Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ อกนิษฐ์-อรัญญิกธุดงค์

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) หรือ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ออนไลน์

อกนิษฐ์ รูปพรหมชั้นสูงสุดในพรหมสิบหกชั้น และเป็นสุทธาวาสภูมิชั้นสูงสุด (ข้อ ๕ ในสุทธาวาส ๕)

อกรณียะ กิจอันบรรพชิตไม่ควรทำ ๔ อย่าง ทำแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ คือ ๑. เสพเมถุน ๒. ลักของเขาตั้งแต่ ๕ มาสกขึ้นไป ๓. ฆ่ามนุษย์ ๔. อวดคุณพิเศษ (อุตริมนุสธรรม) ที่ไม่มีในตน (สำหรับภิกษุณีมี ๘) ดู อนุศาสน์

อกัปปิยะ ไม่ควร, ไม่สมควรแก่ภิกษุจะบริโภคใช้สอย คือ ต้องห้ามด้วยพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้หรือฉัน, สิ่งที่ตรงข้ามกับ กัปปิยะ

อกัปปิยวัตถุ สิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร คือภิกษุไม่ควรบริโภคใช้สอย

อกปฺปิเย กปฺปิยสญฺญิตา อาการที่จะต้องอาบัติด้วยสำคัญว่าควร ในของที่ไม่ควร

อกาละ เวลาอันไม่ควร

อกาลจีวร จีวรที่เกิดขึ้นนอกเขต จีวรกาล นอกเขตอานิสงส์กฐิน

อกาลิโก พระธรรมไม่ประกอบด้วยกาล, ให้ผลไม่จำกัดกาล คือไม่ขึ้นกับกาลเวลา ไม่จำกัดด้วยกาล ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทุกเวลา ทุกโอกาส บรรลุเมื่อใด ก็ได้รับผลเมื่อนั้น ไม่เหมือนผลไม้ที่ให้ผลตามฤดู, อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นจริงอยู่อย่าง ไร ก็เป็นจริงอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป (ข้อ ๓ ในธรรมคุณ ๖)

อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ, เห็นว่าการกระทำไม่มีผล อธิบายอย่างง่าย เช่น ทำชั่ว หากไม่มีคนรู้คนเห็น ไม่มีคนชม ไม่มีคนลงโทษ ก็ชื่อว่าไม่เป็นอันทำ เป็นมิจฉาทิฏฐิร้ายแรงอย่างหนึ่ง (ข้อ ๑ ในทิฏฐิ ๓)

อกุปปธรรม ผู้มีธรรมที่ไม่กำเริบ คือผู้ที่เมื่อได้สมาบัติแล้ว สมาบัตินั้นจะไม่เสื่อมไปเลย ได้แก่พระอริยบุคคลทั้งหมด เทียบ กุปปธรรม

อกุศล บาป, ชั่ว, ไม่ฉลาด, ความชั่ว, กรรมชั่ว

อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศล, กรรมชั่ว, บาป, การกระทำที่ไม่ดี คือ เกิดจาก อกุศลมูล ดู กรรม

อกุศลกรรมบถ ทางแห่งกรรมชั่ว, ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศล, กรรมชั่วอันเป็นทางนำไปสู่ทุคติ มี ๑๐ อย่าง คือ ก.กายกรรม ๓ ได้แก่ ๑. ปาณาติบาต การทำลายชีวิต ๒. อทินนาทาน ถือเอาของที่เขามิได้ให้ ๓. กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม ข. วจีกรรม ๔ ได้แก่ ๔. มุสาวาท พูดเท็จ ๕. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด ๖. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ ๗. สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ ค. มโนกรรม ๓ ได้แก่ ๘. อภิชฌา ละโมบคอยจ้องอยากได้ของเขา ๙. พยาบาท คิดร้าย เขา ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากคลองธรรม เทียบ กุศลกรรมบถ

อกุศลจิตตุบาท จิตอกุศลเกิดขึ้น, ความคิดชั่ว

อกุศลเจตนา เจตนาที่เป็นอกุศล, ความตั้งใจชั่ว, ความคิดชั่ว

อกุศลเจตสิก เจตสิกอันเป็นอกุศลได้แก่ความชั่วที่เกิดขึ้นภายในใจ แต่งจิตให้เป็นบาป มี ๑๔ อย่างแยกเป็น ก. สัพพากุศลสาธารณเจตสิก (เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับอกุศลจิตทุกดวง) ๔ คือ โมหะ อหิริกะ (ไม่ละอายต่อบาป) อโนตตัปปะ (ไม่กลับบาป) อุทธัจจะ ข. ปกิณณก อกุศลเจตสิก (อกุศลเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตเรี่ยรายไป) ๑๐ คือ โลภะ ทิฏฐิ มานะ โทสะ อิสสา (ริษยา) มัจฉริยะ กุกกุจจะ (เดือดร้อนใจ) ถีนะ (หดหู่) มิทธะ (ง่วงงุน) วิจิกิจฉา

อกุศลธรรม ธรรมที่เป็นอกุศล, ธรรมฝ่ายอกุศล, ธรรมที่ชั่ว, ธรรมฝ่ายชั่ว

อกุศลมูล รากเหง้าของอกุศล, ต้นเหตุของอกุศล, ต้นเหตุของความชั่วมี ๓ อย่าง คือ โลภะ โทสะ โมหะ

อกุศลวิตก ความตริตรึกที่เป็นอกุศล,ความนึกคิดที่ไม่ดี มี ๓ อย่าง คือ ๑. กามวิตก คิดแส่ไปในทางกาม หาทางปรน ปรือตน ๒. พยาบาทวิตก คิดในทางพยาบาท ๓. วิหิงสาวิตก คิดในทางเบียดเบียนผู้อื่น

อคติ ฐานะอันไม่พึงถึง, ทางความประพฤติที่ผิด, ความลำเอียง มี ๔ คือ ๑. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก ๒. โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง ๓. โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา ๔. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว

อโคจร บุคคลและสถานที่อันภิกษุไม่ควรไปมาหาสู่ มี ๖ คือ หญิงแพศยา หญิงหม้าย สาวเทื้อ ภิกษุณี บัณเฑาะก์ (กะเทย) และร้านสุรา

องค์ 1. ส่วน, ภาค, ตัว, อวัยวะ, ลักษณะ, คุณสมบัติ, ส่วนประกอบ 2. ลักษณะนามใช้เรียกภิกษุสามเณรนักบวชอื่นบางพวก และสิ่งที่เคารพบูชาบางอย่างในทางศาสนา เช่น พระพุทธรูป ๒ องค์ พระเจดีย์ ๔ องค์, สำหรับภิกษุ สามเณร ในภาษาเขียนท่านให้ใช้

องค์ฌาน (บาลีว่า ฌานงฺค) องค์ประกอบของฌาน, องค์ธรรมทั้งหลายที่ประกอบกันเข้าเป็นฌานขั้นหนึ่งๆ เช่น ปีติ สุข เอกัคคตา รวมกันเรียกว่า ฌานที่ ๒ หรือทุติยฌาน; องค์ฌานทั้งหมดในฌานต่าง ๆ นับแยกเป็นหน่วย ๆ ไม่ซ้ำกัน มีทั้งหมด ๖ อย่างคือ วิตก ความตรึก วิจาร ความตรอง ปีติ ความอิ่มใจ สุข ความสุข อุเบกขา ความมีจิตเรียบสมดุล เป็นกลาง และ เอกัคคตา ความมีอารมณ์หนึ่งเดียว ดู ฌาน

องค์มรรค (บาลีว่า มคฺคงฺค) องค์ประกอบของมรรค, องค์ธรรม ๘ อย่าง มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ที่ประกอบกันเข้าเป็นมรรค หรือที่เรียกชื่อเต็มว่า อริย อัฏฐังคิกมรรค ดู มรรค 1

องค์แห่งธรรมกถึก ๕ คือ ๑. แสดงธรรมไปตามลำดับไม่ตัดลัดให้สับสนหรือขาดความ ๒. ชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้ผู้ฟังเข้าใจ ๓. สอนเขาด้วยเมตตา ตั้งจิตปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง ๔. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ ๕. ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น คือ ไม่ยกตน ไม่เสียดสีข่มขี่ผู้อื่น

องค์แห่งภิกษุใหม่ ๕ คือ ๑. ปาฏิโมกขสังวร สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ๒. อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ ๓. ภัสสปริยันตะ พูดคุยมีขอบเขต ไม่เอิกเกริกเฮฮา ๔. กายวูปกาสะ อยู่ในเสนาสนะอันสงัด ๕. สัมมาทัสสนะ ตั้งตนไว้ในความเห็นชอบ

องคุลิมาล พระมหาสาวกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า เคยเป็นมหาโจรโด่งดังเป็นบุตรของภัคควพราหมณ์ ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าโกศล มารดาชื่อนางมันตานีพราหมณี เดิมชื่ออหิงสกะ (แปลว่าผู้ไม่เบียดเบียน) ไปศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา มีความรู้และความประพฤติดี เพื่อนศิษย์ด้วยกัน ริษยา ยุอาจารย์ให้กำจัดเสีย อาจารย์ลวงด้วยอุบายให้ไปฆ่าคนครบหนึ่งพัน แล้วจะมอบวิชาวิเศษอย่างหนึ่งให้ จึงกลายไปเป็นมหาโจรผู้โหดร้ายทารุณตัดนิ้วมือคนที่ตนฆ่าตายแล้ว ร้อยเป็นพวงมาลัย จึงได้ชื่อว่า องคุลิมาล (แปลว่ามีนิ้วเป็นมาลัย) ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดกลับใจได้ ขอบวช ต่อมาก็ได้สำเร็จพระอรหัต ท่านเป็นต้นแห่งพุทธบัญญัติไม่ให้บวชโจรที่ขึ้นชื่อโด่งดัง

อจิตตกะ ไม่มีเจตนา เป็นชื่อของอาบัติพวกหนึ่ง ที่เกิดขึ้นโดยสมุฏฐานที่แม้ไม่มีเจตนา คือ ถึงแม้ไม่จงใจทำก็ต้องอาบัติ เช่น ฉันอาหารในเวลาวิกาลดื่มน้ำเมา เป็นต้น

อเจลก ชีเปลือย, นักบวชไม่นุ่งผ้า

อเจลกวรรค ตอนที่ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับชีเปลือย เป็นต้น, เป็นชื่อหมวดอาบัติปาจิตตีย์ วรรคที่ ๕

