Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๓๓-๖ หน้า ๓๒๕ - ๓๘๘

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓-๖ สุตตันตปิฎกที่ ๒๕ ขุททกนิกาย
อปทาน ภาค ๒ พุทธวงศ์ จริยาปิฎก



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๙. วนวัจฉเถราปทาน
[๒๕๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโลมสติยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โลมสติยเถราปทานที่ ๘ จบ
๙. วนวัจฉเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระวนวัจฉเถระ
(พระวนวัจฉเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๕๑] ในภัทรกัปนี้ พระชินเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๒๕๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ประพฤติพรหมจรรย์จนตลอดชีวิต
จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
[๒๕๓] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๒๕๔] จุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้ว ได้เกิดเป็นนกพิราบอยู่ในป่า
ในป่านั้นมีภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยคุณ
ยินดีในฌานทุกเมื่อ อาศัยอยู่
[๒๕๕] ท่านเป็นผู้มีจิตเมตตา ประกอบด้วยกรุณา
มีหน้าอิ่มเอิบทุกเมื่อ มีจิตวางเฉย
มีความเพียรมาก ฉลาดในอัปปมัญญา๑

เชิงอรรถ :
๑ อัปปมัญญา หมายถึงจิตที่ประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งแผ่ไปโดยไม่มีขอบเขต ไม่มี
ประมาณ (ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๐๘/๒๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๙. วนวัจฉเถราปทาน
[๒๕๖] มีความดำริปราศจากนิวรณ์๑
มีอัธยาศัยมุ่งประโยชน์แก่สรรพสัตว์ โดยไม่นาน
ข้าพเจ้าก็มีความคุ้นเคยในสาวกของพระสุคตองค์นั้น
[๒๕๗] เมื่อข้าพเจ้าไปเกาะอยู่แทบเท้าของท่าน
ผู้นั่งอยู่ในอาศรม ในครั้งนั้น บางครั้งท่านก็ให้อาหาร
บางครั้งท่านก็แสดงธรรม
[๒๕๘] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเข้าไปหาท่านผู้เป็นโอรสของพระชินเจ้า
ด้วยความรักอันไพบูลย์ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ได้ไปเกิดในสวรรค์ประหนึ่งจากที่อยู่
แล้วกลับไปยังที่อยู่ของตนฉะนั้น
[๒๕๙] ข้าพเจ้าจุติจากสวรรค์แล้ว
บังเกิดในหมู่มนุษย์ด้วยบุญกรรม
ได้สละเรือนออกบวชโดยมาก
[๒๖๐] ข้าพเจ้าเป็นสมณะ ดาบส พราหมณ์
ปริพาชกอยู่ในป่ามานานหลายร้อยชาติ
[๒๖๑] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย ข้าพเจ้าหยั่งลงสู่ครรภ์
แห่งภรรยาของพราหมณ์วัจฉโคตร
ในกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์
[๒๖๒] เมื่อข้าพเจ้ายังอยู่ในครรภ์มารดาของข้าพเจ้าแพ้ท้อง
ในเวลาที่ข้าพเจ้าใกล้คลอด ท่านตัดสินใจที่จะอยู่ป่า
[๒๖๓] จากนั้น มารดาของข้าพเจ้าได้คลอดข้าพเจ้า
ที่ชายป่าที่น่ารื่นรมย์
เมื่อข้าพเจ้าคลอดจากครรภ์มารดา
ชนทั้งหลายใช้ผ้ากาสายะรองรับไว้

เชิงอรรถ :
๑ นิวรณ์ หมายถึงธรรมกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดีมี ๕ อย่าง คือ (๑) กามฉันทะ ความพอใจในกาม
(๒) พยาบาท ความคิดร้าย (๓) ถีนมิทธะ ความหดหู่และเซื่องซึม (๔) อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน
และร้อนใจ (๕) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย (ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๑๕/๓๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๙. วนวัจฉเถราปทาน
[๒๖๔] ขณะนั้น พระสิทธัตถราชกุมาร
ผู้เป็นดังธงชัยของศากยวงศ์ก็ทรงประสูติ
ข้าพเจ้าเป็นสหายรักสนิทชิดชอบกันของพระองค์
[๒๖๕] เมื่อพระองค์ทรงละยศที่ไพบูลย์
เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์
โดยมุ่งสาระประโยชน์แก่หมู่สัตว์
แม้ข้าพเจ้าก็ออกบวชแล้วเข้าไปยังป่าหิมพานต์
[๒๖๖] ข้าพเจ้าพบพระกัสสปะผู้อยู่ป่า
ผู้ควรสรรเสริญ ผู้บอกกล่าวเรื่องธุดงค์
ก็ได้ฟังข่าวว่า พระชินเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
จึงได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นสารถีฝึกนรชน
[๒๖๗] พระองค์ได้ทรงแสดงธรรม
ประกาศประโยชน์ทุกประการแก่ข้าพเจ้า
จากนั้น ข้าพเจ้าบวชแล้วเข้าไปยังป่าตามเดิม
[๒๖๘] เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในป่านั้น
เป็นผู้ไม่ประมาทก็ได้สำเร็จอภิญญา ๖
โอ เราผู้ที่พระศาสดาผู้ทรงเป็นกัลยาณมิตรทรงอนุเคราะห์แล้ว
เป็นผู้มีลาภที่ได้ดีแล้วหนอ
[๒๖๙] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๗๐] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๑๐. จูฬสุคันธเถราปทาน
[๒๗๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระวนวัจฉเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
วนวัจฉเถราปทานที่ ๙ จบ
๑๐. จูฬสุคันธเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจูฬสุคันธเถระ
(พระจูฬสุคันธเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๗๒] ในภัทรกัปนี้ พระชินเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๒๗๓] พระองค์สมบูรณ์ด้วยอนุพยัญชนะ
มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑
มีพระรัศมีล้อมรอบข้างละวา
ทรงประกอบด้วยข่ายรัศมี
[๒๗๔] ทรงทำหมู่สัตว์ให้ยินดีได้เหมือนดวงจันทร์
เปล่งพระรัศมีเหมือนดวงอาทิตย์
ทำหมู่สัตว์ให้เยือกเย็นได้เหมือนเมฆฝน
เป็นบ่อเกิดแห่งคุณเหมือนทะเล(เป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ)
[๒๗๕] พระองค์เปรียบดังแผ่นดินโดยศีล
เปรียบดังภูเขาหิมพานต์โดยสมาธิ
เปรียบดังอากาศโดยปัญญา
เป็นผู้ไม่ข้องเกี่ยว(กับอะไร ๆ) เหมือนสายลม

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๑๐. จูฬสุคันธเถราปทาน
[๒๗๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลใหญ่
ที่มีทรัพย์และธัญญาหารมากมาย
เป็นที่สั่งสมรัตนะต่าง ๆ ในกรุงพาราณสี
[๒๗๗] ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ซึ่งประทับนั่งอยู่กับบริวารจำนวนมาก
ได้ฟังอมตธรรมที่นำมาซึ่งความยินดีแห่งจิต
[๒๗๘] พระพุทธองค์ทรงมีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑
เหมือนดวงจันทร์ซึ่งเป็นนักษัตรที่งาม
ทรงสมบูรณ์ด้วยอนุพยัญชนะ
เหมือนต้นพญาไม้สาละมีดอกบานสะพรั่ง
[๒๗๙] มีข่ายคือพระรัศมีแวดล้อม
เหมือนสุวรรณบรรพตมีรัศมีรุ่งเรือง
มีพระรัศมีล้อมรอบด้านละวา
เหมือนดวงอาทิตย์มีรัศมีเป็นร้อย
[๒๘๐] มีพระพักตร์เหมือนทองคำ
เป็นพระชินเจ้าผู้ประเสริฐ
เป็นดังขุนเขาที่ให้เกิดความยินดี
มีพระทัยเต็มด้วยพระกรุณา
มีพระคุณดุจสาคร
[๒๘๑] มีพระเกียรติปรากฏแก่ชาวโลก
เหมือนภูเขาสิเนรุซึ่งเป็นขุนเขาสูงสุด
มีพระยศแผ่ไป เป็นนักปราชญ์
เป็นผู้มีความรู้ดังอากาศ
[๒๘๒] มีพระหฤทัยไม่ข้องเกี่ยวในที่ทั้งปวงเหมือนสายลม
ทรงเป็นผู้นำ ทรงเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ดังแผ่นดิน
ทรงเป็นพระมุนีผู้ประเสริฐ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๑๐. จูฬสุคันธเถราปทาน
[๒๘๓] ไม่ถูกโลกธรรมแปดเปื้อน
เหมือนดอกบัวไม่เปื้อนด้วยน้ำ
ประทับอยู่ดังกองไฟที่เผาเสี้ยนตอคือวาทะชั่ว
[๒๘๔] พระองค์ทรงเป็นเหมือนยาบำบัดโรค ในที่ทั้งปวง
ทรงทำลายยาพิษคือกิเลสให้พินาศ
ทรงประดับด้วยสุคนธชาติคือคุณ
เหมือนยอดเขาคันธมาทน์
[๒๘๕] ทรงเป็นนักปราชญ์ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งคุณ
ดังทะเลเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ
และทรงเป็นผู้ประเสริฐกว่านรชน
ดังม้าสินธพชาติอาชาไนย
ทรงกำจัดมลทินคือกิเลส
[๒๘๖] ทรงย่ำยีมารและเสนามารได้
เหมือนขุนพลผู้มีชัยโดยพิเศษ
ทรงเป็นใหญ่เพราะรัตนะคือโพชฌงค์ ๗๑
เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นใหญ่
เพราะรัตนะ ๗ ประการ๒ ฉะนั้น
[๒๘๗] ทรงเป็นผู้เยียวยาพยาธิคือโทสะเหมือนหมอใหญ่รักษาไข้
ทรงผ่าฝีคือทิฏฐิเหมือนศัลยแพทย์ผู้ประเสริฐ
[๒๘๘] ครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงส่องโลกให้สว่าง
อันมนุษย์และเทวดาสักการะแล้ว
เป็นดังดวงตะวันส่องแสงสว่างให้แก่นรชน
ทรงแสดงธรรมในท่ามกลางบริษัท

