Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ อรัญญิกวัตร-อาราธนา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) หรือ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ออนไลน์

อรัญญิกวัตร ข้อปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้อยู่ป่า, ธรรมเนียมในการอยู่ป่าของภิกษุ ดู อารัญญกวัตร

อริ ข้าศึก, ศัตรู, คนที่ไม่ชอบกัน

อริฏฐภิกษุ ชื่อภิกษุรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาล เป็นบุคคลแรกที่ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาป

อริยะ เจริญ, ประเสริฐ, ผู้ไกลจากข้าศึก คือ กิเลส, บุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ดู อริยบุคคล

อริยกะ คนเจริญ, คนประเสริฐ, คนได้รับการศึกษาอบรมดี, เป็นชื่อเรียกชนชาติหนึ่งที่อพยพจากทางเหนือเข้าไปในอินเดียตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ถือตัวว่าเป็นพวกเจริญ และเหยียดพวกเจ้าถิ่นเดิมลงว่าเป็นมิลักขะ คือพวกคนป่าคนดอย, พวกอริยกะอพยพเข้าไปในยุโรปด้วย คือพวกที่เรียกว่าอารยัน

อริยกชาติ หมู่คนที่ได้รับการศึกษาอบรมดี, พวกที่มีความเจริญ, พวกชนชาติอริยกะ

อริยชาติ เกิดเป็นอริยะ คือ บรรลุมรรคผล กลายเป็นอริยบุคคล เปรียบเหมือนเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง ด้วยการเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยะ, อีกอย่างหนึ่งว่า ชาติอริยะ หรือชาวอริยะ ซึงเป็นผู้เจริญในทางพระพุทธศาสนา หมายถึงผู้กำจัดกิเลสได้ ซึ่งชนวรรณะไหน เผ่าไหน ก็อาจเป็นได้ ต่างจากอริยชาติ หรืออริยกชาติที่มีมาแต่เดิม ซึ่งจำกัดด้วยชาติคือ กำเนิด

อริยทรัพย์ ทรัพย์อันประเสริฐเป็นของติดตัวอยู่ภายในจิตใจ ดีกว่าทรัพย์ภายนอก เช่นเงินทอง เป็นต้น เพราะโจรหรือใครๆ แย่งชิงไม่ได้ และทำให้เป็นคนประเสริฐอย่างแท้จริง มี ๗ คือ สัทธา สีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา

อริยบุคคล บุคคลผู้เป็นอริยะ, ท่านผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น มี ๔ คือ ๑. พระโสดาบัน ๒. พระสกทาคามี (หรือสกิทาคามี) ๓. พระอนาคามี ๔. พระอรหันต์; แบ่งพิสดารเป็น ๘ คือ พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค และพระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลคู่ ๑, พระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค และพระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผลคู่ ๑, พระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค และพระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผลคู่ ๑, พระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค และพระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผลคู่ ๑

อริยบุคคล ๗ บุคคลผู้เป็นอริยะ, บุคคลผู้ประเสริฐ, ท่านผู้บรรลุธรรมวิเศษมีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น นัยหนึ่งจำแนกเป็น ๗ คือ สัทธานุสารี ธัมมานุสารี สัทธาวิมุต ทิฏฐิปปัตตะ กายสักขี ปัญญาวิมุต และ อุภโตภาควิมุต (ดูคำนั้นๆ)

อริยปริเยสนา การแสวงหาที่ประเสริฐ คือ แสวงหาสิ่งที่ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งชาติ ชรามรณะ หรือกองทุกข์โดยความได้แก่แสวงหาโมกขธรรม เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์, ความหมายอย่างง่าย ได้แก่การแสวงหาในทางสัมมาชีพ (ข้อ ๒ ในปริเยสนา ๒)

อริยผล ผลอันประเสริฐ มี ๔ ชั้น คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และพระอรหัตตผล

อริยมรรค ทางอันประเสริฐ, ทางดำเนินของพระอริยะ, ญาณอันให้สำเร็จความเป็นพระอริยะ มี ๔ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และพระอรหัตตมรรค; บางทีเรียกมรรคมีองค์ ๘ ว่า อริยมรรคก็มี แต่ควรเรียกเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค

อริยวงศ์ ปฏิปทาที่พระอริยบุคคลผู้เป็นสมณะปฏิบัติสืบกันมาไม่ขาดสาย, อริยประเพณี มี ๔ คือ ๑. สันโดษด้วยจีวร ๒. สันโดษด้วยบิณฑบาต ๓. สันโดษด้วยเสนาสนะ ๔. ยินดีในการบำเพ็ญกุศล ละอกุศล

อริยวัฑฒิ, อารยวัฒิ ความเจริญอย่างประเสริฐ, หลักความเจริญของอารยชน มี ๕ คือ ๑. ศรัทธา ความเชื่อ ความมั่นใจในพระรัตนตรัย ในหลักแห่งความจริงความดีงามอันมีเหตุผล และในการที่จะทำความดีงาม ๒. ศีล ความประพฤติดี มีวินัย เลี้ยงชีพสุจริต ๓. สุตะ การเล่าเรียนสดับฟังศึกษาหาความรู้ ๔. จาคะ ความเผื่อแผ่เสียสละมีน้ำใจและใจกว้าง พร้อมที่จะรับฟังและร่วมมือ ไม่คับแคบเอาแต่ตัว ๕. ปัญญา ความรอบรู้ รู้คิด รู้พิจารณา เข้าใจเหตุผล รู้จักโลก และชีวิตตามความเป็นจริง

อริยสัจ ความจริงอย่างประเสริฐ, ความจริงของพระอริยะ, ความจริงที่ทำคนให้เป็นพระอริยะ มี ๔ อย่าง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (เรียกเต็มว่า ทุกข์ ทุกขสมัย ทุกขนิโรธ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา)

อริยสัจจ์ ดู อริยสัจ

อริยสาวก 1. สาวกผู้เป็นพระอริยะ, สาวกผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น 2. สาวกของพระอริยะ (คือของพระพุทธเจ้าผู้เป็นอริยะ)

อริยสาวิกา สาวิกาที่เป็นพระอริยะ, อริยสาวกหญิง

อริยอัฏฐังคิกมรรค มรรคมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ ดู มรรค

อรุณ เวลาใกล้อาทิตย์จะขึ้น มีสองระยะคือมีแสงขาวเรื่อ ๆ (แสงเงิน) และแสงแดง (แสงทอง), เวลาย่ำรุ่ง

อรูป ฌานมีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ ได้แก่ อรูปฌาน, ภพของสัตว์ผู้เข้าถึงอรูปฌาน, ภพของอรูปพรหม มี ๔ คือ ๑. อากาสานัญจายตนะ (กำหนดที่ว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์) ๒. วิญญาณัญจายตนะ (กำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์) ๓. อากิญจัญญายตนะ (กำหนดภาวะที่ไม่มีอะไร ๆ เป็นอารมณ์) ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่)

อรูปฌาน ฌานมีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ มี ๔ ดู อรูป

อรูปพรหม พรหมผู้เข้าถึงอรูปฌาน, พรหมไม่มีรูป, พรหมในอรูปภพ มี ๔ ดู อรูป

อรูปภพ โลกเป็นที่อยู่ของพรหมไม่มีรูป ดู อรูป

อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม, ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน, ความปรารถนาในอรูปภพ (ข้อ ๗ ในสังโยชน์ ๑๐)

อรูปาวจร ซึ่งท่องเที่ยวไปในอรูปภพ, ยังเกี่ยวข้องอยู่กับอรูปธรรม

อลังการ เครื่องประดับประดา

อลชฺชิตา อาการที่จะต้องอาบัติด้วยไม่ละอาย

อลัชชี ผู้ไม่มีความละอาย, ผู้หน้าด้าน,ภิกษุผู้มักประพฤติละเมิดพุทธบัญญัติ

อเลอ แปลง, ที่อเลออื่น คือที่แปลงอื่น

อโลภะ ความไม่โลภ, ไม่โลภอยากได้ของเขา, ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับความโลภ คือ ความคิดเผื่อแผ่เสียสละ, จาคะ (ข้อ ๑ ในกุศลมูล ๓)

อวตาร การลงมาเกิด, การแบ่งภาคมาเกิด, เป็นความหมายในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู เช่น พระนารายณ์อวตาร คือแบ่งภาคลงมาจากสวรรค์มาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นต้น

อวสาน ที่สุด, ที่จบ

อวสานกาล เวลาสุดท้าย, ครั้งสุดท้าย

อวหาร การลัก, อาการที่ถือว่าเป็นการลักทรัพย์ ในอรรถกถาแสดงไว้ ๒๕ อย่าง พึงทราบในที่นี้ ๑๓ อย่าง คือ ๑. ลัก ๒. ชิงหรือวิ่งราว ๓. ลักต้อน ๔. แย่ง ๕. ลักสับ ๖. ตู่ ๗. ฉ้อ ๘. ยักยอก ๙. ตระบัด ๑๐. ปล้น ๑๑. หลอกลวง ๑๒. กดขี่หรือกรรโชก ๑๓. ลักซ่อน

อวันตี ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีป ตั้งอยู่ทางเหนือของภูเขาวินธัย ทางตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นวังสะ มีนครหลวงชื่อ อุชเชนี ราชาผู้ครองอวันตีในพุทธกาล มีพระนามว่าพระเจ้าจัณฑปัชโชต

อวัสดา ฐานะ, ความเป็นอยู่, ความกำหนด, เวลา, สมัย

อวิชชา ความไม่รู้จริง, ความหลงอันเป็นเหตุไม่รู้จริง มี ๔ คือความไม่รู้อริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง (ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดแห่งทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ทางให้ถึงความดับทุกข์), อวิชชา ๘ คือ อวิชชา ๔ นั้น และเพิ่ม ๕. ไม่รู้อดีต ๖. ไม่รู้อนาคต ๗. ไม่รู้ทั้งอดีตทั้งอนาคต ๘. ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท

อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา, กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ทำให้ไม่รู้ตามความเป็นจริง (ข้อ ๓ ในอาสวะ ๓, ข้อ ๔ ในอาสวะ ๔)

อวิญญาณกะ พัสดุที่ไม่มีวิญญาณ เช่น เงิน ทอง ผ้านุ่งห่ม และเครื่องใช้สอย เป็นต้น เทียบ สวิญญาณกะ

อวิทยา ความไม่รู้, อวิชชา

อวิทูเรนิทาน เรื่องไม่ไกลนัก หมายถึงเรื่องราวความเป็นไปเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ตั้งแต่จุติมาจากสวรรค์ชั้นดุสิตจนถึงตรัสรู้

