เขียน

วิศาขปุรณมี วันเพ็ญเดือน ๖, วันกลางเดือน ๖, วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖, ดิถีมีพระจันทร์เต็มดวง ประกอบด้วยวิศาข- ฤกษ์ (วิศาขนักษัตร)

วิศาล กว้างขวาง, แผ่ไป

วิสภาค มีส่วนไม่เสมอกัน คือขัดกัน เข้ากันไม่ได้ ไม่ถูกกัน หรือไม่กลมกลืนกัน, ไม่เหมาะกัน

วิสมปริหารชา อาพาธา ความเจ็บไข้ที่เกิดจากบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ คือ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่พอดี

วิสสาสะ 1. ความคุ้นเคย, ความสนิทสนม การถือว่าเป็นกันเอง, ในทางพระวินัย การถือเอาของของผู้อื่นที่จัดว่าเป็น การถือวิสสาสะ มีองค์ ๓ คือ ๑. เคยเห็นกันมา เคยคบกันมาหรือได้พูดกันไว้ ๒. เจ้าของยังมีชีวิตอยู่ ๓. รู้ว่าของนั้น เราถือเอาแล้วเขาจักพอใจ, บัดนี้นิยมเขียน วิสาสะ 2. ความนอนใจ ดังพุทธดำรัสว่า “ภิกษุเธอยังไม่ถึงความสิ้นอา สวะแล้วอย่าได้ถึง วิสสาสะ (ความนอนใจ)”

วิสสาสิกชน คนที่สนิทสนมคุ้นเคย, คนคุ้นเคยกัน, วิสาสิกชน ก็ใช้

วิสังขาร ธรรมที่ปราศจากการปรุงแต่ง, ธรรมอันมิใช่สังขาร คือ พระนิพพาน

วิสัชชกะ ผู้จ่าย, ผู้แจกจ่าย; ผู้ตอบ, ผู้วิสัชชนา

วิสัชชนา คำตอบ, คำแก้ไข; คำชี้แจง (พจนานุกรม เขียน วิสัชนา)

วิสัญญี หมดความรู้สึก, สิ้นสติ, สลบ

วิสัย ภูมิ, พื้นแพ, อารมณ์, เขต, แดน, ลักษณะที่เป็นอยู่, ไทยใช้ในความหมายว่า ขีดขั้นแห่งความเป็นไปได้ หรือ ขอบเขตความสามารถ

วิสาขบูชา การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า, วิศาขบูชา ก็เขียน

วิสาขปุรณมี วันเพ็ญเดือน ๖, วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ดู วิศาขปุรณมี

วิสาขมาส, เวสาขมาส เดือน ๖

วิสาขา ชื่อมหาอุบาสิกาสำคัญในครั้งพุทธกาลเป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐีและนางสุมนา เกิดที่เมืองภัททิยะในแคว้น อังคะ ได้บรรลุโสดาปัตติผลตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ต่อมาได้ย้ายตามบิดามาอยู่ที่เมืองสาเกตในแคว้นโกศล แล้วได้สมรส กับนายปุณณวัฒน์บุตรชายมิคารเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี และย้ายไปอยู่ในตระกูลฝ่ายสามี นางสามารถกลับใจมิคาร เศรษฐี บิดาของสามี ซึ่งนับถือนิครนถ์ ให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา มิคารเศรษฐีนับถือนางมาก และเรียกนาง วิสาขาเป็นแม่ นางวิสาขาจึงได้ชื่อใหม่อีกอย่างหนึ่งว่า มิคารมารดา (มารดาของมิคารเศรษฐี) นางวิสาขาได้อุปถัมภ์ บำรุงพระภิกษุสงฆ์อย่างมากมาย และได้ให้ขายเครื่องประดับประจำตัวตั้งแต่แต่งงาน เรียกชื่อว่ามหาลดาปสาธน์ ซึ่ง มีค่าสูงยิ่ง นำเงินมาสร้างวัดถวายแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์คือ มิคารมาตุปราสาท วัดบุพพาราม ณ พระนครสา- วัตถี นางวิสาขามีบุตรหลานมากมายล้วนมีสุขภาพดีแทบทั้งนั้น แม้นางจะมีอายุยืนถึง ๑๒๐ ปี ก็ดูไม่แก่ และเป็น บุคคลที่ได้รับความนับถืออย่างกว้างขวางในสังคม ได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาทายิกาทั้งปวง