เชิงอรรถ :
๑ ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๓๐/๓๓๑
๒ รัตนะ ๗ ประการ คือ (๑) จักกรัตนะ (จักรแก้ว) (๒) หัตถิรัตนะ (ช้างแก้ว) (๓) อัสสรัตนะ
(ม้าแก้ว) (๔) มณิรัตนะ (มณีแก้ว) (๕) อิตถีรัตนะ (นางแก้ว) (๖) คหปติรัตนะ (ขุนคลังแก้ว)
(๗) ปริณายกรัตนะ (ขุนพลแก้ว) (ที.ม. (แปล) ๑๐/๓๓/๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๑๐. จูฬสุคันธเถราปทาน
[๒๘๙] พระองค์ทรงพร่ำสอนอย่างนี้ว่า
บุคคลจะเป็นผู้มีโภคสมบัติมากได้ก็เพราะการถวายทาน
จะเข้าถึงสุคติได้ก็เพราะศีล
จะดับกิเลสได้ก็เพราะการเจริญภาวนา
[๒๙๐] บริษัททั้งหลายทั้งปวงฟังเทศนานั้นที่มีความเบาใจมาก
ซึ่งไพเราะทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด
มีรสเลิศประหนึ่งน้ำอมฤต
[๒๙๑] ข้าพเจ้าได้ฟังพระธรรมที่ไพเราะยิ่ง
ก็เกิดความเลื่อมใสในศาสนาของพระชินเจ้า
จึงถึงพระสุคตเป็นที่พึ่งนอบน้อมบูชาจนตลอดชีวิต
[๒๙๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้านั้นได้ใช้คันธชาติ ๔ ชนิด๑
ทาพื้นพระคันธกุฎีของพระมุนีเดือนละ ๘ วัน
[๒๙๓] โดยตั้งปณิธานให้สรีระที่ปราศจากกลิ่นหอมให้มีกลิ่นหอม
ครั้งนั้น พระชินเจ้าได้ตรัสพยากรณ์
ข้าพเจ้าผู้ต้องการได้กายมีกลิ่นหอมว่า
[๒๙๔] นรชนใด ใช้ของหอมทาพื้นพระคันธกุฎีคราวเดียว
ด้วยผลของกรรมนั้น นรชนนั้นเกิดในภพใดภพหนึ่ง
[๒๙๕] นรชนนี้จักเป็นผู้มีกลิ่นกายหอมไปทุก ๆ ชาติ
จักเป็นผู้ประกอบด้วยกลิ่นคือคุณ ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๒๙๖] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

เชิงอรรถ :
๑ คันธชาติ ๔ ชนิด คือ (๑) กลิ่นที่เกิดจากราก (๒) กลิ่นที่เกิดจากแก่น (๓) กลิ่นที่เกิดจากดอก
(๔) กลิ่นที่เกิดจากใบ (องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๘๐/๓๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๑๐. จูฬสุคันธเถราปทาน
[๒๙๗] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลพราหมณ์
เมื่อข้าพเจ้ายังอยู่ในครรภ์มารดา
มารดาเป็นหญิงมีกายมีกลิ่นหอม
[๒๙๘] และในเวลาที่ข้าพเจ้าคลอดจากครรภ์มารดานั้น
กรุงสาวัตถีหอมฟุ้งเหมือนอบด้วยกลิ่นหอมทุกอย่าง
[๒๙๙] ขณะนั้น ฝนดอกไม้ที่หอมหวล
กลิ่นทิพย์ที่น่ารื่นรมย์ใจ และธูปมีค่ามากก็หอมฟุ้งไป
[๓๐๐] ข้าพเจ้าเกิดในเรือนหลังใด
เรือนหลังนั้น เทวดาได้ใช้ธูปและดอกไม้
ล้วนแต่มีกลิ่นหอมและเครื่องหอมมาอบ
[๓๐๑] ในเวลาที่ข้าพเจ้ายังเยาว์และเจริญวัยดำรงอยู่ในปฐมวัย
พระศาสดาผู้เป็นสารถีฝึกนรชน
ทรงแนะนำบริษัทของพระองค์ที่เหลือแล้ว
[๓๐๒] มีสาวกเหล่านั้นทั้งหมดแวดล้อมเสด็จมาถึงกรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพุทธานุภาพนั้นแล้วจึงออกบวช
[๓๐๓] ข้าพเจ้าเจริญธรรม ๔ ประการ
คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติอันยอดเยี่ยม
แล้วบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ
[๓๐๔] ในคราวที่ข้าพเจ้าออกบวช
ในคราวที่ข้าพเจ้าเป็นพระอรหันต์
และในคราวที่ข้าพเจ้าจักปรินิพพาน
ได้มีฝนซึ่งมีกลิ่นหอม(ตกลงมา)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] ๑๐. จูฬสุคันธเถราปทาน
[๓๐๕] ก็กลิ่นกายที่ประเสริฐสุดของข้าพเจ้า
ครอบงำจันทน์ ดอกจำปาและดอกอุบลซึ่งมีค่ามากได้
และข้าพเจ้าไปในที่ใด ๆ
ก็จะส่งกลิ่นฟุ้งไปทั่วเหนือกลิ่นหอมนอกนี้ได้
[๓๐๖] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๐๗] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๐๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระจูฬสุคันธเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
จูฬสุคันธเถราปทานที่ ๑๐ จบ
ภัททิยวรรคที่ ๕๕ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ลกุณฏกภัททิยเถราปทาน ๒. กังขาเรวตเถราปทาน
๓. สีวลีเถราปทาน ๔. วังคีสเถราปทาน
๕. นันทกเถราปทาน ๖. กาฬุทายีเถราปทาน
๗. อภยเถราปทาน ๘. โลมสติยเถราปทาน
๙. วนวัจฉเถราปทาน ๑๐. จูฬสุคันธเถราปทาน

ในวรรคนี้ บัณฑิตนับคาถาได้ ๓๑๖ คาถา
รวมวรรค

๑. กณิการวรรค ๒. ผลทายกวรรค
๓. ติณทายกวรรค ๔. กัจจายนวรรค
๕. ภัททิยวรรค

บัณฑิตนับคาถาไว้แผนกหนึ่งรวมได้ ๙๘๔ คาถา
และประกาศอปทานรวมได้ ๕๕๖ อปทาน
พร้อมทั้งอุทานคาถา มีคาถารวม ๖,๒๑๘ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๑. ยสเถราปทาน
๕๖. ยสวรรค
หมวดว่าด้วยพระยสเถระเป็นต้น
๑. ยสเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระยสเถระ
(พระยสเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] วิมาน ข้าพเจ้าได้สร้างไว้ดีแล้ว
ให้ยื่นลงไปในมหาสมุทร
สระโบกขรณีข้าพเจ้าก็สร้างไว้ดีแล้ว
ทั้งยังมีนกจักรพากมาส่งเสียงร้องขับขาน
[๒] ที่วิมานนั้นแม่น้ำก็ดารดาษด้วยบัวเผื่อน
ดอกปทุมและดอกอุบล
มีท่าน้ำราบเรียบน่ารื่นรมย์ใจ
กระแสน้ำก็ไหลไปเอื่อย ๆ
[๓] แม่น้ำนั้นก็ชุกชุมไปด้วยปลาและเต่า
คลาคล่ำไปด้วยนกนานาชนิด มีนกยูง นกกระเรียน
และนกดุเหว่าเป็นต้น ต่างก็ส่งเสียงร้องอย่างไพเราะ
[๔] ที่ริมแม่น้ำนี้มีนกพิราบ นกเป็ดน้ำ
นกจักรพาก นกกาน้ำ นกกระทา
นกสาลิกา นกเขาไฟ นกโพระดก
[๕] หงส์ นกกระเรียน นกเค้าแมว
นกขมิ้นเหลืองอ่อนมากมายพากันส่งเสียงร้อง
แม่น้ำก็สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
มีแก้วมณี แก้วมุกดา และแก้วประพาฬเป็นต้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๑. ยสเถราปทาน
[๖] ต้นไม้ทุกชนิดล้วนเป็นทองคำ
แออัดยัดเยียดด้วยลำต้นขนาดต่าง ๆ
ส่องวิมานของข้าพเจ้าให้สว่าง
ทั้งกลางวันและกลางคืน ตลอดกาลทุกเมื่อ
[๗] เครื่องดนตรี ๖๐,๐๐๐ ชิ้นก็บรรเลงอยู่ทั้งเช้าและเย็น
สตรี ๑๖,๐๐๐ นาง ก็แวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
[๘] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดีออกจากวิมานแล้ว
กราบไหว้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก มีพระยศยิ่งใหญ่พระองค์นั้น
[๙] ข้าพเจ้าครั้นถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
จึงทูลนิมนต์พระพุทธองค์พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงเป็นนักปราชญ์พระองค์นั้น ทรงรับนิมนต์แล้ว
[๑๐] พระมหามุนี ทรงแสดงธรรมีกถาแก่ข้าพเจ้าแล้ว
จึงส่งข้าพเจ้าไป ข้าพเจ้าถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
จึงเข้าสู่วิมานของตน
[๑๑] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเรียกบริวารชนมาประชุมกันทั้งหมด
โดยแจ้งให้ทราบว่า พระพุทธเจ้าจะเสด็จมายังวิมานของเรา
ในเวลาเช้า
[๑๒] การที่พวกเราอยู่ในที่ใกล้ของพระองค์
นับว่าเป็นลาภของพวกเราที่พวกเราได้ดีแล้ว
แม้พวกเราก็จักได้บูชาพระศาสดา
ผู้เป็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๑. ยสเถราปทาน
[๑๓] ข้าพเจ้าจัดตั้งข้าวน้ำเสร็จแล้ว
จึงให้คนไปกราบทูลบอกเวลา
พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ได้เสด็จมาถึงพร้อมด้วยพระอรหันต์ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ผู้ได้วสี
[๑๔] ข้าพเจ้าได้รับเสด็จด้วยดนตรีประกอบด้วยองค์ ๕๑
พระพุทธเจ้าผู้เป็นบุรุษสูงสุด
ประทับนั่งบนตั่งที่เป็นทองคำล้วน
[๑๕] คราวนั้น เครื่องมุงเบื้องบนเป็นทองคำล้วน
เหล่าชนพากันกระพือพัดภิกษุสงฆ์ผู้ยอดเยี่ยม
[๑๖] ข้าพเจ้าเลี้ยงภิกษุสงฆ์
ให้อิ่มหนำด้วยข้าวน้ำอย่างเพียงพอ
ได้ถวายผ้าแก่ภิกษุสงฆ์องค์ละคู่
[๑๗] พระพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้สมควรรับเครื่องบูชาพระองค์นั้น
ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์แล้ว
ได้ตรัสคำเป็นพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๘] เราจักประกาศเกียรติคุณ
ของผู้ที่เลี้ยงเราและภิกษุเหล่านี้ทั้งหมด
ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๑๙] ผู้นั้นจักรื่นเริงในเทวโลกตลอด ๑,๘๐๐ กัป
จักเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ

เชิงอรรถ :
๑ ดนตรีประกอบด้วยองค์ ๕ คือ (๑) อาตตะ (โทน) (๒) วิตตะ (ตะโพน) (๓) อาตตวิตตะ (บันเฑาะว์)
(๔) ฆานะ (กังสดาล) (๕) สุสิระ (ปี่,สังข์) (ขุ.วิ.อ. ๓๔/๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๑. ยสเถราปทาน
[๒๐] เขาจะเกิดยังกำเนิดใด
คือจะเป็นกำเนิดเทวดาหรือกำเนิดมนุษย์ก็ตาม
เขาจักมีเครื่องมุงบังที่เป็นทองคำล้วนคอยกางกั้น
[๒๑] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๒๒] เขาจักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๒๓] เขาจักนั่งในท่ามกลางพระสงฆ์ บันลือสีหนาท
ชนทั้งหลายคอยกั้นฉัตรให้เขาแม้ที่เชิงตะกอน
เขาจักถูกเผาภายใต้ฉัตร
[๒๔] สามัญผลข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ข้าพเจ้าไม่มีความสะดุ้งไม่ว่าจะเป็นที่มณฑปหรือที่โคนไม้
[๒๕] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายทานทั้งปวง
[๒๖] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๗] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๒. นทีกัสสปเถราปทาน
[๒๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระยสเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ยสเถราปทานที่ ๑ จบ
๒. นทีกัสสปเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนทีกัสสปเถระ
(พระนทีกัสสปเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่ ผู้เป็นพระศาสดา
เสด็จโคจรบิณฑบาต
ข้าพเจ้าได้ถือผลไม้ที่มีรสเลิศ อันยอดเยี่ยม มีชื่อเสียง
ตามวาระได้ถวายแด่พระองค์
[๓๐] เพราะกรรมนั้น ข้าพเจ้าได้เกิดเป็นจอมเทพ
ผู้เจริญที่สุดในโลก เป็นผู้องอาจกว่านรชน
ละความชนะและความพ่ายแพ้ได้แล้ว
บรรลุฐานะที่ไม่หวั่นไหว
[๓๑] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผลไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้ที่มีรสเลิศ
[๓๒] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๓. คยากัสสปเถราปทาน
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๓] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนทีกัสสปเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นทีกัสสปเถราปทานที่ ๒ จบ
๓. คยากัสสปเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระคยากัสสปเถระ
(พระคยากัสสปเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้านุ่งห่มหนังสัตว์
สะพายหาบบริขาร
ได้นำหาบใส่ผลกระเบาไปอาศรม
[๓๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคชินเจ้าพระองค์เดียว
ไม่มีสาวกติดตาม ทรงมีพระรัศมีโชติช่วงตลอดกาลทั้งปวง
ได้เสด็จเข้ามายังอาศรมของข้าพเจ้า
[๓๗] ข้าพเจ้าทำจิตของตนให้เลื่อมใส
ถวายอภิวาทพระชินเจ้าผู้มีวัตรงดงาม
ถวายผลกระเบาแด่พระพุทธเจ้าด้วยมือทั้ง ๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๔. กิมิลเถราปทาน
[๓๘] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้
ข้าพเจ้าได้ถวายผลไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลกระเบา
[๓๙] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๔๐] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระคยากัสสปเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
คยากัสสปเถราปทานที่ ๓ จบ
๔. กิมิลเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกิมิลเถระ
(พระกิมิลเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะ
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ ทรงอยู่จบพรหมจรรย์
เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ข้าพเจ้าถือเอาพวงมาลัยดอกสนไปให้ช่างทำมณฑป(สถูป)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๔. กิมิลเถราปทาน
[๔๓] ข้าพเจ้าไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ได้วิมานชั้นสูงสุด รุ่งเรืองล่วงเทวดาเหล่าอื่น
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๔๔] ข้าพเจ้าเมื่อจงกรมและยืนอยู่ในเวลากลางวัน
หรือกลางคืนก็ตาม ก็มีดอกสนมุงบัง
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๔๕] ในกัปนี้เอง ข้าพเจ้าได้บูชาพระพุทธเจ้าไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๔๖] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๔๗] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกิมิลเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กิมิลเถราปทานที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๕. วัชชีปุตตเถราปทาน
๕. วัชชีปุตตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระวัชชีบุตรเถระ
(พระวัชชีบุตรเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๙] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสหัสสรังสี
ทรงเป็นพระสยัมภู ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้
ทรงออกจากวิเวกแล้ว เสด็จออกโคจรบิณฑบาต
[๕๐] ข้าพเจ้าถือผลไม้อยู่เห็นแล้วจึงไปใกล้พระพุทธองค์
ผู้องอาจกว่านรชน เป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ถวายผลไม้พร้อมทั้งขั้ว
[๕๑] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผลไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
[๕๒] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๕๓] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๕๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระวัชชีบุตรเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
วัชชีปุตตเถราปทานที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๖. อุตตรเถราปทาน
๖. อุตตรเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุตตรเถระ
(พระอุตตรเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๕] พระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑
พระองค์ผู้มีวิเวกเป็นเยี่ยม จึงเสด็จเข้าไปยังป่าหิมพานต์
[๕๖] ครั้นเสด็จถึงป่าหิมพานต์แล้ว พระมุนีผู้เลิศ
ผู้เป็นบุรุษสูงสุด ทรงประกอบด้วยพระกรุณา
ก็ประทับนั่งขัดสมาธิ
[๕๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นวิทยาธรสัญจรไปในอากาศ
ถือหลาวคมซึ่งทำดีแล้ว เหาะไปในท้องฟ้า
[๕๘] พระพุทธเจ้าทรงทำป่าใหญ่ให้สว่างไสว
เหมือนไฟบนยอดภูเขา เหมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญ
เหมือนต้นพญาไม้สาละซึ่งมีดอกบานสะพรั่ง ฉะนั้น
[๕๙] ข้าพเจ้าเห็นพุทธรังสี มีสีคล้ายเปลวไฟที่ไหม้ไม้อ้อ
พวยพุ่งออกจากป่า จึงทำจิตให้เลื่อมใส
[๖๐] ข้าพเจ้าเลือกเก็บดอกไม้อยู่
ได้เห็นดอกกรรณิการ์ซึ่งมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นทิพย์
จึงเก็บมา ๓ ดอก ได้บูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๖๑] ครั้งนั้น ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า
ดอกไม้ของข้าพเจ้าทั้ง ๓ ดอกกลับขั้วขึ้นหันกลีบดอกลง
ทำเป็นร่มเงาเพื่อพระศาสดา
[๖๒] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๖. อุตตรเถราปทาน
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๖๓] ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น
วิมานสูง ๖๐ โยชน์ กว้าง ๓๐ โยชน์
ซึ่งบุญกรรมสร้างขึ้นอย่างสวยงามเพื่อข้าพเจ้า
รู้จักกันว่ากรรณิการ์วิมาน
[๖๔] ปราสาท ๗ ชั้นสูง ๑,๐๐๐ ชั่วลูกธนู
สะพรั่งไปด้วยธง พราวไปด้วยแก้วมณีสีเขียว
และป้อม ๑๐๐,๐๐๐ ป้อม ปรากฏในวิมานของข้าพเจ้า
[๖๕] บัลลังก์ทองคำ บัลลังก์แก้วมณี
บัลลังก์แก้วทับทิม และบัลลังก์แก้วผลึก
เกิดขึ้นตามปรารถนาตามประสงค์
[๖๖] ที่นอนมีราคามากยัดด้วยนุ่น
มีลวดลายต่าง ๆ มีขนตั้งขึ้นด้านเดียวและหมอนพร้อม
[๖๗] ข้าพเจ้ามีหมู่เทวดาห้อมล้อมออกจากวิมาน
เที่ยวจาริกไปในเทวโลก
ในเวลาที่ปรารถนาจะไป
[๖๘] ยืนอยู่ภายใต้ดอกไม้
ข้าพเจ้ามีดอกไม้เป็นเครื่องมุงบังอยู่เบื้องบน
สถานที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์มุงบังไปด้วยดอกกรรณิการ์
[๖๙] เครื่องดนตรี ๖๐,๐๐๐ ชิ้น บรรเลงกล่อมข้าพเจ้าทั้งเช้าและเย็น
ไม่หยุดหย่อน แวดล้อมข้าพเจ้าเป็นนิตย์ ตลอดคืนตลอดวัน
[๗๐] ในวิมานนั้น ข้าพเจ้ารื่นรมย์ด้วยการฟ้อน
การขับร้อง การเคาะกังสดาล และการประโคม
ข้าพเจ้าเป็นผู้หมกมุ่นในกาม บันเทิงอยู่ด้วยความยินดีในการเล่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๖. อุตตรเถราปทาน
[๗๑] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าบริโภคและดื่มอยู่ในวิมานนั้น
บันเทิงอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ข้าพเจ้าพร้อมด้วยหมู่นางอัปสรบันเทิงอยู่ในวิมานอันอุดม
[๗๒] ข้าพเจ้าครองเทวสมบัติตลอด ๕๐๐ ชาติ
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๐๐ ชาติ
และได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๗๓] เมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
ย่อมได้โภคะมากมาย ข้าพเจ้าไม่มีความบกพร่องในโภคะเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๗๔] ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน ๒ ภพ
คือ (๑) ภพเทวดา (๒) ภพมนุษย์
คติอื่นข้าพเจ้าไม่รู้จักเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๗๕] ข้าพเจ้าเกิดเฉพาะใน ๒ ตระกูล
คือ (๑) ตระกูลกษัตริย์ (๒) ตระกูลพราหมณ์
ตระกูลต่ำข้าพเจ้าไม่รู้จักเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๗๖] ยานคือช้าง ยานคือม้า วอและคานหาม
ข้าพเจ้าก็ได้รับมาครบถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๗๗] หมู่ทาสหญิง ทาสชาย
และเหล่านารีที่ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม
ข้าพเจ้าก็ได้รับมาครบถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๗๘] ผ้าไหม ผ้ากัมพล ผ้าเปลือกไม้ และผ้าฝ้าย
ข้าพเจ้าก็ได้รับมาครบถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๖. อุตตรเถราปทาน
[๗๙] ผ้าใหม่ ผลไม้ใหม่ โภชนะมีรสเลิศใหม่ ๆ
ข้าพเจ้าก็ได้รับมาครบถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๘๐] (คำเชื้อเชิญเช่นนี้ว่า) เชิญเคี้ยวกินสิ่งนี้
เชิญบริโภคสิ่งนี้ เชิญนอนบนที่นอนนี้
ข้าพเจ้าก็ได้รับมาครบถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๘๑] ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่เขาบูชาในที่ทุกสถาน
มียศสูงส่ง มีพวกมาก มีบริวารไม่แตกแยกกันทุกเมื่อ
บรรดาพวกญาติ ข้าพเจ้าเป็นผู้ประเสริฐที่สุด
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๘๒] ข้าพเจ้าไม่รู้จักความหนาว ความร้อน
ทั้งไม่มีความเร่าร้อน
อนึ่ง ทุกข์ทางใจก็ไม่มีในหทัยของข้าพเจ้า
[๘๓] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีผิวพรรณดุจทองคำ
เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
ความเป็นผู้ผิวพรรณทรามข้าพเจ้าไม่รู้จักเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๘๔] ข้าพเจ้าถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจุติจากเทวโลก
เกิดในตระกูลมหาศาลที่มั่งคั่งในกรุงสาวัตถี
[๘๕] ข้าพเจ้าได้ละกามคุณ ๕๑ ออกบวชเป็นบรรพชิต
มีอายุได้ ๗ ขวบ ก็ได้บรรลุอรหัตตผล