อวินิพโภครูป “รูปที่แยกออกจากกันไม่ได้”, รูปที่มีอยู่ด้วยกันเป็นประจำเสมอไป อย่างขาดมิได้เลยในสิ่งที่เป็นรูปทุกอย่าง กล่าวคือในสิ่งที่เป็นรูปทุกอย่าง แม้แต่ปรมาณูที่เล็กที่สุดก็จะต้องมีรูปธรรมชุดนี้อยู่เป็นอย่างน้อย, คุณสมบัติพื้นฐานที่มีอยู่เป็นประจำในวัตถุ, มี ๘ อย่าง คือ ปฐวี (ภาวะแผ่ขยายหรือรองรับ) อาโป (ภาวะเอิบอาบเกาะกุม) เตโช (ภาวะร้อน) วาโย (ภาวะเคลื่อนไหวเคร่งตึง) วัณณะ (สี) คันธะ (กลิ่น) รสะ (รส) โอชา (อาหารรูป); ใน ๘ อย่างนี้ สี่อย่างแรกเป็นมหาภูตรูปหรือธาตุ ๔, สี่อย่างหลังเป็นอุปาทายรูป

อวิหิงสาวิตก ความตริตรึกในทางไม่เบียดเบียน, ความตรึกด้วยอำนาจกรุณา ไม่คิดทำความลำบากเดือดร้อนแก่ผู้อื่น คิดแต่จะช่วยเหลือเขาให้พ้นจากทุกข์ (ข้อ ๓ ในกุศลวิตก ๓)

อศุภ ดู อสุภ

อโศกมหาราช พระราชาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของชมพูทวีป และเป็นพุทธศาสนูปถัมภกที่สำคัญยิ่ง เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์โมริยะ ครองราชสมบัติ ณ พระนครปาฏลีบุตร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๘ ถึง พ.ศ. ๒๖๐ (นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันส่วนมากว่า พ.ศ. ๒๗๐-๓๑๒) เมื่อครองราชย์ได้ ๘ พรรษา ทรงยกทัพไปปราบแคว้นกลิงคะที่เป็นชนชาติเข้มแข็งลงได้ ทำให้อาณาจักรของพระองค์กว้างใหญ่ที่สุดในประวัติชาติอินเดีย แต่ในการสงครามนั้น มีผู้คนล้มตายและประสบภัยพิบัติมากมาย ทำให้พระองค์สลดพระทัย พอดีได้ทรงสดับคำสอนในพระพุทธศาสนา ทรงเลื่อมใสได้ทรงเลิกการสงคราม หันมาทำนุบำรุงพระศาสนาและความรุ่งเรืองในทางสงบของประเทศ ทรงสร้างมหาวิหาร ๘๔,๐๐๐ แห่ง ทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๓ และการส่งศาสนทูตออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในนานาประเทศ เช่น พระมหินทเถระไปยังลังกาทวีป และพระโสณะพระอุตตระ มายังสุวรรณภูมิ เป็นต้น ชาวพุทธไทยมักเรียกพระองค์ว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช

อโศการาม ชื่อวัดสำคัญที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างในกรุงปาฏลีบุตร เป็นที่ทำ สังคายนาครั้งที่ ๓

อสมานาสนิกะ ภิกษุผู้มีพรรษาอ่อนแก่กว่ากันเกิน ๓ พรรษา นั่งอาสนะคือเตียงตั่งสำหรับ ๒ รูป เสมอกันไม่ได้ (แต่นั่งอาสนะยาวด้วยกันได้) เทียบ สมานาสนิกะ

อสังขตะ ธรรมที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง, ธรรมที่ไม่เกิดจากเหตุปัจจัย ได้แก่พระนิพพาน

อสังขตธรรม ธรรมอันมิได้ถูกปรุงแต่งได้แก่ นิพพาน (ข้อ ๒ ในธรรม ๒)

อสังขารปรินิพพายี พระอนาคามี ผู้จะปรินิพพานด้วยไม่ต้องใช้ความเพียรมากนัก (ข้อ ๓ ในอนาคามี ๕)

อสังขาริก ดูที่ สสังขาริก

อสังสัคคกถา ถ้อยคำที่ชักนำไม่ให้คลุกคลีด้วยหมู่ (ข้อ ๔ ในกถาวัตถุ ๑๐)

อสังหาริมะ ซึ่งนำเอาไปไม่ได้, เคลื่อนที่ไม่ได้, ของติดที่ ขนเอาไปไม่ได้ เช่นที่ดิน โบสถ์ วิหาร เจดีย์ ต้นไม้ เรือน เป็นต้น เทียบ สังหาริยะ

อสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์เคลื่อนที่ไม่ได้ได้แก่ ที่ดินและทรัพย์ซึ่งติดอยู่กับที่ เช่น ตึก โรงรถ เป็นต้น, คู่กับ สังหาริมทรัพย์

อสัญญีสัตว์ สัตว์จำพวกไม่มีสัญญาไม่เสวยเวทนา (ข้อ ๕ ในสัตตาวาส ๙)

อสัทธรรม ธรรมของอสัตบุรุษ มีหลายหมวด เช่น อสัทธรรม ๗ คือที่ตรงข้ามกับ สัทธรรม ๗ มีปราศจากศรัทธา ปราศจากหิริ เป็นต้น; ในคำว่า “ทอดกายเพื่อเสพอสัทธรรมก็ดี” หมายถึงเมถุนธรรม คือการร่วมประเวณี

อสาธารณสิกขาบท สิกขาบทที่ไม่ทั่วไป หมายถึงสิกขาบทเฉพาะของภิกษุณี ที่แผกออกไปจากสิกขาบทของภิกษุ เทียบ สาธารณสิกขาบท

อสิตดาบส ดาบสผู้คุ้นเคย และเป็นที่นับถือของศากยราชสกุล อาศัยอยู่ข้างเขาหิมพานต์ ได้ทราบข่าวว่าพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะประสูติใหม่ จึงเข้าไปเยี่ยม ได้เห็นพระราชโอรสนั้นมีลักษณะต้องด้วยตำรับมหาปุริสลักษณะ จึงกราบลงที่พระบาททั้งสองของพระราชโอรสแล้วกล่าวคำทำนายว่า ถ้าอยู่ครองฆราวาสจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าออกทรงผนวช จักได้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระศาสดาเอกในโลก; มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า กาฬเทวิลดาบส

อสีตยานุพยัญชนะ อนุพยัญชนะ ๘๐ ดู อนุพยัญชนะ

อสีติมหาสาวก พระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ องค์ บางทีเรียกอนุพุทธ ๘๐ องค์ มีรายนามตามลำดับอักษร ดังนี้ (ที่พิมพ์ตัวเอน คือท่านที่เป็น เอตทัคคะด้วย): กังขาเรวต, กัปป, กาฬุทายี, กิมพิล, กุมารกัสสป, กุณฑธาน, คยากัสสป, ควัมปติ, จุนท, จูฬปันถก, ชตุกัณณิ, ติสสเมตเตยย, โตเทยย, ทัพพมัลลบุตร, โธตก, นทีกัสสป, นันท, นันทก, นันทก, นาคิต, นาลก, ปิงคิย, ปิณโฑลภารทวาช, ปิลินทวัจฉ, ปุณณก, ปุณณชิ, ปุณณมันตานีบุตร, ปุณณสุนาปรันต, โปสาล, พากุละ (พักกุละก็เรียก), พาหิย ทารุจีริย, ภคุ, ภัททิย (ศากยะ), ภัททิย, ภัทราวุธ, มหากัจจายน, มหากัปปิน, มหากัสสป, มหาโกฏฐิต, มหานาม, มหาปันถก, มหาโมคคัลลาน, เมฆิย, เมตตคู, โมฆราช, ยส, ยโสช, รัฏฐปาล, ราธ, ราหุล, เรวต, ขทิรวนิย, ลกุณฏกภัททิย, วักกลิ, วังคีส, วัปป, วิมล, สภิย, สาคต, สารีบุตร, สีวลี, สุพาหุ, สุภูติ, เสล, โสณกุฏิกัณณ, โสณโกฬิวิส, โสภิต, เหมก, องคุลิมาล, อชิต, อนุรุทธ, อัญญาโกณฑัญญ, อัสสชิ, อานนท, อุทย, อุทายี, อุบาลี, อุปวาณ, อุปสีว, อุปเสนวังคันตบุตร, อุรุเวลกัสสป

อสุภ, อสุภะ สภาพที่ไม่งาม, พิจารณาร่างกายของตนและผู้อื่นให้เห็นสภาพที่ไม่งาม; ในความหมายเฉพาะ หมายถึง ซากศพในสภาพต่าง ๆ ซึ่งใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน รวม ๑๐ อย่าง คือ ๑. อุทธุมาตกะ ซากศพที่เน่าพอง ๒. วินีลกะ ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำ ๓. วิปุพพกะ ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลออกอยู่ ๔. วิจฉิททกะ ซากศพที่ขาดกลางตัว ๕. วิกขายิตกะ ซากศพที่สัตว์กัดกินแล้ว ๖. วิกขิตตกะ ซากศพที่มีมือเท้า ศีรษะขาด ๗. หตวิกขิตตกะ ซากศพที่คนมีเวรเป็นข้าศึกกัน สับฟันเป็นท่อน ๆ ๘. โลหิตกะ ซากศพที่ถูกประหารด้วยศัตรามีโลหิตไหลอาบอยู่ ๙. ปุฬุวกะ ซากศพที่มีตัวหนอนคลานคล่ำไปอยู่ ๑๐. อัฏฐิกะ ซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูก

อสุภสัญญา กำหนดหมายถึงความไม่งามแห่งร่างกาย (ข้อ ๓ ในสัญญา ๑๐)

อสุรกาย พวกอสูร, ภพแห่งสัตว์เกิดในอบายพวกหนึ่ง เป็นพวกสะดุ้ง หวาดหวั่นไร้ความรื่นเริง ถ้าเปรียบกับในโลกนี้ก็เหมือนดังคนอดอยาก เที่ยวทำโจรกรรมในเวลาค่ำคืน หลอกลวงฉกชิงเอาทรัพย์ของผู้อื่น (ข้อ ๔ ในอบาย ๔)

อสูร สัตว์กึ่งเทพหรือเทพชั้นต่ำพวกหนึ่ง ตำนานกล่าวว่า เดิมเป็นเทวดาเก่า (บุพเทวา) เป็นเจ้าถิ่นครอบครองดาวดึงสเทวโลก ต่อมาถูกเทวดาพวกใหม่ มีท้าวสักกะเป็นหัวหน้าแย่งถิ่นไป โดยถูกเทพพวกใหม่นั้นจับเหวี่ยงลงมาในระหว่างพิธีเลี้ยงเมื่อพวกตนดื่มสุราจนเมามาย ได้ชื่อใหม่ว่าอสูร เพราะเมื่อฟื้นคืนสติขึ้นระหว่างทางที่ตกจากดาวดึงส์นั้น ได้กล่าวกันว่า “พวกเราไม่ดื่มสุราแล้ว” (อสูรจึงแปลว่าผู้ไม่ดื่มสุรา) พวกอสูรได้ครองพิภพใหม่ที่เชิงเขาสิเนรุ หรือเขาพระสุเมรุ และมีสภาพความเป็นอยู่ มีอายุ วรรณะ ยศ อิสริยสมบัติ คล้ายกันกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ พวกอสูรเป็นศัตรูโดยตรงกับเทวดา และมีเรื่องราวขัดแย้งทำสงครามกันบ่อย ๆ พวกอสูรออกจะเจ้าโทสะ จึงมักถูกกล่าวถึงในฐานะเป็นพวกมีนิสัยพาลหรือเป็นฝ่ายผิด