วิสามัญ แปลกจากสามัญ, ไม่ใช่ธรรมดา, ไม่ทั่วไป, เฉพาะ

วิสารท แกล้วกล้า, ชำนาญ, ฉลาด

วิสาสะ ดู วิสสาสะ

วิสาสิกชน คนคุ้นเคย, ดู วิสสาสิกชน

วิสุงคาม แผนกหนึ่งจากบ้าน, แยกต่างหากจากบ้าน

วิสุงคามสีมา แดนแผนกหนึ่งจากแดนบ้านคือ แยกต่างหากจากเขตบ้าน, ในที่นี้หมายถึง ที่ตั้งวัดที่พระเจ้าแผ่นดิน ประกาศพระราชทานให้แก่สงฆ์

วิสุทธิ ความบริสุทธิ์, ความหมดจด, การชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์ด้วยการบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริบูรณ์เป็นขั้น ๆ ไปโดย ลำดับ จนบรรลุจุดหมายคือพระนิพพาน มี ๗ ขั้น คือ ๑. สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล ๒. จิตตวิสุทธิ ความหมดจด แห่งจิตต์ ๓. ทิฏฐวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ ๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความ สงสัย ๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องรู้เห็นว่าทางหรือ มิใช่ทาง ๖. ปฏิปทาญาณ ทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน ๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ กล่าว คือมรรคญาณ

วิสุทธิเทพ เทวดาโดยความบริสุทธิ์ได้แก่พระอรหันต์ (ข้อ ๓ ในเทพ ๓)

วิสุทธิมรรค ปกรณ์พิเศษอธิบายศีล สมาธิ ปัญญา ตามแนววิสุทธิ ๗ พระพุทธโฆสาจารย์ พระอรรถกถาจารย์ชาวอินเดียเป็นผู้แต่งที่มหาวิหารในเกาะลังกา; พระพุทธโฆสาจารย์ผู้นี้เป็นบุตรพราหมณ์ เกิดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้พุทธคยา อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในแคว้นมคธ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๙๕๖ เรียนจบไตรเพทมีความเชี่ยวชาญมาก ต่อมาพบกับพระเรวตเถระ ได้โต้ตอบปัญหากัน สู้พระเรวตเถระไม่ได้ จึงขอบวชเพื่อเรียนพุทธวจนะ มีความสามารถมากได้รจนาคัมภีร์ญาโณทัย เป็นต้น พระเรวตเถระจึงแนะนำให้ไปเกาะลังกา เพื่อแปลอรรถกถาสิงหฬ กลับเป็นภาษามคธ ท่านเดินทางไปที่มหาวิหาร เกาะลังกา เมื่อขออนุญาตแปลคัมภีร์ ถูกพระเถระแห่งมหาวิหารให้คาถามา ๒ บท เพื่อแต่งทดสอบความรู้ พระพุทธโฆส จึงแต่งคำอธิบายคาถาทั้งสองนั้นขึ้นเป็นคัมภีร์วิสุทธิมรรค จากนั้นก็ได้รับอนุญาตให้ทำงานแปลอรรถกถาได้ตามประสงค์ เมื่อทำงานเสร็จสิ้นแล้ว ท่านก็เดินทางกลับสู่ชมพูทวีป พระพุทธโฆสาจารย์ เป็นพระอรรถกถาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด มีผลงานมากที่สุด

วิสุทธิอุโบสถ อุโบสถที่ประกอบด้วยความบริสุทธิ์ หรืออุโบสถที่ทำโดยที่ประชุมสงฆ์ซึ่งมีความบริสุทธิ์หมายถึง การทำอุโบสถซึ่งที่ประชุมมีแต่พระอรหันต์ล้วนๆ เช่น กล่าวถึงการประชุมพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป คราวจาตุรงคสันนิบาต ว่าทำวิสุทธิอุโบสถ

วิสูตร ม่าน

วิหาร ที่อยู่, ที่อยู่ของพระสงฆ์; ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่กับโบสถ์; การพักผ่อน, การเป็นอยู่หรือดำเนินชีวิต

วิหารธรรม ธรรมเป็นเครื่องอยู่, ธรรมประจำใจ, ธรรมที่เป็นหลักใจในการดำเนินชีวิต

วิหารวัตถุ พื้นที่ปลูกกุฎี วิหาร

วิหิงสา การเบียดเบียน, การทำร้าย

วิหิงสาวิตก ความตรึกในทางเบียดเบียน, ความคิดในทางทำลายหรือก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น (ข้อ ๓ ในอกุศลวิตก ๓)

วิเหสกกรรม กรรมที่จะพึงกระทำแก่ภิกษุผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก คือ ภิกษุประพฤติอนาจาร สงฆ์เรียกตัวมาถาม นิ่งเฉย เสียไม่ตอบ เรียกว่าเป็นผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก, สงฆ์ยกวิเหสกกรรมขึ้น คือสวดประกาศการที่เธอทำตัวเช่นนั้น ด้วยญัตติ ทุติยกรรม เมื่อสงฆ์สวดประกาศแล้วเธอยังขืนทำอย่างนั้นอยู่อีก ย่อมต้องอาบัติปาจิตตีย์ (สิกขาบทที่ ๒ ในภูตคาม วรรคที่ ๒) คู่กับ อัญญวาทกกรรม