อชปาลนิโครธ ต้นไทรเป็นที่พักอาศัยของคนเลี้ยงแพะ, ชื่อต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่นเสวยวิมุตติสุขเป็นเวลา ๗ วัน อยู่ทิศตะวันออกของต้นศรีมหาโพธิ ดู วิมุตติสุข

อชาตปฐพี ปฐพีไม่แท้ คือดินที่เป็นหินเป็นกรวด เป็นกระเบื้อง เป็นแร่ เป็นทรายล้วน หรือมีดินร่วนดินเหนียวน้อย เป็นของอื่นมากก็ดี ดินที่ไฟเผาแล้วก็ดี กองดินร่วน หรือกองดินเหนียวที่ฝนตกรดหย่อนกว่า ๔ เดือนก็ดี

อชาตศัตรู โอรสของพระเจ้าพิมพิสารกับพระนางโกศลเทวี กษัตริย์แคว้นมคธ ขณะพระนางโกศลเทวีทรงครรภ์ได้ แพ้ท้องอยากเสวยโลหิตของพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบจึงเอาพระขรรค์แทงพระชานุ (เข่า) รองพระโลหิตให้พระนางเสวย โหรทำนายว่า พระโอรสที่อยู่ในครรภ์เกิดมาจะทำปิตุฆาต พระนางโกศลเทวีพยายามทำลายด้วยการให้แท้งเสียแต่ไม่สำเร็จ ในที่สุดคิดจะรีด แต่พระเจ้าพิมพิสารทรงห้ามไว้ เมื่อครบกำหนดประสูติเป็นกุมาร จึงตั้งพระนามพระโอรสว่า อชาตศัตรู แปลว่า เป็นศัตรูตั้งแต่ยังไม่เกิด ในที่สุดเจ้าชายอชาตศัตรูก็คบคิดกับพระเทวทัตฆ่าพระราชบิดาตามที่โหรทำนายไว้ และได้ขึ้นครองราชสมบัติแคว้นมคธ ณ กรุงราชคฤห์ แต่ทรงสำนึกและ กลับพระทัยได้ หันมาทรงอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา และได้เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ในการสังคายนาครั้งที่ ๑ (คำ - "อชาตศัตรู” บางท่านแปลใหม่ว่า มิได้เกิดมาเป็นศัตรู)

อชิตมาณพ หัวหน้าศิษย์ ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์

อชินปเวณิ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะ มีขนอ่อนนุ่ม จัดเป็นอุจจาสยนะมหาสยนะอย่างหนึ่ง

อญาณตา อาการที่จะต้องอาบัติด้วยไม่รู้

อณุ, อณู สิ่งเล็กๆ, ละเอียด

อดิเรก 1. เกินกำหนด, ยิ่งกว่าปกติ, ส่วนเกิน เหลือเฟือ, ส่วนเพิ่มเติม, ส่วนเพิ่มพิเศษ 2. ถวายอติเรก หรือถวายอดิเรก คือพระสงฆ์ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหรือสมเด็จพระบรมราชินี ท้ายพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ในระหว่างอนุโมทนา ถ้ากล่าวในพระราชฐานต้องต่อท้ายด้วยถวายพระพรลา, เรียกอย่างนี้เพราะขึ้นต้นว่า อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุฯ

อดิเรกจีวร ดู อติเรกจีวร

อดีต ล่วงแล้ว

อดีตกาล เวลาที่ล่วงแล้ว

อติถิพลี ต้อนรับแขก (ข้อ ๒ ในพลี ๕ แห่งโภคอาทิยะ ๕)

อติมานะ ดูหมิ่นท่าน, ความถือตัวว่าเหนือกว่ายิ่งกว่าเขา (ข้อ ๑๔ ในอุปกิเลส ๑๖)

อติเรก ดู อดิเรก

อติเรกจีวร จีวรเหลือเฟือ, ผ้าส่วนเกินหมายถึงผ้าที่เขาถวายภิกษุเพิ่มเข้ามานอกจากผ้าที่อธิษฐานเป็นไตรจีวร

อติเรกบาตร บาตรของภิกษุที่เขาถวายเพิ่มเข้ามา นอกจากบาตรอธิษฐานพระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุมีบาตรไว้ใช้ใบเดียว ซึ่งเรียกว่าบาตรอธิษฐานหากมีหลายใบ ตั้งแต่ใบที่ ๒ ขึ้นไป เรียกว่าอติเรกบาตร

อติเรกปักษ์ เกินเวลาปักษ์หนึ่ง คือเกิน ๑๕ วัน แต่ยังไม่ถึงเดือน

อติเรกมาส เกินเวลาเดือนหนึ่ง

อติเรกลาภ ลาภเหลือเฟือ, ลาภส่วนพิเศษ, ลาภเกินปรกติ

อติเรกวีสติวรรค สงฆ์พวกที่กำหนดจำนวนเกิน ๒๐ รูป

อตีตานาคตังสญาณ ญาณเป็นเครื่องรู้ถึงเรื่องที่ล่วงมาแล้ว และเรื่องที่ยังไม่มาถึง, ญาณหยั่งรู้ทั้งอดีตและอนาคต

อตีตังสญาณ ญาณหยั่งรู้ส่วนอดีต, ปรีชากำหนดรู้เหตุการณ์ที่ล่วงไปแล้วอันเป็นเหตุให้ได้รับผลในปัจจุบัน (ข้อ ๑ ในญาณ ๓)

อเตกิจฉา แก้ไขไม่ได้, เยียวยาไม่ได้ หมายถึงอาบัติมีโทษหนักถึงที่สุด ต้องแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ คืออาบัติ ปาราชิก คู่กับ สเตกิจฉา

อถัพพนเพท ชื่อคัมภีร์พระเวทลำดับที่ ๔ ว่าด้วยคาถาอาคมทางไสยศาสตร์ การปลุกเสกต่าง ๆ เป็นส่วนเพิ่มเข้ามา ต่อจาก ไตรเพท, อาถัพพนเวท อถรรพเวท อาถรรพณเวท ก็เขียน

อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย, ขโมยสิ่งของ, ลักทรัพย์ (ข้อ ๒ ในกรรมกิเลส ๔ ในอกุศลกรรมบถ ๑๐)

อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้, เว้นการลักขโมย (ข้อ ๒ ในศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ กุศลกรรมบถ ๑๐)

อทิสสมานกาย กายที่มองไม่เห็น, ผู้มีกายไม่ปรากฏ, ไม่ปรากฏร่าง, มองไม่เห็นตัว กล่าวคือ เป็นวิสัยของผู้มีฤทธิ์บางประเภท (วิกุพพนฤทธิ์) อาจทำการบางอย่างโดยไม่ให้ผู้อื่นมองเห็นร่างกาย; อีกอย่างหนึ่ง เป็นความเชื่อของพวกพราหมณ์ว่าบรรพบุรุษที่ตายไป มีถิ่นเป็นที่อยู่เรียกว่าปิตฤโลก ยังทรงอยู่ด้วยเป็นอทิสสมานกาย ความเชื่อนี้คนไทยก็รับมา แต่ให้บรรพบุรุษเหล่านั้นคงอยู่ที่บ้านเรือนเดิม อย่างที่เรียกว่า ผีเรือน

อทุกขมสุข ไม่ทุกข์ไม่สุข, ความรู้สึก เฉย ๆ (ข้อ ๓ ในเวทนา ๓)

อโทสะ ความไม่คิดประทุษร้าย, ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ คือตรงข้ามกับโทสะได้แก่ เมตตา (ข้อ ๒ ในกุศลมูล ๓)

อธรรม ไม่ใช่ธรรม, ไม่เป็นธรรม, ผิดธรรม, ชั่วร้าย

อธรรมวาที ผู้กล่าวสิ่งที่มิใช่ธรรม, ผู้ไม่พูดตามหลักไม่พูดตามธรรม, ผู้พูดไม่เป็นธรรม, ผู้ไม่เป็นธรรมวาที

อธิกมาส เดือนที่เพิ่มขึ้นตามจันทรคติ (คือในปีนั้นมีเดือน ๘ สองหน รวมเป็น ๑๓ เดือน)

อธิกรณ์ เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ, เรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการ มี ๔ อย่าง คือ ๑. วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย ๒. อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ ๓. อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ ๔. กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่าง ๆ ที่สงฆ์จะต้องทำ เช่น ให้อุปสมบท ให้ผ้า กฐิน, ในภาษาไทย อธิกรณ์มีความหมายเลือนลางลงและแคบเข้า กลายเป็น คดีความ โทษ เป็นต้น

อธิปเตยยะ, อธิปไตย ความเป็นใหญ่มี ๓ อย่างคือ ๑. อัตตาธิปไตย ความมีตนเป็นใหญ่ ๒. โลกาธิปไตย ความมีโลก เป็นใหญ่ ๓. ธัมมาธิปไตย ความมีธรรมเป็นใหญ่

อธิปัญญาสิกขา การศึกษาในอธิปัญญา, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูง มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง จนจิตใจหลุดพ้นเป็นอิสระ ปราศจากกิเลสและความทุกข์ (ข้อ ๓ ในสิกขา ๓ หรือไตรสิกขา) เรียกกันง่ายๆ ว่า ปัญญา

อธิมุตติ อัธยาศัย, ความโน้มเอียง, ความคิดมุ่งไป, ความมุ่งหมาย

อธิโมกข์ 1. ความปลงใจ, ความตกลงใจ, ความปักใจในอารมณ์ 2. ความน้อมใจเชื่อ, ความซาบซึ้งศรัทธาหรือ เลื่อมใสอย่างแรงกล้า ซึ่งทำให้จิตใจเจิดจ้าหมดความเศร้าหมอง แต่ไม่เป็นไปตามแนวทางแห่งเหตุผล

อธิวาสนขันติ ความอดทนคือความอดกลั้น

อธิศีลสิกขา การศึกษาในอธิศีล, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางความประพฤติอย่างสูง, การฝึกฝนอบรมความประพฤติทางกาย วาจา คือ ระเบียบวินัย การอยู่ร่วมกับผู้อื่นและในสิ่งแวดล้อมต่างๆ ด้วยดี ให้เกื้อกูล ไม่เบียดเบียน ไม่ทำลาย เป็นพื้นฐานแห่งการฝึกอบรมจิตใจในอธิจิตตสิกขา (ข้อ ๑ ในสิกขา ๓ หรือไตรสิกขา), เขียนอย่างบาลีเป็น อธิสีลสิกขา และเรียกกันง่ายๆ ว่า ศีล