อเสขะ ผู้ไม่ต้องศึกษา เพราะศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว ได้แก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล คือ พระอรหันต์, คู่กับเสขะ

อเสขบุคคล บุคคลผู้ไม่ต้องศึกษา ดู อเสขะ

อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ คือความเห็นผิดว่า คนเราจะได้ดีหรือชั่วตามคราวเคราะห์ ถึงคราวจะดี ก็ดีเอง ถึงคราวจะร้าย ก็ร้ายเอง ไม่มีเหตุอื่นจะทำให้คนดีคนชั่วได้ (ข้อ ๒ ในทิฏฐิ ๓)

อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีกได้แก่กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลที่เลิกให้ผล เหมือนพืชที่หมดยาง เพาะปลูกไม่ขึ้นอีก (ข้อ ๔ ในกรรม ๑๒)

อักโกสวัตถุ เรื่องสำหรับด่า มี ๑๐ อย่าง คือ ๑. ชาติ ได้แก่ชั้นหรือกำเนิดของคน ๒. ชื่อ ๓. โคตร คือตระกูลหรือแซ่ ๔.การงาน ๕. ศิลปะ ๖. โรค ๗. รูปพรรณสัณฐาน ๘. กิเลส ๙. อาบัติ ๑๐. คำสบประมาทอย่างอื่นๆ

อักขระ ตัวหนังสือ, วิชาหนังสือ, คำ, เสียง, สระ และพยัญชนะ

อักขรวิธี ตำราว่าด้วยวิธีเขียนและอ่านหนังสือให้ถูกต้อง

อักษร ตัวหนังสือ

อัคคสาวก ดู อัครสาวก

อัคคัญญสูตร ชื่อสูตรที่ ๔ แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก ทรงแสดงแก่สามเณรวาเสฏฐะ และสามเณรภารัทวาชะ ผู้ออกบวชจากตระกูลพราหมณ์ ทรงคัดค้านคำกล่าวอ้างของพวกพราหมณ์ ที่ถือว่าพราหมณ์เป็นวรรณะประเสริฐที่สุด และถือว่าชาติกำเนิดเป็นเครื่องตัดสินความประเสริฐและความต่ำทรามของมนุษย์ ทรงแสดงให้เห็นว่าความประเสริฐหรือต่ำทรามนั้นอยู่ที่ความประพฤติ โดยมีธรรมเป็นเครื่องตัดสิน คนวรรณะต่าง ๆ ออกบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เกิดจากธรรมเสมอกันหมด แล้วทรงแสดงความเป็นมาของสังคมมนุษย์ เริ่มแต่เกิดมีสัตว์ขึ้นในโลกแล้วเปลี่ยนแปลงตามลำดับจนเกิดมีมนุษย์ที่อยู่รวมกันเป็นหมู่เป็นพวก เกิดความจำเป็นต้องมีการปกครอง และมีการประกอบอาชีพการงานต่างๆ กัน วรรณะทั้งสี่ก็เกิดจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มิใช่เป็นเรื่องของพรหมสร้างสรรค์ แต่เกิดจากธรรม (ธรรมดา, กฎธรรมชาติ) ทุกวรรณะประพฤติชั่วก็ไปอบายได้ ปฏิบัติธรรมก็บรรลุนิพพานได้ ธรรมเป็นเครื่องตัดสิน และธรรมเป็นของประเสริฐสุด ผู้ที่สิ้นอาสวกิเลสแล้ว เป็นผู้ประเสริฐสุดในวรรณะทั้งสี่ ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ประเสริฐสุดในบรรดาเทวะ และมนุษย์ทั้งปวง

อัคคิ ไฟ, ไฟกิเลส, กิเลสดุจไฟเผาลนจิตใจให้เร่าร้อน มี ๓ คือ ๑. ราคัคคิ ไฟคือราคะ ๒. โทสัคคิ ไฟคือโทสะ ๓. โมหัคคิ ไฟคือโมหะ

อัคคิเวสสนโคตร ตระกูลอัคคิเวสสนะ เป็นตระกูลของปริพาชกคนหนึ่งชื่อ ทีฆนขะ

อัคฆสโมธาน การประมวลโดยค่า, เป็นชื่อปริวาสที่ภิกษุผู้ปรารถนาจะออกจากอาบัติสังฆาทิเสสซึ่งต้องหลายคราว มีจำนวนวันปิดไม่เท่ากัน ประ มวลอาบัติและวันเข้าด้วยกัน อยู่ปริ วาสเท่าจำนวนวันที่มากที่สุด เช่น ต้องอาบัติ ๓ คราว คราวหนึ่งปิดไว้ ๓ วัน คราวหนึ่งปิดไว้ ๕ วัน คราวหนึ่งปิดไว้ ๗ วัน อยู่ปริวาสเท่าจำนวนมากที่สุด คือ ๗ วัน ดู สโมธานปริวาส

อัคร เลิศ, ยอด, ล้ำเลิศ, ประเสริฐ, สูงสุด

อัครพหูสูต พหูสูตผู้เลิศ, ยอดพหูสูต, ผู้คงแก่เรียนอย่างยอดเยี่ยม หมายถึงพระอานนท์

อัครสาวก สาวกผู้เลิศ, สาวกผู้ยอดเยี่ยมหมายถึงพระสารีบุตร (เป็นอัครสาวกเบื้องขวา) และพระมหาโมคคัลลานะ (เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย)

อังคะ ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีป ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของแคว้นมคธ มีแม่น้ำจัมปากั้นแดน และมีนครหลวงชื่อจัมปา ในพุทธกาลแคว้นอังคะขึ้นกับแคว้นมคธ

อังคาร ถ่านเถ้าที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

อังคารสตูป พระสถูปที่บรรจุพระอังคาร ซึ่งโมริยกษัตริย์สร้างไว้ที่เมืองปิปผลิวัน

อังคาส ถวายพระ, เลี้ยงพระ

อังคุดร หมายถึง อังคุตตรนิกาย

อังคุตตรนิกาย ชื่อนิกายที่สี่ในบรรดานิกาย ๕ แห่งพระสุตตันตปิฎก เป็นที่ชุมนุมพระสูตรซึ่งจัดเข้าลำดับตามจำนวนหัวข้อธรรม เป็นหมวด ๑ (เอกนิบาต) หมวด ๒ (ทุกนิบาต) เป็นต้นจนถึงหมวด ๑๑ (เอกาทสกนิบาต)

อังคุตตราปะ ชื่อแคว้นหนึ่งในชมพูทวีปครั้งพุทธกาล เมืองหลวงเป็นเพียงนิคมชื่อ อาปณะ

อังคุลิมาละ ดู องคุลิมาล

อังสะ ผ้าที่ภิกษุใช้ห้อยเฉวียงบ่า

อัจเจกจีวร จีวรรีบร้อน หรือผ้าด่วน หมายถึง ผ้าจำนำพรรษาที่ทายกผู้มีเหตุรีบร้อน ขอถวายก่อนกำหนดเวลาปกติ (กำหนดเวลาปกติสำหรับถวายผ้าจำนำพรรษา คือ จีวรกาลนั่นเอง กล่าวคือ ต้องผ่านวันปวารณาไปแล้วเริ่มแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ และถ้ากรานกฐินแล้ว นับต่อไปอีกถึงขึ้น ๑๕ ต่ำ เดือน ๔; เหตุรีบร้อนนั้น เช่น เขาจะไปทัพหรือเจ็บไข้ไม่ไว้ใจชีวิต หรือมีศรัทธาเลื่อมใสเกิดขึ้นใหม่) อัจเจกจีวรเช่นนี้มีพุทธานุญาตให้ภิกษุรับเก็บไว้ได้ แต่ต้องรับก่อนวันปวารณาไม่เกิน ๑๐ วัน (คือตั้งแต่ขึ้น ๖ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) (สิกขาบทที่ ๘ แห่งปัตตวรรค นิสสัคคิยปาจิตตีย์)

อัจฉริยะ “เหตุอันควรที่จะดีดนิ้วเปาะ”, อัศจรรย์, แปลกวิเศษ, น่าทึ่งควรยอมรับนับถือ, ดีเลิศล้ำน่าพิศวง, มีความรู้ความสามารถทรงคุณสมบัติเหนือสามัญหรือเกินกว่าระดับปกติ

อัชฌาจาร ความประพฤติชั่ว, การละเมิดศีล, การล่วงมรรยาท, การละเมิดประเพณี

อัชฌาสัย นิสัยใจคอ, ความนิยม, ความมีน้ำใจ

อัญชนะ กษัตริย์โกลิยวงศ์ผู้ครองเทวทหนคร มีมเหสีพระนามว่า ยโสธรา เป็นพระชนกของพระมหามายาเทวี ผู้เป็นพระพุทธมารดาและพระนางมหาปชาบดีโคตมี (ตำนานว่ามีโอรสด้วย ๒ องค์ คือ ทัณฑปาณิ และสุปปพุทธะ)

อัญชลีกรรม การประนมมือแสดงความเคารพ

อญฺชลีกรณีโย พระสงฆ์เป็นผู้ควรได้รับอัญชลีกรรม คือการกราบไหว้ ประนมมือไหว้ เพราะมีความดีที่ควรแก่การไหว้ ทำให้ผู้ไหว้ผู้กราบ ไม่ต้องกระดากใจ (ข้อ ๘ ในสังฆคุณ ๙)

อัญญเดียรถีย์ ผู้ถือลัทธินอกพระพุทธศาสนา

อัญญภาคิยสิกขาบท ชื่อสิกขาบทที่ ๙ แห่งสังฆาทิเสส (ภิกษุหาเลสโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิก), เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ทุติยทุฏฐโทสสิกขาบท

อัญญวาทกกรรม กรรมที่จะพึงกระทำแก่ภิกษุผู้กล่าวคำอื่น คือภิกษุประพฤติอนาจาร สงฆ์เรียกตัวมาถาม แกล้งยกเรื่องอื่น ๆ มาพูดกลบเกลื่อนเสียไม่ให้การตามตรง, สงฆ์สวดประกาศความนั้นด้วยญัตติทุติยกรรม เรียกว่ายกอัญญวาทกกรรมขึ้น, เมื่อสงฆ์ประกาศเช่นนี้แล้ว ภิกษุนั้นยังขืนทำอย่างเดิมอีกต้องอาบัติปาจิตตีย์ (สิกขาบทที่ ๒ แห่งภูตคามวรรค ปาจิตติยกัณฑ์), คู่กับ วิเหสกกรรม