เชิงอรรถ :
๑ กามคุณ ๕ หมายถึงสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ ๕ อย่าง คือ รูป,เสียง,กลิ่น,รส และโผฏฐัพพะ
(ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๑๕/๓๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๖. อุตตรเถราปทาน
[๘๖] พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ
ทรงทราบคุณวิเศษของข้าพเจ้า
จึงให้ข้าพเจ้าอุปสมบท
ข้าพเจ้ามีอายุน้อยอยู่ก็ได้เป็นปูชนียบุคคล
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๘๗] ทิพยจักษุของข้าพเจ้าบริสุทธิ์ ข้าพเจ้าผู้ฉลาดในสมาธิ
ถึงความสำเร็จอภิญญา
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๘๘] ข้าพเจ้าบรรลุปฏิสัมภิทา ฉลาดในอิทธิบาท๑
ถึงความสำเร็จในธรรมทั้งหลาย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๘๙] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บูชาพระพุทธเจ้าไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๙๐] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๙๑] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ อิทธิบาท หมายถึงคุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ มี ๔ อย่าง คือ (๑) ฉันทะ (ความพอใจรักใคร่สิ่งนั้น)
(๒) วิริยะ (ความพยายามทำสิ่งนั้น) (๓) จิตตะ (ความเอาใจฝักใฝ่สิ่งนั้น) (๔) วิมังสา (ความพิจารณา
ใคร่ครวญหาเหตุผลในสิ่งนั้น) (ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๐๖/๒๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๗. อปรอุตตรเถราปทาน
[๙๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุตตรเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุตตรเถราปทานที่ ๖ จบ
๗. อปรอุตตรเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอปรอุตตรเถระ
(พระอปรอุตตรเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙๓] เมื่อพระสิทธัตถโลกนาถ ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ข้าพเจ้าได้นำหมู่ญาติของข้าพเจ้ามาทำการบูชาพระธาตุ
[๙๔] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บูชาพระธาตุไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระธาตุ
[๙๕] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๙๖] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๘. ภัททชิเถราปทาน
[๙๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอปรอุตตรเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อปรอุตตรเถราปทานที่ ๗ จบ
๘. ภัททชิเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระภัททชิเถระ
(พระภัททชิเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙๘] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าลงสู่สระโบกขรณี
ที่ช้างนานาชนิดอาศัยอาบกิน(ดื่มกิน)
ถอนเหง้าบัวในสระโบกขรณีนั้นขึ้นมา
เพราะเหตุต้องการจะกิน
[๙๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงผ้ากาสาวะรุ่งเรืองดุจนภาสีทอง
เสด็จเหาะไปในอากาศ
[๑๐๐] ครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงสะบัดผ้าบังสุกุล
ข้าพเจ้าได้ยินเสียงจึงแหงนหน้าขึ้นดู
ได้พบพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[๑๐๑] ข้าพเจ้ายืนอยู่ ณ ที่นั้นเอง
ได้ทูลอ้อนวอนพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า
น้ำผึ้งพร้อมทั้งเหง้าบัว
น้ำนม เนยใสที่มีอยู่ในก้านบัว มีอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๘. ภัททชิเถราปทาน
[๑๐๒] ขอพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุจงรับเพื่ออนุเคราะห์ข้าพระองค์เถิด
ลำดับนั้น พระศาสดาผู้ประกอบด้วยพระกรุณา
มีพระยศยิ่งใหญ่เสด็จลงจากอากาศ
[๑๐๓] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ
ทรงรับภิกษาหารของข้าพเจ้าเพื่อทรงอนุเคราะห์
ครั้นทรงรับภิกษาหารแล้ว
ได้กระทำอนุโมทนาแก่ข้าพเจ้าว่า
[๑๐๔] ท่านผู้มีบุญมาก ขอจงมีความสุขเถิด
คติจงสำเร็จแก่เธอ ด้วยการถวายเหง้าบัวนี้
เธอจงได้รับความสุขอันไพบูลย์เถิด
[๑๐๕] พระชินสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ครั้นตรัสพระดำรัสนี้แล้ว
ทรงรับภิกษาหารแล้วเหาะไปทางอากาศ
[๑๐๖] ลำดับนั้น ข้าพเจ้าถือเหง้าบัวกลับมายังอาศรม
ของข้าพเจ้า แขวนเหง้าบัวไว้ที่ต้นไม้
แล้วระลึกถึงทานของตน
[๑๐๗] ครั้งนั้น ลมพายุใหญ่ก็เกิดขึ้น
ได้พัดป่าให้ปั่นป่วน
ครั้งนั้น อากาศบันลือลั่นและฟ้าผ่าลงมา
[๑๐๘] ลำดับนั้น สายฟ้าผ่าลงที่ศีรษะของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าเป็นผู้นั่งตายในที่นั้นเอง
[๑๐๙] ข้าพเจ้าประกอบด้วยบุญกรรม
จึงไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ทิ้งไว้แต่ซากศพ
ข้าพเจ้าอภิรมย์อยู่ในเทวโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๘. ภัททชิเถราปทาน
[๑๑๐] เทพอัปสร ๘๖,๐๐๐ นางล้วนประดับตกแต่งอย่างสวยงาม
ปรนนิบัติข้าพเจ้าทั้งเช้าและเย็น
นี้เป็นผลแห่งการถวายเหง้าบัว
[๑๑๑] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ากลับมาเกิดยังกำเนิดมนุษย์
เป็นผู้มีความสุข ข้าพเจ้าไม่มีความพร่องในโภคะเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายเหง้าบัว
[๑๑๒] ข้าพเจ้าอันพระพุทธเจ้าผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ
ผู้คงที่พระองค์นั้นทรงอนุเคราะห์แล้ว อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไป
บัดนี้ ภพใหม่ย่อมไม่มี
[๑๑๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายเหง้าบัวไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายเหง้าบัว
[๑๑๔] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๑๕] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๑๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระภัททชิเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ภัททชิเถราปทานที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๙. สิวกเถราปทาน
๙. สิวกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสิวกเถระ
(พระสิวกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๑๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เสด็จเที่ยวบิณฑบาตอยู่
ข้าพเจ้าเห็นบาตรที่ว่างเปล่า
จึงได้ถวายขนมกุมมาสจนเต็มบาตร
[๑๑๘] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายภิกษาไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายขนมกุมมาส
[๑๑๙] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๒๐] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๒๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสิวกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สิวกเถราปทานที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๑๐. อุปวานเถราปทาน
๑๐. อุปวานเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุปวานเถระ
(พระอุปวานเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๒๒] พระชินสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง
ทรงรุ่งเรืองดังกองไฟเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
[๑๒๓] มหาชนมาประชุมกันบูชาพระตถาคต
สร้างจิตกาธานอย่างงดงามแล้ว ยกพระสรีระขึ้นวางไว้
[๑๒๔] ชนเหล่านั้นทั้งหมด พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์
ถวายพระเพลิงพุทธสรีระแล้ว รวบรวมพระธาตุ
พากันสร้างพุทธสถูปไว้ ณ ที่นั้น
[๑๒๕] สถูปชั้นที่ ๑ ทำด้วยทองคำ
ชั้นที่ ๒ ทำด้วยแก้วมณี ชั้นที่ ๓ ทำด้วยเงิน
ชั้นที่ ๔ ทำด้วยแก้วผลึก
[๑๒๖] ที่พระสถูปนั้น ชั้นที่ ๕ ทำด้วยแก้วทับทิม
ชั้นที่ ๖ ทำด้วยแก้วลาย
ชั้นที่สูง ๆ ขึ้นไปจากนี้ทำด้วยแก้วทั้งหมด
[๑๒๗] ร่างร้าน ทำด้วยแก้วมณี
ไพที(แท่นสำหรับวางเครื่องสักการะ) ทำด้วยรัตนะ
องค์พระสถูปทำด้วยทองคำล้วน สูงขึ้นไปหนึ่งโยชน์
[๑๒๘] ครั้งนั้น หมู่เทวดามาประชุมกัน ณ ที่นั้นแล้วร่วมปรึกษากันว่า
ถึงพวกเราก็จักสร้างพระสถูปเพื่อบูชาพระโลกนาถ ผู้คงที่
[๑๒๙] พระบรมสารีริกธาตุไม่แยกกัน คือรวมเป็นกลุ่มเดียวกัน
พวกเราจักสร้างพระสถูปครอบไว้ที่พระพุทธสถูปนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๑๐. อุปวานเถราปทาน
[๑๓๐] หมู่เทพได้ขยายพระสถูปให้สูงขึ้นไปอีกหนึ่งโยชน์
ด้วยรัตนะทั้ง ๗ ประการ
พระสถูปองค์นั้นจึงมีความสูง ๒ โยชน์
ซึ่งส่องสว่างขจัดความมืดได้
[๑๓๑] ครั้งนั้น พวกนาคมาประชุมกัน ณ ที่นั้นแล้ว
ร่วมปรึกษากันว่า มนุษย์และเทวดาเหล่านั้น
ได้พากันสร้างพระพุทธสถูปเสร็จแล้ว
[๑๓๒] พวกเราอย่าได้ประมาทกันเลย
มนุษย์และเทวดาไม่ประมาทกันแล้ว
ถึงพวกเราก็จักสร้างพระสถูป
เพื่อบูชาพระโลกนาถ ผู้คงที่
[๑๓๓] พวกนาคพากันรวบรวมแก้วมรกต แก้วมหานิล
และแก้วมณีโชติรส ช่วยกันประดับพระพุทธสถูป
[๑๓๔] ครั้งนั้น พระสถูปทั้งองค์ สำเร็จด้วยแก้วมณี
จนกระทั่งเป็นพุทธเจดีย์สูง ๓ โยชน์ ส่องแสงสว่างไสว
[๑๓๕] ครั้งนั้น พวกครุฑมาประชุมกันแล้ว
ร่วมปรึกษากันว่า มนุษย์ เทวดา
และนาคเหล่านั้นได้พากันทำพุทธบูชาแล้ว
[๑๓๖] พวกเราอย่ามัวประมาทอยู่เลย
มนุษย์ นาค และเทวดาไม่ประมาทกันแล้ว
ถึงพวกเราก็จักสร้างพระสถูป
เพื่อบูชาพระโลกนาถ ผู้คงที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๑๐. อุปวานเถราปทาน
[๑๓๗] ครุฑเหล่านั้น ได้สร้างพระสถูป
ครอบพระสถูปแก้วมณีทั้งองค์
แม้พวกเขาก็ได้ขยายพระพุทธเจดีย์ให้กว้างไปอีกหนึ่งโยชน์