อธิษฐาน 1. ในทางพระวินัย แปลว่าการตั้งเอาไว้หรือตั้งใจกำหนดเอาไว้คือตั้งเอาไว้เป็นของนั้นๆ หรือตั้งใจกำหนดเอาไว้ว่าจะใช้เป็นของประจำตัวชนิดนั้นๆ เช่นได้ผ้ามาผืนหนึ่งตั้งใจว่าใช้เป็นอะไร คือจะเป็นสังฆาฏิ อุตตราสงค์ อันตรวาสก ก็อธิษฐานเป็นอย่างนั้นๆ เมื่ออธิษฐานแล้ว ของนั้นเรียกว่าเป็นของอธิษฐาน เช่น เป็นสังฆาฏิอธิษฐาน จีวรอธิษฐาน (นิยมเรียกกันว่า จีวรครอง) ตลอดจนบาตรอธิษฐาน ส่วนของชนิดนั้น ที่ได้เพิ่มมาอีกหรือเกินจากนั้นไปก็เป็นอติเรก เช่น เป็นอติเรกจีวร อติเรกบาตร, คำอธิษฐาน เช่น “อิมํ สงฺฆาฏึ อธิฏฺฐามิ” (ถ้าอธิษฐานของอื่น ก็เปลี่ยนไปตามชื่อของนั้น เช่น เป็น อุตฺตราสงฺคํ, อนฺตราวาสกํ เป็นต้น) 2. ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความมั่นคง เด็ดเดี่ยว แน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน (ข้อ ๘ ในบารมี ๑๐), ในภาษาไทยมักใช้ในความหมาย ว่า ความตั้งใจ มุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ความตั้งจิตปรารถนา

อธิษฐานธรรม ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ, ธรรมเป็นที่มั่น มี ๔ อย่าง คือ ๑. ปัญญา ๒. สัจจะ ๓. จาคะ ๔. อุปสมะ (รู้จักหาความสงบใจ)

อธิษฐานพรรษา ความตั้งใจกำหนดลงไปว่าจะอยู่จำพรรษา ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดไตรมาส (๓ เดือน) ดู จำพรรษา

อธิษฐานอุโบสถ อุโบสถที่ทำด้วยการอธิษฐาน ได้แก่ อุโบสถที่ภิกษุรูปเดียวทำ กล่าวคือ เมื่อในวัดมีภิกษุรูปเดียวถึงวันอุโบสถ เธอพึงอธิษฐานคือตั้งใจหรือกำหนดใจว่า อชฺช เม อุโปสโถ แปลว่า วันนี้อุโบสถของเรา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปุคคลอุโบสถ (อุโบสถของบุคคล หรือทำโดยบุคคล) ดู อุโบสถ

อนติริตตะ (อาหาร) ซึ่งไม่เป็นเดน (ที่ว่าเป็นเดน มี ๒ คือเป็นเดนภิกษุไข้ ๑ เป็นของที่ภิกษุทำให้เป็นเดน ๑)

อนธการ ความมืด, ความโง่เขลา; เวลาค่ำ

อนภิชฌา ไม่โลภอยากได้ของเขา, ไม่คิดจ้องจะเอาของเขา (ข้อ ๘ ในกุศลกรรมบถ ๑๐)

อนริยปริเยสนา การแสวงหาที่ไม่เป็นอริยะ คือ แสวงหาสิ่งที่ยังตกอยู่ในชาติ ชรามรณะ หรือสิ่งที่ระคนอยู่ด้วยทุกข์ กล่าวคือ แสวงหาสิ่งอันทำให้ติดอยู่ในโลก, สำหรับชาวบ้านท่านว่า หมายถึงการแสวงหาในทางมิจฉาชีพ (ข้อ ๑ ใน ปริเยสนา ๒)

อนวเสส หาส่วนเหลือมิได้, ไม่เหลือเลย, สิ้นเชิง

อนังคณสูตร ชื่อสูตรที่ ๕ แห่งมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก เป็นคำสนทนาระหว่างพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ ว่าด้วยกิเลสอันยวนใจ และความต่างแห่งผู้มีกิเลสยวนใจกับผู้ไม่มีกิเลสยวนใจ

อนัตตตา ความเป็นอนัตตา คือมิใช่ตัวมิใช่ตน (ข้อ ๓ ในไตรลักษณ์) ดู อนัตตลักษณะ

อนัตตลักขณสูตร ชื่อพระสูตรที่แสดงลักษณะแห่งเบญจขันธ์ ว่าเป็นอนัตตา พระศาสดาทรงแสดงแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้สำเร็จพระอรหัต ด้วยได้ฟังอนัตตลักขณสูตรนี้ (มาในมหาวรรค พระวินัยปิฎก และในสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค พระสุตตันตปิฎก)

อนัตตลักษณะ ลักษณะที่เป็นอนัตตา,ลักษณะที่ให้เห็นว่าเป็นของมิใช่ตัวตน ได้แก่ ๑. เป็นของสูญ คือ เป็นเพียงการประชุมเข้าขององค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อยๆ ทั้งหลาย ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หรือการสมมติเป็นต่างๆ ๒. เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใครจริง ๓. ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครๆ ๔. เป็นสภาวธรรมอันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ขึ้นต่อเหตุปัจจัย ไม่มีอยู่โดยลำพังตัว แต่เป็นไปโดยสัมพันธ์ อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งอื่นๆ ๕. โดยสภาวะของมันเองก็แย้งหรือค้านต่อความเป็นอัตตา มีแต่ภาวะที่ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา

อนัตตสัญญา กำหนดหมายถึงความเป็นอนัตตาแห่งธรรมทั้งหลาย (ข้อ ๒ ในสัญญา ๑๐)

อนัตตา ไม่ใช่นัตตา,ไม่ใช่ตัวใช่ตน ดู อนัตตลักษณะ

อนัตตานุปัสสนา การพิจารณาเห็นในสภาพที่เป็นอนัตตา คือหาตัวตนเป็นแก่นสารมิได้

อนันต์ ไม่มีที่สิ้นสุด,มากเหลือเกิน,มากจนนับไม่ได้

อนันตริยกรรม กรรมหนัก, กรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด ตัดทางสวรรค์ ตัดทางนิพพาน, กรรมที่ให้ผลคือ ความเดือดร้อนไม่เว้นระยะเลย มี ๕ อย่าง คือ ๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา ๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา ๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์ ๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป ๕. สังฆเภท ทำสงฆ์ให้แตกกัน

อนาคต ยังไม่มาถึง, เรื่องที่ยังไม่มาถึง, เวลาที่ยังไม่มาถึง

อนาคตังสญาณ ญาณหยั่งรู้ส่วนอนาคต, ปรีชากำหนดรู้คาดผลข้างหน้าอันสืบเนื่องจากเหตุในปัจจุบันหรือในอนาคต ก่อนเวลานั้น (ข้อ ๒ ในญาณ ๓)

อนาคามิผล ผลที่ได้รับจากการละสังโยชน์ คือ กามราคะ และปฏิฆะด้วยอนาคามิมรรค อันทำให้เป็นพระอนาคามี

อนาคามิมรรค ทางปฏิบัติเพื่อบรรลุผลคือความเป็นพระอนาคามี, ญาณคือความรู้เป็นเหตุละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ทั้ง ๕ (คือ ละได้เด็ดขาดอีก ๒ อย่าง ได้แก่ กามราคะ และปฏิฆะ เพิ่มจาก ๓ อย่างที่พระโสดาบันละได้แล้ว)

อนาคามี พระอริยบุคคลผู้ได้บรรลุอนาคามิผล มี ๕ ประเภท คือ ๑. อันตราปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานในระหว่างอายุยังไม่ถึงกึ่ง (หมายถึงโดยกิเลสปรินิพพาน) ๒. อุปหัจจปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานเมื่อจวนจะถึงสิ้นอายุ ๓. อสังขารปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานโดยไม่ต้องใช้ความเพียรนัก ๔. สสังขารปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานโดยต้องใช้ความเพียรมาก ๕. อุทธังโสโต อกนิฏฐคามี ผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่อกนิฏฐภพ

อนาคาริยวินัย วินัยของอนาคาริก ดู วินัย ๒

อนาจาร ความประพฤติไม่ดีไม่งามไม่เหมาะสมแก่บรรพชิต แยกเป็น ๓ ประเภท คือ ๑. การเล่นต่างๆ เช่นเล่นอย่างเด็ก ๒. การร้อยดอกไม้ ๓. การเรียนดิรัจฉานวิชา เช่นทายหวย ทำเสน่ห์

อนาณัตติกะ อาบัติที่ต้องเฉพาะทำเอง ไม่ต้องเพราะสั่ง คือสั่งให้ผู้อื่นทำไม่ต้องอาบัติ เช่น สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑ (แต่สั่งให้ทำแก่ตน ไม่พ้นอาบัติ)

อนาถบิณฑิก อุบาสกคนสำคัญในสมัยพุทธกาล เดิมชื่อ สุทัตต์ เป็นเศรษฐีอยู่ที่เมืองสาวัตถี ต่อมาได้นับถือพระพุทธศาสนา บรรลุโสดาปัตติผล เป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้า สร้างวัดพระเชตวันถวายแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ที่เมืองสาวัตถี ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ประทับจำพรรษารวมทั้งหมดถึง ๑๙ พรรษา ท่านอนาถบิณฑิกนอกจากอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์แล้วยังได้สงเคราะห์คนยากไร้อนาถาอย่างมากมายเป็นประจำ จึงได้ชื่อว่าอนาถบิณฑิก ซึ่งแปลว่า ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในหมู่ทายกฝ่ายอุบาสถ

อนาถา ไม่มีที่พึ่ง, ยากจน, เข็ญใจ

อนาบัติ ไม่เป็นอาบัติ

อนาถปัตติวาร ตอนว่าด้วยข้อยกเว้นที่ไม่ต้องปรับอาบัตินั้นๆ ตามปกติอยู่ท้ายคำอธิบายสิกขาบทแต่ละข้อในคัมภีร์วิภังค์ พระวินัยปิฎก

อนามัฏฐบิณฑบาต อาหารที่พระภิกษุบิณฑบาตได้มายังไม่ได้ฉัน จะให้แก่ผู้อื่นที่ไม่ใช่ภิกษุด้วยกันไม่ได้ นอกจากมารดาบิดา

อนามาส วัตถุอันภิกษุไม่ควรจับต้อง เช่น ร่างกายและเครื่องแต่งกายสตรี เงินทอง อาวุธ เป็นต้น