วีติกกมะ การละเมิดพระพุทธบัญญัติ, การทำผิดวินัย

วีสติวรรค สงฆ์พวกที่กำหนดจำนวน ๒๐ รูป (ทำอัพภานได้) ดู วรรค

วุฏฐานะ การออก เช่น ออกจากฌาน ออกจากอาบัติสังฆาทิเสส เป็นต้น

วุฏฐานคามินี 1. วิปัสสนาที่ให้ถึงมรรค, วิปัสสนาที่เจริญแก่กล้าถึงจุดสุดยอด ทำให้เข้าถึงมรรค (มรรคชื่อว่าวุฏฐานะ โดยความหมายว่าเป็นที่ออกไปได้จากสิ่งที่ยึดติดถือมั่น หรือออกไปพ้นจากสังขาร), วิปัสสนาที่เชื่อมต่อให้ถึงมรรค 2. “อาบัติที่ให้ถึงวุฏฐานวิธี” คือ อาบัติที่จะพ้นได้ด้วยอยู่กรรมหมายถึงอาบัติสังฆาทิเสส, คู่กับเทสนาคามินี คืออาบัติ ที่พ้นได้ด้วยการแสดง (ตั้งแต่ถุลลัจจัยลงมา)

วุฏฐานวิธี ระเบียบเป็นเครื่องออกจากอาบัติ หมายถึงระเบียบวิธีปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้จะเปลืองตนจากอาบัติหนักขั้น สังฆาทิเสส, มีทั้งหมด ๔ อย่าง คือ ปริวาส มานัต อัพภาน และปฏิกัสสนา

วุฏฐานสมมติ มติอนุญาตให้ออกจากความเป็นสิกขมานาเพื่ออุปสมบทเป็นภิกษุณี, นางสิกขามานาผู้สมาทาน สิกขาบท ๖ ข้อ ตั้งแต่ปาณาติปาตาเวรมณี ถึงวิกาลโภชนา เวรมณี โดยมิได้ขาด ครบเวลา ๒ ปีแล้ว จึงมีสิทธิขอ วุฏฐานสมมติ เพื่ออุปสมบทเป็นภิกษุณีต่อไป

วุฑฒิ ธรรมเป็นเครื่องเจริญ, ธรรมเป็นเหตุให้ถึงความเจริญ มี ๔ อย่าง คือ ๑. สัปปุริสสังเสวะ คบหาสัตบุรุษ ๒. สัท- ธัมมัสสวนะ ฟังสัทธรรม ๓. โยนิโสมนสิการ ทำในใจโดยแยบคาย ๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ ธรรม, เรียกและเขียนเป็นวุฒิบ้าง วุฑฒิธรรมบ้าง วุฒิธรรมบ้าง, ในบาลีเรียกว่า ธรรมที่เป็นไปเพื่อปัญญาวุฑฒิ หรือ ปัญญาวุฒิ คือ เพื่อความเจริญแห่งปัญญา

วุฒบรรพชิต ผู้บวชเมื่อแก่

วุฒิ ความเจริญ, ความงอกงาม, ความเป็นผู้ใหญ่; ธรรมให้ถึงความเจริญ ดู วุฑฒิ วุฒิ คือ ความเป็นผู้ใหญ่ ๓ อย่างที่นิยมพูดกันในภาษาไทยนั้นมาในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาและฎีกา ได้แก่ ๑. ชาติวุฒิ ความเป็นผู้ใหญ่โดยชาติ คือ เกิดในชาติกำเนิดฐานะอันสูง ๒. วัยวุฒิ ความเป็นผู้ใหญ่โดยวัย คือเกิดก่อน ๓. คุณวุฒิ ความเป็นผู้ใหญ่โดยคุณความดีหรือโดยคุณพิเศษที่ได้บรรลุ (ผลสำเร็จที่ดีงาม) (อนึ่งในคัมภีร์ท่านมิได้ กล่าวถึงภาวะแต่กล่าวถึงบุคคล คือไม่กล่าวถึงวุฒิ แต่กล่าวถึงวุฑฒคือวุฒ เป็น ชาติวุฒ วัยวุฒ คุณวุฒ; นอกจากนั้น ในอรรถกถาแห่งสุตตนิบาต ท่านแบ่งเป็น ๔, โดยเพิ่มปัญญาวุฒ ผู้ใหญ่โดยปัญญาเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง และเรียงลำดับ ตามความสำคัญในทางธรรม เมื่อเปลี่ยนวุฒ เป็นวุฒิ จะได้ดังนี้ ๑. ปัญญาวุฒิ ๓. คุณวุฒิ ๓. ชาติวุฒิ ๔. วัยวุฒิ)