[๑๓๘] พระพุทธสถูปสูงขึ้นไปอีก ๔ โยชน์ รุ่งโรจน์
ย่อมส่องสว่างไปทั่วทุกทิศ ดุจดวงอาทิตย์อุทัย
[๑๓๙] ครั้งนั้น พวกกุมภัณฑ์มาประชุมกันแล้ว
ร่วมปรึกษากันว่า มนุษย์ เทวดา
นาค และครุฑก็เป็นเหมือนกันหมด
[๑๔๐] ต่างก็ได้พากันสร้างพระสถูปที่อุดมพวกละองค์
บูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
พวกเราอย่ามัวประมาทกันเลย
มนุษย์และเทวดาไม่ประมาทกันแล้ว
[๑๔๑] ถึงพวกเราก็จักสร้างพระสถูป
เพื่อบูชาพระโลกนาถ ผู้คงที่
จักใช้รัตนะทั้งหลายประดับพระพุทธเจดีย์ให้กว้างออกไป
[๑๔๒] กุมภัณฑ์แม้เหล่านั้น
ได้ขยายพระพุทธเจดีย์ให้กว้างออกไปอีกหนึ่งโยชน์
ครั้งนั้น พระสถูปจึงสูงขึ้นเป็น ๕ โยชน์
ย่อมส่องแสงสว่างไสว
[๑๔๓] ครั้งนั้น พวกยักษ์มาประชุมกัน ณ ที่นั้นแล้ว
ร่วมปรึกษากันว่า มนุษย์ เทวดา
นาค ครุฑ และกุมภัณฑ์
[๑๔๔] ต่างก็ได้พากันสร้างพระสถูป
ที่ประเสริฐสุดพวกละองค์บูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๑๐. อุปวานเถราปทาน
พวกเราอย่ามัวประมาทกันเลย
มนุษย์และเทวดาไม่ประมาทกันแล้ว
[๑๔๕] ถึงพวกเราก็จักสร้างพระสถูป บูชาพระโลกนาถ ผู้คงที่
นำแก้วผลึกมาประดับพระพุทธเจดีย์ให้กว้างออกไปอีก
[๑๔๖] ยักษ์แม้เหล่านั้น
ได้ขยายพระพุทธเจดีย์ให้กว้างออกไปอีกหนึ่งโยชน์
ครั้งนั้น พระสถูปจึงสูงขึ้นเป็น ๖ โยชน์ ส่องแสงสว่างไสว
[๑๔๗] ครั้งนั้น พวกคนธรรพ์มาประชุมกันแล้ว
ร่วมปรึกษากันว่า มนุษย์ เทวดา
นาค กุมภัณฑ์ และครุฑก็เหมือนกัน
[๑๔๘] พวกเขาทั้งหมดได้พากันสร้างพระพุทธสถูป
ในเรื่องสร้างพระสถูปนี้ พวกเรายังไม่ได้สร้าง
ถึงพวกเราก็จักสร้างพระสถูป บูชาพระโลกนาถ ผู้คงที่
[๑๔๙] ครั้งนั้น คนธรรพ์เหล่านั้น
สร้างไพทีเป็น ๗ แห่งแล้วได้ทำธงและฉัตรไว้
พวกคนธรรพ์ได้ช่วยกันสร้างพระสถูปซึ่งสำเร็จด้วยทองคำล้วน
[๑๕๐] ครั้งนั้น พระสถูปสูงขึ้นเป็น ๗ โยชน์
ส่องแสงสว่างไสว จนไม่รู้กลางวันหรือกลางคืน
เพราะมีแสงสว่างอยู่ตลอดเวลา
[๑๕๑] ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์พร้อมทั้งดวงดาว
ก็ข่มแสงพระสถูปนั้นไม่ได้
ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ แม้ประทีปก็ไม่โชติช่วง
[๑๕๒] โดยกาลนั้น มนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่งจะบูชาพระสถูป
พวกเขาไม่ขึ้นไปยังพระสถูป
เพียงโยนเครื่องสักการะขึ้นไปบนอากาศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๑๐. อุปวานเถราปทาน
[๑๕๓] ยักษ์ที่มีนามว่าอภิสัมมตะ
ซึ่งเหล่าเทวดาตั้งไว้(เพื่อรักษาพระสถูป)
คอยรับธงหรือพวงดอกไม้ไปบูชาให้ยิ่งขึ้น
[๑๕๔] ชนเหล่านั้นไม่เห็นยักษ์นั้น
คงเห็นแต่พวงดอกไม้ของยักษ์ลอยไปอยู่
พวกเขาทั้งหมดเห็นแล้วอย่างนี้
เมื่อตายไปจึงไปสู่สุคติ
[๑๕๕] มนุษย์ทั้งหลายที่ไม่พอใจในพระพุทธพจน์
และมนุษย์ทั้งหลายที่เลื่อมใสศาสนา
ผู้มีความต้องการจะเห็นปาฏิหาริย์
จะพากันบูชาพระสถูป
[๑๕๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เป็นคนรับจ้างอยู่ในกรุงหงสวดี
เห็นประชาชนพากันรื่นเริงบันเทิงใจ
จึงคิดอย่างนี้ในครั้งนั้นว่า
[๑๕๗] หมู่ชนเหล่านี้พากันดีใจไม่เคยอิ่มถึงสักการะ
ซึ่งปรากฏที่เรือนแห่งพระธาตุ
ของพระผู้มีพระภาคพระองค์ใด
พระผู้มีพระภาคผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นั้น หาเป็นเช่นนั้นไม่
[๑๕๘] แม้เราก็จักทำสักการบูชาพระโลกนาถ ผู้คงที่
เป็นธรรมทายาทของพระองค์ในอนาคตกาล
[๑๕๙] ข้าพเจ้าจึงใช้ผ้าห่มของข้าพเจ้าที่ช่างย้อมซักไว้อย่างดี
คล้องไว้ที่ปลายไม้ไผ่แล้วจึงยกขึ้นเป็นธงในท้องฟ้า
[๑๖๐] ยักษ์อภิสัมมตะ หยิบธงของข้าพเจ้านำไปในท้องฟ้า
ข้าพเจ้าเห็นแต่ธงสะบัดพลิ้วเพราะสายลม
จึงทำความร่าเริงให้เกิดขึ้นอย่างยิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๑๐. อุปวานเถราปทาน
[๑๖๑] ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในธงนั้นแล้ว
เข้าไปหาพระสมณะ อภิวาทพระภิกษุรูปนั้นแล้ว
จึงถามถึงวิบากในการบูชาด้วยธง
[๑๖๒] พระภิกษุรูปนั้นมีความยินดีมากต่อข้าพเจ้า
จึงกล่าวถ้อยคำที่ทำความปีติให้เกิดแก่ข้าพเจ้าว่า
ท่านจักได้เสวยวิบากแห่งธงนั้นตลอดกาล
[๑๖๓] กองทัพ ๔ เหล่า คือ พลช้าง พลม้า พลรถ
พลเดินเท้า จักแวดล้อมท่านเป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายธง
[๑๖๔] เครื่องดนตรี ๖๐,๐๐๐ ชิ้น
กลองที่ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม
จักแวดล้อมท่านเป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายธง
[๑๖๕] สาวรุ่น ๘๖,๐๐๐ นาง ล้วนประดับตกแต่งสวยงาม
สวมใส่ผ้าอาภรณ์อันงดงาม ห้อยตุ้มหูแก้วมณี
[๑๖๖] มีตากลมโต มีปกติร่าเริง รูปร่างงาม
เอวเล็กเอวบาง จักแวดล้อมท่านเป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายธง
[๑๖๗] ท่านจักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป
จักเกิดเป็นจอมเทพ ครองเทวสมบัติตลอด ๘๐ ชาติ
[๑๖๘] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๑๐. อุปวานเถราปทาน
[๑๖๙] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๑๗๐] ท่านถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจุติจากเทวโลก
ประกอบด้วยบุญกรรม
จักเกิดเป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
[๑๗๑] ท่านจักละทิ้งสมบัติประมาณ ๘๐ โกฏิ
และทาสกรรมกรจำนวนมากแล้ว
บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๑๗๒] ท่านมีชื่อว่าอุปวานะ
จักให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม
ผู้ประเสริฐแห่งวงศ์ศากยะ ผู้ประเสริฐ ทรงพอพระทัยแล้ว
เป็นสาวกของพระศาสดา
[๑๗๓] กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐
ได้แสดงผลแก่ข้าพเจ้าแล้วในอัตภาพนี้
ข้าพเจ้าหลุดพ้นดีแล้ว(จากกิเลส)
ดุจความเร็วแห่งลูกศรที่พ้นไปจากแล่ง
ข้าพเจ้าเผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว
[๑๗๔] เมื่อข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ ชนทั้งหลาย
จักโบกธงประจำตลอดที่ ๓ โยชน์โดยรอบทุกเวลา
[๑๗๕] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๑๑. รัฏฐปาลเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายธง
[๑๗๖] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๗๗] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๗๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุปวานเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุปวานเถราปทานที่ ๑๐ จบ
๑๑. รัฏฐปาลเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระรัฏฐบาลเถระ
(พระรัฏฐบาลเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๗๙] ข้าพเจ้าได้ถวายช้างประเสริฐ มีงางอนงาม
สมควรเป็นพาหนะแด่พระผู้มีพระภาค
พระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
[๑๘๐] พญาช้างนั้นงดงามด้วยเศวตฉัตร
พร้อมทั้งเครื่องประดับและควาญช้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๑๑. รัฏฐปาลเถราปทาน
ข้าพเจ้าให้ตีราคา ทั้งหมดนั้นแล้ว
ให้สร้างสังฆาราม(ด้วยราคาช้างนั้น)
[๑๘๑] ข้าพเจ้าให้สร้างปราสาท ๕๔,๐๐๐ หลัง
บำเพ็ญทานดุจห้วงน้ำใหญ่
มอบถวายพระพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๑๘๒] พระสยัมภูพุทธเจ้า ผู้มีความเพียรมาก
เป็นบุคคลผู้เลิศ ได้ทรงอนุโมทนาแล้ว
เมื่อจะให้ชนทั้งหมดรื่นเริง ทรงแสดงอมตบทแล้ว
[๑๘๓] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์แล้ว
ทรงพยากรณ์กรรมนั้นแก่ข้าพเจ้า
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๘๔] บุคคลผู้นี้ให้สร้างปราสาท ๕๔,๐๐๐ หลัง
เราจักกล่าวผลวิบากของเขา
พวกเธอจงฟังเรากล่าวเถิด
[๑๘๕] เรือนยอด ๑๘,๐๐๐ หลัง จักเกิดมี
และเรือนยอดเหล่านั้นสำเร็จด้วยทองคำล้วน
บังเกิดขึ้นในวิมานชั้นสูงสุด
[๑๘๖] ผู้นี้จักเกิดเป็นจอมเทพ
ครองเทวสมบัติตลอด ๕๐ ชาติ
จักเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๘ ชาติ
[๑๘๗] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] ๑๑. รัฏฐปาลเถราปทาน
[๑๘๘] เขาถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว จักจุติจากเทวโลก
บังเกิดในตระกูลที่มั่งคั่ง มีโภคะเป็นอันมาก
[๑๘๙] เขาจักมีชื่อว่ารัฏฐบาล
ภายหลังถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว
จักออกบวชเป็นสาวกของพระศาสดา
[๑๙๐] เขามีจิตเด็ดเดี่ยวยินดีเพื่อบำเพ็ญเพียร
สงบระงับ ไม่มีอุปธิ
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน”
[๑๙๑] ข้าพเจ้าขวนขวายออกบวช ละโภคสมบัติ
ไม่มีความรักในโภคะ ซึ่งเหมือนก้อนเขฬะ
[๑๙๒] ข้าพเจ้ามีความเพียรนำพาธุระไป
อันเป็นเหตุนำธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะมาให้
ข้าพเจ้าทรงร่างกายอันมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๑๙๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๙๔] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๖. ยสวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๑๙๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระรัฏฐบาลเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
รัฏฐปาลเถราปทานที่ ๑๑ จบ
ยสวรรคที่ ๕๖ จบบริบูรณ์
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ยสเถราปทาน ๒. นทีกัสสปเถราปทาน
๓. คยากัสสปเถราปทาน ๔. กิมิลเถราปทาน
๕. วัชชีปุตตเถราปทาน ๖. อุตตรเถราปทาน
๗. อปรอุตตรเถราปทาน ๘. ภัททชิเถราปทาน
๙. สิวกเถราปทาน ๑๐. อุปวานเถราปทาน
๑๑. รัฏฐปาลเถราปทาน