อนาโรจนา การไม่บอก คือ ไม่บอกประจานตัวแก่ภิกษุทั้งหลายภายในเขต ๒ เลฑฑุบาตจากเครื่องล้อมหรือจากอุปจารแห่งอาวาส ให้รู้ทั่วกันว่าตนต้องอาบัติสังฆาทิเสส กำลังอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตต์; เป็นเหตุอย่างหนึ่งของการขาดราตรีแห่งมานัตต์หรือปริวาส ผู้ประพฤติมานัตต์ต้องบอกทุกวัน แต่ผู้อยู่ปริวาสไม่ต้องบอกทุกวัน ปกตัตตภิกษุรูปใดยังไม่ได้รับบอก เธอบอกแก่ภิกษุรูปนั้นครั้งหนึ่งแล้ว ไม่ต้องบอกอีกตลอดกาลที่อยู่ในอาวาสหรือ ในอนาวาสนั้น แต่ต้องบอกในท้ายอุโบสถท้ายปวารณาเมื่อถึงวันนั้นๆ และภิกษุใดได้รับบอกแล้วออกจากอาวาส หรืออนาวาสนั้นไป เมื่อกลับมาใหม่ต้องได้รับบอกอีก ดู รัตติเฉท

อนาวรณญาณ ปรีชาหยั่งรู้ที่ไม่มีอะไรๆ มากั้นได้ หมายความว่า รู้ตลอด, รู้ทะลุปรุโปร่ง เป็นพระปรีชาญาณเฉพาะของพระพุทธเจ้า ไม่ทั่วไปแก่พระสาวก

อนาวาส ถิ่นที่มิใช่อาวาส คือ ไม่เป็นวัด

อนาสวะ ไม่มีอาสวะ, อันหาอาสวะมิได้

อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง, ภาวะที่สังขารทั้งปวงเป็นสิ่งไม่เที่ยงไม่คงที่ (ข้อ ๑ ในไตรลักษณ์)

อนิจจลักษณะ ลักษณะที่เป็นอนิจจะ, ลักษณะที่ให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยงไม่คงที่ ได้แก่ ๑. เป็นไปโดยการเกิดขึ้นและสลายไป คือ เกิดดับๆ มีแล้วก็ไม่มี ๒. เป็นของแปรปรวน คือเปลี่ยนแปลงแปรสภาพไปเรื่อยๆ ๓. เป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะๆ ๔. แย้งต่อความเที่ยง คือ โดยสภาวะของมันเอง ก็ปฏิเสธความเที่ยงอยู่ในตัว

อนิจจสัญญา กำหนดหมายถึงความไม่เที่ยงแห่งสังขาร (ข้อ ๑ ในสัญญา ๑๐)

อนิจจัง ไม่เที่ยง, ไม่คงที่, สภาพที่เกิดมีขึ้นแล้วก็ดับล่วงไป ดู อนิจจลักษณะ, ไตรลักษณ์

อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา, สิ่งที่คนไม่อยากได้ไม่อยากพบ แสดงในแง่ตรงข้ามกับกามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าชอบใจ แสดงในแง่โลกธรรม ได้แก่ ความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ การนินทา และความทุกข์ เทียบ อิฏฐารมณ์

อนิมิตตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยไม่ถือนิมิตคือ หลุดพ้นด้วยพิจารณาเห็นนามรูปเป็นอนิจจะ แล้วถอนนิมิตได้ (ข้อ ๒ ใน วิโมกข์ ๓)

อนิมิตตสมาธิ สมาธิอันพิจารณาธรรมไม่มีนิมิต คือ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดอนิจจลักษณะ (ข้อ ๒ ในสมาธิ ๓)

อนิมิสเจดีย์ สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จยืนจ้องดูต้นพระศรีมหาโพธิด้วยมิได้กระพริบพระเนตรตลอด ๗ วัน อยู่ทาง ทิศอีสานของต้นพระศรีมหาโพธิ ดู วิมุตติสุข

อนิยต ไม่แน่, ไม่แน่นอน เป็นชื่ออาบัติที่ยังไม่แน่ ระหว่างปาราชิก สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ ซึ่งพระวินัยธรจะต้องวินิจฉัย

อนิยตสิกขาบท สิกขาบทที่วางอาบัติไว้ไม่แน่ คือยังไม่ระบุชัดลงไปว่าเป็นปาราชิก หรือสังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์, มี ๒ สิกขาบท

อนึก กองทัพ คือ ช้าง ม้า รถ พลเดินที่จัดเป็นกองๆ แล้ว

อนุเคราะห์ เอื้อเฟื้อ, ช่วยเหลือ; ความเอื้อเฟื้อ, การช่วยเหลือ

อนุชน คนที่เกิดตามมา, คนรุ่นหลัง, คนรุ่นต่อๆ ไป

อนุชา ผู้เกิดทีหลัง, น้อง

อนุญาต ยินยอม, ยอมให้, ตกลง

อนุฎีกา ปกรณ์ที่พระอาจารย์ทั้งหลายแต่งแก้หรืออธิบายเพิ่มเติมฎีกา

อนุฏฐานไสยา “การนอนที่ไม่มีการลุกขึ้น”, การนอนครั้งสุดท้าย โดยทั่วไปหมายถึง การบรรทมครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ในคราวเสด็จดับขันธปรินิพพาน

อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส พระสงฆ์เป็นนาบุญอย่างยอดเยี่ยมของโลกเป็นแหล่งเพาะปลูกและเผยแพร่ความดีอย่างสูงสุด เพราะพระสงฆ์เป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้ฝึกฝนอบรมตน และเป็นผู้เผยแพร่ธรรม ไทยธรรมที่ถวายแก่ท่านย่อมมีผลอำนวยประโยชน์สุขอย่างกว้างขวางและตลอดกาลยาวนานเหมือนนามีพื้นดินอันดี พืชที่หว่านไปย่อมเผล็ดผลไพบูลย์ (ข้อ ๙ ในสังฆคุณ ๙)

อนุตตริยะ ภาวะที่ยอดเยี่ยม, สิ่งที่ยอดเยี่ยม มี ๓ คือ ๑. ทัสสนานุตตรริยะ การเห็นอันเยี่ยม คือ เห็นธรรม ๒. ปฏิปทานุตตริยะ การปฏิบัติอันเยี่ยม คือ มรรคมีองค์ ๘ ๓. วิมุตตานุตตริยะ การพ้นอันเยี่ยม คือ พ้นกิเลสและกองทุกข์; อนุตตริยะอีกหมวดหนึ่งมี ๖ คือ ๑. ทัสสนานุตตรริยะ การเห็นอันเยี่ยม ๒. สวนานุตตริยะ การฟังอันเยี่ยม ๓. ลาภานุตตริยะ ลาภหรือการได้อันเยี่ยม ๔. สิกขานุตตริยะ การศึกษาอันเยี่ยม ๕. ปาริจริยานุตตริยะ การบำรุงอันเยี่ยม ๖. อนุสสตานุตตริยะ การระลึกอันเยี่ยม ดู คำอธิบายที่คำนั้นๆ

อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ ทรงเป็นสารถี ฝึกคนที่ควรฝึกได้เป็นเยี่ยม ทรงรู้จักใช้อุบายให้เหมาะแก่บุคคล สอนเขาได้โดยไม่ต้องใช้อาชญา และทำให้เขาบรรลุผลที่พึงได้ เต็มตามกำลังความสามารถของเขา (ข้อ ๖ ในพุทธคุณ ๙)

อนุทูต ทูตติดตาม, ในพระวินัย หมายถึง ภิกษุที่สงฆ์สมมติให้เป็นตัวแทนของสงฆ์ เดินทางร่วมไปกับภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงโทษด้วย ปฏิสารณียกรรม ให้ไปขอขมาคฤหัสถ์ ในกรณีที่เธอไม่อาจไปตามลำพัง อนุทูตทำหน้าที่ช่วยพูดกับคฤหัสถ์นั้นเป็นส่วนตนหรือในนามของสงฆ์ เพื่อให้ตกลงรับขมา เมื่อตกลงกันแล้ว รับอาบัติที่ภิกษุนั้นแสดงต่อหน้าเขาแล้วจึงให้ขมา

อนุบัญญัติ บัญญัติเพิ่มเติม, บทแก้ไขเพิ่มเติมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเสริมหรือผ่อนพระบัญญัติที่วางไว้เดิม คู่กับ บัญญัติ หรือ มูลบัญญัติ

อนุบุพพิกถา ดู อนุปุพพิกถา

อนุบุรุษ คนรุ่นหลัง, คนที่เกิดทีหลัง

อนุปสัมบัน ผู้ยังมิได้อุปสมบท ได้แก่คฤหัสถ์และสามเณร (รวมทั้งสิกขมานาและสามเณรี), ผู้มิใช่ภิกษุหรือภิกษุณี เทียบ อุปสัมบัน

อุนุปาทินนกสังขา สังขารที่กรรมไม่ยึดครอง แปลกันง่ายๆ ว่า สังขารที่ไม่มีใจครอง เช่น ต้นไม้ ภูเขา เป็นต้น (ข้อ ๒ ในสังขาร ๒)

อนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานไม่มีอุปาทิเหลือ, ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ คือ สิ้นทั้งกิเลสและชีวิต หมายถึง พระอรหันต์สิ้นชีวิต, นิพพานในแง่ที่เป็นภาวะดับภพ; เทียบ สอุปาทิเสสนิพพาน

อนุปาทิเสสบุคคล บุคคลผู้ไม่มีเชื้อกิเลสเหลือ, ผู้หมดอุปาทานสิ้นเชิง ได้แก่ พระอเสขะ คือ พระอรหันต์; เทียบ สอุปาทิเสสบุคคล

อนุปิยนิคม นิคมแห่งหนึ่งของมัลลกษัตริย์ ในแขวงมัลลชนบท อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองกบิลพัสดุ์

อนุปิยอัมพวัน ชื่อสวน อยู่ในเขตอนุปิยนิคม แขวงมัลลชนบท เป็นที่พระมหาบุรุษเสด็จพักแรม ๗ วัน หลังจากเสด็จออกบรรพชาใหม่ๆ ก่อนเสด็จต่อไปสู่เมืองราชคฤห์ ในแคว้นมคธ และต่อมาเป็นที่เจ้าศากยะ มีอนุรุทธ และอานนท์ เป็นต้น พร้อมด้วยอุบาลี ออกบวช

อนุปุพพปฏิปทา ข้อปฏิบัติโดยลำดับ, การปฏิบัติตามลำดับ

อนุปุพพวิหาร ธรรมเป็นเครื่องอยู่โดยลำดับ, ธรรมเครื่องอยู่ที่ประณีตต่อกันขึ้นไปโดยลำดับ มี ๙ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และ สัญญาเวทยิตนิโรธ (สมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนา)