เวท, พระเวท ดู ไตรเพท

เวทนา ความเสวยอารมณ์, ความรู้สึก, ความรู้สึกสุขทุกข์ มี ๓ อย่าง คือ ๑. สุขเวทนา ความรู้สึกสุขสบาย ๒. ทุกขเวทนา ความรู้สึกไม่สบาย ๓. อทุกขมสุขเวทนา ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ คือ เฉย ๆ เรียกอีกอย่างว่าอุเบกขาเวทนา; อีกหมวด หนึ่งจัดเป็น เวทนา ๕ คือ ๑. สุข สบายกาย ๒. ทุกข์ ไม่สบายกาย ๓. โสมนัส สบายใจ ๔. โทมนัส ไม่สบายใจ ๕. อุเบก- ขา เฉยๆ; ในภาษาไทย ใช้หมายความว่า เจ็บปวดบ้าง สงสารบ้าง ก็มี

เวทนาขันธ์ กองเวทนา (ข้อ ๒ ในขันธ์ ๕)

เวทนานุปัสสนา สติตามดูเวทนา คือ ความรู้สึกสุขทุกข์และไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นอารมณ์โดยรู้เท่าทันว่า เวทนานี้ก็สักว่า เวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา (ข้อ ๒ ในสติปัฏฐาน ๔)

เวทมนตร์ คำที่เชื่อถือว่าศักดิ์สิทธิ์บริกรรมแล้วให้สำเร็จความประสงค์

เวเนยยสัตว์ ดู เวไนยสัตว์

เวไนยสัตว์ สัตว์ผู้ควรแก่การแนะนำสั่งสอน, สัตว์ที่พึงแนะนำได้, สัตว์ที่พอดัดได้สอนได้

เวปุลละ ความไพบูลย์, ความเต็มเปี่ยม, ความเจริญเต็มที่ มี ๒ อย่าง คือ ๑. อามิสเวปุลละ อามิสไพบูลย์ หรือความ ไพบูลย์แห่งอามิส หมายถึง ความมากมายพรั่งพร้อมด้วยปัจจัย ๔ ตลอดจนวัตถุอำนวยความสุขความสะดวกสบาย ต่าง ๆ ๒. ธัมมเวปุลละ ธรรมไพบูลย์หรือความไพบูลย์แห่งธรรม หมายถึง ความเจริญเต็มเปี่ยมเพียบพร้อมแห่งธรรม ด้วยการฝึกอบรมปลูกฝังให้มีในตนจนเต็มบริบูรณ์ หรือด้วยการประพฤติปฏิบัติกันในสังคมจนแพร่หลายทั่วไปทั้งหมด

เวภารบรรพต ชื่อภูเขาลูกหนึ่งในภูเขาห้าลูก ที่เรียก เบญจคีรี อยู่ที่กรุงราชคฤห์

เวมานิกเปรต เปรตอยู่วิมาน ได้เสวยสุขและทุกข์สลับกันไป บางตนข้างแรมเสวยทุกข์ ข้างขึ้นเสวยสุข บางตนกลาง คืนเสวยสุข กลางวันเสวยทุกข์ เวลาเสวยสุขอยู่ในวิมาน มีร่างเป็นทิพย์สวยงาม เวลาจะเสวยทุกข์ต้องออกจากวิมาน ไป และร่างกายก็กลายเป็นน่าเกลียดน่ากลัว

เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ, ทำดีด้วยการช่วยเหลือรับใช้ผู้อื่น (ข้อ ๕ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐); ไวยาวัจมัย ก็เขียน

เวร ความแค้นเคือง, ความปองร้ายกัน, ความแก้เผ็ด, ความคิดร้ายตอบแก่ผู้ทำร้าย; ในภาษาไทยใช้อีกความหมายหนึ่ง ด้วยว่าคราว, รอบ, การผลัดกันเป็นคราวๆ, ตรงกับ วาร หรือวาระในภาษาบาลี

เวสสภู พระนามของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอดีต ดู พระพุทธเจ้า ๗

เวสารัชชกรณธรรม ธรรมทำความกล้าหาญ, ธรรมเป็นเหตุให้กล้าหาญ, คุณธรรมที่ทำให้เกิดความแกล้วกล้ามี ๕ อย่างคือ ๑. ศรัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ ๒. ศีล มีความประพฤติดีงาม ๓. พาหุสัจจะ ได้สดับหรือศึกษามาก ๔. วิริยา- รัมภะ เพียรทำกิจอยู่อย่างจริงจัง ๕. ปัญญา รู้รอบและรู้ชัดเจนในสิ่งที่ควรรู้