ในวรรคนี้ บัณฑิตนับคาถาได้ ๑๙๕ คาถา
เถราปทาน จบ
พุทธาปทาน ปัจเจกพุทธาปทาน
และเถราปทาน จบเพียงเท่านี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] ๑. สุเมธาเถริยาปทาน
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย เถรีอปทาน
__________________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. สุเมธาวรรค
หมวดว่าด้วยพระเถรีชื่อสุเมธาเป็นต้น
๑. สุเมธาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุเมธาเถรี
ลำดับต่อไปนี้ จงสดับอปทานของพระเถรีต่อไป
(พระสุเมธาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโกนาคมนะ
ประทับอยู่ที่สังฆาราม
หม่อมฉันเป็นหญิงสหายกัน ๓ คน ได้ถวายวิหารทาน
[๒] หม่อมฉันทั้งหลายเกิดในเทวโลก ๑๐ ครั้ง ๑๐๐ ครั้ง
๑๐๐,๐๐๐ ครั้ง ในมนุษยโลก ไม่จำต้องพูดถึง
[๓] ในเทวโลกหม่อมฉันเป็นผู้มีฤทธิ์มาก
ในมนุษยโลกไม่จำต้องพูดถึง
ได้เป็นนางแก้ว๑ เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ

เชิงอรรถ :
๑ นางแก้ว ในที่นี้หมายถึงหญิงดีที่มีคุณสมบัติ คือ เว้นโทษ ๖ ประการ มีความงาม ๕ ประการ มีความ
งามกว่ามนุษย์ทั่วไป ฯลฯ (ขุ.เถรี.อ. ๓/๓๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] ๑. สุเมธาเถริยาปทาน
[๔] ชน ๓ คน คือ นางธนัญชานีพราหมณี
พระนางเขมาเถรี และหม่อมฉัน ได้สั่งสมกุศลไว้ในชาตินั้น
เกิดในตระกูลที่เพียบพร้อมทุกอย่าง
[๕] ได้สร้างอารามอย่างสวยงาม
ประดับด้วยเครื่องตกแต่งทุกอย่างเสร็จแล้ว
มอบถวายพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
เป็นผู้เพลิดเพลินแล้ว
[๖] เพราะอำนาจแห่งกรรมนั้น
หม่อมฉันเกิดในที่ไหน ๆ
ในเทวโลกก็ตาม ในมนุษยโลกก็ตาม
ก็ถึงความเป็นผู้เลิศ
[๗] ในกัปนี้เอง พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๘] ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี
ทรงเป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่อุดม
ทรงเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาพระคุณอันยิ่งใหญ่
[๙] ท้าวเธอมีพระราชธิดา ๗ พระองค์
พระราชกัญญาเหล่านั้นดำรงอยู่ในความสุข
ทรงพอพระทัยในการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า
และประพฤติพรหมจรรย์๑
[๑๐] หม่อมฉันเป็นพระสหายของพระราชธิดาเหล่านั้น
เป็นสตรีผู้มั่นคงในศีล ได้ถวายทานโดยเคารพ
ประพฤติวัตรอยู่ในเรือนนั่นเอง

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงความประพฤติประเสริฐ มี ๑๐ ประการ คือ (๑) ทาน (๒) เวยยาวัจจะ
(๓) เบญจศีล (๔) อัปปมัญญา (๕) เมถุนวิรัติ (๖) สทารสันโดษ (๗) วิริยะ (๘) อุโปสถังคะ
(๙) อริยมรรค (๑๐) ศาสนา (ที.สี.อ. ๑/๑๙๐/๑๖๐-๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] ๑. สุเมธาเถริยาปทาน
[๑๑] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๒] หม่อมฉันจุติจากสวรรคชั้นดาวดึงส์นั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นยามา
จุติจากสวรรค์ชั้นยามานั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
จุติจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดีนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์
ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
[๑๓] หม่อมฉันประกอบบุญกรรมไว้
เกิดในภพใด ๆ ในภพนั้น ๆ
ก็ได้เป็นพระมเหสีของพระราชา
[๑๔] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้นแล้ว
มาเกิดในหมู่มนุษย์ ได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ
และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน
[๑๕] เสวยสมบัติทั้งในเทวโลกและมนุษยโลก
มีความสุขทุกชาติ เวียนว่ายตายเกิดอยู่หลายชาติ
[๑๖] นั้นเป็นเหตุ เป็นแดนเกิด และมูลเหตุ
คือเป็นความสมควรในพระศาสนา
นั่นเป็นสโมธานข้อที่ ๑
ข้อนั้นเป็นความดับของหม่อมฉันผู้ยินดีในธรรม
[๑๗] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] ๒. เมขลทายิกาเถริยาปทาน
[๑๘] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระสุเมธาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุเมธาเถริยาปทานที่ ๑ จบ
๒. เมขลทายิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเมขลทายิกาเถรี
(พระเมขลทายิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๐] หม่อมฉันได้สร้างพระสถูป
เพื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
หม่อมฉันได้ถวายสังวาล๑ เพื่อนวกรรมสถูปของพระศาสดา
[๒๑] และเมื่อมหาสถูปสำเร็จแล้ว หม่อมฉันเลื่อมใสต่อพระมุนี
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
ได้ถวายสังวาลอีกด้วยมือทั้ง ๒ ของตน
[๒๒] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
หม่อมฉันได้ถวายสังวาลไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการสร้างพระสถูป

เชิงอรรถ :
๑ สังวาล หมายถึงสายรัดเอวผู้หญิง, เข็มขัดสตรี (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕
น. ๘๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] ๓. มัณฑปทายิกาเถริยาปทาน
[๒๓] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๔] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระเมขลทายิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เมขลทายิกาเถริยาปทานที่ ๒ จบ
๓. มัณฑปทายิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมัณฑปทายิกาเถรี
(พระมัณฑปทายิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๖] หม่อมฉันได้ให้นายช่างสร้างมณฑป
ถวายพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ
และได้อุทิศถวายพระสถูปที่ประเสริฐแก่พระพุทธเจ้า
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลกไว้
[๒๗] หม่อมฉันไปยังชนบท นิคม หรือราชธานีใด ๆ
ย่อมได้รับการบูชาในที่นั้น ๆ ทุกแห่ง
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] ๔. สังกมนทาเถริยาปทาน
[๒๘] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๙] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระมัณฑปทายิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มัณฑปทายิกาเถริยาปทานที่ ๓ จบ
๔. สังกมนทาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสังกมนทาเถรี
(พระสังกมนทาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโกณฑัญญะ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
ทรงช่วยสัตว์ให้ข้ามพ้น เสด็จดำเนินไปตามถนน
[๓๒] กุลบุตรกุลธิดาออกจากเรือนแล้วนอนคว่ำหน้า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้ทรงอนุเคราะห์
ได้เสด็จเหยียบไปบนศีรษะหม่อมฉัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] ๕. นฬมาลิกาเถริยาปทาน
[๓๓] พระองค์ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ครั้นเสด็จเหยียบแล้ว ได้เสด็จเลยไป
หม่อมฉันได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
ก็เพราะจิตที่เลื่อมใสนั้น
[๓๔] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๕] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระสังกมนทาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สังกมนทาเถริยาปทานที่ ๔ จบ
๕. นฬมาลิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนฬมาลิกาเถรี
(พระนฬมาลิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๗] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้เกิดเป็นนางกินนรี
อาศัยอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
หม่อมฉันได้เห็นพระสยัมภูพุทธเจ้า
ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส ไม่ทรงพ่ายแพ้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] ๕. นฬมาลิกาเถริยาปทาน
[๓๘] หม่อมฉันเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี เกิดโสมนัส
ประนมมือแล้ว ถือพวงมาลัยดอกอ้อมาบูชาพระสยัมภู
[๓๙] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายกินนรีแล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๔๐] หม่อมฉันได้เป็นพระมเหสีของท้าวเทวราช ๓๖ พระองค์
และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๐ พระองค์
หม่อมฉันเสวยกุศลกรรมแล้วก็ออกบวชเป็นบรรพชิต
[๔๑] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๔๒] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
หม่อมฉันใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๔๓] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๔๔] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] ๖. เอกปิณฑปาตทายิกาเถริยาปทาน
[๔๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระนฬมาลิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นฬมาลิกาเถริยาปทานที่ ๕ จบ
๖. เอกปิณฑปาตทายิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกปิณฑปาตทายิกาเถรี
(พระเอกปิณฑปาตทายิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึง
กล่าวว่า)
[๔๖] ในกรุงพันธุมดี มีกษัตริย์พระองค์หนึ่ง
พระนามว่าพันธุมา หม่อมฉันเป็นพระมเหสีของท้าวเธอ
ย่อมสนทนากันเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น
[๔๗] ครั้งนั้น หม่อมฉันนั่งอยู่ในที่สงัด คิดอย่างนี้ว่า
‘กุศลที่จะนำติดตัวไปซึ่งเราทำไว้ไม่มีเลย
[๔๘] เราคงจะต้องตกนรกที่มีความเร่าร้อนมาก
ทั้งเผ็ดร้อนร้ายกาจแสนจะทารุณโดยแน่นอน
เราไม่มีความสงสัยในข้อนี้เลย’
[๔๙] หม่อมฉันจึงไปเข้าเฝ้าพระราชาแล้วกราบทูลดังนี้ว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์ทรงพระราชทานสมณะ
แก่หม่อมฉันสักองค์หนึ่งเถิด
หม่อมฉันจักนิมนต์ท่านให้ฉัน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] ๖. เอกปิณฑปาตทายิกาเถริยาปทาน
[๕๐] พระมหาราชาได้พระราชทานสมณะ
ผู้มีอินทรีย์อันอบรมแล้ว๑แก่หม่อมฉัน
หม่อมฉันรับบาตรของท่านมาแล้ว
นิมนต์ให้ฉันจนอิ่มหนำด้วยอาหารอย่างดีเยี่ยม
[๕๑] หม่อมฉันได้ปรุงอาหารอย่างดีเยี่ยม
และเครื่องลูบไล้ที่มีกลิ่นหอม
ปิดด้วยตาข่าย คลุมด้วยผ้าสีเหลือง
[๕๒] หม่อมฉันระลึกถึงวัตถุทานของหม่อมฉันนี้เป็นอารมณ์จนตลอดชีวิต
ทำจิตให้เลื่อมใสในกุศลกรรมนั้นแล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๕๓] หม่อมฉันได้เป็นพระมเหสีของท้าวเทวราช ๓๐ พระองค์
สิ่งที่ใจของหม่อมฉันปรารถนาก็บังเกิดตามความปรารถนา
[๕๔] หม่อมฉันได้เป็นพระมเหสี
ของพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๐ พระองค์
เป็นหญิงผู้มีกุศลอันสั่งสมไว้แล้ว
เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่๒
[๕๕] หม่อมฉันเป็นผู้พ้นจากเครื่องผูกพันทุกอย่างแล้ว
หม่อมฉันปราศจากตัณหาที่จะให้เกิดอีก
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก

เชิงอรรถ :
๑ อินทรีย์อันอบรมแล้ว ในที่นี้หมายถึงอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา อันอบรมแล้วด้วย
อริยมรรคภาวนา (ขุ.เถรี.อ. ๑๘๒-๑๘๘/๒๑๐)
๒ ภพน้อยภพใหญ่ ในที่นี้หมายถึงความเจริญและความเสื่อม หรือสมบัติและวิบัติ ความยั่งยืนและ
ความขาดสูญ บุญและบาป (ขุ.จริยา.อ. ๒/๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] ๗. กฏัจฉุภิกขทายิกาเถริยาปทาน
[๕๖] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
หม่อมฉันได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายบิณฑบาต
[๕๗] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๕๘] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๕๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระเอกปิณฑปาตทายิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
เอกปิณฑปาตทายิกาเถริยาปทานที่ ๖ จบ
๗. กฏัจฉุภิกขทายิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกฏัจฉุภิกขทายิกาเถรี
(พระกฏัจฉุภิกขทายิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๐] หม่อมฉันได้ตักภิกษาหารทัพพีหนึ่งถวายพระพุทธเจ้า
ผู้ประเสริฐที่สุดพระนามว่าติสสะ ผู้พระศาสดา
ซึ่งกำลังเสด็จบิณฑบาตอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] ๗. กฏัจฉุภิกขทายิกาเถริยาปทาน
[๖๑] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ ผู้พระศาสดา
ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก ทรงรับแล้ว
ได้ประทับยืนที่ถนนทรงทำอนุโมทนาแก่หม่อมฉันว่า
[๖๒] ‘เธอถวายภิกษาหารทัพพีหนึ่งนี้แล้ว
จักได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
จักเป็นพระมเหสีของท้าวเทวราช ๓๖ พระองค์
[๖๓] จักเป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐ พระองค์
และจักได้สิ่งตามที่ใจปรารถนาทุกอย่างในกาลทั้งปวง
[๖๔] เธอเสวยสมบัติแล้ว จักเป็นผู้ไม่มีความห่วงใยบวช
จักกำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน’
[๖๕] ครั้นตรัสอย่างนี้แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ
ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก เป็นนักปราชญ์
ได้เสด็จเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า เหมือนพญาหงส์ไปในอากาศ
[๖๖] ทานหม่อมฉันถวายไว้ดีแล้ว
ยัญสมบัติหม่อมฉันก็ได้บูชาดีแล้ว
หม่อมฉันได้บรรลุบทที่ไม่หวั่นไหว
ก็เพราะการถวายภิกษาหารทัพพีหนึ่ง
[๖๗] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
หม่อมฉันได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายภิกษาหาร
[๖๘] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] ๘. สัตตอุปปลมาลิกาเถริยาปทาน
[๖๙] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๗๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระกฏัจฉุภิกขทายิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
กฏัจฉุภิกขทายิกาเถริยาปทานที่ ๗ จบ
๘. สัตตอุปปลมาลิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัตตอุปปลมาลิกาเถรี
(พระสัตตอุปปลมาลิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗๑] ในกรุงอรุณวดี มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งพระนามว่าอรุณ
หม่อมฉันเป็นพระมเหสีของท้าวเธอ หม่อมฉันไม่ได้ร้อยพวงมาลัย
[๗๒] ได้หยิบดอกอุบลมีกลิ่นหอมเหมือนดอกไม้ทิพย์มา ๗ ดอก
แล้วนั่งในปราสาทที่ประเสริฐ คิดอย่างนี้ในขณะนั้นว่า
[๗๓] ‘ประโยชน์อะไรสำหรับเราด้วยพวงมาลัยเหล่านี้
ซึ่งเรานำมาประดับศีรษะของตนเอง
เราควรนำไปบูชาพระญาณของพระพุทธเจ้า
ผู้ประเสริฐที่สุด จะประเสริฐกว่า’
[๗๔] เราเมื่อจะบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่งแล้วที่ใกล้ประตู
จักบูชาพระมหามุนีสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลาที่พระองค์เสด็จมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] ๘. สัตตอุปปลมาลิกาเถริยาปทาน
[๗๕] พระชินเจ้าผู้งดงามดังต้นรกฟ้าขาว
เหมือนพญาไกรสรราชสีห์
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จมาตามถนน
[๗๖] หม่อมฉันเห็นพระพุทธรังสีแล้ว ก็ร่าเริงตื่นเต้น
ยังไม่ทันถึงประตู ก็ได้บูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๗๗] ทำดอกอุบล ๗ ดอกเหล่านั้น
ให้แผ่ขยายเป็นหลังคากั้นอยู่ในท้องฟ้า
เหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า
[๗๘] หม่อมฉันมีจิตเบิกบาน๑ มีใจยินดี
เกิดโสมนัส๒ ประนมมือ ทำจิตให้เลื่อมใสในบูชานั้น
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๗๙] เหนือศีรษะของหม่อมฉัน เขากั้นเครื่องมุงบังดอกไม้
สีเขียวขนาดใหญ่กลิ่นทิพย์หอมฟุ้งไป
นี้เป็นผลแห่งดอกอุบล ๗ ดอก
[๘๐] บางครั้ง เมื่อหม่อมฉันถูกหมู่ญาตินำออกไป
ครั้งนั้น เขากั้นเครื่องมุงบังดอกไม้สีเขียว
ให้บริวารของหม่อมฉันเท่าที่มีอยู่
[๘๑] หม่อมฉันได้เป็นพระมเหสีของท้าวเทวราช ๗๐ พระองค์
เป็นใหญ่ในทุกภพ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
[๘๒] ได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๖๓ พระองค์
ชนทั้งหลายอนุวัตตามหม่อมฉันทั้งหมด หม่อมฉันมีวาจาน่าเชื่อถือ