อนุปุพพิกถา เทศนาที่แสดงไปโดยลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของสัตว์ให้หมดจดเป็นชั้นๆ จากง่ายไปหายาก เพื่อเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟังอริยสัจ มี ๕ คือ ๑. ทานกถา พรรณนาทาน ๒. สีลกถา พรรณนาศีล ๓. สัคคกถา พรรณนาสวรรค์ คือความสุขที่พรั่งพร้อมด้วยกาม ๔. กามาทีนวกถา พรรณนาโทษของกาม ๕. เนกขัมมานิสังสกถา พรรณนาอานิสงส์แห่งการออกจากกาม

อนุพยัญชนะ ลักษณะน้อยๆ, พระลักษณะข้อปลีกย่อยของพระมหาบุรุษ(นอกเหนือจากมหาบุรุษลักษณะ ๓๒) อีก ๘๐ ประการ คือ ๑. มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทอันเหลืองงาม, ๒. นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทเรียวออกไปโดยลำดับแต่ต้นจนปลาย, ๓. นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทกลมดุจนายช่างกลึงเป็นอันดี, ๔. พระนขาทั้ง ๒๐ มีสีอันแดง, ๕. พระนขาทั้ง ๒๐ นั้นงอนงามช้อนขึ้นเบื้องบนมิได้ค้อมลงเบื้องต่ำ ดุจเล็บแห่งสามัญชนทั้งปวง, ๖. พระนขานั้นมีพรรณอันเกลี้ยงกลมสนิทมิได้เป็นริ้วรอย, ๗. ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาทซ่อนอยู่ในพระมังสะมิได้สูงขึ้นปรากฏออกมาภายนอก, ๘. พระบาททั้งสองเสมอกันมิได้ย่อมใหญ่กว่ากันมาตรว่าเท่าเมล็ดงา, ๙. พระดำเนินงามดุจอาการเดินแห่งกุญชรชาติ, ๑๐. พระดำเนินงามดุจสีหราช, ๑๑. พระดำเนินงามดุจดำเนินแห่งหงส์, ๑๒. พระดำเนินงามดุจอุสภราชดำเนิน, ๑๓. ขณะเมื่อยืนจะย่างดำเนินนั้น ยกพระบาทเบื้องขวาย่างไปก่อน พระกายเยื้องไปข้างเบื้องขวาก่อน, ๑๔. พระชานุมณฑลเกลี้ยงกลมงามบริบูรณ์ บ่มิได้เห็นอัฏฐิสะบ้าปรากฏออกมาภายนอก, ๑๕. มีบุรุษพยัญชนะบริบูรณ์คือมิได้มีกิริยามารยาทคล้ายสตรี, ๑๖. พระนาภีมิได้บกพร่อง กลมงามมิได้วิกลในที่ใดที่หนึ่ง, ๑๗. พระอุทรมีสัณฐานอันลึก, ๑๘. ภายในพระอุทรมีรอยเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏ, ๑๙. ลำพระเพลาทั้งสองกลมงามดุจลำสุวรรณกัททลี, ๒๐. ลำพระกรทั้งสองงามดุจงวงแห่งเอราวัณเทพยหัตถี, ๒๑. พระอังคาพยพใหญ่น้อยทั้งปวงจำแนกเป็นอันดี คือ งามพร้อมทุกสิ่งหาที่ตำหนิบ่มิได้, ๒๒. พระมังสะที่ควรจะหนาก็หนา ที่ควรจะบางก็บางตามที่ทั่วทั้งพระสรีรกาย, ๒๓. พระมังสะมิได้หดหู่ในที่ใดที่หนึ่ง ๒๔. พระสรีรกายทั้งปวงปราศจากต่อมและไฝปานมูลแมลงวันมิได้มีในที่ใดที่หนึ่ง, ๒๕. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสมกันโดยตามลำดับทั้งเบื้องบนแลเบื้องล่าง, ๒๖. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสิ้นปราศจากมลทินทั้งปวง, ๒๗. ทรงพระกำลังมาก เสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติ ประมาณถึงพันโกฏิช้าง ถ้าจะประมาณด้วยกำลังบุรุษก็ได้ถึงแสนโกฏิบุรุษ, ๒๘. มีพระนาสิกอันสูง, ๒๙. สัณฐานพระนาสิกงามแฉล้ม, ๓๐. มีพระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องต่ำมิได้เข้าออกกว่ากัน เสมอเป็นอันดี มีพรรณแดงงามดุจสีผลตำลึงสุก, ๓๑. พระทนต์บริสุทธิ์ปราศจากมูลมลทิน, ๓๒. พระทนต์ขาวดุจดังสีสังข์, ๓๓. พระทนต์เกลี้ยงสนิทมิได้เป็นริ้วรอย, ๓๔. พระอินทรีย์ทั้ง ๕ มีจักขุน ทรีย์เป็นอาทิงามบริสุทธิ์ทั้งสิ้น, ๓๕. พระเขี้ยวทั้ง ๔ กลมบริบูรณ์, ๓๖. ดวงพระพักตร์มีสัณฐานยาวสวย ๓๗. พระปรางค์ทั้งสองดูเปล่งงามเสมอกัน ๓๘. ลายพระหัตถ์มีรอยอันลึก ๓๙. ลายพระพระหัตถ์มีรอยอันยาว ๔๐. ลายพระหัตถ์มีรอยอันตรง บ่มิได้ค้อมคด ๔๑. ลายพระหัตถ์มีรอยอันแดงรุ่งเรือง ๔๒. รัศมีพระกายโอภาสเป็นปริมณฑลโดยรอบ ๔๓. กระพุ้งพระปรางค์ทั้งสองเคร่งครัดบริบูรณ์ ๔๔. กระบอกพระเนตรกว้างแลยาวงามพอสมกัน ๔๕. ดวงพระเนตรกอปรด้วยประสาททั้ง ๕ มีขาวเป็นอาทิผ่องใสบริสุทธิ์ทั้งสิ้น ๔๖. ปลายเส้นพระโลมาทั้งหลายมิได้งอมิได้คด ๔๗. พระชิวหามีสัณฐานอันงาม ๔๘. พระชิวหาอ่อนบ่มิได้กระด้างมีพรรณอันแดงเข้ม ๔๙. พระกรรณทั้งสองมีสัณฐานอันยาวดุจกลีบปทุมชาติ ๕๐. ช่องพระกรรณมีสัณฐานอันกลมงาม ๕๑. ระเบียบพระเส้นทั้งปวงนั้นสละสลวยบ่มิได้หดหู่ในที่อันใดอันหนึ่ง ๕๒. แถวพระเส้นทั้งหลายซ่อนอยู่ในพระมังสะทั้งสิ้น บ่มิได้เป็นคลื่นฟูขึ้นเหมือนสามัญชนทั้งปวง ๕๓. พระเศียรมีสัณฐานงามเหมือนฉัตรแก้ว ๕๔. ปริมณฑลพระนลาฏโดยกว้างยาวพอสมกัน ๕๕. พระนลาฏมีสัณฐานอันงาม ๕๖. พระโขนงมีสัณฐานอันงามดุจคันธนูอันก่งไว้ ๕๗. พระโลมาที่พระโขนงมีเส้นอันละเอียด ๕๘. เส้นพระโลมาที่พระโขนงงอกขึ้นแล้วล้มราบไปโดยลำดับ ๕๙. พระโขนงนั้นใหญ่ ๖๐. พระโขนงนั้นยาวสุดหางพระเนตร ๖๑. ผิวพระมังสะละเอียดทั่วทั้งพระกาย ๖๒. พระสรีรกายรุ่งเรืองไปด้วยสิริ ๖๓. พระสรีรกายมิได้มัวหมอง ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์ ๖๔. พระสรีรกายสดชื่นดุจดวงดอกปทุมชาติ ๖๕. พระสรีรสัมผัสอ่อนนุ่มสนิทบ่มิได้กระด้างทั่วทั้งพระกาย ๖๖. กลิ่นพระกายหอมฟุ้งดุจกลิ่นสุคนธกฤษณา ๖๗. พระโลมามีเส้นเสมอกันทั้งสิ้น ๖๘. พระโลมามีเส้นละเอียดทั่วทั้งพระกาย ๖๙. ลมอัสสาสะปัสสาสะลมหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด ๗๐. พระโอษฐมีสัณฐานอันงามดุจแย้ม ๗๑. กลิ่นพระโอษฐหอมดุจกลิ่นอุบล ๗๒. พระเกสาดำเป็นแสง ๗๓. กลิ่นพระเกสาหอมฟุ้งขจรตลบ ๗๔. พระเกสาหอมดุจกลิ่นโกมลบุบผชาติ ๗๕. พระเกสามีสัณฐานเส้นกลมสลวยทุกเส้น ๗๖. พระเกสาดำสนิททั้งสิ้น ๗๗. พระเกสากอปรด้วยเส้นอันละเอียด ๗๘. เส้นพระเกสามิได้ยุ่งเหยิง ๗๙. เส้นพระเกสาเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏทุกๆ เส้น ๘๐. วิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา กล่าวคือถ่องแถวแห่งพระรัศมีอันโชตนาการขึ้น ณ เบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ฯ นิยมเรียกว่า อสีตยานุพยัญชนะ; ดู มหาบุรุษลักษณะ

อนุพุทธ ผู้ตรัสรู้ตาม คือ ตรัสรู้ด้วยได้สดับเล่าเรียนและปฏิบัติตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน ได้แก่พระ อรหันตสาวกทั้งหลาย ดู พุทธะ

อนุพุทธปวัตติ ประวัติของพระสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า; เขียนสามัญเป็น อนุพุทธประวัติ

อนุมัติ เห็นตาม, ยินยอม, เห็นชอบตามระเบียบที่กำหนดไว้

อนุมาน คาดคะเน, ความคาดหมาย

อนุมานสูตร สูตรที่ ๑๕ ในมัชฌิม นิกายมูลปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก เป็นภาษิตของพระมหาโมคคัลลานะ กล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย ว่าด้วยธรรมอันทำคนให้เป็นผู้ว่ายากหรือว่าง่าย การแนะตำตักเตือนตนเอง และการพิจารณาตรวจสอบตนเองของภิกษุ