เวสารัชชญาณ พระปรีชาญาณอันทำให้พระพุทธเจ้าทรงมีความแกล้วกล้าไม่ครั่นคร้าม ด้วยไม่ทรงเห็นว่าจะมีใคร ท้วงพระองค์ได้โดยชอบธรรมในฐานะทั้ง ๔ คือ ๑. ท่านปฏิญญาว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ ธรรมเหล่านี้ท่านยังไม่รู้แล้ว ๒. ท่านปฏิญญาว่าเป็นขีณาสพ อาสวะเหล่านี้ของท่านยังไม่สิ้นแล้ว ๓ ท่านกล่าวธรรมเหล่าใดว่าทำอันตราย ธรรม เหล่านั้นไม่อาจทำอันตรายแก่ผู้ส้องเสพได้จริง ๔. ท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อย่างใด ประโยชน์อย่างนั้นไม่เป็น ทางนำผู้ทำตามให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบได้จริง

เวสาลี ชื่อนครหลวงของแคว้นวัชชี ตั้งอยู่บนฝั่งทิศตะวันออกแห่งลำน้ำคัน ธกะบางทีเรียก ไพศาลี

เวหาสกุฎี โครงที่ตั้งขึ้นในวิหาร ปักเสาตอม่อขึ้นแล้ววางรอดบนนั้น สูงพอศีรษะไม่กระทบพื้น ถ้าไม่ปูพื้นข้างบนก็ เอาเตียงวางลงไป ให้พื้นเตียงคานรอดอยู่ ขาเตียงห้อยลงไป ใช้อยู่ได้ทั้งข้างบนข้างล่าง ข้างบนเรียกว่าเวหาสกุฎี เป็น ของต้องห้ามตามสิกขาบทที่ ๘ แห่งภูตคามวรรค ปาจิตตีย์

เวฬุวะ ผลมะตูม

เวฬุวคาม ชื่อตำบลหนึ่งใกล้นครเวสาลีแคว้นวัชชี เป็นที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาในพรรษาที่ ๔๕ นับแต่ได้ตรัสรู้ คือพรรษาสุดท้ายที่จะเสด็จปรินิพพาน; เพฬุวคาม ก็เรียก

เวฬุวัน ป่าไผ่ สวนที่ประพาสพักผ่อนของพระเจ้าพิมพิสาร อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากพระนครราชคฤห์ เป็นที่ร่มรื่นสงบ เงียบ มีทางไปมาสะดวก พระเจ้าพิมพิสารถวายเป็นสังฆาราม นับเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา

เวิกผ้า ในประโยคว่า “เราจักไม่ไปในละแวกบ้านด้วยทั้งเวิกผ้า” เปิดสีข้างให้เห็น เช่นถกจีวรขึ้นพาดไว้บนบ่า

โวหาร ถ้อยคำ, สำนวนพูด, ชั้นเชิงหรือกระบวนแต่งหนังสือ หรือพูด

ไวพจน์ คำที่มีรูปต่างกันแต่มีความหมายคล้ายกัน, คำสำหรับเรียกแทนกัน เช่น คำว่า มทนิมฺมทโน เป็นต้น เป็น ไวพจน์ของ วิราคะ คำว่า วิมุตติ วิสุทธิ สันติ อสังขตะ วิวัฏฏ์ เป็นต้น เป็นไวพจน์ของนิพพาน ดังนี้เป็นต้น

ไวยากรณ์ 1. ระเบียบของภาษา, วิชาว่าด้วยระเบียบแห่งภาษา 2. คำหรือข้อความที่เป็นร้อยแก้ว, ความร้อยแก้ว ดู นวังคสัตถุศาสน์

ไวยาวัจกร ผู้ทำกิจธุระแทนสงฆ์, ผู้ช่วยขวนขวายทำกิจธุระ, ผู้ช่วยเหลือรับใช้พระ

ไวยาวัจจะ การขวนขวายช่วยทำกิจธุระ, การช่วยเหลือรับใช้

ไวยาวัจมัย ดู เวยยาวัจจมัย

ศตมวาร วันที่ ๑๐๐, วันที่ครบ ๑๐๐

ศรัทธา ความเชื่อ, ความเชื่อถือ; ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ดีงาม ดู สัทธา

ศรัทธาไทย ของที่เขาถวายด้วยศรัทธา

ศราทธ์ การทำบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว (ต่างจาก สารท)