อัญญสมานาเจตสิก เจตสิกที่มีเสมอกันแก่จิตพวกอื่น คือ ประกอบเข้าได้กับจิตทุกฝ่ายทั้งกุศลและอกุศล มิใช่เข้าได้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว มี ๑๓ แยกเป็น ก. สัพพจิตตสาธารณเจตสิก (เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับจิตทุกดวง) คือ ผัสสะ (ความกระทบอารมณ์) เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ (ความกระทำอารมณ์ไว้ในใจ, ใส่ใจ) ข. ปกิณณกเจตสิก (เจตสิกที่เรี่ยราย คือ เกิดกับจิตได้ทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล แต่ไม่แน่นอนเสมอไปทุกดวง) คือวิตก (ความตรึกอารมณ์) วิจาร (ความตรองอารมณ์) อธิโมกข์ (ความปักใจในอารมณ์) วิริยะ ปีติ ฉันทะ (ความพอใจในอารมณ์)

อัญญสัตถุเทศ การถือศาสดาอื่น จัดเป็นความผิดพลาดสถานหนัก (ข้อ ๖ ในอภิฐาน ๖)

อัญญสัตววิสัย วิสัยของสัตว์อื่น, วิสัยของสัตว์ทั่ว ๆ ไป

อัญญาโกณฑัญญะ พระมหาสาวกผู้เป็นปฐมสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นรูปหนึ่งในคณะพระปัญจวัคคีย์ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาล เกิดที่หมู่บ้านโทณวัตถุ ไม่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อ โกณฑัญญะ เป็นพราหมณ์หนุ่มที่สุดในบรรดาพราหมณ์ ๘ คน ผู้ทำนายลักษณะของสิทธัตถกุมาร และเป็นผู้เดียวที่ทำนายว่า พระกุมารจะทรงออกบรรพชา ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน มีคติเป็นอย่างเดียว ต่อมาท่านออกบวชตามเสด็จพระสิทธัตถะ ขณะบำเพ็ญทุกรกิริยา เป็นหัวหน้าพระเบญจวัคคีย์ และได้นำคณะหลีกหนีไป เมื่อพระมหาบุรุษเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา กลับเสวยพระกระยาหาร ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วเสด็จไปโปรด ท่านสดับปฐมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรม ขอบรรพชาอุปสมบทเป็นปฐมสาวกของพระพุทธเจ้า โกณฑัญญะ ที่ได้ชื่อว่าอัญญาโกณฑัญญะ เพราะเมื่อท่านฟังปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า และได้ธรรมจักษุ พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ ๆ” (โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ) คำว่า อัญญาจึงมารวมเข้ากับชื่อของท่าน ต่อมาท่านได้สำเร็จอรหัตด้วยฟังอนัตตลักขณสูตร ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางรัตตัญญู (รู้ราตรีนาน คือ บวชนาน รู้เห็นเหตุการณ์มากมาแต่ต้น) ท่านทูลลาพระพุทธเจ้าไปอยู่ที่ฝั่งสระมันทากินี ในป่าฉัททันตวัน แดนหิมพานต์ อยู่ ณ ที่นั้น ๑๒ ปี ก็ปรินิพพานก่อนพุทธปรินิพพาน ดู โกณฑัญญะ ด้วย

อัฏฐกะ หมวด ๘

อัฏฐบาน ปานะทั้ง ๘, น้ำปานะคือน้ำคั้นผลไม้ ๘ อย่าง ดู ปานะ

อัฏฐารสเภทกรวัตถุ เรื่องทำความแตกกัน ๑๘ อย่าง, เรื่องที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกแก่สงฆ์ ๑๘ ประการท่านจัดเป็น ๙ คู่ (แสดงแต่ฝ่ายคี่) คือภิกษุแสดงสิ่งมิใช่ธรรมว่าเป็นธรรม, แสดงสิ่งมิใช่วินัยว่าเป็นวินัย, แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ตรัสว่าได้ตรัส, แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ประพฤติว่าได้ประพฤติ, แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้บัญญัติ ว่าได้บัญญัติ, แสดงอาบัติว่ามิใช่อาบัติ, แสดงอาบัติเบาว่าเป็นอาบัติหนัก, แสดงอาบัติมีส่วนเหลือว่าเป็นอาบัติไม่มีส่วนเหลือ, แสดงอาบัติหยาบคายว่ามิใช่อาบัติหยาบคาย (ฝ่ายคู่ก็ตรงข้ามจากนี้ตามลำดับ เช่น แสดงธรรมว่ามิใช่ธรรม, แสดงวินัยว่ามิใช่วินัย ฯลฯ แสดงอาบัติไม่หยาบคาย ว่าเป็นอาบัติหยาบคาย)

อัฏฐิ กระดูก, บัดนี้เขียน อัฐิ

อัฏฐิมิญชะ เยื่อในกระดูก

อัฐบริขาร บริขาร ๘ ดู บริขาร

อัฑฒกุสิ เส้นคั่นดุจคันนาขวางระหว่างขัณฑ์กับขัณฑ์ของจีวร, เทียบ กุสิ

อัณฑชะ สัตว์เกิดในไข่ คือออกไข่เป็นฟองแล้วจึงฟักออกเป็นตัว เช่น ไก่ นก จิ้งจก เป็นต้น (ข้อ ๒ ในโยนิ ๔)

อัฑฒมณฑล กระทงน้อย คือ ชิ้นส่วนของจีวรพระที่เป็นผืนผ้ารูปสี่เหลี่ยมมีแผ่นผ้าแคบคั่นแต่ละด้าน ลักษณะเหมือนกระทงนามีคันนากั้น, มี ๒ ขนาด กระทงเล็กเรียก อัฑฒมณฑล กระทรงใหญ่เรียกมณฑล, กระทงเล็กหรือกระทงน้อย มีขนาดครึ่งหนึ่งของกระทงใหญ่ ในจีวรผืนหนึ่ง มีกระทงน้อยอย่างต่ำ ๕ ชิ้น

อัตตกิลมถานุโยค การประกอบตนให้ลำบากเปล่า คือ ความพยายามเพื่อบรรลุผลที่หมายด้วยวิธีทรมานตนเอง เช่น การบำเพ็ญตบะต่าง ๆ ที่นิยมกันในหมู่นักบวชอินเดียจำนวนมาก (ข้อ ๒ ใน ที่สุด ๒ อย่าง)
อัตตภาพ ความเป็นตัวตน, ชีวิต, เบญจขันธ์, บัดนี้เขียน อัตภาพ

อัตตวาทุปาทาน การถือมั่นวาทะว่าตน คือความยึดถือสำคัญมั่นหมายว่านั่นนี่เป็นตัวตน เช่น มองเห็นเบญจขันธ์เป็นอัตตา, อย่างหยาบขึ้นมา เช่นยึดถือมั่นหมายว่า นี่เรา นั่นของเรา จนเป็นเหตุแบ่งแยกเป็นพวกเราพวกเขา และเกิดความถือพวก (ข้อ ๔ ใน อุปาทาน ๔)

อัตตวินิบาต ทำลายตัวเอง, ฆ่าตัวเอง; บัดนี้เขียน อัตวินิบาต

อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบคือดำรงตนอยู่ในศีลธรรม และดำเนินแน่วแน่ในวิถีทางที่จะนำไปสู่จุดหมายที่ดีงาม (ข้อ ๓ ในจักร ๔)

อัตตสุทธิ การทำตนให้บริสุทธิ์จากบาป

อัตตหิตสมบัติ ดู อัตตัตถสมบัติ

อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน เช่น รู้ว่า เรามีความรู้ ความถนัด คุณธรรม ความสามารถ และฐานะ เป็นต้น แค่ไหน เพียงไร แล้วประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดผลดี (ข้อ ๓ ในสัปปุริสธรรม ๗)

อัตตัตถะ ประโยชน์ตน, สิ่งที่เป็นคุณแก่ชีวิต ช่วยให้เป็นอยู่ด้วยดี สามารถพึ่งตน หรือเป็นที่พึ่งแก่ตนได้ ไม่ว่าจะเป็นทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือสัมปรายิกัตถะ หรือปรมัตถะ ก็ตาม, เทียบ ปรัตถะ

อัตตัตถสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยประโยชน์ตน เป็นพุทธคุณอย่างหนึ่งคือ การที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีธรรม กำจัดอาสวกิเลสทั้งปวงและทำ ศีล สมาธิ ปัญญาให้บริบูรณ์ สมบูรณ์ด้วยพระญาณทั้งหลาย เพียบพร้อมด้วยพระคุณสมบัติมากมาย เป็นที่พึ่งของพระองค์เองได้ และเป็นผู้พร้อมที่จะบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลกต่อไป มักเขียนเป็น อัตตหิตสมบัติ ซึ่งแปลเหมือนกัน; เป็นคู่กันกับ ปรัตถปฏิบัติ หรือ ปรหิตปฏิบัติ

อัตตา ตัวตน, อาตมัน; ปุถุชนย่อมยึดมั่นมองเห็นขันธ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมดเป็นอัตตา หรือยึดถือว่ามีอัตตาเนื่องด้วยขันธ์ ๕ โดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง; เทียบ อนัตตา

อัตตาธิปเตยยะ ดู อัตตาธิปไตย

อัตตาธิปไตย ความถือตนเป็นใหญ่ จะทำอะไรก็นึกถึงตน คำนึงถึงฐานะเกียรติศักดิ์ศรี หรือผลประโยชน์ของตนเป็นสำคัญ, พึงใช้แต่ในขอบเขตที่เป็นความดี คือ เว้นชั่วทำดีด้วยเคารพตน (ข้อ ๑ ในอธิปไตย ๓)

อัตตานุทิฏฐิ ความตามเห็นว่าเป็นตัวตน

อัตถะ ประโยชน์, ผลที่มุ่งหมาย มี ๓ คือ ๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ปัจจุบัน, ประโยชน์ในภพนี้ ๒. สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์เบื้องหน้า, ประโยชน์ในภพหน้า ๓. ปรมัตถะ ประโยชน์อย่างยิ่ง, ประโยชน์สูงสุดคือ พระนิพพาน; อัตถะ ๓ อีกหมวดหนึ่ง คือ ๑. อัตตัตถะ ประโยชน์ตน ๒. ปรัตถะ ประโยชน์ผู้อื่น ๓. อุภยัตถะ ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น, การบำเพ็ญประโยชน์ (ข้อ ๓ ในสังคหวัตถุ ๔)

อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ, ความแตกฉานสามารถอธิบายเนื้อความย่อของภาษิตโดยพิสดาร และความเข้าใจที่สามารถคาดหมายผลข้างหน้าอันจะเกิดสืบเนื่องไปจากเหตุ (ข้อ ๑ ในปฏิสัมภิทา ๔)

อัตถสาธกะ ยังอรรถให้สำเร็จ, ทำเนื้อความให้สำเร็จ

อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล เช่นรู้จักว่า สุขเป็นผลแห่งเหตุอันนี้ ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันนี้, รู้ความมุ่งหมายและรู้จักผล; ตามบาลีว่า รู้ความหมายเช่นว่า ธรรมข้อนี้ ๆ มีความหมายอย่างนี้ ๆ หลักข้อนี้ ๆ มีเนื้อความอย่างนี้ ๆ (ข้อ ๒ ในสัปปุริสธรรม ๗)