อนุโมทนา 1. ความยินดี, ความยินดีด้วย, การพลอยยินดี, การแสดงความเห็นชอบ; เห็นด้วย, แสดงความชื่นชมหรือซาบซึ้งเห็นคุณค่าแห่งการกระทำของผู้อื่น (บัดนี้ บางทีใช้ในความหมายคล้ายคำว่าขอบคุณ) 2. ในภาษาไทย นิยมใช้สำหรับพระสงฆ์ หมายถึง ให้พร เช่นเรียกคำให้พรของพระสงฆ์ว่าคำอนุโมทนา

อนุโยค ความพยายาม, ความเพียร,ความประกอบเนืองๆ

อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม และบำเพ็ญให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์ (ข้อ ๔ ใน ปธาน ๔)

อนุรักษ์ รักษาและเสริมทวี, รักษาสิ่งที่เกิดมีขึ้นแล้วและทำสิ่งที่เกิดมีขึ้นแล้วนั้นให้งอกงามเพิ่มทวียิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์; ในภาษาไทย ใช้ในความหมายว่า รักษาให้คงเดิม

อนุราธ ชื่อเมืองหลวงของลังกาสมัยโบราณ; เรียกกันว่า อนุราธปุระบ้าง อนุราธบุรีบ้าง

อนุรุทธะ พระมหาสาวกองค์หนึ่งเป็นเจ้าในศากยวงศ์ เป็นพระโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ และเป็นอนุชาของเจ้ามหานามะ ภายหลังออกบวชพร้อมกับเจ้าชายอานนท์ เป็นต้น เรียนกรรมฐานในสำนักของพระสารีบุตร ได้บรรลุพระอรหัตที่ป่าปาจีนวังสทายวัน ในแคว้นเจตี พระศาสดาทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางทิพยจักษุ

อนุรูป สมควร, เหมาะสม, พอเพียง, เป็นไปตาม

อนุโลม เป็นไปตาม, คล้อยตาม, ตามลำดับ เช่น ว่าตจปัญจกกรรมฐานไปตามลำดับอย่างนี้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ (ตรงข้ามกับปฏิโลม คือทวนลำดับว่า ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา); สาวออกไปตามลำดับจากเหตุไปหาผลข้างหน้า เช่น อวิชชาเป็นเหตุ สังขารเป็นผล, สังขารเป็นเหตุ วิญญาณเป็นผล เป็นต้น; จัดเข้าได้, นับได้ว่าเป็นอย่างนั้น เช่น อนุโลมมุสา

อนุโลมมุสา ถ้อยคำที่เป็นพวกมุสา, ถ้อยคำที่จัดได้ว่าเป็นมุสา คือ พูดเท็จ

อนุวัต ทำตาม, ประพฤติตาม, ปฏิบัติตาม; บางแห่งเขียน อนุวัตต์ อนุวรรต อนุวรรตน์ อนุวัตร หรือ อนุวัติ ก็มี

อนุวาต ผ้าขอบจีวร

อนุวาท การโจท, การฟ้อง, การกล่าวหากันด้วยอาบัติ

อนุวาทาธิกรณ์ การโจทที่จัดเป็นอธิกรณ์ คือ การโจทกันด้วยอาบัติ, เรื่องการกล่าวหากัน ดู อธิกรณ์

อนุศาสน์ การสอน, คำชี้แจง; คำสอนที่อุปัชฌาย์หรือกรรมวาจาจารย์บอกแก่ภิกษุใหม่ ในเวลาอุปสมบทเสร็จ ประกอบด้วย นิสสัย ๔ และ อกรณียกิจ ๔, นิสสัย คือ ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต มี ๔ อย่าง ได้แก่ ๑. เที่ยวบิณฑบาต ๒. นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ๓. อยู่โคนไม้ ๔. ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า (ท่านบอกไว้เป็นทางแสวงหาปัจจัย ๔ พร้อมทั้งอติเรกลาภของภิกษุ), อกรณียกิจ กิจที่ไม่ควรทำ หมายถึงกิจที่บรรพชิตทำไม่ได้ มี ๔ อย่างได้แก่ ๑. เสพเมถุน ๒. ลักของเขา ๓. ฆ่าสัตว์ (ที่ให้ขาดจากความเป็นภิกษุหมายเอาฆ่ามนุษย์) ๔. พูดอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน

อนุศาสนีปาฏิหาริยะ ดู อนุสาสนีปาฏิหาริย์

อนุสติ ความระลึกถึง, อารมณ์ที่ควรระลึกถึงเนืองๆ มี ๑๐ อย่างคือ ๑. พุทธานุสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ๒. ธัมมานุสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม ๓. สังฆานุสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ ๔. สีลานุสติ ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา ๕. จาคานุสติ ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว ๖. เทวตานุสติ ระลึกถึงคุณที่ทำคนให้เป็นเทวดา ๗. มรณัสสติ ระลึกถึง ความตายที่จะต้องมีเป็นธรรมดา ๘. กายคตาสติ ระลึกทั่วไปในกายให้เห็นว่าไม่งาม ๙. อานาปานสติ ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ๑๐. อุปสมานุสติ ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบระงับกิเลสและความทุกข์ คือนิพพาน

อนุสนธิ การติดต่อ, การสืบเนื่อง, ความ หรือเรื่องที่ติดต่อหรือสืบเนื่องกันมา

อนุสสตานุตตริยะ การระลึกอันเยี่ยมได้แก่ การระลึกถึงพระตถาคต และตถาคตสาวก ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ ล่วงพ้นทุกข์ได้ (ข้อ ๖ ในอนุตตริยะ ๖)

อนุสัย กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน มี ๗ คือ ๑. กามราคะ ความกำหนัดในกาม ๒. ปฏิฆะ ความหงุดหงิด ๓. ทิฏฐิ ความเห็นผิด ๔. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ๕. มานะ ความถือตัว ๖. ภวราคะ ความกำหนัดในภพ ๗. อวิชชา ความไม่รู้จริง

อนุสาวนา คำสวดประกาศ, คำประกาศความปรึกษาและตกลงของสงฆ์, คำขอมติ

อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์ คืออนุศาสนี, คำสอนเป็นจริง สอนให้เห็นจริง นำไปปฏิบัติได้ผลสมจริง เป็นอัศจรรย์ (ข้อ ๓ ใน ปาฏิหาริย์ ๓)

อเนกนัย นัยมิใช่น้อย, หลายนัย

อเนญชาภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แก่ภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน (ข้อ ๓ ในอภิสังขาร ๓); ตามหลักเขียน อาเนญชาภิสังขาร

อเนสนา การหาเลี้ยงชีพในทางที่ไม่สมควรแก่ภิกษุ, เลี้ยงชีวิตผิดสมณะ เช่น หลอกลวงเขาด้วยการอวดอุตริมนุสธรรม ทำวิญญัติคือออกปากขอต่อคนที่ไม่ควรขอ ใช้เงินลงทุนหาผลประโยชน์ ต่อลาภด้วยลาภคือให้แต่น้อยเพื่อหวังตอบแทนมาก เป็นหมอเวทมนต์เสกเป่า เป็นต้น

อโนมา ชื่อแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างแคว้นสักกะกับแคว้นมัลละ พระสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา มาถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา ตรัสสั่งนายฉันนะให้นำม้าพระที่นั่งกลับคืนพระนคร ทรงตัดพระเมาลีด้วยพระขรรค์ อธิษฐานเพศบรรพชิต ณ ฝั่งแม่น้ำอโนมานี้

อบท สัตว์ไม่มีเท้า เช่น งู และไส้เดือน เป็นต้น

อบาย, อบายภูมิ ภูมิกำเนิดที่ปราศจากความเจริญมี ๔ อย่าง คือ ๑. นิรยะ นรก ๒. ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน ๓. ปิตติวิสัย ภูมิแห่งเปรต ๔. อสุรกาย พวกอสุรกาย

อบายมุข ช่องทางของความเสื่อม, เหตุเครื่องฉิบหาย, เหตุย่อยยับแห่งโภคทรัพย์, ทางแห่งความพินาศ มี ๔ อย่างคือ ๑. เป็นนักเลงหญิง ๒. เป็นนักเลงสุรา ๓. เป็นนักเลงการพนัน ๔. คบคนชั่วเป็นมิตร; อีกหมวดหนึ่งมี ๖ คือ ๑. ติดสุราและของมึนเมา ๒. ชอบเที่ยวกลางคืน ๓. ชอบเที่ยวดูการเล่น ๔. เล่นการพนัน ๕. คบคนชั่วเป็นมิตร ๖. เกียจคร้านการงาน

อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน (ข้อ ๔ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐)

อปฏิจฉันนาบัติ อาบัติ (สังฆาทิเสส) ที่ภิกษุต้องแล้วไม่ได้ปิดไว้

อปมาโร โรคลมบ้าหมู

อปรกาล เวลาช่วงหลัง, ระยะเวลาของเรื่องที่มีขึ้นในภายหลัง คือ หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ได้แก่เรื่องถวายพระเพลิง และแจกพระบรมสารีริกธาตุ

อปรัณณะ ของที่ควรกินทีหลัง เช่นถั่วและงา; เทียบ ปุพพัณณะ

อปราปริยเวทนียกรรม กรรมที่เป็นกุศลก็ดี อกุศลก็ดี ซึ่งให้ผลในภพต่อๆ ไป (ข้อ ๓ ในกรรม ๑๒)

อปริหานิยธรรม ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม, ธรรมที่ทำให้ไม่เสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว มี ๗ อย่าง ที่ตรัสสำหรับภิกษุ (ภิกขุอปริหานิยธรรม) ยกมาแสดงหมวดหนึ่ง ดังนี้ ๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ๒. เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิก และพร้อมเพรียงช่วยกันทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ ๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติขึ้น ไม่ถอนสิ่งที่พระองค์บัญญัติไว้แล้ว สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบทตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ ๔. ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ใหญ่เป็นประธานในสงฆ์ เคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น เชื่อฟังถ้อยคำของท่าน ๕. ไม่ลุอำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น ๖. ยินดีในเสนาสนะป่า ๗. ตั้งใจอยู่ว่าเพื่อนภิกษุสามเณรซึ่งเป็นผู้มีศีล ซึ่งยังไม่มาสู่อาวาส ขอให้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข อปริหานิยธรรมที่ตรัสแก่กษัตริย์วัชชี (วัชชีอปริหานิยธรรม) สำหรับผู้รับผิดชอบต่อบ้านเมืองมีอีกหมวดหนึ่งคือ ๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ๒. พร้อมเพียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ ๓. ไม่ถืออำเภอใจบัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่ได้บัญญัติ ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรม ๔. ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันพึงรับฟัง ๕. บรรดากุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลายมิให้อยู่อย่างถูกข่มเหงรังแก ๖. เคารพสักการะบูชาเจดีย์ของวัชชี ทั้งภายในและภายนอก ไม่ละเลยการทำธรรมิกพลี ๗. จัดให้ความอารักขาคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ (หมายถึงบรรพชิตที่เป็นหลักใจของประชาชน) ตั้งใจให้ท่านที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้น ที่มาแล้วพึงอยู่โดยผาสุก