ศราทธพรต พิธีทำบุญอุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว; ศราทธพรตคาถาหรือคาถาศราทธพรต หมายถึง คาถาหมวด หนึ่ง (มีร้อยแก้วนำเล็กน้อย) ที่พระสงฆ์ใช้สวดรับเทศน์ ในงานพระราชพิธีเผาศพในประเทศไทย แต่บัดนี้ใช้กัน กว้างออกไปแม้ในพิธีราษฎร์ที่จะจัดให้เป็นการใหญ่

ศรี มิ่งขวัญ, ราศี, อาการที่น่านิยม

ศรีอารยเมตไตรย พระนามของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ซึ่งจะอุบัติขึ้นในภายหน้า หลังจากสิ้นศาสนาพระโคดมแล้ว ในคราวที่มนุษย์มีอายุยืน ๘๐,๐๐๐ ปี นับเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๕ แห่งภัทรกัปปนี้; ดู พระพุทธเจ้า ๕

ศักดิ์ อำนาจ, ความสามารถ, กำลัง, ฐานะ

ศักดินา อำนาจปกครองที่นา หมายความว่าพระมหากษัตริย์พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้านาย และขุนนาง เป็นต้น ถือนาได้มีกำหนดจำนวนไร่ เป็นเรือนหมื่นเรือนพันตามฐานานุรูป การพระราชทานให้ถือศักดินานั้นเป็นเครื่อง เทียบยศและเป็นเครื่องปรับผู้ก้ำเกิน หรือเป็นเครื่องปรับผู้ถือศักดินานั่นเอง เมื่อทำผิด

ศักดิ์สิทธิ์ ขลัง, มีความสำเร็จตามอำนาจ

ศัพท์ เสียง, คำ, คำยากที่ต้องแปล, คำยากที่ต้องอธิบาย

ศัสตรา ของมีคมเป็นเครื่องแทงฟัน

ศัสตราวุธ อาวุธมีคมเป็นเครื่องฟันแทง (ศัสตรา = ของมีคมเป็นเครื่องฟันแทง, อาวุธ = เครื่องประหาร)

ศากยะ ชื่อกษัตริย์พวกหนึ่ง ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าโอกกากราช ซึ่งเป็นผู้สร้างและครองกรุงกบิลพัสดุ์ พระ พุทธเจ้าก็เป็นกษัตริย์วงศ์นี้; ศากยะ เป็นคำสันสกฤต เรียกอย่างบาลีเป็น สักกะบ้าง, สักยะบ้าง, สากิยบ้าง, ศากยะ หรือสักกะนี้ ใช้เป็นคำเรียกชื่อถิ่นหรือแคว้นของพวกเจ้าศากยะด้วย ดู สักกชนบท

ศากยกุมาร กุมารวงศ์ศากยะ, เจ้าชายวงศ์ศากยะ

ศากยตระกูล ตระกูลศากยะ, วงศ์ศากยะ

ศากยราช กษัตริย์ศากยะ, พระเจ้าแผ่นดินวงศ์ศากยะ

ศากยวงศ์ เชื้อสายพวกศากยะ

ศากยสกุล ตระกูลศากยะ, เหล่ากอพวกศากยะ

ศาสดา ผู้อบรมสั่งสอน, เป็นพระนามอย่างหนึ่งที่ใช้เรียกพระพุทธเจ้า; ปัจจุบันใช้เรียกผู้ตั้งศาสนาโดยทั่วไป, ใน พุทธกาล ครูทั้ง ๖ คือ ปูรณกัสสป มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถนาฏ บุตร ถ้าเรียกตามบาลีก็เป็นศาสดา ๖

ศาสตร์ ตำรา, วิชา

ศาสนา คำสอน, คำสั่งสอน; ปัจจุบันใช้หมายถึงลัทธิความเชื่อถืออย่างหนึ่งๆ พร้อมด้วยหลักคำสอน ลัทธิ พิธี องค์ การ และกิจการทั่วไปของหมู่ชนผู้นับถือลัทธิความเชื่อถืออย่างนั้นๆ ทั้งหมด

ศาสนูปถัมภก ผู้ทะนุบำรุงศาสนา

ศิลปะ ฝีมือ, ความฉลาดในฝีมือ, ฝีมือทางการช่าง, การแสดงออกมาให้ปรากฏอย่างงดงามน่าชม, วิชาที่ใช้ฝีมือ, วิชา ชีพต่างๆ