อัตถุปปัตติ เหตุที่ให้มีเรื่องขึ้น, เหตุให้เกิดเรื่อง

อัธยาจาร ดู อัชฌาจาร

อัธยาศัย นิสัยใจคอ, ความนิยมในใจ

อันต ไส้ใหญ่

อันตคาหิกทิฏฐิ ความเห็นที่ยึดเอาที่สุด คือ แล่นไปถึงที่สุดในเรื่องหนึ่งๆ มี ๑๐ อย่างคือ ๑. โลกเที่ยง ๒. โลกไม่เที่ยง ๓. โลกมีที่สุด ๔. โลกไม่มีที่สุด ๕. ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ๖. ชีพก็อย่าง สรีระก็อย่าง ๗. สัตว์ตายแล้วยังมีอยู่ ๘. สัตว์ตายแล้ว ย่อมไม่มี ๙. สัตว์ตายแล้วทั้งมีอยู่ ทั้งไม่มี ๑๐. สัตว์ตายแล้วจะมีอยู่ ก็ไม่ใช่ ไม่มีอยู่ ก็ไม่ใช่

อันตคุณ ไส้น้อย, ไส้ทบ

อันตรธาน หายไป, เสื่อมสิ้นไป, สูญหายไป

อันตรวาสก ผ้านุ่ง, สบง, เป็นผืนหนึ่งในไตรจีวร

อันตราบัติ อาบัติสังฆาทิเสสที่ต้องใหม่อีกในระหว่างประพฤติวุฏฐานวิธี คือตั้งแต่เริ่มอยู่ปริวาสไปจนถึงก่อนอัพภาน

อันตราปรินิพพายี พระอนาคามีผู้จะปรินิพพาน ในระหว่างอายุยังไม่ทันถึงกึ่ง (ข้อ ๑ ในอนาคามี ๕)

อันตรายของภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ เหตุที่จะทำให้ผู้บวชในธรรมวินัยนี้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้ไม่ยั่งยืนมี ๔ อย่าง คือ ๑. อดทนต่อคำสั่งสอนไม่ได้ ๒. เห็นแก่ปากแก่ท้อง ๓. ฝันใฝ่ทะยานอยากได้กามคุณ ๔. รักผู้หญิง

อันตราย ๑๐ เหตุฉุกเฉิน หรือเหตุขัดข้องที่ทรงอนุญาตให้เลิกสวดปาฏิโมกข์ได้ โดยให้สวดปาฏิโมกข์ย่อแทนมี ๑๐ อย่างคือ ๑. ราชันตราย พระราชาเสด็จมา (เลิกสวดเพื่อรับเสด็จ) ๒. โจรันตราย โจรมาปล้น (เพื่อหนีภัย) ๓. อัคยันตราย ไฟไหม้ (เพื่อดับหรือป้องกันไฟ) ๔. อุทกันตราย น้ำหลากมา (หรือฝนตกเมื่อสวดกลางแจ้ง; เพื่อหนีน้ำ) ๕. มนุสสันตราย คนมามาก (เพื่อรู้เหตุหรือเพื่อปฏิสันถาร) ๖. อมนุสสันตราย ผีเข้าภิกษุ (เพื่อขับผี) ๗. วาฬันตราย สัตว์ร้าย เช่นเสือมาในวัด (เพื่อไล่สัตว์) ๘. สิริงสปันตราย งู เลื้อยเข้ามา (เพื่อไล่งู) ๙. ชีวิตันตราย มีเรื่องเป็นตาย เช่นภิกษุอาพาธโรคร้าย (เพื่อช่วยแก้ไข) ๑๐. พรหมจริยันตราย มีอันตรายแก่พรหมจรรย์ เช่น มีคนมาจับภิกษุ (เลิกเพราะอลหม่าน) ดู ปาฏิโมกข์ย่อ, อุเทศ อนึ่ง ภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสส ถ้ามีอันตรายเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ไม่มีได้บอกอาบัติของตนพ้นคืนไป ยังไม่ถือว่าปิดอาบัติ

อันตรายิกธรรม ธรรมอันกระทำอันตราย คือ เหตุขัดขวางต่าง ๆ เช่น เหตุขัดขวางการอุปสมบท ๘ อย่าง มีการเป็นโรคเรื้อน เป็นต้น

อันติมวัตถุ วัตถุมีในที่สุด หมายถึงอาบัติปาราชิก ซึ่งทำให้ภิกษุและภิกษุณีผู้ต้อง มีโทษถึงที่สุดคือขาดจากภาวะของตน

อันเตวาสิก ผู้อยู่ในสำนัก, ภิกษุผู้ขออยู่ร่วมสำนัก, ศิษย์ (ภิกษุผู้รับให้อยู่ร่วมสำนักเรียกอาจารย์); อันเตวาสิกมี ๔ ประเภทคือ ๑. ปัพพชันเตวาสิก อันเตวาสิกในบรรพชา ๒. อุปสัมปทันเตวาสิก อันเตวาสิกในอุปสมบท ๓. นิสสยันเตวาสิก อันเตวาสิกผู้ถือนิสัย ๔. ธัมมันเตวาสิก อันเตวาสิกผู้เรียนธรรม

อันธกวินทะ ชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากกรุงราชคฤห์ประมาณ ๑ คาวุต (คัมภีร์ฉบับสีหฬว่า ๓ คาวุต)

อัปปณิหิตวิโมกข์ ความหลุดพ้นด้วยไม่ทำความปรารถนา คือ พิจารณาเห็นนามรูปเป็นทุกข์ แล้วถอนความปรารถนาเสียได้ (ข้อ ๓ ในวิโมกข์ ๓)

อัปปณิหิตสมาธิ การเจริญสมาธิที่ทำให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดทุกขลักษณะ (ข้อ ๓ ในสมาธิ ๓)

อัปปนาภาวนา ภาวนาขั้นแน่วแน่ คือฝึกสมาธิถึงขั้นเป็นอัปปนา เป็นขั้นบรรลุปฐมฌาน (ข้อ ๓ ในภาวนา ๓)

อัปปนาสมาธิ สมาธิแน่วแน่, จิตตั้งมั่นสนิท เป็นสมาธิในฌาน (ข้อ ๒ ในสมาธิ ๒, ข้อ ๓ ในสมาธิ ๓)

อัปปมัญญา ธรรมที่แผ่ไปไม่มีประมาณ หมายถึง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่แผ่ทั่วไปในมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายอย่างกว้างขวางสม่ำเสมอกัน ไม่จำกัดขอบเขต มี ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่กล่าวแล้วนั้น ดู พรหมวิหาร

อัปปมัตตกวิสัชชกะ ภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือ แต่งตั้งจากสงฆ์ให้มีหน้าที่เป็นผู้จ่ายของเล็กน้อย เช่น เข็มเย็บผ้า มีดตัดเล็บ ประคด เภสัชทั้งห้า เป็นต้น ให้แก่ภิกษุทั้งหลาย

อัปปมาท ความไม่ประมาท, ความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ, ความไม่เผลอ, ความไม่เลินเล่อเผลอสติ, ความไม่ปล่อยปละละเลย, ความระมัดระวังที่จะไม่ทำเหตุแห่งความผิดพลาดเสียหาย และไม่ละเลยโอกาสที่จะทำเหตุแห่งความดี งามและความเจริญ, ความมีสติรอบคอบ ความไม่ประมาท พึงกระทำในที่ ๔ สถาน คือ ๑. ในการละกายทุจริต ประพฤติกายสุจริต ๒. ในการละวจีทุจริต ประพฤติวจีสุจริต ๓. ในการละมโนทุจริต ประพฤติมโนสุจริต ๔. ในการละความเห็นผิด ประกอบความเห็นที่ถูก; อีกหมวดหนึ่งว่า ๑. ระวังใจไม่ให้กำหนัด ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ๒. ระวังใจไม่ให้ขัดเคือง ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ๓. ระวังใจไม่ให้หลง ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง ๔. ระวังใจไม่ให้มัวเมา ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา

อัปปมาทคารวตา ดู คารวะ

อัปปมาทธรรม ธรรมคือความไม่ประมาท

อัปยศ ปราศจากยศ, เสียชื่อเสียง, เสื่อมเสีย, น่าขายหน้า

อัปปิจฉกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย หรือมักน้อย (ข้อ ๑ ในกถาวัตถุ ๑๐)

อัปปิยารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่ารัก ไม่น่าชอบใจ ไม่น่าปรารถนา เช่น รูปที่ไม่สวยไม่งาม เป็นต้น

อพฺพุฬฺหสลฺโล มีลูกศรอันถอนแล้ว หมายถึงหมดกิเลสที่ทิ่มแทง, เป็นคุณบทของพระอรหันต์

อันโพหาริก กล่าวไม่ได้ว่ามี, มีแต่ไม่ปรากฏ จึงไม่ได้โวหารว่ามี, มีเหมือนไม่มี เช่น สุราที่เขาใส่ในอาหารบางอย่าง เพื่อฆ่าคาวหรือชูรส และเจตนาที่มีในเวลาหลับ เป็นต้น

อัพภันดร มาตราวัดในภาษามคธเทียบไทยได้ ๒๘ ศอก หรือ ๗ วา

อัพภาน การเรียกเข้า (การรับกลับเข้าหมู่), เป็นขั้นตอนสุดท้ายแห่งวุฏฐานวิธี คือ ระเบียบปฏิบัติในการออกจากครุกาบัติขั้นสังฆาทิเสส ได้แก่การที่สงฆ์สวดระงับอาบัติ รับภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส และได้ทำโทษตนเองตามวิธีที่กำหนดเสร็จแล้ว ให้กลับคืนเป็นผู้บริสุทธิ์ วิธีปฏิบัติ คือถ้าต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วไม่ได้ปิดไว้ พึงประพฤติมานัตสิ้น ๖ ราตรีแล้วขออัพภานกะสงฆ์วีสติวรรค สงฆ์สวดอัพภานแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จากอาบัติ, แต่ถ้าภิกษุผู้ต้องปกปิดอาบัติไว้ล่วงวันเท่าใดต้องประพฤติวัตรเรียกว่า อยู่ปริวาสชดใช้ครบจำนวนวันเท่านั้นก่อน จึงประพฤติมานัตเพิ่มอีก ๖ ราตรี แล้วจึงขออัพภานกะสงฆ์วีสติวรรค เมื่อสงฆ์อัพภานแล้ว อาบัติสังฆาทิเสสที่ต้องชื่อว่าเป็นอันระงับ

อัพภานารหะ ภิกษุผู้ควรแก่อัพภาน ได้แก่ภิกษุผู้ประพฤติมานัตสิ้น ๖ ราตรีครบกำหนดแล้ว เป็นผู้ควรแก่อัพภานคือ ควรที่สงฆ์วีสติวรรคจะสวดอัพภาน (เรียกเข้าหมู่) ได้ต่อไป