อปโลกน์ บอกเล่า, การบอกเล่า, การบอกกล่าวแก่ที่ประชุมเพื่อให้รับทราบพร้อมกัน หรือขอความเห็นชอบร่วมกันในกิจบางอย่างของส่วนรวม, ใช้ใน อปโลกนกรรม

อปโลกนกรรม กรรมคือการบอกเล่า, กรรมอันทำด้วยการบอกกันในที่ประชุมสงฆ์ ไม่ต้องตั้ง ญัตติ คือคำเผดียงไม่ต้องสวด อนุสาวนา คือประกาศความปรึกษาและตกลงของสงฆ์ เช่นประกาศลงพรหมทัณฑ์ นาสนะสามเณรผู้กล่าวตู่พระพุทธเจ้า อปโลกน์แจกอาหารในโรงฉัน เป็นต้น

อปัณณกปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด, ทางดำเนินที่ไม่ผิด มี ๓ คือ ๑. อินทรียสังวร การสำรวมอินทรีย์ ๒. โภชเนมัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค ๓. ชาคริยานุโยค การหมั่นประกอบความตื่น ไม่เห็นแก่นอน

อปัสเสนธรรม ธรรมเป็นที่พึ่งที่พำนักดุจพนักพิงมี ๔ คือ ๑. ของอย่างหนึ่งพิจารณาแล้วเสพ เช่น ปัจจัยสี่ ๒. ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วอดกลั้นได้แก่ อนิฏฐารมณ์ต่างๆ ๓. ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วเว้นเสีย เช่นสุราเมรัย การพนัน คนพาล ๔. ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้ว บรรเทาเสีย เช่น อกุศลวิตกต่าง ๆ

อปายโกศล ดู โกศล ๓

อปุญญาภิสังขาร สภาที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายชั่ว ได้แก่ อกุศลเจตนาทั้งหลาย (ข้อ ๒ ในอภิสังขาร ๓)

อพยาบาท ความไม่คิดร้าย, ไม่พยาบาทปองร้ายเขา, มีเมตตา (ข้อ ๙ ในกุศลกรรมบถ ๑๐)

อพยาบาทวิตก ความตรึกในทางไม่พยาบาท, การคิดแผ่เมตตาแก่ผู้อื่นปรารถนาให้เขามีความสุข (ข้อ ๒ ในกุศลวิตก ๓)

อพัทธสีมา “แดนที่ไม่ได้ถูก” หมายถึงเขตชุมนุมสงฆ์ที่สงฆ์ไม่ได้กำหนดขึ้นเอง แต่ถือเอาตามเขตที่เขาได้กำหนดไว้ตามปรกติของบ้านเมือง หรือมีบัญญัติอย่างอื่นเป็นเครื่องกำหนด แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ ๑. คามสีมา หรือ นิคมสีมา ๒. สัตตัพภันตรสมา ๓. อุทกุกเขป

อภยคิริวิหาร ชื่อวัดที่พระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย ได้สร้างถวายพระติสสเถระในเกาะลังกา ซึ่งได้กลายเป็นเหตุให้สงฆ์ลังกาแตกแยกกัน แบ่งเป็นคณะมหาวิหารเดิมฝ่ายหนึ่ง คณะอภยคิริวิหารฝ่ายหนึ่ง; มักเรียก อภัยคีรี

อภัพ ไม่ควร, ไม่อาจ, ไม่สามารถ, เป็นไปไม่ได้

อภัพบุคคล บุคคลผู้ไม่สมควร, มีความหมายตามข้อความแวดล้อม เช่น คนที่ไม่อาจบรรลุโลกุตตรธรรมได้ คนที่ขาดคุณสมบัติ ไม่อาจให้อุปสมบทได้ เป็นต้น

อภัยทาน ให้ความไม่มีภัย, ให้ความปลอดภัย

อภิชฌา โลกอยากได้ของเขา, ความคิดเพ่งเล็งจ้องจะเอาของของคนอื่น (ข้อ ๘ ในอกุศลกรรมบถ ๑๐)

อภิชฌาวิสมโลภ ละโมบไม่สม่ำเสมอ, ความโลภอย่างแรงกล้า จ้องจะเอาไม่เลือกว่าควรไม่ควร (ข้อ ๑ ในอุปกิเลส ๑๖)

อภิญญา ความรู้ยิ่ง, ความรู้เจาะตรงยวดยิ่ง, ความรู้ชั้นสูง มี ๖ อย่างคือ ๑. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ ๒. ทิพพโสต หูทิพย์ ๓. เจโตปริยญาณ ญาณที่ให้ทายใจคนอื่นได้ ๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ ๕. ทิพพจักขุ ตาทิพย์ ๖. อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป, ๕ อย่างแรกเป็นโลกียอภิญญา ข้อสุดท้ายเป็นโลกุตตรอภิญญา

อภิญญาเทสิตธรรม ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยพระปัญญาอันยิ่ง หมายถึง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการมีสติ ปัฏฐาน ๔ เป็นต้น

อภิฐาน ฐานะอย่างหนัก, ความผิดสถานหนัก มี ๖ อย่าง คือ ๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา ๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา ๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์ ๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ถึงห้อพระโลหิต ๕. สังฆเภท ทำสงฆ์ให้แตกกัน ๖. อัญญสัตถุทเทส ถือศาสดาอื่น

อภิณหปัจจเวกขณ์ ข้อที่ควรพิจารณาเนืองๆ, เรื่องที่ควรพิจารณาทุกๆ วัน มี ๕ อย่าง คือ ๑. ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ๒. ว่าเรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้น ความเจ็บไข้ไปได้ ๓. ว่าเรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ๔. ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๕. ว่าเรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี เราทำชั่วจักได้ชั่ว; อีกหมวดหนึ่ง สำหรับบรรพชิต แปลว่า ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ๑๐ อย่าง (ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์) คือ ๑. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า บัดนี้ เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว ๒. ว่า การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น ๓. ว่าเรามีอากัปกิริยาอย่างอื่นที่จะพึงทำ ๔. ว่า ตัวเราเองยังติเตียนตัวเราเองโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ ๕. ว่าเพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้ว ยังติเตียนเราโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ ๖. ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๗. ว่าเรามีกรรมเป็นของตน เราทำดีจักได้ดี เราทำชั่วจักได้ชั่ว ๘. ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ๙ ว่า เรายินดีในที่สงัดอยู่หรือไม่ ๑๐. ว่า คุณวิเศษที่เราบรรลุแล้วมีอยู่หรือไม่ ที่จะทำให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน เมื่อถูกเพื่อนบรรพชิตถามในกาลภายหลัง (ข้อ ๑ ท่านเติมท้ายว่าอาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ ข้อ ๒. เติมว่าเราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย ข้อ ๗ ท่านเขียนว่า อาการกายวาจาอย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้)

อภิธรรมปิฎก หมวดแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนา ฝ่ายปรมัตถธรรมว่าด้วยจิต เจตสิก รูป นิพพาน, เป็นปิฎกที่สามในพระไตรปิฎก ดู ไตรปิฎก

อภิธัมมัตถวิภาวินี ชื่อคัมภีร์ฎีกาอธิบายความในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ พระสุมังคละผู้เป็นศิษย์ของพระอาจารย์สารีบุตร ซึ่งเป็นปราชญ์ในรัชกาลของพระเจ้าปรักกมพาหุที่ ๑ (พ.ศ. ๑๖๙๖-๑๗๒๙) รจนาขึ้นในลังกาทวีป

อภิธัมมัตถสังคหะ คัมภีร์ประมวลสรุปเนื้อความในพระอภิธรรมปิฎก พระอนุรุทธาจารย์แห่งมูลโสมวิหารในลังกาทวีป รจนาขึ้น เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๐๐

อภินิหาร อำนาจแห่งบารมี, อำนาจบุญที่สร้างสมไว้

อภิเนษกรมณ์ การเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่ง หมายถึง การออกบวช, ผนวช

อภิบาล เลี้ยงดู, ดูแล, บำรุงรักษา, ปกปักรักษา, คุ้มครอง, ปกครอง

อภิรมย์ รื่นเริงยิ่ง, ยินดียิ่ง, พักผ่อน

อภิลักขิตกาล, อภิลักขิตสมัย เวลาที่กำหนดไว้, วันกำหนด

อภิวันทน์, อภิวาท, อภิวาทน์ การ กราบไหว้

อภิเษก การรดน้ำ, การแต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ, การได้บรรลุ

อภิสมาจาร ความประพฤติดีงามที่ประณีตยิ่งขึ้นไป, ขนบธรรมเนียมเพื่อความประพฤติดีงามยิ่งขึ้นไปของพระภิกษุ

อภิสมาจาริกวัตร วัตรเกี่ยวด้วยความประพฤติอันดี, ธรรมเนียมเกี่ยวกับมรรยาทและความเป็นอยู่ที่ดีงาม

อภิสมาจาริกาสิกขา หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายขนบธรรมเนียมที่จะชักนำความประพฤติ ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ให้ดีงามมีคุณยิ่งขึ้นไป, สิกขาฝ่ายอภิสมาจาร เทียบ อาทิพรหมจริยกา สิกขา

อภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งผลแห่งการ กระทำของบุคคล, เจตนาที่เป็นตัว การในการทำกรรม มี ๓ อย่างคือ ๑. ปุญญาภิสังขาร อภิสังขารที่เป็นบุญ ๒. อปุญญาภิสังขาร อภิสังขารที่เป็นปฏิปักษ์ต่อบุญ คือ บาป ๓. อาเนญชาภิสังขาร อภิสังขารที่เป็นอเนญชา คือ กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร ๔; เรียกง่าย ๆ ได้แก่ บุญ บาป ฌาน

อภิสังขารมาร อภิสังขารเป็นมาร เพราะเป็นตัวปรุงแต่งกรรม ทำให้เกิดชาติชรา เป็นต้น ขัดขวางไม่ให้หลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ (ข้อ ๓ ในมาร ๕)