ศิลปวิทยา ศิลปและวิทยาการ

ศิลปศาสตร์ ตำราว่าด้วยวิชาความรู้ต่างๆ มี ๑๘ ประการ เช่นตำราว่าด้วยการคำนวณ ตำรายิงธนู เป็นต้น อันได้มีการ เรียนการสอนกันมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล; ๑๘ ประการนั้นมีหลายแบบ ยกมาดูแบบหนึ่งจากคัมภีร์โลกนิติ และ ธรรมนิติ ได้แก่ ๑. สูติ ความรู้ทั่วไป ๒. สัมมติ ความรู้กฎธรรมเนียม ๓. สังขยา คำนวณ ๔. โยคยันตร์ การช่างการ ยนตร์ ๕. นีติ นิติศาสตร์ ๖. วิเสสิกา ความรู้การอันให้เกิดมงคล ๗. คันธัพพา วิชาร้องรำ ๘. คณิกา วิชาบริหารร่าง กาย ๙. ธนุพเพธา วิชายิงธนู ๑๐. ปุราณา โบราณคดี ๑๑. ติกิจฉา วิชาแพทย์ ๑๒. อิติหาสา ตำนานหรือประวัติศาสตร์ ๑๓. โชติ ดาราศาสตร์ ๑๔. มายา ตำราพิชัยสงคราม ๑๕. ฉันทสา การประพันธ์ ๑๖. เกตุ วิชาพูด ๑๗. มันตา วิชามนต์ ๑๘. สัททา วิชาไวยากรณ์, ทั้ง ๑๘ อย่างนี้โบราณเรียกรวมว่าสิปปะ หรือศิลปะ ไทยแปลออกเป็นศิลปศาสตร์ (ตำรา ว่าด้วยศิลปะต่างๆ); แต่ในสมัยปัจจุบัน ได้แยกความหมายศิลปะ กับศาสตร์ ออกจากกัน คือศิลปะ หมายถึง วิทยาการ ที่มีวัตถุประสงค์ตรงความงาม เช่น ดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์และจิตรกรรม เป็นต้น ศาสตร์ หมายถึง วิทยาการที่มีวัตถุ ประสงค์ตรงความจริง เช่น คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

ศิลาดวด หินที่สูงขึ้นไปบนพื้นดิน

ศิลาดาด หินที่เป็นแผ่นราบใหญ่

ศิลาเทือก หินที่ติดเป็นพืดยาว

ศิลาวดี ชื่อนครหนึ่งในสักกชนบท

ศิวาราตรี พิธีลอยบาปของพราหมณ์ทำให้วันเพ็ญเดือน ๓ เป็นประจำปี วิธีทำคือ ลงอาบน้ำในแม่น้ำ สระเกล้า ชำระ กายให้สะอาดหมดจด เท่านี้ถือว่าได้ลอยบาปไปตามกระแสน้ำแล้วเป็นอันสิ้นบาปกันคราวหนึ่ง ถึงปีก็ทำใหม่ (คำ สันสกฤตเดิมเป็นศิวราตริ แปลว่า ราตรีของพระศิวะ พจนานุกรมสันสกฤตว่า ตรงกับแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๓)

ศีล ความประพฤติดีทางกายและวาจา, การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย,ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้ ตั้งอยู่ในความดีงาม, การรักษาปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่สะอาดปราศจากโทษ, ข้อปฏิบัติในการเว้นจาก ความชั่ว, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ; มักใช้เป็นคำเรียกอย่างง่าย สำหรับคำว่า อธิศีลสิกขา

ศีลธรรม ความประพฤติดีงามทางกายวาจา, ความประพฤติที่ดีที่ชอบ, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีวะ; โดยทาง ศัพท์ ศีลธรรม แปลว่า ธรรมคือศีล หมายถึง ธรรมขั้นศีล หรือ ธรรมในระดับศีล เพราะศีลเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ใน บรรดาธรรมภาคปฏิบัติ ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ดังนั้น ต่อจากธรรมขั้นศีล จึงมีธรรมขั้นสมาธิ และธรรม ขั้นปัญญา; ได้มีผู้พยายามแปลศีลธรรม อีกอย่างหนึ่งว่าศีลและธรรม (ถ้าแปลให้ถูกต้องจริงต้องว่าศีลและธรรมอื่นๆ คือศีลและธรรมอื่นๆ นอกจากศีล เช่น สมาธิ และปัญญา เป็นต้น เพราะศีลก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง) ถ้าแปลอย่างนี้ จะ ต้องเข้าใจว่า ศีลธรรม มิใช่เป็นเพียงความประพฤติดีงามเท่านั้น แต่รวมถึง สมถะวิปัสสนา ขันธ์ ๕ ปฏิจจสมุปบาท ไตรลักษณ์ เป็นต้น ด้วย

ศีลวัตร, ศีลพรต ศีลและวัตร, ศีลและพรต, ข้อที่จะต้องสำรวมระวังไม่ล่วงละเมิด ชื่อว่า ศีล ข้อที่พึงถือปฏิบัติชื่อว่า วัตร, หลักความประพฤติทั่วไปอันจะต้องรักษาเสมอกัน ชื่อว่า ศีล ข้อปฏิบัติพิเศษเพื่อฝึกฝนตนให้ยิ่งขึ้นไป ชื่อว่าวัตร