อัพภานารหภิกษุ ดู อัพภานารหะ

อัพโภกาสิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร คือ อยู่เฉพาะกลางแจ้งไม่อยู่ในที่มุงบัง หรือแม้แต่โคนไม้ (ห้ามถือในฤดูฝน) (ข้อ ๑๐ ในธุดงค์ ๑๓)

อัพยากตะ, อัพยากฤต “ซึ่งท่านไม่พยากรณ์”, บอกไม่ได้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล คือ เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล

อัมพปาลีวัน สวนที่หญิงแพศยาชื่ออัมพปาลีถวายเป็นสังฆาราม ไม่นานก่อนพุทธปรินิพพาน อยู่ในเขตเมืองเวสาลี

อัมพวัน สวนมะม่วง มีหลายแห่ง เพื่อกันสับสน ท่านมักใส่ชื่อเจ้าของสวนนำหน้าด้วย เช่น สวนมะม่วงของหมอชีวก ในเขตเมืองราชคฤห์ ซึ่งถวายเป็นสังฆาราม เรียกว่า ชีวกัมพวัน เป็นต้น

อัยกะ, อัยกา ปู่, ตา

อัยการ เจ้าพนักงานที่ศาลฝ่ายอาณาจักรจัดไว้เป็นเจ้าหน้าที่ฟ้องร้อง, ทนายแผ่นดิน, ทนายหลวง

อัยกี, อัยยิกา ย่า, ยาย

อัศวเมธ พิธีเอาม้าบูชายัญ คือปล่อยม้าอุปการให้ผ่านดินแดนต่าง ๆ เป็นการประกาศอำนาจจนม้านั้นกลับแล้วเอาม้านั้นฆ่าบูชายัญ เป็นพิธีประกาศอานุภาพของราชาธิราชในอินเดียครั้งโบราณ

อัสดงค์ ตกไป คือ พระอาทิตย์ตก, พจนานุกรม เขียน อัสดง

อัสมิมานะ การถือตัวว่านี่ฉัน นี่กู กูเป็นนั่นเป็นนี่, การถือเราถือเขา

อัสสกะ ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีป ตั้งอยู่ลุ่มน้ำโคธาวรี ทิศตะวันตกเฉียงเหนือแห่งแคว้นอวันตี นครหลวงชื่อ โปตลิ (บางทีเรียก โปตนะ)

อัสสชิ1. พระมหาสาวกองค์หนึ่งเป็นพระเถระรูปหนึ่งในคณะปัญจวัคคีย์ เป็นพระอรหันต์รุ่นแรกและเป็นอาจารย์ของพระสารีบุตร 2. ชื่อภิกษุรูปหนึ่งในภิกษุ ๖ รูป ซึ่งประพฤติเหลวไหลที่เรียกว่า พระฉัพพัคคีย์ คู่กับพระปุนัพพสุกะ

อัสสพาชี ม้า

อัสสยุชมาส, ปฐมกัตติกมาส เดือน ๑๑; ปุพพกัตติกา หรือ บุพกัตติกา ก็เรียก

อัสสัตถพฤกษ์ ต้นไม้อัสสัตถะ, ต้นพระศรีมหาโพธิ ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมอันเป็นสถานที่ที่พระมหาบุรุษ ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ดู โพธิ์

อัสสาทะ ความยินดี, ความพึงพอใจ, รสอร่อย เช่น รสอร่อยของกาม, ส่วนดี, ส่วนที่น่าชื่นชม

อัสสาสะ ลมหายใจเข้า

อัสสุ น้ำตา

อากร หมู่, กอง, บ่อเกิด, ที่เกิด เช่น ทรัพยากร ที่เกิดทรัพย์ ศิลปากร บ่อเกิดศิลป, ค่าธรรมเนียมที่รัฐบาลเรียกเก็บจากสิ่งที่เกิดจากธรรมชาติ หรือสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อการค้า

อากัปกิริยา การแต่งตัวดี และมีท่าทางเรียบร้อยงดงาม; กิริยาท่าทาง

อาการ ความเป็นอยู่, ความเป็นไป, สภาพ, ท่าทาง, ท่วงที, ทำนอง, กิริยา, กิริยาที่ทำ, ลักษณะของการกระทำหรือความเป็นไป

อาการ ๓๒ ดู ทวัตติงสาการ

อาการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน มี ๓ อย่างมี ๑. ทรงรู้ยิ่งเห็นจริงเองแล้ว จึงทรงสั่งสอนผู้อื่น เพื่อให้รู้ยิ่งเห็นจริงตาม ในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น ๒. ทรงสั่งสอนมีเหตุผลซึ่งผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้ ไม่เลื่อนลอย ๓. ทรงสั่งสอนเป็นอัศจรรย์ ทำให้ผู้ฟังยอมรับ และนำไปปฏิบัติตาม ได้รับผลจริง บังเกิดประโยชน์สมควรแก่การปฏิบัติ

อากาศ ที่ว่างเปล่า, ช่องว่าง; ท้องฟ้า

อากาศธาตุ สภาวะที่ว่าง, ความเป็นที่ว่างเปล่า, ช่องว่างในร่ายกาย ที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน เช่น ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องอวัยวะต่างๆ ดู ธาตุ

อากาสานัญจายตนะ ฌานกำหนดอากาศคือช่องว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์, ภพของผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนฌาน (ข้อ ๑ ในอรูป ๔)

อากิญจัญญายตนะ ฌานกำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์, ภพของผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนฌาน (ข้อ ๓ ในอรูป ๔)

อากูล วุ่นวาย, ไม่เรียบร้อย, สับสน, คั่งค้าง

อาคม ปริยัติที่เรียน, การเล่าเรียนพุทธพจน์; ในภาษาไทยว่าเวทมนตร์

อาคันตุกะ ผู้มาหา, ผู้มาจากที่อื่น, ผู้จรมา, แขก; (ในคำว่า “ถ้าปรารถนาจะให้อาคันตุกะได้รับแจกด้วย”) ภิกษุผู้จำพรรษามาจากวัดอื่น, ถ้าภิกษุผู้มีหน้าที่เป็นจีวรภาชกะ (ผู้แจกจีวร) ปรารถนาจะให้อาคันตุกะมีส่วนได้รับแจกจีวรด้วย ต้องอปโลกน์ คือบอกเล่าขออนุมัติต่อภิกษุเจ้าถิ่นคือผู้จำพรรษาในวัดนั้น (ซึ่งเรียกว่าวัสสิกะ หรือ วัสสาวาสิกะ แปลว่า ภิกษุผู้อยู่จำพรรษา)

อาคันตุกภัต อาหารที่เขาถวายเฉพาะภิกษุอาคันตุกะ คือผู้จรมาจากต่างถิ่น

อาคันตุกวัตร ธรรมเนียมที่ภิกษุควรปฏิบัติต่ออาคันตุกะ คือภิกษุผู้จรมาเช่นขวนขวายต้อนรับ แสดงความนับถือ จัดหรือบอกให้น้ำให้อาสนะ ถ้าอาคันตุกะจะมาพักมาอยู่ พึงแสดงเสนาสนะ บอกที่ทางและกติกาสงฆ์ เป็นต้น

อาคาริยวินัย วินัยของผู้ครองเรือน ดู วินัย ๒

อาจริยมัตต์ ภิกษุผู้มีพรรษาพอที่จะเป็นอาจารย์ให้นิสสัยแก่ภิกษุอื่นได้, พระปูนอาจารย์ คือ มีพรรษา ๑๐ ขึ้นไป หรือ แก่กว่าราว ๖ พรรษา; อาจริยมัต ก็เขียน

อาจริยวัตร กิจที่อันเตวาสิกควรประพฤติปฏิบัติต่ออาจารย์ (เช่นเดียวกับ อุปัชฌายวัตร ที่สัทธิวิหาริกพึงปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์)

อาจริยวาท วาทะของพระอาจารย์, มติของพระอาจารย์; บางที ใช้เป็นคำเรียกพุทธศาสนานิกายฝ่ายเหนือ คือ มหายาน

อาจาระ ความประพฤติดี, มรรยาทดีงาม, จรรยา

อาจารย์ ผู้สั่งสอนวิชาความรู้, ผู้ฝึกหัดอบรมมรรยาท, อาจารย์ ๔ คือ ๑. บัพพชาจารย์ หรือ บรรพชาจารย์ อาจารย์ในบรรพชา ๒. อุปสัมปทาจารย์ อาจารย์ในอุปสมบท ๓. นิสสยาจารย์ อาจารย์ผู้ให้นิสสัย ๔. อุทเทศาจารย์ หรือ ธรรมาจารย์ อาจารย์ผู้สอนธรรม

อาจารวิบัติ เสียอาจาระ, เสียจรรยา, มรรยาทเสียหาย, ประพฤติย่อหย่อน รุ่มร่าม มักต้องอาบัติเล็กน้อยตั้งแต่ถุลลัจจัยลงมาถึงทุพภาสิต (ข้อ Eในวิบัติ E)

อาจิณ เคยประพฤติมา, เป็นนิสัย, ทำเสมอๆ ทำจนชิน

อาจิณณจริยา ความประพฤติเนืองๆ ความประพฤติประจำ, ความประพฤติที่เคยชิน

อาจิณณวัตร การปฏิบัติประจำ, การปฏิบัติเสมอ

อาชญา อำนาจ, โทษ

อาชีวะ อาชีพ, การเลี้ยงชีพ, ความเพียรพยายามในการแสวงหาปัจจัยยังชีพ, การทำมาหากิน

อาชีวก นักบวชชีเปลือยพวกหนึ่งในครั้งพุทธกาล เป็นสาวกของมักขลิโคสาล

อาชีวปาริสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ คือ เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ ไม่ประกอบอเนสนา เช่น ไม่หลอกลวงเขาเลี้ยงชีวิต เป็นต้น (ข้อ Eในปาริสุทธิศีล E)

อาชีววิบัติ เสียอาชีวะ, ความเสียหายแห่งการเลี้ยงชีพ คือ ประกอบมิจฉาอาชีวะมีหลอกลวงเขาเลี้ยงชีพ เป็นต้น (ข้อ Eในวิบัติ E)

อาญา อำนาจ, โทษ

อาญาสิทธิ์ อำนาจเด็ดขาด คือสิทธิที่แม่ทัพได้รับพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดินในเวลาไปสงคราม เป็นต้น

อาณัติ ข้อบังคับ, คำสั่ง กฎ; เครื่องหมาย

อาณัติสัญญา ข้อบังคับที่ได้นัดหมายกันไว้ เครื่องหมายที่ตกลงกันไว้

อาณา อำนาจปกครอง

อาณาเขต เขตแดนในอำนาจปกครอง, ที่ดินในบังคับ

อาณาจักร เขตแดนที่อยู่ในอำนาจปกครองของรัฐบาลหนึ่ง, อำนาจปกครองทางบ้านเมือง ใช้คู่กับพุทธจักร ซึ่งหมาย ความว่าขอบเขตการปกครองในพระพุทธศาสนา