อมร, อมระ ผู้ไม่ตาย เป็นคำเรียกเทวดาผู้ได้ดื่มน้ำอมฤต

อมฤต เป็นชื่อน้ำทิพย์ที่ทำผู้ดื่มให้ไม่ตาย ตามเรื่องว่า เทวดาทั้งหลายคิดหาของเครื่องกันตาย พากันไปถามพระเป็นเจ้า พระเป็นเจ้ารับสั่งให้กวนมหาสมุทร เทวดาทั้งหลายก็ทำตามโดยวิธีใช้ภูเขารองข้างล่างลูกหนึ่งวางข้างบนลูกหนึ่ง ที่กลางมหาสมุทรลักษณะคล้ายโม่สำหรับโม่แป้ง เอานาคพันเข้าที่ภูเขาลูกบนแล้วช่วยกันชักสองข้าง อาศัยความร้อนที่เกิดจากความหมุนเวียนเบียดเสียดแห่งภูเขา ต้นไม้ทั้งหลายที่เป็นยาบนภูเขาได้คายรสลงไปในมหาสมุทรจนข้นเป็นปลักแล้ว เกิดเป็นน้ำทิพย์ขึ้นในท่ามกลางมหาสมุทร เรียกว่า น้ำอมฤตบ้าง น้ำสุรามฤตบ้าง

อมฤตธรรม ธรรมที่ทำให้ไม่ตาย, ธรรมซึ่งเปรียบด้วยน้ำอมฤตอันทำผู้ดื่มให้ไม่ตาย หมายถึงพระนิพพาน

อมาตย์ ข้าราชการ, ข้าเฝ้า, ขุนนาง, มักเรียก อำมาตย์

อมาวสี ดิถีเป็นที่อยู่ร่วมแห่งพระอาทิตย์และพระจันทร์, วันพระจันทร์ดับ หรือวันดับ คือวันสิ้นเดือนทางจันทรคติ (แรม ๑๕ หรือ ๑๔ ค่ำ)

อมิตา เจ้าหญิงศากยวงศ์ เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าสีหหนุ เป็นพระกนิฏฐภคินีของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระเจ้าอาของพระพุทธเจ้า

อมิโตทนะ กษัตริย์ศากยวงศ์ เป็นพระราชบุตรองค์ที่ ๓ ของพระเจ้าสีหหนุ เป็นพระอนุชาองค์ที่ ๒ ของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระเจ้าอาของพระพุทธเจ้า มีโอรสชื่อมหานามะ และอนุรุทธะ

อมูฬหวินัย ระเบียบที่ให้แก่ภิกษุผู้หายเป็นบ้าแล้ว, วิธีระงับอธิกรณ์สำหรับภิกษุผู้หายจากเป็นบ้า ได้แก่กิริยาที่สงฆ์สวดประกาศให้สมมติแก่ภิกษุผู้หายเป็นบ้าแล้ว เพื่อระงับอนุวาทาธิกรณ์ อธิบายว่า จำเลยเป็นบ้า ทำการล่วงละเมิดอาบัติ แม้จะเป็นจริงก็เป็นอาบัติ เมื่อเธอหายบ้าแล้วมีผู้โจทด้วยอาบัติระหว่างเป็นบ้านั้นไม่รู้จบ ท่านให้สงฆ์สวดกรรมวาจาประกาศความข้อนี้ไว้ เรียกว่า อมูฬหวินัย ยกฟ้องของโจทเสีย ภายหลังมีผู้โจทด้วยอาบัตินั้นหรืออาบัติเช่นนั้น ในคราวที่เป็นบ้า ก็ให้อธิกรณ์เป็นอันระงับด้วยอมูฬหวินัย (ข้อ ๓ ในอธิกรณสมถะ ๗)

อโมหะ ความไม่หลง, ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโมหะ คือ ความรู้จริง ได้แก่ปัญญา (ข้อ ๓ ในกุศลมูล ๓)

อยู่กรรม ดู ปริวาส

อยู่ปริวาส ดู ปริวาส

อยู่ร่วม ในประโยคว่า “ภิกษุใดรู้อยู่ กินร่วมก็ดี อยู่ร่วมก็ดี สำเร็จการนอนด้วยกันก็ดี” ร่วมอุโบสถสังฆกรรม

อโยนิโสมนสิการ การทำในใจโดยไม่แยบคาย, การไม่ใช้ปัญญาพิจารณา, ความไม่รู้จักคิด, การปล่อยให้อวิชชา ตัณหาครอบงำ; เทียบ โยนิโสมนสิการ

อรดี ธิดามารคนหนึ่งใน ๓ คน อาสาพระยามารผู้เป็นบิดา เข้าไปประโลมพระพุทธเจ้าด้วยอาการต่างๆ ในสมัยที่พระองค์เสด็จอยู่ที่ไม้อชปาลนิโครธ ภายหลังตรัสรู้ใหม่ๆ (อีก ๒ คน คือตัณหา กับ ราคา)

อรติ ความขึ้งเคียด, ความไม่ยินดีด้วย, ความริษยา

อรรค ดู อัคร

อรรคสาวก สาวกผู้เลิศ, สาวกผู้ยอดเยี่ยม, ศิษย์ผู้เลิศกว่าศิษย์อื่นของพระพุทธเจ้า หมายถึงพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ ดู อัครสาวก

อรรถ เนื้อความ, ใจความ, ความหมาย, ความมุ่งหมาย, ผล, ประโยชน์

อรรถ ๓ ดู อัตถะ

อรรถกถา ปกรณ์ที่พระอาจารย์ทั้งหลายในภายหลังแต่งแก้อรรถแห่งบาลีคัมภีร์ อธิบายความในพระไตรปิฎก

อรรถกถาจารย์ อาจารย์ผู้แต่งอรรถกถา

อรรถกถานัย เค้าความในอรรถกถา, แนวคำอธิบายในอรรถกถา, แง่แห่งความหมายที่แสดงไว้ในอรรถกถา

อรรถคดี เรื่องที่ฟ้องร้องกันในโรงศาล, ข้อที่กล่าวหากัน

อรรถรส “รสแห่งเนื้อความ”, รสแห่งความหมาย” สาระที่ต้องการของเนื้อความ, เนื้อแท้ของความหมาย, ความหมายแท้ที่ต้องการ, ความมุ่งหมายที่แทรกซึมอยู่ในเนื้อความ คล้ายกับที่มักพูดกันในบัดนี้ว่า เจตนารมณ์ (พจนานุกรมว่า ถ้อยคำที่ทำให้เกิดความซาบซึ้ง)

อรรถศาสน์ คำสอนว่าด้วยเรื่องประโยชน์ ๓ อย่าง คือ ๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ในปัจจุบัน ๒. สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ที่จะได้ในภายหน้า ๓. ปรมัตถะ ประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน

อรหํ เป็นพระอรหันต์ คือ เป็นผู้ไกลจากกิเลสและบาปธรรม ทรงความบริสุทธิ์, หรือเป็นผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลสสิ้นแล้ว, หรือเป็นผู้หักกรรมแห่งสังสารจักร อันได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม, หรือเป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอน เป็นผู้ควรรับความเคารพควรแก่ทักษิณา และการบูชาพิเศษ, หรือเป็นผู้ไม่มีข้อลับ คือไม่มีข้อเสียหายอันควรปกปิด (ข้อ ๑ ในพุทธคุณ ๙)

อรหัต ความเป็นพระอรหันต์, ชื่อมรรคผลชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา ซึ่งตัดกิเลสในสันดานได้เด็ดขาด; เขียนอย่างคำเดิมเป็น อรหัตต์

อรหัตตผล ผลคือการสำเร็จเป็นพระอรหันต์, ผลคือความเป็นพระอรหันต์, ผลที่ได้รับจากการละสังโยชน์ทั้งหมด อันสืบเนื่องมาจากอรหัตตมรรค ทำให้เป็นพระอรหันต์

อรหัตตมรรค ทางปฏิบัติเพื่อบรรลุผลคือความเป็นพระอรหันต์, ญาณคือความรู้เป็นเหตุละ สังโยชน์ ได้ทั้ง ๑๐

อรหัตตวิโมกข์ ความพ้นจากกิเลสด้วยอรหัต หรือเพราะสำเร็จอรหัต คือหลุดพ้นขั้นละกิเลสได้สิ้นเชิงและเด็ดขาด สำเร็จเป็นพระอรหันต์

อรหันต์ ผู้สำเร็จธรรมวิเศษสูงสุดในพระพุทธศาสนา, พระอริยบุคคลชั้นสูงสุด ผู้ได้บรรลุอรหัตตผล, พระอรหันต์ ๒ ประเภท คือ พระสุกขวิป้สสก กับพระสมถยานิก; พระอรหันต์ ๔ คือ ๑. พระสุกขวิปัสสก ๒. พระเตวิชชะ (ผู้ได้ วิชชา ๓) ๓. พระฉฬภิญญะ (ผู้ได้อภิญญา ๖) ๔. พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ๔); พระอรหันต์ ๕ คือ ๑. พระปัญญาวิมุต ๒. พระอุภโตภาควิมุต ๓. พระเตวิชชะ ๔. พระฉฬภิญญะ ๕. พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ ดู อริยบุคคล พระอรรถกถาจารย์แสดงความหมายของ “อรหันต์” ไว้ ๕ นัย คือ ๑. เป็นผู้ไกล (อารกะ) จากกิเลส (คือห่างไกลไม่อยู่ในกระแสกิเลสที่จะทำให้มัวหมองได้เลย) ๒. กำจัดข้าศึก (อริ+หต) คือกิเลสหมดสิ้นแล้ว ๓. เป็นผู้หักคือรื้อทำลายกำ (อร+หต) แห่งสังสารจักรเสร็จแล้ว ๔. เป็นผู้ควร (อรหะ) แก่การบูชาพิเศษของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย ๕. ไม่มีที่ลับ (น+รหะ) ในการทำบาป คือไม่มีความชั่วความเสียหายที่จะต้องปิดบัง; ความหมายทั้ง ๕ นี้ ตามปกติใช้อธิบายคำว่า อรหันต์ที่เป็นพุทธคุณข้อที่ ๑ ดู อรหํ

อรหันตขีณาสพ พระอรหันต์ผู้สิ้นอาสวะแล้ว ใช้สำหรับพระสาวก, สำหรับพระพุทธเจ้า ใช้คำว่า อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ผู้ตรัสรู้ชอบเอง

อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์ (ข้อ ๓ ในอนันตริยกรรม ๕)

อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองหมายถึงพระพุทธเจ้า

อรัญญิกธุดงค์ องค์คุณเครื่องขจัดกิเลสของผู้ถืออยู่ในป่าเป็นวัตร ได้แก่ธุดงค์ข้อ อารัญญิกังคะ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น