ศีลวิบัติ ดู สีลวิบัติ

ศีล ๕ สำหรับทุกคน คือ ๑. เว้นจากทำลายชีวิต ๒. เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้ ๓. เว้นจากประพฤติผิดในกาม ๔. เว้นจากพูดเท็จ ๕. เว้นจากของเมา คือ สุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท; คำสมาทานว่า ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ๒. อทินฺนาทานา ๓. กาเมสุมิจฺฉาจารา ๔. มุสาวาทา ๕. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา (คำ ต่อท้ายเหมือนข้อ ๑); ดู อาราธนาศีล ด้วย

ศีล ๘ สำหรับฝึกตนให้ยิ่งขึ้นไปโดยรักษาในบางโอกาส หรือมีศรัทธาจะรักษาประจำก็ได้ เช่น แม่ชีมักรักษาประจำ หัวข้อเหมือนศีล ๕ แต่เปลี่ยนข้อ ๓ และเติมข้อ ๖-๗-๘ คือ ๓. เว้นจากประพฤติผิดพรหมจรรย์ คือเว้นจากร่วม ประเวณี ๖. เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือเที่ยงแล้วไป ๗. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการเล่น อันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ การทัดทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง ๘. เว้นจาก ที่นอนอันสูงใหญ่หรูหราฟุ่มเฟือย; คำสมาทาน (เฉพาะที่ต่างจากศีล ๕) ว่า ๓. อพฺรหฺมจริยา ๖. วิกาลโภชนา ๗. นจฺจ- คีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา ๘. อุจฺจาสยนมหาสยนา (คำต่อท้ายเหมือนข้อ ๑ ในศีล ๕); ดู อาราธนาศีล ด้วย

ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร แต่ผู้ใดศรัทธาจะรักษาก็ได้ หัวข้อเหมือนศีล ๘ แต่แยกข้อ ๗ เป็น ๒ ข้อ (= ๗-๘) เลื่อนข้อ ๘ เป็น ๙ และเติมข้อ ๑๐ คือ ๗. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ฯลฯ ๘. เว้นจากการทัดทรงดอกไม้ ฯลฯ ๙. เว้นจากที่นอนอัน สูงใหญ่ ฯลฯ ๑๐ เว้นจากการับทองและเงิน; คำสมาทาน (เฉพาะที่ต่าง) ว่า ๗. นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา ๘. มาลาค- นฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา ๙. อุจฺจาสยนมหาสยนา ๑๐. ชาตรูปรชตปฏิคฺคหณา (คำต่อท้าย เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ เหมือนกันทุกข้อ); ดู อาราธนาศีล ด้วย

ศีล ๒๒๗ ศีลสำหรับพระภิกษุ มีในภิกขุปาฏิโมกข์

ศีล ๓๑E ศีลสำหรับพระภิกษุณี มีในภิกขุปาฏิโมกข์

ศีลอุโบสถ คือ ศีลที่สมาทานรักษาพิเศษในวันอุโบสถ ดู อุโบสถศีล

ศีลาจาร ศีลและอาจาระ, การปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ และมารยาททั่วไป; นัยหนึ่งว่า ศีล คือไม่ต้องอาบัติปาราชิก และสังฆาทิเสส อาจาระคือไม่ต้องอาบัติเบาตั้งแต่ถุลลัจจจัยลงมา

ศึกษา การเล่าเรียนฝึกฝนและอบรม, ในพระพุทธศาสนา ได้แก่สิกขา

ศุกลปักษ์ ซีกสว่าง คือ ข้างขึ้น

ศุภวารฤกษ์ ฤกษ์งามยามดี

ศูทร ชื่อวรรณะที่สี่ ในวรรณะสี่ของคนในชมพูทวีป ตามหลักศาสนาพราหมณ์จัดเป็นชนชั้นต่ำ ได้แก่พวกทาสและ กรรมกร ดู วรรณะ

เศวต สีขาว

เศวตฉัตร ฉัตรขาว, ร่มขาว, พระกลดขาวซึ่งนับว่าเป็นของสูง

เศวตอัสดร ม้าสีขาว

โศก ความทุกข์ ความเศร้า, ความเดือดร้อนใจ, ความแห้งใจ

โศก ลูกศรคือความโศก, เป็นทุกข์เดือดร้อนเหมือนถูกศรแทง

โศกาลัย ความเศร้าเหี่ยวแห้งใจและความห่วงใย, ทั้งโศกเศร้าทั้งอาลัยหรือโศกเศร้าด้วยอาลัย, ร้องไห้สะอึกสะอื้น (เป็นคำกวีไทยผูกขึ้น)

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น