อาณาประชาราษฎร์ ราษฎรชาวเมืองที่อยู่ในอำนาจปกครอง

อาณาประโยชน์ ผลประโยชน์ที่ตนมีอำนาจปกครองส่วนตัว

อาณาปวัติ ความเป็นไปแห่งอาณา, ขอบเขตที่อำนาจปกครองแผ่ไป; เป็นไปในอำนาจปกครอง, อยู่ในอำนาจปกครอง

อาณาสงฆ์ อำนาจของสงฆ์, อำนาจปกครองของสงฆ์ คือสงฆ์ประชุมกันใช้อำนาจโดยชอบธรรม ระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น

อาดูร เดือดร้อน, กระวนกระวาย, ทนทุกขเวทนาทั้งกายและใจ

อาตมภาพฉัน, ข้าพเจ้า (สำหรับพระภิกษุสามเณรใช้เรียกตัวเอง เมื่อพูดกับคฤหัสถ์ผู้ใหญ่ ตลอดถึงพระเจ้าแผ่นดิน)

อาตมัน ตัวตน, คำสันสกฤต ตรงกับบาลีคือ อัตตา

อาตมา ฉัน, ข้าพเจ้า (สำหรับพระภิกษุสามเณรใช้พูดกับผู้มีบรรดาศักดิ์ แต่บัดนี้ นิยมใช้พูดอย่างให้เกียรติแก่คนทั่วไป

อาถรรพณ์ เวทมนตร์ที่ใช้เพื่อให้ดีหรือร้าย, วิชาเสกเป่าป้องกัน, การทำพิธีป้องกันอันตรายต่างๆ ตามพิธีพราหมณ์ เช่น พิธีฝังเสาหิน หรือ ฝังบัตรพลี เรียกว่า ฝังอาถรรพณ์ (สืบเนื่องมาจากพระเวทคัมภีร์ที่ ๔ คืออถรรพเวท หรือ อาถรรพณเวท) อาถรรพ์ ก็ใช้

อาทร ความเอื้อเฟื้อ, ความเอาใจใส่

อาทิ เป็นต้น; ทีแรก, ข้อต้น

อาทิกัมมิกะ ผู้ทำกรรมทีแรก หมายถึงภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติในสิกขาบทนั้นๆ

อาทิตตปริยายสูตร ชื่อพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุประมาณ ๑,๐๐๐ รูป มีอุรุเวลกัสสป เป็นต้น ซึ่งเคยเป็นชฎิลบูชาไฟมาก่อน ว่าด้วยอายตนะทั้ง ๖ ที่ร้อนติดไฟลุกทั่ว ด้วยไฟราคะ ไฟโทสะ และไฟโมหะ ตลอดจนร้อนด้วยทุกข์ มีชาติ ชรามรณะ เป็นต้น ทำให้ภิกษุเหล่านั้นบรรลุอรหัตตผล (มาในคัมภีร์มหาวรรค แห่งพระวินัยปิฎก และสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค พระสุตตันตปิฎก)

อาทิตยโคตร ตระกูลพระอาทิตย์, เผ่าพันธุ์พระอาทิตย์, ตระกูลที่สืบเชื้อสาย นางอทิติผู้เป็นชายาของพระกัศยปประชาบดี, ท่านว่าสกุลของพระพุทธเจ้าก็เป็นอาทิตยโคตร (โคตมโคตรกับอาทิตยโคตร มีความหมายอย่างเดียวกัน)

อาทิตยวงศ์ วงศ์พระอาทิตย์ ดู อาทิตยโคตร

อาทิพรหมจรรย์ หลักเบื้องต้นของพรหมจรรย์, หลักการพื้นฐานของชีวิตประเสริฐ

อาทิพรหมจริยกาสิกขา หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายบทบัญญัติหรือข้อปฏิบัติที่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ สำหรับป้องกันความประพฤติเสียหาย, ข้อศึกษาที่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ หมายถึง สิกขาบท ๒๒๗ ที่มาในพระปาฏิโมกข์ เทียบ อภิสมาจาริกาสิกขา

อาทีนพ, อาทีนวะ โทษ, ข้อเสีย, ข้อบกพร่อง, ผลร้าย

อาทีนวญาณ ดู อาทีนวานุปัสสนาญาณ

อาทีนวสัญญา การกำหนดหมายโทษแห่งร่างกายซึ่งมีอาพาธคือโรคต่าง ๆ เป็นอันมาก (ข้อ ๔ ในสัญญา ๑๐)

อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงเห็นโทษ, ปรีชาคำนึงเห็นโทษของสังขารว่ามีข้อบกพร่องระคนด้วยทุกข์ เช่น เห็นสังขารปรากฏเหมือนเรือนถูกไฟไหม้ (ข้อ ๔ ในวิปัสสนาญาณ ๙)

อาเทสนาปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์ คือการทายใจ, รอบรู้กระบวนของจิต อ่านความคิดและอุปนิสัยของผู้อื่นได้เป็นอัศจรรย์ (ข้อ ๒ ในปาฏิหาริย์ ๓)

อาธรรม์, อาธรรม ดู อธรรม

อานนท์ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นเจ้าชายในศากยวงศ์ เป็นโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ ซึ่งเป็นพระเจ้าอาของเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านออกบวชในพระพุทธศาสนาพร้อมกับอนุรุทธะและอุบาลีเป็นต้น และได้รับเลือกเป็นพระอุปัฏฐาก ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะหลายด้านคือ เป็นพหูสูต เป็นผู้มีสติ มีคติ มีธิติ และเป็นอุปัฏฐาก ท่านบรรลุพระอรหัตหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๓ เดือน เป็นกำลังสำคัญในคราวทำปฐมสังคายนา คือเป็นผู้วิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม ท่านดำรงชีวิตสืบมาจนอายุได้ ๑๒๐ ปี จึงปรินิพพานในอากาศ เหนือแม่น้ำโรหิณี ซึ่งเป็นเส้นกั้นแดนระหว่างแคว้นของพระญาติสองฝ่าย คือ ศากยะ และโกลิยะ

อานันทเจดีย์ เจดียสถานแห่งหนึ่งอยู่ในเขตโภคนคร ระหว่างทางจากเมืองเวสาลีสู่เมืองปาวา เป็นที่พระพุทธเจ้าตรัสมหาปเทส ๔ ฝ่ายพระสูตร

อานาปานสติกัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานที่ใช้สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

อานาปานัสสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก (ข้อ ๙ ในอนุสติ ๑๐, ข้อ ๑๐ ในสัญญา ๑๐ เป็นต้น) บัดนี้นิยมเขียน อานาปานสติ

อานิสงส์ ผลแห่งความดี, ผลแห่งบุญกุศล, ประโยชน์, ผลดี

อานุภาพ อำนาจ, ฤทธิ์เดช, ความยิ่งใหญ่

อาเนญชาภิสังขาร ดู อเนญชาภิสังขาร

อาบัติ การต้อง, การล่วงละเมิด, โทษที่เกิดแต่การละเมิดสิกขาบท; อาบัติ ๗ คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต; อาบัติ ๗ กองนี้จัดรวมเป็นประเภทได้หลายอย่าง โดยมากจัดเป็น ๒ เช่น ๑. ครุกาบัติ อาบัติหนัก (ปาราชิก และสังฆาทิเสส) ๒. ลหุกาบัติ อาบัติเบา (อาบัติ ๕ อย่างที่เหลือ); คู่ต่อไปนี้ก็เหมือนกัน คือ ๑. ทุฏฐุลลาบัติ อาบัติชั่วหยาบ; ๒. อทุฏฐุลลาบัติ อาบัติไม่ชั่วหยาบ; ๑. อเทสนาคามินี อาบัติที่ไม่พ้นได้ด้วยการแสดง ๒. เทสนาคามินี อาบัติที่พ้นได้ด้วยการแสดงคือเปิดเผยความผิดของตน; คู่ต่อไปนี้จัดต่างออกไปอีกแบบหนึ่ง ตรงกันทั้งหมด คือ ๑. อเตกิจฉา เยียวยาแก้ไขไม่ได้ (ปาราชิก) ๒. สเตกิจฉา เยียวยาแก้ไขได้ (อาบัติ ๖ อย่างที่เหลือ); ๑. อนวเสส ไม่มีส่วนเหลือ ๒. สาวเสส ยังมีส่วนเหลือ; ๑. อัปปฏิกัมม์ หรือ อปฏิกรรม ทำคืนไม่ได้คือแก้ไขไม่ได้ ๒. สัปปฏิกัมม์ หรือ สปฏิกรรม ยังทำคืนได้ คือแก้ไขได้

อาบัติชั่วหยาบในประโยคว่า “บอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่อนุปสัมบัน” อาบัติปาราชิก และอาบัติสังฆาทิเสส ดู ทุฏฐุลลาบัติ

อาบัติที่เป็นโทษล่ำ อาบัติปาราชิกและสังฆาทิเสส

อาปณะ ชื่อนิคมซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นอังคุตตราปะ

อาปัตตาธิกรณ์ อธิกรณ์คืออาบัติ หมายความว่า การต้องอาบัติและการถูกปรับอาบัติ เป็นอธิกรณ์โดยฐานเป็นเรื่องที่จะต้องจัดทำ คือระงับด้วยการแก้ไขปลดเปลื้องออกจากอาบัตินั้นเสีย มีการปลงอาบัติ หรือการอยู่กรรม เป็นต้น ตามวิธีที่ท่านบัญญัติไว้

อาปุจฉา บอกกล่าว, ถามเชิงขออนุญาต เป็นการแสดงความเอื้อเฟื้อ, แจ้งให้ทราบ เช่น ภิกษุผู้อ่อนพรรษาจะแสดงธรรม ต้องอาปุจฉาภิกษุผู้มีพรรษามากกว่าก่อน

อาโปธาตุ ธาตุที่มีลักษณะเอิบอาบ ดูดซึม, แปลสามัญว่า ธาตุน้ำ, ในร่างกายที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่ ดีเสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ข้อความนี้เป็นการกล่าวถึงอาโปธาตุในลักษณะที่คนสามัญทุกคนจะเข้าใจได้และพอให้สำเร็จประโยชน์ในการเจริญกรรมฐาน แต่ในทางอภิธรรม อาโปธาตุเป็นสภาวะที่สัมผัสด้วยกายไม่ได้ มีในรูปธรรมทั่วไป แม้แต่ในกระดาษหนังสือ ในก้อนหิน ก้อนเหล็ก และแผ่นพลาสติก ดู ธาตุ

อาพาธ ความเจ็บป่วย, โรค (ใช้เฉพาะพระภิกษุสามเณร)

อาภัพ ไม่สมควร, ไม่สามารถ, เป็นไปไม่ได้ (จากคำบาลีว่า อภพฺพ เช่น ผู้กระทำมาตุฆาต ไม่สามารถบรรลุมรรคผล, พระโสดาบันไม่สามารถทำมาตุฆาต เป็นต้น); ไทยใช้เฉพาะในความว่า ไม่ควรจะได้จะถึงสิ่งนั้น ๆ, ไม่มีทางจะได้สิ่งที่มุ่งหมาย, วาสนาน้อยตกอับ ดู อภัพบุคคล