เชิงอรรถ :
๑ มีจิตเบิกบาน หมายถึงมีจิตปราศจากกิเลสมีความโกรธและความถือตัวเป็นต้น มีจิตโสมนัส มีใจสงบ
(ขุ.อป.อ. ๑/๑๓๔/๒๔๕)
๒ เทียบได้กับคำว่า เวทชาโต แก้เป็น อุปฺปนฺนโสมนสฺโส (ขุ.อป.อ. ๒/๑๓๒/๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] ๘. สัตตอุปปลมาลิกาเถริยาปทาน
[๘๓] ผิวพรรณของหม่อมฉันเหมือนสีดอกอุบล
และกลิ่นกายของหม่อมฉันก็หอมฟุ้งไปคล้ายกลิ่นหอมของดอกอุบล
หม่อมฉันไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๘๔] หม่อมฉันเป็นผู้ฉลาดในอิทธิบาท
ยินดีในการเจริญโพชฌงค์ ถึงความสำเร็จอภิญญา
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๘๕] หม่อมฉันเป็นผู้ฉลาดในสติปัฏฐาน
มีสมาธิฌานเป็นโคจร ขวนขวายในสัมมัปปธาน
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๘๖] หม่อมฉันมีความเพียรนำพาธุระไป
อันเป็นเหตุนำธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะมาให้
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๘๗] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
หม่อมฉันได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๘๘] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๘๙] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] ๙. ปัญจทีปิกาเถริยาปทาน
[๙๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระสัตตอุปปลมาลิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
สัตตอุปปลมาลิกาเถริยาปทานที่ ๘ จบ
๙. ปัญจทีปิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัญจทีปิกาเถรี
(พระปัญจทีปิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙๑] ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นผู้ประพฤติธรรมอยู่ในกรุงหงสวดี
มีความต้องการกุศล จึงท่องเที่ยวไปตามวัดวาอาราม
[๙๒] ได้เห็นต้นโพธิ์ที่ประเสริฐ ในกาฬปักข์(ข้างแรม)
จึงทำจิตให้เลื่อมใสในต้นโพธิ์นั้นแล้วนั่งที่โคนต้นโพธิ์
[๙๓] หม่อมฉันตั้งจิตคารวะประนมมือเหนือศีรษะ
ประกาศถึงความโสมนัสแล้วคิดอย่างนี้ในขณะนั้นว่า
[๙๔] ‘ถ้าพระพุทธเจ้าทรงมีพระคุณหาประมาณมิได้
ไม่มีบุคคลเปรียบเสมอเหมือน
โปรดแสดงปาฏิหาริย์แก่เราเถิด
คือขอให้ต้นโพธิ์นี้จงเปล่งรัศมีเถิด’
[๙๕] ทันใดนั้นเอง พร้อมกับที่หม่อมฉันรำพึง
ต้นโพธิ์มีรัศมีดั่งทองคำล้วน โชติช่วงสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ
[๙๖] หม่อมฉันนั่งอยู่ที่โคนต้นโพธิ์นั้นตลอด ๗ คืน ๗ วัน
เมื่อถึงวันที่ ๗ หม่อมฉันได้ทำการบูชาด้วยประทีป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] ๙. ปัญจทีปิกาเถริยาปทาน
[๙๗] ประทีป ๕ ดวง โชติช่วงล้อมรอบอาสนะ
ครั้งนั้น ประทีปของหม่อมฉันโชติช่วงอยู่จนอาทิตย์อุทัย
[๙๘] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๙๙] วิมานที่บุญกรรมสร้างขึ้นอย่างสวยงามเพื่อหม่อมฉัน
ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น เรียกว่าปัญจทีปวิมาน
สูง ๑๐๐ โยชน์ กว้าง ๖๐ โยชน์
[๑๐๐] ประทีปนับไม่ถ้วนส่องสว่างล้อมรอบหม่อมฉันอยู่
ทั่วทั้งเทววิมานโชติช่วงด้วยแสงประทีป
[๑๐๑] หม่อมฉันนั่งหันหน้าไปทางทิศบูรพา
ถ้าปรารถนาจะดู ก็จะเห็นได้ทุกอย่างด้วยจักษุ
ทั้งในเบื้องบน เบื้องล่าง และเบื้องขวาง
[๑๐๒] หม่อมฉันปรารถนาจะเห็นกรรมดีและกรรมชั่ว
ที่คนทำแล้วในที่มีประมาณเท่าใด ที่มีประมาณเท่านั้น
ย่อมไม่มีต้นไม้หรือภูเขามากางกั้นได้
[๑๐๓] หม่อมฉันได้เป็นพระมเหสีของท้าวเทวราช ๘๐ พระองค์
และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๐๐ พระองค์
[๑๐๔] หม่อมฉันเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ ประทีปนับแสนดวงส่องแสงล้อมรอบหม่อมฉัน
[๑๐๕] หม่อมฉันจุติจากเทวโลกแล้ว เกิดในครรภ์มารดา
เมื่อหม่อมฉันอยู่ในครรภ์มารดา นัยน์ตาของหม่อมฉันมิได้หลับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] ๙. ปัญจทีปิกาเถริยาปทาน
[๑๐๖] ประทีปนับแสนดวงส่องสว่างอยู่ที่เรือนคลอดของหม่อมฉัน
ผู้เพียบพร้อมด้วยบุญกรรม
นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง
[๑๐๗] เมื่อถึงภพสุดท้าย หม่อมฉันกลับใจให้วิเศษ
จึงเห็นพระนิพพานอันเป็นสภาวะเยือกเย็น
ไม่มีชราและมรณะ
[๑๐๘] พอหม่อมฉันอายุได้ ๗ ขวบก็ได้บรรลุอรหัตตผล
พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม
ทรงทราบถึงคุณธรรมของหม่อมฉัน
แล้วจึงประทานอุปสมบทให้
[๑๐๙] ประทีป ๕ ดวง ลุกโพลงส่องสว่างให้หม่อมฉัน
มณฑป โคนไม้ ปราสาท ถ้ำ หรือที่เรือนว่าง
[๑๑๐] ทิพยจักษุของหม่อมฉันบริสุทธิ์
หม่อมฉันฉลาดในสมาธิ ถึงความสำเร็จอภิญญา
นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง
[๑๑๑] หม่อมฉันเป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์ทั้งปวง
ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ
ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีพระจักษุ
หม่อมฉันชื่อว่าปัญจทีปา ขอกราบพระยุคลบาทของพระองค์
[๑๑๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
หม่อมฉันได้ถวายประทีปไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง
[๑๑๓] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] ๑๐. อุทกทายิกาเถริยาปทาน
[๑๑๔] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๑๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระปัญจทีปิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัญจทีปิกาเถริยาปทานที่ ๙ จบ
๑๐. อุทกทายิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุทกทายิกาเถรี
(พระอุทกทายิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๑๖] หม่อมฉันเป็นหญิงหาบน้ำขายอยู่ในกรุงพันธุมดี
เลี้ยงชีพอยู่ด้วยการหาบน้ำขาย
เลี้ยงดูเด็ก ๆ ด้วยการงานนั้น
[๑๑๗] หม่อมฉันไม่มีไทยธรรม หม่อมฉันเข้าไปยังซุ้มน้ำแล้ว
ตั้งน้ำถวายไว้ในหมู่สงฆ์ผู้เป็นบุญเขตที่ยอดเยี่ยม
[๑๑๘] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น วิมานอันบุญกรรมเนรมิต
สร้างขึ้นอย่างสวยงามเพื่อหม่อมฉันเพราะการหาบน้ำถวาย
[๑๑๙] ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นผู้ประเสริฐกว่านางอัปสรตั้ง ๑,๐๐๐
หม่อมฉันปกครองนางอัปสรเหล่านั้นทั้งหมดด้วยฐานะ ๑๐ ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] ๑๐. อุทกทายิกาเถริยาปทาน
[๑๒๐] หม่อมฉันได้เป็นพระมเหสีของท้าวเทวราช ๕๐ พระองค์
และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๐ พระองค์
[๑๒๑] หม่อมฉันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน ๒ ภพ
คือ (๑) ภพเทวดา (๒) ภพมนุษย์
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายน้ำ
[๑๒๒] บนยอดภูเขา ยอดไม้ ในอากาศหรือที่พื้นดินก็ตาม
ในเวลาที่ต้องการน้ำหม่อมฉันย่อมได้เร็วพลัน
[๑๒๓] ทิศที่ไม่มีฝนตก เพราะแดดร้อนจัดหม่อมฉันจึงกระหายน้ำ
มหาเมฆดังจะรู้ความดำริของหม่อมฉันย่อมให้ฝนตก
[๑๒๔] บางครั้ง เมื่อหม่อมฉันถูกหมู่ญาตินำออกไป
ครั้งนั้น มหาเมฆก็บันดาลให้ฝนตกในเวลาที่หม่อมฉันปรารถนา
[๑๒๕] ในสรีระของหม่อมฉัน ไม่มีความร้อนหรือความเร่าร้อนเลย
และที่กายของหม่อมฉันก็ไม่มีละอองธุลีเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายน้ำสรง
[๑๒๖] วันนี้ หม่อมฉันมีใจบริสุทธิ์ ปราศจากจิตที่หยาบช้า
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๑๒๗] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
หม่อมฉันได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายน้ำสรง
[๑๒๘] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๒๙] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๓๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระอุทกทายิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุทกทายิกาเถริยาปทานที่ ๑๐ จบ
สุเมธาวรรคที่ ๑ จบบริบูรณ์
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สุเมธาเถริยาปทาน ๒. เมขลทายิกาเถริยาปทาน
๓. มัณฑปทายิกาเถริยาปทาน ๔. สังกมนทาเถริยาปทาน
๕. นฬมาลิกาเถริยาปทาน ๖. เอกปิณฑปาตทายิกาเถริยาปทาน
๗. กฏัจฉุภิกขทายิกาเถริยาปทาน ๘. สัตตอุปปลมาลิกาเถริยาปทาน
๙. ปัญจทีปิกาเถริยาปทาน ๑๐. อุทกทายิกาเถริยาปทาน

ในวรรคนี้ บัณฑิตนับจำนวนคาถาได้ ๑๓๐ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๑. เอกูโปสถิกาเถริยาปทาน
๒. เอกูโปสถิกวรรค
หมวดว่าด้วยผู้รักษาอุโบสถอย่างเดียว
๑. เอกูโปสถิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกูโปสถิกาเถรี
(พระเอกูโปสถิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ในกรุงพันธุมดี มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งพระนามว่าพันธุมา
ในวันเพ็ญ ท้าวเธอทรงอยู่จำอุโบสถ
[๒] สมัยนั้น หม่อมฉันได้เป็นนางกุมภทาสีอยู่ในกรุงพันธุมดีนั้น
เห็นเสนาพร้อมทั้งพระราชา จึงคิดอย่างนี้ในครั้งนั้นว่า
[๓] ‘แม้พระราชาก็ยังทรงละราชกิจมาอยู่จำอุโบสถ
กรรมนั้นต้องมีผลแน่นอน หมู่ชนจึงพากันเบิกบานใจ’
[๔] หม่อมฉันพิจารณาทุคติและความเป็นคนยากจนได้
โดยอุบายที่แยบคาย ทำจิตใจให้ร่าเริงแล้วอยู่จำอุโบสถ
[๕] หม่อมฉันรักษาอุโบสถในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
หม่อมฉันจึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๖] วิมานที่บุญกรรมสร้างให้หม่อมฉันอย่างสวยงาม
ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น
สูงขึ้นไป ๑ โยชน์ ประกอบด้วยเรือนยอดอันประเสริฐ
มีที่นั่งมีค่ามากประดับอย่างสวยงาม
[๗] เทพอัปสร ๑๐๐,๐๐๐ นาง ต่างก็อยู่ใกล้หม่อมฉันทุกเมื่อ
หม่อมฉันรุ่งเรืองเหนือกว่าเทพอัปสรเหล่าอื่น ในกาลทั้งปวง
[๘] หม่อมฉันได้เป็นพระมเหสีของท้าวเทวราช ๖๔ พระองค์
และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๖๓ พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๑. เอกูโปสถิกาเถริยาปทาน
[๙] หม่อมฉันมีผิวพรรณงามดังทองคำ
เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้งหลาย
ได้เป็นผู้ประเสริฐในทุกภพ
นี้เป็นผลแห่งการรักษาอุโบสถ
[๑๐] ยานคือช้าง ยานคือม้า และยานคือรถ
หม่อมฉันก็ได้รับมาครบถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการรักษาอุโบสถ
[๑๑] ภาชนะทอง ภาชนะเงิน ภาชนะแก้วผลึก
และภาชนะแก้วทับทิม หม่อมฉันก็ได้รับมาครบถ้วน
[๑๒] ผ้าไหม ผ้ากัมพล ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย
และผ้าที่มีราคาแพง ๆ หม่อมฉันก็ได้รับมาครบถ้วน
[๑๓] ข้าว น้ำ ของเคี้ยว ผ้า และเสนาสนะ
หม่อมฉันก็ได้รับมาครบถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการรักษาอุโบสถ
[๑๔] เครื่องหอมชนิดดี ดอกไม้ และจุรณสำหรับลูบไล้
หม่อมฉันก็ได้รับมาครบถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการรักษาอุโบสถ
[๑๕] เรือนยอด ปราสาท มณฑป เรือนโล้น และถ้ำ
หม่อมฉันก็ได้รับมาครบถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการรักษาอุโบสถ
[๑๖] หม่อมฉันอายุ ๗ ขวบก็ได้บวชเป็นบรรพชิต
ยังไม่ถึงกึ่งเดือนก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๑๗] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๒. สลฬปุปผิกาเถริยาปทาน
[๑๘] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
หม่อมฉันได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการรักษาอุโบสถ
[๑๙] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๐] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระเอกูโปสถิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกูโปสถิกาเถริยาปทานที่ ๑ จบ
๒. สลฬปุปผิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสลฬปุปผิกาเถรี
(พระสลฬปุปผิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๒] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้เกิดเป็นนางกินนรี
อาศัยอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
หม่อมฉันได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงองอาจกว่านรชน
ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ เสด็จจงกรมอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๘๘ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น