อาภัสสระ ผู้มีรัศมีแผ่ซ่าน, เปล่งปลั่ง,ชื่อพรหมโลกชั้นที่ ๖ ดู พรหมโลก (พจนานุกรมเขียน อาภัสระ)

อาภา แสง, รัศมี, ความสว่าง

อามะ คำรับในภาษาบาลี ตรงกับ ถูกแล้ว, ใช่, ครับ, ค่ะ, จ้ะ, เออ ถ้าผู้กล่าวรับเป็นผู้น้อยกว่าหรือมีพรรษาน้อยกว่า หรือเป็นคฤหัสถ์พูดกับพระสงฆ์ กล่าวต่อว่า ภันเต เป็น อามะ ภันเต ถ้าผู้กล่าวรับเป็นผู้ใหญ่กว่าหรือมีพรรษามากกว่า หรือเป็นพระสงฆ์พูดกับคฤหัสถ์ กล่าวต่อว่า อาวุโส เป็น อามะ อาวุโส (เขียนตามรูปบาลีเป็น อาม ภนเต, อาม อาวุโส)

อามัย ความป่วยไข้, โรค, ความไม่สบาย; ตรงข้ามกับ อนามัย คือความสบาย, ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ

อามิส เครื่องล่อใจ, เหยื่อ, สิ่งของ

อามิสทายาท ทายาทแห่งอามิส, ผู้รับมรดกอามิส, ผู้รับเอาสมบัติทางวัตถุ เช่น ปัจจัย ๔ จากพระพุทธเจ้ามาเสพเสวย ด้วยอาศัยผลแห่งพุทธกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญไว้; โดยตรง หมายถึงรับเอาปัจจัย ๔ มาบริโภค โดยอ้อม หมายถึง ทำกุศลที่นำไปสู่วัฏฏะ เช่นให้ทาน บำเพ็ญฌานสมาบัติ ด้วยมุ่งหมายมนุษยสมบัติและเทวสมบัติ; พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้เป็นธรรมทายาท มิให้เป็นอามิสทายาท เทียบ ธรรมทายาท

อามิสบูชา การบูชาด้วยอามิส คือ ด้วยสิ่งของมีดอกไม้ ของหอม อาหาร และวัตถุอื่นๆ (ข้อ ๑ ในบูชา ๒)

อามิสปฏิสันถาร การต้อนรับด้วยสิ่งของ เช่น อาหาร น้ำบริโภค เป็นต้น (ข้อ ๑ ใน ปฏิสันถาร ๒)

อามิสสมโภค คบหากันในทางอามิส ได้แก่ ให้หรือรับอามิส

อายโกศล ดู โกศล ๓

อายตนะ ที่ต่อ, เครื่องติดต่อ, แดนต่อความรู้, เครื่องรู้และสิ่งที่รู้ เช่น ตาเป็นเครื่องรู้ รูปเป็นสิ่งที่รู้, หูเป็นเครื่องรู้ เสียง เป็นสิ่งที่รู้ เป็นต้น, จัดเป็น ๒ ประเภท คือ อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖

อายตนะภายนอก เครื่องต่อภายนอก, สิ่งที่ถูกรู้มี ๖ คือ ๑. รูป รูป ๒ สัททะ เสียง ๓. คันธะ กลิ่น ๔. รส รส ๕. โผฏฐัพพะ สิ่งต้องกาย ๖ ธัมมะ ธรรมารมณ์ คือ อารมณ์ที่เกิดกับใจหรือสิ่งที่ใจรู้; อารมณ์ ๖ ก็เรียก

อายตนะภายใน เครื่องต่อภายใน, เครื่องรับรู้มี ๖ คือ ๑. จักขุ ตา ๒. โสต หู ๓. ฆาน จมูก ๔. ชิวหา ลิ้น ๕. กาย กาย ๖. มโน ใจ; อินทรีย์ ๖ ก็เรียก

อายาจนะ การขอร้อง, การวิงวอน, การเชื้อเชิญ

อายุกษัย, อายุขัย การสิ้นอายุ, ความตาย

อายุกัป, อายุกัปป์กาลกำหนดแห่งอายุ, กำหนดอายุ, ช่วงเวลาแต่เกิดถึงตายตามปกติหรือที่ควรจะเป็นของสัตว์ประเภทนั้นๆ ในยุคสมัยนั้นๆ ดู กัป

อายุวัฒนะ ความเจริญอายุ, ยืดอายุ, อายุยืน

อารมณ์ เครื่องยึดหน่วงของจิต, สิ่งที่จิตยึดหน่วง, สิ่งที่ถูกรู้หรือถูกรับรู้ ได้แก่ อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ ธรรมารมณ์; ในภาษาไทย ความหมายเลือนไปเป็นความรู้สึก หรือความเป็นไปแห่งจิตใจในขณะหรือช่วงเวลาหนึ่งๆ เช่นว่า อย่าทำตามอารมณ์ วันนี้อารมณ์ดี อารมณ์เสีย เป็นต้น

อารยะ คนเจริญ, คนมีอารยธรรม; พวกชนชาติ อริยกะ (ตรงกับบาลีว่า อริย แต่ในภาษาไทยใช้ในความหมายต่างกัน)

อารยชน ชนที่เจริญด้วยขนบธรรมเนียมอันดีงาม, คนมีอารยธรรม

อารยชาติ ชาติที่เจริญด้วยขนบธรรมเนียมอันดีงาม

อารยธรรม ธรรมอันดีงาม, ธรรมของอารยชน, ความเจริญด้วยขนบธรรมเนียมอันดีงาม; ในทางธรรม หมายถึง กุศลกรรมบถ ๑๐

อารยอัษฏางคิกมรรค ทางมีองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐ ดู มรรค

อารักขกัมมัฏฐาน กรรมฐานเป็นเครื่องรักษาตน, กรรมฐานเป็นเครื่องรักษาผู้ปฏิบัติให้สงบระงับ ซึ่งควรเจริญเป็นนิตย์ เป็นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงไว้ มี ๔ อย่างคือ ๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าที่มีในพระองค์ และทรงเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ๒. เมตตา แผ่ไมตรีจิต คิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า ๓. อสุภะ พิจารณาร่างกายตนและผู้อื่นให้เห็นเป็นไม่งาม ๔. มรณัสสติ นึกถึงความตายอันจะมีแก่ตนเป็นธรรมดา

อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ด้วยความหมั่น ไม่ให้เป็นอันตรายและรักษาการงานไม่ให้เสื่อมเสียไป (ข้อ ๒ ในทิฏฐธัมมิกัตถฯ)

อารักขา การขอความคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง เมื่อมีผู้ปองร้ายข่มเหง หรือถูกลักขโมยสิ่งของ เป็นต้นเรียกว่า ขออารักขา ถือเป็นการปฏิบัติชอบตามธรรมเนียมของภิกษุแทนการฟ้องร้องกล่าวหาอย่างที่ชาวบ้านทำกัน เพราะสมณะไม่พอใจจะเป็นถ้อยความกับใครๆ

อารักษ์, อารักขา การป้องกัน, การคุ้มครอง, การดูแลรักษา

อารัญญกวัตร ข้อปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้อยู่ป่า, ธรรมเนียมที่ภิกษุผู้อยู่ป่าพึงถือปฏิบัติ ตามพุทธบัญญัติที่มาในวัตตขันธกะ จัดเป็นหัวข้อได้ดังนี้ ก. ๑. ภิกษุผู้อยู่ป่า พึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ เอาถุงบาตรสวมบาตรแล้วคล้องบ่าไว้ พาดจีวรบนไหล่ สวมรองเท้า เก็บงำเครื่องไม้เครื่องดิน ปิดประตูหน้าต่างแล้วลงจากเสนาสนะ (ที่พักอาศัย) ไป ๒. ทราบว่า “บัดนี้จักเข้าหมู่บ้าน” พึงถอดรองเท้า เคาะต่ำๆ แล้วใส่ถุงคล้องบ่าไว้ นุ่งให้เป็นปริมณฑล คาดประคดเอว ห่มสังฆาฏิซ้อนเป็นสองชั้นกลัดลูกดุม ชำระบาตรแล้วถือเข้าหมู่บ้านโดยเรียบร้อยไม่รีบร้อน ไปในละแวกบ้านพึงปกปิดกายด้วยดี สำรวมด้วยดี ไม่เดินกระโหย่ง เมื่อจะเข้าสู่นิเวศน์ พึงกำหนดว่า เราจักเข้าทางนี้ จักออกทางนี้ ไม่พึงรีบร้อนเข้าไป ไม่พึงรีบร้อนออกมา พึงยืนไม่ไกลเกินไป ไม่ใกล้เกินไป ไม่นานเกินไป ไม่กลับออกเร็วเกินไป เมื่อยืนอยู่ พึงกำหนดว่า เขาประสงค์จะถวายภิกษาหรือไม่ ฯลฯ เมื่อเขาถวายภิกษา พึงแหวกสังฆาฏิด้วยมือซ้ายน้อมบาตรเข้าไปด้วยมือขวา ใช้มือทั้งสองประคองบาตรรับภิกษา ไม่พึงมองดูหน้าสตรีผู้ถวาย พึงกำหนดว่าเขาประสงค์จะถวายแกงหรือไม่ ฯลฯ เมื่อเขาถวายภิกษาแล้ว พึงคลุมบาตรด้วยสังฆาฏิแล้วกลับโดยเรียบร้อยไม่รีบร้อน เดินไปในละแวกบ้าน พึงปกปิดกายด้วยดี สำรวมด้วยดี ไม่เดินกระโหย่ง ๓. ออกจากบ้านแล้ว (หลังจากฉันและล้างบาตรแล้ว) เอาบาตรใส่ถุง คล้องบ่า พับจีวร วางบนศีรษะ สวมรองเท้าเดินไป ข. ภิกษุผู้อยู่ป่าพึงจัดเตรียมน้ำดื่มไว้ พึงจัดเตรียมน้ำใช้ไว้ พึงติดไฟเตรียมไว้ พึงจัดเตรียมไม้สีไฟไว้ พึงจัดเตรียมไม้เท้าไว้ ค. พึงเรียนทางนักษัตรไว้ (ดูดาวเป็น) ทั้งหมดหรือบางส่วน พึงเป็นผู้ฉลาดในทิศ

อารัญญิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร คือ ไม่อยู่ในเสนาสนะใกล้บ้านแต่อยู่ป่าห่างจากบ้านอย่างน้อย ๒๕ เส้น (ข้อ ๘ ในธุดงค์ ๑๓)

อารัมภกถา คำปรารภ, คำเริ่มต้น, คำนำ

อาราธนา การเชื้อเชิญ, นิมนต์, ขอร้อง, อ้อนวอน (มักใช้สำหรับพระสงฆ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์)

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น